แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผมได้รับคำขอร้องให้พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่พระวิปัสสนาจารย์ วิปัสสนาจารย์หมายถึงอาจารย์ผู้สอนวิปัสสนา อาจารย์แห่งวิปัสสนา มันเป็นเรื่องอาจารย์ของอาจารย์ ถ้าผู้ปฏิบัติวิปัสสนาก็เรียกว่าวิปัสโก วิปัสโก วิปัสสก นี่เป็นผู้ปฏิบัติวิปัสสนา ไม่ได้เกี่ยวกับอาจารย์ ไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นอาจารย์ ถ้าเป็นวิปัสสนาจารย์หมายถึงอาจารย์สอนวิปัสสนา อาจารย์แห่งวิปัสสนา อาจารย์ในการวิปัสสนา ซึ่งมันผิดกันมากแหละ อันหนึ่งมันเป็นอาจารย์ อันหนึ่งมันเป็นลูกศิษย์ ที่นี้เรื่องที่จะเป็นประโยชน์แก่พระวิปัสสนาจารย์มันมีมาก ไม่ใช่เรื่องพูด ๒ -๓ วันจบ บางทีไม่ใช่ ๒-๓ เดือนจบ มันต้องพูดกันตลอดไป มันเรื่องมันมาก จะให้พูดกันวันสองวันสำเร็จประโยชน์นี้มันทำไม่ได้ มันก็ได้แต่พูดเขา เขาเรื่อง เขาใหญ่ใจความของเรื่อง แล้วก็ไปขยายออกเองโดยรายละเอียด แล้วก็ศึกษาเฉพาะรายละเอียดนั้นๆ แต่ละเรื่องๆอีกทีหนี่ง เอามารวมกันเข้าทั้งหมด ก็จะสำเร็จประโยชน์แก่การที่จะทำหน้าที่วิปัสสนาจารย์ อาจารย์ผู้สอนวิปัสสนา ถ้าเอาตามตัวหนังสือ วิปัสนาแปลว่าการเห็นแจ้ง ใจความสำคัญมันอยู่ที่การเห็น ซึ่งเป็นผลของการดู เราต้องมีการดู จึงจะมีการเห็น ไม่มีการดูก็ไม่มีการเห็น ทีนี้แม้จะมีการดู แต่มันดูไม่เป็น ดูไม่ถูกเรื่อง ดูการดูของคนโง่ มันก็ไม่เห็นอีกเหมือนกัน จะต้องเป็นการดูที่ถูกต้อง แล้วก็จะมีผลออกมาเป็นการเห็น การเห็นนั่นแหละคือคำว่าวิปัสสนา ปัสนะแปลว่าเห็น วิแปลว่าแจ่มแจ้ง นี่มักจะเข้าใจกันผิดๆในข้อที่ว่าคิด นึก พิจารณา จนปนกันยุ่งไปหมด พิจารณามันก็เป็นการพิจารณา การคิดมันก็เป็นการคิด ยังไม่ใช่การดูอันแท้จริง การดูอันแท้จริงนี้ต้องเพ่งดูอยู่ด้วยจิตพิเศษ เพ่งดูอยู่ด้วยจิตที่พิเศษจึงจะเห็น ดังนั้นเราจะต้องอบรมจิตให้ถึงขั้นที่เรียกว่าเป็นจิตพิเศษ คือจิตที่มีสมาธิอย่างถูกต้อง แล้วก็เอาจิตพิเศษนั่นแหละ เป็นเครื่องดูลงไปที่สิ่งที่จะต้องดู ถ้าเป็นเรื่องคิด เป็นเรื่องค้นนี้ยัง ยัง ยังไม่ใช่การดู ไม่พิจารณาอยู่ด้วยแง่เงื่อนต่างๆ ก็ยังไม่ใช่การเพ่งดู คุณฟังให้เข้าใจว่า พิจารณานั้น มันกระจาย มันส่ายไปรอบด้าน มันยังไม่ใช่การเพ่งดู เราต้องทำจนกระทั่งว่ามีการเพ่งดู คือ คิด ค้น พิจารณา จนเห็นปม เห็นเงื่อน เห็นจุด เห็นสิ่งที่จะต้องดู แล้วจึงดู มันจึงมาหลังจากการคิดค้นหรือพิจารณา พิจารณานี่มันหา มันเหมือนกับการหา การค้นคว้า การหา การแยกแยะ การวิจัยวิจารณ์อะไรต่างๆ มันยังไม่เพ่ง นี่พอพบเงื่อนที่ว่ามันจะต้องเอากันอย่างไร แล้วมันจึงจะเพ่ง ดังนั้นมันจึงมีปัญหาเบื้องต้นที่ว่า จะเตรียมจิตให้เป็นจิตที่เหมาะสำหรับจะดูโดยวิธีใด นั่นมันเป็นเรื่องดูทางจิตทางวิญญาณ ถ้าดูทางวัตถุ ทางวัตถุ ทางกายภาพ ทางนี้ก็ มันเหมือนกับว่าเราทำตานี่ให้มันสะอาด หยอดยาตาให้มันไม่มีโรค แล้วก็เอาแว่นตาที่ดีมาใส่เข้า แล้วก็ต้องเช็ดแว่นตาโดยวิธีที่ถูกต้อง เดี๋ยวนี้เขามีเครื่องเช็ดแว่นตาอย่างดีอย่างถูกต้อง เช็ดแล้วชัดใสแจ๋ว นี่เมื่อได้ทำอย่างนี้กับแว่นตากับดวงตาแล้วมันก็พร้อมหรือเหมาะที่จะดู ความเหมาะที่จะทำหน้าที่ดูหรือหน้าที่อะไรก็ตาม ก็เรียกว่าความควรแก่การงาน คือกัมมนีโย กัมมนียะ แปลว่าควรแก่การงาน คือสิ่งที่เราจะต้องทำเรียกว่าการงาน จิตต้องเป็นกัมมนียะคือควรแก่การงาน เช่นเดียวกับแว่นตา เช็ดได้ที่แล้วควรแก่การใช้ใส่ดู นี่เราต้องทำจิตให้มันควรแก่การงาน ตอนนี้ตอนที่ทำจิตให้ควรแก่การงานคือตอนที่เรียกว่าสมาธิ สมาธิ แต่ในภาษาที่ใช้กันอยู่ทั่วๆไปมันรวมเอาทั้งสมาธิทั้งวิปัสสนา เป็นวิปัสสนาไปหมด เรียกว่าเป็นเรื่องวิปัสสนาไปหมด แต่ตัวจริงเนื้อแท้ของมันนั้น มันแยกออกเป็นตอนๆได้ ในชั้นแรกต้องทำจิตให้เป็นสมาธิ ถูกต้องตามความหมายของคำว่าสมาธิ ไม่ใช่สมาธิงมงาย สมาธิบ้าๆบอๆ สมาธิเห็นนั่นเห็นนี่ เห็นนรกสวรรค์ มันคนละเรื่องกัน สมาธิที่จะเห็นธรรมะนั้น คืออุปกรณ์สำหรับวิปัสสนา เห็นธรรมะคือเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง มันมีบาลีว่า สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ ผู้มีจิตตั้งมั่นย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง คำว่าจิตตั้งมั่นนั่นแหละมันทำให้ มันมีความหมายพิเศษทำให้เข้าใจผิดหรือยุ่งยาก บางคนก็ถือเอาว่าพอจิตเป็นสมาธิก็เห็นหมดเลย เห็นตามเป็นจริงหมดเลย พอจิตเป็นสมาธิ มันไม่ได้หมายความอย่างนั้น จิตที่ตั้งมั่นหมายความว่ามันเป็นจิตที่มีความเหมาะสม นั้นมันจึงจะตั้งมั่น แล้วมันก็มีการเพ่งดู อยู่อย่างตั้งมั่น ตั้งมั่นอยู่ด้วยการเพ่งดู นั้นลักษณะของความเป็นสมาธิที่สำคัญๆ ท่านวางไว้เป็น ๓ คำ ปริสุทโธ สมาหิโต กัมมนีโย จำไว้ดีๆ ปริสุทโธ คือเป็นสมาธิที่ปราศจากกิเลศและนิวรณ์รบกวน เป็นจิตเกลี้ยง ปราศจากนิวรณ์และกิเลสรบกวน