แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เราพูดถึงเที่ยวไปข้างใน ในฐานะเป็นการจำพรรษา โดยร่างกายก็ไม่เที่ยวไปตามที่ต่างๆ พยายามหาความวิเวกให้แก่ร่างกาย เขาเรียกว่าวิเวกสำหรับร่างกาย และจิตก็เที่ยวไปข้างในที่เรียกว่าปฏิสัลลีนะ เพื่อจะทำหน้าที่ของจิต วันแรกเราพูดว่าเที่ยวไปข้างใน คือจิตเที่ยวอยู่แต่ข้างใน ให้ถือเป็นการจำพรรษา แล้วทีนี้ครั้งที่สองเราพูดถึงว่า อะไรๆนั้นมันสำเร็จอยู่ที่จิต ดูให้ดี คำว่าอะไรๆสำเร็จอยู่ที่จิตนี่ก็เป็นคำพูดที่สำคัญนะ มีความหมายมากหรือสำคัญ ไม่ใช่แต่เรื่องข้างใน ที่ว่าสำเร็จอยู่กับจิตน่ะ แม้เรื่องข้างนอกน่ะ ทั้งโลกนี่มันก็สำเร็จอยู่ที่จิต ถ้าไม่มีจิตแล้วโลกนี้ก็เหมือนกับไม่มี ถ้ามันไม่มีจิตของมนุษย์สำหรับสัมผัสสิ่งต่างๆนี่โลกนี้มันก็ไม่มี หรือถ้าจะพูดให้ลึกไปเรื่องเป็นเรื่องชีวิทยา เรื่องวิทยาศาสตร์ ไอ้ชีวิตทั้งหลายมันก็มีจิตนั่นน่ะเป็นที่ตั้ง ฉะนั้นมันจึงมีวิวัฒนาการเป็นสิ่งที่มีชีวิตนานาชนิดขึ้นมาในโลกนี้ มันก็อยู่ที่จิตด้วยเหมือนกัน และโลกจะมีความหมายก็เพราะมนุษย์มันมีจิตอย่างไร คุณลองมองให้เห็นข้อนี้ เพราะมนุษย์มีจิตสัมผัสสิ่งต่างๆรอบตัวได้ โลกจึงมีขึ้นมา ถ้าไม่มีจิตอย่างเดียว ไม่มีจิตของโลก ของมนุษย์น่ะ ของมนุษย์แล้ว โลกมันก็ไม่มีความหมายอะไร แล้วที่สำคัญก็คือว่าทุกอย่างมันสำเร็จอยู่ที่จิตดวงเดียว แล้วแต่ว่าจิตนั้นจะทำให้ ถูกกระทำให้รู้สึกอย่างไร มันจะรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มันก็เป็นสิ่งที่ปรับปรุงได้ อยู่ที่ว่าจะทำได้เพียงไร ที่จะให้จิตนี้มันมีผลเป็นความสุขหรือไม่ทุกข์ ใช้คำว่าไม่ทุกข์ อยู่ตลอดไป
นี่คือความที่จิตมีความสำคัญ แม้แก่วัตถุและแก่จิตเอง ทั้งที่เป็นภายนอกตัวเราและภายในตัวเรา มันสำคัญอยู่ที่จิต มนุษย์เริ่มมีความรู้ข้อนี้มานานแล้วตั้งก่อนพุทธกาล เขาก็ขวนขวายเรื่องเกี่ยวกับจิตกันอยู่ตลอดเวลา แล้วก็รู้มากขึ้นๆ จนกระทั่งรู้ชนิดที่เรียกว่ามันไม่ๆมีมากกว่านั้นแล้ว คือทำจิตให้ดับเย็นถึงที่สุดตลอดไปได้ ก็คือพุทธศาสนา ทีนี้เราก็เป็นพุทธบริษัท ศึกษาพุทธศาสนา ปฏิบัติพระพุทธศาสนา จึงอยู่ที่การปฏิบัติที่จิต เกี่ยวกับจิต ที่ละเอียดที่สุดก็คือว่ามันไม่มีอะไรนอกจากจิต จะรู้สึกหรือไม่รู้สึก จะรู้สึกดีหรือว่ารู้ รู้สึกชั่ว รู้สึกเป็นทุกข์หรือว่าจะแก้ไขจะดับทุกข์ มันกลายเป็นเรื่องของจิตไปหมด นี่จิตคล้ายๆกับว่าสิ่งเดียวตัวเดียวเล่นละครรอบด้านหลายหน้า เมื่อเป็นบาป ทำบาปทำชั่ว มันก็จิตดวงนั้นน่ะ แล้วที่จะห้ามเสียหยุดเสียมันก็คือจิตดวงนั้นนั่นอีกกลับมาเป็นหน้าที่รู้และห้ามเสีย จิตดวงนั้นที่จะมาคุมจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นเป็นอย่างไรก็จิตดวงนั้นน่ะก็จะจัดการแก้ไขเสีย มันน่าอัศจรรย์ น่าประหลาดน่าอัศจรรย์ จิตดวงไหนทำบาป ก็จิตดวงนั้นน่ะมันจะมารู้สึกว่าหยุดเสีย ไม่ทำ นี่คล้ายกับว่ามันไว ไวยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ ที่มันจะเปลี่ยนภาวะเป็นจิตอย่างนั้นแล้วมาเป็นจิตอย่างนี้ แล้วใครล่ะจะช่วยฝึกจิต มันก็คือจิตอีกนั่นเอง ไม่ใช่มีบุคคลที่สองหรือว่าจิตดวงอื่นนะมาๆๆช่วยควบคุมบังคับจิต ฉะนั้นดูให้เห็นไอ้ความน่าประหลาดน่าอัศจรรย์ในข้อนี้กันเสียบ้าง จิตไหนคิดทำชั่ว แล้วจิตไหนจะมาหยุดเสีย มันก็คือจิตดวงเดียวกัน คล้ายๆกับว่าเล่นละครทุกฉาก เร็วมาก กระโดดไปฝ่ายโน้นที กระโดดมาฝ่ายนี้ที กระโดดฝ่ายโน้นที กระโดดฝ่ายนี้ที อย่างเร็วมาก ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าไม่มีอะไรที่น่าประหลาดน่าอัศจรรย์เหมือนกับสิ่งที่เรียกว่าจิต แต่เดี๋ยวนี้น่ะก็มีผู้อธิบาย คือให้คำอธิบายเป็นจิตหลายดวง จิตดวงนั้นชื่อนี้ จิตดวงนี้ชื่อนั้น แล้วมันก็มาควบคุมกัน นี้เราไม่เห็นด้วย เห็นด้วยมีแต่จิตดวงเดียว เอกะจิตตะสมายุตตา แต่ว่าจิตดวงนั้นจะถูกปรุงขึ้นด้วยเจตสิก เครื่องปรุงจิตให้เป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว
จิตเอาความรู้มาจากไอ้การที่มันเคยผ่านมาแล้ว มันเคยผ่านมาแล้วอย่างไรเป็นทุกข์เป็นสุขอย่างไร มันรู้จักสังเกต รู้จักหลาบจำ รู้จักต่อสู้และไม่ให้เป็นทุกข์อีก ฉะนั้นถ้าว่ามันได้รับการฝึกฝนดี มันก็ได้ผลดียิ่งขึ้นไปกว่าธรรมชาติธรรมดา ฉะนั้นจึงมีระบบฝึกฝนจิตที่ผู้รู้ ฤาษี มุนี แล้วก็แต่จะเรียก คนเหล่านั้นน่ะเขาเป็นผู้ที่ค้นพบเรื่องเกี่ยวกับจิตมาตามลำดับๆ จนถึงผู้ค้นคนสุดท้ายคือพระพุทธเจ้า คำว่าฤาษี ฤษีนี่ก็แปลว่าผู้ ผู้แสวงหา คือผู้ค้น อิสิหรือฤษิแปลว่าผู้แสวง ผู้แสวงหา คือผู้ค้นหา เที่ยวค้นหาแล้วก็สืบต่อกันมา ไม่ใช่ว่าคนเดียวค้นพรวดเดียวพบถึงเท่านี้ ไม่ใช่ มันพบเป็นลำดับมาๆ เพื่อให้มีจิตชนิดที่ ที่ดีที่สุดน่ะ ที่ต้องการที่จะให้มันดีที่สุด เขาลองค้นอย่างนั้นลองค้นอย่างนี้ เข้าใจว่าเป็นเวลาหลายพันปีเหมือนกัน หมื่นปีหรือเกิน เอาตามตัวหนังสือที่เขาพูดไว้ในคัมภีร์มันเป็นหลายหมื่นปีแสนปี อะไรก็ได้ ข้อนี้ไม่มีอะไรที่จะระบุให้ตายตัวลงไปว่ากี่ปี บางทีตัวเลขในคัมภีร์มันมากเกินไปจนไม่น่าเชื่อ มันเป็นกัปป์ๆนะ เอาเป็นแต่เพียงว่าได้มีผู้แสวงค้นหาแล้วก็พบมาเรื่อยๆ จนกระทั่งพบพระนิพพาน แล้วก็ไม่มีอะไรที่จะดีกว่านั้น จะค้นหาให้ดีไปกว่านั้นอีก แล้วมันก็ไม่มี
ไอ้เรื่องราวของจิตที่เขาค้นพบนี่ มันหลายแขนงนะ หลายมุม แต่ว่าไอ้ส่วนใหญ่ที่สุดนั้นก็คือเพื่อจะดับทุกข์นี่ ส่วนนอกนั้นมันเป็นเรื่องว่า มันๆพลอยได้หรือปลีกย่อย ไม่ใช่พุทธะประ อ่า, ไม่ใช่ความประสงค์โดยแท้จริง เช่นให้มันมีฤทธิ์มีเดช มีปาฏิหาริย์ มีอำนาจ มีกำลังผิดธรรมดา เกินกว่าธรรมดานี้มันๆก็ ก็มีอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่เรื่องธรรมะ มันไม่ใช่เรื่องศาสนา มันเป็นเรื่องประโยชน์อย่างโลกๆ แม้ว่าใครจะค้นพบ มีฤทธิ์ มีแสดงฤทธิ์ แสดงปาฏิหาริย์ ในทางฆ่าผู้อื่นหรือในทางทำร้ายผู้อื่น หรือแม้แต่ในทางที่จะให้ได้ประโยชน์ชนิดที่ได้เปรียบก็มีอยู่มาก ฉะนั้นวิชาความรู้เกี่ยวกับจิตน่ะมันก็มีอยู่มาก แต่ไม่ใช่พุทธศาสนา เดี๋ยวนี้เราต้องการจะศึกษาให้รู้และปฏิบัติกันเฉพาะที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา เราจะไม่พูดกันโดยรายละเอียดในการปฏิบัติหรือการศึกษาแล้วกัน พูดโดยเค้าเรื่อง โดยเค้า เค้าโครงของเรื่องกันก่อนดีกว่า เพราะว่ารายละเอียดน่ะมันมากนัก ไอ้เรื่องรายละเอียดต่างๆนั้น ถ้าว่าไอ้เค้าเรื่องส่วนใหญ่มันไม่ชัดเจนแล้วมันยุ่งหมดแหละ มันปนกันยุ่งไปหมด เรามาดูไอ้เค้าโครงใหญ่ๆกันก่อนดีกว่า คือว่าเอาเรื่องปาฏิหาริย์ ฤทธิ์เดช ไอ้เหนือธรรมดาเหล่านั้นออกไปเสียก่อน เอาๆเก็บไปไว้ที่อื่นก่อน ไม่เอามาพูด มันก็จะมีอยู่ว่า ทำจิตให้อยู่ในอำนาจ อย่างที่หนึ่งน่ะคือทำจิตให้อยู่ในอำนาจ ให้ควบคุมได้โดยจิตนั้น นี่อย่างที่สองก็คือให้มันรู้แจ้งในสิ่งที่ควรจะรู้ แล้วก็ตามที่เป็นจริง
