แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในครั้งแรกเมื่อวานนี้ เราพูดกันถึงการเตรียมตัวเพื่อศึกษาธรรมะ ทีนี้ วันนี้ เราพูดถึงตัวการศึกษาธรรมะต่อไป สิ่งที่เรียกว่า ธรรมะนั้นมีความหมายกว้างขวางครบทุกอย่าง จนว่าไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะ คำว่าธรรมะคำเดียว ใช้ได้แก่ทุกเรื่อง แต่ถ้าจะเอากันเฉพาะเรื่องที่สำคัญในขอบเขตจำกัดที่คนธรรมดาจะทำได้ ซึ่งเราก็จะบัญญัติกันว่า ธรรมะ คือ หน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตจะต้องทำ หน้าที่สำหรับสิ่งที่มีชีวิตจะต้องทำ สิ่งที่มีชีวิตจะต้องทำนั่นแหละ คือ ธรรมะ จะมีชีวิตอย่างมนุษย์ก็ได้ จะมีชีวิตอย่างสัตว์เดรัจฉานก็ได้ ถ้ามันมีชีวิตแล้ว มันก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำ หน้าที่นั้นแหละคือ สิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ เป็นคำเก่าแก่ที่สุด ไม่รู้ว่าจะแก่สักเท่าไร แต่พอจะพูดได้ว่าเก่าไปถึงยุคสมัยแรกๆ ที่มนุษย์คนแรกๆ เขาเริ่มมีความรู้ขึ้นมาว่า มนุษย์มีหน้าที่ที่จะต้องทำ เขาก็ได้มองเห็นมาตามลำดับว่ามนุษย์จะต้องทำอะไรบ้าง นั่นเป็นหน้าที่ แล้วเขาก็เรียกสิ่งนั้นว่าธรรมะ ถ้าเราเรียกเป็นภาษาไทยเราก็เรียกว่า หน้าที่ แต่ทีนี้มนุษย์สมัยโน้นนะ ไม่รู้กี่หมื่นปีมาแล้ว ที่มันเริ่มเป็นมนุษย์ขึ้นมา รู้ว่ามนุษย์มีหน้าที่ที่จะต้องทำ คำที่มันพูดมันออกมาสำหรับเรียกสิ่งนั้นก็คือคำว่า ธรรม ธรรมะนั่นเอง แปลว่า หน้าที่ เพราะเขาเริ่มมองเห็นว่ามันต้องทำหน้าที่ ไม่อย่างนั้นมันตาย ไม่อย่างนั้นมันตาย หน้าที่ที่มนุษย์หรือสิ่งที่มีชีวิตทุกสิ่งจะต้องทำก็คือ ธรรมะ มนุษย์ที่เป็นคนมันก็ต้องทำเพื่อรอดชีวิตอยู่ สัตว์เดรัจฉานมันก็ต้องทำเพื่อรอดชีวิตอยู่ เพื่อหากิน หรือต่อสู้ หรืออะไรก็ตาม แม้แต่ต้นไม้ ถ้ามันมีชีวิตอยู่ มันก็ต้องทำหน้าที่ หากิน ต้นไม้มันก็ต้องทำหน้าที่ ดูดน้ำ ดูดอาหาร ย่อยอาหาร ได้แสงแดด แล้วก็ผลิตอาหารเป็นหน้าที่
ดังนั้น เราจึงบัญญัติบทนิยามว่าธรรมะ คือ หน้าที่ที่หรือสำหรับหน้าที่ สำหรับสิ่งที่มีชีวิตจะต้องทำ ทีนี้ คุณก็สังเกตดูเอาเองว่ามัน มันศักดิ์สิทธิ์สักเท่าไร แล้วมันกว้างขวางสักเท่าไร ลึกซึ้งสักเท่าไร สิ่งใดที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องทำ สิ่งนั้น คือ ธรรมะ เมื่อได้ทำหน้าที่มันก็รอดอยู่ รอดอยู่ เพราะฉะนั้น ธรรมะก็คือ สิ่งที่ทำให้รอดอยู่ ทีนี้ เพียงแต่รอดอยู่ มันไม่พอ มันยังไม่ดีที่สุด ก็คือ ทำให้ดีที่สุดจนถึงจุดสุดท้าย เพราะฉะนั้นธรรมะจึงได้แก่ การทำที่ช่วยถึงจุดสุดท้ายของชีวิต ชีวิตมันจะไปได้ไกลถึงที่สุดได้เท่าไรก็เราก็ทำให้ถึงได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะนั่นเอง ดังนั้น จึงแบ่งหน้าที่นี้ได้เป็น ๒ ขั้นตอน หน้าที่ที่ตอนแรกก็คือ ทำให้รอดอยู่ได้ หน้าที่ตอนที่สองก็คือ เมื่อรอดอยู่แล้วก็ทำให้มันสูง สูง สูง สูงขึ้นไป จนถึงจุดสุดท้าย จุดสูงสุด นั่นคือธรรมะ คุณต้องจำหลัก หรือคำที่มันเป็นหลักกว้างๆทั่วไปนี้ไว้ให้ชัดเจน แล้วมันจะให้ความง่าย ง่ายดายที่จะศึกษาต่อๆไปอีก ที่มันเป็นหลักพื้นฐานทั่วไปนี้ ศึกษาให้รู้ให้เข้าใจอย่างชัดเจนว่าธรรมะ คือ หน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตจะต้องทำ หน้าที่แรกเพื่อความรอด หน้าที่ที่สองเพื่อเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปจนถึงจุดสุดท้าย อย่ารอดอยู่เฉยๆ อย่ารอด ซ้ำ ย้ำอยู่กับที่ นี่ก็จะมองเห็นได้เองว่าธรรมะนี่จำเป็นอย่างไร สำคัญอย่างไร ถ้าไม่มีธรรมะมันก็คือตาย มันไม่รอด หรือว่าแม้จะรอดอยู่ มันก็ไม่ดีอะไรถ้ามันไม่มีธรรมะที่เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะฉะนั้น เราเป็นมนุษย์ก็ได้อาศัยธรรมะ เพื่อรอดอยู่ได้แล้วก็เพื่อเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เดี๋ยวนี้เรานิยมบัญญัติบทนิยามของคำว่าธรรมะนี้ให้ชัดเจนเต็มที่ เราตกลงบัญญัติกันว่าธรรมะ คุณเขียนสิ ธรรมะ คือ ระเบียบปฏิบัติ คือ ระเบียบปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา มันเป็นระเบียบ ระบบแห่งการกระทำ ไม่ใช่คำพูด ระบบแห่งการกระทำ ไม่ใช่คำพูด เป็นการกระทำที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ หรือสำหรับความเป็นมนุษย์ แล้วก็ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา เพราะว่ามนุษย์นี้มีวิวัฒนาการเป็นขั้นตอนเป็นอันมาก เป็นอันมาก แล้วแต่เราจะดูกันว่ามันเป็นขั้นตอนอะไร เพราะว่าคำว่า วิวัฒนาการนี้มันใช้ได้ทุกชนิดของขั้นตอน คือว่าจะเป็นมนุษย์สมัยแรกๆ เป็นมนุษย์คนป่า มนุษย์ดีขึ้น มนุษย์อะไรก็เรียกว่าเป็นขั้นตอน ขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ จนแม้กระทั่งมนุษย์ปัจจุบันนี้มันก็มีขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ธรรมะคือการปฏิบัติให้ถูกต้องแก่มนุษย์ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการอย่างนี้ก็ได้ หรือว่ามนุษย์นี่มันมีวิวัฒนาการเรียกว่าอยู่ในท้องแม่ คลอดออกมาเป็นทารก เจริญเติบโตเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาว เป็นพ่อบ้านแม่เรือน เป็นคนแก่คนเฒ่า นี่ก็เรียกว่าวิวัฒนาการ เป็นขั้นตอน ขั้นตอน ฉะนั้น การปฏิบัติให้ถูกต้องทุกขั้นตอน นั่นก็คือ ธรรมะอีกเหมือนกัน จะเป็นวิวัฒนาการ ปัจจุบัน ชาติหนึ่งๆ ในชาติหนึ่งๆ ตั้งแต่ออกจากท้องแม่มาเป็นคนเฒ่าคนแก่ก็มีขั้นตอน การปฏิบัติให้ถูกต้องทุกขั้นตอนนั่นคือ ธรรมะ ทีนี้เราจะเอาวิวัฒนาการอันยืดยาว อันยืดยาวตั้งแต่มนุษย์เริ่มพ้นจากความเป็นสัตว์ เป็นคนป่า เป็นคนที่ครึ่งคนครึ่งสัตว์ เป็นอะไรมาเรื่อยมาตามลำดับไม่รู้ ประมาณสักกี่แสนปีไม่รู้ มันก็มีขั้นตอนเรื่อยมา เรื่อยมาจนเป็นมนุษย์แห่งยุคปัจจุบัน การทำให้ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการนั้นก็เรียกว่า ธรรมะเหมือนกัน
ฉะนั้น เราจึงหลีกไม่พ้นที่จะไม่เกี่ยวข้องกับธรรมะ มันหลีกไม่พ้นที่จะไม่เกี่ยวข้องกับธรรมะ ก็ถือโอกาสศึกษาเสียเลย ศึกษาให้ดีที่สุด สำหรับจะได้ความเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุดโดย โดย โดยธรรมะนั่นเอง นี่เป็นจุดตั้งต้น ฉะนั้น ขอให้สนใจไว้ นี่เป็นเรื่องที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ที่เราจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเรานี่ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ดูให้ดีก็จะเห็นว่า มันเป็นกฎของธรรมชาติ ธรรมะนี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ ทีนี้ เรามาพูดกันเสียให้หมดเลย ให้หมดเลย ในเรื่องของธรรมชาติ พูดกันเสียให้หมดเลย เราจึงให้ความหมายแก่คำว่า ธรรมะโดยทางภาษา โดยทางภาษาศาสตร์ หรือว่าโลจิกของภาษา คือ เป็นภาษาที่สมบูรณ์ด้วยโลจิกไม่ให้บกพร่อง เราจึงให้คำแปลแก่คำว่าธรรมะเป็น ๔ ความหมาย ๔ ความหมายนี่จำไว้ให้ดี จะมีประโยชน์ที่สุด เมื่อถามว่าธรรมะเป็นเรื่องของอะไร ธรรมะเป็นเรื่องของอะไร ก็บอกว่าธรรมะเป็นเรื่องของธรรมชาติ ธรรมะเป็นเรื่องของกฎ ธรรมชาติ ธรรมะเป็นเรื่องของหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะเป็นเรื่องผลที่เกิดมาจากการปฎิบัติหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ นี่ซอยกันอย่างละเอียด และไม่มีอะไรรอดออกไปได้ ธรรมะคือ ธรรมชาติ คือ ตัวธรรมชาติทั้งหลาย ธรรมะคือ ตัวกฎของธรรมชาติทั้งหลาย ธรรมะคือ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือ ผลอันเกิดจากหน้าที่ ๔ เรื่องนี้ ๔ ความหมายนี้ครอบงำทุกเรื่องที่มีในจักรวาล ในสากลจักรวาล มันครอบหมดด้วยคำ ๔ คำนี้
เดี๋ยวนี้ ในเมืองไทยเรามันให้ความหมายมันแคบไป แต่มันก็ถูกนะ ไม่ใช่ผิด ถ้าถามว่าธรรมะคืออะไร เด็กๆที่เรียนมาในโรงเรียนอย่างพวกคุณนี่ก็จะต้องตอบว่า ธรรมะ คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันก็ถูกนะ มันก็ถูก ธรรมะ คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ก็ไม่ถูกหมด ถูกนิดเดียว ธรรมะ คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านค้นพบ ธรรมะ คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาสอน ธรรมะ คือ สิ่งที่จะช่วยเราได้อย่างนี้ดีกว่า แต่ครูของเราที่กระทรวงศึกษาธิการเขาจัดให้สอนมันสอนกันแต่เพียงว่าธรรมะ คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า