แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เราได้พูดกันถึงหลักธรรมะ หรือใจความสำคัญของธรรมะ ด้วยภาษาหรือถ้อยคำชนิดที่เป็นภาพพจน์ ที่เห็นได้ง่ายที่มีลักษณะเหมือนกับวัตถุ แล้วก็เข้าใจได้ง่ายและก็ลืมยาก นี่ขอให้สังเกตุดูว่าเราได้พูดกันมาเป็นครั้งที่ ๑๐ ในวันนี้ด้วยถ้อยคำชนิดนี้ เป็นถ้อยคำที่เขาไม่ค่อยใช้กัน หรือว่าจะไม่กล้าใช้กัน จึงหาอ่านไม่ได้จากหนังสือที่เขามีๆ กันอยู่ หรือหาฟังไม่ได้จากที่เขาเทศน์ บรรยาย แสดงกันอยู่ แล้วก็ขออย่าเห็นเป็นเรื่องอุตริแหวกแนว หรือว่าแกล้งพูด ที่เป็นเรื่องเล่นลิ้น มันเป็น แต่มันเป็นสิ่งที่ได้ใคร่ครวญดูแล้วเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง แล้วก็เป็นคำที่มีอยู่แล้วในพระคัมภีร์ ไม่มีใครเอามาพูดกันเท่านั้นเอง มันจึงดูเหมือนกับว่าไม่มีในพุทธศาสนา ก็ไม่เอามาพูดไม่เอามาใช้พูด มันก็เลยเป็นของแปลก ของแปลก ของใหม่ และชวนให้สงสัยว่าเป็นของปลอมอย่างนั้น
วันนี้ผมจะพูดถึงธรรมะในโวหารที่แปลกหรือไม่เคยได้ยิน คือชีวิตโวหาร แปลว่าชีวิตเป็นการลงทุน หรือว่าลงทุนค้าด้วยชีวิตก็ได้ ชีวิตะ โวหาระ โวหาระนั้นแปลว่าการลงทุนค้า ชีวิตโวหาระ การลงทุนค้าด้วยเอาชีวิตเป็นต้นทุน ลองคิดดูเถอะเคยฟังไหม เคยฟังจากที่ไหน แต่ที่นี่เราเคยพูดกันบ้างแล้วเรื่องนี้ ที่อื่นยังไม่ได้ยินว่าใครพูด แล้วมันก็เป็นเรื่องที่เห็นได้ง่าย เพราะผู้ที่ได้เล่าเรียนมาตามวิธีการศึกษาแผนใหม่ในเรื่องวิวัฒนาการ Evolution คือการที่สิ่งทั้งหลายค่อยๆ ปรุงแต่งให้ดีขึ้น ดีขึ้น ดีขึ้น ตามเหตุปัจจัยของมัน จนกระทั่งดีที่สุด นี่เป็นหลักธรรมะฝ่าย ฝ่ายนี้คือฝ่ายพุทธศาสนา แต่ถ้าเป็นฝ่ายอื่น ศาสนาของชนชาติ เซมิติก (Semitic) ทั้งหลายเช่นศาสนายิว ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม หรืออะไรที่คล้ายกัน คล้ายๆ กัน เขาไม่มีระบบนี้ คือเขามีระบบว่าพระเจ้าสร้างเลย พระเจ้าสร้างขึ้นมาเป็น เป็นอย่างที่เป็นอยู่เลย แม้จะมีข้อขัดแย้งอยู่ที่ตัวมันเอง แต่ก็ยังไม่ทิ้งหลักอันนั้น นี่รู้ๆ ไว้เสียด้วยว่า เกี่ยวกับระบบศาสนานี้ เขาแบ่งกันเป็น ๒ พวก พวกที่ถือว่าทุกอย่างพระเจ้าสร้าง ก็เรียกว่าพวก Creationist Creation แปลว่าการสร้าง Creationist ผู้ที่ถือว่าโลกนี้พระเจ้าสร้าง ที่นี้พวกหนึ่งมันตรงกันข้ามกันว่า โลกนี้มันเป็นสิ่งที่วิวัฒนาขึ้นมาจากเหตุปัจจัยตามลำดับๆ เขาเรียกว่า revolutionist อันโน้นมัน Creationist พวกที่ถือว่าพระเจ้าสร้าง อันนี้มัน revolutionist มันวิวัฒนาการขึ้นมาตามลำดับด้วยเหตุปัจจัย พุทธศาสนาเราอยู่ในพวกหลังนี้คือพวก revolutionist ไอ้ ไอ้คำ ๒ คำนี้เป็นหลักที่ควรจะจดจำไว้ มันจะเข้าใจได้ง่าย พอเราจับได้ว่าศาสนาไหน มีเค้าเงื่อนอย่างไร คือเป็นพวกพระเจ้าสร้างหรือเป็นพวกวิวัฒนาการเอง ก็เข้าใจได้ปรุโปร่งหมด พุทธศาสนาเราเป็นพวกที่ถือว่า ธรรมชาติมีเหตุมีปัจจัย ก็เหตุปัจจัยมันก็ปรุงกันๆ ก็สร้างของใหม่ๆขึ้นมา เพราะว่ากฎของ revolution นี่มันไม่ยอมให้อะไรหยุดนิ่ง ไม่มีหลักว่าอะไรมันจะหยุดนิ่ง มันมีหลักว่า ทุกอย่างมันจะต้องปรุง คือเพราะว่ามันไม่อยู่นิ่งก็แล้วกันนะ เพราะว่ามันไม่อยู่นิ่ง มันก็ต้องเปลี่ยน แล้วมันก็เปลี่ยนไปตามกฎเกณฑ์ของมัน นั่นแหละคือปรุงในภาษาธรรมะเรียกว่าปรุง พอปรุงมันก็เกิดสิ่งใหม่เรื่อยไป นี่มันไม่หยุดปรุงมันก็เกิดสิ่งใหม่เรื่อยไปจนเป็นวิวัฒนาการอันยาวยืด นับตั้งแต่ไม่มีดวงอาทิตย์ จนมีดวงอาทิตย์ แล้วจนมีโลก โลกเกลี้ยงๆ เป็นก้อนหินเกลี้ยงๆ เป็นดวงไฟแล้วมันก็กลายเป็นโลกที่มีอินทรียวัตถุจนเกิดสิ่งที่มีชีวิต ในขั้นแรก และขั้นต่อมาเป็นสัตว์ ให้เป็นต้นไม้ เป็นสัตว์ เป็นคน จนกระทั่งเป็นคนในวันนี้ นั่นแหละคิดดูเถอะว่ามันไม่ต้องมีพระเจ้าสร้าง แต่มันมีกฎอันหนึ่งของธรรมชาติ ที่บังคับตายตัวไม่ให้หยุดอยู่กับที่เลยเคลื่อนไหว มันก็เปลี่ยนแปลง มันก็เปลี่ยนมาก เปลี่ยนแปลกออกไป แปลกออกไป จนมามีไอ้สิ่งที่ไม่เคยมี ทีนี้เราก็มองดูในกระแสแห่งวิวัฒนาการนี้ มันจะพบใจความสำคัญอันหนึ่งว่า มันดีขึ้น มันดีขึ้นกว่าเดิม คำว่าดีขึ้นๆ กว่าเดิมก็หมายความว่ามันเป็นกำไรใช่ไหม ถ้ามันดีขึ้นมันก็คือกำไร มันมากขึ้นหรือดีขึ้นก็เรียกว่ากำไร นั่นแหละคือวิวัฒนาการ แล้วก็เรียกได้ด้วยคำพูด อีกคำหนึ่งซึ่งจะมาพูดในวันนี้ คือคำว่าโวหาระ โวหาระแปลว่าการลงทุนเพื่อกำไร ทุนนะมันมีค่าน้อย เมื่อลงไปแล้ว ก็ลงไปแล้วมันก็กลับมาเป็นของมีค่ามาก แล้วก็เรียกว่ากำไร การทำของน้อยกลับมามากเรียกว่าโวหาระ ในภาษาบาลีหมายถึงการค้า การค้าขาย การค้าขาย โวหาระ โวหาร ก็คือการค้าขายนั่นเอง ไอ้การค้าขายนี้ไม่ต้องบอกหรอกใครก็รู้อยู่ว่า เขาลงทุนน้อยแล้วเขาได้กลับมามากเป็นกำไร นั่นคือการค้าขายที่ประสบความสำเร็จของการค้าขาย นี้คำว่าโวหารหรือโวหาระแปลว่าค้าขายก็ได้ แปลว่าการพูดจาที่ทำให้เกิดผลกำไรก็ได้เหมือนกัน ลงทุนด้วยการพูดจา ถ้าคนนี้มีโวหารดี การพูดจาของเขามีโวหารดี เขาก็ได้รับผลดีเพราะโวหารดี เขาจะเอาเปรียบก็ได้ จะชนะก็ได้ อะไรก็ได้เพราะโวหารดี เราใช้คำว่าโวหารนี้โดยมากในเรื่องการพูดจา ก็ได้ยินอยู่ทุกวันว่าโวหารดี มีโวหารสูง มีโวหารเก่ง ชนะไปได้ด้วยโวหาร คือการพูดจาที่ทำให้เกิดผลกำไร ในที่บางแห่งเห็นหมายถึงไอ้การต่อสู้ด้วยโวหารนะ การต่อสู้ด้วยโวหาร วิธีการหรือเคล็ดลับที่มันเป็นทำให้ ที่มันทำให้การต่อสู้นั้นมีผล เช่นเป็นความกันในโรงในศาลต้องมีการต่อสู้ ถ้าใครมีโวหารดี คนนั้นก็ชนะความ ชนะคดี นี่ก็เรียกว่าโวหาร ใจความมันก็ไม่พ้นไปจากว่าลงทุนน้อยแล้วได้ผลกลับมามาก เป็นอันสรุปกันเสียได้สักทีว่าคำโวหารนะ โวหาระแปลว่าการลงทุนเพื่อผลกำไรที่ยิ่งขึ้นไป ทีนี้เราก็มาถึงไอ้คำที่เราต้องการจะพูด คือชีวิตโวหาร ชีวิตโวหาร การลงทุนค้าด้วยชีวิต หรือใช้ชีวิตเป็นสิ่งลงทุนสำหรับการค้า มันก็ไปเข้ารูปกันกับไอ้คำว่า วิวัฒนาการ วิวัฒนาการของโลกนี้มันลงทุนด้วยความไม่มีอะไร มันลงทุนด้วยความไม่มีอะไรแล้วก็ค่อยมีอะไร แล้วก็ค่อย ๆ มีอะไร ค่อย ๆ มีอะไร จนมีมากเหลือเกินเหลือที่จะกล่าวได้ ถ้าเราจะมองว่า เอ้อ, ชีวิตนี้มันมีลักษณะอย่างนี้อยู่แล้วนะ นี่ธรรมชาติที่เป็นชีวิตนะมันมีลักษณะอย่างนี้ คืออย่างที่ว่ามันลงทุนด้วยของน้อยแล้วได้ของมาก แม้เราจะดูว่าไอ้ชีวิตลงทุนด้วยเชื้อ หรือไข่ของบิดามารดา เล็กดูด้วยตาไม่เห็น แล้วมาค่อยๆ โตขึ้นมาเป็นคนอย่างเราๆ นี้ได้ มันลงทุนด้วยของเล็กเหลือเกิน มันออกมาเป็นเด็กเล็กๆ แล้วเด็กมันก็กินอาหาร พอได้กินอาหารก็เติบโตมากขึ้นเป็นกำไร คือได้สิ่งที่มีค่ามากกว่าอาหารที่กินเข้าไป มันพูดได้อย่างนี้ ชีวิตเป็นการลงทุนแม้ตามธรรมชาติ มันเกิดมาจากสิ่งที่เล็กนิดเดียว แล้วเกิดมาเป็นเด็กเล็กๆ แล้วกินอาหารเป็นการลงทุน แล้วก็โตขึ้น คุ้มค่าของอาหาร เกินค่าของอาหาร แล้วกินโตขึ้นๆๆ จนโตเป็นบัดนี้ มันมีโตเท่านี้แล้วได้กำไรทั้งนั้นแหละ ทำให้เห็นว่าชีวิตตามธรรมชาตินี้มันเป็นการค้าอยู่ในตัวมันเองแล้ว ทีนี้เราก็มามองว่าที่ ที่ธรรมชาติมันช่วยทำการค้าให้นั้นไม่พอ ไม่พอ เราทำเองเถิดมันจะได้มากกว่าอีกแรงหนึ่ง เราทำเองแรงหนึ่งจะได้ผลมากกว่า นั้นเราจึงจัดให้ชีวิตนี้ของเรานี้มีประโยชน์ มีประโยชน์ มีประโยชน์ แล้วแต่ว่าเราจะใช้มันให้ทำอะไร นี่เป็นความจริงมากน้อยเท่าไร ขอให้ลองคิดดู ทุกคนก็ทุกคนมันต้องการจะให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป ที่อุตสาห์ศึกษาเล่าเรียน หรืออุตสาห์บวช อุตสาห์เรียนนี้ มันก็เพื่อผลที่มีค่ามากยิ่งๆ ขึ้นไปทั้งนั้นแหละ ไม่งั้นจะมาบวชมาเรียนให้ลำบากทำไม อันนี้เป็นส่วนที่มนุษย์จะทำให้มันมีกำไรมากเกินกว่าที่ธรรมชาติมันจะทำให้ ช่วยทำให้ ก็ลองทีนี้ก็ลองมองดู เราทุกคนนี่เป็นพ่อค้า ทุกคนในโลกจะรู้หรือไม่รู้ก็ตามใจ แต่นี้เราพูดกันที่นี่ ว่าทุกคนที่นี่กำลังเป็นพ่อค้า พ่อค้าชั้นเลิศคือลงทุนด้วยสิ่งที่มีค่าน้อยแล้วให้ได้ค่ามากสูงสุด จะพูดทีเดียวเลยก็ได้ว่า เราจะลงทุนด้วยชีวิตนี้ซึ่งไม่มีค่า ให้ได้ผลสูงสุดเป็นมรรคผลนิพพานไปเลย ให้บรรลุมรรคผลนิพพานไปเลย มันเป็นการค้าที่ได้กำไรมหาศาล นี่เราเป็นพ่อค้า ถึงแม้ไม่ใช่เรื่องของศาสนา ธรรมะ มันก็เป็นเรื่องการค้าทั้งนั้นแหละ ชาวนาแล้วก็ทำนาก็ได้ผลมากกว่าที่ลงทุน ชาวสวนก็ทำสวนก็ได้ผลมากกว่าที่ลงทุน พ่อค้ามันก็ทำการค้ามันก็ได้ผลมากกว่าที่ลงทุน อะไรๆมันก็เป็นเรื่องเพื่อผลที่มากกว่าทั้งนั้น มันก็เป็นพ่อค้ากันทุกคนแหละ จะรู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัวไม่สำคัญ แต่มันไม่มีใครพูดนี่ คำพูดชนิดนี้มันไม่มีใครพูด แต่ความจริงมันเป็นอย่างนั้น ดังนั้นเราก็ยอมรับเสียดีๆ จะได้จัด จะได้ทำให้มัน มันเป็นไปตามนั้นโดยเร็ว โดยเร็ว จะให้ชีวิตนี้มันมีผลตามที่ควรจะได้เร็วๆๆ เท่าไรจนถึงสูงสุด พอสูงสุดก็หยุดการค้า หยุดการค้า แต่บางคนมันจะไม่ยอมหยุด มันจะค้าไม่ยอมหยุดก็ได้ แต่ถ้ามันไม่ยอมหยุดนี่ ถึงมันจะได้มากมายประเสริฐวิเศษเท่าไรมันก็เรียกว่ามันยังค้าไม่สำเร็จ มันยังค้าไม่สำเร็จ มันยังไม่ได้ผลของการค้ามันหยุดไม่ได้ ถ้ามันทำไปจนไม่รู้ว่าจะทำอะไร มันได้หมดเสียแล้ว จนไม่รู้จะทำอะไรนั่นแหละ มันจึงจะเรียกว่ามันได้แล้ว แล้วหยุด มัน หยุดการค้าหรือบังคับให้หยุด ถ้าเราชีวิต ถ้าเราใช้ชีวิตเป็นการค้าสูงขึ้นไปจนบรรลุพระนิพพาน แล้วทีนี้มันก็ไม่มีอะไรจะทำแล้ว มันไม่มีการกระทำอะไรที่จะให้เป็นการค้ายิ่งไปกว่านั้น มันก็ต้องหยุดมันเอง บังคับให้หยุด นี่ทางฝ่ายโลก ฝ่ายโลก เขามีขีด มีขอบขีด ว่าทำเท่าไรอย่างไรเรียกว่าพอแล้ว หยุดที หยุดได้ หยุดได้ แล้วเขาก็นิยมหยุดกันเหมือนกัน นี่เรื่องในบาลีก็มีอย่างนี้ เป็นฆราวาสนี่แหละ ก็ได้ทำหน้าที่ของฆราวาสจนสูงสุด เรียกว่าพ้นความเป็นเศรษฐี พ้นความเป็นคฤหบดี พ้นอะไร พ้นไปหมด จนเรียกว่าเป็นผู้หยุดการค้า หยุดโวหาร มันก็มีคำเกิดขึ้นเรียกว่า โวหารสมุจฺเฉโท โวหารสมุจฺเฉโท สมุจฺเฉโท คือขาด คือตัดขาด หรือเลิก เลิกโวหาระ นี่ก็เล่าเรื่องในบาลีดีกว่า มีพราหมณ์คนหนึ่ง เขาได้ทำหน้าที่การงานของฆราวาสจนมีอะไรๆ เป็นอย่างที่พวกเศรษฐีคฤหบดีจะมีกันได้ แล้วเขาก็เลย เขาพอกันที เขาถึงที่สุดแล้ว เขาถึงที่สุดของโวหาระแล้ว เขาหยุด นี่ว่าตามธรรมเนียม ตามธรรมเนียมที่ในอินเดียในครั้งพุทธกาล เมื่อฆราวาสคนหนึ่งเขาได้ทำความเป็นฆราวาสของเขาให้ก้าวหน้าไปจนถึงที่สุดเป็นที่พอใจแล้วเขาก็หยุด ไอ้คนพวกนี้ก็ ก็ไม่ทำอะไรอีกต่อไป ไอ้การงานทั้งหลายก็ยกให้ลูกให้หลานหมด แล้วก็ตัวเองก็แต่งตัวด้วยผ้าขาวด้วยเครื่องแต่งตัวที่สะอาด เดินไปเดินมาอยู่ตามที่อากาศดีตามวัด ตามวา ตามอะไรก็ได้ ตามริมแม่น้ำ ริมคลอง ริมทะเลอะไรก็ได้แล้วแต่ เที่ยวเดินฉุยฉายอยู่นั้น เพื่อแสดงว่าหมดแล้ว จบแล้ว ในการที่จะทำชีวิตให้เป็นประโยชน์ ฉันจบแล้ว พราหมณ์คนนั้นวันหนึ่งเกิดไปที่ ที่วัดของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านจะทราบหรือไม่ทราบก็ไม่ทราบนะว่าไอ้พราหมณ์คนนี้เขาถือว่าเขาหมดแล้ว หมดจบโวหารชีวิตแล้วนะ พระพุทธเจ้าก็ร้องเชิญว่า เชิญนั่งคฤหบดี คฤหบดีเชิญนั่ง เชิญนั่ง ตาพราหมณ์คนนั้นเขาก็โกรธ มันเป็นการดูถูกกันอย่างแรง ถ้ายังเป็นเพียงคฤหบดี ชีวิตยังไม่จบโวหาร ใช่ว่าเชิญนั่ง เขาก็โกรธ เขาไม่นั่ง พระพุทธเจ้ายืน พระพุทธเจ้าเชิญครั้งที่ ๒ เขาก็ยังไม่นั่ง เขายิ่งโกรธมากขึ้น พระพุทธเจ้าเชิญเป็นครั้งที่ ๓ เขาก็คงแว่วเอาว่า ทำไมมาเรียกข้าพเจ้าว่าคฤหบดี ข้าพเจ้าเป็นโวหาร สมุจฺเฉโท คือว่าจบ จบไอ้เรื่องของความเป็นมนุษย์ เดี๋ยวนี้ได้ยกทรัพย์สมบัติให้ลูกให้หลานหมดแล้ว เหลืออยู่แต่ตัว มันเพียงแต่กินนอนเที่ยวเล่นไปวันหนึ่งๆ เป็นโวหาร สมุจฺเฉโท ทำไมมาเรียกข้าพเจ้าว่าคฤหบดี เป็นการดูถูกกันเกินไป ก็เขาไปจบหมดเรื่องของความเป็นมนุษย์แล้ว พระพุทธเจ้าก็เลยอธิบายถึงข้อที่ว่า ไอ้โวหาร สมุจฺเฉโท เช่นชนิดนั้นนะมันไม่สูงสุดอะไรหรอก มันคนละอย่างกับไอ้โวหารสมุจฺเฉโทใน ใน ในธรรมวินัยนี้ คือในศาสนานี้ ก็โต้กันเรื่อยไป โต้กันเรื่อยไป จนพระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงไอ้ความสิ้นสุดแห่งโวหาร ประโยชน์อันสูงสุดที่มนุษย์จะพึงได้รับ มันคือการบรรลุมรรคผลนิพพาน คำพูดท่านพูดกันโดยโวหารอื่น ผมมาพูดสั้นๆให้มันฟังง่ายๆ เร็วๆ ถ้าเป็นโวหารสมุจฺเฉโท ก็หมายถึงบรรลุนิพพาน ท่านทรงอธิบายว่า มันหมดกิเลส มันหมดตัณหา มันหมดทุกอย่างที่เป็นตัณหารบกวนจิตใจ ไอ้โวหาร สมุจฺเฉโทอย่างของท่านมันยังมี ยังมีอยู่ที่บ้าน ที่เรือน ยังมีลูก มีเมีย ยังมีอะไรรบกวนจิตใจ กิเลสก็ยังมีสำหรับรบกวนในภายใน ไอ้เรื่องข้างนอกก็ยังมีรบกวน ถึงท่านก็ทนไม่ได้ ท่านก็ดูเฉยดูดายมันไม่ได้ ที่จะเรียกว่าจบโวหารอย่างไง ตาพราหมณ์คนนี้ก็เห็นจริง