แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ อาตมาจะได้วิสัชชนา พระธรรมเทศนาเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้า ตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนานี้เป็นธรรมเทศนาเนื่องด้วยพิธีวิสาขบูชา ดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบอยู่เป็นอย่างดีแล้ว เรื่องที่เราจะต้องนึกถึงมากที่สุดก็คือ ให้ได้รับประโยชน์จากการทำพิธีวิสาขบูชานี้ให้มากที่สุด มิฉะนั้นแล้ว ก็จะเรียกว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีผลคุ้มแก่พุทธบริษัทเลย เรื่องเกี่ยวกับวิสาขบูชา ก็คือเรื่องประสูติ ตรัสรู้ และนิพพาน ดังที่ทราบกันอยู่เป็นอย่างดีแล้ว เราก็จะต้องนึกถึงกันอยู่เสมอว่า ความหมายสำคัญที่สุดนั้น มันอยู่ที่เรื่องตรัสรู้ เพราะมีการตรัสรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงอุบัติขึ้นในโลก และเพราะการตรัสรู้ ไฟกิเลสและไฟทุกข์ ซึ่งเกิดมีอยู่แต่ก่อนนั้น ก็ดับไปอย่างสนิท นี่เพราะอำนาจการตรัสรู้ ท่านทั้งหลายก็ควรจะสนใจในสิ่งที่เรียกว่าการตรัสรู้ นับตั้งแต่ว่าการตรัสรู้นั้น คือรู้อะไร มันจะเป็นประโยชน์แก่พวกเราได้อย่างไร การมาทำพิธีวิสาขบูชากันอย่างเสียสละ เช่นที่เห็นอยู่นี้ ต้องได้รับประโยชน์ให้สมกับที่เป็นพุทธบริษัท ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจให้ดีๆ คือจะพูดว่า ท่านทั้งหลายจะต้องรับผิดชอบตัวเอง
สำหรับอาตมานี่ก็คิดอยู่อย่างหนึ่ง ในฝ่ายของอาตมาว่า ถ้าไม่ได้ทำให้ท่านทั้งหลายได้รับประโยชน์คุ้มแก่การมาแล้ว ก็เรียกว่าเป็นความบกพร่อง เป็นความเสียหาย อย่างที่เคยพูดเป็นอุปมาเล่นสนุกๆว่า ใช้เงินไม่คุ้มค่า ยมบาลก็เอาตาย เดี๋ยวนี้ท่านทั้งหลายก็ได้ใช้เงิน ใช้เวลาใช้กำลังมากมาย ที่มากันจนถึงสถานที่นี้ แล้วก็จะดูกันว่าได้รับประโยชน์อะไรอย่างคุ้มค่า ถ้าไม่ได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่า ยมบาลจะเล่นงานใคร ก็มีส่วนที่จะเล่นงานทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้กระทำ และผู้เป็นเหตุให้กระทำ ท่านทั้งหลายมาเป็นผู้ลงทุน อาตมาก็เป็นเหตุให้ท่านทั้งหลายต้องมาหรือต้องลงทุน ถ้ามันเกิดผลไม่คุ้มค่าขึ้นมา ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้นถ้าจะไม่ให้บกพร่องในข้อนี้แล้ว มันขึ้นอยู่กับที่เราจะต้องช่วยกัน ท่านทั้งหลายก็ช่วยอาตมา ในข้อที่ว่า ทำตนให้ดีที่สุด ให้ได้รับประโยชน์จากการมานี้ให้ได้ ทางฝ่ายอาตมาก็จะทำหน้าที่ดีที่สุด ในการพูด ในการบรรยาย ในการแสดงธรรมเทศนานี้ เพื่อว่าให้ท่านทั้งหลายได้รับประโยชน์ และท่านทั้งหลายก็ต้องได้รับประโยชน์ ต้องทำตนให้ได้รับประโยชน์ ข้อบกพร่องก็จะหมดไป ให้ยมบาลเก้อ เก้อไป คือทำอะไรเราไม่ได้
ทำไมชอบพูดถึงยมบาล ก็เพราะไม่รู้ว่าจะพูดว่าอะไรดี ทุกคนควรจะถือว่า คำว่ายมบาลนั้น เป็นเครื่องหมายของความเป็นธรรม หรือความยุติธรรม ยมบาลเป็นผู้รักษาความถูกต้อง และความเป็นธรรม อย่างตรงไปตรงมา อย่างเฉียบขาด ถ้าเราทำผิด มันก็ต้องเป็นหน้าที่ของยมบาลที่จะเล่นงาน ใช้คำธรรมดาๆ ค่อนข้างจะโสกโดกไปสักหน่อยว่า ยมบาลเขาเล่นงาน ถ้าเราทั้งสองฝ่ายไม่บกพร่อง ก็ไม่มีทางที่จะเล่นงาน ดังที่กล่าวแล้ว
ข้อนี้ จะต้องนึกไปให้กว้างไกลจนถึงกับว่า พระพุทธศาสนานั้น พระพุทธองค์ทรงประสงค์ให้ช่วยกันรักษาไว้ให้เป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทวดา และมนุษย์ หมายความว่า ให้แก่สัตว์ทุกชนิด หรือคนทุกชนิด เทวดาก็คือคนที่ว่า ร่ำรวย สบายแล้วในทางฝ่ายวัตถุ มนุษย์ก็คือคนที่ยังจะต้องอาบเหงื่อต่อไป เทวดานั้นมันเป็นพวกที่ไม่รู้จักเหงื่อ จำไว้เท่านี้ก็พอ จะได้รู้จักแยกเทวดาออกจากมนุษย์ได้ ว่ามันต่างกันที่ตรงนี้ พวกเทวดา เขาไม่รู้จักเหงื่อ พอเกิดมีเหงื่อต้องจุติทันที จุติจากความเป็นเทวดา ไปสู่ความเป็นมนุษย์ หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ ในคัมภีร์ เขาว่ากันว่าอย่างนี้ว่า เทวดานั้นต้องไม่มีเหงื่อ ต้องไม่รู้จักเหงื่อ พอเหงื่อเกิดขึ้นมา ก็พ้นจากการเป็นเทวดา ทีนี้ มนุษย์มันก็ต้องมีเหงื่อ ต้องอาบเหงื่อเป็นธรรมดา ได้ความว่า มนุษย์ที่ยังลำบากอยู่ก็ตาม มนุษย์ที่ไม่มีความลำบากเลยก็ตามนั้น ล้วนแต่ต้องการธรรมะด้วยกันทั้งนั้น เพราะแม้ว่าพวกที่ไม่ลำบาก จนไม่รู้จักเหงื่อแล้วนั้น มันยังมีปัญหาอย่างอื่น คือมีเรื่องในทางจิตใจ เขายังต้องมีความทุกข์ทางจิตใจ เพราะเทวดาเหล่านั้น เขายังมีอวิชชา มีโมหะ มีความยึดมั่นถือมั่น ในเรื่องตัวตน หรือของตน เทวดาจะยึดมั่นมากกว่ามนุษย์เสียอีก ก็เพราะว่าเทวดาเหล่านั้น เป็นผู้สบายนั่นเอง ความสบายมากของเทวดานั่นแหละ ทำให้เทวดายึดมั่นถือมั่นมาก เพราะมันสบายกว่า เป็นความสบายที่ดีกว่า ทำให้เทวดานั้นกลัวตายมาก ปรากฎอยู่ในพระบาลี แม้ที่เป็นพุทธภาษิตว่า พวกพรหม ซึ่งเป็นเทวดาสูงสุดนั่นแหละ กลัวตายยิ่งกว่าพวกไหนหมด มีอัสมิมานะมากยิ่งกว่าพวกไหนหมด ไม่ใช่ว่าเป็นเทวดาสบายดีแล้ว กิเลสมันจะลดลง กิเลสมันกลับจะเพิ่มมากกว่าคนธรรมดาไปเสียอีก ก็เพราะว่ามีความสบายนั่นเอง
ถ้าจะพูดให้ชัดกว่านั้น ก็จะต้องพูดว่า คนที่สบายนั่นแหละ จะเห็นแก่ตัวมาก จึงมีตัวกูของกูมาก ไอ้คนที่ยังลำบากอยู่ มันจะยังเห็นแก่ตัวน้อย เพราะมันไม่มีอะไรที่จะมาให้หลงใหล ไม่มีความสบายที่จะมาทำให้หลงใหล มันจึงหลงใหลในชีวิตน้อย ส่วนคนที่สบายมากนั้น มันก็มีชีวิตสบายนั้นแหละ เป็นเครื่องทำให้หลงใหล แต่แล้วก็ยิ่งหลงใหลเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นทุกข์มากเท่านั้น ยิ่งหลงใหลเท่าไหร่ ก็ยิ่งกลัวตายเท่านั้น พูดกันอย่างนี้มันฟังง่ายดี ดังนั้น เราก็อย่าคิดว่าเป็นเทวดาแล้วมันจะหมดปัญหา เป็นเทวดาแล้ว มันอาจจะยิ่งเพิ่มปัญหาก็ได้ มันยังมีความทุกข์มาก เพราะว่ามันยึดมั่นมาก มันหลงใหลมาก
มันยังมีเรื่องที่น่าประหลาดอีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า เมื่อพวกเทวดาเขาจะตาย เขาก็มีปัญหาว่า จะไปเกิดที่ไหนดี เทวดาตนนี้จะต้องจุติแน่แล้ว ก็มีปัญหาว่าจะไปเกิดที่ไหนดี ทักทายกันไปมา ถามกันไปมาจนทั่ว ทั้งเทวโลกแล้ว ในที่สุด ยุติว่าไปเกิดในมนุษยโลก เพราะว่าในมนุษยโลกนั้น มีธรรมะ มีศาสนา มีพระพุทธ มีพระธรรม พระสงฆ์ ที่หาได้ง่ายกว่าในเทวโลก เลยบัญญัติกันว่า ให้มนุษยโลกนี่เป็นสุขคติของพวกเทวดา นี่มันหกหัวกลับกันถึงอย่างนี้ คนที่ชอบอยากจะเป็นเทวดานั้น ควรจะคิดดูให้มาก ทำบุญอะไรๆ ก็อยากจะไปสวรรค์ อยากไปอยู่ในเทวโลก แต่พวกที่อยู่ในเทวโลกโน้น เขากลับมองเห็นกันว่า สุขคติของเทวดานั้น คือมนุษยโลก มันสวนทางกันอยู่อย่างนี้ ที่พูดอย่างนี้ ก็ต้องการจะให้มองเห็นในแง่ที่ว่า พวกที่มันมีความสุขสบายมาก มันก็ยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูมาก หรือจะพูดภาษาพวกเราก็ว่าจิตมันไม่ว่างมาก พวกที่เป็นเทวดาสนุกสนานอยู่นั้น จิตยิ่งไม่ว่างมาก เพราะมันมีสิ่งที่ทำให้ยึดมั่นถือมั่นมาก มันก็ยิ่งไม่ว่างมาก แล้วจะสบายอะไร มันก็ได้แต่สนุกและเพลิดเพลิน เดี๋ยวนี้ ความโง่ของมนุษย์เรา มันอยู่ตรงที่ว่าเอาไปสับกันเสีย เอาความสนุกหรือเพลิดเพลินเป็นความสุข เอาความสุขสงบเย็นที่แท้จริง อย่างนิพพานนั้นเป็นของน่าเบื่อ ไม่น่าปรารถนา ชอบไอ้พวกโลดเต้น โลดโผน เต้นแร้งเต้นกา สนุกสนาน เป็นความร้อนก็ยังพอใจ นี่ ระวังให้ดี แม้ในเมืองมนุษย์นี่แหละ กำลังสับเปลี่ยน เอาความสนุกสนานเพลิดเพลินมาเป็นความสุข เห็นความสุขสงบเย็น เป็นเรื่องที่ไม่มีรส ไม่มีชาติ
