แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการพูดกันเป็นครั้งที่ ๕ ในวันนี้จะพูดถึงอานิสงส์ของการประพฤติพรหมจรรย์ ซึ่งก็คือการประพฤติธรรมะนั่นเอง พรหมจรรย์ก็คือธรรมจริยาหมายถึงการประพฤติธรรมะนั้นเอง เดี๋ยวนี้เรายังไม่ได้รับผลของพรหมจรรย์จนเต็มตามความหมาย เพราะเรายังไม่ได้ประพฤติธรรมะนั้นเต็มตามความหมาย ก็ได้รับอานิสงส์ของพรหมจรรย์ในระดับต้นหรือในระดับแรก หรือจะเรียกว่าโดยอ้อมกันก่อนก็ได้ เป็นสิ่งที่ต้องมองเห็นก่อนตามสมควร มิฉะนั้นแล้วมันก็จะเป็นเรื่องที่น่าหัว ที่ว่าเราไม่รู้ว่าจะบวชกันทำไม ประพฤติพรหมจรรย์ไปทำไม ถ้าเป็นอย่างพุทธกาล เขาไม่ได้บวชแต่ไปฟังธรรม ฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้า แล้วก็เห็นชัดว่าอะไรเป็นอย่างไรที่เกี่ยวกับความทุกข์ของเขา ก็มองเห็นว่ามันจะดับความทุกข์เช่นนั้นได้จริง เรียกว่ามองเห็นอานิสงส์โดยแท้จริง และก็มองเห็นต่อไปว่าการที่จะปฏิบัติอย่างที่กล่าวนั้นน่ะ ในบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเรือนมันทำไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องออกบวชเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่การประพฤติพรหมจรรย์นั้นๆ มันเป็นอย่างนี้เขาจึงได้ออกบวช แล้วก็บวชแล้วประพฤติพรหมจรรย์ นี้มันมีใจความสำคัญอยู่ตรงที่ว่าเขามองเห็นว่ามันจะได้อะไร ถ้าจะได้อย่างนั้นมันต้องออกบวช แล้วก็ออกบวชแล้วก็ทำจนได้อย่างนั้นจริงๆ เดี๋ยวนี้พวกเราสมัยนี้ออกบวชโดยมองเห็นอย่างนั้นหรือเปล่า นั่นแหละเป็นปัญหา ฉะนั้นขอให้สอบถามสอบสวนตัวเองดูก็แล้วกัน ว่าการออกบวชของเรานั้นมันมองเห็นจุดหมายปลายทางที่จะได้สิ่งนั้น แล้วก็ออกบวชเพื่อจะให้ได้สิ่งนั้น ตามแบบฉบับที่มีอยู่อย่างนั้นจริงหรือเปล่า แต่เนื่องจากคำว่าพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ นี้มันเป็นคำที่มีความหมายกว้าง ยิ่งมีคำอธิบายในอรรถคาถารุ่นหลัง และก็คำว่าพรหมจรรย์มีความหมายที่ขยายออกไปมากทีเดียว ตั้งแต่พูดให้ฟังคือคำว่าพรหมจรรย์นี่ หมายถึงทั้งในแง่ของปริยัติ ของปฏิบัติ และอันสุดท้ายของปฏิเวธ การประพฤติพรหมจรรย์ในส่วนปริยัติก็หมายความว่าตั้งหน้าตั้งตาศึกษาในส่วนหลักวิชา ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติอะไร แต่ว่าตั้งหน้าตั้งตาศึกษาให้ในส่วนหลักวิชา ให้เข้าใจให้มองเห็นชัดแจ้ง อย่างนี้ก็เรียกว่าปริยัติพรหมจรรย์ ปริยัติพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ในส่วนที่เป็นปริยัติ นี่บางทีจะได้แก่ของพวกเราสมัยนี้ ซึ่งบวชกันสามเดือนนี้ แล้วตั้งหน้าตั้งตาศึกษากันจริงจัง ให้ได้ความรู้อย่างเพียงพอในส่วนปริยัติ มันก็เป็นปริยัติพรหมจรรย์ มันก็มีอานิสงส์ด้วยเหมือนกัน ถ้าว่าใครไปไกลจนถึงกับว่าได้ปฏิบัติด้วย มันก็มีอีกพรหมจรรย์หนึ่งคือปฏิบัติพรหมจรรย์ ถ้าใครได้ปฏิบัติด้วย กลัวว่าจะไม่ค่อยมีกัน แล้วทีนี้ถ้ามันได้ปฏิเวธ ก็ได้บรรลุธรรมะในรูปแบบมรรคผลอย่างนี้เป็นต้นแล้ว มันก็กลายเป็นพรหมจรรย์อันสมบูรณ์ คือเป็นปฏิเวธพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ในส่วนที่ได้รับผลของการปฏิบัติ นี่พรหมจรรย์ พรหมจรรย์ แปลว่าความประพฤติอันประเสริฐ ได้แก่ธรรมจริยา คือการประพฤติซึ่งธรรมนั้นเอง การเรียนปริยัติก็เรียกว่าประพฤติธรรมในส่วนปริยัติ การปฏิบัติก็เป็นการประพฤติธรรมในส่วนปฏิบัติ ถ้าได้รับผลแล้ว ก็เรียกว่าได้รับผลของการปฏิบัติ คือประพฤติธรรมสำเร็จเกิดมีพรหมจรรย์ขึ้นสามขั้นตอนอย่างนี้ เมื่อเราพูดว่าอานิสงส์ของพรหมจรรย์ เราก็พูดกันได้ถึงสามขั้นตอนเช่นเดียวกัน ทีนี้ก็ดูให้ดีว่ามันจะมีอะไร ที่ต้องทำความเข้าใจกันอยู่มากเหมือนกันแหละ ดูคำว่าอานิสงส์กันก่อน อานิสงส์คือสิ่งที่ไหลออกมาในฐานะเป็นผลของการกระทำ ดูเหมือนคำแรกนี่จะเอามาจากความหมายของการรีดนมวัว เมื่อมีรีด มีการรีด นมวัวก็ไหลออกมา ไอ้คำนั้นน่ะเป็นความหมายของคำว่าอานิสงส์ ก็มันไหลออกมาเป็นผล มันก็มีลักษณะของปฏิเวธ คือเห็นผล เสวยผล ได้รับผล ปรากฏอยู่ในจิตใจ เขาว่าอานิสงส์ที่แท้จริงมันเพ่งไปยังระดับที่เป็นปฏิเวธ มันเป็นผลแท้จริงเหมือนกับน้ำนมวัวที่รีดออกมา ทีนี้เราใช้ปริยัติเป็นพรหมจรรย์ด้วย ก็ดูว่าปริยัติให้ผลอะไร ปริยัติไม่อาจจะให้ผลเหมือนกับว่าเป็นน้ำนมวัวที่ออกมาดื่มกิน มีรสชาติมีอะไรทำนองปฏิเวธ แต่มันก็มิใช่ว่าจะไม่มีผลอะไรเสียเลย เพราะว่าคนที่เรียนปริยัติมีความพอใจมีความสุขด้วยการเรียนปริยัตินั้นเขามีอยู่ เรียกว่าเป็นผลที่เป็นความสุขแก่จิตใจมันก็มีอยู่เหมือนกัน