ยอมศึกษาธรรมะเพื่อให้มันจบโวหาร ให้ชีวิตจบการลงทุนค้าตามแบบของพระพุทธเจ้า นี่มันเป็นเรื่องที่น่า น่า น่าน่าฟังไหม น่าสนใจไหมว่าชีวิตทุกชีวิตนะมันจะต้องมีการลงทุน การพัฒนาให้มันสูงขึ้นไปๆ จนมันถึงที่สุด ซึ่งมันจะสูงอีกไม่ได้นั้นนะ นั่นคือชีวิต เดี๋ยวนี้พวกเรามีใครบ้างที่คิดอย่างนี้ ดูเหมือนไม่เคยสอนกัน ไม่เคยพูดและไม่เคยสอนกันอย่างนี้ เอาเพียงบวช เพียงว่าคลอดเกิดออกมาแล้วก็เรียนหนังสือหนังหา เข้าโรงรำโรงเรียน เรียนให้สูงๆ ขึ้นไปออกมาได้ทำงานดี เบาแรงได้เงินมากเป็นอยู่สุขสบายแล้วก็จบที่นั่น มันไม่มีจบสูงขึ้นไปกว่านั้น แม้แต่ตาพราหมณ์คนนี้ก็ ก็เรียกว่า ก็ยังมีหลักเกณฑ์ที่วาดไว้สูง จนถึงกับยกทรัพย์สมบัติหรือการงาน ยกการงานให้ลูกหลานหมด แล้วตัวเองก็ไม่ทำอะไร แต่งตัวสบายๆ เที่ยวเดินเล่นสบายๆ ไปวันหนึ่งๆ เรียกว่าจบ จบชีวิตขั้นสูงสุด เดี๋ยวนี้พวกเราในโลกนี้หรือในเมืองไทยโดยเฉพาะก็ตามใจ ไม่มีใครคิดจะจบอย่างนี้นะคือไม่ยอมจบ เมื่อเป็นข้าราชการบำนาญ มันบำนาญเยอะแยะ อะไรก็เยอะแยะ แล้วก็ยังยังเอา ยังไม่ยอมจบ ยังไปหางานทำ รำไพ่ หาชั่วโมง ได้ค่าจ้างแพงๆ อยู่อีก ไม่มีคำว่าจบ ไม่มีความรู้สึกว่าจบ จนกระทั่งตายไปแล้ว มันก็ไอ้ความตายมาช่วยจบให้ ไอ้คนนั้นมันก็ไม่ได้รู้สึกว่าจบ แล้วดูเหมือนเขาก็จะไม่คิดว่าจะเอาตามสบาย ไม่เอาอะไรหมดแล้ว เที่ยวแต่งตัวตามสบาย เที่ยวกินอยู่ตามสบาย เดินไปตามสบาย ไปพักผ่อนที่ไหนตามสบาย เที่ยวเล่นหมากรุกที่วัดตามสบายก็ยังได้ แต่ก็ไม่มีใครเอา ไม่มีใครยอมจบอย่างนั้น ก็ยังต้องการอยู่ ทำงานกันจนวาระสุดท้าย หรือว่าขวนขวายกันจนวาระสุดท้าย ไม่เคยพบคำว่าจบจนเป็นที่พอใจ มันต้องด้วยความพอใจ ชีวิตจบ เขาพอใจที่สุด แล้วก็เป็นอยู่อย่างนั้นเรื่อยๆ ไป เรียกว่าท้าทายความตาย ความตายมาก็ไม่รู้สึกว่าน่ากลัวอะไร เพราะเรามันจบแล้วนี่ เรามันจบเสียก่อนแล้ว เหมือนกับที่พูดวันก่อนว่า ตายเสียก่อนตาย ถ้าเราตายเสียก่อนตายแล้วความตายมาถึง จะกลัวอะไร มันก็ไม่มีความหมายอะไรแล้ว นี่ชีวิตโวหาร ชีวิตคือการลงทุนเพื่อผลกำไร นั้นทำไป ทำไปถึงที่สุดแล้วก็เรียกว่าโวหาร สมุจฺเฉโท ไปจำไว้ว่ามันมีคำเรียกอย่างนี้ มีหลักเกณฑ์อย่างนี้ ซึ่งเราก็ควรจะเป็นอย่างนั้นกับเขาด้วยเหมือนกันว่าที่จริง แต่เราไม่รู้เรื่อง และก็ไม่ได้หวัง เราก็ไม่ได้ตั้งใจว่าเราจะดำเนินชีวิต ดำเนินชีวิตไปถึงจุดจบแล้วก็จบ เป็นคนเหนือโลก พ้นโลก พ้นบ้าน พ้นเรือน พ้นปัญหา พ้นอะไรกันเสียสักที มันมีคำที่พอจะมีความหมายดึงมาเชื่อมกันได้ว่า ประโยชน์ใดที่บุคคลจะพึงได้รับสูงสุดในการเกิดมาเป็นมนุษย์ ประโยชน์นั้นเราได้รับแล้ว ประโยชน์นั้นเราได้รับแล้ว มันก็หมายความขึ้นมาถึงขั้นนี้ ถึงขั้นที่เป็นชีวิตที่สบาย สบายที่สุดแต่มันยังอยู่ในโวหารโลก ไม่ได้สบายอย่างโวหารธรรมะคือหมดกิเลส มันก็ยังมีกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงไม่ทรงยอมรับตาพราหมณ์คนนั้น เพราะว่าตาพราหมณ์คนนั้นเป็นผู้จบการพัฒนาชีวิตแล้ว ยังอยู่ในฐานะเป็นคฤหบดีคือคนร่ำรวยเหมือนเศรษฐี ลดชั้นเขาลงมาเป็นกอง เขาเลยโกรธพระพุทธเจ้า ว่าลดชั้นเขาลงมาเป็นเพียงคฤหบดี ไอ้เรื่องอย่างนี้มันฟังง่าย เข้าใจง่าย แล้วมันจำง่าย ผมจึงอุตสาห์เอามาพูด ที่ละเรื่องสองเรื่องให้เข้าใจซึมทราบ แล้วกำหนดไว้เป็นหลักเกณฑ์ที่จะใช้กับเราได้ด้วย
เอ้า,ทีนี้ก็จะพูดถึง ไอ้รายละเอียดที่เราเกี่ยวข้องกันอยู่ อย่างเดี๋ยวนี้ ไอ้หลักธรรมะที่สอนกันอยู่ในโรงเรียน ประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในชาตินี้ ถึงมันมีความขยันหมั่นเพียร รักษาทรัพย์ที่หามาได้ มันเลี้ยงชีวิตโดยชอบ มีมิตรสหายดี ก็เป็นเหตุให้ได้รับประโยชน์ เรียกว่ามีทรัพย์สมบัติเต็มที่ ที่มันจะเป็นได้ มีเกียรติยศชื่อเสียงเต็มที่ แล้วก็มีคนหวังดีพรรคพวก พรรคพวกของเราที่หวังดีต่อเรานะมากเต็มที่ มี ๓ คำว่าทรัพย์ ยศ และไมตรี ซึ่งผมก็เคยบอกพวกที่ลาสิกขาบทแล้วว่า ฆราวาสนะเขาจบกันที่นั่น มีทรัพย์สมบัติพอตัว มีเกียรติยศพอตัว มีไมตรีคนรักใคร่เป็นพรรคพวกของเราอย่างพอตัว นี่ถือว่าจบชีวิตอย่างโลกนี้ ใครลาสิกขาออกไปแล้วก็ไปพยายามทำ ให้ได้รับไอ้สิ่งทั้ง ๓ นี้อย่างพอตัว มีทรัพย์สมบัติพอตัว เกียรติยศชื่อเสียงพอตัว