แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ให้นบ ให้นึกทบทวนมาตั้งแต่การพูดกันครั้งแรกๆ อย่าลืมเสียว่าตั้งแต่ครั้งแรกๆเราได้พูดกันมาตามลำดับอย่างไร ในครั้งแรกที่สุดมันก็...(เสียงขาดหายไป นาทีที่ 01:10-01:11) กันว่าทุกอย่างต้องศึกษาจากภายใน ขอให้เฝ้าดูจากภายใน มีการเคลื่อนไหวทางจิตใจอย่างไร ให้สังเกตให้ได้เต็มที่ เพื่อจะรู้เรื่องจิตและความรู้สึกคิดนึกของจิต เพราะว่าทุกสิ่งมันขึ้นอยู่กับสิ่งๆเดียวคือจิต นั่นแหละที่พูดกันครั้งที่สอง ครั้งที่สามพูดเรื่องพฤติต่างๆของจิต จะเกิดทุกข์อย่างไร จะดับทุกข์อย่างไร คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท แล้วก็ชี้ให้เห็นชัดยิ่งขึ้น ให้เห็นความสำคัญของเรื่องปฏิจจสมุปบาท คือมันเป็นตัวพุทธศาสนา เป็นจุดตั้งต้นจนกระทั่งจุดสุดท้าย
พระพุทธองค์มีคำตรัสว่า เห็นปฏิจจสมุปบาทคือเห็นธรรมะ เห็นธรรมะคือเห็นตถาคต เห็นธรรมะ ไอ้ธรรมะนั้นคืออะไร ธรรมะคือทุกสิ่ง เอามาจัดเป็นพวกๆได้ ๔ พวก ธรรมะคือเรื่องของธรรมชาติ ธรรมะคือเรื่องกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือเรื่องหน้าที่ที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ และธรรมะคือผลที่เกิดมาจากหน้าที่ ทีนี้เรารู้เรื่องธรรมชาติซึ่งเป็นที่ตั้งของปฏิจจสมุปบาท อาการที่ธรรมชาติปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงกันไปจนเกิดความทุกข์ หรือดับทุกข์ลงไปได้นี่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท แล้วมันก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์อันหนึ่งของธรรมชาติ มันจึงมีอาการของปฏิจจสมุปบาท มันไม่เป็นอย่างอื่น เราจึงมีหน้าที่ที่จะควบคุมการเกิดแห่งปฏิจจสมุปบาท อย่าให้เกิดขึ้นในลักษณะที่เป็นทุกข์ ให้เป็นไปในลักษณะที่ตรงกันข้าม นั่นคือไม่ต้องเกิดทุกข์ ให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากชีวิตนี้ จากชีวิตจิตใจนี้ ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่เย็นได้ เย็นคือนิพพาน
(เสียงขาดหายไป นาทีที่ 04:23-04:40 หลังจากนั้นย้อนไปเล่นซ้ำตั้งแต่นาทีที่ 02:55) คือเรื่องของธรรมชาติ ธรรมะคือเรื่องกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือเรื่องหน้าที่ที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ และธรรมะคือผลที่เกิดมาจากหน้าที่ ทีนี้เรารู้เรื่องธรรมชาติซึ่งเป็นที่ตั้งของปฏิจจสมุปบาท อาการที่ธรรมชาติปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงกันไปจนเกิดความทุกข์ หรือดับทุกข์ลงไปได้นี่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท แล้วมันก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์อันหนึ่งของธรรมชาติ มันจึงมีอาการของปฏิจจสมุปบาท มันไม่เป็นอย่างอื่น เราจึงมีหน้าที่ที่จะควบคุมการเกิดแห่งปฏิจจสมุปบาท อย่าให้เกิดขึ้นในลักษณะที่เป็นทุกข์ ให้เป็นไปในลักษณะที่ตรงกันข้าม นั่นคือไม่ต้องเกิดทุกข์ ให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากชีวิตนี้ จากชีวิตจิตใจนี้ ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่เย็นได้ เย็นคือนิพพาน
ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่เย็นได้ เย็นมาก เย็นน้อย เย็นชั่วคราว เย็นตลอดกาลอะไรก็ตามเถอะ แต่ว่ามันมีส่วนที่เย็นได้ คนโง่เท่านั้นแหละที่มันพูดว่าเย็นไม่ได้ ไอ้คนโง่เท่านั้นที่มันพูดว่าชีวิตนี้ไม่อาจจะว่างจากกิเลสได้ ที่จริงไอ้ชีวิตนี้มันก็ว่างจากกิเลสได้ มันก็ไม่ร้อน มันก็เย็น ฉะนั้นเราก็รู้วิธีที่ว่ามันจะไม่ร้อน หรือมันจะเย็นได้อย่างไร ก็คือศึกษาอย่างที่กล่าวมาแล้ว ดูข้างในให้รู้เรื่องของจิต ให้รู้ทุกๆอย่างที่เกี่ยวกับจิต จนสามารถควบคุมจิตได้
ไอ้เรื่องของจิตนั้นมันอยู่ตามลำพังไม่ได้ มันต้องอยู่กับร่างกาย แล้วมัน มันต้องอยู่กับสิ่งที่มันติดต่อกันได้ หรือทำให้จิตติดต่อกันได้กับสิ่งภายนอก มันมีทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ภายนอก สำหรับติดต่อภายนอก แล้วก็มีหนึ่งใจ ให้ติดต่อกับสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นในภายใน เหล่านี้เป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เรามีหน้าที่ที่จะควบคุมมันให้ถูกต้อง เพราะว่าชีวิตนี้จะเป็นของเย็น
คำว่าเย็นนั้นคือคำว่านิพพาน นิพพานภาษาชาวบ้านเขาหมายถึงไฟดับ ไม่ต้องพูดว่าไฟ พูดแต่ว่านิพพานเท่านั้นก็หมายถึงไฟดับ ไม่ต้องมีคำว่าไฟเข้ามาอีกคำหนึ่งหรอก พบในบาลีเยอะแยะไปหมด เช่นคำว่า นิพพาเปยยนี่ ไม่ต้องมีคำว่าอัคคิงอัคหรืออะไรที่ไหน นิพพาเปยยเท่านั้นน่ะมันก็แปลว่า ยังไฟให้ดับ แต่ว่าคำนี้ที่มันต้องมีคำว่าไฟหรืออะไรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็มีเหมือนกัน แต่ที่มันใช้อยู่ในภาษาชาวบ้านชาวเมืองมันไม่ต้องใช้คำว่าอัคคิงเข้ามาเป็นคำประกอบหรอก มันก็ว่าไฟดับ จงยังไฟให้ดับ คือดับไฟนั่นเอง ข้างนอกมันก็ไฟในเตา มันก็ร้อนไปแบบวัตถุ ข้างในมันไฟของกิเลส มันก็ร้อนไปตามแบบของกิเลส ไฟกิเลสดับเสียให้ ให้ๆหมดแล้วมันก็กลายเป็นของเย็น ไอ้ชีวิตนี้มันก็เย็น จิตใจนี้มันก็เย็น อัตภาพนั้น คือความเป็นอย่างนั้นในขณะนั้น นั่นก็เรียกว่าอัตภาพหนึ่งๆแล้วมันก็เย็น ฉะนั้นขอให้พยายามให้ดีที่สุดน่ะ พยายามเต็มที่ที่จะให้เข้าใจเรื่องที่พูดมาแล้วสามสี่ครั้ง ฉะนั้นก็จะพูดต่อไปก็เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้แหละ แต่ให้มันกว้างออกไป ตามที่มันเกี่ยวข้องกัน
อย่าคิดว่าไม่จำเป็นสำหรับผู้ที่จะสึกหาลาเพศออกไปครองเรือน ไปเป็นฆราวาสแล้วจะไม่ต้องการอะไรกับธรรมะชนิดนี้ นั่นน่ะมันคือโง่ที่สุด มันจะมีชีวิตร้อน ฉะนั้นฆราวาสที่รู้ธรรมะพอสมควร เพียงพอแล้ว มันจะมีชีวิตเย็น เพราะว่าชีวิตฆราวาสนั่นมีสิ่งที่ทำให้ร้อนมากกว่าชีวิตพระนะ อยู่เป็นพระน่ะมันๆมีสิ่งทำให้ร้อนน้อยกว่า พอออกไปเป็นฆราวาสแล้วมันๆมีสิ่งที่ทำให้ร้อนมากที่สุดน่ะ มันเข้าไปอยู่ในท่ามกลางสิ่งที่จะทำให้ร้อนนะ จึงต้องมีความรู้พอที่จะไปควบคุมมัน อย่าให้มันเกิดร้อนขึ้นมา ไม่ใช่ว่ามันสูงเกินไปจนไม่มีประโยชน์อะไรแก่ฆราวาส มันพูดได้เป็นกลางๆว่าที่ไหนมีความร้อนมีความทุกข์ ก็ที่นั่นแหละธรรมะจำเป็น จำเป็น ธรรมะจำเป็น จำเป็นที่จะต้องมีธรรมะที่นั่น ที่ไหนมีความทุกข์ ที่นั่นจำเป็นที่จะต้องมีธรรมะ เพราะธรรมะเขามีไว้สำหรับอย่างนั้น ถ้ามันไม่มีความทุกข์ ไม่มีความร้อน ไม่มีปัญหาอะไรก็ถูกแล้ว ไม่ต้องสนใจกับธรรมะ ไม่ต้องมาเสียเวลาศึกษาธรรมะให้ป่วยการ ถ้าว่ามันมีความทุกข์ ความร้อน ซึ่งเป็นปัญหาแล้วก็ไม่มีทางอื่นน่ะที่จะดับมันได้ นอกจากสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ คือหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องรู้และปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มันก็ไม่ร้อน ถ้ามนุษย์คนหนึ่งๆไม่ร้อน ทั้งโลกมันก็เย็นแหละ
ขอให้ถือว่าไอ้ธรรมะนี้มันไม่ใช่เพื่อบุคคล ปัจเจกชนโดยส่วนเดียว มันเพื่อโลกด้วยก็ได้ เพราะว่าถ้าทุกคนมันเย็น ไอ้โลกมันก็เย็นแหละ แล้วไอ้คนเย็นๆชนิดนี้มันไม่ทำปัญหาให้เกิดขึ้นแก่เพื่อนบ้านเรือนเคียง หรือแก่สังคม เพราะฉะนั้นอาชญากรมันก็ไม่มี ถ้าคนมันมีธรรมะกันทั้งบ้านทั้งเมือง อาชญากรมันก็มีไม่ได้ ถ้าคนโง่ที่ควบคุมกิเลสไม่ได้น่ะมันเป็นอาชญากร อาชญากรในโลกในประเทศชั้นไหนระดับไหน แม้แต่ระดับเล็กๆเด็กๆ ในประเทศฝรั่งน่ะเขาๆๆก็เขียนข่าวลงมาบอกให้รู้ว่า อาชญากรอายุ ๘ ปี ๑๑ ปีมากที่สุดในประเทศอังกฤษ อาชญากรอายุ ๘ ปี ๑๑ ปี นี่ขอให้คิดดูเถอะว่า ถ้ามันควบคุมกิเลสไม่ได้แล้วมันก็ทำตามกิเลส ยิ่งให้มันเรียนฉลาดๆ มันก็เป็นอาชญากรได้ตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ ฉะนั้นถ้าเรามีธรรมะ พ่อแม่มีธรรมะมันก็สอนให้ลูกมันควบคุมจิตใจได้ หรือว่ามันเป็นตัวอย่าง ดูอย่างกันแล้วก็ประพฤติถูกต้อง ก็ไม่ต้องมีปัญหาอย่างนั้นได้
นี่ขอให้ถือว่าธรรมะนั้นจำเป็น แม้แก่ฆราวาส ในเรื่องดับทุกข์ในระดับลึกซึ้งก็ต้องใช้แก่ฆราวาส คนแต่ก่อนเขาห้ามสอนเรื่องอย่างนี้แก่ฆราวาส ไม่ๆรู้ว่าเหตุผลอะไร ผมเองก็เคยถูกห้าม ถูกมะ พระมหาเถระบางองค์ห้าม ว่าอย่าสอนเรื่องอนัตตา เรื่องปฏิจจสมุปบาทแก่ชาวบ้าน ไอ้เรามันไม่เชื่อ เรามันเป็นคนหัวดื้อ เราก็สอนเรื่อยๆมา เพราะมองเห็นอย่างนี้แหละ มองเห็นอย่างที่กำลังพูดนี่ว่า ไอ้ชาวบ้านนี่มันเป็นตัวการ ตัวปัญหาที่จะต้องมีธรรมะชั้นสูงสุด ความทุกข์มันเหมือนกัน กิเลสมันเหมือนกัน ความทุกข์ของชาวบ้านกับความทุกข์ของพระที่อยู่ที่วัดน่ะเหมือนกันนะ เกิดมาจากความโง่ ความหลง ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนของตนนะ เหมือนกันเลยนะ ทีนี้กิเลสก็เหมือนกันแหละ กิเลสของพระก็คือความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลสของชาวบ้านก็คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัวเดียวกัน แค่ดูกันไม่ค่อยออกเลยว่าต่างกัน ฉะนั้นถ้าว่ามันใช้ดับทุกข์ของพระได้ มันก็ใช้ดับทุกข์ของชาวบ้านได้ ฉะนั้นขอให้ตั้งใจศึกษา แม้เป็นเรื่องของพระระหว่างบวชพระ ให้ดีที่สุดเถิด ออกไปเป็นฆราวาสมันก็ยังใช้ได้อยู่นั่นเอง เช่นเดียวกับยาปวดหัว เมื่อเป็นพระกินแก้ปวดหัว เมื่อสึกออกไปมันก็ยังกินแก้ปวดหัว นี่ธรรมะมันก็จะมีลักษณะอย่างนั้น ฉะนั้นขอให้เราตั้งหน้าตั้งตาศึกษาให้ดีที่สุดเกี่ยวกับธรรมะ สำหรับจะดับทุกข์ทุกขั้นทุกตอน นี่เป็นการเตือนกันไว้ อย่าให้ลืม เป็นการเตือนกันไว้อย่าให้หลงทางในการศึกษา เราจะต้องศึกษามาถูกทาง ถูกแนวทาง อย่างถูกต้องตามลำดับเรื่อยๆมา เรื่อยๆมา
