แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นครูบาอาจารย์และท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย วันก่อนได้พูดกันถึงเรื่องการเติมธรรมะลงไปในชีวิต ท่านต้องทบทวนใจความเรื่องนั้นขึ้นมาอีกสักครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้พูดติดต่อกันไป คือว่าเราไม่มีธรรมะที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเต็มตามที่ควรจะมี ถือว่าชีวิตนั้นยังพร่องอยู่ คือพร่องจากธรรมะที่ควรจะมี เราก็จะเติมให้เต็มด้วยธรรมะในความหมายที่ ๓ คือ หน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตที่จะต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ชีวิตที่เป็นตัวธรรมชาติ ก็เช่น ร่างกาย จิตใจล้วนๆ ธรรมะที่เป็นกฎของธรรมชาติมีประจำอยู่ในชีวิตนั้น หรือว่าในชีวิตนั้นน่ะ มันก็ถูกควบคุมอยู่ด้วยกฎของธรรมชาติ ซึ่งก็เรียกว่าธรรมะด้วยเหมือนกัน เราจึงต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เราจึงจะมีความสุข สะดวกสบาย เป็นปรกติ และสามารถทำให้ชีวิตนี้ก้าวหน้าเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ใช่เพียงแต่ว่ารอดชีวิตอยู่ได้ แล้วก็จะพอแล้ว รอดชีวิตอยู่เฉยๆ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรนัก ต้องทำชีวิตที่รอดอยู่ได้นั้นให้เป็นประโยชน์เต็มที่ตามที่มนุษย์ควรจะทำ หรือควรจะมี หรือควรจะได้ เราก็ต้องมีธรรมะส่วนนี้ อ่า, เพิ่มขึ้น คือเติมมันลงไปให้เต็ม แล้วขอให้ระลึกนึกถึงบทนิยามของธรรมะที่ว่า ธรรมะคือการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ขอย้ำให้เตือน อ่า, ขอย้ำให้ระลึกถึงคำว่า คนมีหลายขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ คือตั้งแต่คลอดจากท้องมารดาเป็นทารก อ่า, เป็นเด็ก เป็นเด็กวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาว เป็นพ่อบ้านแม่เรือน กระทั่งเป็นคนแก่คนเฒ่า มันล้วนแต่เป็นขั้นตอนซึ่งไม่เหมือนกัน ดังนั้นชีวิตแต่ละขั้นตอนจึงต้องการธรรมะที่ต่างกัน เราจึงต้องแสวงหามาให้ถูกตรงตามขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ การประพฤติปฏิบัติทุกขั้นตอนที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ นี่เรียกว่าธรรมะที่ต้องเพิ่มเติมลงไปในชีวิต
จึงหวังว่าทุกคนจะไม่ประมาทในเรื่องนี้ คืออย่าได้อวดดีไปว่ามันไม่มีอะไรที่จะต้องทำแล้ว หรือว่าทำได้ครบถ้วนถูกต้องแล้ว เพราะว่าเขาเป็นคนที่คิดนึกแต่เพียงว่ามีใช้มีกินไปกว่าจะตายก็พอแล้ว อย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน เขาคงจะได้เตรียมพร้อมแล้วที่จะมีกินมีใช้จนกว่าจะตาย แต่ถ้าเขาตั้งปัญหาขึ้นมาว่ากว่าจะตายนี้จะทำอะไรให้สมกับที่ได้เป็นมนุษย์บ้าง นี่มันก็เกิดมีปัญหาขึ้นมาทันที อย่างน้อยที่สุดมันต้องหมายความว่าเราต้องมีความสงบสุขที่แท้จริง เรื่อยๆ ไปจนกว่าจะตาย อย่างนี้ก็ยังดี กลัวว่ามันจะอยู่ด้วยอาการที่น่าทุเรศเวทนา ยินดียินร้าย หัวเราะ ร้องไห้ เหมือนคนผีสิงอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้มันก็ไม่ไหว ถ้าว่าได้รับความสุข สงบเย็นเรื่อย ๆ ไปจนตลอดชีวิตมันก็ดี แต่คิดว่ามันจะดีเพียงครึ่งเดียว เพราะว่าส่วนที่จะต้องประพฤติกระทำแก่บุคคลอื่น แก่เพื่อนร่วมโลกนี่ มันยังไม่ได้ทำ กลายเป็นว่าคนนั้นมันเป็นคน ๆ เดียวอยู่ในโลก ไม่ได้รับผิดชอบอะไร เราจะต้องทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอีกส่วนหนึ่ง นี่เรียกว่าประโยชน์ที่จะต้องทำ ครึ่งหนึ่งเพื่อตัวเราเอง ครึ่งหนึ่งเพื่อเพื่อนมนุษย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ มันก็ต้องมีธรรมะเพิ่มขึ้นอีกครึ่งหนึ่งแหละ มันต้องสามารถจะเป็นอยู่ชนิดที่ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ด้วยพร้อมๆ กันไป ฉะนั้นธรรมะที่จะต้องเติมลงไปในชีวิตนั้นมันก็เลยมากขึ้น คือว่าอีกครึ่งหนึ่ง จะได้เต็มทั้งสองครึ่ง
ทีนี้ก็จะพูดต่อไปจากที่พูดมาแล้วในวันก่อนว่า จะเติมอะไรที่เป็นส่วนตัวให้เป็นบุคคลที่เต็ม มีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ คือมีธรรมะที่ยังพร่องอยู่นั่นน่ะเต็ม ก็เรียกว่าเต็มแห่งธรรมะ ก็เพื่อเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ ไม่มีความทุกข์ ในวันนี้จึงอยากจะให้หัวข้อว่า มีชีวิตที่อยู่ด้วยความว่างเพื่อไม่เป็นทุกข์ ให้หลักหัวข้อว่า จงมีชีวิตอยู่ด้วยความว่าง บางคนก็เคยได้ยินแล้วว่ามีชีวิตอยู่ด้วยความว่างนี่ แล้วก็ไม่เข้าใจ แล้วก็หัวเราะเยาะก็มี ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ก็ไม่สนใจเอาเสียเลยก็มี บางคนเข้าใจคำว่า ความว่าง น่ะผิด กลายเป็นว่าคนที่ไม่มีความคิดนึกอะไร จิตที่ไม่มีความคิดนึกอะไร จะพูดว่าคนบ้าก็ไม่ถูก เพราะคนบ้ามันก็ยังมีความคิดนึกอะไร เขาพูดว่าไม่มีความคิดนึกอะไรแล้วก็มีชีวิตอยู่อย่างนั้น เรียกว่าอยู่ด้วยความว่างนี่ เป็นไปไม่ได้อะ เพราะว่าไอ้จิตมัน มันอยู่ไม่ได้โดยที่ไม่มีความคิดนึกอะไร เว้นไว้แต่เราจะไปทำให้มันว่างโดยวิธีที่เป็นวิธีเฉพาะของมัน ต้องขอพูดเรื่องว่าไอ้ความว่างนี่ เป็นอย่างไรกันเสียก่อน มีชีวิตอยู่ด้วยความว่างนั้นมีอย่างไร ทำการงานทุกชนิดด้วยจิตว่างนั้นเป็นอย่างไร ขอให้มาสนใจคำที่ว่า ว่าง หรือ ไม่ว่าง ให้รู้แน่ชัดลงไปว่าที่ว่าว่างน่ะ มันว่างจากอะไร ที่จริงก็เคยพูดมามากแล้ว แต่คนไม่สนใจจะฟัง ฟังไม่รู้เรื่อง
