แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
....อาตมากับท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และก็ปีนี้ยังมีกำลังวังชาแข็งแรงมาอีกครั้งหนึ่ง ขอเรียนเชิญข้างหน้านี้ครับผม
ท่านที่เคารพ บัดนี้ท่านผู้ที่เราให้เกียรติเป็นประธานกำลังนำจุดธูปเทียนนะครับ ทุกท่านโปรดประนมมือตั้งใจเพื่อนมัสการพระรัตนตรัย
นาทีที่ ๐๑.๕๗ โปรดทราบนะครับ ตอนนี้ท่านประธานก็ได้จุดธูปจุดเทียนเรียบร้อยแล้ว จึงขอเชิญทุกๆท่านกราบพระ บูชาพระ
นาทีที่ ๒.๒๒ – ๑๓.๑๔ สวดมนต์บาลี
ณ บัดนี้ อาตมาภาพจะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ วิริยะ ความพากเพียร เป็นต้น ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา จนกว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษใน อภิรักษ์จิตสมัย แห่งอาสาฬหบูชา ดังที่ท่านทั้งหลายก็ได้ทราบกันเป็นอย่างดีแล้ว และหลังจากนี้ก็จักมีการกระทำพิธีที่เรียกว่า อาสาฬหบูชา มีการประทักษิณ เป็นต้น จึงมีการแสดงธรรมเทศนาเป็น ปุพพภาค ของการกระทำ คือ ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการกระทำ เพื่อตระเตรียมจิตใจให้เหมาะสมแก่การกระทำ เพื่อให้การกระทำนั้นมีผลมาก นี่เป็นความมุ่งหมาย
ท่านทั้งหลายจงกระทำในใจให้แยบคาย เพื่อทำพิธีอาสาฬหบูชาจะต้องซาบซึ้งในพระคุณของสมเด็จพระบรมศาสดา เนื่องในเหตุการณ์อันเกี่ยวกับวันนี้ที่เรียกว่า วัน อาสาฬหะปุณณมี พระจันทร์เต็มดวงแห่งเดือนอาสาฬหะ ว่ามีอะไรเกิดขึ้น ที่รู้กันอยู่ทั่วไปก็เป็นวันที่พระองค์ทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แต่ความหมายจะเป็นอย่างไร? กว้างไปถึงไหน? ก็ยังไม่ค่อยจะทราบกัน
ที่เป็นส่วนสำคัญ ที่เราจะต้องระลึกนึกถึงกันอยู่เสมอนั้นก็คือ วันวิสาขบูชา นั้น เป็นวันเกิดขึ้นแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าเป็นวันพระพุทธเจ้า ต่อมาก็มาถึงวันนี้ คือ วันเพ็ญปุณณมี ทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ประกาศพระธรรมที่ได้ตรัสรู้แล้ว เราจึงเรียกว่า พระธรรม มีภิกษุสงฆ์เกิดเป็นผู้บรรลุ โสดาปัตติผล ขึ้นเพียงองค์เดียว ยังไม่เรียกว่าเป็น วันพระสงฆ์ ยังไม่เรียกว่าพระรัตนตรัยเกิดขึ้นพร้อมแล้ว เป็นวันเกิดขึ้นแห่ง พระธรรม เป็นวันปรากฏแห่ง พระธรรม เราจึงเรียกวันนี้ คือ วันอาสาฬหะปุณณมี นี้ว่าเป็น วันพระธรรม ต่อมาจึงมาถึง วันมาฆะปุณณมี ประชุมสงฆ์ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์จำนวนมากพันกว่าองค์ ประดิษฐานพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคงด้วยคณะสงฆ์อันเป็นปึกแผ่นนั้น เราจึงเรียกวันนั้นว่า วันพระสงฆ์ ดังนั้น เราจึงมีวันสำคัญคือ วันพระพุทธ วันพระธรรม วันพระสงฆ์ ขณะนี้มาถึง วันพระธรรม เราก็จะได้พิจารณาดูกันในข้อที่ว่ามีความสำคัญอย่างไร? วันพระธรรม วันพระธรรม นี้มีความสำคัญอย่างไร ? ขอให้ตั้งใจกำหนดให้ดีๆ
วันพระธรรม แสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร นี้ เราจะถือว่าเป็นวันที่มนุษย์จะมีโอกาสชนะสิ่งซึ่งเป็นข้าศึกศัตรูอันใหญ่หลวง กล่าวคือ กิเลส และ ความทุกข์ ก่อนหน้านี้เราพ่ายแพ้แก่ข้าศึกศัตรู เราไม่รู้ธรรมะ อยู่ในความมืด เพราะอยู่ในความมืด คือ อวิชชา จึงเป็นไปตามอำนาจของ อวิชชา พ่ายแพ้แก่กิเลสและความทุกข์ ครั้นพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมที่ตรัสรู้ ที่เป็นเครื่องดับทุกข์ให้แก่โลก โลกจึงได้รับชัยชนะต่อศัตรู วันนี้ควรจะเรียกว่าเป็น วันแห่งชัยชนะ คือ ชนะสิ่งที่ควรชนะ ชนะมารก็ได้ ชนะ อวิชชา ความโง่ก็ได้ ชนะความผิดพลาดทุกอย่างทุกประการก็ได้ ชนะความทุกข์ หรือ แก้ปัญหาแห่งความทุกข์ในชีวิตของมนุษย์ที่มีอยู่เป็นประจำวันนั้นเสียก็ได้ มันล้วนแต่เป็นวันแห่งชัยชนะ
อาตมาประสงค์จะขอร้องให้ท่านทั้งหลายนึกถึงเรื่องนี้เป็นส่วนใหญ่ คือ เรื่องชัยชนะของมนุษย์ มนุษย์ซึ่งพ่ายแพ้แก่มาร กิเลส หรือ ความทุกข์ มาตลอดกาลอันยาวนานนั้น บัดนี้ ได้ประสบแสงสว่างอันเป็นหนทางที่จะให้ชนะสิ่งเหล่านั้น จึงเรียกใหม่ในความหมายพิเศษออกไปว่าเป็น วันชนะ วันที่มีชัยชนะ เป็นวันแห่งชัยชนะของมนุษย์ นั่นแหละคือความหมายพิเศษที่กว้างไกลออกไป จากคำว่า วันนี้เป็นวันพระธรรม คือ วันพระธรรมเป็นวันที่มีชัยชนะของมนุษย์ มนุษย์ได้ประสบชัยชนะ จะได้รู้จักพระคุณของพระธรรม
นี่เรามาประชุมกันที่นี่ ในลักษณะอย่างนี้ ในป่าไม้อย่างนี้ เพื่อให้มีลักษณะคล้ายๆกันกับวันที่พระองค์ทรงแสดงธรรม ประกาศ ธรรมจักร ในป่า อิสิปตนมฤคทายวัน ไม่ต้องสมมติก็ได้ ถือเอาเลยว่ามันเหมือนกับเป็นป่า อิสิปตนมฤคทายวัน, มฤคทายวัน นั้นแปลว่า ป่าที่ให้คุ้มครองแก่สัตว์ มฤค แปลว่า สัตว์ ไม่ใช่หมายเฉพาะสัตว์เนื้อ กวาง ทราย อย่างเดียว มฤค นี้จะหมายถึง สัตว์ทั่วไป จะเป็นลิง เป็นค่าง จะเป็นนก เป็นหนู เป็นกระรอก เป็นกระแต ก็รวมอยู่ในคำว่า มฤค ได้ทั้งนั้น มฤคทายวัน ป่าเป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อ นี่เราก็พยายามจะเนินตามหลักการอันนี้ ที่นี่ ขอร้องไม่ให้มีการทำอันตรายสัตว์เท่าที่จะทำได้ ดังนั้น สถานที่นี้มันก็มีลักษณะเป็น มฤคทายวัน อยู่ในตัวแล้ว เป็นที่ให้ความปลอดภัย ให้อภัยแก่สัตว์ ว่าสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในสถานที่นี้อย่าต้องกลัวเลย อย่าต้องมีความกลัวเลย ให้อยู่เป็นสุข สงบสุข เราก็ถือว่า เป็นชัยชนะของสัตว์ทั้งหลายด้วยเหมือนกัน