มันตอบอย่างเอาเปรียบมากเกินไป คือว่ามันย่นมากเกินไป ต้องถามอีกทีว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร สอนว่าอย่างไร มันก็ต้องตอบมาว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องธรรมชาติ เรื่องกฎของธรรมชาติ เรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เรื่องผลอันเกิดจากหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ นั่นก็มา มันก็มาเรื่องเดียวกัน ก็มาสู่เรื่องเดียวกัน ธรรมะ คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่าด้วยเรื่องธรรมชาติ ว่าด้วยเรื่องกฎของธรรมชาติ ว่าด้วยเรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ว่าด้วยเรื่องผลอันเกิดจากหน้าที่นั้น ทีนี้ เมื่อคนรู้ รู้ รู้ ๔ เรื่องนี้แล้วเขาต้องปฏิบัติ รู้เฉยๆ มันไม่มีประโยชน์ ทีนี้ เขาก็ต้องเอาความรู้นั้นมาปฏิบัติให้ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา แล้วแต่สติปัญญาของเขาจะมีเท่าไร เขามองเห็นเท่าไร แล้วเขาก็ปฏิบัติได้เต็มที่ นี่ ขอให้มองให้เห็นชัดอย่างนี้ ขอให้เป็นเรื่องของตัวเราเองจะดีกว่า เพราะว่าเรามันควรจะได้รับประโยชน์ก่อนใคร ฉะนั้น ก็ดูตัวเราเอง เราจะต้องปฏิบัติให้ได้รับประโยชน์ที่สุด นั่นคือทำอย่างไร ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเรา เราเป็นเด็กผ่านมาแล้ว เป็นวัยรุ่นผ่านมาแล้ว ทีนี้ ก็เราเป็นคนหนุ่มแล้ว ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องสำหรับวัยนี้ และวัยต่อไปตามลำดับ ดังนั้น ธรรมะมันไม่ใช่เรื่องอื่นไกล ธรรมะมันเป็นเรื่องในตัวคน ในเลือดในเนื้อของคน ถ้าคุณเข้าใจเรื่องนี้ คุณก็จะเห็นเองว่าธรรมะทั้ง ๔ ความหมายนั้น เป็นเรื่องในตัวคน ไปทำความเข้าใจดีว่าเนื้อหนังร่างกายจิตใจชีวิต อะไรก็ตาม ในตัวคนนี่ มัน มันคือธรรมะในความหมายที่ ๑ คือ ธรรมชาติ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หรือดิน น้ำ ลม ไฟ หรืออะไรก็ตาม ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวคนทั้งทางกาย และทั้งทางจิต นั่นนะคือตัวธรรมชาติ ถึงในตัวคนนี่มีกฎของธรรมชาติคุม ควบคุมอยู่ สิงสถิตอยู่ ทั้งตัวคน ทั้งเนื้อทั้งตัว จึงเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เช่นว่า มันจะต้องเจริญ เจริญ เจริญ เจริญไปตามกฎของธรรมชาติ ในรูปที่เรียกว่า เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไปของทุกสิ่ง ที่มันเปลี่ยนแปลงดีขึ้น ดีขึ้น กฎเรื่องไม่เที่ยง กฎเรื่องเป็นทุกข์ กฎเรื่องอนัตตา หรือว่ากฎทั้งหลาย กฎของธรรมชาติทั้งหลาย มัน มันสิงอยู่ในตัวคน คือเพื่อจะควบคุมตัวคน ตัวบุคคล ชีวิตนั่นแหละ อย่างว่าชีวิต จิตใจ นี่ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่เรียกว่ากฎของธรรมชาติ ตรงนี้เป็นกฎของธรรมชาติ ทีนี้ มาถึงหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ หน้าที่เช่น เราจะต้องกินอาหาร เราจะต้องถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เราจะต้องอาบน้ำ เราจะต้องบริหารกาย เราจะต้องทำอีกหลายๆ อย่างเพื่อให้ชีวิตรอดอยู่ได้ คือ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ครั้นรอดอยู่ได้แล้ว เราก็ทำให้ดี ดี ดียิ่งขึ้นไปเหมือนที่เรากำลังต้องการกันอยู่ เราต้องการให้ดียิ่งๆขึ้นไป อย่างโลกๆนี่มันก็ต้องการจะมีความรู้สูง ให้ได้งานดี ได้ตำแหน่งสูง นี่มันก็เป็นเรื่องที่ว่าเป็นหน้าที่เหมือนกันที่เราจะต้องบริหารชีวิตให้รอดอยู่ได้ และให้ดียิ่งๆขึ้นไปด้วยธรรมะในฐานะเป็นหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ถ้าเราทำผิดจากกฎของธรรมชาติ เราก็จะเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเราจะต้องตายอย่างนี้เป็นต้น นี่เรียกว่าหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ก็มีอยู่แล้วในร่างกายนี้ตลอดเวลา ตลอดเวลา ถ้าทำผิดก็มีผลร้าย ทำถูกก็มีผลดี รอดอยู่ได้แล้วก็เจริญไปได้ นั่นนะคือ ธรรมะในความหมายสุดท้าย ว่าผลเกิดมาจากการทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติซึ่งเรากำลังได้รับอยู่ เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเป็นอะไรก็ตาม