เมื่ออาตมาบอกว่า ทำงานให้สนุก และก็เป็นสุข เมื่อทำงานนั้นเอง ไม่ต้องไปสถานเริงรมย์ กามารมณ์ ไปอาบอบนวด เป็นต้น ให้มีความสุข อยู่เมื่อทำการงานนั้นเอง เขากลับเห็นว่า มันจะเป็นสุขอย่างไรได้ เขาไม่เอา เพราะว่ามันจืดชืด มันก็จืดชืด สำหรับคนมีจิตไม่ถึงขนาด ถ้าเขามีจิตถึงขนาด ก็จะพอใจได้ว่าเป็นความสุข ผู้ที่จะทำงานสนุก เป็นสุขเมื่อทำงานนั้น ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมจิตใจเสียใหม่แล้ว ตามสมควร ก็คือไม่โง่เต็มตามสมบัติเดิม ที่มันโง่อยู่เป็นประจำ มันมีความติดในรสอร่อย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นเป็นความสุข ส่วนความสุขที่สงบเย็นแท้จริงนั้น จะไม่เห็นว่าเป็นความสุข ทำงานให้สนุก แล้วเป็นสุขเมื่อทำงานนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจอบรมดีแล้ว มีสติปัญญาเพียงพอแล้ว เพียงพอถึงขนาดที่จะเห็นว่า การทำหน้าที่ของมนุษย์นั่นแหละ คือสิ่งสูงสุด หรือ ธรรมะ
ธรรมะ คือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต จะเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉาน แม้แต่จะเป็นต้นไม้ต้นไร่ก็ตาม มันมีหน้าที่ที่จะต้องทำ ทำเพื่อให้รอดอยู่ได้ และดียิ่งๆขึ้นไป หน้าที่นี้มี ๒ ขั้นตอน คือ ทำให้รอดชีวิตอยู่ได้ตอนหนึ่ง และทำให้ดียิ่งๆขึ้นไปจนถึงขั้นสุดท้าย นี่อีกตอนหนึ่ง ถ้าใครกำลังทำอย่างนี้อยู่ ผู้นั้นเรียกว่า ปฏิบัติธรรมะ คือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต เขาจะต้องศึกษา มีปัญญาถึงขนาดที่จะรู้ว่า ความจริงมันเป็นอย่างนี้ คือรู้ว่า หน้าที่นั่นแหละ คือสิ่งสูงสุดของมนุษย์ คือเกียรติยศของมนุษย์ คือหนทางรอดของมนุษย์ เรียกกันให้ชัด ก็เรียกว่าธรรมะ ซึ่งอาตมาก็เคยพูดมาหลายครั้งหลายหน จนจะเบื่อกันแล้วก็ได้ว่า ธรรมะมีสี่ความหมาย ธรรมะที่หนึ่ง คือตัวธรรมชาติ ธรรมะที่สอง คือกฎของธรรมชาติ ธรรมะที่สาม คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะที่สี่ คือผลที่ได้รับจากหน้าที่นั้น
ธรรมะที่สาม นั่นคือ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เรียกว่า ธรรมะ ในธรรมะสี่ความหมาย ธรรมะความหมายที่สาม นี่แหละสำคัญที่สุด ธรรมชาติ ก็ยังธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ ก็กฎของธรรมชาติ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ถ้าใครไม่ทำแล้ว มันจะต้องตาย หรือไม่ตายมันก็ดีขึ้นกว่านั้นไม่ได้ ฉะนั้น เราต้องทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เป็นธรรมะในความหมายที่สาม ให้รู้ว่าหน้าที่นั่นแหละ คือธรรมะ ในความหมายที่สามนี้ หน้าที่นั่นแหละ คือธรรมะ ก็ช่วยให้รอด ถ้ารอดอยู่แล้ว ก็ดียิ่งๆขึ้นไปจนถึงที่สุด ผู้ใดมีสติปัญญามองเห็นถึงขนาดนี้แล้ว เขาก็พอใจในสิ่งที่เรียกว่า หน้าที่ เพราะว่ามันเป็นธรรมะ เป็นสิ่งสูงสุด เป็นสิ่งที่มีเกียรติ เป็นสิ่งที่ช่วยให้รอด พอเขารู้สึกว่าได้ทำหน้าที่ คือทำงานในหน้าที่ หรือปฏิบัติธรรมะนี่ เขาก็พอใจ ให้นึกถึงคำว่า พอใจ ถ้าพอใจแล้วต้องเกิดความสุขทั้งนั้น พอใจชนิดไหนก็ตามย่อมเกิดความสุข อย่างสมควรกัน ปีติ คือพอใจ ย่อมให้เกิดความสุข คือรู้สึกเป็นสุข พอใจเลวๆ ก็เป็นสุขเลวๆ พอใจดีๆ ก็เป็นสุขดีๆ พอใจมากๆ ก็เป็นสุขมากๆ พอใจลึกซึ้ง ก็เป็นสุขลึกซึ้ง
เดี๋ยวนี้ มันเป็นความจริง เป็นความถูกต้อง ที่พอใจกันได้มาก พอใจกันได้ลึกซึ้ง เพราะมองเห็นอยู่ว่า ได้ปฏิบัติธรรมะ พอใจตัวเองว่ามีค่ามาก ปฏิบัติธรรมะมาก มีเกียรติมาก จนยกมือไหว้ตัวเอง ถ้ามันพอใจจนถึงกับ ยกมือไหว้ตัวเองได้ มันก็มีสุขมาก เป็นสุขที่แท้จริง ไม่ใช่ความสุขสนุกสนาน เอร็ดอร่อย เพลิดเพลิน มันเป็นความสุขสงบเย็น ที่ได้มีธรรมะ และพอใจในความมีธรรมะของตน นี่แหละ คือความสุขที่เกิดขึ้นเมื่อทำการงาน ช่วยจำให้ดีๆ สำหรับประโยคนี้ มันจะช่วยได้มาก ธรรมะมันจะช่วยได้ ก็คืออย่างนี้แหละ
ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อทำงาน เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ และเป็นของจริง ถ้าทำงานแล้ว เอาเงินที่เป็นผลของงาน ไปซื้อเหล้ากิน ไปทำอบายมุขทั้งหลาย นั่นไม่ใช่ความสุข นั่นเป็นความเพลิดเพลินที่หลอกลวง หรือความสุขที่หลอกลวง มีแต่จะทำอันตรายเจ้าของ นับตั้งแต่ว่ามันทำให้เงินไม่พอใช้ ต้องขโมย ต้องคอรัปชั่น ต้องอะไรต่างๆ ความสุขชนิดนั้นจะทำให้เงินไม่พอใช้ และก็จะทำให้ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลส มากขึ้นๆ คือจมลงไปในกองทุกข์มากขึ้นๆ ถ้าเรามีความเข้าใจถูกต้อง รู้ว่าธรรมะ คือหน้าที่ เมื่อทำหน้าที่แล้วก็พอใจ เมื่อพอใจแล้วก็เป็นสุข เมื่อทำงานนั้นเอง ก็ไม่ต้องใช้เงิน ซื้อหาความสุขที่ไหน เงินมันก็เหลือ นี่เรียกว่า ความสุขที่แท้จริงนั้น ไม่ต้องใช้เงิน เพราะมันเกิดมาจากความพอใจ ที่เราได้เป็นมนุษย์อย่างถูกต้อง คือทำหน้าที่ของมนุษย์อย่างถูกต้อง แล้วก็พอใจ ยกมือไหว้ตัวเองได้ มันก็เป็นความสุข ความสุขชนิดนี้ไม่ต้องใช้เงิน ตรงกับบทธรรมะที่ว่า นิพพาน เป็นของให้เปล่า
พระพุทธเจ้า ท่านตรัสว่า นิพพานเป็นของให้เปล่า นิพพานคือความสุข เย็นสงบแท้จริง เป็นของให้เปล่า ไม่ต้องซื้อ ส่วนความสุขหลอกเป็นความเพลิดเพลินทางกามารมณ์นั้น ยิ่งต้องซื้อ และยิ่งแพง และยิ่งซื้อ ก็ยิ่งอยากมาก ยิ่งเอามากินมาใช้ ก็ยิ่งอยากมากขยายตัวออกไปมาก จนเงินไม่พอใช้ มันต้องใช้เงินจนไม่พอใช้ สำหรับความสุขหลอกลวง แต่ถ้าเป็นความสุขที่แท้จริง มันไม่ต้องใช้เงิน กลับไม่ต้องใช้เงิน เงินมันก็เหลือ และมันเป็นความสุขซะจริงๆ เป็นสุขที่ไม่ต้องออกไปหาความสุขที่ไหนอีกแล้ว เป็นความสุขที่แท้จริง จนเป็นนิสัย เป็นชีวิตเย็น เป็นนิสัย ชีวิตก็ยิ่งเย็น เงินก็ยิ่งเหลือ นี่คือธรรมะ ที่ว่าเราจะต้องมี และจะเป็นผู้ที่มีความสุขอย่างถูกต้อง ตามหลักของพระพุทธศาสนา ดีกว่าความสุขในเมืองเทวดา ตามที่เขาพูดกันว่า มันมีสวรรค์ มีวิมาน มีนางฟ้า เป็นบริวาร มีเทพบุตร ช่วยสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินนี่ มันก็เป็นเรื่องบ้ากันใหญ่ จะหาความสงบได้อย่างไร คิดดูเถิดว่า อยู่ที่ไหนจะใกล้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่บนสวรรค์ใกล้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือว่าอยู่ในเมืองมนุษย์นี่ใกล้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าว่าในเมืองเทวดา มีสิ่งหลอกลวง ยั่วยวนกิเลสมากอย่างนั้น แล้วอยู่เมืองมนุษย์ดีกว่า เพราะว่ามันไม่ค่อยจะมีอะไรหลอกลวง เพราะมันต้องอาบเหงื่อ มันก็ไม่มากเกินไป เพราะมันเหน็ดเหนื่อย มันก็ต้องอาบเหงื่อ มันก็อยู่ในความสงบสุขที่แท้จริงได้ง่ายกว่า
นี่พูดมากไปแล้ว ในข้อที่ว่า พระธรรมนี่เป็นประโยชน์สุข เกื้อกูลแก่มหาชน ทั้งเทวดาและมนุษย์ พระพุทธองค์ตรัสอย่างนั้น และยังตรัสคู่กันไปด้วยว่า ให้เธอทั้งหลายจงช่วยกันทำให้ธรรมะยังคงมีอยู่ในโลก เพื่อประโยชน์ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ ธรรมะนั้น มันเป็นประโยชน์แก่มหาชนทั้งเทวดา และมนุษย์ แต่ว่าเธอทั้งหลายจะต้องช่วยกันทำให้ธรรมะนั้นยังคงมีอยู่ในโลก เพื่อเป็นประโยชน์ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ เรื่องของธรรมะเป็นอย่างนี้
เดี๋ยวนี้ เราเป็นพุทธบริษัท มอบชีวิตจิตใจแก่พระพุทธเจ้า เราก็ต้องทำให้ตรงตามพระพุทธประสงค์ มีหน้าที่ที่จะต้องทำกี่อย่างก็ต้องทำหมด เพื่อให้ตรงตามพระพุทธประสงค์ เดี๋ยวนี้ อาตมาอยากจะพูดหรือว่าหยิบขึ้นมาพูด เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า การช่วยกันทำให้ธรรมะยังคงมีอยู่ในโลกนั่นแหละ จะเป็นพระพุทธประสงค์ ตรงตามพระพุทธประสงค์
