แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
….ดูจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่เราจะพูดกันในแบบผู้ลาสิกขา ผู้จะลาสิกขาวันนี้อีกครั้งหนึ่ง พรุ่งนี้ มะรืนนี้ก็ไม่มีโอกาส
ขอให้สังเกตการพูดทุกครั้งที่แล้วมา คือ มีลักษณะพิเศษในการพูดนั้นที่ต้องการให้เป็น สันทิฏฐิโก เป็นส่วนใหญ่ เพียงแต่เรียนแล้วจดไปนี้ไม่ได้ประโยชน์ ต้องให้ได้ไปเรียนอีกครั้งหนึ่ง คือ เรียนจากตัวจริง จากเรื่องจริง จากคนจริง จากร่างกายจริง จากจิตใจจริง จาก กิเลส จริง จากความทุกข์จริง แล้วคุณก็จะรู้ ฉะนั้นก็ขอให้พยายามกำหนดข้อนี้ไว้ให้ดี เพื่อที่จะเอาไปใช้ ปฎิบัติในอนาคต เพื่อจะไปเรียนไอ้สิ่งที่มีอยู่ในหนังสือ ในตำรา หรือที่เราจดๆไปใหม่อีกครั้งหนึ่ง คือ เรียนจากสิ่งนั้นโดยตรง เป็นการเรียนเรื่องเดียวกันนั่นแหละ แต่ว่าเป็นการเรียนครั้งที่ ๒ คือ เรียนจากตัวสิ่งนั้นจริงๆ อย่างที่เรียกว่า สันทิฏฐิโก ตัวอย่างเช่น เราเรียนว่า กิเลส มี ๓ คือโลภะ โทสะ โมหะ เราได้ยินชื่อ จดจำไว้ได้ ท่องไว้ได้ ได้รับคำอธิบายบ้างตามสมควรว่าความอยาก ว่าความโกรธ ว่าความหลง มันก็ผิวเผินทั้งนั้นแหละ ไปเรียนกันเมื่อมีความอยากจริงๆ มีความโกรธจริงๆ มีความหลงจริงๆ เมื่อมีความอยาก ความต้องการ ด้วย อวิชชา แล้วเรียกว่า อยาก หรือต้องการด้วยความโง่ จึงจะเรียกว่า ความโลภ ก็คือ ตัณหา หรือ ราคะ มันต้องทำไปด้วยความโง่จึงจะเรียกมันว่า ตัณหา หรือ ราคะ หรือโลภะ ถ้าความอยากหรือความต้องการที่ทำไปด้วย ปัญญา ด้วย วิชชา ด้วย ญาณทัสสนะนี้ไม่ใช่ ไม่ใช่ กิเลส ไม่ใช่ความโลภ หรือ ราคะ หรือ ตัณหา นี่ มันเป็นอย่างนี้ แต่ที่อื่นก็อาจจะอธิบายอย่างอื่นนะ คุณก็รู้ว่าที่อื่นก็อาจจะอธิบายอย่างอื่น เช่น อธิบายว่าถ้ามันเป็นความอยาก ความต้องการ แล้วมันก็เป็นความโลภ เป็น ตัณหาไปหมด เราบอกว่าไม่ใช่อย่างนั้น ต้องเป็นอยากด้วยความ โง่ ต้องการด้วยความโง่ จึงจะเป็น กิเลส เป็น ตัณหา เป็น ราคะ เป็น โลภะ
ทีนี้ ต่อไปนี้ มันก็จะมีความอยาก หรือต้องการอะไรด้วยความโง่ ทีนี้จะต้องเรียนกัน ต้องศึกษา ต้องเรียนกันให้รู้จักจริงๆ ความไม่ชอบใจ โกรธ ด้วยอำนาจของความโง่หรือ อวิชชา นั้นจึงจะเรียกว่าโทสะ คือ มันเป็นทุกข์ ที่ไม่ชอบใจ แต่มี ญาณ มี สติ มีอะไรรู้สึกอยู่ ไม่ต้องเป็นทุกข์ สิ่งที่ไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ มันก็ไม่ต้องรัก ไม่ต้องพอใจ ก็ไม่เรียกว่า กิเลส ส่วน โมหะ ความหลงนั้นเป็นความ โง่ อยู่เต็มตัว ฉะนั้นเมื่อความโง่มันทำงานอะไรไปนั้นก็คือ ความหลง เมื่อรู้จักตัว กิเลส นี้กันจริงๆอย่างนี้ การละ กิเลส ก็เป็นสิ่งที่หวังได้ ถ้าไม่อย่างนั้นมันไม่ละหรอก เพราะมันไม่รู้จักตัว กิเลส แล้วมันจะไปละอะไร นี่ ว่าฝ่ายข้าง กิเลส กัน
ทีนี้ ฝ่ายข้าง ธรรมะ ที่จะกำจัด กิเลส ก็อย่างเดียวกันอีก-ต้องไปศึกษาเมื่อมันมีขึ้นมา เช่น มี ศีล มี สมาธิ มี ปัญญา มีอะไรก็ต้องมีจริงๆและรู้จักมัน หรือพยายามให้มันมีขึ้นมาแล้วเราก็รู้จักมันมากขึ้น รู้จัก ศีล รู้จัก ลักษณะของศีล รู้จัก รสของศีล – อานิสงค์ของศีล มากขึ้น มากขึ้น จนเป็น ศีลที่มีอยู่ในใจ ไม่ใช่ศีลที่มีอยู่ในกระดาษ หรือในสมุด แต่ในที่สุดมันเป็นเรื่องเดียวกันแหละ ไอ้เรื่อง ศีล ที่เราเคยศึกษาอย่างในกระดาษ ในตำรามันก็จะเป็นเรื่องเดียวกันกับ ศีล ที่เรามารู้จักมันจริงๆโดยตรงในภายหลังนี้ สมาธิ ให้ต้องรู้ เมื่อมันมี สมาธิ จิตเป็น สมาธิ หลายระดับ สมาธิ นี้มีหลายระดับ ทุกระดับเราต้องมีจึงจะรู้จักมัน สมาธิ ที่สูงขึ้นไป ละเอียดขึ้นไปก็ไม่ค่อยจะได้รู้จักหรอกเพราะทำไม่ได้ ทีนี้ ลดลงมาถึง สมาธิ ที่ไม่ต้องทำ สมาธิ ตามธรรมชาตินั้นก็ควรจะรู้จัก ผมอยากจะพูดว่า พวกคุณไม่เคยสนใจใน สมาธิ ตามธรรมชาติที่ควรจะรู้จักได้ พวกคุณก็ไม่เคยสนใจ และก็ได้ใช้มันแล้วด้วย ได้ใช้มันเป็นประโยชน์แล้วด้วยและก็ไม่สนใจ สมาธิ ตามธรรมชาติมันมีอยู่พอดี พอดี และมีโดยอัตโนมัติ คนทุกคนมันต้องมี สมาธิ ชนิดนี้ทั้งนั้นแหละมันจึงจะทำอะไรได้ เอาที่เล่นสนุกกันดีกว่า ที่เล่นสนุก อย่างว่าเราเด็กๆเล่นหยอดหลุม เล่นทอยกอง มันโยนลงหลุมได้ก็ สมาธิ ทั้งนั้นแหละ แต่มันไม่เคยเรียนเรื่อง สมาธิ มันไม่รู้ว่านี่คือ สมาธิ เพราะมันเป็น สมาธิ ตามธรรมชาติ สมาธิ โดยอัตโนมัติ หรือว่าเราจะขว้างแม่น โยนของให้ถูกของ หรือแม้แต่จะยิงหนังสติ๊กนี้ พอลงมือทำ สมาธิ ตามธรรมชาติเกิดเองโดยอัตโนมัติ และก็มันมีประโยชน์เต็มตามหน้าที่ของมัน แล้วก็เลิกกัน ไม่มีใครเคยเรียกว่า สมาธิ อะไร เด็กคนไหนทอยกอง หยอดหลุม ขว้างแม่น ยิงหนังสติ๊กอะไรแม่นนั้นมันมี สมาธิ ตามธรรมชาติ เราก็ไม่เคยสนใจกับมัน เพราะฉะนั้น ผมจึงว่า ทุกอย่างนั้นเราไปสนใจจนรู้จัก มันมีความจำเป็นที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องมี สมาธิ ไม่เช่นนั้นมันก็ทำอะไรไปไม่ได้เหมือนกัน มันอยู่ไปไม่ได้ แต่มันชั้นน้อยๆ ชั้นน้อยๆ เช่น เราจะเห็นค่างกระโดดได้ไกลอย่างแม่นยำนี้ มันก็มี สมาธิ ของมันตามธรรมชาติ อบรมกันขึ้นมาโดยธรรมชาติ โดยไม่รู้สึกตัว แม้แต่ว่าเราจะตี จะฟาด จะฟัด จะตัดด้วยมีด จะผ่าฟืนก็ต้องด้วย สมาธิ ตามธรรมชาติทั้งนั้น ไม่เช่นนั้นมันทำไม่ได้มันจะไม่สำเร็จประโยชน์เลย ซึ่งเราไม่รู้จักสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติว่าจำเป็นที่สุด แล้วต่อมานี้เขาจึงเอามาปรับปรุงให้เป็นระดับที่ดีกว่าธรรมชาติ พวกฟันดาบ พวกยิงศร พวกอะไรของนักรบญี่ปุ่น เขาให้ฝึก สมาธิ จนอาจารย์พอใจก่อนทั้งนั้นแหละ จึงให้ไปเป็นนักยิงศร นักฟันดาบ อะไรต่างๆมันจะใช้แต่กำลังของ สมาธิ ตามธรรมชาติถึงที่สุด
ทีนี้ พูดถึง ปัญญา กันบ้าง ความฉลาด-รู้สิ่งที่ควรจะรู้ ความฉลาดนั้นมันก็เกิดอยู่ตามธรรมชาติ พอเกิดมาจากท้องแม่มันก็เหมือนกับอบรม ปัญญา มาโดยอัตโนมัติอยู่ทุกเวลา ตลอดเวลาจนกว่าจะเติบโต เพราะว่าการสัมผัสแต่ละครั้ง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อะไร แต่ละอย่าง แต่ละครั้งนั้นเป็นการศึกษาทั้งนั้น เมื่อเด็กเห็นอะไรก็เป็นการศึกษา เด็กได้ยินอะไรก็เป็นการศึกษา ได้กิน ได้ลิ้ม ได้รส ได้ไปจับ ได้ไปสัมผัส ได้ไปจับเอาไฟเข้าก็เป็นการศึกษา ได้อาบน้ำก็เย็นสบายก็เป็นการศึกษา ไปจับเอาไฟเข้า มันก็ร้อนมันก็รู้ นี่เรียกว่า ปัญญา มันก็เกิดขึ้นตามธรรมชาติตลอดเวลา จนกว่าจะโตมันก็รู้จักทำอะไรได้มาก แต่ทีนี้ไม่พอที่จะรู้เรื่องอันละเอียดที่มันซ่อนเร้น ที่มันลึกลับ เช่น เรื่องของ กิเลส เรื่องของ อวิชชา หรือเรื่องของสิ่งตรงกันข้ามกับ อวิชชา นี่มันยังไม่รู้จึงแก้ปัญหาไม่ได้ รู้แต่ว่าอันนี้ทุกข์ผิวๆ เช่น ร้อน ไปจับไฟเข้าก็ร้อนทีหลังก็ไม่จับ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องทางวัตถุเสียโดยมากในเรื่องของ ปัญญา เรื่องสลับซับซ้อนในทางจิตใจเขาทำไม่เป็น ทำไม่ได้ ไม่ได้ฝึก จนกว่าจะได้มารับการศึกษาอบรมเล่าเรียนโดยเฉพาะนี้ มันจึงจะเกิดการผลิต ปัญญา ในระดับละเอียด ลึก จนกระทั่งลึกขนาดที่จะดับทุกข์ได้ตามหลักพระพุทธศาสนานี้ ปัญญา นี้ เป็น ปัญญา ในระดับละเอียดอ่อน สูงสุด ลึกซึ้ง สติปัญญา หาใส่ปาก ใส่ท้องนี้เขาก็ทำกันมาได้ หรือแม้แต่ว่าละเอียดอ่อนเป็นศิลปะ เขาก็ทำกันมาแล้วแต่โบร่ำ โบราณ เป็นพันๆปีหรือหมื่นปีก็รู้จักทำ ปัญญา ชนิดนั้น แต่อย่าลืมว่า ปัญญา ชนิดนั้น คือ รากฐานของ ปัญญา ชนิดนี้ - ปัญญา ที่จะใช้ตัด กิเลส
ทีนี้ มันมีสิ่งที่ปิดบัง ปัญญา มันก็ฝ่าย กิเลส นั่นแหละ มันตรงกันข้าม เขาจัด กิเลส ไว้ตรงกันข้ามกับ โพธิ โพธิ คือ ปัญญา ซีกหนึ่งเป็น โพธิ เป็นฝ่าย ปัญญา ซีกหนึ่งเป็น กิเลส คือ ฝ่ายความโง่ ความมืด ความหลง มันเป็นข้าศึกแก่กันและกัน ในเมื่อ กิเลส มันมาก่อน มันได้เปรียบ โพธิ มันก็พ่ายแพ้ หรือไม่สามารถจะทำหน้าที่ เช่น คนจูบกันนี้ ทำไมไม่นึกว่า มันสูบของสกปรกจากเนื้อของอีกคนหนึ่งเข้าไปล่ะ ทำไมจึงไม่รู้? ทำไมจึงไม่รู้สึก? ไอ้ผิวหนังของคนนั้นมันกร่อน คือ สิ้นอายุ กร่อนเป็นผงละเอียดเล็กๆ ถ้าจะดูด้วยตาไม่เห็นหรอกอยู่ตลอดเวลาแหละ ไม่ว่าผิวหนังที่ตรงไหน เมื่อเราสบัดผ้า สบัดเสื่อ อะไรก็ตามให้เห็น เมื่อมีแดดส่องทวนมา ทวนแสง จะเห็นฝุ่นละอองฟุ้ง ละเอียดมาก ซึ่งถ้าไม่มีแสงแดดจะมองไม่เห็น ในฝุ่นอันละเอียดเหล่านั้น ปรากฎว่าเมื่อเอามาขยายดูให้รู้ว่าเป็นอะไร ว่ามันเป็นอะไรนั้น เขาบอกว่า ส่วนมากที่สุดตั้ง ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ คือ ผิวหนังของเราเอง ผิวหนังที่แห้งตาย หลุด กร่อน ละเอียดเป็นฝุ่น พอมีความกระเทือนหรือลมพัดมันก็ลอยขึ้นมา อันอื่นก็มี มีสารพัดอย่างแหละในฝุ่นที่มันปลิวขึ้นมา เมื่อเราสบัดผ้า สบัดเสื่อ สบัดอะไรก็ตามในฝุ่นนั้นเอามาดู จะมีครบทุกอย่าง แม้แต่เศษอาหาร แต่ว่าที่มากที่สุด คือ ผิวหนังแห้งของมนุษย์นั่นเอง นี่แสดงว่าผิวหนังมันกร่อนผุอยู่ตลอดเวลา ทำไมเมื่อคนจูบกันจึงไม่รู้ว่านี่เรามันสูดของสกปรก เหงื่อไคล ผิวหนังแห้งนั้นเข้าไป? ทำไมจึงไม่รู้สึกแล้วมันขยะแขยง? มันทำไปด้วยความหลง เรียกว่าฝ่าย กิเลส มันชนะนั่นอง ฝ่าย กิเลส มันชนะ มันเลยปิดบัง โพธิ ไม่เห็นว่านี่สกปรก มันก็เลยจูบกันใหญ่เห็นไหม? ก็มันโง่ได้กันถึงขนาดนี้ เมื่อ กิเลส มันครอบงำแล้วมันก็ไม่ต้องดูอะไร มันก็ดูไม่เห็นด้วย กิจกรรมทางเพศนั้น ต้องใช้อวัยวะตรงที่สกปรกและปฏิกูลที่สุดกระทำนั้น ทำไมไม่มองเห็นเล่า? กิจกรรมระหว่างเพศต้องใช้อวัยวะส่วนของร่างกายที่สกปรกที่สุด ปฏิกูลที่สุดเพื่อกิจกรรมนั้นๆ ทำไมไม่มองเห็นว่านี่มันของสกปรก? เพราะว่า กิเลส มันได้เปรียบ มันปิดบัง คนจึงลุ่มหลงไอ้เรื่องเพศรส แล้วก็ทำกันอย่างน่าขยะแขยง คล้ายกับว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่มีความปฏิกูลเลย อ่านหนังสือภาพหรือข่าวที่เขาลงแล้วรู้สึกขยะแขยงจนไม่รู้ว่าจะรู้สึกอย่างไร แต่แล้วทำไมคนเหล่านั้นเขาไม่รู้สึก? เพราะว่า กิเลส นี้กำลังครองหัวใจ เห็นตรงกันข้ามจาก โพธิ เพราะฉะนั้น จึงอาศัยกำลังของ กิเลส ให้ทำสิ่งปฏิกูลสกปรกเหล่านั้นได้ นี่ คุณสึกออกไปคราวนี้คุณจะต้องไปลองดู ว่ามันไปทำสิ่งสกปรกปฏิกูลนี้ได้อย่างไรกัน? พูดเท่านี้ก็จะฟังถูกแล้วว่าอวัยวะส่วนที่สกปรกปฏิกูลที่สุดของร่างกาย กลายเป็นที่แสวงหาของเพศรสสูงสุด บูชากันอย่างยิ่ง จนจัดกันในขนบธรรมเนียม ประเพณี ที่จะต้องใช้เงินมากในพิธีรีตองการแต่งงาน การสมรสใช้เงินมาก เพราะก็พอๆกับความโง่ มากพอๆกับความโง่ความโง่มากก็ต้องใช้เงินมาก เพราะฉะนั้น เราทำไมจึงไม่มองเห็น? คุณต้องตั้งปัญหาถามขึ้นมาสิ ทำไมจึงไม่เกิด สันทิฏฐิโก มองเห็นว่านี่สกปรกที่สุด? แล้วมันกลายเป็นสิ่งที่บูชา ต้องการกันอย่างยิ่ง ทำของสกปรกอยู่แท้ๆมันก็ไม่รู้สึกว่าสกปรก หรือปฏิกูล เพราะว่าเราไม่มี ปัญญา ที่ได้อบรมมาอย่างเหมาะสมสำหรับจะรู้สึก อย่าให้ต้องโทษพ่อแม่ ครูบาอาจารย์เลยว่าไม่ได้สอนมาในลักษณะที่จะให้รู้สึกที่จะต่อต้านได้ ทีนี้ ถ้าจะสอนมันก็ไม่ได้ผลตามที่สอน มันได้ผลตรงกันข้ามไปเสียอีก การสอนเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียนนี้ ผมรู้สึกว่าไม่ได้ผลตามที่ต้องการ คือไม่ได้ทำให้เด็กรู้เรื่องเพศจนควบคุมจิต คือ มีสติสัมปชัญญะที่จะยับยั้งได้เลย มันยิ่งทำให้เร็วขึ้น อยากจะลองเร็วขึ้น มันจะชวนให้ชิงสุกก่อนห่ามเสียมากกว่า นี่ ฝากไว้ไปสังเกตดูด้วยเผื่อว่าบางคนจะไปเป็นครูด้วยซ้ำไป ไปสอนเพศศึกษาในโรงเรียน แม้ว่าครูนั้นมีเจตนาแท้จริงที่จะสอนเป็นการศึกษาในแง่ของอนามัยก็ดี ในแง่ของศีลธรรมก็ดี ในแง่บังคับความรู้สึกอะไรก็ดี แต่เด็กเขาไม่รับเอาในความหมายส่วนนั้น ไปรับเอาในความหมายส่วนเพศหมด ส่วนที่เกี่ยวกับเพศ
สอนเรื่องการผสมพันธุ์ การสืบพันธุ์ การตั้งครรภ์อะไร สอนยิ่งกว่าที่จะไปเป็นนางผดุงครรภ์เสียอีก สอนละเอียดจนเป็นนางผดุงครรภ์ก็ได้หรือเกินกว่าเสียอีก แต่ว่าเด็กเขาจะไม่รับไว้ในส่วนที่เป็นวิชาความรู้ เขาจะรับไว้แต่ในส่วนที่เป็นความหมายทางเพศ มันไม่ได้ผลหรอกที่จะให้เด็ก ที่จะให้นักเรียนนี้รู้จักยับยั้งชั่งใจ มีสติสัมปชัญญะควบคุมความรู้สึกทางเพศ เพราะฉะนั้น ยิ่งสอนเพศศึกษาในโรงเรียน ยิ่งทำให้นักเรียนในโรงเรียนนั้นชิงสุกก่อนห่ามมากกว่าโรงเรียนอื่น มันก็ไม่รู้จะไปโทษใครเหมือนกัน ขนบธรรมเนียม ประเพณีโบราณเขาก็ทำไว้ดี เขาไม่ไปโง่กว่าเด็ก เขาสอนโดยวิธีอื่นที่ให้มันกลัวบาป กลัวกรรม กลัวอะไรไปตามเรื่องที่จะให้ควบคุมบความรู้สึกทางเพศ ไม่ไปสอนเรื่องเพศโดยตรงเหมือนยุให้ไปชิงสุกก่อนห่ามกันหมด นี่ ก็คือความผิดพลาดของมนุษย์เกือบจะทุกเรื่อง ทำให้มนุษย์ไม่สามารถจะใช้ ปัญญา ที่มีอยู่ตามธรรมชาติให้แก้ปัญหา หรือว่าให้เจริญก้าวหน้าสูงขึ้นไปได้
ผมอยากจะเล่าเรื่องที่ผมพูดในวิทยุในคราวนี้ คือ เรื่องจันทโครพกินขี้ คุณเคยดูไหมยี่เก? ยี่เกมันแสดงเรื่องจันทโครพตอนที่เปิดผอบให้นางนั่นกลางป่า กลางทาง ฤาษีสั่งไม่ให้ไปเปิดกลางทาง แต่จันทโครพเขาก็ดื้อ เขาสั่งไม่ให้เปิดกลางทางมันก็เปิดกลางทาง นี่ ยี่เกที่ผมเคยดูเมื่อเป็นเด็กๆนั้น นางเอก-นางโมราก็เล่นตัว คือ ไม่รัก แล้วก็ให้จันทโครพทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ทำทุกอย่าง จนกระทั่งขั้นสุดท้าย ให้จันทโครพกินขี้ จันทโครพก็ยอม เด็กๆทั้งโรงมันร้องกันลั่นไปหมดว่าจันทโครพกินขี้ แม้แต่คนโตๆคนผู้ใหญ่ก็พูดกันได้ว่าจันทโครพกินขี้ ไม่มีใครสักคนหนึ่งที่หน้าเศร้า หน้าซีดว่า แหม! มันโง่ขนาดนี้หรือว่ามันหลงขนาดนี้! ไม่มีใครรู้สึกอย่างนั้น ไม่มีใครรู้สึกว่าคนเรามันได้หลงได้ขนาดนี้ มันโง่เง่าได้ขนาดนี้ มันทำได้ถึงอย่างนี้เพราะอำนาจความโง่ หรือ กิเลส หรือความรัก ไม่มีใครนึก เอ็ดตะโรกันแต่ว่า กินขี้ จันทโครพกินขี้ แล้วก็เดินท่องกันมาอย่างนั้น ยี่เกเลิกแล้ว กลับบ้านกันแล้ว เดินมาตามถนนมันก็ยังร้องตะโกนอย่างนี้ คนที่ไม่เคยไปดูยี่เกที่นอนอยู่ที่บ้านนั้น ก็ยังรู้ว่ายี่เกที่วัดมันแสดงเรื่องจันทโรพกินขี้ เพราะเด็กๆมันตะโกนกันมาตลอดทาง นี่ ดูไอ้ความโง่ของคนเรา มันไปสนใจแต่เรื่องจันทโครพกินขี้ แล้วไม่สนใจว่า ไอ้มนุษย์เรานี่ถ้ามันโง่ ถ้ามันหลงรักแล้วมันโง่มันทำได้ถึงอย่างนี้ นี่ มันไม่มีใครรู้สึกอย่างนั้น ถ้ามันคิดสักนิดมันก็ควรจะรู้สึกได้นะ เด็กก็ตาม ผู้ใหญ่ก็ตาม ถ้ามันคิดสักนิดมันก็ควรจะรู้สึกได้ว่า แหม! ไอ้คนเรานี้ถ้าว่า กิเลส ครอบงำ ความรักครอบงำอะไรมันได้แล้ว มันก็ทำได้ถึงอย่างนี้ และมันก็ได้ความรู้นี้ แล้วก็รู้พอที่จะมี สติปัญญา สูงขึ้นไป หรือว่ารู้เรื่อง กิเลส รู้เรื่องควบคุม กิเลส เหล่านี้เหลวหมด การไปดูเรื่องจันทโครพกินขี้นี้ ไม่ได้รู้ ธรรมะ อะไรเลย ไม่ได้รู้ความจริงของมนุษย์หรืออะไรเลย ทั้งที่แสดงความจริงของมนุษย์ว่า คนเราถ้าหลง ถ้ารักเข้าไปแล้ว มันก็ทำได้ คือ กินของสกปรกได้ เหมือน กิเลส ครอบงำแล้วมันก็ทำสิ่งที่สกปรกกันได้อย่างกับเป็นของดีวิเศษไปทางกามารมณ์ ทางอะไรก็ตาม แล้วมันก็ไม่ได้อยู่ลึกซึ้งอะไรหนักหนา ถ้าคิดสักนิดหนึ่งก็จะมองเห็น ว่าคนเราถ้า กิเลส สครอบงำแล้วเป็นมากถึงอย่างนี้ ต่อไปก็ระวังอย่าให้ กิเลส ครอบงำ เพราะฉะนั้น ก็ควรจะถามว่า ทำไมนะเด็กๆเหล่านี้มันจึงไม่รู้สึกในข้อนี้ ซึ่งมันควรจะรู้สึกได้? ทำไมเด็กๆจึงไม่คิดไปในข้อว่าทำไมจึงทำอย่างนี้? -มันเห็นแต่เป็นเพียงของแปลก ประหลาด แปลก ความโง่ทำให้เห็นเป็นของแปลก แล้วก็โจษจันกันแต่ที่มันแปลก ส่วนที่มันแปลก ส่วนที่มันน่าสนุกนั้น เด็กทุกคนก็รู้ว่าอุจจาระ-ขี้นี้เป็นของสกปรก แล้วทำไมเดี๋ยวนี้มันจึงกินได้? ทำไมจึงไม่ใคร่ครวญดู? แล้วทำไมมันจึงกินได้? ทำไมมันจึงยอมกินได้?
ทีนี้ เรื่องอื่นๆ ก็เหมือนกัน คุณก็ไปตั้งมาตรฐานเอาเองว่า ทำไมเราจึงไม่รู้สึกเต็มตามที่เราควรจะรู้สึก? ทั้งๆ ที่มันก็ควรจะรู้สึก ควรจะมองเห็น ก็ทำผิดพลาดกันไปหมด เมื่อไรมนุษย์จะรู้ว่าการจูบกันนั้นก็คือการสูบเอาของสกปรกจากผิวหนังของคนหนึ่งเข้าไป? การประกอบกิจกรรมระหว่างเพศก็คือใช้อวัยวะที่สกปรก ปฏิกูลที่สุดเป็นของประเสริฐไปนี้? จะว่าลึกมันก็ไม่ลึก จะว่าลึกเกินไปมันก็ไม่ลึกเกินไป เพียงแต่ว่าไม่ได้คิด ไม่เฉลียว ไม่คิด ไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะคิด จึงเป็นอันว่าต่อไปนี้เราจะคิดและจะมี สติสัมปชัญญะ เห็นอะไรหรือได้สัมผัสอะไร ก็จะมองให้ลึกถึงความหมายอันลึก สัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางจิตใจ จะไม่หยุดอยู่เพียงแค่สัมผัสให้ปฏิกิริยาอย่างไร แล้วก็หยุดอยู่แค่นั้น เมื่ออร่อยแก่ อยาตนะ แล้วก็หลงไหล จนกระทั่งไม่มีความหมายเรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องสะอาด เรื่องสกปรก เรื่องอะไรแบบนี้ คนเราจึงทำความชั่วซึ่งควรจะถือว่าเป็นของสกปรกยิ่งกว่าสิ่งใดได้กันเต็มไปทั้งโลก ทำความชั่วกันเต็มไปทั้งโลก เรื่องมันก็มีนิดเดียวเท่านี้ เพราะฉะนั้น ควรจะมีหลักเกณฑ์ที่ตั้งกันขึ้นมาใหม่ คือ จะอบรมตนเองให้มองอะไรในแง่ที่ลึกกว่าธรรมดายิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป อย่าหยุดอยู่ในขั้นที่เรียกว่าเป็นปุถุชน ปุถุชนเต็มขั้น รู้สึกเพียงเท่าที่ อายตนะ มันบอก หรือมันทำให้รู้สึก และให้คุณค่าหรือความหมายตามที่คนโง่ด้วยกันบัญญัติไว้อย่างไร คือ ที่ปุถุชนด้วยกันบัญญัติไว้อย่างไร ก็รู้ค่า รู้ความหมายเท่านั้นแหละ ค่าของเงินทอง ข้าวของ ทรัพย์สมบัติ บ้านเรือน บุตร ภรรยา สามี เกียรติยศ ชื่อเสียง อะไรมันรู้เพียงเท่านั้น คือ เท่าที่คนโง่ด้วยกันได้บัญญัติค่าไว้ให้ แล้วเราก็ออกไปเข้าผสมโรงกับพวกนี้อีก ไปเข้าโรงเดียวกันอีก !
เมื่อคืนก่อนเราก็ได้พูดถึงคำว่า ทั้งชั่ว-ทั้งดี-ล้วนแต่อัปรีย์ นี่ก็อยากจะให้เอามาพิจารณากันใหม่อีกที ทั้งชั่ว-ทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์นี้ ที่ไม่อัปรีย์ ก็คือ อย่าไปชั่ว-อย่าไปดี อยู่ระหว่างชั่ว-ระหว่างดี ไม่ต้องชั่ว-ไม่ต้องดี ดีมันก็ทำให้ยึดถือและก็เป็นทุกข์ไปตามแบบดี ชั่วมันก็ยึดถือและก็เป็นทุกข์ไปตามแบบชั่ว เพราะฉะนั้น จึงจัดว่าเหมือนกันแหละทั้งชั่ว-ทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ นี่ พูดภาษาชาวบ้านพูด ทีนี้ ที่ผมข้องใจอยู่ไม่หายก็คือว่า หนังสือเล่มนั้นมันแต่งขึ้นแถวปลายแม่น้ำตาปี บ้านดอน โดยอาจารย์รุ่นเก่าแก่ ถ้าเดี๋ยวนี้เขาก็เรียกอาจารย์ที่ไม่ได้เล่าเรียนอะไร แล้วทำไมอาจารย์เถื่อน อาจารย์ป่า อาจารย์ไม่รู้อะไรนี้แกเกิดความคิดอย่างนี้ขึ้นมาได้อย่างไร? จึงมีเขียนไว้ในเรื่องที่แกแต่งขึ้นนั้น สอน ธรรมะ เป็นคำกาพย์ ทั้งลาภ-ทั้งสูญล้วนแต่อัปรีย์ แกก็ใช้คำตามที่เขานิยมใช้กันอยู่ในสมัยนั้น ซึ่งแกเองก็ต้องใช้ด้วยแหละ ทั้งลาภ-ทั้งสูญล้วนแต่อัปรีย์ ลาภ นั้น คือ ได้มา สูญ คือ ไม่ได้ ว่างไป หายไป เสียไป ทั้งลาภ-ทั้งสูญล้วนแต่อัปรีย์ เราเปิดพระไตรปิฎกมาไม่รู้กี่เที่ยวแล้วยังไม่เกิดความคิดอย่างนี้เลย แล้วหลวงตาพระเถื่อนองค์นั้นแกเกิดความคิดอย่างนี้ได้ เราก็ยอมแพ้แก แต่พอได้ยินแกพูดเราก็พอจะนึกได้ เราก็พอจะผ่านพระบาลีอยู่บ่อยๆเหมือนกัน ที่ว่าต้องละเสียทั้งบุญ-ทั้งบาป ทั้งดี-ทั้งชั่ว ทั้งกุศล-ทั้งอกุศล อยู่เหนือนั้นจึงจะเป็น โลกุตตระ ก็เคยผ่านสายตาเหมือนกัน แต่ไม่ชัดโดยความหมาย เหมือนกับที่หลวงตา คือ อาจารย์บ้านนอกคนนี้เขาว่าไว้ นี่เราเอามาเสริมให้มันชัดเป็นคำพูดใหม่ ว่า ทั้งชั่ว-ทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ ให้มันง่ายขึ้นมาอีก ฟังง่ายขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้น คุณจะได้เอาไปเป็นบทสำหรับเพ่งดูให้รู้ความจริง ปัญหาต่างๆที่มันจะเกิดขึ้นในอนาคต เราก็หลงเรื่องดี เรื่องดีแล้วก็ไม่ชอบเรื่องชั่ว แต่ก็บังคับจิตไม่ให้ทำความชั่วไม่ได้เพราะ กิเลส มันขี่คอไปให้บูชาความชั่ว นิยมชมชอบความชั่ว หรือของปฏิกูลได้ นี่ มันถูกทำหลายซับหลายซ้อนนัก แม้ว่าหลงในความดีโดยบริสุทธิ์ใจของความหลง-ก็ยังเป็นทุกข์ ยังมีความทุกข์เพราะหลงดี เพราะติตดี เพราะบ้าดี เราควรจะพูดได้และพูดแล้วคนเขาก็ไม่ชอบ ว่าทั้งบาป-ทั้งบุญล้วนแต่อัปรีย์ คุณเอาไปพูดคุณถูกด่าไหมเล่า? แต่ความจริงเป็นอย่างนั้นนะ ทั้งบาป-ทั้งบุญล้วนแต่อัปรีย์ คือ มันปรุงแต่งให้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเวียนว่าย มันชั้นละเอียด ชั้นสูงสุดโน่น ชั้นประชาชน-ชั้นชาวบ้านก็มองไม่เห็นหรอก เหมือนกับเห็นแต่จันทโครพกินขี้ ไม่เห็นว่าความหมายลึกซึ้งกว่านั้นมันอยู่ที่ไหน? ถ้าเราไปบอกว่าทั้งบาป-ทั้งบุญล้วนแต่อัปรีย์ เขาก็จะว่า มึงน่ะบ้า! แต่ว่าเรานั้นก็ควรจะรู้ของเราเองว่า ไอ้คู่คู่ตรงกันข้ามล้วนแต่อัปรีย์ทั้งนั้น อยู่ตรงกลางที่ว่าง ที่ไม่เป็นอันนั้นนั่นแหละ-ไม่อัปรีย์ เรื่องได้-ก็อัปรีย์ เรื่องเสีย-ก็อัปรีย์ อย่าอยู่ที่ได้-อย่าอยู่ที่เสีย อยู่ตรงกลางว่างๆนั้นแหละไม่อัปรีย์และไม่มีความทุกข์ เรื่องขาดทุนก็อัปรีย์ เรื่องกำไรก็อัปรีย์ อย่าไปอยู่ที่ขาดทุน อย่าไปอยู่ที่กำไร ในจิตอย่ามีความรู้สึกว่าขาดทุนหรือกำไร เป็นจิตว่างอยู่ตรงกลางนั้น-ไม่อัปรีย์ ไม่มีความทุกข์ เรื่องแพ้ก็อัปรีย์ เรื่องชนะก็อัปรีย์ แต่คนก็ชอบชนะ มันอัปรีย์ สมน้ำหน้า ก็ทั้งแพ้และทั้งชนะก็ล้วนแต่อัปรีย์ทั้งนั้น อย่าเข้าไปที่แพ้ อย่าเข้าไปที่ชนะ อยู่ตรงกลางที่ว่าง ที่ไม่แพ้-ไม่ชนะ เรื่องได้-เรื่องเสียก็ล้วนแต่อัปรีย์
ถ้าเอาความหมายสากลธรรมดาก็ต้องพูดว่า ทั้งสุข-ทั้งทุกข์ก็ล้วนแต่อัปรีย์ ทั้งสุข-ทั้งทุกข์ก็ล้วนแต่อัปรีย์ อยู่ตรงความหมายที่ไม่สุข-ไม่ทุกข์ อยู่ตรงกลางๆนั้น -ไม่อัปรีย์ เพราะฉะนั้น ที่มนุษย์แยกออกเป็นคู่ๆเป็นตรงกันข้ามแล้วก็ยึดถือไปคนละแบบ ตรงกันข้ามนั้น ล้วนแต่อัปรีย์ทั้งนั้น ทั้งจน-ทั้งรวยล้วนแต่อัปรีย์ ทั้งมั่งมีและยากจนล้วนแต่อัปรีย์ อยู่ตรงกลางๆอย่ามีความหมายแห่งมั่งมี อย่ามีความหมายแห่งยากจน ตรงนั้นแหละเป็นที่ว่างที่ไปซ่อนตัวอยู่ได้โดยที่ความทุกข์ครอบงำไม่ได้ พญามารหาไม่พบ ถ้าเราไปเอาเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พญามารหาพบแล้วลงโทษให้ตามสมควร
นี่ ก็พูดให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าคนแห่งกาลก่อนเขาได้มีความฉลาด ได้สังเกต และได้เห็น และได้ฉลาดแล้วอย่างไร เขาก็พูดไว้เพื่อประโยชน์แก่คนชั้นหลัง คนชั้นหลังฟังไม่ถูกแล้วจะทำอย่างไรได้? เพราะฉะนั้น คนชั้นหลังที่จะได้รับประโยชน์จากคำพูดของคนที่ล่วงลับไปแล้วเหล่านั้น จึงต้องมามีหลักเกณฑ์กันเสียใหม่ คือ จะฟังอะไรให้ออก ดูอะไรให้ออก คิดอะไรให้ออก เห็นอะไรได้ลึกกว่าธรรมดา ถ้าเห็นจันทโครพกินขี้ มันก็ควรจะเห็นลึกกว่านั้นว่า แหม! ไอ้ความหลงรักหรือความโง่นี่มันขนาดนี้เชียวนะ ไม่เห็นแต่เพียงว่าจันทโครพกินขี้ นั้นมันตื้นเกินไป มันเรื่องของเด็กๆ เรื่องอย่างนี้มันยังมีอีกร้อยเรื่อง พันเรื่อง หมื่นเรื่อง แสนเรื่องในโลกนี้ เราอย่าไปเป็นเด็กๆเหมือนกับเห็นแต่เพียงว่าจันทโครพกินขี้ แล้วก็ไม่เศร้าสลดอะไร ไม่ขยะแขยงอะไรอย่างนี้ ทุกอย่างมีความหมายชั้น ปรมัตถ์ ชั้นลึกซึ้งซ่อนอยู่ข้างในทั้งนั้น แต่ไม่มีใครเข้าถึง เข้าถึงแต่ชั้นผิวๆ ชั้นสมมติ ชั้นบัญญัติ ชั้นโลก ชั้นปุถุชนเห็นและรู้สึก แต่ทุกเรื่องจะมีส่วน ปรมัตถ์ ที่มีความหมายชั้นลึก แล้วความหมายมันมักจะเดินคนละทาง ที่เรียกว่า สวนทางกันเสมอ ความหมายชั้นโง่เขลาของปุถุชนจะเดินสวนทางกับความหมายชั้นฉลาดลึกซึ้งของพระอริยะเจ้านั้น
ทีนี้ กลัวว่าคุณจะไม่ยอมเสียสละ ไม่ยอมเสียสละมาตรฐานหรืออะไรต่างๆ ที่เคยใช้มาแต่กาลก่อน เพื่อจะเลิกใช้มาตรฐานของปุถุชนไปใช้มาตรฐานของอริยะเจ้ากันดูบ้าง ใน อริยะวินัย นั้น คือ มาตรฐานของพระอริยะเจ้าที่ในบาลี ในพระพุทธภาษิตใช้คำว่า ในอริยะวินัย จะพบบ่อย ถ้ามีคำว่าใน อริยะวินัย แล้วก็ ให้รู้เถิดว่า มาตรฐานชั้นลึก ชั้น โลกุตตระ ชั้น ปรมัตถ์ นั้น อย่างใน อริยะวินัย เรื่องว่า เต้นรำ การฟ้อนรำ คือ อาการของคนบ้า / หัวเราะลั่น นี่คือ อาการของเด็ก / ร้องเพลง คือ ร้องไห้ / ร้องเพลง คือ อาการแห่งการร้องไห้ / เต้นรำ คือ อาการของคนบ้า / หัวเราะ คือ อาการของเด็กแบเบาะ คุณคงจะนึกได้นะถ้าว่ารุ่นยุคคุณเล่าเรียน เขาให้เรียนหนังสือกามนิต เป็นหนังสือแบบเรียนคงจะนึกได้ ที่เขาเอามาใส่ไว้ในหนังสือกามนิตนั้น มันมีในพระบาลี ในพุทธภาษิต ในพระไตรปิฎก แล้วนายคนที่แต่งเรื่องกามนิตก็ไปยืมออกมา และเขียนไว้ในหนังสือกามนิต พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อริยะวินัย นี้ว่า การร้องเพลง คือ การร้องไห้ / การหัวเราะ คือ อาการของเด็กทารก / การเต้นรำ คือ อาการของคนบ้า มันก็สวนทางกันกับความรู้สึกของชาวโลกปัจจุบัน เช่น ใครๆก็ชอบหัวเราะ พอใจจะหัวเราะ เกิดอาชีพทำให้คนหัวเราะ คือ พวกตลก พวกอะไรต่างๆ เขาเลี้ยงชีวิตได้ด้วยการทำให้คนหัวเราะ ดู๋ ดี๋ เด๋ออะไรที่ได้ยินทางวิทยุบ่อยๆ มันมีหน้าที่ที่จะทำให้คนหัวเราะแล้วมันรวยได้ก็เพราะความโง่ของคนทั้งหลายนี่เอง ความโง่ของคนทั้งหลายมันยังพอใจในการหัวเราะ มันก็ต้องไปดูตลกหรือจำอวดที่ทำให้คนหัวเราะ ทีนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อริยะวินัย ว่ามันเป็นอาการของเด็กทารกนอนเบาะมันชอบหัวเราะนัก ทีนี้ ร้องเพลงนี้มันก็มีลักษณะเหมือนกับร้องไห้จริงๆ บางทีต้องหลับตา ต้องโก่งคอ ต้องทำเสียงเหมือนกับการร้องไห้ชนิดหนึ่ง แต่เราก็ชอบ ชอบฟังเพลง ชอบร้องเพลง นายกรัฐมนตรีคนนี้ก็ร้องเพลงบ่อย ฟังวิทยุก็ร้องเพลงบ่อย เขาขอร้องให้ร้องเพลงบ่อย ร้องอยู่ ๒-๓ เพลง ก็หมายความว่า คนเหล่านั้นอยากจะฟังเพลง ต้องการอยากจะฟังเพลง ไม่เห็นเป็นเรื่องว่าเสียเวลาเปล่าๆ ไอ้เต้นรำนี่ชัดเลย เป็นอาการของคนบ้า เต้นรำที่คนเขานิยมนัก บัลเล่ต์ บัลเล่อนั้นยิ่งเหมือนอาการของคนบ้า หรือผีบ้า แต่ได้รับเกียรติเป็นวัฒนธรรมสูงสุดแลกเปลี่ยนกันระหว่างชาตินะ เต้นรำบ้านั้นน่ะ นี่ ก็ดู ดูมนุษย์ ดูมนุษย์แท้จริง มนุษย์ระดับปุถุชน มนุษย์ธรรมดานั้นเขาจะรู้สึกอะไร? ว่าอย่างไร? แล้วมันสวนทางกันกับที่พระอริยะเจ้าท่านรู้สึก เพราะฉะนั้น มันจึงไม่เหมือนกับที่ท่านได้กล่าวไว้ว่าใน อริยะวินัย ใน อริยะวินัย เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้เราก็ควรจะได้เลื่อนชั้นกันบ้าง คือ มีมาตรฐานที่สูงขึ้นมาบ้าง มาเข้าร่องรอยหรือระดับแนวกับพระอริยะเจ้ากันบ้าง เพื่อว่าจะได้ไม่ต้องไปหลงในสิ่งเหล่านั้น ไปหลงในของสกปรกปฏิกูลว่าสูงสุด !
มิลหะสุขัง นาทีที่ 53.32 ในบาลีมีอยู่คำหนึ่ง ผมถือว่าที่แปลๆ กันแล้วนั้นไม่ถูกทั้งนั้น ผมเชื่อว่าผมแปลถูก ศัพท์นี้ มิลหะสุขัง สุขเกิดจากการกระทำทางท่อปัสสาวะ มิลหะสุขัง ที่ปุถุชนยกขึ้นไว้เหนือเศียร ข้อความในบาลีก็มีลักษณะคล้ายๆ อย่างนั้น มิลหะสุขัง สุขเกิดจากการกระทำทางท่อปัสสาวะ มิลหะสุขัง ที่ปุถุชนยกขึ้นไว้เหนือเกล้าเหนือเศียร เป็นของมีเกียรติ เป็นของพิเศษ ถ้าคุณจะไม่ลืมถ้อยคำเหล่านี้ที่เราพูดกันมา ๕-๖ ครั้งแล้ว ก็คงจะได้หลัก ได้เกณฑ์ ได้เครื่องมืออะไรสำหรับจะไปตั้งตัวกันเสียใหม่ หรือใช้คำว่าไปเตรียมตัวหรือตั้งตัวกันเสียใหม่ ที่จะเผชิญกับสิ่งต่างๆที่จะเข้ามากระทบเราในชีวิตประจำวันในอนาคต ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางผิวหนัง ทางจิตใจในอนาคต ที่ก่อนบวชมันเคยโง่มาเท่าไรก็ยกให้มันเถิด อย่าไปเสียใจกับมันเลย ยกให้ไปแล้วกัน อย่าเอามาปรารมภ์ให้เสียเวลา-ยกให้มัน ที่เคยโง่มาก่อนบวชนะ ขอแต่ให้สึกไปคราวนี้อย่าไปโง่เท่าเดิม อย่าไปโง่แบบนั้นเข้าอีก คือ ต้องมีหลักการหรือมาตรฐานอะไรก็ตาม ที่จะใช้สำหรับจะไม่ไปซ้ำรอยกับมันอีก อย่าไปซ้ำรอยกับมันอีก แต่ฉลาดขึ้นกว่าเดิมตามสมควร และโดยเฉพาะมันไม่มีอะไรหรอก ในโลกนี้มันไม่มีอะไร ก็อย่างที่พูดมาแล้วหลายครั้งหลายหนว่า โลกนี้ไม่มีอะไรนอกจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ / รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มีเท่านี้เอง โลกนี้ก็มีเท่านี้ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ และสิ่งเหล่านี้มันก็มีทุกวัน มันมากระทบเราทุกวัน ถ้าเรายังโง่ก็ต้อนรับมันด้วยความโง่อย่างปุถุชนต้อนรับสิ่งเหล่านี้ มันก็ได้บูชาสิ่งที่เป็นปฏิกูลเป็นแน่ แต่ถ้าเราได้ศึกษา สติปัญญา ของพระพุทธเจ้าพอสมควรแล้ว มันก็คงจะไม่ต้องถึงขนาดนั้น
จึงหวังว่าลาสิกขากลับออกไปนี่คงจะอยู่กันคนละระดับกับที่แล้วมา ไม่ไปทำอะไรซ้ำอยู่เท่าเดิม มันก็จะได้มีความทุกข์น้อยเข้า มีความทุกข์น้อยเข้า ไม่ไปลุ่มหลงในสิ่งต่างๆด้วยอำนาจความยึดถือเพราะความโง่ คือ อวิชชา ในสิ่งต่างๆที่มันเกิดขึ้นเป็นประจำวัน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อกำลังทำงานอยู่ก็ดี เมื่อว่างงาน หรือพักผ่อน หรืออะไรก็ดีต้องไม่ผิดพลาด แต่มันยาก มันยาก ไอ้เรื่องนี้มันยาก มันจะเรียกว่ายากอย่างยิ่งก็ได้ เพราะว่าความโง่ หรือว่าความผิดพลาดมันมีรสอร่อยมากเหลือเกิน จึงทำให้คนละมันไม่ได้ รสอร่อย อัสสาทะ เสน่ห์ ที่ออกมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ทำไปด้วยความโง่ หรือ อวิชชา นี้ มันมีรสอร่อยสำหรับปุถุชนคนธรรมดา-สูงสุด เพราะฉะนั้น มันก็ยากที่จะให้เขาเปลี่ยน ให้เขาเปลี่ยนรสใหม่ มันคงจะเหมือนกัน...ถ้ามันเปรียบได้นะ ถ้ายอมให้เปรียบหรือว่าให้เปรียบได้ มันก็คล้ายๆกับว่าจะให้แมลงวันไปชอบรสของแมลงผึ้งอย่างนี้ ก็ดูว่าแมลงวันมันชอบรสอะไรอยู่เป็นปกติของแมลงวัน แล้วจะให้มันไปเปลี่ยนไปชอบรสของแมลงผึ้งนี้มันจะยากขนาดไหน? ทีนี้ เราเป็นปุถุชนก็ชอบอะไรแบบแมลงวัน จะไปเปลี่ยนเป็นพระอริยะเจ้าชอบรสอย่างแมลงผึ้ง-มันก็หวังยาก แต่เมื่อเรามองเห็นอยู่ รู้สึกตัวอยู่ มันคงจะดีขึ้นบ้างนะ แม้ว่ามันจะไม่กลับได้อย่างสิ้นเชิง มันคงจะดีขึ้นบ้าง คือ จะหลงน้อยลง จะสะอาดมากขึ้น จะสว่างมากขึ้น สงบมากขึ้นนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ทั้งหมด
ผมเชื่อเหลือเกินว่า เพียงแต่คุณจำเรื่องที่ยกมาเล่าเป็นตัวอย่างให้ฟัง ในการพูดกัน ๕-๖ ครั้งเท่านั้นแหละก็พอ คุณอย่าลืมเรื่องที่ยกมาเป็นตัวอย่างเล่าให้ฟังนี้ ทุกๆ เรื่อง หรือทุกๆประโยค ทุกๆคำ ที่ได้พูดขึ้น บัญญัติขึ้น คงจะทำให้สำนึกได้ มี สติสัมปชัญญะ รู้สึกตัวทันท่วงทีก็ใช้ได้ แต่อย่าตีความให้ผิด ถ้าตีความผิดแล้วมันก็ยุ่งไปอีกแบบหนึ่ง และยุ่งกันใหญ่ ยุ่งกันอย่างหนักไปกว่าเดิมก็ได้ และยังจะต้องระมัดระวังไว้ว่า ไอ้เราจะเอาอย่างนี้ เพื่อนของเรายังไม่อาจจะเอาอย่างนี้ อย่าไปทะเลาะกัน อย่างที่เห็นง่ายๆนี้ว่า เมื่อเพื่อนเขายังสูบบุหรี่ แล้วเราไม่สูบบุหรี่ เราก็อย่าไปทะเลาะกัน เดี๋ยวมันก็จะอัปรีย์ทั้งสูบบุหรี่ และไม่สูบบุหรี่ อย่าไปทะเลาะกันด้วยเรื่องชนิดนี้ เราก็ยังอยู่ในโลกซึ่งเขาบูชาความดี กระทำความดี แต่ดีชนิดที่มันไม่กัด ไอ้ความดีที่เขาทำๆกันอยู่-มันกัดเจ็บปวด ถ้ามันไปหลง ไปยึดถือแล้วมันก็กัดเอาเจ็บปวดทั้งนั้น เราก็รู้ชัดเลยที่เขาเรียกกันว่า ดี เขาสมมติกันว่า-ดี มันก็มีค่าของมันแต่แบบนั้น ซึ่งเราจะต้องอาศัยกันไปเหมือนเครื่องใช้ไม้สอยอะไรอย่างหนึ่ง ก็ต้องอาศัยกันไปอย่าไปนับถือบูชามากไปกว่านั้น
ธรรมะ เป็นสิ่งสูงสุด พระพุทธเจ้าท่านยังให้ค่า ตีราคาให้มันเหมือนกับพ่วงแพ นี่ คุณจำไว้ ในบาลีนั้นมี ธรรมะ ที่ไปนิพพานได้ หรือว่าสูงสุดทั้งหมดนั้นแหละมันเป็นเหมือนพ่วงแพ หรือยานพาหนะ ไม่ต้องไปยึดถือ ไม่ต้องไปหมายมั่น-ยึดถือ แล้วทำไมจะไปหลงรัก หรือยึดถือที่ไม่ใช่ ธรรมะ ที่เป็น อธรรม นั้นเล่า มันก็ยิ่งเลวร้าย แม้ว่าจะดีที่สุด ก็จัดไว้เป็นเพียงพาหนะขนส่งเท่านั้นเอง ไม่ดีกว่านั้น ส่วนที่มันเลวแล้วเป็นอันว่าไม่เอาแน่ เพราะแม้แต่ส่วนที่ดีที่สุดก็เป็นเพียงยานพาหนะขนส่ง ความหลุดพ้นนั้นเป็นตัวดีจริง แท้จริง มันก็ไม่มาติดอยู่กับดี ไม่มาติดอยู่กับชั่ว มันแหวกอยู่ระหว่างชั่ว ระหว่างดี มันจึงหลุดพ้นออกไปได้ เรายังจะต้องไปมี ไปใช้ ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่โลกเขาสมมติกันว่าดี แน่นอน! อันนี้หลีกไม่พ้น ทรัพย์สมบัติ เงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียง กิน กาม เกียรติ อะไรก็ตาม ยังต้องไปเกี่ยวข้องแน่นอน แต่ไปเกี่ยวข้องโดย สติ ปัญญา อย่าให้เกิดเป็นโทษ เป็นพิษ เป็นอันตรายอะไรขึ้นมาได้
เพราะฉะนั้น เรื่องชั้นปุถุชนก็จัดไว้เป็นเรื่องชั้นปุถุชน เรื่องชั้นพระอริยะเจ้าก็เป็นเรื่องชั้นพระอริยะเจ้า แม้ว่าเราสมัครจะใช้มาตรฐานของพระพุทธเจ้า เราก็ไม่ต้องไปทะเลาะกับปุถุชน เราจะไม่ไปยืนยันอะไรชนิดที่ทำให้ทะเลาะกัน แล้วพูดกันไม่รู้เรื่อง ว่าดีก็ดี แต่ว่ามันต้องดีชนิดที่ไม่กัด ไม่ขบกัดเอา คือ ไม่หลง ไม่ยึดถือ ไม่หลง ไม่บ้าดี ไม่หลงดี ทีนี้ ก็ทำไป งานในหน้าที่นั้นทำ ก็ใช้คำว่าดี ทำให้ดีที่สุด แต่ว่าเป็นความหมายอีกอย่างหนึ่ง เป็นความหมายที่ว่าไม่ใช่อัปรีย์ ไอ้ชั่วและดีล้วนแต่อัปรีย์-มันก็ความหมายหนึ่ง ให้ชื่อว่าเราตั้งใจจะทำงานให้ดีที่สุด คือ ให้ประณีตที่สุด ให้ฉลาดที่สุดนั้น-มันอีกความหมายหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องอัปรีย์อย่าเอาไปปนกันเสีย มันจะยุ่งแล้วก็จะทำอะไรไม่ถูก หมายถึง ผลที่ยึดถือกันนักเรื่องชั่ว-เรื่องดีนั้น อย่าไปยึดถือกับมัน-มันจะกัดเอา แต่จะทำให้ดี มันอีกความหมายหนึ่งนะ ดีนี้ คือ ไม่ให้ผิดพลาดได้ ให้ก้าวหน้าไปเรื่อย ไอ้ดีอย่างนี้ไม่อัปรีย์แล้วก็ไม่กัดด้วย ดี-สำหรับยึดถือนั้นคือที่มันกัด เราก็หลีกไม่พ้นหรอก เราต้องไปเล่นกับสิ่งที่มันยั่วให้ยึดถือ คุณลองสังเกตดูหรือว่าจำคำๆนี้ไว้ก็ได้ ในโลกนี้มันเต็มไปด้วยสิ่งที่ยั่วให้ยึดถือ สิ่งที่ยั่วให้ยึดถือ ในโลกนี้มันเต็มไปด้วยสิ่งที่ยั่วให้ยึดถือ ไปยึดถือมันก็ได้การแล้ว มันก็ต้องเป็นทุกข์ คือ มันกัดเอาหรือว่ามันอัปรีย์
เพราะฉะนั้น เราก็มีได้ มีสิ่งที่ดีที่เขาสมมติกันว่า-ดี-แต่เราก็ไม่ยึดถือ ดังนั้น มันจึงไม่มีความหมายว่า-ดี มันมีความหมายเป็นธรรมชาติ ธรรมดา เป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ ตาม กฏอิทัปปัจจยตา ไปหมด เรื่อง อิทัปปัจจยตา นั้นเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งอย่าลืมเสีย เป็นเรื่องที่ทำให้เราไม่โง่ ว่าชั่ว-ว่าดี อิทัปปัจจยตา แล้วก็ไม่บัญญัติได้ว่าชั่ว หรือ ดี มันพ้นความหมายว่าชั่ว-ว่าดี ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่ให้มีบุญ ไม่ให้มีบาป ไม่ให้มีชั่ว ไม่ให้มีดี มันเป็นแต่ อิทัปปัจจยตา ถ้าเข้าใจเรื่อง อิทัปปัจจยตา เอาไปใช้ประโยชน์ได้แล้วก็จะปลอดภัย เรื่องต่างๆ ที่พูดนี้จะไม่มีปัญหา
แต่เดี๋ยวนี้เขาสอนกันอีกแบบหนึ่งนะ ปฏิจจสมุปบาท เขามีอีกแบบหนึ่งที่เขาทำกันขึ้นใหม่ เขาสอนกันเรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องเวียนว่ายตายเกิดกันเลย ปฏิจจสมุปบาท อย่างนั้นมันเป็นของใหม่ ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ไม่ใช่มีในพระบาลี ปฏิจจสมุปบาท ที่แท้จริงในพระพุทธภาษิตแล้ว มันจะมีผลไปในทางให้เลิกชั่ว เลิกดี เลิกบุญ เลิกบาป เลิกตัว เลิกตน เลิกสัตว์ เลิกบุคคล เรื่องเกิด เรื่องตายนั้น-เลิกกันหมด ถ้าเราเห็นเป็น อิทัปปัจจยตา แล้ว จะไม่มีเรื่องได้-เรื่องเสีย เรื่องดี-เรื่องชั่ว เรื่องแพ้-เรื่องชนะ เรื่องอะไรมันจะไม่มีเลย จะไม่มีความหมายอะไรเลย นี่แหละ ธรรมะ ชั้นสูงสุดอยู่ที่นั่น และก็ป้องกันไม่ให้เป็นทุกข์ได้ เป็นที่หลีกเร้น เป็นที่ซ่อนตัวหลีกเร้นไม่ให้ความทุกข์มาหาพบ ไม่ให้มารมาหาพบ พระนิพพานเป็นที่ซ่อนที่มารจะหาไม่พบ หรือความทุกข์จะหาไม่พบ เป็นที่หลบ-ที่ซ่อน นี่คือ ความที่ไม่ยึดถือ ไม่ยึดถือไม่มีตัว ก็ไม่มีอะไรที่จะหาพบ หรือจับตัวไปลงโทษ
เป็นอันว่าคืนนี้ ไอ้ที่พูดกันคืนนี้ไม่มีเรื่องอะไรเลย มีแต่เรื่องดูอะไรก็ดูให้มันลึกๆหน่อยเท่านั้นเอง ไม่ได้พูดเรื่องอะไรแปลกออกไป หรือใหม่ออกไปจากที่เคยพูดมาแล้วเมื่อคืนก่อนๆ มีแต่ว่าให้ดูให้ลึกลงไป อย่าเห็นแต่ว่าจันทโครพกินขี้-มันมีมากกว่านั้น ว่าแหม! มนุษย์ทำไมเป็นอย่างนี้กัน? นี่มันเวลาชั่วโมงครึ่งแล้ว ชั่วโมงครึ่งแล้ว-เวลา
ที่เราไม่รู้ ธรรมะ ไม่ถึง ธรรมะ ก็เพราะว่าเราดูอะไรผิวเผิน เห็นอะไรแต่ผิวเผินไม่ลึกถึงตัวจริง ธรรมชาติอันแท้จริง ธรรมชาติอันแท้จริง คือ อิทัปปัจจยตา ไม่ดี-ไม่ชั่ว ไม่บุญ-ไม่บาป ไม่สุข-ไม่ทุกข์ ไม่ได้-ไม่เสีย ไม่แพ้-ไม่ชนะ ไม่อะไรหมดเลยมันเป็น อิทัปปัจจยตา เป็นอย่างนั้นเอง หรือเป็น ตถาตา ก็ได้ว่าเป็นอย่างนั้นเอง สิ่งที่ทำให้เราหลงไป ก็คือ กามคุณ / กามคุณ แปลว่า สิ่งที่มีค่าสำหรับ กาม / กามคุณ แปลว่า สิ่งที่มีค่าสำหรับ กาม / กาม คือ กิเลสกาม ถ้าเรายังมี กิเลสกาม อยู่ข้างใน ก็ต้องแสวงหาสิ่งที่มีค่าสำหรับ กาม สิ่งนั้นคือ กามคุณ และเราจึงไปเป็นทาสสิ่งนั้นกันเต็มไปทั้งโลก ทั้งโลกเลย และโลกกำลังผลิตสิ่งเหล่านี้ สิ่งที่สนองความใคร่ทางกาม ตามที่มีอยู่ตามธรรมชาติ-ไม่พอ เขาประดิษฐ์ให้มันยิ่งใหญ่ ให้ลึก ให้สลับซับซ้อน ให้เอร็ดอร่อยไปกว่าที่ธรรมชาติมันมีให้ เพราะฉะนั้น ปัจจัยเพื่อ กามารณ์ จึงถูกสร้างสรรค์ ประดิษฐ์ ผลิตออกมาด้วยเครื่องจักรเยอะ ถ้ามนุษย์จะสืบพันธุ์แต่ตามธรรมชาติเหมือนที่สัตว์เดรัจฉานมันกำลังกระทำอยู่ มันก็ไม่หลงไหลอะไรกันนัก เดี๋ยวนี้ มันประดิษฐ์ให้มันมากกว่านั้น จนพวกแขกที่ตะวันออกไกลต้องมาหาซื้อที่เมืองไทย ดูสิ มันเพราะอะไรเล่า? ก็เพราะมันประดิษฐ์ให้มันเหลือ... แล้วอ่านข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์แล้ว น่าสงสารก็น่าสงสาร น่าหัวก็น่าหัว ที่พวกแขกเหล่านั้นมาเกิดเรื่องตำรวจจับนั้นมันเหลือเกิน มันยิ่งกว่าโง่ มันยิ่งกว่าหลงเสียอีก นี่ เพราะว่าเรามีการประดิษฐ์ ส่งเสริมปัจจัยแห่งการมารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งการหลงไหลมากขึ้น มากขึ้น ที่หนังสือพิมพ์ลงข่าว ถ่ายภาพนี้ บางทีเป็นชาวเยอรมันก็มี ซึ่งน่าหัว ชาวเยอรมันก็ไม่น่าจะโง่ขนาดนี้ ถ้าเป็นแขกทะเลทรายก็ยังพอจะว่า นี่ ผมสังเกตดูรูปภาพบางรูปนี้ เป็นชาวเยอรมัน จำเลยเป็นชาวเยอรมัน มันคงจะเป็นคนบ้าที่หนีมา-ไม่ใช่คนปกติ
เพราะปัญหาในโลก ก็คือ บูชากามารมณ์ แล้วผลิตปัจจัยแห่งกามารมณ์ ส่งเสริมกามารมณ์ ให้ลุ่มหลงกามารมณ์กันสุดเหวี่ยงเลย เป็นปัญหาหนัก ก็เป็นปัญหาหนักแก่พวกเราจะอยู่ในโลกนี้ เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่า กาม หรือกามารมณ์นี้เป็นพื้นฐานใหญ่ของสิ่งที่มีชีวิต จะต้องสืบพันธุ์โดยมีกามารมณ์เป็นค่าจ้าง เป็นเครื่องล่อ เพื่อจะยังมีสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ ไม่สูญพันธุ์ มันเป็นหลักพื้นฐานของธรรมชาติ ที่ต้องเอากามารมณ์มาผูกพันในสิ่งที่มีชีวิตเพื่อให้มันสืบพันธุ์ จะลงนรกก็เรื่องกามารมณ์ จะขึ้นสวรรค์ก็เรื่องกามารมณ์ ทีนี้ เราก็เป็นสัตว์ธรรมดาสามัญที่ธรรมชาติปรุงแต่งมา ในลักษณะที่ให้มีความรู้สึกทางกามารมณ์เป็นฐานรองรับแห่งชีวิต ที่มนุษย์มีมันสมองเจริญมากมันก็ขยายตัวมาก เรื่องทางกามารมณ์จึงไปไกลลิบ สัตว์เดรัจฉานก็อยู่เท่าเดิม ก็มีปัญหาน้อย-มีทุกข์น้อย
เอาละ เป็นอันว่าพูดกันเท่านี้เอง ไม่มีเวลาจะพูดอีก ขอสรุปความว่า ให้ทุกสิ่งที่มันมาเผชิญกับเรา ให้เป็นการศึกษาไปเสียให้หมด อย่าให้เป็นที่ตั้งแห่งความหลงไหลเลย อะไรจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับเราก็จัดให้มันเป็นการศึกษาเสียให้หมด แม้แต่กามารมณ์นั้นเอง
เอาละ หมดเวลาแล้ว ปิดประชุม