อย่างนี้เรียกว่า ปริสุทโธ เวลานั้น ในขณะที่เป็นสมาธิเป็น ปริสุทโธ และ สมาหิโต นี่แหละตั้งมั่นตั้งอยู่อย่างดี ก็เพราะว่าไม่มีอะไรรบกวน ไม่มีกิเลสรบกวน มันจึงตั้งมั่นได้เป็นอย่างดีในอารมณ์เดียว เรียกว่า สมาหิโต และเมื่อมันอยู่ในลักษณะอย่างนี้ นั่นแหละคือสมควรแก่การงาน เรียกว่ากัมมนีโย สมควรแก่การงานในที่นี้ก็คือการงานที่จะเพ่งให้เห็นความจริง เห็นความจริงเพราะการเพ่ง ไม่ได้เห็นความจริงเพราะการคิดค้นหรือพิจารณา ถ้าพิจารณามันยังส่ายรอบตัวอยู่ การเห็นในธรรมจริงๆจะเห็นด้วยการเพ่ง คือคำว่า ฌานะ ฌานะ หรือ ฌาน แปลว่าการเพ่ง อย่างบาลีว่า ยะทา หะเว ปาตุภะวันติ ธัมมา อาตาปิโน ฌายะโต พ์ราห์มะฌัสสะ เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฎแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ใช้ว่าเพ่งอยู่ ฌายะโต มีความเพียร อาตาปิ มีความเพียร ฌายะโต เพ่งอยู่ พ์ราห์มะฌัสสะ แก่พราหมณ์ คำว่า ฌานะ ฌานะ ก็แปลว่าเพ่ง ในที่นี้หมายถีงเพ่งให้เห็นความจริงของธรรมทั้งปวง แต่คำว่าเพ่งนี้หมายถึงเพ่งเพียงให้เป็นสมาธิในขั้นสมาธิก็เรียกว่าเพ่งเหมือนกัน เพราะคำว่าเพ่งนี้มันใช้ได้ทั้ง ๒ ความหมาย คือเพ่งให้เป็นสมาธิก็ได้ เพ่งอารมณ์ของสมาธิ สำเร็จแล้วก็เป็นการได้สมาธิ เพ่งอารมณ์เพื่อได้สมาธิ นี่ก็เพ่งลักษณะ เพ่งลักษณะของสิ่งนั้นๆ หรือของอารมณ์นั้นก็ได้ หรือของสิ่งใดก็ได้ เพ่งลักษณะ เพ่งแล้วก็จะเห็นความจริงของสิ่งนั้น เพ่งที่ลักษณะของสิ่งนั้น แล้วจะเห็นความจริงของสิ่งนั้น แต่มันก็ได้วิปัสสนาหรือฌาน ได้ญาน ได้ญานหรือได้วิปัสสนา ฌานะแปลว่าเพ่ง เพ่งเข้าไปที่อารมณ์ ก็จะได้สมาธิ เพ่งเข้าไปที่ลักษณะก็จะได้ความรู้แจ้งเห็นแจ้ง จะเรียกว่าฌานหรือทัศนะ หรือรวมกัน จะเรียกว่าญานหรือทัศนะ หรือรวมกันได้ทั้ง ๒ คำว่า ฌานทัศนะก็ได้ และมีอยู่หลายขั้นตอนสูงขึ้นไป สูงขึ้นไป วิปัสสนาแท้ๆ มันอยู่ที่การเพ่งหมวดหลังเพ่งที่ลักษณะ ให้เห็นความจริงของสิ่งนั้นๆ มาเป็นตัววิปัสสนา ตัวทำให้เป็นสมาธิ ให้จิตบริสุทธิ์ ให้จิตตั้งมั่น ให้จิตสมควรแก่การงานนั้น มันเป็นขั้นสมถะหรือสมาธิ จึงเห็นได้ว่าถ้าทำสำเร็จในขั้นสมถะหรือสมาธิ และมันก็เพ่งอยู่อย่างถูกต้อง ความจริงมันจึงออกมา ว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น เพราะมันมีการเพ่งอยู่ที่สิ่งที่เราต้องการจะรู้จะเห็น ในอรรถกถาที่เชื่อถือได้ เขาจำกัดความไว้ว่า สมาธิคือเอกคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ เอกคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ หมายความว่าจะชั้นไหน ขั้นไหน ตอนไหน พวกไหนก็ตาม มันเพ่งจุดหมายปลายทางคือนิพพาน เอกคตาจิตคือจิตที่รวมเป็นอารมณ์เดียว เป็นจุดเดียว มียอดแห่งจิตเดียว เอกคตา มียอดเดียว เรียกว่าเอกคตา จิตมีเอกคตา ความเป็นเอกคตานั้นมันมีนิพพานเป็นที่หมาย มันแปลว่าผู้ปฏิบัติชั้นไหนก็ตาม ชั้นต้น ชั้นกลาง ชั้นปลาย ชั้นอะไรก็ล้วนแต่มุ่งจะได้นิพพาน มุ่งจะรู้จักพระนิพพาน มุ่งจะพบภาวะของการที่จะไม่มีกิเลส แล้วก็เย็น หมดกิเลส แล้วก็เย็น มันมุ่งกันอยู่ที่นั่นทั้งนั้นแหละ จะแรกทำหรือว่าทำไปแล้วหรือว่าทำไปมากแล้ว มันมุ่งผลสุดท้ายปลายทางคือนิพพานด้วยกันทั้งนั้น ลดลงมาอีกหน่อยก็คือ มันต้องการจะรู้จะเห็น ต้องการจะรู้จะเห็น ในความสิ้นไปแห่งกิเลส ต้องการจะพบความสิ้นไปแห่งกิเลส ก็เป็นอันว่า ไอ้ความอยากจะพบกับความสิ้นกิเลสมันมีอยู่ในใจเป็นประจำ ด้วยความอยากจะรู้ว่า ความทุกข์จะสิ้นไปอย่างไร นี่มันมีอยู่เป็นประจำ แปลว่าปัญหามันมีอยู่ ภายใต้สำนึก เราไม่ต้องไปรู้สึกมันหรอก แต่มันก็มีอยู่ใต้สำนึกเป็นประจำ แล้วแต่ว่าผู้ปฎิบัตินั้นมันอยู่ในขั้นไหน แล้วมันจึงมีปัญหาหรือมีความอยากรู้ ขั้นหนึ่งๆ ตามภูมิ ตามชั้นของผู้ปฎิบัตินั้นๆอยู่ ที่นี้พอทำจิตให้เป็นสมาธิอย่างที่ว่าได้แล้ว คำตอบมันจะเกิดออกมา เหมือนบาลีที่กล่าวว่า สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ นั้นมันถูกแล้ว มันถูกแล้ว หมายความว่าถ้าจิตเป็นสมาธิอย่างนั้นจริง ปัญหาหรือคำถามหรือข้อสงสัยต่างๆ ที่มันมีอยู่ตลอดเวลานั้น หรือที่กำลังเพ่งจะเห็นจะได้อยู่ มันก็ให้คำตอบ มันก็ออกเป็นคำตอบมา จิตที่เป็นสมาธิ ต้องหมายถึงจิตที่ประกอบด้วยองค์ ๓ เสมอ อย่าเป็นสมาธิรุ่นๆ สั้นๆโง่ๆ จิตที่เป็นสมาธิต้องมีลักษณะ บริสุทธิ์หนึ่ง มีลักษณะตั้งมั่นหนื่ง มีลักษณะควรแก่การงานหนึ่ง ๓ อันอย่างนี้เสมอ เมื่อเราทำสมาธิได้สำเร็จ จิตจะมีคุณสมบัติ เรียกว่าคุณสมบัติดีกว่า ๓ อย่างนี้ คือจิตจะบริสุทธิ์ จิตจะตั้งมั่น จิตจะควรแก่การงาน นี้ก็เรียกว่าคุณสมบัติของจิตที่เป็นสมาธิ ถึงแม้ว่าจะออกจากฌาน ออกจากสมาธิที่เป็นฌานแล้ว คุณสมบัติเหล่านี้ก็มีอยู่ ก็เหลืออยู่ ไอ้การที่เราฝึกแน่วแน่ไปจนถึงฌานนั้นเพื่อให้มันเป็นสมาธิถึงที่สุดเต็มที่ ที่จริงจิตที่อยู่ในฌานนั้นไม่ควรแก่การงาน