แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านนักศึกษาทั้งหลาย เราจะพูดกันอย่างเพื่อนสหธรรมิก ในหนังสือที่ผมได้รับจากเลขาธิการนั้นว่าให้พูดตามที่เห็นสมควรว่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านนักศึกษาทั้งหลาย ผมก็จะถือเอาตามนั้น คือตามที่จะนึกเห็นว่าจะเป็นประโยชน์และก็เท่าที่จะนึกได้ ไม่ใช่มันจะครบถ้วนไปเสียทั้งหมดทุกเรื่อง แต่เท่าที่จะนึกได้นี่ก็เข้าใจว่าคงจะมีเรื่องพอสมควร พูดกันอย่างสหธรรมิก นี่มันหมายความว่า เป็นเพื่อนร่วมงานกันเพื่อสนองพระพุทธประสงค์สหธรรมิก ในความหมายอื่นก็ตามใจ มันก็มีอีกหลายความหมาย แต่นี้เราถือเอาความหมายสหธรรมิกในฐานะเพื่อนร่วมงานกันเพื่อสนองพระพุทธประสงค์ พระพุทธประสงค์มีอยู่อย่างไร เข้าใจว่าคงจะเป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วไม่น้อย อย่างน้อยก็รู้ว่าพระพุทธประสงค์นั้นไม่มีเพื่อให้เราต่างคนต่างแสวงหาประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อตน เพราะท่านพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า ตถาคตเกิดขึ้นในโลกก็ดี ธรรมวินัยของตถาคตเกิดขึ้นในโลกก็ดี การที่จะช่วยกันสืบอายุธรรมวินัยไว้ก็ดี ล้วนแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ นี่เป็นหลักหรือเป็นใจความสำคัญที่สรุปพระพุทธประสงค์ แต่มันก็มีโชคดีอยู่ที่ว่าเราจะทำประโยชน์ส่วนตน พร้อมกันไปได้กับการสนองพระพุทธประสงค์ถ้าเราฉลาดพอ คือถ้าเราเห็นแก่ตัว เราก็จะทำแต่ชนิดที่เป็นประโยชน์ตัว ไม่ได้สนองพุทธประสงค์ คือเพื่อประโยชน์เกื้อกูลมหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์
สำหรับคำว่าเทวดาและมนุษย์ ที่เราควรจะเข้าใจ ก็คือสมัยนี้มันก็มีคนอยู่ ๒ จำพวก คือ จำพวกที่ไม่มีปัญหาเรื่องปากเรื่องท้อง ไม่รู้จักเหงื่อหรือจะชี้ระบุไปยังประเทศที่มากไปด้วยพัฒนา หรือเต็มเปี่ยมไปด้วยพัฒนาทั้งหลายในโลก ส่วนมนุษย์นั้น มันยังไม่หลุดพ้นจากปัญหาเหล่านี้ไปได้ มันยังต้องมีปัญหาเกี่ยวกับปากเกี่ยวกับท้อง ยังต้องรู้จักเหงื่อยังต้องอาบเหงื่อ ไม่ต้องนึกถึงมนุษย์หรือเทวดาในความหมายที่พูดๆ กันโดยทั่วๆ ไป ซึ่งเทวดาอยู่ที่ไหนไม่รู้ เมื่อเราถือเอาโดยหลักเกณฑ์อันนี้ ไอ้พวกเทวดาก็อยู่ต่อหน้าเรานั่นเอง คือพวกที่ไม่มีปัญหาเรื่องปากเรื่องท้องและก็ไม่รู้จักเหงื่อ แต่แล้วก็จะต้องถือเอาใจความสำคัญให้ได้ว่า ทั้งเทวดาและมนุษย์ยังมีปัญหา คือยังมีความทุกข์ในบางอย่างเสมอกันอยู่ ไม่ใช่ว่ามันหมดปัญหาเรื่องปากเรื่องท้องแล้วมันจะหมดปัญหาทั้งปวง ปัญหาที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นมันก็มีอยู่ คือเรื่องความทุกข์ ในทางจิตใจ เกี่ยวกับกิเลสบ้าง เกี่ยวกับความเกิดแก่เจ็บตายบ้าง แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือปัญหาของความเห็นแก่ตัว คนที่เจริญแล้วมีอำนาจมีอิทธิพลอะไรต่างๆ เมื่อเขาเห็นแก่ตัวขึ้นมาเขาก็ทำสิ่งที่เป็นความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น หรือผู้ที่ด้อยกว่า ปัญหามันก็ยังมีด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ผู้ที่ไปข่มเหงเขาเบียดเบียนเขา มันก็มีปัญหาชนิดหนึ่ง ผู้ที่ถูกข่มเหงถูกเบียดเบียน ก็มีปัญหาชนิดหนึ่ง มันก็ยังมีปัญหาในระหว่างเทวดากับมนุษย์อยู่นั่นเอง ดังนั้นเรามาช่วยกันนึกถึงเรื่องนี้ว่าจะสนองพระพุทธประสงค์ ด้วยการทำให้ธรรมวินัยนี้แพร่หลายไปเพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ ตัวหนังสือมันก็แปลกอยู่นะ พวกเราเรียนบาลีกันมาแล้วทั้งนั้น ทำไมท่านใช้คำว่ามหาชน เมื่อพูดถึงทั้งเทวดาและมนุษย์ มันใช้คำว่า มหาชน ไปดูสิ ดูตัวบาลี แก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ ก็หมายความว่า ไอ้เทวดามันก็รวมอยู่ในมหาชน ผมจึงถือเอาความหมายว่าไอ้เทวดาก็คือมหาชนส่วนหนึ่ง ที่มันไม่รู้จักเหงื่อ ที่มันไม่มีปัญหาเรื่องปากเรื่องท้องนั่นเอง เอาเป็นว่าปัญหาของเรามีอยู่ในโลกมหาชน โลกประชาชน โลกมนุษย์นี้ก็แล้วกัน มองเห็นใจความสำคัญก็คือว่า ทั้งเทวดาและมนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันได้โดยผาสุก อย่าให้เทวดาถือโอกาสเอาเปรียบแก่พวกมนุษย์ได้ เพราะเป็นมหาชนที่อยู่ร่วมโลกกัน ทีนี้เราแต่ละคนมันก็รวมอยู่ในกลุ่มนั้นแหละ ในมหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ ถึงแม้จะเป็นพระหรือเป็นฆราวาสก็ไม่สำคัญอะไร มันก็รวมอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าทั้งเทวดาและมนุษย์ แต่เรามันมีแปลกออกไปอีกส่วนหนึ่งก็คือ เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าที่จริงเราก็ไม่มีปัญหาเรื่องปากเรื่องท้องและก็ไม่ค่อยรู้จักเหงื่ออยู่มากเหมือนกันนะ พระเณรเรานี่ โดยภาวะความเป็นอยู่มันจะสงเคราะห์อยู่ในพวกเทวดาเสียมากกว่า แต่เราก็ยังมีปัญหาร่วมกันที่จะทำให้หมดปัญหาโดยประการทั้งปวง เดี๋ยวนี้เราที่เป็นบรรพชิตนี่ก็รับภาระหน้าที่อันนี้ ซึ่งควรจะรับภาระอันนี้โดยสมัครใจเรียกว่าโดยหน้าชื่นตาบาน และก็เท่ากันๆ มันก็เกิดเป็นสหธรรมิกขึ้นมา เป็นผู้ประพฤติธรรมร่วมกันในการที่จะสนองพระพุทธประสงค์ที่จะทำให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ ถ้าเรายึดถืออุดมคตินี้เป็นหลัก เรื่องที่จะพูดกันมันก็ง่ายนะ ผมรู้สึกว่ามันง่าย แต่ถ้าไม่ยึดถืออุดมคติอันนี้ คือเช่น ไม่ได้เป็นสหธรรมิตรร่วมกัน ต่างคนต่างมีอะไรเป็นที่หวังของตนแล้วมันก็พูดยาก และก็ไม่อาจจะพูดด้วยซ้ำไป
ทีนี้ก็ข้อถัดไปก็คือว่าเราเป็นนักศึกษา ที่จริงไอ้คำนี้มันควรจะกว้าง จนถึงกับพูดได้ว่าทุกคนเป็นนักศึกษา ถ้ามันเกิดมาเป็นคนมีชีวิตอยู่ในโลกนี้แล้ว มันต้องเป็นนักศึกษากันทั้งนั้นแหละ ไม่เช่นนั้นมันตายหมดล่ะ มันต้องศึกษาตามสมควรและตามที่จำเป็น เพื่อชีวิตรอดและก็เพื่อเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ทำไมมาเรียกนักศึกษาซึ่งมีไม่กี่คน และก็อยู่ในสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัย คิดดูเถอะว่าการเรียกนักศึกษาเฉพาะผู้ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยนี่มันโง่หรือฉลาดกี่มากน้อย ผมว่าไม่ถูกหรอก ทุกคนที่มันมีชีวิตมันเป็นนักศึกษาด้วยกันทั้งหมด มิฉะนั้นก็ต้องยกให้ว่ามันเป็นคำพูดเฉพาะ บัญญัติขึ้นใช้เฉพาะ นักศึกษาบางพวกอยู่แต่ในมหาวิทยาลัย ขอให้ทราบความมุ่งหมายที่ผมจะพูดสำหรับนักศึกษา คือนักศึกษาทุกคนในโลกที่ต้องศึกษาเพื่อประโยชน์อันสูงสุดของตนเอง คำว่าศึกษา ศึกษานี่ให้ความหมายกันไว้อย่างน่าสงสาร คือเป็นเรื่องเรียนในโรงเรียนเสียมากกว่า ไม่ได้หมายถึงเรียนชีวิตจิตใจ นักศึกษาที่แท้จริงต้องเรียนเข้าไปที่ตัวชีวิตจิตใจ เอาชีวิตนั่นแหละเป็นบทศึกษาเป็นบทเรียนสำหรับศึกษาจึงจะเป็นการศึกษาที่สมบูรณ์ เอาตามตัวบาลีกันบ้างก็น่าจะดีนะ ศึกษา ในสันสกฤต ก็เรียก สิกขา ในภาษาบาลี เอาตามที่ว่าความรู้ในเด็กๆ ในห้องเรียนไวยากรณ์มันจะอำนวยให้ได้ เอาคำว่า สะ กับคำว่า อิกขะ มาบวกกันเข้า อิกขะ อิกขะก็แปลว่า เห็น ทีนี้ สะ กับ อิกขะ บวกกันเข้าแล้วจะเอาความว่าอย่างไร ถ้า สะ มันถอดรูปเป็น สย (สะ-ยะ) แปลว่า เอง มันก็ต้องศึกษาด้วยตนเอง หรือ สก (สะ-กะ) มันก็ของตนเอง หรือ สห (สะ-หะ) มันก็ด้วยกัน มันหมายความว่าต้องทำด้วยตนเอง แปลว่ามันก็ต้องร่วมกัน หรือว่าจะร่วมกันของสิ่งสำหรับศึกษาหลายๆ สิ่งก็ได้ ไม่เฉพาะแต่ว่าบุคคลหลายๆ คน สะ ศึกษาด้วยตนเอง ด้วยเรื่องของตนเอง ครบถ้วนด้วยเรื่องที่ควรจะศึกษา เดี๋ยวนี้เรามันทำกันถึงขนาดนั้นหรือเปล่า มันมีแต่ว่าจะต้องไปเอาไอ้สิ่งที่คนแต่ก่อนเขาเขียนไว้เขาบันทึกไว้แล้วมาศึกษา มาท่องจำ มาว่าไปตามนั้น จนกลายเป็นทาสของปัญญาของคนเหล่านั้นไปโดยไม่รู้สึกตัว อย่างนี้ผมเห็นว่าไม่น่าชื่นใจหรอก ศึกษากันด้วยรูปนี้ มันต้องศึกษาเข้าไปที่ตัวเองของเอง รวมกันทุกเรื่องที่มีอยู่ในตัวเองที่จะต้องศึกษาร่วมกันหมด ให้เรามันรู้จนแก้ปัญหาได้จริงแก้ปัญหาได้จริง เดี๋ยวนี้เราเอาแต่เพียงสอบไล่ได้ประกาศนีย-บัตรได้ปริญญามันก็พอแล้ว การที่จะแก้ปัญหาได้จริงไม่รู้อยู่ที่ไหน เพราะมุ่งหมายแต่เพียงสอบไล่ได้ และก็ไปหาโอกาสประกอบอาชีพอย่างอื่นไป ซึ่งอาจจะลืมอุดมคติของพระพุทธเจ้า ที่ว่าประโยชน์แก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ก็ได้ แต่โดยเหตุที่ผมเชื่อว่ามันทำพร้อมกันไปได้ทั้ง ๒ อย่างนะ ขอให้พิจารณาดูกันใหม่ให้ได้ทำกันพร้อมกันไปทั้ง ๒ อย่าง แม้ว่าเราจะมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของตัวเองเป็นพื้นฐาน มันก็ยังไม่ขัดข้องอะไรกันกับการที่จะทำให้เพื่อประโยชน์แก่มหาชน ทั้งเทวดาและมนุษย์ด้วย นี้ก็ได้บุญได้กุศลเพิ่มเติมขึ้นมหาศาลและมันจะสนับสนุนซึ่งกันและกันนะ ถ้าเราคิดแคบๆ เพื่อเราคนเดียวมันก็เรียนน้อย สังเกตน้อย ศึกษาน้อย ขวนขวายน้อยกว่า ขวนขวายน้อยกว่า ถ้าตั้งใจจะศึกษาเพื่อประโยชน์แก่มหาชน แก่ผู้อื่นน่ะ มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ มันก็ตั้งวงของการศึกษาไว้กว้างกว่า นี่ขอให้สำนึกไว้เสมอว่าเป็นพุทธประสงค์
อ้าว,ทีนี้เราก็มาดูถึงการศึกษาในโลก ทั้งโลกดีกว่า เขาก็จัดการศึกษากันทั้งนั้น ประเทศที่เจริญก้าวหน้าใหญ่โตเป็นประเทศนำในโลกนี้ เขาก็จัดการศึกษา ประเทศเล็กๆ เด็กๆ อย่างเราก็จัดการศึกษา และเท่าที่เห็นกันอยู่ ประเทศเล็กๆ อย่างเราก็ไปรับเอาระบบการศึกษาของประเทศมหาอำนาจนั้นแหละมาเป็นหลัก และก็ศึกษาไปตามนั้น พูดอย่างภาษาธรรมดาก็คือว่า ไปตามก้นไอ้พวกเหล่านั้นในระบบของการศึกษา นี่มันก็เกิดปัญหาขึ้นว่าเราจะทำให้สำเร็จประโยชน์ทั้ง ๒ อย่างได้หรือไม่ คือทั้งประโยชน์ส่วนตัวของเราและประโยชน์ส่วนรวมของเพื่อนมนุษย์ ถ้ามันได้มันก็ดี มันก็ดี ก็หมายความว่าประเทศมหาอำนาจที่เขาจัดการศึกษานำหน้าไปน่ะ เขาทำได้อย่างนั้น นี่เราไปรับเอามามันก็ไม่เสียหายอะไร แต่ถ้าเรื่องมันเป็นไปอย่างอื่นเล่า นี่ควรจะพิจารณา ตามความรู้สึกของผมซึ่งจะผิดหรือถูกก็ไม่แน่ แต่ตามความรู้สึกของผมเห็นว่า ประเทศเราด้อยพัฒนา ยังไม่ได้รับอะไรที่ควรจะได้รับอยู่มาก เพราะว่ายังขาดอยู่ ยังมีอะไรที่ยังขาดอยู่ที่เราไม่ได้รับอยู่มาก เราจึงยังเป็นประเทศด้อยพัฒนา ที่นี้พวกมหาประเทศ อภิมหาประเทศ ที่เขาเรียกตัวเองว่า เขาเต็มพัฒนา คือไม่ใช่ด้อยพัฒนา เพราะเขาอยู่ในสภาพที่มันตรงกันข้ามกับเรา ดังนั้นเขาก็จัดการศึกษาของเขาอย่างประเทศที่เต็มพัฒนา เขาคงไม่บ้าพอที่จะมาจัดการศึกษาเพื่อประโยชน์แก่พวกที่ด้อยพัฒนา เขาก็ต้องจัดการศึกษาชนิดที่เหมาะแก่ประเทศของเขาที่เต็มพัฒนาจนเกินพัฒนา สรุปให้มันสั้นที่สุดมันก็จะได้ความว่า เราต้องจัดการศึกษาเพื่อให้ได้สิ่งที่เรายังขาดอยู่ ในฐานะเป็นประเทศด้อยพัฒนา ก็ศึกษาให้มันได้สิ่งที่เรายังขาดอยู่ ส่วนเขาประเทศเต็มพัฒนาแล้วเขาก็จัดการศึกษาเพื่อให้ได้ส่วนเฟ้อหรือส่วนเกินยิ่งๆขึ้นไปสำหรับเขา ดูมันจะคนละทิศคนละทางเสียแล้ว เราจัดการศึกษาเพื่อให้ได้ส่วนที่เรายังขาดอยู่ เขาจัดการศึกษาเพื่อให้เขาได้ส่วนเกินที่เฟ้อยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะเขาไม่มีอะไรขาดนี่ ถ้าเขามีอะไรขาดก็คือขาดส่วนเกินนั่นเอง แล้วการศึกษามันจะเป็นรูปเดียวกันได้อย่างไร นี่แหละพวกเราประเทศด้อยพัฒนาควรจะสำนึกให้ดีว่าเราจะใช้ระบบการศึกษาอย่างเดียวกับเขาได้หรือไม่ ที่จะไปรับระบบการศึกษาของเขามาใช้กับเรานี่ มันจะเป็นเรื่องหลับหูหลับตาหรือไม่ ก็ควรจะคิดดูให้ดีๆ เดี๋ยวนี้ปัญหามันมีอยู่นี่ การศึกษาในวัดก็ดีนอกวัดก็ดี มันกำลังที่จะตามประเทศพัฒนากันทั้งนั้น มหาวิทยาลัยสงฆ์ของเราก็ไปรับไอ้หลักสูตรของตะวันตกมา เพื่อจะเรียนให้ทันเขา เรียกว่าตามก้นเขาก็ได้ มันเป็นความจริงอย่างนั้น มันก็มีปัญหาว่าจะได้อะไรมา หรือว่าเราจะรักษาไอ้เกียรติของเราไว้ได้อย่างไรในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท ประเทศด้อยพัฒนาไปรับระบบการศึกษาของประเทศที่เฟ้อพัฒนามา มันจะต้องเหมือนกันไม่ได้หรอก ยกตัวอย่างว่า ถ้าเขาเรียนวิชาประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ก็สุดแท้ เขาก็ต้องเรียนเพื่อค้นหาไอ้ส่วนที่เขาจะได้ส่วนเกินของประเทศเต็มพัฒนา นี้ถ้าเราจะเรียนประวัติศาสตร์เรียนมนุษยวิทยาอะไรบ้าง เราก็ต้องเรียนเพื่อให้พบส่วนที่เราจะได้ส่วนขาดของเราในฐานะที่เราด้อยพัฒนา นี่ว่าเราจะเอาเรื่องเดียวกัน เอาเรื่องเดียวกันมาเรียน มันก็ยังต้องเรียนคนละอย่าง เราจะเรียนประวัติศาสตร์โลก เพื่อรู้เรื่องศีลธรรม เพื่อรู้เรื่องภาวะของมนุษย์ ที่จะแก้ปัญหาตามแบบของประเทศด้อยพัฒนา ทีนี้ประเทศอภิมหาอำนาจนั้น มันไม่ได้เรียนเพื่อรู้เรื่องศีลธรรม เพื่อมีศีลธรรม เพื่อแก้ปัญหาของประเทศด้อยพัฒนา มันก็เรียนเพื่อจะเหนือคนอื่นยิ่งๆ ขึ้นไป จะครอบงำโลกเสียทั้งโลก นี่เราเรียนตำราเล่มเดียวกัน ตำราวิชาแขนงไหนก็ตามเถอะที่เอามาเรียนกันในมหาวิทยาลัย ในความมุ่งหมายมันก็ยังคงเดินคนละทางอยู่อย่างนี้ แล้วเราจะรับประโยชน์อะไร นี่ถ้าว่าเรามองในทางที่เราจะสนองพระพุทธประสงค์แล้วดูจะยังห่างไกล เว้นเสียแต่ว่าเราจะเรียนเพื่อรับปริญญาอย่างที่พวกฝรั่งเขามีเขาก็ทำกันอยู่ละมันก็ได้ ถ้าเพียงเท่านั้นมันก็ได้ ถ้ากลัวว่าจะไม่สนองพระพุทธประสงค์ คือ มันจะไม่ตรงกับเรื่องของเราที่จะช่วยกันแก้ปัญหาของมหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์
พูดเรื่องนี้กันอีกสักหน่อยก็ได้ว่า พวกฝรั่งน่ะเขาจัดการศึกษามากมายมหาศาล และก็ไม่ ไม่แก้ปัญหาเรื่องเทวดาและมนุษย์ได้ คือไม่แก้ปัญหาระหว่างคนยากจนกับคนมั่งมีได้ เขาจะเขียนตำรับตำราขึ้นมาอย่างไรเท่าไร มันก็เป็นแต่ตัวหนังสือไปทั้งนั้น มันยังไม่เคยแก้ได้ ตำราสุดท้ายของ “มาร์ก” เนี่ย มันก็ยังเป็นหมันอยู่นั่นแหละ มันก็แก้ปัญหาของโลกนี้ซึ่งมีคน ๒ พวก คือเทวดาและมนุษย์ หรือคนมั่งมีกับคนยากจน ไม่ได้อยู่นั่นเอง แต่เขาก็ทำไปเพื่อประโยชน์อย่างอื่น โดยเฉพาะก็เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติของเขา หรือที่เขารับผิดชอบ หรือที่เขาเกี่ยวข้องอยู่ เขาก็ต้องทำไป ก็ทำให้เกิดความปั่นป่วนอย่างที่เห็นๆกันอยู่ ไม่มีทางที่จะมีสันติภาพเลย นี่เราจะสำนึกจะวางตัวของเราอย่างไรเพื่อให้การศึกษามันถูกฝาถูกตัว เมื่อพวกอภิมหาอำนาจเต็มพัฒนา มันจัดการศึกษาเพื่อเขา “อภิ” ยิ่งๆ ขึ้นไป ไอ้เรามันทำไม่ได้ เราก็จัดได้แต่ที่จะทำส่วนที่ยังแหว่งอยู่ขาดอยู่ให้เต็ม ไม่ต้องพูดถึงอภิยิ่งเกินนะ เรามองดูส่วนนี้กันบ้าง ถ้าจะเห็นแก่ส่วนรวม เห็นแก่ส่วนรวม คือเห็นแก่ประเทศชาติหรือประเทศชาติที่ด้อยพัฒนาด้วยกันซึ่งมีอยู่มากในโลกนี้ ถ้าเราทำได้เราก็ควรจะมีหลักสูตรของเราเองที่เหมาะสมที่สุดกับประเทศด้อยพัฒนา จึงหวังว่าผู้มีปัญญาหรือที่เรียกว่า นักศึกษา จะมองกันในแง่นี้ ก็จะสอดส่องกันให้ครบว่าอะไรจะเหมาะสำหรับเรา อะไรจะเหมาะสำหรับพวกเรา อะไรจะเหมาะสำหรับประเทศชาติของเรา ระบบการศึกษาชนิดไหน ถ้าทำได้ละก็วิเศษ คือมันจะอยู่เหนือข้อที่จะถูกกล่าวหาตำหนิติเตียนว่าทำไปเพื่อเห็นแก่ตัว ทำไปเพื่อประโยชน์แก่ตัว เรียนเพื่อเอาประกาศนียบัตร เพื่อประโยชน์ของตัวในวงแคบ ไม่ได้เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ แม้ว่าเราจะมองกันแคบๆ แต่ภายในประเทศไทยอย่างเดียว มันก็มีลักษณะเป็นเทวดาและมนุษย์กันอยู่มากเหมือนกัน ในประเทศไทยมีคนที่เป็นเทวดาไปแล้วมันก็จำนวนหนึ่งเหมือนกัน แม้จะไม่มาก แต่ที่ยังเป็นมนุษย์จะต้องอาบเหงื่อต่อไปมันก็มีมาก ควรจะนึกข้อนี้และก็เลือกศึกษาไปในทางที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องศึกษาๆ เป็นเรื่องการศึกษาในโรงเรียนในมหาวิทยาลัย ในอะไรโดยหลักวิชาไปเสียตะพึด ควรจะให้ลดลงมาเป็นเรื่องปฏิบัติได้ มีผลของการปฏิบัติแก่มหาชนเหล่านั้น ซึ่งจะรู้กันอยู่แล้วว่าไอ้การศึกษาไม่ใช่การเรียนอย่างเดียว มันเป็นการปฏิบัติด้วย พูดตามหลักธรรมะหรือภาษาบาลีก็ตาม ศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา นี่เป็นเรื่องปฏิบัติทั้งนั้นน่ะ ไม่ใช่เรื่องเรียนเลย ไม่เคยมีส่วนแห่งการเล่าเรียนเลย ไม่ใช่ปริยัติ ศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา เป็นเรื่องการปฏิบัติ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ให้ความหมายของคำว่าศึกษาในลักษณะอย่างนี้กลับมาเถิด เราจะได้มุ่งมั่นในการปฏิบัติที่เกิดผลขึ้นมาจริงๆ
เดี๋ยวนี้ในโลกนี้เต็มไปด้วยหนังสือ ตำรับตำราพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด มันจะท่วมโลกอยู่แล้ว ดูตามแคตตาล็อกตามสถิติที่เขาพิมพ์ขาย ปีหนึ่งๆ มันเพิ่มขึ้นเป็นร้อยๆ พันๆ เรื่อง เป็นตำรากระดาษทั้งนั้น เป็นตำราที่ยังเป็นกระดาษ ยังเป็นความรู้ในสมุด ยังแก้ปัญหาแท้จริงของมนุษย์ไม่ได้ จนกว่าจะทำให้เรื่องในกระดาษเหล่านั้น มันมากลายเป็นเรื่องการปฏิบัติและเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ได้ ทีนี้ก็ถามว่าใครจะทำๆ พวกเราจะทำเหรอ พวกเรานี่มีปัญญาทำไหม หรือว่าเห็นเข้าก็ยอมแพ้เสียแล้วว่าทำไม่ไหว ดังนั้นมันจึงเป็นหมันคาราคาซังอยู่ จะพิมพ์ตำราขึ้นมาให้ท่วมโลก โลกก็ยังเป็นโลกวิกฤตการณ์อยู่อย่างนี้ คือเต็มไปด้วยวิกฤตการณ์อยู่อย่างนี้ ผมลองสังเกตดูสอบถามดู ผมไม่เคยไปเมืองนอกเมืองนากับเขา แต่ผมก็พยายามที่จะรู้เรื่อง ว่าทางเมืองนอกเมืองนามันก็ยังมีปัญหาเหมือนกันแหละกับประเทศด้อยพัฒนา มันต้องเพิ่มโรงพยาบาลบ้า เพิ่มโรงพยาบาลโรคประสาทโรคจิต ยังไม่เพียงพออยู่เหมือนกัน มันต้องเพิ่มโรงพัก เพิ่มเรือนจำ เพิ่มศาลเพิ่มอะไรอยู่เหมือนกันประเทศที่ว่าพัฒนาแล้ว และโรงเรียนมันก็ต้องเพิ่ม แต่สำหรับโรงเรียนทั่วไปนี่คือว่ามันเป็นพื้นฐานมันก็เพิ่มก็เพิ่ม แต่มันก็เป็นการแสดงผลอยู่ในตัวว่ามันยังไม่มีอะไรที่เป็นที่พอใจ มันยังจะต้องเพิ่มโรงเรียนเพิ่มการศึกษาซึ่งไม่รู้ว่าจะเพิ่มกันไปถึงไหน เพิ่มเท่าไรมันก็ยังไม่พบกันกับสันติภาพ และที่มันเลวร้ายกว่านั้นก็คือมันเพิ่มอันธพาล เพราะว่าที่เมืองนอกมันก็ไม่ได้ดีกว่าเมืองไทยหรอกในเรื่องของอันธพาล