แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าจะพูดกับผู้จะลาสิกขาด้วยหัวข้อธรรมะที่เขาถือกันว่าไม่ใช่สำหรับฆราวาส อย่างที่ได้พูดมาแล้วห้าครั้ง ก็นี่เป็นครั้งที่หกที่จะพูดทำนองเดียวกันอีก และจะพูดในหัวข้อว่า โลกุตรจิต
โลกุตรจิต จิตที่อยู่เหนือโลก เป็นเรื่องของผู้เป็นพระอรหันต์ และก็อยู่ในวัด อยู่ในเขตของพระอรหันต์ และเดี๋ยวนี้อยากจะให้ทุกคนรู้จักสิ่งนี้ และก็โดยเฉพาะผู้ที่จะลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาส
เป็นที่เข้าใจตรงกันแล้วว่ามาบวชนี้ชั่วคราว และก็เพื่อจะรวบรวมสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ เอาไปใช้เป็นประโยชน์เมื่อสึกออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เค้าถือกันเป็นธรรมเนียมว่า ไอ้เรื่องโลกุตระนั้น “ไม่ต้อง” นี่เราเถียงหมด “ต้อง” และยังจะบอกว่าถ้าไม่มีเรื่องโลกุตระแล้วก็ไม่มีพุทธศาสนา ไม่ใช่พุทธศาสนา ถ้าไม่มีเรื่องนิพพานล่ะก็ไม่ใช่พุทธศาสนา
ในวันนี้แปลพระไตรปิฎกกันมาถึงคำว่า นิพพานโดยปริยาย นิพพานโดยปริยายและโดยอ้อม แสดงไว้ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป ปฐมฌานจนถึงหลุปัตฐาน ๔ (นาทีที่ 4:15) ถึงปัญญาเวทิตนิโรธ แปดอย่างแรกเป็นนิพพานโดยปริยาย ไอ้อย่างสุดท้ายคือสัญญาเวทิตนิโรธ เป็นนิพพานโดยนิปปริยาย ที่มันน่าสนใจก็คือว่า ปฐมฌาน ความสงบระงับในขั้นปฐมฌานก็ได้ชื่อว่านิพพานด้วยเหมือนกัน ชื่อว่าอมตะปัทจัททิ (นาทีที่ 4:46) ได้อีกด้วย
ถ้าอย่างนี้มันก็ไม่ได้สูงลิบไปจนถึงว่าฆราวาสเอื้อมไม่ถึง ผมพยายามสุดความสามารถเพื่อที่จะให้ผู้เข้ามาบวชศึกษาแล้วกลับออกไปได้มีอะไรติดไปด้วยมากที่สุด ... (นาทีที่ 5:30) และก็จะให้มีค่าที่สุดอีกด้วย ยังเป็นเรื่องหอบฟาง กลับออกไป และก็ให้ได้มากที่สุด ดีที่สุด รู้ที่สุด มีค่าที่สุด
นั้นจึงได้พูดเรื่องในระดับที่เค้าเรียกกันว่าปริมัตธรรมหรือโลกุตรธรรม ที่เค้าไม่ยอมพูดกันเลย ที่เค้าไม่ยอมแนะนำสั่งสอนพวกฆราวาสเลย พวกคุณก็ไปทบทวนดูไอ้ที่พูดมาแล้ว และนี่ก็ต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องโลกุตรจิต
แม้ว่ายังปฏิบัติไม่ได้ ก็ให้รู้ไว้อย่างเป็นเรื่องสุตะ คือศึกษาด้วยการได้ยินได้ฟัง และว่าด้วยเป็นการศึกษาชนิดที่ว่าแทนตลอดด้วยปัญญา มีปัญญาใคร่ครวญให้เห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นจริง
ในขั้นที่ ๓ ในการที่จะเสวยผลบุญด้วยธรรมกายนี่มันยังเป็นปัญหา ไอ้คนทั่วไปที่ถือกันอยู่ ยังคงยึดถือกันอยู่ พูดว่าเป็นไปไม่ได้นะที่ว่าคน ชาวบ้านธรรมดาจะชิมรสของจิตที่หลุดพ้นอยู่เหนือโลก มันเป็นไปไม่ได้ ที่เรามันเรียกว่าหัวดื้อ เรียกว่ามันได้ และมันก็จะเป็นอยู่เองแล้วด้วยตามสมควร
ถ้าจิตอยู่ใต้โลกมีลักษณะเหมือนกับโลกมันเหยียบย่ำอยู่ตลอดเวลา หากเหมือนกับควายนวดข้าวเนี่ย มันตายหมดแล้วแหละ คนมันตายหมดแล้ว มันต้องมีเวลาที่ในโลกที่เรื่องโลกๆ มันไม่เหยียบย่ำจิตใจของเราอยู่บ้างบางเวลา เรามันจึงรอดอยู่ได้ หมายความว่าถ้ากิเลสมันแผดเผาเราอยู่ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง ทุกวันๆ เราก็ตายแล้ว นี่คุณไปคิดในข้อนี้กันให้มากนะ ถ้าเข้าใจข้อนี้ได้ล่ะก็ข้ออื่นๆ มันจะง่าย
ถ้าเข้าใจคำว่าจิตว่าง อย่างที่เคยพูดมาแล้วได้ ก็จะเข้าใจจิตนี้ได้ง่าย คือมันอันเดียวกัน ชื่อว่าโลกุตรจิต จิตอยู่เหนือโลก นี่ผมก็อยากจะให้ไปค้นคว้าจับฉวยเอาด้วยตัวเอง คุณต้องฟังให้ดีคือว่าเราจะทำกับมันอย่างกับว่ามันเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องคำนวณ ไม่ใช่เรื่องศึกษา ได้ยินได้ฟังแล้วคำนวณ แล้วใช้เหตุผล ไม่ใช่
มันก็ต้องทำกันด้วยเรื่องจริง ที่ปรากฏอยู่ในใจจริงๆ ในบทบาลีที่เรียกว่าสันทิฏฐิโก ธรรมะเป็นสันทิฏฐิโก คือว่ารู้สึกอยู่ในใจจริงๆ นิพพานก็เป็นสันทิฏฐิกัง (นาทีที่ 10:22) รู้สึกอยู่ในใจจริงๆ ดังนั้นขอให้พยายามสำรวมความรู้สึก แล้วก็ดื่มรสของจิตทุกชนิดด้วยความรู้สึกแท้จริงของตนเอง แล้วก็ร่ายไปเรื่อย จิตชนิดไหน รสชาติเป็นอย่างไร จิตชนิดไหน รสชาติเป็นอย่างไร มีเวลาเมื่อไรก็นั่งสำรวจจิตพร้อมกันไปกับการค้นคว้าเนี่ย เรื่อยไปว่าจิตชนิดไหนมีรสชาติเป็นอย่างไร นี่คือตัวปัญหาจะจำได้แค่ไหน
จิตชนิดไหนมีรสชาติอย่างไร คือจิตที่เป็นจิตธรรมดา เรียกว่ามันอยู่ใต้โลกไม่ใช่อยู่เหนือโลก มีกี่ชนิดน่ะ คุณไปชิมให้มันหมดซะก่อน แล้วคุณจะรู้จักจิตที่อยู่เหนือโลกได้ไม่ยากเลย
เอาตั้งแต่ว่าธรรมดาสามัญที่สุด นิวรณ์ ๕ นั่นน่ะ ไม่รู้จะจำกันได้ทุกคนไหม เมื่อจิตประกอบอยู่ด้วยนิวรณ์ตัวที่ ๑ คือกามฉันทะ ในอดีตก็ดีหรือปัจจุบันหรือก็ดี มันก็เคย มันก็ได้มีอยู่ ถ้ายังเป็นคนธรรมดาอยู่มันก็ยังต้องมีอยู่ แล้วเราก็ไม่สนใจที่จะรู้จักมัน แต่นี่ต้องการให้รู้จักมัน ว่ามีกามฉันทะ ในบาลีมักจะเรียกว่า กามราคะ
