แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การพูดเรื่องธรรมปริทัศน์โดยพื้นฐานเป็นครั้งที่ ๒ นี้ เราจะพูดถึงโดยหัวข้อว่า จะได้รับอะไรจากธรรมะ คือว่าเราจะได้รับอะไรจากธรรมะ ผู้เข้ามาสู่ธรรมะ มาหาธรรมะ สนใจธรรมะ ศึกษาธรรมะแล้ว ปฏิบัติธรรมะนั้น จะได้รับประโยชน์อะไรจากธรรมะ มันเพื่อจะแก้ปัญหาของคนบ้าที่เหมือนกับไปหาหมอขอกินยา รับการรักษา โดยบอกไม่ได้ว่าเป็นโรคอะไร หรือเจ็บปวดที่ตรงไหน อะไรก็ไม่รู้ทั้งนั้น นี่เหมือนกับที่คนมาหาธรรมะ มาศึกษาธรรมะ เห่อๆกันมาตามประเพณี ในบางแห่ง หรือบางอย่าง กลายเป็นไอ้เรื่องแฟชั่นไปแล้วก็มี นี่เรื่องน่าหัวที่สุดเลย มาบวชก็ดี มาสนใจศึกษาธรรมะตามสถานที่ต่างๆก็ดี มันมีชนิดที่เห่อๆ ตามๆกันมา พอมีความนิยมกันมากพอ มันก็กลายเป็นแฟชั่นชนิดหนึ่ง ก็เลยเป็นเรื่องน่าหัว
เพื่อไม่ให้เกิดสภาพเช่นนี้ เราควรจะศึกษากันเสียเป็นเบื้องต้น ขั้นต้น หรือเบื้องต้น มันไม่ใช่เพียงแต่ว่าจะป้องกันไอ้ความน่าหัว ยังต้องการให้ได้รับประโยชน์โดยแท้จริงสมๆกัน และผมรู้สึกว่ามันอย่างเดียวกันกับที่พวกฝรั่งที่เห่อธรรมะ มาศึกษาธรรมะ มาปฏิบัติธรรมะโดยที่ไม่มีปัญหา ถามแล้วก็ไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ แล้วก็เป็นเอามากๆถึงขนาดที่พูดว่ามีความทุกข์บ้างถูกแล้ว ไม่มีความทุกข์เลยเป็นเรื่องผิดปกติวิสัย จึงไม่ๆต้องการความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง โดยไม่เหลือ มันเป็นเรื่องที่มีอยู่จริง ยิ่งกว่าจริง แต่ว่าพวกคุณไม่เคยดู ไม่เคยคิด ไม่เคยตั้งข้อสังเกต ไม่เคยตั้งข้อสงสัย จึงไม่พบปัญหาเหล่านี้ ซึ่งที่แท้มันก็เป็นปัญหาเกินกว่าปัญหาไปเสียอีก ว่าเรามีอะไรที่มันรบกวนไอ้ๆความผาสุกของเรา ได้พูดเมื่อคืนแล้วว่าการที่ใช้คำว่ามีความทุกข์นั้นมันมากเกินไป เพราะว่าคำว่าความทุกข์มันก็มีความหมายมาก เข้มข้น และน่ากลัว เราก็ไม่ได้มีความทุกข์ในระดับนั้นอยู่ตลอดเวลา จริงเหมือนกัน แต่เรามีความทุกข์ในระดับที่น้อยกว่านั้น หรือน้อยมาก เพียงความไม่สบายใจ เพียงความขุ่นข้องหมองใจ อย่างนี้เราก็มีอยู่ ถึงๆภาษาฝรั่งก็เหมือนกันแหละ มันก็มีธรรมะ มีคำที่ใช้พูดถึงสิ่งนี้อยู่หลายระดับ เช่นคำว่า Pain มีผู้เคยใช้คำว่า Pain หมายถึง เจ็บปวด ต่อมาฝรั่งมันก็ยกเลิกกันเอง ไม่ๆเอามาใช้กับคำว่า ทุกขะ ของบาลี ต่อมามันก็ใช้คำว่า Suffering มันก็ใช้กันมาก ก็ใช้กันจนกระทั่งบัดนี้ ก็มีอยู่พวกหนึ่ง ต่อมาเราใช้คำว่า Dissatisfaction Dis คือ ไม่ Satisfaction คือ ไม่ Satisfy น่ะ ก็ได้รับคำเห็นด้วย ได้รับคำรับรองว่าเห็นด้วย ดีกว่าคำว่า Suffering แล้วยังมีคำอีกคำหนึ่ง คือ Mystery
Mystery นี่ยังเบาไปกว่านั้นอีก เป็นความรู้สึกที่ลึกลับซ่อนเร้นอยู่มาก คำนี้อาจจะเหมาะกว่าไปเสียอีกว่า มันมีไอ้ๆความรบ มีสิ่งรบกวนใจในระดับ Mystery นี้อยู่ด้วยกันทุกคน นี่จะผิดถูกอย่างไร ไปหาเอาเอง ไปพูดกันเอง ไปตกลงกันเอง อธิบายใจความให้มันเข้าใจแล้ว เขาก็รู้กันได้ แต่สำหรับในภาษาไทยเรานี้ มันใช้ไอ้คำว่าทุกข์นี่กันเสียจนชินแล้ว จนยากที่จะเปลี่ยนแปลง ดังนั้นขอให้ถือว่าในภาษาไทยเรานี้ ไม่ใช่ภาษาบาลี คำว่าความทุกข์นี้ใช้ได้หลายความหมายก็แล้วกัน หลายระดับก็แล้วกัน ความรู้สึกรบกวนใจที่ไม่ๆเป็นผาสุกก็เรียกว่า ความทุกข์
เราจงดูให้มองเห็นสิ่งนั้นที่มันมีอยู่ โดยดูตัวเราเองว่าเรารู้สึกว่าชีวิตนี้มันเป็นมิตร เป็นสหายกับเราอย่างถูกอกถูกใจอยู่ตลอดเวลาหรือไม่ ถ้ามันไม่ได้ให้ความพอใจ เป็นที่พอใจอยู่ตลอดเวลา ก็ต้องเรียกว่ามันมีอะไรอยู่บางอย่างนี่ที่มันจะต้องจัดการ นี่ให้มองเห็นว่าตามธรรมดาชีวิตของมนุษย์เรามันเป็นอย่างนี้ ต้องการชีวิตที่เกลี้ยง ไม่มีไอ้สิ่งขรุขระชนิดนี้ แล้วเป็นชีวิตเย็น เป็นชีวิตปรกติ นี่เราจะรู้จักกันหรือไม่
ผมชอบคำว่า ชีวิตปรกติ มันย่อมหมายถึงเกลี้ยง ถึงเย็น ถึงเบาสบาย ถึงอะไรหมดสิ้นเลย ใครจะชอบคำไหนก็ไปดูเอาเอง เราต้องการชีวิตชนิดหนึ่ง คือให้เวลามันประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกชนิดนั้น คือความมีจิตปรกติก็ได้ แต่คนคงจะไม่ค่อยชอบกันนัก เพราะว่าคำว่าปรกตินี่มันไม่ชวนให้รู้สึกว่ามีรสชาติอะไร ถ้าชีวิตเย็น ชีวิตอะไรยังๆจะสนใจกันมากกว่า แล้วรู้สึกว่าพวกฝรั่งนั้นเขาชอบคำอยู่คำหนึ่ง คือคำว่า Blissful Blissful ผมลองถามดูทีแล้ว ชอบกันทุกคนเลย ไอ้ Blissful life มันชอบกันทุกคนเลย แล้วก็ดูจะเป็นที่เข้าใจกันอยู่ทั่วไปอย่างกว้างขวาง ว่าธรรมะมันจะนำมาซึ่งไอ้ Blissful life นี้ เขาสนใจขึ้นมาทันที ทีนี้พวกเราจะเอาชีวิตชนิดไหนกัน ชีวิตเย็นก็ได้ ชาวบ้านเขาจะได้ฟังถูก ชีวิตเกลี้ยงก็ได้ ไม่สกปรกรกรุงรัง ไม่ขรุขระ ไม่กระทบกระทั่ง ชีวิตอิสระ ภาษานักการเมืองไปแล้ว ที่จริงมันก็ถูกอย่างยิ่ง เป็นอิสระจากการรบกวนของกิเลส นี่เป็นไอ้ความมุ่งหมายใหญ่ คือเป็นผลอานิสงส์อันใหญ่ที่มันครอบๆๆ ครอบคลุมอานิสงส์ทั้งหลาย เมื่อต้องการจะรู้ในรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น มันก็ต้องแยกออกเป็นชั้นๆอยู่ดี แยกออกเป็นชั้นๆ เป็นส่วนๆอยู่ดี ฉะนั้นก็ลองไปคิดดูกันเองบ้างสิ ผมก็นึกอยู่ เพราะมีหน้าที่อธิบายหรือสั่งสอน แต่มันๆอาจจะไม่ตรงกับที่คนอื่นๆเขารู้สึกอยู่ก็ได้ ฉะนั้นช่วยกันสังเกต สังเคราะห์ วิเคราะห์อะไรก็ไปตามเรื่องนะ ว่ามันควรจะมีคำพูดที่พูดไว้เป็นแบบฉบับอย่างไรบ้าง
