แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เป็นวันปุรณมี ดีถีเป็นที่เต็มแห่งพระจันทร์อาสาฬหมาศ เป็นวันที่พุทธบริษัทพร้อมใจกันกระทำบูชา ซึ่งเรียกว่าอาสาฬหบูชา ดังที่ท่านทั้งหลายมาชุมนุมกันอยู่ ณ ที่นี้ เพื่อทำการบูชานั้น แต่ว่าก่อนแต่ที่จะทำการบูชา ควรจะได้ทำความเข้าใจกันให้เป็นที่ประจักษ์ว่าการทำอาสาฬหบูชานี้ มีความหมายเป็นอย่างไร จะต้องกระทำในใจอย่างไรดังนี้เป็นต้น จึงจะได้ผลสมบูรณ์ ดังนั้นธรรมเทศนาในโอกาสนี้ จะได้กล่าวถึงสิ่งที่ท่านทั้งหลาย ควรจะได้ทราบ ก่อนการทำอาสาฬหบูชา ข้อแรกที่สุด ก็ควรจะนึกถึงว่าวันอาสาฬหบูชานี้เป็นวันอะไรหรือมีความสำคัญอย่างไร ใจความสำคัญของวันนี้้ ก็คือเป็นวันพระธรรมหรือเป็นวันของพระศาสนา เพราะเหตุใดจึงกล่าวดังนี้ ถ้าท่านทั้งหลายจะพิจารณาดูให้ดี ก็พอจะเห็นได้ด้วยตัวเอง โดยเปรียบเทียบกันกับวันอีกสองวันคือ วันวิสาขบูชาและวันมาฆบูชา ถ้าเราจะตั้งต้นด้วยวันวิสาขบูชาคือวันเพ็ญในเดือนพฤษภาคม เราก็จะหมายถึงวันที่สองคือวันอาสาฬหบูชา วันเพ็ญในเดือนกรกฎาคม แล้วจึงมาถึงวันมาฆบูชาคือวันเพ็ญในเดือนกุมภาพันธ์เป็นลำดับกันอยู่ดังนี้ วันเพ็ญในเดือนพฤษภาคมเป็นวันที่กำหนดไว้ว่าเป็นวันที่ประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน เหตุการณ์ทั้งสามนั้นเกี่ยวกับพระพุทธองค์โดยเฉพาะ ดังนั้นเราจึงถือว่าวันวิสาขบูชานั้น เป็นวันพระพุทธเจ้า เป็นวันเพื่ออุทิศแก่พระพุทธเจ้าหรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นวันของพระพุทธเจ้า ก็มีเหตุการณ์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าโดยตรง ครั้นล่วงมาถึงวันนี้คือวันเพ็ญอาสาฬหะ นี้เป็นวันพระธรรมเป็นลำดับมา เพราะเหตุว่าวันนี้้เป็นวันที่พระองค์ทรงแสดงธรรม ประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรก ธรรมะหรือพระพุทธศาสนาได้ถูกประกาศออกมาหรือเผยแพร่ออกไปก็ตามเป็นวันแรก ถือได้ว่าเป็นวันที่พระธรรมปรากฏแก่โลกเป็นวันแรก จึงให้ถือเอาวันนี้เป็นวันพระธรรม ส่วนวันเพ็ญในเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นวันมาฆบูชานั้น เป็นวันที่พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป ประชุมกันประกาศความเป็นปึกแผ่นแห่งพระศาสนามีพระพุทธองค์เป็นประธาน เป็นการย้ำถึงความที่พระสงฆ์ได้ตั้งลง คณะสงฆ์ได้ตั้งลงอย่างมั่นคงหรือมั่งคั่ง ๑,๒๕๐ องค์ ประชุมกันเป็นที่น่าอัศจรรย์ จึงถือว่าเป็นวันพระสงฆ์ เราจึงได้วันครบทั้ง ๓ วัน คือวันวิสาขบูชาเป็นวันพระพุทธเจ้า วันอาสาฬหบูชาเป็นวันพระธรรม และวันมาฆบูชาเป็นวันพระสงฆ์ ในรอบปีก็มีอยู่ ๓ วันดังนี้ บัดนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา ซึ่งเรียกว่าเป็นวันพระธรรมนั้น มีความสำคัญตรงที่ว่าพระธรรมได้ปรากฏเป็นครั้งแรกขึ้นมาในโลก หรือว่าแสงสว่างได้ลุกโพลงขึ้นในโลกแก่สัตว์โลก ตามที่เราทราบกันเรามักจะถือว่า การแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้แสดงแก่ปัญจวัคคีย์ คือภิกษุ ๕ รูปที่คอยเฝ้าปรนนิบัติพระองค์ แต่ในหินสลักชั้นเก่าที่ประเทศอินเดียไม่ถือเอาภิกษุ ๕ รูปนั้นเป็นสำคัญ แต่ถือเอาหมู่ชนเป็นอันมาก มีลักษณะเป็นเทวดาทั้งนั้นเป็นผู้รับธรรมเทศนาเป็นสำคัญยิ่งกว่าปัจจวัคคีย์ ๕ รูปนั้น ข้อนี้จะเป็นอย่างไรจะไม่ต้องวินิจฉัยก็ได้ แต่ให้ถือเอาใจความสำคัญให้ได้สักอย่างหนึ่งว่า พระองค์เป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ ในบทว่า สัตถา เทวะมะนุสสานัง เป็นครูผู้สั่งสอน ทั้งของเทวดาและมนุษย์ดังนี้ การแสดงธรรมจักแก่เทวดา ก็เป็นอันว่าเป็นการแสดงแก่บุคคลหรือสัตว์ในชั้นสูงสุด การแสดงแก่มนุษย์ทั่วไปก็รวมอยู่ในการแสดงนั้นแล้ว จึงถือว่าเป็นครูทั้งของเทวดาและมนุษย์ มาแล้วตั้งแต่วันที่ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น ท่านทั้งหลายจะดูได้จากหินสลักแผ่นนั้นซึ่งมีปรากฏอยู่ที่ติดไว้ ที่โรงธรรมสภา ให้ถือว่าวันนี้้เป็นวันพระธรรมเพราะเหตุว่าพระธรรมปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งเทวดาและมนุษย์ด้วยประการฉะนี้ บัดนี้เราทั้งหลายประชุมกันเป็นที่ระลึกแก่พระธรรม เป็นการบูชาแก่พระธรรมหรือทำทุกๆ อย่างเพื่ออุทิศแก่พระธรรม เราควรจะเข้าใจคำว่า “ธรรม” หรือ “พระธรรม” นี้ ให้ครบถ้วนบริบูรณ์ ข้อนี้มีความสำคัญอยู่เป็นชั้นๆ คือถ้าพูดอย่างชั้นต่ำๆ ตามภาษาคนธรรมดาก็จะพูดว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้แยกกัน จนวันนี้เป็นวันของพระธรรมโดยเฉพาะ แต่ถ้าพูดอย่างแท้จริงคือเอาใจความหรือแก่นสารเป็นสำคัญแล้ว พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เป็นอันเดียวกัน เพราะว่ามีความสำคัญอยู่ตรงที่ธรรมนั่นเอง พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าก็เพราะพระธรรม พระธรรมเป็นพระธรรมก็คือเพราะคุณสมบัติของพระธรรมเอง พระสงฆ์เป็นพระสงฆ์ขึ้นมาได้ก็เพราะมีธรรม รวมความว่าธรรมชาติที่เรียกว่าธรรมสิ่งเดียวนั่นแหละทำให้เกิดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขึ้นมาในโลกนี้ ด้วยเหตุนี้ท่านทั้งหลายควรจะเพ่งเล็ง ถึงตัวสิ่งเรียกว่าธรรมนั้นกันให้มากเป็นพิเศษ จึงจะเข้าใจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้ดี ควรมีความเห็นสืบไปเป็นลำดับว่า ที่เราบูชาในวันนี้ นับว่าต้องมองเห็นธรรมเสียก่อนแล้วจึงจะทำการบูชาได้แท้จริง ไม่ใช่เพียงแต่จุดธูปจุดเทียนกล่าวคำบูชาหรือเดินเวียนประทักษิณแล้วก็จะเป็นการบูชาที่สมบูรณ์ ต้องมีใจเห็นธรรมแล้วจึงจะทำการบูชาจึงจะถูกธรรมมิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นเพียงท่าทางเหมือนกับแสดงละครประหลาดๆ อะไรอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ผู้ที่จะทำอาสาฬหบูชาทุกคนจงได้ตั้งอกตั้งใจจะทำในใจให้แยบคายให้มองเห็นว่าที่ทำอาสาฬหบูชานี้ต้องมีธรรมะอยู่ในใจ เห็นธรรมอยู่ในใจแล้วจึงจะทำการบูชาได้ ทำการบูชาให้ครบทั้ง ๓ ประการ คือการบูชาด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ การบูชาด้วยกาย เช่น เอาดอกไม้มาหรือเดินเวียนประทักษิณ ๓ รอบ ปูชนียวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่างนี้เรียกว่าบูชาด้วยกาย ท่านทั้งหลายก็เข้าใจได้ เพราะว่ากระทำด้วยกาย บูชาด้วยวาจานั้น เรากล่าวประกาศพระคุณ ของพระธรรมออกมาบรรยายด้วยวาจา พรรณนาด้วยวาจา พร่ำพูดด้วยวาจา อย่างนี้เรียกว่าเป็นการบูชาด้วยวาจา ส่วนบูชาด้วยใจนั้น คือการระลึกถึงอยู่เป็นอย่างน้อยว่า พระธรรมนั้นเป็นอย่างไร หรือพระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์ก็ตามเป็นอย่างไร ถ้าให้ดีกว่านั้น ก็ต้องทำให้มีธรรมะอยู่ในใจในขณะนั้น ธรรมะทั้งหลายสำเร็จอยู่ที่ใจความสำคัญสั้นๆ คือความสะอาด สว่าง สงบ เมื่อท่านทั้งหลาย มีใจสะอาด สว่าง สงบ ก็ย่อมรู้สึกต่อรสของธรรม เหมือนกับเป็นการเห็นธรรมด้วยใจ พอใจในธรรมนั้น แล้วก็รู้สึกเคารพต่อพระธรรมนั้นด้วย อย่างนี้เรียกว่าบูชาด้วยใจซึ่งเราจะต้องกระทำในขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง ท่านทั้งหลายจงเตรียมใจเพื่อกระทำมโนกรรมอันนี้ ในขณะแห่งการทำอาสาฬหบูชา เมื่อทำการบูชาครบทั้งกาย วาจา และใจแล้ว ก็เป็นการบูชาที่แท้จริงและมีความหมายอยู่ที่ธรรม ซึ่งเป็นตัวจริง เราควรจะเข้าใจคำว่า “ธรรม” ที่เป็นตัวจริงนั้นสืบไปอีก คือเข้าใจว่าแม้เราจะพูดถึงพระพุทธเจ้า เราก็ต้องรู้ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์จริงนั้นคือธรรมเนื้อหนังร่างกายของพระองค์ยังหาใช่พระองค์ไม่พระองค์จึงได้ตรัสว่า โยธัมมังปัสสติ โสมังปัสสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ตถาคต ผู้ใดไม่เห็นธรรม ผู้นั้นไม่เห็นเรา ตถาคต แม้ว่าผู้นั้นจะจับมุมจีวรของเราตถาคต ถืออยู่แล้วก็ตาม ดังนี้เป็นต้น ท่านลองคิดดูว่าพระพุทธองค์ตรัสว่า แม้ว่าใครสักคนหนึ่งจะจับมุมจีวรของพระองค์ไว้มองดูพระองค์อยู่ ก็ยังไม่ชื่อว่าเห็นพระองค์ ถ้าหากว่าเขาไม่เห็นธรรม ต่อเมื่อใดเขาเห็นธรรม เมื่อนั้นจึงจะชื่อว่าเห็นพระพุทธองค์ ไม่จำเป็นจะต้องเห็นพระกายของพระองค์ ด้วยเหตุนี้แลจึงเป็นผลดีแก่เราทั้งหลายทุกคน ในปัจจุบันนี้ซึ่งเวลาล่วงมาถึง ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้วที่เรายังอาจจะเห็นพระองค์ได้โดยเห็นธรรมซึ่งเป็นตัวพระองค์แท้