อันแรกที่ว่าควบคุมจิตให้ได้ให้มันอยู่ในอำนาจของเรานั้นน่ะ ก็เพื่อจะได้ประโยชน์สองสามอย่างพร้อมกัน คือว่าถ้าจิตอยู่ในอำนาจของเรา เราบังคับได้ ให้หยุด ให้พัก ให้หยุด แล้วก็เลยได้ความสุข มันจึงเป็นๆเรื่องทั่วไปแหละ เป็นความสุขชั้นสูงสุดโดยการบังคับจิตได้ หยุดจิตอยู่ในความสงบหรือความว่าง เมื่อเป็นสมาธิแล้วก็ไม่มีอะไรรบกวน ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรรบกวนจิตหรือรบกวนไม่ได้ ฉะนั้นก็มีความสุข มันเพียงแต่ความสุขนี้ก็นับว่ามีกำไรเหลือหลายแล้ว ฝึกจิต อบรมจิต ควบคุมจิต จนสามารถให้ความสุขอย่างสูงสุด เป็นความสุขอย่างแท้จริงนั่นน่ะ ไอ้สุขทาง อ่า, ทางโลกๆนั้นมันเป็นสุขที่เทียบกันแล้วก็เรียกว่าหลอกลวง สุขของชาวบ้านของปุถุชนนั้นเป็นเรื่องอร่อย กิเลสได้กินเหยื่อแล้วก็อร่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือกามคุณ แล้วเขาก็เรียกว่าความสุข นี่ความสุขที่มาจากสมาธินั้นมันไม่มีอย่างนั้นเลย ไม่เกี่ยวกับอย่างนั้นเลย มันเป็นการที่จิตมันหยุด มันสงบ มันไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย เป็นความสุขชนิดที่จุด อ่า, ที่จิตหยุด เย็น ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย
ส่วนความสุขอย่างปุถุชนอย่างชาวโลกนั้น โดยเฉพาะกามคุณนั้น จิตดิ้นรนกระวนกระวาย บริโภคกามคุณนั่นน่ะคือดิ้นรนกระวนกระวายเมื่อขณะบริโภคโดยตรง นั้นมันไม่ใช่หยุด แต่มันมีรสออกมาในลักษณะที่ถูกต้องกับกิเลส เวลานั้นกิเลสมันๆครองอัตภาพนี้ ได้รสอย่างนั้นมันก็สบายแก่กิเลส มันก็เลยเป็นความสุขของกิเลส นั้นก็เป็นความสุขนะ สุขอย่างเรือน เขาเรียกว่าสุขอย่างเรือน บาลีมีเรียกว่าเคหะสิตะ สุขอย่างเหย้าเรือน อย่างอาศัยเรือน อย่างมีเรือน
ทีนี้สุขที่ไม่อาศัยกามคุณเหล่านั้นเลย แต่อาศัยสมาธิอย่างที่ว่าล้วนๆนี้เขาเรียกว่าไม่อาศัยเรือน อาศัยเนกขัมมะ ให้ชื่อว่าเนกขัมมะสิตะสุข อันโน้นเคหะสิตะสุข สุขอาศัยเรือน นี่เนกขัมมะสิตะสุข สุขอาศัยเนกขัมมะ คือออกมาเสียจากเรือนจากกาม เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ควรจะเข้าใจอย่างยิ่งนะ ถ้าไม่เข้าใจมันก็จะเข้าใจต่อไปไม่ได้ล่ะ มันก็จะไม่รู้ว่าไอ้ความสุขนี่มันแท้จริงแล้วมันคืออะไร
ปุถุชนอาศัยบ้านเรือน อาศัยกามารมณ์ มันก็จะต้องมีสุขชนิดที่ดิ้นรนสั่นสะเทือน แล้วมันยังกระตุกจิตใจอยู่เรื่อย คือมันจะต้องให้ไปหาเรื่อย จะต้องไปหาเรื่อย เช่นจะต้องไปหาที่ที่มันมีไอ้อย่างนั้น เช่น ห้อง จะต้องไปหาห้องผู้หญิงอย่างนี้เป็นต้น จะมานอนพักไอ้จิตมันก็ถูกกระตุกให้ไปหาอยู่เรื่อย ยิ่งเป็นพระราชามหากษัตริย์มี มีเหยื่อมากแล้วมันก็แทบว่าจะไม่ได้พักผ่อนโดยจิตใจ เพราะว่ามันจะกระตุกจิตใจให้ไปหาอยู่เรื่อย เรื่องนี้มีข้อความในบาลีที่น่าขันมากคือ เจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งเคยสนทนากับพระพุทธเจ้าเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าตั้งคำถามว่า มหาราชน่ะเคยมีความสุขพักผ่อนที่ไม่ถูกรบกวนด้วยความรู้สึกนั้นน่ะสักชั่วครู่ชั่วยามมีไหม เขาบอกว่าไม่มี มันคอยเรียกร้องคอยกระซิบอยู่เรื่อย ต้องลุกขึ้นไปหา หรือไม่ไม่ไปหาก็นอนๆๆๆฝันถึงอย่างนี้ นั่นน่ะชื่อว่าสุขเคหะสิตะมันเป็นอย่างนั้น หมายความว่ามันๆรบ รบกวนความรู้สึก กระตุกความรู้สึกให้ไปหาอยู่เรื่อย แล้วเมื่อบริโภคสุขชนิดนั้นก็เป็นความที่ไม่สงบ เป็นความที่รบเร้า เร่าร้อน สั่นสะเทือน
ส่วนสุขที่เกิดแต่สมาธิน่ะมันไม่มีไอ้เรื่องอย่างนั้นเลยแม้แต่นิดเดียว มันไม่มีเรื่องเพศนี่ แล้วมันมีเรื่องที่หยุดจิตลงไป หยุดจิตลงไป ไม่ต้องการอะไร ไม่มีกิเลสชนิดไหนรบกวนจิต กิเลสอย่างหยาบก็ไม่มี กิเลสน้อยๆ เช่นนิวรณ์เป็นต้นก็ไม่มี ฉะนั้นเรียกว่าเป็นสุขที่ไม่อาศัยเหยื่อ ไม่อาศัยอามิส ไม่อาศัยกามคุณ แต่อาศัยวิเวกหรืออาศัยเนกขัมมะ
ทีนี้ประโยชน์ข้อแรกของไอ้สมาธิคือการที่บังคับจิตได้น่ะ ประโยชน์อันแรกจะได้ทันทีคืออย่างนี้ เมื่อจิตไม่มีกิเลสรบกวน มันก็มีความหมายว่าเป็นนิพพานชั่วคราว เป็นตทังคนิพพาน นิพพานประจวบเหมาะ นิพพานชั่วคราว เมื่อมีความสุขจากสมาธิเมื่อไรก็เรียกว่ามีตทังคนิพพาน เป็นนิพพานชั่วคราว ซึ่งเมื่อเราทำได้แล้วเราต้องการความสุขชนิดนี้เมื่อไรก็ได้ นี่เรียกว่าได้ๆชิมนิพพานอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ทีนี้มันมีประโยชน์ที่ว่า ไอ้สมาธิอย่างเดียวกันนี้ถ้าไปทำฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์อะไรก็ไปๆเดินไปอีกทาง แต่ว่าก็อย่างเดียวกันนี่จะทำให้มีคุณวิเศษผิดมนุษย์ธรรมดา เป็นอุตริมนุสธรรม ก็ต้องอาศัยสมาธิอย่างนี้ แต่เราจะไม่พูดถึง
ทีนี้เราจะได้ประโยชน์คือว่าเป็นๆผู้ที่มีจิตดี แม้ในการทำการทำงานทั้งปวง ในการทำการ กิจการงานทั้งปวงนี่ แล้วแต่จะทำอะไรถ้าผู้ที่มีจิตเป็นสมาธินั้นจะทำงานได้ดี จะเป็นศิลปิน จะเป็นไอ้ชาวไร่ชาวนาก็ตามเถอะ มันทำได้ดีเพราะจิตมันมุ่งมั่น คล่องแคล่ว เฉลียวฉลาดกันไปหมด แม้แต่จะศึกษาเล่าเรียน มันก็ศึกษาเล่าเรียนได้ดี เพราะจิตชนิดนี้มันทำให้จำเก่ง คิดเก่ง ระลึกได้เก่ง ตัดสินใจเก่ง มันก็ได้ประโยชน์ที่ว่าจะทำการงานในหน้าที่ของมนุษย์ให้ได้ดี แต่นี้ก็ยังไม่ใช่ประโยชน์ที่สูงสุดก่อน คือว่าจิตที่ฝึกอยู่ในอำนาจแล้วอย่างนี้น่ะ ต่อไปนี้ก็จะให้เขาไปทำงานชั้นที่เรียกว่าเห็นแจ้งสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงนี่ คือประเภทสอง มันประเภทที่ว่าจะเป็นวิปัสสนา ที่เรียกว่าวิปัสสนา ระดับขั้นวิปัสสนาจะเห็นแจ้งทั้งๆ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงนี้ ต้องทำจิตให้เป็นสมาธิไอ้กลุ่มสมถะ ระดับสมถะนี้ให้ได้ก่อน เพราะฉะนั้นประโยชน์ของจิตที่เป็นสมาธิก็คือเพื่อจะไปทำวิปัสสนาต่อไป เมื่อไปทำระ ระดับวิปัสสนามันก็จะสิ้นกิเลส บรรลุมรรคผลนิพพานโดยแท้จริง ถ้าได้นิพพานก็เป็นนิพพานจริงกันเลย ไม่ใช่นิพพานชั่วคราวอย่างที่ว่านี้
ฉะนั้นคุณชักโยง ยุโยงลำดับเรื่องให้มันดีสิ ว่าทำจิตให้เป็นสมาธินั้นจะได้รับความสุขชนิดที่เป็นความสุขแท้จริง แล้วก็จะได้จิตที่เป็นเครื่องมืออันวิเศษสารพัดนึกทำอะไรได้ทุกอย่าง ทีนี้ถ้าให้สูงขึ้นไปอีก ก็ให้จิตชนิดนี้ไปเป็นผู้ดู ผู้เห็นแจ้ง คือน้อมไปเพื่อวิปัสสนาเพื่อเห็นแจ้ง ถ้ามัน ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิ ความเห็นแจ้งนั้นมันมีได้ยาก เหมือนเราไม่ได้เช็ดแว่นตานั้นน่ะ ที่แว่นตาที่มัวฝ้านั้น จะไปดูอะไรมันก็ไม่เห็นชัด ไม่เห็นแจ้ง ไม่เห็นตามต้องการ คือแว่นตาที่มันสกปรกน่ะ นี่สมาธินี่ก็คือเป็นการเช็ดแว่นตา คือจิตที่เกรอะกรังอยู่ด้วยกิเลสตัณหาเป็นต้นนั้นมันเหมือนกับแว่นตาสกปรก ฉะนั้นเช็ดให้มันเกลี้ยงก็เป็นจิตชนิดที่จะดูได้ดี นี่เตรียมพร้อมสำ สำหรับงานวิปัสสนา ทีนี้ก็ทำส่วนที่เป็นวิปัสสนานี้ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุญญตา ตถาตา อะไร อิทัปปัจจยตาอะไรไปตามเรื่อง จนบรรลุมรรคผลนิพพาน นี่ประโยชน์มันมหาศาลขนาดนี้นะไอ้เรื่องการอบรมจิตฝึกฝนจิตน่ะ ประโยชน์มันมหาศาลถึงขนาดนี้ แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครสนใจ เพราะส่วนมากหันหน้าไปหาความสุขทางกามคุณนี่ มุ่งหมายความสุขทางกามคุณ เอาความสุขทางกามารมณ์เป็นสิ่งสูงสุดของชีวิต ฉะนั้นมันจึงชักจะสูญไป เลือนไป จางไป การทำจิตชนิดนี้ แล้วมันก็ไม่มีใครเอาจริง มันก็ไม่ได้ผลจริง ก็ได้ผลน้อย เป็นของที่เลือนลางไปในที่สุด ที่ว่าจะมีใครทำบ้างนี่ นี่ก็กลัวว่าจะเห่อ เห่อพักเดียวๆ ไม่เอาจริง มันก็ไม่ได้ ไม่...(เสียงไม่ชัดเจน นาทีที่ 27:21-27:22) ฉะนั้นรู้จักแบ่งแยก ๒ ขั้นตอนว่าการพัฒนาจิต การอบรมจิต ฝึกฝนจิต พัฒนาจิต นี้มันก็มีเป็น ๒ ชนิดนี้ คือเพื่อสมาธิ แล้วก็เพื่อปัญญาหรือวิปัสสนา
