แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เอาแล้ว ได้ยิน พอได้ยินแล้วกันนะ อย่าให้เกินจำเป็น รำคาญ
ครั้งที่แล้วมา เราพูดกันถึงเรื่องจิตซึ่งทำหน้าที่ ตามหน้าที่ ตามกฎเกณฑ์ ตามเหตุปัจจัย โดยเฉพาะเรื่องการปรุงแต่งโดยลักษณะปฏิจจสมุปบาท เรื่องนั้นน่ะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด คือมันเป็นตัวพุทธศาสนาน่ะ แม้จะมีคำว่าเป็นอาทิ พรหมจรรย์ เป็นจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ มันก็หมายถึงจุดตั้งต้นสำหรับการเรียนการศึกษา การปฏิบัติ แต่ว่าเรื่องนั้นทั้งเรื่องน่ะ คือมันเป็นทั้งหมดของเรื่องที่เป็นตัวพุทธศาสนา คือมันเป็นเรื่องที่ว่าความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ความทุกข์ดับลงไปอย่างไร เท่านั้นมันๆๆๆหมดแล้ว มันพอแล้ว นอกนั้นเป็นเรื่องประกอบ เป็นเรื่องปลีกย่อย เป็นเรื่องฝอย ซึ่งมันก็มีรายละเอียดมากเหมือนกัน แต่ว่าเราก็ไม่จำเป็นจะต้องรู้ เรียกว่าทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด เรารู้เท่าที่จะดับทุกข์ได้ เท่าที่จำเป็นแก่การที่จะดับทุกข์ แล้วมันก็พอ นี่ให้รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทในฐานะที่เป็นตัวของพุทธศาสนา อย่างที่ตรัสว่า เห็นปฏิจจสมุปบาทก็คือเห็นธรรม เห็นธรรมะนะ เห็นธรรมะก็คือเห็นตถาคต เห็นตถาคตก็คือเห็นธรรมะ เห็นธรรมะคือเห็นปฏิจจสมุปบาท ฉะนั้นคำว่าธรรมที่ตั้งไว้ในฐานะเป็นตัวแทนตถาคตนั่นมันคือธรรมเรื่องปฏิจจสมุปบาท
นี้การตรัสรู้ของพระองค์ก็คือรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ไปดูบาลีตอนที่ว่าตรัสรู้อย่างไร ท่านมีคำถามขึ้นมาตามลำดับตามเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ทุกข์มาจากอะไร ทุกข์ทั้งปวงมาจากอะไร มาจากชาติ ชาติมาจากภพ ภพมาจากอุปาทาน อุปาทานจากตัณหา ตัณหาจากเวทนา จนกระทั่งว่าอวิชชา มันไปจบอยู่ที่อวิชชา การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าคือตรัสรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ปรากฏชัดอยู่โดยตัวหนังสือทุกคำเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท แต่เราก็มักจะได้ยินกันว่าเรื่องอริยสัจ ๔ ข้อนี้อย่าประหลาดใจเพราะว่าเรื่องอริยสัจ ๔ นั่นแหละ ถ้าขยายความออกไปให้เต็มที่มันก็คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท ทุกขสมุทัยก็คือปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์ ทุกขนิโรธก็คือปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธ ส่วนทุกข์นั่นรู้กันอยู่แล้ว ทีนี้ข้อปฏิบัติก็คือทางที่ใช้ดับทุกข์ ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ ประการ ถ้าว่าถ้าอยู่อย่างมีองค์ มีมรรคมีองค์ ๘ ประการและไม่มีอวิชชา วิชชาไม่มีโอกาส อวิชชาไม่มีโอกาส อวิชชาไม่เกิด เมื่ออยู่อย่างอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ความทุกข์ก็ไม่เกิด จึงเรียกว่าทางดับทุกข์ นี่เป็นเรื่องที่อยากจะเรียกว่า เป็นเรื่องจิตด้านนอกที่มันแสดงตัวของมันในการทำหน้าที่การงานของมัน จิตมันเป็นอย่างนั้น เราดูกันด้านนอก เมื่อมันเคลื่อนไหวทำหน้าที่ ที่ให้เกิดทุกข์ก็ ก็ดี ให้ดับทุกข์ก็ดี เป็นปรากฏการณ์ต่างๆของจิต นี่เป็นเรื่องที่เราพูดกันมาแล้ว
ทีนี้วันนี้ก็อยากจะพูดให้ลึกเข้าไปกว่านั้น คือลึกเข้าไปข้างใน ในเรื่องของจิต กระทั่งว่ามันเป็นจิตขึ้นมาอย่างไร กระทั่งว่าไม่เคยมีกิเลสก็เกิดกิเลสได้อย่างไร แล้วก็ไม่เคยมีทุกข์ก็เป็นทุกข์ขึ้นมาได้อย่างไร นี่สังเกตจากภายในอีกเหมือนกันแหละ เรียนจากภายใน สังเกตจากภายในเหมือนกันแหละ แต่ว่ามันยาก มันยากกว่าที่แล้วๆมา ซึ่งเป็นความรู้สึกที่รู้สึกได้โดยตรง ที่จิตรู้สึกได้ แล้วลึกไปกว่านั้นมันไม่ใช่เกี่ยวกับ ไม่ค่อยจะเกี่ยวกับความรู้สึก มันเกี่ยวกับธรรมชาติซึ่งเรียกกันว่าจิต
ถ้าจะพูดกันเรื่องนี้ คุณจะต้องเข้าใจคำว่า ธาตุ ธาตุ ธา-ตุ ธา-ตุที่แปลว่าธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อะไรก็ล้วนแต่เป็นธาตุ ต้องเข้าใจไอ้ ตั้งแต่สิ่งนี้เป็นต้นไป ภาษาอังกฤษเขาใช้คำแปลว่า Element ดูได้จากดิกชันนารี่ทั่วไป แล้วดูคำอธิบายของมัน มันก็ ก็เข้าใจตรงกันแหละ คำว่า Element มันก็หมายถึงไอ้อันสุดท้าย ระดับสุดท้าย ชิ้นสุดท้ายที่เราจะแบ่งแยกได้ เขาใช้คำว่าอย่างนั้น แล้วก็เป็นรากฐานชั้น ชั้นสุดท้าย แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะตรง จริงตามทุกตัวอักษร เอาความรวมๆกันว่า ไอ้สิ่งสุดท้ายเท่าที่มนุษย์จะติดตามลงไปถึง ก็เรียกว่าธาตุหนึ่งๆ แล้วก็มีหลายธาตุ หลายๆธาตุประกอบกันเข้าเป็นกลุ่มแห่งธาตุ จนมันทำหน้าที่ของมันได้แหละ ถ้าว่าธาตุเหล่านั้นไม่ได้จับกลุ่มกันตาม ตามส่วนที่ถูกต้องหรือที่จำเป็นแล้วมันก็ไม่ทำหน้าที่ของมันได้
ฉะนั้นเราจะต้องรู้ว่ามันมีธาตุอะไรบ้าง มันก็แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่ายอีกเหมือนกัน ธาตุฝ่ายที่เป็นวัตถุหรือเป็นรูปธาตุ อย่างเราเรียกกันธรรมดาๆว่าวัตถุธาตุ ธาตุฝ่ายวัตถุ ธาตุฝ่ายรูปธาตุ และอีกอันหนึ่งก็ธาตุฝ่ายจิต เรียกว่านามธาตุ ข้อนี้ต้องอย่าประหลาดใจ ที่ว่าไม่เคยได้ยินได้ฟังว่า จิตก็เป็นธาตุ ร่างกายก็เป็นธาตุ อะไรๆก็เป็นธาตุ นี่ๆรู้เสีย เสียเลยสิ รู้เสียเดี๋ยวนี้เลยก็ได้ว่าในทางพุทธศาสนาแล้วก็ ไม่ถือว่ามีอะไรที่มิใช่ธาตุ เพราะมันเป็นไอ้จุดอันสุดท้ายที่จะค้นให้ลึกลงไปกว่านั้นอีกไม่ได้หรือไม่จำเป็นนั่นน่ะก็เรียกว่าธาตุ มันมีไอ้ความหมายชนิดนั้นอยู่สำหรับสิ่งทุกสิ่งแหละ ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจที่ว่ามันมีธาตุนับไม่ไหว มันจะมากกว่าธาตุทางวิทยาศาสตร์ ทางฝ่ายวัตถุ ที่เขาว่าตั้งร้อยกว่าธาตุ ก็ยังจะไม่ ไม่มากเท่าไอ้ธาตุในฝ่ายธรรมะ หมายความว่าหรือพูดได้ว่า ถ้าอะไรเป็นสิ่งที่มนุษย์รู้จักได้ในฐานะเป็นสิ่งๆหนึ่ง เป็นสิ่งที่รู้จักได้อย่างหนึ่งแล้วก็มันเป็นธาตุทั้งนั้นแหละ เพราะว่าสิ่งนั้นเมื่อค้นลงไปแล้วมันก็จะพบไอ้จุดสุดท้ายของมันที่ว่ามันทำหน้าที่อะไร โดยลักษณะอย่างไร เพราะฉะนั้นมันจึงน่าหัวนะ เอาล่ะ ตั้งแต่ว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ซึ่งเป็นฝ่ายวัตถุธาตุนี่ แล้วก็มีธาตุ เวทนา เวทนาธาตุ สัญญาธาตุ สังขารธาตุ วิญญาณธาตุ กระทั่งว่าธาตุสุข ธาตุทุกข์ ธาตุไม่สุขไม่ทุกข์ กระทั่งว่าธาตุหญิง ธาตุชายนี่ กระทั่งว่าธาตุตา ธาตุหู ธาตุจมูก ธาตุลิ้น ธาตุกาย ธาตุใจ แล้วข้างนอกก็เป็นรูปธาตุ สัททธาตุน่ะคือธาตุ ธาตุรูป ธาตุเสียง ธาตุกลิ่น ธาตุรส ธาตุโผฏฐัพพะ ธาตุธรรมารมณ์ ทีนี้มันทำหน้าที่มันก็เป็นผัสสะธาตุ เวทนาธาตุ สัญญาธาตุ สังขารธาตุ วิญญาณธาตุ ถ้ามันเป็นสุข ความรู้สึกที่เป็นสุขมันก็มาแต่สุขธาตุ ถ้ามันเป็นทุกข์มันมาแต่ทุกขธาตุ อทุกขมสุขธาตุ หรือจะแยกเป็น ๕ ว่าเป็นโสมนัสธาตุ โทมนัสธาตุ อุเบกขาธาตุ อันนี้แล้วแต่จะยกอะไรขึ้นมาพิจารณา สิ่งนั้นภายใต้นั้นส่วนลึกสุดของมันเป็นธาตุชนิดหนึ่ง
