แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ถึงท่านพระวิปัสสนาจารย์และท่านที่สนใจในเรื่องของวิปัสสนาทั้งหลาย ในการพูดกันวันนี้ก็คือเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับที่พูดมาแล้ว เพื่อความก้าวหน้าออกไป ใจความสำคัญตั้งแต่ต้นมาก็คือว่า เรารู้ว่าธรรมชาติของจิตนั้นเป็นประภัสสร คือเกลี้ยงจากกิเลสอยู่ ส่องแสง ส่องรัศมีอยู่ พออุปกิเลสเกิดขึ้น เรียกว่าเหมือนกับอาคันตุกะเข้ามา มันก็เศร้าหมอง ทำไมคำนี้ท่านจึงต้องใช้คำว่า อาคันตุเกหิ นั่นแหละเป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจ คือท่านใช้คำว่า เมื่ออุปกิเลสเป็นอาคันตุกะเข้ามา ก็เพื่อจะแสดงใจความเฉพาะว่า มันเหมือนกับอาคันตุกะ คือแขก ขึ้นชื่อว่าแขก ไม่ได้อยู่ประจำ ถ้าเข้ามาอยู่ประจำก็ไม่เรียกว่าอาคันตุกะ เพราะเหตุที่อุปกิเลสนี้ไม่ได้มาอยู่ประจำ มาชั่วคราวแล้วก็จะไป ดังนั้นจึงเรียกได้ว่าอาคันตุกะ นี้มันเป็นการให้กำลังใจให้ความแน่ใจว่า ยังไงๆ มันก็ต้องไปแหละแขก ถ้าเราไม่ต้องการให้มาก็อย่าให้มา ให้อุปกิเลสที่เป็นอาคันตุกะนี้เป็นสิ่งที่ต้องกลับไป เมื่อผู้มาเยี่ยมชั่วคราว เมื่อเรามีวิธีทำชนิดที่ไม่ให้มา มาไม่ได้ คือให้จิตนี้อยู่ในสภาพที่ไม่ต้อนรับอาคันตุกะ ไม่ต้อนรับแขก คือมันจะไม่รับอารมณ์ทางตาทางหู เป็นต้น มาปรุงขึ้นเป็นกิเลส แล้วเราจะทำอย่างไร จิตนี้มันจึงจะเปลี่ยนสภาพไปอยู่ในลักษณะที่ไม่รับแขก แขกมาไม่ได้ ก็ไม่รับแขก นี่ก็พูดเป็นอุปมาๆ คล้ายกับเป็นภาพพจน์
ทีนี้ก็มีเรื่องให้ต้องคิดว่าแขกมาแล้วจะทำอย่างไร จะเชิญกลับไปอย่างไร จะป้องกันไม่ให้มาอย่างไร นี่มีบาลีที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัดเจนนี่ที่จะอ่านให้ฟัง คือว่าความโลภเป็นสิ่งลามก โทสะเป็นสิ่งลามก เพื่อจะละเสียซึ่งความโลภ เพื่อจะละเสียซึ่งโทสะ นี้มัชฌิมาปฏิปทา เป็นเครื่องละ เป็นเครื่องที่จะทำให้เกิดจักษุ เป็นเครื่องที่จะทำให้เกิดญาณ คือเป็นไปเพื่อความระงับ เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง เป็นไปเพื่อรู้พร้อม เป็นไปเพื่อนิพพาน มัชฌิมาปฏิปทาเป็นอย่างไรเล่า ที่เป็นเครื่องให้เกิดจักษุ ให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อสงบ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อรู้พร้อม เพื่อนิพพาน นั้นได้แก่ อริยะอัฏฐังคิกมรรค สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี่แหละมัชฌิมาปฏิปทาที่จะละเสียซึ่งโลภะโทสะ และต่อจากนั้นก็ตัดอุปกิเลสเป็นคู่ๆ ไป ไม่ว่าโกธะมันเป็นคำลามก เป็นอุปนาหะเป็นคำลามก มักขะ เป็นคำลามก ปลาสะเป็นคำลามก อิจฉาเป็นคำลามก มัจฉริยะเป็นคำลามก มายาเป็นคำลามก สาเถยยะเป็นคำลามก ถัมภะเป็นคำลามก สารัมภะเป็นคำลามก มานะเป็นคำลามก อติมานะเป็นคำลามก มทะเป็นคำลามก ปมาทะเป็นคำลามก เรียกว่าตัดอย่างเดียวกัน มัชฌิมาปฏิปทา เป็นเครื่องละ ๘ คู่ก็เป็น ๑๖ ก็คืออุปกิเลสที่อยู่ในนวโกวาทนั่นเอง นี่คือว่าอุปกิเลส ๑๖ นวโกวาท มันมีที่มาอย่างนี้ แล้วก็จะตรัสว่า มัชฌิมาปฏิปทาเป็นเครื่องละ มัชฌิมาระบุถึงขนาดที่จะเป็นจตุกรณีญานะ ทีนี้เราก็จะพูดอย่างนี้กัน คือว่าที่มาทำจิตประภัสสรให้เศร้าหมองไป คือกิเลสที่แจกออกไปได้ เป็น ๑๖ อย่าง ที่แท้มันก็ ๓ โลภะ โทสะ โมหะ ๓ เพียงแต่ว่า ๓ นั้นมันแจกรูปออกไปได้จนกระทั่งนับได้ ๑๖ ล้วนแต่ทำให้จิตประภัสสรเศร้าหมองได้ทั้งนั้น ที่จะละเสียซึ่งอุปกิเลสเหล่านั้นก็ต้องมีมัชฌิมาปฏิปทาซึ่งเราเรียกกันว่าอริยมรรคมีองค์ ๘
เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ก็ต้องจะรู้จักสิ่งทั้ง ๑๖ นี้ให้ดีๆ ต้องรู้จักที่มันมีอยู่ในใจเรา ไม่ใช่รู้จักที่มีอยู่ในนวโกวาท มันเกิดขึ้นในใจเราเมื่อไรให้รู้จักมันให้อย่างชัดเจน ในนวโกวาทข้อแรก เขาเรียก อภิชฌาวิสมโลภะ วิสมโลภะ ในบาลีนี้มีแต่โลภะเฉยๆ โลภะ โทสะ อย่างไรว่าโลภะ อย่างไรว่าโทสะ นี่ดูก็ดูไม่ค่อยจะยาก โกธะ ความโกรธ อุปนาหะ ผูกโกรธ มักขะ หลู่คุณท่าน ปลาสะแข่งดี อิสสา อิจฉาริษยา มัจฉริยะ ตระหนี่ มายา ไม่ตรง มายา สาเถยยะ โอ้อวด ถัมภะ หัวดื้อ สารัมภะ บิดพลิ้ว มานะ ถือตัว อติมานะ ดูหมิ่นเขา มทะ มัวเมา ปมาทะ มัวเมาสุดเหวี่ยงกระทั่งแปลว่าเลินเล่อ มทะแปลว่าเมา ปมาทะแปลว่า เมาเต็มที่ ก็ยิ่งกว่านั้น ขอให้นึกถึงตัวปัญหาไว้ด้วยว่า เราจะต้องขจัดอุปกิเลสที่เป็นอาคันตุกะออกไป ในที่นี้ท่านตรัสให้ใช้อัฏฐังคิกมรรค มีมรรคเป็นองค์ ๘ มีมัชฌิมาปฏิปทาเป็นเครื่องมือ
