แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
และสิ่งที่กล่าวหานั้นก็เป็นสิ่งที่ควรได้รับการพิจารณา คืออยู่ในวงของการศึกษาของคนทุกคนที่เป็นพุทธบริษัท อาตมาเอามากล่าวอย่างว่ามันเป็นการล้อตัวเองที่เกิดมาในยุคสมัยที่มีความเข้าใจไม่ตรงกัน เราตั้งใจจะทำให้ดีที่สุดก็ยังกลายเป็นว่าเป็นผู้ทำร้ายพระศาสนา ไอ้เรื่องนี้ก็คือการที่มีบุคคลเป็นหมู่เป็นคณะตั้งเป็นองค์การขึ้นมาแล้วก็เรียกตัวเองว่าผู้พิทักษ์ศาสนาบ้าง ผู้ป้องกันพุทธศาสนาบ้าง มีหลักการของเขาว่าจะคอยต่อสู้คัดค้านหรือทำลายผู้อธิบายพุทธศาสนาอย่างผิดๆ หรือส่วนใหญ่ก็มุ่งเป้าหมายมายังอาตมาว่าเป็นผู้อธิบายพุทธศาสนาอย่างผิดๆ เกี่ยวกับข้อนี้อาตมาอยากจะกล่าวกับท่านทั้งหลายว่า ขอให้ทุกคนทีเดียว ทำตนเป็นผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนา พิทักษ์ธรรมะในพระพุทธศาสนา ถ้าใครกล่าวธรรมะในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่พุทธศาสนา ก็ให้ช่วยกันต่อต้านหรือป้องกัน อยากจะกล่าวว่าถ้าผู้ใดเห็นว่าอาตมา กล่าวผิดพูดผิดอธิบายผิดสอนผิดอย่างไร ก็ให้คัดค้านหรือต่อต้านได้ ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ ทุกคนเลยไม่ยกเว้น ขอให้เป็นผู้ที่ทำหน้าที่พิทักษ์พระพุทธศาสนา อย่าให้ตกเป็นหน้าที่ของคนเพียงสองสามคนหรือเป็นคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเลย ให้พุทธบริษัททุกคนทำตนเป็นผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนาอย่างนี้จะถูกต้อง อาตมาก็ยืนยันเต็มที่ว่าเป็นผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนา ถ้ามีการผิดพลาดไม่ถูกต้องในการศึกษาหรือในการอธิบายก็จะต้องปกป้องไม่ให้เข้ามาอยู่ ไม่ให้เข้ามามีอยู่ในหมู่ซึ่งอยู่ในความแนะนำของอาตมา นี่เป็นข้อแรกที่อยากจะให้ทุกคนรับทราบและรับรู้ว่าทุกคนเป็นผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนา เขาจะตั้งเป็นกลุ่มเป็นคณะเป็นจดทะเบียนเป็นสมาคมเป็นอะไร เป็นการแต่งตั้งก็ได้ แต่เราไม่ต้องจดทะเบียน ไม่ต้องประกาศตนเป็นคณะเป็นสมาคมเช่นนั้นก็ได้ แต่เราก็ทำงาน ทุกคนจะทำงานพิทักษ์พระพุทธศาสนาด้วยการศึกษาอย่างถูกต้องด้วยการปฏิบัติอย่างถูกต้องและไม่ต้องกระทบกระทั่งกับผู้ใด ไม่ต้องกระทบกระทั่งกับผู้ใด เรารักษาไอ้ความถูกต้องของการศึกษาและการปฏิบัติไว้ก็เป็นการเพียงพอ ทีนี้ก็จะกล่าวเป็นข้อๆไป ถึงผู้ที่อ้างตัวเองเป็นผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนานั้นเขากล่าวถึงอาตมาว่าอย่างไร
อาตมากล่าวว่า จิตคืออะไร โดยแท้จริงนั้นพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้ว่าจิตโดยแท้จริงนั้นคืออะไร พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้ แต่ได้ตรัสถึงวิธีการต่างๆที่เราปฏิบัติแล้ว จะเป็นการได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่าจิต และถ้าเราปฏิบัติผิดต่อสิ่งที่เรียกว่าจิต เราก็ต้องได้รับโทษได้รับทุกข์ ทั้งที่ตัวจิตแท้ๆนั้นบอกไม่ได้ว่าเป็นอะไร อย่างจะบอกได้มากก็เพียงแต่ว่า จิตเป็นธรรมชาติหรือเป็นธาตุตามธรรมชาติเรียกว่าวิญญาณธาตุ เป็นธาตุที่มีคุณสมบัติรู้สึกได้ แล้วมันก็คิดนึกได้และมีความเป็นประภัสสร คือไม่เกลียดไม่เกิดกิเลสอยู่เป็นธรรมดาแต่ว่ากิเลสอาจจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวแล้วก็สูญเสียความเป็นประภัสสรไปตามคราวๆ มันเป็นอะไรก็บอกยาก ถึงจะบอกได้เพียงว่าเป็นธาตุตามธรรมชาติชนิดหนึ่งเรียกว่าวิญญาณธาตุในธาตุทั้งหก เพื่อจะให้เข้าใจได้ง่ายในข้อนี้ก็อยากจะเปรียบเทียบกับสิ่งที่เรียกว่าไฟฟ้า ที่เรากำลังใช้มันอยู่เดี๋ยวนี้ ในทางแสงก็มี ในทางกำลังงานก็มี ในทางอื่นๆก็มี เราใช้ไฟฟ้ากันได้หลายอย่างหลายวิธีตามความประสงค์ แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าไอ้ตัวไฟฟ้าจริงๆนั้นมันเป็นอะไรหรือมันเป็นอย่างไร แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญในวิชานี้เรื่องนี้ เขาก็ตอบลงไปไม่ได้ว่าตัวไฟฟ้านั้นคืออะไร ก็ได้แต่บอกว่ามันเป็นธรรมชาติอันหนึ่งชนิดหนึ่งมีอยู่ในโลก ถ้าเรากระทำโดยวิธีนั้นๆๆๆมันก็แสดงตัวออกมา เป็นกำลังงานที่ทำให้เกิดแสงสว่าง ซึ่งกำลังส่องอยู่เดี๋ยวนี้บ้าง จะใช้เป็นกำลังงานสำหรับหมุนสำหรับขับสำหรับทำอย่างใดก็ได้ ที่เราใช้กันอยู่ทั่วไปเช่นเป็นพัดลมไฟฟ้า หรือทำให้เกิดความร้อนความเย็นเช่นหม้อหุงข้าว เช่นตู้เย็น เป็นต้น ยังใช้ได้สารพัดอย่าง อย่างใหญ่โตมโหฬารแปลกประหลาดแต่ตัวไฟฟ้าจริงๆคืออย่างไรนั้นเขาก็บอกไม่ได้ นี่เป็นของน่าประหลาดท่านลองคิดดูว่า เราไม่รู้จักมันโดยแท้จริงว่ามันคืออะไรเป็นอย่างไรโดยตรง แต่เรากลับเอามาใช้ได้มากมาย และยังจะมากมายยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต มันก็แปลกตรงที่ว่าเราใช้สิ่งที่เราไม่รู้จักว่ามันคืออะไรโดยแท้จริง เราไม่ได้รู้จักมันถึงที่สุด ในว่าในข้อที่ว่ามันเป็นอะไร แต่เรารู้จักกันมากทีเดียวที่ว่าจะใช้มันอย่างไร ธาตุที่มีอยู่ตามธรรมชาติแม้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมนี่ ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ หรือธาตุจิต นี่มันก็เป็นอย่างเดียวกันแหละ เรารู้มันเพียงผิวเผินในข้อที่ว่ามันเป็นอะไร แต่เรารู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์ได้มหาศาลและมากยิ่งๆขึ้นไป ส่วนที่เราไม่อาจจะรู้ว่าเป็นอะไร มันก็ไม่อาจจะรู้หรือไม่จำเป็นจะต้องรู้ แต่ส่วนที่จะใช้ประโยชน์กับมันได้อย่างไรนี้ต้องรู้หรือควรรู้แล้วก็ใช้ประโยชน์ให้ได้ ในร่างกายของเรานี้ เราก็ไม่ได้รู้ชัดแจ้งว่าอะไรเป็นอย่างไรถึงที่สุด แต่เรารู้เฉพาะที่ว่าเราจะบริหารร่างกายนี้อย่างไร ให้ร่างกายนี้เป็นประโยชน์ อำนวยแต่ความเป็นอยู่ที่เป็นสุขได้อย่างยิ่ง สรุปความว่า ไอ้ส่วนที่ต้องรู้ก็ต้องรู้ให้เพียงพอ ควรรู้ก็ควรรู้ให้เพียงพอ แต่ส่วนที่ไม่อาจจะรู้หรือไม่ต้องรู้มันก็รู้ไม่ได้ เราอย่าไปเสียใจในเรื่องนี้อย่าไปเถียงกันในเรื่องนี้ มันจะเหมือนกับเรื่องที่เรียกว่าตาบอดหลายคนแล้วคลำช้างในส่วนต่างๆของช้าง แล้วก็เถียงกันว่าช้างเป็นอย่างนั้นช้างเป็นอย่างนี้ และก็ได้ชกต่อยกัน เรื่องเกี่ยวกับธรรมะบางอย่างที่เกี่ยวกับจิต ธรรมชาติของจิตว่าจิตคืออะไรก็กำลังอยู่ในสภาพอย่างนี้ บางคนพูดว่าพระพุทธเจ้าได้เรียกได้ตรัสถึงสิ่งที่เรียกว่าจิตไว้โดยชัดเจนในคัมภีร์อภิธรรมปิฎกที่เรียกว่าคัมภีร์ธรรมสังคิณีคือคัมภีร์แรก การกล่าวอย่างนี้เป็นการกล่าวตู่พระพุทธเจ้า คำตรัสเหล่านั้นไม่ได้ตรัสว่าจิตคืออะไรตัวจิตคืออะไร แต่กล่าวลักษณะของจิตที่ได้ปรุงแต่งกันขึ้นมาด้วยเจตสิกต่างชนิดจึงเป็นจิตหลายชนิด เรียกว่าเป็นจิต ๘๙ ชนิดบ้าง จิต ๑๒๑ ชนิดบ้าง พวกอภิธรรมก็ไปเรียกซะว่าจิต ๘๙ ดวง จิต ๑๒๑ ดวง มาตั้งร้อยๆดวงอย่างนี้มันจะตอบกันอย่างไรได้ว่าจิตนั้นคืออะไร และที่จริงข้อความเหล่านั้นไม่ได้เป็นการตอบว่าจิตคืออะไร ตอบแต่ว่าหรือแสดงแต่ว่าจิตนั้นมันเปลี่ยนแปลงได้กี่ชนิดเท่านั้นเอง และคัมภีร์อภิธรรม เช่นคัมภีร์ธรรมสังคิณีนี้ เป็นคัมภีร์ที่เขียนขึ้นปรับปรุงขึ้นในชั้นหลัง หลังจากพุทธปรินิพพานหลายศตวรรษทีเดียว แล้วจะพูดว่าพระพุทธเจ้าตรัสพระพุทธเจ้าบอกอย่างนี้มันก็ไม่ถูกอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าไม่ได้กล่าวคำเหล่านี้ เป็นถ้อยคำของนักปราชญ์ในพระพุทธศาสนาในยุคหลังๆที่จะแสดงอะไรให้มากไปกว่าที่พระพุทธเจ้าตรัส ก็เลยกล่าวข้อความชนิดนี้มากมายมหาศาลพิสดารเมื่อหลายศตวรรษห้าหรือหกศตวรรษ ห้าหกรอยปีหลังจากพุทธปรินิพพาน อาตมาจึงเห็นว่าไม่มีทางที่จะพูดกันรู้เรื่อง อาการของจิตนั้นไม่ใช่จิตแต่เขาเอามาเรียกว่าจิตเป็นอย่างนั้นอย่างนั้น จิตเป็นอย่างไรมันก็พูดได้แต่อย่างเดียวข้อเดียว ไม่พูดได้ถึงหลายสิบหรือร้อยกว่าอย่าง จึงถือว่าเป็นคำตอบให้รู้ว่าจิตคืออะไรนั้นไม่ได้ ข้อนี้อาตมายังขอยืนยันตลอดไปว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตรัสว่าจิตคืออะไรตัวจิตนั้นคืออะไร มากไปกว่าเป็นธาตุตามธรรมชาติชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง มันมีอยู่เพียงเท่านี้ จะให้พูดมากไปกว่านี้แล้วว่าพระพุทธเจ้าตรัสนั้นก็เป็นไปไม่ได้ เราพุทธบริษัทได้ฟังจากพระพุทธเจ้าแต่เพียงว่าจิตเป็นธาตุตามธรรมชาติชนิดหนึ่ง แต่ธาตุนี้มันสามารถจะรู้สึกอะไรได้เมื่อได้รับการปรุงแต่งแวดล้อม มันก็ทำหน้าที่ของมันได้ ในอาการที่แปลกๆออกไป ส่วนที่เป็นเจตสิกก็ถือว่าไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่เกิดดับพร้อมกับจิต เจตสิกนั้นก็เป็นธาตุจิตนั่นแหละไม่ได้เป็นธาตุอื่นเป็นธาตุจิตในส่วนหนึ่งในลักษณะหนึ่ง แล้วก็ปรุงกันเองในระหว่างธาตุจิตในอย่างหนึ่งในลักษณะหนึ่ง สำเร็จรูปออกมาเป็นจิต นั่นคือความรู้สึกคิดนึกเหมือนอย่างที่เรามี และเราก็มีกันได้มากมายหลายสิบอย่างหรือร้อยกว่าอย่าง อย่างที่กล่าวมาแล้ว สำหรับอาตมาเองนั้นไม่เป็นไรเพราะจะว่าอย่างไรก็ตามใจแหละไม่สนใจที่จะตอบโต้ในส่วนนี้ แต่อยากจะบอกให้ท่านทั้งหลายทราบว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรื่องจิตไว้ในลักษณะที่เราจะอบรมมันได้จะใช้มันให้ได้สำเร็จประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือว่าจะรักษาจิตไว้ในสภาพที่ไม่มีกิเลสเกิดขึ้น จะจัดการกับจิตในลักษณะที่จะไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น ตามที่ได้ตรัสไว้ชัดเจนละเอียดทีเดียวว่าปฏิบัติอย่างนั้นปฏิบัติอย่างนั้น และการก้าวหน้าทางจิตก็จะเกิดขึ้น และบุคคลผู้ปฏิบัตินั้นก็ไม่มีความทุกข์ คือจิตมันไม่เกิดกิเลสและไม่เกิดความทุกข์ ขึ้นมาก็เรียกว่าบุคคลไม่เกิดกิเลสและไม่เกิดความทุกข์ สรุปว่าเราไม่ไปเสียเวลาที่จะไปรู้ให้ชัดลงไปว่าจิตนั้นคืออะไร เรารู้แต่ว่าจะกระทำแก่สิ่งนั้นอย่างไร ทั้งที่เราจับตัวมันไม่ได้ จับตัวขึ้นมาใส่ฝ่ามือดูก็ไม่ได้ แต่ก็ทำให้มันทำหน้าที่ต่างๆอาการต่างๆ ชนิดที่เป็นประโยชน์ให้รู้สึกคิดนึกได้ทุกอย่างทุกประการ และอย่าลืมว่าจิตก็ธาตุตามธรรมชาติไม่ใช่ตัวตน มีคนบางพวกพูดกล่าวในลักษณะที่ว่าจิตนั่นแหละคือตัวตนนี่เป็นการผิดพลาดอย่างยิ่ง จิตก็เป็นธาตุตามธรรมชาติมีเหตุมีปัจจัยมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งอย่างไรมันก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยอย่างนั้น เป็นไปในลักษณะที่เจ็บปวดทนไม่ได้มันก็เลิกก็ไม่ทำ ถ้าไม่เป็นไปในลักษณะที่มีประโยชน์เป็นที่พอใจเป็นความสงบสุขก็ทำ ให้รู้ว่าจะพูดให้เห็นง่ายกว่านั้นอีกหน่อยก็เช่นว่า ดิน ดินเหนียวนะ เราก็เห็นด้วยตาและเรารู้ว่ามันเป็นอะไรถึงที่สุดหรือไม่แต่ก็เปล่าเลย ทั้งที่เห็นดินเหนียวมาขยี้ดูอย่างนี้ก็รู้ว่าเป็นดินเหนียวอย่างนี้แต่ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรมากไปกว่านั้น แต่ทีที่เราจะเอามันมาใช้ปั้นหม้อปั้นไหปั้นถ้วยปั้นชามปั้นตุ๊กตาหรือว่าจะมาทำฝาผนังทำอะไรก็ทำได้ นี่สำคัญอยู่ที่ส่วนนี้จะใช้มันให้มีผลประโยชน์ตามที่ควรจะมีจะใช้ อย่าว่าของนอกตัวแม้แต่ของในตัวของเรานี่ มันมีระบบต่างๆอยู่ในภายในตัวนี้หลายระบบที่จะไปให้รู้ว่ามันคืออะไร นี่มันยากหรือมันเหลือวิสัย แต่เรารู้ว่าเราควรจะทำอย่างไรกับมัน กับตาหูจมูกลิ้นนี่ทำอย่างไรกับมัน เรื่องท้องไส้เนื้อหนังแขนขากระดูกเอ็นต่างๆจะรักษาจะพยาบาลมันอย่างไร ก็ทำให้ถูกต้องมันก็ไม่เกิดความทุกข์ แต่ที่จะไปให้รู้ว่ามันคืออะไรมันคืออะไรมันคืออะไรลงไปถึงที่สุดนี้มันก็ทำไม่ได้ ทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไรเพราะเราก็ไม่มีความทุกข์ ที่เรียกว่าสิ่งใดที่ทำไม่ได้มันก็ทำไม่ได้หรือรู้ไม่ได้ สิ่งใดที่รู้ได้หรือจำเป็นจะต้องรู้เราก็ทำให้ได้ นี่คือเรื่องจิตคืออะไร ไม่ต้องถกเถียงกันอีกต่อไปเพราะพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ตรัสไว้ว่ามันคืออะไรนอกจากว่าเป็นธาตุตามธรรมชาติชนิดหนึ่งมีลักษณะรู้สึกคิดนึกได้ อบรมอย่างนั้นอบรมอย่างนี้อบรมอย่างโน้น มันก็จะเป็นของที่เปลี่ยนแปลงไปตามการอบรม จนกระทั่งไปอยู่ไปสุดอยู่ในลักษณะที่ไม่เป็นทุกข์เลย คือเป็นจิตที่หลุดพ้น เป็นจิตที่ถึงครึ่งวิสังขารคือเป็นจิตชนิดที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไปมันไปจบที่นั่น เรารู้สึกได้ตรงที่ว่ามันไม่มีความทุกข์ แต่บางทีเราก็ไม่รู้ละเอียดชัดเจนหรอกว่าวิสังขารนั้นคืออะไร แต่เรารู้ได้ว่าถ้าวิสังขารก็คือไม่เปลี่ยนแปลงไม่ปรุงแต่งแล้วก็ไม่มีปัญหาและไม่มีความทุกข์ หรือจะถามว่าพระนิพพานคืออะไร จะไปเอาตัวจริงของพระนิพพานก็ตอบไม่ได้ แต่รู้ว่าพระนิพพานนั้นเมื่อถึงทางเข้า กับจิตหรือเราแล้วมีแต่ความเยือกเย็นไม่มีความทุกข์เลย เรารู้จักทำให้จิตเป็นอย่างนั้นจนถึงนิพพานมันก็พอแล้ว จิตคืออะไรแท้ๆก็ไม่รู้นิพพานคืออะไรแท้ๆก็ไม่รู้เพราะไม่อาจจะรู้ เพียงแต่รู้ว่านิพพานเป็นความเย็นเป็นเครื่องให้เกิดความเย็น นี่มันก็ไม่ใช่รู้ถึงที่สุดว่านิพพานนั้นคืออะไร นี่คือสิ่งที่มีอยู่จริง เป็นอยู่จริง ในเรื่องธรรมะในพระพุทธศาสนา เราไม่อาจจะรู้ว่ามันคืออะไร แต่เราใช้มันให้เป็นประโยชน์ได้ แม้เราจะรู้ว่าความทุกข์คือความเจ็บปวด แต่ตัวความเจ็บปวดนั้นเรายังไม่รู้สึก ไม่รู้สึกลึกซึ้งไปถึงว่ามันเป็นอะไร มันเป็นตัวอะไร เรามีหน้าที่เพียงแต่ทำให้อย่าให้มันเกิดความรู้สึกเจ็บปวดขึ้นมาก็พอแล้ว ถ้าไปพยายามจะรู้สิ่งที่รู้ไม่ได้มันก็ลำบากเปล่า มันก็เสียเวลาเปล่า นี่คือหลักข้อหนึ่งเกี่ยวกับธรรมะว่าเราจะรู้จักได้หรือควรรู้จักเฉพาะส่วนที่มันเป็นปัญหากับเราให้เกิดความทุกข์กับเรา เราจัดอย่าให้ เราจัดเรากระทำอย่าให้เกิดความทุกข์ได้มันก็พอแล้ว เราไม่ต้องไปรู้สิ่งที่มันไม่อาจจะรู้ให้เสียเวลามันก็จะเป็นการเหนื่อยเปล่าแล้วก็ไปเดากันคนละทีคนละอย่าง ก็จะได้ทะเลาะกันเหมือนกับตาบอดคลำช้างอย่างที่ว่ามานั้นเอง นี่คือข้อหนึ่ง อย่างที่เอามาล้อตัวเองว่าตัวเองพูดว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่าจิตนั้นคืออะไร ตรัสแต่ว่าทำอย่างไรกับสิ่งที่เรียกว่าจิตแล้วก็จะได้รับผลอย่างไร ก็มีผู้ที่เอาเรื่องราวอื่นๆที่แสดงลักษณะของจิตมาเป็นตัวจิต แล้วก็กล่าวหาอาตมาอย่างรุนแรงว่า เหมือนกับว่า ทำลายพระพุทธเจ้าให้ลดค่าสูญค่าไปหมดว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้พูดว่าจิตนั้นคืออะไร เรื่องเป็นอย่างนี้ ทีนี้คนพวกเดียวกันนี้แหละเขาพูดว่าจิตนั่นแหละเป็นตัวตน ที่ทำการรู้รูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู รู้กลิ่นด้วยจมูก รู้รสด้วยลิ้น หรือสัมผัสทางกายด้วยผิวหนัง และก็รู้จักทางอารมณ์ด้วยใจด้วยมโน ท่านทั้งหลายบางคนอาจจะเคยได้รับคำสั่งสอนอย่างนี้ แต่โบราณสั่งสอนกันอย่างนี้อาตมาก็เคยได้ยินอย่างนี้ คนโบราณที่เขาศึกษากันหรือว่าเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็มี ก็มีตัวตนอะไรชนิดหนึ่งเรียกว่าจิตก็ได้ ถ้าพูดก็ได้ (นาทีที่ 24:59) วิญญาณก็ได้ มันเป็นตัวเป็นตนที่อยู่ข้างในและคอยออกมารู้อารมณ์ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง สิ่งนั้นแหละคือจิตและเป็นตัวตน เขาใช้คำว่าเป็นตัวตนที่จะเป็นผู้รู้อารมณ์ทางตาเป็นต้น แต่การกล่าวอย่างนี้ผิดหลักพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ที่เรียกว่ามันไม่มีสิ่งใดที่ควรจะเรียกว่าตัวตน จิตก็สักว่าจิตเป็นธาตุชนิดหนึ่งตามธรรมชาติ จะเป็นตัวตนไม่ได้ แต่ก็มีคนบางแห่งบางยุคบางสมัยสังเกตศึกษาและสรุปความเข้าใจเอาว่าไอ้ที่มารู้สึกทางตาหูจมูกลิ้นกายใจนั่นแหละคือตัวตน ตัวตนผู้ทำการรู้สึก มันก็เลยเรียกว่าจิต จิตนี้เป็นตัวตน การกล่าวเช่นนั้นเป็นการกล่าวผิดพระพุทธศาสนาตู่พระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามันไม่มีตัวตนแม้มันจะรู้สึกคิดนึกได้ รู้อารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกายได้ สิ่งเหล่านั้นก็มิใช่ตัวตน อาตมาเองก็เคยอ่านหนังสือบางเล่มหนังสือเก่าๆใครแต่งใครเขียนก็ไม่ทราบมีสอนกันอย่างนี้ ว่าจิตเป็นตัวตนเข้ามาสิงอยู่ในร่างกายนี้คอยรู้อารมณ์ทางตาทางหูทางจมูกเป็นต้น พอเวลาคนหลับ คนหลับ มันก็ออกไปมันก็ออกไปจากร่าง คนมันก็หลับจนกว่ามันจะกลับมาสู่ร่างอีกคนก็ตื่น หรือเวลาคนตายลงไอ้ตัวตนหรือจิตนี้มันก็ไปแสวงหาร่างอื่นไปเข้าท้องใหม่เป็นจิตเป็นตัวตนถาวรอย่างนี้ ถ้าท่านผู้ใดมีความรู้ความเข้าใจอย่างนี้แล้วก็ให้รู้ด้วยเสียว่านั่นไม่ใช่พุทธศาสนา เป็นความรู้นอกพระพุทธศาสนาที่คนพูดคนสอนกันอยู่เหมือนกัน ถ้าเราจะเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริงเราจะมีความรู้ความเข้าใจว่ามีตัวตนในทำนองนั้นไม่ได้ มันจะกลายเป็นมีสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวรคือจิตนั้นเป็นสัสสตทิฐิไป ถ้าจะให้ถูกต้องก็รู้แต่เพียงว่าไอ้สิ่งนั้นเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ เรียกว่า วิญญาณธาตุ หรือ ธาตุจิต ดังที่กล่าวแล้ว มันได้อาศัยธาตุจิตด้วยกันในส่วนอื่น ในลักษณะอื่นมาปรุงแต่งกันเองเกิดเป็นจิตแปลกประหลาดมากมายได้ จึงมีจิตกิเลส มีจิตไม่มีกิเลส จิตบรรลุมรรคผล จิตพระอรหันต์ จิตปุถุชน อันนี้มันล้วนแต่การปรุงแต่งซึ่งกันและกันด้วยธาตุจิตซึ่งก็ต้องมีหลายชนิดมันจึงปรุงแต่งกันได้ เราอย่าไปเข้าใจผิดว่าจิตเป็นตัวตน เมื่ออาตมาพยายามอธิบายว่าจิตไม่ใช่ตัวตน ก็กลับจะถูกหาว่าทำลายหลักธรรมะ หรือกล่าวตู่พระพุทธเจ้า ซึ่งผู้กล่าวว่าจิตเป็นตัวตนนั่นแหละเป็นผู้กล่าวตู่พระพุทธเจ้า คิดดูเถอะว่ามันน่าหัวเราะหรือไม่หรือมันน่าเอามาล้อหรือไม่ พยายามจะพูดให้ถูกให้ตรงตามหลักของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระบาลีหรือว่าตามหลักที่ทุกคนพอจะมองเห็นได้เข้าใจได้ด้วย ยถาภูตะสัมมัปปัญญาของตนก็ยังได้รับการกล่าวหาว่าสอนผิดตู่พระพุทธวจนะ เราก็ไม่ต้องไปทะเลาะกัน แต่อยากจะบอกให้ทราบกันในหมู่ที่เรามีการรับผิดชอบร่วมกันว่าเรื่องนี้ต้องเข้าใจให้ดีๆ อย่าเอาไปพูดว่าจิตเป็นตัวตนวิ่งเข้าวิ่งออกของร่างกายนี้คอยทำหน้าที่รู้อะไรทางตาหูจมูกลิ้นกายใจแล้วเอาอันนั้นเป็นตัวตน เป็นมิจฉาทิฐิว่ามีตัวตนและเป็นตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวรเป็นสัสสตทิฐิ ถ้าผู้ใดเคยได้รับคำสั่งสอนมาอย่างนี้เข้าใจอยู่อย่างนี้ก็รีบเปลี่ยนเสีย อย่าได้ถือว่าจิตเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคลนะ เขาใช้คำว่าสัตว์บุคคลคือตัวตนที่ประหลาดลึกลับมหัศจรรย์ ทำหน้าที่ได้อย่างประหลาดลึกลับมหัศจรรย์ ที่ตาที่หูที่จมูกที่ลิ้นที่ผิวหนังก็ได้ หรือทำงานอยู่แต่ข้างใน ในภายในในขอบวงของจิตใจอย่างนี้ก็ได้ มันก็น่าประหลาดเหลือประมาณมันวิจิตรพิสดารมันลึกซึ้ง เหลือประมาณแต่ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ใช่ตัวตน นี่คำสอนเรื่องไม่ใช่ตัวตนของพุทธศาสนามีอยู่อย่างนี้ แต่แล้วมันก็มีสิ่งบางสิ่งทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นตัวตนแน่ คือจิตของเขานั่นเอง คนจึงมีความรู้สึกว่ามีตัวตนคือจิต แล้วมีคัมภีร์บางคัมภีร์ที่เขียนขึ้นชั้นหลังว่า จิตตัง อัตตา นามะ ว่าจิตนั่นแหละคือตัวตนอย่างนี้ก็มี