แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ตั้งใจจะพูดเรื่องที่ไม่ค่อยเข้าใจกัน หรือไม่เคยฟังก็มี แต่เป็นเรื่องที่ประหยัดได้มาก คือเราไม่ต้องพูดกันมาก ได้รู้เรื่องได้มาก ได้รู้เรื่องได้ง่าย คือเรื่องที่ผมเรียกเอาเองว่า ปริญญาตายก่อนตาย หรือปริญญาของสวนโมกข์ ถ้าจะได้รับปริญญาจากสวนโมกข์ ก็คือปริญญาที่เรียกว่าตายเสียก่อนตาย ถ้าเข้าใจคำนี้นะ ก็คือเข้าใจหัวใจของพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการปฏิบัติด้วย ไม่ใช่ในแง่ของปริยัติ คนเป็นอันมากเขาไม่เข้าใจ ว่าตายก่อนตายนั้นเป็นอย่างไร และบางคนก็ไม่เข้าใจมากจนถึงกับว่ากลัว ไม่กล้าที่จะตายเสียก่อนตาย นั่นน่ะคือคนที่ไม่รู้จักธรรมะหรือหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับคำว่า เกิดๆ ตายๆ
ใจความของมันง่ายนิดเดียว คือว่าให้ตัวกู ตัวกู ซึ่งเป็นความรู้สึกว่าตัวกู ยึดถือว่าตัวกูนั่นแหละ ตัวกูซึ่งเป็นเพียงความยึดถือนะหมดไปเสีย ก่อนแต่ที่ร่างกายมันจะตาย
ร่างกายตามธรรมดานี้มันก็ตาย ใครๆก็เห็น ถ้าตายตามปรกติก็อยู่กันหลาย ๑๐ ปีแล้วก็ตาย แต่ถ้าพิเศษ อุบัติเหตุมันตายตั้งแต่เด็กๆ ก็ได้ ไอ้นั่นเรียกว่าร่างกายมันตาย ตายส่วนของร่างกาย มันคนละอันกับตายที่เป็นส่วนของตัวกู ตัวกูมันเป็นความคิด ความยึดถือ ความยึดมั่นที่มาจากอวิชชา จนกระทั่งว่ามันเกิดความรู้สึกว่าตัวกูขึ้นมาและอยู่เป็นประจำ และไอ้ตัวกูนี่แหละคือตัวปัญหา ตัวเรื่องทั้งหมด ความทุกข์ทั้งหมด มันตั้งอยู่ที่บนตัวกู รวมอยู่ที่ตัวกู
การตายของร่างกายนั้น จะมีปัญหาก็ต่อเมื่อไอ้ตัวกูมันโง่ ไปเอามาเป็นความตายของกู ถ้ามันให้เป็นความตายของธรรมชาติ ตามธรรมชาติ อย่าเอาความตายมาเป็นของกู มันก็ไม่มีความทุกข์หรอก และมันก็ไม่มีความตายเสียด้วย กิริยาที่ร่างกายมันแตกดับ มันเป็นตามธรรมชาติที่มันขาดเหตุขาดปัจจัย นี้ร่างกายมันก็ตาย มันไม่ได้เป็นทุกข์อยู่ที่ความตายนะคุณ คุณฟังดูดีๆนะว่าความทุกข์ไม่ได้มันเป็น ความทุกข์อยู่ที่ตัวความตาย มันเป็นทุกข์อยู่ที่มันโง่ไปเอาความตายมาเป็นของกู
ถ้ามันยังมีความรู้สึกว่า ตัวกู ตัวกู อยู่เพียงไรมันก็ยังโง่อยู่เพียงนั้นแหละ มันต้องถือว่าไอ้ความรู้สึกว่าตัวกู ตัวกูนั้นน่ะ คือ บรมโง่ ก็คือตัวของบรมโง่ แล้วมันก็ไปเอาความตายมาเป็นของกู ก็ได้เป็นทุกข์ ได้กลัวตาย ไม่อยากตายแล้วก็เป็นทุกข์เพราะความตาย ไอ้ตัวกูที่เป็นความโง่นี้มันก็ไปเอามาหมดแหละ
เอาความเกิดมาเป็นของกู ทั้งที่ความเกิดนั้นไม่ใช่ของกู มันเป็นกระแสตามธรรมชาติอิทัปปัจจยตาปรุงแต่ง
ความแก่ก็มาเป็นของกู
ความเจ็บก็เป็นของกู
ซึ่งมันเป็นกระแสอิทัปปัจจยตาตามธรรมชาติปรุงแต่ง ที่จะมีความรู้สึกว่าตัวกูโง่ถึงขนาดนั้นแล้ว ไอ้ตัวกูโง่มันก็ไปเอามาเป็นของกู เอามาเป็นความเกิดของกู ความแก่ของกู ความเจ็บของกู ความตายของกู แล้วมันก็ได้เป็นทุกข์ยังไง นี่ความทุกข์มันเกิดจากการที่โง่ ไปมีตัวกูขึ้นมา แล้วก็ไปเอาอะไรๆมาเป็นของกู จึงได้เกิดความทุกข์
ถ้าเป็นพระอรหันต์ ซึ่งหมายความผู้นั้นมันหมดความรู้สึก ว่าตัวกู คือไม่มีตัวกู พระอรหันต์คือผู้ที่ไม่มีความรู้สึกว่าตัวกู หรือของกู ท่านก็ไม่เป็นทุกข์สิ ทั้งที่ร่างกายของท่านก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย ก็จะต้องตายเหมือนกัน ร่างกายของพระอรหันต์ก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเหมือนกัน แต่ไม่เป็นทุกข์แก่พระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ไม่ได้เอาไอ้แก่เจ็บตายมาเป็นของกู เพราะว่าหมดความรู้สึกว่าตัวกูเสียแล้ว ที่มันหมดความรู้สึกว่าตัวกู ไม่มีตัวกูนั่นแหละคือความเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นความเกิดแก่เจ็บตายเหล่านี้มันก็เป็นปัญหาเฉพาะแก่ผู้ที่ยังมีตัวกู ถ้าไม่มีความรู้สึกเป็นตัวกูแล้วความเกิดแก่เจ็บตายมันก็เป็นของธรรมชาติ เป็นของธรรมดา ไม่เป็นความทุกข์แก่จิตใจชนิดนั้น
ดังนั้นจึงรวมความได้ว่า ที่มันเป็นทุกข์ อะไรๆมันเป็นทุกข์ไปเสียหมดนั่นก็เพราะว่า มันมีความโง่ขนาดที่ว่ามีตัวกู มีความรู้สึกเป็นตัวกู ไม่มีเรื่องอะไรมันก็เอามาแบกให้มันหนัก ให้มันหนัก เพราะยึดถือแล้วมันก็หนัก แล้วมันก็ยึดถือยิ่งขึ้นไปว่ามันจะไม่เป็นไปตามที่ตัวกูต้องการ ไม่อยากแก่ก็แก่ ไม่อยากเจ็บก็เจ็บ ไม่อยากตายก็ตาย หรือว่าไม่อยากให้อะไรสูญหาย วิบัติ พลัดพรากไป มันก็ยังวิบัติสูญหาย พลัดพรากไป นี่เพราะมันมีตัวกู ถ้ามันยัง อย่ามีความรู้สึกว่าตัวกู ไอ้จิตนี้มันก็เป็นทุกข์ไม่ได้หรอก มันเป็นทุกข์ไม่ได้ ฉะนั้นจิตที่มันโง่ให้มีตัวกูนี่มันจึงมีความทุกข์เป็นเจ้าของเรื่องสำหรับความทุกข์คือเป็นผู้ทุกข์ มันโง่มีตัวกู โง่มาสำหรับเป็นผู้ทุกข์ ถ้าอยากมีความรู้สึกอันนี้ก็ไม่มีความรู้สึกว่ากูผู้เป็นทุกข์ ถ้าไอ้กูนี้มันตายเสียก่อน ก่อนแต่ร่างกายจะตาย มันก็สบายเท่านั้นแหละ นี่ว่าถ้าไอ้ตัวกูมันตายเสียก่อนแล้วก็จะเป็นการดีที่สุด คือจะเหมือนกับพระอรหันต์ ผู้ที่ตัวกูของท่านก็ตายไปแล้ว ไม่มีแล้ว แต่ร่างกายก็ยังเหลืออยู่ เอาก็เหลืออยู่ไปกว่ามันจะตายตามธรรมชาติธรรมดา