เราจะทำได้อย่างไร เราก็ต้องศึกษา ต้องปฏิบัติ ให้มีธรรมะให้อยู่ในโลก และเราจะต้องช่วยกันแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ตามที่เราจะทำได้ เดี๋ยวนี้ เรามาทำพิธีวิสาขบูชา อาตมาอยากจะขอร้องให้ท่านทั้งหลายมองในแง่ที่ว่า เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เรามีธรรมะ รู้จักธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ และสืบต่ออายุของธรรมะไว้ในโลก ให้คนทั้งโลกได้รับประโยชน์อันนี้ ถ้าท่านทั้งหลายทุกๆคนที่มาจากที่ไกลมองเห็นความจริงอันนี้ แล้วกระทำอย่างนี้ ก็เป็นที่แน่นอนได้ว่าไม่มีอะไรบกพร่อง ยมบาลจะวิ่งหนีไปเอง ไม่กล้ามารบกวน คนที่ทำหน้าที่ของตนอยู่อย่างสมบูรณ์อย่างนี้ เรามาช่วยกันจัดช่วยกันทำให้ทุกอย่าง ให้สิ่งที่เรากระทำทุกอย่าง มันเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างนี้ เพื่อวัตถุประสงค์อันนี้ มันมีหลายอย่าง แต่ว่าการประกอบพิธีวิสาขบูชาก็เป็นอย่างหนึ่งด้วย จึงต้องพูดกันให้แจ่มแจ้งชัดเจน
เมื่อตอนบ่าย ก็พูดกันมาทีหนึ่งแล้ว ก็เป็นหัวข้อคร่าวๆ แล้วก็เป็นการพูดเพื่อเตรียมตัวสำหรับจะทำพิธีวิสาขบูชามากกว่าอย่างอื่น เมื่อมาถึงเวลานี้ ไม่ใช่เรื่องเตรียมตัวแล้ว เป็นเรื่องที่จะเข้าถึงตัวของธรรมะ ของพระศาสนา หรือของไอ้สิ่งที่เรียกว่า วิสาขบูชา อาตมาจึงต้องยกเอาคำว่าประสูติ ตรัสรู้ และนิพพานนั้นมาพูดกันใหม่ ขอให้ท่านทั้งหลายสนใจให้ถึงที่สุดด้วยว่า ความหมายของการประสูติ ตรัสรู้ และนิพพานนั้นมีอยู่เป็น ๒ ชนิด ถ้าเป็นอย่างภาษาคนก็เอาคนเป็นหลัก ถ้าเป็นภาษาธรรม ก็เอาธรรมะ เอาจิตใจเป็นหลัก พูดอย่างภาษาคน ประสูติ ก็ประสูติของสิทธัตถะกุมาร ของพระกุมารสิทธัตถะ ถ้าตรัสรู้ มันก็ต้องต่อมาอีก ๓๕ ปี เจ้าชายสิทธัตถะที่บวชแล้ว จึงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และต่อมาอีก ๔๕ ปี ท่านนิพพานที่คนทั้งหลาย เข้าใจกันว่าท่านตาย นี่พูดอย่างภาษาคน เอาวัตถุ เอาเรื่องทางกายเป็นหลัก
ทีนี้ถ้าจะพูดในภาษาธรรม มันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ประสูติ คือการเกิดขึ้นมา การอุบัติขึ้นมาของพระพุทธเจ้า มีได้เมื่อท่านตรัสรู้ เมื่อท่านตรัสรู้ เมื่อพระพุทธเจ้า เมื่อเป็นพระสิทธัตถะบวชแล้ว ถึงขนาดจะตรัสรู้แล้ว ก็ตรัสรู้ ท่านตรัสรู้แล้วก็เกิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ บังเกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ พวกหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าอุบัติบังเกิดขึ้นมาในโลกนี้เมื่อทารกสิทธัตถะประสูติ แต่เดี๋ยวนี้ พวกเราว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติบังเกิดขึ้นในโลกนี้เมื่อ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ มันคนละเรื่องกัน และมันจะห่างกันตั้ง ๓๕ ปี
ทีนี้ ตรัสรู้ก็คือเรื่องของจิตใจ สว่างไสว รู้สิ่งที่ควรจะรู้ สิ่งสูงสุดที่ควรจะรู้ ทำให้เกิดพระพุทธเจ้า ก็เป็นการเกิดทางจิตใจ ทีนี้ การตรัสรู้นั้นทำให้นิพพาน นิพพานคือดับเย็นแห่งความร้อน ไฟกิเลส และไฟทุกข์ ที่เคยมีแต่กาลก่อนนั้น ดับสนิทลงไป ก็เรียกว่าเป็นนิพพาน มันก็กลายเป็นเรื่องจิตใจ ฉะนั้น การประสูติ ตรัสรู้ และนิพพาน ภาษาธรรมะนี่ เป็นเรื่องจิตใจล้วน ประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน ภาษาคนนั้นเป็นเรื่องทางกาย ต่างกันอยู่ทั้งสองฝ่าย ท่านทั้งหลายต้องรู้จักทั้งสองฝ่าย แล้วก็เลือกทำให้มีประโยชน์ที่สุด อย่างไหนจะมีประโยชน์ที่สุด ทำได้สะดวกกว่า และเป็นหน้าที่มา ตกมาถึงพวกเราที่จะต้องทำด้วย หมายความว่า อาตมาจะต้องขอยืนยันว่า ใครจะว่าบ้าว่าบอก็ตามใจเถอะ แต่อาตมาก็จะพูดว่า ท่านทั้งหลายทุกคนนี่ มีหน้าที่ที่จะต้องพยายามกระทำตนให้ประสูติ ตรัสรู้ และนิพพาน คนที่เขาไม่เข้าใจ เขาฟังไม่ออก เขาก็ว่านี่ก็พูดบ้าๆบอๆ มากทีเดียว ว่าท่านทั้งหลายทุกคนที่จะต้องทำตนให้มีการประสูติ ตรัสรู้ และนิพพาน ก็ต้องเอาเรื่องตรัสรู้นี่แหละเป็นหลัก ที่ว่าท่านต้องตรัสรู้ คือรู้ธรรมะถึงที่สุด แจ่มแจ้ง ชัดเจน เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ ข้อนี้ไม่ใช่ยกตัวเทียมพระพุทธเจ้า มันเทียมกันไม่ได้ พระพุทธเจ้านั่นท่านทำเอาเอง ท่านตรัสรู้เอง ไอ้เรานี่ต้องเรียกว่า ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า สอนว่าอย่างไรเราก็ทำตาม ก็ได้ตรัสรู้ ตรัสรู้ตามแบบของเราที่เป็นสาวก ก็คือตรัสรู้ตาม ถ้าท่านตรัสรู้แล้ว ก็จะมีการเกิดใหม่ เกิดใหม่แห่งคนใหม่ ไม่ใช่คนเก่า เมื่อใดรู้ธรรมะถึงที่สุด มันเปลี่ยนหมดในทางจิตใจ ที่เคยโง่ก็ไม่โง่ ที่เคยโกรธก็ไม่โกรธ ที่เคยกำหนัดโลภลาภ ก็ไม่กำหนัดละโมบโลภลาภ มันเกิดใหม่เป็นคนใหม่ นี่เรียกว่าชีวิตใหม่
เมื่อมีการตรัสรู้แล้ว จะเกิดมีชีวิตใหม่ เรื่องชีวิตใหม่นี่ เป็นคำที่น่าสนใจ ก็บอกตรงๆว่า มันไปยืมเอาคำในศาสนาคริสเตียนมา ในคัมภีร์ไบเบิล พระเยซูจะย้ำเรื่องการเกิดใหม่ คือเมื่อได้เข้าถึงพระเจ้า รับเอาพระเยซูเป็นสรณะแล้ว ก็มีการเกิดใหม่ มันเป็นการเกิดใหม่ตามแบบของศาสนาคริสเตียน เราไม่ต้องพูดถึงก็ได้ แต่ว่า ในพุทธศาสนาเรานี่ มันจะต้องมีการเกิดใหม่ หรือมีชีวิตใหม่อย่างเดียวกัน เมื่อก่อนนี้ ท่านมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปปาทาน มีตัวกูของกูเต็มไปหมด มีความทุกข์ทรมานซ้ำๆซากๆ อย่างที่เรียกว่า วัฏฏสงสาร ก็จมอยู่ในวัฏฏสงสาร เดี๋ยวนี้จะเกิดใหม่ จะมีชีวิตใหม่ ชีวิตที่ไม่จมอยู่ในวัฏฏสงสาร จะมีได้ทันที ผลุงขึ้นมาทันทีเมื่อรู้ธรรมะ เมื่อตรัสรู้ธรรมะ การเกิดผลุงขึ้นมาทันทีอย่างนี้ เขาเรียกว่า โอปปาติกะ มีคำอธิบายว่า ไม่ต้องมีพ่อมีแม่ก็เกิดได้ แล้วก็เกิดไม่ต้องเป็นเด็กก็ผลุงขึ้นมาเป็นคนโตเต็มที่ นี่แหละความหมายของการเกิดอย่างวิธี โอปปาติกะ คือมันเป็นการเกิดทางใจ คิดไปในรูปแบบใด มันก็เกิดเป็นคนในรูปแบบนั้น คิดอย่างโจร ก็เกิดเป็นโจร คิดอย่างคนพาล ก็เกิดเป็นคนพาล คิดอย่างบัณฑิต ก็เกิดเป็นบัณฑิต คิดอย่างสัตตบุรุษ ก็เกิดเป็นสัตตบุรุษ ไม่ต้องมีพ่อมีแม่ เกิดผลุงขึ้นมาทันที โตเต็มที่เลย
ขอให้เราพยายามทำให้มีการรู้ธรรมะที่สมบูรณ์ ที่พอจะเรียกได้ว่าเป็น การตรัสรู้ แล้วก็จะมีการเกิดใหม่ คือประสูติ เกิดใหม่ เป็นคนใหม่ เป็นชีวิตใหม่ อย่างผิดตรงกันข้ามกับชีวิตเก่า และในการเกิดใหม่นั้นเอง ก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า นิพพาน คือไฟกิเลส และไฟทุกข์ซึ่งเป็นของร้อนนั้น ดับไปหมด แล้วมันก็เย็น เกิดเป็นชีวิตใหม่ มีชีวิตใหม่นี่ มันเป็นชีวิตเย็น เรียกว่านิพพาน การเกิดประสูติ การตรัสรู้ การนิพพาน ก็มีได้แก่ท่านทั้งหลายทุกคน ถ้ายังไม่เชื่อ อาตมาก็ทนเป็นคนบ้าๆบอๆไปก่อน ให้ท่านทั้งหลายไปคิดดู ไปใคร่ครวญดู ไปปฏิบัติดู ไปลองปฏิบัติดู แล้วก็อาจจะรู้ว่า อ้อไม่ได้บ้า ไม่ได้บอ อาตมานี้เป็นอะไร ท่านจะแต่งตั้งให้เป็นอะไรก็ได้ ท่านจะถอดออกเสียอีกก็ได้ ตั้งใหม่ก็ได้ ได้ทั้งนั้นแหละ เพราะอยู่ทุกวันนี้ มันก็เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวคนนั้นตั้งให้เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวคนโน้นตั้งให้เป็นอย่างนี้ ให้บ้าๆบอๆ ให้เลวก็มี ให้โกงก็มี ให้ชั่วก็มี เดี๋ยวก็ถอดให้เป็นคนดีอีกแล้ว เป็นคนประเสริฐ เป็นคนวิเศษอีกแล้ว เพราะอันนี้มันห้ามกันไม่ได้ มันเป็นความคิด
ถ้าไม่เชื่อในเรื่องนื้ ว่าคนเราทุกคนนี่ประสูติ ตรัสรู้ นิพพานได้ ก็ขอให้เอาไปคิด และเอาไปทำด้วย อย่าคิดเฉยๆ พอลงมือทำแล้ว มันจะแสดงความจริงออกมาว่า ได้หรือไม่ได้ และก็จะเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า มันเกิดใหม่นี่ มันต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ถ้าทำได้อย่างนี้ อาตมาก็อยากจะยืนยันว่า ปลอดภัย ยมบาลทำอะไรเราไม่ได้ และจะดีกว่านั้นอีก ก็คือว่าท่านทั้งหลายบรรดาที่มาแต่ที่ไกลนั้นได้รับประโยชน์คุ้มค่ากัน คุ้มค่าเวลา คุ้มค่าเงินทอง คุ้มค่าความเหน็ดเหนื่อย คุ้มค่าอะไรต่างๆนาๆ ที่ต้องลงทุนไปนั้นจะคุ้มค่า ที่ได้ยินว่ามาไกล ไกลลิบทางสุดเหนือก็มี ไกลลิบทางสุดใต้ก็มี ถ้ามันได้ผลไม่คุ้มค่า อาตมาก็มีส่วนในการจะรับโทษจากยมบาล เพราะเป็นเหตุให้คนได้เสียเงิน เสียทอง เสียเวลาไป โดยไม่ได้รับประโยชน์คุ้มค่า แต่ถ้าเรามาร่วมมือกันให้ได้รับประโยชน์คุ้มค่า ทุกคนทุกฝ่ายนี่ก็จะปลอดภัย ไม่ใช่ว่าเราจะคิด แต่ว่าเราปลอดภัย แล้วก็เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ถูกต้อง แต่เราจะคิดว่าการที่กระทำอย่างนี้นั้น เป็นประโยชน์แก่พระศาสนา เป็นประโชน์แก่ชาวโลกทั้งสิ้น ตรงตามพระพุทธประสงค์ ถ้าทำได้อย่างนี้ มันตรงตามพระพุทธประสงค์ พระองค์ตรัสว่า ธรรมะ พรหมจรรย์ หรือศาสนา จะหมดไปก็เพราะพุทธบริษัททั้งสี่นี่เอง จะอยู่ ก็อยู่เพราะพุทธบริษัททั้งสี่นี่เอง จะเจริญรุ่งเรื่องก็เพราะพุทธบริษัททั้งสี่นี่เอง จะเสื่อมโทรม ซบเซา หมดไป ก็เพราะพุทธบริษัททั้งสี่นั่นเอง
