แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้อยากจะพูดถึงคำบางคำที่ทำให้เกิดปัญหาหรือความสับสน ถ้าไม่เข้าใจดีแล้วก็จะลำบากในการที่จะเข้าใจเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน คือเรื่องทุกข์ เรื่องดับทุกข์ ไอ้คำที่เราอยากจะให้เข้าใจนั้นก็คือคำว่า อาศัยเรือน กับคำว่า อาศัยเนกขัมมะ อาศัยเรือนคือเป็นไปอย่างบ้านเรือนตามประสาคนครองเรือน เป็นเรื่องบ้านเรื่องเรือน แต่ถ้าเนกขัมมะ แปลว่าออกไปจากเรือน ออกไปเสียแล้วจากเรือน เรียกว่าเนกขัมมะ ไม่เกี่ยวข้องกับเรือน นี่ท่านมีวิธีแบ่งสิ่งที่ ที่เป็นปัญหาน่ะ โดยเฉพาะคือไอ้เรื่องความสุขความทุกข์ ถ้ามันเรียกเหมือนกันว่าความสุขหรือว่าโสมนัส สุขหรือโสมนัส ทุกข์หรือโทมนัส นี่มันเรียกเหมือนกันอย่างนี้ แต่ว่าไอ้พวกหนึ่งมัน มันอาศัยเรือน พวกหนึ่งอาศัยเนกขัมมะ คือไม่เกี่ยวกับเรือน
ทีนี้โดยมากเขาต้องการความสุขชนิดที่เกี่ยวกับเรือนทั้งนั้นแหละ ประชาชนคนทั้ง อ่า, ทั่วไปน่ะ เขาต้องการความสุขหรือโสมนัสก็ตามที่เกี่ยวกับเรือน สำหรับผู้อยู่ในบ้านเรือน และก็มีความสุขในความหมายของผู้อยู่บ้านเรือน ทีนี้ส่วนอีกพวกหนึ่งมันไม่อยู่เรือน มันออกไปนอกเรือน มันไปอยู่ป่าอยู่อะไรก็สุดแท้ ไม่เกี่ยวกับเรือน เขาก็มีความสุขหรือโสมนัสชนิดที่ไม่เกี่ยวกับเรือน เปรียบ ไม่ๆต้องเปรียบก็ได้ คือระบุว่า เรามาบวช บวชแล้วนี่ถ้ามีความสุขเกิดขึ้นหรือความทุกข์เกิดขึ้น มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับเนกขัมมะทั้งนั้น ไม่เกี่ยวกับเรือน เมื่อเรายังไม่ได้บวช เราอยู่ที่บ้าน ไอ้ความสุขหรือความทุกข์ก็ตามมันเกี่ยวอยู่กับเรือน เกี่ยวข้องอยู่กับบ้านเรือน
ความสุขที่เราได้จากบ้านเรือนนั้นมันก็เป็นความสุขไปแบบๆๆชาวบ้าน หรือว่าถ้าบ้านเรือนทำให้เรามันเกิดความทุกข์ขึ้นมา มันก็เรียกว่าเป็นความทุกข์นั้นมันก็อาศัยเรือน เช่นต้องเหน็ดเหนื่อยในการแสวงหาเงิน หาทรัพย์ หาอะไรก็ตาม ความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากเป็นความทุกข์ ไอ้ความทะ ทุกข์ชนิดนี้มันอาศัยบ้านเรือน มันเกี่ยวเนื่องกันกับผู้ที่อยู่ในบ้านเรือน ฉะนั้นถ้าเขาได้รับความสุขความพอใจ มันก็เป็นความสุขชนิดที่เกี่ยวอยู่กับเรือนหรือบ้านเรือน ฉะนั้นขอให้เรารู้จักให้ดี ว่าเราเป็นฆราวาส ก็เคยเหน็ดเหนื่อยบนความทุกข์ และเคยประสบความสำเร็จเป็นความสุข แต่ความสุขหรือความทุกข์นั้นเกี่ยวพันกันอยู่กับบ้านเรือน นี่จำไอ้ความหมายอันนี้ไว้ให้ดีว่ามันเกี่ยวพันกันอยู่กับบ้านเรือน เพราะฉะนั้นมันจะต้องแตกต่างอย่างตรงกันข้าม ไอ้จากพวกหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรือน เกี่ยวข้องกับความไม่มีเรือนหรือเนกขัมมะ อย่างเรามาบวชแล้วอย่างนี้ ถ้าทุกข์ลำบาก ยุ่งยากลำบากเพราะการประพฤติปฏิบัติ เป็นพระอย่างนี้ไอ้ความทุกข์นี้มันก็เรียกว่าเนื่องด้วยเนกขัมมะน่ะ ไม่ได้ ไม่ได้เนื่องด้วยอื่น ถ้าว่ามันประสบความสำเร็จมีความสุขบ้างในบัว ในการบวชนี้ ไอ้ความสุขนี้มันก็เป็นความสุขที่ไม่เกี่ยวกับบ้านเรือน แต่เกี่ยวกับเนกขัมมะ
พยายามแยกออกจากกันให้เห็นชัดเลย อย่าเอาไปปนกัน ในรูปสุข สุขด้วยกัน ก็จะว่าอย่างเดียวกัน หรือทุกข์ มีความทุกข์เหมือนกัน ก็จะว่าอย่างเดียวกัน มันต่างกันลิบแหละ สุขหรือทุกข์ที่อาศัยเรือนมันก็เพื่อ เพื่อบ้านเรือน เพื่อกามะ กามคุณน่ะ ก็พูดตรงๆว่าเพื่อกามคุณ ทุกข์เพราะแสวงหากามคุณ สุขเพราะได้กามคุณ นี่ทั้งสุขทั้งทุกข์นี้เป็นเรื่องบ้านเรือน อยู่ในบ้านเรือน ทีนี้ถ้าว่าออกมาประพฤติพรหมจรรย์ ถ้ามันเกิดความทุกข์เพราะการประพฤติพรหมจรรย์นั้นมันก็เรียกว่าทุกข์ที่ๆไม่เกี่ยวกับเรือน แต่ว่าเกี่ยวกับไอ้เนกขัมมะหรือการออกไปจากเรือน ถ้ามันมีสุขบ้างมันก็เป็นสุขที่ออกจากเรือน
ไอ้สุขและทุกข์ที่อาศัยเรือน เชื่อว่าหรือเข้าใจว่าคงจะรู้จักกันมาแล้วเป็นอย่างดี รู้จักกันมาแล้วอย่างดี ลองนึกย้อนหลังน่ะ มันคงจะนึกออก สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม ที่อาศัยเรือน มันมีรสชาติอย่างไร เดี๋ยวนี้เรามาบวชแล้ว ไม่เกี่ยวกับเรือนแล้ว ถ้ามันเกิดสุขหรือเกิดทุกข์ขึ้นมา มันต้องมีรสชาติอย่างอื่นแหละ ไม่เหมือนกับที่เกี่ยวกับเรือน ซึ่งเราก็ควรจะสังเกตให้ดีที่สุด เพื่อให้รู้จักมันให้ดีที่สุดด้วยเหมือนกัน ถ้าเรามีความทุกข์เพราะการประพฤติพรหมจรรย์นี่ กับที่ว่ามีความทุกข์เพราะทำงานหาเงินอยู่ที่บ้านน่ะ มันไม่ใช่รสเดียวกันน่ะ เพราะว่าไอ้ทุกข์อาศัยเรือนนั้นมันก็จะต้องยุ่งยาก ลำบาก ระส่ำระสาย สกปรกด้วย กว่าไอ้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะการประพฤติพรหมจรรย์ เป็นความสุขก็เหมือนกันน่ะ ความสุขที่เกิดที่บ้านเรือน เป็นเรื่องของบ้านเรือน มันก็มีรสชาติไปอีกแบบหนึ่ง แล้วมันคงจะสกปรกกว่าความสุขที่เกิดขึ้นฝ่ายประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เกี่ยวกับบ้านเรือน ถ้าแยกออกกันได้เด็ดขาด ไม่ปนกันแล้วก็จะเข้าใจธรรมะได้ง่ายขึ้น ดีขึ้น ชัดเจนขึ้น ไม่สับสน
