แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
กระผมขอแสดงความยินดี ในการมาที่นี่ และขออนุโมทนาในการกระทำด้วยความหวังอย่างที่ว่านั้น สิ่งแรกก็ควรจะทำความเข้าใจในเบื้องต้น ว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไรหรือเท่าไหร่ คือสถานที่นี้ ด้วยความมุ่งหมายมาแต่เดิม จัดเป็นที่เพื่อให้ความสะดวกแก่พวกที่เรียนมาแล้ว ต้องการสถานที่ที่สะดวก เพื่อการลองปฏิบัติ หรือว่าปฏิบัติตลอดไปก็ตาม มันมีเพียงเท่านั้นแหละ อย่าได้หวังอะไรมากกว่านั้น ไม่ได้มีการสอนอะไร ที่เป็นกิจจะลักษณะ มีแต่จัดสถานที่ เท่าที่จะจัดให้ดีได้อย่างไร ให้กับผู้ที่เรียนแล้วจะปฏิบัติ จึงมีกฎเกณฑ์ว่า เป็นนักธรรมเอกแล้วหรือเป็นเปรียญแล้ว มันก็อยู่กันมาอย่างงี้ ทำไมจะต้องช่วยเหลือด้วยการปฏิบัติ ช่วยเหลือการปฏิบัติด้วยการจัดสถานที่อย่างนี้ นี้มันก็เป็นความจำเป็น ถ้าสถานที่มันสะดวก การปฎิบัติมันก็สะดวก คือมันง่าย จึงหวังอยู่ว่าเราจะให้ความสะดวกเท่าที่จะทำได้ ด้วยปัจจัย ๔ ก็ดี หรือว่าวิชาความรู้ในบางขั้นตอนก็ดี และที่มีความหมายมากกว่านั้นก็คือว่า จะได้ลองเป็นอยู่ด้วยชีวิตแบบเดียวกับครั้งพุทธกาล ชีวิตแบบครั้งพุทธกาลนี่ จะได้ประสบตามสมควร แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันก็หลายสิบเปอร์เซ็นต์อยู่เหมือนกัน เรียกว่าโอกาสที่จะได้ชิมแบบ ครองชีวิตแบบครั้งพุทธกาลในเรื่องปัจจัย ๔ หรือเรื่องอะไรก็ตาม ข้อนี้สำคัญ สำคัญมาก เพราะว่าการเรียน การเรียนธรรมะ มิได้ตั้งต้นที่ปริยัติ มันเรียนปริยัติแล้วไปตั้งต้นปฏิบัติ เมื่อตั้งต้นปฏิบัตินั่นจึงจะเป็นการตั้งต้นแห่งการเรียน อย่างที่พระพุทธองค์ท่านตรัสเรียกว่า อาทิพรหมจรรย์ เมื่อปฏิบัติควบคุมอายตนะ เมื่อมีผัสสะ ไม่ให้เกิดกิเลสนั่นแหละ เป็น อาทิพรหมจรรย์ สำหรับนักปฏิบัติ จะถือหลักว่าการเรียน ตั้งต้นเมื่อลงมือปฏิบัติ ปริยัติก็เป็นเรื่องของบุพภาค บุพภาคของการเรียน เรียนปริยัติเป็นบุพภาคของการเรียน เพราะว่าการเรียนหรือไตรสิกขา มันตั้งต้นเมื่อ มีลงมือปฏิบัติ ดังนั้นเราจึงช่วยให้ความสะดวก เพื่อให้มีการเรียนตามแบบ อาทิพรหมจรรย์ เรื่อย ๆ ไปจนกว่าจะเป็นที่พอใจ นี่สวนโมกข์นี้ก็ทำได้อย่างนี้