ประมาณกันว่า ๑๐๐ ปีนี้มันก็ต้องตายกันทั้งนั้น ฉะนั้นตายเสียก่อนตาย ตายเสียก่อนตาย ไอ้ตายทีแรกนั้นตายแห่งตัวกู ตายทีหลังนะตายแห่งร่างกาย ให้ตัวกูมันตายเสีย คืออย่ามีความรู้สึกยึดถือว่าตัวกู เสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้แหละ ตั้งแต่ก่อนที่ร่างกายมันจะตาย พอไอ้ตัวกูตายแล้ว ไม่มีแล้ว มันก็ไม่มีตัวกูที่จะอยู่ หรือจะเกิดหรือจะตาย สิ่งทั้งปวงก็เป็นไปตามธรรมชาติ ก็เห็นสิ่งทั้งปวงเป็นไปตามธรรมชาติ เป็นของธรรมดา มันก็ไม่ยินดียินร้ายอะไร ไม่ทุกข์ ไม่มีความทุกข์ อะไรจะเป็นไปอย่างไร ก็ไม่มีความทุกข์ มันจะเจ็บจะไข้ จะเป็นจะตาย จะถูกเชือดถูกเฉือนถูกด่า ถูกให้มันก็ไม่มีความทุกข์ เพราะมันไม่มีตัวกู ที่จะมารับเอาความทุกข์ เป็นเจ้าทุกข์
นี่ผมอยากจะพูดให้รู้กันเสียบ้าง ก็หลายวันมาแล้ว ควรจะรู้ถึงหัวใจของธรรมะ ของพุทธศาสนาที่พูดไว้อย่างลึก แต่จะสรุปเอามาพูดให้สั้นๆให้มันง่ายๆ ฟังง่ายๆก็ว่าคือให้ตายเสียก่อนตาย ที่นี้เขาก็ฟังไม่ถูก เพราะไม่รู้ว่าตายคำแรกเป็นตายของอะไร ตายคำหลังเป็นตายของอะไร จึงบอกให้รู้ว่าไอ้ตาย ตายคำแรกตายเสีย นั่นคือตายแห่งตัวกู หมดความรู้สึกยึดถือว่าตัวกู แล้วก่อนตาย ตายนี้คือตายแห่งร่างกาย ให้อุปาทานว่าตัวกูนี้มันหมดไปเสียก่อนแต่ร่างกายตาย อุปาทานนี้หมดไปแล้ว ร่างกายมันยังมีชีวิตเหลืออยู่เท่าไร นั่นน่ะคือผลกำไร คือชีวิตที่ไม่รู้จักเป็นทุกข์เลย เราก็จะมีความอยู่กับนิพพานหรือความไม่มีตัวตนนะ เรื่อยๆไปจนกว่าว่าชีวิตมันจะถึงวาระสุดท้าย มันจะดับมันจะเลิกกัน
นี่เรียกว่าตายเสียก่อนตาย คนธรรมดาก็ฟังไม่ออก แล้วก็กลัว เพราะกลัวตาย พอพูดว่าตายทุกคนมันก็กลัวอย่างที่เคยกลัว ขอให้เข้าใจ ถ้าเราดับไอ้ตัวผู้ที่จะเป็นทุกข์นั้นเสีย ตัวกูนั่นแหละ ตัวกูที่มันจะยึดถือว่ามันเกิด มันแก่ มันเจ็บ มันตายมันดับเสียสิ แล้วมันก็ไม่มีใครที่จะเกิด จะแก่ จะเจ็บจะตายหรือจะอยู่ นั่นมันไม่มี แม้แต่อยู่เดี๋ยวนี้มันก็ไม่มี ตัวตนที่จะอยู่ อย่างนี้เป็นพุทธศาสนา
ถ้ามีตัวตนอยู่หรือเกิด หรือแก่ หรือเจ็บ หรือตาย นั่นเป็นความโง่ เป็นมิจฉาทิฐิ หรือว่าไปเป็นลัทธิอื่นซึ่งมิใช่พุทธศาสนา ลัทธิอื่นเขาถือว่ามีตัวตนที่อยู่ อยู่ประจำจนตลอดชีวิต พอชีวิตดับไอ้ตัวตนนั้นก็ไปหาร่างใหม่ ไปเกิดใหม่ แล้วเป็นอย่างเดียวกันอีก จนกว่าชีวิตมันจะดับ ไอ้ตัวตนนั้นก็ไปหาร่างใหม่ เกิดใหม่ อย่างนี้เรื่อยไป นั้นคือวัฏฏะสงสาร ตามความหมายในศาสนาอื่นซึ่งมิใช่พุทธศาสนา เพราะในพุทธศาสนา จะไม่มีตัวตนเช่นนั้น อย่างคำว่าเกิดนี่มันเกิดแห่งความคิดว่าตัวกูเท่านั้นเอง ไม่ได้มีตัวตนอะไรเป็นผู้เกิด รู้จักแยกให้เด็ดขาดกันออกไปสิ ไอ้ลัทธิหนึ่ง อื่นน่ะลัทธิอื่นน่ะเขาว่ามันมีตัวตน ซึ่งแน่นอนถาวรตายไม่ได้ แล้วมันก็เปลี่ยนเรื่อยไป เปลี่ยนร่างกายเรื่อยไป แต่ไม่รู้เป็นอย่างไรมันก็ยังกลัวตาย ทั้งๆที่มันถือลัทธิอย่างนั้น ต้องมาปลอบมาโยน หรือมาหลอกกันให้ว่าไม่ตายโว้ย ไม่ตายโว้ย ไม่ได้ตายโว้ย อย่ากลัว แต่ถ้าคนที่ถือลัทธินั้นมันก็ยังกลัวอยู่นี่แหละ
ถ้าเป็นลัทธิพุทธศาสนา มันก็ไม่ได้มีตัวตนอันถาวรอย่างนั้น ความรู้สึกว่าตัวตนเท่านั้นน่ะมันมี และว่าจิตมันรู้สึกอย่างนั้นเสียแล้วมันก็มีตัวตน จิตมันก็กลายเป็นตัวตนไปเสียเอง ปัญหามันจึงอยู่ที่ตัวตน เหมือนที่คุณสวดทำวัตร ทุกวันๆ ว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา โดยสรุปแล้วเบญจขันธ์ที่มีอุปาทานนั่นแหละเป็นตัวทุกข์ ยึดถือในสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นตัวทุกข์ เป็นของหนักขึ้นมา มันยึดถือว่าตัวกู ยึดถือชีวิตว่าตัวกู ยึดถือขันธ์ก็ได้ว่าตัวกู ยึดถืออัตภาพว่าตัวกู มันก็ต้องเป็นทุกข์เพราะยึดถือ เพราะหนัก และเพราะว่ามันไม่เป็นไปตามที่ตัวกูมันต้องการ คนมันมีความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอ แล้วมันก็รู้สึกว่าไม่ได้ตามที่ต้องการ หรือยังไม่ได้ตามที่ต้องการ ความรู้ความสึกหิวหรือกระหายสิ่งที่มันต้องการนั้น มันก็มีอยู่ตลอดเวลา บางทีก็ลึกจนไม่รู้สึก แต่มันก็มีอยู่ตลอดเวลา แล้วมันก็กลัวตาย กลัวจะพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้อยู่ โดยรู้สึกเต็มที่หรือไม่รู้สึกเต็มที่อยู่ตลอดเวลา
เมื่อผมเด็กๆ ผมก็อ่านหนังสือ ที่เขาพิมพ์ขึ้นยุคโน้น ในฐานะเป็นหนังสือทางพุทธศาสนา แต่มันผิด มันไม่ใช่พุทธศาสนา คือในหนังสือเล่มนั้น เขามีเขียนว่ามีตัวตน มีตัวตน และตัวตนมันก็สิงอยู่ในร่างนี้ พอมีอะไรมากระทบตา ตัวตนก็ออกมารับรู้ รับสัมผัสทางตา มีอะไรมากระทบหู ไอ้ตัวตนตัวนั้นน่ะ มันจะต้องจะนอนอยู่ที่ศูนย์กลางแห่งใดแห่งหนึ่ง มันก็ออกมารับอารมณ์ทางหู มีกลิ่นทางจมูก มันก็มารับอารมณ์ทางจมูก มีอะไรสัมผัสทางลิ้น มันก็มารับสัมผัสทางลิ้น อะไรมาสัมผัสผิวกายทั่วๆไป มันก็มาทำความรู้สึกที่ผิวกายทั่วๆไป เหมือนกับว่ามันมีตัวตนตัวหนึ่ง ตัวนั้นแหละที่จะทำอย่างนี้อยู่เรื่อยไป สัมผัสแล้วมันก็ปรุงไปตามเรื่องของมันนะ จนได้รัก ได้โกรธ ได้เกลียด