ถ้ามันเข้าฌานอยู่เหมือนกับอยู่ในสมาบัติ หรือว่าเข้าฌานเป็นฌานลึกอยู่นี่ มันไม่มีความควรแก่การงาน มันต้องถอยออกมาจากฌานชนิดนั้น มันจึงมาเป็นจิตที่มีคุณสมบัติอย่างที่ว่า คือจิตมีความบริสุทธิ์ จิตมีความตั้งมั่น จิตมีความควรแก่การงาน นั้นมันจึงขยับออกมาจากฌาน แต่ความเป็นจิต มีคุณสมบัติ ๓ ประการนั้นยังอยู่ ยังอยู่ คือจิตนั้นยังเหมาะอยู่ที่จะรู้ จะยังนั่งอยู่ก็ได้ จะลุกเดินอยู่ก็ได้ หรือจะไปยืน ไปเดิน ไปนั่ง หรือไปนอนลงก็ได้ คุณสมบัติ ๓ ประการนั้นยังอยู่ที่จิตนั้น เพราะฉะนั้นอริยบททั้ง ๔ นั้นมันอาจจะเห็นตามเป็นจริงขึ้นมาได้ทั้งนั้น เพราะว่าคุณสมบัติ ๓ ประการที่เป็นตัวสมาธิแท้จริงนั้นมันอยู่ คุณสมบัติที่มันได้มาจากฌาณ ปฐมฌาณ ทุติยฌาณ ตติยฌาณ ฌาณไหนก็ตาม ที่มันได้มาจากฌานเป็นคุณสมบัติ ๓ประการอย่างที่ว่านี้มันยังอยู่ นั้นจึงเรียกว่าเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น มีจิตบริสุทธิ์ มีจิตควรแก่การงาน อยู่ทั้ง๔ อริยบทก็แล้วกัน ทั้งเดิน ทั้งยืน ทั้งนั่ง ทั้งนอน จึงเรียกว่ามีสมาธิโดยคุณสมบัติ โดยคุณสมบัติของสมาธิ อยู่ไหนอริยบทไหนก็ได้ งั้นโอกาสที่จะสว่างไสวแจ่มแจ้งในธรรมนั้นมันก็มีได้ทุกอิริยาบท สำหรับบุคคลที่มีจิตประกอบอยู่ด้วยคุณสมบัติ ๓ ประการนี้ คือปริสุทโธ สมาหิโต กัมมนีโย เราก็ขยันฝึกให้เป็นสมาธิ ลึก ลึก ลึก ลึก จนเป็นของง่าย เป็นของธรรมดา แล้วมันก็จะได้คุณสมบัติ ๓ ประการนี้ซึ่งจะติดอยู่กับจิต ก็เป็นจิตที่พร้อมที่จะเห็นธรรมตามที่เป็นจริง เรียกว่ารู้ธรรมทั้งปวงตามที่เป็นจริงได้ เหมือนกับแว่นตาที่เช็ดดีแล้ว จะไปใส่เมื่ออ่านหนังสืออะไรหรือเมื่อในอิริยาบถไหน นั่งอ่าน นอนอ่าน เดินอ่าน มันก็ได้ทั้งนั้น นั้นจิตที่มันมีคุณสมบัติ ๓ ประการนี้ คือองค์คุณของสมาธิ มันจะเห็น มันจะเห็น คือทำการเห็น ทำการเห็น ทำการวิปัสสนาเห็น เมื่อเดินอยู่ก็ได้ เมื่อนั่งอยู่ก็ได้ เมื่อนอนเอนไม่ใช่หลับนะอยู่ก็ได้ เมื่อเดินยืนนั่งนอนอยู่ก็ได้ นั้นเขาจึงรักษาจิตในทุกอิริยาบถนี้ให้มันดีอย่างนี้อยู่ ถ้าอะไรที่อยากจะรู้ มันก็จะโพล่งออกมา แสดงตัวออกมา ยังทำวิปัสสนาในส่วนอนิจจัง ดูอนิจจัง เพ่งดูจ้องดูอนิจจัง คือความเป็นอนิจจังของสิ่งที่เราเอามาเป็นอารมณ์ จะดูลมหายใจ ดูเครื่องปรุงแต่งลมหายใจ ดูเวทนา ดูเครื่องปรุงแต่งเวทนา ดูอะไรก็ตามที่มันเป็นสังขาร ก็จะพบว่ามีความเป็นอนิจจังอย่างไร นั้นต้องมีการดู หรือจะให้ชัดก็เพ่งดู ด้วยจิตที่เป็นสมาธิแล้ว เราก็จะเห็น เห็นก็จะเป็นวิปัสสนา อย่างทำระบบอานาปานสติ ตามพระบาลี อานาปานสติ ๑๖ ขั้น ขั้นแรกๆ มันก็เรื่องให้เป็นสมาธิ แล้วก็สติมากขึ้น มีสมาธิมีสติมากขึ้น จนกระทั่งรู้จักกาย รู้จักเวทนา รู้จักจิต ๓ พวกนั้นดีแล้ว นั้นก็เป็นถึงพวกสุดท้ายคือธรรมานุปัสสนา คือดูความเป็นอนิจจัง เพ่งดูความเป็นอนิจจัง ที่กาย ที่ เวทนา ที่จิต กายคือลมหายใจ ดูให้เห็นอนิจจัง เวทนาคือความรู้สึก สุขคือปิติที่ปรุงแต่งจิตให้เห็นอนิจจัง แล้วดูจิตที่กำลังเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างโน้น ให้เห็นความเป็นอนิจจัง จะเห็นความเป็นอนิจจังของทุกๆสิ่งได้ เหมือนกับที่มันมีความสำคัญที่จะต้องเอามาดู มันจึงมีการเห็นความเป็นอนิจจังด้วยจิตที่เป็นสมาธิ ประกอบอยู่ด้วยคุณสมบัติ ๓ประการ เรียกว่าอนิจจานุปัสสี เห็น เห็นแล้วก็ตามเห็นอยู่ ดูเห็นแล้วก็ดูเรื่อยไป ไม่ใช่ว่าเห็นแล้วก็หยุดเสีย อนุปัสสีแปลว่าตามเห็น ก็ดูที่เห็นแล้ว การดูที่เห็นแล้ว ก็ตามดูหรือตามเห็น ความเป็นอนิจจังของสิ่งที่เราควรจะเอามาดู เพราะเราจึงทำขั้นต้นๆของอานาปานสติได้แล้ว เราจึงเอามาดูได้ ลมหายใจสั้นก็ดี ลมหายใจยาวก็ดี ลมหายใจที่ปรุงแต่งกายก็ดี ให้ลมหายใจเหล่านั้นระงับลงไป เป็นสมาธิก็ดี ก็ดูมันหมดเลย ดูสมาธิ ดูองค์แห่งสมาธิ ฉะนั้นเอาออกมาเป็นเวทนา ดูเวทนาคือ ปิติหรือสุข หรือความที่มันเป็นสิ่งปรุงแต่งจิต ดูการปรุงแต่งจิต ดูจิตที่มีการปรุงแต่งอันลดลงแล้ว อันระงับแล้ว ที่นี้ก็มาดูที่จิตบ้าง จิตเป็นอย่างไร จิตปราโมทย์ จิตตั้งมั่น จิตปล่อย จิตจะเป็นอย่างไร ทุกชนิดดูได้ จนเห็นว่ามันก็มีความไม่เที่ยง นี่ดูกันอย่างละเอียดลออแยบคายที่สุด ด้วยจิตที่อบรมเป็นพิเศษดีแล้วที่สุด แล้วก็เห็นโอ้,อนิจจัง คืออย่างนั้น อย่างนั้นเห็นชัด รู้สึก เป็นความรู้สึก เป็นอนิจจังโดยแท้จริง ทีแล้วมันเห็นอนิจจังแล้ว อันดับต่อไปมันก็เป็นไปได้เอง มันจะมีวิราคะ คือคลายความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ดูอีก ดูความที่มันคลายออก คลายออกจากความยึดมั่นถือมั่น แล้วมันก็จะมีอาการแห่งนิโรธะ คือความสงบระงับแห่งกิเลสหรือความยึดมั่นถือมั่นหรือความทุกข์ ก็ตามเพราะมันต่อเนื่องติดกันอยู่ทั้งนั้น กิเลสความทุกข์ อุปาทาน นี่มันติดเนื่องกันอยู่ มันก็เห็นได้ แม้กระทั่งเห็นว่า อ้าวหมดแล้วโว้ย เดี๋ยวนี้หมดแล้วโว้ย ที่เรียกว่าปฏินิสสัคคานุปัสสี ผลสุดท้ายมันก็คือเห็น