แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่ ๒ นี้ ซึ่งจะได้พูดติดต่อกันมาจากการบรรยายครั้งแรก นั่นคือเรื่อง “สติ” ถ้าท่านยังจำได้ ก็จะสังเกตได้ว่า เราได้พูดกันถึงเรื่องสติในฐานะเป็นสิ่งที่ต้องฝึกให้มี รวดเร็ว เพียงพอ หรือถูกต้องทุกอิริยาบถ ด้วยทุกหน้าที่ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งนี้ก็เพราะว่าเรื่องสติเป็นเรื่องสำคัญในการที่จะช่วยให้ได้รับประโยชน์จากธรรมะ เรื่องปัญญานั้นจะเป็นหมัน ถ้าว่ามันไม่มีสติ ช่วยกันฟังให้ดีๆ สังเกตให้ดีๆ ว่า ถ้าไม่มีสติแล้ว ปัญญาจะเป็นหมัน ถ้าไม่มีปัญญา สติก็ทำอะไรไม่ได้มาก แต่อย่างนั้นก็ยังมีประโยชน์มากกว่าที่ว่า จะมีปัญญาและขาดสติ มีคนเขาคิดกันโดยมากเชื่อกันโดยมากว่า ปัญญาสำคัญที่สุด แม้จะมีพระพุทธสุภาษิตว่าปัญญาสำคัญ ก็ต้องรู้ว่า นั่นหมายความว่า เมื่อเราสามารถที่จะใช้ปัญญานั้นได้ คือถ้ามีแต่ปัญญาไม่มีสติ ปัญญาก็ไม่มีโอกาสจะใช้ ปัญญาก็เป็นหมัน นี่เราสังเกตดูให้ดีๆ ว่าอย่าไปหลงในวิชาความรู้กันนัก ต้องสนใจในการที่สามารถใช้ความรู้นั้นได้จริง คนที่ขาดสติแล้ว ก็ไม่สามารถใช้ความรู้ และยังจะใช้ไปผิดๆ ด้วย นิทานสั้นๆ สอนเด็ก มีอยู่เรื่องหนึ่งว่า เด็กคนหนึ่ง เด็กเล็กๆ ตัวเล็กๆ สตางค์ติดคอเพราะกลืนเข้าไปติดอยู่ที่คอ อาการหนัก แม่ของเขารู้ มีความรู้ว่าน้ำกรดมันกัดโลหะได้ ก็เทน้ำกรดลงไปกัดสตางค์ที่ติดในคอเสียก็จะหาย ก็เทน้ำกรดลงไปในคอของลูกด้วย กัดสตางค์ ที่มีแต่ความรู้ว่าน้ำกรดกัดโลหะได้ และมันก็ไม่รู้อะไรอีกหลายอย่าง มันก็มีความโง่ หรือผิดพลาดขึ้นมาในความรู้นั่นเอง ลำพังความรู้ที่ขาดสติ กลายเป็นความไม่รู้ ความโง่เง่า หรืออันตราย คนเรามักจะนิยมความรู้ รู้มากเรียนมาก แต่มันขาดความประสีประสา “ประสีประสา” คือความไม่รู้ภาษีภาษา มันมีแต่ความรู้ ความรู้มันมาก แต่เป็นคนที่ไม่ประสีประสา ไม่รู้ภาษีภาษา มันก็ไม่อาจจะใช้ความรู้นั้นให้เป็นประโยชน์ได้ และมันจะทำผิดด้วยความรู้มากๆ นั่นเอง ถ้ารู้มากๆ มันก็ยิ่งคิดไปมาก และมันก็ทำผิดได้มาก ถ้ามันไม่รู้ภาษีภาษา ขอให้ทุกคนสังเกตดูให้ดีๆ ว่ารู้ภาษีภาษาดีกว่ารู้หนังสือหนังหา หรือรู้อะไรมากๆ แต่ด้วยเหตุที่เดี๋ยวนี้เขาบ้ากันทั้งเมืองทั้งโลก เขาชอบคนรู้หนังสือหนังหามีวิชาความรู้ ไม่ค่อยสนใจคนรู้ภาษีภาษา มันก็เลยยุ่งกันทั้งโลก โกงกันทั้งเมือง รู้ภาษีภาษาเป็นเรื่องของสติ ในความรู้ต่างๆ เป็นเรื่องของปัญญา ถ้าเรามีแต่ความรู้ทางปัญญาไม่รู้ภาษีภาษาในเรื่องของสติ ไม่ฉลาดไม่เฉลียว ไม่รอบคอบสุขุม มันก็วินาศ คนรู้มากมันก็ประมาทได้มาก ก็มันมีความคิดแหลมคมมันก็ประมาทได้ง่าน ฉะนั้นเราอย่านึกแต่ว่า จะเรียนให้รู้ จงมีความรู้ภาษีภาษา มีสติสัมปชัญญะให้มากด้วย อย่ามีกันแต่ปัญญาความรู้ ไม่มีสติสัมปชัญญะ สติแปลว่าระลึก จิตระลึก มันแจ้งไปในจิตต่างๆ ในอารมณ์ต่างๆ ในความรู้ต่างๆ แล้วเอามากำหนดรู้อยู่ เรียกว่า สัมปชัญญะ มี “สติสัมปชัญญะ” ก็คือสามารถระลึกนึกไปยังความรู้ที่ถูกต้อง จะเอามาควบคุมคอยชี้อยู่ อย่างนี้เรียกว่ามีสติสัมปชัญญะ ในความรู้นั้น ฉะนั้นก็เลยถูกใช้ให้เป็นประโยชน์เต็มที่ และมันก็แก้ปัญหาต่างๆ ได้ หรือว่ามันป้องกันปัญหาต่างๆ ได้เพราะสตินั่นเอง ในทางธรรมะจึงเน้นที่สติ การปฏิบัติธรรมะที่สำคัญที่สุด ในพระพุทธศาสนา ท่านระบุไปยังสติปัฏฐาน เรียก “สติปัฏฐาน ๔” ทำสติให้สมบูรณ์ ให้รวดเร็ว ให้ครบด้านทุกแง่ทุกมุม ในสติปัฏฐานจะมีครบ ในเรื่องที่เราต้องใช้เพื่อการดับทุกข์ ฉะนั้นจึงถือว่าปฏิบัติสติปัฏฐานให้สำเร็จ ก็ครบถ้วนทั้งหมด นี่เห็นได้ว่ายกเรื่องสติขึ้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว่วา ถ้าไม่มีสติ ปัญญาก็จะเป็นหมัน เราไม่ไปสนใจเรื่องสติ เห็นว่าไม่สำคัญ หรือว่าไม่หรูหรา ไม่มีเกียรติ ไม่รุ่งเรือง ไปสนใจกับปัญญาด้านเดียว แล้วไม่มีสติ ปัญญามันก็ไม่มาช่วย ไม่มาช่วยอะไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการที่มันจะเกิดกิเลศ ในการที่มันจะเกิดกิเลศถ้าสติไม่มีแล้ว มันจะเกิดกิเลศได้ทั้งที่มีปัญญา ถ้าว่าเรามันขาดสติ ดังนั้นขอให้เข้าใจกันดีๆ ระหว่างศึกษาเรื่องนี้กันให้ดีๆ ปัญญานั้นเป็นความรู้ที่ไม่เคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเอง มีที่ไหนก็กองอยู่ที่นั่น แต่ถ้าสติ มันเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวเร็ว เกิดขึ้นเร็ว นำปัญญามาสู่จิตใจนี้อย่างเร็ว เรียกว่า ไปอย่างสายฟ้าแลบที่จะรู้สึกนึกคิด หรือว่ารู้เท่าทัน หรือว่า ด้วยสติที่มันเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ สติเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวเร็ว ปัญญาคล้ายๆ กับว่ามันเคลื่อนไหวไม่ได้ ที่จะระลึกเอาปัญญามาใช้ในเรื่องอะไรๆ นั้น มันเป็นเรื่องของสติทั้งนั้น ปัญญามันมาเองไม่ได้ มันต้องมีสติไประลึกเอามา จึงจะสำเร็จประโยชน์ ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องฝึกเรื่องสติกันให้มาก เหมือนอย่างที่พูดไปแล้วเมื่อวาน ฝึกสติทุกอิริยาบถ ทุกวินาที ทุกอายตนะ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ถ้ามีสติได้อย่างที่พูดกันเมื่อวาน มันก็จะปลอดภัย สติจะไปเอาปัญญามาทันท่วงที ทุกกรณีที่มันจะเกิดกิเลศ วันนี้เราพูดกันในเรื่องที่มันจะเกิดกิเลศเพราะขาดสติ และมันจะไม่เกิดกิเลศเพราะมีสติกันอย่างไรต่อไป
