แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผมอยากจะพูดอะไรบางอย่างอีกสักเล็กน้อย (มีเสียงแทรก นาทีที่ 01:12-01:18) ให้เข้าใจเพียงพอสำหรับจะเข้าใจเรื่องทั้งหมด ซึ่งเห็นว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ คือว่าธรรมะนั้นมันไม่ๆๆมีเรื่องอื่นนอกจากเรื่องความดับทุกข์ แต่เรื่องความดับทุกข์มันต้องรู้เรื่องความทุกข์ด้วย แล้วก็รู้อยู่ว่าเรามีความทุกข์ด้วย แล้วมันจึงจะไปสนใจเรื่องไอ้ความดับทุกข์ได้ ถ้าคนๆนั้นมันไม่รู้จักความทุกข์และไม่รู้สึกตัวว่ามีความทุกข์นะแล้วมันจะไปศึกษาพุทธศาสนา มันก็คือคนบ้านั่นเอง ขอให้ช่วยจำไว้ด้วย มันไม่มีความทุกข์ ไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์ แล้วมันจะไปศึกษาพุทธศาสนาอย่างนี้มันไม่มีเหตุผล แต่ว่าเขาอาจจะพูดว่าศึกษาเป็นความรู้ เอาความรู้นั้นไปหากินด้วยการสอน เป็นครูสอน เป็นนกแก้วนกขุนทองไปโดยไม่มีการปฏิบัติ ก็ได้เหมือนกัน แต่ถ้าทำอย่างนั้นมันไม่ใช่พุทธศาสนา มันไม่ใช่พุทธศาสนา ถ้าทำอย่างนั้นมันไม่ใช่พุทธศาสนา มันเป็นวิชาอะไรทั่วๆไป แปลกๆ คนเขาอยากรู้แล้วเราไปสอนให้ แล้วคิดค่าสอน ฉะนั้นขอให้ถือเป็นหลักอย่างนี้ก่อนว่า พุทธศาสนาต้องเป็นเรื่องดับทุกข์ อย่างที่พระพุทธเจ้าเองท่านประกาศว่า ตถาคตพูดแต่เรื่องความทุกข์กับเรื่องความดับทุกข์เท่านั้น แม้จะพูดถึงเรื่องธรรมชาติหรือกฎของธรรมชาติ มันก็เนื่องกันอยู่กับเรื่องการดับทุกข์นั่นเอง
ไอ้หน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั้นมันมีมาก แต่ที่มันเป็นพุทธศาสนานั้นมันต้องเป็นหน้าที่ในการดับทุกข์ จนพูดได้ว่าเรามีหน้าที่ที่จะดับทุกข์ ฉะนั้นขอให้เราทุกคนนี่ มี มีปัญหาอย่างนี้ คือมีๆปัญหาที่ถูกต้องกับเรื่องที่จะศึกษา จะศึกษาเรื่องดับทุกข์ ก็ต้องมีปัญหาเรื่องความทุกข์ นี่เป็นข้อแรก พระไตรปิฎกมีมาก เป็นปริมาณมาก แต่มันเรื่องทุกข์กับเรื่องดับทุกข์ทั้งนั้นแหละ แม้จะพูดถึงเรื่องอื่น เป็นเรื่องเล่าเรื่อง เป็นเรื่องท้องเรื่อง นิทานนั้นมันก็เป็นเปลือกทั้งนั้นแหละ มันก็เป็นเรื่องส่วนประกอบหรือเป็นเปลือกของธรรมะ เพราะฉะนั้นในสูตรๆหนึ่งมันก็ต้องมีเปลือกบ้างเป็นธรรมดา ฉะนั้นเราต้องจับเนื้อแท้ของพระสูตรนั้นให้พบ เพราะฉะนั้นก็ขอให้ตายใจ นอนใจ แน่นอนใจ แน่ใจว่ามัน เราจะพูดกันแต่เรื่องความดับทุกข์ แม้จะพูดเรื่องความทุกข์ ก็เพื่อความดับทุกข์ นี่เรื่อง เรียกว่าเรื่องพระพุทธศาสนา
ทีนี้ข้อถัดมา ที่อยากจะให้ทราบติดกันน่ะ ต่อกันไปก็คือว่า ไอ้เรื่องทุกข์หรือเรื่องความดับทุกข์นี่ มันเป็นเรื่องของจิตใจ อยู่ที่จิตใจ ไอ้เรื่องข้างนอกแม้มันจะเกี่ยวข้องกัน เรื่องข้างนอกนั้นไม่ใช่ตัวเรื่องหรอก มันๆๆๆ แต่มันเนื่องกับเรื่องข้างใน ไอ้เรื่องข้างในใจน่ะ ฉะนั้นเรื่องในใจน่ะคือตัวเรื่อง ตัวเรื่องแท้ๆมันอยู่ที่ในใจ บางทีก็เรียกว่าจิต เรียกทั่วๆไปว่าจิต มันเป็นเรื่องของจิต เกี่ยวกับจิต ที่จิต โดยจิต เกี่ยวกับจิตโดยประการทั้งปวง ที่มันเป็นธรรมะแท้น่ะ เป็นธรรมะสมบูรณ์นั่นมันๆ มันจะต้องไปถึงเรื่องของจิต ต้องเป็นเรื่องของจิต ถ้ายังเป็นเรื่องของวัตถุมันก็ยังไม่ใช่เรื่องธรรมะ ให้เรื่องของวัตถุนี่มันเป็นอุปกรณ์ประกอบอยู่กับเรื่องของจิต ตัวเรื่องแท้ๆมันอยู่กับจิต อยากจะให้เข้าใจเรื่องนี้ที่สุด แล้วก็ตามหลักธรรมะที่เราจะศึกษากันแล้ว ทุกเรื่องมันเป็นเรื่องของจิต ที่จิต โดยจิต บาลีแท้ๆในนิเทศมันก็มีอยู่ว่า ชีวิตัง อัตตะภาโว จะ สุขะทุกขา จะ เกวะลา เอกะจิตตะสะมา ยุตตา ละหุเส วัตตะโต ขะ วัตตะเต ขะโณ พระพุทธโฆษาจารย์ เอามาใส่ไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค และแบบเรียนนักธรรมเอามาจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค เห็นบอกที่มาว่ามาจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ที่จริงมันเป็นเรื่องในบาลีมหานิเทศ เรียกได้ว่าเป็นหลักธรรมะในชั้นบาลีน่ะ ในชั้นบาลี ซึ่งเขาถือกันว่าเป็นพุทธภาษิตด้วยเหมือนกัน หรือว่าพระพุทธเจ้ารับรอง ฉะนั้นขอให้เราเพ่งเล็งไปยังสิ่งที่เรียกว่าจิต
ตามพระบาลีนั้นเขาว่า ไอ้ชีวิตที่เรียกว่าชีวิตๆนั่นก็อยู่ที่จิต ไม่ได้มาอยู่ที่ร่างกาย ไอ้ร่างกายนี้มันก็พูดอย่างภาษาคนธรรมดาพูด หรือว่าดูกันที่ข้างนอก ชีวิตที่ยังเป็นๆอยู่ที่ร่างกายนี่ คือเป็นภาษาวัตถุ ภาษาจิตวิทยา ภาษาวิทยาศาสตร์ เขาก็เอาที่วัตถุ ถ้าวัตถุยังสด ยังไม่ตาย ก็เรียกว่ามีชีวิต แต่ธรรมะไม่ๆๆ ไม่มีหลักอย่างนั้น เอากันที่ตัวจิตน่ะ ตัวชีวิตนั่นมันอยู่ที่จิต จิตที่ยังรู้สึกคิดนึกอะไรได้นี้จึงจะเรียกว่ามันมีชีวิต เมื่อพูดว่าเมื่อชีวิตอยู่ก็คือจิตยังทำงานได้
ทีนี้อัตภาพ อัตตะภาโว จะ อ่า, ชีวิตัง อัตตะภาโว จะ สุขะทุกขา จะ เกวะลา อัตภาพภาษาคนธรรมดา อัตภาพก็คือร่างกาย ที่เนื่องอยู่ด้วยชีวิตทางร่างกาย นี้เรียกว่าอัตภาพ เช่น คนๆนี้มีร่างกายอย่างนี้ นั่นน่ะเรียกเขามีอัตภาพอย่างนี้ แต่ภาษาธรรมะไม่เอาที่นั่น เอาที่จิต จิตปรุงแต่งกันขึ้น มีลักษณะอย่างไรในเรื่องหนึ่งๆ จิตที่มีลักษณะอย่างนั้นน่ะก็เรียกว่าอัตภาพ แล้วก็อยู่ในกายที่ๆๆเป็นเปลือกข้างนอก อัตภาพอยู่ที่รูปแบบของจิตแบบหนึ่งๆ แบบใดก็ได้หลังจากที่มันปรุงแต่งลงไปถึงที่สุดในกรณีหนึ่งๆแหละ แล้วมันเปลี่ยนเรื่อยไปและมันไม่ได้คงที่ ดังนั้นเราจึงมีอัตภาพที่เปลี่ยนเรื่อยไป อัตภาพที่เปลี่ยนเรื่อยไปตามความคิดของจิต จิต จิตคิดเลว จิตคิดไม่เลว จิตเป็นอย่างไร จิตคิดรูปแบบไหน ก็เอารูปแบบของจิตนั่นแหละเป็นอัตภาพ ฉะนั้นอัตภาพจึงเปลี่ยนเรื่อย แล้วเราจึงได้อัตภาพใหม่เรื่อยสิ ทุกคราวที่จิตมันเปลี่ยน เพราะฉะนั้นวันหนึ่งเราได้อัตภาพหลายแบบ หลายๆๆ หลายอัตภาพ ตามชนิดของมัน แต่ถ้าเราเอาข้างนอกเป็นเกณฑ์ เรามีอัตภาพเดียว เรามีรูปร่างอย่างคน มีอัตภาพอย่างนี้จนจะ กว่าจะเข้าโลง นี่มันอัตภาพเดียวอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องทางกายหรือทางวัตถุ
แต่ถ้าทางธรรมะ เขาก็เอาจิตเป็นหลัก จิตรูปแบบหนึ่งก็เรียกว่าอัตภาพหนึ่ง พอจิตเปลี่ยนรูปแบบของจิตก็คือเปลี่ยนอัตภาพ ฉะนั้นเราก็มีการเกิดใหม่หรือเปลี่ยนใหม่แห่งอัตภาพอยู่เรื่อย ถ้าเราคิดดี เราก็มีอัตภาพดี คิดชั่วมีอัตภาพชั่ว ถ้าเราคิดอย่างสัตว์เดรัจฉาน เราก็มีอัตภาพเป็นสัตว์เดรัจฉาน มันอยู่ข้างใน ไม่ใช่รูปร่างข้างนอก ฉะนั้นคำว่าอัตภาพนี้จึงเป็นสิ่งที่เราได้ใหม่อยู่เสมอ ทุกครั้งที่จิตมันเปลี่ยนไปตามการปรุงแต่ง นี่คือคำที่ฟังยาก เข้าใจยาก เรียนยากในพระบาลี แล้วในอัตภาพตามที่ได้แล้วอย่างไร หมายความว่า อัตภาพนั้นก็คือรูปแบบแห่งจิตใจที่กำลังอยู่ในร่างกายนี้ในขณะหนึ่ง ไอ้รูปแบบร่างกายนี้ไม่เปลี่ยน แต่ข้างในเปลี่ยน ก็เรียกว่าได้อัตภาพใหม่ ฉะนั้นเราจึงต้องรู้ว่า เราพูดภาษาธรรมะแล้วก็มันอัตภาพอยู่ มีรูปแบบอยู่ข้างใน ถ้าเราพูดภาษาคน ก็มันเอาที่ร่างกายภายนอก นี่เรื่องภาษาธรรม ภาษาคน ซึ่งไม่ค่อยจะสนใจกันมาก่อน ทำให้เข้าใจธรรมะไม่ได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่อยากจะให้เข้าใจกันไว้