ในชีวิตธรรมดาคนเรานี้ ดูว่ามันประกอบอยู่ด้วยร่างกาย ร่างกายที่เป็นเหมือนกับเปลือกหรือโครงนี่หนึ่ง แล้วมันก็ประกอบอยู่ด้วยจิต เป็นของพิเศษ ธรรมชาติพิเศษชนิดหนึ่ง ซึ่งมันต้องสิงอยู่ในร่างกาย เกิดขึ้นจากร่างกาย อาศัยการปรุงแต่งของร่างกายที่มีระบบประสาทน่ะ จิตมันก็เกิดขึ้น ทีนี้จิตนั้นมันคิดนึกได้อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น มันก็เรียกว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตด้วยเหมือนกัน ไล่ไปอีกทีว่า ๑.ร่างกาย ๒.จิต ๓.ความรู้สึกคิดนึกของจิต เป็น ๓ เรื่อง ไม่ต้องเอาตามแบบอภิธรรมหรือแบบไหนอะ แบบ เอาตามแบบธรรมชาติที่คุณรู้เองก็แล้วกัน ถึงแบบอภิธรรมก็ว่าอย่างนั้นแหละ ว่ารูป จิต เจตสิก แล้วก็มีนิพพานอีก นั้นนอกออกไป เรามีร่างกาย คำว่า ร่างกาย นี้มันรวมไอ้ระบบหลายๆ ระบบ แม้แต่ระบบประสาทที่จะรู้สึกอะไรได้ ที่ตา ที่หู ที่จมูกนี่ ระบบประสาทเหล่านี้ก็นับรวมอยู่ในร่างกาย ในคำว่าร่างกาย นี้คือเรามีร่างกาย แล้วก็มีจิต ซึ่งเป็นธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ลึกลับอยู่ตามธรรมชาติ จะมาแสดงตัวปรากฏที่เมื่อระบบประสาทหรือร่างกายนี้ มันให้ความเหมาะสม ปรุงแต่งให้ จิตก็เกิดขึ้น เช่น ตาเห็นรูปก็เกิดจักษุวิญญาณ อย่างนี้เป็นต้น นี่จิตมันก็เกิดขึ้นเพราะอาศัยร่างกาย เหมือนกับเป็นที่ทำงาน เราจึงมีจิตได้ นี่คำว่า เรา นี้ระวังให้ดี เดี๋ยวจะต้องเอาออก มีร่างกาย แล้วก็มีจิต แล้วก็มีความรู้สึกของจิต นี่ ก็เป็นอันว่ามันครบเรื่องของมัน มันก็ทำงานของมันได้ คือจิตอาศัยร่างกาย คิดนึก บังคับร่างกายทำอย่างนั้นได้ อย่างนี้ได้ ในรูปของการงาน การกระทำ ผลของการงาน การได้มา การกินการใช้ การอะไรก็ตาม มันทำของมันได้ แล้วมันก็มีความรู้สึกคิดนึกของมันได้ โดยจิตกับร่างกาย ตามที่พูดแล้วว่าร่างกายนั้นมันมีระบบประสาทอยู่ด้วย มันจึงรู้สึกได้
นี่ถ้าดูข้อ ให้ดีในข้อนี้ก่อนสิว่ามันมีร่างกายตามธรรมชาติแท้ๆ แหละ รวมระบบประสาทอยู่ด้วย แล้วมันก็มีจิตซึ่งเป็นวิญญาณธาตุชนิดหนึ่งอยู่ในธรรมชาติเหมือนกัน เช่นเดียวกับธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ๔ ธาตุนี้ก็เป็นตามธรรมชาติ อยู่ตามธรรมชาติ แล้วมาประกอบกันเข้าเป็นร่างกาย เรียกว่าธาตุตามธรรมชาติมาประกอบกันเข้าเป็นร่างกาย ธาตุพิเศษอีกชนิดหนึ่งคือ ธาตุวิญญาณ มีหน้าที่ที่ปรากฏที่ร่างกาย ทุกครั้งที่ร่างกายมีการปรุงแต่งเหมาะสำหรับที่จิตจะปรากฏออกมาในรูปอย่างนั้น ในรูปอย่างนี้ นี่ นี่เป็นธรรมชาติล้วนๆ เป็นธาตุจิต ธาตุวิญญาณแสดงตัวออกมาที่ร่างกาย เมื่อร่างกายมีการปรุงแต่งที่เหมาะสม นี่ระวังให้ดี ไอ้จิตนั้นเป็นธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ผีสางเทวดา ไม่ใช่วิญญาณเป็นบุคคล เป็นอะไรทำนองนั้น ให้เห็นว่าจิตก็สักว่าจิต อย่าเอาจิตเป็นตัวตน หนังสือชั้นหลังต่างหากที่เอาจิตเป็นตัวตน ถ้าคำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่ได้เอาจิตเป็นตัวตน จิตก็สักว่าจิตเท่านั้น
ทีนี้จิตมันคิดนึกได้ มันก็รู้ เอ่อ, คิดนึก คิดนึก รู้สึก คิดนึก รู้สึก คิดนึกได้อีกมากมาย ถ้าในความรู้สึกนั้นมันคิดผิด โง่ผิด อ่า, โง่ไปมันคิดผิด จิตมันจะคิดว่าเรา อ่า, มันเป็นตัวตน จิตมันจะคิดว่ากูเป็นตัวตน คือคือจิตมันคิดเอาเองว่าเป็นตัวตน ซึ่งที่แท้ไม่ใช่ตัวตน บางทีจิตมันโง่ไป คิดว่าร่างกายเป็นตัวตน ร่างกายลมๆ แล้งๆ อะ มันก็เกิดขึ้นมาเป็นตัวตน ไม่มีตัวตนที่แท้จริง มีแหละ มีตัวตนหลอกที่จิตมันคิดขึ้นมาเองว่าตัวตน ร่างกายนี้เป็นตัวตน บางเวลาจิตมันเอาเวทนาคือความรู้สึกแก่จิตนั้นแหละ เวทนารู้สึกสุขหรือทุกข์ เป็นต้นอะ ว่านั่นเป็นตัวตน หรือบางทีก็เป็นของๆ ตน บางทีจิตมันก็โง่ไปเอาสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าไอ้เวทนานั้นมีความหมายอย่างนั้น มีความหมายอย่างนี้ ความหมายในอะไรก็ตาม แม้ที่สุดแต่ความหมายว่าเป็นหญิงเป็นชาย เป็นนาย ก. นาย ข. อะไรมาสำ ยังสำคัญมั่นหมาย เอานั่นแหละว่าเป็นตัวตน นั้นตัวตนโง่ๆ ตัวตนไม่มีตัวจริง ตัวตนมายามันก็เกิดขึ้นมา โดยจิตมันคิดว่าเป็นตัวตน ทีนี้บางคราวมันก็เอาสังขารคือความคิด เมื่อจิตมันคิดน่ะ จิตมันคิดเป็นเรื่องเป็นราว อะ หรือต้องการ หรืออะไร มันเป็นความคิดเท่านั้น จิตมันก็โง่เอาตัวความคิดนั้นแหละว่าเป็นตัวตน ตัวตนแล้ง ลมๆ แล้งๆ เกิดมาจากไอ้สังขารคือความคิด ในบางกรณีจิตเอาวิญญาณที่รู้สึกรับรู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นนั่น นั่น นั่น ว่านั่นเป็นตัวตนขึ้นมาอีก เอาวิญญาณเป็นตัวตน แล้วแต่มันจะสับสนกลับไปกลับมา เอาเป็นตัวตนก็มี เอาเป็นของตนก็มี เช่น จิตมันโง่มันลืมไป เอาร่างกายนี้เป็นตัวตน อย่างโง่ที่สุดเอาร่างกายเป็นตัวตน บางทีมันก็ฉลาดว่าไอ้ร่างกายนี้เป็นของตน ไปเอา เอาตัวตนที่ ที่เว ที่เวทนา ที่สัญญา ที่สังขาร ที่อื่นๆ โน้น ขันธ์ ๕ แต่ละขันธ์จะถูกจิตหลงเอาเป็นตัวตนหรือเป็นของๆ ตนได้ทั้งนั้น ตามโอกาส ตามกรณีที่จะเกิดขึ้น
ในชั้นนี้สรุปความว่าตัวตนมิได้มีอยู่จริง ถ้าฟังไม่ถูกก็ ก็เลิกกัน ก็พูดเสียเวลา ถ้าฟังไม่ถูกว่าไอ้ตัวตนมิได้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เป็นเพียงความคิดนึกของจิตมันคิดผิดๆ ขึ้นมา สำคัญเอาว่าเป็นตัวตนที่อะไรก็ได้ ขอให้ย้อนไปคำแรก คำพูดทีแรกว่า มันมีแต่ร่างกายซึ่งก็มิใช่ตัวตน เป็นธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ อะไรปรุงกันไปตามธรรมชาติ เป็นธรรมชาติ ร่างกายไมใช่ตัวตน แล้วก็มีระบบประสาทสำหรับสัมผัส รับสัมผัส ก็เกิดเป็นเวทนา มันก็เป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติ มิใช่ตัวตน เวทนานั้นมิใช่ตัวตน แล้วมีเวทนา ก็มีสัญญา สำคัญมั่นหมายว่าสุขเวทนา สำคัญมั่นหมายว่าทุกขเวทนา เป็นต้น อันนี้มันก็เป็นความสำคัญมั่นหมายตามธรรมชาติ มิใช่ตัวตน เป็นปฏิกิริยาทางจิตอย่างเดียวกัน ทีนี้ อ่า อ่า, สังขาร คิดนึกมันเป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติของจิตที่มันจะคิดนึกอย่างนั้น เมื่อมันมีอะไรปรุงอย่างนี้ มันก็คิดอย่างนี้ อะไรปรุงอย่างนั้น ก็คิดอย่างนั้น ฉะนั้นจิตตามธรรมชาตินี่ มันก็คิดได้ตามสิ่งที่เข้ามาปรุงแต่งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง ดังนั้นความคิดนั้นจึงมิใช่ตัวตน จะไปเป็นเพียงปฏิกิริยาเกิดขึ้นทางจิต นี้วิญญาณที่มันเห็นอะไร ๆ ทางตา รู้สึกอะไรได้ทางหู รู้สึกทางจมูก รู้สึกทางลิ้น ทางผิวกาย ทางใจเองนี่ มันก็เป็นอย่างนั้นเองตามธรรมชาติ เป็นปฏิกิริยาอีกแบบหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งทำให้รับรู้ รู้ว่าอารมณ์นั้นเป็นอย่างไร ตานี่ก็รับรู้ทางแสง ทางเสียง หูก็รับอ่า, ทาง อ่า, ตาก็รับรู้ทางแสง หูก็รับรู้ทางเสียง จมูกก็รับรู้ทางกลิ่นไปตามหน้าที่ มันเกิดเป็นความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมาได้ ก็เรียกว่าวิญญาณ เป็นปฏิกิริยาอีกทางหนึ่งของจิต
