แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อยากจะเป็นฝ่ายพูดก่อนสำหรับวันนี้ โดยไม่ต้องให้ถามปัญหา แต่ว่าในที่สุดตอนจบนู้นจะถามบ้างก็ได้ เดี๋ยวนี้มันยังมีเรื่องที่จะต้องพูดแล้วยังไม่ได้พูด ก็คือเรื่องการบวชจำพรรษานี่เอง ขออย่าได้คิดไปถึงว่าเราจะต้องได้เรียนธรรมะลึกๆที่ไม่เคยฟัง ที่เป็นอภิธรรม หรือเป็นไอ้เรื่อง อ่า, ในพระไตรปิฎกอย่างนั้น นั่นไว้ทีหลังก็ได้ แล้วก็ไม่สำคัญอะไรนัก รู้พระไตรปิฎกมากมาย จะไม่ได้ประโยชน์อะไรนักก็ได้ ถ้าว่ามันไม่ได้ทำเรื่องที่เป็นเบื้องต้นให้ถูกต้องและครบถ้วนเสียก่อน โดยเฉพาะผู้ที่บวช ๓ เดือนนี้ เวลา ๓ เดือนน่ะมันน้อยมาก คุณจะใช้อย่างไรให้เวลา ๓ เดือนนี้เป็นประโยชน์ที่สุด ถ้าจะเอาพระไตรปิฎกมาอ่านฟังมันก็ทำได้ แต่มันจะไม่ได้เรื่อง จะไม่เข้าใจบางอย่างด้วยซ้ำไป ฉะนั้นเราจะถือโอกาสบวช ๓ เดือนนี้เป็นการศึกษาจากภายใน
พอได้ยินคำว่าการศึกษาจากภายใน มันคู่กับการศึกษาจากภายนอก เราอ่านหนังสือ เราฟังเขาพูด เราไปสนทนา ไต่ถามกับใคร อย่างนี้เรียกว่าศึกษาภายนอก แต่ถ้าเราคอยเฝ้าดูจิตใจว่ามันเป็นอย่างไร นั่นแหละเป็นการศึกษาที่ดีที่สุด เป็นการศึกษาภายใน บางทีท่านก็พูดว่า อย่าให้จิตออกไปข้างนอกร่างกายนี้เลยตลอดเวลา ๓ เดือน คำอย่างนี้ก็มีพูด ไม่ให้จิตเที่ยวไปข้างนอกร่างกายนี้ตลอดเวลา ๓ เดือนคือ ๑พรรษานะ ๑ พรรษาให้จิตเที่ยวอยู่แต่ข้างในอย่างมากที่สุด จะกำหนดศึกษาที่ร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนังข้างนอกนี้ก็ได้ แต่ก็ยังจัดว่าภายในอยู่แหละเพราะมันยังเนื่องด้วยกาย ฉะนั้นอย่าให้ออกไปข้างนอก หรือไกลไป หรือว่าการศึกษาชนิดที่ฟังจากข้างนอก ไม่ใช่การศึกษาของจิตดูเอาเองจากข้างใน นั่งดูเอาเองจากข้างในนี่เป็นการศึกษาจากข้างใน จะพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังที่ร่างกายนี้ก็เรียกว่าดูจากข้างในเหมือนกัน ดูที่ข้างในคือในตัวน่ะ
ที่ว่าข้างในยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่าดูจิตใจ คือดูธรรมชาติของจิตใจ คือที่มันเป็นไปตามธรรมชาติ มันมีเรื่องเป็นหลักสำหรับดูว่าตามปรกติมันเป็นอย่างไร ถ้ามีอะไรมากระทบที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น เป็นต้นนี้ มันเปลี่ยนไปอย่างไร แล้วมันยังเปลี่ยนเป็นลำดับๆๆ ต่อไปอีกๆๆ เป็นอย่างไร ถ้าคุณทำอย่างนี้นั่นน่ะคือศึกษาหัวใจพุทธศาสนาที่แท้จริง และเป็นเรื่องจริง แล้วก็เป็นเรื่องที่ได้รับผลจริง มันจะเข้าใจเรื่องไอ้ปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตาซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เรื่องนี้เคยพูดให้ฟังแล้วว่าสำคัญที่สุด ในฐานะเป็นธรรมะสูงสุด จนกระทั่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าออกบวช เที่ยวค้นๆๆๆ ก็พบเรื่องอิทัปปัจจยตา พอพบก็เคารพกฎของอิทัปปัจจยตาในฐานะเป็นสิ่งสูงสุด แล้วก็เอามาเปิดเผย สั่งสอนแก่คนทั่วไปให้รู้เรื่องนี้ เรื่องอิทัปปัจจยตามันก็คือเรื่องความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร และความทุกข์ดับลงไปอย่างไร มีเท่านั้นเอง แต่มันมีรายละเอียดขั้นตอนมันมาก ฉะนั้นเราคงจะเข้าใจไม่ได้ถ้าเรามัวแต่จะอ่านหนังสือหรือว่าจะฟังกันอยู่แต่ข้างนอก เราจะต้องกำหนดศึกษาภายในแล้วเราจะเห็นตัวสิ่งที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตาชนิดที่เป็นหัวใจแก่พุทธ ของพุทธศาสนา และเป็นประโยชน์แก่เรามากที่สุด ฉะนั้นคุณฟังให้ดี ที่ว่าให้กำหนดเฝ้าดูธรรมชาติของจิต หรือจิตตามธรรมชาติเป็นอย่างไรนั่น เอาตามความรู้ของเราเท่าที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ก็ได้ คือรู้จักสังเกต รู้จักกำหนด รู้จักแบ่งแยก รู้จักอะไรตามๆๆธรรมดาที่เรารู้จัก
ในชั้นแรก ก็ไม่มีอะไร ว่า เอ้า, ดูสิ เดี๋ยวนี้จิตเป็นอย่างไร จิตเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร ตามปกติทุกวันๆมันเป็นอย่างไร ทีนี้มันเปลี่ยนเมื่อไร พูดสั้นๆจิตมันก็เปลี่ยนเมื่อมันเกิดการเห็นรูปด้วยตา หรือเกิดได้ยินเสียงด้วยหู มันได้กลิ่นด้วยจมูก สัมผัสรสด้วยลิ้น ผิวหนังด้วยกาย รู้เรื่องที่มากระทบผิวหนังด้วยผิวหนัง และจิตเกิดความรู้สึกคิดนึกอะไรบางอย่างขึ้นมา ฉะนั้นเราดูว่าพอตาเห็นรูป มันไม่คงอยู่ในสภาพเดิม เหมือนอย่างว่าจิตมันอยู่เฉยๆเหมือนกับลอยๆอะไรอยู่อย่างนั้น ไม่คิดๆ ไม่เคิดอะไร พอตาเห็นรูปที่มีความหมาย รูปนั้นมีความหมายสำหรับน่ารัก หรือสำหรับน่าเกลียด หรือสำหรับน่ากลัว หรืออะไรก็ตาม พอจิตเห็นเข้ามันก็เปลี่ยน มันก็เปลี่ยน มันรู้ความหมายของสิ่งนั้นมันก็เปลี่ยน ทีนี้มันจะเปลี่ยนอย่างไรบ้างนั้นแหละ ไปสังเกตให้ดี มันจะเปลี่ยนเป็นขั้นตอนเป็นลำ ลำดับไป แต่ละขั้นตอนนั้นมันไม่เหมือนกัน เอ้า, พอสังเกตรู้มันทุกขั้นตอนในกรณีที่ทำให้ความทุกข์เกิดขึ้น ก็รู้จักความทุกข์ว่าเป็นอย่างไร ความรู้สึกที่เป็นทุกข์นั่นเป็นอย่างไร ที่จิตรู้สึกเป็นทุกข์นั่นเป็นอย่างไร หรือไม่ถึงกับเป็นทุกข์ แต่มันเกิดความรู้สึกไอ้เลวร้ายขึ้นมาที่เรียกว่ากิเลส เช่น เกิดความโลภขึ้นมาเป็นอย่างไร เกิดความโกรธขึ้นมาเป็นอย่างไร เกิดความหลงขึ้นมาเป็นอย่างไร
เดี๋ยวนี้เราจะได้รู้จักไอ้ตัวความโลภ ตัวความโกรธ ตัวความหลง ซึ่งไม่อาจจะรู้จักได้โดยการอ่านหนังสือ จึงรู้จักกันน้อยมาก ยังรู้จักความโลภ โกรธ หลงเป็นต้นด้วยการอ่านหนังสือนี่รู้จักได้น้อยมาก ฉะนั้นจะรู้จักได้ดีก็เมื่อดูเข้าไปที่ความโลภ หรือความโกรธ หรือความหลงที่มันได้เกิดขึ้นในใจจริงๆ ทีนี้ก็เปรียบเทียบเรื่อยไป ทำให้เห็นความแตกต่างว่าเมื่อโลภเป็นอย่างไร เมื่อไม่โลภเป็นอย่างไร เมื่อโกรธเป็นอย่างไร เมื่อไม่โกรธเป็นเช่นไร เมื่อหลงเป็นอย่างไร เมื่อไม่หลงเป็นอย่างไร นี่เรื่อยๆไปอย่างนี้ มันก็จะพบว่าไอ้ที่มีกิเลสเป็นอย่างไร ที่ไม่มีกิเลสเป็นอย่างไร ที่กลัดกลุ้มด้วยกิเลสนั้นมันร้อน หรือมันวุ่นวาย กระวนกระวายอย่างไร เมื่อไม่มีกิเลสนี่มันเงียบสงบเย็นอย่างไรนี้ นี่เรียกว่าการศึกษาชั้นเลิศ ศึกษาจากข้างใน รู้จักทุกสิ่งที่มีอยู่ข้างใน เพราะว่าไอ้เรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์นั่นเป็นเรื่องข้างใน ไม่ใช่เรื่องข้างนอก เพราะฉะนั้นมันต้องทำกันแต่ข้างในให้รู้ ทำข้างนอกมันไม่รู้ เพราะฉะนั้นจำคำที่ว่าให้ดูจากข้างใน ให้ศึกษาจากข้างใน ให้จิตนี่เที่ยวอยู่ข้างใน เที่ยวเป็นไปข้างใน อย่าต้องออกมาข้างนอก นี่พูดโดยคร่าวๆ โดยหยาบๆ มันเป็นอย่างนี้ ที่จริงนั้นมันละเอียดกว่านี้มาก ไปกำหนดเข้าเถอะมันจะรู้
ทีนี้เพื่อจะให้ง่ายขึ้น ผมก็จะเล่าเท่าที่เขารู้กันอยู่แล้ว หรือในพระบาลีได้กล่าวไว้แล้ว เท่าที่เขารู้กันอยู่แล้ว เขาเขียนไว้สำหรับเป็นแนวให้คุณไปศึกษากำหนดดูจิต ตามดูว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ตั้งต้นว่าจิตล้วนๆ สิ่งที่เรียกว่าจิตล้วนๆตามธรรมชาติ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง อาศัยร่างกาย ระบบกายที่มันครบถ้วนดีแล้วนั้น ไอ้สิ่งที่เรียกว่าจิต แม้เป็นนาม เป็นธาตุที่ไม่มีตัวตนนั่น มันก็ได้อาศัยกาย มันก็ทำหน้าที่ของจิตได้ หน้าที่ของจิตคือรับรู้ได้ แล้วก็รู้สึกได้ แล้วคิดนึกได้ สังเกตดูเถอะ มันรู้สึกอะไรได้นะ แล้วมันรู้สึกต่อๆกันไปแล้วกระทั่งว่ามันคิดนึกได้ ถ้ามันมี ไม่มีร่างกาย มันก็ทำงานไม่ได้แหละ ไอ้ร่างกาย ถ้าไม่มีจิต ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เหมือนว่า ถ้าจะเปรียบเหมือนกับว่า ไอ้กระแสไฟฟ้านี้ ถ้าพูดตามหลักธรรมะมันก็ถือว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งมีอยู่ในโลก แต่มันปรากฏตัวไม่ได้เมื่อมันไม่มีร่างกาย ไม่มีสิ่งที่เปรียบเหมือนร่างกาย เช่น ไม่มีไดนาโม หรือไม่มีหม้อแบตเตอรี่ เป็นต้น ซึ่งเปรียบเหมือนกับร่างกาย ฉะนั้นมันต้องมีร่างกาย และไอ้ๆธาตุไฟฟ้านั้นจึงเข้าอาศัยแล้วก็แสดงตัวได้ จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีร่างกายมันก็แสดงตัวไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ฉะนั้นเขาจึงเรียกของทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ด้วยกัน เป็นไปด้วยกัน ก็เรียกว่า กายใจ กายใจ อย่าแยกเป็นสอง สองส่วน สองสิ่งให้เด็ดขาดจากกัน ให้มันแฝดติดกันอยู่เป็นกายใจ กายใจ นามรูป นามรูป กายใจ กายใจนี้ ถ้าเอากายออก จิตก็ไม่มี ทำอะไรไม่ได้ เอาจิตออก กายก็ทำอะไรไม่ได้ ทีนี้พอมาอยู่ด้วยกัน มันทำอะไรได้ ก็เรียกว่ากายใจ ที่เราสมมติ สมมติเรียกมันว่าคนๆหนึ่ง ไอ้ที่เรียกว่าคนๆหนึ่งนี่ เราเรียก บัญญัติเรียก สมมติเรียก แต่งตั้งขึ้นเรียก ถ้าตามธรรมชาติแท้ๆมันก็เป็นเพียงกายกับใจมันอยู่ด้วยกัน ติดกันอยู่ มันก็ทำหน้าที่ของมันได้ ทีนี้มันจะทำหน้าที่ของมันอย่างไร
ทีนี้ก็จะต้องรู้ไปถึงว่าไอ้ มันมีไอ้จุด ไอ้ส่วน หรือส่วนที่ทำหน้าที่อย่างหนึ่งๆนั่นน่ะ อะไรบ้าง ฉะนั้นเราต้องตั้งต้นสังเกตให้รู้จักตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งมันจะทำหน้าที่ของมันอย่างไร ไอ้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้รับอารมณ์ข้างนอก แล้วทำหน้าที่ของมันอย่างไรตามลำดับ นั่นน่ะคือตัวอิทัปปัจจยตา ส่วนที่เราต้องรู้ ส่วนที่เป็นหัวใจพุทธศาสนา ฉะนั้นไอ้เอบีซีของไอ้พุทธศาสนานั้นคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และสิ่งที่จะมาเนื่องกันเข้าแล้วเป็นเรื่องเป็นราวไป นี่จุดตั้งต้นของพุทธศาสนามันอยู่ที่ตรงนี้ แต่เดี๋ยวนี้คนในโลกเขาไม่รู้อย่างนี้ เขาไปตั้งต้นเรียนปรัชญาอินเดียอันมากมาย เรียนที่เกิดของปรัชญา เรียนอะไรเสียมากมาย ก็ไม่ถึงไอ้กอขอกอกาของพุทธศาสนา แล้วก็เรียนเตลิดไปจนไม่ได้จุดตั้งต้นที่ ที่ชัดเจนเหมือนกับไอ้เรียนกอขอกอกา ฉะนั้นเรามารู้กันเสียว่าถ้าจะตั้งต้นเรียนพุทธศาสนาไปตั้งแต่กอขอกอกาแล้วก็ รู้เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ตามันก็มีไอ้ๆๆลูกตา ตัวลูกตาที่เป็นรูป เป็นวัตถุ แล้วก็มีประสาทตาซึ่งมันไม่ใช่วัตถุนักแล้ว มันมีส่วนของจิตเข้าไปเกี่ยวแล้ว แล้วก็จะรู้เรื่องไอ้การเห็นทางตา วิญญาณทางตา หูก็เหมือนกันน่ะ มันมีตัวหูที่เป็นวัตถุ เป็นเนื้อเป็นหนัง แล้วก็มันมีประสาทหู แล้วก็มีจิต ภาคจิตที่จะทำการรู้สึกที่หูเมื่อได้โอกาสน่ะ จมูก มันก็มีตัวจมูกเป็นที่ตั้งของไอ้เส้นประสาทจมูก มีอะไรมากระทบมันก็รู้ คือจิตทำหน้าที่ ที่ลิ้นก็เหมือนกันน่ะ ก็มีประสาทที่ลิ้น อะไรมากระทบลิ้นมันก็รู้ คือจิตมันทำหน้าที่ที่ลิ้น ที่ผิวหนังทั่วๆไปก็มีรบ ระบบประสาทอยู่ทั่วไป อะไรมากระทบผิวหนังจิตก็รู้ รู้สึก ในใจเอง มันก็มีใจ มีความรู้สึกที่จะรู้สึกได้ มีส่วนที่จะรู้สึกได้ แต่เขาไม่เรียกว่าประสาท คือใจมันมีไอ้ส่วนที่มันจะรู้สึกได้ มีอะไรมากระทบหรือ คือเกิดขึ้นในใจมันก็รู้สึกได้ เช่นส่วนจิตรู้สึกได้ที่สิ่งที่เกิดขึ้นในจิตนั้น นั่นน่ะเรียกๆว่า ต้องจงรู้จักระบบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นระบบๆทั้งระบบแล้วก็ ๖ ระบบนี่ นี่ก็เรียกว่าเรียนจากข้างในเหมือนกันแหละ เราไม่อาจจะเรียนจากข้างนอกหรอก แม้ว่าเราจะอ่านหนังสือเรื่องนี้มันก็รู้ได้น้อยมาก แล้วมันไม่ได้รู้อย่างรู้สึกนะ มันเป็นรู้อย่างเขาบอกแล้วจำได้ มันไม่มีไอ้ความรู้สึกด้วยจิตใจ เพราะฉะนั้นเรามาเรียนเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเราด้วยจิตใจของเรา โดยคอยเฝ้าสังเกตที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเป็นอะไร มันทำอย่างไร
ทีนี้ก็รู้คู่ของมัน คู่ของมันคือข้างนอก รูปที่จะเห็นด้วยตา เสียงที่จะฟังด้วยหู กลิ่นที่จะรู้สึกด้วยจมูก รสที่จะรู้สึกด้วยลิ้น สัมผัสมา รู้สึก มากระทบแล้วรู้สึกด้วยผิวหนังทั่วไป แล้วก็ความคิด ไอเดียอันหนึ่งที่มันจะเกิดขึ้น ให้จิตรู้สึกว่าเป็นอย่างไร มันก็เป็นคู่จิต เพราะฉะนั้นเราจึงได้ ๖ คู่ นี่ไปๆๆๆจับ ไปรู้ อ่า, ไปๆสังเกต ไปศึกษาจากข้างในสิ จนรู้ว่ามันมีไอ้ ๖ ๖ คู่นี้จริงๆ แล้วก็เป็นสิ่งที่ขึ้นใจอย่างยิ่ง ที่จริงมันก็ไม่ต้องจำหรอก เพราะมันดูได้จากข้างใน รู้สึกได้จากข้างใน ไอ้ตาคู่กับรูป หูคู่กับเสียง จมูกคู่กับกลิ่น ลิ้นคู่กับรส กายคู่กับสัมผัสที่จะมาถูกกาย จิตคือใจ เขาเรียกว่าใจนะ คู่กับสิ่งที่จะปรุงรู้สึกขึ้นมาในใจ ครั้งแรกที่เราจะกำ กำหนดสิ่งเหล่านี้ มันก็รู้จักแหละ รู้จักแน่ๆแหละ แต่ยังไม่หมดหรอก ยังไม่ถึงที่สุด ขอแต่ให้รู้จักว่ามันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างไรก็แล้วกัน แล้วให้รู้ลึกไปถึงว่า ถ้าสมมติว่าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจล่ะ มันจะเป็นอย่างไร คุณลองคำนวณดู ถ้าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเป็นอย่างไร มันก็มีผลเท่ากับโลกนี้มันไม่มี โลกนี้มันไม่มี พระพุทธเจ้าท่านยังตรัสไว้ชัดเลยว่า ไอ้โลกๆๆน่ะมันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คนโง่ฟังแล้วก็ไม่เชื่อ แล้วก็จะด่าพระพุทธเจ้าว่าพูดอะไรก็ไม่รู้ ว่าโลกอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะทุกคนมันเห็นโลกๆ ไอ้ The Globe นี่มันอยู่ที่ไหน ทุกแห่ง ไม่ได้ ไม่ได้มาอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ทีนี้ก็เรามาสังเกตดูที่ว่าถ้ามันไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลกนี้มันก็ไม่มีแหละ เรามีเพียง ๖ นะ ถ้าเราจะมีน้อยกว่า ๖ เช่นกิ้งกือหรือไส้เดือน หรืออะไรพวกนี้ มันมีไม่ๆถึง ๖ หรอกตามที่เชื่อกันน่ะ มันก็รู้จักเท่าที่อายตนะของมันมีเท่าไร มันไม่รู้ไอ้สิ่งนอกนั้นน่ะ ทีนี้ถ้าสมมติว่าเรามีมากกว่า ๖ ล่ะ ซึ่งผมก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรเหมือนกันน่ะ ถ้าสมมติว่ามันมีมากกว่า ๖ เป็นอายตนะที่ ๗ ที่ ๘ มันก็รู้อะไรบางสิ่งที่เรายังไม่เคยรู้ แต่เดี๋ยวนี้ ไอ้โลกนี้ มนุษย์นี้มันมีเพียง ๖ มันก็รู้แต่เพียง ๖ ก็พอแล้ว ปัญหามันมีเท่านั้น แต่ขอให้คำนวณดูเองว่าถ้ามันเกิดมีมากกว่า ๖ มันยังต้องรู้อะไรอีกบางเรื่อง ถ้ามันมีน้อยกว่า ๖ มันต้องได้ลดน้อยลงไปกว่าที่เรารู้เดี๋ยวนี้ นี่ศึกษาให้รู้จักตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และคู่ของมันเป็นเรื่องแรก พระพุทธเจ้าตรัสว่านี่เป็นจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ อย่าไปศึกษาเรื่องปรัชญาอินเดีย ปรัชญาเปรียบเทียบ ปรัชญาอะไรให้มันบ้า ป่วยการ จะไม่รู้พุทธศาสนา แต่จะรู้ปรัชญาเพ้อเจ้อ ซึ่งไม่ใช่พุทธศาสนา ซึ่งไม่ดับทุกข์ เพราะฉะนั้นที่ว่าตลอดพรรษานี้ จะให้จิตใจของเราเที่ยวอยู่แต่ข้างใน เที่ยวอยู่แต่ข้างในนี่ เมื่อพูดให้ละเอียด คุณก็คอยดูที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีอะไรมากระทบและเกิดความรู้สึกอย่างไร แล้วเกิดความรู้สึกอย่างไร แล้วเกิดความรู้สึกอย่างไร เรื่อยไปนั้นน่ะคือตัวอิทัปปัจจยตา
แล้วทีนี้ที่ ที่เราจะถือเป็นแนวนะ สำหรับศึกษา เอาตามพระบาลี ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้นะ ว่าตา ยกๆตัวอย่างเรื่องกลุ่มตา ตา เพราะฉะนั้นรูปที่เห็นด้วยตา มาถึงกันเข้ากับตา ก็เกิดการเห็นทางตา นี้เรียกว่าตา นั้นเรียกว่ารูป นี้การเห็นทางตา ตาเรียกจักษุ อันนั้นเรียกว่ารูปะ การเห็นทางตาเรียกว่าจักษุวิญญาณ ฉะนั้นคุณรู้จักไอ้ตาเสียให้เต็มที่สิ ว่ามันมีอะไรเมื่อตะกี้พูดๆแล้วนะ แล้วมันมีรูปข้างนอก แล้วรูปนั้นก็คือระบบสีที่เข้ามากระทบแล้วรู้สึกได้ทางตา ในบาลีเขาเรียกว่าวรรณะนิภา วรรณะนิภาแปลว่ารัศมีแห่งสี วรรณะนิภานั่นก็คือคลื่นแสงนั่นเอง คลื่นแสงที่หลายๆขนาด ขนาดหนึ่งมันให้สีอย่าง ขนาดหนึ่งมันให้สีอย่าง ขนาดหนึ่งมันให้สีอย่าง อย่างหนังสือวิทยาศาสตร์ที่เด็กเรียนนั้น แต่ในบาลีเขาเรียกว่าวรรณะนิภา คือคลื่นแสงต่างๆกันที่มันให้เกิดสีต่างๆกันนั้นน่ะ มันจึงมากระทบตา อย่างนี้เราเรียกว่ารูปมากระทบตา เพราะฉะนั้นจึงเห็นรูปนั้นโดยรูปสัณฐาน โดยสี โดยอะไรตามคลื่นแสงที่มันสะท้อนมาถูกตา พอไอ้รูปนั้นถึงกันเข้ากับตาก็เกิดการเห็นทางตา เรียกว่าจักษุวิญญาณ ก็คือจิตเกิดขึ้นทำหน้าที่ที่ตา แล้วก็รู้สึกต่อสิ่งที่มากระทบตา นี่เรารู้จักตา เรารู้จักรูป เรารู้จักจักษุวิญญาณ ความรู้สึกทางตา นี่ความรู้สึกทางตาคือการเห็นทางตานี้ เราเห็นเสียจนชิน เห็นจน จนเราไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร มันเกิดขึ้นอย่างไร เดี๋ยวนี้เราก็รู้เสียว่าตา รูป ถึงกันเข้าก็เกิดไอ้จักษุวิญญาณ ทำความรู้สึกในทั้ง ๓ สิ่งนี้ให้ดีเสียก่อน เราจะรู้จักรูปนั่นน่ะก็ไม่ต้องดูข้างนอกหรอก เพราะว่าเรามันเคยสัมผัส อ่า, เคยสัมผัสรูปมาแล้ว เรามานั่งหลับตาเลยก็ได้ แล้วพิจารณาว่าเรามีตา แล้วรูปมากระทบตา ก็เกิดความรู้สึกขึ้นทางตา หลับตาแล้วก็ยังรู้จักสิ่งเหล่านี้ ถ้าไปลืมตาแล้วมันฟุ้งซ่าน หลับตาไม่ฟุ้งซ่าน ทำความรู้จักให้เข้าใจไอ้สิ่งที่เรียกว่าตา และไอ้รูปที่มากระทบตา แล้วเกิดความรู้สึกทางตา ที่เรียกว่าจักษุวิญญาณ ถ้าเป็นเรื่องทางหู ก็เรียกว่าโสตวิญญาณ ถ้าเป็นเรื่องทางจมูก ก็เรียกฆานวิญญาณ เรื่องทางลิ้น ก็เรียกชิวหาวิญญาณ เรื่องทางผิวหนัง ก็เรียกว่ากายวิญญาณ เรื่องทางใจข้างใน ก็เรียกว่ามโนวิญญาณ มีตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ มโนกับธรรมารมณ์ คำเหล่านี้มีในหนังสือเรียน แต่มันก็ท่องกันแต่คำว่าเป็นคำบาลี มันไม่รู้เพราะมันเรียนข้างนอก
ทีนี้เราเรียนข้างใน อย่างที่บอกมาข้างต้นว่าต้องเรียนข้างใน พยายามรู้จักตาโดยหลับตาเสีย พิจารณาเรื่องของตา หลับตาเสีย เห็นรูป พิจารณาเรื่องของรูป แม้หลับตาเสียก็พิจารณาเรื่องจักษุวิญญาณ (มีเสียงสุนัขเห่าแทรก นาทีที่ 28:53-29:34) จักษุวิญญาณ การรู้แจ้งทางตา โสตวิญญาณ การรู้แจ้งทางหู ฆานวิญญาณ รู้แจ้งทางจมูก ชิวหาวิญญาณ รู้แจ้งทางลิ้น กายวิญญาณ รู้แจ้งทางผิวกาย ผิวหนัง มโนวิญญาณ รู้แจ้งทางใจ พยายามที่จะดูข้างใน คิดข้างใน จนรู้จักไอ้สิ่งเหล่านี้ๆ รู้จักมันด้วยความรู้สึก ไม่ใช่อ่านหนังสือนะ รู้จักตัวจริงของมัน มันเป็นเรื่องสัมผัสด้วยจิตเลย มันไม่ใช่ว่าคอยอ่านหนังสือ
ทีนี้ได้ ๓ แล้วนะ ไอ้ตัวอย่างรูปนะ ตา แล้วก็รูป แล้วเกิดจักษุวิญญาณ การเห็นทางตา นี่ ๓ อย่างนี้ สังคติ สังคติคือถึงกันเข้าในการทำหน้าที่ สามอย่างนี้เมื่อถึงกันเข้าในการทำหน้าที่ เราเรียกว่า ผัสสะ เราต้องรู้จักผัสสะทุกคราวที่มันเกิดผัสสะนั่น รู้จักผัสสะที่มันมีอยู่แก่เราเองแต่ละวันๆทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ละวันๆ ผัสสะมันมีเพราะ ๓ อย่างนี้ถึงกันเข้า นี่คือลักษณะอิทัปปัจจยตาที่ว่า เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้มันมีสิ่งนี้จึงไม่มี นี่คือความหมายของอิทัปปัจจยตา จะพูดได้ว่าเพราะไอ้ตามันมี การเห็นรูปมันจึงมี หรือรูปมันจึงมี หรือว่าโลกนี้มันจึงมี เพราะว่าเรามีตาหูเป็นต้น เดี๋ยวนี้ไอ้ ๓ อย่างนี้นะ ตาหรือจักษุ รูป ข้างนอกคือรูป ถึงกันเกิดจักษุวิญญาณ สามประการนี้มาถึงกัน ทำงานร่วมกัน คือสังคติกัน ก็เรียกว่าผัสสะ สัมผัส Contact เขาๆๆใช้คำว่า Contact นี่สำคำว่า สำๆหรับคำว่าผัสสะ
ทีนี้เพราะมีผัสสะนี้มันจึงเกิดเวทนา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา หรือจะรู้สึกจากผัสสะนั้นน่ะว่ามันเป็น Feeling เขาใช้คำว่า Feeling เป็นทุกข์คือไม่สุขใจบ้าง เป็นสุขคือถูกใจบ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขคือไม่รู้สึกถูกใจหรือไม่ถูกใจบ้าง นี่เวทนามันจะมี ๓ อย่าง เพราะผัสสะจึงมีเวทนา นี้ก็อาการตอนหนึ่งของอิทัปปัจจยตา
ทีนี้เพราะมีเวทนา คือรู้สึกน่ะ รู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์นี่มันจึงเกิดตัณหา คือความอยาก ความอยากเพราะความไม่รู้ เป็นความอยากของจิตที่ไม่มีวิชชามีปัญญา ความอยากที่ประกอบอยู่ด้วยความไม่รู้น่ะเขาเรียกว่าตัณหา เขานิยมใช้คำว่า Desire สำหรับคำว่าตัณหา คุณต้องรู้ว่าอยากด้วยความโง่นั้นจึงจะเรียกว่า Desire ถ้าอยากด้วยสติปัญญา ต้องการด้วยสติปัญญาเขาเรียกอย่างอื่นนะ เขาไม่เรียกว่าตัณหานะ ทีนี้พอถ้าว่าไอ้เวทนามันเป็นสุข ไอ้ความโง่มันก็ทำให้อยากได้สิ ถ้าเวทนามันเป็นทุกข์ ความโง่มันก็อยากจะให้ทำลายเสีย ถ้าไอ้ๆความรู้สึกนั้นไม่สุขไม่ทุกข์ มันก็ยังสงสัย ลังเล กังวล วนเวียนอยู่ สนใจอยู่ นี่ความไม่รู้ทำให้เกิดความอยาก ๓ ประการ ตามที่ไอ้เวทนามันมี ๓ อย่าง เพราะเวทนาสุขทำให้เกิดอยากได้ เวทนาทุกข์ทำให้ ทำให้เกิดเกลียดชังหรืออยากทำลาย เวทนาไม่สุขไม่ทุกข์มันก็เกิด ให้เกิดความสนใจทึ่งสงสัยอยู่ วิตกกังวลอยู่ หรืออยากจะรู้ให้แน่ลงไปก็เรียกว่าอยากได้ ที่เรียกว่าตัณหานั้นน่ะ เวทนาให้เกิดตัณหา นี้ก็เป็นอิทัปปัจจยตาตอนหนึ่ง
เกิดตัณหา เกิดความอยากแล้ว ก็เกิดความรู้สึกจากความอยากนั่นน่ะ ความอยากก็เป็นเพียงความรู้สึกตามธรรมชาติ แล้วก็จะเกิดความรู้สึกตามธรรมชาติขึ้นมาเองว่ากูผู้อยาก กูอยาก กูอยากได้มาเป็นของกู เพราะฉะนั้นความรู้สึกว่า ว่ากูนั้นมันไม่ได้ทำให้เกิดตัวกูอะไร เป็นวัตถุอะไรขึ้นมาได้นั้น แต่มันเป็นตัวกูในความคิดนึก ตรงนี้เป็นทางแยกว่าจะเอากันอย่างไร เมื่อจิตมันรู้สึกอยู่ว่าตัวกู กูอยาก อยากได้มาเป็นของกูนี้ จะเรียกตัวกู ความรู้สึกนั้นว่าตัวตนได้ไหม ในหลักพุทธศาสนา ไม่ ไม่ มันเป็นความรู้สึกด้วยความโง่เขลา เรียกว่าอุปาทาน Desire ตัณหาเกิดขึ้นในจิตแล้วจะสร้างไอ้ Concept อีกอันหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า อุปาทาน Attachment ที่เขาใช้กันอยู่เดี๋ยวนี้ว่า Attachment มาจาก Desire อุปาทานยึดมั่นว่าตัวกูก็มี หรือว่ายึดมั่นว่ามาเป็นของกูนี้ก็มี ฉะนั้นอุปาทานมันจึงมีกูและของกู ไม่มีตัวจริง เป็นแต่เพียงความรู้สึก เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาปฏิเสธ เพราะมันเป็นเพียงความรู้สึกคิดนึกออกมาจากตัณหา อุปาทานออกมาจากตัณหา เป็นอิทัปปัจจยตาอีกตอนหนึ่ง เพราะฉะนั้นความรู้สึกในอุปาทานนั้นจะเป็นตัวตนไม่ได้หรอก แต่คนหรือสัตว์มันก็รู้สึกว่าตัวตนแหละ มันจึงเกิดยึดถือตัวตน มีตัวตน ยึดถือเป็นตัวตนกันขึ้นมาทั่วไปหมด เมื่อมีตัวตน แล้วมันอยากได้อะไรมาเป็นประโยชน์แก่ตน มันก็เรียกสิ่งนั้นว่าของตน เพราะฉะนั้นมันจึงมีอัตตา ตัวตน อัตตนียา ของตน มะมะ อหังการะ ตัวตน มมังการะ ของตน ขึ้นมาอย่างนั้น เป็นเพียงความรู้สึกซึ่งเกิดเองได้ตามธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวจริง ไม่ใช่ของจริง แต่ว่าคนพวกอื่นเขาไม่ถืออย่างนั้น เขาถือว่ามีตัวตน มีวิญญาณที่เป็นตัวตน มีตัวตนจริงๆ เมื่อๆๆให้เป็นรูปร่างนี้ไม่ได้ก็ให้เป็น เป็นของทิพย์ เป็นกายทิพย์ เป็นอะไรเป็นตัวตน
เมื่อสักสองร้อยสามร้อยปีมานี้ ไอ้ๆๆๆนักปรัชญาฝรั่งเศสที่ชื่อว่า เดสก้า นั่นเขาก็บัญญัติอย่างนี้ ฉันคิดได้ ดังนั้นฉันจึงมีอยู่ ฉันคิดฉันจึงมีอยู่ ตัวฉันจึงมีอยู่ ตัวฉันคิดได้ Cogito ergo sum คุณสาธิตจำได้ไหม ไอ้นั่นน่ะ ภาษาลาตินน่ะ ฉันคิด Cogito ergo sum เป็นดังนั้นฉันจึงมี ฉะนั้นพวกนี้ก็เป็นพวกมีตัวตน เขาๆถือว่าเพราะมันคิดได้ ถ้ามีสิ่งที่คิดได้ สิ่งนั้นต้องเป็นตัวตนสิ เขาก็เลยมีตัวตน ทีนี้ ที่ชาวพุทธเห็นว่า จิตที่มันคิดได้นั่นมันคือธรรมชาติของมันอย่างนั้นเอง จิตมันปรุงมาโดยอิทัปปัจจยตาอย่างนี้ๆ มีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทานว่าตัวตน มันก็สักว่าลมๆแล้งๆ เป็นตัวตน เพราะฉะนั้นตัวตนที่แท้จริงนั้นไม่ได้มี แต่พวกหนึ่งเขาถือว่ามี ถ้าเป็นไอ้วัตถุธรรมดาไม่ได้ เขาก็เป็นไอ้กายทิพย์ เป็น Astral Body อะไรเป็นไป เป็นพวกทิพย์ๆผีๆสางๆไปนู่น ไม่มี ไม่มีในพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นเรารู้ไว้ว่าเราแยกทางกันเดินกับไอ้พวกฝ่ายนู้นที่เขามีตัวตน
นี่เห็นได้ว่ามันเป็นเพียงไอ้ความคิดที่เกิดขึ้นตามกฎอิทัปปัจจยตา เช่นมีเวทนาก็มีตัณหาแหละ พอมันมีตัณหาก็มีอุปาทาน คิด รู้สึกว่าตัวตน เรียกว่าอุปาทาน ทั้งหมดนี้มาด้วยความไม่รู้นะ เพราะมีความไม่รู้เราจึงปรุงมาอย่างนี้นะ ถ้ามันมีความรู้แจ้ง มันปรุงอย่างอื่นนะ เดี๋ยวจะพูดกัน ที่พูดอย่างธรรมดาสามัญของคนทั้งหลายมันไม่รู้ มันก็มาอย่างที่ว่านี้ มันมีความรู้สึกว่าตัวตน
ทีนี้มันก็ เพราะมีไอ้อุปาทานว่าตัวตนน่ะ มันก็มี Existence น่ะ เขาเรียกความมีอยู่แห่งบุคคลที่ไม่ใช่ ไม่ใช่ของจริงนั่นน่ะ แต่เขาคิดว่าเขามีอยู่ๆ เรียกว่า ภพ ภพ ภวะ เขาแปลคำนี้กันว่า Existence นี่มันเหมือนกับว่า ไอ้ตัวตนน่ะมันมีความรู้สึกคิดนึกเข้มข้นจนว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ ที่จริงเขาไม่ได้มี แล้วมันก็ ภวะ Existence นี่มีแล้วมันก็มีเกิดออกมา เรียกว่าชาติ ชาติ Birth พอมีชาติก็หมายความว่า ไอ้สิ่งที่เรียก เข้าใจว่าตัวตนมันก็เต็ม เต็มรูปเต็มร่าง ปรากฏ เต็มรูปเต็มร่าง ปรากฏ ทำหน้าที่ของมัน มันมีตัวตนเกิดสมบูรณ์แล้วมันก็ยึดถือเอาอะไรๆภายนอกนี้เอามาเป็น เป็นเรื่องของตัวตนไปหมด หากความรู้สึกว่าตัวตนถึงที่สุดแล้วน่ะ มันโง่ถึงที่สุดแล้ว มันก็รู้สึกเอาเองว่าความเกิดของกู ความแก่ของกู ความเจ็บของกู ความตายของกู โสกะ เทวะ ทุกขัง อะไรๆก็ของกูไปหมด ที่เป็นภายในสำหรับจะเป็นทุกข์ มันก็เป็นทุกข์ เป็นที่ขังข้างนอกก็เหมือนกันแหละ บ้านเรือนของกู ลูกเมียของกู เงินของกู อะไรของกู มันก็มีขึ้นมา นี่คือว่าอิทัปปัจจยตาฝ่ายที่ให้เกิดทุกข์ ซึ่งคุณจะต้องเรียนมันนะ ถ้าๆๆๆไม่เรียนอันนี้แล้วก็ไม่ ไม่มีๆการเรียนพุทธศาสนา คุณก็ต้องเรียนข้างใน มีเวลาว่างเมื่อไรก็นั่งหลับตาเรียน ให้รู้สึกว่ามันมีรูป มีตา มีรูป มีการเห็นทางตา รวมกันเรียกว่าผัสสะ เพราะผัสสะจึงมีเวทนา เพราะมีเวทนาจึงมีตัณหา เพราะมีตัณหาจึงมีอุปาทาน เพราะมีอุปาทานจึงมีภพ เพราะมีภพจึงมีชาติ แล้วก็เป็นทุกข์ เพราะมันโง่เอาอะไรมาเป็นของๆๆตน เป็นตัวตน
ทีนี้ดูที่เราสิ นี้มันละเอียดมากนะ แต่มัน แล้วมันก็เร็วมากนะ ก็ดูที่เรา ที่เป็นที่ๆๆเป็นจริงแก่เราน่ะ ที่มันรู้สึกอยู่ในใจของเราน่ะ มันมีวิญญาณ แล้วมันก็มีผัสสะอย่างไร มีเวทนาอย่างไร มีตัณหาอย่างไร มีอุปาทาน มีภพ มีชาติอย่างไร แล้วเกิดความทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ทรมานขึ้นมาอย่างไรนี่ มันละเอียดมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องดูด้วยจิตที่ละเอียด จิตคนธรรมดาหยาบๆด้วยแล้วยิ่งไม่มีทางล่ะ มันต้องเป็นคนที่มีจิตละเอียด ทำมา เป็นๆคนมีจิตละเอียด คนที่ทำอะไรหวัดๆหยาบๆเป็นนิสัยไม่มีทางที่จะมองเห็นสิ่งเหล่านี้ ที ทีนี้จึงต้องทำด้วยจิตที่ละเอียด ฉะนั้นการทำสมาธิ ทำสมาธิเสียจะทำให้จิตละเอียด เมื่อจิตละเอียดแล้วจะมองเห็นสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นเรา เรามีเวลาก็ทำสมาธิ ทำจิตให้ๆปรกติ ให้สงบรำงับ ให้ๆเป็นจิตที่อิสระ พอเป็นจิตละเอียดแล้วก็จะมองเห็นลักษณะเหล่านี้โดยพิจารณาไปทีละตอนๆๆ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ก็ตรัสรู้เรื่องนี้นะ แต่ท่าน ท่านขึ้นมาจากทางๆล่างน่ะ คือว่าความทุกข์เป็นประเด็นแรก ทุกข์เกิดมาจากอะไร เป็นทุกข์เกิดมาจากชาติ ชาติเกิดมาจากอะไร เกิดมาจากภพ ภพเกิดมาจากอะไร เกิดมาจากอุปาทาน อุปาทานเกิดมาจากอะไร เกิดมาจากไอ้ตัณหา ตัณหามาจากเวทนา เวทนามาจากผัสสะ จนกระทั่งไปพบว่าไอ้ตัวความไม่รู้มันทำให้เป็นอย่างนี้ คืออวิชชา อวิชชาเป็นปลายสุด
ทีนี้ก็จะดูกันอีก อีกส่วนหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามนะ คือตากับรูปถึงกันเกิดจักษุวิญญาณ ๓ ประการเรียกว่าผัสสะ ผัสสะนั้นมันเป็นผัสสะของคนรู้ ไม่ใช่ของคนธรรมดา คนธรรมดาเป็นคนโง่ คนไม่รู้ เดี๋ยวนี้ผัสสะนั้นมันเป็นผัสสะของคนมีปัญญา อบรมศึกษามาแล้ว มีสติด้วย มีปัญญาด้วย มีปัญญาคือมีความรู้แหละ รู้เรื่องสิ่งต่างๆถูกต้องตามที่เป็นจริงนั้นน่ะ เขาเรียกความรู้ เป็น Knowledge เป็น Wisdom เป็น Intuitive Wisdom แล้วแต่จะรู้ รู้ละเอียดเท่าไร ไอ้คนนี้มันมี มันมีไอ้ ไอ้สติ มี Mindfulness เป็นสติสำหรับทำให้เกิดความรู้ เหมือนกับคนเอาความรู้มาทันทีเมื่อมีผัสสะ มัน เรื่องมันก็ตรงกันข้ามว่า ไอ้คนนี้มันกลายเป็นมีผัสสะที่มีความรู้กำกับอยู่ ไอ้คนที่พูดไปแล้วนั่นมัน มันไม่มีไอ้ความรู้หรือวิชชาในขณะแห่งผัสสะ มันก็ไปอย่างที่ว่า จนไปเป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้คนนี้มันเป็นคนที่มีผัส อ่า, มีความรู้เรื่องนี้ มี มีวิชชา ไอ้คนโน้นมัน มันไม่มีวิชชา มันมีอวิชชา ไอ้คนนี้มันมีวิชชา เพราะฉะนั้นโดยที่มันมีวิชชา เพราะมันมีวิชชานี่ มันจึงผัสสะด้วยความรู้ ด้วยความฉลาด พอเวทนาเกิดขึ้น มันก็เป็นเวทนาที่ไม่โง่ เป็น Feeling ที่ไม่โง่ โดยที่ทางคนนั้นรู้ว่า โอ้, มันความรู้สึกเท่านั้นโว้ย ความรู้สึกที่เป็นสุขก็สักว่าความรู้สึก ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ก็สักว่าความรู้สึก ไม่สุขไม่ทุกข์ก็สักว่าความรู้สึก มันก็ไม่โง่ที่จะไปอยากสิ มันสักว่าความรู้สึกนี่ แม้อร่อย สวยงาม มันก็สักว่าความรู้สึก ไม่อร่อย ไม่สวยไม่งาม มันก็สักว่าความรู้สึก หรือไม่ทั้งสองอย่าง ก็สักว่าความรู้สึก มันจึงไม่เกิดตัณหา มันรู้ทันเสียว่ามันๆสักว่าความรู้สึกอย่างนี้ๆ เวทนาที่อร่อยเป็นสุข เวทนาที่ไม่อร่อยไม่เป็นสุข เวทนาที่กลางๆ มันก็สักว่าเวทนาตามธรรมชาติ มันไม่อยาก ไม่เกิดตัณหา ไม่อยากได้ ไม่อยากฆ่า ไม่อยากทำลาย ไม่อยากพะวงหลงใหลสงสัย มันก็ไม่เกิดตัณหา เมื่อไม่เกิดตัณหา ก็ไม่เกิดอุปาทานว่าเรา ว่าของเรา ไม่เกิดภพ ไม่เกิดชาติ ไม่เกิดทุกข์ มันหยุดอยู่ๆตรงนี้ ว่าเวทนานี้เป็นอย่างนี้ เราควรจะทำอย่างไรกับมัน ในหน้าที่ของเราในประจำวันเราควรจะทำอย่างไรกับมัน ก็ทำไปสิ สมมติว่ากินอร่อย มันก็อร่อยแหละ แล้วก็ไม่หลงกินมากมาย กินแต่พอดี ถ้าไม่อร่อย ก็มันอย่างนั้นเอง ก็ไม่ต้องโกรธ นี่จะทำอะไรก็ทำต่อไปสิ ไม่มาๆ ไม่มาหลงรัก หลงโกรธ เกิดความทุกข์ เพราะฉะนั้นคนนี้จึงไม่มีความทุกข์ เพราะเขาฉลาดทันในเว อ่า, ในเวลาแห่งผัสสะ ผัสสะ
เพราะฉะนั้นจึงสรุปความได้ว่า ความทุกข์มันเกิดเพราะเราทำผิดเมื่อผัสสะ ความไม่ทุกข์มันเกิดเพราะเราทำถูกเมื่อผัสสะ ผัสสะจึงเป็นจุดสำคัญที่สุดที่จะเกิด ให้เกิดสุขหรือเกิดทุกข์ ถ้าเราทำผิดในขณะผัสสะต้องเป็นทุกข์แหละ ทีนี้เราก็ดูสิ เราก็ดูจากข้างใน เรียนจากข้างใน ศึกษาจากข้างในสิ พอเราเคยทำผิดในผัสสะแล้วเป็นทุกข์มากี่สิบครั้งกี่ร้อยครั้งกี่พันครั้งแล้วตั้งแต่เกิดมาน่ะ เราเคยทำผิดต่อผัสสะนี้จนเกิดตัณหา อุปาทาน เป็นทุกข์มากี่สิบครั้งกี่ร้อยครั้งแล้ว คิดย้อนหลังก็ได้ ดูย้อนหลังก็ได้ ดูเหมือนเราจะไม่เคยทำถูกเลยใช่ไหม เพราะเราจะทำผิดในผัสสะ ไปหลงรักบ้าง ไปหลงเกลียดบ้าง อย่างนี้เสมอแหละ ทีนี้มาดูกันใหม่ๆ ว่ามันๆโง่มามากมายนักแล้ว ต่อไปนี้เลิกโง่กันที นี่เห็นอย่างนี้ รู้สึกอย่างนี้เรียกว่าเห็นข้างใน รู้สึกข้างใน ฉะนั้นถ้าว่าทำถูกต้องมันก็จะเห็น รู้จักไอ้สิ่งเหล่านี้มากขึ้น รู้จักเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมากขึ้น รู้จักเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์มากขึ้น รู้จักวิญญาณมากขึ้น รู้จักผัสสะ รู้จักเวทนา รู้จักตัณหา คือรู้จักเรื่องสิ่งที่มีอยู่จริงๆในชีวิตในร่างกายน่ะ ในชั้นที่ละเอียด เป็นเรื่องของนามธรรม ไม่ใช่วัตถุธรรม เป็นเรื่องของจิต นี่แปลว่าเรารู้จักตัวเราเองน่ะ ตัวเราเอง หรือสิ่งที่เรียกว่าคนนี่มากขึ้นนะ ถ้าเราจะคอยศึกษาจากข้างในอยู่เสมออย่างนี้ สำเร็จ ถ้าเราไม่ศึกษาจากข้างใน ไม่มีทางหรอก มันไม่มีทางที่จะรู้พุทธศาสนาได้ มันไม่สำเร็จหรอก มันก็เหมือนธรรมดาที่แล้วๆมา มาให้รักก็รัก มาให้โกรธก็โกรธ มาให้เกลียดก็เกลียด มาให้กลัวก็กลัว มาให้โง่ก็โง่ ฉะนั้นเราจงศึกษาไอ้ที่เราเคยรัก โกรธ เกลียด กลัว โง่อะไรมาแต่หนหลังนะ เอามาเข้าใจกันเสียเดี๋ยวนี้ มันเป็นอดีตก็เอามาพิจารณาได้ อย่างนี้เขาไม่ห้าม ไม่ใช่กังวลอดีตด้วยกิเลส อาลัยอาวรณ์หรอก เก็บเอาเรื่องในอดีตมาศึกษาเป็นบทเรียน เป็นเรื่องของเราที่เราพอๆๆนึก พอพิจารณาก็เห็นได้จริงเพราะมันเคยมีมาจริง ทำให้เรารู้จักตัวเรานี่ดีขึ้น
ไอ้ตัวเราคือร่างกาย ตัวเราคือจิตและความคิดของจิต จิตนั้นมันเป็นธรรมชาติ เกลี้ยงๆ ต้องมีเหตุปัจจัยอะไรมาทำจึงเกิดความคิด หรือความรู้สึกของจิต ร่างกายเรียกว่ารูป ตัวจิตเรียกว่าจิต ความรู้สึกที่เกิดกับจิตเขาเรียกว่า เจตสิก เจตสิก ฉะนั้นจึงถือว่าเรามีกายหรือรูป แล้วก็มีจิต ก็มีเจตสิก ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิต จึงเป็นความคิดอันหนึ่งๆ นี่เราๆๆรู้จักจิตเมื่อมีความคิดสิ กับจิตเมื่อไม่มีความคิดสิ แล้วก็รู้จักร่างกายเมื่อมันทำหน้าที่ แล้วแต่มันจะทำหน้าที่อะไร อย่างนี้เรียกว่ารู้จักร่างกาย รู้จักจิต รู้จักไอ้ ไอ้เจตสิก คือความคิดนึกรู้สึกของจิต แล้วมันก็ มันก็ทำงานร่วมกัน เรียกว่าการปรุงแต่งไปตามกฎแห่งอิทัปปัจจยตา เป็นกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา และความร่วมมือกันระหว่างกาย จิต เจตสิก มันก็เป็นทุกข์บ้าง สุขบ้าง ถ้าว่าหยุดสิ่งเหล่านี้เสียได้ก็เป็นนิพพาน ถ้าเรากำ อ่า, ถ้าเราควบคุมมันได้ไม่ให้มันปรุงแต่งไปในทางที่จะเป็นทุกข์ เราก็เรียกว่านิพพาน เพราะฉะนั้นเขาๆ ไอ้พวกนักปะ ปรมัตถ์ อภิธรรมนั่นน่ะเขาก็ ก็เขียนไว้ง่ายๆสั้นๆว่า โดยปรมัตถ์แล้วก็มีแต่จิต เจตสิก รูป และนิพพาน มีอยู่ ๔ เรื่องเท่านั้นที่เราต้องเรียนน่ะ คือเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป เรื่องนิพพาน เรารู้จักจิตโดยดูข้างในอยู่เรื่อย รู้จักเจตสิก คือไอ้ความรู้สึกของจิต รู้จักรูป คือร่างกายเมื่อมันทำหน้าที่อนุโลมกันกับจิต เจตสิก มันเป็นความปรุงแต่ง เกิดความทุกข์ ฉะนั้นหยุดความปรุงแต่งนี้เสียได้เรียกว่านิพพาน มีหัวข้อเป็น ๔ เรื่อง จิตตัง เจตะสิกัง รูปัง นิพพานัง อิติสัพพะถา อ่า, จิต จิตตัง เจตัง รูปัง จะตุธาปะระมัตถะโต นี่โดยปรมัตถ์แล้วมันมีอยู่ ๔ เรื่อง ทั้งหมดนั้นมีอยู่ ๔ เรื่อง คือเรื่องจิต เรื่องเจตสิก แล้วก็เรื่องรูป แล้วก็เรื่องนิพพาน เอาเป็น ๔ เรื่อง เราหาโอกาสหลับตาดู หลับตานี่ดูเห็น ลืมตาไปก็เห็น ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิตของเรา กำลังเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้กำลังเป็นอย่างไร เป็นมาอย่างไร จะ อาจจะเป็นอย่างไร นี่ดูจิต ดูความรู้สึกคิดนึกของจิตที่กำลังมีอยู่ ที่เคยมีมาแล้ว ที่จะเป็นต่อไปอีก ถ้ามันเกิดความคิดอย่างนี้มีผลอย่างไร เกิดความคิดอย่างนั้นมีผลอย่างไร นี่ดูอย่างนี้สิจะรู้จักจิต เจตสิก ดูร่างกายที่เปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัยนี่ นี้ก็คือดูอย่างที่ว่านั่นแหละ ดูอย่างกระแสอิทัปปัจจยตา มันไปเข้าเมื่อตาเห็นรูปเกิดวิญญาณ ๓ ประการเรียกว่าผัสสะ ผัสสะเกิดเวทนา เวทนาเกิดตัณหา ตัณหาเกิดอุปาทาน อุปาทานเกิดภพ ภพเกิดชาติ แล้วก็ได้เป็นทุกข์ เพราะว่าไอ้ตัวกูของกูมันชาติขึ้นมาเต็มที่ เรื่องมีเท่านี้สำหรับจะดูข้างใน ดูข้างใน ศึกษาอยู่ข้างใน
ดูจากหนังสือเขาเขียนไว้อาจจะไม่เข้าใจ ถ้าเราไม่ดูข้างในแล้วไม่อาจจะไม่เข้าใจ ไอ้ตัวหนังสือที่เขาเขียนไว้น่ะเราจะไม่เข้าใจล่ะ เพราะเรื่องมันๆเป็นเรื่องที่ลึกละเอียดที่เราไม่เคยสนใจ ที่เรียกว่าดูข้างในจะให้รู้จักตาอย่างไร หูอย่างไร จมูกอย่างไร ลิ้นอย่างไร กายอย่างไร ใจอย่างไร และไอ้รูปที่เคยมากระทบตา เสียงที่เคยมากระทบหู กลิ่นที่เคยกระทบจมูก รสที่มากระทบลิ้น สัมผัสที่มากระทบผิวกาย ความคิดนึกที่มากระทบใจนี่ รู้นี่ แล้วก็รู้ว่ามันปรุงเป็นอย่างไร เกิดทุกข์เกิดสุขอย่างไร เดี๋ยวเราก็รู้ตามตัวหนังสือที่เขาเขียนไว้ในพระไตรปิฎก ถ้าไม่อย่างนั้นมันไม่มีทางจะรู้ มันเป็นเรื่องแปลกเกินไป ไม่รู้ว่าเรื่องอะไร แต่ถ้าเราพยายามที่จะดู ดูข้างในๆๆ จนรู้เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใจที่เปลี่ยนไปเป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นโมหะบ้าง เป็นจิตใจที่เป็นสุขสบายบ้าง เป็นจิตใจที่ขุ่นมัวเร่าร้อนบ้าง ทุกชนิดถ้ามันจะเป็นอย่างไรก็ให้รู้ไว้ แม้ๆว่าไม่รู้จักชื่อก็ไม่เป็นไรนะ ถ้าสมมติว่าคุณไม่รู้จักชื่อว่าโลภะ ว่าโทสะ ว่าโมหะ ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้รู้ต่อไอ้รส ต่อความรู้สึกของมันน่ะ แล้วต่อไปก็รู้ได้เองแหละ ความรู้สึกอย่างนี้เรียกว่าโลภะ ความรู้สึกอย่างนี้เรียกว่าโทสะ นี่ค่อยรู้ทีหลังก็ได้ รู้จักชื่อ แต่เดี๋ยวนี้คงจะรู้ได้เพราะเราเรียนมาๆๆก่อนแล้วเรื่องโลภะโทสะโมหะ จำชื่อไว้ได้แล้วแต่ไม่เคยเห็นตัว นี้ก็ไปนั่งดูจนเห็นตัวนี่ โอ้, อย่างนี้เองโว้ย โลภะ รู้จักโทสะ รู้จักโมหะ รู้จักนิวรณ์ทั้ง ๕ รู้จักอุปกิเลส ๑๖ ให้รู้จักๆ แล้วก็ให้เข้ารูป หลักธรรมชาติที่ว่าจิตนี้แต่ก่อนไม่มีกิเลส เป็นจิตเกลี้ยง เป็นจิตว่าง เขาเรียกว่าจิตประภัสสร พอได้สิ่งแวดล้อมอะไรเข้ามาปรุงแต่ง ไอ้จิตนั้นก็เกิดกิเลส ไม่ประภัสสร ไปๆๆระยะหนึ่ง พอเหตุปัจจัยของกิเลสหมด กิเลสดับไป จิตก็ในสภาพประภัสสร เหมือนว่าดวงโคมอันนี้มันๆมีลักษณะประภัสสร ถ้าเราเอาอะไรไปบัง มันก็หมดประภัสสรไปตลอดเวลาที่มีอะไรบัง หรือมีของสกปรก หรือมีจิ้งจก ตุ๊กแก มีอะไรไปบัง มันก็หมดประภัสสรไปชั่วเวลาที่มีอะไรบัง พอสิ่งนั้นไปแล้ว มันก็กลับประภัสสรตามเดิม เหมือนดวงโคมนี้เห็นได้ง่ายๆว่าเราเอาอะไรมาปิดเสีย เอาๆเสื่อปิดเสีย มันก็ไม่ประภัสสรแล้ว พอเสื่อออกมันก็ประภัสสร
สิ่งที่มาบังนี่ไม่ใช่ของตายตัว เป็นของชั่วคราว พระพุทธเจ้าท่านได้เรียกไอ้สิ่งที่มาบังนี้ว่าอาคันตุกะ คำว่าอาคันตุกะนี้เป็นของมาชั่วคราว เหมือนแขก แขกที่มาเยี่ยม เขาเรียกอาคันตุกะ เขาไม่เรียกมาอยู่ประจำ ฉะนั้นสิ่งที่มาทำจิตให้ๆไม่ประภัสสรนั้นเป็นของชั่วคราว แล้วมันก็ไป ไปมันก็ประภัสสรอีก แล้วมันก็จะมีอะไรมาอีก มันก็ไม่ประภัสสร มันไปก็ประภัสสรอีก สิ่งที่มาทำจิตให้เศร้าหมอง เป็นกิเลส เป็นอนุสัย อ่า, เป็นนิวรณ์อะไรก็ตาม เป็นสิ่งที่มาเยี่ยมชั่วคราว เป็นแขกมาชั่วคราวเรียกว่าอาคันตุกะ ถ้ามันมาตลอดกาลไม่กลับ พระพุทธเจ้าจะไม่เรียกว่าอาคันตุกะ แล้วเราก็มองเห็นจริงอย่างนั้นแหละ ว่าไอ้ที่จะมาครอบงำจิตนี้มันมาเป็นๆคราวตามเหตุปัจจัย หมดเรื่องมันผละกลับไป แล้วเรื่องใหม่เข้ามาอีก มันก็มีเรื่องอีก หมดๆเรื่องแล้วมันก็หายไป ฉะนั้นจิตของเราจึงมีเปลี่ยนเรื่อย เดี๋ยวเย็นเดี๋ยวร้อนๆๆ เดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่างๆ
นี่พอแล้วนะ เพราะคิดว่าจะพอแล้ว ไอ้รายละเอียดเกี่ยวกับจิตน่ะมากพอแล้วที่คุณจะไปนั่งดูมัน ไปเฝ้านั่งดูมัน วันคืนล่วงไปด้วยการเฝ้าดูจิต ศึกษาจิตในภายในให้รู้จักสิ่งเหล่านี้เพื่อจะรู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ หรือความไม่มีทุกข์ แล้วจะให้รู้จักว่าจะควบคุมมันอย่างไร จะต้องมีสติปัญญาอย่างไร เท่าไร เมื่อไร ที่ไหนจึงจะควบคุมมันได้ อย่าให้มันเกิดความทุกข์ขึ้นมา นี่แต่ที่ดีกว่านั้นก็คืออบรมจิตเสียใหม่ อบรมจิตเสียใหม่ให้ฉลาด ให้มีสติให้พอ พอจนมีอะไรเข้ามาก็ไม่ต้อนรับ ไม่เอา แขกมาไม่รับล่ะทีนี้ อาคันตุกะมาก็ไม่รับ ก็แปลว่าไอ้กิเลสเกิดไม่ได้ เพราะเราไม่ทำให้อาคันตุกะมาๆๆๆเยี่ยม มาเยี่ยมบ้านนี้อีก นี่ก็ไม่มีความทุกข์ ป้องกันไอ้อาคันตุกะนั้นได้เท่าไร ก็มีความทุกข์น้อยเท่านั้น เดี๋ยวนี้เราไม่รู้สึก เราไม่รู้จัก เราปล่อยไปตามบุญตามกรรม มันก็ไปตามเรื่องของอวิชชา มันก็ไม่รู้ มันก็มีความทุกข์เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วก็บ่อยเข้าๆจนๆๆคล้ายๆกับมันๆตลอดกาลเลย มันติดเนื่องกันไปตลอดกาล ที่จริงมันไม่ได้ติดเนื่องกันไปตลอดกาลหรอก มันมีเป็นช่วงๆๆๆ ฉะนั้นเรามีสติพอ เราก็ทำให้มันเป็นช่วงกว้างเข้าๆ คือนานๆจึงจะมาสักครั้งหนึ่ง จนกว่าในที่สุดไม่รับเลย ไม่รับเอาเลย คือไม่มาแล้วกัน ความทุกข์ไม่มาเยี่ยมอีกเลย นี่คือเรื่องของพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าพรหมจรรย์ มีจุดตั้งต้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็มีเรื่องเป็นอย่างนั้นๆๆ เรารู้จัก รู้เท่าทัน รู้จัก เราก็ควบคุมได้ เราก็ไม่เป็นทุกข์
ในระยะที่บวชนี้เพียงแต่ศึกษาให้เข้าใจก็ดี ดีมากแล้ว ถ้าควบคุมได้เมื่อบวชอยู่นี้ก็ยิ่งดีมากแหละ เราจะควบคุมได้เป็นนิสัย เราสึกออกไปเราก็ยังควบคุมได้ ไปเป็นฆราวาสแล้วเราก็ยังควบคุมไอ้กระแสแห่งความทุกข์ หรืออิทัปปัจจยตาฝ่ายที่จะเป็นทุกข์นั้นได้ เราก็สบาย เราจะศึกษาเมื่อเป็นฆราวาสนั้นมันลำบาก เราปลีกตัวมาบวชมันเป็นโอกาสที่จะนั่งหลับตาศึกษาอย่างยิ่งในภายในทั้งวันทั้งคืนก็ได้ นี่การบวชมันก็ดีอย่างนี้ คือสามารถจะประพฤติพรหมจรรย์ ฝึกฝนจิตได้ดี ได้มากกว่าไม่บวช ฉะนั้นเราจึงบวช ส่วนลึกเป็นอย่างนี้
ทีนี้ส่วนที่มันตื้นกว่านั้นก็คือธรรมะในขั้นศีลธรรมทั่วไป เมื่อเราบวชเข้ามาแล้วเราก็ฝึกฝนศีล ฝึกฝนไอ้สติ ฝึกฝนไอ้ทั่วๆไปนี่แม้แต่มรรยาท แม้แต่มรรยาทก็ฝึกให้เป็นผู้มีมรรยาทดี มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญาตามธรรมดา ระดับธรรมดา นี้ก็ยังดีกว่าไม่บวช แต่ถ้าให้บวชนี้ดีที่สุดแล้วก็ทำอย่างว่า คือเข้าโรงเรียนข้างใน เรียนเรื่องทุกเรื่องในภายใน เขาเรียกว่าในภายใน มหาวิทยาลัยในตัวคน เรียนเอง สอนเอง สอบไล่เอง อะไรเองอยู่ในตัวคน คือในภายใน นี่ขอให้ทุกองค์ที่ได้บวชนี่ได้รู้จักวิธีนี้ เพื่อจะได้ใช้เวลาที่บวชนี้ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด แล้วก็จะไม่เสียทีที่บวช ไม่เสียเวลาเปล่า ไม่เปลืองเปล่า ไม่เหนื่อยเปล่า ไม่หวังกันเปล่าๆ บางคนบวชแล้วไม่ได้อะไร เสียความหวัง เสียอะไรกันหมดเลย กลับไปเลวกว่าไม่ได้บวชก็มีนะ รู้กันไว้ด้วย กลับ สึกออกไปนี้กลับเลวยิ่งกว่าก่อนบวชก็มีเหมือนกัน เพราะมันทำผิดไปหมดตลอดเวลาที่บวช แล้วก็มันก็ประมาทมากขึ้น แล้วมันก็ไม่ชอบธรรมะมากขึ้น มันเกลียดพุทธศาสนามากขึ้นเพราะมันมาทำเหลวไหลเองจนไม่ได้รับประโยชน์จากธรรมะ ก็เกลียดธรรมะไปเลย ฉะนั้นหวังว่าเราคงจะไม่เป็นอย่างนั้น คงจะเข้าถึงตัวธรรมะให้ได้ในระหว่างที่บวชนี่ แล้วทำให้เข้มข้นๆๆ เอาชนะกิเลส ความทุกข์มาก ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราก็จะได้รับประโยชน์แม้เมื่อยังบวชอยู่ ถ้าแม้เมื่อสึกออกไปก็ติดไปด้วย วิชาความรู้อันนี้ติดไปด้วย ในอินเดีย เขาเรียกว่าบัณฑิต คนที่เรียนวิชาความรู้ในสำนัก ในอาศรม ครบถ้วนบริบูรณ์ ครบแล้วจน จนอาจารย์หรือหัวหน้าจะต้องบอกว่าพอแล้ว กลับบ้าน คนนั้นก็กลับบ้าน ได้นามใหม่ว่าบัณฑิต บัณฑิต ในอินเดียเขาใช้คำอย่างนี้ เมื่อเขามาสอนในเมืองไทย เขาก็ใช้คำนั้นนะ พระบวชดีแล้ว สึกออกไปก็เรียกว่าบัณฑิต แต่เขาเรียกว่าฑิตเฉยๆ นานๆเรียกทิด เพราะมันเป็นฑิตโง่ มันไม่ได้รับผลตามที่มุ่งหมายไว้ มันก็เรียกว่าทิด ไอ้ทิดนี่เลยกลายเป็นคำด่า คำว่าทิดหมายความว่าไอ้โง่ ถ้าบัณฑิตนั่นคือว่าได้ผลตามที่หวังไว้ว่าจะเข้าไปอยู่ในสำนัก ประพฤติ ปฏิบัติแล้วได้ผลอย่างไร ในอินเดียก็ยังใช้อยู่ คำว่าบัณฑิต ที่ๆจบการศึกษาในสำนักต่างๆเขาเรียกว่าบัณฑิต
บัณฑา บัณฑา แปลว่าความรู้พอรอดตัว ปัณฑาแปลว่าวิชาความรู้ที่จะทำให้เอาตัวรอดได้ ปัณฑา ปัณฑา อิต อิตนั้นแปลว่ามี ปัณฑาอิต แปลว่ามีปัณฑา มีปัณฑา คือมีความรู้ที่จะเอาตัวรอดได้ ที่เป็นบัณฑิตคือมีความรู้พอที่จะเอาตัวรอดได้ ฉะนั้นก็น่า น่าปรารถนาอยู่ คือเขารู้พอที่จะเอาตัวรอดได้ ก็เรียกว่าบัณฑิต บัณฑิตะ นี้หวังว่าเราคงจะเป็นไปทำนองนั้นในระหว่างที่เราบวชอยู่นี้ เราจะขวนขวายการเรียน การศึกษา การอบรมตามหลักของพระพุทธศาสนาโดยวิธีเรียนข้างในนี่ ที่เรียนข้างในนี่คือปฏิบัติ คือตัวการปฏิบัติ เรียนข้างนอกก็เรียกว่าปริยัติ เรียนนักธรรม เรียนบาลี เรียนพระไตรปิฎก ข้างนอกเรียกว่าปริยัติ พอเอามาเรียนอยู่ข้างในอย่างที่ว่านี้ก็คือปฏิบัติแหละ เพราะว่าหลังจากนี้มันก็ได้ผลของการปฏิบัติ จะเป็นมรรคผลนิพพานชั้นไหนก็แล้วแต่การปฏิบัติได้เท่าไร ฉะนั้นจึงให้ผู้ที่บวชเข้ามานี้ได้เรียนข้างในชนิดที่เป็นปฏิบัติ เมื่อทำอยู่อย่างนี้นั่นน่ะคือปฏิบัติเต็มที่ ปฏิบัติสมถะ ปฏิบัติวิปัสสนาอะไรอยู่อย่างเต็มที่ ไม่ต้องให้มีใครมาถามว่าที่นี่ทำวิปัสสนาหรือเปล่า นั่นเป็นเรื่องบ้าสิ้นดี ถ้าว่าเรียนอยู่ในภายในอย่างนี้นั่นน่ะคือตัววิปัสสนา ไม่ต้องถามว่าทำวิปัสสนาหรือเปล่า
เอาแล้วนี่เค้าเงื่อนมันมีอยู่อย่างนี้และมีเท่านี้ รู้จักตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนควบคุมมันได้ ไม่ให้เป็นไปฝ่ายผิดเมื่อผัสสะแล้วก็ไม่มีความทุกข์ ถ้าผิดเมื่อผัสสะก็ต้องมีความทุกข์ ไม่มีใครช่วยได้ เพราะกฎอิทัปปัจจยตาเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครไปแก้กฎอิทัปปัจจยตาได้ เพราะฉะนั้นเราจงรู้จักจิตชีวิตร่างกายที่มันเปลี่ยนไปตามกฎอิทัปปัจจยตาอย่างไรนี่ให้พอเถอะ แล้วเราก็จะดำรงชีวิตชนิดที่ไม่เป็นทุกข์ได้ นี่เรื่องมีเท่านี้ แล้วเป้าหมายมีอยู่อย่างนี้ ฉะนั้นขอให้เตรียมตัวอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ให้ได้ผลพอสมควร ทันแก่เวลาที่จะลาสิกขาบทออกไป นี่เรื่องที่จะพูด
ตลอดพรรษาไม่ไปไหน ตามวินัยไม่ไปไหน อย่าชอบไปไหนสิ ไม่มีใครห้ามได้ เมื่ออยากไปก็ไป แล้วมันก็เสียเวลาไอ้ๆการปฏิบัติ ฉะนั้นในพรรษา พระพุทธเจ้าบัญญัติวินัยไม่ต้องไปไหนเพื่อให้ทำอะไรให้ดีที่สุด ให้มีโอกาสมากที่สุด เราก็ทำให้ได้อย่างนั้น อย่าชอบหาเรื่องไปไหน แก้ตัวไปไหน หรือว่าไม่ไปไหนก็นอนเสีย ไม่ๆทำอะไร ไม่คิดจะศึกษาอะไร มันก็ไม่ได้อะไรเหมือนกัน ฉะนั้นมี มีการเฝ้าดูจิตทุกอิริยาบถ จนให้รู้ว่าจิตนั้นเป็นอย่างไร เหมือนที่พูดวันแรกที่หินโค้งน่ะ ในวันเข้าพรรษา ขอให้ทุกคนมีบทเรียนคือเฝ้าดูจิต ให้รู้จักจิตทุกชนิดที่มันเปลี่ยนแปลง นอนมีจิตอย่างไร ตื่นนอนขึ้นมามีจิตอย่างไร ล้างหน้าถูฟันมีจิตอย่างไร ไปทำวัตรสวดมนต์มีจิตอย่างไร เอาบาตรไปบิณฑบาตเข้าไปในหมู่บ้านมีจิตอย่างไร กลับเข้ามามีจิตอย่างไร ไปนั่งฉันที่โรงฉันมีจิตอย่างไร กระทั่งกลับไปทำอะไรอย่างไรก็ให้ แม้แต่ไปถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะก็ต้องไปสังเกตดูว่าจิตมันเป็นอย่างไร กลับไปทำงานที่กุฏิ ไปทำอะไรที่ควรทำน่ะจิตมันเป็นอย่างไร แล้วก็มีเวลาว่างเงียบไปนั่งดูจิตที่โคนไม้ ดูจิตที่โคนไม้อย่างที่ว่าเดี๋ยวนี้ ว่าวันนี้ให้มากเข้าๆ ไปนั่งตรงที่เหมาะสมที่โคนไม้ จิตมันว่างกว่าที่จะนั่งในห้องแคบๆในกุฏิ จนกว่าจะเพียงพอ จะกลับมาอีก จะไปอาบน้ำ จะไปส้วม จะทำอะไรก็ตาม จนกว่าว่าจะมานอนหลับอีก แล้วตื่นอีก แล้วไปบิณฑบาตอีก ไปโรงฉันอีก ไปโรงเรียนอีก อะไรก็ตาม ตามที่สมควรจะทำ
ขอให้มีการดูจิตข้างใน คือเรียนข้างในตลอดเวลา แม้ว่ากำลังจะเรียนปริยัติหนังสือหนังหาอะไรอยู่อย่างข้างนอกน่ะ เรียนอยู่ข้างนอกน่ะแต่ข้างในต้องไม่เสีย ถ้าเราดำรงจิตอย่างนี้ ข้างในก็ไม่เสีย แม้เราจะไปทำอย่างข้างนอกบ้าง เราจะไปพบคนนั้นบ้าง จะไปอ่านหนังสือพิมพ์บ้างอะไรบ้าง แต่ว่าการกำหนดจิตอยู่ข้างในนั้นไม่เสีย มันรู้ทันอยู่เสมอว่าจิตเป็นอย่างไร ในบาลีเขามีกล่าวว่า พระพุทธเจ้าท่านรักษาจิตว่าง สุญญตาวิหารของท่านไว้ได้ตลอดเวลา ท่านทำให้จิตว่างจากตัวกูของกู ว่าง ว่างเด็ดขาดน่ะ อยู่ได้แม้ว่าเมื่อท่านออกมารับแขก เมื่อมาพูดกับอุบาสกอุบาสิกา พูดกับเดียรถีย์ พูดกับสาวกของเดียรถีย์ ท่านรับแขก ท่านอะไรก็ ก็ได้ แต่จิตยังเป็นสุญญตาวิหารอยู่ เป็นสุขอยู่ นี่เป็นหลักที่แสดงว่ามันทำได้ แม้ว่าเราจะไปพูดไปคุยกับใครบ้างโดยความจำเป็นน่ะ เรารักษาความปกติแห่งจิตได้ หรือเรา อย่างน้อยก็เรารู้สึกว่าจิตเป็นอย่างไร อ้าว, เดี๋ยวนี้จิตเปลี่ยนไปแล้วโว้ย ไปนั่งคุยกับผู้หญิงคนหนึ่ง จิตเปลี่ยนไปแล้วโว้ย นี่ก็ให้มันรู้สิ มันจะรักษาให้คงปกติได้ แล้วเราก็รู้จักจิตจากนิสัยของจิต ธรรมชาติของจิตอยู่เรื่อยไป
ถ้ามันพลาดไป ทำผิดไป ก็ให้รู้ว่ามันพลาดไป แล้วดึงกลับมา ถ้ามันไปโกรธเข้าแล้ว ก็ให้รู้ อ้าว, นี่มันความโกรธนี่ มันเป็นอย่างนี้เอง ให้รู้จักจิตโกรธ แล้วก็ไม่เอา แล้วก็ละอายด้วย เสียใจด้วย จิตทำผิด ไปๆโลภ ไปโกรธอะไรเข้า นี่เขาเรียกว่าความไม่ประมาท เดี๋ยวนี้มันมีแต่ความประมาท ไม่ตั้งใจทำอะไรจริงๆ ปล่อยชุ่ยๆๆๆ แม้แต่สวดมนต์ทำวัตรก็ว่าไม่ถูกทุกตัวเลยนะ คิดดูเถอะ ทำวัตรสวดมนต์น่ะว่าไม่ถูกทุกตัว มันคนประมาท มันคนไม่ตั้งใจกำหนดอะไร ฉะนั้นทำจิตให้แยบคายประณีต มันจะทำอะไรที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์หมดแหละ อย่าให้ประมาท อย่าให้สะเพร่า อย่าให้หลวมๆ อย่าให้ชุ่ยๆ อย่าให้
เอาแล้ววันนี้ผมพูดหรือขอพูดเอง ไม่ต้องให้ถาม นี่ก็พูดเรื่อง (มีเสียงสุนัขเห่าแทรก นาทีที่ 76:19-76:29) ตลอดพรรษานี้จะทำอะไร อย่างไร สรุปความว่าส่วนใหญ่ ส่วนมากที่สุดก็คือเข้าโรงเรียนข้างใน จะเข้าโรงเรียนข้างนอกก็ได้ ใครจะเรียนธรรมะบาลี เรียนอะไรบ้างก็ได้ ก็ไม่ผิดอะไร แต่ระวังให้ดี อย่าให้ข้างในผิด อย่าให้ข้างในเสียไป เหมือนกับที่ภิกษุในครั้งพุทธกาลนั้น เขาเข้าโรงเรียนข้างในทั้งนั้น เพราะไม่มีโรงเรียนข้างนอก เรามีวัดแบบของเราอย่างสวนโมกข์นี่คือวัดแบบพุทธกาล ไอ้วัดอย่างสวนโมกข์นี่คือวัดธรรมดาสามัญในครั้งพุทธกาล ไอ้วัดอย่างในเมืองน่ะไม่มีในครั้งพุทธกาล วัดธรรมดาในครั้งพุทธกาลคือวัดอย่างสวนโมกข์ ฉะนั้นเราก็มีอะไรๆให้เหมือนครั้งพุทธกาล วัดที่อยู่ กินอยู่ เป็นอยู่ การศึกษาเล่าเรียนก็เรียนข้างใน เข้าไปเรียนข้างใน เข้าโรงเรียนข้างในอย่างครั้งพุทธกาล เรียกเอาครั้งพุทธกาลกลับมา ไม่เสียหลาย อย่างน้อยก็รู้จักจิต รู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิต รู้จักควบคุมจิตให้อยู่ในความถูกต้อง ไม่อยู่ในภาวะที่ผิด ความรู้สึกคิดนึก สติปัญญาก็ถูกต้อง ความต้องการหวังก็ถูกต้อง พูดจาถูกต้อง ทำการงานถูกต้อง เลี้ยงชีวิตถูกต้อง พากเพียรถูกต้อง สติถูกต้อง สมาธิก็ถูกต้อง เรียกว่าความถูกต้อง อัฏฐังคิกมรรค อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ แม้จะทำงานข้างนอกด้วยร่างกาย แต่จิตก็ยังถูกต้อง ถ้าเป็นอยู่ด้วยไม่ประมาท ระมัดระวังให้ดีโดยความไม่ประมาทแบบชุ่ยๆ
เอาแล้ว พูดสรุปมันมีเท่านี้ ไอ้เรื่องมันมีเท่านี้แหละ พูดชั่วโมงเดียวก็จบ แต่ประพฤติจนตายก็ทำไม่ได้ พูดชั่วโมงเดียวจบ แต่ประพฤติกันจนตายมันก็ยังไม่ได้ หรือประพฤติกันอีกหลายๆชาติมันก็อาจจะไม่ได้ ฉะนั้นขอให้อย่าประมาทก็แล้วกัน นี่เรื่องที่จะพูด ทีนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องที่พูดแล้วนี่ มีๆๆข้อสงสัยอะไรก็ถามได้ ไอ้เรื่องอื่นยังไม่เอา ไอ้เรื่องที่พูดแล้ววันนี้เดี๋ยวนี้ว่ามันมีอยู่อย่างนี้ มีเค้าเรื่องอย่างนี้ ยังสงสัยในข้อไหนก็ถามได้
เป็นผู้ควบคุมจิต ดูจิต ตามระวังรักษาจิต ศึกษาทุกเรื่องที่เกี่ยวกับจิต ที่มันเกิดขึ้นในจิต จนเป็นผู้รอบรู้แตกฉานในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับจิต นี่เป็นพุทธ พระพุทธประสงค์ พระพุทธเจ้าท่านประสงค์อย่างนี้ สรุปเรียกสั้นๆจำง่ายก็ว่าเข้าโรงเรียนข้างในอยู่ตลอดเวลา เราเข้าโรงเรียนภายใน ข้างในอยู่ตลอดเวลา ศึกษาจากภายในอยู่ตลอดเวลา เที่ยวๆๆไปภายในอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีปัญหาก็ปิดประชุม เพราะมันสมควรแก่เวลาแล้ว เอ้า, มีว่าอะไร
ภิกษุถามปัญหา : อ่า, กระผมอยาก เกล้ากระผมอยากจะถามว่า จิตนี้เป็นนามธรรม ทีนี้การเฝ้าดู... (เสียงเบามาก ฟังไม่ชัดเจน นาทีที่ 81:48-81:50)
ท่านพุทธทาส : อ้าว, ก็ดูสิ ตัวเองคิดนึกอย่างไร จิตนั้นแหละดูจิต เรื่องนี้ประหลาดที่สุดแหละ ไอ้คำว่าจิต หรือธรรมชาติของจิตคืออะไร ไม่มีใครรู้ หรือไม่ต้องรู้ก็ได้ แต่เราใช้มันได้ ทำจิตให้รู้สึก ทำจิตให้ไม่ประมาท ทำจิตให้อย่างนู้นอย่างนี้ได้ ใช้มันได้ คำว่านามนี่ก็หมายความว่าไม่ใช่วัตถุ เราตั้งชื่อให้มันได้ คือเป็นธาตุชนิดหนึ่งตรงกันข้ามกับวัตถุ วัตถุธาตุคืออย่างนี้ เป็นธาตุฝ่ายวัตถุ แล้วเป็นนามธาตุหรือจิตธาตุนั่นน่ะไม่มีวัตถุ แต่ก็ได้มีอยู่สิ่งหนึ่งจริงเหมือนกัน เดี๋ยวนี้ไอ้นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่รู้ว่าไฟฟ้านี้คืออะไร แต่เขารู้วิธีทุกวิธีที่จะใช้มันได้อย่างไร แต่ตัวจริงของมันก็ยังตอบไม่ได้ว่าคืออะไร ก็ต้องตอบอย่างเอาเปรียบว่า เมื่อเป็นอย่างนั้นก็จะมีอย่างนั้น เมื่อเป็นอย่างนั้นจะมีอย่างนั้น เมื่อเราทำไดนาโมอย่างนี้มันจะออกมาอย่างนี้ ทำหม้อแบตเตอรี่อย่างนั้นมันจะออกมาอย่างนั้น แล้วเราไปทำอย่างนั้นมันจะหมุนพัดลม ทำอย่างนั้นมันจะให้แรงงาน รู้จักใช้มันได้สารพัดอย่างเหลือประมาณ แต่ยังไม่รู้ว่าตัวจริงมันแท้นั้นคืออะไร ไอ้เรื่องจิตนี้ก็เหมือนกันน่ะ ไม่มีคัมภีร์หรือไม่มีข้อความอะไรที่บอกให้รู้ว่าเป็นอย่างไร บอกได้แต่มันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น แล้วเราจงทำอย่างนั้นจะได้ผลอย่างนั้น ทำอย่างนั้นจะได้ผลอย่างนั้น
เดี๋ยวนี้ปัญหาของมนุษย์มันมีอยู่แต่ว่ามีความทุกข์ เมื่อทำให้ไม่มีความทุกข์ได้ก็ควรจะพอแล้ว จะไม่ถามให้เลยขอบเขตไปจนถึงไอ้สิ่งที่ไม่อาจจะรู้ และบอกไม่อาจจะรู้ หรือถึงจะรู้มันก็ไม่มีผลอะไรมากไปกว่านี้ ฉะนั้นเอาเวลาไปทำไอ้สิ่งที่ควรจะทำให้ได้รับผลจากจิตนั้นน่ะเสียมากดีกว่า ไอ้ที่เกินออกไปนั้นไม่ต้องรู้ รู้เท่าที่จำเป็นจะต้องรู้ ข้อนี้พระพุทธเจ้าตรัสโดยเปรียบความไว้ว่า เราถูกยิงลูกศรเสียบอยู่ โดยยังไม่ไปต้องรู้ว่าคนยิงใครอยู่ที่ไหน ยิงด้วยปืน อ่า, ลูกศรอะไร ไอ้อาบยาพิษอะไรไม่ต้องรู้ เรารู้แต่ว่าเอาลูกศรออกแล้วสาย หายที่นี่เดี๋ยวนี้ดีกว่า นั่นน่ะไอ้สิ่งที่จำเป็นจะต้องรู้จะต้องทำก็คือว่า บำบัดความทุกข์เสีย คือรู้เข้าไปๆที่มันเกี่ยวกับต้นเหตุของความทุกข์บ้าง แต่ไม่ต้องรู้ไปถึงขนาดว่าจิตคืออะไร เพราะว่ามันไม่อาจจะรู้ เดี๋ยวนี้เรารู้สึกเกี่ยวกับจิต เกี่ยวกับร่างกายอย่างไร รู้ให้มากเข้าๆจนควบคุมมันได้ก็พอแล้ว ไอ้สิ่งที่มันละเอียดไปกว่านั้น หรือเกินจำเป็นนั้นเอาไว้ก่อน จัดการดับทุกข์กันเสียก่อน พอทุกข์ดับแล้วมันก็ไม่ต้องรู้ก็ได้ เป็นรักษาไอ้แผลลูกศรอะไรหายหมดแล้ว ไม่ๆๆต้องไปรู้ว่าใครยิง ใครยิงด้วยศรชนิดไหน อาบยาพิษอะไร ไม่ต้องก็ได้ เรารู้แต่เพียงว่าถ้ามันมีความเจ็บปวดอย่างนี้ ความทุกข์อย่างนี้ เรากำจัดออกไปได้อย่างไร
ฉะนั้นสิ่งที่ไม่ต้องถามจึงมีมาก ว่าโลกเที่ยงโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุดโลกไม่มีที่สุด ตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิดหรือ ป่วยการ เพราะว่าจะตายแล้วหรือไม่เกิด หรือตายแล้วเกิดก็ตาม มันก็ยังต้องทำอย่างนี้ เพื่อจะไม่มีทุกข์ก็ต้องทำอย่างนี้ ถึงคนนี้มันจะถือลัทธิว่าตายแล้วเกิดมันก็ต้องทำอย่างนี้ ไอ้คนนี้มันจะถือลัทธิว่าตายแล้วไม่เกิดมันก็ยังต้องทำอย่างนี้ อย่างที่พูดเมื่อตะกี้นะ ต้องควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอย่างนี้จึงจะไม่เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องเสียเวลาไปถามว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด โลกเที่ยงโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุดโลกไม่มีที่สุด หรืออะไรที่มันเป็นไอ้เขาเรียกว่า ไอ้ความเห็นที่มันแล่นไปสุดโต่งโดยไม่ๆๆ ไม่ประกอบด้วยความรู้ ไม่ต้องไปรู้ ไม่ต้องไปสนใจ รู้แต่ว่าเดี๋ยวนี้จะต้องทำอย่างไร เดี๋ยวนี้จะต้องควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอย่างไร หรือควบคุมจิตนั่นแหละ แล้วใครมาควบคุมจิต เมื่อๆๆไม่มีตัวตน ไม่มีบุคคล มันก็คือจิตนั่นแหละ ก็น่าหัวแหละ
จิตที่มันทำอะไรผิดเป็นทุกข์น่ะ มันก็รู้จักเข็ดหลาบแล้วมันก็ไม่ทำอีก แล้วจิตก็เตือนจิต จิตก็สอนจิต จิตก็รับไอ้ความรู้เข้าไว้เป็นความเคยชินแห่งความรู้ นี่เป็นเรื่องจิตทำกับจิตเอง ไม่ต้องมีตัวตนซึ่งเป็นเจ้าของจิต ฉะนั้นพุทธศาสนาแท้ๆจึงไม่มีตัวตน จิตก็คือจิต กายก็คือกาย อะไรก็คืออันนั้น แต่คัมภีร์ชั้นหลัง เช่นคัมภีร์วิสุทธิมรรคนี่เขาเขียนใหม่ว่า จิตนั่นแหละคือตัวตน ก็เราไม่ไปเถียง ป่วยการ ไม่ต้องไปเถียงทะเลาะกัน เราๆไม่อยากจะมีตัวตน เพราะถ้ามีตัวตนมันก็ยึดถือตัวตน มันก็แบกของหนัก เหมือนกับแบกของหนัก อย่ามีตัวตนดีกว่า ทำจิตให้เกลี้ยงๆๆๆไปจากความทุกข์พอ อย่าเอาจิตมาเป็นตัวตนสำหรับแบก
ภิกษุถามปัญหา : ในๆขณะที่ตาเห็น หูได้ยิน แต่ว่าเราไม่ได้คิดอะไรนี่ถือว่าเป็น... (เสียงเบามาก ฟังไม่ชัดเจน นาทีที่ 88:26-88:28)
ท่านพุทธทาส : ไหนลองว่าใหม่ซิ ว่าอย่างไรนะ
ภิกษุถามปัญหา : ในขณะที่ตาเราเห็น แล้วก็หูก็ได้ยิน แต่เราไม่คิดอะไรเลย... (เสียงเบามาก ฟังไม่ชัดเจน นาทีที่ 88:35-88:36)
ท่านพุทธทาส : เอา, มันก็เป็นจิตที่ยัง อ่า, ยังไม่คิดไง จิตที่ไม่ได้คิด จิตที่ ที่เหมือนกับไม่ได้รับอารมณ์ หรือว่าอารมณ์นั้นไม่มีความหมายพอที่จะทำให้จิตคิด โดยๆมากเราก็เป็นอยู่อย่างนั้น เพราะอารมณ์นั้นไม่ๆมีความดึงดูดหรือไม่มีอำนาจพอที่จะทำให้จิตคิด เช่นเรานั่งอยู่ เราลืมตาอยู่ เราก็เห็นทุกอย่างแหละ แต่มันก็ไม่ได้คิดอะไร เว้นไว้แต่สิ่งนั้นมันจะมีความหมาย มีอารมณ์ทำให้เราต้องคิด เสียงก็เหมือนกัน เราก็ได้ยินเสียง ไอ้เสียงจิ๊กๆๆๆของแมลงร้องนี่ เราก็ไม่มีความ ไม่มีความคิดเกี่ยวกับเสียงนั้น เพราะมันไม่มีไอ้ความหมาย ไม่มีค่า ไม่มีน้ำหนักพอที่จะให้เราไปสนใจไปคิด มันก็เหมือนกับไม่มีผัสสะ หรือว่าผัสสะก็เป็นผัสสะหยุด ไม่เดินไป มันไม่ๆๆมีความหมาย ไม่มีอำนาจแก่จิต เป็นผัสสะด้วน มันต้องมีจิตไปสนใจ ไปรับเอาความหมาย ไปรับเอาคุณค่า เหมือนกับสุนัขได้ยินดนตรีแล้วก็เลิกฟัง กับคนได้ยินดนตรีนี่มันไปตามความหมายแห่งดนตรี
ภิกษุถามปัญหา : สิ่งที่ๆเราต้องเห็นมันให้ได้ หมายความว่าอย่างไร...
ท่านพุทธทาส : หืม
ภิกษุถามปัญหา : สิ่งที่เราต้องเห็นมัน
ท่านพุทธทาส : ต้องเห็น ต้องเรียนๆ ทำไม
ภิกษุถามปัญหา : ไม่ทราบหมายความว่าอย่างไร
ท่านพุทธทาส : ว่างเปล่าไง
ภิกษุถามปัญหา : ว่างเปล่านี่ไม่สามารถยึดถือได้
ท่านพุทธทาส : อ๋อ, คือทุกสิ่งไม่ต้องไปเอา ไปๆยึดถือเอามาเป็นของเรา แต่ถ้ามัน มันก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับเราทำให้เป็นทุกข์ ให้จิตเป็นทุกข์ ก็จัดการกับมันให้ถูกต้องอย่าให้เป็นทุกข์ แม้จะเกิดความสุขขึ้น ความไม่ทุกข์ ก็อย่าถึงกับยึดถือเอาเป็นความสุขของเรา
ภิกษุถามปัญหา : มันต้องเป็นสุญญตา... (เสียงเบามาก ฟังไม่ชัดเจน นาทีที่ 90:57-90:58)
ท่านพุทธทาส : หา
ภิกษุถามปัญหา : จะต้องเป็นสุญญตาเลย... (เสียงเบามาก ฟังไม่ชัดเจน นาทีที่ 91:00-91:01)
ท่านพุทธทาส : อ่า, สุญญตาก็แปลว่าความว่าง จิตมีความว่างจากความยึดถือก็แล้วกัน
ภิกษุถามปัญหา : ต้อง... (เสียงเบามาก ฟังไม่ชัดเจน นาทีที่ 91:08-91:09)
ท่านพุทธทาส : อ้าว เอ่อ, ถ้ายึดถือเท่าไรก็เป็นความทุกข์เท่านั้น คือว่ายึด ไปคิดนึก ไอ้เกี่ยวข้องด้วยก็ได้ แต่อย่ายึดถือ ทำงานอยู่ คิดนึกอยู่ ทำการงานอยู่ จิตส่วนที่คิดนึกเป็นเราเป็นของเราอย่าให้มี มีแต่จิตที่ทำงานไปตามสติปัญญาล้วนๆ อย่าให้มันเกิดความหมายเป็นๆตัวตน เป็นของตน ในๆๆรูปที่ว่าจะได้จะเสียจะแพ้จะชนะอะไรอย่างนั้น ถ้าคิดว่าจะได้หรือคิดว่าจะเสียหรือจะแพ้นั้นมันเป็นตัวตน อย่างว่าเล่นฟุตบอลนี่ อยากจะให้นักเตะทุกคนไม่คำนึงถึงเรื่องแพ้ชนะ คำนึงแต่เตะให้ดีที่สุดเท่านั้นน่ะ ถ้าไปคำนึงถึงไอ้แพ้ชนะอยู่ในใจแล้วมันฟุ้งซ่าน แล้วมันทำไม่ได้ดี แล้วมันก็ยากนะเพราะว่าไอ้กองเชียร์ คนๆดูมันก็หวังจะให้ชนะอยู่เหมือนกัน เราก็เป็นห่วงว่าถ้าเราแพ้แล้วพวกนั้นมันก็จะด่าเรานี่ อย่างนี้คือมีไอ้ความรู้สึกเป็นตัวตนเข้าไปอยู่ในใจ มันก็เล่นได้ไม่ดี ฉะนั้นมันต้องลืมหมด ลืมทั้งโลก ไม่มีอะไร มีแต่ลูกบอลกับเตะกับขาเท่านั้นแหละ แล้วก็เตะให้มันดีที่สุด คนจะมาดูอยู่หรือเมียจะมายืนดูอยู่ก็ไม่ต้องสนใจ อย่างนี้เรียกว่าทำไปด้วยจิตว่างจากความหมายแห่งตัวตน จะทำได้ดีและจะไม่มีความทุกข์
ภิกษุถามปัญหา : หมายถึงการรวมเป็นหนึ่งกับสิ่งนั้น
ท่านพุทธทาส : หืม
ภิกษุถามปัญหา : การทำงานหมายถึงการรวมเป็นสิ่งเดียวกับสิ่งนั้น... (เสียงเบามาก ฟังไม่ชัดเจน นาทีที่ 93:00-93:01)
ท่านพุทธทาส : งานคือสิ่งที่เราจะต้องทำ เรามีความรู้ว่าทำอย่างไร เราก็ทำไปด้วยความรู้นั่นแหละ อย่าทำด้วยความอยาก ความหวังซึ่งมันจะเป็นตัวตนขึ้นมา อย่าทำด้วยความที่ว่ามีกู อย่าต้องการทำ ทำให้ได้ ทำให้ชนะ อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่ว่าง ไม่มีความรู้สึกเช่นนั้น มีแต่ความรู้สึกสติสัมปชัญญะว่าทำดีที่สุด ทำสุดฝีไม้ลายมือนั้นคือทำอย่างไร อย่าไปพะวงถึงว่าจะได้หรือไม่ได้ จะแพ้หรือจะชนะอะไรอย่าไปพะวง ไอ้นั่นน่ะคือความหมายแห่งตัวตน ความหมายแห่งตัวตนชนิดนั้นต้องไม่มี จึงจะเรียกว่าทำด้วยจิตว่าง ว่างจากตัวตนแต่เต็มอยู่ด้วยสติปัญญา ถ้าความหมายแห่งตัวตนเข้ามา สติปัญญาจะไม่เต็ม จะลดลงหรือจะไม่มีเลยก็ได้ อุปาทานว่าตัวตนเข้ามาแล้วสติปัญญามันก็หายไปเพราะมันเต็มเข้มข้นอยู่ด้วยตัวกูของกู ความหมายแห่งตัวกูของกู กูจะได้ กูจะชนะ กูจะอะไร นี่อย่าทำงานด้วยกิเลสตัณหาหรือความหมายแห่งตัวตน จงทำงานด้วยจิตที่ว่างจากกิเลสตัณหาหรือตัวตน อย่ามีความรู้สึกว่ากูผู้ทำหรือกูทำอยู่อะไรอย่างนี้ อย่า ลืมมันหมด ศึกษาดีแล้ว รู้ดีแล้วว่าจะต้องทำอย่างไรแล้วก็ทำ ให้จิตนี้มันเป็นการงานไปเสียเลย อย่าเป็นตัวกูผู้ทำ
ภิกษุถามปัญหา : เช่นเดียวกับการวาดต้นไม้ ไม่มีตัวเรา มีแต่ต้นไม้
ท่านพุทธทาส : หา
ภิกษุถามปัญหา : เช่นเดียวกับเราวาดรูปต้นไม้นี่ ไม่มีตัวเรา ไม่มีอะไร มีแต่ต้นไม้
ท่านพุทธทาส : วาดเขียนนี่
ภิกษุถามปัญหา : ครับ
ท่านพุทธทาส : ก็ต้องทำด้วยๆจิตที่ฉลาด ที่รอบรู้ในการเขียน อย่ามีตัวกูผู้เขียน จะให้ดี จะให้ชนะ จะให้อย่างนั้น มันจะได้รูปมาคนละอย่าง ถ้าเราวาดด้วยจิตที่หมายมั่นเอารางวัล หมายมั่นอะไรมันก็ได้อีกอย่างนะ ถ้าว่างด้วย วาดด้วยจิตว่าง ไอ้ผลที่ได้จะมาอีกอย่างหนึ่ง ที่ญี่ปุ่นที่เขาสอนเรื่องเซน เรื่องจัดดอกไม้ในแจกันน่ะ ให้จัดด้วยจิตที่ไม่มีตัวกูผู้จัด ไม่ใช่เพื่อตัวกู แล้วมันก็ได้ดอกไม้ในรูปแบบอย่างนี้ และอีกแจกันหนึ่งคนนั้นจัด คนเดียวกันจัดด้วยจิตที่มีตัวกู มันออกมาอีกรูปแบบหนึ่ง ฉะนั้นจิตว่างมันก็ทำไปตามแบบของจิตว่าง ฉะนั้นจะเขียนภาพก็ดี หรือแม้แต่จะร้องเพลงก็ดี ทำไปด้วยจิตว่าง มีสติปัญญาเต็มที่ มันก็ออกมาแบบหนึ่ง ถ้าจิตมันหมายมั่นเป็นตัวกูของกู มันก็มาแบบอื่นน่ะ แต่แบบไหนจะถูกใจคนฟังก็ไม่รู้นะ นี่เราหมายถึงว่าไอ้ดีที่สุด หรือว่าประณีตละเอียดที่สุดต้องทำด้วยจิตว่าง ทีนี้เมื่อคนมันมีกิเลสมันมาคอยฟัง มันคงอยากฟังเพลงที่ร้องออกมาด้วยจิตกิเลสนี่ ให้ตัวกูของกูแสดงความหมาย จิตที่ว่างจากตัวกูของกูคือไม่มีความทุกข์เท่านั้น ไอ้มีตัวกูของกูก็คือของหนัก เป็นของหนัก เป็นถือของหนัก เป็นแบกของหนักและมีความทุกข์อยู่ที่นั่นแหละ ที่นั่นและเดี๋ยวนั้น เอ้า, ใครมีปัญหาอีกล่ะ
ตัวกูเป็นสิ่งที่มิได้มีอยู่จริง แต่จิตรู้สึกว่ามีอยู่ตลอดเวลา จิตที่ธรรมดา จิตปุถุชนธรรมดาจะรู้สึกเป็นตัวกูของกูอยู่ตลอดเวลา แต่ธรรมชาติที่แท้จริงนั้นไม่ได้มีสิ่งที่เป็นตัวกูของกู เป็นเพียงกระแสแห่งอิทัปปัจจยตาทำให้จิตรู้สึกอย่างนั้น
ภิกษุถามปัญหา : ความรู้สึกที่ไร้ตัวตนเช่นเดียวกับความรู้สึกของเด็กทารกหรือเปล่าครับ
ท่านพุทธทาส : ว่าอะไรนะ
ภิกษุถามปัญหา : ความรู้สึกที่ไร้ตัวตนเหมือนกับของเด็กทารก
ท่านพุทธทาส : เด็กทารกมันเป็นได้ง่าย เด็กทารกเป็นจิตว่างจากตัวตนได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ที่คิดนึกเก่ง คิดนึกมากแล้วผ่านอะไรมามาก เด็กทารกก็ไม่ใช่จะว่างจากตัวตนไปหมด พอเขาโตพอที่จะรู้สึกอร่อย ไม่อร่อย เท่านั้นแหละก็จะมีตัวตนแล้ว เพียงๆว่ารู้สึกดื่มนมอร่อย ดื่มนมไม่อร่อยเท่านี้ก็จะมีความรู้สึกอยาก มีความรู้สึกต้องการ เมื่อมีความรู้สึกต้องการแล้ว ความรู้สึกว่าตัวตนก็เกิดขึ้นเอง ถ้าว่าจิตเด็กอยู่ในครรภ์เราก็ไม่รู้นะ พิสูจน์ยาก เราก็ไม่มีความรู้ แต่หนังสือโบราณๆน่ะเขามักจะถือว่า เด็กยังอยู่ครรภ์น่ะคิดนึกไม่เป็น จึงเกิดกิเลสไม่ได้ ยังถือว่าจิตในครรภ์ เด็กในครรภ์น่ะมีจิตที่ไม่มีกิเลส คือไม่ยึดถือตัวตน เราได้แต่คำนวณโดยเหตุผลว่าคงจะเป็นอย่างนั้นเพราะมันคิดไม่เป็นนี่ เหมือนกับมันยังหลับอยู่
อย่าไปคิดถึงขนาดนั้นเลย มันๆๆไม่รู้ได้ รู้เดี๋ยว คิดเดี๋ยวนี้ดีกว่า สังเกตจิตเดี๋ยวนี้ดีกว่า จิตปัจจุบันนี้สังเกตให้มากๆ ว่ามันเป็นทุกข์อย่างไร มันเหไปทางไหน ป้องกันไว้ให้อย่าให้เหไปในทางที่จะเป็นทุกข์ คืออยู่อย่างไม่มีความทุกข์ แต่มัน บางคนอาจจะไม่ชอบก็ได้เพราะมันไม่สนุก มันไม่โลดโผน ความสงบรำงับ ความหยุด ไม่มีทุกข์นั่นมันไม่สนุก มันสู้หัวเราะ ร้องไห้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาจึงทำไปในลักษณะที่หัวเราะบ้าง ร้องไห้บ้าง กินเหล้าบ้าง อะไรบ้าง มันมีรสมีชาติ สังเกตดูบางคนยิ่ง ได้ยิ่งร้องไห้เขายิ่งพอใจยิ่งเป็นสุข รู้สึกอร่อยในการร้องไห้