ทีนี้ไอ้คำที่ ๓ สุขะทุกขะ สุขะทุกขัง จะ เกวะลา ชีวิตัง อัตตะภาโว จะ สุขะทุกขัง จะ เกวะลา ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี ก็อยู่ที่จิต ที่รู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ไม่ใช่เอาที่ความรู้สึกร่างกาย ที่ๆร่างกายข้างนอก หรือลึกเข้าไปอีกก็ระบบประสาทนี้ก็ไม่ใช่ จะเอาที่ความรู้สึกของจิต อันนี้สำคัญเพราะว่าเรากำลังศึกษาเรื่องความทุกข์และความดับทุกข์ ตัวจริงของจริง มีความทุกข์กับความไม่มีทุกข์ ไอ้สุขนี่เป็นเรื่องสมมติ เป็นคำพูดสมมติ ว่าเมื่อไม่มีทุกข์ก็เรียกว่าสุข หรือถ้ามิฉะนั้นก็ความสุขก็เป็นของเลวมาก หลอกลวงมาก เช่น ความเอร็ดอร่อย รู้สึกสบายนี้ก็เรียกว่าเป็นความสุข ที่จริงมันก็เป็นไอ้ความทุกข์ที่ ที่หลอกลวง ที่ห่อหุ้มไว้ ฉะนั้นเอาที่ความทุกข์ที่รู้สึกแก่จิต ทำไมจึงพูดว่ามันสำเร็จอยู่ที่จิตน่ะ เอกะจิตตะสะมา ยุตตา ประกอบพร้อมอยู่ด้วยจิตดวงเดียว ทำไมมันจึงพูดว่าสำเร็จอยู่ที่จิตดวงเดียว เพราะว่ามันแล้วแต่จิตจะรู้สึก แล้วแต่จิตจะรู้สึก ถ้าจิตรู้สึกว่าเป็นทุกข์มันก็ว่าเป็นทุกข์ ถ้าจิตรู้สึกว่าไม่ทุกข์มันก็ไม่ทุกข์ หรือจะเรียกว่า สมมติเรียกว่าสุข ก็เรียกว่าความสุข จิตมันรู้สึกเป็นสุข
ทีนี้มันสำคัญอยู่ที่ว่าไอ้จิตนี้บังคับได้นะ บังคับให้รู้สึกเป็นอย่างอื่น ผิดไปจากที่คนธรรมดารู้สึก อย่างนี้มันก็ได้ เช่นที่เขาธรรม อ่า, ธรรมดารู้สึกเป็นทุกข์กัน บางคนก็สามารถบังคับความรู้สึกไม่ให้เป็นทุกข์นี้ก็ได้เหมือนกัน ดังนั้นจึงว่าแล้วแต่จิตสิ แล้วแต่จิตมันจะทำหน้าที่รู้สึกว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มันจึงมีความสำคัญของเรื่องอยู่ที่ว่า เราสามารถบังคับจิตให้รู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ได้ จำไว้ให้ดีนี่ นี่มันมีประโยชน์ตรงนี้ คือเราสามารถบังคับจิตให้รู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ได้ เมื่อเมียตาย ไอ้คนหนึ่งมันเป็นทุกข์นั่งร้องไห้อยู่ คนหนึ่งมันหัวเราะก็ได้นี่ คุณคิดดูสิ เพราะฉะนั้นจิตมันเป็นสิ่งที่บังคับได้ ให้รู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ได้
เขาเอาเงินมาให้เราสักร้อยล้าน ไม่รู้สึกอะไร แต่ว่าคนหนึ่งได้เงินร้อยล้านเป็นบ้าเลย ดีใจจนเป็นบ้าเลย นี่จิตมันเป็นสิ่งที่บังคับได้และเปลี่ยนได้ตามความรู้สึก เพราะฉะนั้นเรารู้วิธีที่บังคับจิต อย่าให้เป็นทุกข์สิ อย่าให้เป็นทุกข์สิ ให้มันเฉยอยู่ก็แล้วกัน นี่ถ้าว่าเป็นธรรมะ เขาเอาเงินมาให้เราร้อยล้านนี้นะ มันไม่มีประโยชน์อะไรแม้แต่เท่าปีกริ้น เท่าขี้ริ้นนะ มันจะทำให้เราเป็นสุขไม่ได้ เงินร้อยล้าน เพราะว่าไอ้ความสุขนั่นมันอยู่ที่ไม่รู้สึกว่ามีอะไรเป็นของเรานู่น เมื่อเราไม่ยึดถือ ไม่รู้สึก ไม่โง่ว่าอะไรเป็นของเรา เมื่อนั้นแหละจะเป็นความสุข เมื่อเราไม่รู้สึกว่ามีอะไรเป็นของเรา เมื่อนั้นจึงจะเป็นความสุขอย่างแบบธรรมะสูงสุดนี่ เอาเงินมาให้เราร้อยล้านมันก็ทำให้เกิดความสุขไม่ได้ เพราะความสุขมันจะมีต่อเมื่อเราไม่รู้ ไม่รู้สึกว่าเรามีเงินนู่น นี่มันต่างกันมากอย่างนี้ ฉะนั้นเราเข้าใจเรื่องพื้นฐานอย่างนี้กันเสียบ้าง
สรุปความว่า ไอ้ความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์นั้นมันอยู่ที่จิต แล้วจิตนั้นบังคับได้ หรือว่าจิตนั้นมันเป็นไปตามไอ้สิ่งที่มาปรุงแต่งจิต สิ่งที่มาปรุงแต่งจิตนั่นแหละมันทำให้จิตเป็นทุกข์ก็ได้ เป็นสุขก็ได้ ไม่เหมือนกันล่ะ ไม่เหมือนกันสักคน เรื่องที่ผมยังจำได้อยู่ ไอ้ลูกหลานเขาไปอยู่ที่เมืองอื่น ที่ชุมพรนั่นน่ะ แล้วเขาก็ อ่า, มันไม่สบาย แล้วก็โทรเลขมาบอกทางนี้ว่า ไอ้เด็กคนนั้นนั่นน่ะหายแล้ว ทีนี้ไอ้เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์มันเขียนเป็นตายแล้ว ตัว ห. มันเขียนเป็นตัว ต. ไอ้ทางนี้มันเกือบจะตายกันหมดทั้งบ้าน นี่มันเป็นทุกข์ขนาดนั้นน่ะ ทั้งที่มันไม่ได้ตาย เพราะฉะนั้นมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับไอ้ ไอ้ความจริงของเรื่องหรอก มันขึ้นอยู่กับไอ้สิ่งที่เข้าไปถึงจิตอย่างไรสิ เข้าไปทำให้ ให้จิตรู้สึกอย่างไร พอทีวันหลังเขาบอกมาว่ามันหายแล้วนี่ ส่งข่าวมาทางไอ้โน่นมันหายแล้ว ไอ้คนเหล่านี้มันก็ไม่มีความทุกข์ เมื่อรู้ว่ามันไม่ได้ตาย มันหายแล้ว ฉะนั้นจิตมันเปลี่ยนไปได้ตามเหตุตามปัจจัย ไอ้ๆข่าวที่บอกมาว่าตายแล้วทั้งที่เป็นข่าวไม่จริงน่ะ แต่ก็มันทำจิตให้เป็นทุกข์เกือบตายเลย ข่าวไม่จริง อันนี้จิตมันไปตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่ง
ทั้งหมดนี้มัน มันพิสูจน์ให้เราเห็นได้ว่า ไอ้จิตนี้มันบังคับได้ เปลี่ยนได้ เพราะมันไปตามเหตุตามปัจจัย เราศึกษารู้ให้ดี รู้ๆ รู้จักไอ้ปรับปรุงเหตุปัจจัย หรือปรับปรุงจิตที่เกี่ยวกับเหตุกับปัจจัยเพราะฉะนั้นพุทธศาสนาก็คือเรื่องนี้เอง เรื่องนี้เอง ฟังดูให้ดีเถอะ เรื่องนี้เองคือเรื่องรู้จักบังคับควบคุมจิตอย่าให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ สมมติว่าเด็กคนนั้นจะตายจริง ก็ไม่เป็นทุกข์ เด็กคนนั้นจะหาย ก็ไม่เป็นทุกข์ ก็ๆไม่รู้สึกแปลกอะไร คือบังคับจิตไม่ให้ ไม่ให้หวั่นไหว ไม่ให้รู้สึก
เมื่อความเจ็บไข้เกิดขึ้น คนธรรมดาก็เป็นทุกข์นะ แต่พระอรหันต์ไม่เป็นทุกข์เพราะความเจ็บไข้ หมายถึงความ อ่า, ความที่รู้สึกเป็นทุกข์น่ะ ไอ้ความเจ็บปวดทางร่างกายนั้นมันก็มีน่ะ แต่ถึงมี มันก็ไม่ค่อยรู้สึกหรอก มันรู้สึกน้อยมาก ไอ้ร่างกายของเราเจ็บไข้นี้มันก็มีเจ็บปวด ทว่าปวดที่กายที่เนื้อนะ นั้นมัน มันส่วนน้อยนะ ไอ้ความทุกข์น่ะมันเกิดมาจากการที่ยึดๆๆเอา สำคัญเอาว่าไอ้ร่างกายนี้ของเรา เป็นที่ตั้งแห่งชีวิต มันจะตาย ชีวิตจะตาย กูจะตายนั่น ไอ้ความรู้สึกที่เป็นทุกข์น่ะมันมาจากความคิดว่า กูจะตาย มันไม่ได้มาจากความคิดที่ ไม่ๆ ไม่ได้มาจากความเจ็บปวดของร่างกายนี้ ร่างกายนี้มันจะเจ็บ จะมีแผล จะอะไรบ้างก็ช่างหัวมันสิ มันไม่ให้ความหมาย มันไม่มียึดถือว่าไอ้กูจะตายแล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์หรอก ถ้ามันไปยึดถือแต่เรื่องชีวิตว่ากูจะตายแล้วก็ มดกัดมันก็จะตายแล้ว ให้มีมดกัดสักตัวมันก็รู้สึกจะตายอยู่แล้ว มันก็เป็นทุกข์ เพียงแต่หนามขีดเอาหน่อยหนึ่งมันก็เป็นลมแล้วไอ้คนๆแบบนี้ เพราะว่ามันให้ความหมายมาก มันยึดถือมาก
เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถบังคับจิตได้ ก็จะไม่มีความทุกข์ในส่วนที่เรียกว่าความทุกข์น่ะ ไอ้ส่วนความเจ็บปวดที่รู้สึกบ้างตามธรรมดานี้มันก็รู้สึกบ้างเหมือนกันน่ะ รู้สึกบ้าง แต่ยังน้อยกว่าไอ้คนที่ไม่มีธรรมะ ฉะนั้นมันจึงเจ็บนิดเดียว เช่น มีดบาดน่ะ มีดบาดนี่ ไอ้คนหนึ่งมันเจ็บเพียงว่ามีดบาด ไอ้คนหนึ่งที่มันโง่มาก มันเป็นทุกข์ว่ากูจะตาย ไอ้ความรู้สึกว่ากูจะตายมันเพิ่มเข้ามาจากคำว่ามีดบาด ฉะนั้นถ้าเรารู้สึกแต่เพียงว่ามีดบาด แล้วไม่มีความรู้สึกว่ามีดบาดกู กูจะตายนี้มันก็ มันก็เป็นทุกข์น้อย หรือไม่ทุกข์เอาเลย นี่มีวิธีคิด มีวิธีดำรงจิตเสียใหม่ ถ้าเป็นพระอรหันต์ มีดบาดน่ะ ก็รู้สึกว่ามันมีดบาด เจ็บตรงแผลหน่อยหนึ่งแหละ ที่ว่ากูจะตายนั้นมันไม่มี ไอ้ความคิดว่ากูจะตายมันไม่มี ฉะนั้นท่านจึง ส่วนนี้เรียกว่าไม่มีความทุกข์ ไอ้ความทุกข์ตัวจริงน่ะคือความรู้สึกว่ากูจะตาย ส่วนความเจ็บปวดที่แผลนิดหน่อยนั้นไม่ใช่ความทุกข์ล่ะ ท่านไม่ ไม่จัดว่าเป็นตัวความทุกข์ หรือถ้าเป็นความทุกข์ก็ไม่ใช่อยู่ในปัญหาของเรื่องที่จะดับทุกข์ ไม่อยู่ในเรื่องของอริยสัจ
