แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้คิดว่าจะพูดหัวข้อสำคัญซึ่งควรจะทราบ เพื่อให้เข้าใจหรือรู้จักไอ้ธรรมะมากขึ้น ในๆชั้นแรกนั่น ขอให้มองให้เห็นว่าไอ้ธรรมะนั่นไม่ใช่ว่าจะมีเพื่อเป็นพิธี ไอ้ธรรมะหรือศาสนานี้ไม่ใช่ว่า จะมีขึ้นเพื่อให้เป็นพิธี สำหรับให้ได้ประกอบพิธี หรือให้มีงานทำเป็นพิธี แล้วก็นับถือบ้างอะไรบ้างให้มันยุ่งไปหมด นี่ธรรมะไม่ใช่เพื่ออย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้มันกลับเป็นเพื่ออย่างนี้ คิดดูเถอะมันบ้าสักเท่าไร ไอ้ธรรมะนั้นมีไว้แก้ปัญหาจริงๆ โดยแท้จริงมันเป็นอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นเพียงเพื่อพิธี เพื่อไว้ศึกษากันอย่างไม่รู้จักจบ แล้วก็เพื่อประกอบพิธี แม้แต่พิธีไหว้พระสวดมนต์นี่ก็เถอะ ถ้าไม่รู้ความมุ่งหมายที่ถูกต้องแล้วมันเป็นเรื่องบ้าเหมือนกันแหละ มันจะเป็นเรื่องสีลัพพตปรามาสอย่างดีที่สุด คือมันงมงายในการกระทำ นี่ข้อแรกนี่ขอให้บันทึกลงไปว่า ไอ้ธรรมะหรือศาสนาไม่ใช่มีไว้เพื่อประกอบพิธีต่างๆมากมายนับไม่ถ้วน จนกลายเป็นไสยศาสตร์ไปก็มาก ก็ธรรมะหรือศาสนานี้มันมีไว้เพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์จริงๆ
แต่แล้วมันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันกลายเป็นเพื่อทำพิธี เพราะคนมันโง่ เพราะมันเรียนไม่ถูกต้อง เพราะมันเรียน เรียนชนิดที่ไม่สามารถจะเอามาใช้แก้ปัญหาน่ะ เพราะมันก็เรียนตามพิธี เรียนเป็นพิธี เรียนเป็นธรรมเนียมประเพณี อย่างเรียนนักธรรม เรียนบาลีนี้มันจะกลายเป็นไอ้ประเพณี พิธี หรือเป็นแฟชั่นไปเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ได้รับประโยชน์จากการมีธรรมะหรือการมีศาสนา ถ้ามองเห็นไอ้เรื่องนี้แล้วก็จะดีมาก คือจะได้ใช้ธรรมะหรือใช้ศาสนานั้นให้เป็นประโยชน์จริงกันเสียที ที่ว่าประโยชน์จริงนั่นก็คือว่า ตามหน้าที่ของธรรมะหรือศาสนาที่จะมีไว้เพื่อดับทุกข์ของ อ่า, ของมนุษย์น่ะ ของมนุษย์
ทีนี้ผมไม่ชอบใช้คำว่าดับทุกข์ เพราะว่าคำว่าดับทุกข์นี่มันจะแคบไป มันจะแคบไป จึงอยากจะใช้คำพูดว่า เพื่อแก้ปัญหาทุกอย่าง แต่ว่าแม้จะใช้คำพูดว่าปัญหา มันก็รวมความทุกข์อยู่นั่นเอง มันก็รวมความทุกข์ไว้ในคำว่าปัญหานั่นเอง เพราะว่าขึ้นชื่อว่าปัญหาแล้วเป็นทุกข์ทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าปัญหาอะไร หมายถึงไอ้สิ่งที่ยุ่งยาก ลำบาก รบกวน อย่างน้อยก็รบกวนจิตใจไม่ให้สงบสุขได้ ทำให้นอนหลับไม่ได้ เป็นต้น แต่เรารวมเรียกว่าปัญหานี่จะ จะง่ายกว่า มันอธิบายได้ง่ายกว่า เพราะว่าไอ้ความทุกข์นั่นมันหมายถึงความเจ็บปวดทนทรมานไปเสียท่าเดียว แล้วความหมายของคำว่าความทุกข์มันก็เป็นอย่างนั้นอยู่ด้วย นี้เราจะใช้คำว่าปัญหา ฉะนั้นจึงพูดว่าธรรมะหรือศาสนานี้มันมีเพื่อแก้ปัญหาทุกอย่างของมนุษย์
ขอให้ช่วยกันทำให้มันเป็นอย่างนี้สิ อย่าเรียนพอเป็นพิธี อย่าปฏิบัติพอเป็นพิธี แล้วก็ได้ผลชนิดหลอกๆตัวเองพอเป็นพิธีสิ นี่คือความสูญเปล่าที่กำลังเป็นอยู่เดี๋ยวนี้ และเป็นมาแล้วไม่ๆน้อย เป็นมาแล้วเรื่อยๆมา เป็นความสูญเปล่าของการมีศาสนา แต่แล้วโดยที่คนยังนับถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งอธิบายไม่ได้ยิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งเข้าใจไม่ได้ยิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฉะนั้นอาศัยไอ้ความที่เข้าใจไม่ได้หรือความโง่ของตัวเองสร้างความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา แล้วก็ประกอบพิธี ดำรงรักษาธรรมะหรือศาสนาไว้อย่างรูปแบบของพิธี
คุณลองสังเกตดูเถอะ ศึกษาเล่าเรียนนักธรรมบาลีก็เป็นพิธีเสียโดยมาก หรือเป็นระเบียบว่าถ้าบวชแล้วมันต้องศึกษา ไม่เช่นนั้นเขาไม่ยอมนี่ ผู้บังคับบัญชาเขาไม่ยอม การปฏิบัติวิปัสสนา นี่เรียกว่าวิปัสสนานะ มันก็เป็นงมงาย เป็นพิธีเสียมากหรือเกือบทั้งหมด ไม่ได้ผลตามนั้น ก็ได้ผลก็เหมาๆเอาว่าได้ ก็ได้ผลตามพิธี ทำบุญทำทานก็เป็นเรื่องพิธี หวังผลที่ไม่ตรง ไม่ๆตรงเรื่องหรอก เป็นบุญเป็นกุศลชนิดที่วาดฝันไว้เอง แม้แต่เรื่องพระนิพพานนั่นน่ะก็เข้าใจผิดต่อสิ่งที่เรียกว่า นิพพาน นิพพานที่คิดเอาเอง ว่าเอาเอง คาดหมายเอาเอง มันก็ไม่ๆๆ ไม่ถูกหรอก ไม่ตรงตามเรื่องของนิพพานโดยแท้จริง เช่นว่าทำไปรอไว้อีกหลายหมื่นชาติแสนชาติ แล้วก็จะไปอยู่เมืองแก้ว คือนิพพาน เป็นนิรันดรไปเลยนี่ เป็นอย่างนี้ นี่ว่าเอาเอง แล้วก็เป็นรูปแบบพิธี รูปแบบความเชื่องมงาย คือไม่ได้รับนิพพานที่นี่ ในจิตใจที่นี่ นี่เราเรียกว่าได้ผลเป็นพิธีเท่านั้น
ดังนั้นมันจึงแก้ปัญหาไม่ได้ เรื่องปริยัติ การเล่าเรียนก็แก้ปัญหาไม่ได้ เรื่องการปฏิบัติ มันก็แก้ แก้ปัญหาไม่ได้ เรื่องปฏิเวธ ได้ผลมาก็เป็นผลที่งมงาย แก้ปัญหาไม่ได้ รวมความแล้วก็คือ แก้ปัญหาของมนุษย์ไม่ได้ นี่การปรารภข้อแรกมีว่าอย่างนี้ ว่าเรายังมีธรรมะหรือมีศาสนาที่ยังแก้ปัญหาไม่ได้
เอ้า, ทีนี้ก็ดูกันต่อไป ที่จะเป็นขั้นต่อไป ว่าทำไมจึงแก้ปัญหาไม่ได้ ก็เพราะเรียน เพราะเรียนเป็นพิธี ปฏิบัติเป็นพิธี ได้ผลเป็นพิธีอย่างไรเล่า มันจึงแก้ปัญหาไม่ได้ นี้ทำไมมันจึงทำพอเป็นพิธีล่ะ เพราะว่ามันโง่จนไม่รู้ว่าปัญหาของมนุษย์นั้นคืออะไร เพราะมันโง่จนไม่รู้ว่าปัญหาของมนุษย์นั้นคืออะไร มันก็เลยไม่ๆๆมีการกระทำที่มุ่งจะแก้ปัญหา มันก็เป็นพิธีไปหมด เพราะฉะนั้นเรามารู้กันให้ชัดลงไปว่าปัญหาเผชิญหน้าของมนุษย์นี้เป็นอย่างไร มีอย่างไร มีเท่าไร
นี้เท่าที่ผมสำรวจดูในข้อความอันมากมายในพระบาลี ในอรรถกถา ในอะไรต่างๆมันมากมายเหลือเกิน ถ้าๆแจงรายละเอียดแล้วมันมากมายไม่รู้กี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นปัญหา กิเลสตัวหนึ่งก็ปัญหาหนึ่ง กิเลสตัวก็ปัญหาหนึ่ง อะไรอันนิดหนึ่งก็ปัญหาหนึ่ง อยากจะให้จับใจความของปัญหานี้ให้ได้กันเสียที นี่ขอให้พยายามฟังให้ดี คิดให้ดี เข้าใจให้ดีว่า ปัญหาทั้งหลายของมนุษย์นั่น เมื่อจะสรุปให้มันเป็นพวก ศึกษากันง่ายๆมันก็จะมีอยู่สัก ๓ ปัญหา ถึงจะมีมากมายเท่าไรมันก็มารวมอยู่ใน ๓ ปัญหานี้ได้ นี่คุณคอยคิดนึกไว้ เดี๋ยวถ้าไม่เข้าใจก็ค่อยถามกันในส่วนนี้สิ เดี๋ยวนี้ก็จะบอกให้ว่ามันจะมองกันสัก ๓ ปัญหา แต่ละปัญหานี่ต้องเข้าใจให้ดี แล้วก็ใช้ธรรมะหรือศาสนาแก้มันให้ได้
ปัญหาที่ ๑ มันเกิดมาจากการทำผิดทางจิตใจในภายในของเราเอง มันมีการกระทำที่ผิดทางจิตใจในภายในใจของเราเอง ไอ้การทำผิดทางจิตใจนี้ก็คือไอ้ผลเป็นกิเลส มีผลออกมาเป็นกิเลส ฉะนั้นปัญหาแรกที่ว่านี้ก็คือปัญหาที่มาจากกิเลส กิเลสคือการทำผิดทางจิตใจในภายในของเราเอง จนเราเกิดกิเลส คือราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง แล้วมันก็แผดเผาเรา นั่นน่ะคือความทุกข์ชนิดที่ว่ามาจากกิเลส ซึ่งจะเรียกว่า “ปัญหาที่มาจากกิเลส” โดยใจความย่อๆ เรียกกันย่อๆก็ว่า ปัญหาที่มาจากการทำผิดทางจิตใจในภายในของเรา กล่าวคือกิเลส นี้พวกหนึ่ง
ทีนี้พวกที่ ๒ มันทำผิดต่อสิ่งที่มันมีอยู่ตามธรรมชาติ มันมีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ใช่เราทำผิด แต่ถ้าเราจะทำผิด ก็ผิดตรงที่ว่าไปเกี่ยวข้องกับมันไม่ถูก แต่ว่าตัวปัญหานั้นมันเกิดของมันอยู่เองตามธรรมชาติ นอกตัวเรา นี่ระบุไปยังไอ้ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อุบัติเหตุทั้งหลาย อุบัติเหตุทั้งหลายซึ่งเราไม่ได้ทำขึ้นน่ะ มันมาหาเรา หรือว่าความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของดินฟ้าอากาศ น้ำท่วม พายุพัดอะไรก็ตาม มันก็เป็นความทุกข์ซึ่งเป็นปัญหาของมนุษย์ เราก็เรียกว่าไอ้ปัญหาที่มันมีอยู่ตามธรรมชาติ แล้วก็จะเรียกว่า “ปัญหาภายนอก” ก็ได้
