แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผมคิดว่า วันนี้คิดว่าจะพูดเรื่องเปรียบเทียบศาสนาโดยหัวใจของศาสนา ทุกๆศาสนามีหลักชนิดที่เป็นชั้นหัวใจที่เราจะไม่เปรียบเทียบไอ้ชั้นเปลือกนอก หรือไอ้วิธีการต่างๆน่ะที่เป็นชั้นเปลือกนอก เราจะเปรียบเทียบชั้นลึกที่เป็นหัวใจที่มองยาก คือผมจะไม่เสียเวลาพูดเรื่องที่หาอ่านได้จากหนังสือหนังหา เช่นหนังสือเรียนนักธรรม หรือว่าหนังสือต่างๆที่เขียนกันไว้ค่อนข้างจะมากมาย รวมทั้งหนังสือของเราเองด้วย จะหลีกเลี่ยงการพูดซ้ำในเรื่องนั้นๆ ขอให้ตั้งใจฟังให้ดีสักหน่อย
ไอ้ความมุ่งหมายของทุกศาสนามันก็คือ ความดับทุกข์ แม้ว่าในบางคราวจะใช้คำว่า ความหลุดพ้น หรือความรอดออกไปได้ อย่างนี้ก็มี ในพุทธศาสนาใช้คำสำคัญที่สุดว่า ดับไม่เหลือแห่งทุกข์ แต่บางทีก็ใช้คำว่ารอด เช่นคำว่า วิ วิมุติ เป็นต้น วิมุติ วิโมกข์ เป็นต้น หลุดพ้นออกไป อย่างนี้ก็มี แต่ความหมายสำคัญมันอยู่ที่ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ มันก็คือรอด รอดพ้นจากทุกข์ ทีนี้ศาสนาอื่นโดยมากแม้จะเกิดทีหลังพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป ก็ยังมีลักษณะเป็นเรื่องรอดไปอยู่ในที่ที่ดีที่สุด โดยที่มีบุคคลเป็นผู้รอด ศาสนาส่วนมากจะมีตัวบุคคลที่เป็นผู้มีปัญหา แล้วบุคคลนั้นจะต้องรอดออกไปจากปัญหา แล้วก็ไปอยู่กับสิ่งสูงสุดซึ่งจะเรียกว่าพระเจ้า พระเป็นเจ้าหรืออะไรก็ตาม ถ้าไปอยู่ด้วยกันที่นั่น ในบ้านในเมืองในโลกของพระเป็นเจ้าแล้วก็หมดปัญหา ฉะนั้นเขาจะต้องมีลักษณะเป็นบุคคล เขาจะต้องสอน คำสอนก็จะมีลักษณะเป็นบุคคล คือมีบุคคลที่เป็นตัวเจ้าทุกข์ แล้วก็ออกไปจากความทุกข์ ไปอยู่กับสะ พระเป็นเจ้าที่ไม่มีทุกข์เลย ในโลกพระเป็นเจ้า
เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องของบุคคลโดยตลอด จะ จะเรียกได้ว่ามันเป็นศาสนาระบบที่มีบุคคล มีบุคคลตัวตนนี่เป็นผู้ทุกข์ จะเรียกว่าสัตว์ ว่าบุคคล ว่าบุรุษ ว่าอาตมัน ว่าอะไรไม่มี มันมีชื่อเรียกมาก มีชื่อเรียกมากที่สุดแหละ แต่รวมกันทุกชื่อแล้วก็ยังมีลักษณะเป็นบุคคล ตาย เกิด ตาย เกิด นั้นแหละก็คือบุคคล บุคคลคนนี้ตาย ร่างนี้ดับไป บุคคลนั้นแหละไปหาร่างอื่น ที่ใช้คำว่าบุคคลตรงๆก็มี ใช้คำว่าวิญญาณก็มี ใช้คำว่าชีโวก็มี อัตตาก็มี แล้วแต่ เพราะมันมีมากลัทธิด้วยกัน แต่แม้จะใช้คำต่างกันอย่างไรมันก็เล็งถึงสิ่งเดียวกันน่ะ คือมีคนๆหนึ่งซึ่งไปมีจิต มีวิญญาณ มีความรู้สึก เป็นเจ้าของเรื่องนี้ เขาจะตายไป ทิ้งร่างกายนี้ไว้ที่นี่แล้วก็ไปหาใหม่ แล้วก็ไปมีปัญหาอย่างเดียวกันอีกแหละ แม้ว่าจะไปเกิดที่ไหน อย่างไร มันก็มีปัญหาอย่างเดียวกันอีกแหละ คือไปทำผิด ทำถูก ทำดี ทำชั่ว จนกว่าเขาจะหลุดออกไปได้ไอ้จากความผูกพันเหล่านี้ แล้วก็ไปอยู่ในโลกของพระเจ้า
แม้ว่าจะกล่าวแตกต่างกันบ้าง ความหมายก็อย่างเดียวกัน เช่นว่า ศาสนาในอินเดียนี่ เกิดแล้วเกิดเล่าๆๆ ไม่ นับไม่ไหว จนกว่าจะหลุดไปได้ ศาสนาอย่างคริสเตียน หรือที่เครือเดียวกับคริสเตียนนั้นน่ะ เขาพูดอีกอย่างหนึ่งคือ พอตายลงนี่เขาไปเก็บไว้ในที่แห่งหนึ่ง ไม่ใช่ตายเกิดๆๆโดยคนนั้น คนนั้นตายแล้วถูกเอาไปเก็บไว้ในที่แห่งหนึ่ง รอวันพิพากษานะ ซึ่งเมื่อไรก็ไม่รู้ นี่ไอ้รายละเอียดนั้นไม่ต้องรู้ก็ได้ว่าจะต้องรอกว่าจะถึงวันพิพากษา แล้วก็จะถูกพิพากษาโดยพระเจ้าหรือโดยผู้มีหน้าที่ว่าไอ้คนนี้ ไอ้ๆตัวตนนี้ คนนี้ไปอยู่สวรรค์ได้นิรันดร แต่คนนี้ไปอยู่นรกนิรันดร นั่นมันมีอย่างนั้น ไม่มี ไม่มีผุดมีเกิดอย่างเรา ไม่มีเวียนว่ายสับ สะ สลับซับซ้อนไปอีกทำไม ไปอยู่นรกนิรันดร ไปอยู่สวรรค์นิรันดร อย่างนี้ก็มี แต่ความหมายมันก็เหมือนกันแหละ แม้ว่ามันจะเกิดแล้วเกิดอีกๆ ในที่สุดถ้าเขาหลุดพ้นออกไปได้ เขาก็ไปอยู่ ก็ จะเรียกว่าสวรรค์หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ คือเป็นที่อยู่นิรันดรเหมือนกัน ไปเป็นพรหม เขาก็ไปเข้าเป็นอันเดียวกับบรมพรหม บรมอัตตาอันนั้น มันก็เป็นอยู่นิรันดรเหมือนกัน
แต่ในฝ่ายอินเดียฝ่ายนี้ไม่ๆมีพูดถึงนรกนิรันดร มีพูดแต่ว่ารอดพ้นไปอยู่ไอ้ๆ จะเรียกว่าโลกก็ได้หรือเรียกว่าแล้ว แล้วแต่ว่าคือเป็น เป็นการเป็นอยู่ที่มีชีวิตนิรันดร ฉะนั้นทั้งหมดนี้มันเป็นเรื่องบุคคลไปหมด ไอ้เจ้าทุกข์ที่จะเวียนว่ายตายเกิด ทำดีทำชั่ว มันก็เล็งกันเป็นบุคคล เขาๆใช้ศัพท์ว่าบุคคลมาตั้งแต่แรกตั้งต้นบัญญัติศาสนานี้ แล้วเขาก็มีพระเจ้า พระเป็นเจ้านั่นก็เป็นอย่างบุคคล คือพระเป็นเจ้านั้นมีความรู้สึกอย่างคน ฉะนั้นจะต้องรู้จักทำให้ถูกเรื่อง ถูกจิตถูกใจ พอพระทัยพระเป็นเจ้าแหละ พระเป็นเจ้าจะลงโทษหรือพระเจ้าจะให้ผลดี มันก็แล้วแต่พระเจ้าซึ่งมีความรู้สึกอย่างบุคคล นี่เป็นระบบบุคคลไปหมดเลย ไม่ว่าอะไรมันเป็นบุคคลไปหมด
ทีนี้พุทธศาสนาไม่เป็นอย่างนั้น เกิดขึ้นมาในท่ามกลาง ท่ามกลางประชาชนเป็นอันมากที่เขาถือลัทธิอย่างมีบุคคลนะ ในอินเดีย ในอินเดียสมัยนั้น กลับมาสอนว่าไม่มีบุคคล ไม่มีบุคคลที่กำลังเป็นปัญหา ที่กำลังทำดีทำชั่วทำบุญทำบาปทำพวกนี้ก็ ที่แท้มันไม่ใช่บุคคล มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่เรียกว่า นามรูป กายกับใจนี้เป็นเพียงสักว่าธรรมชาติ กายกับใจมาถึงกันเข้า ทำงานอะไรกันเข้า ก็จะไม่เรียกว่าบุคคล ให้เรียกว่ากายกับใจ คือนามรูปะ เท่านั้นเอง
ในนามรูปนั้นมันมีส่วนสำคัญอยู่ส่วนหนึ่งคือจิตนั่น จิตนั้นก็เป็นธรรมชาติ เพราะฉะนั้นจิตนั้นเป็นบุคคลไม่ได้ จิตนั้นก็เป็นธรรมชาติคือรวมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่านาม จิตก็มีจิต แล้วก็มีความรู้สึกของจิตปรุงจิตให้เป็นจิตเป็นหลายๆชนิดได้ จิตนั้นเป็นไปได้หลายชนิดแล้วแต่เครื่องปรุงจิต ซึ่งก็รวมอยู่ในคำว่านามเหมือนกัน จิตก็ดี เครื่องปรุงจิต คือความรู้สึกของจิต ปรุงจิตให้เป็นกี่ชนิดก็ดี ทั้งหมดนี้ก็เรียกว่านาม
แล้วทีนี้ก็มีคำว่า กาย หรือรูปกาย ไม่ยอมให้เรียกส่วนไหนว่าเป็นบุคคล ส่วนรูปกายก็มิใช่บุคคล ส่วนจิตก็มิใช่บุคคล รวมกันทั้งกายและจิต ทั้งนามและรูปก็มิใช่บุคคล ทีนี้มันก็มีสิ่งที่เรียกว่าจิตนั่นแหละเป็นเหมือนกับว่าเจ้าของเรื่อง ที่แท้ก็เป็นธรรมชาติ ตามธรรมชาติ เหมือนกับๆกายเหมือนกันน่ะ เพราะมันเป็นธรรมชาติที่รู้สึกคิดนึกได้ เพราะมันจึงคิดนึกได้ แล้วมันๆควบคุมกายนี้ให้ทำอะไรได้ ทั้งกายทั้งจิตมันก็ทำอะไรได้ ปัญหามันอยู่ที่ว่ามันไปทำผิดกฎของธรรมชาติแล้วเป็นทุกข์ขึ้นมานั่น อย่าๆให้เลยไปๆกว่านี้นะ คือกายกับจิตที่โง่นี่มันทำผิดธรรมชาติแล้วมันเป็นทุกข์ขึ้นมา แล้วมันก็ซ้ำซากๆอยู่ในการทำผิดแล้วเป็นทุกข์ขึ้นมา เพราะความยึดถือ
ถ้ามันทำสิ่งที่เรียกกันว่าดี มันก็ยึดถือความดี แล้วมันก็มีความทุกข์อย่างผู้ที่ยึดถือความดี ถ้ามันทำชั่ว มันก็ต้องยึดถือชั่ว มันก็มีความทุกข์ตามแบบของการทำชั่ว คำว่าดีว่าชั่วนี้มันบัญญัติกันขึ้นตามความรู้สึกของๆไอ้กายไอ้ใจนั่นเอง ซึ่งเขาเรียกกันว่ามนุษย์บ้าง บุคคลบ้าง ก็เรียกโดยสมมติ จะไม่เรียกว่ามนุษย์ จะไม่เรียกว่าบอ บุ บุรุษ หรือบุคคล มันก็ยังเป็นกายกับใจอยู่นั่นแหละ มันก็ยังเป็นกายกับใจที่ทำอะไรผิดบ้างถูกบ้าง ผิดบ้างถูกบ้าง แล้วก็ยึดถือแล้วเป็นทุกข์ทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าดีหรือชั่ว ไปยึดถือเข้าแล้วมันๆกัดเอาทั้งนั้นน่ะ ไอ้ความทุกข์น่ะมันเกิดเพราะไปยึดถือต่างหากล่ะ ไม่ๆมีเทวดา พระเจ้าอะไรที่ไหนมาเกี่ยวข้องความทุกข์นี่ มันเป็นทุกข์เพราะไอ้ความโง่ มันไปยึดถือเข้า เป็นความสุขของเรา เป็นความทุกข์ของเรา แล้วก็เกิดกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ เป็นไฟเผาให้ร้อน
ทำถูกเราก็ได้ผลดี ได้สิ่งที่น่ารักมา มันก็รัก เราก็หลงรัก แล้วก็ยึดถือ แล้วมันก็เป็นความทุกข์เพราะสิ่งที่เป็นผลของความดีนั่นเอง ไอ้ส่วนที่มันทำผิดทำชั่วนั้นไม่ๆต้องอธิบายก็ได้ มันก็เป็นสิ่งที่ชั่วอยู่แล้ว แล้วมันก็ทำให้ลำบากใจอยู่แล้ว ยิ่งไปยึดถือว่าเราเป็นผู้รับผลของความชั่ว อย่างนี้มันก็เป็นทุกข์ไปตามแบบของความชั่ว พวกที่หลงในความดี ยึดถือในความดี มันก็เป็นทุกข์ไปตามแบบของผู้ที่หลงยึดถือในความดี ฉะนั้นถ้าอย่าไปหลงยึดถือในความชั่วและความดีจะไม่มีปัญหา