มีพรรคพวกที่หวังดีต่อเรามากพอตัว เรียกสั้นๆ เป็นคำ ๓ คำว่า ทรัพย์ ยศ และไมตรี นี่มันเอาตามความรู้สึกของมนุษย์อย่างไรละ คือมนุษย์ตามธรรมดานี่ ก็รู้สึกว่าชั้นแรกที่สุดก็ต้องการทรัพย์สมบัติ ไม่มีทรัพย์สมบัติมันลำบากจะตาย ก็ได้ทรัพย์สมบัติแล้ว มันก็ยังไม่พอเพราะมันยังมีสิ่งที่ดีกว่าคือชื่อเสียง เกียรติยศชื่อเสียง เราก็พยายามจนได้รับชื่อเสียงมีชื่อเสียงเต็มที่มันควรจะได้รับ แล้วก็ยังไม่พอ มันยังหว้าเหว่ จะต้องมีเพื่อนเป็นเพื่อนตาย เพื่อนที่รักใคร่ที่สุดนะอีกทีหนึ่ง อีกพวกหนึ่ง จึงหาพรรคพวกร่วมเป็นร่วมตายมาให้เต็ม นี่เขาว่ากันว่าพอแล้ว ตามความรู้สึกของเขามันพอแล้ว พอแล้ว นี่ที่สอนกันอยู่เวลานี้ในหลักธรรมะ ที่เรียนกันอยู่ในโรงเรียนมันก็มีเท่านี้ แล้วมันก็ไม่ดี ไม่สูงไปกว่าไอ้ตาพราหมณ์คนนั้น ตาพราหมณ์คนนั้น ที่พระพุทธเจ้าท่านล้อว่าคฤหบดี ๆ ท่านยังไม่เป็นโวหาร สมุจฺเฉโท มันต้องประโยชน์ที่สูงไปกว่านั้น ประโยชน์ที่ไกลไปกว่าประโยชน์ในโลกนี้ เป็นประโยชน์โลกหน้าหรือประโยชน์โลกอื่น ในภาวะอย่างอื่นนั่นแหละ แล้วกระทั่งว่าเป็นภาวะที่พ้นโลก โลกอื่นนอกจากโลกนี้ เขาก็มักจะพูดกันถึงสวรรค์ ก็ได้สวรรค์ นี้สวรรค์มันยังมีกิเลส ยังมีกิเลส ยังรบกันอยู่กับกิเลส ยังไม่จบชีวิตอันสูงสุด มันต้องไปให้พ้นโลก ไปให้พ้นโลกเป็นโลกุตตระ บางทีก็เรียกว่าปรมัตถประโยชน์ คือบรรลุมรรคผลนิพพาน ที่พูดอย่างที่เขาพูดๆ กัน มันหมายถึอต่อตายแล้วโน้น ต่อตายแล้วไม่รู้จะเป็นประโยชน์กับใครโน้น เดี๋ยวนี้เราจะพูดชนิดที่ให้ได้กันเต็มที่ในชีวิตนี้ ครั้นเจริญด้วยทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง มิตรสหายแล้ว ก็อยู่เป็นสุข เสวยสุข ซึ่งสูงไปกว่าโลกปัจจุบันนี้ ซึ่งสูงไปกว่าระดับโลกนี้ ก็กลายเป็นโลกอื่น คือโลกสวรรค์แล้วก็แล้วแต่จะเรียก แต่ว่าไม่ใช่สวรรค์ต่อตายแล้ว สวรรค์ที่พอใจ ยินดี ปรีดาปราโมทย์กันที่นี่ แต่แล้วก็มันไม่สูงสุดไปได้ เพราะมันยังมีกิเลสเป็นข้าศึกอยู่นั่นแหละ เป็นเทวดาแล้วมันก็ยังต้องรบสู้กันกับโลภะ โทสะ โมหะอยู่นั่นแหละ
เอ้า,ไปต่อไปอีก จึงจะขึ้นไปถึงมรรคผลนิพพาน นั้นมันจะหมด หมดบทเรียน หมดบทเรียนหรือหมดกิจการงานได้ก็ต่อเมื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน มันจึงต้องมีอีกขั้นหนึ่งที่เรียกว่า โวหารในภาษาธรรม เป็นโวหารในภาษาธรรมคือเป็นการลงทุนค้าในความหมายภาษาธรรมให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้ามีการลงทุนค้าในโวหารโลก มันก็อยู่แค่นี้ อยู่แค่มีทรัพย์สมบัติ มีเกียรติยศชื่อเสียง มีมิตรสหายมากและอยู่เป็นสุขเหมือนกับอยู่ในสวรรค์ ก็จบเท่านั้น มันก็จบเท่านั้น นี่ในภาษาคนมันนักได้เพียงเท่านี้ ถึงจะไปให้หมดกันจริงๆ ก็อย่างพระพุทธเจ้าตรัส มันก็ต้องไปถึงกับว่าไม่มีกิเลส ไม่มีกิเลส จึงต้องมีการปฎิบัติในชั้นที่ว่าจะหมดกิเลส แล้วจะได้จบโวหารได้หรือจบการลงทุนค้ากันจริงๆ
ทีนี้ก็มีคำที่เราควรจะสนใจ ก็คำที่พูดๆ กันอยู่นั่นแหละ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ เข้าใจว่าทุกองค์เคยได้ยินแล้ว คำว่าโสดาบันแปลว่าถึง ถึงกระแสของนิพพาน ก็เรียกก็มีนะ ยืนอยู่ที่ประตูของอมตะอย่างนี้ก็มี โสดาบัน นะคำว่าโสดาบัน นะ ไปยืนอยู่ที่ประตูพระนิพพานยังไม่ได้เข้าไป เรียกว่ามันถึงกระแสแน่นอน แต่จะถึงเหมือนกันไปยืนอยู่ที่ประตูแล้วยังเหลือแต่จะก้าวข้ามเข้าไป เรียกว่าพัฒนาจิตใจกันมาถึงขั้นที่เป็นพระโสดาบัน ละสักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ตามหลักที่กล่าวไว้ในแบบเรียนแล้วไปเปิดดูก็ได้ เขาพัฒนาจิตใจกันขึ้นมาสูงถึงขนาดว่าหมดความรู้สึกว่าตัวตน ตัวตนชนิดกายหยาบ ตัวตนชนิดที่เป็นจิตเป็นวิญญาณที่คนทั้งหลายเขายึดถือกันอยู่ มันเป็นตัวตนชั้นธรรมดาสามัญนี่สักกายทิฐิ ความคิดว่ายังมีตัวตนของตนในลักษณะเช่นนั้น ละ ละได้แล้ว ละได้แล้ว ละวิจิกิจฉาคือไม่ลังเลในเรื่องดับทุกข์ ในเรื่องของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สีลัพพตปรามาสพ้นจากความโง่เขลางมงาย ซึ่งเขามีกันอยู่ทั่วๆ ไปโดยประการทั้งปวง นี่ที่จะเข้ามาในประตูของพระนิพพาน คุณจะต้องหมดความรู้สึกเรื่องตัวกู ของกู ชั้นเลว ชั้นหยาบ ชั้นทั่วไป มันมีอยู่สำหรับจะพูดได้ ว่าไอ้ตัวตนชั้นเลวของความโง่ ไอ้ตัวตนชั้นดีของผู้ฉลาด อย่างลัทธิอื่นที่เป็นคู่แข่งขันกับพุทธศาสนาในอินเดียเขามีตัวตน ตัวตนชั้นดีชั้นสูง เช่นมี มีพรหม มีพรหม มหาพรหมนะเป็นตัวตนใหญ่ ส่วนย่อยๆ มาเป็นอาตมันนี่มาเป็นคน สัตว์ทั่วไป ต้องไอ้ตัวตนที่ออกมาจากพระพรหมนี่มัน มันถูกหุ้มห่อด้วยกิเลส ด้วยความชั่ว ด้วยกรรม ด้วยอะไรเหมือนกันในหลัก หลักพุทธศาสนา เขาก็ต้องปลดเปลื้องกิเลส ปลดเปลื้องกรรม ปลดเปลื้องอะไรออกเสียจากไอ้ตัวตนโง่ๆ ตัวตนเลวๆ นั้นให้เป็นตัวตนสะอาด แล้วไปหาพระพรหมกันอีกทีหนึ่ง ดังนั้นตัวตนชั้นดีซึ่งบางทีในพุทธศาสนาก็ยืมเอามาใช้อย่างปนเปกันนะ ที่ว่าเอาพระนิพพานเป็นตัวตน มันไม่เหมือนกับตัวตนต่ำๆ ของกิเลส เรียกว่าเอาธรรมะเป็นตัวตน ไม่ใช่ตัวตนของกิเลสอย่างโง่เขลาของคนทั่วไป จงมีตนเป็นที่พึ่งคือมีธรรมะเป็นที่พึ่ง เอาธรรมะเป็นตัวตนก็มี นี่ก็โดดเอานิพพานเป็นตัวตนก็มี ถ้าตัวตนอย่างนั้นมันยากที่ว่าในชั้นนี้จะละได้ เพราะมันยังไม่รู้สักที แต่ตัวตนชั้นเลวที่เป็นทำให้รู้สึกว่าตัวกู ของกู อย่างนั้น อย่างนี้ซึ่งคนทั่วไปเขามีอยู่ นี่ละได้ สักกายทิฏฐิในระดับนี้ละได้ นี่จุดตั้งต้นของโวหาร ชีวิตโวหารชั้นประเภทโลกุตตระที่แท้จริง ดังนั้นเราจะต้องไปสำรวจตัวเรา ว่าเรายังมีตัวตนชั้นต่ำ ตัวตนงมงาย ตัวตนเป็นกิเลส ตัวตนที่เป็นเหตุให้เห็นแก่ตนนะ ที่เป็นเหตุให้เห็นแก่ตนนะมันสักเท่าไหร่ ตัวตนอย่างนี้จะต้องละก่อน และพร้อมกันนั้นก็ละวิจิกิจฉา ไอ้ความสงสัยในระบบนี้ว่ามันดี หรือมันจะพ้นทุกข์ได้ แล้วก็เลิกละความงมงายทั้งหลาย ที่ติดมาตั้งแต่แรกเกิดที่เขาสอนให้เรายึดถือมาตั้งแต่แรกเกิด ความงมงายเรื่องไสยศาสตร์โดยเฉพาะ พวกสีลัพพตปรามาสเหล่านั้นต้องละได้ด้วย ถ้าละไอ้ ๓ อย่างนี้ได้ก็เรียกว่าเข้า เข้ากระแสของพระนิพพาน ไปยืนอยู่ที่ประตูของพระนิพพาน จะเอาหรือไม่เอา เรื่องมันมีอยู่อย่างนี้ จะเอาหรือไม่เอา ทีนี้ก็ทำให้มากขึ้นไปอีก ทำให้มากขึ้นไปอีกกว่านั้นก็เป็นพระสกทาคามี จะกลับมา มาทนทุกข์อีกครั้งเดียว แล้วทีนี้ก็สูงขึ้นไปอีก สูงขึ้นไปอีก ละไอ้ที่มันควรจะละสูงขึ้นไปอีก ไปดูเรื่องสังโยชน์ ๑๐ ในแบบเรียนเอาเองก็แล้วกัน ก็ละไอ้กามราคะ ปฏิฆะได้ ก็เป็นอนาคามี จะไม่กลับมาสู่ไอ้ความที่เคยเป็นแต่ก่อนนะอีกต่อไป มีแต่ไปข้างหน้า แล้วบรรลุนิพพานไปเลย ไม่กลับมาสู่ที่อย่างที่เคยเป็นไปอีกต่อไป พระสกทาคามีเขากลับมาอีกครั้งหนึ่ง พระอนาคามีไม่กลับมาสู่สภาพธรรมดานี้อีก ไปข้างหน้าจนนิพพานไป ถ้าละได้หมดอีก รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา เป็นพระอรหันต์นั้นนะจบแล้วเข้าไปอยู่ในพระนิพพาน ถ้าจะพูดเป็นภาพเปรียบก็ว่า พระโสดาบันมาถึงประตู พระสกทาคามีก้าวข้ามธรณีประตูเข้าไปสักก้าวหนึ่งก็ได้ ขาหนึ่ง พระอนาคามีก็เข้าไปสองขาเลย เดินเข้าไปเลย พระอรหันต์เข้าไปยึดครองในนครนั้นเลย นี่ภาพให้มัน พูดให้มันเป็นอุปมาเป็นภาพพจน์ มันก็ต้องพูดอย่างนี้แหละ เมื่อเข้าไปครองนครนิพพานได้แล้ว มันก็ ก็จบแหละ จบชีวิตโวหาร การใช้ชีวิตเป็นเดิมพันสำหรับการค้าหากำไร มันจบที่นั้น มันจบเมื่อนั้น ถ้าได้อย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าก็จะไม่ทรงล้อว่าคฤหบดี คฤหบดีนั่ง คฤหบดีนั่ง เพราะว่ามันเป็นผู้จบชีวิตโวหารโดยแท้จริง นั้นไปเทียบดู ไอ้ของคนที่มันเป็นฆราวาสยัง ยังอยู่ที่บ้านที่เรือน สบายด้วยตัวกู ของกู ตัวกูรวย ตัวกูพ้นภาระแล้ว ให้ลูกให้เมียหมดแล้ว เที่ยวสบายอยู่อย่างตัวกู เป็นนั่งเล่นหมากรุกที่วัดทั้งวันๆ ก็ยังได้นี้เป็นต้น แยกออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายภาษาคนหรือฝ่ายโลกียะอย่างหนึ่ง อย่างฝ่ายภาษาธรรมหรือฝ่ายโลกุตตระนี่อย่าง สำหรับการใช้ชีวิตเป็นการลงทุนเพื่อกำไร แล้วก็ได้กำไรถึงที่สุดอย่างภาษามนุษย์หรือความรู้สึกของมนุษย์ก็เหมือนตาพราหมณ์คนนั้น แต่ถ้าอย่างของพระอริยเจ้าทั้งหลายมันก็เหมือนอย่าง อย่างนี้ คือพระอริยเจ้าที่บรรลุมรรคผลนิพพาน โสดา สกทาคา อนาคา อรหันต์ อย่างที่ตาพราหมณ์คนนั้นแกทำมาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ มันก็คือทำไร่ ทำนา ทำไอ้การค้า มีวัว มีอะไรมากมาย