แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การพูดกันคราวนี้ก็จะพูดโดยหัวข้อที่สำคัญ ที่ควรจะเป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วก็จำได้ติดปาก ฉะนั้นที่จดก็ขอให้จดไว้อย่างถูกต้อง เพราะจะต้องเอาไว้ใช้ตลอดไป คือจะพูดโดยหัวข้อว่า การปรุงเป็นทุกข์อย่างยิ่ง การดับเป็นสุขอย่างยิ่ง
สำหรับข้อแรกที่ว่าการปรุงเป็นทุกข์อย่างยิ่ง นี่ก็คือบาลีว่า สังขารา ปรมา ทุกขา ช่วยจำให้ดี สังขารา ปรมา ทุกขา แปลว่าการปรุงเป็นทุกข์อย่างยิ่ง การดับเป็นสุขอย่างยิ่งก็คือบาลีว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง หรือจะเป็นบาลีก็ได้สองประโยคว่า สังขารา ปรมา ทุกขา นิพพานัง ปรมัง สุขัง ที่เป็นไทยๆก็ได้สองประโยคว่า การปรุงเป็นทุกข์อย่างยิ่ง การดับเป็นสุขอย่างยิ่ง นี้ปัญหามันอยู่ที่เราไม่เข้าใจความหมายของคำเหล่านั้น และคำเหล่านี้เป็นภาษาบาลีมาแต่เดิม พอมาเป็นภาษาไทยคำแปลเกิดมีขึ้นหลายอย่าง ก็เลยทำให้เข้าใจยาก เช่น คำว่าสังขาร ในที่นี้ สังขารา ปรมา ทุกขา ถ้าเอาตามตัวหนังสือก็ สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ที่ในภาษาบาลีของเรา สังขารนั้นแปลว่าการปรุง ปรุงแต่ง หรือสิ่งปรุงแต่ง สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง หรือการปรุงแต่ง นี่เรียกว่าสังขาร พอเป็นภาษาไทย รู้กันแต่ว่าคือร่างกาย สังขารคือร่างกาย ดับสังขารคือตายมันกลายเป็นอย่างนั้นไป
สังขารไม่ใช่จะแปลว่าร่างกายอย่างเดียว มันแปลว่า การปรุง ของปรุง สิ่งปรุง สิ่งถูกปรุง เราจะแปลกันง่ายๆที่นี้ว่า “การปรุง” ไอ้สังขารร่างกายนี่ก็คือ สิ่งที่ถูกปรุง มันจึงเป็นร่างกายขึ้นมา ดังนั้นเมื่อพูดว่า สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์อย่างยิ่งเหมือนที่เข้าใจกัน ต้องเล็งไปถึงการปรุง และของที่ถูกปรุง ฉะนั้นการดับสังขารก็ไม่ใช่การตาย แต่แปลว่าการหยุดปรุง ไม่ปรุง ว่างจากปรุง ขอให้ช่วยจำไว้ดีๆว่า สังขารา ปรมา ทุกขา สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เตสัง วูปสโม สุโข การระงับเสียซึ่งสังขารนั้นน่ะ คือการระงับเสียซึ่งการปรุงนั้นเป็นสุข ไม่ใช่หมายความว่าการตายเป็นสุข สังขารา ปรมา ทุกขา ไม่ได้หมายความว่าร่างกายเป็นทุกข์ แต่หมายถึงการปรุงนั่นน่ะมันเป็นทุกข์ เตสัง วูปสโม สุโข การระงับเสียซึ่งการปรุงก็เป็นสุข นี้ นิพพานัง ปรมัง สุขขัง ความดับเป็นสุขอย่างยิ่งนี่ ดับนี่หมายความว่าดับการปรุง หยุดการปรุง มันจึงดับ ไม่ได้หมายถึงว่าดับร่างกายคือตาย นี่ถ้อยคำมันเล่นตลกกันอยู่อย่างนี้ เราก็เข้าใจกันผิดๆแล้วก็พูดกันผิดๆ แม้ในวัดในวาน่ะมันพูดกันผิดๆทั้งนั้น ช่วยทำความเข้าใจข้อนี้ดีๆจะเป็นหลักที่ถูกต้องถาวรใช้ได้ตลอดไป
สังขารา แปลว่าการปรุง เหมือนกับการสุมไฟ ถ้าเราจะติดไฟขึ้นสักกองหนึ่งก็ต้องมีไม้ฟืนบ้างมีลมอากาศบ้างมีเชื้อมีอะไรบ้าง หลายๆอย่างสุมกันเข้าไป เรียกว่าการปรุง ไฟลุกขึ้นมา ส่วนนิพพานัง การดับคือไม่ปรุง ดับแห่งการปรุง มันก็แยกออกจากกัน แล้วก็ดับไม่ปรุง ไม่เป็นไฟขึ้นมา ไอ้ฝ่ายที่ปรุงขึ้นมาก็เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ฝ่ายที่ดับลงไปก็เป็นสุขอย่างยิ่ง เมื่อไปงานศพจะได้ยินพระสวด อนิจจา วต สังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มักจะเล็งถึงร่างกายและโดยเฉพาะศพที่นอนอยู่ในโลง อย่างนี้ไม่ถูกหรอก อนิจจา วต สังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ ในที่นี้ก็แปลว่า ของปรุงทั้งหลาย ของที่ถูกปรุงทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เพราะมันถูกปรุงขึ้นมาแล้วมันก็เปลี่ยนไป เราได้ยินพระสวดในงานศพว่า อนิจจา วต สังขารา ก็เขาบอกว่าของปรุงทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ อุปปัชชิตวา นิรุชชันติ เกิดขึ้นแล้วดับไป หรือ อุปปาทวยธัมมิโน นี่คือว่ามีธรรมดาเกิดเปลี่ยนเกิดแล้วเปลี่ยนเกิดแล้วเปลี่ยน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เตสัง วูปสโม สุโข ความระงับเสียซึ่งสังขารคือการปรุงนั่นน่ะของปรุงนั่นน่ะมันเป็นสุข ควรจะเข้าใจเสียให้ถูก สำหรับจะไปฟังอะไรถูก คิดนึกอะไรถูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอ้หลักสองอย่างนี้ซึ่งมันสำคัญที่สุดสำหรับพุทธบริษัทเรา คือบอกว่าไอ้ที่ปรุงน่ะเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ไอ้ที่ดับหยุดเสียน่ะมันเป็นสุขอย่างยิ่ง
หัวข้อนี้จำไว้ให้ได้ แล้วก็ให้นึกได้ทันทีที่มันมีเรื่อง ไอ้คนเรามันก็มีเรื่องสองเรื่องนี้ตลอดชีวิต ตลอดชีวิตของคนเราจะมีเรื่องปรุงกับเรื่องดับ เรื่องปรุงเรื่องดับสลับกันไป เราจะสังเกตดูให้ดีๆว่าเมื่อไรมีการปรุงเมื่อนั้นจะมีความทุกข์ หรือเมื่อหยุดปรุงหรือว่างจากการปรุง ว่างอยู่นี่ก็เย็นดับเย็น เรียกว่าการหยุดหรือการดับแห่งการปรุง เวลานั้นจิตจะสบายอย่างยิ่ง มันมีลักษณะเดียวกับนิพพานสำหรับพระอรหันต์ ไอ้เรามันหยุดปรุงหรือดับชั่วคราวชั่วขณะ พระอรหันต์นั้นท่านหยุดปรุงหรือดับตลอดไป ดังนั้นการหยุดปรุงหรือการดับตลอดไปคือนิพพานนั่นนะมันคอยเราอยู่ข้างหน้าเดี๋ยวนี้ยังไม่ถึง แต่ว่าถึงอย่างที่ชั่วคราว คอยสังเกตดูวันหนึ่งๆ เมื่อไรมีการปรุงเมื่อนั้นก็จะต้องมีความทุกข์ และปรุงนั่นแหละเป็นทุกข์อย่างยิ่งก็หมายถึงปรุงเต็มที่ แล้วเมื่อใดดับคือนิพพานน่ะหยุดปรุงแม้ชั่วคราวนั้นน่ะ เมื่อนั้นก็ยังเป็นสุขอย่างยิ่ง เราสังเกตดูเมื่อจิตของเราโปร่ง สงบเย็นสบาย ไม่มีอะไรกระตุ้น นี่จะเป็นสุข เดี๋ยวนี้เราก็พูดกันในที่อย่างนี้ คือที่นั่งกันอยู่ตรงนี้น่ะมันเป็นความเหมาะสมที่จะพูดเรื่องนี้ คือเรื่องการดับหรือการไม่ปรุง มานั่งที่ตรงนี้หรือมาที่สวนโมกข์แล้วก็มานั่งตรงนี้ มันเหมาะที่จะพูดกันเรื่องไม่ปรุงหรือเรื่องโมกข์นั่นเอง