สองคราวก่อนก็พูดเรื่องปฏิจจสมุปบาท โดยสูตร โดยหัวข้อ โดยหลักนั่นเพียงพอแล้ว ทีนี้ก็ดูกว้างออกไป โดยเรื่องที่มันเกี่ยวเนื่องกัน ทีนี้ก็อยากจะบอกเรื่องสิ่งที่ควรรู้จักน่ะ สิ่งที่ควรรู้จักในฐานะเป็นตัวธรรมชาติด้วย ในฐานะเป็นตัวที่กำลังเป็นไปตามกฎของธรรมชาติด้วย เป็นปรากฏการณ์อยู่ในโลก เราจะเรียกว่า อายตนิกธรรม ชื่อมันกุกกักๆ ฟังยากเรียกยากหน่อย อายตนิกธรรม อายตนะ แล้วก็ใส่อีกะเข้าไป เป็นอายตนิก แล้วก็ธรรม ธรรมคือธรรมชาติ อายตนะคืออะไร อายตนะคือสิ่งที่สำหรับติดต่อ สิ่งที่มีไว้สำหรับติดต่อ คืออายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่าอายตนะ มันเป็นสิ่งสำหรับติดต่อกับภายนอก ทีนี้สิ่งที่อาจจะติดต่อ หรือจะถูกติดต่ออยู่ข้างนอก คืออายตนะภายนอก เราก็เรียกว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี่ผู้ที่บวชทุกคนอย่าเห็นว่ามันเป็นคำพูดคื้อคระล้าสมัยบ้าๆบอๆซ้ำๆซากๆไม่รู้จบไม่รู้สิ้น คุณจะต้องรู้ไอ้ๆสิ่งเหล่านี้แหละที่เรียกว่าอายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็อายตนะภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อย่าได้ฟังแต่ชื่อ อย่าฟังแต่ชื่อแล้วก็รำคาญนะ ต้องไปรู้จักมันให้ดีทีเดียว ไอ้รูปคืออะไร เสียงคืออะไร กลิ่นคืออะไร รสคืออะไร โผฏฐัพพะน่ะมันเรียกตามบาลีเพราะมันแปลไม่ได้ สิ่งที่มากระทบกายน่ะเรียกว่า โผฏฐัพพะ ถ้าธรรมารมณ์คือสิ่งที่จะกระทบจิต รูปกระทบตา เสียงกระทบหู กลิ่นกระทบจมูก รสกระทบลิ้น โผฏฐัพพะเข้ามากระทบผิวหนังผิวกาย แล้วก็ธรรมารมณ์กระทบจิต นี่เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่กับเนื้อกับตัวแท้ๆ แล้วเรายังไม่รู้ ยังไม่รู้จัก เราต้องรู้จักนะ เราต้องรู้จักอย่างยิ่งเลย จะต้องรู้จักตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรานี่ให้เป็นอย่างยิ่ง แล้วก็ให้รู้ไอ้สิ่งที่จะมาเกี่ยวข้องกับมัน คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ให้เป็นอย่างยิ่งอีกเหมือนกัน
นี่หมวดที่ ๑. อายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ไอ้หมวดที่ ๒. คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
แล้วหมวดที่ ๓. คือวิญญาณที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูก วิญญาณทางลิ้น วิญญาณทางผิวหนัง วิญญาณทางใจ มันก็มี ๖ อีกเหมือนกัน หมวดที่ ๓. คือวิญญาณ ๖ ๖ ทาง
ทีนี้หมวดที่ ๔. ก็คือผัสสะ มีอายตนะภายใน อายตนะภายนอก มีวิญญาณเกิดขึ้นแล้วกระทบกัน สามอย่างนี้กระทบกันเรียกว่าผัสสะ ดังนั้นเรามีผัสสะทางตา ผัสสะทางหู ผัสสะทางจมูก ผัสสะทางลิ้น ผัสสะทางกาย ผัสสะทางใจ อีก ๖ เหมือนกัน ผัสสะก็ ๖ อีกเหมือนกัน
ทีนี้หมวดที่ ๕. ก็หมวดสุดท้ายแล้ว ก็เรียกว่าเวทนา ความรู้สึกที่เกิดจากผัสสะเรียกว่าเวทนา เวทนาก็พลอยมีอีก ๖ ไปตามไอ้จำนวนของอายตนะภายใน เวทนาเกิดจากสัมผัสทางตา เวทนาเกิดจากสัมผัสทางหู เวทนาเกิดจากสัมผัสทางจมูก เวทนาเกิดจากสัมผัสทางลิ้น เวทนาเกิดจากสัมผัสทางผิวหนัง เวทนาเกิดจากสัมผัสทางใจ ก็ ๖ อีกเหมือนกัน
มันเลยได้เป็น ๕ หมู่ หมู่ละ ๖ ได้เป็น ๓๐ อย่าง ๓๐ อย่างนี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะต้องรู้จักให้เป็นอย่างดี จะรู้จักธรรมะ รู้จักวิธีปฏิบัติธรรมะ หรือเกี่ยวกับธรรมะทุกๆอย่างน่ะ ก็ต้องรู้จักไอ้ ๓๐ อย่างนี้แหละ อายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ วิญญาณ ๖ ผัสสะ ๖ เวทนา ๖ นี่เดี๋ยวนี้มันมีอยู่แต่ตัวหนังสือ แล้วมันมีอยู่ในหนังสือนวโกวาท ไม่มาอยู่ในจิตใจของคุณ มันเป็นแต่ตัวหนังสืออยู่ในหนังสือนวโกวาทนั่นมันใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ มันต้องมาอยู่ในความรู้สึกแจ่มแจ้งแก่เราทั้ง ๕ หมวดน่ะ ที่จริงมันมีมากกว่า ๕ หมวด แต่ถ้าเอากันที่สำคัญๆ สร้างปัญหาแล้วก็เอา ๕ หมวดนี้ก็พอ มันยังมีสัญญา ๖ สัญญเจตนา ๖ วิตกวิจารณ์ ๖ วิจารณ์ ๖ ตัณหา ๖ อะไรต่อ ๖ อีกหลาย อย่าๆๆเพ่อพูดถึงดีกว่า พูดถึงแต่สิ่งที่จะต้องรู้จักและควบคุมมันให้ได้กันตรงนี้แหละ
ฉะนั้นวันหนึ่งคืนหนึ่ง ที่ขอร้องว่าให้ดูในภายในน่ะ ศึกษาอยู่แต่ในภายใน เที่ยวอยู่แต่ในภายในนี่ เดี๋ยวนี้จะขยายออกไปเป็น ๖ กลุ่ม กลุ่มละ ๖ รวมเป็น ๓๐ ทั้ง ๓๐ นี้เราเรียกชื่อมันว่า อายตนิกธรรม อายตนิกธรรม พูดให้ติดปากให้คล่องปากเท่านั้น ผมใช้ให้พระฝรั่งท่องให้คล่องปาก อายตนิกธรรมๆๆ มันก็ว่าได้คล่องปาก อายตนิกธรรม
อายตนะแปลว่าเครื่องติดต่อ หรือการติดต่อ หรือสิ่งที่ถูกติดต่อ นี่เรียกว่าอายตนะ อิกะแปลว่าเกี่ยวกัน เกี่ยวกับ อายตนิกก็แปลว่าเกี่ยวกับอายตนะ อายตนะเครื่องติดต่อ การติดต่อ สิ่งที่ถูกติดต่อ นี้เรียกว่าอายตนะ นี่สิ่งที่เกี่ยวกันอยู่กับอายตนะนี่เรียกว่าอายตนิกธรรม มีเป็น ๕ ๕ หมวด หมวดละ ๖ ไอ้เรื่องต่างๆมันตั้งอยู่บนไอ้พวกนี้ บนพวกเหล่านี้ ฉะนั้นเมื่อใดเกิดอายตนะภายใน หมายความว่าอายตนะภายในมันเกิดทำหน้าที่ เกิดทำหน้าที่ของมัน เมื่อนั้นเรียกว่าเกิดอายตนะภายใน การทำหน้าที่ของอายตนะภายในต้องมีอายตนะภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ฉะนั้นเราก็มีโอกาสที่จะรู้จักอายตนะภายนอก มันมาเกี่ยวข้องกันแล้วมันเกิดจักษุวิญญาณ โสตวิญญาณเป็นต้น เกิดวิญญาณ เราก็จะรู้จักวิญญาณนั้นด้วย ให้เกิดการที่มันทำงานด้วยกันเรียกว่าผัสสะนั้นด้วย แล้วเกิดไอ้สิ่งสุดท้ายคือเวทนา ความรู้สึกถูกใจไม่ถูกใจ ยินดียินร้าย สุขหรือทุกข์นี่ นี่เรียกว่าเวทนา สิ่งที่จิตรู้สึก เรียกแต่หัวๆ หัวหน้า หรือไอ้ เรียกๆๆแต่คำที่เป็นชื่อหัวหน้าก็ว่าอายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะ เวทนา ๕ หมู่ หมู่ละ ๖ เป็น ๓๐ ขอให้คอยจับตัวมันให้ได้ อย่าให้มันเกิดขึ้นแล้วเลิกกัน เกิดขึ้นเฉยๆแล้วเงียบไป (เสียงไมค์หอนแทรก นาทีที่ 26:01-26:05) ซึ่งตามธรรมดามันก็เป็นอย่างนั้นแหละ ไม่มีใครมานั่งศึกษามัน เพราะว่าเขาไม่ใช่นักศึกษา เขาไม่ได้ตั้งใจจะเป็นนักศึกษา เดี๋ยวนี้เราเป็นพระ เราตั้งใจจะศึกษา เราเป็นนักศึกษา เราก็คอยศึกษาให้รู้จักมัน ตามที่มันจะเกิดขึ้นเมื่อไร ที่ไหน อย่างไร อย่าให้มันเกิดแล้วก็ผ่านไปไม่มีใครรู้สึก ไม่มีใครรู้จัก เหมือนที่แล้วๆมาแหละ เหมือนที่แล้วๆมา เมื่อก่อนบวชน่ะมันไม่เคยสนใจเรื่องอย่างนี้ เรียกว่าทุกคนแหละไม่ว่าบวชหรือไม่บวช จะอยู่ที่ไหน เมื่อไร คนแต่ละคนๆมันก็มีเรื่อง ๖ ๖ อย่างนี้ หรือ ๕ หมวดนี้ทั้งนั้นแหละ ขอให้ไปย้อนถอยหลังกลับไปสังเกตตรงความรู้สึกแต่ต้น ตั้งแต่ต้นเมื่อแรกเกิดมาก็ได้ ชีวิตนี่มันผ่านมาในลักษณะอย่างนี้ มันประกอบอยู่ด้วยสิ่งเหล่านี้ ดูให้ดี ถ้าเราทำกับมันไม่ถูก มันต้องเป็นทุกข์แหละ
วันนี้จะไม่พูดเรื่องอะไรมากหรอก พูดแต่เรื่องไอ้ ๖ อย่าง แล้ว ๖ หมวด รวมกันเป็น ๓๐ อย่างนี่ ช่วยตั้งใจกำหนด จดจำ ศึกษา สังเกตให้เป็นอย่างดี เอ้า, ทีนี้ไอ้ที่มันเกี่ยวกันกับสิ่งทั้งหมดนี้ที่เราจะต้องรู้นะ มันมีชื่ออยู่ในพระบาลี เรียกว่าธรรม ธรรมเฉยๆ แต่ผมอยากจะเติมเข้าไปอีกสักคำ เรียกว่าธรรมลักษณะ ธรรมลักษณะ ลักษณะแห่งธรรม มันมีลักษณะอย่างไร มันก็จะเก็บเอามาเล่าให้ฟังอีก โดยจำนวน ๖ อีกเหมือนกัน ที่จริงมันอาจจะน้อยกว่านั้นบ้างก็ได้ มากกว่านั้นบ้างก็ได้ แต่เห็นว่าที่เหมาะที่สุดนี้ควรจะมีสัก ๖ ลักษณะ เราจะต้องรู้จักไอ้สิ่งทั้ง ๓๐ แต่ละสิ่งๆนั้นโดยลักษณะ ๖ ทุกอันจะรู้จักโดยลักษณะ ๖ ไอ้ลักษณะ ๖ น่ะ อันมีอยู่ตลอดเวลา มีอยู่อย่างเต็มที่ แต่เราไม่ได้สนใจกับมัน ไม่ศึกษา ไม่สนใจกับมัน มันก็คล้ายๆกับไม่มีเรื่องอะไร
ลักษณะที่ ๑ คือ ไอ้ปรากฏการณ์ หรือว่าไอ้ธรรมชาติของมัน
ลักษณะที่ ๒ ก็คือลักษณะที่มันเกิดขึ้นอย่างไร ลักษณะที่ ๑ มันมีอยู่อย่างไร ลักษณะที่ ๒ มันเกิดขึ้นอย่างไร
ลักษณะที่ ๓ มันจะดับไปอย่างไร
ลัก อ่า, ไอ้ลักษณะที่ ๔ ก็คือไอ้ความที่มันน่ารักแหละ คือมันหลอกให้รัก ความน่ารักน่ะเป็นอย่างไร
ที่ ๕ ก็คือความเลวทรามร้ายกาจของมันที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังนั้นเป็นอย่างไร
ลักษณะที่ ๖ อันสุดท้ายก็คือ วิธีที่จะออกมาเสียจากอิทธิพลของมันได้อย่างไร
ขอให้เข้าใจ ไม่เพียงแต่จดๆไว้นะ ขอให้เข้าใจ
ข้อ ๑ ก็คือธรรมชาติของมันอย่างไร กำพืด ธรรมชาติของมันเป็นอย่างไร
ข้อที่ ๒ มันเกิดขึ้นมาอย่างไร
ข้อที่ ๓ มันจะดับไปอย่างไร
ข้อที่ ๔ มันมีเสน่ห์หลอกลวงเราอย่างไร
ข้อที่ ๕ ความอุบาทว์เลวทรามร้ายกาจของมันเป็นอย่างไร
แล้วข้อที่ ๖ สุดท้ายน่ะ วิธีที่เราจะออกไปเสียจากอิทธิพลหรืออำนาจน่ะของมันได้อย่างไร
ที่จริงนั้นไอ้ๆตัวปัญหาจริงๆมันอยู่ที่ตัวเวทนา ชุดเวทนานั่นศึกษาได้ง่าย แต่พระพุทธเจ้าน่ะท่านเป็นผู้ที่สัพพัญญู รอบรู้จึงบัญญัติให้มันหมด ไม่ๆยกเว้นอะไร จึงบัญญัติลงไปถึงอายตนะภายใน อายตนะภายนอก ผัส อ่า, วิญญาณ ผัสสะ เวทนา ด้วยกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นเรามาพูดกันถึงเรื่องที่เห็นอยู่ได้ง่ายๆนะ เข้าใจได้ง่ายไปตามลำดับก่อน แล้วจึงค่อยพูดไปถึงไอ้เรื่องที่มันลี้ลับอยู่ ฉะนั้นขอให้ทบทวนอีกว่า หมวดเวทนาน่ะ ๖ อย่างน่ะ เป็นๆหมวดๆสุดท้ายนะ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะ เวทนา เวทนาเป็นหมวดสุดท้าย เวทนาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เดี๋ยวนี้เราจะเอาไอ้ตัวเวทนานั่นน่ะมาสักอย่างหนึ่ง มาเป็นวัต วัตถุ เขาเรียกว่าวัตถุสำหรับศึกษา สำหรับพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือสุขเวทนา เราจะเอาสิ่งที่เรียกว่าสุขเวทนานั้นน่ะมาเป็นบทวิเคราะห์ ศึกษา แยกแยะ ว่าสุขเวทนานี้มันมีลักษณะ ๖ ประการนั้นอย่างไรนี่ จะศึกษาลักษณะ ๖ ประการของสิ่งที่เรียกว่าสุขเวทนา ทุกคนพอจะเข้าใจได้ ทราบได้ว่าไอ้ปัญหาในโลกนั้นมันไม่มีอะไรนอกจากปัญหาที่เกิดมาจากสุขเวทนา ที่สุขเวทนาทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา เรื่องศึกษาเล่าเรียน เรื่องทำมาหากิน เรื่องมีเงินมีของ ทรัพย์สมบัติ อำนาจวาสนาอะไร มันขึ้นอยู่กับสุขเวทนาทั้งนั้น เพราะเราต้องการสุขเวทนา เรียกว่าสุขเวทนาเป็นต้นตอแห่งปัญหาทั้งปวงก็ได้ แล้วสุขเวทนาทางอื่นๆนั้นไม่ร้ายกาจเท่ากับสุขเวทนาที่มาจากทางเพศตรงกันข้าม เวทนาที่มาจากเพศตรงกันข้ามนั่นมันจะเป็นปัญหาร้ายแรง ฉะนั้นก็เอาสุขเวทนานี้มาเป็นบทสำหรับศึกษา