ข้อที่ ๑ มันเป็นปัญหาภายใน ทำผิดทางจิตใจในภายใน แล้วเกิดเป็นปัญหาขึ้น เดี๋ยวนี้จิตใจนั้นไม่ได้ทำ มันเป็นของมันเองตามธรรมชาติ เช่นว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย อุบัติเหตุทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกแล้วจะต้องโดนกระทบทั้งนั้น หรือว่าไอ้ภัยพิบัติโดยธรรมชาติ ที่เราจะมองกันง่ายๆเดี๋ยวนี้ก็ถ้าเขารบกัน ทำสงครามใหญ่หลวงกัน ไอ้เราก็พลอยถูกกับเขาด้วย ทั้งที่เราไม่ได้ทำ ไม่ได้คิด ไม่ได้สร้างอะไรมันขึ้นมา ถ้าว่าน้ำท่วมใหญ่ เอ้า, มันก็ลำบากกันไป ถ้าไฟไหม้ใหญ่ หรือว่าดาวหางมันมาชนกันรดใส่หัวเราอย่างนี้ ซึ่งเราก็ไม่ได้ทำอะไร นี่เรียกว่าปัญหาภายนอก แต่ขอให้มารวมอยู่ที่คำว่า เกิด แก่ เจ็บ ตายดีกว่า คือการที่ทุกสิ่งที่แวดล้อมเรามันไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ ไอ้สิ่งที่แวดล้อมเราอยู่มันไม่ มันไม่เป็นไปตามที่เราต้องการให้เป็น มันก็เกิดเป็นปัญหา เป็นความทุกข์ขึ้นมา นี้เรียกว่าปัญหาที่ ๒ ปัญหาภายนอกก็ได้
อันที่ ๑ เป็นปัญหาภายใน อันที่ ๒ เป็นปัญหาภายนอก ทีนี้ก็เหลือไอ้ปัญหาที่ ๓ ซึ่งอยากจะเรียกว่า “ปัญหาทางสังคม” คำว่าสังคมคือผู้อื่นนอกจากเรา บุคคลที่ ๒ ที่ ๓ นอกไปจากเราก็เรียกว่าสังคมได้ แต่ถ้าเราจะมองกันอย่างละเอียดแล้ว บุคคลที่ ๒ ในครอบครัวก็เรียกว่าสังคมได้เหมือนกันแหละ เช่นมีบุตร ภรรยา สามี มีสามีหรืออะไรก็ตาม คนเหล่านั้นก็ ก็เรียกว่าสังคมได้เหมือนกันน่ะ แม้มันจะเป็นเนื่องอยู่กับเรา มันก็เป็นสังคมที่ใกล้ชิดกับเราที่สุด มันจะเกิดเป็นปัญหาได้เหมือนกัน แล้วสังคมบ้านใกล้เรือนเคียง มันก็เป็นปัญหาสังคม แล้วปัญหาทั้งเมือง ทั้งประเทศ ทั้งประเทศก็เป็นปัญหาสังคม แล้วปัญหาทั้งโลก เดี๋ยวนี้ถ้าโลกมันเป็นอย่างไร เราก็จะต้องพลอยถูกลากหางไปด้วย คุณก็พอจะมองเห็นแล้ว เดี๋ยวนี้เรามันถูกดึงไปสัมพันธ์กันหมดทั้งโลก โลกมีปัญหาอย่างไร เราก็พลอยมีปัญหานั้นด้วย แต่เรามองไม่ค่อยเห็นเพราะเราไม่ได้เป็นนักศึกษาประเภทการเมือง หรือประเภทไอ้อะไรที่มัน มันลึกๆ แต่เราอาจจะเห็นได้ถ้าเราจะพยายามดูสักหน่อย ว่าที่มันดึงกันไปทั้งโลกนี่มันเป็นปัญหาด้วยเหมือนกัน
คนในครอบครัวของเราเขาไปพอใจไอ้ความเจริญชนิดที่เป็นเรื่องโลกๆ มันก็เกิดเป็นปัญหาขึ้น แม้แต่พระเณรในวัดนี่ เมื่อเขาไปพอใจในเรื่องโลกๆเข้า มันก็เป็นปัญหาขึ้น แล้วมันก็ผูกพันกันอย่างที่ยาก ยากจะแยกกันนะ แล้วประชาชนมันเลวร้ายลงทุกที อาชญากรรมมากขึ้นทุกที แล้วเราจะทำอย่างไร ก็เป็นปัญหา นี่เรียกว่าปัญหาจากสังคม ก็จะย่อให้มันสั้นๆเป็นคำสั้นๆว่าปัญหาทางสังคม
ข้อที่ ๑ ปัญหาภายใน
ข้อที่ ๒ ปัญหาภายนอก
ข้อที่ ๓ ปัญหาจากสังคม
แล้วมัน มันมีข้อเท็จจริงที่จะต้องมองอีกๆๆทีหนึ่งว่า ไอ้ปัญหาเหล่านี้บางทีก็ ก็ผูกพันกัน เนื่องกัน ไม่ได้แยกๆกันโดยเด็ดขาด บางทีมันก็ผูกพันกัน ๒ ปัญหา หรือ หรือทั้ง ๓ ปัญหาก็มี หรือว่าไอ้ความทำผิดทางกิเลสน่ะมันเกิดมาจากปัญหาภายนอกก็มี อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่ามันผูกพันกัน ถ้าอย่างนี้มันยิ่งแก้ยาก มันยิ่งแก้ยาก เพราะมันผูกพันกันอย่างซับซ้อน แต่ถึงอย่างไรเราก็ดูทีละปัญหาก่อนสิ ดูทีละปัญหา ทีละปัญหา
ปัญหาที่ ๑ ทำผิดทางภายใน เกิดกิเลสขึ้นมา เป็นราคะ โทสะ โมหะ เผาเหมือนกับตกนรกทั้งเป็น แล้วยังเป็นเหตุให้ทำบาป ทำกรรม ทำชั่ว ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนต่อไปอีก เพราะกิเลสของเรา ถ้าอย่างนี้มันก็ต้องมีปัญหา คือกำจัดกิเลส คือการป้องกันกิเลส กำจัดกิเลส มันก็พูดอย่างที่เคยพูดแล้วพูดอีกไงว่าต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ในขณะแห่งผัสสะ พูดให้สั้นหน่อยก็ว่า ทำให้ถูกต้องในขณะแห่งการมีผัสสะ อย่าโง่ อย่าหลงในขณะนั้นเถอะ แล้วปัญหาเรื่องกิเลสจะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเราโง่ เราหลงในขณะแห่งผัสสะ มันก็เกิดกิเลส เกิดกิเลสได้มากมายได้หลายอย่าง ก็เผาให้ร้อน บางทีไฟนั้นลามออกไปเผาผู้อื่นด้วย นี้ปัญหาที่ ๑ แก้ด้วยการใช้ความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาทให้ถูกต้อง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะที่เรียกว่ามีผัสสะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พบรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ นั่นน่ะระวัง ทำให้ถูกที่ตรงนั้น สรุปความปัญหาที่ ๑ คือการไม่ทำผิดในขณะแห่งผัสสะ โดยความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา
ทีนี้ไอ้ปัญหาที่ ๒ ล่ะจะทำอย่างไร มันไม่ๆใช่เรา ไม่ใช่ ไม่ใช่โดยเรา เกิด แก่ เจ็บ ตายนี้มันมีอยู่ตามธรรมชาติ เราก็ไม่ต้องการ มันก็มีมา หรือว่าอุบัติเหตุทั้งหลายในโลกนี้ เราก็ไม่ต้องการ มันก็มีมา ความวิปริตในโลก ความกระทบกระเทือนในโลกมันก็มีมาตามธรรมดาของโลก เรียกว่าตามธรรมดาของโลก ปัญหานี้มันก็จะต้องต่อสู้หรือแก้ด้วยความรู้เรื่อง ตถาตา ตถาตา คือว่าทุกอย่างมันเป็นเช่นนั้นเอง ไอ้ที่ว่านั้นน่ะ ทุกอย่างที่ว่านั้นมันจะเป็นเช่นนั้นเอง เกิดแก่เจ็บตายมันเป็นเช่นนั้นเอง อุบัติเหตุทั้งหลายมันเป็นเช่นนั้นเอง วิกฤตการณ์ในโลกตามธรรมชาติ ของธรรมชาติ มันก็เป็นเช่นนั้นเอง เมื่อเราเห็นความเป็นเช่นนั้นเองแล้วเราก็ปล่อยได้ คือไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเดือดร้อน มันเป็นเช่นนั้นเอง
แต่บางอย่างมันละเอียด ปฏิบัติยาก เช่นความเจ็บความไข้นี่ ถ้าเราเห็นเช่นนั้นเอง เราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์สิ แล้วก็รอรัก ก็รักษาไปตามแบบของเช่นนั้นเอง จะเอาเช่นไหน อ่า, เช่นนั้นเองชนิดไหนมาแก้เช่นนั้นเองชนิดนี้ เช่นจะเอายาหรือเอาวิธีรักษาชนิดไหนมาแก้โรคอันนี้ก็ทำไปก็แล้วกัน ขออย่างเดียวแต่ว่าอย่าเป็นทุกข์สิ ความเจ็บ เกิดแก่เจ็บตายมันจะมาถึงก็แก้ไขต่อสู้ไปด้วยกฎของเช่นนั้นเอง คือว่าในภาย ในภายในนี้เราไม่ทุกข์ เรารู้เรื่องเช่นนั้นเองที่มันจะแก้กันได้ ที่มันเป็นข้าศึกกันอยู่ในตัวมันเอง มันแก้กันได้ เช่นยามันก็เป็นเช่นนั้นเองฝ่ายหนึ่ง ไอ้โรคมันก็เป็นเช่นนั้นเองฝ่ายหนึ่ง ก็ให้มันรบกันสิ ให้มันทำลายกันสิ มันก็หายโรคได้ ทีนี้ถ้ามันต้องตาย มันก็คือเช่นนั้นเองแหละ พอเห็นเช่นนั้นเองของความตายมันก็หัวเราะได้ ไอ้ความตายก็ไม่น่ากลัวอะไร นี่ความรู้เรื่องตถาตา สุญญตา ในพระพุทธศาสนาจะสามารถใช้ต่อต้านปัญหาภายนอกของธรรมชาติ
ถ้าสมมติว่าน้ำมันท่วมใหญ่ หรือว่าไฟมันไหม้โลก เราหัวเราะ มันพิสูจน์ความเป็นเช่นนั้นเองแล้วโว้ย มันจริงเหมือนที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้วโว้ย ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์สิ เมื่อตายมันก็เป็นเช่นนั้นเองแล้วจะไปเป็นทุกข์อะไรกับมันล่ะ แต่เมื่อมันมีเช่นนั้นเองที่จะต่อต้านได้ ก็เอาสิ ก็ต่อต้านไปสิ แต่อย่าเป็นทุกข์ ขออย่างเดียว อย่าเป็นทุกข์ เป็นคนอย่าเป็นทุกข์ให้ละอายหมา ละอายแมว เพราะหมาหรือแมวมันไม่รู้สึกเป็นทุกข์นะ อะไรจะเกิดขึ้นมันไม่ได้เป็นทุกข์หรอก มันก็ต่อสู้ไปตามเรื่องของมัน เพราะฉะนั้นมันไม่เป็นทุกข์ ไอ้คนนี่มันคิดเก่ง คิดมาก คิดล่วงหน้า คิดย้อนหลัง คิด มันจึงได้เป็นทุกข์ ก็เลยได้เป็นทุกข์ชนิดที่น่าละอายหมา น่าละอายแมว หมูหมากาไก่อะไรมันก็ไม่ได้เป็นทุกข์เหมือนคนเลย เพราะมันเช่นนั้นเองโดยอัตโนมัตินั่นน่ะ ไอ้สัตว์เดรัจฉานนี้มันไม่รู้จักความเช่นนั้นเองโดยอัตโนมัติ ก็เลยไม่เป็นทุกข์ มันก็นอนหลับดี ไม่เป็นโรคประสาท ไม่เป็นโรคจิต ไม่เป็นอะไร
