แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
อะเนกะชาติสังสารัง สันธาวิสสัง อะนิพพิสัง, คะหะการัง คะเวสันโต ทุกขา ชาติ ปุนัปปุนัง,
คะหะการะกะ ทิฏโฐสิ ปุนะ เคหัง นะ กาหะสิ, สัพพา เต ผาสุกา ภัคคา คะหะกูฏัง วิสังขะตัง,
วิสังขาระคะตัง จิตตัง ตัณหานัง ขะยะมัชฌะคาติ, ธัมโม สักกัจจัง โสตัพโพ ติ
ณ บัดนี้ อาตมาจะได้วิสัชชนาพระธรรมเทศนาเนื่องในวิสาขบูชา เป็นธรรมเทศนาแนะนำเพื่อการเตรียมกระทำพิธีวิสาขบูชาเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้ท่านทั้งหลายรู้จักกระทำในใจให้สำเร็จประโยชน์เป็นอย่างยิ่งในสิ่งที่จะต้องทำนั้นๆ เช่น ในวันนี้เวลานี้ต้องการจะกระทำพิธีวิสาขบูชา เราก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในเรื่องราวอันเกี่ยวกับการกระทำนี้ กระทำในใจถูกให้ตรงตามเรื่องราวซึ่งอาตมาจะได้กล่าวเป็นลำดับไป
เรามากระทำพิธีวิสาขบูชากันในสถานที่อย่างนี้ เพื่อให้เป็นการง่ายเป็นการสะดวกในการที่จะกระทำจิตใจให้เข้ากันได้กับเรื่องราว คือพระพุทธองค์ประสูติในอุทยานลุมพินี และก็ตรัสรู้ที่ริมตลิ่งใต้ต้นไม้อัสสัตถะ แล้วก็ปรินิพพานใต้ต้นสาละในอุทยาทของมัลลกษัตริย์ดังที่เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป ฉะนั้นเดี๋ยวนี้เราก็ได้มานั่งกันอยู่ใต้โคนต้นไม้ มีทัศนียภาพเป็นป่า พอจะสมมุติว่าเหมือนกันกับในครั้งพุทธกาล ตามที่ถือกันมาว่าพระพุทธองค์ประสูติใต้ต้นสาละ ถ้าไม่เคยเห็นก็ ในที่นี้ก็มีต้นพะยอมซึ่งคล้ายกันมาก สองต้นนั้นเป็นต้นพะยอม ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ใกล้ชิดกันมากกับต้นสาละ คล้ายๆ กัน ต้นสาละจริงที่เอาพันธุ์มาจากประเทศอินเดียอยู่ที่หน้าตึกข้างล่างอย่างนี้เป็นต้น สมมุติเอาว่าเรากระทำวิสาขบูชากันในป่า ไม่ได้ทำในเมืองเรียกว่า วิสาขบูชาเถื่อนก็ยังได้ เพราะว่าทำในป่านั้นทำความสงบแห่งจิตใจได้โดยง่าย ขอให้ทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ก็เหมือนกับเราได้ไปดูไปเห็นการประสูติ การตรัสรู้ และการปรินิพพาน แม้ว่าในลักษณะที่เป็นการแอบดูก็จะเห็นว่าเหตุการณ์นั้นได้เป็นไปอย่างไรในป่า ในสถานที่นั้นๆ ทำได้อย่างนี้ก็จะมีผลพิเศษแปลกมากคือ สูงออกไปกว่าที่จะทำวิสาขะเมือง วิสาขะในเมืองเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างปูลาดทั้งหลาย วิสาขะเถื่อนคงจะช่วยได้มากในเรื่องนี้ ทำจิตใจให้สมกันกับที่เราตั้งใจจะทำ ท่านทั้งหลายเป็นอันมากก็มาจากที่ไกล หวังจะได้รับประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางจิตใจ ให้ดี ให้มาก ให้เป็นพิเศษ ให้สมกับที่เหน็ดเหนื่อยและหมดเปลืองในการมา เรื่องจะสำเร็จได้ที่การกระทำในใจ
ที่จะต้องทราบต่อไปอันลึกซึ้งก็คือว่าความหมายของคำว่า วิสาขบูชา เราทำการบูชาเนื่องในวิสาขปุณณมีคือวันเพ็ญเดือนวิสาขะ วันเพ็ญเดือนวิสาขะนี้สมมุติกันว่าเป็นวันที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ถ้าเรารู้ความหมายของคำว่า ประสูติ ตรัสรู้ และนิพพาน เราก็ทำในใจได้ง่ายที่จะให้ตรงตามเรื่องนั้นๆ ให้มากที่สุดตามที่จะมากได้ วิสาขบูชามีความหมายได้เป็น ๒ อย่างคือ อย่างภาษาคนธรรมดาก็ได้ อย่างภาษาธรรมของผู้รู้ธรรมะก็ได้ เรื่องภาษาคนภาษาธรรมนี้สำคัญมาก สามารถจะทำให้เข้าใจในสิ่งนั้นๆ ได้อย่างลึกซึ้งและสมบูรณ์ สมบูรณ์ทั้ง ๒ ความหมาย คือ ทั้งฝ่ายภาษาคนและภาษาธรรม ๒ อย่างนี้ต่างกันมากขอให้ฟังให้ดี ถ้ากล่าวอย่างภาษาคน การประสูติมันก็กลายเป็นการประสูติของพระสิทธัตถะ เด็กๆ น่ะ ไม่ใช่พระกุมารน่ะ ไม่ใช่พระพุทธเจ้า ถ้ากล่าวอย่างภาษาคน การประสูติหมายถึง การประสูติของพระสิทธัตถะ การตรัสรู้ก็หมายถึง การตรัสรู้ของพระสิทธัตถะเมื่อเป็นพระพุทธเจ้า และการนิพพานก็คือ การนิพพานของพระพุทธเจ้า ท่านทั้งหลายสังเกตดูให้ดีๆ ว่า นิพพานของพระพุทธเจ้า การปรินิพพานของพระพุทธเจ้าเป็นคำในภาษาคนมากเกินไป ถ้าเป็นผู้รู้เขากล่าวอย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่าพระพุทธเจ้านั้นนิพพานไม่ได้ พระพุทธเจ้าตายไม่ได้ อย่าใช้คำภาษาลูกเด็กๆ ในโรงเรียนว่านิพพานแปลว่าตาย นี่ถ้ากล่าวอย่างภาษาคนก็เป็นเรื่องคลอดของเจ้าชายสิทธัตถะ การตรัสรู้ของเจ้าชายสิทธัตถะและการปรินิพพาน คือ ดับของพระพุทธเจ้า มันก็ห่างกันมาก คือว่าประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะแล้ว ๓๕ ปี จึงจะมีการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และต่อมาอีก ๔๕ ปีจึงจะมีการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ครบ ๘๐ ปีพอดี แต่ถ้ากล่าวอย่างภาษาธรรมซึ่งไม่ค่อยกล่าวกันนั้น หมายความว่าเป็นการประสูติหรือบังเกิดของพระพุทธเจ้า การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และการนิพพานนั้นเป็นการนิพพานของกิเลส ของความทุกข์ อย่างมากก็ของร่างกาย ของพระวรกาย คำว่าประสูตินั้นมันเป็นความหมายที่กำกวม คำว่าประสูติ ตรัสรู้ นิพพานไม่ใช่เป็นคำที่มีในบาลี เป็นคำที่เราสมมุติเรียกกันขึ้นเองในบัดนี้ว่าการประสูติ ก็มีปัญหาว่าประสูติของใคร ถ้าประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะกุมารนั้นก็ดีไป แต่ว่าถ้าเป็นการประสูติของพระพุทธเจ้าเล่าจะหมายถึงอะไร ควรจะหมายถึงการบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะนั้นมีห่างกันตั้ง ๓๕ ปีกับการบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า นี่แหละ เพราะฉะนั้นสำหรับพระพุทธเจ้า ประสูตินั้นมันมีความหมายว่าประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะหรือของพระพุทธเจ้า ถ้าของพระพุทธเจ้าก็คือ การตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง ในการตรัสรู้นั้น ในขณะนั้นน่ะทำให้เจ้าชายสิทธัตถะตายไป หรือภิกษุนักบวชชื่อสิทธัตถะนั้นตายไป และก็เกิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา และในการตรัสรู้นั้นทำให้กิเลสหรือความทุกข์หรือตัวตนซึ่งเป็นกิเลสนั้นดับไปนี้เรียกว่านิพพาน การตรัสรู้มีพร้อมกันกับการเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า และการดับไปสนิทแห่งไฟทุกข์และไฟกิเลสมีในขณะเดียวกัน เหมือนกับว่าเราจุดไฟขึ้นมา พอไฟลุกขึ้นก็มีการที่ความมืดหายไป แสงสว่างปรากฏออก ไฟลุกขึ้น ความมืดหายไป แสงสว่างปรากฏออกนี้มันเป็นขณะเดียวกัน