ใบแรกของคัมภีร์ไบเบิ้ลของไอ้คริสเตียนนั้นน่ะ ไอ้ผัวเมียคู่นั้นก่อนนี้มันไม่รู้ดีรู้ชั่ว มันไม่นุ่งผ้าด้วยซ้ำไป พระเจ้าให้เฝ้าสวน มีต้นไม้พิ พิเศษอยู่ต้นหนึ่ง ถ้าไปกินลูกของมันเข้าแล้วจะรู้ดีรู้ชั่ว เพราะฉะนั้นแกอย่าไปกินเข้า แกจะตายนะ พระเจ้าสั่งอย่างนี้ ไอ้มนุษย์คู่แรกคู่นั้นมันไม่ มันไม่ๆเชื่อฟัง มันไปกินเข้า พอไปกินเข้า มันก็เลยรู้ดีรู้ชั่ว มันก็มีปัญหาเรื่องดีเรื่องชั่ว ซึ่งพระเจ้าเรียกว่าตายนะ ตาย พระเจ้าใช้คำว่าตายน่ะ ก็คือมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องดีเรื่องชั่ว ซึ่งจะเป็นทุกข์ไปหมดแหละ ยึดถือดีก็ทุกข์ ยึดถือชั่วก็ทุกข์ แต่พวกคริสเตียนเขาจะไม่ยอมอธิบายอย่างนี้หรอก ถ้าอธิบายอย่างนี้มันจะเสียท่า เขาจะรู้สึกว่าชาว อ่า, ว่าพุทธไปกลืนเขาแล้วน่ะ เขาไม่ยอมอธิบายอย่างนี้ เขาดิ้นรนอธิบายเป็นอย่างอื่นจนฟังกันไม่ออกแหละ
เดี๋ยวนี้ศาสนาพุทธนี้ไม่ต้องมีพระเจ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง มันมีธรรมชาติ มีกฎของธรรมชาติ ทำผิดกฎของธรรมชาติ ไอ้กายกับใจนี้ก็ต้องเป็นทุกข์ ฉะนั้นเราจึงมีอนัตตา อนัตตา ไอ้บุคคลเจ้าทุกข์หรือสัตว์เหล่านี้ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน คือไม่ใช่คนนั่นแหละ ถ้าไอ้จุดสูงสุด นิพพานโน่นน่ะก็ไม่ๆใช่เป็นเมือง ไม่ใช่เป็นของบุคคล แล้วผู้ที่มีกฎเกณฑ์บังคับไว้ต่างๆก็ไม่ใช่บุคคล มันเป็นธรรมชาติ เป็นกฎของธรรมชาติ ไม่ใช่บุคคล ฉะนั้นเราจึงเชื่อฟังกฎของธรรมชาติ เราบูชาอ้อนวอน ประจบประแจง กฎของธรรมชาติ แต่ไม่ใช่อย่างบุคคล คือเราพยายามที่จะทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาตินั่นน่ะ เรียกว่าเราเคารพบูชา อ้อนวอน บวงสรวง ประจบประแจงกฎของธรรมชาติ
นี้ถ้าจะให้มีพระเจ้ากันบ้างก็คือกฎของธรรมชาตินั่นแหละ ในๆๆบางครั้งผมจึงพยายามพูดว่า พุทธศาสนานี้ถ้าจะให้มีพระเจ้าก็ ก็คือกฎของธรรมชาติ แล้วมีเหมือนกันเลย เหมือนกับที่พระเจ้าอย่างบุคคลในศาสนานู้นๆน่ะ คือว่าไอ้พระเจ้านี้มันไม่มีความหมายอะไรนอกจากว่าผู้สร้างทุกสิ่งขึ้นมา เป็นปฐมเหตุน่ะ แล้วก็ผู้ควบคุมทุกสิ่งอยู่ ผู้ยกเลิกสิ่งทั้งหลายอยู่ พระเจ้านี้อยู่ในที่ทั่วไป พระเจ้าเป็นใหญ่กว่าสิ่งทั้งปวง พระเจ้ารู้หมดทั้งปวง คือจะบันดาลอะไรให้เกิดขึ้นได้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่พระเจ้าไม่บันดาลให้เกิดขึ้นมาได้ เลยเรียกว่ารู้ทั้งหมด แต่เขาให้เป็นบุคคลนะ ฝ่ายนู้นเขาให้เป็นบุคคล ฝ่ายพุทธศาสนานี้ไม่มีบุคคล ไม่มีพระเจ้าอย่างบุคคล แต่ก็มีสิ่งหนึ่งคือกฎของธรรมชาติที่จะเป็นอย่างนั้นน่ะ จะสร้างทุกสิ่ง จะ ควบคุมทุกสิ่ง จะอยู่ในที่ทุกแห่ง จะเป็นผู้ลงโทษเมื่อทำผิด ให้รางวัลเมื่อทำถูก เหมือนกันเลย แต่มิใช่บุคคล พยายามรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ธรรม หรือธรรมชาติสิ มันไม่ใช่บุคคล
พอพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เรื่องมิใช่บุคคล เป็นพระพุทธเจ้าหลุดพ้นจากไอ้ความทุกข์และปัญหาแล้ว เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ตรัสรู้แล้ว ท่านก็ยังคิดว่า หรือจิตนี้ จิตที่ตรัสรู้แล้วนี่ยังคิดว่าต้องมีไอ้สิ่งที่เคารพ จะตามธรรมเนียมหรือว่า (เสียงไม่ชัดเจน นาทีที่ 20:20-20:21) อะไรก็ตามเถอะมันต้องมีสิ่งที่เป็นที่เคารพ อยู่อย่างไม่มีที่เคารพนี่ไม่ๆถูกต้องนะ ไม่ปลอดภัย ไม่ถูกต้อง ไม่ดี ไม่อะไร ก็เลยคิดว่าจะเคารพอะไร ในที่สุดก็ตรัส ก็รู้ว่าต้องเคารพไอ้ธรรม ธรรมที่ตรัสรู้ เคารพธรรมที่ตรัสรู้ ไอ้ธรรมที่ตรัสรู้ก็คือ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงเคารพกฎของธรรมชาติที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตา เป็นสิ่งสูงสุดกว่าสิ่งใด เป็นสิ่งที่ทำหน้าที่ได้อย่างพระเจ้าหรือพระเป็นเจ้าในศาสนาอื่นทุกๆศาสนา ในศาสนาอื่นไอ้สิ่งที่เรียกว่าพระเจ้าของเขาน่ะให้เกิดอะไรขึ้นมา ทำอะไรได้กี่อย่างๆๆ กฎของอิทัปปัจจยตาก็ทำได้ครบถ้วนตามนั้น นั่นน่ะผมจึงว่าพุทธศาสนาก็มีพระเจ้า แต่มิใช่อย่างบุคคล คือทำอะไรได้อย่างเดียวกันกับพระเจ้าของท่านทั้งหลาย แต่มิได้เป็นบุคคล ฉะนั้นอย่าไปบัญญัติว่าพุทธศาสนามิใช่ศาสนา มันก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นว่า ไอ้คำว่าศาสนาเขาจะต้องมีพระเจ้าอย่างบุคคลเช่นนั้นรึ ถ้าเอาอย่างนั้นก็เอาไปสิ เราไม่เป็นหรอก เราไม่เป็นศาสนาหรอกถ้าเราต้องมีพระเจ้าอย่างบุคคล เราสงวนที่จะมีพระเจ้าอย่างมิใช่บุคคล จะไม่ให้เรียกว่าศาสนาก็ตามใจ แต่เราเรียก เราต้องเรียก เพราะว่าคำว่าศาสนานั้นมันเป็นระบบแห่งการดับทุกข์เท่านั้น เป็นระบบแห่งการดับทุกข์เท่านั้น ศาสนาน่ะ เพราะฉะนั้นเราจะมีพระเจ้าหรือเราจะไม่มีพระเจ้า ถ้ามันดับทุกข์แล้วก็เรียกว่า ถ้ามันมุ่งหมายจะดับทุกข์ก็เรียกว่าศาสนาได้ทั้งนั้น
ดังนั้นพุทธศาสนาหรือระบบพุทธศาสนาซึ่งมิไม่ ไม่มีพระเจ้าอย่างบุคคลนี้ ก็ต้องเป็นศาสนาด้วยเหมือนกัน แต่ถ้าให้พวกนู้นเขาว่าเอา เขาอ้างหลักของเขา เขาใช้ภาษาของเขา ใช้ภาษาละติน ภาษากรีกอะไรก็ตามเถอะ มันอธิบายไปหาไอ้ความ ความต้องการของเขาหมด เขาอธิบายเป็นมีพระเจ้าอย่างบุคคลจึงจะเป็น Religion ไอ้เรามีระบบปฏิบัติที่ทำให้คนพ้นทุกข์ ไปอยู่กับความไม่มีทุกข์ เราก็มีสิทธิที่จะเรียกว่า Religion เพราะคำนั้นมันแปลว่าผูกพันกับสิ่งสูงสุดนี่ คำว่า Religion ถ้าเอาตามตัวหนังสือกันจริงๆมันๆแปลว่าผูกพันอยู่กับสิ่งสูงสุด การประพฤติหรือการกระทำที่ทำให้เกิดการผูกพันกับสิ่งสูงสุด ถ้าอย่างนั้นก็พุทธศาสนาเต็มที่เลย พุทธศาสนามีระบบการประพฤติการกระทำให้เกิดถึงกันได้กับสิ่งสูงสุด คือนิพพาน แต่ไม่ใช่ผูกพันกันให้เป็นทุกข์นะ ไอ้คำว่า Lig ที่แปลว่าผูกพันนั้นน่ะความหมายมันอันตราย มันกำกวม ถ้าผูกพันแล้วมันจะเป็น จะไม่เป็นทุกข์ไม่ได้ เรียกว่าให้ถึงกันเข้าก็แล้วกัน ให้ได้ ให้อยู่ ได้อยู่ด้วยกัน ได้เป็นด้วยกัน นั้นแหละไอ้ระบบที่ทำมนุษย์ให้ถึงกันเข้ากับสิ่งสูงสุดนั่นแหละคือศาสนา เพราะฉะนั้นให้ถือว่าเป็นศาสนากันทุกศาสนาเลย เพราะเขามุ่งหมายจะให้มนุษย์ถึงกับสิ่งสูงสุด
ผมเคยไปแสดงปาฐกถาที่โรงพยาบาลสงฆ์ว่าไอ้ๆๆสิ่งที่มันมีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตนะ มันจะต่ำเตี้ยอย่างไรมันมีศาสนาทั้งนั้นแหละ มดแมลง มดมะ มดปลวก มดแมลง ไอ้โง่ๆนี่ตามพื้นดินมันก็มีศาสนา เพราะมันมีการพยายามการกระทำที่จะให้เข้าถึงความรอด เพราะฉะนั้นมันมีศาสนาทั้งนั้น อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้มันรอดได้ อันนั้นแหละก็เป็นตัวศาสนาของมัน ฉะนั้นมดแมลงมันอาจจะมีรู มีรังอะไรของมันเป็นศาสนา ทำรังเข้าไปอยู่แล้วก็พ้นๆๆปัญหา มันก็มีรูมีรังเป็นศาสนา เปี้ยวปูวิ่งลงรูก็หมดปัญหา มันก็มีรูแหละเป็นศาสนา คือให้ได้ถึงกันเข้ากับความปลอดภัยสูงสุด แต่ผมเชื่อว่าไม่มีใครเอาด้วยล่ะ พูดอย่างนี้ แต่ใครจะมาห้ามผมได้ ผมก็ต้องพูดไปตามความรู้สึกสิ เพื่อจะขยายความของคำว่าศาสนา ศาสนานี่ให้มันหมดจดเลย ให้มันถึงที่สุดเลย ระบบปฏิบัติให้สิ่งที่มีชีวิตได้ถึงกับสิ่งที่สูงสุด คือปลอดภัยที่สุด หมดปัญหานั่นเอง เมื่อถือความหมายอย่างนี้แล้ว พุทธศาสนาก็เป็น Religion ถ้าอย่างนั้นพวกนู้นน่ะเขาแค่นว่าพุทธศาสนาไม่มีพระเจ้า เป็น Religion ไม่ได้ เราก็บอกว่าเรามีพระเจ้าอย่างของเรานี่ ไม่ได้มีพระเจ้าอย่างของๆคุณซึ่งเป็นบุคคลน่ะ พวกคุณทุกศาสนามีพระเจ้าอย่างเป็นบุคคล แต่พุทธศาสนาหรือบางศาสนา ไม่ๆเฉพาะพุทธศาสนาศาสนาเดียว มันก็มีพระเจ้าอย่างมิใช่บุคคลเหมือนกันน่ะ ไอ้พวกนี้มันก็ต้องมีพระเจ้า เมื่อมีพระเจ้าก็เป็นศาสนาด้วยกันได้
