แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อวิริยะความพากเพียรแก่ท่านทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัทเพื่อให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายกว่าจะยุติลงด้วยสมควรแก่เวลา พระธรรมเทศนาในวันนี้เป็นพระธรรมเทศนาพิเศษปรารภเหตุการณ์บำเพ็ญกุศลที่เรียกว่า “วันทำบุญวันสารท” หรือที่เรียกกันในภาษาในท้องถิ่นว่า “วันทำบุญส่งตายาย” วันนี้เรียกชื่อต่างๆกัน บางแห่งก็เรียกว่าวันทำบุญในฤดูเดือนสิบ บางแห่งเช่นที่นี้ ก็เรียกว่า วันทำบุญส่งตายาย แต่ที่เรียกกันโดยทั่วไปก็คือ ทำบุญวันสารท แถมยังมีบางแห่งเรียกว่า วันทำบุญให้กับเปรต เหล่านี้เป็นต้น ก็เรียกโดยชื่อต่างๆ กันอะไรก็ตาม แต่มีความหมายตรงกันเป็นอย่างเดียว คือ วันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ โดยเฉพาะคือผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว
คำว่า “บรรพบุรุษ” คือ ผู้ที่เป็นบุพการี เรียกว่ากระทำต่อเราก่อน ใครก็ตามที่ได้กระทำต่อเราก่อน ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลเราก่อน เรียกว่าเป็นบรรพบุรุษ เพราะฉะนั้นเมื่อได้ยินดังนี้ท่านทั้งหลายก็ต้องมองออกไปให้มันกว้างว่าไม่ว่าอะไรที่มีคุณต่อเราเกื้อกูลช่วยเหลือเราก่อนแล้ว ถือได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของเราทั้งสิ้น นี่มันก็รวมไปถึงทั้งสิ่งที่ไม่มีชีวิต ทั้งต้นไม้ ทั้งสัตว์ ทั้งอะไร รวมไปหมด ไม่ยกเว้นอะไร แต่ทั้งหมดนั้นรวมอยู่ภายใต้สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ พระธรรม เพราะฉะนั้นพระธรรมจึงเป็นต้นเหตุหรือที่เกิด เป็นบรรพบุรุษของทุกๆสิ่ง แม้พระพุทธเจ้าก็ยังเคารพพระธรรม เพราะว่าทุกอย่างนั้นเกิดมาจากพระธรรม เกิดมาตามกฎของธรรมชาติ แม้เราเองนี้ก็เกิดมาโดยกฎของธรรมชาติ ธรรมชาติให้วิวัฒนาการมาตามกฎอันนั้น นี้เราเห็นกันง่ายๆว่า เกิดมาจากท้องแม่ นั้นก็เกิดมาโดยกฎของธรรมชาตินั่นเอง และก็มีการช่วยเหลือเกื้อกูลทุกๆสิ่ง มีคุณพ่อคุณแม่ มีญาติมิตร แล้วก็มีข้าวปลาอาหาร อะไรทุกอย่างที่ช่วยเหลือเกื้อกูลมาจนกระทั่งว่าได้มีโอกาสมานั่งอยู่ในสถานที่นี้ในวันนี้ ก็สรุปได้เรานี่ไม่ได้เป็นตัวของเราเอง ทั้งหมดนี้เป็นการกระทำของทุกๆสิ่งที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เมื่อมีสิ่งนั้น ก็มีสิ่งนี้ ก็มีสิ่งนั้น มีสิ่งนั้นๆๆผสมกันก็มาเป็นเราในอายุเท่านั้น เวลาก็เปลี่ยนแปลงมา ตกลงว่าที่แท้จริงแล้วเราอยู่ในกระแสของอนิจจัง คือการเปลี่ยนแปลง และสิ่งทั้งหลายนั้นนั้นช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ ก็ตกลงว่า แม่ที่แท้จริงนั้นก็คือพระไตรลักษณ์นั่นเอง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นแหละ ไม่ใช่ใครที่ไหน โดยมีท่านทั้งหลายที่ได้คุ้นเคยกับธรรมะก็คงเข้าใจว่าคือ กฎธรรมชาติ เรียกว่า “อิทัปปัจจยตา” นั่นเอง นั่นคือพ่อแม่ของเรา เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาสที่จะกำหนดว่าเป็นวันทำบุญให้กับบรรพบุรุษ ในตอนแรกนี้อาตมาก็จะให้ท่านทั้งหลายได้นึกไปถึงบรรพบุรุษทั้งหมด อย่าได้ไปหยุดจำเพาะอยู่ที่ตายายหรือปู่ย่า ตายายกับปู่ย่าก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เป็นบรรพบุรุษ แล้วผู้ที่เราจะลืมไม่ได้ก็คือ พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นบรรพบุรุษ เป็นผู้ให้แก่เราทุกอย่างก่อน พระพุทธเจ้าพระองค์อุบัติขึ้นก็รู้วิธีดำเนินชีวิตเหมือนกับว่าโลกนี้ก็เกิดแสงสว่างขึ้น แล้วพระพุทธองค์ก็เอาธรรมะคือความถูกต้องในการดำเนินชีวิตให้มนุษย์นี้มีความสงบสุข