แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
แม้การพูดครั้งนี้ก็จะพูดด้วยเรื่องที่จะมีประโยชน์แก่ผู้ที่จะลาสิกขาต่อไปตามเดิม ในครั้งที่แล้วมาก็ได้พูดถึงสิ่งที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตา อ่า, มาบ้างแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่ เอ่อ, กระจ่างเพราะเรื่องมันยังมีมากกว่านั้น และที่จำเป็นอย่างยิ่งก็คือที่จะต้องเอาไปใช้ เอ่อ, ให้เป็นประโยชน์ อื่อ, ในชีวิตประจำวัน อย่างที่เรียกกันว่าในชีวิตประจำวัน
อื่อ, คนเรามีหน้าที่ อื่อ, ที่จะทำตัวไม่ให้เป็นทุกข์ อื่อ, และให้ผู้อื่นก็ไม่เป็นทุกข์ เรียกว่าเราจะต้องมีความรู้ หรือการกระทำชนิดที่ไม่ให้ใครเป็นทุกข์ ให้ทุกคนอยู่ร่วมกันโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ นี่มันสิ่งสูงสุดของมนุษย์ เดี๋ยวนี้ก็อยู่กันอย่างที่เรียกว่า มีความทุกข์ ไม่อย่างนั้นก็อย่างนี้ มีความทุกข์ส่วนตัว มีความทุกข์ที่เนื่องด้วยสังคม มีความทุกข์กันทั่วโลก เรียกว่าชีวิตนี้มันเกือบจะไม่มีค่า หรือว่าโลกนี้ไม่มีค่า ถ้าจะให้มันมีค่า มันก็หมายความว่ามีสันติสุขส่วนบุคคล มีสันติภาพเป็นส่วนรวม ในเรื่องนี้มันขึ้นอยู่กับไอ้เรื่องอิทัปปัจจยตาโดยตรงทีนี้ก็บางคนสงสัยว่าเรื่องอิทัปปัจจยตาคืออะไรกัน ไม่เคยได้ยิน บางคนก็จะคิดมาว่าเอาเอง ก็เลยขอบอกให้รู้กันเสียที เอ่อ, รู้อย่างตลอดกาลเลยว่า เรื่องในพระไตรปิฎกทั้งหมดน่ะ ยังมีตกค้างอยู่หลายเรื่องที่ไม่ได้เอามาพูดกัน หรือว่าคำชนิดนั้นไม่ได้เอามาพูดกัน ยังตกค้างอยู่ในพระไตรปิฎก พอผมเอามาพูดเข้าเขาก็สงสัยว่านี่ ทำไมมันแปลกนักอะ ชื่อก็แปลก อะไรก็แปลก ว่าเอาเองกระมัง อย่างนี้ก็ขอบอกเสียได้เลยว่ามันไม่ได้เอามา ไม่ได้ว่าเอาเองอะ มันมีอยู่ในพระไตรปิฎกและที่อยู่ทั่วๆ ไปด้วยซ้ำไป แต่ว่าเขาไม่ได้เอามาพูด จะเพราะเหตุอะไรก็ไม่แน่ ไม่แน่นัก แต่รู้ว่าเพราะเหตุที่เขาไม่เอามาพูด เพราะเขาไม่ชอบที่จะเอามาพูด หรือไม่อยู่ในวิสัย อื่อ,ที่จะเอามาพูด คำแปลกๆ จึงตกค้างอยู่ อื่อ, โดยเฉพาะเช่น ไอ้คำว่าอิทัปปัจจยตา อ่า, ซึ่งเป็นคำพิเศษแปลกมาก มีความหมายพิเศษมาก มีค่ามากอะไร และคำอื่นอีกมาก เช่นคำว่า เกพลีอย่างนี้ คุณได้ยินไหม เข้าใจว่าเรียกนักธรรมจบ เรียนเปรียญจบ มันก็ยังไม่เคยได้ยินคำว่า เกพลี ซึ่งมีอยู่หลายแห่งในพระไตรปิฎก เกพลี อ่า, เป็นคำแทนชื่อของพระอรหันต์ เกพลีแปลว่ามีทั้งหมด เป็นทั้งหมด แต่เขาไม่แปลกันหรอกคำนี้ ถ้าไปเกิดแปลเข้าก็เลยไม่รู้ ไม่ได้ยินคำว่าเกพลี อะ มันไปแปลว่าอย่างไรเสียแล้วก็ไม่ถูก นี้เป็นคำที่ชาวบ้านเขารู้กันในประเทศอินเดียสมัยนั้นไม่ต้องแปล รู้ว่าเป็นคำสูงสุดสำหรับใช้เรียกมนุษย์ที่สูงสุดเช่น พระอรหันต์ เป็นต้น และคำที่คล้ายๆ กันอย่างอิทัปปัจจยตา คือคำว่า อตัมมยตา อตัมมยตา คุณก็ไม่เคยได้ยินแน่อะ ผมไม่ได้จะสบประมาทดูถูกคุณ คุณคงไม่เคยได้ยินหรอก อตัมมยตา อย่างนี้ อะ แล้วก็ ตัม แล้วก็มะ ยะ ตา เอ่อ, ความที่ไม่ได้สำเร็จออกมาจากสิ่งนั้น เอ่อ, คือความที่ไม่ถูกปรุงแต่ง ความที่ไม่ถูกปรุงแต่งโดยสิ่งใดแล้วก็มีขึ้นมา นั่นก็เป็นชื่อของอสังขตธรรม หรือวิสังขาร เอ่อ, เป็นธรรมธาตุชนิดหนึ่งซึ่งมีอยู่ อื่อ, ก็มี เอ่อ, คุณสมบัติ คือ ไม่ถูกปรุงแต่ง ไม่ทำให้ถูกปรุงแต่ง แล้วมันก็เป็นที่ดับแห่งทุกข์ทั้งปวง อย่างนี้เป็นต้น เอ้า, แล้วก็จะพูดกันด้วยเรื่องอย่างนี้มีอีกมากเสียเวลาเปล่า พูดทั้งคืนก็ไม่จบหรอก เพราะมีคำอีกมากที่ไม่ได้เอามาพูดกัน แล้วถ้าเขาเอามาแปล เป็นพระไตรปิฎกแปลไทย เขาก็แปลเสียจนไม่รู้มันเรียกว่าอะไร มันเป็นคำธรรมดาไปหมด จริงๆ คำเหล่านี้ต้องไม่แปล
ทีนี้ก็จะพูดถึงเรื่องอิทัปปัจจยตา อื่อ, สังเกตดูมันคล้ายๆ กับว่าเขาเห็นว่า สูงเกินไปหรือลึกเกินไป ไม่เอามาพูด หรือคิดว่าคนจะคง คนคงจะฟังไม่ออกแล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร ฉะนั้นเราจึงได้ยินคำนี้น้อยมาก อ่า, แม้ในหมู่ชาวพุทธ พุทธบริษัท กลับได้ยินไอ้คำที่สำคัญที่สุด มีค่าที่สุดในพระพุทธศาสนานี้กันน้อยมาก นี่ผมจะถูกหาว่า ถ้าไม่เสียเวลาบ้าบออะไรก็ได้ที่เอาไอ้คำลึกๆ แปลกๆ มาให้ศึกษามาให้ถือเป็นหลักนี้ ก็ไม่ได้มีเจตนาจะทำให้คุณยากลำบากอย่างนั้น อื่อ, แต่เห็นว่ามันเป็นคำที่ควรจะรู้จริงๆ แล้วก็มันสำคัญมาก คือเป็นหัวใจพุทธศาสนา อื่อ, แล้วมันก็มีค่ามาก อื่อ, คือมันเป็นเรื่องที่ดับทุกข์ได้ ฉะนั้นขอให้ฟังไอ้ใจความสำคัญว่า อื่อ, มีความทุกข์ อื่อ, เพราะทำผิดต่อกฎอิทัปปัจจยตา นี่ใครก็ตาม เทวดา มนุษย์ สัตว์เดรัจฉานอะไรก็ตาม จะมีความทุกข์เมื่อมันทำกับ ทำผิดต่อกฎของอิทัปปัจจยตา แล้วมันจะไม่มีความทุกข์เมื่อมันไม่ทำผิดต่อกฎอิทัป-ปัจจยตา มันมีเท่านี้ แล้วมันชั้นละเอียด ชั้นที่ลึก ที่ละเอียดเกี่ยวกับจิตโดยตรง มันก็รวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ ไม่ใช่จะมานั่งพูดว่าทำถูกสุจริตทางกายวาจาใจเป็นทุกข์ เป็นสุข ทุจริตทางกายวาจาใจเป็นทุกข์ อย่างนั้นมันยืดยาด แล้วมันก็ไม่เฉียบขาดเรียกว่าไม่ ไม่ขลัง ไม่ชมัดเหมือนกับยา ตัดโรคอันเด็ดขาด
คุณคอยฟังเอาเองก็แล้วกันว่ามันหมายความถึงอะไร ถ้าทำผิดกฎของอิทัปปัจจยตาแล้วจะเป็นทุกข์ หรือถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆ เรื่องทั้งหมดก็เรียกว่ามันจะไม่เจริญ จะไม่มีสันติภาพ ถ้าเป็นส่วนบุคคล คนหนึ่งมันจะเป็นทุกข์ ถ้ามันทำผิดกฎของ อิทัปปัจจยตา นี่ถ้ามันไม่ทำผิด หรือทำถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตา บุคคลก็จะไม่เป็นทุกข์ สังคมก็จะไม่เป็นทุกข์ กระทั่งว่าโลกนี้มันก็จะไม่เป็นทุกข์เพราะมันกอบ มันประกอบกันขึ้นด้วยบุคคล เมื่อบุคคลแต่ละคนไม่มีความทุกข์ ไอ้ทั้งโลกมันก็ไม่มีความทุกข์ อย่างนี้ก็จะเห็นได้เอง แล้วที่มันละเอียดก็เป็นเรื่องทางจิตใจโดยตรง แล้วมันเร็วเหมือนกับสายฟ้าแลบ ตามแบบของจิตใจ แป๊ปเดียวมันก็ไปถึงความทุกข์แล้ว ไม่ใช่มานั่งรอให้นับนั่นนับนี่อยู่ได้ สังเกตดูที่มันเกิดโกรธขึ้นมานี่ มันก็แว๊บเดียวเหมือนกับฟ้าแลบอะ ได้เห็นหรือได้ฟังเสียงอะไรเพียงคำเดียวแป๊ปเดียวก็กลายเป็นเรื่องโกรธ เรื่องเกลียด เรื่องกลัว เรื่องความทุกข์ที่สมบูรณ์แล้ว นี่มันมี รวดเร็วอย่างนี้เหมือนกับสายฟ้าแลบเพราะมันเป็นเรื่องจิตโดยตรง
นี้คำว่าอิทัปปัจจยตา ถ้าว่ากันโดยตัวหนังสือนะ มันแปลว่า เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนี้ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ สิ่งนี้ จึงเกิดขึ้น อ่า, คุณคิดดูเถิด อื่อ, มันเป็นหลักพุทธศาสนา คือว่าพุทธ-ศาสนานี้เป็นศาสนาแห่งเหตุปัจจัย ไม่มีตัวตน ไม่มีพระเจ้า ไม่มีผีสางอะไรอื่นนอกไปจากเหตุปัจจัย คือสิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัย เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เหมือนกับที่เรียนพุทธประวัติมาแล้วเรื่อง เอ่อ, พระอัสสชิถูกถามถึงว่าอะไรเป็น อ่า, หัวใจของพระพุทธศาสนา เย ธัมมะ ที่ท่านชอบ พระอัสสชิก็ตอบคาถาพระอัสสชิ ที เย ธัมมา เหตุ ปัพพวา เป็นต้น ล้วนแต่บอกเรื่องเหตุ เรื่องปัจจัย จะเกิดหรือดับก็ตามเหตุตามปัจจัย พระศาสดาของเรารู้เรื่องนี้ แล้วเขาก็ถือว่าไอ้คำตอบของพระอัสสชินั้นเป็นหัวใจของพุทธศาสนามาจนกระทั่งทุกวันนี้ ถ้าพุทธศาสนาก็ต้องมีหัวใจเป็นเรื่องเหตุ ผล เหตุและปัจจัย และผลของมัน มันไม่ขึ้นอยู่กับผีสางเทวดา บูชา บวงสรวง อ้อนวอนอะไรเหมือนกับลัทธิอื่นๆ ที่มีอยู่ในประเทศอินเดียหรือในโลก คำนี้แปลว่า เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เอ่อ, ถ้ามีคำว่าปฏิจจสมุปปาโทต่อท้ายอีกทีก็แปลว่า คือการอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น เพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น คือการอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น มันก็เหมือนกับหลัก กฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ เพราะมีเหตุปัจจัย บัดนี้กระทำแก่กันสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นเป็นสิ่งใหม่เรื่อยไป ดังนั้นการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ อ่า, จึงสามารถพบสิ่งใหม่แปลกประหลาดยิ่งขึ้นไปเรื่อย นั่นคือกฎแห่งเหตุและปัจจัย อ่า, ซึ่งเรียกในที่นี้ว่ากฎของอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท ตัวหนังสือมันว่าอย่างนั้น
ทีนี้ไอ้ตัวจริงของมันก็คือ ไอ้กฎของธรรมชาติที่ควบคุมธรรมชาติอยู่ ซึ่งมันจะต้องเป็นอย่างนั้น อย่างที่เรียกว่าตายตัว เฉียบขาด เหมือนกับว่าเป็นพระเจ้า เป็นพระเป็นเจ้า สูงสุดกว่าสิ่งใด อื่อ, ทุกสิ่งอยู่ใต้กฎอันนี้ ทุกสิ่งที่เราจะรู้สึกได้ เห็นได้ ฟังได้ ดมได้ ดูได้ ทุกสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์อยู่ในโลกมันเป็นไปตามกฎนี้ แล้วมันเกิดขึ้น เอ่อ, โดยกฎนี้ เพราะว่ากฎนี้มันสิงอยู่ในที่ทุกแห่ง แต่ไม่ใช่อย่างผีสิง ไอ้เรื่องผีสิงนะมันเรื่องเล่นละคร เรื่องเล่นตลก แต่กฎของธรรมชาติสิงอยู่ในสิ่งนี้ เช่นว่าก้อนหินนี้ มันมีกฎของธรรมชาติสิงอยู่ในทุกๆ ปรมาณูของหินก้อนนี้ ฉะนั้นหินก่อนนี้มันก็เลยต้องเป็นไปตามกฎนั้น แล้วแต่มันจะเป็นอย่างไรต่อไป นั้นแหละดูไอ้ ไอ้การทำงานของอิทัปปัจจยตา กฎของอิทัปปัจจยตา สถิต สิงสถิตอยู่ในทุกๆ ปรมาณูของทุกสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นสากลจักรวาล
คำว่าจักรวาลน่ะมีมากนะ และทุกๆ จักรวาลน่ะประกอบอยู่ในส่วนประกอบย่อยลงมา ย่อยลงมา จนเล็กที่สุดก็คือปรมาณูของมัน ซึ่งทำให้เป็นหนึ่งอณู แล้วไปทำให้ขึ้นมามากว่าหนึ่งอณู อ่า, เป็นทิชชู เป็นธาตุเป็นอะไร จนกระทั่งว่าเป็นส่วนประกอบของไอ้สิ่งต่างๆ ที่มีชีวิต มีร่างกายของคนก็ดี ของสัตว์ก็ดี ของต้นไม้ก็ดี เมื่อมันแยกเล็กลงไป เล็กลงไป เล็กลงไป มันก็ไปสุดอยู่ที่หนึ่ง หนึ่งปรมาณู หนึ่ง หนึ่งปรมาณูประกอบอยู่ด้วยส่วนประกอบ หรือทำอะไรบ้างก็ไปศึกษาไปดูเอาเองจากเรื่องทางวิทยาศาสตร์ มันเสียเวลา ไม่ต้องมาพูด แต่เอาว่าเป็นส่วนเล็กที่สุดที่มันไม่มีแบ่งกันอีกแล้ว ทุกปรมาณูประกอบอยู่ด้วยกฎของอิทัปปัจจยตา อ่า, ทุกปรมาณูจึงเป็นไปตามหน้าที่ของหนึ่งปรมาณูจะต้องอย่างไรบ้าง แล้วมันก็ประกอบกันขึ้นมาเป็นหนึ่งอณู แล้วก็เป็นหนึ่งอะไรก็ไม่รู้เรียกเป็นภาษาไทยก็ยากลำบาก แต่ว่าทุกส่วน ทุกส่วน จนเป็นธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นไอ้เนื้อหนังมังสา เป็น เอ่อ, ให้เกิดไอ้ เป็นความรู้สึกทางจิตใจออกมานี่ มันมาจากทุกๆ ปรมาณูที่มันประกอบกันขึ้น นี่เราเรียกว่ามันมีอำนาจ ลึกซึ้งถึงที่สุด เรียกว่ากฎธรรมชาติ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ว่า เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ต้องเกิดขึ้น และว่ามันไม่อยู่เฉยๆ มันทำหน้าที่ของมัน เพราะฉะนั้นมันก็ปรุงแต่งสิ่งใหม่เรื่อย เอ่อ, อย่างที่เราเรียกว่าวิวัฒนาการ ไม่รู้จักหยุด วิวัฒนาการนี้ไม่รู้จักหยุด นี่มันจึงอยู่ในฐานะเป็นไอ้สิ่งสูงสุด มีอำนาจที่สุด เหมือนกับกฎของความจริงที่ว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎนี้ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎนี้ ความตั้งอยู่ของมัน หรือความเปลี่ยนแปลงของมัน หรือว่าความเกิดใหม่ของมัน มันเป็นไปตามกฎนี้ ความหมายที่สำคัญที่สุด ก็คือมันเป็นสักว่าอย่างนี้เท่านั้น มันจะไม่มีความหมายแห่งตัวตน อัตตา อัตมัน ตัวเรา ตัวตน อ่า, สัตว์ บุคคล อะไรขึ้นมาได้ มันเป็นเพียงอย่างนี้เท่านั้น
ทีนี้ไอ้ความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคลนี่ มันเป็นความคิด เอ่อ, ที่คนหรือสัตว์นี่มันคิดเอาเอง มัน มันมีร่างกาย มีจิตใจแล้วมันก็คิดเอาเองว่ามีตัวมีตน มีเรา มีเขา มีสัตว์ มีบุคคล นั่นแหละคือเรื่องที่มันจะเกิดความทุกข์ขึ้นมา คือมันไม่จริง มันทำ มันคิดเอาเอง เมื่อมีตัวมีตน มันก็มีตัวฉัน มีตัวเรา มีตัวเขา อ่า, แล้วมันก็มีของเรา ของฉัน ของเรา ของกู หรือของเขา แล้วมันก็ได้กระทบกันกับไอ้เรื่องเกี่ยวกับตัวกู ของกู ตัวเขา ของเขา แล้วก็ได้มีความทุกข์ เอ่อ, ถ้ามันรู้ชัดว่า โอ้, เป็นแต่เพียงกระแสเปลี่ยนแปลงแห่งอิทัปปัจจยตา ไม่เกิดรู้สึกเป็นตัวเรา ตัวกู ตัวเขา แล้วก็ มันก็ไม่มีเรื่อง มันไม่มีเรื่องที่จะไปหลงรัก หรือหลงเกลียด หลงโกรธ หลงกลัว อะไรทุกอย่างในสิ่งใด มันเห็นว่าเป็น "เช่น-นั้น-เอง" คำนี้ฟังดูแล้วมันบ้าๆ บอๆ ยังไงก็ไม่รู้อะ "เช่น-นั้น-เอง" อื่อ, เราก็เอามาบอกกัน ให้ถือเป็นหลักว่า ตถตา มันเป็นเช่นนั้นเอง เอ่อ, ให้สั้นกว่านั้นก็เป็น ตถา ตถา ก็แปลว่าเช่นนั้น เช่นนั้นเอง ตถา เช่นนั้น ตถตา ความเป็นเช่นนั้น ตถาตา ความเป็นเช่นนั้น อวิตถตา ไม่ผิดไปจากความเป็นเช่นนั้น อนัญญถตา ไม่เป็นโดยประการอื่นไปจากความเป็นอย่างนั้น ธัมมัฏฐิตตา คือการตั้งอยู่ตามธรรมดา ธัมมนิยามตา เป็นกฎตายตัวของธรรมดา อิทัปปัจจยตา คือความที่มีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น คือการอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น มันพูดยาวมาก เป็นคำใช้แทนกันได้ ในคำเหล่านี้ตั้งแต่คำสั้นที่สุดว่า ตถา ตถตา อวิตถตา อนัญญถตา ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปปาโท
เอ่อ, คำที่สั้นที่สุดคือคำว่า ตถา ตถา แปลว่าเช่นนั้น เช่นนั้นคือ เช่นที่มันเป็นน่ะ ตถตา ความเป็นเช่นนั้น คือมันเป็นตามที่มันเป็นน่ะ มัน มันไม่เป็นอย่างอื่น คือความที่มีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น ความมีสิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้เกิดขึ้นนี้อะ นี่คือความเป็นเช่นนั้น
ฉะนั้นถ้าคุณเหลียวไปทางไหน คุณเห็นความเป็นเช่นนั้น แล้วคุณก็จะไม่รู้สึกว่ามันเป็นต้นไม้ เป็นหมา เป็นแมว เป็นคน เป็นอะไร เพราะมันเป็นเช่นนั้น มันเป็นเพียงแต่กระแสแห่งความเป็นเช่นนั้น ตามกฎของ
อิทัปปัจจยตา จะเรียกว่าเป็น เอ่อ, ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อะไรก็ได้ แต่ใจความสำคัญคือมันเป็นเช่นนั้นตามกฎของมันเอง เอ่อ, เดี๋ยวนี้เราเห็น อ่า, ก้อนหินก้อนนี้ เราไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเช่นนั้นเองนี่ เราเห็นเป็นก้อนหินเสียเรื่อย บางทีจะมองไปนัยว่า เข้าที ไม่เข้าที สวย ไม่สวย เอาไปทำสวนญี่ปุ่นได้หรือไม่ มันคิดไปในทางนั้น ไม่ได้รู้สึกว่า โอ้, มันเช่นนั้นเอง นี่เรียกว่าไม่เห็นอิทัปปัจจยตา หรือไม่เห็นตถตา อริยสัจทั้ง ๔ น่ะ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ตถา ตถา คือความเป็นอย่างนั้น เป็นอริยสัจทั้ง ๔ คือความเป็นเช่นนั้น เป็นอริยสัจทั้ง ๔ แต่คำเหล่านี้ทำไมเขาไม่เอาออกมาจากพระไตรปิฎกมาสอน มาพูดให้คนได้ยินเล่า แต่แล้วมันก็มีอยู่ในพระไตรปิฎก แล้วเราก็พยายามจะเอามาพูดให้ได้ยินว่า อ่า, ที่เรียกว่าอริยสัจ ๔ นั้น กันทั่วไปนั้นนะ ในบาลีเขาเรียกเฉยๆ ว่า ตถา ๔ ตถา ๔ อย่าง ตถาคือทุกข์ ตถาคือทุกขสมุทัย ตถาคือทุกขนิโรธ เอ่อ, ตถาคือทุกข-นิโรธคามินีปฏิปทา เรียกว่า ตถา ตถา ผู้ใดถึงซึ่งตถา คือเห็นตถา เอ่อ, ผู้นั้นคือตถาคต ตถาคต
อื่อ, คำว่าตถาคตนี่ถ้าเอาตามที่เขาใช้กันอยู่ในครั้งพุทธกาลนู้นละก็ เอ่อ, คือผู้ที่ถึงที่สุดแห่งความเป็นผู้ประเสริฐ เป็นอริยบุคคล ผู้ถึงซึ่งตถา อ่า, ถึงซึ่งความเป็นอย่างนั้นแล้วมันไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นแล้ว ก็เรียกว่าถึงที่สุด หรือว่าถึงซึ่งความจริงของตถาคืออริยสัจ ๔ แล้วมันก็ดับทุกข์ได้ ฉะนั้นเขาจึงเรียกว่าตถาคต พระอรหันต์ทุกองค์เป็นตถาคต ถ้าตามหลักในบาลี พระพุทธเจ้าก็เป็นตถาคต พระอรหันต์ทุกองค์ก็เป็นตถาคต แปลว่าถึงแล้วซึ่งตถา ฉะนั้นการที่ถึงซึ่งตถาก็คือ สูงสุดของความประเสริฐ ของความที่เป็น ก็เป็นมนุษย์ จึงหมดเรื่อง หมดปัญหา ไม่ ไม่ ไม่มีปัญหาที่จะ จะเกิดความทุกข์ ในจิตใจของบุคคลนั้นจะไม่ ไม่เกิดความทุกข์อีกต่อไป เพราะมันถึงซึ่งไอ้สิ่งสูงสุดแน่นอนตายตัวเสียแล้ว
อื่อ, คำว่าตถา มันเป็น อ่า, คำแทนชื่อของอิทัปปัจจยตา ตถากับอิทัปปัจจยตามันเรื่องเดียวกัน แล้วก็เพราะมันเป็นสิ่งที่ตายตัวอย่างนั้น เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ สมกับที่มันเป็นกฎ อื่อ, กฎของธรรมชาติ มีอำนาจเหนือสิ่งใด ไม่ ไม่ใช่กฎที่ใครไปแต่งตั้ง บัญญัติ และไม่เกี่ยวกับพระเจ้า พระเจ้าไม่อาจจะแต่งตั้งกฎ เพราะว่าถ้ามีอะไรมาแต่งตั้งกฎ นั้นก็ไม่ใช่กฎ อื่อ, ถ้ามันเป็นกฎคือเป็นสัจจะ เป็นไอ้ของจริง มันต้องเป็นอสังขตะ เป็น วิสังขาระเสมอ คือว่าไม่มีอะไรแต่งตั้งมันได้ ไม่มีอะไรทำมันได้ มันจึงจะเป็นสัจจะหรือกฎ ฉะนั้นกฎอันนี้มันจึงสูงสุดเหนือสิ่งใด เหมือนกับว่าเป็นพระเจ้าสูงสุดตามมติแห่งพุทธศาสนา ส่วนพระเจ้าหรือสิ่งสูงสุดในศาสนาอื่น เช่น ศาสนาฮินดู ทั้งศาสนายิว ศาสนาคริสเตียน ศาสนามูฮัมหมัด อะไรก็ตาม เขามีพระเจ้าแบบอื่น มีชื่ออย่างนั้น มีชื่ออย่างนี้ เป็นพระพรหม พระอิศวร พระนารายณ์บ้าง พระยะโฮวาห์บ้าง พระอัลหล่าห์บ้าง แล้วแต่มันจะมีชื่อเรียกกันมา อธิบายไว้ในลักษณะที่ว่ามีความรู้สึก มีความรู้สึกเหมือนคนหรือสัตว์ที่มีความรู้สึก พระเจ้ามีความรู้สึกอย่างบุคคล คิดดู มันก็ยินดี ยินร้ายได้ พอใจได้ไม่พอใจได้ นั่นแหละพระเจ้าของฝ่ายนู้นเอาไปเถิด เอาไปเถิดเราไม่ต้องการ เราจะมีแต่พระเจ้าอย่างของพุทธศาสนา คือกฎที่มีไอ้หลักเกณฑ์อะไรตายตัว คือกฎ
อิทัปปัจจยตา ถ้าทำอย่างนี้ ผลจะเกิดอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ ผลจะเกิดอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ ผลจะเกิดอย่างนั้น ตามกฎของอิทัปปัจจยตา กฎนั้นไม่รู้สึกอะไร ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ ไม่ใช่สัตว์หรือไม่ใช่คน ไม่ใช่ เอ่, ไม่ใช่สิ่งที่มีความรู้สึก มันเป็นเพียงแต่กฎ ถ้าทำฝ่ายอย่างนั้นมันจะเกิดอย่างนั้นขึ้นมา ถ้าทำฝ่ายอย่างนี้จะเกิดอย่างนี้ขึ้นมา คือฝ่ายทุกข์หรือฝ่ายไม่มีทุกข์นั่นเอง ฉะนั้นจึงให้ถือหลักง่ายๆ ว่า ถ้าทำถูกกฎของอิทัปปัจจยตา อื่อ,
ก็คือไม่มีความทุกข์ ถ้าทำผิดต่อกฎของอิทัปปัจจยตา คือผิดจากฝ่ายถูก มันก็ผิด มันก็มีทุกข์
ฉะนั้นจิตนี่มันคิดไปผิดหรือคิดไปถูก ถ้าคิดไปถูก มันก็ไม่มีความทุกข์หรอก พอคิดผิดมันก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา คือไปรัก ไปโกรธ ไปเกลียด ไปกลัว อะไรเข้า ถ้าคิดถูก มันก็อย่างนั้นเอง ไม่เกิดความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว อ่า, ความวิตก กังวล อาลัย อาวรณ์ อิจฉา ริษยา หึงหวง จนกระทั่งฆ่าฟันกัน นั่นมันผิดกฎอิทัปปัจจยตา มีความทุกข์ ฉะนั้นจึงรู้สึกกันไว้เถิดว่า มันมีสิ่งสูงสุดควบคุมสิ่งทั้งปวงอยู่อย่างนี้ ถ้าเราทำผิดกับกฎนี้ เราจะมีความทุกข์ ไม่ว่าใครละ ถ้าทำไม่ผิดต่อกฎนี้ ก็จะไม่มีความทุกข์
ทีนี้ก็แยกดูเอาเองสิ สมมติว่าเราคนหนึ่งนะ เนื้อหนังร่างกายของเรานี่ถ้ามันเกิดเป็นไปผิดจากกฎอิทัป-ปัจจยตา มันก็ต้อง ฝ่ายที่จะเป็นสุขน่ะ มันก็ต้องมีความทุกข์ ถ้ามันถูกอย่างถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตา ฝ่ายที่จะไม่ทุกข์มันก็ไม่ทุกข์ ฉะนั้นการที่เราจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บอะไรขึ้นทางเนื้อหนังร่างกาย ก็มันก็อยู่ที่ว่ามัน มันกำลังเป็นตามกฎของอิทัปปัจจยตาในลักษณะอย่างไร แต่ว่านั่นมันส่วนร่างกายเท่านั้นอะ ไม่สำคัญหรอก นี้ส่วนจิตใจสิ เพราะจิตใจมันคิดผิด ปรุงแต่งผิดตามกฎของอิทัปปัจจยตา ฝ่ายที่จะไม่มีทุกข์มันก็เป็นทุกข์ มันก็คือไปทำผิดทางจิต เช่นไปหลงรัก มันก็เป็นทุกข์ตามแบบของความหลงรัก แล้วไปลงโกรธ หลงเกลียด มันก็เป็นทุกข์ตามแบบหลงเกลียด หลงโกรธ กลัว วิตก กังวล อาลัย อาวรณ์ แจกลูกออกไปมากมาย หลายสิบชื่อ ทุกข์ทั้งนั้น คุณรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา เอ่อ, ฝ่ายที่มันจะไม่เป็นทุกข์น่ะ แล้วก็ปฏิบัติตามนั้น แล้วก็จะไม่มีความทุกข์หรอก
ทีนี้ปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูกน่ะ ปฏิบัติเมื่อไรกัน อื่อ, ก็ตอบว่า เมื่อมีผัสสะนั่น ผัสสะมีเมื่อไรกัน ก็มีเมื่อ อายตนะนี่มันทำหน้าที่ของมัน อายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีอยู่ในเรา อายตนะภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันมีอยู่นอกเรา ทีนี้ตามธรรมดาน่ะมันก็ถึงกันตามคู่ของมัน เช่นตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นได้รู้รส ผิวหนังได้สัมผัสไอ้สิ่งที่มาสัมผัสผิวหนัง จิตจะรู้สึกต่อสิ่งที่ปรุงขึ้นในจิต เป็นความรู้สึกหรือเป็นความคิดนึก นั่นแหละเรียกว่ามันมีการถึงกันระหว่างอายตนะ แล้วมันเกิดความรู้สึกขึ้นที่นั่น อย่างนี้เรียกว่าผัสสะ
ยกตัวอย่างคู่แรกนะ คู่แรกคือตากับรูป ตาแล้วรูปถึงกันเข้า เรียกว่า จะเกิดจักษุวิญญาณ คือ การเห็นทางตา เรียกว่า จักษุวิญญาณ นี่เรียกว่าจักษุคือตา นั่นเรียกว่ารูป คือสิ่งข้างนอกเกิดถึงกัน เกิดจักษุวิญญาณ ก็เลยได้สามเรื่อง คือได้จักษุ ได้รูป ได้จักษุวิญญาณ สามเรื่องกำลังทำงานคือ อ่า, สัมผัสกัน ถึงกัน นี่ในหน้าที่ของมัน สามอย่างนี้ทำหน้าที่ของมันพร้อมกัน นี่เรียกว่าผัสสะ
ทีนี้พวกคุณก็รู้ผัสสะแต่ในหนังสือ เอ่อ, รู้ผัสสะแต่ได้ยินเขาอ่านหนังสือ อ่า, ทั้งที่ว่าตัวเองมีผัสสะ ทั้งวันทุกวัน เดี๋ยวทางตา เดี๋ยวทางหู เดี๋ยวทางจมูก เดี๋ยวทางลิ้น ทั้งหกทางแหละ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกหรอก คือไม่ได้รู้สึกกับมันลงไปตรงๆ มันจึงเหมือนกับว่าไม่มี เพราะว่าเราไม่รู้สึกถึงขนาดนี้ อื่อ, เราไปรู้สึกรัก โกรธ เกลียด กลัว อะไรไปเสียแล้วตอนนู้น แป๊ปเดียวไปอยู่ที่รัก โกรธ เกลียด กลัวแล้ว ไม่ได้มาแยกอยู่ อ้าว, นี่ผัสสะ แล้วนี่เวทนา แล้วนี่ตัณหา แล้วนี่อุปาทาน แล้วเกิดรู้สึกไปตามอุปาทาน สำหรับจะรัก จะโกรธ จะเกลียด จะกลัวอะไรต่างๆ นี่แว๊บเดียวยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ เมื่อมีสัมผัส มีการสัมผัสทางอายตนะ เป็นผัสสะแล้วก็ปรุงแต่งไปตามแบบของอิทัปปัจจยตา นี่การที่มีตาจึงเป็นเหตุให้มีรูป ถ้าไม่มีตามันก็ไม่มีรูป เพราะมันไม่มีอะไรจะไปรู้จักรูป เพราะถ้าไม่มีตากับรูป มันก็จะไม่เกิดจักษุวิญญาณคือการเห็นทางตา ถ้าไม่มีไอ้สามอย่างนี้สัมผัสกัน แล้วก็ไม่มีผัสสะหรอก ถ้าไม่มีผัสสะก็ไม่มีเวทนา ไม่มีเวทนาก็ไม่มีตัณหา ไม่มีตัณหาก็ไม่มีอุปาทาน ไม่มีภพ ไม่มีชาติ แล้วก็ไม่มีทุกข์ แต่เดี๋ยวนี้มันมี มันมี มี มี ตามลำดับอย่างนี้ ปรุงแต่งกันอย่างนี่ นี่ก็คือตัวอิทัปปัจจยตา ถ้าเอามาพูดให้ละเอียดแยกแยะให้เห็น มันก็จะพูดกันตั้งหลายนาทีแหละ กว่าจะตั้งแต่ต้นจนจบอะ แต่เวลามันทำงานของมันแว๊บเดียว ยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ จากการเห็นรูปไปอยู่บนความรักโกรธ เกลียด กลัว ไปอยู่ทางนู้นเสียแล้ว เร็วเป็นสายฟ้าแลบ เราก็ยิ่งไม่เห็นสิ เราก็ยิ่งไม่รู้สึกว่าเรามีผัสสะ มีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน มีอะไรตามกฎ อิทัปปัจจยตา อ่า, เรารู้ไม่ทัน เรารู้สึกไม่ทัน ถ้าเราไม่รู้เรื่องนี้พอเราเห็นรูป เราก็โง่ รัก โกรธ เกลียด กลัว อะไรตามเรื่องแล้ว ได้ฟังเสียงก็โง่ เพราะไม่รู้อิทัปปัจจยตาที่ว่าโง่ มันก็เกิดรักโกรธ เกลียด กลัวไปตามนั่นแล้ว ดมกลิ่นก็ดี ลิ้มรสก็ดี สัมผัสผิวหนังก็ดี จากว่าสัมผัสมันก็ไปนู้นแล้ว ไปเป็นความรัก ความโกรธ ความเกลียดความกลัว ความวิตก กังวล อาลัย อาวรณ์ อิจฉา ริษยา หึงหวง ควบคุมไว้ไม่ได้ก็ฆ่ากันแล้ว ฆ่ากันตายแล้ว เอ่อ, เช่นว่าไอ้คนโหดร้ายคนหนึ่ง พอสักว่าเห็นภาพนี่ มันก็รู้สึกว่ามันเห็นภาพนี่คือศัตรูของเรา แล้วมันก็ฆ่าฟันกันจนตายไปแล้ว จึงจะรู้สึกว่า อ้าว, มันมานอนตายอยู่ที่นี่ มันไม่ได้มีความรู้สึกว่า เห็นรูปเกิดผัสสะ เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ รัก โกรธ เกลียด กลัว อาลัย อาวรณ์ อะไรก็ แล้วก็ฆ่ากันแล้ว ฉะนั้นเราสังเกตดูสิ ไอ้คนที่มันฆ่ากันตาย มันตั้งต้นที่มันการเห็นรูป หรือฟังเสียง หรือดมกลิ่น หรืออะไรแล้วแต่ มันเห็นศัตรู มันก็ไม่ต้องมีอะไรแล้ว มันก็กระโจนเข้าฆ่าฟันกันตายแล้ว แล้วได้ฟังเสียงศัตรูนี้มันก็ยิงแล้ว มันก็ไปนอนตายอยู่แล้ว มันไม่มี ไม่มีเวลาที่จะมาศึกษาอิทัปปัจจยตา แต่ตามความจริงนั้นน่ะ มันเป็นไปตามกฎของอิทัป- ปัจจยตาตามลำดับ ลำดับๆๆ จนถึงที่สุดของมัน ถ้าเรามีความรู้เรื่องนี้เราควบคุมได้ก็ไม่ต้องเป็นอย่างนั้น ก็ต้องไม่เกิดไอ้ผัสสะโง่ แล้วก็เวทนาโง่ ตัณหาโง่ อุปาทานโง่ มีตัวกูของกู แล้วก็ทำร้ายกัน ฆ่าฟันกัน หรือว่า อ่า,ไม่อย่างนั้นก็เป็นทุกข์ร้อน นอนไม่หลับอยู่คนเดียว ทนทรมานอยู่คนเดียว ก็ตามใจเพราะมันไม่มีคู่ จะฆ่ากัน
นี่คือสิ่งที่มันเป็นอยู่จริงในหมู่มนุษย์ ทำผิดกฎของอิทัปปัจจยตา ก็เกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ขึ้นมา ถ้าทำไม่ผิดกฎอิทัปปัจจยตานะ ส่วนที่จะไม่เป็นทุกข์นะ มันก็ไม่เป็นทุกข์ขึ้นมา ก็สบายดี จึงสรุปความสั้นๆ ว่า
ไอ้ทุกข์มันก็เกิดมาเพราะทำผิดกฎของอิทัปปัจจยตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันมีผัสสะ ความที่มันไม่เป็นทุกข์ สบายดี แล้วความที่มันไม่ทำให้ผิดกฎอิทัปปัจจยตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผัสสะ ฉะนั้นจึงรีบศึกษาให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ ศึกษาให้รู้จักตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส ผิวกายกับสิ่งที่มาสัมผัสผิวกาย ใจกับไอ้สิ่งที่มันจะเกิดรู้สึกขึ้นมาในใจ พยายามศึกษานี้ เหมือนกับที่บอกคืนก่อนว่า นี่คือ ก ข ก ข ก กา ของธรรมะ อื่อ, ถ้าเรียนพุทธศาสนาแล้วก็ขอให้ตั้งต้น ก ข ก กา ที่นี่ ที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ที่วิญญาณ ที่ผัสสะ ที่เวทนาตัณหา เดี๋ยวนี้มันไปเรียนพุทธศาสนาเรื่องอื่นหมด มากมายก่ายกอง ไปเรียนเป็นปรัชญาเสียบ้าง ไปเรียนเป็น ไปทางทิศไหนก็ไม่รู้ ไม่เรียนเรื่องตาหูจมูกลิ้นกายใจมันทำงานกันอย่างนี้ แล้วก็ผิดกฎอิทัปปัจจยตา แล้วก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่ผิดกฎอิทัปปัจจยตา ก็ไม่เป็นทุกข์
ทีนี้พวกอื่นก็ช่างหัวมันดิ พูดหยาบคายอย่างนี้ ช่างหัวมันสิ พวกอื่น แต่พวกชาวพุทธนี่มันต้องทำให้ถูก ตามกฎอันนี้เพื่อจะไม่เป็นทุกข์ ถ้ามันเกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา เราก็รู้เสียว่ามันสูญเสียความเป็นพุทธ เมื่อใครเป็นทุกข์ มีความทุกข์ขึ้นมา มันสูญเสียความเป็นพุทธแล้ว ถ้ามันไม่มีความทุกข์น่ะ มันยังรักษาความเป็นพุทธไว้ได้ มันน่าละอายอย่างยิ่ง น่าเกลียด น่ากลัวอย่างยิ่งที่มันไม่ได้เป็นชาวพุทธ เพราะมันเป็นทุกข์เสียแล้วนี่ นี่ใครมันรู้สึกอย่างนี้บ้าง มันไม่รู้สึกหรอก มันไม่สนใจจะรู้สึกอย่างนี้ ทุกข์ก็ทุกข์ ทุกข์ก็ไม่รู้ว่าทุกข์ ทุกข์กี่ร้อยครั้งมันก็ไม่รู้ว่าทุกข์ มันเห็นเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง แม้ว่ามันจะไปนั่งร้องไห้อยู่ มันก็ไม่เห็น มันจะไปกระโดดน้ำตาย กินยาตาย มันก็ไม่รู้ว่าเป็นทุกข์หรือว่าทำผิดอะไร อื่อ, ถ้าเราเป็นพุทธบริษัทแท้จริง เราต้องรู้เรื่องนี้ แล้วเราต้องควบคุมไว้ได้ อื่อ, แล้วก็ไม่เป็นทุกข์ ให้สมกับที่เราสวดอยู่ทุกวัน ทุกวันอะ พุทธะ พระพุทธเจ้า พุทธะ ผู้รู้ พุทธะ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้ารู้มันก็ไม่ มันก็รู้สิ เดี๋ยวนี้มันไม่รู้จัก ไม่รู้แม้แต่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมันยังไม่ตื่น คือมันยังหลับอยู่ด้วยความโง่นี่ แล้วมันจะเบิกบานอะไรได้ มันจะเป็นสุขอย่างไรได้ เพราะมันยังหลับอยู่ด้วยความโง่ มันไม่รู้จักอะไร แล้วมันก็ทำผิด มีความทุกข์อยู่ มันก็ไม่เบิกบาน เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานจึงจะเรียกว่า อ่า, เป็นพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้า
อื่อ, ที่พูดนี้ก็พูดสำหรับว่า ลาสิกขาบทออกไปอยู่บ้านแล้วก็ยังไม่พ้น ยังไม่พ้นในเรื่อง ยังไม่พ้นเรื่องนี้ ยังจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องต่อเรื่องนี้ ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีความเป็นพุทธบริษัท แล้วก็ไปมีความทุกข์ที่บ้าน ที่เรือน ที่ครอบครัว ลูก เมีย พลอยเป็นทุกข์ไปหมด บ้าเลย ไม่มีความเป็นพุทธบริษัทอะไรเหลืออยู่แล้ว ฉะนั้นเราจะต้องรับผิดชอบ ไอ้ที่ว่าเป็นพุทธบริษัท แล้วก็คืออันนี้ คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้รู้กฎอิทัปปัจจยตา ผู้หายโง่ ตื่นขึ้นมาทันเวลา ที่มันเกิดเรื่องทางอิทัปปัจจยตา ควบคุมได้ เมื่อมีผัสสะแล้วก็ โอ้, มันก็ผัสสะนี่ คือเป็นอย่างนี้เอง อย่างนี้เอง ตากับรูปถึงกันเข้าเกิดจักษุวิญญาณ ทำงานแล้วก็เรียกว่าผัสสะ รู้สึกตัวว่าเป็นอิทัปปัจจยตา คือกระแสปรุงแต่งตามของกฎอิทัปปัจจยตา ถ้ามันรู้อย่างนี้มันจะไม่เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกู มีตัณหา มีอุปาทาน หรือมันเห็นเป็นของธรรมดาไปหมด เช่นเห็นรูปสวย มันก็สวย ก็รู้ว่าสวย นี่คือความสวย นี่เรียกกันว่าความสวย แต่กูไม่เอากับมึง กูไม่หลงกับมึง ไม่หลงรักมึงนี่ หรือเห็นว่านี่ไม่สวย เอ้า, มันก็ไม่สวยเท่านั้นแหละ รู้อยู่กับความไม่สวย กูก็ไม่ต้องโกรธมึง ไม่เกลียดมึง ไม่ไปวุ่นวายใจกับมึง ทุกคู่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่ว่าเราจะต้องหลีกไม่พบอะไร เราก็เห็นติดต่อสัมผัสกับอะไร อื่อ, สวยก็ได้ ก็ไม่ทำอะไรเราก็แล้วกัน ถ้าเราโง่ไอ้ความสวยมันทำให้เราหลงรักอยากได้ เกิดกิเลส หรือว่ารุนแรงกว่านั้นมันก็เป็นเรื่องที่จะเอามาเป็นผัวเป็นเมียเป็นอะไรก็ตามใจ นั่นมันมากไปแล้ว
ฉะนั้นเรามารู้เรื่องอิทัปปัจจยตาให้เพียงพอ ให้ถึงขนาดว่า ถ้าสวย มันก็นั่นคือสวยเท่านั้นแหละ เราควบคุมไอ้ความหมาย หรือคุณค่าของความสวย อย่ามาครอบงำจิตใจเรา ฉะนั้นเราจึงไม่รัก ไม่หลงรัก ถ้าเราหลงรัก ก็เรียกว่ามันไม่มีเราแล้ว คือมันไม่มีตัวเราที่จะคุ้มครองตัวเราแล้ว มันโง่ไปหมดแล้ว ฉะนั้นจิตนั้นน่ะ มันเป็นจิตที่โง่ มันก็สร้างความโง่เป็นตัวเราที่โง่ เราก็ได้หลงรัก หรือได้หลงโกรธ ได้หลงเกลียด ได้หลงกลัว เพราะว่าที่แท้ ที่แท้นั้นน่ะมันมีแต่จิตเท่านั้นแหละ และเมื่อจิตนั้นน่ะมันมีความรู้สึกได้ตามแบบของจิต เอ่อ, ถ้าจิตนั้นมันรู้สึกผิดไปจากกฎอิทัปปัจจยตา คือไปหลงรัก หลงโกรธ เกลียด กลัว แล้วมันก็ต้องเป็นทุกข์ และจิตนั้นน่ะก็ต้องเป็นทุกข์ แล้วจิตนั้นก็มีความรู้สึกนึกคิดที่ว่า กูเดือดร้อน กูเป็นทุกข์ กูจะตาย กูอะไร เป็นความคิดของจิตที่มีตัวกูขึ้นมา ฉะนั้นตัวตนเกิดมาจากความไม่รู้อิทัปปัจจยตา อ่า, ของจิตนั่นเอง จิตมันมีอวิชชา คือไม่รู้ เพราะไม่รู้กฎอิทัปปัจจยตา มันก็รู้ด้วยอวิชชา รู้ด้วยความโง่ รู้สึกว่ามีตัวกู
มีผัสสะแล้วก็มีเวทนา คือเวทนาสุข ทุกข์ เวทนาที่ยั่วให้รัก เวทนาที่ยั่วให้เกลียด ให้โกรธ ให้กลัว อ่า, มันก็เกิดเป็นเวทนา แล้วจิตมันก็ยังโง่ต่อไปว่า กูจะรักไอ้ที่มันน่ารัก กูมันรักที่มันน่ารัก กูมันเกลียดที่น่าเกลียด กูมันกลัวที่น่ากลัว นี่ความโง่ อื่อ, ของจิตในขั้นต่อไป แล้วมันก็เกิดความอยาก ที่น่ารักก็อยากเอา ที่ไม่น่ารักก็อยาก อยากทำลายเสีย นี่มันจึงเกิดการกระทำที่ตรงกันข้าม คือเอา หรือว่าทำลายเสีย อ่า, หรือว่าอีกอย่างหนึ่งก็ ทึ่ง สงสัย วนเวียนอยู่ เราจึงมีกิเลสอยู่ ๓ ชนิด คือโลภะ หรือราคะ นี่มันจะเอาเข้ามา นี่อีกชนิดหนึ่งมันก็โกรธเกลียด ไม่เอาคือเป็นโทสะ โกธะ ถ้าตัดสินใจไม่ได้ว่าจะน่าเอาหรือไม่น่าเอา มันก็ยังพะวงสงสัยอยู่ มันก็ยังวนเวียนอยู่ ก็เรียกว่าโมหะ ถ้าเขียนสัญลักษณ์ ก็เขียนได้ง่ายเลย ไอ้, โลภะ ราคะ พวกนี้เขียน ดึงเข้ามา เพื่อเอา โทสะ โกธะมันก็มีสัญลักษณ์ คือผลักออกไป หรือฆ่ามันเสียให้ตาย อ่า, ถ้าเป็นโมหะก็เวียนอยู่รอบๆ เวียนอยู่รอบๆ ไอ้สิ่งที่มันเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึก ฉะนั้นจงรู้จักกิเลสของเรา ว่ามี คลอดออกมาจากความยึดถือที่เรียกว่าเป็น โลภะ โทสะ โมหะ อันหนึ่งจะเอา อันหนึ่งจะไม่เอา อันหนึ่งสงสัยอยู่ ทำอะไรไม่ถูกก็วนเวียนอยู่นั่น
สิ่งเหล่านี้เป็นไปเหมือนกับสายฟ้าแลบ คือไม่ ไม่ ไม่ได้รู้สึกเป็นช่วง เป็นช่วง เป็นช่วงอย่างนี้ เว้นไว้แต่ว่าเราจะศึกษาให้รู้เรื่องนี้ แล้วเราควบคุมมันไว้ได้ตอนแรกแล้วมันไปไม่ได้ มันไม่ไปเป็นไอ้เวทนา ตัณหา อุปาทาน หรือ เป็นทุกข์ได้ อื่อ, จะรู้สึกอย่างนี้ได้ต้องเป็นผู้มีสติมาก ฝึกฝนให้มีสติมาก มีสติเร็วพอ และมีความรู้ที่เพียงพอสำหรับสติจะเอามา คือทำให้รู้สึกได้เมื่อมันมีการกระทบทางอายตนะ ถ้าพูดให้มันเป็นไอ้ เป็นไอ้วัตถุ สิ่งของเห็นได้ง่ายๆ ก็คือว่า สติ อะ มันเกิดขึ้น เหมือนกับว่ามันมา เร็วทันเวลาที่มันกระทบทางอายตนะ แล้วความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันศึกษาไว้ก่อนแล้ว มันศึกษาไว้พอแล้ว สติมันระลึกขึ้นได้แล้ว มันเท่ากับว่ามันเอาไอ้ความรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มาทันเวลาที่กระทบผัสสะ ฉะนั้นสติ เอาสติปัญญามาควบคุมจิต ควบคุมกระแสของจิต ควบคุมการปรุงแต่งของจิต ให้ดำรงอยู่แต่ในความถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา ดังนั้นจิตจึงไม่ปรุงแต่งอย่างโง่เขลาไปหาความทุกข์ มันหยุดอยู่ได้ด้วยสติปัญญา แล้วมันยังรู้ต่อไปว่าควรจะทำอะไรกับไอ้สิ่งนี้ที่มันมาเห็น มาถึงแล้วควรจะทำอย่างไร จิตมันก็ยังรู้อีก ก็เพราะมันมีปัญญา แล้วมันก็ทำไปได้ มันจะใช้ จะกิน หรือมันจะไม่กิน ไม่ใช้ หรือมันจะไม่เกี่ยวข้องด้วย หรือมันจะไม่ทำอะไรเลยก็ได้ จิตก็มีแต่ทำถูกตามกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา เรื่องนั้นก็ไม่เกิดความทุกข์แก่จิตเลย นี่ นี่คำอธิบายเป็นอย่างนี้
อื่อ, ถ้าเราทำผิดต่อกฎอิทัปปัจจยตาในขณะแห่งผัสสะ เราต้องเป็นทุกข์แน่นอน อื่อ, ถ้าเราทำถูกต้องตามกฎอิทัปปัจจยตาในขณะแห่งผัสสะ เราก็ไม่เป็นทุกข์เลย แต่การที่เราจะไม่ทำให้ผิดน่ะ มีแต่จะทำให้ถูกต้อง ก็ต้องมีสติ มีปัญญาเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ได้ศึกษาอบรมมาแล้วอย่างพอตัว แล้วอะไรที่สอนให้รู้อะ ก็ความทุกข์ไง เมื่อทำผิดพลาดแล้วไปเป็นทุกข์แล้วมันจะสอนให้ อย่างนั้นผิดแล้ว โดนหลายๆ ครั้งเข้ามันรู้จักเข็ด รู้จักหลาบ มันก็ไม่ทำอย่างนั้นอีก หรือสติที่เคยมาช้างุ่มงาม มาช้ามันก็เกิดเร็วขึ้น อื่อ, เราก็เลยเปลี่ยนนะ เปลี่ยนจากคนโง่ เปลี่ยนจากอืดอาด เฉื่อยชา เชื่องช้า มาเป็นรู้เร็ว กินเร็ว (นาทีที่ 53:23) ควบคุมจิตได้ดี หรือไม่ ไม่เกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ฉะนั้นรู้ไว้เถิดว่า ไอ้ชีวิตที่เหลือของคุณต่อไปข้างหน้า ชีวิตที่มันเหลืออยู่ว่ามันจะพบกับปัญหานี้แหละ จะทุกข์หรือจะไม่ทุกข์ก็เพราะว่าทำผิด หรือทำถูกต่อกฎของอิทัปปัจจยตา อ่า, ในเมื่อมันมีผัสสะ
อื่อ, ที่บ้านก็ได้กลางถนนหนทางก็ได้ ที่ออฟฟิศทำงานก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ล้วนแต่มันมีเรื่องที่จะมากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับจะทำผิดหรือทำถูกต่อกฎอิทัปปัจจยตา อ่า, ถ้าเรามีสติปัญญาพอตัว อบรมศึกษาให้รู้เรื่องนี้ไว้ ตั้งแต่เมื่อยังบวช สึกออกไปมันคงจะดีกว่าแต่ก่อน คือมีความรู้สึกตัวรวดเร็ว คือ มีสติ มีปัญญา มีอะไรพอ มันก็จะควบคุมได้บ้าง ไม่มากก็น้อย ฉะนั้นความทุกข์มันก็จะมีน้อยลง อื่อ, ถ้าควบคุมได้มาก หรือได้หมด มันก็ไม่มีความทุกข์เลย นี่เรื่องอิทัปปัจจยตา จำเป็นที่สุดที่จะต้องรู้ แล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง ทุกๆครั้ง ทุกๆ คราวที่มีผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อ่า, พุทธศาสนามีเท่านี้ แต่ก็ไม่มีใครเชื่อ แล้วก็ผมก็ถูกหาว่าบ้า พูดว่าพุทธศาสนามีเท่านี้ แล้วก็ถูกด่าว่าบ้า พูดว่าพุทธศาสนามีเท่านี้ แต่มันจริงที่สุดแหละมันมีเท่านี้จริงๆ แหละ อื่อ, ทำผิดต่อกฎอิทัปปัจจยตาก็เกิดความทุกข์ ทำถูกต่อกฎอิทัปปัจจยตามันก็ไม่มีความทุกข์ แล้วมันก็เมื่อมีผัสสะนั่นเอง พุทธศาสนามีเท่านี้
เมื่อพระพุทธเจ้าท่านเอาสูตรอิทัปปัจจยตามาท่องเล่นอยู่คนเดียว อยู่พระองค์เดียว แล้วภิกษุองค์หนึ่งมาแอบฟังอยู่ข้างหลัง ท่านเหลียวไปเห็นเข้า ท่านก็ว่า อ้าว, มานี่ ดีแล้วๆ นี่คืออาทิพรหมจรรย์ คือตัวพรหมจรรย์ที่เป็นไอ้ขั้นพื้นฐาน ขั้นไอ้สำคัญนั่นแหละ มันก็มีเท่านั้นอะ ไอ้เรื่องอื่นๆ มากมายก่ายกอง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์น่ะเป็นคำอธิบายปลีกย่อย ที่ไปรู้เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อธิบายกันมากมาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อธิบายกันมากมาย เรื่องสติ อธิบายกันมากมาย เรื่องสัมปชัญญะอธิบายกันมากมาย เรื่องปัญญาอธิบายกันมากมาย แล้วมีเรื่องที่ไม่จำเป็นอยู่เยอะแยะเหมือนกันล่ะ ไม่ใช่จะดูถูกพระไตรปิฎกหรอก ไอ้ที่มันไม่จำเป็นต้องรู้ต้องเรียนก็มีอยู่แยะเหมือนกันในพระไตรปิฎก แต่ว่ารู้ก็มีประโยชน์เหมือนกัน แต่ว่าไม่จำเป็นต้องรู้ก็มี
ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า ไอ้สิ่งที่ตรัสรู้มีมาก ที่จะเอามาต้องสอนมาบอกมีน้อย ที่ต้องเอามาบอกมาสอนเปรียบเหมือนกับใบไม้ที่กำขึ้นมากำมือหนึ่ง ที่ไม่ต้องเอามาบอกเอามาสอนเท่ากับใบไม้ทั้งป่าเลย พระสูตรนี้เป็นหลักอยู่ อื่อ, แล้วก็ตรัสเมื่อกำลังหยุดพักอยู่ อยู่ อยู่กลางป่า ป่าไม้สีสปา พวกไม้สีเสียด ใบฝอยๆ ทรงกำใบไม้ขึ้นมากำมือหนึ่งบอกว่า นี่ ที่รู้และควรจะสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว ที่รู้แล้วไม่ต้องสอนไม่ต้องพูดเท่ากับใบไม้ทั้งป่า นี่ไอ้ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์มันคงจะอยู่ในพวกป่าที่ใบไม้ทั้งป่า ในส่วนที่ต้องนำมาสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียวก็คือเรื่องอิทัปปัจจยตา เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าฉันพูด ฉันพูดเอามาจัด เอามาบัญญัติเฉพาะเรื่องทุกข์กับดับทุกข์เท่านั้น เรื่องอื่นไม่ต้องพูด เช่นว่า ตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด นี่ไม่ต้องพูดนี่ มันจะตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิดก็ช่างหัวมันอะ แต่ว่าจะดับทุกข์ต้องดับอย่างนี้เท่านั้นแหละ คนนี้เชื่อว่าตายแล้วเกิด ถ้าจะดับทุกข์ก็ต้องดับตามกฎเกณฑ์อันนี้ คนนี้เชื่อว่าตายแล้วไม่เกิดก็ช่างหัวมัน ถ้ามันจะดับทุกข์ แล้วมันต้องดับตามกฎเกณฑ์อันนี้ ฉะนั้นเราไม่ต้องถามหรอกตายแล้วเกิด ตายแล้วไม่เกิด ตายแล้วยังไม่อะไร ไอ้โลกเที่ยงโลกไม่เที่ยง ไม่ต้องถามกัน มากมายก่ายกองนั้นไม่ต้องถาม ไม่ต้องมาถามว่าผีมีหรือไม่มี ไอ้นั่นมันคนขี้ขลาด ไม่ต้องถาม ไม่ต้องรู้ ถ้าผีมี มันก็ต้องดับทุกข์อย่างนี้ ผีไม่มี มันก็ต้องดับทุกข์อย่างนี้ ฉะนั้นอะไรคำถามต่างๆ ที่ชอบถามกันนัก มันไม่จำเป็น ไม่ต้องรู้ รู้แต่ว่าต้องดับทุกข์ อย่างนี้ก็แล้วกัน คือตามกฎของ
อิทัปปัจจยตา ฉะนั้นคุณอย่าไปตั้งปัญหา เสียเวลา ตั้งปัญหาแต่ว่าจะดับทุกข์อย่างไรนั้นน่ะ คือจะถามว่า
ไอ้อิทัปปัจจยตาเป็นอย่างไรก็พอแล้ว
ฉะนั้นจะถือลัทธิต่างกันเรื่องพระเจ้า เรื่องศาสนา เรื่องอะไรอย่างคนเดี๋ยวนี้ในโลกมีมากๆ นะ ก็ช่างหัวมันแหละ แต่ทุกคนในโลกอะ ถ้าจะดับทุกข์ก็ต้องดับอย่างนี้ คือทำให้ถูกตามกฎของอิทัปปัจจยตา เราพูดอย่างนี้ เขาก็โกรธ เขาก็หาว่าดูถูก พวกคุณจะเป็นยิวก็ตามใจคุณ คุณจะเป็นคริสเตียนก็ตามใจคุณ คุณจะเป็น โมฮัมหมัดก็ตามใจคุณ คุณจะเป็นอิ อิสลาม ฮินดูอะไรก็ตามใจคุณ แต่ความทุกข์ของคุณน่ะ ต้องดับอย่างนี้ ถ้าทำผิดอันนี้คุณจะต้องเป็นทุกข์ ทั้งที่คุณเป็นคริสเตียน เป็นยิว เป็นโมฮัมหมัด เป็นตามใจคุณ แต่ความทุกข์ของคุณน่ะต้องดับอย่างนี้ ตามกฎของอิทัปปัจจยตา แล้วพูดอย่างนี้มันก็เป็นรุกล้ำ แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ภาษาการเมือง แต่เราก็ยังจะบอกอยู่อย่างนี้ว่ามันดับทุกข์มันต้องทำอย่างนี้ ไม่อยากจะเป็นทุกข์ก็ต้องทำอย่างนี้ ทำให้ถูกต้องเมื่อมีผัสสะ แต่พวกอื่นเขามีวิธีอย่างอื่น เขาเชื่อว่าความทุกข์มาจากพระเจ้า ก็ต้องไปหาพระเจ้า ก็ต้องอ้อนวอนพระเจ้า ไปจุดธูป จุดเทียน จุดอะไรบูชาอ้อนวอนพระเจ้าจึงจะดับทุกข์ มันตามแบบของเขา ก็ตามใจเขาสิ แต่เราไม่เอาอะเพราะมันดับทุกข์ไม่ได้ เพราะเหตุว่าไอ้ความทุกข์นี่มันเกิดขึ้นเพราะการทำผิดกฎอิทัปปัจจยตา
ฉะนั้นเรามาทำเสียใหม่ให้ถูกตามกฎของอิทัปปัจจยตา เราก็ไม่เกิดทุกข์ ส่วนที่เขาถือไอ้ศาสนาต่างๆ ตามแบบของเขาต้องไปอ้อนวอนพระเจ้า ต้องไปอาบน้ำ ต้องไปล้างบาป ต้องไปอะไรก็ตามใจเขาเถิด เขาก็ไปทำของเขาแล้วกัน แต่ชาวพุทธเขาจะมีหลักว่า ให้ทำให้ถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตา แล้วก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าทำผิดไปแล้วก็เลิกความคิดหรือความตั้งใจที่จะไปทำมันอีก ที่ผิดไม่ทำอีก ทำแต่ให้ถูกเรื่อยไปต่อไปข้างหน้า อ่า, แล้วเราก็จะไม่เป็นทุกข์หรอก แม้ว่าไอ้ ไอ้ผลบาป ผลกรรมอะไรจะมาทำให้เราเป็นทุกข์ เราก็ต้อนรับด้วยกฎของอิทัปปัจจยตา ผลกรรมเลว กรรมชั่วก็เป็นหมันไปเอง ยกเลิกไปเอง เพราะว่าเราทำจิตชนิดที่อยู่ด้วยกฎของอิทัปปัจจยตา เป็นทุกข์ไม่ได้ นี่เรื่องของชาวพุทธ มันตายตัวมันเฉียบขาด มันแน่นอนหรือว่ามันกว้างขวางอย่างนี้
อื่อ, ที่นี่พูดกันเป็นภายในนะ ถ้าพูดภายนอกก็ถูกด่า เราจะหาเรื่องว่าให้พระเจ้าของคุณ ซึ่งฉันไม่นับถือพระเจ้าของคุณ ฉันไม่นับถืออะ แล้วพระเจ้าของคุณจะมาทำให้ฉันเป็นทุกข์อย่างไรเชิญๆๆ แล้วเราก็ไม่เป็นทุกข์ เราก็ต้อนรับเขาด้วยกฎของอิทัปปัจจยตา พระเจ้าเหล่านั่นก็ทำอะไรเราไม่ได้หรอก เราจะด่าพระเจ้าเหล่านั้นเสียด้วยซ้ำไป ท้าทายเสียด้วยซ้ำไป ถ้าเรามีกฎของอิทัปปัจจยตาควบคุมใจอยู่ ไม่มีใคร อ่า, มาทำให้เป็นทุกข์ได้ เรื่องโชคชะตาราศี โชคลาง ดวงดาว ผีสาง มันไม่ทำให้เป็นทุกข์ได้หรอก ถ้าว่าเรามีอิทัปปัจจยตาสำหรับควบคุมจิตอยู่ ฉะนั้นเราไม่ต้องพึ่งไสยศาสตร์แล้ว แต่ว่าคนมัน มันมีธรรมะไม่ได้ ถึงพุทธศาสนาไม่ได้มันก็ต้องมีไสยศาสตร์ไปก่อน มันก็ต้องแขวนพระเครื่องไว้ยกแก้วเหล้าข้ามหัวไปก่อน อ่า, มันแขวนพระเครื่องไว้ยกแก้วเหล้าข้ามหัว นี่มันจะมีกฎอิทัปปัจจยตาได้ยังไงล่ะ คิดดูเถิด ถ้าว่าพวกคุณนี่สึกออกไปแล้ว ไปแขวนพระเครื่องตามเดิม แล้วก็ยกแก้วเหล้าข้ามหัวนี่ ก็คือคุณไม่มีความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตานั่นเอง ถ้าเอามาแขวนตรงนี้ แขวนอิทัปปัจจยตายังดีกว่า เหมือนพวกคริสตังเขาแขวนกางเขน เขาต้องมีความหมายที่จะช่วยให้ระลึกอะไรอย่างตามแบบของเขา นี่เราเป็นชาวพุทธก็แขวนเครื่องสัญลักษณ์อิทัปปัจจยตาไว้กันลืมที่ตรงนี้ก็ได้ ยกแก้วเหล้าข้ามหัวก็ไม่เป็นไร อื่อ, เอาสิ เพราะมันศักดิ์สิทธิ์นี่ มันศักดิ์สิทธิ์ เข้มแข็ง
นี่ไอ้การพูดครั้งนี้ก็ไม่มีเรื่องอะไรแล้ว เพราะมันอิทัปปัจจยตา คำเดียวเท่านั้นแหละที่มันจะช่วยได้ แก้ปัญหาได้ เมื่อไรเรามีความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตาอยู่ในใจ เมื่อนั้นแหละ มีพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ มีพระธรรมอยู่ในใจ มีพระสงฆ์อยู่ในใจ
อื่อ, พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าก็เพราะตรัสรู้อิทัปปัจจยตา ถ้าเรามีความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตาอยู่ในใจก็เท่ากับว่าพระพุทธเจ้าอยู่ในใจของเรา พระเจ้าที่แท้จริง ไม่ใช่พระเครื่อง ไม่ใช่ ไม่ ไม่ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าอย่างเป็นคนที่เดินไปเดินมา นั้นก็ไม่เอาหรอก ไม่ต้องเอา คือความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตานั้นแหละคือพระพุทธเจ้าที่แท้จริง เมื่อใดความรู้นั้นมีอยู่ในใจ เมื่อนั้นเรามีพระพุทธเจ้าจริงอยู่กับเราอยู่ในใจ ฉะนั้นขอให้ทุกคนสามารถที่จะมีพระพุทธเจ้าจริงอยู่กับใจตลอดเวลา อยู่ที่บ้านก็ดี อยู่กลางถนนก็ดี อยู่ที่ออฟฟิศทำงานอยู่ก็ดี อยู่ที่ไหนก็ตามใจ ขอให้คุณมีความรู้เรื่องนี้ประจำใจอยู่ เรียกว่ามีพระพุทธเจ้าแท้จริงอยู่กับเราตลอดเวลา ไม่มีอะไรแล้ว ไม่มีปัญหาแล้ว อื่อ, ถ้าจะใช้คำว่าพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งช่วยก็คืออิทัปปัจจยตาที่รู้อยู่กับใจน่ะมันช่วย เพราะว่านั่นเป็นพระพุทธเจ้าองค์จริง อื่อ, พระพุทธเจ้าเกิดเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ก่อนนี้เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ที่เกิดเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาคือตรัสรู้ ก็เพราะรู้ ตรัสรู้อิทัปปัจจยตา รู้ตถา รู้ตถตา รู้ อื่อ, อิทัปปัจจยตา พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าเพราะรู้อิทัปปัจจยตา เพราะฉะนั้นไอ้ความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตานั้นน่ะคือพระพุทธเจ้า ตัวปัญญาที่มีอยู่ในจิตเรื่องอิทัปปัจจยตานั้นเป็นพระพุทธเจ้า ฉะนั้นเมื่อไรจิตของเรามีความรู้อันนี้เราก็มีพระพุทธเจ้า
อื่อ, ถ้าจะให้พูด อื่อ, ก็อาจจะพูดได้ว่าเป็นพระพุทธเจ้าเองก็ได้ นี่ แต่คนเขาจะหาว่านี่ เอ่อ, บ้าแล้ว เบ่งเกินไปแล้ว ที่จริงพูดได้ ถ้าจิตนี้มันมีอิทัปปัจจยตา ดับทุกข์ได้ คนนั้นมันก็เป็นพระพุทธเจ้าได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าไม่เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะว่ามันไม่ได้ตรัสรู้เอง มันได้ยินได้ฟังได้ศึกษาปฏิบัติมาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันต่างกันอย่างนี้ นี่เราก็เป็นพระพุทธเจ้าตามแบบน้อยๆ ตามแบบของเรา เป็นพระพุทธเจ้าน้อยๆ เพราะได้ยิน ได้ฟังมา ปฏิบัติได้เท่านี้ ละได้เท่านี้ ก็เรียกว่าเป็นพระพุทธเจ้าได้ แต่ถ้ามันจะโอหังมากนักก็เอาแต่เพียงว่ามี นี่เรามีพระพุทธเจ้าอยู่กับเรา เพราะความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตากำลังโชติช่วงสว่างไสวอยู่ในจิตใจของเรา ไม่มีความทุกข์และเป็นทุกข์ไม่ได้ อะไรๆ จะทำให้เป็นทุกข์ไม่ได้แหละ ถ้าเรามีพระพุทธเจ้าอยู่กับใจ คือความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา เท่านี้พอ เท่านี้หมดแล้วสำหรับพุทธศาสนา แล้วก็ไม่มีอะไรดีกว่านี้ ไม่เชื่อก็ตามใจ ผมยังพูดอย่างนี้ว่ามันไม่มีอะไรมากกว่านี้ มันหมดแล้ว มันมีเท่านี้ พุทธศาสนามันมีเท่านี้ มันเหลืออยู่แต่ว่าคุณจะเอาได้ มีได้ หรือไม่เท่านั้นแหละ มันมีเท่านี้ ถ้ามันได้เท่านี้มันก็พอกิน ฉะนั้นเอาไปศึกษาใคร่ครวญ ไปค้นคว้าหรือว่าพิสูจน์ดูเอาเองว่ามี มีไหม มีความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตาทันเวลาที่อารมณ์มากระทบจิตไหม ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่ คุ้มครองไว้ได้ดีไหม มันมีเท่านี้ อื่นๆ มันจะมีเองหมดน่ะ นี่ธรรมะอีก ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์มันจะมีมาเองหมด เพราะความรู้นี้มันลากเข้ามา เราเรียนนักธรรมตรี นักธรรมโทนักธรรมเอก ถ้านับเป็นเรื่องๆ แล้วก็หลายสิบเรื่อง หลายร้อยเรื่อง แต่ทั้งหมดมันไม่มากไปกว่าความรู้เรื่อง
อิทัปปัจจยตา มันเป็นบริวารของอิทัปปัจจยตา หรือว่าถ้ามีไอ้ความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตาเพียงพอ ทั้งหมดมันมาเอง มันมีได้เอง มีโดยอัตโนมัติเอง มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มีอะไรต่างๆ นั้น อ่ะ, ได้อัตโนมัติเอง
นี่คุณจะคิดว่า อ่า, มาสวนโมกข์ทั้งทีได้อะไรนิดเดียว ถูกที่สุดแล้ว มันมีนิดเดียว มันมีเท่านี้ มีนิดเดียวเท่านี้ แล้วมันอยู่ที่ว่าคุณจะเอาไปได้หรือไม่ แล้วมันมีนิดเดียวเท่านี้ เอาไว้กับตัวได้จนตายแล้วก็ยิ่งดี ไม่มีเรื่องไม่มีปัญหา เป็นผู้ปลอดภัย เป็นผู้รอด ปลอดภัยแล้ว ในโรงเรียนนักธรรมเขาไม่ได้สอนเรื่องนี้ อื่อ, แล้วบางทีจะไม่เคยได้ยินคำว่าอิทัปปัจจยตาตลอดเวลาที่เรียนนักธรรมก็ได้ ไอ้เรื่องที่ไม่เอามาพูดกันให้ชัดเจนให้ถูกต้องนี่ ยังเหลืออยู่ในพระไตรปิฎกมาก แต่ไม่เป็นไรอะ เพราะมันจะมารวมอยู่ที่เรื่องอันนี้ เรื่องเดียวอะ เรื่อง
อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปปาโท แล้วก็เรียนเอาจากความทุกข์แหละ เอ่อ, ทุกคราวที่เราทำผิดแล้วมีความทุกข์ เรารีบเรียน เรียนจากอันนั้นแหละ แล้วจะค่อยๆ รู้ขึ้นมาเองว่า อ่า, มัน มันทำผิดตรงไหน หรือส่วนไหน ตอนไหนขั้นตอนไหนของอิทัปปัจจยตา อื่อ, บทเรียนที่ดีคือความทุกข์ที่มันมีขึ้นแล้ว แล้วเราก็ต้องรู้จักเข็ดหลาบ เกลียด กลัวด้วย อ่ะ, ก็เรียนจากความทุกข์ ความทุกข์เป็นกำลังสำหรับให้ดับทุกข์ เป็นปัจจัยที่มีกำลัง สำหรับให้เราดับทุกข์ ถ้าเราไม่มีความทุกข์เราไม่มีความคิด ถ้าเราไม่มีความทุกข์ เราจะไม่มีความคิดที่จะดับทุกข์ แล้วอะไรอะที่จะทำให้เรารีบดับทุกข์ ก็คือความกลัว กลัวต่อความทุกข์ ฉะนั้นตัวความทุกข์น่ะทำให้มั่นคงในธรรมะ พระบาลีก็มีอยู่ชัดเจนว่าไอ้ความทุกข์ทำให้เกิดศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือในพระศาสนา ความทุกข์ให้เกิดศรัทธา เกิดศรัทธาแน่นอนแล้วก็เกิดปราโมทย์ อ่า, ปราโมทย์ทำให้เกิดปีติ ปีติให้เกิดปัสสัทธิ ปัสสัทธิให้เกิดสุข อื่อ, สุขให้เกิดสมาธิ สมาธิให้เกิดปัญญา จน จน จนเกิดนิพพิทา วิมุติ หลุดพ้นนะ
ความทุกข์เป็นผู้บังคับให้เราศึกษาธรรมะ มีธรรมะ ปฏิบัติธรรมะเพื่อจะดับทุกข์ แต่คนโง่มันไม่ได้ทำอย่างนั้นแหละ มันก็ไปนั่งร้องไห้อยู่บ้าง หรือไปหาทางออกอย่างอื่นน่ะเกี่ยวกับความทุกข์ เขาไม่ได้ใช้ความทุกข์ให้เป็นครู สำหรับสั่งสอนให้เรารู้จักความทุกข์ แล้วรู้จักสิ่งที่ตรงกันข้าม คือทำให้มันตรงกันข้ามนั่นแหละ แล้วมันก็จะไม่เป็นทุกข์ นี่รู้จัก อ่า, รู้จักใช้ประโยชน์จากความทุกข์ ไม่ต้องไปเกลียดความทุกข์ ไม่ต้องไปกลัวความทุกข์ให้มันเป็นทุกข์เพิ่มขึ้น อ่า, รีบใช้ความทุกข์นี่เพื่อจะรู้เรื่องความทุกข์และดับความทุกข์เสีย ฉะนั้นจึงพูดว่าที่ความทุกข์นั้นแหละมีความรู้เรื่องความดับทุกข์ ในท่ามกลางวัฏฏสงสารนั้นแหละมีเรื่องพระนิพพาน กลางเตาหลอมเหล็กน่ะมีจุดเย็นที่สุด ที่ต้องค้นให้พบ อ่า, เขาพูดเป็นอุปมาไว้อย่างนี้ ยิ่งทุกข์มากก็ยิ่งจะรู้ๆๆๆ รู้จักความทุกข์มาก จะดับทุกข์ได้มากถ้ามันมีทุกข์มาก ถ้ามันมีทุกข์น้อยมันก็รู้ความทุกข์น้อย แล้วก็ดับความทุกข์ได้น้อย นี่เรียกว่าเรากระทำถูกต้องที่สุดแล้ว กระทำตอบต่อความทุกข์ถูกต้องที่สุดแล้ว อ่า, คือเอาเป็นตัวความรู้แล้วดับทุกข์เสียได้ อื่อ, คำพูด เอ่อ, คำพูดตามบ้านเอ่อ, ที่เขาว่าไอ้หนามยอก แล้วเอาหนามนั้นแหละบ่ง ที่จริงเขาก็มีความหมายต่ำๆ นะ แต่เรามาใช้เป็นความหมายสูงก็ได้ ถ้าหนามยอก แล้วเอาหนามนั้นแหละบ่ง เมื่อความทุกข์มันเผาลนเรา ก็เอาความทุกข์นั้นแหละเป็นความรู้เรื่องที่จะดับทุกข์เสีย คนโบราณเขารู้เรื่องนี้นะ เขาจึงพูดไว้ได้ เอาหนามบ่ง หนามยอกเอาหนามบ่ง แต่มัน มัน มันใช้กันคนละวิธี เอาความทุกข์ที่สำหรับจะเป็นทุกข์ เอาความรู้สำหรับสอนให้รู้ความทุกข์แล้วก็ดับทุกข์เสีย ผิดก็เป็นครู ถูกก็เป็นครู คนโบราณเขาพูด ทำผิดมันก็สอนดีกว่าทำถูกเสียอีก ทำถูกแล้วมันเหลิง มันมักจะเหลิง ถ้าทำถูกมันดีใจแล้วมันมักจะเหลิง ถ้าทำผิดมันก็เป็นทุกข์เสียอีก มันก็ไม่ได้เรียนเหมือนกัน ฉะนั้นว่า ถ้าว่าทำผิดเป็นทุกข์ ก็รีบใช้ให้เป็นครู ถ้าทำถูก อย่าไปเหลิงกับมัน เอามาใช้ให้เป็นครูยิ่งๆ ขึ้นไป ให้ความที่ทำถูกนั้นแหละสอนยิ่งๆ ขึ้นไป ให้การที่ทำผิดนั้นอะสอนเดี๋ยวนี้ สอนเรื่องนี้โดยเฉพาะนี่ให้มันถูกเสีย
ฉะนั้นถ้าใครปฏิบัติตามคำพูดประโยคนี้ได้แล้ว คนนั้นแหละจะไปเร็ว จะออกไปจากความทุกข์ได้เร็วเพราะว่าความผิดก็เป็นครู ความถูกก็เป็นครู ความผิดก็สอน ความถูกก็สอน เขาก็เรียนได้มากสิ จะดับทุกข์ได้ แต่เดี๋ยวนี้คน คนไม่ทำกันอย่างนั้นหรอก พอถูก พอทำถูกก็ดีใจ เป็นบ้าไปเลย เหลิงระเริงไปแต่ในเรื่องกิเลส เลยทำถูก ได้เงินมา ถ้าทำผิดก็มานั่งร้องไห้อยู่ ไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้ความรู้อะไรเลย หรือว่าไปฆ่าตัวตายหรือว่ามันไม่ทันใจมันก็ไปขโมย ไปฆ่าผู้อื่น แก้ความผิดพลาดของมัน มันทำกันอยู่แต่อย่างนี้แหละในโลก เราเห็นชัดข้อนี้แล้วปรับปรุงเสียใหม่ ให้ความถูกก็สอนความผิดก็สอน ความทุกข์ก็สอน ความสุขก็สอน สอนเพื่อจะไม่มีปัญหา สำหรับจะเป็นทุกข์อีกต่อไป แล้วให้มองเห็น จนกระทั่งเชื่อแท้แน่ลงไปว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฎของอิทัปปัจจยตา เพราะว่ากฎของอิทัปปัจจยตาสิงสถิตอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งที่เป็นรูปธรรม และทั้งที่เป็นนามธรรม คือทั้งสิ่งที่เป็นร่างกายและทั้งสิ่งที่เป็นจิตใจ อิทัปปัจจยตานี้เป็นกฎนะ ไม่ใช่เป็นรูป ไม่ใช่เป็นนามนะ อย่าเข้าใจผิดว่ากฎอิทัปปัจจยตานี้ก็เป็นนามธรรมนั้นมันใช้คำพูดผิด ถ้าเป็นนามธรรมมันต้องเป็นสังขตะ เป็นสังขารปรุงแต่งได้ ไอ้กฎของอิทัปปัจจยตาซึ่งเหมือนกับพระเจ้านี้ไม่ใช่รูปและไม่ใช่นาม คือไม่ใช่กาย ไม่ใช่จิต ไม่ใช่วิญญาณอะไรที่ไหน มันเป็นตัวมันเอง แล้วก็เรียกว่ามันเป็น ไม่ใช่รูปไม่ใช่นาม มันเหนือนั่นขึ้นไป การที่ว่าอะไรๆ ไม่มีรูป แล้วจะเรียกว่านามไปหมดนี้มันผิด มันผิดหมด เดี๋ยวเอาพระนิพพานเป็นนามเข้าอีกแล้วมันก็หมด หมดนิพพานแล้ว เช่นเดียวกับนิพพานไม่ใช่นาม ถ้าเป็นนามต้องอยู่ใต้เหตุปัจจัยปรุงแต่งได้ ฉะนั้นนิพพานมันเหนือรูปเหนือนาม มันเป็นนิพพาน มันเป็นธรรมธาตุของพระนิพพาน เป็นอิทัปปัจจยตาประเภทที่ตายตัว มีเหตุมีปัจจัย ปฏิบัติแล้วถึงนิพพานก็มีได้
แล้วนี่ก็พูดชั่วโมงครึ่ง ยังขาดนิดหน่อย พูดคำเดียว เรื่องอิทัปปัจจยตา เพื่อเสริมไอ้คำพูดเมื่อวานให้มันสมบูรณ์ เมื่อวานเราพูดกันแต่ เค้าๆ เค้าเงื่อน บวชนี้ก็ศึกษาเรื่องธรรมะ อ่า, ในชั้นลึกคือเรื่องอิทัปปัจจยตา แล้วก็เอาไปประพฤติปฏิบัติ อย่าให้มีการกระทำผิดต่อกฎอิทัปปัจจยตาที่เกี่ยวกับความสุขและความทุกข์ ก็จะกลายเป็นผู้ที่ อ่า, ไม่มีอะไรมาทำให้เป็นทุกข์ได้ ก็ถึงตถา คือเป็นตถาคตไปเลย สัตว์ผู้คงที่ ตายตัวคงที่เปลี่ยนเป็นทุกข์ๆ สุขๆ ไม่ได้ นี่เขาเรียกไม่มีความทุกข์
พูดเรื่องเดียวคำเดียว พูดหลายเรื่องยุ่งหมด ลืมหมด จำอะไรก็ไม่ได้สักนิดหนึ่ง ฉะนั้นจึงพยายามพูดเรื่องเดียว คำเดียว พูดตั้งชั่วโมงครึ่งก็เพื่ออธิบายคำๆ เดียว เรื่องอิทัปปัจจยตา ถือไว้ในฐานะเป็นสิ่งสูงสุด ซึ่งพระพุทธเจ้าก็เคารพอิทัปปัจจยตา เคารพกฎของอิทัปปัจจยตา โดยที่ตรัสว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์เคารพธรรมะที่ตรัสรู้นั่นเอง อ่า, ธรรมะที่ตรัสรู้ก็คือเรื่องกฎของอิทัปปัจจยตานั่นเอง สูงสุดจนพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็เคารพ อื่อ, เราก็เคารพคือเชื่อฟังแล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง เอ้า, ที่นี้ก็มาถึงว่าเราไม่เป็นทุกข์ เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด คอย คอย คอยคุ้มครองไว้ไม่ให้เป็นทุกข์ เราก็ควรจะช่วยทำให้เพื่อนของเรารู้เรื่องนี้ด้วย เป็นเพื่อนไม่ทุกข์กันสิ ให้เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายกันนั้นนะ มันไม่ต้องทำอะไรหรอกมันเป็นมันเอง เราอยู่อย่างเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายกันอยู่อย่างนี้ มันไม่ต้องทำอะไรมันเป็นของมันเอง เดี๋ยวนี้เรามาเป็นเพื่อน ไม่ทุกข์ไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายกันดีกว่า ฉะนั้นไปช่วยบอกกัน ปรึกษาหารือกัน ศึกษาปฏิบัติกันเรื่องอิทัปปัจจยตา ในที่สุดเราก็จะไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เพราะว่ามันไม่มีตัวเรา มันไม่มีตัวกู มันไม่มีตัวสู มันไม่มีตัวตน มันมีแต่กระแสแห่งอิทัปปัจจยตาซึ่งปรุงแต่งจิต ถ้าจิตมันมีความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา มันไม่ปรุงแต่งว่าเป็นตัวกู ไม่ปรุงแต่งว่าเป็นตัวตน มันมีแต่จิตที่กระทำถูกต้องอยู่ตามกฎของอิทัปปัจจยตา แล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์ จิตไม่เป็นทุกข์ จิตของเราก็ไม่เป็นทุกข์ จิตของเพื่อนของเราก็ไม่เป็นทุกข์ เลยไม่มีใครเป็นทุกข์ อ่า, เรื่องมันจบมากกว่าอีก เรื่องมันจบออกไปทั้งโลกเลย ไม่ใช่จบแต่เรื่องของเราคนเดียว
ฉะนั้นเราจะต้อง อ่า, ถือว่าเป็นหน้าที่ อ่า, ที่จะทำให้ไม่มีใครเป็นทุกข์ แม้แต่คนเดียว ไม่เป็น ไม่มีทุกข์กันทั้งหมด ถ้าปล่อยไปตามบุญตามกรรมมันเป็นทุกข์กันทั้งนั้นแหละ คนรวยก็เป็นทุกข์ตามแบบของคนร่ำรวย คนยากจนก็เป็นทุกข์ไปตามแบบของคนยากจน คนมีอำนาจวาสนา มันก็มีความทุกข์ไปตามแบบคนมีอำนาจวาสนา ฉะนั้นคุณอย่าไปบูชาความมั่งมีหรือความมีอำนาจวาสนานัก มันยังไม่พ้นทุกข์หรอก มันต้องรู้เรื่องนี้ด้วย มันจึงจะไม่เป็นทุกข์ทั้งคนมั่งมี คนไม่มั่งมี คนยากจน คนไม่มีอำนาจวาสนา หรือกระทั่งว่าเป็นเทวดา เทวดาโง่มันก็เป็นทุกข์แบบเดียวกัน มันต้องเป็นเทวดาที่รู้อิทัปปัจจยตามันจึงจะไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้นความรู้นี้จึงช่วยได้ทั้งเทวดาและมนุษย์ อ่า, ตามคำตรัสของพระพุทธเจ้า ไปประกาศพรหมจรรย์ให้ถูกต้อง ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชน ทั้งเทวดาและมนุษย์
อื่อ, เทวดานี้สมมติเอาคนร่ำรวย มันไม่ต้องทำอะไร มันนอนอยู่มันก็ได้กิน มันไม่ต้องเหน็ดไม่ต้องเหนื่อยอะไร ก็โดยกฎของอิทัปปัจจยตาทำให้มันเป็นเทวดาได้อย่างนั้น ถ้ามันทำผิดกฎอิทัปปัจจยตา มันก็ไม่เป็นเทวดาได้อย่างนั้นหรอก แต่มันยังเป็นอิทัปปัจจยตาชนิดที่ยังมีความทุกข์อยู่ พวกเทวดาทั้งหลายก็จงรู้อิทัปปัจจยตา เรื่องจะไม่มีความทุกข์ต่อไปอีก ส่วนคนยากจนนั้นมันก็เป็นทุกข์แหละ เพราะมันไม่มีอะไรจะกิน มันต้องดิ้นรน อาบเหงื่อต่างน้ำอยู่เรื่อย ก็เพราะทำผิดกฎอิทัปปัจจยตาที่ทำให้ยากจน เห็นได้ง่ายๆ แหละ ไอ้คนยากจนนั้นมันทำผิดกฎของไอ้ความร่ำรวย ผิดกฎของอิทัปปัจจยตาฝ่ายที่ทำให้ร่ำรวย แล้วมันก็ไปโทษผีสาง เทวดา โชคลาง ฤกษ์ยามไปตามเรื่อง มันยิ่งโง่หนักเข้าไปอีกแหละ มันไม่มีทางที่จะพ้นไปได้ ฉะนั้นไอ้คนจน คนอาบเหงื่อต่างน้ำก็รู้ รู้เรื่องอิทัปปัจจยตาของคนร่ำรวยเสียบ้างสิ แล้วก็ทำให้ถูกตามกฎสำหรับที่จะร่ำรวย
มันก็ร่ำรวย แต่พอร่ำรวยแล้วมันก็ยังไม่ดับทุกข์ไอ้อันที่สูงขึ้นไป ฉะนั้นคนร่ำรวยแล้วก็รู้อิทัปปัจจยตาเรื่องสูงขึ้นไป เพื่อจะไม่เป็นทุกข์ตามแบบของคนร่ำรวย ฉะนั้นทั้งคนร่ำรวยและยากจนน่ะมาเป็นเพื่อนเป็นเกลอกันดีกว่า อย่ามีคอมมิวนิสต์ อย่ามีนายทุนเลย อื่ม, ทุกคนมาเดินตามกฎของอิทัปปัจจยตาให้ถูกต้อง แล้วก็จะไม่มีความทุกข์กันทั้งคนยากจนและคนร่ำรวย จะแก้ปัญหาได้อย่างนี้ ฉะนั้นจึงหวังว่าทุกๆ องค์นี่สึกออกไปแล้วก็รู้จักใช้ความรู้นี้แก้ปัญหาของตน แล้วก็ช่วยกันแก้ปัญหาของเพื่อนตามโอกาสด้วย
เอ้า, ทีนี้จบจริงแล้ว
หยุดการบรรยายสำหรับวันนี้