ฉะนั้นศาสนาที่เรียกกันว่าศาสนา ศาสนาในโลกนี่ทุกศาสนามันก็เป็นศาสนาด้วยกันทั้งนั้นแหละ เพราะมันมุ่งที่จะดับทุกข์ ให้หมดทุกข์ ให้ได้พบกับความไม่มีทุกข์ซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดกว่าสิ่งใด นี่ก็คือหัวใจของศาสนาซึ่งจะต้องเข้าใจ รู้จัก หรือรู้จักเปรียบเทียบ เรามีสิ่งสูงสุดเป็นนิพพาน คือภาวะที่ดับเย็นหรือว่าง นิพพานัง ปรมัง สุญญัง นิพพานนี้ว่างจากปัญหา นิพพานนี้ว่าง ว่างจากอะไร ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ว่างจากปัญหา ฉะนั้นไอ้สิ่งสูงสุดของเราก็คือความว่างจากปัญหา
ทีนี้ศาสนาอื่นเขามีพระเจ้าหรือสิ่งสูงสุดเรียกชื่อต่างๆกัน เช่นคำว่า God อย่างนี้ มันอาจจะเป็นภาษาธรรมดาของชาวบ้านก็ได้ เขาแปลว่าไอ้ดีที่สุดน่ะ สูงสุดของความดี เป็น God ถ้าสูงสุดของความดีเป็น God อย่างนี้ ในพุทธศาสนาใช้คำรวมกันไม่ได้ คำว่านิพพานมันพ้นไปกว่าดี มันเหนือไปกว่าดี มัน ความดีมันยังมีปัญหา ฉะนั้นเราไม่เอาล่ะ ดี ดี ดีน้อยๆ ดีมากๆ ดีที่สุดก็ไม่เอาทั้งนั้น มันยังมีปัญหาไอ้ว่าดีๆนี่ มันต้องพ้นไปจากความดี มันจึงจะว่างจากปัญหา ดังนั้นจุดสูงสุดในพุทธศาสนานั่นมันเข้ากันไม่ได้กับคำว่า God หรอก แต่เขามีคำอื่นนะซึ่งเราก็ไม่ค่อยรู้ของเขานัก เช่นคำว่า ยาหะเวห์ ยะโฮวาห์ นี้เขาก็มีเป็นชื่อของพระเจ้า ถ้าเอาคำเหล่านั้นมาแยกแยะความหมายดูบางทีจะเป็นอย่างอื่น จะไม่ใช่ตรงกับคำว่า God ก็ได้ มันก็ขัดกันอยู่ในตัวนะ ถ้า God แปลว่าดีที่สุดตามที่เคยทราบมานั้น มันจะขัดกันกับคำว่ายาหะเวห์ซึ่ง ซึ่งดูแปลว่าอย่างนั้นเอง เท่าที่ผมสอบถามเรียนรู้มาบ้าง คำว่ายะโฮวาห์นั้นแปลว่าอย่างนั้นเอง มีความหมายคล้ายกับอิทัปปัจจยตา เป็นภาษาฮีบรูที่แปลว่า ฉันเป็นอย่างที่ฉันเป็น ฉันเป็นอย่างที่ฉันเป็นน่ะ ยาหะเวห์ ก็คือเช่นนั้นเอง ถ้าเอามาๆให้มีความหมายอย่างนี้มันก็พอจะเข้ากันได้กับอิทัปปัจจยตา แต่เขาก็คงไม่ยอมอีก เพราะเขาต้องการจะให้ดีกว่าเสมอ หรือให้แยกตัวให้ดีกว่า เด่นกว่าเสมอ
ได้ยินว่าคริสตัง คริสเตียนนี้เขาเตรียมคำอธิบายไว้ที่จะอธิบายว่าพระพุทธเจ้านั่นเกิดก่อนก็เพื่อจะเตรียมหนทาง เตรียมลู่ทางไว้ให้พระเยซูคริสต์ เมื่อพระเยซูคริสต์เกิดทีหลัง เขาจะได้ทำอะไรสะดวก ให้พระพุทธเจ้ากลายเป็น เป็นผู้นำมาก่อนเพื่อเตรียมหนทางไว้ให้พระคริสต์ ผมบอกไม่เอา ไม่เชื่อ ไอ้คนที่เตรียมหนทางให้พระเยซูในคัมภีร์ของคุณก็บอกชัดอยู่แล้วคือโยฮัน โยฮันที่มาก่อนมาคอยบวชให้พระเยซูน่ะ นั่นน่ะคนเตรียมทางให้พระเยซู พระพุทธเจ้าไม่ได้มีมาเพื่อเตรียมทางไว้ให้พระเยซู ออกมาๆ ออกมาแล้วก็สอนคนละทาง สอนอย่างมีบุคคล สอนอย่างไม่มีบุคคล มันก็มะ ไม่ใช่ ไม่ใช่ผู้มาเตรียมทาง ถ้าพระ พระพุทธเจ้ามาเตรียมทางให้พระเยซูจริง พระเยซูก็ต้องสอนเรื่องไม่มีบุคคลเหมือนกันจึงจะได้
เพราะฉะนั้นเรามามองดูความสำคัญที่สุดของพุทธศาสนาก็คือว่า เป็นหลักศาสนาที่เดินไปตามธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ นี่ช่วยจำคำนี้ไว้ให้ดีๆ พุทธศาสนาน่ะมันมีหลักเกณฑ์ที่เอาธรรมชาติเป็นหลัก ไม่เอาคำพูด ไม่เอาความเชื่อ ไม่เอาลัทธิอะไรก่อนๆเป็นหลัก เอาๆๆๆธรรมชาติเป็นหลัก เรื่องกาย เรื่องจิต เรื่องความทุกข์นี่ แล้วก็ไม่ต้องอ้างว่ามีพระเจ้าที่ไหนมาช่วยทำให้นั่น นั่นนี่ เช่นพูดว่าสุขทุกข์ ไอ้ความสุขความทุกข์ของเราเกิดแต่พระเจ้าบันดาลนี้ผิดเป็นมิจฉาทิฐิเลยนี่ ถ้าพูดว่าความสุขทุกข์ของมนุษย์พระเจ้าเป็นผู้จัดให้นี้ผิดเป็นมิจฉาทิฐิเลย นั่นเพราะเราถือว่าสุขทุกข์ของมนุษย์เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ คือกฎอิทัปปัจจยตา ถ้าเราทำถูกต้องเมื่อมีผัสสะ เราก็ไม่มีทุกข์หรอก ถ้าเราทำผิดพลาดเมื่อมีผัสสะ เราก็ต้องเป็นทุกข์ นี่คือกฎของธรรมชาติที่เรียกว่ากฎอิทัปปัจจยตา เพราะฉะนั้นไอ้สุขหรือทุกข์น่ะมันเป็นเรื่องที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ คือกฎอิทัปปัจจยตา มีเหตุผลอยู่ในตัวเหมือนกับวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ปรัชญา ไม่ใช่ปรัชญา พูดให้เด็ดขาดไปเลย ไม่ใช่ตามหลักเกณฑ์ของปรัชญาหรือ Philosophy แต่มันเป็นกฎเกณฑ์ของวิทยาศาสตร์ เห็นอยู่ชัดๆ ถ้าว่ากระแสจิตคิดผิดพลาดอย่างนี้มันก็เป็นทุกข์ ถ้าจิตมีกระแสจิตคิดถูกมันก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะมันเป็นไปตามกฎของไอ้ธรรมชาติ มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์
ฉะนั้นพุทธศาสนาจึงมีพระเจ้าอย่างวิทยาศาสตร์นะ พุทธศาสนามีพระเจ้าชนิดที่นักวิทยาศาสตร์ยอมรับได้นะ มีพระเจ้าชนิดที่ไม่มีนักวิทยาศาสตร์พวกไหนจะปฏิเสธได้ ไม่เหมือนกับพระเจ้าอย่างบุคคลในศาสนาต่างๆที่มีพระเจ้าอย่างบุคคล นักวิทยาศาสตร์เขาไม่ยอมรับ แม้เขาจะเกิดโดยพ่อแม่ที่เป็นคริสเตียนแต่เขายอมรับพระเจ้าชนิดนั้นไม่ได้ในจิตใจของเขา เขาก็รับแต่ปากตามธรรมเนียม ตามประเพณี ก็เพื่อไม่ให้ทะเลาะกับพ่อแม่เท่านั้นแหละ ฉะนั้นเรามีกฎของธรรมชาติโดยหลักเกณฑ์วิถีทางอย่างวิทยาศาสตร์เป็นตัวศาสนา นี่คือฝ่ายนี้
ส่วนฝ่ายนู้นน่ะเอาความเชื่อที่สอนสืบๆกันมาเป็นความเชื่อที่ถ่ายทอดกันมา ไม่มีลักษณะวิทยาศาสตร์ เป็นความเชื่อที่เคยได้ผลดีมาแล้วแหละ สอนต่อๆกันมาให้เป็นรูปแบบของความเชื่อ แล้วก็ให้มีพระเจ้าอย่างเป็นบุคคล มีพระเจ้าที่รู้สึกเหมือนคน พระเจ้าชนิดนั้นโกรธก็ได้ รักก็ได้ เหมือนๆคน ก็เลยเป็นรูปแบบนั้น จะเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้เพราะมันไม่แฉให้ดูได้ ได้แต่ให้เชื่อท่าเดียว เขาวางกฎเกณฑ์ไว้ให้เชื่ออย่างไรแล้วก็ต้องเชื่อนะ ค้านไม่ได้นะ เขาเรียกไอ้ Dogmatic System นี่ เขาวางไว้อย่างไรแล้วไปๆๆวิจารณ์ไม่ได้ ค้านไม่ได้ วิจารณ์ไม่ได้ เขาพูดเป็นบทๆๆๆไว้ชัดเจนอย่างไรเกี่ยวกับพระเจ้า เกี่ยวอะไรก็ตาม ไม่ยอมให้ใครวิจารณ์ เพราะมันเป็นเรื่องแห่งความเชื่อ มันขลัง มันศักดิ์สิทธิ์อยู่ได้ด้วยความเชื่อ ฉะนั้นศาสนานั้นจึงตั้งรากฐานอยู่บนความเชื่อ แล้วแฉกันไม่ได้โดยวิถีทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์เขายอมรับไม่ได้ เป็นพระเจ้าที่นักวิทยาศาสตร์ยอมรับไม่ได้ ยอมรับได้แต่คนที่ยอมเชื่อ
นี่ถ้าว่าจะดูความแตกต่างกันลิบเลย แตกต่างกันลิบ ระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาอีกฝ่ายหนึ่งน่ะมัน มันแตกต่างกันถึงอย่างนี้ มันแตกต่างกันอย่างชนิดที่ว่ามันยิ่งกว่าตรงกันข้ามกระมัง มันมากกว่าตรงกันข้ามอีก อันนี้จะต้องไม่มีบุคคล ไม่ใช่อย่างบุคคล เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ทั้งกายทั้งจิต แล้วก็ดับทุกข์ซึ่งเป็นธรรมชาติ ความทุกข์ก็เป็นธรรมชาติ แล้วก็ดับทุกข์ด้วยกฎของธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติมันจึงดับทุกข์ ไอ้ส่วนที่พวกมีเป็นบุคคล เป็นศาสนาแห่งความเชื่อ ก็ต้องไปดับด้วยความเชื่อนี่ ก็ทำไปแต่ ทำ ทำไปตามวิถีของศาสนาที่ตั้งรากฐานอยู่บนความเชื่อ
เดี๋ยวนี้พุทธศาสนามันตั้งรากฐานอยู่บนความรู้หรือปัญญา เพราะคำว่าพุทธะ พุทธะน่ะมันแปลว่า รู้ รู้หรือตื่นนอนนะ คำว่าพุทธะนี่ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านแปลว่าตื่นนอนนะ คุณรู้ไว้บ้าง คือไม่หลับ มันก็รู้ เมื่อมันตื่นมันก็เบิกบาน มันไม่หุบ มันไม่งัวเงียเพราะมันตื่นนี่ เพราะมันรู้ เพราะมันฉลาดนี่ พุทธศาสนาแปลว่าศาสนาของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ส่วนอันอื่นมันก็ต้องเป็นศาสนาของพระเจ้าที่มอบมาทางบุคคลใดบุคคลหนึ่งผูกขาด เป็นคำสั่งผูกขาด
คำว่าคริสต์ และพระเยซูคริสต์ หรือไครสต์นั่นน่ะ ผมถามเขาดู เขาเอาไอ้ตำรารากศัพท์มาดู เขาแปลว่าเจิมนะ Anointed เจิมน่ะคือตราตั้ง เจิมตรงไหนก็ตามเป็นตั้งให้คนนี้เป็นผู้แทนฉัน ทำอะไรแทนฉันหมด พระเยซูคริสต์หรือพระไครสต์นั่นน่ะแปลว่าผู้ที่พระเจ้าเจิมมาให้ ประทับตรามาให้ เป็นผู้แทนพระเจ้า เป็นบุตรพระเจ้า เป็นผู้ทำอะไรแทนพระเจ้า ในนามพระเจ้า หรือลูกพระเจ้า บางทีก็ว่าเป็นอันเดียวกับพระเจ้า บางทีก็เป็นลูกพระเจ้า แต่รวมความแล้ว แทนพระเจ้าในมนุษโลก