ในสิ่งที่ควรรู้จักอย่างยิ่ง นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “ตาหูจมูกลิ้นกายใจ” แต่ว่าพวกเด็กๆ เขาจะไม่สนใจเรื่อง ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องฝึก ที่จะต้องควบคุม พวกเด็กๆ ดีแต่จะใช้ตาหูจมูกลิ้นกายใจให้เป็นเรื่องหรือเป็นเครื่องสำหรับก่อกิเลศ เขาพอใจในความสุขสนุกสนาน เอร็ดอร่อยทางตาบ้าง ทางหูบ้าง จมูก ลิ้น ผิวกาย ทางจิตใจเองบ้าง มันรู้จักสำหรับจะล้ม จะให้เกิดกิเลศ แต่ไม่รู้จักสำหรับที่จะควบคุมมันให้อยู่ในสภาพที่ถูกต้อง ทว่ากันโดยอุปมาแล้วก็ต้องพูดว่า ก-ข-กา ของพระธรรม ให้มีตาหูจมูกลิ้นกายใจนั่นเอง ถ้าเรียนภาษาไทย ต้องเรียน ก-ข-กา เรียนภาษาอังกฤษ ก็ A-B-C-D เพื่อให้รู้ว่ามันเป็นอันแรกที่สุดที่เราจะต้องเรียนกัน จะหัดเขียนให้เห็นว่า ตาหูจมูกลิ้นกายใจเป็นเรื่องสำคัญเช่นนี้ และเป็นเรื่องแรกสุดที่จะต้องศึกษากันให้เพียงพอ อะไรจะเกิดมันเกิดที่นั่น ถ้าเราไม่มีตาหูจมูกลิ้นกายใจ ลองคิดดูเถิดมันจะไม่มีอะไรเลยในโลกนี้ ถ้าเราไม่มีตาหูจมูกลิ้นกายใจ มันก็เหมือนก้อนหินก้อนหนึ่ง มันไม่รู้สึกอะไรได้ แต่เพราะมันเป็นสิ่งมีชีวิต มีตาหูจมูกลิ้นกายใจสำหรับติดต่อสิ่งข้างนอก มันคือ รูปเข้ามาทางตา เสียงเข้ามาทางหู กลิ่นเข้ามาทางจมูก รสเข้ามาทางลิ้น สัมผัสเข้ามาทางผิวกาย ความคิดเข้ามาทางใจ มันจึงมีเรื่องต่างๆ มากมาย ที่จะนับได้อย่างนี้เรามี เราเห็น เรารู้ เราสัมผัสในโลกนี้ทั้งโลก เพียงแต่ไม่มีตาอย่างเดียว คิดดูจะเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเราไม่มีตาอย่างเดียวเท่านั้น โลกนี้มันจะลดความหมายลงไปอีกเท่าไร จะกี่มากน้อย มันจะเหลือไม่ถึงครึ่งกระมัง ถ้าเราไม่มีตาอย่างเดียวนะ หรือถ้าเราไม่มีหู ไม่มีจมูก ก็ลดลงไปอีกมาก แต่ก็เข้าใจว่ายังไม่มากเหมือนทางตา ถ้าเราไม่มีตา โลกนี้จะมืด ลดสิ่งที่มันเกี่ยวข้องกับเราลงไป และถ้าไม่มีใจแล้วยิ่งแล้วใหญ่ ถ้าไม่มีใจ แต่ว่ามีตาหูจมูกลิ้นกาย มันก็ไม่มีความหมายเหมือนกัน มันไม่ได้รับอะไรเข้ามาทางตา ทางใจ มันอยู่ข้างใน สะพานของมันคือตาหูจมูกลิ้นกาย มันจึงทำงานร่วมกัน ที่เป็นสื่อออกมาข้างนอกคือตาหูจมูกลิ้นกาย ในนี่สำหรับอารมณ์ครั้งสุดท้าย ที่อยู่ข้างใน นี่เพราะเรามีตาหูจมูกลิ้นกายใจ สิ่งต่างๆ มันจึงมี เรียกว่า ทั้งโลกมันมี ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เลยว่า โลกมันอยู่ที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ เชื่อว่าพวกเธอไม่เคยได้ยินได้ฟัง เพราะเขาไม่เอามาสอนกัน ในความจริงลึกเกินไป หรือว่ามันฟังยาก หรือว่าผู้ที่จะมาสอนก็ไม่ชอบ มันก็ไม่เอามาสอน ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อะไรๆ ก็อยู่ที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ โลกมันจึงมี แล้วที่จะเป็นความทุกข์ ตกจมลงไปในความทุกข์ ตกตายเหมือนมหาสมุทร มหาสมุทรตกไปแล้วตาย มันกว้าง มันไกล มันลึก เหลือจะช่วยกันได้ ตกลงไปแล้วตายนี่ ฉะนั้น ถ้าตัดตาหูจมูกลิ้นกายใจ ตาหูจมูกลิ้นกายใจเป็นสมุทร ที่จมลงไปแล้วมันก็ถึงความทุกข์ ถึงที่สุด รับทุกข์จนตายเจียนตาย เพราะมันตกสมุทร ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ตกลงไปที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ มันก็เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง จากกิเลศต่างๆ นานา ทำผิดมันร้อนเป็นไฟ ทำถูกมันก็ยั่วยวนให้หลงใหล มันก็ตกเหมือนกัน สิ่งเป็นที่รัก อารมณ์เป็นที่รัก ก็เป็นมหาสมุทรให้คนตกจมลงไปติดอยู่ที่นั่น เป็นสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ไปหลงโกรธ หลงเกลียดมัน ก็เป็นทุกข์ ตกจมลงที่นั่นเหมือนกัน จะแปลกกันบ้างก็ว่า อันหนึ่งเป็นสมุทรที่เผาผลาญเป็นไฟ สมุทรอันหนึ่งมันสนุกสนาน มันช่วยให้หลงใหล แล้วก็ไม่อยากจะขึ้นมา ที่พูดน่าสนใจ ที่พระองค์ตรัสไว้น่าสนใจต่อไปอีกก็คือว่า สวรรค์ นรกหรือสวรรค์ ก็อยู่ที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ พอเราทำผิด ทำผิดที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ นรกจะเกิดขึ้นที่นั่น ทำผิดที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจเดือดร้อนเป็นไฟหรือทุกอย่างทุกลักษณะ ทุกอย่างที่เขาพูดไว้ สำหรับนรก นรกจะเป็นอะไรบ้าง นรกร้อนก็ร้อน นรกทิ่มแทงด้วยน้ำก็มี นรกอะไรกัดกินก็มี มันมีสารพัดที่เป็นการทนทรมาณ เมื่อทำผิดทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ การทรมาณจะเกิดขึ้นจากใจ เรียกว่านรกมันอยู่ที่นั่น ถ้ามันเป็นสวรรค์ มันก็ทำถูกต้อง มันเลยรับความพอใจ อยู่ที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ สวรรค์ก็อยู่ที่นั่น ถ้าพ้นจากนั้นก็เป็นนิพพาน มันต้องขึ้นๆ ไปให้พ้นจากเรื่องยุ่งๆ ของตาหูจมูกลิ้นกายใจ มันก็เป็นเรื่องนิพพาน แต่มันก็ยังเกี่ยวกับเรื่องทางตาหูจมูกลิ้นกายใจอยู่นั่นเอง เพราะเรื่องตาหูจมูกลิ้นกายใจมันสอนให้เรื่องที่อยู่ที่นี่มันบ้าบอทั้งนั้น นรกหรือสวรรค์เป็นเรื่องบ้าบอทั้งนั้น ต้องขึ้นไปให้พ้น ไปสู่นิพพาน มีความฉลาดที่เกิดขึ้นทางตาหูจมูกลิ้นกายใจนั้น มันจะผลักไสให้คนไปให้พ้นจากความยุ่ง ยึดถืออยู่กับเรื่องตาหูจมูกลิ้นกายใจ ถ้าเธอฟังถูก มันก็จะกลายเป็นเรื่องของคนทุกคน รวมทั้งเธอทั้งหลายหรือใครก็ตาม มันเกี่ยวข้องกันกับสิ่งนี้ สำหรับทุกคนที่มีเรื่อง รู้สึกนึกคิดได้ในใจ รู้สึกอารมณ์ได้ มีตาหูจมูกลิ้นกายสำหรับรับอารมณ์ทุกคนเป็นอย่างนี้ นี้จงศึกษาให้รู้เรื่องของการเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ และ การไม่เกิดขึ้นแห่งความทุกข์ การเกิดขึ้นแห่งความทุกข์คือการทำผิดเกี่ยวกับตาหูจมูกลิ้นกายใจ อย่างใดอย่างหนึ่งนะ ไม่ได้เกิดขึ้นทีเดียวทั้ง ๖ อย่าง แต่เวลาพูดก็พูดรวบไปทีเดียวทั้ง ๖ อย่าง เมื่อทำผิดตาหูจมูกลิ้นกายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มีความทุกข์แล้ว เมื่อทำถูกต้องเกี่ยวกับตาหูจมูกลิ้นกายใจ แม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็ไม่มีทุกข์หรอก แล้วแต่ว่าอะไรเข้ามา ในวันหนึ่งๆ ในชีวิตของเรา มันมีเรื่องทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง เป็นต้น แต่มันก็ไม่ได้มาพร้อมกันทุกเรื่องได้หรอก เพราะใจมันรับอารมณ์ทีละอย่าง ทีละคราว แม้ว่ามันจะเก่งกาจสามารถอย่างไร มันก็ยังรับอารมณ์เพียงคราวละอย่าง ทางตาก็ตา ทางหูก็หู มันต้องดับไปทางหนึ่งเสียก่อน แล้วมันจึงไปเกิดอีกทางใหม่ได้ เรียกว่ามันในคราวละเรื่องๆ เรื่องละคราว คราวละเรื่อง ทำอย่างไรที่เราจะไม่ทำผิดทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ขอย้ำอีกทีว่า ไม่ใช่เพราะความรู้อย่างเดียว แต่มันเพราะสติ ถึงมีความรู้แต่ถ้าขาดสติ ก็ต้องทำผิดทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ความรู้มันเป็นอย่างนี้ จะต้องรู้เรื่อง “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” มากมายเท่าไร แต่ถ้าสติมันไม่มา มันก็ไม่เอามารู้สึกเมื่อสัมผัสอารมณ์ มันก็หลงรักอารมณ์ มันเกิดกิเลศแล้ว เพราะฉะนั้นเราพยายามที่จะมีสติ ฝึกฝนสติเต็มที่ อย่างที่พูดกันเมื่อวานนี้ อย่าลืมเสีย เพิ่มความรู้เรื่องปัญญาก็เพิ่มให้มากขึ้นเรื่อยๆ ให้มากขึ้น แต่เรื่องที่จำเป็นก่อนนั้นมันคือสติ เราก็เห็นอยู่ เราทำผิด ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าผิดๆ รู้ว่าอันนี้ผิดแต่ก็ยังทำ เพราะมันขาดสติ คนจะมีความรู้มากและทำความชั่วได้นั้นมันมหาศาล ทั้งที่มีความรู้มาก มันทำผิดได้มาก เพราะมันมีความรู้มาก มันไม่มีสติมาควบคุม มาเหนี่ยวรั้ง หรือมาตักเตือน เราจะสนใจสิ่งที่เรียกว่า “สติ” กันให้มากต่อไป จนกระทั่งว่าทุกอิริยาบถ แต่ว่าพูดอย่างนั้นมันยังไม่ใช่ ทุกคราวที่มันเกิดเรื่อง ทุกคราวที่มันเกิดเรื่อง มันต้องมีสติให้ทัน ได้แก่เรื่องที่มันเร็วมาก มันไม่ให้โอกาสช้าๆ พอเห็นสิ่งที่น่ารักมันก็หลงรัก พอเห็นสิ่งที่น่าเกลียดมันก็เกลียดแล้ว เห็นสิ่งที่น่ากลัวมามันก็กลัวแล้ว นี่มันไม่มีสติ ในการปรุงแต่งของจิตมันก็เร็วมาก ถ้าสติไม่เร็วทันกัน มันก็ควบคุมไว้ไม่ได้ ยังต้องฝึกให้เร็ว ฝึกให้ติดต่อไม่ให้เป็นช่อง ไม่ให้ขาดตอน ให้ติดต่อ ไม่ให้ขาดตอน สติเป็น สัสสัปปะ เรียกว่า “สัสสัปปะ” ติดต่อไม่ขาดตอน ไม่มีรูช่องโหว่ หรือขาดตอน ทีนี้จะพูดถึงเรื่องตาหูจมูกลิ้นกายใจ ที่สำคัญที่สุดต่อไป ถ้าเธอฟังเข้าใจ ก็จะรู้จักหัวใจของพระพุทธศาสนา เรากล้าท้าทาย ถ้าเธอไม่รู้เรื่องนี้ เธอจะไม่รู้หัวใจพระพุทธศาสนา ให้บวชจนตาย ให้เรียนจนตาย ถ้าไม่ได้เรื่องนี้ก็ไม่เข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา ฟังให้ดี เรื่องตาหูจมูกลิ้นกายใจมันมีความลึกลับอย่างอื่น