มันก็ยังเรียกว่าอานิสงส์อยู่ดี ก็ทำให้เขาเกิดความพอใจอย่างยิ่ง เป็นสุขอย่างยิ่งอยู่ตลอดที่เรียน แต่ไม่ใช่รับผลเป็นในมรรคผลนิพพาน ได้รับผลเป็นความพอใจในการได้รู้ ได้พอใจในความรู้ เป็นสุขเพราะความรู้ ก็เรียกอานิสงส์ การเรียนพระไตรปิฎก มันก็ทำให้คนนั้นมีความสุขไปตามแบบของการเรียนพระไตรปิฎกอย่างนี้ก็มี แต่เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยจะเรียนกันในรูปนั้น มักจะเป็นเรื่องเรียนเพื่อเครดิตเพื่อความรู้ ตอบได้ แล้วก็ไปหาอาชีพจากการสอนวิชาความรู้นั้นๆ เช่นว่าเป็นครูสอนธรรมะก็ยังมีเงินเดือน หรือไปรับราชการในหน้าที่สอนธรรมะ มันก็ยังได้เงินเดือนมากๆ เหมือนกันและ ถือว่าได้เป็นครูบาอาจารย์ที่มีเกียรติมีชื่อเสียง สมัยก่อนเขาเรียกกันว่าขรัว ใครรู้ปริยัติมากเขาเรียกกันว่าขรัว ขรัวนี่ก็เป็นคนมีหน้ามีตามีลาภสักการะมีอะไรมากมาย แต่อย่างนี้เราไม่เรียกว่าเป็นอานิสงส์โดยตรง เป็นอานิสงส์โดยอ้อม เว้นเสียแต่ว่าถ้าใครคนใดคนหนึ่ง มีเจตนาบริสุทธิ์ เรียนพระไตรปิฎกเพื่อความรู้สำหรับจะปฏิบัติเพื่อดับทุกข์กันจริงๆ อย่างนี้ก็พอจะเรียกว่าอานิสงส์ได้จริงเหมือนกัน เพราะว่าเจตนาบริสุทธิ์และก็เรียนด้วยความพอใจ ครั้นรู้แล้วก็มีความสุข มันก็เป็นความสุขเป็นอย่างนี้ ความสุขที่เกิดจากการเรียน ก็เป็นสิ่งที่มีได้ เคยพกคาถาที่เขาใช้เป็นเครื่องดลใจให้พอใจในการเรียน เขาเรียกคาถาวาณี อธิษฐานให้การเรียนพระไตรปิฎกเป็นเหมือนกับนางฟ้า ผูกพันจิตใจของผู้เรียนให้หลงใหลแบบหลงใหลในนางฟ้า อย่างนี้เขาก็เคยทำกัน แต่แล้วคนเหล่านั้น ผู้เรียนนั้นก็ไม่ได้ต้องการจะออกไปหาผลเป็นเงิน เป็นทอง เป็นวัตถุสิ่งของ เพราะต้องการจะอยู่เป็นผู้สอน สืบปริยัติ สอนปริยัติสืบๆ ไปให้มันเนือง นี่อานิสงส์ของปริยัติพรหมจรรย์เท่าที่มันจะมีได้มากอย่างไร ก็อย่างนี้แหละ ก็เป็นเรื่องที่ควรจะรู้ไว้ด้วย ทีนี้อยากจะให้รู้จักมองไปอีกส่วนหนึ่งว่า เราบวชและเรียนปริยัติกันชั่วคราว ไม่มีโอกาสปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผล เป็นตามความมุ่งหมายของพรหมจรรย์น่ะ ไม่เท่าไรเราก็สึกหรือลาสิกขา แต่ว่าถ้าเราสามารถใช้ความรู้ที่เราเรียนระหว่างบวชน่ะ เอาไปแก้ปัญหาเพื่อจะดับทุกข์ในการเป็นฆราวาส เป็นการดับทุกข์ทางจิตใจโดยตรงเพื่อจะดำรงจิตใจในเพศฆราวาสให้ดีที่สุด จนมีความทุกข์น้อยกว่าฆราวาสธรรมดา มีความทุกข์น้อยมากแล้วว่าอย่างนั้น อย่างนี้ก็จะสงเคราะห์เข้าในอานิสงส์อันแท้จริงได้ ครั้นมันจะมีลักษณะเป็นปฏิเวธกลายๆ ไปไม่สมบูรณ์ ที่มันดับทุกข์ในใจได้นั่นน่ะเป็นเรื่องของปฏิเวธ ขอให้นึกดูให้ดี บางทีเราจะได้ในส่วนนี้แหละเต็มเปี่ยมเลยเมื่อลาสิกขาออกไปแล้ว ถ้ามันไม่ได้หมดถึงกับบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็สุดแท้แต่ว่าอย่างน้อยก็ขอให้ได้ส่วนนี้ ส่วนที่ว่านี้ ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ให้ได้จริงๆ ไม่ใช่ว่าเอาไปใช้ในเรื่องของฆราวาสเพราะว่าคำสอนในพระบาลีในพระไตรปิฎกเป็นเรื่องของฆราวาสก็มี เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ความมุ่งหมาย ไม่ใช่ความมุ่งหมายของพรหมจรรย์นี้ ไม่ใช่ความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้า แต่ถ้ามีใครไปทูลถามพระองค์ในเรื่องที่เกี่ยวกับฆราวาส เรื่องบิดามารดา บุตรภรรยา อย่างที่เรียกว่าคิหิปฏิบัติน่ะ คุณก็ไปดูเอาเองก็แล้วกันในหนังสือแปลเปรียญนักธรรมโอวาท มันก็มีสำหรับที่ปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วเป็นคฤหัสถ์ที่ดีที่สุด ก็เรียกว่าเป็นผลเป็นอานิสงส์ได้เหมือนกันแหละ แต่นั่นไม่ใช่ความมุ่งหมายหรอก ไม่ใช่ความมุ่งหมายอันแท้จริง แต่ถ้าใครจะไปใช้ก็ได้ หมายความว่าคนนั้นมันยังตื้นเกินไป แม้แต่ความเป็นฆราวาสก็ยังทำไม่ได้ ต้องศึกษาปริยัติเพื่อความเป็นฆราวาสที่ถูกต้องกันเสียทีหนึ่ง เขาเรียกว่ามันได้ผลเหมือนกันแหละแต่มันต่ำลงไปมาก ก็ไปดูเรื่องที่ปฏิบัติน่ะนี้ก็เป็นในระดับต่ำ ทีนี้เราก็เป็นคฤหัสถ์แบบนั้นน่ะสมบูรณ์แบบแล้ว แต่ยังมีความทุกข์ทางจิตใจเหลืออยู่อีกมาก ทีนี้เราก็จะเป็นคฤหัสถ์ที่บำบัดความทุกข์ทางจิตใจในระดับสูงอีกได้มากกว่าคฤหัสถ์ตามธรรมดา นั่นแหละคือผลที่แท้จริงในรูปแบบของปฏิเวธ ที่คฤหัสถ์ครองเรือนอาจจะได้รับ ได้รับเอากันตามที่มีกล่าวอยู่ในพระบาลี การครองเรือนอย่างฆราวาสนี่เป็นโสดาบันก็ได้ เป็นสกิทาคามีก็ได้ เป็นอนาคามีก็ได้ ทางจิตใจน่ะและมันเกิดเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา มันหมดแห่งความเป็นฆราวาสโดยอัติโนมัติ ถึงกับเขามีคำกล่าวกันว่าเป็นพระอรหันต์แล้วต้องบวช ไม่บวชจะตาย ถ้าจะมาหลับตาพูด พอเป็นพระอรหันต์แล้ว มันอยู่เหนือความบวชหรือความไม่บวชแล้ว เพราะมันเกิดเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาในเพศฆราวาส ยังไม่ทันจะบวชนี่มันก็พ้นจากความเป็นฆราวาสเสียเอง หรือจะกล่าวอีกทีมันก็พ้นความบวช เหนือความบวชไปเสียอีก การบวชไปเสียอีก การเป็นพระอรหันต์มันสูงสุด เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องกลัวหรอกว่าเป็นพระอรหันต์ในฆราวาสแล้วจะต้องตาย เพราะมันจะว่าง ว่างความเป็นมนุษย์ ว่างความเป็นฆราวาส ว่างความเป็นอะไรไปเสีย แต่เขาไม่ถือว่าไม่ใช่เรื่องของฆราวาสแล้ว ความเป็นพระอรหันต์มันก็เหลืออยู่แต่พระอนาคามีลงมา ดังนั้นฆราวาสก็สนใจได้ในระดับของพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี เป็นที่(นาทีที่ 17:35) เอาเรื่องของปฏิเวธมาเป็นอานิสงส์ของฆราวาสผู้นั้นได้ ถ้าอย่างนี้แล้วมันก็ไม่ใช่ปริยัติล้วนๆ เสียแล้ว มันเป็นการปฏิบัติโดยไม่รู้ตัว มีได้รับผลเป็นปฏิเวธอยู่ในตัว มันเป็นเพียงเหตุผลหรือหลักการ จะทำได้หรือไม่ มันก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าถือตามกฎของธรรมชาติกับของอิทัปปัจจยตา แล้วมันก็กล่าวได้ว่าไม่ไร้ผล ไม่มีการกระทำอันใดที่มันจะไร้ผล นี้ก็พยายามทำไปเถิด แม้ว่าสึกไปเป็นฆราวาสแล้วสิ่งใดที่ได้เล่าเรียนไปสูงถึงระดับของการบรรลุมรรคผล ก็ทดลองปฏิบัติได้ ฝึกฝนไปตามเรื่อง เรียกว่าเรียนไปในชีวิตนั้นเอง อะไรเกิดขึ้นในชีวิตแล้วก็เรียนไปในตัวมันเอง มันก็ค่อยรู้เรื่องความทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์อะไรมากขึ้นมากขึ้น มันก็จะลดกิเลส ลดความทุกข์ลงไปได้ นี่เรียกว่าเป็นความหวังอย่างมาก หวังได้อย่างมากสำหรับผู้ที่บวชชั่วคราว และเป็นผู้จริงเป็นคนจริง ไม่เหลวไหล ก็ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ ตามที่จะปฏิบัติได้ อยู่ในการครองเรือนนั่นแหละ มันก็เป็นฆราวาสชนิดที่เขาเรียกกันว่าอริยสาวก อริยสาวกที่ครองเรือน เพราะฉะนั้นอย่าทำผิดในเรื่องนี้ เพราะถ้าทำผิดในเรื่องนี้มันจะได้ผลน้อยเกินไปไม่คุ้มค่า นี่ผมบอกให้ทราบว่าทีเดียวหมด ถึงเรื่องอานิสงส์ของการประพฤติพรหมจรรย์ และพรหมจรรย์ชนิดที่เป็นปริยัติ แต่เป็นปริยัติที่ซื่อตรง ไม่ใช่ปริยัติขายหาเลี้ยงชีวิต แต่เป็นปริยัติที่ซื่อตรงของบุคคลนั้นเป็นหลักเกณฑ์อันชัดเจนแน่นอนของบุคคลนั้น ที่จะอยู่ครองเรือนในฆราวาส เขาก็ต่อสู้กับกิเลสไปตามแบบของฆราวาส ฉลาดขึ้นทุกครั้งที่กิเลสเกิดไปตามแบบของฆราวาส เอาชนะกิเลสได้มากขึ้นมันก็ไปได้ไกลถึงอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เราไม่มีพระพุทธเจ้าที่จะไปเฝ้า แล้วบรรลุมรรคผลกันเหมือนในครั้งพุทธกาลน่ะ แต่เราก็มีพระพุทธเจ้าอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเราไปเฝ้าได้ที่ๆ ไหนก็ได้คือพระพุทธเจ้าในหัวใจของเรา ไม่ใช่พระพุทธเจ้าที่อยู่ในประเทศอินเดียในครั้งพุทธกาลโน้น มันก็ว่าโดยสรีระร่างกายท่านก็นิพพานไปแล้ว แต่ท่านก็ไม่ได้ถือว่านั่นคือพระพุทธเจ้าแต่เพียงอย่างเดียว ก็ยังมีคำกล่าวที่ว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรมอยู่นั่น เราเอาธรรมะเป็นพระพุทธเจ้าแล้วมันก็ยังมีอยู่กระทั่งเดี๋ยวนี้ ธรรมนั้นคืออะไรก็ระบุไปยังปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทคืออะไร ก็คือความรู้เกี่ยวกับความทุกข์เกิดขึ้นมาอย่างไร ความทุกข์จะดับลงไปอย่างไร นี่คือตัวธรรมะที่เห็นแล้วเท่ากับเห็นพระพุทธเจ้า ฉะนั้นจงพยายามเห็นธรรมะนี้แหละว่าความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ความทุกข์ดับไปอย่างไร เราจะทำมันดับไปได้อย่างไร เห็นธรรมะนี้ เมื่อเราเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ไม่แพ้ในครั้งพุทธกาล บางทีก่อนจะนอนก็เฝ้าพระพุทธเจ้าได้ครั้งหนึ่ง หรือตื่นนอนขึ้นมาใหม่ๆ ยังไม่ทันทำอะไร ก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ครั้งหนึ่ง คือทบทวนพระธรรมที่ว่าความทุกข์เกิดขึ้นมาอย่างไร ความทุกข์จะดับลงไปอย่างไร เป็นอยู่โดยวิธีใด ความทุกข์มีแต่จะดับไป เรียกว่าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้บ่อยๆ ที่สุด ทั้งก่อนนอนและทั้งตื่นนอนก็ได้ หรือแม้บางเวลาในกลางวันถ้าเรามีเวลา เราก็เอานี้มาทบทวน มาทบทวน มันแปลว่าอย่าคิด(นาทีที่ 23:03)ไปเถลไถลเรื่องกามารมณ์ เป็นบ้าเป็นหลัง ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันดีกว่า ไปหาที่สงบสงัดพอสมควรในห้องของเราก็ได้ แล้วเราก็ทบทวนเรื่องนี้แหละ ทบทวนเรื่องความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ความทุกข์จะดับไปอย่างไร นั่นแหละคือการที่เราสามารถเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ แม้ในปัจจุบันนี้เช่นเดียวกับที่ในครั้งพุทธกาลนั้น ที่เขาไปเฝ้าพระพุทธเจ้าสนทนากันพักเดียวก็บรรลุมรรคผล เดี๋ยวนี้ก็ยังมีทางที่จะทำได้แม้แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่มันก็หลายสิบเปอร์เซ็นต์ละ เพราะพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้เองว่า เห็นธรรมะก็เห็นตถาคต เห็นตถาคตคือธรรมะ ไม่ใช่เห็นตัวท่าน การที่เขาจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยตรงในอินเดียในครั้งพุทธกาลโน้น ก็ต้องมีการเห็นธรรมะเหมือนกัน ถ้าไม่เห็นธรรมะแม้ไปนั่งอยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้าก็ไม่ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า หรือเฝ้าพระพุทธเจ้าหรอก ไปคิดดูดีๆ เถิด มันก็ไม่เสียเปรียบอะไรกันนัก คนครั้งกระโน้นไปเฝ้าพระพุทธเจ้านั้นต้องเห็นธรรมะนะ จึงจะเรียกว่าเห็นพระพุทธเจ้าและก็ได้รับประโยชน์จากการไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ลักษณะอย่างนี้เอามาทำได้แม้ในปัจจุบันนี้ นั่นแหละคือผลประโยชน์ อานิสงส์ของการที่เราศึกษาปริยัติอย่างเพียงพอ ที่เรากำลังจะพูด จะเรียน จะอธิบาย จะใช้อะไรเป็นปริยัตินี้ ถ้าเราศึกษากันให้จริงให้จังให้เพียงพอเถิด มันจะทำมันจะช่วยให้เกิดอาการที่เราไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วก็รู้ธรรมะยิ่งๆ ขึ้นไป ได้ยิ่งๆ ขึ้นไป แม้กระทั่งในยุคปัจจุบันนี้ ถ้ารู้คำว่าปริยัติที่เราเรียนนั้นน่ะ มันจะช่วยให้เราสามารถประพฤติกระทำสักอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเสมือนว่าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วมีการบรรลุมรรคผลกันต่อหน้าพระพุทธเจ้า ใช้คำว่าต่อหน้า ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้านี้ได้ทุกยุคทุกสมัย แม้เดี๋ยวนี้ทว่าเกิดบรรลุมรรคผลขึ้นมาโดยการประพฤติปฏิบัติ มันก็ต่อหน้าพระพุทธเจ้า ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า เพราะมันต่อหน้าของธรรมะที่เรารู้ที่เราทำให้มีขึ้นมาในจิตใจ นี่เขาเรียกว่าในส่วนลึกแล้วมันมีความหมายอย่างเดียวกัน แม้คนที่เขารู้กันแต่ภาษาคน เอาตัวเอาตน เอาเนื้อเอาหนังเป็นองค์พระพุทธเจ้าหรือเป็นตัวจริงอย่างนี้มันก็เรียกว่าไม่ถูก แม้ครั้งพุทธกาลมันก็ไม่เห็น ที่พระองค์ตรัสว่ามันอยู่กันต่อหน้า มันจะจับใจจึงมุม(นาทีที่ 26:12) จีวรไว้ไม่ปล่อย มันก็ไม่เห็นตถาคต ต่อเมื่อเห็นธรรมะจะเห็นตถาคต ทีนี้การเห็นธรรมะยังมีได้เป็นไปได้แม้ในยุคปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นทุกคนอย่าได้ประมาท อย่าได้ให้เสียโอกาสเพราะละเลย เพราะฉะนั้นขอให้ทุกองค์พยายาม จัดกระทำเวลาที่บวชกันเพียงสามเดือนนี้ ให้ดีที่สุดเลย จะได้รับอานิสงส์ของพรหมจรรย์ เต็มที่ตามที่จะรับได้นะ ตามที่จะรับได้ก็แล้วกัน ทีนี้จะเอาอะไรเป็นเครื่องวัดว่า ผลของพรหมจรรย์มันคืออะไร คืออะไร อย่างไร เพื่ออะไร เมื่อไร ที่ไหน ผลของพรหมจรรย์ ก็คือ ดับทุกข์ ดับทุกข์ ดับกิเลส กิเลสกับความทุกข์ลดลงไป ลดลงไป เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ในอัตภาพของบุคคลนั้น ฉะนั้นชีวิตที่เคยร้อนก็กลายเป็นชีวิตเย็น ชีวิตที่เคยสกปรกก็กลายเป็นชีวิตที่สะอาด ชีวิตที่มันโง่มันมืดก็กลายเป็นชีวิตที่สว่างไสว มันก็มีเท่านั้นแหละ เพราะฉะนั้นทุกคนควรจะมองให้เห็นในชีวิตที่ยังไม่ได้พัฒนาด้วยธรรมะ ก่อนนี้มันก็เป็นชีวิตสกปรกไม่สะอาด เป็นชีวิตที่มืดมัวไม่สว่างไสว เป็นชีวิตที่เร่าร้อนไม่เยือกเย็น ขออย่าให้คำสามคำนี้เป็นเพียงคำพูด สักแต่ว่าพูดด้วยปาก ขอให้เป็นถ้อยคำที่เรามองเห็นชัดเลย ว่าชีวิตสกปรกเป็นอย่างไร ชีวิตมืดเป็นอย่างไร ชีวิตร้อนเป็นอย่างไร ไม่ต้องไปดูที่ไหน ดูที่ของตนเอง ที่มันเคยเป็นอย่างนั้น หรือมันกำลังเป็นอยู่อีกก็ได้ เดี๋ยวนี้กำลังเป็นอยู่อีกก็ได้ ในระดับหนึ่งน่ะ เป็นชีวิตสกปรก ชีวิตมืด ชีวิตร้อน ยังเป็นอยู่ก็ได้เดี๋ยวนี้ คอยดูมันเถอะ จับตัวมันให้ได้ แล้วก็พยายามทำไปตามความสามารถด้วยสติปัญญาที่รู้อยู่อย่างไร ทำให้มันดีขึ้น ดีขึ้น ให้มันสะอาดขึ้น สว่างไสวขึ้น สงบเย็นมากขึ้น ถ้าว่าไปนั่งทำวิปัสสนาตามสมบูรณ์แบบได้ก็เป็นการดี