ทั้งส่วนตัวเอง ทั้งส่วนผู้อื่น แล้วก็พระสงฆ์สาวกก็สืบๆต่อๆกันมา เพราะฉะนั้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือ บรรพบุรุษของเรา ดังนั้นเวลาที่จะทำอะไรก็ต้องระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เหมือนที่ท่านทั้งหลายก็ได้กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม บรรพบุรุษ คือผู้ที่ให้เราเกิดมานั่นแหละ พ่อแม่มันก็มีอยู่ ๒ ชนิด คือให้เกิดในฝ่ายดีก็ได้ ให้เกิดในฝ่ายที่ไม่ดีก็ได้ เพราะฉะนั้น บรรพบุรุษนั้นต้องมีอยู่ ๒ ประเภท คือ บรรพบุรุษที่ทำให้เราเป็นคนดี กับบรรพบุรุษที่ทำให้เป็นคนชั่ว ถ้าเราเสพครบปฏิบัติกุศลธรรมคือทำความดี ความดีนั่นแหละก็จะเป็นพ่อแม่ให้เราได้รับผลดี เป็นฝ่ายกุศล ก็คือธรรมะของพระพุทธเจ้านั่นแหละเป็นพ่อแม่ฝ่ายกุศล ฝ่ายดี นี้พ่อแม่อีกอย่างหนึ่งก็คือเมื่อเราทำชั่ว กฎธรรมชาติหรือพ่อแม่นั้นก็ให้เราได้รับผลชั่ว พ่อแม่อันนี้แหละที่เขาสอนว่าให้ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่เสีย เมื่อเราฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ที่ไม่ดี เราก็อยู่กับพ่อแม่ที่ดี เพราะฉะนั้น บรรพบุรุษมันก็มีอยู่ ๒ อย่าง แต่บรรพบุรุษ ๒ อย่างนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับบรรพบุรุษเพียงอย่างเดียว ก็คือ กฎธรรมชาติ แต่เรามาแยกออกเป็น ๒ เรื่องว่า บรรพบุรุษฝ่ายที่ไม่ดีก็มี ฝ่ายที่ดีก็มี ดังนั้นใครที่ทำตนเป็นคนเกเรเหลวไหลนั้นก็แสดงว่าบรรพบุรุษของเขาไม่ดี ไม่ได้หมายถึงว่า พ่อแม่ ปู่ย่า ตายายไม่ดีอย่างเดียว ก็คือสิ่งที่เขาไปประพฤติปฏิบัตินั่นแหละจะช่วยให้เขาเป็นคนไม่ดี สิ่งเหล่านั้นก็เป็นบรรพบุรุษของเขาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นบรรพบุรุษหรือบุพการีนี่เป็นสิ่งที่ดีนั้นก็หาได้ยาก ท่านจึงกล่าวว่าบุคคลที่หาได้ยากก็คือบุพการีผู้ที่กระทำคุณกับเราก่อน แล้วก็กตัญญูกตเวทีผู้ที่จะตอบแทนบุญคุณตอบนี้ หาได้ยาก
ทีนี้ เรื่องที่ควรจะพิจารณากันต่อไปก็คือว่า การทำบุญให้บรรพบุรุษที่เราเรียกว่า ให้กับผู้ตายนี้ คำว่า “ผู้ตาย” หรือ “บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว” ผู้ตายในภาษาบาลีใช้คำว่า “เปตชน” เปตชนก็คือเปรตนั่นเอง เพราะฉะนั้นที่ว่าทำบุญให้เปรตนั้นมันก็ถูกเหมือนกัน เพราะว่าเปรตนี้มันแปลได้หลายความหมาย ในสถานที่นี้อาจจะเอาเปรตมาแปลให้ท่านทั้งหลายฟังซัก ๓ ความหมาย คือ เปรตความหมายที่ ๑ แปลว่า ผู้ตาย ผู้ละโลกนี้ไปแล้ว “เปตะ” ละโลกนี้ไป “เปตชน” ผู้ที่ตายแล้ว คนที่ตายแล้วก็เรียกว่าเปรต หมายถึงคนที่ตายแล้ว เช่น ปู่ย่าตายายของเราที่ตายแล้วก็เรียกว่า เปตะ เปตชน นี้เปรตในอีกความหมายหนึ่ง ก็คือว่า ผู้ที่สัตว์ชนิดหนึ่งที่หิว กินเท่าไหร่ไม่รู้อิ่มไม่รู้พอ เปรตพวกนี้แม้ว่ามีชีวิตอยู่ก็เป็นเปรตคือคนที่หิว โลภจัด ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ มีปากเท่ารูเข็ม ท้องเท่าภูเขานั่นแหละ เปรตพวกนี้เขาเรียกว่าเปรตที่เป็นสัตว์ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ ได้เท่าไรก็ไม่เคยพอใจตัวเอง ทำหน้าที่การงานก็ไม่มีความสุข ได้ทรัพย์สมบัติมาบริโภคก็ไม่เป็นสุข เมื่อหมดแล้วก็ไม่เป็นสุข เมื่อหาใหม่ก็ไม่เป็นสุข ได้มาก็ไม่เป็นสุข นี่เปรต ทีนี้เปรตอีกพวกหนึ่งหมายถึงบุคคลที่มีชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ผู้อื่นให้ มีชีวิตด้วยอาหารที่ผู้อื่นให้ เขาเรียกว่าเปรตเหมือนกัน นี่ พระภิกษุนี้เป็นเปรตพวกหนึ่ง พวกที่มีชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่คนอื่นให้ ท่านเรียกว่า “ปรทัตตูปชีวีเปรต” เพราะฉะนั้นพระเณรเราก็เป็นเปรตเหมือนกัน เปรตพวกที่ว่ามีชีวิตด้วยอาหารที่ผู้อื่นให้
