แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพระวิปัสสนาจารย์และท่านผู้สนใจในเรื่องนี้ทุกท่าน บัดนี้เราจะได้บรรยายอภิปรายทำความเข้าใจกัน ในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าสมาธิภาวนาสืบต่อไป เมื่อคืนนี้ได้พูดถึงสมาธิภาวนา ๔ อย่าง คือสมาธิภาวนาเพื่อความสุขในทิฏฐธรรม นี่เป็นประโยชน์ทันตาเห็น ทำให้มีสุขภาพอนามัยทางจิตของผู้ประพฤติปฏิบัติดี กระทั่งว่าจะเป็น เอ่อ, ของสังคมพลเมืองในประเทศชาติ ให้พลเมืองทั้งชาติมันมีสุขภาพอนามัยทางจิตดี ปัญหาเรื่องคนเจ็บป่วยทางประสาททางจิตก็จะหมดไป ทีนี้ก็มาถึงสมาธิภาวนาอย่างที่ ๒ คือญาณทัสสนะอันเป็นทิพย์ หูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นต้น เราไม่ต้องอภิปรายเพราะว่าไม่อยู่ในขอบเขตแห่งความประสงค์ของเรา จึงไม่ต้องพูด
ทีนี้ก็มาถึงสมาธิภาวนาอย่างที่ ๓ คือสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ คือเป็นผู้กำหนดสติทุกครั้งที่มี เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แห่งเวทนา สัญญา และวิตก ๓ ประการนี้ต้องกำหนดไว้ให้ดี เวทนา สัญญา และวิตก มันเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนและรวดเร็วที่จะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จึงต้องมีความตั้งใจ สนใจ ประพฤติปฏิบัติกันอย่างละเอียดลออจึงจะมีได้ และในที่สุดก็ถึงสมาธิภาวนาประเภทที่ ๔ คือความสิ้นไปแห่งอาสวะ ถ้าบุคคลสามารถมีสติสัมปชัญญะเต็มที่หรือสมบูรณ์ การปฏิบัติในขั้นที่ทำอาสวะให้สิ้นไปก็ไม่ยาก เพราะว่าอาสวะจะสิ้นไป ก็ด้วยการรู้เท่าทันการเกิดขึ้นและดับไปแห่งปัญจุปาทานขันธ์ เมื่อไรเกิดขันธ์ เมื่อไรเกิดปัญจุปาทานขันธ์ เมื่อนั้นก็รู้แจ้ง ก็ไม่มีทางที่อาสวะจะเกิด
นี้การที่จะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ แล้วก็มีการทำเพื่อความสิ้นอาสวะนั้น อยากจะพิจารณากันถึงหลักเกณฑ์หรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่ลึกซึ้งอยู่ในภายใต้ คือพระพุทธภาษิตที่ได้จัดไว้เป็นหลักในเรื่องนี้ และเราก็ยังเข้าใจไขว้เขวกันอยู่ จึงอยากจะเอามาพูด เพื่อให้รู้จักปฏิบัติในการทำความสิ้นอาสวะ สรุปว่าจะมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ หรือจะทำความสิ้นไปแห่งอาสวะนั้น ขอให้รู้จักหลักความจริงของธรรมชาติเกี่ยวกับ การเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นแห่งกิเลสในจิตนั้นกันเสียก่อน
ทีนี้ขอให้กำหนดจดจำใจความสั้น ๆ เหล่านี้ไว้ให้ดี ๆ คือมีพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า จิตนี้เป็นธรรมชาติประภัสสรหรือเป็นประภัสสรอยู่ตามธรรมชาติ แต่ก็เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่จรเข้ามาหรือเป็นอาคันตุกะเข้ามา แล้วจิต เอ่อ, และ ๆ ว่าจิตนี้มีธรรมชาติเป็นประภัสสร เราก็จะไม่เศร้าหมอง คือจะหลุดพ้นจากกิเลส เพราะว่าอุปกิเลสไม่จรเป็นอาคันตุกะเข้ามา ผู้ใดรู้จักลักษณะเช่นนี้ตามที่เป็นจริง สมาธิภาวนาจักมีแก่บุคคลนั้น ผู้ใดไม่รู้ข้อนี้ตามที่เป็นจริง สมาธิภาวนาจักไม่มีแก่บุคคลนั้น นี่ใจความมันมีเท่านี้แหละว่า มันมีความจริงอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งถ้าใครไม่รู้ คนนั้นจะไม่อาจเจริญสมาธิภาวนา หรือจะไม่ชอบ จะไม่สนใจในการเจริญสมาธิภาวนา แต่ถ้าผู้ใดรู้หรือเห็นตามที่เป็นจริง ผู้นั้นจะสามารถเจริญสมาธิภาวนา ผู้นั้นจะชอบจะพอใจในการเจริญสมาธิภาวนา
ไอ้ธรรมะข้อนั้นก็คือคำพูดสั้น ๆ ว่า จิตนี้ประภัสสรอยู่ตามธรรมชาติ แต่จะเป็นจิตเศร้าหมองก็เพราะอุปกิเลสจรเข้ามา จะเป็นจิตที่เกลี้ยงไม่เศร้าหมองก็เพราะว่าอุปกิเลสไม่จรเข้ามา ถ้าพูดให้ชัดให้สั้นที่สุดก็ว่า ถ้ามีอุปกิเลสเกิดขึ้น จิตก็เศร้าหมองไม่เป็นประภัสสร ถ้ากิเลสไม่เกิดขึ้น จิตก็ยังคงเป็นประภัสสร คือไม่เศร้าหมอง ความที่มักจะเข้าใจผิดกันก็อยู่ที่ เอ่อ, ความเป็นประภัสสรนั่นเอง มีธรรมชาติประภัสสร ตามธรรมชาติประภัสสร แต่เรายังเศร้าหมองได้เพราะอุปกิเลสจรเข้ามานี่ หมายความว่าประภัสสรที่เป็นไปเองตามธรรมชาตินั้น ยังไม่สามารถจะป้องกันการเกิดขึ้นแห่งกิเลส นี่ธรรมชาติมันมี ๆ ได้เพียงเท่านี้
ถ้าไม่มีกิเลสมากวน ธรรมชาตินี้ก็จะประภัสสร คือใสกระจ่าง เรืองแสง มีรัศมีสวยงาม ถ้าพูดอุปมาให้เป็นวัตถุ ก็ว่าเหมือนอย่างเพชรเม็ดหนึ่ง เพชรเม็ดหนึ่งมันมีรัศมี คือเรืองแสงอยู่ตามธรรมชาติของมัน แต่ถ้าเอาโคลนมาไล้มัน มันก็ไม่ ๆ ๆ ๆ ส่องแสงซึ่งเป็นรัศมีของเพชร ถ้าเอาโคลนไปไล้มัน ถ้าไม่มีโคลน มันก็ส่องแสงไปตามแบบของเพชร แต่เพชรนั้นก็ยังจะมีโอกาสที่โคลนมันจะมาฉาบมาทาได้อีก ดังนั้นมันจึงจะกลับเศร้าหมองหรือประภัสสรสลับกันไป ต่อเมื่อไรทำให้โคลนไม่มีมา หรือว่าโคลนมีมาก็ไม่อาจจะติดแก่เพชร ไม่ติดแก่เพชรแก่เนื้อของเพชร โคลนไม่ติดเเก่เนื้อของเพชรได้ มันก็หลุดไป เพชรนั้นก็จะส่องแสงประภัสสรตลอดไป รวมความว่า จิตนี้ที่เป็นประภัสสรตามธรรมชาตินั้น ยังเป็นจิตที่อุปกิเลสครอบงำได้อยู่ ถ้าเอาเป็นอุปกิเลสไม่ครอบงำก็จะประภัสสรตลอดไป