มีอันธพาลเลวร้ายข่มขืนแล้วฆ่า ฆ่าแล้วข่มขืนนี่ก็สุดแท้ มันยังมีอยู่มากเหมือนกัน เพราะว่าการศึกษาที่อยู่ในสมุด ในตำรา ในกระดาษ เป็นห้องสมุดหลังใหญ่ๆ นั้นมันช่วยอะไรไม่ได้นี่ จนกว่ามันจะออกมาเป็นการประพฤติปฏิบัติอยู่ที่เนื้อที่ตัวของบุคคล เอาละเป็นอันว่า ถ้าเราถือเอาประโยชน์หรือความหมายของการศึกษาได้ตรงตามความหมายของคำๆนี้ มันก็จะดีมาก คือการปฏิบัติเพื่อให้เกิดสันติสุขสันติภาพขึ้นมาในโลก นั่นคือผลอันแท้จริงของการศึกษา แล้วก็ลดโรงพยาบาล โรงพยาบาลธรรมดาก็ลด โรงพยาบาลโรคจิตก็ลด โรงพยาบาลอะไรก็ลด คุก เรือนจำ ศาล ตุลาการ นี่ก็จะลด ลดได้ถ้าการศึกษามันแสดงผลออกมา เดี๋ยวนี้มันยังอยู่ในลักษณะที่เพิ่มๆๆ ประเทศไทยเราอยู่ในลักษณะที่น่าสงสารในข้อนี้ อธิบดีราชทัณฑ์ก็บอกโฆษณาบ่อยๆว่า มันแน่นอัดกันไปหมดแล้วในคุก และก็ไม่มีเงินจะสร้างคุกใหม่แล้ว แต่พยายามจะขยายคุกใหม่อยู่เรื่อย นี่มันเป็นเครื่องวัดผลที่แน่นอน นั้นในกรุงเทพในท้องถนนหรือว่าที่ไหนก็ตาม มันเพิ่มอันธพาล มันจะศึกษากันไปถึงไหนถ้ามันได้ผลเป็นอย่างนี้ ก็พูดยากเหมือนกันนะว่าจะโทษใคร เราก็ไม่มีอำนาจจัดเอง ก็ได้แต่ทำตามๆ กันไปตามที่เขาวางขึ้นไว้ นี่มันก็ส่วนหนึ่ง และที่ว่าน่าหัวก็คือว่า เราก็ไปจัดการศึกษา เป็นต้น ตามก้นประเทศที่ยังมีปัญหาเหล่านี้ ผมพูดเมื่อตะกี๊ว่าประเทศด้อยพัฒนายังขาดอะไรอยู่ ประเทศเกินพัฒนามันเฟ้อมันเกินอะไรแล้ว แต่แล้วมันกลับมีปัญหาอย่างเดียวกัน คือเพิ่มเรือนจำ เพิ่มศาล เพิ่มโรงพยาบาลโรคจิต เพิ่มโรงพยาบาลแม้ธรรมดานี่ เราพูดเอาเปรียบสักหน่อยก็ได้ หรือไม่เอาเปรียบก็ได้ว่า ถ้าการศึกษามันถูกต้องคนเราจะเจ็บป่วยน้อยกว่านี้ นี่ถ้าเรามีการศึกษาถูกต้องประชาชนพลเมืองจะเจ็บป่วยกันน้อยกว่านี้ เพราะฉะนั้นก็ลดโรงพยาบาลได้ และถ้าเรามีการศึกษาถูกต้อง อุบัติเหตุทั้งหลาย อุบัติเหตุที่ไหน บนท้องถนน ในบ้านในเรือน อุบัติเหตุบนฟ้าที่ไหนก็ตาม มันจะลดลงถ้าเรามีการศึกษาสมบูรณ์ อุบัติเหตุมาจากคนที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่มีจิตใจอย่างสุภาพบุรุษทั้งนั้นแหละ นั้นการศึกษายังไม่ถูกต้องกับปัญหาอันแท้จริงของมนุษย์เรา นี่ก็มองดูถึงภาวะแท้จริงทั่วๆไปในโลก
ทีนี้ก็มาดู ย้อนมามองดูปัญหาที่เกี่ยวกับการศึกษาของเรา ในประเทศไทยเราโดยเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการศึกษาในมหาวิทยาลัยพระสงฆ์ของเรา เรามีการศึกษาชนิดที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้นหรือไม่ ถ้าไม่มุ่งหมายจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้น ก็แปลว่าเรามีการศึกษาที่เห็นแก่ตัวมากเกินไปทั้งที่เป็นพระเป็นเณร มันคงจะมีผลที่ไม่น่าชื่นใจในอนาคต เรามาทำการพิจารณาใคร่ครวญทบทวนกันเสียใหม่ว่าจะมีการศึกษาอย่างไร พอที่จะมีความชื่นอกชื่นใจได้ในอนาคต ในอนาคตอันไกลก็ยังดี ถ้าอนาคตอันใกล้มันทำไม่ได้ ก็สมัครเอาอนาคตอันไกล เอาในอนาคตข้างหน้านี่ขอให้มันก็เป็นไปลักษณะที่น่าอิ่มอกอิ่มใจ ให้วัดวาอารามของเราเป็นป้อมปราการเป็นค่ายมั่น ที่จะรักษาไว้ซึ่งสันติภาพสันติสุขของมนุษย์ เราจะจัดการศึกษากันอย่างไร เราจัดการศึกษาในวัดชนิดที่เรียกว่าก้าวหน้าหรือทันสมัยนี่มาหลายสิบปีแล้วนะ แต่แล้วก็ยังไม่พบว่าอะไรมันน่าชื่นใจ ที่เป็นประโยชน์แก่มหาชนมันก็ยังไม่มีอะไรดีๆๆขึ้นอย่างที่น่าชื่นใจ และสภาพในวัดของเราเองก็ยังไม่มีอะไรที่น่าชื่นใจ มันยังมีอะไรที่ดูแล้วกระสับกระส่ายในใจอยู่เหมือนกัน นี่ผมพูดอย่าง สหธรรมิก แล้วเห็นไหม อาจจะรุกล้ำเสรีภาพของใครบ้างก็ได้ แต่ก็บอกแล้วนี่ จะพูดกันอย่างสหธรรมิก ไม่ต้องเกรงอกเกรงใจกันแล้ว มันก็เหมือนกับพูดกันกับเพื่อน เพื่อนเป็นเพื่อนตายกันแล้วจะต้องเกรงอกเกรงใจกันทำไม ที่พูดนี้ก็เพื่อว่าเราจะได้ไปดูกันเสียใหม่ จะปรับปรุงการศึกษาโดยเฉพาะของเราที่เราทำได้ให้มันเข้ารูปเข้ารอย อีกทางหนึ่งให้สนองพระพุทธประสงค์ อีกทางหนึ่งให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติหรือเพื่อนมนุษย์ของเรา อย่าเพื่อประโยชน์แก่ตัวเราคนเดียว ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ไอ้ข้อครหาทั้งหลายก็จะหมดไป ข้อครหาที่ไม่จริงแต่เขาก็พูด ไม่จริงแต่เขาก็พูดว่า จัดการศึกษาระบบมหาวิทยาลัยให้พระ รีบๆ เรียน แล้วรีบๆ สึกไป เป็นบุคคลคนหนึ่งเท่านั้นอย่างนี้ ที่จริงไม่ถูกหรอก มันก็หลับตาพูดเหมือนกัน ถ้าเรามีการศึกษาถูกต้องแล้วมันจะได้ผลไม่อย่างนั้นหรอก มันจะได้ผลพร้อมกันไป สนองพระพุทธประสงค์ด้วย ประโยชน์แก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ด้วย และก็เป็นประโยชน์แก่เราคนหนึ่ง ซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มเหล่านั้นด้วย ให้เราได้รับผลของการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบกับพระพุทธศาสนาด้วย คือเป็นมนุษย์ที่เย็น ผมขอใช้คำพูดกันลืมง่ายๆว่า ให้เราได้เป็นมนุษย์เย็นกันแล้วสักคนหนึ่ง อย่าเป็นมนุษย์ร้อน แต่นี่มันร้อนมากเกินไปนี่ แม้แต่เล่าเรียนนี่ก็ร้อน ร้อนเพราะกระหายปริญญานี่ทำไมมันจะไม่ร้อน และปริญญาอย่างของเรานี่มันร้อนนะ ถ้าปริญญาอย่างของพระพุทธเจ้าล่ะก็ไม่ร้อน ท่านตรัสไว้ชัดเจน ปริญญาคืออะไร ปริญญาคือการสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ นี่คือปริญญา ไปดูในภาษาบาลีเอง เป็นพุทธภาษิตตรงๆ อย่างนี้ แต่เราดูแล้วคำปริญญามันต่างกัน ปริญญาสมัยนี้มันแผ่นกระดาษ ปริญญาของพระพุทธเจ้าท่านหมายถึงความรู้สึกในใจ รู้ชัดเจนลงไปว่าเดี๋ยวนี้ ฉันสิ้นราคะ ฉันสิ้นโทสะ ฉันสิ้นโมหะ นี่มันเป็นความรู้สึกในใจ ชัดเจนอยู่ในใจ เช่นเดียวกับเขียนในแผ่นกระดาษ แต่ว่าจิตใจมันเป็นแผ่นกระดาษ มันเขียนลงไปในจิตใจรู้ชัดอยู่ในจิตใจ เป็นความสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ นี่เขาเรียกว่าปริญญา ตัวหนังสืออย่างเดียวกันกับที่เราเอามาใช้ปริญญาในการศึกษายุคปัจจุบัน