แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่สามนี้ จะกล่าวโดยหัวข้อว่า ธรรมะโดยวิธีใดกัน ทบทวนดูครั้งที่หนึ่งเราพูดถึงการตระเตรียมว่าจะเตรียมจิตใจสำหรับจะศึกษาธรรมะกันอย่างไร ครั้งที่สองนั้น เราพูดถึงว่าธรรมะคืออะไร ทำไม ทำไมกัน ทำไมจะต้องมีธรรมะ มาครั้งนี้ เราก็จะพูดกันต่อว่าโดยวิธีใดในการที่จะมีธรรมะ เรารู้ว่ามันเป็นอะไร แล้วเราก็รู้ว่ามันมีประโยชน์อย่างไร เป็นที่พอใจแล้วเราอยากจะมี ทีนี้เราควรรู้ต่อไปว่า เราจะมีมันได้โดยวิธีใด ที่จะได้ปฏิบัติ มันหลักเดียวกันกับฟังโฆษณาของแปลกหรือของใหม่ ในชั้นแรกนั้น มันจะต้องทำให้เกิดความพอใจและสนใจกันเสียก่อน ที่จะให้เกิดความพอใจและสนใจนั้น มันก็ไม่มีอะไรนอกจากประโยชน์ อานิสงส์ แสดงประโยชน์แสดงอานิสงส์ นี่หมายความว่าเขาไม่มีปัญหา เขาไม่มีปัญญามาก่อน ที่จะรู้ว่าทำไม จึงต้องแสดงประโยชน์หรืออานิสงส์กันก่อน แต่ถ้าเขามีความทุกข์ คือมีปัญหามาแล้ว เขาก็อยากจะดับทุกข์หรือดับปัญหาเขาก็สนใจมากเหมือนกัน บางทีจะมากกว่าที่เราจะชวนเขาเสียอีก เหมือนว่าถ้าเขาร้อนมา เขาก็อยากจะอาบน้ำมากที่สุด ที่เขาไม่ร้อน ไม่รู้เรื่องร้อน เราชวนเขาอาบน้ำ เขาก็ไม่ค่อยสนใจ เดี๋ยวนี้เรารู้ธรรมะเพื่อว่าจะมีประโยชน์อะไรบ้าง เราไม่ได้มีความทุกข์ความเจ็บปวดที่ต้องหาสิ่งมาแก้ไข คือธรรมะนั้น เราจึงไม่ค่อยจะมีความสนใจมากพอ จึงเห็นว่าการทำให้เห็นความทุกข์หรือปัญหาของตัวเองเสียก่อนนั่นแหละ มันจะได้ทำให้อยากดับทุกข์มากขึ้น คือเขาจะสนใจธรรมะมากขึ้น อยากจะใช้มันมากขึ้น ฉะนั้น การที่จะมองเห็นปัญหาหรือเหตุผลที่ว่าควรจะมีธรรมะกันอย่างไรเสียก่อนนั้น ย่อมเป็นการดี เดี๋ยวนี้บางคนมันก็ยังไม่มองเห็น ก็ต้องเรียกว่า มันมีอวิชชา จะพูดตรงๆก็คือว่า มันยังโง่อยู่ มันยังโง่อยู่ ฉะนั้นจะช่วยทำให้ลืมหูลืมตากันเสียบ้างก่อน แล้วก็ต้องการธรรมะ จะได้มีกำลังมากขึ้น ความอยากที่จะมีธรรมะมันก็มีกำลังมากขึ้น ฉะนั้นจะขอปลุกความรู้สึกอันนี้ให้กว้างขวางออกไป แล้วมันก็จะไปเข้ารูปกันกับข้อที่ว่าเราจะปฏิบัติอย่างไรมันจึงจะแก้ปัญหานั้นได้
ข้อแรกที่สุด จะให้มองดูปัญหาเฉพาะหน้า ทุกคนมีอยู่จริง แต่ไม่ค่อยรู้สึกว่าจะต้องใช้ธรรมะมาแก้ไขปัญหานั้น ดูที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ คนมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาการทำงานเลี้ยงชีวิตกันอยู่ทั่วไปทุกคน แล้วมันก็เกิดความทุกข์ยากลำบากขึ้นมา ซึ่งจะทำนาทำสวนจะค้าขายหรือจะทำอะไรก็ตามเถอะ หรือจะทำเศรษฐกิจที่ใหญ่โตมากมายก็ตามเถอะ มันต้องประสบอุปสรรคนั่นแหละ มันต้องประสบอุปสรรคจากภายนอก จากธรรมชาติภายนอก จากคู่แข่งขันภายนอก หรือมันจะประสบอุปสรรคภายใน คือ การขี้เกียจของตนเอง ไม่อยากเหนื่อย หรือรู้สึกว่าทนทุกข์ทรมาน ฉะนั้น ถ้าการงานมันแสดงออกมาว่าเป็นความทุกข์ทรมาน คนมันก็ไม่ชอบการงาน ที่เป็นเนื้อแท้แล้วไม่ชอบการงาน ก็ทนทำไป มันมีอาการที่เรียกว่าเป็นทุกข์เหมือนกับตกนรกยิ่งขึ้น ทีนี้ความลับมันมีอยู่ในตอนนี้ว่า ธรรมะมันช่วยได้ ธรรมะมันจะช่วยให้คนมีจิตใจใหม่อีกชนิดหนึ่ง สู้ได้กันกับอุปสรรคทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นจากการงาน หรือเนื่องกันออกไปจากการงาน เช่นว่าคู่แข่งขันนี้ หรือศัตรูคู่แข่งขัน ถ้าเรามีธรรมะเราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ อย่างที่เคยพูดมาแล้วตั้งต้นว่า ทำงานสนุกเพราะมีจิตใจชนิดนั้น มีความรอบคอบเฉลียวฉลาดในการที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ตลอดถึงที่จะปะทะกันกับศัตรู หรือจะป้องกันศัตรูที่เป็นคู่แข่งขันเหล่านี้เป็นต้น ถ้ามีธรรมะมันก็ไปได้ ถ้าไม่มีธรรมะการงานก็เป็นนรกทรมานจิตใจเรื่อยไป ศัตรูคู่แข่งขันจะเกิดขึ้นมากก็แก้ไขไม่ได้ มันก็เต็มไปด้วยปัญหารอบด้าน นั่นแหละคือความทุกข์ ฉะนั้น เขาต้องรู้ว่าธรรมะมันช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ คือดับทุกข์ในส่วนนี้ได้ นี่เป็นข้อแรก ว่าเราจะต้องทำมาหากินอยู่ในโลก และในการทำมาหากินนั้นเองมันมีความทุกข์รวมอยู่ด้วย ถ้ามีธรรมะ มันก็จะรู้จักแยกความทุกข์นั้นออกไปหรือดับมันเสีย เราก็สนุกเป็นสุขอยู่ได้ในการทำการงานหรือมีชีวิตอยู่ ถ้าเขารู้อย่างนี้นะ เขาก็จะสนใจธรรมะมาก จะพอใจที่จะมีธรรมะมากในการฝึกตน ถึงแม้เราเอง ต่อไปอนาคตเมื่อจะต้องออกไปผจญกับชีวิตในการงาน ถ้าจิตใจมันไม่มีธรรมะ มันก็ต้องล้มเหลว ไม่มีความอดกลั้นอดทนพอ มันไม่เฉลียวฉลาดพอ มันทนกับความยุ่งยากนานาประการเหล่านั้นไม่ไหว มันก็เลิก ทิ้งการงานไป นั่นคือไม่มีธรรมะ
เอ้า ทีนี้ข้อถัดมาอีกก็อยากจะพูดว่า ในตัวเราคนหนึ่งคนหนึ่งนี่ มันมีปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ หรือแม้แต่ปัญหาที่ป้องกันโรคที่เรียกว่า อนามัย เราจะมีอนามัยดีไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ หรือโรคภัยไข้เจ็บมีแล้วก็หายไปโดยง่าย อันนี้ก็ต้องด้วยธรรมะเหมือนกัน อนามัยเลวตามธรรมชาติมันก็มีได้ อนามัยเลวเพราะเรามันโง่ไปเองอย่างนี้ก็ได้ ตามธรรมชาติ มันก็มีเจ็บไข้หรือมีอะไรกระทบกระทั่งอยู่ ลมฟ้าอากาศอะไรก็มีอยู่ ทำให้อนามัยเลว ทีนี้อีกทางหนึ่ง เรามันโง่ไปเอง เราปฏิบัติไม่เป็นป้องกันไม่เป็น ต้านทานไม่เป็น ซึ่งกระทั่งแก้ไขไม่เป็น เราก็มีอนามัยเลว มันก็ทนทุกข์ทรมานเหมือนกับตกนรกนั่นแหละ ถ้าเรามีธรรมะพอ มันก็จะมีอนามัยดีทั้งทางจิตและทั้งทางกาย กระทั่งออกมาทั้งทางวัตถุ มีความปลอดภัย เดี๋ยวนี้เค้าก็ค้นพบกันมากขึ้นว่า ถ้าเรามีจิตดี จิตปกติ จะป้องกันโรคภัยไข้เจ็บทุกชนิด เพราะว่าเมื่อจิตดีจิตปกติ มันก็ช่วยให้ระบบประสาทปกติ และร่างกาย ระบบกายก็ปกติ เลือดลมอะไรต่างๆ เนื้อหนังมันปกติ มันปกติก็คือ มันไม่ให้โอกาสแก่เชื้อโรคจะมาฟักตัวขึ้นในร่างกาย นี่เราก็สบาย ถ้าความปกติยังคงอยู่ โรคภัยไข้เจ็บจะเกิดขึ้นไม่ได้ ในเลือดในเนื้อในระบบไหนก็ตาม ความปกตินั้นมันมีศูนย์กลางอยู่ที่จิตปกติ เมื่อธรรมะปกติ ร่างกายก็ปกติ ระบบประสาทก็ปกติ ความพลั้งเผลอทางภายนอกก็จะไม่มี เช่นเราจะไม่หกล้ม เป็นต้น เพราะมีระบบประสาทปกติ ในทางวัตถุก็ไม่มี เช่นจะไม่ทำมีดบาดมือ เป็นต้น ถ้าระบบประสาทเป็นปกติ ถ้าเลือดมันปกติตามธรรมชาติแล้วมันก็ต่อสู้เชื้อโรคทุกชนิดที่เข้าไปในเลือด ซึ่งเรียกได้ว่าเลือดมันปกติ เพราะร่างกายมันปกติ เพราะระบบประสาทมันปกติ เพราะจิตปกติ ธรรมะมันช่วยให้จิตปกติ ถ้าว่าเรามีธรรมะกันได้จริงโดยแท้จริงและสมบูรณ์จริง ก็จะมีจิตปกติ นี่เป็นธรรมชาติ เป็นอย่างนี้เอง ถ้าจิตปกติ ประสาทปกติ กายปกติ เนื้อหนังปกติ อะไรปกติ อิริยาบถทั้งหลายก็ปกติ วัตถุสิ่งของก็ปกติ นี้เรียกว่ามีอนามัยดีทั้งทางจิตและทางกาย ทั้งทางวัตถุเครื่องใช้สิ่งของบ้านเรือนก็ปกติไปหมด คนเราก็เป็นสุขสบาย เพราะมีธรรมะนั้น เรียกว่าช่วยรักษาสภาพอนามัยให้ปกติ ฉะนั้น ถ้าคนเขารู้เรื่องนี้ เขาก็จะสนใจธรรมะกันมาก เป็นจิตปกติและก็ไม่เป็นโรคประสาทกันงอมแงมมากเหมือนที่กำลังเป็นอยู่เดี๋ยวนี้ รายงานทางการแพทย์ของโลกมันก็แสดงขึ้นมาว่าเป็นผิดปกติทางจิต ทางประสาท ที่เป็นโรคประสาทกันมากขึ้น ถ้าคนในโลกมันมองเห็นความจริงข้อนี้ มันก็จะสนใจธรรมะกันเต็มที่
ทีนี้ข้อที่สามต่อไป เราอยากจะพูดว่า มันจะระงับอารมณ์ร้ายต่างๆที่จะเกิดขึ้นตามธรรมดาของปุถุชนในโลกนี้ อารมณ์ร้ายก็เช่นว่า ความรักรุนแรง ความโกรธรุนแรง ความเกลียดรุนแรง ความกลัวรุนแรง ความอาลัยอาวรณ์รุนแรง ความวิตกกังวลรุนแรง ความอิจฉาริษยารุนแรง ความหวงความหึงรุนแรง นี่เรียกอารมณ์ร้าย เดี๋ยวนี้เขาค้นพบว่า อารมณ์ร้ายเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว จิตมันก็จะสร้างสารทางเคมีใหม่ขึ้นมา มันปรุงขึ้นมาจากภายในเป็นสารเคมี ความเปลี่ยนแปลงทางเคมีเกิดขึ้นในภายใน เกิดสารที่มีพิษร้ายขึ้นในโลหิต ขึ้นในระบบโลหิต ขึ้นในเนื้อในร่างกาย มันก็เลยทำลายความปกติของร่างกาย ทำลายระบบปกติของมันสมอง ของระบบประสาทโดยเฉพาะ ฉะนั้น คนก็เป็นโรคหลายๆอย่างเพราะความเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่ได้เกิดขึ้นแล้วในโลหิตนั้น เราจึงเป็นโรคที่ร้ายกาจที่เลวร้าย อย่างว่าเสียใจรุนแรงก็เป็นลมสลบไปก็ได้ หรือโกรธรุนแรงนี่ก็สลบไปก็ได้ ที่เรียกว่า ช็อก เพราะมีสารเคมีชนิดหนึ่งซึ่งมีพิษร้ายแรงเกิดขึ้นในระบบโลหิต ระบบประสาท ในสมองอะไรต่างๆ อาการเหล่านี้ ธรรมะช่วยได้ ธรรมะป้องกันได้ ธรรมะแก้ได้ นั่นแหละ จะมีค่าหรือไม่มีค่าก็ลองคิดดู ถ้ามีธรรมะจริง อารมณ์ร้ายเหล่านี้ก็ไม่อาจจะเกิดขึ้น ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในภายใน โดยเฉพาะทางวัตถุทางเคมี มีสารพิษเกิดขึ้นในโลหิตอันนี้ มันก็เป็นคนที่สบาย ไม่ต้องเส้นโลหิตแตก หรือไม่ต้องเป็นโรคร้ายๆต่อมา เป็นโรคอัมพาต โรคหัวใจ โรคอะไรต่างๆ รู้ไว้แต่ว่าธรรมะนี่มันจะป้องกันอย่างนี้ ถ้ารู้อย่างนี้ คนต้องการธรรมะ
ฉะนั้น ทีนี้ ข้อต่อไปอีก คือว่าสิ่งที่มันจะต้องเกิดขึ้น ไม่เป็นไปตามประสงค์ของเราแล้วก็มีความกระทบกระเทือนใจมาก เช่น เงินหาย เมียตาย ผัวตาย ลูกตาย แม่ตาย อย่างนี้ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจมาก เป็นทุกข์อย่างยิ่ง เป็นทุกข์เหมือนกับถูกน้ำร้อนราดอย่างนี้ ถ้ามีธรรมะพอ มันก็จะไม่มีความหมายอะไรเลย มันจะปกติอยู่ได้ ทีนี้คนที่เขาศึกษาธรรมะอยู่เป็นประจำ สิ่งเหล่านี้ไม่มีผลอะไรแก่เขาหรอก คือมันเห็นเป็นของธรรมดาในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย หายไป มีแล้วหายไป หรือไม่เป็นไปตามต้องการของเรา อย่างเช่นเมียมีชู้ เดี๋ยวนี้มันก็ฆ่ากันตายหมด เพราะมันไม่สามารถจะบังคับความรู้สึกเลวร้ายอันนั้นได้ แต่ถ้ามีธรรมะแล้ว มันก็ไม่มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น นี่เรียกว่าอานิสงส์ของธรรมะที่จะแก้ปัญหามีอยู่จริง
ทีนี้ข้อถัดไปก็จะพูดถึงอุบัติเหตุที่มันมีอยู่ทั่วๆไปโดยเฉพาะอุบัติเหตุในท้องถนน ซึ่งมันก็มีเป็นธรรมดา ในหมู่คนที่สะเพร่า ก็ในหมู่คนที่ไม่มีธรรมะนะ คนสะเพร่า คนประมาท คนหยาบพาล นี่มันก็คือคนที่ไม่มีธรรมะ ก็สร้างอุบัติเหตุนานาชนิดขึ้นมา ซึ่งตัวเราเองก็เหมือนกัน ดูให้ดีดีนะ ความที่ไม่มีธรรมะ ความที่ไม่สุขุมรอบคอบ มีแต่ผลุนผลัน สะเพร่า มันก็ทำให้อุบัติเหตุหลายๆชนิดเกิดขึ้น ถ้ามีธรรมะจะเรียกว่า อุบัติเหตุจะไม่มี เป็นเหตุให้รถไฟชนกัน รถยนต์ชนกันลงไปนอนอยู่ในคู มันก็มาจากขาดธรรมะของคนที่เกี่ยวข้อง บางคนเขาจะไปโทษวัตถุสิ่งของ โทษรถ โทษเครื่องจักร ความจริงมันก็คือความโง่ ความสะเพร่า ความไม่มีธรรมะของคนที่ใช้มันนั่นเอง ถ้ามีธรรมะ สุขุมรอบคอบ จิตใจเยือกเย็น อุบัติเหตุทั้งหลายในโลกมันก็เกือบจะไม่มีเหลือ ทีนี้ก็มีเหตุการณ์ในโลกที่เราบังคับมันไม่ได้ ที่มันต้องเกิดขึ้นในโลก เช่น สงคราม เป็นต้น เดี๋ยวนี้โลกมันถึงกันหมดด้วยเครื่องมือสื่อสารคมนาคม ราวกับว่าทำให้โลกนี้เล็กนิดเดียว กระทบกระเทือนถึงกันหมด ซึ่งเหตุการณ์เลวร้ายในโลกมันก็ต้องมีแล้วมันก็ถึงกันทั่วไปหมด โดยตรงก็มี โดยอ้อมก็มี เช่น เขาทิ้งระเบิดปรมาณูลงมาในโลก มันก็มีความกระทบกระเทือนเป็นบริเวณกว้างไกล เมื่อเกิดสงครามขึ้นมาในโลก ทำให้สิ่งของสูญเสีย ไม่พอกิน ไม่พอใช้ ยุ่งกันไปหมด แม้แต่ว่าน้ำมันมันขาดแคลนที่อื่น แต่มันก็เนื่องมาถึงเรา นี่เรียกว่าเหตุการณ์ในโลก แค่ประมาณในประเทศ มันไม่เกิดบ้านเรา แต่มันเกิดในประเทศของเรา มันก็ถึงกันหมด อย่างนี้มันต้องมี มันช่วยไม่ได้ ถ้ามันไม่มีธรรมะ มันคิดไม่ได้ มันปลงไม่ตก มันก็เดือดร้อน เดือดร้อนจนเป็นบ้าไปเลย เหมือนที่กำลังเป็นอยู่ ที่เขาเรียกว่าเศรษฐกิจไม่ดี เป็นบ้ากันทั้งบ้านทั้งเมือง เป็นประสาทกันทั้งบ้านทั้งเมือง ทำให้มีเรื่องปล้นเรื่องจี้กัน เรื่องลักเล็กขโมยน้อย เรื่องอะไรกันมากขึ้นทั่วไปทั้งบ้านทั้งเมือง มันก็มีมูลมาแต่เหตุอย่างเดียวกัน คือมันขาดธรรมะ มันจึงสู้สถานการณ์อันนี้ไม่ได้ ไม่มองเห็นว่าอันนี้มันเป็นธรรมดาที่มันจะต้องมีขึ้นมาในโลก ถ้าเรามีธรรมะ ก็หัวเราะเยาะได้