ถ้าว่ามนุษย์มีธรรมะจริงแล้ว การเบียดเบียนสัตว์ก็จะไม่มี มนุษย์เอื้อเฟื้อ เมตตา อารี แก่สรรพสัตว์ สรรพสัตว์ก็ได้รับความสงบสุข นี่ก็เป็นสิ่งที่จะต้องระลึกอยู่ในใจด้วยเหมือนกัน ว่าขอให้เราทุกคนจงเมตตา ปราณีแก่สัตว์ แม้สัตว์ตัวเล็กตัวน้อย สัตว์เดรัจฉาน มันก็เป็นเพื่อนทุกข์ เพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย มันไม่ต้องการจะมีความทุกข์ด้วยเหมือนกัน อยากจะพูดไปถึงกับว่าแม้ต้นไม้ มันก็รู้จักกลัวตาย แต่มันเป็นของละเอียดเกินไปบางคนมองไม่เห็นแล้วก็จะไม่เชื่อ ขอให้เชื่อไปในทำนองว่าบรรดาสิ่งที่มีชีวิตแล้วจะต้องมีความรู้สึก และความรู้สึกอันนั้นมันอยู่ที่ความรู้สึกอยากจะรอดชีวิตอยู่ แล้วก็ไม่อยากจะตาย ต้นไม้ทั้งหลายก็ต่อสู้โดยทุกวิถีทางที่พอเราจะสังเกตเห็นได้ ว่ามันต่อสู้เพื่อจะให้รอดชีวิตอยู่ ต้นไม้มันก็เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของเราด้วย สัตว์ทั้งหลายที่เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของเราด้วย มนุษย์ทั้งหลายทั้งสิ้นก็เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของเราด้วย
ความเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งกันและกัน ไม่มีการเบียดเบียนกันนี้ เรียกว่า ธรรมะอันใหญ่หลวง เป็น สนันตนธรรม เรียกโดยภาษาบาลีว่า สนันตนธรรม เป็นธรรมที่มีมาแล้วตั้งแต่โบราณกาล จนกำหนดไม่ได้ว่ามันมีมาแต่ครั้งไหน ไม่มีใครได้บันทึกไว้หรือกำหนดไว้ กล่าวได้แต่เพียงว่าเก่าแก่ที่สุด ความไม่เบียดเบียนซึ่งกันเป็นธรรมที่เก่าแก่ที่สุด แล้วก็เป็นธรรมที่สูงสุดด้วย ในประเทศอินเดียเขาถือไว้เป็นหลักไม่จำกัดว่าเป็นของศาสนาไหน ถือไว้เป็นหลักตรงกันหมดว่า อหิงสา ปรโมธัมโม ความไม่เบียดเบียน เป็น บรมธรรม ถือกันมาอย่างนี้ ทั้งหมดทุกศาสนายอมรับมติอันนี้ ก็แปลว่าเป็น บรมธรรม จริงๆ เรียกว่าเป็น สนันตนธรรม คือ มีมาตั้งแต่ครั้งไหนก็ไม่มีใครทราบ ก็ต้องนับว่ามีมาตั้งแต่มนุษย์เริ่มรู้จักคิด รู้จักนึก รู้สึกว่าการไม่เบียดเบียนกันนั่นแหละเป็นสิ่งสูงสุด จึงยึดถืออันนี้เป็นหลักตลอดมา ให้เรามานึกถึงข้อนี้แล้ว ก็จะตั้งจิตชนิดที่ว่าจะไม่มีความคิดเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนแก่ผู้ใด ใช้คำว่า ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น หมายความว่า ไม่กระทำให้ใครแม้แต่จะเพียงแต่ลำบาก แม้แต่เพียงได้รับความลำบากก็จะไม่กระทำ นี่คือ ตัวธรรม, ธรรมะ หมายความอย่างนี้ ไม่มีโอกาสที่จะทำให้ใครได้รับแม้แต่ความลำบาก อย่าว่าแต่ให้ถึงแก่ชีวิตเลย เราทั้งหลายกำหนดในใจถึงธรรมะอันสูงสุดนี้โดยพื้นฐาน
แล้วทีนี้ก็มาดูต่อไปถึงข้อที่ว่า แม้จะไม่เบียดเบียนกัน ไม่มีใครถึงตาย รอดชีวิตอยู่ได้ด้วยกันทั้งนั้น แล้วมันยังมีปัญหาอะไร? นี่แหละจะต้องวินิจฉัยกันให้แน่นอนว่ามันรอดชีวิตกันอยู่ได้ทุกคนแล้ว แล้วมันยังจะมีปัญหาอะไรอีก? นั้นก็คือ ปัญหาในภายใน ภายในใจของแต่ละคน มันเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา เพราะว่ามันไม่มีความถูกต้องในชีวิตนั้นๆ มันมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในชีวิตนั้นๆด้วยอำนาจของ อวิชชา อวิชชา นี่ท่านถือกันว่าเป็นธาตุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ใครเผลอเมื่อใด ไม่มีธรรมะคุ้มครองเมื่อใด อวิชชา ก็เข้าสิง ใช้คำว่า เข้าสิง เหมือนกับผีสิง คนนั้นถูก อวิชชา สิงแล้ว มันก็คือมืด โง่ ไม่รู้อะไร ก็ทำสิ่งต่างๆ ผิดไปตามอำนาจของ อวิชชา นั้น ความทุกข์จึงเกิดขึ้น
เรามองกันโดยเฉพาะเจาะจงว่าในขณะที่เราสัมผัสโลก เรียกว่า ผัสสะ, ผัสสะ สัมผัสโลก เวลานั้นเป็นเวลาสำคัญที่สุดที่จะให้โอกาสแก่ อวิชชา สัมผัสโลก คือ สัมผัสสิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ในโลก ด้วยตาเห็นรูป ด้วยหูได้ยินเสียง ด้วยจมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส ผิวหนังได้รับ โผฏฐัพพะ ที่มากระทบผิวหนัง นี่เรียกว่าสัมผัสโลกด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลกก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เราสัมผัสโลก มีการกระทบกันเรียกว่า ผัสสะ นี้เป็นเวลาที่สำคัญที่สุด จะผิด จะถูก จะรอด จะไม่รอด มันก็อยู่ที่ตรงนี้ ถ้าเวลา ผัสสะ นั้น มันโง่ไปเพราะไม่มีสติพอ ไม่มีปัญญา-ความรู้พอในขณะนั้น มันก็เป็นโอกาสของ อวิชชา คือ ความโง่ที่มีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง ความมืดที่มีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง จะครอบงำจิตใจนั้น ให้เป็นจิตใจที่ประกอบไปด้วย อวิชชา คือ โง่, คือ มืด, ปราศจากความรู้โดยประการทั้งปวง มันก็เกิด ผัสสะ ที่เรียกว่า ผัสสะโง่ ขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าที่ไหน ไม่ว่าเวลาอะไร ถ้า ผัสสะ แล้วไม่มีสติ ไม่มีปัญญาแล้ว มันก็เป็น ผัสสะโง่, ผัสสะโง่ มันก็ให้เกิด เวทนาโง่ เวทนาที่จะให้บุคคลนั้นหลงยินดี ยินร้าย และเมื่อเกิด เวทนาโง่ แล้ว มันก็เกิดความต้องการที่โง่เรียกว่า ตัณหา ความประสงค์หรือความต้องการที่ฉลาดประกอบด้วยสติปัญญาไม่เรียกว่า ตัณหา เรียกว่า ตัณหา เฉพาะไอ้ความต้องการที่มันโง่ ที่มันเกิดมาจากความโง่ มาจากเวทนาโง่ ซึ่งมาจาก ผัสสะโง่ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในภายใน
จิตใจแห่งบุคคลแต่ละคน แม้ว่าจะรอดชีวิตอยู่ได้ ก็อยู่ด้วยการทนทุกข์ทรมาน เพราะมี ผัสสะโง่ มี เวทนาโง่ และมี ตัณหา แล้วก็มี อุปาทาน แล้วก็มี ภพ แล้วก็มี ชาติ คือ การเกิดขึ้นแห่งตัวกู-ของกู ที่เต็มอยู่ด้วยความทุกข์ นี่, จิตใจที่มันโง่แล้วมันเป็นอย่างนี้ มันเกิดตัวกู-ของกูที่โง่เขลา จะคิด จะพูด จะทำอะไรมันก็โง่ไปหมด มันก็มืดไปหมด คิดอยู่ข้างใน-มันก็โง่อยู่ข้างใน มันก็เป็นทุกข์อยู่ข้างใน พูดหรือกระทำออกมาข้างนอก-มันก็โง่ออกมาข้างนอก มันก็เป็นทุกข์ข้างนอก แล้วมันไม่ทุกข์แต่ตนผู้เดียว มันพาให้เกิดทุกข์ไปถึงบุคคลอื่นที่อยู่ด้วยกัน ที่เกี่ยวข้องกัน เรียกว่า ทำให้เกิดความทุกข์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น เรียกอีกอย่างหนึ่งท่านเรียกว่า เบียดเบียนทั้งตน เบียดเบียนทั้งคนอื่น นี่ก็คือ สมบัติของคนโง่ มันมีแต่จะทำตนเองให้ลำบากและทำผู้อื่นให้ลำบาก เดี๋ยวนี้เราจะรอดพ้นจากความเลวร้ายอันนั้นได้อย่างไร? เราต้องอาศัย สัทธรรม ของพระพุทธเจ้าซึ่งพระองค์ได้ตรัสรู้แล้วนำมาแสดง
ในวันวิสาขะปุณณมีท่านตรัสรู้ ตรัสรู้อะไร? ตรัสรู้เรื่องความดับทุกข์ ครั้นมาถึงวันอาสาฬหะปุณณมีเช่นวันนี้ ท่านก็ได้เปิดเผยซึ่งธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้น เป็นของประทานจะเรียกว่า ของขวัญ ก็ได้ จะเรียกอะไรๆก็ได้แล้วแต่จะเรียก จะเรียกว่า สมบัติมหาศาล จะเรียกว่า เพชรพลอย จะเรียกว่าอะไรก็ว่าเอาเอง ที่มนุษย์จะถือว่าเป็นของประเสริฐที่สุดที่จะเอาไว้กับเนื้อกับตัวสำหรับจะดับทุกข์ เพราะฉะนั้น ขอทำในใจซ้ำสักนิดหนึ่งว่า วันนี้ วันซึ่งคล้ายกับวันนี้ พระองค์ได้ทรงประทานสิ่งสูงสุด ประเสริฐที่สุดให้แก่มนุษย์ คือ ธรรมะที่เป็นเครื่องดับทุกข์ได้
ธรรมะนั้นมีความประเสริฐตรงที่ทำให้เราได้ประสบชัยชนะต่อปัญหาทั้งปวง ต่อความทุกข์ทั้งปวง อาตมาอยากจะระบุไปพอเป็นตัวอย่างว่า เราจะชนะความโง่ ความหลง เกี่ยวกับทำอะไรมันสุดโต่ง หรือสุดเหวี่ยง ที่เรียกว่า อันตะ แปลว่า มันแล่นไปสุดเหวี่ยง มีอยู่ ๒ อย่างคือ มันสุดเหวี่ยงไปในทางกามารมณ์ หรือ มันสุดเหวี่ยงไปในทางที่จะทำตนให้เกิดความทุกข์ประชดกามารมณ์ คนหนึ่งมันชอบกามารมณ์ อีกคนหนึ่งมันประชดกามารมณ์ด้วยการทำตนให้ลำบาก มันเป็นของสุดเหวี่ยงกันอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวนี้เรามารู้แจ้งว่าเราจะไม่เป็นคนสุดเหวี่ยงถึงขนาดนั้น จะอยู่ตรงกลาง ที่พอดี พอดี เรื่องสุดเหวี่ยงนี่เป็นอวิชชา อย่างยิ่ง เพราะว่ามันไม่ทำให้ได้รับผลอันควรจะได้รับหรือควรจะเป็นที่พอใจในทุกสิ่ง ทุกอย่าง ทุกประการ
อาตมาอยากจะยกตัวอย่างชนิดที่เรียกว่ามันธรรมดาที่สุด หรือควรจะสนใจกันอย่างธรรมดา ธรรมดา ได้ยินว่าคนบางคนสอนลูกเล็กๆให้ไหว้ไปเสียทั้งหมด ให้ไหว้คนไปทุกคน ไม่ว่าคนบ้า ไม่ว่าคนดี หรือให้ยอมไหว้ทุกคน ทีนี้ มันมีคนอีกพวกหนึ่งซึ่งมีอยู่จริงเหมือนกันไม่ใช่เรื่องสมมติ มันสอนไม่ให้ลูกไหว้ใคร ไม่ให้ลูกเด็กๆนั้นยอมไหว้ใครเป็นอันขาดเลย เพราะว่าเขาหลงใหลในเสรีภาพ หรือกลัวว่าไอ้ลูกนั้นมันจะไปเป็นทาสทางสติปัญญาของผู้ใด เลยไม่ให้ไหว้ใคร มันเกิดเป็นของต่างกันขึ้นมาอย่างนี้ อันหนึ่งให้ไหว้ไปเสียให้หมด อันหนึ่งไม่ให้ไหว้เลย นี่คือ ความไม่ถูกต้อง เป็นสุดเหวี่ยง เป็นสุดโต่ง ไปเสียทั้ง ๒ อย่าง ถ้าจะให้ถูกต้อง สำเร็จประโยชน์จริงก็จะต้องเป็น มัชฌิมาปฏิปทา จงสอนลูกของตนว่า จงเลือกไหว้แต่คนที่ควรไหว้ และแม้ว่าลูกเด็กๆ เล็กๆ มันไม่รู้จักเลือกในชั้นแรก ก็ตามใจ แต่ขอให้มันเลือกเถิด ขอให้มันมีหลักเกณฑ์ที่จะเลือกว่าควรจะไหว้ แล้วมันก็ค่อยเลือกเป็นขึ้นมาเอง มันโตขึ้นมาทุกวัน มันก็เลือกเป็นขึ้นมาเอง มันจะรู้จักใช้ความคิดตั้งแต่เล็ก ข้อนี้มันดีมาก ดีกว่าที่ให้มันโง่งมงายตั้งแต่เล็ก หรือดีกว่าที่ให้มันดื้อกระด้างมาตั้งแต่เล็ก แต่ต้องการให้มันรู้จักใช้ความคิดนึกมาตั้งแต่เล็ก โดยเขาจะรู้สึก สำนึก ตัดสินเอาเองว่า คนนี้ควรไหว้หรือไม่ควรไหว้ แล้วเขาก็จะรู้จักไหว้แต่คนที่ควรไหว้มากขึ้นทุกที อย่างนี้จึงจะเป็นมงคล ตามพระพุทธภาษิตที่ว่า บูชาบุคคลที่ควรบูชา ไม่ใช่บูชาไปเสียทั้งหมด