นี่มันเกี่ยวกับภาษาหรือตัวหนังสืออะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าเรายึดถือหลักในพระคัมภีร์ในบาลีของเราเป็นหลักได้เท่าไร มันจะยิ่งมีประโยชน์อันแท้จริงแก่มหาชนได้เท่านั้น แล้วตอนนี้ก็หมายความว่า เราพูดกันถึงการศึกษาที่ยังเป็นตัวหนังสือมากเกินไป ไม่เป็นการประพฤติกระทำ เห็นอยู่ที่การประพฤติกระทำ แล้วได้ผลของการกระทำ และเห็นชัดแจ้งอยู่ในจิตใจของเราที่ได้รับผลแห่งการกระทำ อันนี้ตรงกับความหมายของคำว่าปริญญา ปริ=รอบ ญา=รู้ รู้รอบ รอบรู้ รอบรู้ได้เมื่อมันเป็นปรากฏอยู่ในใจ รู้สึกอยู่แก่ใจ จึงจะเป็นปริญญา และมันก็ให้กันไม่ได้หรอก มันต้องทำเองนั้นแหละ และก็ได้ปริญญาเอง นี้ทั้งโลก พวกเราก็ดูทั้งโลกเขามีปริญญากันอย่างไร เขาให้ปริญญากันอย่างไร โดยที่ผู้รับปริญญานั้นไม่เคยปฏิบัติอะไร นอกจากเรียน จำได้ เข้าใจ เฉลียวฉลาด ตอบคำถามเขาได้เป็นที่พอใจตามหลักสูตร แล้วเขาก็ให้ปริญญามา มันก็มีเท่านั้นแหละ ผมคิดว่าพวกผีคงหัวเราะเยาะกันใหญ่ พวกผีสางเทวดาคงจะหัวเราะเยาะไอ้การให้ปริญญาชนิดนี้กันใหญ่เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ยิน ทั้งโลกมันเป็นอย่างนี้ นี่ผมก็เลยพูดถึงความหมายของการศึกษาของนักศึกษา คือพวกเราที่จะเป็นผู้สนองพระพุทธประสงค์และขอให้ขยายความหมายหรือขอบเขตกว้างไกลออกไปถึงทุกคนที่มันมีชีวิตอยู่ในโลก มันต้องเป็นนักศึกษาเพื่อดับทุกข์ทั้งนั้น
นั้นมีเวลาที่เหลือต่อไปนี้ ก็อยากจะพูดถึงไอ้วิธีการศึกษาบางอย่าง ที่จะแก้ปัญหาได้บ้างเป็นแน่นอน ผมก็จะพูดด้วยหัวข้อหรือถ้อยคำที่ทำให้ผมถูกด่าอยู่ตลอดเวลาเลย ก็คือคำว่า ปรัชญา นั่นเอง และพวกเราก็เกี่ยวข้องกันอยู่กับเรื่องนี้อยู่เป็นส่วนมากขอให้กันฟังดีๆ จะต้องประสบกันกับปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ คำว่า ปรัชญา กับคำว่า Philosophy มันไม่ใช่สิ่งเดียวกันนะ ถ้าพวกเราในมหาวิทยาลัยเข้าใจว่า ปรัชญา กับ Philosophy เป็นสิ่งเดียวกันแล้วผมว่าบ้าที่สุดเลย ใครไม่เชื่อก็ด่าผมสิ เดี๋ยวนี้ก็ได้ ถ้าถือว่าปรัชญา กับ Philosophy เป็นเรื่องเดียวกันละผมว่าบ้าที่สุดเลย ปรัชญา เขาให้เป็นปรัชญาตามความหมายของภาษาอินเดีย Philosophy เขาให้เป็น Philosophy ตามความหมายในภาษากรีกของพวกฝรั่ง มันต่างกันอย่างมากล่ะ ปรัชญา ก็ตัวปัญญา รอบรู้ รอบรู้ได้แล้วก็เป็นปริญญา ปริญญาในความหมายของพระพุทธเจ้านั้นน่ะคือ ปรัชญา บอกล่วงหน้าก็บอกว่า คำว่า ปรัชญา นั่นในภาษาสันสกฤตนั่นมันคือปัญญา แล้วต้องหมายถึง ยถาภูตะสัมมัปปัญญา ยถาภูตะสัมมัปปัญญา ในพระไตรปิฎกมีคำนี้นับได้ร้อยๆ แห่ง ยถาภูตะสัมมัปปัญญา จึงจะเป็นปรัชญา ต้องรู้จริงโดยประจักษ์แก่ความรู้สึกอยู่ในใจจึงจะเป็นปรัชญา ส่วน Philosophy มันไม่เป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้นไม่ได้ มันเป็นผลของการคำนวณด้วยเหตุผลต่อสมมติฐานที่ตั้งขึ้นไว้ว่าเราจะพูดกันด้วยเรื่องอะไร Philosophy มันไม่มีผลเป็นปัญญาหรือ เป็นปรัชญาที่ประจักษ์แก่จิตใจอย่างนั้น ฉะนั้น ปรัชญา จึงไม่ใช่ Philosophy ถ้าเราศึกษาด้วยวิธี Philosophy เราจะดับทุกข์ไม่ได้ เว้นไว้แต่ว่าเราจะศึกษากันอย่างปรัชญาที่ถูกต้องตามความหมายของภาษาอินเดียคำนี้ ผมก็ละอายแทนนะ แทนพวกเราทุกคน คือพวกฝรั่ง เอ๊ย,ชาวอินเดียนี่ นักศึกษาชาวอินเดียหรือแม้ชาวลังกา พอเขาทราบเรื่องนี้เขาหัวเราะเยาะ ผมก็ละอายแทน ท่านมหาทุกคนก็ฝากไปด้วย ไปดูเถอะ ถ้าไปพูดกับเขา ชาวอินเดียก็ดี ชาวลังกาก็ดี ว่า ปรัชญา นั้นน่ะเป็นสิ่งที่จะ เป็นความรู้อันถึงที่สุดของจิตใจ ถูกต้อง แก้ปัญหาได้ เขาหัวเราะไอ้ที่ที่เป็นความรู้ออกมาจากวิธีของไอ้ Philosophy นั้นน่ะ เขาขอเรียกว่า ทัศนะ กันทั้งนั้น ช่วยจำคำว่า ทัศนะ ไว้ด้วย นั่นล่ะคือผลสูงสุดของไอ้ Philosophy จะเป็นทัศนะหนึ่งๆ เท่านั้น แล้วแต่ว่ามันจะเป็น confusion ของไอ้การคำนวณเรื่องอะไรหรือโดยวิธีใด ฉะนั้น Philosophy จึงไม่ใช่รู้แจ้งประจักษ์ชนิดที่เรียกว่า ยถาภูตะสัมมัปปัญญา เป็นเพียงทัศนะที่มันยุติไว้คราวหนึ่งๆเท่านั้น และไม่สิ้นสุดหรอก เขาก็จะวิพากษ์วิจารณ์จะใช้วิธีค้นคว้าอธิบายกันได้ต่อไปอีกไม่สิ้นสุด เพราะมันเลื่อนไปได้ตามวิธีหรือตามเหตุผลที่ได้มาใหม่ เราจะต้องแยกกันให้ดีว่า ปรัชญา ในพุทธศาสนา นั่นหมายถึงยถาภูตะสัมมัปปัญญา ส่วน Philosophy นั่นน่ะมันไม่ใช่ตัวปรัชญานั้น มันเป็นเพียงวิธีหรือผลของวิธีที่คำนวณอย่างนั้น แล้วผลออกมาเป็นเพียงทัศนะ ทัศนะ อย่าไปใช้คำว่าปัญญาหรือปรัชญาเข้า นี้เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ก็ดูเรื่องที่มัน มันมีอยู่จริงๆ มันมีอยู่จริงๆ เช่น เราเรียนธรรมะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือเรื่องอริยสัจ เรื่องปฏิจจสมุปบาท หรืออริยสัจอันละเอียด เราเรียนอย่างปรัชญา Philosophy เรียนอย่างปรัชญา Philosophy ไม่ใช่เรียนอย่างยถาภูตะสัมมัปปัญญา นี่ขอให้สังเกตดูให้ดีๆ ในมหาวิทยาลัยเรา เรียนอริยสัจก็ดี เรียนปฏิจจสมุปบาทก็ดี เรียนอย่าง Philosophy เพื่อรู้สิ่งที่เรายังไม่รู้ ยังไม่อาจจะรู้ เราก็เอาตัวหนังสือที่มีอยู่ อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นอย่างนั้นอย่างนั้น เป็นสมมติฐาน เป็น hypothesis เพื่อจะหาเหตุผลมาแวดล้อมว่า มันเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ นี่ในโรงเรียนนักธรรมก็ดี ในโรงเรียนหรือที่เขาเรียนกันในมหาวิทยาลัยก็ดี มันเรียนอย่าง Philosophy มันจึงไม่รู้อริยสัจโดยแท้จริงที่จะดับทุกข์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องปฏิจจสมุปบาท อันสับสนนั่นแหละ เราเรียนกันอย่าง Philosophy เพราะเราไม่เข้าถึงตัวจริงของสิ่งนั้น เราก็เอาคำว่า “อะวิชชาปัจจะยา สังขารา สังขาระปัจจะยา วิญญาณัง” แต่ละประโยคทุกๆ ประโยคนี่มาเป็น hypothesis และศึกษาคำนวณด้วยเหตุผลว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ ก็รู้แค่ผลของการคำนวณตามวิธีของปรัชญา เอ้ย, ไปรู้ตามวิธีของ Philosophy นี่มันจะกลับ เผลอกลับกันอยู่เรื่อย