แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพระวิปัสสนาจารย์และท่านที่สนใจในเรื่องของวิปัสสนาทั้งหลาย เราได้พูดกันถึงเรื่องจิตประภัสสรตามธรรมชาติ ถูกอุปกิเลสเป็นอาคันตุกะจรเข้ามาทำให้เศร้าหมอง ถ้าไม่มีอุปกิเลสเป็นอาคันตุกะเข้ามา ก็บริสุทธิ์ ก็วิปปมุต คือว่าผ่องใส แล้วก็ได้พูดถึง การเป็นอยู่ที่จะป้องกันอาคันตุกะเหล่านั้นไม่ให้จรเข้ามาอย่างไร ซึ่งเป็นใจความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าการเจริญภาวนา
ทีนี้วันนี้อยากจะพูดเฉพาะส่วนที่ว่า อุปกิเลสนั้นเป็นอาคันตุกะมาอย่างไร เป็นอุ เป็นอาคันตุกะขึ้นมาอย่างไรและเมื่อใด นี่คือหัวข้อที่ตั้งใจจะกล่าว แล้วก็จะเป็นเหตุให้เข้าใจ เรื่องการเกิดขึ้นแห่งเบญจขันธ์และเรื่องปฏิจจสมุปบาท พร้อมกันไปในตัว ถ้าเข้าใจเรื่องเบญจขันธ์เกิดขึ้นอย่างไร ก็ย่อมจะเข้าใจอาการที่อุปกิเลสเป็นอาคันตุกะจรเข้ามา หรือว่าถ้าเข้าใจเรื่องที่ปฏิจจสมุปบาทเกิดขึ้นอย่างไร ก็จะเข้าใจเรื่องอุปกิเลสเป็นอาคันตุกะจรเข้ามา และจะรู้เรื่องเบญจขันธ์และปฏิจจสมุปบาททั้งสองเรื่องนั้นว่า มันเป็นเรื่องเดียวกันอย่างไร มันเกี่ยวข้องกันอย่างไรก็ได้ นี่ขอให้ตั้งใจฟังให้เข้าใจให้จนได้
การเกิดขึ้นแห่งเบญจขันธ์นั่นแหละ คือการเกิดขึ้นแห่งอุปกิเลสที่เป็นอาคันตุกะจรเข้ามา แต่เรื่องเบญจขันธ์นี้ มีความเข้าใจผิดกันอยู่บางอย่าง ผมก็จำเป็นที่จะต้องอธิบายไปตามความรู้ความเข้าใจ ที่ได้มาจากพระบาลีพุทธวจนะนั้นโดยตรง ทีนี้มันก็ไม่ค่อยจะเหมือนที่เขาพูด ๆ กันอยู่ เช่นเขาพูดว่า คนเราคนหนึ่งแบ่งออกเป็น ๕ กอง คือ ๕ ขันธ์ จะคล้าย ๆ กับว่า มีอยู่ ๕ กองในคราวเดียวกัน แบ่งออกไปได้เป็น ๕ กองเหมือนกับแบ่งของ และบางคนพูดไปถึงกับว่า เรามีขันธ์ ๕ กองนี้ตลอดเวลา บางคนเลยไปถึงว่า แม้เวลาหลับ เราก็มีเบญจขันธ์ ๕ กองนี้ นี่เป็นเรื่องที่ว่า จะต้องพูดกันใหม่ตามพระบาลีว่า มีอยู่อย่างไร ใจความสำคัญที่ถอดมาจากได้พระบาลีโดยตรงนั้น มันเป็นอย่างไร
คำว่าขันธ์ ๕ ก็แปลว่าขันธ์ทั้ง ๕ คำว่าขันธ์ แปลว่ากอง ก็ถูกเหมือนกัน ก็ถูกแล้ว ๕ กองในที่นี้ มัน ๕ พวก ๕ กลุ่มมากกว่าที่จะมีอาการเหมือนกับส่วนแบ่ง เช่นคนคนหนึ่งเอามาตัดออกเป็น ๕ ส่วน อย่างนี้ก็ไม่ตรงกับเรื่อง แล้วขันธ์ทั้ง ๕ นี้ ไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา และไม่อาจจะเกิดพร้อมกันได้ทั้ง ๕ ในเวลาเดียวกัน และขันธ์ ๕ นี้ไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา คือมันมีเกิดดับ เกิดดับ และมันก็ไม่ได้เกิดดับเกิดดับพร้อมกันทั้ง ๕ ขันธ์ มันจะเกิดตามหน้าที่ มันจะดับไปตามหน้าที่ ซึ่งไม่ได้พร้อมกัน และแม้สิ่งที่มีอยู่ เช่นรูปขันธ์ ซึ่งสำ เอ่อ, ซึ่งหมายถึงร่างกายนี้ ก็ยังถือว่า มันมิได้เกิดอยู่ตลอดเวลา จะมีคำว่า รูปเกิด รูปดับ นามเกิด นามดับ คำว่ารูปเกิด ก็คือรูปขันธ์นั่นแหละเกิด แล้วรูปขันธ์ก็ดับ เดี๋ยวเกิด เดี๋ยวดับ เดี๋ยวเกิด เดี๋ยวดับ มันมีความหมายอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกัน
รูปขันธ์คือพวกรูป ก็ได้แก่ร่างกายนี้ ซึ่งประกอบอยู่ด้วย ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ธาตุอากาศ ก็เป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณธาตุ ยกวิญญาณธาตุออกไปเสีย เหลือ ๕ นั้น ก็ประกอบกันเป็นร่างกายนี้ ส่วนประกอบทั้ง ๕ ส่วนนั้น ดิน น้ำ ลม ไฟ นี้เราเรียกว่ารูป สำหรับอากาศนั้น ไม่ควรจะเรียกว่ารูป แต่ก็มีผู้ที่เรียกว่ารูป มีผู้เรียกว่ารูป แล้วแต่ว่าคณะไหนสำนักไหนจะสอนอย่างไร บางคนก็ให้เป็นนามไปเลย แต่นี่เป็นไปไม่ได้ เพราะอากาศนี่หมายถึงความว่างหรือที่ว่าง
ทีนี้ร่างกายที่เป็นส่วนดินน้ำลมไฟนี่ เป็นรูปร่างกายนี้ เอ่อ, คนมองด้วยตาก็เห็นว่า มันมีอยู่ตลอดเวลา แม้นอนหลับร่างกายนี้ก็มีอยู่ เขาจึงคิดว่า รูปขันธ์มันมีอยู่ตลอดเวลา แม้แต่เวลาหลับ แต่รูปขันธ์นั้นไม่ได้หมายความอย่างนั้น หมายถึงรูปเมื่อทำหน้าที่ เมื่อรูปทำหน้าที่ของรูป ก็เรียกว่ารูปขันธ์เกิด เมื่อรูปไม่ทำหน้าที่ของรูป หยุดทำหน้าที่ของรูป ก็เรียกว่ารูปขันธ์ดับ
รูปขันธ์ทำหน้าที่ของรูป เอ่อ, รูปทำหน้าที่ของรูปก็เช่นว่า เมื่อดวงตาซึ่งเป็นรูปมันทำหน้าที่อย่างตา ก็เรียกว่ารูปคือตาเกิด เมื่อทำ หูทำหน้าที่ก็เรียกว่ารูปคือหูเกิด จมูกทำหน้าที่เรียกว่าจมูกรูปเกิด ลิ้น กายนี่ ๕ อย่างนี้ มันเป็นรูป เมื่อมันทำหน้าที่ก็เรียกว่ารูปขันธ์มันเกิด เมื่อมันไม่ทำหน้าที่ เหมือนกับหลับอย่างนั้นน่ะ ก็เรียกว่ามันดับ
เมื่อทำหน้าที่ของรูปเรียกว่ารูปขันธ์เกิด เมื่อมันไม่ทำหน้าที่ของรูปขันธ์ ก็ไม่เรียกว่ารูปขันธ์ จะเรียกว่ารูปเฉย ๆ ก็ได้ มีแต่รูปเฉย ๆ ที่ประกอบอยู่ด้วยดินน้ำลมไฟ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟนี้เหลืออยู่ เมื่อเวลาหลับก็มี ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่เป็นส่วนประกอบของรูปนั้นน่ะเหลืออยู่ แต่ว่ารูปนั้นมันไม่ได้ทำหน้าที่ เพราะฉะนั้นมันจึงไม่มีรูปขันธ์เมื่อเวลาหลับ มันมี ๆ แต่รูปเฉย ๆ หรือที่ประกอบอยู่ด้วยธาตุทั้ง ๔ ก็เรียกว่าธาตุทั้ง ๔ มันเหลืออยู่ เวลานอนหลับอะไรเหลืออยู่ ถ้าไม่คิดไม่ฝันไม่อะไรหมด ก็เรียกว่ารูปเฉย ๆ ซึ่งประกอบอยู่ด้วยธาตุ ๔ มันเหลืออยู่