การสละสิ่งเหล่านี้ออกไปหมดแล้ว นั่นแหละคือวิปัสสนา ทบทวนสั้นๆอีกทีว่า ดู เห็น ตามที่เป็นจริง ด้วยจิตที่เป็นสมาธิ ประกอบไปด้วยองค์ ๓ ประการอย่างที่ว่า ในสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย นี่บทบัญญัติ บทนิยามมันจะมีอย่างนี้ ถ้าถามว่าดูอะไร ดูที่อะไร ก็ดูที่สังขารเครื่องปรุงแต่งทั้งหลาย ลมหายใจก็สังขารเครื่องปรุงแต่ง เวทนาก็เครื่องปรุงแต่ง จิตก็เครื่องปรุงแต่ง ดูที่สังขาร ที่เป็นการปรุงแต่ง หรือเป็นเครื่องปรุงแต่งทั้งหลาย นั่นคือดูที่นั่น นี้ก็จะถามว่าดูด้วยอะไร ก็ดูด้วยจิตที่ปรับปรุงดีแล้ว ปรับปรุงดีแล้ว ภาเวติ ทำให้เจริญ ปรับปรุงดีแล้ว จนจิตนั้นมีความเป็นสมาธิชนิดที่ประกอบด้วยองค์ ๓ อย่างที่ว่า คือมีความบริสุทธิ์ มีความตั้งมั่น มีความควรแก่การงาน ดูด้วยจิตชนิดที่มีสมาธิ ประกอบด้วยองค์ ๓ ที่นี้จะถามเป็นคำถามต่อไปว่า ดูแล้วเห็นอะไร เห็น เห็นที่ว่า เห็นความจริงตามที่เป็นจริงของสิ่งเหล่านั้น คือของสังขารเหล่านั้น ก็เห็นความจริงของสิ่งที่เราดู จะเป็นเรื่องลมหายใจหรือเป็นเรื่องเวทนา หรือเป็นเรื่องจิตเอง ความจริงนั้นว่าอะไร ถามเป็นคำถามที่ ๔ว่า ความจริงนั้นมันคืออะไร มันคือความไม่เที่ยง คือมันจะเปลี่ยนอยู่เสมอ ไอ้ตรงนี้อย่าเอาไปปนกับคิดหรือพิจารณานะ ทำไมจึงไม่เที่ยง ทำไมจึงไม่เที่ยง คิดพิจารณา เขาเรียกวิธีตรรกะ วิธีนัยยะ อะไรก็ตาม วิธีคิดทางตรรกะ ทางนัยยะ มันก็ตอบได้ว่าไม่เที่ยงเหมือนกัน ในห้องเรียนก็ทำได้ ในโรงเรียนในห้องเรียน ที่ครูสอน อ้างมาด้วยเหตุผลว่า อย่างนั้นอย่างนั้นเพราะฉะนั้นจึงสรุปความว่ามันไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นจึงสรุปความว่ามันเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นมันจึงสรุปความว่ามันเป็นอนัตตา อย่างนี้ไม่ใช่ผลของการดูแล้วเห็น เป็นผลการคิดคำนวณตามแบบนั้นๆ เดี๋ยวนี้เราไม่มีการคิดคำนวณตามแบบนั้นๆ เพราะอย่างนั้นมันจึงไม่เที่ยง มันเห็นความไม่เที่ยงอยู่นี่ ลมหายใจสั้น ลมหายใจยาว ลมหายใจปรุงแต่งร่างกาย ลมหายใจระงับลง ลมหายใจไม่ระงับมันเห็นอยู่นี่ ไม่ต้องคำนวณว่า ซ.ต.พ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นอย่างนั้น คือมันเห็น ไอ้การเห็นธรรมะนี้มันจึงไม่เกี่ยวกับการคำนวณ การคิดตามวิธีคำนวณ แต่ก็ไม่ได้ห้ามว่า ไม่ต้องคิด จะคิดคำนวณบ้างก็ได้ แต่มันยังไม่ขนาดที่จะเป็นเหตุวิปัสสนา การคิดการคำนวณโดยวิธีตรรกะ โดยวิธีนัยยะนี้ ไม่ถึงขนาดที่จะเป็นวิปัสสนา เป็นเรื่องคำนวณตามวิธีคำนวณเท่านั้นเอง นี่ถ้าเราเห็นชัดด้วยจิต ที่ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๓ ว่ามันไม่เที่ยงอย่างนั้น ไม่เที่ยงอย่างนั้น มันมีผลตามที่ต้องการ มีผลทางธรรมะ คือทำให้เกิดวิราคะ คลายกำหนัด ปล่อยวางไปได้ การคำนวณด้วยเหตุผลทางตรรกเป็นต้น ในห้องเรียนนั้นมันไม่ทำให้เกิดวิราคะหรือความปล่อยวางได้ ก็เป็นอันว่าเราจะต้องฝึกสมาธิให้สำเร็จในขั้นที่เป็นสมาธิ ซึ่งจะเรียกว่าขั้นสมถะ แล้วแต่จะเรียกด้วยคำๆไหน ในขั้นนี้ทำให้จิตมีคุณสมบัติของความเป็นสมาธิ ๓ ประการ ดังที่กล่าวแล้วนี่ ขั้นนี้มันป็นได้ อย่างนี้ ตอนนี้มันเป็นได้เท่านี้ จิตมีคุณสมบัติ ๓ ประการ แม้ในอิริยาบถเดินยืนนั่งนอน เพราะฉะนั้นในทุกอิริยาบทนั้น มีการดู ดู ดู ซึ่งจะเป็นขั้นของวิปัสสนา เมื่อทำจิตให้มีคุณสมบัติของสมาธิ ๓ ประการนี้เรียกว่าสมาธิหรือสมถะ ครั้นได้จิตชนิดนี้มาแล้วก็ดู ดู ดู ดู นี่มันจะเป็นการกระทำที่เป็นวิปัสสนา ต่อเมื่อมันเห็นแล้ว เห็นชัดแล้ว มันจึงเรียกว่ามันมีวิปัสสนาโดยแท้จริง ความรู้สึกทางจิตเกิดแก่จิตโดยแท้จริงนั้นจิตจึงเบื่อหน่าย จึงคลายกำหนัด จึงอะไรได้ไปตามเรื่องที่ควรจะเป็น ฉะนั้นก็พยายามทำให้สำเร็จทุกขั้นตอน ศีลนั้นมันจะมีอยู่ตลอดเวลาที่จิตเป็นสมาธิหรือเป็นวิปัสสนา ศีลมีโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าคนไม่มีศีล คนขาดศีล ของฆราวาสก็ดี ของพระภิกษุก็ดี เป็นคนไม่มีศีลแล้วมันก็ มัน มันเป็นสมาธิไม่ได้ เพราะมันรบกวนจิตใจ ความเลวทรามของตนมันรบกวนจิตใจ ยังรู้สึกว่าตัวเป็นปาราชิก เป็นสังฆาทิเสส มันก็รบกวนจิตใจเรื่อย มันก็ทำจิตให้เป็นสมาธิไม่ได้ ดังนั้นจีงต้องไม่ทุศีล เรียกว่าไม่ทุศีล ทีนี้เมื่อลงมือทำวิปัสสนา ทำสมถะ ทำวิปัสสนา มันก็มีศีลใหม่ ศีลใหม่คือศีลที่มันติดอยู่กับสมาธิ หรือวิปัสสนาขึ้นมาใหม่เต็มที่ ฉะนั้นเมื่อคนเขาทำสมาธิอยู่อย่างถูกต้องแล้ว มันมีศีลอยู่ในการตั้งใจทำสมาธิ คือควบคุมจิตให้ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เขาก็เรียกว่ามันเป็นศีลได้ ดังนั้นมันมีศีลจริง อยู่ที่การตั้งใจจะทำสมาธิ ไอ้เรื่องรับศีลนั้นพิธีรีตอง บางทีมันก็มีไม่ได้ ถ้าคนมันไม่มีศีลอยู่แล้ว มันขาดไอ้ความเป็นผู้มีศีล แล้วมันก็มีไม่ได้ ทำ ทำ ทำหลอกตัวเองได้ แต่ความจริงมันมีไม่ได้ จะต้องมีศีลอยู่เป็นพื้นฐาน แล้วเข้าไปทำสมาธิทำวิปัสสนาเข้า ไอ้ศีลที่แท้จริงที่เรียกว่ามันติดอยู่กับสมาธินั้นมันก็จะมี ดังนั้นจึงมีทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ตลอดเวลาที่ทำอยู่อย่างนี้ ทำการเพ่งดูอารมณ์อยู่ด้วยจิตชนิดนี้ เพื่อเห็นความจริงอย่างนั้นๆ เขาเรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญา กลมเกลียวกันเป็นอันเดียวกันเหมือนกับเชือกเกลียวนั้น ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา หรือจะขยายเป็น ๘ อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ความหมายเดียวกันนั่นแหละ มันกลมเกลียวกันอยู่ เป็นสิ่งเดียว จึงเรียกว่าทำครบถ้วน ทำเต็มที่ ทำครบถ้วน สำหรับการที่จะเห็น คือวิปัสสนาสำหรับการที่จะเห็น เห็นคือวิปัสสนา การดูมันเป็นบุพภาคของวิปัสสนา การทำจิตให้เหมาะสำหรับจะดูนั้นเป็นสมาธิ ดังนั้นการตั้งใจทำให้จริงจังทุกอย่างอันนี้เป็นศีล เราก็มีศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ในตัวการกระทำ เพียงอย่างเดียวก็ได้ คือเพ่งดูสังขารอยู่อย่างเต็มที่ด้วยจิตชนิดนี้ ก็มีความเห็น มีการเห็นบ้างตามสมควร หรือถ้าจะพูดอย่างเอาเปรียบ ก็พูดได้ว่าความรู้ที่ให้เราทำเป็นอย่างนี้นั้นเป็นปัญญา เรามีความรู้จะทำอย่างนี้ได้นั้นคือปัญญาในขั้นแรกเริ่ม เริ่มต้น มันมีแล้ว มันมีแล้ว ทีนี้ถ้าได้เห็นอะไรแปลกๆออกไป แปลกออกไป มันก็เป็นเรื่องปัญญา ที่งอกงามออกไปกว่าจะถึงที่สุด นี่เรื่องของจิตตภาวนา การอบรมจิตมันมีอย่างนี้ ใจความมันอยู่ที่คำว่าวิปัสสนา คือดูแล้วเห็น วิปัสสนาจารย์มันก็อาจารย์ที่สามารถดูและเห็น อาจารย์ที่สามารถสอนเรื่องการดูและเห็น ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย จะต้องมีพื้นฐานอะไรเพียงพอ มันจึงจะทำได้ มีคนอวดดี เขาบวชมาถึงเขาก็ไปทำวิปัสสนาเลย แล้วอาจารย์ชนิดไหนจะสอนให้ได้ก็ไม่รู้ ผมไม่สามารถจะสอน แนะนำอะไรได้ ไอ้คนอวดดีตำหนิปริยัติ บวชแล้วเข้าป่าทำวิปัสสนาเลย มันว่าปริยัติเป็นเรื่องโง่ เรื่องบ้า เรื่องบอไม่ต้องเรียน ไปทำวิปัสสนาเลย ลองดู ไปทำดูมันจะได้หรือไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดี๋ยวนี้แล้วจะยิ่งไม่ได้ เพราะมันมีปัญหาเกี่ยวพันกันมาก ดังนั้นควรจะเรียนหลักปริยัติให้มันพอ พอสมควร ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ธาตุ๔ อะไรก็ตาม ให้มันรู้พอสมควร ให้รู้ว่ากิเลสมันเกิดอย่างไร เกิดเมื่อไหร่ ตามนัยยะแห่งปฏิจจสมุปบาท กิเลสเกิดเมื่อไหร่อย่างไร เมื่อมีผัสสะทางอายตนะแล้วมันโง่ ก็เกิดเวทนาโง่ เกิดตัณหา เกิดอุปาทานนี้กิเลสและความทุกข์มันก็เกิดขึ้น อย่างนี้ก็ต้องควรจะรู้ เป็นแนวทาง สำหรับที่จิตมันจะเดินไป อย่างคุณจะเดินทาง เดินถนนหนทางก็ต้องรู้แนวถนนหนทาง คนมันจะแล่นเรือในทะเล มันก็ต้องรู้แนวทิศทางของทะเล แม้คนที่จะขับเรือบิน มันก็ต้องรู้ทิศทางที่มันจะไป มันต้องได้รับความรู้ที่จำเป็นในเบื้องต้นพอสมควร ดังนั้นจะต้องเรียนความรู้เรื่องนี้พอสมควร แล้วก็จะง่ายขึ้น อย่าไปดูถูกว่านั่นความรู้ปริยัติ ไม่จำเป็น ป่วยการ หรือว่าเป็นเรื่องของคนอะไรไปก็ไม่รู้แล้วก็ไม่เรียนปริยัติ มีพระบางองค์มาขอเรียนกรรมฐานวิปัสสนา ถามว่าบวชเรียนเมื่อไหร่ บวชได้ ๒-๓ วัน ๒-๓ เดือน ไม่เคยเรียนธรรมะอะไรเลย บอกเราสอนไม่ได้นิมนต์กลับเถอะ มันไม่รู้ว่าจะสอนกันอย่างไร เลยบอกไปเรียนนักธรรมเอกให้ได้มาซะก่อนแล้วค่อยมาพูดกัน จะง่ายขึ้น เรื่องศีลเรื่องวินัยตามปกติก็ต้องเรียน เรื่องปาติโมกข์นี่ก็ต้องเรียน ไม่งั้นมันจะไม่เหมาะสม มันจะไม่มีความประพฤติทางกายสมาจาร วจีสมาจารที่ไม่เหมาะสม มันเหมือนกับสกปรก รกรุงรัง เกะกะไปหมด มันก็เดิน เดินไม่ได้ เดินลำบาก บวชแล้วก็อุตส่าห์ศึกษาเล่าเรียนเบื้องต้น โดยเฉพาะก็คือพระวินัย ทั้งที่เป็นปาติโมกข์ ทั้งที่เป็นอภิสมาจาร ให้มันรู้แล้วปฎิบัติ เรียนวินัยปาฎิโมกข์ให้รู้แล้วปฎิบัติ เรียนอภิสมาจารคือวินัยละเอียดอ่อนทั้งหลายให้รู้แล้วปฏิบัติ เรียกว่าสมบูรณ์ด้วยมารยาทและโคจร มีมารยาทดี โคจรคือรู้จักที่ควรไปและที่ไม่ควรไป ภิกษุเหล่านี้จะมีความนิ่มนวล อ่อนโยน ควรแก่การงานในทางกาย มันมีร่างกายที่ถูกต้อง ที่ควรแก่การงาน ด้วยการปฏิบัติวินัย ปฏิบัติวินัยมาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ ก็ปฏิบัติวินัย ทีนี้มันโง่ขนาดมันสวมรองเท้าเข้าไปกราบ ก็บอกไม่ต้องกราบ สวมรองเท้าไม่ต้องกราบ ไป ไป ไป บางคนมันสวมรองเท้าก็ไปถอดรองเท้าตรงหน้าผม มันโง่ขนาดนี้ จิตใจมันกระด้างขนาดนี้ มันควรถอดที่อื่นที่ไม่เห็นกันซิ ถอดรองเท้าที่อื่น ถ้าต้องการจะกราบก็ถอดรองเท้าที่อื่น ก็เข้าไปกราบอย่างนี้ก็ได้ ไม่ควรจะเข้าไปถอดรองเท้าตรงหน้าเลย ถอดใส่หน้าเลย คือบางทีก็ไม่ถอดเลย นี่มันโง่มาก จิตใจมันหยาบมาก จิตใจกระด้างมาก จิตใจกระด้างขนาดนี้ ทำสมาธิไม่ขึ้นหรอก ก็ไม่เป็น ก็ต้องการจิตใจที่อ่อนโยนสุภาพเป็นมุทุปสันนา