แต่พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่า จิตตัง อัตตา นามะ นั่นก็แปลว่าจิตเป็นธาตุตามธรรมชาติชนิดหนึ่งในบรรดาธาตุทั้งหก ถ้าว่ามีตัวตนมีอะไรเป็นตัวตนแล้วก็ไม่ใช่พุทธศาสนา ดังนั้นพุทธบริษัทจึงมีความคิดนึกที่ว่ามีอะไรสิ่งใดเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคลสิงสถิตย์อยู่ในร่างกายนี้ แล้วก็จะไม่เป็นพุทธบริษัทคือไม่มีหลักพระพุทธศาสนา ทีนี้ถ้าคนบางคนสงสัยว่ามันจะเป็นอะไรไปถ้าเราเชื่อว่ามีตัวตนจะเป็นอะไรไป มันจะเป็นอะไรมากทีเดียวไม่ใช่ว่าจะไม่เป็นอะไร คือมันจะยึดมั่นตัวตน จิตจะมีแต่ความยึดมั่นในตัวตน จิตก็จะต้องแบกตัวตน มีภาระหนักด้วยตัวตนที่มันสำคัญว่าอะไรเป็นตัวตนถ้าสำคัญจิตเองเป็นตัวตนมันก็แบกตัวเอง หรือเป็นภาระหนักนั่นแหละเขาเรียกว่าความทุกข์ มันหนักแก่การยึดถือของจิตนั่นแหละเรียกว่าเป็นความทุกข์ อย่าคิดเล่นๆว่าเอ้าว่ามันก็มีตัวตนก็ได้ก็ดีเหมือนกันมันจะได้ตั้งใจทำงาน หาเงินเพื่อตน ปฏิบัติเพื่อตน ศึกษาเพื่อตนอะไรๆก็ล้วนแต่เพื่อตนมันก็ดีเหมือนกัน อย่างนี้มันไม่ถูกหรอกที่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามันไม่มีตัวตนนั้นก็เพื่ออย่าให้เป็นทุกข์ เราทำงานโดยที่ไม่ต้องคิดว่ามีตัวตนก็ได้ มันเป็นหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตจะต้องทำและอย่าหมายมั่นให้เป็นของตนหรือมีตัวตนเป็นผู้ทำ มันไม่หนักคือมันไม่หนักลงไปที่จิต ถ้ามันมีตัวตนเป็นผู้ทำ เป็นเจ้าของการกระทำมันก็ยึดถือตัวตนเรียกว่า อัตตวาทุปาทาน ยึดถือในสิ่งนั้นจนพูดออกมาว่าตัวตน อัตตวาทะ นี่พูดออกมาว่าตัวตน อุปาทาน แปลว่าความยึดถือ มันยึดถือในสิ่งนั้นเป็นจิตเป็นตอนนี้ว่ามันเป็นตนพูดออกมาว่ามันเป็นตน นี่เป็นความผิด ผิดหลักธรรมะไม่ใช่พุทธศาสนา แต่ว่าศาสนาอื่นลัทธิอื่นเขาสอนว่ามีตัวตนอย่างนั้น มันจึงปรากฏชัดในบาลีว่าลัทธิอื่นไม่ได้พูดถึงอัตวาทุปาทานและให้ละเสียเพราะว่าเขามีตัวตน เขามีตัวตนให้ยึดถือ ยึดถือเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด เป็นตัวตนใหญ่ เป็นตัวตนสากล เป็นตัวตนถาวรไปเลย พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ยึดถือสิ่งใดเป็นตัวตน จึงได้พูดถึงอัตวาทุปาทาน เรื่องอัตตวาทุปาทานจึงมีแต่ในพุทธศาสนา มีพระบาลีชัดๆว่าการกล่าวถึงอัตตวาทุปาทานว่าเป็นอุปาทานควรละเสียนะมันมีแต่ในพุทธศาสนา ในลัทธิอื่นก็อาจจะยุให้มีตัวตนให้ยึดถือว่ามีตัวตนคือให้มีอัตตวาทุปาทานนั่นเอง ให้มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนปากมันพูดออกมาว่านั่นตัวตน นี่ก็อัตตวาทุปาทาน พุทธบริษัทต้องการจะทำลายอัตตวาทุปาทาน อัตตวาทุปาทานนั้นมันเกิดเองตามธรรมชาติของปุถุชนคนโง่ มันเกิดเองเกิดมากร่ำรวยด้วยอัตตวาทุปาทาน จนไม่รู้ว่าจะเอาไปไหนอยู่แล้ว ถ้าจะแก้ปัญหานี้เพื่อไม่ให้เป็นทุกข์ ก็ต้องละมันเสียต้องละสิ่งนั้นเสีย พุทธศาสนาจึงมีอุปาทานเพิ่มขึ้นมาอีกอันหนึ่งเป็นอันที่สี่เรียกว่าอัตตวาทุปาทาน ในเมื่อศาสนาอื่นเขามีเพียงสาม กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน จะมีกันอย่างมากเพียงเท่านั้นบางทีก็ไม่มีถึงนั้นก็มี ถ้ามันเป็นศาสนาที่ต่ำไปกว่านั้น จะด้วยเหตุที่อัตตวาทุปาทานเป็นอุปาทานแม่บทอันสุดท้าย ที่จะรักษาไว้ซึ่งความทุกข์จึงมีหลักในพระพุทธศาสนาเราขอให้ทำลายความรู้สึกเช่นนั้นเสียและจะไม่มีความทุกข์ดังพระบาลีที่ถือเป็นหลักใหญ่ว่า อัสมินามัสสะ วินะโย เอตัง เว ปะระมัง สุขัง นำออกเสียได้ซึ่งมานะความสำคัญมั่นหมายว่าเรามีอยู่ตัวตนของเรามีอยู่ ให้นำความโง่เขลาอันนี้ออกเสียได้ นี้จะเป็นสุขอย่างยิ่งเพราะไม่มีอะไรจะเป็นเครื่องหนักแก่จิตใจไม่มีอะไรเป็นที่ยึดถือของจิตใจ เป็นจิตที่ว่างจากการยึดถืออยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงเป็นความสุขอย่างยิ่งอย่างนี้ นี่พุทธบริษัทมีหลักปฏิบัติที่จะทำลายเสียซึ่งอัตตวาทุปาทาน ความโง่ความหลงยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวตน
นี่ก็มีเรื่องว่าคนบางพวกเขาสอนว่ามีตัวตน อย่างนี้ทีเราสอนว่าไม่มีตัวตน เขาก็หาว่าสอนผิดแล้วเขาจะพิทักษ์พระพุทธศาสนาถึงกับว่าจะทำลายพวกที่สอนว่าไม่มีตัวตน นี่เอากับเขาสิ ในเวลานี้มันเป็นอย่างนี้ เรียกว่าเป็นสิ่งที่น่าหัวก็น่าหัว น่าเศร้าก็น่าเศร้า น่าล้อ น่าล้อจนถึงกับเอามาล้อ ล้อใคร ก็ล้อผู้ที่ถูกหาก็ได้ มันไม่ควรจะถูกหาก็ถูกหา หรือจะล้อผู้กล่าวอย่างผิดๆในยุคปัจจุบัน ในถิ่นที่ถือว่าพุทธศาสนาเจริญที่สุดอย่างในเมืองไทย ถือพุทธศาสนาเจริญที่สุด แต่ก็มีผู้สอนให้ถือว่ามีตัวตน มีตัวตน ไม่ได้สอนให้ละการยึดถือว่ามีตัวตนมีอยู่ทั่วไป พวกนี้แปลกมากนะเขาก็จะพูดเอาใหม่ ที่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารไม่ใช่ตน วิญญาณไม่ใช่ตน เขาก็พูดว่ามีอีกสิ่งหนึ่งนอกจากขันธ์ ๕ นั่นแหละเป็นตน มันมีอีกสิ่งหนึ่งนอกจากขันธ์ ๕ แล้วสิ่งนั้นเป็นตน พวกนี้ได้รับการล้อเลียนว่าเป็นพวกขันธ์ ๖ ก็มีขันธ์ถึง ๖ แปลกไปจากขันธ์ ๕ นั่นก็คือพวกที่มีตัวตน เมื่อแรกมีสวนโมกข์ใหม่ๆอาตมาสู้รบตบมือกับพวกขันธ์ ๖ อย่างมากมายทีเดียว เรามันไม่รับไม่ยอมรับว่ามีขันธ์ ๖ มีแต่ขันธ์ ๕ และขันธ์แต่ละขันธ์เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน ระวังให้ดีถ้าใครจะมีตัวตนมันจะเกิดขันธ์เพิ่มขึ้นมาอีกขันธ์หนึ่ง สำหรับคนพวกนั้นเป็นพวกขันธ์ ๖ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสเรื่องขันธ์ที่ ๖ มีแต่ขันธ์ ๕ หรือจะพูดว่ามนุษย์ที่เป็นนักปราชญ์นักศึกษาในครั้งพุทธกาลเขาก็มีกันแต่ขันธ์ ๕ มีขันธ์เพียง ๕ แต่เขาจะยึดถือว่าขันธ์ใดขันธ์หนึ่งเป็นตัวตนตามความรู้สึกเสมออย่ายึดถือเอารูปขันธ์เป็นตัวตนในบางกรณียึดเอาเวทนาขันธ์เป็นตัวตนในบางกรณีก็ยึดเอาวิญญาณขันธ์สังขารขันธ์เป็นตัวตน เขามีตัวตนทั้งที่เขามีขันธ์ ๕ พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นท่านบอกว่าทั้งห้าน่ะ ขันธ์ทั้งห้า ๕น่ะแต่ละขันธ์ละขันธ์มันไม่ใช่ตัวตน มันก็ยังมีพวกที่ไม่ยอม ทะลุกลางปล้องขึ้นมาเฉยๆว่านอกจากขันธ์ ๕ แล้วมันยังมีอีกอย่างหนึ่งที่เป็นตัวตน ก็ไม่ต้องพูดกัน เขาอยากจะมีอะไรที่เป็นตัวตนก็ตามใจเขา เราก็มีเพียงขันธ์ ๕ ซึ่งแต่ละอย่างละอย่างมิใช่ตัวตน ยึดถือไม่ได้ไม่ควรยึดถือ เมื่อไม่ยึดถือขันธ์ทั้ง ๕ แต่ละขันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วปัญหามันหมดคือมันไม่มีความทุกข์ ในความทุกข์ที่จะเกิดแก่คนเรานี่มันเพราะยึดถือขันธ์ๆใดขันธ์หนึ่ง กรณีใดกรณีหนึ่งเวลาใดเวลาหนึ่ง ในที่ใดที่หนึ่งว่าเป็นตัวตน แล้วก็เป็นทุกข์ พอรู้เรื่องขันธ์ทั้ง ๕ ไม่ได้ยึดถือขันธ์ใดส่วนใดเป็นตัวตน ปัญหามันก็หมดคือไม่มีความทุกข์หรอก ข้อนี้สนใจกันให้มาก แต่ว่าบางเวลาเราไปเห็นความสำคัญที่รูปขันธ์ที่ร่างกายกำลังทำหน้าที่ของรูปนี่ ไปยึดถือเอาว่าเป็นตัวตนที่ร่างกายนั้นก็มี บางเวลาไอ้ความรู้สึกมันพุ่งไปยังเวทนารู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์อยู่ก็หมายมั่นเอาว่าไอ้สิ่งที่มันรู้สึกเวทนาเป็นสุขเป็นทุกข์อยู่นั่นแหละเป็นตัวตน แต่ในบางกรณีบางเวลามันทำให้จิตใจพุ่งไปยังสัญญาความหมายมั่นอย่างนั้นหมายมั่นอย่างนี้ว่าไอ้สิ่งที่มันทำการหมายมั่นนั่นแหละเป็นตัวตน บางเวลาไปที่สังขารกำลังคิดนึกอยู่อย่างไรไอ้คิดนั่นแหละผู้คิดนั่นแหละเป็นตัวตน บางทีก็วิญญาณทางตาหูจมูกกายเป็นต้นนั่นแหละเป็นตัวตน เขาจึงมีตัวตนได้ที่ขันธ์ทั้ง ๕ ซึ่งเป็นวัตถุที่ตั้งให้เกิดความยึดถือว่าเป็นตัวตน แต่ไปๆมาๆถ้าไปดูกันที่ศูนย์กลางของสิ่งทั้งห้าหรือขันธ์ ๕ นี้แล้วมันก็อยู่ที่จิตนั่นแหละ มันไปรู้สึกคิดนึกคล้ายกับว่ามันเป็นตัวตน เราไม่รู้ปุถุชนไม่รู้ ก็เออนี่มันประหลาดอย่างยิ่งมันรู้สึกคิดนึกได้มันทำอะไรได้เลยเข้าใจว่ามันเป็นตัวตน ก็เลยผลัดกันโง่คนละทีเดี๋ยวเอาตัวตนที่รูป เดี๋ยวเอาตัวตนที่เวทนา เดี๋ยวเอาตัวตนที่สัญญา เดี๋ยวเอาตัวตนที่สังขารหรือที่วิญญาณ เพราะว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้ไม่ได้เกิดขึ้นคราวเดียวพร้อมกันทั้ง ๕ ขันธ์ อย่าเข้าใจว่าเรามีขันธ์ทั้ง ๕ พร้อมคราวเดียวกันได้ทั้ง ๕ ขันธ์ ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ บางคนจะมากไปจนถึงกับว่าเวลานอนหลับก็มีขันธ์ทั้ง ๕ นั้นยิ่งหนักไปอีกมันเกินไป ที่เป็นๆอยู่นี่เราไม่อาจจะมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พร้อมกันได้ จิตไปสำคัญเข้าที่ส่วนใดส่วนนั้นแหละมันจะมีอยู่เหมือนกับมีอยู่ แล้วเอาสิ่งนั้นเป็นตน ที่มันจะชวนให้เอาเป็นตัวตนได้มากที่สุด มันก็เป็นเรื่องของความสำคัญมั่นหมายคิดนึกรู้สึกได้ สังขารขันธ์นั้นนะตัวดีเพราะคิดนึกรู้สึกได้ ก็เอาสิ่งที่รู้สึกคิดนึกได้ว่าเป็นตัวตน พวกฝรั่งไม่กี่วันนี้สองสามร้อยปีมานี้ ก็เพราะฉันคิดได้ดังนั้นฉันจึงมีอยู่ นัตถิปรัชญา(นาทีที่ 44.42) ที่มีชื่อเสียงของพวกฝรั่งก็มีอย่างนี้ก็มี มันน่าน่าจะจัดให้เป็นตัวตนพระมันรู้สึกคิดนึกได้ เอาและเป็นอันว่าอย่าได้ถือว่ามีตัวตนสิงอยู่ในร่างกายนี้ใครรู้สึกที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ รู้สึกคิดนึกได้ เข้าออกได้จากร่างกายเมื่อหลับเมื่อตื่นเมื่อเป็นเมื่อตายนี่เลิกทันที ถ้าเคยได้รับคำสั่งสอนมาอย่างนี้แล้วก็เลิกทันทีเถอะ มันไม่ใช่พุทธศาสนา เป็นความคิดเขลาๆเรื่องจิตเรื่องวิญญาณมาแต่โบราณกาล ว่ามีสิ่งที่เป็นจิตวิญญาณชนิดนี้ เดี๋ยวนี้เขาเรียกกันว่าลัทธิ Animism มันเป็นลัทธิที่เชื่อมีจิตมีวิญญาณเป็นตัวเป็นตนเป็นผีเป็นปีศาจอะไรก็ตามใจ ไม่ใช่พุทธศาสนา สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเป็นเพียงสักว่าธาตุตามธรรมชาติ เป็นธาตุตามธรรมชาติเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ นึกถึงคำว่าธาตุตามธรรมชาตินั่นแหละไว้ให้มากที่สุดเถอะ และจะไม่ได้ยึดถือธาตุตามธรรมชาติสักว่าธาตุตามธรรมชาติว่าเป็นตัวตน ความคิดนึกว่าตัวตนมันก็ไม่มีมันก็ไม่ได้ยึดถืออะไรมันก็ว่างดีมันก็สบายดี ไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดถือให้หนักให้เป็นภาระหนัก โดยปรกติทั่วไปก็ยึดถือขันธ์ทั้ง ๕ นั่นแหละว่าเป็นภาระหนัก
ภาราหะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้งหลายห้า เป็นภาระหนักเน้อ
ภาระหาโร จะ ปุคคะโล ไอ้สิ่งที่สมมติตัวเองว่าบุคคลว่าตัวตนนั่นแหละเป็นผู้แบกภาระหนักนั้นไป
ภาราทานัง ทุกขัง โลเก การแบกถือของหนักเป็นความทุกข์ในโลก
ภาระ นิกเขปะนัง สุขัง เหวี่ยงของหนักทิ้งไปเสียก็เป็นความสุข
นิกขิปิตวา คะรุง ภารัง อัญญัง ภารัง อะนาทิยะ เหวี่ยงของหนักนี้ทิ้งออกไปเสียแล้วอย่าไปโง่เอาสิ่งอื่นขึ้นมาเป็นของหนักอีก มันก็จะไม่มีตัณหาไม่มีอุปาทานไม่มีการแบกถือของหนักอีกต่อไป ดับเย็นเป็นนิพพาน
นิจฉาโต ปะรินิพพุโต นิจฉาโตแปลว่าไม่ร้อนไม่ระอุ ปะรินิพพุโตมันก็ดับเย็น
นี่เป็นพุทธศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่าตัวตนหรือสัตว์บุคคลเหมือนลัทธิอื่นนอกพุทธศาสนาที่มีอยู่ก่อนพุทธศาสนาบ้าง ที่มีอยู่เป็นคู่แข่งขันกับพุทธศาสนาในอินเดียในยุคพุทธกาลบ้าง และยังเหลือเป็นมรดกตกทอดลงมาจนถึงบัดนี้ ถึงบัดนี้ ในโลกนี้ ในบัดนี้ ในเมืองไทย ในบัดนี้ ยังมีลัทธิชนิดนี้เหลืออยู่ เมื่อไม่ได้รับการศึกษาที่ถูกต้องเพียงพอมันก็ยังเหลืออยู่ต่อไปอีกมันอาจจะบอกเล่ากันง่ายๆด้วยปากเพียงสองสามคำ แล้วมันก็ไปเข้ากับความรู้สึกคิดนึกของปุถุชนที่จะรู้สึกได้เองว่ามีตัวมีตน มีจิตเป็นตัวตนมันก็เลยอยู่ได้ ไม่รู้จักสิ้นสูญ ลัทธินี้ไม่รู้จักสิ้นสูญสูญไปยาก เว้นเสียแต่ว่าจะได้มาพบกับพุทธศาสนาได้ศึกษาพุทธศาสนาแล้วรู้สึกไอ้สิ่งต่างๆเหล่านั้นมันก็มีไม่ใช่ไม่มีแต่ว่ามันไม่ใช่ตนไม่ควรจะถือว่าเป็นตัวตน นี่เป็นปัญหาของเรา ถ้าเราโง่ถึงขนาดไปยึดถือว่าเป็นตัวตนมันก็น่าล้อล่ะ มันควรจะถูกล้อแล้วมันก็ควรจะเอามาล้อ นี่เราเรียกว่าล้ออายุที่โง่ ล้ออายุที่โง่เขลา ไปเอาอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ใช่ตัวตนมาเป็นตัวตน ถ้าใครรู้สึกอย่างนี้ก็รีบล้อตัวตน ล้อตัวเองมากมันจะได้ละอาย แล้วมันจะได้เปลี่ยนแปลงมันจะได้ทิ้งเสียอย่าต้องมีตัวตนกันเลย คนพวกพิทักษ์พุทธศาสนา เขาหาว่าอาตมาอาจเอื้อมตีความคำสอนของพุทธเจ้าด้วยความคิดอย่างหยาบๆของตนเอง เขาหาว่าอาตมาตีความพระพุทธภาษิตของพระพุทธเจ้าด้วยความคิดโง่เขลาหยาบๆของตนเองของอาตมาเอง นี่ขอยืนยันว่าไม่เคยมีเป็นไปไม่ได้ ระมัดระวังที่สุดเพราะว่ากลัวเหมือนกัน กลัวบาปเหมือนกัน อธิบายธรรมะผิดอธิบายพุทธวัจนะผิดนี่เขาถือกันว่าบาปยิ่งกว่าบาปไหนหมดยิ่งกว่าบาปอะไรหมดในบรรดาบาปๆที่รู้จักกัน ได้ยินได้ฟังอย่างนี้รู้สึกคิดนึกอย่างนี้มาตั้งแต่แรกบวชตั้งแต่แรกบวช นั้นจึงระมัดระวังอย่างยิ่งมาตั้งแต่แรกบวช คือแรกศึกษาพระพุทธศาสนาศึกษาธรรมะ ศึกษาวินัยระมัดระวังให้ถูกต้อง และจะไม่ให้พูดผิดๆเกี่ยวกับธรรมวินัย ใครจะมากล่าวหากันอย่างนี้ก็เพราะว่าเขาเข้าใจเป็นอย่างอื่น เมื่อเราอธิบายไม่ตรง ไม่ตรงตามที่เขาอธิบาย เขาก็ว่าเราอธิบายผิดๆอธิบายเอาเองอธิบายใหม่ตามชอบใจของตนอย่างนี้มีมาก ยังมีอยู่จนกระทั่งวันนี้หลายเรื่องหลายข้อที่เรียกว่าเราอธิบายไม่ตรงกัน ฝ่ายที่ตรงกันข้ามก็หาว่าพูดผิดอธิบายผิดอธิบายตามความเดาสุ่มของตัวเอง อาตมาขอประกาศตัวยืนยันว่าไม่กล้าทำอย่างนี้และไม่เคยทำอย่างนี้เพราะว่าไม่อยากจะเป็นคนทำผิด เพราะว่าไม่อยากจะทำบาปด้วยการทำลายพุทธศาสนา เพราะอธิบายผิดๆมีแต่พยายามอย่างยิ่งที่จะอธิบายให้เห็นแจ้งให้ละเอียดให้ชัดเจนขึ้นมา นี่ขอยืนยันอย่างนี้ ที่เอามาล้อวันนี้ก็เพราะว่า แม้จะพยายามอยู่อย่างนี้มันก็ยังถูกกล่าวอย่างนี้ เขาเรียกว่าเราเกิดมาร่วมสมัยร่วมบ้านร่วมเมืองกับคนชนิดนั้นซึ่งเป็นผู้กล่าวหา นี่ก็ขอให้ท่านทั้งหลายถือเป็นหลักปฏิบัติทั่วไปด้วย เราอย่าไปโกรธคนที่เขาพูดอะไรแปลกไปจากเราแล้วก็หาว่าเราพูดผิด จะต้องมีกันทุกคนน่ะไม่ใช่เฉพาะอาตมาหรอกไม่ว่าใครท่านทั้งหลายก็ลองคิดดูเองเถอะว่าคงจะถูกเขาด่าถูกเขาเยาะเย้ยถูกเขาอะไรเพราะว่าพูดไม่เหมือนเขาไม่ตรงกับเขาและไม่อยากจะพูดเหมือนเขาเสียด้วย ถ้ามันเกิดขึ้นแก่ใครก็ขอให้ถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาเช่นนั้นเองในโลกนี้ อย่าได้เกิดความโกรธความขัดใจ
คนพวกเดียวกันเขาหาว่าอาตมาเอากาลามสูตรมาเผยแพร่เพื่อไม่ให้พุทธบริษัทเป็นคนเชื่อง่าย แต่แล้วก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดในการที่เอากาลามสูตรมาเผยแพร่เพื่อไม่ให้คนเป็นคนเชื่อง่าย แล้วเขายังกล่าวหาว่าอาตมานี่แหละเป็นผู้หวังว่าใครๆจะเชื่ออาตมาไปเสียหมด อาตมาเข้าใจว่าคนทั้งหลายจะเชื่ออาตมาไปเสียหมด นี่มันก็เรื่องของพวกเรานี่ เดี๋ยวนี้เราก็อยู่กันพร้อมหน้า อาตมาก็ยังยืนยันว่าโดยหลักกาลามสูตรแล้วท่านทั้งหลายอย่าได้เชื่อเพราะว่าอาตมาพูด กาลามสูตรนี่ก็เคยพิมพ์เผยแพร่กันคราวหนึ่งแต่เดี๋ยวนี้มันก็หยุดไป บางคนจะไม่ได้ยินไม่เคยฟัง ไอ้ข้อสุดท้ายสองข้อนั่นมันรุนแรงมาก คืออย่าเชื่อเพราะผู้พูดมันเป็นคนที่น่าเชื่อ และอย่าเชื่อเพราะว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา เพราะว่าสมณะนั้นเป็นครูของเรา นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนะว่าอย่าเชื่อง่ายด้วยเหตุสิบประการ อย่ารับเชื่อง่ายๆด้วยเหตุสิบประการคือว่า เขาพูดบอกต่อๆกันมาถ่ายทอดกันมาด้วยการบอกก็อย่าเชื่อเพราะเหตุนั้น และอย่าเชื่อเพราะว่าเขาปฏิบัติตามกันมากระทำตามๆกันมาจนถึงวันนี้ เราก็อย่าเชื่อเพราะเหตุที่ว่าเขาตามกันมา อย่าเชื่อเพราะว่ามันลืออยู่กระฉ่อนทั้งบ้านทั้งเมืองว่ามันเป็นอย่างนี้อย่างนี้ก็อย่าเพิ่งเชื่อ ก็อย่าเชื่อมันมีอยู่ในปิฎกข้อความที่เขาพูดนั้นมันมีอยู่ในปิฎกก็อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเหตุว่ามันมีอยู่ในปิฎก เพราะปิฎกมันเขียนเอาได้มันชักเข้าก็ได้ชักออกก็ได้ อย่าเชื่อเพราะว่ามีเขียนอยู่ในปิฎกมีรับสมอ้างอยู่ในปิฎก และก็อย่าเชื่อโดยนัยยะแห่งตรรกะคือวิธีคิดตามแบบตรรกะเพราะจิตธรรมดานี้เขาเรียกว่าตรรกะ อย่าเชื่อโดยการคิดแบบนัยยะ นยายะหรือนัยยะคือวิธีคิดแบบปรัชญา คิดแบบปรัชญาได้ผลออกมาอย่างไรแล้วก็เชื่อนั้นไม่ได้ไม่ได้ ไอ้เรื่องนัยยะหรือปรัชญานี้มันผิดได้มันใช้เหตุผลผิดได้มันก็คำนวณผิดได้ อย่าเชื่อว่าเพราะมันสบเหตุผลทางปรัชญาแล้วก็อย่าต้องเชื่ออย่าไปเชื่อ ก็อย่าเชื่อการรู้สึกตามอาการเป็น Common sense มันก็จะเชื่อได้โดยความรู้สึกตามธรรมดาสามัญนี้ก็อย่าไปเชื่อ และก็อย่าเชื่อว่าเพราะอันนี้มันตรงกับความคิดเห็นของเรา เราคิดทีไรมันก็ตรงกันอย่างนั้นทุกที คำพูดอันนั้นมันทนต่อการพิสูจน์ด้วยความคิดของเราก็อย่าเพิ่งเชื่อ แล้วก็มาถึงข้อสุดท้ายที่ว่า มา ภพฺพรูปตาย อย่าเชื่อเพราะว่าผู้พูดนั้นมันอยู่ในลักษณะที่น่าเชื่อ อย่างเช่นท่านทั้งหลายเหล่านี้จะคิดว่าอาตมานี้อยู่ในลักษณะที่น่าเชื่อแล้วก็เชื่ออย่างนี้มันผิดหลักกาลามสูตร มา สมโณ โน ครูติ อย่าเชื่อเพราะว่าสมณะนั้นเป็นครูของฉัน ถ้าว่าอย่างอาตมานี้เป็นครูของผู้ใดก็อย่าเชื่อเพราะเหตุว่าเป็นครูของฉัน นี่พระพุทธเจ้าท่านให้อิสระถึงขนาดนี้เรียกว่ากาลามสูตร เขากล่าวหาว่าอาตมาเอากาลามสูตรมาเผยแพร่เพื่อหวังประโยชน์ส่วนตนไม่ใช่ว่าให้คนไม่ยอมเชื่อ คิดดูเถอะว่ามันน่าหัวมันน่าล้อมันน่าเอามาล้อ ก็ขอยืนยันต่อไปในบัดนี้ ย้ำหนักเข้าไปอีกว่าท่านทั้งหลายจงถือหลักกาลามสูตร อย่าเชื่อด้วยเหตุสิบอย่างนั้น แต่ให้เชื่อด้วย ยถาภูตสัมมัปปัญญา คือพิจารณาดูว่าตามที่เขาพูดอย่างนั้นนะมันพอที่จะดับทุกข์ได้ไหม ถ้ามันมีเหตุผลว่าพอจะดับทุกข์ได้ก็ลองปฏิบัติดู ถ้าลองปฏิบัติดูแล้วมันดับทุกข์ได้จริง ทีนี้จึงค่อยเชื่อว่าโอ้,นี่ข้อปฏิบัตินี้มันถูกมันดับทุกข์ได้จริงในตัวมันเอง อย่าต้องเชื่อเพราะผู้อื่นสอนเพราะผู้อื่นบอกหรือเพราะผู้อื่นปฏิบัติสืบๆกันมา เป็นต้น เลิกเชื่อเพราะผู้อื่นเป็นเหตุให้เชื่อ แต่เชื่อเพราะมองเห็นด้วย ยถาภูตสัมมัปปัญญา คือปัญญาเห็นแจ้งตามที่เป็นจริงของตนเองว่าอันนี้มันมีเหตุผลที่จะดับทุกข์ได้ แล้วก็ปฏิบัติดู แล้วมันก็ดับทุกข์ได้ก็แปลว่าเราเชื่อในการปฏิบัติที่ปฏิบัติแล้วมันดับทุกข์ได้ นี่ไม่เชื่อบุคคลเป็นอย่างนี้ ไม่เชื่อบุคคลแต่เชื่อการกระทำที่ได้พิสูจน์ทดลองดูแล้ว จะไม่เชื่อเลยมันก็เสียประโยชน์ แต่ถ้าเชื่อเข้าไปมันก็ยิ่งเสียประโยชน์ ฉะนั้นต้องขยักไว้ว่าพิจารณาดูว่าควรทดลองหรือไม่ เรื่องมันก็ได้เป็นมาแล้วในโลกนี้คือว่า คนสมัยโบราณเขากินยาสมุนไพร พอฝรั่งเขาเอายาวิทยาศาสตร์ยาสังเคราะห์ใหม่ๆเป็นเม็ดขาวมาให้กินนี่ไม่กล้ากิน เมื่อสมัยอาตมาเด็กๆนี่คนเป็นจำนวนมากไม่กล้ากินไม่ยอมกินยาควินินยาแอสไพรินนี่ไม่กล้ากิน แล้วก็หาว่ากินแล้วตาย กินแล้วร้อนตายอย่างนี้เป็นต้น แต่เดี๋ยวนี้ทำไมจึงกล้ากินกันทุกคน เขาก็มีคนมันกล้าลอง เมื่อมีเหตุผลว่าน่าจะมีประโยชน์น่าลองมันก็ลองพอกินแล้วได้ผลดีมันก็กิน เมื่ออาตมามาอยู่ที่นี่แรกๆมาก็สี่สิบปีมาแล้วนี่ ชาวนาแถวนี้ก็ยังไม่กล้ากินยาเม็ดขาวๆอยู่มากทีเดียว ต้องกินยาเม็ดเขียวๆผงๆอะไรอย่างยาโบราณ นั้นก็ขอให้ลองหากว่าเชื่อไม่ต้องเชื่อขอให้ลอง