ข้อแรก เราควรจะนึกถึงสิ่งจำเป็นที่มนุษย์จะต้องทำ คือการเลี้ยงชีวิต ไอ้การหาเลี้ยงชีวิต การดำรงชีวิต ข้อนี้มันหลีกไม่ได้ ทุกคนมันต้องทำ ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ คนเฒ่า คนแก่ หญิง ชาย มันต้องทำ ทีนี้ในการดำรงชีวิตนั้น หาเลี้ยงชีวิต หรือดำรงชีวิตนั้น มันจะต้องมีไอ้สิ่งที่ว่านั้นแหละที่เราเรียกว่า ความทุกข์ ในระดับใดระดับหนึ่ง ในการหาเลี้ยงชีวิตของคนทุกชนิด ทุกชั้น ทุกระดับ จะต้องประสบกับสิ่งที่ๆทำให้จิตใจไม่ผาสุก ลองไปถามดู คนไทยก็ดี ฝรั่งก็ดี เมื่อมันต้องทำหน้าที่เลี้ยงชีวิตอยู่นั้น ทุกอย่างมันราบรื่น เป็นไปตามความพอใจกันหรือไม่ มันก็เห็นๆอยู่ โดยธรรมชาติมันก็ไม่เป็นอย่างนั้น โดยธรรมชาติมันก็มีอะไรชนิดที่ไม่ตรงกับความต้องการของเรา หรือเมื่อเราต้อง เราจะทำอะไร มันก็ไม่มีอะไรที่ตรงตามความต้องการของเราเสมอไป แม้โดยธรรมชาติ คืออุปสรรคโดยธรรมชาติ ทีนี้มันยังมีอุปสรรคโดยมนุษย์ด้วยกัน เราอยู่ในสังคมมันก็มีมนุษย์ที่อยู่ด้วยกัน มนุษย์ที่อยู่ด้วยกันมันก็เป็นอุปสรรค เป็นคู่แข่งขัน เป็นคู่ขัดขวาง เป็นผู้ทำลายล้าง หรือบางทีมันก็แหย่เล่นสนุกๆก็มี สรุปความแล้วว่าเมื่อเราจะทำหน้าที่เลี้ยงชีวิต ดำรงชีวิตของเรา ย่อมประสบกับสิ่งที่รบกวนความรู้สึกไม่พึงปรารถนาอยู่ด้วยกันทุกคนใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นก็เราก็มีธรรมะ มีสิ่งที่เรียกว่าธรรมะมาเพื่อแก้ปัญหาข้อนี้ ข้อแรก ข้อที่ ๑ นี้ คือให้ปราศจากไอ้ความรู้สึกไม่สบาย ไม่สบายใจอย่างใดๆในการประกอบอาชีพ ดำรงชีวิต หาคำพูดให้สั้นที่สุดก็จะได้ว่า จะได้ๆคำพูดว่า จะหาเลี้ยงชีวิตอยู่อย่างผาสุก
ไอ้คำว่าผาสุกนี่เป็นคำที่ๆดีที่สุดในภาษาบาลี คือมันมีระดับต่ำลงมาจากคำว่า เป็นสุข และคำว่าผาสุกนี้มันค่อนข้างมาทางวัตถุ แต่ก็ไม่ใช่วัตถุล้วนๆ เพราะผาสุกมันรู้สึกได้ด้วยใจ ถ้าความถูกต้องทางวัตถุที่แวดล้อม ทางสังคมที่แวดล้อม มันมีความถูกต้อง ไม่ขัดขวางกันแล้ว เราก็ได้รับความผาสุก ผาสุกนี้เขียนตัว ก. สะกดนะ อย่าเอาตัว ข. ไปสะกดเข้า หาเลี้ยงชีวิตอยู่อย่างผาสุก นี่อานิสงส์ข้อแรกที่สุดที่จะได้รับจากธรรมะ เราก็มองข้าม ถึงฝรั่งมันก็มองข้าม แล้วมันเลยรู้สึกว่ามันไม่มีปัญหาอะไรเลยในการมีชีวิตอยู่ในโลก บางทีมันอาจจะเก่งมากจนถึงขนาดที่รู้สึกว่า ไอ้สิ่งอุปสรรคขัดขวางเล็กๆน้อยเหล่านี้ไม่เรียกว่าปัญหา กูไม่รู้ไม่ชี้กับมันก็แล้วกัน ก็ทำไปตามที่อยากจะทำ ไม่ๆหยิบขึ้นมาเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข แต่ผมมันมารู้สึกว่า นี่มันเป็นปัญหาที่รบกวนความผาสุกของเราในการประกอบอาชีพ ดังนั้นจึงยกขึ้นมาเป็นข้อแรกว่า เราจะมีชีวิตที่ผาสุก มีชีวิตที่ดำรงอยู่อย่างผาสุกในการดำรงชีวิต หมายถึงหาเลี้ยงปาก เลี้ยงท้อง กิน ใช้จ่ายอะไร ให้มันรอดตัวอยู่ได้นี่อย่างผาสุก และส่วนใหญ่มันก็จะไปอยู่ที่อาชีพที่แข่งขันกันเหลือประมาณนั่นแหละ เดี๋ยวนี้ไม่ว่าอาชีพอะไร อาชีพเบา อาชีพหนัก อาชีพอะไรก็ตาม มันมีแต่การแข่งขัน ทีนี้นอกจากมนุษย์ด้วยกันทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว ธรรมชาติมันก็เข้ามาแทรกแซงทำให้เกิดปัญหา อย่างที่คนเราโกรธฟ้า โกรธฝน ด่าเทวดา ฟ้า ฝนนี่ นั่นมันๆไม่ใช่ความสบายใจนะ ถ้าใครมันคลั่งขึ้นมาจนถึงกับด่าฟ้า ด่าฝน ด่าเทวดา ด่าไอ้ธรรมชาติที่ไม่เข้ารอยผสมโรงกับเขา ก็เรียกว่าความทุกข์ของเขาเหมือนกัน แล้วมันจะอยู่ที่ไหนในโลกนี้ ที่ว่ามันจะไม่ประสบไอ้อุปสรรคอย่างใดเลยจากธรรมชาติ อย่างเราอยู่ในป่านี่ยุงก็รบกวน หรืออะไรมันก็รบกวน ก็เรียกว่ามันเป็นปัญหาที่เราจะต้องขจัดออกไป ไม่ต้องรำคาญ แม้แต่รำคาญกับสิ่งเหล่านี้
เอาละสรุปความว่า จะเลี้ยงชีวิตอยู่อย่างผาสุก เพราะมีธรรมะ ทีนี้ลึกเข้าไปหน่อย ข้อๆถัดไป หรือข้อ ๒ นั้น จะพูดว่า เพื่อความมีอนามัยดี ทั้งทางกาย และทางจิต อนามัยนี้เขาพูดกันแต่เรื่องทางกาย กับทางจิต ไม่ๆค่อยจะเลยไปถึงทางวิญญาณ แต่ผมเห็นว่าพูดก็ได้ เพราะโรคนี่ยังมีโรคทางกาย โรคทางจิต โรคทางวิญญาณ โรคทางกายเกิดที่กาย โรคทางจิตเกิดที่ระบบของจิต ไอ้โรคทางวิญญาณเกิดที่ระบบสติปัญญา วิชาความรู้ ความเชื่อ ความอะไรต่างๆ อนามัยทางกายดี อนามัยทางจิตดี แล้วก็อนามัยทางสติปัญญาดี มันก็ยังพูดได้ แต่เขาไม่พูดกัน เราจะมีอนามัยดี คุณอย่าคิด เขลา ใช้คำว่าเขลาๆ แปลว่าหมอจะช่วยจัดการได้ หมอตามโรงพยาบาลจะช่วยจัดการได้ แก้ไขอนามัยให้ดี หรือเราปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของอนามัย ที่ทางการแพทย์เขาวางไว้ แล้วเราก็จะมีอนามัยทางร่างกายดี ผมไม่เห็นด้วย แม้อนามัยทางร่างกายนี้ต้องมาจากจิตที่ปรกติ จิตปรกติก็ทำให้เกิดความปรกติทางกาย เช่น ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัวนี้ ทำให้เกิดโรคทางกาย ทางฟิสิกส์นี้ได้มากทีเดียว หรือว่ากายภายนอกออกมาอีก อุบัติเหตุทั้งหลาย มันโง่จนเกิดอุบัติเหตุนี่ จิตมันไม่ปรกติ หรือมันจะเดินหกล้ม หรือมันจะทำมีดบาดมือนี่ มันมาแต่จิตไม่ปรกติ นี่เรียกว่า สุขภาพอนามัยทางกายมันก็ขึ้นอยู่กับเรื่องของจิต ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมะ ถ้ามีธรรมะแล้ว มันหมายถึงจิตปรกติ มันก็ควบคุมความปรกติทั้งหลายไว้ได้ ปรกติของจิต มันก็ปรกติของระบบประสาทออกมา แล้วมันก็ปรกติของระบบกายทุกส่วน แล้วมันก็ปรกติมาถึงระบบวัตถุที่มีอยู่ในบ้านเรือนอะไรต่างๆ กระทั่งบ้านเรือน ยานพาหนะ อะไรต่างๆมันก็ปรกติ มันก็ยากที่จะเกิดโรค