นิวรณ์ชื่อกามราคะนี่ มีอยู่ในจิตใจ จิตใจเป็นอย่างไร เมื่อก่อนนั้นถ้ามันเกิดขึ้นที่แล้วมาก็พูดตามความเป็นจริงกันดูว่า ที่แล้วมาเมื่อก่อนถ้ามันเกิดขึ้นมันอร่อยดีจัง ไม่ใช่คำหยาบคายนะไม่ได้พูดหยาบคายนะ เมื่อนิวรณ์ชื่อกามฉันทะครอบงำจิตใจเรา เรากลับรู้สึกอร่อย เพลิดเพลินไปเลย ปล่อยกันไปเลย ไม่คิดจะกำจัดหรือไม่คิดจะไล่ออกไป เพราะมันอร่อยดี และขอให้นึกถึงเรื่องในอดีตที่กามฉันทะนิวรณ์ครอบงำจิต และเราเคยพอใจกับมัน หรืออยากให้มันเหยียบย่ำเหมือนกับเหยียบอยู่บนหัวว่าเป็นอย่างไรบ้าง
คอยชิมรสที่เราเคยเป็นมาแล้ว ที่นี่ขอให้เขยิบเข้ามา ฉันจะว่าที่มันไม่สู้รุนแรง นิวรณ์ตัวนี้ เมื่อไม่รุนแรง มันมาครอบงำจิตใจเรา เราก็ยังชอบอยู่นั่นแหละ ไม่ก็ชอบน้อยลงมาหน่อย หรือเมื่อไอ้นิวรณ์ตัวนี้มันมาอย่างแผ่วเบามาก เราก็ยังพอใจอยู่นั่นแหละ ยังพอใจอยู่นั่นแหละ ไม่เห็นเป็นศัตรู ไม่เห็นว่าจะต้องฆ่ามันหรือกำจัดมัน ขอให้ลดลงมา ลดลงมา จนกระทั่งว่าน้อยที่สุดเกือบจะไม่รู้สึกเป็นอย่างไร
แล้วก็ค่อยมาดูอันสุดท้ายว่าเมื่อไม่มีเลย เมื่อไม่มีนิวรณ์ชื่อกามฉันทะเลยนี่ จิตมันเป็นอย่างไร ถ้าคุณทำอย่างนี้ก็คือศึกษาธรรมะโดยตรง แล้วก็แบบสัมผัสมันด้วยนามกาย เหมือนก่อนบอกแล้วว่าอันดับที่ ๓ คือเราศึกษามันด้วยการสัมผัสมันด้วยนามกาย ศึกษาอันที่ ๑ คือได้ยินได้ฟัง เล่าเรียน ศึกษาอันที่ ๒ คือแทงตลอดด้วยปัญญา คำนวณด้วยปัญญา อันดับที่ ๓ สัมผัสมันลงไปด้วยจิตใจของเราเอง ก็เรียกว่าสัมผัสด้วยนามกาย ทีนี้ขอให้สัมผัสมันด้วยนามกายแล้วก็จะเป็นสันทิฏฐิโกในเรื่องนั้นๆ
นี่ขอให้ไปตั้งต้นศึกษาด้วยเรื่องนิวรณ์ทั้ง ๕ เรื่องกามฉันทะก็เป็นอย่างที่ว่า ถ้ามันเกิดขึ้นครอบงำจิตในรูปของนิวรณ์เราก็กลับชอบ แต่ถ้าเราคิดให้ดี สังเกตดูให้ดี เราก็จะรู้สึกว่ามันขัดคอ เมื่อเราตั้งใจจะทำอย่างอื่นมันก็ขัดคอไม่ให้เราคิดนึกไอ้เรื่องที่เราตั้งใจจะคิดได้ แต่โดยมากมันเป็นเรื่องที่มีรสชาติ มีอัสสาทะ (นาทีที่ 16:50) มีเสน่ห์อยู่ในตัวมัน คนก็เลยผสมโรงพอใจไปซะเลย กลายเป็นมิใช่นิวรณ์ไปเลยอย่างนี้
เอาล่ะถ้าคุณสามารถที่จะมองเห็นเป็นเรื่องขัดคอ เป็นเรื่องนิวรณ์ก็ขอให้ชิมมันอีก ชิมมันในฐานะเป็นนิวรณ์ โดยมากเราชิมมันในฐานะเป็นของอร่อยที่เราพอใจไม่ใช่นิวรณ์ เดี๋ยวนี้ก็มาเปรียบเทียบกันดูว่าเมื่อเราพอใจในรสของกามฉันทะนิวรณ์จิตของเราเป็นอย่างไร หรือแม้เมื่อเราไม่ชอบเห็นมันเป็นนิวรณ์มันขัดคอ เราจะคิดอะไรสักหน่อยก็คิดไม่ได้ ก็ต้องรู้รสของมันให้ถึงที่สุดด้วยเหมือนกันว่ามันเป็นอย่างไร
ทีนี้ก็คอยจ้องดูว่าเมื่อมันไม่มีลักษณะอย่างนี้ ไม่มีกามฉันทะในฐานะเป็นนิวรณ์ก็ดี หรือไม่ใช่นิวรณ์ก็ดี ถ้าไม่มีความรู้สึกชนิดนี้จิตเป็นอย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้เข้าใจหรือสัมผัสมันด้วยนามกาย และว่าไอ้จิตที่มันเกลี้ยง ไอ้จิตที่มันอยู่เหนืออำนาจของนิวรณ์นี่มันเป็นอย่างไร ที่ว่าโลกุตรจิต จิตอยู่เหนือโลก อยู่เหนือการบีบบังคับของไอ้ความรู้สึกอย่างโลกๆ น่ะ
นี่เมื่อเราชิมรสของนิวรณ์ที่ชื่อกามฉันทะเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันดีแล้ว ก็ชิมรสที่เมื่อว่างจากนิวรณ์นี้ดูบ้าง ก็จะได้เค้าเงื่อนของการที่จิตอยู่เหนือโลก อยู่เหนือกิเลสอยู่เหนือโลกได้บ้างไม่มากก็น้อยนะ ต้องทำแล้วนะจึงจะรู้เค้าเงื่อนบ้างว่าไอ้จิตที่มันไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของกามฉันทะหรือกามราคะมันเป็นอย่างไร มันก็จะเหมือนกับว่าเครื่องดื่มที่มันหวานมันเป็นอย่างไร เครื่องดื่มที่มันจืดสนิท จืด มันเป็นอย่างไร
เราดื่มเครื่องดื่มที่มันหวานเราก็ชอบใจ อร่อยไปเลย แต่พอเค้าให้กินมากเข้าๆๆ เดี๋ยวก็ทนไม่ไหว ก็เรียกหาเครื่องดื่มที่จืดสนิท พอมาถึงตอนนี้เครื่องดื่มที่จืดสนิทกลับอร่อยกว่าเครื่องดื่มที่หวาน ที่หวานเจื้อย นี่เป็นเรื่องวัตถุนะเอาเป็นหลักสำหรับเทียบเคียง เพื่อจะรู้ว่าเมื่อจิตมันอร่อยคืออัสสาทะ อร่อยด้วยความรู้สึกของกามราคะ มันก็เหมือนกับน้ำหวาน เครื่องดื่มที่หวาน แต่ถ้าเป็นไปหนักเข้าๆ มันก็ต้องการเครื่องดื่มที่จืดสนิท คือจิตที่มันว่างจากกิเลสชนิดนั้น
นี่มันเป็นเรื่องพูดที่คุณก็ต้องไปทำให้มันเป็นเรื่องจริง ขอให้มันสันทิฏฐิโกละกันนะ เมื่อมันมีราคะมันเป็นอย่างไร เมื่อไม่มีราคะมันเป็นอย่างไร หรือมันครึ่งๆ กลางๆ เป็นอย่างไร ขอให้สัมผัสมันด้วยนามกายที่เป็นจิตจริงๆ บนสิ่งนั้น และก็สัมผัสจิตด้วยจิตนะ จิตชนิดนี้มันก็มี เค้าเรียกว่าเจตสิกประกอบอยู่ เป็นความรู้สึกทางกามฉันทะ ที่จิตนั้นมันก็สัมผัสจิตนั้นอีกทีหนึ่งว่ามันมีรสชาติอย่างไร มันผลัดกันทำหน้าที่ได้ จิตดวงเดียวนี้มันผลัดกันทำหน้าที่ได้
แล้วก็กำหนดไว้ไปเรื่องหนึ่งก่อน ทีนี้ก็ไปเลื่อนไปไอ้ตัวที่ ๒ ที่เรียกว่า พยาบาท ขอให้มันมีเกิดขึ้นมาในใจจริงๆ เป็นนิวรณ์ชนิดที่เรียกว่าพยาบาท คือไม่ชอบ ขัดใจ ขัดแค้น ขัดเคือง หงุดหงิด งุ่นง่าน มันก็ชิมดูอย่างเดียวกันอีกแหละ ชิมด้วยวิธีเดียวกับเรื่องของกามฉันทะ ก็จะพบว่าอันนี้ไม่อร่อย ไม่อร่อย ไม่สนุก และไม่อร่อย เว้นแต่กรณีพิเศษ ที่มันอาฆาต เคียดแค้น เกลียดชังกันอยู่เป็นพิเศษ เอามาคิดมาทำความรู้สึกอยู่ในใจ บางทีมันก็อร่อยได้เหมือนกัน เพราะว่าไอ้ความเกลียด ความพยาบาทมันมีในกรณีพิเศษ แต่มันจะไม่อร่อยได้เหมือนกามฉันทะ เราก็รู้ไว้