นี่หลักพุทธศาสนาจะมีอยู่อย่างนี้ คือ อยู่ที่ตรงกลาง อยู่ที่พอดี อยู่ที่สมดุล อยู่ที่เหมาะสม อยู่ที่ความถูกต้อง แล้วเราก็จะมีชัยชนะ ไอ้เรื่องสุดเหวี่ยงหรือสุดโต่งเดี๋ยวนี้โลกกำลังได้รับอันตรายอย่างยิ่งจากความสุดเหวี่ยงหรือสุดโต่ง บางคนก็จะไม่เอาใจใส่กับสุขภาพอนามัยเสียเลย มันก็สุดเหวี่ยงทางนั้น บางคนมันก็เอาใจใส่กับสุขภาพอนามัยเสียมากเกินไป มันก็สุดโต่งทางหนึ่ง เราจะเอาใจใส่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยของเราแต่พอดี เดี๋ยวนี้มนุษย์ทั้งโลกหรือเรียกว่าทั้งโลกก็ตามมันยังสุดโต่ง มันบูชากามารมณ์กันมากเกินไป แล้วมันก็ผลิตวัตถุปัจจัยส่งเสริมความรู้สึกทางกามารมณ์นั้นอย่างเรียกว่ามหาศาล เพราะว่ามันขายดี มันมีคนต้องการมาก มันก็จึงผลิตวัตถุที่ส่งเสริมความรู้สึกทางกามารมณ์ ความสวยงามทางตา ความไพเราะทางหู ความหอมหวลทางจมูก ความเอร็ดอร่อยทางลิ้น ความนิ่มนวลทางผิวหนัง นี่ ส่งเสริมกันเป็นการใหญ่ จนว่าโลกนี้มันเต็มไปด้วยปัจจัยของกามารมณ์ หรือโลกกำลังสุดเหวี่ยงอยู่ทางหนึ่ง หรืออีกทางหนึ่งถ้ามันจะมีคนโง่ มันก็ประชดกามารมณ์ ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ เพื่อจะทรมานตนให้ลำบากเพื่อประชดกามารมณ์ มันก็เป็นความโง่สุดโต่ง จะต้องรู้จักความพอดีที่ตรงกลาง ว่าไม่ลุ่มหลงในกามารมณ์ แต่ก็ไม่ต้องทำตนให้ลำบากเพื่อจะประชดกามารมณ์
สำหรับกามารมณ์นี้มันมีความหมายอยู่เป็น ๒ ชั้น ว่าถ้ามันเป็นเรื่องความรู้สึกของเรื่องสืบพันธุ์อันบริสุทธิ์ ก็ไม่น่ารังเกียจอะไร แต่ถ้าเป็นกามารมณ์ของกิเลสแล้ว มันก็น่ารังเกียจยิ่งกว่าของสกปรก แล้วก็ทำให้คนนั้นๆทำผิดได้มาก ทนทุกข์ได้มาก เพราะความหลงใหลในสิ่งเป็นที่ตั้งของกามารมณ์ มันไม่พอดี ถ้าจะถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นแก่ชีวิต ก็ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า กามารมณ์ นั้นในลักษณะที่เป็น มัชฌิมาปฏิปทา ให้พอดี คือให้เราควบคุมกามารมณ์ ไม่ใช่ให้กามารมณ์ควบคุมเรา ผู้ใดยังละจากกามารมณ์ไม่ได้ ก็จงใช้หลักเกณฑ์อันนี้ คือ คำว่า มัชฌิมาปฏิปทา ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทานไว้ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็เรียกว่าชนะความโง่สุดโต่ง ความโง่เหวี่ยงซ้ายสุด เหวี่ยงขวาสุด ซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ในโลกปัจจุบัน จงตั้งตนอยู่ใน มัชฌิมาปฏิปทา คือ มีในท่ามกลาง เป็นความเหมาะสม เป็นความถูกต้อง เป็นความสมดุล พิสูจน์กันตรงที่ว่ามันไม่ให้เกิดความทุกข์ ถ้ามันเกิดความทุกข์ ยุ่งยาก ลำบากใดๆ แล้ว มันไม่ใช่ความถูกต้อง ไม่ใช่ความเหมาะสม หรือความอยู่ตรงกลาง เป็น มัชฌิมาปฏิปทา นี่เรียกว่าอย่างน้อย เราจะชนะความโง่เกี่ยวกับความสุดโต่ง เหวี่ยงสุดทางซ้ายหรือทางขวาก็ตาม
ทีนี้ก็จะดูต่อไปอีกว่า เราจะชนะอะไรกันอีกบ้าง? เราจะชนะความผิดพลาด ความผิดพลาดทั้งหลายที่มีมาแล้วแต่กาลก่อน ข้อนี้มันตรงกันข้ามกับความถูกต้อง ในบาลีก็มีครบเป็นคู่กัน
ความถูกต้องเรียกว่า สัมมัตตะ- ภาวะแห่งความถูกต้อง ความผิดพลาดเรียกว่า มิจฉัตตะ - ภาวะแห่งความผิดพลาด
สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้องตามที่เป็นจริง
มิจฉาทิฏฐิ เป็นความผิดพลาดในความคิดเห็น เห็นผิด เข้าใจผิด เชื่อผิด อะไรผิด นี้มันเป็นความผิด
ถัดไปมันก็เป็น มิจฉาสังกัปปะ คือ ดำริผิด ปรารถนาผิด ถ้าคนเรามีความคิดเห็นผิดเสียแล้ว มันก็ดำเนินความคิดไปผิด ความคิดก็ผิด ปรารถนาก็ผิด เรียกว่ามี มิจฉาสังกัปปะ
ถ้าความปรารถนามันผิดเสียแล้วมันก็ทำไปผิดๆ มันก็มี มิจฉาวาจา - การพูดจาที่ผิดพลาด
แล้วมันก็มีการกระทำที่ผิด เรียกว่า มิจฉากัมมันโต - มิจฉากัมมันตะ - มีการกระทำที่ผิดพลาด
แล้วมันก็เป็นการดำรงชีวิตอยู่อย่างผิดพลาด เรียกว่า มิจฉาอาชีวะ
แล้วก็เรียกได้ว่าการกระทำทั้งหมดนั้นของเขาเป็น มิจฉาวายามะ คือ ความเพียรที่เป็นผิด
แล้วสติก็ต้องผิดตาม เพราะมันดำรงสติไว้ผิดเป็น มิจฉาสติ
แล้วมันก็เป็น มิจฉาสมาธิ คือ ความดำรงจิตมั่นคงผิด จะดำรงมั่นคงอย่างไรมันก็ยังผิด
นี่ มิจฉาทิฏฐิ, มิจฉาสังกัปปะ, มิจฉาวาจา, มิจฉากัมมันตะ, มิจฉาอาชีวะ, มิจฉาวายามะ, มิจฉาสติ, มิจฉาสมาธิ - ๘ มิจฉา คือ ความผิด ๘ ประการ ใครมีอยู่บ้าง? ใครมีอยู่บ้าง? เริ่มสำรวจเสียโดยเร็ว ใครมีอยู่บ้าง? มิจฉา หรือ ความผิด ๘ ประการนี้ จะต้องชนะมันให้ได้ ต้องชนะด้วยสิ่งที่ตรงกันข้าม คือ สัมมัตตะ ความถูกต้อง ๘ ประการ
สัมมาทิฏฐิ - ความเห็นถูกต้อง
สัมมาสังกัปปะ – ความดำริ ใฝ่ฝัน ต้องการนั้นถูกต้อง
สัมมาวาจา- การพูดจาถูกต้อง
สัมมากัมมันตะ - มีการงานถูกต้อง
สัมมาอาชีวะ - ดำรงชีวิตถูกต้อง
สัมมาวายามะ - เพียรพยายามอยู่อย่างถูกต้อง
สัมมาสติ - ระลึกประจำใจอยู่อย่างถูกต้อง
สัมมาสมาธิ - มีการตั้งมั่นแห่งจิตใจอย่างถูกต้อง
