แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านอาจารย์เริ่มการแสดงธรรม: ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย ธรรมเทศนาในตอนที่ ๓ นี้ เป็นการกล่าวติดต่อไปจากตอนที่ ๒ ในลักษณะที่เป็นการปฏิบัติต่อสิ่งที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ซึ่งเป็นธรรมะสูงสุด ปฏิบัติสำเร็จแล้ว ให้เกิดบุคคลผู้ที่รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ทั้งที่เป็นหัวหน้าผู้เป็นต้นกำเนิด และที่เป็นบริวารคือพระสงฆ์ทั้งปวง เพื่อจะได้ปฏิบัติถูกต้องแล้วก็ดับทุกข์ได้ สรุปการปฏิบัตินั้นไว้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่ดำเนินไปโดยสายกลาง คำว่ามัชฌิมาปฏิปทาที่เราได้ยินกันอยู่คู่กันกับอริยสัจจ์ ๔ นั้น ก็คืออริยอัฏฐังคิกมรรค กล่าวไว้ตรงๆ ในรูปนั้น ซึ่งเป็นการดำเนินไปในทางกลางระหว่าง กามสุขัลลิกานุโยค กับ อัตตกิลมถานุโยค ถ้าจะประมวลมาโดยพูดถึงแล้วอาจจะแบ่งได้เป็น ๓ ประเภทหรือ ๓ อย่างด้วยกัน คือเมื่อกล่าวโดยคำพูดก็กล่าวได้ว่า เป็นความไม่ตึง ไม่หย่อน สายกลางในที่นี้คือไม่ตึง ไม่หย่อน นั้นภาษาชาวบ้านทั่วไป ไม่เปียก ไม่แห้ง เปียกก็คือหย่อน แห้งก็คือตึง แต่ว่าเป็นทางสายกลางไม่เปียก ไม่แห้ง ไม่หย่อน ไม่ตึง ในขั้นแรกนี้ยังมีลักษณะสำหรับมีตัวตนซึ่งเป็นผู้กระทำ หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็ว่าพูดกันโดยโลกียโวหาร คือระดับของชาวบ้าน มีตัวตนเป็นบุคคลผู้ได้รับผล ยังมีผลเป็นดีเป็นชั่ว ในระดับบุคคลที่ยังมีผลดี ผลชั่ว ยึดถือในผลดีผลชั่ว บุคคลนั้นยังรู้สึกความที่มีผลดี มีผลชั่ว จึงได้ดำเนินตนไปในทางสายกลางเพื่อผลอันดีอยู่อย่างมีความสุข เหมือนที่เราได้ยินได้ฟังกันทั่วไปว่า ให้เดินไปสายกลาง ไม่ตึงไม่หย่อน นี้ก็พวกหนึ่ง
ทีนี้อีกพวกหนึ่งที่จะพูดได้ก็คือ เล็งถึงภาวะแห่งความถูกต้อง เป็นสัมมา ซึ่งก็ยังคู่กันอยู่กับมิจฉา ซึ่งตรงกันข้าม เดินไปในทางของสัมมานี้ก็เรียกว่ายังเนื่องอยู่กับความคิดนึกที่มีตัวตน ให้ตัวตนดำเนินไปดี เพื่อสู่ความหมดดีหมดชั่ว เหนือดีเหนือชั่ว เรียกว่าเริ่มที่จะเข้าไปในเขตของโลกุตตระ ที่เรียกว่าสัมมา ก็แปลว่าถูกต้อง ถูกต้องในที่นี้หมายถึงความมีคุณค่า ดับทุกข์ได้ ถ้าพูดถึงประโยชน์ก็เรียกว่ายังมีความต้องการในประโยชน์ สัมมาคือความถูกต้องนั้นจำแนกไว้เป็น ๘ อย่างก็มี ๑๐ อย่างก็มี ถูกต้องในการประพฤติหรือกระทำจำแนกไว้ ๘อย่างคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้เป็นความถูกต้องสำหรับปฏิบัติ เนื่องอยู่กับการปฏิบัติ ทางถูกต้อง ๒ อย่างเพิ่มเข้ามา คือสัมมาญาณะ และสัมมาวิมุติ นี้เป็นผลของการปฏิบัติ เกิดญาณที่ถูกต้อง และเกิดวิมุติที่ถูกต้อง ๑๐ อย่างนี้ ถ้ามากันทั้ง ๑๐ ก็เรียกว่าสัมมัตตะ ภาวะแห่งความถูกต้อง ท่านทั้งหลายก็ได้ยินได้ฟังจนชินแล้วเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ แต่ควรจะเข้าใจให้ยิ่งๆ ขึ้นไปในการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นให้รู้ถึงความที่สัมพันธ์กันอย่างไร หรือว่าสนับสนุนกันอย่างไร
โดยหลักทั่วไปก็คือ สัมมาทิฏฐิจะต้องมาก่อน เหมือนกับตัวนำ คล้ายๆกับว่าเป็นเข็มทิศ เป็นแผนที่สำหรับนำทาง เรื่องของสัมมาทิฏฐิจึงต้องรู้เรื่องความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์และทางให้ถึงความดับทุกข์ เมื่อเรารู้ในสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็จะรู้ว่า เดินไปอย่างไร หรือปราถนาที่จะเดิน เพราะว่ารู้ดีแล้วว่ามันเป็นอย่างไรก็ปรารถนาที่จะเดิน รู้ว่าเดินอย่างไรและปรารถนาที่จะเดินนี้ก็มีความหมายมากเพราะคนเราไม่รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร ก็ไม่เกิดความคิดที่จะกระทำ จึงต้องมีความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องนั้นๆ ว่ามีความสัมพันธ์กันอยู่อย่างไร ความทุกข์คือปัญหาหรือสิ่งที่เลวร้าย ที่จะต้องกำจัดให้หมดไปและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก มาจากตัณหาคือความอยากด้วยอำนาจของความโง่ คืออวิชชา มีสายยาวในการที่ส่งต่อกันคือกระแสอิทัปปัจจยตา ฝ่ายที่ให้เกิดความทุกข์ ท่านระบุไปที่ความอยากที่มาจากความโง่ ความอยากหรือความต้องการที่ไม่ได้มาจากความโง่นั้นไม่อยู่ในข้อนี้ ไม่ได้อยู่ในส่วนนี้ เพราะว่าความปรารถนาที่ถูกต้องโดยสัมมาทิฏฐินั่นไม่ได้ทำให้เกิดความทุกข์ ความอยากโดยมิจฉาทิฏฐิหรือโดยอวิชชาเท่านั้นที่จะทำให้เกิดความทุกข์ เป็นปฏิจจสมุปบาทสายที่ให้เกิดความทุกข์ หรือเป็นไปตามกฎของอิทัปปัจจยตาฝ่ายที่ผิด คือฝ่ายที่จะให้เกิดความทุกข์ ธรรมะแท้ๆ ตัวธรรมะแท้ๆนั้นเป็นตัวธรรมชาติ ไม่มีเรื่องผิดเรื่องถูก มันมีแต่ว่าถ้าอย่างนี้มีแล้ว อย่างนี้ก็ต้องมี ถ้าอย่างนี้มี แล้วอย่างนี้ก็ต้องมี มันไม่รู้เรื่องสุขเรื่องทุกข์ เรื่องได้ เรื่องเสีย เรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องดีเรื่องชั่ว นี่มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ แต่เมื่อมันมาเกี่ยวข้องกับจิตใจของมนุษย์ มนุษย์ก็เอาความรู้สึกของตัวเป็นใหญ่ ถ้ามันเจ็บปวดทนทรมานไม่เป็นที่ถูกใจ ก็จัดไว้เป็นฝ่ายชั่ว ฝ่ายบาป หรือฝ่ายทุกข์ นี่ขอให้รู้ว่ามันเป็นเรื่องความรู้สึกของมนุษย์ต่อบางสิ่ง บางส่วนหรือบางอย่าง ในกระแสแห่งอิทัปปัจจยตานี่เรามาหลงในส่วนที่รู้สึกเอาเองว่าดีว่าชั่ว ว่าสุขว่าทุกข์ ว่าบุญว่าบาป ทั้งที่กระแสแห่งอิทัป- ปัจจยตานั้น มันไม่มีความรู้สึกในตัวมันที่ว่าจะเป็นบุญบาป ดีชั่ว หรือสุขทุกข์ มันมีแต่ความตายตัวแน่นอนว่า เมื่อมีสิ่งนี้ ก็ต้องมีสิ่งนี้ เมื่อมีสิ่งนี้ ก็ต้องมีสิ่งนี้ เมื่อมีสิ่งนี้ ก็ต้องมีสิ่งนี้ เป็นสายไป จนกว่าจะถึงจุดสุดท้ายแห่งเรื่องนั้นๆ เราเรียกว่า
อิทัปปัจจยตา ฝ่ายผิดหรือฝ่ายให้เกิดทุกข์ นี้เราว่าเอาเองเราบัญญัติให้ ทีนี้ก็รู้ต่อไปถึงความดับทุกข์หรือ นิโรธ คือทุกข์ดับไปด้วยเหตุ ด้วยปัจจัยโดยกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา อีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายที่จะดับทุกข์ ก็ตรงกันข้าม หรือเป็นไปในลักษณะที่ตรงกันข้าม คือมีวิชชา มีปัญญา หรือมีสัมมาทิฏฐินั่นเองเป็นตัวการสำคัญ นี้เรียกว่ารู้อย่างถูกต้อง และก็ครบถ้วน คือรู้ถูก รู้จริง และก็รู้เพียงพอ นี่เราจะต้องมีสัมมาทิฏฐิชนิดนี้ จึงจะเหมือนกับว่ารู้ทุกทิศทุกทาง ทางไหนไปไหน ทางไหนไปไหน แล้วก็เลือกเอาฝ่ายที่ตัวเองปรารถนา คือดับทุกข์ได้
สัมมาสังกัปโปนั้น มันก็บอกชัดอยู่แล้วว่าเป็นความปรารถนา แต่มันเป็นสัมมา คือเป็นความปรารถนาที่ถูกต้อง เพราะรู้ดี ทั่วถึงแล้วว่าอะไรเป็นอย่างไร แล้วก็รู้เลือกปรารถนาที่ตนควรจะต้องการ คือไม่มีความทุกข์นั่นแหล่ะ แล้วก็ลงมือทำตามที่ปราถนาคือฝ่ายถูก จึงมีการพูดจาที่ถูกต้อง มีการงานที่ถูกต้อง มีการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง พูดจาถูกต้องก็คือ ไม่เกิดโทษแก่ฝ่ายใด แต่เกิดคุณแก่ทุกฝ่าย หรือเลือกเอาอิทัปปัจจยตาฝ่ายนี้ ไม่เลือกเอาฝ่ายผิดที่จะให้เกิดทุกข์ การทำการงานก็ถูกต้อง รู้จักทำแต่สิ่งที่เกิดคุณ ดับทุกข์ได้โดยส่วนเดียว การดำรงชีวิตอยู่ก็ถูกต้อง ไม่มีปัญหาไม่มีความทุกข์เกิดเพราะการดำรงชีวิตนั้น นี้เรียกว่าวาจาถูกต้อง การกระทำทางกายถูกต้อง การดำรงชีวิตโดยส่วนใหญ่ก็ถูกต้อง ซึ่งบัญญัติให้เรียกว่า ศีล ความมีศีลคือ ความถูกต้อง ๓ ประการนี้
ทีนี้ก็ไปถึงเรื่องทางจิต คือ สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาวายามะคือ ความบากบั่น ให้มันรุดไปข้างหน้าเรื่อยไป นี้มันก็ถูกต้อง เพราะว่ามันมีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวแรก เป็นตัวนำเหมือนกับแผนที่ดังที่กล่าวแล้ว สัมมาสติคือ ระลึกในลักษณะรู้สึกตัวควบคุมความถูกต้องนี้ไว้ได้ นี้เรียกว่าสติ คำว่าระลึกในที่นี้คือ ระลึกอยู่ในความถูกต้อง เพื่อจะควบคุมความถูกต้องให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสัมมาทิฏฐิ สติแปลว่าความระลึก ที่จริงก็คือ ความแล่นไปแห่งจิตที่มีความรู้ แล่นไปเหมือนแล่นตรวจตรา แล่นไปรู้สึกให้มันมีความถูกต้องอยู่ทุกหนทุกแห่ง เมื่อเกิดอะไรขึ้นความระลึกนี้ก็เร็วพอที่จะควบคุมเหตุการณ์นั้นๆได้ แม้จะรวดเร็วเพียงไรเกิดขึ้นรวดเร็วเพื่อจะควบคุมได้ ดังนั้นจึงสามารถควบคุมกิเลสที่ไวยิ่งกว่าสิ่งใดได้เพราะอำนาจของสติที่เพียงพอ และมีความเร็วพอ คำว่าสตินี้ ถ้าเพียงพอก็หมายความว่ามีความเร็วเพียงพอที่จะขนเอาปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิมาใช้แก้ไขปัญหา หรือที่ถูกก็คือควบคุมกระแสแห่งอิทัปปัจจยตาให้มันถูกต้อง คนเราโดยมากสติไม่พอ คือระลึกได้ไม่ทันท่วงที บางทีก็ไม่ได้ระลึกเสียเลย ระลึกไม่พอ ไม่ทันท่วงทีก็หมายความว่า ไม่เอาปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิมาทันท่วงทีแก่เหตุการณ์นั้นๆ จึงเรียกว่าสติมันไม่ถูกต้อง คือความรวดเร็วแห่งจิตนั้นมันไม่ถูกต้อง คือมันไม่เพียงพอ ไม่เร็วพอนั่นเอง
ทีนี้ก็มาถึงอันสุดท้ายคือสัมมาสมาธิ ความดำรงอยู่อย่างมั่นคง เปลี่ยนแปลงไม่ได้ มันดำรงอยู่ในความถูกต้องอย่างที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นี้เราก็เรียกว่า สัมมาสมาธิ ความตั้งจิตมั่นอยู่ในความถูกต้องนั้นๆ ท่านถือเอาสัมมาทิฏฐินี้เป็นตัวการ หรือเป็นตัวประธาน ที่จะต่อสู้กับกิเลส ตัณหา หรือว่ามีกระแสแห่งอิทัปปัจจยตาที่เป็นไปในความถูกต้องอย่างแน่วแน่ อย่างมั่นคง และดำรงอยู่ จนข้าศึกศัตรูหมดไป เรียกว่า ๘ประการนี้ทำงานสัมพันธ์กัน สัมมาทิฏฐิถ้าเปรียบด้วยกองทัพ ก็เป็นกองทัพหน้า ที่ออกไปตรวจสอบสิ่งทั้งหลายทั้งปวงถูกต้องว่า เราจะรบมันอย่างไร และก็ให้ทัพหลวง คือ สัมมาสมาธินี้ ตั้งมั่นอยู่อย่างไร ส่งกองทัพปลีกย่อยต่างๆ นานาชนิดออกไปทำงานตามหน้าที่อย่างไร มันรวมกันเป็นเรื่องเดียวกัน แล้วก็ชนะข้าศึกได้ อย่างนี้เรียกว่าความถูกต้อง คืออริยมรรคมีองค์ ๘ประการ ในส่วนการกระทำ ถ้ากระทำได้ตามนั้นก็เกิดญาณ หรือ ยถาภูตญาณทัสสนะ ตามที่เป็นจริง ทำลายกิเลส หรือข้าศึก ตามธรรมชาติของสิ่งนั้น ซึ่งมันเป็นอย่างนั้นเอง เราไม่ต้องขอร้องให้ไฟเป็นของร้อน ไฟมันเป็นของร้อนเอง มันร้อนแล้วมันก็เผาสิ่งที่เข้ามาแตะต้องได้ สิ่งที่เรียกว่าญาณทัศนะ หรืออริยมรรคที่เป็นฝ่ายผล จึงมีความสามารถในการที่จะทำลายกิเลส ผลก็เกิดขึ้นคือหลุดพ้น เป็นความหลุดพ้น นี่เรียกว่าญาณทัศนะเป็นไปถึงที่สุดในทางที่จะทำอาสวะให้สิ้นไป ก็ได้เกิดขึ้นทำหน้าที่ของตน มีผลสุดท้ายคือวิมุต หลุดพ้นจากความทุกข์
ขอให้ดูลักษณะที่องค์แห่งมรรคทำหน้าที่ ก็เห็นได้ว่าทำหน้าที่ตามกฎอิทัปปัจจยตา หรือคือกระแสแห่งอิ-ทัปปจจยตานั่นเอง แต่มันเป็นไปในฝ่ายที่ให้เกิดผลอย่างนี้ คืออย่างที่มนุษย์ควรจะต้องการ กฎเหล่านี้เป็นธรรมชาติ ไม่มีความรู้สึกคิดนึกเหมือนคนเรา แต่มันถือเป็นกฎที่มีอยู่อย่างนี้ เมื่อมันทำหน้าที่มันก็ทำอย่างนี้ นี่ก็ยังเป็นเรื่องที่ว่า เนื่องอยู่กับตัวตน คือมีบุคคล เหมือนกับมีบุคคล ที่เป็นผู้รู้สึก แม้จะเรียกว่าญาณ เกิดความรู้ความคิดนึกโดยไม่ต้องมีตัวตน แต่มันยังเกี่ยวกับความรู้สึกของจิตใจของบุคคล ของสิ่งที่เราเรียกกันว่าบุคคล คือจิตใจที่ยังรู้สึกสุขทุกข์ ต้องการจะละเสียซึ่งความทุกข์ ให้ได้รับความสุข จึงมีส่วนแห่งโลกียธรรมในขั้นสุดท้าย มีส่วนที่จะออกไปจากโลก เพื่อไปสู่โลกุตตระ จะเรียกว่าอันดับสุดท้าย หรือขั้นสุดท้ายของโลกียธรรมก็ได้ มันมีความรู้สึกสุขและทุกข์ ได้และเสีย ผิดชอบชั่วดีมาเต็มที่ ทีนี้ก็จะข้ามให้พ้นไปเสียจากความเป็นอย่างนั้น ไปสู่ เหนือชั่วเหนือดี เหนือบุญเหนือบาป เหนือสุขเหนือทุกข์ ที่เราเรียกกันว่านิพพาน
ทีนี้จะมาถึงความหมายที่ ๓ หรือความรู้กลุ่มที่ ๓ เกี่ยวกับอิทัปปัจจยตา คือรู้จริง สูงขึ้นมา จนไม่มองเห็นว่า มันดีชั่ว สุขทุกข์ บุญบาปอะไร มันเป็นแต่เพียงเช่นนั้นเอง มันภาวะแห่งความเป็นเช่นนั้นเองตามกฎของธรรมชาติ ล้วนๆ คืออิทัปปัจจยตาที่ไม่ถูกบัญญัติความหมายเป็นฝ่ายๆ เป็นฝ่ายที่น่าปรารถนาบ้าง ไม่น่าปรารถนาบ้าง มันเลิกความรู้สึกอย่างนั้น มันมองเห็นชัดว่าเป็นกระแสอิทัปปัจจยตาเป็นไปตามธรรมชาติ ถ้ารู้เห็นอย่างนี้ ก็รู้เห็นความเป็นเช่นนั้นเอง ความเป็นเช่นนั้นเอง ที่ดีก็เช่นนั้นเอง ที่ชั่วก็เช่นนั้นเอง ปนกันก็เช่นนั้นเอง กระทั่งขึ้นไปถึงว่า แม้ไม่ดีไม่ชั่ว มันก็เช่นนั้นเอง เหนือดีนั้นเอง เหนือชั่วก็เช่นนั้น ยังดียังชั่วอยู่ก็เช่นนั้นเอง เอามาเป็นเช่นนั้นเองเสียหมด ไม่มีอะไรเหลือ ก็เลยหมดความยึดถือ ดีชั่ว บุญบาป สุขทุกข์ เป็นต้น เรื่องมันก็จบไป ตรงที่ปัญญามันแก่กล้าถึงที่สุด เห็นความเป็นเช่นนั้นเอง อย่างที่พูดมาแล้วในตอนเย็นว่า ตถา หรือ ตถตา นี้ ความเป็นเช่นนั้นเอง อวิตถา อวิตถตา ความไม่ผิดจากความเป็นเช่นนั้น ก็คือความเป็นเช่นนั้นเอง อนัญญตา หรือ อนัญญถา ความไม่เป็นโดยประการอื่น นอกไปจากการเป็นอย่างนั้น ธัมมัฏฐิตตา เป็นความตั้งอยู่ตามเป็นธรรมดา ธัมมนิยามตา เป็นกฎตายตัวของธรรมดา อิทัปปัจจยตาเป็นอิทัปปัจจยตา คือมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น มันก็แสดงให้เห็นว่า เป็นอนัตตา ไม่มีตัวกูของกูที่ตรงไหน และมันเป็นสุญญตา คือว่างจากการเป็นตัวตน หรือว่างจากสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ คำพูดนี้เป็นคำพูดที่สำคัญ คือว่างจากสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ยึดถือไม่ได้ เพราะมันเป็นเช่นนั้นเอง หรือ ว่างจากสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งการบัญญัติสมมุติ เมื่อมองเห็นของจริงแล้ว มันจะเห็นว่าไม่อาจบัญญัติว่าอะไร ไม่อาจจะสมมุติว่าอะไร ไปบัญญัติว่าสัตว์ว่าคนนี้ มันก็โง่ เพราะมันไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่คน ไปสมมุติว่าสัตว์ว่าคน ว่าคนนั้นคนนี้ นาย ก. นาย ข. นาย ค. บุตร ภรรยา สามี นี้มันก็เป็นเรื่องสมมุติ เมื่อยังหลงอยู่ ก็หลงไปตามสมมุติ เมื่อเห็นอิทัปปัจจยตาก็ไม่อาจจะหลงไปตามสมมุติ และก็ไม่อาจจะบัญญัติให้หลงว่าดีว่าชั่ว ว่าบุญว่าบาป ว่าสุขว่าทุกข์ เป็นต้น ก็ไม่หลงอยู่ในบัญญัติ คนปุถุชนไม่รู้เรื่องนี้เลยก็หลงในสมมุติ และหลงอยู่ในบัญญัติ สมมุติว่าสัตว์ว่าคน เป็นต้น สมมุติแล้วก็ไปบัญญัติว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เป็นชั้นเป็นเชิง ซึ่งมันยังโง่น้อยกว่าสมมุติ ไอ้สมมุตินี่มันโง่ถึงที่สุด บัญญัตินี่มันโง่สักครึ่งหนึ่งได้ ยังไปบัญญัติเอาตามความรู้สึก เดี๋ยวนี้มันหมดสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งการสมมุติหรือการบัญญัติ เมื่อไม่บัญญัติ ไม่สมมุติอะไร มันก็ไม่ยึดถืออะไร เพราะความยึดถือ มันยึดถือไปตามความหมายของการสมมุติและการบัญญัติ ผู้ที่เห็นอิทัปปัจจยตาถึงที่สุดแล้ว มันเห็นตถตา คือเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง อยู่ตามธรรมชาติ ไม่รู้จะสมมุติ ไม่รู้จะบัญญัติว่าอะไรไปทำไมกัน ให้มันเหลืออยู่แต่ความเป็นเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง จะเป็นขั้นไหน ตอนไหน ก็มันเป็นเช่นนั้นเองไปหมด อวิชชาให้เกิดสังขารก็เช่นนั้นเอง สังขารให้เกิดวิญญาณก็เช่นนั้นเอง วิญญาณให้เกิดนามรูปก็เช่นนั้นเอง นามรูปให้เกิดอายตนะก็เช่นนั้นเอง อายตนะให้เกิดผัสสะก็เช่นนั้นเอง ผัสสะให้เกิดเวทนาก็เช่นนั้นเอง เวทนาให้เกิดตัณหาก็เช่นนั้นเอง ตัณหาให้เกิดอุปาทานก็เช่นนั้นเอง อุปาทานให้เกิดภพก็เช่นนั้นเอง ภพให้เกิดชาติก็เช่นนั้นเอง ชาติให้เกิดทุกข์ทั้งปวงก็เช่นนั้นเอง
เมื่อเห็นอิทัปปัจจยตาหรือ ปฏิจสมุปบาท ต้องเห็นอย่างนี้ คือเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง คือเห็นความเป็นอิ-ทัปปัจจยตา เรียกว่าเห็นเช่นนั้นเอง เห็นเช่นนั้นเอง คือ เห็นอิทัปปัจจยตา เห็นอิทัปปัจจยตา ก็คือ เห็นเช่นนั้นเองทุกขั้นตอนของมัน แล้วแต่ว่าจะอยู่ในระดับไหน จึงจะเรียกว่าเห็นชัดลงไปจริงๆ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความสมมุติหรือบัญญัติแต่ประการใด อิทัปปัจจยตาที่ขึ้นมาถึงขั้นนี้ มันไม่มีตัวตนแล้ว มันไม่มีความหมายแห่งตัวตนแล้ว จึงไม่มีความหมายแห่งดีชั่ว บุญบาป สุขทุกข์ มีแต่ธรรมชาติ มีแต่ธรรมชาติ หรือ กิริยาอาการแห่งการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ รู้ถึงขนาดนี้แล้ว ไม่เกิดความหมายว่าดีชั่ว บุญบาป สุขทุกข์ ความคิดที่จะปรุงแต่งสิ่งใดๆ ก็ไม่มี ไม่อาจจะเกิดความคิดปรุงแต่งสิ่งใดๆ ว่าอย่างไร จะมีอารมณ์อะไรเข้ามา มันก็ไม่รับเอาด้วยความโง่ ความหลง อารมณ์ใดๆเข้ามา มันก็รับเอาด้วยความรู้อันถึงที่สุดว่า มันเช่นนั้นเอง มันเช่นนั้นเอง หรือจะเรียกว่า อิทัปปัจจยตา ก็ได้ อิทัปปัจจยตานี่แหล่ะคือ เช่นนั้นเอง เพราะมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น มันมีเท่านี้ มันเช่นนั้นเอง เท่านี้
อิทัปปัจจยตาในระดับสูงสุดนี้มันเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง อิทัปปัจจยตา เป็นกฏของธรรมชาติ สติปัญญาของคนเห็นได้ ลึกบ้าง ไม่ลึกบ้าง เห็นเพียงตื้นๆ บ้าง มันจึงมีการเห็นที่ลึกยิ่งขึ้นไป ลึกยิ่งขึ้นไป ลึกยิ่งขึ้นไป ในลักษณะอย่างนี้ เมื่อไม่ลึกพอ ยังไม่ลึกพอ ก็จะเห็นว่า มีสุขและมีทุกข์ มีบุญมีบาป มีชั่วมีดี มีสัมมามีมิจฉา อยู่นั่นแหล่ะ ถ้าเห็นลึกเข้าไป มันก็จะพ้นจากความเห็นอย่างนั้น กระทั่งว่ามันไม่มีมิจฉา มันไม่มีสัมมา เพราะว่าทั้งสัมมา ทั้งมิจฉา มันก็เป็นเช่นนั้นเอง จะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ก็เช่นนั้นเอง จะเป็นดีหรือชั่ว ก็เช่นนั้นเอง จะเป็นบุญหรือบาป ก็เช่นนั้นเอง ไปยึดถือเข้าแล้วมันกัดเอาทั้งนั้นแหล่ะ มันกัดเอาเจ็บปวดทั้งนั้นแหล่ะ ความดีความชั่ว ไปยึดถือเข้าเถอะ มันกัดเท่ากันแหล่ะ มันกัดเอาเท่ากัน บุญหรือบาปก็เหมือนกัน ไปยึดถือเข้าเถอะ มันจะกัดเอาเท่ากันแหล่ะ ดีชั่ว บุญบาป สุขทุกข์ ได้เสีย แพ้ชนะ อะไรก็ตาม มันเป็นคู่ๆ คู่ๆ ไม่รู้ว่าจักกี่คู่ ไปยึดถือเข้า มันกัดเอาทั้งนั้น ผู้ที่เข้าถึงความจริงแห่งอิทัปปัจจยตา ไม่เกิดความรู้สึกยึดถือสิ่งใดๆ เมื่อไม่เห็นอิทัปปัจจยตามันก็ยังโง่อยู่ มันจะยึดถือว่าดีบ้าง ชั่วบ้าง บุญบ้าง บาปบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง แพ้บ้าง ชนะบ้าง ซึ่งเป็นคำพูดตามธรรมดา ซึ่งมนุษย์จะต้องใช้กันอยู่ตามความรู้สึกของตนของตน ครั้นเป็นผู้เห็น อิทัปปัจจยตาอยู่เหนือกิเลสสิ้นอาสวะแล้ว มันก็ต้องพูดคำพูดชนิดนี้เพราะมันต้องพูดกับคนที่ไม่รู้ในโลกนั่นแหล่ะ คนที่ยังไม่รู้อะไรในโลกยังมีอยู่ทั่วไป เมื่อต้องพูดกับคนชนิดนี้ มันก็ต้องพูดภาษาชาวบ้านนั่นแหล่ะ ภาษาคนไม่รู้นั่นแหล่ะ ดังนั้นพระอริยเจ้าหรือพระพุทธเจ้า ท่านก็ยังต้องตรัสด้วยคำพูดของปุถุชนนั่นแหล่ะ ท่านพูดว่า มีเราตถาคตบ้าง มีเธอทั้งหลายบ้าง มีดีมีชั่ว มีบุญมีบาป มีสุขทุกข์ มีกุศล มีอกุศล ไปตามเรื่องของคนที่ยังไม่รู้ความจริงข้อนี้
ฉะนั้นอย่าได้สงสัยว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสคำว่าดีชั่ว บุญบาป สุขทุกข์ ตัวตถาคต ตัวท่านทั้งหลาย นี้เป็นเรื่องพูดเท่านั้นแหล่ะ มันต่างกันตรงที่ว่าปุถุชนพูดอย่างไร มันรู้สึกอย่างนั้น แต่ถ้าพระพุทธเจ้าหรือผู้หลุดพ้นแล้ว เขาพูดอย่างไร ใจก็ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น เช่นสอนคนให้ทำดีนี้ ท่านก็ไม่ได้หลงใหลในความดี และไม่รู้สึกว่ามันดีเด่นอะไร มันเป็นอิทัปปัจจยตา คือเช่นนั้นเอง ตรงนี้จะต้องขอพูดว่า พระอรหันต์ทั้งหลายท่านเป็นคนปากอย่างใจอย่าง ปากพูดไปอย่าง แต่ใจรู้สึกไปอีกอย่าง ปากพูดว่าฉัน ฉันมาแล้ว ฉันพูดกับเธอ แต่ในใจไม่รู้สึกอย่างนั้น ไม่รู้สึกว่ามีตัวฉันมาแล้ว หรือ พูดกับเธอ นี่เป็นคนปากอย่างใจอย่าง เห็นไหม แต่ถ้าปุถุชนแล้ว พูดอย่างไร มันก็รู้สึกอย่างนั้น ปากกับใจมันตรงกัน นี่ในระดับธรรมะสูงสุด หลักการพูดมันก็เปลี่ยนแปลง ในระดับชาวบ้านทั่วไปนี้ ถ้าพูดปากอย่างใจอย่าง ก็เป็นคนคด คนโกง คนอันธพาล แต่ถ้าในระดับพระอรหันต์แล้ว การพูดปากอย่างใจอย่าง คือปกติ ไม่ใช่คนอันธพาล เพราะท่านเป็นสัตบุรุษสูงสุด แล้วต้องมาพูดกับอันธพาลในภาษาของคนอันธพาล คือปุถุชน ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าปากอย่างใจอย่าง ถ้าเราอยากจะเดินตามพระอริยเจ้าเหล่านั้น ก็ศึกษาให้ดี จนกระทั่งเป็นคนปากอย่างใจอย่างอีกเหมือนกัน พูดว่าฉัน ก็ไม่รู้สึกว่าฉัน พูดว่าของฉัน ก็ไม่รู้สึกว่าของฉัน พูดว่าบ้านของฉัน เรือนของฉัน บุตร ภรรยา สามีของฉัน ก็พูดไปด้วยปากอย่างใจอย่าง พูดว่ามีอะไร ก็ไม่มี ในจิตมันไม่ได้คิดว่ามี ไม่ได้ยึดถือว่ามี ไม่ได้ยึดถือว่าของตน นั่นคนที่ไม่มีกิเลสเพราะเห็นอิทัปปัจจยตาแล้ว มันเป็นอย่างนี้ มันเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของทุกสิ่งไม่ต่างกัน มันเป็นเช่นนั้นเองทั้งนั้น นับตั้งแต่พระนิพพานสูงสุด ลงมาถึงขี้ฝุ่นเม็ดหนึ่งนี่ จะมีสักกี่อย่าง กี่ร้อยอย่างก็สุดแท้ มันเป็นเช่นนั้นเอง มันเช่นนั้นเอง เหมือนกันหมด นี่เป็นไปถึงสูงสุดของกฏอิทัปปัจจยตาแล้ว เต็มไปด้วยความรู้แจ้งเห็นจริงโดยประจักษ์ว่า เป็นเช่นนั้นเอง ทุกอย่างเป็นเช่นนั้นเอง พวกเป็นสังขตธรรมก็เช่นนั้นเองไปตามแบบของสังขตธรรม พวกอสังขตธรรมก็เป็นเช่นนั้นเอง ไปตามแบบของอสังขตธรรม นี่ความรู้เกี่ยวกับอิทัปปัจจยตา มันเป็นอย่างนี้