คนในครั้งพุทธกาลเสียอีกจำนวนมากจำนวนหนึ่งไม่เห็นพระพุทธองค์ ทั้งที่เดินสวนทางกันแล้วก็ยังด่าพระองค์ด้วย คนจำนวนมากในเมืองราชคฤห์ ด่าพระพุทธองค์ว่า ไอ้คนทำให้คนเป็นหม้าย โดยหาว่าพระพุทธองค์ทำให้คนออกบวช ทิ้งให้คนที่อยู่ข้างหลังที่บ้านที่เรือนนั้นกลายเป็นหม้าย อย่างนี้ก็มีมากทั่วไปในเมือง ราชคฤห์ นั่นแหละลองพิจารณาดูเถิดว่า ไม่ใช่ว่าเกิดในอินเดียในครั้งพระพุทธกาลและเห็นพระองค์อยู่ตำตาอย่างนี้จะเรียกว่าเห็นพระองค์ ก็หามิได้ คนเหล่านั้นไม่รู้ว่าพระองค์เป็นอะไร เป็นอย่างไร แถมกลับไปด่าอย่างนั้นอย่างนี้ หลายครั้งหลายหนที่พระพุทธองค์ถูกเขาด่า และนับจำนวนแล้วก็คงจะมากจนนับไม่ไหวด้วยเหมือนกัน คนเหล่านี้เห็นธรรมหรือไม่เห็นธรรม ลองคิดดู คนเหล่านี้เห็นพระพุทธองค์หรือไม่เห็นพระพุทธองค์ ก็ลองคิดดูอีก ถ้าเห็นพระพุทธองค์คงจะไม่ด่าเป็นแน่แต่ก็มีคนจำนวนมากจำนวนหนึ่งด่าพระพุทธองค์ก็เป็นอันว่าพระพุทธองค์ไม่ได้มีอยู่เลย สำหรับบุคคลประเภทนั้น นี้คือโทษของการที่ไม่เห็นธรรม จึงไม่เห็นพระพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสยืนยันเสมอว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ดังนี้ นี้เป็นเหตุให้เราเชื่อได้ว่าพระองค์จริงนั้นคือธรรม ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่ร่างกายของพระองค์จะเป็นธรรมหรือจะเป็นพระองค์จริงๆ พระองค์จริงๆ คือธรรม ส่วนร่ายกายนั้นเป็นเพียงวัตถุหรืออะไรอย่างหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนของพระองค์ สำหรับรับสักการะทั้งหลาย เมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนมายุอยู่ครั้งกระโน้น ร่างกายของพระองค์นั่นแหละ เป็นตัวแทนของพระองค์ ฟังดูให้ดีๆไม่น่าจะพูดอย่างนี้ ว่าองค์พระพุทธองค์จริงๆนั่นแหละเป็นตัวแทนของพระองค์ เพราะพระองค์คำแรกหมายถึงร่างกาย พระองค์คำหลังหมายถึงตัวจริงคือพระพุทธองค์จริงๆ คือตัวธรรม ร่างกายของพระองค์ตั้งอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของพระองค์เพื่อรับสักการะ เป็นต้น ของชนทั้งหลายคือคนที่เห็นธรรมเมื่อต้องการจะบูชาก็บูชาที่ร่างกายพระองค์ เมื่อต้องการจะถวายข้าวปลาอาหารเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ก็ถวายแด่พระองค์ในฐานะที่เป็นร่างกาย จึงได้กล่าวว่าเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่นั้น พระวรกายของพระองค์เป็นตัวแทนของพระองค์ สำหรับรับเครื่องสักการบูชาทั้งหลาย เป็นต้น ครั้นพระองค์ปรินิพพานไป พระสารีริกธาตุต่างๆ ที่จำแนกไปในถิ่นต่างๆ นั้น ตั้งอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของพระองค์เราจึงบูชาพระสารีริกธาตุของพระองค์และยังมีสิ่งอื่นๆ อีก เช่น สถานที่อันจะทำให้เกิดความรำลึกถึงพระองค์อย่างยิ่ง เช่นที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานเป็นต้นนั้น ก็ตั้งอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของพระองค์ได้ สำหรับรับเครื่องสักการะบูชาและเพื่อความสะดวกยิ่งขึ้นไปอีกคนในชั้นหลังได้ประดิษฐ์พระพุทธรูปขึ้นมาสำหรับเป็นตัวแทนของพระองค์ เพื่อรับเครื่องสักการะบูชา นับว่าเป็นความสะดวกอย่างยิ่งเพราะอาจจะมีได้ทั่วไป ในที่ทุกหนทุกแห่งตามสถานบ้านเรือน เป็นต้น นี้เราควรดูให้ดีๆ ว่าอะไรเป็นพระองค์จริง