มันก็รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท แต่โดยวิธี Philosophy หรือปรัชญา Philosophy ไม่ใช่ปัญญาอย่างแท้จริงในพุทธศาสนา จนกว่าเมื่อไรเราปฏิบัติได้ ปฏิบัติละได้ ควบคุมกระแสแห่งปฏิจสมุปบาทได้ หยุดเสียซึ่งกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทเป็นพระอรหันต์ได้ เมื่อนั้นแหละเราจึงจะมีปรัชญา มีความรู้อย่างปรัชญาที่แท้จริงในเรื่องปฏิจจสมุปบาทตามหลักของพระพุทธศาสนา มิฉะนั้นแล้วเราก็รู้ปฏิจจสมุปบาทตามวิธี Philosophy วิธีเรียนวิธีคิดอย่าง Philosophy ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นที่เราเรียนกันอยู่ในโรงเรียนนักธรรมก็ดี หรือสอนพิเศษกันอยู่ก็ดี ในเรื่องนี้มันเป็นเรียนอย่างวิธี Philosophy มันดับทุกข์ไม่ได้ มันอาจจะรู้ได้มาก และก็พูดได้มาก แล้วอาจจะแตกแยกได้หลายแขนง มันก็รู้ปฏิจจสมุปบาทอย่างวิธี Philosophy แต่ไม่ใช่ปรัชญาจนกว่าเมื่อมันละกิเลส มันควบคุมกิเลสเหล่านั้นได้ หยุดกระแสเหล่านั้นจะมีปรัชญาในความหมายว่า ยถาภูตะสัมมัปปัญญา และเราก็รู้ปฏิจจสมุบาทอย่างปรัชญาตามความหมายในภาษาอินเดีย
ทีนี้มันน่าสงสารที่ว่า ฝรั่งเขาก็เรียนตามวิธี Philosophy ของเขา แล้วใครไปอุตตริ แปลคำ Philosophy ว่าปรัชญา ไอ้ความยุ่งยากลำบากมันก็ตกอยู่กับคนข้างหลังสิ โดยที่เข้าใจแต่ว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน ในเรื่องนั้นมันก็แล้วไปแล้วล่ะ มันก็ไปตามเรื่องของมัน แต่เรา เดี๋ยวนี้ เราอย่าเข้าใจอย่างนั้นสิ เราจะเรียนหลักธรรมะข้อใดข้อหนึ่งเพื่อให้ได้ผล แล้วก็ต้องเรียนอย่างวิธี ยถาภูตะสัมมัปปัญญา หรือปรัชญาที่แท้จริงซึ่งมิใช่ Philosophy ถ้าเราเรียนตามวิธีการของฝรั่งก็เรียนเป็น Philosophy เราก็ไม่ดับทุกข์ได้ แต่เราอาจจะพูดอะไรได้มากๆ หรือพูดเก่ง นี่เป็นตัวอย่างเรื่องคำ ๒ คำนี้ และคำอื่นๆ ก็เหมือนๆๆกันแหละมันมีปัญหาอย่างนี้ ที่พูดนี้ก็เพื่อว่า ต่อไปนี้เราจะเรียนพระพุทธศาสนาของเราตามแบบปรัชญา แต่ไม่ใช่ Philosophy ทีนี้พวกเราทั่วไปเอาเป็นสิ่งเดียวกันเสียแล้ว ผมก็ถูกด่าสิ พูดมา พูดไม่มีความหมาย และบางทีมันก็ขัดกันเองด้วย เพราะว่าบางทีผมก็พูดตามสะดวกปากว่าปรัชญา แต่หมายถึง Philosophy แต่บางทีผมนึกได้ ผมพูดว่าปรัชญา แต่ผมหมายถึง ยถาภูตะสัมมัปปัญญา นี่เหตุผล เหตุที่ทำให้เรารู้ธรรมะจริงไม่ได้ เพราะเราเรียนมันอย่าง Philosophy ช่วยจำประโยคสั้นๆ นี้ “เพราะเราเรียนมันอย่าง Philosophy ไม่ได้เรียนอย่างปรัชญา” แต่เราก็พูดว่าเราเรียนอย่างปรัชญา มันก็เล่นตลกกันอยู่ในคำพูดนั้น ไม่มีไม่มีกฎเกณฑ์อะไร เราเรียนอย่าง Philosophy แต่เราไปพูดว่าเราเรียนอย่างปรัชญา มันเป็นไปไม่ได้หรอก ปรัชญาในภาษาอินเดียมันจะเรียนอย่าง Philosophy ไม่ได้ มันต้องเรียนด้วยการปฏิบัติลงไปในจิตใจเจาะลงไปในจิตใจ เจาะลงไปในจิตใจในลักษณะวิทยาศาสตร์มากกว่า เพราะฉะนั้นขอให้เราเรียนธรรมะอย่างวิธีวิทยาศาสตร์เถิด มันจะเป็นธรรมะแท้ หรือเป็นปรัชญาแท้ในหลักพุทธศาสนา แต่ไม่เป็น Philosophy เพราะว่าวิทยาศาสตร์เขาไม่ต้องมี hypothesis ซึ่งตั้งสมมติฐานขึ้นมาก่อนแล้วแวดล้อมมัน เขาต้องเอาตัวปัญหาจริงๆ ออกมา มาชำแหละเลย นั่นจึงจะเป็นวิทยาศาสตร์ เราต้องสำนึกในตัวความทุกข์ที่มีอยู่จริงๆ แล้วชำแหละมันดูมันเป็นอย่างไร จนกระทั่งเห็นชัดไม่ต้องคำนวณ แต่เห็นชัดด้วย ยถาภูตะสัมมัปปัญญา ว่าความทุกข์เป็นอย่างนี้ ความทุกข์เป็นอย่างนี้ ความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ ด้วยเหตุของมันเป็นอย่างนี้ ธรรมดาของมันเป็นอย่างนี้อย่างนี้ หมายความว่ามันเห็นลงไปจริงๆ เหมือนกับเอามาดู เอามาวางตรงหน้า หรือว่าใส่ฝ่ามือแล้วมองดู นี่คือเรียนธรรมะอย่างธรรมะอย่างวิธีการของธรรมะที่เรียกว่า สิกขา สิกขา ไม่มีลักษณะวี่แววแห่ง Philosophy แต่ประการใด
ขอฝากให้เอาไปช่วยกันคิดนึกดู ถ้าเห็นด้วยแล้วก็ช่วยไปบอกเพื่อนฝูงทั้งหลายให้มันรู้เรื่องนี้เสียด้วย และมันก็จะได้จัดระบบการศึกษาว่า ถ้าจะศึกษาให้รู้จริง ให้ดับทุกข์ได้ละขอให้เรียนอย่างปรัชญา อย่าเรียนอย่าง Philosophy ถ้าเพื่อนของเราเขาเอาคำว่า ปรัชญา กับคำว่า Philosophy เป็นสิ่งเดียวกันเสียแล้ว ก็บอกให้เขาเข้าใจถูกต้อง ให้มันแยกจากกันเสีย ถ้าเรียนอย่างปรัชญา ตามความหมายของคำว่า ปรัชญาในสันสกฤต หรือปัญญาในภาษาบาลีแล้ว มันต้องเรียนอย่างวิทยาศาสตร์ เรียนตรงๆ ลงไปที่ของจริงน่ะของจริง และจัดการกับมัน ชำแหละ ค้นคว้า พิสูจน์ ทดลอง อย่างวิชาเคมีอย่างนั้นแหละ มันจึงจะรู้ธรรมะนั้นและดับทุกข์ได้ และเรียกว่า ปรัชญา ได้ ถ้ามิฉะนั้นแล้วมันจะเป็นผลของการคำนวณ มีผลเป็นเพียงทัศนะหนึ่งๆ เท่านั้น หรือจะใช้คำว่า ทิฐิ ก็ได้ ทิฐิ กับ ทัศนะ มันก็ไม่ค่อยต่างกันนัก มันผิดก็ได้ เพราะถ้าเหตุผลมันผิดหรือวิธีคำนวณมันผิด มันก็เป็นทัศนะที่ผิดก็ได้ มันเป็น มิจฉาทัศนะ เป็น สัมมาทัศนะ ก็ได้ แต่ถ้าเป็นเพียงทัศนะแล้ว มันไม่เป็นเครื่องเจาะแทงกิเลสหรอก แต่ถ้ามันเป็นปรัชญาจริง แล้วมันจะเจาะแทงกิเลส ที่เรียกว่า “นิพเพธิกปัญญา” คำนี้ก็มีมากในบาลี “นิพเพธิกปัญญา” นั่นแหละจึงจะเป็นปรัชญาโดยแท้จริง แล้วมันเจาะแทงกิเลสได้จริง แต่ถ้าเป็นผลของการคำนวณตามวิธี Philosophy แล้วมันไม่เจาะแทงกิเลสได้ และมันก็จะพูดกันได้ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าต่างฝ่ายต่างอ้างเหตุผลใหม่ๆ มาได้ มาคำนวณกันใหม่ไม่มีที่สิ้นสุด นั้นวิธี Philosophy ไม่ดับทุกข์อะไรได้ นอกจากดับทุกข์ที่เกิดมาจากความอยากรู้ ถ้ามันเป็นความทุกข์เพราะมันอยากรู้ใจจะขาดนั่นได้ Philosophy จะช่วยดับทุกข์ส่วนนี้ได้ ดับทุกข์ที่เกิดมาจากความอยากรู้ แต่จะดับทุกข์ของกิเลสของความทุกข์หรือความรู้ผิดๆ ไม่ได้หรอก เพราะมันเป็นเพียงทัศนะหนึ่งๆ นี้พวกเรามันชอบใช้หนังสือที่ฝรั่งเขาเขียนเขาแต่งขึ้น แล้วอะไรๆ เขาก็เรียกว่า ปรัชญา ไปเสียหมด ปรัชญานั้นปรัชญานี้ปรัชญาโน้น เป็นปรัชญา Philosophy ทั้งนั้นเลย เขาเขียนมาเป็น Philosophy