ธาตุตา ธาตุหู ธาตุจมูก ธาตุลิ้นนี่ คือว่าตานี่ มันไปสุดอยู่ที่ธาตุตา ซึ่งมันจะมีประจำอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าตา ไอ้ธาตุตามันก็ทำหน้าที่ของมันได้เมื่อมันได้เหตุปัจจัยครบถ้วนนะ มันก็เห็นได้ ธาตุหูก็เหมือนกัน ถ้าเหตุปัจจัยของมันครบถ้วนมันก็ได้ยินได้ เหตุปัจจัยในที่นี้ก็คือไอ้ส่วนที่เป็นรูปธาตุน่ะ ที่เป็นที่ตั้ง เช่นไอ้ตานี่มันก็มีระบบประสาท ระบบประสาทมันก็ตั้งอยู่ที่เนื้อหนังที่เป็นไอ้ก้อนตา เป็นเนื้อตา เป็นๆๆทางร่างกายน่ะ ฝ่ายร่างกาย และปัจจัยอื่นๆก็ครบหมดแล้ว และก็ธาตุตาซึ่งมันมีอยู่ในนั้นน่ะ มันก็ทำหน้าที่ของมัน คือเห็นได้ นี่ให้พูดเป็นที่เข้าใจเสียทีหนึ่งก่อนว่า คำว่าธาตุน่ะในภาษาธรรมะมันแปลกอย่างนี้ มันแปลกจากที่เคยได้ยินได้ศึกษากันมาอย่างนี้ เราเรียนวิทยาศาสตร์สมัยนี้มันก็มีแต่ธาตุทางวัตถุ กลายเป็นธาตุทางวัตถุ ธาตุทางเคมีทั้งหลายหมด ไม่เคยได้ยินว่าธาตุตา ธาตุหู ไม่ได้ยินว่าธาตุสุข ธาตุทุกข์ ไม่ได้ยินอะไรอีกหลายๆธาตุ ธาตุจิตนี้ก็ไม่ได้เคยได้ยิน นั่นน่ะทำให้รู้ว่าในทางธรรมะนี่เขามันเป็นธาตุหมด ไม่มีอะไรที่มิใช่ธาตุ ความหมายคือว่ามันเป็นอันสุดท้ายที่เราจะแยกออก ออกไปได้ การแยกออกไปๆๆ มันก็ไปสุดอยู่ตรงจุดที่เรียกว่าธาตุ แล้วก็ไม่ต้องแยกอีกต่อไป ไม่จำเป็นที่จะต้องแยกอีกต่อไป เรียกมันเสียว่าธาตุๆหนึ่งก็แล้วกัน
ทางไอ้การศึกษายุคปัจจุบันนี้มันก็มีแต่เรื่องทางวัตถุ แต่ทางฝ่ายธรรมะนั้นมันมีเรื่องทางจิต คือมีธาตุทางจิตด้วย และยังมากไปกว่านั้นอีกคือ ไม่ใช่วัตถุ ไม่ใช่จิต เช่นนิพพานธาตุ ไม่ใช่ ไม่ใช่ธาตุทั้งหลายเหล่านี้ เป็นๆธาตุของนิพพาน เรียกว่านิพพานธาตุ แล้วยังแบ่งแยกได้เป็นหลายลักษณะ แม้ที่สุดแต่ไอ้ความว่าง สุญญตานั่นน่ะ เรียกว่าว่าง ก็ๆเรียกว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน ความหมายอย่างหนึ่งน่ะ อย่างหนึ่ง มันก็เป็นธาตุอย่างหนึ่งๆ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธาตุ ที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ก็อย่างที่พูดถึงทั่วไปนะ ที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เช่นนิพพานนี่ก็เป็นธาตุ แล้วแม้แต่ความว่างจากสิ่งทั้งปวงก็ยังเป็นธาตุ นี่เข้าใจ เข้าใจข้อนี้กันก่อนว่าล้วนแต่มีธาตุ เป็นธาตุ แต่ละธาตุทำอะไรไม่ได้ตามลำพังต้องรวมกันกับธาตุอื่น แล้วก็ต้องมีเหตุปัจจัยเพียงพอ เช่นว่าธาตุตานี่ มันก็เห็นไม่ได้ถ้ามันไม่มีไอ้ธาตุรูปที่จะเข้ามาเนื่องกันกับตา พอตาถึงเข้ากับรูป ไอ้รูปธาตุ เป็นรูปธาตุ ตาก็เป็นจักษุธาตุ แล้วมันทำให้เกิดหน้าที่หรือว่าปรากฏออกมาเป็นวิญญาณธาตุ คือๆวิญญาณ ธาตุวิญญาณที่มันมีอยู่ตามธรรมชาติ มันก็ปรับตัวขึ้นมาเป็นวิญญาณ เป็นวิญญาณที่จะทำหน้าที่รู้สึกที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น แม้แต่วิญญาณนั้นมันก็เป็นธาตุชนิดหนึ่งเหมือนกัน ธาตุทั้งหลายเตรียมพร้อมอยู่ เรียกว่าอยู่ในที่ทั่วไปก็ได้ แต่มันจะยิ่งกว่านั้นเสียอีก คือธาตุทั้งหลายเต็มไปหมด
ถ้าสรุปเหลือแต่สองก็คือว่าธาตุที่มีการปรุงแต่ง เขาเรียกว่าสังขตธาตุ ธาตุที่เป็นได้เองไม่มีการปรุงแต่งเรียกว่าอสังขตธาตุ อสังขตธาตุบางทีก็เรียกว่าวิสังขาร ไอ้สังขตธาตุที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งนั้น บางทีก็เรียกว่าสังขาร ฉะนั้นคำว่าสังขารในที่นี้กว้างหมด ไม่ยกเว้นอะไร ทุกสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมาเรียกว่าสังขารหมด นี่การแบ่งไอ้สิ่งทั้งปวง ในทางธรรมะนะ ก็จะแบ่งเป็นไอ้ ๒ ธาตุ ธาตุที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง มีการปรุงแต่งรวมกันอยู่หลายๆอย่างนี่เรียกว่าสังขตธาตุ ได้แก่ทุกสิ่งยกเว้นพระนิพพานอย่างเดียว ส่วนพระนิพพานนั้นเป็นอสังขตธาตุ ไม่ๆมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง อยู่ในสภาพที่ไม่อาจจะปรุงแต่ง ไม่อาจจะถูกปรุงแต่ง หรือไม่อาจจะปรุงแต่งสิ่งใด จึงเรียกว่าวิสังขาร ไม่มีสุ่งใด สิ่งใดปรุงแต่งนิพพาน และนิพพานก็ไม่ปรุงแต่งสิ่งใด อะไรทำหน้าที่อย่างนี้ก็จัดเป็นวิสังขาร หรืออสังขตะ
ฝรั่งเขามี ๒ คำที่พอจะคล้ายๆกัน แต่มัน แต่ๆจะเอาว่าคล้ายกันทีเดียวมันก็ไม่ได้ เพราะมันๆๆๆ คือมันไม่เท่ากันน่ะ ไอ้ความรู้สมัยใหม่กับความรู้แบบโบราณเขานั้น เขาเรียกว่าสิ่งที่มีปรากฏการณ์ที่มนุษย์สัมผัสได้น่ะ สัมผัสโดยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้นั่น สิ่งที่มีปรากฏการณ์ นี่คล้ายๆกับว่าสังขตธาตุแหละ เรียกเป็นภาษานั่นว่า Phenomenon Phenomenon ถ้าเป็นพหูพจน์ว่าเป็น Phenomena ถ้าเป็นเอกพจน์ว่า Phenomenon ไอ้ Phenomenon นี่คือสิ่งที่มีลักษณะอะไรต่างๆเหมือนกับคำว่าสังขตธาตุ หรือสังขาร คือมันเป็นสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง มีปัจจัยกระทำได้ มีอะไรๆกระทำแก่มันได้
ทีนี้มีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามโดยประการทั้งปวงกับ Phenomenon นี่เขาเรียกว่า Noumenon Noumenon ผมอ่านดูแล้ว อ้าว, รู้สึกว่า เอ่อ, นี่มันๆจะเหลือ มันๆจะมีคู่นี้ มีคำคู่ๆนี้ที่จะพอเปรียบกันได้กับคำว่าสังขตะและอสังขตะ สังขตธาตุและอสังขตธาตุ คือสิ่งที่มีอะไรปรุงแต่งได้ สัมผัสได้ รู้สึกได้ โดยการสัมผัสธรรมดาของคนเรานี่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่ แต่มีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามโดยประการทั้งปวง จนเรียกว่ามันไม่ต้องการ ไม่ๆเกี่ยวข้องกับมนุษย์ หรือมันจะไม่ ไม่ๆต้องมายุ่งกัน แต่เขาก็มีการพูดถึงสิ่งนี้ มันเป็นการพูดโดยการคำนวณทางปรัชญาก็ได้ โดยถือว่าเมื่อสิ่งชนิดนี้มีอยู่ ไอ้สิ่งที่ตรงกันข้ามมันก็จะต้องมี อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ เขาจึงมีคำว่า Phenomena กับ Noumenon แล้วก็มีลักษณะเหมือนกันแหละ ไอ้อสังขตะหรือ Noumenon นี่จะมีแต่เพียงเดี่ยว ไม่มีพหูพจน์ แต่ถ้าว่ามันเป็นสังขตะ มากมายนับไม่ไหว มันจึงมีศัพท์สำหรับพหูพจน์ เราก็ลองคิดดูว่าไอ้สิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเป็นอย่างไร แล้วถ้ามันไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งมันจะเป็นอย่างไร มันก็อยู่ในลักษณะที่เรียกว่าต้องคำนวณอยู่ด้วยเหมือนๆกันน่ะ เพราะมันๆๆสัมผัสไม่ได้โดยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจโดยตรง มันสัมผัสได้โดยสติปัญญา แต่แม้ว่าเดี๋ยวนี้ยังจับตัวมันไม่ได้ ก็ถือเอาตามที่คำนวณว่ามันต้องมีสิ่งที่ตรงกันข้าม นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ว่านิพพาน เมื่อจิตนี้หลุดออกๆไปได้จากสิ่งผูกพันแล้ว จิตชนิดนั้นรู้สึกต่อนิพพานได้ ไม่ใช่ว่าสร้างนิพพานขึ้นมาได้โดยจิตนั้น ไม่ใช่ ไอ้นิพพานนั้นเป็นธาตุชนิดนั้นน่ะ เป็นนิพพานธาตุ ฉะนั้นมีอยู่แล้ว นิพพานสัมผัสได้ รู้สึกได้ แต่ก็ไม่มีผลอะไรแก่นิพพานนั้น เช่นจะไม่ทำให้นิพพานนั้นแหว่งไปนิดหนึ่ง ลดลงไปนิดหนึ่ง หรือเพิ่มมากขึ้นนิดหนึ่งอย่างนี้ก็ไม่มี จึงเรียกว่าอสังขตะ ปัจจัยทำไม่ได้ สิ่งที่ปัจจัยอะไรๆทำไม่ได้ เรียกว่าอสังขตะ ความหมายเดียวกับอกตะ อกตะ ปัจจัยทำไม่ได้ อสังขตะ ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้
นี่ก็มาธาตุ ธาตุ สังขตธาตุหรือทุกสิ่งที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มีปัจจัยปรุงแต่งให้รวมกันเข้า ให้แยกสลายจากกัน ให้เปลี่ยนแปลงอย่างนั้น ให้เปลี่ยนแปลงอย่างนี้ ดูแล้วน่าทุเรศเวทนา แล้วก็เรียกว่าไม่ใช่ตัวตน ทีนี้อีกพวกหนึ่งซึ่งมีเพียงสิ่งเดียวอย่างเดียว เพราะมันไม่ๆเป็นสิ่งที่อะไรมารวม ไม่ใช่เป็นการรวมของของหลายสิ่ง นี่ก็เรียกว่าอสังขตธาตุ ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ มันจึงมีเพียงธาตุเดียว อย่างเดียว อันเดียว ไม่อาจจะแบ่งเป็นส่วนประกอบต่างๆได้ เรื่องนี้จะต้องไว้เข้าใจต่อๆไปในโอกาสหน้า ซึ่งจะเข้าใจเดี๋ยวนี้ทั้งหมดพร้อมกันคงทำไม่ได้ แต่จำไว้ก่อนว่ามันมีหลักเกณฑ์คร่าวๆอย่างนี้ แล้วเก็บไว้ๆ ศึกษาต่อไปๆ จนเราจะมองเห็นมากขึ้น เห็นด้วยสติปัญญามากขึ้นว่า ไอ้สิ่งชนิดที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งได้ ประกอบกันอยู่ด้วยเหตุด้วยปัจจัย เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยนั้นมันมีอยู่พวกหนึ่ง ประเภทหนึ่ง ส่วนอีกประเภทหนึ่งนั้นตรงกันข้าม ไม่มีคำว่าเหตุ ไม่มีคำว่าปัจจัย สำหรับธาตุชนิดนั้น ไม่มีคำว่าปรุงแต่งใช้สำหรับไอ้ธาตุชนิดนั้น นี่จึงเรียกว่า อสังขตะ หรือวิสังขาร หรือคำอื่นอีกหลายคำ ซึ่งล้วนแต่แสดงว่าไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง
ทีนี้สมมติว่าเราหลับตา ดู หลับตาดู สิ่งเหล่านี้ต้องหลับตาดูนะ ถ้าลืมตาดู ดูไม่เห็นนะ ต้องหลับตาดู ดูธาตุทั้งหลายทั้งปวงส่วนที่เป็นสังขตธาตุ ให้เห็นให้มากที่สุดหรือทั้งหมด แล้วจึงหลับตาดูอสังขตธาตุ ซึ่งมันตรงกันข้าม คืออสังขตธาตุ หรือนิพพานธาตุ หรือวิสังขารธาตุ มันก็มีชื่อหลายคำเหมือนกัน แต่ว่ามันเป็นอันเดียว เรื่องเดียว อย่างเดียว ความหมายเดียว เมื่อมันไม่มีอะไรปรุง มันจึงเรียกว่าไม่มีการเกิดขึ้น ไม่มีการปรุง มันก็ไม่เปลี่ยนแปลง มันจึงเรียกว่ามันไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เกิดขึ้น ไม่ตั้งอยู่ ไม่ดับไป อย่างนี้เป็นต้น ดูโดยการเทียบเคียงเข้ากับสิ่งที่ตรงกันข้ามน่ะ ที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วลองเทียบเคียงดูสิ่งซึ่งไม่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เขาเรียกว่าธาตุ โลกุตตรธาตุ ตรงกันข้ามจากโลกียธาตุ ถ้าถามว่าอันไหนจริง ใครๆก็คงจะตอบได้ว่าอสังขตธาตุ ไอ้โลกุตตรธาตุนั่นมันจริง คือมันเปลี่ยนไม่ได้ อันไหนโกหก มันก็คือสังขตธาตุทั้งหลายซึ่งเปลี่ยนอยู่เรื่อย หลอกลวงอยู่เรื่อย ก็คือโกหก ฉะนั้นเราก็อยู่ด้วยธาตุที่โกหก คือเปลี่ยนแปลงเรื่อย หลอกลวงให้เข้าใจผิดอยู่เรื่อย นี่จิตมันก็มีปัญหาเกิดขึ้นอย่างไร มันก็มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะไอ้เรื่องของความทุกข์หรือความวุ่นวายอะไรต่างๆมันจึงอยู่แต่ฝ่ายนี้ๆ ฝ่ายสังขารน่ะ ฝ่ายสังขารธาตุ ฝ่ายสังขตธาตุ มันก็ไม่มีฝ่ายนู้น เพราะฝ่ายนู้นมันไม่เปลี่ยนอะไรเลย แล้วมันมีขึ้นมาโดยไม่ต้องมีเหตุ นี่เราๆเข้าใจยาก เราอาจจะไม่เชื่อ สิ่งที่ไม่มีเหตุปลุกปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็มีอยู่ได้ แล้วก็มีอยู่ตลอดกาล ถ้ามันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งมันก็ต้องชั่วขณะที่ปรุงแต่งอย่างหนึ่งๆแล้วเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทีนี้ไอ้ธาตุนั้นมันไม่มีอย่างนั้นนี่ เพราะฉะนั้นมันจึงอยู่ตลอดกาล เขาจึงเรียกว่าอนันต์ อนันตะ เป็นอนันตะ เราจะใช้คำใหม่อีกคำก็ได้ คืออนันตธาตุ ธาตุซึ่งไม่มีที่สุด คือไม่ดับ และก็อันตธาตุ ธาตุที่มีที่สุด คือดับอยู่เรื่อย ฉะนั้นเมื่อได้ยินคำว่านิพพานธาตุ ก็อย่าประหลาดใจสิ มันประหลาดเพราะคุณไม่เคยได้ยินเท่านั้นแหละ ถ้าได้ยินบ่อยๆเข้ามันก็ไม่ประหลาด มันก็เหมือนกับไอ้ธาตุธรรมดาสามัญทั่วไป
ที่เรารู้จักมาก ได้ยินกันมาก ก็คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ธาตุดินมีคุณสมบัติแข็ง ธาตุน้ำมีคุณสมบัติยึดตัว ธาตุลมมีอากัปเคลื่อนที่ ธาตุไฟมีอากะ อ่าๆ, คุณสมบัติเผาไหม้ ต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้มารวมกันเข้า จึงจะเกิดสิ่งขึ้นมาสักสิ่งหนึ่ง เช่นเป็นเนื้อ เป็นหนัง เป็นอะไรก็สุดแท้ ธาตุหลายธาตุประกอบกันเข้าแล้วเกิดเป็นสิ่งหนึ่งๆขึ้นมา หรือว่ามันจะพูดอย่างสมัยใหม่หน่อยว่า มันเป็นเซลล์ขึ้นมา แล้วเซลล์ชนิดนั้น แล้วเซลล์ชนิดโน้น แล้วเซลล์ชนิดนู้นอีก มันก็ปรุงกันเข้าเป็นเนื้อ เป็นหนัง เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แล้วเป็นไอ้ส่วนประกอบทุกส่วนของร่างกายอย่างนี้ นี่เรียกว่าธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วก็ไอ้ร่างกายนี้ เมื่อๆๆถูกส่วนกันแล้วมันก็เป็นออฟฟิศ ใช้คำว่าออฟฟิศ เข้าใจง่าย เป็นสำนักงานให้ๆธาตุจิตธาตุวิญญาณน่ะมาทำงาน
ทีนี้อากาศนั่นน่ะคือความว่าง ที่ว่างสำหรับให้สิ่งอื่นตั้งอยู่ ไอ้ธาตุนี้อธิบายยาก จะอธิบายเป็นสุญญธะ สุญญะ อ่าๆ, สุญญธาตุ ว่างจากกิเลสมันก็ไม่ ก็ไม่ถูก แต่มันก็ต้องรวมอยู่ในๆข้อนั้นแหละ คำว่าที่ว่างน่ะเพราะว่ามันต้องมีที่ว่างสำหรับจะให้สิ่งต่างๆตั้งอยู่ ถ้าไม่มีที่ว่างแล้วมันจะ อะไรมันจะตั้งอยู่ได้ล่ะ เพราะฉะนั้นมันต้องมีที่ว่าง ธาตุว่าง เป็นที่ตั้งของธาตุทั้งหลาย แม้ว่างในความหมายวัตถุนี่ เช่นนี้มันมีๆที่ว่าง ไอ้สิ่งนี้มันมาๆๆตั้งอยู่ตรงนี้ได้ เหมือนเรามานั่งกันอยู่ที่นี่ได้ มันก็คือมานั่งอยู่บน อยู่ในความว่างนะ เพราะฉะนั้นความว่างนั่นคือเป็นธาตุที่รองรับไอ้ทุกๆธาตุ ถ้าว่างทางวัตถุก็ว่างคือไม่มีอะไร ถ้าว่างทางจิตทางไอ้วิญญาณก็คือว่าไม่มีความหมายแห่งตัวตน
ทีนี้ ๖ ธาตุน่ะ ก็มี ๖ ธาตุน่ะ ดิน น้ำ ลม ไฟนี่เป็นส่วน เป็นส่วนเนื้อส่วนตัวของฝ่ายวัตถุ แล้วว่างสำหรับให้ไอ้ธาตุเหล่านั้นตั้งอยู่ได้ แล้ววิญญาณธาตุสำหรับจะมาทำงานไอ้ที่รูปธาตุมันๆประกอบกันเข้าอย่างถูกต้องแล้ว เช่นต้องมีการประกอบกันเข้าเป็นร่าง เป็นโครงร่างของอะไรก็ได้ ที่จะเป็นที่อาศัยของจิต ของวิญญาณธาตุ เช่นคนนี่ก็เห็นได้ชัด มันอาศัยไอ้โครงที่สร้างขึ้นเป็นคน สัตว์ก็เหมือนกัน บางอย่างเราก็ไม่รู้ แต่เดี๋ยวนี้เขารู้กันว่า แม้ต้นไม้นี้มันก็มีไอ้วิญญาณธาตุเข้าไปอาศัยอยู่เหมือนกัน แต่ว่ามันอย่างอ่อน อย่างเลว เทียบกับคนไม่ได้
เดี๋ยวนี้เขามีความรู้แขนงหนึ่งซึ่งทำการค้นไอ้เรื่องต้นไม้มีๆๆๆๆ มีจิต มีวิญญาณ มีความรู้สึก เขาก็ก้าวหน้ามาก เป็นๆที่น่าเชื่อถือและต่อไปคงยอมรับกันหมด ว่าต้นไม้นี่ก็มีจิต มีวิญญาณ มีความรู้สึก อย่างเดียวกับคนหรือสัตว์ แต่มันต่ำมาก มันน้อยมาก มันจางมาก เขาพิสูจน์จนถึงกับว่ามันรู้จักกลัว กลัวตาย และรู้จักสังเกต โดยอะไรของมันก็ไม่รู้ ว่าอันนี้เป็นอันตราย อัน คนนี้อันตราย เขาวัดด้วยเครื่อง เครื่องวัด ไอ้ที่เขาสร้างขึ้นเฉพาะนะ วัดความรู้สึกของต้นไม้ และเมื่อคนที่รักต้นไม้เข้ามา ไอ้ๆเข็มนั่นมันๆแสดงอย่าง พอคนที่เกลียดต้นไม้เข้ามา มันแสดงอีกอย่างหนึ่ง แล้วคนที่ทำลายต้นไม้มาหยกๆเดี๋ยวนั้นเข้ามา มันยิ่งแสดงเหมือนกับบ้าเลยไอ้เข็มนี้ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งต่อไปมันจะไม่เป็นของแปลกแล้ว ไอ้เรื่องต้นไม้มีความรู้สึกคิดนึก หรือว่ารู้สัก รู้สึกรัก รู้สึกกลัว รู้สึกโกรธ รู้สึกเกลียด นี่ก็เราอธิบายได้ง่ายๆว่าไอ้ต้นไม้มันก็ประกอบด้วยธาตุทั้งสี่เพื่อเป็นตัวต้นไม้ และก็ตั้งอยู่บนอากาศธาตุ และก็มีวิญญาณธาตุส่วนน้อย ส่วนต่ำ ส่วนจางที่สุดก็ไปทำงานอยู่ที่ๆๆสิ่งเหล่านั้น ฉะนั้นการที่คนโบราณเขาถือว่าฆ่าต้นไม้ก็เท่ากับฆ่าสัตว์น่ะ เราอาจจะรู้เรื่องเรื่องนี้บ้างก็ได้ หรือวินัยของภิกษุนี่ ทำต้นไม้ตายก็เท่ากับทำสัตว์ตายเหมือนกัน เป็นวิ เป็นอาบัติเท่ากัน แต่เขาไม่ได้เคยพูดกันถึงอย่างนี้ แล้วพวกอภิธรรมแล้วยิ่งไม่เชื่อ พวกอภิธรรมทั้งหลายไม่เชื่อว่าต้นไม้มีจิตมีวิญญาณ
ฉะนั้นเรารู้เรื่องธาตุทุก ให้มากอย่างที่สุดเท่าที่เราจะนึกเห็น จนเรามองเห็นด้วย หลับตา หลับตามองเห็นว่า โอ้, ทุกอย่างมันประกอบอยู่ด้วยธาตุ มันมีธาตุเต็มไปหมด จนไม่รู้ว่าจะเรียกว่าสักกี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น กี่แสนธาตุ ในบาลีเราก็พบเท่าที่ว่ามนุษย์จะพอเข้าใจได้ รู้จักได้ ไม่ถึงหลาย ไม่ถึงหลายร้อยหลายพันหรอก แต่ว่าลักษณะที่ท่านวางไว้นั่นมันเห็นได้ว่ามันเป็นธาตุไปหมด ไม่มีอะไรที่มิใช่ธาตุ
ถ้ามัน มันประ กำลังอยู่ในๆตัวเรา ประกอบกันอยู่ในตัวเราก็เรียกว่ามันเป็นธาตุภายใน ถ้ามันอยู่ข้างนอกคนนั้น นอกบุคคลคนนั้นมันก็เป็นธาตุภายนอก อันนี้มันเป็นหลักใหญ่อันหนึ่งซึ่งจะทำให้รู้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตน ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่ตัวตน เพราะมันเป็นแต่สักว่าธาตุอย่างนี้ ถึงแม้พระนิพพานก็เถอะ ก็ไม่พ้นจากความเป็นธาตุ เพราะฉะนั้นพระนิพพานก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นความรู้ที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนน่ะมันตั้งมูลฐาน รากฐานอยู่บนความรู้เรื่องธาตุ เพราะมันเป็นสักว่าธาตุ นี้เรียกว่าเราพูดทีเดียวหมด พูดกันทั้งหมดเกี่ยวกับธาตุ เพื่อจะเข้าใจง่าย เมื่อจะพูดกันในวงแคบเฉพาะคนคนหนึ่งๆ
มีเรื่องเบ็ดเตล็ด ไอ้พวกเราคนหนึ่งที่ไปอยู่ที่อเมริกา ไปทำมาค้าขายหากิน เขาบอกว่าเขาแอบเอาไอ้เม็ด เม็ดหญ้าระงับน่ะ ดูเหมือนจะเรียกหญ้าไมยราบหรือหญ้านี่ เม็ดหญ้าระงับน่ะ เขาเอาซ่อนไป คือหนีไปก็ไม่ เพราะถ้าๆรู้เขาไม่ให้เข้าเลยนะ แล้วเขาเอาไปแล้วเขาเพาะ เพาะเม็ดนี้ พอออกมาได้ ๒ ใบ เอ่อ, ๒ ๒ ก้านน่ะ ไอ้ต้นระงับ ขายได้ ๒ เหรียญ เขาเกือบจะรวยเป็นเศรษฐีอยู่แล้ว เพราะๆไอ้ๆๆๆหญ้าระงับนี่มันงอกขึ้นมาได้เป็น ๒ ๒ ๒ แฉก ๒ ใบนี่ ๒ ก้านนั่นเขาขายได้ ๒ เหรียญ ๔๐ บาท เขาเพาะขายเรื่อย เรียกว่าลัก ขโมยขาย ไอ้คนซื้อ ซื้อไปถูกให้มันหุบ มีเท่านั้น ไม่มีอะไรเลย ที่เขาชอบกันมาก พอถูกเข้าแล้วมันหุบ นั่นน่ะคุณคิดดูเถอะว่ามันๆมีธาตุอะไรที่รู้สึกได้อยู่ในไอ้หญ้าชนิดนั้น ไปถูกเข้ามันหุบ ไอ้หญ้าอื่นๆมันก็คงรู้สึกเหมือนกันแต่มันหุบไม่ได้ เพราะมันหุบไม่เป็น เพราะมันไม่ได้ทำมาสำหรับหุบ
ฉะนั้นเราจะต้องรู้ว่าไอ้สิ่งที่มีชีวิตมันต้องมีไอ้ มีธาตุนิดหนึ่งเหมือนกัน ต้นไม้ก็มีชีวิต แต่พวกเอา อภิธรรมเขาว่าต้นไม้ไม่มีชีวิตนะ อย่าเอามาทะเลาะกับผมเลย พูดกันคนละทีนะ เราจะพูดว่าไอ้สิ่งที่มีชีวิตแล้วก็จะต้องมีจิตมีวิญญาณ ฉะนั้นเราควรจะรักต้นไม้ด้วย เพราะมันก็เป็นสิ่งที่มีชีวิตคิดนึกรู้สึกได้เหมือนกัน มันไม่อยากตายเหมือนกัน มันอยากอยู่เหมือนกัน ที่มันพิสูจน์กันได้ง่ายๆอีกทีหนึ่งก็ว่า ไม่ใช่เขาว่านะผมก็เคยลองนะ ถ้าทำให้ต้นไม้ตกใจเหมือนจะทำให้มันตาย มันจะรีบออกลูกทีเดียว ไม่ว่าต้นไม้อะไร คุณไปลองดู มันไม่ค่อยจะออกลูก แล้วไปทำเหมือนกับจะทำให้มันตาย มันจะรีบออกลูก เพราะมันรู้สึกกลัวตาย แล้วมันก็จะสูญพันธุ์ ผมไปทำที่สวนโมกข์ ไอ้นู่นแน่ะสวนโมกข์แห่งแรกนะ ไอ้ขนุนต้นนั้นน่ะมันไม่ออกลูกเลย แล้วอุบาสกคนหนึ่งเขาว่ามันมีวิธี เอาๆมีดมาสับๆๆๆๆทั่วทั้งต้นแล้วเอาไฟลน มันก็ออกลูกจริงๆน่ะ ไม่กี่ ไม่กี่วันมันก็ออกลูกมาจริงๆ ทำให้มันเหมือนจะตาย มันเกือบตาย มันกลัวแล้วมันก็จะออกลูก ที่ลำไยต้นนี้ ข้างกุฏคุณพรเทพตรงนี้ ผมก็ทำลองดู มันก็ออกลูกมานะ ลำไยเมืองนี้ไม่มีออกลูก ปลูกให้ตายก็ไม่มีออกลูก แต่ไปทำเอาไฟลน เผาสักครึ่งหนึ่ง มันออกลูกมาสองสามพวง สองสามพวงเท่านั้น นี่คิดดูเถอะว่ามันๆๆ ไอ้สิ่งที่มันมีชีวิตนั่นมันรู้สึกได้ เราควรจะขยายความเมตตา กรุณา มุทิตาอะไรออกไปถึงไอ้ต้นไม้ด้วยนะ แล้วก็อย่าไปทำข่มเหงต้นไม้นะ มันก็บาปเหมือนกันนะ แม้แต่ชีวิตก็เรียกว่าชีวิตธาตุ ธาตุแห่งชีวิต ธาตุที่ทำให้มีชีวิต นี่ภาษาบาลี ธรรมะในภาษาบาลีเป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรที่มิใช่ธาตุ
เอ้า, ทีนี้ไอ้ๆนี่เป็นๆๆหลักทั่วไปไอ้เรื่องธาตุ ทีนี้เราก็จะมาหาจุดที่เราต้องการจะศึกษาว่าคนๆหนึ่งนี่ ในคนๆหนึ่ง มันก็มีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณครบ ซึ่งเป็นรากฐาน พื้นฐาน ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ มันจึงเป็นตัวคนๆหนึ่ง คราวนี้ส่วนย่อยของคนหนึ่งมันจะแบ่งเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เป็นธาตุอีก ๖ ธาตุ หรือว่ามันจะเป็นธาตุ ไอ้ ธาตุผู้หญิง ธาตุผู้ชาย ธาตุอะไรก็ตามเถอะ มันก็ ก็เป็น ก็ๆเรียกว่าธาตุ ไอ้ความเป็นชายก็เป็นธาตุหนึ่ง ความเป็นหญิงก็อีกธาตุหนึ่ง ไอ้ประสาทก็เป็นธาตุ ความรู้สึกก็เป็นธาตุ เวทนาก็เป็นธาตุ สัญญาก็เป็นธาตุ สังขารก็เป็นธาตุ วิญญาณก็เป็นธาตุ เมื่อรู้สึกว่าเป็นสุขก็มีสุขธาตุทำหน้าที่ เมื่อรู้สึกว่าเป็นทุกข์มันก็เป็นทุกขธาตุทำหน้าที่ ไม่ทุกข์ไม่สุขก็อทุกขมสุขธาตุทำหน้าที่ เหลียวดูธาตุข้างในสิ พยายามศึกษาธาตุข้างใน หลับตา ดู แล้วก็หลับตาศึกษา คือต้องทำด้วยปัญญาจักษุ จึงต้องหลับตา ให้มันเป็นสมาธิจึงต้องหลับตา จึงเรียกว่าหลับตาดู หลับตาศึกษาให้ลึกซึ้งถึงไอ้ ไอ้สิ่งที่มัน มันลึกมันลับ มันลึก ซึ่งตาดูไม่เห็นน่ะ เพราะฉะนั้นหยุด หยุดตาเสีย หยุดตาเสีย อย่าเปิดให้มันทำหน้าที่ แล้วมัน จิตมันจะได้เป็นตา จิตหรือปัญญามันจะได้เป็นตา แล้วมันก็จะดูเห็น ดูข้างใน ไอ้ตาข้างนอกปิดเสีย
ทีนี้คุณก็ลองคำนวณดูเองสิ ว่าทารกมันอยู่ในครรภ์ของแม่ มันก็ยังไม่มีอีกหลายธาตุนะ ไอ้ทารกมันยังไม่มีตา ไม่มีธาตุตา ยังไม่มีธาตุหู จมูก ลิ้น ทำ จะทำหน้าที่อะไรได้ มันก็จะมีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณอะไรเท่านั้น ถึงแม้ไอ้ธาตุวิญญาณมันก็น้อยเต็มที ถ้ามันยังเป็นเพียงไข่ มันจะไม่มีธาตุหญิงธาตุชายด้วยซ้ำไป มันไม่รู้สึกสุข ทุกข์ อทุกขมสุข มันไม่มีหลายๆธาตุแหละ แต่ทีนี้มันๆเจริญขึ้นนี่ ไอ้ๆๆไข่ในครรภ์เจริญขึ้นเป็นทารก เป็นทารกเต็มที่ แล้วคลอดออกมา เราก็พูดได้ว่ามันไม่ครบหรอก มันไม่มีอะไรครบหรอก เพราะมันๆๆยังจะต้องปรุงแต่งเพิ่มเติม นี่เราจะเรียนรู้ในเรื่องกิเลส มันจะตั้งขึ้นอย่างไร บุญบาปอะไรมันจะตั้งขึ้นอย่างไร พวกอภิธรรมเขาว่ามันเอากิเลสมาแต่ชาติก่อนติดมาเสร็จ แต่ผมไม่ยอมเชื่อแม้แต่นิดเดียว ว่ามันๆมา มาตั้งต้นใหม่กันทั้งนั้นน่ะ ธาตุกิเลส ธาตุสุข ธาตุทุกข์ บุญ บาปอะไรมัน มันไม่ได้หาบติดดวงวิญญาณมาตั้งแต่ชาติก่อนน่ะ
ฉะนั้นเรามีอภิธรรมของเรานะ ไม่ใช่อภิธรรมที่เขาสอนกันอยู่ที่กรุงเทพฯ หรือตามที่ต่างๆ เอาตามพระบาลีที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเลย ทารกมันไม่มีความคิดนึกได้ ฉะนั้นธาตุจิตมันก็มีน้อยมาก ธาตุวิญญาณมันก็มีน้อยมาก รู้สึกก็รู้ได้น้อยมาก ดูสิมันนอนอยู่ในครรภ์ มันรู้สึกได้น้อยมาก มันรู้สึกได้บ้างนิดหน่อย แต่พอมันคลอดออกมาจากครรภ์แล้วนี่ที่ให้จุดตั้งต้นมัน มันๆจะตั้งต้นเป็นจริงเป็นจัง มันคลอดมาจากครรภ์แล้วก็หมายความว่า ไอ้สิ่งทั้งหลายภายนอก ไอ้ปัจจัยภายนอก ไอ้ธาตุทั้งหลายภายนอกนี่มันจะเข้าไปร่วม ไปรวม ไปร่วมเข้ากัน ปรุงแต่งทำหน้าที่ พอเด็กคลอดออกมาจากครรภ์ มันจึงจะมีโอกาสทำหน้าที่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางผิวกาย และทางจิตเอง ตอนแรกมันทำไม่ได้ ลูกหมานี่ ๖ วันแล้วไม่ลืมตาดี ไปดูเสียเถอะ มันจะทำอะไรได้เล่า มันยังไม่ลืมตาสักที มันจะเห็นอะไรได้ มันๆๆเกิดมา ๖ วันแล้วมันยังไม่ลืมตาสักที ฉะนั้นมันๆจะต้องมีโอกาสอย่างนี้จนกว่าตาของมันจะทำหน้าที่ได้ หู จมูก ลิ้น กาย มันทำหน้าที่ได้ มันจึงจะเริ่มลงโรง ตั้งต้นไอ้ชีวิตที่จะมีปัญหา อย่างนี้เราก็รู้เอาเองก็แล้วกันว่า พอเด็กทารกออกมาจากท้องแม่แล้ว มันๆก็ทำไปตามเรื่องแหละ ซึ่งๆเราก็ไม่ต้องอธิบายหรอก มันก็กินนมบ้างอะไรบ้าง มันก็เจริญขึ้นมาพร้อมๆกันทุกๆอย่างจนมันรู้สึก จนมันมีความรู้สึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนี่ มันจึงจะมีเวทนา มีสัญญา มีสังขารคือความคิด มีวิญญาณรู้สึกสัมผัส กระทั่งว่าถ้าพูดให้ละเอียด เขาว่ามันเกิด เขาใช้คำว่าเกิด บาลีจะใช้คำว่าเกิด ตาเกิด หูเกิด จมูกเกิด คือมันทำหน้าที่ แม้ว่ามันจะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มาแต่ในท้องแม่ เขาเรียกว่ายังไม่มี ยังไม่มี มันยังไม่มีเพราะมันทำหน้าที่ไม่ได้ จนกว่าเมื่อใดไอ้ตาของมันทำหน้าที่ได้ หูของมันทำหน้าที่ได้ หรือกำลังทำหน้าที่อยู่ เมื่อนั้นหลักธรรมะก็ถือว่าเกิด ตาเกิด หูเกิด จมูกเกิด ครบไปหมดแหละ แม้แต่ร่างกายนี้ก็เกิด รูป รูป รูปขันธ์นี้ก็เกิด เพราะรูปขันธ์ทำหน้าที่ ถ้ารูปขันธ์ไม่ทำหน้าที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็ทำหน้าที่ไม่ได้เหมือนกันแหละ ไอ้ร่างกายต้องทำหน้าที่ให้เหมาะสมสำหรับตาจะเห็นรูป ประสาทตาจะสัมผัส หรือประสาทหูจะสัมผัส หูต้องทำหน้าที่ ไอ้ตัวหู เนื้อหู ก้อน ตัวหู โพรงของหูมันต้องพร้อมที่มันจะให้ทำหน้าที่ประ แก่ประสาทหูและแก่วิญญาณทางหู เป็นต้น ฉะนั้นจึงเรียกว่ามันเพิ่งเกิด เกิด พอมันทำหน้าที่ก็เรียกว่ามันเกิด พอมันไม่ทำหน้าที่ หยุดไปก็เรียกว่ามันดับ ฉะนั้นคุณอย่าประหลาดใจถ้าได้ยินในพระบาลีว่า ตาเกิด ตาดับ หูเกิด หูดับ จมูกเกิด จมูกดับ ไอ้คำพูดอย่างนี้เขาหมายถึงว่าเมื่อมันทำหน้าที่คือมันเกิด พอมันไม่ทำหน้าที่ หยุดทำหน้าที่เขาเรียกว่ามันดับ ฉะนั้นตา หู จมูก ลิ้น กายของเรานี้เกิดดับๆอยู่วันหนึ่งไม่รู้กี่ครั้งกี่หน ในความหมายนี้ ในความหมายไอ้ทาง ทางจิตทางวิญญาณ ทางภาษาธรรม ถ้าภาษาคนเราก็เกิดครั้งเดียว ตายครั้งเดียวแหละ ร่างกายนี้เกิดมาครั้งหนึ่งแล้วก็ตายครั้งหนึ่ง แต่ถ้ามาแยกออกเป็นภาษาธรรมแล้วมันๆมีเกิดมีตาย ไอ้มีเกิดมีดับ มีเกิดมีดับนับไม่ไหว
ทีนี้กิเลส กิเลส กิเลสมาหรือยัง เราเอาตามพระบาลีก็ว่า ต่อเมื่อเด็กมันมีประสาทรับอารมณ์พอที่จะให้รู้ได้ว่าอร่อยหรือไม่อร่อย เราพิสูจน์ไม่ได้เพราะเราไม่มีเครื่องมือตรวจ เด็กตัวเล็กคลอดออกมากินนมแม่นั่นมันจะรู้สึกอร่อยหรือไม่อร่อย รู้สึกอร่อยหรือยังนี่เราก็บอกไม่ได้ แต่ถ้าเมื่อไรมันรู้สึกอร่อย รู้สึกพอใจ เมื่อนั้นแหละมันจะมีจุดตั้งต้นของกิเลสล่ะ ฉะนั้นเมื่อยังเป็นทารกในครรภ์มันจะเพียงแต่จะหิวก็ได้ กินอาหารทางสายสะดือของแม่ มันก็หิว มันก็หิว มันก็รู้สึกหิว แต่มันไม่ใช่อร่อยหรือไม่อร่อย มันเป็นแต่เพียงว่าหิวหรือไม่หิว ถ้าหิวก็ดูดก็กิน ถ้าไม่หิวก็ไม่กิน นี่ผมคิดว่าไอ้ลูกหมาที่ยังไม่ลืมตานี้ ยังคงไม่มีความรู้สึกว่าอร่อยหรือไม่อร่อยหรอก มันรู้สึกได้แต่เพียงว่าหิวหรือไม่หิว พอหิวมันก็ดิ้นรนที่จะกิน เพราะฉะนั้นยังไม่เป็นกิเลส มันเป็นเพียงธรรมชาติอันหนึ่ง ต่อเมื่อๆมันรู้จักอร่อย ชอบใจใน เป็นความรู้สึกว่าพอใจชอบใจนั่นน่ะ จะเป็นจุดตั้งต้นของกิเลส มันอร่อยในสิ่งใด มันก็รักในสิ่งนั้น ก็ยึดถือในสิ่งนั้น อร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นอะไรก็ได้ มันอร่อย แล้วมันก็พอใจ พอใจแล้วมันก็ต้องการ นั่นน่ะคือความโลภ มันไม่มีความรู้ ไม่มีความรู้เรื่องวิมุติ เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ มันก็คืออวิชชา เพราะฉะนั้นทารกนั้น เพราะฉะนั้นมันต้องการอะไรด้วยอวิชชา เราก็เรียกว่าความโลภ หรือตัณหาแล้วแต่จะเรียก มันก็ได้ความโลภมา เป็นความรู้สึกขึ้นมาใหม่ในไอ้ๆๆๆร่างกายทารกนี้ ฉะนั้นความโลภเพิ่งเกิดจากปัจจัยเดี๋ยวนี้ แต่ถ้าพวกที่เขาถือว่ากิเลสติดมาเสร็จแต่ชาติก่อนนั้น ตามใจเขา อย่าเอามาปนกับที่ผมกำลังพูด แล้วมันพูดกันไม่รู้เรื่อง ทีนี้พอมันรู้จักอยาก รู้จักได้ รู้จักยึดครอง มันก็จะพบ จะพบกันเข้ากับไม่ได้ ไม่ตรงตามที่ต้องการ มันก็เกิดโกรธนี่ นี่รู้จักโกรธทีนี้ เพราะมีโลภจึงรู้จักโกรธ มันก็รู้มากขึ้น อย่างนั้นอย่างนี้มากขึ้น แล้วก็รู้จักกว้างออกไป จนรู้จักกลัว รู้จักว่ามันจะหายไปเสีย มันก็กลัว รู้จักวิตกให้มันมากออกไป ก็เรียกว่ามันมีโมหะ ไอ้โลภะ โทสะ โมหะ ค่อยงอกขึ้นมาในจิต ในสันดาน หรือในชีวิตของๆทารกนั้น นี้เรียกว่าทารกนั้นรู้จักรู้สึก หรือสร้างความรู้สึกที่เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง
ทีนี้เรื่องที่มันเกี่ยวข้องกันน่ะมันมีอยู่มาก ถ้ามันรู้จักโกรธ อ่า, มันคิด ถ้ามันรู้จักรัก รู้จักชอบ รู้จักอร่อยครั้งหนึ่งแล้วมันก็ยิ่งรู้จักมากขึ้นน่ะ รู้จักรุนแรงขึ้น แล้วมันก็ไวต่อความรู้สึกชนิดนั้นยิ่งขึ้นทุกที คือมันจะรักไว โลภ อ่า, โลภไว อยากได้ไวๆ อะไรไวๆๆขึ้น อย่างนี้เขาเรียกว่ามันเป็นความเคยชิน โกรธทีหนึ่งก็เหมือนกันน่ะ ถ้าโกรธอีกทีหนึ่งๆๆ มันก็สร้างความเคยชินสำหรับจะโกรธให้มากขึ้นและไวขึ้น ไอ้จะโง่ ไอ้จะสะเพร่า ไอ้จะอวดดี จะบ้าบิ่นนี่ก็เหมือนกันน่ะ พอทำไปๆมันก็ชิน มันก็มาก มันก็เร็วขึ้น แล้วมันก็โลภเร็วขึ้น โกรธเร็วขึ้น หลงเร็วขึ้น เพราะมันสร้างความเคยชินชนิดนั้นเข้าไว้ทุกๆคราวที่มันมีความรู้สึกชนิดนั้น ฉะนั้นเด็กจึงมีความโกรธ อ่า, ความโลภ ความโกรธ ความหลง เพิ่มขึ้น เร็วขึ้น ไวขึ้นเป็นเงาตามตัวที่มันโตขึ้นๆ นี้มันเป็นธรรมชาติที่เราเห็นอยู่ได้ชัดๆ ไม่ต้อง ไม่ต้องพิสูจน์อะไรกันมาก
ทีนี้ไอ้ความที่มันๆสะสมไว้มากขึ้น เร็วขึ้น อันนี้เขาเรียกว่าอนุสัย อนุสัย คือมันเป็นความเคยชิน ความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้น เรียกว่าอยู่ในสันดานน่ะ สร้างขึ้นในสันดาน หรือหมายความว่าสันดานนั้นมันจะทำให้ๆเร็ว ให้ๆเกิดเร็วขึ้นอย่างนี้ เพราะมันสร้างความเคยชิน ที่สมัยนี้เขาเรียกว่าทักษะ ทักษะมากขึ้นๆ จิตมันก็มีความเร็วความอะไรที่จะโลภ จะโกรธ จะหลงแรงขึ้นๆๆ นี่มันก็โตขึ้นเป็นเงาตามตัว เป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาว เป็นพ่อบ้านแม่เรือน ไอ้ความเคยชินนั้นก็หนาเปอะ เรียกว่าอนุสัยนั่นหนาเปอะยิ่งขึ้นทุกที พร้อมที่จะโลภ พร้อมที่จะโกรธ พร้อมที่จะหลง ไว เร็วยิ่งขึ้นๆๆ นี้เรียกว่าทารกนั้นไม่มีความรู้เรื่องธรรมะเลย ปล่อยไปตามธรรมชาติ มันไม่สามารถจะปะ ปฏิบัติธรรมะ หรือรู้ธรรมะ หรือรู้ควบคุมอะไรได้ เพราะฉะนั้นไอ้คนเราคนหนึ่งๆมันก็เติบโตขึ้นมาด้วยความโง่ ในท่ามกลางความโง่ ในท่ามกลางความหลง ที่มันจะโลภจะโกรธจะหลงมากยิ่งขึ้น รู้จักตัวเองกันอย่างนี้เสียบ้าง พอมาถึงขนาดนี้แล้ว แข็งโก๊กทุกคนทั้งนั้น ความโลภ ความโกรธ ความหลง แข็งโก๊กทุกคน ล้างออกยาก ลดออกลงยาก ถ้าสะสมไว้มาก ไอ้ความเคยชินโลภโกรธหลงมันสะสมไว้มาก มันจะไหลออกมาได้ง่ายได้เร็ว เรียกว่าอาสวะ อาสวะ ที่จะไหลออกมานี้เรียกว่าอาสวะ กิเลสที่สร้างเป็นความเคยชินไว้มากจะไหลออกมาโดยเร็วโดยง่าย ที่ไหลออกมาเท่าไรก็เป็นอาสวะ ถ้าไม่มีอนุสัยมันก็ไม่มีอาสวะ เพราะมันไม่มีอะไหรจะไหล ไม่มีอะไรจะไหลออกมา เหมือนเราเก็บน้ำไว้มากๆ ไอ้ความที่มันจะดันออกมาจากตุ่มมันก็มีมาก ถ้าว่าไม่มีน้ำในตุ่ม มันก็ไม่มีไอ้ๆ อะไรที่จะไหลออกมา ถ้าว่าอนุสัยมันไม่มี มันถูกถอน ถูกทำลาย ถูกละเสียหมดแล้ว มันก็ไม่มีอาสวะ
ทีนี้หลักธรรมะน่ะเขามีหลักที่จะลดอนุสัย มะ จะไม่เพิ่มอนุสัย ก็คืออย่าโกรธสิ อย่าโลภ อย่าโกรธ อย่าหลง อนุสัยโลภ อนุสัยโกรธ อนุสัยหลงน่ะเราสะสมไว้มาก ปริ่มเต็มโอ่งข้างในนะ แต่ทีนี้พอมาถึงต่อไปนี้เรารู้ธรรมะนะ เราจะทำให้มันกลับตรงกันข้ามนะ คือพอมีเรื่องจะให้โลภ ไม่โลภ ควบคุมไว้ได้ ไม่โลภ เดี๋ยวมันไปลดอนุสัยโลภลงนิดหนึ่ง พอจะให้โกรธ ไม่โกรธ ก็ลดอนุสัยโกรธนิดหนึ่ง พอจะโง่ ไม่โง่ ก็ลดอนุสัยโง่นิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นอนุสัยที่ ที่สะสมไว้มันจะลดลงๆทุกคราวที่เราบังคับไว้ได้ ไม่ให้โลภ ไม่ให้โกรธ ไม่ให้หลง อนุสัยจากความโลภหรือจากความรักอะไรนี่ เขาเรียกว่าราคานุสัย ราคะ-อนุสัย อนุสัยที่มาจากความโกรธ โทสะ ประทุษร้าย นี่เขาเรียกว่าปฏิฆานุสัย อ่านปฏิฆะ-อนุสัย นี่ถ้าจะโง่จะหลงจะโมหะ นี่เขาเรียกว่าอวิชชานุสัย อวิชชา-อนุสัย ฉะนั้นจงบังคับไว้ทุกทีที่มันจะโลภ จะโกรธ จะหลง มันจะลดอนุสัยข้างนั้น มันลดลงๆ มันก็น้อยจน จนๆไม่มีอาสวะจะไหลออกมา ก็เรียกว่าสิ้นอาสวะ สิ้นอาสวะนั่นคือเป็นพระอรหันต์นะ รู้ไว้นะ สิ้นอาสวะคือเป็นพระอรหันต์ มันก็สิ้นอนุสัยด้วยแหละ มันก็ตัดอนุสัยด้วยแหละ และก็มันก็ไม่มีกิเลสที่จะเกิดได้อีกต่อไปน่ะ เพราะว่าไอ้รังของกิเลสน่ะมันถูกล้างหมดแล้ว ถูกเปิดทิ้งหมดแล้ว
นี่เรียกว่าธรรมะพุทธศาสนาในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่เป็นปรัชญา ไม่ใช่ Philosophy Philosophy อย่างนั้นมันๆเป็นอีกอันหนึ่งอีกอย่างหนึ่ง ไม่สามารถจะเอามาใช้กับพุทธศาสนา เพราะมันได้แต่การคำนวณ แล้วก็สมมติอะไรขึ้นมา แล้วก็คำนวณกันไป นั้นเป็น Philosophy ที่คุณเรียกกันว่าปรัชญานั่นแหละ เพราะมันๆใช้คำผิดเสียแล้ว มันไม่ควรจะเรียกว่าปรัชญา มันควรจะเรียกอย่างอื่น เราเรียก Philosophy กันไปก่อนดีกว่า มันเป็นบาปกรรมของประเทศไทยเสียแล้วที่มันไปใช้คำว่าปรัชญากับ Philosophy มันผิด แต่มันถือกันมาอย่างนี้ ใช้กันอย่างนี้จนตายตัวไปแล้ว พวกอินเดียเขา เอ่อ, เขาโห่ เขาหัวเราะความโง่ของคนไทย ที่เอาคำของเขาว่าปรัชญานั่นไปใช้กับ Philosophy ในอินเดียเขาไม่ยอม ไอ้ Philosophy นั้นถ้าเขาจะแปลเขาจะใช้คำว่าทัศนะ ทัศนะ เขาจะไม่แปลว่าปรัชญา Philosophy เขาจะแปลทัศนะหนึ่งๆ ปล่อยให้คนไทยโง่ไปๆคนเดียวเถอะ เขาเป็นเจ้าของภาษา เขารู้ดี เพราะคำว่าปรัชญานั้นมันแปลว่ารู้รอบรู้สิ้น รู้รอบรู้จบ ส่วน Philosophy นี้แปลว่ากำลังจะรู้ อยากจะรู้ กำลังค้นเพื่อจะรู้ รักที่จะรู้นะ ฉะนั้น Philosophy จะแปลว่าปรัชญาไม่ได้ เพราะคำว่าปรัชญานั้นคือปัญญานั่นเอง รู้รอบ รู้ใช้ประโยชน์ได้ ไอ้ Philosophy นั้นมันใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ มันบ้าไปจนตาย โลกแตกกี่ครั้งมันก็ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ผมกล้าพูดอย่างนี้ ใครจะโกรธก็ตามใจ
มันต้องเป็นวิทยาศาสตร์ อย่าเป็น Philosophy เห็นอยู่อย่างที่พูดมานี่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ธาตุอะไรก็ตามใจปรุงแต่งกันตามแบบของสังขาร แล้วก็เป็นอย่างนี้ๆ เพราะอย่างนี้มี อย่างนี้จึงมี เพราะอย่างนี้ไม่มี อย่างนี้จึงไม่มี เพราะอย่างนั้นมี อย่างนี้จึง ตามวิถีทางวิทยาศาสตร์ พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ และก็ ก็ใช้ประโยชน์ได้จริง คือมีผลที่ได้รับจริง เหมือนกับวิทยาศาสตร์ทางวัตถุ เราได้รับประโยชน์จริงจากทางวัตถุ ฉะนั้นวิทยาศาสตร์ทางจิตทางธรรมะนี้ เราก็ได้รับประโยชน์ทางจิต แต่ว่าวิธีการน่ะมันอันเดียวกัน คือมันกระทำลงไปบนสิ่งที่มีอยู่จริง นั่นคือธาตุทั้งหลาย ให้ถูกต้องตามเรื่องของธาตุทั้งหลาย จนควบคุมไว้ได้ อย่าให้ไปในทางที่เป็นทุกข์ แล้วก็ให้มาในทางที่ไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้นเราก็ได้รับประโยชน์แหละ จากการที่มีชีวิตและไม่เป็นทุกข์ ถ้าเรามีชีวิตและเป็นทุกข์ ก็สู้ สู้สัตว์เดรัจฉานก็ไม่ได้ สัตว์เดรัจฉานยังเป็นทุกข์น้อยกว่าคน เพราะมันไม่ทำผิดทางจิตใจมากเหมือนมนุษย์ เพราะมันทำไม่เป็นแหละ ไอ้ มนุษย์นั่นมันทำดีเกินไป ทำเป็นเกินไปเลยได้รับความทุกข์มาก ฉลาดสำหรับจะเป็นทุกข์ ไม่ได้ฉลาดสำหรับจะดับทุกข์ จนกว่าพระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้น ค้นพบเรื่องนี้แล้วสอนไว้ให้ดับทุกข์ได้อย่างไร
ฉะนั้นจงไปศึกษาเอาเอง ดูเอาเอง ใช้เวลาที่คุณเรียกว่าใช้สำหรับวิปัสสนา วันหนึ่งจะให้มันกี่นาที กี่ชั่วโมง เวลาสำหรับวิปัสสนา ก็คือหลับตาดูสิ่งเหล่านี้ให้เข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นๆ เราได้พูดกันมาตั้งแต่วันแรกแล้วว่า สิ่งทั้งปวงอยู่ในภายใน ดูจากภายใน ขึ้นอยู่ภายใน สิ่งทั้งปวงขึ้นอยู่กับจิตสิ่งเดียว จิตดวงเดียว และก็การปรุงแต่งแห่งจิต ปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างนี้
วันนี้เราก็มาดูส่วนย่อย ส่วนประกอบย่อยๆแต่ละส่วนๆที่มันจะเข้ามาเกี่ยวข้องในการปรุงแต่งในทางจิต แล้วเราก็เรียกส่วน ส่วนย่อยนั้นๆน่ะ ส่วนที่มันถึงที่สุดที่ไม่ควรจะแบ่งอีกต่อไปแล้วว่าธาตุ ธา-ตุ ธาตุ Element ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกัน ผมเปิดดูในดิกชันนารี่หรือไอ้คำอธิบายอย่างอื่นแล้ว คำว่า Element เขาอธิบายอย่างเดียวคำว่าธาตุในทางธรรมะ ส่วนสุดท้ายที่เราจะแบ่งแยกมันได้อีก ทบทวนความเข้าใจให้ดีๆว่ามันเต็มไปด้วยธาตุ มันมีโอกาสเกาะกุมกันเมื่อไร ปรุงแต่งกันเมื่อไร มันก็เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมาตามกฎของอิทัปปัจจยตาซึ่งเป็นกฎสูงสุดเหนือสิ่งใด เหมือนกับพระเป็นเจ้าทีเดียว เหมือนผมกำลังเสนอให้พวกฝรั่งเขารู้ว่า พระพุทธศาสนาเราก็มีพระเจ้า มีพระเป็นเจ้า คือกฎของอิทัปปัจจยตา พอพระพุทธเจ้าค้นพบกฎนี้ ตรัสรู้ค้นพบกฎอิทัปปัจจยตา คือปฏิจจสมุปบาท ท่านเคารพทันทีเลย ท่านเคารพกฎอิทัปปัจจยตาทันทีเลย เป็นสิ่งสูงสุดจนพระพุทธเจ้าเคารพ นึกดูให้ดี นี่คือพระเจ้าในพุทธศาสนา บังคับอยู่ทุกๆปรมาณู ทุกๆปรมาณูน่ะของสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นจักรวาลน่ะ พระเจ้านี้ไม่ใช่เล่นนะ
พวกเซนในเมืองจีน หรือ พวกเซน หรือพวกอะไรก็ไม่แน่นัก มันท้าว่าพระเจ้าของใครสามารถเข้าไปอยู่ในกองขี้หมา พระเจ้าของคริสเตียนเข้าไปอยู่ในกองขี้หมาได้หรือ แล้วจะไปควบคุมไอ้ทุกๆปรมาณูในกองขี้หมาได้อย่างไร ถ้ามันไม่เข้าไปอยู่ได้ แต่ว่าพระเจ้าอิทัปปัจจยตานี่เข้าไปอยู่ได้ในทุกๆปรมาณูของสิ่งใดก็ตามใจ ไม่มีสกปรก ไม่มีสะอาด ไม่มีเหม็น ไม่มีหอม กฎอิทัปปัจจยตาจึงเข้าไปควบคุมอยู่ได้ในทุกๆปรมาณูของทุกสิ่ง น่ากลัว เราจะหนีพระเจ้านี้ไม่พ้นนะ กฎของอิทัปปัจจยตาก็ดี กฎของกรรมก็ดี มันก็อยู่ในทุกๆปรมาณู มันสร้างปรมาณูทุกๆปรมาณู มันสร้างให้เป็นพ่อ สร้างให้เป็นแม่ สร้างให้เป็นลูก สร้างให้เป็นอะไรก็ได้ เพราะมันควบคุมอยู่ทุกๆปรมาณู กฎนี้ก็ต้องเรียกว่าธาตุเหมือนกันแหละ ไม่มีอะไรก็เรียกว่าธรรมธาตุ ธรรม-มะ-ธา-ตุ ธาตุแห่งธรรม ตถาคตจะเกิดขึ้นก็ตาม ตถาคตจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม ฐิตาวะสาธาตุ ธาตุนั้นมีอยู่แล้ว คือธรรมธาตุน่ะมีอยู่แล้ว สัจจธาตุก็เรียกได้ สัจจะในกรณีนี้หมายถึงไอ้ของที่จริง ไม่โกหก
เพราะฉะนั้นการที่ว่าเราจะนั่งแล้ว หลับตาแล้ว เห็นธาตุทั้งหลายเต็มไปหมด ไปตามเหตุตามปัจจัย ปรุงกันตามเหตุตามปัจจัย เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ตั้งอยู่ชั่วเหตุปัจจัย ดับไปตามเหตุปัจจัย อย่างนี้คือวิปัสสนาสูงสุด ดูทางในเหมือนกันน่ะ แต่ไม่ใช่ดูเป็นโหรเอาสตางค์ ดูทางใน วิปัสสนา ดูทางใน จะรู้จักธรรมะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยิ่งๆหลับตาหรือยิ่งมืดแล้วยิ่งดูเห็นง่าย คือจิตมันทำงานได้เต็มที่ ถ้าเป็นกลางวันหรือว่ามีแสงสว่างน่ะ จิตมันมาทำงานทางตาทางอะไรเสียบ้าง จิตมันไม่ทำงานข้างในอย่างเต็มที่ ฉะนั้นเรานั่งในที่เงียบสงัดและมืดและอะไรพอสมควรแล้วมันก็ จิตนั้นมันจะดูได้ดี ทำให้เป็นสมาธิพอสมควรแล้วก็ดูให้ดี สิ่งทั้งปวงเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ เหมือนกับบทปัจจเวก ธาตุปัจจเวกที่สวดทุกวันๆน่ะ มันมีความหมายสูงสุดถึงขนาดนี้ แต่คุณก็ไม่สนใจ
เอาแล้วเป็นอันว่า วันนี้เราพูดเรื่องธาตุ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธาตุ มันก็ยิบยับไปหมดทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าข้างนอกไม่ว่าข้างใน ตั้งแต่ขี้ฝุ่นเม็ดหนึ่งไปถึงพระนิพพานเลย เป็นธาตุเสมอกันหมด ดูให้เห็นอย่างนี้สิ ดูให้เห็นตัวธาตุอย่างนี้สิ แล้วความคิดว่าตัวตนตัวกูอะไรมันเกิดไม่ได้หรอก มันเป็นแต่สักว่าธาตุตามธรรมชาติ แล้วมันก็จะบรรเทาไอ้ความคิดที่จะเป็นข้าศึก อย่างเช่นอร่อยอย่างนี้ ความอร่อยนี่เป็นศัตรูที่สุดที่จะเกิดโลภะราคะตัณหา แต่ถ้าเราดูอยู่อย่างนี้ โอ้, มันสักว่าธาตุตามธรรมชาติ มันเป็นตถตา เช่นนั้นเองโว้ย เป็นเพียงตถตาเช่นนั้นเองโว้ย เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามแบบของธาตุโว้ย แล้วมันก็ไม่อร่อยได้หรอก มันจะอร่อยจนหลงใหลจนเกิดราคะอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นการดูให้เห็นไอ้ความจริงของไอ้ธาตุนี้มันจะป้องกันไม่ให้เกิดความรัก ความพอใจ ความหลงใหล ความบ้าๆ เมื่อมันไม่เกิดราคะหรือโลภะหรือ คือความอยากแล้ว มันไม่เกิดความโกรธหรอก เพราะว่าความโกรธมันเกิดมาแต่ไม่ได้ตามที่อยาก เมื่อมันไม่มีความอยากเสียแล้ว ความโกรธไม่มีทางจะเกิดเหมือนกัน เพราะความโกรธมันเกิดมาจากการที่ไม่ได้ตามที่อยากอย่างนี้ ฉะนั้นเราจึงดูตัดต้นเหตุว่าไม่มีอะไรที่ควรจะอยาก สิ่งที่ทำให้อยากคือความอร่อย อร่อยทางตา อร่อยทางหู อร่อยทางจมูก อร่อยทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางไอ้ใจก็ตาม เมื่อไม่มีความอร่อยแล้วมันก็ไม่ ไม่หลงใหลในอะไร ไม่ยึดถือ ไม่หลงรักด้วยอุปาทาน มันก็ไม่มีโอกาสที่จะโกรธ แล้วไม่มีโอกาสที่จะโง่ เพราะมันไม่ไปสนใจในอะไร มันเลยโง่ไม่ได้ มันไม่ต้องการอะไร นี้มันเหนือดีเหนือชั่ว เพราะว่าไม่ต้องการทั้งดีและทั้งชั่ว มันต้องการจะไม่ให้ถูกรบกวนโดยอะไร โดยไอ้ความยินดีหรือความยินร้าย มันไม่รัก มันไม่เกลียด มันๆก็ไม่มีปัญหา
นี่ธรรมะมันมีเท่านี้ มันไม่มีมากกว่านี้ เมื่อเห็นว่าเป็นธาตุตามธรรมชาติทุกอย่างแล้ว ถ้าเห็นจริงแล้วมันไม่เกิดกิเลสได้ มันไม่หลงรักหลงโลภอะไรได้ แล้วมันก็ไม่มีทางจะโกรธจะหลงได้ แล้วคุณต้องทำกันโดยวิถีทางวิทยาศาสตร์ อย่าคำนวณทาง Philosophy ทาง Logic ทางตรรกะอะไรไม่ได้ทั้งนั้นแหละ ธรรมะต้องทำกับมันโดยวิธีของสัจจะ สัจจะ หรือจริง เช่นวิธีของวิทยาศาสตร์ มีตัวจริง มีของจริง ดูจริง ค้นคว้าจริง พิสูจน์จริง ทดลองจริงอะไรลง ลงไปบนสิ่งที่มีตัวอยู่จริง ไม่ใช่คาดคะเนสมมติฐานเหมือนกับปรัชญา
ผมตั้งใจจะพูดเพียงเรื่องเดียววันนี้ คือเรื่องธาตุ เรื่องธาตุตามธรรมชาติ ว่ามีอยู่ในที่ทั่วไปอย่างไร แล้วแยกตัวมาทำให้เป็นปัญหาขึ้น เป็นคนๆหนึ่ง เป็นสัตว์ตัวหนึ่ง เป็นต้นไม้ต้นหนึ่ง เป็นอะไรหนึ่งๆๆๆนี่ มันทำให้เกิดปัญหาอย่างไร แล้วจะดับ จะตัด ระงับปัญหานั้นเสียได้โดยวิธีใด ขอให้เอาไปศึกษาพิจารณาให้เข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งๆขึ้นไป เอ้า, ถ้าใครมีปัญหาอะไรบ้าง เวลาเหลืออยู่เล็กน้อย ถามก็ได้ เอาเถอะ อย่าลำบากเลย พูดเลยดีกว่า
ภิกษุถามปัญหา : จุดหมายปลายทางของพุทธศาสนาที่แท้จริงคืออะไรครับ
ท่านพุทธทาส : ร้ายจริงเว้ย จุดหมายปลายทางของพุทธศาสนาอยู่ที่สิ่งที่คุณเข้ามาบวชเพื่อจะต้องการอะไร คือสิ่งนั้น
ภิกษุถามปัญหา : วิธีการตรง
ท่านพุทธทาส : คุณต้องการอะไรล่ะ เดี๋ยวก่อนสิ ยังไม่จบไอ้เรื่องนี้ คุณต้องการอะไรล่ะ
ภิกษุถามปัญหา : ผมไม่ต้องการอะไรฮะ
ท่านพุทธทาส : ไม่ต้องการอะไร แล้วจุดของพุทธศาสนาก็ไม่ต้องการอะไร คือไม่มีอะไร ก็ถูกเหมือนกันนะ ถูกอย่างยิ่งเลย หลักธรรมะนี่ในที่สุดมันทำให้ไม่ต้องการอะไรนะ คุณจะไปหัวเราะไม่ได้นะ ถ้ามีธรรมะสูงสุดแล้วมันจะไม่ต้องการอะไรนะ แต่เดี๋ยวนี้คุณยังจะต้องการดับทุกข์อยู่มั้ง ตั้งใจจะต้องการความดับทุกข์ นั่นแหละคือจุดหมายปลายทางของพุทธศาสนา ก็เรียกชื่อแปลกๆว่านิพพาน ดับทุกข์หมด แต่นิพพานนั้นไม่ต้องการอะไร จิตที่ถึงนิพพานเป็นจิตที่ไม่ต้องการอะไร เพราะฉะนั้นเราจะพูดว่าไอ้จุดปลายทางของพุทธศาสนาคือความไม่ต้องการอะไรก็ได้ แต่คนเขามาบวชกันน่ะเพื่อเขาต้องการจะรู้เรื่องความดับทุกข์สิ้นเชิง
ภิกษุถามปัญหา : วิธีการตรงที่สุดที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางนั้นทำอย่างไรฮะ
ท่านพุทธทาส : อะไรนะ ว่าอย่างไรนะ
ภิกษุถามปัญหา : วิธีการที่ตรงที่สุด
ท่านพุทธทาส : นี่พูดมาตั้งพักแล้วจับไม่ได้ พูดอย่างตำรา พูดอย่างคัมภีร์ก็ว่า ปฏิบัติอยู่ในอริยมรรคมีองค์แปด มีสติปัญญาเห็นอยู่ว่าสิ่งทั้งหลายนี่มันเป็นอย่างนี้ คือเป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งไปตามกฎเหตุปัจจัย ไม่มีตัวตนที่น่ารัก น่าเกลียด น่าโกรธ น่ากลัว ปฏิบัติอยู่อย่างที่ไม่หลงรักอะไร อริยมรรคมีองค์แปดนั้นมันสำคัญอยู่ที่สัมมาทิฏฐิ นอกนั้นมันบริวารรอบล้อม ช่วยให้สัมมาทิฏฐิทำงาน ทำงานเรื่อยไปจนถึงสัมมาสมาธิ แล้วมันไปหลง ไม่ไปหลงรักอะไร ไม่ต้องการอะไร ไม่ให้จิตนี้ถูกปรุงแต่งด้วยอวิชชา เพราะว่ามันเป็นสัมมาทิฏฐิ นี่หัวใจสั้นๆของไอ้การปฏิบัติพุทธศาสนาเพื่อจะดับทุกข์ เขาเรียกว่าอริยมรรคมีองค์แปด นั่นแหละทางปฏิบัติเพื่อให้ดับทุกข์ อยู่อย่างนั้นแล้วจะไม่เกิดทุกข์ จะไม่เกิดความทุกข์
ภิกษุถามปัญหา : เมื่อถึงจุดหมายนั้นแล้วเราจะทำอะไรต่อไปฮะ
ท่านพุทธทาส : คนที่ปลาย ถึงจุดหมายปลายทางแล้ว เขาจะทำอะไรต่อไปตามใจเขาสิ เขาไปโดดน้ำตายก็ได้ คือเขาไม่มีทุกข์ ไม่มีปัญหาอะไร เขาไม่มีทุกข์ มันหมดปัญหา แล้วเขาไม่มีตัวตน ไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวตน เขาก็มิต้องการอะไร เพราะมันไม่มีตัวตนที่ ไม่มีตัวตนที่จะต้องการอะไร หมดแล้ว ปัญหามีน้อย
ภิกษุถามปัญหา : ชีวิตนี้ได้รับอนุสัยอย่างเดียวกันนี้ โอกาสที่จะแตกต่างกันมีไหมครับ
ท่านพุทธทาส : โอ้, เด็กฝาแฝดก็มันไม่ๆใช่ตัวเดียวกัน มันก็กินคนละปาก ไอ้รู้สึกคนละนั่นได้ แล้วมันก็ ก็เกิดความรู้สึกต่างกันได้ เพราะว่ามันไม่ได้เท่ากัน หรือมันโตออกมาแล้ว มันแยกเป็นคนละคนแล้ว ทีนี้ยิ่งๆต่างกันน่ะ ไปตามสิ่งแวดล้อม มันต่างกัน คนหนึ่งอาจจะไปเป็นพระอรหันต์ คนหนึ่งอาจจะไปเป็นโจรก็ได้ แล้วแต่ไอ้อิทธิพลของสิ่งที่มันแวดล้อม
ภิกษุถามปัญหา : แต่ในๆที่นี้กล่าวถึงว่าสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน แล้วก็สิ่งแวดล้อมเดียวกัน และก็ได้รับอนุสัยที่อย่างเดียวกันด้วย
ท่านพุทธทาส : แน่นอน ถ้าสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวกัน มีรับ ได้รับเท่ากันเหมือนกันจะเหมือนกันแน่นอน
ภิกษุถามปัญหา : ครับๆ
ท่านพุทธทาส : แต่ใครล่ะ ฝาแฝดคู่ไหนมันได้รับแล้วมันจะเท่ากัน เหมือนกันแล้วก็ มันเป็นไปไม่ได้ ไอ้เพียงร่างกายก็ได้ ไอ้ความรู้สึกคิดนึกข้างในมันไม่เหมือนกันเลย
(เสียงขาดหายไป นาทีที่ 81:15-81:41) ที่ว่ารู้จักตัวเองเท่านั้นน่ะ รู้จักตัวเอง มันก็รู้จักหมดแหละ ถ้ารู้จักตัวเองแล้วจะรู้จักหมด ตัวเราเองนี่มันเป็นขึ้นมาอย่างไร อะไร อย่างไร อะไร อย่างไร รู้ให้หมดเถอะ แล้วสัตว์ตัวอื่นก็เหมือนกัน ตัวเองนั้นทีแรกก็คิดว่ามีตัว ต่อมารู้ อ้าว, ไม่มีตัว ไม่ใช่ตัว ไม่มีตัว มีแต่ธาตุทั้งหลาย เป็นไปตามธรรมชาติ ปรุงแต่งกันไปตามธรรมชาติ เกิดสิ่งนั้น สิ่งนี้ สิ่งโน้น ตามกฎของอิทัปปัจจยตา มีเท่านั้น ไปรัก ไปโกรธ ไปเกลียด ไปกลัว มันก็คือคนโง่คนบ้า ไม่มีความเป็นมนุษย์ มีปัญหาอะไรอีกล่ะ
ภิกษุถามปัญหา : ความว่างที่อาจารย์พูดถึงในแง่ที่ว่างในแง่วัตถุนะฮะ ที่จะว่างเพื่อให้มีวัตถุอยู่ได้นี่นะครับ
ท่านพุทธทาส : ไหนว่าใหม่ ไม่ค่อยได้ยิน
ภิกษุถามปัญหา : ความว่างในแง่ที่เป็นวัตถุนะครับ
ท่านพุทธทาส : แล้วว่าไง ถามว่าอย่างไร
ภิกษุถามปัญหา : ความว่างในแง่ที่เป็นวัตถุนั้น หมายๆความรวมถึงในแง่ทั้งจักรวาลเลยใช่ไหมครับ
ท่านพุทธทาส : อ๋อ, คำว่าว่าง ว่างทางวัตถุก็คือไม่มีอะไร ถ้าว่าง ว่างทางธรรมะน่ะหมายถึงว่าไม่มีอะไรที่ควรถือว่าเป็นตัวตน หรือว่างจากตัวตน ไม่มีตัวตน มีทุกสิ่ง มีสารพัดอย่าง มีไปเถอะ แต่ว่ามันไม่มีสิ่งใดที่มีความหมายแห่งตัวตน นี่เรียกว่าว่างทางธรรมะ ถ้าว่างทางวัตถุก็คือไม่มีอะไร ไม่มีแม้กระทั่งอากาศ เหมือนกับสุญญากาศ... (เสียงขาดหายไป นาทีที่ 84:14-84:34) ให้คนรู้จักทำจิตใจให้ว่างจากตัวตน คนก็ไม่เป็นทุกข์ อยู่กันอย่างไม่เป็นทุกข์
ภิกษุถามปัญหา : เพราะฉะนั้นใช้คำว่าสูญญากาศนี่ก็ได้ใช่ไหมครับ
ท่านพุทธทาส : อ่า, มันๆไม่ใช้ คำนี้มันไม่ใช้ ไอ้สุญญากาศมันหมายถึงอากาศ ว่างจากอากาศ คือไม่มีอากาศ ส่วนสุญญตาในทางธรรมะก็คือ ไม่มีสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ คือไม่มีตัวตนอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ จิตไม่ได้ยึดถืออะไรเป็นตัวตน มันก็ว่าง มันก็ไม่มีความทุกข์ จิตชนิดนี้ไม่อาจจะเป็นทุกข์
ภิกษุถามปัญหา : ครับ แล้ว อ่า, ที่ผมถามเมื่อกี้นี้หมายความว่าคำว่าสูญญากาศนี้จะใช้แทนความว่างในแง่ของทางวัตถุได้ไหมครับ
ท่านพุทธทาส : ไอ้นั้นต้องเป็นว่างทางวัตถุ ไม่เกี่ยวกันกับว่างทางไอ้ภาษาธรรมะ คือว่าว่างจากสิ่งที่จะควรจะถือว่าเป็นตัวตน ไม่มีสิ่งที่จะถือว่าเป็นตัวตนได้ นั่นน่ะคือว่างทางธรรมะ ไอ้สุญญากาศนี่คือมันไม่มีอะไรเลย แม้แต่อากาศก็ยังไม่มี แล้วมันก็มีไม่ได้หรอก ที่ว่ามันจะไม่มีอะไรเลย เพราะตามธรรมชาติมันก็มี ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณอะไรอยู่ ไอ้ว่างทางสะ อ่า, วัตถุไม่มีปัญหานะ ไปดูให้ดีเถอะ ไม่มีปัญหาหรอก แต่ไอ้ว่างไอ้ทางธรรมทางจิตนี่ทำยาก มีได้ยาก เพราะจิตมันไปจับเอาอะไรเป็นตัวตนเสียเรื่อยไป มันไม่ว่าง
ภิกษุถามปัญหา : อย่างที่อาจารย์กล่าวว่ากิเลสหรืออะไรต่างๆนี้มาเกิดขึ้นเมื่อเรามีความรู้สึก คือ อ่า, จาก หลังจากที่คลอดจากท้องแม่มาใหม่ๆนี้เรายังไม่มีความรู้สึกอะไร ก็ไม่มีกิเลส แต่เมื่อมีความรู้สึกก็มามีกิเลสเกิดขึ้นภายหลัง ฉะนั้นถ้าเด็กพอคลอดมาแล้วเอาไปเลี้ยงในๆๆ คือในสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้ๆความรู้สึกที่ดีอะไรต่างๆแก่แก แล้วก็เราก็ให้อนุสัยอะไรต่างๆที่ดีๆ ฉะนั้นเมื่อเด็กรู้จักคิดรู้จักอะไรแล้ว โอกาสที่เด็กจะไม่ยึดถือสิ่งอะไร คือเราสอนไม่ให้แกยึดถืออะไรอย่างนี้ มีโอกาสมากกว่าผู้ใหญ่ที่ได้รับอนุสัยไอ้นั่นมาก
ท่านพุทธทาส : นั่นแหละ ถ้าว่าเราสามารถสอนให้เด็กเขารู้เรื่องความไม่ยึดถือได้มันก็วิเศษที่สุด แต่ทีนี้โดยธรรมชาติแล้วมันทำไม่ได้ เพราะว่าเด็กมันไม่ได้มีความรู้ติดมาแต่ในท้อง ฉะนั้นพออร่อยเข้ามันก็ชอบ พอไม่ได้อย่างใจมันก็โกรธ อันนี้มันๆมีเสียก่อน มันชิงมีเสียก่อน แต่ถ้าเรารู้จักสอนเด็กให้นึกได้ตั้งแต่เล็กๆ คิดได้แต่เล็กๆ มันก็ดีเหมือนกัน ดีกว่าที่ไม่ได้สอน แต่เดี๋ยวนี้วัฒนธรรมประจำบ้านเรือนมันไม่มีนี่ที่จะสอนเด็กอย่างนั้นน่ะ มันมีแต่ยิ่งเอามาให้ของมึงของกู ของลูกเอ๋ย ของมึง เดี๋ยวเอานั่นมาให้กิน เอานี่มาให้เล่น มันเพิ่มเข้าไปเรื่อยอย่างนี้นี่ มันไม่มีวัฒนธรรมของชนชาติไหนที่จะทำให้เด็กรู้จักไม่ยึดถือ คือว่าไม่ๆๆ ไม่รู้ คือไม่หลงในความอร่อยน่ะ ไม่มีวัฒนธรรมของชนชาติไหน แม้แต่ชาติพุทธบริษัทนี่มันก็ยังไม่มีนี่ ที่จะมาอบรมเด็กเล็กๆให้ไม่ๆยึดถือในความอร่อย แล้วมันก็ยึดถือเป็นเสียแล้ว เป็นเสียก่อนแต่ที่เราจะหันไปเกี่ยวข้องกับมัน พอมันรู้สึกความอร่อย สวยงาม ไพเราะ นิ่มนวลอะไรทั้งนั้นน่ะ มันก็มีความยึด รู้สึกที่เป็นกิเลสและยึดถือแล้ว
ภิกษุถามปัญหา : ฉะนั้นก็อย่างๆที่กล่าวมาแล้ว ถ้าเกิดทำได้นี้ เด็กนี้จะมีโอกาสถึงนิพพานนี่มากกว่าผู้ใหญ่ไหมฮะ
ท่านพุทธทาส : ถ้าทำได้ เด็กนั้นจะดี เด็กนั้นจะง่ายแก่การที่จะบรรลุนิพพาน ถ้าทำได้อย่างที่ว่า
ภิกษุถามปัญหา : ฉะนั้นไอ้ลักษณะนี้แสดงว่า คืออยู่ที่เราว่าเราสลัดได้มาก เราก็โอกาสที่จะถึงนิพพานได้มากใช่ไหมครับ
ท่านพุทธทาส : นั่นน่ะเราอย่าสร้างกิเลสขึ้นมา
ภิกษุถามปัญหา : ครับๆ
ท่านพุทธทาส : อย่าสร้างความเคยชินแห่งกิเลสขึ้นมา แต่มันไม่มีวัฒนธรรมไหนในบ้านเรือนน่ะที่ว่าพ่อแม่คลอดลูกออกมาแล้วจะตั้งหน้าตั้งตาสอน อย่าให้ลูกหลงใหลในความเอร็ดอร่อย สวยงาม ความสุขน่ะ มันไม่มีนี่ มันยิ่งจะเอามาหา มาให้น่ะ ให้กินอร่อยบ้าง ให้เล่นตุ๊กตา ให้มีของสวยงาม ให้มีของไพเราะขับกล่อม เอามาอุ้มไว้กับอก เป็นสัมผัสที่นิ่มนวลสบายอย่างนี้ มันมีแต่อย่างนี้นี่
ภิกษุถามปัญหา : ครับ
ท่านพุทธทาส : เอาไปคิดเองต่อนะ หยุดเสียเพียงเท่านี้ เอาไปใคร่ครวญคิดดูเองต่อไปๆๆ มันไม่ลึกซึ้งเกินไป เรื่องนี้ ว่าทำไมคนมันจึงเกิดแล้วเติบโตขึ้นมาพร้อมกับความเติบโตแห่งความโง่ กิเลส อวิชชา ตัณหา มันโง่ในส่วนนี้ ยี่สิบกว่าปีจึงจะมาบวช เพิ่งฟังเป็น ฟังครั้งแรกอย่างนี้มันจะทันกันที่ไหนเล่า ก็อัดไว้ในนั้นเหลือประมาณ อนุสัย กิเลสหรืออนุสัย มันอัดไว้มากเหลือเกิน
ภิกษุถามปัญหา : ฉะนั้นโอ เอ่อ, โอกาสที่มนุษย์เราจะถึงนิพพานได้ คือถ้าปฏิบัติตามหลักธรรมะอย่างถูกต้องหมด จะมีโอกาสถึงนิพพานได้ทุกคนเลยใช่ไหมครับ
ท่านพุทธทาส : ทุกคนเลย ถ้าปฏิบัติถูกต้อง ทุกคนเลย ที่จะทำให้ปฏิบัติถูกต้องทุกคนนั่นแหละ มันได้แต่เป่าปี่ให้แรดฟัง มันไม่เข้าใจนี่ มันๆๆฟังไม่ออก แล้วบางทีมันก็น่าสงสัยหรือน่าขันที่ว่ามันไม่ได้เอร็ดอร่อย แต่มันก็ไปหลงใหลได้ ยกตัวอย่างเช่นสูบบุหรี่อย่างนี้ มันอร่อยหรือมันอย่างไรนัก ถึงมันเข้าไปติดจนแร้นแค้น สูบบุหรี่น่ะมันเสียสตางค์นะ มันเสียเศรษฐกิจ สูบบุหรี่มันเสียสุขภาพร่างกาย จิตใจก็เสื่อมนะ สติปัญญาก็เสื่อมนะ สูบบุหรี่น่ะฟังออกไหม เสียเงิน เสียร่างกาย เสียจิตใจ เสียสติปัญญา แล้วทำไมยังไปชอบมันได้ ให้ๆทิ้งกันก็ไม่ได้ นี่ดูไอ้ ดูไอ้ฤทธิ์เดชของไอ้อวิชชา ฉะนั้นเราจึงไม่สามารถทำคน โดยเฉพาะยุคปัจจุบันนี้ ให้หันมาในทางที่จะไม่หลงใหลในไอ้เรื่องเหล่านั้น นี่มันก็เป็น อู้ว์, มันเป็นอวิชชา เหลืออวิชชา ยิ่งกว่าอวิชชา ซึ่งเต็มไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง เรื่องนิดเดียวเท่านี้มันก็ยังมองไม่ออก
อย่าลืมว่ามันต้องดูข้างใน คิดข้างใน มองข้างใน ไอ้เวลาที่จะนั่งมองข้างในน่ะหาให้มันมากๆ ก่อนแต่จะทำวัตร หรือตื่นขึ้นตอนหัวรุ่ง ให้มีเวลาที่จะมานั่งมองข้างใน กระทั่งว่าแม้เดินไปเดินมาก็ได้ แต่ถ้าว่าจิตมันคิดได้ แล้วมันก็มองได้ นั่ง นอน ยืน เดิน ทุกๆอิริยาบทให้มันมีไอ้ๆการศึกษาภายในข้างใน ฝรั่งคนที่เพิ่งกลับไปเมื่อวานนี้ เขาๆจะไปชวนเพื่อนจับกลุ่มกันศึกษาอย่างที่ว่านี้ แล้วเราก็ชวนกันจับกลุ่มที่มีการศึกษาอย่างที่ว่านี้กันให้ๆเข้ม ให้เข้มข้น ในมหาวิทยาลัยก็ดี นอกมหาวิทยาลัยก็ดี ในการทำงานสังคม ผู้ที่มีการงานอะไรก็ดี เวลาวันเสาร์วันอาทิตย์ เวลาพักผ่อนนี้มันควรจะจับกลุ่มกันศึกษาเรื่องนี้ให้มากขึ้นๆ มันจะมีความทุกข์ลดลงๆ ไม่ทันตายจะได้พบกับไอ้ความทุกข์ที่น้อยมากหรือว่าไม่มีเลย
เอ้า, ถ้าไม่มีปัญหาก็ปิดประชุม ไปก่อนไฟดับ ม้วนเถอะอย่าลำบากเลย โรงเรียนอยู่ข้างใน โรงเรียนอยู่ข้างใน สอนเอง เรียนเอง สอบไล่เอง