ก่อนแต่ที่จะไปดำนาไปลงนานั้นนะกินยาควินินเม็ดหนึ่ง เหน็ดเหนื่อยเต็มที่กลับมาบ้านตอนเย็นก่อนจะนอนนี่ก็ต้องกินยาแอสไพรินเม็ดหนึ่งเพื่อระงับความปวดเจ็บเมื่อยขบนอนหลับสบาย นอนหลับสบาย ในยาควินินนั้นมันป้องกันไม่ให้เกิดเป็นไข้แล้วเขาก็ไม่ต้องเป็นไข้ ชาวนาที่ไม่ยอมกินไม่กี่วันล้มไข้ล้มป่วยข้าวในนาเสียหายหมด เพราะว่าเขาเหนื่อยเหลือเกินในการทำนาตลอดวัน มาถึงก็นอนไม่หลับ นอนไม่หลับทรมานอย่างยิ่งหลายวันเข้าก็ล้มป่วยแล้วก็รักษาไม่หายเพราะไม่มีความรู้ การงานก็เสียหมดแหละคือข้าวในนามันก็เสียหมด ทีนี้คนที่รู้จักก็เพียงว่าก่อนไปนากินยาควินินเม็ดหนึ่งกลับมาจากทำนาแล้วกินยาแอสไพรินแก้เมื่อยแก้เจ็บแก้ปวดเม็ดหนึ่ง นอนหลับสบายรุ่งขึ้นก็ไปทำงานได้ดีอย่างนี้ตลอดเดือนจนงานเสร็จไม่มีใครเจ็บป่วย ก็ต้องลงทุนให้ลองหายามาให้ลองไม่ต้องซื้อนะให้เราก็ยังไม่ลองนะ ต้องพูดจากันอีกทีว่าลองอย่างนั้นลองอย่างนี้สิ มันไม่ตายหรอกยาเม็ดเดียว ก็ไม่กี่วันมันก็เห็นผล แล้วก็มาขอจนเราไม่มีให้จนเราไม่มีให้ คราวนี้เม็ดเดียวก็ไม่กล้าลองเรื่องมันเป็นอย่างนี้ ธรรมะก็จะมาในรูปนี้ ธรรมะที่เรามันไม่เคยรู้เรื่องที่มันแปลกประหลาด แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้ถึงอย่างนี้ ก็เลยทรงหวังว่าให้พิจารณาดูด้วยเหตุผลของตนเอง เมื่อน่าลองก็ลอง ลองนี่มันไม่เป็นไรมันไม่ถึงตายนี่ แล้วพอได้ผลทีนี้ก็ทำทำเต็มที่ ศรัทธาเกิดภายหลังการลอง ถ้าศรัทธางมงายมันเกิดสุ่มสี่สุ่มห้ามาแต่ทีแรกอย่างนี้มันอันตราย ถ้ามันเป็นเรื่องลึกซึ้งชนิดที่เป็นปรมัตถธรรมลึกซึ้งแล้วก็ไม่ได้ มันจะตกลึกหนักจนถึงกับว่าเป็นอันตราย ลองทบทวนดู ทบทวนดู ทบทวนดู ด้วยความคิดนึกที่แยบคายก็จะพอมองเห็นว่ามันจะเป็นอย่างไรแล้วก็ลอง พอลองก็รู้ การลองนั่นแหละคือการศึกษา การลองปฏิบัติดูนั่นแหละคือการศึกษา ไม่ใช่ว่าอ่านหนังสือหรือฟังเทศน์ ฟังเทศน์แล้วก็จะเป็นการศึกษา ลองกระทำดูแล้วผลเกิดขึ้นมาอย่างไรแล้วจึงเชื่อนั่นแหละคือการศึกษา ศีลสิกขา ลองรักษาศีลดู สมาธิ จิตตสิกขา ก็ลองทำสมาธิดู ปัญญาสิกขา ก็ลองทำวิปัสสนาดู นั่นนะเรียกว่าสิกขา คำว่าสิกขาในภาษาศาสนานั่นคือการปฏิบัติ ไม่ใช่การอ่านการฟังการเขียนการจดการจำ แต่เป็นการปฏิบัติดูแล้วเกิดผลอะไรขึ้นมาแล้วก็รู้จริงนี่คือการศึกษา เราไม่ต้องผิดไม่ต้องทำผิดเพราะมันมีการลองใคร่ครวญดูหาเหตุผลดู พอที่จะลองปฏิบัติดูก็ลองปฏิบัติดู จะมีอะไรผิด อาตมาก็ยังยืนยันว่าท่านทั้งหลายทุกคนจงศึกษาพุทธศาสนาในลักษณะอย่างนี้ อย่าเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าใครพูดว่าอะไร หรือฟังดูแปลกดีแล้วก็เลยเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างนี้มันมีทางที่จะผิดพลาดออกไปนอกลู่นอกทาง ฟังดู ใคร่ครวญดู ลองปฏิบัติดู จนเห็นแจ้งโดยประจักษ์ ไม่ต้องคำนวณด้วยเหตุผลหรือด้วยอะไรอีกต่อไป เพราะว่ามันกลายเป็นสิ่งที่เราเห็นด้วยตาเสียแล้ว เช่นว่าฟังเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท นี่ เราก็ไม่เข้าใจล่ะ แล้วเราจะเชื่อง่ายก็ได้หรือจะไม่เชื่อก็ได้ แต่ถ้าเอามาใคร่ครวญดูว่าโอ้,อย่างนี้มันจริง มีผัสสะแล้วมันโง่นี่ มันก็ต้องเกิดเวทนาโง่เกิดตัณหาหลงอยากในเวทนาเกิดอุปาทานจากตัณหาเกิดภพเกิดชาติและเป็นทุกข์ ในตัวธรรมะนั้นจะมีสิ่งที่ช่วยให้เรามองเห็นเสมอไป ไม่ต้องงมงายแม้แต่ประการใด แต่ถ้าว่าเชื่อทันทีอย่างงมงายแล้วกลายเป็นไสยศาสตร์ไปหมด แม้ธรรมะเรื่องอริยสัจเรื่องปฏิจสมุปบาทนี่แหละ ถ้าเราฟังเชื่ออย่างงมงายก็กลายเป็นไสยศาสตร์ไปหมด แล้วก็จะไม่ดับทุกข์ได้ ต้องเป็นพุทธศาสตร์คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วก็มีเหตุผลในสิ่งนั้นแล้วก็ลองกระทำดู มันก็จะเป็นพุทธศาสน์ นี่เราเชื่องมงายกราบไหว้บวงสรวงอ้อนวอนแม้ในสิ่งที่เรียกกันว่าพุทธศาสนาจะเป็นวัดวาอารามโบสถ์วิหารพระเจดีย์พระพุทธรูปพระเครื่องรางอะไรก็ตาม ถ้าเราไม่รู้จักสิ่งนั้นโดยถูกต้องเชื่อด้วยความงมงายก็กลายเป็นไสยศาสตร์ไปหมด ดังนั้นที่กราบรูปกราบพระพุทธรูปอยู่ในโบสถ์นะนั่นนะมันก็เป็นไสยศาสตร์ได้ ถ้ามันกราบลงไปด้วยความงมงาย ในโบสถ์ชาวพุทธมันก็ยังเต็มไปด้วยความงมงาย กราบไหว้พระพุทธรูปด้วยความคิดที่งมงาย ยิ่งไปเสี่ยงเซียมซีอะไรเป็นต้น ตรงหน้าพระพุทธรูปด้วยแล้วมันก็เพิ่มความงมงาย เอาพระพุทธรูปมาแขวนคอ เอาพระเครื่องมาแขวนคออย่างนี้ ทำด้วยความไม่รู้ด้วยความเชื่ออย่างงมงายก็เป็นไสยศาสตร์ แต่ถ้าเอาพระเครื่องมาแขวนคอเพราะรู้ว่าอะไรเพื่ออะไรอย่างไรเป็นพุทธานุสติอย่างไร ทำให้มั่นใจในธรรมะ อย่างนี้ไม่เป็นไสยศาสตร์ เอาพระเครื่องมาแขวนคอก็ยังเป็นพุทธศาสน์ได้เหมือนกัน เป็นเครื่องช่วยความจำ ช่วยความระลึกนึกถึง ช่วยเตือนสติ ก็เป็นพุทธศาสน์ ถ้ามาแขวนอย่างงมงายมันก็กลายเป็นไสยศาสตร์ พุทธศาสนาเป็นพุทธศาสน์ มันก็ใกล้ชิดกันอยู่กับไสยศาสตร์ ถ้าไปทำงมงายกันในโบสถ์มีเชื่องมงายกันในโบสถ์ในโบสถ์ก็เต็มไปด้วยไสยศาสตร์ จะเป็นที่น่าละอาย เป็นที่น่าล้อ นี่คือข้อที่ว่าอย่าทำไปด้วยความงมงายโดยหลักสิบประการของกาลามสูตรนั้น ถ้าทำก็เรียกว่ามันน่าล้อ สำหรับอาตมาที่น่าล้อก็อยู่ที่ว่าจะชักชวนคนให้พ้นจากความงมงายกลายเป็นถูกล้อว่าทำให้คนงมงาย
ทีนี้ก็ต้องมาถึงข้อที่ว่าจิตคืออะไร พวกนั้นเขาบัญญัติบทนิยามว่า จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ มันก็ถูกโดยตัวหนังสือมันก็ถูก แต่ถ้าถามว่าภวังคจิตมีอะไรเป็นอารมณ์มันก็ไม่มีอารมณ์ ภวังคจิตไม่ใช่จิตที่รู้อารมณ์เพราะไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ของภวังคจิต แต่เขาก็ยังเรียกภวังคจิตว่าจิต แล้วก็พูดว่าจิตเป็นสิ่งที่ว่างจากอารมณ์ไม่ได้ จิตไม่ว่างจากอารมณ์นั้นคือจิตธรรมดา จิตที่มีความรู้สึกเต็มสำนึกเป็นวิถีจิตกระทั่งเป็นชวนจิต จิตอย่างนี้ทุกชนิดมีอารมณ์ แต่ถ้าว่าจิตเดิมหรือภวังคจิตมันไม่มีอารมณ์ ฉะนั้นการพูดบัญญัติลงไปว่าจิตคือสิ่งที่รู้อารมณ์มันก็ไม่ถูก เพราะคำว่าจิตก็ยังมีใช้กับสิ่งที่ไม่ต้องการอารมณ์หรือไม่มีอารมณ์ นี่ก็เป็นข้อที่เขากล่าวหาอาตมาว่าไม่พูดว่าจิตคืออะไร อาตมาพูดไม่ได้ว่าจิตคือสิ่งที่รู้อารมณ์เพราะว่าจิตบางชนิดมันก็ไม่มีอารมณ์ แล้วเขาก็หาว่าเป็นคนสอนผิดหลักพระพุทธศาสนาคือหลักอภิธรรมของพวกนั้น นี่มันพูดกันไม่รู้เรื่องอย่างนี้
เรารู้กันไว้เถอะว่าจิตเป็นสิ่งที่รู้สึกต่ออารมณ์และจิตตามธรรมดานี้มันมีอารมณ์นั่นแหละเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต อย่าให้จิตมันอวดดีไปนักเลย มันจะเป็นจิตเองขึ้นมาล้วนๆไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระตาถึงกันเข้ากับรูป คู่แรกคือตามาถึงกันเข้ากับรูป อุปปัชชะติ จักขุวิญญาณ นั้น จึงเกิดจักษุวิญญาณ คือ จิตทางจักษุ นี่จิตมันเพิ่งเกิด จิตมันเพิ่งเกิดเมื่ออายตนะภายในกับอายตนะภายนอกถึงกันเข้าคืออารมณ์นั่นแหละ อายตนะภายนอกมาถึงกันเข้ากับอายตนะภายในคือตา ปฏิจจะ คืออาศัยกันเข้าแล้วจึงเกิดจักษุวิญญาณซึ่งเป็นจิต จิตรู้อารมณ์อย่างไร ก็จิตมันถูกอารมณ์ปรุงแต่งขึ้นมาตามธรรมชาติอย่างนี้ เขาบัญญัติเช่นนั้นมันก็ไม่ถูก นี่จึงอยากจะให้ถือว่ายังไม่รู้อะไรก็แล้วกันไอ้ตัวจิตแท้ๆนั่น แต่เดี๋ยวนี้ถ้ามันเป็นจิตขึ้นมาถึงระดับหลังๆนี้มันรู้อารมณ์ มันเสวยอารมณ์ มันถูกปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์จนเกิดเรื่องนี่ขอให้พิจารณาดูดีๆ ว่าเรื่องจิต เรื่องอารมณ์ เรื่องสมบัติของจิต เช่น เจตสิก เป็นต้นนั้น มันเป็นธาตุตามธรรมชาติโดยเสมอกัน ไม่มีทางที่จะมีอะไรเป็นตัวตนขึ้นมาได้ ก็ยังพูดต่อไปว่า มีผู้พูดว่าจิตที่มีความรู้สึก เขาก็พูดว่าจิตที่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวกูของกูนี่เป็นจิตที่ไม่มีตัณหาอุปาทาน เขาพูดว่าจิตที่มีความรู้สึกว่าตัวกูของกูเป็นจิตที่ไม่มีตัณหาอุปาทาน อย่างนี้มันพูดกันคนละภาษาเสียแล้ว พวกนั้นเขาให้ถือว่าจิตที่มีความรู้สึกว่าตัวกูของกูปรารถนาดีปรารถนาเด่นอย่างนี้เรียกว่าไม่มีตัณหาอุปาทาน มันพูดกันคนละภาษา ถ้ามีความหมายมั่นยึดมั่นอะไรก็เป็นดีเป็นเด่นที่จะได้มาเป็นตัวกูของกูนั่นแหละคือตัวตัณหาอุปาทาน เขาจะให้มีหลักว่าจิตที่รู้สึกว่าเป็นตัวกูของกูนั้นยังเป็นจิตที่ไม่มีตัณหาอุปาทาน