มีข้าวเปลือกมากมาย หมุนทรัพย์สมบัติให้ได้กำไรมากมาย จนเต็มที่ ที่จะทำกันได้ก็จบของแก แต่ถ้าว่าเป็นเรื่องของฝ่ายนี้ ฝ่ายอริยสาวกนี้มันก็ต้องปฎิบัติ ปฏิบัติธรรมะที่เป็นหลักของพุทธศาสนานี้ เพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นของตนในชั้นศีลก็ดี ชั้นสมาธิก็ดี ในชั้นปัญญาก็ดี มีความมุ่งหมายเหมือนกันหมดแหละ มีความมุ่งหมายที่จะพ้นเสียจากความยึดมั่นว่าตัวตน มัน มันช่วยเหลือกัน เป็นขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นสูงหรือเป็นอุปกรณ์ใดๆ ก็ตาม ศีลช่วยให้เกิดสมาธิ สมาธิก็ช่วยให้เกิดปัญญา ปัญญาก็ ก็ควบคุมทั้งหมดอย่าให้เดินผิดทาง ถ้าจะเอาให้มันละเอียดกันแล้วไปเอาตามหลักอัฏฐังคิกมรรค พูดว่าศีล สมาธิ ปัญญา นี้มันค่อนข้างหยาบ หรือมัน มันก็กระโดดรุ่นๆ เกินไป แจกออกเป็นอัฏฐังคิกมรรค อย่าประมาทกับเรื่องนี้ จะไปศึกษาเสียให้ดี ศึกษาไว้ให้ดีที่สุด ทั้งในแง่ของการเล่าเรียน ความจำ ทั้งในแง่ของความจะเข้าใจลึกซึ้งในแง่ของการที่จะปฏิบัติให้ได้ พอเรารู้ว่าอะไร อะไรเป็นอย่างไรก็ลองปฏิบัติดู พอเข้าใจเท่าไหร่ก็ลองปฎิบัติดู พอเข้าใจเท่าไหร่ก็ลองปฎิบัติดู ทำกันอยู่แต่อย่างนี้ ไม่เท่าไรจะรู้ รู้ ๆ รู้จริงๆ จนถึงระดับสุดท้าย เราจะไม่ต้องพูดเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะไปดูเอาได้ หาศึกษาเอาได้ โดยรายละเอียดไปหาศึกษาเอาได้ ๒ องค์แรกมันเป็นปัญญารู้ ไม่ ไม่รู้จนถึงกับว่าจะไม่หลงยึดถือในสิ่งใด ๓ องค์ถัดมาเป็นศีล เป็นชั้นระเบียบภายนอก อีก ๓ องค์ถัดไปมันก็เป็นชั้นระดับจิตใจลึกเข้าไป แปลว่าทั้ง ๓ ระดับมันถูกต้องหมด แตกออกเป็นรายละเอียดก็ได้ ๘ องค์ ๘ องค์นั้นครบถ้วนถูกต้องหมด ก็มีองค์มรรค ๘ องค์แห่งมรรคทั้ง ๘ ไม่ใช่มรรค ๘ นะ องค์ ๘ มรรคนั้น ๑ มรรคนั้นประกอบอยู่ด้วยองค์ ๘ จะเปรียบง่ายๆ ก็เหมือนว่าเชือกมัน ๘ เกลียว มันฝั้นเป็นเชือกเส้นเดียว มันก็แน่นหนา แน่นเหนียว แต่ว่าถ้าเชือก ๘ เกลียวนั้นแต่ละเกลียวๆ มันเหมือนกัน ถ้าอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นแต่ละองค์ๆ นั้นมันไม่ต้องเหมือนกัน แต่มันมาฝั้นกันเป็นเกลียวเหมือนกับเชือก ๘ เกลียวได้ ดังนั้นมันมีผลมากกว่า นี่คือไอ้การที่จะค้าให้เกิดกำไรในความหมายนี้ คือดำเนินชีวิตหรือดำรง
ชิวิตอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ตลอดไป มันก็จะเป็นการทำชีวิตให้เกิดผลเกิดกำไรยิ่งๆ ขึ้นไปจนกว่าจะถึงที่สุด อยู่อย่างมีชีวิตอยู่อย่างถูกต้องก็คือว่ามันจะลด ลดกิเลสเรื่อย ถ้าเราอยู่อย่างผิด ผิดหลักนะมันก็จะเพิ่มกิเลสเรื่อย ทำผิดเมื่อผัสสะแล้วเกิดกิเลส อย่างนี้จะเกิด จะเพิ่มกิเลสเรื่อย ราคะจะมากขึ้น โทสะจะมากขึ้น โมหะมากขึ้น ทีนี้ถ้าเราทำไม่ผิดในขณะแห่งกิเลส กิเลสเกิดไม่ได้ กิเลสเกิดไม่ได้ ไอ้ความเคยชินแห่งกิเลสก็ลด ลดลงๆ จนหมด คำว่าความเคยชินแห่งกิเลสนี่สำคัญมากนะ ถ้าเรามีกิเลสทีหนึ่งนะมันเพิ่มความเคยชินไว้ทีหนึ่ง มันสะสมความแคยชินไว้ทีหนึ่ง เราเกิดกิเลสอีกที มันก็เพิ่มความเคยชิน ที่จะเกิดกิเลสทีหนึ่ง ถ้าวันหนึ่งเรากิเลส ๑๐ ครั้งมันก็เพิ่มสะสมไอ้ความเคยชินที่จะเกิดกิเลสไว้๑๐ ๑๐ครั้ง ๑๐เท่าหรือ๑๐หน่วย นี่เดือนๆ ปีๆ มันจะสักเท่าไร เรียกว่าความเคยชินแห่งกิเลส แล้วมันก็เพิ่มกิเลส เพิ่มกิเลส เพิ่มกิเลส ทีนี้ถ้าเราอยู่อย่างไม่เพิ่มกิเลส หมายความว่าเมื่ออารมณ์ที่จะเกิดกิเลส มาถึง เข้าทางตา ทางหู ทางใจ เราต่อสู้มัน ต่อสู้มัน อย่างเครียดครัดที่สุด และจนมัน จนมันเกิดไม่ได้ จนมันแพ้ไปนั่นแหละเรียกว่าชนะกิเลส ถ้าชนะกิเลสอย่างนี้ได้ทีหนึ่งแล้วมันจะลดความเคยชินของกิเลสที่สะสมไว้ในสันดานลงหน่วยหนึ่งแหละ ถ้าชนะกิเลสทีหนึ่งมันจะลดความเคยชินกิเลสหน่วยหนึ่ง ถ้าเราแพ้กิเลสทีหนึ่งมันจะเพิ่มความเคยชินของกิเลสหน่วยหนึ่ง เราก็อยู่อย่างชนิดที่จะไม่แพ้แก่กิเลส คือกิเลส อารมณ์ของกิเลส เข้ามาให้เกิดกิเลส เราเอาชนะได้ทุกที นั่นแหละนักเลง นักเลง นักเลงสาวกของพระพุทธเจ้าต้องเป็นอย่างนั้น มีความเห็นที่ถูกต้องในเรื่องเช่นนั้นเอง เรื่องตถาตา เรื่องอิทัปปัจจยตา ว่ามันเป็นแต่อิทัปปัจจยตา มันเป็นเช่นนั้นเอง แล้วก็เริ่มเห็นชัดว่าตามที่เป็นจริง มันเป็นเช่นนั้นเอง