ข้อนี้เป็นอุปมาฉันใดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าก็เป็นฉันนั้น คือการตรัสรู้นั่นเองทำให้เกิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา แล้วกิเลสทั้งหลายก็สูญสิ้นไป เรียกว่านิพพาน นิพพานแปลว่า ดับแห่งของร้อน ข้อนี้สมควรจะเข้าใจกันไว้ให้ดีๆ นิพพานไม่ได้แปลว่าตาย นิพพานมีได้โดยไม่ต้องตาย บรรลุนิพพานได้โดยไม่ต้องมีการตาย เท่ากับว่านิพพานแปลว่าดับแห่งของร้อน ถ้าตายก็หมายถึงตายแห่งความร้อน ในพระบาลีทั่วๆ ไปที่หาพบ คำว่านิพพานแปลว่า ดับแห่งความร้อนทั้งนั้น อย่างเช่นคำว่า (นาทีที่ 0.24.26) นิพพาปัยย ช่างทองเขาสูบเผาทองในเบ้าจนลุกโพลง แล้วเขาเอาออกมาจากเบ้า เขาเอาน้ำรดเพื่อให้ทองนั้นเย็นลง กิริยาอันนี้เรียกว่า (นาทีที่ 0.24.43) นิพพาปัยย คือทำให้มันนิพพาน คือทำให้มันเย็น นี้มันภาษาวัตถุ ทีนี้ภาษาธรรมะนั้นไฟคือกิเลส ไฟคือความทุกข์เป็นของร้อน ธรรมะเข้ามาดับให้เย็นไป ความร้อนนั้นดับลงและเย็นไป นี้ก็เรียกว่านิพพาน ทำไฟกิเลสและไฟทุกข์ให้ดับเย็นลงไปนี้ก็เรียกว่านิพพาน ขอให้ทราบเถิดว่านิพพานมีได้ บรรลุถึงได้โดยที่บุคคลนั้นไม่ต้องตาย ถ้าว่าเป็นความดับแห่งกิเลสเย็นสนิทก็เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ คือโดยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ถ้ามันไม่เย็นสนิท อินทรียังรับอารมณ์ รู้สึกเหมือนแต่ก่อนนี้ เวทนาทั้งหลายยังไม่เป็นของเย็นโดยประการทั้งปวงแล้วก็เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ข้อความในพระบาลีอิติวุตตกะมีกล่าวไว้ชัดอย่างนี้ พระอรหันต์ไม่ต้องตายอย่างที่อธิบายกันว่าอนุปาทิเสสปรินิพพานนั้นคือพระอรหันต์ตายลง นี้เป็นเรื่องเข้าใจผิดอย่างยิ่ง ให้เข้าใจที่ถูกต้องว่า พระอรหันต์นั้นตายไม่ได้ พระอรหันต์ไม่ตาย พระอรหันต์จะตายไม่ได้ ถ้าจะตายก็เป็นเพียงร่างกายของพระอรหันต์ หรือร่างกายที่ทรงคุณธรรมที่เรียกว่า พระอรหัตถ์ พระอรหันต์ตายไม่ได้ นิพพานไม่ได้ ร่างกายของท่านตายได้ กิเลสของท่านดับได้ตายได้ แต่องค์พระพุทธเจ้าหรือองค์พระอรหันต์นั้นตายไม่ได้ เรียกว่ามันเย็นลงไป มันดับลงแห่งความร้อน ในขณะแห่งการตรัสรู้นั้น พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในลักษณะเป็นโอปปาติกะ ท่านทั้งหลายที่เป็นนักศึกษาก็สังเกตดูให้ดี กิริยาที่ใช้กับอาการอันนี้ใช้คำว่า อุปัตติ พระพุทธองค์ทรงอุบัติขึ้นมาในโลก พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นมาในโลก คำว่าอุปัตติในที่นี้หมายถึงกิริยาที่เกิดโดยโอปปาติกะคือเกิดโดยจิตใจ พระสิทธัตถะกุมารตายไป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นโดยวิธีโอปปาติกะ คือความที่จิตมันเปลี่ยนไปสู่ความเป็นอย่างอีกอย่างหนึ่ง นี่พระพุทธเจ้าจึงทรงอุบัติขึ้นคือบังเกิดขึ้นในโลกในขณะที่มีการตรัสรู้นั้น ทีนี้จึงเป็นอันเดียวกัน การตรัสรู้กับการทรงอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอันเดียวกัน ทีนี้ก็การนิพพานนั่น เมื่อมีการตรัสรู้แล้วก็ทำลายกิเลสทั้งปวง ทั้งกิเลสและทั้งความทุกข์ ทั้งไฟกิเลสและทั้งไฟความ ทั้งทั้งไฟทุกข์ดับเย็นสนิทนี้ก็เรียกว่านิพพาน ก็มีพร้อมกันในขณะที่เรียกว่าตรัสรู้ ดังนั้นการตรัสรู้จึงอมความหมายของคำว่าพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นและกิเลสทั้งหลาย มารร้ายทั้งปวงได้ตายไปนั่น สิ่งที่ตายได้นั้นคือกิเลสและความทุกข์ พระพุทธเจ้าตายไม่ได้ ขอให้พวกเราพุทธบริษัททั้งหลายมองเห็นความจริงข้อนี้กันบ้าง ถ้าพระพุทธเจ้านิพพานหรือตายเสียแล้ว เราจะมีอะไรเป็นสรณะ ก็จะถูกหัวเราะเยาะโดยคนต่างชาติต่างศาสนาว่า พุทธบริษัทนี้มีพระศาสดาที่ตายแล้ว ส่วนพวกเขามีพระศาสดาที่มีชีวิตอยู่และไม่รู้จักตาย เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ขอให้ช่วยกันพูดจาเสียใหม่ให้ถูกต้องว่าเรามีพระศาสดาที่ยังอยู่ ที่ไม่รู้จักตาย เพราะว่าท่านทั้งหลายเหล่านี้ได้บรรลุถึงอมตธรรม อมฤตธรรม ธรรมที่ทำความไม่ตาย แต่ท่านได้บรรลุอมตธรรม พระอรหันต์ทั้งหลายได้บรรลุอมตธรรมดังนั้นท่านจึงไม่ตาย พระพุทธเจ้าจอมพระอรหันต์ก็บรรลุอมตธรรม จึงไม่ตาย ขอให้ยังคงอยู่โดยพระคุณ โดยคุณค่า โดยความหมายที่ไม่รู้จักตาย นี่มาฆบูชาในภาษาธรรมมันมีความหมายอย่างนี้ ถ้าในภาษาคนมันก็เกิด อย่างพระสิทธัตถะเกิด พระกุมารเกิด แล้วก็ตรัสรู้ แล้วตายคือตายอย่างที่เผา เอาไฟเผาสรีระให้หมดไป มันเป็น ๓ เรื่อง และแต่ละเรื่องห่างไกลกันเป็นสิบๆ ปี แต่ถ้าเรากล่าวโดยภาษาธรรมแล้วทั้ง ๓ เรื่องเป็นสิ่งเดียวกันมีได้ในขณะเดียวกัน คือในขณะแห่งการตรัสรู้นั่นแหละเกิดพระพุทธเจ้าและเกิดนิพพานแห่งไฟกิเลสและไฟทุกข์ คือของร้อนได้ดับเย็นลงไป จิตใจของพระองค์ได้ทรงลุถึงความเย็นนั้น นี้เรียกว่าการตรัสรู้ พวกเราชาวพุทธทั้งหลายเอ๋ย, อย่าได้ฆ่าพระพุทธเจ้าเสียเลย คนโง่ๆ ที่มันพูดว่าพระพุทธเจ้านิพพานนั่นแหละและหมายถึงความตายแล้ว คนเหล่านี้มันฆ่าพระพุทธเจ้าเสียเองแล้วจะเอาพระพุทธเจ้าที่ไหนมาเป็นสรณะ ขอให้คิดดูให้ดีๆ พวกเรานี่แหละอยากฆ่าพระพุทธเจ้าเสียโดยพูดว่าพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว นิพพานนั้นเป็นของกิเลสและของความทุกข์ หรือว่าถ้าจะเอาเป็นวัตถุก็หมายถึงร่างกาย ร่างกายไม่ใช่องค์พระพุทธเจ้า ร่างกายของพระพุทธเจ้านั่นแหละ ตายได้เผาได้อะไรได้ แต่องค์พระพุทธเจ้าแท้จริงนั้นต้องไม่รู้จักตาย ต้องเป็นสิ่งที่เป็นอมตะ นี่เราท่านทั้งหลายเอ๋ย, อย่าชวนกันฆ่าพระพุทธเจ้าเสียเลย เหมือนที่ได้รู้กันมาก่อนๆ ว่าพระพุทธเจ้านิพพานคือตายแล้วนั้นมันผิดอย่างยิ่ง แม้พระอรหันต์ทั้งหลายก็ตายไม่ได้ แต่เราไปชวนกันฆ่าท่านเสียว่าตายได้ นี่คือการทำผิดอย่างยิ่ง ความเข้าใจผิดอย่างนี้ขออย่าได้มีอยู่ในจิตใจของเราในขณะนี้เลย