ทุกข์ในอริยสัจน่ะมันทุกข์โดยความยึดถือว่ามีตัวกู มีของกู แล้วกูจะต้อง ต้องตาย หรือต้อง กูกำลังเจ็บ กูจะตาย กูตาย อย่างนี้เป็นต้น ที่พูดว่าความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์นั้นมันของบุคคลผู้ยึดถือ ผู้ยึดถือด้วยจิตว่าความเกิดของกู ความแก่ของกู ความตายของกู ความเจ็บของกู แล้วเขาก็เป็นทุกข์ เพราะจิตมันโง่เต็มที่ เพราะว่ามีตัวกู มีตัวกูนะ แล้วความเกิดของกู ความแก่ของกู ความเจ็บของกู ความตายของกู มันก็เป็นทุกข์สิ ถ้าจิตมันไม่มีตัวกู ไอ้ความเกิดก็ไม่เป็นของกู ความแก่ก็ไม่เป็นของกู ความเจ็บก็ไม่ใช่ของกู ความตายก็ไม่ใช่ของกู ก็เลยไม่เป็นทุกข์ เพราะมันไม่มีความรู้สึกว่ากูมีอยู่แล้วเกิดแก่เจ็บตาย หรือเกิดแก่เจ็บตายของกู นี่ฟังให้เข้าใจเรื่องนี้ ว่าความทุกข์ที่แท้จริงน่ะ มันต้องมาจากตัณหาอุปาทาน มีตัวกู มีตัวกูเป็นเจ้าของไอ้เรื่องนั้นที่เกิดแก่เจ็บตายนั่น
ไอ้สวดมนต์ครึ่งเดียวกันอยู่บทหนึ่งน่ะระวังให้มาก เสียหายมาก สวดมนต์ครึ่งเดียว เรามีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่พ้นความเกิดไปได้ เรามีความแก่เป็นธรรมดา เราไม่พ้นความแก่ไปได้ เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่พ้นความเจ็บไปได้ เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่มี ไม่พ้นความตายไปได้ นี่ เรามีกรรมเป็นของตัว ทำ เอ่อ, ทำกรรมใดไว้จะต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้น นั่นมันโง่นะ มันคนไม่รู้นะ หรือว่าเราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น นั้นมันก็โง่เหมือนกันแหละ มันๆสวดมนต์ครึ่งเดียวนี่ ถ้าสวดให้เต็ม ต้องสวดตามที่พระพุทธเจ้าว่า ถ้าได้อาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้วน่ะ มะมัญเจ อานันทะ กัลยาณะมิตตัง อาคัมมะ ชาติ สัตตา อ่า, ชาติธัมมา สัตตา ชาติยา ปะมุจจันติ ว่าถ้าได้อาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้ว ไอ้สัตว์ที่มีความเกิดเป็นธรรมดา จะพ้นจากความเกิด สัตว์ที่มีความแก่เป็นธรรมดา จะพ้นจากความแก่ สัตว์ที่มีความตายเป็นธรรมดา จะพ้นความตาย มีความเจ็บเป็นธรรมดา จะพ้นจากความเจ็บ ก็ท่านสอนให้สิ้นกรรมน่ะ มีกรรมที่ทำให้สิ้นกรรม คือไม่มีตัวกู เมื่อไม่มีตัวกู มันสิ้นกรรม ไม่มีตัวกูนะ มันก็ไม่เกิดแก่เจ็บตาย ที่ท่านว่าอาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้ว สัตว์นั้นจะพ้นจากความเกิดแก่เจ็บตายน่ะ เพราะว่าพระองค์ทรงสอนให้รู้ว่ามันไม่มีตัวกู แล้วใครมันจะเกิดแก่เจ็บตาย ที่มีกรรมเป็นของตัวนั้นมันโง่เอาเองนี่ มันเอากรรมมาเป็นของเรานี่ ให้มัน ให้กรรมเป็นเรื่องของไอ้ธรรมชาติไปสิ ไม่มีเราเป็นผู้ทำกรรม เราก็ไม่มี มีการรับผลกรรม มันก็เป็นไปตามเรื่อง ตามรูปแบบของๆกรรม ที่เรียกว่ากรรมที่ ๔ กรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมดำกรรมขาวที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ไม่มีใครสนใจ ไม่เอามาพูด ไม่เอามาสวด กรรมนี้ระงับกรรมทั้งปวง ฉะนั้นถึงเราจะทำกรรมใดไว้ เราก็จะระงับกรรมนั้นเสียได้ด้วยความรู้อันนี้ หรือว่าเราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้นนี่ คนโง่มันคิดอย่างนั้น มันรู้สึกอย่างนั้นนี่ ถ้าคนฉลาด มันก็คิดเป็นอันว่าไม่มีกูที่เป็นไอ้เจ้าของของรักของชอบใจนี่ มันไม่มีตัวกู ไม่มีของรักของชอบใจของกู เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น นี่ถ้าๆๆเรียนกันให้ตลอด ไม่ครึ่งท่อนน่ะ มันจะเป็นอย่างนี้
นี้มันก็แสดงให้เห็นว่า ไอ้ความรู้สึกที่เป็นทุกข์น่ะเราบังคับได้ ถ้าเราศึกษาพุทธศาสนาอย่างถูกต้องและเพียงพอ ปฏิบัติได้แล้วเราจะบังคับความรู้สึกได้ หรือจะพูดให้ดีก็ว่าเรา เราเปลี่ยนความรู้สึกได้ ไอ้ความรู้สึกที่จะเป็นทุกข์ตามธรรมดา ของคนๆธรรมดานั้น เราจะไม่มีความทุกข์เลย เพราะว่าไอ้ความทุกข์หรือความสุขนี้มันอยู่ที่จิต อยู่ที่จิตเท่านั้น ถ้าเราสามารถบังคับจิตได้ มันก็ได้สิ เราบังคับจิตไม่ให้โง่ ไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา มันก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้าเราปล่อยไปตามความโง่ จิตมันก็ไปตามความโง่ มันก็รู้สึกเป็นทุกข์ รู้สึกยึดถือน่ะ มีผัสสะ มีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน มีภพ มีชาติ แล้วก็เป็นทุกข์คือได้อัตภาพที่เป็นทุกข์ ในกรณีนั้นเราเปลี่ยนเป็นได้อัตภาพที่กำลังเป็นทุกข์ นี่เกิดอย่างนี้น่ากลัว เกิดโดยไม่ โดยร่างกายไม่ต้องตาย เกิดโดยจิตใจนั้นน่ะ โดยจิตดวงเดียวนั้นน่ะ มันๆไปทุกข์อย่างเหลือประมาณก็ได้ มันไม่ทุกข์เลยก็ได้ ในกรณีเดียวกัน ไอ้เรากลัวความตาย เราก็ทุกข์เพราะกลัวความตาย ไอ้ทุกข์เพราะโรคภัยไข้เจ็บนั้นมันก็มีความรู้สึกอยู่เหมือนกัน แล้วยังมีอันที่สอง คือกลัวตาย มีตัวกูที่จะตาย นี้พระบาลีอุปมาความข้อนี้ไว้ ซึ่งควรจะเข้าใจอย่างยิ่ง ควรจะรู้สึกว่ามันหมายถึงอะไร คือท่านเปรียบเหมือนลูกศร ๒ เอ่อ, ๒ ลูก ลูกศรเล็กๆมาเสียบเข้า ลูกศรเล็กๆ ลูกศรไม่มียาพิษมาเสียบเขาเข้า เราก็รู้สึกเท่านั้น รู้สึกเท่านั้น ไม่ตาย ไม่เจ็บ ไม่ๆ ไม่เจ็บหรือไม่ตาย แต่นี้เดี๋ยว เดี๋ยว ประเดี๋ยวลูกศรอันใหญ่ด้วย มียาพิษย้อมมาเต็มที่ด้วย มาเสียบเข้า ทีนี้มันเป็นทุกข์เหลือประมาณ นี่ขอให้เปรียบดูว่าเมื่อเราถูกมีดบาดอะไรนี่ มันก็เหมือนลูกศรเล็กๆมาเสียบเล่น พอรู้สึกกลัวตายขึ้นมา กลัวตาย กูจะตายแล้วนี่ โดยเฉพาะเด็กๆ มันก็เท่ากับลูกศรอันใหญ่อีกอันหนึ่ง เสียบยาพิษมาเต็มที่แล้วมาแทงเข้านั่น มันเจ็บปวดมากถึงขนาดนั้น ฉะนั้นความรู้สึก รู้สึกตามธรรมชาติมันก็เท่านั้นแหละ อาจจะบังคับจิตข่มความรู้สึกอันนั้นเสียก็ได้ ไม่ต้องรู้สึก ซึ่งเป็นแบบโบราณ เป็นไสยศาสตร์ เขามีปัดคาถาอาคม มาปัดมาเป่าให้ความรู้สึกมันลดลงไปเพราะความเชื่อ นี่มันก็ มันก็ทำได้ แต่ไอ้เรื่องความรู้สึกว่ากูจะตายนี่ กูกลัวกูจะตายนี้ มัน มันทำไม่ได้ด้วยอา ด้วยคาถาอาคมของ มันต้องรู้ความจริงข้อนั้นแล้วจิตใจมันเปลี่ยน แล้วมันเปลี่ยนไปถูกต้องตามความรู้ที่แท้จริงว่ามันไม่มีกู มันไม่มีกู กูที่ กูไหนจะตายล่ะ มันไม่มีกูนี่ แล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์ นั่นมันดีอย่างนั้น
ฉะนั้นความทุกข์ของเราเป็นระบบหลัง ชนิดหลังทั้งนั้นน่ะ คือเราคิดเอาเอง ไม่ต้องมีเรื่องอะไร เราคิดขึ้นมาเองก็ยังได้ เรื่องจริงไม่ได้เกิดแต่เราคิดขึ้นมาให้มีความทุกข์ก็ได้ เราปรารภอนาคต อนาคต ว่าเราจะไม่มีงานทำ เราจะไม่มีเงินใช้ เราจะเจ็บไม่มีเงินค่ายาแล้วเราจะตายนี่ เรื่องไม่ได้เกิดแต่เราคิดให้เป็นทุกข์ก็ได้ หรือเราถูกหลอก เราก็เป็นทุกข์ได้ เราคิดอย่างโง่เขลา เราคิดนั่นคิดนี่จนเอามาทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ได้เหมือนกัน เช่นเดียวกับไอ้พวกคิดสร้างวิมานใน ในอากาศน่ะ มันก็ๆๆ คิดไปได้ใหญ่โตเหมือนกัน หลงใหลไปเลย ไอ้พวกหนึ่งมันคิดสวนทางกัน มันคิดไปในทางที่ว่ากูจะตาย มันจะเกิดเหตุร้ายที่กูจะตาย เพราะว่าความรักชีวิตมันมาก ฉะนั้นความระแวงว่ากูจะตาย กูจะเสียหาย กูจะขาดทุน กูจะลำบากนี่ มันรบกวนอยู่เสมอ เพราะมันมีความรู้สึกว่าตัวกู ตัวตนน่ะยืนอยู่ๆเป็นหลัก มันก็ปรารภตนนั้นน่ะ ถ้ามันจะคิดฝันให้เป็นสุข มันก็ปรารภตน กูจะได้ กูจะได้ กูจะมี กูจะกินจะใช้ จะสนุกสนาน จะเอร็ดอร่อย มันก็ไปอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามันเป็นไปในทางระแวง ความทุกข์ มันก็ต้องเป็น เป็นความรู้สึกที่เป็นทุกข์
อย่างเรานั่งอยู่อย่างนี้ พอมันมีอะไรดังปังขึ้นมาข้างหลัง ใครมันคิด ใครมันคิดว่ากูจะได้เงินสักล้านบ้าง แล้วส่วนมากมันคิดว่ากูจะตายทั้งนั้นนะ เพราะความระแวงอะไรมันมีอยู่แล้วเป็นทุน ทุนเดิม มีอะไรก๊อกแก๊กออกมาจากในป่าที่มืด มันจะ มันคิดแต่ว่ามันจะมีเสือกัดหรือคนทำร้ายทั้งนั้น ไม่มีความคิดว่าไอ้นางเทพธิดาที่ไหนจะเอาแก้วมายื่นให้ จากเสียงก๊อกแก๊กนั้นมันไม่มี เพราะว่าความยึดถือตัวกู ความรักตัวกู ความห่วงแหนตัวกูมันมีอยู่เป็นเจ้าเรือน ฉะนั้นความคิดที่มันจะเป็นไปเองมันก็มีแต่ว่ากูจะตาย นี่เรียกว่าไอ้ความสะดุ้ง ความหวาดเสียว ความหวาดกลัว ความพร้อมที่จะวิ่งหนีมีอยู่ตลอดเวลา นั่นน่ะคือความทุกข์ ความหวาดเสียว ฉัมภี อุตราสี ฉัมภี ความสะดุ้ง อุตราสี ความหวาดเสียว ปะลายี ความพร้อมที่จะวิ่งหนี หรือวิ่งหนี มันมีพร้อมอยู่ นี่เรียกว่าตัวกู ความรู้สึกว่าตัวกู ความรักตัวกู ความหวงตัวกู ความสงสัยความระแวงว่ากูจะตายมันก็มีอยู่ในนั้น
วันก่อนผมบอกแล้วไม่ใช่ว่า ถ้าคุณจะเรียนพุทธศาสนา คุณต้องเรียนจากข้างในนะ ไม่ใช่เรียนจากหนังสือ คำพูดของคนอื่นนะ คุณต้องเรียนจากข้างใน ฉะนั้นคุณต้องรู้จักสิ่งเหล่านี้ดีสิ อย่างที่ว่ามาแล้วนี่ ความรู้สึกว่าตัวเราว่าของเรามี จึงจะเป็นทุกข์ ความรู้สึกว่าของเราไม่มีก็ไม่เป็นทุกข์ เช่นเราเห็นเด็กคนหนึ่งมานอนตายอยู่ข้างทางที่เราเดินไป เราก็ไม่ได้เป็นทุกข์อะไรหรอก ก็เพราะว่าเด็กนั้นมันไม่ มัน เราไม่ได้คิดว่าลูกของเรานี่ แต่ถ้าว่ามันลูกของเรามานอนตายอยู่ เราก็เหลือ เหลือทน ทีนี้ถ้ามันเป็นลูกของเราจริงๆ ลูกของเราจริงๆแต่เราไม่รู้ ด้วยเหตุใดก็ตามเราไม่รู้ เพราะว่ามันไปเสียไกล ใครเอาไปเสียแต่ก่อน แล้วเด็กคนนั้นซึ่งเป็นลูกของเราจริงมานอนตายอยู่ตรงนี้ เราเดินผ่านไปก็ไม่เป็นทุกข์เหมือนกัน มันไม่ได้อยู่ที่ว่าอันนั้นจริงอย่างไร มันอยู่ที่ว่าเรายึดถือหรือไม่ พอเราไปยึดถือว่ากูมีลูก ลูกของกูมาตายอยู่ตรงนี้ มันก็เป็นทุกข์ ถ้าว่าลูกมันคล้ายกัน เด็กๆมันคล้ายกัน เราเข้าใจว่าลูกของเรา มันก็เป็นทุกข์ พอรู้ตอนหลังว่า อ้าว, นี่ไม่ใช่ลูกของเราเพียงแต่มันคล้ายกัน มันก็ไม่เป็นทุกข์เหมือนกัน ฉะนั้นศึกษาเรื่องตัวกู หรือตัวตนของกู หรือของตนซึ่งเป็นเจ้าเรือน เป็นตัวมารร้าย เป็นตัวการอะไรที่มีอยู่ในจิตใจ ขอให้ทุกคนคอยระวังเฝ้าดูให้รู้จักสิ่งนี้ สิ่งนี้ ความยึดถือว่าตัวกู เป็นความรู้สึกเขลา โง่ หลง แล้วเป็นมานาน เป็นมานาน แล้วซ้ำซากๆๆ ก็เข้มข้น เป็นความรู้สึกที่เข้มข้นกว่าความรู้สึกใดๆ ความรู้สึกว่าตัวกู
ทีนี้ถ้าว่าเราปฏิบัติธรรมะ ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะจนทำลายไอ้ความรู้สึกอันนี้ได้หมด เขาเรียกหมดอุปาทาน หมดอุปาทาน ปฏิบัติธรรมะวิปัสสนาจนทำลายความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกูได้หมดสิ้น ทำลายความเคยชินที่เคยรู้สึกอย่างนั้นเสียหมดสิ้น และไม่ให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้นได้อีก เราก็เป็นทุกข์ไม่ได้อีกต่อไป คือเป็นพระอรหันต์ เราจะมีความทุกข์ไม่ได้อีกต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น นี่คือเป็นพระอรหันต์ ไอ้ความโง่จะปรุงๆๆขึ้นมาเป็นตัวกู เป็นของกูนี่มีไม่ได้อีกต่อไปสำหรับพระอรหันต์ ถ้ามีเมื่อไรก็เป็นความทุกข์เมื่อนั้นแหละ มีความยึดถือว่ากู ว่าของกูเมื่อไรก็มีความทุกข์เมื่อนั้นแหละ ไม่มีใครช่วยได้ ฉะนั้นเราจะต้องมีความรู้ที่เรียกว่าพระธรรม พระธรรมที่แท้จริง พระธรรมที่ถูกต้องที่เพียงพอนั้นน่ะ เราก็จะเปลี่ยน เปลี่ยนระบบความคิดนึก ความปรุงแต่งคิดนึก สังขารภายในจะควบคุมได้ จะไม่ให้มันปรุงไปในทางที่รู้สึกเป็นตัวกูของกู นี่เขาเรียกว่าหลุดพ้น หลุดพ้น ไม่มีอะไรมาผูกมัด มาจับตัวเอาไป มันไม่มีตัวกูนี่มันจะจับอะไรออกไป
นี่พูดมาตั้งยืดยาวนี่ก็ประสงค์นิดเดียวแหละ ให้รู้ว่าไอ้ความสุขหรือความทุกข์มันขึ้นอยู่กับจิต ดวง จิตนั้นดวงแล้วแต่มันจะปรุงเป็นอะไร เป็นๆสุขก็ได้ เป็นทุกข์ก็ได้ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ได้ นี่เรามาศึกษาวิชาที่ประเสริฐที่สุดที่จะทำให้จิตเป็นทุกข์ไม่ได้ ปรุงแต่งไปในทางความเป็นทุกข์ไม่ได้ อย่างนี้ก็เรียกว่า ภาวนา ภาวนาแปลว่าทำให้เจริญ ทำให้เจริญ นับตั้งแต่เพาะ ปลูก รดน้ำ พรวนดิน บำรุง ส่งเสริม รักษา เหมือนกับเราปลูกต้นไม้นะ ให้มันเจริญงอกงามขึ้นมาอย่างนั้น ให้เจริญภาวนา พูดแล้ว คำว่าเจริญก็คือภาวนา คำว่าภาวนาคือเจริญน่ะ เอาแล้วก็เจริญ ความรู้ เจริญความรู้ การกระทำ การปฏิบัติและการกระทำให้มันดีขึ้นๆๆๆๆ สูงขึ้นๆๆ จนไปอยู่ในสภาพที่ว่าต่อไปนี้มัน มันจะคิดโง่ๆชนิดที่มีความทุกข์ไม่ได้อีกต่อไป มันจะมีสติสัมปชัญญะ มีปัญญา มีอะไรมากพอที่ว่า หากกระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้ว ไอ้ความเปลี่ยนแปลงในจิตนั้นมันไม่ๆๆๆเกิดขึ้น ไม่เกิดขึ้นที่จะเป็นไป ที่จะเป็นทุกข์น่ะ มันเป็นทุกข์ไม่ได้
ถ้าจะพูด เดี๋ยวมันก็จะว่าเกินเชื่อ ซึ่งเขาก็ยึดเป็นหลักกันอยู่ เช่นว่าพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์นี้ ไม่สะดุ้ง ไม่หวาดเสียว ไม่วิ่งหนีอย่างนี้ เราอาจจะไม่เชื่อก็ได้ เพราะว่าคนธรรมดามันยังสะดุ้ง ยังหวาดเสียว ยังวิ่งหนี ทีนี้ใครเอาปืนแอบไปยิงข้างหลังพระอรหันต์ ท่านไม่สะดุ้ง ท่านไม่หวาดเสียว ท่านไม่วิ่งหนี แต่ถ้าเรามันไม่ได้ ถ้าใครเอาปืนมายิงข้างหลัง มันก็สะดุ้งไปตามเสียงปืน รู้เถอะว่ามันต่างกันอย่างไร มันมีอะไรเปลี่ยนมากถึงอย่างไร นี่เรื่องสะดุ้ง เรื่องหวาดเสียว เรื่องวิ่งหนี นั่นคือกลัวตายน่ะ มัน มันต่างกันอย่างนี้
เลยอยากจะเล่า อยากจะเล่าเรื่องโบราณ ถ้ามี มีกิจกรรม มีพิธีรีตองอะไร อาจารย์ อาจารย์ผู้สูงสุดจะลงมาจากกุฏิไปในโบสถ์อะไรนี่ มีคนเอาปืนมายิงข้างหลัง แอบยิงข้างหลัง แล้วดูว่าอาจารย์สะดุ้งหรือไม่สะดุ้ง เอากับมันสิ แต่ก่อนมันมีอย่างนั้น หรือว่าเอาน้ำมาให้อาจารย์อาบหลายๆโอ่งแล้วไม่หนาวไม่สั่น นี่ก็ว่าเป็นพระอรหันต์ แต่ผมไม่เชื่ออันนี้ เรื่องหนาวไม่หนาวนี่ เรื่องไม่หนาวนี่ไม่เชื่อ แต่ถ้าว่าไม่สะดุ้งนี่ยังพอจะเชื่อ ไม่สะดุ้งเพราะเสียงปืนดังขึ้นข้างหลังนี่พอจะเป็นได้ แต่ที่อาบน้ำมากๆแล้วไม่หนาวไม่สั่นนี้มันไม่ได้หรอก มันไม่ๆเกี่ยวกับจิต อันนี้มันเกี่ยวกับประสาท มันเกี่ยวกับร่างกาย แต่คนโบราณเขาก็มีวิธีอย่างนี้แหละ วิธีที่จะทดสอบไอ้ผู้ปฏิบัติสำเร็จได้มากน้อยอย่างไร
ที่เอามาเล่าให้ฟังนี้ก็เพียงแต่จะให้รู้ว่ามันเปลี่ยนมากแค่นั้นแหละ มันเปลี่ยนมาก ถ้าประพฤติปฏิบัติตามแบบที่ทำให้ไม่มีกิเลส ตัณหาอุปาทานแล้วมันเปลี่ยนมากขนาดนี้ ในจิตใจมันเปลี่ยน ไม่มีความคิดนึก ความรู้สึก ความเคยชินที่เป็นตัวตน เรามันมีความเคยชิน เคยชินมาก ชินมาก จนนิดหนึ่งก็เป็น นิดหนึ่งก็เป็นเพราะว่ามันชินมาก เขาเรียกว่า อนุสัย อนุสัย ความเคยชิน พอเรารักทีหนึ่ง เราก็มีความเคยชินสำหรับจะรัก เก็บไว้หน่วยหนึ่ง พอเราโกรธทีหนึ่ง เราก็มีความเคยชินจะเป็นนิสัยน่ะ มีความเคยชินนี่เก็บไว้หน่วยหนึ่ง เราโง่ เราสะเพร่า เราอวดดีอะไรก็ครั้งหนึ่ง มันก็มีความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นเก็บไว้หน่วยหนึ่ง สมมติเรียกว่าหน่วยหนึ่ง เราเคย เคยรัก เคยโลภ เคยมากี่สิบครั้งกี่ร้อยครั้งแล้วตั้งแต่เกิดมา ฉะนั้นเราจึงมีความเคยชินที่จะรักมาก มันจึงเร็วมาก ที่จะโกรธก็เหมือนกันน่ะ มันมีความเคยชินมาก ที่จะโง่ จะสะเพร่า จะผลุนผลันนี่ก็เหมือนกัน มันมีมาก เพราะฉะนั้นเราจึงทำอะไร เราจึงไม่ๆๆๆอาจจะห้ามความรัก ไม่อาจจะห้ามความโกรธ ความกลัวอะไรให้ทันเวลาได้ เพราะมันมีความชินมากเหลือเกิน
แต่ทีนี้เรามาศึกษาธรรมะ รู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติอยู่ทุกวันๆๆน่ะ มันล้างๆ มันล้างความเคยชินนั้นให้ลดลงๆๆ แล้วมันก็หมดได้ หรือเอาเป็นว่าต่อไปนี้เราควบคุมได้ สิ่งที่น่ารักมาให้รักเราไม่รัก มันจะลดความเคยชินที่จะรักลงไปเหมือนกัน อะไรมาให้รักไม่รัก อะไรมาให้รักไม่รักอย่างนี้ มันจะลดความเคยชินที่จะรักเร็วๆลดลงๆ หรือว่ามาให้โกรธไม่โกรธ ไม่โกรธได้ มันก็ลดความเคยชินที่จะโกรธลง โกรธลดลงๆ นี้ก็เป็นการดี เป็นการช่วยสนับสนุนธรรมะที่เราจะประพฤติปฏิบัติเพื่อเลิกล้างไอ้ความเคยชินเหล่านั้นเสีย ภายในเราก็เจริญวิปัสสนาเพื่อเลิกล้างไอ้ความเคยชินอันนั้นอยู่เป็นประจำ แล้วภายนอกนี่ก็คอยระวัง คอยระวังด้วยสตินี่ ควบคุมไว้ได้นี่ มันก็ มันก็ช่วยส่งเสริมกัน เพราะฉะนั้นชีวิตของเราก็ลดความเคยชิน ความเคยชินที่จะรักก็ดี ที่จะโกรธก็ดี จะเกลียดก็ดี จะกลัวก็ดี จะโง่ก็ดี ลดลงๆ จนกระทั่งว่าเราจะไม่รัก ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่กลัว หรือว่าใครจะเอาปืนแอบมายิงข้างหลังมันก็ไม่สะดุ้ง ว่าอย่างนั้น แต่นี้จะจริงเท็จเท่าไรน่ะ ผมไม่รับรองนะแต่ว่าเขามีหลักที่เขาจะทดสอบกันอย่างนั้น แต่ถ้ามันเป็นเรื่องของระบบประสาทล้วนๆมันก็เป็นไปไม่ได้ ที่ว่านี้มันเป็นเรื่องของจิต เป็นเรื่องของจิตที่ลึกไปกว่าระบบประสาท ถ้าระบบประสาทนี่มันก็ยังคงอยู่ตามธรรมชาติน่ะ เช่นเอาๆๆเข็มไปแทงเข้า มันก็สะดุ้งโดยระบบประสาท ไม่ใช่โดยจิต ไปเหยียบถ่านไฟเข้า มันก็กระโดดผลุงขึ้นมาโดยระบบประสาท ไม่ใช่โดยระบบจิต แต่ว่ามันก็ไม่กลัว แล้วมันก็ไม่ๆๆๆๆๆ ไม่รู้สึกว่ากูเจ็บ กูจะตายนั้นมันไม่มี แม้มันจะกระดุ้ง สะดุ้งโหยงเพราะว่าไปเหยียบเอาไฟเข้านี้ แต่ถึงอย่างไรก็ดีมันยังน้อยกว่าคนธรรมดาแหละ ผู้ที่หมดกิเลสน่ะมันยังจะรู้สึกน้อยกว่าธรรมดาหรือกระโดดน้อยกว่าธรรมดา สะดุ้งโดยระบบประสาทมันน้อยกว่าไอ้สะดุ้งด้วยความยึดถือด้วยอุปาทาน
ฉะนั้นเรื่องที่จะพูดมันมีนิดเดียวว่า ให้รู้ว่าไอ้ความทุกข์มันก็อยู่ที่จิต อยู่กับจิตดวงเดียว แล้วยังมีประโยคต่อท้ายว่า ละหุโส วัตตะเต ขะโณ ขณะ ขณะเหล่านี้เร็วมาก ขณะที่เปลี่ยนอัตภาพ เปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนอัตภาพ รู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ก็ดีนี่ ขณะแห่งการเปลี่ยนนี้เร็วมาก เร็วมากกว่าสายฟ้าแลบ ฉะนั้นเรารู้สึกว่าทุกอย่างมันอยู่ที่จิต และจิตรู้สึกได้เร็วมาก เร็วกว่าสายฟ้าแลบ จะทำอย่างไรนี่ จะทำอย่างไร ปัญหามันก็เกิดขึ้นว่าจะทำอย่างไรเราจึงจะไม่เป็นทุกข์ ตอนนี้จะต้องบอกว่าคุณคิดเอาเอง คุณคิดเอาเอง ไปคิดเอาเอง ไปคิดเอาเอง ถ้าคิดได้แล้วใช้ได้แหละ ถึงแม้คุณจะคิดเอาเองถ้ามัน มันไม่เป็นทุกข์ได้ก็ใช้ได้ ฉะนั้นให้ๆโอกาส ถึงว่าไปคิดเอาเองสิ ไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ผูกขาด ไปคิดเอาเองก็ได้ เอาสิ ถ้ามันๆๆๆดับทุกข์ได้ก็ใช้ได้ทั้งนั้นแหละ เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาอีกองค์หนึ่งแหละ เพราะฉะนั้นอย่าๆหวังแต่ที่จะฟัง จะจด จะท่อง จะอะไรเสียไปตะพึดสิ นี่เหลือไว้ไปคิดเอาเองบ้าง แล้วจะเข้าใจได้เร็วขึ้น แล้วมากอย่างน่ะที่เราคิดเอาเองมันจะตรงกับที่พระพุทธเจ้าได้ๆพูดไว้ ได้ตรัสไว้ หรือถ้ามันเก่งจริงมันอาจจะคิดได้หมดก็ได้ ถ้าเราคอยสังเกตดูว่ามันเป็นอย่างไร ถ้าๆเราเป็นนักเลงจิตใจ เราก็คอยดูจิตใจภายในอยู่เรื่อยเหมือนที่เราพูดกันวันแรกน่ะ เราพูดกันวันแรกน่ะ
การบวชเป็นบรรพชิต มาอยู่จำพรรษานี่ ขอให้มองดูข้างในตะพึด เฝ้าดูข้างในตะพึด ไม่ดูโลกข้างนอกแต่ดูโลกข้างใน ขอให้ทำอย่างนี้แล้วมันก็จะง่ายขึ้นที่จะเข้าใจไอ้ เข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าพยายามเป็นผู้คิดเอาเองให้มาก เพราะไม่ๆต้องเชื่อตามใคร เอาตามความรู้สึกที่มันได้ปรากฏขึ้นแล้วข้างในจริงๆ ไม่ๆต้องไปเอา ไม่ต้องไปเอาในหนังสือมา แต่จะสังเกตได้ดีที่สุด ไม่เดา ไม่ใช้การเดา แต่ว่าดูให้ดีที่สุด ให้เห็นให้จริงที่สุดแล้วก็เอาอันนั้นน่ะมาเป็นหลัก เพราะคิดอย่างนี้จึงเป็นอย่างนี้ เพราะคิดอย่างนี้จึงเป็นอย่างนี้ เพราะคิดอย่างนี้จึงเป็นอย่างนี้ มันกี่แบบกี่อย่างก็มองให้เห็น เพราะคิดอย่างนี้จึงรัก เพราะคิดอย่างนี้จึงเกลียด เพราะคิดอย่างนี้จึงกลัว หรือว่าเพราะความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นจึงรัก เพราะความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นจึงเกลียด ความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นจึงกลัว จึงระแวง จึงหึง จึงหวง จึงวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ ความคิดอะไรมันเกิดขึ้น เรารู้จักมันเสียให้หมด มันเกิดขึ้นอย่างนี้เพราะเราคิดอย่างไร เพราะเรารู้สึกอย่างไร เพราะเราโง่อย่างไร เพราะเราเผลออย่างไร นี่คือวิธี วิธีเรียนธรรมะที่เร็วมาก เร็วมาก วิธีเรียนธรรมะอย่างเร็วที่สุดคือทำอย่างนี้ นี่จะรู้ธรรมะยิ่งกว่านักธรรมเอก ธรรมะที่เรียนอย่างนี้จะรู้ธรรมะจริงยิ่งกว่านักธรรมเอกในโรงเรียน หรือยิ่งกว่ารู้เปรียญ ๙ ในโรงเรียนซึ่งไม่ค่อยได้คิดแหละ ไม่เคยคิดแหละ ฉะนั้นเราเข้าโรงเรียนข้างในสิ เรียกว่าโรงเรียนของพระพุทธเจ้า เข้าโรงเรียนของพระพุทธเจ้าต้องเรียนข้างใน หลับตาเลย ไม่ต้องใช้กระดาษดินสอ นี่เรียนในโรงเรียนข้างในของพระพุทธเจ้า
วันนี้พกสูตรๆหนึ่ง ว่าแม้เป็นโสดาบันแล้วก็ให้ กลางวันให้อยู่กับวิเวก กลางคืนให้อยู่กับปฏิสัลลานะ กลางวันอยู่กับวิเวก วิเวกกาย วิเวกการเกี่ยวข้องกับโลกภายนอกน่ะ ไอ้วิเวก กลางคืนก็อยู่กับปฏิสัลลานะ คือจิตไม่ไปเที่ยวนึกเรื่องนั้นไม่ไปเที่ยวนึกเรื่องนี้ จิตอยู่กับจิต จิตอยู่กับสิ่งที่กำลังเกี่ยวข้องอยู่กับจิต นี้คือพระโสดาบันหรืออริยบุคคลที่ไม่ประมาท พระโสดาบันองค์ไหนไม่ทำอย่างนี้ ไม่ทำอย่างนี้เท่านั้นแหละเรียกว่าเป็นพระโสดาบันที่ประมาท มันจะเลยจะ จะสูงขึ้นไปอีกไม่ได้ นี่แม้เป็นพระโสดาบันแล้วท่านยังกล่าวอย่างนี้ ว่ามันจะต้องไปคบ เสพ คบกับวิเวก และหลีกเร้น ปฏิสัลลานะ ไปคบอยู่กับความสงัด ความ อ่า, ความไม่มีอะไรรบกวนน่ะ ไม่มีอะไรเข้าไปกระทบกระแทกไปรบกวน ได้ๆๆๆความวิเวก ได้ความสงัดเพียงพอแล้ว มันจะมีปราโมทย์ ปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์แล้วมันจะปีติ ปีติแล้วมันจะเป็นสุข เป็นสุขแล้วมันจะเป็นปัสสัทธิ เป็นปัสสัทธิแล้วมันจะเป็นสมาธิ เป็นสมาธิแล้วมันจะเห็นธรรมที่ไม่ยังเคยเห็น คือก้าวหน้าต่อไป
ไอ้เรื่องของจิตนี้มันมี มีหลักที่ตรัสไว้เป็นหลักตายตัวอยู่อย่างหนึ่งแล้ว มันต้องมีปราโมทย์ คุณจะต้องทำอะไรก็ตามใจให้มันเกิดปราโมทย์ แล้วมันจึงจะปีติคือยินดีปรีดา แล้วมันจะรู้สึกเป็นสุข แล้วมันรำงับแล้วมันเป็นสมาธิ ไอ้ความสุขในที่นี้ก็หมายความว่า มัน อ่า, ไม่ใช่สุขกามารมณ์ ไม่ใช่สุขอารมณ์ ไม่ใช่สุขไอ้ชนิดที่เหยื่อล่อ มันเป็นสุขเพราะความสงบลง ไม่มีอะไรมาเบียดเบียน ไม่มีอะไรมาๆ ไม่มีอะไรมารบกวนจิต ก็เรียกว่าเป็นความสุข จิตต้องถึงขนาดนี้ มีความสุขขนาดนี้แล้วจิตมันจึงจะเป็นปัสสัทธิ เป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิแล้วก็จะเกิดความรู้แหละ ต่อไปอีกว่า จากความรู้ที่มีอยู่เดิม ฉะนั้นพระโสดาบันองค์หนึ่ง กลางวันวิเวก กลางคืนปฏิสัลลานะ ก็จะเข้ารูปเป็นถึงกับมีปราโมทย์ รู้สึกปราโมทย์ รู้สึกปีติ รู้สึกเป็นสุข รู้สึกเป็นปัสสัทธิ รู้สึกเป็นสมาธิ แล้วก็เห็นธรรมะที่ยังไม่ ที่ยังไม่ได้ ยังไม่เคยเห็นน่ะ คือก้าวหน้าต่อไปนี่ อย่างนี้เรียกว่าเป็นพระโสดาบันที่ไม่ประมาท ถ้าไม่ทำอย่างนี้ยังเป็นพระโสดาบันที่ประมาท ไม่ก้าวหน้า จะตายด้านก็ได้ ฉะนั้นจึงต้องสนใจในการที่จะทำให้มันก้าวหน้า แล้วมันไปรวมจุดอยู่ที่ว่าจงพอใจในวิเวก พอใจในปฏิสัลลีนะ ที่เราพูดกันวันก่อนน่ะ ผมก็บอกแล้วว่าอยู่ด้วยไอ้ความสงบสงัดคนเดียวองค์เดียวให้มาก ปิดหูปิดตาไม่รับอารมณ์ข้างนอก เพื่อให้จิตมันไม่ถูกอะไรรบกวน แล้วก็ทำให้วิเวก จิตวิเวก จิตไม่มีอะไรรบกวนนี่ จะได้ความรู้สึกที่ทำให้สูงขึ้นไปๆๆ อย่างน้อยที่สุดมันก็ได้รับไอ้ความเป็นสุขอย่างเป็นสุขธรรมดานี่
ความวิเวกมันเป็นไอ้ที่พักผ่อนของจิตที่กระวนกระวาย จิตของเราตามธรรมดาวันหนึ่งๆมันไม่เป็นสุข เราไปอยู่กับที่วิเวก อยู่กับที่วิเวก อย่าให้จิตมันออกไปเที่ยว มันจะพบกับความหยุด ความพักผ่อน ความหยุด ความสบาย ฉะนั้นเราเสพคบกับไอ้ความวิเวกนั่นแหละให้มาก ผมบอกไอ้ ไอ้คนตีระฆังว่าตีระฆังตั้งแต่ตี ๔ ตี ๔ ตีระฆังให้ตื่นมา แล้วอย่าเพ่อเปิดไฟ ครึ่งชั่วโมงอย่าเพ่อเปิดไฟ ขอให้คบกับความมืด อยู่กับความมืดที่เรียกว่าวิเวก นั่งสงบๆอยู่กับวิเวกหรือปฏิสัลลีนะสักครึ่งชั่วโมง แล้วเปิดไฟ ถึงค่อยมา จะมาทำวัตร มาทำอะไรนี่ตามเคยก็ได้ แต่ว่าอย่างน้อยขอให้มีสักครึ่งชั่วโมงเถอะที่จะอยู่กับความเงียบ ความวิเวก ที่เรียกว่าวิเวก สักครึ่งชั่วโมงทุกวันๆๆจะดี นี้กลัวจะไม่ค่อยมีเสียเลย เวลาที่นั่งคนเดียวมืดเงียบ ไม่มีอะไรมารบกวนนี้ จะได้ดูจิตในภายใน สังเกตจิตในภายใน หรือว่าจะทำลมหายใจให้ระงับ ให้เป็นสมาธิหรือเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่เราจะชอบ ขอให้มันมี ให้มันมีจริงๆบ้าง
นี่มันต่อกันกับเรื่องวันก่อนที่ว่าให้ๆๆมันกำหนดอยู่ข้างใน เชี่ยวอยู่ข้างใน เข้าโรงเรียนข้างใน แล้วเราก็จะรู้เรื่องธรรมชาติของจิตดี จะรู้จักธรรมชาติของจิตดีขึ้นๆ เพิ่มขึ้นๆ อย่าลืมนะนี่ พูดแล้วก็อย่าลืม พูดแล้วมันไม่ได้พูดอีกหรอก ถ้าคุณลืมมันก็เลิกกันแหละ แล้วมันก็จับๆๆต้นชนปลายไม่ๆๆๆติดน่ะ ขอให้ทำอย่างนี้ แล้วก็ทำเพิ่มขึ้นตามที่ว่าเราจะพูดกันเพิ่มขึ้น การที่มีสติควบคุมจิต รู้สึกอยู่แต่ในภายในให้มีทุกอิริยาบถ จะตื่นนอนขึ้นมา จะล้างหน้า จะไปส้วม จะไปฐาน จะไปทำวัตรสวดมนต์ จะไปบิณฑบาต จิตใจอย่าไปใส่ใจเรื่องอื่นเรื่องอะไรนัก ไม่แปลกประหลาด ไม่ทึ่งไม่สนใจในอะไร จิตดูจิตอยู่ข้างใน ทุกอิริยาบถแม้จะเดินไปบิณฑบาต ก็การ การกำหนดความรู้สึกในภายในว่าเป็นอย่างไรอยู่ นี้ก็กำหนดได้ เพราะจิตมันไวมาก มันทำหน้าที่ได้อย่างนี้ เดินไปบิณฑบาตก็กำหนดจิตในภายในได้ เมื่อรับบิณฑบาต เมื่อเดินกลับวัด เมื่อเอามาฉัน เมื่อเอาอะไรต่อไปเป็นลำดับทุกอิริยาบถ ขอให้รู้สึกตัวเอง ที่เป็นอัตภาพหนึ่งๆ อัตภาพหนึ่งๆในภายใน ทุกๆขณะแห่งการปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงของจิต เรารู้สึกอย่างไร อัตภาพก็จะเกิดขึ้นใหม่ตามความรู้สึกอันนั้น เรียกว่าเป็นอัตภาพชนิดนั้นหนึ่งอัตภาพ ฉะนั้นเราก็มีอัตภาพได้เป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่นก็ได้ในวันหนึ่งๆ เราดูที่จิตเป็นอย่างไรนั่นแหละ นั่นแหละคืออัต อัตภาพหนึ่ง อัตภาพหนึ่งๆ มันก็อยู่ที่จิต มันก็อยู่ที่จิตดวงเดียวนั้นน่ะที่มันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถูกปรุงแต่งไปอย่างไร จะเรียกว่าบุคคลก็ได้ แต่ในบาลีมันเรียกว่าอัตภาพ ภาวะหนึ่งๆของจิตน่ะคืออัตภาพหนึ่งๆทางจิต แล้วอยู่ที่ร่างกายนี้ ก็พลอยบวกเอาร่างกายนี้เข้าไปด้วย พอร่างกายนี้ที่มีความรู้สึกอยู่ในจิตแบบหนึ่งนั่นน่ะคืออัตภาพหนึ่ง จะเรียกว่าบุคคลหนึ่งก็ได้ แล้วๆแต่จะใช้คำ นี่เรียกว่า รู้เรื่องจิตที่เปลี่ยนได้ เป็นที่กำหนดหมายแห่งชีวิตก็ดี อัตภาพก็ดี ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้เอง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ตัวตนของๆๆมัน ไม่ใช่ตัวตนของกู มันเป็นแต่เพียงจิตรู้สึกนึกคิดอยู่รูปแบบหนึ่งเท่านั้น
การคอยศึกษาอย่างนี้มีประโยชน์มากนะ คือทำให้รู้เรื่องไม่มีตัวตนน่ะมากขึ้น จะทำให้รู้เรื่องอนัตตา ไม่มีตัวตนนั่นได้มากขึ้น ได้เร็วขึ้น กระทั่งมันจะรู้เรื่องไอ้สุญญตา ว่างไม่มีตัวตน รู้เรื่องตถาตา มันเช่นนั้นเองนี่มากขึ้น ฉะนั้นขอให้กำหนดศึกษาในภายในให้ดีที่สุดเถอะ จะรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุญญตา ตถาตา อิทัปปัจจยตา มากขึ้นๆๆ นั่นน่ะคือทางแห่งความสำเร็จแหละ ที่เราๆจะประสบความสำเร็จหรือถึงที่สุดในการศึกษาพระพุทธศาสนา รู้เรื่องความทุกข์ รู้เรื่องการกระทำที่ไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้นในจิต ทุกข์สุขอยู่ที่จิตดวงเดียว ควบคุมจิตดวงเดียวได้ ก็เป็นอันว่าควบคุมได้หมดทุกสิ่ง ควบคุมโลก เพราะว่าโลกทั้งโลกจะมามีอิทธิพลแก่เราน่ะมันแล้วแต่จิตรับเอาโลกเข้ามาอย่างไร เดี๋ยวนี้จิตมันจะไม่รับเอาโลกเข้ามาอย่างเดิมแล้ว คือไม่ทำอย่างเดิม เพราะจิตมันถูกอบรมให้ฉลาดขึ้น จิตมันไม่รู้สึกต่อโลกอย่างที่มันเคยรู้สึกแต่ก่อนซึ่งมันยังโง่อยู่ เดี๋ยวนี้มันฉลาดแล้ว เพราะฉะนั้นโดยวิธีที่เป็นอยู่อย่างที่ว่านี่จะทำให้จิตฉลาดขึ้นๆๆ กลายเป็นบุคคลใหม่ บุคคลใหม่ มีจิตชนิดที่หลุดพ้นแล้วจากเรื่องเก่าๆ อยู่เหนือเรื่องเก่าๆก็เรียกว่า โลกุตตระ ไม่เหมือนเรื่องเก่าๆที่เคยมีอยู่ในโลก ตามแบบโลก ตามประสาโลก มันก็ขึ้นสู่โลกุตตระหรือเหนือโลก หมายความว่าเหนือความทุกข์ทั้งปวง เหนือโลกหมายความว่าเหนือความทุกข์ทั้งปวง ไอ้คำพูดนี่มันอาจจะมาก มากคำพูด มากอักษร มากหนังสือ แต่เรื่องมันนิดเดียวแหละ คุณเอาไปสรุปความ ย่อความให้ดีเถอะ เรื่องมันนิดเดียว เรื่องนิดเดียว สองสามประโยคเท่านั้นแหละ แต่เมื่อให้อธิบายมันก็พูดมาก มากมาย กี่ชั่วโมงก็มันเรื่องมันก็ยังคงนิดเดียวน่ะ