ถ้าจิตมันผิดปรกติ ระบบประสาทมันก็ผิดปรกติ เดี๋ยวมันก็นอนไม่หลับ เมื่อนอนไม่หลับเดี๋ยวก็ได้ๆโรคอะไรที่มันมากไปกว่านั้น เช่น โรคประสาท เป็นต้น เมื่อจิตผิดปรกติ มันสร้างความผิดปรกติในระบบร่างกาย ให้ช่วยจำไว้ด้วยว่าเมื่อจิตมันผิดปรกติแล้วมันจะสร้างไอ้ความผิดปรกติทางระบบกาย เดี๋ยวนี้พวกหมอทั้งหลายเขาก็ยอมรับกันแล้ว ว่าพอจิตมันมีอารมณ์แรง มี Emotion แรงอย่างนี้ ไอ้ร่างกายมันสร้างสารทางเคมีขึ้นมาได้ เป็นสารวัตถุทางเคมีขึ้นในโลหิต ขึ้นในระบบโลหิต ระบบเนื้อหนังอะไรต่างๆ ไอ้ระบบ ไอ้สิ่งเหล่านี้ มันทำลายๆ ทำอันตรายแก่ร่างกาย แก่โลหิต ดังนั้นคนเราก็เกิดโรคทางร่างกาย ที่เกิดมาจากอารมณ์ร้าย หรือจิตผิดปรกติ ถ้าจิตผิดปรกติ มันก็ไม่สร้างไอ้สิ่งเป็นพิษอะไรเหล่านี้ขึ้นมา มันก็ไม่ให้โอกาสแก่โรคที่จะเกิดขึ้นทางร่างกาย ในโลหิตก็ดี ในเนื้อหนังก็ดี มันมีจิตปรกติ มันจะป้องกันโรคภัยไข้เจ็บทางกาย ทางระบบประสาท แล้วก็ทางระบบจิตเอง แล้วก็เป็นปัจจัย เป็นอุปกรณ์แก่สติปัญญา แก่วิชาความรู้ คือ ระบบวิญญาณด้วย อย่างนี้เรียกว่ามีอนามัยดีเลิศ
อนามัย แปลว่า สิ่งหรือปัจจัยที่ป้องกันไอ้โรค ป้องกันความไข้เจ็บ นี่อนามัยทางกาย ทางวัตถุ ภายนอกตัวก็ดี อนามัยทางจิตก็ดี ทางระบบประสาทก็ดี ทางสติปัญญา มันเป็นประธานในส่วนลึกของชีวิตคนเรานี่ มันก็ดี พูดตามภาษาผมก็ว่า มีสุขภาพดี ทางวัตถุ ทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณ แต่คนที่เขาไม่ชอบพูด ไม่ชอบคำพูดอย่างนี้ก็มีอยู่มาก โดยเฉพาะคำว่าทางวิญญาณ ไม่ๆค่อยมีใครยอมรับ หรือเห็นด้วยกี่คน แต่เรายังยืนยันว่ามันมีอยู่จริงระบบหนึ่งเสมอ มันเป็นระบบสติปัญญา ความปรกติของระบบสติปัญญา ไม่วิปริตผิดพลาด
ธรรมะให้เกิดความปรกติ หรือความถูกต้องแก่อนามัย เขามีคำอีกคำหนึ่ง ใช้คำว่าสุขภาพ ความหมายเดียวๆได้ ไม่เอาคำว่าสุขภาพดีกว่า มันเป็นภาษาที่ผิด ถ้าผาสุขภาพยังจะค่อยๆถูก ยุ่งนักอย่าเอามันเลย ไอ้สุขภาพอะไรนี่อย่าเอา เอาคำว่าอนามัยก็พอแล้ว เขาจะมีอนามัยดีทางกาย ซึ่งรวมวัตถุไว้ด้วย ทางจิต ซึ่งรวมระบบประสาทไว้ด้วย แล้วก็ทางวิญญาณ ซึ่งหมายถึงสติปัญญา เรามีอนามัย เครื่องป้องกันโรค ครบถ้วนทุกประการ นี่คือสิ่งที่ ๒ ที่เราจะพึงๆได้จากธรรมะ ที่จริงพวกฝรั่งนี่แหละตัวขี้ขลาด พอมาพูดถึงความเสื่อมทางอนามัยแล้วมันกลัวกันมาก เขาเคยทำสถิติโหวตหาไอ้เสียงกันนี่ ผลปรากฏออกมาว่าคนเราสนใจเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องๆแรก เรื่องสำคัญ เพราะมันกลัวตาย พอรู้สึกว่าจะต้องผิด หรือเสียไปทางอนามัยแล้ว ก็หวั่นไหวมาก จะหวั่นไหวยิ่งกว่าทางการเงินหรือเศรษฐกิจเอาเสียอีก แต่พวกไทย คนไทยเราซึ่งล้าหลัง เป็นชาติด้อยพัฒนาตามที่เขาเรียก ไม่ค่อยสนใจเรื่องสุขภาพอนามัยกันนัก จึงอยู่ในสุขภาพอนามัยที่เลว ข้อ ๒ เพื่อมีสุข มีอนามัยดี
ทีนี้ข้อ๓ ซึ่งจะดูต่อไป มันจะป้องกันอารมณ์ร้ายที่เกิดขึ้นตามวิสัยปุถุชน ป้องกันอารมณ์ร้ายที่เกิดขึ้นตามวิสัยปุถุชน จะเรียกอะไรก็ไม่รู้ ผมเคยได้ยินคำว่า Bad tempered อยู่คำหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ไอ้ Bad tempered นี่ ที่เกิดอยู่ตามธรรมชาติของปุถุชนก็คือความนี่ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความวิตกกังวล อาลัย อาวรณ์ อิจฉา ริษยา หวง หึง เลยไปถึง ไอ้เรื่องที่เนื่องๆกัน ไม่เป็นสายยาวยืด อารมณ์ร้ายที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นธรรมดาของปุถุชน ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความวิตกกังวล อาลัย อาวรณ์ อิจฉา ริษยา หวง หึง คุณไปไล่เอาเอง จากความรู้สึกที่มันได้เกิดแล้ว เคยเกิดมาแล้วแก่เราจริงๆ ทุกคนนั้นในโลกนี้มันต้องรู้จัก หรือเคยเกิดสิ่งเหล่านี้มาแล้ว แต่ถ้ามันจะถือเสียว่าเป็นธรรมดา ไม่ใช่ปัญหา ก็ตามใจมัน เรียกว่ามันหยาบเต็มที แต่ว่าวิญญูชน หรือพุทธบริษัทนี้ จะไม่ถือว่าไอ้สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหา สิ่งเหล่านี้แหละคือปัญหาของชีวิต ฉะนั้นเราต้องการจะควบคุมมัน ไม่รู้สึกรัก โกรธ เกลียด กลัว เป็นต้น แล้วมันก็ไม่มีทางอื่นนอกจากความมีธรรมะ ศึกษาธรรมะ และปฏิบัติธรรมะให้เพียงพอ เราก็จะสามารถควบคุมอารมณ์ร้ายทั้งหลายเหล่านี้ได้ ไม่ใช่ว่าตัดขาดสิ้นเชิง สิ้นกิเกส สิ้นอาสวะ ก็ไม่ใช่ ไม่ถึงนั้น แต่ว่าเราควบคุมได้มากถ้ามีธรรมะ
ตามหลักธรรมะทั่วไปก็คือ มีสติ มีปัญญา มีสัมปชัญญะ ควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้ หรือนำออกเสียซึ่งสิ่งเหล่านี้ วิเนยฺย อภิชฺฌาโทมนสฺสํ โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ วิเนยฺย วิเนยฺย อภิชฺ โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ นำออกซึ่งความยินดียินร้ายในโลกเสียได้ อารมณ์ร้ายทั้งหลาย จะมีกี่ชื่อ กี่สิบชื่อ มันก็รวมอยู่ในคำว่า ยินดี ยินร้าย ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอาลัย อาวรณ์ วิตกกังวล อิจฉา ริษยา หึง หวง อะไรก็ตามนี่มันๆๆมันมาขึ้นอยู่กับไอ้ของ ๒ อย่าง คือ ความยินดี และความยินร้าย ถ้าไม่มีความยินดี ยินร้ายในสิ่งใดแล้ว ไอ้สิ่งเหล่านั้นเกิดไม่ได้ ฉะนั้นธรรมะของเราโดยตรง มันก็กำจัดสิ่งนี้อยู่โดยตรง ไปอ่านดูเรื่องสติปัฏฐานก็ดี อานาปานสติก็ดี จะมีประโยคที่สำคัญที่สุดอยู่ประโยคหนึ่ง คือ สโต สมฺปชาโน วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก นั่นในหมู่สัตว์โลก ที่มันมีอยู่ในสัตว์โลก ธรรมะก็คือฝึกให้มีสติ และสัมปชัญญะ อะไร มันมีอะไรบ้าง ฉะนั้นเรามีธรรมะตามแบบนั้น สโต จ สมฺปชาโน สติมาก็มี สโตก็มี สติมาก็มี ไม่ค่อยเหมือนกันบาลี เรามีสติและสัมปชัญญะ นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก นั่นคือนำความรู้สึกเลวร้ายต่าง ๆ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอาลัย อาวรณ์ ความวิตกกังวล ความอิจฉา ริษยา ความหวง ความหึง ซึ่งเป็นไอ้ความเข้มข้นของความหวง ล้วนมาแต่ความโง่ ความเขลา ยินดี ยินร้าย แล้วก็เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เป็นสมบัติของปุถุชน