ตามเป็นเช่นนั้นเอง เขาเรียกว่ายถาภูตญาณ หรือยถาภูตญาณทัสสนะเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง แล้วมันก็จะเห็นจนเกิดนิพพิทา จนกระทั่งเกิดนิพพิทา คือความเบื่อหน่ายในสิ่งที่เราเคยหลงรัก เราจะเห็นตามที่เป็นจริงในทุกสิ่งๆๆ ทุกวันๆๆ จนเกิดความเบื่อหน่ายในสิ่งที่เราหลงรัก กลุ่มๆ นี้เขาเรียกว่าธัมมทิฏฐิญาณ นับตั้งแต่เห็นตามที่เป็นจริง จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่ายนิพพิทาญาณ นี่เป็นกลุ่มธัมมทิฏฐิญาณ เห็นอนิจจัง เห็นทุกข์ขัง เห็นอนัตตา เห็นตถตา เห็นอิทัปปัจจยตา เห็นตามที่เป็นจริงจนเกิดความเบื่อหน่าย กลุ่มนี้นะเป็นกลุ่มแรก ที่นี่เมื่อกลุ่มแรกเสร็จแล้ว เห็นกลุ่มที่สองคือวิราคะ คลายกำหนัดจนรู้สึกด้วยจิต ว่าคลายกำหนด คลายความยึดถือในสิ่งที่เคยยึดถือ แล้วก็วิมุตติหลุดพ้น แล้วก็เกิดวิมุตติญาณทัสสนะ มีญาณทัสสนะเห็นว่าโอหลุดพ้นแล้วๆ นี่จบ นี่กลุ่มที่ ๒ เรียกว่านิพพานญาณ มีญาณที่จะให้เกิดกำไรแก่ชีวิตหรือว่าเป็นผลกำไรมาตามลำดับๆนั้น กลุ่มที่แรกเรียกว่าธัมมทิฏฐิญาณ 55.52 เห็นตามที่เป็นจริงจนเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง นี้กลุ่มที่ ๒ ก็คลายกำหนัดเป็นวิราคะ เป็นมรรคญาณ ที่ว่าเป็นวิมุตติ แล้วก็รู้ว่าวิมุตติแล้วเรียกว่าวิมุตติญาณทัสสนะ กลุ่มนี้เรียกว่านิพพานญาณ นี่การพัฒนาค้าขายมาจนกระทั่งเกิดธัมมทิฏฐิญาณ และนิพพานญาณ มันก็นิพพานแหละ คือจบสุดของการค้า เป็นโวหาร สมุจฺเฉโท ตามแบบของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่แบบตามแบบชาวบ้านทั่วไป เหมือนของตาพราหมณ์คนนั้น ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีในสมัยนั้นที่นั้น ทั้งหมดนี้คือชีวิตโวหาร การจัดให้ชีวิตนี้เป็นเสมือนการลงทุนค้าหากำไร ชีวิตโวหารเอาหรือไม่เอา ที่จริงมันก็เอาอยู่โดยไม่รู้สึกตัว แต่มันไม่รู้สึก มันไม่รู้จัก ไม่รู้จักจะเรียก จะพูด คือเราต้องการความเจริญถึงที่สุดอยู่โดยธรรมชาติของวิวัฒนาการแห่งจิตใจ ก็เลยผสมโรงคือทำการค้าให้ชีวิตเป็นเดิมพันสำหรับลงทุนค้าแล้วดีขึ้นๆๆในทางร่างกาย ในทางจิตใจ ในทางสติปัญญา ในทางความคิดความเห็นดีหมดถึงที่สุด จบเรื่อง จะค้าขายให้ดีกว่านั้นอีกไม่ได้เพราะมันถึงที่สุดเสียแล้ว มันหลุดพ้น หลุดพ้น เป็นวิมุตติ หลุดพ้นแล้ว มันไม่มีเรื่องแล้ว มันจบ จบที่ตรงนั้น มันทำอะไรมากกว่านั้นอีกไม่ได้ ก็ว่าเกิดมาทีหนึ่งก็ได้ทำการค้าถึงที่สุดที่มันจะเป็นไปได้ในชีวิตนี้ นี่พูดอย่างอุปมา พูดอย่างอุปมา เหมือนกับว่ามีตัว มีตน มีอะไรทำนองนี้ แต่ที่ ที่จริงก็เป็นเพียงเรื่องของจิตที่มันดีขึ้น ๆๆๆ ทั้งในด้านความรู้ ทั้งในด้านการปฏิบัติ ทั้งในด้านที่เป็นผลของการปฏิบัติ นี้จิตก็ถึงที่สุดแล้ว ทำตนเป็นผู้สบาย เที่ยวเดินฉุยฉายอยู่เหมือนกับตาพราหมณ์คนนั้นได้ ก็ลองคำนวณดูสิพระอรหันต์เป็นพระอรหันต์แล้วท่านจะทำอย่างไร ท่านคงจะไม่เที่ยวเดินฉุยฉายอวดคนเหมือนตาพราหมณ์คนนั้น ท่านก็ไปอยู่ตามสบายของท่าน จะให้โอกาสแก่ผู้อื่นที่จะได้มาสนทนาศึกษา มาหาความรู้ต่อความรู้ถ่ายทอดความรู้ออกไปจากท่านอย่างนั้นมากกว่า เหมือนภาพเขียนที่บนตึกนั้นนะ หมดแล้วทั้งวัวทั้งคนนี้เหลือแต่เกิดใหม่แจกของส่องตะเกียง นี่เรียกว่าการค้า การค้าด้วยชีวิตถึงที่สุดแล้ว หมดแล้วชั่วโมงนี้ ไปสรุปเอาเอง เขียนข้อความที่เป็นสรุปสั้นๆ ให้ได้เรื่องได้ราวอย่างที่พูดกันวันหนึ่งๆ นี้ไว้ในสมุด สมุดโน้ตที่เป็นหลักฐานหน่อย สมุดโน้ตไม่ต้องใหญ่โตหรอก เพราะเราเขียนย่อให้ดีที่สุด ใจความดีที่สุด เป็นเป็นสมุดที่บรรจุของที่แพงที่สุดนะ ไม่ต้องใหญ่โตอะไร แล้วมันจะได้ติดอยู่กับตัวไปตลอดชีวิต ผมก็มีเล่มหนึ่งเหมือนกันแหละ ผมอวดคุณสัญญา ธรรมศักดิ์ สมุดเล่มเท่าฝ่ามือนี่ใส่กระเป๋าอังสะได้นี่ ใครมาซื้อล้านหนึ่งก็ไม่ขาย คุณสัญญา ธรรมศักดิ์ เที่ยวไปพูดต่อ พูดต่อทำนองจะล้อหรือทำนองอะไรก็ไม่ทราบว่าผมมีสมุดโน้ตเล่มหนึ่ง ล้านหนึ่งก็ไม่ขาย ก็อุตสาห์จดนานแล้ว เขียนอย่างบรรจงเล็กๆ เอาแต่ใจความสั้นๆ แล้วหลายปีแล้ว เอาละพอกันที
...... เดี๋ยวนี้เขียนหวัดๆ ใช้ไม่ได้แล้วต้องไปร้อยกรองให้ดีที่สุด เขียนตัวชัดๆ เล็กๆ ใส่สมุด จะเก็บไว้เป็นคู่ชีวิต ปิดประชุม หมุนได้.