ความสุขความทุกข์มันเกิดมาจากการที่ดำรงจิตไว้ผิดหรือดำรงจิตไว้ถูก เราๆตั้งจิตไว้ถูกหรือเราตั้งจิตไว้ผิด เราดำรงจิตไว้ถูก ดำรงจิตไว้ผิด มันมีเท่านั้น ดำรงจิตไว้ไม่ถูกมันเกิดความรู้สึกชนิดที่เราเรียกว่าความทุกข์ ดำรงจิตไว้ถูกก็เกิดไอ้ความรู้สึกชนิดที่ไม่มีความทุกข์ แล้วเราชอบเรียกว่าความสุข เพราะเราติดยาฝิ่นความสุขกันนัก มันเป็นเพียงสักว่าเช่นนั้นเองบ้าง อย่าสุขอย่าทุกข์กันนัก นั่นน่ะสบายดี ปรกติ อยู่ตรงกลาง ว่าง ไม่มีอะไรรบกวน ก็สบายดี ขอให้ดำรงจิตอยู่ในลักษณะนี้ แล้วผมก็อยากจะย้ำอีกทีหนึ่งว่าไปค้นเอาเองก็ได้ ไปค้นเอาเองก็ได้ อย่าหวังแต่จะรู้อะไรจากพระบาลี พระคัมภีร์ หรือพระธรรมคำสอนในพระคัมภีร์นัก อย่าหวังให้ ให้อย่างเดียวนั้น ไปคิดเอาเองบ้างสิ ไปสังเกตเอาเองบ้างสิ แล้วมันจะรู้จักปรับปรุง ควบคุม ปรับปรุง ระวังรักษาดำรงจิตไว้ในลักษณะที่ไม่มีความทุกข์ ถ้าคิดอย่างนี้ ดำรงจิตดวงนี้มันเป็นทุกข์ก็อย่าเอากับมันสิ อย่าเอากับมันสิ เหมือนกับหมานอนตรงนี้ไม่สบาย มันก็ขยับไปนอนตรงนู้นได้ ไม่สบายมันก็ขยับไปนอนตรงนู้นได้ ไม่สบาย ขยับไปนอนตรงนู้นได้ จนมันพบที่สบายน่ะ หมาก็ตาม แมวก็ตาม อะไรก็ตาม ดูเถอะ มันต้องรู้สึกแล้วมันก็ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ ตั้งเสียใหม่ หาใหม่ ดำรงจิตเสียใหม่ จนพบที่มันทนได้ ทนได้คือสบาย ถ้าทนไม่ได้คือไม่สบาย นี้มันจะต้องถือว่าเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติของสิ่งที่มีความรู้สึก ถ้ามันทนไม่ได้มันก็ต้องดิ้นรน ต้องหนี ต้องต่อสู้ หรือแล้วแต่แหละที่จะให้มันพ้นไปเสียจากไอ้ที่มันทนไม่ได้ จนกว่าจะไปพบที่ไม่ต้องทนหรือทนได้ ทนอยู่ได้แล้วมันก็อยู่ ฉะนั้นเราอาศัยหลักธรรมชาติอย่างนี้กันบ้าง เพราะถ้าอย่างนี้มันเป็นทุกข์ทนไม่ได้ก็เปลี่ยนเสียสิ เปลี่ยนแล้วคลำไปใหม่ คลำๆๆไปใหม่ ไปทดลอง ทดลองใหม่จนพบว่าไอ้ที่มันพอทนได้น่ะเอาเข้าไว้ๆ อย่าง ทำอย่างนี้เรื่อยๆไปมันจะพบดีๆ ดีขึ้นๆๆๆ เราจัดของเราเองน่ะ เพราะว่าไม่มีใครมารู้สึกของเรา ถ้าเราจะหวังพึ่งแต่ในหนังสือ เราได้ยินคำแปลกๆ เราก็จำไว้แล้วเราไม่เข้าใจว่าอะไร แต่ถ้าเราคลำอยู่ข้างใน รู้สึกอยู่ข้างใน เราจัดการกับมันได้โดยที่ไม่ต้องรู้จักว่ามันเรียกว่าอะไรก็ได้ เราควรจะรู้จักว่าไอ้เว อ่า, ไอ้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอย่างไรได้ด้วยซ้ำไปโดยไม่ต้องรู้ว่ามันเรียกว่าอะไรก็ได้ คุณไปทำดูเถอะ
เดี๋ยวนี้เราเรียนมากเกินไป รู้ตัวหนังสือมากเกินไป จำไว้ได้เกินไป แต่ตัวจริงของมันคืออะไรก็ไม่รู้ เวทนาคืออะไร สัญญาคืออะไร สังขารคืออะไร วิญญาณคืออะไรก็ไม่รู้ ถ้าอยากรู้ก็ไปสัม กำหนดจิตสิ จิตเปลี่ยนเป็นอย่างไร นับตั้งแต่ตาเห็นรูปแล้วจิตเปลี่ยนเป็นอย่างไรๆๆ จนเป็นความคิดนึกหรือการกระทำ นั้นน่ะคือไอ้เรื่องของเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณน่ะ ไปรู้จักตัวมันก่อน ก่อนแต่ที่จะรู้จักชื่อนี่ผมว่าดี ดีกว่ารู้จักชื่อแล้วไม่รู้จักตัว
จิตมันก็คือความรู้สึก สิ่งที่มีความรู้สึกคิดนึกได้ แต่มันต้องได้อาศัยไอ้อวัยวะเครื่องมือนะ ต้องอาศัยประสาท ต้องอาศัยอะไรครบถ้วนแล้วมันจึงรู้สึกคิดนึกได้ พอกระทบกันแล้วรู้สึกคิดนึกอย่างไร ยินดีคืออย่างไร ยินร้ายคืออย่างไร โลภะคืออย่างไร โทสะคืออย่างไร โมหะคืออย่างไร ไม่ๆรู้จักชื่อแต่รู้จักตัวมันให้ดีกว่า แล้วๆได้ ได้ต่อสู้กันมัน กับมัน ได้ๆๆสัมผัสกับมัน ได้รับไอ้ความรู้สึกจากมัน จำไว้เถอะว่า อย่างนี้แล้วก็อย่างนี้ทุกที ถ้าอย่างนี้ก็อย่างนี้ทุกที อย่างนี้ก็อย่างนี้ทุกทีนี่ แล้วในที่สุดจะไปตรงกับที่มีอยู่ในคัมภีร์ พฤติการณ์เหล่านี้ที่เรารู้ สังเกตเอาเอง พบเอาเอง ในที่สุดมันก็จะไปตรงกับในคัมภีร์ เราจะทำพร้อมๆกันไปก็ได้ แต่ถ้าความรู้จริงแล้วต้องรู้เองจากข้างใน ไม่ใช่จำได้จากคัมภีร์ ไม่อาจจะรู้จักรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือขันธ์ ๕ ได้จากคัมภีร์ แต่รู้สึกด้วย รู้สึกจากข้างใน คือสัมผัสมันเองในภายใน อย่างไรเรียกว่าเวทนา อย่างไรเรียกว่าสัญญา อย่างไรเรียกว่าสังขาร อย่างไรเรียกว่าไอ้วิญญาณ ให้รู้จักตัวจริงของมันเถอะ ก็รู้จักเรื่องจิต เรื่องของจิต ธรรมชาติของจิตนี่ อะไรๆทุกอย่างที่เกี่ยวกับจิตได้ แต่ถ้าเราไปท่องตัวหนังสือ อย่างเรียนอภิธรรมเรียนอะไร มันก็วนเวียนอยู่นั่นแหละ มันไม่รู้จักตัวจริง รู้จักแต่ชื่อ จนเวียนหัว จนไม่มีประโยชน์อะไรเลย
วันก่อนพูดเรื่องเดียว คือว่าขอให้เชี่ยวข้างใน วันก่อนน่ะพูดตั้งชั่วโมงสองชั่วโมง ก็เรื่องนิดเดียว ให้เชี่ยวอยู่ข้างใน เชี่ยวอยู่ข้างใน อย่าออกไปข้างนอก แล้ววันนี้ก็พูดตั้งสองชั่วโมงแล้ว นี่ก็ว่าอะไรๆมัน มันอยู่ที่จิต อะไรๆมันอยู่ที่จิต เพราะฉะนั้นขอให้มุ่งหน้า บากหน้าเข้าไปเล่นงานกับจิต ไปจัดการกับจิตนั่น ที่ไปคอยกำหนดศึกษาให้รู้จักจิตให้เพียงพอ จนสามารถที่จะควบคุมจิต ป้องกันจิต แก้ไขจิต ปรับปรุงจิตอะไรได้ตามที่ต้องการ ชอบอยู่คนเดียวให้มากๆ อยู่ด้วยความสงบสงัดให้มากๆ เหมือนกับพระพุทธเจ้าตรัสไว้ในสูตรที่ว่านั้นน่ะ ว่าเป็นพระโสดาบันแล้ว กลางวันให้อยู่กับวิเวก กลางคืนให้อยู่กับปฏิสัลลีนะ แล้วมันก็เลื่อนลำดับ แม้จะเป็นพระสกิทาคามีอีกแล้ว ได้ๆอีกแล้ว มันก็ต้องทำอย่างนั้นอีก พระสกิทาคามีก็ยังจะต้องทำแบบเดียวกัน กลางวันอยู่กับวิเวก กลางคืนอยู่กับปฏิสัลลีนะ เป็นอนาคามีก็เหมือนกันแหละ จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์น่ะมันจึงจะจบเรื่อง พระอรหันต์เขาเรียกว่าผู้จบ จบการศึกษา มีพรหมจรรย์อันอยู่จบแล้ว กิจอื่นที่จะต้องศึกษาต่อไปอีกไม่มี อย่างนี้เป็นพระอรหันต์ ถ้ายังเป็นเพียงคนธรรมดา หรือเป็นเพียงโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีแล้วก็ เข้าโรงเรียนจิตตะพึด เข้าโรงเรียนจิตตะพึด มีเวลาเมื่อไรก็เป็นเอา กลางวันอยู่กับวิเวก กลางคืนอยู่กับปฏิสัลลีนะ เราคงทำไม่ได้ทั้ง ๒๔ ชั่วโมง แต่ขอให้มันได้มากชั่วโมงขึ้นก็แล้วกัน
อยู่กับวิเวก อยู่กับปฏิสัลลีนะนั้นมันไม่ใช่ว่ามันมานอนนะ ไม่ใช่มานอนหลับเสีย จิตมันๆๆศึกษาเรื่อย จิตมันกำหนดศึกษาไปตามแบบของจิต เมื่อสงัดเมื่อวิเวก เดี๋ยวจิตมันปรับปรุงตัวเองตามแบบที่ว่า มีปราโมทย์ มีปีติ มีสุข มีปัสสัทธิ มีสมาธิ มียถาภูตญาณทัสสนะ พระพุทธเจ้าท่านคงจะมองเห็นแล้วว่าอย่างอื่นไม่ดี ไม่เหมาะเท่ากับว่าอยู่กับวิเวกเสมอไป เราจะไปทำอย่างอื่นก็ได้ ก็คงจะได้ แต่มันไม่ดีเท่าที่ว่าอยู่กับวิเวกเสมอไป ท่านใช้คำว่าเป็นผู้ไม่ประมาท อัปปมาทะวิหารี เป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท อยู่อย่างนี้คืออยู่อย่างฉลาด อย่างไม่ประมาท อย่างไม่มีทาง ไม่มีทางที่จะเสียหายหรือขาดทุน