ฉะนั้นขอให้ดูให้ดีว่ารูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารก็ดี วิญญาณก็ดี ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนได้ นอกจากจิตจะคิดเอาเองเป็นจิตโง่ แล้วที่เราพูดกันว่าเรา เรา นั่นแหละ แม้บนธรรมาสน์นี้ก็พูดว่าเรา เรา ไม่รู้กี่สิบครั้ง แล้วท่านทั้งหลายก็พูดกันอยู่ว่าเรา เขา เรา เขา วันหนึ่ง วันหนึ่ง ไม่รู้กี่สิบครั้ง ไอ้เรา เขา นั้นไม่ได้มีตัวตนหรอก เป็นความสำคัญมั่นหมายของจิต สำคัญผิดๆ แล้วก็ไปพูดว่าเป็นตัวเรา แล้วมันก็พูดกันจนเป็นธรรมเนียม จนกระทั่งว่าลูกเด็กๆ เกิดมาไม่กี่เดือนมันก็พูดเป็น พูดว่าเราว่าเขาเป็น มันเป็นธรรมเนียม เด็กๆ ก็พูดเป็นเราเป็นเขา เพราะผู้ใหญ่ก็พูดเป็นเราเป็นเขา ไปตามความรู้สึกที่ทำให้คิดว่าเป็นเราเป็นเขา ทีนี้ก็แยกกันสิว่าไอ้เราหรือเขานั้น มันไม่ได้มีจริง มันมิได้มีอยู่จริง เป็นเพียงผลของความโง่ ความหลง ของอวิชชา อุปาทาน ทำให้จิตเกิดความรู้สึกว่าเป็นเรา เป็นฝ่ายเรา อันโน้นเป็นฝ่ายเขา ท่านสังเกตให้มากลงไปสิจนพบว่ามันมีแต่ร่างกาย แล้วก็จิต แล้วก็ความรู้สึกคิดนึกต่างๆ ของจิต มันมีเท่านั้นนี่ ที่ในความรู้สึกคิดนึกต่างๆ ของจิตนั่นแหละ มันมีส่วนที่คิดเป็นตัวเรา เพราะจิตนี้มันโง่ มันไม่รู้อะไร มันก็เกิดความรู้สึกมาเป็นตัวเรา เพื่อจะรักเรา เพื่อจะเห็นแก่ตัวเรา เพื่อประโยชน์แก่ตัวเรา มันจะเรียกว่าอะไรอื่นก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้เรามันมาเรียกกันว่า ตัวเรา ในอินเดียเขามีภาษาเรียกไอ้ตัวเรานี่มากมายหลายชื่อ เช่นเรียกว่า อาตมัน หรือ อัตตา อย่างนี้ก็มี เรียกว่า บุรุษ บุคคล ก็มี เรียกว่า เจตภูต ก็มี เรียกว่า ชีโว ก็มี หลายต่อหลายคำอะ ซึ่งหมายถึงไอ้ตัวตน ซึ่งมิได้มีอยู่จริงอะ แต่มันเป็นสิ่งที่จิตมันรู้สึกเอา คิดเอาว่ามีอยู่จริง
ฉะนั้น เราทุกคนเมื่อยังมีจิตชนิดนี้ ยังมีจิตที่โง่ชนิดนี้ จะต้องมีความรู้สึกว่า ตัวเรา เสมอ เช่น รู้สึกว่าเรามาสวนโมกข์ พรุ่งนี้เราจะกลับจากสวนโมกข์ อย่างนี้เป็นต้น มันไม่ มันไม่รู้ว่าเป็นเรื่องของกาย ของจิตล้วนๆ นี่ มันต้องมีตัวเราเป็นเจ้าของทั้งหมดนี้ แล้วก็เรียกว่าตัวเรา ว่าเรานั่งอยู่ที่นี่ หรือว่าเราจะลุกไปจากที่นี่ ฉะนั้น ขอให้สังเกตดูให้มากที่สุดว่าไอ้ตัวเรานั้นมิได้มีอยู่จริง เป็นผลเกิดมาจากความโง่เขลาของจิต รู้สึกคิดนึก ยึดถือหมายมั่นว่าตัวเรา นี่จับตัวเราให้ได้อย่างนี้สิ เพราะนี่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของหลักธรรมะนี้ ของพุทธศาสนานี้ ถ้าเมื่อใดจิตมีความคิดนึกรู้สึกประเภทว่ามีตัวเรา มีตัวเรา มีตัวฉัน นั้นน่ะจิตไม่ว่าง จิตชนิดที่ไม่ว่าง คือจิตที่มีตัวเรา มีตัวฉันอยู่ในความรู้สึกคิดนึก นี้เรียกว่าจิตที่ไม่ว่าง ถ้าจิตมันไม่มีรู้ ความรู้สึกคิดนึกว่าตัวเรานั้นน่ะว่าง จิตว่าง ว่างจากความรู้สึกคิดนึกว่าตัวเรา ทั้ง ๒ จิตนี้ ล้วนแต่คิดนึกกันทั้งนั้นแหละ รู้สึกกันทั้งนั้นแหละ ทั้ง ๒ จิตน่ะ จิตว่างมันก็คิดนึกได้แต่มันไม่มีความรู้สึกเป็นตัวเราอยู่ในความคิดนั้น จิตไม่ว่าง จิตวุ่น ยิ่งคิดมาก ยิ่งคิดเก่ง แล้วก็ยิ่งเต็มไปด้วยความรู้สึกว่าตัวเรา ตัวกู ตัวสู ตัวเขา ในความรู้สึกคิดนึกของจิตนั้นเต็มอยู่ด้วยความหมายแห่งตัวกู ตัวสู ตัวเรา ตัวเขา อย่างนี้เรียกว่าจิตไม่ว่าง
ทีนี้ธรรมดา อ่า, จิตธรรมดา จิตบุถุชนคนธรรมดามันล้วนแต่ไม่ว่าง ว่างน้อยที่สุด ยังไม่ทันจะถึงไอ้ขนาดที่เป็นตัวตนนั้นน่ะพอจะว่าง แต่ธรรมดารับอารมณ์แล้วมันปรุงเป็นตัวตนไปหมด พอเห็นรูปมันก็รู้สึกว่ากูเห็นรูป ได้ฟังเสียงมันก็ไปรู้สึกเสียเลยว่ากูได้ฟังเสียง ได้สูดกลิ่นก็กูได้กลิ่น มันมีตัวกูอย่างนี้ ไม่มีใครสอนให้มัน มันโง่มาแต่ในท้องก็ว่าได้ พอออกมามันก็พร้อมที่จะรับการอบรมของคนข้างเคียง ให้มันรู้สึกคิดนึกยึดถือเป็นตัวกู เอ้า, กินเสียนะ เอ้า, อย่างนั้นนะ เอ้า, อย่างนี้นะ มัน มันรู้สึกเป็นตัวกูมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น จนอะไรก็พร้อมที่จะเป็นตัวกู เพราะฉะนั้นจิตมันไม่ว่าง แล้วมันก็คิดให้ว่างไม่ได้ เพราะมันคิดไปตามธรรมชาติที่จะปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวกู นี่แหละให้รู้ไว้เถิดว่าไอ้ความคิดนึกรู้สึกประเภทนี้มันเต็มอยู่ด้วยตัวกู จิตใดมีความรู้สึกคิดนึกอย่างนี้เรียกว่า จิตไม่ว่าง พอไม่ว่างมันก็มีตัวกูแหละ เมื่อมีตัวกูมันก็มีความรู้สึกเห็นแก่กูแหละ เมื่อมันมีความรู้สึกเห็นแก่กู มันก็มีความโลภอยากได้มาเป็นของกูแหละ มันก็มีความโกรธเมื่อมันไม่ได้ตามใจกู มันก็มีความหลง มีโมหะ มันสงสัยอยู่ว่าจะได้มาอย่างไรนี่ ความโลภ ความโกรธ ความหลงนี่มันมีรากฐานอยู่บนความรู้สึกว่าตัวกูของจิตโง่ คือจิตไม่ว่าง จิตโง่ มันปรุงความคิดเป็นตัวกูของกูเสมอ มันเป็นจิตไม่ว่าง มันจึงเป็นจิตที่เต็มอยู่ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ นี่เป็นสิ่งที่ต้องมองเห็นและรู้สึกจริงๆ
ทีนี้จิตที่มันจะว่างจากความหมายแห่งตัวกูนี้มีได้ยาก เพราะบุถุชนคนธรรมดา มันมีมาสำหรับจะรู้สึกอย่างนั้น เหมือนกับว่าเป็นสัญชาตญาณ ติดมาในสันดาน เคยชินมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เคยชินมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกที่จะรู้สึกคิดนึกว่ามีตัวกู เดี๋ยวนี้เราจึงมีความรู้สึกคิดนึกประเภทที่เป็นตัวกู เช่น อยากจะเป็นอะไรอะ เป็นครู มันก็มี ต้องมีตัวกูสิมันจึงจะเป็นครูได้ ถ้าไม่มีตัวกูมันจะเป็นครูกันที่ไหนล่ะ เราก็ยึดถือว่าเราเป็นคน เป็นเด็ก ตั้งแต่เป็นเด็กมาเราเป็นคน คือมีตัวกูของกู กูควรจะได้อย่างนั้นอย่างนี้ กูก็ขยันเรียนหนังสือ จนได้เรียนครู จนได้เป็นครู จนได้เป็นอะไรไปตามที่ตัวกูมันประสงค์ ประสงค์นี้มันก็ประสงค์ไปตามความรู้ที่ได้รับการแวดล้อมตั้งแต่เกิดมานั่นแหละ หลายๆ อย่างมันเข้ามาแวดล้อมให้จิตรู้จักคิดนึก รู้จักประสงค์ แล้วก็ไปแนวๆ เดียวกันทั้งนั้นแหละ กี่ล้านคนในโลกมันก็ไปแนวเดียวกันทั้งหมด ทั้งนั้นแหละ คือประสงค์จะได้สิ่งที่เอร็ดอร่อยแก่ตัวกู ประโยชน์แก่ตัวกู สบายแก่ตัวกู เด็กทุกคนมันก็จะต้องคิดอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ มันก็มีตัวกู ตัวกูกันเรื่อยๆ มา ให้รู้ว่าไอ้ความคิดนึกรู้สึกของคนธรรมดา ย่อมจะเต็มอยู่ด้วยความหมายแห่งตัวกู คือไม่ว่าง
ทีนี้ถ้าว่ามันมีปัญญา ได้รับการสั่งสอนตามแบบของพุทธศาสนา ซึ่งสอนให้รู้ว่าไอ้จิตที่ไม่ว่าง ที่มีตัวกูนั้นมันเป็นทุกข์อะ มันเป็นทุกข์ มันหนักยิ่งกว่าแบกภูเขา ไอ้ความรู้สึกว่าตัวกูน่ะเป็นของหนัก แล้วก็แบกไว้ยิ่งกว่าแบกภูเขา ก็ยิ่งต้องการจะให้แยกไอ้ความหมายแห่งตัวกูออกไปเสียจากความคิดนึกของจิต จิตจะคิดนึกจะทำอะไรก็ได้ แต่อย่าให้มีความหมายแห่งตัวกู นี่มันทำไม่ได้ มันทำยากที่สุดสำหรับบุถุชนที่จะคิดนึกโดยไม่ต้องมีตัวกู เพราะว่ามันคิดนึกอย่างมีตัวกูมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก จนกระทั่งบัดนี้ก็เต็มอัดอยู่ดัวยตัวกูนี่ แม้แต่อยากจะรู้ธรรมะนี่ก็เพื่อประโยชน์แก่ตัวกู ไม่ใช่เพื่อประโยชน์จะดับทุกข์ เพราะมันไม่รู้จักความทุกข์ มันเห็นแก่ส่วนได้ของตัวกู มันก็อยากรู้ธรรมะ แล้วธรรมะที่แท้นั่นน่ะ ก็คือธรรมะที่สอนให้ฆ่าตัวกูเสีย ตัวกูซึ่งเป็นผู้อยากได้อะไรนั่นน่ะ อยากได้ธรรมะ มาเรียนธรรมะ ก็ได้ธรรมะไปสำหรับฆ่าตัวกูนั้นเสีย มันตลกสิ้นดี ใช่ไหมอะ มัน มันก็เป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้จริงๆ อะ เพราะว่าไอ้ตัวกูนั้นน่ะ มันเป็นเหตุแห่งความทุกข์คือความหนัก ชีวิตนี้เป็นของหนัก ภาระหนักของชีวิตน่ะ คือความหมายแห่งตัวกู ถ้าจิตยังมีความรู้สึกคิดนึกเป็นตัวกู มันก็มีภาระแห่งชีวิต เป็นของหนัก เป็นความทุกข์ นี่เรียกว่าจิตมันขาดความรู้อย่างยิ่ง ขาดความรู้ที่ว่าไม่มีตัวกู ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู มันขาดอย่างยิ่ง ให้มันเต็มอัดอยู่ด้วยความรู้ว่าตัวกูของกู นี้มันจะต้องต่อสู้กันแล้ว
เมื่อจิตมันค่อยๆ สังเกตเห็นว่า ไอ้ตัวกูนี่คือตัวความทุกข์ ความคิดชนิดนี้เกิดขึ้นทีไรมันกัดกู คือกัดจิต ทีนี้จิตมันก็เกิดฉลาดขึ้นมาบ้าง มันก็ไม่อยากจะมีความรู้สึกคิดนึกประเภทนี้ มันจึงมาศึกษาธรรมะที่จะกำจัดความรู้สึกว่าตัวกูนี้เสีย มาหาพระพุทธเจ้า มารับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั่นแหละ คือระบบคำสอนที่บอกว่ามันไม่มีตัวกู มันมีแต่ร่างกาย กับจิต กับความรู้สึกคิดนึกของจิตเท่านั้นเอง ตัวกูไม่มี ตัวกูเป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ ที่จิตมันคิดขึ้นมาเอง ขอให้สังเกตดูเถอะ คำสอนของพระพุทธเจ้าล้วนแต่สอนเรื่องอนัตตา ไม่มีตัวตน รูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา วิญญาณเป็นอนัตตา แต่แล้วเราก็เอาทั้ง ๕ นั้นน่ะ แต่ละอย่าง ละอย่างเป็นอัตตา คือเป็นตัวกู ตามความรู้สึกที่โง่เขลามาตั้งแต่อ้อนแต่ออกโน้น เอ้า, ทีนี้มันก็ทะเลาะกัน ตามธรรมชาติของบุถุชนมันก็ไปเห็นตัวกูไปหมดทั้ง ๕ ขันธ์ แต่คำสอนของพระพุทธเจ้าก็บอกหมดทั้ง ๕ ขันธ์ว่าไม่ใช่ตัวตน ท่านเรียกรวมๆ กันว่า อหังการ มมังการ มานานุสัย อหังการ มมังการ มานานุสัย คงจะฟังยาก จำยาก แล้วคงจดไม่ทันด้วย เขียนไม่ถูกด้วย แต่จำไว้เลยว่า อหังการ มมังการ มานานุสัย แปลว่าความเคยชินแห่งจิตที่จะยึดถือว่าเป็นตัวกู เป็นของกู อหังการ ทำความรู้สึกว่าตัวกู มมังการ ทำความรู้สึกว่าของกู มานานุสัย คือความสำคัญมั่นหมายด้วยมานะ ซึ่งนอน อ่า, ซึ่งเต็มอยู่ในจิต มันเต็มอยู่ในจิตด้วยความเคยชินว่าตัวกู ว่าของกู นี่ ทุกคนบุถุชนจะมีอหังการ มมังการ มานานุสัย
ฉะนั้น ง่ายนิดเดียวที่บุคคล บุถุชนน่ะ ก็จะเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกูขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ทุกข์ เป็นทุกข์อะ เมื่อนั้นน่ะ เรียกว่าจิตไม่ว่าง ความเคยชินที่จะเกิดมันมีมาก แล้วมันเกิดบ่อยที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่ามันเกิดติดต่อกันโดยไม่ขาดสาย มันเป็นไปไม่ได้อะ มันต้องแล้วแต่เหตุ แล้วแต่ปัจจัย บ้างก็เกิดเรื่องทางตา เกิดเรื่องทางหู เกิดเรื่องทางจมูก เป็นต้น แล้วก็ปรุงๆ กันไปจนถึงเกิดอหังการ มมังการ ขึ้นมา คือตัวกูหรือของกู ความรู้สึกว่าตัวกูหรือของกูขึ้นมา แล้วก็เป็นทุกข์ เมื่อนั้นน่ะไม่ว่าง ไม่ว่างเมื่อไรก็เป็นทุกข์เหมือนไฟเผาทุกที ในจิตใจนั้นจะมีทุกข์เหมือนกับไฟเผา หรือเหมือนกับว่าถูกตี ถูกผูกมัด ถูกทิ่มแทง ถูกครอบงำ ถูกทุกอย่างที่มันเป็นความทุกข์ ถ้าจิตไม่ว่าง เพราะจิตมีความรู้สึกคิดนึกชนิดที่มีตัวกูของกู จิตว่างคือจิตที่มีความรู้สึกคิดนึก ไม่มีความหมายแห่งตัวกูหรือของกู แล้วมันก็ด้วยธรรมชาติชุดนี้แหละ ธรรมชาติชุดนี้ หมายความว่าร่างกายนี้อะ จิตนี้ แล้วก็ออกไปเป็นความรู้สึกคิดนึก ประเภทตัวกูก็ได้ ไม่มีตัวกูก็ได้ แล้วแต่ว่ามันได้รับการอบรมมาอย่างไร ถ้ามันเกิดความรู้สึกคิดนึกว่ามีตัวกูก็คือไม่ว่าง ถ้ามันไม่มีความรู้สึกคิดนึกว่าตัวกู มันก็คือว่าง
เอ้า, ขอให้จำกฎเกณฑ์อันนี้ไปเรียน ไปศึก ไปเรียนจากของจริง ไม่ใช่เรียนจากหนังสือ ไม่ใช่เรียนจากคำที่กำลังพูด ไปเรียนจากของจริงของตัวเองว่า เมื่อไรจิตมันว่างจากตัวกู เมื่อไรมันไม่ว่างจากตัวกู ทุกระยะ ทุกระยะเลยในชีวิต ในการงานของชีวิตที่ทำอยู่ประจำวัน ถ้ามันว่างจากตัวกูแล้ว มันจะไม่มีความรู้สึกโลภ โกรธ หลง ถ้ามันไม่ว่างจากตัวกู คือมีตัวกู มันจะเต็มอยู่ด้วยความรู้สึกที่เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ฉะนั้นไปศึกษาบทเรียนทุกอิริยาบถ เดินยืนนั่งนอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้มันแคบเข้ามา ก็คือเมื่อเมื่อเปิบข้าวเข้าปาก เมื่อตักข้าวเข้าปาก เคี้ยวอยู่ ขอให้รู้จักศึกษาแยกแยะว่าคำนี้มันกินด้วยตัวกูของกู เปิบด้วยตัวกูของกู หรือว่าคำนี้มันมิได้เปิบมิได้กินด้วยความรู้สึกว่าตัวกูของกู จะทำอะไรสักนิดหนึ่งเถอะ มันก็มีทางที่จะศึกษาแยกให้เห็นทั้งนั้น
