แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นราชภัฎลาบวชและจะต้องลาสิกขาทั้งหลาย การบรรยายธรรมะเล่มน้อยสำหรับผู้ลาสิกขา เป็นครั้งที่ ๖ ในวันนี้ ผมจะกล่าวโดยหัวข้อว่า “อุปสรรคแห่งการก้าวขึ้นจากปุถุชนภาวะ” มันก็ยังเป็นเรื่องให้คล้องปุถุชนภาวะอยู่นั่นเอง บางคนยังรู้สึกอยู่ว่าซ้ำๆ ซากๆ อยู่ที่นี่ทำไม ก็บอกว่าให้มันสมกับเป็นเรื่องของปุถุชนคนหนา เพราะมันหนา มันต้องขุดกันอย่างซ้ำๆ ซากๆ ความหนาย่อมแสดงว่ามันเอาออกยาก หรือหมดได้ยาก มีอุปมาในนิทานเก่าๆ ว่าคนขี้เซาบางคนมันนะปลุกยาก จะเตะ จะทุบอะไรมันก็ไม่ค่อยรู้สึก ยังมีว่ามากขนาดต้องถลกหนังหัวเท่าเงินเหรียญ มันจึงจะตื่นก็มี นี่เราเปรียบไว้สำหรับไอ้คนที่มันหนา ก็หมายความว่าให้พยายาม อย่าปล่อย อย่ายอมแพ้ จะหนาเท่าไหร่ก็พยายามให้มันตื่นให้จนได้ นี่เรื่องของคนหนา
เดี๋ยวนี้เราก็ต้องพูดกันถึงเรื่องของปุถุชน ตามหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา ยังจะหนาไปกว่านั้นกระมัง เพราะว่าหนาด้วยอวิชชา ด้วยกิเลส ด้วยตัณหา ก็ไม่ค่อยจะรู้สึก ไม่รู้สึกเจ็บ แม้ว่าพรหมจรรย์นี้ในพระพุทธศาสนานี้ก็เป็น สัลเลขะธรรม คือ เครื่องขูดเกลา เหมือนกับเอามีดมาขูด ก็ยังมีคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ นี่เราจะพูดกันให้เข้าใจถึงการที่เราจะไม่ต้องรวมอยู่ในจำพวกเหล่านั้น ไอ้ที่เราจะต้องคิดกันสักข้อหนึ่งก็คือว่า เมื่อดูกันตามธรรมชาติ โดยหลักของธรรมชาติ ตามธรรมชาติแล้ว ธรรมชาติก็ได้ให้อะไรๆ มาเท่ากันหมด หรือเหมือนกันหมด สำหรับคนก็เหมือนกับคน สำหรับสัตว์ก็เหมือนกับสัตว์ แต่ละคนก็ได้รับอะไรมาจากธรรมชาติเหมือนๆ กันหมด แล้วทำไมบางคนมันจึงพัฒนาได้ไกลขึ้น ไปถึงความเป็นพระพุทธเจ้า แล้วทำไมบางคนมันยังเป็นอันธพาลและปุถุชนอยู่ที่นี่ มันไม่ขึ้นไป นี่เราจะนึกถึงข้อนี้กันบ้างว่า ธรรมชาติให้มาเท่าๆ กัน บางคนมันไปไม่ได้ บางคนไปได้ไกล บางคนก็ไปได้ไม่แค่ไหน เราจะนึกละอายขึ้นมาบ้าง น่าจะมีมานะทิฐิขึ้นมาบ้าง
ที่ว่าเราก็คน เขาก็คน ธรรมชาติให้มาเท่ากัน เราก็ควรจะไปได้ไกล หรืออยู่ในจำพวกที่คน อยู่ในจำพวกของคนที่ไปได้ตามสมควร ไม่ได้หยุดอยู่ที่นี่ ข้อนี้หมายถึงว่ามันมีดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ มีญาณ มีธาตุเหมือนกัน แล้วก็มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีขันธุ์เหมือนกัน ยังมีอะไรอื่นอีกที่เหมือนกันและเท่ากัน แต่ทำไมมันจึงไปได้ไม่เท่ากัน เดี๋ยวนี้บางคนเขาก็มีคำตอบด้วย เป็นการแก้ตัวซะมากกว่า ว่าเพราะเรามีบุญที่สร้างมาไม่เท่ากัน ถ้าหาทางออกอย่างนี้แล้ว มันก็มักจะทำให้ย่ำเท้าอยู่ที่นั่น ไอ้คนที่ชอบพูดอย่างนี้ คือคนที่จะไม่คิดหาทางที่ก้าวหน้าให้แก่ตนเอง จับตัวเองให้เป็นคนอาภัพหรือครึ่งอาภัพไปซะแล้ว ระวังให้ดี อย่าให้ความคิดมันเดินไปทางนั้น ว่าเราไม่มีบุญ อย่าไปคิดอย่างนั้น ถ้าบุญไม่มีแล้วเราต้องทำให้มันมี จะต้องต่อสู้ดิ้นรนสร้างมันขึ้นมา ก็จะรอดตัวไปได้ ไอ้เรื่องบุญมักจะทราบก่อน เราไปบังคับมันได้ที่ไหน เราก็ต้องเอาที่ตรงนี้โดยหลักของ อิทัปปัจจยตา คือ สิ่งต่างๆ มีเหตุ มีปัจจัยเฉพาะของมันเอง ทำให้ถูกกับเรื่องเฉพาะของมันเองมันก็เป็นไปได้ เราจะมีวิธีการที่จะจัดการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกกับเหตุปัจจัยของเรื่องนั้นๆ ทุกเรื่องมันมีเหตุปัจจัยของมัน ซึ่งคิดว่าโลกนี้มันแก้ปัญหาอะไรไม่สำเร็จ เพราะมันทำเหมือนกับหลับตาทำ ไม่ถูกกับปัจจัยของเรื่องนั้นๆ เราควรจะรู้กันไว้
ที่จะต้องรู้ให้มากหน่อยก็คือว่า ไอ้ธรรมชาติของจิตนี่เป็นสิ่งที่มีธาตุแห่งความรู้อยู่ในตัวมันเอง เค้าเรียกว่าธาตุแห่งความเป็นพุทธะ ที่มันจะรู้อะไรได้เหมือนกับเมล็ดพืชแห่งความรู้ ธาตุแห่งโพธิคือปัญญามันมีอยู่เป็นเมล็ดพืช อยู่ในวิญญาณธาตุหรือในจิตของคนทุกคน ถ้าเรามุ่งหมายที่จะพัฒนามันหรือที่เรียกว่าเพาะ ปลูก เพาะหว่านมัน เพาะมัน ปลูกมัน ใส่ปุ๋ยให้มัน แค่นั้นก็จะเติบโต ขอให้ถือว่า เอ่อ, สมมติว่ามันไม่มีอะไรติดมาแต่ชาติก่อนจริงๆ ไอ้ที่เราจะพัฒนาเอาได้ในชาตินี้มันก็เกินพอ ที่มันเหลวไหลนี่มันไม่มีการพัฒนา ให้ถือเสียว่าแม้จะไม่มีอุปนิสัยมาแต่ชาติก่อน แต่ที่เราจะพัฒนาเอาให้ได้ในชาตินี้ เดี๋ยวนี้มันก็เกินพอ ขอให้สนใจที่จะศึกษาให้รู้ ให้รู้วิธีที่จะพัฒนา เด็กๆ เกิดมาไอ้กรรมพันธุ์นั้นเรารู้ไม่ได้ แต่ถือว่าไม่สำคัญ แต่การอบรมกันใหม่ตั้งแต่เกิดมาแล้วนี่สำคัญมาก แม้การเกิดมาในพุทธศาสนานี้ก็เหมือนกัน ถือว่าเหมือนกับเกิดใหม่ แล้วก็มาอบรมกันใหม่ อบรมกันเรื่อยไป เรื่อยไปมันก็จะต้องสำเร็จประโยชน์ นี่เรียกว่ามันไม่รู้เรื่องนี้ มันก็เกิดการชะงักงันขึ้นมา ชะงักงันอยู่ จะมาบวชหรือไม่ได้มาบวชก็ตาม มันมีการชะงักงันอยู่ แต่ความเป็นปุถุชนมันไม่ก้าวหน้า เดี๋ยวนี้เราพูดถึงเรื่องของการก้าวหน้ามาแล้ววันก่อน
วันนี้เราก็จะพูดถึงอุปสรรคของการก้าวหน้า ที่มันทำให้ก้าวหน้าไม่ได้ ไอ้สิ่งแรกที่สุด อยากจะระบุอุปสรรคไปยังสิ่งที่ปิดกั้นอยู่ตามธรรมชาติ สิ่งที่มันปิดกั้นเราอยู่ตามธรรมชาติ ถ้าเคยศึกษาเรื่องจิตวิทยา เรื่องสัญชาตญาณมาบ้างแล้ว เราก็รู้ว่าสัญชาตญาณบางอย่างน่ะมันเป็นการปิดกั้น ขัดขวางต่อการเจริญงอกงามของโพธิในระดับสูงสุด ไปไม่ค่อยถึง เช่นสัญชาตญาณแห่งความเห็นแก่ตัว สัญชาตญาณที่ว่ามีตัวเรา เพื่อความรอดของเราอย่างนี้ มันมีตัวเรา มันก็เป็นอุปสรรคแก่การที่จะรู้เรื่องอนัตตา สุญญตา ตถาตา มันมีตัวเราเรื่อยๆ นี่สัญชาตญาณอันนี้ก็ไม่ใช่เล่นนะ เรามีกันมาในสันดาน ในสัญชาตญาณ หรือสัญชาตญาณที่จะต้องสืบพันธุ์ คือกามารมย์ นั่นมันก็หนักมากยากที่จะเอาชนะมันได้ มันก็เป็นอุปสรรคแก่การที่จะละกิเลสฝ่ายนี้ ฝ่ายกามสัญญา เช่นมีนิวรณ์รบกวนอยู่เสมอทางกามารมย์ ที่ว่าสิ่งที่มันปิดกั้นอยู่ธรรมชาติ ก็คือสัญชาตญาณบางอย่างและหลายอย่างที่เป็นอุปสรรค แก่การที่จะก้าวหน้าไปตามทางธรรมะ ไปสู่โลกุตตระในพุทธศาสนา การที่ขึ้นไปถึงโลกุตตระนั่นนะ มันอยู่เหนือสัญชาตญาณทุกชนิด ในบาลีเขาก็มีพูดถึงไอ้สิ่งๆ หนึ่งเรียกว่า วาสนา คือความเคยชิน ความเป็นไปตามสัญชาตญาณนี่ก็ละได้ยาก แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ต้องละได้ ถ้าหมดกิเลสจริงๆต้องละได้ อย่างพระพุทธเจ้านี่ ถือกันว่าอยู่ในระดับที่อยู่เหนือกิเลสและวาสนา อยู่เหนือสัญชาตญาณโดยประการทั้งปวง แม้ไม่เป็นพระพุทธเจ้าเป็นเพียงพระอรหันต์ ก็อยู่ในอำนาจของสัญชาตญาณทุกอย่างก็ได้ ความรัก ความกลัว ความปรารถนาจะสืบพันธุ์ เหล่านี้มันก็ไม่มีเหลืออยู่ เมื่อเรายังไม่เป็นพระอรหันต์ มันก็มีอุปสรรคที่เกิดจากสัญชาตญาณอยู่มากทีเดียว คือจิตมันน้อมไปตามสัญชาตญาณนั้น มันก็เป็นเรื่องที่เป็นกิเลส มันตรงกันข้ามจากธรรมะ มันก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา นี่แสดงว่าสิ่งที่เป็นเรื่องขัดขวางอยู่ตามธรรมชาติ ที่ทำให้เราเอาชนะอุปสรรคที่ขัดขวางไอ้การก้าวขึ้นเหนือความเป็นปุถุชน
ทีนี้มันยังมีอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็เป็นธรรมชาติด้วยเหมือนกัน ก็ไม่เรียกว่าสัญชาตญาณ คือ อิทัปปัจจยตาตามธรรมชาติ เกี่ยวกับสัตว์ที่มีชีวิต เรื่องนี้ก็ได้เคยพูดให้ฟังแล้ว แต่พูดอีกก็ได้เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ที่ว่าเด็กทารกในครรภ์คลอดออกมาไม่มีความรู้อะไรเลย ก็ช่วยจำไว้ว่า เด็กในครรภ์คลอดออกมาไม่มีความรู้อะไรเลยที่เกี่ยวกับวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ เด็กทารกนั้นไม่รู้อะไรเลย งั้นก็ต้องปล่อย มันก็ต้องปล่อย แม้ไม่เจตนามันก็ต้องเป็นไปตามความไม่รู้ เด็กทารกนี่คลอดมาจากครรภ์ต้องมีเวลาพอสมควร มันก็มีการสัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจของเขา สัมผัสแล้วเขาจะเอาปัญญาไหนมาควบคุม ไอ้เราเรียนธรรมะธัมโมเกือบตายยังควบคุมไม่ได้ แต่เด็กนั่นมันจะควบคุมได้อย่างไร เพราะมันจึงไม่มีการควบคุม ทารกนั่นก็ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ อะไรมาให้รักให้ยินดีมันก็รักก็ยินดี อะไรมาให้โกรธมันก็โกรธ ทารกก็รู้จักโกรธ รู้จักรัก รู้จักยินดี รู้จักยินร้ายตามธรรมชาติ เมื่อมันรู้จักยึดถือเอาความหมายแห่งความสุขและความทุกข์ มันก็ต้องเกิดปัญหาความอยากไปตามเวทนานั้นๆ แล้วมันก็ต้องเกิดอุปทานเป็นความรู้สึกของกู ความทุกข์ของกู ความสุขของกู อะไรๆ ก็ของกู บ้านเรือนก็ของกู บิดามารดาก็ของกู ชีวิตของกู ทรัพย์สมบัติของกู นี่มันมาเองตามธรรมชาติอย่างนี้ ซึ่งไม่มีใครจะช่วยป้องกันให้ได้ ทารกทั้งหลายเกิดมาในโลก จึงเติบโตขึ้นมาตามกระแสแห่งอิทัปปัจจยตาตามธรรมชาติของโลก
จนกระทั่งเป็นหนุ่มเป็นสาวมันก็แน่นหนา นี่เรียกว่าอุปสรรคที่ทำให้มันไม่รู้จักในความหลุดพ้น หรือความอยู่เหนือความทุกข์ ก็เกิดมาอย่างปุถุชน แล้วก็เติบโตขึ้นมาอย่างเป็นปุถุชน แล้วก็เป็นปุถุชนจนเต็มขั้นเลย ทีนี้จะมีบุญมีบาปต่อไปนี้ก็หมายความว่า ด้วยเหตุแวดล้อมอย่างอื่น ทำให้ไอ้คนๆ นี้มันรู้จักสังเกต รู้จักคิดนึก รู้จักแยก อ้าว, นี่มันเป็นความทุกข์ รู้จักแยกว่านี่ไม่ใช่ความทุกข์ แล้วก็ฉลาด บางคนก็ฉลาดพอที่จะเกลียดความทุกข์ แต่บางคนก็ไม่ฉลาดพอที่จะเกลียดความทุกข์ เลยระคนอยู่กับความทุกข์ ไม่หน่าย ไม่เบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ เพราะไม่เห็นว่าสังขารเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่ทารกพอโตขึ้นมาอย่างนี้ เป็นการพอกพูนกิเลสอนุสัยหนาขึ้น หนาขึ้นอย่างนี้ มันเป็นเดิมพัน เป็นเดิมพันแห่งจิตใจของคนเรา มันจึงยากลำบากในการที่จะชนะสิ่งนี้ ที่จะมีหูตาสว่างไสว ละกิเลสอนุสัยอาสวะได้ เรียกว่าอุปสรรคที่มันปิดกั้นอยู่ตามธรรมชาตินะ ซึ่งผมระบุไปยังสัญชาตญาณบางชนิด และกระแสอิทัปปัจจยตาตามธรรมชาติ ที่ทารกนั้นมันเติบโตขึ้นมา เติบโตขึ้นมาด้วยกระแสอิทัปปัจจยตาตามธรรมชาติ จึงเป็นได้แต่ที่จะยึดถือและเป็นทุกข์และ ชินเป็นนิสัย นี่เรียกว่าตามธรรมชาติ มันต้องมีอุปสรรคแห่งการก้าวหน้าอย่างนี้อยู่แล้ว เรารู้ไว้จะได้ปรับปรุงแก้ไขต่อสู้กับมัน ซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายธรรมชาติ
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องฝ่ายที่ไม่เป็นธรรมชาติ ที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง ก็ได้แก่การศึกษา ก็มาถึงการศึกษาที่เป็นปัญหาต่อการที่จะก้าวขึ้นเหนือความเป็นปุถุชน ด้วยจิตเจริญในทางธรรมไปสู่โลกุตตระ มันเกิดอุปสรรคนักด้วยการศึกษา เรื่องนี้เราเคยพูดมามากแล้วจนน่าเบื่อ แต่มันก็ต้องพูดอีก เพราะมันสำคัญ คือการศึกษาที่ชาวโลกปัจจุบันเขาสอนให้แก่ทารก จนเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาวนั่นมันไม่มี มันไม่มีเรื่องที่ออกไปนอกโลก ไปสู่โลกุตตระเลย มันมีแต่เรื่องอยู่ที่นี่ เรื่องทำมาหากิน เรื่องฉลาดเฉลียว ยึดมั่นเป็นตัวกูของกู สะสมไว้เรื่อย ไป ต่อสู้แย่งชิงแข่งขันกันเรื่อยไปเพื่อจะสะสมให้มากขึ้น โดยส่วนใหญ่การศึกษามันเป็นอย่างนี้ เราเกิดมาในโลกนี้มันได้รับการศึกษาอย่างนี้ มีที่ไหนที่มันจะสอนเรื่องการไปนิพพาน ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัยมันก็ไม่มี จนกว่าเราจะมาเติบโตแล้วรู้สึกขึ้นมาเอง ต้องการขึ้นมาเอง เราจะเรียกว่าการศึกษาไม่ถูกเรื่อง ไม่ตรงเรื่องที่จะช่วยให้คนไปนิพพาน แต่มันมีหวังอยู่หน่อยว่า ถ้าการศึกษานั้นทำให้ฉลาด แล้วค่อยใช้ความฉลาดนี้ เพื่อไปศึกษาเรื่องให้ไปนิพพานกันทีหลังก็ได้เหมือนกัน แต่แล้วเขาสอนให้ฉลาดแต่ในเรื่องอยู่ในโลก ฉลาดในอาชีพ มันก็ยิ่งสนุกในอาชีพ ยิ่งเห็นแก่ตัว ยิ่งยึดถือ ยิ่งสะสมกิเลส นี่การศึกษามันไม่ถูกกับเรื่อง มันไม่ตรงกับเรื่อง จะเรียกว่าไม่พอก็ได้ ไม่พอสำหรับที่จะทำให้คนมีจิตใจสว่างไสว มองเห็นนิพพาน ก็อย่างที่เคยพูดมาแล้วว่าการศึกษามันด้วน คือเรียนแต่หนังสือกับวิชาชีพ ไม่มีสอนเรื่องธรรมะ ที่จะได้รู้ว่าจะเป็นคนกันอย่าง ไร ไม่มีโรงเรียนไหนสอน มีแต่รู้หนังสือกับรู้วิชาชีพ มันก็ขาดอยู่ไอ้ส่วนที่ ๓ ผมเรียกว่า ด้วน ถ้าเป็นสุนัขก็หางด้วน ถ้าเป็นพระเจดีย์ก็ยอดด้วน ถ้าเป็นคนก็อยากจะเรียกว่าหัวด้วนดีกว่า เพราะมันมีส่วนสำคัญ ส่วนธรรมะที่รู้ว่าเราจะเป็นคนกันอย่างไรให้ถูกต้อง มันไม่ได้สอน มหาวิทยาลัยไหนมันก็ไม่สอน มหาวิทยาลัยสูงสุดมันก็ยังสอนไอ้เรื่องหนังสือ สอนเรื่องวิชาชีพต่อไป จนแต่งขยายสูงออกไปที่จะเป็นประโยชน์แก่ประ เทศชาติ ชั้นอภิมหาอำนาจกันไปนั่น ไม่มีใครสอนธรรมะว่าจะเป็นมนุษย์ให้ถูกต้องกันอย่างไร เดี๋ยวนี้คนก็เต็มไปทั้งโลก สำหรับจะต่อสู้แย่งชิง แข่งขัน ประหัตประหาร ทำลายล้างกัน มันเป็นซะอย่างนั้น อยู่ในโลกนี้ก็ไม่ได้ผาสุกหรอก ก็ไม่พูดถึงว่าจะไปนิพพานหรือเหนือโลก แม้แต่อยู่ในโลกนี้ก็อยู่กันอย่างทนทรมาน คุณก็ดูเอาเองสิ สภาพของปัจจุบันในโลกนี้มันเป็นสภาพเช่นไร เพราะการศึกษามันไม่ถูก มันไม่ตรง มันไม่พอ แม้แต่อยู่ในโลกนี้ก็ยังไม่พอ จะไปสู่โลกุตตระมันก็ยิ่งไม่พอใหญ่ หรือจะพูดตรงๆ ก็พูดได้เลยว่า เราไม่ได้รับการศึกษาเรื่องจะไปสู่โลกุตตระกันเลย ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งมาถึงวันนี้ ชักจะสนใจกันขึ้นบ้าง แต่ก็ดูจะเป็นธรรมเนียมประเพณีเสียมากกว่า มันก็ไม่ค่อยได้ผล จัดไอ้การศึกษาของเราเพียงพอ ผมเรียกว่าต่อหางหมา ผมได้บรรยาย บรรยายอย่างนี้ บรรยายอยู่ชุดๆ หนึ่ง เรียกว่ามหาวิทยาลัยต่อหางหมา ๑๐ ครั้ง มันอยู่ในเทป มันจะเคยพิมพ์ไปแล้วหรือไม่ก็ไม่ทราบ ก็บรรยายชุดมหาวิทยาลัยต่อหางหมา ก็เพื่อจะล้อเลียนกระทบประชดประชัน ไอ้มหาวิทยาลัยทั้งหลายในโลก มันทิ้งไว้ให้ขาดด้วนอยู่ตรงนี้จนหมาไม่มีหาง พระเจดีย์ไม่มียอด เราก็เลยบรรยายเพื่อจะแก้ปัญหาอันนั้น เพื่อจะช่วยให้เราสามารถต่อส่วนที่ยังขาดอยู่ ดังนั้นไอ้การพูดชุดนั้นมันจะมีแต่เรื่องอย่างนี้ คุณไปหาฟังเอาเอง มันมีอยู่ในเทปชุดนั้นนะ ไปเปิดเทปชุดนั้นฟังประกอบการบรรยาย บางทีต่อไปอาจจะมีคนพิมพ์เป็นหนังสือขึ้นมา เพื่อการศึกษาไม่พอจะได้พอขึ้นมา คือคำบรรยายชุดนั้น นี่เรียกว่าการศึกษาไม่พอเป็นอุปสรรคแก่การจะเลื่อนชั้นของปุถุชน
ทีนี้ข้อต่อไปที่เป็นอุปสรรคก็อยากจะระบุไปยัง การบังคับตัวเองไม่ได้ นี่มันชี้แคบเข้ามา ระบุให้มันแคบเข้ามาว่า การบังคับตัวเองไม่ได้ ซึ่งมันจะเป็นผลของการศึกษาที่ไม่สมบูรณ์หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเดี๋ยวนี้มันมีปรากฎการณ์อันหนึ่งแล้ว คือการบังคับตัวเองไม่ได้ของคนเรา จนกระทั่งเป็นนิสัยไปเลย บังคับตัวเองไม่ได้ ขนาดเป็นนิสัยของคนอ่อนแอไปเลย ยิ่งการศึกษายุคปัจจุบันเขานี่นิยมอะไรกัน ไม่รู้ว่าประชาธิปไตยแบบไหน สอนไม่มีการบังคับความรู้สึก ไม่บังคับชนิดที่ว่าเสียเสรีภาพ คนก็เลยนิยมไอ้การไม่บังคับตัวเองกันมากขึ้น เตลิดเปิดเปิงกันไปเลย ไอ้การไม่บังคับตัวเองทางศาสนาถือว่าเลวร้ายมาก แต่การ ศึกษาสมัยใหม่ของโลก ก็กลับเห็นว่าไอ้ไม่บังคับตัวเอง ฟรีอิสระนี่ถูกต้อง เดินสวนทางกันเสีย มันก็น่าสงสารไอ้คนเรายุคนี้ ที่การศึกษามันเดินสวนทางกันจนทำให้ยุ่งยากลำบาก ในโรงเรียนก็สอนวิธีสมัยใหม่ไม่ ให้บังคับเด็กบ้าง ไม่ให้บังคับความรู้สึกบ้าง ไม่ให้เกิดความกดดันบ้าง นี่ตรงกันข้ามกับหลักพุทธศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณ แม้แต่เด็กๆ เขาก็สอนให้บังคับ ถึงคราวที่ควรจะลงโทษต้องก็ลงโทษ ไม่ปล่อยให้มันไปรู้สึกเอาเอง มันจึงแตกต่าง
เด็กๆ ที่ได้รับความอบรมแบบใหม่กับแบบเก่าไม่เหมือนกัน แบบไหนมันสร้างปัญหาคุณก็ดูเอาเอง นี่เป็นเรื่องการบังคับหรือไม่บังคับตัวเอง ซึ่งมีอยู่ในการศึกษาของโลกปัจจุบัน แต่ถ้าเป็นเรื่องของจิตที่จะก้าว หน้าไปสู่โลกุตตระแล้ว มีการบังคับตัวเองอย่างถูกต้อง อย่างถูกต้อง ไม่ใช่แค่บังคับบ้าๆ บอๆ ไม่มีเหตุผล มันมีการบังคับตัวเองที่วางไว้เป็นระบบอย่างถูกต้อง บังคับกาย วาจาใจ บังคับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดย เฉพาะอย่างยิ่ง บังคับความรู้สึกที่มันจะปรุงแต่งขึ้นในจิตใจ ตามกฎของธรรมชาตินะ เราจะต้องบังคับต้องควบ คุมให้มันเป็นไปในร่องรอยตรงทาง หนทางที่มันถูกต้อง เราจึงถือเป็นหลักว่าต้องบังคับตัวเองให้ได้ ทีนี้เมื่อเราเกิดขึ้นมาในโลกสมัยใหม่ ที่เค้าไม่นิยมการบังคับตัวเอง เราก็ไม่เคยได้รับการอบรมให้บังคับตัวเองให้เข้มแข็ง ให้เอาจริงเอาจัง ทีนี้ก็อยากจะพูดว่าบางทีมันก็เป็นโรคประสาทเป็นโรคจิต มันบังคับไม่ได้ ก็น่าเห็นใจ มันบังคับไม่ได้เพราะว่ามันเป็นโรควิปริตทางจิต ทางประสาท มันบังคับไม่ได้ บางคนมันเป็นมากถึงขนาดนั้นมันบังคับไม่ได้ แล้วเขาก็เป็นโรคจิตชนิดที่ไม่ยอมให้ใครบังคับ ก็เห็นๆ กันอยู่ ไอ้คนบางคนไม่ยอมให้ใครบังคับ มันก็ไม่เคยเป็นคนดี ถ้ามันเป็นคนดื้อกระด้าง ไม่ยอมให้ใครบังคับแล้ว เกิดได้คนดีเป็นคนดีแบบนี้ มันก็ประหลาดเหลือประมาณ ต้องยกเว้นเป็นบุคคลพิเศษ เอาไปประมาณไม่ได้ นี่คือที่ไม่บังคับตัวเอง ให้มองเห็นเป็นหลักกันเลยว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าจิตนั่นเป็นสิ่งที่ต้องบังคับเมื่อควรบังคับ แล้วก็ตามใจผ่อนตามเมื่อควรผ่อนตาม ต้องประคับประคองเมื่อควรประคับประคอง ต้องชักจูงเกลี้ยกล่อมดึงไปเมื่อควรเกลี้ยกล่อม มันก็แล้วแต่วิธีไหนจำเป็นที่จะต้องใช้ในกรณีนั้นๆ แล้วก็ใช้ให้ถูก แต่ว่าในหลายๆ วิธีนั้น มันมีความหมายแห่งการควบคุมหรือบังคับ คือจับให้มันเดินตรงทาง บังคับจับให้มันเดินตรงทาง โดยวิธีใดก็ได้ โดยวิธีบังคับ โดยวิธีเกลี้ยกล่อม โดยวิธีจ้างล่อหลอกลวง แล้วแต่มันจะใช้วิธีไหนได้ให้มันเดินตรงทาง เราก็เรียกได้เป็นการบังคับในการเดินทางของมัน ไม่อย่างนั้นมันไม่เป็นไปได้ เพราะมันยืดยาว ไอ้ทางนี้มันยืดยาว ที่จิตจะเดินทางนี่มันยืดยาว เช่นจะเดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ นี่คุณก็ไปดู คุณก็ศึกษาอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว ให้ใช้จิตมันเดินไปตามทางนั้น ซึ่งมันก็ออกจะฝืนนิสัยเดิมอยู่บ้าง และเพราะว่ามันไม่รู้ มันมืด มันบอด มันเป็นปุถุชนตาบอดบ้าง และอีกอย่างหนึ่งมันไม่เลี้ยงกิเลส มันไม่ส่งเสริมกิเลส มันไม่สนุกเอร็ดอร่อย มันก็เกิดการต่อต้าน ไม่ยอมเดิน แต่เราก็มีวิธีที่ฉลาดให้มันเดิน และก็ไม่ใช่วิธีที่เรียกกันตามประสาชาวบ้านว่าบังคับชนิด เอ่อ, หักด้ามพร้าด้วยหัวเข่า อันนั้นใช้ไม่ได้ บังคับอย่างโง่เขลาไม่ได้ ใช้ไม่ได้ ไม่ใช่บังคับแบบหักด้ามพร้าด้วยหัวเข่า บังคับอย่างเทคนิคนะ มันมีเทคนิคเฉพาะที่จะบังคับ บังคับช้าง บังคับม้า บังคับวัว บังคับควายนี่เขาก็มีวิธีหลายๆ วิธีบังคับไปได้ พอถึงคราวที่จะใช้อาชญา ข่มเหง บังคับมันก็มีเหมือนกัน แต่ต้องถูกวิธีมันถึงจะสำเร็จ ถ้าหักด้ามพร้าด้วยหัวเข่า หัวเข่ามันก็หักเองก่อนที่ด้ามพร้ามันจะหัก อย่างนี้มันก็บ้า ซึ่งเราไม่มีวิธีหรือหลัก การที่จะกระทำกับจิตอย่างนั้น ถ้าทำอย่างนั้นมันก็เป็นบ้าหมด มันไม่ไปตามร่องรอยหรือครรลองที่เราต้องการจะให้ไป
ทีนี้อุปสรรคที่ถัดไปอีกก็อยากจะระบุไปยัง การพ่ายแพ้ต่อสิ่งแวดล้อม ไอ้คำว่าสิ่งแวดล้อมนี่มีความ หมายมากเหลือเกิน คุณไปศึกษาเพิ่มเติมกันไอ้สิ่งแวดล้อม มันเป็นอะไรก็ได้ มันเป็นไปได้ทุกอย่างตามธรรมชาติก็มี ที่มนุษย์จัดขึ้นก็มี ถึงอย่างไรเราก็เกิดมาในการแวดล้อมของธรรมชาติ เราจึงเหมือนกับว่าถูกธรรมชาติปรุงขึ้นมา ตกแต่ง ตกแต่งเรื่อยๆ ตามธรรมชาติ มันจึงมีส่วนที่เป็นไปตามธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางวัตถุ ทางร่างกายนี่ที่เขาอธิบายที่คนเรามีรูปร่างต่างกัน เช่น คนไทยเหลือง ฝรั่งขาว แขกดำ รูปร่างอย่างนั้นอย่างนี้ มีอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะธรรมชาติมันแวดล้อม ธรรมชาติชนิดหนึ่งก็แวดล้อมไปอย่างหนึ่ง ธรรมชาติชนิดหนึ่งก็มันแวดล้อมไปอย่างหนึ่ง ร่างกายมันก็ไม่เหมือนกัน สีผิวก็ไม่เหมือนกัน ความอดกลั้นอดทนก็ไม่เหมือนกัน อะไรๆ ก็ไม่เหมือนกัน โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่เหมือนกัน ไอ้ธรรมชาตินี่มันแวดล้อมไปอย่างไม่มีหลักเกณฑ์ของธรรมะ ไม่มีหลักเกณฑ์ของธรรมะว่าจะไปนิพพาน ธรรมชาติก็แวดล้อมไปตามธรรมชาติตามกฎของธรรมชาติ ก็ให้ผลออกมาต่างๆ กัน เช่น เกิดคนหลายๆ ชนิดกัน พูดกันไม่ได้รู้เรื่อง วัฒนธรรมต่าง กันคบกันไม่ค่อยจะได้ ถ้าว่าไอ้ธรรมชาติชนิดไหนมันอบรมไปในทางที่เหมาะ สำหรับมาศึกษาธรรมะนั้น ก็เป็นบุญ เป็นกุศล มันจะเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า ธรรมชาติสร้างทางร่างกาย ทางวัตถุก่อน แล้วก็เนื่องเข้าไปถึงทางจิตใจทีหลัง เช่น ชนบางชาติมันเห็นแก่ตัวจัด ชนบางชาติไม่สู้จะเห็นแก่ตัว คนบางชาติกล้าหาญเข้ม แข็ง คนบางชาติอ่อนแอ ขี้แพ้ ล้วนแต่แวดล้อมโดยธรรมชาติ ผมคิดว่าไอ้เมืองไทยเรานี่มีธรรมชาติที่ดี ที่พอดี ที่พอจะให้ฉลาดตามธรรมชาติได้ง่าย ไม่ลำบากเกินไป ไม่สบายเกินไป เอาละนี่เป็นเพียงชี้ให้เห็นว่าบางทีสิ่ง แวดล้อมตามธรรมชาตินั่นนะ มันเป็นในทางที่ไม่ส่งเสริมให้ขึ้นไปเหนือโลก มันส่งเสริมแต่การที่จะดึงเอาไว้กับโลก ผูกพันไว้กับโลก หลงใหลอยู่ในความสวยความงาม ความเอร็ดอร่อยของโลก ในโลก