ทีนี้ทำอย่างไรอุปกิเลสจึงจะไม่ครอบงำ นั่นก็คือทำจิตตภาวนา จิตตภาวนาคือการทำจิตให้เจริญ ทำจิตนั้นให้เจริญ ๆ ๆ ๆ ๆ จนอุปกิเลสเข้ามาไม่ได้ หรืออุปกิเลสจะไม่ครอบงำจิตได้ หรืออุปกิเลสเกิดขึ้นแก่จิตนั้นไม่ได้ เหมือนกับว่าจิตมันเป็นของที่ไม่ยอมรับอุปกิเลสนั้นอีกต่อไป นี้การที่เราอบรม ๆ จิตเดิม จิตประภัสสรตามธรรมชาตินั้น ให้กลายเป็นจิตใหม่ที่ไม่อาจจะเกิดอุปกิเลสอีกต่อไป จะมีอะไรเข้ามาปรุงแต่งยั่วยวนรบเร้ากวนอย่างไร จิตนี้ก็จะไม่เกิดอุปกิเลสอีกต่อไป ไอ้ความเป็นประภัสสรของจิตนั้น ก็จะมีอยู่และตลอดกาล มันต่างกันเท่านี้ จิตที่มีอยู่เองตามธรรมชาติ ประภัสสรตามธรรมชาติ แต่กลับเศร้าหมองได้เมื่อมีอุปกิเลสมา
ทีนี้จิตที่เป็นตามธรรมชาติอย่างนั้น เอามาอบรม เอามาอบรม อบรมตามวิธีอบรมจิต จนถึงขนาดที่ว่า อุปกิเลสจะเกิดแก่จิตนั้นไม่ได้ จะเกิดแก่จิตนั้นอีกไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตนั้นก็จะไม่รู้จักเศร้าหมองอีกต่อไป จะเรียกว่ามันประภัสสรตลอดกาลไปเลยก็ได้ หรือจะเรียกตรง ๆ ว่า มันไม่อาจจะเศร้าหมองได้อีกต่อไป เรื่องมันมีเท่านี้ ควรจะได้รู้กันทั่วไปทุกคน ๆ แม้ชาวบ้านร้านตลาดก็ควรจะรู้ว่า จิตนี้ตามธรรมชาตินั้นน่ะไม่มีกิเลส ไม่ ๆ เศร้าหมองด้วยกิเลส มันยังประภัสสรรุ่งเรืองสดใส เจ้าของก็ยังสบายดี ถ้าเมื่อใดอุปกิเลสเกิดขึ้น ทำจิตนี้ให้เศร้าหมอง จิตนั้นก็สูญเสียความผ่องแผ้ว สูญเสียประภัสสร แล้วบุคคลที่เรียกว่าเป็นเจ้าของจิตนั้น ก็เกือบตายนะ คือมันจะทุกข์ทนทรมานดิ้นรนกระวนกระวาย เพราะกิเลสครอบงำจิตนั้นทุกคนจึงถือหลักใหญ่กลาง ๆ ว่า เราจะต้องมีจิตที่เศร้าหมองไม่ได้
ทำอย่างไรจึงจะเป็นอย่างนั้น เราจะต้องดำรงจิตไว้ให้ถูกต้อง ในลักษณะที่มันเศร้าหมองไม่ได้ เรื่องมันมีอยู่ว่า เราทำจิตให้ถูกต้อง เศร้าหมองไม่ได้ เราจะทำเอาเอง ระมัดระวังเอาเองตามสติปัญญาของคนเรา มันก็ได้บ้างเหมือนกัน มันไม่ ๆ ได้มาก ไม่ได้หมด ไม่ได้เป็นที่พอใจ เราจึงต้องหันไปพึ่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เรื่องนี้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง ทั่วถึง จนถึงกระทั่งสามารถสอนให้ว่า ทำอย่างนี้ ๆ ๆ ๆ เรื่อย ๆไปตามลำดับ เป็นการอบรมจิตนั้นให้เปลี่ยนสภาพไปอยู่ในลักษณะที่เศร้าหมองไม่ได้อีกต่อไป
พูดง่าย ๆ ชัด ๆ ก็ว่า ก่อนนี้จิตนี้มันไม่เศร้าหมอง แต่พอมีอารมณ์อะไรเข้ามา ทางตา ทางหู ทางจมูก เป็นต้น มันก็ไม่ตะ ไม่ต้านทานไหว มันปล่อยให้เกิดการปรุงแต่งขึ้นในจิตนั้น จนเกิดกิเลสขึ้นในจิตนั้น เอ้า, ทีนี้อบรม ๆ ๆ ๆ ทำดีที่สุด ฝึกฝนอบรมที่สุด ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างไร จิตนี้ก็เปลี่ยนไป เป็นจิตที่เต็มอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ ปัญญา วิชชา อะไรจะเข้ามา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปปรุงแต่งจิตนั้นให้เกิดกิเลสขึ้นมาได้ จิตนั้นก็เลยไม่เกิดกิเลสอีกต่อไป นี่เรียกว่าเป็นจิตที่ไม่เศร้าหมอง เป็นจิตประภัสสรตายตัวไปเลย มันก็ไม่มีความทุกข์
ถ้าผู้ใดรู้เรื่องนี้ เห็นชัดเรื่องนี้ ผู้นั้นก็อยากจะปฏิบัติจิตตภาวนา และจิตตภาวนานั้นก็จะสามารถมีได้แก่บุคคลชนิดนั้น หรือบุคคลที่เห็นว่าจิตมันเป็นอย่างนี้ จิตมันเป็นอย่างนี้ ต้องทำกับมันอย่างนี้ แล้วก็รอดตัวได้ ส่วนผู้ใดไม่มองเห็นความจริงข้อนี้ มันก็มืดตื้ออยู่ มันก็ไม่ชอบจิตตภาวนา มันไม่ต้องการจิตตภาวนา ดังนั้นจิตตภาวนาจึงไม่มีแก่บุคคลชนิดนี้ ซึ่งเขาไม่รู้ว่าจิตมันเป็นอย่างนี้ พูดให้สั้นที่สุดก็คือ ผู้ที่รู้ว่าจิตนี้อบรมได้ เขาก็อยากจะอบรม ทีนี้อีกคนหนึ่งมันไม่รู้ว่าจิตนี้อบรมได้ มันก็ไม่อยากจะอบรม มันไม่สนใจที่จะอบรม
ดังนั้นความรู้ที่ต่างกันนิดเดียวว่า จิตนี้อบรมได้กับจิตนี้อบรมไม่ได้ คือไม่รู้ว่าจะอบรมอย่างไร คนหนึ่งมันก็อยากจะทำจิตตภาวนา อีกคนหนึ่งมันก็ไม่สนใจจะทำ มันดูเหมือนว่าญาติโยมของเราจะอยู่ในพวกที่ไม่รู้ว่าอบรมได้เสียมากกว่า แม้จะว่าจะอบรมได้ ก็ว่าตาม ๆ กัน ไม่มองเห็นชัดลงไปว่า มันอบรมได้จริงอย่างไร บางทีบวชเป็นพระเป็นเณรแล้ว มันก็ไม่รู้ว่าจิตนี้อบรมได้และจะอบรมอย่างไร มันก็ทำไปพอตามพิธีรีตอง บวชพอเป็นพิธี อะไรพอเป็นพิธี แสดงบทบาทพอเป็นพิธี อย่างนี้ไม่เป็นการอบรมจิต เพราะมันทำไปตามพิธี ไม่เป็นการอบรมจิต ไม่เกิดผลอะไรที่เป็นการอบรมจิต
นั่นแหละ ขอให้รู้พระพุทธภาษิตที่เป็นเบื้องต้นที่สุดของเรื่องเรา เอ่อ, ของเรื่องของเราว่า ไอ้จิตนี้ประภัสสรตามธรรมชาติ แต่มันเศร้าหมองได้เมื่ออุปกิเลสเข้ามา นี้จิตนี้ประภัสสรได้ ไม่เศร้าหมองเมื่อ ๆ ไม่มีอุปกิเลสจรเข้ามา เราก็มีหน้าที่เพียงอย่างเดียว ทำอย่าให้อุปกิเลสมันเข้ามาปรุงแต่งจิตได้ พอเห็นชัดในข้อนี้ มันก็มีกำลังใจ มีความศรัทธาเชื่อมั่นว่า มันทำได้ มันอบรมได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่เห็นอยู่อย่างนี้ เขาก็มีศรัทธา เขาก็มีไอ้ความพอใจ มีความเพียร มีอิทธิบาท หรือมีอะไรแล้วแต่จะเรียก ในการที่จะทำจิตตภาวนา จิตตภาวนาแปลว่าภาวนาจิต ภาวนาจิตคือทำจิตให้เจริญ ภาวนาแปลว่าทำให้เจริญ จิตตภาวนาแปลว่าการทำจิตให้เจริญ
เมื่อคืนเราพูดถึงสมาธิภาวนา มันทำให้เจริญด้วยสมาธิ ถ้าเอามาชนกันเข้า ก็เราทำจิตให้เจริญด้วยอำนาจของสมาธิ ดังนั้นจิตจะต้องทำสมาธิ จะต้องฝึกสมาธิ กับอาศัยกำลังของสมาธิ แล้วก็ทำจิตให้เจริญ จิตก็เจริญ ๆ ๆ ๆ จนถึงขั้นที่ว่า อุปกิเลสทั้งหลายจะไม่เกิดขึ้นได้แก่จิต จิตอยู่ในลักษณะที่ไม่รับอารมณ์ที่จะมาปรุงแต่งเป็นกิเลส แม้อารมณ์จะเข้ามากระทบทางอายตนะ ก็เข้าไปถึงจิตไม่ได้ เพราะว่าจิตนั้นมัน ๆ ได้รับการอบรมดีเสียแล้ว มันไม่รับอารมณ์เข้าไป อารมณ์ก็อยู่ข้างนอก ไม่เข้าถึงจิต ไม่มีการปรุงแต่งให้เกิด อ่า, เกิดกิเลสใด ๆ ขึ้นมาในจิต เรื่องมันก็จบ ถ้าว่าเราแต่ละคน อบรมจิตจนจิตดี จนจิตไม่อยู่ในสถานะที่อารมณ์ปรุงไม่ได้ จิตอยู่ในสถานะที่อารมณ์ปรุงไม่ได้ คือจิตไม่รับอารมณ์มาปรุงนั่นเอง นี่ฝึกดีแล้วมันเป็นอย่างนี้ จิตไม่รับอารมณ์เข้ามาปรุงแต่งให้เป็นกิเลส จิตนี้ก็เรียกว่าสูงสุด จะเรียกว่าสิ้นอาสวะ เพราะมีสติสัมปชัญญะเพียงพอในการอบรม อบรมอยู่ อบรมอยู่ มันก็สิ้นอาสวะ
ทีนี้อาสวะนี่อยากจะซ้อมความเข้าใจกันเสียบ้าง เป็นธรรมชาติล้วน ๆ น่ะ เมื่อจิตมันได้รับอารมณ์ เหมือนกับตอนนั้นมันโง่ มันไม่มีปัญญาไม่มีวิชชา เป็นจิตมีอวิชชารับอารมณ์ ก็มีการปรุงแต่งเป็นกิเลส ในบางทีก็เป็นกิเลสประเภทโลภะ คือรักยึดที่จะเอา บางทีก็ปรุงแต่งออกมาเป็นรูปกิเลสโทสะ พยาบาท นี่โกรธคับแค้น ไม่อยากจะเอา คือไม่เอาน่ะ ทีนี้บางทีก็ปรุงแต่งเป็นกิเลสในรูปแบบของโมหะ มืดมน ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ มีแต่ความลังเลสงสัย ถ้า ๆ ปรุงขึ้นเป็น โลภะ โทสะ โมหะ อย่างนี้เราเรียกว่ากิเลส นี่จำคำว่ากิเลสไว้คำหนึ่งก่อน รับอารมณ์ด้วยความโง่ ด้วยอวิชชา ปรุงกันขึ้นในจิตจนกลายเป็นกิเลส เรียกว่าโลภ โกรธ หลง นี่ชั้นหนึ่งก่อน
ทีนี้ถ้าเกิดกิเลสตัวใด โลภ โกรธ หลงนี่ ตัวใดครั้งใดครั้งหนึ่งเกิดขึ้นครั้งใดแล้ว มันจะทิ้งรอยไว้ คือมันจะสะสมความเคยชินที่จะเกิดอีกไว้ ความถนัดที่จะเกิดอีก ความคล่องที่จะเกิดอีก มัน ๆ สร้างไว้ในจิต ดังนั้นจิตนั้น จะง่าย จะคล่อง จะเร็ว ในการที่จะเกิดกิเลสชนิดนั้นอีก ถ้าเราเกิดความโลภบ่อย ๆ มันก็เกิดความเคยชินที่จะโลภได้ง่าย ๆ ถ้าเราเกิดโทสะบ่อย ๆ มันก็เกิดความเคยชินที่จะเกิดโทสะได้ง่ายได้บ่อย ถ้าเกิดโง่เง่าโมหะบ่อย ๆ ทุกคราว มันก็จะสร้างความเคยชินที่จะโง่หรือจะโมหะนั้นน่ะเข้าไว้ในใจ นี้เรียกว่าความเคยชินแห่งกิเลสที่มันจะเกิดใหม่ ตามแบบที่มันประทับรอยไว้แต่ทีแรก นั่นก็คือการสะสมความเคยชินที่จะเกิดกิเลสนั่นเอง
ในชั้นนี้ ชั้นที่ ๒ นี้ เราเรียกว่าอนุสัย เกิดทีแรกเรียกว่ากิเลส แล้วฝากความเคยชินไว้ ฝากความเคยชินไว้ อันนี้เรียกว่าอนุสัย ความเคยชินที่จะโลภในกรณีเรื่องโลภ เรียกว่าราคานุสัย ราคะ อนุสัย ใส่ไว้ในสันดาน ความเคยชินที่จะโกรธจะโทสะน่ะ เรียกว่าปฏิฆานุสัย มีสะสมไว้ในสันดาน ไอ้ส่วนโมหะ มันก็เกิดความเคยชินที่จะโมหะ เรียกว่าอวิชชานุสัย นี่สำหรับโมหะ ที่เกิดมาจากโมหะ มันก็แปลว่าเราเพิ่มความง่ายที่จะเกิดกิเลสเข้าไว้ ด้วยสิ่งที่เรียกว่าอนุสัย มีราคะหรือโลภะ มันก็สะสมราคานุสัย มีโทสะโกธะ มันก็สะสมปฏิฆานุสัย มีโมหะมีความโง่ นั่นก็สะสมอวิชชานุสัย
เดี๋ยวนี้เรายัง ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง แต่เรามีราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย อยู่ในสันดานพร้อมที่จะให้ออกมาเมื่อได้อารมณ์ ทีนี้เมื่ออะไร อารมณ์อะไรมายั่วให้เกิดกิเลสตัวใด ไอ้ความที่มีอนุสัยของกิเลสตัวนั้นอยู่ มันช่วยให้เกิดง่ายเกิดเร็วผลุงออกมาทีเดียว นี่อนุสัยมันสร้างความยากลำบากให้อย่างนี้ ด้วยเหตุที่มันสร้างให้เป็นไปเพื่อความชั่ว เพื่อความทุกข์ เพื่อความผิดพลาด เราเรียกว่าอนุสัย
แต่ถ้าเราทำความดีอย่างนี้นะ ทำอโลภะ อโทสะ อโมหะ มันก็ไปเพิ่มไอ้ความเคยชินที่จะดี ถ้าอย่างนั้นเขาไม่เรียกอนุสัย เขาจะไปเรียกบารมีหรือเรียกอะไรไปทางโน้น ถ้าจะเรียกว่าอนุสัยมันก็ผิดจากคำที่บัญญัติไว้ใช้ว่าอนุสัยนี่มันเป็นชั่ว เป็นเลว เป็นสกปรก ส่วนสิ่งที่เรียกบารมีนั้นสะอาด สำหรับสูงขึ้นไปในทางของไอ้โลกุตตระ ดังนั้นถ้าเรา เอ่อ, ไม่โลภ ควบคุมไว้ได้ ไม่โลภ มันก็สร้างบารมีแห่งไม่โลภ เราไม่โกรธไม่โทสะ ก็สร้างบารมีแห่งไม่โกรธไม่โทสะ เอ่อ, สร้าง เราไม่โง่ไม่หลง ก็สร้างบารมีที่จะไม่โง่ไม่หลง มันพอกพูนไปทางฝ่ายที่จะสิ้นกิเลสเป็นนิพพาน และนั่นไม่เคยเป็นปัญหา
ปัญหามันอยู่ที่นี่ เราโกรธ แล้วก็สร้างความ อ่า, เราโลภ ก็สร้างความเคยชินที่จะโลภ เราโกรธ สร้างความเคยชินที่จะโกรธ เราหลง สร้างความเคยชินที่จะหลง ทีนี้วันหนึ่งเกิดกิเลสความโลภกี่ครั้ง มันก็สะสมไอ้ความเคยชินที่จะโลภไว้เท่านั้นหน่วย นับเป็นหน่วย ๆ ก็ได้ อ่า, วันนี้เกิดโทสะกี่ครั้ง มันก็สร้างความเคยชินที่จะโทสะแล้วไว้เท่านั้นหน่วยแหละ เอ่อ, วันนี้โมหะกี่ครั้ง มันก็สร้างความเคยชินที่จะโมหะไว้เท่านั้นหน่วยแหละ มันอยู่ในสันดาน แต่ไม่ใช่เป็นของ เป็นก้อน เป็นกลุ่ม เป็นตายตัว มันเป็นแต่เพียงความเคยชินที่จะปรุงแต่งได้เร็ว เดี๋ยวจะเข้าใจว่ามันไปนอนอยู่เป็นสัสต เป็นของเที่ยง อย่างนี้ก็ไม่ถูก ไม่มีล่ะ แต่เขาชอบใช้คำว่าเหมือนกับตะกอนนอนก้น ที่จริงมันความเคยชินนี่ มันเป็นเหมือนตะกอน มันพร้อมที่จะพลุ่งขึ้นมา
นี้เราเปรียบสันดานของเรา สันดานของเรานี่เหมือนกับตุ่ม ตุ่มน้ำสักลูกหนึ่ง ทีนี้เราสะสมในตุ่มนั้นน่ะ สะสม บางทีก็สะสมราคานุสัย เอ่อ, ทั้งโลภะ บางคราวก็สะสมคือเติม เติมปฏิฆานุสัยของโทสะ บางทีก็เติมอวิชชานุสัยของโมหะ ดังนั้นถ้ามันมีแต่เติม ๆ ๆ อย่างนี้ มันก็เต็มไห พอเต็มไหแล้ว มัน ๆ ก็มีไอ้ความเบ่งออก ความที่จะ มันจะล้นออก มันก็มีแรงมาก เมื่อมันมีรูรั่วสักนิดหนึ่ง มันก็ปรี่ออกมาน่ะ มันก็ฉีดออกมา จนไหลออกมา นี่อุปมาเหมือนกับว่าน้ำในโอ่งนี่ ถ้ามันยังไม่เต็ม มันยังน้อยอยู่ มันก็ไม่ ๆ มีความดันที่จะไหลออกมานัก แต่พอมันเต็มปรี่ แล้วก็มันก็จะดันฉีดออกมาข้างนอกอย่าง ๆ แรงเหมือนกัน นี้กำลังที่จะไหลออกนี่ เราเรียกว่าอาสวะ ออกมาเป็นรูป กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ แล้วก็แต่จะเรียก ส่วนนี้เราเรียกว่าอาสวะแล้ว ที่มันดัน ๆ อัดดันจะออกมานี้เรียกว่าอาสวะ
ที่ทำทีแรกเรียกว่ากิเลส ทำแล้วเกิดความเคยชินอยู่ก็เรียกว่าอนุสัย สะสมอนุสัยไว้มากดันออกอยู่นี่เรียกว่า ส่วนนี้เรียกว่าอาสวะ ก็หมายความว่ามันก็จะออกมาเป็นกิเลสนั่นแหละ ถ้าไหลออกมามันก็เป็นกิเลสในครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ เอ่อ, กิเลสที่ยุ่งยากมากขึ้น ถ้าสิ้นอาสวะก็ต้องสิ้นอนุสัยนู่น เมื่อไม่มีอนุสัยสะสมไว้ข้างใน ไอ้สิ่งที่จะดันออกเป็นอาสวะก็ไม่มี ดังนั้นการที่จะสิ้นอาสวะมันก็คือสิ้นอนุสัย ดังนั้นต้องมีการทำลายอนุสัยให้ลดลง ๆ ๆ เราทำอย่างไร ก็ทำด้วยสติ
เรื่องที่ควรจะโลภจะกำหนัดมาอย่างยิ่ง ต่อสู้บังคับไว้ได้ด้วยสติ นี่เรียกว่าไม่โลภ ในกรณีที่ไม่โลภนี้ มันจะไปลดอนุสัยโลภลงหน่วยหนึ่ง ต่อสู้ได้ครั้งหนึ่งจะลดลงหน่วยหนึ่ง จะสัง เอ่อ, ครั้งหนึ่งจะลดลงหน่วยหนึ่ง มาให้โกรธ ให้โทสะ เอ้า, ก็มีสติบังคับไว้ได้ อนุสัยไอ้โทสะที่เคยสะสมไว้มันก็ลดลงหน่วยหนึ่ง ลดลงหน่วยหนึ่งเหมือนกัน มาให้โง่ มาให้สะเพร่า มาให้วิตกกังวลสงสัยอะไร ก็ไม่ ทีนี้มันก็ลดอวิชชานุสัย ลดอนุสัยแห่งอวิชชาลงหน่วยหนึ่งเหมือนกัน
ดังนั้นเราเป็นอยู่ให้ด้วยสติสัมปชัญญะ เมื่อ ๆ มันมาจะให้โลภ จะปรุงให้โลภ ก็ไม่โลภ อนุสัยโลภก็ลด เมื่อมันมาให้โทสะ ให้โกรธ ไม่โกรธ อนุสัยโกรธก็ลด มาให้หลง ก็ไม่หลง อนุสัยแห่งโมหะก็ลด เมื่ออนุสัยลด ๆ ๆ ๆ แล้วมันจะเอาอัด เอาความอัดดันที่ไหนมาฉีดออก เมื่ออนุสัยมันลด อาสวะมันก็ลด เมื่ออนุสัยมันสิ้น อาสวะมันก็สิ้น นี่ทำให้มันสิ้นอาสวะ ก็คือทำให้อนุสัยลดจนหมด แล้วก็ไม่เพิ่มอนุสัยอีกต่อไป คือจะไม่สร้าง ความโลภ ความโกรธ ความหลง อีกต่อไป อนุสัยใหม่ก็ไม่เพิ่ม อนุสัยเก่าก็ลดลง ๆ ไม่มีจะอะไรจะไหลออกมาก็เรียกว่าสิ้นอาสวะ
ถึงสมาธิภาวนาเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ ก็คืออาศัยการมีสติสัมปชัญญะ รู้เท่าทันสิ่งที่เข้ามากระทบ ไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นจนเป็นกิเลส ก็ไม่เกิดกิเลส มันก็ไม่เกิดอนุสัย มันก็ไม่มีอาสวะเพราะเหตุนี้ เรียกว่าเราอยู่ให้ถูกต้องที่สุด ให้มีสติสัมปชัญญะที่สุด ถูกต้องที่สุด ไม่เกิดกิเลส ก็ลดอนุสัยเดิม ๆ ที่มีอยู่ อนุสัยลดไปหมดแล้ว อาสวะก็ไม่มี
ดังนั้นสรุปความว่าอยู่อย่างที่ไม่ให้เกิดกิเลส ไม่เติมอาสวะ เอ่อ, ไม่เติมอนุสัย อยู่อย่างไม่มีกิเลส แล้วก็ไม่เติมอนุสัย คือความเคยชินของกิเลส ไม่เติมให้ อาสวะก็ไม่ ก็หมดไป ๆ เรียกว่าอยู่อย่างที่ว่ากิเลสมันไม่ได้อาหาร กิเลสมันไม่ได้อาหาร มันไม่เกิด แต่ละวันละวันกิเลสไม่อาจจะเกิด เพราะสติสัมปชัญญะเพียงพอ ปัญญาเพียงพอ ไม่ ๆ เกิดกิเลส ไม่เพิ่มอนุสัย อาสวะก็หาย ก็ ๆ ลดไปจนหมดสิ้น นี่คือหลักพื้นฐาน มันมีอยู่อย่างนี้ ข้อปฏิบัติทั้งหมดทั้งสิ้น มันต้องลงกันได้กับหลักพื้นฐานที่มีอยู่อย่างนี้
ทีนี้ก็ดูว่ามีสติสัมปชัญญะอย่างไร กิเลสจึงจะไม่เกิด นี่ก็คือหลักปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ แล้วพวกเราก็ไม่ค่อยสนใจ แล้วก็ไปเรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่เข้าใจไม่ได้ ที่สอนอยู่ในโรงเรียนนั่นมันเข้าใจไม่ได้ จะไม่พูดถึงเพราะเข้าใจไม่ได้ ดังนั้นขอให้ฟังไอ้ที่ว่าเราจะพอเข้าใจได้และตรงตามพระบาลีว่า ไอ้กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทที่มันจะปรุงกันเป็นสายนั้น มันมีอยู่อย่างไร แล้วเราจะมีสติเข้าไปตัดกระแสนั้นให้ขาดเสียทุกคราวไปนั้น จะทำได้อย่างไร มันก็พอจะมองเห็นได้อีกเหมือนกัน ถ้ามองเห็นและเข้าใจแล้ว มันก็คงจะนึกอยากจะตัด แล้วมันเกิดความเชื่อขึ้นมาว่า เราสามารถจะตัดได้ป้องกันได้ มันก็จะเป็นผลดี
เอ้า, เราจะพูดกันถึงกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทกันก่อน เอ่อ, ก็คือเรื่องของอายตนะทั้ง ๖ ข้างในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ข้างนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันมีอยู่เป็น ๖ คู่ อยู่ข้างใน เอ่อ, อยู่ข้างใน ๖ อยู่ข้างนอก ๖ รวมกันเป็น ๒ ๖ ยก ๆ ตัวอย่างมาอธิบายคู่แรกก็พอ คู่หลัง ๆ มันก็เหมือนกันแหละ ตามันเนื่องกันเข้ากับรูป รูปภายนอกมันเนื่องเข้ากับตา ย่อมเกิดการเห็นทางตา เรียกว่าจักษุวิญญาณ นี่ช่วย ๆ กำหนดจดจำให้ดี ๆ มันไม่ยากไม่ลึกซึ้งอะไร แต่ถ้าไม่ ๆ สนใจจะกำหนด มันก็คงจะกำหนดไม่ได้
ตา จักษุ ถึงกันเข้ากับรูป รูปที่จักษุเห็น พอถึงกันเข้ามันจึงจะเกิดจักษุวิญญาณ คือการเห็นทางตา นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้นะ บางคนไม่เชื่อนะ บางคนมันถือลัทธิอย่างอื่นว่า วิญญาณมีอยู่แล้วข้างใน วิญญาณมีอยู่ตลอดกาล วิญญาณมีอยู่แล้วข้างใน มันเชื่ออย่างนั้น แต่ตามพระบาลีนี่ว่า ตาถึงกันเข้ากับรูป เกิดจักษุวิญญาณ จกฺขฺุจ ปฏิจฺจ รูเป จ อุปฺปชฺชติ วิฺาณ พระบาลีว่าอย่างนี้ จกฺขฺุจ ปฏิจฺจ รูเป จ อุปฺปชฺชติ วิฺาณ เอ่อ, อาศัยตากับรูป เกิดจักษุวิญญาณ จักษุวิญญาณคือการเห็นทางตานั่นยังไม่เกิด จนกว่าตาจะดูจะเนื่องกับรูป ถ้าเราหลับตาเสียหรือไม่มีรูปมาถูกตา มากระทบตา มันก็ไม่เกิดจักษุวิญญาณ เดี๋ยวนี้เรามีรูป เอ้อ, มีตาอยู่แล้ว รูปมากระทบตา ถึงกันเข้า ก็เกิดการเห็นทางตา เรียกว่าจักษุวิญญาณ
เรื่องที่เราจะต้องรู้ก็กลายเป็น ๓ ๆ ๆ ๆ เรื่อง หรือ ๓ สิ่ง ก็คือเรื่องตาเรื่องหนึ่ง เรื่องรูปเรื่องหนึ่ง เรื่องจักษุวิญญาณเรื่องหนึ่ง เป็น ๓ ถ้า ๓ สิ่งนี้ทำงานร่วมกัน ถึงกัน ทำงานร่วมกัน จะเรียกว่าผัสสะ ติณฺณํ ธมฺมานํ สงฺคติ ผสฺโส การมาถึงกันเข้าแห่งธรรมทั้ง ๓ นี้ เรียกว่าผัสสะ การมาถึงกันเข้าแห่งธรรมทั้ง ๓ นี้ เรียกว่าผัสสะ ธรรมทั้ง ๓ นี้ ก็คือตา แล้วก็รูป แล้วก็จักษุวิญญาณ ๓ อย่างนี้มาถึงกันเข้า คือทำงานร่วมกัน อันนี้เรียกว่าผัสสะ
นี่จำให้ดี ๆ นะ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ท่านตรัสอย่างนี้นะ ไม่ใช่พอตามาถึงเข้ากับรูปแล้วเรียกผัสสะ อย่างนั้นไม่รู้เอา ไม่รู้เอามาจากไหนพูด ถ้าในบาลี ตากับรูปถึงกันเข้า จะเกิดจักษุวิญญาณก่อน ได้มาเป็น ๓ เรื่องแล้ว ๓ เรื่องนี้มาสังคติ คือมาถึงพร้อมกัน ทำงานร่วมกัน อันนี้จึงจะเรียกว่าผัสสะ ดังนั้นผัสสะก็คือการถึงกัน กระทบกันเข้า ระหว่างตากับรูปกับจักษุวิญญาณ คืออายตนะภายใน อายตนะภายนอก แล้วก็วิญญาณ ถึงกันเข้า ทำงานร่วมกัน นี้เรียกว่าผัสสะ ไม่ใช่ตัวหนังสือ ไม่ใช่คำพูด ทุกคนจะต้องไปกำหนดเข้าที่สิ่งที่มันเกิดขึ้นจริง ๆ ในแต่ละวัน เมื่อตาเห็นรูปเกิดจักษุวิญญาณ เรียกว่าผัสสะ แล้วก็สมบูรณ์
ทีนี้พอมีผัสสะเป็นปัจจัย ก็เกิดเวทนา เพราะผัสสะของ ๓ สิ่งนี้แล้ว ก็จะเกิดรู้สึกเวทนาจากการเห็นรูปนั้น รูปสวยสบายแก่ตา ก็เกิดสุขเวทนา รูปไม่สวยไม่สบายแก่ตา ก็เกิดทุกขเวทนา ไม่ให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้นได้ก็เรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา แต่เป็นความรู้สึกด้วยเหมือนกัน นี่เพราะผัสสะจึงเกิดเวทนา จะว่าไปตลอดก่อนนะ ในฝ่าย ๆ ผิดนะ หมายความว่าในฝ่ายที่ผิดน่ะ ฝ่ายที่ไม่มี ๆ ปัญญาไม่มีสติ นี่เรื่องที่เดินไปโดยไม่มีสติ
แต่นี้เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา มันก็อยากหรือต้องการไปตามความหมายของเวทนา ถ้าเวทนาเป็นสุข มันก็อยากได้ อยากเอา ถ้าเวทนาเป็นทุกข์ มันก็ไม่อยากได้ ไม่อยากเอา มันจึงเกิดเป็นตัณหา กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา โดยสมควรแก่เวทนานั้น ถ้าเวทนานั้นยั่วให้อยากเอา มันก็เอา อยากได้ มันก็ได้ อยากเป็น มันก็ ๆ เป็น อยากไม่เป็น อยากไม่ให้เป็น อยากไม่ให้อยู่ มันก็เกิดเวทนาที่อยากไม่ให้อยู่ อยากไม่อยากให้เป็น ปัญหามันเกิดตามรูป อนุโลมแก่รูปของเวทนา สุขเวทนาก็เอา ทุกขเวทนาก็ไม่เอา อทุกขมสุขเวทนาก็โง่ นี่เวทนาให้เกิดตัณหา
ทีนี้เกิดตัณหาแล้ว ตัณหาเป็นปัจจัย ก็เกิดอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น จิตล้วน ๆ น่ะ ไม่ใช่มีคนคอยให้มันตัณหา จิตล้วน ๆ น่ะ มัน ๆ ๆ ไปตามธรรมชาติของจิตที่ไม่ ๆ ๆ มีปัญญา จิตนี้มีอวิชชา ยังมีอวิชชานี่ มันก็ยึดมั่นถือมั่นเอา ว่ารูปสวย ว่าเป็นสุข เข้าไปยึดมั่นว่ากูนี่ สร้างความรู้สึกว่ากูหรือเรา ตัวเรา มันยึดมั่นจิตในขณะนั้นว่าเป็นตัวเรา ยึดมั่นเอาไอ้สิ่งชิ้นนั้นเป็นของเรา สุขเวทนาเป็นของเรา หรือทุกขเวทนาเป็นของเรา หรืออทุกขมสุขเวทนาเป็นของเรา
เรายึดตัวจิตนั้นเองว่าเป็นตัวเรา ความยึดมั่นว่าเรา ว่าของเรา ก็เกิดขึ้น เพราะจิตโง่เวลานั้น มันจึงเกิดไอ้อหังการคงความสำคัญว่าตน มมังการคงความสำคัญว่าของตน อย่างนี้เรื่อยไปจนเกิดเป็นอนุสัยเหมือนกัน ความเคยชินแห่งความสำคัญว่าตน ว่าของตน ว่าตัวตน ว่าของตน ว่าตัวกู ว่าของกู นี่ทำกันจนเคยชินอยู่ตลอดชีวิตน่ะ อหังการมมังการมานานุสัย คงความเคยชินด้วยความสำคัญมั่นหมายว่าตัวตน ว่าของตน นี่มีอยู่ตลอดเวลาของบุถุชน
นี้อุปาทานว่า มีตัวกู มีของกู มีตัวตน มีของตน อย่างนี้แล้วก็เรียกว่าภพ คือมีความมีอยู่แห่งบุคคลนั้น เหลวไหล ไม่มีตัวจริง แต่มันมีความรู้สึกว่ามีตัวจริง มันก็มีภพขึ้นมาตามความรู้สึกที่ยึดมั่นว่ามีตัวเรา ว่ามีของเรา อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ในความยึดมั่นตัวเราของเรามีเต็มที่ ก็เบิกบานออกมาเป็นตัวเราของเราในความรู้สึกสมบูรณ์ของบุคคลแต่ละคน ตามธรรมดาเป็นประจำ นี้เรียกว่าเพราะมีภพจึงมีชาติ พอมีชาติ มีตัวเราเต็มที่แล้ว อะไร ๆ ก็มาเป็นของเราหมด มันโง่มันบ้าอะไรก็ไม่รู้ ความเกิดก็ของเรา ความแก่ก็ของเรา ความตายก็ของเรา ความเจ็บไข้ก็ของเรา ความทุกอย่างก็จะเป็นของเรา มันก็เป็นทุกข์
ถ้าคนมันฉลาด มีปัญญา มันไม่ มันไม่จะไม่รับเอามาเป็นของเรา ความเกิดไม่ใช่ของเรา ความแก่ไม่ใช่ของเรา ความตายไม่ใช่ของเรา อะไรไม่ใช่ของเรา ก็ไม่มีความทุกข์ แต่เดี๋ยวนี้คนธรรมดาทั้งหลายทั่วไป มันรู้สึกได้แต่เพียงว่า ความเกิดของเรา ความแก่ของเรา ความเจ็บของเรา อะไรก็เป็นของเรา อะไรก็เป็นทุกข์หมด ซึ่งเรื่องความทุกข์ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเพราะอย่างนี้ เพราะมันเกิดตัวกู เพราะมันมีอุปาทาน เพราะมันมีตัณหา
ถอยกลับมาสิ นี่ทบทวนให้ดีนะ ตา เริ่มใหม่นะ เริ่มต้นแถวใหม่นะ ตาถึงกันเข้ากับรูป เกิดจักษุวิญญาณ ๓ ประการนี้ถึงกันเข้า ทำงานร่วมกัน เรียกว่าผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา แล้วเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน อุปาทานปัจจัยจึงเกิดภพ ภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ ชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เยอะ สาย ตลอดสายนั้นน่ะ ก็เกิดขึ้นพร้อมกันเป็นทุกข์ เพราะว่ามันยึดถือเอาว่าเป็นของตน
มันโง่มาตั้งแต่ต้นนู่น สำหรับจะสำคัญว่าเหล่านี้เป็นของตน ความเกิดของตน ความแก่ของตน ความโศกของตน ปริเทวะของตน ทุกข์ของตน โทมนัสของตน อุปายาสของตน ทั้งหมดแหละ จนตลอด จน ๆ กระทั่งว่าอันสุดท้าย นี่มัน ๆ ความทุกข์ เอ่อ, มันเกิดอย่างนี้ ตรงที่มันเป็นเวทนา แล้วเป็นตัณหา เป็นอุปาทาน นั้นแหละคือกิเลส แล้วมันก็ ต่อจากนั้นมันก็เป็นทุกข์ ทีนี้ถ้าเรามีสตินะ ถ้าเรามีสติสมบูรณ์เพียงพอ อบรมสติไว้เพียงพอ อบรมญาณทัศนะไว้เพียงพอ คล่องแคล่ว มันจะตัดกระแสอันนี้เสียตรงที่ผัสสะ ถ้าเรามีสติปัญญา ฝึกฝนไว้ดีเพียงพอ คล่องแคล่ว มาเร็วทันในเวลาแห่งผัสสะ เรื่องมันเปลี่ยน
เอ้า, ก็ตั้งต้นกันใหม่สิ ตาถึงกันเข้ากับรูป แล้วเกิดจักษุวิญญาณ นี้อย่างเดียวกัน ๓ ประการทำงานร่วมกัน เรียกว่าผัสสะ เดี๋ยวนี้ในขณะแห่งผัสสะนั้นน่ะ สติมา ปัญญามา สติเอาปัญญามา เป็นผัสสะฉลาด ถ้าว่าสติไม่มา ปัญญาไม่มา เป็นผัสสะโง่ เป็นผัสสะบอด เป็นผัสสะหลับ นั่นเป็นผัสสะหลับนะ ทีนี้ถ้ามีสติ มีปัญญา มีวิชชา มาทันในขณะผัสสะ ผัสสะนี้กลายเป็นผัสสะตื่น ผัสสะสว่าง ผัสสะฉลาด ตรงนี้จะแยกทางกันเดิน ถ้าสติไม่มา มันเป็นผัสสะมืดบอด เอ้า, มันก็ไปฝ่ายที่เป็นทุกข์ ถ้าว่าสติมา ปัญญามา ผัสสะมันฉลาด มันลืมหูลืมตา มันไม่ไปฝ่ายนั้นน่ะ มันมาฝ่ายที่จะไม่เป็นทุกข์ อ่า, ฝ่ายที่เป็นทุกข์ก็พูดแล้วนี่ พอมันมีผัสสะ มันโง่ เกิดเวทนา ก็เวทนาโง่ สำหรับให้เกิดตัณหาอยาก แล้วก็ยึดถือ แล้วก็เป็นทุกข์ มันฝ่ายโง่ เดินไปโดยกระแสโง่ ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายโง่ ที่เป็นทุกข์
ทีนี้ถ้าว่ามันมีสติมา ปัญญามาทันในผัสสะ ผัสสะนั้นเป็นผัสสะฉลาด เป็นผัสสะลืมตา ไม่โง่ มันจึงเกิดเวทนาที่ไม่โง่ เวทนาที่ไม่หลอก เพราะมันมีสติปัญญาเข้าไปควบคุมเวทนา มันไม่ทำให้หลงรักหลงชังอะไรตามแบบของเวทนาโง่ มันจะบอกให้รู้ว่า อ้า, มันอย่างนี้นี่ ถ้าอร่อยก็สักว่าอร่อย นี้ไม่อร่อยก็สักว่าไม่อร่อยนี่ ไม่ทำให้เกิดสุขเกิดทุกข์ขึ้นมา เวทนาอย่างนี้เป็นเวทนาฉลาด บอกให้เห็น บอกให้เข้าใจเป็นอย่างไร ๆ ๆ ให้รู้ตามที่เป็นจริง ก็ไม่ไปหลงว่าสุขหรือทุกข์ ว่า ๆ หอมหรือเหม็น หรือ เอ่อ, คือว่าที่จะยินดีหรือยินร้าย
แม้จะรู้สึกว่าหอม ก็สักว่าหอมเท่านั้นหนอ ไม่เลยไปกว่านั้น เหม็น ก็สักว่าเหม็นเท่านั้นหนอ ถ้าเจ็บ ก็เจ็บเท่านั้นหนอ ไม่โกรธ ไม่เกิดกิเลส นี่มันเวทนาที่มีสติสัมปชัญญะควบคุม มันจึงเป็นเวทนาที่บอกให้เรารู้ว่า โอ้, มันสักว่าอย่างนั้นเท่านั้นหนอ ถ้ามันเป็นเวทนาโง่ มาจากผัสสะโง่ มัน ๆ บอกคนว่าเป็นน่ารัก น่าเกลียด น่าชัง น่ากลัว น่าได้ น่าให้รู้สุขหรือทุกข์ไปเลย มันก็หลงไปตามแบบนั้น มันก็ต้องไปหาความ ก็ต้องเกิดกิเลสและเกิดทุกข์
เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะมันมีวิชชา มีปัญญาเต็มที่ เมื่อเกิดเวทนาขึ้นก็รู้ว่าเป็นอย่างไร สวยมันก็สักว่าสวยเท่านั้นหนอ กูไม่ กูไม่รักมึง ไม่สวยก็ โอ้, มันอย่างนั้นเอง มันไม่สวย กูก็ไม่ได้เกลียด ๆ มึง ดังนั้นเวทนาที่มาจากผัสสะฉลาด ก็เป็นเวทนาฉลาด ไม่ให้เกิดยินดียินร้าย ซึ่งเรียกว่าอภิชฌาหรือโทมนัส ถ้าไปเกิดยินดีก็เรียกว่อภิชฌา เกิดยินร้ายก็เรียกว่าโทมนัส แล้วมันก็จะเป็นไปตามเวทนาโง่ เกิดตัณหาอุปาทาน เดี๋ยวนี้เป็นเวทนาฉลาด ที่สติสัมปชัญญะมันควบคุมอยู่ มันก็บอกแต่ว่า อย่างนี้เท่านั้นหนอ ๆ ๆ ก็ไม่เกิดตัณหานี่
ไม่เกิดตัณหา ก็ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดทุกข์ ไม่เกิดชาติ ไม่เกิดอะไรที่เป็นทุกข์ตามแบบที่ว่าเมื่อตะกี้ มันอยู่แค่เวทนา บอกรายงานตัวไว้ว่า อะไรเป็นอย่างไร ๆ แล้วสติปัญญามันก็มา ไม่ต้องเกิดตัณหา สติปัญญามันก็มาว่าควรจะทำอย่างไร เมื่อสิ่งนี้มันมาอยู่อย่างนี้ ต่อหน้าอยู่อย่างนี้ เราควรจะทำอย่างไร ควรจะจัดอย่างไรก็จัดไป ไม่ควรจัดอย่างไรก็ไม่ต้องจัด ก็ไม่ต้องทำอะไร ถ้าว่ามันเป็นเรื่องที่เราต้องจัดต้องทำ ก็ทำไปด้วยสติปัญญาเกี่ยวกับสิ่งนี้
ถ้าว่ามันจะต้องกิน ก็กินสิ สมมติว่าอาหารเคี้ยวเข้าไป มันอร่อย ก็อร่อยเท่านั้นหนอ แล้วก็พอกันที อย่าหลงรักในความอร่อย ถ้าไม่อร่อย ก็ไม่อร่อยเท่านั้นหนอ มันรสอย่างนี้เองหนอ ก็ไม่หลงเกลียดมัน ทางเสียง ทางรส ทางไอ้อะไรทุกอย่าง ก็เหมือนกัน มันสักว่าอย่างนั้นเท่านั้นหนอ นี่สติมี สติสัมปชัญญะมี มันจะเห็นว่า โอ้, มันเช่นนี้เองหนอ เช่นนี้เองหนอ เรื่องตา เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรื่องใจ เช่นนี้เองหนอ เท่านี้เองหนอ คำว่าหนอ มัน ๆ ๆ หมายถึงสติ เท่านั้นหนอนะ อย่า ๆ ถ้าหนอสั้น ๆ แล้วอาจจะไม่เข้าใจนะ คำว่าหนอนั้น มันคือเท่านั้นหนอ
ชอบแบบเดินหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ก็รู้ว่า นี่มันสักว่ายกขาขึ้นมาเท่านั้นหนอ ไม่มีกูนะ สักแต่ว่าการยกขาขึ้นมาเท่านั้น ไม่มีกูนะ ไม่มีกูผู้ยก ยื่นขาเหยียบย่างไปนี้ ก็สักว่าอาการที่มันย่างไปเท่านั้นหนอ ไม่ใช่กู ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู เหยียบลงก็เหมือนกัน มันก็สักว่าอาการเหยียบลงไปเท่านั้นหนอ อะไร ๆ ก็มันเติมคำว่าเท่านั้นหนอเข้าไป หอม มันก็สักว่ากลิ่นหอมเท่านั้นหนอ ไม่เลยไปถึงหลงรักกลิ่นหอม เหม็น มันก็กลิ่นนี้เหม็นเท่านั้นหนอ เท่านั้นหนอ แล้วก็ไม่ ๆ ได้โกรธ ไม่ได้กระวนกระวาย เรื่องทางหู ไพเราะ อ้อ, เสียงอย่างนี้เองเท่านั้นหนอไพเราะ เรียกว่าไพเราะ เสียงอย่างนี้เองเท่านั้นหนอเรียกว่าหนวกหู แล้วก็ไม่เป็นไรหยุดกันเลย ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องแค้น
สติมาทันโดยในรูปที่บอกให้รู้ว่า มันสักว่าเท่านั้นหนอ ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู ไม่ใช่กิริยาอาการของกู ไม่ได้มีตัวกูเข้าไปเจืออยู่ในนั้น นั่น ๆ แหละคือหนอ หนอนั้นคือความหมายของสติ เดี๋ยวนี้มีเวทนาเกิดขึ้น ถ้าสุขเวทนา ที่เขาเรียกกันว่าสุขเวทนา โอ้ย, มันคงรู้สึกเข้าอย่างนี้เท่านั้นหนอ ทุกขเวทนาไอ้ความรู้สึกอย่างนี้เท่านั้นหนอ มันก็มีแต่ความรู้สึกตามธรรมชาติ และเป็นอย่างนั้นเท่านั้นเองหนอ แล้วตัณหามันจะเกิดได้หรือ เวทนามันก็ไม่เกิดตัณหา เวทนาไม่ให้เกิดตัณหา เมื่อไม่มีตัณหาแล้วมันจะมีอุปาทานอย่างไรได้เล่า ภพ ชาติ ทุกข์ทั้งหลาย มันก็ไม่มีอย่างนี้เอง
นี่สติมันดีอย่างนี้ สติมาทันในกระแสแห่งการปรุงแต่งของปฏิจจสมุปบาทในวันหนึ่ง ๆ เมื่อเห็นรูปก็มีกระแสหนึ่ง เมื่อฟังเสียงก็กระแสหนึ่ง ดมกลิ่นกระแสหนึ่ง ลิ้มรสกระแสหนึ่ง สัมผัสผิวหนังกระแสหนึ่ง กระทั่งว่าจิตคิดนึกก็กระแสหนึ่ง มันจะมีการเกิดแห่งวิญญาณ แล้วจะเกิดผัสสะ แล้วเกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน ถ้ามันมีอวิชชา แต่ถ้ามันมีสติสัมปชัญญะมันตรงผัสสะ มันจะเปลี่ยนกระแสเป็นไม่เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน มันจะเกิดสติสัมปชัญญะ แล้วมันรู้ว่า อย่างนี้ ๆ ๆ ควรทำก็ทำ ไม่ควรทำก็ไม่ต้องทำ แล้วก็เลิกกัน กิเลสมันไม่เกิดสิ กิเลสไม่เกิดก็ไม่เพิ่มอนุสัย ไม่มีอนุสัยก็ไม่มีอาสวะที่จะไหลออกมา ดังนั้นเราอยู่อย่างที่ว่ามันไม่เพิ่มอนุสัย ก็ไม่มีอาสวะที่จะไหลออกมาเป็นกิเลสให้เลอะเทอะไปหมดอีก
นี่หลักพื้นฐานเป็นอย่างนี้ ทำไมเรียกว่าหลักพื้นฐาน พระพุทธเจ้าท่านเรียกของท่านอย่างนั้นนะ พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่านี่คืออาทิพรหมจรรย์ จุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ เธอจงศึกษา เธอจงเล่าเรียน เธอจงปฏิบัติ เรื่องนี้ผมก็เคยเล่าหลายหนแล้ว บาง แต่บางองค์อาจจะไม่เคยได้ยินก็ได้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าท่านอยู่พระองค์เดียว ไม่มีใคร ท่านคิดว่าท่านอยู่พระองค์เดียว ท่านก็ว่าสูตรนี้ขึ้นมา สูตรปฏิจจสมุปบาทอย่างที่พูดนี้ ท่าน พระพุทธเจ้าท่านยัง พระพุทธเจ้าท่านยังท่องนะ ไม่ใช่ว่าท่านจะท่องเรียน ไมใช่ ท่านท่องตามสะ ๆ เป็นสบายสะดวกของท่าน เหมือนกับว่าคนมันอยากจะให้ปากทำงานบ้าง ร้องเพลงเล่นอะไรอย่างนี้
เมื่อพระพุทธเจ้าท่านประทับอยู่องค์เดียว ท่านก็ท่อง ที่จริงไม่มีความจำเป็นที่ท่านจะต้องท่อง แต่เพราะสิ่งนี้มันเคยชินกับท่านเหลือเกิน ท่านโปรดปรานมากมาตั้งแต่ครั้งตรัสรู้นู่น เพราะเมื่อตรัสรู้ก็ตรัสรู้เรื่องนี้ มันฝังแน่นอยู่ตลอดเวลา แล้วมันหลุดออกมาโดยไม่ต้องเจตนาก็ได้ ปาก พระโอษฐ์ของท่านก็ตรัสออกไป นั่งอยู่คนเดียวว่า จกฺขฺุจ ปฏิจฺจ รูเป จ อุปฺปชฺชติ วิฺาณ ติณฺณ ธมฺมานํ สงฺคติ ผสฺโส ผสฺสปจฺจยา เวทนา เวทนาปจฺจยา ตณฺหา ตณฺหาปจฺจยา อุปาทาน อุปาทานปจฺจยา ภโว ภวปจฺจยา ชาติ ชาติปจฺจยา ชรามรณ โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา จนกระทั่งว่า เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺข สมุทโย โหติ เรื่องตาจบ
แล้วก็ท่านกระทั่ง ท่านก็ท่องเรื่องหูแบบเดียวกันกับเรื่องตา ท่อง ๆ ไปตามลำดับทั้ง ๖ อายตนะ แต่จะท่าน เอ่อ, วันนั้นท่านจะท่องจบทั้ง ๖ หรือไม่ ก็ไม่ทราบ เผอิญท่านไปเหลียวไปเห็นภิกษุองค์หนึ่ง มันมาแอบอยู่ข้างหลัง อยู่ทางด้านหลัง ภิกษุนั้นเข้ามาเงียบ ๆ มาแอบอยู่ข้างหลัง เมื่อพระพุทธเจ้ากำลังจะสาธยายนี้ พระพุทธเจ้าก็ เอ้า, ดีแล้ว แกมาดีแล้ว แกมาดีแล้ว นี่แหละคืออาทิพรหมจรรย์ จงศึกษา จงเล่าเรียน จงปฏิบัติ เอาไป ๆ ๆ พระองค์นั้นก็เอาหลักสูตรนี้ไปปฏิบัติ เมื่อเกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ แล้วก็ให้หยุดได้ เพราะมันมีหลักอย่างนี้ เอ่อ, มันมีหลักอย่างนี้ที่จะไปเกิดทุกข์
ดังนั้นมีสติให้เพียงพอเสียที่ผัสสะ ก็ไม่ให้เกิดเวทนาโง่ ไม่ให้เกิดเวทนายั่วยวน ตัณหาก็ไม่มี อุปาทานก็ไม่มี เราก็ไม่มีทุกข์ ปรกติ ทำงานต่อไป ทำงานอะไรที่ควรทำงานต่อไป นี่เรียกว่าสติมีประโยชน์เหลือเกิน ที่จะหยุดเสียซึ่งกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท แล้วก็หยุดเสียในขณะที่เรียกว่าผัสสะนั้นเอง อายตนะภายในถึงกันเข้ากับอายตนะภายนอก เกิดวิญญาณขึ้นมา นี่เป็น ๓ อย่างแล้ว ๓ อย่างมาทำงานร่วมกันในกรณีนั้น นั่นเราเรียกว่าผัสสะแล้ว ตรงนี้สติสัมปชัญญะต้องมาทันเวลา มาอย่างกับสายฟ้าแลบ ถ้าเราไม่ได้หัดไว้อย่างคล่องแคล่ว มันก็ไม่มาล่ะ มันมาไม่ทันล่ะ ถ้ามาไม่ทัน มันก็ไม่มี ๆ ความหมายอะไร ให้มีความรู้ท่วมหัว แต่ถ้ามันมาไม่ทัน เป็นสติมาไม่ทัน มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ดังนั้นเราต้องมีสติเหมือนกับขนส่งเร็วที่สุด เอาปัญญาเอาวิชชาอะไรมาทันในเวลานั้น เพื่อควบคุมผัสสะ ควบคุมเวทนา
ทีนี้ทำไมเราจึงจะ ทำอย่างไรเราจึงจะมีสติรวดเร็วเห็นปานนั้น เราต้องฝึกมันสิ ดังนั้นคุณก็ฝึกสติให้เต็มที่ ให้หนอมัน ๑๐๐ เปอร์เซนต์สิ มันสักว่าเท่านั้นเองหนอ ย่าง เหยียบ ยก อะไรก็ตามเถิด แม้จะกิน จะเคี้ยว จะอาบ จะถ่าย จะ ทุก ๆ คำของคำว่าสัมปชัญญะ ฝึกสติมากเข้าไว้ ๆ ๆ ก็จะเป็นคนมีสติสมบูรณ์ด้วย เร็วด้วย คล่องแคล่วด้วย พอมีปัญหาเกิดขึ้น สติก็มาทันเสมอ ถ้าเราฝึกให้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์แล้วก็มันจะมาทันในขณะแห่งผัสสะ แล้วมันจะหยุดกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดทุกข์ อนุสัยจะลดลง ๆ อาสวะจะสิ้นไป
ดังนั้นสมาธิภาวนาประเภทที่ ๓ สมบูรณ์แห่งสติสัมปชัญญะนั่น ที่ในพระบาลีนั้นโดยตรง ท่านระบุไว้ว่า การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แห่งเวทนา สัญญา และวิตก มันก็ทำเดียวทำนองเดียวกันแหละ แต่มันไม่ได้ ๆ มีคำว่าหนอหรอกในพระบาลี รู้สึก กำหนด เฝ้าดูอยู่ เอ่อ, เวทนาเกิดขึ้นอย่างไร เวทนาเปลี่ยนไปอย่างไร เวทนาดับลงไปอย่างไร อ่า, เวทนา เวทนาหนอ เวทนาหนอ เวทนาเกิดขึ้นแล้วหนอ เวทนาเกิดขึ้นแล้วหนอ เวทนาเปลี่ยนไปหนอ เวทนาดับลงหนอ ก็ได้เหมือนกัน ให้มันเป็นเรื่องของสติก็แล้วกัน จนกระทั่งรู้รวดเร็วคล่องแคล่ว การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แห่งเวทนาอย่างว่านี้ แล้วก็สัญญา แล้วก็วิตก
ตามธรรมดาคนเราพอเกิดเวทนา เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว มันก็มั่นหมายด้วยสัญญา สัญญามั่นหมายว่าอย่างนั้น ๆ ๆ เช่นเกิดเวทนาเป็นสุขเวทนา มันก็มั่นหมายว่าสุข ๆ ๆ ๆ ๆ สุขหนอ สุขสัญญาขึ้นมา ทุกขสัญญา สุขสัญญา อะไรก็ตาม อิตถีสัญญา ปุริสสัญญาอะไร แล้วแต่เวทนาอะไรมากระทบ มันก็เกิดสัญญา ทีนี้มันพอมันสัญญาที่แล้ว มันก็เกิดความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งไปตามอำนาจของสัญญานั้น เช่นสัญญาว่าสุข มันก็มีความคิดที่จะเอาความสุข จะหาความสุข จะ อ่า, อะไรความสุข ทุกเรื่องมันจะมีสัญญาขึ้นมาก่อน แล้วจะมีวิตกตริตรึกไปตามสัญญานั้นว่า เขาจะอยากได้อะไร เขาจะทำอะไร
๓ สิ่งนี้สำคัญมาก ในพระบาลีมีเอ่ยถึงมากเหลือเกินว่า จะต้องรู้สึก รู้จัก และควบคุมให้ได้ เวทนา สัญญา และวิตก ถ้าทำอยู่อย่างนี้ สติสัมปชัญญะจะสมบูรณ์ เมื่อเป็นผู้มีนิสัยสันดาน มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์แล้ว ก็ไม่ต้องกลัว สติสัมปชัญญะจะแล่นมาทันเวลาในขณะแห่งผัสสะ ควบคุมผัสสะ ไม่เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ เรื่องมันมีเท่านี้
ดังนั้นการที่เราพอมาถึงก็ลงทุนฝึกสติ แต่บางคนไม่รู้ว่าฝึกไปทำไม เหมา ๆ ว่า ฝึกก็ดีก็แล้วกัน เขาก็ฝึกกันทุกคน แล้วก็ว่า นี่วิปัสสนา ก็ฝึกสติ ๆ โดยไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้อะไร สร้างปืนผาหน้าไม้กันใหญ่ แล้วไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้อะไร นี่มันก็น่าหัว เราฝึกสติเหมือนกับสร้างอาวุธ ที่เอาไปจัดการกับเวทนา ตัณหา ดังนั้นฝึกให้ดี มีเวลาเมื่อไร เท่าไร อย่างไร ฝึกสติให้ดี ให้คล่องแคล่วที่สุด ทันกับสายฟ้าแลบ พอกระทบทางตา ทางหู เป็นต้น แล้วไอ้สติมาถึงทันทีเลย สติมาถึงทันทีเลยก็จบ เป็นผู้มีสติสมบูรณ์อย่างนี้ กิเลสไม่มีทางเกิด กิเลสขาดอาหาร ไม่สร้างอนุสัย ก็หมดไปจากสันดาน
นี่วันนี้เราพูดกันเรื่องสมาธิภาวนาอย่างที่ ๒ คือญาณทัศนะอันเป็นทิพย์ หูทิพย์ ตาทิพย์ ไม่เอา ไม่พูด ไม่ต้องพูด แล้วก็สมาธิภาวนาอย่างที่ ๓ คือสมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ มีสติเพียงพอทุกคราวที่มีสัญญา เวทนา วิตก สติเพียงพอแล้ว ก็มาใช้ในสมาธิภาวนาอันที่ ๓ คือทำอาสวะให้สิ้น คือควบคุมกระแสแห่งการเกิดของกิเลสและความทุกข์ได้โดยนัยแห่งปฏิจจสมุปบาท ก็ไม่เกิดกิเลส ก็ไม่มีอนุสัย ก็ไม่มีอาสวะ อาสวะก็สิ้นไป เรื่องของเรื่องมันก็จบ
นี่เราพูดต่อจากเมื่อคืน เป็นครบสมาธิภาวนาทั้ง ๓ อย่างแล้ว แล้วก็มีเครื่องช่วยกำกับอีกอย่างหนึ่งว่า มันต้องรู้ธรรมชาติของจิตว่า จิตนี้เป็นประภัสสรอยู่ตามธรรมชาติ แต่ยังเปิดโอกาสให้อุปกิเลสจรเข้ามา ถ้าเรารู้ความจริงข้อนี้ เราจะมีแก่ใจอยากจะฝึกสมาธิภาวนา จะอบรมจิต ก็คืออบรมด้วยสติ เมื่อสติมีแล้ว ไม่มีอุปกิเลสไหนจะจรเข้ามาครอบงำจิตได้ ก็ไม่มีกิเลสไหนมาจรมาครอบงำจิตประภัสสรนั้นได้ จิตนั้นก็ประภัสสรตลอดไป เรื่องมันก็จบเหมือนกัน
และผมเห็นว่า การบรรยายนี้สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการบรรยายด้วยความหวังว่า ท่านทั้งหลายคงจะเห็นทิศทางสว่างไสวแจ่มแจ้งว่า มันเป็นอย่างไร มันจะไปทางไหน จะต้องทำกันอย่างไร ไปทางไหน ก็จะได้มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในสมาธิภาวนาหรือในจิตตภาวนา โดยสมควรแก่เอ โอกาสและเวลาอยู่ทุกทิวาราตรีกาลเทอญ เอ้า, ยุติการบรรยายไว้เพียงเท่านี้