แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ครูที่ชื่อสนิท (นาทีที่ 0:33) ราชภัฏลาบวช เอ่อ, หรือผู้ที่จะต้องลาสิกขาทั้งหลาย ผมทราบว่าเป็นความประสงค์ที่จะได้ฟังอะไรที่เป็นประโยชน์ เอ่อ, แก่ผู้ที่จะลาสิกขา ก็เลยนึกไปในทางนี้ แล้วจะพูดตามที่จะนึกได้
ในการลาสิกขาของผู้ที่มี เอ่อ, การบวชจำกัดเวลาโดยตั้งใจไว้นี้ ส่วนใหญ่มันก็จะต้องมีความรู้ติดตัวไปเอ่อ, ในเมื่อลาสิกขาแล้ว ปัญหาอย่างนี้ไม่ค่อยมีอะ, หรือไม่มีเลยในครั้งพุทธกาลเพราะว่าไม่มีใครบวชแบบชั่วคราวอย่างนี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็มองเห็นอยู่ว่ามันก็เรื่องเดียวๆ ทั้งนั้น คือเรื่องความดับทุกข์ ไม่ต่างกันหรอก เอ่อ, ระหว่างผู้ที่อยู่ต่อไปหรือผู้ที่จะลาสิกขา ไอ้เรื่องต่างกันนั้นเป็นเรื่องปลีกย่อยนั้นแหละ เรื่องเบ็ดเตล็ด ปกิณกะ ที่มันจะต่างกันระหว่าง อ่า, บรรพชิตกับคฤหัสถ์ อ่า, ถ้ามันเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องมีสาระแล้วไม่ ไม่ต่างกัน เพราะมันยังมีปัญหาเรื่องความทุกข์ ความดับทุกข์ อ่า, ความต่อสู้ควบคุมกิเลส
กิเลสนี้ไม่มีที่เป็นพระ เป็นฆราวาส ความทุกข์ก็ไม่มีที่เป็นทุกข์อย่างพระ หรือเป็นทุกข์อย่างฆราวาส อื่อ, ถ้ามันเป็นเรื่องทุกข์โดยแท้จริง นี้เราก็มีหลักเกณฑ์เดียวกัน ที่จะป้องกันหรือทำลายกิเลส หรือความทุกข์ เป็นอันว่าจะต้องมีความรู้เรื่องนี้ให้เพียงพอและติดตัวไป ที่มันจะต้องนึก อ่า, แปลกออกไปบ้าง ก็คือว่า ถ้าเราบวชจริง เรียนจริงเป็นคนบวชจริงเรียนจริง เอาจริง ก็ต้องมีอะไรมาก อื่ม, ที่จะรับเป็นผลหรือเป็นประโยชน์แล้วก็ติดตัวไป อย่างน้อยก็ขอให้ทุกคนทบทวนดู ว่าเราได้ทำอะไรบ้างที่แปลกจากฆราวาส เรามีโอกาสเรียนปริยัติน่ะ, หลักวิชามากกว่าฆราวาส อ่า, ดังนั้นเราก็ควรจะมีหรือต้องมีหลักวิชาติดตัวไป อื่ม, อย่างคุ้มค่าดีกว่าผู้ที่ไม่ได้บวช เอ่อ, บวชชั่ว ๓ เดือนนี้รู้ไม่หมดหรอก ที่จะรู้หมดและรู้แจ่มแจ้งนั้นมันเป็นไปไม่ได้ แต่มันจะได้ดีที่สุดอยู่อย่างหนึ่งคือรู้วิธี อื่อ, ที่ว่าต่อไปนี้เราจะศึกษามันอย่างไร ต่อไปนี้เราจะศึกษาธรรมะกันอย่างไร แล้วก็จะรู้ต่อๆ ยิ่งๆ ขึ้นไปปล่อยถึงที่สุด อื่ม, ถ้าใครไม่เหลวไหล ได้รับความรู้อันนี้ไป ก็เรียกว่าได้รับประโยชน์คุ้มค่า ไม่เสียทีที่บวช เพียงแต่รู้ว่าจะศึกษาอย่างไรต่อไป นั้นแหละก็คุ้มค่า หรือจะได้ไปศึกษาต่อไป ต่อไป ให้มันรู้ถึงที่สุด อื่ม, เพราะว่าชั่วเวลาอันสั้น ๓ เดือนนี้ไม่มีทางจะรู้ให้แจ่มแจ้งหมดทุกเรื่อง นี่เรื่องเกี่ยวกับปริยัติ หรือหลักวิชา ฉะนั้นขอให้ได้ไปทุกองค์
ทีนี้เกี่ยวกับปฏิบัติ ก็ขอให้ระลึกดูให้ดีๆ ถ้าว่าเราบวชจริงนะ ถ้าเราเป็นคนบวชจริง เรียนจริง บวชจริง มันก็ได้อะไรมากเหมือนกัน เว้นไว้แต่เราไม่ทำอย่างผู้บวชจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือว่า เราได้มีการฝึกฝนบังคับตัวเองอยู่ตลอดเวลา แปลกจากที่ก่อนบวชที่อยู่ที่บ้าน ซึ่งไม่มีใครบังคับเรา ถ้าเราเป็นพ่อบ้านเสียเองละก็ยิ่งไม่มีใครบังคับเรา แม้จะมีกฎระเบียบ มีกฎหมายอะไรบังคับบ้างมันก็ไม่ได้มาบังคับหรอก แต่ถ้าบวชเข้ามามันก็มีระเบียบมีวินัย โดยเฉพาะสิกขาบททางวินัยก็มีมาก เราจะปล่อยตามสบายไม่ได้ เรื่องกิน เรื่องอยู่ เรื่องนุ่ง เรื่องห่ม เรื่องอิริยาบถทั้งหลาย มันก็เลยมีการบังคับตัวเองมากทางวินัย
นี้ทางธรรม ก็มีระเบียบธรรมะที่จะต้องบังคับตัวเองมาก ถ้าไม่เหลวไหลอะ คนนั้นจะต้องมีการบังคับตัวเองมาก บังคับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยเฉพาะ ชนิดที่ว่า อ่า, บังคับความรู้สึกคิดนึก บังคับจิต บังคับตน นั่นน่ะสิ่งที่มันไม่มีเมื่อเป็นฆราวาส ฉะนั้นถ้าว่าบวชเข้ามาแล้วไม่เหลวไหลมันก็จะได้มีโอกาสบังคับตนทั้งทางวินัย ทั้งทางธรรมะ เป็นเวลา ๓ เดือน แล้วบางแห่งอย่างที่นี่เป็นต้น ก็ต้องมีการทำประโยชน์ผู้อื่น มีวันกรรมกร ๗ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ต้องเป็นวันเหน็ดเหนื่อยมากเพื่อผู้อื่น ซึ่งเมื่ออยู่ที่บ้านเมื่อไม่ได้บวชนั้นดูจะไม่มี ที่ทำอะไรเพื่อผู้อื่นดูจะไม่มีเป็นจริงเป็นจัง มีแต่ปาก อื่อ, แต่ที่นี่เราให้มีการทำเพื่อประโยชน์ผู้อื่นซึ่งไม่ได้รับประโยชน์อะไรส่วนตัว ถึงจะไม่ได้รับแม้แต่คำว่าขอบใจ นี่เป็นเรื่องฝึก อ้า, ทำประโยชน์ผู้อื่นโดยแท้จริง เป็นเวลาระยะยาว ทีนี้ก็เป็นธรรมะด้วยเหมือนกันที่จะต้องมี คือฝึกความไม่เห็นแก่ตน ฝึกการทำลายความเห็นแก่ตน ถ้าทำได้จะมี มันก็มีธรรมะมากแหละ มันก็ติดไป มันเป็นนิสัยขึ้นมา ไม่เห็นแก่ตน มันจึงเรียกว่า ถ้าบวชจริงเรียนจริง มันก็ต้องได้รับอะไรตามแบบฉบับของการบวช
ส่วนไอ้เรื่องปฏิเวธนั้นมันก็แล้วแต่ใครจะทำได้เท่าไร ใครจะได้พบความเย็น ความเยือกเย็นแห่งจิตใจที่เรียกว่าชีวิตเย็น ซึ่งไม่เคยพบมาแต่ก่อนนั้นน่ะ ก็ยังมี บางคนก็ทำได้และได้รับ แต่บางคนโลเล เหลาะแหละ ไม่เคยพบกับชีวิตเย็นตลอดเวลาที่บวชนี้มันก็มีเหมือนกัน นั่นมันจึงว่าแล้วแต่ว่าใครจะบวชจริงเรียนจริงปฏิบัติจริงอะไรจริง ถ้าว่ามันจริงมันก็ได้รับไป คุ้มค่าของการบวช ทั้งในแง่ของปริยัติ ในแง่ของปฏิบัติและปฏิเวธ นั้นขอให้ไประลึก อ่า, ซักซ้อมปรับปรุง ให้มันเป็นรูปเป็นร่างของสิ่งเหล่านี้ ที่เราจะได้พากลับติดตัวออกไปเมื่อลาสิกขา นี่ก็คือ เรื่องที่จะต้องพูดกับผู้ที่จะลาสิกขา ให้เขาได้มีความรู้สึกเห็นชัดเจนว่าได้อะไรไปคุ้มค่าที่ได้บวช มิฉะนั้นก็เป็นเรื่องเล่นละครบ้าๆ บอๆ เห่อๆ อะไรกันชนิดหนึ่งเท่านั้นแหละที่บวชทีหนึ่ง มันไม่ตรงตามหลักการหรือความมุ่งหมายหรือพระพุทธประสงค์อะไรเลย ถ้ามันเผลอไป มันลืมไป มันไม่ได้สนใจก็ยังมีโอกาสยังมีเวลาที่จะสนใจนี่ คุณไปคิดถึงหรือไปทบทวนเถิด ในฝ่ายปริยัติก็ดี ในฝ่ายการปฏิบัติก็ดี อย่างน้อยให้มันเหลืออยู่ว่า ต่อไปนี้เราเป็นผู้ที่มีนิสัยบังคับตัวเอง เอ่อ, ไม่ปล่อยสบายตามกิเลสเหมือนแต่ก่อน และว่าต่อไปนี้เราก็จะมีนิสัยที่ไม่เห็นแก่ตัว จะเห็นแก่ส่วนรวมโดยแท้จริง อ่า, ซึ่งกิเลสมันจะไม่เห็นแก่ส่วนรวม เพราะกิเลสมันจะเห็นแก่ตัวเท่านั้นแหละ ฉะนั้นเราจะต้องดูให้ดีว่ามันได้เกิดนิสัยการเห็นแก่ผู้อื่น หรือส่วนรวมด้วยหรือไม่ นี้ขอให้ทุกคนทบทวน สะสาง คิดนึก ปรับปรุง ไอ้สิ่งที่ว่านี้ ให้ได้รับติดตัวออกไปอย่างที่เรียกว่าเป็นกอบเป็นกำ คือเห็นได้จริงมีอยู่จริง
ทีนี้ก็จะทบทวนเรื่องหลักธรรมะ เข้าใจว่าอ่านกันมาก ฟังกันมาก เพราะสะดวกนี่ กลัวว่ามันจะเฝือ มันอย่าให้เฝือ ให้มันชัดเจนแจ่มแจ้งถูกต้อง แล้วก็เพียงพอด้วย ความรู้ที่ถูกต้องมันก็ดีแต่ถ้ามันไม่มากไม่เพียงพอมันก็จะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ต้องรู้ธรรมะที่เพียงพอ อ่า, สำหรับถือเป็นหลักปฏิบัติตลอดชีวิต อ่า, เป็นความก้าวหน้ายิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น มันอาจจะถึงที่สุด ก่อนตายก็ได้ หรือว่าอย่างน้อยที่สุดก็ให้รู้จักตายเป็น ตายอย่างมีที่สิ้นสุดแห่งธรรมะ ปล่อยวางสิ่งทั้งปวง เมื่อจะต้องตาย จะต้องแตกตายทำลายขันธ์ นี้ก็ดี ถ้าทำได้อย่างนี้ก็ดี ก็คือไม่เสียทีบวช แล้วอีกอย่างหนึ่งเราต้องรู้หลัก ธรรมะที่ดับทุกข์ได้นี่สำหรับเราอย่างเดียวนั้นมันไม่ถูกหรอก มันต้องรู้สำหรับผู้อื่นด้วย คือจะสอนผู้อื่นง่ายที่สุด แต่ว่าคนในครอบครัว แล้วอาจจะเป็นผู้อื่นที่นอกไกลออกไป เป็นเพื่อนร่วมชาติแม้กระทั่งว่าเป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นฝรั่งมังค่าอะไรก็ตามใจ เราก็ต้องมีความรู้พอที่จะพูดกับเขาได้บ้าง แต่ถ้าว่าที่จริงแล้วมันก็เป็นความรู้ อย่างเดียวกับที่เรารู้สำหรับเรา เพราะว่ากิเลส ไอ้ความทุกข์และวิธีดับทุกข์ มันเหมือนกันหมดแหละ สำหรับทุกคนในโลกที่เป็นมนุษย์นี้มันเหมือนกันหมด ถ้าเรารู้ของเรา ส่วนของเราดีจริงถูกต้องเพียงพอ มันก็พอที่จะให้ผู้อื่นได้ ช่วยผู้อื่นให้รู้ หรือว่าช่วยให้เขาได้ปฏิบัติ ให้รู้ให้ถูกต้อง ข้อนี้มันก็เป็นบุญกุศลอันใหญ่หลวงแล้ว เพราะมันจะช่วยกันสร้างสันติภาพขึ้นมาในโลก เพราะว่าโลกนี้มันมีสันติภาพได้เพราะมีธรรมะ อย่างอื่นไม่มี มีธรรมะถูกต้องสำหรับเรา อยู่เย็นเป็นสุข ก็ช่วยผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นด้วย มันก็ดีหมด
เดี๋ยวนี้โลกนี้ไม่มีธรรมะ คือมีน้อยเกินไป มันจึงมีแต่ความเดือดร้อนยุ่งยาก ที่เรียกว่าวิกฤตการณ์เต็มไปหมด อย่างไม่น่าจะมี คุณสังเกตดูสักนิดเถอะก็จะมองเห็นได้ ว่าการศึกษานี้เขาว่าเจริญก้าวหน้าไปขนเอาหลักการศึกษาตามวิธีจัดการศึกษามาจากเมืองนอกเมืองนา มาจัดการศึกษาในเมืองไทย แล้วก็พอใจว่าการศึกษาเจริญก้าวหน้ามาก แต่แล้วมันก็สูญเปล่าทั้งนั้น คือคนอันธพาลมันยิ่งมากขึ้น ถ้าว่าการศึกษาเจริญก้าวหน้ามาก ยาเสพติดมันก็เกิดขึ้นมาได้ในหมู่นักศึกษา มันเป็นปัญหา คนไม่มีมรรยาท ไม่มีสมบัติผู้ดีกลับมีมาก พูดกันแต่เรื่องว่าทิ้งขยะบนถนนจากหน้าต่างรถยนต์ นี่มันเลวถึงขนาดนี้ ยุคก่อนๆ โน้นไม่ได้ยินอะ จะไม่มีอะ คนที่เลวถึงขนาดมันมีรถยนต์ขี่แล้วจะทิ้งขยะจากหน้าต่างรถยนต์ลงบนถนนน่ะ สมัยก่อนมันไม่มี สมัยนี้กลับมีและกลายเป็นปัญหา นี้เรียกว่าการศึกษามันสูญเปล่า มันไม่ช่วยดับทุกข์ หรือแก้ปัญหาของมนุษย์เลย มนุษย์อันธพาล อ่า, เด็กอันธพาลน่ะ คนอันธพาลหนาแน่น กิจกรรมลามกอนาจาร เรื่องโสเภณี เรื่องอะไรก็ตามมันมากขึ้น ทั้งที่อวดว่าการศึกษาเจริญ นี่มันไม่มีธรรมะอะ มันไม่มีธรรมะอย่างเดียว
ที่ผมเคยพูดยิ่งกว่าล้อ หรือจะเรียกว่าด่าก็ได้ เรามีการศึกษาระบบหมาหางด้วนกันทั้งประเทศและทั้งโลก เมื่อ ๒-๓ วันนี้ได้รับหนังสือของปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ขออนุญาตพิมพ์เรื่องการศึกษาหมาหางด้วน ลงในหนังสือที่ระลึกอะไรของเขา ของกระทรวง นี่ก็อยากจะเดาหรือเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเรื่องการศึกษาเริ่มสนใจ เริ่มสนใจเรื่องนี้ การศึกษาที่มีแต่เรียนหนังสือกับเรียนวิชาชีพ เทคโนโลยี่ทั้งหลาย และก็ไม่มีเรียน ธรรมะ คือไม่มีเรียนในส่วนที่ว่าจะเป็นมนุษย์กันอย่างไรให้ถูกต้อง มันไม่ได้เรียน มันเรียนแต่หนังสือกับวิชาชีพ นี้เราเรียกว่าการศึกษาหมาหางด้วน นี่การศึกษามันเป็นอย่างนี้ เพราะมันจึงไม่ทำให้เกิดศีลธรรมในหมู่ประชาชน ถ้าแก้ไขเรื่องนี้ไม่ได้มันก็น่าละอายหมา น่าละอายแมว ซึ่งมันยังมีปัญหาน้อยอยู่อย่างเดิม แต่คนนี้ กลับมีปัญหามาก ทุกเรื่องมันเป็นอย่างนี้ ความเจริญทางวัตถุ บ้านเมือง อุปกรณ์ คมนาคม อะไรก็ตามเจริญ แต่แล้วโลกมันก็ไม่ดีขึ้น เต็มไปด้วยรถถัง เต็มไปด้วยเครื่องบินรบเนี่ยมันก็ไม่ว่า แต่ว่าที่มันมีๆ อยู่ธรรมดาสามัญ ไอ้รถไฟ ไอ้เรือไฟ อะไรธรรมดาๆ มันมีความสะดวกสบายมาก แต่มนุษย์มันก็ไม่ได้ดีขึ้น มันกลับใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อสนองกิเลส ทำให้เพิ่มปัญหา ทำให้เป็นอยู่ชนิดที่ต้องใช้เงินมาก เงินไม่พอใช้ อย่างถนนดีอย่างนี้อะ ก็คุณดูเถอะ มันก็เอาไว้สำหรับจี้และปล้นแล้วหนีไปได้สะดวก ถ้าถนนไม่ดี จี้ปล้นหนีไม่ทัน เพราะมีถนนดีอย่างนี้ จี้ปล้นก็หนีไปได้สะดวก การมีถนนก็คล้ายๆ ว่า ช่วยให้มีเรื่องจี้เรื่องปล้นมากขึ้น คนเขาใช้สิ่งที่เรียกว่าความเจริญกันอย่างนี้ มันน่าเศร้า