ผลจากหน้าที่ที่เห็นได้ชัดว่า ธรรมะใน ๔ ความหมายนี้มันก็มีอยู่ในตัวชีวิต ในตัวคน เราหรือเพื่อนมนุษย์ของเรามันก็มีอยู่อย่างนี้ ฉะนั้น ธรรมะก็มีอยู่ในเลือด ในเนื้อ ในตัวเรานั่นแหละ และมีความจำเป็นที่เราจะต้องประพฤติปฎิบัติให้ถูกต้องนั่น มิฉะนั้นเราจะต้องตาย หรือว่าเราจะไม่ก้าวหน้าใดๆเลย นั่น นี่ธรรมะมันจำเป็นสูงสุดอย่างนี้ จะมาเรียนธรรมะกันเพียงแต่ว่าให้รู้ รู้สำหรับไปสอบอะไรได้นิดหน่อย พูดได้นิดหน่อยนี่ป่วยการ มันไม่ตรงกับความหมาย หรือคุณค่าอันแท้จริงของธรรมะ ธรรมะมันเป็นตัวชีวิต ตัวความก้าวหน้าแห่งชีวิต ตัวความสุข สุขสบาย สันติสุข สันติภาพแห่งชีวิต นั่นแหละคือ ตัวธรรมะ ถ้าศึกษาและปฎิบัติธรรมะเพื่อประโยชน์อย่างนี้ก็เรียกว่าถูกต้องละ ถูกต้องเต็มที่ ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็ไม่คุ้มค่า ไม่คุ้มค่าเวลา ถ้าทำหลอกๆ ทำเล่นตลก ทำหลอก ทำหลอกสังคมว่าศึกษาธรรมะ เป็นเรื่องหลอกสังคมว่าตน ว่าตนเป็นผู้ศึกษาธรรมะ มันก็ทำอย่างขอไปที ทำอย่างไม่รู้ว่าทำอะไรด้วยซ้ำไป นอกจากว่าหลอกสังคมให้เขาเข้าใจว่าเรามีธรรมะ ทีนี้ นั่นไม่ใช่เรื่องหลอกกัน ถ้าหลอกอย่างนั้นมันจะถูกธรรมะลงโทษ มันจะถูกธรรมะลงโทษ วินาศไปเลย
นี่ สรุปแล้วก็อย่าทำเล่นกับธรรมะซึ่งเป็นสิ่งสูงสุด จนกระทั่งว่าพระพุทธเจ้าท่านก็เคารพธรรมะ พระพุทธเจ้าที่เราถือว่าเป็นบุคคลสูงสุดท่านก็ยังเคารพธรรมะ พอท่านตรัสรู้แล้วใหม่ๆหยกๆนี่ ท่านก็ประกาศตนว่าเป็นผู้เคารพธรรมะ และยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทั้งปวงก็เคารพธรรมะนั่น ดูค่าของธรรมะ เราจะไปทำเล่นกับธรรมะ มันก็เหมือนกับว่าเชือดคอตัวเอง ฉิบหายเอง ฉะนั้น จะต้องเคารพธรรมะ เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าท่านก็เคารพธรรมะ ทีนี้ เมื่อพูดถึงคำว่าเคารพ เคารพ มันไม่ใช่ว่านั่งไหว้ นั่งกราบ นั่งไหว้ นั่งกราบ นั่งอะไรอยู่ เคารพธรรมะ ก็คือว่าศึกษาให้รู้ธรรมะแล้วประพฤติปฏิบัติให้เต็มที่ ได้ผลมาโดยสมบูรณ์ นั่นแหละคือ เคารพธรรมะ รู้ให้ถูกต้อง ปฎิบัติให้ถูกต้อง ได้รับผลมา มาบริโภคอยู่ นั่นนะคือเคารพธรรมะจริง เป็นผู้ที่เคารพธรรมะโดยแท้จริง ไม่ใช่มานั่งจุดธูปจุดเทียน ไหว้หัวสิงโตอยู่ มันเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันในตอนหลังๆ แล้วมันก็ย้อนกลับไปสู่ความโง่ดึกดำบรรพ์ที่เขาเคยทำกันมาแล้ว มันเลยใช้ประโยชน์ไม่ได้ แล้วยังรู้ธรรมะใน ๔ ความหมายนั้น แล้วปฎิบัติให้ถูกต้องตามความหมาย ๔ ความหมายนั้น ได้รับผลของมัน นี่คือเคารพธรรมะ ธรรมะกลายเป็นว่าเราไปหามาสำหรับเคารพ เราไปหามาสำหรับเป็นเจ้าเป็นนาย ที่เราจะต้องเชื่อฟังเคารพและประพฤติปฏิบัติ คนโง่สมัยนี้มันก็จะพูดว่าเสียเสรีภาพ ไม่เป็นประชาธิปไตย พวกฝรั่งที่คนไทยไปตามก้นว่าเป็นคนฉลาดนั้น ฝรั่งเขามันมีหลักเตลิดเปิดเปิงว่าถ้าต้องปฎิบัติตามกฎของอะไรแล้วมันเสียเสรีภาพ ไม่เป็นประชาธิปไตย ฉะนั้น พวกนี้เขาไม่ค่อยสนใจที่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของอะไร แม้ธรรมะ สงสัยจะเห็นว่าถ้าปฎิบัติตามธรรมะ เราก็สูญเสียเสรีภาพ มีความกดดันแก่เรา เราไม่เอา นี่อย่างนี้ก็มีอยู่มาก ฝรั่งยุคก่อนยุคแรกๆที่มาที่นี่มันตกใจ มันเห็นพระกวาดขยะ มันว่างานของนักโทษ ฝรั่งพวกนั้นสั่นหัวหมด พระทำงานของนักโทษ กวาดขยะ เสียเสรีภาพ ไม่เอา ไม่เอา ไป กลับ ท่านฟังดู ทำเล่นกับฝรั่ง ถ้าต้องปฎิบัติตามกฎ ตามวินัยตามอะไร มันว่าเสียเสรีภาพ เดี๋ยวนี้มันค่อยดีขึ้นแล้ว ฝรั่งที่อยู่รุ่นหลังๆไม่คิดอย่างนั้นแล้ว ฝรั่งที่อยู่รุ่นหลังๆ ช่วยทำงานเหงื่อไหลไคลย้อยเหมือนกัน ไม่พูดว่าเสียเสรีภาพ ไม่พูดว่างานนักโทษ เพราะมันไม่รู้ มันเห็นกันว่าถ้าต้อง ถ้าต้องมันก็คือ เสียเสรีภาพ ต้องปฏิบัติอย่างนั้น ต้องปฏิบัติอย่างนี้ มันว่าเสียเสรีภาพ ทีนี้ เราจะไปตามก้นมันได้อย่างไร เรามันก็เห็นว่าต้อง ถ้าไม่อย่างนั้นเราตายเอง ถ้าเราไม่ปฎิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติแล้วเราจะตายเอง เราจะวินาศเอง ขอให้ยินดี สงบใจที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ นี่ก็เข้ารูปกันว่าธรรมะ คือ หน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน มันก็ทำหน้าที่ คือมันหากิน อยู่ได้ ต่อสู้ รอดชีวิต อยู่ได้ หรือทำอะไรทุกอย่างที่ทำให้มันรอดชีวิตอยู่ได้ สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายมันก็ทำ แล้วมันก็ทำแปลก แปลก แปลก แปลกไปตามชนิดของสัตว์เดรัจฉาน เป็นวัว ควาย ช้าง ม้า เป็นสุนัข เป็นแมว เป็นกา เป็นไก่ เป็นนก เป็นปลวก เป็นจอม เป็นแมลงผึ้ง เป็นผีเสื้อ เป็นอะไรของมัน มันก็ทำงานของมันตามหน้าที่ แล้วมันก็รอดอยู่ได้ หรือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตนั่นแหละคือ ธรรมะ ทีนี้ ต้นไม้ก็เหมือนกัน มันต้องส่งรากออกไป หาอาหาร หาน้ำให้ได้ มิฉะนั้นมันตาย หรือว่าถ้ามันถูกปิดบังแสงแดดมากเกินไป มันก็ต่อสู้ที่จะขึ้นไปพ้นเพื่อนให้ได้แสงแดด หรือยื่นไปทิศทางที่จะได้แสงแดด เห็นได้ว่ามันต่อสู้ตามหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต แล้วสิ่งที่มีชีวิตในที่นี้ เรามองดูกันสัก ๓ ระดับก็พอ ว่าระดับคนนี่อย่างหนึ่ง ระดับสัตว์นี่อย่างหนึ่ง ระดับพืชพฤกษาทั้งหลายนี่ก็อย่างหนึ่ง
ฉะนั้น ไม่ว่าชีวิตชนิดไหน มันมีหน้าที่ที่ต้องทำ มิฉะนั้นมันตาย นั่นแหละ คือ ธรรมะ หน้าที่ที่สิ่งที่มีชีวิตที่จะต้องทำนั่นก็คือ ธรรมะ ในความหมายนี้ลึก ลึกมาก ลึกหมด เกิน เกินขอบเขตของคน แต่เดี๋ยวนี้คนมันไม่รู้นี่ แม้เท่าที่คนจะต้องรู้ มันก็ไม่รู้นี่ มันก็ไม่ เลยไม่รู้ไปถึงหน้าที่ของต้นไม้ หรือของสัตว์เดรัจฉาน นี่มันเรียกว่ารู้ธรรมะน้อยเกินไป ทีนี้ เราต้องรู้กันให้ถูกต้อง ให้ครบถ้วน ถูกต้องถ้าไม่ครบถ้วน ใช้ไม่ได้ ถูกต้องมันก็ถูกต้อง ถ้ามันเป็นบางส่วนมันก็ใช้ไม่ได้ ถูกต้องนั่นมันต้องครบถ้วนด้วย หมายความว่ากี่อย่างๆ ต้องรู้หมดอย่างถูกต้องนั่นเอง ฉะนั้น เราต้องรู้ธรรมะ เรียกว่าอย่างครบถ้วนและถูกต้อง หรือว่าอย่างถูกต้องและครบถ้วนก็ได้ อย่างถูกต้องและเพียงพอก็ได้ อย่างถูกต้อง ครบถ้วนเดี๋ยวจะมากเกินไปไม่ไหว ก็ใช้คำที่เรียกว่าถูกต้องอย่างเพียงพอเท่าที่จะต้องมี อย่างนั้นแล้วคนทุกคนจะต้องรู้ธรรมะอย่างถูกต้องและอย่างเพียงพอ เท่าที่จะต้องมี ถ้าไม่อย่างนั้นล้มเหลว ล้มเหลว ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่ถูกต้องก็ไม่ต้องพูด ฉิบหายหมด ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าถูกต้องแล้วไม่พอ ไม่เพียงพอ มันก็ไม่ ไม่ ไม่ได้เรื่องเหมือนกัน มันได้ผลกระท่อนกระแท่นนิดหน่อยเกินไป จึงให้ศึกษากันอย่างถูกต้องและเพียงพอหรือสมบูรณ์ ถ้าพูดว่าสมบูรณ์ก็สมบูรณ์เท่าที่ควรจะมี จึงใช้คำกันโดยมากว่าถูกต้องและสมบูรณ์ พระพุทธเจ้าก็ทรงกำชับว่า จงไปสั่งสอนธรรมะให้ถูกต้องและสมบูรณ์ ฉะนั้น เราบวชเข้ามาเพื่อศึกษาธรรมะ ก็ขอให้ศึกษาอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ ขอให้พยายามอย่างยิ่ง อย่าให้ อย่าให้เสียเวลาเปล่า เป็นหมันเปล่าในการที่ว่าลงทุนบวชเพื่อศึกษาธรรมะ นี่คือคำว่า ธรรมะคำเดียว มีคำอธิบายอย่างนี้ ร่ายไปใหม่ตั้งแต่ที่มันไม่ค่อยประสีประสา ธรรมะคืออะไร ธรรมะ คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เกือบจะไม่ได้คำตอบอะไร ต้องถามว่าสอนว่าอะไร ก็สอนเรื่องธรรมชาติ เรื่องกฎของธรรมชาติ เรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เรื่องผลที่เกิดจากหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เท่านั้นพอไหม ตอบว่าไม่พอ ต้องปฎิบัติ ต้องปฎิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เรียนปฎิบัตินะ ไม่ใช่เรียนเฉยๆ ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ของมนุษย์นั้น
สรุปความแล้ว นี่คือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต เขาจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เพื่อความเป็นมนุษย์ของเขาตั้งอยู่ได้ เจริญงอกงามอยู่ได้ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา เดี๋ยวนี้ คุณดูเถิด มันไม่ถึงขนาดนี้หรอก คนที่อวดดี อวดดีมีความรู้มาก ยกหูชูหางว่าเรียนมามาก มันก็ยังไม่ได้สักนิดหนึ่งที่จะถูกต้อง ครบถ้วนตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มันยังดับทุกข์ไม่ได้ มีชีวิตหม่นหมอง มันมีชีวิตมืดมน มีชีวิตหนักอึ้ง
