แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ อาตมาภาพจะได้วิปัสสนาธรรมเทศนา เป็นเครื่องประดับสติปัญญา เป็นปุพพาผละลำดับ (นาทีที่ 01:40) ต่อจากธรรมเทศนา ที่บรรยายแล้ว ในตอนเย็น ธรรมเทศนานี้ ยังเนื่องกันอยู่ กับเรื่องที่เกี่ยวกับ พระอรหันต์ ดังที่ได้กล่าวแล้วในธรรมเทศนา กัณฑ์ที่ ๑ นั้น ในบัดนี้ ยังจะได้กล่าวสืบต่อไป โดยข้อความที่ เนื่องกัน สำหรับให้ท่านทั้งหลาย ได้รับประโยชน์สำเร็จ เต็มตามความมุ่งหมาย
เรื่องของพระอรหันต์ เป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะทราบ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า พระอรหันต์นั้น เป็นตัวอย่าง แห่งบุค บุคคล(นาทีที่ 02:32) ผู้ถึงความเต็มเปี่ยม แห่งความเป็นมนุษย์ เราก็จำเป็นที่จะต้อง ทำตนให้ถึง ความเต็มเปี่ยม ของความเป็นมนุษย์ จึงได้ถึงตามรอยของพระอรหันต์ ถ้าไม่ได้ไปตามรอยนั้น มันก็จะเดิน ไปนอกลู่นอกทาง ผิดไปจากที่มนุษย์ควรจะหวัง ควรจะปรารถนา และอาการที่ เรียกว่า เสียทีที่ได้เกิดมา ก็จะปรากฎ ขอให้ท่านทั้งหลาย ตั้งใจฟังให้เป็นอย่างดี
อีกประการหนึ่ง มีข้อที่ควรจะสังเกต และทำในใจว่า จะต้องมีการฟังที่ดี จึงจะเข้าใจได้ หรือจะรับ เอาเรื่องราวอันนี้ไปได้ และก็มีข้อเกี่ยวพันกันมาถึงว่า ท่านทั้งหลายมาแต่ที่ไกล เปลืองมาก เหนื่อยมาก แพงมาก ถ้าไม่ได้รับประโยชน์อะไร ที่คุ้มค่ากัน โดยเป็นความบกพร่องของอาตมา อย่างนี้แล้ว อาตมาเคยใช้ คำว่า ยมบาล จะเอาตาย ยมบาลจะเล่นงาน จะเอาตาย นี่ถ้าว่าท่านทั้งหลาย ไม่ได้รับประโยชน์อะไร สมกันกับที่ได้เสียสละมา
ทีนี้ ถ้ามันเป็นในทางที่ว่า อาตมาก็ได้พยายามเป็นอย่างยิ่ง สุดความสามารถ ที่จะทำได้แล้ว ในการแสดงธรรม แต่ท่านทั้งหลายไม่ฟังให้ดี แล้วไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย อย่างนี้แล้วยมบาลจะลงโทษใคร ขอให้ลองคิดดูให้ดี ๆ การที่ว่าอาตมาจะพ้น จากการเล่นงานของยมบาล มันก็อยู่ที่ท่านทั้งหลาย ตั้งใจฟังให้ดี นั่นเอง มันก็จะรอดตัวกันไปได้ทั้งสองฝ่าย การที่มาจากที่ไกล แล้วไม่ได้รับประโยชน์อะไรที่คุ้มกันนี้ ถึงแม้ยมบาลจะไม่เล่นงานเอา มันก็เสียหายมากพออยู่แล้ว มันกลายเป็นทำอะไร ด้วยอำนาจของอวิชชา ถึงถ้ามาแต่ที่ไกล ก็ยิ่งต้องสนใจให้มากเป็นพิเศษ ให้ได้รับประโยชน์จากการมา นี้อย่างเต็มที่
อาตมาก็พยายามจะ สนองความประสงค์อันนี้ คือ คิด นึก สังเกต เลือก เฟ้นหาเรื่องราว ที่จะนำมาแสดง นั้น ให้อยู่ในวิสัย ที่ท่านทั้งหลายจะรับเอาได้ แต่ก็ต้องเป็นเรื่องที่มีค่า มีคุณค่า พอกัน พอสมควรกัน คือ เป็นเรื่อง ที่มีความสำคัญ สำหรับพุทธบริษัท เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง สมควรแก่บุคคลผู้มีสติปัญญา เรื่องชนิดนี้ มันก็ไม่ง่ายนัก ที่จะฟังแล้วให้เข้าใจ จึงจะต้องร่วมมือกัน ทั้งผู้แสดงและผู้ฟัง ทำให้ดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย คงจะสำเร็จประโยชน์ได้ อย่างน้อยก็พอคุ้มค่า นี่ เป็นสิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจกัน ในเบื้องต้น ว่าผู้ฟังจะต้องฟังให้ดี ถึงจะสำเร็จประโยชน์ ถ้าฟังไม่ดี ผู้แสดงจะแสดงให้ดีอย่างไร มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์ ซึ่งเขาเปรียบเทียบว่า เหมือนกับว่า เป่าปี่ให้เต่าฟัง มันก็ไม่รู้เรื่อง นั้น เพื่อให้พ้นจากโทษอันนี้ ก็ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี ให้รู้เรื่อง ธรรมเทศนาเป็นปุพพาผละลำดับ (นาทีที่ 07:45) คือสืบต่อจาก ธรรมเทศนาที่แสดงแล้ว ในตอนเย็น
ที่โดยแสดง โดยหัวข้อว่า พระอรหันต์อย่าลืม อย่าลืมพระอรหันต์ เราจะพยายาม นึกถึงพระอรหันต์ ถือเอาพระอรหันต์เป็นตัวอย่าง แล้วดำเนินตามพระอรหันต์ ถ้าทำได้อย่างนี้ มันก็มีประโยชน์เกินค่า แต่เมื่อยัง ไม่เข้าใจ ก็จะทำไม่ได้ นั้นจึงได้แสดง ส่วนที่ควรจะแสดง ว่าทำอย่างไร ถึงจะรู้จักพระอรหันต์ หรือว่าจะเดินตาม พระอรหันต์ได้ ในตอนนี้ อาตมาอยากจะ แสดงโดยใจความสำคัญว่า เราจะต้องศึกษา เรื่องของพระอรหันต์จาก ภายในจิตใจของเราเอง เรื่องต่าง ๆ ที่จะทำให้เราเข้าใจ เรื่องของพระอรหันต์นั้น ขอให้อ่าน ขอให้ค้น ขอให้ศึกษา จากเรื่องภายในโดยตรง ไม่ใช่เพียงแต่อ่านหนังสือ ไม่ใช่เพียงแต่ฟังเทศน์ ที่มีผู้แสดงให้ฟัง แต่ต้องการจะให้ ศึกษาจากข้างใน หรือว่าอ่านหนังสือเล่มใน หรือว่าฟังเสียงจากข้างใน มีความเข้าใจเกิดขึ้น จากการศึกษาภายใน นั่นแหละ จึงจะสำเร็จประโยชน์
ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจฟังให้ดี ๆ ว่าเราจะศึกษา เรื่องของพระอรหันต์จากภายในนั้น จะทำได้อย่างไร ในชั้นแรกนี่ ก็ต้องพูดว่า การศึกษาภายนอกจากหนังสือ หรือจากการฟังธรรม นี่ก็จำเป็น เพราะว่ามันเป็นแนว สำหรับให้ศึกษาจากภายใน ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน บ้างแล้ว ไม่อาจจะศึกษาจากภายใน ท่านทั้งหลาย ลองคิดดูด้วยตนเอง สังเกตดู ความรู้สึก ความคิดนึกของตัวเอง ก็จะรู้ได้ว่า ไม่มีทางที่จะศึกษา จากภายในได้ ตามลำพังตัวเอง ต้องศึกษาไปตามแนว ที่ได้ยิน ได้ฟังจากภายนอก จากภายนอก คือ อ่านหนังสือ นี้ก็ เรียกว่า ภายนอก ได้ฟังเทศน์ ก็เรียกว่า จากภายนอก หรือใครจะสอนสั่ง แนะนำอย่างไร ก็ยังเรียกได้ว่า จากภายนอก ครั้นได้ฟังเรื่อง จากภายนอก ศึกษาจากภายนอก มาพอสมควรแล้ว ก็เป็นแนวสำหรับ จะให้ศึกษาจากภายใน
เดี๋ยวนี้ อาตมาถือว่า ไอ้เรื่องศึกษาภายนอกนั่น ได้เราได้กระทำกันมาแล้วกี่ปี ได้กระทำกันมาแล้วกี่สิบปี สวนโมกข์แห่งนี้ ๔๐ ปี ก็ได้พยายามกันมาอย่างเต็มที่ มีการแสดงธรรม นี่เรียกว่า เป็นการศึกษาจากภายนอก น่าจะถือว่า เป็นการมากพอสมควรแล้ว ที่ท่านทั้งหลาย จะสามารถศึกษาจากภายใน จึงขอให้ประมวลความรู้ ต่าง ๆ ที่ได้รับจากภายนอกนั้น มาใช้สำหรับการศึกษาจากภายใน ซึ่งในวันนี้ อาตมาจะได้กล่าว โดยเฉพาะ ถึงการศึกษา เรื่องของพระอรหันต์จากภายใน หลังจากศึกษาจากภายนอกมา อ่า, พอสมควรแล้ว
ทีนี้ เออ, คำว่า ศึกษาจากภายใน นั่นคือ น้อมจิตเข้าไปศึกษาจากภายใน ในตัว ในชีวิต ในเรื่องของตนเอง หรือเรื่องของผู้อื่น ที่มันเหมือนกับของตัวเอง คือว่ามีอยู่มากมาย ที่ว่าเรื่องของมนุษย์ทั้งหลายนั้น มันก็ตรงกัน ถ้าเรารู้เรื่อง ที่มันมีอยู่ในจิตใจของเราได้ดี มันก็อาจจะรู้เรื่องที่มีอยู่ในจิตใจของคนทั้งหลายได้ ได้ด้วย เพราะว่า มันมีมากเรื่องที่มันตรงกัน นี่ก็ถือว่า เป็นการศึกษาจากภายใน ด้วยเหมือนกัน ที่ว่าศึกษาจากภายในนั้น ขอให้น้อมระลึกนึกถึง เรื่องทารกเกิดมา
เดี๋ยวนี้ มีคนเทศน์แข่งแล้ว ขอหยุดไว้ก่อน มีคนเทศน์แข่งเสียแล้ว ไม่มีมารยาทเสียแล้ว เอ้า, เทศน์ไป ให้จบสิ พุทธบริษัทของเรา ยังมีมารยาทเลว เทศน์แข่งกับพระบนธรรมาสน์ เมื่อคราวก่อน ไล่ไปพวกหนึ่งแล้ว วันนี้ก็จะมีมาอีก
อาตมากำลังจะบอก ท่านทั้งหลายว่า ให้ศึกษาจากภายใน คือ ดูในตัวคน ถ้าเป็นมนุษย์นี้ ก็ให้ดูตั้งต้น มาแต่ที่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ ทารกอยู่ในครรภ์นั้น เติบโตขึ้นมาอย่างไร ในทางกายและทางใจ ขอให้ศึกษาที่นั่น ให้เป็นอย่างดี จะรู้ธรรมะจริง แล้วก็รู้เรื่องทารกคือ ตัวเราเองพอสมควร ไอ้เราก็สังเกตเห็น ทารกคนอื่น ๆ หรือเด็กที่กำลังเป็นทารก อยู่เดี๋ยวนี้ ก็พอจะให้ ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ เป็นอันว่า จะศึกษามาจากทารก เอามาเป็นจุดตั้งต้น นับตั้งแต่ว่า เด็กอยู่ในท้องมารดา มีอะไรบ้างหรือไม่มีอะไร ขอให้สนใจในส่วนนี้
เมื่อเด็กอยู่ในท้องมารดา มันยังไม่มีการเกิดในทางจิตใจ มันมีการเกิดแต่ทางร่างกาย และแม้ว่าเดี๋ยวนี้ เด็กนั้นอยู่ในท้องครบกำหนดจะคลอดอยู่แล้ว เป็นเด็กโตเต็มที่ในท้อง มันก็ยังมีการเกิดแต่ทางกาย ยังไม่มี การเกิดในทางใจ เพราะว่าจิตใจมันยังคิดนึกอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันคิดนึกใน เรื่องตัวกู เรื่องของกูนี้ ไม่ได้ จึงไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดกิเลส ตัณหา อุปาทาน นี่เรียกว่า มันยังไม่มีการเกิด ในทางกาย เอ่อ, มันยังไม่มีการเกิดในทางใจ มีแต่การเกิดทางกาย
ทีนี้ แม้ว่ามันคลอดมาจากท้องแม่แล้ว เดี๋ยวนี้ หลายชั่วโมงหรือ ๒ วัน วัน ๒ วันแล้ว ถ้ามันยังคิดอะไร ไม่ได้ ไปในทางของกิเลส ตัณหา อุปาทานแล้ว ก็ยังว่าเด็กคนนี้ ยังไม่มีการเกิดทางจิตใจ แม้ว่ายังมีการเกิด ในทางกาย คลอดออกมาจากท้องแม่ มานอนร้องแว๊ ๆๆ อยู่ ภาษาคนนั้นเค้าถือว่า เกิดแล้ว ๆ ก็มันเกิดในภาษาคน ทารกเกิดแล้ว แต่ในทางภาษาธรรม ธรรมะนั้นยังถือว่าไม่เกิด เพราะมันยังไม่เกิดความรู้สึก ว่าตัวกูหรือของกูได้ มันจะเกิดความรู้สึก ว่าตัวกูว่าของกูได้ก็ต่อเมื่อไร อันนี้ เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียด ขอให้สนใจในข้อนี้
เด็กเกิดมาจากท้องแม่แล้ว นอนอยู่ในเบาะแล้ว ก็ยังมีแต่การเกิดในทางกาย ยังไม่มีการเกิดในทางจิต มันยังไม่มีปัญหาอะไรเลย มันคิดนึกไม่ได้ มันเพียงแต่รู้สึกได้บ้าง ตามธรรมชาติ แต่มันคิดนึกอะไรไม่ได้ เพราะว่า ไอ้ส่วนสำหรับคิดนึกนั้น มันยังไม่ทำหน้าที่ บางทีมันลงไปถึงกับว่า ส่วนที่จะรับอารมณ์ มันก็ยังไม่ทำหน้าที่ มันรับสัมผัสไม่ได้ น่าจะรับสัมผัสได้ มันก็รับได้น้อยเกินไป จนไม่เกิดความคิดนึก อย่างนี้ ถ้าพูดภาษาธรรมะ ในชั้นลึก ก็ต้องพูดว่า ไอ้ธาตุทั้ง ๔ ก็ยังไม่เกิด อายตนะทั้ง ๖ ก็ยังไม่เกิด ขันธ์ ๕ ก็ยังไม่เกิด
ท่านทั้งหลาย ช่วยฟังดูให้ดี ๆ อาตมาพูดว่า เด็กคลอดออกมาจากท้องแม่ หลายชั่วโมงแล้ว หรือวัน ๒ วันแล้ว แต่ถ้ามันยังไม่รู้สึกอะไรได้ คิดนึกอะไรไม่ได้ ในทางตัวตนของตนแล้ว ก็ถือว่ายังไม่เกิด มันมีธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จริงแล้ว แต่มันยังไม่ทำหน้าที่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ยังไม่ทำหน้าที่ ให้เป็นอายตนะ อายตนะ มันยังไม่ ทำหน้าที่ สำหรับรับอารมณ์ อายตนะก็ไม่เกิด ยังไม่เกิด แม้ว่าเด็กนั้น มันจะมีตาแล้ว มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกายแล้ว อายตนะก็ยังไม่เกิด เกิดในทีนี้ ในทางธรรม ในทางภาษาธรรม ตา หู จมูก ลิ้น กาย เกิดแล้ว ในทางภาษาคน ที่คนเค้าเห็นว่า มันมีตา หู จมูก ลิ้น กายแล้ว เด็ก ๆ นี่ แต่ในทางภาษาธรรม มันยัง เพราะว่า มันยังไม่ได้ทำหน้าที่ ไอ้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้น มันยังไม่ได้ทำหน้าที่ จึงถือว่ามันยังไม่เกิด เด็กทารกนี้ ยังไม่เกิดขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูปของมัน ที่เป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยังไม่ทำหน้าที่ เวทนา ไอ้วิญญาณก็ยังไม่ทำหน้าที่ ตามหน้าที่ เวทนาก็ ยังไม่มี ตามความหมายคำว่า เวทนา ในสัญญา สังขารมันก็ยังไม่มี มีไม่ได้ ที่เรียกว่า ขันธ์ ๕ มันยังไม่มี แม้ว่าเด็ก จะเกิดออกมาแล้ว เพราะมันไม่ทำหน้าที่ ไม่ได้ทำตามหน้าที่ของขันธ์ ๕ อาตมาพูดอย่างนี้ ช่วยจำไว้ด้วย เพราะว่าที่อื่น เค้าคงไม่สอนอย่างนี้ แล้วเค้าก็หาว่าผิด การพูดอย่างนี้มันผิด เค้าจะพูดว่า มันผิด แต่อาตมาก็ยัง ยืนยัน แก่ท่านทั้งหลายว่า มันเป็นอย่างนี้ อย่างนี้แหละ คือ มันถูก
โดยให้สังเกตว่า เด็กทารกที่ยังไม่รู้สึกเต็มที่ ในทางความคิดนึกนี้ ยัง ๆ ยังไม่เรียกว่า เกิด มันยังไม่เกิด ความรู้สึกว่าตัวฉัน ว่าของฉัน ก็เวทนาหรือตัณหา มันยังไม่เกิดอย่างสมบูรณ์แบบ นี่ขอให้สนใจไว้ชั้นหนึ่งก่อน ทีนี้ก็มีคำที่สำคัญที่ว่า เด็กคลอดออกมาแล้วนี่ มันไม่มีความรู้ธรรมะอะไรเลย อย่างที่พระบาลี กล่าวว่า ทารกนั้นไม่มีความรู้ เรื่องเจโตวิมุติ ไม่มีความรู้เรื่องปัญญาวิมุติ สำหรับจะควบคุม ไม่ให้เกิดกิเลส มันไม่รู้เลย
ทีนี้ เด็กก็โตขึ้นมา ๔ วัน ๕ วัน ๗ วัน ๑๐ วัน หรือกี่วัน ก็ไม่อาจจะพูดกำหนดลงไปได้ แต่ว่า เด็กนี่โต พอแล้ว ตาก็รู้จักดูรูปดีแล้ว หูก็ฟังเสียงดีแล้ว จมูกก็รู้กลิ่นดีแล้ว อย่างนี้ ก็ได้รับอารณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เด็กนั้นรู้สึกได้ว่าเป็นอย่างไร รูปเป็นที่พอใจหรือไม่ เสียงเป็นที่พอใจหรือไม่ กลิ่นเป็นที่พอใจ หรือไม่ รสเป็นที่พอใจหรือไม่ เดี๋ยวนี้มันรู้แล้ว มันไม่ใช่เพียงแต่ว่า เลือดของแม่ถ่ายไปเลี้ยงเด็กทางสายสะดือ เดี๋ยวนี้ มันกลายเป็นว่าเด็ก มันรับอาหารโดยตรงทางปาก รับกินอาหารทางปากเอง รู้สึกรสอาหารทางปากเอง จึงรู้จักว่าอร่อยหรือไม่อร่อย ในอาหารนั้น อาหารทางตาสวยหรือไม่สวย อาหารทางหูไพเราะหรือไม่ไพเราะ
เดี๋ยวนี้ เด็กรู้จักรสของเสียง คือ เสียงที่ไพเราะหรือเสียงที่ไม่ไพเราะ เป็นเสียงขับกล่อมของผู้ที่ร้องเพลง กล่อม จมูกก็รู้สึกกลิ่นแล้วว่ากลิ่นนี้ถูกใจหรือไม่ถูกใจ หอมหรือเหม็น ผิวหนังก็รู้สึกแล้วว่าอ่อนละมุน ว่าสิ่งที่มา กระทบนี้ อ่อนละมุนหรือแข็งกระด้างแหลมคม เดี๋ยวนี้ เด็กเขามีความเจริญ ขึ้นมาจนถึงรู้อารมณ์ อย่างนี้แล้ว มันก็ไม่เหมือนกับ เด็กที่อยู่ในท้องหรือว่าเด็กที่เพิ่งคลอดออกมาหยก ๆ เดี๋ยวนี้ เด็กสามารถรับอารมณ์แล้ว คือว่า ธาตุทั้ง ๔ มันปรุงกันขึ้น สูงมาถึงขนาดที่เป็นอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย รู้สึกต่ออารมณ์ได้ คล้าย ๆ กับคนทั่วไป แล้ว นี้อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจด้วย มันก็เกิดขึ้น พอจะทำหน้าที่ เหมือนคนธรรมดาได้แล้ว นี่เมื่อรูปทำหน้าที่ เป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย สำหรับรับอารมณ์ มันก็จะเป็นรูปขันธ์เกิดแล้ว ได้กระทบอารมณ์แล้ว ก็เกิดวิญญาณขันธ์ รู้แจ้งทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นี่ วิญญาณขันธ์มันเกิดแล้ว มันเพิ่งเกิดเดี๋ยวนี่ มีการกระทบทางอายตนะ มีวิญญาณขันธ์แล้ว มันก็มีผัสสะ ซึ่งก็ทำให้เกิดเวทนาขันธ์ มีเวทนา ที่น่าพอใจ ไม่น่าพอใจ ที่เออ, ตามความรู้สึกของเวทนา เดี๋ยวนี้ เด็กมีเวทนาขันธ์แล้ว เวทนาขันธ์เกิดขึ้นกับเด็กแล้ว เด็กยังรู้สึกสำคัญมั่นหมาย ในเวทนาขันธ์นั้นว่า เป็นเวทนาขันธ์อย่างไร คือ รู้สึกว่าเป็นเวทนาขันธ์ ที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ เป็นต้น อย่างนี้ เรียกว่า สัญญาขันธ์ได้เกิดแล้ว เมื่อสัญญาขันธ์เกิดได้ แม้ในระดับนี้ มันก็เกิด สังขารขันธ์ คือ เด็กนั้นจะมีความรู้สึกคิดนึกได้ ตามความสำคัญมั่นหมาย ในสิ่งที่น่ารัก น่าพอใจ อร่อย ไม่อร่อย มันก็มีความคิดนึกได้ เด็กเริ่มมีความคิดนึกได้ แม้จะไม่มากมาย ก็เรียกว่า สัญญาขันธ์ มันได้เกิดขึ้นแล้ว
นี่ เดี๋ยวนี้ เด็กทารกน้อย ๆ ของเรา แม้จะยังนอนเบาะอยู่ มันก็มีธาตุ๔ ที่ทำงานเป็นแล้ว เรียกว่า เกิดแล้ว นี้อายตนะที่ทำงานได้ เรียกว่า เกิดแล้ว มีขันธ์ที่ทำหน้าที่เต็มตามหน้าที่ ก็เรียก มีเบญจขันธ์ที่เกิดแล้ว นี่ มันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ แต่ว่าเดี๋ยวนี้ เด็กของเราก็ยังไม่มีความรู้ เรื่อง เจโตวิมุติ หรือปัญญาวิมุติอยู่นั่นเอง นั้นเมื่อเกิดเวทนา เป็นต้นขึ้นมา เด็กก็ไม่รู้จักคิดนึก ไปในทางที่ไม่ให้เกิดกิเลส เพราะเด็กเค้าไม่รู้เรื่อง ของเจโตวิมุติ ที่จะระงับความรู้สึกเลวร้ายนั้นเสีย ด้วยอำนาจจิต และเด็กนั้นก็ไม่มีความรู้สึกทางปัญญา ที่จะระงับความรู้สึกอันเลวร้ายนั้นเสีย ด้วยอำนาจแห่งปัญญา
นี่ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ทารกนั้นไม่มีความรู้ใน เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ เด็กทารกชนิดนั้น จะมีความรู้เรื่องปัญญาวิมุติ เจโตวิมุติ มาได้อย่างไร เพราะว่าเดี๋ยวนี้ แม้แต่คนแก่หัวหงอกแล้ว มันก็ยังไม่มีความรู้ นี่ จะเอาอย่างไร เด็กทารกนี้จะมีความรู้ เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อย่างไรกันได้ จึงไม่สามารถระงับอารมณ์ร้าย ที่เกิดขึ้นทางเวทนา เป็นต้น อย่าให้ปรุงเป็นกิเลส คำพูดนี้ น่าอัศจรรย์ที่สุด มีความหมายที่สุด เพราะว่า เด็กเกิดมาจากท้องมารดา จนโตใหญ่ถึงขนาดนี้แล้ว มันก็ยังไม่มีความรู้เรื่องที่จะระงับ ไอ้ความรู้สึกที่เลวร้าย ในจิตใจ เสียด้วยสมาธิหรือด้วยปัญญา เด็กไม่มีความรู้ เรื่องเจโตวิมุติ คือไม่สามารถจะดับ อารมณ์ร้ายของมัน เสียได้ ด้วยอำนาจจิตหรืออำนาจสมาธิ เด็กไม่มีความรู้ เรื่องปัญญาวิมุติ ที่จะดับอารมณ์ร้าย ของมันเสียได้ด้วย เรื่องของปัญญา นี่คือ ความหมายของคำว่า ทารกน้อย ๆ นั้นไม่มีความรู้ เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ เพราะไม่มีใครสอนได้ และมันก็ไม่ได้ติดมาแต่ในท้อง
แต่ว่าที่อื่น พวกอื่น เค้าอาจจะสอนว่า เด็กมีอะไร ๆ มาแต่ในท้องได้ แต่เท่าที่อาตมา เรียนมาจาก พระบาลี โดยตรงนี้ เป็นอย่างนี้ ว่าอย่างนี้ มันเป็นไปไม่ได้ ที่เด็กจะเกิดมาด้วยบุญ จะเกิดมาด้วยบาป จะเกิดมาด้วยกุศล หรือด้วยอกุศลก็ตาม ทารกนั้นไม่มีความรู้ เรื่องเจโตวิมุติ หรือปัญญาวิมุติ ที่จะดับอารมณ์ร้าย ที่เกิดขึ้นได้
ดังนั้น จะ จิต อ่ะ, เด็กก็จะต้องปล่อยจิต ให้ดำเนินไปตามเหตุ ตามปัจจัยของมัน มันก็เป็นไปในทางที่จะ ให้เกิดการปรุงแต่งตามลำดับ โดยนัยที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท(นาทีที่ 28:37) แม้จะเป็นขนาดน้อย ๆ ยกตัวอย่าง ทางตา หรือว่ายกตัวอย่าง ทางลิ้น จะฟังง่ายกว่า เด็กไม่กินนม สัมผัสกับน้ำนมด้วยลิ้น เกิดจักขุวิญญาณ (นาทีที่ 29:01) มีผัสสะทางลิ้น เกิดเวทนาทางลิ้น คือ น้ำนมแม่นั้นอร่อย เป็นต้น เด็กก็ต้องรู้สึกอร่อยนี่ เพราะว่าเค้าไม่มี ความรู้อะไร ที่จะไปรู้สึกอย่างอื่นได้ มันก็ต้องรู้สึกว่าอร่อย เพราะอร่อยเป็นเวทนาที่เป็นสุข มันก็ชอบ แล้วมันเกิดความอยาก คือ ตัญหาเรื่อย ๆ ไปในความอร่อยนั้น มันก็จะต้องปรุงขึ้นเป็นความอยาก ในความอร่อย และความคิดก็จะปรุงขึ้นว่า กูอยาก กูอร่อย กูได้ของอร่อยตามอยาก นี่ ความรู้สึกอย่างนี้ ที่เรียกว่า ตัณหา อุปาทาน ก็เกิดขึ้นกับเด็กนั้น เด็กนั้นก็ยึดถือเป็นตนหรือเป็นของตน หรือว่าถ้ารุนแรงก็เป็นตัวกู ของกู จนจิตหวั่นไหว มีความทุกข์ไปตามแบบนั้น ๆ อร่อยพอใจ หวั่นไหว ดีใจก็หวั่นไหวเป็นไปตามแบบดีใจ ไม่อร่อย ไม่พอใจ ก็หวั่นไหวไปตามแบบไม่พอใจ ซึ่งล้วนเกิดเป็นทุกข์เท่ากัน ดังนั้น เด็กจึงมีความรู้สึก ที่เป็นทุกข์ได้เต็ม ตามความหมาย อย่างนี้เค้าเรียกว่า เด็กนี้เกิดแล้ว เด็กนี้เกิดแล้ว ทั้งทางกาย และทั้งทางจิต