นี่คือสิ่งสำคัญที่พระพุทธองค์ทรงประกาศออกมาในวันนี้ ที่เรียกว่า วันอาสาฬหะปุณณมี ผู้ใคร่ศึกษาโดยละเอียดก็ไปศึกษาโดยตรงจากพระบาลี ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หามาอ่านเองก็ได้ ถามใครก็ได้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า มัชฌิมาปฏิปทา – ข้อปฏิบัติสายกลาง-ไม่ไปในทางสุดเหวี่ยง ๒ ข้างนี้ ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในการที่จะมีชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง จะทำให้เกิดจักษุ จะทำให้เกิดญาณ ให้เดินทางถูกต้องของชีวิตเป็นธรรมะที่ไม่ได้เคยฟังมาจากผู้อื่น เป็นธรรมะที่ตรัสรู้ขึ้นมาด้วยพระองค์เอง ทีนี้ เรียกว่าขอให้เราได้ประสบชัยชนะแก่ความผิดพลาด หรือภาวะแห่งความผิดพลาด ๘ ประการนั้น โดยภาวะแห่งความถูกต้อง ๘ ประการ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสประทานให้ในวันเช่นวันนี้ ความถูกต้องนั้นมันก็ละเสียซึ่งสุดเหวี่ยงทั้ง ๒ ข้างและดำเนินไปตรงกลาง มันก็เป็นความถูกต้อง นี่, จำไว้เป็นหลักว่า อย่าเหวี่ยงซ้ายหรือเหวี่ยงขวา อย่าประมาท อย่าอวดดี ดันทุรังไปสุดซ้าย สุดขวา ขอให้ดำรงอยู่ที่ตรงกลางอย่างถูกต้อง จึงจะมีลักษณะของความเป็นพุทธบริษัทตรงตามการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ไหนๆ พูดแล้วก็พูดกันให้มันหมด หรือให้มันมากเท่าที่จะมากได้ว่า เรายังจะต้องชนะไอ้ความทุกข์ทั้งปวง นี่ สิ่งร้ายกาจ ก็คือ ความทุกข์ ไม่มีอะไรจะเลวร้ายยิ่งไปกว่าความทุกข์ เราจะต้องชนะไอ้ความทุกข์ ใครไม่มีความทุกข์คนนั้นก็ไม่ต้องศึกษาพุทธศาสนา ไม่ต้องมาทำพิธีอะไรต่างๆอย่างนี้ให้เสียเวลาให้เหนื่อยเปล่าๆถ้าไม่มีความทุกข์ การปฏิบัตินี้ หรือพิธีที่เนื่องด้วยการปฏิบัตินี้ หรือการกระทำที่เป็นการระลึกถึงการปฏิบัตินี้มันจำเป็นสำหรับผู้ที่ยังมีความทุกข์อยู่ เขาจะได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิธีทางดับทุกข์ ได้รับความรู้แล้ว ปฏิบัติแล้ว ดับทุกข์ได้ แล้วก็มาทำพิธีสรรเสริญในความดับทุกข์ วิธีดับทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสประทานให้ ก็จะเป็นการดีแก่ทุกฝ่าย แก่ทุกคน ให้ทุกคนในโลกนี้รู้จักวิธีที่จะดับทุกข์สืบๆต่อกันไป ในความทุกข์นี้มันก็มีลักษณะที่เรียกว่า ทำให้เกิดทนทุกข์ ทรมาน เจ็บปวดนี้อย่างหนึ่ง หรือว่าดูแล้วมันน่าเกลียด น่าชังนี้ก็อย่างหนึ่ง มีอยู่ ๒ ความหมาย
ความหมายที่แคบ นั้นก็คือ มันทนทุกข์ทรมาน อย่างนี้มันเกิดขึ้นในขอบเขตอันจำกัด เมื่อมีการทำผิดเมื่อใดก็มีความทุกข์เกิดเมื่อนั้น ทำผิดที่ไหนมันก็มีความทุกข์เกิดที่นั้น
แต่ความทุกข์ ความทุกข์อีกความหมายหนึ่งนั้น มันมีความหมายกว้างครอบไปหมดถึง สังขารธรรม ทั้งปวง สิ่งทั้งหลายที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ที่เรียกว่า สังขารแล้ว มีลักษณะแห่งความทุกข์ทั้งนั้น คือ มันเปลี่ยนแปลงเรื่อย มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างหลอกลวง ให้เราหลงรัก หลงพอใจ อย่างนี้เรียกว่าเป็น ลักษณะของสังขารทั้งปวง แม้ไม่มีชีวิตก้อนหิน ดิน ทราย ต้นไม้ ต้นไร่ อิฐ ก้อนอิฐ นี้เป็นสังขารแล้วก็มีลักษณะแห่งความทุกข์ คือ ไม่เที่ยง แล้วก็มีลักษณะแห่งความหลอกลวง ให้เราเข้าใจผิด มันก็ไปหลงในความทุกข์ได้ หลงในสิ่งที่เป็นทุกข์ได้ ไม่ใช่ว่าเฉพาะเจ็บปวดอย่างเดียวจึงจะเรียกว่า ทนทุกข์ จึงจะเรียกว่า ทุกข์ แต่สิ่งที่มันมีลักษณะเปลี่ยนแปลง หลอกลวงอย่างน่าเกลียด สิ่งเหล่านั้นก็ต้องถูกจัดไว้ว่ามีลักษณะ แห่งความทุกข์ด้วย เราจะต้องมีสติปัญญาพอที่จะไม่ให้ถูกหลอก ถูกหลอนโดยสิ่งเหล่านี้ นี่, เรียกว่า รู้จักทุกข์
แล้วก็รู้จัก เหตุให้เกิดทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ มันก็คือ ความโง่ ที่ทำให้เกิดความอยาก หรือความอยากที่เกิดมาจากความโง่ ถ้าจะเล็งถึง อวิชชา ว่าเป็นต้นเหตุ ก็เพราะ อวิชชา มันทำให้เกิด ตัณหา คือ ความอยากด้วยอำนาจความโง่ ถ้าจะเล็งไปที่ ตัณหา ก็เพราะว่า อยากเมื่อไรมันก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น อยากด้วยความโง่นะ เป็นความอยากด้วยอำนาจแห่งความโง่เมื่อไรก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ในพระบาลี ในบางทีท่านก็ระบุไปยัง อวิชชา ว่าเป็น ต้นเหตุแห่งความทุกข์ บางทีท่านก็ระบุไปที่ ตัณหา ว่าเป็น ต้นเหตุแห่งความทุกข์ ถ้าระบุไปที่ ตัณหา มันก็ยังมีขั้นตอนอีกขั้นตอนหนึ่งคือ อุปาทาน ยึดถือ-โดยความเป็นตัวตนหรือเป็นของตน หมายความว่ามันมี อวิชชา ทำให้อยากด้วยความโง่ ครั้นอยากด้วยความโง่แล้วมันเกิดความรู้สึก ตัวกู-ผู้อยาก ขึ้นมาทันที ไม่ใช่ของจริงหรอกเป็นแต่เพียงความรู้สึกในใจ ว่า กู-ผู้อยาก อยากจะมาได้เป็น อยากได้มาเป็นของกู นี่เรียกว่า อุปาทาน นี่จิตกำลังเป็นทุกข์เพราะมี อุปาทาน ยึดถือเป็นตัวตน-เป็นของตน มีความหนัก ทับถมอยู่ในจิต ถ้าพูดให้สั้นใกล้ชิดท่านก็กล่าวว่า อุปาทาน ในขันธ์ทั้ง ๕ นั่นแหละเป็นตัวทุกข์ เราสวดกันอยู่ทุกวันว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา นี่ระบุไปยังเหตุที่ใกล้ชิดตัวทุกข์ที่สุดคือ อุปาทาน