ฉะนั้นขอให้ผู้ที่ยังไม่ทราบหรือไม่เคยฟัง ได้ฟังว่าไอ้ดินแผ่นดินนี้เป็นที่นั่งที่นอนของพระพุทธเจ้า พูดธรรมดาสามัญมันอย่า สุกระโดก ( นาทีที่ 11:20) ว่าที่นั่งที่นอนของพระพุทธเจ้า จะเข้าใจเอาเองว่าหมายความว่าอะไร หรือตั้งใจจะพูดว่าอะไร พระพุทธเจ้าประสูติก็กลางดินใต้ต้นไม้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็นั่งกลางดินใต้ต้นไม้ โดยปกติทั่วๆไปท่านก็อยู่กลางดินใต้ต้นไม้ ไปบิณฑบาตกลับมาตรงไหนเหมาะนั่งใต้ต้นไม้ฉันอาหาร แล้วค่อยกลับไปวัดของท่าน ที่อยู่ของท่านพื้นดิน ที่สอนพื้นดิน ที่ประชุมพื้นดินที่วัดพระพุทธเจ้า ไม่เชื่อไปดูที่อินเดียเดี๋ยวนี้ กุฏิของท่านก็พื้นดิน มีเตียงเตี้ยๆตั้งอยู่บนพื้นดินที่เรียกว่าพระคันธกุฎีบนพื้นดิน นี้ในที่สุดท่านก็นิพพานที่เราเรียกกันว่าตายน่ะกลางดินใต้ต้นไม้อีกเหมือนกัน ฉะนั้นชีวิตใต้ต้นไม้กลางดินน่ะแบบของพระพุทธเจ้า เดี๋ยวนี้เราก็มานั่งใต้ต้นไม้กลางดิน เราจึงพูดได้ว่าเรามานั่งประชุมกันอยู่ที่ที่นั่งที่นอนที่ตายของพระพุทธเจ้า จึงเหมาะที่จะพูดกันเรื่องนี้คือเรื่องของพระพุทธเจ้านั่นเอง เรานึกถึงข้อที่ว่า ถ้าเรานั่งกันอยู่ในห้องเรียนในมหาวิทยาลัย นั่นแหละมันก็ไม่มีบรรยากาศอย่างนี้หรอก มันมีแต่บรรยากาศแวดล้อมให้ปรุง ให้เกิดความคิดปรุงๆๆๆเป็นเรื่องเป็นราวไปจนในที่สุดมันก็ร้อนเป็นทุกข์ เรียกว่าธรรมชาติไม่ช่วย อย่างกับมานั่งกันที่อย่างนี้ธรรมชาติมันช่วยเพราะว่าเรามานั่งกันที่ที่นั่งที่นอนของพระพุทธเจ้า ธรรมชาติมันช่วย มันมีโคลงกลอนของครูเทพบทหนึ่ง จำได้แต่บาทแรกนะ บาทแรกของของโคลงบทนั้นน่ะว่า “ทำสมาธิในป่าง่ายกว่าในโรงละคร” บาทแรก ทำสมาธิในป่าง่ายกว่าในโรงละคร ไม่ต้องอธิบายก็ได้ เช่นในอย่างนี้ทำสมาธิมันง่ายกว่าที่จะนั่งทำในโรงละคร นี่เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ตรัสรู้ในป่าทั้งนั้น ไม่ว่าพระพุทธเจ้าองค์ไหนตามที่บันทึกอยู่ในเรื่องราวนั้นๆ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ประสูติ เอ้ย,ตรัสรู้ในป่าทั้งนั้น ครูเทพเขาเขียนไว้ถูกแล้ว ทำสมาธิในป่าง่ายกว่าในโรงละคร
ดังนั้นเมื่อเรามาสู่สถานที่อย่างนี้ ก็ควรควรจะถือเอาโอกาสอย่างเดียวกันกับที่พระพุทธเจ้าท่านเคยใช้ ทำสมาธิแล้วก็ตรัสรู้ เพราะว่าธรรมชาติบรรยากาศธรรมชาตินี่มันช่วยสนับสนุนไปในทางไม่ปรุง ให้พบกับความหยุดหรือดับหรือเย็น แล้วสุมไฟไฟเป็นไฟลุกขึ้นมาก็เป็นการปรุง มีผลอย่างไฟลุกขึ้นมา เมื่อแยกออกจากกันให้ดับให้หยุดไป มันก็มีผลอย่างไฟดับลงไป ไฟในที่นี้มันก็คือกิเลสน่ะ ราคะโทสะโมหะเปรียบเหมือนไฟเพราะว่าทำให้ร้อน ถ้ายังไม่ทราบมันก็ขอให้ทราบไว้เสียด้วยว่าไอ้คำธรรมะคำบัญญัติเฉพาะธรรมะนี่ ก็คือคำชาวบ้านทั้งนั้นแหละ เขาไปยืมคำของชาวบ้านใช้ในในในในวงของธรรมะ ตัวฤษีมุณีพระพุทธเจ้าหรือใครก็ตาม เขาไปนึกคิดตรัสรู้อะไรกันในป่า แล้วสิ่งที่ค้นพบและรู้นั้นน่ะ มันไม่เคยมีชื่อมาก่อน เขาก็ต้องคิดตั้งชื่อ เพื่อจะมาบอกคนในเมืองนี่ฟังถูก ฉะนั้นกิเลสนี่มันเป็นของร้อน พอเกิดขึ้นแล้วก็ร้อน ท่านก็เรียกมันว่าไฟบ้างเรียกว่าของสกปรกบ้าง ในแง่หนึ่งมันเป็นของสกปรกคือทำให้จิตสกปรก เขาก็เรียกกิเลสว่าของสกปรก คำว่ากิเลส กิเลสนี่คือคำแปลว่า ของสกปรก เกิดขึ้นในจิตแล้วก็ร้อน ราคะก็ร้อน โทสะก็ร้อน โมหะก็ร้อน ก็เลยเรียกว่าไฟก็มี ส่วนพอสิ่งเหล่านี้ดับไป คือไฟดับมันก็เย็น เขาเอาคำว่าเย็นที่พูดกันอยู่ในบ้านนั้นแหละไปใช้ เรียกพระนิพพานที่ค้นพบใหม่ คือความเย็นแห่งจิตใจซึ่งในที่นี้เรียกว่าดับ นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
ทุกคำต้องยืมไปจากคำธรรมดาๆของชาวบ้าน ถ้าพูดกันอยู่อย่างชาวบ้าน เราจะเรียกกันเสียใหม่ว่าภาษาคน ถ้าเอาไปใช้สำหรับพระอริยเจ้าเหล่านั้นก็เรียกว่าภาษาธรรม ดังนั้นคำว่านิพพานๆเย็นในภาษาคนก็หมายถึงดับของร้อนๆน่ะ เช่นไฟดับ ข้าวสุกเย็นนี่ก็เรียกว่านิพพานเหมือนกัน แต่ถ้าเอาไปใช้เป็นภาษาพระอริยเจ้านั่นก็หมายถึงกิเลสดับแล้วก็เย็น เราไม่รู้เรื่องทั้งสองภาษาที่คู่กันไปอย่างนี้ แล้วความจริงมันเป็นอย่างนี้ ฝ่ายโน้นก็มายืมภาษาชาวบ้านไปใช้ เกิดเป็นภาษาที่มีความหมายเป็นพิเศษขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่นคำว่านิพพานหรือที่ตรงกันข้ามก็คือกิเลส กิเลสสกปรกและร้อน นิพพานคือเย็น หยุด หรือดับ รู้ความหมายอันนี้เอาไว้มันช่วยได้มากเหมือนกันน่ะ ว่าเมื่อไรมันเย็นมันก็เป็นนิพพาน ถ้าเป็นวัตถุเย็นก็นิพพานของวัตถุ ถ้าเป็นจิตเย็นวิญญาณเย็นก็เป็นเรื่องของจิตของวิญญาณ ถ้าสมัยพุทธกาล ไอ้คำว่านิพพานภาษาคนก็ใช้กันอยู่ตามบ้านเรือน เช่นเด็กๆเขาร้องออกมาจากในครัวว่า มาๆเดี๋ยวนี้ข้าวต้มเย็นคือนิพพาน จะใช้คำว่า ข้าวต้มนิพพานข้าวต้มนิพพานมากินได้ เชิญมากินได้ ถ้าเราถ้าเราได้ยินเดี๋ยวนี้เขาหัวเราะตายเลยว่าข้าวต้มนิพพาน แต่ภาษามันอย่างนั้น คือข้าวต้มมันเย็นลงถึงขนาดกินได้ เชิญมากินได้ คนข้างนอกก็เข้ามาในครัวมากินข้าวต้มหรืออะไรก็แล้วแต่ ถ่านไฟแดงๆ เขาเอาออกมาจากเตา มันก็ดำลงเย็นลง นี่ก็เรียกว่ามันนิพพาน นี่ให้รู้ว่านิพพานคือ ดับของความร้อน แล้วก็เย็นของความรู้สึก
เราเรียนธรรมะไปทำไมกัน มีจุดสูงสุดอยู่ที่ไหน เรียนธรรมะก็เพื่อจุดสูงสุดคือดับเย็นคือนิพพานนั่นแหละ เราก็ไม่ค่อยเข้าใจความหมาย ฉะนั้นจึงขอให้ถือเป็นหลักไว้ว่า “สังขารา ปรมา ทุกขา” ปรุงทุกข์อย่างยิ่ง “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” ดับนี่สุขอย่างยิ่ง ดับก็ต้องหมายถึงของร้อนน่ะดับ หรือไฟดับ เป็นความหมายทั่วไป ถ้าว่าดับก็ดับแห่งของร้อน ก็เย็น เย็นก็เป็นสุขอย่างยิ่ง ดังนั้นต่อไปนี้ขอให้เข้าใจคำสองคำนี้ถูกต้องคือ คำว่าสังขารา สังขารแปลว่าปรุง นิพพานแปลว่าดับ ซึ่งมีความหมายแห่งความเย็น การปรุงเป็นทุกข์อย่างยิ่ง การดับเป็นสุขอย่างยิ่ง ได้ยินพระสวดที่ไหน หรือว่าอ่านหนังสือที่ไหน พบข้อความอย่างนี้แล้วก็รีบเข้าใจเสียให้มันถูกต้องว่า สังขารคือปรุงแล้วก็ร้อนวุ่นไปหมด แล้วคอยสังเกตดูให้ดี เมื่อไรมันปรุง เมื่อไรมันหยุดปรุงคือดับ จะต้องศึกษาธรรมะจากของจริงเสมอไป เดี๋ยวนี้เราศึกษาจากการฟังแล้วก็จดไว้ในสมุด นี่ยังไม่ใช่การศึกษา เป็นเพียงอุปกรณ์ของการศึกษา เราจดไว้ในสมุดก็ช่วยความจำ ที่เป็นการศึกษานั้นต้องทำความรู้สึก หรือทำการปฏิบัติให้ถูกต้องเมื่อมันเกิดเรื่องขึ้นมาในประจำวันในชีวิตประจำวัน
เรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้ เป็นตัวเรื่องสำคัญ ท่านเรียกในบาลีว่า “อินทรีย์ทั้ง ๖” อินทรียะ อินทรี ทรียะ ทรียะ น่ะ ทั้งหก ตาหูจมูกลิ้นกายใจ คำว่าอินทรีย์แปลว่าสิ่งสำคัญ สิ่งที่เป็นตัวการหรือเป็นของสูงสุด ถ้าเราไม่มีตาหูจมูกลิ้นกายใจมันก็เป็นก้อนหิน แล้วก็ไม่มีไม่มีเรื่อง ไม่มีเรื่องอะไรจะเกิดขึ้นได้ เพราะเหตุที่เรามีตาหูจมูกลิ้นกายใจ ที่จะทำให้มีเรื่องขึ้นมาได้ ไอ้ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ของมันก็มีคู่ของมันคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่จะมากระทบตาเรียกว่ารูป ที่จะมากระทบหูเรียกว่าเสียง จะมากระทบจมูกเรียกว่ากลิ่น จะมากระทบลิ้นเรียกว่ารส จะมากระทบผิวหนังเรียกว่าโผฏฐัพพะ คำนี้ไม่รู้จะแปลเป็นไทยว่าอะไรดี เรามักจะแปลกันว่าสัมผัสนั้นไม่ถูกน่ะ สัมผัสมันกระทบที่ไหนก็ได้ ทางตาก็สัมผัส หูก็สัมผัส แต่ชาวบ้านมักจะใช้คำว่าสัมผัส พอเราได้ยินคำว่าสัมผัสของชาวบ้านนั่นให้รู้ว่าเขาหมายถึงการกระทบทางกาย ถ้าเรียกจำกัดเฉพาะผิดไม่ได้ต้องเรียกว่าโผฏฐัพพะ โผฏฐัพพะ ออกเสียงให้ถูกต้องว่า โผด-ฐัพ-พะ สิ่งที่มากระทบทางกาย แล้วก็มีธรรมารมณ์ที่กระทบทางใจ มันจึงได้เป็นหกคู่ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ แล้วก็ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์ เพราะมีหกคู่นี้แหละมันจึงมีเรื่อง ของสัตว์ก็ตาม ของคนก็ตาม เรียกว่า “อายตนะ” แปลว่าสิ่งที่สัมผัสได้ และสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการสัมผัส หรือผลแห่งการสัมผัสก็ตามมันแปลว่าสัมผัสได้คือติดต่อได้ อยากจะบอกให้รู้เป็นความรู้ทั่วๆไปว่า นั่นแหละคือจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ จุดตั้งต้นของการศึกษาและการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ เรียกว่าพรหมจรรย์นี่มันตั้งต้นที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์
ถ้าเขาถามว่าอะไรเป็น ก. ข. กอกาของพระพุทธศาสนา คุณจำไว้ ตอบให้ถูกต้องตอบว่า ตาหูจมูกลิ้นกายใจนี่ เป็น ก. ข. กอกาของพุทธศาสนาที่ต้องเรียนเป็นครั้งแรก เป็นเป็นเป็นคำแรกเรื่องแรก ก ที่ตา ข ที่หู ค ที่จมูกนี่ ถ้าเราจะต้องไปพูดกับฝรั่ง ซึ่งฝรั่งเขาก็มันจะถามว่าตั้งต้นกันที่ไหน เขาว่า A B C ของพุทธศาสนาตั้งต้นที่ไหน ก็บอกเขาให้ถูกว่ามันตั้งต้นที่ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ จะต้องเรียนไปจากตาหูจมูกลิ้นกายใจจึงจะถูกตัวพุทธศาสนาที่เป็นจุดตั้งต้น ทีนี้ฝรั่งเมื่อเขาจะเรียนพุทธศาสนา เขาไม่เคยมีความรู้เรื่องนี้ ดังนั้นเขาก็จะเรียนพุทธศาสนามีจุดตั้งต้นที่เรื่องปรัชญาทั้งหลายที่มีอยู่ในอินเดียในสมัยพุทธกาล ถ้าพูดอย่างนี้แล้วให้มันเรียนให้ตายก็ไม่จบหรอก ถ้ามันจะไปมัวเรียนปรัชญาในอินเดียที่ในครั้งพุทธกาล หรือว่าก่อนพุทธกาล หลังพุทธกาล มันให้เรียนมันจนตายมันก็เรียนไม่จบ แล้วมันจะเป็น A B C พุทธศาสนาได้อย่างไร มันก็ไม่มาไม่มาถึงตัวพุทธศาสนา นี่เราก็ตามก้นฝรั่ง ขออภัยพูดอย่างนี้มันเพื่อประหยัดเวลา พวกเราก็ตามก้นฝรั่งว่าจะเรียนพุทธศาสนาก็ไปเรียนปรัชญา เปรียบเทียบมันนี่โน่น แล้วจะมาหาพุทธศาสนา แล้วก็ไม่เคยถูกตัวพุทธศาสนาที่ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ที่เป็นจุดตั้งต้นแล้วก็ยังโง่อยู่จนบัดนี้ว่าไปเรียนตามก้นฝรั่ง อยากจะพูดอย่างนี้เลยดีกว่า ถ้าจะเรียนพุทธศาสนา ไปเรียนที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ อย่ามาตั้งต้นเรียนที่พุทธประวัติหรือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่พุทธประวัติเลย เรื่องนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้แล้วเราว่าเอาเอง
ถ้าจะเรียนพุทธศาสนาก็เรียนพุทธประวัติว่าท่านเกิดอย่างนั้น ท่านเกิดอย่างนี้แล้วพระพุทธคืออะไร พระธรรมคืออะไร พระสงฆ์คืออะไร ศีลห้าคืออะไร ก็เรียนไปอย่างนกแก้วนกขุนทอง นี่จะเรียนจนตายก็ไม่ไม่ไม่ถึงตัวพุทธศาสนาก็ได้นะระวังให้ดีนะ แล้วเราก็ได้ทำอย่างนี้อยู่จริงๆด้วย นี่เราลองทำอย่างพระพุทธเจ้าท่านว่า จุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ อาทิพรหมจรรย์นั่นคือเรื่องตาหูจมูกลิ้นกายใจ ที่เราเรียกกันสั้นๆว่า ปฏิจจสมุปบาทน่ะ เล่าให้ฟังอีกทีก็ได้ คือคราวหนึ่งพระพุทธเจ้าท่านเอาเรื่อง อาทิพรหมจรรย์นี่มาว่าเล่นอยู่ตามลำพังพระองค์เดียว เหมือนกับพวกเรานี่ล่ะ พอว่างดีอารมณ์ดีครึ้มใจขึ้นมาเมื่อไรก็ฮัมเพลงสากล แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่เป็นอย่างนั้น ท่านนึกครึ้มใจขึ้นมาท่านว่า ปฏิจจสมุปบาท คือตาหูจมูกลิ้นกายใจ บทของท่านก็ว่า
จักขุนจะ ปฏิจะ รูเปจะ
อุปัชชติ วิญญาณัง
ติณณัง ธัมมานัง สังฆาฏิผัสโส
ผัสสะ ปัจจะยา เวทนา
เวทนา ปัจจะยา ตัณหา
ตัณหา ปัจจะยา อุปาทานัง
อุปาทานะ ปัจจะยา ภโว
ภวะ ปัจจะยา ชาติ
ชาติ ปัจจะยา ชรามรณัง
โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมะนัส สุปายาสา
นี่เพลงพระพุทธเจ้า ท่านชอบของท่านมาก ท่านตรัสรู้ก็ตรัสรู้ข้อนี้ แล้วท่านยังเอามาเหมือนกับเราฮัมเพลงเล่นคนเดียวอยู่บ่อยๆ นี้วันหนึ่งท่านทำอย่างนี้ ท่านว่าเรื่องตานี่ตากับรูปถึงกันเข้าย่อมเกิดวิญญาณทางตา สามอย่างนี้คือ ตากับรูปกับวิญญาณทางตามาทำงานด้วยกันเรียกว่าผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยก็เกิดภพ ความมีแห่งความรู้สึกว่าตัวตน ภพเป็นปัจจัยก็เกิดชาติ นี่คือความรู้สึกเป็นตัวตนสมบูรณ์ เมื่อมีความรู้สึกเป็นชาตินี่มันก็อะไรๆก็เป็นของชาติไปหมด จึงมี ชรา มรณะ โสกะ เทวทุกขโทมนัส อุปายาส แล้วก็ได้เป็นทุกข์ มันก็เป็นทุกข์ก็ดิ้นร่าวๆร้อนอยู่
นี่ถ้าว่าดับ ไม่ให้เกิดน่ะ คือไม่ให้ปรุง อย่างเมื่อเมื่อที่ว่าไปนั้นมันคือปรุงๆๆๆๆ จนเกิดทุกข์ นี่ถ้าว่าดับ มันก็ดับกันไปตามลำดับ ก็มีปัญญามีสติมาทันท่วงที มันไม่ให้ปรุงมันดับ มันก็ดับทุกข์ คือดับคือเย็น นี่สมมติว่าเราไม่เคยฟังเรื่องพระพุทธเจ้าเลย เป็นพวกฝรั่ง พอมาถึงก็มาบอกว่ามาอย่างนี้ มาลงมือเรียนว่า ตาเป็นอย่างนี้ หูเป็นอย่างนี้ จมูกเป็นอย่างนี้ แล้วเกิดเกิดความทุกข์ขึ้นมาอย่างนี้ แล้วทุกข์ไม่เกิดเพราะอย่างนี้ นั่นน่ะคือเขาเรียนนาทีแรก วินาทีแรกถูกตัวพุทธศาสนา แล้วก็ถูกที่จุดตั้งต้นของมัน ของพุทธศาสนา เขาก็รู้พุทธศาสนาอย่างแท้จริง ทีนี้พูดต่อไปอีกคำเดียวว่า พระพุทธเจ้าคือคนที่รู้เรื่องนี้ และท่านทำได้ คือป้องกันมันได้ มันไม่เกิด ท่านจึงไม่มีทุกข์ ไอ้คนนั้นมันก็รู้จักพระพุทธเจ้าทันทีเลย รู้จักพระพุทธเจ้าโดยแท้จริง ว่าพระพุทธเจ้าคือคนที่มีจิตใจอย่างนี้ นี้พระธรรมก็คือเรื่องนี้ พระสงฆ์ก็คือผู้รู้และปฏิบัติได้เรื่องนี้ คนนั้นก็รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงทันทีเลย เพราะเขาตั้งต้นเรียนมาจากไอ้ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ
ทีนี้พวกเรา พอถึงก็เขาก็ตั้งแต่เด็กๆ เขาสอนให้เรา พุทธัง สรณัง คัจฉามิ คือนกขุนทองชนิดหนึ่งนั่นเอง ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ คุณว่ากันมาแล้วกี่ร้อยครั้งน่ะ กี่ร้อยครั้งไม่ถึงพระพุทธเจ้าสักทีเห็นไหม มันได้แต่เสียงร้องตะโกนตามที่เขาสอนให้ว่า มันจึงไม่ถึงตัวพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถึงเราจะเรียนพุทธประวัติ ก็เป็นเรื่องราวที่จำได้ของคน ไม่ถึงตัวพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ฉะนั้นขอให้ถึงตัวพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือรู้ไอ้ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ความทุกข์ดับไปอย่างไร แล้วมีคนๆหนึ่งเขาทำได้อย่างนี้ เขารู้เป็นคนแรก เขาทำได้อย่างนี้ นี่คือพระพุทธ เราก็รู้จักพระพุทธ แล้วเราจะรัก จะเลื่อมใส จะเชื่อ ในพระพุทธด้วยชีวิตติดใจทีเดียว เดี๋ยวนี้เราท่องกันแต่ปาก มันก็ไม่มีศรัทธา ไม่มีความรู้ ไม่มีทุกอย่างแหละ มันได้แต่เป็นนกขุนทอง ฉะนั้นจึงบอกวันนี้ว่า ถ้าจะเข้าถึงตัวพุทธศาสนาก็ให้มันเรียนเรื่องทุกข์กับดับทุกข์เป็นอย่างไร การปรุงเป็นทุกข์อย่างยิ่ง การดับหยุดปรุงเป็นสุขอย่างยิ่งก็อย่างนี้ ในชีวิตตลอดวันๆคืนๆนี้เรามีตาหูจมูกลิ้นกายใจสัมผัส รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์อยู่เสมอ เราต้องรู้สึกว่าเราสัมผัสแล้วก็ปรุงอย่างไร ไม่สัมผัสหยุดเงียบเย็นอยู่เป็นอย่างไร เช่นนั่งอยู่ตรงนี้ไม่ค่อยมีเรื่องปรุง พอลองออกไปสถานที่ที่ยั่วตายั่วหูยั่วจมูกยั่วลิ้นยั่วกายยั่วใจ ลองดูเถอะมันจะต้องปรุง ไปที่หาดทรายที่พัทยาจะเป็นอย่างไรกับเหมือนที่นั่งอยู่ตรงนี้มีไหม ไปหาดทรายที่ภูเก็ตสิมันจะเหมือนกับนั่งอยู่ตรงนี้ไหม ไปที่หาดทรายที่เกาะสมุยที่เต็มไปด้วยฝูงพวกนั้นน่ะจะแล้วมันจะหยุดปรุงอย่างนี้ไหม นี่ได้ยินว่ามีในในคณะนี้มีจะไปเกาะสมุย ขอให้โอกาสถ้าทนไม่ได้จะไปก่อนเวลาก็ไม่เป็นไรไม่เสียหายลุกไปได้เชิญเถอะ แล้วอย่าลืมศึกษาว่าไปนั่งที่หาดทรายเกาะสมุยแล้วเปรียบเทียบกันดูกับนั่งที่ตรงนี้ จะได้รู้เรื่องปรุงและไม่ปรุงดีนะ
ดังนั้นขอให้สนใจเรื่องว่ามันไปกระทบอะไรเข้าแล้ว มันมันกระตุ้นใจ มันกระตุ้นใจ หรือได้ยินได้ฟังอะไรเข้าแล้วมันกระตุ้นใจ หรือได้กลิ่นอะไรเข้าได้รสอะไรเข้ามันกระตุ้นใจ ถ้าอารมณ์มากมันก็เกิดปรุง รู้ได้ที่มันร้อนขึ้นมา ร้อนหัวร้อนหูร้อนใจ ร้อนกระทั่งอวัยวะประจำเพศก็ขอโอกาสพูดตรงๆอย่างนี้ ที่เรียกว่าปรุงน่ะในที่สุดมันจะมีร้อนลงไปตามลำดับ กระทั่งอวัยวะประจำเพศก็จะต้องร้อนขึ้นมา นั่นน่ะคือปรุง แล้วทุกข์หรือไม่ทุกข์ เมื่อถูกอารมณ์กระทบตาหูจมูกลิ้นกายใจจะร้อนที่ใบหู แล้วจะร้อนไปตามลำดับอย่างที่ว่า นี่เรียกว่าปรุง เรียนพุทธศาสนาที่ตรงนี้นี่แล้วจะรู้พุทธศาสนา ยิ่งกว่าเรียนพุทธประวัติหรือเรียนอะไรซึ่งมันเป็นส่วนประกอบเท่านั้นแหละ พระไตรปิฎกมากมายก็จริง แต่ใจความสำคัญมันอยู่ตรงที่พระพุทธเจ้าท่านว่า นี้เป็นอาทิพรหมจรรย์ คือ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ สำหรับติดต่อกับ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์ ได้คู่แล้วก็จะปรุงเป็นวิญญาณแล้วปรุงเป็นผัสสะ ปรุงเป็นเวทนา เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน เป็นภพ เป็นชาติ และเป็นทุกข์ ไปจบอยู่ที่ทุกข์ แล้วปรุงเป็นทุกข์อย่างยิ่ง นี้มีสติปัญญามันไม่ปรุง หรือบางทีตามธรรมชาติมันก็ไม่ปรุงเหมือนกันแหละ ตามธรรมชาติน่ะ มันยังเป็นโชคดีอยู่ที่ แม้ตามธรรมชาติมันก็ไม่มีการปรุงอยู่มากเหมือนกัน เช่นตาเราเห็นอะไรมันก็เฉยไปอย่างนั้นนี่ หูได้ยินอะไรมันก็เฉยไปได้ มันไม่ปรุง
เช่นเดี๋ยวนี้ เราก็ลืมตาอยู่ทุกคนแล้วก็เห็นอะไรอยู่มันมันยังไม่มีการปรุง หูก็ได้ยินเสียงแมลงเสียงไก่เสียงอะไรอยู่ แต่มันไม่เป็นการปรุง จมูกก็ได้กลิ่นอะไรอยู่ก็ไม่เป็นการปรุง แต่ในบางบางกรณีมันไม่เป็นอย่างนั้น มันเห็นสิ่งที่มีความหมายยึดถือเอา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อารมณ์นั้นๆที่มาจากเพศตรงกันข้าม ข้อนี้พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เองว่า ไอ้สิ่งที่จะมาครอบงำคน และรบกวนจิตใจที่สุดนั่นก็คือ สิ่งที่มาที่เป็นที่เป็นอารมณ์มาจากเพศตรงกันข้าม ท่านใช้คำแยกกันว่าสำหรับหญิง สำหรับชาย รูปที่จะจับใจชายก็คือรูปหญิง รูปที่จะจับใจหญิงก็คือรูปชาย เสียงที่จะจับใจหญิงก็คือก็เสียงชาย เสียงที่จะจับใจชายก็คือเสียงหญิง ท่านว่าเป็นคู่ๆๆๆ อย่างนี้มันมากนัก อาตมาจะพูดสรุปว่า อารมณ์ที่จะมาปรุงที่สุด ก็คืออารมณ์ที่มาจากเพศตรงกันข้าม ก็ไปจัดเอาเองระหว่างหญิงระหว่างชาย หรือนิมิตเครื่องหมายของเพศตรงกันข้าม แม้ว่าจะไม่เป็นตัวเพศตรงกันข้ามแต่ก็เป็นนิมิตเครื่องหมายของเพศตรงกันข้าม หรือสิ่งที่มีความหมายหรือความรู้สึกอย่างนั้น เป็นวัตถุสิ่งของก็ได้ เช่นว่าจดหมายของแฟนอย่างนี้ มันไม่ใช่กระดาษเฉยๆนะ พอไปอ่านมันเข้ามันก็เป็นเรื่องปรุง เพราะมันมีความหมายแห่งเพศตรงกันข้าม ดังนั้นท่านจึงใช้คำว่า ไอ้ไอ้สิ่งที่จะจับใจคน แล้วฝังลงไปอย่างเหนียวแน่นมันก็คืออารมณ์ที่มาจากเพศตรงกันข้าม และเป็นเรื่องทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทางลิ้นก็ได้ ทางผิวหนังก็ได้ ทางจิตใจเองก็ได้
นี่รู้จักไอ้เรื่องปรุงไว้อย่างนี้ จะศึกษาพุทธศาสนาดี เรามีตาหูจมูกลิ้นกายใจทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลา ถ้ามันไม่ปรุงตามแบบของไอ้ปฏิจจสมุปบาทนี่ก็ไม่ร้อนหรอก ไม่ปรุงก็ไม่ร้อน พอปรุงก็เป็นทุกข์อย่างยิ่ง พอไม่ปรุงก็ยังเย็นอยู่ เมื่อไม่ปรุงตามธรรมชาติก็ดีอยู่แล้ว เราไปไหนมันก็จะต้องพบแล้วก็ไม่ปรุงตามธรรมชาติ นี่ถ้าว่าตามธรรมชาติมันจะปรุง เราก็ใช้สติปัญญาของเราควบคุมไว้ไม่ให้ปรุงไม่ให้ปรุง มันก็ไม่เป็นทุกข์เหมือนกัน ฉะนั้นเราจึงต้องมีสติคอยควบคุมอย่าให้เกิดเป็นการปรุงขึ้นมา ให้หยุดเย็นอยู่ดังเดิมมันจะมีมีความสุข มีความสุขชนิดไม่ปรุงนี้ไม่ใช่ว่าจะบ้าบอผิดปกติไปแล้วไม่ใช่ มันมีความรู้สึกควบคุมอยู่ เมื่อมันไม่ปรุงมันก็เย็นอยู่ ไอ้ที่เย็นนี้ไม่ใช่ทำอะไรไม่ได้ ไอ้เย็นนี้คืออารมณ์ที่ดีที่สบายที่เป็นสุข คิดนึกอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ทำได้ดีกว่า ฉะนั้นสังเกตดูง่ายๆว่าเมื่อใดเราเรามีอารมณ์ดี ใช้ภาษาชาวบ้านๆนี่ว่า เมื่อไรมีอารมณ์ดีมีใจคอปกติ เมื่อนั้นเราทำอะไรได้ดีกว่าที่เรากำลังมีจิตใจหงุดหงิดฟุ้งซ่าน ขอให้เราสังเกตดูแล้วเรียนพุทธศาสนาจากเรื่องจริงอย่างนี้ มันก็เป็นพุทธศาสนาจริง ก. ข. กอกาพุทธศาสนาตั้งต้นที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ แล้วเราก็มีจาตาหูจมูกลิ้นกายใจ พร้อมที่จะทำหน้าที่อยู่เสมอ ถ้าเราไม่มีปัญญาควบคุมมัน เราก็วินาศแหละ เราจะร้อนเราจะเป็นทุกข์ เราจะทนทรมาน อย่างน้อยที่สุดก็จะได้เป็นโรคประสาท ที่เดี๋ยวนี้เป็นกันมากขึ้นๆ เพราะว่าเขาทำไม่ถูกกับเรื่องเหล่านี้ เขาหลงรักหลงโกรธหลงเกลียดหลงกลัวหลงวิตกกังวลหลงอาลัยอาวรณ์ เขาทำไม่ถูกในเรื่องนี้ ดังนั้นขอให้เราเป็นผู้ฉลาดในเรื่องนี้สมกับที่ว่าเป็นพุทธบริษัท ควบคุมมันให้ได้ มันก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ และไม่ต้องเป็นไอ้ไอ้หางของความทุกข์ เช่นเป็นโรคประสาท เป็นโรคจิต เป็นโรคอะไรรบกวนอยู่เสมอ
ท่านทั้งหลายตั้งใจจะศึกษาธรรมะ หวังจะศึกษาธรรมะเพื่อจะเอาไปใช้เป็นประโยชน์แล้วก็บอกว่า หัวข้อสองข้อนี้ช่วยได้มาก ว่าการปรุงเป็นทุกข์อย่างยิ่ง การดับไม่ปรุงก็เป็นสุขอย่างยิ่ง เมื่อได้ยินคำว่า เตสัง วูปสโม สุโข เขาสวดงานศพ แล้วก็ให้รู้ว่า นั่นแหละเขากำลังบอกคนทั้งหลายว่า หยุดการปรุง คือสังขารนั้นเสียก็เป็นความสุข อย่าไปเข้าใจว่าตายนอนในโลงเป็นความสุข นี่มันผิดผิดจนไม่รู้จะผิดอย่างไรเลย ที่ว่าตายน่ะคือดับสังขาร คือตายแล้วนอนอยู่ในโลงเป็นความสุข คนนอนอยู่ในโลงมีความสุขมันโง่กี่มากน้อยก็ คิดดูเอาสิ ถ้าไปคิดอย่างนั้นมันก็ก็เหลือเกินแหละ ไอ้ที่จริงเขาก็บอกไอ้ความจริงที่สุดสูงสุดถูกต้องที่สุดมีค่าที่สุดว่า เตสัง วูปสโม สุโข ระงับเสียซึ่งการปรุงแต่งเหล่านั้น สังขารเหล่านั้นน่ะ มันก็เป็นความสุข นี่เราก็ฉลาดขึ้นทุกทีที่ไปงานศพ หรือได้สติขึ้นมาทุกทีที่ไปงานศพ มันก็ดีอย่างนี้ ดังนั้นจึงขอร้องเมื่อตะกี้ว่าช่วยจำไปดีๆนะไอ้สองประโยคนี้ “ปรุงเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ดับเป็นสุขอย่างยิ่ง” มันก็เรียนจากตัวเอง เมื่อกระทบตาหูจมูกลิ้นกายใจ เกิดจักษุวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เดือดพล่านอยู่ในอุปาทานว่าตัวกูบ้าง ว่าของกูบ้างมันก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น อุปาทานแปลว่าจับฉวยเอาอะไรเข้ามาเป็นตัวกูของกู ก่อนนี้ไม่ได้จับฉวยอะไรมาเป็นตัวกูของกูก็ไม่เป็นทุกข์หรอก พอมีอะไรมาเป็นตัวกูของกู มันก็เต็มไปด้วยปัญหาแหละ ปัญหาที่จะต้องต่อสู้แก้ไขดิ้นรนเป็นทุกข์ เรียกว่ากลายเป็นผู้ถือของหนักขึ้นมาแล้ว
ก่อนนี้เราเดินตัวเปล่า เบาสบาย เดี๋ยวนี้เราเอาของหนักๆขึ้นมาแบกแล้ว เมื่อเกิดอุปาทานน่ะหมายมั่นอะไรเป็นตัวกูเป็นของกูขึ้นมาแล้วมันก็จะต้องเป็นทุกข์ เรามีเงินอยู่ในธนาคาร มันก็ไม่ไม่มามาไม่มาทุกข์ไม่มาไม่ได้แบกไว้โดยจิตใจ ถ้าถ้าเราไม่ไม่ยึดถือมันฝากไว้ในธนาคารต่อไปจะใช้เมื่อไรก็ได้ แต่ถ้าเอามาวิตกกังวลอยู่ แล้วมันก็เป็นทุกข์แหละ เพราะมันเอามาแบกไว้ด้วยใจ ฉะนั้นอะไรๆที่เรามีเราเรียกว่าเรามีน่ะให้มันมีอยู่โดยไม่ต้องเอามาแบกไว้ด้วยใจแม้แต่ชีวิตนี้ ไอ้ตอนจะฝังญาติมันก็แม้แต่ชีวิตนี้ก็ไม่ต้องยึดมั่นว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา อย่าแบกมันไว้ด้วยใจ มันหนักเหมือนแบกของหนัก ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ แล้วคอยจัดการปรับปรุงแก้ไขให้ดี ชีวิตนี้มันก็ไม่มาเป็นทุกข์อยู่บนจิตใจของเรา แล้วมันก็เป็นไปอย่างถูกต้อง ก็ใช้เป็นประโยชน์ได้ ถ้าเมื่อใดเราไปหลงไปโง่ ว่าชีวิตนี้ของเราเป็นตัวกูนี้ นี่ก็ทุกข์หนักทันที แล้วมีเรื่องมากไม่สิ้นสุด ฉะนั้นแม้แต่ชีวิตจิตใจก็รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติของการปรุงของมัน ของชีวิต อย่าเอามันมาเป็นของเรา อย่าเอาไปปรุงมาเป็นของเรา
ทีนี้จะพูดต่อไปสักหน่อย ก็ว่าทำอย่างไรที่จะไม่ปรุง เราจะมีชีวิตชนิดไหนอยู่เป็นประจำ ไอ้ไอ้สิ่งเหล่านี้จึงจะหยุดปรุง หรือไม่ปรุง นั่นแหละคือตัวธรรมะแหละ ที่เรามาเรียนธรรมะมาศึกษาธรรมะมาหาความรู้ทางธรรมะ คำว่าธรรมะนั้นน่ะก็เครื่องที่ทำให้หยุดปรุง ถ้าสรุปที่หยุดปรุง หยุดปฏิจจสมุปบาทเสียได้ พระพุทธเจ้าท่านระบุไปยัง มัชฌิมาปฏิปทา ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ถ้าเราอยู่อย่างมัชฌิมาปฏิปทา คืออริยมรรคมีองก์แปดนั้นน่ะ มันจะไม่ปรุง เข้าใจว่าจำได้กันทุกคนแล้วนะ ถ้าจำไม่ได้ก็ก็ก็ต้องขออภัยที่จะพูดว่าแย่มากนะถ้าพวกเราจำไอ้ อัฎ อัฎฐังคิกมรรค ไม่ได้น่ะ ใครที่จำไม่ได้รีบไปหารีบไปทำให้มันจำได้เสียสิ เป็นตัวธรรมะทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ที่จะป้องกันการปรุง เขาเรียกว่าความถูกต้องแปดประการก็ได้ ถ้าเราอยู่ด้วยความถูกต้องแปดประการแล้วมันปรุงไม่ได้หรอก ชีวิตนี้จะปรุงเป็นความทุกข์ไม่ได้ ตาหูจมูกลิ้นกายใจจะปรุงอะไรให้เป็นกิเลสเป็นความทุกข์ไม่ได้ เพราะอยู่ด้วยความถูกต้องแปดประการ
ประการที่หนึ่ง ถูกต้องในเรื่องของความรู้ความคิดความเชื่อความเข้าใจ เรียกว่า สัมมาทิฎฐิ ความรู้ ความคิด ความเห็น ความเชื่ออะไรก็ตามที่เรียกว่าทิฎฐินี่มันถูกต้อง เป็นสัมมาทิฐิ ถ้าผิดก็เรียกมิจฉาทิฐิ มิจฉาทิฎฐิก็มืด แล้วก็เป็นไปอย่างมืดๆ แล้วก็ไปปรุงไปเป็นทุกข์ ถ้าสัมมาทิฎฐิมันก็สว่างไสว มันไม่ปรุงมันก็ไม่เป็นทุกข์ ดังนั้นข้อแรก ว่าจงมีความถูกต้องของทิฐิเสียก่อนเรียกว่า สัมมาทิฎฐิ