ลึกไปกว่าที่คนธรรมดาจะรู้ได้ เพราะว่าคนธรรมดามันไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่มีสติ มันรู้ไม่ได้ ไอ้เรื่องที่ต้องรู้คือว่า ตาหูจมูกลิ้นกายใจ มันมีคู่ของมันข้างนอก รูป-รส-กลิ่น-เสียง-โผฏฐัพพะ-ธรรมารมณ์ จับคู่กันตามคู่ ยกตัวอย่างเรื่องตาก่อน ตาคู่กับรูป ตามีระบบประสาทที่อยู่ในตา สำหรับจะเนื่องกับรูปรับรูป และพอตากับรูปมันถึงกัน มันเนื่องกัน เค้าเรียกว่าอาศัยกันเข้า ก็เกิด “จักษุวิญญาณ” คือการเห็นทางตา ทีนี้เราอย่าเข้าใจผิด อย่าโง่ไปว่า ไอ้จักษุวิญญาณมันเปิดอยู่ตลอดเวลา บางคนเขาจะสอนกันว่า วิญญาณมันมีตลอดเวลา เดี๋ยวมาทางตา เดี๋ยวมาทางหู แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตรัสอย่างนั้น ท่านตรัสว่า ตากับรูป “ปฏิจะ” ถึงกันเข้า “อุปปัสติ” จักษุวิญญาณ ก็เกิดการเห็นทางตา ที่เธอไม่มีปัญญาพอที่จะศึกษาให้รู้ถึงความเร็วของมัน พอตาถึงกับรูป เกิดจากการเห็นทางตาอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็บอกให้แล้วว่า พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างนี้ ดังนั้น เราก็ไปสังเกตดีอย่างยิ่งอย่างเร็วต่อไป แต่ว่า
“จักษุวิญญาณ” เพิ่งเกิด เมื่อตาเนื่องกับรูป |
“โสตวิญญาณ” ทางหูก็เกิด เมื่อหูเนื่องกับเสียง |
“ฆาณวิญญาณ” เพิ่งเกิด เมื่อจมูกเนื่องกับกลิ่น |
“ชิวหาวิญญาณ” เพิ่งเกิด เมื่อลิ้นเนื่องกับรส |
“กายวิญญาณ” เพิ่งเกิด เมื่อมีอะไรกระทบกาย ผิวกาย |
“มโนวิญญาณ” เพิ่งเกิด เมื่อมีอะไรไปปรุงให้เกิดอารมณ์สำหรับมโน |
นี่เราเรียกว่ามันเพิ่งเกิดทั้ง ๖วิญญาณนั่นแล แต่เราไม่รู้เรื่องนี้ เราก็ไม่รู้ เราเห็นรูปละก็ เราได้ยินเสียงก็แล้วกัน เราก็ไม่ต้องรู้ว่ามันมีกันอย่างไร เพราะฉะนั้น จึงขอให้ศึกษาให้เข้าใจมันจะควบคุมได้ ก็เล่าต่อไปว่า เมื่อตากับรูปเนื่องกันแล้วเกิด “จักษุวิญญาณ” รู้สึกว่ารูปนั้นอยู่ ๓ ประการนี้อยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน ตากับรูปจะเกิดจักษุวิญญาณ ๓ ประการ ถึงกัน อยู่ในหน้าที่การงาน เรียกว่า “ผัสสะ” ไม่ใช่แต่เพียงตากับรูปนะ มันต้องมี จักษุวิญญาณด้วย ครบ ๓ อย่างทำงานด้วยกัน อยู่ด้วยกันจึงจะเกิดเรียกว่า “ผัสสะ” เขามักจะพูดกันสั้นๆ แล้วก็ไม่ถูก ตากับรูปกระทบกันแล้วเรียกว่าผัสสะ มันต้องมีจักษุวิญญาณก่อน แล้วจักษุวิญญาณนั้นรู้สึกอยู่ต่อตากับรูปนั้นร่วมกันด้วย ถ้าตากับรูปอย่างเดียวไม่มีจักษุวิญญาณ อย่างนี้มันรู้อะไรไม่ได้ รู้อะไรไม่ได้มาก เพียงแต่ความรู้สึก ไม่รู้ว่าเป็นอะไร สีเขียว สีแดง สีขาว มันรู้ไม่ได้ เดี๋ยวนี้มันต้องมีชุดละ ๓
ทางตา : ตากับรูป และ จักษุวิญญาณ |
ทางหู : หูกับเสียง และโสตวิญญาณ |
ทางจมูก : จมูกกับกลิ่น และ ฆาณวิญญาณ |
ทางลิ้น : ลิ้นกับรส และ ชิวหาวิญญาณ |
ทางกาย : กายกับโผฏฐัพพะ กระทบกาย และ กายวิญญาณ |
ทางจิต : ใจ คือ มโน กับ ธรรมารมณ์ และมีมโนวิญญาณ |
๓-๓-๓-๓ ทั้งหมด ๖ ชุด ทำงานร่วมกันเรียกว่า “ผัสสะ” พวกเราธรรมดาไม่สนใจว่ามีวิญญาณเมื่อไร มีผัสสะเมื่อไร ไม่รู้ และก็ไม่อยากจะรู้ ไม่จำเป็นต้องรู้ ไปรู้เอาว่าสวยหรือไม่สวย หอมหรือเหม็น อร่อยหรือไม่อร่อย ไปทางโน้นเลย ก็ทางนี้ไม่ต้องรู้ นั่นคือควบคุมมันไม่ได้ เพราะเราไม่รู้พฤติที่มันปรุงแต่งกันไปตามลำดับ ก็ไม่รู้ ถ้าเรารู้ เราก็จะควบคุมได้ ทีนี้เกิดผัสสะแล้วนะ มี ๓ อย่าง “สังฆติ ???” ภาษาบาลีเรียกว่า “สังฆติ ???” เข้าถึงกัน เรียกว่า “ผัสสะ” พอมีผัสสะแล้ว มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกต่อไปเรียกว่า “เวทนา” ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนานี่บางอย่างรู้สึกเป็นสุข บางอย่างเป็นทุกข์ บางอย่างไม่สุขไม่ทุกข์ มีอยู่ ๓ อย่าง ถ้าเราโง่ มันก็หลงรัก เวทนาที่เป็นสุข หลงเกลียดเวทนาที่เป็นทุกข์ วิตกกังวลลังเลสงสัยอยู่กับเวทนาที่ยังไม่เป็นทุกข์หรือสุข ฉะนั้นเราจึงมีอารมณ์ขุ่นมัว หลงรักใน “สุขเวทนา” รู้สึกพอใจในสุขเวทนา รู้สักไม่พอใจใน “ทุกขเวทนา” รู้สึกสงสัยวิตกกังวลลังเลใน “อทุกขมสุขเวทนา” พอมีเวทนาอย่างนี้แล้วก็เกิด “ตัณหา” คือความอยาก ความต้องการตามอารมณ์ของเวทนา เวลาเป็น “สุขเวทนา” ความอยากจะเกิดขึ้นมาสำหรับจะได้หรือจะเอา ตัณหามันเกิดขึ้นมาจะได้หรือจะเอา ฉะนั้นอารมณ์ไม่เป็นสุขเป็นทุกข์ ตัณหาหรือความอยาก มันก็อยากทำลายเสีย อยากฆ่าเสีย หรืออยากจะหนีไปให้พ้นก็ตามใจ ก็ต้องอยากอย่างใดอย่างหนึ่ง มันอยากไม่เอา ถ้าเป็น “สุขเวทนา” มันก็อยากได้อยาก อยากมี อยากยึดครอง ถ้าเป็น “ทุกขเวทนา” มันก็อยากหนี อยากพ้น อยากตี อยากทำลาย อยากไปในทางร้าย ถ้า “ไม่ทุกข์ไม่สุขเวทนา (อทุกขมสุขเวทนา)” มันก็อยากจะไม่รู้ว่าเป็นอะไร มันเกิด “อวิชชา” มากขึ้นไปอีกใน อทุกขมสุขเวทนา
