แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการพูดกันเป็นครั้งที่ ๔ นี้ ผมจะยังไม่พูดเรื่องหลักธรรมะหรือหัวข้อธรรมะโดยตรง แต่จะพูดถึงปัญหาเบื้องต้น ที่ทำให้การศึกษาธรรมะเป็นไปไม่ได้ ไม่สำเร็จประโยชน์ หรือว่าไม่รู้ธรรมะนั้นเอง ปัญหาเหล่านี้มีอยู่มาก ผมสังเกตเห็นและมันก็ไม่มีอยู่ในตำรับตำราที่ใช้อ่านใช้สอนกัน เพราะเหตุว่ามันไม่ได้มีการศึกษาค้นคว้าเฉพาะส่วนนี้ ศึกษาค้นคว้ากันเฉพาะส่วนที่เป็นหลักธรรมะ หัวข้อธรรมะ ปัญหาชนิดนี้มัน เกือบจะเรียกว่ามันไม่มีตัวตน อยู่ในคัมภีร์หรือตำรา แต่มันกลับจะสำคัญมากที่ถ้าว่าปัญหาเหล่านี้ไม่หมดไป การศึกษาธรรมะมันก็เป็นไปไม่ได้ เช่นในครั้งที่แล้วมาก็พูดถึงกันว่าเรา จะต้องยอมให้ธรรมะเผด็จการ มันก็ไม่ค่อยมี คือไม่มีใครพูดหรือไม่มีใครเขียนไว้ในบาลีอรรถคาถา ถ้าไม่ได้มาค้นคว้าพิจารณากันในส่วนนี้ และก็ในส่วนที่ว่าธรรมะโดยกฎของธรรมชาติมีลักษณะเป็นเผด็จการนั้น เขาก็ไม่ได้พูด เขาก็พูดกันแต่ว่าให้มีศรัทธา ในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ให้มากเข้าไว้ ซึ่งหมายความว่าถ้ามีศรัทธาแล้ว ก็ยอมให้ธรรมะเผด็จการเอง ที่ว่าธรรมะเผด็จการนี้มันพูดเป็นภาพพจน์ เราก็ว่ามันเป็นคน ก็หมายความว่าเราจะต้องยอมทุกอย่าง ให้เกิดอาการที่เรียกว่าเราเป็นฝ่ายง้องอนธรรมะ เราง้องอนธรรมะ ไม่ใช่ว่าจะให้ธรรมะมาง้องอนเรานะ มันเป็นไปไม่ได้ หรือว่าเราจะเฉยๆ เสีย ปล่อยให้เป็นไปเอง แล้วธรรมก็จะเข้ามาเอง หรือว่าเราจะเดินไปหาธรรมะเอง อย่างนี้มันก็ไม่ได้ล่ะ มันก็ไม่มีทาง นอกจากเราจะยอมเป็นฝ่ายพยายามสุดเหวี่ยงด้านเดียว ธรรมะจะเอาอย่างไรเราก็ยอมอย่างนั้นน่ะ นี่วันนี้ก็จะพูดกันในข้อที่ว่า จะมีธรรมะได้ก็ต่อเมื่อยอมให้ธรรมะเผด็จการ จะมีธรรมะได้ก็ต่อเมื่อยอมให้ธรรมะเผด็จการ ไม่มีธรรมะไหนจะมางอนง้อคน ให้ไปสนใจธรรมะ หรือให้ศึกษาธรรมะ ให้ปฏิบัติธรรมะ คนนั่นแหละกลับจะต้องงอนง้อ แล้วก็จะต้องยอมทุกอย่างเพื่อให้ธรรมะได้ทำหน้าที่ ข้อนี้ขอได้ทราบว่ามันเป็นการเตรียมตัว พวกเรานี่เตรียมตัว รู้ไว้เป็นการเตรียมตัว เตรียมตัวให้พร้อม ให้รู้ว่าเราต้องทำอย่างนั้น มันจะมีธรรมะได้ก็ต่อเมื่อยอมให้ธรรมะเผด็จการ นี่ผมเห็นว่าบางคนไม่สนใจ ไม่ได้สนใจที่จะรู้ธรรมะจริงจังอะไร หรือว่าบวชตามธรรมเนียม เรียนตามธรรมเนียม สักว่าตามธรรมเนียม ถ้าอย่างนี้แล้วก็ยังมันไกลมาก เพราะเราจะต้องทำให้ถูกกับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติในส่วนนี้ ถ้าเปรียบก็เปรียบเหมือนกับว่า เรามีศรัทธาในหมอรักษาโรค เราจึงยอมให้หมอรักษาโรค ด้วยการผ่าตัดก็ดี ด้วยการให้กินยาก็ดี เพราะเรามีความศรัทธาในหมอนั้น เราจึงยอมทุกอย่าง จึงยอมทำตามทุกอย่าง ทำไมเราจึงยอมทุกอย่างก็เพราะว่าความเจ็บปวดหรือความเจ็บไข้มันบีบคั้นเรา คือความทุกข์มันบีบคั้นเรา นี่เราจึงไปมีศรัทธาเกิดขึ้นในหมอที่จะรักษาเรา ถ้าความเจ็บปวดไม่บีบคั้นเรา เราก็ไม่ศรัทธาในหมอคนไหน คือที่จะถือเอาเป็นที่พึ่งสำหรับรักษาโรคให้เรา ไอ้หัวข้อสั้นๆ ที่ว่าความทุกข์เป็นเหตุให้เกิดศรัทธา มีในพระพุทธภาษิตเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั่นน่ะขอให้สังเกตดูหน่อยสิว่ามันไกลจากที่เรา เคยรู้ เคยเข้าใจกัน หรือถือกันอยู่เป็นหลัก เราจะคิด เรามีความคิดว่าเราศรัทธา ในพระศาสนา ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั่น มันก็ไม่ได้ศรัทธาหรอก มันหวังลมๆ แล้งๆ ตามธรรมเนียมเท่านั้นน่ะ ไม่ได้ศรัทธา ถึงมันมีศรัทธา ก็ศรัทธาตามโฆษณา เขาเรียกว่าพละโฆโษ การโฆษณาที่มันมีอื้ออึงไปหมดจากบุคคลอื่น แล้วคนธรรมดานี่ก็เกิดศรัทธาในสิ่งที่เขาเอามาโฆษณา ไม่ได้มีศรัทธาอันเกิดมาจากความทุกข์บีบคั้น เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ ดังนั้นศรัทธาของคนเหล่านั้นคลอนแคลนง่อนแง่น เป็นศรัทธาตามธรรมดา ตามประเพณี ซึ่งชาวบ้านเขามักจะพูดล้อๆ กันเองว่ามันเป็นศรัทธาหัวเต่า ซึ่งมีลักษณะหลุบๆ ล่อๆ อยู่เรื่อยไปไม่แน่นอน แต่ถ้ามันเป็นศรัทธาโดยแท้จริงดังพระบาลีกล่าวไว้แล้ว มันก็มาจากการบีบคั้นของความทุกข์ ลองนึกถึงคนที่มีความทุกข์บีบคั้นเจ็บปวดเหลือประมาณจะขาดใจอยู่แล้ว มันต้องนึกหาสิ่งที่จะช่วยหรือมันกลัวตาย มันก็นึกหาสิ่งที่จะช่วย พอมีอะไรที่มีวี่แววว่าจะช่วย มันก็ศรัทธาในสิ่งนั้น ในกรณีนี้ก็คือศรัทธาในธรรมะนั้นเอง เมื่อความทุกข์บีบคั้นหนักเข้าก็มีศรัทธา เดี๋ยวนี้เรา