ทำอย่างไรรุ่งเรือง ก็คือตรัสรู้อย่างที่ว่า ขอให้ทุกคนมีอาการที่เรียกว่า ตรัสรู้ แล้วก็เกิดใหม่ แล้วก็ดับเย็นเป็นนิพพาน นั่นแหละ มันจะเจริญรุ่งเรืองถึงที่สุด ไม่มีความเจริญรุ่งเรื่องใดๆที่จะยิ่งไปกว่านี้แล้ว ขอให้พิจารณาดูให้ดีๆ เรื่องนี้มัน มันไม่ลึกเกินไป มันไม่ยากเกินไป มันไม่ลึกเกินไป เป็นสิ่งที่พอจะมองเห็นได้ในลักษณะที่เป็น สันทิฏฐิโก คือท่านทั้งหลายมองเห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่ออาตมา เชื่อตนเอง เพราะมองเห็นอยู่เอง ว่าเป็นอย่างนั้น นั่นแหละเขาเรียกว่า สันทิฏฐิโก ถ้าเชื่อตามคนอื่น ว่าตามคนอื่น พูดตามคนอื่นนี้ ไม่ใช่สันทิฏฐิโก เมื่อไม่ใช่สันทิฏฐิโก ก็ยังไม่ใช่ธรรมะที่แท้จริง เพราะธรรมะที่แท้จริงเป็นสวากขาโต นั้น ต้องเป็นสันทิฏฐิโก เป็นอกาลิโก เอหิปัสสิโก เรื่อยไปจนตลอด เรื่องของพระธรรม
เราจะต้องรู้จักธรรมะนั้น ในลักษณะที่เป็นสันทิฏฐิโก รู้ได้โดยประจักษ์แก่จิตใจของตน แต่มันก็ต้องเป็นจิตใจที่ได้รับการอบรมมาพอสมควรแล้ว จิตใจธรรมดาๆ นี่มันยากที่จะมีความสามารถที่จะเป็นสันทิฏฐิโก เราจะต้องอบรมจิตใจกันให้ถูกต้องพอสมควร จึงจะสามารถทำให้มีอาการที่เรียกว่าสันทิฏฐิโก เห็นได้ด้วยตนเอง ยิ่งศึกษาให้ถูกต้อง ความเป็นสันทิฏฐิโกนั้น มันก็จะเกิดขึ้นมา ได้ยินได้ฟังนั้น เป็นการศึกษาในขั้นแรก เอาไปลองปฏิบัติดู นั่นแหละเป็นการศึกษาขั้นที่แท้จริง เพราะความรู้มันจะเกิดจากการปฏิบัติได้เต็มที่ และแท้จริง ความรู้ไม่ได้เกิดจากการศึกษา ได้ยินได้ฟัง อย่างสมบูรณ์อย่างแท้จริง มันต้องเกิดเมื่อ ลองปฏิบัติดู ลองปฏิบัติดู ลองปฏิบัติดู ให้มันถูกเป็นเรื่องเป็นราว มันถึงจะมีการรู้ชนิดที่เรียกว่าความรู้จริง ชนิดที่เป็นประโยชน์จริง ดับทุกข์ได้
ขอให้ท่านทั้งหลาย ถือเป็นหลักไว้ว่า การเรียนนั้นคือ การลองปฏิบัติดู ถ้าจะศึกษาศีล ก็ต้องปฏิบัติศีลดู ถ้าจะศึกษาสมาธิ ก็ต้องลองปฏิบัติสมาธิดู ถ้าจะศึกษาปัญญา ก็จะต้องลองปฏิบัติปัญญา หรือวิปัสสนาดู ไม่ใช่อ่านหนังสือ ไม่ใช่ท่องจำ ไม่ใช่บอกเล่ากันด้วยปาก การศึกษาของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าสิกขา สิกขา สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา นี้เป็นเรื่องปฏิบัติทั้งนั้น ต่อเมื่อได้ปฎิบัติแล้วจึงเป็นสิกขา หรือเป็นการศึกษา อย่าเพียงแต่ได้ยิน ได้ฟังเฉยๆ ได้อ่านเฉยๆ ต้องเอาไปลองปฏิบัติดู ทั้งศีล ทั้งสมาธิ และทั้งปัญญา
ทีนี้เรื่องอะไรล่ะ ที่จะลองปฏิบัติดู ก็พูดว่าการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั่นแหละสำคัญ และก็สำคัญมาถึงเรา ที่เราก็จะต้องตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าด้วย ก็ต้องไต่ ไต่ ไต่ขึ้นไปหาต้นตอว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้อะไร เหมือนที่กล่าวตอนกลางวัน ก็พูดว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา ซึ่งเป็นกฏของธรรมชาติ และการตรัสรู้นั้น มันเป็นการปฏิบัติในทางจิตใจด้วย ก็เลยทำให้เกิดผลในทางจิตใจ คือ หมดกิเลส เย็นเป็นนิพพาน นี้ก็เลยรู้จริง รู้จริง เมื่อหมดไฟกิเลส และไฟทุกข์ เย็นเป็นนิพพาน การตรัสรู้เป็นการตรัสรู้จริง เมื่อจิตนั้นหมดกิเลสแล้ว เยือกเย็นเป็นนิพพานแล้ว เราก็ต้องทำอย่างนั้น ดังนั้น เราก็ต้องรู้เรื่องว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้อะไร
นี้คำตอบ ถ้าตอบตามตัวหนังสือที่มีอยู่ในพระบาลี ที่กล่าวถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็ต้องตอบว่า ท่านตรัสรู้ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปปาโท คือ ตรัสรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ตามตัวหนังสือมันเรียงอย่างนั้น แต่ถ้าว่าเราจะพูดกันตามที่เราพูดกันชั้นหลัง ชอบพูดกันโดยสะดวกเราก็จะพูดว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ๔ ถึงแม้เงื่อนงำในพระบาลีบางสูตรบางแห่ง ก็พอที่จะทำให้พูดว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ ๔ได้เหมือนกัน ท่านก็เน้นในเรื่องที่ว่ารู้อริยสัจ ๔ สมบูรณ์แล้ว จึงปฏิญญาตัวว่าเป็นพระพุทธเจ้า แต่ถ้าไปดูในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ก็เห็นชัดว่าหนังสือมันระบุไปยังปฏิจจสมุปบาท ตามลำดับทบไปทบมา ตรัสรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท
ทีนี้ปัญหามันก็เกิดขึ้นมาว่า เรื่องอริยสัจ ๔ กับเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้น มันต่างกันอย่างไร หรือว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้ามีการศึกษาเพียงพอ ก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เรื่องอริยสัจ ๔ เป็นเรื่องกล่าวย่อๆ เรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องกล่าวโดยพิสดาร เช่น ถ้าโดยทำนองของอริยสัจ ๔ เมื่อถามว่าความทุกข์เกิดมาจากอะไร ก็ตอบว่า ความทุกข์เกิดมาจากตัณหา ตัณหาเป็นทุกข์ สมุทัยให้เกิดทุกข์ นี่ก็ถูกที่สุด แต่มันย่อที่สุดเหมือนกัน
ส่วนเรื่องปฏิจจสมุปบาท หรืออิทัปปัจจยตานั้น ถ้าถามว่าความทุกข์เกิดมาจากอะไร มันก็ตอบได้หมด เกิดมาจากอวิชชา เกิดมาจากตัณหา เกิดมาจากอุปปาทาน แล้วแต่จะชี้ลงไปที่ตรงไหน เพราะว่าสายของปฏิจจสมุปบาทนั้นมันยาวมาก มีตั้ง ๑๑ ๑๒ อาการ มันเกิดมาจากอวิชชาก็ถูก อวิชชาเกิดมาตามลำดับจนกระทั่งมาเกิดเวทนา และเกิดตัณหา มันก็อยู่ในสายของปฏิจจสมุปบาท ตัณหาก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้ มีตัณหาแล้ว มันต้องให้เกิดอุปปาทานเสียก่อน มันจึงจะเป็นทุกข์ได้ ตัณหา คือความอยาก ต้องทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นอุปาทานว่า ตัวกูผู้อยากซะก่อน มันจึงจะมีภพ คือการปรุงขึ้นแห่งตัวตน แล้วก็มีชาติ เป็นตัวตนที่สมบูรณ์ สำหรับจะได้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้นว่า ความเกิดของกู ความแก่ของกู ความเจ็บของกู ความตายของกู โสกะปะริเทวะ ทุกขะโทมะนัสสุปายาส ของกู นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้าใจนะ เพราะว่ามันต้องมีการยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวกู หรือเป็นของกูเสียก่อน จึงจะเป็นความทุกข์ได้
