แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชน โดยเฉพาะที่เป็นครูบาอาจารย์ที่มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายนี้มีหัวข้อว่า หัวใจธรรมะสำหรับความเป็นครู ตามความประสงค์ของท่านเรื่องที่จะต้องพูดก็คือ ธรรมะกับความเป็นครู มีอยู่ ๒ เรื่อง ด้วยความที่มันเนื่องกันอย่างไร เพื่อฟังง่ายต้องพูดถึงเรื่องครูก่อนว่าครูมีหน้าที่ทำอะไร
ครูก็รู้กันอยู่ทั่วๆ ไปว่า มีหน้าที่สอน สอนทำไม สอนเอาเงินเดือนไปเลี้ยงชีวิตวันๆ หนึ่งโดยไม่ต้องคำนึงถึงอุดมคติของครู หรือว่าสอนด้วยความเคารพในอุดมคติของครู เดี๋ยวนี้เราดูทั่วไปทั้งโลก ผลของการศึกษายังไม่นำสันติภาพหรือสันติสุขมาสู่โลก บุคคลก็ยังไม่ได้รับสันติสุข สังคมส่วนรวมก็ยังไม่ได้รับสันติภาพ ดูแล้วพบว่าเพราะการศึกษายังเป็นหมาหางด้วน และครูก็ทำหน้าที่เพียงเพื่ออาชีพ สอนเพื่อเอาเงินเดือนมาเลี้ยงชีวิตไปวันหนึ่ง การศึกษาหมาหางด้วนคือเรียนกันแต่หนังสือกับวิชาชีพ ส่วนเรื่องจิตใจที่จะเป็นมนุษย์กันอย่างถูกต้องคือเรื่องของศีลธรรมนั้นไม่สนใจ ระบบการศึกษาส่วนใหญ่ของโลกในประเทศที่นำหน้า เขาตัดการศึกษาศีลธรรมหรือศาสนาออกไปเสีย ไม่ให้สอนศีลธรรมหรือศาสนาในสถานที่ศึกษา บางประเทศหรือบางรัฐมีกฎหมายห้ามไม่ให้เอาศาสนามาสอนในโรงเรียน ถ้าขืนเอามาสอนถือว่าผิดกฎหมาย จะต้องได้รับโทษ ในรัฐชนิดนั้นไม่มีการสอนศาสนาในการศึกษาของบ้านเมือง การศึกษาก็เป็นหมาหางด้วนหนักกว่าที่อื่นๆ
สมัยก่อนในแบบสอนอ่านนักเรียนเล็กๆ มีเรื่องหมาหางด้วน คือสุนัขตัวหนึ่งไปติดกับที่ชาวบ้านเขาดักไว้หางขาด ก็มาช่วยบอกเพื่อนสุนัขด้วยกันว่าหางขาดดีกว่าสบายกว่า ชวนกันตัดหางเถิด สุนัขโง่ทั้งหลายก็ชวนกันตัดหางและก็ร่าเริงกันใหญ่ ไม่มีหาง พอถึงสุนัขแก่ตัวหนึ่งมันรู้ทัน มันบอกไม่เอา ไม่ตัด แสดงว่ามีคนส่วนน้อยที่ยังนิยมศีลธรรมหรือศาสนา คนส่วนมากไม่นิยมศีลธรรมหรือศาสนา จนกระทั่งว่าในวงการศึกษาไม่มีการสอนเรื่องศีลธรรมหรือเรื่องศาสนา สอนกันแต่อาชีพกับหนังสือ เรียนหนังสือเพื่อฉลาด ฉลาดเพื่อประกอบอาชีพ และก็ไม่รู้ว่าดี ชั่ว ผิด ถูก อย่างไร นักศึกษาผ่านมหาวิทยาลัยมาแล้วถามว่า แม่คืออะไร ยังตอบไม่ถูก ตอบกันอย่างนั้นบ้างอย่างนี้บ้าง ไม่ตรงจุด ส่วนลูกคืออะไร มันก็บอกไม่ถูก แม่คืออะไรนี่ก็ตอบไม่ถูก ตัวเองคืออะไรก็ยิ่งจะตอบไม่ถูก เพราะว่าไม่ได้เรียนในส่วนที่เป็นศีลธรรมหรือเรื่องของศาสนา ไม่รู้ว่าพ่อแม่คือผู้ให้กำเนิดมา ให้ชีวิตมา พ่อแม่คือผู้ที่รักเราที่สุดยิ่งกว่าใครๆ ในโลก พ่อแม่คือผู้ที่รักลูกจนตายแทนลูกก็ได้ มันไม่มีใครในโลก ลูกคือผู้ที่เกิดมาทำให้พ่อแม่สบายใจ มันไม่ได้เรียนอย่างนี้ นักศึกษาหนุ่มสาวพวกนั้นก็ขูดเลือดสูบรีดพ่อแม่ไปใช้จ่าย ทำให้พ่อแม่ตกนรกทั้งเป็น หลายอย่างหลายประการที่ไม่จำเป็นจะต้องใช้เงินมันก็ใช้เงิน จนพ่อแม่เดือดร้อนเหมือนกับตกนรก สู้เด็กอนุบาลเล็กๆ ก็ไม่ได้ ถ้าถามว่าแม่คืออะไร เขาอบรมมาดี แม่คือออมสินที่เราเบิกเงินได้เรื่อยโดยไม่ต้องฝากเลย เด็กเล็กๆ มันยังตอบได้อย่างนี้ มันก็รักพ่อแม่ บูชาพ่อแม่ เคารพพ่อแม่ ซื่อตรงต่อพ่อแม่ นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยไม่เคยตอบอย่างนี้ มันเรียนมากเกินไป ความรู้ระดับมหาวิทยาลัยทุกๆ ปริญญาเรียนกันมาเป็นความรู้ท่วมหัวท่วมหู แต่มันแบบรู้มากยากนาน คุณจะจำไปด้วยว่าไอ้ความรู้ระดับมหาวิทยาลัยของพวกคุณนั้นมันเป็นไปในแบบรู้มากยากนาน ยิ่งรู้มากยิ่งทำอะไรไม่ถูก เตะฝุ่นก็ไม่เป็น ไอ้พวกที่จบมหาวิทยาลัยมาแล้วนี่มันเรียนกันอย่างไรก็ไม่รู้ เตะฝุ่นก็ไม่เป็นดังนั้นการศึกษาในโลกนี้มันก็ทำให้โลกมีความสันติภาพไม่ได้ เพราะมันไม่ได้เรียนเรื่องเป็นมนุษย์กันให้ถูกต้อง โลกจะมีสันติภาพได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์มีความเป็นมนุษย์อย่างถูกต้องเท่านั้นแหละ ถ้ามนุษย์ยังไม่ได้เป็นมนุษย์ ยังไม่ได้เป็นมนุษย์ มีอะไรเหมือนสัตว์อยู่อย่างนี้ โลกมันมีสันติภาพไม่ได้ และก็ครูนั่นแหละที่จะทำให้โลกมันมีสันติภาพได้ เพราะว่าครูคือผู้สร้างโลก ครูที่ไม่มีความคิดความนึกมันก็ไม่ยอมรับหรอกว่าครูผู้สร้างโลก โดยที่แท้แล้วครูเป็นผู้สร้างโลก เพราะว่าครูสอนเด็ก เด็กเป็นอย่างไรโตขึ้นมันก็เป็นพลเมืองในโลก เด็กเป็นอย่างไรโลกมันก็เป็นอย่างนั้น เด็กจะเป็นอย่างไรมันก็แล้วแต่ครู เราจึงเห็นได้ว่าครูคือผู้ที่สร้างโลกโดยผ่านเด็กๆ ครูไม่ได้สร้างโลกด้วยมือของตนโดยตรง แต่สร้างโลกโดยผ่านเด็กๆ ครูสร้างเด็กๆ ขึ้นมาอย่างไร เด็กนั้นโตขึ้นเป็นคนพลโลก โลกก็เป็นอย่างนั้น นั่นดูเถอะว่าครูน่ะคือผู้สร้างโลก ทีนี้เมื่อการศึกษาที่ครูให้ไปไม่พอ เด็กก็ไม่เป็นมุนษย์ เป็นคนครึ่งๆ กลางๆ เพราะการศึกษาหมาหางด้วน เรียนแต่หนังสือกับอาชีพ เห็นแก่ปากแก่ท้อง เห็นแก่ตัว ไม่มีศีลธรรม ในโลกนี้มันก็ไม่มีศีลธรรม จึงขอให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายทุกคนรู้หน้าที่ของตนว่าเป็นผู้สร้างโลกยิ่งกว่าพระเป็นเจ้าเสียอีก พระเป็นเจ้าสร้างโลกนั้นเรามองไม่เห็นนะ แต่ถ้าครูสร้างโลกมันมองเห็น คือมันสร้างคน สร้างเด็ก สร้างคน แล้วคนก็รวมกันเป็นโลก เรียกว่าครูเป็นผู้สร้างโลก ดังนั้นอย่าบ่ายเบี่ยงว่ามันเป็นความยากลำบาก เป็นหน้าที่ที่สูงเกินไป ไม่ยอมรับอุดมคติอันนี้ มันก็เลยไม่คิดจะสร้างโลก มันก็เลยสอนหนังสือหาเงินเดือนกินไปวันหนึ่งๆ มันก็เป็นอาชีพธรรมดา มันไม่ใช่ครู
ที่นี้มาพูดกันถึงคำว่าครู รู้กันแต่ว่าตัวหนังสือแปลว่าหนัก มีพระคุณหนัก แต่ว่าคำว่าครูในอินเดีย ซึ่งเป็นเจ้าของภาษานี้ เขาแปลกันว่าผู้นำในทางวิญญาณ ผู้ส่องแสงในทางวิญญาณ ในเรื่องทางร่างกายทางวัตถุนี่เขาทำกันได้ ชาวบ้านเขาทำกันได้ แต่เรื่องทางจิตทางวิญญาณหมายถึงครู ดังนั้นครูจึงไม่ใช่ผู้สอนหนังสืออย่างธรรมดาสามัญ ไอ้สอนหนังสือ สอนวิชาชีพภาษาบาลีในประเทศอินเดียเรียกว่าอุปัชฌาย์ด้วยซ้ำไป พอมาถึงเมืองไทยคำว่าอุปัชฌาย์ถูกใช้เป็นอย่างอื่น เป็นเรื่องบวช เรื่องเรียน อะไรศาสนาไปเสีย ภาษาเก่าๆ ในอินเดียคำว่าอุปัชฌาย์ใช้ หมายถึงผู้สอนวิชาชีพ สอนวิชาดนตรี อย่างนี้ก็เรียกว่าอุปัชฌาย์ ลองหาหนังสือเก่าๆ อย่างหนังสือปรียทรรศิกามาอ่านดู จะพบคำว่าอุปัชฌาย์ ซึ่งหมายถึงผู้สอนวิชาดนตรี ที่อาจารย์เรียกผู้ฝึกมันยาก รับภาระในการฝึกมันยาก ให้มันเป็นมุนย์ที่ถูกต้อง ไม่ใช่สอนหนังสืออย่างธรรมดาที่เดี๋ยวนี้ เหมือนไม่ใช่สอนวิชาชีพอะไรให้มันไกลออกไป อาจารย์ฝึกมันยากให้มีความเป็นมนุษย์ เดี๋ยวนี้เด็กๆ ลูกเด็กๆ ของเรา วัยรุ่นนี้ไม่มีมรรยาทอย่างมนุษย์ มีมรรยาทเหมือนกับลิงทะโมน เพราะบ้าประชาธิปไตย เพราะไม่บังคับจิตใจ เพราะเห่อเสรีภาพ ไปจำอย่างมาจากหนังโดยมาก หนังที่โรงหนัง ที่วิทยุ โทรทัศน์อะไรก็ตาม ไปจำอย่างนั้นมา ยังมีมรรยาทไม่เหมือนกับมนุษย์ที่ถูกต้องตามความหมายของคำว่ามนุษย์ คือมีจิตใจสูง เป็นสุภาพบุรุษ บังคับตัวเองได้ เชื่อตัวเองได้ นับถือตัวเองได้ ยกมือไหว้ตัวเองได้ เพราะรู้ว่ามันมีอะไรดี เดี๋ยวนี้เขาว่าเขายกมือไหว้ตัวเองไม่ได้ เพราะมองดูแล้วตัวเองมันไม่มีอะไรดี มีแต่มรรยาทอย่างลิงทะโมน มันก็ไม่รู้จะทำกันอย่างไรไอ้เรื่องทางศีลธรรมนี่ คำว่าครูสูงกว่าระดับไหนหมด คือเป็นผู้นำทางวิญญาณ อุปัชฌาย์สอนอาชีพ อาจารย์ฝึกมันยาก ครูเป็นผู้นำทางวิญญาณ เมื่อเร็วๆ นี้พบหนังสือที่ออกมาใหม่ๆ นี่ว่า มีผู้ค้นพบทางอักษรศาสตร์ถึงรากศัพท์อันแท้จริงสมัยดึกดำบรรพ์ของคำว่าครูนี่มาจากคำว่าผู้เปิดประตู ภาษาอินเดียมันมีพิเศษอยู่ว่าทุกคำ รากคำทุกคำมีความหมายทั้งนั้น คำว่าครูคำนั้นมาจากรากศัพท์ที่แปลว่าผู้เปิดประตู อันนี้โบราณเต็มที ตั้งแต่มนุษย์เป็นสมัยคนป่าเถื่อน รู้จักเลี้ยงสัตว์ รู้จักเปิดประตูคอกสัตว์ ให้สัตว์ออกมาจากคอก ก็ยืมเอาคำนั้นมาใช้เป็นชื่อของผู้ที่มีหน้าที่สอนเรื่องทางจิตทางวิญญาณ ครูเปิดประตูคอก เปิดประตูเล้า เป็ดไก่หรือสัตว์ที่อยู่ในคอกในเล้าที่มืดที่เหม็นที่สกปรกมันได้ออกมาเสียจากคอก ครูคือผู้ที่เปิดประตูคอกที่ขังสัตว์อยู่ในความโง่ ความมืด ฟังดูเถอะอุดมคติมันเป็นอย่างไร ครูเดี๋ยวนี้มีหน้าที่ถึงขนาดนั้นหรือเปล่า เพราะความหมายของคำว่า ครูมันเปลี่ยนไป มันเปลี่ยนจากความที่ไม่ใช่เป็นอาชีพมาเป็นอาชีพ มันจึงร้ายมากไป ก่อนเป็นเรื่องการกุศล การเป็นครูเป็นเรื่องการกุศล เป็นเรื่องบุญ เป็นเรื่องช่วยโลกช่วยมนุษย์อย่างผู้เป็น ปูชนียบุคคล ไม่ใช่อาชีพ ถ้าอาชีพเขาก็หมายถึงอาชีพอีกอย่างหนึ่งคือว่า อาชีพในทางภาษาธรรมเป็นปูชนียบุคคลก็ได้เหมือนกัน นี่เราสอนหนังสือก็เรียกว่าเปิดประตูได้บ้าง คือว่ามันไม่รู้หนังสือ มันถูกกักขังอยู่ในความโง่ เอ้า, สอนหนังสือพอรู้ก็พอเหมือนกับออกมาจากคอกเล้าที่มืด สอนอาชีพมันมีหูตาสว่าง พอประกอบอาชีพก็เริ่มเปิดประตูได้ แต่มันไม่ถึงที่สุด เพราะมนุษย์มันไม่ได้มีอยู่เพียงว่าทำอาชีพได้แล้วก็พอ ก็ดูที่คนรวยประกอบอาชีพสูงๆ มันก็ยังโกง มันก็ยังคอรัปชั่น มันก็ยังเป็นนายทุนกระดาษซับ พวกคุณก็รู้จักความหมายของคำว่ากระดาษซับ มันซับแห้งหมดเลย นายทุนกระดาษซับก็หมายความว่าขูดรีดประโยชน์เอาเป็นของตนหมด คนอื่นๆ ก็ลำบาก นี่ไม่ใช่ว่ามีอาชีพร่ำรวยแล้วจะหมดปัญหา มันยังต้องมีความเป็นผู้เมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ หลัก ปรัชญาจะเรียกให้เพราะๆ ปรัชญาหรืออุดมคติของคำว่าเศรษฐีในครั้งพระพุทธกาลไม่ใช่นายทุนสมัยนี้ คำว่าเศรษฐีน่ะมันแปลว่าผู้ประเสริฐที่สุด เศรษฐะแปลว่าประเสริฐที่สุด เศรษฐีก็มีความประเสริฐที่สุด ทำไมจึงประเสริฐที่สุด เพราะว่าเศรษฐีเขาก็มีพรรคพวก มีการงาน มีการผลิต เขาผลิตมากก็ได้ผลมาก เลี้ยงข้าทาสบริวารอย่างลูกหลาน ไม่ใช่เลี้ยงอย่างลูกจ้าง กรรมกร ทำกันด้วยความรัก ช่วยกันผลิต พอผลิตได้มากก็ใช้แต่พอดี ทีนี้มาใช้กินอยู่แต่พอดี มันก็เหลือ เหลือนี่เอาไปช่วยผู้อื่น เพราะฉะนั้นเศรษฐีจะมีโรงทานทั้งนั้น ถ้าเรียกว่าเศรษฐีมันก็ต้องมีโรงทาน เพราะมันทำการช่วยเหลือผู้อื่น ที่เอาทรัพย์ไปฝังดินเอาไว้ สำรองไว้เผื่อเหลือเผื่อขาดอย่าให้โรงทานมันล้มได้ คำว่าเศรษฐีจึงไม่เป็นนายทุนขูดรีดเหมือนสมัยนี้ นายทุนสมัยนี้เขามีมากได้มากผลิตได้มาก เขาก็เพิ่มกำลังผลิตให้มันแรงขึ้น แข่งขันกันจนชนะคนอื่น เราผูกขาดได้แต่คนเดียวก็รวยเหลือที่จะรวย อย่างนี้เป็นนายทุน เขาเลี้ยงลูกจ้างกรรมกรอย่างกรรมกรอย่างลูกจ้าง พร้อมที่จะต่อสู้กันเสมอ คุณช่วยเข้าใจเสียด้วยว่าคำว่าเศรษฐีนั้นเขาไม่ได้หมายความว่ามีเงินมากอย่างเดียว นอกจากจะมีเงินมากแล้วยังจะต้องมีความดี บุญ กุศล เมตตา กรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาก จึงจะเป็นเศรษฐี วัดวาอารามสมัยพุทธกาลก็เศรษฐีสร้างทั้งนั้น เมืองไทยเราสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือต้นสมัยกรุงเทพฯ ก็เศรษฐีทั้งนั้นแหละที่สร้างวัด ที่เป็นราชาสร้างก็มีเป็นส่วนน้อย เศรษฐีสร้างเป็นส่วนมาก แล้วต่อมาจึงยกให้เป็นวัดหลวง คล้ายๆ กับพระราชาสร้าง พวกเศรษฐีก็มีเงินกินอยู่แต่พอดี เหลือก็ช่วยผู้อื่นด้วยการสร้างวัด การสร้างวัดคือการช่วยผู้อื่นในทางจิตทางวิญญาณ
ถ้าเราต้องการความสงบสุขก็น่าจะมีหลักศีลธรรมจริยธรรมหรืออุดมคติอย่างที่ว่านี้ ผู้ผลิตเต็มที่ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย แล้วก็กินแต่พอดี เหลือก็ช่วยผู้อื่น เดี๋ยวนี้คนมันขี้เกียจไม่อยากจะทำงาน มันจึงไม่มีอะไรจะกินจะใช้ กลายเป็นคนจน พอจนมากเข้าๆ ก็ก่อการต่อต้านคนมี ที่เรามันจนเพราะเราขี้เกียจทำงานและเพราะเราจ่ายมากเกินไปในทางอบายมุข เพราะว่าเดี๋ยวนี้เราไม่ถือศีลธรรมที่ว่าให้ทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้องนั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม คนโบราณเขาถือว่าการทำหน้าที่ของตนของมนุษย์ให้ถูกต้องนั้นคือการปฏิบัติธรรม เรียกสั้นๆ ว่าการงานคือการปฏิบัติธรรม การงานนั้นแหละคือการบำเพ็ญบุญ เขาว่าอย่างนั้น มันก็สนุกซิเพราะว่าการงานคือการบำเพ็ญบุญ ไถนาอยู่กลางแดดเหงื่อไหล ขุดนาอยู่กลางแดดเหงื่อไหล มันก็ยิ้มกริ่มอย่างนั้นแหละ ก็ทำไปได้ รู้สึกเป็นสุขและสนุกเมื่อทำการงาน คนสมัยนี้มันเปลี่ยนเป็นว่าไม่อยากจะทำการงาน ไม่ค่อยจะมีกินมีใช้ มันก็บ่นมันก็ด่าๆ อะไรก็ไม่รู้ คุณดูแท็กซี่ หากินแต่ขับแท็กซี่ประจำวัน มันบ่นมันด่าอะไรของมันก็ไม่รู้แทบจะตลอดวัน ถ้าเป็นอย่างสมัยก่อนเขายิ้มกริ่มที่ว่าเมื่อได้ทำงาน แล้วก็ยิ้มกริ่มเป็นสุขเมื่อทำงาน คนแจวเรือจ้างนี่ร้องเพลงเรื่อย ยิ้มกริ่มเรื่อย แจวเรือทั้งวัน ก็ได้เงินพอกินพอใช้ไม่ต้องยากจน แล้วก็ไม่เอาไปทำอบายมุข ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่เที่ยวกลางคืน ไม่ดูการละเล่น ไม่เล่นการพนัน ไม่คบคนชั่วเป็นมิตร ไม่อบายมุขเงินมันก็เหลือ ก็ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องเป็นคนจนที่เดือดร้อน เพราะว่าสนุกในการทำงาน การทำงานมีเกียรติอย่างยิ่ง การทำงานนั้นแหละคือการบำเพ็ญบุญ เขาก็ทำบุญอยู่ในการทำการงาน เดี๋ยวนี้มันไม่รู้สึกอย่างนั้นนี่ รู้สึกการงานเป็นความเหน็ดเหนื่อย กูไม่อยากจะทำ เป็นอย่างนี้กันหมดตั้งแต่ข้าราชการลงมาถึงคนยากจนที่เป็นราษฎร พวกข้าราชการก็มีสันดานขี้เกียจทำงาน มาช้ากลับเร็ว ไปอาบอบนวด นี่เพราะมันขี้เกียจทำงานในออฟฟิศ ในห้องทำงาน มันขี้เกียจไม่อยากจะอยู่ พวกครูก็เหมือนกันแหละ คุณไปคิดดูเถอะ คุณไม่อยากทำงานแต่ความจำเป็นมันบังคับให้ทำ จึงทำเท่าที่ความจำเป็นบังคับ แล้วหยุดงานเร็วๆ ไปอาบอบนวด หรือไปทำอะไรก็ตามใจ เรียกว่าโดยนิสัยมันไม่อยากทำงาน ไม่ได้บูชาว่างานนั้นคือการปฏิบัติธรรมเหมือนคนแต่ก่อน จึงไม่อยากทำงานเหมือนคนแต่ก่อน ความยากจนมันก็มี ได้สักหน่อยก็ไปทำอบายมุขจนหมด เล่นการพนัน ดื่มน้ำเมา ทั่วไปทุกหัวระแหง ลูกเด็กๆ ก็เอาอย่าง ลูกเด็กๆ ก็พลอยไม่อยากทำงานไปตามพ่อแม่หรือคนโตๆ ที่ทำตัวอย่างไว้ไม่ดี นี่ความยากจนมันก็ต้องเกิดขึ้นๆ ดังนั้นเราจึงมีโลกที่ระส่ำระสาย โลกที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ระหว่างนายทุนกับชนกรรมาชีพ เพราะไม่มีศีลธรรม และก็ต้องการจะตกลงกันด้วยอาวุธ ไม่ใช่ตกลงกันด้วยธรรมะ ถ้ามีธรรมะมันก็พูดกันรู้เรื่อง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ปรานีซึ่งกันและกัน
เพื่อสนุกในการทำงานด้วยกันทุกคน ถือหลักที่ว่ามนุษย์นี้มีหน้าที่คือทำการงาน เป็นธรรมะอยู่ในการทำการงาน ธรรมะมี ๔ ความหมาย ขอร้องให้ท่านทั้งหลายช่วยกำหนดจดจำว่าธรรมะมีอยู่ ๔ ความหมาย ธรรมะความหมายที่ ๑ คือ ธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวงเรียกว่าธรรมะ ความหมายที่ ๒ คือกฎของธรรมชาติ กฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้นก็เรียกว่าธรรมะ ที่นี้หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ไอ้ตัวหน้าที่นี้ก็เรียกว่าธรรมะ แล้วผลที่ได้รับจากหน้าที่นี้ก็เรียกว่าธรรมะเหมือนกัน ธรรมะ ๔ ความหมาย คือหน้าที่ คือตัวธรรมชาติ คือตัวกฎของธรรมชาติ คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ผลเกิดจากหน้าที่นั้น หน้าที่ตามกฎธรรมชาติคือธรรมะ พอทำหน้าที่ตามกฎธรรมชาติมันก็เป็นธรรมะ สิ่งที่มีชีวิตต้องมีหลักอย่างนี้ทั้งนั้น ไม่ทำหน้าที่มันก็ตาย ไม่กิน ไม่อาบ ไม่ถ่าย ไม่บริหารกาย ไม่ทำทุกอย่างที่เป็นหน้าที่ มันก็ตาย อย่าว่าแต่มนุษย์ ต้นไม้ก็ตาย ต้นไม้นี่ก็ต้องทำหน้าที่ ต้องดูดน้ำ ดูดอาหาร หาแสงแดด ย่อยอาหาร บำรุงเลี้ยงใบเลี้ยงต้น มันก็ต้องทำหน้าที่ ถ้าไม่ทำหน้าที่มันก็ตาย มนุษย์ก็ต้องทำหน้าที่ ต้องหาอาหารเลี้ยงชีวิต ต้องบริหารร่างกายถูกต้อง เครื่องใช้ไม้สอยเย้าเรือน ยานพาหนะอะไรต้องถูกต้อง หน้าที่ให้มันถูกต้องมันก็รอดชีวิตและอยู่สบาย แต่เดี๋ยวนี้คำว่าหน้าที่ไม่มีเพียงเท่านั้น ไม่มีเพียงว่ารอดชีวิตอยู่ได้ๆ มันเลยไปถึงว่ารอดชีวิตอยู่ได้ แล้วต้องได้สิ่งที่ดีที่สุด ดังนั้นเมื่อมนุษย์รอดชีวิตอยู่ได้มีกินมีใช้ แล้วก็ขวนขวายต่อไปว่าทำอย่างไรนะอะไรนะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์ จึงประพฤติธรรมะให้ยิ่งขึ้นไป ให้มีธรรมะยิ่งๆ ขึ้นไปจนเป็นอริยมนุษย์ อริยบุคคล เลื่อนไปถึงขั้นมรรค ผล นิพพาน นั่นแหละหน้าที่สูงสุดที่นั่น หน้าที่จะให้รอดชีวิตนี้มันเป็นหน้าที่ในระดับสัตว์เดรัจฉานหรือต้นไม้ต้นไร่ หน้าที่เพียงรอดชีวิตเท่านั้นก็พอ แต่หน้าที่ของมนุษย์นั้นไม่เพียงรอดชีวิต ต้องให้ดีที่สุด ให้ได้ที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้มาด้วย เราจะมีธรรมะในส่วนนี้ จำเป็นที่สุด ถ้าไม่ได้ธรรมะในส่วนนี้เกิดมาเป็นคน มันไม่ได้เป็นมนุษย์ มันเป็นสักว่าเป็นคน ต้องมีธรรมะส่วนนี้มาทำให้เป็นมนุษย์ มันดีกว่าสัตว์หรือดีกว่าสิ่งที่มีชีวิตตามธรรมชาติ นี่คือธรรมะที่กำลังจะพูด หรือที่ท่านผู้ฟังเขาขอร้องให้พูดธรรมะสำหรับครู เพื่อครูจะเอาไปใช้มอบหมายให้แก่คนอื่นๆ ต่อไปทุกคน ครูมีหน้าที่นำทางวิญญาณหรือเปิดประตูทางวิญญาณ แล้วจะเอาอะไรไปเปิดเล่าหรือนำเล่า ก็คือธรรมะ ดังนั้นครูต้องรู้ธรรมะ อย่างน้อยก็รู้อย่างที่ว่าธรรมะมี ๔ ความหมาย ธรรมชาติก็เป็นธรรมะ กฎของธรรมชาติก็เป็นธรรมะ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติก็เป็นธรรมะ ผลเกิดจากหน้าที่ก็เป็นธรรมะ
ดูกันข้างในก่อนดีกว่า ในตัวเราทุกคน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อตัวนี้ก็เป็นธรรมชาติ จิตใจก็เป็นธรรมชาติ ร่างกายกับจิตใจก็เป็นธรรมชาติ เกิดอยู่ตามธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ เนื้อตัวของเราเป็นธรรมชาติ ที่นี้ในธรรมชาติเนื้อตัวของเราก็มีกฎของธรรมชาติสิงอยู่ ควบคุมอยู่ ร่างกายของเรา ชีวิตของเราจึงต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ มันก็มีหน้าที่ ในร่างกายของเราก็มีหน้าที่ที่จะต้องกิน ต้องอาบ ต้องถ่าย ต้องทำทุกอย่าง เพื่อให้มันรอด แล้วก็ทำหน้าที่ มันก็ได้กิน ได้อาบ ได้ถ่าย แล้วผลก็ได้คือว่าไม่ตายและอยู่กันผาสุก เรียกว่าอยู่กันผาสุก แต่ยังไม่ถึงที่สุด ฉะนั้นต้องศึกษาหน้าที่ที่สูงขึ้นไปทางจิตทางใจ ประพฤติธรรม ที่เรียกกันว่าพระธรรมหรือพระศาสนา หรือระบบศีลธรรม ฉะนั้นเราจึงต้องแสวงหามาเพิ่มให้ในส่วนที่เรียกว่าหน้าที่ ทำหน้าที่แล้วผลมันก็เกิดขึ้นสมกัน แล้วเราจึงมีผลทำให้รอดชีวิตอยู่ได้และได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ทีนี้ธรรมะในชั้นที่ให้ดีกว่าที่เพียงแต่จะรอดอยู่ได้ก็คือให้บรรลุมรรค ผล นิพพาน หรือเป็นสุขยิ่งกว่าธรรมดา เปรียบเทียบกันง่ายๆ ว่าคนๆ หนึ่งเขามีเงินมาก มีอำนาจมาก มีวาสนามาก มีเกียรติมาก แต่มันก็ยังไม่ถึงที่สุด ไอ้คนที่เป็นอย่างนั้นก็นั่งร้องไห้อยู่บ่อยๆ หัวเราะเหมือนคนบ้าอยู่บ่อยๆ ร้องไห้อยู่บ่อยๆ เพราะว่าเพียงเท่านั้นมันไม่พอ แม้ว่าเขาจะร่ำรวยแล้ว มีอำนาจมากแล้ว เดี๋ยวก็เจ็บ เดี๋ยวก็พ่าย เดี๋ยวก็เป็น เดี๋ยวก็ตาย เดี๋ยวก็มีเรื่องอย่างนั้นอย่างนี้ ยังมีทุกข์อยู่ มันต้องมีความรู้เรื่องไม่เป็นทุกข์กันเสียอีกชั้นหนึ่งต่างหากจึงจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เพียงแต่มีเงินใช้ มีอำนาจวาสนา มีสังคมสมาคมอะไร มันยังไม่พอ แล้วคนชนิดนี้ถ้าโกงก็โกงลึก โกงจัด เพราะมันฉลาด เพราะมันมีอำนาจ มันเป็นทรราช หรือเป็นอะไรก็ได้ เพราะมันยังไม่พอ ฉะนั้นคนชนิดนี้ต้องมีธรรมะเข้ามาอีกให้เป็นคนดี จนกระทั่งว่าเขามีหลักว่าผลิตมาก กินอยู่แต่พอดี เหลือเอาไปช่วยสังคม อย่างนี้เขาก็จะสบายในทางจิตใจ เป็นสุขในทางจิตใจ ซึ่งเขาเรียกว่าฝ่ายที่สูงขึ้นไปกว่าธรรมดาเป็นโลกุตระ ฝ่ายที่เป็นไปตามโลก ตามระดับโลก ตามแบบชาวโลก เขาเรียกว่าโลกิยะ ไอ้โลกิยะนี่คนธรรมดา โลกุตระนี่คือคนชั้นสูง ไอ้คนธรรมดาเป็นชาวบ้านธรรมดาแบบโลกิยะนี่ว่า กูกินเองแหละดีๆๆ ส่วนคนชั้นสูงชั้นโลกุตระก็ให้ผู้อื่นกินดีกว่า คุณลองคิดดู กินเองดี หรือให้ผู้อื่นกินดีกว่า จิตใจมันต่างกันมาก เรากินเองมันก็ดีแล้ว ถูกแล้ว มันก็ได้อิ่ม ก็ได้เหมือนกับธรรมชาตินะ แต่ให้ผู้อื่นกินดีกว่า อย่างไรมองไม่เห็น เป็นว่าแต่จะมีจิตใจสูงจึงจะมองเห็น เพราะว่าให้ผู้อื่นกินไม่ใช่ให้หมดจนตัวเองไม่ต้องกิน มันก็มีกินเหมือนกัน แต่มันมีส่วนที่ช่วยผู้อื่นอยู่มาก เดี๋ยวนี้คนเขาไม่ค่อยคิดช่วยอะไรกัน ได้เท่าไรก็คิดแต่จะกินเอง กินให้มันดีวิเศษ อยู่บ้าน อยู่เรือน อยู่ตึกให้มันวิเศษ มีรถยนต์มากๆ มีอะไรมากๆ จนไม่พอ จนตายก็ไม่รู้จักว่าพอ ไอ้คนที่เขาคิดว่ากินเองดีกว่า ไอ้คนที่เขาคิดว่าให้คนอื่นกินดีกว่านั้นเขาไม่ต้องมีอะไรมากมาย เขาก็มีส่วนแจกจ่ายให้ผู้อื่นแล้ว นี่เขามองเห็นว่าจิตที่คิดจะให้ผู้อื่นนั้นเป็นสุขสบายยิ่งกว่าจิตที่คิดจะเอา จิตที่คิดจะเอามาเป็นของกูนั้นร้อน จิตที่คิดจะให้ผู้อื่นนั้นมันเย็น มันตรงกันข้ามอยู่อย่างนี้ คนที่เขาชอบเย็นเขาก็คิดไปในทางให้ผู้อื่น แล้วเขาจึงทำงานเผื่อผู้อื่น ทำงานมาก กินอยู่แต่พอดี มันก็เหลือ เหลือก็ไปช่วยผู้อื่น เขาก็เย็นทั้งตัวเองเย็นทั้งผู้อื่น ช่วยให้โลกมีสันติภาพ ดังนั้นพวกครูบาอาจารย์ทั้งหลายช่วยให้เขาเข้าใจความจริงข้อนี้
ธรรมะมีอยู่ ๔ ความหมาย แต่ละความหมายสำคัญที่เราจะต้องรู้ ถ้าเราไม่รู้เราก็เป็นมนุษย์ไม่ถูกต้อง ธรรมะคือธรรมชาติ อย่างเช่นว่า ร่างกาย เลือดเนื้อ กระดูก อะไรทั้งหมดทั้งร่างกาย ตับ ปอด ไส้ พุง มันก็เรียกว่าร่างกาย นี้เป็นธรรมชาติ ถ้าเรารู้จักมันดี เราก็ไม่ทำลายมัน มีแต่ส่งเสริมให้มันดียิ่งขึ้นไป เดี๋ยวนี้มันรู้อย่างโง่เขลา ร่างกายดีๆ มันก็กินน้ำอะไรเข้าไปไม่รู้ ไม่กี่ปีตับมันแข็ง ตับที่มันดีๆ อยู่มันแข็ง เพราะมันกินน้ำอะไรเข้าไปก็ไม่รู้ นี่จะเรียกว่ามันรู้จักธรรมชาติคือร่างกายอย่างไรได้ คือปอดมันอยู่ดีๆ เอาควันเข้าไปรมจนปอดเสีย ก็ต้องไปซื้อมาซองหนึ่งหลายบาท ซื้อมาจุดควันรมปอดให้เสียเร็วๆ นี่จะเรียกว่ามันรู้จักร่างกายนี้เป็นไปไม่ได้ ครูบาอาจารย์ช่วยเป็นแสงสว่างกันในตอนนี้เถอะ ก็แม้แต่ธรรมชาติร่างกายเรานี่อย่าไปทำให้มันผิดให้มันเสีย ทำให้มันดีที่สุดอยู่เสมอ อย่าเอาควันไฟรุมรมปอด อย่าเอาน้ำบ้าๆ บอๆ ไปดองตับให้มันแข็ง อย่าทำอะไรทำนองนั้น ก็เรียกว่ารู้ธรรมะแหละ ธรรมะในข้อที่เป็นธรรมชาติ ทีนี้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติมันมีอยู่อย่างไร ร่างกายนี้ต้องทำอย่างไร ชีวิตนี้มันเป็นอย่างไร ต้องบำรุงเท่าไร ต้องพักผ่อนเท่าไร ต้องบริหารอย่างไร ก็ต้องทำให้ถูกตามกฎ ทีนี้ทำผิดกฎ เวลาพักผ่อนเอาไปทำอย่างอื่นเสีย มันก็เกิดความผิดพลาดขึ้นมา เรื่องหน้าที่ของร่างกายนี่ก็ใช้ผิดๆ ใช้ทำหน้าที่ผิดๆ ไม่ประกอบไปด้วยธรรมะ ผลก็ไม่ได้รับที่พอจะชื่นใจได้ ความเป็นมนุษย์ของบุคคลนั้นก็ไม่ถูกต้อง อีกเรื่องหนึ่งก็เป็นปัญหา ไม่ได้เป็นมนุษย์เป็นได้แต่เพียงคน เพราะจิตมันไม่สูง ดังนั้นก็ขอให้ช่วยกันศึกษาเรื่องจิตสูง ศึกษาเรื่องทำจิตให้สูง ก็อยากจะพูดถึงคำว่าศึกษา เพราะว่าครูมีหน้าที่ให้การศึกษา คำว่าศึกษา เป็นภาษาไทยยืมมาจากภาษาสันสกฤตที่เขาออกเสียงว่าสิกชา สิกชา ในภาษาสันสกฤต ษ ออกเสียงเป็น ช ภาษาบาลีเขาว่าสิกขา สิกขาในบาลีก็คือสิกชาในสันสกฤต คือศึกษาในภาษาไทยเรา คำเดียวกัน คำว่าศึกษาในภาษาอินเดียนั้นเขาหมายถึงการกระทำให้มันถูกต้อง เพราะว่าศึกษาแปลว่าการกระทำให้มันถูกต้องที่เป็นชั้นสูงสุด ศึกษาให้ถูกต้องเกี่ยวกับกาย วาจา เกี่ยวกับการกระทำทางกาย ทางวาจา นี่เขาเรียกว่าศีลศึกษา ศีลสิกขา นี่เกี่ยวกับการกระทำให้มันถูกต้องทางจิต ให้มีจิตดีๆ เท่านั้น จิตมีสมรรถภาพจิตดีนี่เขาเรียกว่าจิตสิกขาหรือสมาธิสิกขา ถูกต้องเรื่องจิต
อันสุดท้ายเรียกว่าปัญญาสิกขา ถูกต้องทางสติปัญญา ความคิด ความเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจอะไรให้มันถูกต้องไปหมดนี่ ถูกต้องทางปัญญา รวมหมดก็ถูกต้องทางกาย ทางวาจา เรียกว่าศีลสิกขา ถูกต้องทางจิตเรียกว่าจิตสิกขา ถูกต้องทางวิชาความรู้สติปัญญาเรียกว่าปัญญาสิกขา เดี๋ยวนี้เราจะสอนกันแต่หนังสือ มันก็เรียกว่ารู้แต่หนังสือ ถ้าไม่มาสอนเรื่องทำกาย วาจา ให้ถูกต้อง มันก็ยังขาดการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้สอนให้รู้จักทำจิตให้ถูกต้อง แล้วก็ขาดการศึกษาที่สูงยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ได้ให้ศึกษาถูกต้องทางสติปัญญา ความคิดความเชื่อมันก็ยิ่งไม่มีในส่วนสูงเลย มันก็มีสิกขาแค่ ก ข ก กา เรียนเลขเรียนอะไรอยู่แค่นั้นเอง ความถูกต้องมันก็อยู่แค่นั้นเอง แค่ที่ว่ารู้อะไรบ้างที่จะใช้เป็นความฉลาดในการหากินแค่นั้น ทีนี้ความถูกต้องทางกาย ทางวาจา ทางจิต ทางทิฏฐิ ความคิด ความเห็นมันไม่มี จิตมันไม่สูง มันก็ไม่เป็นมนุษย์ เป็นแต่เพียงคน เพราะว่าคนมันสักแต่ว่าเกิดมาก็เป็นคนยังไม่เป็นมนุษย์ ต่อเมื่ออบรมความสูงให้มีขึ้นทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ นั้นแหละจึงจะเรียกว่ามนุษย์ ในโรงเรียนสอนลูกเด็กๆ ผิดๆ เหมือนกับโกหกลูกเด็กๆ ครูสอนเด็กๆ ว่ามนุษย์แปลว่าคน นิพพานแปลว่าตาย อย่างนี้ขบถ ตรงข้ามความจริงทั้งนั้น มนุษย์ไม่ได้แปลว่าคน มนุษย์แปลว่าสัตว์ที่มีใจสูง หากคนและสัตว์ หากสัตว์ที่พอเกิดมาก็เป็นคน ถ้าท่านสอนภาษาไทยตรงนี้ช่วยบอกเขาเสียด้วยว่า มนุษย์เราสัตว์มีใจสูง คนยังไม่สูง ต้องอบรมคนให้ดีคนจึงจะเป็นมนุษย์ ดังนั้นอย่าแปลมนุษย์ว่าคนกันทื่อๆ อย่างนั้น ทีนี้ถ้าสอนนิพพานแปลว่าตาย แบบของพระอรหันต์ อย่างนี้มันก็ยิ่งผิด เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่านิพพานในหลักพระธรรมนั้นไม่ต้องตายก็ได้ คนบรรลุนิพพานโดยร่างกายไม่ต้องตายก็ได้ อย่างหมดกิเลสนั้นเรียกว่านิพพาน นิพพานไม่ได้แปลว่าตาย และตัวพระอรหันต์นั้นตายไม่ได้ พระอรหันต์อยู่เหนือความตาย แม้แต่ภาษาก็สอนผิดๆ เสียแล้ว เรื่องธรรมะมันก็ยากที่จะถูก มันก็ดีนะ ก็น่ายินดีที่ว่าท่านทั้งหลายที่เป็นครูบาอาจารย์กำลังเที่ยวแสวงหาความรู้ทางธรรมะให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ที่มานี่อาตมาก็ทราบว่ามาเพื่อจะศึกษาธรรมะให้ยิ่งขึ้นไป นี้ก็เป็นนิมิตที่ดีที่ว่ามันจะเป็นไปในทางดี ถ้าครูบาอาจารย์รู้จักธรรมะยิ่งๆ ขึ้นไป มันก็จะทำให้เด็กๆ ของเราเป็นเด็กที่ดี เป็นผู้ใหญ่ที่ดี ทำให้โลกนี้เป็นโลกที่ดี ช่วยกันสร้างโลกที่ดี ขอให้เข้าใจคำว่าสิกขาคืออย่างนี้ คือการกระทำให้มันถูกต้องทางการประพฤติด้วยกาย ด้วยวาจาและการประพฤติ ด้วยจิตใจและภาวะของทิฏฐิ ความเชื่อ ความคิด ความเข้าใจ มันถูกต้องก็เรียกว่ามีการศึกษา มันสำคัญอยู่ที่ว่าเข้าใจความหมายของคำเหล่านี้อย่างถูกต้อง คำว่าครูก็ดี คำว่า การศึกษาก็ดี คำว่าธรรมะก็ดี แม้แต่คำว่าคนหรือคำว่ามนุษย์ก็ดี มันมีความหมายเฉพาะๆ ต้องทำกับมันให้ถูกต้อง
ถ้าจะเป็นครูกันจริงๆ ก็ต้องเปิดประตูทางวิญญาณให้ได้ ครูจะพยายามอย่างยิ่งเปิดประตูทางวิญญาณให้แก่เด็กให้แก่ศิษย์อย่างยิ่ง ชนิดลูกเด็กๆ มันรู้ชัดถูกต้องว่าพ่อแม่คืออะไร ลูกคืออะไร ตัวเราคืออะไร เกิดมาทำไม ถ้าสอนให้เด็กๆ เขารู้อย่างถูกต้องอย่างนี้แล้วจะเรียกว่าผู้เปิดประตูทางวิญญาณ เพียงแต่สอนเลขสอนหนังสืออย่างนี้มันเปิดน้อยไป มันเปิดน้อยไปไม่ถึงขนาดที่จะเรียกได้ว่ารอดตัว ครูจึงต้องศึกษาให้รู้ว่ามนุษย์คืออะไร เกิดมาทำไม ดีที่สุดอยู่ที่ตรงไหน รู้หน้าที่ของครู และก็รู้หน้าที่ของความเป็นครู เป็นบิดามารดา ซึ่งเป็นครูคนแรก ที่โรงเรียนเป็นครูถัดมา ที่วัดวาอารามเป็นครูขั้นสุดท้าย ครูทั้งหลายร่วมมือกันตามลำดับ ทำให้คนแต่ละคนนี่รู้พอในการที่จะรู้ว่ามนุษย์จะต้องรู้อะไรบ้าง อะไรดีที่สุดกันอยู่ที่ตรงไหน และก็ว่าธรรมะนั้นมีถึง ๔ ความหมาย ความหมายที่สำคัญที่สุดคือ หน้าที่ของมุนษย์นั้นเอง หน้าที่ของมนุษย์คือธรรมะ การทำงานคือการปฏิบัติธรรม เป็นสุขที่โต๊ะทำงาน ไม่ต้องหายใจเป็นทุกข์อยู่ที่โต๊ะทำงานว่าเมื่อไรจะถึงเวลาเลิกงานไปอาบอบนวด ถ้าทำอย่างนี้ไอ้ที่โต๊ะทำงานมันกลายเป็นนรก ที่โต๊ะทำงานของคุณก็กลายเป็นนรก ทนทำอยู่ด้วยความเบื่อหน่ายว่าเมื่อไรจะถึงเวลาปิดออฟฟิศไปเที่ยวอาบอบนวดซึ่งเป็นสวรรค์ ถ้ามีธรรมะถูกต้อง ที่โต๊ะทำงานนั่นแหละคือสวรรค์ เพราะปฏิบัติธรรมะคือทำหน้าที่ พอใจๆ อิ่มอกอิ่มใจอยู่เมื่อนั่งทำงาน ถ้าจะเลิกงานไปอาบอบนวดนั้นน่ะไปหานรก มันก็กลับกันอยู่อย่างนี้ การจะรู้ความหมายของคำว่าธรรมะอย่างถูกต้องมันมีประโยชน์มากอย่างนี้ ธรรมะคือหน้าที่ที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องประพฤติกระทำเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด ครั้นรอดแล้วให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ นั่นแหละคือธรรมะ คือหน้าที่ ดังนั้นพอจะทำหน้าที่อันนี้แล้วก็ขอให้สบายใจ ให้มีความสุข เหมือนกับคนรุ่นปู่ย่าตายายเมื่อทำงานอยู่ยิ้มกริ่ม กลางแดดกลางฝนยิ้มกริ่มเป็นสุข พอใจเมื่อทำงาน เป็นชาวนาที่มีความสุขเมื่อไถนา เมื่อขุดนา เมื่ออยู่กลางนากลางแดดกลางฝนก็เป็นสุข พอข้าวออกรวงเกี่ยวแล้วขายแล้วไม่รู้ไม่ชี้ คนในบ้าน ภรรยาแม่บ้านเขาจะไปซื้อไปขายกันอย่างไรไม่รู้ไม่ชี้ ฉันไม่ได้ไปแย่งมาเพื่อจะซื้อเหล้ากิน ถ้าไม่ให้ก็ตีมันตายเลย เหมือนกับที่หนังสือพิมพ์เขาลงอยู่เดี๋ยวนี้ ชาวนาแต่โบราณเขาเป็นสุขอย่างยิ่งเมื่อทำนา ได้ข้าวได้อะไรมาไม่รู้ไม่ชี้ คนในบ้านในเรือน ภรรยาแม่บ้านเขาไปขายดำรงชีวิตกันไปเอง เพราะว่าเขามีความสุขพอเสียแล้วเมื่อขุดนา เมื่อไถนา ยิ้มอยู่เสมอ ร้องเพลงตลอดเวลา ที่อินเดียอาตมาเคยไปเห็นด้วยตนเอง คนร้องเพลงสุดหูสุดตา เพราะว่าบางจังหวัดมันไม่มีต้นไม้ ไม่มีป่าไม้ โล่งสุดหูสุดตา เขาต้องทำนาฤดูที่ ๒ เขาต้องตักน้ำรดนา ฤดูที่ ๑ ทำได้ตามธรรมชาติ มีฝนฟ้าตามธรรมชาติไม่เป็นไร พอฤดูที่ ๒ ไม่มีน้ำ ไม่ใช่ฤดูฝน เขาต้องตักน้ำในบ่อใต้ดินขึ้นมารดนา ตักตั้งแต่เช้าจนเที่ยงหยุดหน่อยหนึ่ง ตั้งแต่บ่ายจนค่ำและร้องเพลงทั้งนั้น ทุกคนกำลังสาวเชือกตักน้ำเทอยู่ร้องเพลงทั้งนั้น ตักเทข้างบ่อแล้วมีร่องเล็กๆ ไหลไปทั่วพื้นนา มันร้องเพลงตลอดเวลากลางแดดด้วย เหงื่อไหลด้วย ยิ่งเราไปยืนดูแล้ว ยิ่งยิ้มใหญ่ ยิ่งร้องเพลงใหญ่ ยิ่งยิ้มใหญ่ เราไปยืนดูเขา นั่นน่ะแสดงว่าไอ้คนที่มันมีความสุขเมื่อทำการงาน บางครอบครัวถามดูไม่เคยเห็นมีการไปเที่ยวดูงานไอ้ที่เขาจัดเป็นงานนักขัตฤกษ์เหมือนกับที่บ้านเรานั้นไม่มี ทั้งปีไม่เคยไปก็มีชาวนาเหล่านี้ ถ้าในเมืองไทยนี้ก็มีงานนักขัตฤกษ์เล่นหัวสนุกสนานหัวเดือนท้ายเดือนทุกปีตลอดปี ชาวนาที่อินเดียไม่เคย ตลอดปีน่าจะครั้งเดียว เขาอยู่ได้ด้วยความสงบสุข เพราะว่าเขามีความสุขในการทำงาน เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ถ้าเมื่อไรพวกเรามีความสุขเมื่อทำงาน เมื่อนั้นปัญหาจะหมด ก็จะไม่มีใครยากจน คนแจวเรือจ้างก็แจวเรือจ้าง คนถีบสามล้อก็ถีบสามล้อ คนล้างท่อถนนก็ล้างท่อถนน คนก็ยิ้มตลอดเวลาเป็นสุข ไม่มีใครยากจนและไม่มีความทุกข์ และเขาไม่ไปทำอบายมุข ไม่ไปกินเหล้า ไม่เล่นการพนัน ดังนั้นคนยากจนเหมือนที่บ่นกันอยู่มันก็ไม่มี พอมีกินมีใช้ไปหมด เพราะเขาไม่ทำอบายมุข และเขาสนุกในการทำงานเท่านั้นเอง ขอให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายช่วยไปคิดไปนึกไปหาวิธีการที่จะให้ลูกเด็กๆ ของเราในอนาคตมันเข้าใจธรรมะอย่างถูกต้องว่า ธรรมะคือการทำหน้าที่ พอได้ทำหน้าที่แล้วให้เป็นสุขสนุกสนานอยู่ในใจ และให้ยกมือไหว้ตัวเองได้ เพราะว่าเรามีธรรมะ เราปฏิบัติหน้าที่ เขาก็มีความสุขเพราะยกมือไหว้ตัวเองได้ เดี๋ยวนี้นักเรียนนักศึกษาวัยรุ่นมันไม่ มันจะไปเสพเฮโรอีน มันจะไปเที่ยวเหมือนอย่างที่เขาเที่ยวกันอย่างคนเสเพลนั่น มันไม่มีโอกาสจะยกมือไหว้ตัวเองได้ ถามดูมันก็บอกอย่างนั้น มันไม่มีอะไรยกมือไหว้ตัวเองได้ เพราะฉะนั้นพวกเราทุกคนพอค่ำลงก่อนจะนอนลองถามตัวเองดูว่าวันนี้มีอะไรดีพอจะยกมือไหว้ตัวเองได้บ้าง ถ้ามีก็ยกมือไหว้ตัวเอง วันนี้ได้ทำอะไรที่พอจะยกมือไหว้ตัวเองได้ ถ้าเห็นว่า โอ๊ย, ไม่มีเรื่องอะไรก็แปลกหมด ทำอะไรดี จะชกหัวตัวเองดูบ้างก็ได้ ยกมือไหว้ไม่ได้ก็ลองชกหัวมันดูบ้างเพราะมันไม่มีอะไรดีพอให้ไหว้ตัวเองได้ตลอดวันๆ
นี้คือธรรมะ คำว่าธรรมะ คำว่าครู คำว่าการศึกษา ๓ คำนี้มีความหมายอย่างนี้ วันนี้ก็พูดอะไรกันไม่ได้มากนอกจากว่าคำ ๓ คำ คือคำว่าครูผู้เปิดประตูทางวิญญาณ คำว่าการศึกษาคือความถูกต้องทางกาย ทางวาจา ทางจิต ทางความคิดเห็น ความเชื่อถือ คำว่าธรรมะก็คืออย่างนี้ ทุกอย่างเป็นธรรมะหมด และธรรมะสูงสุดคือหน้าที่ เมื่อทำหน้าที่ก็คือมีธรรมะ คนที่มีธรรมะอย่างนี้แล้วก็ไม่มีความทุกข์ ธรรมะคุ้มครองๆ ไม่มีความทุกข์เลยเพราะธรรมะคือหน้าที่ เขาปฏิบัติหน้าที่อยู่ตลอดเวลา มีความสุขในการทำหน้าที่ ธรรมะคุ้มครองไม่ให้ยากจน แล้วไม่ให้กลุ้มใจจนถึงกับเป็นโรคประสาท ไม่ละอายแมว เดี๋ยวนี้คนเป็นโรคประสาทมากขึ้น เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร มีแต่ความขี้เกียจไม่อยากทำงาน ไม่รู้หัวใจของพุทธศาสนาว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น มันก็กลุ้มใจ มันก็เป็นโรคประสาท หนักๆ เข้ามันก็เป็นโรคจิต ได้ยินสถิติเมื่อเร็วๆ นี้ว่าประเทศไทยเล็กนิดเดียวนี้เป็นโรคประสาทกันเป็นแสนๆๆ เป็นโรคจิตกันเป็นหมื่นๆ แมวสักตัวมันก็ไม่เป็นนะ คุณไปหาดู แมวซักตัวไม่เป็นโรคประสาท ไม่เป็นโรคจิต ไอ้คนนี่กินยานอนไม่หลับ กินยา transquilizer กล่อมอารมณ์กันเป็นตันๆ กระมังทั้งโลก แมวไม่ได้กินสักเม็ดหนึ่ง คนมันก็ควรจะละอายแมว เอาธรรมะเข้ามาช่วยคนก็ไม่ต้องเป็นโรคประสาท ไม่ต้องเป็นโรคจิต ให้ละอายแมว เพราะมีธรรมะ ขอร้องให้เอาไปนะ จำเอาไปนะ ไปคิดดูว่าครูนี้คือใคร สิกชา สิกขา คืออะไร ธรรมะคืออะไร แล้วจะนำไปใช้ให้ถูกตามความประสงค์ทุกอย่างทุกประการ ทุกวิถีทาง ทุกเวลา ทุกสถานที่ แล้วเราก็จะเป็นครูชนิดปูชนียบุคคลอยู่เหนือศีรษะของประชาชนทั้งหลายในโลก
เวลาที่คุณกำหนดให้ ๔๕ นาทีได้หมดแล้ว ดังนั้นขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้