เราไม่ได้ต้องการจะทะเลาะกันนะ ที่พูดนี้ แล้วเราก็ไม่ได้ต้องการจะดูหมิ่นดูถูกใครนะ ถ้าเราไปดูถูกดูหมิ่นใครเข้าแล้วผิดนะ ผิดหลักพุทธศาสนาทันที เป็นเรื่องบ้า เป็นเรื่องผิดกฎธรรมชาติทันที ถ้าไปดูถูกดูหมิ่นใครเข้าแล้วมันก็ผิดกฎธรรมชาติทันที เราจะอ้างว่าเราพูดความจริงก็ไม่ได้ มันต้องรับผิดชอบ เพราะว่าไอ้ๆพูดความจริงบ้าๆบอๆนั้นมันทำให้ผู้อื่นเสียหายวุ่นวาย มันเป็นความจริงที่ทำให้เกิดเรื่องก็อย่าดีกว่า มันไม่มีประโยชน์ มันทำลายประโยชน์ ฉะนั้นเราไม่พูด เราไม่พูดไปในทางขัดแย้งกัน เราไม่พูดในทางดูหมิ่นกัน แล้วถ้าอย่างนั้นผมพูดทำไม ผมพูดกับคุณทำไม นี้ก็พูดเพื่อให้รู้จักไอ้ศาสนาของตนดีขึ้นนั่นเอง ไม่ได้ไปพูดกับคนถือศาสนาอื่นแล้วบอกว่าของฉันดีกว่า ไม่ๆได้พูดอย่างนั้น ไม่ได้มุ่งหมายอย่างนั้น ไม่เป็นการเปรียบเทียบว่าดีกว่าอะไรกว่า แล้วก็ไปยืนยันใส่หน้าเขาอย่างนั้นไม่ถูกหรอก ไม่มีล่ะ แต่ว่าเดี๋ยวนี้พูดกันในหมู่พุทธบริษัทเพื่อให้รู้จักพุทธศาสนาชัดเจนยิ่งขึ้น จึงได้พูดอย่างนี้
สรุปความว่าพุทธศาสนานี่ไม่ใช่ ไม่ใช่เรื่องของบุคคล ไม่มีบุคคลที่กำลังเป็นผู้ทุกข์หรือผู้จะพ้นทุกข์ หรือว่าไปๆหายอดสุดของบุคคลที่เป็นบุคคลสูงสุดอย่างนี้ไม่มี พระพุทธเจ้าก็เป็นเพียงเหมือนกันกับเราแหละ คือเป็นกายใจ นามรูป เรียกว่าเบญจขันธ์อะไรแล้วแต่ แต่ว่าในๆกลุ่มนั้นมันมีจิตใจที่ถึงที่สุดแห่งความรู้ตามธรรมชาติ รู้กฎของธรรมชาติ จิตใจดวงนั้นรู้ รู้จักเรื่องของธรรมชาติ รู้จักกฎของธรรมชาติสูงสุด เราสมมติเรียกให้ทีหลังว่าเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้เป็นคำสมมตินะ หรือซึ่งมันเป็นธรรมดา เป็นธรรมเนียม เป็นธรรมดาในโลก คนต้องสมมติบัญญัติ คนนั้นคนนี้ เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ตามชั้นตามเชิง ตามหน้าที่การงาน จึงเรียกว่าสมมติ เมื่อคนทุกคนมิใช่บุคคล แล้วพระพุทธเจ้าก็มิใช่บุคคล พระอรหันต์ทั้งหลายก็มิใช่บุคคล มันเป็นเรื่องกลุ่มของธรรมชาติกลุ่มหนึ่งน่ะ คือกายกับจิต และความรู้สึกของจิตมันทำอย่างนั้นได้ แล้วไปอยู่กับสิ่งสูงสุดซึ่งจะเรียกว่าพระนิพพานนี้ก็ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้นจะหาบุคคลไม่พบในระบบพุทธศาส ศาสนาทั้งหมด จะหาบุคคลโดยแท้จริงไม่พบ เว้นไว้แต่เป็นบุคคลโดยสมมติ โดยสมมติ
ตามธรรมดาของคนในโลกที่จะต้องมีสมมติ ตามประเพณีของการพูดจา ตามวัฒนธรรมของการพูดจา ตามหลักเกณฑ์ของการพูดจา มันก็ต้องพูดว่ามีบุคคลชื่อนายกอ นายขอ นายคอ นายงอ แล้วคนนั้นชื่อนั้น คนนั้นเป็นนั้น คนนั้นเป็นนี้ คนนั้นเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นพระสัมมา สัมพุทธเจ้าในที่สุด แต่มิใช่เป็นบุคคลโดยแท้จริง เป็นกลุ่มของธรรมชาติคือกายกับใจ รวมกันทำอะไรได้ เคลื่อนไหวได้ ทำอะไรได้ ในนั้นมีความต่างกันของสติปัญญา บางกลุ่มไม่ค่อยมีสติปัญญา บางกลุ่มมีมาก บางกลุ่มมีมากที่สุด
มีคน ผมก็ลืมเสียแล้ว จะเป็นจีน หรือเป็นฝรั่ง หรือเป็นอาจารย์ฝ่ายไหนก็ไม่รู้ เขาพูดว่า พุทธศาสนาคือ The Teaching of No Man คำสอนที่ไม่มีมนุษย์ คำสอนที่ไม่มีคน คำสอนเรื่องไม่มีคน The Teaching of No Man No Man คือไม่มีคน นั่นน่ะคือพุทธศาสนา คนนี้จะเป็นใครก็ตามเขาๆๆพูดถูกที่สุดเลย ตรงตามหลักพระพุทธศาสนาที่สุดเลย มันไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัว ไม่มีตนชนิดนั้น มันมีธรรมชาติ กลุ่มของธรรมชาตินี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ อา วิญญาณธาตุเป็นประธานในกลุ่มนี้ เรียนวิทยาศาสตร์อย่าง Biology มาให้มากๆสิ จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ง่าย ว่ามันไม่มีบุคคล มันมีแต่การประชุมกันของส่วนประกอบหลายๆชนิด จนออกมาเป็นชีวิต เป็นเซลล์ที่มีชีวิต เป็นสัตว์ เป็นคน เป็นอะไรอย่างที่เรียกกัน แต่โดยแท้ ที่แท้แล้วมันไม่ได้มีตัวคน มันมีแต่ประชุมกลุ่มของไอ้หลายๆสิ่ง ที่เมื่อประชุมกันอย่างถูกต้องแล้ว จับกลุ่มกันอย่างถูกต้องแล้ว ก็คือนี่ คือสัตว์ทั้งหลาย หรือคนทั้งหลายที่เที่ยวเดิน เที่ยวพูด เที่ยวอะไรอยู่นี่ คำว่าไม่มีคนมันหมายความว่าอย่างนั้น มันก็มีแต่จิตที่รู้สึกได้ คิดนึกได้ แล้วก็ร่างกายซึ่งจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของจิต จิตไม่มีเนื้อมีตัว ไม่มีพลังอะไรที่จะทำอะไรได้ กายมีได้ เดินได้อะไรได้ กินได้อะไรได้ อยู่ได้ มาเป็นไอ้ๆเครื่องรองรับของจิต รวมกันเป็นอันเดียวกัน แล้วมันเลยทำอะไรได้ ทำทางกายได้ ทำทางวาจาได้ ทำทางใจได้
เรื่องกายกับใจ มันมีนิทาน ไอ้นิทาน จะเป็นนิทานเด็กๆ หรือนิทาน มันคล้ายๆกับนิทานสอนเด็กแหละ เพราะมันตลก แต่มันสอนธรรมะลึก มันจะมาจากอินเดียหรือมันเกิดขึ้นในเมืองไทยก็ไม่แน่ มันมีนิทานว่า คนหนึ่งตาบอด ร่างกายแข็งแรง เป็นคนแข็งแรงล่ำสันที่สุด แข็งแรงที่สุด แต่มันตาบอด ทีนี้อีกคนหนึ่ง คนๆ อ่า, คนๆง่อย คนง่อย คือคนพิการน่ะ ร่างกายพิการเดินไม่ได้ อะไรก็จะไม่ได้ แต่ตามันดี วันหนึ่งคนง่อยมันเดินเตาะแตะๆไปพบกันเข้ากับไอ้คนตาบอดนั่น มันไปสะดุดเอาคนตาบอดนี่ มันก็เลยพูดจากัน ไอ้สัตว์ที่ตาบอดนั้นมันก็รู้ว่าไอ้นั้นตาดี มีตาดีแต่เดินไม่ได้ ไอ้นี่มันตาบอดแต่เดินได้ ก็เลยเขาทำสหกรณ์กัน ทำสหกรณ์กันคือว่า ให้คนตาดีขึ้นขี่คอคนตาบอดน่ะ แล้วคนตาดีก็สั่งคนตาบอดทำอะไรได้ เลี้ยวไปไหนได้ ทำอะไรได้ สองคนมันรวมกันเป็นคนเดียว ต่อไปนี้มันก็ไปไหนได้ ทำอะไรได้ เพราะมันทำสหกรณ์กันระหว่างไอ้คน อ่า, คนง่อยตาบอ อ่า, ตาดี กับคนแข็งแรงตาบอด นี่เขาเป็นคำเปรียบของร่างกายกับจิตใจ จิตใจมันเดินไม่ได้แต่ตามันดี ไอ้ร่างกายมันเดินได้แต่ตามันบอดหรือมันไม่มีตา พอมันมารวมกันมันคนเดียวกัน มันก็เลยทำอะไรได้ นั่นแหละคือนามรูป นามรูป ความหมายของคำว่านามรูป ซึ่งมันก็มิใช่บุคคล ตัวตน แต่มันเป็นธรรมชาติ ๒ ชนิด คือ รูปธาตุ กับ นามธาตุ มันสองชนิดมารวมกัน แล้วมันก็ทำอะไรได้
ทีนี้ใครไปตั้งชื่อให้มันว่าเป็นบุคคลเล่า ก็ต้องความโง่ ความหลงของมันน่ะ มันคงจะ มันเข้าใจไม่ได้แล้วมันเรียกว่าอะไรเพื่อจะเป็นตัวกูขึ้นมา เพื่อจะเป็นตัวกูขึ้นมา มันก็ตั้งชื่อไอ้นั้นขึ้นมา มันก็เลยกลายเป็นตัวกูขึ้นมา ตัวตน บุคคลขึ้นมา ไม่ยอมรับว่าเป็นเพียงธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ส่วนหนึ่งรู้สึกคิดนึกได้ ไอ้ส่วนหนึ่งไม่รู้สึกคิดนึกได้แต่มีกำลัง มีวัตถุ เอามารวมกันเสียก็ทำอะไรได้ ข้อนี้ อ่า, ข้อนี้ผมตั้งใจว่าถ้ารู้ความหมายเหล่านี้ รู้เรื่องเหล่านี้ เข้าใจความหมายเหล่านี้ ว่ามันมิใช่บุคคล มันเป็นแต่ธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของธรรมชาตินี่ ให้เห็นข้อนี้กันก่อนเถอะ แล้วก็จะเข้าใจธรรมะได้ง่าย ธรรมะอีกมากมายที่เข้าใจไม่ได้น่ะจะเข้าใจได้ ถ้าจับฉวยไอ้ๆหลักสำคัญที่ลึก ที่เป็นส่วนลึก ส่วนหัวใจของเรื่องให้ได้ ต่อๆไปนี้มันก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น จะเข้าใจเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุญญตานี่ได้ง่ายขึ้น
ยังมีเรื่องที่ต้องเอามาทำความเข้าใจกันอีกๆข้อหนึ่งนะ คือข้อที่เขาเรียกว่าหัวใจของพระพุทธศาสนานั่น ถ้าเรียนพุทธประวัตินักธรรมตรีมาแล้วก็คงจะรู้ว่าหมายถึงอะไร คือเมื่อพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้ว ตรัสรู้แล้ว ส่งสั่ง อ่า, ทรงส่งสาวกไปประกาศศาสนาแล้ว ไอ้สาวกที่ทรงส่งไปนั้นก็มีองค์หนึ่งที่มีชื่อว่า พระอัสสชิ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ทั้งห้าน่ะ องค์นั้นก็ถูกส่งไป แล้วก็ไปเที่ยวสอนอยู่ จนมีโอกาสพบกันกับอุปติสสะ โกลิตะ ซึ่งต่อมาจะเป็นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ สาวกชั้นเอก เมื่อสองคนนั้นยังไม่ได้มาบวช ยังเที่ยวแสวงหาไอ้ธรรมะสูงสุดอยู่ ก็ได้พบกับพระอัสสชิ แล้วก็ขอคำสอนจากพระอัสสชิว่าพระศาสดาของท่านสอนอย่างไร ท่านจึงอยู่ในลักษณะที่งดงาม น่าเลื่อมใส ดูจะไม่มีความทุกข์เลย พระอัสสชิเป็นพระอรหันต์นี่เดินไป ไอ้ๆสองคนนี้เห็นเข้าก็พอใจอย่างยิ่ง โดยความ โดยๆความรู้สึกของเขาเห็นว่าคนๆนี้มันไม่มีความทุกข์เลย อะไรๆก็น่า น่าดู น่าเลื่อมใสไปเสียทุกอย่าง ท่านจึงไปขอรู้ ท่านถือธรรมะอย่างไร ของใคร ให้ช่วยบอก พระอัสสชิก็บอกว่าเราก็พึ่งบวชเหมือนกัน แล้วก็พูดไม่เป็นหรอก จะให้อธิบายไอ้เป็นเรื่องเป็นราวยาวๆไม่ได้ พูดไม่เป็น ไอ้สองคนนั้นมันก็บอกว่า พูดแต่ๆหัว แต่ๆหัวใจก็แล้วกัน พูดแต่ใจความสำคัญของเรื่องก็แล้วกัน ไม่ต้องพูดมาก แล้วพระอัสสชิก็ตอบว่า