นี้จะพูดให้มันเชื่อมกันได้อย่างไร มีพระบาลีอีกแห่งหนึ่งได้กล่าวไว้เป็นหลักว่า เมื่อใดจิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่น คือว่างจากอุปาทานโดยประการทั้งปวง เมื่อนั้นเรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค สมบูรณ์ ฟังดูให้ดี คือท่านเอาผลเข้ามาเป็นเครื่องวัดว่า เมื่อใดจิตนี้ว่างจากการยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน จิตว่าง ก็จากนั้น คือไม่ได้ยึดถือ คือไม่มีกิเลส ท่านใช่คำเฉพาะสังเกตว่า เมื่อมันว่างจากอุปาทานเมื่อนั้นเรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค สมบูรณ์ทั้ง ๘ ประการ นี่มันเป็นเรื่องในบาลีท่านมักกล่าวอย่างนี้ คือท่านไปพูดผลเมื่อใดจิตว่างจากอุปาทานเมื่อนั้นมีมรรคทั้ง ๘ องค์อยู่นั่น เรามันอาจจะเข้าใจผิดว่า ถ้าว่างแล้วคือไม่มีอะไร ว่างจากอุปาทานไม่ยึดถืออะไร แต่นี่ธรรมะท่านบอกว่าเมื่อมันว่างจากอุปาทานนั่นแหล่ะมันมี อัฏฐังคิกมรรค โดยสมบูรณ์ นั้นมันจะลงมาจากทางกลายไปได้ คือทำให้ว่างโดยวิธีใดๆ ก็มีผลเป็นความว่างแล้ว มีองค์แห่งมรรคครบทั้ง ๘ องค์ คำว่าว่าง ว่างนี้ พระบาลีตรัสไว้สั้นๆว่า เห็นโลกโดยความเป็นของว่าง โลกคือสิ่งทั้งปวงรอบตัวเราที่เราจะรู้ได้โดย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ ทั้งหมดนั้นเรียกว่า โลก คือได้เห็นโลกว่าง นี่เขาเรียกว่า ว่างจากอะไร โลกว่าง ว่างจากอะไร ว่างจากตัวตน ว่างจากของตน คือจิตไม่ได้เอาอะไร อารมณ์อะไร โดยความเป็นตัวตน หรือโดยความเป็นของตน เป็นว่าโลกนี้ว่างจากตัวตน ว่างจากของตน มันก็เลยไม่มีอะไรที่จะยึดถือได้ ถ้ามีปัญญาเห็นโลกโดยรอบนี่มันว่างจากตัวตน ว่างจากของตน ไปเสียทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว มันก็ไม่รู้จะยึดถืออะไร เมื่อมันไม่ยึดถืออะไรก็เรียกว่ามันว่าง จิตนั้นมันว่าง นี่คือจิตไม่ยึดถือสิ่งใดในความเป็นตัวตนของตน เมื่อนั้นเรียกได้ว่ามีอัฏฐมีองค์มรรคครบทั้ง ๘ ที่อยู่ว่างไม่ยึดถืออะไร ท่านจัดว่ามันถูกหมดทั้ง ๘ พอไม่ยึดถือ พิสูจน์อยู่แล้วมีสัมมาทิฐิ มีผลของสัมมาทิฐิ เพราะมันไม่ยึดถืออะไรไว้ก็หมายความว่าได้เข้าใจสิ่งต่างๆ ถูกต้องดี เห็นชอบ เมื่อเห็นว่างอยู่อย่างนี้ ก็ดำริชอบ มันดำริไปตามความหมาย ความว่าง เพราะฉะนั้นมันดำริผิดไม่ได้ เพราะมันเห็นเห็นความว่างอยู่ มันจะดำริให้กิเลสเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาไม่ได้
ทีนี้วาจาของผู้ที่เห็นสิ่งสมควรแก่ความเป็นของว่างนี่ ถือว่าวาจาชอบ แม้มันนิ่งอยู่ แม้มันไม่ได้พูดก็เถอะ มันมีวาจาชอบ ถ้ามันพูดออกมา ก็ไม่ต้องชอบ เพราะมันเห็นความว่างในสิ่งทั้งปวงอยู่ มันก็ต้องพูดไปตามความรู้ที่มีอยู่ว่าในสิ่งทั้งปวงเป็นของว่าง ที่ถือวาจาชอบก็มี วาจาชอบอยู่ด้วย กัมมันตะ กัมมันโต มันก็มีอยู่อย่างเดียวกัน เดี๋ยวนี้ไม่ได้ทำอะไร ก็มีผลเท่ากับว่าทำชอบ จะให้ทำอะไรก็ทำชอบ เพราะมันทำชอบไปตามความรู้ รู้เห็นของว่าง มันจะทำเป็นมิจฉาไม่ได้ จึงถือว่ามิจฉา และว่าสัมมากัมมันโตก็มีอยู่ มีสัมมาอาชีโว ดำรงชีวิตก็ชอบ เพราะมันเห็นว่างอยู่ก็ทำผิดไม่ได้ สัมมาวายาโม มันก็เท่ากับเพียรพยายามอยู่อย่างชอบเพราะมันมีผลของความเพียรนั้นแล้ว เพียรก็เพื่อเพื่ออันนี้ เมื่อมันก็มีอันนี้อยู่แล้วว่าเท่ากับว่ามีความเพียรอยู่แล้ว สัมมาวายาโมจึงมีอยู่ สัมมาสตินี่ คือสมสตินี่ เห็นอยู่อย่างนี้รู้อยู่อย่างนี้ ควบคุมอย่างนี้ คือสัมมาสติ สัมมาสมาธิ คือจิตหยุดแน่วแน่ ตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ เพราะความที่มันเห็นว่าง
ฉะนั้นก็จะพูดให้มันง่าย เมื่อจิตว่างจากอุปาทาน ไม่ยึดถือสิ่งใดๆ แล้วก็นั้น คือความสมบูรณ์แห่ง อัฏฐังคิกมรรค คนที่ไม่รู้ก็เข้าใจว่าก็ไม่มีอะไรจะมีอัฏฐังคิกมรรคอย่างไร ไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ปฏิบัติอะไร แต่โดยเนื้อแท้แล้วมันมีผลแห่งการปฏิบัติอัฏฐังคิกมรรคโดยสมบูรณ์จึงเรียกว่ามีอัฏฐังคิกมรรค และเมื่อมีอัฏฐังคิกมรรคอยู่อย่างนี้กิเลสไหนมันจะเข้ามาได้ มันจะเกิดเข้ามาได้ ก็มีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เต็มบริบูรณ์อยู่อย่างนี้ กิเลสไหนมันจะงอกขึ้นมาได้ เรียกว่าเมล็ดพืชชนิดไหนที่จะงอกขึ้นมาท่ามกลางไฟได้ มันก็ไม่ได้ นี้ความสมบูรณ์ของอัฏฐังคิกมรรคก็เป็นตบะเหมือนกับไฟ กิเลสไหนมันจะโผล่หน่อขึ้นมาได้ ก็ไม่ได้ นี่เข้าใจอย่างนี้ เป็นหลักพื้นฐานไว้ก่อน
ทีนี้อย่าลืมว่าที่เราทำวิปัสสนานั้น เมื่อทำถูกต้องแล้วมันจะมีอัฏฐังคิกมรรคอยู่ในวิปัสสนานั้น แต่ทำวิปัสสนาแบบไหนเมื่อเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจะต้องคลายกำหนัด เป็นนิพพิทา เบื่อหน่าย ราคะ คลายกำหนัด มีโกธะ ดับลงไป มันก็หาพบองค์มรรคทั้ง ๘ อยู่ในอาการการกระทำอย่างนั้น นี่เรียกจะเอาเปรียบกันสักหน่อย จะพูดอย่างนี้ว่าเมื่อเรานั่งเจริญวิปัสสนาอยู่ยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน เมื่อนั่งวิปัสสนาอยู่กิเลสมันก็เกิดไม่ได้ ก็มันมีลักษณะแห่งอัฏฐังคิกมรรคสมบูรณ์ นั่งสมาธิอยู่ที่โคนไม้ ปฏิบัติอยู่ตามลำดับ กระนั้นก็เรียกได้ว่ามันมีสัมมาทิฐิ เพราะมันรู้ว่าควรทำและก็มาทำอยู่ รู้ว่าจะดับทุกข์ และมันก็มีความดำริมุ่งหมายจะดับทุกข์ นี้วาจาเท่านั้นไม่ได้พูด ถ้าพูดมันก็ต้องพูดชอบเพราะว่าจิตมันเป็นสัมมาทิฐิถูกต้องอยู่ การกระทำ กัมมันตะ มันไม่ได้มีเคลื่อนไหวกระทำแต่ถ้าทำมันก็ทำถูกต้องนั้น แม้มันไม่ได้พูด แม้มันไม่ได้ทำ แต่เวลานั้นมันก็มีผลเท่ากับว่า มีความถูกต้องอยู่ทั้งของวาจา ทั้งของกัมมันตะ อาชีวะก็เหมือนกัน อาชีวะนี้บางคนเขามุ่งหมายแต่เพียงอาชีพ ไปค้าอาหารกิน เรียกว่าอาชีวะ ถือเพียงเท่านั้นก็ได้ มันก็คือชอบ เพราะเรามานั่งตรงนี้ทำมิจฉาชีวะไม่ได้ ในเมื่อทำอยู่อย่างนี้ มันก็เป็นสัมมาอาชีวะ แต่ว่าคำว่าสัมมาอาชีวะหรืออาชีวะ คำนี้มันกว้างกว่าที่จะหาเลี้ยงชีวิต มันหมายถึงการดำรงอยู่ ทรงอยู่ รวมถึงการเลี้ยงชีวิตด้วย เรามีการดำรงชีวิตอยู่ด้วยกินอาหาร ด้วยนุ่งห่ม ด้วยจับนั่น ทำนั่น มีนั่น มีนี่ ที่อยู่อาศัยอะไรก็ตามที่มันเป็นเครื่องให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ก็เรียกว่าอาชีวะได้ แปลว่าดำรงชีวิตอยู่ชอบ มันก็มี ทีนี้ทำที่อยู่ สัมมาวายามะ เห็นชอบอยู่อย่างโดยตรงแล้ว สัมมาสติ นี่มันทำด้วยสติ วุ่นอยู่ด้วยสติก็มีสัมมาสติ ตอนนั้นก็เป็นสัมมาสมาธิ เพราะทำสมาธิอยู่ ทั้งหมดทุกองค์ ทุกการกระทำ มันมุ่งผล คือดับทุกข์ คำว่าสมาธินี้ เมื่อถามว่าสมาธิคืออะไร ตามพระบาลีพุทธภาษิตโดยตรงท่านว่า เอกัคคตาจิต ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์นั้นคือสมาธิ นี่ข้อนี้สำคัญมากนะช่วยๆ จำให้ดี เอกัคคตาจิต ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ นิพพารามันนะ เอกัคคตาจิตตัง สมาธิ จิตที่เป็น เอกัคคตา แล้วก็มียอดเดียวแหลมนั้น นั้นมันคือความที่มีอะไรเป็นอารมณ์เดียวแล้วมันเป็นเอกัคคตา ที่ เอกัคคตานั้นมีนิพพานเป็นอารมณ์ จึงเรียกว่าเอกัคคตา จิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์นั้น คือสมาธิ นี้ถ้าเราเรียนมาจากนวโกวาทหรือธรรมวิภาคเราจะไม่เคยได้ยินคำอย่างนี้ เราจะได้ยินว่า มีอสุสิบ มีกสิณสิบ มีอนุสติเป็นอารมณ์ หรือว่าแม้แต่จะทำอาณาปนสติ ก็มีลมหายใจเป็นอารมณ์ นั้นมันไม่รู้เรื่องการปรับความเข้าใจกันไม่ได้ คำว่าอารมณ์มันยังมีความหมายกว้างกว่านั้น หมายความว่าที่เราจะทำกสิณเป็นอารมณ์ อสุภเป็นอารมณ์ แต่แล้วเพื่อผลคือนิพพานตอนสุดท้ายนั้น จุดหมายปลายทางอยู่ที่พระนิพพานที่ต้องการจำได้ในอันดับสุดท้าย
ฉะนั้นจะทำสมาธิชนิดไหน แบบไหน มีอะไรเป็นอารมณ์ อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ แต่ว่าอารมณ์จริง อารมณ์สุดท้ายนั้นคือพระนิพพาน เราจะทำอาณาปานสติหรือทำกรรมฐานแบบไหนก็ตามก็มุ่งหมายไปนิพพานกันทั้งนั้น ท่านจึงพูดกันให้ชัดเลยว่า เอกัคคตาจิตที่มีมุ่งต่อนิพพานเป็นอารมณ์นั้นคือสมาธิ แล้วก็ดำรงสมาธิ ดำรงจิตอยู่ที่อารมณ์เดียวเป็นสมาธิ โดยมีหวังว่าจะบรรลุนิพพานในอันดับสุดท้าย นี่จะเห็นว่าได้พูดหมดครบ สิ้นเชิง สูงกว่า ลึกกว่า ถ้าเขาถามว่าสมาธิคืออะไร ตอบว่า สมาธิ คือเอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ก็ถ้าจะสมาธิคือจิตที่ตั้งมั่น เท่าไม่ได้ตอบอะไร จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิโดยมุ่งหมายอารมณ์สุดท้าย คือพระนิพพาน
ฉะนั้นถ้าว่าทำสมาธิเพื่ออย่างอื่นก็ไม่ใช่สมาธิที่ถูกต้องในที่นี้ ถ้าเขาจะทำสมาธิเพื่อมีฤทธิ์ มีเดช มีปาฏิหาริย์หรือมีอะไรก็ตามใจเขา นั้นสมาธิแบบของเขา ของบุคคลนั้นที่เขาต้องการในกรณีนั้น ส่วนในกรณีนี้ของเรา ทำสมาธิเพื่อนิพพานเป็นอารมณ์ หรือถ้าจะให้พูดเท่าที่สังเกตเห็นก็พูดได้ว่า พุทธบริษัทเรา ที่ถูกที่แท้แล้วทำอะไรจะมีนิพพานเป็นอารมณ์กันทั้งนั้น จะไม่มีสวรรค์วิมานเป็นอารมณ์ จะไม่มีเรื่องสวยงามอะไรเป็นอารมณ์ จะมีนิพพานเป็นอารมณ์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะให้ทาน ถ้าว่าเขาทำถูกต้อง เขาให้ทานเพื่อสิ้นกิเลสอาสวะกันทั้งนั้นแหละ เขาไม่ใช่เพื่อแลกเอาสวรรค์วิมานเหมือนบางพวกหรอก พุทธบริษัทที่แท้จริงเขาทำทานเพื่อการสิ้นอาสวะ อิทังวะกะเมทานัง อาสวะกะยาวะหัง โหตุ นั้น เขาว่ากันอย่างนี้ ให้ทานนี้เป็นไปนำมาซึ่งการสิ้นอาสวะ ถ้าทำทานแล้วปรารถนาสวรรค์วิมาน มันก็อีกเรื่องหนึ่ง ไม่ได้ปรารถนานิพพาน นี้จะถือว่าไม่ใช่บริษัท ไม่ใช่พุทธบริษัทที่แท้จริง พุทธบริษัทที่แท้จริงจะรักษาศีล จะให้ทาน จะให้ทานก็เพื่อนิพพาน รักษาศีลก็เพื่อนิพพาน ทำสมาธิก็เพื่อนิพพาน ทำวิปัสสนาก็เพื่อนิพพาน หรือจะทำอะไร จะแจกชื่อมาเถอะ มันก็เพื่อนิพพานอันสุดท้ายทั้งนั้น แม้แต่การบวชนี่ก็เพื่อนิพพาน ทำนิพพานให้แจ้ง ก็พึ่งมาเปลี่ยนคำบรรพชาอุปสมบทเป็นแบบใหม่นั้น แบบที่ใช้กันอยู่เดี๋ยวนี้ เอสาหัง ถ้าเป็นแบบเก่า แบบก่อนนี้จะมีคำว่า นิพพานะสัชฌิกะระถายะ เอถังกาสาวังกะฐา จะออกที่ว่า นิพพานะสัชฌิกะระถายะ นี่ ๔ ครั้งก็จะเสร็จการบวช ผมเองนี้เมื่อบวช ก็บวชแบบโบราณ ยังรู้อยู่ รู้ๆ อยู่ บวชแบบ อุกาสะวันทาวิภันเต ต้องออกชื่อว่า นิพานะสัชฌิกะระถายะ ๔ ครั้ง เดี๋ยวนี้ไม่ได้บวชกันแบบนี้ก็เลยไม่ค่อยรู้เรื่อง จึงเอามาบอกให้รู้ว่า พุทธบริษัทนี้แม้บวช สักว่าบวชก็บวชก็เพื่อมุ่งนิพพาน ให้ทานก็เพื่อนิพพาน รักษาศีลก็เพื่อนิพพาน สมาธิปัญญาก็เพื่อนิพพาน อะไรก็เพื่อนิพพาน เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงว่า สมาธิคือเอกัคคตาจิตที่แน่วแน่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าแปลว่าให้เรารู้สึกอยู่ในใจเสมอว่า ทุกอย่างนี่มันต้องการนิพพาน ต้องการเพื่อจะช่วยให้ถึงนิพพาน จะไปไหน จะมาไหน จะนั่งอยู่ที่ไหน อยากจะ อันนั้นก็ขอให้มันแน่เข้าไปว่า ทำนี่เพื่อถึงนิพพาน แม้แต่จะฉันข้าวนี่ ก็ฉันข้าวเพื่อปฏิบัติ เพื่อมีแรงปฏิบัติไปนิพพาน หรือว่าจะไปบิณฑบาตนี้ รู้สึกตัวว่า นี่ไปหาข้าวกิน แล้วก็ชีวิตอยู่เพื่อปฏิบัติไปนิพพาน จึงพูดว่า