ถ้าคุณยังเป็นบุถุชนแล้ว คุณๆดูให้ดีเถิดว่า นี่มันสมบัติของปุถุชน แม้ที่สุดแต่สิ่งที่มันไม่ควรจะมี เช่น ความอิจฉาริษยาอย่างนี้ ทำไมมันจึงมี เด็กทารกนั้นมันยังรู้จักอิจฉาริษยา เด็กทารกเล็กๆนั้นมันๆอิจฉาน้อง อิจฉาพี่ ริษยากันในระหว่างพี่น้องก็ได้ นี่มันเป็นสมบัติปุถุชนมากขนาดนี้ ถ้าหากว่าเราไม่มีความรู้สึก อารมณ์ร้าย เลวร้ายอย่างนี้ มันสบายไง ไม่ถูกรบกวนด้วยอารมณ์ร้ายเลวๆอย่างนี้ มันก็สบาย ยังไม่พอที่จะถือว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์คุ้มค่าของการมีธรรมะ
ทีนี้มันมีคำอีกคำหนึ่ง ซึ่งไม่รู้จะแปลภาษาไทย นี่คือถัดไปนะ เป็นเรื่องที่ ๔ วียะสนา ไวยะสนา (นาทีที่ 33:51) ผมก็ไม่รู้จะแปลว่าอะไร เคยแปลกันว่า ความๆวิบัติ ไอ้ความวิบัติ ต้องไปถามไอ้คนที่รู้บาลีจริงจังดูก่อน จะแปลภาษาไทยว่าอะไรดี ไอ้ความวิบัติ แต่ว่ามันไม่ใช่วิบัติชนิดใหญ่โตมโหฬารอะไร เช่น เงินหาย เงินหรืออะไรที่เรารักใคร่ พอใจ เงินหาย แหวนเพชรหาย อะไรหาย ผัวตาย เมียตาย แม่ตาย เงินหาย ชนิดที่ว่าพอรู้ พอรู้ข่าวเท่านั้น ก็ใจหายวูบ ไอ้นี่ไม่ๆๆๆๆได้มาเป็นประจำหรอก มันมาเป็นคราวๆ แต่ถ้ามาเมื่อไรแล้วก็ใจมันหายวูบ มันจะร้องไห้ก็มี มันจะเป็นลมช็อกไปเลยก็มี อะไร เรียกว่าวียะสนา (นาทีที่ 35:16) ความวิบัติที่ๆกระโจนเข้ามาอย่างผลุนผลัน รู้จักกันดี เชื่อว่ารู้จักกันดี อาการเหล่านี้
ถ้าไม่มีธรรมะ มันจะถึงกับว่าเป็นลม ที่เรียกว่าช็อก อย่างภาพข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ผัวมันถูกฆ่าตายอยู่ที่ไหน พอเมียมันตามไปเห็น ไปพบ มันก็เป็นลมสลบไปนี้ เพราะมันไม่มีธรรมะ เพราะมันไม่ได้ศึกษาธรรมะ ว่าสิ่งเหล่านี้จะต้องมี และมีเป็นธรรมดา หรือเป็นเช่นนั้นเอง แต่ถ้าเรามันมีการศึกษาธรรมะเพียงพอ มีคุณธรรมเพียงพอ มันไม่เป็นถึงอย่างนั้น มันเห็นเป็นเช่นนั้นเอง หรือเป็นธรรมดาอยู่มาก ได้รับข่าวตายของคนรัก หรือของบิดา มารดา หรือของใครก็ตาม เราจะไม่ถึงกับว่าต้องเป็นลม หรือช็อก หรือว่าทำอะไรไม่ถูก ไม่ใช่ว่าเราจะไม่รักคนเหล่านั้น ไม่ใช่ว่าเราเป็นคนเนรคุณ หรือขบถต่อคนเหล่านั้น แต่ว่ามันมีธรรมะนี่ มันมีธรรมะ มันช่วยให้ไม่ต้องถึงกับเป็นลม ไม่ถึงกับร้องไห้ หรือทำอะไรๆที่เลวร้ายมากไปกว่านั้น ความที่ไอ้มีสิ่งเหล่านี้ คือมีความวิบัติกะทันหันนี่ มา เข้ามาถึง ถ้าไม่มีธรรมะก็น่าสงสารจริงเหมือนกัน คุณไปสังเกตดู มันร้องห่มร้องไห้ มันจะฆ่าตัวตาย มันอะไรกันมากมาย ถ้าเรามีธรรมะ มันก็ปรกติได้ ถ้ามันมีธรรมะมากกว่านั้น มันอาจจะเฉย หรืออาจจะยิ้มได้ก็ได้ คือยิ้มในข้อที่ว่า อ้าว,ความจริงมาแสดงให้เห็นแล้ว มันจริงเหมือนที่ๆๆท่านว่า หรือมันจริงเหมือนที่เราเคยศึกษา เคยคิดนึกรู้สึก อย่างนี้มันยิ้มได้ ยิ้ม เพราะว่ามันจริงตามที่เราได้คิดนึกศึกษาอยู่ ก็ไม่เป็นความทุกข์
มีคนๆหนึ่ง จะเรียกคนบ้า หรือคนดีอะไรก็ไม่ทราบ เขาเป็นทนายความ เป็นนักเลงชนไก่ เขาไปชนไก่ที่เกาะสมุย เมื่อไฟไหม้บ้านดอนคราวใหญ่นั้น พอกลับมาจากเกาะสมุย บ้านของเขาเหลือแต่ขี้เถ้า คนที่เขาเห็นหลายคนก็บอกว่า ไอ้นายคนนี้มันตบมือโห่ร้องใหญ่เลย กระโดดโลดเต้นเลย นี่มันน่าจะเกิน เกินไปกว่าที่เราต้องการ เราเอาแต่เพียงปรกติก็พอแล้ว แต่นี่มันถึงกับโห่ร้อง กระโดดโลดเต้น ก็แล้วไม่มีความวิบัติใดๆกะทันหัน ทำให้คนมีธรรมะมีความทุกข์ได้ อุบัติเหตุทั้งหลายมันก็รวมอยู่ในข้อนี้ แต่เดี๋ยวนี้อยากจะแยกอุบัติเหตุนี้ออกไปเป็นอีกข้อหนึ่ง คือจะไม่สร้างอุบัติเหตุ ไอ้คนที่มีธรรมะนั้นจะไม่สร้างอุบัติเหตุให้เกิดขึ้น อุบัติเหตุมันเป็นสิ่งที่เกิดจากความสะเพร่าทั้งนั้นแหละ เกิดจากความโง่ ความหลง ความอวดดี ความสะเพร่า คนมีธรรมะจะไม่สร้างอุบัติเหตุใดๆ หรือแม้อุบัติเหตุใดๆที่มันเกิดขึ้น และมาถึงเข้า มันก็ไม่มี ไม่มีความหมาย ไม่กระทบจิตใจ อุบัติเหตุบนท้องถนน หรือบนบ้านเรือน หรืออะไรก็ตาม เขาจะไม่สร้างขึ้น เขาจะไม่เป็นผู้สร้างขึ้น เพราะเขารอบคอบ ละเอียด สุขุม หรือแม้อุบัติเหตุใดๆมันจะเกิดขึ้น ก็ไม่ทำให้เขารู้สึกเป็นของแปลก สำหรับปุถุชนคนธรรมดา คนโง่ คนเขลา คนพาลนี่ อุบัติเหตุมีได้มาก มีได้มาก นับตั้งแต่ทำมือ ทำมีดบาดมือ เดินสะดุดหกล้ม ทำถ้วยชามตกแตก นี่มันก็เป็นเรื่องเดียวๆกันแหละ ความไม่สุขุมรอบคอบ ความไม่มีสติสัมปชัญญะ ทีนี้มันก็ไป ลุกลามไปถึงเรื่องใหญ่โต ถึงกับเป็น กับตาย วินาศ ฉิบหายกันทั้งบ้านทั้งเมืองได้ ความสะเพร่าของคนเพียงคนเดียว ทำให้เกิดความวินาศของบ้านเมืองทั้งบ้านทั้งเมืองได้ นี่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ความสะเพร่า ความอวดดี ความโง่ สร้างอุบัติเหตุ คนที่มีธรรมะนี่สร้างไม่ได้