รูปที่ไม่ได้ทำหน้าที่ของรูป ไม่เรียกว่ารูปขันธ์ ต่อเมื่อทำหน้าที่ของรูปจึงเรียกว่ารูปขันธ์ ดังนั้นรูปขันธ์ก็เกิดเป็นคราว ๆ เท่านั้น เมื่อรูปมันทำหน้าที่ของรูป เมื่อที่นั้น เมื่อรูปทำหน้าที่ของรูปเป็นรูปขันธ์แล้ว มันก็คือมีสัมผัสทางอายตนะนั่นเอง รูปข้างในคือตา รูปข้างนอกคือรูป รูปารมณ์ มาถึงกันเข้า นี้ก็เรียกว่ามีผัสสะ มีการกระทำของรูปคือผัสสะ แล้วก็เกิดเวทนา นี่เกิดเวทนา เวทนาพึ่งเกิดเมื่อมีผัสสะ เวทนานั้นคือเวทนาขันธ์ ก่อนหน้านี้เวทนาขันธ์ไม่ได้มี เพราะยังไม่มีผัสสะ ต่อเมื่อมีผัสสะก็มีเวทนาขันธ์ ดังนั้นเวทนาขันธ์จึงพึ่งเกิด
เวทนาขันธ์เกิดปรากฏแล้ว มันก็ปรุงให้เกิดสัญญาขันธ์ คือความสำคัญมั่นหมายในความหมายแห่งเวทนานั้น ๆ เวทนาก็มีหลายอย่าง เพราะมันเป็นที่ตั้งให้เกิดสัญญา คือความจำหรือความสำคัญมั่นหมายหลาย ๆ อย่าง เวทนาขันธ์ทำให้เกิดสัญญาขันธ์ หมดหน้าที่ของตนแล้ว เวทนาขันธ์ก็ดับไป มันก็เหลืออยู่แต่สัญญาขันธ์นี่ คือความจำหมายหรือความสำคัญมั่นหมาย ความสำคัญมั่นหมายว่าสุขว่าทุกข์ ความสำคัญมั่นหมายว่าหญิงว่าชายเป็นต้น มันเหลืออยู่ นี่เป็นสัญญาขันธ์
อ่า, สัญญาขันธ์เกิดสืบต่อจากเวทนาขันธ์ เป็นสัญญาอยู่ระยะหนึ่ง เรียกว่าสัญญาขันธ์เกิด และสัญญาขันธ์มันก็จะทำหน้าที่ปรุงให้เกิดสังขารขันธ์ คือความคิดนึกอย่างไรโดยสมควรแก่สัญญานั้น ทีนี้ก็เปลี่ยนรูปเป็นสังขารขันธ์คือเป็นความคิด ความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง คิดดี คิดชั่ว คิดไม่ดีไม่ชั่ว อะไรก็ตาม สัญญาขันธ์ปรุงให้เกิดสังขารขันธ์ ความสำคัญมั่นหมายทำให้เกิดความคิด ความคิดเป็นสังขารขันธ์ สังขารขันธ์เต็มที่แล้ว สัญญาขันธ์ก็ดับไป สังขารขันธ์ก็อยู่ เป็นความคิด เป็นการกระทำ
วิญญาณขันธ์มันเกิดแล้วตั้งแต่เมื่ออายตนะในนอกสัมผัสกัน มันเกิดตั้งแต่ตอนต้น แต่แล้วทำไมท่านเอามาไว้ข้างปลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะว่าไอ้วิญญาณนี้มันทำหน้าที่หลายหน เอามาไว้ข้างปลายก็ได้ เมื่อตากับรูปกระทบกันเกิดจักษุวิญญาณ นี่รูปขันธ์ทำให้เกิดวิญญาณขันธ์ ในกรณีตอนแรก คืออายตนะนอกในกระทบกันเกิดวิญญาณขันธ์ ๓ อย่างนี้รวมกันเรียกว่าผัสสะ ก็ให้เกิดเวทนา เวทนาขันธ์ มีรสชาติของเวทนาที่ให้เกิดมโนสัมผัสเป็นวิญญาณ มโนวิญญาณ ในเวทนาขันธ์นั้นอีกทีหนึ่ง ดังนั้นไอ้เวทนา เอ่อ, วิญญาณขันธ์นี้ มันอาจจะสัมผัสอะไรได้หลายหนหลายตอน ไม่ควรหรือไม่รู้ว่าจะใส่ตำแหน่งไว้ที่ไหนดี เอาไว้สุดท้ายเลย
นี้เราจะต้องเข้าใจว่า ขันธ์ทั้ง ๕ มันเป็นอย่างนี้ รูปขันธ์ภายใน อายตนะภายใน รูปขันธ์ภายนอก อายตนะภายนอก ถึงกันเข้าเกิดวิญญาณขันธ์ นี่เรียกว่ามี ๆ ๒ ขันธ์แล้ว รูปขันธ์เกิดแล้ว วิญญาณขันธ์ก็เกิดแล้ว แล้วก็ทำหน้าที่ให้เกิดเวทนาขันธ์ เวทนาขันธ์เกิดแล้ว ไอ้รูปขันธ์ วิญญาณขันธ์ มันก็ดับไป เวทนาขันธ์เกิดแล้วก็ปรุงแต่งสัญญา สัญญาขันธ์ แล้วมันก็ดับไป สังขารขันธ์ เอ่อ, สัญญาขันธ์ปรุงให้เกิดสังขารขันธ์ คือความคิดนึก
ทีนี้ก็ไล่มาดูตั้งแต่ต้นว่า ตอนไหนที่เป็นอุปกิเลสที่จรมา ตอนไหน มันก็รูปก็ยังไม่ใช่กิเลส วิญญาณก็ยังไม่ใช่กิเลส ผัสสะก็ยังไม่ใช่กิเลส เวทนาก็ยังไม่ใช่กิเลส สัญญาก็ยังไม่ใช่กิเลส พอสังขารนี่มีความคิด ถ้ามันคิดไปในรูปที่เรียกว่ากิเลส ก็เรียกว่ากิเลส กิเลสที่จะเป็นอาคันตุกะจรมาทำจิตเดิมให้เศร้าหมอง มันก็คือขณะแห่งสังขารขันธ์ นี่อุปกิเลสเป็นแขกจรมาในขณะที่เราเรียกว่าสังขารขันธ์ นี่ถ้าท่านมองเห็นอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ ก็จะเข้าใจได้ว่า รูปขันธ์ก็เกิดดับ เวทนาขันธ์ก็เกิดดับ สัญญาขันธ์ก็เกิดดับ สังขารขันธ์ก็เกิดดับ วิญญาณขันธ์ก็เกิดดับ มันล้วนแต่เกิดดับกันทุกขันธ์
ดังนั้นคำว่าเกิด ๆ ในที่นี้ ก็คือการที่มันทำหน้าที่ของมันตามชื่อแห่งขันธ์นั้น ๆ มันไม่ได้ทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงไม่เรียกว่าขันธ์ทั้ง ๕ หรือแต่ละขันธ์ ๆ นี้เกิดอยู่ตลอดเวลา จะเกิดอยู่เฉพาะ เรียกว่าเกิดขึ้นเฉพาะ เมื่อมันเกิดขึ้นทำหน้าที่ และมันมีอยู่เมื่อกำลังทำหน้าที่อยู่ แล้วเดี๋ยวมันหมดหน้าที่ มันก็ดับไปนี่ จึงพูดได้ว่า ตาเกิดตาดับ หูเกิดหูดับ จมูกเกิดจมูกดับ ลิ้นเกิดลิ้นดับ กายเกิดกายดับ ซึ่งคนไม่รู้เรื่อง ฟังไม่เข้าใจหรอกว่า ตาเกิดตาดับนี้ คนธรรมดาชาวบ้านฟังไม่เข้าใจหรอก เพราะเขาไม่รู้ว่า เกิดดับนั้นหมายความว่าอะไร
แต่ถ้าเราอย่างนี้ เราเคยเรียนเคยรู้ เราก็พอเข้าใจว่า เมื่อตาทำหน้าที่ของตาก็เรียกว่าตาเกิด พอตาไม่ทำหน้าที่ของตาก็เรียกว่าตาดับ พอหูทำหน้าที่ของหูก็เรียกว่าหูเกิด พอหูหยุดทำหน้าที่ของหูก็เรียกว่าหูดับ ทั้งที่ลูกตาก็ยังอยู่นั่นแหละ หูก็ยังอยู่นั่น ไม่ได้ไปไหน แต่กลับเรียกว่าหูเกิด เอ่อ, ตาเกิดตาดับ หูเกิดหูดับ จมูกก็เหมือนกันอยู่ ๆ ๆ นั่นน่ะ แต่เมื่อทำหน้าที่เรียกว่าจมูกเกิด ไม่ทำหน้าที่เรียกว่าจมูกดับ ลิ้นทำหน้าที่เรียกว่าลิ้นเกิด เมื่อรู้รสทำสัมผัสรส แล้วก็ไม่ทำหน้าที่ก็เรียกว่าลิ้นดับ ผิวหนังนี่ก็เหมือนกัน เมื่อมีอารมณ์มากระทบผิวหน้ง รู้สึกแก่ผิวหนัง เรียกว่าผิวหนังหรือหนังกายเกิด กายเกิด ผิวกาย กายเกิด พอผิวกายไม่ทำหน้าที่ก็เรียกว่ากายดับ
นี้คำว่าเกิดว่าดับในความหมายทางธรรมะนี้ มันแปลกอย่างนี้แหละ ขอให้เข้าใจ คือให้พูดเป็นว่า ตาเกิดตาดับ หูเกิดหูดับ จมูกเกิดจมูกดับ ลิ้นเกิดลิ้นดับ สรุปความสั้น ๆ ไว้เป็นหลักก็ว่า เมื่อมันทำหน้าที่ เมื่อมันลุกขึ้นทำหน้าที่ จึงจะเรียกว่ามันเกิด ดังนั้นขันธ์ทั้ง ๕ จึงมีเกิดมีดับ มีเกิดมีดับ
เดี๋ยวนี้ท่านพูดไว้เป็นหลักตามธรรมชาติว่า ไอ้ที่เกิดนี้ มันเกิดด้วยความไม่รู้ ไม่มีปัญญา ไม่มีสติ ก็เรียกว่ามันเกิดขึ้นด้วยอวิชชา เกิดอย่างมีอวิชชา เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นความรู้ผิด เห็นผิด เข้าใจผิด รู้สึกผิดทั้งนั้นแหละ เช่นเกิดเวทนานี้ มันมีแต่อวิชชา มันก็เป็นเวทนาโง่ เวทนาที่จะให้เกิดความโง่ แล้วมันก็สัญญา ก็สำคัญในเวทนาไปตามความโง่ สำคัญเป็นสัตว์ เป็นคน เป็นตัว เป็นตน เป็นเรา เป็นเขา หรือว่าจะเพียงแต่จำได้หมายรู้ มันก็คิดว่าเป็นตัวเป็นตนอยู่เรื่อยไป มันรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตนอยู่เรื่อยไปนี่ เพราะมันเกิดตามธรรมชาติ ซึ่งไม่มีวิชชา ไม่มีปัญญา ไม่มีแสงสว่าง นี้ยิ่งสัญญาแล้ว ก็สัญญาผิดด้วยอวิชชาที่มีอยู่ สังขาร ความคิดปรุงแต่ง ก็คิดผิดไปด้วยอวิชชาที่มีอยู่ ดังนั้นมันจึงเป็นกิเลสอย่างไรล่ะ
ถ้ามันมีสติปัญญา มันก็เป็นเวทนาฉลาด สัญญาฉลาด สังขารฉลาด อย่างนั้นมันก็เป็นฝ่ายกุศล เป็นฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งยากที่จะมีได้ เพราะว่าตามธรรมดาสัตว์ สามัญสัตว์ทั่วไป มันไม่มีปัญญา ไม่มีสติ ไม่มีธรรมะ เพราะปล่อยไปตามธรรมชาติ มันก็ขาดสติ ขาดปัญญา มีแต่อวิชชา คือความไม่รู้ ดังนั้นจึงเป็นรูปขันธ์แห่งความไม่รู้ สัญญาขันธ์ เอ่อ, เวทนาขันธ์แห่งความไม่รู้ สัญญาขันธ์แห่งความไม่รู้ สังขารขันธ์แห่งความไม่รู้ วิญญาณขันธ์แห่งความไม่รู้ มันประกอบอยู่ด้วยความไม่รู้ตามธรรมชาติ มันก็ปรุงแต่งเป็นรูปความคิด มันก็เป็นความคิดที่ผิดนะ มันก็คือกิเลส
บางทีก็ออกมาในรูปของ จะเอา จะได้ นี่เป็นโลภะ บางทีก็ออกมาในรูป ที่โกรธ ที่เกลียด ที่จะทำลายเสีย ก็ออกมาในรูปของโทสะ บางทีก็ออกมาในลักษณะที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร สงสัย โง่ สะเพร่าอะไรอยู่ มันก็ออกมาในรูปของโมหะ นี่ไอ้สังขารขันธ์นั่นแหละ มันเกิดขึ้นเป็นรูปแบบของ โลภะ โทสะ โมหะ เรียกว่ากิเลส ถ้าจะแยกให้เป็นรายละเอียดออกไป เรียกว่าอุปกิเลสก็ได้ ซึ่งมีอยู่ถึง ๑๖ อย่าง อย่างที่เราพูดกันแล้วเมื่อคืน เมื่อคืนที่แล้วมานี้
เมื่อไรมันเกิดสังขารขันธ์ เมื่อนั้นมันก็จะมีกิเลสหรืออุปกิเลส มันเกิดที่จิตแหละ แล้วมันก็เรียกว่าเป็นอาคันตุกะมา ๆ เยี่ยม ทำให้เศร้าหมองกว่ามันจะออกไป เพราะเราไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีปัญญา มันจึงเข้ามาได้ ครั้นเข้ามาแล้ว ถ้าเรายังไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่มีปัญญา มันก็ไม่ไป มันก็ยังไม่ไป ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะปัญญา เราก็ไล่มันออกไป นี่อุปกิเลสมันออกไป จิตก็กลับประภัสสรไปตามเดิม ก็เลยเป็นประภัสสรหลุบ ๆ ล่อ ๆ อยู่อย่างนี้เรื่อยไปตามธรรมชาติ
ผู้ใดรู้เรื่องนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดรู้ตามเป็นจริงในเรื่องนี้ จิตตภาวนาจักมีแก่ผู้นั้น ถ้าผู้ใดไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ จิตตภาวนาจักไม่มีแก่ผู้นั้น คือผู้นั้นจะไม่เคยคิดที่จะทำจิตตภาวนา และผู้นั้นก็ไม่ชอบที่จะทำจิตตภาวนา แต่ถ้าผู้ใดมันรู้เรื่องนี้ว่า มันเกิดเป็นกิเลสหรืออุปกิเลสขึ้นมาครอบงำจิต ให้เศร้าหมองไปในลักษณะอย่างนี้ และถ้ามันจะออกไปเสีย มันก็จะเป็นจิตผ่องใสตามเดิม เขาก็อยากจะให้เป็นจิตผ่องใส จึงทำจิตตภาวนา ดังนั้นจิตตภาวนาจึงมีได้เฉพาะแก่บุคคลผู้รู้ความจริงข้อนี้
เดี๋ยวนี้เราก็รู้ความจริงข้อนี้ เราก็อยากจะทำจิตตภาวนา เราจึงเจริญสมาธิ เจริญปัญญา ฝึกไว้ให้คล่องแคล่ว ให้ทันแก่เวลา เมื่อจิตมันจะสัมผัสอะไร คืออายตนะนอกในจะสัมผัสกันนี่ เอาสติเอาปัญญามาควบคุมไว้ให้มันเป็นเรื่องของปัญญา มันก็มีวิชชา มีปัญญา มีสติสัมปชัญญะ ควบคุมการสัมผัส ควบคุมเวทนา ควบคุมสัญญา ควบคุมสังขาร ควบคุมวิญญาณ มันก็เป็นไปในฝ่ายที่ไม่ให้เกิดกิเลส มันไม่เกิดทุกข์
ที่ละเอียดไปกว่านั้น ท่านพูดว่ายึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน ถ้าคนมันโง่ คนไม่มีวิชชา ไม่มีปัญญา ไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ไอ้ความรู้สึกนั้นจะถูกอวิชชานั่นแหละ ยึดครองให้เกิดความรู้สึกอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น ยึดครอง ดังนั้นมันจึงยึดครองรูปว่ารูป เอ่อ, ว่าตาของกู รูปของกู หูของกู เสียงของกูนี้ ทีนี้เมื่อมันสำเร็จเป็นรูปขันธ์ขึ้นมา ก็เรียกว่ารูปขันธ์ของกู มันมีความรู้สึกว่ารูปขันธ์ของกูขึ้นมาพร้อมกันเลย เพราะอวิชชามันเข้ามาเป็นเจ้ากี้เจ้าการตั้งแต่เริ่มแรก
