แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นราชภัฏลาบวช และจะต้องลาสิกขาทั้งหลาย การบรรยายธรรมะเล่มน้อย สำหรับผู้จะลาสิกขาเป็นครั้งที่ ๗ นี้ ผมจะกล่าวโดยหัวข้อว่า เหนือโลกกันที่นี่และเดี๋ยวนี้ หัวข้อนี้ไม่มีคำว่าปุถุชน แต่มันก็มีคำว่าปุถุชนซ่อนอยู่ในนั้น ถ้าเหนือโลกมันก็พ้นความเป็นปุถุชน ถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่มันยังเหนือโลกไม่ได้ ก็กลายเป็นว่ามันยังเกี่ยวกับเรื่องปุถุชนอยู่นั่นเอง เมื่อปุถุชนหมดความเป็นปุถุชนมันก็เหนือโลก ถ้ายังมีความเป็นปุถุชนเหลืออยู่ มันก็เหมือนกับก้อนหินหนักผูกติดไว้ให้มันจมอยู่ในน้ำ มันลอยขึ้นไม่ได้
เรื่องเหนือโลกมันก็คือเรื่องหมดความเป็นปุถุชน เขาเป็นผู้ที่ไม่มีความหนาของกิเลสเป็นไฝฝ้าปิดบังดวงตาอีกต่อไป เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า ไอ้ต้นกำเนิดหรือแม่บทของกิเลสคือ อวิชชานั่นมันถูกทำลายไปหมดสิ้น ไม่มีที่เกิดของอวิชชา ไม่มีอวิชชาก็ไม่มีที่เกิดของกิเลส เพราะกิเลสมันเกิดจากอวิชชามาปิดบังปัญญา ถ้าจะพูดให้ตรงหรือดูกันให้ดีแล้วก็จะเห็นได้ว่า อวิชชานั่นแหละคือกิเลส กิเลสนั่นแหละคืออวิชชา มันออกมาอยู่ในรูปต่างๆ กัน หมายความว่าอวิชชามันแปลงรูปได้หลายอย่างต่างๆ กัน เช่น เรียกว่าความโลภ มันก็คือความโง่มันถึงโลภ ความโลภก็คือความโง่ชนิดหนึ่ง ความโกรธมันก็คือความโง่ เป็นความโง่ชนิดหนึ่ง ความหลงมันก็เป็นความโง่อยู่แล้ว แสดงว่ามันเป็นตัวอวิชชาที่แปลงรูปมาในรูปแบบต่างๆ กัน หรือกิเลสเหล่านี้มันปิดบังดวงตา คือ ปัญญาอย่างหนา คนนั้นก็เลยได้เรียกว่า ได้ถูกเรียกว่าปุถุชน คือ คนหนาอยู่ด้วยไฝฝ้าในดวงตา มองไม่เห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง ที่ผลสำคัญมันเกิดขึ้นก็คือมองไม่เห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง ปัญหามันจะหมดไปต่อเมื่อมองเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง มันก็คือไม่มีอะไรมาเป็นไฝฝ้าหุ้มห่อดวงตาหรือปัญญา ไม่มีอะไรมาเป็นไฝฝ้าหุ้มห่อก็เพราะว่า ไอ้ที่เกิดแห่งไฝฝ้าทั้งหลายนั้นมันหมดไปแล้ว ที่เกิดนั้นก็คืออวิชชา มันจึงหมดปัญหาแห่งความเป็นปุถุชน คือไม่มีอะไรที่จะมาปิดบัง เป็นไฝฝ้าในดวงตาอีกต่อไปอย่างนี้ เขาจึงหลุดออกไปได้จากสิ่งทั้งปวง ที่เขาเคยโง่เคยหลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่น จับฉวยเอาด้วยอุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจของตัณหา คือความอยากเป็นความอยากซึ่งมาจากความโง่ คือ อวิชชา นี่ปัญหาต่างๆ ก็หมดไป เพราะว่ามันไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ นี่เราควรจะมองให้เห็นชัดลงไปในตอนนี้ว่า ปัญหาทุกอย่างทุกประการ ซึ่งล้วนอยู่แต่ในรูปของความทุกข์ทรมานทนไม่ค่อยไหว นี่มันมาจากสิ่งๆ เดียวคือ อวิชชา แต่ว่ามันมาตามลำดับๆๆ จนกว่าจะถึงไอ้ตัวปัญหาหรือความทุกข์ ที่มันแบ่งได้เป็นหลายขั้นตอน เราศึกษาดูตามหลักของปฏิจจสมุปบาท อวิชชาทำให้มีความสัมผัส มีการ สัมผัสที่โง่เขลา เกิดเวทนาที่โง่เขลา เกิดตัณหาคือ ความอยากที่โง่เขลา เกิดความยึดมั่นที่โง่เขลา แล้วก็เกิดเป็นตัวกู ของกูขึ้นมา เป็นทุกข์เพราะสิ่งต่างๆ ที่มันได้ยึดถือเอาไว้ โดยความเป็นตัวตนหรือเป็นของๆ ตน นี่เรื่องมันมีเท่านี้
แต่ในคนเราแต่ละคนแต่ละวันแต่ละวัน คือ อวิชชาได้มีโอกาสแสดงบทบาท เมื่อมีการสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตัววิชชาไม่รู้อยู่ที่ไหน เพราะเขาไม่ได้อบรมให้มากพอ ให้คล่องแคล่ว ให้ชำนาญไม่มาในโอกาสนั้น อวิชชามันก็มาในโอกาสนั้น ได้โอกาสที่จะเข้าทำหน้าที่ทุกเรื่องที่เราเผลอไม่มีวิชชา ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่มีสัมปชัญญะ ถ้าใครฝึกให้มากในการที่จะมีสติสัมปชัญญะ หรือปัญญาทุกๆ คราวที่มีอะไรมากระทบ คนนั้นก็รอดตัวไปได้ เพราะสติสมบูรณ์ พระอรหันต์คือ ผู้ที่มีสติสมบูรณ์ เพราะมีสติสมบูรณ์แก้ปัญหาทุกอย่างได้นั้น เดี๋ยวนี้เราใช้คำว่าเหนือโลกกันที่นี้และเดี๋ยวนี้ ก็ไม่พ้นไปจากเรื่องนี้ คือมีสติสมบูรณ์ในทุกกรณี นี่เป็นคำที่เป็นหลักสำคัญคำหนึ่งว่าไอ้สติน่ะ ต้องจำเป็นจะต้องมีในทุกกรณี คำพระพุทธภาษิต สตินี่ต้องมีในทุกกรณี ก็หมายความว่าในที่ทุกหนทุกแห่งด้วย เพราะว่ากรณีเกิดขึ้นมันก็มีที่เกิด ไม่มีเวลาที่เกิดนั้น ก็ใช้คำว่าทุกกรณีก็พอแล้ว สติต้องมีในทุกกรณี และกรณีนั้นก็จะไม่เกิดเรื่องให้ร้อนเป็นไฟ ให้เป็นทุกข์ทรมาน เป็นปัญหาคาราคาซังอยู่ในจิตในใจไม่มีที่สิ้นสุด
เหนือโลกในที่นี้ก็อย่างที่พูดมาแล้ว ก็เคยพูดมาแล้วในครั้งก่อนๆ ว่าเหนือโลกนั่นคือโลกทำอะไรไม่ได้ โลกจะทำอะไรบุคคลนั้นไม่ได้อีกต่อไป หมายถึงทำให้เป็นทุกข์นะ อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่ทำให้เป็นทุกข์ได้ มีแต่บุคคลนั้นจะใช้ให้เป็นประโยชน์เสียอีก เมื่อคนธรรมดาเขาใช้ให้เป็นประโยชน์อะไรไม่ได้มีแต่เป็นทุกข์ ผู้ที่มีปัญญาอยู่เหนือโลกแล้วก็จะใช้สิ่งนั้นๆ หรือกรณีนั้นๆ ให้เป็นประโยชน์เสียอีก นี่เรียกว่ามันเหนือโลก ตัวร่างกายน่ะมันก็ยังอยู่ในโลก พอตายลงก็ฝัง ฝังดิน ตายลงก็ถูกเขาฝังดินเข้าไปอยู่ใต้ดิน ยังจะพูดว่าเหนือโลกเพราะมันหมายถึงจิตใจ ไอ้ร่างกายนี่มันเป็นวัตถุ ตัวชีวิตฝ่ายร่างกายมันเป็นวัตถุ หรือจะเรียกว่ามันเป็นที่ตั้งแห่งชีวิตฝ่ายจิตใจ ไอ้ชีวิตจริงมันอยู่ฝ่ายจิตใจ ไอ้ร่างกายนี้ถ้าจะเปรียบก็เปรียบคล้ายกับเปลือก แต่มันก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ขาดเปลือกขาดร่างกายแล้วไอ้จิตใจหรือชีวิต ชีวิตจิตใจนั้นมันก็มีไม่ได้ ร่างกายถูกทำลายลง ชีวิตจิตใจมันก็พลอยหายไปด้วย ไม่มีที่ตั้งที่อาศัย ไอ้ที่จะอยู่เหนือโลกได้นี่ก็คือชีวิตจิต ใจส่วนที่เป็นนามธรรม ส่วนร่างกายน่ะก็เป็นไปตามธรรมดา คล้ายกับเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุใหญ่ที่สุดคือโลก ดังนั้นต้องเอาวัตถุมาเป็นอาหาร กินอาหารข้าวปลาผักหญ้าอะไรก็ตาม มันก็เป็นส่วนหนึ่งของโลก ของสิ่งที่มีอยู่ในโลก เจริญเติบโตอยู่ภายใต้สิ่งต่างๆ ที่บำรุงเลี้ยงร่างกายนั้นอยู่ ตายลงก็ได้ฝังดินแม้เผาก็จะต้องกลายเป็นดินไป
ก็มองเห็นว่าที่อยู่เหนือโลกน่ะคือส่วนจิตใจ ส่วนที่เป็นทุกข์มันก็เป็นส่วนจิตใจ ถ้าว่ามันเหนือโลกหรือเหนือทุกข์แล้วมันก็หมดปัญหา ไอ้ร่างกายนี้ไม่สำคัญมันอยู่ตรงไหนก็ได้ ถ้าจิตใจไม่เป็นทุกข์ แล้วก็เรียกว่ามันไม่มีความทุกข์นี้ ถ้าให้จิตใจมันอยู่เหนือความทุกข์นี่เรียกว่าอยู่เหนือโลก ชีวิตนี้มันก็กลายเป็นชีวิตที่เย็น เยือกเย็น คำว่าเย็นนั่นแหละคือคำว่านิพพาน เป็นภาษาชาวบ้านในประเทศอินเดียสมัยโน้น คำว่าเย็นน่ะคือคำว่านิพพาน เขาเอาคำว่าเย็นหรือว่านิพพานนี้ ไปใช้เป็นผลของการหลุดพ้นโดยประการทั้งปวง และชีวิตนั้นเย็น คำพูดคำหนึ่งใช้ได้ทั้งฝ่ายวัตถุและฝ่ายจิตใจ ใช้ฝ่ายวัตถุเย็นมันก็คือของน่ะ ของที่มันร้อนนั่นแหละเย็น เช่น ถ่านไฟร้อนแดงอยู่ ถ้ามันเย็นมันคือมันนิพพานจนดำจนไม่มีร้อนอีกต่อไป ของอะไรก็ตามที่มันร้อนอยู่ มันก็ยังไม่นิพพานจนกว่ามันจะเย็นและกินได้ เช่น อาหารร้อนกินไม่ได้ อาหารนิพพานแล้วก็กินได้ เย็นนี่เรื่องวัตถุล้วนๆ บางทีก็ใช้แก่สัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานตัวนี้เย็นเป็นนิพพาน เพราะว่าไม่มีอันตรายที่จะเกิดจากสัตว์เดรัจฉานตัวนี้อีกต่อไปแล้ว เพราะฝึกดีแล้ว ก็คือเย็นเหมือนกัน ที่เย็นอย่างธรรมดาสามัญเย็นอกเย็นใจ อย่างชาวบ้านมีบุตรดี ภรรยาดี สามีดี มีอะไรดีเป็นธรรมะไปหมด นี่เขาก็มีชีวิตเย็นนี่ก็เรียกว่านิพพาน เย็นเหมือนกันแต่ไม่ถึงระดับที่ว่าอยู่เหนือโลก อยู่เหนือโลกหมดกิเลส คือหมดไฟกิเลส และมันก็เย็นยิ่งเย็นถึงที่สุด แต่ให้สังเกตในข้อที่ว่าไอ้นิพพานนี้แปลว่าเย็น ใช้ได้แต่วัตถุแก่สิ่งที่มีชีวิตในที่สุด คำว่าอยู่เหนือโลกก็คือคำว่าเย็นเป็นนิพพาน
ทีนี้ข้อที่จะต้องสนใจอีกส่วนหนึ่ง อีกแง่หนึ่งก็คือว่ามันเป็นสิ่งที่รู้สึกได้ ไอ้เย็นเพราะไม่มีกิเลสเผา เป็นสิ่งที่รู้สึกได้ จะเรียกว่าเป็นธรรมารมณ์ชนิดหนึ่งก็ได้เหมือนกัน ดังนั้นท่านจึงจัดพระนิพพานนี่ว่าเป็นอายตนะอย่างหนึ่ง อายตนะนั่นก็คือ พระนิพพาน เป็นอายตนะก็หมายความว่าเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ รู้สึกได้ด้วยจิตใจ ในที่นี้หมายความว่า ความเย็นแห่งชีวิต เพราะหมดกิเลสนั้นเป็นสิ่งที่รู้สึกได้ด้วยจิตใจ สิ่งที่เรารู้สึกอยู่ในใจนั่นก็เรียกว่าเป็น สันทิฏฐิโก เป็นสันทิฏฐิกัง เป็นสันทิฏฐิกา แล้วแต่จะหมายถึงอะไร ธรรมะเป็นสันทิฏฐิโก เพราะเรารู้สึกอยู่ได้ด้วยใจอยู่ที่กำลังรู้สึกอยู่ นิพพานเป็นสันทิฏฐิกัง เพราะคำพูดในภาษาอินเดียนั้น เขาแบ่งไปตามลิงค์ ปุงลิงค์ อิตถีลิงค์ นปุงสกลิงค์ นิพพานนี้ก็เป็น นปุงสกลิงค์ ใช้คำว่า สันทิฏฐิกัง นิพพานัง เป็นสิ่งที่รู้สึกได้ รู้สึกอยู่ คือความที่ไม่มีกิเลสเผาและเย็น นั่นเป็นสิ่งที่รู้สึกได้ด้วยจิตใจ เมื่อใดจิตใจไม่ถูกกิเลสเผา ไม่ถูกกิเลสทำให้เศร้าหมอง มันก็เย็น การเย็นนั้นรู้สึกได้ เมื่อรู้สึกได้ด้วยตนเองอยู่ก็เรียกว่าเป็น สันทิฏฐิโก นี่ก็เราต้องสังเกตดูให้ดีๆ เป็นสิ่งที่รู้สึกได้สำหรับนิพพานน้อยๆ นิพพานตัวอย่าง นิพพานชั่วขณะ เมื่อไรไม่มีกิเลสเกิดอยู่ในใจ ใจยังว่างจากกิเลสเมื่อนั้น ก็มีตัวอย่างนิพพานน้อยๆ นี่ ซึ่งควรจะสนใจคอยจ้องดูให้ดีๆ ให้จับได้ ให้รู้สึกได้ ให้ชิมได้ แม้ว่าการชิมนั้นเป็นของเล็กน้อยและนิดเดียว มันก็ยังดีกว่าที่จะไม่ได้ชิม นี้ขอให้สังเกตดูเถอะว่ามันจะต้องมีบางขณะ และบางเวลาที่จิตไม่ถูกรบกวน ไม่ถูกแผดเผาด้วยกิเลสและก็เย็น เราสบาย เมื่อจิตมันเกลี้ยง เมื่อจิตมันโปร่ง เมื่อจิตมันสงบ เมื่อจิตมันหยุด หรือเมื่อจิตมันเป็นอิสระ นั้นน่ะมันมีเหมือนกัน แต่สำหรับบางคนมันมีได้ยาก เพราะมันปรุงแต่งเก่ง ไม่เหลือวิสัยน่ะที่ว่ามันจะมีได้บ้าง