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ มันเป็นเรื่องหยาบๆ เรื่องเห็นได้ง่าย แต่ก็ยังมองไม่เห็น แล้วนับประสาอะไรกับเรื่องที่มันละเอียดลึกซึ้งประณีตยิ่งไปกว่านั้น ซึ่งเราก็ควรจะพิจารณาดูกันบ้าง ในบรรดาเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่สุด ที่เห็นได้ยากเข้าใจได้ยาก ก็คือว่า ในด้านจิตใจหรือวิญญาณ คน ปุถุชนมันจะรู้สึกว่าหิวอยู่เสมอ แต่มันก็ไม่รู้ว่าหิวอะไร มันมีอาการรู้สึกว่าหิว อยากจะได้อะไร กูจะได้อะไรอยู่เสมอ แต่แล้วมันก็ไม่รู้ว่ามันต้องการอะไรอย่างนี้มี ได้เงินมาแล้วมันก็ยังหิว มีครอบครัวแล้วมันก็ยังหิว มีเกียรติยศแล้วมันก็ยังหิว มันยังหิวอะไรอยู่ก็ไม่รู้ คือมันยังไม่สมบูรณ์ มันยังไม่เต็ม เรียกว่าจิตใจยังไม่เต็ม ความเป็นมนุษย์ยังไม่เต็ม มันหิว ทรมานใจอยู่เสมอ แต่เรื่องนี้ละเอียดมากจนปุถุชนคนเดินถนนไม่ค่อยสนใจ คนธรรมดาก็ไม่สนใจจะไม่รู้สึกจะไม่สังเกตเห็นว่าชีวิตนี้หิวอยู่เสมอ และความหิว คือ ทนทรมานหรือเป็นทุกข์ แต่ถ้ามีธรรมะแล้ว อาการอย่างนี้จะหายไป คือไม่มี จะไม่รู้สึกหิว เพราะธรรมะนี่มันกำจัดกิเลสคือมันกำจัดความหิวโดยตรง ชีวิตนี้จะไม่รู้สึกเหมือนกับหิวหรือกระหายน้ำอยู่เสมอด้วยอำนาจของกิเลส ถ้ามีธรรมะมันก็ดี คนที่มาศึกษาธรรมะมันไม่ได้มีปัญหาอย่างนี้ โดยเฉพาะการศึกษาแผนใหม่ของพวกฝรั่ง มันไม่ได้ทำให้รู้สึกอย่างนี้ได้ มันไปข้างหน้าเรื่อย มันดื่มกินเรื่อยไปแหละ มันก็หิวเรื่อยไป มันก็ดื่มกินเรื่อยไปเป็นธรรมดา
ต่อไปอีกก็เรียกว่า ชีวิตนี้มันจะรู้สึกว่าถูกอะไรกระทบกระทั่งอยู่เสมอ เดี๋ยวเรื่องนั้นเข้ามา เดี๋ยวเรื่องนี้เข้ามา เดี๋ยวเรื่องนู้นเข้ามา เรียกว่ามีอะไรมากระทบกระทั่งอยู่เสมอนะ ซึ่งมันละเอียดอ่อนมากจนแทบจะมองไม่เห็น จะสังเกตไม่เห็น คนมันก็ไม่อยู่เป็นสุข จิตใจไม่อยู่เป็นสุข เพราะมันมีอะไรกระทบกระทั่งจิตใจอยู่เสมอ หรือจะดูอีกแง่หนึ่งก็ว่า ชีวิตนี้มันมีความรู้สึกว่าหนักอึ้งอยู่เสมอ แล้วก็ไม่เยือกเย็นด้วย ให้คุณลองสังเกตดูเองก็แล้วกันว่า ความรู้สึกของเรา เรารู้สึกเย็นฉ่ำอยู่ในชีวิตหรือเปล่า หรือว่าเรารู้สึกเบาสบาย เบาคล่อง สบายอยู่หรือเปล่า มันไม่เป็นอย่างนั้นนี่ มันรู้สึกหนักอึ้ง มันยังแบกภาระหนักอยู่เสมอ มันแบกภาระแห่งตัวตนและของตนโดยไม่รู้สึกตัวอยู่ในจิตอยู่ในวิญญาณเสมอ แม้นอนหลับมันก็ฝันร้าย นี่เรียกว่ามันมีความหนักอยู่ในตัวชีวิตนั้นอยู่เป็นประจำ แล้วมันก็ร้อนเพราะมันถูกบีบคั้น ไม่เย็นเป็นนิพพาน คำว่านิพพานนี่พูดกันแล้วพูดกันอีก จนไม่ต้องพูดกันอีกแล้วว่ามันมีความหมายว่ามันเย็น คำว่านิพพานแปลว่า เย็น คือไม่มีความร้อน ไม่มีของร้อนนั่นเอง อย่าไปเข้าใจให้มันไกลไปจนเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตโดยตรง ถ้าไม่มีของร้อน ถ้าไม่มีความร้อน ภาษาบาลีเขาเรียกว่า นิพพาน จะเป็นเรื่องทางวัตถุก็ได้ ทางวัตถุนั้นไม่มีความร้อนในวัตถุนั้น นิพพาน ถ้าเป็นจิตใจ จิตใจไม่มีความร้อน จิตใจนั้นมันเรียกว่า นิพพาน คือมันเย็น คำว่า “นิพพาน” แปลว่าเย็น นี่เรารู้สึกว่าเรามีจิตใจเย็นหรือเปล่า ตามธรรมดาตามปกตินี่ เรามีจิตใจที่เย็นหรือเปล่า มันจะรู้สึกเหมือนว่ามันยังมีจิตใจกรุ่นอยู่เลย ในความร้อนระดับหนึ่ง หรือมันหนักอึ้งอยู่ด้วยของหนักบีบคั้นจิตใจอยู่ระดับหนึ่ง แต่ธรรมะมันช่วยได้ ธรรมะจะช่วยขจัดปัดเป่าความรู้สึกร้อน หรือความรู้สึกหนักเหล่านี้ออกไปเสียบ้าง
เรื่องต่อไปในชั้นละเอียดประณีต เรามันมีความกังวล ภาษาบาลีก็เรียกว่า กิญจน คำว่า กังวล นี่เป็นภาษาไทยหรือมาจากภาษาอะไรก็ไม่รู้ แต่เราก็รู้จักกันดีว่าความกังวลนั้นมันเป็นอย่างไร และมันมีได้ถึงขนาดที่เรียกว่า ใต้สำนึก ความกังวลมีอยู่ได้กระทั่งใต้สำนึก กระทั่งฝัน เราไม่รู้สึกว่าเรากังวลอะไรโดยชัดเจนโดยตรง เรายังรู้สึกเรายังกังวลอะไรอยู่อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ กังวลในสิ่งที่มันยังไม่ได้ที่มันคิดว่าควรจะได้ นี่มันก็กังวล ครั้นได้มาแล้ว มันก็ยังกังวลว่าอันนี้มันจะหายไป อันนี้มันจะสูญหายไป ยังไม่ได้เงินก็กังวลว่ายังไม่ได้ ครั้นได้มาแล้วก็กังวลว่ามันจะสูญหายไป ของรักของชอบใจใดใดก็เหมือนกัน มันยังไม่ได้ก็กังวล ครั้นได้มาแล้วก็กังวล เรียกว่าชีวิตนี้มันเป็นตัวความกังวลไปเสียเลย แล้วมันจะเย็นสนิทเป็นสุข เย็นสนิทได้อย่างไร ถ้ามันเต็มไปด้วยความกังวล เป็นนักเรียนมันกังวลว่าจะสอบไล่ตก หรือสอบไล่ไม่ได้ ครั้นสอบไล่ได้แล้วมันก็ยังกังวลว่าจะทำอะไรต่อไป จะได้อะไรต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ความกังวลนั้นมันเหมือนกับหนอนว่อนอยู่ กัดแทะอยู่ในจิตในวิญญาณ แท้จริงแล้ว มีหลักว่าพระอรหันต์เท่านั้นแหละที่จะหมดความกังวล ไม่เป็นพระอรหันต์ก็ไม่หมดความกังวล แต่มันก็มีข้อเท็จจริงเหมือนกันว่าเราบรรเทาได้ เมื่อยังไม่เป็นพระอรหันต์นี่เราก็บรรเทาความกังวลออกไปได้ไม่น้อย มันก็มีชีวิตที่ดีขึ้น มีความกังวลน้อย ความกังวลใต้สำนึกบังคับไม่ได้ มันก็เลยทรมานใจแม้ในความหลับในความฝัน หรือว่าเพราะกังวลนั่นแหละเป็นเหตุให้ฝันเลวฝันร้าย ธรรมะช่วยได้ ถ้าศึกษาธรรมะเพียงพอ จนรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุญญตา เป็นต้น ความกังวลมันก็ลดไปลดไป หมดตัวตน หมดความนึกคิดยึดถือตัวตนเมื่อไร กังวลจะเกลี้ยงไปหมดไม่มีเหลือ มันก็เป็นชีวิตใหม่ที่ปราศจากความกังวล ที่เรียกว่าเป็นอรหันต์นั่นนะ เราไม่เอาถึงว่าเป็นพระอรหันต์ แต่ให้ความกังวลนี่มันลดลงไปสักครึ่งสักค่อนก็ดีแล้ว แต่คนโง่มองไม่เห็นข้อนี้ คนที่มีจิตใจหยาบ คิดนึกหยาบ สังเกตหยาบ มันไม่สังเกตเห็นข้อนี้หรอก ฉะนั้นขอให้เราลองศึกษาดู มันเป็นของละเอียดกว่าที่คนธรรมดามันจะสนใจ มันเลยไม่สนใจ ทั้งที่มันถูกรบกวนอยู่ มีความทุกข์อยู่ ก็ไม่รู้ว่าเพราะเหตุอะไร เรียกว่าชีวิตนี้ไม่อิ่ม ไม่หยุด ไม่เย็น แต่เราก็ไม่รู้ว่าเพราะเหตุอะไร นี่มันก็มาจากสิ่งที่กำลังพูดอยู่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือความกังวล ซึ่งเป็นผลปฏิกิริยาของความอยากความต้องการที่เหลือซาก แต่ยังคงดำเนินอยู่เรื่อยในจิตใจ นี่ชีวิตคนธรรมดาเป็นอย่างนี้ แต่ชีวิตพระอริยเจ้านั่นมันบรรเทาสิ่งเหล่านี้และหมดสิ้นภายในที่สุด ก็เรียกว่าเป็น ชีวิตเย็น
ทีนี้ทางหนึ่งมันเหมือนกับตรงกันข้าม เรามีอวิชชา เรามีความโง่ มีความไม่รู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่รู้ว่าชีวิตนี้มันคืออะไร ชีวิตนี้มันเกิดมาทำไม ชีวิตนี้มันควรจะได้อะไร ยังไม่เป็นที่แจ่มแจ้งเพราะไม่มีใครสอน แต่ถึงจะมีใครสอนมันก็ไม่ดีเท่าที่มองเห็นเองหรอก เท่าที่รู้สึกเองมันดีมาก แต่คำสอนก็ดีเหมือนกันนะ มันก็เป็นแนวสำหรับให้เราคิดเป็นครูให้เราสังเกตได้อยู่เรื่อยๆว่าชีวิตนี้มันคืออะไร มันเกิดมาทำไม มันควรจะได้อะไร ฉะนั้นความที่ไม่รู้นั่นแหละ มันก็เหมือนกับว่า หลับ ทุกคนยังหลับ ทุกคนกำลังหลับ ถ้าพูดให้เหมาะให้ถูกที่สุดก็ว่า ทั้งโลกกำลังหลับโลกกำลังหลับ ทั้งโลกกำลังหลับ โลกเป็นโลกที่หลับ เพราะว่าทั้งโลกมันไม่รู้ มันไม่รู้ว่ามันเกิดมาทำไม มันควรจะได้อะไร มันดีที่สุดอยู่ที่ตรงไหน มันเป็นโลกหลับ มันเป็นคนหลับ นี่คือความเลวร้ายที่ความละเอียดอ่อนที่เห็นได้ยาก มันอยู่อย่างคนหลับตลอดเวลา แต่ว่าธรรมะมันช่วยได้ ธรรมะมันช่วยให้ตื่น มันช่วยให้ตื่นขึ้นมา ถ้ามีธรรมะได้รู้ธรรมะมันมีธรรมะ มันจะสังเกตว่าผิดถูกเป็นอย่างไร ดีชั่วเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร มันสามารถจะเคลื่อนไหวในทางที่ถูกต้องอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น ขอให้สนใจในข้อนี้ว่า โลกนี้มันถูกปกคลุมอยู่ด้วยอวิชชา อวิชฺชาย นิวุโต โลโก คำบาลี คนเรานี้มันถูกเคลือบหุ้มอยู่ด้วยอวิชชา มันก็ไม่รู้ ก็เป็นคนหลับ มันจึงไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ควรจะได้อะไร ทีนี้ตัณหา กิเลสตัณหามันเจริญขึ้นมา มันก็เรียกร้องต้องการไปตามแบบของกิเลสตัณหา มันก็เลยได้ผิด ได้แต่เรื่องผิดได้ทำผิดๆได้อะไรผิดๆได้พยายามผิดๆได้รับผลผิดๆ มันก็จะได้รับผลของความหลับ รับผลของความหลับก็คือว่า ความผิด ความกระทำผิด ดำเนินไปผิด ใครรู้สึกอย่างนี้บ้าง มันละเอียดอ่อนจนเกินกว่าที่คนธรรมดามันจะนึกได้ มันจะรู้สึกได้ มันต้องมีธรรมจักษุบ้างพอสมควรเท่านั้นแหละ ให้มันเข้ามาในแนวของพระอริยะเจ้าแล้วตามควรเท่านั้นแหละ มันจะสะดุดกับปัญหานี้ แล้วมันก็ค่อยๆรู้มากขึ้นแจ่มแจ้งมากขึ้น เรียกว่าเป็นคนตื่นขึ้นมา คำว่า พุทธะ แปลว่า ตื่น ว่ารู้ ว่าเบิกบาน ตัวศัพท์แท้ๆ รากศัพท์แท้ๆ ที่เป็นคำเดียว ก็แปลว่า ตื่น พุทธะนี่แปลว่า ตื่น เหมือนตื่นจากหลับนอน คำว่า รู้และเบิกบานนี่มาทีหลัง เพราะถ้าเราตื่นนอน ไม่หลับ เราก็รู้สิ แล้วเราสดชื่นแจ่มใสเบิกบาน คำแปลที่เฉพาะก็คือคำว่า ตื่น แล้วคำแปลในความหมายที่ขยายออกไปเป็นชั้นที่สองชั้นที่สามก็คือ รู้และเบิกบาน เรามาแปลรวบกันเรียกว่าพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ให้มันเต็มที่ก็ดีเหมือนกัน แต่ขอให้รู้ไว้เถอะว่า คำๆนี้โดยแท้จริงมันแปลว่า ตื่น ถ้าคนเรามีธรรมะ มันก็ตื่น ถ้าโลกนี้มีธรรมะโลกนี้มันก็ตื่น ไม่เป็นโลกที่หลับไม่เป็นคนที่หลับ ก็เปรียบเทียบดูระหว่างคนหลับกับคนตื่นว่ามันต่างกันอย่างไร มันก็จะเห็นโทษของความหลับ เห็นประโยชน์คุณค่าของความตื่น จึงจะได้รับประโยชน์ของการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เราชอบพูดกันว่า ได้รับพระพุทธศาสนา ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา คำนี้มีความหมายมากคือ คนที่มันหลับนั่นนะมันได้ตื่นขึ้นมาแล้ว เรียกว่าเกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ศาสนาสำหรับความตื่นหรือผู้ตื่น เราก็ตื่นขึ้นมาแล้ว ก็อยู่กับธรรมะอย่างนี้ รู้ทีเดียวว่าเราจะต้องทำอะไร ชีวิตนี้มันเกิดมาแล้ว แม้ว่าเราไม่ได้ตั้งใจจะเกิดมา แต่มันก็ได้เกิดมาแล้วนี่ แล้วจะทำอย่างไรเมื่อมันเกิดมาแล้ว จะฆ่าให้มันตาย มันก็ทำไม่ได้หรอก ไม่มีความรู้สึกเช่นนั้นได้ ทีนี้ก็ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน ชีวิตนี้มันไม่รู้จะไปทางไหน คิดค้นกันเท่าไร ถ้าไม่มีเรื่องของธรรมะเข้ามาช่วย มันก็ไม่รู้ว่าไปทางไหน คนเดี๋ยวนี้มันก็ดีแต่พูดว่าแล้วแต่คอมพิวเตอร์ สมัยนี้มันจะพูดว่าแล้วแต่คอมพิวเตอร์จะบอกว่าให้ไปทางไหน มันคือความโง่เขลาที่สุดของมนุษย์ ถ้าเราเรียนธรรมะเพียงพอ เราก็รู้ว่ามันเกิดมาแล้วนี่มันจะไปทางไหนคือมันจะต้องไปในทางที่ใช้ให้เป็นประโยชน์ที่สุดแก่ชีวิตนั่นเอง เพราะว่าชีวิตนี้มันเป็นสิ่งที่รู้สึกได้ ฉะนั้นเราก็ให้มันได้รู้สึกต่อสิ่งที่ดีที่สุดที่เห็นว่าดีที่สุด ดีที่สุดก็คือ ไม่ทุกข์ทรมานด้วยกันทุกฝ่าย ทุกพวก ทุกคนนั่นแหละ อันนี้ดีที่สุด