แต่ถ้ามันทำไม่ได้ก็ไม่ใช่ว่าหมดความหวัง ถ้าไม่มีโอกาสจะไปทำวิปัสสนาตามสมบูรณ์แบบนั้นได้ ก็ทำไปในชีวิตประจำวัน โดยมีสติให้เพียงพอ มีปัญญาให้เพียงพอ ปัญญาทุกชนิดน่ะรวบรวมไว้เถิด จะเป็นปัญญาที่เกิดมาจากการเล่าเรียนก็ตาม ปัญญาที่เกิดมาจากการคำนวณด้วยเหตุผลก็ตาม ปัญญาที่ได้เกิดมาจากการได้ผ่านเรื่องราวเหล่านั้นโดยแท้จริงไปด้วยจิตใจจริงๆ ก็ตาม มันเป็นปัญญาทั้งนั้น แม้ที่เราเรียนอย่างปริยัตินี้ก็เป็นปัญญาที่จะเป็นพื้นฐานของปัญญาอย่างอื่น แต่มันจะได้ง่ายขึ้น ขอให้รวบรวมไว้ก็แล้วกัน ขึ้นชื่อว่าปัญญาแล้วขอให้รวบรวมไว้ก็แล้วกัน นี้เรากำลังพูดว่าผล อานิสงส์หรือผลนั้น มันคืออะไร คืออะไร คืออย่างไร คือเพื่ออะไร อันนั้นก็เพื่อดับทุกข์ทั้งนั้นแหละ ถ้าเราจะมองกันว่าต่ำสุด ชั้นต่ำสุด มันก็แก้ปัญหาต่างๆ อย่างของฆราวาสได้อย่างที่พูดไปแล้วหยกๆ มาทำงานในส่วนฆราวาสหรือคฤหัสถ์ก็มี เมื่อรู้แล้วก็แก้ปัญหาในส่วนนั้นได้ คือไม่ยากจน ไม่ยากจน ไม่ทนทุกขเวทนาในชีวิตนั้น มันเป็นเรื่องวัตถุหรือสิ่งของ เงินทอง ไม่ใช่ความมุ่งหมายโดยตรง พอมาถึงความมุ่งหมายโดยตรง ก็จะมาเป็นเรื่องลึกกว่านั้น ลึกกว่านั้น เพิ่งใช้คำว่ารอด หลุดรอดก็ได้ ใช้คำว่าเกษมก็ได้ เกษม เกษม เขมะแปลว่าความเกษม หรือว่าวิเวก ใช้คำว่าวิเวกก็ได้ คำว่าวิเวกนี่เข้าใจว่าคงยังไม่ค่อยทราบกัน ถ้าเรียนมาอย่างโรงเรียนอย่างไม่เกี่ยวกับธรรมะหรือศาสนา ไม่ค่อยรู้กันหลอกว่า วิเวกนั้นคืออะไร และบางทีก็เข้าใจผิดว่าวิเวกไปอยู่คนเดียวในป่า อย่างนั้นมันก็ถูกนิดเดียวล่ะ ไปนั่งอยู่คนเดียวที่ไหนก็ว่าวิเวกมันก็ถูกแหละ วิเวกมันก็มาจากคำว่าเอกะคือเดียวหรือหนึ่ง และก็วิอย่างยิ่ง หนึ่งเดียวอย่างยิ่งเรียกว่าวิเวก แต่มันมีหลายชั้น เดี๋ยวนี้เรามันถูกกลุ้มรุมห้อมล้อมด้วยสิ่งรบกวนนานาประการ ไม่มีวิเวก นี้ฟังไว้ก็ดีนะไอ้คำแปลกๆ อย่างนี้ เราไม่มีวิเวกทางกาย คือมีอะไรเข้ารบกวนทางกายทางวัตถุ ความไม่ถูกต้อง ความไม่เหมาะสม ความไม่สมดุลทางกายมันรบกวนเราอยู่ ก็เรียกว่ากายของเราไม่วิเวก อย่างนี้มันไม่ยาก หลีกออกไปเสียก็วิเวกได้ทางกาย ทีนี้ก็ทางจิต เราไม่วิเวก เพราะมันมีอะไรมารบกวน มาห้อมล้อม มาตอม มารุม อยู่เสมอ คือสิ่งที่มารบกวนจิต เช่นนิวรณ์ หรือกิเลส สัญญา อุปาทาน ความเคยชินอะไรต่างๆ นี่มันรบกวนจิตอยู่เสมอ นี่เราไม่วิเวกในทางจิต ก็อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าหมดแล้ว ยังมีอีกวิเวกหนึ่ง มันสูงสุดเป็นอันสุดท้าย เราวิเวกอีกชั้นหนึ่งคือวิเวกจากอุปธิ วิเวกจากอุปธิ นี่คือวิเวกจากการแบกของหนัก ช่วยจำไว้ด้วยเถิดแล้วรู้ทีหลังเอง วิเวกอันสุดท้ายนี่เรียกว่าอุปธิวิเวก วิเวกหลุดพ้นไปจากการแบกของหนัก กายวิเวกพ้นจากสิ่งรบกวนทางกาย จิตตวิเวกพ้นจากสิ่งรบกวนทางจิต แต่แล้วยังมีตัวตนอันวิเวกเหลืออยู่สำหรับยึด แบกเป็นของหนัก คือตัวตนมันยังเหลืออยู่ แม้มันจะดีขนาดนั้นแล้วไอ้ตัวตน มันยังเหลืออยู่สำหรับแบกเป็นของหนัก วิเวกอันสุดท้ายก็คือวิเวกจากการแบกของหนัก วิเวกจากอุปธิ อะไรๆ ที่เราว่าดี ว่าวิเศษ ว่าประเสริฐ ที่เรารัก ที่เราชอบ มันเป็นของหนักทั้งนั้นน่ะ ก็ยึดถือไว้ในจิตใจ อุปธิวิเวกเนี่ยมันจึงเป็นของละเอียดเข้าใจยาก ก็คนสมัครนี้ สมัครจะแบกจะถือจะทูนจะหาบจะหาไว้โดยไม่รู้สึกตัว คือแบกตัวกู แบกของกู อะไรที่เป็นตัวกู อะไรเป็นของกู ก็แบกไว้ทานไว้ทรงไว้ มันก็เป็นของหนัก นี่มันเป็นเรื่องเลยกิจเข้าไปอีก จะพูดให้มันชัดว่าจิตเดี๋ยวนี้ไม่มีนิวรณ์ มันเป็นสมาธิสำเร็จ ไม่มีอะไรรบกวนจิตอยู่ในรูปฌานหรือในอรูปฌานก็ตาม แต่มันยังมีความรู้สึกเหลืออยู่ว่าเราน่ะ เราน่ะ เราเป็นอย่างนั้น เรามีอย่างนั้น เรามีคุณสมบัติอย่างนั้น แม้แต่จิตไม่มีอะไรรบกวน เป็นจิตที่ตัดวิเวกแล้วแต่มันก็ยังเหลือเป็นเรา ผู้เป็นเจ้าของวิเวกนั้นอยู่ มันจึงมีตัวกู มีของกูเหลืออยู่ ต้องวิเวกจากไอ้นี่ชั้นหนึ่ง เรื่องนี้ถ้าเข้าใจได้จะดีมาก คือว่าจะช่วยให้ง่าย ในการที่จะเข้าใจธรรมะลึกๆ ต่อไปข้างหน้า วิเวกจากสิ่งรบกวนทางกาย วิเวกจากสิ่งรบกวนทางจิต แล้วก็วิเวกจากการแบกของหนัก นี่คือตัวกูหรือของกู ในความดีบุญกุศลอะไรต่างๆ ที่ทำไว้สำเร็จแล้ว ถ้าเอามาแบกเอามาถือไว้ มันก็เป็นอุปธิอีกเหมือนกัน เป็นอุปธิ ไม่ทำบาปหมดไปแล้วก็ทำดีทำบุญทำกุศลขึ้นมา แล้วก็มาแบกตัวตนที่เป็นผู้ทำบุญ ทำกุศล อย่างนี้มันไม่จบ เรื่องมันไม่จบ มันต้องทำชนิดเกลี้ยงเกลาไปเสียจากบุญจากบาปโดยประการทั้งปวงอีกทีหนึ่ง