แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การพูดกันครั้งนี้ ก็ไม่ได้พูดหลักธรรมะโดยตรงอีกตามเคย แต่จะพูดถึงไอ้ความลับบางอย่าง เกี่ยวกับจิต เกี่ยวกับกลไกของจิต ที่น่าอัศจรรย์ก็ควรจะรู้ถึงกันไว้บ้าง คือการที่จิตนั้นมันมีอยู่ดวงเดียว แต่แล้วก็แสดงบทบาทเป็น ๒ ฝ่ายที่ตรงกันข้ามก็ได้ ฟังดูมันก็เข้าใจยากเสียแล้ว ธรรมดาชาวบ้านมักจะพูดว่าเรามี ๒ ใจ ๒ จิต จิตหนึ่งอย่างนั้นจิตหนึ่งอย่างนั้นเป็นคู่กัน แต่ตามหลักธรรมะที่มีอยู่ หรือที่ศึกษาเล่าเรียนกันนั้น จิตนั้นมันดวงเดียว มีอย่างเดียว มีดวงเดียว บางทีก็กลายเป็นจิตฝ่ายผิด บางทีก็กลายเป็นจิตฝ่ายถูก หรือว่าเป็นจิตฝ่ายเศร้าหมอง หรือเป็นจิตฝ่ายที่ผ่องแผ้วไม่เศร้าหมอง มันอยู่ที่ว่าอะไรมันประกอบกันอยู่กับจิต ถ้ามีกิเลสประกอบกับจิต จิตมันก็เศร้าหมอง ไม่มีกิเลสจิตมันก็ไม่เศร้าหมอง ก็เป็นจิตอิสระที่จะรู้อะไรได้อย่างอิสระ คือรู้ดี รู้ชั่ว รู้ผิด รู้ถูกได้ ข้อนี้มันอธิบายยาก มันอธิบายยาก จิตดวงเดียวทำหน้าที่ได้ทั้ง๒ ฝ่าย ไม่ใช่มี ๒ ดวง หรือไม่ใช่ว่ามีเหมือนกับว่ามันมีคน ๒คนทำหน้าที่ต่อสู้กัน ฟังดูแล้วมันไม่น่าจะเป็นไปได้ ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่มันก็มีอยู่อย่างนี้ โดยหลักที่แน่นอนก็คือว่าจิตนี้มันตามธรรมชาติมันประภัสสรคือไม่มีสิ่งเศร้าหมอง แต่แล้วก็หมดประภัสสรก็เป็นจิตเศร้าหมองเพราะมีอุปกิเลส หรือกิเลสนี้ครอบงำ ถ้าไม่มีกิเลสครอบงำมันก็เป็นจิตประภัสสรคือไม่เศร้าหมอง เมื่อเศร้าหมองมันมีกิเลสแล้วมันคิด มันนึก มันรู้สึก หรือมันกระทำไปอย่างเดียว เมื่อไม่เศร้าหมอง มันก็คิดนึกรู้สึกหรือกระทำไปอีกอย่างหนึ่งซึ่งก็ตรงกันข้าม มันจึงอยู่ที่ว่าเศร้าหมองด้วยกิเลสหรือว่าผ่องแผ้วอยู่ด้วยโพธิ โพธิคือความรู้ซึ่งเป็นธรรมชาติของจิต ในเมื่อจิตมันมาทีแรก มันก็เป็นจิตที่เปลี่ยนได้อย่างนี้อยู่ในสภาพกลาง ๆ ที่เปลี่ยนได้อย่างนี้ แล้วมันได้ผ่านมามาก ผ่านมามากตั้งแต่เกิด ตั้งแต่คนเราแรกเกิดมา มันได้ผ่านฝ่ายเศร้าหมองและฝ่ายไม่เศร้าหมอง ๒ ชนิดนี้ผ่านมามาก ผ่านมามาก จนมันรู้ในตัวมันเองว่า ถ้าเป็นฝ่ายเศร้าหมองเข้ามาก็เป็นเรื่องยุ่งยาก ปัญหาเดือดร้อนหรือเป็นทุกข์ ถ้าไม่เข้ามาเป็นฝ่ายเกลี้ยงเกลาปกติตามธรรมชาติมันก็ไม่มีปัญหาไม่มีเรื่องยุ่งยาก ประกอบกับข้อที่ว่าธรรมชาติแท้ ๆ ธรรมชาติเดิมแท้ของมันนั้นไม่เศร้าหมอง เป็นประภัสสร ถ้ามันกลับไปสู่สภาพเดิมของมันได้มันก็ไม่เศร้าหมองมันประภัสสร คือมันรู้อะไรได้ ถ้าอะไรเกิดเป็นเศร้าหมองเป็นกิเลสขึ้นมา ในความรู้ที่มันรู้ไว้ ที่มันรู้ไว้ ที่มันสะสมไว้ตั้งแต่มันเกิดมานี่ มันก็ไม่ต้องการ มันก็ดิ้นรนต่อสู้ที่จะกลับไปสู่ความผ่องแผ้วตามธรรมชาติ ฟังดูแล้วก็น่าเห็นใจ น่าเห็นใจว่าจิตดวงเดียวนี่จะช่วยตัวมันเองได้อย่างไร แล้วเรานี่ ไอ้เราที่เราเรียกว่าเรานี่ เราจะรักษาจิตให้ผ่องแผ้ว ไม่ให้มันเศร้าหมองกันได้อย่างนั้น เรามันก็คือจิตนั่นแหล่ะ ไม่มีตัวตนอะไรที่จะเป็นผู้บังคับจิต เหมือนกับจิตที่มันคิดว่ามันเป็นตัวตน และมันก็เห็นแก่ตน ถ้ามันได้รับการอบรมดี หมายความว่าเด็กคนนี้มันได้รับการอบรมดี จิตของเขามันก็ต้องการไปในทางที่ดี ที่ถูก แล้วก็เป็นอย่างนั้นมากขึ้น เป็นอย่างนั้นมากขึ้น เรียกว่ามันรู้จักดี รู้จักเลือกฝ่ายดี รู้จักสะสมฝ่ายข้างดีมากขึ้น มันจึงรู้จักฝ่ายข้างชั่วและเกลียดไม่ต้องการมากขึ้น มากขึ้น นี่ถ้าว่ามันเป็นจิตที่ได้รับการอบรมดีและถูกต้อง มา มาดี แต่ถ้าจิตมันได้รับการอบรมมาผิดพลาด เป็นจิตอันธพาล มันชอบไปในทางอันธพาลหรือทางกิเลสแล้ว มันก็ยาก คือมันอยากหรือมันพร้อมที่จะเป็นไปในทางฝ่ายกิเลส จิตดวงนั้นมันกลายเป็นจิตที่พร้อมที่จะเอียงไปฝ่ายกิเลส ในความที่จะเอียงมาทางฝ่ายผ่องแผ้วนี้มัน