สรุปความว่า เรามันไม่รู้ด้วยตนเองว่า เราได้รับสิ่งที่ควรจะพอใจแล้ว ใครบ้าง คนไหนบ้าง ที่รู้สึกว่าตัวเองได้รับสิ่งที่ควรจะพอใจแล้ว สิ่งที่ควรจะพอใจมันก็ยังไม่รู้ว่าอะไร เอาล่ะ แค่ว่าเอาความรู้สึกในใจเป็นหลักว่าพอใจ พอใจก็ได้ แต่ทีนี้มันก็เป็นความพอใจของกิเลส เป็นความพอใจของอวิชชา มันยิ่งบ้าหนักขึ้นไปอีก มันต้องเป็นความพอใจของสติปัญญาของความรู้ที่ถูกต้อง แล้วก็พอใจ รู้จักสิ่งที่ควรจะพอใจ แล้วก็พอใจเพราะรู้สึกว่ามันได้แล้ว เดี๋ยวนี้ชีวิตของใครเป็นอย่างนี้บ้าง ชีวิตของใครมีความรู้สึกว่าเราได้รับสิ่งที่ควรจะพอใจแล้ว และก็พอใจอยู่ ไม่มี มันเจอแต่คนหลับ คนบ้าด้วยและหลับด้วย นอนระเกะระกะไปหมด นี่สภาพของงู สัตว์หรือโลกที่มันปราศจากธรรมะ มันเป็นอย่างนี้ มันนั่งอยู่ก็ได้ มันเดินอยู่ก็ได้ มันวิ่งอยู่ก็ได้ อะไรก็ได้ แต่มันเป็นคนบ้าที่นอนหลับอยู่เท่านั้นแหละเต็มไปทั้งโลก มันไม่รู้สึกว่าเราได้รับสิ่งที่ควรจะพอใจ แล้วก็พอใจอยู่ ถ้าใครเค้ารู้สึกอย่างนี้ คนนั้นจะดิ้นรนอย่างยิ่งที่จะหาให้ได้ แล้วก็มันก็มาหาจนพบที่ธรรมะนี้ เดี๋ยวนี้คนในโลกนี้ มันไม่มีเลยที่จะมีความรู้สึกอย่างนี้ ทั้งที่มีธรรมะ มีพุทธศาสนา มีอะไรที่จะอำนวยให้ความเป็นอย่างนี้ได้ มันก็ไม่รู้สึก มันก็ไม่ได้ต้องการธรรมะด้วยเหตุผลอย่างนี้ ไม่ได้ต้องการธรรมะเพื่อผลอย่างนี้ นี่เราดูด้วยเหตุผล เราดูสิ่งที่มันมีอยู่จริง ดูภาวะที่มันมีอยู่จริงในสิ่งที่เรากันว่าคนหรือโลกนี่ โลกของคน คนของโลกนี่มันกำลังหลับ เป็นโลกหลับเป็นคนหลับอยู่แล้วจะรู้จักธรรมะได้อย่างไร แล้วก็ไม่มีใครเรียนเรื่องนี้ไปเรียนเรื่องอื่นไปเรียนเรื่องความก้าวหน้าทางวัตถุกันเสียทั้งนั้น ไปเมืองนอกเมืองนาปริญญายาวเป็นหาง มันก็เป็นเรื่องทางวัตถุหรือเนื่องอยู่กับวัตถุหรือขึ้นอยู่กับวัตถุ มีวัตถุเป็นใหญ่ มีวัตถุเป็นหลักกันทั้งนั้น มันจึงไม่พบสันติสุขหรือสันติภาพ แล้วโลกนี้ก็ไม่มีสันติสุข ไม่มีสันติภาพ เพราะคนมันรู้กันแต่เรื่องวัตถุหรือเนื่องด้วยวัตถุ
ธรรมะมันจะช่วยแก้ปัญหาได้จริง ดับทุกข์ได้จริง แต่มันไม่ใช่แก้ด้วยวัตถุ มันไม่ใช่เป็นเรื่องของวัตถุ ดังนั้นคนที่หลงแต่เรื่องวัตถุ มันจึงไม่พบธรรมะ มันจึงไม่ได้แก้ปัญหาของคนเราอย่างลึกซึ้งถึงมูลรากหรือต้นเหตุได้ นี่เอาเป็นว่า นี่คือตัวปัญหาที่อยู่จริงที่มีอยู่จริง แล้วก็มีปัญหาถัดไปว่า ทำอย่างไรจึงจะขจัดสิ่งเลวร้ายเหล่านี้ออกไปได้ มีผลประเสริฐที่สุด ไม่มีอะไรดีกว่าว่าทำการทำงานเหงื่อไหลไคลย้อยอยู่ ก็ไม่เป็นทุกข์ นั่นก็มีสุขภาพอนามัยดีทั้งทางจิต ทั้งทางกาย ทั้งทางวัตถุ ไม่มีอารมณ์ร้ายเข้ามารบกวนคือ ไม่มีความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอาลัยอาวรณ์ วิตกกังวล อิจฉาริษยาหวงหึงมันก็ไม่มารบกวน แม้จะเกิดสิ่งเลวร้ายขึ้นมา เงินหาย ผัวหาย เมียตายหรือลูกตาย แม่ตาย ก็ไม่มีความหวั่นไหวอะไร และก็ไม่มีอุบัติเหตุใดๆเกิดขึ้น เหตุการณ์ในโลกจะผันแปรไปอย่างไรก็ไม่ทำให้เป็นทุกข์เป็นร้อนได้ เหมือนคราวก่อนที่เป็นทุกข์เป็นร้อนได้เหมือนคราวก่อนเป็นทุกข์เป็นร้อนกันเรื่องสงคราม ชีวิตนี้อิ่มอยู่เสมอ ไม่มีหิวเลย ไม่หิวบ้าๆบอๆที่ไม่รู้ว่าหิวอะไร ชีวิตนี้ไม่มีอะไรกระทบกระเทือน ไม่ว่าอะไรจะเข้ามาก็ไม่เป็นการกระทบกระเทือน เป็นชีวิตเบา เป็นชีวิตเย็น ไม่มีวิตกกังวลอะไร ไม่มีกังวลอะไรที่เป็นเครื่องกังวลแห่งจิตใจ รู้ว่าควรจะได้อะไรก็ได้ แต่มันกลายเป็นว่า ได้สิ่งที่ไม่ยึดถืออะไรว่าเป็นตัวตน สิ่งที่ควรจะได้นะ คือ ได้ความไม่ยึดถืออะไรในความเป็นตัวตน อย่างนี้คนธรรมดาเขาไม่เอาหรอก เขาจะว่าบ้า แต่นั่นนะคือการได้ที่ประเสริฐที่สุด คือได้ความไม่ยึดถืออะไรว่าเป็นตัวตน มันเป็นนิพพานอยู่ในนั้นโดยอัตโนมัติ ชีวิตได้สิ่งที่ควรจะได้มันคือ ชีวิตคืบหน้า รู้สึกว่าได้สิ่งที่ควรจะพอใจแล้วและพอใจอยู่แล้ว เรื่องก็จบ จะทำอย่างไรเล่าที่จะได้สิ่งเหล่านี้มา นี่คือปัญหาที่เราจะพูดกันต่อไปในหัวข้อของวันนี้ว่า ธรรมะโดยวิธีใด คุณจะคอยกำหนดไว้ให้ดีนะ ผมได้พูดแล้วว่าธรรมะคืออะไร พูดแล้ว ธรรมะทำไมกันก็พูดมาพอสมควรแล้ว เดี๋ยวนี้จะพูดให้เห็นชัดว่า ชีวิตมีปัญหาอยู่อย่างนี้จะขจัดปัญหาเหล่านี้ออกไปเสียได้อย่างไรหรือโดยวิธีใด ธรรมะคืออะไร ธรรมะทำไม ธรรมะโดยวิธีใด คำตอบมันก็กำปั้นทุบดิน อย่างนี้มันมีอยู่บ่อยๆเป็นธรรมดา มันช่วยไม่ได้ ในพระคัมภีร์จึงมีคำตอบชนิดกำปั้นทุบดินมันตอบไว้อย่างถูกต้องที่สุด กว้างขวางที่สุดเช่น คำตอบที่ว่าถ้าอยู่กันอย่างถูกต้องแล้วโลกนี้ก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ถ้าอยู่กันอย่างถูกต้อง โลกนี้จะไม่ว่างจากบุคคลที่เรียกกันว่า พระอรหันต์ คำนี้เป็นคำที่สำคัญ สมกับเป็นคำสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าตรัส มันเหมือนกับพินัยกรรม ท่านจะปรินิพพานอยู่หยกๆในสองสามนาที ท่านยังตรัสประโยคนี้ สเจ เม ภิกฺขู สมฺมา วิหเรยฺยุํ อสุญฺโญ โลโก อรหนฺเตหิ อสฺส นี่ประโยคอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสเมื่อจะปรินิพพานอยู่หยกๆแล้วไม่กี่นาทีแล้วว่าถ้าภิกษุเหล่านี้จักเป็นอยู่กันโดยชอบ โลกก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์ คำว่าพระอรหันต์คำเดียวมันสรุปหมด สรุปข้อความที่พูดมายืดยาวนั่นหมดเป็นพระอรหันต์แล้วจะไม่มีปัญหาต่างๆนานาเหล่านั้นเหลืออยู่เลย นี่เรียกว่าพระอรหันต์ มันก็ตอบอย่างเหมือนกับกำปั้นทุบดินว่า ถ้าเป็นอยู่ให้ถูกต้องโลกก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์ นี่คำตอบมันยังสั้นเกินไป มันทำให้ต้องถามหรือต้องศึกษากันต่อไปว่า เป็นอยู่อย่างถูกต้องนั้นคือเป็นอยู่อย่างไร เรียกเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ที่จะทำให้โลกนี้ไม่ว่างจากพระอรหันต์ คำว่าถูกต้องนั่นแหละมันเป็นปัญหา มันเป็นปัญหาที่สร้างความโง่ ความเข้าใจผิดขึ้นมา นักศึกษาในสมัยปัจจุบันมีมากเหลือเกิน ปรัชญาฝ่ายตะวันตก ปรัชญากรีกอะไรนี่ก็ยกข้อนี้ขึ้นมาเป็นตัวบทสำหรับถกเถียงว่าอะไรคือความดี อะไรคือความจริง อะไรคือความถูกต้อง แล้วก็พูดกันเป็นปีๆก็ไม่รู้จักจบ สรุปความแล้วก็คือใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ มันมีเหตุผลที่จะมาประกอบทางตรรกะมากเกินไป ทางปรัชญามากเกินไป แต่ว่าในพุทธศาสนาเรานี้มีคำตอบสั้นๆคำเดียว ถูกต้องก็คือ พิสูจน์ความมีประโยชน์แก่ทุกฝ่ายไม่พูดอะไรมากกว่านั้น ที่ว่าถูกต้องนั้นนะไม่ต้องมีเหตุผลอย่างอื่นซึ่งพวกนักปรัชญาเค้าชอบอ้างกันไม่รู้จักจบ ถูกต้องคือมันพิสูจน์ความมีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ถ้าคนมันเป็นคนธรรมดา มีจิตไม่วิปลาส มันก็รู้ว่าเราเดือดร้อนอยู่ด้วยอะไรหรือต้องการอะไร มันก็พอจะรู้ได้ว่าความมีประโยชน์นั่นมันคืออะไร บางทีท่านก็ใช้คำว่า ไม่เบียดเบียนแก่ใคร ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น นั่นคือความถูกต้องอย่างนี้ก็มี แปลว่าสิ่งใดที่มันทำให้เกิดการกระทบกระทั่งแก่ใครแล้วมันไม่ถูกต้อง ถ้ามันไม่กระทบกระทั่งแก่ใคร ไม่ทำให้ใครระคายผิวหนัง นั่นเป็นความถูกต้องต่อฝ่ายตนเองและผู้อื่นคือทุกฝ่าย บางทีท่านใช้คำมากไปกว่านั้นว่าทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ ไม่เกิดปัญหาเป็นความยุ่งยากลำบาก เป็นทุกข์ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ นี่มันเป็นภาษาที่ไว้ใช่ในระดับหนึ่ง หรือในแง่หนึ่ง เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ทั้งเทวดา แม้เป็นเทวดาก็ยังมีความทุกข์ มีความระคายเคืองอยู่ด้วยความทุกข์ มันจึงไม่ต้องพูดถึงมนุษย์คือคนธรรมดา เดี๋ยวนี้เราจะพูดกันภาษาคนกันหน่อยว่า มันยังมีความทุกข์ทั้งคนที่อาบเหงื่อและคนที่ไม่รู้จักเหงื่อ คำว่าไม่รู้จักเหงื่อนี่ก็เป็นคำพูดที่ใช้ในพระบาลี ใช้เป็นคุณสมบัติของพวกเทวดา ถ้าพูดว่าเทวดาตนไหนที่พอมีเหงื่อออกก็คือตายทันที จะต้องตายจากความเป็นเทวดาทันที นี่เรียกว่ามันไม่เคยรู้จักเหงื่อ ทีนี้ในโลกนี้มันจะหาไม่ได้กระมังคนที่ไม่เคยรู้จักเหงื่อ เป็นอันว่าเราวางมาตรฐานว่า คนที่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำนะคือมนุษย์ แล้วคนที่ไม่ต้องออกเหงื่อเลยก็ได้ คือ พวกเศรษฐี พวกคนร่ำรวย เป็นนายทุน พวกกรรมกรนั่นแหละคือ พวกมนุษย์ พวกนายทุนคือพวกเทวดา แต่ทั้งสองพวกมันก็ยังมีปัญหา ก็ยังมีความทุกข์อยู่ในบางอย่างอย่างเสมอกันทีเดียว พวกนายทุนก็เดือดร้อนกับการเบียดเบียนของราคะ โทสะ โมหะ พวกกรรมกรก็เดือดร้อนอยู่ในการเบียดเบียนของราคะ โทสะ โมหะ รวมความว่ามันยังเป็นทุกข์กันอยู่ทั้งสองพวก ถ้าว่าพูดถึงความถูกต้องก็คือสิ่งที่ไม่ทำความทุกข์ขึ้นแก่ฝ่ายไหนไม่ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งขึ้นให้แก่ฝ่ายไหนไม่ระคายขนไม่ระคายเคืองอะไรทั้งทางกาย ทั้งทางจิต และทางวัตถุสิ่งของทรัพย์สมบัตินี่เรียกว่า ความถูกต้อง หรือจะใช้คำอีกคำหนึ่งคือความดี ความดีก็เหมือนกันแหละ หรือบุญหรือกุศลก็เหมือกันแหละ ท่านใช้ให้มีความหมายเหมือนกับความถูกต้อง คือมันไม่ทำให้เกิดความทุกข์ร้อน ระคายเคืองขึ้นแก่ฝ่ายใด คือทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น เรียกว่าความถูกต้อง
ทีนี้ เราจะต้องเป็นอยู่ด้วยกันในลักษณะที่ไม่ทำความกระทบกระทั่งให้แก่ฝ่ายใด ทีนี้มาดูให้มันง่ายขึ้นมาก็ดูว่าถ้าบุคคลไม่มีความทุกข์ไม่มีความกระทบกระทั่งแล้วสังคมก็ย่อมจะไม่มี เพราะว่าสังคมนั้นประกอบไปด้วยบุคคลทั้งหลาย ถ้าบุคคลแต่ละคนมันไม่มีความทุกข์ร้อนสังคมก็ไม่มีความทุกข์ร้อน จึงเน้นที่บุคคล บุคคลเป็นผู้แก้ปัญหาให้มีชีวิตเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ถ้าแต่ละคนมีความเป็นอยู่อย่างถูกต้องโลกนี้จะไม่ว่างจากบุคคลที่เรียกกันว่าพระอรหันต์ เป็นอยู่อย่างถูกต้องก็ธรรมดาๆที่สุด ที่เป็นบาลีก็เป็นคำธรรมดาๆที่สุด สมฺ มา วิหเรยฺยุํ เป็นคำกริยา ถ้าเป็นคำนามก็ว่า สัมมาวิหาร สัมมาวิหาโร สัมมาวิหาร เพราะอยู่กันอย่างสัมมาวิหารสิ อยู่อย่างถูกต้อง พิสูจน์ความไม่กระทบกระทั่งแก่ฝ่ายใด เพื่อให้มันง่ายขึ้น พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงจำแนกแจกแจงไว้ชัดเลยถึงความถูกต้อง ๘ประการ วิธีที่จะทำให้มีผลดีดับทุกข์ได้ คือ ความถูกต้อง ๘ ประการ เดี๋ยวนี้เราได้ยินแต่คำว่า อัฏฐังคิกมรรค มรรคมีองค์แปดประการ คำว่าความถูกต้องแปดประการไม่ค่อยได้ยิน ตรงข้ามอยู่ในพระไตรปิฎก เรียกว่า สัมมัตตะ สัมมะ แปลว่า ถูกต้อง ตะ หรือ ตา ที่แปลว่า ความ สัมมัตตะ สัมมัตตา คือ ความถูกต้องแปดประการ ก็คือ อัฏฐังคิกมรรค ๘ ประการที่เรารู้จักกันแล้ว รู้จักกันดี เพราะว่าเราเอาคำนี้มาใช้พูดจากันอยู่ เรียนก็เรียนกันอยู่ แล้วมันเป็นคำที่พระองค์ทรงใช้ในระบบของจตุราริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคคือความถูกต้อง ๘ ประการ ตั้งแต่สัมมาทิฐิ ไปจนถึงสัมมาสมาธิ แต่ที่บางแห่งบางสูตร มีบ้างเหมือนกัน ที่จะเรียกชื่อว่า สัมมัตตะ สัมมัตตะ ๘ คือการประพฤติกระทำถูกต้อง ถ้าเพิ่มผลเข้ามาอีกสอง ก็เลยเป็น สัมมัตตะ ๑๐ คือความถูกต้อง ๑๐ เอาส่วนที่เป็นการปฏิบัติ สัมมาถูกต้อง ๘ คือ อริยมรรคมีองค์แปด นั่นแหละขอให้ทุกคนที่สนใจว่าทำอย่างไรถึงจะมีธรรมมะหรือธรรมะโดยวิธีใด
ขอให้สนใจศึกษาเรื่อง อัฏฐังคิกมรรค ๘ ประการนี้ ให้เพียงพอ เรามันไม่สนใจความหมาย ท่องกันแต่บาลี ไม่แปลเป็นไทย ก็ไม่สนใจความหมาย แล้วก็มักจะแปลชนิดที่ว่าใครจะเข้าใจก็ตาม ไม่เข้าใจก็ตาม เช่นว่า สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ดำริชอบ สัมมาวาจา พูดจาชอบ สัมมากัมมันโต ทำการงานชอบ สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายาโม พากเพียรชอบ สัมมาสติ ความระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ มันพูดคล้ายๆกับพูดส่งๆ ไม่ช่วยให้เกิดความสนใจ จึงไม่มีใครสนใจที่จะปฏิบัติหรือเอามาใช้แก้ปัญหา มันเลยเป็นหมันอยู่ ไอ้ความถูกต้อง ๘ ประการนี้ มันก็เรียกว่า มรรคะ คือ มรคา หรือ มรรคา แปลว่า หนทาง หนทางไปสู่ความดับ ไม่เหลือแห่งทุกข์ ก็เรียกว่า วิธีที่จะให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ คือ ดับไม่เหลือแห่งปัญหาของมนุษย์ด้วยประการทั้งปวง ฉะนั้นแปลว่า ปัญหาทั้งหลายของมนุษย์อย่างที่ออกชื่อมาแล้วเมื่อสักครู่นี้ตั้ง ๙ อย่าง ๑๐ อย่าง ที่ละเอียดที่สุดนะมันจะหมดสิ้นไป เพราะมีการปฏิบัติตามอัฏฐังคิกมรรค มีองค์แปดประการ ถ้าเรียกให้เป็นข้อปฏิบัติ ท่านก็เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่ดำเนินเป็นสายกลาง ถ้าเรียกเป็นมรคา มรรคา ก็เรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค มรรคาอันประกอบด้วยองค์แปด มีชื่อเรียกได้หลายชื่อ แต่สรุปความแล้วมาอยู่ที่คำว่า ความถูกต้อง ๘ ประการ ถูกต้องแก่การดับทุกข์ด้วยประการทั้งปวง นี่เราไปคิดเอาเอง ไปดูเอาเอง แล้วมันจะกลายเป็นของสากลขึ้นมาสำหรับมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นนับถือศาสนาไหน ถือลัทธิไหน ชนชาติไหนก็ตาม มันจะอยู่ในขอบเขตเดียวกันนี้ทั้งหมด คือ ความถูกต้องตามหลักนี้ทั้งหมด
ถูกต้องข้อแรก เรียกว่า ถูกต้องทางทิฐิ คือ ความคิดความเห็นของเรา หรือ ความเชื่อของเรา ความรู้ของเรา ที่รวมตัวกันแล้วก็เรียกว่า ความคิดเห็นของบุคคลนั้น ทีนี้เรายังไม่มี เราก็เห็นผิด คิดผิด เชื่อผิด ก็ทำผิด มันล้มละลายไปตั้งแต่ต้น ถ้าเรามีสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ เห็นชัด เห็นถูกต้องเหมือนที่เราเห็นทิวทัศน์ทั้งหลายอย่างนี้ เหมือนกับเราขึ้นไปบนยอดภูเขาสูงสุด เราก็เห็นทิวทัศน์ทั้งหลายได้กว้างไกลอย่างถูกต้อง นี่มีความถูกต้องข้อที่หนึ่ง คือ ทิฐิ พวกฝรั่งเค้าแปลคำคำนี้ว่า view เคยแปลกันหลายอย่าง สัมมาทิฐิ ทิฐินี่เคยแปลหลายอย่าง แต่เดี๋ยวนี้มันก็ใช้คำว่า view Right View เพื่อให้ตรงกับคำว่า สัมมาทิฐิ เสมือนขึ้นไปบนยอดเขาสูง มองทิศทางไหนก็เห็นทัศนวิสัยที่ถูกต้อง อย่างนั้นแหละ เรียกว่า เรามีสัมมาทิฐิ ขึ้นบนยอดภูเขาแห่งชีวิต แล้วก็มองดูชีวิตรอบด้าน ก็เห็นตามที่เป็นจริงว่ามันเป็นอย่างไร ตามจริงทุกสิ่งทั้งหลายเป็นอย่างไร นี่เป็นความถูกต้องข้อที่หนึ่ง คือ สัมมาทิฐิ
แล้วก็มีความถูกต้องข้อที่สอง ที่เรียกว่า สัมมาสังกัปโป คือ ต้องการอย่างถูกต้องแต่เราแปลกันในแบบเรียนว่า ดำริชอบ ความดำริชอบ หลังจากเห็นชอบ แล้วก็มีความดำริชอบ ทีนี้เราก็พูดว่า หลังจากเห็นอย่างถูกต้องแล้ว เราก็มีความต้องการอย่างถูกต้อง คือ อย่าไปต้องการสิ่งที่ไม่ควรต้องการ ต้องการสิ่งที่มันดับทุกข์ได้ สังกัปปะ แปลว่า ความต้องการด้วยสติปัญญา ถ้าต้องการด้วยความโง่ เรียกว่า ตัณหาหรือโลภะ นั่นต้องการด้วยความโง่ แต่ถ้าต้องการด้วยสติปัญญาแท้จริงแล้ว ไม่เรียกว่า ตัณหา ไม่เรียกว่า โลภะ ความต้องการนั้นเปลี่ยนชื่อไปเรียกว่า สังกัปปะ สังกัปปา คือ ความปรารถนาที่ถูกต้อง อาศัยสัมมาทิฐิทีแรกมีแล้ว มันก็รู้จักเลือก รู้จักปรารถนาอย่างถูกต้อง เมื่อมันมองเห็นความทุกข์ มันก็ต้องการความดับทุกข์ เมื่อเห็นมันมีความทุกข์อยู่เพราะกามเพราะกามารมณ์มันก็ต้องการจะออกจากกามารมณ์เมื่อมันเห็นความทุกข์มันมีอยู่เพราะการเบียดเบียน มันก็ต้องออกจากการเบียดเบียน หรือ ออกจากความโง่เขลา นี่เรียกว่า ต้องเห็นในทิวทัศน์ทั้งหมดก่อนว่า อะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร เป็นเหตุเป็นผลกันอย่างไร แล้วก็ต้องการอย่างถูกต้อง คือ ออกมาเสียจากความผิดพลาดเหล่านั้นทั้งหมด นี่เรียกว่า ความถูกต้องข้อที่สอง มีชื่อเรียกว่า สัมมาสังกัปโป
ทีนี้เรามีแผนความต้องการอย่างถูกต้องแล้ว เราก็ประพฤติตามแผนนั้น เราจึงมีสัมมาวาจา คือ การพูดจาทั้งระบบนั่นแหละถูกต้อง คำพูดก็ถูกต้อง ความหมายก็ถูกต้อง วิธีพูดถูกต้อง อะไรๆที่มันเกี่ยวกับการพูดจามันถูกต้องไปหมด นี่เรียกว่า สัมมาวาจา ความถูกต้องในการพูดจา
ทีนี้ ถัดไปก็ความถูกต้องในการทำการงานเรียกว่า สัมมากัมมันโต แปลเป็นภาษาไทยก็ต้องสัมมากัมมันตะ สัมมากัมมันโต นี่เป็นภาษาบาลีมากสัมมากัมมันตะมีการงานถูกต้องคือ การงานที่ไม่กระทบกระทั่งใคร การงานที่ไม่กระทบกระทั่งใคร ก็เรียกว่า สัมมากัมมันโต หรือที่เรารู้กันอยู่แล้ว ปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำแล้ว เช่น ศีล ๕ เป็นต้น
ข้อที่หนึ่ง ปาณาติปาตา เวรมณี ไม่ประทุษร้ายร่างกาย ชีวิต ของสิ่งที่มีชีวิต
อทินนาทานา เวรมณี ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของผู้อื่นโดยวิธีใดก็ตาม
กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี ไม่ประทุษร้ายของรักของชอบใจของบุคคลอื่นโดยวิธีใดก็ตาม
มุสาวาทา เวรมณี ไม่ประทุษร้ายความยุติธรรมของผู้ใดผู้หนึ่งโดยวิธีใดก็ตามด้วยวาจา
สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี ไม่ประทุษร้ายสติสมประดีของตนเอง ด้วยสิ่งที่ทำให้เมา ข้อห้านี่มันแปลกหน่อย ประทุษร้ายสติสมประดีของตนเอง สูญเสียไปด้วยของมึนเมา ให้เว้นอย่างนี้อยู่ ก็เรียกว่า เป็นสัมมากัมมันตะ การกระทำนั้นก็ถูกต้อง คือไม่กระทบกระทั่งใคร ไม่เบียดเบียนใคร ศีล ๕ มันก็มีความหมายของสัมมากัมมันตะครบถ้วนอยู่แล้ว แต่ขอให้แปลตัวบทให้มันเต็มตามความหมายเดิม อย่างปาณาฯ ห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์ อย่างนี่มันด้วนเกินไป มันไม่ครบถ้วน ปาณาฯ แปลว่า ไม่ประทุษร้ายชีวิตหรือร่างกาย ของสิ่งที่มีชีวิต อย่างนี้มันกินความหมดเลย อทินนาทานาฯก็เหมือนกันแหละ ไม่ใช่เพียงแต่ไม่ลักทรัพย์ คือ ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของผู้อื่นด้วยวิธีใดก็ตาม อย่างกาเมฯ ว่าไม่ทำชู้ เค้าชอบแปลสั้นๆอย่างนี้ ถ้าไปเตือนให้เด็กๆถือ มันหลับตาที่สุดเลย กาเมสุมิจฺฉาจารา ถ้าแปลตามตัวหนังสือแท้ๆ มันก็ไม่ประทุษร้ายของรักของใคร่ของผู้อื่น กาเมสุ ในของรักทั้งหลาย มิจฺฉาจาระ คือ ประพฤติผิด เว้นจากการประพฤติผิด คือเลว คือประทุษร้ายในของรักทั้งหลายของผู้อื่น อันนี้ทำง่าย แค่ว่าเรารักผู้อื่น ศีล ๕ ข้อมีเลย มีศีลข้อเดียว คือ รักผู้อื่นนั่นแหละ ศีล ๕ ข้อนี้มันจะมีมาเองโดยอัตโนมัติ ใครๆก็พอมองเห็น ไม่ต้องอธิบายก็ได้กระมัง ถ้ารักผู้อื่น แล้วก็มันไม่ฆ่าเขา ไม่ขโมยเขา ไม่ล่วงกาเมเขา ไม่โกหกเขา ไม่ดื่มน้ำเมาให้ใครมันรำคาญ ให้ใครเดือดร้อนรำคาญ นี่ความถูกต้องในส่วนการงานการกระทำ
ถัดไปก็ สัมมาอาชีโว หรือ สัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีพ เรียกว่าดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง ด้วยทุกๆแง่ ทุกๆมุม มีการดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้องจะเป็นเรื่องทำมาหากิน หรือเรื่องอะไรที่มันเกี่ยวกับการดำรงชีวิต มันต้องถูกต้อง จึงขยายความออกไปถึงเรื่องไม่หากินผิดวิธี ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่อบายมุข ไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่อะไรทั้งหลายที่มันเป็นข้าศึกแก่การดำรงชีวิต ก็ดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้องนั่นเอง สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว นี้เป็นส่วนศีล
ถัดไปก็เป็น สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ซึ่งเป็นส่วนสมาธิ สัมมาวายามะ คือ พยายามชอบ วายามะในภาษาบาลี ก็คือว่าพยายามในภาษาไทย สัมมาวายามะ คือ พยายามชอบ ก็พยายามไปในทางที่ถูกที่ควรพยายาม ท่านให้ความหมายเอาไว้อย่างหาที่ผิดไม่ได้ว่า พยายามละชั่ว พยายามไม่ให้เกิดความชั่ว พยายามสร้างความดี พยายามรักษาความดี เต็มๆมันหมดนะ กินความหมด ก็เรียกพยายามในทางที่ควรพยายาม คือที่มันมีประโยชน์นั่นเอง ที่มันถูกต้องนั่นเอง ความพยายามมีประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น ก็พยายามอยู่ตลอดเวลา นี่ขอให้การเคลื่อนไหวของเรามันเป็นไปเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นอยู่ตลอดเวลาด้วยความตั้งใจ ด้วยความพยายามระมัดระวัง
ถัดไป สัมมาสติ มีความระลึกอยู่อย่างถูกต้องตลอดเวลา อันนี้มันเป็นผลของการศึกษา มีการศึกษารู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรดี อะไรชั่ว อะไรให้โทษ อะไรไม่ให้โทษ อะไรเกิดทุกข์ อะไรไม่เกิดทุกข์ รู้ถูกต้องแล้ว และก็มีสัมมาสติ คือ ระลึกถูกต้องอยู่ตลอดเวลา ให้มันเป็นไปแต่ในทางที่ดี และให้ฉับพลันด้วย ความระลึกนี้ นอกจากถูกต้องแล้วยังต้องฉับพลัน ถ้ามันมาช้า มางุ่มง่ามอยู่ มันแก้ปัญหาไม่ได้ แต่เขามีความหมายว่าฉับพลันซ่อนอยู่ในตัวแหละ ความระลึกนี่มันระลึกด้วยใจ ถ้าระลึกด้วยใจมันก็ฉับพลันเหมือนกับสายฟ้าแลบ คำว่า สติ นั้นมันเป็นคำเดียวกับคำว่า ศร ที่แปลว่า ลูกศร ดอกศร หรือ ลูกศร ในเวลาเขาไม่มีปืน เขาจะถือว่าลูกศรนี่ คือ สิ่งที่แล่นไปได้ และแล่นไปเร็วที่สุด ปรุงคำๆนี้ขึ้นมา เป็นคำว่า สติ สติ คือ ความแล่นไปแห่งความรู้ ความรู้แล่นไปเร็วเหมือนกับลูกศรทันแก่เวลาไปแก้ปัญหา หรือไปป้องกันปัญหาในกรณีนั้นๆเลย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางผิวหนัง ทางอะไรก็ตาม พอมีอะไรมากระทบมาเกี่ยวข้องด้วย สติก็แล่นมาอย่างเพียงพอและฉับพลันทันเวลา มาแก้ปัญหา มาป้องกันปัญหา มันจึงทำผิดทางตา หู จมูก ลิ้น กายไม่ได้ ก็เลยรอดตัว มีความถูกต้องทางความระลึก หรือการระลึก เรียกว่า สัมมาสติ
อันสุดท้ายคือ สัมมาสมาธิ ดำรงจิตอันมั่นคงไว้อย่างถูกต้อง ดำรงจิตที่มั่นคง คือ จิตที่ฝึกไว้ดีแล้วคือมั่นคง แล้วความมั่นคงนั้นถูกต้อง คือ ถูกต้องอยู่ในความมั่นคง มีสมาธิอยู่ในความถูกต้องตลอดเวลา เมื่อมีความถูกต้องอยู่ในความมั่นคงแห่งจิตอยู่ตลอดเวลา นั่นแหละเรียกว่า มีการเป็นอยู่อย่างชอบ มีสัมมาวิหาร มีการดำรงชิวิตอยู่อย่างชอบอย่างถูกต้องที่สุด
ในแปดหัวข้อนั้น หัวข้อที่หนัก ที่สำคัญ ที่เป็นรากฐานมั่นคงก็คือ สัมมาสมาธินั่นเอง นอกนั้นเป็นองค์ประกอบทั้งนั้น อย่างสัมมาทิฐินี่ ก็เป็นเหมือนรุ่งอรุณ เป็นทัพหน้า นอกนั้นเป็นทัพรอบข้างหรือโครงการอื่นๆ ส่วนสัมมาสมาธิ คือ กองทัพหลวง กองหัวใจ ถ้ามีสัมมาสมาธิดำรงจิตมั่นไว้อย่างถูกต้องมันก็อยู่อย่างถูกต้องชนิดที่อะไรมาทำลายไม่ได้ แต่มันกลับทำลายกิเลส อนุสัย อาสวะ กิเลสที่เราสะสมไว้ในภายใน เรียก อนุสัย ที่มันจะเบ่งออกมาภายนอก เรียกว่า อาสวะ ถ้าว่ามันมีสมาธิ มีสัมมาสมาธิแล้ว สิ่งเหล่านี้ตายด้านไปหมดเลย กิเลสก็ไม่เกิด กิเลสที่เคยสะสมไว้มันก็ละลายไป ก็ไม่มีกิเลสอะไรที่จะไหลออกมา มันก็หมดปัญหา ก็มีบุคคลที่เรียกกันว่า พระอรหันต์ขึ้นมา พระอรหันต์จึงไม่ว่างไปจากโลก เมื่อคนเหล่านั้นมีความเป็นอยู่อย่างถูกต้อง พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างนี้ โดยวิธีนี้ ธรรมะจะมีมาและดับทุกข์ทั้งปวง จำไว้ดีๆว่าท่านตรัสไว้ในโวหารธรรมดาสามัญที่สุด ว่าถ้าคนเหล่านี้จะเป็นอยู่กันอย่างโดยชอบ เป็นอยู่อย่างโดยชอบแล้วไซร้ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ นั่นก็คือการบอกว่า โดยวิธีใด ธรรมะโดยวิธีใด ธรรมะที่เป็นวิธีที่จะเป็นอยู่กันโดยชอบ ถึงขนาดที่ทำให้โลกนี้ไม่ว่างจากพระอรหันต์ นี่เป็นว่าวันนี้เราก็ได้พูดกันโดยหัวข้อธรรมะโดยวิธีใดเป็นข้อที่สานต่อเนื่องกัน
ข้อที่หนึ่ง ธรรมะคืออะไร ข้อที่สอง พูดว่าธรรมะทำไม แล้วข้อที่สาม ธรรมะโดยวิธีใด ก็โดยวิธีอย่างนี้ ขอให้กำหนดจดจำให้ดีจะได้เป็นรากฐานของการศึกษาธรรมะต่อไปข้างหน้า การบรรยายในวันนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการบรรยายไว้เพียงเท่านี้