เมื่อก่อนนี้ มันเกิดมาแต่ทางกาย ทางจิตมันยังไม่มีเกิด เพราะว่า อายตนะทั้งหลาย ยังไม่ทำงาน ยังไม่สามารถทำงาน การปรุงแต่งไม่ถึงขนาด ที่ว่าอายตนะทั้งหลาย จะทำงานและรู้สึกไปตามแบบ ของขันธ์ทั้ง ๕ ได้ เดี๋ยวนี้เด็กมันมีอายตนะสูงพอที่จะรู้สึก ทางสัมผัสเป็นวิญญาณขันธ์ ในรูปขันธ์ เช่น ลิ้น เป็นต้น หรือว่ารส อร่อยที่มากระทบลิ้น เป็นต้น ในทางรูปขันธ์นอกและใน มันก็เกิดรูปขันธ์ สัมผัสแล้วเกิดวิญญาณขันธ์ มันก็เกิด เวทนาขันธ์ เกิดสังขารขันธ์ คือ คิด นึกไปตามการปรุงแต่ง ของสิ่งที่มากระทบนั้น เดี๋ยวนี้ เด็กเค้าสามารถจะมีได้ ทั้ง ๕ ขันธ์ เรียกตามภาษาธรรมะว่า ขันธ์เกิดแล้ว เพราะว่าขันธ์ทำหน้าที่แล้ว ไม่ใช่ว่าเกิดมาแล้วจะมีขันธ์ทั้ง ๕ โดยไม่ต้องมีความรู้สึกคิดนึกหรือทำหน้าที่อะไร
อย่าเข้าใจผิด เพราะ ถ้าเป็นคนมีชีวิตอย่างนี้แล้ว มันก็มีขันธ์ ๕ ครบถ้วน อยู่แล้วในคราวเดียวกัน แม้กระทั่งเวลาหลับ อย่างนั้นเป็นไปไม่ได้ เป็นคำพูดที่เชื่อถือไม่ได้ มันเกิดพร้อมกันทั้ง ๕ ขันธ์ไม่ได้ รูปขันธ์ จะมาก่อนเช่นว่า ตา ดวงตานี้มันเป็นเนื้อหนัง เป็นรูปขันธ์ ถ้ามันยังเป็นเนื้อหนัง ไม่ทำหน้าที่ของดวงตา งั้น ก็จะว่าดวงตายังไม่เกิด รูปขันธ์ที่เป็นดวงตายังไม่เกิด รูปภายนอกก็เหมือนกัน ถ้ายังไม่มากระทบตา ไม่ทำหน้าที่ ก็เรียกว่ารูปภายนอกก็ยังไม่เกิด ดวงตาภายในก็ยังไม่เกิด มันก็ไม่มีการเห็น ต่อเมื่อ ไอ้ ดวงตาข้างใน พร้อมทั้ง ระบบประสาท สามารถทำหน้าที่รับอารมณ์ คือ รูปภายนอก แล้วรูปภายนอกก็มากระทบด้วย เราเรียกว่า มันเกิดแล้ว ทั้งรูปภายในและรูปภายนอก มันก็เป็นอายตนะขึ้นมา สำหรับจะสัมผัสกัน แล้วเกิดวิญญาณ รู้แจ้งทางตา นี่แหละ วิญญาณขันธ์ทางตาเกิดแล้ว สัมผัสกันอย่างนี้แล้ว ก็เกิดเวทนาขันธ์ คือ ความรู้ทางตา นั้นนะ สวยไม่สวย มีรสเป็นที่พอใจหรือไม่เป็นที่พอใจ นี้เรียก เวทนาขันธ์เกิดแล้ว โดยอาศัยตา
แล้วเกิดความสำคัญมั่นหมาย เป็นสัญญาว่า ไอ้ความรู้สึกอันนี้ เออ, เป็นสุขหนอ เป็นทุกข์หนอ เป็นอะไรก็สุดแท้ เรียกว่า เวทนาขันธ์ก็เกิดแล้ว สัญญาขันธ์ก็เกิดแล้ว สำคัญมั่นหมาย ว่าสุขหนอ เป็นต้นนี้ เกิดแล้ว ทีนี้ก็เกิดสังขารขันธ์ คือ ความคิดนึกอย่างใดอย่างหนึ่ง ไปตามความหมายของเวทนาขันธ์นั้น คิดนึกจะเอา นี่ก็เป็นตัญหา พอเกิดตัญหาแล้ว ก็คิดนึกว่าเป็นตัวตน เป็นตน เป็นของตน ว่าจะทำอย่างไรต่อไป นี่ก็เป็นอุปาทาน ซึ่งจะต้องรวมอยู่ในคำว่า สังขารขันธ์ด้วยเหมือนกัน เป็นอันว่ารูปขันธ์เกิดแล้ว เวทนาขันธ์เกิด แล้วตามลำดับนะ เออ, วิญญาณขันธ์เกิดแล้วตามลำดับ เวทนาขันธ์เกิดแล้วตามลำดับ สังขารขันธ์เกิดแล้ว ตามลำดับ มันไม่อาจจะเกิดพร้อม คราวเดียวกันได้ นี่ขันธ์ ๕ มีลักษณะอย่างนี้
แม้ในเด็กทารก ที่เพิ่งเกิดมา เพียงไม่กี่วัน แต่เดี๋ยวนี้ มันมีความเจริญ มากพอที่จะรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ นี่เด็กนี้ ทารกนี้เกิดแล้ว เออ, เกิดแล้วในทางจิต ก่อนหน้านี้ เป็นแต่เพียงเกิดแล้ว เออ, ในทางรูป หรือทางกาย พอตั้งปฏิสนธิ ในท้องของมารดาแล้ว เป็นสัตว์ตัวเล็ก ๆ อยู่ใน เออ, ท้องของมารดาแล้ว อย่างนี้ ก็เรียกว่า มันเกิดแล้วเหมือนกัน แต่มันเกิดแล้วแต่ทางกาย เกิดแล้วแต่ทางวัตสุุ วัตถุ ทางจิตยังไม่ได้เกิด อือ, คลอดออกมาจากท้องแม่แล้ว ก็แล้วเกิดแล้วแต่ทางกาย ทางจิตยังไม่ได้เกิด ต่อเมื่อทารกนั้น ร่างกายของทารกนั้น เจริญเติบโต จนได้เกิดความสามารถทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รู้สึกได้ คิดนึกได้ อย่างนี้จึงจะ เรียกว่า เกิดแล้วในทางจิต
เหมือนกับว่าการเกิดทางจิตนี้จึงช้า อยู่ล้าหลังอยู่ เมื่อยังไม่เกิดในทางจิตก็ไม่มีขันธ์ทั้ง ๕ ก็ขันธ์ทั้ง ๕ นั้นเป็นเรื่องของจิต เป็นเรื่องของทางฝ่ายจิต ทั้งนั้นแหละ นั้นเราจึงดูว่า เด็กทารกนี้ เกิดทางกายก่อน นานพอ สมควร แล้วจึงเกิดทางจิต จึงเกิดทางจิตแล้ว เออ, แต่เค้าไม่มีความรู้ เรื่องเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุติ เค้าจึงไม่รู้จัก ป้องกัน ต่อต้านอารมณ์ทั้งหลาย ที่เข้ามากระทบได้ ด้วยอำนาจธรรมชาติ ไม่มีความรู้ เรื่องที่จะระงับความรู้สึก อันนั้น เสียด้วยกำลังจิต ไม่มีความรู้ที่จะกำจัด ความรู้สึกอันแรงร้ายนั้น เสียด้วยอำนาจของปัญญา นี่ เรียกว่า ทารกนั้นไม่มีความรู้ เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ เค้าก็เติบโตขึ้นมา ๆ เจริญวัยขึ้นมา ตามลำดับ โดยปราศจาก ความรู้ทางเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ เค้าจึงเกิดการกระทำผิดไป เป็นไปตามการปรุงแต่ง ให้เกิดกิเลส ตัณหา อุปาทาน และเป็นทุกข์ เป็นอย่างนี้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
