แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฉันขอแสดงความยินดี ในการกระทำของสีลจาริณีชั่วสมัยทั้งหลาย ยินดีที่ว่าพวกเธอได้พยายามหาโอกาสจะศึกษาและปฏิบัติธรรมะ ให้มากกว่าธรรมดา จึงพากันกระทำการสมาทานวัตรปฏิบัติอย่างที่เห็นอยู่นี้ ก็จะเป็นเครื่องช่วยให้เราได้รู้ธรรมะมากพอ หรือว่าสมควรแก่ความเป็นมนุษย์ของเรา กระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษาให้แต่เพียงวิชาหนังสือกับวิชาชีพ สองอย่างเท่านั้น อย่างที่สามคือวิชาธรรมะนั้น เรียกได้ว่าไม่มี ให้มันน้อยเกินไป ไม่เป็นล่ำเป็นสัน พอที่จะใช้ประโยชน์อะไรได้ เราเรียกว่าไม่มี การศึกษานี้ไม่สมบูรณ์เพราะมีแต่รู้หนังสือกับวิชาชีพ ถ้าจะให้สมบูรณ์ต้องเรียนธรรมะด้วย เพื่อให้รู้ว่าเราจะเป็นมนุษย์กันอย่างไร เรารู้หนังสือ เรามีอาชีพ แต่แล้วเราก็ดำเนินไปไม่ถูกว่าจะเป็นมนุษย์ให้ถูกต้องอย่างไร เพราะวิชาหนังสือมันก็ไม่ได้สอนเรื่องเป็นมนุษย์กันอย่างไร อาชีพก็เป็นเรื่องอาชีพ จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาวิชาที่สามคือวิชาธรรมะ ที่นี้การศึกษา ก็จะเรียกว่าการเรียนก็ตาม โดยแท้จริงนั้นไม่ใช่การอ่านหนังสือ การเรียนจากหนังสือ การฟังจากคำพูด นี้ยังไม่ใช่การเรียนหรือการศึกษาโดยแท้จริง อย่างดีก็เป็นเพียงการเตรียมเรียน เตรียมศึกษา เมื่อเธอได้ยินได้ฟังอย่างไรแล้ว ได้อ่านอย่างไรแล้ว เอาไปปฏิบัติ เมื่อลงมือปฏิบัติ นั่นแหล่ะคือเริ่มการเรียนแท้จริง แม้แต่จะลองปฏิบัติดู พอเราเอาสิ่งที่เราได้อ่านได้ฟังไปลองปฏิบัติดู นั่นแหล่ะคือการเรียน หรือการศึกษาธรรมะโดยแท้จริง
นี่กล่าวได้ว่า ธรรมะไม่อาจจะเรียนหรือศึกษาได้ด้วยการอ่านการฟัง ถ้ามันเป็นเรื่องการอ่านการฟังเพื่อเอาไปสำหรับเรียนจริง คือปฏิบัติดู เราจะรู้จริงก็ต่อเมื่อ เราลองปฏิบัติดู ลองปฏิบัติดู ลองปฏิบัติดู เรื่อยๆไป และเมื่อเธอสมาทานศีลและวัตรในรูปแบบนี้ ก็ลองปฏิบัติธรรมะตามที่ได้ฟังได้อ่านมา มันก็เป็นการเรียน หรือเป็นการศึกษาที่แท้จริง ขึ้นมาทันที นี่แหละขอให้เห็นว่าการศึกษาธรรมะหรือการเรียนธรรมะ มันแปลกจากการเรียนหรือการศึกษาเรื่องอื่นๆ ซึ่งอ่านเอาก็ได้ ซึ่งฟังเค้าพูดก็ได้ แต่เรื่องธรรมะนี่ เขยอลงไปดูจนถึงว่า เมื่อมาลองปฏิบัติดู จึงจะเป็นการเรียนการศึกษาที่แท้จริง จึงมีหวังที่จะได้รับประโยชน์จากธรรมะ เมื่อเรามีการเรียนหรือการศึกษาที่แท้จริง เธอก็ได้เสียสละเวลาที่จะทำอย่างนี้ ดังนั้นจึงขออนุโมทนา แสดงความยินดีด้วยการกระทำของพวกเธอทั้งหลาย และการที่ตั้งใจมาที่นี่ เพื่อหาโอกาสปรับปรุงการเรียนหรือการศึกษา ให้สมบูรณ์ยิ่งๆขึ้นไป ก็เป็นการดี เราก็ยินดีที่จะช่วยเหลือให้สำเร็จตามประสงค์ นั่นก็คือให้ทุกอย่างเป็นการปฏิบัติขึ้นมา แม้ว่าเป็นการลองปฏิบัติก็ยังดี เมื่อเป็นการปฏิบัติโดยสมบูรณ์ก็ยิ่งดี
