แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เราจะกันพูดถึงปาติโมกข์คำคน หัวข้อที่ ๑๒ คือหัวข้อว่า เหตุแห่งสิ่งทั้งปวง ๖ ตำแหน่ง ในครั้งที่แล้วมาพูดถึงเหตุ พูดถึงบ่วงคล้องคน ๖ บ่วง ซึ่งหมายถึง อายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ วันนี้เหตุแห่งเหตุการณ์ทั้งปวง ๖ ตำแหน่ง การพูดถึงอายตนะภายใน ๖ นั่นคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ที่พูดว่าเหตุแห่งเหตุการณ์ทั้งปวง ขอขยายความว่า เหตุแห่งเหตุการณ์ทั้งปวง เหตุแห่งสิ่งทั้งปวงคือเหตุแห่งเหตุการณ์ทั้งปวง เหตุการณ์ทุกชนิดของมนุษย์ หมายความว่าเหตุการณ์ทุกชนิดในหมู่มนุษย์ มันมีเหตุอยู่ ๖ ตำแหน่ง ข้อนี้มันจะเข้าใจได้ง่ายที่สุดสำหรับผู้ที่รู้หลักพุทธศาสนาที่ชั้นสำคัญมาแล้วแต่ก่อน คือ พระพุทธภาษิตที่ว่า เหตุการณ์ทั้งปวงมีมูลมาจากสิ่ง ๆ เดียว คือ เวทนา ประโยคนี้สำคัญมากนะ ฟังดูเหมือนกับเล่น ๆ นั่นแหละ ถ้าคุณอยากจะรู้ธรรมะชั้นสูง ลึก ถูกต้องถึงที่สุดให้จำประโยคนี้ไว้ว่า เหตุการณ์ของมนุษย์ทุกอย่าง มีมูลมาจากเวทนา แต่บางทีก็ขยับเข้าไปอีกนิดหนึ่งก็คือ ผัสสะ ไอ้เวทนานั่นถ้าเราขยับไปอีกนิดหนึ่งมันก็คือ ผัสสะ ผัสสะให้เกิดเวทนา
แต่สังเกตเห็นว่าพระพุทธเจ้า ท่านประสงค์จะชี้ไปยังเวทนามากกว่า เพราะมันเห็นได้ง่ายกว่า ผู้ที่ไม่เคยฟังไม่เคยศึกษาจะไม่ค่อยเชื่อ เห็นว่ามันเป็นเรื่องไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าเหตุ มูลเหตุ ต้นเหตุแห่งเรื่องราวทั้งปวงของมนุษย์มันคือเวทนา จะเป็นเรื่องการเมืองการปกครอง การเศรษฐกิจ การอะไรทุกอย่างที่มันยุ่งยากในหมู่มนุษย์นี่มันมีมูลเหตุมาจากสิ่งเดียวคือเวทนา
ฉะนั้นขอให้เข้าใจคำว่า เวทนา ไว้ให้เพียงพอสำหรับจะศึกษาธรรมะต่อไป เวทนา คือความรู้สึกของมนุษย์ เขามักจะแปลกันว่า feeling แล้วก็ไม่ค่อยถูกนัก มันมีความหมายมากกว่านั้น เมื่อเรามีความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือไม่อาจจะจัดว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ จากการที่ได้สัมผัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วก็เรียกว่า เวทนา
สิ่งที่มนุษย์หลงรักมากมายมีมากมาย แต่เพราะว่าสิ่ง ๆ เดียวคือ เวทนา ในสิ่งที่มนุษย์หลงรักนั้นกี่สิบอย่าง กี่ร้อยอย่าง กี่พันอย่างก็ตามใจ แต่ในสิ่งเหล่านั้นทั้งหมดมันมีอยู่สิ่งหนึ่งคือ เวทนา เพราะสิ่งทั้งหลายมันครอบความรู้สึกที่เป็นเวทนามาให้ เช่น เงิน ทอง ข้าวของ ทรัพย์สมบัติ มันก็สามารถให้เกิดเวทนา คือ ความสุข สนุกสนานเอร็ดอร่อย ที่ตัวต้องการ เกียรติยศชื่อเสียงมันก็มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือแสวงหาไอ้สิ่งที่เป็นสุขเวทนา บุตรภรรยา สามี คู่สืบพันธุ์ อะไรนี้ก็ จุดมันอยู่ที่เวทนาที่จะได้จากทั้งสองฝ่ายนั้น เราอยากจะมีบ้าน มีเงิน มีรถยนต์มีอะไรก็ มันล้วนแต่เพื่อเวทนาอันหนึ่ง คือ เวทนาที่พอใจที่เป็นสุข ฉะนั้นในสวรรค์ก็เป็นที่รวบรวมของเวทนาที่เชื่อกันว่า เป็นเวทนาที่มีความสุขที่สุดในหมู่มนุษย์ผู้รู้จักคิด รู้จักนึก ไม่ลงไปถึงสัตว์เดรัจฉาน เพราะมันไม่ค่อยรู้จักคิดรู้จักนึก
ในหมู่มนุษย์นั้นมันมีความคิดนึก สรุปไปที่เวทนา ของสัตว์เดรัจฉานก็คล้าย ๆ กันแต่มันไม่มากเท่ามนุษย์ ฉะนั้นจึงควรดูข้อนี้กันเสียก่อน ว่ามนุษย์ขวนขวายทุกอย่าง ทุกประการ ในการงาน ในหน้าที่ หรืออะไรก็สุดแท้ มันเพื่อประโยชน์แก่สิ่ง ๆ เดียวคือ สุขเวทนา
คนชั้นยากจนเข็ญใจ กรรมกร ชาวนา ชาวอะไรก็ตามเขาทำไร่ทำนา ทำอะไรก็มุ่งหมายข้างหน้าก็คือ สุขเวทนา เมื่อเขาขายพืชผลนั้นได้ ขายแรงงานนั้นได้อะไรได้แล้วก็ไปซื้อหาสุขเวทนา เรารู้สึกประหลาดใจที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านย้ำไอ้เรื่องสุขเวทนานี้มากเหลือเกินในที่หลาย ๆ แห่ง ฉะนั้นก็ควรจะเอามาคิดดู ให้เห็นความจริงข้อนี้ ว่ามนุษย์มีจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ที่สุขเวทนา แต่ท่านใช้คำว่าเวทนาเฉย ๆ แล้วก็หมายถึงไอ้สุขเวทนานั่นแหละ เพราะว่าสุขเวทนานี้มันเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกที่เป็นที่พอใจของมนุษย์ ทีนี้ดูการงานของมนุษย์ เขาทำอะไรกันบ้างเดี๋ยวนี้ นับตั้งแต่ว่าไอ้การเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง การผลิต การศึกษา ทำอะไร แต่มันผลสุดท้ายก็เพื่อ สุขเวทนา