เดี๋ยวนี้ เด็กทารกของพวกเราเกิดกิเลสเป็นแล้ว เกิดกิเลสได้แล้ว เมื่อมีเวทนาเป็นที่พอใจ มันไม่รู้ ว่ามันจะเป็นทุกข์ เพราะว่ามันไม่รู้ เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ มันจึงไม่รู้จักข่มขี่หรือระงับเสีย ซึ่งอำนาจหรือคำ เออ, อำนาจหรือคุณค่า เออ, ของเวทนานั้น เวทนานั้นก็ปรุงแต่ง ให้เกิดตัณหา อุปาทาน เป็นทุกข์เป็นกิเลส อย่างนั้น เด็กของเรา จึงมีความคิดชนิดที่เป็นความโลภ เกิดกิเลสความโลภ เมื่อไม่ได้อย่างที่โลภ ที่ต้องการ ก็เกิดกิเลส ประเภทความโกรธ และมัน เมื่อมันยังไม่รู้จะทำอะไรดี มันก็มีโมหะ หลงใหลไปตามความรู้สึก ที่มากระทบ ตามอารมณ์ที่มากระทบ ตามการปรุงแต่งของธรรมชาติ ที่ปรุงแต่งตามธรรมชาติ เด็กทารกจึงเกิด กิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะได้ครบถ้วน และก็มากขึ้น ๆ ตามลำดับ อย่างที่ว่า ผู้ใหญ่ก็เกิด ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่ก็เรียกว่า เด็กของเราเกิดกิเลสได้แล้ว เกิดกิเลสเป็นแล้ว
นี่คือเรื่อง คือ เรื่องที่ขอให้ศึกษาจากภายใน ศึกษาจากภายใน ว่าเด็กไปเจริญวัย เติบโตไปตามอำนาจ ของอวิชชา คือ ไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุติ ขาดความรู้เรื่องนี้ เป็นอวิชชา นั้น เด็กของเรา จึงเติบโตขึ้นมา ตามอำนาจของอวิชชา ไม่รู้ว่าจะระงับหรือว่าควบคุมบังคับ การปรุงแต่งแห่งจิตนี่ อย่าให้เป็นไป ทางกิเลส ตัณหา อุปาทาน นั้นเด็กของเราจึงเติบโตขึ้นมา เท่ากับความเจริญของกิเลส ตัณหา อุปาทาน เป็นธรรมดา ใครจะไปช่วยได้ ก็เด็กเองมันไม่มีความรู้ เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ และมันก็ปรุงแต่งอยู่ภายในใจ ในจิตของเด็ก แล้วใครจะไปช่วยได้ แม้พ่อแม่ตั้งใจจะช่วย ให้มันมีความรู้นี้ก็ช่วยไม่ได้
และพ่อแม่เสียอีก ส่งเสริม การเกิดแห่งกิเลส นี่ไม่ใช่พูด ไม่ใช่พูดตำหนิพ่อแม่ หรือว่าจะไม่รู้บุญคุญ ของพ่อแม่ แต่พูดไปตามตรง ๆ ว่าพ่อแม่นั้นรักลูก และอุสส่าห์เสาะแสวงหา สิ่งที่ส่งเสริมกิเลส มาให้ทารกนั้น จนให้ทารกนั้น ได้เห็นภาพสวย ๆ มาแขวนให้ดู รูปงู รูปปลา สุดแท้นั้น ก็ให้ทารกนั้นได้ฟังเสียงไพเราะ ที่ขับกล่อม ให้ทารกนั้นได้มีของหอม ให้ทารกนั้นได้กินอร่อย ๆ ที่สุดเท่าที่จะหามาให้ได้ ประคบประหงม ให้มีความสบายทางผิวหนัง คือ มีความนิ่มนวล อบอุ่น เด็กทารก ก็เคยชินกับความสวยงาม ความไพเราะ ความหอม ความอร่อยทางปาก ความนิ่มนวลทางผิวหนัง ทุกวัน ๆ เพิ่มขึ้น ๆ และมันจะเป็นอย่างไร เมื่อมันไม่รู้ มันก็ต้องล้วนแล้วแต่ ส่งเสริมให้เกิดกิเลสอย่างนั้น มันจึงเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงยิ่ง ๆ ขึ้นไป
นี่เด็ก ๆ ของเราเป็นแบบนี้ ดูให้ดีเถอะว่า มันตรงกันข้าม กับเรื่องที่จะเป็นพระอรหันต์ และเรื่องที่จะ เป็นพระอรหันต์นั้น มันต้องดับกิเลส แต่ทารกของเรา ได้รับการแวดล้อมด้วย สิ่งที่ส่งเสริมให้เกิดกิเลส ไพเราะทางตา เอ่อ, สวยงามทางตา ไพเราะทางหู หอมหวลทางจมูก อร่อยทางลิ้น ทางปาก นิ่มนวลทางผิวหนัง ซึ่งมันไปรวมอยู่ที่เป็น ความเอร็ดอร่อยในทางจิตใจ เด็กของเราก็เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ยิ่งขึ้น ๆ นี่ กิเลสเกิดแล้ว เด็กนี่เกิดกิเลสเป็นแล้ว จะดูตามกระแสปฏิจจสมุปบาท(นาทีที่ 42:11) ก็ได้ จะดูตามกระแสแห่ง เบญจขันธ์ก็ได้ เรื่องนี้อาตมา พูดมาหลายครั้งแล้ว ท่านบางคนจะไม่เข้าใจหรือว่าลืมเสีย จะเห็นได้ชัดว่า การปรุงแต่งตามแนวแห่งปฏิจจสมุปบาท(นาทีที่ 42:32) ได้เกิดขึ้น แก่เด็กแล้วอย่างสมบูรณ์