แม้ในพระบาลี ท่านจะกล่าวไว้สั้นๆดุ้นๆว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ นั่นท่านหมายความว่า ในนั้นมีความยึดมั่นถือมั่นโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยจิตใจของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ความเกิดจึงจะเป็นทุกข์ ความแก่จึงจะเป็นทุกข์ ความเจ็บจึงจะเป็นทุกข์ ความตายจึงจะเป็นทุกข์ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่เป็นทุกข์แก่บุคคลผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่น เช่นพระอรหันต์ ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นแล้ว ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่เป็นทุกข์แก่ท่านเลย ไม่ว่าจะเกิดความเจ็บปวดอย่างไร ก็รู้สึกว่าเจ็บปวดเท่านั้น ไม่เป็นทุกข์แก่ท่านเลย พระพุทธเจ้าก็เหมือนกันแหละ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย หรือว่าความไม่ได้ตามต้องการ อะไรก็ตามเถอะ ไม่ทำให้พระพุทธเจ้าเป็นทุกข์ เพราะว่าท่านไม่ได้ยึดมั่นสิ่งเหล่านั้นเลย ความเป็นตัวตนของตน มันต้องมีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น โดยความเป็นตัวตนของตน จึงจะเป็นทุกข์ แต่ถ้าสำหรับปุถุชนคนธรรมดาแล้ว พูดว่าความเกิดก็พอ ความแก่ก็พอ พูดสั้นๆอย่างนั้นก็พอ เพราะว่าปุถุชนคนธรรมดาย่อมยึดมั่นถือมั่นอยู่อย่างเต็มที่ ว่า ความเกิดของกู ความแก่ของกู ความเจ็บของกู ความตายของกู อะไรๆ ก็ของกู มันก็เป็นทุกข์แหละ นี่เรียกว่าพูดอย่างภาษาคนธรรมดาสามัญ เขาจะยึดมั่นความเกิดแก่เจ็บตายนี่ว่าเป็นของกูเสมอ ฉะนั้น พูดว่าความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ การเจ็บเป็นทุกข์ ก็พอแล้ว เพราะมันมีความยึดมั่นถือมั่นรวมอยู่ในนั้นแล้ว แต่คำอย่างนี้เอาไปใช้กับพระอรหันต์ไม่ได้ พระอรหันต์ไม่มีความยึดถือว่าเกิดแก่เจ็บตายของกู ถึงแม้ว่าร่างกายมันจะแก่ จะเจ็บ จะตายลงไปนี้ ท่านก็ไม่ได้เป็นทุกข์ ท่านรู้สึกว่ามันเจ็บปวดอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงอย่างนั้น เป็นความเจ็บไข้อย่างนั้น ก็เป็นไปสิ ความเกิดแก่เจ็บตายนั้น มันไม่ใช่เป็นของฉัน มันก็กลายเป็นของเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ตามธรรมดาไป ไม่ทำให้เป็นทุกข์
นี่แหละการตรัสรู้ ว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ใจความสำคัญที่อยู่ใกล้ชิดที่สุด มีน้ำหนักมากที่สุด ก็คือความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา เมื่อกล่าวโดยสรุปย่อที่สุดแล้ว เบญจขันธ์ที่มีอุปาทานยึดถือ นั่นแหละเป็นตัวทุกข์ และมันทุกข์เพราะยึดถือ ถ้าไม่ยึดถือ มันก็ไม่เป็นทุกข์ จิตที่ความยึดถือเป็นตัวกู ของกู ในสิ่งใดก็ตาม มันก็ต้องเป็นทุกข์ สิ่งที่จะถูกยึดถือนั่นก็คือ ขันธ์ ๕ นั่นเอง
คำว่า ขันธ์ ๕ นี่สำคัญมาก สำคัญตรงที่ว่า พวกเราไม่รู้จักตัวจริงของมัน รู้จักแต่ชื่อ ฟังแต่เสียงด้วยหู ท่องว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วก็ไม่รู้ว่าคืออะไร อยู่ที่ไหน ขอร้องให้ทุกคนสนใจเป็นพิเศษ ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าขันธ์ ๕ กันนี้ให้จริง ให้พอสมควร ให้จริงจัง ให้ถึงที่สุดก็ยิ่งดี ว่าความยึดถือนั้นมันมีอยู่ในกลุ่มสังขาร ใช้คำว่ากลุ่มสังขาร เดี๋ยวจะไปปนกับคำว่าสังขารเสียอีก ใช้คำว่า ในกลุ่มของการปรุงแต่ง ๕ กลุ่ม ขันธ์ ขันธ์คำนี้แปลว่า กลุ่ม แปลว่า กอง คือมันไม่ใช่สิ่งเดียว มันประกอบอยู่ด้วยสิ่งหลายสิ่งรวมกันอยู่ เช่น รูปขันธ์ มันก็มีธาตุหลายธาตุ มีอะไรหลายอย่างรวมกันอยู่ เรียกว่ากลุ่มรูป รูปขันธ์
ในเวทนา ความรู้สึกที่เป็นเวทนาก็เหมือนกัน มันมีอะไรหลายๆสิ่งรวมกันอยู่ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เป็นผล เป็นอะไรรวมกันอยู่ในนั้น ก็เรียกว่ากลุ่มเวทนา
กลุ่มสัญญา ก็เหมือนกันอีกแหละ มันก็มีธรรมะที่เนื่องด้วยกัน เกี่ยวข้องอยู่ด้วยกัน เป็นเหตุก็มี เป็นผลก็มี มันก็เรียกว่ากลุ่มสัญญา
กลุ่มสังขาร ความคิดนึก นี่ก็มีอะไรหลายอย่าง รวมกันอยู่ในนั้น เรียกว่า กลุ่มความคิด หรือกลุ่มสังขาร
กลุ่มวิญญาณ มันก็ต้องมีอะไรรวมอยู่ มันจึงจะเป็นวิญญาณปรากฎออกมา อย่างน้อยประกอบด้วยอายตนภายใน และอายตนภายนอก ถึงกันเข้าแล้ว เกิดจักษุวิญญาณ ในคำว่าวิญญาณ มันต้องรวมอายตน นั้นอยู่ด้วย จึงเรียกว่ากลุ่ม
ทีนี้เราไม่ศึกษา หรือไม่ชี้แจงกันให้เห็นชัดว่า ไอ้กลุ่มทั้ง ๕ นี้ มันมีอยู่อย่างไร หรือว่าสอนกันผิดๆจนถึงกับพูดว่า ไอ้ร่างกาย ชีวิตจิตใจนี้ผ่าแล่งออกไปได้เป็น ๕ ส่วน ๕ กอง เหมือนกับสับมาตัวหนึ่ง ผ่าให้เป็น ๕ ส่วน ๕ กอง อย่างนี้เสียก็มี จึงทำให้คนบางคนคิดว่า เรามีขันธ์ทั้ง ๕ อยู่ตลอดเวลา บางคนเตลิดเปิดเปิงไปถึงกับว่า นอนหลับอยู่ก็ยังมีขันธ์ ๕ อย่างนี้เป็นต้น
อันที่จริงขันธ์ ๕ นั่น เราจะมีพร้อมกันทั้ง ๕ ขันธ์ไม่ได้ มันแล้วแต่ว่าเราจะยึดถืออยูที่ส่วนไหน ส่วนนั้นมันจึงจะมี ส่วนที่ไม่ได้ยึดถือนั้น มันก็เหมือนกับไม่มี จะพูดอีกอย่างหนึ่งก็ว่า ชีวิต ชีวิต ชีวิตนี้ มันอยู่ใน ๕ รูปแบบ บางเวลา มันไปสนใจอยู่ที่พวกรูป คือรูปขันธ์ ชีวิตนี้ก็อยู่ในลักษณะของรูปขันธ์ ไปยึดมั่น ถือมั่น เป็นตัวกู เป็นของกู มันก็เป็นทุกข์เพราะรูปขันธ์นั้น
ทีนี้บางเวลา ความสนใจมันไม่ได้ไปอยู่ที่รูป แต่มันไปอยู่ที่เวทนา คือความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรืออทุกข์ กับอสุข จิตมันไปสนใจ ไปจดจ่อ ไปยึดมั่นถือมั่นอยู่ที่เวทนา ชีวิตนั้น ในขณะนั้น มันอยู่ในรูปของเวทนา มันจึงยึดถือ แล้วก็เป็นทุกข์
ทีนี้บางเวลา ชีวิตไม่ได้อยู่ที่รูปขันธ์หรือเวทนาขันธ์ ความหมายของชีวิตไปอยู่ ตรงที่คำว่า สัญญา คือเขาสำคัญมั่นหมายในสิ่งใด ว่าเป็นอย่างไร สำคัญว่าสุข สำคัญว่าทุกข์ สำคัญว่าหญิง สำคัญว่าชาย สำคัญว่าได้ สำคัญว่าเสีย ซึ่งขึ้นอยู่กับความจำหมาย จิตมันไปหมายมั่นอยู่ที่นั่น สัญญาอย่างนั้น ชีวิตในขณะนั้น มันมีความหมายอยู่ที่สัญญา ไปยึดมั่นถือมั่นอยู่ที่สัญญา ก็มีตัวตนที่สัญญา ก็เป็นความทุกข์ ก็ยึดมั่น
ทีนี้บางเวลามันกำลังทำหน้าที่คิด คิดนั่นคิดนี่ คิดอย่างนั้นอย่างนี้ ในชีวิตมีความหมายอยู่ที่ความคิด ก็มีความยึดถือในสิ่งที่คิด หรือสิ่งที่มันคิดได้ ถือการคิดนั้นเองว่าเป็นตัวตน มันก็ยึดถือที่นั่น มันก็เป็นทุกข์ที่นั่น จะเรียกว่ามีสังขารขันธ์ สังขารขันธ์เป็นที่ตั้งความยึดถือ แล้วก็เป็นทุกข์
ทีนี้บางเวลา มันก็ไปอยู่ที่วิญญาณขันธ์ กลุ่มที่ทำให้เกิดความรู้สึกได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ วิญญาณ ทั้ง ๖ อย่าง แต่ละอย่างนั่น มันเป็นตัวชีวิตขึ้นมา เพราะว่าจิตมันไปจดจ่ออยู่ที่นั่น ไปหมายมั่นอยู่ที่นั่น ยึดถืออยู่ที่ตัววิญญาณว่ารู้สึกอะไรได้ อย่างที่บางคนชอบพูดผิดๆว่า จิต ตัวตน มันมาทำหน้าที่ทางตา ทำหน้าที่ทางหู จมูก ลิ้น กาย อย่างนี้มันเป็นคำพูดที่ผิด มันเป็นการปรุงแต่งของสิ่งเหล่านั้นต่างหากที่เกิดเป็นวิญญาณรู้แจ้งขึ้นมา อยากให้มีตัวตนชนิดอะไร ซ่อนเร้นอยู่ที่ไหนออกมา ทำงานทางตา ทางหูอย่างนี้เป็นต้น นี้เป็นเรื่องลัทธิอื่น เป็นเรื่องศาสนาอื่น
ถ้าเป็นศาสนานี้ก็จะตรงตามพระบาลีว่า อาศัยตากับรูป เกิดจักษุวิญญาณ สังฆคติแห่งธรรม ๓ ประการนี้เรียกว่า ผัสสะ อย่างนี้ วิญญาณเพิ่งเกิด เมื่อมีการกระทบของอายตน จิตใจมันไปสนใจอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณ เพราะมันรู้สึกอารมณ์ได้ เหมือนกับว่าเป็นสัตว์ เป็นคน ชีวิตในระยะนี้ ในกรณีนี้ มันไปมีความหมายอยู่ที่วิญญาณ เหมือนกับว่าชีวิตนี้มันเล่นตลกได้หลายรูปแบบ เหมือนกับว่ามันแต่งตัว เล่นละครได้หลายรูปแบบ บางที บางเวลาความหมายของชีวิตไปอยู่ที่รูปขันธ์ คือกลุ่มรูป บางทีชีวิตนี้มันไปมีความหมายอยู่ที่กลุ่มเวทนาขันธ์ คือความรู้สึกที่เป็นเวทนา ที่เป็นความรู้สึกของจิต จิตที่กำลังมีเวทนา มันก็มีความหมายเท่ากัน มันมีความหมายอยู่ที่เวทนา รู้สึกอยู่ได้ พอรู้สึกอยู่ได้ จึงมีตัวฉัน ตัวฉันรู้สึกมัน บางทีมันมีความหมายอยู่ที่สัญญา หมายมั่นอย่างนั้น หมายมั่นอย่างนี้ บางทีไปรู้สึกอยู่ที่สังขาร สังขารขันธ์ คือ คิดอย่างนั้น คิดอย่างนี้ คิดอย่างนั้น ต้องการอย่างนั้น ต้องการอย่างนี้ บางทีก็ไปอยู่ที่พวกกลุ่มที่ทำหน้าที่พวกรู้แจ้งชั้นนอกๆ รู้แจ้งที่ตา รู้แจ้งที่หู รู้แจ้งที่จมูก ทั้ง ๖ นั้น นี่เรียกว่าขันธ์ ๕ หรือ ๕ ขันธ์ จะเรียกว่าการปรุงแต่ง ๕ กลุ่ม ๕ กอง
ทั้ง ๕ นั้น เรียกว่าสังขาร ทั้ง ๕ กลุ่ม ถ้าเรียกโดยคำสามัญนามแท้ๆ ส่วนลึกเลย เรียกว่าสังขาร ได้ทั้งนั้น แต่เดี๋ยวนี้ท่านเอาคำว่าสังขาร มาใช้กับกลุ่มที่๔ คือสังขารขันธ์ ซึ่งมีความหมายแคบเข้ามา สังขารขันธ์ หมายถึง ความคิด แต่สังขาร เฉยๆ หมายถึงการปรุงแต่งทุกสิ่ง รูปขันธ์ ก็เป็นสังขาร เวทนาขันธ์ ก็เป็นสังขาร สัญญาขันธ์ ก็เป็นสังขาร วิญญาณขันธ์ ก็เป็นสังขาร สังขารขันธ์เองก็เป็นสังขาร อย่างนี้เป็นต้น