ระเบียบปฏิบัติเพื่อให้เป็นสมาธินี้มีมาก มีมากแบบ หลายสิบแบบ ส่วนเพื่อปัญญาเพื่อวิปัสสนาดูจะแบบเดียวนะ คือว่าจะเห็นอนิจจังและก็เห็นลึกเข้าจนเบื่อหน่ายคลายกำหนัด จนหลุดพ้นปล่อยวางไปเลย แบบเดียวนั้นน่ะ จะว่าหลายแบบก็ได้ คือว่าไอ้ๆสิ่งที่จะเอามาดูนั้นน่ะอาจจะมีได้มากกว่าหนึ่งอย่าง อะไรที่มันเกี่ยวข้อง เป็นปัญหา ที่มันชนะเรา ที่เรายังไม่ชนะมัน พอจิตเป็นสมาธิแล้วก็ดูสิ่งเหล่านั้นน่ะในๆๆแง่ที่ว่ามันเป็นของไม่เที่ยง อย่าได้ไปหลงรักเลย ในบาลีนั้นมีถึงกับว่า ไม่น่าเชื่อนะว่า อนิจจสัญญาทำให้กำจัดอัสมิมานะ กำจัดอัสมิมานะความยึดถือว่าตัวกูเสียได้มันเป็นพระอรหันต์นะ และก็มีได้โดยอนิจจสัญญา อนิจจานุปัสสี เห็นๆอนิจจัง ครั้นเห็นอนิจจังแล้วก็จะทำลายกิเลส ทำ ทำลายความยึดมั่นถือมั่นนะ ทุกรูปแบบก็ไปตามลำดับๆจนหมดความยึดมั่นถือมั่น ทำจิตให้เป็นสมาธิตามหลักที่มีอยู่ พอเป็นสมาธิแล้วก็เอาไอ้สิ่งที่มันเป็นปัญหาน่ะมาดูให้เห็นอนิจจังของมัน โดยเฉพาะก็ไอ้ความสุขน่ะ ความสุข เราๆชอบความสุข เราติดความสุขกัน ทำสมาธิให้ปรากฏเป็นความสุขขึ้นมา แล้วดูความไม่เที่ยง ความเป็นอนิจจังของความสุข แม้แต่ความสุขที่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์นี้ก็ยังไม่เที่ยงเสียแล้ว นับประสาอะไรกับความสุขที่เกี่ยวกับกามารมณ์มันก็ยิ่งไม่เที่ยงไปอีก ฉะนั้นเขาก็เห็นความไม่เที่ยงของสิ่งที่หลงใหลกันนัก เรียกว่าสุขเวทนาก็แล้วกัน สุขเวทนากี่ร้อยชนิดมันก็ไม่ยิ่งไปกว่าสุขเวทนาที่เกิดจากสมาธิหรอก เมื่อไอ้สุขเวทนาชั้นสูงสุดถูกมองเห็นเป็นความไม่เที่ยงไปแล้ว สุขเวทนาอื่นๆก็พลอยถูกมองเห็นไปด้วยในตัว คือมันเลวกว่า ต่ำกว่านี่ ก็ถูกมองไปในฐานะที่ว่าไม่เที่ยงไปในพวกเดียวกัน
นี่เข้าใจให้ดี ว่ามันๆทำสมาธิให้สำเร็จ แล้วจิตนี้จะแหลมคมมาก มีกำลังมาก จะว่องไวมาก จิตที่เป็นสมาธิ แล้วจิตชนิดนี้ส่องเข้าไปที่ๆๆรากฐานของกิเลส หรืออารมณ์ของกิเลส หรือที่ตัวกิเลสเอง มันก็ทำลายสิ่งเหล่านั้น นี่เรียกว่าอาการฝึกจิต การฝึกจิตให้ได้รับผลดีที่สุด สุดที่มนุษย์จะทำได้นี่ สุดที่มนุษย์ควรจะได้ก็คืออย่างนี้ ฉะนั้นเขามีชื่อเรียกว่า สมถะและวิปัสสนา สมถะคือทำสมาธิให้สงบนี่เรียกว่าสมถะ วิปัสสนาคือทำให้เกิดปัญญาเห็นอย่างแจ่มแจ้ง เกิดเป็น ๒ สายกันอยู่อย่างนี้ ทั้ง ๒ สายนี้ก็เรียกว่าภาวนาเหมือนกัน
ภาวนา แปลว่าทำจิตให้เจริญ ภาวนาแปลว่าทำให้เจริญ จิตตภาวนาคือการทำจิตให้เจริญ มีอยู่ ๒ ๒ สาย สายหนึ่งทำให้จิต จะเรียกว่า ๒ สายก็ไม่ค่อยถูกนัก เรียกว่า ๒ ขั้นตอนดีกว่า ขั้นๆตอนแรกก็ทำให้เป็นสมาธิ ได้ผลคือได้รับความสุขทันที ได้มีจิตที่ดี แล้วจิตนั้นก็พร้อมที่จะทำวิปัสสนา นี่ส่วนสมถะส่วนสมาธิ มันก็ไปตามฝ่ายของสมาธิ ทีนี้เมื่อทำวิปัสสนาก็ทำให้เห็นแจ้งในสิ่งที่เราไปหลงกับมันนะ จนเกิดความทุกข์ เห็นแจ้งแล้วก็หยุดหลง ไม่หลงก็ไม่เกิดความทุกข์
การที่จะทำวิปัสสนาเห็นแจ้งโดยไม่ฝึกในส่วนสมาธินั้นเป็นไปได้โดยยาก เพราะว่ามันมีกิเลสรบกวนเสียเรื่อย นิวรณ์บ้าง กิเลสบ้าง อะไรบ้าง รบกวนเสียเรื่อย จะมาดูอะไรให้ชัดให้ลึกนี่ นั่นก็มันทำไม่ได้ เพราะกิเลสมันรบกวนจิตเสียเรื่อย นี่ทำสมาธิกวาดล้างไอ้สิ่งเหล่านั้นออกไป จิตก็เป็นอิสระ จิตก็มั่นคง เฉียบแหลม ว่องไว เอาไปทำการดูให้เห็นได้
ทีนี้มันยังมีเรื่องคล้ายๆกับลึก ลึกลับอยู่นิดหนึ่งว่าไอ้ความเป็นสมาธิโดยธรรมชาตินี่มันก็มีของมันอยู่ส่วนหนึ่งน่ะ จิตของสิ่งที่มีชีวิตนี่มันสามารถที่จะมีสมาธิตามแบบธรรมชาติได้ส่วนหนึ่งน่ะ ในระดับหนึ่ง แต่ไม่พอ คือไม่ถึงที่สุด แม้แต่หมาแมวมันก็มีสมาธิตามแบบของสัตว์เดรัจฉาน ไม่อย่างนั้นมันจะทำอะไรให้สำเร็จไม่ได้หรอก ความตั้งใจจะทำอะไรหรือมุ่งมั่นต่ออะไร มันจะตะครุบอะไรให้ถูกต้องให้แม่นยำนี่ มันก็อาศัยสมาธิตามธรรมชาติ ดังนั้นคนเรานี่พอสักว่าเราตั้งใจจะคิด เราลงมือคิดก็แล้วกัน สมาธิมันมาเองตามธรรมชาติ มาช่วยเป็นพื้นฐานของการคิด ตัวอย่างเหมือนกับว่าเราๆๆยิงปืนนี่ เราตั้งใจยิงก็แล้วกัน สมาธิมันมาเอง สมาธิจะมาทำให้ดีที่สุด มันๆก็มาของมันเอง หรือเราจะขว้างดีกว่า มันๆๆเห็นง่ายกว่า กว่ายิงปืน เมื่อเราจะขว้างก้อนหินให้ถูกอะไรนี่ ให้เราขว้างก็แล้วกัน ความเป็นสมาธิตามธรรมชาติจะมาช่วยตามสมควร ถ้าสามารถมา อ่า, ทำให้มีมามากเราก็ขว้างแม่นนะ ถ้ามันไม่มากพอมันก็ไม่แม่น หรือว่าเด็กๆมันจะเล่นทอยกอง เล่นหยอดหลุม โยนให้ลงหลุมนี่ สมาธิตามธรรมชาติมันช่วย ถ้าเด็กคนไหนมันมีมาก ช่วยได้มาก เด็กคนนั้นมันก็โยนหลุมเก่งอย่างนี้เป็นต้น แต่เพียงเท่านั้นมันไม่พอ มันจะต้องฝึกเพิ่มเติม เพราะมันเป็นเรื่องจิตใจที่ลึกไปกว่านั้น ไกลไปกว่านั้น แต่เราควรจะทราบว่ามันก็เป็นธรรมชาติอยู่อย่างหนึ่งด้วยเหมือนกันที่จิตมันจะเป็นสมาธินั้น พยายามใช้ให้ดีที่สุดน่ะ เป็นพื้นฐานไว้ก่อน แล้วก็เอามาอบรมให้มันมากขึ้น เพราะว่าถ้าพูดให้ถูกตามจริงแล้วก็คืออบรมสมาธิตามธรรมชาตินั่นเอง สมาธิตามธรรมชาติมันไม่พอ มันไม่ค่อยแน่นอน มันไม่ค่อยเรียบ เป็นระเบียบเรียบร้อย นี่เอามาฝึกกันเสียใหม่ ฝึกจิตกันเสียใหม่ให้มีสมาธิยิ่งกว่าธรรมชาติ ทีนี้ก็ทำอะไรได้ ได้ดีกว่าที่จะมีอยู่ตามธรรมชาติ
ในสมาธินั้นมีสิ่งที่เรียกว่าสติแฝดกันอยู่ด้วยนะ ถ้ามีสมาธิมันก็คือมีสติที่จะระลึกได้ดี ระลึกได้เร็วอะไรรวมอยู่ด้วย มันน่าคิดตรงที่ว่าทำไมวัฒนธรรมของมนุษย์น่ะที่เจริญมาถึงขั้นนี้แล้วมันปล่อยให้สูญหายไป แล้วทำไมจึงไม่เอาระเบียบนี้มาฝึก มาๆถือไว้เป็น เป็นระบบการศึกษาระบบหนึ่ง ระบบการศึกษาในโรงเรียนนั้นน่ะ ให้มีระบบฝึกสมาธิอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง เพื่อให้เด็กๆของเรามีจิตเป็นสมาธิ แล้วเขาจะเรียนอะไรก็ตามใจ เรียนเลข เรียนอะไรก็ตามใจ จะทำงานฝีมือก็ได้ เป็นศิลปินอะไรก็ได้ มันก็จะเป็นได้ดี นี่มันๆน่าสงสัยหรือน่าเสียดายที่ว่าทำไมมันจึงไม่เอามา มันทิ้งไว้ในป่า มันควรจะกลับมา แต่ได้ยินว่าที่ประเทศญี่ปุ่นน่ะมันกำลังมี เขานิยมฝึกสมาธิอย่างเซน เด็กๆหรือหนุ่มสาวของเขารู้ รู้จักทำให้จิตเป็นสมาธิ หรือแบบสมาธินี่มากทีเดียว ได้ๆข่าวว่าบริษัทที่ใหญ่โตบางบริษัทในประเทศญี่ปุ่นจะไม่ยอมรับคนงานที่ไม่เคยฝึกเซนมาก่อน คนงานที่ไม่เคยฝึกสมาธิมาก่อน เขาจะไม่รับเข้ามาเป็นคนงานอย่างนี้ก็มี นี่เข้าใจว่ามันจะมีแต่ที่ญี่ปุ่น แล้วคงจะไม่ได้เน้นที่สมาธิให้เต็มที่ก็ได้ ต้องฝึกตามแบบเซน มันเป็นเรื่องมีสติเร็ว ความคิดเร็ว มีจิตใจไหวเร็วมากกว่า มากกว่าจะเป็นสมาธิหนักแน่น สมาธิแบบมีกำลัง แต่ แต่เพียงเท่านั้นมันก็พอแล้ว เขาฉลาด รวดเร็ว ว่องไว บังคับ บังคับตัวได้ดีมากเท่านั้นก็พอแล้ว ก็เป็นคนงานที่ดี เป็นพนักงานที่ดี เป็นผู้จัดการที่ดี เป็นอะไรที่ดีได้ แต่เดี๋ยวนี้เราอยากจะให้เป็นว่านักเรียนชั้นประถมชั้นมัธยมนี่ มันควรจะมีหลักสูตรให้เขาทำสมาธิให้ได้ตามขนาดตามระดับ แล้วเราจะเป็นคนที่มีสมาธิดี คิดเก่ง จำเก่ง ตัดสินใจเก่ง บังคับความรู้สึกได้ บังคับตัวเองได้ มีสติดีนี่ มันก็จะดีมาก ไม่รู้ว่าเมื่อไรเขาจะเอากัน แต่ว่ามัน มันคงจะไม่ง่ายนัก เดี๋ยวนี้แม้แต่ทำให้เด็กๆมีศีลธรรมก็ทำไม่ได้เสียแล้ว แล้วใครจะทำให้มีสมาธิชั้นเลิศชั้นดี