ทีนี้ก็เหตุการณ์ในโลก ความผันผวนในโลก ที่มันๆไม่ตรงกับความต้องการของใคร ความผันผวนในโลก เช่นควันหลงของสงคราม ปฏิกิริยานานาชนิดที่เกิดมาจากสงคราม ไม่รู้สิ้นสุด เรามักจะน้อยใจว่าเราไม่มีส่วนเลย เราไม่มีส่วนสร้างสงคราม เราไม่มีส่วนทำอะไรในสิ่งเหล่านั้น แต่สิ่งเหล่านั้นก็ยังมีผลกระทบมาถึงเรา กระท้อนมาถึงเรา แม้ว่าเรื่องเศรษฐกิจของโลก การเมืองของโลก อะไรของโลก ซึ่งเราก็ไม่ได้มีส่วนเข้าไปสร้างมัน มันก็ยังมากระทบเรา เรียกว่าความผันผวนในโลก ความผันผวนของเหตุการณ์ในโลกไม่ครอบงำเรา มันจะรู้ จะรู้จริงกัน หรือว่าเป็นการสอบไล่ให้รู้จริงกัน และก็ต่อเมื่อไร ไอ้ๆๆระเบิดปรมาณูนี่ลงมา เราจะหวั่นไหว หรือไม่หวั่นไหว เพียงแต่เกิดสงครามธรรมดา มันอพยพกันเกือบเป็นเกือบตาย น่าสงสาร เมื่อสงครามที่แล้วๆ ที่แล้วมานี่ ครั้งหลังนี่ มีคนทนทุกข์ทรมาน อพยพ จากบ้าน จากเรือน ความผันผวนของเหตุการณ์ในโลก ทำให้คนเป็นทุกข์ปางตาย เจียนตาย เป็นโรคประสาทไปก็มาก แต่แล้วมันก็ไม่ได้มากมาย ในเหตุการณ์แท้จริงไม่ได้มากมายอะไร แต่ความกลัวนั้นมีแก่ทุกคน แล้วกลัวอย่างมากมาย ท่วมหู ท่วมหัว แล้วกลัวกันทุกคน ในบ้าน ในเมือง หรือในโลก เรียกว่ามันกลัวเสียเปล่าๆ กลัวปลี้ๆ กลัวเกินความจริง เลยเดือดร้อนกัน เพราะความผันผวนในโลก มันเป็นไปในทางร้ายนะ คุณจะไม่เตรียมตัวไว้บ้างหรือ ถ้ามันจะเกิดสงครามขึ้นมาอีก เราจะตกใจ จะเดือดร้อนใจ ขวัญหนีดีฝ่อกันถึงขนาดนั้นหรือไม่
ถ้ากลัวก็รีบศึกษาธรรมะ เรื่องสุญญตา เรื่องตถาตา เรื่องอนัตตา ไว้ให้เพียงพอ มันจะเป็นของธรรมดา เพราะว่าเมื่อไม่กลัวตายอย่างเดียวแล้วก็มันก็จะกลัวอะไรกันอีก แต่ว่าการที่เราไม่กลัวตายนั้นไม่ใช่เราจะ จะแร่ จะเร่เข้าไปหาความตาย ไม่ใช่ว่าเราอยากตาย หรือไม่ป้องกันความตาย ถ้าว่าเราจะป้องกัน หรือหลบหลีกความตาย เราก็ทำอย่างไม่กลัว
พูดแล้วมันไม่มีใคร ไม่มีใครเชื่อ จะหลีก จะหลีกหนีสิ่งที่น่ากลัวโดยไม่กลัว บางคนก็จะคิดว่า ทำไม่ได้ๆ ยกตัวอย่าง สมมติว่าเสือมันไล่กัดเรา เราจะวิ่งหนีเสือโดยไม่ต้องกลัวได้ไหม คุณคิดว่าได้ไหม วิ่งหนีเสือเต็มเหนี่ยวโดยไม่ต้องกลัว ถ้าทำได้มันก็ดี นั่นคือความไม่กลัว ถ้ากลัวมันๆจะวิ่งไหวหรือ ผมคิดว่าจะวิ่งไม่ไหวนะ ถ้ามันมีความกลัวเต็มที่เสียแล้วมันจะก้าวขาไม่ออกก็ได้ ดังนั้นเราจะไม่กลัว ไม่ต้องกลัว แล้ววิ่งหนีอย่างดีเสียด้วย เพราะเราไม่กลัวนี่ ถ้าว่ากลัวแล้วจะๆขึ้นต้นไม้หนีเสือไหวที่ไหนถ้ากลัว มันต้องมีส่วนที่ไม่กลัวเหลืออยู่ มันจึงจะรู้จักปืนต้นไม้ถูกวิธีขึ้นไปได้ แล้วความกลัวมันก็ไม่มีประโยชน์ มันก็มีแต่โทษโดยส่วนเดียว นี่เรียกว่าเราไม่กลัวความผันผวนในโลกที่มันจะเกิด ที่มันเกิดอยู่ทั่วๆไป เมื่อไรก็ได้ เรียกว่าไม่กลัว เหมือนกับที่เขากลัวกันอย่างน่าสงสาร มันจะหนีสงคราม จะหนีภัยสงคราม จะย้ายอพยพอะไรก็ๆทำได้ ถ้ามันควรทำ มันมีเหตุผล แต่อย่ากลัวดีกว่า จะไปๆๆโดยไม่ต้องกลัว เพราะว่ากลัวนี้มันเป็นทุกข์เหลือประมาณ มันจะไม่มีเรี่ยวมีแรงที่จะเดิน หรือทำได้ไม่ดี เพราะฉะนั้นไม่กลัวดีกว่า แล้วก็แก้ปัญหาไปได้ ไม่ใช่ว่าไม่กลัวแล้วมันจะไม่ทำอะไร มันกลับทำอะไรได้ดีกว่า เพราะมันไม่กลัว เพราะมันไม่ๆเสียสติสัมปชัญญะ เพราะจิตมันไม่ฟุ้งซ่าน ธรรมะมันเข้ามาช่วยประคับประคองจิต
นี่เป็นเรื่องที่เห็นได้ เป็นเรื่องไม่ๆลึกซึ้งอะไรที่ทุกคนเห็นได้ เพราะมันมีอยู่จริง ในฐานะเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา ทั้งที่ออกชื่อมาแล้ว ๖ อย่าง สิ่งไม่พึงปรารถนาเหล่านี้ ทำอะไรเราไม่ได้ ถ้าเรามีธรรมะเป็นเครื่องป้องกันตัว เป็นที่หลบหลีก เป็นที่ซ่อนเร้น มีธรรมะเป็นที่หลบหลีก มีธรรมะเป็นที่ซ่อนเร้น มีธรรมะเป็นเครื่องป้องกันตัว และสิ่งเลวร้ายเหล่านี้จะไม่กระทบเราได้ ใครจะเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระก็ตามใจ ผมมองเห็นอย่างนี้
ทีนี้ที่เหลือก็จะพูดในชั้นที่มันละเอียด ประณีตไปกว่าที่พูดมาแล้ว คือความรู้สึกของชีวิตในส่วนลึกที่ละเอียด มันเหมือนกับซ่อนอยู่ แต่ที่จริงมันก็ไม่ได้ซ่อนอยู่ แต่เพราะเรามันหยาบคาย เรามันเป็นคนโง่ เป็นคนหยาบคาย เป็นคนสะเพร่า มันจึงมองไม่ค่อยเห็นสิ่งเหล่านี้ ตามวิสัยของๆคนหยาบคาย ของคนโง่ คือเราจะสังเกตดูว่ามันมีความรู้สึกต้องการ หรืออยากได้อะไรที่ตัวว่าควรจะได้ หรือมันดีที่สุดที่ควรจะได้ มันต้องการสิ่งนั้นอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าเป็นความหิวอยู่ในวิญญาณของสัตว์ เป็นความหิว เป็นความต้องการอันละเอียดลึกซึ้ง ซ่อนเร้นอยู่ในวิญญาณของสัตว์ ความหิวของชีวิตนี่ ดูให้ดีเถิดมันมี คือเขาอยากจะได้อะไรอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ อย่างที่เป็นกึ่งสำนึก กึ่งสำนึกดีกว่า คือมันไม่เต็มขนาดจิตสำนึก มันกึ่งสำนึก แต่มันก็มีความรู้สึกว่าเราอยากอะไรอยู่ แล้วแต่ว่าเราศึกษามาอย่างไร เราก็จะรู้สึกเท่าที่เราได้ศึกษามา ว่าเราอยากอะไร เราควรจะได้อะไร ที่เขามักจะสอนเด็กให้ถือว่าชีวิตนี้อยู่ด้วยความหวัง เขาสอนให้เด็กหวัง สอนให้เด็กมีหวัง หรือมันไปเอาอย่างฝรั่งมา ผมว่าเป็นเรื่องที่บ้าที่สุด ที่สอนให้เด็กๆมีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง มันเป็นเครื่องทรมานจิตใจ เราไม่สอนใครให้อยู่กันด้วยความหวัง แต่สอนให้อยู่ด้วยสติปัญญา มีความรู้อย่างถูกต้อง มีชีวิตอยู่ด้วยความหวังนั้นเหมือนกับตกนรกนิด น้อยๆอยู่ตลอดเวลา แล้วมันก็หวังจริงเหมือนกัน ปุถุชนคนธรรมดานั้นมันก็หวังอยู่แล้วโดยความโง่ของมันเอง ของเด็กทารกนั้น ยิ่งไปสอน ส่งเสริมให้มันหวังมากขึ้นไปอีก มันก็หวังมากขึ้นไปอีกเกินกว่าธรรมดา จนชีวิตนี้มันอยู่ด้วยความหวังเสียจริงๆ นี่เป็นการตกนรกแห่งความหวังอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้ไม่ใช่หลักการของพุทธบริษัท พุทธบริษัทจะถือว่าความโง่ที่สุดนะ ถ้าสอนให้มีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง มันไม่เข้ากับคำว่า พุทธะ พุทธะแปลว่าผู้ตื่น ผู้รู้ ผู้เบิกบาน เราต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความรู้ หรือสติปัญญา หรือตื่นอยู่ ไม่หลับ ชีวิตอยู่ด้วยความหวัง มันคือตกนรก เพราะว่ามันผิดหวังอยู่ตลอดเวลา พอเราหวังอะไรมันก็คือความผิดหวังเกิดขึ้นมาทันที คือยังไม่ได้ตามหวัง มันก็ตกนรกเสียเปล่าๆ