ขอโอกาสซ้ำ ทบทวนอีกทีก็ได้ว่า เด็กได้รับความอร่อยทางตา มันก็เกิดเวทนาเป็นสุข เกิดสัญญา สำคัญมั่นหมายในความสุข อย่างนี้ก็เป็นเรื่อง ปรุงให้เกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ตาทำหน้าที่ตา รับอารมณ์ ภายนอกเป็นรูป แล้วก็มีวิญญาณเกิดขึ้น เพราะการกระทบทางตา มีผัสสะ มีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน มีภพ มีชาติ ชรา มรณะ เกิดเป็นปัญหาขึ้นมานี่ นี้เรียกใน โดยแนวแห่งปฏิจจสมุปบาท(นาทีที่ 43:29) เมื่อเด็กได้รับการ กระทบทางตา เมื่อเกิดรูปขันธ์แล้ว รู้สึกต่ออารมณ์นั้นได้ เกิดวิญญาณขันธ์แล้ว ผัสสะนั้นให้เกิดเวทนา อย่างใด อย่างหนึ่ง ก็เรียกว่า เกิดเวทนาขันธ์แล้ว ทารกนั้นก็ สำคัญมั่นหมายคุณค่า หรือความหมายแห่งเวทนานั้น อย่างไร ก็เรียกว่า เกิดสัญญาขันธ์แล้ว สัญญาเป็นไปถึงที่สุดแล้ว เกิดความคิด เป็นความคิดที่เรียกว่า สังขารขันธ์แล้ว คิดอย่างนั้น คิดอย่างนี้ คิดอย่างโน้น คิดจะได้ คิดจะมี คิดจะเอา คิดจะฆ่า คิดจะทำลาย คิดจะต่อสู้ ล้วนแต่ว่า มันเป็นสังขารขันธ์ทั้งนั้น เดี๋ยวนี้ เด็กที่มีการปรุงแต่ง ครบถ้วนตามแนวแห่งขันธ์ ๕ แล้ว นี่เราจะมองในแนวแห่งปฏิจจสมุปบาท(นาทีที่ 44:24) ก็ได้ เราจะมองกันในแนวแห่งขันธ์ทั้ง ๕ ก็ได้
เดี๋ยวนี้ เด็กของเราได้รับการปรุงแต่ง ถึงขนาดที่มีความเกิดแล้ว ทั้งทางกาย เกิดแล้วทั้งทางจิต เรียกว่า เกิดแล้ว แล้วมันก็เกิดกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ เมื่อเกิดกิเลสแล้ว ไม่ ๆ ไม่ต้องพูดมากหรอก แล้วมันก็เกิดอนุสัย คือ ความเคยชินแห่งกิเลส มันโลภทีหนึ่ง หรือกำหนัด ด้วยความโลภทีหนึ่ง มันก็เกิดความเคยชิน ที่จะโลภอีก ก็เรียกว่า เกิดราคานุสัย(นาทีที่ 45:10) แล้ว มันโกรธทีหนึ่ง อือ, เป็นโทสะ ก็เกิดความเคยชิน ที่จะโกรธง่าย ยิ่งขึ้นไปอีก เดี๋ยวนี้ มันเกิดปฎิคานุสัยแล้ว ปฎิคาอนุสัย (นาทีที่ 45:34) ทีนี้ ถ้ามันโง่ ไม่รู้จะทำอย่างไรดี เป็นโมหะ มันก็เกิดอวิชานุสัย (นาทีที่ 45:39) แล้วเด็กจึงเกิดอนุสัยได้ ทั้งราคานุสัย ปฎิคานุสัย อวิชานุสัย (นาทีที่ 45:44) คือ ความเคยชิน ชินอย่างยิ่ง ที่เกิดง่ายเกิดเร็ว แห่งโลภะ โทสะ โมหะ ความเคยชินชนิดนี้ เรียกว่า อนุสัย มาจากการเกิดขึ้นแห่งกิเลส เกิดกิเลสครั้งหนึ่ง ก็สะสมความเคยชินที่จะเกิดกิเลส ได้หน่วยหนึ่ง เรียกว่า อนุสัย
เด็กจึงมีอนุสัยเพิ่มขึ้น ๆ เท่าที่มันจะเกิดกิเลสขึ้นเท่าไหร่ นี้อนุสัย ความเคยชิน นี่มันสะสมมากขึ้น ๆ มันก็จะไหลออกมา เป็นกิเลสได้ง่ายเข้า เพราะมันไหลออกมา เป็นกิเลส เรียกว่า อาสวะแล้ว อาสวะไหลออกมา แล้ว ไม่เท่าไหร่หรอก เด็ก ๆ ของเรา ไม่ต้องกี่ขวบหรอก มันก็จะมีอนุสัยได้สมบูรณ์ มีอาสวะได้สมบูรณ์ ทั้งหมดนี้มันตรงกันข้าม กับเรื่องของพระอรหันต์ พระอรหันต์จะไม่มีสิ่งเหล่านี้ เดี๋ยวนี้ มันมีสิ่งเหล่านี้ จึงตรงกันข้าม กับเรื่องของพระอรหันต์ ไม่มีใครช่วยได้ มันก็ต้องเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา ที่จะเป็นความทุกข์ และเมื่อไหร่เล่า ที่จะรู้เรื่องนี้จะได้ทำลายสิ่งเหล่านี้ เพื่อที่จะไม่มีทุกข์ มันก็ยังไม่มีหวัง
นั้นเด็ก ๆ โตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาว จนกระทั่งเป็นพ่อบ้านแม่เรือน มันก็เคยชินกับกิเลส เกิดกิเลส ต่อสู้กันกับกิเลส ทนอยู่ในกองทุกข์ เพราะอำนาจของกิเลส เรื่อยมา จนกว่าจะเป็น ผู้ใหญ่เติบโต แก่เฒ่า ชรา บางทีก็ไม่รู้สึก ไม่รู้จัก มันก็ตายไป ด้วยกิเลสอนุสัย แต่ถ้าโชคดี ไม่เท่าไร เป็นหนุ่มเป็นสาวไม่เท่าไร ได้บวชได้เรียน หรือว่าได้จะเป็นพ่อบ้านแม่เรือน มีปัญญาสังเกต สิ่งทั้งหลาย ที่มาเกี่ยวข้องกับจิตใจ โอ้, นี่ความทุกข์ทั้งนั้น โว้ย, ไปขอความรู้ ขอคำอธิบายจากผู้รู้ ที่วัดที่วา ในทางศาสนา ว่ากิเลสเป็นอย่างไร อนุสัยเป็นอย่างไร อาสวะเป็นอย่างไร จะทำลายกิเลส อนุสัย อาสวะทำอย่างไร ก็จะค่อย ๆ รู้ เพราะว่าทนทุกข์ ไม่ไหวแล้ว ความทุกข์บีบคั้นนัก แล้วจึงมาศึกษาเรื่องดับกิเลสหรือดับอนุสัย หรือดับอาสวะ นี้มันเนื่องกันนะ
ถ้าดับอนุสัยได้ มันก็ไม่เกิดกิเลส เพราะอนุสัยมาจากการเกิดกิเลส ถ้าดับอนุสัยเสียได้ มันก็จะไม่มีอาสวะ เพราะมันไม่อะไรจะไหลออกมา นั้นการดับซึ่งกิเลสไม่ให้เกิด ก็คือ การตัดทอนอนุสัยลงไป อนุสัยตัดทอนลงไป ก็ไม่เกิดอาสวะ ก็ไม่มีอะไรจะเหลือออกมา นี่ ขอให้เรารู้เรื่องภายในจิตใจ ที่เรียกว่า ภายในแท้ ๆ ของมนุษย์ ว่ามันมีอยู่อย่างนี้ มันตรงกันข้าม กับเรื่องราวของพระอรหันต์ ซึ่งจะตัดเสียซึ่งกิเลส จะตัดเสียซึ่งอนุสัย อ่า, จะถอนเสียซึ่งอาสวะ ดูเหมือนท่าน ท่านจะใช้คำว่า ตัดเสียซึ่งกิเลส จะบรรเทาเสีย ซึ่งอนุสัย จะถ่ายถอนเสียซึ่งอาสวะ ใช้คำพูดไม่เหมือนกันน่ะ แต่นี้ก็ไม่สำคัญนัก อ่ะ, เพราะเราไม่ได้เรียน ไม่ได้ใช่ เราไม่ได้ต้องการ จะเรียนบาลี ไม่ต้องการจะเรียนภาษา แต่บอกให้รู้ว่า ท่านใช้คำต่างกัน ตัดเสียซึ่งกิเลส บรรเทาเสียซึ่งอนุสัย จะถ่ายถอนเสียซึ่งอาสวะ