ทีนี้ จะอธิบายขยายเนื้อความสักเล็กน้อยว่า เปรตที่แปลว่าผู้ที่คนที่ตายไปแล้ว อันนี้ก็หมายถึงบรรพบุรุษที่มีคุณต่อเรา ท่านก็ทำกาละ คือถึงแก่กรรมตายไปแล้ว เราระลึกถึงบุญคุณของท่าน เราก็มาทำบุญ ซึ่งเดี๋ยวจะพูดให้ฟังว่า การทำบุญให้กับผู้ที่ตายไปแล้วนั้นมีความมุ่งหมายอย่างไร ส่วนเปรตที่แปลว่าผู้หิว ผู้ที่มีกิเลสหิวอยู่เป็นนิจ วันนี้เราก็มาให้อาหารกับพวกเปรตพวกนั้น ก็คือว่าเราทำบุญอุทิศ ใครที่เคยล่วงเกินเรา เปรตพวกไหนที่เคยขโมยของของเรา เปรตพวกนั้นเราก็จะอโหสิ หมายความว่าให้มันเอาไปเถิด เราก็จะไม่อาฆาตพยาบาท เขาเรียกว่าทำบุญให้กับเปรตพวกนี้เหมือนกัน เราก็ไม่อาฆาตพยาบาท ใครที่มีกิเลส มีความโลภ ขโมยของของเราไป ก็เรียกว่ามาชำระบัญชีกันในวันนี้ คือว่าไม่เอาเรื่อง ไม่เอามาเจ็บแค้นพยาบาทว่าแกได้ขโมยของของฉันไป ก็ขอให้ขโมยพวกนี้เขาเป็นสุขเป็นสุขเถิด นี่แหละขโมยของของเราไปแล้วก็เอาไปกินเอาไปใช้สอยให้มีความสุข อย่าได้ขโมยของคนอื่นอีก เพราะฉะนั้น เวลาใครมาขโมยของเรานี่ท่านให้พิจารณาว่า ดีแล้ว โชคดีแล้วที่ได้มาขโมยของฉัน เพราะว่าถ้าขโมยของคนอื่น แกอาจจะเจ็บตัวก็ได้ ดีแล้ว ถ้าจะมาขโมยก็มาขโมยของฉันเถิด ฉันไม่เอาเรื่อง สบาย ถ้าขโมยของคนอื่นนั้นก็ไม่แน่ ทีนี้เปรตที่ แปลว่า ผู้ที่มีชีวิตด้วยอาหารที่ผู้อื่นให้ ท่านภิกษุทั้งหลายนี้มีชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ทายกทายิกาถวาย เพราะว่าไม่ได้ประกอบอาชีพทำนา ค้าขาย เมื่อท่านทั้งหลายเอาจตุปัจจัยมาให้ก็มีชีวิตอยู่ ก็ได้ประพฤติปฏิบัติสืบพระศาสนาต่อไป วันนี้เราก็ได้ให้ทานแก่เปรตพวกนี้แล้ว ก็หมายความว่ามีชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ผู้อื่นให้ ให้กำลังแก่ภิกษุแล้ว พะลัญจะ ภิกขูนะมะนุปปะทินนัง การให้กำลังแก่ภิกษุเราก็ได้ทำแล้วในวันนี้ คือเปรตพวกนี้ก็ได้รับประโยชน์แล้วในการทำบุญในวันนี้ ทีนี้ เมื่อกี้บอกแล้วว่าภิกษุนั้นเป็นเปรตขุมหนึ่ง อยู่ขุมๆหนึ่ง ทีนี้เปรตขุมต่อไปนั้น บิดามารดานี้ก็เป็นเปรต มีชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ลูกให้ แต่อาหารในความหมายนี้คงจะไม่ได้หมายถึงข้าวปลาอาหารที่อยู่ในปิ่นโตหรือว่าอยู่ในหม้อในที่ใส่อาหาร แต่คงเป็นอาหารทางจิตใจ ว่าบิดามารดานั้นมีชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ลูกให้ หมายความว่า ถ้าลูกเป็นคนดี พ่อแม่ก็อิ่ม ลูกเป็นคนชั่ว พ่อแม่ก็หิว เพราะฉะนั้นพ่อแม่นั่นแหละมีชีวิตอยู่ด้วยลูก ด้วยอาหารที่ลูกให้ อาหารนี้คงจะไม่ได้เล็งถึงอาหารที่เป็นกับข้าวหรืออะไร แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นอาหารทางวัตถุทางกับข้าวนี้ก็ส่วนหนึ่ง แต่ว่าอาหารที่สำคัญนั้นคือความดีของลูกนั่นเอง เป็นอาหารเลี้ยงพ่อแม่ไว้ ท่านทั้งหลายก็เป็นบิดามารดาเป็นปู่ย่าตายายก็เข้าใจดีว่า ความทุกข์ความสุขของพ่อแม่นั้นอยู่ที่ลูก ลูกเป็นคนดีเราก็มีความสุข อิ่มอกอิ่มใจ ก็แสดงว่าบิดามารดานี้มีชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ลูกให้ ก็เป็นเปรตขุมหนึ่งเหมือนกัน จะเห็นได้ว่าขุม บิดามารดาเป็นเปรต เพราะฉะนั้นใครที่ไม่อยากให้พ่อแม่ต้องเป็นเปรต ก็จงเป็นคนดี ทำความดี เมื่อเราทำความดีก็ พ่อแม่ก็มีอาหาร ก็อิ่ม ก็ได้ไปเกิด พ่อแม่นั้นตัวเองพอทนได้ แต่ถ้าลูกละก็ทนทนทนยาก ทนไม่ไหว ถ้าลูกเป็นสุข พ่อแม่ก็เป็นสุขด้วย ลูกเป็นทุกข์หรือลูกเสียหายนี่ พ่อแม่ก็เป็นทุกข์มากกว่าลูกเสียอีก ก็เรียกว่าบิดามารดานั้นมีชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ลูกให้ เพราะฉะนั้นความประพฤติของลูกนั่นแหละเป็นเสมือนหนึ่งอาหารของบิดามารดา นี้ก็เรียกว่าบิดามารดาก็เป็นเปรต เพราะฉะนั้นวันนี้มาทำบุญที่วัด อาหารในปิ่นโตนั้นถวายกับเปรตภิกษุ แล้วก็ได้ความดี เป็นคนดีมีศีลธรรม ให้ได้ถวายทาน ให้ทาน รักษาศีล ไม่เห็นแก่ตัว มีความรักเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย มีชีวิตอยู่ไม่มีเวรไม่มีภัย ความดีอันนี้เป็นเรื่องจิตใจนี้ให้กับเปรตพ่อแม่ ดังนั้นทำบุญทั้งทางวัตถุทั้งทางจิตใจนี่แหละ ก็ได้รับผลคุ้มกัน ข้าวปลาอาหารให้กับเปรตภิกษุ ความดีที่ได้ให้กับเปรตพ่อแม่ เพราะฉะนั้นการทำบุญของพุทธบริษัทนั้นถูกต้องทั้งทางข้างนอกทั้งทางข้างใน ทั้งทางวัตถุและทั้งทางจิตใจ
ทีนี้ ข้อที่ว่าทำบุญอุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วมีอานิสงส์อย่างไร เราสอนกันว่าบิดามารดาปู่ย่าตายายตายแล้ว วิญญาณของท่านยังล่องลอยอยู่ ยังไม่ได้ไปเกิด วิญญาณยังล่องลอยอยู่ ยังไม่ได้ไปเกิด ควรที่ลูกหลานทำบุญอุทิศให้ เพื่อท่านจะได้ไปเกิด เราก็มักจะมองกันว่าดวงวิญญาณนั้นเป็นดวงๆลอยไป โชติช่วง ลอยไปเกิด เรียกว่ามองเป็นเรื่องเป็นสิ่งของเป็นวัตถุไปหมด วิญญาณนี่ก็อาจจะหมายถึงความต้องการก็ได้ เช่น วิญญาณของครูบาอาจารย์อย่างนี้ ก็หมายถึงว่าความต้องการให้ลูกศิษย์เป็นคนดีนี่ วิญญาณ จิตวิญญาณของครูบาอาจารย์ จิตวิญญาณของพระภิกษุก็คือมีความอดทน มีความบากบั่น มีศีล สมาธิ ปัญญา นั่นแหละ วิญญาณของพระโพธิสัตว์ก็มีจิตเมตตาประกอบด้วย กรุณา มุทิตา อุเบกขา เรียกว่า “อัปปมัญญา” นั่นแหละ ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ วิญญาณของพระโพธิสัตว์ เพราะฉะนั้นวิญญาณของพ่อแม่นี่ก็คือ ความปรารถนาให้ลูกเป็นคนดีมีศีลธรรม นี่คือดวงวิญญาณของบิดามารดา เพราะฉะนั้นปู่ย่าตายายบิดามารดาแม้ว่าจะตายแล้ว ดวงวิญญาณคือความต้องการหรือความปรารถนาอันนี้ก็ยังอยู่ เพราะฉะนั้นการที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายปรารถนาให้ลูกเป็นคนดีมีศีลธรรมนี่แหละ ชื่อว่าวิญญาณของบรรพบุรุษปู่ย่าตายาย ปรารถนาให้เราเป็นคนดีมีศีลธรรม แม้ว่าตัวเองจะเป็น ประพฤติเสียหายบ้าง แต่ก็ปรารถนาให้ลูกหลานนี่เป็นคนดีมีศีลธรรม นี่คือวิญญาณของพ่อแม่ เดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ เพราะฉะนั้นลูกหลานก็ทำบุญอุทิศให้ท่าน มาวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ให้ทาน รักษาศีล เมื่อเราทำบุญบ่อยเข้า บ่อยเข้า ทำบุญมากเข้า มากเข้า เราก็เป็นคนดี เมื่อเราเป็นคนดีก็แสดงว่าวิญญาณของปู่ย่าตายายนั้นก็มาเกิด ไม่ได้ไปเกิดที่ไหน ก็มาเกิดในเรานี่เอง ก็คือเราเป็นคนดีสมตามที่ท่านต้องการ แสดงว่าวิญญาณของปู่ย่าตายายมาเกิดแล้ว เกิดในตัวเรานี่เอง ท่านยังพูดว่าคนๆนี้เหมือนกับคนๆนั้นมาเกิด นิสัยใจคอเหมือนคนๆนั้น หน้าตาบุคลิกลักษณะท่าทางคล้ายๆคนๆนั้นมาเกิด เดี๋ยวนี้เมื่อเราทำความดี เป็นคนดีมีศีลธรรมได้ ก็แสดงว่าวิญญาณของปู่ย่าตายายนั้นได้เกิด คือสมใจพ่อแม่แล้ว สมตามที่พ่อแม่ต้องการนั่นแหละคือวิญญาณมาเกิด ถ้ามองอย่างนี้เราเองก็ต้องทำตัวเองนี้ให้พ่อแม่ได้เกิด คือสมตามที่ท่านต้องการ เขาบอกว่าปู่ย่าตายายนั้น ที่ล่วงลับไปแล้วนั้นแหละมาคอยดูว่าลูกหลานเป็นยังไง ถ้าหากว่าลูกหลานคนไหนดี พ่อแม่ก็มาเกิด ก็เกิดเป็นลูกหลานคนนั้นเอง เพราะฉะนั้นถ้าลูกหลานคนไหนยังเป็นคนเกเรอันธพาลอยู่ พ่อแม่ก็ไม่ได้มาเกิด คือพ่อแม่ไม่กล้าลงมาเกิดในคนๆนั้น ก็ล่องลอยอยู่ต่อไป ฉะนั้นก็จงทำตนให้เป็น ให้ให้พ่อแม่ได้มาเกิด ให้สมตามที่พ่อแม่ต้องการ เพราะนั้นการทำบุญอุทิศให้กับผู้ตายก็คือการทำบุญให้ถูกใจกับปู่ย่าตายายที่ล่วงลับไปแล้ว เพราะนั้นการที่ท่านทั้งหลายได้ทำบุญนี้ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้นนี้ ก็เรียกว่าทำให้วิญญาณของปู่ย่าตายายได้มาเกิด อย่าได้มองว่าไปเกิดที่ประเทศไหนที่จังหวัดไหน เป็นนรก เป็นสวรรค์ชาติหน้า อย่างนั้นก็สอนกันอยู่ แต่ว่าเราทำปฏิบัติยาก แต่การทำตนให้เป็นคนดีให้วิญญาณของปู่ย่าตายายมาเกิดในตัวเรานี้ เราทำได้ทุกคน นี่ก็เรียกว่า ทำบุญอุทิศให้กับเปตชนผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้ในทุกความหมาย เปรตที่แปลว่า ผู้ล่วงลับไปแล้วก็ได้ เปรตที่แปลว่าผู้ที่หิว มีกิเลสอยู่ในโลกนี้ เราก็อุทิศให้ แล้วก็เปรตแปลว่าผู้ที่มีชีวิตด้วยอาหารที่ผู้อื่นให้ พระภิกษุ บิดามารดา ครูบาอาจารย์นี้ก็มีชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่เราให้ นี่ก็เรียกว่าถูกต้องตามที่ต้องการแล้ว
ทีนี้ ที่อาตมาได้ยกพระพุทธภาษิตมาว่า ธรรมทั้งปวงมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตตรัสถึงเหตุ และว่าธรรมทั้งหลายจะดับก็เพราะดับที่เหตุ คำว่า “เหตุ” นั้นแหละก็สงเคราะห์ในคำว่าบิดามารดา การที่เราทำให้ถูกต้อง แปลว่าเราทำให้ถูกต้องตามเหตุ การที่เราจะตอบแทนคุณบิดามารดาฝ่ายกุศลก็ด้วยการประพฤติธรรม การประพฤติธรรมจึงเป็นว่าการกระทำที่เหตุ ถูกต้องตามเหตุที่จะให้ได้รับผล คือว่าตอบแทนคุณบิดามารดาฝ่ายที่เป็นกุศล ส่วนการละกิเลสก็เป็นการปฏิบัติตามเหตุเพื่อฆ่ามารดาบิดาที่เป็นฝ่ายอกุศลเสีย เพราะฉะนั้นการละกิเลสแต่ประพฤติธรรม จึงเป็นการตอบแทนคุณบิดามารดาที่เหตุโดยแท้ บิดามารดามีความมุ่งหมายอยู่ ๕ อย่างในการที่จะมีบุตร บิดามารดาหรือปู่ย่าตายายนี้ต้องการ ๕ อย่าง แล้วก็มีบุตรมีเราขึ้นมาด้วยความมุ่งหมาย ๕ ประการนี้ คือประการที่ ๑ มีความหวังว่าเราเลี้ยงดูเขาแล้ว เขาจักเลี้ยงดูเราตอบ เพราะฉะนั้นการที่พ่อแม่ของเรา มีเรานี่ คือท่านมีความมุ่งหมายว่า เมื่อท่านเลี้ยงดูเราแล้ว เราจะเลี้ยงดูท่านตอบ เมื่อท่านแก่เฒ่าเข้าสู่วัยชรา เราจะเลี้ยงดูท่านตอบ แล้วข้อที่ ๒ เราจักทำกิจ จักทำกิจนี่แทนท่าน แล้วข้อที่ ๓ เราจะดำรงวงศ์สกุลของท่านไว้ ข้อที่ ๔ เราก็จะรักษาทรัพย์มรดกของท่านไว้ และข้อที่ ๕ ท่านตายแล้วเราก็จะทำบุญอุทิศให้ นี่คือความปรารถนาของมารดาบิดาในการที่ปรารถนาบุตร เพราะฉะนั้นบิดามารดาของเรานั้นอยู่ร่วมกันไม่ใช่เพื่อหวังความสนุกในเรื่องกามารมณ์ หรือเรื่องระหว่างหญิงระหว่างชาย แต่มีความปรารถนา ๕อย่างนี้ จึงต้องการบุตร
ข้อที่ ๑ นั้นว่า เมื่อเราเลี้ยงดูแล้วลูกหลานจะเลี้ยงดูเราตอบนี่ อันนี้มีได้สำหรับมนุษย์เท่านั้น สัตว์เดรัจฉานนี่มันเลี้ยงดูพ่อแม่ตอบ มนุษย์ต้องเลี้ยงดูบิดามารดาตอบหลังจากที่ท่านเลี้ยงดูเราแล้ว เพราะงั้นตรงนี้ต้องถือเป็นหลักได้เลยว่า ใครที่ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดาตอบ คนๆนั้นไม่ใช่มนุษย์ ก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน เช่น วัว ควาย เป็ด ไก่ สุนัข อะไรเหล่านี้ มันไม่ได้เลี้ยงดูบรรพบุรุษ ไม่เหมือนกับมนุษย์ เราก็ต้องเลี้ยงดูมารดาบิดาตอบแทนท่าน ถ้าใครยังมีจิตคิดถึงบรรพบุรุษเลี้ยงดูมารดาบิดาอยู่ คนๆนั้นมีจิตอ่อนโยน พอจะเป็นมนุษย์ได้ ไม่ได้เป็นคนพาล คนใจดำอำมหิต หรือคนที่มีความโง่หลง ไม่เลี้ยงดู ไม่รู้จักบุญคุณของผู้ที่มีคุณ ทีนี้ความหมายที่ ๒ เราจัก เขาจักทำกิจแทนเรา คำว่าทำกิจแทนบิดามารดานี้ มิได้หมายความว่าบิดามารดาทำนา ลูกหลานก็ทำนาด้วย ถ้าบิดามารดา มีอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง ลูกหลานทำอย่างนั้นด้วย ทำกิจนี้หมายความว่า ทำกิจของมนุษย์ที่พึงทำ เช่น มารดาบิดาใส่บาตรทุกเช้า ลูกหลานก็ไม่ค่อยเข้าวัด ไม่ค่อยใส่บาตร ปล่อยปละละเลยนี่ ไม่ได้ทำกิจแทนบิดามารดา บิดามารดา วันพระ วันธรรมสวนะนี่ วันอุโบสถก็ถือศีลอุโบสถมาวัดฟังเทศน์ฟังธรรม แต่ลูกหลานไม่ค่อยเอา แสดงว่าไม่ได้ทำกิจแทนบิดามารดา ก็เป็นมนุษย์ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจมารดาบิดาก็คือกิจที่จะทำให้คนเป็นมนุษย์นั่นเอง เราไม่ได้ทำ ข้อที่ ๓ เขาจะดำรงวงศ์สกุลของเรา ดำรงวงศ์สกุลของมนุษย์ สกุลของมนุษย์นี้มันแตกต่างไปจากสัตว์ เพราะมนุษย์นั้นดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เราต้องมีปัญญาในการดำเนินชีวิตถึงจะเป็นมนุษย์ ถ้ายังมีโลภ มีโกรธ มีหลงอยู่นี่ มันก็เป็น ไม่เรียกว่ามนุษย์ เพราะฉะนั้นเราต้องดำรงความสะอาด สว่าง สงบในจิตใจ และการสงเคราะห์เอื้อเฟื้อช่วยเหลือเกื้อกูลให้เป็นสกุลของมนุษย์ต่อไป คำว่า “สกุล” นี้ไม่ใช่หมายความว่า นามสกุลที่เพิ่งตั้งขึ้นไม่กี่วัน อันนั้นมันเป็นเรื่องใหม่ๆ เรื่องสกุล ก็หมายความว่า สกุลของมนุษย์ที่เราจะต้องสืบสกุลนี้ต่อไป เดี๋ยวนี้เขาพูดว่ามนุษย์ในโลกนี้ไม่ค่อยไม่มี มีแต่คนหรือว่ามีแต่สัตว์ คำว่ามนุษย์นั่นคือผู้ที่มีจิตใจสะอาด สว่าง สงบ พระพุทธเจ้านั่นแหละเป็นมนุษย์คนแรกที่เรารู้จัก เพราะว่ามนุษย์คนแรกคือ หญิงกะชายคู่หนึ่งนั้น อันนั้นเขามอง เขาพูดอีกความหมายหนึ่ง แต่มนุษย์คนแรกที่เรารู้จักคือพระพุทธเจ้า เพราะเราไม่ได้พูดมนุษย์ทางร่างกาย เราพูดมนุษย์ในทางจิตใจ ถามว่ามนุษย์คนแรกคือใคร ต้องตอบว่าพระพุทธเจ้า แต่ถ้าคนๆคนแรกนี่คือใคร บอกว่าไม่ทราบเหมือนกัน แต่ถ้ามนุษย์ต้องพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเป็นมนุษย์แบบพระพุทธเจ้านี้ให้จงได้ ข้อต่อมาคือเราจะสืบมรดกทรัพย์สมบัติของบรรพบุรุษ บรรพบุรุษมีสมบัติมากมาย ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวไว้ให้ลูกหลาน ลูกหลานก็ทำลายทรัพย์สมบัติเสีย เอาไฟฟ้าช็อตเสียบ้าง เอาระเบิดไปให้ปลาตายลอยเสียหายนี้แสดงว่าทำลายทรัพย์สมบัติของบรรพบุรุษ ที่ร้ายไปกว่านั้นอีกก็คือว่าทำลายอริยทรัพย์ คือทรัพย์ในทางจิตใจ ปู่ย่าตายายเคยอยู่กันอย่างมีความสงบสุข ขนาดว่าประตูบ้านนี้ไม่ต้องใส่กลอน ไม่ต้องปิดนี่ เรียกว่าทรัพย์สมบัติของเขาก็คือความสุขสงบทางจิตใจนี่ ลูกหลานได้ทำลายเกือบหมด ลูกหลานไม่มีอริยทรัพย์ ไม่มีความสงบสุขในทางจิตใจ มีแต่อิจฉาริษยาอาฆาตพยาบาท เข่นฆ่ากันกับอย่างกับผักปลา นี่แสดงว่ามนุษย์บนโลกนี้ไม่ได้รักษาอริยทรัพย์ของบรรพบุรุษ ทำลายทรัพย์สมบัติจนกลายเป็นคนมีหนี้สินในทางจิตใจ ไม่เป็น ไม่เป็นเจ้าหนี้ในทางจิต แต่เป็นลูกหนี้ มีหนี้สินล้นพ้นตัวในทางจิตใจ ท่านทั้งหลายก็ดูไปทั้งโลกเถิดว่า เดี๋ยวนี้ความสงบสุขในหมู่มนุษย์นี้ก็หายไป เพราะว่าคนในโลกนี้ได้ทำลายทรัพย์สมบัติของบรรพบุรุษในความหมายนี้เสีย ถ้าอย่างไรเราก็จะช่วยกันรักษาทรัพย์สมบัติของมารดาบิดาปู่ย่าตายายไว้ด้วยความเป็นคนมีจิตใจสะอาด สว่าง สงบ เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสิ่งที่ควรช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และก็ประการสุดท้าย ท่านตายแล้วเราจะทำบุญอุทิศให้ ข้อนี้หมายความว่า เมื่อท่านตายแล้ว แม้ว่าท่านตายแล้วก็ยังแนะวิธีที่ให้ลูกหลานได้เป็นมนุษย์ ยังมีหลักเกณฑ์ทิ้งไว้ให้ว่า ให้ทำบุญอุทิศให้กับบรรพบุรุษเถิด แล้วมีจิตใจ มีความกตัญญูกตเวที เชื่อฟังคำสั่งสอน เมื่อทำอยู่อย่างนี้ ก็ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ก็ยังเป็นมนุษย์ต่อไปได้ ตายไปแล้วก็ยังบอกหนทางเอาไว้ให้ เพื่อลูกหลานจะได้เป็นมนุษย์ต่อไป