เราไม่อยู่ด้วยความหวัง แต่เราอยู่ด้วยสติปัญญาว่าควรจะทำอย่างไร นับมาตั้งแต่ต้นก็ว่าเราควรจะได้อะไร ควรจะมีอะไรนี่ เรามีสติปัญญารู้ว่าเราควรจะมีอะไร ควรจะได้อะไร แล้วเราก็ทำไปเพื่อให้มีอันนั้น ให้ได้อันนั้นโดยไม่ต้องหวังนี่ โดยไม่ต้องสร้างความหวังขึ้นมาให้ผิดหวังแล้วก็ทรมานหัวใจนี่ เรารู้อยู่ดีว่า เราควรจะต้องการอะไร แล้วก็ดำเนินไปๆด้วยสติปัญญา แล้วมันก็จะได้ตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องหวัง นี่คุณจะเชื่อไอ้คำสอนมาจากเมืองนอก ที่เขาถือกันว่าชั้นเลิศ หรือจะเชื่อคำสอนของพระโง่อยู่ตามป่า ตามหลักของพุทธศาสนา ตามหลักของพุทธศาสนาว่าอย่ามีความหวัง อย่าให้ชีวิตมันอยู่ด้วยความหวัง ให้มันอยู่ด้วยสติปัญญา มันไม่ยากเย็นลึกซึ้งอะไรที่จะมองเห็นว่า พอหวังมันก็ผิดหวัง มันก็อยากได้วิมานในอากาศ มันก็ มันก็ผิดหวังทันทีถ้าไปหวัง แล้วมันต้องรอไปอีกนานกว่าจะได้ตามที่หวัง แล้วคนที่หวังนี่มักจะเป็นคนปั่นป่วน เป็นคนฟุ้งซ่าน มันยากที่จะได้สมหวัง
ถ้าอย่าหวังแล้วก็พอกพูนสติปัญญาอยู่เรื่อย แล้วก็ทำไปเรื่อยๆ มันจะได้ตามหวัง นี่ธรรมะช่วยได้สูงสุดอย่างนี้ ธรรมะช่วยได้ว่าให้เรามีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องทรมานด้วยความหวัง ความหวังก็คือความอยากที่ติดต่อกันเรื่อยไม่ขาดสาย นั่นคือความหวัง ไอ้ความต้องการที่มันติดต่อกันเรื่อยไม่ขาดสาย เขาเรียกว่าความหวัง มีชีวิตอยู่ด้วยความหวังก็คือตกนรกทั้งเป็นอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ยากที่จะได้สมหวัง เพราะมันฟุ้งซ่าน มันทรมานอยู่ตลอดเวลา เมื่อมาอยู่ในจิตใจที่เกลี้ยง อยู่ด้วยสติปัญญาของพุทธบริษัท แล้วก็ดำเนินไปๆตามสติปัญญา ต้องการอะไรก็จะได้สิ่งนั้น เราไม่ใช้คำว่าความหวัง เราใช้คำว่าต้องการด้วยสติปัญญา ภาษาบาลีเขาแยกกันเด็ดขาดเลย ไอ้ความหวังนั้นเป็นเรื่องบ้าๆบอๆ เรื่องกิเลส แต่ต้องการด้วยสติปัญญานั้นมันคือธรรมะ ที่พระพุทธเจ้าทรงยืนยันเรียกว่า สมฺมาสงฺกปฺโป สมฺมาสงฺกปฺโป มีความต้องการที่ถูกต้องด้วยสติปัญญา คือ สมฺมาทิฏฺฐิ นี่เรามีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ แต่ก็เจริญก้าวหน้าเรื่อยๆหมือนกัน นี่ประโยชน์ หรืออานิสงส์ของธรรมะ ที่พวกฝรั่งไม่ๆรู้จัก ผมนี่มันๆๆเป็นโรคๆไม่ชอบฝรั่งมานานนักหนาขึ้นสมองเหมือนกัน เพราะคุยกันทีไรมันๆๆคุยกันไม่ได้ มันพูดกันไม่รู้เรื่อง เขาไม่มีปัญหา เขาไม่มีอะไร
เราเป็นพุทธบริษัท มีธรรมะ เครื่องตื่นอยู่ คือไม่หลับ อย่างพุทธบริษัท และชีวิตนี้ก็จะไม่มีความหิวด้วยความหวังอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะเราควบคุมไว้ได้ ถ้าเมื่อถึงที่สุดมันหมดเกลี้ยง หมดสิ้นรากเหง้าแล้ว ก็จะเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์คือผู้หมดหวัง เด็กๆไม่ชอบ พระอรหันต์คือผู้สิ้นหวัง เด็กๆก็ยิ่งไม่ชอบ ยิ่งไม่อยากเป็นพระอรหันต์ เพราะเด็กๆมันถูกสั่งสอนมาให้บูชาความหวัง ให้มีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง พระอรหันต์เป็นผู้ที่สิ้นสุดแห่งความหวัง ไม่หวังอะไร แล้วหมดหวังเพราะท่านไม่หวังอะไร นี่เรายังไม่เป็นพระอรหันต์ อยู่เป็นธรรมดาปรกตินี้ไปก่อน จนมีปฏิปทาอย่างนั้น คือมีชีวิตอยู่ด้วยความลืมหูลืมตา มีสติปัญญาแจ่มใส สดใส อยู่ด้วยสติปัญญา ไม่อยู่ด้วยความหวัง ข้อนี้เรียกว่ามีชีวิตที่ไม่หิว มีชีวิตที่ไม่หิวอยู่ตลอดเวลา หรือว่ามีชีวิตที่อิ่มอยู่ตลอดเวลา
ทีนี้ที่ละเอียดลงไปอีกก็เราจะเรียกว่า ชีวิตที่ไม่มีอะไรกระทบกระทั่ง ถ้าเราโง่ ถ้าเรามีอวิชชา มีกิเลสตัณหา มีอะไรก็ตาม สิ่งเหล่านั้นแหละมันกระทบกระทั่ง เหมือนกับถูกสับ ถูกโขก ถูกตบอยู่ด้วยสิ่งเหล่านั้น เรียกว่ามีการกระทบกระทั่ง ไม่มีธรรมะก็เผลอสติ เมื่อมีสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เกิดกิเลสอย่างหนึ่ง หรือครั้งหนึ่งเสมอ ก็ถูกกิเลสนั่นแหละ เหมือนกับกัดเอาบ้าง ตีเอาบ้าง ตบเอาบ้าง เผาลนเอาบ้าง เป็นชีวิตที่ถูกกระทำ กระทบกระทั่งอยู่เสมอไป บางทีก็ละเอียดมากจนมองไม่ค่อยเห็น แต่บางทีมันก็หยาบ มองเห็นได้ง่าย ได้ถนัด ว่าไอ้ชีวิตนี้มันถูกกระทบกระทั่ง เจ็บปวดรวดร้าว แม้เราไม่รู้สึกถูกกระทบกระทั่ง เจ็บปวดรวดร้าว มันมีการกระทบกระทั่งละเอียดที่มองไม่ค่อยเห็นอยู่เป็นปรกติเสมอ เป็นชีวิตที่ถูกตบ ถูกตี ถูกกระทำให้กระเด็นกระดอนอยู่เสมอ ถ้ามีธรรมะมันจะไม่เป็นอย่างนั้น