เมื่อมีเวทนาแล้วจะเกิด “ตัณหา” คือความอยากๆๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยความโง่ พอมีความอยาก ไอ้ความอยากตามธรรมชาติ ตามความรู้สึก มันจะปรุงความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาเองเรียก “ความยึดมั่นถือมั่น” ถ้ามันอยากในสิ่งที่น่ารัก มันก็ยึดมั่นถือมั่นในฐานะที่เป็นของรัก ถ้าอยากฆ่า อยากทำลายสิ่งที่ไม่น่ารัก มันก็ยึดมั่นในฐานะของเกลียด ของโกรธ พยาบาท ขัดเคืองไปตามเรื่อง ถ้าว่าในทางที่ไม่สุข-ไม่ทุกข์ มันก็โง่ๆ ต่อไป มันจะยึดมั่นถือมั่นสำหรับไม่รู้ว่าอะไร ก็จะโง่ต่อไปคือจะไม่ปล่อยวาง จะโง่สำหรับจะไม่ปล่อยวางยิ่งๆ ขึ้นไปเหมือนกัน นี่มันเกิดรู้สึกยึดมั่นถือมั่น ว่าอันนั้นเป็นของเรา หรือบางทีก็เป็นตัวเรา แล้วแต่ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น บางทีมันก็ยึดเอาตา-จักษุวิญญาณ ว่าเป็นตัวเรา ได้เห็นเป็นรูปของเรา แล้วเกิดเวทนาเป็นของเรา เกิดตัณหาเป็นของเรา หรือบางทีก็เป็นตัวเรา ในความคิดประเภทตัวเรา หรือของเรา นานาชนิด มันก็เกิดขึ้นตอนนี้ ตอนที่เรียกว่า “ยึดมั่นถือมั่น” พอมีตัวเรา มีความรู้สึกเป็นตัวเรา มีความรู้สึกว่าตัวเราจริงๆ มันก็ไม่มีตัวตนหรอก แต่มันรู้สึกได้ว่ามีตัวตน มันก็มีตัวตน มันก็ยึดถือตัวตน มันก็แบกของหนัก ยึดใน “รูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ” กันได้ แม้แต่ยึดใน “ตาหูจมูกลิ้นกายใจ” กันได้ ยึดใน “รูป-รส-กลิ่น-เสียง-โผฏฐัพพะ” กันได้ ไปยึดถืออะไรเข้าแล้ว มันก็จะเอานั้นเป็นตัวตน เป็นของตน แล้วมันก็หนัก คราวนี้มันก็หนึก ครั้นเมื่อสิ่งนั้นมันเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของมัน มันก็ยิ่งทุกข์หนักเข้าไปอีก จะถึงกับร้องห่มร้องไห้ฆ่าตัวตาย เพราะเหตุนี้ มันก็ยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง จึงได้มีความทุกข์ ในบทสวดมนต์ตอนเช้าของเรา เราสวดอยู่ทุกๆ วัน สำคัญมาก ไม่ค่อยจำกันไว้ให้ดี “สังกิจเจนะ ปัจอุปาทานะขันธา ทุกขา ???” กล่าวโดยย่อแล้ว “อุปาทานขันธ์ เป็นทุกข์ ???” มันคือ “ขันธ์” ที่มีอุปาทานเข้าไปยึดมั่นอยู่ นั่นแลเป็นตัวของหนัก หรือเป็นตัวทุกข์ บางทีก็กล่าวว่า “(นาทีที่ 36.50)” ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นของหนัก ให้เกิดความรู้สึกเป็นเวทนา-ยึดถือเวทนา เกิดความรู้สึกเป็นสัญญา-ยึดถือสัญญา เกิดความรู้สึกเป็นสังขาร-ยึดถือสังขาร เกิดวิญญาณ-ยึดวิญญาณ เป็นรูปกายนี้ เมื่อทำหน้าที่ อย่างใด อย่างหนึ่งก็ยึดถือว่า “เรา” ร่างกายเรายึดถือเป็นเรา อะไรถูกร่างกายของเรา ก็เรียกว่ามาถูกเรา โง่ขนาดหนัก ถ้าร่างกายเป็นเรา โง่เหมือนเด็กๆ ถ้าเด็กๆ เดินเซไปชนก้อนหิน เขาเจ็บ เขาเห็นก้อนหินเป็นตัวตน เป็นศัตรูของเขา เขาก็เตะต่อยชกก้อนหิน หรือว่าถ้ามีใครมาช่วยเตะต่อยตีก้อนหิน เขาจะชอบใจ ถือว่าก้อนหินเป็นตัวเรา ร่างกายนี้เป็นตัวเรา ไปชนเข้าก้อนหิน ความรู้สึกว่าตัวเราเป็นความโง่ ความหลงที่สุด ไม่มีความโง่หลงอะไรจะยิ่งไปกว่านี้ มันก็เลยได้มีเรื่องเป็นทุกข์กันมากมาย นี่หมายความว่าเราไม่มีสติ ไม่มีความรู้ ไม่มีผัสสะ เราไม่มีความรู้ หรือถ้าเรามีความรู้ เคยได้ยินได้ฟังบ้างว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” แต่สติไม่มี มันก็ไม่อาความรู้นั้นมาใช้ เมื่อเห็นรูปจะรู้ว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเมื่อได้รับเสียงก็จะได้เอาความรู้มา รู้ว่าเสียงเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กลิ่นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รสเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้ รู้ว่ามีความรู้แต่ไม่มีสติ เพราะว่าเราไม่ได้ฝึกสติและก็ไม่ได้อบรมปัญญา มันขาดทั้ง ๒ อย่าง ไม่ได้อบรมปัญญาให้มีไว้ และก็ไม่ได้ฝึกสติให้เร็ว ให้มาก ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างนี้ ทำผิดเมื่อผัสสะ ถ้าขาดสติก็เป็นทุกข์ ทำไม่ผิดเมื่อผัสสะ มีสติปัญญาเมื่อผัสสะ ก็ไม่เป็นทุกข์ หัวใจของพระพุทธศาสนามีเท่านี้ ฟังแล้วก็ไม่น่าเชื่อ หัวใจของพระพุทธศาสนามีว่า ทำผิด “ทำโง่ ทำผิด เมื่อมีผัสสะก็ต้องเป็นทุกข์ ถ้าทำถูก ทำฉลาด ในเมื่อมีผัสสะก็ไม่เป็นทุกข์” มันมีเท่านี้ ไม่ใช่พระเจ้าผีสางเทวดาที่ไหนมาทำให้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ไม่ใช่โชคลาง ไม่ใช่เคราะห์กรรม มาทำให้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มันอยู่ที่เราทำผิดเมื่อผัสสะ เราจึงเป็นทุกข์ ถ้าเราทำถูกต้องตามหลักธรรมะ เมื่อมีผัสสะเราก็จะไม่เป็นทุกข์ หรือจะได้เป็นสุข ไม่ใช่ผีสางเทวดาโชคลางอะไรมาช่วยทำให้เป็นสุข และพระพุทธเจ้าท่านยังเสริมไม่ใช่เพราะกรรมเก่าด้วย ไม่ใช่ผลของกรรมเก่าที่เป็นทุกข์หรือเป็นสุข ไม่ใช่เป็นผลเพราะกรรมเก่า แต่มันเป็นเพราะเราทำผิดหรือทำถูกเมื่อมีผัสสะนั่นเอง ถ้าทายว่า แม้จะมีผลของกรรมเก่าตามมา ใจเราเป็นทุกข์ แต่ถ้าเราทำถูกต่อผัสสะแล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์ได้ กรรมเก่ามันยกเลิกไปเอง หรือว่ากรรมเก่าจะมาให้เป็นสุข แต่ถ้าเราทำผิดแล้วในขณะผัสสะ มันก็ไม่เป็นสุขได้ ฉะนั้นผลกรรมเก่าไท่มาหักล้างทำผิดทำถูกในขณะแห่งผัสสะได้ เธอเอาอันนี้ไว้เป็นเครื่องลางต่อสู้กับความทุกข์ แล้วก็เรียกมาซึ่งความไม่ทุกข์คือความสงบสุข คือทำให้ถูกเมื่อผัสสะ อย่าทำผิดๆ เมื่อมีผัสสะ ให้เทวดาท่านมาแกล้งเราให้เป็นทุกข์ เราก็ไม่ทุกข์หรอก ถ้าเราทำถูกต้องตามผัสสะ เมื่อไรตรงเข้ามา เทวดาร้ายๆ มันจะส่งอะไรเข้ามา ตาหูจมูกลิ้นกายใจ เราต้อนรับด้วยสติปัญญาเพียงพอในขณะผัสสะ มันก็เป็นทุกข์ไม่ได้ ผีสางเทวดาเหล่านั้นมันก็เก้อไปเอง นี่คือหลักของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ไสยศาสตร์ แต่มันคือวิทยาศาสตร์ ว่ามันมีตาหูจมูกลิ้นกายใจ มีรูปรสกลิ่นเสียงโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันมีกฏเกณฑ์ของมันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าทำผิดกฏเกณฑ์จะต้องเป็นทุกข์ ทำถูกกฏเกณฑ์จะได้เป็นสุข ถ้าเราจะมีพระเจ้า เราก็มีกฏเกณฑ์อันนี้ ทำผิดต่อผัสสะ หรือ ทำถูกต่อผัสสะ นี่พระเจ้าจะช่วยแก้ปัญหาของเราได้หมด พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ข้อนี้ ตรัสรู้เรื่องที่ว่านี้ เรียกว่า “อินทัปปัจจยตา” เกี่ยวกับตาหูจมูกลิ้นกายใจ บทอินทัปปัจจยตา เรียกชื่อจำยาก ก็คงจะจำได้ไม่กี่คน “กฏอินทัปปัจจยตา” กฏแห่ง “ตาหูจมูกลิ้นกายใจ” ถ้าทำผิดเมื่อผัสสะจะเป็นทุกข์ ถ้าทำถูกเมื่อผัสสะจะไม่เป็นทุกข์ นี่คือกฏอินทัปปัจจยตา พระพุทธเจ้านับถือกฏนี้ เคารพกฏนี้เป็นที่สูงสุด ถ้าพระพุทธศาสนาเราจะมีพระเจ้าสูงสุด มีกฏนี้เป็นพระเจ้าสูงสุด เราต้องรู้ ถ้าเราไม่รู้ เราก็จะทำผิดแล้วก็จะเป็นทุกข์ เราเรียนรู้เรื่องตาหูจมูกลิ้นกายใจก็พอ มันจะเป็นทุกข์ขึ้นมาอย่างไร ก็ปฏิบัติให้ถูกต้อง มันขึ้นอยู่กับมีสติปัญญาพอหรือไม่ ฉะนั้นใช้กฏนี้ให้เป็นประโยชน์ สนองกฏนี้ให้โปรดปรานเรา เราต้องอบรมสติปัญญาให้เพียงพอ ปัญญาสรุปความสั้นๆ ว่า ทุกสิ่งเป็นเช่นนั้นนั่นเอง ทุกๆ สิ่งเป็เช่นนั้นเองตามกฏเกณฑ์ของมัน ตามเหตุปัจจัยของมัน อย่าไปเอามาเป็นตัวเราของเรา มันไม่ยอมหรอก จะให้มันมาตามใจเรานั้นมันไม่ได้ เราอย่าโง่ ฉะนั้นให้มันเป็น “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” ให้มันเป็น “สุญญตา สัตกาตา ???” ไปตามแบบของมัน คือว่าไม่อาจจะยึดถือให้เป็นตัวเราหรือของเรา พูดประโยคเต็มๆ ท่านก็พูดว่า “ธรรมทั้งปวงคือสิ่งทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นว่าตัวเรา ว่าของเรา” เพราะมันเป็นของมันเช่นนั้นเอง “ตถา” มันเป็นเช่นนั้นเอง จะมาบังคับว่าอย่าเป็นอย่างนั้น จงเป็นอย่างนี้มันก็ไม่ได้ จะมาบังคับว่า อย่าเกิด-อย่าแก่-อย่าเจ็บ-อย่าตาย มันก็ไม่ได้ ดังนั้นก็ต้องเป็นไปตามนั้น เข้าใจว่าเราทำอย่างนี้ อย่าเป็นทุกข์นะ แต่ถ้าเราทำผิดกฏมันก็ต้องเป็นทุกข์ ก็เพราะมันเป็นอย่างนั้นเอง ร่างกายจิตใจทุกสิ่งทุกอย่างที่เนื่องกันอยู่มีความเป็นอย่างนั้นเอง ถ้ารู้อย่างนี้ เรียกว่า “ มีปัญญา” รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง จะหมายมั่นให้เป็นตัวเรา เป็นของเราไม่ได้ มันจะมีความเป็นของมันเอง เป็นเช่นนั้นเอง เมื่ออยากร้องไห้ เมื่ออะไรไม่เป็นไปตามความโง่ของเรา กิเลศ ความโง่หรือกิเลศ มันต้องการในสิ่งที่ไม่ควรต้องการ มากไปจนทำให้เป็นตัวเป็นตน มันเป็นไปไม่ได้ แล้วก็มานั่นร้องไห้อยู่ หนีไปกระโดดน้ำตายเลย กินยาตายเลย เรียนไม่พอให้สอบไล่ได้ มันก็สอบไล่ได้ที่ไหน มันก็ต้องสอบไล่ตก นั่นคือความเป็นอย่างนั้นเอง ถ้ารู้จักกฏนี้แล้วเรียนให้พอ แล้วมันก็ได้ มันคือความเป็นอย่างนั้นเอง ถ้าเรียนพอ ถูกต้องดี มันก็สอบไล่ได้ นี่คือความเป็นอย่างนั้นเอง เรียนไม่ดี ไม่พอ สอบไล่ตก มันก็คือความเป็นอย่างนั้นเอง ทุกอย่างมีความเป็นอย่างนั้นเองตามหน้าที่ของมัน แดดมันต้องร้อน ฝนมันต้องเย็น มันก็เป็นอย่างนั้นเอง มันก็เรื่องของมันอย่างนั้นเอง เราจะไปฝืนมันให้มันเป็นอย่างที่เราต้องการ หรือกิเลศที่เราต้องการ เป็นไปไม่ได้ นี่เราทำผิดเสียแล้ว เราต้องทำให้มันถูก เพราะเรามีปัญญาพอ มันเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรา มาเนื่องกับเรา เรามีสติพอต้อนรับมันก็ประพฤติกับมันให้ถูกต้อง ก็เป็นสุข นี่คือหัวใจของพระพุทธศาสนา เรื่องตาหูจมูกลิ้นกายใจ อย่าให้ทำผิดเมื่อมีผัสสะ ต้องทำให้ถูกทุกกรณีเมื่อมีผัสสะในเรื่องมันจะเกิดก็ต่อเมื่อมันมีผัสสะ ถ้าไม่มีผัสสะมันก็ไม่มีเรื่องอะไร ก็ตาหูจมูกลิ้นกายใจมันไม่ได้ทำงาน เมื่อตาหูจมูกลิ้นกายใจมันทำงานเมื่อไร ก็มีผัสสะเมื่อนั้น มีผัสสะแล้วทำผิดก็เป็นทุกข์ ไม่ผิดก็ไม่เป็นทุกข์ ความละเอียดมันมีอยู่อย่างนี้ แล้วมันก็ซ้อนๆๆ กันอยู่หลายชั้น แล้วมันก็แวบเดียวเหมือนกับสายฟ้าแลบ ตั้งแต่ตาเห็นรูปมันก็ไปรักไปโกรธเกลียดกลัวเสียแล้ว ก่อนที่จะมีความรักโกรธเกลียดกลัว มันก็มีการปรุงแต่งหลายอย่าง (นาทีที่ 48.04 ???) ปรุงแต่งเป็นวิญญาณ ปรุงแต่งเป็นผัสสะ ปรุงแต่งเป็นเวทนา ปรุงแต่งเป็นตัณหา เป็นอุปาทาน มันจึงจะถึงเรื่องที่ว่าสุขหรือทุกข์ ถ้าถูกมันก็ไม่ทุกข์ ถ้าผิดมันก็ต้องเป็นทุกข์ แต่ถ้าเราไปหมายมั่นยึดถือจะให้เป็นตัวเรา เป็นของเรา นั่นผิด ผิดทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่จะถูกต้องได้ ในความผิดทั้งหลายที่มันมีอยู่ตลอดเวลาของมนุษย์คือมันจะเอามาเป็นตัวเรา-ของเรา เพื่อไปตามความต้องการของเราเรื่อยไป ของรักก็ต้องการอย่างหนึ่ง ของไม่รักก็ต้องการอย่างหนึ่ง แต่ต้องให้ตามความต้องการของเราเสมอ ทีนี้มันเป็นไปไม่ได้ ทั้งของรักและของไม่รัก มันโง่ มันจะเป็นไปตามความต้องการของเรา หรือของกิเลศ ของเรา หรือความโง่ของเรา มันก็เป็นไม่ได้ เราก็ต้องมีความทุกข์ ดังนั้นถ้าใครไม่อยากมีความทุกข์ก็อย่าทำอย่างนั้น รู้จักกลัว รู้จักละอายกันบ้างว่าจะทำผิดแล้วมีความทุกข์ ทุกคนมันโง่ คนมันมีมันสมองมากกว่าแมว คิดเป็นมากกว่าแมว มันโง่ได้มากกว่าแมว เพราะมันมีสมองมากกว่าแมว ครั้นเวลาเป็นทุกข์ก็เป็นทุกข์ได้มากกว่าแมว ในบางกรณีหรือโดยทั่วๆ ไป แมวไม่ได้เป็นทุกข์ คนเป็นทุกข์ตลอดเวลา เป็นต้องดิ้นรนขวนขวาย แมวไม่ต้องบวชชี ก็ไม่มีปัญหาที่ทำให้มีความทุกข์ ที่ต้องแก้ด้วยการบวชชี มันคิดไม่เป็น ระวังให้ดี ไอ้สติปัญญา ถ้ามันไม่ถูกเรื่อง มันก็จะมีความทุกข์ ให้มันมีแต่เรื่องของความถูกต้องที่จะไม่เป็นทุกข์ ถ้ามีสติปัญญาพอที่จะไม่ยึดถือ ไม่โง่ไปหลงหมายมั่นให้อะไรมาเป็นเรา-ของเรา เรียกว่า “ยึดถือ” ไม่ยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์ ปล่อยให้มันเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ เราต้องการอย่างไร เราทำให้ถูกตามกฏของธรรมชาติ เราจะได้ตามที่ควรจะได้ มากิน มาใช้ ไม่เป็นทุกข์ ถ้ามันโง่แล้ว มันจะเป็นทุกข์ไปหมด ทำงานก็เป็นทุกข์ หาเงินก็เป็นทุกข์ ได้เงินก็เป็นทุกข์ มีเงินก็เป็นทุกข์ ใช้เงินก็เป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์ไปหมด ถ้าทำผิด ทีนี้ต้องทำให้มันถูกต้อง ก็ไม่มีความทุกข์ คิดจะหาเงิน ก็ต้องคิดอย่างไม่มีความทุกข์ ทำงานหาเงินก็ต้องไม่มีความทุกข์ ได้เงินก็ต้องไม่บ้า ไม่เป็นทุกข์ เก็บเงินก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ใช้เงินก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็น “พุทธบริษัท” เป็นบุคคลที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า “ผู้รู้-ผู้ตื่น-ผู้เบิกบาน” ผู้รู้-ผู้ตื่น-ผู้เบิกบานคือผู้ไม่มีความทุกข์เลยนั่นเอง เดี๋ยวนี้เรามาศึกษาฝึกฝนถึงมาบวช เพื่อศึกษาฝึกฝนได้ดีพิเศษ ก็เพื่อให้รู้เรื่องนี้ รู้เรื่องที่จะไม่เป็นทุกข์ จะไม่เป็นทุกข์ทุกกรณี จะเล่าเรียนก็ดี จะบริหารร่างกายก็ดี จะเป็นอยู่ทางใดก็ดี เพื่อจะไม่เป็นทุกข์ เรียกว่าทำให้มันถูกต้องสำหรับที่จะไม่เป็นทุกข์ ถ้าทำผิด ทำไม่ถูกต้องแล้ว มันก็เป็นทุกข์แน่ ก็อย่าไปโทษใคร อย่าไปโกรธใคร ไม่ใช่ผีสางเทวดาที่ไหนมาทำให้ มันเป็นความโง่ของเรานั่นเองที่มันทำไม่ถูกต้อง ที่ควรจะทำ ศึกษาหลักธรรมะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องผัสสะ อายตนะ อย่าทำผิดเมื่อมีผัสสะ ทางอายตนะทั้ง ๖ พูดกันให้เข้าใจแจ่มแจ้งติดปากว่า “อายตนะทั้ง ๖” มี ตาหูจมูกลิ้นกายใจอยู่ข้างใน รูปรสกลิ่นเสียงโผฏฐัพพะธรรมรมณ์ ๖ อยู่ข้างนอก ถึงกันเข้ามาเมื่อไรเกิด จักษุวิญญาณ เกิดวิญญาณครบทั้ง ๖ ถ้าวิญญาณกับอายตนะทั้งในและนอกทำงานร่วมกัน เรียกว่า “ผัสสะ” มีผัสสะก็มี “เวทนา” มีเวทนาโง่ ตัณหาโง่ ไปเป็นทุกข์ ถ้ามีผัสสะแล้วมีปัญญา มีสติมาทันควบคุมผัสสะไว้อย่าให้โง่ มันก็เกิดความคิดที่ไม่โง่ แล้วก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ มันก็ไม่ออกมาเป็นเวทนาให้หลงรัก หลงยึดถือแล้ว มันก็ไม่มีตัณหาที่จะอยากด้วยความโง่ ก็ไม่เกิดอุปาทานมาจากความอยากนั้นๆ มันก็ไม่มีตัวกูของกูที่จะเป็นทุกข์ อยู่ด้วยจิตที่ไม่โง่ว่ามีตัวกูของกู จิตก็คือจิต จิตก็ให้เป็นจิต ถ้าไม่อยู่กับเรื่องของจิตอย่างนั้นจิตเป็นทุกข์อย่าทำ อย่างนี้จิตไม่เป็นทุกข์ เราก็ทำ มันไม่ใช่มีตัวตนอะไรที่ไหนที่จะบังคับได้ตามชอบใจของเรา มีแต่เราจะทำให้ถูกต้องตามกฏเกณฑ์ของจิต หรือของร่างกาย มีอยู่ ๒ เรื่อง ทำผิดทางจิตก็เป็นทุกข์ทางจิต ทำผิดทางร่างกายก็เป็นทุกข์ทางร่างกาย ศึกษาให้พอสำหรับจะไม่ทำผิดทั้งทางจิตและทางกาย ทำผิดทางจิตก็คือที่ว่าเมื่อกี้ “ผัสสะ” เมื่อมีผัสสะ อย่าโง่ มีความรู้มีสติเพียงพอ ความคิดมันก็ไม่โง่ ไม่ปรุงแต่งไปอย่างโง่ๆ ให้มีตัวตนแล้วเป็นทุกข์ มันไม่มีตัวตนเกิดขึ้น มันไม่มีความคิดโง่ๆ ว่ามีตัวตนเกิดขึ้น ดังนั้นมันจึงรู้อยู่อย่างถูกต้อง แล้วก็ทำไปๆ ในทางที่ถูกต้อง แล้วก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ แล้วก็ได้ผลตามที่ต้องการไม่เป็นทุกข์ นั่นแลเป็นจุดมุ่งหมาย ถ้าเป็นทุกข์ก็เหมือนกับสอบไล่ตก ไม่เป็นทุกข์ก็คือสอบไล่ได้อยู่ตลอดเวลา
เป็นอันว่าเราได้พูดกันครั้งหนึ่งติดต่อกันไปเรื่องสติ มีสติให้ดีที่สุดเมื่อมีผัสสะ ถ้าใครจำไม่ได้เพราะเพิ่งฟังเป็นครั้งแรก ผัสสะอะไรกัน ก็ไปถามเพื่อน ซ้อมความเข้าใจกับเพื่อนที่เขาเคยอ่าน เคยเรียน เคยฟังว่าผัสสะคืออะไรกัน เมื่ออายตนะข้างใน กับ อายตนะข้างนอก เกิดวิญญาณขึ้นมาทำงานร่วมกันอยู่เรียกว่าผัสสะ มีได้ ๖ ทาง ตาหูจมูกลิ้นกายใจ เรียกว่าผัสสะ คำนี้สำคัญมาก จะเกิดบุญ เกิดกรรม เกิดดี เกิดชั่ว เกิดผิด เกิดถูก เกิดความคิด ความฉลาด ความโง่ ก็เพราะผัสสะทั้งนั้น เมื่อผัสสะมันสัมผัสไปอย่างไร จิตมันก็คิดอย่างนั้น มันก็เชื่ออย่างนั้น ยึดถืออย่างนั้น เป็น “มิจฉาทิฏฐิ” ก็เพราะผัสสะ เป็น “สัมมาทิฏฐิ” ก็เพราะผัสสะ แล้วแต่ว่าเราจะทำถูกต้องหรือไม่ แก่สิ่งที่เรียกว่าผัสสะ ถ้าเข้าใจผิดเพราะผัสสะผิด มันหลอกมันหลอน เราเข้าใจถูกก็เพราะว่าผัสสะมันแสดงออกมาอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง เราเข้าใจถูก เราก็คิดถูก เราตัดสินใจถูก เราอย่าวุ่นวายใจ ให้จิตมันหม่นหมองมืดมนเสียเมื่อมีผัสสะ เมื่อมีผัสสะ จิตใจต้องแจ่มใส สว่างไสว เยือกเย็น อย่าไปโง่เมื่อมันมีผัสสะ แล้วเรื่องก็ไม่เกิดแน่นอน พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้ว่าอันนี้คือหัวใจของพระพุทธศาสนา เรียกว่า “อาทิพรหมจรรย์” เบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ จุดตั้งต้นแห่งพรหมจรรย์ พรหมจรรย์จะผิดหรือจะถูก มันอยู่ที่ผัสสะนี่เอง ต้องรู้เรื่องผัสสะนี้เอง จึงจะเป็นการศึกษาที่ถูกต้องตั้งแต่จุดตั้งต้นไปทีเดียวทั้งเนื้อทั้งตัว มันก็จะได้ถูกต้อง เพราะมันตั้งต้นถูกต้อง ถูกต้องเพราะมีสติเพียงพอในขณะแห่งผัสสะ บางคนมันโง่จนไม่รู้ผัสสะเมื่อไร แล้วในผัสสะมันมีสติอย่างไร มันก็ไม่รู้ มันไปรู้เอาเมื่อมันยินดียินร้าย บ้าๆ บอๆ ไปแล้วทั้งนั้น นี่คนธรรมดาก็เป็นอย่างนี้ เป็นปุถุชน แต่ถ้าเป็นพระอริยเจ้า ท่านมีความรู้เรื่องสติ เรื่องปัญญา สามารถควบคุมผัสสะได้ยิ่งๆ ขึ้นไป จนไม่มีความทุกข์เลย จนไม่รู้จักเป็นทุกข์กับเขา นี่เรื่องสติในชั้นสูง ชั้นสูงขึ้นมา จนถึงว่ามีสติได้ในขณะแห่งผัสสะอย่างสมบูรณ์ สติสมบูรณ์ก็เอาปัญญามาควบคุมผัสสะ ให้ผัสสะเป็นผัสสะแจ่มแจ้ง ผัสสะฉลาด ผัสสะรอบรู้ แล้วเป็นผัสสะโง่และเกิดกิเลศ คนทั่วไปเขาทำกันอยู่ ให้มันโง่เมื่อมีผัสสะมันก็เกิดกิเลศ มันก็ได้รับผลของกิเลศ ก็เป็นความทุกข์ ฉะนั้น ถ้ามีสติมีปัญญาในขณะผัสสะ มันก็ไม่เกิดกิเลศ มันทำไปโดย “โพธิปัญญา” มันก็เป็นผลดี มีแต่ความสงบสุข ในเรื่องสติชั้นสูงสุด จำเป็นที่สุดที่จะต้องมีทุกขณะ ทุกเหตุการณ์ ทุกสถานที่ ที่เราต้องมีผัสสะ เราต้องมีสติ เราไม่มีสติเวลากินข้าว เปิบข้าวเข้าจมูก ถ้าไม่มีสติ ถ้าเดินมันก็ตกร่อง หกล้ม ถ้าไม่มีสติไปดูเอง ไปคิดเอาเอง มันจะเป็นอย่างไร ในเรื่องง่ายๆ โง่ๆ ง่ายๆ มันยังต้องมีสติอย่างนี้ เหมือนกับยายบ้าคนนั้นเอาน้ำกรดใส่คอลูกไปกัดสตางค์ มันขาดสติ
เป็นอันว่าวันนี้ต้องการพูดเรื่องสติให้สูงขึ้นไปจากเมื่อวาน ก็พูดแล้ว ก็เป็นการพูดที่สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้เธอศึกษาให้ดีๆ เข้าใจให้ได้ ใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่าเสียทีที่บวช อย่าให้เปลืองผ้าขาวเปล่าๆ อย่าให้เปลืองเวลาเปล่าๆ อย่าให้เปลืองอะไรเปล่าๆ ให้มันได้ความรู้ เอาไปใช้ตลอดชีวิต เพื่อว่าชีวิตที่มันเหลืออยู่ต่อไปข้างหน้านั้น จะได้เป็นชีวิตที่มีค่า เป็นชีวิตที่น่าชื่นใจ แล้วมันไม่มีความทุกข์เลย ขอให้เป็นอย่างนี้ด้วยกัน ทุกๆ คน ทุกทิวาราตรีการเทอญ สาธุ “พุทธะ สุโขทิตา ???” ประกาศตนเป็นอุบาสก-อุบาสิกา