นี่ ทีนี้มาถึงขั้นตอนที่ว่า ขั้นตอนที่ ๒ หลังจากที่รู้ว่าธรรมะคืออะไรแล้วก็มาถึงขั้นตอนที่ ๒ ที่ว่า ทำไมจะต้องศึกษาธรรมะเล่า ทีนี้ คุณดูเอาเอง ทำไมคุณมาศึกษาธรรมะที่นี่เล่า อาจจะมาอย่างเคลิ้มๆ มาอย่างละเมอๆ มาอย่างเขาจัดให้ เหมือนกับจัดบวชเด็กๆ อย่างนั้นนะ มันไม่พอ มันต้องรู้กันอย่างถูกต้องว่า เพราะอะไร ที่นี้อย่า อย่าต้องไปเชื่อใคร หรือเอาตามคำพูดของคนอื่น เราก็มาดูชีวิตของเราเองนั่นแหละ เพราะเราก็คือชีวิต ชีวิตก็คือเรา โดยสมมติก็คือ ตัวเราโดยแท้จริงก็คือ ธรรมชาติ ธรรมชาติที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวเราหนึ่งๆนี้ก็คือ ธรรมชาติ นี่เรียกว่ามันเป็นชีวิต มีความรู้สึก คิดนึกได้ แล้วก็ดูสิว่า มันเป็นยังไงบ้าง ถ้าชีวิตนี้มันยังมืด มันยังโง่ ไม่รู้ว่าไปทิศทางไหน มันเป็นชีวิตมืด ถ้ามันเป็นชีวิตที่หนักอึ้งอยู่ด้วยสิ่งกดทับจิตใจ ดวงวิญญาณอันหนัก อันมีชีวิตหนักอึ้ง มันก็เป็นชีวิตที่มันยังไม่มีสาระอะไร เป็นชีวิตที่ไม่มีประโยชน์แม้แต่ตัวเอง แม้แต่ผู้อื่น ทีนี้เราก็มาตั้งปณิธาน ปรารถนาว่าเราจะมีชีวิตที่สว่างไสว เราจะมีชีวิตที่เบาสบาย เราจะมีชีวิตที่เยือกเย็น เราจะมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น แล้วเราจะทำอย่างไร นั่นนะ มันก็ต้องวิ่งไปหาธรรมะ เพราะมันตอบได้ด้วยคำตอบว่า เพราะมีธรรมะ เพราะทำให้มีธรรมะ เพราะมีธรรมะ แล้วมันก็ช่วยได้ ช่วยให้ชีวิตนี้สว่างไสว ให้เบาสบาย ให้เยือกเย็น ให้เต็มไปด้วยประโยชน์ น่าชื่นอกชื่นใจ เคารพนับถือตัวเองได้เพราะธรรมะนั่นเอง ถ้าอย่างนี้หล่ะใช้ได้ คือเรารู้ว่าศึกษาธรรมะทำไมกัน ถ้าเรามีปัญหาอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ฝรั่งเกือบทั้งหมดก็ว่าได้ที่มันมาที่นี้ที่ผมถามดูคุยกันดูมันไม่มีปัญหาอะไร มันไม่มีความทุกข์อะไร ผมก็บอกกลับไปเถิด ไม่มีประโยชน์ที่คุณจะมาศึกษาธรรมะ กลับบ้านดีกว่า ถ้าคุณไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีความทุกข์อะไร จะมาศึกษาธรรมะให้เสียเวลาทำไม กลับไปเถิด นี่เรียกว่าเขาเหล่านั้นไม่รู้ว่าปัญหามันมีอยู่อย่างไรที่ทำให้ต้องมาศึกษาธรรมะ อย่างน้อยเขาก็ต้องมองเห็นแล้วว่า โอ้ ชีวิตนี้มันยังมืด ไม่รู้ทิศทาง มันหนัก หนัก เหมือนกับสัตว์ สัตว์ที่บรรทุกของหนัก ลากของหนัก แล้วมันก็ไม่เยือกเย็น ไม่เป็นชีวิตเย็น เป็นชีวิตร้อนอยู่เรื่อย แล้วดูๆ ก็ไม่เห็นว่าน่าชื่นใจที่ตรงไหน ถ้าว่ามันมองเห็นปัญหาอย่างนี้ มีปัญหาอยู่อย่างนี้นั่นแหละ มันสมควรที่สุดแล้วที่จะเข้ามาหาธรรมะ เพื่อจะศึกษาธรรมะ แต่โดยมากมันไม่ได้เป็นอย่างนี้ ถึงแม้ในเมืองไทยเรา พวกไทยเรานี่ พวกฝรั่งยกให้ไปว่าเขาเป็นพวกที่ไม่คุ้นเคยมากับสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ แต่คนไทยในเมืองไทยนี่มันก็ยังเหลว มันไม่รู้ว่าจำเป็นอะไรที่จะต้องมาศึกษาธรรมะ มันก็เห่อๆ ตามๆ กันมา เขาว่ามันดี เขาว่ามันวิเศษ บางทีเตลิดไปถึงน่าอัศจรรย์ เป็นปาฎิหารย์ จึงมาศึกษาธรรมะกัน มันก็ มันก็ยิ่งหนักไปกว่าเดิม อยู่เฉยๆ ก็ยังดีกว่ามาโง่กันแบบนี้ เอาหล่ะ เป็นอันว่า ถ้าคุณจะศึกษาธรรมะ คุณจะต้องรู้ว่าเพราะเหตุอะไร
มาถึงปัญหาข้อที่ ๒ ว่าทำไมจะต้องธรรมะ ถ้ารู้ว่าธรรมะคืออะไร มันก็รู้ได้เองมากทีเดียวว่าทำไมจึงต้องธรรมะ หรือว่าถ้าว่าเอาตามธรรมชาติแท้ๆ มันอาจจะถึงปัญหาที่ว่าทำไมจะต้องธรรมะนั่นแหละก่อนด้วยซ้ำไป แต่มันคิดไม่ได้ คิดไม่เป็น มันก็คิดว่าธรรมะคืออะไร แล้วดูเห็นว่าทำไมจึงต้องหาธรรมะ หรือมีธรรมะ ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติแท้ๆ เรานี่จะต้องรู้สึกว่า โอ้ เดี๋ยวนี้ยังไม่ ยังไม่ ไม่น่าพอใจ ชีวิตนี้ยังไม่น่าพอใจ ยังมีปัญหาอย่างนั้นมีหนักอย่างนี้มีอะไรอย่างนี้ นี่หมายถึงว่าเขาไม่รู้ธรรมะ ไม่รู้จักธรรมะ ไม่ได้ยินคำว่า ธรรมะมาแต่ก่อน แต่ถ้าเผอิญเขารู้สึก โอ้ นี่ทำไมความเป็นอยู่ชีวิตของเรานี่เป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ มันร้อน มันหนัก มันมืด มันยังไม่เป็นที่น่าชื่นใจ ทีนี้ ก็จะถามว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ถ้าสมมติว่าเขาไปหาฤาษี