ทีนี้เราจะพูดอย่างง่ายๆที่คนทั้งหลายเข้าใจก็คือ ชีวิตเย็น เราจะมีชีวิตที่เย็นอยู่เสมอ จะเรียกว่าเบาด้วยก็ได้ ชีวิตนี้มันไม่เป็นความหนักแก่เรา แล้วชีวิตนี้ไม่เป็นความร้อนแก่เรา เพราะมีธรรมะเข้าไปอยู่ในนั้น ไม่เกิดกิเลสที่เป็นความร้อน หรือไม่เกิดอุปาทานที่เป็นความหนัก ชีวิตนี้ก็เป็นชีวิตเบา กับเป็นชีวิตเย็น เพราะมีธรรมะ มันไม่มีกังวล เป็นชีวิตที่ไม่มีกังวล อยากจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เป็นชีวิตที่ไม่มีกังวล คำพูดนี้มันสำหรับพระอรหันต์ แต่ว่าถ้าเราจะไปรอต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วจะได้ประโยชน์อะไร เดี๋ยวนี้เราไม่ๆ เราก็ทนทรมาน ตายแล้ว ตายอีก ไอ้สุดท้ายปลายทางมันไปเป็นเรื่องของพระอรหันต์ แต่เมื่อยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ขอให้ได้รับประโยชน์ไปตามแบบนั้น ไปตามทางนั้น พระอรหันต์ไม่มีกังวล สิ้นสุดแห่งกังวล แต่ปุถุชนกำลังเดินตามท่าน ฉะนั้นธรรมะจะช่วยให้เรามีชีวิตที่ไม่มีกังวล หรือมีกังวลน้อย เรากล้าพูดว่าไม่มีกังวลเหมือนพระอรหันต์ แต่ว่าของเรามันชั่วคราว และของเราต้องคอยควบคุมอยู่เสมอ ชีวิตของพระอรหันต์ไม่มีกิเลส ไม่มีอะไรก็ตาม รวมทั้งไม่มีกังวลนี้ด้วย ท่านไม่ต้องควบคุม เพราะสิ่งเหล่านั้นมันขาดไป สูญไปแล้ว ไม่ๆมาเกิดขึ้นรบกวน เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ต้องควบคุม นี่เรา เมื่อต้องการจะไม่มีสิ่งเหล่านั้น ไม่ต้องการจะมีกังวล เราต้องควบคุม ฉะนั้นเราจะต้องมีสติสัมปชัญญะควบคุมอยู่ พระอรหันต์ท่านมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์แล้วโดยไม่ต้องควบคุม มันก็ต่างกันอยู่ ไม่ถึงกับว่าอวด อวดว่าทำตัวเทียมกับพระอรหันต์ เราเป็นผู้ที่ควบคุมความทุกข์อยู่ เราก็ไม่มีความทุกข์ พระอรหันต์ท่านหมดเหตุปัจจัยแห่งความทุกข์ ท่านก็ไม่มีความทุกข์ ก็ไม่มีความทุกข์เหมือนกัน แต่มันต่างกันอยู่ในส่วนที่เป็นเหตุปัจจัย หรือเรียกว่าส่วนลึก ธรรมดาเรากังวลอะไรกันล่ะคนเรา คุณๆลองคิดดู มันมีกังวลอยู่ ๒ ขั้นตอน กังวลที่จะได้สิ่งที่ยังไม่ได้ และกังวลสิ่งที่ได้มาแล้ว นี่เรียกว่ามันโง่ทั้งขึ้นทั้งล่อง
ไอ้สิ่งที่ยังไม่ได้ มันก็คอยกังวลอยู่ว่าจะได้ ครั้นได้มาแล้ว มันก็กังวลว่า มันจะหายไป มันจะหมดสิ้น หรือมันจะสูญหายไป เหมือนว่าเราไม่มีเงิน เรากังวลที่จะได้เงินมา กังวลในสิ่งที่ยังไม่ได้ ครั้นได้มาแล้วก็กังวลว่า มันจะสูญหายไป มันจะถูกขโมย หรือมันจะสิ้นสุดไป ก็มีกังวล อย่างซื้อล็อตเตอรี่ ก็กังวลว่ามันจะถูก กังวลเมื่อยังไม่ได้ ครั้นได้มาแล้ว มันก็กังวลว่า มันจะสูญหายไป มันจะถูกโกงไป หรือทำผิดพลาดอย่างไร นี่เป็นตัวอย่างของสิ่งที่เรียกว่าความกังวล เป็นสมบัติของปุถุชน คนหนา คนโง่ คนที่มันสะสมไว้ด้วยกิเลส ชีวิตของเขาอยู่ด้วยกังวล รบกวนจิตใจอยู่เสมอ
ถ้ามีธรรมะ มีสติปัญญา มันรู้จักตัวสิ่งเหล่านี้ มันก็ไม่ต้องกังวล เช่นเดียวกับข้อที่ว่ามันหิวอยู่เสมอ เป็นชีวิตหิว นี่มันเป็นชีวิตกังวล มันคนละความหมายกับหิว มันกว้างกว่าความหิว แล้วก็มันทำอันตรายเนือยๆ หนักๆ กว้างๆ กว่าสิ่งที่เรียกว่าความหิว เรารู้ธรรมะพอที่จะป้องกันไม่ให้กังวลมันเกิดขึ้นมา มันก็สติสัมปชัญญะอีกนั่นเอง มันเรื่องด้วยกัน มีสติสัมปชัญญะอยู่ ไม่ๆให้เกิดความยึดถือในสิ่งใด ถ้าอยากหวังในอนาคต คิดดูเถิดมันจะสบายสักเท่าไร ชีวิตที่ไม่มีกังวลอะไรเลยนั้น มันสบายสักเท่าไร แล้วใครกำลังเป็นอย่างนั้นได้ ทุกคนมันหิวที่จะดี จะเด่น จะดัง แล้วมันกังวลไอ้เรื่องที่มันจะได้ดี ได้เด่น ได้ดัง มันกังวลที่จะสร้างชื่อเสียง มันกังวลที่จะทำอะไรที่มันหวังอยู่นั้น แม้ว่ามันจะไม่ๆหลงใหลในวัตถุ แต่มันก็หลงใหลในสิ่งที่มิใช่วัตถุ เช่น เกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นต้น ความดี ความไอ้เด่น ความดัง อะไรต่างๆมันก็มีอยู่ในจิตใจ เป็นของหนักที่ทับกดจิตใจอยู่ นี่เขาเรียกชีวิตที่มันกังวล
ทีนี้ก็จะมองอีกทีหนึ่งว่าชีวิตที่สงสัย คนมันมีอวิชชามันก็ไม่รู้สิ่งทั้งปวง แล้วมันก็อยู่ด้วยความไม่รู้ มันก็คือสงสัย มีความสงสัยในเรื่องที่จะได้มา มีความสงสัยในเรื่องที่จะสูญเสียไป มีความสงสัยซึ่งมันละเอียดมาก พระอรหันต์เท่านั้นที่หมดความสงสัย เพราะท่านไม่ต้องการอะไร เมื่อเรายังมีความต้องการอะไรอยู่ หรือยึดมั่น ถือมั่นอะไรอยู่ เราต้องมีความสงสัยแง่ใด แง่หนึ่งอยู่เสมอ สงสัยว่าจะทำอย่างไร สงสัยว่าควรจะทำอย่างไรจึงจะได้มา โดยมากมันสงสัยว่าอย่างไร อย่างไรเสมอ ทำอย่างไรนี่เป็นความสงสัยอยู่เสมอ ความสงสัยมันก็เป็นกิเลสอันหนึ่ง ซึ่งมันกัดกินชีวิต หรือวิญญาณด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าสงสัยแล้วมันเลิกกัน สงสัยแล้วไม่ได้มันก็เลิกกัน มันไม่เลิกกัน มันมารบกวนอีก มันมารบกวนอยู่ตลอดเวลา ยิ่งเป็นคนคิดเก่ง ไอ้ความสงสัยมันก็ยิ่งมีมาก ฉะนั้นคนฉลาดจะต้องทนทุกข์มากกว่าคนโง่ เพราะคนโง่มันสงสัยไม่ค่อยจะเป็น คนฉลาดมันสงสัยเก่ง ฉะนั้นมันจึงทนทุกข์เพราะความสงสัยได้มากกว่ากัน
สิ่งที่เราหวัง และอยากจะได้ แล้วมันยังไม่ได้ มันก็เลยสร้างความสงสัยอยู่เรื่อยไปว่าจะทำอย่างไร ถ้ามากกว่านั้น มันสงสัยเผื่อไว้ในสิ่งที่มันยังไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย มันก็สงสัยไว้ล่วงหน้า อย่างเช่นว่าเราควรจะทำอะไรให้ดีที่สุด แล้วชีวิตนี้มันจะดีที่สุดได้อย่างไร มันก็ยังสงสัยอยู่ แม้รู้แล้วมันก็ยังสงสัยอยู่ว่าทำอย่างไรจึงจะได้มานี่ ฉะนั้นความสงสัยนั้นคุณดูให้ดีเถิด มันเป็นผีชนิดหนึ่ง ซึ่งเห็นยาก เข้าใจยาก แล้วก็เบียดเบียนอยู่อย่างละเอียดๆสุขมที่สุดเลย คนเรามีชีวิตแห่งความสงสัย ทนทุกข์ทรมาน เป็นนรกที่สนุก ตกแล้วเพลิน ถ้าจะพ้นเสียจากชีวิตแห่งความสงสัยก็ต้องเอาธรรมะเข้ามา มันไม่มีอะไรเหลือไว้เป็นเครื่องรบกวน