ฉะนั้นเอาไปพิจารณาดู ไอ้ที่แล้วๆมาก็ช่างหัวมัน ต่อไปเราจะทำให้ดีให้มีประโยชน์ที่สุด คือให้ชีวิตนี้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด ฉะนั้นต้องใช้คุณสมบัติที่ธรรมชาติใส่มาให้แล้ว คือกำลังกาย และกำลังจิต และกำลังสติปัญญานั่น กำลังกายนั้นก็เรื่องนี้ เรื่องเป็นอยู่กินอยู่อะไรให้มันถูกต้อง มันก็เป็นกำลังกาย กำลังจิตก็คือสมาธินี่ แล้วกำลังปัญญาก็คือวิปัสสนาน่ะ เห็นแจ้งแตกฉาน รวดเร็วว่องไว ได้ทั้ง ๓ กำลังนี้มาใช้พร้อมๆกันได้วิเศษเลย กำลังกาย กำลังจิต กำลังปัญญา
ไอ้เรื่องกำลังกายมีสุขภาพดี มีไอ้การเป็นอยู่ดีอะไรดีนี้ มันๆเกือบจะไม่มีปัญหาอะไรแล้ว เพราะว่าเขาสอนเขาเรียนกันมากแล้วในโลกนี้ แต่ที่จะมีกำลังจิตดี กำลังปัญญาดีนี่ดูยังไม่ค่อยมี ยังไม่ค่อยได้สอน ไปเล่นกีฬาเสียมากกว่า ฉะนั้นเมื่อต้องการจะมีกำลังจิต กำลังปัญญาแล้วก็สนใจเรื่องนี้ สนใจเรื่องฝึกฝนจิต เพราะอะไรๆมันก็สำเร็จอยู่ที่จิต เราก็จัดการกับจิต ฝึกฝนจิต ในระหว่างบวช ๓ เดือนนี่คงจะได้เค้าเงื่อนบ้างน่ะ ขอให้คุณพยายามที่จะศึกษาให้ดีที่สุด ไอ้ส่วนที่จะต้องศึกษาทางวิชาทางทฤษฎีนี้ก็ทำให้ดีที่สุด แล้วส่วนที่จะปฏิบัติให้ได้ก็พยายามทำให้ได้ มันสอนกันยากไอ้ตอนปฏิบัตินี่ ถ้าๆๆส่วนทฤษฎีวิชานี้พูดกันได้ สอนกันได้ไม่ๆยาก แต่พอถึงเรื่องที่จะต้องปฏิบัติแล้ว มันยากที่จะสอนกันได้ เพราะว่ามันเป็นไอ้สิ่งที่ธรรมชาติต้องสอน ไอ้ที่บางคนเขาให้ๆอาจารย์มานั่งขนาบข้างแล้วสอนไปนี่ผมไม่เชื่อ มันผิดธรรมชาติ มันสอนไม่ได้ มันได้แต่บอกให้รู้ว่าทำอย่างไรแล้วก็ไปทำดูเถอะ มันนานพอสมควรแล้วมาปรึกษากันทีหนึ่ง ปรับปรุงแก้ไขกันทีหนึ่งได้ ที่จะมานั่งเคียงข้างคอยสอนคอยนั้นน่ะมันเป็นเรื่องพิธีรีตองไปมากกว่า ต้องให้ทำลงไปแล้วมันจะรู้เองว่าไม่ได้ ไม่ได้แล้วก็ปรับปรุงอีก ไม่ได้ ปรับปรุงอีก ไม่ได้หลายๆไม่ได้ ล้มเหลวหลายๆสิบครั้งเข้าแล้วมันก็ค่อยๆได้
การฝึกจิตนั้นมันไม่สอนกันได้เหมือนกับสอนไอ้ช่างไม้หรือว่าสอนไอ้จักสาน ตะกร้า กระบุง ตะแกรง หรือสอนเขียนภาพอย่างนี้เป็นต้น เพราะจิตมันเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีตัวตน ไม่ใช่วัตถุนี่ ของใครก็ของมัน ของใครใครก็รู้สึก แล้วมันก็เลยสอนกันโดยตรงไม่ได้ นอกจากบอกวิธีที่จะทำแล้วก็ไปทำ เมื่อไม่ได้ก็ทำซ้ำๆๆๆๆๆจนมันได้ ข้อนี้ก็ที่เราจะเห็นได้ง่ายๆก็ว่า เช่นเด็กทารกมันจะสอนนั่งหรือสอนยืนนี่ใครสอนมันได้ ถึงจับทำตัวอย่างให้ดูได้ แต่ที่จะสอนให้มันรู้จักทำให้สมดุลให้ไม่ล้มแล้วมันๆๆรู้จักของมันเอง มันค่อยๆรู้จักของมันเอง รู้จักนั่นนี่ของมันเอง แต่มันต้องล้มหลายหนแหละ มันต้องล้มหลายหนหรือหลายสิบหน จนกว่ามันจะทำสมดุลของมันได้แล้วมันยืนได้ ทีนี้พอมันจะเดินอีกก็เหมือนกันนะ ก็ๆทำไปอย่างนั้นแหละ ก็จับให้มันเดินๆๆ แล้วมันก็ล้มนะ มันก็ต้องทำของมันเอง ทำของมันเอง ทำสมดุลที่จะย่างเท้าก้าวเดินๆๆ ก็ล้มหลายหนแหละ หลายสิบหนแหละกว่ามันจะเดินได้ นั่นน่ะเรียกว่าไอ้การปฏิบัติมันสอนให้เอง
ไอ้ที่เห็นๆกันอยู่แล้วยังทำไม่ได้เช่นพายเรือนี่ ผมเคยลองดูแล้ว เห็นเขาพายแล้วพอไปพายเข้าจริงมันก็พายไม่ได้ มันหันไปหันมาอยู่นั่นแหละ หลายสิบครั้งเข้ามันจึงค่อยรู้ๆๆ แล้วก็พายเรือให้ตรงได้ หรือว่าจะขี่จักรยานนี่ มันก็เห็นๆกันอยู่ พอขึ้นขี่มันก็ล้มแหละ ล้มก็ทำอีก ล้มก็ทำอีก ล้มก็ทำอีกจนกว่ามันจะรู้จักทำสมดุล รถจักรยานไม่ล้ม แต่มันก๊อกแก๊กๆๆ ก็ฝึกต่อไปอีกจนมันเรียบ จนกระทั่งว่ามันปล่อยมือก็ได้ ไอ้นี่เรียกว่าไอ้ตัวการกระทำมันสอนเอง เราต้องทำ ถ้าไม่ทำมันไม่มีการสอนไอ้ตัวการกระทำ เราต้องทำนะ แล้วมันจะมีการสอนอยู่ในตัวการกระทำ ฉะนั้นขอให้ทุกคนที่เคยพายเรือ เคยขี่รถจักยาน หรือว่าเคยอะไรก็ตาม ไปสังเกตดูให้ดีว่าใครมันสอนกันได้ มันรู้ด้วยจิตที่ค่อยรู้ขึ้นๆๆ ในชั้นแรกรู้ไม่ๆทันหรือรู้ไม่พอ มันก็ขี่รถจักรยานก๊อกแก๊กๆๆๆ ส่ายไปส่ายมาก่อนเสมอ แล้วก็ทำอีกๆจนมันก็ค่อยตรงเข้าๆ
ทีนี้การที่จะกระทำจิตให้หยุดอยู่ที่อารมณ์ของสมาธิแน่วไปเลยนั้นน่ะมันก็เหมือนกับขี่รถจักรยานที่จะต้องล้ม ครั้งแรกล้มไม่มีเหตุผลหลายๆหน ที่โดยมากมันก็เลิกไป โดยมากเลิกทั้งนั้นแหละ ฟังดูไม่กี่ ไม่ๆๆกี่ มันล้มไม่กี่ทีเลิก ทำสมาธิไม่ได้ไม่กี่ครั้งมันก็เลิกทั้งนั้น ไม่มีใครยอมทนทำตั้งร้อยครั้ง มันจึงทำไม่ได้กันเป็นส่วนมาก เพราะฉะนั้นอย่ายอม ให้การล้มน่ะมันสอน ไอ้การล้มน่ะมันสอนดีที่สุด หัวเข่าถลอกปอกเปิก หน้าแข้งถลอกนั่นน่ะมันจะสอนดีที่สุด ขี่รถจักรยานจิต ก็ทำนองเดียวกับอย่างนั้นล่ะ ทำนองเดียวกับขี่รถจักรยานธรรมดา มันต้องค่อยๆรู้สึกขึ้นมา รู้สึกขึ้นมา ทำทันๆเวลาขึ้นมา รู้สึกเร็วขึ้น ก็คือรู้สึก รู้สึกทำสมดุลในการที่จะให้มันไม่ล้ม เร็วขึ้นๆ ฉะนั้นจึงๆใช้คำว่าต้องพยายามมาก ทำให้มาก ทำให้ชำนาญนะ นี่ในเรื่องทำสมาธิ ต้องรู้ไว้ล่วงหน้าว่ามันจะต้องเป็นอย่างนี้แหละ มันๆๆต้องเป็นอย่างนี้ มันไม่มีทางหลีก
สมาธิตามธรรมชาติมันไม่ค่อยพอ มันไม่พอ มันไม่เข้มแข็งพอ มันไม่ทนต่ออารมณ์มารบกวน เช่นนิวรณ์เป็นต้น มันรบกวน มันคิดไม่ได้ ต้องบังคับจิตชนิดที่อยู่ในอำนาจเสียก่อน เราเรียกว่าทำจิตให้อยู่ในอำนาจ ขั้นแรกฝึกทำจิตให้อยู่ในอำนาจ แล้วก็ฝึกต่อไปคือใช้จิตให้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ในที่สุด จิตที่ฝึกดีแล้วถูกใช้ทำประโยชน์ ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ดีที่สุด ไอ้ข้อปลีกย่อยที่มันจะฝึกได้มันก็มีเยอะแยะไป เช่นว่าคุณหัดทำอะไรให้มันเป็นระเบียบเรียบร้อย ทำด้วยสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา เป็นผู้เอาจริง เอาจริงหน่อย เช่นว่าอะไรล่ะ ธรรมดาลืม สมมติว่าลืมปิดประตู ลืมปิดหน้าต่างนี่ ก็เรียกว่าใช้ไม่ได้ ต้องลงโทษมัน ทำของแตก ตกแตก มีสติไม่พอ ก็ต้องลงโทษมัน เพราะฉะนั้นไอ้สิ่งเหล่านี้ก็เรียกว่ามันช่วยแวดล้อมการฝึกสมาธิ ก็เรียกว่าธุดงค์บ้างอะไรบ้าง มันจะช่วยแวดล้อมไอ้การฝึกสมาธินั่นเป็นไปได้ง่ายขึ้น บางคนออก ออกเดินไปแล้วก็เลยเกิดฉงนตัว อ้าว, เราๆปิดประตูหรือเปล่า ปิดประตูบ้านหรือเปล่า ใส่กุญแจบ้านหรือเปล่า ต้องวิ่งมาดูอีกทีนี่ อย่างนั้นแล้วก็เรียกว่าแย่มากแล้ว มันเป็นจิตที่ไม่ได้ ไม่เป็นระเบียบ ก็ฝึกให้เป็นระเบียบสิ พอเราจะวางถ้วยแก้วหรือวางของอะไรตรงนี้ เราต้องวางด้วยจิตใจที่รู้สึก แล้วเราจะไม่ลืมว่าเราวางไว้ที่ตรงไหน เราจะนึกได้ทันทีว่าเราวางไว้ที่ตรงไหน เราจะไม่ จะไม่ลืมกุญแจไว้ในห้อง แล้วออกมาล็อคประตูแล้วทีนี้ก็ยุ่ง นี่เรียกว่ามันใช้ไม่ได้ขนาดนั้น นี่ของง่ายๆเบื้องต้น ต่ำๆอย่างนี้ก็ให้ได้ ถ้าไม่ได้ก็ต้องละอายมาก เพราะมันแย่มาก