คือหลักของโอวาทปาติโมกข์ที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอนั้นน่ะ ไม่ทำชั่วแล้วก็ทำดี และก็เลิกความยึดถือทั้งชั่วและทั้งดี โดยประการทั้งปวง อันสุดท้ายนี้เรียกว่าวิเวกจากการแบกของหนัก การแบกของหนักไม่มากล้ำกลายเราอีกต่อไป เมื่อธรรมะชั้นละเอียดที่ผมอยากจะพูดว่ามันหาฟังยาก แต่ถ้าพูดแล้วฟังไม่ถูกก็มันก็เป็นเรื่องเป่าปี่ให้แรดฟัง เป่าปี่ให้เต่าฟัง ถึงผมก็รับหน้าที่นี้อยู่บ่อยๆ ถ้าผมพูดเรื่องที่เขาฟังไม่ถูก มันคงจะพยายามทำความเข้าใจ วิเวกเสียจากสิ่งรบกวนทางกาย วิเวกเสียจากสิ่งรบกวนทางจิต และก็วิเวกเสียจากการแบกถือของหนักโดยประการทั้งปวง ความไม่ถูกต้องทางกายมันกลุ้มรุมเราอยู่ให้ลำบากทางกายเอา แก้ตกหายไป ความไม่ถูกต้องไม่สมดุลทางจิตมีอะไรมากลุ้มรุมจิตอยู่ ที่เป็นปรกติประจำวันตลอดวันก็พวกนิวรณ์ทั้งหลายไปดูให้รู้จักเถอะ มันมีกวนอยู่ตลอดวันน่ะ หรือกิเลสในรูปอื่นๆ ที่มันเป็นเรื่องรบกวน แม้แต่จริตนิสัยที่เคยชินไปในทางไหนมันก็รบกวน เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่รบกวนจิตก็วิเวก จิตก็วิเวก นี้มาเหลืออยู่แต่ว่า ไอ้ของหนักที่ยึดถือไว้ด้วยความโง่ความหลงยังไม่ได้วาง มันก็ยังไม่วิเวกจากการแบกของหนัก มันเลยเป็นเครื่องหนักแห่งจิตใจ ไปเรียนเองดีกว่าไปสังเกตดูเองดีกว่า แต่ขอให้รู้ไว้ด้วยว่ามันมีทั้งอย่างเปิดเผยและอย่างเร้นลับ พูดอย่างภาษาใหม่สมัยใหม่สักหน่อยก็จะพูดว่ามันมีอย่างชนิดที่รู้สำนึก แต่ชนิดที่อยู่ใต้สำนึกครึ่งสำนึก พวก Semi-conscious พวก Sub-conscious นั้นน่ะมันก็มี จิตของเราก็หนักเพราะแบกอะไรอยู่โดยที่เราไม่รู้สึกตัว อย่างพอเราตื่นนอนขึ้นมา ไม่รู้มันอะไรมันละเหี่ยละห้อย มันไม่ปลอดโปร่งเพราะมันมีของหนัก อะไรแบกอยู่ในจิตเป็น Sub-conscious อยู่โดยไม่รู้สึกตัว นี่อย่าให้ไปเล่นกับมัน เพราะเราต้องหวังอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ต้องชอบใจอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ต้องอาลัยอาวรณ์อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตามกรณีแห่งบุคคลคนนั้น เพราะนั้นมันเป็นของหนักที่ถือไว้หิ้วไว้ เป็นการแบกของหนักไว้ เป็นความเคยชินเกิดได้ชนิดที่ว่าไม่มีเหตุปัจจัยจากภายนอกมันก็เกิดได้ นี่เป็นเรื่องต้องรู้ไว้ว่ามันมีไอ้ชีวิตจิตใจที่ยังมีอวิชชา และยังจะต้องมีการถือของหนักอย่างนี้ไว้เสมอ และมันยากลำบากตรงที่ว่า ไอ้ของหนักชนิดนี้เป็นอันสุดท้ายที่เราพอใจอย่างยิ่ง ซึ่งกินก็ดี เรื่องกามก็ดี เรื่องเกียรติก็ดี เรื่องบุญกุศลก็ดี ที่มันเป็นชั้นสุดท้ายที่เป็นที่พอใจนี้มันซ่อนตัวอยู่ภายใต้นั้น ไม่ให้เรามองเห็นว่าเรากำลังแบก กำลังหาม กำลังทูนศีรษะอยู่เลย มันไม่แสดงให้เห็นได้ แต่แล้วมันก็มีอยู่ เป็นความหวังในความดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกียรติยศ ชื่อเสียงในความดี บางคนก็ชอบบุญกุศล ชอบอะไรละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไป มันก็เป็นเรื่องที่หนัก เรียกว่าเป็นของหนักอยู่ในจิตใจ แล้วจะไปศึกษากันละเอียดก็ได้ว่ามีอะไรบ้าง ไว้วันหลังก็ได้ หรือไม่ต้องรู้ก็ได้ว่าที่จริงน่ะ แต่คอยรู้โดยส่วนรวมว่ามันคอยมีสิ่งนี้ ที่จิตมันยังพอใจหลงใหลยึดถืออยู่ ไม่รู้ปล่อย ผมจะบอกว่าที่พูดเรื่องอย่างนี้กับคุณผู้บวชใหม่นี่ เขาว่าผมบ้าทั้งนั้นแหละ ก็เรื่องขนาดนี้มาพูดกับคุณผู้บวชใหม่นี่ เขาว่าผมบ้าทั้งนั้นแหละ อาจารย์ผู้เฒ่าผู้แก่เขาก็จะหาว่าอย่าเพิ่งมาสอนอย่างนี้เป็นต้น แต่ผมกลับเห็นว่ามันเป็นเรื่องต้นเรื่องแรกที่จะต้องรู้แนว รู้ทิวทัศน์ของมันเสียตั้งแต่ตอนแรกๆ มันจะได้ง่ายในการที่จะเข้าใจ ต่อไปโดยเร็ว เพราะฉะนั้นพยายามเข้าใจให้มากเท่าที่จะเข้าใจได้ พอเข้าใจได้มันก็จะใคร่ครวญได้ สืบต่อ ต่อต่อกันไปได้ตามลำดับ เดี๋ยวนี้เรารู้ว่าวิเวกสามวิเวก วิเวกไม่รบกวนทางกาย วิเวกไม่รบกวนทางจิต วิเวกก็ไม่มีของหนักที่มาแบกถือไว้ พอจะคำนวณได้ไหมลองคำนวณดูสิว่า จิตจะเป็นอย่างไร จิตจะเป็นอย่างไร แม้ว่ายังปล่อยไม่ได้ยังทำไม่ได้แต่พอจะคำนวณได้ ว่ามันจะเป็นอย่างไร มันจะผิดจากที่มันเคยเป็นมาแล้วแต่หนหลังหรือกำลังเป็นอยู่นี่สักกี่มากน้อย ว่าถ้าเราวางของหนักเหล่านี้ลงไปเสียได้นะ มันจะเป็นอย่างไร มันจะเป็นชีวิตสะอาดไหม จะเป็นชีวิตสว่างแจ่มแจ้งไหม มันจะเป็นชีวิตเยือกเย็นไหมน่ะ คำนวณเถอะในทำนองอย่างนั้น ผมว่าไม่เหลือวิสัยหรอกเพราะว่าเราก็อุตส่าห์เรียนมามากแล้วนี่ แม้จะเรียนวิชาหนังสือหนังหาตามปกติธรรมดา เราก็เรียนมาเพื่อความเฉลียวฉลาด จะคิด จะนึก จะคำนวณ จะวินิจฉัยอะไรได้นั้นมันก็มีอยู่แล้ว ความรู้ส่วนนั้น เป็นความรู้พื้นฐานทั่วไป เดี๋ยวนี้เรามาเรียนธรรมะก็ใช้ความรู้ชนิดนั้นล่ะมา ใคร่ครวญวิพากษ์วิจารณ์ศึกษาธรรมะ ไอ้สติปัญญาที่เขาเรียกกันว่าอินทรีเหล็ก อินทรีเหล็ก คือธรรมดาสามัญที่สุดนั้นน่ะ มันไม่รู้ถึงขนาดนี้แต่ว่าเราเอามาใช้ได้ เพื่อทำให้มันรู้สูงขึ้นมากว่าระดับธรรมดา มันจะมาเป็นระดับที่สูงที่ผิดไม่ได้อีกต่อไป มันกลายเป็นชั้นไอ้ที่เขาเรียกว่า Wisdom Wisdom Inside อะไรขึ้นมา ทีแรกก็เป็นอินทรีเหล็กธรรมดา สัตว์เดรัจฉานก็มี คนธรรมดาชาวบ้านก็มีสติปัญญาอย่างที่เรียกว่าอินทรีเหล็กมันมี ก็ไปใช้อย่างโกงก็ได้ ใช้อย่างคดโกงก็ได้ อินทรีเหล็กนี้ แต่ถ้ามันถูกพัฒนาดีดีๆ สูงขึ้นมาถึงขั้นไอ้ Wisdom นี้น่ะ ไม่มีทางที่จะไปใช้อย่างคดโกงเพราะมันรู้จริงเสียแล้ว นี้ไอ้เรื่องอินทรีเหล็กนี้เราก็เรียนกันมามากแล้วตั้งแต่เรียนประถม มัธยม อุดม มหาวิทยาลัย ก็เรียนกันมาแล้ว มันก็มีปัญญาความรู้ชนิดที่อินทรีเหล็ก เป็นอินทรีเหล็กน่ะเพียงพอแล้ว ทีนี้เราจัดการกับมันให้ดีๆ คืออย่าไปใช้ในทางผิดและใช้ในทางถูกขึ้นไปเรื่อยๆ น่ะ มันเป็นเพียงความฉลาดเท่านั้นน่ะ ใช้ในทางผิดก็ได้ เดี๋ยวทางฉลาดมาใช้ในทางถูกยิ่งๆ ขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป มันจะเป็นในเรื่องของความรู้แจ้ง ความรู้แจ้ง รู้แจ้งต่อสัจธรรม รู้แจ้งความจริง ทีนี้ไม่ผิดแล้วจะไม่กลับไปใช้ผิด จะไม่เดินไปในทางผิดแล้วก็เดินไปในทางสูงกันยิ่งๆ ขึ้นไป รอดตัวได้ ใครมีสติปัญญาความฉลาดในระดับธรรมดาสามัญนั้นแล้วก็นับว่าโชคดีชั้นหนึ่งแล้ว แต่อย่าเผลอนะถ้าเผลอมันดึงไปหาเหยื่อของกิเลสได้ นี้ก็ทำให้มันสูงขึ้นสูงขึ้นไปจนเป็นปัญญาอันแท้จริงไม่ใช่เพียงแต่ความฉลาดเฉลียวแล้ว เป็นปัญญาอันแท้จริง เป็นการรู้ธรรมะ เป็นชนิดที่มันเป็นจะเรียกว่าตรัสรู้ก็ได้ นั่นแหละมันถึงขั้นที่เรียกว่ารู้ รู้ชนิดที่ทำให้รอดได้ ทำให้รอดได้ เป็นวิเวกในอันดับสุดท้ายคือว่า พ้นจากการแบกของหนักได้ นี่เอาเป็นว่าได้รับอานิสงส์ อานิสงส์ของการประพฤติพรหมจรรย์ แม้ที่อยู่ในชีวิตครองเรือน สำหรับผู้ที่ไม่อาจจะประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในเพศของบรรพชิตตลอดไป ซึ่งได้เปรียบมากแล้ว แต่ทีนี้ทว่ายังจะต้องครองเรือนจะต้องกลับไปครองเรือน ก็ขอให้เอาไว้ให้ได้ให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ก็แล้วกัน และไปคำนวณดูเองว่าถ้าเราได้อย่างหลักการอันนี้แล้ว มันจะเป็นชีวิตชนิดประเสริฐสูงสุดน่าพอใจสักเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นพ่อบ้านก็จะนำครอบครัวไปในทางถูกไปสู่ความเย็น ไปสู่ชีวิตชนิดที่เย็นซึ่งมีความหมายแห่งนิพพาน นี้คืออานิสงส์ของการประพฤติพรหมจรรย์ ท่านกล่าวไว้ด้วยถ้อยคำหลายอย่างต่างๆ กัน บางทีกล่าวไว้อย่างสั้นๆ เข้าใจยาก ผมก็เอารวมๆ กันมา มาพูดกันเสียใหม่ ให้มันเข้าใจง่ายคือว่ามันพ้นจากความผูกมัดทางกาย พ้นจากความผูกมัดทางจิต พ้นจากความผูกมัดการแบกของหนักอยู่โดยไม่รู้สึกตัว สรุปความว่าเป็นความหลุดพ้นโดยสมบูรณ์ มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ชัดว่าไอ้พรหมจรรย์นี้ มีวิมุตเป็นอานิสงส์เขาว่าอย่างนี้ การประพฤติพรหมจรรย์ในพุทธศาสนานี้มีวิมุตคือความหลุดรอดเป็นอานิสงส์ ไม่ใช่มีลาภสักการะ เสียงสรรเสริญ เกียรติยศ เป็นอานิสงส์ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่ลาภสักการะ เงินทอง ข้าวของ เกียรติยศ สรรเสริญ เป็นอานิสงส์ ไม่ใช่อย่างนั้น และก็ยิ่งกว่านั้น ท่านกำกับชัดลงไปว่า ไม่ใช่เพื่อมีศีลบริบูรณ์เป็นอานิสงส์ มันไม่พอยังน้อยนัก ไม่ใช่มีสมาธิเป็นอานิสงส์ ยังน้อยนัก ไม่ใช่มีปัญญามีญาณทัศนะเป็นอานิสงส์ เพียงเท่านั้นไม่พอ ต้องขึ้นมาถึงมีวิมุตคือหลุดพ้นจากสิ่งผูกมัดรัดตรึง อย่างที่ว่ามาแล้วนั้นน่ะเป็นอานิสงส์ จึงเรียกว่ามีวิมุตเป็นอานิสงส์ ไม่ใช่มีไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอานิสงส์ เพียงเท่านั้นยังไม่จัดเป็นอานิสงส์ เป็นตัวการประพฤติอยู่ แม้ว่าจะมีญาณทัศนะชนิดที่มีฤทธิ์มีเดช แสดงปาฏิหาริย์อะไรได้ ก็ยังไม่ใช่อานิสงส์ แม้ว่าจะอยู่อย่างไม่มีกิเลสนั้นน่ะ เช่นว่าเมื่ออยู่ในรูปญาณหรืออรูปญาณ หรือแม้อยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นสมาธิสมาบัติสูงสุด แต่ถ้ายังไม่สิ้นอาสวะแล้วยังไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่เป็นอานิสงส์ เขาเรียกว่าสัญญาเวทยิตนิโรธ คือจิตปราศจากกิเลสอยู่ในสมาธิในสมาบัติสูงสุด