ทีนี้พูดถึงข้อสุดท้ายว่า ธรรมะนี้มันจะยุติๆ คือทำให้เกิดความรู้สึกว่าเราได้ทุกสิ่งทุกอย่างแล้วที่เราควรจะได้ เดี๋ยวนี้คนธรรมดาเขาไม่รู้สึกว่าเราได้ๆสิ่งที่เราควรจะได้แล้ว เขาไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ควรจะได้ แล้วเขายังไม่รู้ว่าจะต้องการ จะต้องได้อะไรด้วยซ้ำไป ความรู้สึกที่ยุติลงไปว่าเราได้รับสิ่งที่ควรจะต้องการแล้วนี้ มีไม่ได้แก่คนธรรมดาสามัญ แต่ถ้าเขารู้ธรรมะถึงขนาดของธรรมะแล้ว เขาจะรู้ว่าเราได้แล้วซึ่งสิ่งที่เราควรจะได้ แล้วก็ยุติ จบเรื่อง เป็นๆชีวิตที่จบ เป็นชีวิตที่หยุดๆ หรือจบ เพราะรู้ว่าได้รับสิ่งที่ควรจะได้รับแล้ว ก็ธรรมะนั่นแหละมันเป็นสิ่งที่ควรจะมี หรือควรจะได้ เดี๋ยวนี้เมื่อได้ธรรมะแล้วมันก็รู้สึกว่า อ้าว, มันได้แล้วๆได้สิ่งที่ควรจะได้ และก็พอใจด้วย นี่จบ จุดจบ จุดหมายปลายทาง จึงเรียกว่าไอ้จุดปลายทาง จุดมุ่งหมายปลายทางของชีวิต คือการได้ความรู้สึกว่า เราได้สิ่งที่ควร ที่มนุษย์ควรจะได้แล้ว ไม่ได้ ไม่ต้องการอะไรอีกต่อไป นั่นแหละมันจะสบายเท่าไร จะเป็นชีวิตเยือกเย็นเท่าไร ชีวิตอิ่มสักเท่าไร ชีวิตเบาสักเท่าไร ไม่มีภาระ ไม่มีของหนักที่แบกไว้เลย ชีวิตมันจบลงด้วยความรู้สึกว่า มันได้สิ่งที่มันควรจะได้แล้ว นี่เท่าที่ผมนึกได้นะ และเท่าที่ผมเห็นว่าควรจะเอามาพูดกัน เป็นตัวอย่างนี่ ๑๒-๑๓ หัวข้ออย่างนี้ แต่แล้วเชื่อว่ามันยังมีอีกมาก ถ้าเราจะสอดส่ายดูให้ดี ก็ยังจะพบแง่เงื่อนอีกมาก เอามาพูดได้มากกว่านี้ไม่รู้จักจบก็ยังได้ เพราะธรรมะมันกว้างขวางเหลือประมาณ
นี่จบกันทีว่ามันจะทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาในความรู้สึก ว่าเราได้สิ่งที่ควรจะได้แล้ว นี่การปฏิบัติธรรมะมันก็มีข้อความคล้ายๆอย่างนี้ ให้ได้บรรลุถึงสิ่งที่ควรจะบรรลุแล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อไปเพื่อผลที่ต้องบรรลุนั้นไม่มีอีกแล้วๆ เพราะเราได้รับสิ่งที่ควรจะได้รับแล้ว ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกต่อไปเพื่อให้ได้รับสิ่งใดอีก เขาเรียกว่าจบพรหมจรรย์แห่งชีวิต ชีวิตที่มันจบ ชีวิต มันไม่ๆมีอะไรที่จะต้องทำเพื่อให้เป็นผลดีอะไรอีกต่อไปแล้ว นี่มันไม่ใช่เรื่องปรัชญาเพ้อเจ้อ และมันก็ไม่ใช่เรื่องที่คำนวณโดยๆๆวิธีคำนวณ มันเป็นสิ่งที่ต้องเห็นอยู่จริง รู้สึกอยู่จริง เป็นลักษณะเฉพาะของพระธรรมแห่งพระพุทธศาสนานี้ นั่นคือคุณบทที่ว่า สันทิฏฐิโก สันทิฏฐิโก สิ่งเหล่านี้เห็นด้วยตนเอง ประจักษ์ด้วยตนเอง แล้วจึงจะเห็นว่าธรรมะนี้เป็นอย่างไร ถ้าไม่เห็นด้วยตนเองก็ยังไม่ใช่ธรรมะนี้ ยังไม่ใช่ธรรมะที่ผมกำลังพูด หรือเสนอให้ๆศึกษา
อย่าลืมว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นต้องเป็นสันทิฏฐิโก คือเห็นแจ้งลงไปได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องคาดคะเน ไม่ต้องคำนวณ ไม่ต้องใช้เหตุผล และไม่ต้องคิด เช่นอย่างใช้เหตุผล มันต้องเป็นสิ่งที่มองเห็นชัด เหมือนกับเราเอาของมาใส่มือ ฝ่ามือ ใส่ฝ่ามือแล้วดู นั่นสันทิฏฐิโก ชีวิตผิดเป็นอย่างไร ชีวิตถูกต้องเป็นอย่างไร แล้วก็ปฏิบัติไปตามนั้นให้มันถึงที่สุด เดี๋ยวนี้มันเพียงแต่ว่าไม่ถึงที่สุด ปุถุชนก็ปฏิบัติอย่างเดียวกับพระอรหันต์ พระอรหันต์ก็ปฏิบัติอย่างเดียวกับปุถุชน คือจะดับทุกข์ทั้งหลายเสีย เพียงแต่ว่าเดี๋ยวนี้มันอยู่กันคนละระดับ พระ พระอรหันต์ท่านไปไกลถึงปลายทางแล้ว เรายังอยู่ที่ต้นทาง อยู่ที่กลางทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นฆราวาสมันก็มีเรื่องมาก ฆราวาสมีเรื่องมาก เหมือนคนแบกหามอีรุงตุงนังเดินไปนี่ มันเดินช้ากว่าคนที่เขาไม่มีอะไรถือ หรือแบกหาม เขาเดินตัวเปล่า นี่อีกคนหนึ่งมันหาบบ้าน หาบเรือน หาบอะไรไปหมด แล้วมันจะเดินได้เร็วยังไง แต่มันก็ต้องเดินทางนั้นแหละ มันไม่มีทางอื่น เพราะว่าทางที่ดับทุกข์มันมีแต่ทางนั้น คือทางของธรรมะที่แสดงไว้แล้วอย่างไร อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรจะเป็นทางดับทุกข์เสียได้ มันมีแต่ทางนั้น ไม่มีโลกียะ ไม่มีโลกุตตระ ถ้าสอนให้ไปจมอยู่ในโลก เป็นโลกียะแล้วไม่ๆใช่พุทธศาสนา พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ไปจมอยู่ในโลก ไปฝากติดไว้กับโลก ที่เขาเรียกว่าโลกียะ แต่ว่าภาษาพูดในฝ่ายอภิธรรม เขามีนะ โลกิยา ธมฺมา โลกุตฺตรา ธมฺมา ผมว่านี่ไม่ใช่พุทธภาษิตแน่ จะไปติดอยู่ในโลกมันมีไม่ได้หรอก ไม่ถูก ไม่ควรแน่ มีแต่เรื่องให้ออกไปจากโลก แล้วทุกคนก็เตรียมออกไปจากโลก ว่าเดินออกไปจากโลก เป็นฆราวาสก็เดินช้าหน่อย เป็นนักบวชก็เดินได้เร็วหน่อย แต่มันเดินทางเดียวกันนั่นแหละ คือทางแห่งอัฏฐังคิกมรรคด้วยกันทั้งนั้น
เอาล่ะ เป็นอันว่าผมได้พูดธรรมปริทัศน์โดยพื้นฐานอีกข้อหนึ่งว่า เราจะต้องมองเห็นว่าเราจะได้อะไรจากธรรมะ เราควรจะได้อะไรจากธรรมะ หรือสิ่งสูงสุด เปรียบเสมือนพระเจ้านั้น แล้วเราก็จะแก้ปัญหาที่น่าละอายของเราได้ คือ เห่อๆมาบวช ตามๆกันไป เห่อๆมาศึกษาธรรมะ ตามๆกันไป เดี๋ยวนี้จะไม่มีอาการอย่างนั้นแล้ว มีหูตาอันสว่างแจ่มใส เห็นชัดอยู่ว่าธรรมะทำไมกัน ธรรมะทำไมกัน ทำอย่างไร ไปทางไหนนี่ มันก็รู้ดี นี่ประโยชน์ของธรรมะ ซึ่งเมื่อใครมองเห็นแล้ว มันจะเป็นสันทิฏฐิโก เชื่อได้ด้วยตนเอง เชื่อตนเอง โอ้, ประโยชน์นี้มันมหาศาลโว้ย ไม่มีประโยชน์อะไรจะมหาศาลเท่านี้ เท่าที่รู้ธรรมะ เท่าที่มีธรรมะนี้ ไม่มีประโยชน์อะไรจะดีเท่า จะประเสริฐเท่า ฉะนั้นขอให้ทุกคนแจ่มแจ้งประจักษ์ในความจริงข้อนี้ ความจริงเหล่านี้ แล้วศึกษาธรรมะให้เจริญงอกงาม ก้าวหน้าไปตามทางแห่งธรรมะ ตลอดทุกทิพาราตรีกาลเทอญ การบรรยายสมควรแก่เวลาแล้ว ยุติที