เป็นอันว่า ในชีวิตคนตั้งแต่เกิดมานี่ มันเพิ่มแต่สิ่งที่ตรงกันข้าม ต่อความเป็นพระอรหันต์ ตรงกันข้าม จากความเป็นพระอรหันต์ ปัญหามันจึงมี เพราะพระอรหันต์จะต้องตรงกันข้าม จากความเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ เรามารู้สึกแล้ว รู้สึกต่อความทุกข์แล้ว อยากจะดับทุกข์ จึงมาสนใจเรื่องของพระอรหันต์ ขอให้ท่านทั้งหลาย สังเกตดูให้ดี จิตนี้มันได้เกิดขึ้นแล้ว เป็นการเกิดทางจิตแล้ว มันก็เต็มไปด้วย เรื่องของกิเลส ตัณหา อุปาทาน อุปาทาน นั่นแหละ คือ การเกิดทางจิต ตัณหา คือ เชื้อหรือว่าพืชพันธุ์ สำหรับจะมีการเกิดทางจิต เพราะว่า ตัณหาให้เกิดอุปาทาน ขอให้รู้จัก หลายคนจะนั่งหลับก็ตามใจ แต่ว่าหลายคน จงลืมตาสว่าง เข้าใจถ้อยคำ ที่อาตมากำลังพูด เพราะว่าความเจริญงอกงาม ในชีวิตคนเรานั้น มันเจริญงอกงาม ในทางที่ตรงกันข้าม ต่อความเป็นพระอรหันต์ เดี๋ยวนี้ เราจะต้องรู้จักมัน เราจะได้ทำลายเสีย ให้เข้าร่องเข้ารอย ของความเป็น พระอรหันต์
ทีนี้ ก็มาดูถึงความลับ ความลึกลับอันหนึ่ง ซึ่งเป็นต้นตน ของเรื่องทั้งหลาย คือ พระบาลีที่ได้ยกขึ้นไว้ เป็นหัวข้อข้างต้นว่า พระภัตฐฺจเวฎิตตัง เป็นต้น (นาทีที่ 51:33) พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตนี้เป็นประภัสสร คือ ตามธรรมชาติเป็นประภัสสร อากันตุเกหุปัฏฏิเกหูอุปนิขันติ(นาทีที่ 51:47) แปลว่า สูญความเป็นประภัสสร สูญเสียความเป็นประภัสสร คือ เศร้าหมอง เพราะกิเลสหรืออุปกิเลสเกิดขึ้น จรมาเหมือนอาคันตุกะ ถ้าไม่มีอาคันตุกะกิเลสแล้ว มันก็เป็นจิตที่ผ่องใส เมื่อใดที่กิเลสเข้ามาเป็นแขก จิตนี่ก็ อ่ะ, เศร้าหมองไม่ผ่องใส เมื่อใด อ่ะ, ไม่มีกิเลสเป็นอาคันตุกะเข้ามา จิตนี่ก็ผ่องใส นี่คือ ธรรมชาติของจิต ถ้าผู้ใดรู้ความจริงข้อนี้ จิตภาวนาจักมีแก่บุคคลนั้น
นี่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้ ผู้ใดรู้เรื่องจิตประภัสสร ทั้งสองฝ่ายอย่างนี้แล้ว จิตตภาวนา จะมีแก่บุคคลนั้น บุคคลนั้นจะต้องการ จะสนใจ จะพยายาม เออ, ที่จะป้องกันไม่ให้กิเลส เป็นอาคันตุกะเข้ามา ก็จะรักษาจิตเป็นประภัสสร ประภัสสรยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนจิตนี้เปลี่ยนสภาพ เป็นจิตที่กิเลสมาเกิดไม่ได้แล้ว ก็มีแต่ประภัสสรถาวร นั่นแหละ คือ การบรรลุความเป็นพระอรหันต์ กิเลสเกิดไม่ได้อีกต่อไป เพราะมีจิตตภาวนา คือ การเจริญทางจิต
รู้ความลับ ของจิตว่าประภัสสร หรือไม่ประภัสสร ด้วยเหตุอย่างนี้แล้ว ก็จะมีจิตตภาวนา นั่นแหละ คือ ความรู้เรื่องเจโตวิมุติ รู้เรื่องปัญญาวิมุติ ที่ทารกมันไม่เคยรู้ เดี๋ยวนี้คนโต ๆ ที่ผ่านโลกมานานแล้ว ทนทุกข์มานานแล้ว เริ่มสนใจและเริ่มรู้เรื่อง เจโตวิมุติ เรื่อง ปัญญาวิมุติ ว่าจะควบคุมความรู้สึกเลวร้าย ด้วยอำนาจจิตอย่างไร จะเพิกถอนความรู้สึกอันเลวร้าย ด้วยอำนาจของปัญญาอย่างไร นี่คือ ความรู้เรื่อง เจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ ชนิดที่ทารกไม่เคยมี ไม่เคยมีมาแต่ในท้อง คลอดมาแล้วก็ไม่มี เป็นทารกเติบโตขึ้นมา แม้กระทั่งเป็นวัยรุ่นก็ไม่มี เพราะพ่อแม่ก็สอนไม่ได้ หรือไม่ได้สอน มีแต่จะส่งเสริมกิเลส เป็นกรรมของใคร เป็นกรรมของอวิชชา จิตมีอวิชชา นี่เป็นบาปกรรมของจิต ที่มีอวิชชา ถ้าพูดอย่างสมมุติก็ว่าของคน ๆ นั้นแหละ แต่มันก็ไม่มีคน ๆ ไหนหรอก เพราะมันมีแต่จิต ที่มีประกอบด้วยวิชชา หรืออวิชชาเท่านั้นเอง ที่ท่านเรียกว่า ไม่มีตัวตน
เดี๋ยวนี้ เป็นอันว่า เราได้มอง เรื่องของพระอรหันต์ ในภายในแห่งจิตใจ ในชีวิตด้านลึก ว่ามันมีมาอย่างนี้ อ่ะ, มันเติบโตขึ้นมา จนเป็นหนุ่ม เป็นสาว เป็นผู้ใหญ่ มันก็ยังไม่มีความรู้เรื่อง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ จึงไกลจาก อ่ะ, ความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น เราควรจะศึกษา เรื่องจิตตภาวนา ที่จะทำจิตให้เป็นประภัสสร ไว้เรื่อยไป จะมีเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อยู่ในความ เป็นประภัสสรนั้น เราจะได้พูดกัน อ่ะ, ในโอกาสต่อไป
อ่ะ, การบรรยายในครั้งนี้ ก็สมควรแก่เวลาแล้ว เหลือก็ไว้บรรยายในครั้งต่อไป เรื่องที่จะทำจิต ควบคุมจิต ให้มีสภาพประภัสสรอันถาวร ได้อย่างไร ในตอนนี้ ก็ขอยุติ อ่อ, การบรรยายนี้ ไว้เพียงเท่านี้ เพื่อจะได้ดำเนินกิจการต่าง ๆ ให้เป็นไปตาม ไอ้กำหนด ที่เราเคยกระทำกันมา อาตมาขอยุติ ธรรมเทศนาในครั้งนี้ ไว้เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มีด้วยประการ ฉะนี้