เมื่อเกิดเป็นรูปขันธ์ขึ้นมา มันก็รู้สึกว่ารูปขันธ์ของกู เรียกว่ารูปขันธ์นี้ถูกยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานแล้ว ดังนั้นท่านจึงเรียกชื่อมันให้เต็มยศว่ารูปูปาทานขันธ์ รูปูปาทานขันธ์ ขันธ์ที่มีการยึดถืออุปาทานคือรูป หรือว่าจะรูปขันธ์ที่มีอุปาทานก็ได้ พอมันเกิดเป็นเวทนาขึ้นมา ไอ้ความโง่ของอวิชชา จิตมันก็สำคัญว่าเวทนาของกู มันก็เลยเป็นเวทนูปาทานขันธ์ ไม่เรียกว่าเวทนาขันธ์เฉย ๆ ทีนี้ ทีนี้ถ้าว่ามันเป็นสัญญาแล้ว ปรุงเป็นสัญญาแล้ว สัญญาขันธ์นั้นก็ถูกเรียกว่าสัญญูปาทานขันธ์ ปรุงแต่งเป็นสังขารขันธ์แล้ว ก็เรียกว่าสังขารูปาทานขันธ์ เมื่อเป็นวิญญาณ ก็เรียกว่าวิญญาณูปาทานขันธ์
นี้เรียกว่ายึดมั่นด้วยอุปาทาน ถ้ามันยึดมั่นในฐานะเป็นตัวตั้งตัวตี เป็นตัวประธาน ก็จะยึดมั่นว่าตัวกู ถ้ายึดมั่นในฐานะเป็นสมบัติของตัวกู ก็เรียกว่าตัวกู ส่วนมากจะยึดเอาวิญญาณว่าเป็นตัวกู เพราะวิญญาณเป็นผู้คล้ายกับว่าทำหน้าที่ ดู ฟัง ลิ้มอะไรก็ตาม ไอ้วิญญาณขันธ์นี่จะถูกยึดมั่นว่าเป็นตัวกูมากกว่า ส่วนเวทนาจะรู้สึก ถูกรู้สึก ถูกยึดถือว่า เวทนาของกู สัญญาของกู สังขารความคิดของกู ส่วนรูปนี้มันไม่แน่ บางทีถูกยึดว่าตัวกูก็ได้ บางทีจะถูกยึดว่าเป็นรูปของกูก็ได้ แล้วแต่ว่าอวิชชาตัวไหน อวิชชาชนิดไหน มันเข้ามาเป็นเจ้ากี้เจ้าการ
บางทีมันลืมไปไม่นึกถึงจิตใจ เอารูปกายนี้เป็นตัวกู ยึดถือเป็นตัวกู ต่อเมื่อศึกษาละเอียดเข้าไปแล้วเท่านั้นแหละ มันจึงจะรู้ว่า ไอ้รูปกายนี้ยังไม่ใช่ตัวกู เช่นเด็ก ๆ อย่างนี้ เขาจะรู้จะคิดว่า ไอ้ร่างกายนี้คือตัวกู ดังนั้นเขาใช้ร่างกายนี้เป็นตัวกู ไปตีร่างกายอันอื่น คล้าย ๆ ไปตีคนอื่น แล้วก็หายโกรธ ทีนี้เราดูของเราเองว่า ความรู้สึกนี้มันเกิดขึ้นมาเพราะอายตนะกระทบกัน อายตนะนอกในซึ่งเป็นรูปนอกใน กระทบกันเกิดวิญญาณ ไอ้วิญญาณนี้เป็นตัวรู้สึกตามขั้นตอน มันง่ายที่สุดที่จะยึดถือวิญญาณว่าตัวกู พอเกิดเวทนาปรากฏขึ้นมาแก่จิต จิตก็จะยึดถือเวทนานั้นว่าของกู
เกิด เอ่อ, พร้อมกันมาเลย จิตเกิดพร้อมกันมากับ เอ่อ, เวทนากับสัญญา ดังนั้นมันจึงยึดถือว่าเป็นตัวกู วิญญาณ เอ่อ, ยึดถือเวทนาเป็นตัวกู ยึดถือสัญญาเป็นตัวกู ยึดถือเป็นของกู ยึดถือสังขารเป็นตัวกูได้ง่าย มันออกมาพร้อมกัน เป็นเวทนาของกู สัญญาของกู สังขารของกู หรือจะยึดถือวิญญาณว่าเป็นตัวกู มันก็ออกมาพร้อมกันเลย ดังนั้นเราจะต้องเป็นผู้ฉลาดในกระบวนแห่งจิตตามสมควร ฉลาดในจิต ฉลาดในกระบวนแห่งจิต ฉลาดในเรื่องราวของจิตตามสมควร การปฏิบัติธรรมะ สมาธิภาวนานี้ จะเป็นไปได้โดยสะดวก
ดังนั้นขอให้รู้กระบวนแห่งรูปและนามนี้ให้เข้าใจถูกต้อง โดยเฉพาะคำว่ารูปและนาม ซึ่งรูปจะแจกออกไปเป็นอะไรก็ตาม เป็นไอ้รูปภายนอก เป็นรูปภายใน เป็นตาหูจมูกลิ้นกาย เป็นรูปเวทนา เอ่อ, เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะ หรือว่าเป็นมหาภูตรูป เป็นอุปาทายรูป เอา ๆ ๆ ที่ตัวก้อน ๆ ๆ แข็ง ๆ ไอ้ตัวนั้นของมัน ก็เรียกมหาภูตรูป เอาภาพเอาแฝง เอ่อ, ภาพที่แฝงอยู่ สิ่งที่แฝงอยู่กับอุปาทาน เอ้า, แฝงอยู่กับมหาภูตรูป ก็เรียกว่าอุปาทายรูป เพราะอุปาทายรูปเข้าไปแฝงอยู่ในมหาภูตรูปนั้นน่ะ มหาภูตรูปนั้นมันจึงละเอียดประณีต ทำหน้าที่ให้เป็นตาเป็นหูจมูกลิ้นกายใจขึ้นมาได้
ตามีอุปาทายรูป เอ่อ, ตาเป็น ๆ เนื้อ เป็นเนื้อตาน่ะ เป็นมหาภูตรูป มีประสาทคืออุปาทายรูปแฝงอยู่ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นตาที่สามารถจะเห็นรูปได้ หูก็เหมือนกัน จมูกลิ้นกายก็เหมือนกัน มันสามารถที่จะรู้ต่อรูปได้ เพราะมันเป็นรูปที่สมบูรณ์ มันมีทั้งมหาภูตรูปมีทั้งอุปาทายรูป แล้วก็เรารู้ว่า ไอ้รูปนี้เมื่อทำหน้าที่ก็เรียกว่ารูปขันธ์ เมื่อไม่ทำหน้าที่ไม่เรียก ก็จะเรียกว่ารูปเฉย ๆ แล้วอาจจะเรียกลงไปเป็นธาตุ ๔ เอ่อ, มหาภูตรูปก็ได้ ไม่เรียกว่ารูปขันธ์ แต่รูปขันธ์นั้น ก็คือมหาภูตรูปและอุปาทายรูปรวมกันทำหน้าที่ เมื่อทำหน้าที่เรียกว่ารูปขันธ์ ไม่ทำหน้าที่ก็เรียกว่ารูปเฉย ๆ มันจึงมีการเกิดและการดับไป ตามอาการที่มันทำหน้าที่หรือไม่ทำหน้าที่ ดังนั้นแม้แต่รูปส่วนเดียว เช่นตานี้ ก็เรียกว่าตาเกิดก็ได้ ตาดับก็ได้ หูเกิดก็ได้ หูดับก็ได้ ทั้ง เอ่อ, ทั้ง ๕ นั่นแหละ
นี้เวทนาก็รู้ว่าเวทนานี้มันก็ เราจะพูดถึงวิญญาณก่อน เมื่อ ๆ อายตนะภายในอายตนะภายนอกถึงกันเข้าเกิดวิญญาณ ดังนั้นวิญญาณเกิดเมื่อทำหน้าที่ วิญญาณดับเมื่อไม่ทำหน้าที่ ดังนั้นวิญญาณก็จึงเป็นสิ่งที่เกิดดับได้ แล้วมันมีความรู้สึกในลักษณะที่มันจะรู้สึกว่า เป็นผู้กระทำ เป็นตัวผู้กระทำ จึงคิดว่าตัวกูหรือตัวตนนี้มีการเกิดดับ เพราะฉะนั้นมันก็เกิดดับ วิญญาณเกิด วิญญาณดับ ถ้าอวิชชาปรุงแต่งมาเสร็จเป็นยึดถือว่าวิญญาณตัวกู ตัวกูเป็นวิญญาณ วิญญาณของกูขึ้นมาอย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่าวิญญาณูปาทานขันธ์แล้ว
ดังนั้นเวทนา เกิดผัสสะแล้วเกิดเวทนาตามธรรมชาติ ไม่จะต้องมีใครมาช่วย มันเกิดได้ตามธรรมชาติ เป็นความรู้สึกชนิดที่เรียกเวทนา เวทนาเกิด ถ้าอวิชชาครอบงำมาเสร็จ พร้อมกันกับความรู้สึกที่เป็นเวทนา เป็นเจตสิก ที่เรียกว่าเวทนานั้นน่ะ จิตรวมอยู่ในนั้นด้วย เกิดมาพร้อมกัน ปรุงแต่งจิตเอามาเป็นรูปของความรู้สึกแห่งเวทนา ดังนั้นความรู้สึกว่าเวทนาของกู มันก็เกิดได้ เกิดเป็นเวทนาของกูขึ้นมา พร้อมกับการเกิดแห่งเวทนานั้น เวทนานั้นก็เป็นเวทนูปาทานขันธ์ มันก็มีความทุกข์ สัญญาก็เหมือนกันแหละ เวทนาปรุงแต่งสัญญา มันเกิดสัญญา มีอวิชชาปนมาเสร็จ จิตรู้สึกว่าสัญญาของกูหรือของตน มันก็เป็นสัญญูปาทานขันธ์ สังขาร วิญญาณ ก็เหมือนกัน โดยลักษณะเดียวกัน ถ้ามันไม่มีอวิชชาเข้าไปปนอยู่ด้วย มันจะไม่รู้สึกเป็นตัวกู เป็นของกู มันจึงไม่หนัก มันจึงไม่เป็นทุกข์