เพราะฉะนั้นการที่เราได้มาทำบุญในวันนี้ ขอให้ทำบุญเพื่อจะได้ทำตามหน้าที่ ๕ อย่าง ดังที่อาตมาได้กล่าวแล้ว ก็คือ ๑ บิดามารดาปู่ย่าตายายเลี้ยงดูเราแล้ว เราจักเลี้ยงดูตอบ ได้ประโยชน์ทั้งตัวเราเอง ได้ประโยชน์ทั้งปู่ย่าตายาย ได้ประโยชน์ทั้งโลก แล้วเราจักทำกิจของมนุษย์แทนท่านต่อไป แม้ว่าท่านตายไปแล้ว ลูกหลานก็ต้องสืบกิจหน้าที่อันนี้ต่อไป อย่าได้ว่างเว้น แล้วก็เราจักดำรงวงศ์สกุลของมนุษย์แทนปู่ย่าตายายต่อไป พูดง่ายๆว่า ดำรงวงศ์สกุลแทนพระพุทธเจ้า สืบ ดำรงวงศ์สกุลของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นอริยวงศ์ เป็น คนเรานี่เกิด ๒ ครั้ง ครั้งแรกนั้นเกิดจากท้องแม่ ครั้งที่ ๒ นี้เรียกว่าเกิดในอุภโตสุชาตินั้นเกิด ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๒ นี้เกิดในอริยชาติ ชาติ อริยะ นี้ก็คือการที่เป็นคนมีความสะอาด สว่าง สงบในทางจิตใจ ชาตินี้พระพุทธเจ้าเป็น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นพี่ ให้เราสืบสกุลของมนุษยชาตินี้ต่อไป ถ้าพูดถึงมนุษย์ต้องพูดเรื่องจิตใจ ถ้าพูดแค่ร่างกายนั้นก็เป็นเรื่องของสัตว์เดรัจฉานหรือคนธรรมดา และก็เราก็จะได้รักษาทรัพย์สมบัติ
ประเพณีทำบุญส่งตายายนี้ก็เป็นทรัพย์สมบัติ เป็นประเพณีอันหนึ่งที่บรรพบุรุษได้ทำมา เราก็สืบต่อไป ก็ถือว่าเป็นทรัพย์สมบัติอันหนึ่ง วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามทั้งหลายก็เป็นทรัพย์สมบัติที่เราจะต้องสืบต่อไป อย่าให้ทิ้งระยะเสีย หรือว่าอย่าให้มันหมดเป็นเสีย แล้วเราก็ได้ทำบุญอุทิศให้มารดาบิดา ปู่ย่าตายายที่ล่วงลับไปแล้วนั้น ก็เรียกว่าได้ไปทำบุญอันมหาศาล เมื่อได้ทำบุญดังนี้แล้วก็มีปิติ มีปราโมทย์ มีจิตใจประกอบด้วยความอิ่มใจปิติปราโมทย์ทั้งวันทั้งคืน เมื่อจิตใจมีปิติปราโมทย์ก็มีความสุข เมื่อมีความสุขมีความสงบจิตใจสงบมีความสุขก็มีสมาธิ จิตใจแน่วแน่ จะเอาไปคิดนึกพิจารณาดูอะไรก็เห็นตามที่เป็นจริงเรียกว่า มีปัญญา เพราะฉะนั้นการทำบุญนี้ก็นำมาซึ่งปิติปราโมทย์ ทำให้เกิดสติปัญญาต่อไปในการดำเนินชีวิต คิดนึกพิจารณาใคร่ครวญ เช่นว่ากลับไปก็ไปพิจารณาเห็น เมื่อจิตเป็นสมาธิก็เห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงมันเกิดขึ้นแล้วมันก็แปรเปลี่ยนไป ไม่เที่ยง มันคงตัวอยู่ไม่ได้ มันจึงดูน่าเกลียด ไม่ใช่ของน่ารักน่าหลงใหล เขาเรียกว่ามันเป็นทุกข์ ก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นการ เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลม ไม่ใช่ตัวเราที่สวยหรือไม่สวย ไม่ใช่ตัวเราที่จนหรือรวย ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ ก็เลยไม่ต้องมีความทุกข์ ไม่ต้องมีความห่วงกังวลอาลัยอาวรณ์ในทรัพย์สมบัติ ในข้าวของ ลาภ ยศ ชื่อเสียง อะไรทั้งหลายนี้ จิตใจก็เป็นอิสระ อยู่เหนือความทุกข์ มีความสุขมีความสงบ
อานิสงส์อันเกิดจากการทำบุญอุทิศให้กับบรรพบุรุษ ก็เรียกว่า ข้างในนั้นมีจิตใจสงบเย็น แล้วข้างนอกก็มีหน้าที่การงานที่เราจะต้องทำ คนเรามี ๒ เรื่องเท่านี้ คือเรื่องการงานหน้าที่ข้างนอกที่จะต้องทำให้ถูกต้อง กับจิตใจข้างในนั้น ระมัดระวังอย่าให้หลงดีใจไปกับสิ่งที่มายั่วให้เราดีใจ หลงเสียใจไปกับสิ่งที่มายั่วยุให้เราเสียใจ รักษาจิตให้อยู่ในแนวปกติอยู่เสมอ มีอะไรพลัดพรากจากกันก็ให้เห็นว่ามันเป็นธรรมดา แก้ไขกันไป ไม่ต้องถึงกับร้องไห้ ตีโพยตีพาย อย่างนี้เขาเรียกว่าไม่ใช่พุทธบริษัท มีอะไรที่มาทำให้เราพอใจก็ไม่ต้องลิงโลดดีใจ จนกระทั่งว่าทำอะไรที่เสียหายผิดความเป็นมนุษย์ ก็จะรักษาจิตให้ปกติ แล้วก็ทำหน้าที่ประกอบอาชีพทำมาหากิน สงเคราะห์เพื่อนฝูงญาติมิตรที่ควรสงเคราะห์ไปตามหน้าที่ ก็เรียกว่าได้สิ่งที่ดีที่สุดในการที่เราได้เกิดมา ก็เป็นการแก้ที่ต้นเหตุ หมายความว่า ต้นเหตุแห่งจิตใจแห่งความทุกข์นั้นอยู่ที่จิต รักษาจิตอย่าให้หวั่นไหวไปทั้งสิ่งที่มายั่วให้เราพอใจ อย่าหวั่นไหวไปทั้งสิ่งที่มายั่วให้เราเสียใจ เวลาสมหวังก็ไม่ต้องดีใจจนกระทั่งว่าตื่นเต้นลิงโลดจนเกินกว่าเหตุ เวลาที่ผิดหวังก็ไม่ต้องร้องไห้จนเกินกว่าเหตุ รักษาจิตให้ปกติ นี่เป็นการแก้ที่เหตุ เป็นการตอบแทนคุณมารดาบิดาปู่ย่าตายายในภายใน ส่วนหน้าที่การงานที่เราต้องทำนั้นก็ต้องทำให้ถูกต้อง มีบุคคลใดบ้างที่เราจะต้องตอบแทนบุญคุณ เราเป็นคนดีของบิดามารดา เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เป็นเพื่อนบ้านที่ดีของเพื่อน แล้วก็เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ เป็นสาวกที่ดีของพระพุทธเจ้า ก็เรียกว่าได้ทำหน้าที่ถูกต้อง ได้รับประโยชน์อานิสงส์ในการมาทำบุญในวันนี้ แล้วก็ให้รักษาเป็นประเพณีสืบต่อไป แม้นที่เราต่อไปนี้จะได้ บังสุกุล พระสวดมาติกาอุทิศให้กับกระดูกของบรรพบุรุษอะไรก็ตาม ก็มีความหมายว่า เราจะทำอุทิศให้ถูกใจท่าน คือเป็นคนดีมีศีลธรรม ขอให้วิญญาณของท่านได้ไปเกิด ได้มาเกิดไม่ใช่ไปเกิด ขอให้วิญญาณได้มาเกิดในตัวเรานี้เอง ก็เรียกว่าเป็นกตัญญูกตเวที เป็นผู้ตอบแทนคุณแก่บุพการีที่ได้ทำแก่เราก่อน ถูกต้องทุกประการ
อาตมาเห็นว่าได้แสดงพระธรรมเทศนามาพอสมควรแล้ว ก็ขอยุติไว้ หวังว่าท่านทั้งหลายผู้เป็นทั้ง ฝ่ายลูกหลานและเป็นทั้งฝ่ายปู่ย่าตายายก็จะได้ทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง ปู่ย่าตายายก็ต้องเป็นผู้ที่มีเมตตา เอื้อเฟื้อ สงเคราะห์ลูกหลาน ลูกหลานก็ต้องเป็นฝ่ายที่มีความเคารพ มีความกตัญญูกตเวทีในปู่ย่าตายาย ทั้ง ๒ อย่างนี้ต้องไปด้วยกัน แยกจากกันไม่ได้ แล้วโลกนี้ก็จะเป็นโลกที่น่าอยู่ มีทุกคนได้สันติสุข โลกนี้ก็มีสันติภาพเป็นแน่นอน ขอยุติพระธรรมเทศนาไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
(เสียงพูดของชายคนหนึ่ง) ตอนสำคัญญาติโยมก็อาศัยอยู่จนกระทั่งเรียกว่าจบรายการ เรียกมา เรียกว่า มาติกาบังสุกุล ความจริงไม่ใช่ว่าพระจะเป็นผู้พิจารณาอย่างเดียว ญาติโยมทุกคนจะต้องพิจารณาด้วย จึงจะขอพระคาถาแก่พระว่านั้น ดีมาก อนิจจาวะตะ สังขารา อุปปาทะวะยะธัมมิโน อุปปะชิตะวา นิรุชฌันติ เตสัง วูปะสะโม สุโข แปลว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีการเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา การระงับสังขารที่มีการเกิดขึ้นและเสื่อมไปเสียได้เป็นความสุข อันนี้ยังมีการเข้าใจผิดมาก บางคนคิดว่าพอตายแล้วจะได้มีความสุข ก็ไม่ต้องการพันนั้น ก็ต้องการว่าให้เราดับสังขารที่มัน กับความรู้สึกที่มันปรุงอยู่ข้างใน คนเราเป็นทุกข์เพราะว่ามันปรุง เราคิดผิด เข้าใจผิด ที่มันถึงมีความทุกข์ เพราะนั้นพยายามที่เรียกว่าทำให้เกิดปัญญา มองให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ความปรุงแต่งในทางใดนี่มันหยุดเสียได้ เมื่อนั้นก็มีความสุข ไม่ต้องตาย มีความสุขยังเป็นๆ นี้ ..ถึงหรือยังนี่ อะไร ไหว้อีกทีไหว้พระใหม่อีกทีก็ได้ ไหว้พระใหม่อาราธนาธรรมที