ข้อที่ ๑ ว่าลัก อ่า, ลักษณะของมันเป็นอย่างไร คือว่าธรรมชาติของมันเป็นอย่างไร ปรากฏการณ์ของมันเป็นอย่างไร ข้อที่ ๑ น่ะคือตัวที่ความมีอยู่แห่งสุขเวทนา ฉะนั้นก็ขอให้นึกไปถึงบางเวลาที่เราเคยผ่านสุขเวทนามาแล้วเป็นสุขที่สุดน่ะ ไปเอามา ว่ามันเป็นอย่างไร มีอยู่อย่างไร ธรรมชาติของมันอย่างไร มันจะมีอะไรของมันอย่างไร นี่รวบ รอบรู้สิ
ทีนี้ข้อที่ ๒ มันเกิดขึ้นอย่างไร สุขเวทนา ถ้าสมมติว่าทางตา กระทบรูปที่สวยงามเกี่ยวกับเพศตรงกันข้าม เกิดผัสสะแล้วก็พอใจ แล้วก็เรียกว่าสุขเวทนาทางตา นี่แหละมันเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้ ด้วยอาการแห่งปฏิจจสมุปบาทที่เราพูดกันมาแล้วแต่วันก่อนๆนั้นน่ะ มันจึงเกิดสุขเวทนาขึ้นมา นี่รู้ลักษณะที่ ๒ ของมันว่ามันเกิดขึ้นมาอย่างไร
แล้วก็รู้จักลักษณะที่ ๓ ต่อไปว่ามันจะดับไปอย่างไรนี่ ไอ้สิ่งที่เป็นสังขารเหล่านี้มีเกิดแล้วก็มีดับทั้งนั้นแหละ เมื่อเหตุปัจจัยแห่งความรู้สึกนั้นหมดไปมันก็ดับ ความอร่อยนั้นมันอยู่ชั่วขณะที่ยังมีเหตุปัจจัย พอเหตุปัจจัยหมด แล้วมันก็ดับ นี่มันดับลงไปอย่างไรก็ขอให้ศึกษาเอาจากไอ้สุขเวทนาหรือความเอร็ดอร่อยที่เราเคยผ่านมาแล้ว ถึงขีดสุดแล้วมันดับลงไปอย่างไร นี่เรียกว่ามันดับลงไปเพราะความหมดเหตุหมดปัจจัย
ทีนี้สุขเวทนามันมีอัสสาทะ เรียกว่าอัสสาทะ เสน่ห์ของมันอย่างไร นี่ก็รู้เอาเองสิ ความอร่อยทางเวทนานั้นมันๆๆมีรสชาติอย่างไร มีเสน่ห์อย่างไร ดึงดูดคนอย่างไร ดึงดูดคนจนบูชาเป็นพระเจ้าไปแล้ว ทั้งหญิงทั้งชายทั้งเด็กหญิงทั้งเด็กชาย มันบูชาความอร่อยทางเวทนานี้เป็นพระเจ้าไปแล้ว ดูเถอะ ดูทุกคนสิ โดยเฉพาะสมัยปัจจุบันนี้ สมัยโบราณไม่ร้ายแรงอย่างนี้ เดี๋ยวนี้บูชาไอ้สุขเวทนา โดยเฉพาะทางเพศนี่รุนแรงถึงที่สุด อันนั้นเขาเรียกว่าลักษณะดึงดูดใจ บาลีเขาเรียกว่าอัสสาทะนะ อัสสาทะนะ แปลว่าเสน่ห์ของมัน รู้จักว่ามันมีเสน่ห์อย่างนี้
ทีนี้อันที่ ๕ ดูต่อไป อันที่ ๕ ความเลวร้ายของมันอย่างไร เขาเรียกว่าอาทีนวะ อาทีนพ อาทีนวะ ความเลวร้ายอันตรายของมันอย่างไร เวทนาทางกามารมณ์ทางเพศมันสร้างความเลวร้ายขึ้นมาอย่างไร เดี๋ยวนี้ตามหน้าหนังสือพิมพ์ มีผลมาจากไอ้เวทนานี้ ทำให้ฆ่าพ่อฆ่าแม่มันก็ได้ ฆ่าคู่รักมันก็ได้ ฆ่าทั้งบ้านก็ได้ นั่นน่ะความเลวร้ายของไอ้สุขเวทนานั้น ฆ่าเพื่อนของมันก็ได้ อิจฉาริษยาใครก็ได้ คดโกงก็ได้ เป็นอันธพาลไปเลยก็ได้ นั่นความเลวร้ายของมัน
ทีนี้ข้อสุดท้าย ข้อ ๖ คือวิธีที่เราจะหลุดออกมาเสียได้จากอิทธิพลของเวทนาอันเลวร้าย อย่าให้มันทำอะไรแก่เราได้ อันนี้เขาเรียกว่านิสสรณะ นิสสรณะ พระพุทธเจ้าท่านระบุอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่สวดกันทุกคืน อริยมรรคมีองค์ ๘ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ระบุก็คือสัมมาทิฏฐิ เรารู้จักมันดี เรามีสติสัมปชัญญะเพียงพอที่จะควบคุมจิต นั่นแหละวิธีที่จะออกมาเสียได้จากความเลวร้ายของไอ้สิ่งที่เรียกว่าเวทนานั้น ไม่เช่นนั้นเราก็จะติดอยู่ใต้อำนาจของไอ้กิเลสเหล่านั้น ของเวทนานั้น แล้วก็วินาศไปเลย วินาศไปเลย เอาเป็นบาลีกันก็ดีเหมือนกัน
อันที่ ๑ ก็เรียกว่าธรรมชาติของมัน ข้อที่ ๑ ธรรมชาติของมัน
ข้อที่ ๒ การเกิด สมุทัย เรียกว่าสมุทัย สมุทัยของมัน การเกิดขึ้นอย่างไร
ข้อที่ ๓ การดับลงอย่างไรนี่เขาเรียกว่า อัตถังคมะ อัตถังคมะ ข้อที่ ๓ อัตถังคมะ ในภาษาบาลีเรียกว่าอัสดง เขาแปลงมาจากคำสันสกฤต ถ้าบาลีเป็นอัตถังคมะ ฉะนั้นอัตถังคมะหรืออัสดงนี้ไม่ใช่ดับเด็ดขาด ดับเพราะเหตุปัจจัยเป็นคราวๆ เหตุปัจจัยมีมาอีกก็เกิดอีก เช่นพระอาทิตย์ตอนเช้าขึ้น ตอนเย็นดับนั้นไม่ใช่ดับเด็ดขาด พรุ่งนี้มาอีก เพราะฉะนั้นจึงไม่เรียกว่านิโรธ ไม่เรียกมันว่านิโรธ เรียกว่าอัตถังคมะ ความที่มันไม่ได้ตั้งอยู่ในเวลานั้น ความที่มันไม่ได้ตั้งอยู่ก็เรียกว่า อัตถังคมะหรืออัสดง
ทีนี้ข้อที่ ๔ เสน่ห์ของมันนั้นเรียกว่า อัสสาทะ อัสสาทะ
ข้อ ๕ ความเลวทรามของมันเรียกว่า อาทีนวะ
ข้อที่ ๖ เรียกว่านิสสรณะ อุบายเป็นเครื่องออก นิสสรณะแปลว่าอุบายเป็นเครื่องออก ออกจากอะไร ออกจากอิทธิพลของไอ้สิ่งเหล่านั้น ออกมาจากอิทธิพลของกิเลสของเวทนา
นั่นน่ะจำให้ดีเถอะ ธรรมชาติของมัน การเกิดของมัน การดับของมัน เสน่ห์ของมัน ความเลวร้ายของมัน ทางออกไปเสียจากมัน ๖ อย่างนี้เป็นสิ่งที่ต้องรู้และต้องปฏิบัติให้ถูกกับเรื่องของมัน ใน ๓๐ อย่างนั้น เราเอามาพูดกันเป็นตัวอย่างเพียงอย่างเดียว คือสุขเวทนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับเพศตรงกันข้าม เพราะพูดแล้วเห็นได้ง่ายกว่าชัดกว่า พอเข้าใจแล้วทีนี้เราจะพูดกันได้ทั้ง ๓๐ ชนิดน่ะ ๓๐ ข้อน่ะ แม้แต่ตาล้วนๆนี้ ตาล้วนๆ มันก็เรียกว่า มันก็มีลักษณะของมัน ธรรมชาติของตามีอยู่อย่างไร รู้จักมันเสียให้ดีๆ หน้าที่ของมันก็คือสำหรับจะเห็นนั่นแหละ ก็เพราะมีตาเห็นนี่มันจึงเกิดเรื่อง ไอ้ลูกตานี่ ไอ้เนื้อก้อนลูกตานี้มันก็เป็นรูปธรรม มันเต็มไปด้วยระบบประสาท ฉะนั้นมันก็เป็นรูปธรรม แต่ระบบประสาทนั้นเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณทางตาจะทำหน้าที่ พอมันทำหน้าที่ก็มีวิญญาณที่เป็นนามธรรมมาทำหน้าที่ ฉะนั้นมันจึงเห็นได้ รู้สึกได้โดยทางตา รวมกันหมดแล้วนี้เราเรียกว่าตา หรือธรรมชาติของตา