นี่ทีนี้ก็จะว่าบังคับจิต ฝึกบังคับจิต ให้จิตเป็นสมาธิ นี่คือเรื่องที่เรียกว่าทำสมาธิ แต่เดี๋ยวนี้เขามักจะเรียกกันผิดๆตามอรรถกถาเรียกว่าทำวิปัสสนา อรรถกถามันเขียนว่าถ้าทำเกี่ยวกับจิตแล้วเรียกว่าทำวิปัสสนาหมด จะทำสมาธิก็ดี ทำปัญญาวิปัสสนาก็ดี เรียกว่าทำวิปัสสนาหมด ทีนี้ก็เลยเรียกกันในเมืองไทยว่าทำวิปัสสนาหมด แม้แต่ทำเพียงสมาธิก็เรียกว่าทำวิปัสสนา คือมันคล้ายๆกับจะพูดว่าใน รวมอยู่ในเรื่องของวิปัสสนา อยู่ในโครงของวิปัสสนา ฉะนั้นไปนั่งในที่สงบสงัดก็เรียกว่าทำวิปัสสนา ทำสมาธิก็เรียกว่าทำวิปัสสนา จนกว่าจะไปถึงวิปัสสนาจริงๆ คือพิจารณาให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นน่ะ ตัวนั้นตอนนั้นน่ะวิปัสสนาจริง แต่เดี๋ยวนี้คำพูดที่เขาใช้นี่มันฟั่นเฝือกำกวม จนเป็นว่าถ้าทำอะไรเกี่ยวกับจิตแล้วก็เรียกว่าทำวิปัสสนาหมดในประเทศไทย ก็ไม่เป็นไร ก็ให้รู้กันไว้ว่าถ้าทำเกี่ยวกับจิตแล้วก็เรียกว่าทำสะ อ่า, ทำวิปัสสนา แต่ที่จริงในขั้นที่บังคับจิตให้เป็น ให้อยู่ในอำนาจนี่มันเป็นสมาธิ ต่อให้เห็นแจ้งความจริงจึงจะเรียกว่าวิปัสสนา เดี๋ยวนี้จัดเอาไอ้สมาธินี้ไว้เป็นอุปกรณ์ เป็นไอ้ เป็นเบื้องต้นน่ะของวิปัสสนา ก็เรียก ก็เรียกว่า วิปัสสนากันหมด ก็ได้เหมือนกัน
เอ้า, ทีนี้ก็จะพูดต่อไปถึงไอ้ ไอ้ใจความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าทำสมาธิ หรือทำการบังคับจิต มันมีหลักใหญ่ๆซึ่งควรจะรู้นะ ว่ามันต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำหรับจิตจะได้กำหนด ถ้าไม่มีอะไรมาให้จิตกำหนดมันก็ไม่มีอะไรจะกำหนด ไม่มีการกำหนดก็ไม่เป็น ไม่เป็นๆการฝึกจิต เพราะฉะนั้นจะต้องเอาอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นสิ่งสำหรับจิตจะได้กำหนด สิ่งนี้เขาเรียกว่าอารมณ์บ้าง เรียกว่านิมิตบ้าง แล้วแต่จะเรียกมีหลายชื่อ แต่ที่แท้ก็คือสิ่งที่จิตมันจะได้กำหนดลงไปนั่น อันนี้ต้องมี ทีนี้ก็มีการกำหนดสิ ก็มีจิต ซึ่งจะเรียกว่าจิตหรือจะเรียกว่าสติก็ตาม ตามใจเถอะ มันๆเป็นสิ่งเดียวกันแหละ เป็นผู้กำหนด เป็นตัวกำหนดลงไปที่อารมณ์ มันกำหนดไม่ได้ก็ทำไปๆจนมันกำหนดได้ตามต้องการ นี่ใจความมีเท่านี้ จะต้องมีอะไรมาให้จิตกำหนด แล้วจิตก็กำหนด เมื่อกำหนดไม่ได้ก็พยายามไปทำไปๆจนมันกำหนดได้ ทีนี้ไอ้ๆรายละเอียดปลีกย่อยนั้นมันก็ มันก็ไม่มากไปกว่านี้ มันมีเท่านี้ จะเอาอะไรมาเป็นอารมณ์นี้มันก็มีมาก จะกำหนดกันวิธีไหนมันก็มีหลายๆวิธีอยู่ มีเคล็ดมีอะไรอยู่ แล้วกำหนดได้น่ะกำหนดๆได้ชั้นไหน ชั้นรูปฌาน ชั้นอรูปฌาน กระทั่งชั้นสุดท้าย เป็นนิโรธ เป็นรายละเอียดพูดมาก เป็นเล่มหนังสือใหญ่ๆ แต่คำพูดมันมีอยู่ ๓ คำนั้นคือ มีอารมณ์ให้มัน แล้วมีจิตกำหนดมัน แล้วก็ได้ผลเป็นลำดับๆไปมันมีเท่านั้น
ทีนี้ที่ว่าจะเอาอะไรมาเป็นอารมณ์นั่นน่ะ มันก็มีมากนี่ เขาก็จัดหมวดจัดอะไรกันไว้ตามเรื่องที่ ที่เขาๆเคยๆเข้าใจหรือว่าเคยค้นพบมาแล้ว ว่าคนที่ใจคอชนิดไหนควรจะเอาอะไรมาเป็นอารมณ์นี่ คนใจคอชนิดไหนควรจะเอาอะไรมาเป็นอารมณ์ นี่คนใจคอชนิดไหนควรจะเอาอะไรมาเป็นอารมณ์ นี่ก็สิ่งที่เรียกว่าอารมณ์สำหรับให้จิตกำหนดมันก็มีมาก มันก็มีเหตุผลเฉพาะเรื่องของเขาแหละ ถ้าคนที่กิเลสราคะจัด เขาก็ให้อารมณ์ที่น่าเกลียด น่าขยะแขยง เช่นเอาๆซากศพมา เอาซากศพมาให้มันกำหนดที่จะแก้ปัญหาเรื่องคนมันมีกิเลสในทางราคะจัด อันนี้จึงมีมาก นั้นในๆ มันมีอยู่แล้วใน ในตำราในคัมภีร์ คุณไปเลือกเอาเอง
อารมณ์ที่ของหยาบ ของแข็ง ของเห็นง่ายด้วยตานี้ เช่น แม้แต่ซากศพมันก็อยู่ในชุดนี้ หรือว่าวง วง ดวงที่เป็นสีต่างๆ วงกลมที่เป็นสีต่างๆ ก็เรียกว่ากสิณ สีดำ สีแดง สีขาว สีเขียว สี หลายสีนะ นี้ก็ได้ อย่างนี้เรียกว่าของชนิดที่หยาบๆ หรือเห็นได้ง่าย กำหนดได้ง่าย มันกำหนดได้ง่าย ทีนี้ถ้าของละเอียดขึ้นไป เช่นว่าเอา เอาลมหายใจ อานาปานสติ เอาลมหายใจเป็นสิ่งที่ถูกกำหนด นี่มันเป็นของที่ละเอียด แล้วก็กำหนดยากขึ้นไปอีกนิดนะ แล้วบางพวกเขาให้เอาความรู้สึกหรือความรู้ เช่นความรู้สึกในพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ในไอ้พวกนามธรรมเหล่านั้นน่ะ เรียกว่า พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ พระคุณของพระพุทธเจ้า ของพระธรรม ของพระสงฆ์มากำหนด เอาเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขามากำหนดนี้ มันก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก มันยิ่งละเอียด ก็กำหนดยาก ความเป็นสมาธิก็ไม่เข้มข้น ถ้าเอาวัตถุที่มันเห็นชัดๆตรงๆง่ายๆมากำหนด ความเป็นสมาธิมันก็เข้มข้นหรือเข้มแข็ง เอาของละเอียดมาเป็นเครื่องกำหนด สมาธิก็ไม่ๆเข้มแข็งถึงขนาดนั้น แต่ก็ใช้ประโยชน์ได้ เขามุ่งหมายประโยชน์อย่างอื่น จะหวังประโยชน์แฝงอย่างอื่น เขาจึงใช้ไอ้สิ่งชนิดนั้น แต่ถ้าๆได้ประโยชน์ตรงไปตรงมา รวดเร็ว ทันควันแล้ว ไอ้ของเห็นง่ายๆอย่างนี้ดีกว่า ส่วนลมหายใจนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่าดีที่สุด เพราะว่ามันทำอะไรได้มาก ทำอะไรได้กว้างขวาง หลายทิศทาง แล้วสะดวกที่สุด ปลอดภัยที่สุด ไม่น่าเกลียดน่ากลัว ไม่รบกวนจิตใจในรูปนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นไอ้คำสรรเสริญของพระพุทธเจ้า สรรเสริญไอ้การกำหนดลมหายใจนี่ว่าดีกว่าอย่างอื่น คุณก็ไปจัดเอาเอง ชอบอย่างไรๆ ชอบจะเอาอะไรเป็นอารมณ์ก็ลอง จิตกำหนดโดยวิธีอย่างนั้นวิธีอย่างนี้ วิธีไหนดีที่สุดก็ใช้วิธีนั้นจนกำหนดได้สำเร็จ นี่เรื่องของสมาธิ
เมื่อกำหนดได้สำเร็จ มันก็หมายความว่าจิตมันเกลี้ยง มันเกลี้ยงจากกิเลส มันหยุด มันสงบ มันตั้งมั่น มันเข้มแข็ง มันมั่นคง มันมีคุณสมบัติพร้อม อย่างอานาปานสตินี่เขามีคำอธิบายไว้ชัดเจน มีเคล็ด มีเคล็ดที่ทำให้มันง่ายเข้า ให้มันง่ายเข้า อย่างที่อธิบายไว้ว่าเป็นการวิ่งตามลม แล้วก็ไม่วิ่งตาม หยุดเฝ้าดูอยู่ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วทำที่จุดนั้นน่ะให้เกิดนิมิต มโนภาพ แล้วก็บังคับไอ้นิมิตมโนภาพให้เปลี่ยนแปลงๆๆตามที่ต้องการ ดังนั้นก็เลือกเอาไอ้ภาพไหนที่เหมาะที่จะกำหนดระยะยาว แล้วก็กำหนดให้มันแน่วแน่ แล้วมันจะเป็นสมาธิ จนถึงกับเป็นสมาธิขั้นแรก เรียกว่าปฐมฌาน ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นมันเป็นเทคนิคอยู่ในตัวการกระทำ เราศึกษาให้เข้าใจอย่างนี้แหละ พออย่างนี้เท่านั้นแหละ แล้วก็ไปทำเถอะ ไปทำแล้วมันก็ไม่ได้ มันก็ไม่ได้น่ะ แล้วก็ทำอีกมันก็ไม่ได้อีก ทำอีกมันก็ไม่ได้อีก เหมือนกับขี่รถจักรยานนั่นน่ะ การที่รู้วิธีทำสมาธิถึงขนาดนี้แล้ว มันก็เท่าๆกับว่าเราได้รับคำอธิบายจากผู้สอนน่ะเรื่องเกี่ยวกับรถจักรยาน จับอย่างนั้น ถีบตรงนั้น หมุนอย่างนั้น หมุนอย่างนี้ ได้รับคำสั่งสอนเพียงพอ แล้วก็ไปขึ้นขี่ก็ล้มโครม ไอ้เรื่องสมาธินี้ก็เหมือนกันน่ะ แม้ว่าเราจะรู้เรื่องอย่างนี้แล้วไปทำเข้า มันไม่ได้ทันที มันไม่ได้ตามที่เราพอใจ ตามที่เราตั้งใจ มันจะล้ม เหมือนล้มละลายน่ะ คือมันไม่ได้ คือมันไม่เป็น ไม่ยอมเป็นสมาธิ จิตมันหนีวิ่งไปที่อื่น มันๆๆไม่กำหนดลม แม้มันกำหนด มันไม่กำหนดอยู่ที่ลมนี่ มันวิ่งหนีไปเสียที่อื่น เพราะฉะนั้นเหมือนกับว่าไอ้รถจักรยานมันล้ม แต่เมื่อมันล้มทุกทีก็ขอให้เรารู้เท่าทันขึ้นทุกที เราจะรู้เท่าทันขึ้นทุกที มันจะล้ม ล้มยากเข้าๆ มันไม่มีทางอื่นหรอกนอกจากว่าทำให้มาก ทำซ้ำๆให้มาก ทำให้ชำนาญ สังเกตไปเรื่อยๆ อย่าให้ละอายเด็กทารก เด็กทารกมันสอนยืนแล้วมันๆยืนได้ สอนเดินมันก็เดินได้ เราอย่าให้ละอายเด็กทารก เราจะทำจิตให้เป็นสมาธิเราก็ต้องทำได้ ตามที่เราอยากจะทำให้มากเท่าไร