และเรามาแปลเอาเองว่า ปรัชญา เรื่องมันก็ยุ่ง ถ้าเราไม่แปล ปรัชญา เราก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรเหมือนกัน เพราะว่าคนแต่ก่อนมันเรียกปรัชญา เรียกว่า ปรัชญา สำหรับคำว่า Philosophy มาเสียแล้ว ผมเลยนึกว่า เอ้อ,ถ้าอย่างนั้น เราเอาปรัชญา ๒ ชนิดสิ ปรัชญา Philosophy หรือ ปรัชญา ยถาภูตะสัมมัปปัญญา ของพระพุทธเจ้า เกิดแบ่งปรัชญาเป็น ๒ ก๊ก ปรัชญาอย่าง Philosophy พวกหนึ่ง ปรัชญาอย่างการตรัสรู้ในพุทธศาสนา เรียกว่า ยถาภูตะสัมมัปปัญญา อย่างหนึ่ง ใครมีโอกาส ไปช่วยพูดให้ฝรั่งรู้เรื่องนี้ซะบ้าง ถ้ามีโอกาสคุยสนทนาพาทีอะไรกันละก็ บอกว่าเรารับไอ้คำนั้นมาใช้อย่างนั้นไม่ได้ คุณเรียกว่า Philosophy มีความหมายอย่างนั้นก็ได้ แต่เราจะรับมาใช้ในฐานะเป็นคำว่า ปรัชญา ไม่ได้ นี่เรียกว่า ชำระสะสางปัญหาที่เกิดมาจากคำพูด คำพูดที่ทำให้เราเข้าใจผิด แล้วมันก็ผิด เราก็ไม่ได้เรียนอะไรอย่างชนิดที่เรียกว่าเป็น สิกขา ในพุทธศาสนา ศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ไม่มีวี่แววแห่ง Philosophy แม้แต่นิดเดียว แล้วก็มีสมถะและวิปัสสนา ตามแบบพระพุทธศาสนา ซึ่งจะไม่มีลักษณะ Philosophy แม้แต่นิดเดียว พอยื่นให้ฝรั่ง ฝรั่งเขาก็เอาไปสวมให้ Philosophy เป็น Philosophy ของสมถะ เป็น Philosophy ของวิปัสสนาไปเสียอีก เลยไปกันใหญ่ล่ะ ไม่มีวันที่จะพบกับจุดที่จะสำเร็จประโยชน์ได้ เพราะว่าคำว่า Philosophy มันขึ้นสมองพวกฝรั่ง เขาได้อะไรไปเขาก็เอาไปทำเป็น Philosophy หมด เขาเขียนออกมาเป็นเรื่อง Philosophy หมด โลกนี้มันจึงเต็มไปด้วยหนังสือ Philosophy หนังสือชนิด Philosophy ไม่เท่าไรมันก็จะท่วมโลก รกโลกเปล่าๆ มันดับทุกข์ไม่ได้ ขอให้มันทำให้มันถูกต้องตามเรื่องของเดิมของท่าน คำว่า ปรัชญา ต้องแปลว่า รอบรู้ รอบรู้ชนิดที่แทงเจาะ เจาะแทงกิเลสได้และดับทุกข์ได้ ไม่ใช่ปัญญาที่มาจากเหตุผลของการคำนวณ แต่ถ้าว่าจะเอาหลักนั้นมาใช้ก็น่าจะได้ คือ “จินตามยปัญญา” ในโรงเรียนนักธรรมเราก็เรียนเรื่องปัญญา ๓ อย่างว่า สุตมยปัญญา , จินตามยปัญญา , ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เป็นปรัชญาในพุทธศาสนา จะต้องเป็น ภาวนามยปัญญา และปัญญาที่เป็น Philosophy ของพวกฝรั่ง ก็ต้องเป็น จินตามยปัญญา มีวิธีคิดเฉพาะ นั้นเราอย่าไปชอบทำอะไรให้เป็น Philosophy ไปเสียหมด มันจะไม่รู้จบและไม่ได้ผลอะไร ทำให้ทุกอย่างมันเป็นปรัชญาแท้จริงตามความหมายของภาษาอินเดียคำนี้ และมีความหมายเป็นหัวใจอยู่ที่คำว่า นิพเพธิกปัญญา ก็ได้ ยถาภูตะสัมมัปปัญญา ก็ได้ นั่นน่ะเราจะได้รับประโยชน์ เราจะเรียนธรรมะกันเสียใหม่ให้ถูกต้อง คือตามวิถีทางของพุทธศาสนา ซึ่งมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ อันนี้ก็เลย ก็ควรจะเข้าใจเลยไปถึงคำพูดที่ว่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์เสียด้วยเลย เพราะว่าพุทธศาสนาแท้จริง ตัวพุทธศาสนาแท้จริงตัวธรรมะแท้จริง ไม่เป็น Philosophy แต่ว่าเป็นปรัชญา หรือ ยถาภูตะสัมมัปปัญญา แล้วก็ให้เรียนให้ศึกษาในแบบของ ยถาภูตะสัมมัปปัญญา กันให้มากขึ้น ถ้าในมหาวิทยาลัยสงฆ์ของเราจะเรียนธรรมะ ขอให้เรียนในรูปแบบของอันนี้ ของปรัชญาที่เป็น ยถาภูตะสัมมัปปัญญา อย่าเรียนโดยวิถีทางหรือวิธีเรียนอย่าง Philosophy เลย จะเฟ้อไปหมด แล้วไม่รู้จักจบ และก็ดับทุกข์ไม่ได้ ซึ่งพวกฝรั่งเขาชอบทำอย่างนั้น ก็จะมาทำให้เราโง่ด้วย อย่าเอาเลย เราจะใช้วิธีการในพุทธศาสนา ตั้งต้นมาแต่คำว่า สิกขา สิกขา ดูด้วยตาเลย เห็นจริงด้วยตาเลย ไม่ต้องคำนวณ ถ้าสิกขาคือเห็นด้วยตาไม่ต้องมีคำนวณ เราจะทำให้มันเกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญา ขึ้นมาจริงๆ นี่จะเป็นปรัชญา ถ้าเป็น Philosophy แล้วจะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ จะเป็นเรื่องศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ถ้าอยู่ในรูปแบบของ Philosophy แล้วมันจะใช้อะไรไม่ได้ และมันจะไม่เป็นวิทยาศาสตร์ด้วย ไปอ่านดู กาลามสูตร ให้ทั่วถึง จะพบว่าพระองค์ทรงมุ่งหมายให้เรามีหลักธรรมะเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่เชื่อถือ ไม่ถือเอา หรือไม่ยึดติด ไม่ลงมติ ไม่ให้ไปเชื่อเพราะว่าฟังตามๆ กันมา เพราะว่าทำตามๆ กันมา เพราะว่าลืออยู่อย่างกระฉ่อน เพราะว่ามีที่อ้างในปิฎก หรือว่าตามวิธีแห่งนัยยะ นั่นแหละคือปรัชญา หรือตามวิธีแห่งตรรกะ คือ Logic หรือไม่ใช่วิธีสามัญสำนึก การตรึกตามอาการ คือ สามัญสำนึก และก็อย่าให้เป็นเพียงว่ามัน ทิฏฐินิชฌานักขันติยา คือมันทนได้กับการศึกษาพิสูจน์ของเรา ตามวิธีปรัชญาเหมือนกัน กระทั่งว่า อย่านับถือเอาเพราะว่า ครูนี่มันอยู่ในฐานะที่น่าเชื่อ และก็สุดท้ายเพราะว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา คิดดูสิ มันไม่มีส่วนที่จะงมงาย แต่มันจะเป็นวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง คือ ไม่อยู่ที่เหตุที่ปัจจัยที่สัมพันธ์กันเกิดผลอะไรขึ้นมา เราต้องเห็นสิ่งนั้นประจักษ์ชัดไม่ใช่โดยคำนวณ เรียนเรื่อง “อิทัปปัจจยตา” ให้แตกฉานเถิด แล้วจะพบทันทีว่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ พุทธศาสนามิใช่ Philosophy หรือไม่ใช่ปรัชญา Philosophy แต่เป็นปรัชญาอันแท้จริง เป็นสัจจะปรัชญา และเรื่องปฏิจจสมุปบาท นี่จะต้องเรียนกันอย่างสัจจะปรัชญา ไม่ใช่ Philosophy ถ้าเป็น Philosophy แล้วมันดับทุกข์ไม่ได้ และก็จะแตกแยกไปคนละทิศทางจนเถียงกันไม่รู้จักจบ ถ้าเอาตัวจริงมาเรียนกัน คือ ตัวอายตนะ ตัววิญญาณ ตัวผัสสะ ตัวเวทนา ตัวตัณหา ตัวอุปาทาน ภพ ชาติ จริงๆ มาแล้ว มันจะเป็นลักษณะของวิทยาศาสตร์ และเป็นปรัชญาสัจจะ ไม่ใช่ปรัชญา Philosophy ข้อนี้อยากจะให้สนใจกันเป็นอย่างยิ่งคือว่าให้รู้ธรรมะของเรา ขอพูดอย่างชาตินิยมสักหน่อย รู้ธรรมะของเราคือพุทธศาสนานี่ในฐานะที่มันเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ Philosophy ถ้าพูดกับฝรั่งไม่มีปัญหาเพราะเขาใช้คำว่า Philosophy เราไม่ยอมใช้คำว่า Philosophy สำหรับธรรมะ ตัวธรรมะในพุทธศาสนา เราจะใช้คำว่า Truth เทริดอะไรก็ไปตามเรื่อง ขอไม่ใช้คำว่า Philosophy ซึ่ง Philosophy ไม่ใช่ Truth ไม่ใช่ Ultimate Truth ไม่ใช่แม้แต่ Truth ธรรมดา ข้อนี้ผมหวังว่าพวกเราเพื่อนสหธรรมิตรนี่ จะไปหาโอกาสศึกษาธรรมะกันเสียใหม่ และศึกษามันอย่างเป็นสัจจะปรัชญา อย่าเป็น Philosophy อย่าเอาหลัก Philosophy เข้ามาจับเข้ามาตีแล้วเอาไปใช้อย่างเดียวกัน