แม้แต่บิณฑบาตก็เพื่อนิพพาน เมื่อมาสวนโมกข์นี่ก็เพื่อจะความรู้อะไรบางอย่างหรือหาอะไรก็ตามใจบางอย่างเพื่อช่วยเหลือแก่ความรู้เพื่อจะไปนิพพาน การเคลื่อนไหวทุกชนิดให้ถูกตรงตามวัตถุประสงค์ของพุทธบริษัทแล้วมันก็ต้องเพื่อไปนิพพาน ตรงนี้อยากจะขอแทรก สอดแทรกหน่อยว่า คำพูดที่เราใช้พูดกันอยู่นี้ มันไม่ค่อยถูก ยิ่งที่พูดกันอยู่เป็นพื้นบ้านก็จะผิดมากทีเดียวเทียว ไปนิพพาน ที่พูดอย่างสะเพร่าเลินเล่อที่สุด คือพูดว่าไปนิพพาน เพราะว่านิพพานมันไม่ต้องไป ไปมันก็ไม่ถึง เพราะนิพพานมันไม่มีอยู่ที่ตรงไหนที่ต้องไปหา มันต้องให้กิเลสหมดลงที่ตรงนี้เดี๋ยวนี้ ใช้คำว่า ปัตตัง แปลว่า บรรลุ บรรลุ อย่าให้มีตัวตนเหลืออยู่ แล้วก็ว่างไปเลย ไม่ไปไหน นั่นก็คือนิพพาน ถ้าพูดว่าไปนิพพาน เขาเรียกว่า โลกียะโวหาร ใช้พูดอย่างภาษาคนธรรมดาพูด เป็นโลกียะโวหาร อย่าไปยึดถือความหมายว่า ไป เดี๋ยวจะเตรียมตีนเดิน เตรียมเรือไป เตรียมอะไรกันไป มันก็ไม่ถึง เพราะมันไม่ถึงได้ด้วยการไป มีอยู่สูตรหนึ่งพูดไว้ชัดว่า นิพพานไม่ถึงได้ด้วยการไป นิพพานทำให้อุปกิเลสมันเกลี้ยงไปจากจิต
ทีนี้จิตประภัสสร มันจะเป็นประภัสสรตลอดกาล นั้นคือเป็นพระนิพพาน เป็นที่ตรงนั้น อยู่ที่ตรงไหน ดับได้ที่ตรงไหนก็เป็นที่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่ไปหรือมาหรืออะไรทำนองนั้น ที่นี้เขาพูดให้มันเป็นภาษาธรรมดา เป็นพูดว่าไป ไปสู่พระนิพพาน ไปสู่พระนิพพาน เลยเข้าใจผิดคิดจะเดินทาง เดินทางไกล ที่เขาเปรียบเปรียบเหมือนกับเดินทางไกล เพราะว่ามันยาก มันต้องลำบาก มันต้องทำมาก ทำนาน ทำนาน จนเปรียบเหมือนกับเดินทางไกลไปนิพพาน แต่ที่จริงมันไม่ได้ไป มันไม่ได้เหมือนกับเดินทางไกลไปๆๆ มันกลายเป็นว่า ปลดออกๆๆ จนหมด ทีนี้มันก็ถึงกันที่ตรงนั้น ปลดอะไรออกก็ปลดอุปกิเลสเหล่านี้ที่ว่า นี้ปลดด้วยอะไร ก็ปลดด้วยอัฏฐังคิกมรรค อริยมรรคมีองค์ ๘ เมื่ออริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว กิเลสนี่มันเกาะไม่ติด มันเกาะจิตไม่ติด มันก็หลุดไปเอง หรือที่มันจะปรุงขึ้นมาใหม่เป็นกิเลสใหม่ มันก็ปรุงขึ้นมาไม่ได้ เพราะว่าการอยู่โดยอัฏฐังคิกมรรคนี่มันไม่ให้โอกาสแก่จิตที่จะปรุงกิเลสขึ้นมา นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก กระทั่งสังเกตดูให้เห็นว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นอย่างไร ถ้าอยู่อันนั้นอย่างนั้นแล้วกิเลสมันจะปรุงขึ้นมาไม่ได้ ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นและไม่มีกิเลสเหลืออยู่หรือเกาะอยู่ นี่อัฏฐังคิกมรรคนี่ก็สร้างขึ้นได้ ทำให้มีขึ้นมาได้ คือการเจริญนั่น เจริญ ทำให้มีขึ้นมา ที่เอาจริงเอาจังที่สุด ที่เร็วที่สุดหรือว่าทำกันอย่างจริงจังที่สุดก็คือทำวิปัสสนานี่แหละ ทำวิปัสสนา ขอให้ทำให้ถูกต้องเถอะ มันจะเกิดอริยมรรคมีองค์ ๘ ครบขึ้นมา เหมือนกับพูดให้ฟังเมื่อสักครู่นี้แล้วนี่ว่าเรานั่งเจริญสมาธิภาวนาพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุญญตาอยู่ เพ่งพิจารณาอยู่อย่างนี้ แล้วก็มีธรรมมะอยู่ในนั้นครบหมดแหละ จะครบหมดยิ่งกว่ามากกว่า ๘ อีก คือครบทั้ง ๓๗ โพธิปักขิยธรรมก็ได้ เดี๋ยวนี้เราเพียง ๘ เมื่อนั่งเจริญวิปัสสนาอยู่อย่างถูกต้อง ก็มองดูเถอะ มีมิจฉาทิฐิ มีสัมมาทิฐิ มีมิจฉาสังกัปโป ก็มีสัมมาสังกัปโป มันก็มีสัมมาสังกัปโป สัมมาวาจามีอยู่โดยอัตโนมัติ สัมมากัมมันโตมีอยู่โดยอัตโนมัติ สัมมาวายาโมมีอยู่โดยอัตโนมัติ คือไม่ทำผิดเรื่องวาจา เรื่องกัมมันตะ เรื่องอาชีวะ จึงเรียกว่ามีสิ่งเหล่านี้ในฐานะเป็นเจตสิกธรรม ชื่อนั้นอยู่ในจิต มีสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว ทีนี้ตรงที่นั่งนิ่งๆ อย่างนี้หลับตาดู อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันนั้นก็เรียกว่ามีสติ มีวายามะ มีสติ มีสมาธิ เต็มที่ นี้เราให้ดูแต่เพียงแค่ ๘ อย่าง คือเป็นองค์แห่งมรรค ถ้าจะไปดูถึงเรื่องอิทธิบาท ๔ มันก็มีครบ ๔ อินทรีย์ ๕ ก็มีครบ ๕ พละ ๕ มันก็มีครบ ๕ โพชฌงค์ ๗ ก็มีครบ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ครบอยู่ แก่ภิกษุผู้นั่งหลับตาเจริญภาวนาอยู่นั่นเอง อยู่ตรงนั้นนั่นเอง นี่อยู่อย่างมีอัฏฐังคิกมรรคครบถ้วนอยู่ กิเลสเกิดไม่ได้ เหมือนกับพระบาลีนี้ ที่ว่า ๑๖ อย่างนั้น มันจะถูกอัฏฐังคิกมรรคกำจัดออกไป
ทีนี้ก็ควรจะนึกถึงพระพุทธภาษิตอีกข้อหนึ่งที่ว่า อิเมเจสุภัทถะวิทูสัมมาวิหะระยู สังโยโลโกอะระหันเตอิหัสสะ ประโยคนี้พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อจะไปนิพพานอยู่หยกๆ แล้ว ตรัสกับสุภัทะปริภาชกที่มาขอบวชเป็นคนสุดท้าย ถ้าภิกษุเหล่านี้จักเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์ อาจจะเข้าใจผิด ตีความผิดเป็นอย่างอื่นไปก็ได้ เดี๋ยวนี้ขอให้รู้กันเสีย ให้เข้าใจกันเสียว่า ที่ว่าถ้าภิกษุทั้งหลายจักเป็นอยู่โดยชอบไซร้นี่ ก็นั่งนิ่งๆ อยู่อย่างที่ว่าก็ได้ นั่งนิ่งๆ อยู่อย่างที่ว่าก็มี อัฏฐังคิกมรรคครบทั้ง ๘ องค์ นี่เรียกว่าอยู่ชอบ เป็นอยู่โดยชอบ สัมมาเหมือนกัน ใช้คำว่าสัมมาโดยชอบ สัมมาวิหะเรยยุง สัมมาวิหาโร มีวิหารธรรมโดยชอบมีสัมมาๆ ๘ สัมมาที่เป็นองค์มรรคนี่เป็นอยู่ชอบ เมื่อเป็นอยู่ชอบโลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ จะมีพระอรหันต์เกิดขึ้นเรื่อยไป เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าเมื่ออยู่โดยชอบนี่ มันอยู่ด้วยองค์มรรค ๘ ประการ เมื่ออยู่ในองค์มรรค ๘ ประการ กิเลสมันเกิดขึ้นไม่ได้นี่ มันไม่มีทางจะเกิดใหม่หรือไม่มีทางจะเหลืออยู่ ไม่เป็นโอกาสที่จะปรุงจิตขึ้นมาได้ เพราะว่าเรามันเป็นอยู่โดยชอบ เหมือนกับว่าเราเป็นอยู่โดยชอบแล้วโรคภัยไข้เจ็บมันเกิดไม่ได้อย่างนั้นแหละ มีความเป็นอยู่โดยชอบตามอริยมรรคมีองค์ ๘ นี่ กิเลสก็เกิดไม่ได้ มันมีลักษณะป้องกัน มีลักษณะทำลาย มีลักษณะไม่ให้โอกาส มีลักษณะไม่เป็นปัจจัย แก่การเกิดของกิเลส อยู่ให้ถูกต้องโดยอริยมรรคมีองค์ ๘ มันไม่ให้ปัจจัยแก่กิเลส ไม่ให้อาหารแก่กิเลส กิเลสก็เกิดไม่ได้นี่ เกิดไม่ได้ มันไม่ได้อาหาร มันก็ผอมลง เหมือนว่ากิเลสมันเกิดไม่ได้ทุกคราที่มันควรจะเกิดก็เกิดไม่ได้ อนุสัยมันลดลง อนุสัยในสันดานมันลดลงๆๆ จนมันหมด ไม่มีอาสวะกิเลสไหลออกมา ขอให้เป็นอยู่ชนิดที่ยังไม่เกิดกิเลส แล้วมันลดอนุสัยของมันเอง มันลดอนุสัยความเคยชินแห่งกิเลสเอง ลดๆๆๆ จนไม่เหลืออยู่ มันก็ไม่มีอาสวะก็คือสิ้นอาสวะ ขอให้เป็นอยู่โดยชอบอย่างที่ว่านี้ โลกนี้ก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์ ทีนี้ขอย้ำอีกทีว่าที่เราเป็นอยู่โดยชอบ เป็นอยู่โดยชอบนั้น เป็นอยู่โดยชนิดที่มีอัฏฐังคิกมรรค มีอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้วเวลาไหนที่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ เต็มที่ คือเวลาทำวิปัสสนานั่นเอง ฉะนั้นขอให้สนใจ ตั้งใจทำการวิปัสสนากรรมฐาน เพราะอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็จะมีอยู่เต็มที่ในวิปัสสนานั้น กิเลสมันก็เกิดไม่ได้ มันก็ขาดอาหาร ขาดอาหาร ขาดอาหาร เหมือนตัวเราอยู่ด้วยความถูกต้องทั้งวันทั้งคืน ทั้งวันทั้งคืน โรคภัยไข้เจ็บมันเกิดไม่ได้อย่างนี้ นี่เราเรียกกันสั้นๆ รุ่นๆ ว่า วิปัสสนา วิปัสสนา ทำวิปัสสนา ก็พูดสักแต่ว่าพูดทั้งนั้น ไม่รู้ว่าวิปัสสนานั้น มันคืออริยมรรคมีองค์ ๘ มันมีทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ทั้ง ๓ อย่างอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ บางคนเรียนนักธรรมตรี นวโกวาทก็มี หนังสือก็เขียนอยู่ว่า สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโปนี้จัดเป็นศีล น่าจะเป็นปัญญา สัมมาวาจา กัมมันโต อาชีโว อันนี้จัดเป็นศีล สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้จัดเป็นสมาธิ ในองค์ ๘นั้นมีทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ครบอยู่ ทำวิปัสสนา คือทำครบอยู่ ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ครบทั้งองค์มรรค องค์มรรคทั้ง ๘ เมื่อทำวิปัสสนาอยู่เต็มตามความหมายของคำว่าวิปัสสนา ก็คือมีศีล สมาธิ ปัญญา หรือว่ามีอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะว่ามีอริยมรรคมีองค์ ๘ คือศีล สมาธิ ปัญญานั้นเอง ทำให้รู้จักชัดว่า มันมีอย่างนั้นๆ อย่าพูดว่าทำวิปัสสนา ทำวิปัสสนาคำเดียวแล้วก็ไม่รู้ว่าอะไร ก็ทำตามแบบฉบับเหมือนแสดงละคร เหมือนรำละครอันนี้มันก็ มันก็ไม่ได้ผล เรียกว่าให้มันไม่ได้ผล นั้นมันยังง่ายหรือว่าได้เปรียบว่า ขอให้ตั้งต้นทำพิจารณาปัญญาเถอะ สมาธิ ศีล มันมาเอง มันมาเองโดยอัตโนมัติ ถ้าไม่ทำอย่างพิธีนะ ถ้าทำอย่างพิธี ก็มีพิธีมาก ก็มีพิธีรีตองมากอย่างนี้ว่า ลงมือพิจารณาความไม่เที่ยงของเบญจขันธ์นะ นี่ทำวิปัสสนา สังเกตดูรูป ดูเวทนา ดูสัญญา ดูสังขาร ดูวิญญาณ ตามที่มันกำลังเกิดขึ้นอยู่อย่างไร แล้วพิจารณาดูตามที่มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ก็เห็นความไม่เที่ยง เพ่งดูอยู่ที่ความไม่เที่ยงนั้นจะเรียกว่าสมาธิ เรียกศีล เรียกอะไรมาหมดเลย ลงมือเพ่งดูความไม่เที่ยงสังขาร เป็นต้น มันจะลากเอาธรรมะประกอบทั้งหลายเข้ามา มรรคมีองค์ ๘ ก็จะครบ ศีลสมาธิก็จะครบ อะไรมันก็จะครบหมดแหละ หรือว่าสิกขาบท ปาฎิโมกข์ ๒๒๗ มันก็ครบ เพราะว่าไม่ได้ทำผิดอะไรที่ไหน ณ จิตมันแน่วแน่อยู่แต่อย่างนั้น ความที่จิตแน่วแน่จะทำอะไรสักอย่างนั้นท่านเรียกว่า ศีล เจตนาจะทำอะไรให้จริงจังลงไป โดยเดี๋ยวนี้เรียกว่าศีล ยิ่งเจตนาทำเพื่อไม่ให้กิเลสเกิดนั้นก็เรียกว่าศีล เมื่อลงมือทำสมาธิ ศีลมาเอง เพราะมันต้องเจตนาทำ เมื่อเจตนาทำวิปัสสนา ทำปัญญา สมาธิจะมาเอง มาเองตามสมควร ขอให้เพ่งให้หนักที่ปัญญาที่จะพิจารณาเห็นอนิจจัง เพ่งให้หนัก เพ่งให้หนัก ความที่เพ่งเป็นสมาธิ ขอให้ตั้งใจจะเพ่งเป็นศีล ข้อนี้พูดมาแต่ข้างบน คล้ายจะเอาเปรียบ เพ่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเถอะ มันจะเรียกสมาธิมาเอง เรียกศีลมาเอง เรียกทานมาเอง เรียกอะไรมาเอง ที่เรียกว่าเอาเปรียบพูดมาจากข้างบน แต่เราไม่ได้สอนกันอย่างนั้น เราสอนว่ารักษาศีลนะ รักษาศีลนะ จงรับศีลนะ จงเข้าวิปัสสนา สมาทานศีลซึ่งใหม่ๆ นะ อย่างนี้ เราก็ทำกำหนดสมาธิอย่างนั้น คิดอย่างนั้นนะแล้วทำ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างนั้นนะ ให้มันครบขึ้นไปจากข้างล่างและลำบากมาก ให้ครบมาจากข้างบนง่ายกว่า มีอะไรที่เรามาพิจารณาอนิจจังเถอะ แล้วก็มาพิจารณากันให้แรงเถอะ สมาธิมันจะมาเอง เขาเรียกอนันตริกะสมาธิ ที่มันแฝดติดกับปัญญา ตามธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น
ยกตัวอย่างกันว่าเราหยิบก้อนหินขึ้นมาจะขว้างนก หรือขว้างอะไร ขอให้เราตั้งใจทำที่จะขว้างนก แล้วสมาธิในการขว้างจะมีโดยอัตโนมัติ โดยธรรมชาติ หรือว่าเมื่อเราจะเล่นหยอดหลุม ทอยกองเหมือนเด็กๆ เขาเล่น เมื่อเราเป็นเด็กๆ นี่ เราตั้งใจจะโยนนั้นให้มันลงหลุมอย่างแท้จริงอย่างยิ่ง สมาธิมันมาของมันเอง สมาธิตามธรรมชาติมาเองอย่างนี้ เพ่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาให้มากเท่าไหร่ สมาธิจะแรงขึ้นเท่านั้น สมาธิจะแรงขึ้นเท่านั้นตามธรรมชาติ เอาอย่างนี้ให้ได้ก่อน เอาตามธรรมชาติอย่างนี้ให้ได้ก่อน แล้วค่อยไปฝึกฝน อบรม ให้มันแรงขึ้นๆ ทีหลัง แต่ทว่าตามที่จะเป็นไปตามธรรมชาติแล้ว มันเป็นอย่างที่ว่าเราเพ่งทำอยู่สิ่งที่เราต้องการจะทำให้สมาธิมันมาโดยธรรมชาติ โดยอัตโนมัติ รู้ว่าทำอยู่อย่างนั้นศีล มันก็บริสุทธิ์ เพราะมันไม่ไปทำผิดศีลอะไรได้ อย่ามีอาบัติมาแต่ก่อนก็แล้วกัน เมื่อตั้งหน้าตั้งตาทำวิปัสสนาโดยแท้จริงแล้วก็ไม่ล่วงอาบัติอะไร
แล้วทีนี้ทาน มีไหมทาน มีไหม ถ้าดูเป็นหรือว่าคิดเป็น ถ้าทำเป็น มันก็มี เพราะเดี๋ยวนี้เราไม่ได้เอาอะไรไว้เป็นของเราเลย ถ้าทำวิปัสสนาจริง มันจะไม่ยึดถืออะไรไว้เป็นของเราเลย เงินทอง ข้าวของ ญาติพี่น้อง ทรัพย์สมบัติอะไรก็ไม่ๆ ได้ยึดถือเอาเป็นของเราเลย ก็เท่ากับบริจาคไปแล้ว หรือเท่ากับบริจาคชีวิตไปแล้วด้วยซ้ำไป และมันก็เป็นทานเหมือนกัน เป็นการให้ทาน ทำวิปัสสนาแน่วแน่จนไม่สนใจกับชีวิต เงินทอง ข้าวของ ทรัพย์สมบัติ ญาติอะไร ไม่สนใจเท่ากับสละไปแล้ว มันก็มีทาน มีทานอย่างยิ่ง อย่างดี อย่างสูง อยู่ในการทำวิปัสสนานั้น
ดังนั้นผู้ที่ทำวิปัสสนาอยู่จึงมีทั้งทาน มีทั้งศีล มีทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญา และมีคุณธรรมทั้งหลายหมดครบเท่าที่จะมีอยู่อย่างไร ขันติก็มี ความเพียรก็มี สติก็มี สัมปชัญญะก็มี ธรรมะข้อไหนก็มีทั้งนั้น จะมีรวมอยู่ในขณะที่ปฏิบัติ ปัญญา วิปัสสนา เพื่อเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เอาอารมณ์ของวิปัสสนามา ชอบอะไรก็เลือกเอาอย่างนั้น จะเป็นรูปก็ได้ เป็นเวทนาก็ได้ เป็นสัญญาก็ได้ เป็นสังขารก็ได้ เป็นวิญญาณก็ได้ ๕ อย่างนี้เป็นที่รวมหมด จะพิจารณาลงไปที่ตรงไหนก็เอาจริงๆ ลงไป พอลงมือทำมันจะเรียกอุปกรณ์ทั้งหลายมาเอง สมาธิก็มีมา ศีลก็มีมา ทานก็มีมา ในเวลานั้นจะมีครบฝ่ายปัจจัยแก่พระนิพพาน มันเลยกุศลไปเสียอีก เราก็ไม่ได้ต้องการกุศล บุญเบินอะไรที่ไหน ต้องการแต่นิพพาน คือความหลุดพ้น นิพพานนี่จึงไม่ต้องไป มันถึงอยู่ตรงที่ปลดทิ้งๆ กันหมด จนไม่มีอะไรเหลือมันก็ถึงอยู่ที่ตรงนั้น กำลังทุกข์ก็ปลดความทุกข์ทิ้ง มันก็ดับทุกข์ที่ตรงนั้น
ที่นี้เรามีเครื่องเตือนใจในข้อนี้อยู่แห่งหนึ่งที่เรียกว่า สระนาฬิเก ก็ให้นั่งพิจารณาดูรอบๆ สระนาฬิเก คนเดียวโนเน กลางทะเลที่พึ่ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลที่พึ่ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญ ถ้ายังติดบุญอยู่ มันติดอยู่ที่บุญมันไปไม่ได้ จิตมันติดอยู่ที่บุญ มันขึ้นไปหาความปล่อยวางไม่ได้ ก็จึงถึงได้แต่ผู้พ้นบุญ ทะเลขี้ผึ้งนั้นก็ คือสังขาร สังขารทั้งหลายหรือวัฏฏะสงสารทั้งหลาย หมุนเวียนอยู่ใน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไปแห่งบุญและบาป แห่งสุขและทุกข์ เรียกว่า วัฏฏะสงสาร หยุดพวกเหล่านี้เสียก็เป็นนิพพานที่ตรงนั้น ดับสิ่งเหล่านี้เสียก็เป็นนิพพานที่ตรงนั้น ไม่ต้องไปที่ไหน นี้ความทุกข์อยู่ที่ไหนก็ดับทุกข์ที่ตรงนั้น เดี๋ยวนี้มันยังเข้าใจผิดกันอยู่ มันจะดับทุกข์อยู่ที่บ้าน จะดับทุกข์ที่วัด พระนิพพานของคนบางจำพวกต้องรออีกแสนกัลป์ อีกหมื่นปีแสนปีกัลป์จึงจะได้นิพพาน อย่างนี้ไม่ใช่ อะกาลิโก ไม่ใช่สันทิฐิโก มีความทุกข์เกิดขึ้นตรงไหนก็หยุดดับมันเสียที่ตรงนั้น มันก็เป็นนิพพานที่นั่น แต่ถ้ามันไม่ได้ทำก็กลับเกิดอีก เพราะว่ายังควบคุมไม่ได้ ก็กลับเกิดอีก ก็ดับอีก เพราะฉะนั้นก็มีนิพพานบ่อยๆ นิพพานเรื่อยๆ ไป จนกว่ามันจะสิ้นสุด คือจิตประภัสสรนั้นได้รับการอบรมดี จนเกิดกิเลสอีกไม่ได้ก็เป็นประภัสสรตลอดกาล นี่เราควรจะนึก มีความทุกข์เกิดที่ไหนเมื่อไหร่ก็ดับกันที่นั่นแหละเมื่อนั้น และก็ดับที่ความทุกข์นั้นเอง ความดับทุกข์อยู่ที่ความทุกข์นั้นเอง