นี่ปัญหาที่ ๒ จากภายนอก ตามธรรมชาติ โดยธรรมชาติ นี่ต้องแก้ด้วยตถตา คำว่า ตถตาแปลว่าเช่นนั้นเอง มันก็รวมไปถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุญญตา หลายๆตาแหละ แต่ว่าไอ้มันๆๆมีความหมายอย่างเดียวกันหมดแหละ คือมันเช่นนั้นเอง อนิจจัง ก็ไม่เที่ยง ก็เช่น ก็คือความเป็นเช่นนั้นเอง ทุกขตา มีความแปรปรวนเป็นทุกข์ มันก็คือเช่นนั้นเอง อนัตตา ไม่มีเป็นตัวเป็นตน มันก็เป็นเช่นนั้นเอง สุญญตา ว่างจากความหมายที่ควรจะถือว่าเป็นตัวตน มันก็คือเช่นนั้นเอง ปัญหาที่ ๒ แก้ด้วยมีความรู้เรื่องตถาตาอย่างเพียงพอ
เอ้า, ทีนี้ก็เหลือปัญหาที่ ๓ ที่มันมาจะ ที่มันจะเข้ามาจากสังคม คือเพื่อนร่วมโลก เพื่อนร่วมบ้านร่วมเมือง ร่วมเรือนร่วมครอบครัวนี่ เรียกว่ามันเป็นสังคม คือหลายคน มากคน แล้วก็อยู่นอกตัวเรา แล้วก็แวดล้อมเราอยู่ อันนี้ก็มีปัญหา นี่ปัญหาไอ้นี้มันก็จะต้องมองดูกันหลายแง่มุม คือ ไอ้อย่าง หรือว่าอย่างน้อยก็ ๒ แง่มุม คือมันทำให้เราลำบาก เพราะว่าเราไม่ ไม่รักใคร่กัน หรือว่าเราต้องรับผิดชอบ ทั้งที่รักใคร่กัน และรักใคร่กัน มันก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้น แล้วเราก็ต้องรับผิดชอบสังคม คือคนอื่นหรือผู้อื่นที่แวดล้อมเราอยู่ แล้วก็หลายคนนี่ ปัญหาที่จะมีก็คือการกระทบกัน ไม่รักกัน อิจฉาริษยากัน
อ่านคัมภีร์ไบเบิ้ลแล้วชอบใจ ในคัมภีร์ไบเบิ้ลตอนหนึ่งตอนแรกๆน่ะ ที่แสดงให้เห็นว่า บาปเลวร้ายอันแรกของมนุษย์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกคือ ความริษยากัน ก่อนนี้มันไม่รู้จักทำบาปอะไร มันไม่รู้ดีรู้ชั่ว ไม่รู้จักทำบาปอะไร พอมันรู้ดีรู้ชั่ว แล้วพระเจ้าก็สาปให้มันเป็นผัวเมียคู่แต่งงานกัน แล้วก็มันก็มีลูกมีหลานขึ้นมา อาดัมกับอีฟน่ะมันมีลูกมีหลานขึ้นมา แล้วไอ้พี่น้อง ไอ้เบลกับเคลน่ะมันทำบาปครั้งแรก คือว่าพี่ชายมันน่ะอิจฉาน้อง เพราะว่าแม่พ่อเขารักมาก พี่มันเลยหลอกน้องไปฆ่าเสียในป่าน่ะ นี่บาปอันแรกที่มนุษย์ทำ ก่อนนี้ยังไม่ๆพบว่ามันๆทำบาปอะไร เพราะมันหยกๆนี่ มันเพิ่งมีมนุษย์หยกๆ แล้วเพิ่งมีมนุษย์ที่เป็นมนุษย์หยกๆ ความเป็นมนุษย์หยกๆนี่ รู้ดีรู้ชั่วนี่ เป็นเหตุให้ทำบาป อิจฉาน้องเพราะพ่อแม่รัก มันก็หลอกน้องไปฆ่าเสียในป่า เพราะมันอยากจะดีไง เพราะว่ามันติดยึดๆในความดี หรือว่าพ่อแม่ไม่รักก็ไม่ดี เพราะฉะนั้นไปฆ่าต้นเหตุที่ทำให้ไม่ดีคือน้องเสีย นี่ปัญหาทางสังคมระหว่างมนุษย์เกิดขึ้นเป็นเรื่องแรก คือริษยากัน เพราะฉะนั้นเราก็ลองสังเกตดูเถอะ ไอ้เด็กเล็กๆน่ะมันยังริษยาเลย เด็กเล็กๆที่มันเป็นพี่น้องกัน ท้องเดียวกันแท้ๆมันยังริษยากันเลย แม้เดี๋ยวนี้แหละ แม้เดี๋ยวนี้ นั่นแหละมันต้นเหตุแห่ง รู้จุดตั้งต้นแห่งปัญหาของสังคม คือมันไม่รักกัน เพราะฉะนั้นปัญหาของสังคมทั้งหมดนั้นมันจะแก้ได้ด้วยความรักกัน คือรักผู้อื่น เมตตา กรุณา มุทิตา อะไรก็ตามเถอะ รวมความแล้วมันก็คือรักผู้อื่น
ศาสนาพระศรีอริยเมตไตรยที่จะมาข้างหน้ามีความหมายเท่านี้ รักผู้อื่นสุดๆขีด รักผู้อื่นสุดเหวี่ยง เป็นศรี เป็นอริยะ แล้วก็เมตเตยยะ เมตเตยยะแปลว่าความรักผู้อื่น แปลว่าเนื่องด้วยความรักผู้อื่น เมตเตยยะ เมตตาแปลว่ารัก เมตเตยยะ เนื่องด้วยเมตตา เนื่องด้วยความรักผู้อื่น เป็นอริยะ ชั้นยอด เป็นศรี ชั้นเลิศ ศรีอริยเมตไตรยะ ความรักผู้อื่น
ถ้ามันมีความรักผู้อื่นเข้ามา ปัญหาในสังคมมันก็หมดแหละ เดี๋ยวนี้มันฆ่ากันวันหนึ่งไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร ทั้งโลกนี่มันฆ่ากันด้วยความไม่ๆๆพอใจกัน คือไม่รักกัน ไม่รู้วันละว่าเท่าไร ไม่ใช่สงครามนะ ยังไม่ใช่สงคราม ทีนี้พอถึงวันที่มันจะทำสงครามมันก็ฆ่ากันมากกว่านี้มาก ใช้ลูกระเบิดชนิดที่ฆ่าคนทีเดียว ๑ แสน ๑ ล้านไปเลย มันๆไม่ได้รักผู้อื่น มันมีตัวตนของตน เห็นประโยชน์แก่ตน แล้วมันก็ไม่อาจจะรักใคร ถ้าผู้ใดมาขัดขวางประโยชน์ของตน มันก็จะฆ่าเขาเสีย คุณดูตัวอย่างอย่างที่ว่า พี่มันหลอกน้องไปฆ่าทิ้งในป่าเพราะว่าพ่อแม่รักน้องมาก นี่ดูให้ดีๆ ถ้าอย่างนี้มันก็ต้องแก้ด้วยเมตตา เมตตาหรือความรักผู้อื่น ปัญหาที่ ๓
ปัญหาที่ ๑ กิเลสความทุกข์ในภายใน แก้ด้วยปฏิบัติอิ อิทัปปัจจยตาให้ถูกต้อง
ปัญหาที่ ๒ ที่เราบังคับมันไม่ได้ ต้องแก้ด้วยความรู้เรื่องตถาตา ตถาตา ให้มันถูกต้อง
ไอ้ความ ปัญหาที่ ๓ ก็คือว่าสังคมนี้ ต้องแก้ด้วยสิ่งที่เรียกว่าเมตตา เมตตานี่ให้มันถูกต้อง
มันบังเอิญเป็น ตาๆๆๆทั้งนั้นเลยนะ อิทัปปัจจยตาบ้าง ตถาตาบ้าง เมตตาบ้าง ความที่ไม่รู้จักใช้ธรรมะให้ถูกต้องน่ะ คือตรง ตรงกับคู่ของมันน่ะ เราจึงมีปัญหาเหลืออยู่ อย่างน้อยก็ ๓ ปัญหา ปัญหาภายในคือกิเลสเผาผลาญอยู่ เหมือนกับอยู่ในกองเพลิงนี่เรียกว่า เรียกว่าไฟกิเลส ต้องแก้ด้วยการใช้อิทัปปัจจยตาให้ถูกต้อง
ปัญหาที่ ๒ เราไม่เข้าใจธรรมชาติ หรือสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อเจ็บ เมื่อไข้ เมื่อจะตาย เราก็มานั่งร้องไห้กันอยู่ เมื่ออะไรๆมาตามธรรมชาติก็ร้องไห้กันอยู่ แม้ยังมาไม่ถึง ก็เอามาเป็นทุกข์ได้มาก อย่างนี้ดูจะนิยมเรียกกันว่าไฟทุกข์ หรือความทุกข์ตามธรรมชาติน่ะ เราเรียกว่าไฟทุกข์
ไฟกิเลสที่เนื่องมาจากทำผิด นี่เรียกว่าไฟทุ ไฟกิเลส ไฟกิเลส ไฟคือกิเลส ทีนี้ไฟทุกข์จากสิ่งที่เรา ที่มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติ เราก็ไม่ได้ทำผิด เราไม่ได้ทำผิด ไอ้สิ่งเหล่านั้นมันเกิดเองตามธรรมชาติ ทีนี้เราจะทำผิดก็คือความโง่ของเรา ต้อนรับมันไม่เป็น เราต้อนรับมันไม่เป็น ปัญหาของธรรมชาติทั้งหลายนี่เราต้อนรับมันไม่เป็น มันก็เข้ามาเป็นทุกข์แก่เรา เรียกว่าไฟทุกข์ตามธรรมชาติ
ทีนี้สังคม เราทำความเข้าใจกันไม่ได้ เรารักกันไม่ได้ มันก็มีปัญหาเกิดขึ้น เป็นไฟของ ความที่รักกันไม่ได้ ไฟเกลียด ไฟริษยา เรียกว่าไฟสังคม ไฟมาจากสังคม ไม่เรียก ไม่ถูกต้อง
นี่ผมก็อยากจะให้รู้หัวข้อของเรื่องที่สำคัญที่สุด คือปัญหา ๓ ประการของมนุษย์ ซึ่งเขาจะต้องรู้จักให้ดี และต้อนรับมันให้ถูกต้อง ป้องกันให้ถูกต้อง แก้ไขให้ถูกต้อง แล้วก็ไม่ต้องมีความทุกข์เลย คำว่าความถูกต้องน่ะ ที่ว่าถูกต้อง ถูกต้องคือไม่มีความทุกข์เลย ถ้ายังมีความทุกข์อยู่ก็ต้องเรียกว่ามันไม่ถูกต้องแหละ เราไม่พูดแบบปรัชญา แบบ Logic แบบอะไรไม่พูด ซึ่งมันพูดกันมากนัก แล้วก็ไม่ค่อย ไม่ มันไม่ค่อยจริงด้วย พูดแบบความรู้สึกตามธรรมชาติ ไม่ถูกต้องคือมันยังมีความทุกข์เหลืออยู่ ดับทุกข์ไม่ได้ แม้ว่าเราจะไม่สามารถจะทำให้ถูกต้อง มันก็เป็นความไม่ถูกต้องอยู่นั่นเอง ฉะนั้นจงศึกษาให้เพียงพอ ปฏิบัติให้เพียงพอ จนไม่มีความทุกข์เหลืออยู่ นั่นแหละคือถูกต้อง
ทีนี้มันมีเคล็ด มีเคล็ด มีเคล็ดอยู่บ้างนะ ที่มัน มันซ่อนอยู่น่ะ ไอ้สิ่งที่เราปฏิบัติไม่ได้ ที่ไม่อยู่ในวิสัย ในอำนาจของเราน่ะ จะมาโทษเราว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องก็ไม่ได้ แต่ถ้าเรายังต้องเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เดือดร้อนอยู่ เราก็คือโง่ เราก็คือไม่ถูกต้องเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีวิธีที่ปฏิบัติให้ถูกต้องต่อสิ่งที่เราบังคับมันไม่ได้ อย่างเช่นว่ามันจะมีสงครามโลก มันจะทิ้งระเบิดไฮโดรเจนลงมานี่ แล้วเราจะคิดอย่างไรที่จะไม่เป็นทุกข์ หรือว่าถ้ามันทิ้งลงมาจริงๆ เราจะคิดอย่างไรจึงจะไม่เป็นทุกข์ นี่ความรู้เรื่องถึงอนัตตา เรื่องสุญญตาจะช่วยได้ ไม่มีความยึดถือเป็นตัวตน ไม่มีตัวตนสำหรับจะ จะถูกลูกระเบิดนั้นน่ะ ไม่มีตัวตนสำหรับจะเป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนสำหรับจะถูกลูกระเบิด อย่างนี้มันคือความถูกต้องที่เราต้องรับผิดชอบเหมือนกัน ในสิ่งที่เราบังคับมันไม่ได้เราต้องเตรียมข้างใน ปรับปรุงภายในของเราให้มีจิตใจชนิดที่เราไม่เป็นทุกข์กับมัน ก็มีเท่านั้น รวมความว่าไม่เป็นทุกข์กันเลย ไม่มี ไม่มีความทุกข์เกิดมาจากปัญหาไหนๆ