ถ้าเราคอยสังเกตให้ดี คอยจัด จัดให้มันดี จัดทำให้มันดี มันจะมีเวลาที่ว่างนี่พอสมควรเหมือนกัน ไปสังเกตเอาเองเรื่องนี้มันบอกกันไม่ได้ ขอให้ดูที่ว่ามันเย็นแห่งจิตใจนี่มัน มันมีอะไรดีกว่านี้ ขอให้ทุกคนเลือก เลือกเอาอะไร เราเสนอไอ้ความเย็นแห่งจิตใจนี่ว่าเป็นสิ่งดีที่สุด ใครมีอะไรดีที่สุดกว่านั้นก็ลองว่ามาดู เพราะเราเสนอความเย็นแห่งจิตใจเพราะหมดกิเลส คือ นิพพานนี่แหละว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด สูงสุดกว่าสิ่งใดจะ เรียกว่าเหนือโลกก็คือ นิพพานนั้นเป็นสิ่งสูงสุดกว่าสิ่งใด คำว่าเหนือโลกมันก็แสดงความสูงอยู่แล้ว นิพพานนี้มันก็เป็นไอ้สิ่งที่มีคุณค่าเหนือกว่าสิ่งใด ไม่มีทุกข์เลย ท่านถือกันมาอย่างนี้ ถ้าเราจะแปลคำว่านิพพานเป็นภาษาไทยเรา เราก็ต้องแปลว่า ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวความเย็นว่าเป็นธรรมสูงสุด แต่เดี๋ยวนี้เราไม่แปล เราเอาตามบาลีกันว่า นิพพานัง ปรมัง วทันติ พุทธา นิพพานังน่ะ นิพพาน ปรมัง สูงสุด วทันติ กล่าว พุทธา พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็น ปรมะ คือ สูงสุด ไม่แปลนี่ไปแปลว่า ใช้คำว่านิพพานก็เลย ก็เลยฟังไม่ค่อยออก ไม่ค่อยรู้ ถ้าแปลคำว่านิพพานตามศัพท์แปลว่า ความเย็น เพราะไม่มีร้อน นั้นกล่าวว่าความเย็นเป็นธรรมะอันสูงสุด นี่เสนอขึ้นมาในฐานะเป็นสิ่งสูงสุด ใครลองคิดดูจะแย้งจะค้านอะไรก็ได้ ว่าอย่างนี้อันไหนสูงสุดกว่านั้น
ในพุทธศาสนานี้เสนอความเย็นแท้จริง คือ นิพพานน่ะขึ้นมาเป็นสิ่งสูงสุด นี่เป็นสิ่งที่ควรแจ่มแจ้งชัดเจนแน่นอนกันเสียก่อน ว่าเราจะเอาอะไรที่เราเป็นอยู่ ศึกษาอยู่ ปฏิบัติอยู่ เดี๋ยวนี้เราไม่รู้ว่าจะเพื่อเอาอะไร มันก็ดูจะเป็นเรื่องบ้า ทำไปทั้งที่ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรนี่ มันต้องแน่นอนลงไปว่าเราจะเอาอะไร ลองคิดดูสิว่าอะไรที่มันน่าเอายิ่งกว่าสิ่งนี้ โดยเฉพาะที่มาบวชมันก็เพื่อสิ่งนี้ทั้งนั้นแหละ ถ้ามันไม่ได้เพื่อสิ่งนี้มันก็คือ ละเมอ ละเมอเข้ามาบวช การบวชก็เพื่อสิ่งนี้ เพื่อออกไปจากความร้อนไปสู่ความเย็นสูงสุด บวชอย่างแบบเก่ามหานิกายใช้อยู่ ไอ้คำขอบรรพชาอุปสมบทน่ะ เขาจะย้ำอยู่ด้วยประโยคที่ว่า นิพพานะ สัจฉิกะระณัตถายะ ทุกทีไป เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง บวชนี้เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ขอบวชนี้เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ขอผ้ากาสายะนี้ ผ้ากาสายะนี้บวชให้ผมเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง มันชัดเจนดี ไอ้คำบวชสมัยใหม่นี้มันตัดไอ้ประโยคนี้ออกไป เขาจึงยังมืดมนอยู่ ถ้าว่าใช้คำบวชแบบโบราณนั้น มันจะชัดเจนมาตั้งแต่วันแรกบวชน่ะ ว่าบวชเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง คือเพื่อทำความเย็นน่ะให้มันแจ้ง ความเย็นแห่งจิตใจ เพราะไม่มีไฟ คือกิเลสนั่นน่ะจะทำให้ปรากฏแก่จิตใจของเรา เราจึงได้บวช ถึงแม้คนไม่บวชล่ะมันก็มีปัญหาอย่างเดียวกัน สำหรับมนุษย์ทุกคนคือ ความร้อนด้วยกิเลสติดอยู่เป็นประจำ แล้วก็ต้องการความเย็นที่ไม่มีกิเลสด้วยเหมือนกัน แต่เขายังมาบวชไม่ได้ เขาก็อยู่ที่เพศฆราวาส ส่วนผู้ที่อาจจะออกบวชได้ก็คือผู้ที่จะได้ไปเร็วๆ ไปทำเร็วๆ จะได้ไปเร็วๆ พวกไม่บวชทำช้าๆ ไปช้า แต่ไม่ได้หมายความว่าให้หยุดอยู่นะ ให้หมกจมอยู่นะ พวกฆราวาสน่ะเขาให้ทำไปช้าๆ ตามที่จะทำได้ ก็แปลว่าทั้งฆราวาสทั้งบรรพชิต มันมีจุดมุ่งหมายปลายทางอยู่ที่ความเยือกเย็นถึงที่สุด แห่งชีวิตจิตใจจนกว่าร่างกายจะแตกดับ ความทุกข์ก็สิ้นสุดไป อวิชชาความโง่ว่าตัวกู ว่าของกูก็สิ้นสุดไป ไอ้ร่างกายก็ดับสิ้นสุดไป มันเป็นเรื่องสิ้นสุดไปด้วยกันทั้งสิ้น นี่เรียกว่าสิ้นสุดแห่งสิ่งที่เป็นทุกข์ สิ่งที่เป็นทุกข์ทั้งหลายมันสิ้นสุดไป ไม่มีการปรุงแต่งอะไรขึ้นมาอีก สิ้นสุดแห่งความทุกข์ เป็นสิ่งที่รู้สึกได้ด้วยจิตใจ ถึงแล้วก็ได้ชื่อว่าถึงสิ่งที่สูงสุด แต่อย่าลืมว่าไอ้คนที่มันถึงความเย็นแล้วมันไม่ ไม่ได้เป็นหมันนะ มันไม่ได้อยู่อย่างเป็นหมันนะ มันก็ช่วยผู้อื่นให้ถึงความเย็นได้อีกด้วย