ดังนั้นพระนิพพานก็อยู่ตรงที่วัฏฏะสงสารนั่นเอง คือดับวัฏฏะสงสารเสีย นี่เขาทำอุปมาเปรียบเทียบว่า นิพพานเหมือนกับต้นมะพร้าว คืออยู่กลางทะเลที่พึ่ง คือวัฏฏะสงสารก็ดับที่ตรงนั้น คือว่าเป็นนิพพานขึ้นมาที่ตรงนั้น แต่แยกกันไปคนละเรื่อง ที่ต้นมะพร้าวที่นิพพานว่าฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง แต่ที่ทะเลที่พึ่งวัฏฏะสงสารว่าฝนตกฟ้าร้องอยู่เรื่อยไป เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง ทำแบบของขี้ผึ้งร้อนก็เหลว เย็นก็แข็งอย่างนั้น นี่ลักษณะของบุญบาปเป็นอย่างนี้ นิพพานไม่ต้องไป ถึงได้โดยไม่ต้องไป คือดับเหตุดับปัจจัยแห่งความทุกข์ หรือว่าปลดความยึดมั่นถือมั่นออกไป ปลดความยึดมั่นถือมั่นออกไป หรือว่าละกิเลสออกไป ละกิเลสออกไป เรื่องเดียวกันแหละใช้คำพูดหลายวิธี แล้วก็มาสำเร็จตรงที่ว่ามีอัฏฐังคิกมรรค อริยมรรคมีองค์ ๘ มรรคมีองค์ ๘ มีอย่างนั้น มันจะดับออกไป มันจะปลดออกไป มันจะร่ายออกไป ทำหน้าที่หมดแหละที่จะไม่ให้เกิดเหตุปัจจัยสำหรับกิเลส หรือป้องกันกิเลส หรือถ้าเกิดขึ้นแล้วก็ดับลงไปให้ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นเป็นเครื่องวัดกันเอง ถ้ามีความว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ก็หมายความว่าอัฏฐังคิกมรรคสมบูรณ์ ถ้าอัฏฐังคิกมรรคสมบูรณ์ก็ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ไม่ต้องพูดคำเดียวกัน แล้วแต่เราจะพูดขึ้นหรือพูดลง ถ้าจิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่น เมื่อนั้นอัฏฐังคิกมรรคสมบูรณ์ หรือเมื่ออัฏฐังคิกมรรคสมบูรณ์ จิตก็จะว่างจากความยึดมั่นถือมั่นเป็นอย่างนี้ เมื่ออัฏฐังคิกมรรคจะมี จะมี จะเจริญ จะงอกงาม จะเป็นไปแก่กล้าก็เมื่อเราทำวิปัสสนา เราลงมือทำวิปัสสนาด้วยเอาอารมณ์ของวิปัสสนามา เช่น ขันธ์ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งมาพิจารณาโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาให้แรงเข้า มันจะเรียกองค์มรรคทุกองค์มา เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือสัมมาทิฐิ นี่ตั้งใจจะทำให้สำเร็จ จะบรรลุนิพพาน ก็เป็นสัมมาสังกัปโป คำพูด การกระทำ การเลี้ยงชีวิตถูกต้องหมดแฝงอยู่ในตัวโดยอัตโนมัติ ความเพียรเป็นวายามะถึงที่สุด สติถึงที่สุด สมาธิถึงที่สุดอยู่ในนั้น ทำวิปัสสนาอย่างเดียวอย่างแท้จริงจะมีองค์มรรคทั้ง ๘ครบถ้วน นี่ว่าจะพูดได้อย่างนี้ เมื่อนั้นไม่มีความยึดมั่นถือมั่น เพราะมันอยู่ในองค์แห่งมรรค สัมมาทิฐิมันควบคุมไว้ มันรู้จริงมันจึงไม่ยึดมั่นถือมั่น
ฉะนั้นจึงสำเร็จที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานในสิ่งใดๆ แล้วก็เรียกว่าเป็นหลุดพ้น จะเรียกว่านิพพานก็ได้ จะเรียกว่าหลุดพ้นก็ได้ เรียกว่าดับทุกข์สิ้นเชิงก็ได้ วิมุตติก็ได้ วิโมกข์ก็ได้แล้วแต่จะเรียก แปลว่ามันหมดปัญหาก็ถึงที่สุดแห่งการกระทำ นั้นเราเรียกตัวเองว่าเป็นผู้ทำวิปัสสนา เจริญวิปัสสนา และบางองค์ก็ขึ้นไปถึงผู้สอนวิปัสสนา นั้นระวังให้ดีนั่นมันยิ่งยากขึ้นไปอีก ผู้ทำวิปัสสนา ผู้เจริญวิปัสสนานี้ก็ต้องทำให้ถูกต้อง ให้เป็นวิปัสสนา และให้มันเจริญๆ คือก้าวหน้าอยู่ในตัว ตัวเจริญนั้น คือความเจริญถูกต้องแล้วมันก็เจริญ องค์แห่งมรรคทั้ง ๘ องค์มันก็เข้มข้นขึ้นๆ คือว่ามีกำลังแรงขึ้น มีกำลังแรงขึ้น มันก็จะกวาดล้างกิเลสให้มันหมดสิ้นได้ สักเวลาหนึ่ง เวลาใดเวลาหนึ่งที่เรียกกันว่าเป็นเวลาบรรลุมรรคผลนิพพาน นี่หัวข้อ ใจความ เค้าโครงมันเป็นอย่างนี้ ไปทำเข้าเถอะมันจะสอนให้เองว่ามันคืออะไร ไปรู้จักกิเลส ตัณหา อุปาทานให้ดีๆ นี่ไปรู้จักสัมมาทิฐิให้ดีๆ ไปรู้จักมิจฉาทิฐิให้ดีๆ รู้จักทั้งหมดให้ดีๆ ก็เท่านั้นแหละ มันก็ไปของมันได้โดยมันสอนให้เอง คนสอนคนอธิบาย หรือหนังสือหนังหา ตำรับตำราเหล่านี่มันไม่เห็น มันไม่ได้ลูบคลำ ไม่ได้สัมผัส นั้นต้องสัมผัสความทุกข์ ต้องรู้จักความทุกข์ ต้องรู้จักเหตุของความทุกข์ ต้องรู้จักทุกข์โทษอันตรายของมัน มันจะเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดได้ เมื่อวันก่อนพูดกันแล้วว่า ให้ให้การกระทำมันสอน ถ้าเป็นนักวิปัสสนาแล้วก็ ขอให้การทำวิปัสสนานั้นนั่นแหละมันสอน มันจะรู้จริงแล้วก็ได้ผลพร้อมไปในตัว จะหัดขี่รถจักรยานก็ให้รถจักรยานนั่นสอนเรื่องการล้มนั่นแหละสอน จะพายเรือก็เรือพายนั่นสอน คนมันสอนไม่ได้หรอก การกระทำนั้นมันจะสอน ฉะนั้นเราต้องทำ ทีแรกเราจะทำไม่ค่อยจะได้หรือจะทำไม่ได้ด้วยซ้ำไปถ้าเราไม่ยอม เราก็ทำ เราก็เป็น เราจะทำเป็นมากขึ้น แม้แต่เราจะฉันข้าว หรือจะอาบน้ำนี่ มันเป็นเพราะว่าเราทำมัน แล้วก็เป็นมากขึ้น เป็นมากขึ้น เป็นมากขึ้น นั่นเป็นเพราะเราทำให้มันดียิ่งขึ้น ธรรมชาติมันจำกัดไว้อย่างนี้ เด็กทารกที่มันจะสอนยืนนั้น ใครสอนมันได้ มันต้องการหกล้มนั้นจะสอนได้แล้วมันก็จะยืนได้ แล้วมันจะเดิน จะสอนเดินใครจะสอนมันได้ การหกล้ม มันจะสอนให้เด็กรู้จักตั้งตัวให้สมดุลจนยืนได้ สมดุลจนเดินได้ ไม่มีใครสอน ธรรมชาติสอน คือการกระทำนั้นมันสอน ที่คุณไปจับให้มันเดินนี้มันเดินไม่ได้ ให้มันเดินของมันเอง หาความสมดุลของมันเองให้การเดินนั้นมันสอนแล้วมันก็ได้ นั้นจิตนี้มันก็เหมือนกันที่มันจะตั้งตัวและที่มันจะเดินไปในแนวของปัญญาของความรู้ มันก็อย่างเดียวกัน มันต้องทำๆๆ อย่าว่า ๒๐ ครั้ง ๓๐ ครั้งเลย ว่าเป็นร้อยๆ ครั้งกันดีกว่า ถ้าใครพอทำเข้าไม่ได้ ๔-๕ครั้งเลิกแล้วก็เลิกสิ ใครจะว่าอะไรก็เลิกก็แล้วกัน แต่คนที่จะเอาตัวรอดได้ก็ทำอีกร้อยครั้งพันครั้งก็ได้ อย่างพระบาลีว่า ภาวิตาทำให้เจริญ พหุลีสตาทำให้มาก ทำให้ชำนาญนี่ทำให้มากขึ้น ทำให้มากขึ้น ทำให้ชำนาญ นั่นเป็นหลักทั่วไป
ดังนั้นเราจะทำอะไรให้ดีเราต้องทำมากกว่าการชำนาญ เราจะสานตะกร้า สานตะแกรง สานเสื่อนี่ ทำเถอะทำให้มากแล้วแผ่นสุดท้ายจะดีที่สุด แผ่นแรกแทบจะดูไม่ได้ อันหลังๆ จะดีที่สุดเพราะเราทำๆๆ จนชำนาญ ทำสมาธิก็เหมือนกัน ทำวิปัสสนาก็เหมือนกัน มันต้องเรียนด้วยของจริง มันต้องทราบด้วยของจริง แล้วมันจะเพิ่มจะลดได้ด้วยของจริง จนองค์ ๕ แห่งรูปฌานนั่น มันต้องรู้จักสิ่งนั้นจริงๆ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคตาอย่างไรต้องรู้จริง ไม่ใช่รู้จักอย่างในหนังสือจดไว้ ความรู้สึกอันนี้เรียกว่าวิตก ความรู้สึกอันนี้เรียกว่าวิจารณ์ ความรู้สึกอันนี้เรียกว่าปีติ ความรู้สึกอันนี้เรียกว่าสุข ความรู้สึกอันนี้เรียกว่าอุเบกขา ต้องรู้มันจริงๆ ถึงพอจะก้าวหน้า อันนี้ สองอันนี้ทิ้ง สองอันนี้เลิก ความรู้สึกวิตกวิจารณ์ระงับไปเสีย คือทิ้งเสีย นี้อยู่ ๓ อย่างว่ารู้จริงจะปลดอะไรทิ้งอีกก็รู้จริงอีก มันก็เป็นไปได้จริงตามเรื่องของมันจริงๆ จนเหลือแต่อุเบกขา เอกัคตา อุเบกขา นี่เรียกว่าเอกัดตา จิตมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้ามันขึ้นมาถึงอุเบกขาได้ มันก็ชิมรสตัวอย่างของพระนิพพานได้ แล้วมันไม่มีความหมายอะไร อุเบกขา
วันนี้เราพูดกันถึงเรื่องจิตประภัสสรลำบาก เพราะมีกิเลสเป็นอาคันตุกะจร มาเยี่ยมบ่อยๆ ก็หาวิธีไล่อาคันตุกะ ป้องกันไม่ให้มา หรือมาแล้วก็ไม่ให้เข้ามาทำอะไรได้ก็เท่ากับว่าไม่ได้มา เหตุปัจจัยของกิเลสไม่อาจจะเข้ามาปรุงแต่งจิต เพราะเราฝึกฝนจิตดีแล้วใหม่แล้วด้วยอำนาจของวิปัสสนา วิปัสสนาเป็นเครื่องอบรมจิต ฝึกจิตเสียใหม่ จนเป็นจิตที่กิเลสจะก่อขึ้นไม่ได้ นั้นความเป็นประภัสสร มันก็อยู่ตลอดกาล ถ้าไม่ฉะนั้นก็ประภัสสรอย่างคนธรรมดา เดี๋ยวก็กิเลสจรมา ก็เศร้าหมองอีก ถ้ามีการกระทำชนิดที่กิเลสเกิดไม่ได้อีกก็ประภัสสรตลอดกาลเหมือนจิตของพระอรหันต์ วิธีสร้างประภัสสรตลอดกาลก็ คืออัฎฐังคิกมรรค หรือจะเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญาก็ได้ หรือจะเรียกว่าวิปัสสนาก็ได้ ทำวิปัสสนาเพียงอย่างเดียว เรียกชื่อเพียงอย่างเดียวก็มีอัฎฐังคิกมรรค ครบทั้ง ๘ องค์ หรือเราเรียกสั้นๆ ว่า ธรรมวิปัสสนา นั้นมันก็จะขจัดอุปกิเลสที่จะมาครอบงำจิตประภัสสร ทำสำเร็จมันก็ไม่มาครอบงำ ประภัสสรก็ตลอดกาล นั้นจึงสำเร็จประโยชน์ที่จะมีความสุข ดับทุกข์สิ้นเชิง เรื่องจิตประภัสสรนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผู้ใดรู้ความจริงข้อนี้ จิตตะภาวนามีได้แก่บุคคลนั้น ผู้ใดไม่รู้เรื่องนี้จิตตะภาวนามีไม่ได้แก่บุคคลนั้น เพราะฉะนั้นเราควรจะรู้เรื่องจิตประภัสสรหรือไม่ประภัสสรนี้ให้เพียงพอ ถ้าเรารู้เพียงพอจิต มันก็จะน้อมไปเพื่อจิตตะภาวนา คือเพื่อการอบรมจิตนั่นเอง ด้วยวิธีวิปัสสนา ในที่สุดก็ได้จิตใหม่ที่กิเลสเกิดไม่ได้ กิเลสเกาะไม่ได้ กิเลสปรุงไม่ได้ เรื่อยๆ ไป เรื่อยๆ ไป จนขจัดเด็ดขาดเลย คำว่าเด็ดขาดนี้ก็เป็นเรียกว่า สมมุติเฉตะวิมุตติ เป็นแต่อุปทานถ้าจะยังกลับไปกลับมายังไม่ใช่ ต้องเด็ดขาด ฉะนั้นความมีจิตหลุดพ้นจากการครอบงำของกิเลสอีกนี่เรียกว่าผลที่พึงประสงค์ที่ เรียกว่าวิมุตติโดยสิ้นเชิง วิมุตติหลุดพ้นโดยสิ้นเชิง
ขอให้สนใจทำความเข้าใจข้อความที่เราพูดกันมาเรื่อยๆ เป็นอันที่ ๓ ในวันนี้ แล้วก็จับใจความสำคัญให้ได้ ไม่ฉะนั้นคุณจะเลือน จะเฟือน จะปนกันยุ่งหมด จับใจความให้ได้ให้ชัดแจ้งอยู่เสมอ คำพูดทุกๆ คำเข้าใจชัดเจนอยู่เสมอ แล้วมันจะผิดไม่ได้ มันผิดไม่ได้ ถ้าผิด มันไม่ไป มันไม่ก้าวหน้า ถ้ามันถูกต้องแล้วมันจะก้าวหน้าของมันเอง วันคืนมันก็จะดีขึ้นๆ เจริญๆ ขึ้นในทางธรรม
นี่เราก็พูดกันหมดเวลาสำหรับคืนนี้ แล้วเอาใจความวันนี้ให้ได้ ไปชนกับเมื่อวานเมื่อวันก่อน ในที่สุดจะเหลือเพียงคำเดียวว่า วิปัสสนา วิปัสสนา แปลว่าเห็นแจ้ง วิปัสสนาไม่ใช่คิดนึก วิปัสสนาไม่ใช่พิจารณา วิปัสสนาเป็นการดู ดูๆๆ ลงไปแล้วก็เห็นๆๆ ไม่ต้องคิด ทำจิตให้เป็นสมาธิแล้วก็ดูก็จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยไม่ต้องคิด คิดเอาไว้ในห้องเรียน ในโรงเรียน คิดออกก็ดับกิเลสไม่ได้ ต้องเห็นๆ ชัด แล้วมันก็เบื่อหน่ายคลายกำหนัด ดังนั้นจำไว้ว่าวิปัสสนาแปลว่าดูเห็นแจ้ง วิแปลว่าเห็น ว่าแจ้ง ปัสสนะแปลว่าเห็น ทำจิตให้ดีโดยสมาธิแล้วมาดู แล้วก็เห็น เรียกว่าวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาคิด มันไปไม่รอด แต่บางคนอาจจะจะเรียกการดูนั้นว่าคิด จริงๆ ไม่ใช่ ดูไม่ต้องคิดนี่
เพราะฉะนั้นเราเห็นๆ แจ้งไม่ต้องคิดนี่ เห็นตามที่เป็นจริงไม่ต้องคิดนี่ ถ้าคิดหมายถึงมันต้องใช้เหตุผล คิดทบทวนวกวนอย่างนี้เรียกว่าคิดจนกว่าจะเข้าใจ ความเข้าใจนั้นไม่ใช่การเห็นแจ้ง ต้องมีปัญญา สมาธิโดยตรง ปฏิบัติเอามาดูให้จนได้ให้เห็นแจ้งให้จนได้ นักวิปัสสนานั้นไม่ใช่นักคิด แต่เป็นนักทำตาให้ดีที่สุดแล้วก็ดู ดูแล้วก็เห็น ทำตาให้ดีก็ คือสมาธิ
ขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้เพียงนี้ แล้วปิดประชุมสำหรับวันนี้
(นาทีที่ 01.07.54-จนจบเทศน์เป็นภาษาใต้) ไปเยี่ยมนิพพาน ความดับทุกข์อยู่ที่ความทุกข์นั้นเอง ความไม่มีตัวเราอยู่ในตัวเรานั้นเอง หนังสือเล่มนี้มันวางอยู่นี่ ความไม่มีหนังสือเล่มนี้อยู่ไหนล่ะ ความดับทุกข์อยู่ที่ความทุกข์นั้นเอง ความไม่มีแห่งทุกข์อยู่ที่ความทุกข์นั้น