ตัณหาอุปาทานว่าตัวกูของกูเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อหังการ มมังการ มานานุสัย ความเคยชินที่จะเกิดความสำคัญมั่นหมายว่าตัวกูว่าของกู นี่จิตที่มีอนุสัยที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวกูของกูนั่นน่ะคือตัวตัณหาอุปาทาน เต็มไปด้วยตัณหาอุปาทาน จิตเป็นสิ่งที่รู้อารมณ์ แล้วก็มากล่าวว่าจิตก็เป็นอารมณ์ด้วยเหมือนกัน เขาเอาความรู้สึกคิดนึกในอดีตมาเป็นอารมณ์ของจิตแล้วก็พูดว่าจิตเป็นอารมณ์ของจิตนี่มันไม่ถูก จิตเอาสัญญาในอดีตมาเป็นอารมณ์ของจิต จิตกำหนดลงไปที่สัญญาในอดีตแล้วก็ปรุงแต่งความคิดขึ้นมา คนนี้เขาเรียกว่าจิตเอาจิตอดีตเป็นอารมณ์ จิตเอาจิตเป็นอารมณ์ นี่ฟังดู ฟังพูดสิ จิตเอาจิตเป็นอารมณ์นี่มันเป็นไปไม่ได้มันไม่มี แต่ว่าจิตเอาสัญญาในอดีตเคยหมายมั่นมาแต่กาลก่อนว่าเป็นอะไรสำคัญมั่นหมายอยู่ในจิตก็เอาสัญญานั้นเป็นอารมณ์ เขาเรียกเอาสัญญาในอดีตเป็นอารมณ์ก็มาบัญญัติเอาใหม่ว่าจิตมีจิตเป็นอารมณ์ มีจิตในอดีตเป็นอารมณ์ นี่เป็นเรื่องที่ว่าเราพูดกันไม่รู้เรื่อง เราพูดกันไม่รู้เรื่อง ทีนี้ที่มันชัดเจนมากขึ้นไปอีก เขาก็พูดว่าจิตนี้ว่างไม่ได้ จิตนี้ว่างไม่ได้ เพราะเขาพูดคนละภาษา เขาพูดภาษาวัตถุ จิตว่างไม่ได้ แต่ถ้าพูดภาษาจิตภาษานามธรรมภาษาธรรม จิตมันก็ว่างจากอารมณ์ได้และจะมากเสียด้วย พวกนั้นเขาถือว่าจิตจะต้องมีอารมณ์ตลอดเวลาทั้งหลับทั้งตื่น จิตไม่เคยว่างจากอารมณ์ นี่จะเรียกว่าหลับตาพูดหรืออะไรก็ตามใจเถิด แต่เราจะพูดว่าจิตมีเวลาที่ว่างจากอารมณ์ แม้ตาเห็นรูปมันก็ไม่จับฉวยออกมาเป็นความรู้สึกอะไร หูได้ยินเสียงมันก็ไม่จับฉวยออกมาเป็นเรื่องราวอะไร นี่มันไม่เอามาเป็นอารมณ์ จิตมันว่างจากอารมณ์ มันไม่มีการปรุงแต่งให้เกิดกิเลสตัณหาใดๆ จิตมีเวลาที่ว่างจากอารมณ์ไม่ได้จับฉวยอารมณ์ไปเสียตลอดเวลานาที แต่ถ้าจิตมีอารมณ์ไม่ว่างเลย มันบ้าแน่มันเป็นคนบ้าแน่เพราะถูกรบกวนปรุงแต่งด้วยอารมณ์นั้น เวลาที่จิตไม่มีอารมณ์เป็นจิตว่างจากอารมณ์นี่แหละมันช่วยให้เรารอดชีวิตอยู่ได้ ตัวอย่างเช่นเวลาเราหลับ เรานอนหลับจิตก็ว่างจากอารมณ์ก็เป็นการพักผ่อนเป็นการชดเชยชีวิตที่เหน็ดเหนื่อยคืนมา หรือว่าจิตประภัสสร หรือภวังคจิต จิตเหล่านี้ก็ว่างจากอารมณ์ คือไม่มีอารมณ์ การกล่าวว่าจิตไม่ว่างจากอารมณ์นั้นเป็นการกล่าวตู่ความจริงตู่ต่อความจริงของธรรมชาติ คำว่าว่างนี่มันว่างเพราะว่าจิตไม่ได้ยึดถือในอารมณ์ แม้ว่าจะมีอารมณ์มาประสบมากระทบ ถ้าจิตไม่ได้ยึดถือในอารมณ์นั้นก็เรียกว่าจิตมันว่างจากอารมณ์ แม้ตาเห็นรูปอยู่หูได้ยินเสียงอยู่จมูกได้กลิ่นอยู่ แต่ถ้าไม่รับอารมณ์นั้นมายึดถือมันก็ว่างจากอารมณ์ แต่ถ้ายึดถือเป็นอารมณ์หมดไม่มีเวลาว่างแล้วก็เป็นบ้าแล้วตายแล้วไม่รอดชีวิตอยู่ในบัดนี้ ขอให้เราขอบใจที่ธรรมชาติมันจัดมาให้จิตนี้มีเวลาว่างจากอารมณ์ แล้วเมื่อกระทบอารมณ์แล้วเกิดเรื่องเจ็บปวดมันก็รู้จักหลาบรู้จักจำ มันจะไม่ยึดถือในอารมณ์คือไม่ยอมรับอารมณ์นั้นน่ะได้มากขึ้น มันก็ว่างจากอารมณ์มากขึ้นมันก็สบายดี ถ้าอะไรมากระทบแล้วจับฉวยเอาทั้งหมดแล้วมันก็ไม่มีเวลาว่าง แล้วมันก็ถูกทรมานจนเป็นบ้าตายไปด้วยความไม่ว่างจากอารมณ์ เราต้องรู้จิตมีเวลาว่างจากอารมณ์ แล้วขอบคุณมันขอบใจมัน ขอบพระคุณจิตที่มันว่างจากอารมณ์อยู่บ้าง มันทำให้เป็นบ้าหรือว่ามันทำให้นอนหลับสนิท นอนหลับได้สนิท ถ้ามันมีอารมณ์อยู่เรื่อยค้างอยู่เรื่อยมันก็หลับไม่ได้มันก็เป็นบ้าตายเพราะนอนไม่หลับ เพราะธรรมชาติแท้ๆของจิตนั้นว่างจากอารมณ์ได้ แล้วก็ว่างจากอารมณ์อยู่พอสมควร ใน ๒๔ ชั่วโมงนี้คุณลองสังเกตุดูตัวเองว่ามันรับอารมณ์ยึดถืออารมณ์กี่ชั่วโมงแล้วมันไม่รับอารมณ์ไม่ยึดถืออารมณ์นั้นกี่ชั่วโมง ก็จะพบว่าไอ้เวลาที่มันไม่สนใจไม่ยึดถืออารมณ์นั้นมันมากกว่า ดังนั้นชีวิตนี้จึงรอดอยู่หรือไม่เป็นบ้า ขอบใจความที่จิตมันว่างหรือความว่างของจิตจากอารมณ์นั่นแหละ และก็รักษาไว้ให้มันมีความว่างจากอารมณ์อยู่พอสมควรวันหนึ่งเดือนหนึ่งปีหนึ่ง ได้ความว่างจากอารมณ์พอสมควรแล้วก็ไม่ต้องตกนรกทั้งเป็น เหมือนไอ้ที่เขาเป็นโรคประสาทเป็นโรคประสาทกันมากขึ้นทรมานจิตใจกันมากขึ้น เพราะไม่รู้จักทำให้จิตว่างจากอารมณ์ให้พอสมควร จิตมันไม่ว่างจากอารมณ์มากเกินไปมันก็ได้เป็นโรคประสาท ไม่เท่าไรมันก็เป็นบ้าหรือว่าถึงกับตาย ขอให้ท่านทั้งหลายประคับประคองจิตนี้ดีๆให้มันมีการว่างจากความยึดถือในอารมณ์นั้นๆให้มากพอสมควร อย่าอะไรมากระทบเข้าก็มีตัวกูมีของกูไปเสียทุกเรื่องทุกราวและตลอดเวลา ที่จริงจิตตามธรรมชาติแท้ๆจิตของคนป่าสมัยคนป่าน่ะมันยังยึดถือในอารมณ์น้อยกว่าจิตของคนเมืองในสมัยนี้ เกือบจะพูดได้ว่าคนป่าในสมัยโน้นไม่รู้จักโรคประสาทไม่เป็นโรคประสาท เพราะมันไม่รับอารมณ์ยึดถือมั่นในอารมณ์มากเหมือนคนสมัยนี้ คนสมัยนี้มันอบรมแต่ให้รู้จักยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ ไม่ได้อบรมให้รู้จักปล่อยวางอารมณ์มันก็เลยยึดถืออารมณ์มากกว่าคนป่าสมัยนู้น มนุษย์สมัยนี้จึงเป็นโรคประสาทกันมากขึ้นๆ สถิติทางการแพทย์ของโรคก็รายงานว่ามันเพิ่มขึ้นนะ เปอร์เซ็นต์เป็นโรคประสาทนี่มันเพิ่มขึ้นไม่ใช่มันคงตัวเพราะว่ามันไม่รู้จักทำจิตให้ว่างจากอารมณ์ ไม่ว่างจากอารมณ์มากขึ้นๆ แล้วก็เป็นโรคประสาท นับตั้งแต่ว่านอนไม่หลับวิตกกังวลอาลัยอาวรณ์มากเข้ามากเข้าก็ได้เป็นโรคประสาท นี่ไม่ใช่เล่นไม่ใช่เรื่องเล่น เรื่องให้ทำให้จิตมันว่างจากความยึดมั่นถือมั่นเมื่ออารมณ์มากระทบ อย่างที่พูดว่าอย่าโง่เมื่อมีผัสสะ ถ้ามีผัสสะมากระทบแล้วอย่าโง่ อย่าไปรับเอามาเอาเข้ามาเป็นตัวกูของกูผัสสะนั้นก็ไม่ทำอันตรายไม่ให้เกิดเวทนาที่เป็นที่ยึดถือ ไม่เกิดตัณหาคือความอยากในสิ่งนั้น ไม่เกิดอุปาทานในสิ่งนั้น มันก็สบาย มันก็หยุดมันก็สงบ ไม่เกิดความทุกข์ ศึกษาวิธีที่จะทำให้จิตว่างจากความยึดถือในอารมณ์นั่นแหละให้มากเข้าไว้ให้มากเข้าไว้ มันเป็นธรรมดาแหละอยู่ในโลกนี้มันต้องมีอารมณ์เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกายใจมากแล้วก็จะมากยิ่งขึ้นในโลกสมัยปัจจุบัน แล้วก็มีการยั่วยวนมอมเมาให้คนมันหลงใหลในอารมณ์มากขึ้น คนไม่รู้เท่า มันก็หลงใหลในความมอมเมา อยู่ที่กรุงเทพฯ นี่ไปหาอารมณ์ที่ภูเก็ตบ้างที่เกาะสมุยบ้างทั้งเสียเงินทั้งเสียเวลา แล้วก็ได้รับความมัวเมาในการยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ พวกฝรั่งเขาว่ามันอุตส่าห์สะสมเงินทองมากมายพอถึงปีก็เที่ยวรอบโลกมาเที่ยวหาอารมณ์เที่ยวหาอารมณ์มาหล่อเลี้ยง นี่เพราะมันยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ เงินก็หมดแล้วอะไรก็ไม่ได้ดีขึ้น มันก็โง่เท่าเดิมยังเป็นทาสของอารมณ์เท่าเดิมนี่ไปคิดดู ไปดูตัวอย่างที่ชายหาดที่เกาะสมุยเต็มไปหมดเลยที่มันหลงยึดมั่นในอารมณ์ ถ้าพุทธบริษัทเป็นอย่างนี้แล้วจะน่าทำอะไรน่าล้อหรือว่าน่าตีซะให้ตาย มันยิ่งกว่าน่าล้อเพราะมันทำผิดมากเกินไปในการที่จะเป็นทาสของอารมณ์ในโลกนี้ นี่จะอ่านให้ดูไปลอกคัดมา เขาพูดว่า “คนหลายคนบอกเขาว่าได้หลงศึกษาคำสอนของพุทธทาสมาเสียตั้งนานคิดว่านั่นเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ต่อเมื่อได้มาศึกษาพระอภิธรรมจึงได้เครื่องมือตัดสินว่าอันไหนเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าอันไหนไม่ใช่” นี่คิดดูสิว่าเขาเสียเวลาศึกษาธรรมะของพุทธทาสมาเสียเป็นนานแต่เมื่อศึกษาอภิธรรมจึงรู้ว่าไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า นี่มันตีกัน สวนทางกัน ที่อาตมาบอกว่าอภิธรรมไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรงเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ปฏิรูปที่เอามาร้อยกรองกันใหม่ ที่อาตมาไม่ยึดถือไม่เอามาใช้แต่เอาจากพระบาลีโดยตรงคือสุตตันตะโดยตรงที่เป็นหัวข้ออย่างไรเป็นหลักธรรมอย่างไรมาสอนโดยตรง เขากล่าวว่าไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ไปเอาอภิธรรมซึ่งเป็นการกระทำทีหลังไปเอาคำสอนในสุตตันตะข้อใดข้อหนึ่งมาแจกลูก ไปเอาคำสอนข้อใดข้อหนึ่งมาแจกลูก คำว่าแจกลูกนี่คือมันแจกให้มันมากออกไปจนเป็นเรื่องมากมายมหาศาล อภิธรรมตั้งครึ่งหนึ่งของแปดหมื่นสี่พันคือมันสี่หมื่นสองพัน ส่วนสุตตันตะกับวินัยได้รับส่วนแบ่งเพียงเสี้ยวหนึ่งเสี้ยวหนึ่ง ที่จริงก็เอาคำสอนในสุตตันตะไปแจกลูกให้มากจนเป็นของลึกซึ้งน่ามหัศจรรย์ แล้วหลอกกันว่าเป็นความรู้เรื่องจิตที่ประเสริฐที่สูงสุดที่พิสดารไม่เคยมีในโลก มันก็จริงนะ มันก็เฟ้อ มันก็เกิน แล้วก็ดับทุกข์ไม่ได้ เพราะว่าส่วนที่เอาไปแจกลูกเป็นอภิธรรมนั้นไม่มีเรื่องการปฏิบัติ มีแต่เรื่องตัวธรรมะตัวรูปธรรมตัวนามธรรมที่เอาไปแจกลูกให้มันพิสดาร ไม่มีเรื่องของการปฏิบัติโดยตรงอย่างไร อย่างเช่นเรื่องว่าปฏิบัติอาณาปาณสติอย่างไร มันหาไม่ได้มันไม่มีในคัมภีร์อภิธรรม หมายถึงคัมภีร์ ๗ คัมภีร์ในพระไตรปิฎกหาไม่ได้ แต่มันมามีอยู่ในหมวดสุตตันตะครบถ้วนและสมบูรณ์ สมบูรณ์ที่สุด ถ้าบางคนจะคิดว่าคัมภีร์ ปฏิสัมภิทามรรค ที่สมบูรณ์ในสุตตันตะนั้นก็คือลักษณะของอภิธรรมก็ได้เหมือนกัน แต่ไปดูเถอะมันไม่ตรงกับอภิธรรมใหญ่ ๗ คัมภีร์ คำสอนที่ละเอียดขยายความละเอียดในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคของขุททกนิกายน่ะไม่ตรงกันกับในคัมภีร์อภิธรรมปิฎก เพราะว่าถ้ายังเน้นอยู่แต่เรื่องการปฏิบัติ ปฏิบัติอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ มีเรื่องการปฏิบัติสมบูรณ์ที่สุด ไม่เน้นในตัวธรรมธรรมล้วนๆให้มันมากมาย กระจายออกไปให้มากมายเป็นชนิดต่างๆของจิตของเจตสิกของรูปของอะไรก็สุดแท้ นี่เรามีปัญหาที่ว่าจะต้องยึดถืออภิธรรมเป็นหลักเพราะเราว่ามีอุปาทานฝังเสียแน่นแฟ้นแน่วแน่แล้วว่าจะต้องมีสามปิฎกจะต้องมี วินัยปิฎก สุตตันตะปิฏก อภิธรรมปิฎก เพราะมันยึดถือแน่นแฟ้นอย่างนี้เสียแล้วถอยไม่ได้เสียแล้ว แต่โดยแท้จริงนั้นอภิธรรมปิฎกมันเพิ่งเกิดมีมา ไม่มีอภิธรรมปิฎก ไปดูหลักฐานชัดเจนในคัมภีร์วินัยปิฎกตอนปัญจสติกขันธกะหรือสัตตสติกขันธกะก็ตาม ที่พูดถึงเรื่องทำสังคายนาชัดเจนละเอียดละออมาก นี่สังคายนาแต่ธรรมะกับวินัยเท่านั้นแหละ ไม่มีเอ่ยถึงอภิธรรม แล้วท่านก็จัดเป็นเรื่องโดยขนาดยาวขนาดกลางขนาดสั้น ไม่ได้จัดเป็นปิฎก การทำสังคายนาครั้งแรกนั้นไม่ได้จัดเป็นสามปิฎกอย่างที่เอามาเทศน์สังคายนา ที่มาเทศน์สังคายนาจัดเป็นสามปิฎกตั้งแต่ปฐมสังคายนานั้นมันเป็นเรื่องที่ใครก็ไม่รู้เขาทำขึ้นแล้วก็บอกต่อๆกันมาในลักษณะอย่างนั้น ในครั้งแรกที่สุดคือปฐมสังคายนาและทุติยสังคายนานั้นไม่ได้จัดเป็นสามปิฎก และก็ไม่ได้จัดเป็นปิฎกด้วย จัดแต่ว่าเรื่องยาวเรื่องกลางเรื่องสั้น สิ่งที่เรียกว่าวินัยนั้นน่ะมันรวมอยู่ในพวกเรื่องสั้น คือกลุ่มขุททกนิกาย กลุ่มยาวๆเรียกว่า ทีฆนิกาย กลุ่มขนาดกลางเรียกว่า มัชฌิมนิกาย กลุ่มที่มันทำให้สั้นลงไปก็เรียกว่า สังยุตตนิกาย จัดให้เป็นหมวดเป็นหมู่ ตามลำดับตัวเลขเรียกว่า อังคุตตรนิกาย ถ้าเบ็ดเตล็ดทั้งหลายก็เรียกว่า ขุททกนิกาย ก่อนนี้วินัยปิฎกรวมอยู่ในขุททกนิกาย มันจึงไม่มีสามปิฎก ไม่มีแม้แต่สองปิฎก และก็ไม่มีปิฎก ก็ไม่จัดเป็นปิฎก แต่ว่าเป็นบันทึกรวมไว้จำไว้ด้วยความจำเป็นพระพุทธวัจนะทั้งสิ้น ใน ๕ ลักษณะ ด้วยเรื่องยาว เรื่องกลาง เรื่องสั้น เรื่องจัดเป็นหมวดหมู่ตามลำดับเลข เรื่องเบ็ดเตล็ด ห้านิกาย นั้นคำว่าห้านิกายมีความหมายมากเพราะมันตรงกัน แม้แต่พวกฝ่ายมหายานมันก็เอ่ยแต่ห้านิกาย หรือบางทีก็ตัดขุททกนิกายทิ้งไปเหลือแต่สี่นิกายนี้ก็มี ไม่พูดถึงคำว่าอภิธรรมปิฎก นี่เห็นได้ชัดว่าทีแรกเขามีพระธรรมวินัย พระพุทธวัจนะ จัดเป็นเรื่องยาว เรื่องกลาง เรื่องสั้น เรื่องเป็นหมวดหมู่ตามตัวเลข น่ะมีเท่านี้
ครั้นต่อมาสมัยหลังนี่จึงแยกออกมาเป็นสามปิฎกโดยเอาวินัยที่รวมอยู่ในขุททกนิกายนั้นมาเป็นวินัยปิฎก และข้อความนี้แม้ในอรรถกถาที่พระพุทธโฆษาจารย์แต่งก็ยังเขียนไว้อย่างนี้ว่าแยกเอาวินัยออกจากขุททกนิกายตั้งเป็นวินัยปิฎก แล้วก็มีอภิธรรมปิฎกอันใหญ่โตมโหฬารเลยได้เป็นสามปิฎก นี่ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ทำลายคุณค่าของอภิธรรมปิฎกหรือพระธรรมหรือพระศาสนา แต่บอกให้รู้ว่าความเป็นมาของสิ่งที่เรียกว่าพระไตรปิฎกนั้นมันเป็นอย่างนี้ หลักเดิมแท้ๆมีอยู่ในสุตตันตปิฎก พวกฝรั่งเขาจะเรียกว่าบาลีเก่า Old Pali Old Pali นี่หมายถึงสุตตันตปิฎกทั้งหมด ส่วนอภิธรรมปิฎกนั้นพวกฝรั่งเขาไม่เรียกว่าบาลีเก่าเพราะเขารู้ว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร ส่วนวินัยนั้นน่ะก็รวมอยู่ในสุตตันตปิฎกสมัยหนึ่งและเพิ่งแยกตัวออกมา ก็มีเครดิตสูงถึงกับเป็นบาลีเก่าหรือเป็นของเก่าได้เหมือนกัน นี่ถ้าเราจะถือหลักที่แท้จริงตามพระบาลีเก่าแล้วมันก็คือสุตตันตปิฎกนั่นเอง คำว่าอภิธรรมะ อภิธรรมไม่มีปิฎกนะ อภิธรรมเฉยๆ หมายถึงการอธิบายธรรมะให้มันละเอียดพิสดาร มีคำคู่ปรากฏอยู่ในสุตตันตปิฎกนั้นว่า วินัยกับอภิวินัย ธรรมะกับอภิธรรม อภิเติมเข้ามาหมายความว่าอธิบายอย่างพิสดารเกินความจำเป็นตามธรรมดา วินัยที่อธิบายเกินความจำเป็นที่จะปฏิบัติตามธรรมดาแล้ววินัยนั้นจะถูกเรียกว่าอภิวินัย ผู้ใดแตกฉานทั้งวินัยและอภิวินัยก็นับว่าสูงสุดอยู่ แต่อย่าไปเข้าใจว่าอภิวินัยนั้นมันเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคน ธรรมะก็เหมือนกันในระดับที่ใช้ได้สำหรับทุกคนเรียกว่าธรรม ธรรมะ แต่ถ้าอธิบายเกินจำเป็นที่คนทั่วไปควรจะรู้แล้วก็เรียกว่าอภิธรรม อภิธรรมคำนี้ก็ได้ใช้มาแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาลนู้นแต่ไม่มีคำว่าอภิธรรมปิฎก ไม่มีคำว่าปิฎกต่อท้าย คำว่าปิฎกเพิ่งมาต่อท้ายคำว่าอภิธรรมก็ต่อเมื่อเขาได้ร้อยกรองคัมภีร์อภิธรรมขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งพูดแล้วว่าห้าหรือหกศตวรรษหลังจากพุทธปรินิพพาน พูดอย่างนี้พูดเพื่อให้รู้ว่าอย่าได้ยึดถือในคำว่าอภิธรรมปิฎกให้มากเกินไป แต่ให้ดูว่าข้อความในอภิธรรมปิฎกนั้นมันปฏิบัติได้หรือไม่ ถ้าปฏิบัติได้ก็ลองดูถ้าดับทุกข์ได้ก็รับเอาว่าถูกแล้วตามพระพุทธวัจนะ แต่ทีนี้มันน่าสะดุ้งหรือน่าตกใจที่ว่าในส่วนอภิธรรมปิฎกนั้นไม่พูดถึงหลักปฏิบัติเลย เราก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอภิธรรมปิฎกกันอย่างไรมันก็ลองปฏิบัติไม่ได้ มันก็ต้องเชื่อคลุมๆกันทั้งดุ้น แล้วก็อะไรก็อ้างตัวหนังสือเท่าที่มีอยู่ในคัมภีร์อภิธรรมปิฎก และเดี๋ยวนี้มันก็อยู่ในสภาพที่น่าหัว มันมากจนต้องใช้วิธีนับเม็ดมะขามมันจึงจะศึกษาได้ มันเป็นธรรมะที่ต้องใช้คะแนนนับใช้ติ้วนับมันจึงจะศึกษาได้ แล้วเขาก็อวดกันว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นมันจึงจะจริงใช้หลักคณิตศาสตร์ช่วย ข้อนี้มันก็น่าหัว ที่ว่าน่าล้อก็เพราะว่ามันทำให้เสียเวลา เขาพูดว่าอภิธรรมมีหลักที่แน่นอนมีตัวเลขกำกับอย่างแน่นอน กำกับจำนวนของจิต กำกับจำนวนของเจตสิก กำกับจำนวนของรูป กลายไปเป็นพึ่งพาคณิตศาสตร์การคำนวณและการนับว่าเป็นเครื่องรับประกันความถูกต้อง นี่ไปกันใหญ่แล้ว ถ้าไปอ้างว่าต้องมีตัวเลขแน่นอนแล้วก็ไปกันใหญ่แล้ว การที่ใช้หลักคณิตศาสตร์เป็นเครื่องรับรองความถูกต้องนั้นมันเป็นของพวกนู้นพวกสางขยะ แปลกหูสำหรับท่านทั้งหลาย ลัทธิสางขยะ นิกายสางขยะ คือใช้สังขยาเป็นหลัก สังขยาคือการนับให้เลขมันลงตัวกันคือคณิตศาสตร์นั่นเอง เป็นปรัชญา พวกปรัชญา ใช้หลักคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือยืนยันกันด้วยสางขยะหรือสังขยาคือการนับ เป็นปรัชญาแขนงหนึ่ง ซึ่งจะเกิดก่อนพุทธกาลหรือพร้อมสมัยกับพุทธกาลและก็ยังมีอยู่ในอินเดียวจนกระทั่งบัดนี้ ในทัศนะทั้ง ๖ หรือปรัชญาทั้ง ๖ ในอินเดียนั้นมันมีลัทธิสางขยะรวมอยู่ด้วย ถ้าใครมาอ้างเอาสางขยะหรือสังขยาเป็นหลักมันก็กลายเป็นไม่ใช่พุทธศาสนาแล้ว เพียงเท่านั้นจะเป็นพุทธศาสนาไปไม่ได้ นี่เป็นลัทธินิกายสางขยะนอกพุทธศาสนาไป ฉะนั้นการที่จะมาอ้างว่ามันมีหลักตัวเลขเป็นเครื่องคำนวณเป็นเครื่องรับประกันเป็นเครื่องยึดมั่นให้มีความถูกต้อง เดี๋ยวเขาก็หาว่าอาตมานี้ไม่มีปัญญาจะใช้หลักคณิตศาสตร์หรือสางขยะอย่าง ดังนั้นอาตมาจึงไม่ชอบอภิธรรม ถูกแล้วยอมรับและยินดีว่าไม่ชอบอภิธรรม ยิ่งมายืนยันว่าต้องใช้การคำนวณคณิตศาสตร์เป็นสางขยะด้วยยิ่งไม่ชอบใหญ่ เพราะมันยิ่งไกลไปจากข้อเท็จจริง ซึ่งต้องเป็นความจริงอยู่ในตัวมันเอง นี่พวกอภิธรรมเขาอ้างไอ้วิธีคำนวณด้วยตัวเลขใช้ตัวเลขเป็นหลักว่าเป็นของจริงเป็นของประเสริฐ สำหรับจะมีความถูกต้องของธรรมะ เราบอกว่าไม่เอา เราจะเอาสันฐิติโกเสมอไม่เอาอะไรมาเป็นเครื่องช่วยคำนวณ สันฐิติโกคือมองเห็นอยู่ว่ามันดับทุกข์ได้จริง รู้เพียงแต่ว่าถ้ามันจะดับทุกข์ได้จริง แล้วนี่แหละเป็นตัวธรรมะ ลองดูๆ ปฏิบัติแล้วดับทุกข์ได้จริงก็เป็นสันฐิติโกเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่เรามีหลักสันฐิติโกอย่างนี้ไม่อาศัยความเชื่อตามๆกันมา ไม่อาศัยตรรกะหรืออาศัยนัยยะคือการคำนวณ เราจึงมั่นใจว่าเราเข้าถึงหัวใจแห่งพระพุทธศาสนาเข้าถึงธรรมะที่ถูกต้องแท้จริงของพระพุทธศาสนาโดยไม่พึ่งการคำนวณแต่โดยตรรกะหรือโดยนัยยะซึ่งเป็นวิธีที่เรียกว่าสางขยะหรือสังขยา เอาและเป็นอันว่าอาตมาจะพูดเกินไปแล้วก็ได้ ทำไมต้องเอาเรื่องเหล่านี้มาพูดให้ญาติโยมฟัง ก็เพื่อให้รู้ว่าอาตมาอยู่ในฐานะที่น่าล้อ ตัวเองอยู่ในฐานะที่น่าล้อตั้งใจทำให้ดีกลับถูกด่า แล้วเขาจะมาเกณฑ์ให้ไปเชื่อเหมือนเขาตามวิธีของเขา เราก็ไม่ยอมแล้วเราก็ถูกด่า ทำไมจะไม่เรียกว่ามันน่าล้อ มันน่าล้ออย่างยิ่งน่าล้อตัวเองน่าล้ออะไรก็ไม่รู้ จึงเอามาล้อยังไง เดี๋ยวนี้วันนี้เอามาล้อว่าอยู่ในสภาพที่ควรจะถูกล้อ อ้าว,นี่มันจะหกโมงเสียแล้วไม่ได้กี่เรื่องซักที
เอ้า,เรื่องสุดท้ายจะพูดถึงไอ้สิ่งที่สำคัญอันหนึ่งคือคำว่า มหากุศล ที่นั่งอยู่นี่ใครชอบมหากุศลมั่ง ระวังให้ดี ไอ้มหากุศลนั่นแหละจะไม่ใช่พุทธศาสนา สอนให้ติดในกุศลมันไม่ใช่พุทธศาสนา สอนให้ยึดมั่นในกุศลไม่ใช่พุทธศาสนา พระพุทธศาสนาจะต้องการขึ้นอยู่เหนืออิทธิพลของกุศล อกุศลๆปรุงแต่งไปในทางเลว กุศลปรุงแต่งไปในทางดี ปรุงแต่งไปในทางดียึดมั่นถือมั่นที่ดีจะได้ไปเกิดดีเพราะเป็นกุศล นี่เติมมหาเข้าไปอีก มหากุศลมันก็ดีใหญ่ดีจมไม่ลง นี่ไปยึดถือมหากุศลเป็นเป้าหมายของอภิธรรมเขาจะสรรเสริญซึ่งกันและกันว่าคนนี้มีจิตเป็นมหากุศลแล้ว ใครไปศึกษาอภิธรรมพอสมควรนั้นเขาจะได้รับการยกย่องว่าคนนี้มีจิตเป็นมหากุศลแล้วระวังให้ดี ใครชอบมหากุศลระวังให้ดี มันจะกลายเป็นเฮโรอีน มหากุศลนั่นแหละระวังให้ดีมันจะกลายเป็นเฮโรอีน มันจะยึดมั่นถือมั่นหลงใหลไปกว่ากุศลธรรมดา ไอ้กุศลธรรมดานี้ก็เหลือรับแล้วแหละ ถ้ามันปรุงแต่งให้เวียนว่ายในวัฏสงสารฝ่ายดี วัฏสงสารฝ่ายดี จำให้ดีวัฏสงสารมีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ฝ่ายนรก เปรต เดรัจฉาน อสุรกาย ฝ่ายอกุศล แต่ถ้าเป็นฝ่ายมนุษย์ดี เทวดาดี พรหมโลกดีนั้นเป็นฝ่ายกุศลและมหากุศลมันก็ยังวนอยู่ในวัฏสงสารมีตัวกูของกูจัดนะ ไอ้พวกยึดถือดีนะมีตัวกูของกูจัด พวกพรหมจึงยึดถือจัดกลัวตายยิ่งกว่าพวกไหนหมดปรากฏอยู่ในพระบาลี พอพูดว่า สักกายะนิโรจน์ สักกายะนิโรจน์ (นาทีที่ 1:43:43) พวกพรหมสะดุ้ง การดับแห่งสักกายะคือตัวตน พวกพรหมสะดุ้ง พวกเทวดารองๆยังสะดุ้งน้อย พวกเราเสียอีกยังไม่สะดุ้งเพราะเราไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนมากเหมือนพวกพรหมที่มีตัวตนดีวิเศษ ยิ่งไปยึดถือดีมันก็เป็นอย่างนี้คือเป็นพวกพรหมยึดถือว่ากูดีกว่าใครกูสูงสุดกว่าใคร พอพูดถึงว่าจะต้องดับตนก็สะดุ้งกลัวตายกลัวตายยิ่งกว่าใคร พวกพรหมก็น่าสงสารเพราะเขายึดมั่นถือมั่นในเรื่องพวกตัวตนมากเกินไป มีความดีของตัวตนมากเกินไป มันก็ต้องเป็นทุกข์อย่างยิ่งให้น่าละอายแมว แมวมันไม่เป็นทุกข์มากอย่างนั้น พวกพรหมมันยึดถือดีเกินไปมันก็เป็นทุกข์มาก ข้อนี้ถึงนั่งอยู่ที่นี่ก็คงจะมีหลายคนไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วยที่ว่าอย่ายึดมั่นถือมั่นในความดี เพราะต้องการดีกันอยู่ทุกคนและก็ยึดมั่นถือมั่นกันอยู่ทุกคนจนนอนไม่หลับก็เพราะยึดมั่นถือมั่นในความดี ยึดมั่นถือมั่นในความดีแล้วก็ได้เป็นโรคประสาทยังไงเล่า ไปใคร่ครวญดูสำรวจดูที่เป็นโรคประสาทกันโดยมากนั้นมันยึดมั่นถือมั่นในความดี มันกลัวจะไม่ได้ดี มันกลัวจะสูญเสีย กลัวลูกไม่ดี กลัวเมียไม่ดี กลัวผัวไม่ดีจนเป็นโรคประสาท นี่ความดีมันกัดเอาแล้ว ไอ้ความดีมันกัดลึกกว่าความชั่ว ความชั่วมันแสดงแต่ความดุร้ายชัดๆคนไม่ค่อยหลงใหลในความชั่ว นี่ความดีมันไม่แสดงอย่างนั้น