พวกเราที่นี่ไม่มีความทุกข์บีบคั้น บีบคั้นอะไรเลย แล้วศรัทธาที่ว่านี้จะเอามาจากไหน และเดี๋ยวนี้มิหนำซ้ำเราก็ยังสนุกอยู่กับไอ้เรื่องของกิเลสด้วยซ้ำไป ไม่ใช่ความทุกข์บีบคั้น เรายังสนุกอยู่ในความเรียนรู้ ความมีหน้ามีตา หรือความซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น ให้เรียนธรรมะเพื่อรู้รอบตัวเพื่อได้เก่งกว่าใครอะไรทำนองนี้ หรือเรายังสนุกกันอยู่กับกิเลสอย่างอื่น อย่างราคะ โมหะ อะไรก็ตาม เราไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์เพราะมีเหตุความทุกข์บีบคั้น เราก็ไม่มีความรู้สึกจะต้องการหมอ เราไม่มีศรัทธาในหมอคือพระพุทธเจ้า ไม่มีศรัทธาในยารักษาโรคคือพระธรรม ไม่มีศรัทธาในผู้แนะนำชักจูงคือพระสงฆ์ เราก็เลยไม่มีศรัทธาโดยประการทั้งปวง เราก็ไม่ต้องการหมอคือพระพุทธเจ้า ก็ไม่ต้องการยาคือธรรมะ เราก็ไม่ต้องการผู้ชักจูงคือพระสงฆ์ แปลว่ามันอยู่ห่างไกลกันเลยถึงปัจจัยอันจะทำให้เข้าถึงธรรมะ เรากำลังสบายดี กำลังไม่มีความทุกข์อะไรบีบคั้น ถ้าพูดเรื่องความทุกข์ก็ไม่รู้เรื่อง ถ้าผมจะเอาเรื่องความทุกข์มาพูด ก็ไม่มีใครสนใจฟังกันนัก เดี๋ยวมันก็เหม่อ เดี๋ยวมันก็หลับไปเสีย ถ้าพูดเรื่องความทุกข์ มันจะรู้สึกคล้ายๆ กับว่าเราไม่มีทุกข์ จะมาพูดให้เราเป็นทุกข์ มันเป็นเรื่องบ้าไปเลยไม่สนใจ นี่ความยากลำบากของธรรมะมันอยู่ที่ตรงนี้ ถ้าผมจะตั้งต้นพูดเรื่องความทุกข์ ก็ยากที่จะมีคนสนใจ และเดี๋ยวนี้ผู้นั้นก็ไม่มีความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของความมีศรัทธา เวลาสบายดี ไม่มีความทุกข์ปรากฏ พูดเรื่องทุกข์ก็ฟังไม่รู้เรื่อง หลายคนก็ไม่สนใจจะฟัง เมื่อจะพูดให้เห็นว่าไอ้ชีวิตนี้เป็นทุกข์ แม้จะเคยอ่านหนังสือพบประโยคนี้มาแล้ว ชีวิตนี้เป็นทุกข์ ในใจมันก็หัวเราะเยาะอยู่ จะเห็นเป็นเรื่องพูด สักแต่ว่าพูด ชีวิตนี้เป็นทุกข์ ที่จริงมันจริง เป็นของจริงเกินกว่าที่จริงที่ว่าชีวิตนี้มันเป็นทุกข์ เป็นทุกข์โดยแท้จริง แต่เราไม่รู้สึก เราไม่มองเห็นว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ ก็ต่อรองเอาศึกษาไปก่อน ศึกษาเผื่อๆ ไว้ก่อน ก็ไม่เห็นว่าจำเป็น นี่เราจะทำอย่างไรกันดี ปัญหานี้ก็มีอยู่ในพวกเรา ในระหว่างพวกเรา เอาละทีนี้ว่า ถ้าสมมุติว่ามันไม่มีความทุกข์ ก็เชื่อผู้แนะนำชักจูง มันก็เรียนธรรมะได้แต่ในลักษณะที่เป็นปรัชญา ไม่ใช่ตัวจริง ไม่ใช่เรื่องจริง สิ่งที่เรียกว่าปรัชญานั้นไม่ใช่เรื่องจริง เข้าใจว่าคงเคยศึกษา เคยรู้กันมาแล้วว่าปรัชญาคืออะไร มันกลายเป็นเรียนอย่างปรัชญา ไม่ใช่เรียนศาสนาหรือเป็นเรื่องของพรหมจรรย์ อันนี้แหละเคยรู้กันไว้เสียด้วยเถอะว่าไอ้เรื่องปรัชญานั้นเขาเป็นเรื่องคำนวณ เป็นระบบของการคำนวณ จะคำนวณศึกษาเรื่องอะไร ก็ตั้งสมมติฐานขึ้นมาว่ามีปัญหาอย่างนั้นอย่างนั้น เช่นเดี๋ยวนี้เราไม่มีความทุกข์ มันก็ต้องตั้งสมมติฐานขึ้นว่าเรามีความทุกข์ แล้วก็หาเหตุผลมาแวดล้อม แวดล้อมจนให้ยอมรับว่ามีทุกข์อย่างนี้ก็เรียนอย่างปรัชญา แต่ถ้าเราเรียนอย่างวิทยาศาสตร์น่ะ มันทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก มันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ มันต้องมีตัวจริง มีของจริง ซึ่งเป็นตัวปัญหาเอาขึ้นมา แล้วก็พิสูจน์หรือทดลองลงไป ในสิ่งนั้นซึ่งเป็นตัวจริง ที่มีอยู่จริง ปรัชญาไม่ได้เรียนลงไปบนของจริง เพราะมันไม่มีตัวจริง เช่นเดียวกับว่าเดี๋ยวนี้เราไม่มีความรู้สึกว่าเราเป็นทุกข์ มันต้องตั้ง Hypothesis สมมติฐาน สมมติฐานขึ้นมาว่าเราเป็นทุกข์ แล้วก็หาเหตุผลมาแวดล้อม แวดล้อมเพื่อให้เห็นว่าเราเป็นทุกข์นี้เรียนอย่างปรัชญา มันมีแต่การคำนวณ การหยิบขึ้นมาคำนวณ แล้วก็หยิบสมมุติขึ้นมาคำนวณ ไอ้สิ่งที่เรียกว่า Experiment มันไม่มี แต่ถ้าเราเรียนอย่างวิทยาศาสตร์ อย่างไอ้ของจริงนั้นน่ะ มันก็หยิบของจริงขึ้นมา แล้วทำการค้นคว้า พิสูจน์ ทดลองลงไปในสิ่งนั้น นี่คือเรียนธรรมะ ต้องมีตัวจริงคือความทุกข์ปรากฏอยู่ในจิตใจแล้วก็พิสูจน์ ค้นคว้า ทดลองลงไปที่สิ่งนั้น มันก็สัมผัสสิ่งนั้นด้วยจิตใจตลอดเวลา ไม่มีการคำนวณ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสมมติฐาน เรียนปรัชญากับเรียนวิทยาศาสตร์น่ะ มันต่างกันอย่างนี้ ผมเชื่อว่าคงเข้าใจกันดีอยู่แล้ว ทีนี้ก็เพียงแต่จะบอกว่าเรียนธรรมะในพุทธศาสนา ต้องเรียนอย่างวิทยาศาสตร์ ถ้าเรียนอย่างปรัชญา มันก็รู้แบบปรัชญา ซึ่งดูจะไม่มีประโยชน์ในการดับทุกข์เลย มันก็รู้อย่างความรู้ทั่วๆ ไป ความรู้ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของการคำนวณ ของความจำของอะไรไปตามแบบ เขาจัดว่าวิชา วิชา หรือทฤษฎีอะไรก็ตาม ที่จริงมันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ เมื่อเรายังไม่ได้รู้ถึงความทุกข์แล้วปฏิบัติตัวธรรมะแท้ๆ แล้ว เราเรียนกันอย่างปรัชญาทั้งนั้นโดยไม่รู้สึกตัว แล้วเรารู้กันอย่างปรัชญาทั้งนั้น แต่เราก็ไม่เรียกว่าเป็นเรื่องที่พลาดอะไร เช่นเรื่องอริยสัจ พอพระบวชเข้ามาเป็นนักธรรม ก็เรียนนักธรรมเรื่องอริยสัจ มันก็เรียนโดยที่ไม่มีตัวจริง เพราะเรียนอย่างปรัชญา รู้อย่างปรัชญา รู้อริยสัจอย่างปรัชญา หรือว่าจะเรียนให้ละเอียดลงไปเป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นเรื่องอริยสัจเหมือนกันน่ะ ก็รู้อย่างปรัชญา จนกว่าเมื่อไร ละกิเลสได้ ดับทุกข์ได้ เรารู้จักตัวกิเลส รู้จักการที่กิเลสดับไป เมื่อนั้นมันจึงจะค่อยคลาย คลายมาเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นต้องเป็นพระอริยบุคคลระดับใดระดับหนึ่งน่ะ หรือเป็นพระอรหันต์ด้วยก็ยิ่งดี จึงจะรู้ธรรมะที่ตัวเรียนนั้นน่ะอย่างวิทยาศาสตร์ คือเป็นธรรมะจริง นอกจากนั้นแล้วมันจะรู้อย่างปรัชญาไปเรื่อยๆ ก่อนทั้งนั้น เรียนอริยสัจก็ดี เรียนปฏิจจสมุปบาทก็ดี ตลอดเวลาที่ยังละกิเลสไม่ได้ ดับทุกข์ไม่ได้ ก็มีความรู้อย่างทฤษฎีหรืออย่างเรียนรู้ปรัชญา ไม่อาจจะดับทุกข์ได้ ต่อเมื่อมันมีเหตุปัจจัยที่สมควรมันก็ปฏิบัติ มันปฏิบัติ คือมันปักให้ใจมีการศึกษาลงไปที่ตัวความทุกข์ มันก็เอามาพลิกดูไม่ใช่การคำนวณ แล้วปฏิบัติในลักษณะที่ถูกต้อง ที่ไม่ให้โอกาสเกิดกิเลส ตัณหา เป็นต้น ไม่ให้โอกาสแก่อวิชชาสัมผัส คือไม่สัมผัสสิ่งใดด้วยอวิชชา แล้วทีนี้มันก็เปลี่ยนแปลงขึ้นในทางจิตใจ ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นเป็นไฟเป็นอะไรอย่างแต่ก่อน มันก็เลยรู้โอ้ธรรมะเป็นอย่างนี้ นี่การบรรลุธรรมมันเป็นอย่างนี้ ถ้าเราจะพูดเป็นหลักกว้างๆ ก็ว่า พระอรหันต์เท่านั้นที่ท่านจะรู้ธรรมะอย่างธรรมะแท้ ปุถุชนยังจะต้องรู้ธรรมะอย่างปรัชญา หรือทฤษฎีของการเรียน ของการเล่าเรียน นี่เราก็กำลังจะเป็นอย่างนั้น ถึงจะทำอย่างไร จะไม่เรียนก็ไม่เรียนก็ได้ ก็ถ้ายังต้องเรียน ยังแก่เรียน ยังอยากจะเรียน มันก็ต้องเรียนไปในลักษณะนี้เรื่อยๆ ไปจนค่อยๆ รู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ถ้าว่ามันมีความทุกข์เป็นตัววัตถุหรือตัวปัญหาอยู่ในจิต กลุ้มอยู่ในความทุกข์ คนอย่างนี้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปรับคำสั่งสอนจากพระพุทธเจ้าไม่กี่นาทีก็กลายเป็นพระอรหันต์ไป อย่างที่มีเรื่องอยู่ในคัมภีร์ ในตำนานอะไรว่า ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าประเดี๋ยวก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ไป ทีนี้เดี๋ยวนี้เราก็เรียนพระไตรปิฎกจบสองสามหน มันก็ไม่ดับทุกข์ เพราะว่ามันเป็นเรื่องไม่มีตัวจริง มันเป็นเรื่องความคิด ความรู้ ความจำ หรือการคำนวณ เพราะฉะนั้นถ้าใครมันจะสงสัยว่าทำไม สมัยนี้เรียนกันเกือบตายก็ไม่บรรลุธรรมะ สมัยโน้นไปเฝ้าพระพุทธเจ้าไม่กี่นาที ก็กลายเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว นี่ก็เพราะว่าไอ้ตัวจริงเนื้อแท้ของตัวจริงมันผิดกัน คนนั้นมันมีความทุกข์ไปด้วย มันก็ถามปัญหาในลักษณะที่เจาะจงที่ความทุกข์ หรือปัญหาของเขา เขาจึงแจ่มแจ้งแทงตลอดปัญหาเหล่านั้น จึงเรียกว่าบรรลุมรรคผล เดี๋ยวนี้เราก็อ่านเรื่องนั้นแหละ เราอ่านเรื่องคนๆ นั้นแหละ ซึ่งในพระบาลีอรรถคาถาก็มีอยู่มาก คนๆ นั้นไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วก็พูดเรื่องอะไรกัน แล้วไม่กี่นาทีคนนั้น เหล่านั้นก็บรรลุพระอรหันต์ แล้วเราก็เอาเรื่องนั้นมาเรียน เรียนแล้วก็ไม่บรรลุได้ เพราะว่าเราไม่มีตัวปัญหาที่แท้จริงคือความทุกข์ หรือตัวปัญหาอะไรก็ตาม คนนั้นเขามีปัญหาอยู่แท้จริง ปัญหาที่แท้จริงมันไม่มารู้สึกประจักษ์อยู่ในจิตใจเรา เพราะว่ามันไม่มีความรู้สึกต่อสิ่งนั้น แม้ว่าเราจะเอาเรื่องนั้นมาอ่านกี่เรื่องกี่เรื่อง มันก็ยังไม่ได้รับผลตามนั้น มันอาจจะเป็นได้ถ้าว่าไปอ่านเข้าแล้วมันตรงกัน รู้แจ่มแจ้งขึ้นมันก็คงจะได้รับผลบ้าง แต่ไม่ถึงขนาดที่เรียกว่าจะบรรลุ ไม่มีปัญหาที่แท้จริงอยู่ในใจคือทุกข์ แล้วศึกษาธรรมะ ไม่รู้ธรรมะ ไม่ถึงธรรมะ นี่คือตัวปัญหา และผมก็อยากจะพูดว่าปัญหาของพวกเรา หรือของพวกคุณในเวลานี้ ในบัดนี้ในเดี๋ยวนี้เรามีปัญหาอย่างนี้ เราไม่มีความทุกข์ที่เป็นตัวปัญหา ความจริงเปรียบเหมือนกับว่าคนถูกไฟไหม้ ไหม้เสื้อผ้า หรือไหม้ที่ศีรษะ ไฟไหม้อย่างนี้ แล้วมันอยากจะดับทุกข์นั้นน่ะ มันอยากจะดับไฟเท่านั้นน่ะ มันมีตัวความทุกข์จริง แล้วมันก็มีความต้องการจริงที่จะดับทุกข์นั้น แล้วมันก็มีศรัทธาจริงในสิ่งที่มันจะดับทุกข์ได้ นี่คือองค์ประกอบที่สำคัญ ที่ในกรณีของเรามันไม่มี มันไม่มี จะทำอย่างไรดี ทว่ามันเป็นอย่างนี้อยู่ มันก็ไม่อาจจะมี ทีนี้เราก็กลายเป็นสมัครเล่น มีความทุกข์สมัครเล่น หรือว่ามันสบายดี มันเป็นคนไข้สมัครเล่นไปขอยาจากหมอกิน คนไข้สมัครเล่นนี้มันจะมีประโยชน์อะไร เดี๋ยวหมอก็จะไล่กลับมาเท่านั้นเอง เราก็มีอาการคล้ายๆ กันน่ะ เราเป็นคนทุกข์สมัครเล่น แล้วก็มองหาความรู้ธรรมะในพระศาสนานี้ ยังจะทำได้ก็เรียนอย่างปรัชญา ไม่มีความเจ็บไข้จริง ไม่มีธรรมะจริง ไม่มีความต้องการจริง ไม่มีศรัทธาจริง ก็เลยเป็นเรียน มันก็เรียน เรียนวิชาอะไรก็ได้ เรียนเป็นวิชาการ เป็นทฤษฎี เป็นความรู้รอบตัวเผื่อเอาไว้ หรือไปเป็นครูรับจ้างสอนธรรมะก็ได้เหมือนกัน นี่ที่ว่าครูสอนธรรมะ มันก็ไม่ต้องมีธรรมะ มันก็สอนได้ มันไม่ได้มีธรรมะที่แท้จริง แต่มันก็รู้ธรรมะแบบนั้น แบบที่สำหรับศึกษา มันก็เรียนไปก่อนก็ได้ ถ้ามันทำอะไรดีกว่านั้นไม่ได้ จะเรียนกันอย่างทฤษฎี วิชาการ ในรูปแบบของปรัชญาทัศนะหนึ่งในหลายๆ ทัศนะ ก็ยังพอจะมีผลบ้างในอนาคต แล้วก็อย่าเรียนชนิดที่เพ้อเจ้อ ปรัชญานี้บางทีมักจะเพ้อเจ้อ ไม่มีจุดจบ ถ้าเรามีเหตุผลทางปรัชญา เราตั้งปัญหาได้ไม่มีจุดจบ มันจะถามได้เรื่อย นั่นน่ะคือลักษณะของปรัชญา มันเพ้อเจ้อโดยความอยากรู้ที่มันมีเหตุผลเข้าไว้เรื่อย นี้ก็คงจะมีประโยชน์สำหรับจะเข้าไปถึงขั้นที่ว่าจะเห็นความทุกข์ได้ จนเกิดความหวาดกลัวต่อความทุกข์ เมื่อนั้นจะเรียกร้องศรัทธามา ศรัทธาในสิ่งที่จะดับทุกข์ นี้เป็นกฎธรรมชาติ เป็นกฎธรรมชาติธรรมดาที่สุดทางจิตใจ ผู้ที่มีความทุกข์โดยมีความเจ็บปวดเขาจะต้องชะเง้อหาไอ้สิ่งที่มันจะช่วยได้ คืออยากจะเชื่อ อยากจะมอบความเชื่อ เอาไว้ให้กับสิ่งใด นี่ก็ไปพบหมอหรือผู้ที่มีวี่แววว่าจะช่วยได้ มันก็มีศรัทธาร้อยเปอร์เซ็นต์ นี้เป็นหลักธรรมดาของธรรมชาติ ของจิตใจของมนุษย์เรา ทีนี้ก็ดูกันให้ละเอียด คือคำที่ใช้พูดว่าเรียนธรรมะ เรียนธรรมะ คำนี้กำกวม กำกวมมาก เรียนอย่างวิชา หรือเรียนอย่างหลักปฏิบัติ ไอ้เรียนธรรมะนี่มันก็เรียนได้ล่ะ เพราะมันมีระบบให้เรียนอยู่แล้ว แต่ว่ามันเรียนอย่างวิชาทั่วๆ ไป เป็นความรู้ทั่วๆ ไป หรือว่าจะเรียนสำหรับเอาไปเป็นหลักปฏิบัติ มันก็เรียนเฉพาะเป็นหลักที่จะปฏิบัติ เดี๋ยวนี้เราเรียนกันอย่างไร โดยมากมันก็จะเป็นเรื่องเพ้อๆ ไปน่ะ คือเรียนมากเข้าไว้จะได้แตกฉานเข้าไว้ ไม่ได้สนใจที่จะรวบรวมเฉพาะหลักปฏิบัติโดยตรง นี่เรียนธรรมะเรียนกันอย่างนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรียนกันในโรงเรียนนักธรรม เรียนนักธรรมตรี โท เอก สามปี มันก็เรียนอย่างนี้ ได้เรียนอย่างวิชา วิชาจดจำ วิชาท่องจำ วิชาคิดนึกบ้างในชั้นผิวเผิน พอให้มีเหตุมีผลสำหรับจะพูดได้ในทางตรรกะ ซึ่งมันก็เป็นปรัชญาชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน หรือมันก็เนื่องกันน่ะ เพื่อให้รู้ใช้เหตุผลอธิบาย คิดนึก ตามวิถีทางปรัชญาในชั้นที่เป็นตรรกะ เป็นคลาสสิค นี้ก็เรียกว่าเรียน ทีนี้ถ้ารู้ธรรมะนั้น มันไม่ใช่อย่างนั้น ถ้ารู้ธรรมะมันต้องรู้ตัวจริงของสิ่งเหล่านั้น คือรู้ตัวความทุกข์ ด้วยสัมผัสด้วยจิตใจ เรียนอย่างสัมผัสด้วยจิตใจนี่จึงจะรู้ธรรมะ แล้วก็ถ้ารู้เหตุของความทุกข์แล้วก็จะปฏิบัติ ข้อปฏิบัติเพื่อกำจัดเหตุของความทุกข์ เพราะฉะนั้นมันรู้ลงไปที่ตัวจริงทั้งนั้น อย่างนี้เรียกว่ารู้อย่างที่สำเร็จประโยชน์เรียกว่า บรรลุธรรมะ บรรลุธรรมะ ถ้าการรู้การปฏิบัตินั้นมันถึงขั้นที่เกิดผลเป็นการทำให้ความทุกข์หรือปัญหาบางระดับหมดไป นี่ก็เรียกว่าบรรลุธรรมะ หลังจากนั้นจึงจะเรียกว่ามีธรรมะ เดี๋ยวนี้มีคนรู้ธรรมะอย่างปริยัติหรือหลักวิชา ขนาดที่เรียกว่าเรียนพระไตรปิฎกจบ รู้ธรรมะในฐานะเป็นวิชาการขนาดเรียนพระไตรปิฎกจบ แต่แล้วคนเหล่านั้นไม่มีธรรมะ พูดภาษาศาสนาก็เขาไม่มีธรรมะ แต่เขารู้ธรรมะ จบพระไตรปิฎกก็ได้ แล้วก็ไม่มีการบรรลุธรรมะอะไรเลยในทางของฝ่ายมรรคผล นี่เรียกว่าเรียนก็มีสองชนิดนั่นแหละ เรียน เรียน สักว่าเรียน แล้วก็เรียนเพื่อเอาไปใช้เป็นหลักปฏิบัติ นี่รู้ก็มีสองชนิดน่ะ รู้เพราะเรียน เรียนสักว่าเรียนก็รู้อย่างสอบได้นักธรรมได้ ก็เรียกว่ารู้เหมือนกันในความหมายธรรมดาที่สุด แต่ถ้าได้แตะต้องตัวรู้ตัวธรรมะ ก็รู้หลังจากการปฏิบัติธรรมะแล้วนี่เขาเรียกว่ารู้ธรรมะเหมือนกัน เป็นการเรียนด้วยการปฏิบัติ ไม่ใช่การเรียนท่องจำ ไอ้ที่เขาพูดกันไว้สำหรับเด็กนักเรียนว่า สุ จิ ปุ ริ สุ ฟัง จิ คิด สุ ถาม ริ จด นั้นเป็นอย่างวิธีเรียนตามธรรมดาเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับที่เรียนอย่างที่จะบรรลุมรรคผล จึงเป็นเรื่องเรียนในโรงเรียน สุ จิ ปุ ริ เท่านั้นมันไม่พอ นี่เราเข้าใจคำว่าเรียนกันเสียสองความหมาย เข้าใจว่ารู้กันเสียสองความหมาย เรียนแล้วก็รู้อย่างเรียน ปฏิบัติมันก็รู้อย่างปฏิบัติ เหมือนกับว่าเรารู้ว่าน้ำตาลหวาน แต่ว่าไม่เคยกินน้ำตาล มันก็รู้ได้เหมือนกันน่ะ น้ำตาลหวาน แล้วก็ยืนยันกันทุกคนว่าน้ำตาลมันหวาน แต่คงจะไม่รู้ว่า ที่ว่าหวานอย่างน้ำตาลเป็นอย่างไร มันคงจะรู้ว่าหวานเหมือนอย่างของอื่นๆ ที่มันเคยกิน มันก็ยังไม่รู้จริงเฉพาะสิ่งนั้น บางคนที่จะรู้จริงมันก็ต้องเคยกินมาแล้ว กินเกลือ กินน้ำตาล กินมะขาม กินส้ม กินอะไรก็ตาม มันต้องรู้อย่างนั้นน่ะจึงจะเรียกว่ามันรู้ในแง่ของรู้ธรรมะ ทีนี้เมื่อมันรู้ถึงขนาดนั้น มันมีผลมันมีปฏิกิริยาอะไรเกิดขึ้นจากการรู้ มันมีผลอะไรเกิดขึ้นบ้าง นั่นเป็นการบรรลุธรรมะ เช่นหวาน มันไม่หวานเฉยๆ มันก็มีผลชนิดพอใจ สบาย หรือมีผลอย่างใดอย่างหนึ่ง แก้หิว แก้กระหายอะไรก็ตามน่ะ มันก็มีผล เดี๋ยวนี้เขาก็มี มีความรู้ธรรมะ มีตัวธรรมะจริง อยู่ในเขาแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้สังเกตให้เห็นความแตกต่างระหว่างถ้อยคำที่ใช้พูดกันอยู่ ว่าเรียนธรรมะ ก็รู้ธรรมะ บรรลุธรรมะ แล้วก็มีธรรมะ เดี๋ยวนี้เราเรียนธรรมะกันเยอะแยะ แต่ไม่มีธรรมะ เรียนธรรมะเยอะแยะแต่ว่าไม่มีธรรมะเลย มันก็มีความรู้เท่าที่จำได้ จำไว้ได้ละและไม่เท่าไหร่มันก็ลืมละ หรือว่าเป็น….(นาทีที่ 34:40-34:41) สำหรับคิดนึก ….(นาทีที่ 34:42-34:43) สำหรับคิดนึก มันก็ไม่ดับทุกข์ ที่ว่าเราอุตสาห์พูดกัน พูดกันนี้ก็ ก็ให้เข้าใจธรรมะในชั้นต้น มีความเข้าใจธรรมะในชั้นต้น พอที่จะทำให้เกิดความอยากที่จะมีธรรมะ เรารู้ธรรมะ ถ้าเรารู้อย่างสอบไล่ได้นักธรรมนี่ เราไม่ได้มีความอยากที่จะบรรลุธรรมะ หรือมีธรรมะอันแท้จริงอย่างที่ว่ามา นี่เราก็มาพูดกันที่นี่ พยายามพูดให้ชัดเจนให้ดี ศึกษากันให้ดี มีความเข้าใจลึกไปกว่าธรรมดา จนเห็นประโยชน์ เห็นอานิสงส์ของธรรมะ ว่าจะมีประโยชน์อย่างไร หรือจะเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในอนาคตได้อย่างไร แล้วก็เกิดอยากขึ้นมา มีความอยากขึ้นมา ก็จะรู้ธรรมะ ชนิดที่เอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ อย่างนี้ก็ยังดี ผมคงไม่เหนื่อยเปล่า คุณก็ไม่เหนื่อยเปล่า ถ้าว่ามันมีผลแม้เพียงเท่านี้ มีผลทำให้อยากที่จะมีธรรมะตัวจริงขึ้นมา ขอให้ร่วมมือพยายาม แล้วมันก็จะเกิดเห็นทุกข์ เห็นความทุกข์ อยากจะดับทุกข์ขึ้นมาบ้างตามสมควรกันแน่นอน ถ้าว่าเราพูดกันให้ชัดเจนพอ เดี๋ยวนี้มันก็ยากนะ หรือบางทีมันก็ไม่อาจจะพร้อมเพรียงกันทุกคน เหมือนกันทุกคนไประดับเดียวกันทุกคน มันก็ต้องไปตามธรรมชาติ ผมก็ไม่ได้ยกหรืออวดอะไรว่าเรา พูดกันนี้มันจะเป็นการทำให้รู้ธรรมะ หรือมีธรรมะได้ มันก็ให้เข้าใจพอสมควรจนกว่ามันจะอยาก มันก็ไม่พ้น ไม่พ้นไปจากที่จะเรียนอย่างปรัชญา หรือเรียนอย่างตรรกะเท่าที่เราจะพูดกันได้ หรือเท่าที่เราจะได้รับผล ของการที่เรานั่งพูดกันที่นี่ มันก็ไม่พ้นไปจากวิถีทางปรัชญาหรือทางตรรกะ แต่ถ้าเรามีเจตนาดี มันก็ดีแหละ มันก็ยังดี มันดีกว่าไม่มี หรือดีกว่าไม่ได้พูดกันเสียเลย มันขึ้นอยู่กับที่ว่ามีเจตนาดีอย่างเต็มที่ มันจะต้อง มันคือว่าจะสามารถ ถ้าคุณฟังดี เข้าใจดี มันก็จะสามารถระลึกย้อนหลังไปถึงไอ้ความทุกข์ทั้งหลายที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ที่เราไม่เคยนึกว่ามันเป็นความทุกข์ ไม่เคยสนใจว่ามันเป็นความทุกข์ แต่ถ้าเดี๋ยวนี้จะศึกษา ศึกษา ศึกษาพอ มันจะย้อนกลับไปถึงอดีตหนหลังว่า เราก็เคยมีความทุกข์ ราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง บางทีก็มีความทุกข์เหมือนจะเป็นบ้า แล้วมันจะย้อนไประลึกถึงหนหลังรู้จักความทุกข์ขึ้นมา แต่ถ้าเดี๋ยวนี้เราไม่เรียนให้ดี เราก็ไม่รู้จักความทุกข์เหล่านั้น ทั้งที่เราเคยมีมาแล้ว ทีนี้ทางอีกหนึ่งตรงกันข้าม เราจะสามารถคำนวณต่อไปในอนาคต ว่าความทุกข์แบบนั้นๆ มันอาจจะเกิดขึ้นมาได้จริง มันอาจจะเกิดขึ้นมาได้จริงๆ เมื่อย้อนไปดูข้างหลังความทุกข์มันเกิดขึ้นได้อย่างไร เราก็ยังพอมองเห็นว่ามันจะต้องเกิดขึ้นอีกเป็นแน่นอน ดังนั้นก็เตรียมตัวเป็นผู้มีความทุกข์ได้แล้ว เราก็จะรู้จักความทุกข์มากขึ้น จนหวาดเสียว สะดุ้งกลัวต่อความทุกข์ แม้ที่เกิดมาแล้วแต่หนหลัง หรือแม้ที่จะเกิดแน่นอนในอนาคต เราก็เป็นคนมีความทุกข์ มีปัญหาความทุกข์ ก็อยากจะดับทุกข์ เราจะศรัทธาในสิ่งที่จะดับทุกข์ได้ เช่นพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม หรือพระสงฆ์ เปรียบพระพุทธเจ้าเหมือนกับหมอ เปรียบพระธรรมเหมือนกับยา เปรียบพระสงฆ์เหมือนกับพยาบาล คนพยาบาลทั่วๆ ไป ก็จะเกิดความต้องการพระรัตนตรัยขึ้นมา จุดตั้งต้นมันอยู่ที่ตรงนั้น แล้วก็จะยอมให้ธรรมะเผด็จการ ที่เขามีระเบียบปฏิบัติอย่างไร ยอมทั้งหมดประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตาก็ทำได้ ก็จะต้องรักษาศีล หรือธุดงค์ หรืออะไรก็ตามอย่างเจ็บปวดน้ำตาไหลก็ทนได้ เพราะว่าเรายอมเสียแล้ว เพราะว่าเรายอมให้ธรรมะเผด็จการเสียแล้ว ทำไมเราจึงยอมเพราะเรามีศรัทธามากเสียแล้ว ทำไมจึงมีศรัทธาเพราะความทุกข์มันบีบคั้นเราอยู่ นี่เรื่องอิทัปปัจจยตา เกี่ยวกับการศึกษาในการเข้ามาสู่ขอบเขตของความดับทุกข์ ขอให้มองให้เห็นส่วนที่มันเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องจำ ไม่ใช่เป็นเพียงทฤษฎีท่องจำ แต่มันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในใจของเรา ด้วยความรู้สึกอยู่ในความรู้สึกโดยแท้จริง ที่เรียกสั้นๆ ว่าสันทิฏฐิโก เดี๋ยวนี้เราก็สวดบทพระธรรมสันทิฏฐิโกทุกวันทุกวัน แล้วก็ไม่รู้ว่าสันทิฏฐิโกคืออะไร สันทิฏฐิโกในอะไร เป็นต้น ถ้าทำอยู่อย่างที่ว่ามาอย่างถูกต้อง มันก็จะมองเห็นด้วยจิตใจเอง รู้สึกด้วยจิตใจเองว่าความทุกข์ เป็นอย่างนั้น อย่างนั้น ดังที่เราเคยผ่านมาแล้ว แม้เรื่องเด็กๆ จำความได้ มันก็อาจจะระลึกได้ว่ามันเป็นความทุกข์กันขนาดไหน และยังเป็นที่เชื่อแน่ต่อไปข้างหน้า มันก็จะยังมีอย่างนั้นอีก เพราะฉะนั้นเราจึงมีความศรัทธาแน่วแน่ในพระศาสนา ในพรหมจรรย์ที่เราเข้ามาบวช เพื่อประพฤติ ถ้าว่าศรัทธา ในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์มากพอ มันก็ทำให้เกิดการยอมคน ปฏิบัติ ปฏิบัติศีลก็ดี สมาธิก็ดี อะไรก็ดี ยอมปฏิบัติ ยอมทนเจ็บปวดในการปฏิบัติถึงขนาดไม่ถอยหลังนี่ มันก็เรียกว่าเข้าเขต เข้าไปในเขตของพระนิพพานที่เรียกว่าพระโสดาบัน พระโสดาบัน เป็นผู้ถึงซึ่งกระแสแห่งพระนิพพาน ก่อนนี้เป็นปุถุชน ไม่รู้เรื่องนี้เลย จิตใจมันก็มุ่งไม่ถูก หวังไม่ถูก ตั้งไว้ไม่ถูก เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว มันรู้เรื่องความทุกข์พอสมควรแล้ว รู้ว่ามันจะดับทุกข์ได้อย่างไรแน่นอนแล้ว โดยหลักเกณฑ์ของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่มันก็เลยเกิดจิตใจชนิดใหม่ ที่มันแน่วแน่ ที่มันกลับหลังอีกไม่ได้ มันจะกลับหลังไปโง่อย่างเดิมอีกไม่ได้ มันฉลาดขึ้นมาถึงขนาดนี้แล้วมันก็มีแต่จะไปข้างหน้า ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่าไม่มีอันกลับ ไม่มีอันตกต่ำเป็นธรรมดา คือไม่มีการที่จะกลับไปเลวอย่างปุถุชนได้อีกแล้วน่ะ ก็เรียกว่าโสดาบัน เป็นผู้ถึงซึ่งกระแส กระแสนี้ก็คือกระแสของพระนิพพาน เข้าไปอยู่ในขอบเขตของพระนิพพาน มีแต่จะแน่วแน่เข้าไปถึงพระนิพพาน ท่านเปรียบอุปมาไว้มากมาย เช่นว่าเหมือนกับแม่น้ำที่มันไหลแล้วมันออกไปทะเลทั้งนั้นน่ะ จะอะไรมันตกลงไปกระแสน้ำนั้นแล้ว มันก็ออกไปออกทะเล แม่น้ำหยดไหนมันตกลงไปในแม่น้ำแล้ว แม่น้ำหยดนั้นก็ไปทะเล และความทุกข์จะถูกรื้อถอนถูกชำระในส่วนเบื้องต้นมากมายมหาศาล ก็แปลว่ามันมีความหวัง ตั้งแปดสิบ เก้าสิบเปอร์เซ็นต์น่ะที่มันจะดับทุกข์ได้ เพียงแต่เป็นพระโสดาบัน นั่นน่ะคือผลของศรัทธามันเกิดมาจากความทุกข์บีบคั้นเป็นเรื่องจริง นี่เราจะปรับให้เข้ากับเรื่องชีวิตจิตใจของเราได้อย่างไรก็เอาไปคิดดู นี่เราจะ จะจริง จะเอาจริงกันสักเท่าไร ก็มีอยู่อย่างนี้ เราจะเอาจริงกันสักเท่านั้นน่ะ มันมีปัญหาอย่างนี้ ว่าการบวชของเรานี้เตรียมไว้เพียงพรรษาเดียวก็ตาม มันก็มีอยู่ว่าเราจะเอาจริงกันสักเท่าไร เราเอาจริงกันได้เท่าไรมันก็ได้เท่านั้น เราเอาจริงกันเท่าไรมันก็ได้เท่านั้น เพราะฉะนั้นขอให้รับผิดชอบตัวเอง หรือว่ามันต้องช่วยตัวเองในส่วนนั้น ต้องช่วยตัวเอง ต้องรับผิดชอบตัวเอง ผมนี่ทำได้แต่เพียงว่าจะนึกให้กว้างๆ ให้ทั่วๆ ไปว่า มันมีเรื่องอะไรบ้างที่ควรจะเอามาพูดให้ฟัง แล้วผมก็จะพูดแต่เรื่องที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่กับตัวปัญหาโดยแท้จริง แปลว่าจะไม่พูดไอ้สิ่งที่มันหาอ่านได้ สิ่งที่อาจจะหาอ่านได้จากหนังสือ ไม่ต้องมาพูดให้เสียเวลา จะพูดในแง่มุมที่มันจะหาอ่านไม่ได้จากหนังสือ อย่างที่เราพูดกันมาสองสามครั้งแล้ว คิดดูเถิดว่ามันเป็นสิ่งที่จะหาอ่านไม่ได้จากหนังสือ นั้นแหละคืออุปสรรค อุปสรรคที่มันชะงักงันอยู่ก็เพราะว่ามันไม่รู้สิ่งเหล่านี้ สิ่งที่หาอ่านได้จากหนังสือมันก็มากมาย แล้วมันก็ยังช่วยไม่ได้เพราะเราไม่รู้สิ่งเหล่านี้ ซึ่งมันเป็น เป็นของจริง หรือเป็นข้อเท็จจริงที่เนื่องกันอยู่ เพราะนั้นขอให้สนใจจนกว่าจะเห็นด้วยจิตใจ เห็นด้วยจิตใจ จนกว่าจะมอบกายถวายชีวิตไว้แก่พระรัตนไตร โดยหลักหยาบๆ โดยหลักกว้างๆ เราจะมีความรู้อยู่สามชั้นนะ ใช้คำว่าความรู้คำเดียวกันเสียแล้วทีนี้เดี๋ยวนี้ คือรู้เพราะเรียน เพราะเรียนอย่างวิชาการนี่ นี้ก็เป็นความรู้นะ มันก็ต้องเรียกความรู้อยู่ดีน่ะ แล้วที่เรามาคิดค้นด้วยการใช้เหตุผลทบทวนไปมา ทบทวนไปมา ก็เกิดความรู้ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง แต่เราไปเรียกกันว่าไอ้ความเข้าใจ ความรู้อันดับสองนี่จะเรียกว่าความเข้าใจ รู้จักการทำให้เข้าใจ ยังไม่พอ ถ้ายังขึ้นอยู่กับเหตุผลมากนัก ไปตามอำนาจแห่งเหตุผลมากนักเดี๋ยวก็ผิดได้เพราะเหตุผลมันก็แปลมาผิดได้ ต้องเลื่อนระดับของความรู้ขึ้นไปอีกถึงขั้นที่ว่ารู้แจ้ง รู้แจ้งเพราะได้สัมผัสสิ่งนั้นด้วยใจแล้ว ภาษาอังกฤษจะช่วยให้จำกัดความได้ดีขึ้น เช่นว่าเรารู้แล้วก็เราเข้าใจ เพียง Understanding Understanding นี่ก็เรียกว่าเข้าใจ แต่มันยังไม่ Convince มันยังไม่ Realize มันยังไม่เป็น Intuition อย่างนี้ มันต้องไปทำเข้ากับสิ่งนั้นจริงๆ มีการสัมผัสสิ่งนั้นจริงๆ คือมี Experience ในสิ่งนั้นจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ Understanding เพราะมันยังมีความรู้มาเป็นระดับรู้จักการเรียน Learning เป็น Knowledge ตามธรรมดานี้ แล้วมันเป็น Understanding คือมันมีความหมายกว่า แล้วมันก็ไปเป็น Realization เดี๋ยวนี้ก็จะเรียกว่า Wisdom Wisdom Intuitive Wisdom ไปแล้ว มันต่างกับสองอย่างข้างต้นมาก ดังนั้นการบรรลุมรรคผลนั้นน่ะ มันอยู่ในระดับที่เป็น Intuitive Wisdom ทั้งนั้น แม้แต่ในขั้นพระโสดาบันซึ่งเป็นขั้นแรกที่สุด นั้นแหละเอาไปวัดดู เอาไปวัดดู คำนวณดูไปสอบ ทดสอบดูว่าเรามีความรู้ในเรื่องของความทุกข์นี้ในระดับไหน เป็นความรู้ที่ฟังทางหู หรือจะเป็นความรู้ที่คิดค้นเหตุผลจนเข้าใจ หรือเป็นความรู้ชนิดจิตมันได้สัมผัสลงไปจริงๆ แล้ว เป็น Realize ก็รู้สิ่งนั้นถึงที่สุด มันจะไม่ใช้คำว่า Knowledge หรือ Understanding แล้ว มันจะใช้คำว่า Intuition ไปดูเอาเอง Dictionary ผมก็ไม่ค่อยจะสนใจอะไรอย่างจำแม่นนัก แต่รู้คร่าวๆ มันเป็นอย่างนี้ มันมีลำดับของมันเป็นอย่างนี้ มันลึกเข้าไป ลึกเข้าไป ลึกเข้าไป ทีนี้ไอ้คำอีกคำหนึ่งคือว่าความเจนจัด ที่เขามักจะเรียกกันว่าความเจนจัด ใช้คู่กับคำว่า Experience คือสิ่งใดที่เราผ่านมาแล้วแต่หนหลัง Experience แต่หนหลัง อันนั้นน่ะจะช่วยได้มาก เพราะว่าการรู้ธรรมะแท้จริง มันตั้งอยู่บน Experience Experience ทางฝ่ายวิญญาณฝ่ายจิต ไม่ใช่ฝ่ายเนื้อหนัง Experience นี้ก็มีได้ทั้งฝ่ายเนื้อหนัง และทั้งฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณ Experience ที่มันผ่านมาแล้วในทางฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณ อันนี้จะมีประโยชน์ คือจะเอามาทำให้เป็นรูปแบบของความทุกข์ที่จะเป็นตัวปัญหาในการที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรมะได้ ก็ต้องพยายามใช้มันให้เป็นประโยชน์ ที่มันมีแต่หนหลังน่ะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ แล้วพยายามที่จะรวบรวมมันเดี๋ยวนี้ เราจะใช้คำว่า Spiritual Experience Spiritual นั่นคือฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณ และ Experience บางทีเรียกกันว่าความเจนจัด หรืออะไรผมก็ไม่ทราบแน่ว่าภาษาไทยเขาจะใช้คำอะไรกันแน่สำหรับคำว่า Experience แต่มันมากกว่าไอ้ความเคยชินหรือ ความเจนจัดแน่ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีอันนี้มาก เราจะรู้ธรรมะได้ง่าย ยิ่งมี Spiritual Experience มากแล้วจะยิ่งรู้ธรรมะได้มาก ได้ง่ายได้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้นอะไรอะไรที่มันได้เกิดขึ้นแก่จิตแล้ว ในฝ่ายที่สมมุติกันว่าดีก็ตาม ฝ่ายที่สมมุติกันว่าชั่วก็ตาม ทำ Experience ในสิ่งนั้นให้มันมากๆ เข้า เช่นว่าเราเคยเกิดราคะอย่างไร เคยเกิดโทสะอย่างไร เคยเกิดโมหะอย่างไร อย่าให้มันแล้วๆ ไปเสีย อย่าให้มันพ้นๆ ไปเสีย ต้องมาทำให้มันเป็นสิ่งที่ประจักษ์ ประจักษ์ชัดเจน เป็น Experience อยู่เมื่อใดก็ได้ มันจะช่วยให้เรารู้จักไอ้สิ่งนั้นได้ดีขึ้นง่ายขึ้น รู้จักราคะ โทสะ โมหะ ได้ดีขึ้น ที่ในส่วนที่มันเป็นผลก็อย่างเดียวกันอีกน่ะ เราเคยมีความทุกข์อย่างไร เคยมีความสุขอย่างไร โสกะปะริเทวะทุกขะ โทมนัสอย่างไร เคยร้อนเหมือนกับตกนรกหมกไหม้อยู่ในจิตใจอย่างไร เคยสบายอย่างไร เคยโง่อย่างไร เคยหลงอย่างไร เคยฉลาดอย่างไรนี่ไปศึกษากันใหม่ สิ่งเหล่านี้จะช่วยได้มากให้รู้เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับความทุกข์และความดับทุกข์ มิฉะนั้นเราจะฟังกันแต่ชื่อ ท่องจำกันแต่ชื่อ หลายสิบคำทีเดียวซึ่งไม่รู้มันว่าอะไร ที่เราอ่านมานั่นแหละเรารู้กันแต่ชื่อ ถ้าเราพูดว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย โสกะ ปริเทวะ ทุกขะโทมนัสะ อุปายาสะ อะไรก็ตามน่ะ ขอให้รู้จักมันโดยแท้จริงสักหน่อยเถอะ ที่แล้วมาเราขี้เกียจจะรู้นี่ เพราะไม่มีอะไรจำเป็นบังคับให้รู้ เราก็ปล่อยเรื่อยๆ แล้วก็ขี้เกียจ ไม่อยากจะอดทนเพื่อจะรู้ หรือจะสังเกต เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว ถ้าอยากจะรู้ธรรมะจริงๆ แล้ว ก็จะต้องยอมอดทนศึกษาสังเกต พิสูจน์ ทดลองอะไรกันไปให้มันเป็นความรู้ที่มันประจักษ์ และเราก็จะรู้จักไอ้สิ่งเบื้องต้นที่สุด ที่สำคัญที่สุด ที่เราจะต้องรู้ คือสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ นี่ขอให้สังเกตจำให้ดีๆ ว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องความทุกข์ ถ้าเราไม่มีความรู้แจ้งต่อสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ แล้วเราก็ไม่มีศรัทธา เมื่อเราไม่มีศรัทธา เราก็ไม่ขวนขวาย ที่จะ จะไปหาธรรมะหรือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อจะดับความทุกข์ เพราะฉะนั้นขอให้ศรัทธาของเราเป็นศรัทธาชนิดแท้ ชนิดบริสุทธิ์ บริบูรณ์ คือศรัทธาที่เกิดมาจากการบีบคั้นของความทุกข์ อย่าให้เป็นศรัทธาเหมือนคนทั่วๆ ไป ที่เขาศรัทธา ศรัทธา เฮโลสารทา ตามๆ กันไป ศรัทธาอย่างนั้นมันไม่แท้ และมันจะไม่นำไปสู่ไอ้จุดหมายอันนี้ได้ นี่วันนี้ก็พูดเรื่องนี้อย่างนี้ ไม่ใช่ตัวหลักธรรมะปฏิบัติอะไรโดยตรง แต่เป็นการบอกให้รู้ถึงปัญหาหรืออุปสรรคที่พวกเราเหล่านี้มันไม่ก้าวเข้าไปในขอบเขตของธรรมะ มันไม่เดินไปตามทางของธรรมะ และเราก็ไม่มอบกายถวายชีวิตแก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะมันไม่มีอะไร มาบีบบังคับให้เราต้องปลงศรัทธา ปล่อยศรัทธา มอบกายถวายชีวิตแก่พระธรรม ถือว่าธรรมะชนิดที่ไม่ทำให้มอบกายถวายชีวิตแก่พระธรรมนั้นมันก็ มันก็อยู่อย่างนั้น มันก็ตายด้านอย่างนั้น ถ้ารู้ธรรมะขนาดทำให้มอบกายถวายชีวิตแก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือแก่พระธรรมคำเดียวก็พอ มันก็จะได้ประโยชน์กันแน่นอน จะมีธรรมะที่แท้จริงอยู่กับเนื้อกับตัว มันจะมีสภาพถอนตนขึ้นจากความทุกข์ ถอนตนขึ้นจากความทุกข์ยิ่งๆ ขึ้นไป เอาละเวลามันหมดแล้ว มันจำกัดแล้ว ( นาทีที่ 59:34 ถึง 59:46 ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เทศน์ เป็นช่วงที่พูดถึงคนอัดเทปว่าจะอัดเสียงไม่เกินหนึ่งชั่วโมง) เรื่องมันก็ควรจะจบ เรื่องก็มีแต่เพียงว่าความทุกข์ ถ้าไม่มีอะไรมาบีบคั้น นี่เราก็ไม่มีศรัทธาในธรรมะ และเราก็ไม่ยอมให้ธรรมะเผด็จการ เรื่องมีเท่านั้น ถ้าเรารู้จักธรรมะพอ สละ เสียสละพอ เราก็จะยอมให้ธรรมะเป็นฝ่ายเผด็จการและเราก็จะเจริญไปด้วยธรรมะ ก็ยุติการบรรยายวันนี้ไว้เพียงเท่านี้
ถ้าเรื่องมันจริงอย่างในอรรถคาถา แล้วสุนัขของเรานี่คงจะดีขึ้นมาก เพราะมันมาฟังมานอนฟัง ในอรรถคาถาเขาว่าพวกค้างคาวที่อยู่ในถ้ำ ฟังพระเถระสาธยายอภิธรรมแล้วก็มาเกิดเป็นภิกษุผู้แตกฉานในอภิธรรม