เย ธัมมา เหตุปัปภะวา เตสัง เหตุง ตถาคโต
เตสัญจะ โย นิโรโธจะ เอวังวาที มหาสะมะโณ
ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็เขาถือกันว่าไอ้ๆๆถ้อยคำนี้คือหัวใจของพระพุทธศาสนาอย่างไรเล่า เพราะสองคนนั้นขอให้พระอัสสชิอธิบาย ท่านว่าท่านพูดไม่เป็น พูดมากคำไม่เป็น พูดแต่หัวใจแล้วก็ได้ แล้วท่านก็พูดเป็นถ้อยคำนี้ ก็เรียกว่าคาถาพระอัสสชิ ๔ วรรคๆละ ๘ พยางค์ เป็นคำพูด ๓๒ พยางค์นั้น
แล้วต่อมาเขาก็ถือว่านี่เป็นหัวใจของพุทธศาสนานะ นิยมจารึกตามสถานที่สำคัญ จารึกแผ่นอิฐ ก้อนอิฐด้วยไอ้หนังสือ ๔ วรรคนี้ ที่นครปฐมที่เมืองไทยนี้ก็ๆพบอิฐที่จารึกไอ้ถ้อยคำนี้ ก็รู้กันไปทั้งโลกแหละ ถ้าในๆวงพุทธศาสนาก็มีๆคำนี้จารึกแผ่นอิฐ จารึกที่สำคัญๆว่าเป็นหัวใจพุทธศาสนา แล้วคำๆนั้นมันก็มีแต่เพียงว่า ธรรมทั้งปวงน่ะ สิ่งทั้งปวงมีเหตุ สิ่งที่มีเหตุนั้นพระศาสดาของเรารู้ และรู้การที่จะดับเหตุนั้นเสียด้วย มีเท่านั้นเอง สิ่งทั้งปวงมีเหตุ พระศาสดาของข้าพเจ้ารู้จักสิ่งที่มีเหตุ รู้เหตุนั้นด้วย และรู้การดับเสียซึ่งเหตุนั้นด้วย นี่หัวใจพุทธศาสนามีเท่านี้ เป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดเลย คุณดูเถอะ แล้วไม่มีคำว่า ว่าบุคคลที่ไหนหรอก มันไม่มีคำว่าบุคคล มันมีแต่คำว่าสิ่งทั้งปวงมันมีเหตุ มันเกิดเองไม่ได้ และก็ให้รู้จักเหตุของมัน รู้จักวิธีตัด ดับเหตุนั้นเสีย ไอ้สิ่งทั้งปวงของคนที่เป็นปัญหาก็คือความทุกข์ จะเรียกว่าโลกก็ได้ โลกก็คือความทุกข์ สิ่งทั้งปวงคือความทุกข์มันมีเหตุ รู้จักเหตุของมัน และรู้จักวิธีดับเหตุของมันเสีย ไอ้ความทุกข์มันก็ดับเท่านั้นน่ะ เรื่องมันก็จบเสียแล้ว ไม่ต้องมีสัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่มีพระเจ้าพระแจ้วอะไรที่ไหนเลย นี่หัวใจของพุทธศาสนา มีคำพูดเป็นวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง ว่าสิ่งทั้งปวงน่ะที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่กับมนุษย์นั้น สิ่งทั้งปวงมันมีเหตุ พระศาสดาของเรารู้จักเหตุ และรู้จักการดับเสียซึ่งเหตุนั้น เรื่องจบเลย
ฉะนั้นถ้าจะเข้าใจพุทธศาสนา จะศึกษา ยึดๆหลักอันนี้ไว้ให้ๆๆๆๆแน่นแฟ้น ให้ถูกต้อง ให้ชัดเจนสิ ไม่มีทางจะผิด จะไม่มีทางผิด จะไม่เกิดไอ้ความรู้สึกคิดนึกเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นพระเจ้า เป็นไอ้เทวดา ผีสาง ไอ้อะไรที่ๆไหนขึ้นมาได้ ไอ้สิ่งที่มันเป็นปัญหาแก่มนุษย์นั่นน่ะมันเป็นๆเรื่องที่ ที่สำคัญน่ะ ที่มันเผชิญหน้าอยู่ ที่มันรบกวนอยู่ ไม่ เอาไปทิ้งเสียที่ไหนก็ไม่ได้นี่ มันเป็นความทุกข์ที่เป็นปัญหาอยู่แก่ชีวิต นั้นมันเป็นเรื่องที่ใครๆก็ๆๆหลีกไม่พ้น มันก็มีแต่ว่าจะต้องจัดการกับมันเสีย จัดการกับมันเสียก็คือรู้เหตุของมัน แล้วก็ทำลายเหตุของมันเสีย ถ้าเดี๋ยวนี้เราจะต้องพูด ถ้าเดี๋ยวนี้เราอยากจะพูดให้สั้นเข้ามาอีก เราก็พูดว่ามันมีเหตุ แล้วก็ทำลายเหตุของมันเสีย เท่านั้นพอ
ไอ้ปัญหาทั้งหมดน่ะมันมีเหตุ ทำลายเหตุของมันเสีย เรื่องมันก็จบ เดี๋ยวนี้มาพูดให้เป็น ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ นี้มันเป็นเรื่องของคนทีหลัง เขาๆไปทำมันให้เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้เจตนาจะให้มันเป็น ๘๔,๐๐๐ เรื่องหรอก ท่านพูดทุกเรื่องๆ มันๆเป็นความหมายเดียวกันหมด คือไม่ยึดมั่น ถือมั่นในเบญจขันธ์น่ะ คือไม่ยึดมั่นถือมั่นกายและใจว่าตัวเรา ว่าบุคคล ว่าสัตว์ ว่าบุคคล ถ้าจะพูดอีกแบบหนึ่งนะ คือไม่ให้ยึดมั่นร่างกายและจิตใจซึ่งแจกออกเป็นขันธ์ ๕ น่ะ ว่ามันไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน นั้นน่ะคือการตัดเสียซึ่งเหตุแหละ พอเห็นว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่มีอะไรที่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน มันก็ไม่ยึดถืออะไร สิ่งต่างๆก็ๆเป็นไอ้ธรรมชาติไปหมด เป็นสิ่งที่มีเหตุ ที่เราจะทำลายเหตุเสียได้ มันมีเหตุ เราทำลายเหตุเสียได้ มันก็หมดกัน เรื่องมันก็หมดกัน ฉะนั้นเราอาจจะเรียนธรรมะ ๘๔,๐๐๐ ข้อ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ได้ อย่ากลัว จะมากเท่านั้นก็อย่ากลัว เพราะมันมารวมอยู่ที่ตรงนี้ มันมารวมอยู่ที่คำสั้นๆว่ามันๆมีเหตุ แล้วก็ตัดเหตุของมันเสีย เหตุก็คือโง่ ไปยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แล้วเกิดกิเลส เกิดความทุกข์นั่นแหละ เหตุคือโง่ ไปๆยึดถือว่ามีตัวตน พอเลิกเหตุนี้เสีย มันก็ไม่มีตัวตน ไม่มี มี ไม่มีตัวตนจะยึดถือ มันก็ดับทุกข์สิ้นเชิง
เราอยากให้ฝรั่งรู้เรื่องนี้ แล้วไปพูดเสียใหม่ให้ถูกต้อง ฝรั่งที่เป็นครูบาอาจารย์เขาไปเขียนผิดๆ ไม่ใช่พุทธศาสนา แล้วก็ว่าเป็นพุทธศาสนา ทุกเล่มที่ฝรั่งเขียนมันจะมีคำว่า Karma and Rebirth Chapter นี้ผิดทั้งนั้นน่ะ ทุกคนที่เขียน ที่หนังสือที่ฝรั่งเขียนน่ะ เขียนเป็นอย่างมีบุคคล เป็น Incarnation เหมือนกับฮินดูไปเลย ถ้าเขารู้เรื่องที่ว่ามันไม่ใช่มีบุคคล แล้วก็ท่องเที่ยวเกิดดับเหมือนกับคำสอนในลัทธิฮินดู มันเป็นความโง่ที่คิดว่าเป็นบุคคลที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้วก็เป็นทุกข์ ทีนี้ก็เลิกความคิดอันนี้เสียสิ คือตัดเหตุมันเสีย ความทุกข์มันก็ไม่มี มันมีเหตุอยู่ที่ความโง่ หลงคิดไปว่ามีตัวมีตน มีสัตว์ มีบุคคล พอตัดเหตุอันนี้เสีย มันก็ไม่มีตัวตนบุคคล มันก็ไม่มีทุกข์ เรื่องมันจบนะ เรื่องมันจบตรงที่มันไม่เป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ถ้ายังมีตัวตน สัตว์ บุคคลแล้วก็มันไม่ๆจบแหละ แล้วถ้าไปสอนว่าไปอยู่กับพระเจ้าที่เป็นนิรันดร อย่างนั้นน่ะเป็นฮินดูไปเลย เป็นฮินดูหรือเป็นคริสต์ไปเลย ไปอยู่กับพระเจ้าที่เป็นบุคคลนิรันดร แล้วก็มันก็เป็น ไม่ใช่พุทธแล้วทีนี้ มันหมดความเป็นพุทธแล้ว
แต่ก็มีการสอนผิดๆ เข้าใจผิดๆ เหลือเชื่ออย่างนี้อยู่ แม้ในประเทศไทย เพราะว่าพวกฮินดูเข้ามาสอนในประเทศไทยนี่ก่อน ก่อนพวกพุทธ พวกพุทธมาทีหลัง มาสอนไอ้ มาสอนวัฒนธรรม สอนศาสนาในดินแดนนี้ พวกฮินดู พวกพราหมณ์น่ะเขามาก่อน เขาสอนไว้อย่างพราหมณ์ อย่างมีตัวมีตน พุทธมาทีหลัง ต้องต่อสู้กันมากกว่าจะสอนพุทธได้ แล้วมันก็ยังเหลืออยู่ ที่มันยังเหลืออยู่คือมันๆ บางคนน่ะมัน มันรู้ไม่ได้แล้วมันก็สอนต่อๆกันมาเป็นแบบฮินดู ฉะนั้นไอ้คำสอนส่วนที่มีสัตว์ มีบุคคล มีตัวมีตนก็คือคำสอนแบบฮินดูที่เหลืออยู่ในประเทศไทย ถ้าเป็นพุทธและสอนกันอย่างพุทธ มันก็ไม่มีบุคคล ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มี Soul ไม่มี Self ไม่มี Egoist อะไร ต้องไม่มีอะไรทำนองนั้น
ฉะนั้นเราจึงเอาหัวใจของเรื่องมาเปรียบเทียบ ที่ว่าจิตเป็นทุกข์อย่างไร ไม่เป็นทุกข์อย่างไร ถ้าเราเอาเปลือกนอกมาเทียบ มันจะเหมือนๆกันแหละ เป็นศีลธรรม เป็นจริยธรรมภายนอก มันจะเหมือนๆกันแหละ ทั้งพุทธ ทั้งฮินดู ทั้งคริสเตียน ทั้งยิว ทั้งอะไรก็ มันเป็นเรื่องศีล เรื่อง เอ่อ, ไม่ฆ่า ไม่ขโมย ไม่อะไรเหล่านี้เหมือนกันหมดเลย ทุกศาสนาจะเหมือนกันหมดในส่วนศีลธรรม
แต่ถ้าในส่วนปรมัตถธรรม ธรรมแท้จริงน่ะมันก็ๆๆต่างกันอย่างยิ่งแหละ อันหนึ่งมันมีบุคคลน่ะ ไอ้พวกหนึ่งมันไม่มีบุคคล มันเป็นธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ในลักษณะวิทยาศาสตร์ ส่วนพวกหนึ่งมันมีบุคคล มันไม่ มันไม่ใช่เป็นๆธรรมชาติล้วนๆ แล้วต้องมีความเชื่อตามที่เขาพูดไว้อย่างไร ห้ามไม่ให้วิจารณ์ ให้เอาความเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นๆตัวศาสนา ส่วนอีกพวกหนึ่งไม่ต้องการให้มีอย่างนั้น ต้องการให้รู้ลงไปที่ตัวปัญหา ตัวความทุกข์ ค้นเหตุ ดับเหตุของความทุกข์เสีย ไม่เกี่ยวกับพระเจ้า
เดี๋ยวนี้ที่ว่าเป็นพุทธ มันก็ยังพูดเรื่องกรรมเก่า กรรมใหม่ที่ทำไว้แต่ชาติก่อน อย่างนี้ไม่ถูกหรอก คือว่าไอ้สุขทุกข์ไม่ใช่ผลกรรมเนื่องมาแต่ชาติก่อน มันเนื่องทำผิดกฎอิทัปปัจจยตาที่นี่ ฉะนั้นในพระสูตรที่สำคัญที่เป็นพระพุทธภาษิตจึงว่า การเชื่อว่าสุขและทุกข์เป็นผลของกรรมที่ทำในกาลก่อนนั้นก็ผิด เป็นมิจฉาทิฐิ แต่เราก็เชื่อกันอย่างนั้นโดยมากกันน่ะ ในประเทศไทยนี่มันเชื่อกันอย่างนั้นอยู่โดยมาก ทั้งที่พระบาลีพุทธภาษิตมีอยู่ว่า ไอ้สุขทุกข์นี่มันไม่ใช่ผลของกรรมเก่า มันเป็นเรื่องทำผิดตรงนี้ คือคล้ายๆจะท้าว่า เอาสิ ผลกรรมเก่ามาสิ แต่ถ้าเราทำให้ถูกในเรื่องของไอ้อิทัปปัจจยตาโดยเฉพาะในขณะแห่งผัสสะแล้วจะไม่เกิดความทุกข์ชนิดไหนหมด จะไม่เกิดความทุกข์ชนิดไหนหมด แม้ว่าผลของกรรมเก่ามันจะมาจริงๆ แต่บุคคลนั้นต้อนรับผลนั้นด้วยความรู้ ธรรมะสูงสุดคืออิทัปปัจจยตานั่นแหละ ถึงตอนผัสสะไม่ๆมองเห็นเป็น คือไม่มีอวิชชาเมื่อผัสสะ แล้วมันก็เห็นเป็นของธรรมดาไปหมด มันเห็นเป็นเช่นนั้นเองไปหมด แล้วอีกทีหนึ่งที่ว่าไอ้ความเชื่ออย่างนั้นมันผิดนั่นมันคือว่า ถ้ามันเป็นผลของกรรมเก่าจริง เราก็แก้ไขอะไรไม่ได้ ก็ได้แต่นั่งร้องไห้โฮๆๆๆๆอยู่นั่นน่ะ บ้าเลย นี้เราต้องแก้ไขได้สิ แม้ว่ามันจะเป็นผลของกรรมเก่าจริงเราต้องแก้ไขได้ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่หรอก มันเป็นเรื่องทำผิดทำถูกในกฎของอิทัปปัจจยตานี้
นี้ข้อที่สองที่ว่า อีศวระ นิมมานะ เหตุ สุขทุกข์มีเหตุมาแต่การบันดาลของอิศวร อีศวระ อีศวร อิศวรในที่นี้หมายถึงพระเป็นเจ้า ตรง เหมือนกับที่ภาษาอังกฤษจะไปเรียกว่าพระเจ้าหรือ God ในอินเดียน่ะเขาเรียกคำว่า อีศวระ ที่ใช้อยู่ในครั้งพุทธกาลน่ะ คำว่าพระเจ้านั้นคือคำว่าพระอิศวรที่เดี๋ยวนี้ที่เราก็พูดเป็นกันนั่นแหละ อีศวร ก็คำนั้นแหละ แต่เป็นสันสกฤตเป็น อีศวระ เป็นบาลีเป็นอิศระ อีศวระ นิมมานะ เหตุ สุขทุกข์มีเหตุมาแต่การบันดาลของอีศวระ มันบ้า เป็นเรื่องมิจฉาทิฐิ ที่จะพูดว่าสุขและทุกข์เป็นไปตามคำสั่งของพระเจ้านี่ ถ้าอย่างนั้นเราก็ทำอะไรไม่ได้ เราก็หมดความสามารถที่จะทำอะไรได้ เราต้องทำของเราได้ เราต้องทำของเราเองได้ สุขทุกข์ต้องอยู่ในความควบคุมของเราสิ ฉะนั้นจึงไม่ให้ถืออย่างนั้น ทำให้ถูกกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา อย่าทำผิดที่ผัสสะ ไม่มีทุกข์ ไม่มีทุกข์
ทีนี้อันที่สามที่ว่าผิดก็คือว่า ถือว่าไม่ ไม่มีเหตุปัจจัย สุขและทุกข์ไม่มีเหตุปัจจัยที่เราเข้าจะ จะเข้าไปเกี่ยวข้องได้นี้ก็ผิดเหมือนกัน ผิดอย่างมาก ความสุขและทุกข์น่ะมันมีเหตุปัจจัยที่เราเข้าไปจัดการได้ เราจัดการที่เหตุจะดับทุกข์เสียก็ได้ เราเข้าไปจัดการที่เหตุ จะทำความสุขให้เกิดขึ้นก็ต้องได้ ฉะนั้นไอ้สุขหรือทุกข์น่ะมันเป็นสิ่งที่มีเหตุมีปัจจัยที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องได้ จะดับก็ได้ จะสร้างขึ้นก็ได้ นี่หลักสำคัญในพุทธศาสนา ล้วนแต่แสดงว่าไม่มีบุคคลทั้งนั้นแหละ พระเจ้าไม่ได้มาเกี่ยวข้อง หรือแม้แต่กรรมของบุคคล บุคคลทำกรรมไว้ กรรมของบุคคลจะมาเป็นใหญ่นี้ก็ไม่ต้อง ไม่ใช่ นั้นเป็นเรื่องของอิทัปปัจจยตาอยู่ในปัจจุบันนี้
นี่คือหลัก หัวใจน่ะ พอคุณเข้าใจแล้วคุณจะมองเห็นทันทีว่า โอ้, มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ และให้อิสรภาพอย่างยิ่ง ให้เสรีภาพ ให้อิสรภาพแก่ผู้ศึกษา ผู้ปฏิบัติอย่างยิ่ง ไม่ขึ้นอยู่กับพระเจ้า หรือไม่ขึ้นอยู่กับความเชื่อ ความคิดอะไรมัน มันขึ้นอยู่กับไอ้ๆกฎของธรรมชาติ คือความจริง ฉะนั้นเราจึงไม่ต้องไปๆเป็นไอ้ เป็น เอ่อ, ไปเป็น เราไม่ เราต้องไม่ถูกผูกมัดอยู่ด้วยอะไรอย่างไม่ๆมีอิสรภาพที่จะคิดจะนึกจะกระทำของตน เราจึงเป็นอิสระแม้จากพระเจ้า เป็นอิสระแม้จากพระเจ้าที่เขาเชื่อกันว่าจะทำให้คนและสัตว์เป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้เรามีกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ที่เราต้องการอะไร เราจะทำเอาได้ตามที่เราต้องการ ถ้าเราต้องการจะมีทุกข์ ก็ได้ ก็ทำได้ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ถ้าเราต้องการจะไม่มีทุกข์ เราก็ทำได้ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ นี่เรียกว่าให้เสรีภาพอย่างเต็มที่แหละ พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเสรีภาพที่สุดนะ
นี่ก็คือเรื่องที่จะพูดวันนี้ มีเท่านี้ เพื่อเปรียบเทียบในส่วนหัวใจชั้นลึกของพระศาสนาว่า พุทธศาสนามีหลักเกณฑ์อย่างไร แล้วแตกต่างจากศาสนาอื่นอย่างไรในชั้นหัวใจ ในเมื่อชั้นเปลือกๆข้างนอกน่ะมันเหมือนๆกันแหละ ไม่ว่าศาสนาไหน เปลือกข้างนอกมันเหมือนๆกันทั้งนั้นแหละ อย่าทำชั่ว ทำแต่ความดี นี่เหมือนกันทุกศาสนาเลย แต่ถ้าว่ามันไปถึงชั้นในลึกคือจะดับทุกข์กันให้สิ้นเชิงอย่างไรนั้นน่ะ หรือว่าจะถึงสิ่งสูงสุดกันได้โดยวิธีใดนี่มันต่างกันตอนนี้ ฉะนั้นขอให้เข้าใจ ขอให้เข้าใจหรือถือไว้เป็นหลัก รับประกัน เป็นเครื่องรับประกันว่าจะไม่ทำผิดในเรื่องนี้ ไม่ผิดพลาดในเรื่องนี้ เป็นพุทธบริษัทที่ถูกต้อง ไม่ทำผิดในเรื่องนี้ นี่เรื่องที่ผมจะพูดมันก็มีเท่านี้ เอ้า, เวลาเหลืออยู่บ้างนี้ใครอยากจะถามปัญหาอะไรก็ เหนื่อยแล้ว การพูดนี้มันเหนื่อยแล้ว ทอง เอาน้ำกินหน่อย
ภิกษุถามปัญหา : เอ่อ, คือผมอยากจะถามว่า
ท่านพุทธทาส : เอาสิ ถ้าคุณนั่งลงสิ พอดีน่ะ คุณนั่งนั้นพอดีล่ะ ถามว่าอะไร ถามมา
ภิกษุถามปัญหา : ลัทธิเต๋ากับพุทธศาสนานี้เคยเกี่ยวข้องกันหรือเปล่า
ท่านพุทธทาส : คุณจะพาออกไปถึงเต๋า มันก็เป็นสิ่งที่น่าคิดอยู่ที่ว่ามันพ้องสมัยกัน ถ้าดูตามไอ้ข้อความที่จดๆไว้ พระพุทธเจ้าน่ะนิพพานเมื่อขงจื๊ออายุได้ ๗-๘ ปี ขงจื๊อเป็นศิษย์ของเหลาจื๊อ เจ้าของลัทธิเต๋า ดังนั้นไอ้อาๆ อาจารย์ของขงจื๊อคือเหลาจื๊อมันจะพ้องๆสมัยกันกับพระพุทธเจ้า ไอ้คนฟังที่ไม่เคยอ่านไอ้ตัวบทของลัทธิเต๋าคงฟังไม่ถูกหรอก ผมจะบอกได้ก็แต่เพียงว่าไอ้ๆลัทธิเต๋าของเหลาจื๊อมันก็มุ่งหมายที่จะสอนเรื่องไม่มีตัวตนเหมือนกันแหละ ไม่มีตัวตนอย่างเป็นบุคคลเหมือนกันแหละ มีแต่เต๋า คำนี้ไม่รู้จะแปลเป็นไทยว่าอะไรดี หรือจะแปลเป็นฝรั่งว่าอะไรดี ไม่ควรจะแปลว่าเป็นอะไร ให้ใช้คำว่าเต๋าไปตามเดิม ดูแล้วความหมายของคำๆนี้มีความหมายว่าเป็นหนทาง หนทางที่จะออกไปสู่ไอ้ปัญหา อ่า, ออกไปจากปัญหาทั้งหมดน่ะ ออกไปสู่ความไม่มีปัญหาสิ คำว่าเต๋าเป็นหนทางที่ออกไปสู่ความไม่มีปัญหาน่ะ
สอนเรื่องความมี ความไม่มี ความไม่มีซึ่ง ความไม่มีซึ่งมีอยู่ก่อน แล้วมาจับตัวเป็นความมี แล้วมีความไม่มีอีกชนิดหนึ่งทีหลัง ซึ่งเป็นคู่เปรียบกับความมี ทั้งหมดล้วนแต่เป็นเต๋า คือเป็น อ่า, เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติ ไอ้ ตามความรู้สึกของผมน่ะ ผู้กล่าวต้องการจะไม่ให้ยึดถือส่วนไหนว่าเป็นตัวตนเหมือนกัน ความไม่มีแต่ก่อน หรือความมีขึ้นมา ความไม่มีซึ่งเป็นคู่ตรงกันข้าม ทั้งหมดนี้ก็ล้วนแต่ไม่ควรจะยึดถือให้เป็นตัวมัน ตัวๆคน หรือๆบุคคล หรืออะไรที่ควรจะเข้าไปยึดถือ เพราะไปยึดถือแล้วจิตก็เป็น เป็นทาส ไปยึดถือในฝ่ายไหนแง่ไหนก็ตกเป็นทาสของความคิดอันนั้น นี่รู้สึกว่ามันมีเท่านี้
แต่ผู้ที่ศึกษาเต๋าส่วนมากจะไม่คิดอย่างที่ผมกำลังพูด เขาพยายามที่จะจำกัดความ ขยายความ กำหนดความอะไรให้มันเป็นรูปเป็นร่างใหม่ หลักเกณฑ์อันใหม่อะไรขึ้นมา ทีนี้ผมเองไม่ๆๆๆๆสนใจนัก ไม่ค่อยจะสนใจนัก เพราะไม่เชื่อว่าไอ้ที่มันแปลออกมานั้นมันถูกต้อง ผมไม่เชื่อว่าไอ้ๆคนจีนที่อธิบายเต๋าน่ะถูกต้อง แล้วไม่เชื่อว่าฝรั่งที่แปลจากจีนมาเป็นภาษาอังกฤษนี้ก็จะยิ่งไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นไม่อยากอ่านไอ้หนังสือเรื่องเต๋า แต่ทีนี้มันก็ยังมีกิเลสอยู่บ้าง ก็อุตส่าห์เอามาลองอ่านดู อ่านดู ประมวลดู มันก็พอจะพบว่าเขามุ่งหมายจะสอนเรื่องว่างเหมือนกัน ไอ้เหลาจื๊อน่ะ สอนเรื่องเต๋าน่ะ มุ่งหมายที่จะสอนเรื่องว่าง ไม่มีอะไรที่ควรจะหมายมั่นยึดถือด้วยอุปาทานเหมือนกันน่ะ แต่แล้วเขาชิงตายเสียก่อน แล้วลูกศิษย์ของเขาไม่ได้สอนได้ตรงตามคำของกาลอาจารย์น่ะ เดี๋ยวนี้เลยยุ่ง ยุ่งไปจนไปนั่งไหว้หัวสิงโตอยู่นี่ ลัทธิเต๋ากลายเป็นอาซิ้มนั่งไหว้หัวสิงโตแล้ว มันผิดมากอย่างนี้
แต่คุณไปอ่านเต๋าเตกิงดูเองสิ แต่คุณต้องยอมเชื่อว่าฝรั่งแปลถูก เพราะเราอ่านหนังสือจีนไม่ออก อ่านจากภาษาอังกฤษที่แปลมาจากภาษาจีน หลายคำผมไม่เห็นด้วยทั้งที่ผมไม่รู้ภาษาจีน หรือรู้ภาษาฝรั่งงูๆปลาๆนั่นน่ะ แต่ผมก็ไม่เชื่อว่านั้นแปลถูก ก็เลยเสียใจที่จะอธิบายอะไรแน่นอนไม่ได้ แต่รู้ว่าเป็นคำสอนที่ฉลาดอย่างยิ่งนะ ที่จะไม่ๆให้ยึดถือทั้งความมี ความไม่มี และความมีที่เพิ่งเกิดขึ้นมาทีหลัง ไม่ยึดถือทั้ง Positive ทั้ง Negative และไม่ทั้งสองอย่างเลย ถ้าเราจะไปอธิบายให้มากนักก็เดี๋ยวกลายเป็นปัญหาขึ้นมาอีก แล้วก็จะไม่มีใครยอมรับหรอกว่าเราเข้าใจถูกหรืออธิบายถูก มีอะไร
ภิกษุถามปัญหา : อาจารย์ครับ มี ๓ คำถาม คืออันนี้อยากจะ
ท่านพุทธทาส : ดังหน่อยสิ ดังหน่อยสิ อ่านเข้าใกล้หน่อยสิ
ภิกษุถามปัญหา : คืออันนี้อยากจะให้ท่านอาจารย์ขยายความให้ ให้ชัดเจนนะฮะ ตอนนี้ คือ
ข้อ ๑. วิธีการฝึกสติ นอกจากอานาปาแล้วนี่ มีวิธีอื่นอีกไหมฮะ
ข้อ ๒. วิธีการที่จะดับ ขณะที่เกิดเป็นตัณหาแล้ว
แล้วข้อที่ ๓. วิธีการดับ ขณะที่เกิดเป็นความทุกข์แล้ว
ท่านพุทธทาส : นี่ดูสิ ไม่ใช่เรื่องที่กำลังพูด ไม่ใช่เรื่องที่ตั้งใจจะพูดนี่ มันเป็นปัญหาต่อๆกัน วันนี้เราพูดเรื่องหลักที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาว่ามันอิงอาศัยกฎของธรรมชาติ ตามหลักของธรรมชาติ ไม่มีตัวคน ไม่มีตัวบุคคล ข้างล่าง ข้างบน หรือสูงสุดอะไรก็ไม่มีตัวบุคคล ถ้ามาถามว่า อานาปาสติเท่านั้นหรือ หรือว่ามีอื่นอีกที่จะดับทุกข์ได้ ก็แปลว่าเราเปลี่ยนปัญหา ก็ได้เหมือนกันน่ะ ถือว่า ไอ้ อะไรดีล่ะ ภาวนาน่ะ จิตตภาวนา จิตตภาวนา การเจริญจิต หรือสมาธิภาวนา หรือการเจริญสมาธินั้นน่ะ มันต้องพูดว่ามันใช้ได้ด้วยกันทุกแบบ ทุกแบบมันใช้ได้ แต่บางแบบไม่ ไป ไปไม่ถึงที่สุด ถ้าเป็นเพียงสมาธิแล้วดูเป็นจะได้ด้วยกันทุกแบบ หรือจะเป็นวิปัสสนา เป็นปัญญาบ้าง ก็ได้ด้วยกันทุกแบบ แต่ไม่มีแบบไหนสะดวก สะดวกสบาย และไปถึงที่สุดเลย ไปจนถึงที่สุด จบเลย เหมือนกับอานาปานสติภาวนา ถ้าจะเอาแบบชนิดที่ไม่ต้องเปลี่ยนอีกต่อไป ไปได้ถึงที่สุดเลยแล้วก็แบบอานาปานสติภาวนานี่แหละดีที่สุด
พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสอย่างนั้น ท่านยกย่องอย่างนั้น ไอ้เราก็พิจารณาดูแล้วก็เห็นจริง แต่เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นว่าทำอย่างเดียวกันนะ ทำอย่างเดียวกันเขาอาจจะเรียกชื่ออย่างอื่นก็ได้เหมือนกันแหละ เช่นว่าทำให้เป็นสมาธิ เอ้า, ก็ทำเป็นสมาธิสิ แบบไหนก็ได้ เป็นสมาธิแล้วดูให้เห็นความจริง คือวิปัสสนาสิ ถ้ามันทำให้เกิดวิราคะ นิโรธะได้ก็ใช้ได้ทั้งนั้นแหละ ทุกแบบ มันจะพบว่ามันไปเห็นอนิจจัง ไอ้ แล้วก็มีวิราคะ คลายๆความยึดถือ นิโรธะ ดับสนิท แล้วก็รู้ว่าดับสนิทแล้วอย่างนี้ทุกๆแบบแหละ ถ้ามันไปพูดกันในตอนสุดท้ายนี่ แต่มันมีอยู่ว่าไอ้ๆแบบไหน ระบบไหนที่มันจะง่าย จะสะดวก จะเร็ว เราเรียก เราๆเชื่อว่าไม่มีระบบไหนที่จะดีเท่าระบบอานาปานสติ
แล้วคำถามที่สองว่าเมื่อถึง เมื่อเกิดตัณหาเสียแล้วจะทำอย่างไร เมื่อเกิดทุกข์เสียแล้วจะทำอย่างไร นี้มันก็ไม่ใช่ปัญหาลึกซึ้งอะไร ถ้ามีสติมาทันมันก็หยุดแหละ สติมาทันในขณะที่เกิดตัณหา มันก็หยุดตัณหา สติมาทันในขณะที่เกิดทุกข์ มันก็หยุดความทุกข์แหละ ฉะนั้นฝึกสติไว้ให้คล่องแคล่วสิ ฝึกสติไว้ให้คล่องแคล่วรวดเร็ว ให้มันมีปัญญามากพอสำหรับสติจะขนเอามาทัน ในตอนไหนมันก็จัดการสำเร็จตอนนั้นแหละ มาทันในตอนผัสสะ ก็คุ้มครองผัสสะได้อย่างดี มาในตอนเวทนา ก็คุ้มครองเวทนาได้อย่างดี มาในขณะแห่งตัณหา มันก็หยุดตัณหาได้ มาในขณะแห่งอุปาทาน ภพ ชาติ มันก็ควบคุมไม่ให้เป็นทุกข์ มันก็ไม่มีทุกข์
ภิกษุถามปัญหา : หมายความว่าวิธีฝึกสติ
ท่านพุทธทาส : อะไรนะ
ภิกษุถามปัญหา : วิธีรูปแบบของการฝึกสติ คือนอกจากการกำหนดที่ลมหายใจ คือขณะทำงาน ขณะยุ่งๆ
ท่านพุทธทาส : เออ มันก็ไปฝึก ไปฝึกโดยเฉพาะสิ จนให้มันคล่องแคล่ว แล้วทีนี้มันก็ไปทำงานก็ได้ ทำอะไรอยู่ก็ได้ มันก็คุมสติได้
ภิกษุถามปัญหา : หมายถึงว่าให้ทำอานาปานสติภาวนาให้มากใช่ไหมครับ
ท่านพุทธทาส : หืม
ภิกษุถามปัญหา : ให้ทำอานาปานสติให้มาก
ท่านพุทธทาส : นั่นน่ะ ฝึกอานาปานสติภาวนาให้สำเร็จ ให้ถึงที่สุด ให้สำเร็จสิ แล้วมันจะอยู่ในอำนาจของเรา จะใช้ที่ไหนเมื่อไรก็ได้นี่
ภิกษุถามปัญหา : หมายถึงว่าให้ทำถึงขั้นของกายสังขาร
ท่านพุทธทาส : เอายิ่งมากก็ยิ่งดีแหละ
ภิกษุถามปัญหา : คือหมายถึงว่าให้พอรอดตัว
ท่านพุทธทาส : ไอ้ขั้นที่หนึ่ง ไอ้หมวดที่หนึ่ง หมวดกายนั้นน่ะ นั่นน่ะเป็นสมาธิเต็มที่ แล้วถ้าว่าจะไปตามลำดับก็ยิ่งดี ถ้าจะกระโดดข้ามก็ไปอนิจจานุปัสสี วิราคานุปัสสี นิโรธานุปัสสี ไอ้ฝึกเต็มขั้น ทั้ง ๔ ชุด ชุดละ ๔ ขั้นนั้นน่ะ นั่นมันชั้นดีเลิศ มันชั้นดีเลิศ ซึ่งคงจะทำไม่ได้ทุกคนน่ะ ไอ้ธรรมดาพอเป็นสมาธิบ้างนั้นน่ะ พอเป็นสมาธิบ้าง แม้ชุดที่หนึ่งก็ไม่ๆสมบูรณ์นะ มันกระโดดไปโน่นแน่ะ ไปเอาตัวรอดกันที่ไอ้หมวดที่สี่ อนิจจานุปัสสี เห็นไม่เที่ยง วิราคานุปัสสี คลายความยึดถือ นิโรธานุปัสสี ดับความยึดถือ ดับกิเลส
ทีนี้ไอ้ส่วนไอ้ปฏินิสสัคคานุปัสสีน่ะมันมีเองแหละ จะดูหรือไม่ดูก็ตามใจ เมื่อมันดับแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่ดูก็ได้ แต่ถ้าดูก็สมบูรณ์ขึ้นน่ะว่า โอ้, มันหลุดพ้นแล้ว มันหลุดพ้นแล้ว รู้ว่ามันหลุดพ้นแล้ว นั่นน่ะวิธีฝึกมันมีอย่างนั้นแหละ อย่างที่เขียนไว้ รวบรวมมาจากที่ทุกแห่งมาเขียนไว้เป็นหนังสือ คำอธิบายอานาปานสติเล่มใหญ่ ดูจะไม่มีใครอ่านจบกี่คน แล้วก็เลิกกัน
ฝึกง่ายๆตามธรรมชาติก็คือว่าเรามีสติ รู้สึกตัวก่อนที่จะคิดอะไร จะตัดสินอะไร จะตัดสินใจอะไร มีสติเสียก่อนนะ มันจะพูดอะไร ก่อนแต่จะพูดอะไร หรือว่าก่อนแต่จะเคลื่อนไหวอะไรนั่นแหละ
ภิกษุถามปัญหา : อย่างนี้เรา คล้ายๆเราต้องทำให้ช้าลงใช่ไหมครับ
ท่านพุทธทาส : หืม
ภิกษุถามปัญหา : คล้ายๆเราต้องทำให้ช้าลง
ท่านพุทธทาส : ชั้นแรก ไอ้ชั้นๆแรกทำให้ช้าๆเพื่อกำหนดง่าย แล้วต่อไปมันก็เร็วขึ้นเอง เช่นว่าไอ้ย่างหนอ เหยียบหนอนั่นน่ะ ให้รู้สึกตัวเสียก่อนที่จะย่างหรือจะเหยียบ มันๆก็เป็นฝึกสติ ไอ้ชั้นต้นที่สุดเรามันจะย่างหรือมันจะเหยียบ ที่แท้สูงขึ้นไปอีกมันก็รู้ว่า โอ้, นี่มันเป็นเพียงกิริยาเท่านั้นหนอ ไม่ใช่มีบุคคลผู้ย่างผู้เหยียบ ไม่มีตัวบุคคลผู้ย่างผู้เหยียบ มันเป็นเพียงกิริยาแห่งการย่างการเหยียบเท่านั้นหนอ เท่านั้นหนอไว้ก่อน เดี๋ยวก็สติแล้วมันก็สูงขึ้นไป สูงขึ้นไปกว่าสติรู้สึก มันสูงขึ้นไปถึงสติว่าไม่มีบุคคล สติชั้นสูงว่าไม่มีบุคคล ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา
ภิกษุถามปัญหา : ท่านอาจารย์ฮะ มีวิธีการอีกแบบหนึ่งได้ไหมฮะ เรียกว่าเราควบคุมให้จิตมันอยู่เฉยๆก่อน ภาวะที่ว่ามันนิ่งฮะ
ท่านพุทธทาส : ก็ได้ คือว่าจะฝึกแบบให้จิตอยู่ในอำนาจก่อน ฝึกให้จิตให้อยู่ในอำนาจของเราเสียก่อน แล้วเราจะใช้จิตนั้นดูอะไร ศึกษาอะไร เห็นแจ้งอะไรก็ค่อยทำไปอีกขั้นหนึ่ง ก็ดี ถ้าทำอย่างนั้นมันก็ๆถูกต้องที่สุด เมื่อจิตไม่อยู่ในอำนาจของเรา คือฝึกมันไม่ได้ ควบคุมมันไม่ได้ มันก็ไม่ยอมเหมือนกันนะ จะเอาไปดูอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็ไม่ดู มันดูไม่เห็น แต่ถ้าทำจิตให้ดี จิตให้เหมาะสม จิตอยู่ในอำนาจ แล้วก็มันก็ทำงานเรียบร้อยนะ อย่าลืมว่าไม่มีบุคคลนะ ใครฝึกจิต คุณว่าใครฝึกจิต
ภิกษุถามปัญหา : การคิดนึกทางสติปัญญาล้วนๆนี้ มันมีการเหน็ดเหนื่อยไหมฮะ
ท่านพุทธทาส : ไม่ค่อยได้ยิน ฟังไม่ถูก
ภิกษุถามปัญหา : คือการคิดนึกทางจิตใจนี่ฮะ คิดมากๆทางสติปัญญาอะไรอย่างนี้ มันมีการเหน็ดเหนื่อยไหมฮะ
ท่านพุทธทาส : ถามอย่างนี้นี่ ก็ไปดูเองสิ ไอ้ความเหน็ดเหนื่อยนั่นมันมีเป็นธรรมดาแหละ แต่ถ้าว่ารู้จักใช้วิธี มันอาจจะเหน็ดเหนื่อยน้อยหรือไม่เหน็ดเหนื่อยก็ได้ ใช้เทคนิคให้ดี มันอาจจะไม่ค่อยเหนื่อย หรือเหนื่อยน้อย หรือไม่เหนื่อยก็ได้ ถ้ามันยังผลุนผลัน ยังหักโหม ยังไม่มีปัญญามันก็เหนื่อยมากแหละ แม้แต่จะทำงานทางกายนี้มันทำให้เหนื่อยมากก็ได้ เหนื่อยน้อยก็ได้ ไม่ให้รู้สึกเหนื่อยเลยก็ได้
ทำจิตให้เป็นสมาธินั่นน่ะมันหมายถึงทำพอดี ทำพอดี ไม่มาก ไม่น้อย ไม่แรง ไม่ค่อย ไม่หนัก ไม่เบานั้นน่ะ มันๆพอดีนั้นน่ะมันจึงจะเป็นสมาธิ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วมันไม่ค่อยเหนื่อยหรอก ถ้าทำพอดีแล้วมันไม่ค่อยเหนื่อย
ไอ้เรื่องทำสมาธิ ทำอานาปานสตินั้นมันอีกเรื่องหนึ่งนะ มันอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผมพูดวันนี้ไม่ใช่เรื่องนั้น พูดเรื่องไอ้ๆหลักธรรมะ หัวใจของพุทธศาสนานะ คือไม่มีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง เดี๋ยวนี้ก็ไม่ใช่บุคคล จะไปอยู่เป็นสุดท้ายนู้นก็ไม่มีบุคคล ไม่มีพระเจ้าอย่างบุคคล อะไรๆก็ไม่เป็นอย่างบุคคล นี่หัวใจของเรื่องชั้นลึกในพุทธศาสนา ซึ่งไม่เหมือนกับศาสนาประเภทที่เขามีบุคคล ว่าอย่างนั้นเอง
ศาสนาส่วนมากเขามีบุคคลกันทั้งนั้นแหละ ที่จะไม่มีบุคคลโดยเด็ดขาดดูจะมีแต่พุทธศาสนาอย่างเดียว มีบุคคลอย่างครึ่งๆกลางๆก็มี เพราะว่าเรามองเห็นว่าไอ้ความทุกข์น่ะมันเกิดมาจากความรู้สึกว่ามีบุคคลน่ะ ถ้าความรู้สึกว่ามีบุคคลเหลืออยู่ อันนั้นน่ะจะเป็นรากฐานของความทุกข์แหละ คือมันยึดถือ ถ้ามันไม่มีบุคคลเสียแล้ว มันก็ไม่มีอะไรจะยึดถือเป็นบุคคล หรือเป็นของบุคคล มันไม่ยึดถือ ไม่มีเป็นเรา หรือเป็นของๆเรานี้ มันก็ไม่มีอะไรจะยึดถือ ความที่ไม่ยึดถือนั่นแหละคือความหลุดพ้น ถ้าไปมีบุคคลแม้เป็นพระเจ้า มันก็ยึดถือพระเจ้าเอาอีกแหละ มันก็มีปัญหาที่ว่ามันมีการยึดถือ แล้วมันก็ต้องยุ่งแหละ ยิ่งหนักหรือทุกข์
ต้อง ต้องว่างไปเท่านั้นแหละจึงจะไม่ ไม่เป็นทุกข์ ถ้าไปเกาะติดอยู่กับอะไร ยึดถืออะไร ผูกพันอยู่กับอะไรแล้วมันก็ต้องเป็นทุกข์ แม้กับสิ่งสูงสุดที่เรียกว่าพระเป็นเจ้าซึ่งเป็นบุคคล ถ้ามันเป็นพระเป็นเจ้าที่เป็นกฎของธรรมชาติแล้วมันยึดถือไม่ได้ มันไม่มีความหมายแห่งบุคคล มันเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติเท่านั้น จิตก็ไม่ยึดถือเอง
พวกเราอาจจะไม่ได้พูดกันบ่อยนักหรอก เพราะไม่เท่าไรมันก็ต้องจากกันน่ะ ออกพรรษาแล้ว นี้ก็เลยพูดแต่ไอ้ๆหลักที่สำคัญๆน่ะ ที่มันต้องทราบ มันจะรับประกันว่ามันจะรู้อย่างถูกต้องตลอดไปยิ่งขึ้นๆ ฉะนั้นรีบพูดไอ้เรื่องที่จำเป็นจะต้องรู้กันเสียก่อน ไอ้เรื่องที่หาอ่านได้จากหนังสือต่างๆนั้นก็อ่านเอาเองก็ได้ ไม่ต้องพูด ยิ่งเรื่องที่มันละเอียดลึกซึ้งนี้มันยากนะ มันยากที่จะเขียนลงเป็นตัวหนังสือ ซึ่งผมบางทีก็ไม่อาจจะเขียนได้ ก็เป็นโอกาสแล้วก็พูดด้วยปาก แล้วก็ถามกันด้วยปาก ซักไซ้กันด้วยปาก แล้วมันฟังง่ายกว่าที่จะมาเขียนเป็นหนังสือแล้วอ่าน ฉะนั้นเมื่อพูดนั่นแหละ ช่วยฟังให้ดีๆ ฟังให้เข้าใจเสียเมื่อพูด แม้จะเอาคำพูดนี้ไปถอดเป็นตัวหนังสือแล้วพิมพ์ขึ้น มันก็ไม่ๆมีผลเท่ากับว่าฟังกันตรงๆ มันง่ายกว่า
หลักหัวใจของพุทธศาสนาคือไม่มีบุคคล เท่านั้นก็พอแล้ว ในเมื่อศาสนาอื่นเขามีบุคคลและบุคคลสูงสุด มีเท่านี้เอง แล้วมันน่าประหลาดไหมที่ว่าไอ้หลักสำคัญที่สุดมันคือบทปัจจเวก ไอ้ธาตุปัจจเวกที่พระสวดกันอยู่เป็นประจำนั่นแหละ นั่นแหละจะเป็นเรื่องสวดนกแก้วนกขุนทองนะ หรือว่าไม่รู้คำแปล แม้มีคำแปลแล้วมันก็ยังเป็นนกแก้วนกขุนทองได้เหมือนกันแหละ ฉะนั้นคุณไปทำกันให้ดีๆไอ้เรื่อง
ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะเมเวตัง
ยะทิทัง จีวะรัง ตะทุปะภุญชะโก จะ ปุคคะโล
ธาตุมัตตะโก, นิสสัตโต, นิชชีโว, สุญโญ
นั้นน่ะ แค่นั้นน่ะหัวใจนี้ หัวใจพุทธศาสนา ถ้าความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกู มีอยู่แล้วก็คือ คือยังๆไม่รู้ ไม่รู้เรื่องความไม่มีบุคคล มันยังมีตัวกูของกู มันก็ต้องเกิดกิเลสแหละ โลภะ โทสะ โมหะไปตามเรื่องของมัน ถ้ามันไม่มี มันเห็นความไม่มีบุคคล มันไม่มีความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกูหรอก ถ้าอย่างนี้แล้วมันไม่อาจจะเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงชนิดไหนได้ โลภะ ราคะ โทสะ ไม่ๆอาจจะเกิดได้แก่จิตที่ไม่มีความรู้สึกเป็นตัวกูของกู
นี้อย่าลืมหัวใจพระพุทธศาสนาที่พระอัสสชิท่านบอกแก่อุปติสสะหรือโกลิตะ คนๆใดคนหนึ่งใน ๒ คนนั้นน่ะ ผมจำชื่อไม่ค่อยแม่นหรอก ว่ามันสั้นที่สุด มันสั้นที่สุด มันมีเหตุ รู้จักเหตุของมันแล้วก็ตัดเหตุของมันเสีย นั่นน่ะหัวใจพุทธศาสนาน่ะ มันมีเหตุ รู้จักเหตุ แล้วก็ตัดเหตุของมันเสีย นี่หัวใจพุทธศาสนามีเท่านี้ ไอ้ที่พูดว่าอย่าทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์นั้นน่ะเกือบจะไม่ได้อธิบายอะไรล่ะ แล้วก็มักจะรู้กันอยู่แล้ว อย่าทำชั่ว ทำดีนี้ใครๆมันก็พูดกันอยู่แล้ว ไอ้ทำจิตให้บริสุทธิ์นั้นทำอย่างไรก็ไม่ได้บอก ทำจิตให้บริสุทธิ์ก็คืออันนี้แหละ มันมีเหตุ รู้จักเหตุ แล้วก็ตัดเหตุของมันเสีย นั่นน่ะคือจิตบริสุทธิ์น่ะ หรือว่าไม่เกิดความรู้สึกว่าบุคคล มันก็ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะได้ นั้นน่ะคือจิตบริสุทธิ์
ฉะนั้นหัวใจพุทธศาสนามันมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ไม่มีบุคคล มันมีแต่ธรรมชาติ แล้วเกิดความรู้สึกขึ้นมาอย่างนี้ มันผิดมันก็เป็นทุกข์ ถูกมันก็ไม่เป็นทุกข์ ดูว่ามันมีเหตุอยู่ที่ตรงนี้ แล้วตัดเหตุของมันเสีย แล้วมันก็ไม่ๆมีอะไรที่จะเป็นทุกข์ เป็นวิทยาศาสตร์ที่ประหลาดที่สุด แล้วก็สูงที่สุด สูงสุด ที่สุด แต่เป็นเรื่องทางจิตใจ ไม่ใช่เคมี ไม่ใช่ฟิสิกส์
ใครมีปัญหาอะไรอีกล่ะ ว่า ผมอยากจะพูดทีละเรื่อง แล้วก็ขอให้ถามปัญหาอยู่แต่ในเฉพาะเรื่องเดียวนั้นแหละให้มันแจ่มแจ้งถึงที่สุด ถ้าเราพูดพร้อมกันหลายๆเรื่องมันปนกันยุ่ง เราพูดแต่เรื่องเดียวให้มันถึงที่สุด มันจะไม่ลืม จะไม่ฟั่นเฝือ
ไอ้ความรู้สึกคิดนึกว่าบุคคลนั่นแหละเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ ถ้ามันเป็นธรรมชาติไปเสียแล้ว มันก็ไม่มีความทุกข์ ถ้ายังมีตัวบุคคลอยู่ มันก็มีความรู้สึกของบุคคล เป็นกิเลส เป็นไอ้ความโลภ โกรธ หลง ไอ้วันแรกๆของการเข้าพรรษานั้นก็ได้บอกแล้วว่าให้พยายามเฝ้าดูจิตใจของตนเองในภายใน ว่ามันปรุงแต่งอย่างไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร เกิดความรู้สึกขึ้นมาอย่างไรนั่นแหละ อันนี้มันยังเนื่องกันอยู่กับข้อนั้นน่ะ ฉะนั้นไปพยายามเฝ้าให้ดีๆ จับให้ได้ว่าเมื่อไรมันเกิดความรู้สึกว่าบุคคล เมื่อไรมันเกิดความรู้สึกว่าตัวเรา ว่าของเรา ว่าตัวฉัน ว่าของฉัน ว่าตัวกู ว่าของกู ถ้ามันรุนแรงเข้มข้น มันคือตัวกูของกู ถ้ามันไปตามธรรมดา มันก็ตัวตน หรือของตน ถ้าเข้มหน่อย ตัวเรา ของเรา ถ้าเข้มขึ้นอีก ว่าตัวฉัน ของฉัน ถ้ามันเข้มนักน่ะ ตัวกู ของกูนั่น มันจะเล่นงานคนอื่นน่ะสิ
พูดกันได้แต่หัวข้อ รายละเอียดไปนั่นเอาเอง ไปย่อยเอาเอง ไปๆทำให้แจ่มแจ้งโดยรายละเอียดเอาเอง เรามีเวลาน้อย เราพูดกันได้แต่หัวข้อ ถ้าเข้าใจหัวข้อมันก็เข้าใจไอ้ปลีกย่อยได้ พยายามเข้าใจหัวข้อ คำว่าหัวข้อในกรณีอย่างนี้ไม่ใช่หัวข้อท่องจำ มันเป็นหัวข้อที่รวบรวมของไอ้เรื่องปลีกย่อย ควรจะเรียกว่าหัวขั้วมากกว่า เรียกว่าหัวขั้วดีกว่าที่เรียกว่าหัวข้อ ไอ้หัวขั้วมันมีสายออกไปได้มาก เราจับหัวขั้วของมันให้ได้ แล้วก็รู้ทุกๆสายที่มันแตกแขนงออกไป เหมือนกับถอนกอบัว เราจะถอนสายบัว ถอนกอบัว จับที่หัวขั้วแล้วก็ดึงมา มันจะขึ้นมาทุกสาย สายบัวทั้งหมดแห่งกอนั้นมันจะติดขึ้นมาหมด เหมือนกับถอนสายบัว จับที่หัวขั้วแล้วดึงขึ้นมา มันจะได้ทั้งหมด ไอ้ธรรมะนี้ถ้าจับที่ถูกหัวขั้วแล้วดึงมาเถอะมันจะมาหมดแหละ ธรรมะทั้งหลายมันก็จะมาหมด
มีโอกาสก็ ก็ถามกันเอง ปรึกษากันเอง อธิบายกันเอง สนทนากันเองบ้างสิ นี่เป็นตามแบบหรือธรรมเนียมในครั้งพุทธกาลก็เป็นอย่างนั้นแหละ พระสาวกย่อมหาโอกาสสนทนากันเอง ไต่ถามกันเองมากเหมือนกันแหละ ไม่ใช่ว่าจะคอยแต่ฟังพระพุทธเจ้าอย่างเดียว ฉะนั้นเราอย่าคอยแต่ที่จะฟังครูบาอาจารย์อยู่เรื่อยๆ พยายามสากัจฉา สากัจฉา วินิจฉัย อภิปราย สัมมนาอะไรกันเอง ถ้ามีปัญหา อ่า, ถ้าไม่มีปัญหาอะไรแล้วก็ขอปิดประชุม จะไม่พูดหลายเรื่อง.