อยากจะให้ อยากจะให้มีความคิดหรือความกล้าหาญ ถึงกับว่าเราจะลองค้นคว้าของเราเอง เราจะไม่ ไม่เอาตำราไม่เชื่อตำรา แล้วเราจะพยายามของเราเอง เราทำอย่างไรจิตของเราจะกำหนดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ เราก็หาวิธีของเราเอง มันก็ยังได้ มันก็ยังมีประโยชน์กว่าที่ว่ามันจะไม่เชื่อ ไม่เชื่อว่าจะทำได้ ถ้ามันเก่งจริง มันๆกล้าท้าว่าเราจะลองของเราเอง เราจะค้นของเราเอง จะพบวิธีของเราเอง แล้วก็จะทำให้ได้ นั่นน่ะมันจะได้ง่ายขึ้น ส่วนวิธีที่ท่านวางไว้เป็นหลักมันก็มีอยู่แล้ว เราก็ได้เปรียบ ไม่ใช่เราจะต้องค้นเองไปเสียหมด ไอ้คนแรกที่สุดคนที่เขาค้นพบคนแรกที่สุดนั่นเขาต้องค้นลำบากมากนะ อันนี้เราได้เค้าเงื่อนที่คนเขาทำได้แล้วเขาสอนไว้นี้ มันก็ได้ประโยชน์มาก คือมันเป็นประโยชน์แก่เรามาก เพราะฉะนั้นความหวังที่จะสำเร็จมันก็มีมากกว่า
ฉะนั้นขอให้รู้หลักใหญ่ใจความ แล้วก็พยายามดูตามนั้นเถอะ แล้วมันจะรู้มากขึ้นเอง เดี๋ยวรู้มากขึ้นเอง มันจะทำได้เองมากขึ้น มีอะไรมาให้จิตกำหนด แล้วจิตกำหนด แล้วก็พอไม่ได้ก็สังเกตดูให้ดีๆว่าทำไมจึงไม่ได้ ขยับนั้นหน่อย ขยับนี้หน่อย ขยับนั้นหน่อย ขยับนั้นหน่อย จนมันเข้ารอยเข้ารูป เหมือนว่าเรานอนในท่านี้ไม่สบายเราก็พลิกท่านั้น ไม่สบายพลิกท่านู้น ไม่สบายพลิกท่านี้ จนกว่าเราจะพบไอ้ท่านอนที่สบายอย่างนั้นน่ะ ที่มันจะราบรื่นไปได้ ลองกำหนดใหม่ กำหนดให้แรงขึ้นหรือกำหนดให้เบาลง หรือกำหนดอย่างนั้นกำหนดอย่างนี้ ยักย้ายไปๆ เดี๋ยวมันก็จะพบไอ้จุดที่มันแน่วแน่ ราบรื่นได้ ที่จริงมันก็เป็นไอ้ๆคุณสมบัติของธรรมชาติที่มันมีอยู่แล้วแหละ ที่จิตจะกำหนดอะไรได้น่ะ มันๆมีอยู่ของ เป็นของธรรมชาติในสิ่งที่มีชีวิตอยู่แล้ว ทีนี้มาทำให้มันยิ่งขึ้นไป ส่งเสริมไอ้ๆคุณภาพอันนั้นแหละให้มันยิ่งขึ้นไป มันก็ได้มากกว่า จนมากแปลกประหลาดอย่างไม่น่าเชื่อ
เอ้า, ทีนี้ก็จะพูดถึงเรื่องวิปัสสนานั่นน่ะ ส่วนที่เป็นสมาธิคืออย่างนั้น ใจความของเรื่องคืออย่างนั้น ไอ้ส่วนที่เป็นวิปัสสนานี่มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการคิด คือจิตไหลไปตามเรื่องที่จะต้องคิดต้องพิจารณา ไม่ใช่หยุดนิ่งอยู่กับอารมณ์ สมาธิจิตมันหยุดนิ่งอยู่กับอารมณ์ที่ๆๆให้กำหนด ส่วนวิปัสสนาหรือปัญญานี้ จิตมันไหลไปตามไอ้ความจริงที่จะปรากฏ ไกลออกไปๆ หรือแล้วแต่จะไปทางไหน มันไม่ใช่จิตหยุดอยู่กับที่ มันเป็นจุดที่ มันเป็นจิตที่เคลื่อน เพราะฉะนั้นเราก็ดูเถอะ เรา เมื่อเราคิดอะไรจิตมันเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้มันเป็นแต่เพียงว่าคิดให้ดีกว่าธรรมดา แล้วก็คิดในเรื่องที่ควรคิดนะ ไอ้เรื่องที่คิดแล้วมันจะดับกิเลสดับทุกข์ได้ ธรรมดามนุษย์นี่มันก็คิดเป็นทั้งนั้นแหละ การคิดนี่มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ แล้วการรู้ การรู้นั้นก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ ถ้าคิดเป็น คิดถูก มันก็รู้มาก แต่ไอ้คุณสมบัติสำหรับจะรู้นี่มันมีอยู่แล้วตามธรรมชาติของจิต แต่คุณสมบัติที่จะคิดให้รู้ยิ่งๆขึ้นไปมันก็มีอยู่แล้วเป็นธรรมชาติของจิต มันก็เป็นเรื่องส่งเสริมธรรมชาติอีกเหมือนกัน เราสังเกตดูเถอะ ถ้าเวลาที่จิตของเราโปร่งสบายอารมณ์ดีนี่ เรียกว่าใจคอมันโปร่งดีน่ะ มันก็คิดอะไรได้ดีนะ จะทำอะไร จะคิดอะไรก็คิดได้ดี เมื่อใจมันโปร่งดี พอจิตมันหงุดหงิดๆ โกรธใครอยู่หรืออะไร หลงใหลอะไรอยู่ มันก็งัวเงีย มันก็คิดไม่ได้ดี
ฉะนั้นไอ้การคิดที่ดีมันต้องอาศัยจิตที่ดีที่ ที่เหมาะสมที่จะคิด มันก็ปรับปรุงจิต เมื่อจิตดีแล้วก็คิด คำว่าคิดนี่มันก็พิจารณาจนกว่าจะพบไอ้ความจริง ตอนนี้เรียกว่าพิจารณาๆๆ หรือคิด พอพบความจริงแล้ว ทีนี้ไม่คิดแล้ว ดูๆๆๆเถอะ ดูเฉยๆ เพ่งดูอยู่เฉยๆในความจริงที่ได้พบแล้ว นี่ตอนนี้เป็นเรื่องของวิปัสสนา เช่นพิจารณาคือคิดใคร่ครวญสังเกตอะไรก็ตามจนเห็นอนิจจัง เห็นอนิจจังก็ดูๆๆๆๆๆ ดูจนมันลึกซึ้งนะ อันนั้นน่ะมันจะให้ผลต่อไปเป็นไอ้เห็นแจ้ง เห็นแจ้ง เห็นแจ้งแล้วมันก็จะกำจัดกิเลส จะกำจัดไอ้ๆความไม่รู้เอง ของมันเอง มันก็เป็นเรื่องที่ต้องทำให้มาก ทำซ้ำๆนะ ถ้าจะเปรียบเทียบ เอาล่ะ ถ้าจะเปรียบเทียบเรื่องขี่รถจักรยานนะ พอเราขี่รถจักรยานได้ดี มันก็เหมือนกับว่าทำสมาธิได้ดีแล้ว ทีนี้เราจะขี่รถจักรยานผาดโผน ผาดโผน หวาดเสียวอะไรก็ตาม จะขี่ไอ้ท่าผาดโผนนี่ มันเรียกว่าเป็นขั้นวิปัสสนา มันก็ต้องซ้อมมาก ต้องทำมากเช่นเดียวกับในขั้นที่จะขี่ให้ได้ แล้วมันก็จะต้องพลาด ต้องล้ม ต้องพลาดอะไรกันอีก อีกมากเหมือนกันแหละกว่ามันจะขี่รถจักรยานผาดโผนพลิกแพลงอะไรได้ เข้าใจว่าคงจะเคยเล่นกันมาแล้วเรื่องนี้
คำว่าวิปัสสนานั่นมัน ตัวหนังสือมันแปลว่าเห็นอย่างแจ่มแจ้งนะ ไม่ใช่คิดนะ คำว่าวิปัสสนานั้นแปลว่าเห็นอย่างแจ่มแจ้ง ไม่ได้คิด ไม่ได้พิจารณาหรอก ไอ้คิด ไอ้พิจารณา ไอ้ใคร่ครวญนั้นน่ะมันยังไม่ใช่ตัววิปัสสนา มันเป็นตัวการพิจารณา พิจารณาให้เห็น พอเห็นก็ดูๆๆๆ เป็นอุเบกขา เพ่งดู เพ่งดูอยู่อย่างแน่วแน่ ไม่คิดล่ะตอนนี้ ไม่ใคร่ครวญ ไม่พิจารณา คือเพ่งอยู่อย่างนั้นน่ะ เพ่งกับไอ้ความไม่เที่ยง สภาวะของความไม่เที่ยงให้มันจับใจ ให้มันฝังใจ ให้จิตใจมันเปลี่ยนไปตามอำนาจของการเห็นความไม่เที่ยง แล้วมันก็จะมีวิราคะ คลายความกำหนัด ที่เคยกำหนัดในสิ่งที่ไปหลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัว หลงอะไรก็ตาม มันจะคลายออก นี่จะได้ผล จะได้ผล พอเห็นความไม่เที่ยงแล้วก็คลายความกำหนัดยึดถือ แล้วมันก็จะหมดความยึดถือ ดับความยึดถือได้เมื่อหลุดพ้น นั่นคือบรรลุมรรคผลและเป็นนิพพาน เป็นหลุดพ้น ถ้าเราพูดคราวเดียวจบ เราก็พูดว่าทำจิตเป็นสมาธิ แล้วเอาจิตที่เป็นสมาธิแล้วนี้ไปดูๆๆด้วยการพิจารณา ใคร่ครวญ พิจารณา คิดนึกก่อน พอพบจุดของความจริงแล้วก็ดูๆๆอย่างเดียว ไม่ต้องใคร่ครวญอะไรอีก ให้มันฝังเข้าไปในไอ้จิตใจ ประทับเข้าไปในจิตใจ ความจริงเรื่องความไม่เที่ยงหรือเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหล่านี้ ไอ้จิตมันก็จะคลายๆๆ คลายจากความยึดถือ ทำลายไอ้ความยึดถือที่เป็นอนุสัย เป็นอาสวะอะไรได้ เรื่องมันมีเท่านี้ ทำจิตเป็นสมาธิ
ในๆๆตอนเป็นสมาธินี้จะ จะใช้ประโยชน์เสียก่อนยังไม่ไปหาวิปัสสนานะ ก็คือความสุขน่ะ เราจะพักผ่อน จะพักผ่อนกลางวันหรือพักผ่อนกลางคืน ทำสมาธินี้จะเป็นการพักผ่อนดีที่สุด นี่เรียกว่ากินก่อน ใช้ประโยชน์เสียทีก่อน หรือว่าจะไปใช้ประโยชน์ทำการทำงาน เป็นคนมีจิตใจสติปัญญาธรรมชาติคิดเก่ง จำเก่ง อะไรเก่งก็ได้ นั้นมันเป็นเรื่องเอาก่อน เอาประโยชน์เสียทีก่อน ทีนี้เอาประโยชน์ที่แท้จริงต่อไปก็คือเอาไอ้จิตที่เป็นสมาธินี่แหละมาพิจารณาไอ้สิ่งที่เราเห็นว่าควรจะเอามาพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือไอ้สิ่งที่มันเป็นข้าศึกกับเรา ทำให้เราเป็นทุกข์ สิ่งใดที่ทำให้เราเป็นทุกข์นั่นน่ะเอามาพิจารณา มันเป็นเรื่องของกิเลสตัณหา แต่มันต่างๆกัน มันเป็นๆ มันเป็นที่ตั้งแห่งความหลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัว หลงอะไรต่างๆนี่ สิ่งนี้เป็นข้าศึกของเรา เราเอามาพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง เห็นความไม่มีตัวตนของมัน แล้วก็ เห็นแล้วก็ดูๆๆๆๆๆๆอยู่นั่นน่ะ นี่วิปัสสนา ตัววิปัสสนาอยู่ที่นี่ ทีนี้ก็เกิดผล หายโง่ หายหลง คลายกำหนัด คลายยึดถือในสิ่งเหล่านั้นไปตามลำดับ ทีนี้ความโง่ ความหลง ความยึดถือ หรือกิเลสเหล่านั้นมันๆๆๆลดลงไปเท่าไร ลดลงไปเท่าไร ลดลงไปโดยเด็ดขาดเท่าไรๆนี่ มันก็คือมรรคผลนี่ มรรคผลๆๆๆ จนกว่าจะอันสุดท้ายคืออรหัตผล เหลือนั้นก็เป็นไอ้ความไม่มีทุกข์ สภาพที่ไม่มีความทุกข์เลยเราเรียกว่านิพพาน