ถ้าเป็นขันธ์ล้วน ๆ เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เฉย ๆ ไม่มีอุปาทานขันธ์เข้าไปยึดครองด้วยอำนาจอวิชชาแล้ว มันก็เป็นอีกอันหนึ่งนะ มันเป็นขันธ์ล้วน ๆ แต่ถ้ามีอวิชชารวมอยู่ด้วย ยึดถืออยู่ด้วย ก็เป็นอุปาทานขันธ์ ที่ล้วน ๆ นั้นเรียกว่าขันธ์ ขันธ์ ๕ ที่มีอวิชชาปรุงเป็นยึดถืออยู่ด้วยนั้น เรียกว่าอุปาทานขันธ์ อุปาทานขันธ์ ๕ ถ้าถือตรงตามคำพูดนี้แล้ว มันคนละอย่าง อุ เอ่อ, ขันธ์ล้วน ๆ นั้นมันไม่ ๆ มี ไม่มีความยึดถือ อุปาทานขันธ์มีความยึดถือ
แต่สังเกตดูแล้ว ตามพระบาลีนั้น ท่านใช้ขันธ์ คำว่าขันธ์เฉย ๆ นี้ หมายถึงอุปาทานขันธ์มาเลย เพราะเหตุไร ก็เรียกคนเรามันเป็นอย่างนั้นแหละ มันเกิดมาพร้อมกันกับอุปาทานความยึดถือเสร็จ ดังนั้นในบางแห่งบางที่ พระบาลีจะเรียกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เป็นทุกข์ แต่ถ้าเมื่อพูดให้ชัดให้เต็ม ก็ต้องเรียกว่า รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์ เป็นทุกข์ ธรรมบทที่เราสวดว่า สงฺขิตฺเตน ปฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา โดยสรุปใจความแล้ว เบญจขันธ์ที่มีอุปาทานเป็นตัวทุกข์ ทีนี้ชาวบ้านหรือคนพูด เขาขี้เกียจพูดให้มันยึดยาว พูดว่ารูปก็หมายถึงรูปูปาทานขันธ์ พูดว่าเวทนาหมายถึงเวทนูปาทานขันธ์ อย่างนี้ก็มี นี้จะทำให้สับสนกันจนพูดกันไม่รู้เรี่อง
เดี๋ยวนี้เรามันเป็นผู้เรียน ผู้แยกแยะ ผู้ศึกษา เราก็รู้ได้ว่า รูปเฉย ๆ ไม่ทำหน้าที่เรียกว่ารูป เมื่อรูปนั้นทำหน้าที่ก็เรียกว่ารูปขันธ์ เมื่อรูปขันธ์นั้นมีอวิชชาอุปาทานเข้าไปยึดครองอยู่เรียกว่ารูปูปาทานขันธ์ ในกรณีแห่งเวทนา เวทนาขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญา สัญญาขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขาร สังขารขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์ ก็เหมือนกันแหละ มันเรียกได้ ๓ ชื่อ รูปตามธรรมชาติเมื่อทำหน้าที่เรียกว่ารูปขันธ์ เมื่อทำหน้าที่โดยอวิชชาอุปาทานยึดครองอยู่ก็เรียกว่ารูปูปาทานขันธ์
ขันธ์ที่มีอุปาทานยึดครองนั้น มันก็คือจิตยึดถือ ยึดถือโดยเป็นตัวตนหรือตัวกู ยึดถือโดยเป็นของตนหรือของกู ยึดถือเป็นอัตตา ยึดถือว่าอัตตานี้ ก็คือยึดถือว่าตัวตนหรือว่าของกู ยึดถือเป็นอัตตนียา นี่คือยึดถือเป็นของตนหรือของกู เราควรจะเข้าใจได้ว่า ถ้าไม่ถือ มันก็ไม่หนัก ถ้าเอามาถือไว้ มันก็หนักมือนั่นน่ะ เพราะจิตเอามาถือไว้ จิตก็หนัก ๆ ก็คือจิตเป็นทุกข์ ดังนั้นท่านจึงจัดว่า ท่านจึงตรัสว่า โดย ๆ สรุปแล้ว เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานทั้ง ๕ นั้นเป็นตัวทุกข์ สงฺขิตฺเตน ปฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา โดยสรุป ขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน ๕ ขันธ์เป็นตัวทุกข์
นี่เป็นคำพูดที่รัดกุมแบบ ก็ ๆ ต้องเรียกว่าแบบ ๆ เทคนิค แบบบัญญัติเฉพาะ ๆ ไม่ให้ปนกันได้ อย่าให้ปนกันได้ แต่ถ้าชาวบ้านเขาพูดตามสบาย ปนกันได้ ปนกันยุ่งไปเลย เช่นรูปนี่มา ๆ ๆ อยู่ในความหมายของรูปขันธ์ก็ได้ หรือรูปขันธ์เฉย ๆ ก็มา ๆ ๆ อยู่ในความหมายของคำว่ารูปูปาทานขันธ์ก็ได้ นั่นเขาพูดตามสบาย ไม่ระวัง ถึงแม้คำกล่าวในบาลีที่เป็นรูปพุทธภาษิต ก็มีเหมือนกัน ปนกันเหมือนกัน เช่นอันนี้ท่านว่า สงฺขิตฺเตน ปฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา โดยสรุปแล้ว ขันธ์ประกอบด้วยอุปาทานทั้ง ๕ เป็นทุกข์
แต่ในที่บางแห่งท่านจะตรัสว่า เอ่อ, อะไรล่ะ ภารา หเว ปฺจกฺขนฺธา ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นภาระ เป็นของหนัก แล้วก็เป็นทุกข์เพราะหนัก นี้เรียก ๆ ว่าวิ เอ่อ, พูดอย่างง่าย พูดอย่างรวบรัด หรือพูดอย่างบทกลอน คำกลอนนั้นก็มี ที่พูดอย่างวิเศษ หรือพูดอย่างบทกลอน หรือพูดอย่างนี้ ต้องระวังให้ดี คือมันไม่เป็นหลักที่ตายตัว เหมือนกับที่เราพูดให้มันเป็นหลักตายตัว เช่นพูดว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วก็พูดว่า รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ แล้วก็พูดว่า รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์
นี้มันได้ตั้ง ๑๕ ชื่อ แล้วไม่ใช่อย่างเดียวกัน ๑๕ ชื่อนี้ไม่ใช่อย่างเดียวกัน รูปล้วน ๆ กับรูปขันธ์กับรูปูปาทานขันธ์นี่ ๓ อันนี้เกี่ยวกับรูปด้วยกัน แต่ไม่ใช่อย่างเดียวกัน รูปที่ยังอยู่ตามธรรมชาติเรียกว่ารูป รูปที่ทำหน้าที่เรียกว่ารูปขันธ์ รูปขันธ์ที่มีอุปาทานยึดครองเรียกว่ารูปูปาทานขันธ์ ขันธ์ ๕ จึงแจกได้เป็น ๑๕ ชื่อ แล้วที่ว่าเป็นอุปกิเลสจรมาครอบงำจิตนั่นน่ะ คือจิตมันไปยึดถือเอาว่า เป็นของเรา เป็นตัวเรา เพราะฉะนั้นไอ้ที่จะเป็นอุปกิเลสก็คือพวกอุปาทานขันธ์นั่นเอง