เอ้า, ทีนี้ก็ดูไอ้สิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย ที่มนุษย์สร้างขึ้นแวดล้อมตัวเอง คือการเจริญสมัยใหม่ การเจริญอย่างสมัยใหม่ วัตถุนิยมสมัยใหม่ ผมเรียกว่า วัตถุนิยม ผมเรียกเอาเอง แล้วมันก็ไม่ค่อยเหมือนกับที่เขาเรียกกันอยู่ บางคนเขาก็ล้อ วัตถุนิยมเขาไม่ได้หมายถึงว่าติดอร่อยในวัตถุ แต่เราเอาคำว่า วัตถุนิยม มาใช้ในความหลง ในความเอร็ดอร่อยในวัตถุ นิยมในวัตถุ ก็คือ นิยมความอร่อยในวัตถุ ไอ้คำว่าวัตถุนิยมในตำราเรียนเรื่องปรัชญาก็หมายถึง เอาวัตถุเป็นหลักเกณฑ์ นิยมยึดเอาวัตถุเป็นหลักเกณฑ์ จะพูดอะไรพูดไปตามหลักฐานทางวัตถุ ไม่เฉพาะเรื่องกามารมย์ อะไรก็เป็นไปเรื่องวัตถุเอาเพราะวัตถุเป็นหลัก เช่นว่ามีธาตุ มีปรมาณู มีธาตุ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันเป็นร่างกาย ในจิตใจนี่อาศัยร่างกายเป็นไปตามอำนาจของร่างกาย อย่างนี้เรียกว่าร่างกายเป็นหลัก เอาวัตถุเป็นหลัก สุดเหวี่ยงมีเหตุผลพอเรียกว่า วิภาควัตถุนิยม (นาทีที่ 41:36) นี่เอาวัตถุเป็นหลักอย่างเดียว เขาเรียกว่าวัตถุนิยม ถ้าจะพูดถึงอันนี้เอาเป็นศัตรูก็คือความโง่ ความเข้าใจผิดนิดนึง เอาวัตถุเป็นหลักให้บังคับอยู่เหนือจิต แต่ทางพุทธศาสนาเราก็ไม่ได้แยกวัตถุจากจิต และก็ไม่ได้ถือว่าอะไรๆมันจะสำเร็จได้ด้วยจิต คือว่าไอ้วัตถุกับจิตนี่ต้องไปด้วยกัน ควรรู้ไว้ด้วยเผื่อว่าจะต้องพูดอย่าพูดให้ผิดๆ เพราะพุทธศาสนานี่ไม่ใช่วัตถุนิยมและไม่ใช่จิตนิยม มันนิยมทั้ง ๒ อย่างที่สัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง ที่นี่ผมพูดตามแบบของผมเอง วัตถุนิยมลุ่มหลงในรสอร่อยของวัตถุ มันเห็นได้ง่ายๆ เดี๋ยวนี้เขาผลิตวัตถุเพื่อความสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางผิวหนัง ทางจิตใจเต็มไปหมด ที่ทำให้ประเทศไทยขาดดุลการค้าปีนึงไม่รู้กี่หมื่นล้าน วัตถุชนิดนี้ก็ยิ่งมากขึ้น มากขึ้น ไม่มีทางที่จะลดลง ทางตาก็มากขึ้น เพราะว่าไอ้โทรทัศน์สีเดี๋ยวนี้วิเศษเหลือเกินผมไม่เคยเห็น ทางหู เครื่องเสียงเครื่องอะไรมันแพงเหลือประมาณ ทางกลิ่น ทางจมูก ทางลิ้น อาหาร รสอาหารมื้อละพัน มื้อละหมื่นก็ว่ามี นี่วัตถุนิยมมันเป็นอย่างนี้ ทางผิวหนัง ทางกามารมย์ ถ้าจะพูดถึงกามารมย์ทางจิตใจก็มีได้ แต่ว่าธรรมดาเขาไม่พูดถึงจิตใจ เขาเอากามารมย์เพียง ๕ กามคุณเพียง ๕ แต่ดูในบาลีแล้วก็มีพระพุทธเจ้าพูดถึงจิตใจด้วยเหมือนกัน มันก็ได้แต่ไอ้ทฤษฏีความคิด ความนึก ที่ทำให้คนหลงใหล อร่อยในการเรียนปรัชญา อันนั้นไม่ใช่วัตถุ เดี๋ยวนี้เราระบุเฉพาะวัตถุที่เป็นอุปสรรค โดยการแวดล้อมเราให้หลงใหลอยู่ในรสของวัตถุ ไม่อยากไปนิพพาน
ไอ้ที่อยากไปนิพพานนั้นมันเข้าใจผิดว่า นิพพานมีความสุขอย่างยิ่งนี่ เข้าใจว่านิพพานมีความสุขอย่างวัตถุที่เขาพอใจอยู่แล้ว นี่จะมาบอกว่านิพพานคือความสุขสูงสุดกว่านั้นอีก คนไม่ก็เลยชอบนิพพาน เข้าใจผิด ไม่ใช่ไปเข้าใจว่าไอ้สุขจากนิพพานนั้น คือการสุขจากการสลัดทิ้งจากสิ่งเหล่านี้ ไม่เป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ ผมเคยถามคนชาวบ้าน ผู้หญิงคนนั้นเขาชอบรำวงและกินเหล้าด้วย ผมถามว่าอยากไปนิพพานไม่ใช่เหรอ อยากไปอย่างยิ่ง พอบอกไม่มีรำวงไม่มีเหล้านี่ขอไม่ไป ขอไม่ไป ทีแรกว่าจะไปนิพพานตามๆ เขาไป พอรู้ว่าไม่มีรำวงไม่มีกินเหล้าขอไม่ไปเลย นี่แสดงว่าไอ้เราตีความหมายของคำว่าความสุขไม่เหมือนกัน ไอ้วัตถุนิยมให้ความเอร็ดอร่อยตามแบบของวัตถุ ส่งเสริมความรู้สึกของอายตนะ หล่อเลี้ยงกิเลสแล้วก็เป็นทาสของอายตนะ จิตใจมันก็อยู่ในท่ามกลางการขับกล่อมของอายตนะของกิเลส มันก็ไม่อยากจะเลื่อนไปจากนี้ มันอยากจะอยู่ที่นี่ นี่ความที่มันอยากจะอยู่ในสภาพอย่างนี้ ถ้าได้อยู่กับเรื่องอบายมุขหรือกามารมย์ ที่เราเรียกว่าสิ่งแวดล้อมที่เป็นอุปสรรค เป็นอุปสรรคตามธรรมชาติล้วนๆ ก็มี เป็นอุปสรรคเพราะมนุษย์ผลิตมันขึ้น สร้างมันขึ้น เมื่อก่อนนี้มันมีที่ไหนล่ะคิดดู สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันมีที่ไหน ไม่เคยมีเครื่องวิทยุ ตู้เย็น โทรทัศน์ กล้องถ่ายรูปมันก็ไม่เคยมี มนุษย์ก็ทำขึ้น มนุษย์ก็มีเรือบิน มียานอวกาศ มีอะไรก็ทำขึ้น ล้วนแต่เพิ่มปัญหาทั้งนั้น ความก้าวหน้า สติ ปัญญาอย่างนี้มันไม่เพื่อการดับทุกข์ มันเพื่อเป็นอุปสรรคแก่การดับทุกข์ ต้องการให้หลงอยู่ที่นี่ แม้ว่าผู้สร้างมันก็ไม่ได้เจตนาอย่างนี้ มันเจตนาอย่างอื่น แต่ผลมันเป็นอย่างนี้ ผลมันทำให้มนุษย์ติดอยู่ที่นี่ ไอ้เรื่องที่ก้าว หน้าเกิน เกินจำเป็นนี่ล้วนแต่ไม่มีประโยชน์ ล้วนแต่เป็นโทษ ล้วนแต่ทำให้มนุษย์ถูกกักขังอยู่ในกองทุกข์ ไปดูเอาเอง ยังมีอุปกรณ์ความสุขสมัยใหม่อันไหนบ้าง ที่มันจะส่งเสริมคนให้ดับทุกข์ มันก็ไม่มี ก็ควรจะคิดดูต่อ ไปอีกนิดว่า ไอ้สิ่งเหล่านี้ที่มนุษย์ทำขึ้นนี่ มันควรจะเรียกว่าความเจริญหรือความวินาศ แต่เขาเรียกกันว่าความเจริญ เขาเรียกกันว่าอารยธรรม ที่มันก้าวหน้าอย่างนี้เรื่อยไปเขาเรียกกันว่าความเจริญ หรืออารยธรรม แต่เรามามองดูแล้วมันเป็นเรื่องฉิบหาย เรื่องวินาศกรรม วินาศธรรมมากกว่า ที่โลกมันไม่มีความสงบสุขยิ่งขึ้น ก็เพราะสิ่งเหล่านี้แหละ เพราะมนุษย์แสวงหาปัจจัยอย่างนี้ ปัจจัยเพื่อความเป็นอย่างนี้ แล้วก็มีความทุกข์เพราะแสวงหา แล้วก็ยังมีความทุกข์เพราะแย่งชิงกัน เพราะแข่งขันกัน เพราะอยากจะเป็นจ้าวโลก เพื่อจะเอาของเหล่านี้ไว้เป็นของเราคนเดียว ไอ้พวกอื่นมันก็ไม่ยอม ผู้ที่อยากจะเป็นจ้าวโลกด้วยกันก็ต้องได้เข่นฆ่ากัน ก็จึงเห็นว่าไม่ใช่ความเจริญ มันเป็นความวินาศมากกว่า แต่เราก็นิยมกันว่าความเจริญ เดี๋ยวนี้มันยังเป็นเครื่องกักขังมนุษย์ไม่ให้ออกไปจากความทุกข์ ให้ลุ่มหลงอยู่ในที่นี้มากขึ้น คือขังไว้ในคอกของปุถุชนนี่มากขึ้น ไม่ให้ออก ไปจากคอกเหล่านี้ได้
มาถึงตอนนี้ก็อยากจะพูดถึงคำอีกคำหนึ่งคือคำว่า ครู คำว่าครูนี่ เอ่อ, ตามภาษาที่แท้จริงที่เขายุติกันในครั้งหลังๆ นี่ คำว่าครู แปลว่า เปิดประตู ก่อนนี้ครูแปลว่าหนัก มีบุญคุณอันหนัก มีอะไรอันหนัก ก็กลายเป็นอีกคำ ไอ้ที่ว่า ครู แท้จริงนี่คือเปิดประตู เปิดประตูของอะไร เอ้า, ก็เปิดประตูของความโง่ ความหลง ไอ้สัตว์ที่มันเกิดมาตามธรรมชาติ มันก็อยู่ในคอกของความหลงของอวิชชา กิเลสตัณหาของตัวเองเหมือนที่พูดมาแล้วเมื่อกี้ มันก็อยู่ในคอกนั้น ในคอกของกิเลส อบกันอยู่กับไอ้ความทุกข์ ยิ่งเจริญก้าวหน้าอย่างเดี๋ยวนี้ด้วย ก็ยิ่งมีคอกขังจิตใจของสัตว์ยิ่งไปกว่าเดิม ทนทรมานมาก มืดมนมาก เดือดร้อนมาก เป็นทุกข์มาก อยู่ในคอกที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง ดังนั้นต้องพูดได้ว่ามนุษย์ยิ่งสร้างคอกขังตัวเองให้อยู่ในโลกนี้หนักขึ้น หนักขึ้น คือแน่นหนาขึ้น เป็นคอกที่ทนทรมานมากกว่าแต่ก่อน แล้วใครจะมาเปิดประตูให้มันออกไปจากคอกนี้ เมื่อเราเปิดประ ตูคอกให้สัตว์ออกนะ เราจะเห็นสัตว์แต่ละตัวมันดีใจวิ่งออกไปนอกประตู เป็นสุขร่าเริงกันอย่างยิ่ง จะเป็นเป็ด เป็นไก่ เป็นหมู เป็นวัว เป็นควาย พอเจ้าของเปิดประตูคอกแล้ว ออกไปข้างหน้าสนุกกันใหญ่ เพราะมันก็ไม่ชอบคอกเหมือนกัน แต่นี่มันไม่รู้นี่ว่าเป็นคอก มนุษย์ไม่รู้ว่าเป็นคอก ไม่อยากจะออกไปจากคอก สัตว์บางชนิดไม่อยากออกไปจากคอก และก็ไม่มีใครมาเปิดประตูด้วย นี่มันลำบากอย่างนี้ มนุษย์เดี๋ยวนี้มันก็อยากจะอยู่ในคอกจนไม่อยาก ไม่มีใครจะเปิดให้ เปิดประตูให้มันออกได้ เพราะมันไม่ยอมออก พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้มาเปิดให้ แล้วผมเชื่อเหลือเกินว่า แม้พระพุทธเจ้าจะมาเปิดให้มัน ก็ไม่ยอมออกหรอกมนุษย์สมัยนี้ การที่พระพุทธเจ้าจะมาจูงคนสมัยนี้ไปนิพพาน มันเหลือประมาณ เหลือกำลังเหมือนกัน ไม่เหมือนสมัยก่อน ครูไหนจะมาเปิดประตูให้มนุษย์สมัยนี้ออกจากคอก ดูไม่ค่อยมีหวัง จึงยกเอามาว่า เป็นอุปสรรคอันหนึ่งแห่งการที่จะก้าวขึ้นเหนือโลก เหนือความเป็นปุถุชน นี่สิ่งแวดล้อมที่มันเป็นอุปสรรคแก่จิตใจของมนุษย์ ที่จะหลุดพ้นออกไปจากความทุกข์ โลกอันเป็นทุกข์ หรือว่าออกไปจากไอ้ความโง่ของตัวเอง ออกไปจากสิ่งซึ่งตัวเองสร้างขึ้นเพื่อขังตัวเอง เพื่อหลอกล่อตัวเองให้ติดอยู่ในสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเอง มันเหมือนกับขุดหลุมฝังตัวเอง ขุดบ่อล่อตัวเองแล้วก็อยู่กันในนั้น นี่ก็เป็นอุปสรรคอันหนึ่งนะดูให้ดี ถ้าเรามองเห็นเราคงจะช่วยตัวเองได้
เอ้า, ทีนี้ก็อยากจะพูดไปถึงข้ออื่นอีก เรียกว่า การที่ไม่มองอะไรในแง่ลึก นิสัยแห่งการที่ไม่มองอะไรในแง่ลึก คือไม่มองอะไรในแง่ลึกจนกลายเป็นนิสัย ไอ้คนพวกนี้เขาไม่มองอะไรในแง่ลึก เขามองผิวๆ ไปหมด คือแค่วัตถุ นานเข้าก็เป็นนิสัย หยาบ หวัด ไม่ประณีต ไม่ละเอียด ก็เลยไม่มองอะไรในแง่ลึก หรือไม่สามารถจะมองอะไรในแง่ลึก นี่อุปสรรคของการที่เราก้าวขึ้นเหนือความเป็นปุถุชนมาได้ เรามองอะไรตามสบาย กลับเห็นว่าที่ไปมองอะไรให้ลึกนี่เป็นของลำบากเปล่าๆ ยุ่งยากเปล่าๆ เหน็ดเหนื่อยเปล่าๆ ปล่อยเลยตามสบาย เอ่อ, เมื่อวันก่อนผมเล่าเรื่องจันทโครพกินขี้ใช่ไหม ไปดูยี่เกแสดงตอนจันทโครพกินขี้ นางในผอบนั่นมันเกี่ยงให้จันทโครพทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ ไม่งั้นมันไม่รัก อันสุดท้ายนี่มันเกี่ยงให้กินขี้ เด็กก็ฮากันทั้งโรง กระทั่งผู้ใหญ่ด้วย สังเกตดู โอ้, มันไม่มีใครที่มองว่านี่มันเป็นอำนาจของกิเลส มันมองกันแต่ผิวๆ ว่าจันทโครพกินขี้ เป็นของแปลกสำหรับเด็กๆ พูดกันเรื่อยตลอดทางเดินกลับบ้าน นิสัยที่ไม่ได้มองอะไรในแง่ลึก ถ้าเขามองในแง่ลึกก็จะมองลงไปถึงว่า แหมไอ้นี่มันเป็นไปได้ถึงเพียงนี้ ความรัก ความหลง กิเลส ที่ทำให้คนนี้ยอมกินขี้ได้ ถ้าเราไม่ชอบสนใจอะไรในแง่ลึกมันเป็นนิสัยแล้ว มันก็ยากที่จะมองอะไรในแง่ลึก ฉะนั้นทางวัตถุนี่ลองมองในแง่ลึก มันก็จะได้เห็นอะไรมาก ต้นไม้ก็ดี สัตว์เดรัจฉานก็ดี อะไรก็ดี ขอให้มองในแง่ลึก ถ้ามองในแง่ลึกแล้ว ก็จะรู้สึกว่าเรามีอะไรหลายๆ อย่างที่น่าละอายแมว น่าละอายหมา คือแมวหรือหมามีความทุกข์น้อย เรามีความทุกข์มากเกินไป หมาไม่ต้องกินยานอนหลับ ไม่ต้องกินยาแก้ปวดหัว ไอ้คนบางคนต้องกินยานอนหลับ ต้องกินยาแก้ปวดหัว ไอ้อย่างนั้นก็ยังนอนไม่ค่อยหลับ นี่มันน่าละอายแมว น่าละอายหมา มองสัตว์หลายๆ ชนิดก็เห็นว่า โอ้, นี่มันไม่มีความทุกข์ มันก็ทำเท่าที่จำเป็นจะต้องทำ ที่เกินจำเป็นมันไม่ทำสิ
ดังนั้นเรื่องที่ทำเกินจำเป็นมันจึงไม่มีแก่สัตว์เดรัจฉาน มันจึงไม่ต้องเป็นทุกข์ มันก็เป็นครูสอนให้เรารู้เรื่องอย่างนี้ เช่น ไก่นี่มันก็ไปหากิน การทำงาน การหากินนั่นคือการปฏิบัติหน้าที่ตามธรรมชาติ มันเป็นการปฏิบัติธรรมเสียมากกว่า จำเป็นต้องทำแล้วมันก็ทำ พอกินอิ่มแล้วจวนๆ เที่ยง มันก็ขึ้นนอน นอนบนกิ่งไม้ บางทีขึ้นนอนบนต้นไม้ หรือว่านอน กก... (นาทีที่ 58:11) ก็สุดแท้ กว่ามันจะหิวอีกมันจึงไปหากินอีก มันก็เย็นมันก็นอน มันไม่ได้ทำอะไรที่เกินจำเป็น มันก็ไม่ต้องมีความทุกข์ มันคิดไม่ได้เพราะสมองมันแคบ มันคิดไม่ได้ มันก็เลยไม่ต้องคิด มันก็เลยไม่เป็นทุกข์ ไอ้เราที่ทำไม่ได้เราก็คิด คิด คิดเป็นทุกข์ และยึดถือมากออก ไป ยึดถือมากออกไป ไก่มันไม่ได้ยึดถือเหมือนกับที่มนุษย์ยึดถือ ไก่มันจึงมีความทุกข์น้อย ดูละกันน่าละอายแก่มัน นี่พูดกันในแง่นี้ แต่ว่าถ้าพูดถึงแง่อื่นว่า ถ้ามนุษย์รู้จักแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ แล้วก็ไม่เป็นทุกข์ด้วย แล้วก็ทำประโยชน์ต่างๆ ให้แก่โลก ให้แก่มนุษย์อย่างยิ่งด้วย อย่างนี้ไอ้คนมันก็ดีกว่าไก่มากมายหลายร้อยเท่า แต่ถ้าดูกันในแง่ที่ว่าเดี๋ยวนี้มันมีความกระทำผิดทางจิตใจ จนคนมีความทุกข์มากกว่าสัตว์เดรัจฉาน ต้องติดยานอนหลับ ติดยาแก้ปวดหัวและยาแก้โรคอื่นๆ ที่เนื่องมาจากเหตุอันนี้อีกมากมาย ผมเชื่อเอาเองว่าแม้แต่โรคร้ายๆ เช่น โรคมะเร็ง วัณโรค โรคหัวใจ อะไรก็ตาม มันเกิดมาแต่การที่จิตใจมันขาดธรรมะนั้น มีกิเลส มีวิตกกังวลมาก แม้ที่สุดแต่โรคเล็กๆ เช่น โรคความดันสูง ไม่ค่อยเป็นแก่คนสมัยโบราณ เขาไม่มีเรื่องทรมานจิตใจ คนสมัยนี้มันมีเรื่องที่เหมือนกับหนักอึ้งอยู่บนจิตใจตลอดเวลา ก็มีโรคเยอะแยะเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ นี่น่าละอายสัตว์เดรัจฉานว่าอย่างนั้น นี่เราดูในแง่ลึกก็จะศึกษาอะไรได้จากธรรมชาติ ไอ้เรียนจากธรรมชาติ ธรรมชาติสอนนี่ดีกว่าคนด้วยกันสอน มันละเอียด มันประณีต คุณลองเอาไปสังเกตดู ผมว่าธรรมชาติสอนไปดีกว่าคนด้วยกันสอน ถ้าสอนได้หมายความว่ามันเป็นคนที่มีความละเอียดลออ ในการที่จะเห็นธรรมชาติลึกซึ้ง หรือถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งก็ว่า ไอ้การที่ไปทำเข้าจริงๆ ก็คือธรรมชาติสอน เช่น ที่ผมอธิบายให้ฟังนี่เรียกว่าคนสอน และคุณไปปฏิบัติต่อสู้กับกิเลส รบกับกิเลส ชนะกับกิเลสนั้นคือธรรมชาติสอน แต่ถ้าไม่ว่าสามารถที่จะดำรงจิตใจให้ละเอียด ประณีต สุขุม ลึกซึ้งแล้วมันทำไม่ได้ มันสอนไม่ได้ แต่ถ้าทำได้นี่ธรรมชาติสอนดีกว่าคนด้วยกันสอน ให้กิเลสมันสอนยิ่งดี ความทุกข์มันสอนยิ่งดี มันเป็นธรรมชาติสอนและรู้จริง เอาชนะก็เอา ชนะได้จริง นี่เรามันไม่ได้เป็นคนหัดมองอะไรในแง่ลึก แต่คงจะมีคนบางชาติบางพวก เค้าจะสอนเด็กๆ ให้รู้จักสังเกตสังกาอะไรมาตั้งแต่เด็กๆ ให้เด็กๆ รู้จักสังเกตและมองอะไรในแง่ลึก ไอ้การศึกษายุคหนึ่ง แบบหนึ่ง รุ่นหนึ่ง คราวหนึ่งก็ดูเหมือนจะมุ่งหมายอย่างนี้ ให้เด็กสังเกตอะไรในแง่ลึก อย่างนี้ดี การศึกษาแบบนี้ดี ดีกว่าการศึกษาแบบที่ให้ตามใจตัว ไม่ต้องบังคับตัว ดังนัันเราพยายามจะให้เด็กๆ ลูกหลาน ที่มันอยู่ในการควบคุมดู แลของเรา อบรมสั่งสอนเขาให้มองอะไรในแง่ลึก แม้เป็นคนโตๆ แล้ว เป็นพระเป็นเณรแล้วก็อยากจะแนะนำให้มองอะไรในแง่ลึก จะรู้จักความทุกข์ จะรู้จักกิเลส จะรู้จักชีวิต จะรู้จักอะไรได้ดีกว่า ตั้งปณิธานที่จะมองอะไรในแง่ลึก มีหวังจะเข้าใจธรรมะได้ง่าย หรือว่าเห็นพระนิพพานได้โดยง่าย ถ้าเราเกิดในสกุลหรือครอบ ครัวที่ไม่มีการศึกษา ทำอะไรหวัดๆ หยาบๆ ไม่สังเกต ละเอียดลออ ก็นับว่ามีบุญน้อย มีบุญน้อย เด็กคนนั้นมีบุญน้อย ถ้าเด็กคนนั้นมันเกิดในสกุลที่บิดามารดาจู้จี้ พิถีพิถัน ไม่ยอมให้ทำอะไรหวัดๆ ทำอะไรลึกๆ นี่ก็จะมีประโยชน์ มันรวมไปถึงไอ้ประณีต สะอาด เรียบร้อย อะไรด้วย จงมองอะไรลึกๆ
เอ้า, ข้อสุดท้ายเชื่อว่าจะเป็นอุปสรรค ก็อยากระบุไปยัง การปล่อยให้นิวรณ์เป็นเจ้าเรือน ใช้คำอย่างนี้ดีกว่า นิวรณ์ ๕ รู้กันอยู่แล้วไม่ต้องอธิบายว่าคืออะไร กามฉันทะ พยาปาทะ ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา คือกิเลสที่แสดงอาการแต่น้อยๆ แต่ว่ารบกวนอยู่เป็นประจำ แม้ไม่มีวัตถุปัจจัย เหตุการณ์อะไรมันก็เกิดได้ มันก็รบกวนอยู่เป็นประจำ นี่คอยไปสังเกตดูให้ดี ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยนะ ที่จิตใจของเราไม่เกลี้ยง ไม่หยุด ไม่เย็น ไม่แจ่มใส ไม่สว่างไสว ก็เพราะมันมีไอ้นิวรณ์นี่ ถ้าวันไหน เวลาไหน ที่ไหนเรามีจิตใจเกลี้ยง เย็น หยุด แจ่มใส สว่างไสว โปร่ง เวลานั้นไม่มี ไม่มีนิวรณ์ จริงๆ เราก็ชอบที่จะเป็นอย่างนี้ แต่แล้วมันก็ไม่ค่อยได้เป็นอย่างนั้น มันก็มีอะไรมากวนใจ เรียกว่ามาครองจิตใจอยู่ ความรู้สึกที่เป็นไปในทางกามารมย์บ้าง ความรู้สึกที่เป็นในทางเกลียดชัง คับแค้น กระฟัดกระเฟียด กระทบกระทั่ง แล้วการที่มันระเหี่ย อ่อนเพลีย ไม่สนุกในการที่จะเคลื่อนไหว แม้จะสุดแต่ว่ามันกินอาหารมาก หรือมันชอบนอน มันเป็นนิวรณ์อันนี้ ไอ้ที่หนึ่งมันก็ฟุ้งซ่าน มันมีนิสัยขยาย ต่อเติม ไม่มีเรื่องก็คิดให้มีเรื่อง เรื่องเล็กๆ ก็คิดให้มันเป็นเรื่องใหญ่ มันฟุ้งซ่าน ไม่หยุด จะหลับมันก็ไม่ยอมหลับ ก็เป็นนิวรณ์ อันสุดท้ายวิธี ก็คือความที่จิตไม่แน่ ไม่หยุด ไม่แน่ นอนลงไปว่าจะเอาอย่างไร จิตระแวงหรือลังเลอยู่เรื่อย นี่ก็เรียกว่านิวรณ์ คือเราจะไม่รู้สึกว่าเราปลอดภัย ทั้งโดยร่างกายและโดยจิตใจ เราจะไม่รู้สึกว่าเราปลอดภัย มีระแวงอยู่เรื่อย ระแวงตั้งแต่การศึกษานี่ก็ถูกหรือผิดก็ไม่รู้ การปฏิบัตินี้จะสำเร็จผลหรือไม่ก็ไม่รู้ ที่ได้ที่มีอยู่แล้วนี่มันจะดีอย่างมีประโยชน์หรือไม่ หรือมันจะหาย ไปเสีย กระทั่งระแวงสงสัยในธรรมะ ในธรรมะ ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ด้วยนี่มันจะจริงอย่างว่าเหรอ มันไม่แน่ใจ มันตั้ง ๕ อย่าง แล้วมันคนละทิศทางไม่ได้ซ้ำกันเลย นี่ว่าใครมันชอบปล่อยให้นิวรณ์เป็นของเกิดได้ตามสบายเหมือนกับว่าครองจิตใจ นิวรณ์เป็นเจ้าเรือนครองจิตใจ อย่างนี้จะหมดเลย จะหมด หมดโอกาส เพราะว่ามีนิวรณ์เมื่อไร ก็คืออวิชชาครองจิตใจเมื่อนั้น มีนิวรณ์เมื่อไรอวิชชาจะอยู่ในจิตใจเมื่อนั้นเกิดขึ้นในจิตใจเมื่อนั้น เพราะนิวรณ์ทั้ง ๕ เป็นปัจจัย เป็นอาหารของอวิชชา ก็ดูพอเรางัวเงีย คิดอะไรไม่ได้ ฟังอะไรไม่รู้เรื่อง เพียงแต่งัวเงีย ง่วงนอน ไม่แจ่มใส มันก็หมด อวิชชาครอบงำเต็มที่ ไม่ใช่แต่นิวรณ์อย่างเดียวครอบงำ อวิชชาจะเข้ามาครอบงำด้วย เพราะว่านิวรณ์เป็นรากฐานของอวิชชา เมื่อจิตมันครุ่นแต่ในกามารมย์ทางเพศนี่ ก็เป็นโอกาสของอวิชชา ที่จะมาครอบงำจิตใจทำผิด คิดผิด พูดผิด อะไรผิด เมื่อโกรธ เมื่อเกลียดใครอยู่ หงุดหงิดอยู่ มันก็เป็นเหตุอวิชชาครอบงำจิตใจ คิดผิด ทำผิด พูดผิด ความฟุ้งซ่านก็เหมือน กัน ความลังเลก็เหมือนกัน ถ้ามันครอบงำจิตใจอยู่ ก็เป็นโอกาสที่อวิชชาจะมาสิงสถิตย์อยู่ในใจนั้น ทีนี้มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องก็ผิดหมด ผิดไปตามแบบของอวิชชา ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นได้รส กายได้ผิว หนังสัมผัส ก็ผิดไปหมด ผิดไปตามอวิชชา เพราะอวิชชามันคอยอยู่แล้ว มันรออยู่แล้ว
จึงใช้คำพูดสั้นๆ ว่า อย่าปล่อยให้นิวรณ์เป็นเจ้าเรือน คือในจิตของเรามันคุ้นเคยอยู่กับนิวรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๕ อย่างนั้น เกลียดให้อย่างยิ่งนะ ผลักออกไปให้เป็นจิตใจที่แจ่มใส ผ่องใส โปร่งใจอยู่เสมอก็แล้วกัน นี่เป็นหนทางที่จะยกจิตให้สูงขึ้น สูงขึ้น ในทางธรรมที่เรียกว่าขึ้นจากภาวะปุถุชน อย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กนะ พูดกันง่ายๆ ว่าเมื่อนิวรณ์ครอบงำจิตแล้วอย่าเห็นเป็นเรื่องเล็ก เห็นว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ คือมันเปิดประตูให้แก่อวิชชา นิวรณ์เหล่านี้เพราะมันเข้ามาป้วนเปี้ยนอยู่ในจิต มันก็คือผู้เปิดประตูให้อวิชชา อวิชชาเข้ามาครองจิตแล้ว มันก็เรียกว่าเสียหายถึงที่สุดเลย จะผิดไปหมดเลย นี่เรามักจะเห็นเป็นเรื่องเล็กนะ คนส่วนมากจะเห็นว่าไอ้เรื่องนิวรณ์คิดเล็กๆ น้อยๆ มันเป็นเรื่องเล็ก ไม่กลัว เพราะก็ไม่รู้ว่านั่นน่ะเป็นการชักชวนอวิชชามา หรือเปิดประตูให้อวิชชาธาตุ อวิชชานี่เป็นธาตุชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในทั่วทุกหนทุกแห่ง เหมือนกับบรรยากาศ พอเปิดประตูให้ก็แสงสว่างมันก็เข้าไป เหมือนกับเราเปิดหน้าต่างแสงสว่างก็เข้ามาอย่างนั้นน่ะ เมื่อเรามีนิวรณ์ในจิตนั่นก็คือเปิดประตูให้อวิชชาเข้ามา อย่าเห็นว่านิวรณ์นี้เป็นเรื่องเล็ก มันเป็นเรื่องเล็กที่ทำให้เกิดเรื่องใหญ่ แล้วก็ฉิบหายกันหมด ทีนี้คนบางคนมันก็สบายดีโว๊ย นอนครุ่นคิดอยู่กับกามารมย์หรือว่าพยาบาทใคร หรือสบายดี อย่างนี้วินาศหมดเลย เห็นเป็นเรื่องสบายดีไปเสียอีก ไม่ใช่เรื่องเสียหาย
ทีนี้ก็อย่าเห็นว่าไอ้เรื่องของธรรมะ เรื่องชีวิตนี้มันเป็นเรื่องตื้นๆ สามารถที่จะรู้ได้ ถ้าใจได้จัดการได้ด้วยจิตที่มันงัวเงีย มีนิวรณ์ จิตที่งัวเงียมีนิวรณ์นั่นคือมันไม่เต็มมาตรฐานของจิต คนมักจะใช้จิตชนิดนั้นคิดอะไร ตัดสินปัญหาอะไร ทำไปตามจิตชนิดนั้นมันก็ผิดหมด เรื่องของชีวิตมันไม่ใช่เรื่องตื้นๆ ที่จะคิดเห็นได้ด้วยจิตที่มีนิวรณ์ มันต้องการจิตที่สะอาด เกลี้ยงเกลา แจ่มใส ว่องไว ลึกซึ้ง ปราศจากนิวรณ์ เดี๋ยวนี้เรามักจะเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย เรามีสายตาอันสั้น เห็นธรรมะเป็นเรื่องตื้น นี่คือความวินาศ ที่มันจะไม่ถอนตัวกันมาได้จากความจมปรักอยู่ในกองทุกข์อย่างปุถุชน เป็นอันว่าไปทบทวนให้ดี มันมีสิ่งปิดบังตามธรรมชาติ การศึกษาไม่ถูกต้อง ไม่เพียงพอ การบังคับตัวเองไม่ได้ พ่ายแพ้แก่สิ่งแวดล้อมทุกประเภท แล้วไม่มีนิสัยที่มองอะไรในแง่ลึกๆ แล้วปล่อยให้นิวรณ์เป็นเจ้าเรือนสบายดี และมีสายตาสั้น เห็นชีวิตเป็นเรื่องตื้น ทำอะไรง่ายๆ เข้าใจว่าง่ายๆ ไปหมด นี่ขจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปแล้ว เราก็หมดอุปสรรคที่กักขังเราไม่ให้ก้าวหน้าขึ้นไปเหนือโลก คนจมโลกเป็นปุถุชน สรุปแล้วก็คือความเป็นปุถุชนนั่นแหละเป็นอุปสรรค ก็ถอนความเป็นปุถุชน อันธพาลปุถุชน อันธ ว่าตาบอด พาล แปลว่าอ่อน ปุถุชน ก็คือคนหนาด้วยกิเลส มีความอ่อน แล้วก็เป็นคนตาบอดด้วย คนหนาด้วยกิเลส อ่อนแก่ความคิดแล้วก็ตาบอดด้วย คือปุถุชน เพิกถอนไอ้สิ่งเหล่านี้ไปเสียก็จะหมดอุปสรรคที่กีดขวางการก้าวขึ้น ไปสู่คุณธรรมเบื้องสูง ตามหลักแห่งพระพุทธ ศาสนา ถ้ายังไม่เห็นธรรมะก็ถือว่าเป็นตาบอด ถ้ายังอ่อนต่อความรู้สึกความเข้าใจนี่ก็เรียกว่าเป็นพาล พา-ละ เด็กอ่อนเพิ่งคลอดเขาก็เรียกว่า ภาระเหมือนกัน มันไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แต่ภาษาบาลีเขาเรียกว่า พา-ละ เด็กอ่อน ทารกเพิ่งเกิดหรืออะไรที่มันยังอ่อนๆ อยู่ เขาก็เรียกว่า พา-ละ ทีนี้ทำไมเรียกไอ้คนพาล คนโตๆ เรียกว่า คนพาล อันธพาล เพราะมันยังอ่อน อ่อนต่อปัญญา อ่อนต่อความจริง อ่อนต่อความรู้ เขาเรียกว่า พา-ละ อ่อนในทางจิต ในทางวิญญาณก็ได้ อ่อนในทางเนื้อหนังก็ได้ นี่เขาก็เรียกว่าพา-ละ
ก็เป็นอันว่าเราพูดถึงอุปสรรคของการที่จะก้าวขึ้นสู่คุณธรรมเบื้องสูง พอสมควรแก่เวลาแล้ว ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ... สาธุ