ต่อไปนี้ก็เรียกว่าเป็นนักเลงฝึกจิต เรียกว่านักเลงจิต นักเลงศึกษาจิต ฝึกจิต ควบคุมจิต อบรมจิต แล้วแต่จะเรียก เราจะเรียกว่านัก นักเลงจิต หรือนักเรียนจิต นักเรียนจิตหรือนักเลงจิต ถ้ามีเรื่องเกี่ยวกับจิตที่ควรจะเข้าใจควรจะศึกษา เอาทันทีเลย นี่เรียกว่ามันเป็นรูปแบบที่เป็นพิธี เป็นๆระเบียบ เป็นอะไรยาว เราก็ๆทำไปตามแบบ ตามระเบียบ ตามหลักเกณฑ์ มันจะสอนให้เองในการกระทำ ส่วนที่ว่าจะช้าจะเร็วอันนี้บอกไม่ได้หรอก มันๆๆมีเหตุปัจจัยซ่อนอยู่หลายอย่าง ทำถูกวิธีอะไรดีมันก็เร็ว ทำไม่ถูกวิธีมันก็ช้า หรือมันอาจจะช้าจนรอไม่ไหวแล้วเลิกเลยก็ตาม ถ้าทางที่ดีนั้นน่ะมันไม่มีเลิกหรอก มันไม่ควรจะเลิกหรอก เพราะเราจะต้องต่อสู้เรื่อยไป ในเรื่องการอบรมจิตนี่ เพราะฉะนั้นก็ไอ้คำแรกที่ว่าเฝ้าดูจิต พูดกันวันแรกว่าจงเป็นนักเลงจิต เฝ้าดูจิต เที่ยวอยู่แต่ในภายในนั้นน่ะมีประโยชน์มาก ขอให้ทำตนเป็นผู้เฝ้าดูจิตอยู่แต่ในภายในจะช่วยได้มาก คือมันจะช่วยให้รู้ขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องอาศัยตำรา ไม่ต้องอาศัยคำบอกเล่า จิตของเรากำลังเป็นอย่างไร ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น ดู คอยดูเอาเองสิ วันนี้มัน ทำไมมันจึงงัวเงีย ทำไมมันจึงงัวเงีย ทำไมจึงไม่แจ่มใส ทำไมจึงมีความคิดไปในทางกามฉันทะ ทำไมมีความคิดไปในทางพยาบาท อึดอัดขัดใจนี่ คอยเฝ้าดูเองบ้างสิ มันจะพบเอง เห็นเอง เข้าใจเอง อย่ามัวแต่ไปท่องเอามาจากหนังสือ ไม่ค่อยมีประโยชน์หรอก เดี๋ยวก็ลืมแล้ว เพราะฉะนั้นดูที่ๆจิตนั่นแหละ ดูหนังสือเล่มข้างในน่ะ คือจิต ดูให้มากๆ ไอ้หนังสือเล่มข้างนอกมันก็มีประโยชน์บ้างเหมือนกันนะ ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ แต่มันไม่ชัดเจน มันไม่ลึกซึ้ง มันไม่ถึงตัวจริง แล้วเดี๋ยวก็ลืม ถ้าเป็นเรื่องหนังสือเดี๋ยวมันก็ลืม ถ้าเป็นเรื่องที่เห็นจริงด้วยใจจริงมันก็ไม่รู้จักลืม
นี่วันนี้ผมก็ได้ตั้งใจจะพูดเรื่องฝึกจิตอย่างไร เพราะได้พูดวันก่อนแล้วว่าสิ่งทั้งปวงอยู่ที่จิต รวมอยู่ที่จิต ขึ้นอยู่กับสิ่งๆเดียวคือจิต จะสุข จะทุกข์ ...(เสียงไม่ชัดเจน นาทีที่ 81:16-81:17) มันรวมอยู่สิ่งๆเดียวคือจิต แล้ววันนี้ก็พูดเรื่องฝึกจิตนี่ ฝึกจิต เขาใช้คำว่าอบรมก็มี ฝึกฝนก็มี ทำให้ยิ่งขึ้นไปก็มี เพราะว่าอาการมันมีหลายๆอาการจริงเหมือนกัน แต่รวมแล้วมันก็คือการบังคับจิตให้ได้ บังคับจิตให้ได้เป็นข้อแรก แล้วใช้จิตที่บังคับได้แล้วนี่ให้ทำ ให้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นวิปัสสนา ทำบังคับจิตได้เป็นสมาธิหรือสมถะ เรียกว่าจิตที่อบรมดีแล้ว จิตที่อบรมดีแล้วสำหรับ อ่า, สำหรับวิปัสสนา ที่เรียกว่าใช้ ใช้ไปในขั้นวิปัสสนา ศึกษาพิจารณาใคร่ครวญให้พบความจริง แล้วก็ดูๆๆๆๆๆจนกลายเป็น เป็นตัวๆนั้นไปเลย เป็นตัวธรรมะไปเลย นี่วิปัสสนาอยู่ที่ตรงนี้ ทีนี้ต่อไปจากนั้นก็เป็นผลของวิปัสสนา เป็นผลของวิปัสสนาคือการบรรลุมรรคผลนิพพาน นี่วันนี้เราพูดกันเรื่องการฝึกจิต แต่ในบาลีท่านใช้คำว่าภาวนา แปลว่าอบรมให้เจริญ ตรงกับคำว่าพัฒนา พัฒนาจิต ทำจิตให้มันเจริญกว่าที่มีตามธรรมชาติ มันก็ได้ประโยชน์จากจิตนั้นเต็มตามที่มันจะได้ ฉะนั้นก็ขอให้เข้าใจเรื่องการพัฒนาจิต อบรมจิต ทำจิตให้เจริญให้มากที่สุด
นี่วันนี้เรื่องที่จะพูดมีเท่านี้ ใจความสำคัญของการพัฒนาจิต รายละเอียดมีอยู่ในหนังสืออานาปานสติภาวนา เพราะว่าเราชอบระบบนี้ เราไม่ได้ชอบระบบอื่น จึงเขียนอธิบายกันแต่ระบบนี้ ที่ระบบอื่น สำนักอื่นเขาก็มีเป็นอย่างอื่น แต่ถ้าว่าเป็นการทำให้เป็นสมาธิแล้วดูจะได้กันทุกระบบ ไม่ๆๆเสียเปล่า ไม่เหลวไหล ไม่ๆได้เสียเปล่า แต่มันจะได้มากได้น้อยได้พอใจถึงที่สุดหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่มันจะได้กันไม่มากก็น้อยทุกระบบ ทีนี้เราชอบระบบนี้จากพระบาลีโดยตรง เราก็ศึกษาอบรมกันแต่ระบบอานาปานสติภาวนา แยกเป็น ๔ หมวด หมวดกายา หมวดเวทนา หมวดจิตตา หมวดธรรมา ไปหาอ่านดูเอาเองเถอะ มันมาก มันมาก แล้วก็อย่าลืมว่ามันเหมือนกับขี่รถจักรยานครั้งแรกมันจะต้องล้ม เราก็เอากับมันเรื่อยไป
ไอ้ข้อปลีกย่อยอย่างอื่นนั้นไปรู้เอาเองเถอะว่า จะเลือกสถานที่อย่างไร ไอ้สถานที่ถ้าเลือกได้ก็เลือกนะ ถ้าเลือกไม่ได้จะไปเลือก ถ้ามันเลือกได้ หลีกไปได้ที่สงบสงัดมันก็เลือกได้ ปรับปรุงเนื้อตัวร่างกายอะไรอย่างไร มันก็คือสุขภาพดีน่ะ ทำให้มีสุขภาพดี อย่าให้ อย่าให้มากเกิน อย่าให้น้อยเกิน อย่าให้ อย่าให้ขึงขังเกิน อย่าให้อ่อนเพลียเกินนะ สุขภาพดี แล้วก็ให้ได้สิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นเรื่องเบ็ดเตล็ด รู้ได้เอง จัดได้เอง เลือกได้เอง ใจความสำคัญอยู่ที่ว่าต้องมีอารมณ์หรือสิ่งให้จิตกำหนด แล้วก็กำหนดโดยวิธีที่ถูกต้อง แล้วมันก็ได้ผล เท่านั้นเอง มีเท่านั้นเอง ก็ได้ผลของการกำหนด เราทำเหมือนกับว่าเราเป็นนักค้นคว้าคนแรกเลย เราทำเหมือนว่าเราเป็นผู้ทำการค้นคว้าด้วยตนเองคนแรกเลย แล้วเท่าที่ความรู้ที่มีแล้วนี่มันจะช่วย เป็นการเรียนเรื่องความลับของธรรมชาติ จะได้เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด พูดได้ว่าเป็นเรื่องที่มีๆๆค่า มีคุณค่าที่สุดสำหรับมนุษย์ แม้ว่าถ้าบางคนจะไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็ได้ๆความรู้ที่จะทำให้ชีวิตนี้สงบเย็น ให้ชีวิตนี้เป็นสุขสงบเย็นได้โดยง่าย อันที่จริงมันก็รวมอยู่ในคำนั้นแหละ ที่ชีวิตเป็นสุขสงบเย็นนั่นแหละ คำนั้นน่ะคือมรรคผลนิพพาน เอ้า, ทีนี้ใครมีปัญหาอะไรบ้าง
ภิกษุถามปัญหา : ...(เสียงไม่ชัดเจนและขาดหาย นาทีที่ 88:54-89:02)
ท่านพุทธทาส : ค้นเอาเอง ท่าไหนที่ล้มยาก ล้มไม่ได้ คือนั่งคู้ขาเข้ามาขัดกันไว้ล้มไม่ได้ ล้ม นี่ เช่นมันอย่างนี้ แล้วมันอย่างนี้มันล้มไม่ได้ มันเหมือนกับของสามเหลี่ยมปีระมิด มันล้มไม่ได้ ฉะนั้นเราจะต้องพูด จะพูดว่าไอ้ท่าที่มันล้มไม่ได้เมื่อแม้ๆจิตมัน มันไม่ๆรู้สึก คือไม่ได้ตื่นอยู่ตามธรรมดาแล้ว จิตเป็นสมาธิแล้วมันก็ล้มไม่ได้ ปล่อยไว้เฉยๆได้ไม่ล้ม เรียกว่าท่านั่งของชาวอินเดียดีกว่า ชาวอินเดียเขาคุ้นเคยมากที่สุด การนั่งขัดสมาธิแล้วล้มไม่ได้ นี่ฝรั่งเขาทำไม่ได้ อันแรกที่ฝรั่งประสบ ทำไม่ได้ร้องห่มร้องไห้คือนั่งขัดสมาธิไม่ได้ ไอ้ขามันแข็ง ไปที่เขาฝึกสมาธิกันที่ประเทศพม่า ผมไปเอง เห็นฝรั่งนั่งร้องไห้อยู่หลายคน เพียงแค่นั่งขัดสมาธิไม่ได้ ขามันไม่เข้ามา เลยฝึกต่อไปไม่ได้ ฉะนั้นก็เลยว่า เอ้า, นั่นนั่งเก้าอี้สิ ถ้าอย่างนั้นนั่งเก้าอี้ หาเก้าอี้นวมที่ล้มไม่ได้มานั่งก็ได้ แต่ไม่เก่ง ไม่เก่งเท่าธรรมชาติ เท่าๆท่าของธรรมชาติที่มันล้มไม่ได้เองโดยธรรมชาติ นั่งเก้าอี้นวมมันก็ มันก็จะหลับเสียก่อน