ถ้าถอยให้ห่างไปอีกนิดหนึ่งก็ถึง ตัณหา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิด อุปาทาน ถ้าถอยไปอีกก็ไปถึง อวิชชา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิด ตัณหา จะมองดูกันที่ตรงไหนก็ได้ แต่ขอให้มองเห็นชัดว่ามันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ก็แล้วกัน ความทุกข์เกิดมาจากสิ่งเหล่านี้ซึ่งมีมูลมาจาก อวิชชา ไม่ได้หมายความว่า เกิดมาจากพระเจ้า หรือว่าเกิดมาจากโชคชะตาราศี เคราะห์กรรม ดวงดาว อะไรก็ไม่ใช่ ในที่สุดจะพูดว่าเกิดมาจากกรรมเก่า กรรมเก่าแต่หนหลังก็ยังไม่ถูกต้องนัก เพราะว่าถ้ามันเกิดมาจากกรรมเก่าหนหลังจริงแล้วเราก็แก้ไขไม่ได้
เดี๋ยวนี้ความทุกข์ชนิดใดก็ตามเราแก้ไขได้ โดยปฏิบัติตาม กฎอิทัปปัจจยตา จะพูดอย่างโอหังอวดดีที่สุดว่า ไอ้ความทุกข์ชนิดไหนเข้ามาโดยเหตุอะไรก็ตาม เราจะแก้มันได้ด้วยการปฏิบัติตาม กฎอิทัปปัจจยตา สมมติว่ามันโชคร้าย เคราะห์ร้ายมันจะต้องเป็นทุกข์ เราก็ตะเพิดออกไปเสียได้ ด้วยการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎของ อิทัปปัจจยตา หรือว่าผีสาง เทวดาดุร้ายที่ไหนมันจะมาให้ทุกข์ ให้โทษแก่เราเป็นความทุกข์แล้ว เราก็ตะเพิดมันไปเสียได้ด้วยการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎของ อิทัปปัจจยตา
ทีนี้สมมติว่าพระเป็นเจ้า พระเป็นเจ้าที่ไหนมันต้องการจะลงโทษเราให้มีความทุกข์ เราก็ตะเพิดไล่กลับไปเสียได้ด้วย กฎอิทัปปัจจยตา กฎอิทัปปัจจยตา , ปฏิจจสมุปบาท ก็ดี, อริยสัจจ์ ๔ ก็ดี, พระองค์ทรงประทานให้เราในวันนี้ ใช้ขับไล่ความทุกข์ทุกชนิดไม่ว่าจะคิดว่ามันจะเกิดมาจากอะไร แม้ว่าจะมีความทุกข์เพราะผลกรรมเก่า ก็ตะเพิด เลิก เพิกถอนไปเสียได้ เพราะการปฏิบัติตาม กฎอิทัปปัจจยตา มารู้สึกขึ้นในจิตแล้ว ควบคุมเสียได้ ให้มันดับไป ไม่มีความทุกข์อะไร
นี่ขอให้จำไว้เถอะว่า ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะทำผิดต่อ กฎอิทัปปัจจยตา ความทุกข์จะไม่เกิดขึ้น ก็เพราะว่าทำถูกต้องตามกฎของ อิทัปปัจจยตา และความทุกข์จะแก้ไขได้เพราะการปฏิบัติโดย กฎอิทัปปัจจยตา เราจึงมีเครื่องมือที่จะดับทุกข์ได้ทุกอย่าง ทุกชนิด โดย กฎอิทัปปัจจยตา เพราะว่าเรารู้ดีว่าความทุกข์นี้มันเกิดมาจากอะไร แล้วก็ขจัดเสียที่นั่น โดยซึ่งเหตุนั้น โดยวิธีที่ถูกต้องตามกฎของ อิทัปปัจจยตา นี่, เรียกว่า เหตุให้เกิดทุกข์โดยแท้จริงนั้นมาจากการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎของ อิทัปปัจจยตา
สิ่งสำหรับจะเกิด กิเลส เข้ามาก็รับเอาเข้ามาสำหรับเกิด กิเลส นี, มันผิดแล้ว มันผิดจากกฎของ อิทัปปัจจยตา แล้ว โดยที่ถูกนั้น ถ้ามันมาเข้ามาเพื่อให้เกิด กิเลส แล้วเรามีความรู้ถูกต้อง เราก็ควบคุมไว้ได้ หรือกำจัดเสียได้โดยการปฏิบัติตาม กฎอิทัปปัจจยตา คือ ฉลาดเต็มที่ในขณะแห่ง ผัสสะ นั่นเอง ดูกันที่ความดับทุกข์ นั้นคือ ดับต้นเหตุแห่งความทุกข์ ภาวะที่ไม่มีเหตุแห่งความทุกข์นั่นแหละเป็นความดับทุกข์ นี้ก็ดูกันเอาอย่างตรงกันข้ามว่าความทุกข์มันมีเหตุอย่างไร? เหตุนั้นไม่มีแล้ว นั่นก็คือ ความดับทุกข์
แล้วทีนี้ หนทางให้ถึงความดับทุกข์ มันก็ได้แก่ ความถูกต้อง ประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ, อัฏฐังคิกมรรค มรรคมีองค์ ๘ ประการ และถ้าดำเนินอยู่ในองค์ ๘ ประการนี้แล้วจะไม่มีความความผิดพลาดใดๆเกิดขึ้นได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะแห่ง ผัสสะ นั้น ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องอยู่โดยองค์ ๘ ประการแล้ว เป็นอันว่าจะชนะความทุกข์ได้ จะชนะความทุกข์ได้
องค์ ๘ ประการนั้นเอามาย่นย่อเหลือเหลือเพียง ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อศึกษาง่ายเพื่อปฏิบัติง่าย ดังนี้ก็ได้ ให้เรียกว่า ไตรสิกขา,
ปฏิบัติถูกต้องใน ศีลสิกขา ก็คือ มี สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว
ปฏิบัติถูกต้องใน สมาธิสิกขา หรือ จิตสิกขา ก็คือมี สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ปฏิบัติถูกต้องใน ปัญญาสิกขา ก็คือมี สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปโป
เรียกกันภาษาธรรมดาๆ ภาษาไทยๆ ก็ว่า
ความถูกต้องทางกาย ทางวาจา เป็น ศีลสิกขา
ความถูกต้องทางจิต เรียกว่า สมาธิสิกขา
ความถูกต้องทางปัญญา เรียกว่า ปัญญาสิกขา
ถ้ามันถูกต้องไปเสียทุกทาง แล้วความทุกข์จะเกิดอย่างไร? เพราะความทุกข์มันต้องเกิดมาจากความผิดพลาดเสมอไป นี่ ขอให้รู้ไว้อย่างนี้ ความทุกข์เกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น ความทุกข์เกิดเมื่อไรก็ดับเมื่อนั้น ให้ฉลาดที่จะดับความทุกข์ได้ทันเวลา แม้ที่สุดเอาความทุกข์ของคนโง่ เช่น ความยากจน เป็นต้น เพราะมันกระทำอบายมุขเป็นนิสัยมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เหล่านี้มันเป็นความทุกข์ชั้นเลวมาก ชั้นโง่มาก มันก็ควรจะดับได้ง่ายๆ