เดี๋ยวนี้มันเรียกว่า สุข สุข สุข เหมือนกันแหละ ที่บ้านก็สุข ที่วัดก็สุข ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ ที่บ้านก็ทุกข์ ที่วัดก็สุข แต่มันไม่ใช่อย่างเดียวกัน แม้ว่าจะเรียกชื่อเดียวกัน แล้วยิ่งกว่านั้นมันก็เป็นเวทนาด้วยกัน สุขเวทนาหรือทุกขเวทนานี้จะมาจากบ้านเรือนหรือไม่จากบ้านเรือน มันก็เป็นเวทนาด้วยกัน คือสิ่งที่รู้สึกได้ด้วยจิตน่ะ เป็นสิ่งที่เรารู้สึกได้ด้วยจิต เรียกว่าเป็นเวทนาด้วยกัน มันก็ต้องเรียกว่าเปลี่ยนแปลงด้วยกันแหละ ในที่สุดก็ดับไปเหมือนกัน ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เหมือนกัน ไปยึดมั่นถือมั่นเข้ามันก็จะเป็นทุกข์มากขึ้นเมื่อมันเปลี่ยนแปลง
ไอ้ทุกขเวทนานั้นไม่มีใครต้องการ ไม่มีใครยึดมั่นเพื่อจะเอาจะเป็นอะไรล่ะ แต่มันจะยึดมั่นไปโดยตรงกันข้าม คือสำหรับจะโกรธ จะเกลียด จะกลัวนั้น ไปยึดมั่นเข้า ไอ้สุขเวทนานี้ต้องการจะเอา ยึดมั่นเข้ามันก็เกิดความรู้สึกหนัก ไอ้ของที่เรารักนั่นแหละไปยึดมั่นเข้ามันก็หนัก มันก็มีความหลงใหล มีความหึงหวง และมีอารักขา มีการหวงกั้น จนได้เกิดทะเลาะวิวาทฆ่าฟันกันตาย ก็เพราะไอ้เรื่องความสุขนี่ ฉะนั้นถ้ายิ่งเป็นสุขทางบ้านเรือนแล้วมันก็เป็นอย่างนั้นมากขึ้น ฉะนั้นเดี๋ยวนี้เราสังเกตดูอาชญากรรมที่เกิดขึ้นใน ในโลกนี้ มันมาจากความสุขชนิดบ้านเรือนนั่นแหละ คนหลงใหล คนยึดมั่นถือมั่น คนหวงกั้นอารักขา ก็เป็นเหตุให้ต่อสู้กัน ส่วนความสุขที่เกิดจากพรหมจรรย์ของบรรพชิตนี้ ไม่มีใครแย่ง ไม่มีคู่แข่งขัน ไม่มีใครแย่ง มันก็ไม่เกิดเรื่องอย่างนั้น มันจึงเป็นความสุขที่เรียบร้อยกว่า สงบเย็นกว่า มันไม่ทำให้เกิดเรื่องฆ่าฟันกัน ขอให้เข้าใจไอ้คำว่า อาศัยเรือน หรืออาศัยเนกขัมมะ นี่ไว้ให้ดีๆ
อาศัยเรือนเขาเรียกว่า เคหสิตะ เคหสิตะ แปลว่าอาศัยเรือนหรืออยู่กับเรือน ส่วนอาศัยเนกขัมมะนี่เรียกว่า เนกขัมมสิตะ เนกขัมมสิตะ มีคำว่าสิตะเติมท้ายเข้าไป เนกขัมมสิต เคหสิต เคหสิตะอาศัยเรือน เนกขัมมสิตอาศัยเนกขัมมะคือการออกจากเรือน อยู่นอกเรือน ทีนี้มันก็จะมีปัญหาที่ว่าเราไม่เท่าไรก็ลาสิกขาออกไปอยู่บ้านเรือนอีก เราจะทำอย่างไร เราจะไปหลงกับไอ้ความสุขบ้านเรือนนั้นอีกหรืออย่างไร นี่ส่วนมากก็ลาสิกขาไปอยู่กลับบ้านกันทั้งนั้นนี่ มันก็ไปพบกับเรื่องอาศัยเรือน เคหสิต มันจะมีประโยชน์อะไรในการที่คุณมาบวชแค่พักเดียว ศึกษาเรื่องเนกขัมมะพอรู้เรื่อง แล้วก็กลับไปอยู่ในกองไอ้เคหสิต อาศัยเรือนอีก ผมว่ายังดีนะ ยังดีนะ จะได้รู้จักสองอย่าง สำหรับเปรียบเทียบ สำหรับเปรียบเทียบ ว่าไอ้สุขเวทนาที่อาศัยเรือนนั้นเป็นอย่างไร ที่อาศัยเนกขัมมะนี้เป็นอย่างไร สมมติว่าเรากลับไปครองเรือนอีก มีสุขเวทนาชนิดอาศัยเรือนอีก ก็คงจะไม่ ไม่หลงใหลมากเหมือนๆก่อนๆหน้านี้ที่ยังไม่เคยรู้เรื่องสุขที่อาศัยเนกขัมมะเสียเลย
ฉะนั้นเราจึงใช้คำให้ฟังกันง่ายๆว่า สุขร้อน หรือสุขเย็น สุขอาศัยเรือนนั่นมันสุขร้อนแหละ ต้องร้อน ต้องหนัก ต้องร้อน ต้องกระวนกระวาย ทีนี้สุขที่อาศัยเนกขัมมะนี้มันร้อนไม่ได้ มันก็เยือกเย็น ถ้าเราได้รู้หรือได้ชิมรสไอ้สุขที่เยือกเย็นบ้างแล้ว เราก็คงจะไม่ลุ่มหลงในสุขร้อน หรือบางทีจะรู้จักควบคุม อย่าให้มันเป็นสุขร้อนเต็มที่ คืออย่าไปหลงกับมันนั่นเอง ไอ้ความสุขที่อาศัยเรือนเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส โดยเฉพาะคือราคะหรือตัณหานั้น มันก็เท่านั้นเอง ทีนี้ไอ้ที่มันอาศัยเนกขัมมะ อาศัยปัญญา อาศัยไอ้สติ เท่านี้มันก็แปลกไป คงจะรู้จักจัด จักจัด หรือจัดปรับปรุงจิตใจของเรา จิตใจของเราจะไม่ลุ่มหลงไอ้เรื่องความสุขเรือนๆให้มันมากนัก ไอ้ความสุขร้อนๆยุ่งๆสกปรกน่ะ คงจะพอใจในความสุขที่เรียบรื่น สงบเย็น หรือว่ามันสะอาด
บางทีเมื่อมันร้อนขึ้นมาเพราะสุขเหย้าเรือน ก็ยังนึกถึงสุขเนกขัมมะที่เยือกเย็น ไปลบล้างเสีย ไปเลิกล้างเสีย อย่าให้ไอ้สุขร้อนๆนั้นมันมีพิษ มีๆพิษร้ายต่อไป ที่ต้องสังเกตให้ดีก็คือว่า ไอ้ความสุข สุขนี่ ไม่ใช่วัตถุประสงค์มุ่งหมายที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ท่านๆไม่ได้ตรัสเป็นความมุ่งหมายของมนุษย์ ท่านตรัสว่าไอ้สิ้นสุดแห่งความทุกข์ นี่ขอให้รู้กันไว้ด้วย ถ้ายังไม่ๆรู้นะว่าไอ้สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ทุกขัสสะอันตะ แปลว่า สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ฉะนั้นการที่เรามาปรารถนาความสุข สุขชนิดไหนก็ตาม มันไม่ถูก มันไม่ถูกหรอก ยิ่งถ้าสุขอาศัยเรือน หรือสุขอาศัยไม่เรือน ไม่อาศัยเรือน ก็มันก็ยังไม่ถูกหรอก เพราะว่ามันยังมีปัญหาเหลือ ถ้าไปพอใจในความสุขอย่างใดก็ตาม มันจะมีปัญหาเหลือสำหรับเป็นทุกข์ ฉะนั้นเรามาบวชนี่เราต้องรู้ว่า พรหมจรรย์นี้เพื่อที่สุด สิ้นสุดแห่งความทุกข์
ทุกแห่งในๆพระบาลี ทุกแห่งจะพูดถึงเรื่องว่า ทุกขัสสะ อันตะกิริยายะ นี่เหมือนที่เราสวดตอนเช้าๆนั่น ทุกขัสสะ อันตะกิริยายะ สังวัตตะตุ นั่น เอหิภิกขุ ทุกขัสสะ อันตะกิริยายะ พรัหมะจะริยังจะระถะ เอหิภิกขุ พรัหมะจะริยัง จะระหิ ทุกขัสสะ อันตะกิริยายะ มาบวช มาประพฤติพรหมจรรย์ มาบวชนี่เพื่อทำที่สุดแห่งความทุกข์ ท่านไม่ได้ใช้คำว่ามาบวชเพื่อทำความสุข เพราะว่าคำว่าสุขนี้มันมีความหมายแบบหลอกลวงเสมอ และถ้าเป็นเวทนาด้วยแล้วล่ะก็ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หลอกลวง เวทนาไม่เที่ยง เวทนาเป็นทุกข์ เวทนาเป็นอนัตตา ฉะนั้นท่านจึงไม่ ไม่เอามาเป็นจุดประสงค์มุ่งหมายของการประพฤติพรหมจรรย์ ทีนี้ถ้าว่าเราเพิกถอนเสียได้ทั้งความสุขทั้งสองชนิดนั่นแหละ จะเป็นที่สุดแห่งความทุกข์โดยสมบูรณ์ แล้วเราจะไม่หลงแม้ในความสุขที่เป็นอาศัยเนกขัมมะ ไม่หลงความสุขชนิดไหนหมดดีกว่า นี่คือประพฤติพรหมจรรย์ ถ้าจะเอากลับไปใช้ที่บ้านก็ได้เหมือนกันแหละ กระทำที่สุดแห่งความทุกข์แหละ อย่าไปชะเง้อหาความสุขให้มันหลอกลวงน่ะ มุ่งแต่จะสิ้นสุดแห่งความทุกข์ ถ้าว่าไอ้ความสิ้นสุดแห่งความทุกข์มันเป็นความสุข มันก็มีความหมายอย่างอื่นแหละ เป็นความหมายที่ว่ามันไม่ ไม่มีอะไรรบกวน มันไม่เป็นไอ้สุขเวทนาสำหรับยึดมั่นถือมั่น
แต่ถ้าเป็นความสุขที่เราพอใจแล้วมันก็ต้องยึดมั่นถือมั่น จะสุขชนิดไหนถ้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้วมันหนักทั้งนั้น สุขอาศัยเหย้าเรือนหรือสุขอาศัยเนกขัมมะ ถ้าไปยึดถือเข้าแล้วมันก็สุข อ่า, มันก็หนักทั้งนั้น แล้วมันก็เป็นทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นเราเอาไม่มีสุขกันดีกว่า แต่ว่าไม่มีทุกข์ด้วย สิ้นสุดแห่งความทุกข์ มันไม่ๆๆชวนให้ยึดถือ หรือว่าโดยที่แท้แล้วมันก็คือสิ้นสุดแห่งความยึดถือด้วย จึงจะสิ้นสุดแห่งความทุกข์ ถ้ามีความยึดถืออยู่ ไม่ได้สุข มันก็ยังมีทุกข์แหละ มันทุกข์เพราะความยึดถือ นี่เราไปยึดถือความสุข แม้เป็นสุขที่ว่าถูกต้องก็ๆๆหนัก หนักใจเพราะความยึดถือ เพราะขึ้นชื่อว่าความยึดถือแล้วมันก็ต้องๆหนักมือ มือ มันหนักมือ เพราะไปยึดถือ ไม่ยึดถือก็ไม่หนัก ทีนี้จิตมันยึดถือ จิตมันก็หนัก ไอ้จิตมันก็มีความทุกข์
ที่สุดแห่งความทุกข์มันอยู่ที่ไม่ยึดถือ ถ้าจะเอาที่สุดแห่งความทุกข์ให้เป็นความสุขอีกต้องเรียกว่าสมมติแล้วโว้ย เป็นเรื่องสมมติ เช่นจะให้พระนิพพานเป็นสุข นี่เป็นเรื่องสมมติ ให้ เพราะพระนิพพานนั่นพระพุทธเจ้าตรัสไว้ในฐานะเป็นที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ เมื่อจะพูดให้คนสนใจก็พูดว่าเป็นสุขอย่างยิ่ง นี่พูดให้คนสนใจมันคล้ายกับชวนเชื่อ แต่ถ้าพูดจริงๆตรงๆ ท่านจะพูดว่าที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ไม่พูดถึงความสุข นี่มันไม่มีอะไรเหลือไว้สำหรับจะยึดถือ ถ้ามันมีความหมายแห่งความสุข มันก็ยึดถือความหมายแห่งความสุข มันก็หนัก ฉะนั้นถ้าว่าสิ่งนั้นมันมีรสอร่อย เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ไอ้คนเขาก็หลงใหล ไม่เห็นเป็นทุกข์ก็ได้ ยึดถือก็ไม่หนัก เพราะมันชอบนี่ มันรักนี่ แม้จะยึดถือมันก็กลายเป็นไม่หนักไปเสีย
ถ้าเราแบกก้อนหิน เรารู้สึกหนัก แต่ถ้าเราแบกไอ้ทองคำหรือเพชรพลอย เรากลับไม่รู้สึกหนัก เพราะว่าเราหลงรัก เพราะว่าเราชอบ ก้อนหินกับเพชรพลอยหรือทองคำที่มีน้ำหนักเท่ากัน เท่ากันน่ะ ถ้าเราไปแบกก้อนหินเราจะรู้สึกหนักมากกว่าเพราะเราไม่ชอบนี่ ส่วนเพชรพลอยหรือทองคำเรามันชอบ มันจึงรู้สึกหนักน้อย หรือว่าบางทีมันบ้าขึ้นมาจนไม่รู้สึกหนักเลย นี่ให้รู้ว่าไอ้ความสุขกามารมณ์ ความสุขบ้านเรือน ความสุขที่เกี่ยวกับบ้านเรือนนั้นน่ะมันมีเสน่ห์ ไอ้คนก็ลุ่มหลง ลำบากอย่างไรก็ทนสู้เอา ได้มาแล้วก็ยึดถือหวงแหน เป็นบ้าไปเลยก็มี ขึ้นชื่อว่ายึดถือแล้วก็จะเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเอาที่ไม่ยึดถือ ยึดถือไม่ได้กันดีกว่า คือที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ คือไม่ยึดถือนะ ฟังให้ดีนะ ไอ้สิ้นสุดแห่งความทุกข์ก็คือสิ้นสุดแห่งความยึดถือ ถ้ายังยึดถืออยู่ยัง ยังเป็นทุกข์อยู่