ทีนี้ก็จะพูดถึงการตรัสรู้ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของทุกเรื่อง ทำไมว่าเรื่องสำคัญของทุกเรื่องก็เพราะว่าเพราะการตรัสรู้นั่นแหละจึงเกิดพระพุทธเจ้า เพราะการตรัสรู้จึงมีอาการที่เรียกว่า นิพพาน ดับเย็นแห่งของร้อน คือไฟกิเลสและไฟทุกข์ ดังนั้นเรื่องตรัสรู้นั่นแหละจึงเป็นเรื่องใหญ่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้น่ะตรัสรู้อะไร เมื่อกล่าวตามพระบาลีแล้ว การตรัสรู้ก็คือ ตรัสรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา ที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า ปฏิจจสมุปบาท จงไปอ่านพระบาลี เรื่องราวในคืนนี้คือคืนตรัสรู้นั้นน่ะ พระพุทธเจ้าท่านทรงทบทวนเรื่องปฏิจจสมุปบาท ว่าทุกข์เกิดมาจากอะไร ทุกข์เกิดมาจากชาติ ชาติเกิดมาจากอะไร เกิดมาจากภพ ภพเกิดมาจากอะไร เกิดมาจากอุปาทาน อุปาทานเกิดมาจากอะไรอุปาทานเกิดมาจากตัณหา ตัณหาเกิดมาจากอะไร เกิดมาจากเวทนา เวทนาเกิดมาจากอะไร เกิดมาจากผัสสะ ผัสสะเกิดมาจากอะไร เกิดมาจากอายตนะ อายตนะเกิดมาจากอะไร เกิดมาจากนามรูป นามรูปเกิดมาจากอะไร เกิดมาจากสังขาร สังขารเกิดมาจากอะไร เกิดมาจากวิญญาณ วิญญาณเกิดมาจากอะไร เกิดมาจากอวิชชา นี่ขอให้สังเกตดูว่าทรงทบทวนอย่างนี้ ทบทวนไปทบทวนมา จนกระทั่งวาระสุดท้ายที่เรียกว่าตรัสรู้แล้ว ก็คือตรัสรู้เรื่องสิ่งเหล่านี้ว่ามันมีการกระทำกันอย่างไร สรุปได้ว่า ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ความทุกข์ดับลงไปอย่างไร กฎเกณฑ์อันนี้เรียกว่า กฎอิทัปปัจจยตา เรื่องความเกิดขึ้นของทุกข์ เรื่องการดับลงของทุกข์ รู้หมดจดสิ้นเชิงแล้วก็เรียกว่าตรัสรู้ เป็นการตรัสรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา คือ ข้อที่มีสิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้จึงเกิดขึ้นเพราะสิ่งนี้ดับลงสิ่งนี้จึงดับลง อย่างนี้ เป็นสิ่งสูงสุดในเรื่องที่มนุษย์ควรจะรู้ในฐานะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีกิเลส ท่านตรัสรู้แล้วก็ทรงปริวิตกต่อไปว่าเป็นพระพุทธเจ้าแล้วจะเคารพอะไร ในพระบาลีมีอยู่ชัดว่าเป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็เคารพธรรมะที่ตรัสรู้นั่นเอง จนทรงพระอุทานขึ้นมาว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกพระองค์ในอดีตในอนาคตในปัจจุบันล้วนแต่เคารพธรรมที่ท่านตรัสรู้ และธรรมที่ท่านตรัสรู้ก็คือ กฎอิทัปปัจจยตา นั่นก็หมายความว่าพระองค์ทรงเคารพกฎธรรมชาติ กฎของธรรมชาติเรื่องอิทัปปัจจยตาที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ นี่แหละขอให้รู้เถอะว่าในวันนั้นทรงตรัสรู้กฎอิทัปปัจจยตาและก็ทรงนับถือสิ่งนี้ในฐานะเป็นสิ่งสูงสุดจนกระทั่งว่า พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ก็เคารพกฎอิทัปปัจจยตา
กฎอิทัปปัจจยตานั้นเป็นกฎตายตัวของธรรมชาติว่าความทุกข์จะเกิดขึ้นมาด้วยเหตุอย่างนี้ ความทุกข์จะดับลงไปด้วยเหตุอย่างนี้ มีรายละเอียดซึ่งท่านทั้งหลายควรจะศึกษาและก็มีข้อความมากมายพอที่จะให้ศึกษาให้เข้าใจและให้ดับทุกข์ได้ แต่ถ้าสรุปความกันสั้นๆ แล้ว ก็คือการที่ไม่ทำผิดเมื่อมีผัสสะ ฟังแล้วก็ไม่น่าเชื่อว่ามันช่างสั้นเสียเหลือเกิน ว่าไม่ทำผิดเมื่อมีผัสสะ ถ้าทำผิดเมื่อมีผัสสะก็จะเกิดความทุกข์ขึ้น ถ้าไม่ทำผิดเมื่อมีผัสสะก็ไม่เกิดความทุกข์ขึ้น ควรจะรู้จักผัสสะกันให้ดีๆ ว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลาแก่คนทุกคน เดี๋ยวผัสสะทางตา เดี๋ยวผัสสะทางหู เดี๋ยวผัสสะทางจมูก เดี๋ยวผัสสะทางลิ้น เดี๋ยวผัสสะทางผิวหนังร่างกาย เดี๋ยวผัสสะทางจิตใจ คนธรรมดาโดยทั่วไป พอผัสสะเกิดขึ้นแล้วเป็นคนโง่ ไม่รู้เท่าทันผัสสะนั้น จึงได้เกิดสังขารการปรุงแต่งขึ้นในจิตใจ เป็นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายที่ให้เกิดทุกข์ แล้วก็ได้เกิดทุกข์ มีผัสสะเกิดแล้วมันโง่ มันโง่ก็เกิดเวทนา โง่สำหรับจะยึดถือว่าสุขว่าทุกข์ว่าน่ายินดี ว่าน่ายินร้าย มันก็เกิดตัณหาไปตามเวทนานั้น เกิดตัณหาแล้ว มีความอยากแล้ว มันก็เกิดความรู้สึกโง่ต่อไปว่ามีผู้อยากคือตัวกูผู้อยาก นี้เรียกว่าอุปาทานตัวตนเกิดแล้วก่อนนี้ไม่เคยมี เดี๋ยวนี้ตัวตนเกิดแล้ว สำหรับจะยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยความเป็นตัวตนหรือเป็นของตน อย่างโง่ที่สุดก็ว่าเป็นตัวกูว่าเป็นของกู นี่มีความหนักเกิดขึ้นในจิตใจนั้นแล้ว หนักด้วยความที่จะได้ตามปรารถนาหรือความไม่ได้ตามปรารถนา ถ้าได้มาก็หลงรักก็เป็นความทุกข์ ไม่ได้มาก็โกรธก็เกลียดก็เป็นความทุกข์ มันเป็นความทุกข์ทั้งขึ้ทั้งล่องของบุคคลผู้มีความโง่ในขณะที่มีผัสสะ ถ้าอยากโง่ในขณะที่มีผัสสะ โอ้, มันสักว่าการกระทบตามธรรมชาติ ตาคู่กับรูปก็กระทบกันก็เกิดจักษุวิญญาณ เมื่อจักษุวิญญาณทำหน้าที่อย่างนี้อยู่เรียกว่าผัสสะ เกิดทางตาก็เป็นผัสสะทางตา เกิดทางหูก็เป็นผัสสะทางหูเป็นต้น เมื่อมีผัสสะแล้วเราไม่โง่ โอ้, มันสักว่าการกระทบตามธรรมชาติของธรรมชาติ ถ้าอย่างนี้เกิดเวทนาอย่างนี้ ถ้าอย่างนี้เกิดเวทนาอย่างนี้ ซึ่งก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติที่เรียกว่า กฏอิทัปปัจจยตา เป็นกฎธรรมชาติอันลึกซึ้งตายตัวเฉียบขาดอยู่อย่างนี้ ถ้าโง่ก็ไปหลงในเวทนาว่าเวทนาที่น่ายินดีก็มี ในเวทนาที่น่ายินร้ายก็มี และมันก็โง่ต่อไปคืออยาก จิตใจเกิดความอยากตามเวทนานั้นๆ น่ารักน่ายินดีก็อยากได้ ไม่น่ารักไม่น่ายินดีก็อยากฆ่าเสียอยากจะทำลายเสีย พอมีความอยากที่เรียกว่าตัณหาอย่างนี้ขึ้นมาแล้ว ตัณหานั้นก็ให้เกิดอุปาทาน ตัวกูผู้อยาก ผู้ต้องการ ผู้จะกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ นี้เป็นความลับที่สุดที่ว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวตนหรือตัวกูนั้นมันเพิ่งเกิด ไม่ใช่มันเกิดอยู่ก่อน ไม่ใช่มันเกิดอยู่ตลอดเวลา มันเพิ่งเกิดเมื่อเรามีความโง่ในขณะแห่งผัสสะ มันจึงเกิดตัวตนขึ้นมาได้ จิตใจเต็มไปด้วยตัวตนอย่างนี้มันก็เป็นความทุกข์ เพราะเต็มอัดอยู่ด้วยความรู้สึกว่าตัวตน ยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นของตนนี้เรียกว่าไม่ว่าง เพราะมันมีความยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือตัวมันเอง ว่าเป็นตัวตนบ้าง ว่าเป็นของตนบ้าง เพราะมีความยึดถือมันก็ไม่ว่าง เพราะไม่ว่างก็ยึดถือมันก็เป็นทุกข์เพราะมีของหนัก พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนให้ทำจิตให้ว่าง พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เสียด้วย คือท่านสอนว่า สัพพปาปัสสะอกรณัง อย่าทำบาปทั้งปวง กุสสัลสูปสัมปทา อย่า ให้ทำกุศลให้ถึงพร้อม สจิตตปริโยทปนัง จงทำจิตของตนให้ขาวรอบ ปริโยทปนัง แปลว่า ทำให้มันขาวรอบ จิตมันไม่ขาวรอบเพราะมันเต็มไปด้วยความยึดมั่น