มุนี โยคี ในป่า ในดง บอกอาการของเขาว่าเขาเป็นอย่างนี้ เขาจะทำอย่างไรจึงจะพ้นจากปัญหาเหล่านี้ มุนีเหล่านั้นก็จะบอกวิธี ที่ว่าธรรมะ ธรรมะคืออะไรให้ทีหลัง นี้มันมาในรูปแบบว่าธรรมะทำไม แล้วจึงมารู้ว่าธรรมะคืออะไร ทีนี้เราเอาเป็นว่า เรารู้ว่าธรรมะคืออะไรกันก่อนดีกว่า เพราะเราจะศึกษา เราจะลงทุนเพื่อศึกษา มันจะเห็นได้เองว่าทำไมจึงต้องมีธรรมะในชีวิตของเรา เราจะตอบได้เอง หรือว่าเราอาจจะเลือกหรือแยกคัดได้เองว่าธรรมะส่วนไหน เท่าไร อย่างไรที่จะเป็นสิ่งที่จำเป็นแก่ชีวิตของเรา ดังนั้นแหละมันจึงต้องรู้เรื่องตัวปัญหากันเสียก่อน คือตัวความทุกข์นั่น หลักสำหรับเรียน สำหรับศึกษา มันก็วางลำดับไว้อย่างนั้นแหละ เรียนเรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับแห่งทุกข์ เรื่องทางให้ถึงความดับแห่งทุกข์ ทีนี้สิ่งแรกที่ต้องมาก่อนก็คือตัวทุกข์นั่นแหละ ถ้ายังไม่มีทุกข์ ถ้ายังไม่เห็นทุกข์ ไม่รู้จะไปหาธรรมะมาทำไม เพราะว่าธรรมะมันเรื่องไว้กำจัดทุกข์ ทีนี้คนนั้นมันไม่มีความทุกข์ มันก็เลยไม่ต้องการธรรมะ ถ้าจะให้การศึกษาปฏิบัติธรรมะเป็นไปได้ มันต้องมีตัวปัญหา คือ ตัวทุกข์ เรามีความทุกข์อยู่ นี่ นี่ก็เป็นรายละเอียดที่จะต้องศึกษากันต่อไปข้างหน้า วันนี้เราจะพูดกันแต่ว่า ธรรมะคืออะไร แล้วต่อว่าทำไมจะต้องมีธรรมะ ทำไมจะต้องอาศัยธรรมะ แล้วขอร้องให้ทำ ให้เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องจริงของจิตใจ ของชีวิตจิตใจ อย่าเป็นเรื่องสมมติ แล้วก็เห่อๆตามๆกันมาว่า ธรรมะดีโว้ย มาศึกษาธรรมะกันโว้ย อย่างนี้มันก็เป็นเรื่องที่น่าหัวเราะบ้าง น่าสงสาร ไม่น่าชื่นใจเลย ต่างคนต่างสนใจปัญหาของตน ของตนให้ครบก่อนว่ามันปัญหาอย่างไรแล้วพูดได้เลยว่า ธรรมะมันจะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้หมด เอากันตั้งแต่อย่างต่ำ ต่ำที่สุด เมื่อเด็กคนหนึ่งมันเรียนหนังสือไม่ดี เรียนหนังสือไม่ได้ดี มันก็ต้องมีธรรมะที่จะช่วยให้เรียนหนังสือได้ดี จะพบหรือไม่พบมันอีกเรื่องหนึ่ง แต่มันมีอยู่ มันมีอยู่ ธรรมะที่จะทำให้เด็กคนนั้นเรียนหนังสือได้ดี หรือว่าเด็กคนนี้มันมีความเป็นอันธพาลมาก เกเรมากอะไรมาก มันก็ต้องมีธรรมะอยู่แน่นอนสำหรับจะแก้ความเป็นอันธพาล เกเรนี้ ธรรมะมันช่วยได้ ตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที ตั้งแต่เด็กมาทีเดียว เดี๋ยวนี้ก็มาถึงการคึกษา ก็ช่วยให้ศึกษาดี ศึกษาสำเร็จแล้ว ก็จะได้ทำการงานที่ดี ไม่ใช่ว่ามีความรู้แล้ว จะทำงานได้ดี คุณอย่าโง่ คุณอย่าอวดดีในข้อนี้นะ คุณก็กำลังเป็นนักศึกษาอยู่ ไม่ใช่ว่ารู้ตามหลักสูตร สอบไล่ได้ประกาศนียบัตรแล้วคุณจะทำงานได้ดี ไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ คุณต้องมีธรรมะอีกทีหนึ่ง ในการที่จะทำงานได้ดี ทำงานได้ดี จะใช้ธรรมะข้อไหนเล่า คุณคิดดู สัจจะ ธรรมะ ขันติ จาคะก็ได้ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาก็ได้ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาก็ได้ ธรรมะเหล่านั้นแหละมันจะช่วยให้เราทำงานได้ดี เพราะว่าความรู้ที่ได้มาตามหลักสูตรในประกาศนียบัตรเหล่านั้น มันไม่ได้ช่วยให้เกิดความกล้าหาญ ความอดทน ความเสียสละ ความมีสติ รอบคอบสุขุมมันไม่มี ความรู้นั้นก็เป็นหมัน ถ้ากับว่าความรู้ตามหลักสูตรนั้นมีแล้ว จะมาใช้ประพฤติปฎิบัติได้ดี มันก็ต้องมีธรรมะของธรรมชาติอีกทีหนึ่ง มีความจริงใจ มีการบังคับตน มีการอดกลั้นอดทน มีความสุขุมรอบคอบ มีความเพียร บากบั่น ไม่ถอยหลัง ไม่ยอมแพ้อย่างนี้เป็นต้นนี่ ธรรมะนะมันจะช่วยให้ความรู้ที่เราเรียนมาอย่างโลกๆ จบแล้วเกิดเป็นประโยชน์ขึ้นมาได้ คือปฏิบัติได้นั่นเอง ฉะนั้น จึงจำเป็นแม้ว่าคุณจะได้ปริญญาแล้ว ได้ปริญญาแล้ว มันก็ยังต้องการธรรมะ มาให้ช่วย มาช่วยให้ปริญญานั้นมีความหมาย คำว่าปริญญาของพวกคุณนั้นมันของเด็กอมมือที่กระทรวงศึกษาธิการหรือในโลกนี้เขาจัดให้ เลยเรียกว่าปริญญา ปริญญา ปริญญาในภาษาไทยนี่มันไม่ถูก มันก็เป็นความโง่ของนักภาษาศาสตร์ในประเทศไทย ที่เอาคำว่าปริญญา ปริญญามาใช้ เพียงแต่ว่าสอบไล่ได้ตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ เช่นเดียวกับเอาคำว่าปรัชญาไปเป็นคำแปลของคำว่า philosophy นั่นคือความโง่เขลา มันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ในพระไตรปิฎกเอง พระพุทธเจ้าตรัสเองท่านว่าปริญญา ๓ อย่าง ปริญญาคืออะไร ปริญญา ๓ อย่างคืออะไร ปริญญา ๓ อย่างคือ ความสิ้นไปแห่งราคะหนึ่ง ความสิ้นไปแห่งโทสะหนึ่ง ความสิ้นไปแห่งโมหะหนึ่ง นี่คือปริญญา ๓ คุณคิดดู ปริญญา ๓ คือ คำซึ่งความละซึ่งกิเลส คุณได้ปริญญากระดาษไปก่อน แล้วก็ไปทำ ทำ ทำ ทำจนก้าวล่วงความทุกข์ได้ ดับทุกข์ได้ จึงจะเป็นปริญญาที่แท้จริง ทีนี้อย่าไปถือคำพูดที่มนุษย์โง่ มนุษย์มืด มนุษย์อวิชชาบัญญัติขึ้น หรือคำพูดที่คนเหล่านี้บัญญัติขึ้น มันผิดกัน มันผิดหลักของธรรมชาติ มันขัดขวางกับกฎของธรรมชาติ ของความยากลำบากมามากทีเดียว
ฉะนั้น เราก็ดู ดู ดูที่เนื้อที่ตัวของมัน อย่า อย่าเอาชื่อเป็นหลักเป็นเกณฑ์ อย่าเอาคำพูดหรือชื่อที่เขาบัญญัติขึ้นไว้เป็นหลักเป็นเกณฑ์นัก เราเอาตัวแท้ ตัวจริงของมันเป็นหลักสำหรับมากำหนดศึกษาพิจารณา แล้วมันจะเรียกชื่อว่าอะไรนั้น ค่อยพูดกันทีหลังก็ได้ ค่อยตกลงกันทีหลังก็ได้ นี่สำคัญ ถ้าไปมัวยึดถือหลักคำพูดของภาษาไทยก็ดี ภาษาฝรั่งก็ดี มันยุ่งตายหล่ะ แล้วมันก็ไม่ ไม่สำเร็จประโยชน์ เราจะต้องรู้ด้วยตัวจริงของมันแท้ๆ มันเป็นอย่างไร มันมีอำนาจอะไร มีอิทธิพลอะไร แล้วก็ใช้มันถูกเรื่อง นี่เรียกว่าเราเรียนจบปริญญาแล้ว ก็ยังต้องการธรรมะไปช่วยให้ความรู้ตามปริญญาของเรานั้นแสดงผลของมันออกมาได้ หรือมีอิทธิพลแก้ปัญหาได้ มิฉะนั้นมันก็ มันก็เป็นปริญญากระดาษ ไปเป็นครูรับจ้างสอนหากินได้ แต่ที่จะปฎิบัติเพื่อดับทุกข์ได้จริงนั้น ยังไม่ได้ ยังต้องมีธรรมะอีกขั้นหนึ่ง เดี๋ยวนี้เรามาถึงขั้นที่ว่านักศึกษาเรามีปริญญาแล้ว ก็ยังต้องมีธรรมะ เพื่อช่วยให้ความรู้ ปริญญานั้นสำเร็จประโยชน์อีกทีหนึ่ง ทีนี้ เราก็ประสบความสำเร็จแล้วในตอนนี้ จะเป็นผู้ฆราวาสเต็มที่ จะมีการงานที่สูงขึ้นไป จะมีครอบครัว เป็นต้น ก็ยังต้องมีธรรมะอีกแหละ มีธรรมะสำหรับความมีครอบครัวจะเลือกอย่างไร จะทำกันอย่างไร จะปฎิบัติอย่างไร ให้ความมีชีวิตอย่างครอบครัวนั้นเป็นไปดีที่สุด ไม่ใช่ว่าเดี๋ยวๆก็หย่ากัน เดี๋ยวๆก็หย่ากัน เดี๋ยวๆก็ทะเลาะกันทั้งวัน หัวเดือนท้ายเดือนมันก็ทะเลาะวิวาทตบตีกัน เพราะมันไม่มีธรรมะอีกเหมือนกัน แล้วต่อไปมันก็จะมีความเป็นบิดา มารดา มีลูก มีหลาน มีเหลน เป็นคุณปู่คุณตา เป็นคนแก่ชรา มันก็ยังต้องมีธรรมะอีกเหมือนกัน ที่ทำให้คนเหล่านั้น หัวเราะเยาะความทุกข์ได้ ให้คนแก่หัวเราะเยาะความเจ็บไข้ได้ ให้คนแก่หัวเราะเยาะความตายได้ มันก็อย่างนั้น เห็นไหมว่าเราจะต้องใช้ธรรมะตั้งแต่อยู่ในท้องมารดา คลอดออกมาจากท้องมารดา เป็นทารก เป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาว เป็นพ่อบ้านแม่เรือน เป็นคนแก่คนเฒ่า คนชรา แล้วก็หัวเราะเยาะความตายได้ในที่สุด เรื่องมันอยู่อย่างนี้ ทีนี้ ธรรมะทำไมกัน ธรรมะทำไมกัน ควรจะเข้าใจได้แล้วว่าธรรมะทำไมกัน ในชั้นนี้ก็เห็นได้ว่าจำเป็นแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งแล้ว ที่มนุษย์จะต้องมีธรรมะ เพื่อให้ความเป็นมนุษย์ของเขามีวิวัฒนาการเป็นไปโดยสะดวกสบายอย่างน่าเลื่อมใสเรื่อยๆไปจนกว่าจะถึงระดับสุดท้าย
นี่เวลาที่เรากำหนดไว้มันก็พอดีที่จะหมดเวลา ทีนี้เอาเป็นว่า ขอทบทวนครั้งหนึ่งว่าเมื่อวานเราพูดกันถึงวิธีเตรียมตัวสำหรับศึกษาธรรมะ วันนี้เราก็พูดกันถึงข้อที่ว่าธรรมะคืออะไร แล้วทำไมจึงต้องธรรมะ ต้องมีธรรมะ จะมีธรรมะไปทำไมกัน อะไรคือธรรมะ เรามีธรรมะไปทำไมกัน ติดต่อกันจากคำบรรยายที่อธิบายแล้วเมื่อวาน ทีนี้ ขอให้เอาไปทบทวนให้ได้หัวข้อที่รัดกุม แล้วบันทึกใส่สมุดโน้ตไว้ โดยเฉพาะหัวข้อที่รัดกุม มันจะไม่เลอะเลือน มิฉะนั้น มันจะเลือนไป เลือนไป เมื่อ เมื่อมีการพูดมากเข้า มากเข้า แต่ถ้าเราไปบันทึกให้รัดกุมๆเป็นข้อๆไปมันก็จะชัดเจน กระจ่างแก่การเรียนรู้ การศึกษา สำเร็จประโยชน์ได้เต็มที่ และในวันนี้ สมควรแก่เวลาแล้ว ก็ขอยุติการบรรยายครั้งนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้
มาจากไหนกันเล่า หือ มาจากวัดชลประทาน ทำไมมาฤดูนี้ ไม่ใช่ฤดูที่จะต้องมากัน เพิ่งบวชหรือ