แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ และท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลายในลักษณะเช่นนี้ คือ มาแสวงหาสิ่งที่เรียกกันว่า ธรรมะ ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ดีแล้ว เรื่องที่จะพูดมันก็มีส่วนที่เป็นธรรมะที่ต้องการ คือที่ยังขาดอยู่ ที่ยังจะต้องเติมให้เต็ม พูดเป็นไอ้ภาพพจน์สักหน่อย มันก็พูดว่าเหมือนกับเติมธรรมะลงไปในชีวิต เหมือนกับคนเติมน้ำมัน เติมเชื้อเพลิง เติมอะไรลงไปในสิ่งที่ต้องเติม อย่างนั้นเหมือนกัน ถ้าว่ากันโดยแท้จริงในชั้นลึก ไอ้ชีวิตนั้นมันก็เป็นธรรมะอยู่แล้ว แต่มันมีธรรมะหลายๆ อย่างที่ต้อง ต้องประกอบกันอยู่ ขอให้ท่านทั้งหลายสนใจฟังและจำ หัวข้อเรื่องธรรมะไว้สักอย่างหนึ่งว่า คำว่า ธรรมะ นั้นมีความหมาย ๔ ความหมาย คือที่เป็นตัวธรรมชาติก็เรียกว่าธรรมะ ที่เป็นตัวกฎของธรรมชาติก็เรียกว่าธรรมะ ที่เป็นตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั้นก็เรียกว่า ธรรมะ ที่เป็นตัวผลที่เกิดมาจากหน้าที่นั้นก็เรียกว่า ธรรมะ ด้วยเหมือนกัน มันเลยเป็น ๔ ความหมาย จำได้ง่ายๆ สั้นๆ ว่า ธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และผลจากหน้าที่
ทีนี้เราก็ดูที่ตัวเรา เนื้อหนัง ร่างกาย จิตใจของเราที่มีอยู่ นี้เรียกว่าตัวธรรมชาติ ดินน้ำลมไฟอากาศวิญญาณที่มันเป็นตัวร่างกาย มีชีวิต นี่เรียกว่าตัวธรรมชาติ ทีนี้ตัวกฎของธรรมชาติซึ่งมันมีอยู่ในตัวเรา ในร่างกายเราน่ะ ที่มันจะเกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เจริญอย่างไร เสื่อมอย่างไร กระทั่งว่าเราจะต้องทำอย่างไรกับมัน เป็นตัวกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ในชีวิตนี้แล้ว หน้าที่ของเราก็คือต้องทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์นั้นๆ เพื่อชีวิตอยู่ได้ และเพื่อชีวิตเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อชีวิตอยู่ได้ก็เช่นว่า มันมีกฎเกณฑ์ทำให้เกิดหน้าที่แก่เราว่าเราต้องกิน ต้องอาบ ต้องถ่าย ต้องบริหาร ต้องหาปัจจัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การบำบัด บำบัดโรคภัยไข้เจ็บ กระทั่งว่าการคบหาสมาคมกับบุคคลรอบด้าน หรือสิ่งต่างๆ รอบตัวเราให้ถูก ให้ถูกต้อง นี่มันเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำให้รอดอยู่ได้ ถ้าทำหน้าที่นี้ไม่ถูกต้อง มันอาจจะตายหรือเกือบตาย
หน้าที่อีกแผนกหนึ่งก็คือ จะต้องทำให้ ให้เจริญด้วยคุณค่ายิ่งๆ ขึ้นไป อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง การเป็นมนุษย์คนหนึ่งนั่นหมายความว่า มันต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ถ้ามันไม่ได้รับสิ่งนี้มันก็เสียชาติเกิด เพราะว่ามันจะต้องได้เต็มที่ ตามที่มนุษย์อาจจะรับได้ มันจึงเกิดเป็นหน้าที่ชั้นหนึ่งว่า เราต้องทำให้ได้รับประโยชน์ของความเป็นมนุษย์ให้ถึงที่สุด หน้าที่ชั้นแรกที่ว่าทำให้รอดชีวิตอยู่ได้นี่ สัตว์เดรัจฉานก็ทำเป็น สุนัข แมว กาไก่ อะไรมันก็ทำเป็น แล้วมันก็ทำอยู่ตามธรรมชาติเพื่อให้รอดชีวิตอยู่ได้ ถ้ารอดชีวิตอยู่ได้แล้วไอ้สัตว์เหล่านั้นมันหมดหน้าที่ แต่ว่าคนยังไม่หมด ไอ้คนเราเมื่อรอดชีวิตอยู่ได้แล้วต้องทำต่อไป คือเลื่อนชั้นของชีวิตนั่นเอง ให้มันสูงๆ ขึ้นไป ให้เต็มไปด้วยคุณค่าหรือประโยชน์อย่างสมบูรณ์ ทั้งประโยชน์ที่จะพึงมีแก่ตนและประโยชน์ที่จะพึงมีแก่ผู้อื่น หรือว่ามีทั้งสองฝ่ายร่วมกันก็ได้ ดังนั้นมนุษย์จึงผิดแปลกแตกต่างจากสัตว์เป็นอันมากก็ในข้อนี้
เมื่อได้ทำหน้าที่อันนี้ถูกต้อง มันก็เลยได้รับผลของหน้าที่ ถ้าทำถูกต้องมันก็ได้รับผลเป็นสุข อยู่เป็นสุข เต็มไปด้วยประโยชน์ดังที่กล่าวแล้ว หากถ้าทำไม่ถูกต้อง มันจะไม่ได้มีประโยชน์คุณค่าอะไร สักแต่มีชีวิตอยู่ หรือถ้าทำไม่ถูกต้องยิ่งไปกว่านั้นอีก มันก็เป็นคนที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์เจ็บๆ ไข้ๆ หรือตายไปเลย มันไม่ได้เหลือรอดเป็นชีวิตอยู่ การที่ทำให้ การที่เราทำให้สบายดี มีสุขภาพดี แล้วปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลแก่ทุกฝ่ายนั่นแหละ เรียกว่าหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ และผลที่เกิดมาอย่างนั้นนั่นแหละคือผลที่เกิดมาจากหน้าที่ ท่านทั้งหลายจะสังเกตเห็นได้เองว่าในความหมาย ๔ อย่างนั้น อย่างที่ ๓ แหละสำคัญ ที่ท่านอุตส่าห์มาจากที่ไกลมาแสวงหา เหมือนกับความรู้ อะไร ธรรมะ ความหมายที่ ๓ คือ หน้าที่นั่นเอง ขอย้ำหรือทบทวนอีกทีว่า ธรรมะคือ ธรรมชาติ เนื้อหนังร่างกายเรา ธรรมะคือ กฎของธรรมชาติที่มันควบคุมร่างกายนี้อยู่ให้เป็นไปตามกฎ ธรรมะความหมายที่ ๓ คือหน้าที่ที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องทำให้ถูกตามกฎของธรรมชาตินั้น ๆ หน้าที่ที่ ๓ เอ้ย, ธรรมะในความหมายที่ ๓ คือหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องประพฤติให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ ส่วนธรรมะในความหมายที่ ๔ นี้ ไม่ต้องสนใจนักก็ได้ เพราะว่าถ้าปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติแล้ว ย่อมเกิดผลดีอยู่เอง
ดังนั้นความหมายที่เราจะต้องสนใจที่สุดก็คือความหมายที่ ๓ ที่ว่าธรรมะคือ หน้าที่ที่สิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดจะต้องประพฤติกระทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ จึงจะรอดอยู่ได้ หรือจะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ข้อนี้ไม่ใช่เฉพาะคนน่ะ ไม่ใช่เฉพาะมนุษย์ มนุษย์ก็ต้องทำอยู่แล้ว ต่ำลงไปถึงสัตว์เดรัจฉานก็ต้องทำละ ต่ำลงไปอีกถึงต้นไม้ต้นไร่ซึ่งมีชีวิตด้วยเหมือนกัน มันก็ต้องทำ แม้แต่ต้นไม้นี้มันก็ต้องทำหน้าที่ดำรงชีวิต ธรรมะคือหน้าที่ ก็มีแม้แต่ต้นไม้ แต่ไม่มีใครเคยพูดว่าต้นไม้มีธรรมะปฏิบัติ แต่ขอบอกให้รู้ว่ามันเป็นจริงอย่างนั้น เพราะสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ แล้วก็เรียกว่าธรรมะได้ทั้งนั้น ธรรมะมันมีความหมายถึง ๔ ประการอย่างนี้ เด็กๆ ได้ยินครูบอกแต่ว่าธรรมะคือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็เลิกกัน คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นก็คือเรื่อง ๔ เรื่องนี้แหละ ไอ้คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าคือ ๔ เรื่องนี้ เรื่องธรรมชาติ เรื่องกฎของธรรมชาติ เรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เรื่องผลที่เกิดมาจากหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ
แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความสำคัญอยู่ที่ความหมายที่ ๓ ความหมายที่ ๓ ที่ว่าหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงได้บัญญัติธรรมะไว้มากมายที่เรียกกันว่า ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์หรืออะไรก็ตามทีเถิด แต่รวมแล้วทรงมุ่งหมายจะแสดงหน้าที่ว่า มนุษย์จะต้องประพฤติปฏิบัติกันอย่างไร สรุปสั้นที่สุดก็ว่าประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้ถูกต้องทางกาย ทางวาจา และทางใจ สามคำเท่านี้ขยายความออกไปหมดทั่วทั้งพระไตรปิฎกก็ได้ ความถูกต้องทางกาย ทางวาจา และทางใจ เมื่อมีความถูกต้องทางกาย วาจา ใจแล้ว มันก็ไม่มีความทุกข์เลย มันก็มีเท่านี้ อย่างไรเรียกว่าถูกต้อง คือ ไม่มี ไม่มีผู้ใดเกิดความทุกข์ ถูกต้องน่ะ อย่าไปเอาอย่างนั้น อย่าไปเอาอย่างนี้ หรืออย่าไปคาดคะเนเอาเองแต่ว่า อย่างไรถูก อย่างไรผิด ก็ต้องให้รู้ว่าไอ้ถูกน่ะ มันคือไม่มีใครเป็นทุกข์ แต่ได้รับความสุขด้วยกันทุก ทุกฝ่าย ถ้าผิดน่ะ คือเต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง ความถูกต้องทางกาย วาจา ใจ คือไม่ทำให้ผู้ใดหรือฝ่ายใดต้องเป็นทุกข์เดือดร้อน แล้วก็อยู่เป็นสุข ทำไมต้องระบุไว้ที่กาย วาจา ใจ ก็เพราะมันเป็นที่ตั้งแห่งการกระทำ ร่างกายกระทำงานทางกาย วาจานี่ก็ทำงานทางปาก ทางวาจา ใจก็ทำงานทางใจ คิดนึก มันมีส่วนสำคัญอยู่ ๓ ส่วน สำหรับจะทำอะไร ดังนั้นเราจะต้องรู้จักมันให้ดี แล้วทำให้มันมีความถูกต้องทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ ดังที่กล่าวแล้ว
ฉะนั้น ท่านทั้งหลายคงจะสรุปเอาใจความได้เอง ในความหมายนี้ ความหมายที่ ๓ ว่า หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ มีผู้สรุปความไว้ดีแล้ว ในความหมายนี้ คือ เขาสรุปความไว้ว่า ธรรมะคือ ระบบของการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ท่านช่วยจำไว้บ้าง แล้วมันจะได้ประโยชน์กลับไปคุ้มค่า ถ้าจะไม่จำหรือไม่เข้าใจอะไรเสียเลยก็ดูว่ามาเสียเวลาเปล่า ๆ เสียค่ารถ เสียค่าใช้จ่ายเปล่า อะไรที่ควรจะจำไว้เป็นหลักได้ก็ควรจะจดจำไว้ให้แม่นยำให้เป็นหลัก เป็นธรรมะ ๔ ความหมาย ความหมายที่ ๓ คือหน้าที่สำคัญที่สุด จนถึงกับสรุปความได้ว่า ธรรมะคือ ระบอบปฏิบัติ นี่ ระบอบปฏิบัติ ช่วยจำว่าไม่ใช่การพูด มันเป็นระบอบการปฏิบัติคือ ทำด้วยกาย วาจา ใจ ที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ ที่สมกับความเป็นมนุษย์ ที่ถูกต้องกับความเป็นมนุษย์ จำเป็นแก่ความเป็นมนุษย์ ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ทุกขั้นทุกตอนของความเจริญเติบโตของมนุษย์น่ะ ต้องให้ถูกต้อง นี่ก็มันมีเท่านี้น่ะ ทำให้มันถูกต้องทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการและก็ชีวิตนั้น มันก็เป็นชีวิตที่ถูกต้อง มีความสงบสุข เต็มอยู่ด้วยความถูกต้อง เป็นชีวิตที่มันเต็มอยู่ด้วยความถูกต้องทุกอย่างทุกประการไม่ว่าจะมองกันในแง่ไหนมุมไหน ฉะนั้นมันก็เป็นชีวิตที่ดำเนินไปด้วยดีและถึงจุดหมายปลายทางได้ เหมือนรถยนต์สักคันหนึ่ง ถ้ามันมีความถูกต้องทุกระบบของมัน มันก็วิ่งอย่างดี อย่างสบาย อย่างปลอดภัย อย่างเงียบฉี่ ไปสู่จุดหมายปลายทาง เพราะว่าไอ้รถยนต์คันนั้นมันมีความถูกต้องทุกๆ ส่วนประกอบของมัน
ไอ้ชีวิตของคนเรานี่เปรียบคล้ายอย่างนั้นแหละ มันต้องมีความถูกต้อง ทุกระบบปฏิบัติในร่างกายนี้ โดยเฉพาะทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็จะเป็นชีวิตที่เจริญไปโดยรวดเร็ว เพื่อถึงไอ้จุดเจริญที่สุดที่มนุษย์ควรจะไปถึง ฉะนั้นธรรมะนี่ ช่วยจำไว้ด้วยว่า คือระบอบปฏิบัติ หมายความว่า ต้องกระทำ ต้องประพฤติ ไม่ใช่เพียงแต่พูดๆ จดๆ ไว้ในสมุดแล้วมันก็เลิกกัน แล้วมันจะต้องประพฤติปฏิบัติจึงจะเป็นตัวธรรมะ แล้วเรื่องเหล่านั้นต้องถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์นะ เพราะว่าเราเป็นมนุษย์ ต้องถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ และก็ทุกขั้นตอนนะ ตั้งแต่เกิดมาจากท้องมารดา เติบโตขึ้นมาวัยรุ่น หนุ่มสาว พ่อบ้านแม่เรือน แก่เฒ่า เข้าโลงไป นี่เรียกว่าทุกขั้นตอนเลยต้องมีความถูกต้อง ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ก็เลยมีแต่ความสงบสุข เป็นสุข นี่เรียกว่าเป็นมนุษย์ที่แท้จริง เรียกกันให้เต็มตามความหมายก็เรียกว่า เป็นอริยบุคคล คือเป็น มนุษย์ที่ประเสริฐ ถ้ามันโง่เง่าเต่าปูปลาทำอะไรไม่ถูกต้องก็เรียกว่าเป็นบุถุชน บุถุชนคนหนา อยู่ด้วยความโง่ความหลง นี่ คนหนาเรียกว่าบุถุชน มันก็มีความผิดพลาดแต่มันก็ไม่ได้รับประโยชน์ที่จะน่าพอใจ เพราะมันไม่มีความถูกต้องในระบบแห่งการประพฤติหรือการกระทำในทุกๆ ขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ
ทีนี้มีการประพฤติกระทำถูกต้องทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ คนนั้นก็เป็นคนประเสริฐ ให้ไกลจากความทุกข์ ไกลจากความชั่ว ไกลจากทุกอย่างที่มันไม่พึงปรารถนา ก็เลยเรียกว่า อริยบุคคล เมื่อฝ่ายโน้นมันเป็นบุถุชนคนหนาคนโง่อยู่ด้วยความมืด ความหลง ไอ้คนนี้มันเป็นอริยบุคคลมีความสว่างไสว แจ่มแจ้ง สงบเย็น เป็นมนุษย์ได้ถึงที่สุด เราควรจะมองกันอย่างนี้ ตั้งเป้าหมายของความเป็นมนุษย์ไว้อย่างนี้ว่าจะเป็นบุคคลที่ปราศจากความทุกข์ ปราศจากความชั่ว ปราศจากปัญหาทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นแก่ชีวิต ถ้ามีปัญหามันก็มีความยุ่งยากลำบาก กระวนกระวาย เร่าร้อน มืดมัว หนักหน่วง อันเรียกว่าปัญหา อย่าให้มันมีปัญหาชนิดนั้น ชีวิตนี้มันก็จะเกลี้ยง คือมันมีความสะอาด มีความสว่าง มีความสงบ มันก็สบายเป็นสุขแบบที่แท้จริง ไม่ใช่สบายหลอกๆ ด้วยกิเลส เดี๋ยวนี้คนไปหลงในความสุข สนุกสนานด้วยอำนาจของกิเลส แล้วก็ว่าเป็นความสุข ทุกคนบูชาเงินว่าเงินจะช่วยเกิดความสุข แต่ให้ดูให้ดีเถิดว่าไอ้เงินนี่ มันไม่ได้แน่เสมอไปว่าจะช่วยให้เกิดความสุข ถ้าคนมันไม่มีความรู้ธรรมะแล้ว ไอ้เงินนั่นน่ะ จะช่วยให้เกิดความทุกข์ หาก็หาด้วยจิตใจที่หนักอึ้งกระวนกระวาย ก็เป็นทุกข์ตั้งแต่หา ถ้าได้มาแล้วก็ใช้เป็นเหยื่อของกิเลส ปรนเปรอกิเลสให้เกิดตัณหา ราคะ โทสะ โมหะ นี่ ได้มาแล้วมันก็ยังร้อน เก็บรักษาไว้ก็วิตกกังวล หวง แล้วก็ห่วง จนเป็นโรคประสาทเพราะมีเงินที่เก็บไว้มากๆ นั่นเอง นี้เรียกว่าหาเงิน หรือมีเงิน หรือใช้เงิน โดยไม่ถูกต้องตามทางของธรรมะ ไม่ถูกต้องตามทางของธรรมะ คือปฏิบัติหน้าที่ข้อนี้ไม่ถูกต้อง
ถ้าเขามีความรู้เรื่องธรรมะ ควบคุมชีวิตอยู่เสมอ ในการหาเงินก็ไม่มีความกระวนกระวายใจ มีจิตใจสงบไปตั้งแต่จะหาเงิน ไอ้คนหนึ่งมันหาด้วยความร้อนใจ ไอ้คนหนึ่งมันหาด้วยจิตใจที่ปกตินี่ ให้มันก็ต่างกันเสียแล้วตั้งแต่การหา จะเทียบตัวอย่างง่ายๆ ที่สุด จะเข้าใจได้ง่าย ๆ ที่สุด เช่นว่า ไอ้คนหนึ่งมันซื้อลอตเตอรี่ หรือหวยอะไรก็ตามใจน่ะมา นอนกระวนกระวายว่าเมื่อไรมันจะถูก มันกระวนกระวายทั้งวันทั้งคืน ทั้งวันทั้งคืน ว่าเมื่อไรมันจะถูก หรือมันจะถูก จนถึงวันออกมันก็ไม่ถูกนั่นแหละ มันก็เป็นทุกข์เหมือนกับตกอยู่ในนรกทั้งวันทั้งคืน ไอ้คนหนึ่งมันซื้อลอตเตอรี่หรือหวยมา มันก็ไม่รู้ ไม่ต้องรู้ เก็บไว้ก็แล้วกัน ถึงวันออกค่อยไปรู้ มันก็ไม่มีความทุกข์ทรมานอะไร ครั้นถึงวันออก ถ้าถูก ไอ้คนที่ไม่มีธรรมะน่ะมันเหมือนกับคนบ้า มันอาจจะบ้าตายเลยเพราะถูกลอตเตอรี่ ส่วนคนมีธรรมะ มันก็อย่างนั้นแหละ มันก็อย่างนั้นแหละ มันก็ไม่มากอะไรไปกว่านั้น มันก็ปกติได้แม้ว่าถูกลอตเตอรี่ นี่คิดดูเถิดว่า การถูกลอตเตอรี่มาก ๆ นะ ของคนมีธรรมะกับของคนไม่มีธรรมะ มันต่างกันถึงอย่างนี้ คนหนึ่งมันจะเป็นบ้าเสียให้ได้ หรือบางทีก็เป็นโรคประสาทเลย ไอ้คนหนึ่งมันไม่เป็นอะไร
ทีนี้มีเงินไว้ก็เหมือนกัน คนไม่มีธรรมะมันก็เต็มไปด้วยความวิตกกังวล แม้ฝากไว้ในธนาคารเรียบร้อยแล้ว มันก็ยังไม่วายวิตกกังวล เมื่อมีความวิตกกังวลน่ะ มันทำให้มันเป็นโรคประสาท อย่าเข้าใจว่ามีเงินมากแล้วจะไม่เป็นโรคประสาท การมีเงินมากๆ อาจจะช่วยเป็นโรคประสาทได้เร็วขึ้นมากขึ้น ถ้ามันไม่มีธรรมะ เอ้า, ทีนี้ถ้ามันมีธรรมะ มันไม่มีวิตกกังวล มันอย่างนั้นเอง มันอย่างนั้นเอง มันก็นอนหลับสบายดี นี่เรื่องมันต่างกันถึงอย่างนี้ ทีนี้ถ้าสมมุติว่าเงินมันสูญหายมันวิบัติอะไรไป ไอ้คนไม่มีธรรมะก็เหมือนจะบ้าตาย หรือตาย หรือเป็นบ้า ส่วนคนมีธรรมะมันก็อย่างนั้นแหละ หายก็หาย หาเอาใหม่อีกได้ ไม่เป็นทุกข์เลย เขาไม่เป็นทุกข์เลย เมื่อคนเราจะหาเงิน จะมีเงิน จะใช้เงิน จะเก็บเงินก็ดี ถ้าไม่มี ไม่มีธรรมะแล้วจะเป็นทุกข์ ช่วยศึกษาไว้ให้พอว่า หาเงินก็ไม่เป็นทุกข์ มีเงินก็ไม่เป็นทุกข์ ใช้เงินก็ไม่เป็นทุกข์ เก็บเงินก็ไม่เป็นทุกข์ คือไม่กระวนกระวายใจ ไม่หนักหน่วงใจ ไม่ทรมานใจ ว่าอย่างนั้นแหละ นี่ธรรมะจำเป็น อยู่ที่ว่าหาเงินอย่างนี้ มันก็ต้องทำงาน ทำงานด้วยธรรมะน่ะ มันเยือกเย็น ทำงานด้วยกิเลสตัณหานั้น มันเร่าร้อน คนโง่มันทำงานด้วยกิเลสตัณหา ด้วยความหวังอย่างยิ่ง เหมือนกับไฟเผาหัวใจ คนโง่มันทำงานด้วยความหวัง ด้วยกิเลสตัณหา เพราะมันไม่มีธรรมะ มันมีแต่กิเลสตัณหา หรือมีความโง่ มันก็หาเงินด้วย ทำงานน่ะ ทำการงานด้วยกิเลสตัณหา ร้อนใจก็ร้อนอยู่ข้างใน ข้างนอกก็ร้อนด้วยลมด้วยแดด มันร้อนทั้งข้างนอกข้างใน เพราะว่ามันมีความหวังนั่นเอง
อาตมาได้ยินเด็กๆ เขาพูดกัน เด็กๆ นักเรียนน่ะ โตๆ แล้วนี่แหละ เขาพูดกันว่าครูสอนว่าชีวิตนี้อยู่ด้วยความหวัง อันนี้อันตรายเพราะยังไม่รู้ว่าหวังชนิดไหนกัน ถ้าหวังชนิดที่เป็นกิเลสตัณหาแผดเผาหัวใจแล้ว ไม่เท่าไรหรอกคนนั้นมันจะต้องเป็นบ้า เพราะมันอยู่ด้วยความหวังที่ทรมานใจอยู่ตลอดเวลา ไอ้ความหวังนั้นน่ะ ไม่ใช่ว่า ไม่ใช่ว่าพอเราหวังแล้วมันจะได้ตามใจหวัง พอเราหวัง มันก็ยังไม่ได้อยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงถือว่ามันผิดหวังแล้วตั้งแต่เราลงมือหวัง มันก็ผิดหวังอยู่ตลอดเวลา บางทีก็ผิดหวังตลอดไป ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะมันมัวแต่หวัง มันทำให้เร่าร้อน เหนื่อยกาย เหนื่อยใจในการทำงาน อย่าทำงานด้วยความหวัง แล้วทำงานด้วยอะไร ก็ทำงานด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยปัญญา ปัญญามันรู้เองแหละว่าเราควรจะทำอะไร ควรจะทำอย่างไร ควรจะทำเท่าไร ทำที่ไหน ทำเมื่อไร รู้ รู้แล้วก็ฟังไว้เป็นหลักแล้วก็ทำไป แต่อย่าหวังให้มันตัดหัวใจ อย่าไปหวัง อย่าไปหวังให้มันตัดหัวใจ ทำให้สนุกไปด้วยสติปัญญา ทำได้นิดหนึ่งก็ยินดี ทำได้นิดหนึ่งก็ยินดี ยินดี ยินดีจนกว่ามันจะสำเร็จ ไม่มีความหวังที่จะต้องตัดหัวใจ
เด็กๆ ของเราจึงทำผิดในเรื่องนี้ หวังอย่างกิเลสตัณหา เป็นโรคภัยไข้เจ็บเสียเมื่อเล่าเรียนนั่นเอง หรือว่ามันเป็นคนประสาท เป็นไอ้โรคพิการ เป็นไอ้ชีวิตนั้นใช้ไม่ได้ไปเลย เพรามันทรมานใจในการเรียนในการกระทำนี่มากเกินไป หรือบางทีมันก็ชิงสุกก่อนห่ามเร็วเกินไป อย่างนี้มันก็วินาศหมดเพราะมันหวังรุนแรง เพราะฉะนั้นไม่ต้องหวัง ทำไปตามสติปัญญา สนุกสนานในการกระทำ เป็นสุขอยู่ในการกระทำ เพราะว่าเราไม่ก่อความหวังขึ้นมาให้เป็นไฟเผาหัวใจ ไอ้คนชนิดนี้ไม่มีไฟเผาหัวใจเมื่อทำการงานหรือการเล่าเรียน และก็เจริญไปอย่างสม่ำเสมอถึงที่สุดได้ เขาไม่ต้องเป็นโรคประสาทหรือไม่เป็นโรคร้ายแรงอะไร อะไร หรือไม่ต้องไปชิงสุกก่อนห่าม ทำผิดศีลธรรม อย่างที่ว่าเสียหายหมด หรือว่าไม่ชิงสุกก่อนห่ามชนิดที่เรียกว่า มันรวยลัด คือไม่ได้ ไม่รวยง่าย มันก็ขโมย หรือมันปล้นจี้ มันก็ต้องเสียหายหมด นี่ มัน มันชิงสุกก่อนห่าม เพราะมีความหวังมากเกินไป ความหวังมากเกินไปทำให้จิตใจระรัว ทำอะไรไม่ได้ดี
เด็กนักเรียนที่เรียนหนังสือด้วยความหวังมากเกินไปนั้นเรียนไม่ได้ดี เพราะว่าใจคอมันไม่ปกติ เมื่อมันรู้ว่าจะต้องเรียนอย่างไรแล้ว มันก็ไม่ต้องหวังอะ ทำไปอย่างสบาย สบาย สบาย คือทำด้วยสติสัมปชัญญะ ปัญญา ไม่ต้องมีกิเลสตัณหาซึ่งเป็นความหวัง กิเลสตัณหานั้นมันไม่เข้าใครออกใครอะ พอมีมาเมื่อไรมันก็ร้อนเมื่อนั้นน่ะ ก็เป็นไฟเมื่อนั้นน่ะ ฉะนั้นเราทุกคนอย่าได้ทำไร ทำอะไรด้วยกิเลสตัณหาเลย จงทำด้วยสติสัมปชัญญะ และปัญญา ก็จะพอใจอยู่ในการงาน แล้วก็เป็นสุขอยู่ในการงาน มีความสุขเพลินเพลิดอยู่ในการงาน ไม่ต้องทิ้งหน้าที่ไปหาความสุขนอกบ้าน กิเลสตัณหา กามารมณ์ นั้นน่ะมันเป็นความสุขหลอกลวง เป็นความสุขเผาผลาญ เป็นความสุขทำลายเจ้าของ มันกัดเจ้าของให้วินาศไปเลย ความสุขชนิดนั้น
ความสุขบริสุทธิ์ คือความสุขที่เกิดจากความรู้สึกว่าเราได้ทำถูกต้องแล้ว เราพอใจตัวเองแล้ว ทำอะไรของเราอยู่นี่แหละ ทำอยู่นี่แหละ รู้ เมื่อรู้สึกว่าถูกต้องเป็นที่พอใจแล้ว ความพอใจนั้นจะให้เกิดความสุข ไม่เชื่อไปลองดู ความสุขต้องเกิดมาจากความพอใจเสมอ ถ้าไม่มีความพอใจแล้วไม่ ไม่เกิดความสุข เพราะฉะนั้นเราจะทำอะไรสักนิดหนึ่ง หรือมีอะไรสักนิดหนึ่ง ถ้าพอใจแล้วมันก็เกิดความสุข เรียกว่าความสุขเกิดมาจากความพอใจ แต่เรื่องมันมีว่า ไอ้ความพอใจนั้นต้องถูกต้อง ต้องบริสุทธิ์ ไม่ใช่พอใจไปลักเขา ขโมยเขา ล่วงกาเมเขา หรืออะไรอย่างนั้นเป็นความพอใจของกิเลส อย่างนี้ไม่ใช่ความพอใจที่จะให้เกิดความสุขอย่างแท้จริง มันให้เกิดความสุขอย่างหลอกลวง หลอก หลอก หลอก หนักเข้าก็วินาศเลย มันความพอใจของกิเลส
เดี๋ยวนี้เรามีความพอใจของธรรมะ ของพระธรรม คือ ความถูกต้อง ถูกต้องก็พอใจ พอใจก็เป็นสุข ชาวนาก็มีธรรมะ เขาก็พอใจในการทำนา เป็นสุขอยู่ในการทำนา ในการไถนา ดำนา มันมีความสุขอยู่ที่นา เมื่อทำนา ไม่ต้องมีความสุขเมื่อไปตลาด ไปอาบอบนวด ไปอะไรต่างๆ นานา ซึ่งเป็นเรื่องของความหลอกลวง ความสุขพอใจ ความพอใจเกิดความสุข ความสุขเกิดมาแต่ความพอใจ ถ้าความหวังความต้องการรุนแรงเข้ามาแล้ว มันไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่อาจจะพอใจอะ เพราะมันหวังเกินเสมอละ มันพอใจไม่ได้ ถ้าพอ ถ้าความหวังเข้ามาเมื่อไร ไอ้ความพอใจมันเกิดไม่ทัน มันเกิดไม่ได้ เพราะความหวังมันเผาผลาญอยู่เรื่อย อย่าทำด้วย อย่าทำงานด้วยความหวังของกิเลสตัณหา ด้วยความโง่เขลาอย่างนั้น แต่ต้องทำด้วยความสงบเย็นแห่งจิตใจที่มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญา ทุกอย่างมันจะเป็นความสุขไปหมดถ้าเราพอใจ อย่างกวาดเรือน ถ้าไม่พอใจมันก็เหมือนตกนรกเพราะต้องกวาดเรือน แต่ถ้าพอใจมันก็ยิ่งสนุกที่ได้กวาดเรือน เราพอใจในการกวาดเรือน รู้ว่าเราได้ทำหน้าที่ที่ถูกต้อง ที่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกแก่หลานเป็นต้น ถ้าพอใจในการกวาดเรือน แล้วก็สนุกสนานอยู่ในการกวาดเรือน บ้านเรือนนั้นมันก็ไม่รก ถ้ามันมีแต่ความหวัง มีแต่กิเลสตัณหา ไม่พอใจแล้วมันก็ไม่ทำอะ บ้านเรือนของคนมีกิเลสชนิดนี้ก็รกไปหมดแหละ
นี่ เราอย่าหวังด้วยความโง่ให้มันเผาหัวใจ มีจิตใจเกลี้ยงเกลา สงบเย็นแล้วก็ทำงานไป ทำงานไปแล้วก็สนุกตลอดเวลา มีความสุขตลอดเวลา เป็นความสุขที่ไม่ต้องซื้อหา จ่ายเงินอะไร มันเป็นความสุขที่เกิดขึ้นเองเพราะความพอใจที่ ที่ได้รู้สึกว่าเรากระทำถูกต้องแล้ว อย่าไปหวังให้มันตัดหัวใจ ให้มันเผาหัวใจ ทำให้ถูกต้องเถิด ผลมันก็จะออกมาเอง ข้อนี้ในพระบาลีก็มีกล่าวมาก ว่าอย่าไปเร่งมันด้วยความหวัง อย่าไปเร่งมันด้วยกิเลสตัณหา ทำให้ถูกต้องเถิดพอ พอแล้ว พระพุทธเจ้าท่านตรัสเปรียบไว้ว่าเหมือนกับแม่ไก่มันฟักไข่ มันก็ทำหน้าที่ให้ถูกต้องสิ แม่ไก่จะฟักไข่อย่างไร จะกกอย่างไร จะพลิกกลับอย่างไร จะหมุนอย่างไร จะทำให้ถูกต้องตามวิธีของการฟักไข่ พอครบกำหนดไข่มันก็กลายเป็นตัว ออกเป็นตัวออกมา โดยที่แม่ไก่ไม่ต้องปรารถนาว่าลูกไก่จงออกมา ลูกไก่จงออกมา ลูกไก่จงออกมา ถ้าแม่ไก่ตัวไหนมันฟักไข่ด้วยความกระวนกระวายใจว่า ลูกไก่จงออกมา ยัง ยัง ทำไมยังไม่ออกมา ยังไม่ออกมา ลูกไก่จงออกมา นี่มันแม่ไก่บ้า มันเป็นแม่ไก่บ้า คิดดูให้ดี ฉะนั้นเราพยายามที่จะมีใจคอปกติ แล้วก็จะเป็นสุขอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เริ่มทำการทำงานจนกระทั่งทำงานสำเร็จผล เป็นสุขตลอดเวลา เป็นความสุขแท้จริงแล้วไม่ต้องใช้จ่ายเงินอะไร เพราะมันสุขอยู่ในการกระทำ เปรียบเหมือนกับว่าชาวนาคนหนึ่งเขาทำนาอยู่ เขาพอใจว่าได้ไถแล้ว ได้หว่านแล้ว ได้ดำแล้ว ดูแลดีแล้ว เขาก็พอใจ แม้ว่าในการไถนาได้แนวเดียวแถวเดียวเขาก็พอใจแล้ว จอบฟันนาทีเดียวเขาก็พอใจแล้ว ทุกครั้งที่ทำลงไปพอใจแล้ว พอใจแล้ว ก็เป็นสุขเรื่อยไป เรื่อยไป เรื่อยไป จนกว่าขุดนาเสร็จ ไถนาเสร็จ ดำนาเสร็จ ดูแลเสร็จ เป็นสุขตลอดเวลา ไม่มีร้อนใจเลย ชาวนาที่มันไอ้โง่ มันมีกิเลสตัณหามาก มันก็อยากจะให้ข้าวออกรวงวันนี้ ตั้งแต่แรกขุดดิน ตั้งแต่แรกไถนา เมื่อไม่ออก ไม่ทันใจมัน มันก็ โอ๊ะ, ป่วยการทำนา ไปขโมยดีกว่า ไปปล้นไปจี้ดีกว่า มันก็เป็นเสียอย่างนี้ แล้วก็ไม่มีความสุขเลย
ขอให้เรารู้จักทำให้ ไอ้การงานในหน้าที่นั่นแหละให้ความสุขแก่เรา เป็นครูบาอาจารย์อย่างนี้น่ะ มีความสุขอยู่ในการงาน เมื่ออยู่หน้ากระดานดำ ถือชอล์กเขียนอยู่ หรือทำอะไรอยู่หน้ากระดานดำในห้องเรียนนั่นแหละ มันเป็นเวลาที่มีความสุขที่สุดเพราะมันได้ทำหน้าที่ของมนุษย์อย่างถูกต้อง อย่างมีประโยชน์แก่ตนเอง อย่างมีประโยชน์แก่นักเรียนทุกคน มองเห็นอย่างนี้แล้วมันก็เป็นความสุข ไม่ต้องไปจ่ายเงิน ถ้าว่าไม่คิดอย่างนี้ มันก็ไปหาความสุข อยากจะปิดโรงเรียนเร็วๆ ปิดชั่วโมงเรียนเร็วๆ ออกไปหาความสุขนอกถนน แล้วก็ไปเจอะอะไรบ้าง ก็คิดดูเอง รู้กันอยู่ทุกคน ซึ่งล้วนแต่ต้องจ่ายเงิน แล้วก็ยังมีอันตราย ยังมีอะไรอีกมากมาย แล้วก็ไม่ใช่ความสุขหรอก มันเป็นเรื่องหลอกตัวเองทั้งนั้นแหละ แต่งตัวสวยๆ กินอาหารอร่อยๆ มียั่วยวนกิเลสตัณหากันถึงที่สุดนั้นน่ะ มันไม่ใช่ความสุขเลย มันเป็นเรื่องหลอกตัวเองทั้งนั้น เผาตัวเองทั้งนั้น ไม่เท่าไรก็วินาศน่ะ คิดดูเถอะ ไม่เท่าไรจะต้องวินาศ เพราะมันเป็นความสุขปลอม หลอกตัวเอง
ถ้าเรามีความสุขจริงของพระธรรม คือเมื่อได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎเกณฑ์ของพระธรรมแล้วมีความสุข อย่างนี้มันสุขจริง ไม่ ไม่ต้องแกล้งทำ ไม่ต้องบังคับให้สุข ไม่ต้องหลอกตัวเองให้สุข แล้วเงินก็ไม่เสีย เงินก็เหลือมาก เงินเดือนก็เกิน เกินใช้ เกินพอใช้ ไม่ต้องคอรัปชั่น ที่ต้องคอรัปชั่นนั้นก็เพราะมันต้องการความสุขหลอกลวงมากเกินไป เงินเดือนไม่พอใช้ ต้องคอรัปชั่น เขาจับได้มันก็วินาศ จะไปทำอย่างนั้นทำไม มนุษย์เราทำผิดมาก ส่วนมากเพราะว่าหลง หลงในความสุขหลอก ช่วยไปคิดดู ช่วยพากันไปคิดดูว่า ไอ้ ไอ้ความวินาศ ความเสื่อมเสีย ความเป็นทุกข์น่ะ ของมนุษย์ทั้งหมดทุกคนที่มันมีขึ้นชนิดนั้นน่ะ เพราะมันหลงในความสุขหลอกๆ หลงในรสของไอ้ความสุขหลอกๆ กามารมณ์ทางเพศเรียกว่าความเอร็ดอร่อยทางอายตนะ ถ้าคำนี้มันแปลกหูไม่เคยฟัง ก็ช่วยฟัง ช่วยจำไว้ด้วยว่า ทางอายตนะ ความเอร็ดอร่อยทางอายตนะ คือ ความเอร็ดอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางจิตใจ
หกทางนั่นแหละ เขาเรียกว่า อายตนะ มันหลงใหลในความเอร็ดอร่อยทางอายตนะ มันติดยิ่งกว่ายาเสพติด มันก็ยอมจ่ายเงินจนเงินเดือนไม่พอใช้จนต้องคอรัปชั่นน่ะ อร่อยทางตา มันก็ซื้อเครื่องแต่งตัว เครื่องประเทืองผิว เครื่องอะไรต่างๆ ทางหูมันก็สร้างสิ่งไพเราะมาขับกล่อม ทางจมูกก็สร้างกลิ่นหอม ทางลิ้นก็กินอร่อยๆ ทางผิวหนังก็สร้างความบำรุงบำเรอทางผิวหนัง ทางความนิ่มนวล ทางความยวนกิเลส ทางจิตก็เพ้อฝันไปเรื่องวิมานในอากาศ นี่เรียกว่าหลงในความเอร็ดอร่อยทางอายตนะ ยิ่งกว่ายาเสพติดนะ อันนี้ยิ่งกว่ายาเสพติดนะ แล้วหลงมากหลงกันทุกคนก็ว่าได้ ยาเสพติดยังบางคนนะ แต่หลงความอร่อยทางอายตนะนี้จะว่าทุกคนก็ได้ ตามมากตามน้อย แต่คนที่หลงเต็มที่ก็มีอยู่มากเหมือนกัน แล้วไปดูเถอะ คนพวกนั้นไฟติดอยู่ในอกทั้งนั้น ที่มันหลงในความเอร็ดอร่อยทางอายตนะ มันจะมีเหมือนกับว่านรกเข้าไปสุมอยู่ในจิตใจ มีความเร่าร้อน มืดมัว เศร้าหมองสุมอยู่ในจิตใจ บังคับไม่ได้ ก็ต้องคดโกง ต้องคอรัปชั่น แล้วก็ต้องวินาศในทางสังคม อย่าไปเอากับมันเลย
เรื่องนี้มันก็ลำบากเหมือนกันน่ะ ที่ว่าทุกคนชอบความอร่อยเพราะมันถูกกระทำให้เป็นอย่างนั้นมาตั้งแต่เล็กๆ นั่น คนเลี้ยงเด็กน่ะก็ชอบประคบประหงมให้เด็ก ๆ ได้รับความเอร็ดอร่อย สนุกสนานที่สุด จนเด็กเสียนิสัยน่ะ บังคับไว้ไม่ได้ แล้วก็จะเอาความเอร็ดอร่อยยิ่งขึ้นไปอย่างไม่มีขอบเขต มันตกเป็นทาสของกิเลส เป็นทาสของกิเลส บูชาความอร่อยทางอายตนะ มันก็เป็นทุกข์จนตายน่ะ แม้มันจะร่ำรวยสักเท่าไรมันก็เป็นทุกข์อยู่นั่นแหละ ถ้ามันเป็นทาสของความเอร็ดอร่อยทางอายตนะ หรือทางกิเลส มันจะใช้เงินมากๆ บำรุงบำเรอทางอายตนะ มันก็ยังเป็นทุกข์อยู่นั่นแหละ เพราะว่ากิเลสตัณหามันอิ่มไม่เป็น รู้ไว้เถิดว่าไอ้กิเลสตัณหาน่ะ มันอิ่มไม่เป็น ยิ่งบำรุงบำเรอมันก็ยิ่งอยากมาก บำรุงบำเรอก็ยิ่งอยากมาก มันอิ่มไม่เป็น จะใช้เงินชั่วโมงละล้านบำรุงกิเลสตัณหา มันก็อิ่มไม่เป็น มันก็ร้อนอยู่นั่นแหละ ฉะนั้นที่ว่ามันจะเย็นเป็นสุขน่ะ มันไม่ต้องบำรุงกิเลสตัณหาต่างหาก เพราะฉะนั้นเราอย่าไปหลงในความอร่อยเลย รู้ธรรมะกันเสียบ้าง อุตส่าห์มาแต่ที่ไกลน่ะ ขอให้รู้ธรรมะกันเสียบ้าง คือรู้ว่า ความอร่อยนั้นเป็นเพียงความรู้สึกแก่ระบบประสาทตามกฎของธรรมชาติ ความไม่อร่อยก็คือความรู้สึกแก่ระบบประสาทตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ดังนั้นจึงเหมือนกัน ในข้อที่ว่ามันเป็นความรู้สึกแก่ระบบประสาทตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ในทางหนึ่งมันอร่อยแก่ประสาท ถูกแก่ประสาทมันก็หลงรัก อันหนึ่งมันไม่อร่อย มันก็หลงเกลียด
ฉะนั้นทั้งหลงรักและหลงเกลียดมันโง่เท่ากัน มันโง่เท่ากัน ไปหลงในสิ่งที่เกิดแก่ระบบประสาทตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเสมอกัน เรียกว่ามันหลงเท่ากัน เมื่ออร่อยก็ เอ้อ, อันนี้มันอร่อย ถ้าเผอิญได้กินของอร่อยก็นี่ก็อร่อยก็แล้วกัน อย่าไปหลงรักมัน ก็ไม่ทำอะไรเอา นี่ไม่อร่อย เอ้อ, ก็ไม่อร่อยอย่าไปหลงเกลียดมัน ให้มันโง่ทำไม ไปหลงรักในความอร่อยมันก็โง่ ไปหลงเกลียดในความไม่อร่อยมันก็โง่ ฉะนั้นอย่าไปหลงทั้งในความอร่อยและความไม่อร่อย รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น เราควรจะกิน จะหาจะกินแต่ในทางที่มันถูกมันควรที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายดีกว่า อย่าไปหลงความอร่อย มันจะสร้างกิเลสตัณหาไม่รู้จักจบ มันจะทรมานใจไม่รู้จักจบ เดี๋ยว เดี๋ยวอร่อยก็หลงรัก ไม่อร่อยก็หลงเกลียด มันก็ทรมานใจด้วยกันทั้งนั้นแหละ เฉยๆ ดีกว่า อยู่ในสภาพกลางๆ ดีกว่า ฉะนั้นช่วยสอนลูกสอนหลานอย่าให้บูชาความเอร็ดอร่อยกันนัก ถ้าเขารู้จักเรื่องนี้มาตั้งแต่เล็กๆ แล้วจะมีประโยชน์มาก เดี๋ยวนี้พ่อแม่นั่นแหละตัวการน่ะ ไปทำให้เด็กๆ มันหลงในความเอร็ดอร่อย สนุกสนานมากเกินไป จนในที่สุดมันเป็นอันตรายต่อเด็กๆ ของเรานั่นเอง คือทำให้เขาโง่ หลงรัก หลงเกลียด หลงรัก หลงเกลียด หลงโกรธ สลับกันอยู่เรื่อยไป ไม่มีความสุข บอกให้เขารู้ว่า อร่อยก็มันก็แค่รู้สึกทางประสาท ไม่อร่อยก็แค่รู้สึกทางประสาท อร่อยก็ไม่ดีใจ ไม่อร่อยก็ไม่โกรธแค้นขัดใจ ควรจะทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น อยากจะกินของอร่อยก็ได้ ไปหามากิน กินเข้าไป รู้สึกอร่อย อย่าไปหลงกับมัน อย่าไปหลงมัน มีเท่านั้นเอง เออ, อร่อยก็เลิกกัน อร่อยก็เลิกกัน อร่อยก็แล้ว แล้วไป อร่อยก็แล้วไป อย่างนี้ มันจะไม่สร้างกิเลส แล้วมันก็จะไม่หลงหาสิ่งเอร็ดอร่อยมาบำรุงบำเรออะไรกันนัก มันปล่อยไปตามธรรมชาติ บางเวลามันก็พบกันเองแหละของอร่อย บางเวลามันก็พบกันเองของไม่อร่อย แต่จิตคงที่ปกติอยู่เสมอ ตั้งหน้าตั้งตาทำการงานในหน้าที่ดีกว่าที่จะมามัวหลงอยู่ในเรื่องความอร่อยหรือความไม่อร่อย นี่หน้าที่ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ อย่าไปหลงในความรู้สึกที่เกิดขึ้นแก่ระบบประสาทตามธรรมชาติ ตามธรรมชาติ เรียนรู้ให้ดีว่ามีธรรมชาติ มีกฎของธรรมชาติ มีหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เราต้องรู้จักมันให้ดีๆ อย่าไปหลงสิ่งที่มันเกิดอยู่ตามธรรมชาติเลย เราควรจะได้ประโยชน์อะไร จะทำอะไรก็ทำ แต่อย่าไปหลงอยู่กับนั่นกับนี่ มันก็ไม่มีความเจริญ แล้วก็ทรมานใจอยู่ตลอดเวลา
จะพูดให้ถึงตัวธรรมะในพระบาลีสักหน่อย เกรงว่าบางคนจะหลับเสียก่อนกระมัง ดูบางคนก็เตรียมจะหลับอยู่แล้ว คือว่า ถ้าบาลีนั้นก็มีหลักว่า อย่าทำผิดเมื่อมีผัสสะ นี่ฟังไม่เข้าใจใช่ไหม อย่าทำผิดเมื่อมีผัสสะ มีผัสสะอย่างไร เมื่อไร ก็ยังไม่รู้กระมัง ต้องทำให้ถูกต้องเมื่อมันมีผัสสะ ผัสสะนั้นก็คือการกระทบตา กระทบรูป เกิดจักขุวิญญาณ รู้สึกต่อรูปนั้นอยู่สาม สามอย่างนี้มันทำงานกันอยู่ ตา รูป แล้วก็จักขุวิญญาณ ๓ อย่างนี้ทำงานกันอยู่เรียกว่า ผัสสะ พูดสั้นๆ ว่า ตาเห็นรูปนั้นเอง เรียกว่า ผัสสะ แต่มันมีจักขุวิญญาณน่ะ ที่เป็นเครื่องรับรู้ อารมณ์รูปนั้น นี่เรียกว่า ขณะผัสสะ เมื่อหูได้ฟังเสียงเกิดโทสะวิญญาณ รู้เสียง สัมผัสเสียงอยู่นี้ก็เรียกว่า ผัสสะทางหู เมื่อจมูกได้กลิ่นมันก็เกิดฆานวิญญาณ วิญญาณทางจมูก จมูกกับกลิ่นกับวิญญาณทางจมูกทำงานร่วมกันอยู่ รู้ว่ากลิ่นอะไร อย่างไรนี้เรียกว่า ผัสสะทางจมูก ทางลิ้นเมื่อได้กินของ คือลิ้นได้สัมผัสของที่เคี้ยวกินอยู่ มันก็เรียกว่า ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้น รู้รสนั้นอยู่ นี่เรียกว่า ผัสสะทางลิ้น เมื่อผิวหนังได้ประสบกับสิ่งที่มากระทบผิวหนัง นิ่มนวลก็ดี หยาบคายแข็งกระด้างก็ดี อะไรก็ดีนี้ ผิวหนังนั้นมันก็กระทบกับสิ่งที่มากระทบผิวหนังแล้วเกิด กายวิญญาณ รู้สึกอันนี้ นี้ก็เรียกว่า ผัสสะทางเนื้อหนัง ทางร่างกาย หรือเมื่อใจระลึกนึกคิดถึงสิ่งใดอยู่ ก็เกิดมโนวิญญาณ รู้จักสิ่งนั้น นี้เรียกว่ามโนสัมผัส หรือผัสสะทางใจ มันมีผัสสะทางตา ผัสสะทางหู ผัสสะทางจมูก ผัสสะทางลิ้น ผัสสะทางผิวกาย ผัสสะทางจิตใจ ๖ ผัสสะ ทั้ง ๖ ผัสสะนี้เรียกว่า ผัสสะ
อย่าทำผิดเมื่อมีผัสสะ จะไม่เกิดความทุกข์ ถ้าทำผิดเมื่อเกิดมีผัสสะ จะมีความทุกข์ ทำผิดเมื่อมีผัสสะนี่ก็คือ ไปหลงรักหรือหลงเกลียดเข้านั่นเอง เมื่อตาเห็นรูปที่น่ารัก มันก็หลงรัก เมื่อตาเห็นรูปที่ไม่น่ารัก มันก็หลงเกลียด ก็หลงรักหรือหลงเกลียด อย่างนี้เรียกว่าทำผิดทางผัสสะ จะต้องเกิดความทุกข์ที่ทางตา ทีนี้เขาเรียกว่าสวยก็สวยสิ ก็อย่าไปหลงรักกับมันสิ อันนี้ไม่สวยก็ไม่สวยสิ อย่าไปหลงเกลียดกับมัน รู้แต่ว่าเราจะต้องทำอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ หรือไม่ต้องทำอะไร ถ้าต้องทำอะไรก็ทำ ไม่ต้องทำก็ไม่ทำสิ อย่าไปหลงรักไอ้ที่มันสวย อย่าไปหลงเกลียดที่มันไม่สวยอะ มันจะเป็นทุกข์ มันเป็นความหลง มันเป็นคนบ้า เดี๋ยวหลงรัก เดี๋ยวหลงเกลียด เดี๋ยวหลงรัก เดี๋ยวหลงเกลียด เดี๋ยวทางตา หู เดี๋ยวทางหู เดี๋ยวทางจมูก เดี๋ยวทางผิวหนัง เดี๋ยวทางใจ มีแต่เรื่องหลงรักและหลงเกลียด นั่นน่ะมันเป็นความทุกข์ อย่าไปหลงรักหลงเกลียดทางใด ๆ หมด มันจะไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นได้ เพราะถ้ารักเกิดเวทนา หลงรักแล้วมันก็เกิดตัณหา เกิดความอยาก มันก็ยึดมั่นเป็นตัวกูของกู มันก็หนักอกหนักใจ แล้วมันก็เป็นทุกข์เพราะสิ่งที่รัก ถ้าว่ามันไม่น่ารัก ก็ไม่ ไม่น่ารักสิ ไม่หลงเกลียด ไม่เกิดความอยากที่จะหนี หรือจะฆ่า หรือจะทำลายอะไรกับใคร ไม่กระวนกระวายอะไร ไม่รำคาญอะไร เพราะเราไม่หลงเกลียดอะไร มันก็ผิดให้ได้อย่างนี้ อย่าทำผิดเมื่อมีผัสสะ ก็จะไม่เป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ ทำผิดเมื่อมีผัสสะมันก็ต้องเป็นทุกข์ อย่าเป็นทุกข์หรือจะไม่เป็นทุกข์ก็เพราะว่าทำผิดหรือทำถูกเมื่อผัสสะ ทุกวัน ทุกวัน เรามีผัสสะทุกวัน ทุกวัน ตลอดเดือน ตลอดปี ตลอดชีวิต เรามีผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ววันหนึ่งมันมีได้หลายสิ เพราะมันมีได้ทั้งตา ทั้งหู ทั้งจมูก ทั้งลิ้น ทั้งกาย ทั้งใจ ตั้ง ๖ อย่าง เรื่องนั้นแล้วเรื่องนี้ เรื่องนี้แล้วเรื่องนู้น เรื่องนู้น ไม่มีเรื่องอะไรก็ไปเอาเรื่องเก่าๆ มาคิด มันก็ผิด แล้วมันก็เป็นทุกข์
นี่ประโยคนี้ เป็นหัวใจในพระ พระ พระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ ว่าหัวใจธรรมะทั้งหมดก็คือ อย่าทำผิดเมื่อมีผัสสะ มันจะเป็นทุกข์ ถ้าทำให้ถูก ให้ตรงเรื่อง ให้ฉลาด มันก็จะไม่เป็นทุกข์ เมื่อมีผัสสะมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ตาม เราต้องฉลาด ฉลาด ต้องรอบรู้ว่าอย่างไร ทำไม อะไร อย่าไปทำผิดกับมันเป็นอันขาด คือ อย่าไปหลงรักและหลงเกลียดนั่นเอง มันก็ไม่มีเรื่องที่ให้เกิดกิเลสตัณหาอะไรให้เป็นความทุกข์ เมื่อต้องทำอะไรก็ทำไปสิ อย่า อย่า อย่าไปทำด้วยความเกลียดและความรักสิ ก็ทำไปอย่างสติปัญญาอย่างมีเหตุผล ไอ้การงานก็ลุล่วงไปด้วยดี ถ้าไปทำด้วยความเกลียดหรือความรักแล้วมันลำเอียง และมันจะลำเอียง และมันจะไม่ถูกต้อง ต้องทำด้วยจิตใจที่เป็นอิสระเสมอ
ขอให้เรารู้ว่าหัวใจธรรมะ หัวใจพระศาสนา หัวใจของพระธรรม ทั้งหมดมีอยู่ ๒ ประโยคนี้เท่านั้น ถ้าทำผิดเมื่อมีผัสสะจะเป็นทุกข์ ถ้าทำถูกเมื่อมีผัสสะจะไม่เป็นทุกข์ มีเท่านี้เท่านั้น อุตส่าห์มา เสียค่ารถไฟมาตั้งหลายบาท มาเหน็ดเหนื่อยเสียเวลา เดี๋ยวจะไม่ได้อะไรนะ จะบอกให้รู้นะว่านี้คือหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เป็นหลัก ในพระไตรปิฎกทั้งหมดทั้งสิ้นมันก็สรุปรวมไว้ได้เพียงเท่านี้ อย่าทำผิด คืออย่าโง่ และทำผิดเมื่อมีผัสสะ ไปหลงรัก หลงเกลียด หลงโกรธนั่นน่ะ ที่เราเห็นโง่กันอยู่ตลอดไป จนกระทำเลวร้าย อันธพาลเลวร้าย ทำ ทำ ทำอาชญากรรมเลวร้ายก็เพราะมันหลงในเรื่องของผัสสะ อย่าทำผิดเมื่อผัสสะ ปัญหาก็ไม่เกิดและไม่เป็นทุกข์ ถ้าทำผิดเมื่อมีผัสสะ จะเกิดปัญหายุ่งยากไปหมดแล้วก็จะต้องเป็นทุกข์ ไม่มีใครจะช่วยได้อะ ให้เทวดาพระเจ้าที่ไหนมาช่วยก็ช่วยไม่ได้ล่ะ ถ้าทำผิดทางผัสสะแล้วก็ต้องเป็นทุกข์ล่ะ ถ้าทำถูกทางผัสสะแล้วจะไม่มีทุกข์ ไม่ต้องเอาพระเจ้า เทวดา ผีสางมา ที่ไหนมา มาช่วยล่ะ นั่นมันคนปัญญาอ่อนมันไปพึ่งไปอ้อนวอนผีสางเทวดาให้ช่วย นั้นมันยกไว้คนปัญญาอ่อน ถ้าใครอยากเอาปัญญาอ่อนก็เอาสิ เอาอย่างนั้นแหละ ไปหวังพึ่งผีสางเทวดาอะไรก็ไม่รู้มาช่วยอย่าให้เป็นทุกข์ ไว้ให้คนปัญญาอ่อน ใครมันอยากปัญญาอ่อนก็เอาอย่างนั้นก็แล้วกัน แต่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ถ้าจะไม่ให้เป็นทุกข์อะ ต้องอย่าทำผิดเมื่อผัสสะ ถ้าต้องการมีความสุข ไม่มีความทุกข์ก็ให้ทำถูกต้องเมื่อมีผัสสะ ไม่เกี่ยวข้องกับผีสางเทวดา โชคชะตา เคราะห์กรรมอะไรที่ไหนหมด มันอยู่ที่ทำผิดหรือทำถูกทางผัสสะ ที่นี่และเดี๋ยวนี้เท่านั้น
นี่ ขอให้ได้ความรู้นี้ ถ้ายังไม่มีนะ เอาไปให้มันมีขึ้นมา อย่าให้การศึกษามันบกพร่อง เราเรียกว่าการศึกษาชนิดสุนัขหางด้วน เป็นการศึกษาที่ไม่เต็ม ยังบกพร่องอยู่ รู้แต่หนังสือ เรารู้แต่ทำมาหากิน อาชีพเท่านั้น รู้แต่หนังสือกับรู้อาชีพเท่านั้น นี้การศึกษาหมาหางด้วน ถ้าหางไม่ด้วนต้องรู้ธรรมะด้วยว่าจะเป็นคนกันอย่างไร จึงจะไม่มีความทุกข์ หนังสือก็รู้เอาสิ อาชีพก็รู้ แล้วมีธรรมะไม่เป็นทุกข์กันอย่างไรนี่ก็รู้ นี่การศึกษาสมบูรณ์ อาตมาจึงเรียกว่า เหมือนกับเติมธรรมะลงไปในชีวิตให้สมบูรณ์ พูดอย่างตรงไปตรงมา คุณอยากจะโกรธก็โกรธนะ ว่าถ้าคุณมีความรู้แต่ในหนังสือกับอาชีพแล้ว ไอ้ชีวิตนั้นมันยังโพรงอยู่ ไม่เต็มอะ อะไรเติมให้เต็มอะ เอาความรู้ธรรมะที่ยังขาดอยู่นี่เติมให้เต็ม ให้รู้ว่าปฏิบัติธรรมะอย่างไรจึงจะไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้น เดี๋ยวนี้เรามีความรู้หนังสือและอาชีพอยู่แล้ว แต่มันยังกลวงอยู่ ในส่วนที่ว่าธรรมะมันจะกำกับชีวิตอย่างไรนี้ มันไม่มี ที่มาที่นี่ก็เหมือนกับมาเติมในส่วนนั้นแหละ ให้มันเต็ม ห้องนั้นมันยังไม่เต็ม ไอ้ ๒ ห้องแรกมันเต็มแล้ว รู้หนังสือแล้ว รู้อาชีพแล้ว แต่ห้องที่ ๓ คือว่า รู้ธรรมะสำหรับจะไม่เป็นทุกข์นี้ ยังไม่มี มันยังพร่องอยู่ จึงมาเติม จึงเหมือนกับว่ามาเติมชีวิตให้เต็มในส่วนที่ยังพร่องอยู่คือ ธรรมะ เติมธรรมะลงไปในชีวิต ให้ชีวิตนี้เต็มทั้ง ๓ ส่วนน่ะ ทั้งรู้หนังสือ ทั้งรู้อาชีพ และทั้งมีธรรมะ
เดี๋ยวนี้เมื่อกระทรวง เขาไม่ให้ได้เรียนไม่สอนก็ เราก็หาเอาเองสิ อย่างที่มาที่นี่ก็เห็นได้ชัดว่ามาหาเอาเองนอกหลักสูตรกระทรวง ถ้าว่ากระทรวงเขาให้สอนให้มีก็ดีสิ ก็สะดวกอะ ก็เรียนกันในโรงเรียนก็ได้ เข้าใจว่าต่อไปกระทรวงคงจะขยายหลักสูตรออกมาให้ถึงส่วนนี้ คือให้เรียนธรรมะนี้ ขึ้นอีกส่วนหนึ่งให้เป็นการศึกษาชนิดดี ชนิดเต็ม ไม่ใช่ศึกษาหมาหางด้วน พูดตะโกนมาทั้งทางวิทยุ ทั้งทางหนังสือไม่รู้กี่สิบครั้งแล้วว่าการศึกษาของชาติของโลกนี้ ยังเป็นการศึกษาหมาหางด้วน เพราะฉะนั้นคนในโลกจึงเป็นโรคประสาทกันมากขึ้น เป็นบ้ากันมากขึ้น อาชญากรรมมากขึ้น อะไรมากขึ้น เพราะการศึกษามันเป็นหมาหางด้วน เพราะฉะนั้นเมื่อใดการศึกษานี้มันเต็ม ไอ้สิ่งเหล่านั้นมันก็จะหมดไป ถ้ามีศีลธรรมอยู่ในบุคคล ไอ้ความเลวร้ายในกรุงเทพ ฯ อย่างที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ มันไม่มี ข่มขืนก่อนฆ่า ฆ่าแล้วข่มขืนนี้มันเลวร้ายที่สุดของมนุษย์ แล้วมันจะไม่มีอะ ถ้าว่ามันมีการศึกษาทางศีลธรรมที่เต็ม
ขอให้เราถือว่าการเติมธรรมะลงไปในชีวิตของเราให้เต็มนี้ เป็นความดีอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรดีกว่าแล้ว ดีกว่ามีเงินเดือนเพิ่ม สัก ๑๐ ขั้น เติมชีวิตด้วยธรรมะนี้ลงไป ชีวิตมันเต็มด้วยธรรมะดีกว่าได้เลื่อนขั้นเงินเดือนสัก ๑๐ ขั้น แปลว่าเราสอนลูกศิษย์ลูกหานักเรียนของเราให้รู้ธรรมะนั้นแหละเป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง สมกับที่ว่าเราเป็นครู มีบุญคุณเหนือคนในโลก เพราะว่าครูทำให้คนรู้ แล้วก็เป็นคนที่รู้ เป็นคนที่ดี เป็นโลกที่ดี โลกจะดีหรือจะเลว ก็เพราะว่าครูสอนคนให้ดีหรือให้เลว เด็กๆ น่ะ มันสร้างโลก แต่ว่าเด็กมันจะมีปัญญาสร้างที่ไหนอะ มันก็แล้วแต่ครูสอนไปอย่างไร ถ้าครูสอนดี เป็นเด็กดีมันก็สร้างโลกดี ครูสอนไม่ดี มันเป็นเด็กเลวมันก็สร้างโลกเลว เพราะฉะนั้นโลกอนาคตมันจะดีหรือจะเลว มันก็ขึ้นอยู่กับที่ครูนี่มันสอนดีหรือไม่ดี ถ้าเราสอนดีก็เป็นครูที่สร้างโลก มีบุญอันใหญ่หลวง เป็นปูชนียบุคคล คำว่าครูนี้แปลว่าผู้เปิดประตูทางวิญญาณให้สัตว์โง่ๆ ออกมาเสียจากคอกแห่งความโง่ คอกเล้าที่เหม็น ที่มืด ที่สกปรก ที่อะไรต่างๆ น่ะ สัตว์มันถูกกักขังอยู่ในนั้น ทีนี้ครูเป็นผู้เปิดประตูให้มันออกมาเสียจากคอกชนิดนั้น ดังนั้นครูจึงเป็นปูชนียบุคคล ทีนี้ขอให้เราสามารถทำหน้าที่เปิดประตูให้ลูก เด็กๆ ของเราออกมาเสียจากคอกแห่งความโง่ ความทุกข์ ความมืด กิเลสทั้งหลายอะ แล้วเราก็เป็นครู ปูชนียบุคคล ได้สิ่งสูงสุด มีค่าที่สุด ไม่ใช่เงินเดือนเล็กๆ น้อยๆ ที่ยาชีวิต ที่เยียวยาชีวิต ที่เป็นของเล็กน้อย
คุณค่าสูงสุดของครู ก็คือได้ทำให้โลกมันดีขึ้น ให้มันเป็นเด็กดีสร้างโลกที่ดี เป็นเหมือนกับว่าครูเป็นผู้สร้างโลกที่ดี โดยใจความก็คือเปิดประตูให้สัตว์ออกมาเสียจากความโง่มาเป็นสัตว์ที่ฉลาด แล้วก็ช่วยกันสร้างโลกที่ดี อาตมาตั้งใจจะพูดอย่างนี้ สำหรับท่านทั้งหลายที่อุตส่าห์มาจากที่ไกล มาด้วยความหวังว่าจะศึกษาธรรมะ ธรรมะมันก็มีอย่างนี้แหละ มี ๔ ความหมายอย่างที่ว่า แล้วความหมายที่สำคัญก็คือ หน้าที่ของมนุษย์อย่างถูกต้อง เดี๋ยวนี้เรายังไม่ได้ทำหน้าที่ของมนุษย์อย่างถูกต้อง เรียกว่ายังมันพร่องอยู่ เพราะเราไม่รู้ เพราะเรามาเติม เติมให้รู้แล้วทำให้เต็ม อย่าให้มีข้อบกพร่องในหน้าที่ของมนุษย์เลย ครูนี้ในส่วนที่เป็นเรื่องของตัวเองก็ทำตัวเองอย่าให้เป็นทุกข์เลย ในส่วนที่เป็นหน้าที่เกี่ยวกับลูกศิษย์ลูกหาก็สอนลูกศิษย์ลูกหาให้รู้จริง ให้ลูกศิษย์ลูกหาเหล่านั้นพ้นจากความทุกข์ด้วย เพราะฉะนั้นครูจึงช่วยทั้งตัวเองและช่วยทั้งลูกศิษย์ลูกหา ซึ่งมันจะเป็นคนสร้างชาติและสร้างโลก เราก็พลอยมีส่วนบุญกุศลในการสร้างโลกให้งดงามให้น่าอยู่ เมื่อความรู้ส่วนนี้มันบกพร่องอยู่ เราก็เติมให้มันเต็ม จึงพูดว่ามาที่สวนโมกข์นี้เหมือนกับมาเติมชีวิตให้มันเต็มด้วยธรรมะที่ยังพร่องอยู่ หรือว่าเติมธรรมะที่ยังพร่องอยู่ลงไปในชีวิตให้มันเต็ม แล้วก็ได้ ได้ผลเกินค่า เกินค่าเหลือที่จะเกิน เกินค่ารถไฟ เกินค่าเวลา เกินค่าอะไรต่างๆ นี่จะได้กำไรมหาศาล มีธรรมะเป็นกำไร มีบุญกุศลเป็นกำไร ซึ่งมันยิ่งกว่าเงินกว่าทอง นี่เราพูดกันในฐานะที่ว่าเป็นพุทธบริษัท พูดกันนี้เพื่อจะได้ช่วยกันทำสิ่งที่สนองพระพุทธประสงค์ พระพุทธองค์ทรงประสงค์ว่าให้เราเนี่ย ช่วยกันทำให้ธรรมะยังอยู่ในโลก ให้เป็นประโยชน์แก่สัตว์โลก ทั้งเทวดาและมนุษย์ เราก็ต้องช่วยกันสิ ช่วยกันทำให้ธรรมะมีอยู่ในโลก เพื่อเป็นประโยชน์แก่สัตว์โลกทั้งเทวดาและมนุษย์
อาตมาจึงแสดงความยินดีแก่ท่านทั้งหลาย เหมือนได้กล่าวคำแรกพูดว่า ขออนุโมทนาในการที่ท่านทั้งหลายมาที่นี่ โดยความหวังว่าจะเติมธรรมะลงไปในชีวิตนั้นให้เต็ม ให้เป็นชีวิตที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์อย่างสูงสุด ตรงตามพระพุทธประสงค์ รักษาธรรมะนี้ไว้ยังมีอยู่ในโลกเพื่อประโยชน์แก่คนในโลก ทั้งเทวดาและมนุษย์ นี่ การบรรยายนี้มันก็พอแก่ความประสงค์แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายกำหนดจดจำให้ดี เข้าใจ เพราะเห็นว่าอันนี้รอดได้ ช่วยได้ แล้วประพฤติกระทำอย่างยิ่งให้สุดความสามารถในฐานะที่เป็นหน้าที่ของมนุษย์ เอาธรรมะมาประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ความเป็นมนุษย์ของตน ให้เจริญอยู่ด้วยธรรมะ มีความสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