ได้กลัว หรือว่าได้พอใจ ได้สนุกสนาน เอร็ดอร่อย หรือนั่งร้องไห้อยู่ ก็แล้วแต่ จนใกล้ถึงวาระสุดท้ายมันก็จะตายเพราะร่างกายนี้ตาย ไอ้ร่างกายนี้ตาย ไอ้ตัวตนมันก็ไปหาที่เกิดใหม่ หนังสือเล่มนี้ เดี๋ยวนี้ไม่เห็นแล้ว มันคงจะเลิกไปเองแหละ ไม่มีใครพิมพ์ขึ้นมา น่าจะเป็นหนังสือที่ลัทธิอื่นถูกเอามาสอนในฐานะพุทธศาสนาว่ามีตัวตน ถ้าใครฟังมาอย่างนี้ หรือเคยเล่าเรียนมาอย่างนี้ ก็รู้เสียเถิดว่านั่นไม่ใช่พุทธศาสนาแล้ว ที่จะมีตัวตนมาคอยรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มาอยู่ประจำในร่างกายเรื่อยไป ทำหน้าที่อย่างนี้เรื่อยไป จนกว่าร่างกายแตกก็ไปหาที่เกิดใหม่ แล้วก็ไปทำอย่างเดียวกันอีก ไปทำอย่างเดียวกันอีกไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเขาจะสอนต่อไป เขาก็สอนว่าจนกว่ามันจะรู้ อะไรดี ขนาดไหนก็ไม่รู้นะ จนกว่ามันจะรู้อะไรดี แล้วมันก็จะทิ้งร่างกายนี้ไปอยู่กับไอ้ตัวตนใหญ่ จะเรียกว่า บรมตัวตน หรือจะเรียกว่า มหาพรหม จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ เขาจะเรียกกัน มันเป็นลัทธิๆไป เมื่อเวียนว่ายในวัฏฏสงสารนานพอควรแล้ว มันก็จะฉลาดขึ้นหรือยังไง มันก็ทิ้งไปอยู่กับไอ้ตัวตนเดิม ตัวตนใหญ่ ตัวตนอัตตาของจักรวาล นั่นแหละเขาว่ามีตัวตนถาวรอย่างนี้ เป็นไปอย่างนี้
แต่ถ้าเป็นพุทธศาสนาแล้วมันก็ไม่มีตัวตนอย่างนี้ แล้วก็ไม่มีสิ่งที่ควรจะเรียกว่าเป็นตัวตน ส่วนที่เป็นเนื้อหนังร่างกายนี้ก็ไม่ควรเรียกว่าตัวตน ส่วนที่เป็นจิตก็ไม่ควรเรียกว่าตัวตน แม้จะแบ่งส่วนที่เป็นจิตนี้ออกเป็นส่วนๆ อย่างไรๆ มันก็ไม่ใช่ตัวตน ที่มันจะรู้สึกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้มันก็ไม่ใช่ตัวตน มันเป็นอย่างนั้นเอง เป็นธรรมดาของมันอย่างนั้นเอง จะเรียกว่าวิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ไม่ใช่ตัวตน เพราะมันมีหน้าที่อย่างนั้น มันรู้สึกได้อย่างนั้นในระบบของร่างกายนี้
เมื่อกำลังเป็นเวทนา รู้สึกเป็นเวทนาอยู่ก็ไม่ใช่ตัวตน เมื่อกำลังรู้สึกเป็นสัญญาอยู่ก็ไม่ใช่ตัวตน เมื่อกำลังเป็นสังขารอยู่ รู้สึกคิดนึกได้ อย่างดีเลิศวิเศษอย่างไร มันก็ไม่ใช่ตัวตน มันเป็นอย่างนั้นเองตามธรรมชาติของมันอย่างนั้นเอง นี่ถ้าเราเรียนรู้เรื่องขันธ์ ๕ ซึ่งควรจะเรียนรู้อย่างยิ่ง ก็จะรู้สึกว่ามันไม่มีขันธ์ไหนที่จะเป็นตัวตน แล้วก็มีขันธ์ ๕ ได้แต่มันไม่ใช่ตัวตน เดี๋ยวนี้มันก็ไม่มีตัวตน แต่ความโง่ของจิต คุณสมบัติโง่ของจิตมีอยู่ ทำให้เกิดรู้สึกเป็นตัวตน แต่มันไม่ได้รับคำสั่งสอนว่าตัวตนนี้จะเวียนว่ายตายเกิดเหมือนอย่างที่ว่ามาแล้ว ไม่ถึงนั้นก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้มันรู้สึกว่า ตัวตน ของตน ตัวตน ของตน คำว่าตน ของตนนั้นเป็นเพียงความรู้สึก รู้สึกโง่ ความรู้สึกที่เป็นความโง่ ความรู้สึกที่เป็นมายา แต่แล้วมันมีอำนาจ มันมีอำนาจเด็ดขาด มันไม่ให้ความรู้สึกแก่ ความรู้สึกที่เป็นปัญญา หรือเป็นวิชชาที่ถูกต้อง เราจึงมีความรู้สึกว่าตัวตน คือ ความโง่ นี้อยู่เป็นเจ้าเรือน เป็นประจำเรื่อยไป ๆ จนกว่าจะได้ศึกษา จนกว่าจะได้ปฏิบัติธรรมะในพระพุทธศาสนาแล้วรู้ว่า อ้าว,มันไม่ใช่ตัวตน มันเป็นเพียงธรรมชาติอย่างนั้นเอง
ตอนนี้มันหมดความรู้สึกว่าตัวตนคือตาย ตัวตนมันตาย ตายก่อนแต่ร่างกายได้ยาวเท่าไหร่มันก็มีกำไรมากเท่านั้น ก็จะได้เสวยความสุข ชีวิตจะเป็นความสุขยืดยาว นี่เดี๋ยวนี้เราก็โง่จนตาย มีตัวตนไปจนตาย จนดับจิตอันสุดท้ายเข้าโลง มันก็ยังมีตัวตน มันก็เลยไม่มีระยะเวลาที่ว่างจากตัวตน คือตัวตนมันไม่ได้ตาย มันอยู่ไปด้วยกันกับกาย พอกายแตกดับรู้สึกอะไรไม่ได้ ก็เป็นอันว่าปิดฉากเลิกกัน พูดอะไรไม่ได้ก็ไม่พูด แต่มันอาจจะได้รับการสั่งสอนว่ามีตัวตนไปเกิดกันอีกก็เอา มันก็ได้เหมือนกัน หรือมันบังเอิญที่สุดที่คนนั้นมันจะคิดนึกเอาเองว่ากูไม่ตาย กูจะไปเกิดอีก ก็ได้เหมือนกันแหละ แต่แล้วไปเกิดอีกมันก็เป็นอย่างเดียวกันอีก มันไปเป็นตนที่โง่ มีอะไรเป็นของตนแล้วเป็นทุกข์ เป็นหนัก เป็นความทุกข์ เป็นชีวิตที่เป็นทุกข์ ไม่เยือกเย็น ไอ้ตัวตนนั้นเป็นเหตุให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง เพราะมันเห็นแก่ตน มันก็ร้อน เมื่อร้อนก็ไม่เป็นนิพพาน เพราะคำว่านิพพานแปลว่าเย็น
เอ้า,ที่นี้ที่พูดว่าไอ้ตัวตนนี้ไม่ได้มีตัวจริง เป็นเพียงความโง่ที่ค่อยสะสมขึ้นมาในสันดานในจิตน่ะหมายความว่าอย่างไร คือเราไม่ถือว่ามันมีตัวตนอะไรที่ไหนมา มันเป็นธรรมชาติ ที่ประกอบกันอยู่ด้วยธาตุทั้ง ๖ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ มันประชุมคุมกันเข้าตามธรรมชาติ ของธรรมชาติ เกิดเป็นร่างกาย เกิดเป็นจิตใจที่รวมกัน รู้สึกคิดนึกอะไรได้ นี่มันเป็นไปได้ตามธรรมชาติ เรียกว่ามันมีกฏเกณฑ์อันหนึ่ง เฉียบขาดที่สุด สูงสุดที่สุด คือกฎแห่งอิทัปปัจจยตา