คำว่าวิเวกก็คือว่าไม่ยุ่งกับอะไร แปลว่าหนึ่งอย่างวิเศษ วิเวก วิเวก เอกะ เอกะแปลว่าหนึ่งวิแปลว่าวิเศษ หนึ่งอย่างยิ่ง หนึ่งอย่างวิเศษ คือเดี่ยว เดี่ยวอย่างยิ่ง เดี่ยวอย่างวิเศษ เป็นวิเวก อย่าให้ อย่าให้อะไรมากวน มาตอม มารบกวน นี่ปฏิสัลลีนะนั้นแปลว่าซ่อน ซ่อนตัวอย่างยิ่งจนอะไรหาไม่พบ จนอะไรจะมาตามไม่พบ อารมณ์อะไรจะมาเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะว่ามันซ่อนพ้นวิถีทางของอารมณ์ อารมณ์อะไรจะมารบกวนไม่ได้นี่ นี่เรียกว่าซ่อนอย่างยิ่ง ปฏิสัลลีนะ กลางวันอยู่กับวิเวก กลางคืนอยู่กับปฏิสัลลีนะ นี่ตามคำพูดของพระพุทธเจ้า นี่เรียกว่าผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท แล้วมันจะ ในจิตมันจะมีพฤติไปตามลำดับ มันจะปราโมทย์ มันจะปีติ มันจะเป็นสุข มันจะเป็นปัสสัทธิ มันจะเป็นสมาธิ มันจะเป็นปัญญาเพิ่มขึ้น ความรู้เพิ่มขึ้น ความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อนมันจะรู้เพิ่มขึ้น
ทุกอย่าง จะเรียกว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับจิต จิตเพียงหนึ่ง จิตนั้นมีหนึ่ง แล้วแต่จะทำให้เป็นอะไร ความทุกข์ก็อยู่ที่นั่น ไม่ทุกข์ก็อยู่ที่นั่น มรรคผลนิพพานก็อยู่ที่นั่น นรกสวรรค์ก็อยู่ที่นั่นน่ะ นรกสวรรค์แล้วก็อยู่ที่จิตดวงเดียว มรรคผลนิพพานก็อยู่ที่จิตดวงเดียว ทำให้ตามกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา ต้องการอะไรก็ทำให้ถูกเทคนิคของมัน คืออิทัปปัจจยตา แล้วมันก็จะได้ตามที่เราต้องการ จะเอานรกก็ได้ จะเอาสวรรค์ก็ได้ จะเอาไอ้ธรรมดาก็ได้ เอามรรคผลนิพพานก็ได้ เอาออกมาได้จากจิตดวงเดียว มี มีขั้นตอนต่างๆๆ แต่ขั้นตอนไอ้ตอนที่จะสำคัญที่สุดมันมีอย่างที่ว่า จะต้องปราโมทย์ จะต้องปีติ จะต้องเป็นสุข จะต้องเป็นปัสสัทธิ จะต้องเป็นสมาธิ แล้วมันจะมีไอ้ความรู้ที่ยังไม่เคยรู้เข้ามา มันคล้ายๆกับว่า หรือว่าเราอาจจะพูดได้เลยว่าไอ้จิตนี่มันอยากรู้อยู่เสมอ จิตนี่มันอยากจะรู้อะไรยิ่งขึ้นไปเสมอจนกว่าจะพอ เราไม่ต้องไปบังคับให้มันรู้หรอก หรือให้มัน ไม่ต้องบังคับให้มันอยากรู้หรอก สัญชาติของจิตมันก็พร้อมที่จะรู้ พร้อมที่จะรู้ พวกบางพวกเขาว่ามันมีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะมันมีอยู่แล้วในจิตทุกจิตน่ะ คือมันอยากจะเป็นพุทธะอยู่เป็นธรรมชาติ เพราะฉะนั้นทำให้มันได้โอกาสสิ ทำมันให้เกิดสุข เกิดปัสสัทธิ เกิดสมาธิ แล้วมัน ไอ้นั่นน่ะก็ทำงาน ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะจะแสดงบทบาทเอง
ความอยากจะถึงจุดสูงสุดนั้นดูว่ามันจะเป็นไอ้ๆๆธรรมชาติของสิ่งทั้งปวง สิ่งที่มีชีวิตรู้สึกคิดนึกได้ สิ่งที่มีความรู้สึกได้น่ะมันจะรู้สึกไปในทางที่ว่ามันจะไปถึงที่สุดเสมอ จิตนี้ก็เหมือนกัน เราพยายามให้โอกาส เป็นอยู่ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติที่จิตมันจะไปสูงสุดของมันได้ ทั้งวันทั้งคืนๆทำให้จิตมันได้โอกาสที่จะไปถึงที่สุด สูงสุดของมันได้ นั้นเรียกว่าถูก
นี่สรุปความกันทีว่า อะไรๆทั้งหมดๆๆมัน มันรวมอยู่ที่สิ่งๆเดียวคือจิต แต่ว่าทำกับมันยากหน่อยเพราะมันเร็วยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ รู้ไว้ด้วย เราต้องมีวิธีป้องกันหรือว่าจัดๆ จัดการให้ ให้มันต้องไปอย่างนั้น ให้มันต้องเป็นไปอย่างที่เราต้องการ ให้มันเร็วยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ มันก็ต้องไปอย่างที่เราจัดให้ แล้วใครจัดให้ มันก็คือจิต คือจิตอีกเหมือนกัน นี่เรื่องที่ตลก มันไม่มีอะไรนอกจากจิต ฉะนั้นที่จะๆๆฉลาดก็จิต จะๆโง่ก็จิต แล้วก็จิตดวงนั้นน่ะ แปลว่าจิตนั้นมันเร็วถึงขนาดอย่างนี้ จิตที่เป็นจิตโง่ก็ดวงนี้ จิตดวงนี้ จิตจะฉลาดก็จิตดวงนี้ จิตที่จะรู้จักเข็ดหลาบก็จิตดวงนี้ จิตที่รู้จักทำใหม่ ตั้งต้นใหม่ก็จิตดวงนี้ ความเร็วของมันจนมันคนเดียวแสดงละครได้ทุกบทเลย แล้วเร็วอย่างชนิดที่กำหนดไม่ทัน ละหุโส วัตตะเต ขะโณ ขณะจิต ขณะจิต ขณะนี้คือขณะจิต ซึ่งเขาก็พูดเปรียบเทียบไว้ในบาลี ในอรรถกถา ว่าเร็วเหมือน เท่าฟ้าแลบ เร็วเท่าๆสายฟ้าแลบ แต่เราก็ยังจัดการได้ เป็นเรื่องตะ ตลกสิ้นดี จิตดวงนั้นน่ะที่มันเป็นจิตโง่ จิตดวงนั้นที่มันเป็นฉลาด และไอ้ความรู้สึกโง่มันเป็นทุกข์ ความรู้สึกที่ฉลาดก็ไม่ๆต้องเกิดทุกข์ แล้วมันจะ มันจะรู้จักเป็นแต่ฝ่ายฉลาด ไม่รู้จักเป็นไปฝ่ายโง่ นี่น่า น่าหัวนะ จิตดวงนั้น ไม่ใช่ๆดวงอื่น แล้วแต่อะไรเข้าไปประกอบมัน มันก็เป็นจิตชนิดหนึ่งๆๆ แล้วแต่ว่าอะไรจะเข้าไปประกอบกับมัน ทีนี้อะไรที่จะไปเข้าประกอบมัน มันก็จัดของมันเอง ความรู้หรือปัญญา สติสัมปชัญญะ ความรู้สึกเข็ดหลาบ รู้สึกกลัวบาป รู้สึกไม่อยากจะทำซ้ำอีก มันก็จิตดวงนั้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นแก่จิตดวงนั้น เมื่อมันทำอย่างนี้ และมันก็ไม่ทำอย่างนั้น มันก็ทำแต่อย่างนี้ มันก็เจริญๆๆไปในทางที่ ที่ต้องการน่ะ ที่ไม่เป็นทุกข์
ที่จิตไม่มีตัวตน จิตเป็นสักว่าจิต เป็นสักว่าจิต ไม่ใช่ตัวตน แต่พอเราพูดกันเดี๋ยวนี้มันก็ต้องพูดอย่างมีตัวตน ว่าเราจัดจิต เราเป็นเจ้าของจิต เราจัดจิต เราฝึกฝนจิตนี่ ที่แท้จิตฝึกฝนจิต แต่เราพูดว่าเราฝึกฝนจิต อะไรเรื่องมีแต่จิต สิ่งเดียวนี่ช่วยที่จะเข้าใจดี จิตสิ่ง ส่วนจิต มีแต่จิตอย่างเดียวมันจัดการได้ทุกอย่าง จนให้ไม่มีความทุกข์เลย เป็นนิพพาน ไม่มีความทุกข์เลย มันก็ทำของมันได้ด้วยจิต จิตเท่านั้น สักว่าจิตเท่านั้น แล้วมันก็น่าหัวที่ว่ามันๆ มันแสดงละครของมันได้เอง ทุกๆชนิด ทุกฉาก ทุกชนิด และเร็วจนกำหนดไม่ทัน แล้วไม่ต้องมีใครมาช่วย ความเจริญของมันเองน่ะทำให้รู้จักว่าควรจะทำอย่างไร มันก็ทำของมันเอง เหมือนกับสุนัขตัวหนึ่งมันเที่ยวเลือกหาที่นอนจนพอใจได้ ไม่มี ไม่ต้องมีสุนัขอีกตัวหนึ่ง สุนัขตัวนั้นน่ะมัน มันรู้จักว่าตรงนี้นอนไม่สบาย เลื่อนไปตรงนู้น ไม่สบาย เลื่อนจนตรงนี้สบาย นอน ก็สุนัขตัวนั้นนั่นแหละ นี่เป็นอุปมาเปรียบเทียบอย่างนี้ เกี่ยวกับจิต
เอาละ, ผมก็รู้สึกเหนื่อยเหมือนกัน สองชั่วโมงแล้ว เวลามันก็พอดี ก็จะปิดประชุมเสียที ให้ได้ไปถึงกุฏิก่อนไฟดับ เข้ามาในห้องนี้ผมอยากจะขอร้องสักอย่างหนึ่ง ให้คุณกล้าคิดกล้าเชื่อว่า ถ้าเราอย่าเหลวไหล เราจะทำงานได้มากจนเขาไม่เชื่อว่าคนเดียวทำ มีพระเขาบอกว่าหลายคนที่เข้ามาดูแล้วเขาบอกไม่เชื่อว่าคนเดียวทำ หนังสือเหล่านี้นะ นี่บอกว่าคนเดียวทำ เพราะว่าไม่เหลวไหลนี่ มีโอกาสเมื่อไรทำ มีโอกาสเมื่อไรทำ นี่ไม่เหลวไหล ไม่บิดพลิ้ว นี่ทำไปเถอะ แล้วมันก็จะได้มากขนาดที่เขาไม่เชื่อว่าคนเดียวทำ ที่จริงมันเป็นผลงานของสัก ๒๕ ปีนะที่นี่ ไม่ใช่ถึง ๕๐ ปี เพราะว่าไอ้ ๒๕ ปีตอนแรกนั้นไม่ได้เก็บไว้ได้ มันไม่มีเครื่องบันทึกเสียงบ้าง มันไม่ๆอาจจะเก็บไว้ได้ เพราะฉะนั้นพอย่างเข้ามาในห้องนี้แล้วก็ให้รู้สึกว่า โอย, ถ้าเราอย่าเหลวไหล ถ้าเราอย่าบิดพลิ้ว ถ้าเราอย่าผัดวันประกันพรุ่ง เราก็จะทำอะไรได้มากเหมือนกัน ชนิดที่ไม่มีใครเชื่อว่านี้คนเดียวทำ เอ้า, นิมนต์.