เมื่อคุณอาบน้ำ ก็ลองคิดดูเถอะ มันอาบน้ำด้วยความรู้สึกว่าตัวกูจะสวยหรือไม่ หรืออาบน้ำเพื่อดูว่าตัวกูจะสะอาดหรือไม่ หรืออาบน้ำไปตามความรู้สึกธรรมดาว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องอาบต้องทำตามธรรมชาติเท่านั้น บางทีมันก็อาบด้วยความเห็นแก่ตัวกูอยู่มากๆ อะ แล้วอย่างนี้ก็ยังหงุดหงิดๆ อยู่ตลอดเวลาอาบน่ะ เพราะมันไม่ค่อยจะได้อย่างใจ ทีนี้ถ้ามันอาบอย่างธรรมดาๆ เพียงแต่จะบริหารกายนี้มันก็ไม่ต้องตัวกูของกูมากนัก มันไม่ต้องรักร่างกายหรือรักชีวิตจนว่าจะต้องอาบน้ำนี้ให้มันดีที่สุด เพื่อมันดีที่สุด ถ้าไปคิดอย่างนั้นมัน การอาบนั้นก็ยังมีตัวกูของกู เป็นการอาบน้ำที่กระวนกระวายด้วยความไม่ได้อย่างใจ แม้แต่จะถ่ายอุจจาระ ไม่ใช่เป็นเรื่องหยาบคายอะไร คุณลองถ่ายอุจจาระด้วยความครุ่นอยู่ด้วยตัวกูของกูสิ จะอึดอัด จะลำบาก จะกระวนกระวาย จะเดือดร้อน ถ้าทำไปด้วยจิตปรกติ ไม่ต้องเป็นเรื่องตัวกูของกู มันก็ไม่เดือดร้อนอะไร
ทีนี้เมื่อมันเจ็บไข้ไม่สบาย เกิดเจ็บป่วยไม่สบาย ถ้ามันเป็นเรื่องที่มีตัวกูของกูแล้ว มันก็จะรู้สึกเป็นทุกข์มากแหละ กูจะตายอยู่เสมอไปแหละ ไอ้คนเจ็บนั้นจะรู้สึกว่ากูจะตายอยู่เสมอไป เพราะมันมีตัวกูที่จะตาย ถ้ามันเป็นจิตฉลาด จิตอย่างของพระอรหันต์ อ่า, ไม่มีตัวกูของกู มันก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องเปลี่ยนแปลงตามธรรมดา ไม่มีตัวกูที่จะตาย ไอ้ความเจ็บไข้นั้นก็ไม่ทำให้ท่านเป็นทุกข์ ไม่ทำให้ท่านกลัวตาย ทีนี้ถ้าว่าไอ้ความเจ็บไข้นั้นมันเป็นเรื่องเจ็บปวดที่เนื้อหนังซึ่งถูกตี ถูกแทง ถูกอะไรนี้ มันเป็นความรู้สึกของเนื้อหนัง ท่านก็เห็นชัดเลย โอ๊ย, มันความรู้สึกอยู่ที่เนื้อหนัง ไม่มีตัวกูไม่มีของกู เพราะเนื้อหนังนั้นไม่ใช่ของกู ไม่มีตัวกูอยู่ในเนื้อหนัง มันก็เป็นความรู้สึกของเนื้อหนังนี่ ของร่างกาย ของเนื้อหนัง เอาไปสิ เอาไปสิ เอาไปเป็นของเนื้อหนัง เป็นของร่างกาย ความเจ็บปวดนั้นน่ะ มันก็เป็นของเนื้อหนัง ไม่ใช่ของกู แต่มันพูดน่ะง่าย แต่ทำมันยาก นั่นน่ะคือความยากของการปฏิบัติธรรมะ สมมติว่าเป็นฝีกลัดหนองเจ็บปวดอย่างยิ่ง นี่จะแยกเอาการเจ็บปวดให้เป็นของเนื้อหนังของร่างกาย ไม่ใช่ของกูจะได้หรือไม่ คนบุถุชนธรรมดาไม่ได้หรอก มันโง่เกินร้อยเปอร์เซ็นต์ มันก็กูเจ็บ กูจะตายอยู่ทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าว่าผู้ที่มีความรู้ถึงขนาดที่แยกออกจากกันได้ แล้วก็ไม่ ไม่มองเห็นว่ามีตัวกูของกู มีแต่ธรรมชาติแล้วก็มันก็เจ็บน้อยลงด้วย แล้วถ้าสามารถทำจิตเป็นสมาธิได้ด้วย มันก็จะไม่รู้สึกเจ็บเลย
ถ้ามันมีความรู้สึกว่าตัวกูของกู เจ็บนิดเดียวเท่านั้นแหละ มันก็กลัวมากจนว่ากูจะตาย อาตมาเคยเห็นไอ้เด็กบางคนน่ะ หนามขีดเท่านั้นน่ะ มันเป็นลมหน้าเขียว มันกลัวจะตาย นี่อย่างนี้มันมีตัวกูมากเกินไป ไอ้เรานี่ไประวัง ไปสังเกตดูให้ดีว่า มันมีความรู้สึกยึดถือเป็นตัวกูนั้นน่ะ ที่เป็นเหตุให้เจ็บ ถ้าเป็นเรื่องทางใจ มันก็เป็นเรื่องให้เจ็บใจ หรือเสียใจ น้อยใจ จนไปกินยาตายเลย เพราะมันไม่รู้ว่ามันไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่มีของกู แต่มันมีของกู มันจึงน้อยใจ เจ็บใจ เสียใจ ในเรื่องที่ไม่ได้อย่างใจ มันก็ยอมตายดีกว่าอย่างนี้ ตัวกูตายเสียดีกว่า โง่ ๒ ชั้น ๓ ชั้น ๔ ชั้น ไปตามลำดับของคนที่มันคิดว่ามีตัวกู ถ้ามันมองเห็นชัด โอ้, นั่นมันรู้สึก ระบบประสาท เจ็บที่ระบบประสาทตามธรรมชาติ มันก็เท่านั้นแหละ ถ้าเป็นเรื่องทางใจ ผิดหวังทางใจ เรื่องชู้ เรื่องแฟนอะไรต่างๆ มันก็อย่างนั้นแหละ มันก็อย่างนั้นแหละ ไม่ใช่เรื่องของตัวกู
คำว่า ตถา ตถาแปลว่าอย่างนั้นแหละ เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ ถ้ามันเห็นว่าตถา เช่นนั้นแหละ คือตามธรรมชาติเช่นนั้นแหละ มันจะไม่เสียใจ จะไม่น้อยใจ เรื่องชู้ เรื่องแฟน เรื่องอกหัก อกละลายอะไรก็ตามอะ มันไม่มีอะ มันมีไม่ได้ มันก็ไม่มีความทุกข์เลย นี่ความมีจิตว่างหรือไม่มีจิตว่าง มันต่างกันอยู่ที่ตรงนี้ คือถ้าในความรู้สึกของจิตนั้น มันมีความหมายแห่งตัวกูของกู แล้วก็ไม่ว่างและเป็นทุกข์เหมือนกับแบกภูเขา ทูนภูเขานะ ถ้าจิตมันมีความรู้สึกคิดนึกไม่มีตัวกู ว่างจากตัวกู มันไม่แบกอะไรเลย ไม่แบกชีวิต สังขาร ร่างกาย ไม่แบกอะไรทั้งหมด คือพอมันไปถือว่าอะไรเป็นของกูมันก็แบกสิ่งนั้นไว้ แบกชีวิตนี้ว่าของกูก็แบกชีวิตนี้ไว้ ไอ้ชีวิตนี้ก็กลายเป็นของหนัก แบกเงินทองทรัพย์สมบัติ สิ่งของทั้งหมดว่าของกู จิตมันก็แบกแต่สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดไว้ด้วยความหนัก ถ้ามันยังมีอะไรอีกมาก มีทรัพย์สมบัติมาก มีอะไรเกี่ยวข้องกันอีกมาก มันก็ต้องแบกทั้งหมดนั้นไว้ ถ้ามันยึดถือว่าโลกนี้เป็นของกู มันก็แบกไว้ทั้งโลกทีเดียว มันก็เป็นเรื่องหนัก จิตมันไม่ว่าง เพราะมันมีอะไรเป็นของกูเป็นตัวกู มันก็แบกสิ่งนั้นไว้ แล้วก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่แบกไว้โดยไม่มีความคิดนึกว่าเป็นตัวกู มันก็ไม่หนักและไม่เป็นทุกข์
ฉะนั้นจึงมาสอนกัน แนะกันว่า เรามามีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่างกันเถิด เรามามีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่างกันเถิด คือมีชีวิตอยู่ด้วยจิตที่ไม่หมายมั่นอะไรเป็นตัวกูเป็นของกู ก็อย่างที่พูดมาแล้ว มันก็ไม่มีอะไรหนัก มันก็สบาย ไม่ต้องไปกินยาตาย ไม่ต้องไปกระโดดน้ำตาย ไม่ต้องร้องไห้ อีกทางหนึ่งมันก็ไม่ต้องหัวเราะ ดีใจ ร่าเริงเพราะได้มา ได้มาอย่างถูกอกถูกใจจนเป็นบ้า มันก็กระโดดโลดเต้นไปตามความยึดถือว่ากูได้มาตามความต้องการของกู เป็นที่พอใจแห่งกู ที่นี่เขามีคำด่าไอ้คนชนิดนี้ว่า เหมือนลิงได้ตุ้ง ไอ้ชาติลิงได้ตุ้ง ที่กรุงเทพฯบ้านคุณจะมีหรือไม่มีก็ไม่รู้ ประโยคด่าว่าไอ้ลิงได้ตุ้ง เพราะมันได้ ได้ ได้ ได้ ได้ลูกแตงมาจาก เข้าไปขโมยแตงในไร่ ได้มาลูกหนึ่งก็เต้น เต้นหยองแหยง หยองแหยง โหยงเหยง ไอ้ลิงได้ตุ้ง มันดีใจ นี่เขาใช้เป็นคำด่านะ ไอ้คนที่ได้อะไรแล้วก็เต้นแร้งเต้นกา จิตใจสั่นสะเทือนไปด้วยการได้ตามชอบใจ เมื่อไม่ได้มันก็เสียใจ นี่มันก็สั่นสะเทือนอยู่ด้วยความเสียใจ นั่นมันมีตัวกูนี่ มัน มันจึงจะมีได้และมีไม่ได้ เพราะว่ามันมีตัวกู ถ้าอย่ามีตัวกูมันก็ไม่มีทั้งได้และทั้งไม่ได้เพราะมันไม่มีตัวกู มันไม่มีตัวกูที่จะได้ แล้วมันก็ไม่มีอะไรที่จะไม่ได้ นั่น ถ้าเราอยู่ด้วยความรู้สึกที่ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู มันก็ไม่มีการได้และการไม่ได้ นี่ เรียกว่ามันว่างและมันสบาย มันไม่ต้องแบกต้องทูนอะไร
ไอ้คนที่เขารู้จริงในเรื่องนี้ ถึงขนาดนี้ เขาพูดคำพูดไว้ชนิดที่พวกคุณคงไม่ ไม่เห็นด้วยแหละ คือเขาพูดไว้ว่า ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ ใครเคยได้ยินไหม ถ้าไม่ได้ยินก็จำไว้บ้าง ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ คือมันกัดทั้งนั้นแหละ ไอ้ที่มันดีน่ะไปหลงยึดถือเหมือนลิงได้ตุ้งน่ะ มันก็กัดทั้งนั้นแหละ ไอ้ชั่วนั่นมันก็กัดอยู่แล้ว คือมันไม่ได้ มันกัดอยู่แล้ว ไอ้ความดีนี่ เราไปกอดรัดมันเถอะมันกัดเอาแหละ ไอ้ความชั่วเราไปกอดรัดมันเถอะ มันกัดเอาแหละ ความดีที่ถือกันว่าความดีในโลกนี้นะ ตามความหมายในโลกนี้ ไปหลงรักเถอะ มันจะกัดเอาอะ เจ็บปวดหัวใจอะ ที่มันได้ทะเลาะวิวาท หึงหวง ฆ่าแกงกัน หรือไปโดด กระโดดน้ำตายเองอะ เพราะมันหลงในความดี มันยึดในความดีและความดีมันกัดเอา คนโบราณเขาพูดคำนี้ไว้ เพราะเขามองเห็นไอ้เรื่องนี้โดยแท้จริงแล้วเขาจึงพูดไว้อย่างไม่ อย่างกล้าหาญแหละว่าทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ กูไม่เอากับมึง ไปยึดถือเข้ามึงกัดทั้งนั้นแหละ ไอ้ความชั่วก็กัดแบบความชั่ว ความดีก็กัดแบบความดี กูไม่เอาทั้งความชั่วและความดี คือไม่มีตัวกูเสียเลย ไม่ต้องให้มีความหมายแห่งความชั่ว ไม่มีความหมายแห่งความดี อย่างนี้เขาเรียกว่าหลุดพ้น เป็นพระอรหันต์โน่น มันจะมากไป ไม่เอา คงจะไม่เอา เพราะมันมากเกินไป เป็นพระอรหันต์ ที่ความชั่วก็ไม่เอา ความดีก็ไม่เอา อยู่ว่าง ว่างตรงกลางที่สุด นั่นแหละคือจิตว่างอะ ไม่มีความทุกข์เลย มันคงจะท้อใจว่าทำไม่ได้ ทำไม่ได้ แล้วก็ไม่สนใจ แต่เอาแหละ แม้ว่าจะทำไม่ได้ก็ขอให้สนใจเถอะ ให้รู้ว่ามันไม่มีทุกข์อยู่ที่ตรงนั้น ตรงที่จิตมันว่าง ถ้าเราไปรักความดีก็เป็นทาสของความดี ไปรักความชั่วก็เป็นทาสของความชั่ว แล้วก็ทำให้เราเป็นทุกข์ทั้งความชั่วและความดี
ฉะนั้น เราไม่หมายมั่นทั้งความชั่วและความดี อยู่ว่างตรงกลางนี่ เราไม่มีความทุกข์เลย คำว่า อัปรีย์ อัปรีย์นี้ ภาษาบาลีมันแปลว่า ไม่น่ารัก ความหมายไม่รุนแรงเหมือนในภาษาไทยอะ อัปรีย์ ปรีย์ แปลว่ารัก อัป แปลว่าไม่ อัปรีย์แปลว่าไม่น่ารัก ทั้งความชั่ว ทั้งความชั่วความดีล้วนแต่อัปรีย์ ก็หมายความว่า ทั้งความชั่วและความดีล้วนแต่ไม่น่ารัก ไปรักเข้าไปสิมันกัดเอาทันทีอะ ไปรักเข้าเถอะมันกัดเอาทันที ทั้งความชั่วและความดี ฉะนั้นจึงอยู่อย่างว่าง ไม่ไปแตะกับความชั่ว ไม่ไปแตะกับความดี นี่เรียกว่ามีจิตว่าง จะว่างได้จริงโดยอัตโนมัติก็อย่ามีตัวกู มันก็ไม่ต้องการชั่ว ไม่ต้องการดี เพราะว่ามันไม่มีตัวกู คือมันไม่มีอะไรที่เป็นที่ต้องการ มีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่างคืออย่างนี้ ประเสริฐที่สุด เป็นชีวิตที่หลุดพ้นแล้วจากสิ่งทั้งปวง จากสิ่งทั้งปวง หลุดพ้นแล้วจากสิ่งทั้งปวง ไม่มีความทุกข์เลย
ทีนี้ ที่จะให้เห็นว่ามันไม่ ไม่ไหวทั้งชั่วทั้งดี ก็คือคำว่า ตถา หรือ ตถตา ตถา แปลว่า เช่นนั้น ตถตา แปลว่า ความเป็นเช่นนั้น มันมีความเป็นเช่นนั้น ที่ใกล้ที่สุดไอ้ความเป็นเช่นนั้นมันหมายความว่า ไอ้ความดีก็กัดเอา ความชั่วก็กัดเอา นั่นคือความเป็นเช่นนั้น ความเป็นเช่นนั้นที่มันใกล้ที่สุดน่ะ แม้ไอ้ความดีไปยึดถือเข้ามันก็กัดเอา ความชั่วไปยึดถือเข้ามันก็กัดเอา นั่นน่ะคือ คือความเป็นเช่นนั้น ความชั่วหรือความดีก็ตามล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งความชั่วและความดีมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะเอามาเป็นของเรามันก็กัดเอาสิ เพราะมันไม่ยอมเป็น มันจะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของมันเรื่อย เราจะเอามาเป็นของเรา อยู่กับเรา อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ มันก็กัดเอาสิ มันเป็นสัตว์ป่าที่ดุร้ายที่สุด ไอ้สังขารประเภทนี้มันมีความเป็นอย่างนั้นของมัน ฉะนั้นถ้าใครถือคาถานี้ได้แล้วก็ คนนั้นจะไม่มีความทุกข์เลย ตถตา ความเป็นอย่างนั้น วันนี้ไม่ได้ ไม่ได้วางพัดอันนั้นที่เขียนว่าตถตา มันจะไม่มีความรัก ไม่มี ไม่มีความโกรธ ไม่มีความเกลียด ไม่มีความกลัว ไม่มีความอาลัยอาวรณ์ ความระแวง ความหึงหวง ความอะไรต่างๆ หมดแหละ ถ้าว่ามันเห็นตถตา เห็นตถตาก็คือ เห็นว่าอย่างนั้นเอง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวตน เห็นว่างจากตัวตนน่ะ คือเห็นตถตา เห็นอนัตตาคือเห็นว่ามันไม่ ไม่เป็นอัตตาได้ เมื่อ เมื่อ เมื่อเห็นอย่างนั้นมันก็ไม่รักอะไร ไม่เกลียดอะไร ไม่กลัวอะไร ไม่โกรธอะไร ไม่ ไม่อะไรทุกอย่างต่ออะไร ก็เลยไม่มีความทุกข์
ช่วยจำไว้เป็นหลักสั้นๆ ั้น ด้ามเป็นอย่างนั้นของมัน งั้ว่า ถ้าคุณเกิดความทุกข์ขึ้นมาในใจแม้แต่นิดเดียว ก็รีบหาให้พบเถอะว่าเรามันโง่ในเรื่องตถตาเข้า เข้าอย่างหนึ่งแล้วแหละ เราไม่เห็นตถตาก็อย่างหนึ่งแล้วแหละ เราจึงได้เกิดความทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะว่าความทุกข์นี้มันมีหลายสิบแบบหลายร้อยแบบ แต่ว่าทุกแบบมันมาจากความไม่เห็นตถตา ถ้ามันเห็นตถตา มันก็อย่างนั้นเอง มันก็เฉยได้ มันก็ไม่เป็นทุกข์หรอก ดีก็ไม่เอา ชั่วก็ไม่เอา เพราะว่ามันเป็นตถตาเหมือนกัน ไปเอาเข้ามันกัดเอาทั้งนั้น คือเป็นทุกข์ทั้งนั้น นี่ อยู่ด้วยจิตว่างเพราะเห็นตถตาอยู่เสมอ ไม่มีความทุกข์เลย นี่พระพุทธเจ้าเป็นผู้รับประกัน คำสอนของท่านเป็นอย่างนั้น เรามีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่างนี่ ว่างจากความหมายแห่งตัวกูของกู เราจะไม่มีความทุกข์เลย ในระดับนิวรณ์ก็ไม่เป็นทุกข์ ในระดับกิเลสก็ไม่เป็นทุกข์ ไอ้เรื่องของกิเลสนี้มันมีอยู่ ๒ ระดับ ไอ้ระดับนิวรณ์มันเกิดตามธรรมชาติคล้ายๆ กับเป็นสัญชาตญาณ ซึ่งมันเกิดตลอดเวลาแหละ ตั้งแต่เป็นเด็กไปกระทั่งตายเลย นิวรณ์ ๕ อย่า อย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย พยายามจำชื่อมันให้ได้ รู้จักมันให้ดี ไอ้ความรู้สึกที่เกิดง่ายที่สุดตามธรรมชาติของสิ่งที่มีชีวิต แล้วก็คอยเกิดห่อหุ้มจิตใจอยู่ ไม่ให้พบกับความว่าง ไม่ให้พบกับความสดชื่นแจ่มใส เรียกว่า นิวรณ์
นิวรณ์ แปลว่าห่อหุ้มหรือปิดกั้น จิตของเราไม่พบกับความสงบสุขก็เพราะมันมีนิวรณ์ห่อหุ้ม ปิดกั้น เป็นธรรมชาติตั้งแต่อ้อนแต่ออกทุกวัน ทุกวัน ทุกวันไปจนกว่าจะตาย แต่มิได้หมายความว่ามันจะเกิดพร้อมกันทั้ง ๕ อย่าง หรือว่าเกิดอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่มีระยะว่าง มันก็มีเหมือนกัน แต่โดยส่วนมากนั่นมันมี นิวรณ์ที่ ๑ คือ กามฉันทะ คือความรู้สึกคิดนึกที่มันเอียงไปในทางเพศ ทางเพศ ทางกามารมณ์ กามฉันทะ มันก็เกิดได้แก่ทุกคนทั้งหญิงทั้งชาย คอย คอยเหมือนกับว่าคอยตอแยอยู่เรื่อยไป ความรู้สึกทางเพศน่ะรบกวนอยู่เรื่อยๆ ไป ตามแบบของนิวรณ์
อันที่ ๒ เรียกว่า พยาบาท คือ ขัดใจอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ไม่มากก็น้อย ขัดใจ ไม่ชอบใจอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ จิตไม่เกลี้ยง จิตไม่สงบ จิตไม่เย็น บางทีมันทะเลาะกับแมวก็ได้ บาง บาง บางทีมันทะเลาะกับเตาอั้งโล่ก็ได้ มันทะเลาะกับแก้วน้ำก็ได้ นี่ มันขัดใจอย่างนี้ มันจะต้องมีอยู่ว่าส่วนที่เรียกว่าความขัดใจ ไม่ชอบ
นี่ อันที่ ๓ ก็เรียกว่า ถีนมิทธะ คือ จิตถอยกำลัง จิตละห้อย ละเหี่ย เพลีย เหมือนกับหมดแรงอย่างนั้นน่ะ นี่ ที่ว่าจิตตก จิตสูญกำลัง มันมีอยู่บ่อยๆ ที่เราไม่มีจิตเข้มแข็ง เป็นที่พอใจของเรา จิตมันอ่อนแอ ละเหี่ยละห้อย ง่วงเหงา ซึมเซา มึนเมา มันก็รบกวนไม่ ไม่ ไม่ให้จิตได้พบกับความเยือกเย็นเป็นสุข แล้วมันก็เกิดเองได้โดยปัจจัยที่ง่ายที่เล็กน้อยที่สุดตามธรรมชาติมันก็เกิดได้ หรือว่าเราไปทำผิดเข้า มันก็ยิ่งเกิดมาก
อันที่ ๔ เรียกว่า อุทธัจจกุกกุจจะ จิตมันฟุ้งซ่านเกินพอดี เตลิดเปิดเปิงเหมือนกับคนบ้า นี่มันก็มีได้ มีได้ ด้วยเหตุปัจจัยเพียงเล็กน้อยตามธรรมชาติ
อันสุดท้ายเรียกว่า วิจิกิจฉา ไม่มีความแน่ใจในสิ่งที่ควรจะแน่ใจ ไม่แน่ใจในชีวิต ไม่แน่ใจในความปลอดภัยของตน ไม่แน่ใจในความสามารถของตน ไม่แน่ใจในการคุ้มครองอารักขาที่ตนมีอยู่ ไม่แน่ใจทุกอย่าง รวนเร โลเล รวนเร จนกระทั่งไม่แน่ใจในพระพุทธ ไม่แน่ใจในพระธรรม ไม่แน่ใจในพระสงฆ์ นี้มันต้องมีแหละ ไอ้พวกที่รับสรณาคมณ์ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ อยู่นี่ปากมันว่าทั้งนั้นแหละ แต่ในใจมันไม่ได้แน่อย่างนั้นหรอก มันรับ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันหนน่ะ แต่ในใจที่แท้จริงมันไม่ได้แน่อย่างนั้นหรอก เขาอาจจะมาจ้างให้ไปถือลัทธิอื่น ถือศาสนาอื่น ทิ้งพระพุทธเจ้าแล้ว หรือจะไปจ้างให้ทำบาปทำกรรมก็ทิ้งพระธรรมแล้ว หรือมีอะไรมายั่วพระธรรมไม่น่าดูแล้ว มันก็ทิ้งพระสงฆ์ไปแล้ว มันไม่แน่ใจ เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เล็กน้อยนะ ถ้าไม่สังเกตให้ดีจะไม่มองเห็นนะ ไอ้ความที่เราไม่แน่ใจเฉียบขาดลงไปเหมือนกับมีดโกน ตัดให้มันขาดลงไปน่ะ มันไม่ค่อยมี
นิวรณ์ทั้ง ๕ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา เป็นสิ่งประจำอยู่กับคนธรรมดาที่เกิดมามีสัญชาตญาณแห่งตัวกู มันอยู่ใต้สำนึก ไม่ต้องรู้สึกเป็นสำนึก เต็มสำนึกหรอก มันอยู่ใต้สำนึก ครึ่งสำนึก แล้วมันออกมาได้ง่ายๆ อะ ความรู้สึกทางกามารมณ์ไม่มีเหตุผล ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยมันก็รู้สึกขึ้นมาเอง ความรู้สึกขัดใจอะไร อ่า, อยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็มีได้เอง มีได้ง่าย ยิ่งเป็นคนผูกอาฆาตพยาบาทแล้วจะมีตลอดเวลาเลย มันจะมีสิ่งที่ไม่ชอบอยู่อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ตลอดเวลาเลย กระทั่งเห็นว่าไอ้โลกนี้ทั้งหมดนี้ ไม่น่า ไม่น่า ไม่น่ารัก ไม่น่าพิสมัย อึดอัด เป็นศัตรูแก่เราไปหมดทั้งโลก อย่างนี้ก็มีได้ถึงขนาดนั้น ส่วนจิตแฟบจิตฟูนี่ เป็นของธรรมดาที่สุด บางวันจิตห่อเหี่ยว อยากจะนอน ไม่อยากจะทำอะไร บางที บางทีจิตก็ฟุ้งซ่าน ฟุ้งจนคิดอะไรไม่ถูกนี่ก็มี แล้วก็วิจิกิจฉา มันขาดไปไม่ได้ แต่มันระงับไปได้ด้วยสมาธินะ แต่มันจะขาดเชื้อรากเหง้าไปไม่ได้ จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์
ไอ้นิวรณ์นี่ เราระงับได้ด้วยสมาธิ แต่ไม่ได้ขาด ไม่ได้ขาดเชื้อ ฉะนั้นถ้าทำสมาธิได้ก็หมายความว่าขับไล่นิวรณ์ไปได้ทันที แต่มันยังเกิดได้อีก มันไม่สูญเชื้อ มันไม่ขาดเชื้อ จนกว่ามันจะหมดอนุสัยแห่งตัวกู มันไปคราวเดียวกันกับไปเป็นพระอรหันต์น่ะ หมดความหมายแห่งตัวกู หมดอุปาทานว่าตัวกู หมดอนุสัยแห่ง มมังการ มมังการ มานานุสัย เมื่อนั้นน่ะ นิวรณ์จึงจะไม่มีอีก คือเป็นพระอรหันต์กันแล้ว นิวรณ์จึงจะไม่มาเยี่ยมกรายอีก มิเช่นนั้นมันจะมาเยี่ยมกรายบ่อยๆ แต่ปัดไปได้ด้วยไม้กวาด คือสมาธิ เอาสมาธิปัดกวาดนิวรณ์ออกไปได้ทุกคราวที่มันมา พอนี้จิตก็เกลี้ยงว่างไปพักหนึ่ง เพราะไม่มีนิวรณ์ ก็จิตว่างเหมือนกัน ในระดับหนึ่ง ทำจิตให้ปราศจากนิวรณ์ก็เรียกว่า มีจิตว่าง
ทีนี้ทำจิตให้ปราศจากกิเลส คือไม่ให้เกิดโลภะโทสะโมหะโดยตรง นั่นก็คือเรื่อง อิทัปปัจยตา ที่อธิบายไปแล้ว ว่าถ้าเราทำผิดเมื่อมีผัสสะ มันจะเกิดเวทนาโง่ เกิดความอยากโง่ คือตัณหา แล้วก็อุปาทาน ต้องมีความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นกิเลสเต็มตัว ทำผิดเมื่อมีผัสสะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะเกิดกิเลสเป็นโลภะ โทสะ โมหะเต็มตัว ไอ้นี่ ไอ้นี่เต็มยิ่งกว่านิวรณ์ คือมันเต็มความรู้สึก ไอ้นิวรณ์นี้มันกึ่งความรู้สึกเสียโดยมาก เชื้อกิเลสนี่มันเข้มข้นกว่านิวรณ์ เราก็สามารถจะกำจัดได้ หรืออย่างน้อยก็ป้องกันได้ โดยอย่าทำผิดเมื่อผัสสะ อย่าทำผิดเมื่อผัสสะ กิเลสจะไม่เกิด ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะกิเลส แล้วก็บำเพ็ญไอ้ความถูกต้องเรื่อยๆ ไปจนกว่ากิเลสจะสิ้นเชื้อราก สิ้นเชื้อสิ้นราก คือถอนรากเสียได้ ด้วยอำนาจของความรู้แจ้ง ตถาตาอีกแหละรู้แจ้ง ตถาตาอีกแหละ มันก็ไม่เกิดโง่เมื่อผัสสะ เมื่อมีผัสสะแล้วมันไม่โง่เพราะมันเห็นตถาตา เห็นตถาตา มันอย่างนั้นเอง อย่างนั้นเอง ในเวทนาอย่างนั้นเอง ก็ไม่รักสุขเวทนา ไม่เกลียดทุกขเวทนา ไม่ยินดียินร้ายในเวทนาชนิดไหน เพราะเห็นตถาตา ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็ไม่เกิด แต่โดยที่ไอ้ความเห็น ไอ้การเห็นตถาตามันยังไม่ถึงที่สุด มันก็มีเวลาเผลอกลับมาอีกได้
ดังนั้นต้องปรับปรุงให้การเห็นตถาตานั้น ไม่เผลอ ไม่มีทางเผลอ ไม่มีทางลืม ไม่มีทางเลือน มันก็เลยกิเลสจะไม่เกิด ไม่เกิด ไม่เกิด จนเปลี่ยนชินเป็นนิสัย คือไม่เกิด เพราะว่าถ้ามันไม่ ทำให้ไม่เกิดได้ครั้งหนึ่ง มันจะลดความเคยชินที่จะเกิดนิดหนึ่ง ทำอย่าให้มันเกิดได้ มันจะเกิด แล้วทำอย่าให้มันเกิดได้ นี่มันจะลดความเคยชินที่จะเกิดลงไปนิดหนึ่ง นิดหนึ่ง นิดหนึ่ง นิดหนึ่ง จนความเคยชินที่จะเกิดนี่มันหมดเลย ที่เรียกว่าอหังการ มมังการ มานานุสัย ความเคยชินที่จะเกิดตัวกูของกูมันหมดไป หมดไป จนหมดเลย เรื่องมันก็จบกัน คือไม่มีกิเลส นี่ว่างถึงที่สุด จิตว่างเป็นอย่างนี้
มีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่างก็สบาย ไม่มีความทุกข์ เพราะมันไม่มีตัวกูสำหรับจะเป็นทุกข์ ถ้าจิตมันไม่มีตัวกูแล้วมันจะว่างไปหมด ทำงานก็ทำด้วยจิตว่าง รับผลงานก็รับด้วยจิตว่าง เก็บผลงานไว้ก็เก็บไว้ด้วยจิตว่าง กินผลงานเข้าไปก็กินด้วยจิตว่าง หรือจะแจกจ่ายให้ผู้อื่นได้กินด้วยก็ทำไปด้วยจิตว่าง ถ้าจิตมันว่างเสียอย่างเดียว มีชีวิตด้วยจิตว่างเสียอย่างเดียวแล้ว อะไรๆ มันก็จะว่างไปหมด ทำงานด้วยจิตว่าง ไม่เหน็ดเหนื่อยเพราะว่ามัน มัน มัน ไม่ได้ทำด้วยความยึดมั่นถือมั่นเพื่อตัวกู ไม่มีความหวัง ไม่มีความทะเยอทะยาน ไม่มีความหิว ทำกันธรรมดา ธรรมดา เหมือนด้วยสติสัมปชัญญะ มันก็ไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่เป็นทุกข์ พอได้ก็ไม่ดีใจ ไม่ได้ก็ไม่เสียใจ แต่ถ้าทำด้วยจิตว่างแล้วมันเต็มด้วย มันเต็มอยู่ด้วยสติปัญญา มันจะสม สมความต้องการเสมอแหละ แต่ไม่ต้องไปต้องการอะ อย่าไปเป็นแม่ไก่บ้า ที่ฟักลูกด้วยความคิดว่า ลูกจงออกมา ลูกจงออกมา แม่ไก่บ้า อย่างที่พูดไปวันก่อนน่ะ แม่ไก่บ้า ฉะนั้นขอให้ทำไปด้วยจิตที่ไม่ต้องหวังว่ามันจะมีอะไรขึ้นมา
เมื่อทำถูกต้องตามเรื่องนั้นๆ แล้ว ผลมันก็จะออกมาถูกต้องตามเรื่องที่ควรจะได้รับ เหมือนแม่ไก่มันฟักลูกถูกต้องดีแล้ว ลูกไก่มันก็ออกมาล่ะ ไม่ต้องไปเร่งว่าลูกไก่จงออกมา ลูกไก่จงออกมา เป็นแม่ไก่บ้า ทีนี้เด็กๆ ที่จะเรียนหนังสือ หรือจะทำอะไรก็เหมือนกันน่ะ อย่าทำด้วยจิตวุ่นวายอย่างนั้น จงทำด้วยจิตว่างเต็มไปด้วยความถูกต้อง แล้วการเรียนมันก็ดี มันก็สอบไล่ได้ หรือเป็นผู้ใหญ่ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นอะไรแล้วก็เหมือนกันน่ะ จะทำอะไรจงทำด้วยจิตที่ไม่หมายมั่นยึดถือให้เป็นทุกข์ทรมานจิตใจ ทำไปอย่างถูกต้อง คอย คอยเตือนตัวเองไว้เสมอว่าไม่เป็นแม่ไก่บ้า กูจะไม่เป็นแม่ไก่บ้า อย่างนี้มันก็จะไม่มีความทุกข์ และความทุกข์มันจะน้อยลง ทุกคนน่ะ ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ไถนาก็ได้ ทำสวนก็ได้ ทำอะไรก็ได้ทุกอย่างเลย ทำด้วยจิตว่าง แล้วก็จะไม่มีความทุกข์ เพราะว่าเรามีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่าง ที่จิตว่างนี้ไปทำอะไรก็ทำด้วยความว่าง ได้ผลงานอะไรมา มันก็ได้มาด้วยจิตว่าง เก็บผลงานไว้ สต๊อกไว้ มันก็สต๊อกไว้ด้วยจิตว่าง เอามากินมาใช้ก็กินด้วยจิตว่าง จะแบ่งให้เพื่อนบ้างก็แบ่งด้วยจิตว่าง มันไม่มีความทุกข์ โดยประการทั้งปวง
นี่ ธรรมะนี้ เรื่องมีชีวิตให้อยู่ด้วยจิตว่าง ขอให้สนใจ เป็นธรรมะที่จะต้องเอามาเติม เติมลงไปในชีวิต เพราะว่าชีวิตของเรายังขาดความว่างอยู่มาก มีแต่ความวุ่น เติมธรรมะ เรื่องความว่างนี่ ลงไปในชีวิตให้พอ เราก็จะมีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่าง ว่างจากความทุกข์โดยประการทั้งปวง แต่เต็มอยู่ด้วยความสงบเย็น คือพระนิพพาน เพราะมันไม่มีกิเลสซึ่งเป็นไฟ มันก็เย็นเป็นนิพพานอยู่ในจิตว่างนั้นเอง จิตว่างมีความหมายอย่างนี้ แต่เขาเอาไปล้อกันว่าเป็นเรื่องไม่รับผิดชอบอะไร ทำอะไรก็ไม่ต้องรับผิดชอบเพราะว่ากูทำด้วยจิตว่างอย่างนี้ ไอ้พวกเหล่านั้นน่ะ กลับเป็นผู้ที่ได้รับโทษ รับกรรมของความมีจิตวุ่น เพราะมันหลอกตัวเองของมัน และมาล้อจิตว่าง
ที่เป็นครูบาอาจารย์ก็มี แต่อย่าออกชื่อเลย เขาไปพูดบรรยายที่ทางวิทยุก็มีล้อเรื่องจิตว่าง คือเขาไม่มีความรู้เรื่องจิตว่างอย่างถูกต้อง เข้าใจไปตามความคิดของตัวแล้วก็เอาไปล้ออยู่ เคยได้ยินด้วยตนเองอะ ทางวิทยุ เดี๋ยวนี้ขอยืนยันว่าไอ้คำว่าจิตว่างนั้นน่ะ เป็นคำที่ถูกต้อง มีเหตุผล ใช้เป็นประโยชน์ได้ คือจงจัดทำจิตของตนให้เหลืออยู่แต่ร่างกาย จิต การรู้สึกคิดนึกของจิต ๓ อย่างเท่านั้นน่ะ อย่ามีความหมายแห่งตัวตนเข้าไปปะปนอยู่ที่ไหน มีร่างกายล้วนๆ มีจิตล้วนๆ มีความรู้สึกคิดนึกของจิตในทางถูกต้อง แล้วก็ไม่ต้องมีตัวตน ไม่ต้องมีตัวตน ตัวกูเป็นเจ้าของสิ่งเหล่านี้ อย่างนี้เรียกว่าสามารถจะทำให้ชีวิตนี้ว่างจากความหมายแห่งตัวตน มีแต่ไอ้ร่างกายบริสุทธิ์ จิตใจบริสุทธิ์ ความคิดนึกบริสุทธิ์ ไม่มีความหมายแห่งตัวตน พระพุทธเจ้าเป็นผู้รับประกันว่าเขาจะไม่มีความทุกข์เลย
นี่การบรรยายนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ให้ถือว่าเรื่องมีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่างนี่ เติมขยายความไปว่า ที่บรรยายแล้ววันก่อนว่าจงเติมธรรมะลงไปในชีวิตให้เต็ม คือเติมความรู้เรื่องจิตว่างลงไปในชีวิตให้เต็ม แล้วประพฤติปฏิบัติให้มันว่างอยู่อย่างนั้น แล้วจะไม่มีความทุกข์เลย การบรรยายนี้สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายเอาไปคิดไปนึก แล้วพยายามปฏิบัติให้ได้รับประโยชน์ให้มากที่สุด มีความสุข สงบเย็นอยู่ทุกทิพาราตรีกาล เทอญ