ที่เมืองจีนก็เป็นปัญหาเหมือนกัน ไปที่เมืองจีน ไปที่เมืองจีน เมืองจีนเขาก็นั่งเก้าอี้เหมือนกัน เหมือนฝรั่งนี่ คนจีนเขาไม่ได้นั่ง ไม่ได้ ไม่ๆได้นั่งพื้นมากเหมือนกับญี่ปุ่นหรอก เพราะฉะนั้นพวกจีนก็มีปัญหาว่าจะนั่งอย่างไร ฉะนั้นในคัมภีร์ของจีน ในๆๆหนังสือของจีน คัมภีร์จีนเขาใช้คำว่าให้นั่งท่านั่งของชาวอินเดีย นี่ดูกันเถอะ ให้นั่งท่านั่งของชาวอินเดีย คือนั่งขัดสมาธิ ถ้านั่งอย่างท่านั่งของชาวจีนมันก็นั่งบนเก้าอี้ไม้ไผ่ เก้าอี้อย่างนั้นไม่ได้หรอก พอมันนี่มันล้มเลย มันล้มกลิ้งไปเลย ท่านั่งของชาวอินเดีย กระผมเห็นรูปหินสลักและรูปภาพหินสลักในประเทศอียิปต์ ที่เขาขุดค้นพบในประเทศอียิปต์ คือนั่งขัดสมาธิเพชรอย่างนี้เลย อย่างที่ๆเราเรียกขัดสมาธิเพชร ขาขัดกันอย่างนี้แล้วก็มืออยู่ที่เข่านี้ ไอ้รูปหินรูปนั้นเขาเขียนไว้ว่าสี่พันปี สี่พันปี หมายความว่าชาวอียิปต์รู้จักนั่งขัดสมาธิเพชรเมื่อสี่พันปี เขาสันนิษฐานว่าเป็นรูปพระเหมือนกัน เป็นรูปของพระของนักบวช นั่งท่าที่ว่าเมื่อจิต อ่า, จิตไม่ๆๆรู้สึกอย่างธรรมดาเรียกว่า Subconscious มันก็อยู่ของมันได้ไม่ล้ม ไม่ล้มก็แล้วกัน เมื่อจิตไร้สำนึกหรือกึ่งสำนึกก็จะไม่ล้มก็แล้วกัน เมื่อทำได้ ทำดี ทำได้แน่นแฟ้นแล้ว จะเปลี่ยนเป็นยืนก็ได้ หรือว่าเดินช้าๆในที่กำหนดไว้ก็ได้ หรือว่านอนในอิริยาบถนอนก็ได้ แต่ไม่ใช่หลับนะ เรียกว่าทำได้ทั้ง ๔ อิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน
ที่เขาเรียกว่าอาหารสบาย อากาศสบาย ไอ้สบายนั้นก็รู้เอาเองนะ อาหารที่มันสบายก็คือว่าอย่า อย่ากินอาหารที่มันทำให้เกิดง่วง หรือว่าเกิดไม่ปรกติในร่างกาย อย่าให้มันอิ่มอึดอัด ให้มันหลวมตามสบาย ใครมีปัญหาอะไรอีกว่าไป
ภิกษุถามปัญหา : ...(เสียงไม่ชัดเจน นาทีที่ 94:31-94:32) เรื่องการทำวิปัสสนาหรือการคิดเกี่ยวกับเรื่องต่างๆนี่นะฮะ ควรจะคิดเรื่องในปัจจุบัน คือ แล้วการคิดนี่จะต้องต่อเนื่องกับการทำสมาธิหรือเปล่า
ท่านพุทธทาส : อ้าว, คุณไม่ฟังหรือ จิตเป็นสมาธิแล้ว จึงน้อมไปเพื่อพิจารณา เพื่อวิปัสสนา ไอ้ๆๆหลักใหญ่เขามีอยู่ว่า เรากำลังรู้สึก จิตกำลังรู้สึกอยู่ในสิ่งใดจงดู มองๆดูไปยังสิ่งนั้นให้เห็นความไม่เที่ยงของสิ่งนั้น เช่น เราทำอานาปานสติ กำหนดลมหายใจยาว ลมหายใจสั้น ลมหายใจปรุงแต่งกาย ลมหายใจรำงับนี้ ก็ดูมันทั้งนั้นแหละ ลมหายใจยาวไม่เที่ยงอย่างไร ลมหายใจสั้นไม่เที่ยงอย่างไร ลมหายใจปรุงแต่งร่างกายไม่เที่ยงอย่างไร ลมหายใจรำงับอยู่รำงับอยู่อย่างไรและไม่เที่ยงอย่างไร นี้เวทนาเกิดขึ้น ในชั้นเวทนาน่ะ สุขเวทนาไม่เที่ยงอย่างไร ปีติไม่เที่ยงอย่างไร ปีติ ไอ้เวทนานี้ปรุงจิตใจอย่างไรคือไม่เที่ยงอย่างไร เวทนานี้ จิตตสังขารนี้ระงับลงไปอย่างไร ก็ดูความไม่เที่ยงของมัน ทีนี้ดูจิตทุกๆอย่าง จิตทุกๆชนิด ชนิดไหนก็ดูที่ความไม่เที่ยงของมัน นี่เรียกว่าดูความไม่เที่ยงทุกสิ่งที่ปรากฏอยู่กับจิตเมื่อทำวิปัสสนา ไม่ต้องน้อมไปข้างนอกทั้งนั้น มันไกลไป มันๆฟุ้งซ่าน เอาที่กำลังรู้สึกแจ่มแจ้ง ชัดเจน โชติช่วงอยู่ในใจดีกว่า เป็นลมหายใจก็ได้ เป็นลักษณะของลมหายใจก็ได้ เป็นการ หน้าที่การงานของลมหายใจก็ได้ อะไรที่มันปรากฏอยู่ในใจใน ๑๖ ขั้นนั้นนะ ดูเถอะ
คือทำสมาธิได้แล้ว เป็นสมาธิดีแล้วก็ย้อนมาตั้งต้นใหม่ กำหนดลมหายใจยาวใหม่ ลมหายใจสั้นใหม่ ลมหายใจปรุงแต่งกายใหม่ แล้วก็ดูทุกๆอย่าง ทุกๆขั้น ทุกๆอย่างว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร แล้วก็ย้อนกลับมาทำซ้ำอีกทีหนึ่ง เพื่อจะได้ดูทุกๆขั้นตอนว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร นี่มาถึงขั้น ๑๓ ขั้นที่ ๑๓ ซึ่งดูความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ เราลองย้อนกลับมาทำขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ อีกที เพื่อจะดูทุกๆขั้นตอนนั้นน่ะว่าไม่เที่ยงอย่างไร ถ้ามันเห็นความไม่เที่ยงของภายในหมด ก็ต้องเห็นความไม่เที่ยงของไอ้สุขเวทนาสูงสุดที่เกิดแต่สมาธิแล้ว มันก็ไปลบล้างไอ้อื่นๆทั้งหมดน่ะ ลบล้างความสุขชนิดอื่นทั้งหมดว่าไม่เที่ยง ว่าไม่น่า ไม่น่าหลงใหล ทำอย่างที่ว่า เที่ยวข้างในอยู่เรื่อย เฝ้าดูจิตอยู่เรื่อย จัดการให้มันอยู่ใน ในระเบียบ ในการควบคุม อย่าให้เป็นจิตเถื่อน จิตเถื่อนเหมือนที่มีอยู่ก่อนๆ เราเรียกว่าจิตเถื่อน จิตป่า เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นจิตบ้าน จิตเมือง จิตได้รับการอบรมดี
นิวรณ์ ๕ คงจะรู้จักกันแล้วทุกๆๆองค์ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ไปรู้จักมันเสียให้ดี ให้ดีที่สุด นั่นอันนั้นน่ะเป็นเครื่องวัด เป็นเครื่องวัดว่าเป็นสมาธิหรือ ถ้ายังมาให้เห็นอยู่ยังไม่เป็นสมาธิ กามฉันทะคือจิตที่มันไหลไปทางกามตามธรรมชาติของมัน นึกระลึกไปถึงกาม ถึงเพศตรงกันข้าม ในๆๆๆความหมายใดก็ได้ นั่นเรียกว่ากามฉันทะ แล้วพยาบาทก็คือหงุดหงิดขัดใจอะไรอยู่ เรื่องอะไรก็ได้ โกรธแค้นอะไรก็ได้ พยาบาทก็ได้ ขัด อึดอัดขัดใจไม่ชอบ รบกวน อะไรก็ได้ นี่คือความรู้สึกนั้นเป็นเรียกว่าพยาบาท ทีนี้ถีนมิทธะ คือจิตซบเซางัวเงีย ไม่มีกำลัง แล้วอุทธัจจกุกกุจจะนั้นตรงกันข้าม จิตฟุ้งซ่าน จิต จิตโจ้งๆ มีกำลังเกินไป แล้วอันสุดท้าย สิ อันที่ ๕ วิจิกิจฉานั้นคือความที่จิตมันไม่ยุติลงได้ว่าจะเอาอะไรกัน มันลังเลไปหมด แม้แต่ว่าไอ้ที่เรากระทำนี้มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ ถูกต้องหรือไม่นี้ ลังเลไปหมดนี่ มันไม่ไว้ใจ มันไม่เชื่อไอ้การกระทำ กระทั่งพลอยลังเลไปหมดแหละ ไอ้เรื่องประโยชน์ของธรรมะของอะไรมันก็พลอยลังเลไปหมด แต่ไอ้ลังเลโดยตรงก็คือว่า ไม่ๆเชื่อแน่ว่าสิ่งที่กระทำอยู่นี้ถูกต้องแล้ว มีประโยชน์แล้ว อ้าว, ต้องปิดประชุมแล้ว คุณจะได้ไปทันเวลาดับไฟเรียบร้อย
ภิกษุถามปัญหา : เดี๋ยวๆ ผมขอเน้นก่อน หมายถึงว่าถ้าเกิดทั้ง ๕ อย่างนี้เราสามารถระงับมันได้ก็ถือว่ามีสมาธิแล้ว
ท่านพุทธทาส : ถ้าไม่มี
ภิกษุถามปัญหา : อ๋อ, ถ้าไม่มีมันเลย
ท่านพุทธทาส : เออ, คุณฟังไม่ถูก ถ้ามีนิวรณ์นั่นน่ะคือไม่เป็นสมาธิ ถ้าไอ้สิ่งเหล่านี้ไม่มาเยี่ยมกรายก็แปลว่าจิตมันเป็นจิต เป็นจิตอิสระ เกลี้ยง มีความเป็นสมาธิตามต้องการ
ภิกษุถามปัญหา : แล้วไอ้เวลาล่ะครับ มันๆต้องแน่นอนเลยหรือเปล่าครับว่าเราทำ ถ้าเกิดเราทำเวลานี้ช่วง ๙ โมงถึง ๑๐ โมง
ท่านพุทธทาส : เออ, เรารู้สึกเองนี่ เรารู้เองนี่ มันสบายสะดวกสำหรับเราเวลาไหน ทำครั้งแรกนานเท่าไร แล้วยาวนานออกไปอีกเท่าไร ค่อยๆรู้เองเถอะ อย่าให้ใครมาบอกล่ะ
ภิกษุถามปัญหา : ทีนี้อยากจะทราบนิดหนึ่งว่า ขณะที่ทำสมาธินั้น ถ้าเราไม่หลับตาจะสามารถทำได้ไหม (เสียงไม่ชัดเจน นาทีที่ 102:30-102:31)
ท่านพุทธทาส : ไม่แน่ๆ บางคนก็ชอบหลับตา บางคนก็ลืมตา แต่เมื่อเป็นสมาธิแล้วมันหลับของมันเอง บางคนเขาชอบเพ่งดูจมูก เพ่งดูปลายจมูก ลืมตาแต่ไม่เห็นอะไร ลืมตาแต่ไม่เห็นอะไร ไปลองดู ลืมตาชนิดที่ไม่เห็นอะไร เพื่อไม่ให้ง่วงนอน เพื่อให้ตามันเย็น ให้ลมมันเป่าตาอยู่เสมอ ตามันเย็น ถ้าหลับตาตามันร้อน มันร้อนเร็ว มันร้อนกว่า พวกอินเดียเขานิยมลืมตานะ แล้วก็มันจะหลับของมันเองเมื่อมันเป็นสมาธิ ผมพูดได้แต่หัวข้อนะ รายละเอียดคุณไปย่อยเอาเอง เอ้า, นิมนต์.