ดังนั้นนี้เมื่อคุณศึกษาปาฏิโมกข์อย่างดี อภิสมาจารอย่างดี มันจะปรับปรุงกายสมาจาร วจีสมาจาร ให้นิ่มนวลอ่อนโยน เหมาะสมเป็นกัมมนียะ ทางร่างกาย ทางวาจา สำหรับจะไปทำสมาธิ ดังนั้นอย่าทำเล่นกับเรื่องศีลปาฏิโมกข์หรือศีลเหล่านี้ เมื่อมันไม่ได้เรียนมันก็ไม่รู้ ไอ้ความที่ไม่รู้นะไม่เป็นไร แต่ความที่มันกระด้าง เพราะมันไม่รู้ว่าจิตมันกระด้างนี่มันเสียหายหมด คนที่ไม่ถูกพระวินัยอบรมมาก่อนแล้ว มันจะมีความกระด้าง ทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ผู้ที่มีกายมีวาจาอันกระด้างนี้ ไม่เหมาะสมที่จะทำสมาธิ มันก็ทำไม่ได้ ทำไม่ค่อยจะได้หรือจะทำไม่ได้เสียเลย เพราะมันกระด้างเกินไป มันเหมือนกับสัตว์ป่าสัตว์เถื่อน มัน มันฝึกไม่ได้ มันต้องเอามาทำให้มันทรมาน ให้มันอ่อนโยน ให้มันยอมแล้วมันถึงจะฝึกได้ ดังนั้นจิตที่กระด้างเกินไป โง่เกินไป ทะลึ่งเกินไป เกินไปนี้ ทำสมาธิไม่ได้หรอก ไปชำระสะสางเรื่องอย่างนี้กันเสียให้มากพอ ให้มีกายสมาจารคือความประพฤติถูกต้องดีทางกาย ให้มีวจีสมาจารคือความประพฤติถูกต้องดีทางวาจาเป็นพื้นฐาน เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลปาฏิโมกข์ อาจาระคืออภิสมาจาร สมบูรณ์ด้วยมรรยาทและโคจร นี่พูดตามพระบาลีเขามีคำว่าอย่างนี้ ปาฏิโมกขะสังวะระสังวุโต อาจารสัมปันโน อาจารโคจรสัมปันโน นี่ เรียกว่ามีความรู้เบื้องต้นพอทุกอย่าง เช่นมีความพร้อมเหมาะสมทางกาย ทางวาจาที่จะไปทำสมาธิ แล้วมันจะมีผลอื่นๆต่อไปจากนั้นอีก ผู้ที่มีการศึกษาครบถ้วน จะทำได้ดี ทำได้ง่าย ทำได้เร็ว แต่ผู้ที่ไม่มีการศึกษาเสียเลย แล้วยังเข้าใจผิดอะไรบางอย่างอีก ทำไม่ได้ ดังนั้นพวกที่จะอบรมเป็นพวกวิปัสนาจารย์ ไปใคร่ควรดูให้ดี ว่าอะไรที่ยังไม่ได้ทำเลย อะไรที่มองข้ามหรือกระโดดข้ามมาเสียแล้ว ไปทำเสียใหม่ให้ครบถ้วน ในเรื่องทางจิตนั่น มันเนื่องกับเรื่องทางกายทางวาจาด้วยเสมอไป จะไม่สนใจเรื่องทางกายและทางวาจา จะไปสนใจแต่เรื่องทางจิตทางเดียวนั้นเป็นไปไม่ได้ มันจะมีความถูกต้องในการกินอยู่เป็นอยู่ชนิดที่ไม่ตามใจกิเลสนั่น มีการกินอยู่เป็นอยู่ หลับนอนอะไรก็ตาม ชนิดที่ไม่ตามใจกิเลสให้เป็นพื้นฐานให้มากๆก่อน ไปทำสมาธิมันจะง่าย เดี๋ยวนี้มันยังไม่ไหว ไอ้เรื่องมรรยาทและโคจร มันยังไม่ไหว ยังเล่นหัว ยังเห็นแก่กิน ยังเห็นแก่นอน ยังหยอกล้อกันอยู่ ยังถือมั่นถือรั้นอะไรกันอยู่ นี่มันไม่เหมาะสมไม่พร้อม ดังนั้นจัดการกับสิ่งเหล่านี้ ให้เรามีความ อ่อน อ่อนอ่อนโยน มุธุปสันนามันอ่อนโยน มันมีความอ่อนโยน นั้นมันง่ายที่จะเปลี่ยนแปลง จะดัดแปลง ต้องมีความอ่อนโยน มันถึงจะดัดแปลงได้ เช่นขี้ผึ้งทำให้มันร้อนหน่อย แล้วมันก็มีความอ่อน แล้วมันจะดัดแปลงเป็นอะไรได้ ถ้ามันแข็งมันก็ทำไม่ได้ มันหักหมด หรือจะได้ไม้ดัดไร่หรืออะไรก็ตาม มันต้องทำให้อ่อนได้ จะทำให้มันอ่อนได้ซะก่อน จะลนไฟหรือจะทำอะไรก็ตามให้มันอ่อนซะก่อน แล้วมันถึงจะดัดได้ นั้นเราอบรมชีวิตทั่วๆไป ให้มันมีมุทุปสันนาคือความอ่อนโยน เหมาะสมที่จะดัดไปตามกระแสแห่งพรหมจรรย์ มันก็จะง่าย มันจึงต้องถือศีล ถือปาฏิโมกข์อย่างดี นั้นจะเป็นเครื่องขูดเกลา ขูดเกลาหรือว่าลนไฟก็ตาม ให้มันอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกิน อยู่ หลับนอน นั้นแหละ พูดกันง่ายๆนี้ดีกว่า เรื่องปัจจัย ๔ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช นะอย่าให้มีความผิดพลาดใดๆเลย ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วความอ่อน อ่อนโยนจะมีขึ้นแยะแล้ว จะมีขึ้นมากแล้ว ถ้ามันยังมีปัญหาเรื่องกินอาหาร เรื่องเป็นอยู่ ชนิดที่มันเกะกะเก้งก้าง กระด้างอยู่ มันเป็นไปไม่ได้ เราจะมีสติ มีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญา มีการบังคับตัวมีอะไร เป็นพื้นฐานดีไปตั้งแต่ต้น ไปตั้งแต่ต้น จะให้อาจารย์คนหนึ่งคอยควบคุมไปหมด มันก็คงไม่ไหว มันต้องรู้ รู้ในส่วนที่ทำเองบ้าง ในส่วนที่จะรู้เองทำได้เอง มันก็ต้องทำได้เอง ในส่วนที่มันไม่อาจจะรู้ หรือต้องให้อาจารย์ช่วยแนะนำตักเตือนมันก็ได้ มันก็มีอยู่ส่วนหนึ่งแหละ แต่ส่วนที่จะค่อยๆทำไปเพราะการรู้การเรียนในเบื้องต้น มันก็มีมากเหมือนกัน มีมาก มันจะไปรบกวนกันก็เสียเวลาเปล่า ทำได้เอง ทีนี้พอบวชเข้ามา ก็รีบศึกษา รีบศึกษาให้รู้เรื่องวินัย เรื่องทางกาย ทางวาจา รีบศึกษา รีบปฏิบัติ จนไม่มีที่ติแล้ว ไม่มีที่ตำหนิแล้ว นั่นแหละเรียกว่าเหมาะสมที่จะไปทำในส่วนวิปัสสนา คือทำส่วนจิตกับส่วนปัญญา ไปอบรมในส่วนจิต แล้วก็อบรมในส่วนวิชาความรู้ ทิฐิหรือปัญญา ความคิด ความเห็น ซึ่งมันละเอียดยิ่งไปกว่าเรื่องทางร่างกายนี้มาก เป็นการเกลา ความรู้เบื้องต้น เรื่องศีล เรื่อง มันเหมือนกับการโกลน เขาเรียกว่าโกลน ถาก ถากอย่างโกลนๆๆๆ มันพอเข้ารูป แล้วจึงค่อยไปทำให้ดี เข้ารูป แล้วจึงไปขัดถูให้สวยงาม ให้เกลี้ยง ให้ชักเงา ให้แวววาว ให้สวยขึ้นมา นี่เรียกว่าเราพูดกันทั้งระบบ ซึ่งถ้าพูดโดยรายละเอียดแล้วต้องพูดกันเป็นวันเดือน เป็นเรื่องๆ เป็นเดือนๆ แต่นี้มาพูดกันคราวเดียว ชั่วโมงเดียว สองชั่วโมงนี้ มันก็พูดได้เพียงอย่างนี้ ดังนั้นรายละเอียดของส่วนไหน คุณก็ไปหาเพิ่มเติม เดี๋ยวนี้มันสะดวก หนังสือหนังหา ตำรับตำรามีเยอะแยะไปหมด เพียงเรียนนักธรรมโทให้ดีนะ ถ้าความรู้ทางนักธรรมโทดีจริงๆ สมบูรณ์จริงแล้วพอ พอที่จะไปเป็นผู้ปฏิบัติในป่า เป็นพระป่า เป็นวิปัสสนา แล้วถ้าถึงนักธรรมเอกดี มันก็ยิ่งดี แต่เดี๋ยวนี้มันเรียนขี้โกง เป็นขี้ช่อ มันโกงในโรงเรียน มันไม่มีความรู้ มันก็สอบได้ นักธรรมตรี นักธรรมโท อย่างนี้มันไม่มีหวังหรอก นักธรรมที่เรียนมาอย่างโกงๆ แล้วก็สอบได้ มันก็หลอกคนได้ แต่มันหลอกธรรมะไม่ได้ หลอกธรรมชาติไม่ได้ หลอกความจริงไม่ได้ นักธรรมตรีก็จะได้ทำให้ดีในส่วนศีล ในปาฏิโมกข์ ในอะไรต่างๆ นักธรรมโทก็รู้ธรรมะที่จะปฏิบัติเยอะแยะไปหมดในหลักสูตรนักธรรมโท เกินพอเสียอีก ถ้ารู้ทุกข้อที่มีอยู่ในหลักสูตรนักธรรมโท จะเกินพอเสียอีก ส่วนนักธรรมเอกนั้นก็ดีเหมือนกัน มันก็ไม่มีอะไรแปลกไปจากนักธรรมโท แต่มันพูดในรายละเอียดมากขึ้นเท่านั้น นี่ผมเรียกว่าพื้นฐาน รากฐานเบื้องต้น ควรจะมีอย่างนี้ แล้วก็มาถึงการ การตั้งจิต การตั้งใจ ตั้งจิต มุ่งหมายอะไร ถ้าว่าจะมุ่งหมาย ให้ถูก ให้ถูก ให้จริง ให้ตรง แล้วต้องมุ่งหมายเพื่อธรรมะ เพื่อธรรมะ เพื่อปฏิบัติธรรมะ หรือว่าเพื่อสนองพระพุทธประสงค์ อย่างนั้นก็มีหวัง แต่ถ้าเพื่อตบตาคน หาลาภหาผลแล้วฉิบหายทั้งนั้นแหละ ก็มันฉิบหายตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว คือมันหลอกลวงคนไปตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว มันจะไปในทางที่ดีที่ถูกไม่ได้ มันจะทำตนเป็นพระวิปัสสนา หรือวิปัสสนาจารย์นี่มันเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ใจ มันต้องอุทิศชีวิตถวายพระพุทธเจ้า ถวายพระธรรม ถวายพระสงฆ์ จริงๆ แล้วก็ทำไป มันจะเป็นไปได้โดยง่าย เพราะมีการอุทิศให้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เสียแล้ว ที่นี้มันเล่นไม่ซื่อนี่ มันจะทำอวดคนหรือมันจะทำตบตาคน แล้วมันก็ทำเพื่อลาภผล สักการะ มันก็ไม่พ้นไปจากเรื่องหลอกลวงคน หลอกลวงประชาชน อย่างนี้มันผิดเสียทีแรกแล้ว มันวินาศตั้งแต่จุดตั้งต้นแล้ว เป็นไปไม่ได้ มันต้องไม่มี ไม่มีการประพฤติพรหมจรรย์เพื่อลาภสักการะ พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้อย่างนั้นว่าพรหมจรรย์นี้ไม่ใช่เพื่อลาภสักการะเป็นอานิสงส์ แต่เพื่อการดับทุกข์เป็นอานิสงส์ ดังนั้นเราก็ต้องให้มันถูกตรง เพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่อลาภสักการะ พอความคิดเรื่องลาภสักการะเข้ามาแล้วมันก็วินาศทันที วินาศตรงนั้นเอง ไอ้เรือล่มเมื่อจอด มันยังได้ไปแล้วไปล่มเมื่อจอด แต่นี่มันล่มเมื่อออกเดิน เรือล่มเมื่อออกเดิน ออกเดินทาง เพราะว่าเจตนาไม่บริสุทธิ์ ความอุทิศชีวิตจริงๆเพื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หรือว่าเพื่อพระศาสนา อันนี้ก็จำเป็น มันก็เป็นความแน่นอนที่สุด เพราะเรื่องนี้มันเพื่ออย่างนี้ พรหมจรรย์นี้มันเพื่ออย่างนี้ ไม่ใช่เพื่ออาศัยหลอกลวงผู้อื่น มันต้องชำระเจตนาของตัวเอง ให้ถูกต้องให้บริสุทธิ์อย่างนี้เสียด้วย ที่เราจะมาสนใจกับวิปัสสนา จะเป็นลูกศิษย์หรือเป็นอาจารย์ก็ตามใจ มันต้องทำเจตนาให้บริสุทธิ์ มิฉะนั้นมันจะไม่ได้ ไม่ได้ตั้งแต่จุดตั้งต้นเลย คือว่าเต็มไปด้วยความผิดพลาดความวินาศตั้งแต่จุดตั้งต้น ก็ไม่เจริญงอกงามก้าวหน้าในพรหมจรรย์ วิปัสสนาเพื่อเราก็ได้ เพื่อเราพ้นทุกข์ก็ได้ ถ้าสูงไปจากนั้นก็วิปัสสนาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ นั่นมันชั้นอาจารย์ ช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ ถ้าก็เป็นวิปัสโกของตัวเองก็ช่วยตัวเองให้มันพ้นทุกข์ ก็วิปัสสนาเหมือนกัน เรียกว่าวิปัสสนาเหมือนกัน ครั้นเมื่อทำได้แล้วก็ช่วยเพื่อนมนุษย์กันให้พ้นทุกข์ นี่มันเป็นชั้นอาจารย์ ชั้นวิปัสสนาจารย์ เรากำลังอยู่ในชั้นไหน ขั้นไหนก็ทำให้มันถูกเรื่อง ถ้าให้พูดรวมๆกัน ทั้งเณร ทั้งพระบวชใหม่ บวชเก่า นี่พูดยากเรื่องนี้ ไปแยกเอาเอง นี่ผมเรียกว่า ถวายความรู้รวมๆกันไป ความรู้ชนิดที่ว่ามันเป็นเค้าโครงรวมๆกันไป มันไม่ใช่รายละเอียดในส่วนไหน เพราะเวลามันมีเท่านี้ ก็เรียกว่าถือเอาเค้าโครงให้มันถูกต้อง ถือเอาเจตนารมณ์จุดหมายให้มันถูกต้อง ให้มันถูกต้องเถอะ พอหัวใจมันถูกต้อง หัวใจของเรื่องมันถูกต้องแล้วก็ ทั้งหมดมันจะถูกต้อง ดังนั้นเราจึงพูดกันในส่วนที่เป็นความหมาย ในชั้นที่เรียกว่าเป็นหัวใจของเรื่อง ของคำว่าศีลก็ดี ของสมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี วิปัสสนาก็ดี มันมีใจความสำคัญของเรื่อง เราจับหัวใจของเรื่องนี้ให้ได้ แล้วเราก็มีความบริสุทธิ์จงรักภักดีต่อธรรมะ ไม่คดโกงคือไม่อาศัยการปฏิบัตินี้ เพื่อแสวงหาลาภ หาสักการะ หาชื่อเสียง พรหมจรรย์นี้มิใช่เพื่อลาภสักการะ เสียงสรรเสริญ ลาภะ สักการะ สิโลโก ลาภะ ลาภสักการะ สิโลโก นะเสียงสรรเสริญ อย่าทำเพื่อได้ลาภสักการะหรือเสียงสรรเสริญ มันจะ มันจะฆ่าคนนั้นตาย เช่นเดียวกับพวกที่ทรยศต่อปริยัติ ปริยัติมันกลายเป็นงูพิษกัดคนนั้นตาย ปริยัติที่ไม่ซื่อตรงใช้เป็นเครื่องหลอกลวง มันก็กลายเป็นปริยัติงูพิษกัดคนนั้นตาย อย่างนี้ก็มีพระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ ทีนี้ปฏิบัตินี่ ปฏิบัตินี่ ถ้ามันหลอกลวงคน ปฏิบัติเพื่อลาภสักการะ เสียงสรรเสริญแล้ว มันจะเป็นงูพิษ กัดตายตั้งแต่ทีแรกเหมือนกัน ได้เหมือนกัน ไม่มีหวัง ดังนั้นเพื่อให้มีหวัง ให้มีความสำเร็จ ก็ขอให้มันบริสุทธิ์ ถูกต้อง ซื่อตรงไปตั้งแต่จุดตั้งต้นเลย ตั้งแต่จุดตั้งต้นเลย และความซื่อตรง ความสุจริต ความจริง มันจะยึด ยึดหน่วงตัวมันเอง ไม่ให้ล้มละลายเป็นไปได้ ดังนั้นการที่อุทิศต่อธรรมะ บริสุทธิ์นั้นสำคัญมาก จะรวมเรียกว่าต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ได้ อันที่จริงมันพูดคำเดียวก็ได้ต่อธรรมะนั่นเอง ต่อธรรมะที่เราปฏิบัตินั่นเอง ก็เรียกว่าพอ ประพฤติธรรมะให้สุจริต ธัมมัง สุจริตตัง จเร ประพฤติธรรมให้สุจริต บางทีประพฤติธรรมคดโกง มันไม่สำเร็จ
เป็นอันว่าโครงเรื่อง หัวใจของเรื่องมันมีอยู่อย่างนี้ แล้วผมก็คิดที่ดีที่สุดเท่าที่จะพูดอะไรให้เป็นประโยชน์ ในวันนี้ก็พูดได้อย่างนี้หรือเพียงเท่านี้ในวันแรก แต่ว่าหลักเกณฑ์อันนี้ใช้ได้ตลอดชีวิต ที่เหลืออยู่นอกจากนี้ก็คือว่าสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อม ปัจจัยแวดล้อมอะไรต่างๆ เช่นคุณเทียบเคียงดูว่าอยู่ที่นี่กับที่กรุงเทพฯมันต่างกันอย่างไร อยู่ที่นี่ธรรมชาติช่วยได้มาก ธรรมชาติแวดล้อมได้มาก ที่อยู่ที่กรุงเทพฯนะ ธรรมชาติมันจะเป็นศัตรูด้วยซ้ำไป มันจะไม่ช่วยแวดล้อม มันจะช่วยทำลาย พยายามหาสิ่งแวดล้อมให้มันดี หรือว่าจัดการปรับปรุงให้มันเข้ากับสิ่งแวดล้อม อย่าให้มันเป็นโทษ แต่ให้มันเป็นเครื่องสนับสนุน ดังนั้นการอยู่ในกรุงเทพฯมันก็ยากกว่า ลำบากกว่าการอยู่ในป่า คือเราเห็นว่า เราจะเห็นได้ว่าพระศาสดาทุกๆศาสนาล้วนแล้วแต่ตรัสรู้ในป่าทั้งนั้น ทุกศาสนา ทุกศาสดา เพราะว่ามันง่ายกว่าในเมือง อยู่ให้ต่ำ ด้วยการเป็นอยู่ที่มันต่ำ ทางกายทางวัตถุนี้ให้มันต่ำ ไอ้ทางจิตมันสูงเองแหละ ถ้าอยู่ทางกาย อยู่ดีกินดี สนุกสนานหอมหวนชวนอร่อย จิตมันต่ำเองแหละ จิตมันทรามเอง ไม่ต้องสงสัย ถ้าอยากให้จิตสูง ก็เป็นอยู่ทางกายให้มันต่ำ อย่างที่เราจะเห็นได้ว่า มันจะโดยบังเอิญหรือโดยอะไรก็ช่างมันเถอะ แต่มันแสดงให้เห็นได้แล้วว่า พระพุทธเจ้านี้ประสูติกลางดิน พระพุทธเจ้าตรัสรู้กลางดิน พระพุทธเจ้าสอนกลางดิน อยู่กลางดิน พระพุทธเจ้านิพพานกลางดิน เอานั้นแหละเป็นหลัก เป็นทิฏฐานุคติ เขาเรียกทิฏฐานุคติ หรืออุทาหรณ์ เอานั้นแหละเป็นหลัก แล้วเราก็จะต่ำๆเหมือนพระพุทธเจ้า ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน ตายกลางดิน อย่าไปหวังนั่นนี่ ให้มันกลายเป็นเรื่องของฆราวาสไปเสีย ไม่ใช่ของบรรพชิต ของบรรพชิตต้องอยู่กันต่ำๆ ไม่แปลก อย่าเห็นว่าความต่ำนี้มันแปลก หรือว่ามันน่ารังเกียจ ไอ้ความต่ำๆนั่นแหละ มันมีประโยชน์ มันจะไม่สร้างฐานของกิเลส เป็นอยู่ต่ำๆ มันไม่สร้างฐานของกิเลส ถ้าอยู่ดีกินดีแล้ว มันก็สร้างฐานของกิเลส คำว่าอยู่ดีกินดี มันใช้กันไม่ได้หรอกกับพวกเรา พวกเราที่เป็นพระ บรรพชิต กินอยู่แต่พอดี กินอยู่เท่าที่พอดีใช้กันได้กับพวกบรรพชิต กินดีอยู่ดีแล้วมันบ้าเลย มันทำลายหมด กินอยู่เท่าที่พอดี กินอยู่แต่พอดี ต่ำไว้เท่าไหร่ได้ก็เป็นการดี นี่มันจะรอดไปได้ ยิ่งอวดดีแล้วยิ่งหมดเร็ว ยิ่งอวดดีแล้วยิ่งฉิบหายเร็ว ยิ่งวินาศเร็ว อย่ามีเรื่องอวดดีเป็นอันขาด ไม่เท่าไหร่มันหมดดีแล้วมันก็วินาศ
อันนี้ก็พูดกันชั่วโมงครึ่ง พอสมควรแก่เวลา เอาไปใคร่ครวญดูทุกข้อ ทุกข้อ โดยเฉพาะประเด็นที่มันแปลกหรือมันฝืนความรู้สึก ประเด็นที่มันขัดกับความรู้สึกของเรานี่แหละ ต้องเอาไปศึกษาใคร่ครวญ ให้มันหมดข้อขัดแย้ง ให้มันเรียบร้อยราบรื่นตลอดไป ในที่สุดนี้ผมขอแสดงความหวังว่า ให้ทุกองค์กล้าหาญ ทุกองค์กล้าหาญ ไม่อ่อนแอ ไม่ขี้ขลาด ไม่ต้องอ้างคุณไหนมาช่วย ไม่ต้องอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไหนมาช่วย ให้ทุกองค์เข้มแข็ง กล้าหาญ มันก็สำเร็จ เพื่อพระพุทธเจ้า เพื่อบูชาพระคุณของพระพุทธเจ้าด้วย เพื่อความหลุดพ้นของเราด้วย เพื่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายก็จะได้รับประโยชน์ด้วย ถ้าตั้งใจกันอย่างนี้แล้วก็สำเร็จ ไม่ต้องให้ใครให้พรหรอก ความดีที่ทำนะมันเป็นพร แล้วมันก็พาไปได้เอง เพราะฉะนั้นจึงหวังว่าทุกองค์จะมีความงอกงามเจริญก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอยู่ ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ.