แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพระธรรมทายาททั้งหลาย การพูดครั้งนี้ ผมจะพูดโดยหัวข้อว่าธรรมทายาทในส่วนปฏิเวธต่อจากครั้งที่แล้วๆ มา ธรรมทายาทในส่วนปริยัติ ธรรมทายาทในส่วนปฏิบัติ ธรรมทายาทในส่วนปฏิเวธ หมายความว่าสืบมรดกทางปริยัติ ทางปฏิบัติ ทางปฏิเวธ หรือทำให้เหมือนพระพุทธเจ้าในทางปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ มาดูถึงปัญหากันก่อน ทางปริยัติดูไม่มีปัญหาอะไรเพราะว่าประชาชนเขาก็ยอมว่ามันจำเป็นหรือขวนขวายกันอยู่ ปฏิบัติเขาก็ขวนขวายกันอยู่ พอมาถึงปฏิเวธตามธรรมดาหมายถึงมรรคผลนิพพาน เขาก็ปฏิเสธกันหมดคือถือว่ามีไม่ได้เป็นไปไม่ได้ ปริยัติเชื่อว่าเป็นไปได้เต็มที่ ปฏิบัติได้สักครึ่งหนึ่ง พอปฏิเวธว่าไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ สมัยนี้ไม่มีทางที่จะบรรลุมรรคผลได้ นี่คือปัญหา ถ้ามันไม่มีปฏิเวธ มันก็คือหัวด้วน หรือหัวขาด คือตายแล้ว มีแต่ปริยัติกับปฏิบัติ ไม่มีปฏิเวธ มันก็เป็นหมันน่ะ ดังนั้นเรามีความรู้มีการกระทำแล้วมันไม่ได้ผลอะไรเลย มันก็คือเป็นหมัน นั้นจึงเป็นปัญหาที่จะต้องพิจารณากันมากกว่าเรื่องของปริยัติและปฏิบัติ ถ้าเราไม่มีความรู้เพียงพอ มันก็ปฏิบัติไม่ได้คือทำหน้าที่ของเราไม่ได้ มันจะต้องมีความรอบรู้มากกว่าฆราวาสที่ชักจูงเขาให้เห็นว่ายังเป็นไปได้ในการที่จะมีปฏิเวธในพระพุทธศาสนา ปริยัติพรหมจรรย์ ปฏิปัตติพรหมจรรย์ ปฏิเวธพรหมจรรย์ ครบสามส่วนนี้จึงจะเรียกว่าเป็นพรหมจรรย์ที่สมบูรณ์ ถ้ามันไม่มีปฏิเวธมันก็เป็นพรหมจรรย์หัวด้วนไม่มีประโยชน์อะไร คำว่าหัวนี่หมายถึงส่วนบนสุด ซึ่งถ้าดูสำหรับมนุษย์มันสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าถ้าหัวขาดมันคือตาย ถ้าหัวขาดมันก็ไม่มีจุดศูนย์กลางที่จะคิดนึก รู้สึก และดำเนินงานอะไร นี่เรียกว่าหัวขาด ขอให้สนใจเพื่อจะทำความเข้าใจในหมู่มหาชนให้ตรงตามพระพุทธภาษิตที่ว่า ถ้ายังปฏิบัติชอบก็เป็นอยู่ชอบ โลกนี้ไม่ว่างจากพระอรหันต์ แต่พูดอย่างนี้มันก็ไม่ค่อยปลอดภัยนัก เดี๋ยวก็ยึดถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระอรหันต์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นี่ยึดถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิมันก็ยิ่งไกลต่อการเข้าถึง พระอรหันต์เป็นเพียงผู้ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนที่ต้องดับทุกข์ได้สิ้นเชิง ดูที่คำคำนี้กันก่อนคำว่าปฏิเวธ ถ้าว่าเปรียบกับการเดินทาง ถ้าระบบทั้งหมดเป็นการเดินทาง ปฏิเวธก็คือการถึงปลายทาง ถ้าเปรียบกับการทำการงาน ปฏิเวธก็คือการเก็บเกี่ยวผล ถ้าเปรียบกับการกินอาหาร ปฏิเวธก็คือได้กินและก็ได้อิ่ม แต่ที่มันแคบเข้ามาในความหมายอันลึกซึ้งสำหรับเรื่องนี้ เราจะเปรียบเทียบกันกับการดู ปฏิเวธก็คือการเห็น การดูเป็นปฏิปัตติ ปฏิปัตติกธรรม คือปฏิปัตติศาสนา การเห็นนี่เป็นปฏิเวธ เป็นปฏิเวธสัทธรรม ดูไม่เห็นก็ไม่มีประโยชน์อะไร ระบบแห่งการดูมันมีผลอยู่ที่การเห็น เพราะการเห็นมันก็ได้ประโยชน์คือทำอะไรก็ได้ นี่เราจะค้างเติ่งการเดินทางที่ไม่ถึง การทำการงานที่ไม่ได้ผล การมีแต่ข้าวหุงแล้วไม่ได้กิน หรือเป็นการดูที่ไม่ได้เห็น มันก็แปลว่าไอ้ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่สมบูรณ์ การปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาไม่สมบูรณ์ ลำพังศีลน่ะมันจะถึงปฏิเวธไม่ได้ แต่ถ้าว่าทำถึงปฏิเวธได้ มันก็มีปฏิเวธในศีล เราแทงตลอดในชั้นศีล รู้จักศีล ผ่านศีลไปได้ด้วยดี สมาธิก็เหมือนกัน ก็มีความเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยเรื่องสมาธิ แต่ลำพังสมาธิมันก็เป็นปฏิเวธไม่ได้ มันต้องเป็นเรื่องของปัญญา เป็นขั้นตอนของปัญญาในข้อนี้ก็อยากจะให้รู้ความหมายโดยการเปรียบเทียบ ในเรื่องธรรมดาธรรมดาของความแตกต่างของสิ่งสามสิ่งนั้น ช่วยจำไว้เป็นหลักสำหรับพิจารณาหรือวินิจฉัยอะไร คือความรู้คำหนึ่ง ความเข้าใจคำหนึ่ง ความเห็นแจ้งแทงตลอดอีกคำหนึ่ง สามคำนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน คนที่เขาไม่ค่อยจะสังเกตจะเห็นเป็นเรื่องเป็นสิ่งเดียวกันก็ได้ ความรู้มันก็รู้ได้ด้วยการเรียน ความเข้าใจมันมีได้ เข้าใจได้ด้วยการใคร่ครวญพินิจพิจารณา แต่ความเห็นแจ้งแทงตลอดนั้นมีได้ต่อเมื่อผ่านสิ่งนั้นไปแล้ว ได้ผ่านสิ่งนั้นไปแล้วโดยจิตใจ ไอ้การเรียนน่ะมันก็จำได้ก็มีความรู้ การคิดเข้าใจมันก็มีเหตุผล มีความเข้าใจแต่ยังไม่ได้ผ่านโดยจิตใจ คือไม่ได้แทงทะลุผ่านสิ่งนั้นๆ ไป เรียกว่าไม่ ไม่ใช่เห็นอย่างแจ่มแจ้ง หมายความว่ายังไม่ได้ชิม ไม่ได้กินไม่ได้รู้รสของสิ่งนั้น เดี๋ยวนี้เราก็มีความรู้เป็นส่วนมาก สุตะ แปลว่าความรู้ เรียนบาลีเรียนนักธรรมเรียนอะไรเราก็ได้ความรู้ และบางทีเราก็ยังไม่เข้าใจ ทั้งที่รู้ไว้จำไว้เยอะแยะ ต้องทำความเข้าใจกันอีกทีหนึ่ง ครั้นมีความเข้าใจแล้วมันก็ปฏิบัติถูกต้อง มันก็ผ่านไปด้วยการปฏิบัติสิ่งนั้นเสร็จแล้ว ครบถ้วนแล้ว รู้สึก เป็นเรื่องรู้สึกอยู่ด้วยใจ จึงไม่เหมือนกันในสามอย่างนี้ ความรู้ก็อย่างหนึ่ง ความเข้าใจก็อย่างหนึ่ง ความเห็นแจ้งแทงตลอดก็อย่างหนึ่ง เหมือนที่เขาเอามาใช้เป็นหลักเกี่ยวกับปัญญาสามชนิด สุตมยปัญญา ปัญญาสำเร็จมาแต่การได้ยินได้ฟัง จินตามยปัญญา ปัญญาสำเร็จมาแต่การคิด ภาวนามยปัญญา ปัญญาสำเร็จมาแต่ภาวนา คือการได้ประพฤติ ได้กระทำ ได้เจริญสิ่งเหล่านั้นแล้ว เดี๋ยวนี้ในวงการศาสนาของเรามันก็เต็มอยู่ด้วยปริยัติ ปฏิบัติมันมีอย่างครึ่งๆ กลางๆ ส่วนปฏิเวธนั้นมันถือกันเสียว่าไม่มีไม่ได้ พ้นสมัยแล้วอย่างนี้เป็นต้น ไม่เชื่อกันว่ามีการบรรลุมรรคผลนิพพาน มันก็จริงอย่างนี้ถึงแม้ในครั้งพุทธกาลมันก็มีน้อย การบรรลุมรรคผลนิพพานมันมีน้อย การเล่าเรียนการปฏิบัติมันก็พอจะมี แต่แล้วมันไม่สำเร็จ มันไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน นี่คือปัญหาอย่างเดียวหรือคล้ายๆ กันกับครั้งพุทธกาล แต่ว่ายุคนี้สมัยนี้มันมีมากกว่า การที่จะมีมรรคผล การบรรลุมรรคผลนิพพาน หรือมีความเชื่อว่ามีการบรรลุมรรคผลนิพพานนี้มีได้ยากกว่า เพราะว่าเกือบจะทุกคนมันไปสนใจในเรื่องความสุขทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กันหมด แล้วแต่ละคนละคนก็จะสันนิษฐานเชื่อว่าคนอื่นก็เหมือนกัน เมื่อเราเป็นอย่างนี้กันแล้วคนอื่นก็คงจะเหมือนกัน เพราะฉะนั้นคงไม่มีใครบรรลุมรรคผลนิพพาน มันก็เลยไปกันใหญ่คือทอดธุระในเรื่องนี้กันมากขึ้น ขอให้พิจารณาดูในฐานะที่เป็นปัญหา ที่มันกำลังเป็นปัญหาของคนทั้งหมดจะไม่ได้รับผลแท้จริงของพระศาสนา เมื่อเป็นปัญหาเฉพาะพวกธรรมทายาท ที่มันจะทำให้ประชาชนสนใจในเรื่องของปฏิเวธไม่ได้ เขาไม่ได้เรียนเพื่อปฏิบัติ เขาเรียนเพื่อรู้ เพื่อประโยชน์ทางอายตนะ ประโยชน์ทางวัตถุ เช่นเรียนปริยัติกันมากๆ แล้วก็ใช้ความรู้ทางปริยัติหาทรัพย์สมบัติ หาเกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นเครื่องมือแสวงหาความสุขทางอายตนะ นั่นเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวนี้เรื่องปริยัติมันเลี้ยวไปหาทางเนื้อหนัง ความสุข ทางอายตนะมันมากขึ้น จึงมีลักษณะยากลำบากเหมือนกับว่ากลิ้งครกขึ้นภูเขา มันลำบากมันไม่เหมือนกับกลิ้งครกลงภูเขา ถ้าคนเขาสนใจเขาอยากจะได้มันก็ง่ายล่ะเหมือนกับกลิ้งครกลงภูเขา แต่เมื่อเขาไม่สนใจ ไม่เข้าใจ เข้าใจผิด ไม่อยากจะได้ มันก็เหมือนกับกลิ้งครกขึ้นภูเขา คือยากที่จะจูงกันไปได้ ขนาดหนักที่สุดมันก็เหมือนกับว่าจูงช้างลอดรูเข็ม นึกดูแล้วมันก็ชวนให้ท้อใจ แต่ถึงอย่างไรก็ดีมันก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงหรือเหตุผล ถ้ามันเก่งจริงมันก็ทำได้ มันก็สร้างความเข้าใจขึ้นมาได้ ชักชวนกันได้ เมื่อทุกคนมันต้องการในเรื่องมันก็ง่ายล่ะ เดี๋ยวนี้ทุกคนมันไม่ต้องการ ไม่ต้องการสิ่งที่เราชักชวนให้เขาทำ ให้เขาสนใจมันต้องทนลำบาก หาวิธีที่จะชักจูงให้เกิดความเข้าใจ สนใจ พอใจ รักใคร่ ที่จะปฏิบัติธรรมะแสวงหาสุขอันเป็นนิรามิส เดี๋ยวนี้คนลุ่มหลงอยู่ในสุข ที่เป็นอามิส อามิสสุข ก็ลุ่มหลงกันเต็มที่ นี้ชักจูงกันมาให้แสวงหาสุขนิรามิส ซึ่งมันก็ดีกว่า ประเสริฐกว่า และจริงกว่า แต่ถ้าเขาก็ไม่เอาเพราะว่าเขาไม่เข้าใจ ส่วนอามิสสุขนี่เขามันเอร็ดอร่อยอยู่ทุกวัน ทุกวัน ตามแบบของผู้หลง ผู้เขลา ผู้มืด ผู้บอด ผู้งมงาย นี่ชวนคนเขลา คนหลงมาเดินกันเสียใหม่ให้ถูกทางมันยากอย่างนี้ สรุปแล้วนี่คือปัญหาของขั้นปฏิเวธหรือในชั้นปฏิเวธ ซึ่งหมายถึงการรู้แจ้งแทงตลอด ปริยัติคือเรียนให้รู้ ปฏิบัติคือปฏิบัติให้เกิดผลขึ้นมา ปฏิเวธมันก็รู้แจ้งแทงตลอดในสิ่งที่จะต้องรู้แจ้งแทงตลอด เอ้าทีนี้ก็ดูกันต่อไปในข้อที่ว่ารู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอะไร ซึ่งอะไร มีศีลและบำเพ็ญสมาธิ จิตเป็นสมาธิแล้ว จะรู้แจ้งแทงตลอดอะไร มันก็เหมือนที่พูดมาแล้วครั้งก่อนว่า มันมีอยู่สองขั้นตอนที่ใหญ่ๆ คือธรรมฐิติญาณ และแทงตลอดอวิชชา อวิชชา หรือสิ่งที่เนื่องอยู่ด้วยอวิชชา ถ้าแทงตลอดซึ่งอวิชชาที่ปิดบังความจริงในสังขารทั้งปวง มันก็แทงตลอดด้วยธรรมฐิติญาณ ธรรมฐิติคือสิ่งที่ตั้งอยู่ตามธรรมดาคือสังขาร ที่แทงตลอดสังขารที่ตั้งอยู่ตามธรรมดานี่ มันแทงตลอดอวิชชาที่ปิดบังอยู่ ปิดบังอนิจจัง ปิดบังทุกขัง ปิดบังอนัตตา ปิดบังสุญญตา ปิดบังตถาตา ปิดบังปฏิจจสมุปบาท มันปิดบังอยู่ด้วยอวิชชา ธรรมฐิติญาณมันก็แทงให้ตลอดอวิชชา มันจะเกิดปัญหาทางคำพูดก็ได้ ฟังดูให้ดีๆ แทงตลอด แทงเข้าไป หรือแทงออกมา แทงตลอดอวิชชาน่ะแทงเข้าไปข้างใน หรือว่าแทงออกมา โดยภาษาธรรมะแท้ๆ มันก็ต้องเล็งถึงแทงออกมา เพื่อจะหลุดพ้นอวิชชามันหุ้มห่อไว้ หลุดพ้นไม่ได้ ก็แทงให้ตลอดแทงให้ตลอดออกมา ให้หลุดพ้นได้ แทงเข้าไปข้างในมันฟังดูแล้วมันก็มืดมน คือเข้าไปอยู่ข้างในจะหลุดพ้นได้อย่างไร เมื่อธรรมฐิติญาณแทงตลอดอวิชชาที่ปกปิดหุ้มห่อสังขาร แล้วมันก็เกิดญาณหลังจากนั้นคือนิพพานญาณ ญาณในนิพพาน คือญาณในผลของการแทงตลอดอวิชชา นี่เรียกว่านิพพานญาณ กิเลสถูกทำลายไปเป็นผลขึ้นมา รู้แจ้งซึ่งผลอันนั้นในทุกขั้นตอนน่ะมันมีหลายขั้นตอน ก็เรียกว่านิพพานญาณแทงตลอด ผลที่เกิดมาจากการหมดอวิชชา นี้ส่วนปัจจเวกขณญาณ เป็นต้น มันก็รวมอยู่ในนั้นแหละ มันรู้ว่าพ้นแล้ว รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ว่าแทงตลอดแล้ว รวมอยู่ในนิพพานญาณก็ได้ ถ้าว่าจะจัดหมวดให้มันใหญ่ๆ สรุปๆ กันจริงๆ จะแยกออกมาจากอีก เป็นอีกหมวดหนึ่งก็ได้ไปเป็นปัจจเวกขณญาณ พิจารณาผลที่ได้บรรลุแล้ว นี่คำว่าปฏิเวธอย่างนี้เองคือแทงตลอด ในชั้นแรกมันก็ปะทะกันเข้ากับอวิชชา ซึ่งห่อหุ้มจิตหรือห่อหุ้มความจริงก็ได้แล้วแต่จะมองออกหรือมองเข้า จิตไม่เข้าถึงความจริงของสังขารทั้งปวงเพราะอวิชชามันหุ้มไว้ อวิชชาแห่งจิตมันแทงตลอดเมื่อเห็นสัจจะเห็นความจริง ฟังดูแล้วมันเป็นแทงเข้าไป ถ้าเกิดเรามองอีกทางหนึ่งว่าจิตมันถูกห่อหุ้มด้วยอวิชชา ก็แทงตลอดอวิชชา จิตออกมาสู่แสงสว่างก็รู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ไอ้เหล่านี้อย่าถือเป็นสำคัญว่าจะต้องพูดอย่างนั้นจะต้องพูดอย่างนี้ มันก็แล้วแต่ว่าเราจะพูดอย่างไรต่างหากล่ะ เราจะใช้วิธีพูดอย่างไรในกรณีอย่างไร เอาเป็นว่ามันแทงตลอดสิ่งที่หุ้มห่อปิดบังก็แล้วกัน ไม่ให้รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหล่านี้ ก็แทงไอ้สิ่งที่ปิดบังนั้นให้ทะลุ ทะลุ ทีนี้ก็รู้ผลแห่งการแทงตลอดนั้นอีกทีหนึ่ง นี่เป็นการแทงตลอดชั้นถัดมาชั้นที่สองที่เรียกว่านิพพานญาณ ญาณมีมากมายหลายสิบชื่อ แล้วก็ไปดูเอาเองเถอะ ถ้ามันทำให้รู้ในชั้นแรก รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วทุกๆ ญาณนั้นน่ะ หรือว่าส่วนประกอบแห่งญาณนั้นก็ตาม มันเป็นพวกธรรมฐิติญาณ ครั้นแทงตลอดแล้วได้ผลอย่างไร รู้ผลนั้นอีกทีหนึ่งนี่จึงจะเรียกว่านิพพานญาณ จะเรียกว่าญาณในมรรคหรือญาณในผลก็ได้เหมือนกัน ญาณในส่วนมรรคก็เป็นธรรมฐิติญาณ ญาณในส่วนผลก็เป็นนิพพานญาณ มาพิจารณาดูอีกทีหนึ่งก็เรียกว่าปัจจเวกขณญาณ ใช้คำว่าแทงปฏิเวธะ ใช้คำว่าแทงเฉพาะ แทงตลอด ปฏิ ปฏิ คำอุปสรรคคำนี้มันจะแปลว่าตลอดก็ได้ จะแปลว่าเฉพาะก็ได้ แล้วมันก็ใช้พร้อมกันทั้งสองความหมายแหละ คือต้องใช้ให้ถูกจุด เฉพาะเรียกว่าเฉพาะ แล้วก็แทงให้ทะลุเรียกว่าตลอด รู้แจ้งแทงตลอด แทงให้ถูกจุดอย่างรู้แจ้งแทงตลอด ใช้คำว่าแทงเป็นภาพพจน์ของไอ้คำพูดภาษาชาวบ้าน ภาษาชาวบ้านแทงด้วยของแหลม แทงด้วยหอก แทงด้วยของแหลม แทงให้ทะลุไป คำนั้นน่ะยืมมาใช้ในภาษาธรรมะเป็นกิริยาอาการของญาณ บางคนอาจจะไม่เคยทราบ แต่ผมก็พูดมาไม่รู้กี่ครั้งแล้วว่า ให้รู้ไว้เถอะว่าไอ้คำธรรมะ คำที่ใช้เป็นชื่อธรรมะในภาษาธรรมะทุกคำน่ะมันยืมมาจากภาษาชาวบ้าน ภาษาธรรมดา ภาษาบ้าน พอตั้งใจจะดูอย่างนี้ก็เห็นเองแหละ ถึงไม่ต้องมีใครอธิบายนัก ไอ้ที่ง่ายๆ เช่นคำว่ามรรคนี่ มรรคก็แปลว่าทางเดิน ยืมคำว่าทางเดินของชาวบ้านมาใช้เป็นทางเดินของจิต เป็นเรื่องมรรค เป็นเรื่องอริยมรรค ไอ้ผลก็คือลูก ลูกไม้ลูกอะไรก็ตาม ที่ปลูกแล้วมันได้ผล ก็ยืมคำนั้นแหละมาใช้เป็นผลของการปฏิบัติธรรมะ คำว่านิพพานแปลว่าเย็น ก็ยืมคำว่าเย็นของชาวบ้านน่ะเอามาใช้เป็นภาษาธรรมะ แปลว่าเย็นแห่งจิตใจเพราะไม่มีไฟคือกิเลส ยืมคำว่าสกปรกหรือของสกปรก ซึ่งกิเลสน่ะคำนั้นชาวบ้านเขาใช้คำว่าของสกปรก มาใช้เป็นชื่อของกิเลสทางจิตใจ สกปรกทางจิตใจ โลภะ โทสะ โมหะ ที่เป็นกิเลสมันสกปรก ทุกคำเลยที่เป็นคำธรรมะน่ะที่เขาจะสาวพบต้นตอที่เขาไปยืมมาจากภาษาชาวบ้าน แล้วเอามาใช้ นี่เป็นของธรรมดาที่สุด แล้วก็จริงที่สุด เพราะว่าการค้นพบเรื่องทางจิตใจภายในใจมันเพิ่งมีทีหลัง เมื่อมนุษย์มันฉลาดมากพอแล้ว ส่วนไอ้เรื่องธรรมดาชาวบ้านเขาก็ทำกันมาภาษาชาวบ้าน มีคำพูดอย่างนั้นอยู่แล้ว นิพพานก็แปลว่าดับ ในบาลีมีที่ใช้มาก นิพพานแปลว่าดับ ดับของวัตถุ เช่นช่างทอง เอาน้ำรดทองที่หลอมแล้ว ก็ใช้คำว่านิพพานปยติ คือทำไอ้ทองให้นิพพาน ทำทองที่ร้อนๆ อยู่ให้เย็นลง เขาเรียกว่าทำทองให้นิพพาน อย่างนี้เป็นต้น ถ้าเรารู้จักความหมายของคำว่าเย็นๆ แล้วก็เราจะเข้าใจนิพพานได้ กว้างขวาง ไม่ว่าเย็นของอะไรเป็นนิพพานทั้งนั้น เย็นชั่วขณะประเดี๋ยวประด๋าวก็นิพพานเหมือนกันน่ะ นั้นน่ะจะเป็นเหตุให้รู้จักนิพพานและเข้าใจนิพพาน ว่าเราอยู่ได้ด้วยนิพพาน คือความเย็นแห่งจิตใจตามธรรมชาติธรรมดา ชั่วขณะ ที่มันมีมากกว่าเมื่อร้อน คำว่าแทงก็คือแทงอย่างของชาวบ้านแทงด้วยของแหลม เดี๋ยวนี้ก็ให้ญาณให้ความรู้ เป็นเหมือนของแหลมก็แทงม่านอวิชชา ทะลุออกมา เมื่อมุ่งหมายความหลุดพ้นออกไป มันก็ต้องเป็นการแทงออกมา ไม่ใช่แทงเข้าไป ปฏิเวธคือการแทงตลอดซึ่งสิ่งที่ต้องแทง ใช้คำอย่างนี้ อะไรต้องแทง ก็แทง แทงให้ทะลุนั้นน่ะคือปฏิเวธ แทงตลอดอวิชชาที่ปิดบังความจริงของสังขารทั้งปวงเรียกว่าธรรมฐิติญาณ แทงตลอด ผลของการแทงครั้งนั้นน่ะ ให้ชัดเจนแจ่มแจ้งให้ถึงที่สุดอีกทีหนึ่งก็เรียกว่านิพพานญาณ แล้วมาพิจารณาดูครั้งสุดท้ายอีกทีหนึ่ง การได้ผล การได้รับผล การได้เสวยผล หรือรสของการเสวยผลอะไรก็ตาม ก็เรียกว่าปัจจเวกขณญาณ เหมือนเราทำไร่ ทำนา ทำสวน ได้ผล ก็กินผล แล้วก็พิจารณาความเอร็ดอร่อย หรือความเป็นสุข หรือประโยชน์ของมันอีกทีหนึ่ง เป็นเรื่องธรรมดา ธรรมดา ตามธรรมชาติอันนั้น แต่เดี๋ยวนี้เราไม่รู้สึกอย่างนั้น เราเห็นเป็นคำประหลาด คำพิเศษ ศักดิ์สิทธิ สูงสุด ธรรมฐิติญาณบ้าง นิพพานญาณบ้าง ปัจจเวกขณญาณบ้าง ใหม่แปลกหูแล้ว ที่ว่าไม่รู้มาแต่ไหน ที่จริงมันก็ถ่ายทอดไปจากไอ้ภาษาชาวบ้านธรรมดาทุกอย่างทุกขั้นตอน ความรู้ความเข้าใจ ความเห็นแจ้งแทงตลอด นี้เรากำลังพูดถึงเรื่องความเห็นแจ้งแทงตลอด ทีนี้ไอ้คำที่เนื่องกัน ทีนี้มาดูกันถึงคำที่มันเนื่องกันอยู่กับคำว่าปฏิเวธ หรือญาณ ญาณ ญาณที่พูดมาแล้ว คำว่าญาณทัศนะใช้มากที่สุด ถ้าแทงตลอดแล้วมันก็มีญาณทัศนะ ญาณะแปลว่ารู้ ทัศนะแปลว่าเห็น (นาทีที่ 33:21 ถึง 34:05 ไม่มีเสียง) อย่าลืมว่าเนื้อแท้ของเรื่องนั้นคือการเห็น เห็นน่ะไม่ใช่เข้าใจหรือรู้นะ เป็นการเห็นแจ้งแทงตลอด เราเรียนรู้นี่ยังไม่เห็น เราคิดเข้าใจก็ยังไม่เห็นอย่างที่ต้องการ เห็นอีกทีหนึ่งก็รู้แจ้งแทงตลอดนี่จึงจะเรียกว่าเห็นนั่นน่ะคือตัวสำคัญ ที่เห็นด้วยอะไรมันก็เห็นด้วยญาณน่ะ การเห็นด้วยญาณคือความรู้ก็เรียกว่าญาณทัศนะ หรือจะแปลอย่างอื่นก็ได้ แปลว่าทั้งรู้และทั้งเห็น เรียกว่าญาณทัศนะอย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน แต่สำเร็จผลน่ะมันสำเร็จที่การเห็น เห็นแจ้งแทงตลอด คำว่ารู้มันยังกำกวม นี่คำว่าญาณทัศนะนี่เป็นคำที่ใช้แทนกันอยู่ สำหรับญาณเป็นเครื่องรู้แจ้งแทงตลอด ทีนี้คำว่าปัญญามีปะกับญา ญาก็แปลว่ารู้ ปะก็แปลว่าทั่วถึงก็ได้ แปลว่าตลอดก็ได้เหมือนกัน ไอ้ตัวปอตัวเดียวนั้นน่ะ มันจะแปลว่าทั่วถึงก็ได้ จะแปลเหมือนกับปฏิคือเฉพาะก็ได้ จะแปลว่าตลอดก็ได้ ปัญญามาจากปะญา ก็คือรู้ทั่วถึง รู้เฉพาะ รู้ตลอด ปัญญาจริงต้องเป็นอย่างนั้น ปัญญาที่ไม่จริง ที่ไม่ถึงขนาด ก็ยังไม่ถึงขนาด ก็ถ้าปัญญาทุจริตเขาเรียกอย่างอื่น ปัญญาในทางทุจริต มีคำอีกคำหนึ่งก็คำว่าวิชชา วิชชาก็คือรู้ วิเศษแจ่มแจ้ง วิแปลว่าวิเศษหรือแจ่มแจ้ง วิชารู้วิเศษรู้ แจ่มแจ้ง ถ้าวิชชาจริงต้องอย่างนั้น และความหมายก็อันเดียวกับว่ารู้แจ้งแทงตลอด ในบาลีก็มีใช้อยู่หลายคำ มันแทนกันได้ ถ้าไปพยายามทำให้ต่างกันและยุ่งยุ่งหมดเลย พยายามถือความหมายให้ต่างกันด้วยอ้างหลักอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็ยุ่งเปล่าๆ ให้รู้ว่ามันแทนกันได้สำหรับคำพูด นี้เรียกว่าคำที่เนื่องกันมีอยู่หลายคำ ยกตัวอย่างมาพอให้เป็นตัวอย่างสักสามคำตัวญาณทัศนะนั้นก็ใช้ได้ ปัญญาก็ใช้ได้ วิชชาก็ใช้ได้ เมื่อญาณทัศนะนี่ใช้กว้างไกลไปถึงไอ้เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์อะไรต่างๆ ก็ได้ มันรู้ไปในแนวนั้น เอ้าทีนี้มาดูกันถึงสิ่งที่ถูกรู้หรือถูกแทงตลอดอีกชนิดหนึ่ง มันจะเข้าใจดีขึ้น มันมีการรู้แจ้งแทงตลอดด้วยญาณเป็นเครื่องมือรู้แจ้งแทงตลอด แล้วสิ่งที่ถูกแทงนั้นคืออะไร ตะกี้ก็พูดแล้วว่าไอ้ธรรมฐิติญาณนั้นน่ะ มันก็แทงตลอดธรรมสัจจะหรือสัจธรรมของสังขาร สังขารมีความจริงคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันนั้นแหละที่ปิดบังอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาน่ะ มันถูกแทงตลอด แต่เราพูดอีกทีหนึ่งก็พูดว่าแทงตลอดสัจธรรมคือของจริง ที่เนื่องอยู่กับสังขาร มันก็อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อีกแหละ หรืออวิชชาที่ปิดบัง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็แทงตลอดอวิชชา ในขณะแห่งธรรมฐิติญาณน่ะคือหน้าที่ของธรรมฐิติญาณ มันก็แทงตลอดสัจธรรมของสังขาร ที่ปกปิดความจริงของสังขาร เรียกว่าทะลุอวิชชา ซึ่งปกปิดความจริงของสังขารนี่คือสิ่งที่ถูกแทง นิพพานญาณมันก็แทงตลอดนิพพาน เมื่อเกิดภาวะนิพพานขึ้นมามันก็รู้จักรู้แจ้งแทงตลอด คือผลนั่นแหละ ผลที่มุ่งหมาย ที่เป็นวิสังขาร เมื่อแทงตลอดสังขารก็ไปพบวิสังขารซึ่งตรงกันข้าม นี่เรียกว่านิพพานญาณมันก็แทงตลอด นิพพานนั่นเอง ซึ่งเป็นวิสังขาร ซึ่งเป็นผลของการรู้แจ้งแทงตลอด ส่วนปัจจเวกขณญาณมันก็แทงตลอดการเสวยผลที่ได้เสวยแล้ว มันได้เสวยผลแล้วอย่างไร มันรู้แจ้งแทงตลอดต่อการเสวยผลนั้นอีกที ซึ่งมันก็มีเป็นธรรมดาอย่างนี้เรียกว่าการแทงตลอดของปัจจเวกขณญาณ สิ่งที่ถูกแทงก็คือผลหรือการเสวยผลหรือรสของการเสวยผล มันถูกแทงถูกรู้แจ้งแทงตลอด เราพูดว่ามรรคญาณ ผลญาณ ญาณรู้มรรค คือรู้วิธีแทง ญาณรู้ผลคือรู้ผลของการแทง มรรคญาณและผลญาณมีอยู่ แทงมรรคก็รู้มรรค แทงผลก็รู้ผล นี้เกี่ยวข้องกับคำพูด คำสำคัญคำหนึ่งคือคำว่าปฏิเวธ ทีนี้ก็ดูกันต่อไปเพราะเค้าโครงที่สำคัญๆ หรือใจความที่สำคัญๆ ที่ไม่อาจจะหาอ่านได้จากหนังสือแบบเรียนธรรมดาที่เรามีกันอยู่ เช่นแบบเรียนนักธรรมเป็นต้น ก็จะพูดในส่วนที่เป็นใจความสำคัญหรือหัวใจของเรื่อง เดี๋ยวนี้ถ้าเอาตามที่พูดๆ กันอยู่ทั่วๆไปแล้วก็ปฎิเวธก็คือมรรคผลนิพพาน การแทงตลอดมรรคผลนิพพาน เมื่อเราพูดถึงปฏิเวธเดี๋ยวนี้ก็หมายถึงเรื่องการบรรลุมรรคผลนิพพาน ซึ่งมันแทงตลอดสิ่งที่ควรจะแทงตลอดอย่างที่ว่ามาแล้ว นี่ก็แทงตลอดหมายถึงการตัดก็ได้ ไอ้การแทงนี่หมายถึงการตัดก็ได้ แทงตลอดสิ่งใดไอ้สิ่งนั้นมันก็ขาดออกไป ทะลุออกไป ถ้าจะทำอย่างเป็นภาพพจน์เหมือนกับวัตถุ มันก็ตัดสิ่งที่ผูกสัตว์ไว้กับภพ นี้พูดภาษาคนว่าผูกสัตว์ไว้กับภพ ถ้าพูดภาษาธรรม มันไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา เรียกว่าผูกสิ่งที่ผูกจิตเอาไว้กับภพ ปฏิเวธมันคือตัดสิ่งที่ผูกจิตไว้กับภพ สิ่งที่ผูกจิตไว้กับภพเหมือนกับเชือก ในภาษาบาลีก็เรียกว่าสันโยชน์ หรือสังโยชน์แปลว่าเครื่องผูก ไอ้สิ่งที่เรียกว่าปฏิเวธก็ตัดเครื่องผูกสัตว์หรือผูกจิตไว้กับภพเป็นชั้น ชั้น ชั้นๆ ไป โดยทั่วไปที่เป็นหลักใหญ่ๆ ท่านก็จัดไว้เป็นสี่ชั้น คือชั้นโสดาบัน ชั้นสกิทาคามี ชั้นอนาคามี ชั้นอรหันต์ เป็นสี่ชั้น ชั้นไหนจะตัดอะไรบ้างก็จะไม่ต้องพูดแล้วก็ได้ เพราะว่าเรียนนักธรรมกันมาแล้วทั้งนั้น ทีนี้ก็จะพูดให้เห็นความหมายของคำเหล่านั้นให้ชัดแจ้งยิ่งขึ้นไปเท่านั้นก็พอ คำว่าโสดาบันชั้นแรก อริยบุคคลที่ทำการตัดสำเร็จในชั้นแรกเรียกว่าโสดาบัน ตัดสักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส นี่เราจำได้แต่เรายังไม่ค่อยเข้าใจ หรือเข้าใจไม่ลงร่องลงรอยกันนักว่า สักกายทิฐินั้นคืออะไร วิจิกิจฉาคืออะไร สีลัพพตปรามาสคืออะไร ก็จะพูดให้เข้าใจได้ง่ายๆ ก็ต้องเรียกว่าไอ้สมบัติประจำตัวของปุถุชน นึกถึงปุถุชนก่อนสิ ปุถุชนเขามีอะไรเป็นสมบัติประจำตัว ที่แบกหาม หาบ ผูกพัน อยู่พะรุงพะรังนี่ เอาออกไปไม่ได้ จะออกไปไกลกว่านั้นไม่ได้ จะต้องตัดสิ่งนั้นน่ะ มันก็คือข้อแรก เรื่องแรกหรือเรื่องที่มีกำลังมีอยู่จนบัดนี้ของปุถุชน ที่ท่านเรียกว่าสักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส น่ะอย่าไปมองอะไรให้มันไกลลิบลับ มันจะไม่เข้าใจ มองไปที่ปุถุชน มองลงไปที่สมบัติของปุถุชน สามอย่างนี้มันเป็นโมหะ เป็นอวิชชา ปุถุชนมันมีอวิชชาว่าตัวกู อย่าโง่เขลา ที่มีมาตั้งแต่เด็กๆ ที่เด็กทารกมันก็มีความรู้สึกว่าตัวกู หรือของกู เป็นเหมือนกันนะ แล้วมันก็อยู่ที่ของง่ายๆ ต่ำๆ ไม่ใช่อยู่ที่นิพพาน ไม่ใช่ไปอยู่ที่ธรรมะสูงสุดเป็นตัวตนไม่ใช่ ไปดูเด็กเล็กๆ หรือเมื่อเราเป็นเด็กเล็กๆ เรามักจะเอาอะไรเป็นตัวตนเป็นตัวกู มันก็คือไอ้ตัวกูนี่ ตัวกูทั้งดุ้นทั้งคนนี่ คนนี่เป็นตัวกูมันก็คือร่างกายสังขาร ร่างกายน่ะเป็นตัวกู เป็นตัวกูทางวัตถุ เพราะเด็กยังไม่รู้เรื่องจิตใจอะไรนัก เด็กๆ จะไปเอาตัวกูที่จิตใจ มันไม่รู้มันพูดไม่เป็น ถ้าตัวกูมันก็คือนี้ อันนี้ อะไรมาโดนเข้ากับร่างกายนี้ก็เรียกมาโดนกูและ เอาวัตถุเป็นหลักนี่ ทีนี้ทว่าเก้าอี้มาโดนตัวกู มันก็เตะเก้าอี้ เก้าอี้เป็นตัวกูอีกฝ่ายหนึ่งน่ะ หรือหมาแมวมากัด มันก็ไอ้แมวนั้นน่ะเป็นตัวกู ตัวกูชั้นวัตถุชั้นโง่ที่สุดนั่นคือสักกายทิฐิ แปลว่ากายนี้ของตน สักแปลว่าของตน กายะแปลว่ากาย ทิฐิว่ากายนี้ของตนก็คือเอากายนี้เป็นของตน คือการยึดถือตัวตนขั้นต่ำ ขั้นเด็ก ขั้นธรรมดาที่สุด ไม่สูงขึ้นไปถึง ไม่ใช่อัตตวาทุปาทานหรืออะไรที่มันสูงๆ ยากๆ มันมาอีกชั้นหนึ่งที่จะต้องละกันในชั้นสูง ชั้นแรก ชั้นต้น ชั้นต่ำสุด และก็คือตัวกูของเด็กๆ ที่รู้จักมาเด็กๆ เลยอยู่จนโต ก็เลยเรียกว่าเอาร่างกายหรือเอาวัตถุกลุ่มนี้เป็นตัวตน เป็นตัวกู เป็นกายนี้ของตน มันก็คือโง่ที่สุดของปุถุชนอย่างนี้ต้องละ เพื่อให้สูงขึ้นไปสักนิดหนึ่ง ทีวิจิกิจฉาก็อย่างเดียวกันอีกแหละ เพราะมันไม่รู้อะไรเป็นอะไรมันก็ไม่รู้ว่าจะเอาอะไร มันไม่รู้ว่าจะอะไรดี อะไรไม่ดี หรืออะไรไม่สู้ดี มันไม่รู้ทั้งนั้นแหละเด็กๆ ปุถุชนก็เหมือนกับเด็กๆ เด็กๆ ก็คือปุถุชน มันก็ไม่รู้ว่าอะไรดีแน่ มันก็ไม่รู้ว่าจะเอาอะไร นี่เรียกว่าวิจิกิจฉา แม้จะมีอะไรมาสอนให้ มาแสดงให้ มันก็ยังเลือกไม่ถูกอยู่นั่นน่ะ จะเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มาสอนให้มันก็ยังไม่เชื่อได้ มันไม่เชื่อ มันไม่อาจจะเชื่อได้ว่าดีที่สุดน่ะ มันจึงเป็นเรื่องลังเลไปหมด มีมูลมาแต่มันไม่รู้ว่าเกิดมาทำอะไร หรือเพื่อจะได้อะไรมันไม่รู้ มันก็ลังเลไปหมดจนไม่รู้ว่าจะเอาอะไรกันแน่ นี่วิจิกิจฉาสมบัติดั้งเดิมของปุถุชนซึ่งเป็นมาตั้งแต่เด็กๆจนบัดนี้ ถ้ามันไม่ละอันนี้มันก็ไม่ละจากความเป็นปุถุชน ทีนี้สีลัพพตปรามาส คือระเบียบปฏิบัติที่เขามีอยู่สำหรับดับทุกข์นั่นแหละ แต่มันก็ไม่เข้าใจได้ มันก็เลยทำอาการที่เรียกว่าปรามาส ปรามาสแปลว่าลูบคลำด้วยความโง่ ลูบคลำทำให้เปื้อน ถือศีลไม่รู้จักความหมายของศีล ให้ทานไม่รู้จักความหมายของทานอย่างนี้ มันก็ทำไอ้การปฏิบัตินั้นให้มืดมัวไป ใช้คำจำกัดความก็ว่าปฏิบัติสิ่งที่ตนไม่รู้จักความมุ่งหมายหรือความจริงของสิ่งที่ปฏิบัติ ปฏิบัติศีลอย่างไม่รู้ความมุ่งหมายของศีล อย่างดีก็รู้ว่าจะได้ประโยชน์อย่างนี้มันไม่ถูก มันเป็นได้ประโยชน์ตามความรู้สึกของเด็กๆ มันก็เป็นวัตถุไปหมด เด็กๆ เขายังไม่เข้าใจความมุ่งหมายถูกต้องและสมบูรณ์ของสิ่งที่เขาจะกระทำ แล้วโตขึ้นโตขึ้นจนเป็นผู้ใหญ่แล้วมันก็ยังไม่รู้สึกอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นมันจึงมีการกระทำชนิดที่ทำไปโดยไม่รู้จักความมุ่งหมายอันถูกต้องของสิ่งนั้นๆ นี่อย่างนี้เราเรียกว่าสีลัพพตปรามาส เด็กๆ ถูกสอนให้ไหว้พระโดยที่ไม่ต้องรู้ว่าไหว้ทำไม พระนั้นคืออะไรก็ไม่ต้อง เด็กไม่รู้ว่าพระนั้นคืออะไร แต่เขาก็สอนให้ไหว้ก็ต้องไหว้ และเพื่อประโยชน์อะไรก็ยังไม่รู้ เขาบอกว่ามันจะดี มันจะได้ มันจะดี มันจะได้ประโยชน์ มันจะได้เงินได้ของ ซึ่งมันไม่ใช่ความจริง แต่เขาก็ต้องพูดอย่างนั้น ไหว้ได้ดีไหว้เถอะพระจะช่วยอย่างนี้ เด็กก็ไหว้ เพราะฉะนั้นการไหว้พระของเด็กมันยังเป็นสีลัพพตปรามาสอยู่ จนกว่าเมื่อไรมันโตแล้วมันรู้ว่าพระนั้นคืออะไร พระดีอย่างไร มีค่าสูงสุดอย่างไรนั้นน่ะจึงจะไหว้พระ ไม่เป็นสีลัพพตปรามาส เพราะฉะนั้นการกราบ การไหว้พระ ทำวัตร สวดมนตร์ ไหว้พระพุทธรูปอะไรของพวกเราที่นั่งอยู่นี้ระวังให้ดีเถิด ถ้ามันทำไปอย่างงมงายแล้วมันก็เป็นสีลัพพตปรามาสอยู่ทุกวันทุกวัน ถ้ามันรู้เหตุผลอย่างถูกต้องแล้วไหว้ลงไปกราบลงไปนี่มันก็ไม่เป็น เช่นเอาพระเครื่องมาแขวนคอว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะให้ช่วยอย่างนี้ การแขวนพระเครื่องนั้นก็เป็นสีลัพพตปรามาส แต่ถ้าเอาพระเครื่องมาแขวนคอก็เพราะรู้จักพระพุทธเจ้าผู้ประกอบไปด้วยพระคุณอย่างนั้นในส่วนตัวท่าน ท่านประเสริฐอย่างนั้น แล้วเราจะประพฤติตามท่านเพื่อประเสริฐอย่างนั้นบ้าง แล้วเอาพระเครื่องหรือเครื่องที่จะกันลืมมาแขวนไว้ที่คอ ถ้าอย่างนี้การแขวนพระเครื่องก็ไม่เป็นสีลัพพตปรามาส ตามความคิดของผม อันเป็นการกระทำที่ถูกต้องในหลักพระพุทธศาสนา คือไม่เป็นไสยศาสตร์แต่เป็นพุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้นการแขวนพระเครื่องที่เขาแขวนกันอยู่โดยมากเวลานี้เป็นไสยศาสตร์เกือบทั้งนั้นน่ะ น้อยคนที่จะเอาพระเครื่องมาแขวนคอแล้วเป็นหลักของพุทธศาสตร์ มันต้องรู้จักพระพุทธเจ้าเสียก่อน พอใจพระพุทธเจ้าเสียก่อน รู้ข้อเท็จจริงเหล่านี้เสียก่อน เอามาแขวนเพื่อกันลืมอย่างนี้จึงจะไม่เป็นไสยศาสตร์ แต่ถ้ามาแขวนเพื่อจะให้ช่วย สิ่งศักดิ์สิทธิจะช่วยอย่างนี้เป็นไสยศาสตร์ แล้วมันก็เป็นสีลัพพตปรามาส เรื่องสีลัพพตปรามาสนี่เต็มไปหมด ถ้าทำอะไรไปโดยไม่รู้เหตุผลของสิ่งนั้นๆ ทำไปในทางหวังว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้จะช่วยก็เป็นสีลัพพตปรามาส ให้ทานแลกเอาวิมานอย่างนี้ก็เป็นสีลัพพตปรามาส ถ้าให้ทานเพื่อกำจัดกิเลสคือความตระหนี่แล้วมันก็เป็นความถูกต้อง นี้เรามันเจริญเติบโตตั้งแต่เด็กจนบัดนี้ โดยสิ่งเหล่านี้ โดยสักกายทิฐิ โดยวิจิกิจฉา โดยสีลัพพตปรามาส เราจึงเรียกว่าสมบัติของปุถุชน ในขั้นต้นที่สุดของปุถุชน ถ้าไม่ละเสียมันก็ไม่ละจากความเป็นปุถุชน พระโสดาบันก็คือผู้ตัดเสียซึ่งสมบัติของปุถุชน และความผูกพันอยู่กับความเป็นปุถุชนนั้นน่ะตัดเสียในชั้นแรกก็เป็นพระโสดาบัน ก็พ้นจากความเป็นปุถุชน ขอให้พยายามอย่างยิ่งที่จะทำความเข้าใจความหมายของคำสามคำนั้น คือ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ที่โง่มาตั้งแต่อ้อนแต่ออกจนกระทั่งบางคนก็ตายไปกับตัวละไม่ได้ บางคนนี่มันก็ตายไปกับความเป็นปุถุชน มันไม่เป็นพระอริยเจ้าชั้นแม้พระโสดาบัน ถ้าเราจะสอนชาวบ้านประชาชนทั่วไปก็ไปสอนให้รู้จักไอ้สามคำนี้สิ ไปบอกแต่เพียงว่าละ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส แล้วเป็นพระโสดาบัน ถ้าเขาเชื่อมันก็ยิ่งจะโง่ยิ่งเป็นสีลัพพตปรามาสหนักเข้าไปอีก หรือว่าให้ท่องให้บ่นคาถาอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อประสงค์อันนี้แต่เขาไม่รู้ความหมายมันก็ยิ่งเป็นสีลัพพตปรามาส เพิ่มเข้าไปอีก หนักเข้าไปอีก พยายามให้เขารู้ว่าที่เราทำโดยโง่เขลานั้นแหละ อะไรก็ตามโดยโง่เขลา ผิดวัตถุประสงค์อันแท้จริงของเรื่องนั้นๆ เช่นทำทานผิดวัตถุประสงค์ของทาน รักษาศีลอุโบสถเสียอะไรก็ตาม มันผิดวัตถุประสงค์ของศีล ทำสมาธิผิดวัตถุประสงค์ของสมาธิ ทำวิปัสสนาผิดความประสงค์ของวิปัสสนานี้ มันก็เป็นสีลัพพตปรามาสหมด แม้กำลังทำวิปัสสนาอยู่ นี่ความจริงเป็นอย่างนี้ คำอธิบายในอรรถคาถานั้นไม่พอ เขาชี้ระบุไปยังวัตรปฏิบัตินอกพุทธศาสนาของเดียรถีย์อื่น ไม่ใช่เดียรถีย์นี้ เดียรถีย์อื่นที่เขาปฏิบัติวัตรอย่างที่ออกชื่อว่าประพฤติอย่างโค ประพฤติอย่างสุนัข ประพฤติอย่างวัว อะไรต่างๆ น่ะที่ว่างมงาย ไอ้นั้นเราก็ไม่ปฏิบัติอยู่แล้วมันจะมีอะไรเล่า ธรรมดาคนไทยหรือพุทธบริษัทไทยก็ไม่ปฏิบัติอยู่แล้ว เหมือนกับว่ามันละได้แล้ว ไม่ใช่ไอ้ที่มันทำอยู่อย่างที่เรียกว่าพุทธ พุทธ นี่มันไม่เป็นพุทธ มันเป็นไสยไปเสียเพราะความเข้าใจผิด ทำโดยไม่มีเหตุผล โดยไม่เข้าถึงความจริงว่าตามกฎของอิทัปปัจยตาเป็นอย่างไร มันไม่เห็นมันไม่รู้อย่างนี้เป็นไสยศาสตร์หมด ถือศีลก็เป็นสีลัพพตปรามาส ทำสมาธิก็เป็นสีลัพพตปรามาส เพราะมันทำไปด้วยความหวังในความศักดิ์สิทธิ์ และความศักดิ์สิทธิ์นั้นจะช่วยตนอย่างนี้เป็นบ้าได้ง่าย และละสักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เสียได้ด้วยปัญญาด้วยวิชชา ซึ่งรู้แจ้งแทงตลอด รู้แจ้งแทงตลอดสิ่งเหล่านี้แล้วก็เป็นพระโสดาบัน คำว่าโสดาบัน โสตะอาปนะแปลว่าถึง ถึงกระแส โสตะแปลว่ากระแส ปนะแปลว่าถึง โสตาปนะถึงกระแส หรือโสตะอาปนะถึงทั่วถึงกระแส จะแยกศัพท์อย่างไรมันก็เป็นเรื่องถึงกระแสอยู่ดี กระแสแห่งนิพพาน ถึงลู่ทางที่จะไปนิพพาน แต่ยังไม่ถึงนิพพาน ในพระบาลีให้ความหมายมาก มีกำลังใจมากเมื่อถึงขีดสุดของกระแสของการถึงกระแสนั้นมันเหมือน ท่านให้อุปมาว่าเหมือนกับเห็นน้ำที่อยู่ในบ่อน้ำแต่ยังตักกินไม่ได้ มันแน่นอนถึงขนาดว่าเห็นน้ำที่อยู่ในบ่อน้ำแต่ว่ามันลึกมันตักกินไม่ถึง พระโสดาบันจะทำได้เพียงเท่านี้ ถ้าตักกินได้ถึงมันก็เป็นพระอรหันต์เป็นอย่างโน้นไปเลย พระโสดาบันถึงกระแสแห่งพระนิพพาน ทีนี้ก็มีแต่จะไหลเลื่อนไปสู่พระนิพพาน เพราะว่าเขาตัดไอ้สามอย่างนั้น ไอ้เครื่องล่ามสามอย่างนั้นเสียได้แล้ว มันจะไหลเลื่อนไปสู่กระแสแห่งพระนิพพาน จึงมีอาการที่เรียกว่าถึงกระแส ถึงเกลียว ถึงแนวถึงทางที่จะไปสู่นิพพาน พูดเป็นธรรมดา ภาษาธรรมดาก็ว่ากำลังเดินอยู่ในทางแห่งพระนิพพาน มรรคแปลว่าหนทาง ทางแห่งพระนิพพานนั้นก็เรียกว่ากระแสเหมือนกัน อริยมรรคมีองค์แปดนี้ก็เรียกว่าโสตะหรือกระแสเหมือนกัน เมื่อเดินอยู่ในมรรคมีองค์แปดก็เรียกว่าถึงกระแส แต่ยังไม่ถึงปลายทาง เหมือนเห็นน้ำ มีน้ำเป็นจุดหมาย อยู่ในบ่อลึกตักกินไม่ได้ ถ้าเป็นพระอริยบุคคลแม้เป็นพระโสดาบันเป็นอย่างต่ำนี่ก็จะมองเห็นพระนิพพานทั้งนั้น แต่มองเห็นในลักษณะที่ยังไม่ถึง เหมือนกับว่าน้ำอยู่ในบ่อลึกมองเห็นแต่ยังตักกินไม่ได้นั่นแหละ เป็นอย่างนี้ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปทีเดียว พระสกิทา อนาคา ก็มากไปกว่านั้น มากไปกว่านั้นคือใกล้ไปกว่านั้น กว่าจะถึง ทีนี้ชื่อของพระโสดาบัน หรือคำแทนชื่อไวพจน์น่ะมีเยอะแยะไปหมด ที่กล่าวไว้มากในพระบาลีโดยตรงน่าสนใจ มีอยู่โดยมาก ๙ คำ คำที่ ๑ ว่าทิฐิสัมปันโนถึงพร้อมด้วยทิฐิ คือสัมมาทิฐิองค์มรรคอันแรก แล้วถึงพร้อมด้วยสัมมาทิฐิชนิดที่เป็น เวกนิสิตัง วีราคนิสิตัง นิโรธนิสิตัง โมสักขะปรินามิง ถึงพร้อมด้วยสัมมาทิฐิที่เป็นอย่างนั้นเรียกว่าทิฐิสัมปันโน นี่คำแทนชื่อของพระโสดาบัน แล้วคำที่ ๒ ว่าทัศนะสัมปันโน ถึงพร้อมด้วยการเห็น ก็เห็นนี่เห็นพระนิพพานนี่ คือเห็นทางที่ถูกต้องมีจุดหมายปลายทางเป็นพระนิพพาน สามารถที่จะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์จากที่ไกล เขาเรียกว่าทัสสนะสัมปันโนถึงพร้อมด้วยทัศนะ คำที่ ๓ ว่า อาคโตอิมังสัทธัมมัง มาแล้วสู่สัทธรรมนี้ มาแล้วสู่สัทธรรมนี้ สัทธรรมในที่นี้หมายถึงพรหมจรรย์หรือศาสนานี้ ผู้นี้มาแล้วสู่สัทธรรมนี้ นี่ก็น่านึกนะ ถ้ายังไม่เป็นพระโสดาบันน่ะ ยังไม่ชื่อว่ามาแล้วสู่สัทธรรมนี้ จะบวชกันอย่างไรอย่างไรก็ตามเถอะ ถ้าไม่เห็นหรือถึงกระแสนี้ ยังไม่ชื่อว่ามาสู่สัทธรรมนี้ ระวังให้ดีมันจะได้แก่พวกเรานั้น ระวังให้ดี มันจะยังไม่มาสู่สัทธรรมนี้ ถ้ามันละไอ้สามอันนั้นไม่ได้ ถ้าละสามอย่างนั้นได้ก็เรียกว่ามาแล้วสู่สัทธรรมนี้ มันก็คือว่าปัสติอิมังสัทธัมมัง ย่อมเห็นซึ่งสัทธรรมนี้ ก่อนนี้ไม่เห็นสัทธรรมนี้ สัทธรรมที่ดับทุกข์ได้ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ที่ดับทุกข์ได้ก่อนนี้ยังไม่เห็น เดี๋ยวนี้เห็นชัดเลยแม้ยังไม่ถึง จึงชื่อว่าปัสติอิมังสัทธัมมัง ย่อมเห็นซึ่งสัทธรรมนี้ ข้อที่๕ ว่าเสกเขณยาเณนสมณาขโต ประกอบพร้อมแล้วด้วยญาณอันเป็นเสขะ ญาณก็คือความรู้อย่างที่ว่านี่ จะเป็นเสขะก็ชนิดที่ว่ามันถึงขนาดฝ่ายนี้แล้ว ขนาดฝ่ายพระอริยเจ้าแล้ว ไม่ใช่อยู่ในฝ่ายปุถุชนแล้ว ในขั้นต้นของฝ่ายอริยะนี้เรียกว่าเสขะ ประกอบพร้อมแล้วด้วยญาณคือความรู้ชนิดที่เป็นเสขะ คำที่ ๖ เสกขายวิชายสมนาขโต ประกอบพร้อมแล้วด้วยวิชชาที่เป็นเสขะ วิชชาของผู้ที่มิใช่ปุถุชน ของผู้ที่เข้ามาแล้วสู่เขตของพระอริยเจ้านี้เรียกว่าเสขะ ข้อที่ ๗ ธรรมโสตังสมาปันโน ถึงแล้วซึ่งกระแสแห่งธรรม กระแสแห่งธรรมในที่นี้หมายถึงทาง ทางให้ถึงนิพพาน กระแสแห่งธรรมที่ไปให้ถึงนิพพานนี่ผู้นี้ สมาปันโนถึงพร้อมแล้ว ถึงพร้อมแล้วซึ่งกระแสแห่งธรรม ข้อที่ ๘ ว่า อริโยนิพเพถีกปันโย มีปัญญาเจาะแทงกิเลสชนิดที่เป็นอริยะ ปัญญาของปุถุชนไม่ชื่อว่านิพเพถีกปันโยนี้ ปัญญาที่ถึงระดับที่จะเจาะแทงกิเลสตามแบบของพระอริยเจ้า เดี๋ยวนี้บุคคลนี้มีแล้ว จึงเรียกเขาว่าอริโยนิพเพถีกปันโย เป็นผู้มีปัญญา เครื่องเจาะแทงกิเลสชนิดที่เป็นอริยะ เป็นฝ่ายอริยะไม่ใช่ฝ่ายปุถุชน แล้วคำที่ ๙ คำสุดท้ายว่า อมัตทวารังอาหัตจะติถะติ อมัตทวารังน่ะศัตรูแห่งอมตะ อาหัตจะแปลว่าจด อิตถะติแปลว่ายืนอยู่ ยืนอยู่จดประตูแห่งอมตะคือนิพพาน มันยืนอยู่นอกประตูยังไม่เข้าไปข้างใน ยืนอยู่จดประตูแห่งอมตะนี่ข้อที่ ๙ ไอ้คำนี้ไพเราะมากหรือน่าสนใจมาก ยืนอยู่จดประตูของอมตะ ยังมีอีกเยอะแต่ที่น่าฟังและที่ในบาลีพูดถึงมากที่สุดคือ ๙ คำนี้ นี้คือพระโสดาบันถึงกระแสแห่งพระนิพพาน คำที่แสดงอานิสงส์ก็มีอีกมากเช่นว่าปิดอบายเสียได้เที่ยงแท้ต่อพระนิพพาน ไม่เวียนกลับอีกเป็นธรรมดานี้ มันเป็นเรื่องแสดงอานิสงส์ เดี๋ยวนี้เราแสดงแต่ลักษณะว่ามันมีลักษณะอย่างนี้ ลักษณะอย่างนี้ ถ้าเป็นหมวดหลักธรรม มันก็มีธรรมะเป็นหมวดๆ เช่นโสตาปัตติยังคะ ๔ น่ะ โสตาปัตติยังคะนี่ดูเหมือนไม่ได้เอามาใส่แบบเรียนนักธรรม โสตาปัตติยังคะ ๔ คือศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระธรรม ศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ก็มีอริยกันตศีล คือศีลชนิดเป็นที่พอใจของพระอริยเจ้า สี่อย่างนี้นั้นน่ะคือองค์แห่งความเป็นพระโสดาบัน ใครมีองค์สี่นี้คนนั้นเป็นพระโสดาบัน ศรัทธาไม่หวั่นไหวคือไม่กลับได้อีกแล้วในพระรัตนไตรนี่สามอย่าง และอย่างมีอริยกันตศีล มีศีลชนิดแน่นอนตายตัว ไม่ด่างไม่พร้อยไม่ทะลุใช้คำอะไรก็ได้ เป็นที่ชอบใจของพระอริยเจ้า อริยกันตแปลว่าเป็นที่พอใจของพระอริยเจ้า มีหมวดธรรมะหลายหมวดเหมือนกันน่ะที่ชื่อโสตาปัตติยังคะ และก็ไม่น่าแปลกหรือไม่น่าสนใจเท่ากับหมวดนี้ เพราะหมวดอื่นมันก็เป็นที่รู้กันแล้วละนั่นละนี่ที่ ที่มันคนธรรมดาก็นึกออก ไอ้หลักที่สำคัญที่สุดก็คือละไอ้สังโยชน์สาม เพียงบรรลุโสดาบันนี่ นั่นแปลว่าทุกข์หมดไปแล้วอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างที่เรารู้สึกไม่น่าเชื่อ ที่อย่างบาลีมีว่าเทียบภูเขาจักรวาลนี้กับฝุ่นที่ปลายเล็บมันมากน้อยกว่ากันอย่างไร ถ้าบรรลุพระโสดาบันแล้ว ทุกข์ความทุกข์จะหมดไปเหมือนกับภูเขาจักรวาลนั้นน่ะ ทุกข์ที่เหลืออยู่เหมือนเท่ากับขี้เล็บ เท่าฝุ่นเท่าขี้เล็บ นี่บาลีอย่างนี้ก็มี ผมชักจะไม่ค่อย แต่เอาเถอะเป็นอันว่าเราไม่รู้มาตรฐานเปรียบเทียบ แต่ท่านเปรียบเทียบไว้ให้อย่างนั้น นี่เรื่องแทงตลอดมันในขั้นพระโสดาบัน แทงตลอดสังโยชน์สาม ทีนี้ก็มาถึงขั้นที่พระสกิทาคามี คำนี้แปลว่ามาคราวเดียว มาอีกคราวเดียว อธิบายอย่างภาษาคนเขาก็ว่ามาเกิดในโลกนี้อีกคราวเดียวแล้วก็จะบรรลุอรหันต์ ถ้าอธิบายภาษาธรรมก็ต้องพูดว่าจิตจะตกลงไปสู่กิเลสน่ะ กิเลสตัวตนน่ะอีกเพียงครั้งเดียว จึงแล้วก็จะบรรลุพระอรหันต์ แต่ที่เขาเขียนไว้ในอรรถคาถาโดยภาษาธรรมนี้ว่าจะมาสู่มนุษย์เสียโลกนี้อีกเพียงครั้งเดียว แต่ผมว่าถ้าอธิบายโดยภาษาธรรมจะไม่อธิบายอย่างนั้น อธิบายว่าจะกลับมาสู่จะเกิดมีกิเลสประเภทตัวตนอีกครั้งเดียวเท่านั้นแล้วทีนี้ก็จะไม่เกิดอีก มันไม่ได้ละสังโยชน์มากไปกว่าพระโสดาบันล่ะ แต่ว่าเหตุปัจจัยอย่างอื่นมีที่ทำให้กิเลสชื่ออื่น กิเลสชื่อรวมน่ะ โลภะ โทสะ โมหะ นี่เบาบางกว่าของพระโสดาบัน หรือว่าไอ้สิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา อะไรของท่านยังมากกว่าของพระโสดาบัน แต่ถึงอย่างไรก็ละสังโยชน์ชื่ออื่นไม่ได้ คงละได้เพียงสังโยชน์สามเท่าพระโสดาบัน อย่างนี้เรียกว่าสกิทาคามี เรื่องนิดเดียวคือว่าต่างจากพระโสดาบันเพียงว่ากิเลสเบาบางกว่า แต่เท่าที่ละได้แล้วก็เท่ากัน ก็ก้าวหน้ากว่าพระโสดาบันไปอีกนิดหนึ่ง ทีนี้มาถึงคำว่าอนาคามีแปลว่าไม่มาอีก ไม่กลับมาอีก ไปเลย ที่ภาษาคนเขาพูดว่าจะไม่กลับมาเป็นมนุษย์ ไม่มาในสู่โลกมนุษย์ จะไปพรหมโลก ไปไหนก็ได้ นิพพานกันที่โน้น ถ้าโดยภาษาธรรมจะพูดว่าไม่กลับมาสู่กาม จิตจะนิพพานในภาวะที่สูงกว่ากาม จะไม่กลับมาสู่ภาวะที่เป็นกามหรือเป็นตัวตนธรรมดานี้อีก ไม่มาอีก ก็เป็นอนาคามี ในบาลีเองก็มีพูดถึงแต่ฟังไม่ค่อยรู้เรื่องแบ่งเป็นตั้งสี่สิบชนิดก็มี เอาแต่เป็นว่ามันยิ่งกว่าสกิทาคามีคือว่าจะไม่กลับมาสู่ไอ้ธรรมดาอย่างเก่านั้นน่ะอีก เขาว่าไปต่อไป บรรลุขั้นสุดท้ายคือพระอรหันต์ นี้ไม่ต่างกันนัก ทีนี้ก็มาถึงพระอรหันต์ขั้นที่สี่ คำว่าอรหันต์นี่แปลกันไว้หลายอย่าง ผมชอบถือเอาตามตัวพยัญชนะนั้นเลย อรหะแปลว่าควร อันตะแปลว่าที่สุด ถึงที่สุดแห่งความควร คือคนเรามนุษย์เราสัตว์ทั้งหลายควรจะไปถึงที่ไหน ท่านก็ถึงที่สุดแห่งความควร คือถึงที่นั้นแล้ว ก็แปลว่าเป็นยอดมนุษย์เป็นความเต็มแห่งมนุษย์ เป็นความสมบูรณ์แห่งมนุษย์แล้วก็ได้ เรียกว่าถึงที่สุดแห่งความสมควร นอกนั้นน่ะคือไม่ใช่พระอรหันต์แล้ว มันไม่ถึงที่สุด มันสมควรบ้างเท่านั้นเอง แต่ไม่ถึงที่สุดแห่งความสมควร เข้าใจว่าไอ้คำนี้แปลอย่างนี้มาแต่แรก มาแต่แรกนั่นหมายความว่าคำนี้มีใช้ก่อนพุทธกาล มนุษย์ที่สูงสุดตามความรู้สึกคิดนึกของคนก่อนครั้งพุทธกาลโน้นเขาเรียกว่าอรหันต์ อรหันต์ หรือในบาลีก็ว่าอรหันต์ เขาเข้าใจหรือเขารู้เขาเข้าใจว่าอย่างไรเรียกว่าถึงที่สุดแห่งความควร คือถึงที่สุดยอดยอดของธรรมะน่ะ เขาเรียกว่าอรหันต์ แต่มิได้หมายถึงความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ เหมือนความหมายในครั้งพุทธกาลของพระพุทธเจ้า มันจึงมีอรหันต์หลายชนิด อรหันต์ของลัทธินั้น อรหันต์ของลัทธินี้ อรหันต์ของลัทธิโน้น แล้วเขาก็มีไปตามแบบของเขา แม้กระทั่งว่าทำอะไรแปลกอย่างคนอื่นทำไม่ได้ เขาก็เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ บางสูตรในพระบาลีนั้นเอง เล่าเรื่องหรือเขียนข้อความที่ทำให้รู้เรื่องนั้นๆ ได้ ว่านักบวชเปลือยไม่นุ่งผ้าเดินมา ประชาชนเขาก็ว่าพระอรหันต์มาแล้วอย่างนี้เป็นต้น มันแล้วแต่ลัทธิไหนจะบัญญัติอย่างไร เขาก็บัญญัติกันมาแล้วเปลี่ยนมาดีขึ้นดีขึ้น แต่ไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์อย่างในพุทธศาสนา ครั้นมาถึงพระอรหันต์ในพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงบัญญัติความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ นั่นแหละเป็นลักษณะของความเป็นพระอรหันต์ เราจึงมีพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนาตามแบบนี้ ในเมื่อเดียรถีย์อื่นเขาก็มีพระอรหันต์ตามแบบของเขา ที่ในอินเดียในสมัยพุทธกาลนั้นเอง ประชาชนก็นับถือพระอรหันต์ตามความพอใจของตน ก็นับถือพระอรหันต์อย่างโน้นว่าเป็นพระอรหันต์ก็มี ไม่นับถือพระอรหันต์อย่างในพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้านี้ก็มีนะ ไม่ใช่ไม่มี พระเจ้าแผ่นดินเดินแต้มการเมืองไม่ขัดคอใครพวกไหนหมด ชาวบ้านมันว่าอรหันต์ก็อรหันต์ไปเถอะ พระเจ้าแผ่นดินไม่ใช่ไปแทรกแซง เข้าไปแก้ไขหรือเข้าไปสังคยานาอะไร นี่คำว่าอรหันต์เป็นคำมีมาก่อนครั้นพุทธกาลนานไกลตั้งแต่มนุษย์รู้จักคิดนึกว่ามันต้องมีจุดสูงสุดของมนุษย์ นั่นน่ะคืออรหันต์คำพูดคำนั้นก็เกิดขึ้น แล้วถึงที่สุดจุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์คืออะไร เขาก็ว่าไปตามความคิดเห็นของเขา ก็มีคนเห็นด้วยยอมรับปฏิบัติเกิดลัทธินั้นๆ ขึ้นมา เช่นเดียวกับคำว่านิพพาน นิพพานน่ะมีหลายชนิดมาตามลำดับ ตั้งแต่เอากามคุณเป็นนิพพาน เอาฌาณสมาบัติแต่ละอันเป็นนิพพาน รูปฌาน อรูปฌาน จนกระทั่งพระพุทธเจ้าท่านเอาความสิ้นกิเลสอาสวะว่าเป็นนิพพาน ไม่ต้องนึกถึงพระอรหันต์แบบอื่น เราเอากันแต่พระอรหันต์ในพระพุทธศาสนา ทีนี้จะเข้าใจขึ้น มากขึ้นก็รู้คำอื่นๆ ที่เป็นคำแทนชื่อของพระอรหันต์ก็ได้ก็ดี คำแทนชื่อของพระอรหันต์คำที่มีมากที่สุดใช้มากที่สุดก็คือคำว่า ตถาคโตนั้นเอง ตถาคต หรือตถาคโตนั้นเอง ผู้ที่เป็นพระอรหันต์เรียกว่าตถาคตได้ เขาแปลคำว่าตถาคตหลายความหมาย แต่ผมชอบความหมายเดียว คือผู้ถึงซึ่งตถา ตถาแปลว่าอย่างนั้น คโตแปลว่าถึง ตถาคโตแปลว่าถึงแล้วซึ่งตถา คือความเป็นอย่างนั้น จะอธิบายว่าถึงความรู้เรื่องเช่นนั้นเอง แล้วไม่หวั่นไหว เปลี่ยนแปลง ไม่ยินดียินร้าย ไม่มีอะไรอีกแล้ว เพราะมันถึงความเป็นเช่นนั้นเองละ นี่ตถาคต ในอันตคาหิกทิฏฐิสิบนี้คำว่าตถาคต ตายแล้วมีอีกหรือตายแล้วไม่มีอีก มีอีกบ้างไม่มีอีกบ้าง ไอ้คำว่าตถาคตนั้นแหละ ที่ถูกจะต้องหมายถึงพระอรหันต์ คือบางพวกเชื่อว่าพระอรหันต์ตายแล้วก็มีอีก บางพวกว่าไม่มีอีก บางพวกว่ามีบ้างไม่มีบ้าง บางพวกว่ามีก็ไม่ใช่ไม่มีก็ไม่ใช่ คำว่าตถาคตคำนั้นแปลว่าพระอรหันต์ แปลเป็นอย่างอื่นก็ได้ เราก็เคยแปลกันผิดๆ ตามความคิดตอนนั้น เข้าใจอย่างไร ก็แปลตถาคตในอันตคาหิกทิฏฐิสิบว่าอย่างนั้น เดี๋ยวนี้ผมยุติว่าตถาคตในที่นั้นน่ะในอันตคาหิกทิฏฐิสิบนั้นแปลว่าพระอรหันต์ เพราะว่าพระอรหันต์นั้นเป็นผู้ถึงซึ่งตถา ตถาคต ที่นี้คำที่แปลกหู เชื่อว่าแปลกหูสำหรับท่านโดยมากหรือคำว่าเกพลี เกพลีแปลว่ามี มีไกวัน มีความเป็นอย่างเดียวคืออังสคตหรือนิพพานมันมีความเป็นอย่างเดียว เกพลีมีความเป็นอย่างเดียวคือมีนิพพาน คำว่าเกพลีเป็นชื่อของพระอรหันต์แทนคำว่าอรหันต์ได้ว่าเกพลี ไม่ค่อยเคยได้ยินใช่ไหม คำที่แปลกหนักขึ้นไปอีกก็คือคำว่าอตัมมยโต อตัมมยตา อตัมมยโต ไม่สำเร็จมาแต่สิ่งนั้น ไม่สำเร็จมาแต่ปัจจัยที่เป็นสังคต คือไม่สำเร็จมาแต่กระแสแห่งการปรุงแต่งหรืออิทัปปัจยตา ไม่สำเร็จมาแต่กระแสแห่งอิทัปปัจยตา ซึ่งมีความปรุงแต่งให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น คนนี้ก็เรียกว่าอตัมมโย อตัมมยโต อตัมมยตา นี้ก็เป็นไวพจน์ของพระอรหันต์ ไอ้คำแปลกๆ อย่างนี้ก็มีไม่ได้เอาออกมาพูดกัน ค้างอยู่ในพระไตรปิฎก เพราะว่าผู้ที่จะดึงออกมาให้เรียนเป็นแบบเรียนนั้นไม่ได้ดึงออกมา คำว่าอธโส อธโส ธสะสิบ อธโส ธโสคำนั้นไม่ได้แปลว่าสิบ ก็แปลว่าชายหรือเงื่อนต่อ อธโสไม่มีเงื่อนไม่มีด้าย ด้ายเชิงชายเราว่าอย่างนั้นดีกว่า ที่เขาทอหูกเสร็จแล้วเขาตัดเอาผ้า ไปแล้วน่ะ เขาจะเหลือชายเป็นเส้นๆ เหลือไว้ที่ในอีกผืนนั้นสำหรับเพื่อจะเอาด้ายมาผูกและต่อทอผ้าคราวหลัง แปลว่าถ้ามันมีไอ้ชายเส้นด้ายนี้ไว้แล้วมันก็ยังจะต้องทอหูกด้ายอีกเรื่อยไป ถ้ามันไม่มีไอ้ทักษะนี้เหลืออยู่แล้วมันก็ไม่อาจจะทอหูกได้อีกต่อไป อธโสแปลว่าไม่มีด้ายเชิงชาย หรือพระอรหันต์แล้วกัน พระไตรปิฎกฉบับไหนก็ไม่รู้แปลว่าไม่มีสิบ ฟังไม่ถูกเลย มันไม่ถูกตามเรื่อง คำว่าธสในที่นี้ไม่ได้แปลว่าสิบ แปลว่าด้ายเชิงชาย ไวพจน์ของพระอรหันต์นี้มีหลายสิบคำ แต่แล้วมันมีความหมายอย่างที่จะเห็นได้เข้าใจได้ทันที แสดงว่ามันถึงสิ่งทั้งหมดความเป็นอย่างเดียว หรือว่าไม่สำเร็จมาจากกระแสปรุงแต่ง ทั้งเหตุปัจจัยหรือว่าไม่มีด้ายเชิงชายอย่างนี้เป็นต้น รู้ก็ได้ไม่รู้ก็ได้ไอ้เรื่องชนิดนี้ แต่ว่าถ้ารู้มันก็จะเข้าใจพระอรหันต์มากขึ้น แต่ละคำมีความหมายที่พิจารณาได้ ทีนี้ไวพจน์ที่มันแสดงอานิสงส์ แสดงความไพเราะ ก็มีมากนะในพระไตรปิฎก แต่ว่าไอ้ชุดที่ผมชอบใจ ผมจดไว้ในสมุดโน้ต นี่อุตส่าห์ถือมาอ่านให้ฟัง ลักษณะคุณบทแสดงอานิสงส์ หรือไอ้ความดี ความประเสริฐของพระอรหันต์น่ะ ในสังยุตตนิกาย แห่งหนึ่งก็มีว่า (นาทีที่ 01:26:22 - 01:27:10 เป็นบทสวด) สุขิโณวัตะ อรหันโตตัณหาเตสังวิชติ อนิมาโน สมุชิโนโมหะชารัง ปทารีตัง อเนชังเต อนุปัตตา จิตตังเตสัง อนาวิรัง เรอเกอนุปริตาเต ธัมะภูตาอนาสวา ปัญจขันเท ปริญญาย สัตตะสัทธรรมโคจัญรา ปสังสิยา สัปปุริสา ปุตตาพุทธสโอรสา สัตตรัตน สัมปันนาตี สุสิกขา สุสิขิตา อนุจรัญติ มหาวีรา ปหีนปยเพรวา ธสหังเคหิสัมปันนา มหานาคา สมาหิตา เอเตโขเสธะ โลกัสมิง ตัณหาเตสัง อวิชติ อเสกขานัง อุปปะปันนัง อเสกขยานัง อุปปันนัง อันติโมยัง สมุตสโย โยสาโร พรหมจริย ยัสสะตัสสมิง อปรปัจจยา วิทาสุนะ วิกัมปันติ วิปมุตตา อุนัปภวา ทันตะภูมิง อนุปตา เตโลเก วิชิตาวิโน อุทังจริยัง อปาจันนัง นันทิเตสัง วิชชติ นทันติเต สีหะนาทัง พุทธาโลเก อนุตรา เท่านี้ ฟังแต่ชื่อก็เพราะแล้วไม่ต้องรู้ก็ได้ คือว่าทุกคำน่ะมัน มันแสดงความหมายสูงสุดเป็นผู้มีสุข ตัณหาไม่มีแก่ท่าน ถอนอสมิมานะขาดแล้ว ขาดคือโมหะทำลายแล้ว ถึงแล้วซึ่งความไม่หวั่นไหว จิตของท่านไม่ขุ่นมัว ไม่มีอะไรในโลกจะพาท่านได้ เป็นพรหมผู้ไม่มีอาสวะ รู้เบญจขันธ์เที่ยวไปในสัทธรรมเจ็ด เป็นพุทธโอรส เป็นบุตรโอรสของพระพุทธเจ้า มันถึงพร้อมด้วยรัตนเจ็ด ศึกษาแล้วในศึกษาสามถึงที่สุด เป็นผู้แกล้วกล้าอย่างยิ่ง ไม่เที่ยวไปภพไหนๆ มีความกลัวในภพอันขาดแล้ว เป็นมหานาคประเสริฐสุดในโลก ตัณหาไม่มีแก่ท่าน กายนี้กลุ่มนี้ถึงที่สุด มีในที่สุด ไม่มีปัจจัยอื่น หมายความว่าไม่ต้องเชื่อตามคนอื่น ไม่ต้อง คือรู้อยู่ในตัวเอง ไม่ต้องเชื่อตามคนอื่น ไม่หวั่นไหวโดยประการใดๆ พ้นแล้วจากภพใหม่ ไม่มีนันทิ แล้วก็บันลือสีหนาทได้ เป็นผู้รู้สูงสุดอยู่ในโลก มันมีเป็นสิบๆ คำเป็นร้อยคำ เราก็ฟังดูบ้างก็พอแล้ว ไม่ต้องถึงกับท่องจำ แต่สรุปความได้ว่าอะไรๆ มันก็ถึงที่สุดหมด อยู่ในพระอรหันต์แค่พระอรหันต์ ถ้าเป็นความหมายในภาษาธรรมดา ธรรมดาก็แปลว่า เป็นมนุษย์ที่ถึงที่สุด ถึงที่สุดแห่งความเป็นมนุษย์ คือประเสริฐสุดแห่งความเป็นมนุษย์ มีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ พูดภาษาเด็กๆ ก็ว่ามันเป็นยอดคน มันเป็นสุดคน มันเป็นเต็มคน โดยคำว่าอรหันตะถึงที่สุดแห่งความควร อะไรๆ ที่มนุษย์ควรจะเป็นน่ะ มันไปสุดอยู่ที่นั่น มันไปสุดอยู่ที่ความเป็นพระอรหันต์ นี่คือเรื่องปฏิเวธ การรู้แจ้งแทงตลอดในญาณตามลำดับ ตามลำดับ เมื่อถึงอรหัตตมัคคญาณก็รู้แจ้งแทงตลอดในความสิ้นสุดแห่งสังโยชน์กิเลสอาสวะและความทุกข์ มันสิ้นสุดแห่งความทุกข์ เขาก็รู้แจ้งแทงตลอดในความสิ้นสุดแห่งความทุกข์ นี่เหมือนกับตักน้ำกินได้ ไม่เหมือนพระโสดาบัน เห็นน้ำอยู่ในบ่อลึกแต่ยังตักกินไม่ได้ แต่ก็เรียกว่ามีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ขอให้พยายามทำความเข้าใจกันและกัน ให้มันพอที่จะเห็นชัดหรือเข้าใจได้ แล้วก็จะสามารถไปอธิบายให้ประชาชน ทายกทายิกาทั้งหลาย ชาวบ้านเขาได้รู้ได้เข้าใจเสียถูกต้องว่า มันอยู่ในวิสัยที่มนุษย์จะทำได้ เดี๋ยวนี้เรามันตัดขาดเสียเลยนี่ พ้นสมัยแล้ว เลิกกันทีไม่ต้องพูดถึงกันอีกพ้นสมัยแล้วมีไม่ได้ ถ้าอย่างนี้มันก็จะมีไม่ได้ตลอดไป นี่เราก็จะเห็นได้อีกทีหนึ่งว่าทำไมท่านจึงกล่าวไว้เป็นหลักว่า ถ้ามันจะมีการอันตรธานสูญหายไป ไอ้ปฏิเวธนี่มันจะสูญก่อน มันจะสูญหายไปก่อน แล้วถ้าถัดมาก็ปฏิบัตินั้นน่ะมันจะสูญหายไปอีกตามไปอีก ไอ้ปริยัติมันจะสูญหายทีหลัง ทีหลังสุด แต่เดี๋ยวนี้ปริยัติมันสูญยากเพราะว่าเขาจะพิมพ์ขึ้นไว้เต็มโลกก็ได้ หรือเขาจะสลักหินไว้ก็ได้ เมื่อปฏิบัติและปฏิเวธมันสูญไป ปริยัติเหลืออยู่มันก็ตั้งต้นกันใหม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงหวังว่าปริยัตินี่จะช่วยรักษาพระพุทธศาสนายังคงอยู่ตลอดกาลอันไม่รู้คำนวณไม่ได้ ถ้าสมมุติว่าไอ้โลกนี้ทั้งโลกนี่มันหายไปหมดเอาก็ได้ ปริยัติก็หายไปหมด ก็คือไม่มีมนุษย์แล้ว ก็ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว ไม่ต้องการศาสนา ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว แต่ถ้ามนุษย์ยังอยู่ มันจะต้องรักษาปริยัติไว้ได้ แล้วก็ตั้งต้นปฏิบัติใหม่กันได้โดยอาศัยหลักปริยัตินั้นเอง แล้วปฏิเวธมันก็จะกลับมา ถ้าถึงสมัยที่มนุษย์เอาจริงเอาจังกันเรื่องนี้ ปริยัติมันใช้ให้เป็นประโยชน์ปฏิบัติมันก็มีขึ้น ปฏิเวธมันก็กลับมาแหละ เดี๋ยวนี้มันกำลังจะหายไปก็ได้ เพราะไม่มีใครสนใจไม่มีใครอยากได้ความสุขชนิดนั้น เขาหวังความสุขทางอายตนะ กามคุณเรื่องนี้กันเสียหมด เขาไม่สนใจเรื่องนั้นมันก็หายไปได้จริงเหมือนกัน แต่ถึงอย่างไรก็ดีถ้าปริยัติยังเหลืออยู่ เมื่อคนเหล่านั้นมันเบื่อระอาเข้าในเรื่องสุขของอายตนะ มันก็หันมาหาที่ดีกว่า มันก็จะกู้กันขึ้นมาใหม่ได้ นี่ช่วยกันรักษาปริยัติไว้เป็นรากแก้ว ของพระพุทธศาสนาที่มันยังเหลืออยู่ใต้ดิน มันไม่หมดไม่ว่าต้นข้างบนมันจะถูกตัดไป แต่เมื่อไอ้เหง้ารากมันอยู่ใต้ดินเหลืออยู่มันงอกใหม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้มันน่าเสียดายอยู่ น้อยใจเสียใจอยู่บ้างว่า ปริยัติมันก็พอมีอยู่แล้วทำไมปฏิบัติมันจึงไม่ค่อยจะมี หรือมันมีครึ่งๆ กลางๆ หรือมันถูกเปลี่ยนแปลง มันถูกดัดแปลง ถูกเปลี่ยนแปลงน่ะ จนระบบกรรมฐานวิปัสสนาที่ในปัจจุบันนี้ มันไม่เหมือนกับในครั้งพุทธกาลอย่างนี้เป็นต้น จะต้องช่วยกันปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขกันต่อไปให้มันเข้ารูปเดิม เอาละผมได้พูดครบสามอย่างแล้วนะ ว่าสามเรื่องปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ และวันนี้มันก็สมควรแก่เวลาแล้ว เลยไปมาก เหนื่อยแล้วไม่ให้ถามปัญหาวันนี้ ขอปิดประชุม