มันสู้ไม่ได้ มันไม่มี นี่เรียกว่าอะไรก็ตามจะเรียกว่านิสัยสันดาน หรือว่าจริต หรือว่าปกติก็ตาม จิตดวงเดียวจะต้องทำหน้าที่เป็น ๒ ฝ่าย แล้วก็ช่วยตัวเองในลักษณะอย่างนี้ ซึ่งน่าเห็นใจนะ ถ้าเป็นผู้เป็นคนก็นับว่าน่าเห็นใจ นี่ขอให้เรารู้จักว่ามันเป็นอย่างนี้นะ เดี๋ยวนี้พูดกันในฐานะที่เป็นเรา ที่เป็นคนนี่ มีความรู้สึกคิดนึก แล้วก็ต้องการจะให้มันดี มาบวชมาเรียน มาอะไรก็ล้วนแต่ต้องการจะให้มันดี ที่เรารู้จักจิตว่าจิตมันเป็นอย่างนั้น จึงรู้ว่าโอ้,มันยาก มันยากที่จะทำให้ ให้มันดี จึงต้องอาศัย นิสัยสันดานเดิมที่อบรมมาดีที่จะเรียกว่าบารมีก็ได้ สิ่งสะสมฝ่ายชั่วไว้ในจิตเรียกว่าอนุสัย สิ่งสะสมฝ่ายดีไว้ในจิตเรียกว่าบารมี แต่เราไม่รู้จักเรียกหรอก เราไม่ได้ศึกษาเราไม่รู้จักเรียก แต่มันก็มีลักษณะอย่างนั้น มีอาการอย่างนั้นเป็นอยู่ จนเรียกว่าเป็นกฎธรรมชาติธรรมดาไปเลย แต่ถ้าจิตได้รับการฝึกฝน ได้รับการชี้แจง เช่นจิตของเด็ก ๆ ได้รับการฝึกฝน ได้รับการชี้แจงอบรมมาดี ให้เกลียดกลัวฝ่ายที่มันเป็นฝ่ายกิเลส นั่นแหล่ะมันก็เรียกว่ามีบุญ มีบุญอย่างยิ่ง มีบุญที่ตรงนั้นแหล่ะ ไม่ใช่ว่าบุญที่ไหน มีบุญที่ว่าเกิดมาแล้วได้รับการอบรมมาอย่างดี ให้เอนเอียงไปในทางฝ่ายถูกฝ่ายดี ผ่องแผ้ว แล้วก็ไม่เป็นไปหรือเป็นไปได้โดยยากในทางฝ่ายชั่ว พอมีอะไรเกิดขึ้น เช่นมีผัสสะมากระทบมันก็จะไปในทางฝ่ายดี แล้วปัญหามันก็จะมีไปถึงว่าเมื่อมันชั่วแล้ว มันมีความทุกข์แล้ว มันจะรู้สึกตัวได้อย่างไร มันจะเปลี่ยนได้อย่างไร นี่มันต้องมีอะไรดีมากกว่านั้นกว่าธรรมดาคือสติ สติหรือปัญญานี่มันมีมาก มันมีมาก มันมีมากพอที่จะดึงจิตกลับไปซะจากฝ่ายผิด ฝ่ายชั่ว ฝ่ายเลวไปสู่ฝ่ายดี สมมติว่าในกรณีนี้มันพลาดไปแล้ว จิตมันแพ้ มันพลาดไปแล้ว มันพ่ายแพ้แล้ว มันไปเป็นมีความชั่ว หรือมีความทุกข์แล้ว และในระหว่างนั้นมันนึกได้ มันนึกได้ ก็คือสติ มันเกิดขึ้น สติมันเกิดขึ้น ปัญญามันเกิดขึ้นโดยสติ มันก็ดึงกลับไปสู่ฝ่ายที่ดีหรือตรงกันข้ามได้ มันจึงมีได้ทั้ง ๒ อย่าง คือว่าป้องกันได้ตั้งแต่ล่วงหน้า ชั้นล่วงหน้าไม่ให้เกิดก็ได้ ไม่ให้เกิดชั่ว ถ้าเกิดแล้วไปนึกได้กลางคัน มันก็ยังจะกลับได้ ถ้าหากว่า ฝ่ายดีมันมีกำลังมากกว่า ด้วยเหตุปัจจัยแวดล้อมอะไรก็ตามทำให้ฝ่ายดีมีกำลังมากกว่า มันก็ทะลุกลางปล้องขึ้นมาแทรกความชั่วฝ่ายผิดขึ้นมากลายเป็นฝ่ายดีจิตมันก็กลับไปสู่ฝ่ายถูกต้องหรือฝ่ายดี อาการเหล่านี้ไม่ได้ลึกลับอะไรมากเกินไป ถ้าทุกคนคอยสังเกตดูให้ดีก็จะพบว่าสิ่งอย่างนี้ ลักษณะอย่างนี้ อาการอย่างนี้มันก็มีอยู่จริง เรานึกได้ทันก่อนทำผิดหรือทำชั่วนี่ก็ดี ดีมาก นึกไม่ทันพลาดไปแล้วมันยังอุตส่าห์ทะลุกลางปล้องนึกได้ขึ้นมา แหวกความชั่วขึ้นมา คือฝ่ายดีเข้าไปครอบงำจิตได้ชนะฝ่ายชั่ว ก็เลยกลายเป็นจิตฝ่ายดีควบคุมไว้ เป็นเรื่องของฝ่ายดีหรือฝ่ายถูกตลอดไป แต่ดูแล้วมันก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อนหรือว่ายาก ยากเสียมาก เว้นเสียแต่ว่ามันได้รับการอบรมแวดล้อมมาดีที่สุดมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกเรื่อยมาๆ จนจิตนั้นมันมีความรู้ฝ่ายดี ฝ่ายถูกมีกำลัง มีกำลังเหนือกว่าฝ่ายผิดหรือฝ่ายชั่ว แต่เกิดจิตชนิดที่เป็นไปฝ่ายดีที่มีกำลังชนะก็ไม่เกิดจิตฝ่ายชั่วหรือฝ่ายผิด คน คนนี้ก็นับว่ามีบุญที่สุด คือมันจะเป็นไปแต่ในทางดี ที่เรารู้กันอีกทีหนึ่งว่า ไอ้ธรรมชาติแท้ ๆ ธรรมชาติแท้ ๆที่จิตมันเป็นไปเองตามที่ธรรมชาติแวดล้อมอยู่ มันก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ถ้าสมมุติว่าพ่อแม่ไม่มี ไม่มีครูบาอาจารย์สอนปล่อยไปตามบุญตามกรรม และจิตมันก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง ก็ต้องอย่างนั้น แล้วมันก็ทำผิด มันก็ได้รับทุกข์รับโทษ มันก็ไม่รู้จักรู้จักเข็ดหลาบรู้จักสังเกต คล้าย ๆ กับรู้จักว่าถ้าอย่างนี้มาก็เดือดร้อนทุกที นี่เรียกว่าเป็นชั้นที่ธรรมชาติมันเป็น จิตนี้มันเป็นสิ่งที่ประหลาดลึกลับน่าอัศจรรย์ที่สุด คือมันสามารถจะรู้ มันสามารถจะรู้สึก รู้สึกคิดนึกเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แม้โดยธรรมชาติ นี้คนเรามันมี มีจิตชนิดที่เรียกว่าสมบูรณ์ไม่เหมือนกับสัตว์เดรัจฉาน มันสมองของคนมันสมบูรณ์กว่าสัตว์เดรัจฉานมาก ทั้งการคิดนึกรู้สึกของจิต ซึ่งได้อาศัยมันสมองชนิดนั้นมันก็สมบูรณ์กว่า สมบูรณ์มาก สมบูรณ์กว่าของสัตว์ นั้นคนจึงค่อย ๆ รู้อะไรได้ ในทางที่รู้ว่าอย่างนี้ อย่างนี้อันตราย อย่างนี้ไม่อันตราย มันก็เป็นไอ้ทุนเดิม เป็นเดิมพันอันเดิมอยู่อย่างหนึ่งแล้ว ทีนี้ถ้าว่าได้รับการแวดล้อมดูแลอบรมจากบิดามารดา ครูบาอาจารย์อะไรที่ดี แต่มันก็ยิ่งเป็นมากขึ้น เพราะฉะนั้นจิตนั้นมันจึงอยู่ในสภาพที่มันจะเป็นไปในทางดี หรือมันจะเข้มแข็งในการที่จะชนะความชั่ว ฝ่ายชั่วได้มากกว่าที่จะปล่อยไปตามธรรมชาติล้วนๆ ผู้ที่เคยเรียนเรื่องอภิธรรม เรื่องจิตมาก็เข้าใจได้ในเรื่องนี้ ว่าจิตนั้นมันเป็นกลางเหมือนมันเป็นของกลางที่มีอีกสิ่งที่จะมาปรุงจิตมาประกอบจิต เรียกว่าเจตสิก เจตสิกแปลว่าเนื่องกันอยู่กับจิต เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต จิตแท้ ๆ จิตที่เป็นภวังคจิตหรือจิตล้วน ๆ นั้นมันไม่มี ไม่มีความหมายอะไร เมื่อจิตแท้ ๆ ที่นี้มันมีไอ้สิ่งที่จะเกิดกับจิต และเกิด เกิดขึ้นมาเป็นพร้อมกันเป็นจิตชนิดหนึ่งแล้วดับไป พร้อมกันอีกแล้วเกิดขึ้นมาเป็นจิตอีกชนิดหนึ่งพร้อมกับ ก็ดับไปนี้ส่วนที่เป็นจิตกับส่วนที่เป็นเจตสิก จิตจึงเหมือนกับของกลาง ของที่ไม่มีคุณลักษณะอะไร เจตสิกที่จะเกิดกับจิตมันมีคุณลักษณะซึ่งแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย ที่ว่าฝ่ายดีฝ่ายชั่ว เช่นสติ เป็นเจตสิกฝ่ายดี ที่ตรงกันข้ามก็พวกโมหะ พวกอวิชชา พวกอะไรก็ตามมันตรงกันข้าม เป็นคู่ๆ คู่ๆ อย่างนี้กันทุกคู่ ทำให้รู้จักดี ทำให้ไม่รู้จักดี ทำให้รักดี ทำให้เกลียดชั่ว ซึ่งเป็นคู่ๆ คู่ๆกันนี้เป็นชื่อของเจตสิกที่จะประกอบจิตให้เป็นจิตอันหนึ่งขึ้นมา อันนั้นมันก็เรียกว่ามันเหมือนกับสมบัติ สมบัติของจิตที่มันสะสมไว้โดยไม่เจตนา สำหรับจะปรุงจิตให้เป็นจิตชนิดหนึ่ง เป็นจิตชนิดหนึ่ง เป็นจิตชนิดหนึ่ง ในกรณีหนึ่งๆ ในกรณีหนึ่งๆ นั้นถ้าเราได้รับการฝึกฝนให้คุ้นเคย ให้เคยชินกับไอ้เจตสิกฝ่ายดี ฝ่ายมีสติ มีสมาธิ มีปัญญา มีหิริ มีโอตัปปะ มี แล้วแต่เถอะที่มันเป็นฝ่ายดี ทุกอย่าง แล้วมันก็ง่าย ไอ้ฝ่ายดีมันจะมีกำลังครอบงำไอ้ฝ่ายไม่ดี แสดงตัวขึ้นมาเป็นฝ่ายดี ที่มันจะแย่งกันครองจิต ครอบครองจิตก็มีอยู่ ๒ ฝ่ายอย่างนี้ จิตสมมติเหมือนกับว่าเป็นบัลลังก์ก็ได้ เป็นที่นั่งเป็นบัลลังก์ เจตสิก ๒ ฝ่ายที่ตรงกันข้ามนี่มันก็แย่งกันครอง ถ้าฝ่ายไหนมีกำลังมากกว่า ฝ่ายนั้นก็ได้ครองแล้วก็บังคับจิตนั้นเป็นไปตามฝ่ายนั้น นี่ก็เพราะจิตมันดวงเดียว มันไม่ใช่ ๒ ดวงต่อสู้กัน นั้นจิตดวงเดียว แล้วแต่จะเป็นโอกาสแก่ฝ่ายไหน เป็นโอกาสแก่ฝ่ายไหน ฝ่ายไหนจะได้โอกาสก็เพราะว่าฝ่ายนั้นอบรมมามาก อย่างที่พูดมาแล้วว่าธรรมชาติมันก็พอที่จะรู้จักเลือกเอาฝ่ายที่ไม่เป็นทุกข์คือมีประโยชน์ แล้วก็นอกไปจากธรรมชาติก็คือมนุษย์ ครูบาอาจารย์ บิดามารดา สอนให้รู้เรื่องฝ่ายดีอย่างเพียงพอ รู้กันหมดมากเสียหมด ก็มาบวช มาเรียน มาศึกษา มาเรียนให้มันหมด ให้มันมากกว่าที่บิดามารดา ครูบาอาจารย์ที่โรงเรียนจะสอนให้ นี่คือเรื่องของธรรมชาติที่เกี่ยวกับจิต ขอให้เรา เรา เรา ไม่มี เราคือมายา จะเรียกว่าเราก็คือจิตอีกนั่นแหล่ะ รู้เรื่องนี้ไว้แล้วก็พยายามไปในทางที่จะได้เปรียบในฝ่ายดี เขาเรียกกันภาษาวิทยาศาสตร์ว่าธรรมชาติฝ่ายสูง ธรรมชาติฝ่ายต่ำ ก็ต้องรู้ไปในทางที่จะช่วยให้ธรรมชาติฝ่ายสูงเจริญงอกงาม ได้เปรียบธรรมชาติฝ่ายต่ำไว้เสมอๆ ถ้าครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์เขาอบรมดีแล้วก็เป็นอย่างนั้นได้จริง กระทั่งเราโตแล้ว ครูบาอาจารย์ยังมาช่วยนักก็ไม่ได้แล้ว เราต้องช่วยตัวเอง ต้องจัด ต้องปรับ ต้องปรุง ให้ธรรมชาติฝ่ายสูงฝ่ายดีได้เปรียบ ได้เปรียบไว้ตลอดไป คือเป็นสิ่งที่ผุดเกิดขึ้นมาในจิตหรือเข้ายึดครองจิตให้เป็นจิตดี ได้ง่ายได้สะดวกยิ่งๆขึ้นไป นี่หลักธรรมะที่ว่า มันไม่ต้องมีเหตุปัจจัยภายนอกไม่มีพระเป็นเจ้า ไม่มีเทวดาผีสางที่ไหนมาช่วย มันจะดีมันจะเลว มันอยู่ที่เรื่องของจิต ที่มันก็มีธรรมชาติอยากจะไปในทางฝ่ายดีอยู่แล้ว เว้นแต่มีเหตุปัจจัยฝ่ายชั่วมันมากเกินไปมาครอบงำเอาจนทำให้นิยมความชั่วไป มันก็ต้องไปได้พักเดียวแหล่ะ เพราะในที่สุดมันก็รู้จักเอือมระอา มันก็หันมาหาฝ่ายดี จะเคว้งคว้างอยู่สักพักหนึ่ง ในที่สุดก็หันมาหาฝ่ายดี ที่นี้เราก็ยังมีโชคดีที่ว่าบิดามารดา ครูบาอาจารย์คอยแวดล้อม คอยอบรม คอยเตือนสติ มันก็มาในทางดีได้ง่าย ให้รู้ไว้อย่างนี้ไม่ใช่เพื่อให้ท้อถอย ไม่ใช่เพื่อให้รู้สึกว่ายากเย็นทำไม่ได้ แต่เพื่อให้รู้ว่ามันทำได้ มันทำได้ ถ้าว่าทำอย่างประณีต อย่าทำชุ่ยๆกับเรื่องนี้ ระมัดระวังตั้งใจให้ดีทำอย่างประณีตคอยสังเกตรู้คิดนึกศึกษากันอย่างประณีต สุขุม มันก็จะค่อยๆได้เป็นแน่นอน ทั้งที่จิตมีดวงเดียวนะ มันก็สามารถเอามาไว้ในฝ่ายสูงฝ่ายดีได้มากขึ้น มากขึ้น จนเรียกว่าชนะเด็ดขาดเลย ชนะไอ้ความรู้สึกฝ่ายต่ำที่เรียกว่าเจตสิกฝ่ายอกุศล มันแพ้ไป ความรู้สึกฝ่ายสูงหรือเจตสิกฝ่ายกุศลมันก็ชนะ นั้นขอให้สนใจ เข้าใจเรื่องที่มันแสนจะประหลาดนี้ คงรู้สึกว่ามันแสนที่จะประหลาด จิตดวงเดียวมันถูกชักหุ่น ชักใยเหมือนกับชักหุ่น ให้แสดงบทบาทอย่างนี้ที ให้แสดงบทบาทอย่างโน้นที แล้วว่าเมื่อไหร่ไอ้ฝ่ายดีจะเป็นฝ่ายชักหุ่น ฝ่ายชักใยให้ไปแต่ในทางฝ่ายดี มันก็ต้องอาศัยที่เรียกว่าบารมีอย่างที่กล่าวไว้ ที่รู้สึกได้เองก็รู้สึก ที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์สอนให้ก็ได้ก็รู้สึกมาบวกกันเข้า ความรู้สึกฝ่ายสูงก็จะมีกำลังเข้ามาดึงชักจิตไปในทางฝ่ายสูง ก็ประสบความสำเร็จในการเป็นมนุษย์ของเรา ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วก็คิดดูเถอะว่ามันจะเป็นมนุษย์ชนิดไหน มีแต่ความรู้สึกฝ่ายต่ำดึงลงไป ดึงลงไป เป็นเรื่องของกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ เป็นจิตทั้งนั้น เป็นเรื่องของความโง่ ตัวเองก็ร้อน ร้อนเป็นไฟ ไปเกี่ยวข้องกับผู้อื่นเข้า ผู้อื่นก็ร้อน พลอยร้อนเป็นไฟ นี่เรียกว่ามันเป็นทุกข์ทั้งแต่ตนเองและผู้อื่น ถ้ามันเป็นธรรมชาติฝ่ายตรงกันข้ามหรือฝ่ายสูง มันก็ไม่เป็นอย่างนั้น มันก็ไม่เป็นทุกข์ทั้งตนเองและผู้อื่น นี่เรียกว่าน่าสนใจที่สุด รู้ความลับของมันให้ถึงที่สุด แล้วก็จัดทำไปในทางจะเป็นผลดี ท่านพูดถึงหิริและโอตตัปปะกันมากเหมือนกัน แม้ในธรรมะชั้นสูง ไม่ใช่เรื่องศีลธรรมชั้นต่ำๆ ในระดับจะละกิเลส จะบรรลุนิพพานนั้น แต่ถ้ามันมีหิริโอตตัปปะช่วยแล้วมันก็ดีมาก ประสบผลสำเร็จโดยง่าย ที่เกลียดความชั่ว กลัวความชั่ว หรือว่าที่มันง่ายกว่าก็คือเกลียดความทุกข์ กลัวความทุกข์ ไอ้ความชั่วนั้นมัน มันรู้จักยากกว่าความทุกข์ เมื่อความทุกข์ปรากฏขึ้นเราก็กลัว เราก็เกลียด แล้วถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมแล้วก็ละอาย ละอาย ไอ้ที่ละอายตัวเองก็คือเกลียด เกลียดความชั่ว ละอายได้แต่ตัวเอง กลัวความชั่ว ในทางสังคมมันก็ช่วยได้ไม่น้อยเหมือนกันแหละ ถ้ามันละอายรู้จักละอาย รู้จักละอายมากๆ มันก็ทำชั่วน้อยลง ถ้าดีเลิศมันก็ละอายแก่ใจเอง มันก็ยิ่ง ๆ ทำชั่วน้อยลง ที่มีความเกลียด มีความกลัว กลัวความทุกข์ กลัวความชั่ว ก็ทำได้มากขึ้น ทำได้ดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นก็ขอให้มีหิริและโอตตัปปะในอันดับสูง อันดับสูง มันไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมะต่ำๆ ธรรมะศีลธรรม ธรรมะเตี้ย ๆ หญ้าปากคอก จนเขาสอนกันอย่างนั้น เดี๋ยวนี้บอกให้รู้ว่าแม้จะเป็นเรื่องชั้นนิพพาน ชั้นโลกกุตระก็ให้มองเห็นว่าหิริโอตตัปปะนี้ก็ช่วยได้มากเหมือนกัน เรามองเห็นแล้วว่าวิวัฒนาการของจิตก็จะดีขึ้น สูงขึ้น มีได้ทั้งโดยธรรมชาติ มีได้ทั้งโดยเราหรือมนุษย์นี้กระทำ แวดล้อมมัน อบรมมัน จัดการกับมัน ที่ธรรมชาติมันทำ มันเป็นการศึกษาโดยไม่รู้สึกตัว และที่เราช่วยกันศึกษา ช่วยกันอบรมนี้มันเป็นการศึกษาชนิดที่รู้สึกตัว และมีผลมากทำได้ในระดับสูง ระดับมาก กว่าที่จะปล่อยไปตามธรรมชาติให้ธรรมชาติมันสอนเอง คือธรรมชาติสอนเองนั้นก็ต้องใช้คำว่าความทุกข์สอน เมื่อทำผิดต้องเกิดความทุกข์ มันเจ็บปวดจน นั่นคือมันสอน ทีหลังก็ไม่อยากทำอีก แต่มันเป็นไปในขั้นต่ำและมักจะเป็นไปในฝ่ายร่างกาย อันนี้ฝ่ายวัตถุเสียมากกว่า ฝ่ายจิตอันละเอียดนี่มันยาก แต่มันไม่ใช่ว่าจะไม่มีซะเลย ฉะนั้นเลยเรามาตั้งต้น ตั้งหน้าตั้งตาศึกษาค้นคว้า เพิ่มเติมให้ในส่วนลึก ส่วนสูงที่เป็นเรื่องฝ่ายจิตอันละเอียด การปฏิบัติธรรมะโดยใจความของมันก็คือว่าช่วยฝึกฝนอบรม ไอ้ธรรมะคือเจตสิกธรรมหรือว่าธรรมชาติฝ่ายสูงให้มันมากขึ้น มากขึ้น หัดชั้นต่ำๆ ชั้นเด็กๆ เขาหัดเท่าที่จะหัดได้ อาตมาถึงตอนนี้ก็หัดให้ชั้นสูง เช่นหัดเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญวิปัสสนา เจริญปัญญา เจริญสติก็สำคัญมาก ถ้าสติในฝ่ายกุศลฝ่ายถูกฝ่ายดี ได้รับการฝึกฝนมากจนคล่องแคล้ว จนมีอำนาจมาก มันจะมีอำนาจดึงเอาไว้ ป้องกันเอาไว้ไม่ให้ไปในฝ่ายผิด ถ้าสมาธิฝ่ายดีฝ่ายถูกฝ่ายกุศลได้รับการฝึกฝนไว้มาก เข้มแข็ง มันเข้มแข็ง มันตั้งมั่น มันทอดสมอสู้ได้ดีขึ้น ทีนี้ฝ่ายความรู้ปัญญาหรือวิปัสสนาฝ่ายดี ญาณฝ่ายดี ก็รู้ลึกลับเฉียบคมเฉียบแหลมขึ้น นั่นแหละมันจะเกิดขึ้นช่วย เกิดเป็นความรู้สึกฝ่ายสูงมันช่วยขจัดปัญหาไป ตรงนี้บางคนอาจจะฉงนนะที่พูดว่าไอ้สติฝ่ายดี สมาธิฝ่ายดี ญาณฝ่ายดี เขามีอีกไว้เป็นคู่ ไอ้สติฝ่ายไม่ดีก็คือไม่มีสตินั่นแหละ คือสติไม่พอ สติไม่เร็ว สติไม่มี สติฝ่ายไม่ดีเป็นมิจฉาสติ ถ้าฝ่ายดีเขาเรียกสัมมาสติ สมาธิก็เหมือนกันมันตั้งมั่นผิด ตั้งมั่นฝ่ายผิด ตั้งมั่นฝ่ายสกปรก ฝ่ายกิเลส ก็เรียกว่ามิจฉาสมาธิ แปลว่าสมาธิมันเป็นไปฝ่ายถูกต้องจึงจะเรียกว่าสัมมา สัมมาสมาธิ ทีนี้ความรู้ผิด เห็นผิดเรียกว่ามิจฉาทิฐิ รู้ถูกเห็นถูกเรียกว่าสัมมาทิฐิ คำว่าทิฐิในที่นี้เขาใช้ในฝ่ายพุทธศาสนาเรา เป็นความรู้ในอันดับแรก อันดับพื้นฐานหรืออันดับเมล็ดพืช แต่ถ้ามันไปถึงขนาดงอกงามแล้วก็เปลี่ยนเรียกว่าญาณได้ ไอ้ทิฐิที่ถูกที่ดี พอเต็มบริบูรณ์ เต็มขนาดก็เรียกว่าญาณ ญาณ สัมมาญาณได้ มันไปมีอยู่ในชุด ๑๐ เราคุ้นเคยกันแต่ชุด ๘ อริยมรรคมีองค์ ๘ เราคุ้นเคยกันอยู่แต่องค์ ๘ จะไม่พบคำว่าสัมมาญาณ มันมีแต่สัมมาทิฐิ แต่เมื่อปฏิบัติ ๘ นี่ครบถ้วนแล้ว มันจึงจะเลยไป ๑๐ มีสัมมาญาณ ญาณ มันรู้เต็มที่เฉียบขาดคมกริบ และก็มีอีกอันเติมเข้ามาเรียกว่าสัมมาวิมุติ หลุดพ้นดี หลุดพ้นถูก หลุดพ้นผิดก็คือไม่หลุดพ้น กลายเป็นหลุดพ้นจากความดีเข้าไปอยู่ในความชั่ว เรียกว่าหลุดพ้นผิด ควรจะศึกษาธรรมะหมวด ๑๐ กันเสียบ้าง มันต่อมาจากหมวด ๘ อริยมรรคมีองค์ ๘ มันแค่ ๘ ปฏิบัติแล้วครบ๘ แล้ว มันยังจะเกิดผลเป็นสัมมาญาณ สัมมาวิมุติอีกทีหนึ่ง หาอ่านกันซะบ้างไอ้พวก ๑๐ นี่ ขอพูดแทรกตรงนี้หน่อยว่า พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่าไอ้สัตว์ที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ความแก่เป็นธรรมดา ความเจ็บเป็นธรรมดา ความตายเป็นธรรมดานั้น ถ้าเขาได้อาศัยสัมมัตตะ ๑๐ คือความถูกต้อง ๑๐ ประการอย่างที่ว่านี้แล้ว จะพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดา มีพบอยู่ ๒ โวหารนะ ว่าโวหาร ๑ โวหารที่แรกว่าถ้าสัตว์เหล่านี้ได้อาศัยตถาคตเป็นกัลยาณมิตรแล้ว พวกที่มีความเกิดเป็นธรรมดาจะพ้นจากความเกิด ที่มีความแก่เป็นธรรมดาจะพ้นจากความแก่ ที่มีความตาย ความเจ็บเป็นธรรมดา จะพ้นจากความเจ็บ ที่มีความตายเป็นธรรมดาจะพ้นจากความตายเป็นธรรมดาอย่างนี้ก็มี จะได้อาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตร สอนให้รู้จนไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บไม่มีตาย ทีนี้ในที่อื่น ท่านตรัสว่าถ้าได้อาศัยสัมมัตตะ ๑๐ ความถูกต้อง ๑๐ ประการแล้วก็เหมือนกัน ที่มีความแก่จะพ้นจากความแก่ ที่มีความเจ็บจะพ้นจากความเจ็บ ที่มีความตายจะพ้นจากความตาย นั้นตรัสไว้เป็น ๒เรื่อง แต่แล้วมันรวมกันเป็นเรื่องเดียวได้ เพราะว่าถ้าได้อาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตรแล้ว มันก็คือจะมีสัมมัตตะ ๑๐ มีความถูกต้อง ๑๐ ประการนั่นเอง สัมมัตตะ แปลว่าภาวะแห่งความถูกต้อง มีอยู่ ๑๐ หมายถึงมรรคมีองค์ ๘ เติมเข้าไปอีก ๒ เป็น ๑๐ เติมสัมมาญาณะกับสัมมาวิมุติลงไป มิจฉัตตะ แปลว่าภาวะแห่งความผิด มันก็มีมิจฉาทิฐิที่มีองค์ ๘ แล้วก็เติมเข้าไปอีก ๒ มิจฉาญาณะ มิจฉาวิมุติ ก็เลยเป็นความผิด ภาวะแห่งความผิด ๑๐ ประการ อันนี้มันน่าจะเทียบกับคำที่เรียกในภาษาศีลธรรมสากลว่าธรรมชาติฝ่ายต่ำ คือธรรมชาติฝ่ายผิด สัมมัตตะ ๑๐ประการนั่นแหละ ก็อย่าไปเทียบหรือเปรียบหรือจับคู่เหมือนกับว่าธรรมชาติฝ่ายสูง ธรรมชาติฝ่ายสูงคือความถูก ความถูกต้อง ธรรมชาติฝ่ายผิด ธรรมชาติฝ่ายต่ำก็คือธรรมชาติฝ่ายผิดมันเป็นชุดของมันเลย ชุดละ ๘ หรือชุดละ ๑๐ แล้วแต่จะพูดกันไปถึงขนาดไหน ถ้าเราอบรมกันอยู่แต่กับไอ้ความถูก ภาวะแห่งความถูกนี้ ไอ้นั่นแหละจะช่วยมาก ช่วยให้เจตสิกฝ่ายถูก ฝ่ายเป็นกุศลเข้ามาครอบ เข้ามาจับฉวยจิตให้กลายเป็นจิตที่ถูกต้อง แม้จิตได้ดำเนินมาผิด จะเป็นทุกข์อยู่แล้วหรือเป็นทุกข์เข้าไปบ้างแล้ว สติ สมาธิญาณ มันมาทันมันก็ดึงกลับ คล้ายๆว่าทะลุขึ้นมากลางผิด ทะลุขึ้นมากลางๆความผิด กลางปล้องของความผิด ออกมาเป็นความถูก มันก็เปลี่ยนทันที ความคิด การกระทำ หรือการพูดจา มันก็เปลี่ยนจากผิดเป็นถูกขึ้นมาทันที ถ้าดูตามแบบของอิทัปปัจจยตาก็หมายความว่า มันไปเปลี่ยนกระแสแห่งอิทัปปัจจยตาจากฝ่ายผิดมาเป็นฝ่ายถูกได้กลางๆปล้อง กลางคัน กลางสาย แต่ถ้ามันดีมาก มันไม่ผิดมาตั้งแต่ต้น คือไม่ผิดมาตั้งแต่ผัสสะ ผัสสะมันไม่ผิด ก็เดินไปในทางถูก แต่ถ้าผัสสะมันผิดซะแล้ว เวทนามันผิดซะแล้ว ตัณหามันก็เกิดแล้วนี้ ตรงนี้ยังแก้ได้ ยังทะลุกลางปล้องได้ สติมา หยุดตัณหา เลิกตัณหา ไม่มีอุปาทาน ก็ยังไม่ทันจะเป็นทุกข์ ไม่มีตัณหาก็ยังไม่ทันจะเป็นทุกข์ แต่ถ้ามีตัณหาแล้วมันก็มีอุปาทานแน่ แล้วมันเป็นทุกข์ ถ้าเป็นทุกข์แล้วก็เป็นอันว่าเจ็บปวดพอสมควรแล้วค่อยว่ากันใหม่ ค่อยตั้งเรื่องกันใหม่ นี่ความที่มีสติเพียงพอ รวดเร็วนี่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ คือมันทะลุกลางปล้องขึ้นมาทำลายไอ้ ๒ จิต ไอ้จิตที่ว่าดวงเดียว เดี๋ยวผิดเดี๋ยวถูก เดี๋ยวผิดเดี๋ยวถูก อำนาจฝ่ายถูกฝ่ายสูงมันมีนักกว่าเหนือกว่า มีกำลังกว่า มันก็เข้ามายึดเอาให้จิตเป็นไปในทางถูกอีกที ก็ปัญหานั้นกรณีนั้นมันก็หมดไป นี่เราจะต้องสนใจ อบรมเหตุปัจจัยของธรรมชาติฝ่ายสูงหรือฝ่ายกุศลหรือฝ่ายที่เรียกว่าสัมมัตตะนี่กันไว้ให้พออยู่เรื่อยๆ อยู่เรื่อยๆ การทำสมาธิภาวนานั่นแหล่ะ คือการอบรมทำให้มันพอ จงอบรมสมาธิภาวนาเพื่อพอกพูนสติเพื่อพอกพูนสมาธิ เพื่อพอกพูนทิฐิหรือญาณซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง นั้นการทำฝึกสมาธิภาวนามันดีอย่างนี้ ดีมากอย่างนี้ แต่ไม่ค่อยรู้จักกันและไม่ค่อยสนใจกันและก็ไม่ค่อยได้ทำ ก็ทำอย่าง ทำอย่างแกนๆโดยมาก ไม่ได้ทำกันจริงๆจังๆ นี่เราดำเนินตนอยู่ในหนทางแห่งความถูกต้อง คำว่าเรานั่นคือจิต จิตที่ประกอบด้วยความรู้อันถูกต้อง ดำเนินอยู่ในหนทางความถูกต้อง หมายความว่ากุศล กุศลและเจตสิกโดยส่วนเดียว เข้ามาปรุงแต่งจิตไว้เป็นประจำ อกุศลและเจตสิกไม่มีโอกาส เพราะว่ามันไม่ประมาทแล้ว มันไม่ประมาทแล้ว มันมีสติสมบูรณ์แล้ว ทุกอย่างมันจะพรึบขึ้นมา ความเข้มแข็ง ความอดทน ความกล้าหาญ ความซื่อตรง ความเฉียบขาด บังคับตนมันก็เต็มที่ขึ้นมาเรื่อยๆไปจนถึงระดับบรรลุมรรคผลนิพพาน หมายความว่าทำลายธรรมชาติฝ่ายต่ำหมดเลย ธรรมชาติฝ่ายต่ำไม่มีโอกาสเกิดจนสูญพันธ์ไปเลย จนจะพูดได้ว่าธรรมชาติฝ่ายสูงเกิดขึ้นมาเท่าไหร่ สมมติว่าหน่วยหนึ่ง ตวงด้วยหน่วยหนึ่ง ธรรมชาติฝ่ายต่ำก็ลดไปหน่วยหนึ่ง ธรรมชาติฝ่ายสูงเกิดขึ้นมาหน่วยหนึ่ง ธรรมชาติฝ่ายต่ำก็ลดลงไปหน่วยหนึ่ง เมื่อธรรมชาติฝ่ายสูงเกิดอยู่กันประจำอย่างนั้น ธรรมชาติฝ่ายต่ำก็หมด ก็สูญพันธ์ นั้นก็เป็นบุคคลสมมติเป็นพระอรหันต์ เป็นอริยบุคคล เป็นพระอริยะเจ้า มันก็คือจิตอีกแหละ มันไม่มีบุคคลมันไม่มีสัตว์ มันไม่มีตัวตนมันก็มีจิต จิตนั้นมันเปลี่ยนสภาพเป็นระดับสูงสุดอย่างนั้นและก็ครองกายนี้ ควบคุมกายนี้ให้เป็นไปตามความถูกต้องของจิตชนิดนั้น มันก็เป็นอัตภาพของพระอริยเจ้า เราหลีกคำสมมติไม่พ้นนะ คำว่าอัตภาพนี่ ในภาษาบาลีก็ใช้เหมือนกันนะ ภาวะแห่งตัวตนแต่จริงๆไม่มีตัวตน มีภาวะแห่งที่มันสมบูรณ์ สมบูรณ์ในหน้าที่ ไอ้คำว่าตัวตน ตัวตนนี้จะเป็นคำที่ยุ่งยากทำปัญหาให้มาก และไม่รู้ ไม่รู้ว่าทำไมปล่อยให้มันคาราคาซังกันอยู่อย่างนี้ เช่นให้พระสงฆ์ ภิกษุเราใช้คำสมมติเรียกตัวเองว่าอาตมา อาตมาภาพ มันคือบ้าชัดๆ คือบ้าเกินบ้า ถ้าคือตามหลักพุทธศาสนามันไม่มีตัวตน มันไม่มีอัตตาแล้วทำไมให้พระสงฆ์ใช้คำพูดจาว่าอาตมาภาพ ไม่รู้บัญญัติตั้งแต่ครั้งไหนเมื่อไหร่แล้วตอนออกไม่ได้ เดี๋ยวนี้ก็เป็นคำตายตัว เป็นคำชั้นสูง เป็นคำที่จะต้องใช้พูดจาในระดับสูง ผมจำได้แว่วๆว่าก่อนโน้นเลิก เลิกใช้ พระสงฆ์เลิกพูดคำว่าอาตมาภาพ ใช้คำว่ารูป รูป คือรูปกายแทน อย่างเดี๋ยวนี้เราก็พูดว่าอาตมาภาพอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าไม่งั้นก็รูป รูปอย่างนั้นรูปอย่างนี้ รูปต้องการนั้น รูปมาหาด้วยธุระอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นแหละดีคือไม่ต้องมีอัตตา ไม่ต้องมีอาตมาภาพ เราก็ไม่รู้ว่าทำไมมันจึงเอามาขวางเชิงกันอย่างนี้ หรือให้เรารู้เอาเอง ให้เราใช้ผิดๆไปก่อนแล้วก็มารู้เอาเองทีหลัง ว่าที่ถูกนั้น ไม่มีอัตตาไม่มีอาตมา อาตมาภาพมันก็คืออัตภาพนั่นเอง อาตมาภาพเป็นสันสกฤต อัตภาพเป็นภาษาบาลี นี่ขอให้เห็นว่าจิตนี่น่าเห็นใจอย่างยิ่งสิ่งที่เรียกว่าจิต มันแล้วแต่อะไรจะเข้าไปยึดครองแล้วปรุงจิตชนิดนั้นขึ้นมา ปรุงเป็นจิตชนิดนั้นขึ้นมา เป็นจิตผิดหรือเป็นจิตถูก เป็นพร้อมกันไม่ได้ ไอ้จิตดวงเดียวจะเป็นทั้งผิดและทั้งถูกพร้อมกันไม่ได้ มันก็ผลัดกันคนละที แล้วใครจะมาผลัดให้มัน ใครจะมาช่วยผลัดให้มันก็มันเองอีกนั่นแหล่ะ คือความที่เคยชินในทางความรู้ความถูกต้องของมันเองช่วยดึงไปกระชากไปทางนั้น การที่มีความรู้ถูกต้องมีความเคยชินไปในความถูกต้องที่เรียกว่าวาสนามันเป็นผู้ดึง