ผมขอโอกาสพูดค่อนข้างจะรุกล้ำสักหน่อยได้ไหม ว่าพวกเราเดี๋ยวนี้เรียนธรรมะกันน้อยเกินไป ในมหาวิทยาลัยเรียนธรรมะกันน้อยเกินไป เรียน Philosophy เสียมาก ถ้าอย่างนี้แล้วไม่ปลอดภัยหรอก จะไม่รู้ธรรมะพอที่จะดับทุกข์ได้ ช่วยไปโหวตคะแนนเสียงให้ในมหาวิทยาลัยของเราเรียนธรรมะกันให้มากกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เดี๋ยวนี้เราไปเรียนตามหลักสูตรของพวกฝรั่งกันเสียมากเกินไป ดึงเวลาออกมาให้เรียนธรรมะกันเสียให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และให้รู้ธรรมะอย่างปรัชญาบริสุทธิ์ ไม่ใช่ Philosophy แล้วเราจะดับทุกข์ได้ แล้วเราจะสอนฝรั่งได้ ถ้าเราไปเรียน Philosophy ไม่เท่าไหร่ฝรั่งจะมาสอนเรา ฝรั่งจะมาสอนพุทธศาสนาแก่เราในรูปแบบของ Philosophy แล้วพุทธศาสนาก็สูญสลายหมดแหละอย่างนี้ ศึกษาธรรมะในรูปแบบของธรรมะ และก็เป็นวิทยาศาสตร์อยู่ในตัวมันเอง เพราะมันขึ้นอยู่กับคำว่า อิทัปปัจจยตา ตถตา อวิตถตา อนัญญถตา ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อะไรก็ตาม คำเหล่านี้เป็นวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น ไม่มีทางที่จะเป็น Philosophy ในมหาวิทยาลัยของเราในเมืองไทยนี่ ผมว่ารู้สึกว่าเรียนธรรมะน้อยไป ขอให้เรียนธรรมะมากขึ้น และให้เรียนอย่างธรรมะ อย่าไปเรียนอย่าง Philosophy ในลังกาในอินเดียเป็นอย่างไรไม่ทราบไม่เคยรู้เรื่อง แต่ที่ในเมืองไทยเรานี่เรียนธรรมะน้อยเกินไป ขอให้ขยับขยาย เรียนธรรมะให้มากขึ้นและให้เรียนอย่างวิธีเรียนธรรมะมากขึ้น ก็ดับทุกข์ได้มากขึ้น และจะเผยแผ่ไปทั่วโลกได้จริง เราจะรักษาเครดิตของประเทศไทยเมืองพุทธไว้ได้ ถ้าไม่เช่นนั้นเราจะสูญเสียเครดิตอันนี้ และบางทีฝรั่งจะมาสอนพุทธศาสนาให้แก่เราอย่างรูป Philosophy และพุทธศาสนาก็หมด มันเป็นลักษณะ นัยยะตรรกะ ไปเสียหมด มา นะยะเหตุ มา ตักกะเหตุ ในกาลามสูตร ซึ่งชอบแปลกันง่ายๆ ว่า เดาเอา คาดคะเนเอา อย่างนี้ไม่ไหวหรอก แปลอย่างนี้มันเด็กๆ เกินไป มา นะยะเหตุ คือ อย่าเรียนอย่างวิธีนัยยะ วิธีนัยยะก็คือคำนวณอย่างปรัชญา มา ตักกะเหตุ อย่าเรียนอย่างวิธีตรรกะ คือวิธีของ Logic เขาเข้าใจกันดีในอินเดียตั้งแต่โน้น นัยยะคืออะไร ตรรกะคืออะไร เขาเข้าใจกันดี พระพุทธเจ้าตรัสเขาเข้าใจกันดี พอมาถึงเมืองไทย แปลคำนี้ว่า เดาบ้าง คาดคะเนบ้าง มันไม่ถูกความหมายหรอก แล้วมันก็ทำให้สูตรนั้นใช้เป็นหลักไม่ได้ แล้วมันก็น่าหัวเราะเกินไปถ้าเป็นเรื่องคาดคะเนเรื่องเดา คืออย่าใช้วิธีนัยยะ นะยายะ ก็คำเดียวกันนั่นแหละ มันเป็นวิธีคำนวณอย่าง Philosophy อย่าใช้วิธีตรรกะหรือ Logic มันจะไม่ได้ในความจริงของธรรมะ มันเป็นเรื่องอันนั้นไป เป็นเรื่องนัยยะ เป็นเรื่องตรรกะไป มันก็เป็นรูป Philosophy อีกแหละ ไม่ใช่ปัญญาอย่างแท้จริง ไม่ใช่ยถาภูตะสัมมัปปัญญา กาลามสูตรทั้งหมดต้องการให้เรามี ยถาภูตะสัมมัปปัญญา เราเรียนเรื่องนี้กันให้มาก จะเรียนธรรมะบทไหนข้อไหนละก็ขอให้เรียนอย่างชนิดที่มี ยถาภูตะสัมมัปปัญญา แล้วมันจะเป็น นิพเพธิกปัญญา มันจะเจาะแทงกิเลส และกิเลสมันก็จะพ่ายแพ้ไป การบรรลุมรรคผลก็จะเกิดขึ้น ขอให้เราลองนึกกันดู แล้ววันนี้ก็พูดมากพอสมควรแก่เวลาแล้ว ตามที่ผมเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ เลขาธิการเขาเขียนมาในหนังสือนั้นว่า ให้ผมพูดได้ตามที่ผมคิดว่าเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ ผมก็พูดอย่างนี้ พร้อมกันนี้ก็ไปเสนอ ก็ขอเสนอว่าไปเพิ่มหลักสูตรธรรมะให้มากขึ้นอีกหน่อย เรียนธรรมะอย่างวิธีของธรรมะวิธีของพุทธศาสนา อย่าเรียนอย่างวิธีของ Philosophy ที่แล้วมาเราก็เรียนอย่างวิธี Philosophy ทั้งนั้นแหละ โรงเรียนนักธรรมสอนเรื่องอริยสัจ ก็ดี สอนอย่างเรื่องปฏิจสมุปบาทก็ดี เรียนอย่างวิธี Philosophy ทั้งนั้นโดยไม่รู้สึกตัว และโดยไม่รู้จักใช้คำว่า Philosophy หรือความหมายของมัน แต่เดี๋ยวนี้เรารู้กันแล้ว ว่าถ้าเรียนอย่างนั้น คำนวณอย่างนั้น เรื่องอริยสัจ ก็กลายเป็น Philosophy ไม่ต้องพูดถึงเรื่องปฏิจสมุปบาท ที่มันยุ่งยาก ให้มันเข้าถึงเพียงวิธี Philosophy นั้นฝรั่งเรียนเรื่องปฏิจสมุปบาทอย่าง Philosophy แล้วเขียนกันเป็นคุ้งเป็นแคว จนแยกเป็นหลายคุ้งหลายแคว เดี๋ยวนี้มีฝรั่งอธิบายปฏิจสมุบาทแปลกประหลาดที่สุด ผมเผอิญไปเห็นเข้า ก็กลายเป็น Philosophy ที่ยิ่งกว่า Philosophy น่าหัวที่สุด ดึงกลับมาหาเรื่องของเราดีกว่า เรียนลงไปที่ตัวอายตนะ ตัววิญญาณ ตัวผัสสะ ตัวเวทนา ตัวตัณหา อย่ามีการคำนวณ อย่ามี Speculation แบบไหนเลย เราจะพบพระพุทธศาสนา จะได้ชื่อว่าสนองพระพุทธประสงค์ของพระศาสดาสืบอายุธรรมวินัยที่เป็นประโยชน์ไว้ได้ในโลกนี้ และให้ใช้เป็นประโยชน์แก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ได้จริง นั่นแหละบัดนี้ผมพูดตามใจผม ตามที่อนุญาตให้พูดได้ตามใจผมก็เพียงแค่นี้ก่อน ขอยุติการบรรยายสำหรับคืนนี้ไว้เพียงเท่านี้ ถ้าจะฝึกสมาธิอะไรกันบ้างก็ติดต่อ อาจารย์โปสิ หัวรุ่งเขาทำสมาธิกัน ผมก็จะพูดสักอีกครั้งเหมือนกัน อาจเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้ สมาธิกรรมฐาน ที่มิใช่ Philosophy เดี๋ยวนี้มันทำอย่างฝากไว้กับความคาดคะเนเป็น Philosophy เหนื่อยมากแล้วนิมนต์ไปนอน ทั้งวันทั้งเดินทาง ใช้ชีวิตแบบพุทธกาลเสียระหว่างที่อยู่ที่นี่ นั่งกลางดินกันเสียบ้าง พระพุทธเจ้าประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน อยู่กลางดิน นิพพานกลางดิน มาที่นี่มีโอกาสนั่งกลางดิน