อิทัปปัจจยตา เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นนั่นแหละ คือมันไม่ยอมให้อยู่นิ่ง หรือหยุดอยู่เที่ยง อย่างเที่ยงแท้อะไรได้ มันบังคับให้มีการปรุงแต่งเปลี่ยนแปลง เพราะมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นี่มันก็ปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงไป เป็นสัตว์ เป็นคน เป็นต้นไม้ เป็นอะไรก็ตาม หรือว่ามันมีเหตุปัจจัย ที่ปรุงแต่งให้มันเกิดเป็นธาตุดินขึ้นมา ให้มันเกิดเป็นธาตุน้ำขึ้นมา ธาตุไฟขึ้นมา ธาตุอะไรก็ตาม ล้วนแต่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา ซึ่งพุทธศาสนาถือว่ามันไม่มีอะไรนอกจากธาตุ ตามธรรมชาติ ในบทปัจจเวกที่เราบทสวดกันทุกวัน สิ่งที่ถูกบริโภคก็ดี ผู้บริโภคก็ดี เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ นิสสัตโต นิชชีโว สุญโญ ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ชีวะ ไม่ใช่ตัวตน
ทีนี้อยากให้ดูเจาะจงลงไปว่า ตัวตนนั้นเป็นมายา เป็นสักว่ามายา สักว่าความคิดโง่ๆ แล้วก็ยึดถือโง่ๆ อย่างไร คือดูกันตั้งแต่ว่า ทารก มันเกิดอยู่ในครรภ์แม่ มันคิดนึกอะไรเองไม่ได้ มันจะคิดว่าตัวตน หรือว่าไม่ใช่ตัวตนไม่ได้ทั้งนั้นแหละ มันคิดไม่ได้ มันไม่มีเหตุปัจจัยพอที่จะคิด ทีนี้พอมันเกิดมาจากท้องแม่ตามธรรมชาติของสัตว์ทั่วไป มันออกมาจากท้องแม่ แล้วก็มันมีการเป็นไป ตามที่ว่าไอ้สัตว์ที่มันเกิดจากท้องแม่มันจะเป็นไปอย่างไร คุณไปนั่งดูลูกหมา ลูกแมว ลูกไก่ ลูกอะไรก็ตาม มันก็มาตามธรรมชาติของมัน คือ มันจะต้องได้กินอาหาร ลูกไก่นี่พอเดินได้ ก็จิกอาหารเป็นกินได้ ลูกหมาลูกแมวก็เหมือนกัน ไอ้ลูกคนนี่ยังได้เปรียบ เพราะว่าออกมาจากท้องแม่ ก็ได้รับการประคบประหงม ตามธรรมเนียมที่เขาจะทำกัน ไอ้คนที่เขารับเด็กเพิ่งคลอดมานี่ เขาก็ให้มันกินน้ำ ให้มันกินอะไรตามแบบของเขาที่ให้มันกินนั่นแหละ จนกระทั่งให้มันกินนมแหละ ตอนนี้มันคิดนึกอะไรไม่ได้ มันยังคิดนึกอะไรไม่ได้ เพราะว่ามัน มันยังใหม่เกินไป มันไม่รู้สึกว่าอร่อย หรือไม่อร่อย จนกว่ามันจะโตขึ้นมาพอสมควร โตขึ้นมาได้สักอาทิตย์ หรือว่า ๔ – ๕ วันอะไรก็ตามนี่ จนกว่าเด็กซึ่งมีระบบประสาทเจริญถึงที่สุดแล้วนั่นมันจะรู้สึกว่าอร่อย อันแรกก็คือว่าอร่อย นมแม่นั้นน่ะมันอร่อย หรือว่ามันอร่อยตามประสาเด็กทารกนั่นแหละ ถ้าไม่ให้กิน มันก็หิว มันก็ร้อง แล้วเขาก็ให้กินอะไรมากขึ้นไป จนอร่อยมากกว่านมแม่ นี่เรียกว่าทางอร่อยทางลิ้น มันมีความอร่อย แล้วมันก็ยึดถือรู้สึก สัญญา มีสัญญาว่าอร่อย มีความยึดถือว่าความอร่อย แล้วมันก็รู้สึกขึ้นมาได้เองว่าฉันอร่อย ความรู้สึกว่ากูอร่อยมันเกิดขึ้นมาได้เอง
ที่นี้เขาก็แวดล้อมเด็กทารกนี้ด้วย รูปที่สวย รูปที่สวย เช่นอะไรเอามาแขวนให้ดูสวย ๆรอบเปล นั้นหรือว่าเอาบทกล่อมเด็กมากล่อม กล่อมให้มันไพเราะทางหู หรือว่าจะเอากลิ่นหอม หรือการประคบประหงมนิ่มนวล อุ้มแนบไว้กับอกอันอุ่น แล้วเขาก็พยายามทำให้ถูกอกถูกใจทุกอย่าง ไอ้เด็กๆ เขาก็จะเกิด ไอ้เด็กทารกเล็กๆ นั่นมันก็จะเกิดความรู้สึก ซึ่งรู้จักแยก เป็นสวยงาม ไม่สวยงาม อร่อย ไม่อร่อย ไพเราะ ไม่ไพเราะ หอมหรือเหม็น นิ่มนวลหรือแข็งกระด้าง แล้วมันก็จะชอบฝ่ายที่ถูกกับความรู้สึก คือสวยงาม ไพเราะ หอมหวน นิ่มนวล มันก็ไม่ชอบกระด้างแล้วคิดดูเถอะ มันชอบนอนในที่ที่มันนิ่มนวล ไม่ชอบกระด้าง ถ้าไปวางที่มันส่วนที่กระด้าง มันก็ร้องไห้ หมายความมันรู้จักแยกแล้ว ว่าเป็นอร่อย หรือไม่อร่อย แล้วมันก็อยาก หรือมันชินที่มันจะอร่อยแล้วมันก็อยากที่จะอร่อย เพราะมีความอร่อยเท่านั้นแหละ มันก็ปรุงไอ้ความรู้สึก ว่าตัวกูผู้อร่อย
ตรงนี้มันก็ขัด logic ธรรมดาอยู่สักหน่อย ที่ว่าตัวผู้อร่อยมาทีหลังความอร่อย ถ้าคุณถือหลักธรรมดา มันต้องมีตัวผู้อร่อยเสียก่อนสิ มันจึงจะรู้ว่ามีความอร่อย แต่เดี๋ยวนี้ธรรมชาติแท้ๆไม่ใช่อย่างนั้น จิตของสัตว์นั้นมันรู้สึกว่าอร่อย หรือไม่อร่อย ก็ตามเป็นไปถึงที่สุดแล้ว มันก็จะเกิดความรู้สึกว่ากูไม่อร่อย กูอร่อย หรือกูไม่อร่อย
ความต้องการ ความต้องการในของสวย ของงาม ของหอม ของอร่อยเกิดขึ้นก่อนแล้วจึงจะเกิดความรู้สึกว่า กูต้องการ นี่คือความที่ว่าไอ้ตัวกูมันเป็นมายาอย่างยิ่ง เพิ่งคลอดออกมาจากไอ้ความรู้สึกอร่อยหรือรู้สึกต้องการเป็นต้น นั้นเป็นไปโดยธรรมชาติแท้ๆ ไม่มีผีสางเทวดา ตัวตนอะไรที่ไหนกัน ธรรมชาติมันจะทำให้เกิดอย่างนั้น ธรรมชาติทำให้เด็กทารกรู้จักอร่อย รู้จักต้องการ เข้มข้นเข้าก็ปรุงขึ้นมาเป็นความรู้สึกว่ากูต้องการ กูได้ กูเสีย กูไม่ได้ หรือกูเสียหายนี่
และภาษาพูดที่เด็กได้รับอบรมสั่งสอนทีแรก มันก็เรื่องตัวกู เรื่องของกูทั้งนั้นแหละ จะเป็นมารดาเอง หรือคนเลี้ยงหรือใครก็ตาม แขกเหรื่อไปมา มันก็จะพูดแต่ว่าของหนู ของหนู ของหนู ให้หนู ของหนู ไอ้เด็กทารกมันค่อยๆ มีความรู้สึกเรื่องตัวกู เรื่องของกูขึ้นเรื่อยไป จนมันรู้สึกเต็มที่ว่าตัวกู ว่าชีวิตของกู บ้านเรือนของกู พ่อของกู แม่ของกู พี่ของกู ตุ๊กตาของกู อะไรก็ของกูนี่ นี่ถ้ามาถึงขนาดนี้แล้วก็หมายความว่า ไอ้ตัวกูนั้นสมบูรณ์ มันจะมีอายุกี่เดือนหรือกี่ขวบก็สุดแท้แต่ แต่ถ้ามันมีความรู้สึกถึงขนาดนี้แล้ว เรียกว่าไอ้ตัวกูหรือตัวตนนั้นน่ะมันสมบูรณ์ ตั้งรากฐานอยู่ในจิต ในสันดานของทารกนั้นแล้ว นั่นน่ะคือตัวปัญหา ทั้งที่มันเพิ่งเกิดหยกๆ แล้วมันก็จะต้องการตามที่มันชอบนะ ความสวยงาม ความเอร็ดอร่อย ความหอมหวลนิ่มนวล อะไรก็ตาม เมื่อไม่ได้ตามต้องการมันก็โกรธแหละ ถ้าได้ตามต้องการมันก็หลงใหลยินดี
ไอ้ความยินดี ยินร้ายนี่มันก็หล่อเลี้ยงไอ้ตัวกูของทารกนั้นให้ยิ่งๆขึ้นไป ยิ่งๆขึ้นไป จนมีความเห็นแก่ตัวกูที่สมบูรณ์ ตัวกูเฉยๆ มันก็กลายเป็นความเห็นแก่ตัวกู นี่ไปสังเกตดู มันไม่ได้ต้องคำนวณ หรือว่าใช้เหตุผลอะไรกันนัก ไปดูจากความรู้สึกของตนเอง ทีแรกมันมีความรู้สึกว่าตัวกู ตัวกู ซึ่งจะเป็นผู้กิน ผู้อิ่ม ผู้อร่อย ผู้สนุกสนาน แล้วความรู้สึกว่าตัวกู ตัวกู นี้มันจะกลายเป็นความเห็นแก่ตัวกู ความเห็นแก่ตัวกู อีโก้ หรือ เอโก้ (ego) มันมีความหมายว่าเป็นตัวตน หรือเป็นตัวกู แต่ทีนี้มันมาเป็นไอ้เซลฟิช ( selfish) อีโก้ มันกลายเป็น เซลฟ์ (self) มันเป็น เซลฟิช (selfish) เห็นแก่ตัวกู เซลฟิชเนส (selfishness) ความรู้สึกที่เห็นแก่ตัวกู
นี่ตอนนี้มันเจริญมากแล้วเป็นความเห็นแก่ตัวกู เมื่อได้ตามที่ตัวกูต้องการ มันก็ยินดี เกิดราคะ เกิดโลภะ เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ มันก็เกิดโทสะ เกิดโกธะ เมื่อมันไม่รู้ว่าอะไร แต่มันยังหลงใหลว่าจะมีประโยชน์อยู่ มันก็หลงใหลอยู่นั่นแหละ นั่นแหละความโลภ ความโกรธ ความหลง มันก็เจริญขึ้นมา เจริญขึ้นมา เป็นไฟทั้งนั้นแหละ ไอ้ความโลภนั่นแหละ เมื่อไม่ได้ตามต้องการ มันก็หิว มันก็เป็นไฟ เมื่อได้มาตามต้องการ มันก็หลงรัก มันก็เป็นไฟ ความหลงรักมันก็เป็นไฟ ไอ้ความโกรธนะไม่ต้องพูดแล้ว มันเป็นไฟ ไอ้ความหลงนี่มันก็ทรมานใจ มันก็เป็นไฟ นั้นมันก็ร่ำรวยกันอยู่แต่ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง มันก็เป็นไฟ ต่อเมื่อไม่มีไฟเหล่านี้ มันจึงจะเย็นเป็นนิพพาน เมื่อไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ นั่นจึงจะเย็นเป็นนิพพาน
ความว่างหรือความไม่มีราคะ โทสะ โมหะนี่ ในพระบาลีพระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าปริญญา ปริญญา ๓ เป็นปริญญามีอยู่ ๓ ๓ คืออะไร ๓คือความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ นี่คือปริญญา ๓ คำว่าปริญญา ปริญญาของเดิมในพระบาลีมีอยู่อย่างนั้น เดี๋ยวนี้เขายืมคำนี้มาใช้ เป็นชื่อของแผ่นกระดาษที่แจกให้เมื่อสอบไล่ได้ เรียกว่าปริญญาในมหาวิทยาลัย ทั้งที่คนเหล่านั้นยังเต็มปรี่ ด้วยราคะ โทสะ โมหะ แล้วก็ได้รับกระดาษปริญญาไปว่าเป็นปริญญานั้น ปริญญานี้ ดูเถอะว่ามันเป็นปริญญาอะไรกัน เป็นปริญญาโง่ หรือเป็นปริญญาฉลาด ที่อยากจะย้อนกลับไปหาคำว่าไม่มีตัวกู คำว่าไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะนั่นนะ มันต้องสิ้นความเห็นแก่ตนนะ ถ้าสิ้นความเห็นแก่ตน มันต้องสิ้นความรู้สึกว่ามีตัวตนนะ ดังนั้นไอ้ตัวตนมันหมดแล้ว มันตายแล้ว ไอ้ตัวตนมันหมดแล้ว มันตายแล้ว มันจึงเป็นปริญญาที่สมบูรณ์ ความไม่มีตัวตนนะเป็นปริญญาสมบูรณ์ เราเรียกปริญญาตายก่อนตาย ไอ้ตัวตนหรือตัวกูตายเสียก่อนแต่ร่างกายตาย ก็ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ นั้นเป็นปริญญาแท้จริง ตามคำตรัสของพระพุทธเจ้า ปริญญาแท้จริง สิ้นไฟแห่งราคะ สิ้นไฟแห่งโทสะ สิ้นไฟแห่งโมหะ
นี้ลองไปเทียบดูว่าไอ้ตัวตนนั้น มันเหนี่ยวแน่น หนักสักเท่าไร มันตั้งต้นตั้งแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่เพิ่งออกมาจากท้องแม่ พอรู้รสรู้อะไรได้ มันก็เริ่มมีตัวตน ตัวตน ตัวตน ตัวตน โตขึ้นๆ เหนียวแน่นขึ้นๆ จนมาเป็นเดี๋ยวนี้ อย่างนี้ ซึ่งมันมากเข้าแล้ว มันควรจะเรียกว่าตัวกู ของกูมากกว่า สิ่งนี้มันสะสมมากขึ้น สะสมมากขึ้น สิ่งที่เรียกว่าตัวกู ของกู มันเพิ่มมากขึ้น เพิ่มมากขึ้น เป็นเงาตามตัว ที่ไอ้เด็กทารกมันโตขึ้นมา ทุกวัน ทุกวัน เรียกเต็มที่ หรือเรียกชื่อของมันอย่างเต็มที่ เขาเรียกว่า อหังการะ มะมังการะ มานานุสัย ชื่อยาวเฟื้อยเลย อหังการะ มะมังการะ มานานุสัย อนุสัยคือตามนั่นแหละ คือ สะสม สะสม มานะ คือความสำคัญมั่นหมาย อหังการะว่าตัวกู มะมังการะว่าของกู สะสมความเคยชินแห่งความยึดถือว่าตัวกู ว่าของกู นั้นเรามีมาตลอดเวลา ตั้งแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่เริ่มรู้ รู้เรื่องรู้รสของความอร่อย ไม่อร่อย เดี๋ยวนี้ อายุกี่สิบปีแล้วคิดดู มันสะสมไว้ได้อย่างความเหนียวแน่นเท่าไร อหังการะ มะมังการะ มานานุสัย ความเคยชินอย่างนี้ ความเคยชินต่อการสำคัญมั่นหมาย ว่าตัวกูของกูนี่ มันเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น จนบัดนี้ มันเพิ่งมี มันไม่ใช่มีมาแต่ในท้อง หรือมีมาแต่ชาติก่อน
ใครจะว่ามีมาแต่ชาติก่อนก็ตามใจเขา เราบอกว่าตามหลักพุทธศาสนาไม่ได้ถือว่ามีมาแต่ชาติก่อน มันเป็นเหตุ เป็นปัจจัยตามกฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา มีขึ้นมา มีขึ้นมา มีขึ้นมา จนยากที่จะถอนได้ ยากที่จะบรรเทาได้ ยากที่จะลดลงได้ เราก็มีความรู้สึก ตัวตน ของตน คือตัวกู หรือของกู เมื่อมันเดือดจัด ต้องเป็นตัวกูของกู เมื่อมันยังธรรมดาก็เรียกตัวตนของตน นี่คือสิ่งที่จะต้องตายเสียก่อนแต่ร่างกายตาย ก็เลยเรียกว่าตายก่อนตาย ตายก่อนตาย ให้ตัวตนตายเสียก่อนแต่ร่างกายตาย คนนั้นจะได้อยู่กับพระนิพพานตลอดชีวิตที่ยังเหลืออยู่ ชีวิตที่ตัวกูตายหมดแล้ว เหลืออยู่แต่ชีวิตที่ปราศจากไอ้อุปาทานว่าตัวกู ก็เย็น เป็นชีวิตเย็น อยู่กับนิพพาน ไปจนกว่าร่างกายมันจะแตกดับ แล้วก็พอกันที ปัญหามันหมดแล้ว
ปัญหามันมีอยู่ที่ว่า มันมีความรู้สึกที่เป็นทุกข์เท่านั้นแหละ เราไม่ต้องการคิดให้มันมากเรื่อง มันจะโง่หนักขึ้นไปอีก สนใจแต่ปัญหาคือความทุกข์ที่มันมีอยู่จริง แล้วทำให้มันหมดไปเสีย ผมก็ควรจะถือว่าจบเรื่อง คิดมากไปกว่านั้นก็คือคนสมัครโง่ สมัครจะสร้างเรื่องขึ้นมาให้ไม่รู้จักสิ้นสุด พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า แต่ก่อนนี้ก็ดี หรือเดี๋ยวนี้ก็ดี ฉันบัญญัติแต่เรื่องความทุกข์กับความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์เท่านั้น คือท่านจะพูด จะสอน จะเกี่ยวข้องด้วยแต่เรื่องความทุกข์กับความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์เท่านั้น เรื่องอื่นไม่พูดให้เสียเวลา เช่นเรื่องว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด อันที่เรียกว่าไอ้ทิฐิทั้งหลาย ไม่ต้องพูด ไม่ต้องพูด เอาแต่เพียงว่ามันไม่เป็นทุกข์ มันก็พอแล้ว อย่างอื่น เขาจะถืออย่างอื่น จะเชื่ออย่างอื่น ก็ตามแต่ใจเขา เราต้องการแต่เพียงว่าไม่มีความทุกข์ มันก็พอแล้ว เรียกว่าดับทุกข์สิ้นเชิงมันก็พอแล้ว มันมีชีวิตเย็นไปกว่าร่างกายจะแตกดับมันก็พอแล้ว ดังนั้นท่านจึงสอนเฉพาะเรื่อง ๒ เรื่อง ว่าความทุกข์เกิดขึ้นมาอย่างไร กับความทุกข์จะดับลงไปอย่างไร ๒ เรื่องนี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท หรือที่เรียกให้มันกว้างขวางที่สุดก็เรียกว่า อิทัปปัจจยตา แต่ในพระบาลี พระพุทธองค์ จะตรัสไอ้ ๒ คำนี้ ควบ ๆกันบ่อยๆ ว่า อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปปาโท คือ ปฏิจจสมุปบาทที่เป็นอิทัปปัจจยตา เพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงเกิดขึ้น เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงเกิดขึ้น เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงเกิดขึ้น อย่างที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ที่เราสวดกันอยู่ ก็อย่างนี้ อย่างนี้แหละเกิดขึ้น แล้วทุกข์จึงเกิดขึ้น ทีนี้อีกทางหนึ่งตรงกันข้าม สวนทางกลับเพราะอวิชชาดับ สังขารก็ดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณก็ดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปก็ดับ เพราะนามรูปดับ อาสนะก็ดับ ดับ ดับ จนทุกข์ดับ จึงมี ๒ เรื่องเท่านั้น ความทุกข์เกิดขึ้นโดยกฏอิทัปปัจจยตา ความทุกข์ดับลงโดยกฎอิทัปปัจจยตา ๒ เรื่องนี้เท่านั้นที่พระองค์ตรัสว่าฉันบัญญัติ คือเรื่องเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ และเรื่องดับลงแห่งความทุกข์
ขอให้เข้าใจแจ่มแจ้งประจักษ์ ไม่หลงไม่วนอะไร เกี่ยวว่าพุทธศาสนานี้สอนเรื่องอะไร ไม่ไปเสียเวลา ไปตั้งปัญหาชนิดที่มันไม่ใช่พุทธศาสนา เรื่องเกิดไม่เกิด เรื่องอะไรไปเกิดนี่มันไม่สำคัญนี่ มันสำคัญอยู่ที่ว่าเดี๋ยวนี้มันมีความทุกข์ แล้วจะดับมันอย่างไรนี่ ถ้ามันไม่ได้เกิดมาและมันไม่มีความทุกข์ แล้วมันไม่ต้องพูดกันนี่ ไม่มีเรื่องอะไรที่จะต้องพูดกัน เดี๋ยวนี้มันเกิดมาแล้ว แล้วมันมีความทุกข์ทรมานอยู่ ก็ต้องดับมันเสีย มันมีเท่านั้นเอง นั้นถ้าจะไปเกิดอีกมันก็อย่างนี้อีก ก็มีปัญหาเดิมนั่นแหละติดเรื่อยไป ถ้ามันจะไปเกิดอีก นี่ถ้าว่าดับทุกข์เสียเสร็จเมื่อไรมันก็เรื่องว่าจบที่นั่น ถ้าพวกนั้นมันจะถือตายแล้วไปเกิดอีก ก็ไปเกิดอีก ก็ดับทุกข์ที่นี่ได้เสียตายไป ไปเกิดใหม่มันก็ดับทุกข์ได้อีกแหละ ถ้ามีความรู้พอที่จะดับทุกข์ที่นี่แล้ว ตายไปเกิดใหม่มันก็ดับทุกข์ได้ ถ้ามันมีอย่างนั้นจริง เดี๋ยวนี้เราไม่บ้ามากถึงขนาดนั้น คือไม่บ้าพูดว่า ไอ้คนนี้มันตายแล้วมันไปเกิดอีก ตายแล้วมันไปเกิดอีก คำว่าความเกิดในพุทธศาสนานี้เป็นเฉพาะกรณี เฉพาะกรณี เกิดตัวกูเมื่อไร เกิดความรู้สึกในใจว่าตัวกูเมื่อไรเมื่อนั้นแหละมันเกิด อย่างนั้นมันเกิดได้วันละหลาย ๑๐ ครั้ง หลาย ๑๐๐ ครั้งก็ได้ กว่าจะตายมันเกิดเป็น ๑๐,๐๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ครั้ง ๑,๐๐๐ครั้ง ๑๐,๐๐๐ ครั้งก็ได้กว่ามันจะตาย มันเกิดทุกที มันก็เป็นปัญหาของการเกิดทีนั้น ก็ดับมันเสียให้ได้ทุกทีที่มันเกิด
ชาตินั้นมันไม่ใช่ของตัวตน ตามหลักพุทธศาสนาสิ่งที่เรียกว่าชาติ หรือความเกิดนั้นมันไม่ใช่ของตัวตน มันแต่เพียงของการปรุงแต่งตามกฏอิทัปปัจจยตา คุณฟังเรื่องนี้ให้เข้าใจว่า พุทธศาสนาถือว่าเกิดนะ เกิดเป็นคน เกิดเป็นอะไรนะ มันจะเกิดต่อเมื่อมันมีความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกู เด็กคลอดออกมาจากท้องแม่แล้ว ภาษาชาวบ้านเขาก็พูดว่าเด็กคนนั้นเกิดแล้วใช่มั้ย เมื่อเด็กมันคลอดออกมาจากท้องแม่แล้ว ทุกคนก็จะถือว่าเด็กคนนั้นเกิดมาแล้ว นั่นมันภาษาคนโง่ เป็นภาษาโลก ภาษาชาวบ้าน เป็นโลกียโวหาร เพราะว่าภาษาของธรรมะ ของสัจจะนั้นมันต่อเมื่อเด็กคนนั้นเกิดความรู้สึกว่าตัวกูโน่น จึงจะเป็นความเกิดที่สมบูรณ์ เด็กคนนี้เกิดออกมาจากท้องแม่แล้ว มันก็เกิดแต่ร่างกายเท่านั้นแหละ เกิดแต่ร่างกาย ความคิดว่าตัวกูยังไม่เกิด เด็กนั้นอยู่มา อยู่มา อายุ ๔ วัน ๕ วัน สัปดาห์ ๒ สัปดาห์นี้มันไม่แน่หรอก จนกว่าเมื่อไหร่เด็กคนนั้นมันมีความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกูได้เมื่อนั้นน่ะเรียกว่ามันเกิด จึงจะเรียกเมื่อนั้นมันเกิดมาแล้วโดยสมบูรณ์ คือเกิดแล้วทั้งโดยร่างกาย เกิดแล้วทั้งโดยระบบจิต เกิดแล้วทั้งโดยระบบสติปัญญา หรือทิฐิ
เดี๋ยวนี้เขามีคำพูดที่เข้าใจกันได้ง่ายว่า ระบบฟิสิกส์ (Physics) ฟิสิคัล (Physical) ระบบ จิ เมนตัล ( Gi mental) ระบบทิฐิ ความคิดเห็นเรียกว่า สปิริตชวล (Spiritual) เกิดโดยร่างกาย โดยฟิสิกส์นี้ยังไม่สมบูรณ์ มันต้องเกิดโดยจิต จิตทำอะไรได้ จึงสมบูรณ์ขึ้นมาครึ่งหนึ่ง แล้วมันเกิดโดยความคิดเห็น สำคัญมั่นหมายว่าตัวกู ว่าของกู โดยสมบูรณ์ นี้คือสมบูรณ์แท้ เกิดในระดับฟิสิกัลป์ เกิดในระดับเมนตัล เกิดในระดับสปิริตชวล จึงจะเรียกว่าเกิดโดยสมบูรณ์ ฉะนั้นเด็กเกิดมาหรือคนเกิดมาจากท้องแม่ เป็นเพียงเกิดทางเปลือก เกิดโดยเปลือก เกิดโดยร่างกาย จนกว่าระบบจิตจะทำงาน จึงเกิดโดยระบบจิต นี้ระบบวิญญาณ ระบบไอ้ทิฐิ ความคิดนึกสติปัญญาสมบูรณ์นี้จึงเรียกว่าเกิดในระบบสปิริตชวล นั่นแหละสมบูรณ์ อย่าถือว่าพอคลอดออกมาจากท้องแม่ ร้องแว้แล้วมันก็จะเป็นการเกิดที่สมบูรณ์ นั้นมันภาษาชาวบ้านพูด เป็นโลกียโวหาร ภาษาชาวบ้านพูด มันรู้เพียงแค่นั้น มันก็พูดได้เพียงแค่นั้น แต่ถ้าตามหลักของธรรมมะแล้ว มันจะต้องมากกว่านั้นแหละ คือสมบูรณ์ต่อเมื่อมันมีความรู้สึกว่าตัวกู มีตัวกู ดังนั้นกระแสปฏิจจสมุปบาทได้ตั้งต้นขึ้นแล้วแม้เด็กนั้นยังเล็กอยู่ มันกระทบทางอายตนะ แล้วมันเกิดวิญญาณทางอายตนะ เกิดผัสสะทางอายตนะ แล้วเกิดเวทนา แล้วมันก็เกิดตัณหาตามสมควรแก่เวทนา เกิดอุปาทานว่าตัวกูผู้เสวยเวทนานั่นแหละ นั่นแหละคือจุดสมบูรณ์ของไอ้การเกิด ว่าเป็นตัวตน เป็นอุปาทาน แล้วก็เป็นภพ เป็นชาติ ชาติโดยสมบูรณ์ นี่ชาติโดยสมบูรณ์มันมาถึงนี่ มันต้องมาถึงนี่ คือให้มันโง่ถึงที่สุด มันจะได้ยึดเอาว่า ความเกิดของกู ความแก่ของกู ความเจ็บของกู ความตายของกู ตอนนี้แหละ ความเกิดมันถึงที่สุด นี่ควรรู้ไว้ด้วยว่าพุทธศาสนา ตามหลักพุทธศาสนาที่ว่า คนเกิด คนเกิดนั้นไม่ใช่เกิดจากท้องแม่ นั้นมันยังเกิดแต่เปลือก มันไม่ฟักเป็นตัวก่อน จนกว่ามันจะมีความรู้สึกว่าตัวกู ของกู อัตตาหรืออัตนียา โดยสมบูรณ์น่ะ จึงจะเรียกว่ามันเกิด อัตตาแปลว่าตัวตน อัตนียาแปลว่าของตน อัตตาแปลว่าตัวตน อัตนียา แปลว่าเนื่องด้วยตนคือของตน ที่จริงมันไม่ได้มีตัวตนแหละ ไม่ได้มีของตน แต่จิตมันโง่ ปรุงขึ้นมาด้วยความโง่ ตามแบบของธรรมชาติแห่งความโง่ มันก็มีความรู้สึกว่าตัวตน ว่าของตน นี่คือเป็นปัญหาของมนุษย์ ที่โง่ มนุษย์ปุถุชน ต้องเป็นทุกข์ เพราะเหตุนี้ จนกว่าเขาจะละไอ้ทิฐิ ความคิด ความรู้อันโง่ๆ นี้เสียได้ ไม่มีว่าตัวตน ไม่มีว่าของตน นั่นแหละเป็นพระอริยะเจ้า จะเป็นปุถุชนโง่ๆ นี้ไปเรื่อยๆ ทนทุกข์ไปเรื่อยๆ ทนทุกข์ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเป็นผู้รู้ แล้วก็เปลี่ยนสภาพเป็นพระอริยะเจ้า
ทีนี้วัฏฏะสงสารในพุทธศาสนานะหมายความว่า พอมันโง่ คือมีกิเลสนั่นแหละ พอมันมีกิเลส มาจากความเห็นแก่ตน มีตัวตน มีความเห็นแก่ตนแล้วมันเกิดกิเลส โลภะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี แล้วมันก็ทำตามอำนาจของกิเลส เรียกว่ากรรม มีกิเลสเป็นเหตุให้กระทำ การกระทำนั้นจะเรียกว่ากรรม ครั้นมีกรรมแล้วมันก็มีผลกรรมเรียกว่าวิบาก เสวยวิบากแล้วมันก็หล่อเลี้ยงกิเลสใหม่ ปรุงแต่งกิเลสในกรณีอื่น ในกรณีแปลกออกไป ครั้นมันก็มีกิเลสที่แปลกออกไป มันก็ทำกรรมใหม่ ได้รับผลกรรมอีก หล่อเลี้ยงไปปรุงกิเลสใหม่ ทำกรรมใหม่ รับผลกรรมใหม่ เวียนอยู่อย่างนี้ ไม่ต้องเข้าโลง ไม่ต้องเข้าโลงเลย
แล้วในวันหนึ่ง วันหนึ่ง อาจจะมีหลาย หลายรอบของวัฏฏะสงสาร ไม่เหมือนไอ้คำสอน ไอ้พวกอื่นที่ว่ามันตายแล้ว มันเข้าโลง แล้วมันไปเกิด ตายแล้ว มันเข้าโลง แล้วมันไปเกิด เวียนว่ายอย่างนั้นเป็นวัฏฏะสงสาร นั้นมันยาวมากเกินไป สมกับความโง่ที่มันทำให้ยาว มันที่นี่และเดี๋ยวนี้มันอาจจะวินาที ๒ วินาที ๕ นาทีก็ได้ มีกิเลส มีกรรม แล้วมีวิบาก มีกิเลสให้ทำมโนกรรม พอทำมโนกรรมเสร็จ มันก็ได้รับวิบากของมโนกรรม เป็นความเดือดร้อนใจอะไรอยู่ ก็เป็นวัฏฏะสงสาร ๑ รอบแล้ว ก็อาจจะกินเวลาเพียง ๒ - ๓ นาทีก็ได้ นี่วัฏฏะสงสารในพุทธศาสนา ไม่ใช่วัฏฏะสงสารของพวกอื่นลัทธิอื่นที่มีอยู่ก่อนพุทธศาสนา แล้วมาสอนกันให้เป็นเรื่องของพุทธศาสนาไป
ใครทำผิดเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เอาเรื่องของพวกอื่นมาสอนให้เป็นพุทธศาสนาแล้วก็เชื่อกันอย่างนี้อยู่โดยมาก การเวียนเข้าจากโลง ออกจากโลง เข้าจากโลงออกจากโลง เป็นวัฏฏะสงสาร มันไม่ต้องอย่างนั้น มันไม่ทันเข้าโลงหรอก มันเป็นวัฏฏะสงสารได้ วันหนึ่งหลายครั้งก็ได้ หลายรอบก็ได้ นี่คือตัวตนที่โง่ เห็นแก่ตน แล้วเกิดกิเลส แล้วก็ทำกรรมไปตามอำนาจของกิเลส แล้วก็ได้รับผลกรรม แล้วก็วกกลับไปหล่อเลี้ยงกิเลสอีก แล้วก็ทำกรรมอีก รับผลกรรมอีก หล่อเลี้ยงกิเลสอีก ทำกรรมอีก รับผลกรรมอีก นี่คือวัฏฏะสงสารที่แท้จริง ที่รู้สึกได้กับจิตใจ แบบสันทิฏฐิโก ถ้ามันไม่เป็นสันทิฏฐิโก มันก็ไม่ใช่หลักธรรมะในพระพุทธศาสนา เรื่องนี้เคยบอกกันหลายหนแล้วว่าต้องเป็น สันทิฏฐิโก รู้สึกโดยประจักษ์อยู่แก่จิตใจของตน ไม่ต้องคำนวณตามหลักปรัชญาบ้าๆ บอๆ เป็นปรัชญาเฟ้อ ต้องคำนวณ ต้องตั้งสมมติฐาน และต้องคำนวณหาเหตุผลมา คำนวณอย่างนี้ไม่มีในพุทธศาสนา พุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญาชนิดนั้น พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ที่จะมองเห็นที่นี่เดี๋ยวนี้ เหมือนกับเอามาใส่ในฝ่ามือดูแล้ว ดู ดู ดู ตลอดเวลานั้นน่ะเป็นวิทยาศาสตร์ รู้แต่ว่าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ มีวิธีการปฏิบัติอย่างวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ปรัชญาหลับตาเพ้อเจ้อ ตั้งสมมติฐานว่านั่นมันมีอย่างนั้นขึ้นมาก่อน แล้วหาเหตุผลมาแวดล้อมว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ลงมติว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง อย่างนี้ไม่รู้จบ เพราะว่าหลักฐานหรือเหตุผลที่เอามาใช้เป็นเครื่องคำนวณนั้นมันผิดได้ แล้วมันไม่รู้จบ เรื่องของปรัชญาไม่รู้จบ ไม่ใช่สัจจะ เป็นเพียงทัศนะ ไปตามแบบของสิ่งแวดล้อม
ฉะนั้นเราจะต้องรู้จักตัวพุทธศาสนาว่าสอนเรื่องอะไร สอนเรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์เท่านั้น ความทุกข์เกิดจากการปรุงแต่งแห่งจิตโดยกระแสอิทัปปัจจยตาด้วยความโง่ในเบื้องต้น คืออวิชชา มันก็เป็นความทุกข์ ถ้าอบรมจิตใจจนมีความรู้ถูกต้อง ไม่เกิดอวิชชา มันก็ปรุงแต่งแบบที่ไม่มีอวิชชา แล้วก็ไม่มีความทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า ฉันพูดแต่เรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์เท่านั้น ถ้าเป็นเรื่องของวัฏฏะสงสาร อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ ก็เป็นเรื่องของกิเลส และเรื่องของความทุกข์ชัดๆเลย ดังนั้นวัฏฏะสงสารจึงเป็นความทุกข์ แล้วที่ความทุกข์ก็จะมีความดับทุกข์ จะดับทุกข์ดับที่ไหน คุณ คุณลองคิดดู จะดับทุกข์มันจะดับที่ไหน มันต้องดับที่ความทุกข์ ถ้าไปดับทุกข์ที่อื่นมันก็คือคนบ้านะ ถ้าไฟลุกอยู่ที่ตรงไหน มันก็ต้องดับที่ไฟนั่นแหละ ถ้าไม่ดับที่ไฟ มันจะดับไฟได้ยังไง นั้นนความทุกข์มันอยู่ที่ตรงไหน มันก็ต้องดับลงไปที่ตรงนั้น นั้นเราต้องมีความทุกข์ แล้วเราก็ดับลงไปที่ความทุกข์ แล้วเรียกว่าดับทุกข์เป็นนิพพาน
ความทุกข์อยู่ที่กรุงเทพฯ มาดับทุกข์ที่สวนโมกข์ มันก็บรมโง่ใช่มั้ย คุณคิดดู แล้วความทุกข์มันอยู่ที่บ้าน จะมาดับทุกข์ที่วัด มันก็เหลือที่จะโง่ มันมีไฟลุกขึ้นที่ตรงไหน มันก็ต้องดับที่ตรงนั้น อิทัปปัจจยตาส่วนความทุกข์มันตั้งขึ้นที่ตรงไหน มันก็ต้องดับลงไปที่กระแสแห่งอิทัปปัจจยตานั้น ดับที่ตอนต้นก็ดับอวิชชา ดับที่ตรงกลางก็ดับที่ตัณหา เรามีสระนาฬิเกร์เพื่อจะสอนไอ้ความจริงข้อนี้ บางคนมาอยู่ตั้งหลายวันแล้วก็ไม่รู้ความหมายของสระนาฬิเกร์ ไอ้น้ำน่ะคือวัฏฏะสงสารความทุกข์ ต้นมะพร้าวแม้อยู่ที่ตรงนั้นมันก็ไม่ใช่ความทุกข์ หมายความว่าให้มองความดับทุกข์ที่ตัวความทุกข์นั่น ถ้าเห็นความทุกข์แล้วก็มองในสภาพที่ว่า ถ้าอันนี้ไม่มีจะเป็นอย่างไร ถ้าจะไม่ให้อันนี้มีจะต้องทำอย่างไร มันก็ตัดต้นเหตุของความทุกข์เสีย นั้นความทุกข์ก็ดับ นี่ก็ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความโง่ ว่าตัวตน ไม่มีกิเลส ราคะ โทสะ โมหะก็ดับทุกข์ ดับตัวตนเสียให้ได้ก่อนแต่ร่างกายตาย นี่เรียกว่าตายเสียก่อนตาย เป็นปริญญาของสวนโมกข์ ซึ่งไม่มีใครต้องการ แล้วผมตั้งใจจะพูดแต่คำนี้ ช่วยจำไว้ให้ดีว่าตายเสียก่อนตาย นั่นน่ะคือปริญญาของพระพุทธเจ้าที่ท่านตรัสไว้ในพระบาลี สิ้นราคะ โทสะ โมหะคือสิ้นตัวกู สิ้นตัวกู คือสิ้นราคะ โทสะ โมหะ นั่นคือปริญญา
เวลาหมดแล้วนะ พูดเลยนี้คนบันทึกเสียงเขาไม่ยอม ๖๐ นาทีเต็ม เอาละเป็นอันว่าเรากันพูดถึงเรื่องที่ฟังประหลาด ตายเสียก่อนตาย คนทั่วไปฟังเขาฟังไม่รู้เรื่องเขาว่าบ้า ก็ไม่มีใครรับปริญญานี้เพราะกลัวตาย คนที่กลัวตายมันไม่ยอมรับปริญญานี้ ที่จะตายเสียก่อนตาย ถ้าเรามีความรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เราก็ไม่ต้องกลัว ที่จะดับตัวตน ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์เสียก่อนแต่ร่างกายตาย ที่เหลือนั้นก็เป็นร่างกายบริสุทธิ์ ไม่มีความทุกข์เลย
เอาละขอยุติการบรรยาย
พูดกับคนไทยยังฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ไปพูดกับฝรั่งยิ่งฟังไม่รู้เรื่อง ผมไม่กล้าพูด พูดกับคนไทยด้วยกันยังฟังไม่รู้เรื่อง เอ้านิมนต์ ปิดประชุมแล้ว นิมนต์กลับได้ ....