นี่เรามาประพฤติพรหมจรรย์ บวชนี่เพื่อศึกษาไอ้ที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ไม่พูดถึงความสุขเลย ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็ตามใจ แต่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างนี้ ว่ามาประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งความทุกข์ ในเรื่องที่เราศึกษาๆกันบ่อยๆนี่มันก็เป็นเรื่องที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ขอให้นึกถึงไอ้เรื่องที่พูดกันตอนแรกๆ ครั้งที่แล้วๆมา โดยเฉพาะเรื่องปฏิจจสมุปบาทน่ะจะไม่มีคำว่าความสุข มีแต่คำว่าสิ้นไปแห่งความทุกข์ ดับไปแห่งความทุกข์ ก็จบเรื่อง ไม่เลยไปถึงความสุข นั่นแหละเมื่อพูดกันจริง พูดภาษาจริง ไม่ใช่ภาษาชวนเชื่อ ไม่ใช่ภาษาโฆษณาให้สนใจ แต่ในบางคราวพระพุทธเจ้าก็ ท่านก็ตรัสโดยภาษาชวนเชื่อให้สนใจเหมือนกัน ถ้าเห็นว่ามันจะมีประโยชน์แก่คนบางจำพวก ท่านก็ตรัสในฐานะเป็นความสุขก็มี ให้นิพพานเป็นความสุขอย่างยิ่งก็มี แต่เมื่อท่านจะตรัสตามจริง ตามความถูกต้องแล้วก็ตรัสแต่ว่ามันเป็นที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์
นิพพานมันแปลว่าดับแห่งความร้อน คำว่านิพพานแปลว่าดับแห่งความร้อน เพราะฉะนั้นมันก็ดับแห่งความทุกข์ ฉะนั้นคำว่านิพพานไม่มี ไม่มีความหมายว่าสุขเลย ไอ้คำๆนี้ นิพพานะ ไม่มีความหมายที่ว่าสุขๆอะไร มันมีว่าสิ้นไปแห่งความร้อน ก็คือสิ้นไปแห่งความทุกข์ พอ หยุดแค่นั้น เมื่อไม่มีความทุกข์ มันก็ควรจะพอใจ จะไปไอ้ ทำให้เป็นที่ยึดถือขึ้นมาอีกมันก็ผิดแหละ เพราะฉะนั้นจึงมีหลักเกณฑ์หรือคำตรัสว่า ไม่ยึดถือนิพพานว่านิพพานของเรา ไม่ยึดถือนิพพานว่าเป็นนิพพานของนิพพานก็ไม่ยึดถือ ไม่ยึดถือว่านิพพานเป็นของเราก็ไม่ยึดถือ เรียกว่าไม่ยึดถือโดยประการทั้งปวง เพราะว่าถ้ามียังความ ยังมีความยึดถือเหลืออยู่ ไม่มีนิพพาน เพราะนิพพานน่ะเมื่อมันดับสิ้นไปแห่งไอ้ความทุกข์หรือกิเลส ถ้ามีความยึดถือเหลืออยู่ ไม่มีนิพพาน ถ้านิพพานต้องไม่มีความยึดถือเหลืออยู่ นี่เรียกว่าหลุดออกไปได้ หลุดออกไปได้จากความยึดถือ
ที่พูดนี้ก็เพื่อจะให้รู้เสีย จะได้ประกันไอ้ความเข้าใจผิด ว่าแม้แต่นิพพานก็ไม่ให้ยึดถือ คือยึดถือไม่ได้น่ะ ถ้ายึดถือก็ไม่เป็นนิพพานน่ะ ถ้าใครจะยึดถือนิพพานก็คือยังโง่ โง่ต่อนิพพาน ไม่รู้จักนิพพานจริง เขาคำนวณเอานิพพานแล้วเขาก็ยึดถือ คนจะยึดถือนิพพานนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าถ้าจะยึดถืออะไรมันก็ไม่นิพพานเท่านั้นเอง นิพพานเกิดขึ้นแล้วต่อเมื่อหมดความยึดถือ เพราะฉะนั้นโดยแท้จริงแล้วนิพพานมันยึดถือไม่ได้ แต่คนที่ยังโง่อยู่ ยังไม่ถึงนิพพาน ยังใฝ่ฝัน ยังหลงในนิพพานนี้ เตรียมจะยึดถือ เขายึดถือนิพพานเป็นการล่วงหน้า แล้วก็ไม่เคยนิพพานได้เพราะมันมีความยึดถือ
นี่ผมเห็นว่าเรื่องเหล่านี้มันจะเป็นปัญหาล่ะถึงเอามาพูดให้ฟัง มันจะทำให้เกิดการสับสน เข้าใจสับสน แล้วมันๆก็ไปไม่ได้แหละ มันติดตันกันอยู่ที่นี่ หรือมันผูกพันกันอยู่ที่นี่ เพราะว่าเรามีความต้องการอยู่เรื่อย มีความต้องการจะได้อะไรอยู่เรื่อย มีตัวเราสำหรับจะได้อะไรเป็นของเราอยู่เรื่อยไปนั้นน่ะ นั้นแหละคือความยึดถือ ถ้าอันนี้มีอยู่แล้วไม่มีทางจะนิพพาน มีตัวเราสำหรับจะไปเอาอะไรมาเป็นของเรา นั่นแหละคือความยึดถือ มันแบกก้อนหิน หรือแบกก้อนเพชรพลอยก็ตามใจอยู่เรื่อยไปแหละ มันก็หนักแหละ ฉะนั้นมาหัดปล่อยวาง อย่างน้อยก็ศึกษาความปล่อยวางระหว่างบวชนี่ ไม่ๆกี่วันกี่เดือนนี่ ก็ศึกษาเรื่องความปล่อยวางให้เข้าใจ แล้วมันจะปล่อยวางได้บ้างไม่มากก็น้อย สึกกลับออกไปมันก็จะยึดถือน้อยกว่าที่แล้วมา ถ้าเข้าใจเรื่องนี้นะ ถ้าเข้าใจเรื่องว่ายึดถือแล้วก็เป็นทุกข์ แม้ยึดถือในความสุขก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นความสุขของชาวบ้าน ที่ชาวบ้านเขายึดถือเป็นความสุข มันก็คือความทุกข์ เหมือนกับแบกก้อนเพชรพลอยนั่นแหละ ฉะนั้นความสุขที่อาศัยเรือนมันไม่ไหวอย่างนี้ มันเป็นเรื่องหลอกให้หลงให้ยึดถือ
ทีนี้ความสุขที่อาศัยเนกขัมมะ ถ้าว่ามุนีโยคีนั้นรู้ยังไม่พอก็ยึดถือได้เหมือนกัน แล้วมันก็ติดตันอยู่ที่นั่น มันก็ไม่นิพพาน มันไม่นิพพาน แม้เป็นความสุขชนิดเนกขัมมะน่ะ พวกฤษีมุนี ทำสมาธิ ทำสมาบัติ ได้พบความสุขอันนี้แล้วก็ยึดถือความสุขที่เป็นเนกขัมมะนะ มันก็อยู่ที่นั่นแหละ มันไปนิพพานไม่ได้ มันเลื่อนไปไม่ได้ถ้ามันยึดถือ เพราะฉะนั้นจึงมีการปล่อยวางไปตามลำดับ ยึดถืออยู่ไม่ได้ ถ้ายึดถือมันติดอยู่ที่นี่ ถ้าไปยึดถือเข้ามันจะติดอยู่ที่นี่ มันก้าวไปไม่ได้ มันหลุดไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ยึดถือ แม้จะมีความสุขอย่างใหม่เกิดขึ้น ภพใหม่ มันก็ความสุขเท่านั้นหนอ ความรู้สึก รู้สึกเท่านั้นหนอ เราทำอย่างอื่นที่ประณีตละเอียดยิ่งไปกว่านั้น คือจิตใจที่มันว่าง ไม่มีความยึดถือยิ่งขึ้นไปๆๆ จะหมด กว่าจะหมดความยึดถือหรือจะหมดความทุกข์ นี่เรื่องของพรหมจรรย์มันเป็นอย่างนี้ ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็ตามใจ แต่เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ถ้าเราไม่ชอบ ก็ดูจะไม่มี ไม่มีประโยชน์อะไรที่มาบวชกันพรรษาหนึ่งนี่ คือมันไม่ได้เรื่องที่ตัวต้องการ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ผมเห็นว่ามันจะมีประโยชน์มากที่สุดถ้าเราศึกษาให้รู้ กระทั่งประพฤติได้บ้าง ต่อไปเราจะมีความทุกข์น้อยลง แม้จะกลับไปอยู่ที่บ้านเป็นฆราวาสอีกก็จะมีความทุกข์น้อยลง ความทุกข์จะน้อยลง ไปต่อว่าเอาเองว่าความสุขมันเพิ่มขึ้นก็ได้
ที่พูดว่าความสุขนั่นมันพูดด้วยความหมายของกิเลส แต่ถ้าพูดว่าสิ้นสุดแห่งความทุกข์ ที่ๆสุดแห่งความทุกข์ อันนี้มันพูดด้วยความหมายของสติปัญญา สติปัญญามันจะทำให้เราพูดว่าสิ้นสุดแห่งความทุกข์ แต่ถ้าว่าพูดด้วยกิเลสแล้วมันว่า สุขที่สุดโว้ย ความสุขที่สุดโว้ย นี่มันยังมีอวิชชา ยังมีกิเลส มันก็พูดอย่างนั้นแหละ จะพูดเป็นความสุขเสมอไป ฉะนั้นธรรมะนี้มันจึงเป็นของลึก เป็นของลึกละเอียด เข้าๆใจได้ยากนะ ที่เห็นว่าไอ้ความสุขนั้นน่ะเป็นเรื่องบ้าๆบอๆ โง่ๆหลงๆของชาวบ้านชาวปุถุชนคนธรรมดา พระอริยเจ้าไม่ได้ต้องการความสุข แต่ต้องการที่สุดแห่งความทุกข์ เพราะท่านเกลียดความทุกข์ ท่านกลัวความทุกข์ ท่านเบื่อระอาต่อความทุกข์ ซึ่งมันมีอยู่จริงนะ แม้ในสุขเวทนามันก็มีความทุกข์ คนรวย คนมีอะไรมาก มีสวรรค์ใน ในแผ่นดินนี้มันก็มีความทุกข์ มันก็ยังมีความทุกข์อยู่นั่นแหละ เพราะมันยึดมั่นถือมั่นในสุขเวทนาที่ได้รับอยู่ ฉะนั้นเขาจึงเห็นว่ามันเป็นความทุกข์ เขาอยากจะหลีกออกไปเสีย แต่ถ้ายังไม่เห็นมันก็หลงอยู่ที่นี่ มันก็หลงอยู่ที่ไอ้ความสุขชนิดนี้ตามประสาบ้านเรือน
เพราะฉะนั้นเรามันจึงมีคำแบ่งแยกออกจากกัน อันหนึ่งเป็นโลกียะ อันหนึ่งเป็นโลกุตตระ เป็นโลกียะก็อยู่ในวิสัยโลก อยู่ในระดับโลก เป็นไปตามโลก มีความหมายอย่างโลกๆ มันก็อย่างที่เราเป็นๆกันอยู่ ดีเลิศอยู่ที่ได้ความสุขอย่างโลกๆในชาวโลก แต่ถ้าเป็นเรื่องโลกุตตระมันก็ไม่เอา มันก็เอาอยู่ เอาๆชนิดๆที่อยู่เหนือความหมายเหล่านั้น เหนือคุณค่าอย่างโลกๆ เหนือความหมายอย่างโลกๆ ไม่มีความหมายแห่งโลก ไม่มีความหลงรักยึดถือในอะไรนี่ เลยเรียกว่าโลกุตตระ อยู่กันเหนือโลก ก็ที่เขาบัญญัติไว้ของสำหรับพระอริยเจ้าน่ะ ๘ จำพวกน่ะ พระ อ่ะ, โสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ พวกอยู่เหนือโลก นั้นมันๆอยู่เหนือโลกเข้าไปจริงตามลำดับ
แต่ถ้าคนธรรมดาอย่างเราๆปุถุชนนี้มันจะอยู่เหนือโลกได้ยาก มันจะมีได้บ้างมันก็น้อยมาก บางเวลามันก็รู้สึกเกลียดชังไอ้เป็นอยู่อย่างโลกๆได้บ้างเหมือนกันแหละ แต่มันน้อยนัก มันไม่พอที่จะเรียกว่าอยู่เหนือโลก หรือมิฉะนั้นมันก็เป็นของมันเอง คือโลกมันไม่มาครอบงำ นี่ ไอ้อำนาจของโลก ความหมายของโลกมันไม่มาครอบงำเรา มันเผอิญเป็น ก็เรียกว่าอยู่นอกโลก หรือเหนือโลกได้นิดหนึ่ง อย่างนี้ก็ไม่เรียกว่าโลกุตตระหรอก แต่ก็ยังดีกว่าที่จะไม่มีเสียเลย ฉะนั้นเราอย่าจมโลกมิดอยู่ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมงทุกวันๆ จิตใจของเราควรจะรู้ความจริงข้อนี้กันเสียบ้าง เห็นโลกโดยความเป็นของน่าระอา มีเวลาจะเห็นโลกโดยความเป็นของน่าระอา เมื่อนั้นแหละจะมีความทุกข์น้อยหรือลดลงไปทีเดียว ไม่มี ไม่มีความหมายแห่งความสุข มีความหมายเพียงว่าความทุกข์มันลดลง ความทุกข์มันน้อยลงๆๆ
ฉะนั้นการที่รู้จักเรื่องความสุขกันเสียให้ชัดเจนว่ามีอยู่ ๒ ชนิด คือเป็นเรื่องโลกๆ อาศัยบ้านเรือน มีเงินทองข้าวของ บุตรภรรยาสามี เกียรติยศชื่อเสียง เป็นเรื่องโลกๆ เป็นความสุขหลอกๆ เป็นความสุขชนิดที่หนัก ถือแล้วหนัก ไม่ถือมันก็ไม่มี ชาวโลกมันยังโง่อยู่ เพราะฉะนั้นมันต้องยึดถือแหละ มันต้องแบกต้องถือ แล้วมันก็หนัก เพราะมันยังเป็นโลก มันเป็นชาวโลก
ทีนี้ก็อีกฝ่ายหนึ่งตรงกันข้ามนี่มันมีจิตชนิดที่ไม่ผูกพันกับโลก ปลีกตัวออกมา ดิ้นรนออกมา ต่อสู้เหมือนกัน มันเป็นการต่อสู้เหมือนกันที่จะออกมาจากโลก แล้วมาอยู่เป็นเนกขัมมะ คือภาวะที่ไม่เกี่ยวกับบ้านเรือน ไม่เกี่ยวกับบ้านเรือน มีความสุขอีกอย่างหนึ่ง ระดับหนึ่ง ชนิดหนึ่ง รสชาติชนิดหนึ่ง เย็นกว่า สะอาดกว่า แต่ก็ยังยึดถือไม่ได้นั่นเอง พอยึดถือเข้าก็เป็นทุกข์อีก มันจึงไม่ยึดถืออะไรก็ตาม แม้จะแปลกใหม่ขึ้นมา แปลกใหม่ออกมาอีกๆ เป็นความสุขที่แปลกใหม่ออกมาอีกก็ไม่ยึดถือ เพราะฉะนั้นแม้ที่สุดแต่ความทุกข์ที่น้อยลงไป การที่ความทุกข์น้อยลงไปเราก็ไม่ได้ยึดถือ ถ้ายึดถือมันก็โง่แล้ว จนกระทั่งว่ามันไม่ยึดถือโดยประการทั้งปวงแหละ นี่จึงจะเป็นเรื่องของนิพพาน
ถ้าเผอิญว่าวันหนึ่งคืนหนึ่งจิตมันไม่ยึดถืออะไรเลยโดยเหตุปัจจัยอะไรก็ตาม นั้นน่ะมันๆเรียกว่ามันชิม ชิมนิพพานแล้ว มันชิมรสของนิพพาน คนทั่วไปก็ว่าสุขอย่างยิ่ง แต่พระอริยเจ้าว่ามันเป็นที่สุดแห่งความทุกข์เท่านั้นโว้ย ไม่ใช่ความสุขอย่างยิ่งโว้ย มันไม่มี เมื่อๆพูดตามไอ้ความจริงของธรรมชาติ ตามวิถีทางของธรรมชาติ ไม่สมมติ ไม่ๆหลงสมมติแล้วมันก็เรียกว่าไม่มี ไอ้ความสุขมันไม่ มันไม่มีได้ มันเป็นเรื่องหลอกเสมอไป มันต้องเป็นความสิ้นสุดแห่งความทุกข์จึงจะเป็นเรื่องจริง
ทีนี้ก็รู้เรื่องความสุข ๒ ชนิดแล้ว แล้วก็รู้เรื่องนอกเหนือออกไปจากความสุขทั้ง ๒ ชนิดนี้ เรียกว่าเรารู้เรื่องความหลุดพ้น ความหลุดพ้น ไอ้ความผูกพันน่ะมันมีหลายชั้นนะ ไอ้ความสุขอย่างกามารมณ์ กามคุณ กามารมณ์นี้ก็ผูกพันให้อยู่กับมัน ทีนี้ความสุขอย่างเนกขัมมะ เป็นสมาธิ เป็นฌาน เป็นสมาบัติ เป็นสมาธิ เป็นความสุข ก็ผูกพันให้อยู่กับมัน เอากับมันสิ ซึ่งมันก็ไม่หลุดพ้นออกไปได้ เพราะฉะนั้นต้องไม่ๆติดอยู่ในความสุขชนิดใดๆ ที่เขาเรียกกันว่า ไอ้กามภพ รูปภพ อรูปภพ นั่นน่ะเป็นหลักเกณฑ์ที่ๆดีแล้ว ผูกพันอยู่ในกาม กามคุณ ก็เป็นกามภพ ผูกพันอยู่ใน อันไหนอะไรจะเรียกให้ๆๆถูกก็เรียกว่าในรูป รูปธรรมล้วนๆน่ะ รูปธรรมล้วนๆ ไม่ใช่กาม รูปล้วนๆ รูปบริสุทธิ์ รูปไม่ใช่กามนี่ก็เป็นรูปภพ เป็นภพที่อยู่กับรูปที่บริสุทธิ์ ยังดีกว่าที่อยู่กับกาม ทีนี้พวกหนึ่งเขาค้นพบต่อไปว่า แม้จะเป็นรูปบริสุทธิ์อยู่กับมัน มันก็ยังหยาบ แม้เป็นความสุขก็เป็นความสุขหยาบ ก็เลื่อนไปหาสิ่งที่ไม่มีรูป ไม่มีรูป เป็นอรูป ภพความสุขชนิดนั้นก็มันก็มีอรูปภพ ภพคือความมีความเป็น จัดไว้เป็น ๓ อย่าง คืออยู่กับกามนี้อย่างหนึ่ง อยู่กับรูปบริสุทธิ์ไม่มีกามนี้อย่างหนึ่ง และอยู่กับอรูปที่บริสุทธิ์ที่ไม่มีกามนั้นอีกอย่างหนึ่ง จิตมันไปหลงความสุขเกิดจากกามก็ได้ หลงความสุขเกิดจากรูปบริสุทธิ์ก็ได้ หลงความสุขเกิดจากไม่มีรูปหรืออรูปอันบริสุทธิ์ก็ได้ นั่นแหละ นั่นแหละเครื่อง เครื่องผูกพันกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ในภพ เพราะว่าเราชอบอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในๆสิ่งเหล่านั้น ชอบกามก็วนเวียนอยู่ในกามภพ ชอบรูปก็วนเวียนอยู่ในรูปภพ ชอบอรูปก็วน วนเวียนอยู่ในอรูปภพ
ความวนเวียนนี่เรียกว่า วัฏฏะ วัฏฏะ วัฏสังสาร สังสารวัฏฏะ หรือวัฏสังสาระ เวียนเป็นวงกลมอยู่ที่นั่นออกมาไม่ได้ เหมือนกับตกอยู่กลางน้ำวนน่ะ มันออกมาไม่ได้ ไปอยู่ในน้ำวนของกามคุณมันก็ออกมาไม่ได้ ถึงแม้ไปเวียนอยู่ในรูปภพอันบริสุทธิ์จากกาม ไม่มีกาม แต่มันก็มีรสอย่างๆๆรูปมันก็ออกมาไม่ได้ แล้วยิ่งออกมาไม่ได้ยากขึ้นน่ะเพราะมันดีกว่า ประณีตกว่า ชวนให้ติดหลงได้มากกว่า ถ้าไปถึงขั้นอรูปภพมันก็ยิ่งไปกว่านั้นอีก เพราะฉะนั้นเขาจึงจัดให้ว่าไอ้สัตว์ในกามภพนี่มีอายุน้อยกว่าสัตว์ที่อยู่ในรูปภพ สัตว์ที่อยู่ในรูปภพก็ยังมีอายุน้อยกว่าที่มันอยู่ในอรูปภพ เพราะว่าที่มันอยู่ในภพที่ละเอียดประณีตขึ้นไปน่ะ มันมีความสุขละเอียดประณีต มันดึงดูดกว่า ฉะนั้นมันไม่อยากจะจากไป ปุถุชนติดอยู่ในกามก็ไม่อยากจะจากกามกัน อ่า, จากกามออกไป แต่ว่ามันยังมีฤทธิ์ดึงดูดน้อยกว่าไอ้ชั้นรูปภพ ชั้นอรูปภพที่ประณีตกว่า ละเอียดกว่า
นี่เรียกๆว่าภพ ๓ ภพ ภพหนึ่งมีกาม ภพหนึ่งมีรูปบริสุทธิ์ ภพหนึ่งมีอรูปอันบริสุทธิ์ ดังนั้นพวกพรหมน่ะ พวกพรหมในไอ้รูปภพ อรูปภพนั้นน่ะ ท่านกล่าวว่ากลัวตายมากกว่า ไม่อยากตายมากกว่า เพราะเขาสบายมาก เขาอายุยืน สบายมาก ก็เลยกลัวตายมากกว่าไอ้คนธรรมดา แต่คนธรรมดาเขาก็ชอบไอ้กามภพ ชอบกามคุณนี้อย่างไม่จะ อย่างไม่อยากจะจากไปด้วยเหมือนกันแหละ เพราะฉะนั้นก็ยากเหมือนกันที่จะจากกามภพไป ไปได้ แต่ถ้าไปติดในรูปภพ อรูปภพแล้วยิ่งยากกว่าอีกที่จะออกไปได้ เพราะว่ามันๆประณีตกว่า หรือมันดึงดูดกว่า แต่มันเป็นชั้นดีๆกว่า ละเอียดประณีตสุขุมกว่า ฉะนั้นใครหลงใหลในภพไหนก็ติดอยู่ในภพนั้น พอใจในภพไหนก็ติดอยู่ในภพนั้น ความหลงใหลในภพนั้นมันก็เป็นกิเลส แล้วก็ให้ทำ ประพฤติกระทำเพื่อจะได้แล้วก็มันก็เป็นกรรม ครั้นได้แล้วและ เอ้ย, ครั้นมีกรรมแล้วก็มีผลกรรม อร่อยมันก็ติดอยู่ในนั้นน่ะ ออกมาไม่ได้ มันก็วนๆๆอยู่ที่นั้น
แม้ภพชั้นเลว ภพชั้นอบาย ชั้นนรก มันก็ๆติดอยู่ที่นั่นได้เหมือนกันน่ะ เพราะมันโง่เกินไป ครั้นมาถึงชั้นสวรรค์นะ มันก็ติดมากไปกว่านั้นน่ะ เพราะมันน่าติด มันยั่วให้ติด มันสวยงามกว่า พอ ไอ้ ชั้น ถึงชั้นรูปภพ อรูปภพแล้วก็ยิ่งประณีตกว่า เหมือนกับคนที่เขามีอาหารชั้นดีชั้นประณีตกินน่ะ เขาก็ติดมากกว่าคนที่กินอาหารง่ายๆถูกๆเลวๆ แม้ๆคนกินเหล้าน่ะ เมื่อมันเหล้ามันดีกว่ามันก็ยิ่งติดเหล้านั้นยิ่งกว่าเหล้าเลวๆนะ แม้แต่คนกินเหล้า ฉะนั้นไอ้เรื่องความสุขในเรื่องจิตใจนี้ก็เป็นอย่างเดียวกัน นี่เรียกว่าความหลงอยู่ในวงกลมของภพ ของความเป็นอย่างนั้นๆ แต่ละชนิดๆ พวกที่อยู่ในกามภพระดับต่ำของฝ่ายดี เรียกว่าฝ่ายดี ในระดับต่ำ ก็หลงใหลในกามารมณ์นะ หลงใหลในกามารมณ์ซึ่งเป็นไอ้ความหมายของกามภพ พวกที่อยู่ในรูปภพก็หลงใหลในความสุขที่เกิดจากรูปฌาน ความสุขที่เกิดจากรูปฌาน เขาก็หลงใหลละเอียดประณีตกว่าไอ้พวกนี้ที่หลงใหลในกาม กามคุณ กามารมณ์
เรื่องความหลงใหลละเอียดๆๆนี่น่ากลัว กว่าจะหลุดออกไปได้ ก็พูดกันว่าหลายกัปป์หลายกัลป์ หลายหมื่นชาติ หลายแสนชาติจึงจะออกไปได้ ไปถึงนิพพาน ไปสู่นิพพาน เขาพูดกันว่าอย่างนี้ ถ้ามันหลงมากมันจึงอยู่นาน และกว่าจะหลุดออกไปได้คือนิพพาน ถ้าประพฤติพรหมจรรย์ก็เหมือนกับหาทางลัด หาทางลัด ตัดลัดออกไปหานิพพาน อย่าไปมัวหลงอยู่ในกาม ในรูป ในอรูป ประพฤติพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าท่านไม่ประสงค์ให้ติดอยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ แล้วก็ให้ประพฤติพรหมจรรย์ เหมือนในวันบวชน่ะ ถ้าบวชแบบเดี๋ยวนี้ก็มีบอกอนุศาสน์ บวชเสร็จแล้วก็บอกอนุศาสน์ ที่ว่าจะออกไปเสียได้จากกามภพ รูปภพ อรูปภพ
ผมเห็นว่ามันเกี่ยวกับการบวชของพวกเรา เรื่องนี้มันเกี่ยวกับการบวชของพวกเรา จึงเอามาพูด บวชนี้เรียกว่าเนกขัมมะ อยู่ที่บ้านเรียกว่าเคหสิตะ เคหสิตะ มาบวชนี้เรียกว่าเนกขัมมสิตะ ครั้น ๒ อย่าง ถ้าพูดอย่างเปรียบเทียบธรรมดาๆก็เรียกว่าตรงกันข้ามล่ะ ตรงกันข้าม เป็นเคหสิตะเกี่ยวกับบ้านเรือน เป็นเนกขัมมสิตะเกี่ยวกับไม่มีบ้านเรือน มันตรงกันข้ามนะ แต่ทว่าที่จริงแล้วมันยังไม่ใช่นิพพานด้วยกัน ยังเหมือนกันตรงที่ยังไม่นิพพาน มันต้องไปนอกนั้นน่ะ ต้องไปอีกที ไปจนถึงสุดๆปลายแล้วมันไปอีกทีหนึ่ง พ้นสุข พ้นความสุข พ้นโสมนัสออกไปจนไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความสุข มีแต่ว่าสิ้นสุดแห่งความทุกข์
บวชนี้เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ เป็นที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ บวชแบบเก่า แบบพระนิกายแบบเก่า ก็มีคำว่า นิพพานะ สัจฉิกะระณัตถายะ ทุกที ทุกคำขอ ทุกขั้นตอน นิพพานะ สัจฉิกะระณัตถายะ มีหลายขั้นตอนที่จะต้องกล่าวคำนี้ บวชนี้เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน อ้อ, เขามีคำนำหน้าอีก คำว่า สัพพะทุกขะ นิสสะระณะ นิพพานะ สัจฉิกะระณัตถายะ กระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน เป็นที่ออกไปจากทุกข์ทั้งปวง เป็นที่ออกไปจากทุกข์ทุกชนิด ทุกชนิด จนสิ้นสุดแห่งความทุกข์
ฉะนั้นให้ถือว่าบวชนี้เพื่อมาศึกษาเรื่องดับทุกข์ อย่ากล้าไปคิดว่าบวชนี้เพื่อหาความสุข มันจะโง่ เพราะว่าเรื่องความสุขมันมีความหมายเป็นความหลอกลวงทั้งนั้น ที่จะไม่หลอกลวงกันแล้วก็สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ฉะนั้นเราบวชเพื่อหาความสิ้นสุดแห่งความทุกข์ ไม่ใช่บวชเพื่อหาความสุขชั้นเลิศ ถ้าพูดอย่างนั้นก็เรียกว่าพูดหลงสมมติแล้ว เขาพูดไว้โดยสมมติ เราไปหลงสมมติ เที่ยวหาความสุขอย่างยิ่ง มันก็เอาไว้ให้ชาวบ้าน คนธรรมดา ปุถุชนธรรมดาเขาจะบวชหาความสุขอย่างยิ่ง ก็ตามใจเขาสิ แต่ถ้าเรามีความรู้พอสมควรแล้วมันจะไม่พูดอย่างนั้น มันจะบวชเพื่อรู้เรื่องดับทุกข์สิ้นเชิง ปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์สิ้นเชิง ต่อไปนี้ความทุกข์เกิดไม่ได้ ก็เป็นพระอรหันต์ ถ้าเกิดได้น้อยมากก็เป็นพระอนาคามี สกิทาคามี พระโสดาบัน อะไรรองๆลงไป แต่แน่นอนว่าต้องสิ้นสุดแห่งความทุกข์ในวันหนึ่งเป็นแน่ จะเป็นพระโสดาบันก็ตาม สกิทาคามีก็ตาม อนาคามีก็ตาม สักวันหนึ่งจะต้องสิ้นสุดแห่งความทุกข์ คือเป็นพระอรหันต์เป็นแน่
นี่ก็คือระบบการบวช เรื่องของการบวชที่มนุษย์ได้ค้นพบมาตามลำดับๆๆ จนพบสูงสุดแล้ว ไม่มีอะไรเหนือไปกว่านี้ได้อีกแล้ว คือการบวชในพระ ในพระพุทธศาสนา ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อสิ้นสุดแห่งความทุกข์ เกิดมีระบบนี้ขึ้นมาในโลกโดยพระพุทธเจ้า โดยพระพุทธเจ้า เดี๋ยวนี้เราก็เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า แต่เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโดยธรรมเนียม ตามธรรมเนียม ทำตามๆๆธรรมเนียม มันยังไม่ปลอดภัยนั่น ดูให้ดีๆ มันยังไม่ปลอดภัย ขอให้เป็นพระพุทธเจ้าด้วยความรู้เข้าใจอย่างถูกต้อง เข้ามาเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าด้วยความรู้อย่างแจ่มแจ้งเข้าใจถูกต้อง แล้วก็ได้รับผลตรงตามความมุ่งหมายของการบวชโดยแท้จริง ซึ่งสรุปแล้วดีกว่าไม่ได้บวชแหละ แม้จะ แม้จะต้องกลับสึกออกไปอีกก็ขอให้แน่ว่ามันดีกว่าไม่เคยบวช หรือไม่เคยรู้เรื่องอะไรเสียเลย ก็ยอมลดชั้นลงมาสิ เมื่อๆๆๆไม่ได้บวชเพื่อไปนิพพานแล้วก็ ก็ลดชั้นลงมา เหลือว่าบวชเพื่อให้รู้อะไรมากพอที่จะใช้ประโยชน์แก่ชีวิตได้ แก่ชีวิตจิตใจนี้ได้ดีกว่าที่ไม่ได้บวช ไม่รู้เรื่องบวช ฉะนั้นถึงอย่างไรๆมันก็ดีกว่าไม่ได้บวชอยู่นั่นเอง ถ้าว่าเราตั้งใจจะประพฤติให้ดีที่สุดในพรหมจรรย์นี้ อย่าเป็นผู้บวชที่เหลวไหล อย่างน้อยก็ให้ๆเห็นให้เข้าใจเรื่องของพระนิพพาน ให้มองเห็นลู่ทางของพระนิพพาน ให้เห็นวี่แววของพระนิพพาน ให้มีพระนิพพานเป็นจุดหมายปลายทาง ก็อาจจะดับทุกข์สิ้นเชิงเมื่อวาระสุดท้ายดับจิตตายก็ได้ ก่อนเข้าโลงสัก ๕ นาทีก็ยังดี ดับกิเลสดับทุกข์สิ้นเชิงได้เมื่อใกล้ๆจะตายก็ยังดีกว่าที่ไม่ได้เสียเลย
วันนี้ผมพูดเรื่องถ้อยคำ ๒ คำนะ ช่วยจำไว้ด้วย เคหสิตะอาศัยบ้านเรือน อยู่กับบ้านเรือน เนกขัมมสิตะอยู่นอกบ้านเรือน ไม่มีบ้านเรือน ชีวิตที่เกี่ยวกับความสุขความทุกข์มี ๒ แบบนี้ แบบ มี ๒ แบบ แบบหนึ่งเกี่ยวกับบ้านเรือน แบบหนึ่งไม่เกี่ยวกับบ้านเรือน แล้วออกเลยไปจนถึงกับพ้นโลกเลย เหนือโลก พ้นโลกเลย เพราะฉะนั้นขอให้รู้เห็นชัดเจน อย่าหลงทาง อย่าหลงทาง อย่าเอามาปนเปสับสนกันเรื่องสุขเรื่องทุกข์ มันปนเปกันยุ่งไปหมดจนไม่รู้ว่าอันไหนไปทางสูง อันไหนไปทางต่ำ อันไหนจิตตันอยู่ที่นั่นน่ะ นี่เข้าใจเรื่องเคหสิต เนกขัมมสิต โลกุตตระ อะไรไว้ให้ดีๆ
เอาแล้ววันนี้ผมตั้งใจจะพูดเพียง ๒ คำเท่านั้นแหละ ผมจะจบแล้ว ไว้เหลือให้คุณถามปัญหาอะไรบ้างก็ได้ ถ้าจะ ถ้ามีถาม มีปัญหาสงสัยอะไรบ้างก็พูดขึ้นมา ถ้าไม่สามารถจะบวชเพื่อทำให้แจ้งแก่พระนิพพาน คือบรรลุนิพพาน ก็ขอให้บวชเพื่อทำให้รู้เรื่องนิพพานก็ยังดี ให้รู้เรื่องนิพพานไว้ก็ยังดี แม้ไม่ถึงนิพพาน ก็ให้รู้เรื่องพระนิพพานในฐานะเป็นเป้าหมายปลายทางไว้ก็ยังดี
คนโบราณปู่ย่าตายายของเราเขามีคำพูดที่ดีมากคำหนึ่ง คือเขาทำอะไร ทำอะไรๆๆก็เพื่อเป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน เพื่อเป็นการช่วยส่งเสริมให้ไปทางของพระนิพพาน ไอ้สิ่งที่เรียกว่าความดี ความดี ความถูกต้องของเขานั่นคือสิ่งที่ปัจจะ ที่เป็นปัจจัยส่งเสริมแก่การไปนิพพาน แก่การบรรลุถึงนิพพาน เขาไม่หลงใหลในกามารมณ์ เงินทอง ข้าวของอะไรเหมือนคนสมัยนี้นัก คนสมัยนี้มันหลงไอ้กามารมณ์มากเกินไป คนแต่ก่อนเขาไม่ค่อยๆหลงมาก แล้วเขาต้องการพระนิพพาน ทำอะไรๆก็อุ อุทิศว่าเป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน ทำบุญทำกุศล บริจาคอะไรก็ให้เป็นปัจจัยแก่นิพพาน ไม่ๆชอบว่าให้ได้สวย ได้รวย ได้สวรรค์วิมานอะไรเหมือนกับลูกหลานที่มันกิเลสมันหนา ไม่รู้เรื่องนิพพานแล้วก็ไม่ประสงค์นิพพาน ไม่สร้างปัจจัยเพื่อนิพพาน จะพูดเป็นภาษาธรรมดาหน่อยก็เพื่อให้มันดีขึ้นๆ ขอให้ทุกๆอย่างมันดีขึ้นๆ สำหรับที่จะหมดความทุกข์ นี่ก็ควรจะเข้าใจได้ แล้วควรจะพอใจ จะทำอะไรก็ตามใจเถอะ ขอให้มันเป็นการดีขึ้นๆๆเพื่อจะหมดความทุกข์ เพื่อจะสิ้นสุดแห่งความทุกข์ ไม่ว่าจะทำอะไร ขอให้มันเป็นอย่างนี้เถอะ จะเป็นการเล่าเรียน การปฏิบัติ การทำความดี ทำกุศล ทำอะไรให้มันเป็นเพื่อดีขึ้นๆๆ สำหรับจะสิ้น สิ้นสุดแห่งความทุกข์คือนิพพาน อย่างนี้เรียกว่าไม่หลงทาง เดี๋ยวไปบูชากามารมณ์ เดี๋ยวมันออกมา เดี๋ยวบูชากามารมณ์อย่างนี้ เดี๋ยวรูปภพ เดี๋ยวอรูปภพ เดี๋ยวกามภพ นี่เรียกว่ามันหลงทาง
สุขหรือทุกข์เป็นได้ทั้งเคหสิตและเนกขัมมสิต ปนกันไม่ได้ แม้เป็นเนกขัมมสิตก็ยึดถือไม่ได้ ต้องเลื่อนขึ้นไปสู่โลกุตตระอีกทีหนึ่ง เดี๋ยวนี้เรายังไม่ถึงโลกุตตระ แต่เราต้องรู้ว่ามันอยู่กันอย่างไร มันอยู่กันอย่างไร มีชั้นมีลำดับกันอย่างไร เราจะเป็นผู้ที่ไม่หลงทาง มีแผนที่ มีแผนที่แนวทางที่ถูกต้อง ไม่หลงทาง มันมีแต่จะดีขึ้นๆน่ะ หรือจะสูงขึ้นๆสำหรับจะดับทุกข์สิ้นเชิง ขอให้เตรียมตัวเพื่อความเป็นอย่างนี้ อีกไม่กี่สัปดาห์คุณก็จะลาสิกขากันไปแล้ว ขอให้เตรียมตัวๆเพื่อให้มันมีความรู้ที่ถูกต้อง ไม่หลงทาง
เอ้า, ถ้าไม่มี ไม่มีใครถามปัญหา ผมขอโอกาสปิด เฉพาะวันนี้นะ เพราะผมมีเรื่องที่จะต้องทำ ทำโน้ตสำหรับพูดพรุ่งนี้ พรุ่งนี้เขาจะประชุมกันหลายวัน เรื่องวางหลักสูตรศีลธรรม ผมก็ต้องพูดกับเขา ยังไม่ได้ ยังไม่ได้เตรียมโน้ตสำหรับจะพูดเลย คิดว่าจะทำคืนนี้ เอ้า, ขอปิดประชุม.