ที่รบกันฆ่ากันตายทุกวัน ๆ นั่นจุดปลายทางมันอยู่ที่ว่า มันต้องการความชนะแล้วก็ใช้ ความชนะนั้นแสวงหาสุขเวทนา นี่ไปคิดเอาเองได้ว่ามนุษย์กำลังทำอะไรกันบ้าง และมองเห็นได้ไม่อยากนัก แต่ว่าจุดที่ว่าเขาจะได้สุขเวทนา ในที่สุดแห่งการทำอย่างนั้น นี่ขอฝากไว้ให้ไปคิด สังเกตดูเอาเอง ว่ามนุษย์เรามีจุดมุ่งหมายสูงสุด ร่วมกันทั้งหมดคืออยู่ที่สุขเวทนาในชั้นหนึ่งก่อน ทีนี้จึงมาดูว่า ไอ้เหตุที่เกิดสุขเวทนา หรือเวทนาทั่วไปก็ตาม มันก็คืออายตนะภายใน ๖ คือทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทางลิ้นก็ได้ ทางผิวกายก็ได้ ทางจิตใจโดยตรงก็ได้ นับได้ ๖ เมื่อเวทนามันมาจากจุดทั้ง ๖ นี้ แล้วเวทนาเป็นปัจจัยแห่งเหตุการณ์ทั้งปวง ก็แปลว่าเหตุการณ์ทั้งปวงมันก็มีต้นเหตุอยู่ที่ ๖ จุดนี้ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เราคิดถึงไอ้คำพูดที่พูดกันอยู่มากคำหนึ่งว่า ไอ้น้ำผึ้งหยดเดียว พูดกันว่า น้ำผึ้งหยดเดียว เขาฟังออกกันทุกคนแหละว่าไอ้น้ำผึ้งหยดเดียวอย่าไปประมาทกับมัน มันทำให้เกิดเหตุการณ์เต็มทั้งโลกมาแล้ว น้ำผึ้งหยดเดียวทำให้เกิดการทะเลาะวิวาททั้งบ้านทั้งเมือง ทั้งโลกก็ได้ เวทนานั่นแหละคือ น้ำผึ้งหยดเดียวของเหตุการณ์ทั้งโลก
ไอ้เวทนานี้มันรวมหมดจากจุด ๖ จุดคือ ตา จมูก หู ลิ้น กาย ใจ ทีนี้มหาสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่ตายกันมากทั้งนั้นก็เหตุแห่งความกระด้าง มานะ ไม่ยินยอมของคน ๆ หนึ่งเท่านั้นแหละ มันก็เป็นเหตุให้เกิดสงครามโลก และความที่ได้กระด้าง ไม่ยอมใคร และได้กระด้างดื้อดึงก็เป็นสุขเวทนาเหมือนกัน แล้วอันนี้จะเป็นเวทนาที่ร้ายกาจ ยิ่งกว่าทั้งไอ้ ๖ นั้น
บางคนอาจจะคิดว่า ความรู้สึกทางกามารมณ์เป็นเวทนาร้ายกาจ คือเวทนาที่ ๕ การสัมผัสโผฏฐัพพะ เป็นกามารมณ์ระหว่างเพศ ไอ้เวทนานี้แรงมาก มันก็ถูกเหมือนกันแหละ แต่ทีนี้เขามาดูกันในหมู่นักธรรม นักศึกษาทางธรรม เขาบอกว่ามันสู้ไอ้อันที่ ๖ ไม่ได้ คือ ความที่ได้ตามที่อหังการ มมังการมันต้องการ มันเป็นกิเลสลึกซึ้งเรียกว่า อหังการ มมังการ คือตัวกูของกู สองอันนี้เรียกว่า มานานุสัย คือความเคยชินแห่งการถือตัว
อนุสัย คือสิ่งที่นอนอยู่ในสันดานซ้ำซาก อนุสัยแห่งการถือตัวหมายความว่าเราเคยชินที่จะถือตัว และความถือตัวนั้นมีสองอย่างเท่านั้นเองแหละ คือตัวกูสำหรับจะไม่ยอม ถือตัวว่าของกูสำหรับจะไม่ให้ ถ้ามันของกูแล้วมันก็รักใคร่หวงแหนไม่ให้ ถ้าตัวกูแล้วมันก็สูง หัวมันสูงขึ้นมา มันไม่ยอม อหังการ มมังการนี่เป็นกิเลสประเภท มานะ แล้วก็มีชินเป็นนิสัยตั้งแต่อ้อนแต่ออกมาจนถึงบัดนี้ เมื่อความรู้สึกนี้ว่าตัวกูของกูมันได้เหยื่อของมันแล้วมันอร่อยที่สุด ซึ่งเขาประมาณว่ามันยิ่งกว่ากามารมณ์ คู่กามามรณ์กำลังเสวยรสกามารมณ์สูงสุด แต่ถ้ามันเกิดการดูหมิ่น ดูถูก ด่าอย่างดูหมิ่นดูถูก ไอ้ความรู้สึกทางกามารมณ์จะระงับไปทันที คู่กามารมณ์ฝ่ายหนึ่งจะหมดความรู้สึกทางกามารมณ์ เพราะถูกฝ่ายหนึ่งด่า ดูถูก ดูหมิ่น เหยียบย่ำอหังการ มมังการของเขา หรือมานะของเขา ความรู้สึกทางกามารมณ์จึงหายไปเพราะการถูกทำลายทางจิต คือทางมานะเกี่ยวกับตัวกูของกูนี้ หมายความว่าหญิงชายคู่หนึ่งเขาจะรักกันอย่างไรตาม ถ้าฝ่ายหนึ่งมันเกิดการดูหมิ่นดูถูกแบบอหังการ มมังการนี่มันก็หมดรัก ก็จึงถือว่าไอ้เรื่องสุดท้ายที่ ๖ ทางจิตแรงกว่าเรื่องนี้ สัมผัสที่ ๕ คือสัมผัสผิวหนังทางกามารมณ์ ทีนี้ส่วนไอ้สัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นนี่รองลงไปมาก ต่ำกว่าลงไปมากคือฤทธิ์เดชน้อยมาก อันที่ ๖ สัมผัสทางผิวหนังร้ายกว่า และสัมผัสทางจิตที่เกี่ยวกับมานะนี่ยิ่งไปกว่าอีก มีกำลังมากไปกว่าอีกที่จะระงับความรู้สึกทางกามารมณ์ก็ได้ ฉะนั้นเราก็รู้จักไว้ว่าไอ้ความรู้สึกที่เป็นเวทนา ที่ดึงดูดใจสูงสุดนั้นไม่ใช่กามารมณ์ สูงสุดอยู่ที่รสของการได้สนองกิเลสมานะว่าอหังการ มมังการ ว่าตัวกูว่าของกูจะพูดให้ชัดแคบเข้ามาก็เกียรติยศ ชื่อเสียง กามารมณ์ก็ดึงดูดใจมาก แต่เกียรติยศชื่อเสียงของเขาแรงกว่า ฉะนั้นถ้าคู่กามามรณ์ถูกดูหมิ่นด้วยเกียรติยศชื่อเสียงแล้วก็จะหมดความรู้สึกทางกามารมณ์ได้ ยกเอาเวทนาสูงสุดไปไว้ที่ทางจิต
การยึดถือว่าตัวกูว่าของกู ถ้าได้ตามนั้นแล้วก็เป็นความสุขชนิดสูงสุด ละเอียดที่สุด ถ้าไม่ได้ตามนั้นก็เป็นเหตุร้าย เหตุการณ์ร้ายกาจที่สุดที่จะเกิดเรื่อง ฉะนั้นเมื่อเราพูดว่าเวทนา เป็นจุดสูงสุด เป็นที่รวมของเหตุการณ์ทั้งหลาย บอกอย่างนั้น เป็นที่รวมเหตุการณ์ทั้งหลายในโลก ถ้าว่าอะไรมันแรงกว่าอะไรถึงที่สุด ก็ให้นึกถึงไปตามลำดับ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายนี่ ไอ้ตา หู จมูก ลิ้น ๔ อย่างนี้ยังไม่เท่าไร แล้วก็ไปแรงที่กาย... (นาทีที่ 17.32) แล้วไปแรงสูงสุดอยู่ที่จิตที่ยึดถือเป็นตัวกูของกู เวทนานั้นสูงกว่า คือถ้าสูญเสียไปแล้วมันจะเกิดเรื่องมากกว่า เดี๋ยวนี้พอรบกันก็อยากจะได้ปัจจัยแห่งกามารมณ์ก็จริงแต่ที่เขายอมกันไม่ได้ เลิกรบกันไม่ได้เพราะอันสุดท้าย เพราะอหังการ มมังการ ฉะนั้นเดี๋ยวนี้เราจะนับไอ้การทะเลาะวิวาทระดับบุคคลก็ดี ระดับโลกก็ดีมันยากลำบาก อยู่ที่เรื่องของอหังการ มมังการ
แม้แต่เด็กตัวเล็ก ๆ ที่มันไม่ยอม ไม่ยอมพ่อแม่ ไม่ยอมครูบาอาจารย์ ตัวเล็ก ๆ นั่นเขารู้จักมีอหังการ มมังการแล้ว อันที่เขาได้ตามความพอใจของเขา เขาสบายที่สุด ฉะนั้นเด็กตัวเล็ก ๆ ก็ดื้อตาใส เขาสงวนไอ้ความไม่ยอมของเขาให้เกิดความสบายที่สุดของเขา เอาละเป็นอันว่าเราได้ไอ้ตัวเวทนามา เป็นต้นเหตุแห่งเหตุการณ์ทั้งหลาย และโดยเหตุที่เวทนานั้นมีจุดตั้งต้นเพื่อเกิดเหตุอยู่ ๖ จุด ๖ ตำแหน่ง เราจึงว่า เหตุหรือมูลเหตุแห่งเหตุการณ์ทั้งปวงมี ๖ ตำแหน่ง
ทีนี้ก็ดูเฉพาะไอ้การทำงานของมัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่มันทำงานอย่างไร มันน่าหัวก็คือว่ามันเป็นเรื่องของเราในตัวเรา เกิดขึ้นแล้วเป็นมาแล้วตั้งแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่เป็นทารกจนกระทั่งบัดนี้ มันทำงานของมันอย่างไร เรากลับไม่รู้ เรากลับไม่รู้ นี่คือมันไอ้เรื่องของธรรมะมันกลายเป็นอย่างนี้ เราก็เลยต้องรู้ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มันเป็นอย่างนี้ ทีนี้เรามาดูตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ มันก็จริง แล้วเราก็มองเห็นได้จริงว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง มันจึงเกิดเรื่องเต็มที่สมบูรณ์ เหมือนที่เรากำลังพูด ฉะนั้นควรศึกษาไอ้เรื่องที่ว่า ไอ้เรื่องมันก่อขึ้นมาได้อย่างไรทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้มันก็มากลายเป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาท ชื่อฟังยาก ๆ ปฏิจจสมุปบาทนี่
ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่พระองค์เดียวที่คันธกุฎี ท่านก็ท่องสูตรนี้ขึ้นด้วยอารมณ์อะไรก็ยากที่จะกล่าว แต่มันต้องมีอารมณ์อันหนึ่งที่กระตุ้นให้พระพุทธเจ้าท่านท่องสูตรอันนี้ขึ้นมา ผมว่า ไม่ใช่พระสูตร... ตัวคนมันว่า อันนี้ขึ้นมา เหมือนกับว่าเราเมื่อว่าง เวลาเราว่างขึ้นมาเราชอบว่าอะไรเล่น ถ้าคนนั้นก็ผิวปากเล่นฮัมเพลงใหม่ๆ เพลงไหนใหม่กำลังฮิต มันก็เอามาว่าเล่น ที่พระพุทธเจ้าท่านได้กล่าวข้อความนี้ ที่มันเป็นสูตรแห่งการเกิดเหตุทางอายตนะนี่ ซึ่งต่อมาเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท มาอาศัยเรียกว่าเป็นไทยดีกว่า เป็นบาลีมันก็ไม่ยากที่จะฟัง จักขุญจะ ปฏิจจะ รูเปจะ ปฏิจจะ อุปปัชชะติ วิญญานัง อาศัยรูปด้วย อาศัยตาด้วย อาศัยรูปทั้งหลายด้วย เนื่องกันแล้วย่อมเกิดจักษุวิญาณ ติณนัง ธัมมานัง สังคะติ ผัสโส ธรรมะ ๓ ประการนี้มาถึงกันเข้าแล้วเรียกว่า ผัสสะ ผัสสะปัจจะยา เวทนา นี่ตรงนี้จุดที่เราต้องการ ผัสสะปัจจะยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา เวทนาปัจจะยา ตัณหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา ตัณหาปัจจะยา อุปาทานัง เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน อุปาทานปัจจะยา ภโว อุปาทานเป็นปัจจัยก็เกิดภพ ภวปัจจะยา ชาติ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ชาติ ปัจจะยา ชรา มรณัง โสกะปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสุปายาสาปิ เมื่อชาติเพราะชาติเป็นปัจจัยก็เกิดชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะโทมนัสสุปายาสย่อมเกิดขึ้นพร้อม หมายความว่า ถ้าว่าตามภาษาบาลีก็เป็นเรื่องในพุทธกาลในสมัยอินเดีย นี่เรื่องตาเสร็จแล้ว ท่านก็ไปเลื่อนไปว่าเรื่องหู เสร็จแล้วจบแล้วก็เรื่องจมูก จบแล้วก็เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรื่องใจรวมเป็น ๖
นี่อารมณ์อะไร หรือว่าปัจจัยอะไร ความรู้สึกอะไรที่มาบังคับบันดาลให้พระพุทธเจ้าเองต้องมาท่องสูตรปฏิจจสมุปบาท ผมคิดว่าไม่ใช่ท่องเพื่อกันลืม เรื่องลืมนี้มีไม่ได้ หรือว่ากลัวจะลืมก็เป็นไปไม่ได้ ให้เชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านพอใจที่สุดแจ่มแจ้งที่สุด แจ่มแจ้งอยู่ในจิตใจที่สุด มันจึงออกมาเป็นคำพูดได้ เมื่ออยู่องค์เดียว ซึ่งคนธรรมดาก็จะร้องเพลงเล่น นี่เป็นหัวข้อของไอ้เรื่องปฏิจจสมุปบาท คือ อายตนะทั้ง ๖ มันทำงานของมันอย่างไร มีอยู่ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยกตัวอย่างเรื่องตาเรื่องเดียวก่อนก็พอ ตาด้วย รูปด้วย ถึงกันเข้า ปฏิจจะก็ถึงกันเข้า อุปปัชชะติ วิญญานัง ก็เกิดจักษุวิญญาณคือการเห็นทางตา นี่ตานะ นั่นคือสิ่งที่ตาเห็น พอมาถึงกันเข้าก็เกิดการเห็นทางตา คือ จักษุวิญญาณ ที่ว่า ๓ ประการคือตาด้วย สิ่งที่เห็นด้วย จักษุวิญญาณนั้นด้วย ๓ อย่างเมื่อมันทำงานร่วมกัน สังคะติ เรียกว่า ผัสสะ รู้จักผัสสะ ว่าเมื่อ ๓ อย่างนี้ทำงานร่วมกัน
ไม่ใช่เพียงแต่ตากับรูปถึงกันเข้าแล้วเรียกว่า ผัสสะ นั้นมักจะว่ากันเอาเอง แต่ในบาลีนั่นเห็นมั้ย ผัสสะ ในบาลีต้องสาม ไม่ใช่เพียงแต่สอง มักจะพูดกันลวก ๆ ว่าตากระทบรูปก็เรียกว่าผัสสะ หูกระทบเสียงเรียกว่าผัสสะ ไม่ตรงตามบาลี บาลีต้องมีไอ้ตา รูป แล้วก็จักษุวิญาณเกิดขึ้นแล้ว แล้วก็รวมกัน ๓ อย่าง ทำหน้าที่ร่วมกันถึงจะเรียกว่าผัสสะ แล้วก็เข้าใจคำว่าผัสสะ เมื่อไรมันมีผัสสะทางตา ผัสสะทางหู ผัสสะทั้ง ๖ ทาง ทีนี้ ผัสสะปัจจะยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา เวทนาจะเกิดเองไม่ได้ แม้บางทีเรารู้สึกขึ้นมาในใจเป็นสุขเป็นอะไรก็ตาม นั่นไม่ใช่มันมีเท่านั้นมันมีปัจจัยก่อนหน้านั้น คือรู้สึกสบายใจขึ้นมานี้ จิตมันก็ได้ไปเอาอารมณ์อะไรเข้าแล้ว มีผัสสะแล้ว ความรู้สึกสบายใจนี่ก็เป็นเวทนาทางจิต ฉะนั้นเวทนาจะเกิดเองลอย ๆ ไม่ได้จะต้องอาศัยอายตนะทั้ง ๖ นั้น ทำมาตามหลัก ๆ ธรรมชาติ ตามกฎธรรมชาติทั้งนั้น อายตนะภายในกับภาพนอกถึงกันเข้าเกิดวิญญาณ ๓ อย่างนี้ร่วมกันทำงานเรียกว่า ผัสสะ แล้วก็เกิดเวทนา
ทีนี้เกิดเวทนาทางตา สวย สบายแก่ตาก็เป็นสุข ไม่สบายแก่ตาก็ไม่สุข หรือบางทีก็ไม่เรียกว่าสุขหรือไม่สุข แต่ก็เรียกว่าเวทนาเหมือนกัน เพราะมันกระเทือนใจเหมือนกัน เพราะว่ามีผัสสะแล้ว เราไม่ต้องเรียนจากหนังสือตอนนี้ เรียนจากไอ้ที่มันเคยมีมาแล้วแต่หนหลังในชีวิตของเรา ความเป็นมาของเรา ไปเรียนไอ้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ทั้งหมดนี้ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง คือ หัวใจของพุทธศาสนา
เรื่องเมื่อตะกี้เล่ายังไม่หมด เมื่อท่านท่องอยู่อย่างนั้น ท่องสูตรคูณของท่านอยู่อย่างนั้น พระองค์หนึ่งมาทางหลังกุฏิ มาแอบฟังอยู่ ทีนี้ท่านเหลียวไปเห็นพระองค์นี้เข้าก็ อ้าว ๆ, อยู่นี่ ๆ, ดีแล้วๆ นี่เอาไปจำเอาไปศึกษา เอาไปทำให้แจ่มแจ้งไอ้นี่เป็น อาทิพรหมจรรย์ ปริญญาคุณาธิ (24.45) ใช้คำว่าอย่างนั้น ก็คือว่าศึกษาให้ละเอียด เข้าใจให้ละเอียด ให้มันเป็นของธรรมดาไป นี่คือ อาทิพรหมจรรย์ คำนี้มันแปลว่า เงื่อนต้นของพรหมจรรย์ แต่เมื่อดูแล้วมันไม่ใช่เงื่อนต้น ไม่ใช่จุดต้นอย่างเดียว มันเป็นทั้งหมดน่ะ ไอ้เรื่องปฏิจจสมุปบาทถ้าว่าเราแรกเรียนก็เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ แต่ในที่สุดมันจะเป็นทั้งหมดเพราะ เป็นเรื่องที่เกิดอยู่ตลอดกาลในชีวิต จะต้องรู้เท่าทัน ควบคุมให้ได้
ผมถือว่า ถ้ามีการถามขึ้นมาว่า เรียนพุทธศาสนาจะตั้งต้นเรียนอะไรก่อน คืออะไรเป็น ก. ข. ก.กา ของพุทธศาสนา ถ้าถือตามพระดำรัสนี้แล้ว ก็คือเรื่องนี้ เพราะท่านได้ตรัสเลยว่านี้คืออาทิพรหมจรรย์ นี่คือเป็นจุดตั้งต้นของพุทธศาสนา นักเรียน ก. ข. ค. ง.ของพุทธศาสนาก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ตาถึงเข้ากับรูปเกิดจักษุวิญาญาณ ๓ ประการเรียกว่า ผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยมีอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยมีภพ เพราะภพมีชาติ เพราะชาติมี ชรา มรณัง โสกะปริเทวะ นี่คือ ก. ข. ก. กา คือ ก. ข. ค. ง. แล้วก็แจกรูปเป็น กะ กา กิ กี ๆ ๆ ไปเรื่อยทั้ง ๖ นั้น
ทีนี้เพราะเราไม่เรียนพุทธศาสนาตามวิธีนี้ เราจึงไม่ค่อยรู้ เราไม่เรียน ก. ข. ไปตามลำดับ เราก็ไม่ค่อยรู้พุทธศาสนา แล้วเขากลับถือเสียว่านี่เป็นเรื่องสูง เป็นเรื่องปรมัตถ์ชั้นสูง อย่าเอามาสอน อย่าเอามาเรียน ถ้าเรียนก็เรียนทีหลังสุด ไม่ได้เรียนอย่างว่ามันเป็น ก. ข. ก. กา เขาว่าถ้าเรียนนักธรรม นักธรรมตรีนี่ แรกเรียนที่สุด เรียน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปรุงแต่งกันอย่างนี้จนเกิดทุกข์ มันเป็นเงื่อนต้นที่เป็นหลักฐานที่สุด แล้วค่อยเรียนว่าจะดับทุกข์อย่างไร ก็คือควบคุมมันเมื่อเกิดผัสสะนั้น อย่าให้มันโง่ อย่าให้เกิดผัสสะโง่ อย่าให้เกิดเวทนาโง่ ตัณหา อุปาทานมันก็ไม่เกิดมันก็ดับทุกข์ มันก็เรียนเรื่องทุกข์ เรื่องดับทุกข์ได้ภายในสองสามวัน นี่คือว่ามันทำงานของมันอย่างไร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันทำงานของมันอย่างไร ถ้าคุณจำได้ก็เข้าใจว่าผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ทีนี้ถ้าผัสสะนั้นโง่ คือตอนที่มันมีผัสสะนั้น เราไม่มีสติปัญญา ไม่มีความรู้ ไม่มีอะไรเลย ก็เป็นผัสสะที่โง่ มันก็คลอดออกมาเป็นเวทนาสำหรับยึดถือคือสำหรับหลงใหล ถ้าผัสสะฉลาดเวทนานั้นมันควบคุมมาด้วยปัญญา ด้วยความฉลาด ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือหลงใหล ความทุกข์ไม่เกิด เพราะเราขาดปัญญาหรือขาดวิชชาในขณะผัสสะ มันก็เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทานไปจนถึงเป็นทุกข์
ทีนี้การที่จะควบคุมไม่ให้มีการปรุงแต่งที่เป็นทุกข์ ก็ควบคุมตรงจุดผัสสะให้มีปัญญา มีวิชชามาทัน โดยมากเราไม่มีปัญญาถ้าไม่รู้เรื่องนี้ ไม่รู้เรื่องความจริงของไอ้วิมุตนี้ เราก็ไม่มีปัญญาไหนจะมาควบคุมผัสสะ แล้วเราก็ไม่ได้ฝึกสติ ไม่ได้ฝึกสติอย่างเพียงพอ แม้จะมีปัญญาอยู่บ้างก็ไม่มีอะไรเอามา ไม่มีอะไรเอาปัญญามาควบคุมผัสสะ
ทีนี้ก็จะต้องรู้อีกแง่หนึ่งก็คือว่า พุทธศาสนานี่บัญญัติเรื่องธาตุ บัญญัติเรื่องธา-ตุบัญญัติ ธา-ตุบัญญติ อะไรๆ ก็เป็นธาตุทั้งนั้นแหละ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่เป็นธาตุ ตา จมูก หู ลิ้น กาย ใจก็เป็นธาตุ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ก็เป็นธาตุ ผัสสะก็เป็นธาตุ เวทนาก็เป็นธาตุ ธาตุๆ ธาตุทั้งนั้น แล้วมีธาตุร้ายกาจอยู่ธาตุหนึ่ง คือ อวิชชาธาตุ และคู่ปรับของมันก็คือ วิชชาธาตุ เมื่อผัสสะ เมื่อมีการผัสสะ ท่างไหนก็ตาม ทางตา หู อะไรก็ตาม เมื่อมีผัสสะมันก็มีปัญหาว่า มีวิชชาธาตุเข้ามากำกับหรือไม่ ถ้าเผอิญมันไม่มีวิชชาธาตุ หรือปัญญา หรือสติเข้ามากำกับผัสสะ มันก็เป็นโอกาสของอวิชชาธาตุคือความไม่รู้อะไร เข้าไปควบคุมผัสสะ ผัสสะนั้นก็ประกอบด้วยอวิชชา เรียกง่าย ๆ ว่าผัสสะโง่ ก็เกิดเวทนาโง่ จนเกิดความอยากที่โง่ คือ ตัณหา อุปทาน ภพ ชาติเป็นทุกข์ไป
อุปมาเหมือนกับว่าอะไรดีล่ะ ที่มันมีอยู่ทั่วไป พอได้โอกาสมันก็ทำหน้าที่ คือในทั่วไปในที่ทุกหนทุกแห่ง อวิชชาธาตุนี่ใช้กับผีชนิดหนึ่งซึ่งพร้อมอยู่เสมอ ถ้าใครไม่มีการคุ้มกันที่ดีมันก็เข้าไปสวม เข้าไปทำหน้าที่ ทีนี้เมื่อผัสสะ พฤติของจิตตอนนี้ ถ้าไม่มีปัญญา ไม่มีวิชชา ไม่มีอะไรเข้ามา มาคุ้มครองป้องกันอยู่ก่อน ไอ้อวิชชาธาตุก็เข้าไปยึดครองหมด ผัสสะนั้นจึงเป็นผัสสะบงการไปโดยอวิชชา ก็เป็นไปในทางผิดหมดจนเป็นทุกข์ ในทางรอดของมันก็คือว่า เรามีปัญญา เราอบรมปัญญา หรือวิชชาอยู่เรื่อย มีสติเร็ว นี่จะเป็นเหตุให้วิชชาธาตุได้โอกาสที่จะมาควบคุมผัสสะ จะเรียกว่าจิตพาไปก็ได้ สติพาไปก็ได้ คือเราทำวิปัสสนาให้มีปัญญา ทำสติให้มีสติอยู่เสมอเป็นประจำ พอเกิดผัสสะไอ้สตินั้นก็พาไป จะสมมุติว่าเราพาไปก็ได้ แต่ถ้าพูดให้มันจริงก็คือว่า มันเป็นโอกาสของวิชชาธาตุที่จะทำหน้าที่ เหมือนกับแย่งกันครองเมือง ชิงกันครองเมือง เมื่อมีผัสสะนั้นมันเป็นโอกาสที่ว่าวิชชาจะเข้ามาครองหรืออวิชชาจะเข้ามาครอง
อ้าว, ทีนี้คุณมาดูเอาเองสิ ตามธรรมดาคุณจะคลอดมาจากท้องแม่ เอาปัญญาไหนมา เอาสติไหนมา มันไม่ได้รับการสั่งสอนเลย ฉะนั้นทารกเขาก็มีแต่โอกาสสำหรับให้อวิชชาเข้าไปครอง ฉะนั้นเมื่อทารกนั้นได้รับอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางไหนก็ตามเขาไม่มีวิชชา ไม่มีปัญญา ไม่มีสติ อวิชชาธาตุนี่พร้อมอยู่เสมอในทุกหนทุกแห่งเข้าไปยึดครอง เพราะฉะนั้นทารกคนนั้นจะต้องทำอะไรไปตามอำนาจของอวิชชา ทางตานั้นก็รับแต่ที่มันน่ารัก ก็กลัวที่น่ากลัว มันไม่รู้นี่ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นอะไรก็ตามมันก็ไปตามอำนาจของอวิชชา คือมันรักไอ้ที่สวยงามไพเราะ เอร็ดอร่อย หอมหวน แล้วมันก็โกรธเกลียดที่มันตรงกันข้าม นี่เด็กทารกนั้นจะต้องทำอย่างไร เพราะอวิชชาเข้าไปยึดครองผัสสะ เป็นอย่างนี้ตลอดมาจนมาบวชเดี๋ยวนี้ จนมาบวชเดี๋ยวนี้มันมาแต่อย่างนี้ แล้วมาพูดกันใหม่อย่างนี้มันก็ยังน้อยไป มันยังไม่พอ มันมีความเคยชินที่เป็นไปตามอวิชชามากเหลือเกิน มันลงรากที่เรียกว่าการเป็นมาตามอวิชชาอย่างไร แล้วเป็นความเคยชินที่สะสมเข้าไว้ สะสมเข้าไว้ สะสมเข้าไว้ จนกว่าจะได้มาเรียนเรื่องนี้ บางทีก็ไม่เคยมาบวช บางทีก็ไม่เคยมาเรียนเรื่องนี้ มันก็ไปตามเดิมนั่นแหละ
นั่นน่ะคือไอ้ความเคยชินที่เป็นเจ้าเรือน สิงเป็นเจ้าเรือนประจำอยู่ ที่ออกชื่อเมื่อตะกี้ อหังการ มมังการมานานุสัย ความเคยชินที่จะมั่นหมายว่ากู ว่าของกูนี่ ก็มีความเคยชินอย่างนี้มาแต่อ้อนแต่ออกจนเป็นหนุ่มเป็นสาวจนบัดนี้ มันก็หนาแน่นเสียยิ่งกว่าอะไร ไอ้ส่วนความรู้ที่ตรงกันข้ามไม่เคยมี นี่เพราะทารกนั้นไม่มีความรู้เรื่องวิมุติ เขาก็ปล่อยมันตามธรรมชาติของอวิชชา ฉะนั้นเราจึงมีปัญหาคือความเคยชินที่จะเป็นตัวกูของกูติดแน่นมาทั้งนั้น จนกระทั่งเดี๋ยวนี้พอได้อะไรที่มาเป็นอารมณ์มันก็สร้างแต่เวทนาแบบนั้น เวทนาที่ยึดถือ น่ารักก็รัก น่าเกลียดก็เกลียด น่ากลัวก็กลัว มันก็เลยเป็นของธรรมดาสำหรับมนุษย์ ไอ้จุด ๖ ตำแหน่งนี่เป็นของธรรมดาสำหรับมนุษย์ จะใช้สร้างอวิชชา จะเป็นที่ทำงานของอวิชชาแล้วก็สร้างด้วย ตัวกูของกูจน ความรู้สึกเป็นตัวกูจนบัดนี้
ที่ว่าอันนี้มันเกลียดนัก มันไม่ยอมปล่อย มันไม่ให้ใคร มันไม่ผ่อนผันสั้นยาวกับใคร เป็นมูลเหตุแห่งความขัดแย้งทั้งโลก แต่มันก็เป็นเพียงหนึ่งใน ๖ อย่างเท่านั้น ไอ้เวทนาที่มาจากความรู้สึกชนิดนี้ เสร็จแล้วก็เป็นเวทนาหัวโจกที่จะให้เกิดเรื่องใหญ่ที่สุดในจิตของมนุษย์ แต่เดี๋ยวนี้เราก็นับหมดแหละ ไม่นับแต่อันนี้ นับหมดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็น ๖ เลย จุดที่จะทำเรื่องให้มีขึ้นมาคือที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราจึงเรียกว่า ๖ ตำแหน่ง เหตุแห่งสิ่งทั้งปวง เหตุแห่งเหตุการณ์ทั้งปวงมีอยู่ ๖ ตำแหน่ง คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และที่ไม่สู้แรงก็คือ ๔ อย่างแรก ที่แรงมากก็อันที่ ๕ คือผิวหนัง กามารมณ์ แต่แรงที่สุดก็คือจิตที่ประกอบด้วยอุปาทาน ถ้าจิตธรรมดา จิตเกลี้ยง จิตว่างไม่เกิดสิ่งเหล่านี้ เดี๋ยวนี้จิตมันประกอบอยู่ด้วยอวิชชาอุปาทาน จนเป็นต้นเรื่องที่เรียกว่าอหังการ มมังการ มานานุสัย มีอยู่ในทุกคนตลอดเวลา หมายความว่าความเคยเช่นนั้นมันมีอยู่ทุกคนตลอดเวลา พร้อมจะออกมาทันที ถ้ามีอะไรสะดุดนิดเดียวก็ออกมาทันที เป็นเรื่องตัวกูของกูเกิดเรื่องใหญ่ ฉะนั้นใน ๖ ตำแหน่งนั้น ไอ้ตำแหน่งที่ ๖ ร้ายมาก ฉะนั้นใน ๕ ขั้นต้นนั้นมันก็รอง ๆ ลงไป ฉะนั้นเรารู้ไว้ว่าไอ้จุด ๖ จุดนี้จะต้องระวังให้ดีที่สุด อย่าให้มันกลายเป็นที่เกิดที่ตั้งแห่งเหตุการณ์เลวร้ายทำให้เป็นทุกข์ มันตั้งต้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจและมันเป็นผัสสะ เป็นเวทนา เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน ไปสุดอยู่ที่อุปาทาน นั่นแหละคำเดียวกับคำว่าอหังการ มมังการ อุปาทานนี่ยึดมั่นถือมั่น คอยยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกู ครั้นอันนี้มันเคยชิน ฉะนั้นตัวกูของกูจึงเป็นอุปาทานมันเคยชินขึ้น ชินขึ้น จนเป็นพื้นฐานของจิตเลยเรียก อนุสัย อหังการ มมังการ มานานุสัย
อนุสัยคือสิ่งที่สะสมเอาไว้ มานะก็คือความสำคัญมั่นหมาย อหังการ มมังการคือตัวกูของกู ถ้าว่ามีตาทิพย์หรือตาปัญญามองดูเห็นทุกคนเต็มอยู่ในสิ่งนี้ ทุกคนที่ธรรมดา คนธรรมดาเต็มอยู่ในสิ่งนี้คืออหังการ มมังการ มานานุสัย ทีนี้ในรูปอย่างนี้เขาก็จะมีเรื่องเป็นปัญหาขึ้นมาว่า ทำอย่างไรจะละอหังการ มมังการ มานานุสัยได้ เขาก็ตั้งปัญหาว่าทำอย่างไรจึงจะละอหังการ มมังการ มานานุสัยได้ พวกลัทธิอื่นนอกพุทธศาสนาก็มาถามปัญหานี้ แม้ในวงพุทธศาสนาเราก็มีการถามปัญหานี้โดยพระสาวกบางองค์ แทนที่เขาจะถามว่าทำอย่างไรจะราคะ โทสะ โมหะได้ เป็นคำถามที่ไม่แยบคายไม่ละเอียดลึกซึ้ง ถ้าถามว่าทำอย่างไรจะละอหังการ มมังการ มานานุสัยได้นี่ เป็นคำถามที่แสดงภูมิสูงเพราะว่าเมื่อละอันนี้ได้ก็คือเป็นพระอรหันต์ เมื่อละอหังการ มมังการ มานานุสัยได้คือเป็นพระอรหันต์
ไอ้ความเคยชินตั้งแต่อ้อนแต่ออกมาจนถึงบัดนี้มันละยาก มันก็มีระบบปฏิบัติที่ปฏิบัติจนอันนี้มันหายไป จะเรียกว่าหมดกิเลส หมดอาสวะก็ได้ หมดสังโยชน์ก็ได้ อะไรก็ได้แต่ในกรณีนี้เขาเรียกชื่ออย่างนี้ ความเคยชินที่จะเกิดความยึดถือขึ้นมาว่าตัวกูว่าของกู
ไอ้ข้อเท็จจริงมันมีอยู่ว่า เมื่อเรามีสติ มีปัญญาพอ เราควบคุมไอ้ผัสสะเอาไว้ได้ ผัสสะนั้น ไม่เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน ชนิดที่เป็นทุกข์ นั่นแหละคือเคล็ดของมัน ถ้าควบคุมเมื่อผัสสะจะให้เกิดทุกข์ไปถึงอีกทีหนึ่ง มันจะลดความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้น สมมุติว่าหน่วยหนึ่งก็แล้วกัน ลดหน่วยหนึ่ง ๆ ๆ เรื่อยไป
สมมุติว่าเราเดี๋ยวนี้ ตั้งแต่เกิดมาจากท้องแม่มาจนบัดนี้อายุ 25 ปี สมมุติว่า เราสะสมความเคยชินสำหรับความเป็นอย่างนี้ไว้หมื่นหน่วย ถ้าเรายังทำไม่ได้ มันจะเพิ่มขึ้นทุกคราวที่เราทำไม่ได้ แต่ถ้าทำได้ คือถ้าเราควบคุมผัสสะได้มันจะลดลงหน่วยหนึ่ง ๆ ลดลงหน่วยหนึ่ง ทุกคราวที่เราควบคุมได้ ทุกคราวที่เราควบคุมผัสสะได้ ทีนี้สิ่งที่เรียกว่า อนุสัย ความเคยชินนั้นมันก็ลด ๆ หน่วยของมันลงไปตามลำดับ ๆ ถ้ามันหมดได้ก็เป็นพระอรหันต์ ถ้าปฏิบัติช่วยโดยเร็วมันก็หมดเร็ว คือมันลดมาก ๆ แล้วมันเป็นไปตามธรรมชาติ ทีนี้มันจะลดทีละหน่วย ถ้ามันจะเพิ่มขึ้นก็เพิ่มทีละหน่วย ทุกครั้งที่เราทำผิดจนเกิดกิเลสนี้มันก็เพิ่มความเคยชินไว้หน่วยหนึ่ง ที่นี้ถ้าเรารู้ทัน เราควบคุมไว้ได้มันก็ลดความเคยชินนั้นลงไปหน่วยหนึ่ง แต่ถ้าปฏิบัติอย่างมีเทคนิคเฉพาะ คือปฏิบัติธรรมะโดยตรงนี่มันก็จะลดมาก ๆ ลดทีเดียวหมดก็ได้เหมือนกัน ลดทีเดียวหมดเป็นพระอรหันต์ไปเลยก็ได้ แต่ถ้าเราประพฤติอย่าให้ผิด อยู่อย่างไม่มีผิดมันก็ลด ๆ ทีละหน่วย ๆ ได้เหมือนกัน ฉะนั้นอยู่อย่าให้ผิด อยู่ให้ถูกต้องเสมอมันก็ มันก็จะทำให้เป็นพระอรหันต์ได้เหมือนกัน เพราะอันนี้มันลดลงไป
นี่ประโยชน์ของการที่รู้ว่าไอ้ ๖ จุด ๖ ตำแหน่งนี้มันต้องควบคุม อย่าให้ปรุง ๆ ๆ ไปจนเป็นกิเลส เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน เป็นอุปาทานก็คือ ยึดมั่นถือมั่น ไอ้ที่มันจะยึดมั่น มาหล่อเลี้ยงความยึดมั่นนี้มันก็คือกาม ยึดมั่นในกาม เรียกว่า กามุปาทาน ยึดมั่นในทิฐิ ความคิด ความเห็น ความเชื่อของเรา ก็เรียกว่า ทิฏฐุปาทาน ยึดมั่นในศีลพรต ศีลวัตร คือการปฏิบัติที่ไม่มีเหตุผลที่ไม่ถูกตรงตามความจริง ซึ่งเราเคยทำมาคือความงมงายทั้งหลาย ก็เรียกว่ายึดมั่นในศีลวัตร สีลัพพตุปาทาน เรียกว่ายึดมั่นอย่างที่ว่าตัวกูของกู ยึดมั่นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ยึดมั่นเรื่องตัวกูของกู เป็น อัตตวาทุปาทาน มีอยู่ ๔ อุปาทาน นี่ก็เป็นเรื่องที่ควรสนใจและปฏิบัติด้วย
เมื่อไรเราไปยึดมั่นกามารมณ์ก็เรียกว่า กามุปาทาน เมื่อไหร่ที่เรายึดมั่นทิฐิ ความคิดความเห็นความเชื่อของเราเถียงกับทุกที่ เราก็ยึดมั่นทิฐิของเรา เมื่อไรเรายึดมั่นการปฏิบัติงมงายที่เคยมีมาตั้งแต่เรกเริ่มเดิมที ที่แต่เด็ก ๆ ก็เป็นธรรมดาหละจะต้องมีการสอนที่ผิด ที่งมงาย แล้วก็ยังคงยึดถือมาจนบัดนี้ แล้วก็เพิ่มขึ้นมาอีกโดยการสอนที่ผิด ๆ มิจฉาทิฐิจะได้รับเพิ่มขึ้นมาเรียกว่ายึดถือสีลัพพตุปาทาน จนยึดมั่นตัวตน ยึดมั่นความคิดว่าตน ความหมายมั่นว่าตนเหมือนที่พูดแล้ว นี่เรียกว่าอุปาทาน แล้วเราจะต้องเป็นทุกข์
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สรุปแล้วความทุกข์อยู่ที่ปัญจุปาทานขันธ์ คือขันธ์ที่มีอุปาทาน ขันธ์ที่มีแต่ยึดมั่นถือมั่น มีความยึดมั่นถือมั่นในจิตเมื่อไรก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น แต่ถ้าแจกเอาโดยวัตถุอย่างหนึ่งก็เรียกว่ามี ๔ อุปาทาน ๔ ถ้าแจกโดยวัตถุอีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่า ยึดมั่นในขันธ์ทั้งห้า ไอ้ยึดมั่นในขันธ์ทั้งห้า นี่เป็นธรรมดา ๆ ระดับธรรมดา ไม่รุนแรงเหมือนกับอุปาทาน 4 แต่ก็ต้องเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เต็มที่เหมือนกัน ยึดถือรูป ยึดถือร่างกาย ยึดถือรูปธรรม ก็เรียกว่ายึดถือรูปขันธ์หรือเวทนาก็เมื่อตะกี้นี้ยึดถือในเวทนาขันธ์ เมื่อมีเวทนาแล้วคนเราก็มีสัญญา ความมั่นอย่างใดอย่างหนึ่งสำหรับจะยึดเป็นหลักต่อไปเรียกว่าความจำนั่นแหละ ก็ยึด อย่างนี้เรียกว่ายึดมั่นในสัญญาขันธ์ มีสัญญาหมายมั่นอย่างไรแล้วก็เกิดความคิดนึกเรียกว่า สังขารขันธ์ ก็ยึดมั่นสังขารขันธ์ ไอ้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นมันจะน่ายึดถือ น่าเข้าใจผิดว่าเป็นตัวตนก็ยึดมั่นไอ้วิญญาณขันธ์ จึงยึดมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ชุดหนึ่งที่จะเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น ในชุดที่รุนแรงมากโลดโผนมากก็คือไอ้ ๔ ยึดมั่นกาม ยึดมั่นทิฐิ ความคิดความเห็น ยึดมั่นสิ่งที่เคยยึดมั่นมาอย่างงมงายตลอดเวลามา และไปยึดมั่นว่าตัวกูของกู
ความยึดนี้มันเป็นตัวทุกข์แล้วก็มันมาจากจุด ๖ จุด ตำแหน่ง ๖ ตำแหน่งจะต้องระวัง เพราะว่าอุปาทานแปลว่า ยึดมั่นถือมั่น รู้จักให้ดี นี่ตัวร้ายรู้จักให้ดี แล้วต้องทำด้วยความโง่เสมอ ฉะนั้นอย่าให้เป็นอุปาทานที่ทำด้วยความโง่ แต่ทำเพียงเป็นสมาทาน ที่ทำด้วยปัญญา ด้วยวิชชา ด้วยสติ ถ้าว่าสมมุติว่าคุณเอาพระเครื่องมาแขวนคอ คุณอย่าทำด้วยอุปาทาน ทำด้วยสมาทานคือทำด้วยสติปัญญา ยึด คือถือไว้ดี ๆ เรียกว่าสมาทาน พระเครื่องนั้นจะพอเป็นประโยชน์ หรือจะเป็นไปในทางธรรมะมีประโยชน์ แต่ถ้าว่าเอาพระเครื่องมาแขวนคอด้วยอุปทาน ด้วยอวิชชา ด้วยตัณหา ด้วยความโง่แล้วก็จะเป็นสีลัพพตปรามาส ถ้าเราเอามาทำไว้อย่างสมาทานพระเครื่องนี้ก็จะเป็นพุทธานุสติอนุสรณ์ วัตถุอะไรได้ นั่นที่ว่าเลื่อนขึ้นมาเราจะมีพระรัตนตรัยกัน ไม่เพียงแต่พระเครื่องจะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์กันเป็นที่พึ่งนี่อย่าทำด้วยอุปาทาน อย่ามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ด้วยอุปาทานคือ ด้วยอวิชชา ด้วยความโง่ ด้วยตัณหา แต่ทำอย่างที่เรียกว่า สมาทาน สมาทานพระ รัตนไตรสรณคมน์ สมาทานสรณคมน์มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มาเกี่ยวข้องด้วยสติปัญญา อย่างนี้เรียกว่าสมาทานพระรัตนตรัย หรือสรณคมน์ นี้ถ้าทำด้วยความโง่ ความหลง อวิชชาเรียกว่าอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นในสรณคมน์ เหลวหมดไม่รู้ไปไหนหมด กลายเป็นสีลัพพตปรามาสไป สรณคมน์หรือพระรัตนตรัยนั้นจะกลายเป็นสีลัพพตปรามาสไปไม่ได้ผล
ทีนี้เราจึงพูดสั้น ๆ ว่าอย่าทำด้วยอุปาทาน แต่ทำด้วยสมาทาน คำสองคำนี้ตรงกันข้าม อันหนึ่งทำด้วยอวิชชา อันหนึ่งทำด้วยวิชชา เช่น สมาทานศีลนี่ถูกแล้วแต่ว่าอย่าวางศีล สมาทานสัมมาทิฐิก็ถูกแล้วอย่าอุปาทานในสัมมาทิฐิ ฉะนั้นทำด้วยสมาทานเถอะ แปลว่าถือไว้อย่างดี สะ-อาทานะ แปลว่า ถือไว้อย่างดี อุปาทานะ มันก็เข้าไปถือไว้แต่มันด้วยความโง่ หลับตา ทำด้วยอวิชชา ด้วยตัณหา แล้วก็ด้วยอุปาทานนั่นเอง ฉะนั้นถ้าว่าเราจะปฏิบัติธรรมะให้สูงขึ้นไป ก็ขอให้ทำด้วยสมาทานคือ ปัญญา สติ วิชชา อย่าทำด้วยอุปาทาน อย่ายึดถือธรรมะ อย่างอุปาทานแต่มีไว้อย่างสมาทาน แม้แต่พระนิพพาน ถ้าหมายมั่นพระนิพพานด้วยอุปาทานแล้วจะไม่มีอะไรเหลือ นิพพานนั้นจะเป็นสีลัพพตปรามาสไปหมดแต่ถ้าสมาทานดี สมาทานธรรมก็ไปอย่างดี ถึงพระนิพพานด้วยสมาทานอย่างนี้อยู่ก็มีพระนิพพานแน่ อย่าทำอะไรด้วยอุปาทาน ยุติกันว่าอย่าทำอะไรด้วยอุปาทาน ขอให้ทำด้วยสมาทาน ซึ่งมันมีวิชชา มีปัญญานี้เป็นที่ตั้ง ถ้าทำด้วยอุปาทานมันจะมีอวิชชา มีตัณหา มีอะไรสกปรกเป็นที่ตั้ง ฉะนั้นถ้าคุณจะมีเงินมีทอง มีทรัพย์สมบัติ บ้านเรือน ชื่อเสียง บริวาร อะไรก็ตาม อย่ามีด้วยอุปาทานมันจะกัดเอา ให้มีด้วยสมาทาน มีไว้อย่างดี ๆ ถือไว้อย่างดี นี่อย่างนี้ไม่กัด จะช่วยให้เป็นประโยชน์ ทำให้ได้เป็นประโยชน์ตามที่เราควรจะทำจะได้ ฉะนั้นจะมีอะไรจะได้อะไร อย่าทำ อย่ามี อย่าได้ด้วยอุปาทานหลับตาทำ ให้เป็นสมาทานไว้เสมอ แม้จะมีธรรมะนั่นเอง จะมีพระธรรมนั้นเอง มีพระ เจ้า ก็ดี มีพระธรรมก็ดีอย่ามีด้วยอุปาทาน ฉะนั้นก็มีด้วยสมาทาน
ช่วยจำไอ้ ๒ คำนี้ไว้ให้มั่นคง อย่าให้เกิดสับสนกันนะ อันหนึ่งทำอย่างลืมตา อันหนึ่งทำอย่างหลับตา นี่เรียกว่าไอ้จุด ๖ จุด หรือ ๖ ตำแหน่งเนี่ยมันเป็นที่ตั้งของการปรุงแต่งทางจิตทางใจสูงขึ้นมา ๆ จนมาจบอยู่ที่ทุกข์หรือว่าไม่ทุกข์ ถ้าทำมาอย่างถูกต้องจะไม่มาจบที่ความทุกข์ ถ้าทำมาอย่างไม่ถูกต้องมันจะมาจบอยู่ที่ความทุกข์ คือมันมาจบอยู่ที่อุปาทานแล้วมันต้องเป็นทุกข์ พอทำมาอย่างถูกต้องมันจะมาจบอยู่ที่สมาทานถือไว้อย่างดี แล้วก็ไม่ต้องมีทุกข์ เราควบคุมก็ได้อะไรก็ได้ เรียกว่าอะไรก็แล้วแต่จะเรียก จุด ๖ จุดนั้น ถือไว้ให้ดี ๆ อย่ามีชีวิตที่ยึดมั่นถือมั่น ก็คอยพูดเรื่องนี้มานานแล้วว่าจะมีทรัพย์สมบัติอะไรก็ดี มีอะไรก็ดี อย่าได้ยึดมั่นถือมั่น แม้แต่จะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็อย่ามีอย่างยึดมั่นถือมั่น มันจะหายไปหมดแหละพอยึดมั่นถือมั่น มันจะกลายรูปเป็นสีลัพพตปรามาสไปหมด มีอย่างสติปัญญาถูกต้องมันก็จะอยู่เป็นสิ่งนั้น สำเร็จประโยชน์ให้แก่เรา
ทีนี้ก็ว่าตามพระพุทธภาษิตที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่งก็คือว่า ไอ้ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนั้นแหละ มันจะเป็นนรกก็ได้ เป็นสวรรค์ก็ได้ เมื่อพวกอื่นเขาเคยมีนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้ากันมาแต่เดิมก่อนพระพุทธเจ้า พอพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นพระเจ้าขึ้นมาท่านว่า ไอ้นรกทางอายตนะ ๖ ฉันเห็นแล้ว สวรรค์ทางอายตนะ ๖ ฉันเห็นแล้ว มยาทิฏฐา (นาทีที่ 1.03.34) แปลว่า ฉันเห็นแล้ว คือไอ้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้ เมื่อทำผิดมันนรกอยู่ที่นั่น ถ้าทำถูกมันก็เป็นสวรรค์อยู่ที่นั่น ฉะนั้นนรกสวรรค์มันก็อยู่ที่ ๖ จุดนั่นแหละ ทั้ง ๖ จุดนั้นระวังให้ดี ๖ ตำแหน่งนั้นระวังให้ดี สร้างนรกก็ได้ สร้างสวรรค์ก็ได้ และสร้างนิพพานก็ได้ ถ้าที่ ๖ จุดนั้นไม่เกิดยึดมั่นถือมั่นโดยประการทั้งปวงแล้วก็เป็นนิพพาน จะเยือกเย็น เย็น เย็นอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นแหละ นี่เป็นสุขยิ่งกว่าสวรรค์ไปเสียอีก สวรรค์ไม่ใช่เรื่องเย็น เรื่องปรุงแต่ง ไม่หยุด ไม่เย็น ไอ้นรกนั่นมันเหลือทน แต่สวรรค์ก็ไม่ใช่ว่าหยุดหรือเย็น ต้องนิพพานจึงจะเย็น ถ้าเราควบคุมไว้ไม่ให้เกิดการปรุงแต่ง นรกหรือสวรรค์ก็ตามไม่เอาทั้งนั้น ควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้ให้เย็น มันก็จะเป็นนิพพานอยู่ที่นั่น
ทีนี้ถ้าว่าทำผิดเป็นประจำ โง่เป็นประจำตลอดกาลนี่ ท่านมีคำเรียกอีกคำหนึ่งเรียกว่า สมุทร มหาสมุทรน่ะ ทะเลที่ใหญ่เรียกว่ามหาสมุทร มีบาลีกันว่าไอ้ที่เรียกว่าสมุทรน่ะ สมุทร ที่เขาใช้เรียกพูดกันอยู่นั้น ขอให้เข้าใจว่า สมุทร ๆ นั้นมันเป็นเพียงน้ำมาก ๆ เท่านั้น ไอ้สมุทรที่แท้จริงคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะเป็นที่ตกแห่งสัตว์ ตกลงไปแล้วลึกขึ้นไม่ได้ ตกอยู่ตลอดเวลา นี่เราเรียกว่าสมุทร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ ตำแหน่งนั้นกลายเป็นที่ตกจมตลอดเวลา มันสำคัญเท่าไร ถ้าทำถูกก็เป็นสวรรค์อยู่ที่นั่นถ้าทำผิดก็เป็นนรกอยู่ที่นั่น ถ้าทำเหนือผิดเหนือถูกก็ยิ่งไปอีกก็เป็นสวรรค์นิพพานที่นั่น นี่มันควรจะพอแล้วว่าไอ้ ๖ ตำแหน่งนี้มีความสำคัญอย่างไร นี่เราก็ เหตุแห่งเหตุการณ์ทั้งปวงมีอยู่ ๖ ตำแหน่ง
เวลากเลยมาแยะ เอาแล้วคุณก็สรุปความกันเอาเองสิว่า ไอ้จุดสำคัญที่จะเกิดเรื่องทั้งหลาย ทั้งฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว พ้นดี พ้นชั่ว เหนือดี เหนือชั่ว ทั้งโลกียะ ทั้งโลกุตระนั่นน่ะ มันมีอยู่ที่ ๖ จุดนั่นแหละ จัดการกับ ๖ จุดให้ถูกต้องมันก็หมดปัญหา ฉะนั้นการควบคุมไม่ให้เกิดทุกข์ก็รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทที่มันตั้งต้นที่ ๖ ตำแหน่งนั้น มีควบคุมได้ด้วยมีปัญญา มีสติพออันนั้นจะนำไปสู่สุดคือ นิพพาน ถ้ายังไปดี ไปร้าย ไปอะไรอยู่มันก็ยังอยู่แค่นรกแค่สวรรค์ อยู่ที่ตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจโดยมีปฏิจจสมุปบาทอีกแบบหนึ่งปรุงให้เกิดนรก แบบหนึ่งปรุงให้เกิดสวรรค์ ส่วนแบบที่ควบคุมไว้ได้ไม่ปรุงอะไรมันก็ไปนิพพาน ทั้งหมดนี้รวมอยู่ที่จุด ๖ จุด ๖ ตำแหน่งนั้นคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่หัวข้อที่ ๑๒ ไม้อิงสามขา ศาสตราสามอัน โจรฉกรรจ์สามก๊ก ป่ารกสามดง เวียนวงสามวน ทุกข์ทนทั้งโลก เขาโคกสามเนิน ทางห้ามเดินสองแพร่ง ตัวแมลงห้าตัว มารที่น่ากลัวห้าตน บ่วงคล้องคนหกบ่วง เหตุแห่งเหตุการณ์ทั้งปวงหกตำแหน่ง มีอีก ๔ ข้อจบ นี่มันพูดกันไว้ ๑๖ ข้อ
ในวันนี้สมควรแก่เวลาแล้ว ขอหยุดการบรรยายและปิดประชุม