แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพระธรรมทายาททั้งหลาย ในการพูดกันครั้งแรกนี่ จะไม่ได้พูดโดยรายละเอียดของธรรมะอะไรนัก แต่จะพูดโดยความหมายของคำว่า ธรรมทายาททั่วๆไปนั่นเอง
ความหมายทั่วๆไปของคำว่าธรรมทายาท มีความสำคัญอยู่ที่ว่า เราต้องรู้จักสิ่งที่เราจะทำนั้นอย่างถูกต้องชัดเจน จึงจะเกิดการเสียสละ หรืออุทิศ เพื่อสิ่งนั้น นี่แหละจึงต้องพูดความหมาย คำว่า ธรรมทายาทกันก่อน และโดยทั่วๆไปด้วย
เรามาฝึกความอดทน เพื่อความเหมาะสมสำหรับกิจกรรมธรรมทายาทด้วย ไม่ใช่เพียงแต่เรียนรู้เรื่องธรรมทายาทอย่างเดียว จะถือโอกาสฝึกในการอดทน ทั้งการเป็นอยู่ที่นี่ ในทุกๆอิริยาบท เพราะว่ามันต้องสำรวมมาก สำรวมการพูดจา สำรวมอะไรต่างๆ ถ้าเคยพูดมาก ก็ต้องพูดน้อย ที่เคยพูดโฮกฮาก ก็ต้องพูดนิ่มนวล มันเป็นการแก้นิสัยการพูดจา การคิดนึก การกระทำ นั่นแหละเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ความรู้ซึ่งบรรยายกันจนเฟ้อ และก็เฟ้อชนิดที่ทำไม่ได้ เพราะผู้บรรยายเองมันก็ทำไม่ได้ มันเอามาบอกเราเป็นคุ้งเป็นแคว
ให้ความสำเร็จประโยชน์มาอยู่ที่การบังคับตนเอง ให้มันทำได้ เกิดความอดกลั้น อดทน สุขุม รอบคอบ เฉลียวฉลาด ขอให้ฝึกในส่วนนี้กันแหละให้มาก มันยังขาดอยู่ ไอ้ความรู้, มันไม่ค่อยขาดหรอก เพราะมันหาเอาที่หนังสือหนังหา ตำรับตำรา ได้ยินได้ฟัง แต่มันไม่มีการฝึกตัวเราเองให้เหมาะสม ที่จะเป็นอย่างที่เรียกว่า ธรรมทายาท เราทำในฐานะที่เป็นหน้าที่โดยตรงด้วย เป็นการสนองพระพุทธประสงค์ด้วย หน้าที่ของเราโดยเฉพาะก็ต้องทำ
แต่ทำนั้นให้เป็นการสนองพระพุทธประสงค์ด้วย เรื่องปลีกย่อยมันก็ทำเพื่อประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ต่อหน้า หรือว่าอยู่ใกล้ๆ ซึ่งเขาก็ขอร้องกันอยู่เสมอ ก็ทำเพื่อประโยชน์แก่ประเทศไทยนั่นเอง รัฐบาลพอใจถ้าหากว่ากิจกรรมธรรมทายาทมันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติไทยโดยเฉพาะ และก็เป็นที่พอใจของรัฐบาล
แต่ว่าในฐานะพุทธสาวก ขอบเขตมันมากกว่านั้น มันไกลกว่านั้น คือต้องทำเพื่อประโยชน์แก่โลก แก่สัตว์โลก แก่คนทั้งโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรง, จะเรียกว่าขอร้องก็ได้ กำชับสั่งก็ได้ ว่าให้ทำเพื่อประโยชน์สุขเกื้อกูล แก่มหาชน ทั้งเทวดาและมนุษย์ นี่เรียกว่าหน้าที่มันไกล ถึงขนาดนั้น เพราะฉะนั้น มันจึงไม่มีนะ, ไม่มีทางที่จะทำเล่นๆ ทำเหลาะๆ แหละๆ ทำสนุกสนาน มันต้องทำด้วยความจริงจัง ซึ่งมันต้องการ ไอ้, การบังคับตัวเองอยู่มาก ให้มีความอดกลั้นอดทน
ทีนี้จะต้องนึกถึงคำพูด หรือโดยที่พยัญชนะกันก่อน คือคำว่า ธรรมทายาท เราจะต้องแยกออกเป็นสองคำคือ ธรรม ธรรมะ คำหนึ่ง, ทายาท คำหนึ่ง
ทีนี้พิจารณาคำว่า ทายาท กันก่อน ทายาท แปลว่า ผู้สืบมรดก เป็นนาม เป็นคำนาม มาจากภาษาบาลี ทายาโท เป็นคำนามแปลว่า ผู้สืบมรดก
แต่มันก็มีอีกคำหนึ่ง มันภาษาไทย ด เด็ก สะกด ทายาด หมายถึง ทรหดอดทน ทายาด ด สะกด หมายถึงทรหด อดทน
ทายาท ท ทหาร สะกด มันเป็นเรื่องผู้สืบมรดก
เราจะเอาความหมายไหนดี ผมว่าเอารวมกันทั้งสองความหมาย เป็นธรรมทายาท อย่างทายาด อย่างทรหดอดทน เป็นทายาทด้วยความทรหดอดทน
ทีนี้ เมื่อรวมกันเป็นธรรมทายาทก็ยังแปลได้ สองอย่าง
เป็นทายาทแห่งธรรม คือ สืบมรดกธรรม เรียกธรรมทายาท เป็นทายาทโดยธรรม ทายาทแห่งธรรม
ทีนี้มันยังแปลว่า เป็นทายาทโดยธรรม หรือโดยความยุติธรรม คือ โดยหน้าที่ ทายาทสืบธรรมะของพระองค์โดยธรรม คือโดยถูกต้องตามทางธรรม
ถ้าไม่ทำ มันก็เกิดความไม่ถูกต้องขึ้นมา ทายาทแห่งธรรม ทายาทโดยธรรม ฉะนั้นเราจึงต้องเป็นธรรมทายาท อย่างที่เรียกว่าจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยง คำว่าโดยธรรมน่ะ มันมีอยู่ โดยหน้าที่นั่นเอง โดยธรรมคือโดยหน้าที่ มันต้องเป็นอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ทีนี้ก็จะต้องดูกันให้ดี โดยธรรมหลีกเลี่ยงไม่ได้ คืออย่างไรบ้าง มันเป็นเหตุผลอยู่ในตัว
ข้อแรก ก็คือว่า เป็นตามพระพุทธประสงค์ โดยพระพุทธประสงค์ที่ได้ตรัสไว้ ให้เป็นหน้าที่ คือมีคำตรัสอยู่สามขั้นตอน เกี่ยวกับธรรมวินัย หรือพรหมจรรย์ คือตัวศาสนา
อย่างแรก ก็ตรัสว่า ตถาคตเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์แก่มหาชน ทั้งเทวดา และมนุษย์ หมายถึงพระองค์เอง ที่ธรรมวินัยเกิดขึ้นในโลก ก็เพื่อประโยชน์ ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ หมายถึงพระ, เอ่อ พระธรรม ตัวพระธรรมนี่, มันต้องเกิดขึ้นในโลก เพราะว่าโลกมันมี, มีความทุกข์ ถ้าโลกไม่มีความทุกข์ ก็ไม่ต้องเกิดพระพุทธเจ้า ไม่ต้องเกิดพระธรรมก็ได้ ทีนี้ตรัสอีกนัยหนึ่งว่า เธอจงสืบอายุธรรมวินัยนี้ไว้ให้มีอยู่ในโลก เพื่อประโยชน์แก่โลก สัตว์โลก ทั้งเทวดาและมนุษย์อีก มีรายละเอียดถึงกับว่า ให้สืบอายุธรรมวินัยด้วยการสั่งสอนนี่, จนมหาชนเหล่านั้น เข้าถึงธรรมะ รู้จักธรรมะ หรือเอาธรรมะได้ตามลำพังตน ไม่ได้หมายความว่าเราต้องคอยสอน คอยบอกเขาอยู่เสมอ แต่เราจะต้องกระทำโดย, วิธีที่ทำให้เขาสามารถบอกกล่าว สืบ สั่งสอนต่อๆกันไปได้ด้วย นี่, เป็นพระพุทธประสงค์ ถ้าเรียกอย่างในกรณีของเราว่า นี่คือมรดก หรือการสืบมรดก ท่านมอบธรรมะไว้ เพื่อช่วยกันสืบไว้ในโลก เพื่อประโยชน์แก่โลก จนกระทั่งว่าชาวโลกเขาสามารถใช้ธรรมะนี้ เพื่อประโยชน์แก่โลก อย่างถูกต้อง อย่างเพียงพอ ก็คือ ดับทุกข์ได้จริง เราต้องช่วยกันสืบธรรมวินัย คือศาสนานี้ไว้ในลักษณะเช่นนี้ จึงได้เรียกว่า ธรรมทายาท เพื่อสนองพระพุทธประสงค์
ทีนี้ก็ดูอีกทีหนึ่งก็ว่า มันเป็นหน้าที่ แม้ว่าพระพุทธองค์จะไม่ได้ทรงกำชับหรือขอร้องอะไร แต่มันก็เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัทสี่ ที่จะต้องรักษา ไอ้, ไอ้, โครงสร้างทางศาสนาไว้ ไม่ให้ล่มจม ถ้าพระศาสนามันล่มจมแล้วจะมันมี, จะมีประโยชน์อะไร แล้วจะ, เราจะอยู่ได้อย่างไร ภิกษุสงฆ์ หรือพุทธบริษัทสี่ จะอยู่ได้อย่างไร ถ้าบ้านมันพังทลายลงไปแล้ว คนในบ้านมันจะอยู่ได้อย่างไร นี่จะต้องสืบธรรมวินัย หรือพรหมจรรย์ หรือศาสนาก็ตาม แล้วแต่จะเรียกนี่ ให้มันอยู่ ทรงอยู่ และทุกอย่างมันก็อยู่ อย่างนี้เรียกว่ามันเป็นหน้าที่ อยู่บ้านก็ต้องรักษาบ้าน ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีบ้านอยู่ และโดยหน้าที่ของเรา
ฉะนั้นก็มีความหมายชัดเจนอยู่แล้วว่า เราเป็นสมณศากยปุตติยะ หรือเป็นพุทธชิโนรส คำนี้ถ้าใครใส่ใจไว้เสมอ คนนั้นจะไม่เหลวไหล ไม่บกพร่องในหน้าที่ของตน สมณศากยปุตติยะ เป็นสมณศากยบุตร บุตริยะ มันไม่ได้แปลว่าบุตรเฉยๆ มันเป็นฝักฝ่ายแห่งบุตรของสมณศากยะ สมณศากยบุตริโยโหติ ศากยปุตติยะ บุตริยะ แปลว่า เป็นฝักฝ่ายแห่งบุตร สมณศากยะของพระสมณศากยะ นี่ก็เรียกว่าทรงบัญญัติแต่งตั้ง มันจะเป็นคนในวรรณะไหน ตระกูลไหน วรรณะไหน เป็นอะไรก็ตาม พอมาบวชเข้าในธรรมวินัยนี้แล้ว มันกลายเป็นสมณศากยปุตติยะไปหมด คือรวมอยู่ในบุตรของศากยะสมณะ พระ, พระองค์น่ะเป็นสมณะ เป็นศากยบุตร เป็นศากยบุตร พระองค์เองเป็นศากยบุตรที่นับเรารวมเข้าไป เรียกว่าเนื่องอยู่กับศากยบุตร จึงว่า ศากยปุตติยะ
นี่โดยเกียรติยศมันก็สูงโดยประมาณ ถ้าเข้าไปรวมอยู่ในความเป็นศากยบุตร นี่ถ้าศึกษาบาลีมาแล้ว ก็รู้ได้เองว่า ศากยบุตรแปลว่าอะไร ศากยปุตติยะแปลว่าอะไร
บางทีก็ใช้คำว่าพุทธชิโนรส
พุทธชินะ คือพระพุทธเจ้า
โอรส ก็คือ โอรส เกิดแต่อก เกิดแต่อก
โอรสของพระพุทธชินะ พุทธชินะ ก็คือ พระพุทธเจ้า
ชินะ แปลว่าผู้ชนะ
พระพุทธเจ้าผู้ชนะทั้งหมด ชนะมาร
เราเป็นโอรสของพระพุทธชินะ
คำสวดมนต์แปล ธรรมทายาทสูตร ที่ได้เอามาใช้เป็นบทสวดประจำกิจกรรมธรรมทายาท นั้นดีมากอยู่แล้ว ขอให้ถือเอาตามนั้น อย่าสวดเฉยๆ ถือเอาใจความตามนั้น เอาไว้ระลึกนึกอยู่เรื่อย ท่องอยู่เรื่อย ว่าเพราะเหตุอะไร
เราจึงเป็นสมณศากยปุตติยะ เป็นพุทธชิโนรส เกิดแต่อกของพระพุทธเจ้าบ้าง เกิดแต่ปากของพระพุทธเจ้าบ้าง หรือเกิดแต่ธรรม เกิดแต่ธรรมก็มี เพราะคำว่าธรรม ในบางทีก็เล็งถึงพระพุทธเจ้านั่นเอง อย่างที่ตรัสว่า ธรรมกาโย ก็ดี ธรรมปูโต ก็ดี นั้นเป็นคำแทนชื่อของตถาคต ธรรมะนั้นเป็นเหตุให้เราได้เป็นสมณศากยปุตติยะ หรือเป็นพุทธชิโนรส