ทีนี้ก็มาถึงระเบียบ การเป็นอยู่ การเป็นอยู่ก็เรียกว่าอนุโลมให้คล้ายครั้งพุทธกาลมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งก็เชื่อว่าทราบกันอยู่ดีแล้ว พวกเราทุกคนที่นี่ทราบกันดีแล้ว เพราะเคยบวช เคยเรียนมาหลายปีแล้ว ก็พอจะรู้ได้ว่า แบบครั้งพุทธกาลนั้นเป็นอยู่อย่างไร เราจะได้มาลองดู ถ้าไม่เคยลองก็ไม่เคยมีมาก่อน ก็จะได้ลองดู อยู่อย่างครั้งพุทธกาล ขอให้ทราบเอาเองเถิด ที่มันแปลกออกไป คือนับตั้งแต่ว่าเรา บริโภค ปัจจัย ๔ อย่างครั้งพุทธกาล เช่นว่า พระพุทธเจ้าเองท่านก็ไม่มีมุ้ง แล้วท่านก็ไม่มีอะไรอีกหลายอย่างที่พวกเรามีกันสมัยนี้ ฉะนั้นขอให้ลองดูด้วยความคิด ความรู้ตัวเองว่า จะอยู่ให้คล้ายอย่างพระพุทธกาลที่สุดนี้ จะต้องทำอย่างไร ในที่นี่เรามีสูตรสำเร็จจำกันง่าย ๆ ว่า “ฉันข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนกุฎิเล้าหมู แล้วก็ฟังยุงร้องเพลง” นี่ก็จำง่ายๆ มันออกจะตลกไปบ้าง ฉันข้าวจานแมว คือระเบียบครั้งพุทธกาล เท่าที่จะมีอะไรใส่ลงไปในบาตร รวมๆ กันแล้วก็ฉัน ไม่มีความหมายเป็นผัก ไม่มีความหมายเป็นเนื้อ มีความหมายแต่เป็นธาตุตามธรรมชาติ บริสุทธิ์ควรแก่การฉัน ธาตุตามธรรมชาติ เป็นชิ้นเนื้อเมื่อเห็นเป็นธาตุตามธรรมชาติ เป็นชิ้นผักเมื่อเห็นเป็นธาตุตามธรรมชาติ และเมื่อเป็นที่แน่ใจว่าบริสุทธิ์ ไม่มีโทษ แล้วก็ฉัน รวมๆ กันลงไปในบาตร โดยคัดเลือกสิ่งที่เป็นโทษ เช่น ก้างปลา ออกเสียให้หมด ที่ฉันได้เลยก็ใส่ลงไปในบาตร ไม่ต้องขยำเหมือนกับพระลังกาหรอก มันก็วางอยู่ มันเป็นระเบียบก็ได้ คลุกก็ได้ ไม่คลุกก็ได้ ขยำก็ได้ ไม่ขยำก็ได้ เป็นอันว่ามันง่ายจนกระทั่งว่าหลับตาฉันก็ได้ ถ้าทำอย่างนี้แล้ว มันหลับตาฉันก็ได้ เพราะมันไม่มีก้าง ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหาอีกต่อไป เหมือนกับคลุกให้แมวมันยังมีก้าง นี่มันก็เรียกว่าฉันข้าวจานแมว อาบน้ำในคู ก็ในลำห้วยตามธรรมชาติที่มีลักษณะเหมือนกับคู ถ้าไม่สบายหรือจำเป็นอย่างอื่นก็อาบน้ำก๊อกก็มีเหมือนกันไม่ใช่ไม่มี นอนกุฎิเล้าหมู ห้องนอน ห้องที่พัก ห้องอยู่ขนาดเล้าหมู พอยืดตัวได้ ไม่มีอุปกรณ์แห่งการฟุ่มเฟือยอะไรเรียกว่า กุฎิเล้าหมู แล้วก็ฟังยุงร้องเพลง ยุงมันร้องเพลงก็อย่าไปโกรธมัน และก็จะได้โอกาสต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ตามบทปัจจเวก ฑังสะ มะกะสะ วาตาตะปะ สิริงสะปะ สัมผัสสานัง ปะฏิฆาตายะ คือจีวรนั่นเอง เป็นเครื่องใช้ป้องกันหนาว ร้อน ลม แดด เหลือบ ยุง ริ้น มันจะได้ประสบของจริง หรือการเป็นอยู่จริงตามบทปัจจเวกนั้นได้ ถ้านอนในมุ้งมันก็ไม่ต้องรู้เรื่องกัน มันเป็นเรื่องปัจจเวกชนิดที่ไม่มีความหมาย ฉะนั้นขอให้รื้อฟื้นความรู้ที่เคยรู้มาตั้งแต่แรกบวช แรกเรียน เรื่อง ปัจจเวก ๔ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ เภสัช ก็อยู่อย่างต่ำที่สุด ต่ำเท่าที่จะต่ำได้ แต่ไม่ถึงกับว่าเป็นการทรมาน ไม่เป็นอัตตกิลมถานุโยค ที่แปลว่าต่ำสุดที่จะเป็นพื้นฐานที่ดี เรานั่งประชุมกัน หรือทำอุโบสถ สังฆกรรมอะไรกันที่นี่ นั่งกลางดินทั้งนั้นแหละ เพราะเราถือว่าผืนดินนั้นแหละสูงสุด เพราะพระพุทธเจ้าท่านประสูตรกลางดิน ท่านตรัสรู้ก็นั่งกลางดิน สอนก็นั่งกลางดิน นิพพานก็นั่งกลางดิน กุฎิของท่านก็พื้นดิน จึงถือว่าพื้นดินนั้นสูงสุด แต่เป็นรากฐานที่มั่นคงที่สุด สมกับคำว่าพื้นดิน ดังนั้นถ้ามาพักอยู่ที่นี่ ก็จะมีโอกาสใช้พื้นดินให้เป็นประโยชน์ กุศลตามค่าของพื้นดิน เพราะพื้นดินทางวัตถุมันก็มีค่าสำหรับให้สัตว์ทั้งหลายอาศัยอยู่ แต่พื้นดินทางภาษาธรรมมันคือพระธรรมนั่นเอง พระธรรมนั่นแหละคือภูมิ หรือพื้นดิน จะเป็นที่ตั้งที่อาศัยของการประพฤติปฎิบัติ เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน จึงรับรองได้อย่างหนึ่งว่า ถ้ามาอยู่ที่นี่ จะได้มีโอกาสใช้พื้นดินนั่นแหละมากที่สุด และสิ่งที่มีเกียรติสูงสุด แต่ว่ามีรากฐานมั่นคงที่สุด คือต่ำสุด สำหรับอาศัย ไม่ง่อนแง่น คลอนแคลน และก็ปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไป นี้เป็นเครื่องช่วยให้รู้ธรรมะอย่างแท้จริง นี่ช่วยการปฏิบัตินั่นยิ่งๆ ขึ้น
รู้โดยปริยัตินั้นยังไม่ถึงจุดที่จะเรียกว่าเปรียญ เพราะปริยัติเราไม่ได้จัดไว้ในไตรสิกขา หลังจากปริยัติแล้วลงมือปฏิบัติ มันถึงจะเริ่มไตรสิกขา ขอให้พยายามฝึกเรียนที่จะให้เข้าถึงสิ่งเหล่านี้ และโปรดทำในใจว่า จะอยู่ หรือจะลาสิกขา พวกที่จะอยู่ก็ตาม พวกที่จะลาสิกขาก็ตาม ขอให้ทำตรงกันหมด คือตามพระพุทธประสงค์ คือทุกคนต้องทำให้ตรงตามพระพุทธประสงค์ จะอยู่หรือจะลาสิกขาออกไป ขอให้ทำให้ตรงตามพระพุทธประสงค์ พระพุทธประสงค์ในที่นี้ สรุปความได้สั้น ๆ ว่า ให้รู้ธรรมะ และก็ทำผู้อื่นให้รู้ธรรมะด้วย นั่นแหละคือพุทธประสงค์ มีพระพุทธประสงค์ชัดว่า จะต้องศึกษาธรรมะ รู้จนทำให้ผู้อื่นรู้ธรรมะด้วย เป็นประโยชน์ทั้งแก่ เทวดา และมนุษย์ เรามักจะสนใจกันแต่เพียงว่า เรา รู้ ปฏิบัติ ดับทุกข์ได้ เราไม่ค่อยนึกถึงผู้อื่น มันต้องนึกถึงว่าให้ตรงตามพระพุทธประสงค์ที่ว่า ให้เขารู้จนเขาสามารถบอกผู้อื่นต่อๆ กันไปนี่ อย่างนี้มันทำได้ ทั้งที่จะอยู่ในเพศบรรพชิต และที่จะออกไปเป็นเพศฆราวาส แม้ฆราวาสก็ทำได้ รู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ แล้วทำให้ผู้อื่นรู้ได้ด้วย มันไม่ขัดข้องอะไรกัน จึงเป็นอันว่า ขอให้เราพยายามสุดเหวี่ยงเถอะ อย่าไปแยกมันว่าเป็นฆราวาส หรือสำหรับฆราวาส หรือสำหรับภิกษุสงฆ์ เพราะมันต้องทำเหมือนกัน รู้ธรรมะโดยประจักษ์ ปฏิบัติแล้ว รู้โดยประจักษ์ มันก็ดับทุกข์ได้และก็สอนให้ผู้อื่น เพื่อนมนุษย์ เกิดแก่เจ็บตาย ได้รู้อย่างเดียวกันด้วย นี้คือพระพุทธประสงค์ ที่ตรัสไว้แก่ พุทธบริษัททั้ง ๔ คือทั้งฆราวาส และทั้งบรรพชิต จึงไม่มีปัญหาเรื่องนี้ ที่ไปมัวแยกคฤหัสถ์ บรรพชิตแล้วเรียนต่างกัน อะไรต่างกัน อย่างนี้ไม่ถูก มันต้องเรียนไปยังจุดที่ดับทุกข์ได้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะว่าดูให้ดีจะเห็นว่า ความทุกข์นี้มันไม่มีทุกข์ฆราวาส ไม่มีทุกข์บรรพชิตหรอก ขึ้นชื่อว่าความทุกข์แล้วเหมือนกันหมด ทั้งของฆราวาสและของบรรพชิต หรือถ้าจะดูกิเลส มันก็ไม่ต่างกัน กิเลสของฆราวาส กิเลสของบรรพชิต ดังนั้นปัญหามันจึงไม่ค่อยต่างกัน ฉะนั้นเราจะต้องทำให้ถึงที่สุด ของเรื่องคือดับทุกข์ได้ เมื่อเราจะเรียนชนิดที่ว่าสำเร็จประโยชน์ได้ เรียนอย่างอริยสัจ อย่าเรียนอย่างปรัชญา ขอให้เรียนพระธรรม หรือพระศาสนาอย่างอริยสัจ อย่าไปเรียนอย่างปรัชญา เพราะว่าปรัชญานั้นมันไม่มีจุดจบ จะเรียกง่ายๆ ว่า มันไม่มีสรุป อันติมมติ เพราะมันจะตั้งปัญหาได้เรื่อยไป ว่า ทำไมๆ ๆ ๆๆ เรื่อยไป ไม่มีจุดจบ และไม่เรียนที่ของจริง ไปเรียนจากสมมติฐานที่ตั้งขึ้นมา เราไม่ค่อยพบตัวจริงจากปรัชญา ดังนั้นเราต้องเรียนอย่าง อริยสัจ หรือ วิทยาศาสตร์ ในพุทธศาสนา ให้พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ ตามเดิม ตามธรรมชาติ ของธรรมะ จะเอาไปพูดเป็นปรัชญามันก็ได้เหมือนกัน แต่มันจะไม่มีจุดจบ และไม่ได้ปฏิบัติ ขอให้เราสัมผัสธรรมชาติ สัมผัสธรรมะลงไปตรงๆ ไม่ใช่ๆ คำนวณด้วยปรัชญา เมื่อมาอยู่ในป่า ท่านก็จะสัมผัสธรรมะนี่ หรือธรรมชาตินี่ลงไปโดยตรงไม่ต้องคำนวณด้วยปรัชญา มันจะเป็นวิทยาศาสตร์ไปทันที ไอ้ตัวความทุกข์มันจะกลายเป็นวัตถุที่ชัดเจน ไม่ต้องคำนวณ แล้วก็เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ โดยไม่ต้องคำนวณ แล้วก็ปฏิบัติดับทุกข์ได้โดยไม่ต้องมีการคำนวณ ขอยินดี ประสบกันเข้ากับทุกสิ่งที่มันเป็นความจริงตามธรรมชาติ แม้แต่จะฟังยุงร้องเพลง ก็ขอให้ฟังให้ดีๆ เถิด จะพบธรรมะ ในขณะนั้น มันรวมหมด ถ้าว่าเราอยู่กันอย่างชีวิตแบบครั้งพุทธกาล และธรรมะทั้งหลายมันจะมารวมอยู่ในชีวิตนี้หมด สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ วิริยะ ทุกๆ อย่าง มันจะมารวมอยู่ที่การเป็นอยู่ของเรา เราจะได้เห็นมัน จะได้รู้สึกมันโดยตรง ชนิดที่ไม่ต้องคำนวณ เรียนปริยัติในโรงเรียน มันก็มีทำนองเป็นเรื่องคำนวณ คือจำไว้ เท่านั้นเอง ไม่ได้สัมผัสกับตัวจริง เดี๋ยวนี้แหละมันถึงเวลาแล้วแหละ ที่จะสัมผัสกับตัวจริง ตั้งแต่ธรรมะบทต้นของนวโกวาท สติสัมปชัญญะ ขันติ โสรัจจะ เดี๋ยวนี้จะกลายเป็นตัวจริง เมื่อมีสัมผัส ลม แดด เหลือบ ยุง อะไรก็ตามเถอะ มันจะต้องรู้จัก ไอ้สิ่งที่เรียกว่าสัมผัส แล้วเราก็จะต้องใช้ สติสัมปชัญญะ จัดการกับสัมผัสให้ถูกต้อง แล้วก็ไม่มีความทุกข์ นี่ธรรมะทุกข้อใน นวโกวาท จะเปลี่ยนตัวจากความรู้ หรือความจำมาเป็นตัวธรรมะแท้ คือปฏิบัติ
ผมสังเกตุดูมาหลายสิบปีแล้ว พระพุทธศาสนานี้มีใจความนิดเดียว ทำให้ถูกต้อง เมื่อมีผัสสะ แล้วก็ไม่เป็นทุกข์ มันมีเท่านั้น มันมีประโยคสั้น ๆ กระทำให้ถูกต้องเมื่อมีผัสสะ เท่านั้นแหละจะไม่มีความทุกข์ มันสั้นเกินสั้น ผัสสะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี้ เมื่อมันถึงกันเข้าแล้ว มันเกิดวิญญาณ ๓ ประการนี้เรียกว่า ผัสสะ ตามพระบาลีโดยตรง ตา ถึงเข้ากับรูป เกิดจักษุวิญญาณ ๓ ประการ ทำหน้าที่ร่วมกันอยู่ หรือ เนื่องกันอยู่นี้ เรียกว่า ผัสสะ ติณณัง ธัมมานัง สังฆาฏิผัสโส ต่อไปนั้นจึงจะเป็น ผัสสะปัจจะยา เวทนา เวทนาปัจจะยาตัณหา และเป็นทุกข์แหละ นี่ว่า สติก็ดี สัมปชัญญะก็ดี มันต้องมีในขณะแห่งผัสสะ ไม่เช่นนั้นจะต้องเป็นทุกข์ หลักธรรมะก็กลายรูปจากตัวหนังสือ มาเป็นตัวการปฏิบัติจริง คือสิ่งนี้ทำได้ง่าย พบได้ง่าย ปฏิบัติได้ง่าย เมื่ออยู่ในป่า หรือว่าอยู่ในที่ที่อำนวยแก่การปฏิบัติ ไม่ค่อยอำนวยเมื่ออยู่ในบ้านในเมือง โคลงกลอนของคุณเทพบทหนึ่ง ซึ่งผมจำได้ตั้งแต่ก่อนบวช ทำสมาธิในป่า ง่ายกว่าในโรงละคร บาทแรกเป็นโคลง ทำสมาธิในป่าง่ายกว่าในโรงละคร ไม่รู้ว่าจะพบ แต่เห็นจริงแหละ ในที่ๆ ธรรมชาติมันส่งเสริมอำนวยมันก็ง่ายกว่า ฉะนั้นขอให้ถือโอกาสนี้แหละ ทำให้เกิดประโยชย์ชนิดนี้ ให้สมกับที่อุตส่าห์มาไกล เหน็ดเหนื่อย หมดเปลือง ให้ใช้โอกาสในระหว่างที่พักอยู่ที่นี่ เข้าถึงสิ่งเหล่านี้ จะคุ้มค่าๆ ที่มา คุ้มกับการลงทุนทุกอย่างเลย เวลาก็ดี ทรัพย์ก็ดี เรี่ยวแรงก็ดี อะไรก็ดี ที่มันเป็นการลงทุน จะได้ผลเกินคาด เรียกว่าเอาหลักวิชา ทฤษฎี ลงมาเป็นตัวปฏิบัติ ผลมันก็เกิดขึ้น เราใช้โอกาสทำสิ่งที่ที่อยู่ที่กรุงเทพทำไม่ได้ ทำครั้งแรกเมื่ออยู่สวนโมกข์นี้ ใช้โอกาสอย่างนั้นแหละ ให้มากที่สุด ยิ่งลำบาก ก็ยิ่งสนุก ยิ่งลำบาก ก็ยิ่งรู้แปลกออกไป รู้ลึกออกไป ยิ่งลำบาก ยิ่งรู้ลึกออกไป รู้แปลกออกไป มันเผชิญกับการเป็นอยู่ ตามธรรมชาติซึ่งมันมีความลำบากบ้าง อีกทางหนึ่งเราบัญญัติสูตรง่ายๆ ว่า การเป็นอยู่ที่ไม่ต้องใช้สตางค์ แม้แต่สตางค์เดียว ถ้าอยู่ที่นี่ ๓ วัน ก็ขอให้อยู่การเป็นอยู่ชนิดที่ไม่ใช้สตางค์แม้แต่สตางค์เดียว มันจะเข้มแข็ง มันจะอดทน มันจะฉลาดมันจะทุกๆ อย่าง เพียงแต่ไม่มีถ่านไฟฉาย มันก็ไปซื้อแล้ว อย่างงี้ไม่ถูก ไม่มีก็ไม่มีสิ มันจะเป็นอะไรไป มันไม่ตาย มันไม่มีถ่านไฟฉาย มันก็ไปซื้อแล้ว อย่างนี้ไม่ถูก ลองดูอย่างไม่ต้องซื้อ หาทางออกอย่างอื่นสิ คือว่าเป็นอยู่ มีชีวิตอยู่ อย่างที่ไม่มีการใช้สตางค์เลย ศึกษาดู เทียบเคียงดูจากพระบาลีในครั้งพุทธกาล มันก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเราเป็นอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้แม้แต่สตางค์เดียว อย่าพูดถึงบาทหนึ่งเลย ลองพยายาม ถ้าถือหลักอันนี้ได้ มันก็จะเป็นอัตโนมัติ คือจะคล้ายชีวิตครั้งพุทธกาลยิ่งขึ้น มากกว่าที่ว่าจะ ฉันข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนกุฎิเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลง นี้ยิ่งขึ้นไป ถ้าไม่อย่างงั้น ไม่คุ้มค่านะ ผมขอพูดตรงๆ พูดอ้อมค้อมไม่เป็น ไม่คุ้มค่าที่มาสวนโมกข์ ต้องรีบปรับปรุงทันที เดี๋ยวนี้ ให้มันมีระบบเกิดขึ้นมาสำหรับเป็นอยู่ คุ้มค่าที่สุด เกินค่าที่สุด และเป็นอย่างดี ธรรมชาติมันช่วย ทำสมาธิง่ายกว่าในโรงละคร เพราะความเยือกเย็นตามธรรมชาติ หรือกลิ่นไออะไร ของธรรมชาตินี่ มันสนับสนุนจิตไปในทางสงบ มันไม่สนับสนุน ผลักไสไปในทางวุ่นวาย เราก็ได้กำไรส่วนนี้แล้ว จะใช้ให้มันเป็นประโยชน์ ศึกษาว่า จิตสงบเป็นอย่างไร จิตวุ่นวายเป็นอย่างไร ด้วยตนเอง แล้วจะรู้ได้เอง ไม่มีใครบอกให้รู้ได้
การทำภาวนา สมาธิ อะไรก็ตาม ครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าท่านตรัสบอกให้แต่หลักทั้งนั้น ไม่ใช่ไปนั่งคุมอยู่ข้างๆ คอยสอบอารมณ์ อะไรกันทุกวัน ทุกชั่วโมง มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำอย่างงั้น มันเป็นเพียงบอกให้ไปทำอย่างไร แล้วก็ทำไม่ได้ ก็ทำไม่ได้ ก็ทำไม่ได้ ก็ทำ ทำตั้ง สิบครั้ง ยี่สิบครั้ง สามสิบครั้ง มันจะค่อยๆ จับได้ ผมบอกทุกคนที่มานี่ บอกว่า ไม่มีใครสอนกันได้ ไอ้เรื่องทางจิตนี้ ขอให้ทำเถอะ เพราะการกระทำนั่นแหละมันจะสอน การที่ทำไม่ได้นั่นแหละมันจะสอน อุปสรรค์มันจะสอน เหมือนกับว่า คนเขาหัดขี่รถจักรยาน มันไม่มีใครสอนกันได้ ไอ้การหกล้มมันสอน ทำสมาธินี้ก็เหมือนกัน คือทำไม่ได้นั่นแหละมันจะสอน เราเห็นๆ กันอยู่แท้ๆ ไอ้ขี่จักรยานนั้น มันสอนกันไม่ได้ มันต้องทำเท่านั้นแหละ ลงมือกระทำ แล้วมันจะสอน แล้วมันจะล้ม แล้วมันจะล้มอีก แล้วมันก็ไม่ค่อยจะล้ม แล้วมันก็ค่อยๆ จนกระทั่งว่าไม่ล้ม กระทั่งเรียบไป ให้การกระทำมันสอนไอ้เรื่องเป็นอย่างไรนั้น เราเรียนมาเกินแล้ว บอกกันมาเกินแล้ว วิชานั้นเรียนมาเกินแล้ว ก็ทำยังทำไม่ได้นะ จะนั่งพร่ำบอกวิธีขี่จักรยานกันสักกี่สิบชั่วโมง ก็ไม่ขี่ได้หรอก ต้องจับเขาขี่ แล้วให้ล้ม ล้มแล้วก็สอน มันค่อยๆ รู้จักทำสมดุลเองแหละเมื่อมันล้ม นี่การทำสมาธินี้ก็เหมือนกันแหละ อย่าไปหวังคนช่วย หรืออะไรช่วย หรือใครมาช่วย ต้องให้การกระทำมันสอน ให้การล้มลงไปนั่นแหละมันสอน ทีนี้มันจะไม่ล้ม จะค่อยๆ ไม่ล้ม เหมือนเด็กทารก เขาจะหัดยืน มันก็ต้องไม่มีใครสอน มันจะเดินก็ไม่มีใครสอนได้ มันรู้จักทำสมดุลของมันเองทีละนิดๆ ฉะนั้นโอกาสนี้มี ก็ขอให้รีบทำดูเถอะ เราจะไม่ต้องพูดกันถึงเรื่องหลักวิชาในทางปริยัติ เพราะผมรู้สึกว่า มันจะมีมากพอจนเหลือใช้ แต่ว่าเรื่องเกี่ยวกับจิตใจโดยตรงนี้ อาจจะมีไม่พอ นี่ขอให้ใช้โอกาสระหว่างที่อยู่กับธรรมชาตินี้ ฝึกฝนในส่วนนี้ ที่เกี่ยวกับจิตใจโดยเฉพาะ
นี่ผมได้เรียนแล้ว ตั้งต้นว่า ผมยินดีในการมา และขออนุโมทนาในความประสงค์อันนี้ มาช่วยกันเพื่อเป็นผู้สามารถ ทำประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนา ตามพระพุทธประสงค์ มันเป็นหน้าที่ของทุกคน ตลอดชีวิตแหละ จะเป็นฆราวาส หรือจะเป็นบรรพชิต ไม่ต้องพูดถึง แต่หน้าที่ตายตัว ช่วยกันสนองพระพุทธประสงค์ด้วยการทำให้มนุษย์ในโลกมันมีธรรมะ ทำที่พึ่งให้แก่ตน นี่ผมถวายความรู้ ความเข้าใจ จะเรียกว่าปฐมนิเทศหรืออย่างไรแล้วแต่ว่าจะเรียก แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องพูดกันทีแรก พูดกันก่อนเรื่องอื่น จะได้ง่ายในการที่จะเป็นอยู่ให้สำเร็จประโยชน์ เราอยากจะให้ ให้ผลดีที่สุดเท่าที่มันจะทำได้ เช้าๆ ก็ไปบิณฑบาต ไปเพียงหนึ่งในสามของจำนวนทั้งหมดนั่นแหละ ได้มาบาตรหนึ่งฉันได้สามองค์อย่างน้อย ยังไม่ต้องเสียสักสตางค์หนึ่ง ถ้าไปเกิดใช้เงินสักสตางค์ ผมว่ามันผิดแล้ว มันผิดหลักเกณฑ์แล้ว ขอให้เราอยู่อย่างที่เรียกว่าแบบ สมณะศากยปุตติยะ ชีวิตที่อยู่โดยไม่ต้องใช้สตางค์ ก็ไปบิณฑบาต แล้วก็มาแบ่งกันฉัน จะมีโอกาสประพฤติปฏิบัติเหมือนในครั้งพระพุทธกาล พวกที่ไม่ไปบิณฑบาต ก็ต้องตระเตรียมความพร้อมเพรียงของการที่จะฉัน พวกที่ไปบิณฑบาตมาถึงก็แบ่งกัน อย่าให้มีการใช้สตางค์ เพราะเรื่องนี้ ที่มันเว้นได้ เราก็อย่าให้มีการใช้สตางค์ แต่มันก็ต้องอาศัยความเข้มแข็ง พยายามมีความเข้มแข็งให้มาก มันจะไม่ต้องใช้สตางค์ มิฉะนั้นมันจะไม่เหมือนครั้งที่เป็นอยู่กันในครั้งพุทธกาล พระไตรปิฎกเล่มแรก หน้าแรกๆ เล่มแรก เล่มหนึ่ง หน้าแรกๆ มันมีกล่าวถึงพระพุทธเจ้า กับพระสงฆ์ ฉันข้าวตากเลี้ยงม้า ไม่ได้ฉันอาหารตามปกติ ฉันข้าวตากเลี้ยงม้า ข้าวตากแห้ง ชุบน้ำพอเปียกๆ แล้วฉัน ไม่มีแกง ไม่มีกับนั่น พระไตรปิฎกเล่มหนึ่ง หน้าแรกๆ ควรจะนึกถึงข้อนี้ว่า เพื่อจะได้ง่าย จะได้สนุก จะได้ร่าเริง ในการเป็นอยู่ชนิดที่ไม่ต้องใช้สตางค์ แล้วเวลามันก็จะมีประโยชน์เต็มที่ จะได้ฝึก ได้ลอง ได้พยายาม ได้ศึกษากันเต็มที่ เมื่อตั้งใจปฏิบัติอยู่อย่างแท้จริง มันก็ มีศีล สมาธิ ปัญญาอยู่โดยอัตโนมัติ นี่ผมขอแสดงความยินดีในการมา ขออนุโมทนาในการมุ่งหมายที่จะกระทำ ขอแสดงความหวังว่า ให้ทุกองค์มีความกล้าหาญ มีความกล้าหาญ ไม่ย่อท้อ ทำให้สำเร็จประโยชน์ ตามความประสงค์ มุ่งหมายกันทุกประการ วันนี้พูดกันเพียงแค่นี้
ท่านมหาต้องเป็นผู้เลือกว่า จะให้พระพักที่แห่งนั้น หรือที่แห่งนี้ มันมีความสะดวกคนละอย่าง ที่นี่มันสะดวก ไอ้น้ำท่าสะดวก แต่ว่ามันอยู่ต่ำ ๆ อากาศไม่ค่อยดี ไอ้ที่นี้มันอยู่ที่สูง อากาศดี แต่ว่าไอ้ความมากมายของไอ้น้ำท่า มันมีไม่มากไม่ถึงนั้น