แล้วก็จะได้ทำให้ครบถ้วนด้วยมีขึ้นจนครบทุกอย่าง ทุกอย่างที่เราควรจะเรียนรู้ คือได้ผ่านไปแล้วด้วยการปฏิบัตินั่นเอง จึงมีหลักเกณฑ์ที่จะต้องถือให้อย่างมั่นเหมาะว่า ทุกอย่างนี่จะให้เป็นการปฏิบัติไปหมด ให้ทุกนาที ทุกวินาที ในสถานที่นี้เป็นการปฏิบัติไปหมด ดังนั้นจึงเป็นการปฏิบัติอยู่ในทุกๆอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน ยืน นั่ง นอน กิน ดื่ม ถ่าย อาบ บริหารร่างกายใดๆก็ตาม ซึ่งเราจะทำตามธรรมดาของมนุษย์ การกิน การดื่ม การอาบ การถ่าย การบริหารร่างกายทุกๆอิริยาบถ ถ้าตั้งใจทำด้วยสติ ก็เป็นการปฏิบัติ ถ้าปล่อยไปตามสบาย ในการกิน การดื่ม การอาบ การบริหารกาย อะไรก็ตาม ถ้าปล่อยไปตามสบาย เหมือนความเคยชิน มันไม่เป็นการปฏิบัติ เดี๋ยวนี้เรามันจะต้องเปลี่ยน คือจะไม่ปล่อยไปตามความเคยชิน หรือตามแต่ที่มันจะรู้สึก และต้องการให้อยู่ ในการกำหนดรู้ ควบคุมอยู่ ตลอดเวลา ไม่ว่ามันจะทำอะไร หรือในอิริยาบถใด เราจัดให้เป็นบทเรียนไปหมด แล้วก็เป็นบทเรียนที่สูงสุดด้วย คือบทเรียนที่ทำให้รู้ว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มันก็มีแต่การเคลื่อนไหวเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่จะจัดว่าเป็นตัวตน หรือเป็นของๆตน มันอยู่ที่นั่น ดูเหมือนจะไม่เข้าใจ ไอ้สิ่งที่ปฏิบัตินั้นก็มี เช่นว่าจะปฏิบัติ เดินจงกรม ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอนี่มันก็เป็นนกแก้วนกขุนทอง ที่จริงนั้นเขาต้องการให้รู้ว่า เดี๋ยวนี้เท้าข้างนี้มันยกขึ้นเป็นอิริยาบถของร่างกาย ของนามรูป เป็นสักว่าเท้ามันยกขึ้น แล้วก็ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนอะไร ที่เป็นเจ้าของ ที่ยกขึ้นหรือเป็นการยกขึ้นของใคร ให้รู้มันสักว่าเป็นการยกเท้าขึ้นของร่างกายที่ยังมีจิตใจ แต่มิใช่ตัวตน หมายความไม่มีอะไรที่จะว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่ว่าเรา ยกขึ้นหนอ เราย่างหนอ เราเหยียบหนอ อย่างนี้ ถ้าอย่างนี้มันผิดหมด เพราะต้องการให้รู้ว่ามันไม่ใช่มีบุคคลตัวตน มันเป็นเพียงสักว่าอิริยาบถยกเท้าขึ้น อิริยาบถยื่นเท้าไป อิริยาบถจรดเท้าลง สักว่า ยกหนอ ยกเท้าหนอ สักว่าการยกเท้าหนอหรือสักว่ากิริยายกเท้าหนอ สักว่ากิริยาย่างเท้าหนอ สักว่ากิริยาเหยียบเท้าลงไปหนอ หรือว่าเอาอีกแล้ว ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ทุกๆหนอหมายความว่ามันสักแต่ว่า กิริยาอาการของร่างกายเท่านั้นหนอ ซ้อมกันติดกันไปทุกอิริยาบถ ทุกลมหายใจเข้าออก ว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่สักว่านามรูป เดี๋ยวนี้ร่างกายมันทำกิริยาอาการย่าง ยกย่างเหยียบ ยกย่างเหยียบ ยกย่างเหยียบ อื่นๆก็เหมือนกันแหล่ะ ถ้ามีสติ จะมานั่งลงที่ตรงนี้ มันก็เรียกว่าอะไรหล่ะ มาถึงก็หย่อนตัวลง แล้วก็นั่ง นั่งหนอ หย่อนหนอ นั่งหนอ ก็ไม่รู้ว่ามันไม่มีสัตว์บุคคลที่มา แล้วก็ที่หย่อนก้นลงนั่ง แล้วก็ที่นั่ง ให้รู้ว่าเป็นเพียงอิริยาบถของกายและใจ นามและรูป ตามธรรมชาติเท่านั้นเอง เมื่อเราจะกินอาหาร มันก็สักว่ามือ โดยความรู้สึกของจิตใจที่ควบคุมร่างกายอยู่ มันก็หยิบ หยิบหนอ หยิบหนอ ไม่ใช่กูหยิบ ไม่ใช่ตัวตนหยิบ แล้วก็อ้าปากกิน กินหนอ เคี้ยวหนอ กลืนหนออะไรก็ตาม ขอแต่ว่าให้มันมีสติที่มันเคลื่อนไปทีละนิด เคลื่อนไปทีละนิดตลอดเวลานั่นล่ะ ว่าสักว่าเป็นอาการของนามรูปตามธรรมชาติ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขาเลยหนอ อาการอย่างนั้น แม้แต่จะอาบน้ำ มันก็อาบน้ำให้สนุก หัวเราะคึกคักไป มันก็ไม่มีความรู้สึก ควบคุมด้วยสติว่าอะไร มันก็ต้องทำอย่างเดียวกันแหละ จะตักน้ำขึ้นมาหนอ จะรดหนอ จะถูขี้ไคลหรืออะไรสุดแท้ จนกระทั่งมันก็รู้สึกว่าเย็น มันก็เย็นหนอ แต่ไม่ใช่มีกูเย็น ตัวตนเย็น มันเป็นสักว่าความรู้สึกแก่ระบบประสาทตามกฎของธรรมชาติเท่านั้นเอง หรือแม้แต่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ พูดถึงอย่างต่ำที่สุด มันก็มีสติสัมปะชัญญะว่ามันเป็นไปอย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้นตามขั้นตอนของมัน ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ไม่มีตัวกู ไม่มีตัวตน ที่จะเป็นผู้ทำอย่างนั้น มันเป็นการบริโภคแล้วมันก็ถ่ายตามธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ของร่างกาย ซึ่งประกอบกันอยู่เป็นนามรูป นี่แปลว่าทุกอิริยาบถเลย มันเป็นไปทุกอิริยาบถเลย นั่นเราจึงไม่มีระยะเวลาที่เราจะลืมตัว ลืมตัวเป็นอะไรสนุกสนานไปตามความรู้สึก เป็นตัวเป็นตน เป็นของตน เป็นยินดียินร้าย แม้กระทั่งเป็นโลภะโทสะ โมหะขึ้นมา ถ้าเราปฏิบัติอยู่ตามหลักเกณฑ์อันนั้น มันไม่มีโอกาสที่จะเกิดความยินดียินร้ายขึ้นมา มันไม่มีโอกาสที่จะเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงขึ้นมา มันมีแต่จิตใจที่เต็มอยู่ด้วยสติ สัมปชัญญะ หรือปัญญา สติกำหนดว่าทำอะไรอยู่หนอ เคลื่อนไหวอิริยาบถอะไรอยู่หนอ สัมปชัญญะรู้สึกตัวว่ากำลังทำอย่างนั้น แล้วมันก็มีปัญญารู้ว่าทั้งหมดนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของตน ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู นี่คือการศึกษาหัวใจของพระพุทธศาสนา คือเรื่องไม่มีตัวกู ของกู นั่นล่ะ อยู่ทุกวินาที อยู่ทุกอิริยาบถ นั่นก็คือทุกวินาที เพราะเรามันอยู่ด้วยความรู้สึกหนอเรื่อยไป จะนั่งนั่นก็นั่งหนอ ถ้าเจ็บขึ้นมาเพราะถูกยุงกัด รู้สึกว่าเป็นความเจ็บ รู้สึกแก่ระบบประสาทตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ ไม่มีตัวกูเจ็บ ไม่มีตัวกูเจ็บ ธรรมะนี่คงจะสูงเกินไปสำหรับพวกเธอซึ่งไม่เคยเล่าเรียน แต่หลักธรรมะโดยแท้จริงมันเป็นอย่างนั้น มันเป็นความรู้สึกแก่ระบบประสาทตามกฎของธรรมชาติ ไม่มีตัวกูผู้เจ็บ มันจะรู้สึกอะไรก็ตาม ที่เราจะรู้สึกได้ ทั่วไปในที่อย่างนี้เช่นหนาว เช่นร้อน เช่นยุงกัด เช่นทุกอย่าง ให้มีสติรู้ว่ามันสักว่าความรู้สึก แก่ระบบประสาทตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ ถ้าละเอียดยิ่งขึ้นไปอีกก็เมื่อมีสัมผัสทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ เมื่อเรายังมีตาเห็นได้อยู่ มีหูฟังได้ยินอยู่ จมูกรู้กลิ่นได้อยู่ ลิ้นรู้รสอยู่ ผิวหนังรู้สัมผัสอยู่นี่ มันก็ต้องมีการสัมผัสทางตาหูจมูกลิ้นกาย โอ๊ย สัมผัสหนอ คือตาเห็นรูป สัมผัสทางตา เท่านั้นหนอ ไม่มีบุคคลตัวตนอะไรที่เป็นผู้เห็นรูป สัมผัสน่ะ เป็นสักว่า กิริยาอาการตามธรรมชาติ ปรุงแต่งตามธรรมชาติ และถ้าเมื่อเกิดเวทนาเช่นยุงกัดเจ็บ ความรู้สึกแก่ระบบประสาทตามกฎของธรรมชาติ ไม่มีตัวตนไม่มีของตน มันก็ไม่ต้องเกิดยินดียินร้าย ไม่ต้องเกิดความสุขความทุกข์ ไม่ต้องเกิดความโลภโกรธหลง สิ่งนั้นๆเมื่อทางตามันก็มีอย่างนี้ เรื่องทางหูจมูกลิ้นกายมันก็มีอย่างเดียวกัน ถ้าเราปฏิบัติครบถ้วน ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย กระทั่งทางใจด้วย ในทุกๆอิริยาบถ ในทุกๆวินาที ถ้าเธอทำได้อย่างนี้ มันก็ผิด ผิดจากที่ทำอยู่ที่บ้าน อย่างตรงกันข้าม ยิ่งกว่าฟ้ากับดิน เพราะอยู่ที่บ้านเราปล่อยไปตามอารมณ์ ปล่อยไปตามอารมณ์ ไม่ต้องมีสติสัมปชัญญะ อารมณ์ตามธรรมชาติ กิเลส มันจะคิดนึกรู้สึกอย่างไรก็ว่าไปอย่างนั้น เดี๋ยวก็โกรธคนนั้น เดี๋ยวก็ ทุกๆอย่างที่มันจะมีตามธรรมชาติ เพราะว่าเราไม่มีการกำหนดสติสัมปชัญญะหรือควบคุมไว้ด้วยปัญญา เดี๋ยวนี้เธอก็ได้สละบ้านมาอยู่ในที่ที่เรียกว่าสำหรับ ที่สำหรับบำเพ็ญวัตรปฏิบัติอย่างที่ว่ามา เราก็เหมือนอยู่คนละโลก เดี๋ยวนี้เรามาอยู่ในโลกของพระพุทธเจ้า ที่จะต้องมีการประพฤติปฏิบัติ ควบคุมจิต คือสติ ควบคุมกิเลส ทุกอิริยาบถ ทุกวินาทีก็แล้วกัน แล้วก็ทุกอายตนะ คือตาหูจมูกลิ้นกายใจ ถ้าทำได้อย่างนี้ตลอดเวลาที่มาบวช เรียกว่าบวชก็ได้ กี่วันก็ตามใจ มันจะเปลี่ยนไปหมด ภายใน ระบบความคิดความนึกความจำความรู้สึก อารมณ์อะไรต่างๆมันก็เปลี่ยน ไปอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่ามีธรรมะประกอบอยู่ด้วยธรรมะ สามารถจะควบคุมความรู้สึกไว้ได้ ไม่หวั่นไหว และไม่มีความทุกข์นั่นเอง แม้ว่าจะบวชกันในระยะอันสั้น มันก็รู้เรื่อง อย่างน้อยมันก็รู้เรื่อง หรือว่าจะทำได้ ตามระยะอันสั้น มันก็เอาไปเป็นหลักเกณฑ์หรือเป็นเงื่อนสำหรับสานปฏิบัติต่อไปๆ เมื่อละจากการบำเพ็ญวัตรเป็นนี้แล้ว กลับไปอยู่ที่บ้านเรือน ตามเดิม มันก็ต้องต่างกันแหละ ถ้าว่าเธอมันทำอย่างที่เรียกว่าบวชจริง ปฏิบัติจริง มันก็จะมีอะไรเปลี่ยนแปลง จนถึงกับว่ากลับไปอยู่บ้านแถวนี้ มันก็เปลี่ยนจากคราวก่อน โดยจริตนิสัยจิตใจอารมณ์อะไรต่างๆมันก็เปลี่ยน ช่วงเปลี่ยนนี้ มันไม่ได้เปลี่ยนไปทางผิดหรือทางเสีย มันเปลี่ยนไปในทางดีขึ้น คือจะมีความสุขมากขึ้น จะมีความทุกข์น้อยลง พูดอีกอย่างหนึ่งก็ว่า มันจะเป็นความทุกข์ยากขึ้น มันจะมีความสุขได้ง่ายขึ้น นี่เป็นหลักทั่วไป ในระยะที่เราบวชชั่วคราวนี้ มันมีวิธีฝึกอย่างนั้น
ทีนี้ก็จะพูดถึงเรื่องที่ตั้งใจจะพูดต่อไป คือเรื่องจะทำวัตรสวดมนต์ เราพูดให้พระฟังคราวเดียวกัน แล้วก็จะได้รู้วิธีประพฤติ ปฏิบัติเกี่ยวกับการทำวัตรและสวดมนต์นี่ไปด้วยกัน เรื่องทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นนี้ ไม่มีประเพณีในครั้งพุทธกาล เรามาตั้งกันขึ้นในประเทศนี้ ที่พุทธศาสนาเข้ามาถึง แต่ว่าการกระทำบางอย่างซึ่งรวมอยู่ในการทำวัตรสวดมนต์นี่ มันมี บางอย่างมี ครั้งพุทธกาล นั่นคือการสาธยายธรรม ถ้าเธอมีปัญญา ฉลาดสังเกต จะพบว่าที่เรียกว่าทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นนี่ ที่จะทำ กำลังจะทำนี่ ทำวัตรเย็นนี่ ในการทำวัตรเย็นนั่น อย่างแรกที่สุดมันก็มีการสาธยาย ให้ธรรมะที่เป็นหลักปฏิบัติ หรือสาธยายรายละเอียดของพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ซึ่งก็กล่าวได้ว่า หรือเรียกได้ว่า เป็นสิ่งที่ต้องรู้ และต้องปฏิบัติด้วยเหมือนกัน นี่เพื่อไม่ให้มันลืม เราก็สาธยาย ในการสาธยายนั่น ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ มีประโยชน์คือไม่ลืมไง ไม่ลืม ทีนี่มันยังมีดีกว่านั้น ซึ่งอาจจะไม่เคยได้ยินก็ได้ เค้าเรียกว่าทางแห่งวิมุตติ วิมุตตายตนะ ทางที่จะติดต่อกับวิมุตติ พอเมื่อภิกษุฟังธรรม ฟังธรรมอยู่ก็ดี เมื่อบุคคลฟังธรรมอยู่ก็ดี แสดงธรรมอยู่ก็ดี สาธยายธรรมอยู่ก็ดี คิดนึกธรรมอยู่ก็ดี เจริญภาวนาอยู่ก็ดี ห้าอย่างนี้มันเป็นทางแห่งวิมุตติ ข้อแรกเมื่อภิกษุฟังธรรม เข้าใจธรรม ซึมทราบในธรรม เกิดปราโมทย์ เกิดปิติ เกิดสุข เกิดสมาธิ ตามลำดับ เกิดสมาธิแล้วก็เกิดยถาภูตญาณทัสสนะ เห็นธรรมตามที่เป็นจริง มันก็เกิดนิพพิทาวิราคะและวิมุตติ ภิกษุเป็นผู้ฟังธรรม บุคคลฟังธรรม จิตไปตามแนวนั้น ที่นี้เมื่อบุคคลแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟังอยู่ ไม่ใช่ฟังธรรมนะ แต่เป็นผู้แสดงเสียเอง แสดงไป คิดนึกไป ใคร่ครวญไป แสดงไป อย่างลึกซึ้งมันถึงจุดที่ว่า เข้าใจธรรมที่แสดง พอใจ มีปราโมทย์ มีปีติ มีความสุข มีสมาธิขึ้นมา โดยความพอใจ แล้วก็มียถาภูตญาณทัสสนะ เห็นธรรมที่เป็นจริง เพราะจิตเป็นสมาธิแล้ว ก็เกิดนิพพิทา เบื่อหน่ายราคะคลายกำหนัด จิตก็หลุดพ้นจากสิ่งที่ยึดถือ นี่อย่างที่สองเป็นผู้แสดงธรรม อย่างที่สาม สาธยายธรรม เมื่อเขาเอาธรรมะมาสาธยายอยู่ ซึมทราบในธรรมะนั้น โดยเฉพาะเกิดความปีติปราโมทย์ ก็เป็นสุขชนิดที่จะทำให้เกิดจิตเป็นสมาธิ เป็นสมาธิ ก็มีเห็นตามที่เป็นจริงคือ ยถาภูตญาณทัสสนะ มันเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดและหลุดพ้น เมื่อสาธยายธรรมอยู่แท้ๆ ก็เป็นโอกาสให้บุคคลมีจิตชนิดนั้น ที่แจ่มแจ้งในธรรม มีปราโมทย์ มีปีติ มีสุข มีสมาธิ แล้วก็มียถาภูตญาณทัสสนะ มีนิพพทา มีวิราคะ แล้วก็มีวิมุตติ ส่วนคิดธรรมะ ทำวิปัสสนาภาวนานั้นจะไม่พูดถึง แล้วมันก็ไม่ยังเกี่ยวกัน ที่นี่เราฟังธรรมก็ดี เราแสดงธรรมเองก็ดี เราสาธยายธรรมอยู่ก็ดี สามอย่างนี้เป็นเหตุให้เกิดโอกาสสำหรับจิตใจที่จะรวมกันเป็นสมาธิ เห็นธรรมตามที่เป็นจริง แล้วก็วิมุตติได้ ทีนี้ในการทำวัตรเช้าวัตรเย็นนี่ มันมีสาธยาย เค้าถือว่าบทสวดของเรานั่นมันเป็นบทสาธยาย ก็จะต้องทำให้เป็นการสาธยายที่ดี ด้วยจิตที่สำรวมดี คือนั่งให้ดี สำรวมจิตให้ดี ตั้งสติให้ดี แล้วก็สาธยาย ด้วยความรู้สึกที่สมบูรณ์ ก็เป็นการสาธยายที่ดี ปะเหมาะ มันซึมทราบในบทสาธยายนั้น เข้าใจในธรรม แล้วก็พอใจ แล้วก็ปราโมทย์ บันเทิง ปีติ แล้วก็ปัสสัทธิ คือจิตสงบลงไป แล้วมันก็เป็นความสุข แล้วก็เกิดสมาธิ เกิดยถาภูตญาณทัสสนะ เราจะถือว่า แม้ในโอกาสแห่งการทำวัตรเช้าเย็นนี่ มันก็มีการสาธยายธรรมรวมอยู่ด้วย ในสาธยายนั่นก็เป็นทางแห่งวิมุตติทางหนึ่งในห้าทาง ขอให้ทำให้ดีที่สุด มันจะเพิ่มความสว่างไสว แจ่มแจ้ง เพิ่มขึ้นในขณะที่ทำวัตร สาธยายบททำวัตร หรือบทมนต์ บทมนต์พิเศษ บทอะไรก็ตาม แล้วมันก็ได้เพิ่มขึ้นไปอีกแหละ แล้วจิตมันก็เป็นสมาธิ เป็นสติอยู่ในบทที่สวดนั้นแล้ว ไม่ต้องกลัวเรื่องกิเลส ไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดความคิดประเภทบุคคลตัวตนเราเขาอะไร ขอให้เอาจิตผูกพันลงไปในบทที่สวดสาธยาย นี่เป็นประการที่หนึ่ง ที่เรียกว่าทำวัตรสวดมนต์ มันมีความหมายอย่างนี้
นี่ประการที่สอง จะเรียกว่าเป็นทำสมาธิน้อยๆ ในระดับน้อย เป็นสมาธิระดับน้อยกัน เป็นหมู่ๆ ก็ได้ ทั้งหมู่เลย เพราะว่าคนที่จะสวดออกไปอย่างถูกต้อง มันจะต้องมีสมาธิ จะต้องมีจิตเป็นสมาธิ หรือสมาธิในสิ่งที่สวด ในเสียงที่สวด ในเสียงที่ได้ยิน จิตก็ไม่ฟุ้งซ่านหนีไปอื่น ถ้าเราทำได้ในเรื่องนี้ ก็คือการปฏิบัตินี่ ฝึกจิตให้แน่วแน่อยู่กับสิ่งที่สวด เธอนั่งสวดปากเธอว่า แต่ใจไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ อย่างนี้ไม่มีสมาธิ พอจิตอยู่กับบทที่สวดจนตลอดสิ อย่าให้เป็นว่าในระหว่างที่สวดอยู่นั่นแหล่ะ จิตหนีไปเที่ยวที่โน้นจิตหนีไปเที่ยวที่นี่ ปากมันว่าได้เพราะมันเคยชิน อย่างนี้ไม่มีสมาธิแล้ว ไอ้ปากที่ว่าน่ะก็ว่าด้วยจิตที่เป็นสมาธิอยู่ในบทที่ว่าตั้งแต่ต้นจนจบ อย่าให้เป็นว่าปากมันก็ว่าอยู่ว่าตามเคยชิน ก็ถูกต้อง แต่จิตไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ สังเกตดูให้ดี ถ้าใครมาอยู่ในลักษณะอย่างนี้ ก็ให้รู้เถิดว่ายังไม่พอยังไม่ถูก ต้องจัดการกันเสียใหม่ ปรับปรุงตัวเองเสียใหม่ ให้เป็นว่าตั้งแต่ลงมือทำวัตรจนจบทำวัตรนี้ จิตไม่เคยหนีไปไหน อยู่แต่กับบทที่สวดนี่เท่านั้น นี่เขาเรียกว่าทำสมาธิ ในตัวเป็นสมาธิอัตโนมัติ ไอ้เรื่องสมาธินี่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยนะ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องครึ่งหนึ่งเข้าไปแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา ต่อให้ได้ผลชัดเจนลงไปว่าเมื่อทำวัตรสวดมนต์นี้ก็เป็นการทำสมาธิชนิดหนึ่งรวมอยู่ด้วย ทำกันเป็นหมู่เลย ทั้งหมู่เลย ต่างคนต่างก็กำหนดแต่ไอ้สิ่งที่สวดเสียงที่สวด ไม่ฟุ้งซ่านไปไหนก็เป็นสมาธิได้เหมือนกัน ถึงแม้จะเป็นสมาธิน้อยๆ มันก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้ได้สมาธิที่มากขึ้นไป สูงขึ้นไป ยิ่งขึ้นไปได้ ฉะนั้นจงตั้งจิตให้ดี ตั้งแต่ลงมือสวดจนกว่าจะสวดเสร็จ จงเป็นสมาธิอยู่ในเสียงที่สวดนั้นตลอดเวลา อย่าให้จิตหนีไปเที่ยวซะที่อื่นตั้งหลายสิบแห่ง กว่าจะสวดทำวัตรจบ ปากสวดว่าไปได้ตลอด แต่จิตหนีไปเที่ยวที่อื่นได้หลายสิบครั้ง อย่างนี้ล้มละลาย ไม่ได้อานิสงค์ส่วนที่เรียกว่าสมาธิ เอ้านี่เป็นเรื่องที่สอง
เรื่องที่สามขอให้เราสวดทำวัตรนี่ให้เป็นพุทธานุสติ เพราะว่าเมื่อเรารู้คำแปลของบทที่สวด ทราบในพระคุณของพระพุทธเจ้า อย่างแท้จริง อย่างคล่องแคล่วอยู่แล้ว พอปากของเราว่า พระคุณอันนั้นออกไป อะระหังก็ดี สัมมาสัมพุทโธก็ดี วิชาจะระนะสัมปันโนก็ดี สุคะโตก็ดี โลกะวิทูก็ดี ขอให้รู้สึกในคุณของพระพุทธเจ้าอย่างนั้นจริงๆ มีพระคุณของพระพุทธเจ้ามาอาบรดอยู่ที่จิตใจของเรา เมื่อเราว่าออกไปคำใดคำหนึ่ง และเมื่อเราว่าบทของพระธรรม ก็ขอให้ความหมายแห่งพระธรรมบทนั้นมาอาบรดอยู่ที่จิตใจของเราก็ได้ หรือว่าให้เรามีความหนักแน่น แน่นแฟ้น ย้ำลงไปในเรื่องของพระธรรมบทนั้น ยิ่งๆขึ้นไป ทุกทีที่เราสวดบทพระธรรมคุณอย่างนี้ก็ได้ หรือว่าเราสวดบทของพระสงฆ์ ก็ให้รู้จักคุณของพระสงฆ์ คือมนุษย์ธรรมดาที่สามารถเปลี่ยนเป็นอริยบุคคลได้ และมีคุณสมบัติเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ได้ เพื่อว่าจะได้รู้สึกว่า แม้เราก็เหมือนกัน ไม่อยู่นอกวิสัย ไม่เหลือวิสัยที่เราจะเป็นเช่นนั้นได้ ถ้าเราสวดบทสังฆคุณ เพราะฉะนั้นจิตใจของเราก็จะแจ่มแจ้งชัดเจนในพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณยิ่งขึ้น ทีนี้ถ้าทำได้มากกว่านั้นพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็จะมาอาบย้อมจิตใจของเราให้เยือกเย็น นี่จึงเป็นเหมือนกับว่าเราเข้าถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทุกเวลาที่เราทำวัตรเช้าเย็น นี่ก็เยอะแยะไปหมดแล้ว มันจะสูงสุด ทั้งคุณค่าที่เราได้ประพฤติปฏิบัติ เราสวดมนต์ทำวัตรที่บ้านไม่สะดวก ทำไม่ได้ดี เมื่อเราโอกาสหลีกออกมา บำเพ็ญชีวิตอย่างนี้ เราต้องทำได้ดี ดังนั้นเราอย่าได้ละโอกาสอันนี้เสีย จงพยายามควบคุมสติสัมปชัญญะทางจิต ทำให้มีการทำวัตรสวดมนต์ที่ดีที่สุดเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เหมือนกับว่าเราพบพระพุทธเจ้าทั้งเช้าทั้งเย็น อาบรดด้วยพระคุณของพระพุทธเจ้าทั้งเช้าทั้งเย็น ระลึกได้ทำสมาธิในเสียงของพระธรรม ในคุณของพระธรรม ของพระสงฆ์ทั้งเช้าทั้งเย็น แล้วเราก็ได้สาธยายท่องจำบทพระธรรมต่างๆที่ควรจะสาธยาย ฉะนั้นขอให้ทำได้อย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนี้ ในสามอย่างนี้ที่ว่ามาแล้ว คือเป็นการสาธยาย ที่เป็นโอกาสให้จิตใจสงบระงับ ได้มีโอกาสทำสมาธิ ในเสียงที่สวด ในธรรมะที่นึก ระลึกนึกถึง ที่สอง ที่สามก็ให้ได้อาบรดด้วยพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในเมื่อเราสวดบทพระพุทธคุณ ถ้าเราสวดธรรมะบทอื่นๆ ก็ขอให้ความหมายของธรรมะนั้น เจริญขึ้นในใจของเรา ฝังแน่นลงไปในใจของเรายิ่งๆขึ้นไป นี่เพียงแต่ทำวัตรเช้าเย็นที่ทำกันจริงจังถูกต้องนี่ ก็มีประโยชน์มหาศาลอย่างนี้แล้ว ขอให้เธอพยายามทำวัตรเช้าเย็น ให้ลักษณะอย่างนี้ เรื่อยไปจนกว่าจะหมดโอกาส คือจะลาสิกขา ลาสึก ถ้าทำก็ขอให้ทำร้อยเปอร์เซ็นต์ ดีที่สุด ร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วมันจะเปลี่ยนจิตใจของเธอ ให้เป็นอย่างคนละคนเลย แล้วมันจะให้ผลตอบแทนแก่เธอ คือมีความสุขด้วย มีความรู้ยิ่งๆขึ้นไปด้วย สามารถบังคับตัวเองเหมือนกับที่บังคับตลอดเวลานี้ ไปตลอดชีวิตเลย สามารถควบคุมจิตใจ บังคับสติ บังคับกิเลส บังคับอะไรต่างๆได้ยิ่งๆขึ้นไปตลอดชีวิตเลย เพียงเท่านี้ก็เป็นประโยชน์มหาศาล ที่เราจะได้รับจากพระพุทธศาสนา หรือจะได้รับจากความเป็นพุทธบริษัทของเรา เราเป็นพุทธบริษัททั้งที เราควรจะได้รับประโยชน์อันนี้ เรานับถือพุทธศาสนา เป็นพุทธมามกะ ก็ให้ได้รับประโยชน์อันนี้ แม้สุดแต่ว่าเป็นมนุษย์ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็ต้องได้เป็นมนุษย์ที่ดีคือควบคุมความทุกข์ได้ อย่าให้ความทุกข์มันเกิดแก่เรา ให้จิตใจของเรามันอยู่สูงเหนือความทุกข์ มันก็สมชื่อว่าเป็นมนุษย์ คือผู้ที่มันมีจิตใจสูงอยู่เหนือความทุกข์ ไม่ต้องมานั่งเป็นทุกข์ร้องไห้ ยินดียินร้ายหัวเราะร้องไห้สลับกันไปเหมือนกับคนบ้า อันนั้นมันต้องตัดออกไปอาการแห่งคนบ้า เดี๋ยวยินดีเดี๋ยวยินร้าย เดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวร้องไห้ มันไม่ใช่อาการแห่งมนุษย์ที่มีจิตใจสูง คือมนุษย์ไม่ได้ มนุษย์เป็นอย่างนั้นไม่ได้ นั้นเป็นคนธรรมดามากเกินไป เอาล่ะเป็นอันว่าเมื่อเธอบวชเข้ามานี่ มาทำวัตรปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ก็ขอให้มันเป็นการประพฤติปฏิบัติ ทุกวินาที ทุกอิริยาบถ ทุกทาง ตาหูจมูกลิ้นกายใจ พอถึงเวลาที่จะทำวัตรสวดมนต์ เธอก็ทำให้ได้ผลอย่างที่ว่ามา สามประการนั้น เวลาที่จะเดินศึกษาก็ให้ได้รับประโยชน์คุ้มค่ากัน เวลาพักผ่อนก็พักผ่อนด้วยจิตที่สงบ ไม่มีนิวรณ์รบกวน นอกจากจะกินอาหาร จะอาบน้ำ จะถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ จะทำอะไรก็เต็มอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ เต็มอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ อย่าให้เกิดช่องว่าง โง่ ว่าเป็นตัวกูของกู อย่างนั้นอย่างนี้ กินอร่อยบ้าง กินไม่อร่อยบ้าง อาบน้ำสบายบ้าง อาบน้ำไม่สบายบ้าง แม้แต่จะถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ก็เกิดอารมณ์ร้าย อารมณ์ฉุนเฉียว อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้อย่างใจก็แล้วกัน แต่เธอ เป็นเรื่องผิดทั้งนั้น ถ้ามันปกติอยู่ได้ เยือกเย็นอยู่ได้ จิตปกติอยู่ได้ มันก็ถูกแล้ว ฉะนั้นเมื่อถึงเวลาที่จะทำอะไรในระหว่างนี้จงทำให้ดีที่สุด เวลาที่จะทำวัตรเช้าวัตรเย็นก็ดี เวลาที่จะฟังบรรยายก็ดี เวลาที่จะไปทำกิจส่วนตัวก็ดี แม้จะต้องไปทำงานต่ำๆ ถ้าจำเป็นจะต้องทำ จะไปช่วยเก็บกวาดล้างถู ต้องมีจิตใจที่เยือกเย็น เป็นอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ยินดียินร้ายเหมือนที่เคยมีแต่ปางก่อน นี่เราตั้งใจจะพูดในวันนี้ก็เพียงเฉพาะเรื่องที่จะทำวัตรสวดมนต์อย่างไรจึงจะเป็นการปฏิบัติธรรมะที่สมบูรณ์ ขอให้ตั้งใจทำอย่างนั้น นั่งให้ถูกต้อง คือให้มันสะดวก ให้มันมั่นคง สำหรับที่จะมีจิตใจมั่นคง สำหรับที่จะดำรงสติเฉพาะหน้า แล้วก็ทำวัตรหรือสวดมนต์ หรือถ้าจะยักไปเป็นผู้ฟัง ไม่สวด ก็ยังได้ เราจะไม่สวดเอง เราจะนิ่งฟัง ด้วยจิตเป็นสมาธิแน่วแน่อย่างที่ว่ามาแล้วนั้นมันก็ได้เหมือนกัน จะสวดก็ได้ จะสวดหรือจะไม่สวดก็อย่าฟุ้งซ่าน อย่าใจลอย ให้มีสมาธิแน่วแน่อยู่ในเสียงที่ได้ยิน เป็นการสวด รู้ความหมายแห่งถ้อยคำนั้น แล้วก็ซึมทราบใจของเรา เพราะมันเป็นเรื่องของพระคุณ ของพระพุทธเจ้า ของพระธรรม และของพระสงฆ์ บางทีหยุดฟังเขาสวด มันก็ได้ผลลึกซึ้งกว่าก็ได้ จะสวดเองก็ได้ ถ้ามีสติสัมปชัญญะมันก็ไม่เสียหายอะไร มันก็สวดก็ได้ทำจิตกำหนดในการสวดเป็นสมาธิก็ได้ ซึมทราบในข้อความที่สวดนั้นพร้อมกันไปก็ได้ แต่ในวันแรกๆคงจะทำยากหน่อย พอทำไปหลายๆวันมันก็ทำได้พร้อมๆกันไปในหลายความหมายนี่ เป็นการสาธยายความจำก็ได้ เป็นการทำสมาธิก็ได้ เป็นการดื่มด่ำอยู่ในรสของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ได้ ขอให้มีการทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นที่เป็นประโยชน์สูงสุดอย่างนี้ จนกว่าจะถึงวันลาสิกขา สิ่งที่ตั้งใจจะพูดวันนี้ เวลานี้ก็มีเรื่องเดียว คือให้ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นนี้ให้ดี ให้ได้รับประโยชน์เต็มที่ ขอยุติการบรรยายแล้ว พวกเธอทั้งหลายจะได้ทำการสวดมนต์ ทำวัตรเย็นต่อไป