ฉะนั้น เราไม่อาจจะมีขันธ์ทั้ง ๕ พร้อมกันในคราวเดียว มันแล้วแต่ว่าจิตมันกำลังไปยึดมั่นชีวิตให้เป็นชีวิตอยู่ที่กลุ่มไหน บางเวลาความยึดมั่นถือมั่นของจิต มันไปยึดมั่นอยู่ที่กลุ่มรูป ตามเรื่อง ตามกรณีที่มันมีอำนาจ มีเหตุปัจจัยให้ไปสนใจ ให้ไปยึดมั่นอยู่ที่กลุ่มรูป แต่บางเวลามันไม่เป็นอย่างนั้น มันไปสนใจยึดมั่นอยู่ที่กลุ่มเวทนา แล้วมันก็เป็นเรื่องที่สืบต่อกันด้วย เพราะมีรูปขันธ์ คืออายตนภายใน และอายตนภายนอก มันยังเกิดวิญญาณ มันจึงเกิดผัสสะ แล้วมันจึงเกิดเวทนา ดังนั้น รูปขันธ์ กับเวทนาขันธ์ จะเกิดพร้อมกันไม่ได้ เวทนาขันธ์ มันก็สืบทอดมาจากรูปขันธ์ ที่มันทำหน้าที่ของมัน การเกิดเวทนาขันธ์ รู้สึกอย่างไรแล้ว มันจึงเกิดความยึดมั่น หมายมั่นในเวทนาขันธ์นั้น เรียกว่าสัญญา มีเวทนาเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นวัตถุให้เกิดสัญญา หรือความมั่นหมาย เมื่อมีสัญญามั่นหมายในสิ่งใด โดยวิธีใดแล้ว มันก่อให้เกิดความคิดขึ้นมาอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มสังขารขันธ์
ส่วนวิญญาณขันธ์นั้น มันใช้ทั่วไป ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในบางครั้งก็ในชั้นผิวเผิน คือที่ตากระทบรูป หูกระทบเสียง เป็นต้น ครั้นเกิดเวทนาขึ้นมาแล้ว จิต มันยึดมั่นเวทนานั้นเป็นธรรมารมณ์ ก็ได้ นี่คำว่า สังขารขันธ์ จึงมีความหมายกว้างเหลือเกิน ใช้ในกรณีอะไรก็ได้ เมื่อเป็นวิญญาณขันธ์ ทำหน้าที่เป็นวิญญาณขันธ์ มันก็มีส่วนที่ให้หลง เข้าใจผิดว่าเป็นตัวตนได้เหมือนกัน ดังนั้น มันจึงไปยึดมั่นที่เวทนาขันธ์ นี่ดูให้ดี มันจะเห็นได้เอง ว่ามันจะมีพร้อมกันทั้ง ๕ นั้นไม่ได้ และมันยังเป็นปัจจัยส่งเสริมแก่กันและกันด้วย
เราก็ต้องฉลาด และก็มีสติมากพอว่า เดี๋ยวนี้ เราหรือจิตนี้ กำลังยึดมั่นขันธ์ไหน กำลังยึดมั่นในกลุ่มไหน ถ้าจะเฝ้าระวังจิต จะดูจิต แล้วก็จงดูว่า มันกำลังยึดมั่นอยู่ในขันธ์ไหน ถ้าจะพูดอย่างสวนทางกัน ก็จะพูดว่า เรากำลังมีความทุกข์ใจอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ เรารู้สึกว่าเป็นทุกข์ ก็ดูเถอะว่า จิตมันกำลังยึดมั่นถือมั่นอยู่ในส่วนใด หรือขันธ์ไหน จึงได้เป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้คนก็ไม่สนใจ เป็นทุกข์ ก็เป็นทุกข์ ก็ร้องไห้ไป แล้วก็ดิ้นรนไป ถ้าจะเป็นสัตตบุรุษ ผู้มีปัญญา ก็จะต้องสนใจว่า เอ้ย ความทุกข์นี้มาจากกลุ่มไหน มาจากเหตุปัจจัยอะไร แล้วก็จะพบเองว่า โอ้ เรามันกำลังโง่ กำลังไปยึดมั่นในรูปขันธ์ หรือว่าในเวทนาขันธ์ หรือว่าในสัญญาขันธ์ หรือว่าในสังขารขันธ์ เป็นต้น
นี่เราจงดูให้เห็น อาตมาใช้คำว่าดูนะ ไม่ได้ใช้คำว่าคิดนะ ใช้คำว่าดูให้เห็น ว่าจิตมันกำลังไปยึดมั่นถือมั่นอยู่ในขันธ์ไหน จึงเกิดผลออกมาเป็นความทุกข์อยู่ในจิตใจ กรุ่นอยู่ในจิตใจ หรือรุนแรงอยู่ในจิตใจ มองให้เห็นทุกทีว่า ความทุกข์ในกรณีนี้ มันเกิดมาจากการยึดมั่นขันธ์ไหนในขันธ์ทั้ง ๕ นั้น มันกำลังไปยึดมั่นอยู่ในขันธ์ไหน แล้วจะพบว่ามันเกิดมาจากความยึดมั่นในขันธ์นั้น ซึ่งมันจะตรงตามหลักพุทธภาษิตที่ว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ขันธ์ที่มีความยึดมั่นถือมั่นด้วยปาทานั่นแหละเป็นตัวทุกข์ เมื่อมีความทุกข์แล้ว มันก็ต้องมีความยึดมั่นถือมั่น เมื่อมีความยึดมั่นถือมั่นแล้ว มันต้องมีสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น หรือถูกยึดมั่นถือมั่น มันก็ไม่พ้นไปจาก ๕ สิ่งนี้ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั่นเอง
แต่ว่า ๕ อย่างนี้ ๕ ขันธ์นี้ มันจะแจกหรือลูกออกไปเป็นกี่สิบอย่าง กี่ร้อยอย่างก็ได้ เช่นเวทนานี้มาจากวัตถุอะไร สัญญานี้มันตั้งอยู่บนวัตถุอะไร สังขารนี้มันคิดนึกเรื่องอะไร โอ้,มันได้หลายสิบอย่าง หลายร้อยอย่าง หลายพันอย่าง ถ้ามันมีความยึดมั่นในสิ่งใดเป็นทุกข์อยู่ เราก็ดูว่ามันเป็นอะไร และสิ่งนั้น มันจะสงเคราะห์ลงในขันธ์ไหน คือในรูปขันธ์ หรือเวทนาขันธ์ หรือสัญญาขันธ์ หรือสังขารขันธ์
นี่ที่พูดมานี้ อย่าเพิ่งสับสนว่าเราจะพูดโดยนัยยะแห่งอริยสัจ ว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ตัณหาเฉยๆ มันต้องให้เกิดอุปาทาน แล้วเกิดภพ แล้วเกิดชาติ จึงจะเป็นทุกข์ อริยสัจ ว่าความทุกข์เกิดมาจากตัณหา หมายความว่ามันต้องผ่าน อุปาทาน และภพ และชาติ ก็มีความยึดถือในขันธ์ทั้ง ๕ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งอย่างที่ว่ามาแล้ว ถ้าจะพูดอย่างปฏิจจสมุปบาท ก็พูดว่าตั้งแต่อวิชชามาทีเดียว แปลว่า อวิชชาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ก็ได้ หรือจะเอาที่ผัสสะ เอาที่เวทนาก็ได้ เอาที่ตัณหาก็ได้ ก็ไปเข้าเรื่องเดียวกับอริยสัจ
แต่ที่แท้จริง ที่ถ้าจะดูกันชัดๆล่ะก็ มันอยู่ที่อุปาทาน ตัณหาให้เกิดอุปาทาน ให้เกิดภพเป็นตัวกูเต็มที่ออกมา สำหรับจะยึดถืออะไร ว่าเป็นตัวกู ว่าเป็นของกู มันจึงเป็นความยึดถืออยู่ในขันธ์ใดขันธ์หนึ่งแห่งขันธ์ทั้ง ๕ แล้วจึงเป็นตัวทุกข์ พูดอีกทีหนึ่งก็ว่า ถ้าจะแจกกันโดยรายละเอียด รายละเอียดให้มันละเอียดเท่าที่มันจะละเอียดได้แล้ว มันจะมีถึง ๑๒ อาการ หรือ ๑๑ อาการ เท่าที่แจกไว้ในปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา
หรือว่าถ้าจะมองในแนวของอริยสัจก็ตัณหา ตัณหาคือเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะอยากจึงได้เกิดทุกข์ ความอยาก มันทำให้เกิดความรู้สึกผู้อยาก นั่นคือ อุปาทาน มีภพ มีชาติ ในความหมายของตัวกูผู้อยาก มันเต็ม เต็มที่ขึ้นมา แล้วก็เป็นทุกข์ ถ้าเข้าใจเห็นแจ้งอย่างนี้ ก็จะพูดได้ด้วยตนเองว่า เรื่องอริยสัจ ๔ เป็นเรื่องย่อ เรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องพิศดาร
เราจะเรียกปฏิจจสมุปบาท ว่าเป็นอริยสัจใหญ่ อริยสัจพิศดารก็ได้ อริยสัจ ๔ นั่นเป็นอริยสัจธรรมดา ในความหมายธรรมดา และถ้าแจกออกไปเป็นปฏิจจสมุปบาทแล้ว ก็เรียกว่า อริยสัจโดยพิศดาร แต่จะโดยย่อหรือโดยพิศดาร ความทุกข์ต้องอยู่ที่ตัวอุปาทานโดยตรงทั้งนั้น เมื่อมีอุปทานในสิ่งใด สิ่งนั้นได้กลายเป็นของหนักขึ้นมา แล้วก็เป็นทุกข์ เพราะการยึดถือของหนัก เรียกว่า ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นของหนัก ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ภาราหเวปัญจขันทา ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นของหนักเน้อ ที่สวดกันอยู่ทุกวัน ภาราหาโว จะปุคคะโล อุปาทานที่ว่าบุคคลนั่นแหละ จะเป็นผู้แบกของหนักพาไป ภาราทานัง ทุกขัง โลเก เมื่อแบกของหนัก ก็เป็นความทุกข์ในโลก ภาระ นิกเขปะนัง สุขัง สลัดของหนักทิ้งออกไปเสียได้ ก็เป็นความสุข ท่านทิ้งของหนักลงไปแล้ว อย่ากลับไปจับฉวยขึ้นมาอีก ก็จะเป็นผู้หลุดพ้น เป็นพระอริยเจ้า สลัดทิ้งของหนักลงเสียได้
นี่แหละ เรื่องของขันธ์ ๕ ที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็จะทำให้เกิดทุกข์ ความที่มันเป็นปัจจัยต่อกันและกันอย่างนี้ ก็เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ซึ่งแปลว่า เพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ สิ่งนี้ จึงเกิดขึ้น โดยชื่อก็ว่าอย่างนี้ แต่ถ้าว่าให้ละเอียดมันแจกออกไปว่า เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะการดับลงแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป
สูตรของอิทัปปัจจยตามีว่าอย่างนี้ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป นั่นคือส่วนที่เป็นเหตุมี ส่วนที่เป็นผลก็จะมี เมื่อส่วนที่เป็นเหตุดับไป ส่วนที่เป็นผลก็จะดับไป อันนี้เป็นกฎของธรรมชาติ เรียกว่ากฎของธรรมชาติ เป็นความจริงของธรรมชาติ เป็นสิ่งมีอำนาจสูงสุดของธรรมชาติ เรียกว่า อิทัปปัจจยตา พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้สิ่งนี้ ค้นคว้าสิ่งนี้ โดยรายละเอียดเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท
คำว่าอิทัปปัจจยตา เป็นคำย่อให้เหลือแต่คำน้อยๆ เป็นคำกว้าง จะหมายถึงอะไรก็ได้ ของอะไรก็ได้ แต่คำว่าปฏิจจสมุปบาท กระจายออกเป็นละเอียดแล้ว ใช้เฉพาะสิ่งที่มีชีวิตเท่านั้นแหละ คำว่าอิทัปปัจจยตา ใช้ไปได้ทุกสิ่ง จะมีชีวิต ไม่มีชีวิต รูปธรรม นามธรรม อะไรก็ได้ แม้แต่ก้อนหินนี่ก็ได้ มีกฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา แต่ถ้าใช้คำว่าปฏิจจสมุปบาทแล้ว มันจะใช้เฉพาะสิ่งที่มีชีวิต ที่รู้สึกเป็นทุกข์ได้ เรื่องสำคัญมันอยู่ที่ความทุกข์ของสิ่งที่รู้สึกได้ เพราะฉะนั้น เราจึงพูดถึงแต่คำว่าปฏิจจสมุปบาท แต่การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นรู้หมด ทั้งส่วนที่เป็นอิทัปปัจจยตา และส่วนที่เป็นปฏิจจสมุปบาท
ดังนั้นในพระบาลี จึงเรียกคู่ควบไปเสียเลยว่า อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปปาโท เป็นคำคำเดียวกัน ว่ามันเป็นอย่างนั้น มันต้องเป็นอย่างนั้น เราเรียกว่า ตถตา มันต้องเป็นอย่างนั้น เรียกว่า อวิตถตา มันไม่ผิดจากความเป็นอย่างนั้น อนัญญถตา มันไม่เป็นโดยประการอื่น นอกไปจากประการนั้น ธัมมัฏฐิตตา เป็นการตั้งอยู่ตามธรรมดา ธัมมนิยามตา เป็นกฎตายตัวของธรรมดา
อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปปาโท นี่แหละคือ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท นั่นแหละคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ถ้าพูดแจงรายละเอียด มันก็ยาวนะ แต่ถ้าพูดให้สั้น มันก็เหลือแต่คำว่า อิทัปปัจจยตา พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ คือค้นพบกฎของธรรมชาติที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี ใช้สำหรับรู้ว่าความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ความดับทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร กฎของอิทัปปัจจยตา จึงถูกแยกออกเป็น ๒ สาย เป็น ๒ ทิศทาง ทิศทางหนึ่งเป็นกฎสำหรับให้มันเกิดทุกข์ขึ้นมา ทิศทางหนึ่งสำหรับที่ทำไม่ให้เกิดทุกข์ได้
เราจงรู้ อิทัปปัจจยตา ทั้ง ๒ สายคือทั้งสายที่เกิดทุกข์ขึ้นมา และสายที่ไม่เกิดทุกข์ได้นั่นแหละ รู้สิ่งที่พระพุทธเจ้ารู้ ตรัสรู้ แล้วเราก็รู้ตาม ฉะนั้นขอให้ทุกคนพยายามรู้เรื่องนี้ ว่าความทุกข์เกิดขึ้นมาอย่างไร มันเกิดขึ้นโดยกฎ อิทัปปัจจยตาอย่างนี้ ถ้าแจกในรายละเอียดก็เป็นเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ๑๑ อาการ ถ้าแจกเป็นอริยสัจ ๔ ก็คืออาการเดียว คือตัณหาให้เกิดทุกข์
เราจะไม่เพียงแต่ได้ยินได้ฟังอย่างนี้ เราต้องเอาไปจับมันเข้ากับความจริงที่มันมีอยู่จริง ปรากฎอยู่ในจิตใจของเราจริง ว่าเดี๋ยวนี้เรากำลังเป็นอย่างไร เรามีความยึดมั่นถือมั่นอะไร เราเกิดทุกข์อย่างไร แล้วก็ร่ายไป ร่ายไป มันก็จะครบทั้ง ๑๑ อาการเหมือนที่พระพุทธเจ้าทรงนั่งใคร่ครวญ ไล่เรียงอยู่ ในคืนวันที่ตรัสรู้นั้น
นี่เรียกว่า พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา คือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติอันเฉียบขาด ตายตัว ว่าความทุกข์จะต้องเกิดขึ้นมาอย่างนี้ ว่าความทุกข์จะต้องดับไปอย่างนี้ ถ้ารู้จริง มันก็ป้องกันได้ ดับทุกข์ได้ อยู่โดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ นี่เรียกว่าเราได้รับประโยชน์จากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า โดยที่เราก็ได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า มีการประสูติ มีการนิพพาน อย่างเดียวกันด้วย เกิดชีวิตใหม่ อยู่ในชีวิตใหม่ เรียกว่าประสูติใหม่ เกิดใหม่ และนิพพาน คือดับเย็นแห่งความร้อนทั้งปวง ชีวิตนี้กลายเป็นชีวิตเย็น นี่คือประโยชน์ของการที่เราได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า มีประสูติ มีนิพพาน เหมือนพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นใจความสำคัญของวันนี้
ใจความสำคัญของวันนี้เรียกว่า วิสาขปุรณมีสำหรับพระพุทธเจ้า เรื่องโดยรายละเอียดมันยังมีอีกมาก แต่โดยหัวข้อมันมีอย่างนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายจดจำให้ดี แล้วไปคิด ไปนึก ไปใคร่ครวญ ไปทดสอบ ไปปฏิบัติดู ที่ขอร้องให้ปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง ก็คือว่า ถ้ามันเกิดความทุกข์ หม่นหมองใจ แม้แต่นิดเดียวขึ้นมา ก็รีบหาให้พบว่ามามันจากยึดมั่นถือมั่นในอะไร เพราะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นแหละ มันจึงทำให้เป็นทุกข์ ถ้าว่างไปเสียจากความยึดมั่นถือมั่น จิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่น มันก็ไม่มีทางที่จะเกิดความทุกข์ เราป้องกันไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นได้ด้วย สติ เราต้องมีสติ เราจึงต้องฝึกกรรมฐานให้มีสติ ให้ระลึกได้โดยเร็ว เรียกว่าสติ ให้มีปัญญา รู้เรื่องอิทัปปัจจยตา ซึ่งสรุปแล้วมันก็เหลือแต่ ตถตา ว่ามันเช่นนั้นเอง มันเช่นนั้นเอง
อริยสัจก็ดี ปฏิจจสมุปบาทก็ดี คือความเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนอะไร นี่เรียกว่าปัญญา พอกระทบอะไรทางตา เป็นต้น ก็ให้มีสติ เอาปัญญาว่า เช่นนั้นเองมาทันท่วงที เห็นว่าสิ่งนี้เช่นนั้นเอง ผัสสะนี้ เช่นนั้นเอง เวทนานี้ เช่นนั้นเอง แล้วก็ไม่ยึดถือ ก็ไม่เกิดความอยาก คือตัณหาไม่เกิด ความยึดถือ คืออุปทาน มันก็ไม่เกิดทุกข์ เพราะว่ามีสติรวดเร็ว เอาปัญญามาเพียงพอ ว่ามันเช่นนั้นเอง ผัสสะเช่นนั้นเอง เวทนาเช่นนั้นเอง อย่างนี้เรียกว่าไม่โง่ เมื่อมีผัสสะ ไม่โง่ เมื่อมีผัสสะ คำพูดสั้นๆเมื่อตอนกลางวันว่า ไม่โง่ เมื่อมีผัสสะ นั่นแหละเป็นหลักสำคัญ ที่จะไม่ให้เกิดความทุกข์
เดี๋ยวนี้เรามันโง่ จนความทุกข์เกิดแล้ว ก็ยังรู้สึก ฉะนั้นจะต้องมีสติว่องไว ฉับพลันทันที ถ้ามันไม่ว่องไว ฉับพลันทันที มันก็ต้องฝึกมัน ฝึกมัน เราก็ต้องฝึกมันให้เป็นสติที่ว่องไว แล้วก็อบรมปัญญาให้มากพอ มีปัญญา ถูกต้องมากพอ สติรวดเร็ว สตินั้นเหมือนเครื่องขนส่ง สตินั้นเหมือนเจ้าหน้าที่ขนส่ง มันขนเอาปัญญา ซึ่งความรู้เรื่อง ตถตา อิทัปปัจจยตา มาทันท่วงที เมื่อมีผัสสะ ผัสสะของเราก็ไม่โง่สิ เพราะเป็นผัสสะที่เต็มอยู่ด้วยสติ และปัญญา มันไม่เป็นผัสสะโง่ ความทุกข์ไม่มีทางจะเกิด
เมื่อตอนกลางวันก็บอกไปแล้วว่า ความทุกข์เกิดที่จิต เพราะเห็นผิดเมื่อผัสสะ ถ้าเห็นถูกที่ผัสสะ ความทุกข์ไม่อาจจะเกิดที่จิต ความทุกข์จะไม่โผล่ ถ้าไม่โง่ เมื่อผัสสะ ความทุกข์เกิดไม่ได้ ถ้าเข้าใจเรื่องผัสสะ ถ้าเรามีความเข้าใจแตกฉานเรื่องผัสสะ ควบคุมผัสสะได้ด้วย สติและปัญญา ความทุกข์ก็เกิดไม่ได้ ช่วยจำไว้เล่นๆ เหมือนกับร้องเพลงเล่นก็ได้ มันมีประโยชน์
ความทุกข์เกิดที่จิต เพราะเห็นผิดเมื่อผัสสะ ความทุกข์จะไม่โผล่ ถ้าไม่โง่เมื่อผัสสะ ความทุกข์เกิดไม่ได้ ถ้าเข้าใจในเรื่องผัสสะ เท่านี้ก็พอ
นั่นแหละคือผลของการรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา จะควบคุมกระแสแห่งอิทัปปัจจยตาได้ ปิดกั้นกระแสแห่งการเกิดทุกข์เสียได้โดยสติ สติเป็นเครื่องกั้นกระแสแห่งความทุกข์ นี่เป็นหลักใหญ่ทั่วไป ในพระพุทธศาสนาเรารู้เรื่องอิทัปปัจจยตา ว่ากระแสแห่งความทุกข์ มันเกิดขึ้นอย่างไร ไหลไปอย่างไร แล้วเราก็มีสติกั้นกระแสนั้น ความทุกข์ก็ไม่อาจจะเกิด หรือเกิดแล้วมันก็หยุด สติ ถ้าเราเป็นคนสติไม่สมบูรณ์ ก็อุตส่าห์ฝึกสติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือฝึกอานาปาณสติ มีหลายแบบ แบบที่มี ๑๖ ขั้น อย่างที่พระพุทธองค์ตรัสไว้นั้น เป็นแบบที่ดีที่สุด