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ทำลายธรรมชาติมากเกินไปด้วยความโง่ความหลง มัวแก้ว่าจะ มัวแก้ปัญหาว่าจะแก้ด้วยเศรษกิจ ไม่ได้แก้ด้วยศีลธรรม เพราะฉะนั้นน่ะก็ทำลายธรรมชาติกันมากขึ้น โดยคิดว่ามันจะดีทางเศรษฐกิจ แล้วจะสร้างสันติภาพ
แล้วอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสงสารมากก็คือว่าการแพทย์เจริญเหลือประมาณ ทางวิชาค้นคว้า ทางปฏิบัติการ ทางสถานที่ทำงานการแพทย์เจริญมาก แต่ว่าคนก็จะมาก คนป่วยก็ยังคงจะมากกว่าไอ้การเพิ่ม อ่า, ความเจริญทางการแพทย์ ก็ต้นเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บมันมีอย่างอื่น มันมีมาจากไอ้ความไม่มีศีลธรรมของคน คนจะเป็นโรคประสาทมากขึ้น เป็นบ้ามากขึ้น อ่า, เพราะการดำรงชีวิตจิตใจไว้ไม่ถูกต้อง ซึ่งเขาไม่สนใจนี่ คนเหล่านี้ไม่มีโอกาสจะสนใจ และก็ไม่อยากจะสนใจว่าเราจะมีธรรมะอย่างไร อ่า, สำหรับชีวิตจิตใจที่จะได้สงบ จะนอนหลับสนิท แล้วก็จะไม่เป็นโรค เอ่อ, โรคที่เป็นพื้นฐานของโรคอื่นๆ น่ะ คือโรคสุขภาพทางจิตไม่ดี พอสุขภาพทางจิตไม่ดีแล้วมันเป็นได้ทุกโรค มันก็สร้างโรคใหม่ๆ ซึ่งหมอไม่รู้ว่าจะรักษากันอย่างไร อย่างนี้ก็ยังมีอีกมาก โรคใหม่ๆ เกิดขึ้นตาม หรือว่าล้ำหน้าความเจริญทางการแพทย์ นี่ก็น่าหัวเพราะว่า เขาไม่มองดูกันที่ต้นเหตุที่แท้จริง คือความไม่มีศีลธรรมของมนุษย์ อยู่อย่างไม่มีศีลธรรม เรื่องกินเรื่องอยู่เรื่องนุ่งเรื่องห่ม เรื่องทุกอย่างอะทุกเรื่อง แล้วยิ่งกว่านั้นความไม่มีศีลธรรมมันทำให้ฆ่ากัน ทำร้ายกันอย่างรุนแรง นี่เรียกว่ามันก็เพิ่ม มันมาก โรคทางภายนอก เพราะการฆ่ากัน การยิงกัน ระเบิดกันอะไรกันมันก็มีมากขึ้นเหมือนกัน เหมือนกับโรงพยาบาลมันก็ไม่พอ ให้สร้างอีก ๑๐ เท่าที่มีอยู่นี้ก็ไม่พอหรอกโรงพยาบาล ไม่พอกับไอ้ความเจ็บไข้ได้ป่วยที่มันเกิดมาจากความไม่มีศีลธรรมอ่า, ของมนุษย์ ถ้าว่าคุณมองเห็นปัญหาเหล่านี้แล้วก็จะดีมาก ก็จะได้ไปช่วยกัน พูดจาให้เพื่อนมนุษย์ของเรามีศีลธรรม ปัญหาเลวร้ายทั้งหลายมันก็จะลดลง
เพราะเขาเห็นแก่ตัวน่ะ คำเดียวเท่านั้นแหละปัญหาของมนุษย์ทั้งจักรวาลนี่มาจากความเห็นแก่ตัว แล้วมันก็ทำให้ออกมาเป็นความโลภ ออกมาเป็นความโกรธ ออกมาเป็นความหลง ออกมาตาม ทุกอย่างอะ รัก โกรธ เกลียด กลัว วิตก กังวล อาลัย อาวรณ์ หึงหวง อิจฉา ริษยา เดี๋ยวนี้โรคริษยากำลังเต็มไปทั้งโลก ที่มันทำสงครามยืดเยื้อ มหาสงครามอยู่ตลอดเวลานี่ เพราะความริษยา เราจะต้องครองโลก เราจะต้องได้ไอ้ทรัพยากร ทั้งโลกเป็นของเรา นี้มันคือความโลภ และริษยาไม่ให้ผู้อื่นได้หรือไม่ให้ผู้อื่นมี เขาค้นคว้าอาวุธวิเศษที่จะล้างผลาญผู้อื่น ก็เพราะความริษยาผู้อื่นทั้งนั้น ฉะนั้นความริษยาเป็นเรื่องทำลายโลก ตรงตามภาษิต ตามธรรมะภาษิต อะระติ โลกะนาสิกา ความริษยาเป็นเครื่องทำโลกให้วินาศ นาสิ ก็ให้มันเป็นวินาศ
ฉะนั้นการที่ได้บวชแล้วถ้าได้ฝึกการทำลายความเห็นแก่ตนนั้นแหละวิเศษ เพราะว่าโรคร้าย เอ่อ, ทางกาย ทางจิต ทางวาจา ทางอะไรต่างๆ มันมาจากความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นต้นตอของกิเลสทั้งหลาย อื่อ, ได้ยิน ได้อ่าน ได้ฟัง ได้ศึกษามาเท่าไร แต่วันหลังอะ คุณจะต้องมองเห็นหรือจับให้ได้ว่า ถ้าเข้าใจ ถ้าศึกษาถูกต้อง จะมองเห็นว่าทั้งหมดมันไปรวมอยู่ที่ความเห็นแก่ตัว มันไม่ใช่ว่า โลภ โกรธ หลง มันจะเกิดขึ้นมาได้ง่ายๆ มันล้วนแต่เกิดมาจากความเห็นแก่ตัว ความโง่ให้มีตัว เห็นแก่ตัว อยากได้ก็เห็นแก่ตัว มันก็โลภ เมื่อไม่ได้ตามที่ตัวต้องการมันก็โกรธ ก็เห็นแก่ตัว มันยังสงสัยอยู่เสมอว่าจะได้มาอย่างไร จะได้หรือไม่ได้นี้มันยังวิตก กังวล สนใจอยู่ตลอดเวลา ไอ้โลภ โกรธ หลงนี่ยังมาคลอดลูก ออกไปเป็นกิเลสชื่ออื่นๆ ได้อีกมากมายหลายสิบชื่อ ไอ้สามชื่อนี้มันก็มาจากความเห็นแก่ตัว การได้บวชได้เรียนเพื่อฝึกฝนทำลายความเห็นแก่ตัวนี้วิเศษมากนะ ผมจึงพูด ขอร้องให้คุณเอาติดไป ลาสิกขาบวชกลับไปบ้านแล้วนี้ อ่า, ขอให้เอาบทเรียนที่ฝึกเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัวนี้ติดไปด้วย อื่ม, ความทุกข์ทั้งหมดมาจากความเห็นแก่ตัว อื่ม, ความทุกข์โลกๆ ความทุกข์ทางสังคมทางการเมือง ทางบ้านทางเรือนข้างนอกนี่ ความทุกข์ก็มาจากความเห็นแก่ตัว ไอ้ความทุกข์ที่เป็นกิเลสเผาผลาญอยู่ข้างในไม่รู้จักนิพพานนั้นน่ะ ก็เป็นเรื่องความเห็นแก่ตัว
ฉะนั้นความเห็นแก่ตัวนั้นน่ะคือ สิ่งเลวร้ายที่สุดจนไม่รู้จะเรียกกันว่าอะไร ปัญหาทั้งหมดมาจากความเห็นแก่ตัว คนนอนไม่หลับเป็นโรคประสาทกันมาก ก็เพราะว่าไอ้ความเห็นแก่ตัวมันขยายตัว ทีนี้ถ้ากำจัดความเห็นแก่ตัวได้ หรือควบคุมได้ มัน มันก็ไม่เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้าปล่อยให้เกิดความโลภ ความหลง ความโลภ ความโกรธ ความหลงเมื่อไรมันก็สะสมความเคยชินที่จะเกิดมากขึ้นทุกทีไป ฉะนั้นกิเลสจึงเกิดง่าย เกิดง่ายยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น อ่า, เพราะว่าเกิดกิเลสทีหนึ่ง มันเกิดอนุสัยทีหนึ่งด้วยเหมือนกัน อนุสัยนั้นคือว่า ความเคยชินที่จะเป็นเช่นนั้น เกิดความโลภ มันก็เกิดความเคยชินที่จะโลภได้ง่ายกว่าเกิดอนุสัย เรียกว่าราคานุสัย โกรธทีหนึ่งมันเกิดความเคยชินที่จะโกรธได้ง่ายอีกเรียกว่าปฏิฆานุสัย เกิดความหลง โมหะ โง่ ทีหนึ่ง มันก็ให้เกิดความเคยชินที่จะโง่เรียกว่าอวิชชานุสัย สะสมอยู่ในแต่ละคน ละคนมากเหลือเกิน ความเคยชินที่จะโลภ ความเคยชินที่จะโกรธ ความเคยชินที่จะหลง แต่แล้วมันจะลดลงในเมื่อเราบังคับได้ทุกทีที่จะโลภ ไม่โลภบังคับไว้ได้อย่างรุนแรง ทุกทีที่โกรธบังคับไว้ได้ ทุกทีที่จะโง่บังคับไว้ได้ ไอ้ความเคยชินที่มีอยู่ก่อนจะลดลง ลดลง
ฉะนั้นอยู่ด้วยการบังคับจิต บังคับตัว บังคับกิเลสนี่ ไอ้ ไอ้รังของกิเลสที่อยู่ในเรามันจะลดลง ลดลง นี้จึงพูดว่าขอให้ฝึกการบังคับตัวอยู่ตลอดเวลาที่บวช อ่า, สึกกลับออกไปบ้านก็ขอให้เอาไปด้วย ระบบการบังคับตัว
น่ารักก็อย่าไปรัก น่าเกลียดก็อย่าไปเกลียด น่าโกรธก็อย่าไปโกรธ น่ากลัวก็อย่าไปกลัว วิตก กังวัล อาลัยอาวรณ์ อิจฉา ริษยา หึงหวง ต่อสู้ ฆ่าฟันอะไรกัน อย่าปล่อยให้มันเป็นไปได้ก็ดี เดี๋ยวนี้มันมีความเห็นแก่ตัวอยู่ มันก็ยากอะที่จะบังคับ
เรื่องนี้มันลึกซึ้งมาก โยงไปถึงไอ้วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี อ่า, ที่มันไม่ถูกต้อง อ่า, ที่มันได้ใช้แก่เด็กๆ มันถูกมอบให้แก่เด็กๆ ทารกตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งโตขึ้นมา เด็กเกิดมาจากในท้อง มันไม่มีอะไรแหละ เหมือนกับว่าจิตเกลี้ยงๆ ออกมา ทีนี้พอมาพบอะไรเข้า มันก็จะเกิดอะไรขึ้นตามสมควรแก่ที่มันได้มาพบเข้า เกิดมาจากท้องแม่ไม่เท่าไรแหละมันก็ต้องกินเป็นต้น หรือได้อารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนังโดยเฉพาะนี่ มันก็ได้รับแล้วมันก็รู้สึก อร่อย อร่อย พอใจ ถูกใจ ไอ้ฝ่ายหนึ่งมันก็รัก ชอบ โลภ ทีนี้บางคราวมันไม่อร่อย ไม่ถูกใจ มันโกรธ โกรธ โกรธ เด็กทารกเล็กๆ นี่มันก็โกรธ หรือถ้าหวังว่าอันนี้จะมีประโยชน์ได้ก็สนใจ อาลัยอาวรณ์อยู่นั่น แล้วพ่อแม่ทั้งหลายอ่ะ, มันก็อยากจะให้ลูกได้กินอร่อยๆ ทั้งนั้น หรือมันเท่ากับว่าอบรมทารก เด็กทารกให้ชอบความอร่อยจนบูชาความอร่อยโดยไม่รู้สึกตัว ตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ สัญชาตญาณมันก็ชวนให้รู้สึกอย่างนั้น อ่า, แล้วมนุษย์มันก็ชวนให้ส่งเสริม ชวนส่งเสริมให้เป็นอย่างนั้น เด็กๆ จึงได้รับความอร่อย แล้วก็ปรุงแต่งไปตามกฎเกณฑ์ของปฏิจจสมุปบาท จนมีกิเลสแน่นหนามีความทุกข์ มีอนุสัย มีตัณหา มีอุปาทาน เป็นชีวิตที่เป็นทุกข์ นี้ขอให้รู้ว่าไอ้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ หรือวัฒนธรรมของมนุษย์ มันไม่ได้ถูกต้องสำหรับที่จะดับทุกข์มาแต่แรก ในข้อนี้ก็ไม่รู้ว่าใครจะรับผิดชอบ ให้ใครรับผิดชอบมันก็ไม่ได้ทั้งนั้นแหละ มันเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีมา ด้วยความรักลูก มันก็จะหาของอร่อยที่สุดให้ลูกกิน มันก็จะหาของสวยงามมาให้ลูก มาให้เล่น ให้หอม ให้ไพเราะ ให้นิ่มนวล ให้เป็นสุข เอร็ดอร่อย ฉะนั้นคุณที่จะสึกออกไปคงจะไปมีครอบครัว แล้วก็คงไปทำอย่างนั้นอีก ที่ให้ลูกทุกคนมันโง่ที่สุด ตั้งแต่พอเด็ก ตั้งแต่เป็นเด็กๆ ออกมาบูชาความเอร็ดอร่อย
ในส่วนธรรมะนี่มันไม่เป็นอย่างนั้น ธรรมะมันมีหลักว่า ถ้าอร่อย ก็เช่นนั้นเองแหละ ตามกฎอิทัปปัจจ-ยตา มันรู้สึกอร่อย ก็มันตรงกับลิ้นที่รู้สึกอร่อย จึงเรียกว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ตถาตา เช่นนั้นเอง ถ้าไม่อร่อย ก็เพราะว่ามันไม่ตรงกับไอ้ระบบประสาทที่มันต้องการฝ่ายอร่อยมันก็ไม่อร่อย ฉะนั้นความไม่อร่อยมันก็คือเช่นนั้นเองอีกเหมือนกัน แล้วเมื่อคุณบวชอยู่เป็นพระที่ดี ไม่ยินดียินร้ายเมื่อฉันอาหารบางคำอร่อย บางคำไม่อร่อย เมื่อฉันอาหารปัจจุบัน บางคำอร่อย บางคำไม่อร่อย แต่ว่าเรามีสติฝึกฝนตัวเองให้รู้สึกเหมือนกันไม่ยินดีไม่ยินร้าย นี่ถ้าลาสิกขากลับออกไป เอาข้อปฏิบัติอันนี้ไปด้วยได้ยิ่งดี อร่อยก็คือความรู้สึกของระบบประสาท ไม่อร่อยก็คือความรู้สึกของระบบประสาท ดังนั้นมันจึงเท่ากัน จะไปยินดียินร้ายกับมันทำไม ถ้ายินดีก็เกิดโลภะ ราคะ ถ้ายินร้ายก็เกิด โทสะ โกธะ ถ้ายังไม่แน่มันก็เกิดโมหะ ควรจะจำไอ้บทเรียนที่เราฝึกอย่างถูกต้องของความเป็นพระเมื่อเราบวชอยู่ อร่อยก็คืออย่างนั้น ไม่อร่อยคืออย่างนั้น ฉะนั้นจึงไม่ยินดีไม่ยินร้าย ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง
ข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าอย่าไปกินของอร่อย ถ้าอย่างนั้นก็เข้าใจผิดต่อหลักธรรมะ ไอ้หลักธรรมะก็กินสิเมื่อมันอร่อย เมื่อคำนี้กินเข้าไปมันอร่อยก็รู้ได้ว่ามันอร่อย รู้สึกได้ว่ามันอร่อย แต่อย่าไปหลงกับมันเท่านั้นเองแหละ ถ้ามันไม่อร่อยคำนี้กินเข้าไป ก็รู้สึกว่าไม่อร่อยก็ได้ ก็ได้ รู้สึกว่าไม่อร่อยก็ได้ แต่อย่าไปหลงกับมันคืออย่าไปโกรธมัน เพียงเท่านั้น หรือถ้าเผอิญ มันไปกินของอร่อยเข้า ก็รู้สึกว่าอร่อยได้ไม่ต้องเดือดร้อน มันไม่ต้องกลัว ไม่ต้องว่ามันอร่อย แล้วก็หยุดเสียแค่ว่ามันอร่อยก็แล้วกัน อย่าไปหลงมัน ไม่อร่อยก็อย่าไปหลงมัน ถ้ามันมีวัฒนธรรมอย่างนี้นะ สอนเด็กเล็กๆ มาตั้งแต่เล็กๆ แล้วก็ ไอ้, มนุษย์จะดีกว่านี้มาก ถ้ามนุษย์รู้จักว่าอร่อยก็อย่างนั้นเอง ไม่อร่อยก็อย่างนั้นเอง เป็นมาตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ มันก็ยากที่จะเกิดกิเลสหนาแน่นเหมือนเดี๋ยวนี้
อื่ม, ผมอยากจะพูด อยากจะพูด ถ้าว่าขอร้องเดี๋ยวคุณก็ไม่ทำตาม พอมีลูก ได้ครอบครัว มีลูก ก็สอนให้ลูกมันรู้อย่างนี้แหละ อร่อยก็เช่นนั้นเอง ไม่อร่อยก็เช่นนั้นเอง ก็พาลูกอะ ไปที่ร้าน ไปที่ร้านตลาดที่มันขายของเด็กเล่นสารพัดอย่าง ของกิน ของเล่นอะไรสำหรับเด็กเล่นที่ของเด็กชอบขายแพง แล้วก็บอกไอ้ลูกเล็กๆ นั้นว่า ไอ้ของทั้งหมดนี้ อะ, เขามีไว้สำหรับทำให้เราเป็นคนโง่เท่านั้นแหละลูกเอ๋ย คุณจะทำได้ไหม หรือคุณเคยเห็นใครทำที่ไหนไหม จะพาลูกไปที่ร้านขายของเด็กเล่น แล้วบอกลูกว่า ทั้งหมดนี้เขามีไว้สำหรับทำให้เราโง่เท่านั้นแหละ เคยเห็นใครทำที่ไหนบ้าง ถ้าไม่เคยเห็นก็ลองทำดูสักทีได้ไหมอะ คุณลองทำดูสักทีได้ไหมล่ะ ถ้ามีลูกมีหลานมีอะไรก็ตามใจเถอะ แล้วมันจริงนี่ เด็กๆ มันก็จะมองเห็นนะ ทั้งหมดนี้ ของกินก็ดี ของเล่นก็ดี ทั้งถูกทั้งแพง ทั้งหมดนั้น มันมีไว้สำหรับทำให้เราโง่ อธิบายนิดเดียวเด็กมันก็พอจะรู้ได้ว่าทำให้เราโง่คืออย่างไร คือจะต้องเสียสตางค์แล้วเราจะต้องเอามาเล่นเอามาหัว เอามาพักหนึ่งแล้วเราก็ทิ้ง แล้วเราก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรคุ้มค่ามันหรอกนอกจากโง่ แม่ พ่อ มันก็ชอบซื้อมาให้ลูกเต็มตู้ ของเล่นแพงๆ น่ะ ไอ้ลูกมันก็ดีใจว่าเรามีมากกว่าเด็กคนอื่น มันก็อวดคนอื่น นี้คือเรื่องส่งเสริมความโง่ นี้เราจะให้มันมีความรู้ ธรรมะมาแต่เล็กมันก็ต้องทำกันอย่างนี้ หรือจะบอกว่าไอ้ที่อร่อยนี้มันทำให้เราโง่นะ หลงรัก ที่ไม่อร่อยนี้ก็มันทำให้เราโง่ สำหรับที่ว่าจะเกิดเรื่องไม่ชอบใจด่าคนนั้น กระฟัดกระเฟียด อย่างนั้นอย่างนี้มันทำให้เราโง่
ฉะนั้นเราควบคุม อร่อยก็อร่อยเท่านั้นแหละ อย่ามาทำให้เราโง่ จนถึงหลงรักหลงอะไรมีเรื่องมีราว ถ้าไม่อร่อยก็ไม่อร่อยเท่านั้นแหละ อย่าเอามาทำให้เราโง่ นี้เด็กของเราจะต้องฉลาดในทางธรรมะมาตั้งแต่เล็กแล้ว แต่ดูสิมันไม่มีขนบธรรมเนียมประเพณีหรือวัฒนธรรมไหนที่ทำกันอย่างนี้ เมืองไทยก็ดีเมืองนอกก็ดีที่ไหนก็ดีมันไม่มี ไอ้ระเบียบวัฒนธรรมอย่างนี้ ฉะนั้นเด็กๆ ของเราก็จะต้อง โง่ โง่ โง่ โง่ โง่ จนเป็นหนุ่มเป็นสาว โง่ โง่ โง่ กว่ามันจะถึงขีดสุดของความโง่แล้ว และมันมีวิธีบวชมาเรียนอย่างนี้กันที่ไหนนักล่ะ มันก็จะมีแต่ในเมืองไทยหรือในหมู่พุทธบริษัท ที่จะมาเรียนให้รู้ว่าไอ้ของเหล่านี้มันมีสำหรับให้เราโง่ มันไม่มีนี่ ทั่วทั้งโลกมันจะไม่มี ถ้าเราทำได้และมี มันก็ดี คนโง่ในโลกมันก็จะน้อยลง ไม่โง่ต่อกิเลส ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ค่อยมีโลภะ โทสะ โมหะ ก็มีมนุษย์ที่ดีเต็มบ้านเต็มเมืองเพราะว่ามันไม่หลง ไม่โง่มาตั้งแต่เล็ก การที่ทำให้เด็กๆ เขาหลงในความสุข ความเอร็ดอร่อย นั่นแหละคือจุดตั้งต้นผิดพลาดของมนุษย์ อ่า, ทำมนุษย์ให้มันหลงอยู่ในฝ่ายดี ฝ่ายอร่อย ฝ่ายสวย ฝ่ายงาม เมื่อหลงฝ่ายดี ฝ่ายสวย ฝ่ายอร่อย ฝ่ายงดงามแล้ว มันแน่นอนที่สุดมันจะต้องหลงฝ่ายตรงกันข้ามด้วย เพราะมันมีผลตรงกันข้ามมันก็ต้องหลงไปในทางตรงกันข้าม มันก็หลงในทางที่จะเป็นร้ายขึ้นมา โกรธ เกลียด เกิดเรื่องเพราะเกลียด เป็นทุกข์ของตนเอง แล้วมันก็จะทำร้ายผู้อื่น พาลพาโล ทำให้เขาไม่ได้อย่างใจ
เหมือนกับเดี๋ยวนี้ที่มีข่าวหนังสือพิมพ์มากขึ้น มากขึ้น ไอ้ลูกฆ่าพ่อฆ่าแม่มันเพราะไม่ให้เงินไปซื้อ เฮโรอีนมีมากขึ้น นี่มันหลงได้อย่างนี้ ถ้ามันรู้มาเสียแต่ทีแรก ไอ้อร่อยคือทำให้โง่ ไม่อร่อยก็ทำให้โง่ ก็อย่าไปโง่กับมัน มันอร่อยก็อร่อยกัน คือว่านี้อร่อยถูกแล้ว ไม่อร่อยก็ไม่อร่อย อย่าไปโง่กับมัน นั่นคือธรรมะสูงสุด รากฐานทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว
ทีนี้ไอ้เรื่องหลักสำคัญที่สุดที่มันจะเกิดไอ้ความรู้สึกเลวร้ายเหล่านี้ตามลำดับ ก็คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท ที่พวกคุณก็คงจะเคยได้ศึกษา ได้เรียนได้อ่าน ได้ผ่านสายตากันมาแล้ว แต่มันอาจจะไม่เข้าใจก็ได้ ฉะนั้นถ้าศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทได้ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์แล้วจะเข้าใจเรื่องนี้แหละ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ ในฐานะเป็นอาทิพรหมจรรย์ จุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ เรื่องปฏิจจสมุปบาทที่ศึกษาได้ง่าย เข้าใจได้ง่ายๆ ก็มีอยู่ ชนิดหนึ่ง คือชุดหนึ่ง ที่มันเข้าใจยากและที่ศึกษากันอยู่ในโรงเรียน อวิชชาปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณปัจจัยให้เกิดนามรูป อันนี้อธิบายยาก แล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจกันละ แล้วอธิบายไปในทางมีตัวมีตนไปเสียอีก ให้หลงบุญเกลียดบาปไปเสียอีก ไม่ใช่ปฏิจจสมุปบาทที่ถูกต้อง ปฏิจจสมุปบาทที่ถูกต้องนั้นจะทำให้ไม่เกิดความรู้สึกว่ามีตัวมีตน มีบุญมีบาป ไม่มี มีแต่ที่มันจะไปตามกระแสของปฏิจจสมุปบาท พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เป็นหลัก ตาเนื่องกันกับรูป ตานี่ คือมันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ฝ่ายละ ๖ เป็นคู่ๆ เป็น ๖ คู่ ยกตัวอย่างคู่แรก คือตานี่เนื่องกันเข้ากับรูป มันก็เกิดจักษุวิญญาณ ๓ ประการนี้ ตากับรูปจักษุวิญญาณนี่ทำงานในหน้าที่ของมันก็เรียกว่าผัสสะ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ถ้ามีเวทนาปัจจัยให้เกิดตัณหา มีตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน ยึดถือ ถ้ามีอุปาทานจึงมี ภพ ภพมีชาติ ชาติจึงมีทุกข์ทั้งปวง
ข้อนี้ถ้าเข้าใจแล้วก็จะ ถ้าเข้าใจถูกต้องมันก็จะเข้าใจเรื่องนี้เรื่องความลับเหนือธรรมชาติในด้านจิตใจ ที่ว่ามันเกิดเวทนาอย่างไร เกิดตัณหาอย่างไร ไอ้ตรงนั้นแหละที่เรียกว่าอร่อยหรือไม่อร่อย มันอยู่ที่ตรงนั้นแหละ เวทนา อร่อย ตัณหามันเกิดอย่าง เวทนาไม่อร่อย ตัณหามันเกิดอย่าง เวทนากลางๆ ตัณหามันก็เกิดอย่าง เกิดตัณหาคือมันอยากไปตามหมายของเวทนา แล้วมันก็เกิดตัวกู ผู้อยาก ความรู้สึกว่าตัวเราตัวกูผู้อยากก็เกิดขึ้นมาทั้งที่มันไม่มีตัวกู แต่มันก็เกิดความคิดว่าตัวกู กูอยาก กูต้องการ กูได้ กูเสีย เขาเรียกว่าอุปาทาน พออุปาทานอย่างนี้มีแล้วก็มีภพ คือเกิดเป็นชาติ เป็นภพเป็นชาติขึ้นมาในใจ ก็มีตัวกูของกู สมบูรณ์ก็เรียกว่าชาติ พอมีชาติมันก็เอาสิ่งต่างๆ มาเป็นของกู ความเกิดของกู ความเจ็บของกู ความตายของกู มันก็เป็นทุกข์ไปหมดล่ะ ถ้ามันไม่มีตัวกูเกิดโง่ๆ อย่างนี้ ไอ้ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันก็ไม่มาเป็นของกู มันก็เป็นของธรรมชาติไป ฉะนั้นเรื่องผัสสะ สำคัญมาก เราจะมีความทุกข์เพราะเราทำผิดในขณะแห่งผัสสะ เราจะไม่มีทุกข์ หรือจะดับทุกข์ ก็เพราะว่าเราทำถูกในขณะแห่งผัสสะ เกือบจะทั้งหมดในพระบาลี พระพุทธเจ้าทรงระบุไปตรงที่ผัสสะเป็นตัวการ ทีนี้เราก็ไม่รู้จักผัสสะ ไม่รู้เรื่องผัสสะ ว่าผัสสะคืออะไร ทำอย่างไร มันก็ไปตามบุญตามกรรม มันก็เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา ของน่ารักมาให้รักมันก็เป็นทุกข์ไปตามแบบรัก ของน่าโกรธน่าเกลียดมา มันก็เป็นทุกข์ตามแบบน่าโกรธน่าเกลียด เพราะมันไม่รู้เรื่องผัสสะ มันทำผิดในขณะแห่งผัสสะ คุณอาจจะไม่เข้าใจก็ได้นะเรื่องนี้ เพราะมันต้องอธิบายกันหลายที ทำผิดในขณะแห่งผัสสะนั้นคืออย่างไร ทำถูกในขณะแห่งผัสสะนั้นเป็นอย่างไร พูดพอเป็นหลัก เป็นเค้าเงื่อนย่อๆ ตากับรูปถึงกันเกิดจักษุวิญญาณ ๓ ประการนี้เรียกว่าผัสสะ หูกับเสียงถึงกันเข้าเกิดโสตะวิญญาณ ๓ ประการนี้ทำงานสัมผัสร่วมกัน รู้สึกอารมณ์นั้นร่วมกันเรียกว่าผัสสะ จมูกก็เหมือนกัน ลิ้นก็เหมือนกัน ผิวหนังก็เหมือนกัน จิตใจก็เหมือนกัน เรามีผัสสะวันหนึ่งนับไม่หวาดไม่ไหว แล้วเราก็ไม่รู้ แล้วก็ทำผิด ฉะนั้นจิตใจก็ปั่นป่วน เศร้าหมองไปจนตลอดวัน
ทำถูกในผัสสะเช่นว่าสวย ตาเห็นสวย เอ้า, แล้วมันก็แค่นั้นเอง มันสวย อย่าไปหลงความสวย ถ้าไม่สวยมัน มันไม่สวย มันไม่สวย อย่าไปหลงกับความไม่สวย ทางหูก็เหมือนกัน ว่าไพเราะหรือไม่ไพเราะ มันก็แค่นั้นเอง จมูกหอมหรือเหม็น มันก็แค่นั้นเอง อย่าไปเกิดเรื่องกับเรื่องหอมเรื่องเหม็นในทางจิตใจ ลิ้นอร่อยหรือไม่อร่อยก็แค่นั้นเอง ผิวหนังนิ่มนวลสัมผัสหรือว่าแข็งกระด้างหยาบคาย มันก็แค่นั้นเอง เรียกว่ามีสติ มีปัญญาพอ แล้วมันก็ไม่ทำผิดในขณะแห่งผัสสะ กิเลสเกิดไม่ได้แล้วก็ไม่มีความทุกข์ ฉะนั้นขอให้ถือเป็นหลักว่าเป็นทุกข์เพราะทำผิดต่อกฎอิทัปปัจจยตาในขณะที่มีผัสสะ เป็นทุกข์เพราะทำผิดต่อผัสสะจากกฎของอิทัปปจ-ยตา อื่ม, ไม่เป็นทุกข์หรือเป็นสุข ก็เพราะทำถูกต่อสิ่งที่เรียกว่าผัสสะตามกฎแห่งอิทัปปัจจยตา มีเท่านี้เอง เป็นธรรมะครอบหมดทั้งพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่านี้เป็นอาทิพรหมจรรย์ เป็นตัวพรหมจรรย์ เป็นหลักของพรหมจรรย์ ไอ้เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี่ จนพระพุทธเจ้าทรงนำมาท่อง ใช้คำว่าท่อง ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร คือพระพทุธเจ้าท่านเอามาว่าเอง ทั้งที่ท่านก็เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็ยังเอามาท่อง มันมากกว่าว่าเด็กๆ มันท่องสูตรคูณกันลืม แล้วมันก็ ก็ถูกแล้ว แต่นี้พระพุทธเจ้าท่านไม่ลืม แต่ท่านก็ยังอุส่าห์เอามาท่อง นี้ ใน ใน ในพระไตรปิฎก ในบาลี มันมีอย่างนี้ แล้วเราไม่เคยพบเลยว่าพระพุทธเจ้าเอาสูตรไหน ข้อความไหนมาท่อง นอกจากสูตรที่ว่านี้ คือเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี่ “จักขุญจะ ปฏิจจะ รูเปจะ อุปปัชชะติ วิญญานัง ติณนัง ธัมมานัง สังคะติ ผัสโส ผัสสะปัจจะยา เวทะนา เวทะนาปัจจะยา ตัณหา ตัณหาปัจจะยา
อุปาทานัง อุปาทานะปัจจะยา ภะโว ภะวะปัจจะยา ชาติ ชาติปัจจะยา ชะรา มะระณัง โสกะ ปะริเทวะ ทุกขะ-
โทมะนัสสุปายาสา อิมัสสะ เกวะลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ สะมุทะโย โหติ” ทุกข์ทั้งปวงเกิดขึ้น นี้เรื่องตา แล้วก็ท่องชุดหู แล้วก็ท่องชุดจมูก ชุดลิ้น ชุดกาย ชุดใจ
น่าประหลาดที่ว่าพระพุทธเจ้ายังท่องเหมือนกับเด็กท่องสูตรคูณ กันลืม นี่เด็กถ้าไม่ท่องสูตรคูณมันก็ลืม แต่ว่าพระพุทธเจ้านี้ไม่มีทางจะลืมหรอก ไม่มีทางจะลืมได้ แต่ท่านก็ยังเอามาว่าเล่น เอามาท่องเล่น สูตรอื่นไม่มี เนื้อความอย่างอื่นไม่มีที่พระพุทธเจ้าจะเอามาท่องเล่นอย่างนี้ อื่ม, ผมเลยตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ปฏิจจสมุปบาท ฮัมเพลง คือพระพุทธเจ้าท่านเอามาร้องเหมือนกับร้องเพลงเล่น อันนี้เข้าใจได้ง่าย อธิบายก็เข้าใจได้ง่าย
แต่ปฏิจจสมุปบาทใหญ่ ต้องขึ้นว่า อะวิชชาปัจจะยาสังขารา นั้นมันอธิบายยาก แต่ก็เหมือนกันพออธิบายถูกแล้วจะเหมือนกัน จะเข้ารอยอันเดียวกัน
ฉะนั้นเอาว่าเมื่อมันมีผัสสะแล้ว เรามันโง่ตอนนั้นแหละ มันก็ปรุงไปทางไอ้เวทนา เวทนาโง่ ตัณหาโง่ เกิดอุปาทาน เกิดทุกข์ ถ้าเราฉลาดทันในเวลาผัสสะ เป็นผัสสะฉลาด แล้วเวทนาจะฉลาด แล้วไม่เกิดตัณหาโง่ เกิดความต้องการที่ฉลาด มันก็ทำไปตามที่ควรจะทำ มันก็ไม่เกิดทุกข์ ถ้าเวทนามันโง่ ตัณหามันโง่ มันก็ทำไปตามที่มันผิดไม่ควรจะทำ นี้เราจะพยายามสอนเรื่องนี้ ให้รู้กันทั่วโลก แล้วนี่ก็คือหัวใจของพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า นี่เป็นอาทิพรหมจรรย์ ช่วยกันทำให้โลกรู้หัวใจของพุทธศาสนา
ท่านเรียกว่าอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปปาโท ชื่อยาวมาก อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปปาโท กฎนี้ กฎปฏิจจสมุปบาทนี่ ถ้าให้สั้นเรียกสั้นๆ อิทัปปัจจยตาก็ได้ ถ้าเรียกเต็มยศก็เรียกปฏิจจะ เอ่อ, อิทัปปัจจยตา- ปฏิจจสมุปปาโท สั้นเข้ามาหน่อยก็เรียกธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา สั้นเข้ามาอีกก็เรียกว่า อนัญญถตา อวิต-ถตา สั้นเข้ามาอีก ตถตา ๓ พยางค์ ตถตา เช่นนั้นเอง คือมันเป็นเช่นนั้นเองตามกฎอย่างนี้ ถ้าว่าเรารู้ตถตาเช่นนั้นเองนี้แล้วเราจะไม่ยินดีเมื่ออร่อย จะไม่ยินร้ายเมื่อไม่อร่อย เมื่อสวยไม่สวย เมื่อหอมไม่หอม เมื่อ อ่า, อ่า, ทุกๆ คู่ มันก็ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดทุกข์ อ่า, แต่ต้องมีสติมากพอ เร็วพอ ไม่อย่างนั้นมันไปเสียก่อนแล้ว มันนึกไม่ได้ ถ้าว่าคุณมีสติไม่พอ เอ่อ, ปฏิจจสมุปบาท มันก็เป็นไปในทางเป็นทุกข์แหละ ถ้าว่าไม่เคยฝึก หรือฝึกไว้ไม่พอ ก็รีบไปฝึกต่อ ลาสิกขาบทแล้วก็ฝึกได้ ฝึกต่อ ให้มีสติเร็วทันควันเมื่อมีผัสสะ อย่าได้มีการกระทำผิดพลาดโง่เขลาในขณะแห่งผัสสะ แล้วมันจะไม่เกิดตัณหาอุปาทาน มันจะไม่เกิดทุกข์ เดี๋ยวนี้ก็อยู่ที่นี่ว่าสติไม่พอ ไม่ว่าใครอะ สติไม่พอในขณะแห่งผัสสะ ถ้ามีเวทนา ตัณหา ชนิดที่ทำให้เกิดทุกข์
เรื่องหัวใจของพุทธศาสนาก็คือเรื่องนี้ เรื่องอิทัปปัจจยตา เรื่องตั้งต้นก็เรื่องนี้ เรื่องปลายสุดก็เรื่องนี้ ผมกำลังบอกพวกฝรั่งว่า พุทธศาสนา หัวใจคือเรื่องนี้ เรื่องอิทัปปัจจยตา เป็นตั้งแต่ ก-ฮ เรื่องปฏิจจสมุปบาทน่ะ คือเป็นพุทธศาสนา ตั้งแต่ ก-ฮ พูดกับฝรั่งเลยว่าเป็นตั้งแต่เป็น Alpha เป็น Omega คือตั้งแต่ ก-ฮ ฉะนั้นคุณสนใจเรื่องนี้เสีย อย่างที่ว่าสั้นๆ เมื่อตะกี้ เป็นสิ่งสูงสุด ทำผิดจะเกิดทุกข์ ทำถูกจะไม่เกิดทุกข์ แล้วพระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็คือตรัสรู้เรื่องนี้ เราได้ยินกันแต่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องรู้อริยสัจ ๔ แต่ไปดูเถอะ มันไม่มีเรื่องอริยสัจ ๔ มันมีเรื่องปฏิจจสมุปบาทถอยหลังเข้ามา ทุกข์มาจากชาติ ชาติมาจากภพ ภพมาจากอุปาทาน อุปาทานมาจากตัณหา ตัณหามาจากเวทนา เวทนามาจากอายตนะ อายตนะมาจากผัสสะ ผัสสะมาจากอายตนะ จนถึงไอ้ตัวต้นอวิชชา นั่นแหละคืออริยสัจ ๔
ทุกข์เกิดขึ้นเพราะผิดอย่างนี้ ถ้าทุกข์ดับเพราะมันถูกลงไป เรียกว่าอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท พระพุทธเจ้าตรัสรู้คือตรัสรู้เรื่องนี้ เรื่องอิทัปปัจจยตาที่ว่านี้ แต่เรามาสอนมาพูดมาบอกกันว่าตรัสรู้เรื่องอริยสัจ ๔ มันก็ถูกแล้วเพราะมันเรื่องเดียวกัน ทีนี้ อิทัปปัจจยตา หรือ อริยสัจ ๔ ก็ตามอะ เรื่องเดียวกัน เรื่องอริยสัจ ๔ มีในพระบาลีเลย พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า ตถา ยิ่งสั้นเข้าไปอีก ภิกษุทั้งหลาย ตถา มี ๔ คือ ทุกขตถา อ่า, สมุทยตถา อ่า, นิโรธตถา เรียกกันอริยสัจ ๔ แต่ไม่เรียกอริยสัจ ตรัสเรียกว่าตถา ตถา นี่สั้นกว่าตถตาเสียอีก ตถาก็แปลว่าอย่างนั้น สิ่งที่เป็นอย่างนั้นคือทุกข์ สิ่งที่เป็นอย่างนั้นคือเหตุให้เกิดทุกข์ สิ่งที่เป็นอย่างนั้นคือความดับแห่งทุกข์ สิ่งที่เป็นอย่างนั้นคือทางให้ถึงความดับแห่งทุกข์ เรียกว่าตถา คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท
ตถา สั้นที่สุด ตถตา ยาวออกไป อวิตถตา อนัญญถตา ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา
อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปปาโท นี่ กี่คำ กี่คำ นี้คือสิ่งเดียว เรื่องเดียว
พระพุทธเจ้าตรัสรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา เป็นกฎของธรรมชาติ มีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่มีใครแต่งตั้ง เป็นตัวกฎของมันเอง กฎของธรรมชาติไม่มีใครแต่งตั้ง ไม่ใช่กฎหมาย ไม่ใช่ระเบียบข้อบังคับที่มนุษย์แต่งตั้งสำหรับมนุษย์ นี่มันเป็นเรื่องสมมติ ถ้าเป็นกฎของธรรมชาติ มนุษย์ไม่ได้แต่งตั้ง มีอยู่ตามธรรมชาติ พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้ค้นพบแล้วเอามาบอก เอามาบอก บทสวดมนต์แปลเรื่องอิทัปปัจจยตามีอยู่บทหนึ่งที่นี่สวดอยู่บ่อยๆ ที่วัดชลประทานจะสวดหรือไม่สวดก็ไม่รู้ เรียกว่าบทอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปปาโท คือเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อิทัปปัจจยตา คือพบกฎของธรรมชาติ แล้วทรงเคารพเป็นสิ่งสูงสุด พอตรัสรู้แล้วก็มีปัญหาเกิดขึ้นว่า ต่อไปนี้ว่าจะเคารพใคร ในที่สุด อ่า, ทรงพบเองว่าเคารพไอ้สิ่งที่ตรัสรู้นั่นแหละ และสิ่งที่ตรัสรู้ก็คืออิทัปปัจจยตา กฎ
อิทัปปัจจยตา พระพุทธเจ้าเลยเคารพกฎอิทัปปัจจัยตา ในฐานะเป็นสิ่งสูงสุด จนถึงกับประกาศ ว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ล้วนแต่เคารพธรรม ธรรมะนี้ ธรรมที่ตรัสรู้ อิทัปปัจจยตา แล้วบอกว่านี่คือพระเจ้า พระเจ้าสูงสุดในพุทธศาสนา อิทัปปัจจยตานี่สร้างโลก ควบคุมโลก ทำลายโลก อิทัปปัจจ-ยตาอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง เป็นใหญ่กว่าสิ่งใดๆ ปรุงอะไรก็ได้ทุกแห่งเหมือนกับว่ารู้ทุกสิ่ง มีความรู้ทุกสิ่ง แต่มิใช่บุคคล
พุทธศาสนามีพระเจ้าชนิดที่มิใช่บุคคล ศาสนาอื่นๆ เขามีพระเจ้าอย่างที่เป็นบุคคล มันผิดหลักทันที ถ้าพระเจ้ามีความรู้สึกอย่างบุคคล เดี๋ยวก็ทำผิดอย่างบุคคล เดี๋ยวก็ยินดียินร้ายอย่างบุคคล แต่ถ้าพระเจ้าเป็นกฎธรรมชาตินี่ไม่ได้อะ ยินดียินร้ายไม่ได้ จะลำเอียงไม่ได้ มันเป็นพระเจ้าที่แน่นอนกว่า คือมันเป็นกฎ ไม่ใช่บุคคล กฎนี้ถ้าเราทำผิดเมื่อไร เราจะมีความทุกข์ ถ้าเราทำไม่ผิดเมื่อไรเราจะไม่มีความทุกข์ นี่เราบอกพวกฝรั่งว่าพุทธศาสนามีพระเจ้าคืออย่างนี้ แล้วมันเผอิญกันเสียด้วยนะมันกลายเป็นเรื่องตลกไป ก็เพราะในภาษาไทยเท่านั้น ภาษาอังกฤษไม่ได้ ภาษาไทยเราเรียกว่ากฎ กฎ กฎอิทัปปัจจยตา คือกฎของธรรมชาติ ถ้าคุณออกเสียงคำว่ากฎเนี่ยมันยาว มาก็เป็นกอดนั่นเอง เลยหัวเราะ พุทธศาสนาก็มีกอด แต่ว่าเราออกเสียงมันสั้นเท่านั้น เหลือแต่กฎ ยังจะพูดกันต่อไปอีกนานอะว่าพุทธศาสนามีกฎ ไม่มีพระเจ้าไหนจะมาสร้างกฎหรอก ถ้าว่าสิ่งใดสร้างขึ้นได้สิ่งนั้นไม่ใช่กฎ สิ่งที่เรียกว่าเป็นกฎของธรรมชาติ ต้องไม่มีใครสร้างขึ้นในตัวมันเอง ฉะนั้นพระเจ้าของชาวพุทธนี่พิสูจน์ได้ทุกเมื่อ นักวิทยาศาสตร์ทั้งโลกจะยอมรับได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับพระเจ้าทั้งหลายที่เขามีๆ กันอยู่ก่อนที่มันเป็นอย่างบุคคล
เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้วมา ผมพูด ที่ ๓ ของเดือนโน้นน่ะ ของเดือนนี้ ผมพูดวิทยุ เรื่องพระอิศวรกินกุ้ง คุณฟังหรือเปล่า เคยเล่าทางวิทยุตั้ง ๒ หนแน่ พระอิศวรกินกุ้ง ถ้ามันเป็นพระเจ้า มีความรู้สึกอย่างบุคคล มันก็ลำเอียงทันที ลำเอียงได้ทันทีเพราะมันเป็นอย่างบุคคล มันมีอะไรปรุงแต่งบ้าง ถ้ามันเป็นกฎของธรรมชาติอะไรจะปรุงแต่งได้ล่ะ คือสัตว์ไปฟ้องพระอิศวรว่ามนุษย์เบียดเบียนนักขอให้ช่วยที กุ้งก็ไปเฝ้าด้วย กุ้งร้องทุกข์มากกว่าสัตว์ใดๆ ว่า มนุษย์กินกุ้งอย่างทารุณโหดร้าย กุ้งก็ร้องทุกข์มากกว่าสัตว์ใดๆ พระอิศวรก็เลยพูดว่า ถ้าอย่างนั้นเนื้อของแกคงกินอร่อยมากกว่าสัตว์ใดๆ ฉันก็อยากจะลอง ถ้าพระเจ้าเกิดรู้สึกอย่างนั้นขึ้นมา เป็นนิทานสำหรับเด็ก กุ้งก็ถอย ถอยหลังมา ไม่ได้กลับหน้า กลับหลังหันไม่ทันเอาหลังโก่ง เดินหน้าไป จนกระทั่งเดี๋ยวนี้กุ้งก็ยังเอาหลังไปอย่างนี้ คนแก่ๆ เขาเล่าให้พวกเราเด็กๆ ฟังว่าทำไมกุ้งจึงมีขี้ขึ้นไปอยู่บนขมองหัว เพราะมันตกใจพระอิศวรจะกิน แล้วมันกลับหลังหันไม่ทันมันเลยเอาหลังไปนั้นแหละ ถ้าคุณไม่รู้ ก็ไปรู้เอาเถอะ กุ้งไปไหนเอาหลังไปทั้งนั้นแหละ การว่ายน้ำของกุ้งเอาหลังไปทั้งนั้น เราเลยเอามาล้อเล่นว่า ถ้าพระเจ้ามีลักษณะเป็นบุคคล มีความรู้สึกอย่างบุคคลแล้ว มันก็จะไม่อยู่ในร่องในรอย ลำเอียงได้ พระเจ้าอย่างเป็นวิญญาณก็ยังรู้สึกอย่างบุคคลเนี่ยมัน มันก็ลำเอียงได้ เพราะมันถูกปรุงแต่งได้ มันไม่ไปอยู่ในทุกๆ ปรมาณูของทุกสิ่งได้ พระเจ้าชนิดนั้น พระเจ้าที่เป็นกฎอิทัปปัจจยตาเท่านั้นแหละที่ว่าจะเข้าไปอยู่ในทุกๆ ปรมาณูที่รวมกันเป็นจักรวาล ฉะนั้นพระเจ้าอิทัปปัจจยตาจึงเป็นพระเจ้าที่แท้จริงที่นักวิทยาศาสตร์ยอมรับได้
นี่เราจะพูดอย่างนี้เรื่อยๆ ไปในอนาคต เป็นพระเจ้าสูงสุด ที่แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยอมเคารพ อื่อ, ถ้าใครทำผิดต่อกฎนี้ คนนั้นจะมีความทุกข์ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่มีผัสสะอ่า, เข้ามากระทบ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางจิตใจนี่ ฉะนั้นจำไว้สั้นๆ คำเดียวว่า ถ้าทำผิดต่อกฎนี้ในขณะผัสสะแล้วจะมีความทุกข์ ทำไม่ผิดต่อกฎนี้ในขณะแห่งผัสสะ จะไม่มีความทุกข์เลย อธิบายเท่าไรก็ได้ ไม่ติดตัน ฉะนั้นเมื่อใด เกิดควาทุกข์ขึ้นในใจแล้วรีบค้นหาเถอะ คุณไปทำผิดเกี่ยวกับผัสสะอย่างใดอย่างหนึ่งเข้าแล้ว ต่อไปในอนาคต ฉะนั้นขอให้เอาความรู้ที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนานี้ ติดตัวไปด้วยเมื่อจะลาสิกขาออกไป อ่า, คือให้รู้ว่าถ้าทำผิดต่อกฎของอิทัปปัจจยตาในขณะที่มีผัสสะแล้วเราจะต้องเป็นทุกข์ ถ้าไม่ผิดก็ไม่มีทุกข์ นี่คือเรื่องหัวใจ หรือทั้งหมดทั้งเนื้อทั้งตัว ทั้งหมด ทั้งตั้งต้น ทั้งเบื้องปลาย ทั้งตรงกลางของพระพุทธศาสนา นั่นคือกฎอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ถ้าได้ความรู้อันนี้ไปใช้อย่างถูกต้อง ก็เรียกได้ว่าการบวชของคุณครั้งหนึ่งไม่เสีย อ่า, ไม่เสียเวลา เพราะว่าได้ความรู้ทางปริยัติที่สมบูรณ์ที่สุด ความรู้ทางปริยัติที่สมบูรณ์ที่สุดในพระพุทธศาสนา เอาไปบ้าน กลับไป
ทีนี้ถ้าปฏิบัติได้ด้วย ปฏิบัติอย่างว่าได้ด้วย ก็ได้ปฏิบัติในพุทธศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้น เอาไป กลับไปบ้าน แล้วไม่ต้องสงสัยแล้ว ก็ได้ปฏิเวธ คือ ผลของมันทั้งหมดทั้งสิ้น เพราะว่าจะมีแต่ความไม่ทุกข์ ชีวิตเยือกเย็นเป็นนิพพาน การบวชนี้ก็ไม่เสียที ไม่เสียผ้าเหลืองเปล่า เหมือนกับที่บวชๆ กันโดยมาก ได้ไปอย่างสมบูรณ์ทั้งโดยนัยยะแห่งปริยัติ โดยนัยยะแห่งปฏิบัติ โดยนัยยะแห่งปฏิเวธ เพราะว่าเรื่องอิทัปปัจจยตา ปฏิบัติได้แล้วก็ได้รับผล ผมคิดว่าพอแล้วเวลาเกือบชั่วโมงครึ่ง สำหรับพูดวันนี้เป็นวันแรก ว่าจะต้องได้อะไรในการบวชครั้งนี้ แม้ว่าบวชตามประเพณี เพราะว่าเพียงแต่ได้ความรู้ว่าต่อไปนี้จะเรียนกันอย่างไร ก็พอ ก็ ก็คุ้มค่าแล้ว เดี๋ยวนี้มันรู้ไปจนถึงกับว่าทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดความทุกข์เลย เรื่องมันไม่มาก แต่ว่าเราสอนกันไม่ถูกวิธี เราเรียนกันไม่ถูกวิธี มันจึงไม่พบจุดที่เป็นหัวใจอ่า, ของพุทธศาสนา จึงหวังว่าเราจะแก้ปัญหานี้ได้ในอนาคต เรียนเสียให้ถูกวิธี เข้าใจให้ถูกวิธี ปฏิบัติให้ถูกวิธี ได้รับผลตามที่ควรจะได้ แล้ววันนี้ก็พูดเท่านี้