และบางคราวบางเรื่องมันเข้มข้นมันก็เหลือทน ไอ้ความเกลียดนี่ ความเกลียดใคร เกลียดอะไร ก็สุดแท้แต่ และบางเวลามันก็ไม่สู้จะเข้มข้น และบางเวลามันก็ผิวเผิน แล้วเราก็เปรียบเทียบกันดูให้ดี เมื่อมันหายไปอีกทีหนึ่งและก็รู้สึก กามฉันทะมันหายไปอีกทีหนึ่ง หายไปหมดเกลี้ยงทีหนึ่ง เราก็ดูจิตมันเกลี้ยงจากนิวรณ์ชื่อพยาบาทตัวนี้ ถ้าจะเปรียบเทียบเหมือนดื่มน้ำอย่างเมื่อตะกี้ นี้จะเป็นน้ำขม เป็นน้ำที่ขม ดื่มน้ำที่ขม หนักเข้าๆ เดี๋ยวก็เรียกหาน้ำจืด ก็เรียกหาน้ำจืดอีกล่ะ ขอให้ได้ชิมเหมือนกับชิมน้ำขมจนอยากเปลี่ยนเป็นน้ำจืด และตอนนี้น้ำจืดก็จะอร่อยกว่าน้ำขม แน่นอนไม่ต้องสงสัย
ไอ้เรามันโง่มาตลอดชาติ เพราะว่าเมื่อนิวรณ์เกิดเราไม่ได้ศึกษามันอย่างนี้ใช่ไหม ที่บางทีเราก็ไม่ได้จะเอาใจใส่ด้วย ก็ปล่อยให้มันเกิด เกิด เกิดไป อย่างไรก็แล้วแต่มันจะเกิด เราไม่ได้ศึกษามัน ไม่ได้สัมผัสมันด้วยนามกาย ด้วยวิธีอย่างที่ว่านี้ เพราะเราไม่ได้เป็นนักศึกษา และนี้เราจะศึกษาเรื่องจิตจะรู้จักจิตที่มีโลกถมทับครอบงำอยู่ และจะรู้จักจิตที่อยู่เหนือโลก ต้องตั้งต้นศึกษากันแบบนี้
นิวรณ์ถัดไปถีนมิทธะ และที่อันถัดไปก็อุทธัจจกุกกุจจะ เราศึกษามันโดยเทียบคู่ได้เลย คือจิตแฟบ กับจิตมันฟู จิตมันเหี่ยว และก็จิตมันเหิม หรือว่าจิตมันละเหี่ยละห้อย กับจิตที่มันทะลึ่งตึงตัง จิตที่มันถอยกำลัง โดยเฉพาะที่มันไม่มีสมรรถภาพ ไม่มีสมรรถนะในการทำหน้าที่ ขอให้สัมผัสมันด้วยนามกายด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อง่วงนอน โดยเฉพาะเมื่อละเหี่ยละห้อย เพราะสิ่งแวดล้อมอะไรก็ได้ หรือว่าเมื่ออิ่มอาหาร อิ่มอาหารจนจิตไม่เป็นจิต ที่รวมเรียกว่าถีนมิทธะ คือจิตตกต่ำลงไปโดยเหตุหลายๆ อย่าง มันมีเหตุมากที่จะทำให้จิตฟุบแฟบ เหี่ยวยุบลงไป ไม่มีกำลัง ไม่มีความสดชื่น ไม่มีความแจ่มใส ไม่มีกำลังที่จะทำอะไรได้ ถ้ามันเกิดขึ้นแล้วพวกคุณก็รีบสัมผัสมันด้วยนามกาย ประโยคนี้ก็เป็นที่เข้าใจไม่ต้องอธิบายอีก สัมผัสมันด้วยจิตให้เป็นสันทิฏฐิโก โดยเฉพาะที่มันเกิดบ่อยๆ สัมผัสมันด้วยนามกาย
เราจะเรียนหนังสือ เราจะทำอะไร จิตต้องทำด้วยจิตที่แจ่มใส จิตมันไม่แจ่มใส มันมืดมัว ซบเซา ละเหี่ยละห้อย ในที่สุดจะเรื่องง่วงนอน ไปทำอะไรให้มันง่วงนอนดู ไปกินอาหารมากๆ หรือหัดให้มันนอน ขี้ง่วง พอมันเกิดขึ้นมาก็ชิมดู ชิมรสชาติของจิตที่หดหู่ เคลิบเคลิ้ม นี่ก็ใช้คำว่าหดหู่ หรือเคลิบเคลิ้ม แปลไทยก็ต้องแปลไปตามแบบที่เค้าเคยแปลกันไว้ก่อน แต่ถ้าเราจะทำความเข้าใจกันใหม่หรือให้มันง่ายๆ ก็ต้องใช้คำว่าเมื่อจิตมันถอยกำลัง มันฟุบ มันแฟบ มันเหี่ยว มันละเหี่ย มันละห้อย มันมึนชา เรียกว่า ที่เรียกว่าตาไม่สว่าง ตาจะปิดอยู่เรื่อยเลย สังเกตให้ดี ชิมรสมัน แล้วก็ต้องต่อสู้มันเลยในขณะนั้น และก็ชิมรสของการต่อสู้นั้นด้วย
เมื่อเกือบจะพ่ายแพ้ จะยอมนอนหลับ เกือบจะยอมนอนหลับแล้วมันเป็นอย่างไร และก็พอทะลึ่งตึงตัง เอาชนะได้ ตาสว่างได้ ก็ชิมดูจิตมันเป็นอย่างไร ศึกษาถีนมิทธะ ด้วยการสัมผัสมันด้วยนามกาย ทีนี้พอชนะก็สัมผัสอีกทีดูว่าเป็นอย่างไร เมื่อตาสว่างดีเป็นอย่างไร เมื่อตะกี้ยังงัวเงียจนจะเขียนจดหมายสักฉบับหนึ่งก็ไม่ได้ เดี๋ยวนี้ก็ชนะแล้วก็สว่างไสว แจ่มแจ้ง คล่องแคล่ว สัมผัสมันดูว่ามันเป็นอย่างไร
ไม่ใช่เรื่องที่ว่าพูดเล่นให้เสียเวลา นี่เป็นเรื่องที่ว่าเรียน เรียนธรรมะอย่างยิ่ง เพราะตัวเราเป็นธรรมะและจิตของเราเป็นธรรมะ กายเป็นธรรมะ ศึกษามันไปโดยตรง
นี่อุทธัจจกุกกุจจะ ก็เข้าใจว่าเคยเผชิญกันมาแล้วทุกๆ องค์ ทุกคน มันฟุ้งจนให้ทำอะไรไม่ได้ เหมือนมันวก มันวุ่น มันว่อน จนเอามาใช้อะไรไม่ได้ นี่ก็เรียกว่ามันเหมือนกับฟู่ ฟุ้ง ซ่านไป แล่นไป ในลักษณะต่างๆ กัน แม้ที่เรียกว่ารำคาญ กุกกุจจะคือรำคาญ มันก็คือการฟุ้งชนิดหนึ่งเหมือนกัน และก็มันฟุ้งอย่างถี่ยิบ มันฟุ้งอย่างน้อยๆ ฟุ้งอย่างถี่ยิบ มันไม่ได้ฟุ้งโครมคราม หรือมันไม่ได้ฟุ้งแรงๆ ไม่ได้ฟุ้งไกลๆ แต่มันมีความหมายอย่างเดียวกัน ตรงกันข้ามกับถีนมิทธะ อันโน้นมันแฟบ อันนี้มันฟู
รู้จักถีนมิทธะ อันนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แม้ถีนมิทธะ หรืออุทธัจกุกกุจจะ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ไม่ใช่เรื่องที่ว่าไม่มีความหมายหรือไม่เสียหายอะไร มันเสียหายมากๆ น่ะ มันทำให้เราทำอะไรไม่ได้โดยทางจิตใจ และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือไม่มีความสุข ให้สังเกตดูให้ดี มันไม่ใช่ความสุข มันไม่ใช่เรื่องที่ควรจะพอใจ จิตที่เหี่ยวละห้อย ขี้ขลาดก็ตาม ไม่ใช่มีความสุข และที่มันฟุ้ง มันอวดดี บ้าไปเลย ก็ไม่ใช่ความสุข แต่ในที่นี้นะ อยากจะให้ดูในแง่ที่ว่ามันถูกเหยียบย่ำ จิตมันถูกเหยียบย่ำอยู่ด้วยนิวรณ์ จิตไม่อิสระ เมื่อจิตถูกเหยียบย่ำอยู่ด้วยนิวรณ์มันเป็นยังไง
นี่อันสุดท้ายนิวรณ์คือ วิจิกิจฉา ตามความจริงก็คือว่า ความไม่แน่ใจ จะเรียกว่าความสงสัยหรือความอะไรก็แล้วแต่เถอะ แต่เนื้อแท้ของมันก็คือความไม่แน่ใจ จนใจมันไม่ได้หยุด ไม่ได้สงบอยู่ในภาวะอันใดอันหนึ่ง เพราะมันไม่มีความแน่ใจ มันไม่เชื่ออะไรลงไปได้ มันไม่แน่ใจอะไรลงไปได้ มันเป็นอวิชชาชนิดหนึ่ง ก็มารบกวน กวนๆ อยู่ตลอดเวลา ที่มันรบกวนเรามากที่สุด นึกออกไหมว่ามันคืออะไร มันไม่ต้องมีอะไรมากแต่ว่าจิตมันไม่ตกลงสู่จุดที่มันจะสงบได้ มันระแวงอยู่เรื่อย
ไม่ว่าจะไปนั่งพักผ่อน จะนั่งสบาย นั่งพักผ่อนอยู่ที่ลมดี อากาศดี สวยงามดี ธรรมชาติดี ไอ้ความที่มันระแวงอยู่ในส่วนลึก มันก็เป็นสิ่งที่ย่ำยีจิต ครั้งจะต้องมีความสังเกต สังเกตปัจเวก พิจารณาอันอย่างละเอียดที่ว่าจิตของเรากำลังเป็นอย่างไร และคุณจะต้องไปนั่งตรงที่สบายที่สุด ตรงไหนก็ได้ แล้วก็พยายามสังเกตอย่างที่เรียกว่าดูด้วยจิต สัมผัสด้วยจิตให้รู้ว่ามันเป็นอย่างไร ข้อนี้มันไม่เหมือนกันนะ เพราะว่าเราอยู่ในสภาพที่ต่างๆ กัน เป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มเต็มที่ กำลังจะเป็นพ่อบ้านแม่เรือน หรือเป็นพ่อบ้านแม่เรือนแล้ว กระทั่งเป็นคนแก่แล้ว สิ่งที่จะมากลุ้มลงจิตไม่เหมือนกัน
ในชั้นนี้ยังเป็นคนหนุ่มอยู่ก็จะสังเกตได้ง่าย นอกจากจะไม่สังเกต ถ้าสังเกตจะสังเกตได้ง่าย ถ้าจิตของเรามีอะไรมารบกวนอยู่ และเราก็พยายามให้สุดความสามารถที่จะไม่ให้มีอะไรรบกวน แล้วคุณก็พยายามที่จะปรับให้มันเป็นสภาพที่เกลี้ยง ที่เป็นจิตเกลี้ยง เหมือนนั่งอยู่ที่ตรงนั้น นั่งอยู่ตรงนั้น ในห้องก็ได้ นอกห้องก็ได้ ตรงไหนก็ได้ เมื่อจิตมันน้อมเข้าไปภายในหมด มันไม่วิ่งออกไปภายนอกเลย ก็ดูสิว่ามันมีอะไรอยู่ในจิต มันเกลี้ยงหรือไม่เกลี้ยง ถ้ายังสองคำนี้ก็ว่ามันเกลี้ยงหรือไม่เกลี้ยง ถ้ามันเกลี้ยงก็คือว่าไม่มีอะไรรบกวนจิต นี่เป็นตัวอย่างของจิตที่ว่าเหนือโลก เหนือการรบกวนของสิ่งใดๆ ในโลก
มันอาจจะมีโดยบังเอิญที่มันเกลี้ยง และก็สิ่งแวดล้อมนั้นๆ มันช่วยทำให้เรามีจิตเกลี้ยง แต่เราก็ไม่ค่อยจะสนใจศึกษาหรือรู้จักมัน ต่อไปนี้เราจะเปลี่ยนเป็นคนละคน เราจะเป็นนักศึกษาจิต จะเป็นนักศึกษาจิต ตามดูจิต ศึกษาจิตจนให้รู้ว่าอย่างไรเกลี้ยง อย่างไรไม่เกลี้ยง ขอแค่ ๒ อย่าง ถ้ามันมีนิวรณ์ข้อไหนมากลุ้มรุมอยู่ก็ให้รู้ว่านิวรณ์ข้อไหน มากน้อยเท่าไร หนักเบาเท่าไร จนแผ่วที่สุด จนกระทั่งว่าว่างไป ตัวอื่นมาแทน ศึกษาจิตเพื่อให้รู้ว่ามันเกลี้ยงหรือไม่เกลี้ยงจากนิวรณ์
ที่มันเกลี้ยงจากนิวรณ์นั่นแหละ มันเป็นฝ่ายที่จะอยู่เหนือโลก แม้ชั่วขณะอันสั้นก็ยังดี ที่มันไม่เกลี้ยงจากนิวรณ์ นั่นน่ะมันอยู่ใต้โลก บางทีมันก็ละเอียด ที่ว่าสุขุมน่ะ สุขุมเกินไป ก็ดูยากนะ นิวรณ์ที่สุขุมเกินไปดูยาก และเราก็อาจจะหลงไปว่าเกลี้ยงก็ได้ คุณไปนั่งตรงไหน เงยดูฟ้าง่ายๆ นั่งๆ ตามสบาย ดูฟ้า มันช่วยได้มากและก็ดูว่าจิตของเรากำลังเป็นอย่างไร มันเกลี้ยงหรือมันว่างเหมือนฟ้าหรือเปล่า ไปนั่งดูฟ้าเหมือนคนบ้าเพื่อจะกำหนดว่ามัน กำหนดจิตของเราในภายในว่ามันเกลี้ยงหรือเปล่า หรือมันมีอะไรกวนอยู่อย่างไม่แสดงให้รู้สึกได้ เพราะว่ามันเป็นชั้นที่สุขุมมากเกินไป
ถ้ามันหยาบมันก็รู้สึกได้ง่าย แต่ถ้ามันสุขุมมันก็ยากที่จะรู้สึกเหมือนกัน ก็ขอให้จำไว้ด้วยว่าถึงเป็นชั้นสุขุมแล้วก็ เราไม่ค่อยรู้สึกมันน่ะ กามฉันทะก็ดี พยาบาทก็ดี ถีนมิทธะ อุทธัจกุกกุจจะ วิจิกิจฉาก็ดี ที่เป็นชั้นสุขุมและก็ยากที่จะรู้สึก คล้ายๆ กับว่ามันใส่น้ำตาลนิดเดียวไม่รู้สึกว่าหวาน แล้วเราจะต้องสังเกตให้ดี จนว่าแม้ว่ามันจะใส่น้ำตาลนิดเดียว รู้สึกน้ำนี่มันใส่น้ำตาล คุณก็ดูจิตนี่มันก็คล้ายๆ กับที่ไม่ใช่จิตคือตาย มันถูกหลอกกันเองได้ ถ้าจิตมันสัมผัสอารมณ์อะไรอย่างใดอย่างหนึ่งมา มันก็มีผลว่ามันจะไปรู้ผลอารมณ์อีกอย่างหนึ่งได้ง่ายหรือยาก เปรียบเหมือนกับอะไรดี เปรียบเหมือนว่าคุณจะกินน้ำที่ใส่น้ำตาลแล้วก็จะไปรู้รสของรสเปรี้ยวหรือรสอะไรได้น้อยมาก มันศึกษาได้ที่ลิ้น ที่ลิ้น ถ้าเราไปกินแกงขี้เหล็กอยู่ เราก็ยากจะรู้ของที่มันขมน้อยกว่าแกงขี้เหล็ก บางทีจะไม่คิดว่าขมด้วยซ้ำ จะไม่คิดว่าเค็ม หรือฝาดหรือเฝือนด้วยซ้ำไป ถ้าเราไปกินแกงขี้เหล็กมากจนรสมันไปเป็นระดับขมของแกงขี้เหล็ก รับรสฝาดเฝือนต่ำกว่านั้นได้ยากที่สุด อย่างนี้ก็มี
มันแล้วแต่ปัจจัยที่มันแวดล้อมอยู่ในเวลานั้น ที่มันก็เป็นไปในทางที่ให้เรารู้จักอารมณ์อย่างหนึ่ง ง่ายบ้างยากบ้าง ไม่แน่ เราก็ต้องรู้เอาเอง เหมือนกับที่เรากินอาหารรสต่างๆ ต่างๆ กัน พอมันไปชินกับรสอะไรสักอย่าง แล้วก็ยากที่จะรู้รสที่ต่ำกว่านั้น ที่ละเอียดกว่านั้น อารมณ์จิตก็เหมือนกัน ถ้ากามฉันทะในสิ่งหนึ่งมันรุนแรงกว่า แล้วมันก็จะรู้จักกามฉันทะที่มีกำลังอ่อนน้อยกว่าได้ยาก ไม่ค่อยรู้ เหมือนกันอย่างนั้นทุกๆ นิวรณ์
เรื่องนี้ก็ไม่มีอะไร นอกจากว่าไปพยายามศึกษาให้สุดความสามารถให้รู้จักจิตที่กำลังมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าไปยึดครองอยู่ เข้าไปเจือปนอยู่ ก็เข้าไปครอบครองอยู่ แต่ถ้าเป็นภาษาธรรมะแท้ๆ เค้าว่าปรุงแต่งอยู่ ปรุงแต่งอยู่ จิตของเรามีกามฉันทะปรุงแต่งอยู่ จิตของเรามีพยาบาทปรุงแต่งอยู่ จิตของเรามีถีนะมิทธะ หรืออุทธัจกุกกุจจะ หรือวิจิกิจฉาปรุงแต่งอยู่ เข้าไปเจืออยู่และก็ปรุงแต่งอยู่ คือกวนอยู่ให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้แล้วก็เรียกว่าจิตนั้นถูกปรุงแต่งอยู่ อยู่ใต้อำนาจของสิ่งที่ปรุงแต่ง กามฉันทะปรุงแต่งให้รัก พยาบาทปรุงแต่งให้เกลียด ให้โกรธ ถีนะมิทธะปรุงแต่งให้อ่อนแอ ให้ละเหี่ยละห้อย ให้หวาดกลัว ถีนะมุทธะก็ให้ฟุ้งซ่านเหมือนกับคนบ้า วิจิกิจฉาก็ทำให้โลเล จิตนี้ไม่เป็นอิสระ มีเหตุปัจจัยเข้าไปปรุงแต่งอยู่ เรียกว่าจิตอยู่ใต้สิ่งปรุงแต่ง ไม่ใช่จิตเหนือโลก
ถ้าจิตเหนือโลกคือจิตเหนือการปรุงแต่ง เพราะว่าโลกในที่นี้หมายถึงอารมณ์ที่มีอิทธิพลตามแบบหรือตามหน้าที่ของมันเป็นอย่างๆ อย่างๆ ไปมากมาย อาตมาจะสรุปว่า ... กายใจ ๖ (นาทีที่ 47:07) แต่มันก็แยกฝอยไปได้มากมายนับไม่หวาดไหว อารมณ์เหล่านี้เป็นปัจจัยสำหรับการปรุงแต่งจิต จิตอยู่ใต้อำนาจการปรุงแต่ง จิตนี้จะไม่อยู่เหนือโลก
คำว่าจิตไม่อยู่เหนือโลกแล้วมันก็ยังต้องมีรส มีรส มีรสชาติอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนกับน้ำที่มันมีอะไรเจืออยู่ มันไม่จืดสนิทได้ ก็เราก็รู้จักสังเกตและก็ชิมดูเรื่อยไป สังเกตเรื่อยไป จนพบว่ามันไม่มีอะไรปรุงแต่งในบางเวลา ในบางเวลา อย่าไปยึดถือที่เค้าสอนกันว่าจิตมีกิเลสตลอดเวลา อย่าไปยึดถือ กิเลสมันเกิดดับ มันเป็นของเพิ่งเกิด และเกิดดับ ระยะเวลาที่มันดับหรือมันไม่มีอยู่มันก็มีบางเวลา
ทีนี้จิตนี้มันเปลี่ยนได้ตามธรรมชาติในตัวมันเอง มันไม่ใช่วัตถุ วัตถุเราต้องไปจับไปทำ เช่นในน้ำมีรสอะไรเข้าไปเจืออยู่ มันเปลี่ยนไม่ได้นอกจากเราจะไปเปลี่ยนมัน แต่ถ้าจิตมันเปลี่ยนได้ของมันเองโดยธรรมชาติของมันเอง ด้วยเหตุปัจจัยที่มันรับเข้าไป มันมีความไม่เที่ยง มันมีความเปลี่ยนแปลง มันรับเข้าไป มันปรุงแต่งได้เรื่อย แต่เวลาระยะเวลาที่มันไม่ปรุงแต่ง หรือจะปรุงแต่งด้วยปัจจัยที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของกิเลสก็ไม่เป็นไร ก็ยังเรียกว่าว่างเหมือนกัน
เรื่องนี้พูดไม่ได้ละนอกจากว่าไม่คอยนั้นดูเอาเอง ว่าจิตชนิดไหนเกลี้ยง จิตชนิดไหนไม่มีอะไรปรุงแต่ง ก็ขอให้ชิม พยายามศึกษาให้ดีที่สุด ชิมรสจิตที่ไม่มีอะไรปรุงแต่ง แล้วก็จะค่อยๆ รู้ได้เอง ไม่มีใครสอนได้ นั้นขอให้เรารู้จากจิตในทุกรูปแบบ กระทั่งว่าจิตเกลี้ยง จิตหลุดพ้นมันโดยปริยาย ไม่ใช่โดยนิปปริยาย คือหลุดพ้นเพียงขณะ เพียงครั้งคราวก็ได้ เค้าเรียกโดยปริยาย แต่มันเหมือนกันนะ แต่นิปปริยายคือมันเด็ดขาดไปเลย ไอ้ปริยายนั้นคือมันกลับไปกลับมาได้ แต่เมื่อมันพ้นแล้วมันก็จะมีลักษณะเหมือนกัน ที่เราเคยอ่านพุทธประวัติมาว่าพระสิทธัตถะแรกนาขวัญไปนั่งประทับอยู่ใต้ต้นไม้แล้วก็มีปฐมฌานเกิดขึ้น นั่นล่ะเป็นตัวอย่าง เป็นเหตุผล เป็นพยานที่แสดงว่าจิตมันเปลี่ยนได้ แล้วมันเปลี่ยนได้จนไปอยู่ในสภาพที่เรียกว่าปฐมฌานหรือมากกว่านั้น และแม้แต่เพียงเป็นปฐมฌาน นี่ก็บาลีแห่งนี้ก็จัดเป็นนิพพานในปริยายหนึ่ง ผลของปฐมฌาน ละ ปฐมฌานนี่มันละความรู้สึกประเภทกามหมดไป เวลานั้นนะ วิ... เรหิ (นาทีที่ 57:32 ถึง 51:) เป็นปฐมฌาน กามสัญญาไม่มี สัญญาในกาม ความรู้สึกในกาม มันไม่มี มันก็เป็นจิตที่พ้นจากอำนาจของกามและนิวรณ์อื่นๆ ก็ไม่มี ถ้าสามารถทำให้เป็นปฐมฌานได้ทุกนิวรณ์ ไม่มี แล้วมันก็ชิมภาวะของจิตในปฐมฌานได้ว่าเป็นจิตที่อยู่เหนือโลกโดยปริยายหนึ่ง หรือชั่วเวลาหนึ่ง
เราก็ลองหวังดูบ้าง หวังว่าจะฟลุคอย่างนั้นบ้าง จะฟลุคเหมือน ... กุมารแรกนาขวัญ (นาทีที่ 52:34) นั้นมิได้ คือเรามันไม่สนใจเอง ถ้ามีไม่ได้เราก็พยายามคอยสังเกต ฝึกพร่ำไปตามเรื่อง มันละกามสัญญาได้ ไม่วิตกในอารมณ์อันที่ตั้งแห่งกามได้ ความวิเวกทำให้เกิดปิติและสุข แม้ว่าจะเป็นสุข มันก็เป็นสุขเกิดแต่วิเวก มันไม่ใช่มีความหมายเป็นกามฉันทะ นิวรณ์หรือกามฉันทะหรือประเภทกามนั้น มันหายไป จึงเรียกว่าวิเวกนะ วิวิจจะ... วิวิจจะ (นาทีที่ 53:26) วิเวกได้ของแบบนั้น
ความรู้สึกอันนั้นที่เกิดขึ้น สมมุติเรียกว่าความสุขหรือบัญญัติเรียกว่าความสุข วิเวกะชัง ปิติสุขขัง (นาทีที่ 53:40) มีสุข ปิติ สุขเกิดแต่ปิติ เกิดจากวิเวก ปฐมัง ธานัง... (นาทีที่ 53:48)
เมื่อจิตว่างจากกามและอกุศลธรรมก็ไม่อยู่ในอารมณ์อันใดอันหนึ่ง มี... (นาทีที่ 54:08) ว่างจากความบีบคั้นของกามสัญญา เรียกว่ามีปิติสุขอันเกิดจากวิเวกแล้วละอยู่ แล้วพยายามทำขึ้นมาให้ได้ แล้วจะได้รู้รสของจิตเหนือโลก รู้ว่ามันฟลุคมันเป็นเอง เค้าเรียกว่า ตถังคะ (นาทีที่ 54:35) มันฟลุคมันเป็นเอง โดยสิ่งแวดล้อม จิตก็เกลี้ยงอย่างนั้นได้แม้สักแวบหนึ่ง หรือสักชั่วระยะหนึ่ง เราก็จะได้รู้จักจิตที่เหนือโลก ซึ่งบางทีในสูตรนี้ก็เรียกว่านิพพาน หรืออมตะก็ยังเรียก อมตะชั่วขณะ อมตะโดยปริยาย ก็เรียกเหมือนกัน สามารถจะชิมอมตะ ชิมนิพพาน ชิมวิปัสสธิ (นาทีที่ 55:13) ก็คือจิตอยู่เหนือโลก จิตอยู่เหนือการบีบคั้นของสิ่งที่เป็นโลก
ขอให้มีสติสัมปชัญญะดีๆ หน่อย อย่าประมาท อย่าสะเพร่า อย่าหวัดๆ กับสิ่งเหล่านี้ เพราะเราไม่ได้อบรมกันมาให้ทำอะไรอย่างประณีต ไม่ได้สุขุมจึงทำอะไรหวัดๆ ทั้งหมด เกิดมาทั้งชาติหนึ่งมันก็ไม่เคยฟลุค มีจิตสงบระงับชนิดนี้ ถ้าตั้งใจให้ดี ทำให้ดี อย่าประมาท อย่าสะเพร่าอย่างนั้นน่ะมันฟลุคได้ง่าย ในการจะมีจิตชนิดนี้ จิตที่อยู่เหนือการบีบคั้นของโลก จึงบอกแต่ต้นแล้วว่า เราจะเรียกมันว่าโลกุตรจิต โลกุตระ แปลว่าเหนือโลก เหนือโลกคือสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดาโลก ซึ่งจะเข้ามาบีบคั้นจิต จะใช้คำว่าปรุงแต่งจิตก็ได้ เข้ามาปรุงแต่งจิต เข้ามากวนจิต
เอาทีนี้มันก็ต้องพูดกันต่อไปอีกขั้นตอนหนึ่งว่ามันจะมีประโยชน์อะไร ที่ต้อง...ขึ้นมา (ฟังไม่ทัน นาทีที่ 56:40) ไอ้จิตที่อยู่เหนือการบีบคั้นของโลกจะมีประโยชน์อะไร แล้วทำไมคนแต่ก่อนเค้าจึงห้ามไม่ให้สอนเรื่องโลกุตระแก่ฆราวาส โดยเฉพาะผู้บวช ๓ เดือน เดี๋ยวก็ไม่มีโอกาสที่จะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ เพราะเค้ามีธรรมเนียมประเพณีว่าไม่ต้องสอน ไม่ให้สอน นี่เรามันมาตั้งแก๊ง ตั้งแก๊งดื้อจะศึกษาอะไร จะใช้ประโยชน์จากมัน เอานี่พวกคุณลองคิดดูกันตอนที่สอนว่าจิตชนิดที่มันเกลี้ยง มันว่าง มันอยู่เหนือความบีบคั้นของโลกนี้ จะมีประโยชน์อะไร ผมอยากจะให้คุณไปคิดเอาเองมากกว่า
ในแง่แรกที่สุดมันก็เป็นความสุขที่ไม่เคยได้รับมาแต่กาลก่อน บาลีมีคำเรียกว่า หัตถุตะริ (นาทีที่ 58:05 – 58:10) คือมันยิ่งกว่าธรรมดานั้นมีอยู่ จะเรียกอุตริก็ได้ ... (นาทีที่ 59:17) มันไม่ไปตามแบบตามแนวเรียกอุตริ อุตริที่เรารู้เรานึกว่ามันเป็นคำเลวนะ แต่ถ้าในภาษาบาลีเป็นคำดีนะ เป็นคำมีความหมายฝ่ายดีนะ อุตริ อุตริ ที่เรามีความหมายเป็นไทยว่า อุตริ สัปดน บ้า ไอ้สิ่งที่อุตริ อุตริ เราออกมาเสียงอุตริ คือมันยิ่งกว่าธรรมดา มันเป็นฝ่ายดี เช่น อุตริมนุษธรรม (นาทีที่ 58:52) ธรรมที่มันยิ่งกว่าธรรมดาของมนุษย์ มันอยู่ฝ่ายดี ฝ่ายเลิศ
ไม่ใช่เราไม่เคยชิม ไม่เคยสัมผัสมาก่อน มันก็มีอยู่ สิ่งเช่นนั้นมันมีอยู่ โดยฟลุคก็ดี โดยที่เราพยายามจัดทำให้เหมาะสมก็ดี ก็ได้พบกันกับสิ่งนี้ ซึ่งเป็นของยิ่งกว่าธรรมดา และก็มีอยู่ตามธรรมชาติ นี่บาลีแสดงคำว่าหัตถุตะริ (นาทีที่ 59:28) ในลักษณะเป็นของมีอยู่ตามธรรมชาติ อัทธิอุตะริ อัทถุตะริ (นาทีที่ 59:30) มันมีของยิ่งเกินกว่าธรรมดามีอยู่ตามธรรมชาติ ถ้าเราปรับปรุงทุกอย่างให้เหมาะสม ไอ้สิ่งนี้มันจะโผล่พบกับเรา ได้สัมผัส ได้รู้สึก หมายความว่าเมื่อได้ทำให้ดี ปรับปรุงต่างๆ ให้ดีแล้ว สิ่งนี้จะโผล่มาพบกับจิตของเรา มันที่ยิ่งกว่าธรรมดาคือมันมีความสุขยิ่งกว่าธรรมดา หรือแปลกไปจากธรรมดา เราไม่เคยได้พบสุขอันนี้ เคยพบแต่เอร็ดอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางจิตใจ ที่สรุปรวมเรียกว่า กามคุณ เราเคยพบกันแต่ไอ้พวกนั้น เดี๋ยวนี้มันยิ่งกว่าสิ่งนั้น ใช้คำว่าอัทถุตะริ (นาทีที่ 1:00:24)
ข้อแรก จิตชนิดที่ว่างหรือเกลี้ยงหรืออยู่เหนือโลกมันเป็นความสุขชนิดหนึ่งซึ่งเราไม่เคยพบ แต่เชื่อว่าเดี๋ยวนี้คงไม่มีใครต้องการ ให้ชวนเค้าให้มาฝึกนี่เค้าก็ไม่เอา แล้วเค้าจะไม่ต้องการด้วย เพราะว่าเค้าชอบรสอย่างอื่นไม่ได้ชอบรสเกลี้ยง หรือรสน้ำจืดอย่างนี้ แต่จะบอกให้รู้ว่าอานิสงค์อันแรกนั้น ในพระพุทธภาษิตนั้นก็กล่าวไว้ในฐานะเป็นความสุขสูงสุดอย่างยิ่ง เป็นหัตถุตริ (นาทีที่ 1:01:14) ไม่เคยมีมาก่อน ในทิศตธรรมนี้ ในทิศตธรรมนี้ (นาทีที่ 1:01:16) ชาตินี้ ไม่ต้องรอตายแล้ว เราจะพบความสุขที่ไม่เคยพบมาแต่ก่อนได้ที่นี้และเดี๋ยวนี้ ในทิศตธรรม (นาทีที่ 1:01:30) ถ้าเรามาพูดกับคนสมัยนี้คงไม่มีใครต้องการหรอก ต้องการอย่างอื่น เค้าต้องการความอร่อยอย่างอื่น อย่างนี้ไม่อร่อย จืดเกินไป เราก็ทำใจไม่เอาก็ได้ คือไม่ถือเป็นความสุขก็ได้ เราก็แสดงประโยชน์หรืออานิสงค์อย่างอื่นอีก
เพราะจิตชนิดนี้ จิตซึ่งเป็นอิสระ เกลี้ยง ว่าง เหนือโลกชนิดนี้ ใช้ทำอะไรก็ได้ ใช้แสดงปาฏิหาริย์ก็ได้ หรือว่าจะให้สามารถทำการทำงานที่ยาก ที่ลึก คือสมรรถนะทางจิตใจจะมี จิตที่เป็นอย่างนี้ ถ้าจิตที่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสอย่างไรอย่างหนึ่งแล้วเป็นจิตที่อ่อนแอ ไม่มีสมรรถนะที่ทำงานทางจิตอันสูงสุดได้ แล้วก็เลยเป็นจิตที่มีสมรรถนะทางจิต กล้าพูดไปถึงว่าจะมีอิทธิปาฏิหาริย์ จะมีหูทิพย์ ตาทิพย์ จะมีอะไรอีกหลายอย่าง แต่ต้องอบรมกันต่อไปอีกนะไม่ใช่เพียงเท่านี้ มันเพียงแต่มีหลักว่าต้องจิตชนิดนี้ ต้องเป็นจิตชนิดนี้ เหนือโลกแม้ชั่วคราว มันก็จะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้ แม้ชั่วคราวนะ
ถ้าได้อบรมมากขึ้นไปอีกก็จะสามารถเป็นนักคิดอย่างเลิศได้ เป็นผู้มีสติปัญญา เป็นผู้คิดอะไรได้อย่างเลิศ มีประโยชน์ไหมในทางโลกๆ ไปคิดปรมาณูแข่งกับไอน์สไตน์ก็ได้ ถ้าคุณทำได้ คือว่ามันจะมีสมรรถภาพทางจิตชนิดที่ไม่เคยมีมาแต่ก่อน ที่ว่ามันจะมีความสุขชนิดที่ไม่เคยมีมาแต่ก่อน ซึ่งเค้าจะเป็นผู้บังคับจิตได้ บังคับร่างกายได้ จะควบคุมไอ้ความทุกข์ได้ จะควบคุมความทุกข์ได้ทุกชนิด
ถ้าเรามีจิตชนิดนี้นะ หรือมีความรู้สำหรับจิตชนิดนี้เป็นสมบัติน่าจะเป็นบุคคลที่เหนือกว่าธรรมดา จะสามารถอยู่เหนือความทุกข์ได้ เหนือกว่าธรรมดา แม้ว่าจะไปเป็นผู้ครองเรือน มันก็ต้องบังคับทุกอย่าง ควบคุมทุกอย่าง ครอบครัวหรืออะไรก็ตามได้ดีกว่าคนที่มันมีจิตอยู่ใต้ความรู้สึกที่เป็นโลกๆ คือใต้กิเลส พูดตรงๆ คือใต้กิเลส คนที่บังคับกิเลสได้แม้แต่ครองเรือนมันก็ครองได้ดีกว่าคนที่บังคับกิเลสไม่ได้เสียเลย
แต่เรื่องของเรื่องนะมันเพื่อจะหลุดพ้นไปจากโลก แล้วมันก็ไม่อยากจะมาครองเรือนซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งรบกวน แล้วมันก็ออกไปอยู่ที่อื่น มันออกไปเอง จนถึงกับเค้าพูดว่า พอเป็นพระอรหันต์มันก็บวชเองนะ ไม่ต้องบวชกันอีกแล้ว เพราะเป็นพระอรหันต์ทีนี้จิตมันบวชของมันเอง มีใส่จีวร มีอะไรมันลอยมาสวมเอาเอง มันก็ไปของมันเอง ไม่ต้องมีใคร ไม่ต้องพูดจาอะไรกับใครเค้าหรอก
แล้วเค้าพูดคำเปรียบไว้อีกอันหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องสำหรับการคำนวณ ว่าถ้าเป็นอรหันต์แล้วไม่บวชออกไปเสียมันจะตายใน ๗ วัน เค้าว่าอย่างนั้น มันพูดไปในทางให้คำนวณ แต่คนไปเชื่อจริงๆ เป็นพระอรหันต์แล้วยังครองเรือนอยู่ไม่ออกบวชเสียจะตายใน ๗ วัน มันพูดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คือว่าถ้าพระอรหันต์แล้วมันครองเรือนไม่ได้ พระอรหันต์ตายไม่ได้อีกแล้วล่ะ หรือถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วแล้วมันครองเรือนไม่ได้แล้วจะตายใน ๗ วัน เป็นคำพูดที่บ้าที่สุด แต่ก็มีพูดกันอยู่ทั่วไปแล้วก็ถือเป็นหลักกันอยู่อย่างนี้
เรารู้เรื่องที่เรายังไม่เคยรู้ อย่างน้อยก็รู้ว่าจิตมันเป็นได้ถึงอย่างนี้ มันเป็นสิ่งที่เป็นได้ถึงอย่างนี้ เรื่องของจิตนี้ มันเป็นได้ถึงอย่างนี้ เป็นอย่างที่เราไม่เคยคิดนึกว่ามันจะเป็นไปได้ มันเป็นไปได้ถึงอย่างนี้ คือมันหลุดพ้นได้ ซึ่งเราไม่เคยรู้เคยฝันว่ามันเป็นไปได้ถึงอย่างนั้น จิตมันเกลี้ยงได้ มันว่างได้ มันอยู่เหนือโลกเหนือสิ่งทั้งปวงได้ หลุดพ้นได้ อิสระได้ ถ้าจิตเป็นสิ่งที่หลุดพ้นไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องเกิดละ ไม่ต้องเกิดมาสอนเพราะท่านเกิดมาสอนเรื่องนี้ ว่าจิตมันเป็นสิ่งที่ มันเปลี่ยนได้ถึงขนาดนั้น มันเปลี่ยนไปเป็นโลกุตรจิตได้ จิตธรรมดาของคนเราจะเรียกว่าโลกียจิตก็ได้ แต่มันเปลี่ยนเป็นโลกุตรจิตได้ โดยที่เราไม่รู้หรือไม่คาดฝัน เค้าจะมาบอกให้เราก็ไม่อยากจะเชื่อเพราะมันไม่สนุก มันไม่สนุกแก่คนธรรมดา
ในครั้งพุทธกาลมันก็มีเรื่องบางเรื่องที่น่าหัว การมาฝึกจิตเพื่อหลุดพ้น หลุดพ้นจากกามคุณ หลุดพ้นจากโลก เพราะจะเป็นเรื่องเศร้าที่สุด เป็นเรื่องเหมือนอยู่ริมเหว เหมือนจะตกเหว ในอรรถกถาบางเรื่องมันมีพระบางองค์พูดอย่างนั้น หรือคุณก็ลองคำนวณดูเองว่าเค้ารู้สึกว่าเหมือนอยู่ตรงริมเหวจะตกลงไป พอกลับบ้าน พอเลิกบวช พอสึก ก็กลับไปอยู่บ้าน การมาฝึกเพื่อจะทำจิตให้หลุดพ้นก็รู้สึกว่ามันมาอยู่ที่ริมเหว จะตกลงไปให้เหว ก็กลัว เค้าก็ไม่ต้องการ อย่างนี้เป็นต้น เพราะมันตรงกันข้ามกับความรู้สึกธรรมดาสามัญ คือโลกียจิต จิตธรรมดา มันเป็นอย่างนั้น มันชวนไปทำเหนือโลก มันก็กลัวเหมือนไปอยู่ริมเหว เหมือนจะตกลงไปในเหว กำลังหวาดเสียวว้าเหว่ที่สุด กลัวที่สุด ขอสึก ขอลาสึก เค้าบอกคืนสิกขาแล้วกลับไปอยู่ที่บ้าน
เราสรุปความว่าคุณรู้จักคำพูดไว้อีกคำหนึ่ง คำเดียว คือว่า โลกุตรจิต จิตที่มันอยู่เหนือโลกนั้นมันเป็นอย่างไร เราจะรู้จักมันได้ก็โดยการเฝ้าดูจิต เป็นนักดูจิต เป็นนักเฝ้าดูจิต ศึกษาจิต จิตติดตามจิต แล้วจะต้องสัมผัสจิตด้วยนามกาย หรือโดยรู้สึกต่อจิตในลักษณะที่เป็นสันทิฎฐิโก เราไปคอยรู้จักจิตที่อยู่ในโลก จิตโลกมากขึ้นๆ แล้วก็เปรียบเทียบไกลออกไป จิตที่มันจะเหนือโลก คือมันจะมีกิเลสซึ่งเป็นความหมายของโลกลดลงๆ ถ้าเปรียบโดยวัตถุก็จะเปรียบว่ามันจะจืดสนิท มันจะบริสุทธิ์ หรือมันจะจืด ไม่มีอะไรเจือมากขึ้นๆ นี่จะเป็นจิตที่อยู่เหนือโลก
ทีนี้เค้าก็มีคำอื่นเรียกว่าเช่นจิตหลุดพ้น ก่อนนี้มันก็จิตติดตาราง ถ้ามันเป็นอย่างนี้มันก็เป็นจิตที่หลุดพ้นเรียกว่าวิมุต เรียกว่าวิโมก วิมุต วิโมกไปตั้งแต่ปฐมฌาน ทุตติยฌาน (นาทีที่ 1:12:08) น้อยๆๆ หรือในระยะอันสั้น ให้มากๆๆ ขึ้นไป จนถึงขั้นสิ้นอาสวะ (นาทีที่ 1:12:17) เด็ดขาดตายตัว ไม่กลับมาสู่ภาวะอย่างเดิมอีก คำว่าหลุดพ้นคืออย่างนี้ เข้าใจซะด้วย เดี๋ยวจะไปตอบคำถามผิดๆ จิตหลุดพ้นก็คือหลุดพ้นจากอำนาจของโลก จากสิ่งที่มีอยู่ในโลก อำนาจที่เป็นปัจจัยแก่กิเลสในโลก มันหลุดพ้นไปจากอำนาจเหล่านี้
นี่ผมเรียกว่า จิตว่าง ก็ฟังดู เค้าก็เอาไปลอก ไปด่า ไปคัดค้านกันตามเรื่อง เราก็ใช้คำว่าจิตว่าง เพราะเราชอบที่จะพูดอย่างนี้คือจิตที่ไม่มีอะไรกวน จิตที่ไม่มีอะไรรบกวน จิตที่ไม่มีอะไรปรุงแต่ง จิตที่ไม่มีความรู้สึกเป็นกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกู ว่าตัวตน ว่าของตน ซึ่งเป็นต้นเงื่อนแห่งกิเลสทั้งหลาย โลภะ โทสะ โมหะ หรือกิเลสตัวใดก็ตามมาจากความมีตัวตน เป็นความโง่ เป็นความหลง เป็นมานะ ทิฐิ ความมีตัวตน จากจุดนี้มันออกไปเป็นกิเลสทุกสาขา ทุกแขนง มันมีตัวตน เป็นที่รักแก่ตน มันก็เป็นโลภะ ไม่เป็นที่รักแก่ตนมันก็เป็นโทสะ เป็นที่ไม่แจ่มแจ้งแก่ตนมันก็เป็นโมหะ จิตที่ว่างจากความรู้สึกว่าตนก็ไม่เกิดกิเลสอะไรได้ เราเรียกว่าจิตว่าง เป็นคำพูดที่ดี หรือบ้าเกินไปก็ไม่รู้ เค้าฟังไม่ถูกเค้ากลับด่าเอาด้วย
มีคนเอาไปล้อ ไปด่าอยู่บ่อยๆ เรื่องจิตว่าง หรือเค้าคัดค้านว่าใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ มันเสียหายหมดถ้าจิตว่าง ฉิบหายหมด ไม่มีอะไรเหลือ ถ้าจิตมันว่าง พูดกันไม่รู้เรื่องเพราะว่าคำพูดมันไม่พอ หรือการพูดมันไม่เก่ง จิตที่มันเห็นว่าอะไรๆ ล้วนแต่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา แล้วมันไม่จับฉวยอะไรไว้มันคือจิตว่างก็อย่างนั้น มันก็ไม่เกิดตัวตนไม่เกิดของตนอยู่ในจิตเรียกว่าจิตมันว่าง ความหมายอย่างเดียวกันกับจิตหลุดพ้น หรือจิตอยู่เหนือโลก หรือจิตอิสระ
พูดไปตามลักษณะ แต่ถ้าจะพูดเอาผลทางกำไร ก็ต้องว่าจิตสงบเย็น จิตสงบเย็นเป็นสุขไม่มีสุขไหนยิ่งกว่า นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นี่มันพูดเป็นทำนองการค้า เอาผลเป็นความสุขสูงสุด อยู่ที่จิตนี่ จิตที่หลุดพ้น ที่ว่าง ที่เกลี้ยง ที่ปล่อยวาง แต่ผู้รู้ที่แท้จริงเค้าไม่ได้ต้องการความสุขอะไรนัก เค้าต้องการว่าง ถ้ามีความหมายของความสุขมันก็คือรบกวน ความหมายของความสุขคือรบกวน ใจมันว่างไปเสียแม้สิ่งที่เรียกว่าความสุข แต่เค้าก็ต้องพูดว่าความสุข ไม่งั้นจะไม่มีใครสนใจ ประชาชนทั้งหลายจะไม่สนใจเรื่องพระนิพพาน ถ้าพระนิพพานไม่ใช่เรื่องของความสุข บอกว่าว่าง ไม่เอาอะไรเลย มันสั่นหัวหมด จะไม่มีใครมาสนใจเรื่องหลุดพ้น หรือเรื่องกิเลส
แล้วก็ดูว่ามันไม่มีภาษาจะพูด เพราะมันมีแต่อยู่ ๒ คำคือสุขและทุกข์ รู้จักกันอยู่ ๒ อย่าง ถ้าไม่สุขและไม่ทุกข์ก็ไม่รู้จะว่าอะไร พูดไม่ถูก แล้วกลับไปบอกว่าสุขอย่างยิ่งมันก็ไม่เชื่อ ไม่สุขไม่ทุกข์คือสุขอย่างยิ่งมันก็ไม่เชื่อ เพราะมันขัดกันอีกอยู่ในตัว แต่เราจะบอกให้รู้ว่าจิตที่ไม่ตกเป็นทาสของความรู้สึกสุขหรือทุกข์คือจิตอยู่เหนือโลก จิตว่าง จิตเกลี้ยง จิตหลุดพ้น ไม่พูดว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ไม่พูดว่าดีหรือว่าชั่ว คือมันพ้นไปไง มันพ้นโลก โลกุตรจิต จิตที่พ้นโลก ไม่ควรจะพูดว่าสุขหรือทุกข์ ว่าดีว่าชั่ว มันก็คือมันบริสุทธิ์ สะอาด เกลี้ยง
แล้วคำว่าความสุขมันยังเป็นคำที่มีความหมายดึงดูดใจ ตรึงใจมากกว่าคำใดๆ มันจะพูดให้เค้าสนใจมันก็ต้องพูดว่าสุขนะ แต่เราก็อย่าลืมว่าผมก็เคยอธิบายให้ฟังแล้วว่าคำว่านิพพานไม่ได้แปลว่าสุข แปลว่าเย็น อันนี้ไม่ต้องโฆษณามาก เพราะคนมันชอบเย็นอยู่แล้ว ไม่ชอบร้อนอยู่แล้ว พอบอกว่านิพพานเย็นมันก็สนใจง่ายกว่าที่จะพูดว่าสุข เพราะมันไม่เข้าใจผิดได้ถ้าพูดว่าเย็น ถ้าพูดว่าสุขได้ มันก็สุขไปอย่างนั้นแหละ สุขกามรมณ์ กำลัง ๒ กำลัง ๑๐ กำลัง ๑๐๐ ไปเลย มันก็เป็นกามคุณกำลัง ๑๐ ไปเลย มันก็สนใจ มันก็เป็นเรื่องของสวรรค์ต่างหากไม่ใช่เรื่องของนิพพาน
นิพพานมันเย็น ใช้คำว่าเย็น ไม่ต้องหลอกว่าสุข หลอกว่าไม่ร้อน เพราะเขารู้จักความร้อนกันมาดีแล้ว พูดว่าเย็นก็สนใจก็จะติดตามได้ ชีวิตที่เยือกเย็น ถ้าเรายังชอบคำว่าสุขอยู่ก็ขอให้เติมเย็นเข้าไปข้างท้ายด้วย สุขเย็น สุขนิพพานนั้นคือสุขเย็น สุขเย็นที่สุด
นี่ลาสิกขาออกไปแล้ว คุณจะชอบสุขร้อนหรือสุขเย็นก็ตามใจคุณ มันก็หน้าที่ของผมที่จะต้องพูด แต่บอกให้รู้ว่าเรื่องมันมีอย่างนี้ ถ้าไม่ชอบสุขร้อนก็ไปปรับปรุงเอาเอง ให้เป็นไปในทางสุขเย็น ถ้ามันเย็นได้จริง จิตมันอยู่เหนือโลกหรือสิ่งต่างๆ ในโลก ในบ้านในเมือง ที่จะมาบีบคั้นจิตใจเรา ที่เราจะกลับออกไปสู่ชีวิตฆราวาสอะไรๆ ที่มันพร้อมจะบีบคั้นจิตใจของเรา เราอยู่เหนืออำนาจของสิ่งเหล่านั้นเสียให้หมด นั้นแหละคือจิตที่อยู่เหนือโลก โดยส่วนตัวก็จะมีความสุข โดยส่วนสังคมเราก็จะทำการงานได้ดี มีประโยชน์แก่สังคมได้ดี
เอาเป็นอันว่าวันนี้พูดเรื่องคำเพียงคำเดียว ว่าโลกุตรจิต จิตที่อยู่เหนือทุกอย่าง เหนืออะไรทุกอย่าง แต่ท่านใช้คำว่าเหนือโลก ถ้าพูดให้จริงก็คือเหนือทุกอย่างที่จะมาบีบคั้น ล้มทับจิตในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ที่เป็นรูปแบบให้เกิดกิเลส เกิดอาสวะ เกิดนิวรณ์ เกิดทุกๆ อย่างที่มันเกิดอยู่แก่มนุษย์ เดี๋ยวนี้มันจะไม่เป็นอย่างนั้น จิตจะอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น สิ่งเหล่านั้นไม่มาบีบคั้นให้เป็นทุกข์ได้ และสิ่งเหล่านั้นจะไม่เป็นปัญหาด้วย จะไม่เป็นปัญหาทำความยุ่งยากลำบากให้เกิดขึ้น
พูดชั่วโมงครึ่ง ยังมีเวลาพูดอีกครั้ง ๒ ครั้ง ก็ตามใจก็จะพูดเรื่องที่เค้าว่าไม่ควรพูด พูดเรื่องที่ไม่ควรพูดแก่ผู้ที่จะลาสิกขาบท บ้าหรือดีก็ไปว่าเอาเอง
ปิดประชุม กลับไปกุฏิก่อนดับไฟ