ทีนี้มันเกิดมาจากอะไรล่ะ เนื้อลูกตา ก้อนลูกตาเป็นรูปธรรมนี้มันก็เกิดจากดินน้ำลมไฟอะไรตามแบบของรูปธรรมแหละ ไอ้ระบบประสาทที่เป็นเนื้อ เป็นไอ้รูปธรรมมันก็เกิดตามแบบของรูปธรรม ทีนี้ไอ้ตา ไอ้ส่วนที่เป็นนามธรรม คือวิญญาณทางตานั้นน่ะ มันก็ต้องมีเหตุปัจจัยของมันโดยเฉพาะที่ทำให้วิญญาณมาทำหน้าที่ทางตา นั้นก็คือการปรุงแต่งเหตุปัจจัยอะไร ไปดูเฉพาะเรื่องเถอะ มันพูดรวมๆกันก็ลำบาก ไอ้สิ่งที่มันมีความหมายมาล่อประสาทตา มาทำให้เกิดๆสนใจทางตา จนมีกิเลสตัณหาที่อยากจะรู้ว่ารูปอะไร สวยอย่างไรนั่นน่ะ ไอ้ตามันก็ทำหน้าที่ตาเต็มที่ คือทำการเห็นเต็มที่ เหตุให้เกิดการเห็นทางตานั้นน่ะเรียกสมุทัย
ทีนี้อัตถังคมะของตา ก็เมื่อตาไม่ทำหน้าที่ ตาเลิกทำการเห็น ตาหยุดทำการเห็นเพราะหมดเรื่องแล้ว มันก็เป็นการดับของตานั่น ทีนี้เสน่ห์ของลูกตา พอเรารักลูกตา เพราะลูกตามันช่วยให้เราเห็นของสวยๆอย่างไร ทำไมเราจึงรักลูกตา ถนอมลูกตา รักแก้วตาลูกตานี่ เพราะว่ามัน มันช่วยสนองไอ้กิเลสตัณหาของเราได้ ทีนี้ไอ้โทษความเลวร้ายของตาก็คือไปเห็นแล้วมันเกิดเรื่อง มันเกิดเรื่องเพราะการเห็นทางตา นี่ไอ้ความเลวทรามของตา มีทั้งส่วนที่ดี มีทั้งส่วนที่ร้าย ทำอย่างไรที่จะออกมาเสียได้จากโทษเลวร้ายที่เกิดมาทางตา ก็คือการปฏิบัติถูกต้องนี่แหละ อัฏฐังคิกมรรค อยู่อย่างอัฏฐังคิกมรรค โทษทางตาก็ไม่เกิด เรียกว่าเรารู้เท่าทันเรื่องของตา มีสติสัมปชัญญะควบคุมความถูกต้องเอาไว้ไม่เกิดเหตุร้ายทางตา นี่คืออุบายออกมาเสียจากความเลวร้ายทางตา นี่อธิบายเป็นตัวอย่างนี้
ทางหูก็เหมือนกันแหละ ไปคิดเอาเองสิ ไปเทียบเอาเองว่า ทางตาเป็นอย่างไร ทางหูก็เป็นอย่างนั้น ทางจมูกก็เป็นอย่างนั้น ทางลิ้นก็เป็นอย่างนั้น ลิ้นคือรูปธรรม นามธรรมอย่างไร มีทั้งไอ้ระบบประสาท มีทั้งวิญ ที่เกิดของวิญญาณ ที่ตั้งของวิญญาณ ลิ้นเกิดขึ้นโดยรูปธรรมอย่างไร โดยนามธรรมอย่างไร ทำอะไรลิ้นจึงเกิดทำหน้าที่ของมัน เพราะมันมีอะไรโยนลงไปบนลิ้น ตกเข้าไปที่ลิ้น แล้วมันอยากจะชิม อยากจะกิน แล้วมันก็ได้เกิดขึ้นมา คือเกิดรู้รสทางลิ้นขึ้นมา ที่มันจะดับ พอหมดเรื่องมันก็ดับ ทีนี้เสน่ห์ของลิ้นน่ะก็คือความอร่อยที่ได้รับจากลิ้น โทษเลวร้ายของลิ้นก็คือทำให้ติดในความอร่อย วินาศฉิบหายไปเพราะเรื่องกินนี้ก็มีมาก นี้อุบายออกไปเสียจากความล่อลวงของลิ้น ก็รู้เท่าทันลิ้นนะ มีสัมมาทิฏฐิ มีสติสัมปชัญญะอย่างเดียวกันอีก มันจะเหมือนกันทั้ง ๓๐ ข้อ
ฉะนั้นไม่เสียเวลาหรอก ถ้าว่าเราจะเอามาศึกษาไล่เรียงดูทีละข้อๆๆ ให้แม่นยำ แล้วไม่ให้สิ่งทั้ง ๓๐ นี้มันหลอกเราได้อีกต่อไป เราจะไม่มีความทุกข์ที่เกิดมาจากสิ่งทั้ง ๓๐ นี้ เราควบคุมมันไว้ได้ เราก็ใช้มันให้เป็นประโยชน์ได้ ใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางที่ไม่มีโทษนะ เราทำสิ่งทั้ง ๖ ทั้ง ๓๐ นี้ให้ ให้เป็นประโยชน์อยู่ในโลกไม่มีโทษ เพราะเรารู้แจ้ง ธรรมลักษณะ ๖ ประการของมัน คำว่าธรรมลักษณะนี่ ผมคิดเอาเองว่าในบาลีเรียกธรรมเฉยๆ ธรรมลักษณะ ลักษณะแห่งธรรมชาติ ๖ ประการนี้ จำไว้ให้แม่นยำ เอาไปทบทวน เอาไปใช้ เอาไปสอบสวน มีเวลาว่างเมื่อไรแล้วก็ทำการสอบสวนดูเถอะ เราทำผิดทำถูกกี่มากน้อย วันหนึ่งคืนหนึ่งเราทำผิดทำถูกกับเรื่องเหล่านี้กี่มากน้อย นั่นน่ะจะให้เรารู้จักธรรมะควบคุมไอ้สิ่งเหล่านี้ได้ ไม่ให้เกิดความทุกข์ เรียกว่าผู้ไม่ประมาท ผู้ไม่ประมาท มีสติควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้เรียกว่าผู้ไม่ประมาท ผู้ประมาทก็คือผู้ตาย ผู้ไม่ประมาทก็คือผู้ไม่ตาย คำว่าตายนั้นคือฉิบหายวินาศทางวิญญาณทางจิตใจ ไม่ตายก็คืออยู่ได้อย่างผาสุก
ทีนี้ความหมายของมันมีขอบเขตละเอียด ละเอียดอ่อน เขาว่าอย่างนั้น ไม่ต้องพูดถึง ๓๐ อย่างนี้ แม้แต่เพียง ๖ อย่างแรก มันก็พูดได้แล้วว่า โลก โลก โลกทั้งหมดอยู่ที่นั่น เดี๋ยวนี้ก็จะพูดว่าโลกทั้งหมดอยู่ที่ ๓๐ อย่างนี้ โลกทั้งหมดน่ะไม่ว่าโลกไหน มันอยู่ที่ ๓๐ อย่างนี้ เราไปสังเกตดูเถอะ ไอ้โลกมันเข้ามาปรากฏแก่จิตในลักษณะ ๓๐ อย่างนี้ รู้จัก ๓๐ อย่างนี้ก็คือรู้จักทั้งโลก หรือถ้าจะย่นให้น้อยเข้ามา ให้เหลือสัก ๖ อย่างก็ได้ คือเพียงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะว่าไอ้นอกนั้นมันๆเนื่องขยายออกไปจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดังนั้นจึงได้เรียกว่า อายตนิกธรรม ธรรมที่เนื่องอยู่กับอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่าอายตนะ อะไรๆที่เนื่องอยู่กับอายตนะเราเรียกว่าอายตนิกธรรม ขยายออกเป็น ๓๐ อย่าง มันก็เท่ากันน่ะ พอรู้ต้นตอของมัน ก็มันก็รู้ไอ้สิ่งที่มันงอกๆเงยออกไป