อะไรเป็นตัวแทนของพระองค์คิดดูให้ดีเถิด ธรรมะเท่านั้นเป็นตัวพระองค์จริง จะร่างกายของพระองค์ก็ตาม พระสารีริกธาตุก็ตาม พระพุทธรูปเป็นต้นก็ตาม นั้นเป็นแต่วัตถุุตัวแทนพระองค์จริง สำหรับรับเครื่องสักการะบูชา ซึ่งมีผู้ถวายในนามของพระองค์ เราจึงรู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าอะไรเป็นเนื้อใน อะไรเป็นเปลือกนอก หรือเป็นภาชนะข้างนอกให้ถูกต้องเสียก่อน เราจึงจะรู้ว่าอะไรคือพระองค์จริง แต่ในที่สุดเราก็เห็นได้ว่าพระองค์จริงนั้นก็คือตัวธรรม ที่มีอยู่ในพระหฤทัยของพระองค์ ร่างกายเป็นวัตถุจึงถือว่าเป็นตัวแทนของพระองค์ แต่แม้จิตใจของพระองค์ก็ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งลึกเข้าไปอีก ยังไม่ใช่พระองค์ที่แท้จริง ต้องเล็งถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งมีอยู่ในจิตใจของพระองค์ ในเมื่อกล่าวโดยสมมติโวหารก็คือความรู้สึก ที่เป็นธรรมต่างๆ ซึ่งมีอยู่ในจิตใจของพระองค์ สรุปแล้วก็คือความบริสุทธิ์ สะอาด อย่างหนึ่งความรู้แจ่มแจ้งนี้อย่างหนึ่งและความสงบสุขนี้อย่างหนึ่ง เราเรียกกันว่า พระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระสันติคุณ พระพุทธองค์มีความบริสุทธิ์ถึงที่สุด ไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองแม้แต่ประการใด นี้เราเรียกว่าความสะอาด หรือภาวะแห่งวิสุทธิคุณที่มีอยู่ในพระองค์ พระองค์ตรัสรู้ซึ่งญายธรรมทั้งปวงเป็นความรู้ทุกสิ่ง ที่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์นี้เราเรียกว่าสว่าง ความสว่าง หรือภาวะแห่งปัญญาคุณ ซึ่งมีอยู่ในพระหฤทัยของพระองค์ พระองค์ปราศจากความทุกข์โดยประการทั้งปวง เราจึงเรียกว่าความสงบหรือภาวะแห่งสันติคุณที่มีอยู่ในพระองค์ดังนี้ ภาวะแห่งสันติคุณ ปัญญาคุณ บริสุทธิคุณ ๓ อย่างนี้เป็นอันเดียวกันได้อีก ก็เพราะสะอาดจึงสว่าง เพราะสว่างจึงสะอาด เพราะสะอาดจึงสงบ แล้วแต่จะพูดทำนองไหนก็ได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น สิ่งทั้ง ๓ นั้น จึงเหลืออยู่แต่เพียงคำๆ เดียวว่า ธรรม หรือจะเรียกว่าพระธรรมก็สุดแท้ ที่มีอยู่ในพระองค์นั่นแหละคือพระองค์จริง จึงเรียกว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ดังนี้ เมื่อเราจะทำอาสาฬหบูชาในวันนี้เราก็ควรจะระลึกนึกถึงสิ่งซึ่งเป็นพระองค์จริงกันเสียก่อน คือสิ่งที่เรียกว่าธรรมนั่นเอง เมื่อเรารู้จักพระองค์จริงแล้ว เราก็จะรู้ว่าธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนแก่สัตว์ทั้งหลายนั้นคืออะไร วันอาสาฬหบูชาคือวันนี้นั้นเป็นวันที่ประกาศธรรมะออกไปแล้วได้ยินแต่ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร บางคนก็ท่องได้เป็นประโยคๆ ไป อย่างนกแก้วนกขุนทองไม่รู้ ถึงตัวธรรมแท้ แม้ว่าบางคนจะเข้าใจคิดเห็นได้โดยเหตุผลว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นแน่ อย่างนี้ก็ยังไม่ถึงตัวธรรมเว้นไว้แต่ว่าจิตใจของเขา จะเห็นแจ่มแจ้งถึงขนาดพอใจแล้วมีความสะอาด สว่าง สงบในขณะนั้น จึงจะเรียกว่าเห็นตัวธรรมในขณะนั้นๆ ดังนั้นจึงขอรบเร้าวิงวอนให้ท่านทั้งหลาย มีจิตใจเป็นความสะอาด สว่างสงบ ตามมากตามน้อยตามที่ท่านจะกระทำได้ในวันนี้ในที่นี้ในโอกาสนี้ เพื่อทำอาสาฬหบูชานั่นเอง
คำว่า “ธรรม” มีความหมายอันลึกซึ้งเช่นนี้ ถ้าจะพิจารณากันต่อไปอีก เราก็จะยิ่งเห็นความประหลาด ความน่าอัศจรรย์ของสิ่งที่เรียกว่าธรรมยิ่งขึ้นไปอีก นี้ก็คือการพิจารณาถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรม ออกมาถึงภายนอกคือในแง่ของภาษาที่พูดกันก่อน แม้ว่าจะไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมะที่มีอยู่ในใจหรือเป็นหัวใจของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ก็เป็นเรื่องที่จะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งเรียกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้มากยิ่งขึ้นไปนั่นเอง ดังนั้นเราจึงควรจะได้พิจารณากันถึงคำว่า “ธรรม” นี้ในแง่ของภาษากันดูบ้าง คำว่า “ธรรม” เป็นภาษาไทยมาจากคำภาษาบาลีว่า “ธมฺม” หรือมาจากคำภาษาสันสกฤตว่า “ธรฺม” ก็ตาม เป็นคำเดียวกัน เป็นคำที่ประหลาดที่สุดในโลก ท่านคงจะคิดงงๆ ไป รู้สึกงงๆ ไปว่าทำไมจึงต้องเป็นธรรมประหลาดที่สุดในโลก เพราะว่าเราก็ท่องกันอยู่ทุกวัน เป็นประจำวันจนเคยชิน จนกระทั่งบางคนไม่ได้สนใจอะไรไปแล้วก็มี มันมีความประหลาดที่ตรงไหน การที่มีความเคยชินมากถึงขนาดไม่เห็นความประหลาดอันนี้ มันเป็นเรื่องของคนเหล่านั้นเป็นคนๆ ไป จะเอามาใช้กับคนทุกคนไม่ได้ คนที่มีสติปัญญาย่อมจะพิจารณาอยู่เสมอ ย่อมจะศึกษาอยู่เสมอ ไม่ถือเสียว่าเราเข้าใจแล้ว ความเข้าใจของเราถึงที่สุดแล้ว เพราะการทำเช่นนั้นเป็นความประมาท เป็นการอวดดี ในที่สุดก็จะเหินห่างจากธรรม เพราะว่าความประมาทนั้นย่อมปิดบังธรรม เราจงเป็นคนไม่ประมาท พยายามที่จะทำความเข้าใจในสิ่งที่เรียกว่าธรรม กันให้ทุกแง่ทุกมุม ในแง่ของภาษาที่ว่าเป็นธรรมที่ประหลาดที่สุดนั้น เพราะว่าคำๆ นี้ไม่อาจจะแปลเป็นภาษาอื่นได้นอกจากภาษาที่มีอยู่ก่อนแล้ว เช่น ภาษาบาลี เป็นต้น เพราะเหตุใด เพราะเหตุที่ว่าคำๆ นี้มันหมายถึงสิ่งทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไรเลยดังจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้าให้เห็นชัดเจน คำว่า “ธรรม” ในภาษาบาลีนั้นหมายถึงสิ่งทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไรเลย พอถึงคราวที่ต้องแปลเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ เป็นต้น ก็เลยไม่รู้ว่าจะแปลว่าอะไร มีคำพูดในภาษาอังกฤษเป็นต้น คำไหนที่จะใช้หมายถึงสิ่งทุกสิ่งได้ เหมือนกับคำว่าธรรมในภาษาบาลี ในภาษาจีนภาษาอื่นๆ ต่อไปอีก ก็ไม่มีทางที่จะทำได้ ส่วนในภาษาไทยเรานั้น ดูจะเป็นโชคดีที่คนทีแรกเค้าไม่แปลคำๆ นี้ออกมาเป็นภาษาไทย เขาใช้คำว่า “ธรรม” ไปตามเดิมเราจึงมีคำว่าธรรมใช้ในภาษาบาลี สะดวกอย่างยิ่งที่จะพูดจะคิดจะทำเกี่ยวกับคำๆ นี้ ดังนั้นควรจะขอบใจบรรพบุรุษของเรา ที่รู้จักใช้คำๆ นี้โดยไม่ต้องแปล ออกมาเป็นภาษาไทยแล้วก็น่าสงสารพวกฝรั่งเป็นต้น ที่พยายามจะแปลคำๆ นี้เป็นภาษาของตนๆ แปลออกมาอย่างนั้นแปลออกมาอย่างนี้แปลออกมาอย่างโน้นตั้งยี่สิบสามสิบคำแล้วก็ยังไม่พอ ในที่สุดก็จนปัญญาแปลไม่ได้ จึงรับเอาคำว่า “ธรรม” เข้าไปใช้ในภาษาของตนมากขึ้นทุกที จนไม่เท่าไรคำว่า “ธรรม” นี้ ก็จะมีอยู่ในปทานุกรมของชาวต่างประเทศเหล่านั้น เหมือนกับที่มีอยู่ในภาษาไทยเป็นแน่นอน เพราะเหตุที่ว่าคำๆ นี้ มันแปลเป็นภาษาอะไรไม่ได้ นอกจากเป็นภาษาเดิมของคำๆ นี้เอง นี้ก็เป็นอาการที่ควรจะเห็นควรว่าน่าประหลาด เมื่อเห็นความประหลาดอันนี้ ก็จะเห็นความศักดิ์สิทธิ์ของคำๆ นี้ เมื่อเห็นความศักดิ์สิทธิ์อันนี้ก็คงจะสนใจพอใจในสิ่งที่เรียกว่าธรรมนั้นมากขึ้นบ้างเป็นแน่นอน หรือว่าจะมากถึงที่สุดให้สมกับที่คำๆ นี้เป็นคำประหลาดที่สุดก็จะเป็นการดี ทีนี้เราจะได้กล่าวถึงข้อที่ว่า ธรรมะคือทุกสิ่งนี้อย่างไรกันต่อไป เพราะว่าธรรมในภาษาบาลีนั้นเมื่อเอามาจับกันเข้ากับสิ่งที่มนุษย์รู้ได้หรืออาจจะรู้ได้แล้ว เราอาจจะจำแนกออกไปได้ดังต่อไปนี้คือ คำว่า “ธรรม” หมายถึงสิ่งทุกสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์หรือไม่มีปรากฏการณ์ก็ตามที่มีอยู่ตามธรรมชาติในโลกนี้ ในภาษาไทยเราเรียกว่าธรรมชาติ คือธรรมชาติทุกสิ่งที่มนุษย์รู้จักหรือแม้ที่ไม่รู้จักรวมเรียกสั้นๆ คำเดียวว่าธรรม จะเป็นฝ่ายวัตถุธรรมที่มีรูปร่างก็เรียกว่าธรรม เป็นนามธรรมคือไม่มีรูปไม่มีร่างเป็นเพียงความคิดนึก เป็นต้น ก็เรียกว่าธรรมอยู่นั่นเอง รูปธรรมก็ตาม นามธรรมก็ตามเรียกสั้นๆ ว่าธรรม นี้คือธรรมชาติทุกอย่างเรียกว่าธรรม นี้ที่ถัดขึ้นมาก็คือกฎของธรรมชาติที่มีอยู่ในธรรมชาตินั้น แม้แต่กฎอันนี้เราก็เรียกว่าธรรมไม่เรียกเป็นอย่างอื่นโดยภาษาบาลี ทีนี้ถัดขี้นมาก็ถึงหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องประพฤติกระทำให้ถูกตามกฎธรรมชาติ หน้าที่อันนี้ก็เรียกว่าธรรม ไม่เรียกอย่างอื่นเลย เมื่อปฏิบัติหน้าที่แล้วทีนี้ก็มีผล ผลลัพธ์เกิดขึ้นมาอย่างไรเป็นความสุข เป็นความพอใจ อะไรเป็นมรรคผลนิพพาน หรืออะไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดนี้ก็เรียกว่าธรรม เลยไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม ล้วนแต่เป็นธรรมไปทั้งนั้น ทบทวนอีกครั้งหนึ่งก็คือว่า ตัวธรรมชาติก็ดีเรียกว่าธรรม ตัวกฎธรรมชาติก็เรียกว่าธรรม หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติก็เรียกว่าธรรม ผลที่เกิดมาจากการปฏิบัติหน้าที่นั้นก็เรียกว่าธรรม เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม ทุกสิ่งเรียกได้ว่าธรรมหมด ไม่ยกเว้นอะไรแม้แต่สิ่งเดียว ธรรมจึงคือทุกสิ่งเช่นเดียวกับพวกที่บัญญัติพระเป็นเจ้าว่าพระเป็นเจ้าคือสิ่งทุกสิ่ง เขาจะหมายความอย่างไรเราก็รู้ไม่ได้ แต่เราเข้าใจได้ในฝ่ายของเราว่าธรรมะนั่นแหละคือพระเป็นเจ้าหรือพระเจ้า เพราะหมายถึงสิ่งทุกสิ่งหรือพระเจ้ามีอยู่ในสิ่งทุกสิ่ง พระเจ้าเป็นสิ่งทุกสิ่งทั้งที่เรารู้และทั้งที่เราไม่รู้ ตัวเราเองนี้ทั้งเนื้อทั้งตัวเป็นธรรมไปหมด ร่างกายก็เป็นธรรม จิตใจก็เป็นธรรม กฎธรรมชาติก็มีอยู่ในตัวเรา หน้าที่ที่ปฏิบัติตามกฎธรรมชาติเราก็กำลังปฏิบัติอยู่ เราได้รับผลลัพธ์เพราะปฏิบัติผิด ปฏิบัติถูก เป็นความสุขบ้าง เป็นความทุกข์บ้าง นี้ก็คือธรรม สิ่งแวดล้อมเราทั้งหมดทั้งสิ้นก็เป็นธรรม ก็คือธรรม ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือเป็นต้นไม้ เป็นต้น ก็คือธรรมเนื้อตัวของเราทั้งหมดก็คือธรรม สิ่งแวดล้อมเราอยู่ทั้งหมดก็คือธรรม นี้เป็นเหตุให้เราเห็นได้ง่ายๆ ว่าไม่มีอะไรนอกจากธรรมที่เรามาเรียกว่าตัวเรา เราไปตู่เอาธรรมหรือธรรมชาติมาเป็นตัวเรา เราก็เป็นคนโกง เพราะเราเป็นคนคดโกงเราก็ต้องได้รับโทษ มีความทุกข์ เป็นต้น ตามสมควรแก่ความคดโกง เมื่อใดเราสละออกไปไม่เป็นคนโกง เป็นคนซื่อตรง เราก็ไม่ต้องมีความทุกข์ เราเลิกเป็นคนโกงกันเสียที เป็นธรรมะบริสุทธิ์กันเสียที เราควรจะมีจิตใจอย่างนี้ทำอาสาฬหบูชาจึงจะเป็นการบูชาต่อพระธรรมโดยแท้จริง ไม่เป็นคนปล้นพระธรรมหรือโกงพระธรรม เอาอะไรที่ไม่ใช่ของตนมาเป็นของตน สร้างตัวสร้างตนขึ้นมาก็จะต้องถูกลงโทษสมตามความโกง แต่ถ้าเราเอาธรรมะเป็นตัวตนเสีย เรื่องก็หมดกัน เพราะว่านั่นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงเป็นของจริง มีตนของพระธรรม ทำกายทำใจของเราให้เป็นพระธรรมเสีย มีตนเป็นอยู่ที่ธรรมดังนี้แล้วก็ไม่มีความทุกข์อันใดเกิดขึ้นมาได้ พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา ท่านทั้งหลายจงมีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ อตฺตทีปา อตฺตสรณา มีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ นี้หมายความว่าธรรมะกับตนนั้นเป็นของอย่างเดียวกัน แต่ว่าเป็นตัวตนจริงเป็นตัวตนแท้คือตนของธรรมไม่ใช่ตนของกิเลสที่เป็นเหตุให้รู้สึกว่าตัวกูหรือของกูดังนี้ เป็นต้น หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้ทำอาสาฬหบูชาในวันนี้ด้วยจิตใจที่ซื่อสัตย์สุจริตไม่คดโกง ไม่มีอะไรเป็นตัวกูของกู มีอยู่แต่ธรรมอันบริสุทธิ์แล้ว กระทำการบูชาอาสาฬหบูชากันด้วยกันทุกคน นี้เป็นข้อความที่ปรารภในขั้นต้นเป็นการเริ่มแรกเพื่อเตือนท่านทั้งหลายว่าเราจะทำอาสาฬหบูชาในวันนี้กันอย่างไร หวังว่าท่านทั้งหลายจะทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ โดยสมควรแก่ความสามารถของตนๆ ธรรมเทศนาเป็นเครื่องเตือนในเบื้องต้น สมควรแก่เวลาขอยุติธรรมเทศนาตัวนี้แต่เพียงนี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้