ในธรรมะธรรมดาสามัญ ชั้นสามัญ หรือว่าในองค์แห่งมรรคชั้นสามัญ มี สัมมาทิฏฐิ ชั้นธรรมดา ก็เลิกล้างไอ้ความโง่เขลาเหล่านี้เสียได้ ที่มันลำบากก็คือความทุกข์ชั้นลึกซึ้งในภายใน จะต้องอาศัยธรรมะที่ลึกซึ้งในภายใน นี่, เราพุทธบริษัททั้งหลาย จะต้องประพฤติ จะต้องกระทำให้รู้ ให้เกิดชัยชนะต่อความทุกข์
ทีนี้มาดูที่ต้นตอมันเสียเลย มาชนะ อวิชชา กันดีกว่า ไอ้ตัวการมารร้ายมันอยู่ที อวิชชา ตั้งเป้าหมายตรงไปยัง อวิชชา เพื่อทำลาย อวิชชา อวิชชา - ภาวะที่ปราศจากความรู้ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรเอาเสียเลย ความทุกข์ก็ไม่รู้จัก แล้วก็ถูกหลอนให้เห็นเป็นความสุขหรือน่าพอใจไปเสีย เหตุให้เกิดทุกข์ก็ไม่รู้จัก กลายเป็นว่ามันมืด สนุกสนาน เอร็ดอร่อยแล้วก็เอาโดยไม่ต้องดูว่ามันเป็นอะไรนี่ ไอ้ทางที่จะดับทุกข์ได้เห็นเป็นความน่ารังเกียจ ความยาก ความลำบาก ไม่สนุกสนาน ไอ้ความดับทุกข์ได้กลายไปอยู่ที่ว่าได้ตามใจกิเลส ไปเอร็ดอร่อย สนุกสนานตามใจกิเลสแล้วเรียกว่าความดับทุกข์ อย่างนี้กำลังเป็นไปในโลกปัจจุบัน โลกแห่ง อวิชชา ตั้งเป้าหมายที่จะกำจัด อวิชชา เอาชนะ อวิชชา
อวิชชา มันมีมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ก็เรียกว่าพอคลอดจากท้องแม่แล้ว ได้มาเสวยอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้วมันก็เริ่มมี อวิชชา ได้รับ...ไอ้เด็กทารกนั้นได้รับการประคบประหงมทุกอย่างทุกประการ ให้ได้เห็นของสวยงาม ให้ได้ฟังเสียงไพเราะ ให้ได้กลิ่นหอมเป็นที่น่าพอใจ ให้ได้ลิ้มรสอาหารที่เอร็ดอร่อย ให้ได้รับการประคบประหงมด้วยการนิ่มนวลทาง ผัสสะ ที่เนื้อหนัง มันก็หลงไปในนั้น นั่นแหละคือ อวิชชา เริ่มแล้ว อวิชชา เริ่มแล้ว เริ่มมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก แล้วก็เป็นมาโดยลักษณะนั้นยิ่งขึ้นทุกที ยิ่งขึ้นทุกที จนเป็นเด็กโต เด็กวัยรุ่น คนหนุ่ม คนสาว คนโตเต็มที่แล้วก็ยังเจริญอยู่ด้วย อวิชชา นี่แหละ มันเป็นเรื่องยากลำบาก ที่ว่ามันสะสมมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกจนกระทั่งบัดนี้ อวิชชา แปลว่า ความมืด ความไม่รู้ มันก็ต้องแก้กันด้วยแสงสว่าง คือ ดวงตาที่ลืมออกมาเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง เดี๋ยวนี้เรามัน มัน มัน มันน่าหัวนะ พอลืมตาขึ้นมาในโลกแรกคลอดมาจากท้องแม่ พอลืมตาขึ้นมาในโลกเป็นครั้งแรก มันก็ถูกทำให้โง่เสียแล้ว ไปใคร่ครวญดูให้ดีๆ ทุกคนเลย พอลืมตาขึ้นมาในโลกได้เห็นสิ่งต่างๆด้วยความเข้าใจผิด เห็นของสวยงามที่เขาเอามาให้เล่น เสียงไพเราะที่เขาเอามาให้ฟัง ของอร่อยที่เขาเอามาให้กิน หรือนิ่มนวล ความนิ่มนวลทางทะนุถนอม พอกระทบกับสิ่งเหล่านี้มันก็เริ่มโง่เสียแล้ว นี่เรียกว่า ตามันลืมตาขึ้นมาแต่มันรับเอาความโง่เข้าไป นี่เขาเรียกว่าไอ้ตาเนื้อ ตาธรรมดานี่ มันลืมตาขึ้นมาแล้วก็เริ่มโง่ แล้วก็โง่หนักขึ้น ถูกหลอกลวงทางตา ถูกหลอกลวงทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มันมากขึ้น ทีนี้ต้องมาลืมกันใหม่ ลืมตากันเสียใหม่ คือ ตาธรรม ตาธรรมะ ไม่ใช่ตาเนื้อ แต่เป็นตาของธรรมะ เป็นตาของจิตใจ ให้เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง
โดยหลักหัวข้อที่ว่า สิ่งทั้งปวงมีเหตุ มีปัจจัย เกิดขึ้นจากเหตุ จากปัจจัย แล้วก็ดับไปเพราะหมดเหตุ หมดปัจจัย ซึ่งเรียกว่า ธรรมะจักษุ เป็นหัวใจอันสำคัญ ใน ธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร ซึ่งพระองค์ทรงประทานในวันนี้ ให้เห็นความเป็นอย่างนี้ของสิ่งทั้งปวง คือ ความที่สิ่งทั้งหลายมีเหตุมีปัจจัยแล้วเป็นไปตามอำนาจแห่งเหตุแห่งปัจจัย จนกล่าวได้ว่า เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี, เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น, หรือว่าเพราะสิ่งนี้ไม่มีไม่เกิด สิ่งนี้จึงไม่มีไม่เกิด อย่างนี้เรียกว่า อิทัปปัจจยตา เกิด ธรรมะจักษุ ใน อิทัปปัจจยตา ก็จะชนะ อวิชชา คือ ความมืด มืดที่สุดไม่มีความมืดใดเสมอเหมือน เราถือเอา อวิชชา เป็น ข้าศึกศัตรู ตั้งใจที่จะทำลายล้างหรือชำระเสียซึ่ง อวิชชา
นี่ดูเถอะว่าเราจะต้องชนะอะไรหลายๆหลายๆอย่างอยู่เหมือนกัน ให้สมกับที่ว่าเราได้ฟังธรรมของพระศาสดา เป็นเครื่องชนะกิเลส เป็นเครื่องชนะความโง่ ความหลง ชนะความผิดพลาด ชนะทุกข์ ถ้าไม่มีเรื่องชนะแล้วก็เป็นเรื่องแพ้ ถ้าเป็นเรื่องแพ้แล้วก็ไม่ควรที่จะเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้านั้นแพ้ไม่ได้ ถ้าแพ้แล้วไม่ใช่สาวกของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ชนะ เป็นผู้ชนะมาร เป็นผู้ชนะกิเลส ชนะความทุกข์ เขาจึงเรียกว่า พระชินะ, ชินะ แปลว่า ผู้ชนะ เรา - สาวกของพระพุทธเจ้าก็ต้องเป็นผู้ชนะไปด้วยกัน