เอ้า,ที่นี้ดูเป็นอันสุดท้ายก็คือว่าไอ้ความยากอย่างที่ว่า มันยากที่ว่าจิตมันจะทำหน้าที่ให้ถูกต้องเพราะมันมีดวงเดียวและต้องช่วยตัวเอง ช่วยตัวเองให้ถูกต้องแล้วขจัดฝ่ายผิดออกไป พูดอย่างธรรมดาก็ว่ามันเป็นทั้งผู้ฝึกและถูกฝึก ใครจะมาฝึกก็จิตนั่นแหละฝึกจิตและจิตถูกฝึก มันน่าหัวใช่ไหม อะไรจะมาควบคุมมันก็จิตแหล่ะควบคุม และควบคุมใครก็ควบคุมจิตนั่นเอง แล้วถ้าว่าสอน ใครเป็นผู้สอนก็จิตนะสอน แล้วใครเรียนก็จิตอีกนั่นแหล่ะเรียน ลำบาก เอาเป็นว่านี่คือความหมายที่พันลึกที่สุด ของพระพุทธภาษิตที่ว่าอัตตาหิ อัตตโนนาโถ มีอัตตาอีกแล้วตนเป็นที่พึ่งของตน ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตนได้ ตนเป็นทั้งที่พึ่งและเป็นทั้งรับ รับการพึ่ง ตนเป็นผู้ที่ให้พึ่งและก็รับการพึ่ง ตน ตน ทั้งที่ตนนั้นไม่ได้มีอยู่จริง มีแต่เอาจิตเป็นตัวตนสมมติว่าจิตเป็นตัวตน ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเขาก็พูดอย่างนั้นว่าไอ้จิตนั่นแหละคือตัวตน แปลว่าโดยหลักทั่วไปไม่ถือว่าจิตเป็นตัวตน จิตก็เป็นสังขารชนิดหนึ่ง นั้นพูดอย่างสมมติภาษาชาวบ้าน ภาษาโลกๆว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ก็คือจิตนั้นต้องเป็นที่พึ่งแก่จิต จิตนั้นจะต้องอบรมตนเองถึงขนาดที่จะเป็นที่พึ่งแก่ตนได้ นี่ในชั้นสูงสุด ชั้นศีลธรรมต่ำๆเตี้ยๆ จะเป็นที่พึ่งแก่ตนคือทำงานเองหากินเอง อะไรเอง ช่วยตัวเอง แต่มาในขั้นลึก ขั้นสูง ขั้นปรมัตถ์อย่างนี้ จิตนั่นแหละจะเป็นผู้ที่ดำรงตน ชักจูงตน ฝนตน สอนตน ซึ่งฟังแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่แล้วมันก็เป็นไปได้อย่างที่พูดมาตั้งแต่ต้น เพราะจิตนั้นมันสะสมความเคยชินทางฝ่ายดีไว้มาก ไว้เรื่อย อบรมแต่ทางฝ่ายดี ฝ่ายกุศล ฝ่ายดีไว้เรื่อย จนมีมากพอที่จะกั้นการเกิดแห่งฝ่ายชั่วหรือฝ่ายต่ำ พูดเป็นธรรมดาสามัญเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมดาสามัญก็ว่า สะสมธรรมชาติฝ่ายสูงไว้เรื่อยไว้เรื่อย อยู่ด้วยธรรมชาติฝ่ายสูง ปฏิบัติแต่ธรรมชาติฝ่ายสูงไว้เรื่อยไว้เรื่อย มันก็จะสกัดกั้นธรรมชาติฝ่ายต่ำโดยอัตโนมัติแล้วเรื่องมันก็จบ ขอให้เราให้ ให้โอกาส ทำให้เป็นโอกาสแก่จิตที่มันจะช่วยตัวมันเอง เพื่อให้มีเจตสิกฝ่ายกุศลเกิดง่ายเกิดเร็วเกิดมากเกิดพอที่จะกำจัดฝ่ายอกุศล ชีวิตนี้ของบุคคลคนนี้หรือของจิตดวงนี้ มันก็เดินไปตามทางของไอ้ฝ่ายสูงของพระนิพพานและก็บรรลุจุดหมายปลายทางเป็นนิพพาน มีลักษณะเป็นว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตนอย่างละเอียดสุขุมลึกซึ้ง ขอให้ทุกคนสนใจ
เวลาหมดแล้ว สรุปความว่าประหลาดที่สุดที่จิตดวงเดียว จิตนี้ดวงเดียวไม่มีหลายดวง แล้วก็ผลัดกันเป็นอะไรก็ได้ ถ้าเป็นผิดก็เป็นทุกข์เป็นถูกก็ไม่เป็นทุกข์แล้วใครจะมาช่วยผลัดให้มัน มันเองที่แท้ก็ตัวมันเองผลัดมันเองอีก เพราะว่ามันได้ศึกษา ศึกษาไอ้ความผ่านมา ความผ่านมาผ่านมา เป็นการศึกษาจนรู้ว่าอะไรเป็นอะไรอะไรเป็นอะไร จนจิตมันน้อมไปแต่ในทางฝ่ายที่จะถูกที่จะดีที่จะดับทุกข์ เห็นไหมจิตมันก็สร้างบารมีของมันเองได้ ขอยุติการบรรยายวันนี้ไว้เพียงเท่านี้
ผมไม่ได้อธิบายหมวดธรรมไม่ได้สอนหมวดธรรมซึ่งไปหาเอาเองได้ในหนังสือหนังหา ผมอยากจะท้าว่าไอ้เรื่องอย่างนี้จะไม่มีใครพูดให้คุณฟัง ไอ้เรื่องอย่างที่กำลังพูดมาแล้วก็เหมือนกัน ผมจึงใช้เวลากับคุณมาไอ้เรื่องอย่างนี้ ถ้ามาพูดหลักธรรมะในนวโกวาท ในธรรมวิภาคอะไรนี้ก็ มันก็เท่านั้นก็ไปอ่านเอาเองก็ได้ แต่เรามาพูดกันถึงเรื่องที่ลึกลับ ที่มันไม่มีในหนังสือเรียนหรือมันมีแต่ยอดเข้าใจไม่ได้ มาเสียให้แจ่มกระจ่าง สว่างไสว คนบางพวกอาจจะว่ามีประโยชน์ก็ได้ ก็ตามใจ ...... คุณปรีชาให้หัวข้อเรื่องหรือเปล่า ทุกๆเรื่องที่แล้วมา ให้บ้าง วันนี้จะให้ชื่อว่าอะไร ..... ปัญหาหรือความลับของจิตดวงเดียว จิตดวงเดียวเป็นทั้งดีและทั้งชั่ว และเป็นหน้าที่ของจิตดวงนั้นที่จะกำจัดชั่วเอาแต่ดีด้วยตัวมันเอง เป็นของน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เอ้า, ปิดประชุม นิมนต์ ....