ในพระบาลีมีข้อความแปลกประหลาดอยู่สูตรหนึ่ง ซึ่งๆเราก็เข้าใจไม่ได้ว่าทำไมจึงพูดไว้อย่างนี้นะ ผมเลยเดาเอาเองว่า ก็เพื่อให้เราเตรียมตัวสำหรับจะปฏิบัติให้ถูกต้องต่อสิ่งที่เราบังคับไม่ได้ สิ่งใหญ่หลวงใหญ่โตนั้นมีมาก็ตามใจ แต่ไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ได้ก็แล้วกัน คือเขามีสูตรๆหนึ่งที่กล่าวว่า ในๆยุคข้างหน้าน่ะ ในสมัยข้างหน้า ในอนาคตนานไกลนั่นน่ะ จะมีดวงอาทิตย์พร้อมกัน ๗ ดวง เอ้า, ฟังเป็นเรื่องวัตถุธรรมดากันก่อนก็ได้ ว่าดวงอาทิตย์ธรรมดาๆนี่ ดวงอาทิตย์ชนิดนี้ อย่าไปตีความเป็นกิเลสเป็นอะไรให้มันยุ่งล่ะ พออาทิตย์เพิ่มขึ้น ๒ ดวง ไอ้ผิวโลกมันก็จะร้อนจนเหลือจะทนแล้ว พออาทิตย์เริ่มขึ้น ๓ ดวง มันจะเป็นอย่างไร พออาทิตย์เพิ่มขึ้น ๔ ดวง ๕ ดวง กระทั่ง ๖ ดวงนี่ ไอ้โลกนี้มันจะลุกไหม้เป็น ไม่มีอะไรเหลือนั่น คุณจะทำอย่างไร นี่คล้ายๆกับจะบอกให้ๆคิดนึกว่ามันอาจจะมีได้ถึงอย่างนั้น แต่มีได้ถึงอย่างนั้นกูก็ไม่กลัว กูก็ไม่กลัว กูเห็นเป็นเรื่องตลก เป็นเรื่องไม่ๆมี มี ไม่มีทุกข์ ไม่มีปัญหา กูเตรียมตัวสำหรับที่จะไม่เป็นทุกข์ เตรียมตัวสำหรับจะไม่ๆยึดถือว่ามีตัวกูสิ เตรียมศึกษาความรู้ที่จะไม่มีตัวกู มันก็เลยไม่มีปัญหาเกิดขึ้นแก่ใครได้ ให้ดวงอาทิตย์มีร้อยดวงพร้อมๆกันก็ไม่แปลกเลย ถ้าไม่มีตัวกูมันจะ มันจะอะไร มันจะมีปัญหาอะไรล่ะ
ฉะนั้นเรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตามันแก้ปัญหาได้หมดนะ นี่ถ้าคุณรู้หลักพุทธศาสนาข้อนี้ก็จะ จะดีมากแหละ จะเรียกว่ารู้ถึงไอ้หัวใจของพุทธศาสนา แล้วจะนำมาใช้แก้ปัญหาได้จริง คือไม่มีความทุกข์เลย ไม่ๆใช่ว่างมงายๆ ไม่รู้ว่าทำไปทำไม ก็ทำไปพอเป็นพิธีรีตอง เป็นสวดมนต์เป็นพิธี ทำบุญเป็นพิธี อะไรเป็นพิธี แล้วก็ยังร้องไห้โฮๆอยู่บ่อยๆนี่ มันไม่มีประโยชน์อะไร มันไม่ได้ ไม่ได้รับประโยชน์อะไร คนบ้าก็มากขึ้น โรคประสาทก็มากขึ้น โรคจิตก็มากขึ้น เพราะมันไม่รู้จักใช้ธรรมะเป็นเครื่องป้องกัน
ถ้ามีธรรมะให้พอโดยพื้นฐานแล้วสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น การเบียดเบียนกันก็ไม่เกิดขึ้น โรคภัยไข้เจ็บทางกายก็ไม่เกิดขึ้น ทางจิตก็ไม่เกิดขึ้น ทางวิญญาณก็ไม่เกิดขึ้นนี่ มันก็จะเป็นโลกที่ โลกพระศรีอริยเมตไตรยได้ คือไม่มีความทุกข์ มนุษย์อยู่กันอย่างไม่มีความทุกข์สมกับที่ว่ามันเป็นโลกของมนุษย์น่ะ คือมีความรู้เพียงพอ มีจิตใจสูงพอ ที่จะทำให้ไม่เป็นทุกข์ในทุกกรณี
ฉะนั้นขอให้สนใจกันไว้เถิดว่า ไอ้ธรรมะแก้ปัญหาได้หมด ไม่มีอะไร ไม่มีปัญหาอะไรที่ธรรมะจะแก้ไม่ได้ แต่ว่าคนมันโง่ คนมันโง่ มันไม่รู้จักปัญหานั้นเลย แล้วมันจะรู้จักสิ่งที่จะแก้ปัญหาอย่างไร แล้วมันก็ไปทำพิธีแก้ปัญหากันโดยไม่รู้จักปัญหานี่มันน่าสงสาร ทำพิธีรีตองทางธรรม ทางศาสนากันมากมายทุกหนทุกแห่ง มันก็เป็นพิธีเท่านั้นแหละ มันไม่แก้ปัญหาของมนุษย์ได้ มนุษย์ยังเกลียดชังกัน ยังรบราฆ่าฟันกัน มีจิตใจเป็นทุกข์เพราะกิเลสในภายในของตนเอง มีความทุกข์เพราะธรรมชาติภายนอกมันเป็นไปเอง มีความทุกข์เพราะว่าเราไม่รู้จักรักกัน สร้างปัญหาขึ้นใส่กัน
เอาแล้วเป็นอันว่าผมก็ได้บอกไอ้หัวข้อสำคัญของธรรมะ คือว่าหลักของธรรมะหรือศาสนานี้ท่านถือหลักกันอย่างนี้ ท่านมีหลักกันอย่างนี้ คือมีความทุกข์หรือมีปัญหาที่มนุษย์จะต้องแก้นั่นมีเป็น ๓ ประเภทอย่างนี้ ถ้าหลักธรรมะในพระพุทธศาสนามีให้พอ ครบถ้วนพอที่จะแก้ปัญหาทั้ง ๓ อย่างนี้ ฉะนั้นขอให้เราทุกคนศึกษาให้ ให้ถูกต้อง ให้เพียงพอ ให้ถูกต้อง แล้วก็สามารถจะแก้ปัญหาได้จริง แล้วแต่ปัญหาอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าปัญหาภายในเกิดขึ้นเป็นเรื่องของกิเลส ก็รู้จักปฏิบัติป้องกันไม่ให้เกิดกิเลส หรือว่าทำลายกิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว ถ้าเป็นเรื่องจากภายนอกก็หัวเราะเยาะ โอ้ย, มันเช่นนั้นเอง มันเช่นนั้นเอง ถ้าเป็นปัญหาทางสังคม มันก็แก้ปัญหาด้วยรักผู้อื่น ทีนี้ถ้าผู้อื่นมันไม่เอาด้วย มันกลายเป็นปัญหาภายนอกที่มันจะต้องมีในโลก ก็เช่นนั้นเองอีกเหมือนกัน ถ้ามันจะมีศัตรูเกิดขึ้นอย่างที่ช่วยแก้ไขกันไม่ได้ก็ถือเป็นปัญหาภายนอก ถ้าแก้ไขได้ก็ถือเป็นปัญหาภายในที่แก้ไขได้ ถ้ามันๆแก้ไขไม่ได้ก็ยกให้เป็นปัญหาภายนอก ซึ่งมันเกิดอยู่ตามธรรมชาติในๆโลกนี้ จะต้องมีคนพาล มีคนเลวร้าย มีคนอะไรเป็นธรรมดา เป็นปัญหาตามธรรมชาติไปเสียเลย นี่ปัญหาจะไม่มีเหลือ และจิตใจนี้ก็จะไม่มีปัญหา มันก็คือเย็นเป็นนิพพาน ถ้าไม่มีปัญหา มันก็คือเย็นเป็นนิพพาน
เพราะฉะนั้นนิพพานมันอยู่ที่ไม่มีปัญหา มันอยู่ที่นี่ อยู่กับเราที่นี่ ที่เราจะทำให้มันหมดปัญหาได้ อย่าไปเข้าใจว่ามันเป็นเมืองแก้วนิรันดรอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ จะไปถึงได้ต่อหมื่นปีแสน อ่า, สักหมื่นชาติแสนชาติ ทำความดีไปเถิด นั่นมันคล้ายๆกับว่ามันเป็นคำสอนชนิดที่ไม่รับผิดชอบอะไรนัก เป็นเรื่องของความเชื่อ แต่แล้วคนก็ไม่ค่อยทำความดีเพื่อไปนิพพานแม้ชนิดนั้น แม้ชนิดนั้น เพราะมันหลงอยู่ในเนื้อหนัง ความรู้สึกเอร็ดอร่อยที่เกิดขึ้นที่เนื้อหนัง คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มาบูชาสิ่งเหล่านี้มากกว่า ยิ่งรู้ว่าพระนิพพานไม่มีอะไรรบกวน เย็นชืดเกินไป แล้วก็ยิ่งไม่ต้องการ
แต่นิพพานมันก็ไม่ได้เย็นชืดจนไม่มีรสชาติอะไร มันมีรสชาติชนิดที่ไม่เคยชิมก็บอกไม่ถูกหรอก ฉะนั้นจึงขอให้ไปสังเกตดูว่า เมื่อเราไม่มีกิเลสรบกวนน่ะมันมีรสชาติอย่างไร ไม่มีราคะรบกวน ไม่มีโทสะรบกวน ไม่มีโมหะรบกวน ไม่มีกิเลสชื่อไหนรบกวน นั่นเป็นอย่างไร นั่นน่ะคือรสของพระนิพพานแหละ อย่าไปเชื่อตามคนโง่ที่ว่ามันไม่มีรสชาติอะไร
เอาแล้วเป็นอันว่าผมพูดเป็นหัวข้อขึ้นมาว่า
ปัญหาที่ ๑ เกิดจากทำผิดในภายใน เกิดกิเลสขึ้นมาทำร้ายเรา
ปัญหาที่ ๒ รา อ่า, เกิดจากเราโง่ต่อสิ่งที่แวดล้อมเราตามธรรมชาติ มีอยู่ตามธรรมชาติ เราไปเอามาเป็นความทุกข์ของเรา
แล้วปัญหาที่ ๓ คือสังคมมนุษย์ที่อยู่ด้วยกัน มันทำให้เกิดปัญหาขึ้นแก่เรา
ทีนี้มีๆเรื่องอะไรที่สงสัย หรือว่าไม่เข้าใจ หรือว่ายังมีปัญหาอะไรมากกว่านี้ก็ลองว่ามาดู ผมนั้นยืนยันว่าปัญหาทั้งหลายที่ให้เกิดความทุกข์น่ะมันจะสรุปรวมอยู่ได้เป็น ๓ ประเภทอย่างนี้ รู้จักใช้อิทัปปัจจยตาให้ถูกต้อง รู้จักใช้ตถาตาให้ถูกต้อง รู้จักใช้เมตตาให้ถูกต้อง แล้วก็จะหมดปัญหา เอ้า, ใครมีความ อ่า, คำๆถาม มีปัญ มีปัญหาอะไรก็ได้ มีคำถามอย่างไรก็ว่ามา เรียกว่าปัญหาได้เหมือนกัน
โดยหลัก ๓ อย่างนี้จะใช้ปฏิบัติได้หรือไม่ จะเพียงพอหรือไม่ที่จะแก้ปัญหาต่างๆด้วยธรรมะหรือด้วยศาสนา ใครมีสงสัยอย่างไร โดยหัวข้อ ๓ หัวข้อนี้ที่พูด ไม่มีใครสงสัยเลยหรือ ถ้าไม่มีใครสงสัยโดยหัวข้อใหญ่ๆ ๓ หัวข้อนี้ เราก็พูดกันโดยรายละเอียดต่อไปสิ โดยรายละเอียดไอ้ของหัวข้อใหญ่ๆนี้
มนุษย์ที่เรียกว่าคนนี่ มันมีร่างกาย มันมีจิต กับมีความรู้สึกของจิตมากมาย มากมาย ความรู้สึกของจิตหรือสิ่งปรุงแต่งจิตน่ะมากมาย ฉะนั้นถ้าว่าจิตนั้นมันไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับไอ้เรื่องที่เข้ามากระทบจิต จิตก็ทำผิด ทำผิดต่อเรื่องนั้นๆมันก็ได้เกิดความทุกข์ขึ้น ฉะนั้นที่เรามาบวช มาเรียน มาศึกษากันนี่ก็เพื่อจะศึกษาความรู้เพื่อจิต ใช้คำว่าเรามันไม่ถูกต้องเพราะมันไม่มีเรา มันก็มีจิตนั่นแหละเป็นเรา สิ่งที่เรียกว่าจิตนั่นแหละมันก็ออกเป็นตัวเรา
เดี๋ยวนี้เราก็มาบวช มาเรียน มาศึกษาเพื่อหาความรู้ให้เพียงพอแก่จิต สำหรับจิตนั้นจะมีความรู้เพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้ในเมื่อมันมีอะไรมากระทบจิต สิ่งที่จะกระทบจิตนั่นน่ะก็คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไอ้ใจคือมโน คำนี้เขาใช้คำว่ามโน ไม่ได้ใช้คำว่าจิต ในฐานะเป็นทวารภายนอกรอบตัวจิต ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่ที่สิ่งภายนอกคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์จะเข้าไปได้จนถึงจิตโดยอาศัยทวารเหล่านี้ ในเมื่อไอ้ที่ตรงประตู ประตูทวารน่ะ ทวาร นายทวารเขาทำผิด จิตดวงเดียวเท่านั้น เดี๋ยวก็ทำหน้าที่มีลักษณะอย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนี้ ครบหมดแหละ ที่มันจะมาสัมผัส รู้สัมผัสที่ตา ที่หู มันก็คือจิตมาทำหน้าที่ที่ตรงนั้น แต่ด้วยความละเอียดที่สุดและว่องไวที่สุด มันก็ทำหน้าที่ได้หมดทุกแห่ง แล้วทำผิดก็มีความทุกข์ แล้วก็รู้ว่าความทุกข์ แล้วก็อยากจะทำให้ถูก ฉะนั้นจิตก็รู้จักเข็ดหลาบต่อความทุกข์ ก็อยากจะหาทางที่จะดับทุกข์ หาวิชาที่จะดับทุกข์ เพราะฉะนั้นจิตจึงหาทางที่จะศึกษา ตัวจิตมันบังคับกายนี่ จิตก็บังคับกาย บังคับทั้งกลุ่มนี้ไปศึกษา หา หาโอกาส หาบุคคล หาสถานที่ที่จะศึกษา ให้รู้พอที่ว่าจะต้อนรับไอ้อารมณ์ที่เข้ามากระทบนั้นอย่างไร มาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนี่ จะต้อนรับกันอย่างไร เกิดขึ้นในจิตเอง ในมโน ทวารของจิตนั่น จะต้อนรับกันอย่างไร
นี่ก็คือความรู้ที่เรามาเรียนกัน เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ได้รับความรู้ชนิดนี้ ประเภทนี้อย่างเพียงพอ มันก็ไม่คุ้มค่าแหละ มันก็ไม่คุ้มค่า ไม่คุ้มค่าที่มีชีวิตหรือคุ้มค่าที่มาบวช คุ้มค่าที่มาบวช ศึกษาพระพุทธศาสนา ฉะนั้นขอให้พยายามให้ได้มีความรู้เกิดขึ้นแก่เราหรือแก่จิตนั้นอย่างเพียงพอ เรียกว่าสามารถปฏิบัติให้ถูกต้องเมื่ออารมณ์ภายนอกมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วยังต้องฝึกให้เร็วด้วย ให้จิตเองนั่นแหละมันเร็วพอที่จะรู้สึกตัว พอ เร็วพอที่จะเอาความรู้นี้ไปป้องกันการเกิดกิเลสที่อาศัยอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราศึกษาสติ ฝึกฝนสติ ทำให้เกิดสติ แล้วก็ศึกษาปัญญา รู้เรื่องความจริงของสิ่งทั้งปวง ให้สติเอาปัญญา คือรู้สึกตัวทันทีที่มีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นต้น
ยิ่งกว่านั้นอีก ก็ให้จิตนั้นเองมีกำลังเข้มแข็งที่สุด ไม่อ่อนแอ สามารถปฏิบัติหน้าที่ของมันได้เต็มที่ นี่เราก็ฝึกสมาธิสิ ถ้าเราปฏิบัติครบถ้วนตามชุดทั้งชุดของอานาปานสติ เราจะมีทั้งสะ สติ จะมีทั้งสมาธิ จะมีทั้งปัญญาอย่างเพียงพอที่จะเผชิญหน้ากับการกระทบทางอารมณ์ที่จะเข้ามากระทบแล้วก็เกิดกิเลส ก็มันจะเป็นๆเครื่องป้องกันไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นแก่จิตนั้นได้ นี่ปัญหาที่ ๑ ที่จะต้องรอบรู้นะ
ที่แล้วมาเราไม่มีความรู้อันนี้เลย พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ประโยคหนึ่งซึ่งน่าขบขันที่สุดแหละ ทั้งที่เราก็เคารพพระพุทธเจ้าสูงสุด เราก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นๆคำพูดประโยคที่ขบขันที่สุด คือว่าทารกน้อยๆนั้นมันไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ ดังนั้นมันจึงไปยินดียินร้ายในอารมณ์ที่มากระทบจนเกิดกิเลส เป็นตัณหา เป็นอุปาทานขึ้นแก่ทารกนั้น ทำไมพระพุทธเจ้าจะต้องพูดประโยคชนิดนี้เล่า มันก็ๆๆจำเป็นที่จะต้องพูดล่ะ เพื่อจะเตือนกันอีกทีหนึ่งว่าเกิดมาจากท้องแม่ มันไม่ได้เอาสติปัญญาวิชาความรู้อะไรมาด้วย เป็นทารกเกิดจากท้องแม่แล้ว มันก็ไม่มีความรู้เรื่องนี้ คือทารกนั้นมันไม่มีความรู้ว่าอย่าไปหลงในรูป เสียง กลิ่น รส ไอ้โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นั้นเข้า ทารกใน ที่เกิดมาจากท้องแม่ใหม่ๆนี้มันไม่รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะป้องกันการเกิดแห่งกิเลส พระพุทธเจ้าจึงใช้คำว่า ไอ้ทารกนั้นมันไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ ไอ้เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติน่ะคือหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ ทีนี้ไอ้ทารกนั้นมันไม่รู้ ไม่มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุตินะ ฉะนั้นทารกนั้นจึงโง่ ก็ไปยินดียึดถืออารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นี่คือตัวปัญหา แต่ที่มันมีมาตั้งแต่ในท้องเพราะมันขาดความรู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ
ทีนี้อยู่มาจนบวชพระ บวชเณร มันก็ยังไม่ได้เรียนรู้จนถึงขนาดรู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุตินะ อย่าอวดดีไป ให้สอบไล่นักธรรมเอกเป็นเปรียญ ๙ ประโยค มันก็ยังไม่รู้นะ มันได้แต่ท่องตามตัวหนังสือนะ แล้วมันก็ยังเหมือนกับเด็กๆทารกนะ ซึ่งมันไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ เพราะฉะนั้นคนโตๆเหล่านี้มันก็จับฉวยอารมณ์ ยึดถืออารมณ์ ก็เกิดกิเลสได้เหมือนกับเด็กทารกนั้น เหมือนกัน แล้วมันยังมีปัญหาหนักตรงที่ว่าไอ้อารมณ์ที่เข้ามานั้นมันอร่อยมากนะ มันยั่วยวนมากนะ ไอ้ทารกจึงละสภาพเดิม คือสภาพปกติน่ะไปตามสภาพกิเลส ซึ่งมีนิทานเปรียบไว้ดีที่สุดแล้วว่า ไอ้เด็กคนนั้นมันก็ทิ้งพ่อแม่ หนีตามโจรไป ไปอยู่ใต้อำนาจของโจร เมื่อมันเกิดมามันอยู่กับพ่อแม่นะ เป็นอิสระ คืออยู่กับความปกติตามธรรมชาตินี่ แต่พอเด็กเห็นนี่ มันไปพบไอ้เอร็ดอร่อย ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รสเข้า มันไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ มันก็ไปเอาเรื่องกิเลสนั่นน่ะ นี่เรียกว่ามันทิ้งพ่อแม่ หนีตามโจรไป มันก็ได้แก่พวกเราทุกคนนะ เมื่อเกิดมาอยู่ในสภาพปกติ แต่มันปกติชนิดที่ไม่รู้อะไร ไม่รู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ พอสวยงามเอร็ดอร่อยมา มาเกี่ยวข้อง มาล่อมา มากขึ้นๆ จิตก็ไปตามนั้นน่ะ ไปตามอำนาจของความสวยงาม เอร็ดอร่อย หอมหวน นิ่มนวลอะไรก็ตามใจนี่ เรียกว่าวิ่งตามโจรไป มันก็คือไปเป็นกิเลส ไปตามกิเลส วิ่งตามโจรไปคือไปเป็นพวกของกิเลส ปัญหาที่ ๑ ของมนุษย์ มันไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติมาแต่ในท้องน่ะ มันมีไม่ได้นี่ ฉะนั้นมันจึงมาหลงตามไปกับสิ่งที่เข้ามาแวดล้อม มายั่วให้รักให้หลงไป นั่นน่ะคือเกิดราคะ โลภะน่ะ พอมันหลงรัก มันเกิดราคะและโลภะ ทีนี้พอมันไม่ได้ตามที่มันๆต้องการน่ะ ในเรื่องนั้นๆน่ะมันก็เกิดโทสะ เกิดโกธะขึ้นมา เกิดได้เองตามธรรมชาติ
ทีนี้เมื่อมันยังไม่รู้ถึงที่สุดอยู่เพียงไรมันก็หลง หลงอยู่นั่นแหละ วนเวียนอยู่นั่นน่ะ เป็นโมหะ สนใจอยู่แต่ในเรื่องเหล่านั้น เข้าใจผิดบ้าง เข้าใจถูกบ้าง ก็วนเวียนอยู่แต่กับเรื่องเหล่านั้น มันก็มีโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ โกธะ แล้วก็โมหะอะไร เป็นโจรไปเลย ได้เป็นโจรไปเลย ทีนี้จะเอาปัญญา เอาวิชชา เอาความรู้ที่ไหนมา มาช่วยตัว นี้ดีแต่ว่าจิตนั้นน่ะมันเปลี่ยนได้ จิตนั้นมันกลับได้ตามสิ่งที่แวดล้อม และไอ้ความทุกข์นั่นแหละมันบีบคั้นจิตให้เจ็บปวด จิตมันก็รู้จักความเจ็บปวดสิ เพราะๆไปหลงในไอ้กิเลสเหล่านั้น มันก็รู้จักกลัว รู้จักเข็ดหลาบ รู้จักจำ ฉะนั้นความทุกข์นั่นแหละมันสอนให้
เมื่อเราๆเหยียบไฟ มันก็เจ็บเราก็ยกๆๆเท้าทันทีนะ ไอ้ความเจ็บน่ะมันบังคับให้ มันสอนให้ ทีนี้เมื่อเรามีความทุกข์ ไอ้ความทุกข์มันกัดเอา เราก็อยากจะไม่มีทุกข์ อยากจะออก อยากจะหลีกจากทุกข์ นี่มันสอนให้ เพราะฉะนั้นควรจะต้อนรับไอ้ความทุกข์ในฐานะที่เป็นครู อย่ามัวมานั่งร้องไห้โฮๆ อย่ากินยาฆ่าแมลง อย่าไปผูกคอตาย ไม่มีประโยชน์อะไร เมื่อความทุกข์มันเกิดขึ้น แล้วก็อาศัยความทุกข์นั่นแหละเป็นการศึกษา เป็นการศึกษา ศึกษาตัวทุกข์จนรู้จักตัวทุกข์ ถ้าไม่โง่เกินไปมันก็พอจะรู้ได้ว่าอย่าไปทำอย่างที่ทำมาแล้วสิ ถ้ามันๆไม่โง่เกินไป มันจะเกิดความรู้ขึ้นมาได้บ้างว่า อย่าไปทำอย่างที่ทำมาเมื่อตะกี้สิ มันเป็นทุกข์นี่ นี่ความรู้มันจะเกิดได้ตามธรรมชาติอย่างนี้
ในพระบาลีมีคำกล่าวที่ลึกซึ้งที่สุดน่ะ แล้วคงจะเข้าใจยากสำหรับคนธรรมดาว่า “ความทุกข์ทำให้เกิดศรัทธา” ฉะนั้นศรัทธาของทายกทายิกาทั้งหลายนั่นเป็นศรัทธาหลุบๆล่อๆ ไม่ใช่ศรัทธาแท้จริง เป็นศรัทธาที่บ้านนี้เขาเรียกว่า ศรัทธาหัวเต่า ศรัทธาหลุบๆล่อๆ เพราะว่าทายกทายิกา ทั้งหลายเหล่านั้นไม่รู้จักความทุกข์นี่ มันเป็นศรัทธาตามโฆษณาชวนเชื่อเสียหมดนี่ ถ้ามันเป็นผู้ที่ชิมรสของความทุกข์มาอย่างเต็มที่มันจะมีศรัทธาแท้จริงในฝ่ายดับทุกข์ ศรัทธาที่แท้จริงในฝ่ายดับทุกข์มันจะเกิดขึ้นเพราะว่ามันมีความทุกข์ ปฏิจจสมุปบาท ๒๔ อาการน่ะพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อย่างนี้ เราทำผิดมาตั้งแต่ต้น ผิดมาๆจนเกิดความทุกข์ นี่พอมาถึงไอ้ความทุกข์เต็มที่แล้วจะไปทางไหน ถ้าคนมันไม่โง่เกินไป มันก็นึกหาความดับทุกข์ แล้วมันก็มีศรัทธาแน่ แน่นแฟ้นในการที่จะออกจากทุกข์ เกลียดกลัวความทุกข์ มีความเชื่อแน่นแฟ้นว่าจะไปฝ่ายนู้น ฝ่ายที่ไม่มีความทุกข์ มันจะมีศรัทธาในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์แท้จริงแน่นแฟ้นก็ต่อเมื่อเห็นความทุกข์หรือถูกบีบคั้นด้วยความทุกข์เต็มที่ ศรัทธานั้นจึงจะแน่นแฟ้นและสมบูรณ์ คือเป็นศรัทธาที่เกิดมาจากการเห็นความทุกข์
ทีนี้เมื่อศรัทธานี้มันขึ้นมาถึงรูปสมบูรณ์ มันก็จะเกิดความเชื่อใจ แน่ใจตัวเองที่เรียกว่า ปราโมทย์น่ะ ศรัทธาให้เกิดปราโมทย์ ปราโมทย์ให้เกิดปีติ ปีติให้เกิดปัสสัทธิ ให้เกิด อ่า, ปัสสัทธิให้เกิดความสุข ความสุขให้เกิดสมาธิ สมาธิให้เกิดยถาภูตญาณทัสสนะ ยถาภูตญาณทัสสนะให้เกิดวิมุติ แล้ววิมุติก็ให้เกิดขยญาณ คือญาณรู้ว่าเดี๋ยวนี้ความทุกข์หมดแล้วโว้ย นี่จบ เรื่องมันจบ
ตอนดับทุกข์นี้ก็ตั้งต้นที่ความทุกข์ ผู้นั้นจะต้องเห็นความทุกข์จนถึงที่สุดเลย แล้วจึงจะศรัทธาในฝ่ายดับทุกข์ ครั้นมีศรัทธาในฝ่ายดับทุกข์เต็มที่ ก็มีความเบาใจ สบายใจในๆๆฝ่ายดับทุกข์ แล้วเกิดปีติขึ้นมาตามกฎของธรรมชาตินี่ ก็จะเกิดปัสสัทธิ ระงับลงไปแห่งความไอ้ฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่งนี่ จะเกิดความสุข เพราะเหตุนั้นจะเกิดสมาธิ จะเกิดยถาภูตญาณทัสสนะ นี่เท่าที่ผมจำได้นะ มันอาจจะผิดพลาดบ้างก็ได้ แต่ว่าที่จำได้มันเป็นอย่างนี้ เกิดยถาภูตญาณทัสสนะ คือปัญญาถึงที่สุด แล้วมันจะเกิดนิพพิทาน่ะ จะเกิดนิพพิทา วิราคะ แล้ววิมุติ แต่บางทีท่านก็ตัดทิ้งออกไปไอ้นิพพิทา วิราคะนี่ มันๆรวมมาในวิมุติ ถ้าไม่รวมก็ต้องว่าเมื่อเห็นตามเป็นจริงแล้วมันจะเบื่อหน่ายไอ้ที่เป็นมาแล้ว นิพพิทา มันจะเกิดวิราคะ คือคลายความยึดถือในสิ่งที่เป็นมาแล้ว เมื่อคลายหมดก็เป็นวิมุติ พอเป็นวิมุติก็เกิดวิมุตติญาณทัสสนะ แต่ในสูตรนี้เรียกว่า ขยญาณะ ญาณในความสิ้นไปแห่งทุกข์
นี่จำไอ้ จำเรื่องนี้ในลักษณะที่เป็นธรรมชาติไว้บ้างสิ ไอ้ความทุกข์บีบคั้นให้เราหันไปหาความดับทุกข์ คือฝ่ายพระนิพพาน ศรัทธาแท้จริงตั้งต้นที่ตรงนั้นนะ พอมันเชื่อลงไปว่ามันมีทางรอด และอาจจะรอดได้ เราก็อยู่ในพวกที่อาจจะรอดได้ อันนั้นมันจะพอใจแหละ มันจะพอใจ มันจะมีปราโมทย์ คือมีกำลังใจเกิดขึ้น นี้ๆๆๆกำลังพูดให้เป็นแนวทางนะ ช่วยจำไว้ให้ดีทีว่ามันจะต้องเดินไปทางนั้นนะ ถ้าความทุกข์บีบคั้นเราจนมีความเชื่อในฝ่ายนู้น ฝ่ายพระนิพพานแล้วก็มันจะมีความพอใจ ว่าเอาล่ะ ทีนี้ก็รอดกันทีแล้วโว้ยนี่เกิดขึ้น ก็เรียกว่าปราโมทย์ ปราโมทย์ พอใจ สบายใจแล้วมันก็จะปีติ คือจิตมัน อ่า, มันรัวไปด้วยความพอใจนี้เรียกว่าปีติ ปีติ ซาบซ่าน ทีนี้พอปีติระงับ มันก็มีปัสสัทธิ คือจิตสงบรำงับนี่ จิตเปลี่ยนใหม่แล้ว ไปสู่ความสงบระงับในๆขั้นตอนใหม่แล้ว เป็นปัสสัทธิ ก็จะรู้สึกเป็นสุข
ในพระบาลีจะมีๆๆแน่นอนตายตัว จะต้องสุขก่อนสมาธิเสมอ ก่อนจะเป็นสมาธิจะต้องมีความสุขมาก่อนเสมอ มันคล้ายกับว่าเป็นธรรมชาติที่มันจะต้องคู่กันอย่างนั้น มันเป็นปัสสัทธิ สงบลงแล้ว เป็นความสุข เป็นๆความรู้สึกอย่างหนึ่ง จะเจตนาหรือไม่เจตนา จะพอ มันไม่ได้เกี่ยวกับไอ้ความพอใจหรือไม่พอใจ มันสุขของมันเองแหละ นั่นน่ะคือจิตมันจะรำงับลงไปเป็นสมาธิ จิตตั้งมั่น จิตสะอาด แล้วก็จิตพร้อมที่จะทำหน้าที่ของมันด้วยกำลังอันเข้มแข็ง นี่ก็เป็นสมาธิ ถ้าจิตเป็นสมาธิ มันก็มี ยถาภูตญาณทัสสนะตามธรรมชาติ ธรรมชาติมันชวนให้เป็นอย่างนั้น มันก็เห็นสิ่งต่างๆตามที่เป็นจริงนี่ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุญญตา ตถาตา อะไรก็แล้วแต่ จะเห็นโดยประการอื่น คำนี้สำคัญมาก เรียกว่า อัญญะโต อัญญะโต ปัสสะตินี่ อัญญะโต จำคำว่า “โดยประการอื่น” ไว้เถิด คือมันจะโดยประการอื่นจากที่เคยเห็นมาแล้ว โดยประการอื่นจากที่คนทั้งๆหลายเขาเห็นกันอยู่ คือคนปุถุชน คนธรรมดาทั้งหลายทั้งโลกเขาเห็นกันอยู่อย่างไร ไอ้คนนี้มันจะเห็นโดยประการอื่นจากนั้น ก็เป็นอันว่าโดยประการอื่นจากที่ตนเคยเป็นปุถุชนมาแล้วด้วย นี่ยถาภูตญาณทัสสนะจะทำให้เกิดการเห็นโดยประการอื่น มันก็หายโง่ มันก็เบื่อหน่ายคลายกำหนัดในสิ่งที่เคยหลงรัก อันนี้ก็เรียกว่านิพพิทา มีความเบื่อหน่ายคลายไอ้ๆๆๆ คลายๆความยึดมั่น คลาย คลายความกำหนัด ก็คือความยึดมั่น เมื่อมันคลายๆๆหมด มันก็หลุด นั่นก็เรียกว่าวิมุติ มันก็หลุด แล้วก็รู้ว่าหลุด ก็รู้เองว่าหลุด
นี่เรียกว่าเป็นปัญหาภายใน เกี่ยวกับการทำผิดในภายในจนเกิดกิเลส จนเกิดความทุกข์ นี้ก็ต่อยอดไปจากนั้น ถ้าเห็นทุกข์กันจริงๆมันก็จะชอบธรรมะ ชอบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เรียกว่าศรัทธา ฉะนั้นเรายากที่จะมีศรัทธาที่แท้จริง คือมีศรัทธาชักชวนทั้งนั้นแหละ ศรัทธาที่เขาชักชวน เป็นไสยศาสตร์ทั้งนั้น ชวนเด็ก ชวนคนโง่ ชวนอะไรมาทำบุญ มาไหว้พระสวดมนต์ จะรวย จะสวย จะไปนิพพาน อย่างนี้เป็นไสยศาสตร์ทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าไปพูดอย่างนี้เขาด่า แต่ผมก็ยังพูดอยู่นั่นว่ามันเป็นไสยศาสตร์ เพราะมันไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง มันงมงาย ฉะนั้นศรัทธาของไสยศาสตร์ ของคนงมงายไม่ใช่ศรัทธาที่แท้จริง เพราะฉะนั้นรีบมีศรัทธาโดยแท้จริง โดยที่เห็นความทุกข์ โดยที่เห็นความทุกข์ ใช้ความทุกข์ให้เป็นประโยชน์ เหมือนกับคนกลัวอันตรายเขาก็จะมีจิตใจระลึกถึงสิ่งที่จะเป็นที่พึ่งได้ มันก็ไม่มีอะไรนอกจากธรรมะที่จะเป็นที่พึ่งได้ แต่นี้เข้าใจยาก ถ้าเรียกธรรมะเข้าใจยาก เขาก็จะไปเรียกเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อะไรขึ้นมา เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา อันนี้ก็เป็นธรรมเนียมไปเสียแล้ว
เรามีศรัทธาในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ พูดให้มันง่ายหน่อยสำหรับคนทั่วไป ศรัทธาในกรรม ในผลกรรม ในความที่จะต้องรับผลกรรม ในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็เหมือนๆกันแหละ ก็พอๆกันแหละ ที่ว่าจะต้องเกิดขึ้นเพราะไอ้ความทุกข์มันเล่นงานเอา พอมีความทุกข์ก็อยากที่จะหาที่พึ่ง แล้วศรัทธาในที่พึ่งน่ะจะเต็มที่ในเมื่อมีความทุกข์ มันบีบคั้นชัดเจนเพียงพอ นี้คือการทำให้ถูกต้องในการแก้ไขปัญหากลุ่มที่ ๑ คือการกระทำผิดในภายในทางจิตใจจนเกิดกิเลส
ทีนี้พูดเรื่องกลุ่มที่ ๒ กันบ้างพอสมควร ว่าสิ่งที่เป็นไปตามธรรมดา ตามธรรมดา นึกถึงพระบาลีที่ว่าสิ่งทั้งปวงมันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย สิ่งทั้งปวงมีเหตุมีปัจจัยของมันเอง ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะเมเวตัง นี่ก็วิเศษที่สุดแหละ อันนี้เขาบอกให้รู้ว่า สิ่งทั้งปวงมีเหตุปัจจัย เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง แต่พระเณรโง่ๆมันไม่รู้ มันไม่สนใจ แม้อธิบายให้ฟังอยู่มันก็ไม่ฟังในเรื่องนี้ มันจึงไม่รู้เรื่องว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มันก็นึกเอาเอง รู้สึกเอาเองเสมอว่า มันต้องเป็นไปตามที่กูต้องการสิโว้ย มันก็ไม่ๆๆอาจจะเห็นด้วยว่ามันจะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความอะไรตามเหตุ อ่า, ธรรมชาติก็ดี หรือธรรมชาติล้วนๆที่มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติที่มันเกี่ยวกันอยู่กับมนุษย์ก็ดี หรือว่าอุบัติเหตุพลั้งเผลอ ที่เราเรียกกันว่าอุบัติเหตุ แม้บนท้องถนนนะ อุบัติเหตุอย่างนั้นมันก็ต้องมี มันก็มีเหตุปัจจัยของมัน แล้วมันก็ต้องมี อย่าคิดว่าเราจะปลอดภัย ไปเดินถนนแล้วไม่มีรถทับตายนี้ มันก็เป็นความคิดที่โง่เขลามาก เราคิดว่ามันจะมี เราก็ระวังสิ แต่ถ้ามันเหลือวิสัยมันก็ตายสิ มันก็ไม่ต้องแปลกประหลาดอะไร เพราะฉะนั้นความตายนี่ท่านกล่าวว่ามันเป็นสิ่งที่มีได้ง่ายที่สุดแหละ ง่ายที่สุดแหละ อย่างไม่น่าเชื่อ
แต่ถ้าว่ามันมีปัญญารอบรู้อยู่บ้าง มันก็จะป้องกันได้มากกว่า มากกว่าที่ไม่มีปัญญา แล้วมันก็จะไม่ตาย ไม่ต้องตายในเมื่อไม่ควรตาย อะกาละ มรณัง ฐะเปตตะวา มีอยู่ในคาถาอุณหิสวิชัย ว่าธรรมะจะป้องกันการตายที่ยังไม่ถึงเวลา การตายที่ยังไม่ควรตาย ไม่ถึงเวลานั้นธรรมะจะช่วยป้องกันให้ได้ ผมก็คิดอย่างนี้อีกแหละว่าไอ้ธรรมะนี่มันคือสติสัมปชัญญะ คือปัญญา ไม่ใช่ว่า เครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ แต่มันก็ทำหน้าที่เหมือนกับเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ มันๆป้องกัน มันไม่ให้เผลอ จนต้องตาย ในกรณีที่ไม่ควรจะตายหรือไม่ถึงเวลาที่จะตาย เมื่อมันต้องตายก็อย่าแปลกสิ มันเช่นนั้นเอง ก็สมัครดับไม่เหลือสิ เมื่อมันจะต้องตายแน่แล้ว สมัครดับไม่เหลือเลย มันมีโอกาสที่จะเป็นพระอรหันต์กันในขณะนั้นแล้วๆไปเลย แล้วดับไปเลย มันจะดีอย่างนี้
รู้เรื่องความจริงของธรรมชาติจนไม่มีอะไรแปลกประหลาด ไม่มีอะไรประหลาดล่ะ ไม่มีอะไรแปลก ไม่มีอะไรประหลาด ตายก็ไม่ประหลาด ไม่ตายก็ไม่ประหลาด เจ็บไข้ก็ไม่ประหลาด ไม่เจ็บไม่ไข้ก็ไม่ประหลาด ไม่เห็นเป็นของประหลาดหรือว่าดีกว่าใคร มันเป็นของธรรมดาทั้งนั้น ให้เห็นว่าความเกิดแก่เจ็บตายมันเป็นของธรรมชาติ อย่าไปโง่ อย่าไปเอามาเป็นของกู ถ้าพออธิบายอย่างนี้มันก็จะไปเกี่ยวกับปัญหาข้อที่ ๑ คือไปเอาไอ้ความกลัวเกิดแก่เจ็บตายมาเป็นอารมณ์ของจิต ทำผิดจนเกิดกิเลสแล้วก็เป็นทุกข์เพราะเหตุนั้น นี่ตัวปัญหาข้อนี้มันก็เข้าไปรวมกับปัญหาข้อ ๑ แต่ว่าโดยเนื้อแท้แล้วก็ให้ป้องกันมัน อย่าให้มันมาๆๆ เข้ามา อย่าให้ความเกิดแก่เจ็บตายมาเป็นของกู อย่าเกิดตัวกู เมื่อมีความรู้สึกอย่างนั้น ให้ความเกิดเป็นของความเกิด ให้ความแก่เป็นของความแก่ ให้ความเจ็บเป็นของความเจ็บ ให้ความตายเป็นของความตาย คือของธรรมชาติ มันก็ไม่เป็นทุกข์หรอก
ข้อนี้น่าเป็นห่วงที่ว่า พระพุทธภาษิตบทนี้ท่านตรัสสำหรับคนโง่ คือปุถุชนคนโง่ทั่วไปน่ะ ท่านพูดว่าความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์อะไร ท่านตรัสสำหรับคนโง่ซึ่งมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นคนมีปัญญาหรือเป็นพระอรหันต์แล้วไม่ ความเกิดไม่เป็นทุกข์ ความแก่ไม่เป็นทุกข์ ความตายไม่เป็นทุกข์หรอก เพราะมันไม่ไปยึดถือเอามาเป็นของเรา นั่นให้รู้ว่าพระบาลีบางสูตรบางบทนั่นมันตรัสไว้สำหรับคนโง่หรือปุถุชนโดยมาตรฐาน เดี๋ยวเราก็จะงงไปหมดแหละ เข้าใจไม่ได้ เดี๋ยวความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ เดี๋ยวรอดเหนือความเกิด ความแก่ได้ หรือว่าจะเอาชนะมันได้
ที่อยู่เหนือความเกิด ความแก่ได้ก็เพราะว่าไม่เอามาเป็นของเราสิ ฉะนั้นไอ้ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็ไม่มาเป็นทุกข์แก่เรา ที่เป็นอย่างนี้ได้เพราะเรามีพระพุทธเจ้าเป็นผู้แนะนำที่ดี ปฏิบัติธรรมะถูกต้อง ไม่ไปรับเอามาเป็นของเรา ฉะนั้นพูดเสียใหม่ได้เลยว่า ไอ้ความเกิดน่ะของผู้ที่มีความรู้น่ะ เป็นพระอรหันต์น่ะ ไม่เป็นทุกข์หรอก ความแก่ ความเจ็บ ความตายของพระอรหันต์ไม่เป็นทุกข์หรอก แต่มันก็เป็นคำพูดที่สมมติเกินไป เพราะว่าไอ้คนน่ะกับพระอรหันต์น่ะมันต่างกัน คนต่างหากที่มันยังมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย พระอรหันต์นั้นมันไม่ๆมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตายเสียแล้ว ฉะนั้นเรื่องนี้มันก็ไม่ต้องพูด แต่ว่าที่จะเป็นพระอรหันต์ได้น่ะมันก็ต้องเรียกว่าสลัดไอ้ความเกิดแก่เจ็บตายออกไปได้จากความโง่ที่จะยึดถือเอามาเป็นของเรา
ฉะนั้นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ก็ขอให้เป็นของธรรมชาติอยู่ตามเดิม แล้วมันก็เปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง เราอย่าไปเอามาเป็นๆของเรา ตามความประสงค์ของเรา มันจะเป็นทุกข์ นี้เรียกว่าของภายนอกแท้ๆ มันอยู่กันข้างนอกแท้ๆก็เอาเข้ามาเป็นภายในให้มาเป็นของเรา แล้วเราก็เกิดความทุกข์ นี่ปัญหาภายนอก ปัญหาจากสิ่งภายนอกก็ให้มันคงเป็นของภายนอกไว้ ความเกิดแก่เจ็บตายของธรรมชาติ ตามธรรมชาติ อุบัติเหตุตามธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลงของโลกธาตุตามธรรมชาติ หรือว่าสิ่งที่มันจะต้องเกิดอยู่ในโลกนี้เป็นธรรมดานี่ ก็ให้มันเป็นของธรรมชาติ เป็นของไอ้ อย่ามาเป็นของเราก็แล้วกัน อย่ามาเป็นตัวเรา อย่ามาเป็นของเรา นี่ที่เรียกว่าไอ้ความรู้เรื่องตถาตาช่วยได้หมายความว่าอย่างนี้ มันเป็นอย่างนั้นเอง เหตุปัจจัยของมันเอง เป็นไปอย่างนั้นเอง เราไม่โง่เอามาเป็นของเรา ให้มาเป็นปัญหาของเรา
โดยหลักมันเป็นอย่างนี้ จะปฏิบัติได้หรือไม่ได้นั้นน่ะมันก็อีกเรื่องหนึ่งนะ พูดมันได้ เรียนมันรู้ แต่จะปฏิบัติได้หรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง ตัวอย่างง่ายๆเช่นว่ามันเจ็บปวดอยู่ที่เนื้อที่หนังอย่างนี้มันก็ มันก็ครางโอยๆ มันก็เจ็บปวด มันไม่แยกออกไปได้ว่านั่นมันเป็นของธรรมชาติ เพราะมันเจ็บปวดอยู่ที่ระบบประสาท จิตมันถือเอาความรู้สึกนั้นว่าเป็นของเรา ไม่ยอมให้ว่านี้มันเป็นความรู้สึกแก่ระบบประสาทตามธรรมชาติเท่านั้นโว้ย ถ้ามันเจ็บขึ้นมาที่เนื้อที่ตัวที่นี่ นี้คือความรู้สึกตามธรรมชาติของระบบประสาท ตามกฎของธรรมชาติเท่านั้นโว้ย มันก็เป็นของธรรมชาติไป นี่เรียกว่าฝ่ายเจ็บปวด
ทีนี้ฝ่ายตรงกันข้าม คือความเอร็ดอร่อยทางวัตถุ ทางเนื้อหนัง ทางกามคุณ ทางเพศ อะไรก็ตาม ได้รับความรู้สึกอร่อยสูงสุดจนบูชาเป็นของประเสริฐไปนั่นแน่ะ เพราะมันไม่รู้ว่าเช่นนั้นเอง เป็นตามธรรมชาติเช่นนั้นเอง ความรู้สึกอร่อยสูงสุดนั้นคือความรู้สึกที่เกิดแก่ระบบประสาทตามธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวของความเอร็ดอร่อยประเสริฐอะไรที่ไหน นี่ก็เรียกว่าไม่รับเอาเข้ามาเป็นของเรา ให้เป็นของธรรมชาติ ตามธรรมชาติเช่นนั้นเอง ไอ้ตถตานี้ปฏิบัติยากมาก เดี๋ยวนี้คนหนุ่มคนสาวบูชาพระเจ้ากามารมณ์กันทั้งนั้นแหละ เพราะมันไม่อาจจะใช้ความรู้เรื่องตถตานี้แก่อาการอย่างนี้ได้ แต่ถ้ามันรู้จักใช้ได้ มันก็จะไม่บูชากามารมณ์เป็นพระเจ้า เพราะรู้เช่นนั้นเอง
สรุปความว่าไอ้สิ่งที่น่ารักก็ดี ไอ้น่าเกลียดน่ากลัวก็ดี ถ้าเอาตถาตาใส่เข้าไปมันวิ่งหนีหมดแหละ มันกลายเป็นของธรรมชาติ ธรรมดาไปหมด ก็ไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้นเตรียมไว้สิ ไอ้ความรู้ในเรื่องนี้เตรียมไว้ให้พอ จะได้เป็นปัญญาที่เพียงพอ แล้วก็เตรียมสติไว้ให้พอที่จะเอาความรู้ข้อนี้ไปใช้ให้ทันเวลาที่สิ่งเหล่านั้นมันได้เกิดขึ้นจริง ที่สิ่งเหล่านั้นมันได้เกิดขึ้นจริง ความรู้สึกสุดเหวี่ยงฝ่ายอนิฏฐารมณ์ก็ดี สุดเหวี่ยงฝ่ายอิฏฐารมณ์ก็ดี เมื่อมันเกิดขึ้นมา สติมันขนเอาปัญญาไปใช้ต่อสู้ทันท่วงที เราก็เป็นอิสระ พ้นจากความทุกข์ที่เกิดจากไอ้ ที่จะเกิดจากอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ นี่คือเรื่องที่ว่ามันทำได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ พระนิพพานต้องหาให้พบกันที่นี่และเดี๋ยวนี้ คือขจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปได้ ไม่มีความทุกข์เลย นั่นน่ะคือนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้
ทีนี้ปัญหาที่ ๓ เรื่องสังคม ผมไม่ค่อยอยากจะพูดนักหรอก เพราะมันเป็นเรื่องที่เขาก็มีกันอยู่ในวิชาความรู้ที่เขาสอนกันในทางโลก มันก็มีอยู่มากเรื่องปัญหาทางสังคม ขอให้เอามารวมกันเป็นปัญหาเดียวกัน ให้แก้ด้วยไอ้ความรักผู้อื่น ถ้ารักผู้อื่นแล้วก็ไม่มีใครโกงน่ะ มันเป็นอย่างนั้น ถ้าเรารักผู้อื่นแล้วก็จะๆไม่โกงเขาได้หรอก ไม่คดโกง ไม่ทรยศ ไม่หลอกลวง ไม่อะไรเขาได้ ถ้าเรารักผู้อื่น ฉะนั้นถ้าต่างคนต่างรักกันแล้วมันก็พอแล้ว มันไม่มีปัญหาทางสังคม
นี่เป็นเรื่องธรรมะ ธรรมะต่ำๆ ลดลงมาด้วยศีลธรรมขั้นต้นๆต่ำๆว่ารักผู้อื่น แต่ถ้าเกิดถามกันขึ้นมาว่า ถ้ามันไม่รักผู้อื่นแล้วจะทำอย่างไรนี่ ไม่ใช่ปัญหาที่ง่ายแล้ว เมื่อจิตของฉันมันไม่รักผู้อื่นแล้วมันจะทำอย่างไร มันก็เป็นปัญหายากเหมือนกันแหละ มันจะต้องนึกถึงไอ้เรื่องนั้นแหละ เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่เบียดเบียนกัน ที่เราไม่เห็นว่าเขาเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายของเราเพราะว่าเรามันโง่ในเรื่องมีตัวกู มีของกู ไอ้เรามันโง่
ความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นเมื่อเราได้รับความอร่อยในสิ่งที่อร่อย ถ้าไม่มีสิ่งที่มี ที่อร่อยมา มาจูงให้ว่าความเห็นแก่ตัวมันเกิดขึ้นยากหรือมันจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกคนน่ะระวังไอ้สิ่งที่ว่าอร่อยๆนี่ให้ดีๆเถอะ นั่นน่ะเขาจะจูงให้เราเป็นคนเห็นแก่ตัวแหละ ฉะนั้นอย่าชอบความอร่อยกันนัก ไม่ว่าอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางกามารมณ์ ความอร่อยทุกชนิดจะก่อให้เกิดความเห็นแก่ตัว คืออุปาทานยึดมั่นถือมั่นเป็นของกู มีตัวกูเหนียวแน่นขึ้นมา
แต่เดี๋ยวนี้ในโลกทุกคนมันๆชอบความอร่อยนี่ มันส่งเสริมความอร่อย แล้วก็ประดิษฐ์วัตถุ เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ส่งเสริมความอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ประดิษฐ์เครื่องสวยงาม เรื่องสวยงามให้หลงเป็นบ้าไปเลย ประดิษฐ์เรื่องไพเราะด้วยดนตรี ด้วยอะไรก็ตาม เป็นบ้าไปเลย โลกกำลังส่งเสริมไอ้ๆเรื่องอันนี้ เรื่องอร่อยนี้สูงสุด จนเมากันทั้งโลกกันในความอร่อย แล้วโลกก็เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว เพราะเขาพอใจในความอร่อย รวบรวมไว้เป็นของตัว แล้วมีตัวผู้จะบริโภค ความเอร็ดอร่อย นี่โลกยังอยู่ในความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง โลกสมัยก่อนไม่ได้บูชาความอร่อย มากเหมือนโลกสมัยนี้ ฉะนั้นโลกสมัยก่อนมันจึงปกติสุขมากกว่าโลกปัจจุบันนี้ ซึ่งมุ่งหน้าแต่ส่งเสริมไอ้ความหลอกลวงเรื่องเอร็ดอร่อย เขาก็จะต้องได้รับโทษ พระเจ้าจะลงโทษให้สาสม กว่าจะเข็ดหลาบ กว่าจะหมุนกลับ
พลเมืองหลงใหลในความเอร็ดอร่อย ประเทศชาติก็ขาดดุลการค้ากับประเทศอื่นมากมาย โดยเฉพาะประเทศไทยเรานี้ขาดดุลการค้ากับประเทศอื่นมาก ก็เพราะว่าคนเมืองมันไปซื้อของเพื่อความเอร็ดอร่อยมากเกินไป มันมีเนื้อพิเศษอะไรก็ไม่รู้นะ มีคนเอามาให้ผมนี้ กระป๋องหนึ่งหนักเกือบ ๑ ปอนด์น่ะ ราคา ๙๕ บาท พอเห็นแล้วมันจิตใจมัน มันไม่รู้สึกอยากกินเลย มันเป็นความบ้าของคนที่ซื้อมาหรือว่าไอ้ของการที่สั่งเข้ามาในประเทศได้ นี่เรียกว่าประเทศขาดดุลการค้ากับประเทศอื่นเพราะว่าคนเมืองมันหลงใหลในความเอร็ดอร่อย เดี๋ยวนี้หลงใหลความอร่อยทางตา บ้าโทรทัศน์สีกันทั้งบ้านทั้งเมืองนั้นน่ะ ไอ้อย่างนี้มันไม่นึกกัน เรื่องเสียงนี่ก็เหมือนกัน เครื่องๆสเตริโอนี่กำลังจะเป็นที่บูชา ล้วนแต่สร้างความเห็นแก่ตัวทั้งนั้นแหละ ยิ่งอร่อยมาก ยิ่งทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวมาก แล้วก็ไม่มีทางจะรักผู้อื่น
พวกอันธพาลยากจนอยู่สลัมอะไรมันก็ยังอยากมีนะ มีๆทีวีสี มีสเตริโออะไรกับเขาเหมือนกันแหละ ผมเคยเดินผ่านสลัม มองเข้าไปดูในบ้านเขา มีสเตริโอ มีทีวีสีเหมือนกัน อ่า, มีทีวีชนิดโน้นน่ะ สมัยโน้น ไม่ใช่ ยังไม่ถึงกับสีนะ แต่มีสเตริโอที่แพงๆทั้งนั้น โอ้, นี่เขาก็บูชาเหมือนกัน ในเมื่อเขาหาไม่ได้โดยวิธีปรกติ เขาก็ต้องขโมยแหละ เขาก็ต้องจี้ปล้นไปตามเรื่องของเขาแหละ นั่นอาชญากรรมมันก็มาจากความเห็นแก่ตัวที่มาจากความเอร็ดอร่อย ความเอร็ดอร่อยทำให้คนเห็นแก่ตัว คนเห็นแก่ตัวก็ประกอบอาชญากรรมทุกชนิดนะ ฉะนั้นอาชญากรรมทุกชนิดในบ้านในเมืองแก้ไม่ได้เพราะว่ามันมีการส่งเสริมความเอร็ดอร่อยเสียเอง เหล้าบ้าง บุหรี่บ้าง การพนันบ้าง ลอตเตอรี่บ้าง อะไรบ้าง มันก็จะส่งเสริมไอ้สิ่งเหล่านี้ ฉะนั้นเราไม่อาจจะแก้อาชญากรรม
เอาแล้วเป็นอันว่าเราได้พูดกันถึงหัวข้อสำคัญ ๓ หัวข้อ ว่าปัญหามีอยู่ ๓ ปัญหาของมนุษย์ เกิดมาจากการผิด ทำผิดพลาดในภายในทางจิตใจจนเกิดกิเลส นี้ปัญหาหนึ่ง ปัญหาที่เราไม่รู้จักธรรมชาติทั้งปวงตามที่เป็นจริง ไปยึดมั่นถือมั่นเอามาเป็นของเรา จนอะไรๆก็มาเป็นของเรา ทั้งที่มันเป็นของธรรมชาติ นี่ก็ปัญหาหนึ่ง และอีกปัญหาหนึ่ง การประพฤติกระทำที่ไม่ถูกต้องของสังคม ทำให้เดือดร้อนกันไปทั้งหมดทั้งโลก นี่คุณเอาไป เอาไปศึกษาเอง เอาปัญหา ๓ ปัญหานี้ไปศึกษาแยกแยะดูเอง ขยายความออกไปเอง แล้วหาทาง วิธีอะไรที่จะแก้ไขมันสิ มันจะเป็นประโยชน์แก่ตน ประโยชน์แก่ผู้อื่น หรือประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย ที่สวดอยู่ทุกวันนี่ ทุกวันเสาร์น่ะ ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายนี่ ต้องทำให้ได้สิ ในเมื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
เอ้า, มีปัญหาอะไรว่าไป ข้อไหน คำไหน ส่วนไหนตรงที่ไม่เข้าใจน่ะเรียกว่าปัญหาก็ถาม จะได้ไม่เป็นทุกข์ให้ละอายแมวนั้น ไม่ใช่ผมแกล้งพูด ผมก็รู้สึกละอายแมวเหมือนกันแหละในบางอย่างน่ะ จึงเอาไอ้คำนี้มาพูด บางทีก็ละอายหมาด้วยซ้ำไป ละอายมากที่สุด ละอายปลานี่ ผมมองดูทีไรไม่เห็นมันเป็นทุกข์เลย ไอ้ปลาตั้ง ๔-๕ ตัวที่เลี้ยงอยู่นี้มันไม่เป็นทุกข์เลย ละอายปลามากกว่าละอายหมาละอายแมวเสียอีก เราเป็นคนที่ทุกข์ไม่เป็นกันเสียบ้างสิ ไม่มีความทุกข์และทุกข์ไม่เป็นกันเสียบ้าง เอ้า, ถ้าว่าไม่ถาม ผมก็ถือว่าหมดปัญหา ก็ปิดประชุม เพราะมันไม่มีปัญหานี่ เอ้า, ปิดประชุม
มันๆสามทุ่มแล้วแหละ พอดีแหละ ไปกุฏิเสียก่อนไฟ