คำว่า อานาปานสตินั้นมันกว้าง เมื่อฝึกอยู่ทุกครั้ง หายใจเข้าออกเป็น อานาปานสติ ทั้งนั้น แต่มันมีหลายแบบ แบบที่บริบูรณ์เป็นเทคนิคดีที่สุด ก็คือแบบที่เราเอามาสอนกันอยู่เรื่อง อานาปานสติ ๑๖ ขั้น ขอให้ศึกษาให้เข้าใจทีละนิด แล้วปฏิบัติดูไปตามลำดับ เข้าใจนิดหนึ่ง ปฏิบัติเท่าที่เข้าใจ แล้วก็รู้เพิ่มขึ้น แล้วก็ศึกษาเพิ่มเติม แล้วก็ปฏิบัติอีก นี่เรียกว่าศึกษา ศึกษาพอเข้าใจเรื่อง แล้วก็ปฏิบัติให้ได้ แล้วก็ศึกษาต่อ แล้วก็ปฏิบัติให้ได้ ให้มันมีการปฏิบัติ เพราะมันรู้เมื่อปฏิบัติ มันไม่รู้เมื่ออ่าน หรือเมื่อพูด หรือเมื่อฟัง
ในเรื่องของสตินี่ มันต้องฝึก แล้วก็จะมีผลคือได้หรือรู้ แล้วก็ทำต่อๆไปจนถึงที่สุด เป็นผู้มีสติสมบูรณ์ คือสติไวที่สุด เหมือนสายฟ้าแลบ เพราะว่าการเกิดแห่งกิเลส หรือ กระแสแห่งอิทัปปัจจยตานั้น มันเหมือนสายฟ้าแลบ มันเร็วมาก เราก็ต้องฝึกสติของเราให้เร็ว ให้เป็นสิ่งที่เร็วเหมือนกับสายฟ้าแลบ มันก็จะแก้ปัญหาได้
ส่วนเรื่องของปัญญานั้น ในขั้นตอนของธรรมานุปัสสนา ๔ ข้อข้างท้ายนั้น มันเห็นอนิจจัง จนกระทั่งเห็นวิราคะ เห็นนิโรธะ จนปฏินิสสัคคะ นี่ปัญญามันสมบูรณ์แล้ว มันตัดกิเลสแล้ว มันหลุดพ้นแล้ว เพราะอำนาจของการปฏิบัติที่ถูกต้องอย่างนี้ เรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต เรื่องธรรม คือสิ่งทั้งปวง ก็เท่ากับว่ารู้ กระแสอิทัปปัจจยตาของทุกสิ่ง รู้กระแสการเกิดขึ้นอย่างไร ดับไปอย่างไร ปรุงแต่งกันอย่างไร ของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรมทั้งปวง
นี่เรียกว่าเรารู้สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้ ท่านตรัสรู้สิ่งใด เราก็รู้ตามในสิ่งนั้น ตามที่ท่านตรัสรู้ ไปรวมอยู่ที่ รู้กฎของอิทัปปัจจยตาว่าเป็นสิ่งสูงสุด นี่คือเรื่องอิทัปปัจจยตา ในฐานะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ คำว่าเป็นสิ่งสูงสุดนั่น ยังต้องอธิบายกันอีกมากว่า กฎอิทัปปัจจยตานั่นแหละเป็นสิ่งสูงสุด เหมือนกับพระเจ้าที่สูงสุด มันควบคุมทุกสิ่ง มันมีการปรุงแต่งทุกสิ่ง มันทำลายทุกสิ่ง มันมีอำนาจเหนือทุกสิ่ง มันมีอยู่ในที่ทั่วไป มันเหมือนกับพระเจ้าที่แท้จริง เขาพูดกันว่าพระเจ้า พระเจ้า ต่างคนต่างก็พูด แล้วมันมีพระเจ้าไหนที่ว่าจะสร้างไม่ให้เกิดสิ่งทุกสิ่ง ควบคุมสิ่งทุกสิ่ง ทำลายสิ่งทุกสิ่ง เป็นใหญ่กว่าทุกสิ่ง มีอยู่ในที่ทุกแห่ง แล้วก็รู้ทุกสิ่ง สามารถจะสร้างอะไรก็ได้ ที่มนุษย์มันสร้างอะไรก็ได้แปลกๆใหม่ๆอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ มันก็ตามกฎของอิทัปปัจจยตา ซึ่งมีอยู่แล้ว สำหรับจะรู้ทุกสิ่ง หรือจะสร้างได้ทุกสิ่ง พระเจ้าของเราเป็นพระเจ้าที่แท้จริง ยิ่งกว่าพระเจ้าในศาสนาไหนหมดแหละ เป็นพระเจ้าที่พระพุทธองค์ก็ทรงเคารพในทันทีที่ค้นพบ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้เรื่องกฎอิทัปปัจจยตา และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ท่านยังเคารพธรรมะที่ท่านตรัสรู้ คือเรื่องอิทัปปัจจยตา
เป็นอันว่าเรามาพูดกันอย่างเพียงพอแล้ว ถึงเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ที่ทำให้เกิดพระพุทธเจ้า และการนิพพานไป คือเย็นลงของความร้อน ของกิเลสและความทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา นำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร เราก็จะนำมาใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างนั้น ป้องกันการเกิดแห่งความทุกข์ หรือว่าหยุดการไหลไปแห่งความทุกข์ นี่คือเป็นพุทธบริษัท ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าไม่อย่างนั้นยังไม่ถึงความเป็นพุทธบริษัท พูดไปเหมือนจะดูถูกดูหมิ่นท่านทั้งหลาย ว่าท่านทั้งหลายยังไม่ถึงขนาดของความเป็นพุทธบริษัท เพราะว่าท่านฟังเรื่องอิทัปปัจจยตาไม่รู้เรื่อง และเพราะว่าท่านยังไม่รู้จัก แม้แต่ขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ท่านก็เลยควบคุมกระแส ปรุงแต่งของอิทัปปัจจยตาไม่ได้ มันจึงเกิดทุกข์ นี่จึงเรียกว่าท่านทั้งหลายยังไม่ถึงขนาด ยังไม่ถึงมาตรฐานของการที่จะเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง พูดมากไป เดี๋ยวก็จะเป็นการด่าท่านทั้งหลายบนธรรมมาส ขอยุติส่วนนี้ไว้เสียทีก่อน
แต่จะขอร้องว่า ทุกคนจงได้สนใจเรื่องนี้ว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้อะไร จึงได้เป็นพระพุทธเจ้า เราจะต้องรู้ตามสิ่งนั้น จึงจะได้เป็นสาวกของพระองค์ และขอให้ทุกคนได้เป็นสาวกของพระองค์โดยแท้จริง หรือเต็มตามความหมาย ให้ปีหนึ่งมันดีกว่าปีที่แล้วมา ให้ปีใหม่มันดีกว่าปีที่แล้วมา ในการรู้ก็ดี ในการปฏิบัติก็ดี ในการได้รับผลของการปฏิบัติก็ดี ขอให้ปีหลังนี่มันดีกว่าปีเก่า เหมือนกับว่ามาทำวิสาขบูชากันมากขึ้นๆ และก็ขอให้ความรู้ในเรื่องวิสาขบูชาก็มากขึ้นๆด้วยตามจำนวนที่ว่า คนมากขึ้น ความรู้ก็ควรจะมากขึ้น การปฏิบัติก็จะสูงขึ้น ผลที่จะได้รับจากการปฏิบัติก็ควรจะสูงขึ้น นี่เรียกว่า เจริญงอกงามตามทางแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งอาตมาก็พูดทุกครั้ง ทุกครั้งที่แสดงธรรมว่าจะวิสัชนา พระธรรมเทศนาเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ ความเพียร ของท่านทั้งหลายให้เจริญงอกงามตามทางแห่งพระพุทธศาสนา ขอให้สิ่งนี้เป็นความจริงยิ่งๆขึ้นไปทุกปี ให้จริงยิ่งๆขึ้นไปทุกปี ก็เท่ากับว่าทำวิสาขบูชาดีขึ้นไปทุกปีๆ ไม่เท่าไหร่ก็จะเต็มขนาดที่พระพุทธองค์ทรงประสงค์ ว่ามันจะเป็นประโยชน์แก่มหาชน ทั้งเทวดาและมนุษย์
ธรรมเทศนาเรื่องอิทัปปัจจยตา บอกให้รู้ว่าพระพุทธองค์ตรัสรู้อะไรอย่างไร เราจะต้องตรัสรู้ตามอย่างไร เอามาใช้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร จึงจะไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา ส่วนธรรมเทศนาก็เรียกว่าสิ้นสุดลงด้วยความสมควรแก่เวลา
ทีนี้ก็เหลือแต่เรื่องที่จะบอกว่า พรุ่งนี้ เราจะต้องทำกันอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องล้ออายุ ดังนั้น คืนนี้อาตมาไม่อาจจะอยู่สว่างได้ และท่านทั้งหลายก็คงจะอยู่สว่างไม่ได้ ถ้าอยู่จนสว่างแล้ว พรุ่งนี้คงจะไม่มีเรี่ยวแรงล้ออายุ ควรจะต้องเลิกกัน ถ้ายังอยากจะล้ออายุในวันพรุ่งนี้ เพราะฉะนั้นในคืนนี้ เราจะหยุดพักในเวลาอันสมควร สงวนเรี่ยวแรงเอาไว้เพื่อจะล้ออายุในวันพรุ่งนี้
ก็มีสมาชิกเป็นจำนวนมากที่มามุ่งหมายในการล้ออายุ เราก็ควรมีการได้ล้ออายุ เหมือนกับว่าเราจับเอาอายุมาขัด ถู ถูกันอย่างขัดหม้อขัดไหทีเดียว อายุมันเกลี้ยงเกลากว่าปีก่อน และหวังว่าอายุของทุกๆคนมันอยู่ในสภาพที่ควรจะทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราควรพร้อมใจกันทำการล้ออายุ เรียกว่าจะทำให้มัน มันใหม่ขึ้น เหมือนกับสิ่งที่เราขัดใหม่ๆ มันก็จะใหม่ขึ้น นี่เรียกว่าล้ออายุ ซึ่งพรุ่งนี้เราก็จะทำกัน
อาตมายังมีความหวังอยู่ว่า ถ้าเรามีความพร้อมเพรียงกัน พรุ่งนี้หาความพร้อมเพรียงได้แล้ว เราจะสร้างกฎบัตรของพุทธบริษัทขึ้นมาอีกสักชุดหนึ่ง เหมือนที่เราสร้างกันแล้ว ปีกลายเราสร้างกฎบัตรของพุทธบริษัทขึ้นมาชุดหนึ่ง ปรากฎว่าเป็นที่พอใจของคนเป็นอันมาก ไอ้กฎบัตรสร้างขึ้นมาแล้วชุดหนึ่งนั้น พรุ่งนี้ถ้าว่ามันไม่มีเหตุขัดข้องอะไร และความพร้อมเพรียงของเรายังมีอยู่ เราคงจะสร้างกฎบัตรขึ้นมาได้อีกสักชุดหนึ่ง งั้นคืนนี้ไม่อยู่สว่างแล้ว สงวนแรงไว้ว่า พรุ่งนี้จะล้ออายุ และจะสร้างกฎบัตรของพุทธบริษัทขึ้นมาอีกสักชุดหนึ่ง บอกล่วงหน้ากันได้เลยว่า กฎบัตรเกี่ยวกับศีลธรรม
ธรรมเทศนาก็สมควรแก่เวลาแล้ว ก็ทำความเข้าใจในเรื่องที่จะทำกันต่อไปก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติธรรมเทศนาในวันนี้ ไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้