แต่ไม่ใช่ชนิดที่สิ้นอาสวะ แม้จะขึ้นไปถึงระดับนั้นแล้วก็ยังไม่ใช่วิมุต มันต้องวิมุตจากสังโยชน์จากไอ้สิ่งผูกมัดทั้งหลายจึงจะเรียกว่าถึงจุดสุดท้าย คือมีวิมุตเป็นอานิสงส์ เรียกว่ามันหลุดรอดออกไปได้จากสิ่งที่อยู่ด้วยกันไม่ไหวแล้ว ว่าอย่างนั้นดีกว่า ไอ้สิ่งเลวๆ ชนิดที่มันอยู่ด้วยกันไม่ไหว กี่อย่าง กี่อย่าง กี่ชั้น กี่ระดับน่ะ ให้มันหมดไปนั่นน่ะจึงจะเรียกว่าวิมุต เดี๋ยวนี้เราปุถุชนมันก็เห็นเป็นของดี เมื่อได้อยู่กับสิ่งชนิดนั้น มันก็สนุกเป็นสุขพอใจไปตามอำนาจของกิเลส ความอยู่กับกิเลสมันเลยเป็นความพอใจความสุข มันก็ไม่ชอบความหมดกิเลส เพราะเราไม่รู้จักความหมดกิเลส ไม่เคยชิมมันเป็นอย่างไร แต่เรากำลังเป็นสุขพอใจอยู่กับการมีกิเลสหรือมีเหยื่อของกิเลส ที่ได้รับความพอใจไปตามแบบกิเลส เราเห็นว่าสิ่งนี้เป็นความสุขเสีย อย่างคนธรรมดาสามัญที่เรียกว่าคนชั้นธรรมดาสามัญ รู้จักเพียงแค่กามารมณ์ เขาก็เลือกกามารมณ์เป็นสิ่งสูงสุด ก็ดูกันสิขวนขวายกันอย่างไร เรียนเกือบเป็นเกือบตายมีเงิน มีทอง ข้าวของมากมาย ก็เพียงเพื่อสมรสให้มีเกียรติที่สุดสักทีเท่านั้นน่ะ มันมีเท่านั้นน่ะ ไอ้คนเช่นนั้น มันมีได้เท่านั้นน่ะ เพราะนั้นเราไปดูสิเขาเตรียมสมรสกันด้วยปริญญาอะไร วิทยฐานะอะไร เงินทองเท่าไร หลักทรัพย์เท่าไร ไปมีการสมรส มันมีเกียรติสูงสุด แล้วเขาจะรู้สึกมันหมดเท่านั้น มันดีเพียงเท่านั้น ฉะนั้นคนพวกนี้ไม่ต้องการวิมุตหรอก ไม่ต้องการความหลุดพ้นไปจากไอ้สิ่งผูกพันโดยประการทั้งปวง เขากลับไปหาสิ่งผูกพันที่ละเอียดที่ประณีต ที่ผูกพันหนักขึ้นไป แล้วก็อยู่ด้วยกันกับสิ่งนั้นไปเรื่อยๆ แล้วมันพ้นทุกข์ไหมคอยดูสิ ที่มันเตรียมสมรสกันดีขนาดนั้นนะ ไม่กี่วันไม่กี่เดือนมันกัดกันมีไหม คุณคิดว่ามีไหม ที่มันมีเกียรติ มีอะไร มันจัดการสมรสเหมือนจะเป็นสวรรค์วิมาน แล้วไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน มันก็หย่ากัน แล้วมันก็กัดกัน เพราะไอ้สิ่งที่มันเป็นโมหะ เป็นอวิชชา ก็ไม่ต้อง ไม่ต้อง ไม่ต้องไปลองก็ได้ คือว่าเราทำชนิดที่ว่าไม่ต้องมีปัญหาอย่างนั้น จะมีการสมรสก็ได้ แต่อย่าให้มันบ้ามากถึงขนาดนั้น ไม่ให้มีความทุกข์ ไม่ให้มีความสูญเปล่า ไม่ให้มีความอะไรเสียจะดีกว่า ไอ้ความยากลำบากมันอยู่ตรงที่เราไม่รู้จักไอ้สิ่งที่เราควรจะต้องการ ฉะนั้นเราก็บูชาแต่สิ่งที่เรากำลังพอใจอยู่ด้วยอวิชชาของเรา จึงไม่มีความหลุดรอด เพราะฉะนั้นพรหมจรรย์นี้มีความหลุดรอดเป็นจุดหมายปลายทางจุดสุดท้าย มีความหลุดรอด มันก็คือหลุดรอดไปจากสิ่งที่ผูกพันเหล่านี้ แต่เดี๋ยวนี้เรามันสำคัญผิดอย่างที่เรียกว่ามันเห็นกงจักรเป็นดอกบัวนี่ มันไม่เห็นเป็นความผูกพัน มันไม่เห็นเป็นความทนทุกข์ ทรมาน มันก็ไม่อยากจะหลุดพ้น มันก็อยากจะจมอยู่ในกองกิเลส กองกาม กองอะไรเหล่านี้ ไม่อยากจะหลุดพ้น พอมาถึงตอนนี้ไปคิดเอาเองเถอะ ผมไม่ต้องพูดแล้วน่ะ ที่จะเลือกเอาทิศไหนก็ไปคิดเอาเอง มันบอกแต่ว่าไอ้เรื่องจริงน่ะมันมีอย่างนี้ มันมีอยู่อย่างนี้ ความจริงของธรรมชาติ หรือกฎของธรรมชาติ มันมีอยู่อย่างนี้ เรียกว่าพรหมจรรย์ เรียกว่าการประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติถูกต้องแล้วตามทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้วางไว้แล้ว ก็จะหลุดพ้นจากสิ่งผูกมัดโดยประการทั้งปวง แต่ถ้าปุถุชนมันเห็นว่าการจมอยู่ในการผูกมัดเป็นสุขกว่าสบายกว่า สนุกสนานกว่า มีรสชาติกว่า มันก็ไม่อยากจะหลุดพ้น พอพูดถึงพระนิพพาน มันก็ไม่มีรสไม่มีชาติอะไร มันจืด มันแห้งแล้ง ฉันไม่ต้องการ นี่ถูกมองกันอย่างนี้แหละ ไอ้ความหลุดพ้นหรือนิพพานยังถูกมองในลักษณะอย่างนี้ ไปคำนวณเอาเองว่ามันต้องมาศึกษา ฝึกฝนกันต่อไปอีกกี่มากน้อย มันยังจะมองเห็นชัด และมันอยากจะหลุดพ้น มันอยากจะหลุดพ้นเอามากๆ ทีเดียว เหมือนคนที่ถูกจับกดลงไปใต้น้ำ มันอยากจะหายใจ มันอยากจะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพื่อหายใจ มันอยากกี่มากน้อย นั้นก็คือความอยากของคน ของบุคคลผู้เห็นกองทุกข์แล้วอยากจะพ้นจากทุกข์ เห็นความผูกพันของไอ้กิเลส ตัณหา แล้วมันอยากจะหลุดพ้น มันอยากมากถึงขนาดนั้น นั่นแหละเป็นเครื่องวัด และอันนี้คืออานิสงส์ของพรหมจรรย์ ซึ่งเป็นสิ่งสูงสุด ที่เราได้มุ่งเข้ามาประพฤติในรูปของการศึกษาก็ได้ ในรูปของการปฏิบัติก็ได้ ในรูปแห่งผลของการปฏิบัติก็ได้ ถ้ามันประพฤติได้สำเร็จจริงมันได้ผลอย่างนี้ เอ้าต่อรองกันอีกทีก็ได้ คุณจะชอบหรือไม่ชอบก็ตามใจคุณ ขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้