มันเป็นมายาหลอกลวงให้ยึดให้หลงยึดแล้วมันก็กัดลับหลังกัดเงียบๆมันทำให้เป็นโรคประสาทจนเป็นบ้าไปเลย นี่แหละความดี หลักธรรมะแท้ๆจะต้องพ้นจากอำนาจของชั่วและดีอยู่เหนืออำนาจของชั่วและดี มีกรรมที่สามหรือจะเรียกกรรมที่สี่ก็ได้อันนี้มันแล้วแต่จะเรียก คือ อัตถังทิกะมะ (นาทีที่ 1:46:03) กรรมที่หนึ่งคือกรรมดำกรรมเลวกรรมชั่ว กรรมที่สองคือกรรมขาวกรรมดี กรรมที่สามคือปนกันทั้งชั่วและดีคือทั้งดำๆขาวๆ ทีนี้คือกรรมที่สี่คือกรรมไม่ดำไม่ขาวเป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมทั้งปวง กรรมที่สี่นั้นมีสอนแต่ในพุทธศาสนา ตรัสรู้อย่างพระพุทธเจ้าเท่านั้นจึงจะรู้เรื่องกรรมที่สี่เป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมทั้งปวง กรรมดำและกรรมขาวเลิกร้างไปเพราะกรรมไม่ดำไม่ขาว กรรมไม่ดำไม่ขาวคือ อัตถังทิกะมะ อัตถังทิกะมะ คือกรรมที่ไม่ดำไม่ขาว (นาทีที่ 1:46:39) อย่าให้กลายเป็นเรื่องดีที่น่ายึดถือไปเสียอีก แต่เป็นกรรมที่ทำให้สิ้นสุดแห่งความยึดถือนี่ขอให้เข้าใจ เพื่อจะจำง่ายไม่ลืมแล้วก็อยากจะบอกว่าปู่ย่าตายายที่เขาฉลาดเฉลียวฉลาดก็มองเห็นตามหลักพระพุทธศาสนาแล้วเหมือนกัน บรรพบุรุษของเราก็เชื่อว่าจะต้องเป็นภาคใต้นี่แหละ เพราะว่าคำพูดนี้มันได้ยินที่ภาคใต้ในคำกลอนเก่าๆของภาคใต้ที่มีพูดว่าทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปปรีย์ พอได้ยินอย่างนี้พวกอภิธรรมก็รุมกันด่าอาตมาตายเลย ก็ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปปรีย์ เขาต้องการมหากุศลคือชั้นดีเลิศ มหากุศลชั้นดีเลิศ บอกว่าทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปปรีย์ ไปยึดถือชั่วหรือดีมันก็กัดเอา ยึดถือชั่วหรืออกุศลมันก็กัดตามแบบชั่ว ยึดถือดีเป็นกุศลมันก็กัดตามแบบดี เพราะว่าถ้าไปยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้วจะเป็นทุกข์ทั้งนั้นไม่ยกเว้น ไปยึดมั่นถือมั่นอะไรก็จะเป็นทุกข์เพราะเหตุนั้น จะไปยึดมั่นถือมั่นนิพพานแล้วไม่เป็นนิพพานจะตลบกลับมาเป็นความทุกข์ นิพพานเป็นสิ่งที่ยึดถือไม่ได้ คนมันไปยึดถือนิพพานว่าตัวกูว่าของกูมันก็กลับตลบหลังเป็นความทุกข์หนักขึ้นไปอีก ไม่มีอะไรที่จะยึดมั่นถือมั่นได้ ระวังให้ดีนะอย่ายึดมั่นถือมั่นในพระพุทธเจ้าในพระธรรมในพระสงฆ์นะ อุปาทานแปลว่ายึดมั่นหมายถึงยึดด้วยความโง่เขลายึดด้วยอวิชชา อุปาทานแปลว่ายึดมั่นถือมั่น ต้องทำด้วยอวิชชาและความโง่เขลา ถ้าเราถือเอาอย่างดีเขาถือว่าสมาทาน ถ้าใครไม่เคยได้ฟังก็ช่วยฟัง ตั้งใจฟังให้ดีว่าอุปาทานยึดถือด้วยความโง่ด้วยอวิชชา สมาทานยึดถือด้วยปัญญาหรือโกธิ (นาทีที่ 1:49:05) เราไปเรียกว่ายึดถือเสียหมดมันก็ปนกันยุ่ง สมาทานอย่าแปลว่ายึดถือเลย แปลตามตัวว่าถือเอาอย่างดี สะ อย่างดี อาทานะ แปลว่าถือเอา สมาทานแปลว่าถือเอาอย่างดี ถือเอาด้วยสติด้วยปัญญาเป็น โกธิ (นาทีที่ 1:49:23) อย่างนี้ไม่เป็นไร ถ้าเราจะยึดถือธรรมะเป็นหลักยึดถือพระรัตนตรัย ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ทำอย่างที่เรียกว่าสมาทาน อย่าไปกล้าทำอย่างที่เรียกว่าอุปาทานถือเอาด้วยอวิชชามันจะกัดเอา เพราะถือเอาด้วยอวิชชาและความโง่นั้นมันจะกัดเอา ไปอุปาทานในความดี ความดีนั่นแหละมันจะกัดเอา มันจะหนักขึ้นมาจะท่วมทับจิตใจ จะทำให้เป็นทุกข์เพราะอุปาทานนั้น ดังนั้นผู้มีความรู้ผู้มีปัญญาจึงกล่าวว่าทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปปรีย์อย่าไปเอากับมันมันจะกัดเอา อย่าไปอุปาทานกับมันมันจะกัดเอาทั้งชั่วและทั้งดี หรือจะไปหมายมั่นเป็นชั่วเป็นดี ถ้าเราดับทุกข์ได้ก็เรียกว่าดับทุกข์ได้ ทำให้เกิดทุกข์ก็เรียกว่าทำให้เกิดทุกข์ แล้วก็รู้ว่า อัตถังทิกะมะ (นาทีที่ 1:50:22) นั้นน่ะดับทุกข์ได้ ถ้าท่านไม่บัญญัติว่าดำหรือขาวชั่วหรือดีแต่บัญญัติว่าไม่ชั่วไม่ดีจะทำให้หมดชั่วหมดดีจะทำให้หมดดำหมดขาวกรรมที่สี่ ถ้านับอย่างนี้เป็นกรรมที่สี่คือกรรมดำหนึ่ง กรรมขาวสอง กรรมเจือกันสาม กรรมไม่ดำไม่ขาวสี่ อย่างนี้นับเป็นสี่ ถ้ามากนักก็นับแต่เพียงสาม กรรมดำอย่างหนึ่ง กรรมขาวอย่างหนึ่ง กรรมไม่ดำไม่ขาวอย่างหนึ่ง มีเพียงสามก็พอ กรรมไม่ดำไม่ขาวน่ะคือ อัตถังทิกะมะ (นาทีที่ 1:50:58) ไม่ชั่วไม่ดีแต่จะทำลายพิษร้ายของความชั่วและความดีไม่ให้ยึดถือชั่วและไม่ให้ยึดถือดีนี่แหละคือทางรอด หนทางรอดอยู่ที่ไม่ไปหลงติดในความชั่วไม่ไปหลงติดในความดีได้ในคำพูดที่ว่าทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปปรีย์ ใครเคยหลงใหลในความดีก็คงจะไม่เห็นด้วยและคงจะด่าอาตมาอยู่ในใจแล้วก็ได้ พวกที่รักดีติดดีหลงดีพอได้ยินคำอย่างนี้จะโกรธแล้วก็ได้ ไม่เป็นไรโกรธก็ได้ แต่เขาไปคิดดูเถอะว่าชั่วก็ตามดีก็ตาม ถ้าไปยึดมั่นเอามาเป็นตัวกูของกูแล้วมันกัดเอาทั้งนั้นแหละ มันกัดเอาทั้งนั้นแหละ ถ้าดีใช้เป็นประโยชน์ได้เพื่อความสะดวกก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่น อัปปรีย์ตัวหนังสือแท้ๆอัปปรีย์นั้นแปลว่าไม่น่ารัก ภาษาบาลีเขาแปลว่าไม่น่ารัก อัปแปลว่าไม่ ปรียะแปลว่าน่ารัก อัปปรียะแปลว่าไม่น่ารัก แต่ในเมืองไทยมันเปลี่ยนความหมายว่า ถ้าอัปปรีย์แล้วมันเลวสุดโต่งสุดเหวี่ยงก้นบึ้งเลย แต่ในภาษาบาลีอัปปรีย์แปลว่าไม่น่ารัก ความชั่วไม่น่ารักความดีก็ไม่น่ารัก ถ้าไปรักมันเข้ามันจะกัดเอา คือเราไปหลงใหลในความดีแล้วความดีมันกัดเอาแล้วมาเป็นโรคประสาทเต็มโรงพยาบาลนั่น มันไปหลงรักไอ้ความดี อาตมาฟังเพลงทางวิทยุเพลงหนึ่งสะดุ้งเลยว่าพระพุทธเจ้าพระพุทธองค์ทรงสอนให้เราสร้างความดี นี่โกหกต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้สร้างความดีหรอก ท่านสอนให้ละความยึดถือทั้งชั่วและดีนั่นนะความจริงมันเป็นอย่างนั้น ท่านสอนให้อยู่เหนืออำนาจของความชั่วและความดี ไม่ให้กุศลปรุงแต่งได้ ไม่ให้อกุศลปรุงแต่งได้ ไม่ให้มีผลเป็นบาปหรือเป็นบุญอยู่เหนือบาปเหนือบุญ ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่ามหากุศลนั้นเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่ารังเกียจเท่าๆกับเฮโรอีนแหละติดแล้วถอนยาก อย่าไปบูชามหากุศลกันนัก คำนี้มันจะเอ็ดอึงอยู่ตามสำนักอภิธรรม เขาให้มุ่งมหากุศลกันทั้งนั้นแหละ แล้วมันก็ดีเกินไป ดีธรรมดาก็สู้ไม่ไหวแล้ว ถ้าดีอย่างยิ่งดีเกินไปมันก็ยิ่งแย่ คือมันจะยึดติดยิ่งกว่าเฮโรอีน อาตมาก็ถูกด่าก็ด่าไปสิ ก็จะพูดอยู่อย่างนี้แหละว่ามหากุศลเป็นเฮโรอีน อย่าไปชอบกันนักอะไรๆก็ยกขึ้นทูนหัวท่วมหัวว่ามหากุศล ขอให้ได้รับมหากุศลเป็นมหากุศล ระวังให้ดีมันจะติดเฮโรอีนแล้วก็มันก็จะจมลงไปในวัฏสงสารยิ่งกว่าเดิม ยิ่งกว่าเดิมเพราะไปหลงชั้นมหากุศล ชั้นกุศลนี้ก็ไม่ไหวอยู่แล้ว ท่านสอนให้ละความยึดถือทั้งในกุศลและอกุศล ยึดถือไม่ได้ ยึดถือแล้วก็จะจมลงไปในวัฏสงสาร วัฏสงสารเลว วัฏสงสารดี นี่เราได้รับคำสั่งสอนให้ทำดีทำดี ระวังให้ดี ทำดีสำหรับจะไม่ยึดถือนะ ทำดีสำหรับจะเป็นเครื่องมือชั่วคราว เหมือนกันเป็นพ่วงแพสำหรับข้ามแม่น้ำ ถ้าแม่น้ำขวางอยู่ก็ไปรวบรวมเอาของลอยน้ำทั้งหลายเอามามัดกันเป็นพ่วงแพแล้วก็นั่งข้ามฟากไปถึงฝั่งนู้นแล้ว ถึงฝั่งนู้นแล้วก็คิดว่าโอ้แพนี้ดีมีประโยชน์เอาทูนหัวไปด้วย คนบ้าหรือคนดีคิดดูสิ ใครมันจะทำอย่างนั้น พอมันเสร็จเรื่องการใช้แพข้ามฝั่งไปฝั่งนู้นแล้วแพก็ไปตามแพเถอะ นี่กุศลความดีนี้จงถือเสมอหนึ่งพ่วงแพข้ามฟากจากวัฏสงสารจะขึ้นสู่นิพพานแล้วก็ต้องทิ้งพ่วงแพ จะแบกพ่วงแพไปด้วยจะทูนเอาไปด้วยมันก็กลายเป็นคนบ้าเท่านั้นเอง แล้วมันจะไปไหวเหรอมันก็ต้องติดอยู่กับแพตรงนั้นนะมันจะขึ้นบกไปไม่ได้มันก็นอนกอดแพอยู่ที่นั่น นี่ที่เรียกว่ามหากุศลเป็นเฮโรอีนมันเป็นอย่างนี้ นี่จะชอบหรือไม่ชอบก็ตามใจ ก็บอกอย่างนี้แล้วว่าอย่าไปหลงติดมีอุปาทานในความดี ถ้าจะไปเกี่ยวข้องกับมันบ้างก็เป็นอย่างสมาทาน มีอย่างถูกต้องใช้มันอย่างถูกต้องเหมือนกับว่าเป็นพาหนะข้ามแม่น้ำข้ามวัฏสงสารแล้วก็ไม่เป็นไร อย่างนี้มันก็ไม่ไปเข้าในบทที่ว่าทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปปรีย์ เพราะว่าเราไม่ไปหลงความดีมันก็จะอัปปรีย์อะไรล่ะ เราไม่ไปหลงแม้ในความชั่วไม่ไปหลงแม้ในความดี ความชั่วไม่เอากับมันแต่อย่าลืมขอบใจมันนะ ความชั่วมันสอนให้รู้จักดีนะ ถ้าไม่มีความชั่วที่กัดให้เจ็บปวดแล้วคนก็ไม่รู้จักความดี ฉะนั้นขอบใจความชั่วกันบ้างที่มันเป็นครูสอนเบื้องแรกในเบื้องต้น สอนให้รู้จักความชั่วเป็นอย่างนี้โว้ย แล้วเข็ดหลาบกันไม่ไปเอากับมันอีกแล้วก็มารู้จักความดี ทีนี้ระวังจะมาติดความดี ถ้าไปหลงติดมันก็ต้องแบกความดียึดถือความดีติดอยู่ที่นั่นเดินไปไม่ได้ ข้ามวัฏสงสารไม่ได้ ก็ไม่เอาก็เรียกไม่ติดความดี แต่ถ้าจะมีความดีก็ใช้อย่างพ่วงแพหรือเครื่องมือหรือยานพาหนะอย่างนี้ไม่ทำด้วยอุปาทาน อย่าทำด้วยอุปาทาน แต่ว่าทำด้วยสมาทาน จะมีศีลมีธรรมมีอะไรก็ทำอย่างสมาทาน สมาทานศีล อย่าอุปาทานศีลจะบ้า สมาทานศีลพอแล้วอย่าอุปาทานศีล เรียกว่าสมาทานศีลทำแต่พอดีทำแต่ถูกต้อง มันจะสูงขึ้นไปถึงขั้นปัญญาสูงสุด ก็อย่าอุปาทานนะ จงเพียงแต่สมาทาน สัมมาทิฏฐิ สมาทานา สัพพัง ทุกขัง อุปัจจคุง สัตว์ทั้งปวงล่วงพ้นความทุกข์ทั้งปวงได้เพราะสมาทาน สัมมาทิฏฐินี่เป็นคำสัตย์ที่เป็นหลักตายตัวในพระพุทธศาสนา จงสมาทาน สัมมาทิฏฐิ แล้วก็จะพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ ถ้าไปอุปาทานมันติดอยู่ที่นั่นแล้วมันจะหนักมากขึ้นจนเดินไม่ไหว มันแบกไม่ไหวมันเดินไม่ไหว มันก็จมอยู่ในกองทุกข์ จงจำคำว่าสมาทานและอุปาทานคำคู่ คู่นี้ไว้ให้ดีๆอย่าทำผิดด้วยอุปาทาน ทำให้ถูกต้องด้วยคำว่าสมาทาน