ทีนี้ก็มาถึงการปฏิบัติตัวจริง ที่เราจะมาใช้สำหรับเราที่ยังเป็นคนปุถุชน เกลียดทุกข์ รักสุข ต้องการความสุข มันก็ต้องปฏิบัติ คือ การเอากฎอิทัปปัจจยตามาใช้ให้ถูกต้อง ไม่ต้องเกิดความทุกข์ที่เราไม่ต้องการ ราวกับว่าพระเจ้ามาคุ้มครอง เมื่อพวกอื่นเขาอ้อนวอนพระเจ้าให้คุ้มครองอย่างไรก็ตามใจเขาเถิด ไอ้เรานี้ปฏิบัติต่อพระเจ้าคือ กฎอิทัปปัจจย-ตาให้ถูกต้องตามเรื่อง แล้วก็คุ้มครองเอง ไม่ต้องขอร้องให้คุ้มครอง พระเจ้าของเราแท้จริงและยุติธรรม ไม่ต้องขอร้อง ไม่ต้องเซ่นสรวง ไม่ต้องอ้อนวอนโดยพิธีรีตรองต่างๆนั้น ถ้าจะเรียกว่าขอร้องอ้อนวอน ก็คือ ขอร้องอ้อนวอนด้วยการปฏิบัติให้ถูก ให้ตรง ตามความหมายของอิทัปปัจจยตา หรือตามความหมายของกฎเกณฑ์อันนั้น ทีนี้ก็จะได้ดูกันต่อไปว่า จะปฏิบัติอย่างไร
เรื่องอิทัปปัจจยตา หรือเรื่องปฏิจจสมุปบาท มีตรัสไว้ ๒ รูปแบบ ที่ตรัสไว้อย่างลึกซึ้ง ละเอียดเข้าใจได้เฉพาะผู้รู้ ก็คือ ปฏิจจสมุปบาทใหญ่ ขึ้นต้นด้วย อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ทุกข์ นี่คนธรรมดาแรกศึกษาจะเข้าใจไม่ได้ ที่พระองค์ตรัสสั้นกว่านั้น ขึ้นต้นที่ อายตนะ เรียกว่าอาศัยตากับรูป อาศัยหูกับเสียง จมูกกับกลิ่น อะไรก็ตามเป็นคู่ๆ เรียกอายตนะ คู่แรก คือ ตา เมื่อตาเห็นรูป ก็เกิดจักษุวิญญาณ คือการเห็นทางตา ตานี้มันก็เป็นธรรมชาติตามกฎอิทัปปัจจยตา มันมีแก้วตา มีเยื่อตา มีประสาทตา มีธาตุที่ประกอบกันขึ้นเป็นตา ทุกๆปรมาณูที่ประกอบกันขึ้นเป็นตา มันก็คืออิทัปปัจจยตา ทีนี้รูปที่จะมากระทบตา มันก็ประกอบอยู่ด้วยส่วนต่างๆ ตามกฎของอิทัปปัจจยตา รูปที่เห็นทางตา มันก็คือ สี ที่มีรัศมีที่จะแสดงออกมาเป็นสีนั่น สีนี่ ถ้าอย่างวิทยาศาสตร์พูด ก็พูดว่าแล้วแต่คลื่นของแสงนั้น มันสั้นยาวอย่างไร สั้นยาวขนาดนั้นก็ออกมาเป็นสีแดง สั้นยาวขนาดนั้นก็ออกมาเป็นสีส้ม สั้นยาวขนาดนั้นก็ออกมาเป็นสีเหลืองหรือว่าเป็นสีเขียว สั้นเป็นสีน้ำเงิน กระทั่งเป็นสีม่วง อย่างนี้เป็นต้น นี่เรียกว่า (นาทีที่00:47:10) วรรณนิภา แปลว่า รัศมีที่จะประกอบกันแสดงออกมาเป็นสี รูปก็เห็น ตาก็เห็น นั่นคือรูป ตาก็เห็นรูปที่ตาจะเห็นได้ มันต้องมีลักษณะอย่างนี้ทั้งนั้น ประกอบด้วยคลื่นแสงที่ส่งออกมา ทำให้เป็นสีต่างๆ อย่างที่เราเห็นกันอยู่ในโลก นี่เรียกว่ารูปนั้นมันก็คือ อิทัปปัจจยตาฝ่ายที่จะเป็นวัตถุสำหรับเห็น ตาเห็นรูป เกิดการเห็นทางตา เรียกว่าจักษุวิญญาณ ตาอย่างหนึ่ง รูปอย่างหนึ่ง จักษุวิญญาณอย่างหนึ่ง ๓ประการนี้ ล้วนแต่เป็นอิทัปปัจจยตา ตา รูป และจักษุวิญญาณ ทำงานร่วมกันนี้ก็เรียกว่าผัสสะ สิ่งที่เรียกว่าผัสสะจะเกิดขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อ ๓ อย่างนั้นทำงานร่วมกัน หรือว่า ๓ อย่างนั้นมันทำงานร่วมกันมันเป็นเหตุให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะทางตา เพราะตากระทบกับรูป แล้วเกิดจักษุวิญญาณ จน ๓ ประการนี้ทำงานร่วมกันอยู่ ก็เรียกว่าผัสสะ ทางตาเป็นอย่างไร ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เป็นอย่างนั้น มันจึงมีผัสสะได้ถึง ๖ทาง ดังนี้ในวันหนึ่งๆ มันจึงมีผัสสะได้มาก เพราะมีทางถึง ๖ ทาง ในแต่ละทางๆ มันก็ทำได้หลายๆ อย่าง หลายๆขนาด หลายๆรูปแบบ ล้วนแต่เรียกว่า ผัสสะ ไอ้สิ่งที่เรียกว่าผัสสะนี่แหล่ะตัวร้าย จะเรียกว่าเป็นตัวสำคัญ ตัวการสำคัญ ถ้าจัดการกับมันถูกต้อง มันก็ไม่เกิดความทุกข์ ถ้าจัดการกับมันผิดพลาด มันก็เกิดความทุกข์ ที่ว่าถูกต้องก็หมายความว่า ในผัสสะหรือในขณะแห่งผัสสะนั้น ต้องมีสติมาทันท่วงที เอาความรู้ที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นปัญญา เป็นวิชชา อะไรมาทันท่วงทีเข้าควบคุมผัสสะนั้นไว้ อย่าให้สิ่งที่ตรงกันข้ามเข้ามาควบคุม สิ่งที่ตรงกันข้ามนั้นก็คืออวิชชา มิจฉาทิฏฐิ เป็นต้น ถ้าอวิชชาหรือมิจฉาทิฏฐิเข้ามาควบคุมผัสสะแล้ว เป็นได้เรื่อง คือจะต้องเป็นทุกข์แน่นอน ถ้าสติมีพอ ทำให้เกิดปัญญา เกิดวิชชา เกิดแสงสว่าง เกิดสัมมาทิฏฐิในผัสสะนั้น ควบคุมผัสสะนั้นไว้ได้ อย่างนี้ก็ปลอดภัย มันเป็นอย่างนี้ตามกฎอิทัปปัจจยตา ใครบังคับไม่ได้ ที่จะทำได้ก็คือ ทำให้มันเข้ารูปเข้ารอยกัน ผสมกลมกลืนไปในทางที่จะไม่ให้เกิดทุกข์ คือให้มีสติมาทันท่วงที ขนเอาปัญญามาอย่างเพียงพอ ควบคุมผัสสะนั้นให้ทำหน้าที่ภายใต้การควบคุมของวิชชาของปัญญา ผัสสะนั้นตามธรรมดาให้เกิดเวทนาออกมานี้ก็แน่นอนตายตัวที่สุด เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ผัสสะทำให้เกิดเวทนาออกมา ทีนี้ถ้าผัสสะนั้นถูกควบคุมด้วยปัญญา ด้วยสัมมาทิฏฐิ ไอ้เวทนาที่ออกมา มันก็ถูกควบคุมมา หรือแสดงอยู่ด้วยปัญญา ด้วยสัมมาทิฏฐิ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดียินร้าย ถ้าเวทนามาด้วยความโง่ ด้วยอวิชชาของผัสสะที่โง่ มันก็ออกมาเป็นเวทนาที่ยินดียินร้าย ถูกยินดียินร้าย ถูกความรู้สึกสุขทุกข์ชนิดที่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลส
ผัสสะนั่นแหล่ะเป็นจุดสำคัญ เรียกว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อก็ได้ มันจะเลี้ยวไปทางไหน มันจะเลี้ยวไปในทางให้เกิดทุกข์ หรือจะเลี้ยวไปในทางไม่ให้เกิดทุกข์ มันก็แล้วแต่สติ ที่จะขนเอาปัญญา หรือวิชชามันทันท่วงที หรือหาไม่ นี้พูดเป็นอุปมาเหมือนกับว่ามีอะไร ขนอะไรมา ที่จริงก็คือการปรุงแต่งที่ตรงนั้นเอง ปรุงแต่งให้เกิดอะไรขึ้นมา แล้วแต่ว่า มีการประพฤติถูกผิดอย่างไร จิตนั่นแหล่ะ ได้รับการอบรมมาอย่างไร หรือกำลังได้รับการควบคุมอย่างไร พูดแล้วมันก็ลำบาก เพราะมันไม่มีอะไรนอกจากจิตดวงเดียวเท่านั้น ไม่มีผู้หรือคนอะไรที่ไหนมาควบคุมจิต จิตมันเป็นสิ่งที่ประหลาดคือ มันให้เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า เจตสิกขึ้นมา เจตสิกนั่นแหล่ะคือตัวปัญญา ตัวสติ ตัวอะไรต่างๆ หรือที่ตรงกันข้ามก็คือ อวิชชา ความโง่ ความหลง จิตนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่า กายสิทธิ์ หรือว่ายิ่งกว่ากายสิทธิ์ คือมันมีอะไรที่จะให้รู้สึกได้ และออกมา แล้วมีผลแก่มันนั้นเอง ที่เรียกว่าควบคุมจิตนั้น อะไรมาควบคุมจิต มีผีสางเทวดาที่ไหนมาควบคุมจิต เปล่าทั้งนั้นเลย มันคือสิ่งที่จิตผลิตออกมา ที่เรียกว่าเจตสิก จิตผลิตออกมา เป็นปัญญา เป็นวิชชา เป็นสัมมาทิฏฐิ มันก็ควบคุมตัวมัน ทีนี้โดยเหตุปัจจัยอย่างอื่น จิตมันผลิตอวิชชา มิจฉาทิฏฐิออกมา มันก็ควบคุมตัวมันเอง ให้เป็นไปตามอำนาจของอวิชชา ของมิจฉาทิฏฐิ เป็นต้น ฉะนั้นคำที่เรียกว่า ฝึกจิต ควบคุมจิต ทรมานจิตนี้ ใครที่ไหน ตัวตนที่ไหนมา ไม่มีทั้งนั้นแหล่ะ คือสิ่งที่จิตผลิตออกมานั่นเอง ถ้าจิตมันได้รับการอบรมมาดี โดยธรรมชาติ โดยตัวมันเองมาแต่ต้น แล้วก็มาเพิ่มการอบรมตามหลักธรรมะที่สูงขึ้นไป จิตนี้ก็ว่องไวในการที่จะผลิตเจตสิกชนิดที่เป็นฝ่ายถูกต้องออกมาทันท่วงที และก็ควบคุมตัวมันเองให้เป็นอย่างนั้น ถ้ามันไม่เป็นอย่างนั้นมันก็ตรงกันข้าม มันก็เป็นไปในเรื่องของความทุกข์ ธรรมะปฏิบัติทั้งหลายก็คือวิธีการฝึกจิตโดยจิต ฟังแล้วเหมือนกับคนบ้า ฝึกจิตโดยจิต ตามหลักของธรรมะ ให้จิตนั้น ค่อยกลายเป็นจิตที่กิเลสเกิดไม่ได้ คือมันฉลาด มันรู้จริงยิ่งๆขึ้นไป รู้จริงยิ่งๆขึ้นไปจนกิเลสเกิดไม่ได้ นี่ระบบธรรมะ ที่รับเอาไปโดยจิต แล้วก็ฝึกจิตเอง ให้จิตนั้นกลายเป็นสิ่งที่ไม่ให้โอกาสแก่กิเลส จิตธรรมชาติเป็นประภัสสรไม่มีกิเลส แต่มันยังอ่อนแอถึงขนาดที่ว่ากิเลสเกิดได้ แล้วก็เป็นทุกข์ทุกที ทีนี้มีระบบธรรมะมาฝึกจิตธรรมชาติเช่นนี้ ให้เปลี่ยนแปลงเป็นกิเลสเกิดไม่ได้ จิตประภัสสรก็เป็นประภัสสรตลอดไป ไม่มีกิเลสมาเกิดขึ้น ก็ไม่เศร้าหมองและไม่มีความทุกข์ นี่คือกฎของธรรมชาติอันลึกซึ้ง แต่ก็อยู่ในขอบเขตของอิทัปปัจจยตาอย่างเดียวกัน ว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนั้น เพราะเหตุอย่างนั้นเพราะเหตุอย่างนั้น จิตประภัสสรตามธรรมชาติ ก็กระแสของอิทัปปัจจยตาของความเป็นเช่นนั้น เมื่อฝึกกันเสียใหม่ ให้เปลี่ยนเป็นจิตที่กิเลสเกิดไม่ได้มันก็เป็นอิทัปปัจจยตาในระดับนี้ ต่อไปนี้ไม่เกิดความทุกข์อีกต่อไป มันก็เป็นอิทัปปัจจยตาในระดับนี้ จึงไม่มีอะไรที่ไม่เป็นไปตามกฎของอิทัปปัจจยตา
ทีนี้เราก็ฝึกจิตนั่นแหล่ะ ถ้าจะมีเราก็ไม่มีอะไรนอกจากจิต จิตที่ยังโง่อยู่นั้นจึงรู้สึกว่ามีตัวเรา ถ้าจิตมันฉลาดเต็มที่จากการอบรมทางธรรมะแล้ว มันจะไม่เกิดความรู้สึกว่าตัวเรา มันก็เห็นว่าอิทัปปัจจยตา เห็นความเป็นเช่นนั้น เห็นธรรมชาติ ธรรมชาติ ธรรมชาติล้วนๆ เป็นไป ๆ หรือปรุงแต่งกัน หรือเป็นไปตามกฎของอิทัปปัจจยตา ดังนั้นจึงพูดว่า ถ้าเห็นธรรมะ ก็เห็นความจริง เห็นความจริงก็ไม่เห็นว่าตัวตน แม้ว่าเวทนาจะเกิดขึ้นก็สักว่าเวทนาเท่านั้นแหล่ะ ไม่ได้เป็นสุขหรือทุกข์ที่เป็นตัวตน หรือเป็นของๆตน นี่จิตที่อบรมดีแล้ว มีปัญญา มีวิชชา มีสติ เมื่อมีอารมณ์มากระทบ แม้จะเร็วอย่างสายฟ้าแลบ มันก็ต้อนรับอย่างสายฟ้าแลบ คือถูกต้อง ไม่หลงในเวทนาที่เกิดขึ้น และเวทนานี้ก็ถูกควบคุมมาดีแล้วด้วยปัญญาตั้งแต่ในขณะแห่งผัสสะ เวทนาก็ไม่หลอกให้เรายินดียินร้าย ถ้ามันไม่ควบคุมมาด้วยสติปัญญา มันก็หลอกให้ยินดียินร้าย คือเป็นสุขเวทนา ก็สำหรับจะยินดี เป็นทุกขเวทนา ก็สำหรับจะยินร้าย จิตที่สติไม่พอ ปัญญาไม่พอ มันก็ไปหลงในเวทนานั้นจนยินดียินร้าย ยินดีมันก็เป็นเหตุให้เกิดความอยากไปตามความยินดี ยินร้ายมันก็ให้เกิดความอยากไปตามความยินร้าย นี่เรียกว่าเกิดตัณหาแล้ว เกิดความอยากแล้ว มาจากเวทนาที่มันเคลือบไว้ด้วยอวิชชา มันก็จึงเกิดความอยากไปตามความยินดี คืออยากได้ อยากเอา อยากมี อยากยึดครอง เมื่อเกิดความอยากไปตามความยินร้าย มันก็อยากจะฆ่าเสีย อยากจะทำลายเสีย ประกาศตัวเป็นศัตรูกัน รบราฆ่าฟันกัน แย่งชิงกัน มันก็เกิดทุกข์ เกิดทุกข์ในโลก ก็มีการทะเลาะวิวาทกัน มาจากความยินดีหลงรัก มันก็อยากได้ มันก็หวงกั้น หวงกั้นนี่เป็นคำในภาษาบาลี เรารักอะไร เราก็หวงกั้นสิ่งนั้น ถ้าอะไรจะเข้ามาเอา ก็เกิดการปะทะกัน นั่นคือการทะเลาะวิวาทกัน การรบราฆ่าฟันกัน ขนาดใหญ่ก็เรียกว่า สงครามบ้าง มหาสงครามบ้าง ที่มนุษย์กำลังมีอยู่ในโลกนี้เกือบจะตลอดเวลา นี่แหล่ะเวทนาโง่ ทำให้เกิดความอยากที่โง่ ความอยากที่โง่นี้เราเรียกว่า ตัณหาบ้าง โลภะบ้าง หรืออะไรก็ตามแล้วแต่จะเรียกเป็นฝ่ายหนึ่งทีเดียว คืออยากด้วยความโง่ แต่ถ้าอยากหรือต้องการด้วยสติปัญญานี้ อย่าไปเรียกมันด้วยความโลภ อย่าไปเรียกมันว่าตัณหาเลย คำว่าความโลภหรือตัณหานั้นเก็บไว้สำหรับอยากด้วยความโง่ อยากด้วยอวิชชา ตัณหาคำนี้ในภาษาบาลีท่านมุ่งหมายว่า อยากด้วยความโง่ คืออวิชชา ในภาษาไทยเรามาแปลกันอย่างที่เรียกว่าสะเพร่า เรียกว่าความอยาก ตัณหาคือความอยากนั้นมันไม่ถูก มันทำให้เกิดความเข้าใจผิด ตัณหาต้องแปลว่าคือความอยากด้วยความโง่ ตัณหาคืออะไร ตัณหาคือความอยากด้วยความโง่ ถ้ามันต้องการด้วยปัญญา ด้วยวิชชา ไม่ใช่ตัณหาแล้ว เป็นสัมมาสังกัปโป เป็นสังกัปปะ เป็นความดำริไปตามเหตุปัจจัยที่ไม่เจือด้วยความโง่ ถ้าอยากด้วยความโง่เรียกว่าตัณหา ถ้าอยากด้วยสติ ปัญญาก็เรียกว่า สัมมาสังกัปโป ซึ่งรวมอยู่ในองค์แห่งมรรค
เดี๋ยวนี้เวทนาที่ส่งออกมาจากผัสสะของอวิชชา ก็เป็นเวทนาเคลือบย้อมด้วยสิ่งพรางตา มันก็ทำให้เกิดความรัก หรือความเกลียด คือยินดียินร้าย มันก็อยากไปตามนั้นก็เรียกว่าตัณหา คือความอยาก ความอยากเกิดขึ้นในจิตแล้ว มันก็ปรุงแต่งตามหน้าที่โดยกฎอิทัปปัจจยตา ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีผู้อยาก มีตัวกูผู้อยาก นี้เรียกว่าอุปาทาน ตัณหาให้เกิดอุปาทาน คือรู้สึกว่าตัวกู มีตัวกู เป็นผู้อยาก เป็นผู้ต้องการ เป็นผู้กระทำ เป็นผู้ยึดครอง เป็นผู้กิน เป็นผู้ใช้ เป็นผู้มีไว้ เป็นผู้หวงกั้น จนได้รบกัน นี่ตอนนี้ตัณหาให้เกิดอุปาทาน ในวิธีต่างๆหลายอย่าง แต่ก็เรียกว่าอุปาทาน รู้สึกว่ามีตัวเรา มีตัวกู และมีอะไรที่จะต้องมาเป็นของกู นี้เรียกว่าอุปาทาน คือตัวกู มันตั้งต้นปฏิสนธิจึงเรียกว่าความมีแห่งตัวกู ความมีแห่งตัวกูเรียกว่าภพ ภพ ภวะภโวนี้ ความรู้สึกว่ามีตัวกู เป็นอุปาทาน ความรู้สึกอันนี้มีก็ทำให้เกิดภพ คือความมีอยู่แห่งตัวกู อุปาทานปรุงกันขึ้นเป็นเหมือนกับว่าตั้งครรภ์เต็มที่แล้ว ต่อไปตัวกูมันก็เป็นชาติออกมา จากภพมันก็เป็นชาติ เป็นชาติ ตัวกูที่สมบูรณ์ตลอดสายนี่มันมาจากอวิชชา ไอ้ชาติแห่งตัวกู หรือตัวกูที่ออกมานี้ มันก็รับเอาอะไรเป็นของกูเพื่อจะเป็นทุกข์ รับเอาความเกิดเป็นของกูก็ได้เป็นทุกข์เพราะความเกิด รับเอาความแก่มาเป็นของกู ก็ได้มีความทุกข์เพราะความแก่ รับเอาความเจ็บเป็นของกู ก็ได้ต้องเป็นทุกข์เพราะความเจ็บ รับเอาความตายมาเป็นของกู มันก็ได้เป็นทุกข์เพราะความตาย หรืออะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลายอย่าง ก่อนแต่ที่จะตาย มันก็รับเอามาเป็นของกู จึงได้เป็นทุกข์ เพราะโสกะ ปริเทวะทุกขะโทรมนัส อุปายาส เป็นต้น ที่จริงการที่สิ่งต่างๆมันเกิดขึ้นมาแล้วมันไม่เป็นไปตามความต้องการของกิเลสของอวิชชานั้น อย่าไปรับเอามา มันก็ไม่เป็นความทุกข์ ถ้าไปรับเอามา มันก็เป็นความทุกข์ โดยความโง่มีตัวกู มันก็รู้สึกโง่ต่อไปว่า กูได้ กูเสีย กูแพ้ กูชนะ กูอะไรต่างๆ อีกมากมาย มันก็ได้ขึ้นลงไปตามความรู้สึกนั้น ล้วนแต่เป็นทุกข์ทั้งนั้น นี้จึงเรียกว่าไปยึดถือความดี ความดีมันก็กัดเอา ยึดถือความชั่ว ความชั่วมันก็กัดเอา ยึดถือบุญ บุญมันก็กัดเอา ยึดถือบาป บาปมันก็กัดเอา ไม่มีอะไรที่ว่ายึดถือแล้วจะไม่กัดนั้นมันไม่มี สิ่งใดๆ ที่เข้าไปยึดถือโดยความเป็นตัวตนหรือของตนแล้ว ที่มันจะไม่กัดเอาจิตใจนั้นเป็นไม่มี จิตใจมันจึงถูกกัด เป็นทุกข์ ทุกคราวที่มันไปยึดถือด้วยอวิชชามาแต่ต้น ว่าเป็นตัวตนบ้าง ว่าเป็นของตนบ้าง นี่ท่านจึงกล่าวว่า มีเงินก็เป็นทุกข์เพราะเงินที่ยึดถือ มีทรัพย์สมบัติก็เป็นทุกข์เพราะทรัพย์สมบัติที่ยึดถือ กระทั่งว่ามีภรรยา ก็เป็นทุกข์เพราะภรรยาที่ยึดถือ กระทั่งว่ามีสามี ก็ต้องเป็นทุกข์เพราะสามีที่ถูกยึดถือ ที่ยึดถือ อะไรที่ยึดถือแล้วจะไม่กัดเอานั้นเป็นไม่มี นี่พูดภาษาธรรมดาก็ว่าอย่างนี้ พูดให้ไพเราะสักหน่อย ก็อะไรที่ยึดถือแล้วจะไม่เกิดความทุกข์นั้นเป็นไม่มี หรือพูดให้ปราณีตกว่านั้นก็ อะไรที่ยึดถือแล้วจะไม่เกิดความหนักนั้นไม่มี ถือก้อนหิน มันก็หนัก ถือเพชรพลอยเงินทอง มันก็หนัก ถือขี้หมา มันก็หนัก ไม่ว่าจะไปยึดถืออะไรแล้ว มันก็หนักแก่มือ คือจิตที่ยึดถือ อย่าอยู่ด้วยความยึดถือ ก็จะไม่เป็นทุกข์
ทำอย่างไรจึงจะไม่ยึดถือ ก็เพราะมีสติปัญญาเพียงพอ ในขณะที่มีผัสสะ นี่เห็นได้หรือยังว่า จุดผัสสะนี้ จุดสำคัญ ทำผิดตรงนั้นมันก็ต้องเป็นผลคือทุกข์ ทำถูกต้องตรงนั้นมันก็มีผลคือไม่ทุกข์ นี่พระเจ้าอิทัปปัจจยตาก็ตายตัวอย่างนี้ เราไปแก้ไขกฎอิทัปปัจจยตาซึ่งเป็นพระเจ้านั้นไม่ได้ จิตนี้หรือเรานี้มีทางเดียวเท่านั้น คือปรับตนเองให้เหมาะสมกับเรื่องที่มันเกิดขึ้นตามกฎของอิทัปปัจจยตา ไม่เกิดการปรุงแต่งด้วยอวิชชา คือไม่มีสังขารการปรุงแต่งด้วยอวิชชา มันก็ไม่ทุกข์หรอก เตสัง วูปะสะโม สุโข นั้นทำให้ดีเถอะ หยุดเสียซึ่งการปรุงแต่งคือสังขารนั้น หยุดเสียซึ่งสังขารคือการปรุงแต่ง ก็เป็นสุข คือไม่ทุกข์ นี่ใช้คำชาวบ้านใช้คำว่าเป็นสุข ใช้คำพระอริยเจ้าก็ว่าไม่เป็นทุกข์ หยุดการปรุงแต่งเสียก็ไม่เป็นทุกข์ จะหยุดการปรุงแต่งได้นี่ต้องรู้กฎอิทัปปัจจยตาอย่างเพียงพอ สนองความประสงค์ของพระเจ้าอิทัปปัจจยตาอย่างถูกต้อง มันจึงจะไม่มีการปรุงแต่ง ไม่มีการปรุงแต่งแล้วมันก็ไม่มีความทุกข์ เรียกว่าที่สุดแห่งความทุกข์มันอยู่ที่ตรงนี้
เพราะฉะนั้นที่จะควบคุมจิตตามกฎของอิทัปปัจจยตานั้น ต้องมุ่งกระทำที่เป็นขณะของผัสสะ ที่ตรงผัสสะ ที่เป็นเวลาแห่งผัสสะ ที่เป็นการปรุงแต่งที่เรียกว่าผัสสะ ที่ตรงผัสสะนั่นแหล่ะจุดสำคัญ ผิดถูกก็อยู่กันที่ตรงนั้น ไปสนใจกันทุกคน เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมันก็มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่จะเข้ามากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเกิดวิญญาณ แล้วก็เรียกว่าผัสสะ เกิดได้ทุกหนทุกแห่งในโลกนี้ เมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ เกิดผัสสะโดยอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วก็ได้การต้องป็นทุกข์ เกิดผัสสะตามธรรมชาติ แต่จิตมันอบรมมาดีแล้ว มันมีวิชชา มีปัญญา มีสัมมาทิฏฐิเข้ามาต้อนรับ ผัสสะนั้นก็ถูกกระทำให้เป็นไปในทางอื่นที่ไม่ใช่ความทุกข์ เป็นไปในทางที่จะไม่เกิดทุกข์ ฉะนั้นจงมีสติ ปัญญาเพียงพอ ให้มาทันในเวลาที่มีผัสสะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าให้เกิดกิเลสประเภทใดๆ หรือชั้นใดๆ ขึ้นมา อย่าให้เกิดกิเลสประเภทกามาวจร ประเภทรูปาวจร ประเภทอรูปาวจร ที่จะเข้าไปยึดถือในกามนั้นบ้าง เข้าไปยึดถือในรูปนั้นบ้าง เข้าไปยึดถือในอรูปนั้นบ้าง เข้าไปยึดถือแล้วหนัก หนักก็คือเป็นทุกข์ ในกามภพก็มีความทุกข์แบบกามภพ รูปภพก็มีความทุกข์ในแบบรูปภพ ในอรูปภพก็มีความทุกข์ในแบบอรูปภพ ขึ้นชื่อว่าภพแล้วจะต้องมีความทุกข์ ดูเหมือนมีพระบาลีเปรียบไว้ว่า ขึ้นชื่อว่าภพแล้วก็มีความทุกข์ เช่นเดียวกับอุจจาระ แม้จะมีนิดเดียวก็เหม็น อุจจาระบางทีมีน้อยมากจนเรามองไม่เห็นว่ามีอุจจาระแต่แล้วมันก็เหม็น นี่ขึ้นชื่อว่าอุจจาระแม้จะน้อยเท่าไรมันก็เหม็น ขึ้นชื่อว่าภพแม้จะน้อยเท่าไรก็เป็นทุกข์ ภพมันได้เกิดขึ้นโดยผัสสะปรุงแต่งเวทนา เวทนาปรุงแต่งตัณหา ตัณหาปรุงแต่งอุปาทาน อุปาทานปรุงแต่งภพ ทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ในจิตในใจของคน ไม่ได้อยู่ที่อื่นนอกไปจากคน นอกไปจากในใจของคน ที่เขาสมมุติเป็นเรื่องนอกออกไป กามภพ รูปภพ อรูปภพ อยู่ที่โลกไหนก็ไม่รู้ตามใจเขานั้นมันไม่ทำให้เป็นทุกข์ได้หรอกถ้ามันไม่มาอยู่ในใจคน เพราะว่าที่จะเป็นทุกข์ เป็นสุข นี้มันมาอยู่ในใจของคน ถ้ามันเกิดกามภพขึ้นในจิตของคนมันก็เป็นทุกข์แบบนั้น ถ้ามันเกิดรูปภพก็ดี อรูปภพก็ดี ขึ้นในใจของคน มันก็เป็นทุกข์ในแบบนั้น ฉะนั้นขอให้มองเห็นว่าทุกอย่างมันเกิดที่ใจ เช่นว่าพระพุทธเจ้าก็อยู่ที่ใจ พระธรรมก็อยู่ที่ใจ พระสงฆ์ก็อยู่ที่ใจ เข้าใจข้อนั้นให้ดีๆ เดี่ยวนี้ก็จะมาเห็นว่าอะไรๆ มันจะมีขึ้นมาได้ก็เพราะอยู่ที่ใจ ที่มันยึดถือเข้าแล้ว มันยึดอยู่ในใจ มันมีเวทนา มันมีตัณหา มีอุปาทาน มันยึดถือเข้าแล้วมันอยู่ในใจ ถ้าไม่มาอยู่ในใจมันก็เป็นทุกข์ไม่ได้เพราะว่ามันเป็นทุกข์กันที่ใจ ยึดถือสิ่งใด สิ่งนั้นก็เข้าไปปรุงอยู่ในใจและก็เป็นทุกข์ ถ้าว่าเราจะยึดถือโลกนี้ทั้งโลก ถ้าไม่ยึดถือมันก็ไม่เข้าไปในใจ มันก็อยู่ข้างนอกมันก็ไม่เป็นทุกข์ เมื่อพูดถึงความทุกข์นี่ขอให้รู้กันเสียว่ามันมีอยู่ ๒ความหมาย เป็นทุกข์ชนิดลักษณะ มีลักษณะแห่งความทุกข์ มันก็อยู่ที่สิ่งนั้นแหล่ะ ไม่มาอยู่ในใจ แต่ถ้าเป็นทุกข์แบบอริยสัจจ์ เป็นทุกข์ด้วยตัณหา อุปาทานนี้มันมาอยู่ในใจ นี่เป็นความทุกข์ ทุกข์ที่เป็นอิทัปปัจจยตาที่เรียกว่า ทุกขอริยสัจจ์นั่นแหล่ะ ทุกขอริยสัจจ์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ อะไรก็ตามนี้เป็นทุกขอริยสัจจ์ มันเข้าไปในใจแล้ว อยู่ในใจแล้ว เป็นทุกข์ที่ใจแล้ว ถ้าเป็นเพียงทุกขลักษณะ มันเรียกว่ายังอยู่นอก อยู่ข้างนอก ยังไม่ไปปรุงอยู่ในใจ เช่นก้อนหินก้อนนี้มันก็มีทุกขลักษณะแห่งสังขาร ของการปรุงแต่ง มันก็ไม่ได้เข้าไปในใจเรา มันก็ไม่ได้รู้สึกเป็นทุกข์ ถึงแม้เนื้อ หนัง ร่างกาย ตัวตนนี้ก็เหมือนกัน มีทุกขลักษณะ มีลักษณะแห่งความทุกข์ ถ้าไม่ยึดถือ มันก็ไม่ไปในใจ มันก็อยู่ที่เนื้อหนังร่างกาย มันก็ไม่เป็นทุกข์ พอยึดถือมันก็เข้าไปปรุงอยู่ในใจ มันก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์มันมี ๒ ความหมาย สังขารมีลักษณะเป็นทุกข์ สัพเพสังขารา ทุกขา สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ มันแสดงลักษณะ แต่พอยึดถือเข้า มันก็เข้าไปอยู่ในใจ กลายเป็นทุกขอริยสัจจ์ คือเป็นทุกข์ ขบกัดหัวใจ เจ็บปวดอย่างยิ่ง นั่นแหล่ะตัวความทุกข์ ที่เป็นทุกขอริยสัจจ์ เมื่อพูดว่าเป็นทุกข์ ฟังดีๆนะว่าหมายถึง ทุกขลักษณะ หรือ ทุกขอริยสัจจ์ ปัญหามันอยู่ที่เป็นทุกขอริยสัจจ์ คือทุกข์ที่ยึดถือด้วยจิตใจแล้ว เผาลนจิตใจให้เป็นทุกข์ ถ้าเป็นเพียงทุกขลักษณะ มันก็อยู่ตามสิ่งเหล่านั้น มันเรียกว่าอยู่นอกใจก็แล้วกัน ไม่ได้ยึดถือไว้ด้วยใจจนเป็นทุกข์
ที่นี้กระแสอิทัปปัจจยตาอย่างที่ว่ามานี้เข้าใจได้ง่าย เข้าใจซะก่อน แล้วจะไปเข้าใจบทที่ยืดยาว เป็นปฏิจจสมุป-บาทที่ยืดยาว คือตั้งต้นด้วยอวิชชา เขาพูดกันคนละทิศทาง แต่ถึงอย่างไรก็ดี มันตรงกันอยู่ตรงที่ว่ามันต้องมีอายตนะที่สัมผัสกัน อายตนะภายนอกภายในที่สัมผัสกัน จึงจะเกิดเรื่องชนิดนี้ได้ จะเป็นปฏิจจสมุปบาทสั้นๆ หรือ ปฏิจจสมุปบาทยืดยาวเต็มรูปแบบ มันจะมีได้ต่อเมื่อมีการกระทบกันของอายตนะเท่านั้น อยากจะให้สนใจ ให้เข้าใจรูปแบบที่สั้นๆ ที่พระพุทธองค์เองก็ทรงนำมาท่องเล่นเหมือนกับคนเขาร้องเพลงว่า (นาทีที่ 1:18:07) จักขุงจะ ปฏิจะ รูเปจะ อุปชะติ วิญญาณัง อาศัยตากับรูปเนื่องกัน ก็เกิดจักษุวิญญาณ ติณณัง ธัมมานัง สังฆาฏิผัสโส ธรรมะ ๓ประการนี้ ถึงกันเข้าเรียกว่า ผัสสะ ผัสสะปัจจยาเวทนา ผัสสะเป็นปัจจัยเกิดเวทนา เวทนาปัจจยาตัณหา เวทนาเป็นปัจจัยเกิดตัณหา นี่หมายความว่า ตามปกติคนปุถุชนธรรมดามันโง่ มันผัสสะด้วยความโง่ มีจึงเกิดเวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหาปัจจยาอุปาทานัง ตัณหาเป็นปัจจัยก็เกิดอุปาทาน อุปาทานังปัจจยาภโว อุปาทานเป็นปัจจัยก็เกิดภพ ภวะปัจจยาชาติ ภพเป็นปัจจัยก็เกิดชาติ ชาติปัจจยาชรา มรณัง โสกะ ปริเทวะทุกขะโทมนัส อุปายาส ... (นาทีที่ 1:19:30) สมุทโย หรือสัมปวันติ ทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงก็เกิดขึ้นอย่างนี้ ในลักษณะอย่างนี้ นี่คือตัวอิทัปปัจจยตา ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงไว้อย่างชัดแจ้งว่ามันอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ จนกระทั่งเกิดทุกข์ เรารู้จักเสียให้ดี และทำการต่อสู้ก็ได้ ป้องกันก็ได้ รบกันเลย หรือ รบกับมันที่เป็นอิทัปปัจยตาที่เป็นฝ่ายทุกข์ ตอนนี้เราต้องขอใช้คำว่า ต่อสู้กับอิทัปปัจจยตา จะควบคุมกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา ไม่ให้เป็นอย่างนั้น แต่ให้มาเป็นอย่างที่ไม่เป็นทุกข์ การต่อสู้อย่างนี้ก็เรียกว่าอ้อนวอนพระเจ้าเหมือนกันนะ ฟังดูให้ดีนะ ต่อสู้กับพระเจ้านั่นแหล่ะคืออ้อนวอนพระเจ้า อย่าให้มันเป็นทุกข์ขึ้นมา มีสติ สัมปชัญญะ ในขณะแห่งผัสสะเถอะ ก็สู้ได้ ก็ไม่เกิดอิทัปปัจจยตาฝ่ายที่เป็นทุกข์
ทีนี้พูดออกมาวงนอกให้กว้าง กว้างออกมาวงนอกก็ว่า ให้เป็นอยู่อย่างถูกต้อง เป็นอยู่ชนิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับ กามสุขัลลิกานุโยค หรืออัตตกิลมถานุโยค นี่วงนอกพูดกันกว้างๆ แล้วให้เป็นอยู่อย่างมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ อยู่อย่างนี้สิ อยู่อย่างนี้ อิทัปปัจจยตาที่เกิดทุกข์จะไม่เกิดขึ้นได้ จะไม่ปรุงแต่งขึ้นมาได้ เรียกว่าไอ้การกระทำผิดที่ผัสสะจะมีไม่ได้ ถ้าเราอยู่อย่างอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว การกระทำผิดที่ขณะผัสสะนั้นมีไม่ได้ หรือว่าเป็นผัสสะที่ถูกควบคุมอยู่ด้วยอริยมรรค ด้วยอริยมรรคมีองค์๘ มันก็ไม่ผิด มันก็ไม่เป็นทุกข์ ควบคุมผัสสะผิด ก็เป็นทุกข์ ควบคุมผัสสะถูก ก็ไม่เป็นทุกข์ เป็นอยู่อย่างอริยอัฐฏังคิกมรรค คือมรรคมีองค์ ๘ นี้ผัสสะจะเป็นไปในลักษณะที่ควบคุมกันอย่างถูกต้องเสมอ เราก็ไม่เป็นทุกข์ คำว่าเราก็คือจิตนั่นแหล่ะ มันมีเราที่ไหน แต่พูดกันอย่างภาษาชาวบ้าน ภาษาปุถุชน ก็ต้องพูดว่า “เรา” ที่จริงจะมีสุข มีทุกข์ ไปนรก ไปสวรรค์ มันก็คือจิตนี่แหล่ะ มันปรุงอะไรขึ้นมาในความรู้สึกของจิตที่จิต จึงมีนรกสวรรค์ที่นั่น หรือจะมีนิพพานก็มีที่นั่น อะไรๆมันก็มีที่จิต จิตปรุงแต่งไปตามกฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา รู้วิธีที่จะควบคุมกระแสอิทัปปัจจยตา อย่าให้เป็นอิทัปปัจจยตาฝ่ายให้เกิดทุกข์ แต่ให้เป็นไปในกระแสอิทัปปัจจยตาฝ่ายที่ไม่อาจจะเกิดทุกข์ นี้เรียกว่าเราดำรงตนอยู่ในอริยอัฐฏังคิกมรรค แล้วก็รู้ ถูกต้องเพราะสัมมาทิฏฐิ ไม่หลงยึดถือเรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องสุข เรื่องทุกข์ เรื่องแพ้ เรื่องชนะ เรื่องได้ เรื่องเสีย เรื่องเกิด เรื่องตาย เรื่องอะไรทุกๆเรื่อง นี่เรื่องก็มีเท่านี้ ว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้ธรรมะสูงสุดคือกฎอิทัปปัจจยตา แล้วทรงเคารพกฎอิทัปปัจจยตาเหมือนอย่างพระเจ้า เอามาเปิดเผยแก่เรา ให้เรารู้จัก แล้วก็เคารพ แล้วก็ปฏิบัติให้ถูกต้อง เราก็ปฏิบัติอย่างถูกต้อง อย่างที่กล่าวมา ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะพระเจ้าอิทัปปัจจยตาช่วย ช่วยอย่างไม่ต้องอ้อนวอน ไม่ต้องเสียบายศรี ไม่ต้องเสียหัวหมู ไม่ต้องเสียเหล้า เหมือนพระเจ้าที่เขาบวงสรวงอ้อนวอนกัน ให้พุทธบริษัทนี่เข้าใจอย่างนี้ รู้ความข้อนี้ไว้ว่า สิ่งสูงสุดจนพระพุทธเจ้าก็เคารพนั้นคือกฎอิทัปปัจจยตา ให้ทุกคนยอมรับและเชื่อฟัง คือปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตาฝ่ายที่จะไม่เกิดความทุกข์ขึ้นมาเลย นี่ขอให้ท่านทั้งหลายรู้จักสิ่งสูงสุดนั้น สิ่งสูงสุดที่พระพุทธเจ้าก็ทรงเคารพ และนำมาบอกพวกเรา มาสั่งสอนพวกเราในวันเช่นวันนี้ คือวันอาสาฬหปุณมี มาตั้งแต่วันที่ตรัสบอกมนุษย์เป็นครั้งแรก เป็นพวกแรกคือพวกปัญจวัคคีย์ ขอให้เราถือว่า พระพุทธเจ้าท่านประทานสิ่งประเสริฐนี้แก่มนุษย์ ไม่ใช่เพียงแต่แก่ปัญจวัคคีย์ ๕ คนนั้น แก่มนุษย์ แก่สัตว์มนุษย์ ให้มนุษย์รู้จักสิ่งนี้และปฏิบัติให้ถูกต้องต่อสิ่งนี้ จะได้ไม่เป็นทุกข์อีกต่อไป เมื่อก่อนนี้มันไม่รู้มันโง่ มันก็ดำเนินไปตามกฎฝ่ายที่จะให้เกิดทุกข์ เพราะมันขาดสิ่งที่เป็นปัญญา เป็นวิชชา และสติ ไม่มีทั้งความรู้ และไม่มีทั้งเครื่องที่จะขนความรู้เอามาอย่างรวดเร็วทันเวลาเมื่อมีผัสสะ เดี๋ยวนี้เราได้มีความรู้อันนี้แล้ว และก็อบรมจิต ให้มีสติ ให้มีปัญญา สำหรับจะต่อสู้กับสิ่งที่เข้ามาปรุงเป็นผัสสะในจิตนั้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งมันก็มีอยู่และก็ทำงานอยู่ตลอดเวลา แล้วมันก็มี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา
จึงหวังว่าเราทั้งหลายจะทำตนให้เป็นพุทธบริษัทที่ดี เป็นสาวกที่ดี สามารถรับเอา ได้ซึ่งสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือธรรมที่ทรงแสดงในวันอาสาฬหปุณณมี ที่เราได้มาประชุมกันทำพิธีอาสาฬหบูชา อย่าให้เหนื่อยเปล่าเลย อย่าให้เปลืองเปล่าเลย อย่าให้เสียเวลาเปล่าเลย อุตส่าห์มากันแต่ที่ไกล ด้วยค่าใช้จ่ายที่มันแพง มาทำพิธีอาสาฬหบูชา ก็ขอให้ได้รับผลโดยแท้จริง คือทำถูกต้องจนไม่ต้องเกิดความทุกข์อีกต่อไป แม้ว่าเดี๋ยวนี้ยังไม่ทำได้ถึงที่สุด ก็ขอให้มันได้ถึงที่สุดในอนาคตอันใกล้ คือจะเอาชนะความทุกข์ให้ได้ในอนาคตอันใกล้ อย่าต้องรอไปอีกเป็นชาติชาติเลย มันนานนัก คนที่เขารออีกร้อยชาติ พันชาติ หมื่นชาติ แสนชาติ จึงจะดับทุกข์ได้ก็ตามใจเขา เราไม่เอาด้วย ที่ต้องรอกันนานขนาดนั้น เพราะว่าความทุกข์มันกำลังมีอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้วต้องรออีกเป็นร้อยชาติ แสนชาติจึงจะดับทุกข์ มันไม่ใช่คนบ้าแล้วจะเป็นคนอะไร มันเป็นคนบ้าแน่นอน ความทุกข์มันมีอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ แล้วจะรอดับมันต่ออีกตอนหมื่นชาติแสนชาติ มันจะมีประโยชน์อย่างไร นี้ขอให้ดับทุกข์ได้ทันทีทันควัน ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อไร และมันก็จะต้องเกิดในจิตเท่านั้นแหล่ะ มันเกิดที่อื่นไม่ได้ จงสนใจเรื่องจิตให้ดีๆ ให้รู้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และอบรมจิตนั้นให้อยู่ในลักษณะที่มีการต่อต้านความทุกข์ หรือสามารถควบคุมกระแสอิทัปปัจจยตาที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับจิตให้เป็นไปแต่ในทางที่จะดับทุกข์เท่านั้น เรื่องมันก็จะหมดไปสำหรับมนุษย์คนนั้น มนุษย์คนนั้นได้รับประโยชน์จากการมีพระพุทธเจ้า จากการมีพระธรรม จากการมีพระสงฆ์ ถ้าว่าเขาสามารถมีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ อยู่ในจิตใจของเขา นั่นคือมีธรรมที่เป็นอิทัปปัจจยตาฝ่ายถูกต้อง ที่จะไม่เป็นทุกข์อยู่ในจิตใจของเขา ก็ไม่เสียทีที่ได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนากันที่ตรงนี้ กันที่ตรงนี้ ตรงที่จิตของเขาเป็นอย่างนี้ ถ้าจะสมมุติว่าเราทุกคน ที่นั่งกันอยู่ที่นี้ แต่ละคนๆนี้ มันก็ต้องดำเนินไปทางนี้ มิฉะนั้นแล้วก็จะเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา เกิดมาสำหรับมีความทุกข์ มันก็สมน้ำหน้า มันโง่ เกิดมาสำหรับมีความทุกข์ มันก็โง่ และมันก็ไม่ละอาย มันยังทำหวัดๆ ชุ่ยๆ ปล่อยให้ความทุกข์เกิดขึ้นมา เป็นพระ เป็นเณร ก็ยังเป็นอย่างนั้น เป็นอุบาสก อุบาสิกา มันก็ยังเป็นอย่างนั้น มันไม่มีหิริ โอตัปปะ มันไม่ละอาย มันไม่กลัวความทุกข์เลย แล้วจะศึกษากันไปทำไมกัน พูดเพ้อเจ้ออยู่นั่นว่าจะดับทุกข์ อย่างนั้นอย่างนี้ แล้วมันไม่ได้ดับเพราะมันไม่รู้เรื่องความทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์
เอาหล่ะเป็นอันว่าการบรรยายนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว จะยุติการบรรยายนี้ และท่านทั้งหลายก็ประมวลความรู้ความจำในการบรรยายเมื่อตอนเย็นเมื่อวานนี้ เมื่อหัวค่ำ และก็ครั้งนี้ เป็น ๓ ครั้งด้วยกันทุกทีที่มีการกระทำพิธีวิสาขบูชา อาสาฬหบูชา มาฆบูชา อย่างที่เราได้กระทำกันมาแล้วและหวังที่จะกระทำกันต่อไปจนกระทั่งถึงสูงสุด แม้ดับทุกข์ได้แล้วก็จะกระทำ แม้ว่าเราจะดับทุกข์ได้แล้วซึ่งสิ้นสุดแห่งการกระทำแล้ว เราก็ยังจะกระทำพิธีวิสาขบูชา อาสาฬหบูชา มาฆบูชา เพื่อแสดงน้ำใจ ขอบพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้า สรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้า บูชาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ว่าจะทำเอาอะไรกันอีกแล้ว แต่กระทำด้วยน้ำใจ กตัญญู กตเวที เราจะเป็นสัตว์กตัญญู เป็นสัตว์กตเวที ระลึกนึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าแล้วก็กราบลงไป ก็กราบลงไปไม่ใช่ไสยศาสตร์ แต่เป็นกราบพุทธศาสตร์ สว่างไสวแจ่มแจ้งด้วยปัญญาอยู่ในจิตใจแล้วก็กราบลงไปด้วยความสำนึกในพระคุณ อย่ากราบเพื่อเรียกร้องต้องการอะไรอย่างไสยศาสตร์เลย ไสยศาสตร์นั้นมันอาศัยความเชื่อเป็นรากฐาน เชื่อที่เขาบอกอย่างไรก็เชื่อ มันก็หลงงมงายไร้เหตุผล ส่วนพุทธศาสตร์นั้นมีปัญญาเป็นรากฐานแล้วมันจึงทำอะไรถูกต้อง ช่วยตนเองได้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่น จำไว้ว่าไสยศาสตร์มันตั้งอยู่บนศรัทธา พุทธศาสตร์มันตั้งอยู่บนปัญญา เราเป็นพุทธบริษัททั้งที ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาสำหรับจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เหมือนกับพระพุทธเจ้า เรื่องก็จะจบเพราะว่าเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้จริง ดับทุกข์ได้ตามลำดับ จนกว่าจะสิ้นสุดแห่งความทุกข์นั้น นี่คือเรื่องที่เราต้องเอามาพูดกันจนกว่าจะสำเร็จประโยชน์ในสุข ถ้ายังมีความทุกข์เหลืออยู่ก็ทำต่อไปตามกฏเกณฑ์ที่กล่าวมาแล้วนี้ คือกฎเกณฑ์แห่งพระเจ้าอิทัปปัจจยตาที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้แก่บรรดาสัตว์ที่จมอยู่ในกองทุกข์ จะได้รื้อขนตัวเองออกจากกองทุกข์ด้วยสติปัญญา ราวกับว่าพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในจิตใจแห่งตน ทำร่างกายนี้เหมือนโบสถ์วิหารสำหรับพระพุทธเจ้าเข้ามาประทับอยู่ในจิตใจ แล้วก็จะไม่มีทุกข์ เป็นเครื่องดับทุกข์ เป็นเครื่องป้องกันทุกข์ วิหารข้างนอกนั้นมันเป็นเปลือกของศาสนา โบสถ์วิหารในกายตนในใจต้นนี้เป็นตัวศาสนา ก็ได้พูดกันมาแล้วว่า พระรัตนตรัยนั่นแหล่ะคือตัวพุทธศาสนา สร้างโบสถ์วิหารด้วยร่างกายจิตใจนี้ให้ท่านอยู่อาศัย แล้วความทุกข์ไหนจะเข้ามารบกวนได้ ไม่มีความทุกข์ไหนเข้ามารบกวนได้ ขอให้พยายามด้วยกันทุกคน มีศรัทธาเพียงพอ มีความพากเพียรเพียงพอ มีสติเพียงพอ มีสมาธิเพียงพอ มีปัญญาเพียงพอ ที่เรียกว่ามีอินทรีย์เพียงพอ มีพละเพียงพอ ก็จะเกิดความดำเนินไป ดำเนินไปอย่างถูกต้องจนกว่าจะถึงที่สุด ที่เรียกว่าวิมุตติ เป็นอานิสงส์ของการกระทำนี้ เรื่องความเป็นมนุษย์ของคนนั้นก็จบ เพราะมันหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ เรื่องมันจบที่ตรงนั้น ในที่สุดนี้อาตมาก็ขอแสดงความหวังว่าให้ท่านทั้งหลายทุกคนสามารถดำรงตนอยู่ด้วยความเชื่อที่ถูกต้อง ปฏิบัติอยู่ด้วยปัญญา มีปัญญารู้แจ้งแล้วก็มีความเชื่อไปตามอำนาจของปัญญา อย่าเชื่องมงายไร้เหตุผลซึ่งเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ ขอให้ทุกคนมีความแน่ใจแก่ตน แน่ใจแก่การกระทำของตน คือของจิตที่ตื่นแล้ว รู้แล้ว เบิกบานแล้ว และก็มีความสุขอยู่ในตน อยู่ในตัวเอง ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้