รู้อายตนะแล้วก็จะรู้จักสิ่งที่เนื่องกันอยู่กับอายตนะ ฉะนั้นเรารู้จักตา เราก็รู้จักรูป รู้จักรูปก็รู้จักวิญญาณ ก็รู้จักผัสสะ ก็รู้จักเวทนา เลยรู้จักหมดทั้ง ๓๐ อย่าง นี่คือโลก ทั้งข้างนอกทั้งข้างใน ทั้งโลกวัตถุและโลกจิตใจ มันอยู่กันที่กลุ่มนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าจะทรงแสดงเหตุให้เกิดทุกข์ หรือเหตุให้ดับทุกข์ หรือวิธีลึกซึ้งอะไรต่างๆ ท่านจะแสดงด้วยไอ้ธรรมะ ๓๐ ประการนี้ ซึ่งเอามาตั้งชื่อเรียกให้จำง่ายๆว่า อายตนิกธรรม ๕ หมวด หมวดละ ๖ เป็น ๓๐ อย่าง นี่เรียนๆหมดโลก เรียนจบโลก เรียนหมดทั้งโลกก็คือ คือรู้หมดทั้ง ๓๐ อย่าง ไม่เหลือไว้ให้มันหลอกได้
การที่จะควบคุมสายปฏิจจสมุปบาท หรือกระแสของปฏิจจสมุปบาทได้ง่าย ก็เพราะว่าเรารู้เรื่องเหล่านี้ดี นี่ช่วยจำไว้หน่อย การจะควบคุมกระแสปฏิจจสมุปบาทไม่ได้น่ะมันคือความวินาศ คือความทุกข์ ทีนี้จะควบคุมกระแสปฏิจจสมุปบาทไว้ได้โดยง่ายก็เพราะว่ารู้เรื่องไอ้สิ่งเหล่านี้ดี ๕ หมวด หมวดละ ๖ เป็น ๓๐ อย่างนี้ดี ดีอย่างทั่วถึง ไม่ๆๆมีอะไรที่เราไม่รู้ที่เกี่ยวกับไอ้ ๖๐ อย่างนี้ รู้อย่างคล่องแคล่ว รู้อย่างฉับไว รู้อย่างทั่วถึง พอมันเกิดอะไรขึ้นที่ตาที่หูเป็นต้น มันก็ควบคุมได้ ดำเนินไปถูก ไม่มีผิด ไม่มีทางให้ผิดจนเกิดความทุกข์
เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้พูดมาแล้วจน จนไม่อยากจะพูดอีกแล้ว ถ้าลืมเสียก็เลิกกันแหละ ถ้าไม่ลืมเสียก็มาชนกับเรื่องเหล่านี้เถอะ ตาเห็นรูปเกิดจักษุวิญญาณ สามประการทำงานด้วยกันเรียกว่าผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยก็มีเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยก็มีตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยก็มีอุปาทาน อุปาทานมันอุบัติมีภพ ภพก็มีชาติ ชาติก็มีความทุกข์ทั้งปวง ในกระแสปฏิจจสมุปบาทนั่นน่ะมันสำคัญที่ผัสสะ ถ้าตรงนั้นมีเวทนาเข้ามาเป็น อ่า, มีอวิชชา ความไม่รู้เข้ามายึดครองผัสสะแล้วมันก็เป็นได้การล่ะ มันผิดหมดตลอดสายแล้วมันเป็นทุกข์ ทีนี้เรามีวิชชา ความรู้แจ้งเข้ามาควบคุมผัสสะ ผัสสะก็เต็มไปด้วยความรู้แจ้ง มันก็เกิดต่อๆกันไปในลักษณะที่ไม่เกิดทุกข์แหละ ฉะนั้นให้คล่องแคล่วต่อสิ่งที่เรียกว่าอายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะ
นี่เป็นเค้าเงื่อนที่ขอร้องให้ศึกษาชนิดที่สำเร็จประโยชน์ ศึกษาอย่างในโรงเรียนนักธรรมนั้นมันไม่สำเร็จประโยชน์ แม้แต่จะเข้าใจมันก็ยังไม่เข้าใจนะ เราจะศึกษาอย่างนั้นไม่ได้หรอก เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจยิ่งกว่าเข้าใจ คือรู้จักอย่างแจ่มแจ้งต่อสิ่งเหล่านี้ ศึกษาในโรงเรียนนักธรรมมันก็ศึกษากันแต่ทางตัวหนังสือ คาบเกี่ยวอย่างไร จำอย่างไร แล้วมันก็เลิกกัน มันก็เป็น ไม่มีอะไรเหลือ มันก็ไม่มีอะไรจะดับทุกข์ได้ แต่ว่าเราก็ศึกษาอย่างในโรงเรียนนักธรรมนั่นน่ะ คือการพูดกันให้เข้าใจ แต่อย่าให้หยุดเสียเพียงเท่านั้น ให้มันมาเป็นเรื่องที่เข้าใจแล้วก็แจ่มแจ้ง แล้วก็ควบคุมได้ ควบคุมได้นี่สำคัญ ต้องควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้ ต้องจัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้ ให้เป็นไปแต่ในความถูกต้อง แล้วก็ไม่เกิดความทุกข์
นี้เรียกว่ารู้จักโลกทั้งหมดด้วยการรู้จักไอ้ ๓๐ สิ่งนี้ แล้วก็จะเรียกว่ารู้จักตัวเอง ตัวเองน่ะ ทั้งหมดอีกเหมือนกันด้วยการรู้จักไอ้สิ่ง ๓๐ สิ่งนี้ นี่เราจะรู้จักตัวเองที่เป็นภายในก็ได้ รู้จักโลกที่เป็นภายนอกทั้งหมดก็ได้ มันต้องเข้ามาสู่ภายใน จะรู้จักไอ้สิ่งภายนอกก็ต่อเมื่อสิ่งภายนอกเข้ามาสู่ภายใน นั่นน่ะมันจึงเป็นการรู้กันที่ข้างในภายใน เช่นเราจะรู้จักรูป รูป รูป อยู่ข้างนอก มันต้องเข้ามาที่ตา แล้วเข้าไปที่ใจ นั้นเราจึงจะรู้จักรูป แม้ว่ารูปมันเป็นสิ่งภายนอกหรือข้างนอก แต่ถ้ามันๆไม่มาสัมผัสกับตาแล้วเข้าไปข้างในแล้ว เราก็ไม่ๆรู้จักมันได้ถึงที่สุดหรอก
ฉะนั้นการเรียนรู้มันจึงเป็นเรื่องเรียนรู้ในภายในทั้งนั้น ตั้งอยู่ภายนอก คือไม่มาสัมผัสกับจิตใจแล้วมันก็ไม่รู้อะไร มันก็รู้ไว้ให้ทั่วถึงว่ามันอยู่ข้างนอก เสียง รูป กลิ่นนี่มันอยู่ข้างนอก แต่แล้วมันเข้ามาที่ตา หู จมูกของเราที่มีประ ประสาท มีระบบประสาท แล้ววิญญาณมาทำหน้าที่ มันก็กลายเป็นเรื่องภายในไปแล้ว รูปภายนอกก็ยังไม่มีฤทธิ์เดชอะไร พอรูปภายใน เกิดรูปภายในแล้วมันก็มีปัญหา แต่เราควรจะรู้จักทั้ง ๒ รูปนั่นแหละ ถ้าแจกรูปอย่างแบบคัมภีร์แล้วเขาก็แจกไว้หมด รูปข้างใน รูปข้างนอก รูปใกล้ รูปไกล รูปหยาบ รูปละเอียด ทุกๆอย่างเลย แต่ว่ามันจะมารู้ได้ก็เมื่อมันเข้ามาสู่ภายใน ทาง สู่ทางจิตน่ะ ที่จิตจะสัมผัสมัน แล้วก็มันปรุงแต่งความคิดความนึก ความรู้สึก ผิดหรือถูก ถ้าผิดก็เกิดกิเลสตัณหาแล้วก็เป็นทุกข์ ถ้าถูกมันก็ได้ประโยชน์ ใช้ประโยชน์ได้ตามที่เราต้องการ เราอยู่ในโลกนี้ เราไม่มีทางจะหลีกพ้นไอ้สิ่งเหล่านี้ แต่ว่าเรารู้จักจัดการกับสิ่งเหล่านี้ อย่าให้มันเป็นทุกข์ ให้ได้รับประโยชน์ตามที่มนุษย์ควรจะได้รับ ก็คือรู้จักเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์สุขตามที่ควรจะเป็น แล้วก็ไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้น
นี่คือเรื่องที่ผมจะพูด หรือตั้งใจจะพูดในวันนี้ ว่าขอให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า อายตนิกธรรม คือสิ่งที่เนื่องอยู่กับอายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมันเนื่องๆๆไปเป็น ๕ กลุ่ม เป็น ๓๐ สิ่ง แต่ละสิ่งมีลักษณะที่เราจะต้องสังเกต จับฉวยเอาให้ได้นี่ คือมันปรากฏอยู่อย่างไร มันๆมา มันๆปรากฏอยู่อย่างไร หน้าที่การงานอย่างไร อันนี้เรียกว่าปรากฏอยู่อย่างไร แล้วก็รู้ว่าเกิดมาจากอะไรอย่างไร รู้ว่าจะดับลงไปอย่างไร แล้วมันมีเสน่ห์หลอกเราอย่างไร มันมีโทษอันแท้จริงที่มันปกปิดไว้อย่างไร แล้วเรามีวิธีออกมาเสียได้จากอำนาจของมัน ไม่ให้มันทำอะไรเราได้นั้นอย่างไร ถ้าเราจะใช้คำรวมกันเรียกว่าทั้งโลกก็ได้ โลกนี้ ทั้งหมดนี้คืออย่างไร มันเกิดมาอย่างไร มันจะดับไปอย่างไร มีเสน่ห์หลอกลวงเราอย่างไร มีความเลวร้ายอย่างไร เราจะออกไปจากอำนาจของโลกได้อย่างไร นี่เรียกว่าเราออกมาเสียจากโลก เหนือโลก ใช้คำเดียวว่าโลกก็ได้ แยกออกไปก็เป็น ๓๐ อย่าง ทุกอย่างเนื่องอยู่ด้วยอายตนะ
คำว่าอายตนะนั้นแปลว่าสิ่งที่ติดต่อได้ รู้สึกได้ สัมผัสได้ คือมันจะทุกสิ่งน่ะ แม้แต่พระนิพพานก็สัมผัสได้ รู้สึกได้ ฉะนั้นพระนิพพานก็เป็นอายตนะอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน ในพระบาลีที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าอายตนะนั้นมีอยู่ อายตนะนั้นไม่ใช่ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ใช่อากาสานัญจา และไม่ใช่อะไรทุกสิ่ง ก็เป็นที่สุดแห่งทุกข์คือนิพพาน หมายความว่าไอ้สภาพที่เรียกว่านิพพานนั้น จิตสัมผัสได้ ติดต่อด้วยได้ เพราะฉะนั้นพระนิพพานจึงเป็นอายตนะอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรที่ไม่ใช่อายตนะเพราะว่าจิตมันสัมผัสได้ ติดต่อได้ รู้สึกได้ แต่ที่มันสำคัญที่สุด ที่มันเป็นสิ่งที่ให้ทำผิดไม่ได้ มันคืออายตนะ ๖ นี่แหละ ภายใน ๖ ภายนอก ๖ นี่ตัวร้าย ต้องรู้จักก่อนสิ่งใดหมด ธรรมะทุกอย่างสัมผัสได้ติดต่อได้ ธรรมะทุกอย่างเป็นอายตนะได้ แม้แต่ความว่างเราก็สัมผัสได้ ติดต่อได้ เรียกว่าอากิญจัญญายตนะ อย่างนี้ก็เพราะมันสัมผัสได้เหมือนกัน แม้แต่ความว่าง
เอาแล้วเป็นอันว่า เราสรุปความว่าทุกอย่างมันติดต่อได้ แต่ว่าที่จะต้องติดต่อก่อน รู้จักก่อน ควบคุมให้ได้ก่อนคือ อายตนะ ๖ และสิ่งที่มันเนื่องอยู่กับอายตนะนั้นๆ เราต้องรู้ความจริง ความจริง จริงไอ้ ความไอ้ที่มันเป็นอยู่จริงของมันน่ะ คือว่ามันมีลักษณะอย่างไร มีเกิดขึ้นอย่างไร ดับไปอย่างไร มีเสน่ห์อย่างไร มีความเลวทรามร้ายกาจอย่างไร มีหนทางออกไปเสียจากอำนาจของมันได้อย่างไร เราก็หลุดออกไปเรียกว่าวิมุติ วิมุติหลุดพ้นไปเป็นผู้มีอิสระ มีจิตอิสระ เหนือโลก เหนือโลก เหนืออันตรายในโลก โลกนี้ไม่ทำอันตรายแก่เราอีก
นี่ไม่ๆพูดหลายเรื่องนัก พูดเรื่องเดียว แต่คำพูดมันก็หลายคำ หลายคำ พูดเรื่องอายตนะนะ แล้ววิธีที่จะควบคุมอายตนะ หลุดพ้นจากอำนาจของอายตนะที่มันเป็นตัวร้ายกาจ นี่คือธรรมะจำเป็นที่สุด สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน เพราะมนุษย์ทุกคนนั่นแหละมันมีอายตนะ ถ้ามันทำผิดอายตนะแล้วมันก็วินาศแหละ ถ้ามันทำถูกมันก็เจริญแหละ จนถึงกับพระพุทธเจ้าตรัสว่า นรกก็อยู่ที่นั่น สวรรค์ก็อยู่ที่นั่น นรกก็อยู่ที่อายตนะเมื่อทำผิด สวรรค์ก็อยู่ที่นั่นคืออายตนะเมื่อทำถูก ไอ้ที่ตกจมมหาสมุทรอันลึกซึ้งก็อยู่ที่อายตนะน่ะ ตกลงไปแล้วขึ้นยาก นี่เรื่องอายตนะเท่าที่ว่ามนุษย์จะต้องรู้จักกันไว้ สุขทุกข์ก็อยู่ที่นั่น ไม่สุขไม่ทุกข์ก็อยู่ที่นั่น แม้แต่นิพพานก็จะต้องจัดการกันที่นั่น ให้มีความถูกต้องทางอายตนะ อายตนะที่เป็นสังขตะหมดอำนาจ ก็ได้รับอายตนะอสังขตะคือพระนิพพาน อายตนะสังขตะหรือสังขารนี่คือของหลอกลวงเปลี่ยนแปลง อายตนะอสังขตะคือนิพพานนั้นเที่ยงแท้ถาวรไม่เปลี่ยนแปลง ถึงแล้วจิตมีแต่ความสงบสุข คือไม่มีทุกข์ พูดว่าสงบสุขมันก็หมิ่นเหม่ต่ออันตราย ชวนให้รัก พูดว่าไม่มีทุกข์ ไม่มีความทุกข์ เป็นที่สุดแห่งความทุกข์ อยู่เหนือโลก เหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวง เพราะว่าเขารู้อายตนะจนควบคุมอายตนะได้ จนออกไปเสียได้จากอำนาจของอายตนะที่เป็นพิษเป็นภัย เข้าสู่เขตแดนของอายตนะสูงสุดก็คือพระนิพพาน (ท่านพุทธทาสสนทนาภาษาใต้กับพระภิกษุ นาทีที่ 64:51-65:08)
เอาแล้ววันนี้ขอยุติไว้เพียงเท่านี้ เพราะว่ามันหมดเรื่อง เพราะเรื่องที่สำคัญมันมีใจความเท่านี้ แล้วผมก็เหนื่อยๆอย่างไรอยู่ด้วยเหมือนกัน พูดรู้สึกเหนื่อย ขอปิดประชุม.