เมื่อมันปรุงขึ้นมาถึงขนาดเป็นอุปาทานขันธ์แล้ว เป็นรูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารก็ดี วิญญาณก็ดี เป็นกิเลสแหละ เป็นกิเลสแล้ว เป็นกิเลสต่อเมื่อมันอยู่ในรูปของอุปาทานขันธ์ แล้วมันก็เป็นทุกข์เพราะมันถือ เมื่อถือมันก็หนัก เมื่อหนักมันก็เป็นทุกข์ จิตมันยึดถือด้วยอุปาทาน มันก็หนักและเป็นทุกข์ ที่ว่าเบญจขันธ์เป็นของหนัก ยึดถือเป็นบุคคล มันก็ บุคคลก็หนักและเป็นทุกข์ นี้เรียกว่า เบญจขันธ์มีธรรมชาติของมันเป็นอย่างนี้ มีอยู่ ๕
เมื่อดำเนินไปถึงไอ้ขันธ์ที่เรียกว่าสังขารขันธ์ นั่นแหละ ตรงนั้นแหละ จะเป็นกิเลส จะเป็นอุปกิเลส และจะเป็นทุกข์ จะเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต เพราะปรุงขึ้นเป็นความคิดด้วยอวิชชา หรือเรียกว่าเศร้าหมอง เป็นอุปกิเลส จิตก็เป็นเศร้าหมอง ไม่เป็นประภัสสร ถ้ายังไม่เกิดกิเลส ก็ยังประภัสสรอยู่ ตามหลักที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ จิตตามธรรมชาติเดิม เกลี้ยง เป็นประภัสสร แต่แล้วก็เศร้าหมอง เพราะอุปกิเลสเป็นอาคันตุกะมา
อาคันตุกะมา คือการปรุง ๆ ๆ ๆ ๆ จึงเกิดคิด เอ่อ, รู้สึกว่าตัวกูของกูเข้ามายึดถือ นั่นแหละ มันมาอย่างนั้นล่ะ มันมาในลักษณะอย่างนั้น เรียกว่าอาคันตุกะ แปลว่าผู้ที่ไม่ได้อยู่ประจำ มาเป็นคราว ๆ เรียกว่าอาคันตุกะ เดี๋ยวนี้สังขารขันธ์ที่มีความหมายเป็นตัวกู เป็นของกู มันไปมา มาเป็นคราว ๆ มาตามโอกาส ดังนั้นเราจะมีสติสัมปชัญญะ วิปัสสนา ปัญญาอะไรก็ตาม เป็นเครื่องปัองกันไม่ให้มา หรือว่าถ้ามาแล้ว ก็ไล่กลับไปโดยง่าย นี้กล่าวในรูปแบบแห่งขันธ์ทั้ง ๕ ในขันธ์ทั้ง ๕ นั้น มีอยู่ตัวหนึ่งนะ ที่เป็นกิเลส ที่เป็นอาคันตุกะ มาทำจิตประภัสสรให้เศร้าหมอง
เอ้า, ทีนี้ก็จะพูดรูปแบบของปฏิจจสมุปบาท ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เอง มันมีสูตรว่าอย่างนี้ว่า อาศัยตาด้วย รูปด้วย เกิดจักษุวิญญาณ ตาด้วย รูปข้างนอกด้วย อาศัยกันเกิดจักษุวิญญาณ นี้ยังไม่ ๆ กิเลส ๓ ประการนี้สังคติกัน คือมาถึงร่วมกันในการทำหน้าที่ นี้เรียกว่าผัสสะ ตาทำหน้าที่กับรูปจนเกิดจักษุวิญญาณ อย่างนี้เรียกว่าขันธ์ได้แล้ว เรียกว่า รูปขันธ์ วิญญาณขันธ์ ได้แล้ว ๓ ประการนี้ทำหน้าที่ร่วมกันเรียกว่าผัสสะ ซึ่งจะทำให้เกิดเวทนาขันธ์
ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา นี่เกิดเวทนาขันธ์ เวทนาเป็นปัจจัยก็เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยเกิดอุปาทานนั่นน่ะ หมาย นี้หมายความว่า ที่เกิดตัณหา เกิดอุปาทานนั้นน่ะ มันโง่มาแล้วตั้งเมื่อผัสสะ เมื่อตากับรูปกระทบกันเกิดจักษุวิญญาณ ๓ ประการทำงานร่วมกันเรียกว่าผัสสะ ในตัวผัสสะ ในขณะแห่งผัสสะนั้นน่ะ มัน ๆ เต็มอยู่ด้วยอวิชชา คือสภาพที่ปราศจากความรู้แจ้งตามที่เป็นจริง คือมันไม่รู้ มันไม่มีความรู้ มันเป็นอวิชชา ในขณะแห่งผัสสะนั้น ไม่มีวิชชา ไม่มีปัญญา ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีสติ ก็เลยเป็นผัสสะมืด ผัสสะโง่ ผัสสะหลับ ผัสสะดำ หมายความว่ามีอวิชชาในผัสสะ นี่คือตามธรรมดาจะเป็นอย่างนี้
ทีนี้ผัสสะโง่ก็ให้เกิดเวทนาโง่ สำหรับจะยึดถือ ว่าสุข ว่าทุกข์ แล้วก็จะรู้สึก ว่าสุข ว่าทุกข์ ว่าไม่สุขไม่ทุกข์ ถ้ามันไม่โง่ มันจะรู้ว่า โอ้, สักว่าเวทนาเท่านั้นหนอ สักว่าเวทนาเท่านั้นหนอ มันจะไม่มีความหมายแห่งสุขทุกข์ เป็นที่พอใจหรือเป็นที่ไม่พอใจขึ้นมา มันเป็นเวทนาโง่ มีความหมายน่าพอใจไม่น่าพอใจขึ้นมาแล้ว มันก็เกิดตัณหา คือความอยากที่โง่อีกทีหนึ่ง มันอยากไปตามอำนาจของความโง่ ถ้ามันเป็นสุขเวทนา มันก็อยากได้ อยากเอาไว้ เป็นทุกขเวทนา มันก็อยากไม่ได้ อยากไม่เอา อยากฆ่า อยากทำลายนี้ นี่เรียกว่าตัณหา อยากไปตามอำนาจของความโง่
ถ้าอยากด้วยวิชชา อยากด้วยปัญญา เขาไม่เรียกว่าตัณหานะ ระวังให้ดีนะ อย่าไปปนกันยุ่งไปหมดดูจะพูดกันผิด ๆ อยู่นะ ถ้ามันอยากเฉย ๆ ไม่เจือด้วยตัณหา ไม่เจือด้วยอวิชชา อ้ะ, ไม่เจือด้วยอวิชชา มันก็ไม่ใช่ตัณหาล่ะ จะเรียกว่าสังกัปปาดีกว่า สังกัปปา กุศลสังกัปปะ อกุศลสังกัปปะ สังกัปปานั้นน่ะ แต่ถ้าเรียกว่าตัณหาแล้ว เลวอย่างเดียว ผิดอย่างเดียว บาปอย่างเดียว อกุศลอย่างเดียว ถ้าเรียกว่าสังกัปปะ สังกัปปา แล้วมัน ๆ ยังไม่แน่ มันเป็นกุศลก็ได้ มันเป็นอกุศลก็ได้
แต่ธรรมดาท่านจะใช้คำว่าสังกัปปานี้ ฝ่ายกุศลเสมอ ไม่ต้องเติมคำว่ากุศลเข้าข้างหน้า พูดว่าสังกัปปาเฉย ๆ ก็เล็งไปทางกุศลเสมอ อย่าง ๆ ที่เราให้ ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ สาครํ เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา จนฺโท ปณฺณรโส ยถา สังกัปปา จงสำเร็จเหมือนแก้วมณีโชติ เหมือนกับพระจันทร์วันเพ็ญ สังกัปปานี้ไม่ต้องมีคำว่ากุศลเติมหน้า เขาหมายฝ่ายกุศลเสมอ ดังนั้นคำว่าตัณหา ต้องมาจากอวิชชาเสมอ ต้องเลวเสมอ เพราะมันมาจากผัสสะโง่ เวทนาโง่ เป็นความอยากโง่ ก็เรียกว่าตัณหา
ความอยากชนิดนี้เกิดแล้ว มันก็เกิดความอยากว่า กูอยาก มีตัวกูผู้อยาก ที่เรียกว่าอุปาทาน ตรงนี้มันประหลาดหน่อยที่ว่า ไอ้ความรู้สึกว่าอยากมันเกิดขึ้นในใจก่อน แล้วความรู้สึกว่าตัวกูผู้อยาก จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีความอยากเกิดแล้ว นี้เรียกความอยากเกิดก่อนผู้อยาก เพราะมันไม่ใช่ ๆ เพราะมันไม่ใช่ของจริง มันเป็นการปรุงแต่งของนามธรรมตามอำนาจของกิเลส เวทนาปรุงให้เกิดความอยากขึ้นมาก่อน แล้วความอยาก คือตัณหานั้น จะปรุงให้เกิดความรู้สึกว่า กูผู้อยาก นั่นคืออุปาทาน
ท่านจึงว่า ตัณหาเป็นปัจจัยก็มีอุปาทาน ดังนั้นในตัณหานั่นแหละเป็นอุปกิเลสแล้ว เป็นตัวเศร้าหมองแห่งจิตแล้ว ที่ทำจิตประภัสสรให้สูญเสียไปแล้ว ถ้ามันดำเนินมาถึงขั้นตัณหาแล้ว มันก็เกิดกิเลสที่เป็นอาคันตุกะแล้ว จิตสูญเสียความเป็นประภัสสรแล้ว ทีนี้พอเกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ ถึงทุกข์เลย เป็นทุกข์เลย ไม่สูญเสียความเป็นประภัสสรอย่างเดียวแล้ว เป็นทุกข์เป็นไฟไปเลย นี่อุปาทาน ความรู้สึกว่าตัวกูของกูก็เกิด ก็หนัก ก็เป็นทุกข์ เริ่มเป็นทุกข์
เกิดตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์นี่ มันให้เกิดทุกข์ผ่านอุปาทาน ผ่านภพ ผ่านชาติ จึงถึงโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส อยู่ตอนปลายโน่น มันเกิดตัณหาแล้วมันเกิดอุปาทาน มีตัวตนสำหรับจะรองรับเอาสิ่งทั้งหมดนั้นมาเป็นของตน แล้วก็ได้หนัก แล้วก็ได้เป็นทุกข์ เพราะมันมีอุปาทานว่าตัวตน มันจึงรับเอาความเกิดเป็นของตน ความแก่เป็นของตน ความตายเป็นของตน โสกะเป็นของตน ปริเทวะเป็นของตน ทุกข์เป็นของตน โทมนัสเป็นของตน อุปายาสเป็นของตน อะไร ๆ ก็เป็นของตน มันก็ได้เป็นทุกข์แหละ
ถ้าอย่าเกิดรู้สึกตัวตนคืออุปาทาน อย่ามีตัวตนคืออุปาทาน เอ่อ, ไอ้ชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ อะไร มันก็ ๆ เจ๊าไปแหละ มันไม่ ๆ มีใครรับเอามาเป็นของตน มันก็ไม่ ๆ เป็นทุกข์แก่จิต เดี๋ยวนี้จิตมันเป็นตัวตน เกิดความรู้สึกหลงเข้าใจผิดเป็นตัวตน แล้วมันก็รับเอาไอ้ทุกอย่างที่มาเกี่ยวข้องเป็นของตน ดังนั้นชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ก็เป็นทุกข์ของตน ความทุกข์ก็กลายเป็นของตน ถ้าเราอย่ามีอุปาทานว่าของตน ก็ไม่ได้รับเอาความ ก็ไม่ได้ยึดถือเอาเหล่านั้นมาเป็นของตน มันก็ไม่ทุกข์แหละ
พระอรหันต์ท่านไม่มีอุปาทาน ไม่เกิดความรู้สึกว่าอุปาทาน เพราะไม่มีตัณหา เมื่อไม่มีตัณหาก็ไม่มีอุปาทาน ไม่มีความรู้สึกเป็นตัวตน ดังนั้น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย จึงไม่เป็นความทุกข์แก่พระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ไม่มีอุปาทาน ไม่กวาดเอาไอ้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย โสกะ ปริเทวะ มาเป็นของตน ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นมันก็เกิดแก่พระอรหันต์ด้วยเหมือนกัน
ถ้ามาเกิดแก่จิตคนบุถุชน มันก็เอาเป็นของตน ก็ได้เป็นทุกข์ ถ้าเกิดแก่พระอรหันต์ จิตของท่านไม่มีอุปาทาน ไม่รับเอามาเป็นของตน ไอ้ทุกข์ทั้งปวงมันก็กระจายไปหมด ไม่มา ๆ อยู่ที่จิต จึงเรียกว่าท่านไม่มีความทุกข์ ท่านดับทุกข์เสียได้ อยู่ที่ว่ามันดับตัวตนเสียได้ ไม่เกิดตัวตน ไม่เกิดตัวตนก็ไม่เอาอะไรมาเป็นของตน เพราะฉะนั้นมันจึงไม่เป็นทุกข์ นี่เรี่องของปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างนี้
ทบทวนอีกทีหนึ่งว่า ตาถึงกับรูปเกิดวิญญาณ ๓ ประการเรียกว่าผัสสะ ผัสสะให้เกิดเวทนา ทีนี้ผัสสะนั้นมันครอบงำอยู่ด้วยอวิชชา ก็เป็นเวทนามืดเวทนาโง่ ให้เกิดตัณหาคือความอยากอย่างมืดอย่างโง่ แล้วเกิดอุปาทานยึดถือไปตามอำนาจของความอยาก นี่ตรงนี้คือกิเลส ตัณหาเป็นกิเลส เป็นอุปกิเลส แล้วแต่จะเล็งกันถึงขนาดไหน เกิดขึ้นในจิตแล้ว จิตสูญเสียความเป็นประภัสสร เศร้าหมองแล้ว
ทีนี้ตัณหาให้เกิดอุปาทาน มันก็เกิดความยึดถือเข้ามาอีก ก็หนักอยู่บนจิตที่สูญเสียความเป็นประภัสสรไปแล้ว ยึดถือแล้วก็หนัก แล้วก็เป็นทุกข์เป็นทรมานนี่ นี้เรียกว่าอาคันตุกะเข้ามาอย่างนี้ กิเลสหรืออุปกิเลสที่เป็นอาคันตุกะ มันเข้ามาสู่จิตอย่างนี้ นี่ถ้าเราจะดูกันในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท เราก็จะพบการมาเยี่ยมของแขกอาคันตุกะในลักษณะอย่างนี้ คือในขณะที่เวทนาปรุงตัณหา ปรุงอุปาทาน ตัณหาปรุงอุปาทานนั่นแหละ อาคันตุกะมาเยี่ยมจิต สูญเสียประภัสสรและเป็นทุกข์ด้วย
ถ้าพูดตามรูปแบบของขันธ์ ๕ มันก็มาเมื่อเป็นสังขารขันธ์ พอ ๆ ปรุงแต่งกันไปถึงสังขารขันธ์ นั่นมันก็อุปกิเลสเป็นอาคันตุกะมาเยี่ยม เป็นสังขารขันธ์ เอ่อ, คิดนึกยึด เอ่อ, โง่เขลายึดมั่นถือมั่น แล้วแต่ว่าเราจะดูกันในรูปแบบของขันธ์ ๕ ในเรื่องของขันธ์ ๕ หรือว่าจะดูกันในรูปแบบของเรื่องปฏิจจสมุทปบาท แต่แล้วมันก็เรื่องเดียวกันตรงที่ว่า สังขารขันธ์ก็คือตัณหาอุปาทานนั่นเอง ตัณหาอุปาทานในปฏิจจสมุปบาท ก็คือสังขารขันธ์ในขันธ์ ๕ นั่นเอง
มันเรื่องเดียวกันแท้ แต่เรามองคนละมุม ก็เลยเกิดชื่อเรียกกันคนละ ๆ อย่างคนละอย่าง แต่ที่จริงก็เป็นกระแสปรุงแต่งแห่งจิตอันเดียวกัน มองดูอย่างนี้ตั้งชื่ออย่างนี้ มองดูอย่างนี้ตั้งชื่ออย่างนี้ มองดูในรูปแบบของขันธ์ ๕ มันก็ได้ชื่ออย่างนั้นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้ามองดูในรูปแบบของปฏิจจสมุปบาทก็ได้ชื่อว่า อายตนะภายใน ภายนอก วิญญาณ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติโน่น ได้ยินดังนั้น แต่แล้วเรื่องเดียวกันแท้ ในกระแสนั้น เราบัญญัติเข้าไปที่ตรงไหนว่าอะไร
นี่ขอให้เข้าใจเรื่องตอนหนึ่งของเรื่องทั้งหมด คือเรื่องที่ว่า อุปกิเลสเป็นอาคันตุกะเข้ามาสู่จิตประภัสสรนี้อย่างไร จนจิตสูญเสียความเป็นประภัสสร แล้วเกิดอุปาทานยึดมั่นถือมั่น แล้วทนทุกข์ทรมานอย่างไร ที่เรียกว่าจิตว่างนั้น คือว่างจากกิเลส ว่างจากอุปาทาน นั้นเป็นจิตว่าง ก็คือจิตประภัสสร จิตที่ยังเป็นประภัสสรอยู่นั้นมันเป็นจิตว่าง พอ ๆ อุปกิเลสเข้ามา ไม่ ๆ ประภัสสร มันก็ไม่ว่าง แต่ถ้าอุปกิเลสออกไป มันก็กลับประภัสสรหรือว่างอีก มันก็คือเรื่อง ๆ เดียวกันแหละ ว่างหรือประภัสสร
ถ้าว่างจากกิเลสก็ประภัสสร ไม่ว่างจากกิเลสก็ไม่ประภัสสร ดังนั้นถ้าเราปฏิบัติจนกิเลสไม่เกิดแก่จิต จิตนั้นก็ประภัสสรตลอดกาลหรือจิตนั้นมันก็ว่างตลอดกาล คือจิตของพระอรหันต์ ว่างตลอดกาล ไม่มีอะไรเข้ามาปรุงแต่งให้เกิดอุปาทานยึดมั่นถือมั่น จิตว่างคืออย่างนี้ คือจิตที่ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นปรุง จิตก็รับอารมณ์ได้ ทำอะไรได้ แต่ไม่เกิดกิเลสปรุง เพราะว่ามันมีสติสัมปชัญญะ มีปัญญาเพียงพอ
มันไม่ปรุงเป็นอุปกิเลส ก็เรียกว่ามันว่างจากกิเลส เวลาไม่ว่างจากกิเลส มันก็วุ่น มันก็ร้อน มันปรุงนี่ มันปรุง มันก็เป็นทุกข์ทรมานเหมือนกับตกนรก พอจิตมันว่างคือไม่ปรุง อุปสมะจิต จิตสงบ มันไม่ปรุง มันก็ไม่มีทุกข์ ดังนั้นขอให้เราอยู่ด้วยจิตที่ไม่ปรุง ที่ไม่มีอาคันตุกะมา ยังคงเป็นจิตประภัสสรหรือเป็นจิตว่างอยู่ตามเดิมนั้นน่ะ มันก็สบาย
นี่ช่วยชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจเรื่องนี้บ้าง ให้ทำอย่างนี้บ้าง เขาก็จะไม่ปวดหัว เขาก็จะนอนหลับสนิท เขาก็จะไม่เป็นโรคประสาท เขาจะไม่เป็นบ้ากันมากขึ้น ๆ เหมือนเดี๋ยวนี้ นี่ยาที่มันจะป้องกันไม่ให้เกิดโรคประสาท โรคบ้า คือรู้จักทำจิตให้ถูกต้อง ให้ปรกติ ดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง เป็นจิตประภัสสรก็ได้ เป็นจิตว่างก็ได้ เป็นจิตไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ แล้วแต่จะเรียก เขาก็จะไม่เป็นโรคประสาท
เดี๋ยวนี้ทั้งโลกเป็นโรคประสาทเพิ่มขึ้น ประเทศฝรั่งที่ว่าเจริญ ๆ คือกลับร้ายกว่าประเทศไทยเสียอีก เขากำลังเป็นโรคประสาทเพิ่มมากขึ้น เท่ากับความเจริญของเขา เพราะว่าความเจริญของเขา มันเป็นเรื่องยั่วกิเลสทั้งนั้น ความเจริญที่เขาคิดค้นประดิษฐ์ขึ้นมาก็ มันเป็นเรื่องยั่วกิเลสทั้งนั้น สู้ไม่ไหว ก็เป็นโรคประสาทกันมากขึ้น ๆ
พวกฝรั่งเขาหาทางออก ไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เที่ยวรอบโลก เที่ยวอะไร เพื่อจะแก้ กันโรคประสาทหรือแก้โรคประสาท เขาไม่มีธรรมะใช้ แต่แล้วมันก็ยังแก้ไม่ค่อยจะได้ ไอ้เรามีธรรมะใช้ ไม่ต้องไปเที่ยวรอบโลกหรอก อยู่ที่นี่ เราก็ทำจิตให้โปร่ง ให้สบาย ให้ว่าง ให้สงบได้ เราลงทุนน้อยกว่าแหละ เราจะป้องกันโรคประสาทได้ด้วยการลงทุนที่น้อยกว่า ไม่ต้องใช้เงินเป็นหมื่นเป็นแสนไปเที่ยวรอบโลก แก้โรคประสาท กันโรคประสาท
ทีนี้ญาติโยมของเรา มันไม่มีเงินจะไปเที่ยวรอบโลกนะ ก็มีอะไรสักอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ไม่ต้องเป็นโรคประสาท มีสติ ปัญญา สัมปชัญญะ และวิปัสสนา ในขณะที่สัมผัสทางอายตนะ เมื่อมีอะไรมากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็มีสติพอ อย่าปรุงไปในทางเป็นนรก ร้อนเหมือนกับไฟเผา ให้มันคงปรกติอยู่ตามเดิม คือเย็นเป็นนิพพาน เป็นความหมายของนิพพานอยู่ตามเดิม
ถ้าพวกเราตอบแทนค่าข้าวสุกของญาติโยมได้โดยลักษณะอย่างนี้ จะชื่อว่าตอบแทนได้คุ้มค่า ถ้าไม่ตอบแทนถึงขนาดนี้ น่ากลัวว่าจะไม่คุ้มค่าข้าวสุกนะ ระวังให้ดี ๆ ถ้าเพียงแต่ป้องกันโยมไม่ให้เป็นโรคประสาท ก็ไม่ได้นะ ดูจะไปคุ้มค่าข้าวสุก ดังนั้นรีบขวนขวายศึกษาให้เข้าใจ ช่วยป้องกันให้ได้ ก็จะเป็นนาบุญ เป็นบุญเขต อ่า, ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส ดังนั้นเราป้องกันเขาไว้ไม่ให้เป็นโรคประสาทได้
นี่วันนี้ผมพูดเฉพาะตอนที่ว่า อาคันตุกะมาเยี่ยมเราอย่างไร อุปกิเลสเป็นอาคันตุกะมาเยี่ยมจิตประภัสสรอย่างไร เราก็มี เอ่อ, คืนวันก่อนก็พูดเรื่อง มีวิปัสสนาเพื่อจะควบคุมจิตอย่างไร ดำเนินชีวิตอยู่ในอริยมรรค อ่า, อริยอัฏฐังคิกมรรค มรรคมีองค์ ๘ เป็นศีลสมาธิปัญญาอยู่ในตัวนั้นน่ะ จิตจะคงประภัสสรอยู่ได้ตลอดไป
วันนี้ก็พูดถึงเรื่องว่า ไอ้ ๆ กิเลสจะเป็นอาคันตุกะมาเยี่ยมอย่างไร โดยที่เราไม่ดำรงตนอยู่ในอัฏฐังคิกมรรค ถ้าเราดำรงตนอยู่ในอัฏฐังคิกมรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีสัมมาทิฏฐิ มันจะไม่เกิดขันธ์ ๕ ชนิดอุปาทานขันธ์ มันจะไม่เกิดปฏิจจสมุปบาทชนิดที่เป็นความทุกข์ มันก็สบาย
นี่ขอให้เอาไปใช้โดยวิธีการที่เราจะทำได้น่ะ เราจะอยู่ในรูปแบบของอัฏฐังคิกมรรคก็ได้ รูปแบบของศีลสมาธิปัญญาก็ได้ รูปแบบของวิปัสสนาก็ได้ สติสัมปชัญญะก็ได้ การดำรงจิตไว้อย่างถูกต้องก็ได้เหมือนกัน แล้วแต่จะเรียก
การบรรยายในวันนี้ก็หมดเวลาแล้ว เอ่อ, ขอยุติการบรรยายโดยหวังว่า คงจะเอาไปคิดไปนึกข้อความเหล่านี้ให้เข้าใจแจ่มกระจ่างยิ่งขึ้น แล้วก็เอาไว้เป็นเครื่องมือขับไล่แขกอาคันตุกะ อย่าให้มาเยี่ยมบ้านเราได้ หรือเผลอมานั่งอยู่ก่อนแล้ว ก็ไล่กลับไปได้เพราะความรู้เรื่องนี้ ขอยุติการบรรยายวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ ด้วยการปิดประชุม