อาตมาจึงเอามากล่าวกับท่านทั้งหลายในวันนี้อย่างยืดยาว บางคนจะรำคาญแล้วก็ได้ ว่าจะต้องชนะกันให้ได้ ชนะสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคยชนะ แล้วเราก็จะชนะตามพระองค์ เพื่อจะออกมาเสียจากอำนาจของมาร เราออกมาเสียจากอาณาจักรของมาร คือ ความผิดพลาดแต่หนหลัง ทนทุกข์ ทรมานอยู่ตลอดกาลนาน มาสู่อาณาจักรของพระพุทธเจ้า อาณาจักรของพระธรรม ที่เรียกว่า ธรรมจักร แปลว่า อาณาจักรของพระธรรม พระพุทธเจ้าทรงประกาศอาณาจักรของพระธรรมที่ในวันนี้ ในวันอาสาฬหะปุณณมีนี้ ได้ประกาศอาณาจักรของพระธรรม ว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนั้น คำกล่าวเหล่านั้นเรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร นี่เราจะต้องเปลี่ยนอาณาจักร เลิกเป็นสมาชิก หรือลูกสมุนในอาณาจักรของมาร มาเป็นสมาชิกในอาณาจักรของพระพุทธองค์ ซึ่งเต็มอยู่ด้วยสติปัญญา
อย่าให้มีความทุกข์ชนิดที่น่าละอายแมว สัตว์เดรัจฉานยังมีความทุกข์น้อยกว่ามนุษย์ เพราะว่ามันคิดไม่เป็น มันยึดมั่น-ถือมั่นไม่เป็น มันมีความทุกข์เหมือนกันแต่มันน้อยกว่ามนุษย์มาก มันไม่ลึกซึ้งเหมือนกับความทุกข์ของมนุษย์ ผู้คิดได้มากและยึดมั่น-ถือมั่นได้มาก แล้วก็เป็นบ้าให้แมวดู คนเป็นอันมากมันนอนไม่หลับให้แมวดู มันเป็นโรคประสาทให้แมวดู มันเป็นบ้าให้แมวดู ชนิดที่แมวมันไม่เป็น อย่างนี้แหละที่เรียกว่า มันน่าละอายแมว สำหรับคนที่ไม่มีธรรมะ หรือ ธรรมะจักษุ เพียงพอที่จะคุ้มครองตน
หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้เข้าใจในเรื่องนี้ หรือความหมายแห่งวันอาสาฬหบูชานี้ ว่าเป็น เครื่องหมายแห่งชัยชนะ แล้วก็พยายามให้เกิดความชนะ เกิดการชนะ มีภาวะที่ชนะมารได้ก็ไม่เสียทีที่ตั้งใจจะมาประกอบพิธีอาสาฬหบูชาในวันนี้ เข้าไปอยู่ในอาณาจักรของพระธรรมแล้ว ไม่มีอะไรที่จะทำให้เกิดความทุกข์ทนทรมาน จะไม่โง่ จะไม่หลง จะไม่ตกเป็นเหยื่อของกิเลส เรียกว่า มันสูงสุดกันอยู่ที่ตรงนี้ นี่แหละ หัวใจและความหมายอันสำคัญของคำว่า พิธีอาสาฬหบูชา เรากำลังจะประกอบพิธีอาสาฬหบูชา จงทำใจของเราให้เหมาะสำหรับจะประกอบพิธีอาสาฬหบูชา อย่าให้คนโง่ คนบ้า มาประกอบพิธีอาสาฬหบูชาเลย ในจิตใจของคนทุกคนจงแจ่มแจ้งอยู่ด้วยการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีอยู่ดังที่กล่าวมาแล้วโดยละเอียด ในวันนี้ ให้ความรู้อันนี้แจ่มแจ้งอยู่ในใจ แล้วกระทำพิธีอาสาฬหบูชาในลักษณะสูงสุดที่เรียกว่า ประทักษิณ หรือ เวียนเทียน เดิน ประทักษิณ เวียนไปข้างขวา ดอกไม้ ธูป เทียนถืออยู่ในมือเป็นเครื่องบูชาทางวัตถุ กิริยาที่เดินมันก็เป็นบูชาด้วยร่างกาย ด้วยเรี่ยวแรง และ จิตใจที่สว่างไสว แจ่มแจ้งรู้สรรพคุณของพระองค์นั้นเป็นการบูชาอันสูงสุด คือ บูชาด้วยจิตใจ บูชาด้วยธรรมะ บูชาทางกายด้วย บูชาทางวัตถุด้วย บูชาทางกายด้วย บูชาทางจิตใจด้วย บูชาทางสติ-ปัญญาด้วย ครบอย่างนี้แล้ว การทำพิธีนั้นจะมีความหมาย
ขอให้ท่านทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาจากที่ไกล อุตส่าห์มาจากที่ไกล ขอให้มีความถูกต้องอันนี้ให้มาก ให้พอ ให้สมควรกับที่มาจากที่ไกล แพงมาก เหนื่อยมาก เสียเวลามาก ให้ได้รับประโยชน์สมกันก็จะเป็นการดี ไม่ติเตียนตัวเองได้ ว่าทำอะไรชนิดที่มันไม่สมกัน อย่าให้มีความงมงายแม้แต่นิดหนึ่งเหลืออยู่ในจิตใจของสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย อาตมามีความประสงค์อย่างนี้จึงพูดมาก พูดมากเพื่อจะว่าชะล้างไอ้ความมืด ความไม่รู้ ความเข้าใจผิด ความงมงายอะไรต่างๆออกไปเสียจากจิตใจของท่านทั้งหลายแล้ว มีจิตใจสะอาด สว่าง สงบ พอสมควรที่จะทำพิธีอาสาฬหบูชา
บัดนี้ก็เป็นเวลาอันสมควรแล้วที่เราจะประกอบพิธีอาสาฬหบูชา ท่านทั้งหลายจงเตรียมจิตใจให้เหมาะสมที่จะทำพิธีอาสาฬหบูชา แล้วเราก็จะได้ประกอบพิธีนั้นต่อไป
ธรรมเทศนาเป็น บุพพภาค แห่งพิธีอาสาฬหบูชา เพื่อที่จะเตรียมจิตใจของท่านทั้งหลายให้มีความเหมาะสมแก่พิธีนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ก็จะยุติการบรรยายนี้ไว้ เพื่อประกอบพิธีอาสาฬหบูชาสืบต่อไปในกาลบัดนี้
(นาทีที่ 1.13.39 เป็นต้นไป เป็นการประกอบพิธีและบทสวด)
ขอให้เตรียมพระ เณร จุดเครื่องสักการะ ถือขึ้นไว้ในมือ เรามีแบ่งกัน พระก็จะทำพิธีก่อน โดยภาษาบาลี ฆราวาสจะทำพิธีทีหลังโดยภาษาไทย พระจะสวดพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ไม่ต้องเดินเวียน ท่านทั้งหลายเป็นผู้เดินเวียนในนามของพวกเราทั้งหมด ก็จะถือว่าทำด้วยกันครบทุกอย่างทั้งหมดมีลักษณะเหมือนสหกรณ์ คนหนึ่งทำอย่างหนึ่ง คนหนึ่งทำอย่างหนึ่งแล้วเอามารวมกันเป็นเรื่องของทั้งหมด นี่เรียกว่าวิธีกระทำอาสาฬหบูชาของสวนโมกขฯ ในวันนี้ 75.01
เอ้า, นิมนต์ยืนขึ้น นิมนต์ยืนขึ้น ให้ภิกษุทั้งหลาย ฆราวาสรอก่อน ฆราวาสรอก่อน อย่าเพิ่งจุดเดี๋ยวจะหมด ให้ภิกษุทั้งหลายกระทำพิธีก่อน ยืนขึ้น ทำจิตใจให้ว่างไม่มีขอบเขต โดยหลับตาเสีย ไม่ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ไม่มีทิศเหนือ ทิศใต้ ไม่มีเบื้องบน ไม่มีเบื้องล่าง เพื่อว่าจิตใจจะได้แผ่ไปโดยทั้วทิศไม่มีขอบเขตเป็นจิตใจอิสระตามความมุ่งหมายของธรรมะแห่งความหลุดพ้น และด้วยจิตที่เป็นอิสระอย่างนี้แหละเราจะทำพิธีอาสาฬหบูชา ในชั้นแรกนี้ก็กล่าวคำบูชาเป็นภาษาบาลี ให้ฆราวาสกล่าวถวายเป็นภาษาไทย เอ้า, นิมนต์ (นาทีที่ ๗๖.๕๗ จนจบเป็นสวดมนต์บาลี และ ไทย)