นั่นนี่เป็นตัวตนเป็นของตนเป็นทุกข์อยู่ คือจิตของคนปัจจุบัน ของคนสามัญในปัจจุบันนี่มันยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่โดยความเป็นตัวตน มันก็ไม่เป็นจิตที่ขาวรอบ ถ้าเมื่อใดเมื่อความยึดมั่นออกไปเสีย เอาความยึดมั่นออกไปเสีย มันก็เป็นจิตที่ขาวรอบ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงสั่งสอนให้ทุกคนจงทำจิตของตนให้ขาวรอบ ถ้าจิตไม่ว่าง มันก็ดำไม่ขาวรอบ ถ้าจิตมันว่างจากความยึดมั่นถือมั่น มันก็ขาวรอบ เพราะว่าการที่มันไม่ขาวเพราะว่ามันมีความยึดมั่นจึงดำ จึงมืดเต็มอัดอยู่ในจิตใจนั้น เมื่อเอาความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนออกเสียมันก็ขาวรอบ มันจะไม่ยึดมั่นถือมั่นได้ก็เพราะว่ามันเห็นสุญญตา คือความว่าง พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในที่อื่นว่าโมฆราช เธอจงเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อเถิด เธอจงเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อเถิด เมื่อเห็นอยู่โดยความเป็นของว่าง มันก็ไม่จับฉวยอะไร ไม่ยึดมั่นอะไร เมื่อไม่ยึดมั่นอะไรมันก็ขาวรอบ มันก็ว่าง ยังตรัสสอนไว้ชัดเจนว่าไอ้โลกนี้มันว่างจากอัตตา ว่างจากอัตตนียาคือ ว่างจากตัวตนว่างจากของตน ครั้นเห็นโลกว่างจากตัวตน ว่างจากของตนแล้วมันก็ไม่เกิดความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูเป็นของกู นั่นน่ะคือจิตว่างซึ่งทรงกำชับไว้ในฐานะเป็นสิ่งสูงสุดว่าพระพุทธศาสนา ธรรมะที่แท้จริงนั้นต้องเป็นเรื่องของสุญญตา คือความว่าง เรียกว่า สุญญตัปปฏิสังยุตตา เนื่องเฉพาะด้วยสุญญตาคือ ความว่าง สุตตันตบท คือบทแห่งพระธรรมสำหรับศึกษาเล่าเรียนปฏิบัตินั้น ต้องเนื่องด้วยเรื่องสุญญตาคือความว่าง จึงจะเป็น(นาทีที่ 0.43.39) ตถาคตะภาสิ ตถาคตภาสิตา คือคำที่ตถาคตกล่าว ถ้าเรื่องนั้นๆ มันไม่เนื่องด้วยสุญญตาคือความว่างแล้ว มันไม่ใช่คำที่ตถาคตกล่าว แต่มันเป็นกวีกตา คือ กวีคนประพันธ์ นักประพันธ์ชั้นหลังผูกขึ้น กล่าวขึ้นเป็นเรื่องไพเราะสนุกสนานมากมายไม่รู้จบไม่รู้สิ้น แต่มันไม่เนื่องด้วยเรื่องสุญญตาคือความว่าง มันก็ไม่ใช่ ไม่ใช่พระพุทธศาสนานั่นแหละ พูดกันตรงๆ ว่าถ้าเรื่องใดไม่เกี่ยวกับความว่าง เรื่องนั้นๆ ไม่ใช่พุทธศาสนา ข้อความอย่างนี้มีอยู่มากมายหลายแห่งในพระบาลีในพระไตรปิฎก คือเรื่องสุญญตา ความว่าง ทีนี้ก็ลองคิดดูเถอะว่า ถ้าพูดถึงความว่างน่ะ อะไรมันว่าง โอ่งไหมันว่าง เราพูดถึงความว่าง ความว่าง หรือสุญญตาในพระพุทธศาสนานั้น อะไรว่าง อะไรว่าง ทุกคนจะคิดดู มันก็คือจิตนั่นเอง ถ้าจิตไม่ได้จับฉวยอะไรจิตนั้นว่าง ถ้าจิตจับฉวยอะไรจิตนั้นไม่ว่าง ทรงสอนเรื่องความว่างว่าสิ่งทั้งปวงว่างจากตัวตน ว่างจากของตน ก็เท่ากับบอกว่าสิ่งทั้งปวงยึดถือไม่ได้ เมื่อจิตไม่ยึดถืออะไร จิตนั้นก็ว่างจากความยึดถือ เมื่อว่างจากความยึดถือก็ว่างจากกิเลส ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ว่างจากสิ่งที่ควรจะว่างคือ ดับเย็น ท่านยังกล่าวพร้อมกันไปในคราวเดียวกันว่าเป็นนิพพาน นิพพานว่างอย่างยิ่ง นิพพานัง ปรมัง สุญญัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นบรมธรรม นิพพานัง ปรมัง วทันติ พุทธา นิพพานเป็นบรมธรรม เพราะมันว่างจากกิเลสเพราะมันว่างจากความทุกข์ สัมผัสโดยจิตที่ว่าง คือจิตนั้นไม่ได้ยึดถืออะไรโดยความเป็นตัวตนเป็นของตน จิตว่างชนิดนี้ได้ถึงซึ่งนิพพานซี่งเป็นของว่างอย่างยิ่ง เป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นธรรมมะสูงสุด นี่คือตัวพระพุทธศาสนา สรุปความสั้นๆ ว่า ไม่โง่เมื่อผัสสะ อย่าโง่เมื่อมีผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่ปรุงเวทนาโง่ ไม่ปรุงตัณหา ไม่ปรุงอุปาทาน ไม่ปรุงภพ ไม่ปรุงชาติ ไม่ปรุงความทุกข์ทั้งปวง นี่คือหลักพระพุทธศาสนาโดย โดยวิชา โดยหลักวิชาหรือทฤษฎีมันก็พูดกันหลายคำ แต่ถ้าโดยหลักปฏิบัติแล้วก็พูดสั้นๆ ได้สองสามคำว่า อย่าโง่เมื่อมีผัสสะ ให้มีสติทันทีเมื่อมีผัสสะ ให้มีสติเอาปัญญาที่รู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงยึดถือไม่ได้ สิ่งทั้งปวงเป็นเช่นนั้นเอง ตถตาแปลว่าเป็นเช่นนั้นเอง สติเอาปัญญาความรู้เรื่องสิ่งทั้งปวงเป็นเช่นนั้นเองมาทันเวลาที่ผัสสะ ผัสสะนั้นไม่โง่ ผัสสะนั้นลืมตา ไม่หลับตา ผัสสะนั้นฉลาดก็ไม่ปรุงเวทนาโง่ เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ มันก็ไม่เกิดดัณหายึดมั่นถือมั่น เป็นตัว ไม่ไม่เกิดตัณหาที่เป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นมันก็ไม่มีความทุกข์เรื่องมันก็จบ อย่าโง่เมื่อมีผัสสะอย่างเดียวเท่านั้นน่ะ เรื่องมันจบสำหรับที่จะไม่เป็นทุกข์ และถ้าโง่ในขณะผัสสะแล้วมันก็ต้องปรุงแต่ง เป็นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายที่ให้เกิดทุกข์ ถึงจะเรียกสั้นๆ ว่าความทุกข์เกิดมาจากตัณหาก็ได้ ความทุกข์เกิดมาจากอุปาทานก็ได้นี่ ที่แท้น่ะมันเกิดเมื่อมีผัสสะแล้วโง่ กรุณาช่วยจำว่าหัวใจพระพุทธศาสนาในทางปฏิบัตินั้นมันมีสั้นๆ สองสามคำว่า อย่าโง่เมื่อมีผัสสะ อย่า โง่ เมื่อ มี ผัส สะ ๖ พยางค์เท่านั้นเอง มาจากที่ไกล มาจากกรุงเทพฯ มาจากไหนๆ ก็ตามมานั่งกันอยู่ในป่านี้ ก็ขอให้ได้เอาคำ ๖ พยางค์นี้กลับไปบ้านด้วยว่าอย่าโง่เมื่อมีผัสสะ ท่านจะเป็นทุกข์ ของน่ารักก็ทำให้เป็นทุกข์ ของน่าเกลียดก็ทำให้เป็นทุกข์ มันจะเป็นทุกข์ไปหมดถ้าเราโง่เมื่อมีผัสสะ แต่ถ้าเรารู้สึกว่า โอ้, ผัสสะมันก็สักว่าผัสสะตามธรรมชาติ เวทนาก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ไม่น่าไปหลงรักที่มันมีลักษณะน่ารัก มันไม่ ไม่ไปหลงเกลียดที่มันมีลักษณะน่าเกลียด นั่นน่ะคือทำให้จิตไม่ยึดถือสิ่งใดและจิตนี้ก็ว่าง เป็นจิตอิสระ เป็นจิตหลุดพ้น เป็นจิตบริสุทธิ์ เป็นจิตที่ปล่อยวาง ท่านทั้งหลายจงมีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่างชนิดนี้แหละจะไม่มีความทุกข์ เมื่อทำงานก็ไม่เป็นทุกข์ เมื่อพักผ่อนก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้าจิตมันไม่ว่างแล้วมันจะเป็นทุกข์ทั้งนั้น เมื่อทำงานก็เป็นทุกข์ เมื่อพักผ่อนก็เป็นทุกข์ นี่เรื่องสุญญตาในพระพุทธศาสนา สุญญตาแปลว่าความว่าง ความว่างนั้นเป็นของจิต ของจิตที่มีความรู้ว่าไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่นถือมั่น จิตนั้นไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นจิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่นเราก็สบาย จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ไม่ว่างานอะไร ทำด้วยจิตที่เป็นอิสระอย่าหมายมั่นเป็นตัวกูของกู ถ้าจิตมันหมายมั่นเป็นตัวกูของกูอยู่อย่างนี้แล้ว ให้ศีลก็ผิด อย่างอาตมานี่ ถ้าจิตมันวุ่นมันประหม่ามันสงสัยอะไรอยู่ด้วยเรื่องกูจะดีไม่ดี กูจะทำได้ดีไม่ได้ดี แม้แต่จะให้ศีลก็ให้ผิดน่ะ พระเณรองค์ไหนก็เหมือนกันแหละ พอขึ้นธรรมมาสน์ตัวก็สั่นเสียแล้วมันก็เทศน์ไม่ได้ เพราะจิตมันไม่ว่าง ถ้าจิตมันเป็นอิสระจากทุกสิ่งเหล่านั้นเหลืออยู่แต่ว่าจะต้องทำอะไร จะต้องทำอะไร อย่าให้เกิดความมุ่งหมายว่ากูทำ กูได้ กูเสีย กูจะแพ้ กูจะชนะอย่าได้เกิดความคิดเรื่องตัวกูอย่างนั้น ให้จิตนี้มันเป็นการงานไปเสียเลย มันไม่มีตัวผู้ทำ ทั้งจิตและทั้งการงานมันเป็นอันเดียวกันเสีย มันก็ทำได้เป็นปาฏิหาริย์ การทำงานด้วยจิตว่างนี่ทำได้ ดีด้วย มากด้วย เร็วด้วย ถูกต้องด้วย อาตมาเคยใช้มาตลอดเวลา ดังนั้นจึงทำงานได้มากดังที่ปรากฏอยู่เป็นหลักฐานข้างล่างนั่นไปดูเถิด คนเขามาเห็นแล้วเขาไม่เชื่อว่างานทั้งหมดนี้คนเดียวทำ เพราะมันมากนัก แต่อาตมายืนยันว่างานทั้งหมดนั้นคนเดียวทำ เพราะทำด้วยอุบายอย่างนี้ ด้วยศิลปะอย่างนี้ คือด้วยจิตว่าง มันจึงทำได้มากจนไม่มีใครเชื่อว่าทั้งหมดนี้คนเดียวทำ นี่ขออ้างพยานหลักฐานอย่างนี้ จะว่าอวดดีหรือว่าไม่อวดดีก็ตามใจ ไปดูก็แล้วกันว่ามันมากไม่น่าเชื่อว่าคนเดียวทำ แต่ทำไมมันทำได้ เพราะถ้าจิตมันว่างแล้วมันทำงานสนุกนะ ถ้าจิตไม่ว่างมันจะทำงานเป็นทุกข์เหมือนกับตกนรกทั้งเป็น ถ้าจิตมันเป็นการงานเสียเองไม่มีตัวกูของกูผู้ทำแล้วมันก็ทำงานสนุก ไถนากลางแดดทั้งวันก็ได้ ลืมกินข้าวน่ะ ถ้าจิตมันว่างมันไม่มีตัวตนไม่มีของตน มันมีแต่งานกับจิต จิตก็เป็นงาน งานก็เป็นจิตเลยทำสนุก เรียกว่าทำงานด้วยจิตว่างนี้มันสนุกอย่างนี้ เมื่อทำสนุกมันก็ได้ผลมากนี้ก็เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นความรู้สูงสุดในพระพุทธศาสนาเรื่องอิทัปปัจจยตา คือวิธีที่จะทำให้เราไม่โง่เมื่อมีผัสสะ ไม่โง่เมื่อมีผัสสะมันก็เป็นจิตที่ว่างมันก็ทำสนุก ทำงานสนุกเป็นสุขเมื่อทำการงาน ทำงานด้วยจิตว่างนี้เคยทำได้วันละ ๑๘ ชั่วโมง คนธรรมดาเขาทำงานวันละ ๘ ชั่วโมงเขาว่าเก่งที่สุดแล้ว แต่อาตมาทำงานด้วยจิตว่างนี้ทำวันละ ๑๘ ชั่วโมง ไอ้หนังสือกองเบ้อเร่อเหล่านั้นน่ะไปดูเถิด มันเป็นผลงานในสมัยเมื่อทำงานสนุก ๑๘ ชั่วโมงต่อวันน่ะ ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่างน่ะจะได้ผลอย่างนี้ ไม่มีตัวกูของกูที่คลุ้มคลั่งอัดอยู่ในจิตใจในเวลานั้น ว่างจากตัวกู ว่างจากของกูแล้วเป็นจิตแจ่มใส เป็นจิตร่าเริง เป็นจิตเบิกบาน เป็นจิตกล้าหาญ เป็นจิตว่องไว เลยทำงานได้สนุก ขอให้ทราบว่า โดยสรุปแล้วขอให้ทราบว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้สิ่งที่ประเสริฐที่สุดคือ เรื่องอิทัปปัจจยตา สามารถควบคุมไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา ให้อยู่โดยปราศจากความทุกข์ ให้ว่างจากความทุกข์โดยประการทั้งปวง
เดี๋ยวนี้โลกเรา มนุษย์ในโลกเรานี่มันเต็มไปด้วยจิตวุ่น วุ่นอยู่ด้วยตัวกู วุ่นอยู่ด้วยของกู ไม่มีจิตว่าง มันจึงเป็นโอกาสของกิเลสตัณหาเจริญงอกงามอยู่ในจิตใจของคนในโลกนี้ แล้วคนในโลกนี้กำลังเป็นอย่างไรท่านก็ลองคิดดูเอง เต็มไปด้วยความเบียดเบียนอันถาวร วิกฤตการณ์อันถาวร รบราฆ่าฟันกันอย่างถาวร และก็จะเพิ่มคนชนิดนี้ขึ้นเป็นอันมากในโลก เพราะว่าโลกกำลังบูชาเหยื่อของกิเลสตัณหา ชวนกันผลิตเหยื่อของกิเลสตัณหามากขึ้นมากขึ้น มามอมเมาให้คนทุกคนในโลกนี้มันหลง มันก็มีแต่คนหลง อันธพาลมันก็เต็มบ้านเต็มเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ นั่นแหละกล้าพูดว่าอันธพาล มันกำลังงอกงามขึ้นมาอย่างเต็มบ้านเต็มเมือง เพราะมันมีแต่กิเลสตัณหาอยู่ในจิตใจของคน เพราะได้รับการแวดล้อมด้วยเหยื่อของกิเลสตัณหา มีอุปาทาน มีจิตวุ่น เห็นแก่ตัวกูและของกูแล้วมันก็ทำความเลวร้ายได้ง่ายดาย มันฆ่าพ่อฆ่าแม่ของมันก็ได้ นี้มันทำอะไรที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็ได้ดังที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในบ้านเมืองที่เจริญแล้วด้วยวัตถุแห่งตัณหา วัตถุที่เป็นเหยื่อแห่งตัณหา ถ้าเราได้นำเอาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเข้ามา รู้จักควบคุมตัณหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่โง่เมื่อมีผัสสะ เรื่องมันก็จะเดินไปในทางที่ตรงกันข้ามคือ ไม่เกิดกิเลสและไม่เกิดความทุกข์ เราจงถือเอาประโยชน์จากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าให้ได้มากที่สุดเท่าที่พุทธบริษัทนี้จะถือเอาได้ เมื่อพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้แล้ว ท่านเห็นไอ้ความทุกข์ดับไปแล้ว จิตหลุดพ้นแล้ว ท่านได้ออกอุทานตามความรู้สึกที่มีอยู่ในใจในขณะนั้น ดังพระบาลีนิกเขปบทที่อาตมายกขึ้นมากล่าวไว้ข้างต้นว่า อะเนกชาติสังสารัง สันธาวิสสัง อะนิพพิสัง คะหะการัง คะเวสันโต ทุกขา ชาติ ปุนัปปุนัง เมื่อเราโง่เที่ยวแสวงหาเรือน แล่นไปในสงสาร ไม่รู้จักจบจักสิ้นเป็นอันมาก ก็ได้เป็นทุกข์ ทุกทีที่มีความเกิดขึ้น เกิดชาติใดก็เป็นทุกข์ชาตินั้น การเกิดทุกที เป็นทุกข์ทุกที เพราะว่ายังโง่อยู่ แสวงหาตัณหาที่เป็นนายช่างผู้สร้างเรือนน่ะ เหมือนคนเดี๋ยวนี้น่ะ เที่ยวแสวงหาเหยื่ออันเอร็ดอร่อยสำหรับตัณหา เพราะฉะนั้นเลยเรียกว่า คะหะการัง คะเวสันโต แสวงหาอยู่ซึ่งตัณหาผู้สร้างเรือน หมายความว่าเห็นตัณหาเป็นของดี แสวงหาเหยื่อมาบำรุงบำเรอตัณหา เหมือนที่คนทุกคนในโลกกระทำอยู่ในบัดนี้ นั่นสมัยที่ยังไม่รู้ยังไม่ตรัสรู้ ต่อมาตรัสรู้จึงกล่าวว่า คะหะการะกะ ทิฏโฐสิ ปุนะ เคหัง นะ กาหะสิ ดูก่อนตัณหาซึ่งเป็นเหมือนคนสร้างบ้านสร้างเรือน เดี๋ยวนี้เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าจะสร้างเรือนให้เราไม่ได้อีก คือเจ้าจะปรุงสังขาร จะสร้างสังขารเสมือนกับบ้านเรือนน่ะ ให้เป็นทุกข์ทรมานแก่เราไม่ได้อีก สัพพา เต ผาสุกา ภัคคา คะหะกูฏัง วิสังขะตัง เครื่องประกอบเรือนทั่วๆ ไปเราก็หักทำลายเสียแล้ว วิสังขารคะตัง ยอดเรือนส่วนยอดเรือนส่วนบนเราก็ทำลายเสียแล้ว ส่วนประกอบของเรือนโดยทั่วไปเราก็ทำลายเสียแล้ว วิสังขารคะตัง จิตตัง ตัณหานัง ขะยะมัชฌะคา จิตมันถึงแล้วซึ่งวิสังขาร คือถึงความสิ้นไปแห่งตัณหาดังนี้ คำพูดนี้ไปจบลงที่ว่า ความสิ้นไปแห่งตัณหาและก็ว่า จิตนี้มันถึงแล้วซึ่งวิสังขาร จิตที่ถึงวิสังขารนั้นน่ะคือจิตว่างจากความยึดถือสิ่งใดโดยความเป็นตัวกูของกู จิตที่ไม่โง่ในขณะแห่งผัสสะ ไม่หลงใหลในอารมณ์แห่งผัสสะ นี่เขาเรียกว่าจิตมันถึงภาวะที่ไม่มีอะไรมาทำให้โง่ ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งจิตให้เกิดสังขารกลุ่มที่เรียกว่าความทุกข์ จิตถึงแล้วซึ่งวิสังขาร จิตถึงแล้วซึ่งภาวะที่อะไรๆ มาปรุงแต่งให้เป็นทุกข์อีกไม่ได้ คือไม่ให้เป็นรัง เป็นเรือนที่เต็มไปด้วยความทุกข์ได้อีกต่อไป นี่พระพุทธองค์ทรงกล่าวคำถ้อยคำแรกที่สุดที่ได้ตรัสรู้ คำนี้กล่าวแก่พระองค์เองก่อนตรัสธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ เราจึงถือว่าคำกล่าวไม่กี่คำนี้เป็นปฐมพุทธโอวาท เป็นโอวาทคำแรกของพระพุทธองค์ หรือเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า คาถาเย้ยตัณหา ว่าตัณหาเอ๋ยเดี๋ยวนี้แกจะสร้างบ้านสร้างเรือนให้ฉันอีกไม่ได้แล้ว คาถาที่ว่าเย้ยก็เย้ยกันตรงนี้ มันไม่มีความรู้สึกคิดนึกที่จะเป็นตัวตนของตนขึ้นมาในจิตนี้อีกแล้ว จิตนี้จะว่างจากความคิดชนิดนั้นจนตลอดกาล นี่แหละเรียกว่าตรัสรู้ แล้วมันทำให้เกิดผลอย่างนี้ ที่เรียกว่าเป็นนิพพานเย็นสนิทเพราะความดับไปแห่งไฟกิเลสและไฟทุกข์ พระพุทธเจ้าก็เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาในขณะแห่งตรัสรู้ ไฟกิเลสและไฟทุกข์นิพพานเรียกว่าเป็นผู้เบิกบาน เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หากันที่ตรงนี้ ดังนั้นในวันนี้ขอให้เราท่านทั้งหลายจงกระทำในใจเป็นพิเศษ กระทำในใจเป็นพิเศษ ไม่ใช่เพียงแต่พิธีรีตอง หลายคนมาทำพิธีวิสาขบูชาที่นี่สักแต่ได้ว่าเป็นพิธีรีตอง ได้เดินเวียนเทียน ๓ รอบแล้วก็กลับไป ถ้าทนไม่ไหวกลับแล้ว กลับก่อนเวียนเทียนก็มีหลายคน เพราะเขาไม่รู้ว่าทำวิสาขบูชานั้นคืออะไร ทำอย่างไร ทำทำไม ขอให้เราทำพิธีวิสาขบูชาอย่างที่เป็นวิธี พิธีนี่มันก็มา เป็นภาษาคำเดียวกับวิธี วิธี แต่ถ้าทำอย่างไม่มีความหมายก็เรียกว่าพิธี ถ้าทำอย่างมีความหมายเรียกว่าวิธี เราทำอย่างเป็นวิธีกันเถิด แม้ว่าเราจะเรียกว่าพิธีวิสาขบูชา เราก็จะทำอย่างเป็นวิธีที่เป็นการบูชาสมเด็จพระบรมศาสดาอย่างสูงสุด คือในใจของเรารู้แจ้งสิ่งนั้นๆ รู้แจ้งการตรัสรู้ของพระองค์ รู้แจ้งสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ รู้แจ้งสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้นั้นเป็นประโยชน์แก่ใครอย่างไร นี่ขอให้มองเห็นตามที่พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นประโยชน์แก่มหาชน ทั้งเทวดาแลมนุษย์ ทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นประโยชน์แก่สัตว์ที่มีชีวิตทั้งเทวดาแลมนุษย์ ธรรมมะที่ได้ตรัสรู้ ขอให้เรารวมอยู่ในจำพวกที่ว่าได้รับประโยชน์นั้น และก็ดับความทุกข์ได้เรื่อยๆ ไปจนกว่าไอ้ความทุกข์นั้นจะหมดสิ้น ขออย่าทำเป็นเพียงพิธีรีตองเดินเวียนเทียนกัน ๓ รอบอย่างละเมอๆ เราอาจจะเวียนเทียน ๓ รอบอย่างละเมอๆ ก็ได้ อาตมากลัวจะเป็นอย่างนั้น จึงพูดเสียยืดยาวจนบางคนรำคาญแล้วก็ได้ว่าปรับปรุงจิตใจเสียใหม่เถิด จะได้ทำพิธีวิสาขบูชาอย่างที่มีความหมาย ทำด้วย ๗ จิตใจที่แจ่มแจ้งอยู่ด้วยกฎของอิทัปปัจจยตา และจิตใจนั้นมันจะว่างจากตัวกูของกู มีจิตใจสะอาดเวียนเทียนบูชา อย่าเอาจิตใจมืดมนเต็มอัดอยู่ด้วยตัวกูของกูมาทำพิธีเวียนเทียนบูชาเลย จงทำพิธีวิสาขบูชาด้วยจิตใจที่สะอาด สะอาดเพราะมันว่างจากตัวกูของกูซึ่งเป็นกิเลส ซึ่งเป็นความมืด อย่าเอาความมืดบูชาความสว่างเลย เอาความสว่างเถิด บูชาความสว่าง กฎแห่งอิทัปปัจจยตามีอยู่อย่างไร เราจะมีความรู้เรื่องกฎอิทัปปัจจยตาอยู่ในจิตใจขณะเวียนเทียน กฎอิทัปปัจจยตาสำหรับการปฏิบัติน่ะสรุปได้ว่า อย่าโง่เมื่อมีผัสสะ เราจะรอดตัว เราจะเอาตัวรอดเพราะเราไม่โง่เมื่อมีผัสสะ สรุปเป็นคำจำง่ายๆ ว่า ความทุกข์เกิดที่จิต เพราะเห็นผิดเมื่อผัสสะ ความทุกข์เกิดที่จิต เพราะเห็นผิดเมื่อผัสสะ ความทุกข์จะไม่โผล่ถ้าไม่โง่เมื่อผัสสะ ความทุกข์จะไม่โผล่ ถ้าไม่โง่เมื่อผัสสะ ความทุกข์เกิดไม่ได้ ถ้าเข้าใจเรื่องผัสสะ นี่ขอให้ไอ้ความรู้หรือข้อเท็จจริงอันนี้ชัดเจนอยู่ในใจเมื่อเดินเวียนเทียนบูชาพระศาสดาในวันนี้ ความทุกข์เกิดที่จิต เพราะเห็นผิดเมื่อผัสสะ พอมีผัสสะ ตาหูจมูกลิ้นกายมันเกิดความเห็นผิดเกิดความโง่ ความทุกข์เกิดที่จิต เพราะเห็นผิด เพราะโง่เมื่อผัสสะ ความทุกข์จะไม่โผล่ถ้าไม่โง่เมื่อผัสสะ มีผัสสะอยู่ตามธรรมดาทั้งวันทั้งคืนแต่เราไม่โง่ ความทุกข์เกิดไม่ได้ นี่ความทุกข์ไม่โผล่ ความทุกข์เกิดไม่ได้ถ้าเข้าใจเรื่องผัสสะ เรารู้จักไอ้ธาตุแท้ของผัสสะตามกฎของธรรมชาติ เป็นความรู้ประจำอยู่แล้ว ความทุกข์เกิดไม่ได้
สรุปความว่าเดี๋ยวนี้จะต้องมีจิตใจที่ไม่โง่ไปยึดถืออะไรๆ เข้า จงมีจิตใจที่ว่าง มีจิตที่ว่างไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรโดยความเป็นตัวกูของกู เพราะว่าถ้าเราไปยึดมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวกูของกูนี้เรามันเป็นเด็กดื้อ บรมดื้อ ดื้อต่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ท่านสอนให้ว่าไม่ยึดอะไร ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นอะไร เมื่อเราไปยึดมั่นถือมั่นเข้าเราก็เป็นเด็กดื้อ ดื้อต่อพระพุทธเจ้าก็ต้องได้เป็นทุกข์ สมกันทีเดียว กำลังยึดถืออะไรอยู่ในจิต ก็เป็นจิตที่ไม่ว่าง ถ้าอย่ายึดถืออะไรโดยความเป็นตัวตนอยู่ในจิตก็ว่าเป็นจิตว่าง จิตว่างนั่นเป็นจิตพระพุทธเจ้า ซึ่งเหมือนพระพุทธเจ้า จึงเข้าถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสว่า เราตถาคตอยู่ด้วยสุญญตาวิหาร ปรมสุญญตาวิหารคืออยู่ด้วยความว่างอย่างยิ่ง ความว่างของอะไรล่ะ ก็ความว่างของจิต พระพุทธองค์ตรัสว่าเราอยู่ด้วยความว่างอย่างยิ่ง ก็คือความว่างของจิต ทรงมีชีวิตวันคืนล่วงไปด้วยจิตที่สัมผัสต่อความว่าง คือพระนิพพาน ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ จิตว่างคือจิตที่ฉลาดที่สุด มีความรู้ว่าไม่มีอะไรจะยึดถือได้ สิ่งทั้งปวงเป็นเช่นนั้นเอง เรียกเป็นบาลีว่า ตถตา ช่วยจำไว้คำหนึ่งเถิด เหมือนที่ตาลิปัตรนี้ว่า ตถตา ความเป็นเช่นนั้นเอง ทุกสิ่งเป็นเช่นนั้นเอง สังขตธรรมทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้นเองตามแบบของสังขตธรรม อสังขตธรรมก็เป็นเช่นนั้นเอง ตามแบบของอสังขตธรรม ใครจะไปเปลี่ยนแปลงเอามาเป็นตัวตนหรือเป็นของตนไม่ได้ คงเป็นธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติอย่างนี้เรียกว่า ตถตา ให้มันเป็นอย่างนั้นเอง เห็นความเป็นอย่างนั้นเอง แล้วก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร เมื่อจิตไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรก็เป็นจิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่มีทางที่จะเป็นทุกข์ อะไรเกิดขึ้นทางตาหูจมูกลิ้นกายใจเป็นผัสสะแล้ว เราไม่ยึดมั่นถือมั่นให้เกิดเป็นตัวตนเป็นของตน ก็ไม่มีความทุกข์ ผัสสะนั้นจะเกิดขึ้นเพราะเหตุธรรมดาสามัญก็ได้ ก็ไม่ยึดมั่นเป็นทุกข์ แม้ว่าผัสสะนั้นจะเกิดมาจากกรรมเก่าแต่หนหลังเราก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นให้เป็นทุกข์ ไอ้กรรมเก่าก็เก้อกลับไป มาทำอะไรเราไม่ได้ กล้าพูดอย่างหยาบคายขออภัยหน่อยว่า แม้พระเจ้าแม้เทวดาผีสางทั้งหลายมันจะรุมกันลงโทษเราให้เป็นทุกข์ แต่ถ้าเราต้อนรับด้วยอิทัปปัจจยตา ไม่โง่เมื่อผัสสะแล้วเป็นหมันหมดเลย ผีสางเทวดาโชคชะตาอะไรจะมาทำให้เราเป็นทุกข์ไม่ได้ คือเราเอาตถตานี่ต้อนรับใส่หน้ามันก็กลับไปหมดแหละ จะพูดสั้นๆ ก็ว่าไม่มีอะไรมาทำให้บุคคลนี้เป็นทุกข์ได้ เพราะเขามีความรู้เรื่องตถตาซึ่งเป็นคำแทนชื่อของอิทัปปัจจยตา ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นเช่นนี้เอง ไม่ยึดมั่นโดยความเป็นตัวตนของตน นี้เรียกว่าไม่โง่เมื่อผัสสะ สมมุติว่าโหรเขา หมอดูน่ะ เขาว่าเราเคราะห์ร้ายจะต้องเป็นทุกข์จะต้องตาย เราเอาตถตาใส่เข้าไปเถอะ เคราะห์ร้ายจะกระจัดกระจายหนีหายไปไหนหมด ไม่มีกับเรา เพราะเมื่อไรไม่ยึดถือผัสสะใดๆ ไม่โง่เมื่อมีผัสสะใดๆ ไม่มีความทุกข์เพราะสิ่งใ ๆ แม้ว่าจะเป็นบังเอิญไม่ใช่ ไม่ใช่ผีสางเทวดามาแกล้ง ก็ไม่เป็นทุกข์เหมือนกัน อุบัติเหตุเกิดขึ้นก็ไม่เป็นทุกข์ เหตุที่เกิดขึ้นโดยเจตนาของใครของผู้ใดก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ นี่อานิสงค์อันสูงสุดของพระธรรม ของกฎอิทัปปัจจยตาที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้ในวันเช่นวันนี้ ตรัสรู้ธรรม ธรรมที่ตรัสรู้คืออิทัปปัจจยตา ท่านตรัสรู้แล้วก็ทรงเคารพเป็นสิ่งสูงสุดที่พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงเคารพ ทีนี้เราสาวกทั้งหลายก็ต้องเคารพแหละ พระพุทธเจ้าท่านทรงเคารพกฎอิทัปปัจจยตาเป็นสิ่งสูงสุดเหมือนกับว่าเป็นพระเจ้าในพระพุทธศาสนา เราก็ยึดถืออย่างเดียวกัน เรามีพระเจ้าในพระพุทธศาสนา คือกฎอิทัปปัจจยตา อันเป็นกฎธรรมชาติอันสูงสุดที่พระพุทธองค์ทรง ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้วก็ทรงเคารพ นี่เรื่องมันจะจบว่าในวันนี้มีเหตุการณ์สำคัญอันหนึ่ง คือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ท่านตรัสรู้แล้วก็ทำให้เกิดพระพุทธเจ้าขึ้นมาในแบบวิธีของโอปปาฏิกะ เรียกว่าทรงอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ แล้วก็มีการนิพพานแห่งของร้อนทั้งปวง ไฟกิเลสก็ดี ไฟทุกข์ก็ดี เหตุปัจจัยแห่งกิเลสแห่งความทุกข์ก็ดีล้วนแต่ดับไปหมดสิ้น นี้เป็นความหมายของคำว่านิพพาน คือความดับเย็น
ขอให้รู้จักหัวใจของวันนี้ คือวันตรัสรู้ ว่าเป็นอย่างนี้ แจ่มแจ้งอยู่ด้วยความจริงข้อนี้แล้วก็มีความเหมาะสมที่จะเดินเวียนประทักษิณสัก ๓ รอบ เป็นเครื่องบูชาคุณของพระพุทธองค์ ขอให้ท่านทั้งหลายบรรดามาจากที่ใกล้ที่ไกลในที่ทั้งปวง จงมีความเข้าใจแจ่มแจ้งในการตรัสรู้ เหตุการณ์สำคัญอันเกิดขึ้นในวันวิสาขปุณณมีวันหนึ่ง ซึ่งพอถึงวันนี้เราก็ทำพิธีวิสาขบูชา จงได้รับประโยชน์แห่งการตรัสรู้ของพระองค์ ได้ตรัสรู้ทำนองเดียวกับพระพุทธองค์ คือว่าเรานี่แหละ พอเรารู้ธรรมะที่สำคัญนี้ถีงที่สุด คนเก่าก็ตายไปคนใหม่ก็เกิดขึ้น นาย ก เป็นคนโง่ไม่รู้เรื่องนี้ พอนาย ก ได้ขวนขวายจนรู้เรื่องนี้ นาย ก คนโง่ก็ตายไป เกิดนาย ข นาย ง คนใหม่ที่มันรู้เรื่องนี้แล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์อีกต่อไปจะเรียกว่านาย ก คนใหม่ก็ได้ นาย ก คนเก่าก็ตายไป เช่นเดียวกับที่พระกุมารสิทธัตถะกุมารตายไป พระพุทธเจ้าก็เกิดขึ้น เราก็เหมือนกัน ไอ้เราโง่นั้นน่ะ จงให้ตายไป เราฉลาดจงเกิดขึ้น แล้วต่อไปนี้ก็จะอยู่ด้วยธรรมะอันสูงสุดคุ้มครองไว้ไม่ให้เกิดความทุกข์ นี่เรียกว่าได้รับประโยชน์จากการตรัสรู้ของพระองค์โดยสมควรแก่สติปัญญา ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนา ธรรมเทศนาเป็นเครื่องเตรียมใจให้เหมาะสมสำหรับจะทำพิธีวิสาขบูชา ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติธรรมเทศนาไว้แต่เพียงนี้
เอ้า, จุดเทียน จุดเทียน เราทำอย่างสหกรณ์ พระสงฆ์ไม่ต้องเดินเวียนเพราะที่ไม่พอให้ชาวบ้านเดินเวียนแทนในนามของทั้งหมด พระสงฆ์ทั้งหลายจะกล่าวคำบูชาก่อน พระสงฆ์ทั้งหลายจงจุดธูปเทียนยืนขึ้น พระสงฆ์สามเณรทั้งหลายจุดธูปเทียนยืนขึ้น ชาวบ้านอย่าเพิ่งจุดเดี๋ยวเทียนจะหมด ชาวบ้านอย่าเพิ่งจุด แล้วนั่งอยู่ก่อน นั่งอยู่ก่อน อย่าเพิ่ง ประชาชนทั้งหลายนั่งอยู่ก่อนอย่าเพิ่งจุด คอยฟังพระสงฆ์ทั้งหลาย พระสงฆ์ทั้งหลายจะกล่าวคำบูชาเป็นภาษาบาลี เสร็จแล้วทายก ทายิกาจะกล่าวคำบูชาเป็นภาษาไทย และทายก ทายิกาทั้งหลายจะเดินเวียนเทียนในนามของคณะทั้งหมด นิมนต์จุดธูปจุดเทียนแล้วยืนขึ้นในอิริยาบทยืนที่ถือว่าเป็นการเคารพกว่าอิริยาบถใด
ต่อไปนี้ก็ขอได้เตรียมใจสำหรับทำพิธีวิสาขบูชา คือทำจิตให้ว่างจากตัวกูของกู ไม่มีตัวกูของกูมาจากจังหวัดไหน ไม่มีตัวกูที่อยู่ที่ไหน นิมนต์หลับตา หลับตา หลับตา เพื่อว่าจะไม่ได้มีทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศตะวันออก ทิศอิสาน ทิศ (นาทีที่ 1.17.27) เสียงโยมแทรก ขอให้มีจิตว่าง ไม่มีบน ไม่มีล่าง ไม่มีเหนือ ไม่มีใต้ ไม่มีตก ไม่มีออก ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู จิตว่างชนิดนี้จะเหมาะสมสำหรับการที่จะทำพิธีวิสาขบูชา ผมจะได้กล่าวนำเป็นภาษาบาลีด้วยจิตว่าง และก็ว่าตามด้วยจิตว่าง อย่ามีตัวกูของกูที่กำลังทำอะไรอยู่
ยะมัมหะ โข มะยัง, ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา, โย โน ภะคะวา สัตถา, ยัสสะ จะ มะยัง,
ภะคะวะโต ธัมมัง โรเจมะ, อะโหสิ โข โส ภะคะวา, มัชฌิเมสุ ชะนะปะเทสุ, อะริยะเกสุ มะนุสเสสุ,
อุปปันโน, ขัตติโย ชาติยา, โคตะโม โคตเตนะ, สักยะปุตโต, สักยะกุลา ปัพพะชิโต,
สะเทวะเก โลเก, สะพรัหมะเก, สะมาระเก, สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ,
สะเทวะมะนุสสายะ, อะนุตตะรัง, สัมมาสัมโพธิง, อะภิสัมพุทโธ, นิสสังสะยัง โข, โส ภะคะวา,
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต, โลกะวิทู, อะนุตตะโร,
ปุริสะทัมมะสาระถิ, สัตถาเทวะมะนุสสานัง พุทโธ, ภะคะวา,
สวากขาโต โข ปะนะ, เตนะ ภะคะวะตา ธัมโม, สันทิฏฐิโก อะกาลิโก, เอหิปัสสิโก, โอปะนะยิโก,
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ,
สุปะฏิปันโน โข ปะนัสสะ, ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามีจิปะฏิปันโนภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,
ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ, อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อาหุเนยโย, ปาหุเนยโย, ทักขิเณยโย, อัญชะลิกะระณีโย, อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ,
อะยัง โข ปะนะ ถูโป, ตัง ภะคะวันตัง, อุททิสสะ กะโต, ยาวะเทวะ ทัสสะเนนะ, ตัง ภะคะวันตัง, อะนุสสะริตวา,ปะสาทะ สังเวคะปะฏิลาภายะ, มะยัง โข เอตะระหิ, อิมัง, วิสาขะปุณณะมีกาลัง,
ตัสสะ ภะคะวะโต, ชาติ, สัมโพธิ,นิพพานะ, กาละสัมมะตัง, เอตะระหิ, อิมัง, ตัสสะ ภะคะวะโต, สัมปัตตา, อิมัง ฐานัง, อิเม, ทัณฑะ, ทีปะ ธูปาทิ สักกาเร, คะเหตวา, อัตตะโน กายัง,
สักการุปะธานัง, กะริตวา, ตัสสะ ภะคะวะโต, ยะถาภุจเจ คุเณ, อะนุสสะรันตา, อิมัง ถูปัง, ติกขัตตุง ปะทักขิณัง, กะริสสามะ, อิมัง, ยะถา คะหิเตหิ, สักกาเรหิ, ปูชัง กุรุมานา, สาธุ โน ภันเต ภะคะวา,
สุจิระปะรินิพพุโตปิ, ญาตัพเพหิ คุเณหิ, อะตีตารัมมะณะตายะ,ปัญญายะ มาโน, อิเม อัมเหหิ, คะหิเต สักกาเร, ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ.
นิมนต์นั่ง ทายก ทายิกาทั้งหลายจุดธูปจุดเทียนยืนขึ้น ทายก ทายิกาทั้งหลายจุดธูปจุดเทียนยืนขึ้น เตรียมสำหรับเวียนประทักษิณ ทายก ทายิกาทั้งหลายจุดธูปจุดเทียน ยืนขึ้น (นาทีที่ 1.26.03-1.26.28 ไม่ได้ถอดเป็นภาษาใต้) เอ้า, เตรียม เตรียม เตรียม ทายก ทายิกาทั้งหลายเตรียม (นาทีที่ 1.26.36-1.27.14) ไม่ได้ถอดเป็นบทสวดมนต์ภาษาบาลี หันทะมะยัง พุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ๓ จบ
เราทั้งหลาย ถึงซึ่งพระผู้มีพระภาค พระองค์ใด ว่าเป็นที่พึ่ง พระผู้มีพระภาค พระองค์ใด เป็นศาสดาของเราทั้งหลาย เราทั้งหลาย ชอบใจธรรม ของพระผู้มีพระภาค พระองค์ใด พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น อุบัติแล้ว ในหมู่มนุษย์ ชาวอริยกะ ในมัชฌิมชนบท เป็นกษัตริย์โดยพระชาติ เป็นโคตมโดยพระโคตร เป็นศากยบุตร ออกบรรพชาจากศากยตระกูล ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลกพรหมโลก ในหมู่สัตว์ทั้งสมณพราหมณ์ ทั้งเทวดาแลมนุษย์ ไม่ต้องสงสัยเลย พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบเองถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษ ไม่มีสารถีอื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดา ของเทวดาแลมนุษย์ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบาน เป็นผู้มีโชค ไม่ต้องสงสัยเลย พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ เป็นธรรมตรัสดีแล้ว บุคคลพึงเห็นเอง ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ไม่ต้องสงสัยเลย สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติสมควร นี้คือคู่แห่งบุรุษ ๔ นับเรียงตัวเป็นบุรุษ ๘ เป็นสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรแก่การอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า พระสถูปนี้แล อันบุคคลสร้างขึ้นแล้ว อุทิศเฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อให้ระลึกถึง ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ได้ความเลื่อมใสสังเวช บัดนี้ เรามาถึงแล้ว ซึ่งวิสาขปุณณมี เป็นกาลที่ประสูติตรัสรู้ และปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น จึงมาประชุมกัน ณ ที่นี้ ถือสักการะ มีประทีป และธูปและธูป เป็นต้น ทำกายของตน เป็นภาชนะเครื่องรองรับ สักการะเหล่านั้น ในใจระลึกถึงอยู่ ซึ่งพระคุณ ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ตามที่เป็นจริงอย่างไร บูชาแล้ว ด้วยเครื่องสักการะเหล่านี้ แล้วจักกระทำประทักษิณสิ้นวาระ ๓ รอบ ซึ่งพระสถูปนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้เสด็จปรินิพพานนานแล้ว ยังปรากฏอยู่โดยพระคุณ อันข้าพเจ้าทั้งหลาย พึงรู้ได้ โดยความเป็นอตีตารมณ์ จงทรงรับเครื่องสักการะนี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญ
เอ้า, เตรียมขบวน เตรียมขบวน (นาทีที่ 1.33.52-1.34.07) ไม่ได้ถอดเป็นภาษาใต้ พระสงฆ์ทั้งหลายจะสวดพระพุทธคุณ ทายก ทายิกาทั้งหลายไม่ต้องสวด ทำจิตให้แน่วแน่อยู่ในคำที่สวด มันก็ว่างจากตัวกูของกูอยู่เอง (นาทีที่ 1.34.24-1.42.45) ไม่ได้ถอดเป็นบทสวดภาษาบาลี จบตรงไหนหยุดตรงนั้น วางธูปเทียนตรงนั้นก็ได้ จบตรงไหนหยุดตรงนั้น วางธูปเทียนตรงนั้นก็ได้ ถ้าเราจบตรงไหน หยุดตรงไหน วางธูปเทียนตรงนั้นแล้วก็ไปนั่ง จะปิดประชุมแล้ว
(นาทีที่ 1.43.22-1.43.38) ไม่ได้ถอดเป็นภาษาใต้ พิธีวิสาขบูชาบนภูเขาจบลงแล้ว สิ้นสุดลงแล้ว ต่อไปนี้ก็ยังเหลือตอนค่ำ ราว ๓ ทุ่ม จะมีการแสดงธรรมอีก แต่ว่าตอนนี้มีเวลาเหลืออยู่หลายชั่วโมง ทายก อุบาสก อุบาสิกาลงไปข้างล่างทำวัตรเย็น ในขณะที่เขาจะเลี้ยงพระ น้ำปานะ เลี้ยงน้ำปานะพระ ทายก ทายิกา ทำวัตรเย็นแล้วก็พักผ่อน หรือถ้าจะมีใครบรรยายอะไรก็สุดแท้ จะมีการบรรยายธรรมะที่เป็นประโยชน์คุ้มค่าเวลา แล้วก็จะมีการแสดงธรรมอีกครั้งหนึ่งเมื่อเวลา ๓ ทุ่ม ที่เหลือนอกนั้นค่อยไปตกลงกันใหม่ เชิญ เชิญกลับลงไปได้ บนนี้เสร็จแล้ว บนนี้สิ้นเรื่องแล้ว
(นาทีที่ 1.45.28-1.46.05) คำขอนิมนต์พระคุณเจ้าลงไปฉันน้ำปานะข้างล่างที่หินโค้ง