นี้ถัดไปก็เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ประสงค์อย่างถูกต้อง ต้องการอย่างถูกต้อง อย่าไปต้องการด้วยกิเลสตัณหา นั่นเขาเรียกว่า ตัณหา เรียกว่าความโลภนะ ต้องการด้วยความโง่ เรียกว่าตัณหา เรียกว่าความโลภ ถ้าต้องการด้วยปัญญาด้วยความรู้ทิฐิ คือสัมมาทิฎฐิน่ะ เขามีแล้ว แล้วก็ต้องการด้วยอำนาจของสัมมาทิฎฐิ ก็เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ สังกัปปะนี้ก็แปลว่าความต้องการ ความประสงค์ หรือการใคร่จะได้เหมือนกันแหละ แต่มันฝ่ายดี ถ้าฝ่ายชั่วเรียกว่า ตัณหาบ้าง เรียกว่าโลภะบ้าง ขอให้ความประสงค์ของท่านสำเร็จดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญ หรือแก้วมณีโชติ ที่พระเขาให้พรเวลาถวายทานนั่นแหละ สังกัปปะนั้นแหละมันจะถูกต้อง ดังนั้นรู้จักปรารถนาแต่ที่ถูกต้อง ในสิ่งที่ถูกต้อง วิถีทางที่ถูกต้อง มันก็ปรุงไม่ได้ ปรุงให้เป็นไฟไม่ได้ มันไม่ปรุง
ทีนี้ก็มี ถูกต้องทางวาจาเรียกว่า สัมมาวาจา มันก็ไม่ทำให้เกิดเรื่องนะ อันนี้มันเป็นเรื่องรอบนอกตัวออกไป ถ้าพูดดีแล้วก็ไม่กระทบใคร แล้วก็ไม่มีอะไรมารบกวน เราก็มีความถูกต้องทางการพูดจา
ถัดไปก็ สัมมากัมมันตะ มีการกระทำทางกายถูกต้อง ตัวเองก็ไม่เป็นทุกข์ ไม่ไปกระทบใคร ก็ไม่มีใครมากระทบเรา ก็ไม่ปรุงไม่ช่วยให้ปรุง
ถัดไปก็ สัมมาอาชีวะ ดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง วิธีเลี้ยงชีวิตก็ถูกต้อง วิธีใช้ก็ถูกต้อง ข้อนี้ขอแทรกว่า จะเสนอไอ้หลักความเป็นเศรษฐีในครั้งพุทธกาลน่ะ ตามความหมายของพระพุทธเจ้า ดูเมื่อเมื่อตอนที่แล้วมาก็ก็พูดทีหนึ่งแล้ว ว่าความเป็นเศรษฐี เขาเขารักพอใจในการทำการงาน สนุกในการทำการงาน มันก็ทำได้มาก เมื่อทำได้มากมันก็มีผลมาก มีผลมากก็กินไม่หมด ก็กินแต่พอดีเหลือไปช่วยผู้อื่น นี่คือ สัมมาอาชีวะ ดำรงชีวิตอย่างถูกต้อง อาชีวะแปลว่าดำรงชีพ ไม่ได้หมายเฉพาะว่าว่าไปทำงาน ทำค้าขายหรืออะไรทำนองนั้น คือดำรงชีวิตทั้งหมด ทั้งระบบของชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง นี่ก็เรียกว่า ดำรงชีพชอบ สัมมาอาชีวะ “อา” แปลว่าครบถ้วน “ชีวะ” แปลว่าชีวิต ระบบชีวิตที่ครบถ้วนน่ะมันถูกต้อง ก็ปรุงไม่ได้ อยู่อย่างถูกต้อง ไฟไม่ติดเพราะมันอยู่อย่างถูกต้อง
นี้ สัมมาวายามะ ถูกต้องในความพากเพียร คนเรามันต้องเคลื่อนไหว มันอยู่นิ่งไม่ได้ แล้วเมื่อต้องการอะไร ควรจะได้อะไร มันก็ต้องพากเพียร แล้วก็ควบคุมให้ความพากเพียรของเราถูกต้องอยู่เสมอ ท่านแจกไว้เป็นหลักคล้ายๆกับไม่มีทางจะผิดได้ เหมือนกำปั้นทุบดินไม่มีทางจะผิดได้ เมื่อเพียรละไอ้ที่ไม่ดี ระวังอย่าให้มันเกิดขึ้นมา ถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้วละเสียไอ้ที่ไม่ดี ไอ้ที่ดีๆน่ะทำให้มันเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาแล้วรักษาเอาไว้ ถ้าทำอย่างนี้ก็เรียกว่าความเพียรนั้นถูกต้องไม่มีทางผิดเลย แล้ววางความพากเพียรของเราให้มันถูกต้อง เรียกว่า สัมมาวายามะ
นี้ถัดไปก็ สัมมาสติ สติแปลว่าความรู้สึกตัวอยู่ ความรู้สึกตัวอยู่ ต้องรู้สึกตัวอยู่อย่างถูกต้อง อย่าเผลอให้ความโง่ครอบงำ อย่าให้อวิชชาครอบงำ ความรำลึกนี้มันจะถูกต้องอยู่เสมอ ให้ถูกต้องอยู่ตลอดเวลาทุกสถานที่ ดังนั้นเราจึงทำผิดไม่ได้ เวลาไหนก็ตามที่ไหนก็ตามเมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วสติมันถูกต้องอยู่เสมอ มันมันระลึกได้ทันเวลาเสมอ มันก็ทำผิดไม่ได้ เกี่ยวกับตาหูจมูกลิ้นกายใจ นี่เรียกว่ามีสติ ต้องไปดูที่ตัวจริงนะอย่าอย่าฟังกันแต่คำพูด หรืออยู่ในสมุดนะ ต้องมีสติจริง ทันควันทันเวลาที่อะไรมากระทบตาหูจมูกลิ้นกายใจ ระลึกได้ทันทีจัดการควบคุมได้ทันที ไม่มีผิดพลาดไม่มีการปรุง ก็ไม่มีไฟลุกขึ้นมา
นี้ข้อสุดท้ายเรียกว่า สัมมาสมาธิ สมาธิถูกต้อง สมาธิคือการดำรงจิตไว้อย่างมั่นคง แต่ก็มีถูกต้องหรือไม่ถูกต้องเหมือนกัน ดำรงจิตไว้อย่างมั่นคงนี่ก็ต้องถูกต้อง คือชนิดที่ว่ากิเลสจะเกิดไม่ได้ ชนิดที่จะเป็นประโยชน์แก่การมองเห็นอะไรยิ่งๆขึ้นไป เรียกว่า สมาธิ มีสัมมาสมาธิ
ขอร้องว่านี้คือตัวพุทธศาสนาที่ท่านทั้งหลายแต่ละคนๆจะต้องคล่องปาก คล่องใจ สำหรับเรื่อง มัชฌิมาปฏิปทา ท่องเป็นบาลีว่า สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ไอ้คนโง่ๆมันบอกบ้าบอ ครึคละ พ้นทันสมัยไม่มีประโยชน์อะไร ยิ่งโง่เท่าไรมันจะยิ่งจะเห็นว่าไอ้บทนี้ครึคละโง่เง่าเต่าล้านปี แต่ถ้ามันเป็นคนรู้จริง รู้อย่างนักวิทยาศาสตร์นะ มันจะรู้ว่านี่จำเป็นที่สุดที่เราจะต้องมี แล้วพุทธศาสนาคืออย่างนี้ และปฏิบัติอย่างนี้จะดับทุกข์ได้ พุทธศาสนาจึงเป็นที่ยอมรับได้ของนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย เราไม่ต้องพึ่งพระเจ้า อย่างที่เขาเขาเชื่อเขาถือ ไม่ต้องพึ่งโชคลาง ไม่ต้องพึ่งเทวดาไม่ต้องพึ่งอะไรหมด ขอให้เราดำรงอยู่ในความถูกต้อง ๘ ประการนี้เท่านั้นน่ะ จะไม่มีความทุกข์ ฉะนั้นเราจะกล้าท้าว่า พระเจ้าจะมีหรือไม่มีก็ตามใจ ไม่รู้ไม่ชี้กับพระเจ้า ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ก็ไม่มีความทุกข์เลย พระเจ้าจะมีหรือไม่มีก็ตามใจ
พระพุทธเจ้าเองท่านก็ทรงเปิดโอกาสอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าพระตถาคตจะเกิดหรือจะไม่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ก็สุดแท้ แต่อันนี้จะต้องเป็นอย่างนี้ หมายความว่าถ้าแกปฏิบัติอยู่อย่างนี้แล้วความทุกข์จะไม่เกิด พระพุทธเจ้าจะเกิด หรือพระพุทธเจ้าจะไม่เกิด นี้ก็ยังเป็นอย่างนี้ ถ้าเรารู้อย่างนี้ เราปฏิบัติอย่างนี้เราก็ไม่ต้องมีความทุกข์ นี่มันปลอดภัยอย่างนี้ เรากล้าท้าว่าพระเจ้าจะมี พระเจ้าจะไม่มี พระเจ้าจะช่วย พระเจ้าจะไม่ช่วยมันก็ตามใจพระเจ้าไม่รู้ไม่ชี้ แต่เมื่อเราดำรงอยู่อย่างนี้แล้วไม่มีทางที่จะเป็นทุกข์ อย่าไปเสียเวลาเถียงกันเรื่องพระเจ้ามีพระเจ้าไม่มี ตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด อะไรไปเกิด ป่วยการไม่รู้ไม่ชี้กับมัน ฉันปฏิบัติอยู่อย่างนี้ก็ไม่มีความทุกข์ แล้วจะไม่เกิดด้วย จะไม่ต้องเกิดมาสำหรับเป็นทุกข์ด้วย ไม่เกิดตัวกูของกูขึ้นมาในจิตให้เป็นทุกข์ด้วย เราอย่าไปเสียเวลาถามกันแต่เรื่องอย่างนั้น เถียงกันอยู่แต่เรื่องอย่างนั้น มาศึกษาเรื่อง มัชฌิมาปฏิปทา อริยมรรคมีองก์ ๘ ให้เข้าใจ แล้วมันไม่มีความทุกข์ มันจะทำถูกต้องแล้วไม่มีความทุกข์
ดังนั้นพุทธศาสนาจึงเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ต้องพึ่งพระเจ้า ไม่ต้องพึ่งอะไรชนิดที่ว่ามันเป็นเรื่องมองไม่เห็นตัว เป็นเรื่องต้องเชื่อ ต้องวิทย์ เป็นไสยศาสตร์ ถ้าพระถ้าพุทธศาสนาจะมีพระเจ้า ก็คือกฎอันนี้กฎเกณฑ์อันนี้คือพระเจ้าของพวกพุทธบริษัท เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายจะต้องเชื่อฟังพระเจ้าในพุทธศาสนาว่า ถ้าปรุงแล้วเป็นทุกข์ถ้าดับแล้วไม่เป็นทุกข์เลย ที่จะดับไม่ปรุงก็คือนี่อยู่อย่างมัชฌิมาปฏิปทา ถูกต้อง ๘ ประการนี้ อุตสาห์ทำให้ขึ้นใจๆ ทีนี้ทำให้เขาสั้นเข้ามาเขาเรียกว่า ๓ อย่างคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ๘ อย่างนั้นพวกไหนเป็นไปเพื่อถูกต้องทางกายทางวาจาเรียกว่า ศีล พวกไหนเป็นไปเพื่อถูกต้องทางจิตเรียกว่า สมาธิ พวกไหนเป็นไปเพื่อความถูกต้องทางความรู้ความเข้าใจก็เรียกว่า ปัญญา ดังนั้นเราจึงเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ไอ้คำนี้มันรวบรวบรัดเข้ามาอีกทีเหลือเพียง ๓ แล้วกระจายออกไปเป็น ๘ เราจะทำให้เหลือ ๓ ก็ได้ มันไม่ไม่มากมายนัก มันถูกต้องอยู่ที่กายวาจาเรียกว่าศีล ถูกต้องอยู่ที่จิตเรียกว่าสมาธิ ถูกต้องอยู่ที่ความรู้ความเข้าใจก็เรียกว่าปัญญา นี่สิ่งที่จะช่วยให้ไม่ปรุง
ทีนี้มันละเอียดลึกซึ้งเข้าใจไม่ได้สำหรับคนธรรมดาสามัญ ท่านจึงช่วยทำให้มันง่ายเข้า เป็นให้มันเป็นไอ้สูตรที่ง่ายเข้าเป็นตัวบทที่มันง่ายเข้า เรียกว่าศีล เช่นเช่นว่าเราไม่ไม่ปรุงความโกรธ เราก็ไม่ฆ่าใคร เพราะมันเพราะฉะนั้นเมื่อมันมีอะไรมายั่วให้ฆ่าๆผู้อื่น แล้วเราก็ควบคุมไว้ได้หยุดไว้ได้ไม่ปรุง ดังนั้นการที่เราถือศีลข้อที่หนึ่งว่า ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขาปะทัง นี้ก็คือเราจะควบคุมไว้ไม่ให้ปรุงเป็นความโกรธแล้วฆ่าเขาได้ ทีนี้เราเห็นของของผู้อื่นอยากจะได้ นั่นมันปรุง เมื่อมันอยากจะได้แล้วมันก็จะขโมย นี้ไม่ให้ปรุง ไม่ให้อยากได้ไม่ให้ขโมยก็ถือศีล อทินนาทานา เวรมณี สิกขาปะทัง นี่ควบคุมมันไว้ไม่ให้ปรุงเป็นความอยากแล้วก็ไปขโมย นี้เรื่องเพศเรื่องกามารมณ์ กาเมสุมิจฺฉาจารา นี่ควบคุมไว้ ไม่หลงใหลในเรื่องเพศจนไปล่วงละเมิดความรัก ของรักของผู้อื่น คือศีลข้อที่สามมันก็ไม่ปรุงในข้อนี้ แล้วก็ถือศีลข้อที่สี่ไม่โกหก ประโยชน์ที่อยากได้ แล้วเราไม่ได้โดยทางอื่นเราก็ใช้ไอ้คำพูดที่โกหกเอาประโยชน์นั้นมา เราควบคุมไว้ไม่ให้มันปรุงแบบนั้น ทีนี้เรารู้ว่าไอ้น้ำเมาทั้งหลาย ของเมาทั้งหลายทำให้เสียสติ แล้วก็ไปปรุงอย่ายิ่ง อย่างฉิบหายหมดเลย ก็เว้นเสียเว้นเสียไอ้เรื่องของเมาทั้งหลายที่จะทำให้เสียสติสัมปชัญญะ สุราเมรยมัชปมาทัฏฐานา คำว่า ปะมาทัฏฐานา นั้นสำคัญมาก แปลว่าเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทความโง่ความหลงความไอ้ผิดไปหมดเลย ดังนั้นอะไรก็ตามถ้ากินเข้าไป ดื่มเข้าไป สูบเข้าไปหรือเอามาทามาลูบ เกิดความประมาทเสียสติสัมปชัญญะ อย่าไปแตะต้องเป็นอันขาด จึงไม่ระบุว่าเหล้าหรือบุหรี่ หรือเฮโรอีนนี้ไม่ต้องระบุชื่อก็ได้ เรียกรวมหมดว่าสิ่งที่มันทำให้เกิดความประมาทเสียสติสัมปชัญญะ แล้วอย่าไปเอากับมัน แม้เรื่องเล็กๆน้อยๆที่ทำให้ติดให้หลงใหลให้เป็นทาสมันแล้วก็อย่าไปเอากับมัน แม้แต่เพียงศีล ๕ เท่านี้ก็ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการปรุง ในส่วนเกี่ยวกับกายวาจา
ทีนี้ในส่วนสมาธิที่ทางจิตนั้นน่ะ ทำจิตให้สงบอย่าให้ปรุง สมาธิทุกแบบที่เขามีๆกันอยู่ใช้ได้ทั้งนั้น อย่างน้อยก็เป็นสมาธิบ้างไม่เสียเปล่าหรอก ทุกแบบที่มีอยู่ในโลก แต่บางแบบมันไปไม่ได้ไกลไม่ไปไม่ไม่ไม่ส่งไปถึงไอ้ปัญญาหรือนิพพาน แต่ถ้าเอาเพียงว่าเป็นสมาธิบ้างแล้วจะได้ด้วยกันทุกแบบ ไปลองดูที่แบบไหนที่เราพอใจ แต่อยากจะบอกหลัก หลักหัวใจของมันว่า การทำสมาธินั้นคือทำอย่างไร หลักของมันก็คือต้องมีอะไรมาสำหรับให้ใจกำหนด ให้ใจไปกำหนดจดจ่ออยู่ที่นั่น ฝึกใจให้บังคับจดจ่ออยู่ที่นั่นจนใจมันเชื่อฟังจดจ่ออยู่ที่นั่น ทีนี้เราจะเอาอะไรมาให้ใจกำหนด เราก็เลือกสิ่งที่ดีที่มีประโยชน์ อย่างที่มีมีหลักว่า สมาธินั้นคือเอกัคคตาจิต ที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ พระนิพพานนั้นคือดับ บอกมาแล้วเมื่อกี๊ว่า นิพพานัง ปรมังสุขัง ดับเป็นสุขอย่างยิ่ง ไอ้ดับนั่นน่ะเอามาเป็นอารมณ์ จะดับเสียซึ่งการปรุง มุ่งจะดับเสียซึ่งการปรุง เอาดับนั่นน่ะคือนิพพานมาเป็นอารมณ์ของเอกัคคตาจิต
เอกัคคตาจิตก็แปลว่าจิตที่มีอารมณ์เดียว มียอด ยอดแหลมยอดเดียว อคะแปลว่ายอด เอกแปลว่าหนึ่ง เอกคะแปลว่ายอดๆเดียว เอกัคคตาความมียอดยอดเดียว คือมันไปสรุปอยู่ที่จุดอันเดียว เหมือนกับเราส่องแว่นโฟกัสรวมแสงอย่างนั้นแหละ แสงทั้งหลายมันไปรวมอยู่ที่จุดนั้นมันก็แรงสิ แสงตามธรรมดาอย่างนี้มันไม่ร้อนแต่พอเราเอาใช้ของรวมแสงเช่นแว่นชนิดรวมแสง รวมแสงมาให้มันอยู่จุดเดียวเล็กๆมันรุกเป็นไฟขึ้นมา นั่นแหละการรวมแสงเหมือนเหมือนกับการรวมกระแสจิต เดี๋ยวนี้เรารวมกระแสจิตโดยมีอารมณ์อันหนึ่งเป็นที่รวม จิตมันก็รวม ของที่จะมาเป็นอารมณ์ของจิตท่านใช้คำว่านิพพาน มีนิพพานเป็นอารมณ์ของจิตที่เป็นสมาธิ นั่นเราหวังนี่ทุกคนหวัง หวังด้วยปัญญานะอย่าหวังด้วยกิเลสตัณหา หวังที่จะดับหวังที่จะดับ มุ่งที่จะดับมีนิพพานเป็นอารมณ์ เอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์นั้นคือสมาธิอันสูงสุดไม่มีสมาธิใดยิ่งไปกว่า เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้ พออยากจะทำทำไม่ได้ ต้องต้องทำให้ทำได้ต้องฝึกไปตั้งแต้ต้นๆ เอาอะไรมาให้เป็นที่ที่ที่ที่ที่จิตมันจะไปยึดไปเกาะไว้ให้เป็นอารมณ์ คนโบราณเขาใช้เพ่งดวงเทียนบ้าง หรือเพ่งหลอดไฟฟ้าบ้าง ที่ไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเขาก็รู้จักทำ ฝรั่งก็รู้จักทำ เพ่งหลอดไฟฟ้า ให้จิตไปรวมอยู่ที่นั่น รวมอยู่ที่นั่น รวมอยู่ที่นั่น พวกคริสเตียนโบราณเขาก็รู้จักทำ แต่ก่อนเขาเอาเอาวงกลมสีเขียวสีขาวสีแดงสีดำแล้วแต่เขาจะชอบเป็นวงกลมมาวางตรงหน้า แล้วก็เพ่งจิตเข้าไป นี้เป็นเรื่องเบื้องต้นทั้งนั้นแหละ อะไรก็ได้นะจะบอกอย่างนี้เลยว่าอะไรก็ได้ สำหรับจิตมันจะไปกำหนดลงที่ตรงนั้น กำหนดลงที่ตรงนั้น จนจิตมารวมอยู่ตรงนี้ได้ ก่อนนี้จิตเขาชอบไปเที่ยว เป็นลักษณะของจิตที่ชอบเที่ยวไปในอารมณ์ต่างๆมันก็เป็นสิ่งฟุ้งซ่านทำอะไรไม่ได้ ทำให้มันหยุดเที่ยวมาอยู่ที่สิ่งๆเดียวนี่ก็เรียกว่า ฝึกให้มันเป็นสมาธิ เราจะเอาวงเอาดวง เอาอะไรเหล่านี้ก็ได้ หรือจะเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ได้ หรือจะเอาความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ให้มันเป็นจุดเดียวสำหรับจิตกำหนดก็เรียกสมาธิทั้งนั้น แต่จะไม่ใช้ของที่ส่งเสริมกิเลส เช่นเราจะเอารูปภาพของแฟนมาเป็นอารมณ์เพ่งสมาธินี่ไม่ไม่ถูกเรื่องนี้ มันไม่ช่วยให้จิตสงบหรอก มันมันมันขยายตัวออกไปเป็นการปรุง ฉะนั้นเอาดวงเขียวๆแดงๆกลมๆเล็กๆ เอาหลอดไฟฟ้าเอาดวงเทียนอะไรมา มาเพ่งให้จิตเป็นสมาธินี้จึงจะหยุดปรุง ถึงจะเป็นไปในทางเป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิมันก็หยุดปรุงขณะแน่แน่นอน เมื่อจิตเป็นสมาธิมันหยุดปรุงขณะที่เป็นสมาธิแน่นอน ถึงจะไม่เด็ดขาดต้องไปทำถึงปัญญา
เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ก็เอาเอาเอาความเป็นสมาธินั้นน่ะ พิจารณาศึกษาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เราเคยหลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัว วิตกกังวลอาลัยอาวรณ์ เอาจิตที่เป็นสมาธิไปเพ่งดูสิ่งเหล่านั้น มันจะได้หยุด หยุดรัก หยุดโกรธ หยุดเกลียด หยุดกลัว หยุดอาลัยอาวรณ์ หยุดอะไรที่เคยหลงรักยึดมั่นเป็นของกูตัวกู มันก็เฉยไปเสีย จิตที่เป็นสมาธิแล้วทำให้เห็นความจริงของสิ่งทั้งปวง การเห็นความจริงของสิ่งทั้งปวง มันไปสรุปอยู่ที่คำที่น่าหัวเราะคำหนึ่งว่า “เช่นนั้นเอง” นี่พอเราเอามาพูดทีแรกมีคนหัวเราะเยาะ ว่าหัวใจธรรมะอยู่ที่ “เช่นนั้นเอง” อย่าเพิ่งหัวเราะเยาะนะ เช่นนั้นเองนั่นแหละหัวใจของธรรมะ ถ้าไม่เช่นนั้นเองแล้วมันต้องรักหรือโกรธหรือเกลียดหรือกลัวหรืออะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ถ้าไม่เห็นเช่นนั้นเอง ถ้าเห็นเช่นนั้นเอง มันจะไม่หลงรักไม่ยั่วให้รัก ไม่เกลียดไม่ยั่วให้เกลียด ไม่โกรธไม่ยั่วให้โกรธ ไม่กลัวไม่ยั่วให้กลัว มันเช่นนั้นเอง พระอรหันต์ท่านจึงไม่มีรักโกรธเกลียดกลัววิตกอาลัยอาวรณ์เพราะท่านเห็นเช่นนั้นเองเด็ดขาดลงไป เราไม่อาจเห็นเช่นนั้นเองโดยเด็ดขาด ก็ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เห็นเช่นนั้นเองของความอร่อย ของความไม่อร่อย ของความแพ้ของความชนะ ของความได้ความเสียกำไรขาดทุน เห็นเช่นนั้นเองอย่าไปทุกข์อย่าไปหลงใหลกับมัน อย่าไปรักมันอย่าเกลียดมัน จิตใจก็ปกติ จิตใจปกติก็รู้เองว่าควรจะทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านั้น ก็ทำทำทำไปตามที่ควรจะทำ แล้วก็ได้ได้อยู่เป็นสุข
มันไม่ปรุงมันดับมันเย็น มันไม่ใช่ว่าเช่นนั้นเองแล้วจะบ้า หรือเช่นนั้นเองแล้วจะไม่ทำอะไรไม่ใช่ เห็นเช่นนั้นเองแล้วมันปกติ เมื่อปกติแล้วมันรู้เองว่าควรทำก็ทำไป ก็ได้ทรัพย์ประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ก็ดับก็เย็นก็เป็นสุขอย่างยิ่งคือเป็นนิพพาน นี่สรุปความว่า เมื่อไรมันปรุง เมื่อนั้นก็ร้อนเป็นไฟ เมื่อไรมันดับเมื่อนั้นก็เย็น เย็นมากกว่าน้ำเพราะมันไม่ใช่น้ำ มันเย็นในแบบจิตวิญญาณ ไม่ใช่เย็นไม่ใช่เย็นใส่น้ำแข็ง ไอ้นั่นมันเรียกทางวัตถุ เย็นเพราะไม่มีไฟคือกิเลส นี่เย็นนิพพาน เย็นใส่น้ำแข็งน่ะเย็นวัตถุ เย็นเนื้อหนังไม่ใช่ไม่ใช่นิพพาน แต่เอาความหมายเดียวกันว่ามันเย็นเพราะมันปราศจากความร้อน ดังนั้นเมื่อเราต้องการความเย็นในชีวิต เราก็ต้องทำให้มันดับ อย่าให้มันปรุง ถ้ามันปรุงคือมันสุมไฟขึ้นมา ก็เกิดกองไฟขึ้นมาแล้วมันก็ร้อน ก็ขอให้มีความรู้ทุกๆคน ขอให้ทุกๆคนมีความรู้สำหรับจะป้องกันการปรุง เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูฟังเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น เมื่อลิ้นได้รส เมื่อกายได้สัมผัสทางผิวหนัง เมื่อจิตได้รู้สึกนึกคิดอารมณ์อะไรขึ้นมา อย่าให้มันปรุงเป็นกิเลสตัณหา เดี๋ยวนี้เรไรร้องบางคนอาจจะปรุงเป็นความรักความชอบก็ได้ เราก็เฉยไม่ต้องรู้อะไรเรไรร้องก็ร้อง หรือว่าถ้ามันจะรักขึ้นมามันก็นี่มันเช่นนั้นเองเสียงเรไร ไม่มีความหมายว่าไพเราะหรือไม่ไพเราะมันเช่นนั้นเอง ก็เท่ากับไม่มี นี่เราเรียกว่าเราเห็นเช่นนั้นเองแล้วก็ปกติอยู่ได้ จะดับอยู่ได้ จะเย็นอยู่ได้ ไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่ต้องเป็นโรคประสาท
เราเป็นโรคประสาททั้งที่เป็นมนุษย์ ต้องกินยานอนหลับ ต้องกินยาช่วยให้นอนหลับ ต้องกินยาแก้ประสาท แต่สุนัขและแมวไม่เป็นโรคประสาท เรไรนี้ก็ไม่เป็นโรคประสาท ไม่มีทางที่เรไรนี้จะเป็นโรคประสาท ฉะนั้นละอายมันบ้าง ถ้าใครกำลังปวดหัวนอนไม่ค่อยหลับ ต้องกินยานอนหลับอยู่ เป็นโรคประสาทอยู่ ดูก้อนหิน ดูต้นไม้ ดูอะไรดูความที่มันหยุดเย็นไม่ปรุงเป็นปกติแล้วก็รู้สึกว่าละอายมันบ้าง มาในที่อย่างนี้ก็ควรจะได้รับประโยชน์อย่างนี้ คือเรียนจากของจริง เรียนจากธรรมชาติ ธรรมชาติสอนดีกว่าใครๆ สอนพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสอย่างนั้น ว่าให้เรียนจากธรรมชาติเห็นแจ้งประจักษ์ออกมาจากภายใน ไม่ต้องเชื่อแม้แต่ตถาคตพูด พระองค์ตรัสก็อย่าเพิ่งเชื่อ เอาไปใคร่ครวญแยกแยะดู ทดสอบดู เห็นว่ามันดับเย็นได้จริงจึงเชื่อ นี่พุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ไม่ผูกขาดความคิดของใคร ยังไม่เชื่อก็ได้ แต่ขอให้เอาไปใคร่ครวญพิจารณาเห็นจริงแล้วจึงเชื่อ แล้วปฏิบัติแล้วก็ได้ผล อาตมาก็ต้องพูดอย่างเดียวกันแหละว่า ที่พูดนี้ก็ไม่ต้องเชื่อก็ได้ แต่ขอร้องที่สุดนะ ช่วยเอาไปคิดไปนึกไปศึกษาไปลองดูใคร่ครวญดูว่า ถ้าปรุงแล้วก็เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ถ้าดับแล้วก็เป็นสุขอย่างยิ่ง ช่วยช่วยทำให้มันติดปากไว้ด้วยกันทุกคนว่า สังขารา ปรมา ทุกขา นิพพานัง ปรมัง สุขัง ไอ้ปรุงนั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ไอ้ดับนั้นเป็นสุขอย่างยิ่ง นะช่วยให้มันดับอยู่ตามปกติอย่าให้มันปรุงลุกเป็นไฟขึ้นมา อย่าให้เป็นกิเลสตัณหาขึ้นมา นี่เวลามันก็ต้องเรียกว่ามันหมดแล้วที่กำหนดไว้ มันก็จะต้องยุติกันที เป็นการฝากหัวใจของธรรมะไว้กับท่านทั้งหลายทุกคนว่า ปรุงแล้วก็เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ดับแล้วก็เป็นสุขอย่างยิ่ง ขอให้สามารถหยุดปรุง ขอให้สามารถทำให้ดับเย็น อยู่ด้วยกันทุกท่านทุกคน เป็นสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยายไว้แต่เพียงเท่านี้