ถ้าท่านสมมติถือกันว่าเป็นหน้าที่ เป็นหน้าที่ด้วยเหมือนกัน เช่น เป็นพระอรหันต์แล้วยังมีหน้าที่ที่จะช่วยสั่งสอนผู้ อื่นไปตามเรื่อง ไปตามกรณี ตามไอ้ความสมควรที่จะสอนได้ ดังนั้นพระอรหันต์ทุกองค์ท่านก็เผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งนั้น ด้วยคำสอนด้วยการสอนบอกเล่าตรงๆ ก็มี ด้วยการเพียงแต่แสดงตัวอย่างให้ดูก็มี ท่านอยู่ให้ดูนี่อย่างนี้มันเย็น นั้นเขาจึงถือว่า การที่มีพระอรหันต์อยู่ในโลกนี่มันพอแล้ว แม้ท่านจะไม่พูดอะไร ท่านก็อยู่ให้ดู เป็นอยู่ให้ดู ว่าอยู่อย่างนี้มันเย็นมันก็เป็นประโยชน์ เป็นคุณแก่โลกอย่างยิ่งอยู่แล้ว ผู้ที่อยู่เหนือโลกแล้ว ดับเย็นสนิทแล้วยังมีชีวิตร่างกายปรากฏอยู่ในโลก ก็เป็นประโยชน์แก่โลก เขาถือกันว่ามันเป็นมิ่งขวัญอยู่ในโลก เป็นสิ่งคุ้มครองอยู่ในโลก นั่นน่ะจุดสูงสุดของมนุษย์ พ้นจากความเป็นปุถุชนโดยสิ้น เชิง ก็ไปเป็นบุคคลประเภทนี้อยู่ในโลก คนเหล่านี้ไม่ได้ต้องการอะไร ไม่ได้ต้องการแม้แต่ความสุข ตัวชีวิตของท่านไม่เป็นทุกข์ มันเป็นสุขอยู่ในตัวมันโดยที่ไม่ต้องการ
ดังนั้นการที่ท่านไม่ต้องการความสุข แต่อยู่ในโลกให้คนอื่นดูว่าอยู่อย่างนี้ไม่มีทุกข์มันมีประโยชน์ เขาจึงจัดว่าเป็น อาหุไนยบุคคล เป็นคนที่ควรค้ำจุนบำรุงรักษาเอาไว้ให้มีอยู่ในโลก เพื่อประโยชน์แก่โลกนั้นเอง ใครไปเลี้ยงดูรักษาบำรุงบุคคลชนิดนี้ไว้ คนนั้นมันได้บุญ ท่านใช้คำว่ามันได้บุญ ให้เห็นสิ่งที่ดีที่สุดได้เข้าใกล้สิ่งที่ดีที่สุด ได้ไต่ถามได้พูดจา ได้ความรู้ ได้ประพฤติปฏิบัติในลักษณะที่ดีที่สุด มีสิ่งที่น่า น่าไอ้เรียกว่าน่าเศร้า น่าเศร้าหรือน่าชังอยู่บางอย่าง ที่เขาไปเอาคำว่าพระอรหันต์นี่มาใช้เป็นคำล้อเลียน เป็นคำล้อ เลียนเป็นคำพูดเล่น เล่นละคร เล่นยี่เก ที่เขาเอาคำว่าพระอรหันต์มาล้อเลียน มันคือคนที่ไม่รู้ มันเป็นคนที่ทำบาป ในบางพวกบางแห่งเอาคำว่าพระอรหันต์มาเป็นชื่อของไอ้คนหลอกลวงก็มีนะ ระวังไว้ให้ดีอย่าไปหลงตามคนพวกนั้น พระอรหันต์ก็คือสูงสุดของมนุษย์ ชีวิตนี้มีจุดสูงสุดในปลายทางอยู่ที่ความเป็นพระอรหันต์ มัวคลานงุ่มง่ามอยู่ที่นี่ก็คือเป็นปุถุชน มันก็ถอนตัวขึ้นไปก้าวหน้าขึ้นไป บรรลุธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป ก็ในที่สุดก็ไปสู่จุดสูงสุดปลายทางคือ ความเป็นพระอรหันต์
เดี๋ยวนี้เราใช้คำว่าเหนือโลก อยู่เหนือโลกแล้ว ร่างกายไม่ต้องไปไหนยังคงอยู่ในโลก แต่จิตอยู่เหนือโลกโดยประการทั้งปวง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในโลกมันไม่มีความหมาย ไม่แปลกประหลาดอะไร ถึงจะพูดเปรียบเทียบว่า ให้เอาปรมาณูมาทำลายโลกทั้งโลกไม่มีอะไรเหลือ ก็ไม่มีความแปลกประหลาดอะไรแก่พระอรหันต์ มันยังคงเห็นว่ามันอย่างนั้นเอง แม้มันก็จะถูกทำลายพินาศไปด้วยโดยร่างกาย จิตใจมันก็ยังคงอยู่เหนือเหตุการณ์อันนี้ เรียกว่าเหนือโลกที่พอจะคำนวณได้ แต่นั่นมันไม่ได้เกิดขึ้นน่ะ เอาไอ้ที่มันเกิดขึ้นอยู่จริงๆ ในชีวิตประจำวันนี้ดีกว่า ในวันหนึ่งวันหนึ่งมีอะไรทำให้คนเราเป็นทุกข์เป็นร้อนอย่างไร กี่แบบกี่อย่างอย่าให้มันเป็นทุกข์ได้ นี่คืออยู่เหนือโลก เพราะว่ารู้ดี ปฏิบัติดี มีจิตใจที่อบรมแล้ว
ก็มาถึงคำสำคัญอีกคำหนึ่งว่า มีจิตใจที่อบรมแล้ว มันก็คือคำสำคัญอีกคำหนึ่ง ถ้าไม่มีจิตใจที่อบรมแล้วมันไปไม่ได้ สิ่งเหล่านี้มันเป็นไปไม่ได้ ก็มาปะกันเข้ากับว่าจิตใจที่อบรมแล้ว หรือจะต้องอบรมจิตใจกันอย่างไร ทีนี้จะพูดถึงเรื่องอบรมจิตใจหรือว่าจิตใจที่ต้องอบรม จิตนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติในฐานะเป็นธาตุ เป็นธา-ตุ เป็นจิตธาตุ เป็นวิญญาณธาตุ ตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง ไอ้ตามธรรมชาติของมันเป็นธาตุจิตมีอยู่ในสิ่งที่มีชีวิต ความปกติแห่งชีวิตเป็นที่ตั้งแห่งจิต จิตมันก็มีอยู่ในสิ่งที่มีชีวิต หมายถึงคนเรานี่โดย ตรงดีกว่าไอ้ชีวิตสัตว์ ชีวิตต้นไม้มันก็มีไปตามแบบของมัน ไม่ต้องเอามาพูด แต่ว่าไอ้ชีวิตคนนี่มันก็มีจิตตามธรรมชาติ จะเรียกว่าเดิมก็ได้ เพราะว่าก่อนแต่ที่จะมีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องกับมัน จิตแท้จิตตามธรรมชาตินั้นเป็นประภัสสร นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เองว่า(34.58)จิตนี้ตามธรรมชาติเป็นประภัสสร(35.11)และมันก็เกิดไม่ประภัสสรคือ เศร้าหมองเพราะกิเลสเกิดขึ้นมาใหม่นั้น ผู้มาใหม่ไม่ได้มีอยู่ในจิตแต่เดิม จึงใช้คำว่าอาคันตุกะ กิเลสเป็นอาคันตุกะ เข้ามาทำจิตนี้ให้หมดความเป็นประภัสสร เมื่อใดกิเลสหรืออาคันตุกะออก ไป จิตก็กลับประภัสสรอย่างเดิม เมื่อใดเข้ามาก็ไม่ประภัสสรอีก นี่เป็นธรรมชาติของจิต ดูที่คำว่าประภัสสร ก็หมายความว่ามันไม่มีกิเลสเข้ามาเกี่ยวข้องกับจิต
ถ้าสมมติว่าจิตเป็นเหมือนกับเพชรเม็ดหนึ่ง เมื่อไม่มีของสกปรกเข้ามาห่อหุ้ม เพชรนั้นก็มีลักษณะแวววาว สว่างไสวเป็นประภัสสร ประภัสสรนี่ถ้าตัวหนังสือก็แปลว่ามันเรืองแสง มันซ่านแสง คือมันแวววาว มีรัศมีประภัสสร แต่ถ้าอะไรมาหุ้มห่อ เอาโคลนเอาสีมาป้าย ไอ้เพชรเม็ดนั้นก็ไม่ประภัสสร ไม่แสดงความประภัสสร จิตนี่ก็เหมือนอย่างนั้น พออะไรเข้ามาปะมาปิดมาคลุมเรียกว่ามาปรุงแต่ง มันก็เป็นจิตที่ไม่ประภัสสร เพราะเมื่อใดสิ่งที่เข้ามาปกปิดหายไป ดับไปตามธรรมชาติมันก็ประภัสสรอีก เมื่อไม่ประภัสสรนั่นน่ะมันมีปัญหา คือ มันมีความทุกข์ เมื่อประภัสสร คือ อิสระ ไม่มีความทุกข์ ไม่มีปัญหา ถ้าจิตประภัสสรได้ตลอดไปมันก็ไม่มีความทุกข์ ไม่มีปัญหา แต่เดี๋ยวนี้ไอ้ธรรมชาติของจิตนั้นยังไม่ถึงขนาดนั้น ยังเป็นประภัสสรตามธรรมชาติ นี่ฟังให้ดีนะ เราจะแยกเป็นประภัสสรตามธรรมชาติ และก็ประภัสสรเพราะเราอบรมจิตสำเร็จแล้วนะ
ประภัสสรตามธรรมชาตินั้นไม่ถาวร เดี๋ยวก็ไม่ประภัสสร เดี๋ยวก็ประภัสสรแล้วแต่กิเลสเกิดขึ้นหรือ ไม่ ไอ้ส่วนประภัสสรหลังจากการอบรมแล้วมันประภัสสรถาวร เพราะว่าจิตถูกอบรม กระทำให้ไปอยู่ในสภาพที่กิเลสเกิดไม่ได้อีกต่อไปนั้น ความประภัสสรของจิตนั้นก็ถาวร ที่ไม่ถาวรยังกลับไปกลับมาได้นี่ ก็เรียกว่ามันเป็นสิ่งที่ยังกำเริบได้ ยังกำเริบได้เรียกว่า กุปปธรรม ยังกลับกำเริบได้ ถ้าแน่นอนไม่กลับกำเริบได้ก็เรียกว่า อกุปปธรรม นี่ถ้าไปฟังเขาสวดศพที่ไหนเมื่อไรก็ดีจะได้ยินคำว่า กุปปะธัมโม อะกุปปะธัมโม แล้วรู้ไว้เถิดว่าเขากำลังพูดถึงสิ่งสองสิ่งที่มันต่างกัน ไอ้สิ่งหนึ่งยังกลับกำเริบได้ ไอ้สิ่งหนึ่งไม่กลับกำเริบได้ ก็คือฝ่ายที่เหนือโลกมันกลับกำเริบอีกไม่ได้ ฝ่ายที่ยังอยู่ในโลกยังเป็นปุถุชนอยู่แล้วก็ยังกลับกำเริบได้ นี่จึงเป็นว่าจิตประภัสสรนั้นเศร้าหมอง เพราะกิเลสเกิดขึ้น ผู้ใดรู้ความข้อนี้จิตตภาวนาจะมีแก่ผู้นั้น ถ้าผู้ใดรู้ความจริงข้อนี้ คือ รู้ว่าจิตนี้มันประภัสสรมาแต่เดิม แล้วกิเลสมาทำให้ไม่ประภัสสร ถ้าเอากิเลสออกไปซะได้มันจะประภัสสร ผู้ใดรู้ความจริงข้อนี้ผู้นั้นจะอยากอบรมจิต เขาเรียกว่า จิตตภาวนา คือ การอบรมจิต หรือพูดกลับกันอีกทีหนึ่งว่า ไอ้การอบรมจิตนี่จะมีได้เฉพาะแก่บุคคลผู้มองเห็นอยู่ว่าจิตนี้อบรมได้ คือ จิตนี้เป็นประภัสสรอยู่ตามธรรมชาติ แล้วก็อบรมจิตนั้นน่ะให้มันมีความประภัสสรคงที่ เป็นจิตที่กิเลสจะมาเกิดในจิตไม่ได้ นี่เรียกว่าอบรมจิต
การอบรมจิตก็คือ ทำทุกอย่างน่ะที่จะเปลี่ยนสภาพของจิตนั้นเสียใหม่ ให้ไปอยู่ในลักษณะที่กิเลสจะไม่เกิดขึ้นในจิตนั้นได้อีกต่อไป เค้าเรียกว่าสิ้นกิเลส คำพูดมันกำกวม มันฟังยาก ต้องพูดว่าสิ้นกิเลส ทำกิเลสให้สิ้นไป แต่โดยเนื้อแท้หรือตัวจริงก็คือ ทำจิตให้กิเลสเกิดอีกไม่ได้ จิตอยู่ในสภาพที่กิเลสจะมาเกิดอีกไม่ได้ แต่ไปยักไปเรียกเสียว่าสิ้นกิเลส จิตสิ้นกิเลสนั้นเราอบรมทุกอย่าง ศีล สมาธิ ปัญญา หรือจะเรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค หรือจะเรียกว่า โพชฌงค์ แล้วแต่จะเรียกนะ ทั้งหมดนั้นมีความหมายอย่างเดียวกันหมด คือ อบรมจิตชนิดที่ให้เกิดกิเลสอีกไม่ได้ ผู้ใดรู้ข้อนี้ผู้นั้นสามารถที่จะมีจิตตภาวนา หรือว่าอย่างน้อยมันก็จะอยากที่จะมีจิตตภาวนา คือ การอบรมจิต ผู้ใดไม่รู้เรื่องนี้มันก็หลับหูหลับตาไป ไม่รู้เรื่องอบรมจิต ไม่อยากจะอบรมจิตนั้นแหละคือปุถุชน ปุถุชนไม่รู้เรื่องนี้คือ ไม่รู้ว่าจิตนี้อบรมได้ จนไม่อาจเกิดกิเลสได้ตายตัวไปเลย ผู้ใดรู้ผู้นั้นก็อยากอบรมจิต แล้วก็มีการอบรมจิตได้ ผู้ใดไม่รู้ข้อนี้มันก็ไม่อยาก ไม่อยากจะอบรมจิต หรือมันก็อบรมไม่ถูกว่ามันจะอบรมกันไปทำไม อบรมทางไหนมันก็ไม่รู้ มันมีความสำคัญอย่างยิ่งนะที่จะรู้ว่าจิตนี้เป็นสิ่งที่อบรมได้ คือทำให้เปลี่ยนไปอยู่ในสภาพที่ไม่เกิดกิเลส และไม่เกิดความทุกข์อีกต่อไป เขาก็สนใจที่จะอบรมจิต นี่การอบรมจิตมีความหมายอย่างนี้ นับตั้งแต่ศีลขึ้นไปแหละ แล้วก็มีสมาธิ แล้วก็มีปัญญา อบรมโดยสมถะ อบรมโดยวิปัสสนาล้วนแต่เป็นการอบรม จัดการจิตเสียใหม่ ให้จิตไปอยู่ในสภาพที่ไม่เป็นที่เกิดแห่งกิเลสได้ แม้จะกระทบอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามที่เป็นอยู่แต่ก่อนซึ่งเคยเกิดกิเลสน่ะเดี๋ยวนี้เกิดไม่ได้ เพราะว่าจิตนี้ได้รับการอบรมดีเสียแล้ว ได้รับการอบรมดีเสียแล้ว นี้ให้อะไรเข้ามาเท่าไรๆ มันก็เกิดกิเลสไม่ได้ มันเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องสำคัญที่สุดใหญ่โตที่สุด แต่ไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัย มันยังเป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่จะอบรมได้ แล้วก็มีผู้อบรมสำเร็จมาแล้ว แล้วก็ได้สั่งสอนวิธีการอบรมนั้นไว้ นั่นน่ะคือตัวพระพุทธศาสนา อบรมจิตให้ไปอยู่ในสภาพที่กิเลสเกิดไม่ได้ ขอให้รู้ไว้ว่าอย่างนั้น
เดี๋ยวนี้มันก็อบรมจิต จิต จิต จนจิตอยู่เหนือโลก เขาเรียกว่า โลกุตตรจิต จิตที่อยู่เหนือโลก โลกทำอะไรจิตไม่ได้อีกต่อไป ว่าเหนือโลกกันที่นี่และเดี๋ยวนี้ คือ นิพพานกันที่นี่และเดี๋ยวนี้ และเขามักจะสอนกันว่า อบรมไปเถอะ บำเพ็ญบารมีไปเถอะ ตายเกิด ตายเกิด ตายเกิด อีกหลายหมื่นหลายแสนชาติแล้วจึงจะนิพพาน นั่นเขาพูดกันอย่างนั้น สอนกันอย่างนั้น และชาติของเขาก็หมายถึงชาติที่เกิดมาจากท้องแม่ แล้วเข้า โลงไปครั้งหนึ่งเรียกว่าชาติหนึ่ง คุณก็รอไปสิหมื่นชาติ แสนชาติรอไปสิ นี่เราพูดว่าที่นี่และเดี๋ยวนี้เขาไม่เชื่อ เขาไม่เชื่อแล้วก็ยังจะหาว่าบ้า บางทีก็หาว่าโกหกหลอกลวง ที่ว่านิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้วก็บอกให้เขารู้ว่า เมื่อไม่มีกิเลสเกิดขึ้นในจิตน่ะ เมื่อนั้นมันก็เป็นนิพพานตัวอย่าง นิพพานน้อยๆ อยู่แล้ว ตามธรรมชาติของจิตเดิมมันก็มีนิพพานประภัสสรอยู่แล้ว แต่มันไม่เด็ดขาด มันไม่ตลอดไป ฉะนั้นเราขยายมันให้ประภัสสรยาวออกไป ประภัสสรนานขึ้นให้จิตนี่มันบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสยาวออกไป ยาวออกไป ยาวออกไป ที่เคยมีเพียงไม่กี่วินาที ก็ให้มันหลายวินาที หลายนาที หลายชั่วโมง หลายวัน ด้วยการอบรมจนจิตไม่มีกิเลสอีกต่อ ไป และทีนี้เรามีวิธีนับชาติตามแบบของเรา ไม่ใช่ว่าชาตินั้นคือเกิดจากท้องแม่แล้วเข้าโลงเป็นชาติหนึ่งเราไม่นับอย่างนั้น เรานับว่าจิตมันโง่ครั้งหนึ่ง มีตัวกูเกิดขึ้น เป็นตัวกู มีอะไรเป็นของกูครั้งหนึ่ง เราเรียกว่าชาติหนึ่งเกิดแห่งจิต เกิดแห่งจิตครั้งหนึ่งเรียกว่าชาติหนึ่ง
ดังนั้นในวันหนึ่งวันหนึ่งมันเกิดได้หลายชาติ หลายสิบชาติหรือหลายร้อยชาติก็มี บางคนมันเกิดเก่ง เกิดตัวกูวันหนึ่งหลายร้อยครั้งก็มี ไม่กี่วัน ไม่กี่เดือนน่ะ มันก็ครบ ครบแสนเหมือนกันนะ ครบหมื่นครบแสนเหมือนกันน่ะ มันเกิดชาติเป็นตัวกู ของกูเป็นทุกข์ทรมานเจ็บปวด เป็นชาติ ชาติ ชาติ อยู่แต่ละวัน หลายสิบชาติน่ะ หลายเดือน หลายปีเข้ามันก็หลายหมื่นหลายแสนชาติ มันก็นิพพานได้เหมือนกัน ถ้าเราไม่อยากจะทะเลาะกัน ในข้อที่เขาว่าต้องบำเพ็ญบารมีไปหมื่นชาติแสนชาติ บอกว่าเอ้อ, เราก็บำเพ็ญบารมีหมื่นชาติแสนชาติ แต่เราทำทันก่อนที่จะเข้าโลงนะ แกเข้าโลงไปหมื่นครั้งแสนครั้ง ฉันยังไม่ทันจะเข้าโลง ฉันก็บำเพ็ญบารมีได้หมื่นชาติแสนชาติ คือ เกิดตัวกูของกูเป็นกิเลสขึ้นมาครั้งหนึ่ง มันกัดเอาเจ็บปวดครั้งหนึ่ง นี่เราก็ฉลาดขึ้นครั้งหนึ่ง ถูกความทุกข์กัดเอาครั้งหนึ่ง แล้วก็เรียกว่าชาติหนึ่ง มันตายแล้วมันก็เกิดใหม่ครั้งหนึ่ง ครั้งหนึ่ง ครั้งหนึ่ง อย่างนี้ก็เรียกว่าชาติตามหลักของ ปฏิจจสมุปบาท มีหลักสั้นๆ ว่า เกิดอุปาทานครั้งหนึ่งเรียกว่าชาติหนึ่ง เพราะว่าเกิดอุปาทานครั้งหนึ่ง ก็มีภพ มีชาติ และมีทุกข์ครั้งหนึ่ง เราเกิดอุปาทานกี่ครั้งก็เท่านั้นชาติแหละในวันหนึ่งๆ
ดังนั้นเราจึงสามารถทำได้ทันในชาตินี้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ หมายความว่าในชาตินี้ นี่เราก็รู้เรื่องความทุกข์ดี และสามารถจะกำจัดเสียได้ ป้องกันเสียได้ ไม่เกิดความทุกข์อีกต่อไป นี่ใช้คำว่าที่นี่และเดี๋ยวนี้ ที่นี่พูดอย่างนี้นั้น พวกอื่นเขาไม่เชื่อ พวกอื่นเขาไม่ถืออย่างนี้ เขาเรียนกันมาอย่างอื่น เขาสอนกันมาอย่างอื่น เขาต้องรอเกิดตายตามแบบของเขาอีกหมื่นชาติแสนชาติ พอเราพูดอย่างนี้มันก็ขัดกันกับความเชื่อของเขามันก็มีเรื่อง ให้พูดอย่างนี้ก็ถูกหาว่าพูดไม่จริง พูดหลอกลวง พูดเอาเองพูดอย่างนี้ ซึ่งผมก็เคยถูกเขาด่าอย่างนี้มาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว ตอนเรามาสังเกตดูศึกษาดูตามพระบาลี มันก็มีข้อความที่ทำให้เห็นได้อย่างนี้ ที่นี้ไม่เอาตามพระบาลี มาดูไอ้ตามความเป็นจริงที่เราอาจจะรู้สึกได้จริง มันก็เห็นได้ว่าตามธรรมชาติน่ะมันเป็น อยู่อย่างนี้ ที่มันเป็นอยู่เองตามธรรมชาติมันก็เป็นอยู่อย่างนี้ เผลอไปคือไม่มีธรรมอะไร อวิชชาเกิดขึ้น มันก็เกิดปรุงแต่งเป็นตัวกู ตัวกู อยู่บ่อยๆ บ่อยๆ ทุกวันๆ แล้วก็เป็นทุกข์ทุกที ความเกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที ก็คือเกิดอุปาทานเมื่อไรก็เป็นทุกข์ทุกที ความทุกข์เกิดมาจากอุปาทาน ถ้าไม่มีอุปาทานแล้วไม่เป็นทุกข์ล่ะ แม้จะเกิดออกมาอย่างที่เกิดๆ กันน่ะ ถ้าไม่ยึดถือด้วยอุปาทานว่าเกิดของกูแล้ว ก็จะไม่มีความทุกข์
คำว่าเกิดนี่หมายถึงเกิดที่มีผู้ยึดถือว่าเป็นความเกิดของเรา คล้ายๆ กับทุกคนน่ะมันมีอวิชชาเข้ามายึดถือว่า ความเกิดของเรา ความแก่ของเรา ความตายของเรา นี่เพราะมันไปยึดถือว่าของเรามันจึงเป็นทุกข์ นั้นที่ว่าเราต้องมีความเกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่ก็เพราะเราไปยึดถือนี่ เราลองอย่าไปยึดถือนี่ มันก็ไม่ได้เกิด แก่ เจ็บ ตาย ข้อนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนเหมือนกัน ไอ้คนโง่มันก็มีความยึดถือ มันก็มีความเกิด แก่ เจ็บ ตายแหละเป็นทุกข์ เพราะยังถือว่ามีความเกิดเป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา มันเป็นธรรมดาสำหรับคนโง่นะ ไม่ใช่เป็นธรรมดาสำหรับคนฉลาด เมื่อมันยังโง่อยู่ แล้วมันก็ยึดถือความเกิดเป็นของเรา ความแก่เป็นของเรา ความตายเป็นของเราเป็นธรรมดาไปเลย นั่นมันสำหรับคนโง่ แต่คนที่ได้ไปหาพระพุทธเจ้า มีพระพุทธเจ้าเป็นผู้สั่งสอนเป็นกัลยาณมิตรแล้ว ท่านสอนให้เพิกออกไปหมด ไม่มีความเกิดของเรา ไม่มีความแก่ของเรา ไม่มีความตายของเรา เขาก็พ้นได้จากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายนั่นแหละ ได้อาศัยพระพุทธเจ้าแล้วก็พ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย นี่มันตามธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติมันมีได้อย่างนี้ อย่าไปโง่เอาความเกิด แก่ เจ็บ ตายมาเป็นของเราก็พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
ดังนั้นการที่เราทำให้ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หายไปหมดไป ที่นี่และเดี๋ยวนี้น่ะไม่ผิดธรรมชาติ ไม่ฝืนธรรมชาติ ไม่ผิดธรรมชาติ มันเป็นไปตามหลักธรรมชาติ ดังนั้นมันจึงเป็นไปได้นะ นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้น่ะ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ผิดธรรมชาติ ถ้าว่าฝืนโลกก็ฝืนโลกของคนโง่ เพราะคนโง่เขาไม่ยอมพูดอย่างนี้ มันก็ฝืนโลกของคนโง่ แล้วก็ไม่ต้องสนใจล่ะ เราไม่โง่ก็แล้วกัน เราทำให้มันมีผลตามที่เราต้องการได้ทันเวลาก็แล้วกัน คือพยายามอบรมจิตที่เป็นประภัสสรเพียงตามธรรมชาตินั้น ให้กลายเป็นประภัสสรเพราะการอบรมไปสิ อบรมจิตจนมันไม่อาจจะเกิดกิเลสอีกต่อไป นั่นน่ะมันก็สำเร็จมีนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ คือผู้ที่เป็นพระอรหันต์น่ะ พระอรหันต์มีมากนะในพุทธศาสนา แต่คนพวกฝ่ายโน้นน่ะ เขาถือว่าพระอรหันต์เหล่านั้นบำเพ็ญบารมี บำเพ็ญบารมีมาแล้วแต่ชาติก่อนๆ หมื่นชาติ แสนชาติ จนมาเป็นพระอรหันต์ แต่เราไม่ถืออย่างนั้น เราถือว่ามีการปฏิบัติถูกต้องเมื่อไหร่ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบเมื่อ ไร ก็มีพระอรหันต์เมื่อนั้น จึงมีหลักว่าได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ จะมีประโยชน์อย่างนี้ ถ้าค่อยมีประโยชน์กันต่ออีกหมื่นชาติ แสนชาติ แล้วดูมันไม่จะคุ้มค่าลงทุน จะไม่มีประโยชน์อะไรด้วยซ้ำไป มีความทุกข์เมื่อไรดับให้มัน ดับมันให้ได้เมื่อนั้นน่ะ ดับกิเลสเกิดเมื่อใดดับให้ได้เมื่อนั้นน่ะ การดับเสียซึ่งกิเลสนั้นน่ะเป็นนิพพาน ถ้าชั่วคราวก็ชั่วคราว ถ้าถาวรก็จริงแท้ เป็นนิพพานจริงแท้
ฉะนั้นเรามีหน้าที่แต่ว่าไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น จนกิเลสหมดความสามารถหมดธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น เราระมัดระวังให้กิเลสไม่อาจจะเกิดขึ้น ความเคยชินที่จะเกิดมันก็ค่อยหมดไปหมดไป อนุสัยน้อยลงไป อาสวะน้อยลงไปวันหนึ่งมันก็หมดเหมือนกัน นี่ที่เหนือโลกกันที่นี่และเดี๋ยวนี้ มันมีความหมายอย่างนี้ แต่คนเขาก็เข้าใจผิดกันอยู่ สอนกันแบบวัตถุเกินไป เอาร่างกายเป็นหลักเกินไป ไม่เอาจิตใจเป็นหลักซะเลย ที่แท้ธรรมะนั้นมันเป็นเรื่องของจิตใจ เรายึดหลักทางฝ่ายจิตใจ เราจะมองเห็นได้ว่ามันอบรมได้อย่างนี้ มันมีความเป็นประภัสสรอยู่สองแบบ ตามธรรมชาติมันไม่เด็ดขาด เราอบรมเสียใหม่ให้เป็นเด็ดขาด ให้เป็นจิตที่ไม่เป็นที่ตั้งที่เกิดของกิเลสอีกต่อไป กิเลสมันก็ไม่อาจจะเกิดอีกต่อไป เรื่องมันก็จบกัน ก็ที่นี่และเดี๋ยวนี้ นี่มันเป็นเรื่องที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์วัตถุ มันเป็นวิทยาศาสตร์จิตใจ แต่ก็ไม่อยู่นอกวิสัยที่จะรู้ สึกได้ เห็นได้ เข้าใจได้ จัดการได้ แล้วก็ต้องจัดการตามวิถีทางของวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ถูกแก่เหตุ ถูกแก่ผล ถูกแก่ความจริงของธรรมชาติ มันก็เปลี่ยนแปลงได้ตามที่เราต้องการ นั้นให้ถือว่าไอ้เรื่องธรรมะนี้เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีส่วนที่จะงมงายเป็นไสยศาสตร์ หรือเป็นอะไรไปทางโน้น ทีนี้เราซะเอง น่ะมันไม่รู้จักทำให้เป็นวิทยาศาสตร์ มันก็กลายเป็นไสยศาสตร์ไป เอามาผูกติดกันเป็นไสยศาสตร์ไป ก็น่าสงสารอย่าทำให้ธรรมะกลายเป็นไสยศาสตร์ ขอให้ยังคงเป็นวิทยาศาสตร์ของธรรมชาติ มีพระพุทธเจ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกหรือคนสูงสุด สอนให้รู้เรื่องนี้ ปฏิบัติเรื่องนี้จนดับทุกข์ได้จริงที่นี่และเดี๋ยวนี้ เพราะมีคำว่าสันทิฏฐิโก ถ้าไม่รู้สึกอยู่ในใจจริงที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่สันทิฏฐิโก เราท่องบ่นกันอยู่ทุกวันทุกวัน สวากขาโต ภะคะวะตาธัมโม สันทิฏฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก เรียกมาดูได้ มาดูสิมันมีอยู่ที่นี่ แกมาดูสิ เอหิปัสสิโก เรียกมาดู นั้นไปศึกษาไอ้ความหมายของคำเหล่านี้เสียให้ดีๆ ว่า สวากขาโต ภะคะวะตาธัมโม สันทิฏฐิโก เห็นเองรู้สึกเอง อกาลิโก ไม่ขึ้นอยู่กับเวลา เอหิปัสสิโก เรียกมาดูได้ที่นี้ นี่คือว่าเหนือโลกกันได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้
ไอ้ร่างกายนี้เป็นเหมือนห้องทดลองวิทยาศาสตร์ แต่ต้องมีจิตใจอยู่ด้วย แล้วก็มีการประพฤติกระทำโดยวิถีทางวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งว่าจิตใจนั้นน่ะ มันถูกเปลี่ยนเป็นจิตใจชนิดที่เป็นทุกข์ไม่ได้อีกต่อไปแล้วอย่างนี้ ไปหาสภาพเดิมน่ะคือ ประภัสสรแต่ประภัสสรถาวร ไอ้เดิมแท้ประภัสสรไม่ถาวร แต่มันประเดิมให้เป็นสุขอยู่ได้บ่อยๆ เหมือนกันน่ะ แต่มันไม่พอกับความต้องการ อบรมกันซะใหม่ อบรมกันซะใหม่จะมันจะถาวร ประภัสสรถาวร กลับเป็นเศร้าหมองไม่ได้อีกต่อไป นี่เรื่องมันมีเท่านี้ นี่เหนือความเป็นปุถุชนโดยประ การทั้งปวง เข้าสู่ความเป็นอริยะอันสูงสุดเพราะเด็ดขาดถาวรของความเป็นประภัสสร ไม่มีความทุกข์อีกต่อ ไป ดังนั้นเราก็จะต้องเข้าใจถูกต้องว่าอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ ธรรมะอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ ปฏิบัติได้และไม่จำกัดเวลา คือไม่ใช่เฉพาะยุคนู้น ไม่ว่ายุคไหนจะรู้ได้ปฏิบัติได้ไม่จำกัดเวลา ไม่ขึ้นอยู่กับเวลานี่เรียกว่า อกาลิโก ไม่ต้องเสียใจว่าเกิดมาสุดท้ายภายหลัง ศาสนายัง พระพุทธเจ้ายัง คำกลอนของอาจารย์เก่าๆ ศาสนาของพระเจ้ายัง ยังอยู่ อย่าคิดท้อแท้ว่าเราเกิดมาไม่พบพระพุทธเจ้าเสียแล้ว ไม่พบพระศาสนาเสียแล้ว มองให้เห็นให้ถูกต้องพระพุทธเจ้ายัง พระศาสนาก็ยัง คือยังคงอยู่ ถึงให้ได้ใช้ประโยชน์ให้ได้
เดี๋ยวนี้เรามันเป็นปุถุชนแล้วมันรักความเป็นปุถุชน ไม่อยากจะไปเกี่ยวข้องกับพระศาสนา ซึ่งเขากลัวว่ามันจะหมดความสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อย เขารักความเป็นปุถุชน ไม่อยากจะหมดความเป็นปุถุชน ถ้าอย่างนี้น่ะก็ไม่มีหนทาง มันกลายเป็นบุคคลประเภทหนึ่งเขาเรียกว่า ปทปรมะ มันโง่ดักดานน่ะ ปทปรมะ มีบทเป็นอย่างยิ่งว่ามันโง่ดักดานพูดกันไม่รู้เรื่อง มันสงวนความเป็นปุถุชนอย่างเหนียวแน่นไว้ตลอดเวลา เราอย่ารักความเป็นปุถุชนเลย อย่าสงวนความเป็นปุถุชนไว้ต่อไปอีกเลย รีบขยับขยายกระทำให้มันหมดไปเสีย อย่าเก็บไว้นานเกินจำเป็น ไอ้ที่แล้วมาแต่หนหลังมันก็พอแล้ว มันเจ็บปวดพอแล้ว สำหรับความเป็นปุถุชนนั้นอย่าเก็บมันไว้เลย หรืออย่าเก็บให้นานเกินกว่าจำเป็นเลย เมื่อควรจะสลัดออกไปได้ก็สลัดออกไปเสีย เป็นปุถุชนทนทุกข์ ไม่เป็นปุถุชนก็ไม่ทนทุกข์ แล้วก็อยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุขสงบเย็นด้วย และสามารถทำประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ด้วย อย่าสงบเย็นส่วนตัวอยู่เฉยๆ มันแคบไป แล้วก็ไม่มีในจิตใจของพระอรหันต์ ผู้มีความเมตตา กรุณา ถอนตัวเองให้พ้นจากความทุกข์ในชีวิตนี้ อยู่อย่างไม่มีความทุกข์ แล้วก็เห็นประโยชน์แก่ผู้อื่นรอบตัวเราด้วย จุดหมายปลายทางมันอยู่อย่างนี้ เอาหรือไม่เอาก็ตามใจ ตามหลักของพุทธศาสนาเขาถือกันอย่างนี้ จุดหมายปลายทางอยู่ที่ความพ้นทุกข์โดยไม่มีทุกข์ และอยู่อย่างมีประโยชน์แก่ทุกคนที่อยู่รอบ ตัวเรา ในเรื่องสิ้นสุดของความเป็นปุถุชน แล้วก็มีความเย็นเป็นนิพพาน แล้วก็อยู่เหนือโลก แล้วก็เหนือโลกกันที่นี่และเดี๋ยวนี้
วันนี้ผมก็พูดเรื่องเหนือโลกกันที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้วมันก็สมควรแก่เวลาแล้ว มันก็อยู่ในโลกนี้มันยังต้องกินอาหารก็ต้องไปบิณฑบาต นี่ไปบิณฑบาตมากินนี่อย่าเรียกว่าอยู่ใต้โลกนะ มันไปด้วยจิตใจที่อยู่เหนือโลกก็ได้ อย่าไปยินดียินร้ายเรื่องได้ไม่ได้ เรื่องอร่อยไม่อร่อย เรื่องนั้นน่ะมันจะอยู่ใต้โลก วันนี้การบรรยายมันก็สมควรแก่เวลา ขอยุติการบรรยายครั้งนี้ไว้เพียงเท่านี้