จึงถือว่า ภิกษุทุกๆรูป เกิดแต่ธรรม เกิดแต่พระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าผู้ประกาศธรรม ความหมายนี้มันก็มากมายอยู่ สูงสุดอยู่ สันนิษฐานดูคล้ายๆกับว่า จะไม่ให้เสียเปรียบพวกพราหมณ์ พวกพราหมณ์เขาถือว่าเกิดมาแต่ปากของพรหม เกิดมาแต่พรหมเท่านั้น พวกพราหมณ์น่ะ ทีนี้ภิกษุก็ไม่ควรจะต่ำกว่านั้น ก็เลยให้เกิดแต่ธรรม คือเกิดแต่พระพุทธองค์ เกิดจากปากของพระพุทธองค์ อย่างนี้ก็ได้
ถ้าว่าเป็นคำบัญญัติขึ้นทีหลัง เพื่อประโยชน์อย่างนี้ มันก็, ก็เป็นเครื่องยึดไว้ ไม่ให้เกียรติของภิกษุ โดยสมมุตินะ ไม่ให้เกียรติของภิกษุมันต่ำกว่าเกียรติของพราหมณ์ที่เกิดแต่พรหม ทีนี้เราจะไม่ถือว่าเป็นสมมุติหลอกๆ น่ะ เราจะถือว่าเป็นเรื่องจริง และเราก็เกิดจริงๆแล้ว เดี๋ยวนี้เราได้เกิดแล้วจริงๆ
ธรรมเนรมิต ธรรมนิมิตโต ธรรม อันธรรมะเนรมิตแล้ว มันคือว่าธรรมะได้สร้างแล้ว เหมือนพระเจ้าสร้างโลก ธรรมะได้สร้างให้เราเป็น อย่างที่เราเป็นนี่, คือเป็นภิกษุ พุทธบุตร พุทธชิโนรส สมณศากยปุตติยะ
ถ้าไม่เอาเรื่องนี้มาใส่ใจแล้วก็ ผมคิดว่าไม่, ไม่, ไม่สำเร็จ คือจะเป็นกันแต่ปาก จะเป็นธรรมทายาทกันแต่ปาก ถือว่าโก้ๆ เก๋ๆ พอเป็นเครื่องประดับเกียรติเสียมากกว่า ไม่เป็นที่ผู้ทำหน้าที่อย่างแท้จริง ขอให้ถือว่าเราเป็นสมณศากยบุตร พุทธชิโนรส ก็ขอให้เป็นจริงๆเท่านั้นแหละ เรื่องมันก็จะจบ เอ่อ, จะหมดปัญหา ให้เป็นพุทธชิโนรสกันจริงๆ เรื่องจะหมดปัญหา เป็นการสนองพระพุทธประสงค์ด้วย
ทีนี้อยากจะพูดอีกแง่หนึ่งว่า มันเป็นหน้าที่ ที่จะต้องทำอย่างนั้นด้วย ตามที่ว่า ยุติธรรม เรียกว่ายุติธรรม ถ้าเราไม่ทำหน้าที่อันนี้ มันไม่ยุติธรรม เราได้รับ, รับประโยชน์จากพระพุทธองค์แล้วไม่สนองพระพุทธประสงค์ ก็ไม่ยุติธรรม เราบริโภคปัจจัยสี่ จีวร บิณฑบาตร เสนาสนะ เภสัช ของชาวโลก ของประชาชน แล้วเราไม่ทำหน้าที่อันนี้ มันก็ไม่ยุติธรรม มันไม่เป็นธรรม มันไม่ถูกต้องตามธรรม หรือมันไม่ยุติธรรม
ดังนั้น เราจึงต้องทำหน้าที่อันนี้ เพื่อความเป็นยุติธรรม เพื่อเป็นความยุติธรรม อยู่ในโลกโดยเอาเปรียบผู้อื่นนั้นน่ะ ไม่ได้หรอก มันไม่ได้แล้วมันก็ไปไม่รอดจริงๆด้วย อย่าหวังว่าจะมีทางเอาเปรียบผู้อื่น เราอาจจะเอาเปรียบได้ แต่แล้วมันก็เป็นผลร้าย ก็ไม่ได้อะไรมา การที่ใครจะเอาเปรียบใคร มันเพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจะเรียกว่าได้เปรียบ แต่ทีนี้, ถ้าเอาเข้า แล้วฉิบหายหมด อย่างนี้เรียกว่าทำอะไรหล่ะ ได้อะไรหล่ะ เอาเปรียบอะไรกัน มันกลับฉิบหายไป มากไปกว่าเดิม ฉะนั้น การที่ไม่ทำหน้าที่หรือเอาเปรียบนั้น มันจะฉิบหายยิ่งไปกว่าเดิม
มองดูความยุติธรรมของธรรมชาติอย่างนี้กันบ้าง มันจะกระตุ้นให้เราลุกขึ้น ทำหน้าที่ ไม่, ไม่, ไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตนหรือว่า, ที่เรียกว่าเอาเปรียบ พูดเป็นสำนวนธรรมดา ก็เรียกว่า ในความยุติธรรมมันเรียกร้อง
ขอให้เรามีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า ต้องเป็นธรรม ต้องยุติธรรม ต้องมีความยุติธรรม คือความยุติธรรมมันเรียกร้องให้เราทำอะไร เพื่ออยู่กันอย่างยุติธรรม ถ้าพระเราเอาข้างเดียว ไม่มีให้ ไม่มีให้ตอบแทน มันยุติธรรมที่ตรงไหน ดังนั้นพระเราจึงไม่เอาข้างเดียว คือจะมีให้ด้วย เพื่อยุติธรรม และถ้าดีไปกว่านั้น ก็คือ ให้มากกว่าที่เราเอา นี่แหละเป็นเจ้าหนี้ และเป็นปูชนียบุคคล เราจะต้องให้แก่เขามากกว่าที่เรารับเอาของเขามา ปัจจัยทั้งสี่เราก็รับเขาอยู่ตลอดเวลา มันมีค่าราคาตามธรรมดาเท่าไร และธรรมะที่เราให้เขา คือทำให้เขามีธรรมะได้ มันมีค่าเท่าไร เมื่อมาเทียบเคียงกันดูแล้ว ไอ้ค่าของธรรมะมันมากกว่า ดังนั้นเราจึงให้มากกว่าที่รับเอา เราก็เลยเป็นฝ่ายเจ้าหนี้ บัญชีของเรามันเกิดเป็นฝ่ายเจ้าหนี้ขึ้นมา เพราะเราให้เขามากกว่าที่เรารับเอามา นี่ก็คือความหมายของคำว่า ปูชนียบุคคล ขอทานก็จริง แต่กลายเป็นปูชนียบุคคล ไม่ใช่ขอทานริมถนน เที่ยวเดินขอทานอยู่กลางถนน ขอทานอย่างนั้น ไม่, ไม่มีความเป็นปูชนียบุคคล แต่ขอทานอย่างภิกษุนี่ มันกลายเป็นปูชนียบุคคล เพราะเหตุว่าเราได้ทำหน้าที่ของเรา เราได้ให้ไปมากกว่าก่อนแล้ว ได้ให้ก่อนแล้ว แล้วเรา เรา เราจึงไปรับปัจจัยสี่มา เพียงเพื่อเยียวยาชีวิต ไม่มากกว่าเพื่อเยียวยาชีวิต เราได้ให้ไปก่อนแล้ว ก่อนแต่ที่เราจะไปรับปัจจัยมา
ข้อนี้มันก็ต้องมองกันให้ละเอียดสักหน่อยว่า เขาบวชเข้ามา ก็เป็นการสืบอายุพระศาสนา ให้, ให้พระศาสนามีอยู่สำหรับคนเหล่านั้น เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก เราได้ให้ก่อนแล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะถือบาตรไปขออาหาร มาฉันเพียงวันละมื้อ มันก็ไม่, ไม่มากเท่าที่เราได้ให้ไปก่อนแล้ว คือ ธรรมะหรือความปลอดภัย นี่ก็ต้องเป็นสิ่งที่จะต้องแจ่มแจ้งอยู่ในใจของเรา
ไอ้ธรรมะนั่น ทำไมมันจึงมีค่ามากนักเล่า ช่วยจดจำไว้ให้ดี มันยังจะต้องตอบคำถามนี้กับคนบางคนหรือในบางคราวก็ได้
ธรรมะนั้น มันคือหนทางรอดของมนุษย์ เป็นทางรอดของมนุษย์ ถ้าไม่มีธรรมแล้วก็ มันไม่รอดอยู่ได้ แต่ว่าความหมายมันมีหลายๆปริยาย อย่างสำคัญ, ที่สำคัญก็คือว่า มันช่วยให้รอดอยู่ได้ ถ้าไม่มีธรรมแล้ว จะไม่รอดอยู่ได้ทั้งทางกาย ทั้งทางจิต ทั้งทางวิญญาณ มันต้องทำผิดจนตัวตาย หรือว่าถ้า เอ่อ, ตัวไม่ตายมันก็ผิดในทางจิต จิตก็เป็นทุกข์อยู่แหละ ธรรมะนี่จำเป็นที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องมี ถ้าสิ่งที่มีชีวิตไม่มีธรรมะแล้ว มันก็ต้องตาย อย่างน้อย อย่างมากจะเท่าไรก็ดูเถิด
ฉะนั้นถ้าไม่ทำมาหากิน ซึ่งเป็นธรรมะอย่างหนึ่งมันก็ตายเท่านั้น ถ้ารอดชีวิตอยู่ไม่ตาย แต่ไม่มีอะไรดี มันก็เรียกว่าตายเหมือนกัน ตายทางวิญญาณ ตายทางจิตใจ เป็นอยู่เหมือนกับคนตายแล้ว คือมันมีแต่เปลือก มันไม่มีคุณค่าอะไรในภายใน เพราะไม่มี, ไม่มีธรรมะที่ทำให้มนุษย์ เป็นมนุษย์แท้ ธรรมะคือวิธีที่จะอยู่รอด จนหลุดพ้นออกไปเลย
ในความหมายสากล เขา, เขาบัญญัติขึ้นไว้ น่าฟังเหมือนกันว่า ธรรมะคือการประพฤติกระทำ หรือวิธีประพฤติกระทำ ไม่ใช่ตัวหนังสือ ไม่ใช่คำสอนเฉยๆ แต่เป็นระบบของการกระทำที่ถูกต้อง มีคำว่าถูกต้องด้วย
แต่ความเป็นมนุษย์ของมนุษย์ ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการ หมายความว่ามนุษย์มันยังต้องไปกันอีกนาน ตามวิวัฒนาการเป็นขั้นๆตอนไป จะเป็นยุคสมัยก็ได้ เอาระยะสั้นๆว่า ชีวิตนี้เกิดมาแล้วก็ เป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาว เป็นพ่อบ้านแม่เรือน เป็นคนแก่คนเฒ่า นี้ก็เรียกว่า ขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการด้วยเหมือนกัน ถ้าทำผิดขั้นตอน เช่นเด็กไม่มีธรรมะอย่างเด็ก วัยรุ่นไม่มีธรรมะอย่างวัยรุ่น หนุ่มสาวไม่มีธรรมะอย่างหนุ่มสาว มันก็พินาศ
ฉะนั้นเรามีหน้าที่ ที่จะต้องให้ธรรมะแก่เขาให้มันถูกต้อง ตามขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ขอให้ท่านธรรมทายาททั้งหลายศึกษาไว้ให้ดีๆ จะได้ให้ธรรมะถูกตามขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ เด็กทารกก็ยังช่วยได้ ช่วยให้มันรอดได้ เด็กโตแล้วก็ช่วยได้ เด็กวัยรุ่นก็ช่วยได้ คนหนุ่มสาวก็เราช่วยได้ คน, เอ่อ, พ่อบ้านแม่เรือนเราก็ช่วยได้ คนแก่คนเฒ่าเราก็ช่วยได้
นั่น, หน้าที่ของธรรมทายาท คือให้ธรรมะแก่สัตว์โลก เป็นงานสูงสุด ดูจะไม่มีงานชนิดไหนสูงกว่างานนี้ งานที่ช่วยกันให้รอด ไม่ใช่รอดแต่ทางร่างกาย คือมีกินมีใช้แล้วไม่ตาย เท่านั้นไม่เท่าไรหรอก มันน่าหัวเราะ ถ้าพระเราจะต้องไปช่วยในลักษณะอย่างนั้นอีก มันก็ซ้ำซากกับงานของฆราวาส
โดยที่แท้แล้ว พระเราจะต้องช่วยสงเคราะห์ ในฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณเสียมากกว่า และถ้าเขามีความถูกต้องทางฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณแล้ว ทางฝ่ายวัถตุของเขาก็จะดีเอง ที่เขายากจน นั่นเพราะเขา, เขามีความคิดความเห็นทางจิต ทางวิญญาณ มันผิด มันก็ขี้เกียจ อย่างน้อยมันก็ขี้เกียจ และมันก็ยากจนและมันก็ไปขโมย นี่, เพราะว่าไม่มีความถูกต้องทางฝ่ายจิต
ที่จริงนะ ไปมัวช่วยกันแต่ทางวัตถุ มันก็ทำให้คนขี้เกียจก็ได้ มันร่ำรวยทางวัตถุแล้ว มันยังอยากจะเอาเปรียบ ยังอยากขโมยต่อไปอีกก็ได้ หรือมันจะขโมยเก่งกว่าเดิมก็ได้ มันมัว, การช่วยแต่ทางวัตถุนั้นมันไม่ปลอดภัย มันไม่รับประกันความปลอดภัย ถ้าเขาไม่มีธรรมะแล้วเขาก็ใช้มันผิดๆ แล้วเขาก็เป็นฝ่ายที่เอาเปรียบและเขาก็จะช่วยตัวเองไม่ได้ เราช่วยเขาเท่าไร เขาก็ไม่รอดได้ ถ้าเขาไม่มีความถูกต้องทาง, ทางจิตใจ เราไปช่วยเขาทางวัตถุ เขาเจริญทางวัตถุ แล้วเขาก็ทำลายตัวเอง ไม่มีความรอดแก่บุคคลที่, ที่ไม่รู้ธรรมะ
ฉะนั้นการช่วยด้านจิตใจสำคัญกว่า และก็เป็นหน้าที่ของภิกษุโดยตรง โดยแท้ โดยตรง ช่วยทางวัตถุบ้างก็ได้ แต่มัน, มัน, มันไม่ใช่หน้าที่ ไม่เคยเห็นตรงไหนที่ว่าพระพุทธเจ้าจะขอร้องให้ภิกษุช่วยในทางวัตถุอย่างจริงจัง เป็นล่ำเป็นสันอะไร แต่ทรงหวังว่าให้ช่วยในทางด้านจิตใจ
แต่เดี๋ยวนี้มัน, มันคล้ายกับว่า ภิกษุนี่มันเกิดไปแบ่งออกเป็นสองพวก โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น พระพุทธญี่ปุ่นก็มีเป็นพวกบำเพ็ญณาน ภาวนาอะไรไปก็มี เป็นพวกเซ็นพวกอะไร พวกนั้น แต่ที่พวก, แต่พวกที่คอยช่วยเหลือทางวัตถุอย่างจริงจังในสังคมนั้นก็มีอยู่ นิกายบางนิกายช่วยมนุษย์ ชาวบ้าน ทางสังคม ช่วยคนยากจน ช่วยแก้ปัญหาต่างๆนานา หลุดมาจากคุก จากตาราง ไม่มีที่อยู่ ที่อาศัย ก็ไปหาพระไปอยู่วัด ในนิกายนี้กว่าจะออกไปได้ ไปช่วยตัวเองได้
ที่เมืองไทยยังไม่มี มันอาจจะมีก็ได้ต่อไปในอนาคต คือมีพระที่ช่วยในด้านจิต ด้านวิญญาณนั้นตามปกตินั้นต้องมี ถ้าไม่มีก็หมด, หมดศาสนา แต่ว่าพระที่ช่วยทางด้านวัตถุเป็นจริงเป็นจัง มันก็อาจจะมี เราก็ไม่ได้ตำหนิติเตียนอะไร ถ้ามันมีเหตุผล ในเมื่อเรามันหมดความสามารถช่วยเขาทางจิตทางวิญญาณไม่ได้ ไปช่วยเขาทางวัตถุก็ยังดี ดีกว่าไม่ช่วย แต่อย่าถึงกับไปลงมือทำเสียเอง ช่วยเป็นหัวหน้า ช่วยด้วยความคิด ด้วยกำลังอิทธิพลอะไร มันก็, ก็ยัง, ก็ทำพอกระทำได้ แต่อย่าไปช่วยขุดดินเสียเอง ไปช่วยดำนาเสียเอง นี่มันจะมากไป
แต่มันก็มองดูเถิดว่า ถ้ามันเป็นการทำให้รอด แล้วก็เรียกว่าธรรมะได้ทั้งนั้น
ช่วยในด้านวัตถุให้รอด ก็เป็นธรรมะ
ช่วยด้านจิตใจให้รอด ก็เป็นธรรมะ
ฉะนั้น ธรรมทายาทมีหน้าที่สืบธรรมะไว้ ให้สัตว์โลกเขาใช้ ช่วยตัวเองให้ได้ ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา นี่แหละจะทำให้เราต้องศึกษาธรรมะทุกระดับ ธรรมทายาทที่ดีต้องช่วยได้ทุกระดับ ฉะนั้นธรรมทายาทนั้น จะต้องมีความรู้ทุกระดับของความเป็นมนุษย์ ตั้งแต่อยู่ในท้องก็มีทางจะช่วยได้ คืออบรมแม่มันให้ดี พ่อมันให้ดี เด็กในท้องมันก็จะปลอดภัยออกมาดี สอนให้เป็นเด็กดี เป็นหนุ่มสาวที่ดี พ่อบ้านแม่เรือนที่ดี เป็นคนแก่คนเฒ่าที่ดี และสอนให้เป็นพุทธศาสตร์ อย่าให้เป็นไสยศาสตร์
เรื่องนี้ผมอยากจะแสดงความคิดเห็นสักหน่อยว่า การ, การทะนุถนอม รักษา หรือชำระพระศาสนา พุทธศาสนาน่ะ ไม่มีอะไร ไม่มีอะไร นอกจากว่าดึงไสยศาสตร์ออกมาเสียจากพุทธศาสนา เดี๋ยวนี้ไสยศาสตร์เข้าไปปนเปอยู่ในพุทธศาสนา หรือในพุทธศาสตร์มากเกินไป เราช่วยกันดึงออก ดึงออก ดึงออก กันนั่นแหละ วิเศษที่สุด งานสูงสุด ที่จะสืบอายุพระศาสนา คือ การดึงไสยศาสตร์ที่ปนอยู่ในพุทธศาสนา ออกมา ออกมา ออกมา แต่ไม่ได้คิดจะตั้งนิกายใหม่นะ อย่าไปอุตริตั้งนิกายใหม่ เพียงแต่ว่ามัน, มัน, มันมีปนอยู่ จนเป็นพุทธศาสตร์ที่ปลอมปน และก็ดึงออกเสีย เหมือนมี, เหมือนกับมันมีแร่ธาตุที่ไม่บริสุทธิ์ ไปปนอยู่ในทองคำ เราช่วยกันดึงไอ้แร่ธาตุอันนั้นออกเสีย ให้มันเป็นทองคำบริสุทธิ์ นั้นคือหน้าที่ ที่ดีที่สุด ที่สูงที่สุด แต่ว่ามันทำยาก ยากอย่างยิ่ง เพราะว่า ไสยศาสตร์นั้นมันเข้าไปปนจน, จนดึงออกยาก และไสยศาสตร์นั้นมันได้เปรียบ ควรจะรู้กันไว้ด้วยว่า ไอ้ไสยศาสตร์ เป็นฝ่ายได้เปรียบเสมอ
ลัทธิพราหมณ์พึ่งพระเจ้า พึ่งผู้อื่น ไม่ใช่พึ่งตัวเอง ลัทธิพราหมณ์ มันมาก่อน มา, มาก่อนพุทธศาสนา มาสู่ดินแดนนี้ บ้านเรานี้ มันมาก่อนพุทธศาสนา ทีนี้ลัทธิพราหมณ์เขาก็ฝังงอกรกรากแน่นแฟ้นลงไปในประชาชน ประชาชนก็มีนิสัยสันดานเป็นไสยศาสตร์ พุทธศาสตร์มาทีหลัง มันก็ต้องเอาออก ก็เอาออกยาก แต่เขาก็ได้ทำสำเร็จกันมาแล้ว บางส่วนที่มาแผ่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ ดินแดนนี้ ดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งเต็มด้วยความรู้อย่างไสยศาสตร์ หรืออย่างศาสนาพราหมณ์มาก่อนแล้ว และขนบธรรมเนียมประเพณีอะไร มันก็เป็นไสยศาสตร์ไปหมด
และอีกอย่างหนึ่งที่มันเสียเปรียบกันโดยธรรมชาติ ความคิดอย่างไสยศาสตร์ เชื่อผู้อื่น พึ่งผู้อื่น นี่มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นธรรมชาติกว่า มันเข้ากับลักษณะจิตใจของปุถุชนกว่า ซึ่งเราเองก็ลองคิดดู เพราะเราเกิดมาจากท้องแม่ มันก็คิดแต่จะพึ่งแม่ พ่อแม่เขาช่วย ช่วย ช่วย จนเรามีความคิดแต่จะพึ่งพ่อแม่ คือพึ่งผู้อื่น ให้ผู้อื่นช่วย นี่แหละ คือความหมายของไสยศาสตร์
ถ้าเป็นความหมายพุทธศาสตร์ มันต้องทำเอง แล้วก็ช่วยตัวเอง เป็นที่พึงแก่ตนเอง คือปฎิบัติธรรมะด้วยตนเอง มีตนเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมะเป็นที่พึ่ง [นาทีที่ ๔๑:๑๓] ???? สติปัฏฐาน ๔ ประพฤติเข้าแล้วจะเป็นการพึ่งตัวเอง
แต่เด็กๆ เรานึกไม่ออก ทำไม่เป็น นึกไม่ได้ นึกไปไม่ถูกหรอก พอโตขึ้นมา โตขึ้นมา ก็หวังพึ่งผู้อื่นทั้งนั้น พ่อแม่พี่เลี้ยง ญาติโยมอะไร ที่คนอื่นจะช่วยเรา ฉะนั้นจึงเป็นการง่ายที่จะไปหวังพึ่งพระเจ้า ให้พระเจ้าช่วย ทีนี้พอมาถึงพุทธศาสนามันก็เปลี่ยนรูปให้พระ, พระพุทธเจ้าช่วยเรื่อยไป
ถ้าคิดว่าพระพุทธเจ้าช่วย นี่เป็นไสยศาสตร์
ถ้าคิดว่าเราจะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วมันมีผลแก่ตัวเราเอง นี่จึงจะเป็นพุทธศาสตร์
เหมือนการกราบไหว้ กราบพระพุทธรูป
ถ้าหวังจะให้ท่านช่วยแล้ว มันเป็นไสยศาสตร์
แต่ถ้าไหว้กราบ เพราะท่านมีพระคุณ ดับทุกข์ให้แก่สัตว์โลกได้ เราจึงกราบ อย่างนี้ก็เป็นพุทธศาสตร์
ถ้าให้ท่านเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คอยช่วยเราเหมือนกับพระเจ้าแล้วก็, มันก็เป็นไสยศาสตร์อยู่ในโบสถ์นั่นแหละ
ถึงพวกเราที่เป็นพระอย่างนี้ กราบพระพุทธรูปในโบสถ์ ถ้าทำใจไม่ถูกต้องมันก็เป็นไสยศาสตร์ได้ ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยแล้ว มันก็เป็นไสยศาสตร์
ถ้าเรารู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านเป็นอะไร ท่านสอนอย่างไร ปฏิบัติตามแล้ว ดับทุกข์ได้จริง เราจึงกราบเพราะว่า พระพุทธเจ้าน่าอัศจรรย์จริง คือเป็นผู้ตรัสรู้ดีจริง พระธรรมก็เป็นธรรมที่ดีจริง พระสงฆ์ก็เป็นผู้ปฏิบัติดีจริงแล้วเราก็กราบ ไม่ได้กราบด้วยหวังว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นจะช่วย เพราะว่าเราต้องช่วยตัวเอง เราจะต้องรับเอาธรรมะนั้นมาปฏิบัติ แล้วก็ช่วยตัวเองอย่างนี้ จึงจะเป็นพุทธศาสตร์
ฉะนั้น การที่จะเปลี่ยนไสยศาสตร์ให้เป็นพุทธศาสตร์นี่ มันเป็นของยาก อย่างที่ว่ามาแล้ว เพราะว่าไสยศาสตร์นี่ มันเข้าไปฝังอยู่ในจิต ในสันดานของประชาชนเสียแน่นแฟ้นก่อนพุทธศาสตร์ เราก็ดูจะเป็นมาแล้วอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ เมื่อยังเป็นเด็กๆ ก็หวังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เอาพระผู้เป็นเจ้าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์จะช่วยเราอย่างพระเจ้า นี่คือว่าทำพุทธศาสตร์ให้เป็นไสยศาสตร์ โดยขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม มันก็เป็นเสียอย่างนั้น
ไอ้เด็กตัวเล็กๆ เดินไปกลางถนนพอพบพระสงฆ์ พ่อแม่ก็บอกว่าเอ้า, ไหว้ ไหว้ ไหว้ ไหว้ พระ จะดี จะได้บุญ จะอะไรก็ตาม เด็กเขาก็ทำไปในลักษณะที่ว่า งมงาย มันก็ต้องกราบ ต้องไหว้กันจนเป็นนิสัย เห็นพระแล้วต้องไหว้ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะช่วย นี่คือไสยศาสตร์ได้เปรียบ ไสยศาสตร์ได้เปรียบอยู่ตลอดเวลา เพราะทำมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก
กว่าจะรู้ว่าพระสงฆ์คืออะไร ทำไมจึงต้องไหว้ ทำไมจึงควรไหว้นั้น ต้องเรียนมาก และรู้ยากนะ เข้าใจยากนะ เดี๋ยวจะพูดว่าบวชเป็นนักธรรรมตรี นักธรรมโทแล้วก็ยังไม่รู้เรี่องนี้นะ ว่าทำไมจะต้องไหว้พระสงฆ์ เพราะมันไหว้มาเสียจนชินแล้วว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะช่วยได้ เด็กๆก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น
นี้ เราก็ยังมีปัญหาต่อไปข้างหน้า ที่จะไหว้พระพุทธเจ้าหรือไหว้สัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้านั้น อย่าไปทำให้มันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นไสยศาสตร์ไปเสีย จะทำให้พุทธศาสตร์กลายเป็นไสยศาสตร์ไป ไม่ทันรู้ตัว ต้องเป็นของจริง เป็นของมีเหตุผล รู้ว่าต้องทำอย่างนั้น จนกระทั่งรู้ ตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้เองว่า ตถาคต เป็นแต่ผู้ชี้ทาง การปฏิบัติหน้าที่นั้น เธอทั้งหลายต้องทำเอง
ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา
ตถาคตทั้งหลายเป็นแต่เพียงผู้บอก ผู้ชี้ทาง การกระทำ เธอต้องทำเอง นี่เป็นพุทธศาสตร์
ถ้านั่งอ้อนวอนให้พระเจ้ามาช่วย ก็เป็นไสยศาสตร์ นี่เพียงแต่เอามาแขวนคอไว้แล้วก็ช่วยได้ อย่างนี้เป็นไสยศาสตร์ สัญลักษณ์ของแขวนคอแล้วช่วยได้อย่างนี้ก็เป็นไสยศาสตร์
ถ้ามาแขวนคอเพราะว่าสำนึกในพระคุณ ว่าเป็นผู้ตรัสรู้ชอบ ดีจริง ดับทุกข์ได้เอง ดับเพลิงกิเลสได้เอง สอนไว้อย่างไร เราจะประพฤติกระทำตาม มาเตือนสติเราให้ระลึกอยู่เสมอ อย่างนี้ก็, ก็ไม่เป็นไสยศาสตร์ เป็นพุทธศาสตร์ได้
เรียกว่าเอาพระพุทธ เอาพระเครื่องมาแขวนคอด้วยกัน คนหนึ่งแขวนอย่างไสยศาสตร์ คนหนึ่งแขวนอย่างพุทธศาสตร์ นี่ก็เป็นสิ่งที่ว่า เราจะต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจให้ดี ถ้าเราเป็นธรรมทายาท คืออยู่ข้างฝ่ายพุทธศาสตร์
นี่ตัวอย่างที่เราควรจะทราบกันไว้ ผมเอามาพูดมาบอกนี่ก็ สิ่งที่เราควรจะทราบกันไว้ หลายสิ่ง หลายสิบสิ่ง นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง สิ่งหนึ่ง สองสิ่ง เมื่อเป็นธรรมทายาทมีหน้าที่ ที่จะต้องชำระชะล้างสิ่งปลอมปน ที่ปนเข้ามาในพุทธศาสนา หากพูดโดยตรงก็พูดว่าดึงไสยศาสตร์ออกไปเสียจากพุทธศาสนา ให้พุทธศาสนาคงเป็นพุทธศาสตร์อันบริสุทธิ์ ต่อไปตามเดิม นี่คือ หน้าที่
มันเป็นหน้าที่ที่เราภิกษุจะต้องทำ ถ้าเราไม่ทำ เราก็คือคนเอาเปรียบ รับปัจจัยสี่มาบริโภคแล้วไม่ทำหน้าที่ นี่จะเลวกว่าขอทานธรรมดา ก็เพราะว่าขอทานธรรมดากลางถนน เขาไม่ได้สมมุติว่าต้องทำหน้าที่ตอบแทนอะไร เขาไปเอามากินก็ถูกต้องแล้ว แต่ถ้าเรารับมาบริโภค โดยที่มีพันธะสัญญาหรือสัญญาประชาคมว่า พระภิกษุสงฆ์เป็นนาบุญ เขาให้มาในฐานะที่เราเป็นนาบุญ รับเอามาในฐานะที่เป็นนาบุญ แล้วก็บริโภค แล้วไม่ทำให้เกิดบุญ มันก็กลายเป็นคนโกง ถ้ามันสวมเครื่องแบบของทักขิไนยบุคคลแล้วไปรับเอา ไอ้ทานนั่นมา ปัจจัยสี่นั่นมา แล้วไม่ทำ มันก็กลายเป็นคนโกง ถ้ามันเป็นขอ, ขอทานอยู่กลางถนน มันก็แสดงอยู่ชัดว่า ฉันเป็นขอทานเท่านั้นนะ ขอทานเท่านั้นแหละ ไม่ใช่ทักขิไนยบุคคลอะไร มันก็ไม่มีทางที่จะโกง ไม่, แม้มันจะไม่ทำอะไรตอบแทน มันก็ยังไม่ถูกหาว่าโกง
ไอ้เรามันสวมเครื่องแบบของพระอริยะ ของพระอรหันต์ ไปรับประทานมาแล้วไม่ทำตาม ที่จะต้องทำ มันก็โกง มีบาลีกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ชัด, ชัดเหมือนกันว่าที่ไม่, ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของสมณะแล้ว เขาก็เป็นผู้อยู่ด้วยความโกง เหมือนกับนายพราน มีสิ่งพรางตาเข้าไปฆ่าสัตว์ มีสิ่งบังตัว ก็พรางตา เข้าไปฆ่าสัตว์ในขณะนั้นเลย
ถ้าเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้ผมคิดว่า มันจะสนุก เป็นสุข กล้าหาญ ในการที่จะทำหน้าที่ของธรรมทายาท เพราะมันมีความหมายอย่างนี้ เพราะมันมีคุณค่าอย่างนี้ หรือมันเป็น, เรียกว่าเกียรติยศก็ได้ อันสูงสุดอย่างนี้ เป็นปูชนียบุคคล อยู่อย่างเป็นเจ้าหนี้ตลอดเวลา ถ้าเราเป็นธรรมทายาทแท้ เราจะเป็นอยู่ อย่างเป็นเจ้าหนี้ตลอดเวลา
ฉะนั้น จึงควรมารู้ความหมายของคำว่า ธรรมทายาท โดยทั่วๆไปกันเสียก่อน กระผมจึงเอามาพูดในวันแรก ต่อเมื่อสมัครใจ หรือนึกสนุก อุทิศชีวิต เป็นธรรมทายาทกันจริงๆแล้ว ก็จะได้พูดโดยรายละเอียดอย่างอื่นต่อไปให้มันสมบูรณ์ แต่วันแรกนี้พูดถึงความหมายของธรรมทายาทให้แจ่มแจ้งประจักษ์แก่จิต จนมีความพอใจ จะเกิดเป็นอิทธิบาท มีกำลังขึ้นมาในการจะปฏิบัติหน้าที่ของธรรมทายาท
สรุปว่า มันตามพระพุทธประสงค์อย่างหนึ่ง
การที่มันเป็นหน้าที่ของเราเองนี่อย่างหนึ่ง
ตามที่มันเป็นความยุติธรรมในโลก ระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ความยุติธรรมในโลก
ด้วยเหตุผลสามอย่างนี้แล้ว เรา, ก็พอแล้ว ที่เราจะต้องทำหน้าที่ ให้ถูกต้อง ให้บริสุทธิ์ผุดผ่องของธรรมทายาท ตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า จงเป็นธรรมทายาทเถิด อย่าเป็นอามิสทายาทเลย ถ้าทำได้มันก็เป็นงานที่วิเศษกว่าทำงานใดๆหมด เกิดมาทีหนึ่งเป็นฆราวาสก็ดีเท่านั้นแหละ ถ้าเป็นธรรมทายาท เป็นพุทธก็ดีกว่านั้นมาก หรือว่าในบรรดางานของภิกษุกันแล้ว งานธรรมทายาทนี่, ช่าง, จะต้องประเสริฐกว่างานชนิดไหนหมดนะ พูดแล้วไม่กลัวใครโกรธหรอก เพราะงานปกครองก็ดี งานปริยัติก็ดี งานอะไรก็ตาม ที่พระสงฆ์เราทำกันอยู่นี่ ไม่มีงานไหนจะสูงสุดไปกว่างานธรรมทายาท คือ สืบอายุพระศาสนาไว้ ให้โลกให้ประชาชน ตลอดกาลนิรันดร คือเรียนให้รู้จริง ปฎิบัติจริงแล้วก็สอนธรรม ธรรมะ ให้แพร่หลายไปทั่ว
งานธรรมทายาท ประเสริฐกว่างานไหนหมด ถ้าไม่มีใครรู้ ไม่มีใครชี้ เขาไม่ขอบใจ เขาไม่ให้เกียรติยศชื่อเสียงก็ช่าง เราทำก็แล้วกัน ไม่ได้เลื่อนยศอะไรก็ช่างหัวมัน ไอ้งานที่เขาเลื่อนยศกันง่ายๆนั้น ดูจะเป็นงานอย่างอื่น แต่ว่าเราสมัครเป็นธรรมทายาท ไม่มีใครให้ยศ ไม่มีใครเลื่อนยศก็ช่างหัวมัน พูดหยาบคายอย่างนี้ เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านมอบหมายให้ ราวกับว่าท่านคอย, คอยดูอยู่นะ สมมุติว่าท่านคอยดูอยู่ เราจะทำให้ตรงตามพระพุทธประสงค์
ทีนี้ก็จะพูดต่อไปอีกสักนิดหนึ่ง ถึงคำพูด คำหนึ่ง คือคำว่า เอ่อ, ความภักดี ความภักดี จงรักภักดีก็ได้ ภักดีก็ได้ มีกลิ่นอายของไสยศาสตร์อยู่บ้าง เพราะว่ามันมีความภักดีอย่างงมงายหลับหูหลับตาก็มี ภักดีอย่างนั้นก็มี ก็คือภักดีเหมือนกัน แต่เราไม่ได้ภักดีอย่างงมงายอย่างนั้น เราภักดี อย่างมีเหตุผล อย่างลืมตา มันเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีความภักดี ในหมู่สาวกของศาสนา และทุกศาสนาเลย ไม่ว่าศาสนาไหนจะผิดถูกอย่างไร สูงต่ำอย่างไร ก็สุดแท้ สิ่งสำคัญที่ต้องมีในหมู่สาวก ก็คือความภักดี ต่อสิ่งสูงสุดในศาสนาของตน ของตน ความภักดีนี้ มันมากกว่าความเชื่อ ความเชื่อมันไม่มอบกายถวายชีวิตก็มี แต่ความภักดีนี้ มันหมายถึงการมอบกายถวายชีวิต และมันก็มีความเชื่อเป็นต้นทุน เป็นรากฐานเหมือนกัน เราจะต้องรู้จัก เข้าใจ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถึงขนาดที่เกิดความภักดีแท้จริง ไอ้ภักดีอย่างงมงายไปก่อนนั้น ก็ต้องมี มันก็คงจะมี มันก็จะมีกันทุกคนแหละ
ผมก็ยอมรับว่าผมเองก็มี ทีแรกน่ะ มีความจงรักภักดีในพระรัตนตรัยค่อนข้างงมงาย ต่อเมื่อมาศึกษามากเข้า มากเข้า โอ้, มันก็เห็น เห็นชัด เห็นมากพอ จนไม่ต้องมีอะไรงมงาย มันถูกต้องที่สุด เหมาะสมที่สุด ที่เราจะมอบกายถวายชีวิตนั้นให้แก่พระรัตนตรัย เราสวด, สวด, สวดทำวัตรเย็น เอ่อ, เป็นทาสพระพุทธ เป็นทาสของพระธรรม เป็นทาสของพระสงฆ์ มันก็ยังกำกวมอยู่นั่น มันต้องเป็นทาสที่ภักดีนะ ไอ้ทาสที่ไม่ภักดีมันก็มี มันอยู่อย่างจำใจ มันไม่ได้ภักดีในเจ้านาย อย่างนี้ก็ไม่ใช่เรียกว่าทาสที่แท้จริง หรือบริสุทธิ์ ถ้าเราเป็นทาสของพระพุทธ เป็นทาสของพระธรรม เป็นทาสของพระสงฆ์ อย่างคำในทำวัตรเย็น ไอ้สิ่งที่ขาดไม่ได้ ก็คือสิ่งที่เรียกว่าความภักดี มันมาก มันมีแรงมาก ถึงขนาดเสียสละชีวิตก็ได้ ยอมเสียสละชีวิตก็ได้ เพื่อผลแก่สิ่งที่เราภักดี ศาสนาต่างๆก็อยู่ได้ด้วยความภักดี ของสาวกแห่งศาสนานั้นๆ และที่มันทำได้มาก ทำได้อย่างไม่น่าเชื่อ เผยแผ่กันไปทั้งทวีป ทวีปนี้ มันก็ด้วยความภักดีจนยอมตายได้ของสาวกทั้งหลายแห่งศาสนานั้น ทั้งนั้นแหละ
แต่ว่าศาสนาพุทธเราไม่ต้องไปฆ่าใครที่ไหน ไม่ต้องยกกองทัพ แลกเอาด้วยชีวิต เราทำกันอย่างปกติ ปกติ เพียงแต่ว่า ชนะ, ชนะในทางธรรม ไม่ต้องฆ่าใคร แต่ว่าฆ่ากิเลสในจิตใจของคนที่มีกิเลส เรียกว่ากองทัพธรรม มันก็ดู โก้เก๋ดีเหมือนกัน ยกกองทัพไปฆ่ากิเลสหรือมารในจิตใจของคนที่มีกิเลส นี่, เรียกว่ากองทัพธรรม
มองอีกทางหนึ่งก็คือ ธรรมทายาทนั่นเอง จับกลุ่มกัน เป็นกลุ่ม เป็นก้อน แน่นหนา ถาวร เข้มแข็ง ยกกองทัพนี้ไปเที่ยวปราบมาร ที่มีอยู่ในหัวใจของคน ดูเถิด มันยากหรือง่าย มันละเอียด สุขม หรือว่าเป็นของหยาบๆง่ายๆ ถ้าเรารู้ว่ามันละเอียดหรือยาก เราก็ต้องเพิ่มความภักดี จะได้สามารถเพิ่มขึ้น ทำหน้าที่ของตน ให้มันลุล่วงไปได้ ถ้าไม่มีความภักดี มันก็ไม่มีทางจะสำเร็จ
ภักดีที่บริสุทธิ์ นี่ ก็หมายความว่า มีสัม, สัมมาทิฐิ เป็นเหตุให้ภักดี ภักดีบางพวกมีมิจฉาทิฐิ เป็นเหตุก็มีเหมือนกันแหละ มันภักดีอย่างงมงาย มันมักจะกระทำกันอย่างงมงายเสมอ พวกที่มีภักดีโดยมิจฉาทิฐิ เราก็มีสัมมาทิฐิเป็นหลักอยู่ตลอดเวลา ตามหลักของพระพุทธศาสนาแล้ว อะไร อะไร ก็ให้ถูกนำไปโดยสัมมาทิฐิ ไอ้เราเองก็ถูกนำมาโดยสัมมาทิฐิ มาเป็นธรรมทายาท ด้วยอำนาจของสัมมาทิฐิ ไม่ใช่ เห่อตามๆ กันมาอย่างงมงาย ทีนี้จะทำหน้าที่ต่อไป ยกกองทัพไปปราบมารในหัวใจของมนุษย์ ก็ต้องทำด้วยสัมมาทิฐิอีกเหมือนกัน สะสมสัมมาทิฐิ พอกพูนสัมมาทิฐิ ให้มันยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ให้มันมากพอ และงานที่ยากนี่ มันก็จะกลายเป็นง่าย มันไม่เหลือวิสัย มันไม่ยาก จนเหลือวิสัย ถ้ามันมีสัมมาทิฐิพอ แล้วก็เรียกว่าธรรมทายาท
เอ้า, ทีนี้จะเป็นธรรมทายาท อย่างทายาด ทายาด ทรหดอดทน เป็นธรมทายาท อย่างทายาด ทายาด ด สะกด เป็นธรรมทายาทกันอย่างทรหดอดทน เพื่อพระพุทธเจ้า ก็ดูอย่างพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเองท่านทรหดอดทนอย่างไร เราศึกษาพุทธประวัติให้มากพอ ก็จะพบว่าแหม, มันมาก ในการบำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้านั้น ต้องทำกันอย่างทรหดอดทน ไอ้บารมี ๑๐ นั่น อย่าเข้าใจว่ามีไว้สำหรับเป็นพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นพระอรหันต์ หรือจะเป็นสาวกรองๆลงมา ก็บำเพ็ญบารมี ๑๐ ได้ เหมือนกัน แต่มันลดระดับลงมา ไม่ต้องถึงขนาดสูงสุดที่จะเป็นพระพุทธเจ้า
ดังนั้นบารมี ๑๐ มีอย่างไร เราก็เอามาใช้ได้สำหรับบำเพ็ญบารมี เพื่อหน้าที่ของเรา เพื่อความเป็นทายาท ที่ทายาด ที่ทรหดอดทน บำเพ็ญทาน บำเพ็ญศีล, และบำเพ็ญทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา แต่ละอย่าง ละอย่าง และทำกันอย่างทรหดอดทน
อ่านเรื่องชาดก ไม่ต้องไปอ่านทำนองจะขัดแย้ง ทำนองสัตว์พูดได้ อะไรทำนองนี้ แต่ว่าให้ได้ความว่าพระโพธิสัตว์ แต่ละโพธิสัตว์ เขามีความทรหดอดทนกันอย่างไร ให้เราเอาเป็นตัวอย่างทรหดอดทน หรือว่าจะดูที่ว่า การบำเพ็ญบารมีสุดท้าย ก่อนหน้าเป็นพระพุทธเจ้าเล็กน้อย คือทุกกรกิริยาทั้งหลาย ไปดูเถิด มีความทรหดอดทนเท่าไร ท่านอยากรู้อะไร อยากทำอะไร ท่านทำอย่างที่เรียกว่าทรหดอดทน เกินนิสัยของคนธรรมดา อยากค้นคว้า อยากทดลองอะไร ก็ทำอย่างทรหดอดทน เรื่องอาหารก็ดี เรื่องเครื่องนุ่งห่มก็ดี มีสูตรหลายสูตรในมัชฌิมนิกาย ที่รวบรวมมาใส่ไว้ในพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ หาอ่านดู จะพบความทรหดอดทนของพระพุทธเจ้าในการบำเพ็ญบารมี ขั้นสุดท้ายจะเป็นพระพุทธเจ้าอยู่หยกๆนี้ หลังจากนั้นก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
เราไม่ถึงกับว่า จะต้องทำตามนั้นไปหมดหรอก แต่เราทำให้มันมีความทรหดอดทน ในมาตรฐานเดียวกันก็แล้วกัน ถ้ามันจะลอง ควรจะลองก็ลอง ลองอย่างทรหดอดทน แล้วก็จะรู้ความจริง และต่อมาท่านก็ทรหดอดทนในการทำหน้าที่ ของพระพุทธเจ้า ไม่มีอะไรเรื่องเหยาะแหยะ พระไตรปิฏกเล่มแรกเล่มนึง เปิดดูหน้าแรกๆ จะพบเรื่องพระพุทธเจ้าและพระสาวกอีกตั้ง ๕๐๐ รูป ฉันข้าวตากเลี้ยงม้า มันเกิดการสับสนบังเอิญอะไรกันในที่นี้ ผู้รับนิมนต์ (นาทีที่ 1.5.44) เมืองเวนันชาเขาลืมไป เขาไม่ได้บริ, เอ่อ, อุปัฎฐากบำรุง พระพุทธเจ้าไม่มีอะไรจะฉัน ในพรรษานั้น แต่พ่อค้าที่เขาเลี้ยงม้าขาย เขามีข้าวตากสำหรับเลี้ยงม้าอยู่มาก เขาก็แบ่งให้พระฉันองค์ละฝ่ามือ ทำให้ชุ่มๆด้วยน้ำแล้วก็ฉัน ไม่มีแกง ไม่มีกับ พวกเราเคยเป็นอย่างนั้นไหม คิดดูสิ พวกเราตั้งแต่บวช มาจนบัดนี้เคยเป็นอย่างนั้นบ้างหรือเปล่า มันไม่มี ฉันข้าวตากเลี้ยงม้า ซึ่งมันก็ต้องเหม็นสาปเป็นธรรมดา ไม่มีแกง ไม่มีกับ เพียงเอาน้ำพรมให้ชุ่ม พระสาวกบางองค์ทูลว่า แหกพรรษาเถิด ไปเถิด พระพุทธเจ้าบอกไม่ไป มันในพรรษาจะไปอย่างไร นั่นแหละความทรหดอดทน พระสาวกบางองค์ทูลว่าจะไปแสดงปาฏิหาริย์ ไปขนเอาข้าวปลาอาหารมาจากทวีปอื่น มาเลี้ยงดู ไม่เอา ไม่ทำ เห็นเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเป็นอเนสนา หากินด้วยปาฏิหาริย์นี้ไม่เอา เรื่องทรหดอดทนมีอยู่อย่างนี้
และตลอดเวลาท่านก็ต้องลำบาก เพราะท่านไม่มีรองเท้า ท่านไม่มีรถยนต์ แม้แต่เกวียนก็ไม่นั่ง ไม่มีอะไรที่สบายเหมือนพวกเรา มีรถไฟ มีรถยนต์ มีเรือบิน มีอะไรใช้ พระพุทธเจ้าต้องทรงดำเนิน และไม่มีเรื่องตรงไหนที่แสดงว่าใช้รองเท้า ไม่มี ใช้ร่ม ใช้รองเท้านี่ ไม่พบเลยในพระบาลี ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่อนุญาตในวินัย แต่ไม่รู้ว่าใช้กับใคร เข้าใจว่าพระสาวกทั้งหลายส่วนมากในครั้งพุทธกาล ไม่ได้ใช้ร่ม ไม่ได้ใช้รองเท้า และก็อยู่อย่างที่เรียกว่า ทรหดอดทน พระพุทธเจ้าเดินทางจนนาทีสุดท้ายแล้วปรินิพพาน ในวันปรินิพพานนั้นเดินตั้งหลายโยชน์ และก็ไป, ไปนิพพานลงกลางดินเลย นี่ดูความทรหดอดทนของท่าน เป็นสิ่งที่เราต้องนึกถึง ถ้าเราไม่มีความทรหดอดทนแล้ว เราก็ทำหน้าที่นี้ไม่ได้หรอก
ดังนั้น ขอให้ฝึกความทรหดอดทน ถ้าที่อื่นไม่สะดวก ที่นี่แหละสะดวก ที่จะฝึกความทรหดอดทน เป็นอยู่อย่างที่ต้องใช้ความอดทน ไม่มีมุ้ง ไม่มีมุ้ง ก็นอนฟังยุงร้องเพลง มันจะลำบากอะไร
พระพุทธเจ้านั้นไม่มีมุ้ง คอยนึกดูไปหาที่มาในวินัยตรงไหน ที่มีแสดงว่าพระพุทธเจ้าใช้มุ้ง มันไม่มี ก็ต้องฟังยุงร้องเพลง ในบทปัจจเวกท่านจึงตรัสว่าให้ใช้จีวรนี้
ฑังสะมะกะสะ วาตาตะปะ สิริงสะปะสัมผัสสานัง ปะฏิฆาตายะ
ใช้จี, จีวรนี้กันยุงไปตามเรื่อง ไม่มีมุ้ง
นี้เป็นตัวอย่างเท่านั้น อื่นๆยังมีมาก ที่เราจะต้องเอามาคิดมานึก แล้วฝึกความทรหดอดทน ไม่ปริปาก ไม่โวยวาย เมื่อมันเกิดความขาดแคลนหรืออะไรขึ้นมา นี่, ก็ยินดีปรีดาว่ามันดีแล้ว มันอย่างนั้นเอง นี่, ความทรหดอดทน มันก็คงอยู่ มันยังเหลืออยู่ ไม่ละทิ้งหน้าที่
ถ้าความทรหดอดทนมันมีเหนือ, เหนือ, เหนือน้ำหนักของการงาน ไอ้งานนั้นมันก็ไม่หนัก เพราะเรามีความทรหดอดทน มากกว่าการงาน งานนั้นก็เป็นงานเบาไปหมด แม้ว่าจะเป็นงานที่เห็นกันว่าลำบาก ยุ่งยาก เจ็บปวดเหลือประมาณ นี่, ขอให้สนใจ
เป็นธรรมทายาท อย่างทายาด ทรหดอดทน เหมือนพระพุทธเจ้า ท่านเป็นต้นกำเนิดของการให้มีธรรมะ ขึ้นมา ประดิษฐานธรรมะเข้าไว้ เราก็มีหน้าที่สืบอายุเท่านั้น มันง่ายยิ่งกว่าเป็นกอง ก็ควรจะได้ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง
นี่ผมเรียกว่าธรรมทายาท มีความหมายทั่วๆไปในลักษณะอย่างนี้ หรือว่าความหมายทั่วๆไป ของคำว่าธรรมทายาท มันมีอย่างนี้ ไอ้รายละเอียดค่อยพูดกัน คราวหลังๆ ถ้าไม่มีความตั้งใจแน่วแน่อย่างนี้ ก็ป่วยการ พูดก่อนไม่มีประโยชน์อะไร หรือเมื่อไม่สมัครจะทำแล้วจะพูดไปทำไม หรือว่าจะเรียนไปทำไม ถ้าไม่สมัครจะทำ เราก็ต้องพูดกัน จนให้แน่ใจว่า เราสมัครจะทำ นั้นจึงจะศึกษารายละเอียดว่าจะต้องทำกันอย่างไร
วันนี้มันก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว สำหรับการพูด เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจว่า ความหมายทั่วไปของคำว่าธรรมทายาทนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเห็นว่าน่า, น่า, น่าถือเอา น่าเคารพบูชา ยินดีจะเสียสละทรหดอดทนเพื่อจะทำ, จะดำเนินงานนี้ก็เอา และมันก็จะเป็นจุดตั้งที่ดี เป็นการเริ่มจุดตั้งต้นที่ดี มันมีหวังแห่งความสำเร็จ ขอให้เอาไปคิด ไปนึก จนมันเกิดความมั่นคง เป็นเสาหินขึ้นมาในจิตใจของเรา ว่าจะเอางานอันนี้ จะรับปฏิบัติงานอันนี้ ทุกอย่างก็เป็นไปด้วยดี การพูดของผม พอที ที่เหลือ, เวลาเหลืออยู่บ้างนี้ ก็ว่าจะ, จะตอบปัญหา ถ้าผู้ใดมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็นิมนต์ถามได้เลย ก่อนจะหมดเวลา อีกสักครึ่งชั่วโมง
ผู้ฟัง : [นาทีที่ ๑.๑๒:๕๘] เสียงเบามาก ไม่ได้ยินค่ะ
พุทธทาส : ถ้าสาวกในครั้งพุทธกาลก็น่าจะไม่ค่อยมี มันกลายเป็นเรื่องชั้นหลัง แล้วเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ เป็นสิกขาบทเล็กๆน้อยๆ
ผู้ฟัง : (นาทีที่ 1.13.26) การแผ่แมตตาเป็นไสยศาสตร์หรือเปล่าครับ
พุทธทาส : การแผ่แมตตาด้วยความเมตตานั้น มันไม่, ไม่มีทางที่จะเป็นไสยศาสตร์ เพราะเราไม่ได้หวังตอบแทน ชนิดที่เอาเปรียบ เป็นหลัก, หลักการที่ดี ที่จะทำให้มนุษย์ผสมผสานเป็นกลุ่มเดียว เป็นก้อนเดียว
ไสยศาสตร์ คือหวังพึ่งภายนอก พึ่งสิ่งภายนอกจากตัวเรา ในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นี่เรียกว่า ไสยศาสตร์ มีมาตั้งแต่ยุคคนป่า แรกมีมนุษย์ขึ้นมาในโลก มันหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอกตัว คนป่าเหล่านั้นเป็นต้นตำรับแห่งไสยศาสตร์ ครั้นมาถึงยุคพระพุทธเจ้านี่ ท่านกลายเป็น, มีการกระทำ ที่ทำไปแล้วมันเกิดผล ช่วยตัวเองได้ นี่, มันตรง, มันตรงกันข้าม คือ พึ่งสิ่งภายใน คือการกระทำของเรา ถ้าเป็นไสยศาสตร์มันจะพึ่งสิ่งภายนอก และในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เข้าใจไม่ได้ ที่งมงาย พูดอย่างนั้นดีกว่า
ผู้ฟัง : การสอนหนังสือทางโลก โดยไม่สอนทางธรรมเป็นการเอาเปรียบ
พุทธทาส : เป็นพระ, หมายถึงเป็นพระหรือ สอนให้ฟรีเอาเปรียบอะไร สอนให้ฟรี ไม่เอาเปรียบอะไร
ผู้ฟัง : แต่ว่าฉันข้าวบิณฑบาตร (เสียงไม่ชัด)
พุทธทาส : อย่างนั้นก็ได้ นั่นมันก็เป็นเรื่องที่, เป็นเรื่องคิดบัญชีกัน แต่ว่าเราคงไม่, ไม่, ไม่เป็นฝ่ายที่, ที่เจ้าหนี้สูงนัก สอนธรรมะมันเป็นเจ้าหนี้ที่มีค่าสูง สอนความรู้ธรรมดา มันก็เป็นเจ้าหนี้ที่มีค่าน้อย มันจะคุ้มค่ากันหรือไม่ก็ไปอีกเรื่องนึง
ผู้ฟัง : [นาทีที่ ๑.๑๕:๔๐]
พุทธทาส : ดับทุกข์ได้อย่างไร เรื่องที่ต้องไปศึกษาเอาโดยตรง จากเรื่องดับทุกข์ทั้งหมด ที่มีอยู่ใน, ในหลักสูตรที่เราเล่าเรียนมา
ดับทุกข์ ก็คือ ไม่ให้กิเลสเกิด หรือ กิเลสเกิดขึ้นแล้ว ทำลายเสีย ดับทุกข์
ถ้าจะพูดให้ป็นคำบัญญัติ สรุปสั้นที่สุด และอมความมากที่สุด ก็คือว่า อย่าทำผิดเมื่อมีผัสสะ ให้จำไปคิดเถิด ผมท้าว่าไม่มีประโยคไหนดีกว่าประโยคนี้ เมื่อมีผัสสะทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เข้ามากระทบเรียกว่ามีผัสสะ ตอนนั้นน่ะอย่าทำผิด ไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดทุกข์
ถ้าทำผิด มันก็เกิดกิเลส เมื่อมีผัสสะแล้วมันโง่ ไม่มี, ไม่มีปัญญา ไม่มีวิชชา มันโง่ เป็นเวทนา มันโง่ เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดทุกข์แหละ เราทำผิดเมื่อมีผัสสะทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ทำไม่ผิด เมื่อมีผัสสะ มันก็ไม่มีทุกข์ ทุกข์ไม่อาจจะเกิด หรือว่าทุกข์เกิดขึ้นแล้ว เรามีผัสสะต่อความทุกข์นั้นแล้ว เราทำถูกอีกทีนึง คือมีปัญญา มีสติขึ้นมา ทุกข์มันก็ดับไป
ผัสสะเป็นบ่อเกิดแห่งกรณียุ่งยากทุกกรณี ในพระบาลี พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าอย่างนั้น อะไร อะไร มันตั้งต้นมาจากผัสสะ ไอ้กรรม, ไอ้กรรม, การกระทำที่เรียก กรรม ผลกรรม กรรมดี กรรมชั่ว ก็ตั้งต้นจากผัสสะ กิเลสตัณหาก็ตั้งต้นจากผัสสะ มากมาย จำ, จำไม่ค่อยได้ แต่, แต่เข้าใจได้
ผัสสะ นี่มันเป็นจุดที่ทำให้เราทำผิดหรือทำถูก ถ้ามีสติปัญญามาทันในขณะผัสสะ ไม่มีผิด นี่ถ้ามันไม่มีมาเป็นผัสสะโง่ มันก็ต้องเกิดกิเลสจนได้ อย่าให้ผิด อย่าทำผิด เมื่อมีผัสสะ รับประกันได้ นั่นคือเรื่องอริยะสัจ ทั้งหมด มันไม่เกิดตัณหานี่ ถ้าไม่ทำผิดเมื่อผัสสะ และก็มันก็, ก็ไม่เกิดตัณหา ก็ไม่มีทุกข์ หรือว่าปฏิจจสมุปบาทอันแสนจะยืดยาว ยุ่งยากนั้น ก็มาสรุปอยู่ตรงนี้นิดเดียว อย่าทำผิดเมื่อมีผัสสะ และปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์ ก็ไม่มี มันจะมีปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับทุกข์หรือนิโรธวาร
นี่ตอบอย่างรวบรัดหรือจะเรียกว่าเอาเปรียบก็ได้ ก็ตอบอย่างนี้ ดับทุกข์อย่างไร อย่าทำผิดเมื่อมีผัสสะ
ผู้ฟัง : [นาทีที่ ๑.๑๙:๑๓]
พุทธทาส : ก็แบบเดียวกันนะ อย่าทำผิดเมื่อมีผัสสะ มีสติปัญญามาเมื่อมีผัสสะ ไม่เกิดตัณหา อุปาทาน ที่ว่าจิตวุ่น คือ อุปาทาน ตัวกูของกู ว่าตัวกูเกิดขึ้นในจิตแล้ว จิตก็ไม่ว่าง ถ้าจิตยังไม่มีความรู้สึกคิดนึกประเภทตัวกูของกู แล้วก็เรียกว่า จิตยังว่างอยู่ นี้, จิตมันวุ่นขึ้นมา ก็เพราะว่าตรงจิตมีผัสสะนั้น มันเต็มไปด้วยอวิชชา ไอ้ผัสสะนั้นเป็นผัสสะมืด เป็นผัสสะโง่ เป็นผัสสะหลับ มันก็ปรุงกิเลส คือ เวทนาปรุงให้เกิดตัณหา ตัณหาทำให้เกิดอุปาทาน นั่นแหละคือตัวกูของกู ไม่ว่างแล้ว เต็มไปด้วยตัวกู ของกู เป็นฝูงๆ
ผู้ฟัง : [นาทีที่ ๑.๒๐:๒๐]
พุทธทาส : ผมว่าไม่มี แต่, แต่ อาจารย์บางพวกเขาว่ามี ไปถามเขาดู ผมว่าไม่มี อวิชชาเป็นสิ่งที่เกิดแล้วดับเหมือนกัน ต้องมีโอกาส ต้องมีเหตุปัจจัยมันจึงจะเกิด เมื่อ, เมื่อผัสสะไม่มีสติคุ้มครอง มันก็เกิดอวิชชา อวิชชาเหมือนกับบรรยากาศมีอยู่ในที่ทั่วไป พร้อมที่จะเข้าไปในที่ ที่ว่าเขาคุ้มครองไม่ดี หรือเขาเปิดประตูให้ก็ได้ เมื่อไม่มีสติปัญญาในผัสสะ ผัสสะนั้นก็เหมือนกับเปิดประตูให้อวิชชาเข้ามา มันก็เกิด
อวิชชาไม่ได้มีอยู่อย่างตายตัวเป็นสัสสะตะ มันก็เป็นพวกสังขะตะ มีเหตุมีปัจจัยแล้วจึงเกิด เป็นธาตุชนิดหนึ่ง อวิชชาธาตุ วิชชาธาตุ อวิชชาธาตุ มีอยู่ในที่ทั่วไปก็ได้ ตรงไหนให้โอกาสมันเกิด มันงอก มันก็เกิด ก็งอกขึ้นมา และต้องเป็น, เป็น, เอ่อ, ไม่ใช่ ต้องมีความรู้สึก ไม่ใช่คนตายหรือคนหลับ
อวิชชา ในปฏิจจสมุปบาทมีความหมายอย่างนี้ อวิชชาเป็นความรู้สึกคิดนึกอย่างนึง จึงไม่มี ในขณะที่มันหลับ เหมือนกิเลสอย่างอื่นก็ไม่มี ในขณะที่หลับ หรือแม้แต่ว่าจะไปจัดกิเลส, เอ่อ, จัดความ, การหลับให้เป็นกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นกิเลส มีไม่ได้ในขณะที่หลับ แต่ว่าไอ้ความเคยชินที่จะเกิดกิเลสนั้น ไม่ได้สูญหายไปเพราะการหลับ ตื่นขึ้นมามันก็เกิดกิเลสได้
ผู้ฟัง : [นาทีที่ ๑.๒๒:๕๐]
พุทธทาส : การฝัน เป็นการทำบาปทำกรรม เป็นกิเลส เป็น, มันก็ไม่ได้เป็นกิเลสที่สมบูรณ์ ที่เรียกว่า ภายในสำนึกหรือเจตนา ดังนั้นทางวินัยจึงยก, ยกให้ ไม่ถือเอาเป็น, เอ่อ, เป็นกรรม หรือว่าเป็นเจตนาอะไร
แต่ในทางธรรมะนี้ มันไม่เหมือนกับในวินัย ถ้ามันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจจะต้องจัดการ แก้ไขให้ดี อย่าให้ฝันร้ายชนิดที่เป็นความทุกข์ ถ้าฝันดีก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าฝันร้ายเป็นความทุกข์ จะต้องแก้ไขทุกอย่าง อย่าให้มันฝันร้าย เจริญกรรมฐานหรือว่าเจริญอะไรก็ตาม ที่ไม่ให้มันฝันร้าย ถูกต้อง
ผู้ฟัง : [นาทีที่ ๑.๒๔:๒๕]
พุทธทาส : คำว่าบาป นั้นมันปนกันยุ่งหมดแล้ว คุณจะถามว่าขาดศีลข้อปาณาติบาตหรือไม่ หรือถามว่าอย่างไร
มันไม่ขาดศีลข้อปาณาติบาตหรอก ถ้าไม่เจตนา แต่มันก็ไม่ดี หรือเป็นบาป เพราะสะเพร่า เพราะเลินเล่อ
ไอ้ความเลินเล่อ ความสะเพร่านั้น มันก็เป็นกิเลสหรือเป็นบาปชนิดหนึ่ง มันก็ต้องถือว่าเป็นบาปชนิดนั้น จะมากหรือน้อย จะเบาหรือ มันก็ต้องเป็นบาปชนิดที่เกิดมาจากความเลินเล่อ แต่ไม่อาจจะปรับให้ขาดศีลข้อที่หนึ่งคือปาณาติปาตา เพราะไม่ได้, ไม่ได้มีเจตนาจะฆ่าใคร
คำว่าบาป ระวังให้ดี ความหมายมันปนกันยุ่ง กำกวม แยกออกไปทางวินัยเรียกว่า ขาดศีล ทางธรรรมะก็เรียกว่าบาป อาจจะไม่ดี ไม่ขาดศีล แต่ว่าอาจจะเป็นความไม่ดีในด้านธรรมะ คือ สะเพร่าหรือเลินเล่อ
ผู้ฟัง : [นาทีที่ ๑.๒๖:๐๕] ที่ว่าโสดาบันมีศีลห้าบริสุทธิ์ พระสกิทาคามีศีลแปดบริสุทธิ์ ????
พุทธทาส : นี่ยังฟังไม่ถูกว่า ว่าอย่างไร ยังฟังไม่ถูก ว่าอย่างไร ว่าใหม่สิ
ผู้ฟัง : (นาทีที่ 1.26.38) คือเขาบอกว่าอย่างศีลห้าบริสุทธิ์อย่างพระโสดาบัน พระสกิทาคานั่นศีลแปดบริสุทธิ์อยู่ในโลกธรรมแปด แต่ยังติดสุขสรรเสริญ นั่นหมายความว่าอย่างไร
พุทธทาส : แล้วทำไมไปติดแต่พระสกิทาคา ยังติดแต่พระสกิทาคา ไปถามเขานะ ผมตอบไม่ถูก
มันต้องคนธรรมดาทั่วไป ตลอดเวลาที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ มันก็กระทบกระเทือนโลกธรรมบ้างเป็นธรรมดา พระอรหันต์เท่านั้นที่จะมีจิตใจอยู่เหนือโลกธรรม นอกนั้นนับตั้งแต่ปถุชนคนธรรมดา มันถูกกระทบกระทั่งด้วยโลกธรรมจนหวั่นไหว ไม่มากก็น้อย นิดนึงก็ได้ คือ ละความยินดียินร้ายไม่ได้โดยเด็ดขาด และมันก็ต้องหวั่นไหวโดยโลกธรรม ถ้าละความยินดียินร้ายโดยเด็ดขาด มันต้องถึงขนาดที่เรียกว่า หมดกิเลสอาสวะ
ผู้ฟัง : (นาทีที่ 1.28.06) ....... หลวงพ่อครับ ถ้าคนที่หูหนวกตาบอดมาแต่กำเนิด ถ้าเขาระวังผัสสะ จมูก ลิ้น กาย ใจ จะมีโอกาสสำเร็จไหม
พุทธทาส : คือว่าไม่เกิดทุกข์ ไอ้เรื่องทางตา ทางหู ก็ยกเลิกไป ผัสสะทางตา ตาบอด หูหนวก ก็ยกเลิกไป ก็เหลือแต่ จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ทำต่อไป มันยังมีผัสสะที่จะสร้างปัญหา คนตาบอด หูหนวก ก็รู้ธรรมะได้ ไปศึกษาธรรมะให้รู้ได้ อย่าให้ปรุงเป็นความยึดมั่น ถือมั่น เป็นตัวกูของกูก็ได้ มันมีอารมณ์เข้ามาทางอื่นที่เหลือ จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีผัสสะเหลืออยู่ทางนั้น เขาก็ไม่ทำผิด เขาก็ไม่เป็นทุกข์ หนักเข้าก็รู้ว่า มันเช่นนั้นเอง มันเช่นนั้นเอง ไม่ต้องไปหวั่นไหวด้วยอะไร
แต่เราจะสอนคนหูหนวก ตาบอด มาแต่กำเนิด ให้รู้ธรรมะ มันคงยากสักหน่อย แต่ถ้ามัน, มันหนวกจนไม่ได้ยินอะไรเลย คงสอนไม่ได้ ที่ว่าคนหูหนวกนี้ตะโกนยังได้ยิน ยังสอนกันได้ ถ้าเขามันมีความฉลาด รู้จักสังเกตเอาเอง รู้กันข้างในเอง รู้ข้างในเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น ก็, ก็มีอยู่ส่วนหนึ่งเหมือนกัน เขาฉลาด เขาสังเกต เขาเข็ดหลาบ ต่อการที่จะปล่อยให้กิเลสเกิดขึ้นในจิต เขาเข็ดหลาบ เข็ดหลาบ อาศัยแบบปัจเจกพุทธ
ผู้ฟัง : [นาทีที่๑.๓๐:๔๘] จิตของคนแล้วจริงๆมีดวงเดียว แล้ว….
พุทธทาส : มันแล้วแต่การพูด มันมีวิธีพูด จิตดวงเดียวเปลี่ยนได้หลายสิบ หลายร้อยชนิด พูดอย่างนั้นดีกว่า สิ่งที่เรียกว่าจิต มียืนอยู่เป็นพื้นฐาน มันมีหน้าที่โดยเจตสิกปรุงออกมาเป็นอย่างนั้น อย่างโน้น อย่างนี้
ผู้ฟัง : คนมีศีลห้าสามารถปฏิบัติธรรมถึงพระอรหันต์หรือเปล่า
พุทธทาส : เอ้า, ก็ปฏิบัติต่อไป ปฏิบัติต่อไปจากศีลห้า เพียงแค่ศีลห้า มันจะเป็นอรหันต์ได้อย่างไร แต่ว่ามีศีลห้าเป็นพื้นฐานนั่นแหละ มันจะปฎิบัติได้ดี เรื่อยๆ ยิ่งๆขึ้นไป มีพื้นฐานที่ดี จะเป็นพระอรหันต์ก็ต้องมีปัญญาถึงที่สุด จะมีแต่ศีลไม่ได้ มีแต่สมาธิก็ไม่ได้ ต้องมีปัญญา มีปัญญานั้นหมายความ มีศีล สมาธิ รวมอยู่ในปัญญา
ผู้ฟัง : [นาทีที่๑.๓๒:๓๕]……………
พุทธทาส : ข้อความในพระไตรปิฏก มันจะมีหรือไม่ ผมไม่, คงไม่กล้าตอบ เพราะว่าบางทีมันจะ ยังมีหลงหู หลงตา อยู่ตรงไหนบ้างก็ได้ แต่เท่าที่ผ่าน, ผ่านมาแล้วนั้น มันไม่มี มีแต่บอกป้องกันไว้ ไม่ให้เป็นไสยศาสตร์ เช่นบทพาหุงเว นี้ บ้างก็ว่า ไปพึ่งต้นไม้ พึ่งภูเขา พึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อะไรอย่างนั้น มันก็ไม่ดับทุกข์ ไม่ใช่สอนไสยศาสตร์ แต่สอนให้หลีกออกไปเสียจากไสยศาสตร์ พระพุทธเจ้าไม่ได้มีการสอนให้พึ่งสิ่งอื่นนอกจากตนในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มี ไม่พบ จึงถือว่าไม่มีไสยศาสตร์ ถ้าเผอิญมันหลงเข้ามา โดยใครมาเติมเข้าไปทีหลัง ก็เห็น มันก็พบ เห็นว่าอยู่อย่างนั้น เป็นไสยศาสตร์อย่าไปเอากับมันเลย
ผู้ฟัง : [นาทีที่ ๑.๓๔:๐๐] ทีนี้มีคนนำคำว่าอิทัปปัจจยตาไปใช้
พุทธทาส : ถ้าใช้ผิดมันก็ผิด เช่นเอาคำ จิตว่าง ไปใช้ผิดๆ มันก็ไม่ว่างนะ
ผู้ฟัง : [นาทีที่ ๑.๓๔:๒๐]………………
พุทธทาส : ถ้ารู้ความหมายก็, ก็มีประโยชน์ อะไร อะไรก็อิทัปปัจจยตา นั้นเป็นคำพูดที่ถูก ถูกต้อง คือไม่มีอะไร ที่ไม่เป็นไปตามกฎของอิทัปปัจจยตา และต้องให้เป็นอิทัปปัจจยตาฝ่ายที่ดับทุกข์ อย่าเป็นอิทัปปัจจยตาฝ่ายที่เป็นทุกข์ พอเกิดอะไรขึ้น อ้อ, นี่มัน, มันตามกฎอิทัปปัจจยตา อย่าไปยินดี อย่าไปยินร้ายกับมัน อย่าไปยินดีที่น่ายินดี อย่าไปยินร้ายที่น่ายินร้าย ก็ถูกแล้ว มันออกจะเป็นคำใหม่ ต้องรอไว้ก่อน จนกว่าจะเข้าใจกัน ก็ยังดีขึ้นบ้างที่รู้จักใช้ รู้จักพูดกัน ก่อนนี้ไม่, ไม่พูดถึงกันเลย อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปปาโท คำเดียวกันยาวเฟื้อย
เอ้า, ไม่มีปัญหาแล้ว
ผู้ฟัง : [นาทีที่๑.๓๕:๕๗]…………….
พุทธทาส : อย่างนี้ไม่ตอบแล้ว ไปดูเอาเองในหลักสูตรนักธรรม สมาธิกับวิปัสสนา ต่างกันอย่างไร
สมาธิ จิตตั้งมั่น
วิปัสสนา จิตเห็นแจ้ง
จิตประภัสสร หมายความว่า จิตที่ไม่ประกอบอยู่ด้วยกิเลส ธรรมชาติเดิม ก็เป็นประภัสสร ไม่ประกอบด้วยกิเลส มีเหตุปัจจัย กิเลสเกิด จิตไม่ประภัสสร เวลาใดขจัดกิเลสออกไปเสียได้ หรือไม่ให้กิเลสเกิด เมื่อนั้นจิตก็มีความเป็นประภัสสร
ในบาลีมี, มีบางสูตรเขียนไว้ชัดว่าเมื่อจิตอยู่ในฌาน ในปฐมฌานเป็นต้น นี้ก็ไม่มิกิเลส ความไม่มีกิเลสนี้ ก็เป็นจิตประภัสสร
หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ ประภัสสรตลอดกาล
ประภัสสรของปุถุชนนั้นชั่วคราว ชั่วคราว คือชั่วที่กิเลสไม่เกิด
ประภัสสร จิตประภัสสร คืออะไร คือจิตที่ไม่มีกิเลสปนอยู่ด้วย คือจิตล้วนๆ เราระวัง อย่าให้เกิดกิเลส จิต, ระวังจิตอย่าให้เกิดกิเลส ก็เป็นจิตประภัสสรอยู่ตลอดเวลาที่ไม่เกิดกิเลส
นี้, มันเหลือความสามารถ มันเผลอไปบ้าง อะไรไปบ้าง มันเกิดกิเลส มันก็สูญเสียความเป็นประภัสสรไปพักหนึ่ง ถ้าผู้ใดรู้เรื่องนี้ว่าธรรมชาติเป็นอย่างนี้ ผู้นั้นจะเกิดความคิดที่จะอบรมจิต พระบาลีว่าอย่างนั้น
จิตตภาวนาจะมีแก่บุคคลนั้นผู้เห็นอยู่อย่างนี้
จิตประภัสสร หรือไม่ประภัสสรเป็นอย่างนี้ คือเขาจะแน่ใจขึ้นมาว่า จิตเป็นสิ่ง, สิ่งที่อบรมได้ อบรมได้ อย่าให้เกิดกิเลสได้ จิตประภัสสรนี้ก็ไม่ค่อยพูดถึงกันนัก แต่เดี๋ยวนี้รู้จักพูดกันขึ้นบ้าง จิตประภัสสร หลายๆคำที่ว่าผมไปดึงเอามาพูดขึ้น และก็มีคนรับ, รับใช้เอาไปพูด มีอยู่หลายๆคำ
ผู้ฟัง : [นาทีที่๑.๓๘:๓๐]…………….
พุทธทาส : อะไรนะ จิตปกติ ก็บอก, ก็ชื่อก็บอกอยู่แล้ว จิตที่มีสติ จิตที่ปราศจากสติ นี่มีได้อย่างนี้ คุณดูเอาเองว่าอันเดียวกันหรือไม่ จิตที่มีสติกับจิตที่ปราศจากสติ สติมันเป็นพวกเจตสิก คือสิ่งปรุงแต่งจิต จิตมันเป็นจิต
ผู้ฟัง : [นาทีที่ ๑.๓๙:๐๔]……………………
พุทธทาส : เอามาแต่ไหนพูด คำนี้ โลกจิต โลกวิญญาณเอามาแต่ไหนพูด
ผู้ฟัง : [นาทีที่ ๑.๓๙:๑๖]……….
พุทธทาส : นั่นมันโลกที่ไหนเล่า โรค โรคทางกาย อย่างเจ็บที่กาย โรคทางจิต วิปริตที่จิต โรคทางวิญญาณ วิปริตที่สติปัญญา หรือ ทิฐิ
ความโง่ เป็นโรคทางวิญญาณ
ความที่นิวรณ์รบกวน เป็นโรคทางจิต
ร่างกายเจ็บป่วยนี้ เป็นโรคทางกาย
ผู้ฟัง : โลกสามเหลี่ยมที่มีสีแดง โลกกลม โลกสีขาว โลกสี่เหลี่ยมล้อมรอบเป็นสีน้ำเงินหมายความว่าอย่างไร
พุทธทาส : ที่อยู่ที่นั่น แผ่นผ้านั่นแหละ เขาสมมุติให้เป็นภาพ เรียกว่า ภาพพระรัตนตรัย ตามที่เขาบอกๆกันมา เขาว่า กรมพระยานริศ ศิลปินเอก ของเมืองไทยเป็นผู้คิดขึ้น สัญลักษณ์ของพระรัตนตรัย สามเหลี่ยมตรงกลาง พระพุทธ วงขาวพระสงฆ์ สี่เหลี่ยมนอก, เอ้อ, พระธรรม สี่เหลี่ยมนอก คือพระสงฆ์
พระพุทธเจ้า ประกอบด้วยพระคุณสาม เลยเขียนเป็นรูปสามเหลี่ยม
พระธรรม เป็นสิ่งที่ไม่มีสิ้นสุด เลยเขียนวงกลม
พระสงฆ์ สี่เหลี่ยมเหมือนกับพื้นนา เหมือนกับนา สี่เหลี่ยม
สัญลักษณ์พระรัตนตรัย
ผู้ฟัง : (นาทีที่ 1.14.14 ) หลวงพ่อครับ พระพุทธรูปที่แขนหัก หมายความว่าอย่างไร
พุทธทาส : พระพุทธรูปไหน อ๋อ, โพธิสัตว์ เขาสูง มันนานนัก มันนานนัก และมันก็ชำรุด นี่ใครจะไปทุบมัน ก็ไม่ทราบ แต่มันก็พบตอนมันอยู่ในสภาพอย่างนี้ ก่อนนี้ก็มีเต็มตัว มี, มีมือ มีแขน มีเต็มตัว ต่อมามันหัก พันกว่าปีตามที่เขาศึกษากันมา รูปนี้มันพันกว่าปีแล้ว เกี่ยวกับรูปนี้ไปสังเกตศึกษากันหน่อยตรงหน้า หน้าพระพักตร์ดีที่สุด ใน, ใน, ในสีหน้าของรูปอวโลกิเตศวรนั้น มีธรรมะ สีหน้าอย่างนั้น คือมีความสงบ มีความฉลาด มีความอดทน มีความบริสุทธิ์ สีหน้าอย่างนี้ เขาเรียกว่าศิลปะสูงสุด ความหมายในใบหน้า สีหน้า เป็นศิลปะสูงสุด ของ (นาทีที่ 1.42.35 )แบบคุปตะในอินเดีย
ผู้ฟัง : ??? ความเป็นพุทธ กับ ความเป็นพระโพธิสัตว์ ต่างกันอย่างไร
พุทธทาส : พระโพธิสัตว์ คือจะเป็นพุทธ กำลังจะเป็นพุทธ พุทธ ก็เป็นพุทธแล้ว บำเพ็ญเพื่อจะเป็นพุทธ คือโพธิสัตว์
โพธิสัตต สัตว์เพื่อโพธิ สัตว์เพื่อโพธิ ยังไม่เต็มรูปแห่งโพธิ
ส่วนพระพุทธเจ้านั้นเต็มโพธิแล้ว ตรัสรู้แล้ว
ผู้ฟัง : ???โพธิสัตว์นี้จำเป็นต้องเป็นโสดาบัน สกิทาคามี หรือไม่
พุทธทาส : เหมือนกันแหละตายตัว ถ้าเขามุ่งหมายการบำเพ็ญเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า อยู่ก็แล้วกัน จะเป็นปุถุชน คือไม่, ไม่, ไม่เป็นโสดาบันเลยก็ยังได้ ถ้าเขาบำเพ็ญเพียรเพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้า
ผู้ฟัง : (นาทีที่ 1.43.57) ค่านิยมคลอดพรรษาของรัฐบาล ควรแก่การนับถือหรือไม่
พุทธทาส : ก็คือธรรมะแท้ๆ ก็คลอดธรรมะในพุทธศาสนาทั้งนั้นแหละ หรือสี่ประการของในหลวงนั้นก็ คือ ฆราวาสธรรม ไปดูเถิด มันก็คือธรรมะในพุทธศาสนา ก็ไปเรียกชื่อเป็นภาษาไทย ควรจะสนับสนุนให้ประพฤติกันมากๆ เร็วๆ
ผู้ฟัง : [นาทีที่๑.๔๔:๔๓] เมตตา ปัญญา ขันติ พระโพธิสัตว์
พุทธทาส : ก็ได้ ธรรมะของโพธิสัตว์ หรือเพื่อจะเป็นโพธิสัตว์ ให้มีสัท, สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ มันย่อมาจากบารมี ๑๐ ให้เหลือเพียง ๔ ให้มันน้อยหน่อย
ผู้ฟัง : [นาทีที่๑.๔๕:๒๐]???????????
พุทธทาส : ไม่เคยพบ ยังไม่เคยพบ นึกไม่ออก มีแต่ที่เมืองจีน เขาเรียก กวนอิม พระอวโลกิเตศวรนี่ไปถึงเมืองจีน เขาให้เป็นเพศหญิง เพื่อช่วยเด็กๆ ให้เรียกกวนอิม โพธิสัตว์ฝ่ายเถรวาทเรา ยังไม่พบที่ว่าเป็นผู้หญิง เพราะผู้หญิงเขาคงจะไม่ชอบจะเป็นโพธิสัตว์
ผู้ฟัง : [นาทีที่๑.๔๖:๑๗]??????????
พุทธทาส : ฝ่ายมหายานเขาก็มี, มีผู้หญิงคู่กับโพธิสัตว์ เขาเรียก ศักติ ศักติของโพธิสัตว์ ผู้ช่วยโพธิสัตว์เป็นผู้หญิงก็มี แต่ก็ไม่มีโพธิสัตว์ที่เป็นผู้หญิงในฝ่ายมหายาน คือยังไม่พบ เท่าที่พบน่ะ ไม่เห็น ไม่มี อวโลกิเตศวรนี้ ก็มีศักติเป็นผู้หญิงสองคนช่วยอะไรก็ไม่รู้ ไม่สนใจ เป็นคำอธิบายที่งอกออกไป งอกออกไป งอกออกไป จน, จนไม่ถูกตามความหมายเดิม บางทีเขาก็สมมุติคุณธรรมบางอย่างของโพธิสัตว์ให้เป็นเพศหญิง ทางฝ่ายมหายานนี่ เขาสมมุติปัญญาบารมีของพระพุทธเจ้าให้เป็นเพศหญิง แล้วก็คู่กับพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นเพศชาย ยุ่ง มันเลอะเทอะ ไม่ค่อยจะสนใจ
ผู้ฟัง : (นาทีที่ 1.47.44) ภูเขาสิเนรุที่เขาเรียกมันว่าสภาพจิตบังปัญญา คือ จิตโง่ กับ ภูเขาสิเนรุที่ในอภิธรรมต่างกันอย่างไร
พุทธทาส : เดี๋ยว, ฟังไม่ถูกถามว่าอย่างไรนะ
ผู้ฟัง : ภูเขาสิเนรุที่เขาเรียกว่ามันสภาพจิตบังปัญญา คือ จิตโง่ กับ ภูเขาสุเนรุที่เขากล่าวในอภิธรรมมันเป็นอย่างไร
พุทธทาส : อภิธรรม มีภูเขาสิเนรุเหมือนกันหรือ
ผู้ฟัง : ที่เขากล่าว
พุทธทาส : ไม่ทราบ ไม่ได้สนใจ
ภูเขาหิมาลัยที่ผมพูด หมายถึง ภูเขาหิมาลัย คือ มันสูงกว่าใครๆ มันก็เลยบังได้ อะไรที่มันบังมากที่สุด เราก็เรียกว่า ภูเขาหิมาลัยบัง
พระพุทธเจ้า ตามทรรศนะของบุคคลนั้น มันเป็นภูเขาหิมาลัยบังพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ถ้าอย่างนี้ผมพูด และยังยืนยันอยู่ว่าได้พูด และก็ถูกด่า และก็ถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ พระพุทธเจ้าตามทรรศนะของบุคคลนั้น คือมันไม่รู้อะไร นั่นแหละจะเป็นภูเขาหิมาลัยบังพระพุทธเจ้าพระองค์จริง เขาไม่, ไม่เห็นพระพุทธเจ้า พระองค์จริง เพราะว่าเขามีพระพุทธเจ้าอีกชนิดหนึ่ง ตามทรรศนะของเขาเอง ไม่ถูกตามความจริง ไม่ได้ใช้คำว่าสิเนรุ
แต่ภูเขาสิเนรุ กับภูเขาหิมาลัยนั้น มันเป็นอันเดียว สิ่งเดียวกัน เขาเรียกสองอย่าง หิมาลัยมันหมายถึงทั้งหมด ทุกทั้งเทือกใหญ่ๆ เรียกว่าภูเขาหิมาลัย แล้วมันสูงสุดอยู่ที่ยอดสิเนรุ ยอดนั้นเป็นยอดสิเนรุ ก็มียอดรองๆๆๆ มาอีกหลาย, หลายร้อย หลายร้อยยอด แต่รวมกันหมดนั้นเรียกว่าหิมาลัย
ผู้ฟัง : [นาทีที่ ๑.๕๐:๐๘] หลวงพ่อครับที่เขา .....
พุทธทาส : ฟังไม่ถูก ไม่ทราบว่าถามว่าอะไร
ผู้ฟัง : [นาทีที่๑.๕๐:๒๓] ปัจจุบันนี้คนที่ไม่ฉันเจ ไม่เห็นพระพุทธเจ้า..........
พุทธทาส : ก็ดูเอาเองสิ พระพุทธเจ้าไม่ฉันเจ ฉันแจอะไรหมดแหละ ท่านฉันแต่อาหารที่บริสุทธิ์ สักว่าธาตุตามธรรมชาติ ไม่เห็นเป็นผัก ไม่เห็นเป็นเนื้อ มันก็ไม่ใช่เจ หรือว่าไม่ใช่, ไม่ใช่เจ แต่ถ้าพูดอย่างภาษาคนธรรมดา ธรรมดา ก็ว่า พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายทั้งหมดนั่นแหละ ท่านฉันสิ่งที่เรียกกันว่าเนื้อ ถ้าพระพุทธเจ้าและพระสาวกไม่ฉัน, ไม่ฉันเนื้ออยู่แล้วนะ ธุระอะไรพระเทวทัตจะไปขอร้องว่า อย่าฉันเนื้อ ถ้าท่านไม่ฉันอยู่แล้ว นี่มันก็แสดงในตัวว่า ธรรมดาท่านก็ฉันในสิ่งที่เขาเรียกกันว่าเนื้อ แต่ท่านมิได้ฉันมัน ในสำคัญว่าเนื้อ ไม่ได้สำคัญมัน ว่าเนื้อ สำคัญว่าเป็นธาตุตามธรรมชนิดหนึ่ง เหมือนกับผัก เหมือนกันนะ ผักก็เป็นธาตุตามธรรมชาติชนิดหนึ่ง เนื้อก็เป็นธาตุตามธรรมชาติชนิดหนึ่ง มันก็ดูดีเอง ผักก็ดี เนื้อก็ดี ถ้าควรฉันก็ฉัน ไม่ควรฉันก็อย่าฉัน เหตุผลทางอื่นมันมี ฉันเข้าแล้วไม่สบาย อย่าฉัน เนื้อนี้ก็ยุ่งมากจริง มันแสลงโรคหลายชนิดและมันแพงด้วย คนเป็นโรคริดสีดวงอย่าฉันเนื้อนะ จะแย่
เอาแล้ว, พอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอปิดประชุม