แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
...ความคิดของวัตถุนิยมซึ่งไม่เอาเรื่องของจิตภาพ ไม่เอาในเรื่องของศีลธรรม ไม่เอาในเรื่องของคุณธรรมแต่ประการทั้งปวง แล้วอันตรายเหล่านี้แหละครับมันเป็นอันตรายที่จะก่อให้เกิดแก่สังคมมนุษย์ ลักษณะความขัดแย้งซึ่งในปัจจุบันนี้เราต้องมองกันมาที่เป้าหมายทางวัตถุกับเป้าหมายทางศาสนาและศีลธรรมไม่ต้องไปมองเป้าหมายส่วนที่บอกกันว่าสังคมนิยมทุนนิยมอะไรที่ขัดแย้งกันน่ะ มันเป็นแต่เพียงชื่อสมมุติรูปแบบจำลอง ตัวจริงมันไม่ใช่ รับรองว่ามันไม่ใช่ ถ้าหากว่าใช่แล้วทำไมครับ ทุนนิยมก็ดีและก็สังคมนิยมก็ดี ออกมาจากทฤษฎีของคนกลุ่มเดียว แต่ทำไมมันออกมาได้ มันออกมานั้นก็เพื่อต้องการที่จะให้เกิดความขัดแย้งในมวลมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีความขัดแย้งกัน มนุษย์จะต้องวิ่งเข้ามาหาปัจจัยที่สำคัญใกล้ตัวที่สุดนั่นก็คือวัตถุ เมื่อมนุษย์เข้ามาหาวัตถุ ในขณะเดียวกันทางทฤษฎีทุนนิยมและสังคมนิยมนี่แหละก็พยายามที่จะใช้ทฤษฎีบทสำหรับการปฏิบัตินี่ ขูดรีดมนุษย์ส่วนหนึ่งเพื่อที่จะไปกองพะเนินเทินทึกไปด้วยกับทรัพยากรทั้งหลายนี่ ทรัพย์สมบัตินานาประการให้แก่คนอีกส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าเราจะสังเกตระบบเศรษฐกิจของโลกปัจจุบันนี้ไม่ว่าประเทศไทยไม่ว่าประเทศไหนก็ตามทีเถอะครับ ไม่ว่าจะใช้ระบบทุนนิยมหรือสังคมนิยมก็ตาม มันมีลักษณะที่ตรงกันอย่างหนึ่งว่ามันจะค่อยๆ ผันตัวผลประโยชน์นี้เข้าไปหาคนเพียงกลุ่มเดียว แล้วก็ทอดทิ้งให้คนจำนวนมหาศาลนั้นตกอยู่ในความระกำลำบาก เมื่อสมัยโบราณนั้น พ่อแม่ปู่ย่าตายายของเราทำสวนยางเริ่มต้นด้วยกันหนึ่งไร่ พอเขาทำไปทำมา เขามีสมบัติเป็นงอกเงยขึ้นมาเป็นร้อยๆ ไร่ แต่พอมาถึงปัจจุบันนี้เรารับหนึ่งร้อยไร่ของพ่อแม่มาทำนี่แหละพอทำสวนยางไปทำสวนยางมา เหลือหนึ่งไร่ครับ นี่เราจะไปโทษใคร ก็โทษความขัดแย้งที่มันออกมาเป็นระบบเป็นขบวนการซาตานดังที่ผมได้กล่าวไว้แล้วคือขบวนการที่ไม่เอาศาสนา ขบวนการพวกที่ไม่เอาศาสนาแล้วพยายามสร้างทฤษฎีทางวิชาการออกมามอมเมาชาวโลก แล้วเราก็ไปหลงทฤษฎีดังกล่าวนั้น นอกจากหลงแล้วยังเป็นตัวขุนเป็นตัวหมากรุกให้แก่ขบวนการมายา ให้ขบวนการซาตานนั้น โดยที่ตัวเองรู้เท่าไม่ถึงการณ์อีกด้วย เช่นอะไรครับ ศาสนาพุทธไปทะเลาะกับศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์มาทะเลาะกับศาสนาพุทธ หรือว่าไปโต้เถียงกันในปัญหาขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นปัญหาปลีกย่อยของศานาแล้วก็จะเป็นจะตายกันขึ้นมา จนกระทั่งมาร่วมธุรกิจเดียวกันไม่ได้ จนกระทั่งร่วมเดินถนนด้วยกันไม่ได้ นี่เรากำลังจะเดินอยู่บนหมากรุกของขบวนการซาตานดังกล่าว แล้วก็ถ้าหากว่าเราเดินไปเป็นหมากรุกให้แก่เขาแล้ว ผมรับประกันได้เลยว่าต่อไปศาสนาหมด ไม่มีใครสามารถจะรักษาศาสนาได้ เวลานี้เราจะต้องหมดสมัยการตั้งป้อมว่าพุทธ อิสลาม คริสต์ แต่เราจะต้องหันมาตั้งป้อมกันใหม่ว่าทั้งพุทธ อิสลาม คริสต์ และฮินดู และทุกศาสนานี่ จะต้องมารวมในลักษณะที่เป็นสหกรณ์อย่างอาจารย์พุทธทาสว่า เป็นสหกรณ์โดยไม่ต้องเสียเอกลักษณ์ของตัวเอง เป็นมุสลิม เป็นพุทธ เป็นคริสต์เป็นทุกอย่าง เท่าที่ตัวเองเป็นอย่างเคร่งครัด แต่สามารถที่จะมีจุดร่วมอันเดียวกัน จุดร่วมดังกล่าวนั้นก็คือจำเป็นที่จะต้องกวาดล้างระบบความคิดที่มันเป็นปฏิปักษ์ของศาสนาออกไปจากเยาวชนของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางในการศึกษาในปัจจุบันนี้เราจะสังเกตเห็นได้ว่า ไม่ว่าเราจะไปเรียนรัฐศาสตร์ จะไปเรียนเศรษฐศาสตร์ จะไปเรียนอะไรก็ตาม มันจะต้องมีลักษณะแนวความคิดแบบวัตถุนิยมนี่เข้าไปแทรกแซงอยู่ด้วยเสมอ และแนวความคิดดังกล่าวนี้เองแหละครับ ที่จะทำให้ระบบการศึกษาของเราหันมามองศาสนาที่เป็นต้นแบบของจริยศึกษาว่ามันเป็นสิ่งที่คร่ำครึ ไร้สาระแล้วก็ไม่มีความจำเป็นด้วยประการทั้งปวง และเมื่อถึงวาระนั้น เราก็จะไม่มีศาสนา และอย่างที่ผมได้เรียนให้ทราบไว้แต่ตอนต้นแล้วว่า เมื่อเราทิ้งศาสนา คือเราทิ้งความรัก เราทิ้งความเมตตาต่อกัน เราทิ้งศีลธรรม เราทิ้งคุณธรรม เราทิ้งตัวศรัทธาที่มีอยู่ในหัวใจ เราก็จะต้องไปอีกฝ่ายหนึ่ง นั่นก็คือฝ่ายที่กล่าวกันว่าเอายศมาเป็นใหญ่ เอาทรัพย์สมบัติ แล้วก็เอาเรื่องของฟรีเซ็กส์ เอาเรื่องของการสร้างสมบารมีของตนเองแล้วแก่งแย่งเพื่อที่จะเอาผลประโยชน์ในส่วนใหญ่นี่มาอยู่เป็นส่วนของตนเอง และเมื่อนั้นครับ ความวุ่นวายของโลกมันจะทับถมทวีคูณขึ้นมาอีกอย่างมากมายมหาศาล และนั่นแสดงให้เห็นถึงสัญญาณอันหนึ่งที่เป็นจุดทำให้เราเข้าใจว่าความวินาศของโลกหรือโลกาวินาศนี่มันจะต้องเกิดขึ้นแล้ว ผมลืมดูนาฬิกาเลยไม่ทราบว่าเวลานี้มันเลยเวลาไปแล้วประมาณสองนาที เพราะฉะนั้นก็ขอยุติเพียงเท่านี้ครับ//
(ผู้ดำเนินรายการ) ก็พอดีกับที่ทางเพื่อนก็ให้โอกาสด้วยครับ ๒๐ นาทีเศษๆ ครับ ไม่ถึง ๒๒ นาทีที่ว่าหรอกครับ รู้สึกว่าน้อยเหลือเกินสำหรับการได้ฟังคำบรรยายของผู้แทนศาสนาอิสลาม ช่างเป็นการตรงกับวัตถุมโนปณิธานข้อที่สามของท่านอาจารย์ที่ท่านตั้งไว้ตั้งนานมาแล้วว่า เพื่อต้องการที่จะพรากจิตใจของคนในโลกนี้ออกมาเสียจากสิ่งที่เรียกว่าวัตถุนิยม นี่วัตถุมโนปณิธานของท่านอาจารย์ที่ตั้งไว้นะครับ จากการอภิปรายของผู้แทนศาสนาอิสลาม เข้ากับวัตถุมโนปณิธานของอาจารย์ข้อที่สาม ครับ จะไม่เสียเวลาคิดว่ายังอีกตั้ง ๑๐ นาทีที่เราจะได้ฟังถ้อยคำของท่านผู้แทนศาสนาอิสลาม ลำดับต่อไปนี้ขอฟังผู้แทนจากศาสนาพราหมณ์ก่อนสัก ๒๐ นาทีเช่นกันครับ//
(คุณไฉน สมัครเสวี) นมัสการหลวงพ่อพุทธทาส พระคุณเจ้าทั้งหลาย และบรรดาสาธุชนทั้งหลาย ผู้มีเกียรติท่านผู้ที่มีความสนใจในศาสนาพราหมณ์ฮินดูทุกๆ ท่าน ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้เป็นตัวแทนของศาสนาพราหมณ์ฮินดู มาบรรยายให้ท่านได้ทราบกิจกรรมหรือกิจการของศาสนาพราหมณ์ฮินดูในวันนี้ ถ้าท่านมีโอกาสไปทางกรุงเทพฯ ขอเชิญท่านเยี่ยมโบสถ์เทพมณเฑียรของสมาคมฮินดูสมาช ซึ่งอยู่ติดใกล้ๆ กับเสาชิงช้าอยู่ทางทิศตะวันออกของโบสถ์วัดสุทัศน์ฯ อยู่ระหว่างกลางระหว่างพระวิหารและโบสถ์ของวัดสุทัศน์ฯ เป็นโดมแบบอินเดีย ถ้าไปอยู่ตรงเสาชิงช้าจะเป็นทางทิศตะวันตก ประทานโทษ,ทางตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะได้เห็นโบสถ์เทพมณเฑียรของสมาคมฮินดูสมาช ขอเชิญถ้าท่านเคารพนับถือ ก็เคารพกราบไหว้ได้ ถ้าต้องการจะดูสวยๆ งามๆ ดูเทวรูปหินอ่อน ก็ขอเชิญได้ผมยินดีต้อนรับ เพราะผมเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนภารตวิทยาลัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมฮินดูสมาชอยู่ ณ ที่นั้น เชิญได้เลย เข้าไปได้เลย บอกว่าขอพบครูใหญ่หน่อย ขอชมโบสถ์เทพมณเฑียร ขอชมเทวรูปหินอ่อนซึ่งอยู่ชั้นสามหน่อยเชิญได้เลยนะครับ ผมก็จะเลยบรรยายถึงศาสนาพราหมณ์ฮินดู ซึ่งบางท่านอาจจะทราบแล้ว บางท่านก็อาจจะยังไม่ทราบ ที่ทราบแล้วก็แล้วกันไป ที่ท่านยังไม่ทราบก็โปรดได้ทำความเข้าใจ ซึ่งผมจะได้บรรยายไปตามลำดับในเวลาจำกัด ๒๐ นาที
ศาสนาพราหมณ์ฮินดูนั้นจะเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยใดนั้น ไม่สามารถที่จะมีให้ใครมาตอบได้อย่างถูกต้องแท้จริง แต่เขาใช้วิธีสันนิษฐานและอภิปรายให้ความเห็นก็ต่างๆ กัน ตามคัมภีร์พระเวทหรือคัมภีร์ทางโหราศาสตร์ของอินเดียมีสูตรและวิธีคำนวณไว้ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ว่าโลกนี้เกิดมาเป็นเวลาร้อยล้านล้านกว่าปีมาแล้ว คือออกเป็นเลข ๑๕ ตัว มี ๑ อยู่ข้างหน้าแล้วมีศูนย์ ตามอยู่ข้างหลัง ๑๔ ตัวคือล้านๆ ปี ศาสนาพราหมณ์ฮินดูได้เกิดขึ้นในสมัยที่โลกเกิดขึ้นนั่นเอง ศาสนาพราหมณ์ฮินดูนั้นเดิมมีชื่ออยู่ ๕ ชื่อ ได้แก่ อันดับที่ ๑ ศาสนาสนาตนะ คือตั้งแต่เริ่มเกิดมาจนกระทั่งถึงก่อนหมื่นล้านปี อันดับที่ ๒ ศาสนาไวทิกะ ตั้งแต่ก่อนหมื่นล้านปีถึงก่อนร้อยล้านปี อันดับที่ ๓ ศาสนาอารยะ ตั้งแต่ก่อนร้อยล้านปีถึงก่อนล้านปี อันดับที่ ๔ศาสนาพราหมณ์ ตั้งแต่ก่อนร้อยล้านปีถึงก่อนพันปี แล้วต่อมาเป็นชื่อศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์ตั้งแต่ก่อนพันปีจนถึงปัจจุบันนี้ คำว่าฮินดูนั้น แต่เดิมนั้นจริงๆน่ะ ชื่อสินธูหรือสินธุ คือแม่น้ำสินธุ พวกชาวอินเดียนี่ได้ผ่านเข้ามาทางแม่น้ำสินธุ ความจริงก็น่าจะเป็นศาสนาสินธุ แต่ว่ามันออกเสียงในตอนหลังกลายเป็นมันหินธูไป แต่แล้วก็กลายเป็นฮินดูไปในตอนหลัง สรุปแล้วศาสนาทั้ง ๕ ศาสนา คือศาสนาสนาตนะ ไวทิกะ อารยะ ศาสนาพราหมณ์ และศาสนาฮินดู ทั้ง ๕ ชื่อนั้น ก็เป็นศาสนาเดียวกัน ใครเป็นศาสดาของศาสนาพราหมณ์ฮินดูนั้นก็ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ มีแต่ความเชื่อในพระคัมภีร์ต่างๆ ที่บอกไว้ว่าองค์พระวิษณุหรือพระนารายณ์นั้น เป็นศาสดาของพระพรหม พระพรหมได้รับคำสั่งสอนจากองค์พระนารายณ์ แล้วก็สอนให้แก่พระฤาษีสี่ตน คือพระฤาษีสนาตนะ พระฤาษีสนันทนะ พระฤาษีสนกะ และพระฤาษีสนตกุมาร พระฤาษีทั้งสี่ตนนี้ได้เอาคำสอนมาให้แก่มวลมนุษย์ พระฤาษีสนาตนะนั้นท่านเป็นผู้นำ จึงได้ชื่อว่าศาสนาสนาตนะ หรืออีกนัยหนึ่งกล่าวกันว่าพระวิษณุหรือองค์พระนารายณ์นั้นเป็นองค์นิตย์ถือว่าไม่ใมีการสิ้นสุดกัน และสนาตนะนี้แปลว่านิตย์คือไม่มีการขึ้นต้นและไม่มีการสิ้นสุด องค์พระวิษณุหรือพระนารายณ์จึงได้พระนามว่าสนาตนะด้วย นี้ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ตั้งชื่อศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูในชั้นแรกว่าศาสนาสนาตนะ ทางศาสนาพราหมณ์ฮินดูถือว่าพระพรหม หรือพระปรมาตมัน พระองค์ไม่มีรูปเป็นตัวเป็นตน เป็นเทพเจ้าสูงสุด เอาตัวอักษรโอม คือตัวอะ ตัวอุ แล้วก็ตัวมะ ให้ไว้เพื่อสักการะบูชา (อะ) แทนองค์พระวิษณุหรือองค์พระนารายณ์ (อุ) แทนพระพรหม (มะ) แทนองค์พระศิวะหรือองค์พระอิศวร พระตรีมูรติ ได้แก่ทั้งสามองค์ดังกล่าวมาแล้วคือพระวิษณุ พระนารายณ์ พระพรหมและพระศิวะ พระพรหมมีหน้าที่ในการสร้าง พระวิษณุเป็นผู้รับหน้าที่ในการปกครองหรือบริหาร ได้ตั้งกติกาไว้ว่าสมัยใดมีบาปกรรมอนาจารประพฤติมากขึ้นแล้ว พระองค์ก็จะแบ่งภาคอวตารมาในรูปใดรูปหนึ่งเพื่อปราบปรามอธรรมและปราบความชั่วร้ายทั้งหลาย ท่านได้แบ่งภาคอวตารมาในโลกนี้ทั้งหมดที่ผ่านมาแล้ว ๙ ปาง ก็ได้แก่ปางที่ ๑ มัตสยาวตาร อวตารเป็นปลา คือวิวัฒนาการขั้นต้นก็เป็นสัตว์น้ำ สัตว์ทะเลสัตว์อยู่ในน้ำไปก่อน ปางที่ ๒ กูรมาวตาร อวตารเป็นเต่า เป็นสัตว์ครึ่งบกและครึ่งน้ำ คราวนี้จากน้ำก็ไต่ขึ้นบกบ้าง ลงน้ำไปบ้าง ปางที่ ๓ วราหาวตาร อวตารเป็นสุกรหรือเป็นหมู อันนี้เป็นสัตว์บก ปางที่ ๔ นรสิงหาวตาร อวตารเป็นครึ่งคนครึ่งสิงห์คือเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งสัตว์ ปางที่ ๕ วามนาวตาร อวตารเป็นพราหมณ์เตี้ยแคระ อันนี้เป็นมนุษย์เลย ไม่มีสัตว์ปน ปางที่ ๖ ปรศุรามาวตาร อวตารเป็นปรศุรามอันนี้ก็เป็นมนุษย์อีก ปางที่ ๗ รามาวตาร อวตารเป็นองค์พระรามในรามเกียรติ์ ก็เป็นมนุษย์ ปางที่ ๘ กฤษณาวตาร อวตารเป็นองค์พระกฤษณะ ก็เป็นมนุษย์ และปางที่ ๙ ที่ผ่านมาแล้ว พุทธาวตาร อวตารเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นมนุษย์ ส่วนปางที่ ๑๐ นั้นจะมาในอนาคตเบื้องหน้า สำหรับชาวอินเดียเรียกว่ากัลกิอวตาร จะเป็นคนขี่ม้าขาว มาช่วยปราบยุคเข็ญทำให้โลกร่มเย็นเป็นสุข คิดว่าจะตรงกับทางไทย คือศาสนาพระศรีอาริย์หรือพระศรีอาริยเมตไตรซึ่งจะมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างสุดยอดมีต้นกัลปพฤกษ์อยู่สี่มุมเมือง ใครต้องการอะไรก็ไปเลือกสอยเอาตามใจชอบ แม่น้ำก็จะไหลขึ้นฝั่งหนึ่งไหลลงฝั่งหนึ่งไม่ต้องใช้แจวใช้พาย ดูๆ ในขณะนี้เรือแจวเรือพายชักจะไม่ค่อยมีแล้ว มีแต่หางยาว ก็เลือกไปคนละที่คนละทางตามสบาย น้ำจะขึ้นน้ำจะลงไม่ได้วิตกทุกข์ร้อนอะไรใช้หางยาวตลอด เวลานี้เรือจ้างทั้งหลายรู้สึกจะเป็นโบราณวัตถุ โบราณวัตถุไปหมดแล้วคือหาดูได้ยาก ชนิดใช้แจวใช้พายน่ะ ใช้หางยาวกันหมด แล้วก็บอกว่าสามีภรรยาลงจากบันไดบ้านไปแล้วไปพบกันที่อื่นนอกบ้านก็จะจำกันไม่ได้ เพราะหน้าตาก็เหมือนกันหมด อันนี้ก็พิจารณาแล้วก็อาจจะเป็นพวกศัลยกรรมพลาสติก คือปัจจุบันนี้มีศัลยกรรมตกแต่งหน้ากันทำให้หน้าคล้ายกันแล้ว ต่อไปนางเอกหนังไทย จารุณี อะไรพวกนี้ คิดว่าใครอยากหน้าเหมือนจารุณีก็ทำศัลยกรรมพลาสติกได้ ใครอยากจะเป็นสมบัติก็พลาสติก ตามคำสอนในคัมภีร์ต่างๆ ถือกันว่า พระพุทธเจ้าน่ะเป็นองค์อวตารของพระวิษณุหรือพระนารายณ์ และเป็นอวตารสำคัญปางหนึ่งเพื่อปราบปรามความชั่วร้ายโดยถือสันติวิธี เราจึงถือกันว่าชาวพุทธกับชาวพราหมณ์ฮินดู เป็นชาวสายจิตสายใจอันเดียวกัน ในประเทศอินเดียมีพิพิธภัณฑ์บางแห่ง เช่นที่นาคารชุนกุล(16.51)เมื่อเข้าไปชมแล้วจะได้เห็นว่าตั้งแต่ก่อนคริสตศักราชจนถึงคริสตศักราช ๕๐๐ มีพระพุทธรูปพร้อมกันกับเทวรูปพระวิษณุองค์พระนารายณ์ หรือเทวรูปพระศิวะพระอิศวรในโบสถ์ต่างๆ ที่ประดิษฐานไว้ในสมัยนั้น เป็นหลักฐานว่าชาวพุทธกับชาวพราหมณ์ฮินดูนั้นมีสายจิตสายใจไม่ต่างกัน หากสังเกตขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ซึ่งชาวพุทธและชาวพราหมณ์ฮินดูถือไว้ตั้งแต่โบราณกาลมาจนถึงปัจจุบันนี้เปรียบเทียบแล้วก็จะเห็นว่าเหมือนกันเช่น วันสงกรานต์ วันลอยกระทง วันเข้าพรรษา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา สำหรับวันอาสาฬหบูชานั้น ของเรามามีตอนหลัง แล้วก็พิธีการสมรส วันพืชมงคล พิธีไหว้ครู อะไรเหล่านี้ ของอินเดียก็มี ของไทยก็มี จะต่างกันบ้างก็ในด้านการปฏิบัติอะไรเล็กๆ น้อยๆ เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นมีการดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้นๆ เท่านั้น ผมอยากจะชี้แจงให้ทราบถึงเทพเจ้าที่สำคัญๆ ของทางศาสนาพราหมณ์และฮินดู พระพิฆเนศร์ หรือพระคเณศวรนั้น เป็นโอรสแห่งองค์พระศิวะและองค์พระอุมา เทพเจ้าแห่งความสมบูรณ์ความสำเร็จทุกสิ่งทุกอย่าง และเมื่อใดมีการบูชาจะต้องทำการบูชาพระคเณศร์เป็นอันดับแรก เพราะเป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จและเป็นผู้ที่มีการริเริ่มที่ดีที่สุด อีกทั้งเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะด้วย สิ่งที่ใช้บูชาพระคเณศร์ได้แก่หญ้าแพรก พาหนะที่สำหรับพระคเณศร์ได้อาศัยนั้นคือหนู พระคเณศร์ในเมืองไทยเป็นเครื่องหมายของกรมศิลปากร ถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งการนาฏศิลป์ แต่ว่าสำหรับในของอินเดียนั้น เทพเจ้าแห่งนาฏศิลป์นั้นองค์พระศิวะหรือพระอิศวร ที่เรียกกันว่านาฏราช อันนั้นเป็นเทพเจ้าแห่งการฟ้อนรำหรือนาฏศิลป์ กล่าวถึงพระศิวะ พระศิวะนี่เป็นเทพเจ้าแห่งการทำลาย สิ่งใดก็ตามที่มากล้นเกินไป พระศิวะก็จะขจัดให้มีแต่ความพอดี นอกจากนี้พระองค์ได้พระนามว่าเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะและการฟ้อนรำ เรียกว่านาฏราช ทรงประทานพรให้ง่ายๆ อยากจะให้ทุกคนมีความสุข สิ่งที่ใช้บูชาพระศิวะคือใบมะตูม มเหสีพระศิวะคือองค์พระอุมา หรือพระแม่ปรวตี อวตารหรือแบ่งภาคออกสงครามเรียกว่าพระแม่ทุรคา อันนั้นหมายถึงพระอุมา อวตารปางปราบอสูร เรียกว่าพระแม่กาลี พระแม่ทุรคาเป็นพระแม่แห่งพลัง ผู้ใดต้องการพลังใจ พลังกาย หรือแม้แต่พลังทรัพย์ ถ้าอ้อนวอนขอต่อพระแม่ทุรคาก็จะสมหวัง พาหนะของพระศิวะคือโค ชาวอินเดียไม่รับประทานเนื้อโค เพราะถือว่าเป็นพาหนะขององค์พระศิวะ แล้วก็อีกอย่างหนึ่งถือว่านมของโคนั้นเป็นอาหารสามารถจะเลี้ยงทารกได้ เปรียบเหมือนแม่ ก็ไม่รับประทานเนื้อโคหรือเนื้อวัว ทั้งเนื้อโคและเนื้อกระบือ ทั้งวัวทั้งควายไม่รับประทาน สำหรับพาหนะของพระแม่อุมา พระมเหสีของพระศิวะคือสิงโต พระวิษณุหรือองค์พระนารายณ์ นี่เป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ เป็นเทพเจ้าแห่งการรักษาความดีและต่อสู้อธรรม เป็นผู้ปกครองและบริหารโลกเป็นเทพเจ้าแห่งการนิพพานที่เรียกว่าโมกษะ มนุษย์ที่ต้องการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดก็ควรเป็นสาวกขององค์พระนารายณ์หรือพระวิษณุ สิ่งที่ใช้บูชาพระวิษณุหรือองค์พระนารายณ์นั้นคือต้นกะเพราหรือใบกะเพรา พาหนะของพระวิษณุคือครุฑ มเหสีของพระวิษณุคือพระแม่ลักษมี เทวีแห่งโชคลาภ สิ่งที่ใช้บูชาพระลักษมีคือดอกบัวสีขาวหรือดอกไม้สีขาว เช่นดอกมะลิก็ใช้ได้ ส่วนพาหนะของพระแม่ลักษมีนั้นคือนกเค้าแมวหรือนกฮูก พระพรหม พระพรหมนั้นบางท่านยังเข้าใจสับสนอยู่ พระพรหมองค์แรกนั้นเป็นอรูปพรหมคือไม่มีรูป ส่วนพระพรหมที่มีสี่หน้านั้น ท่านเรียกกันว่าพระพรหมา หมายถึงสี่หน้าก็เมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขา คือพรหมวิหาร มเหสีของพระพรหมนั้นมีบางท่านเข้าใจผิด เข้าใจว่าเป็นพระแม่สุรัสวดี จริงๆ แล้วพระแม่สุรัสวดี เทวีแห่งการศึกษานั้น เป็นราชธิดาของพระพรหม ส่วนพระมเหสีของพระพรหมนั้น พระนามจริงๆ คือพระแม่สาวิตรี เทวีแห่งปัญญา พระแม่สุรัสวดีซึ่งเป็นราชธิดาพระพรหมนั้นเป็นพรหมจรรย์ไม่มีพระสวามี ต่อไปก็มีพระราม เป็นเทพเจ้าที่อวตารหรือแบ่งภาคมาจากองค์พระวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นปางที่ ๗ ชาวพราหมณ์ฮินดูเรียกว่ามัธยาคาปูรโสตมะ ในชีวิตของพระรามได้แสดงถึงหน้าที่ของคนไว้อย่างสมบูรณ์ เช่นการปฏิบัติระหว่างสามีกับภรรยา คือระหว่างท่านกับพระแม่ภัคควดีสีดา ระหว่างบิดากับมารดา บุตรธิดา ระหว่างพี่กับน้อง นายกับบ่าว และการอยู่ร่วมกันระหว่างพระรามกับประชาชน เป็นสัญลักษณ์แห่งการของพัฒนาสังคม ศาสนาการเมืองและให้แสงสว่างแก่มนุษย์ในโลก มเหสีของพระราม เมื่อตะกี้ผมเรียนให้ทราบแล้วคือพระแม่สีดา ซึ่งอวตารหรือแบ่งภาคมาจากองค์พระแม่ลักษมี มเหสีพระวิษณุหรือองค์พระนารายณ์ ต่อไปก็หนุมาน หนุมานนี่ทางอินเดียหรือทางฮินดู ศาสนาพราหมณ์ฮินดูนี่ถือว่าเป็นพระองค์หนึ่งเรียกว่าพระหนุมาน ตามตำนานรามเกียรติ์ หนุมานเป็นอวตารของพระศิวะ ท่านลงมาในปางของหนุมานก็เพื่อจะคุ้มครองดูแลพระราม ในอดีตพระศิวะท่านได้รับการช่วยเหลือไว้จากพระวิษณุหรือองค์พระนารายณ์ พระศิวะได้ให้สัญญาไว้ว่าจะช่วยเหลือตอบแทนบุญคุณ เมื่อพระวิษณุหรือองค์พระนารายณ์ได้อวตารลงมาเป็นพระราม พระศิวะจึงได้อวตารมาในรูปของหนุมานตามที่สัญญากันไว้ พระหนุมานนั้นเป็นยอดของความเข้มแข็งและความซื่อสัตย์ ตามตำนานรามเกียรติ์ฉบับของอินเดีย หนุมานเป็นเทพเจ้าที่เป็นพรหมจรรย์ ไม่มีภรรยาเลยแม้แต่คนเดียว ผิดกันกับรามเกียรติ์ฉบับของไทยเรา ตรงกันข้ามอย่างกับขาวกับดำ หนุมานของไทยเราเจ้าชู้ที่สุด เมียแยะ และนอกจากนี้ยังไม่เสพของมึนเมา อาหารของพระหนุมานก็คือผลไม้ บรรยายเรื่องเทพเจ้าทั้งหลายมาก็ขอยุติไว้แค่นี้ครับ พอดีเวลาจำกัด ขอขอบพระคุณครับ//
(ผู้ดำเนินรายการ) ครับ ยี่สิบเวลาครับ ได้เพียงพอแก่การที่จะได้ฟังประวัติของเทพผู้สำคัญๆ แต่ว่ายังอีกสิบนาทีรอบหลังครับ รอบนี้ก็ขอผ่านไปถึงศาสนาพุทธ ผู้แทนที่มาบรรยายในวันนี้ ท่านอาจารย์วรศักดิ์ วรธมฺโม ขอกราบนมัสการครับผม//
(ท่านอาจารย์วรศักดิ์ วรธมฺโม) ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจธรรมะทั้งหลาย ก่อนอื่นอยากพูดว่า อาตมานี่มิได้เป็นวิทยากรตามที่เข้าใจกันในปัจจุบัน คือคำว่าวิทยากรที่เข้าใจกันในปัจจุบันนี้ ก็หมายถึงว่าผู้ทรงคุณวุฒิมาพูดวิชาการอะไรบางอย่าง แล้วท่านทั้งหลายเป็นแต่เพียงผู้ฟัง และฟังแล้วก็ได้วิชาการนั่นแหละกลับไป และเมื่อผู้มาบรรยายเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ มาบรรยายวิชาการ เพราะฉะนั้นบางที ผู้บรรยายเขาไม่รับผิดชอบ ความประพฤติทางกายทางวาจาหรือทางจิตใจ ผู้ฟังก็สักว่ามาฟังเอาวิชาการ แล้วก็ไม่รับผิดชอบความประพฤติหรือพฤติกรรมทางกายทางวาจา จะฟังก็ได้ คุยกันเสียก็ได้ หรือจะสูบบุหรี่ หรือนั่งด้วยอาการไม่สุภาพนี่ก็ได้ นี่คือเรื่องของวิทยากรและผู้ฟังในสมัยนี้ที่เห็นกันอยู่ แต่ถ้าเรื่องทางธรรมะเรื่องทางศาสนา ภิกษุนี่แหละเป็นผู้แสดงธรรม คำว่าแสดงธรรมนั่นคือแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติที่ถูกต้องกับกฎของธรรมชาติในทุกอิริยาบถ ไม่เกิดทุกข์เกิดโทษขึ้น ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น นี่คือคำว่าแสดงธรรม เพราะฉะนั้นอาตมภาพนี่มาแสดงธรรม เพราะฉะนั้นจะต้องทำให้ถูกต้องในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะพูดนี่ ก็เป็นการแสดงธรรมไปหมดและจะพูดเลยไปอีกว่า ท่านผู้บรรยายในศาสนาอื่นก็เหมือนกันท่านมาแสดงธรรมก็คือแสดงความถูกต้องกับความประสงค์ของพระเจ้าหรือว่าความถูกต้องของกฎธรรมชาตินี่แหละในทุกอิริยาบถ ทีนี้ท่านทั้งหลายก็ไม่ได้เป็นแต่เพียงผู้ฟัง ท่านทั้งหลายก็เป็นผู้แสดงธรรมด้วย คือแสดงความถูกต้องในการปฏิบัติที่ถูกต้องกับกฎของธรรมชาติในทุกอิริยาบถไม่ให้เกิดทุกข์เกิดโทษขึ้นเช่นเดียวกัน ก็คือฟังด้วยอาการปกติ แสดงธรรมในฐานะผู้ฟัง พระพุทธเจ้าโดยเฉพาะในทางศาสนาพุทธนี่ ท่านขอร้องว่าให้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งหมายถึงคนทั่วไปทั้งโลก ไม่เฉพาะแต่ว่าถือทะเบียนว่าเป็นพุทธ ก็คือให้ ภิกษุนี่ หรืออุบาสกอุบาสิกา โดยเฉพาะสมัยนี้ภิกษุณีไม่มีนี่ ได้แสดงธรรมได้ปฏิบัติธรรม แล้วก็ประกาศธรรม ฉะนั้นเมื่อท่านทั้งหลายอยู่ในอาการปกติทุกอิริยาบถ ผู้พูดก็แสดงธรรม ท่านทั้งหลายก็แสดงธรรม ก็เรียกว่าที่ประชุมนี้ก็ได้ปฏิบัติธรรม ฉะนั้นถ้าใครเขามาเห็นเข้า เขาก็เห็นว่าที่ประชุมนี้มีการปฏิบัติธรรม เขาก็ไปประกาศ ไปเผยแพร่ต่อไป เพราะเขาก็เห็นว่าธรรมนี่เป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้าในเรื่องวิชาการทางโลก เขาต้องการแค่วิชาการความรู้ แต่ถ้าเป็นเรื่องทางธรรมะเราต้องการความปกติ ความไม่มีกิเลส ผลที่ได้จากการมาประชุม คือเราไม่มีกิเลส เรามีความปกติ เรียกว่าเราปฏิบัติธรรม ของเขานั้นได้แค่วิชาการ ส่วนเรื่องทางจิตใจหรือทางกิเลสหรือไม่มีกิเลสเขาไม่ค่อยรู้เรื่อง ซึ่งถือว่าเขาเป็นพวกวัตถุนิยม แต่ของเรานี้ต้องได้รับความปกติ ไม่ใช่เอาแต่วิชาการความรู้ แต่เราต้องได้รับความปกติ มีความสงบเย็น มีสันติแม้ในขณะที่ท่านทั้งหลายมาฟังธรรม ทีนี้บางคนประมาท พูดว่าฟังๆ ไว้ก่อนแล้วก็ค่อยเอาไปฏิบัติที่บ้าน นี่ คนนี้ประมาท และถ้าตีสองตีสามคืนนี้มันตายเสียก่อน มันก็ไม่ได้ปฏิบัติน่ะสิ นี่คือคนประมาทที่สุด มันยังมีวันต่อไป เวรยังมีเวลาอยู่ นี่แสดงว่าเป็นวัตถุนิยมคือติดเวลาว่ายังมีอนาคตอยู่ค่อยเอาไปปฏิบัติที่บ้าน ฉะนั้นถ้าพรุ่งนี้นอนแล้วมันไม่ตื่นเลย มันก็ไม่มีการปฏิบัติ ให้ท่านทั้งหลายทราบไว้เสียด้วยว่าเรามีชีวิตที่แท้จริงนั้นคือขณะไหน อดีตที่แล้วมานั้นมันไม่แน่ มันละมาแล้วมันเลยมาแล้ว อนาคตนี่ยังไม่แน่ เพราะฉะนั้นชีวิตที่เรามีอยู่โดยแท้จริงก็คือขณะนี้ นี่แน่นอน ทุกคนมีชีวิตอยู่ มีลมหายใจอยู่ขณะนี้ ฉะนั้นชีวิตที่แท้จริงก็คือขณะนี้ เพราะฉะนั้นถ้าท่านจะต้องการสิ่งสูงสุด เรื่องพระเจ้าหรือเรื่องความดีงามสูงสุด เรื่องสันติภาพอะไรก็ตาม ท่านจงให้ที่ตรงนี้ เวลานี้และขณะต่อไปถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ เราไม่ใช่เป็นคนประมาท เพราะเหตุว่าความตายจะมาเมื่อไหร่ นี้มันไม่แน่ อย่างนี้เรียกว่ารู้สัจธรรม ในทุกศาสนาจะให้เน้นแต่ในภาวะปัจจุบัน ที่เรากำลังมีชีวิตอยู่ ทำให้ถูกต้องซึ่งมันเป็นเรื่องของสัจธรรมไม่ต้องพูดว่าศาสนาไหน ว่าแน่นอนที่เรามีชีวิตอยู่แท้จริงนั้น คือขณะนี้ ตรงนี้ เวลานี้ ขณะต่อไปท่านอาจจะตายก็ได้ ทีนี้เรื่องที่จะพูดต่อไปก็คือว่าอย่าได้ถามกันว่าท่านนับถือศาสนาอะไร เดี๋ยวนี้อาตมาได้ไปบรรยายมา มีคนถามว่า พอไปถามว่านับถือศาสนาอะไร เขาก็ตอบว่าพุทธบ้าง คริสต์บ้าง อิสลามบ้าง แล้วก็ก็เดินเลยไป ตอบว่าบางทีก็ตอบว่าอิสลามครับ แล้วเขาก็เดินเลยไป ถ้าเราถามเสียใหม่อย่างนี้บางทีเขาจะนั่งลงคุยด้วย คือถามว่าคุณดับทุกข์โดยวิธีใด หรือถ้าหากว่าจะพูดสมัยใหม่หน่อยว่าคุณแก้ปัญหาชีวิตของคุณเองและคุณช่วยเหลือผู้อื่นโดยวิธีใด บางทีเขาจะนั่งคุยด้วย สมัยใหม่ก็ต้องว่าคุณแก้ปัญหาชีวิตของคุณ หรือว่าช่วยเหลือผู้อื่นโดยวิธีใด เขาต้องนั่งคุยด้วย แต่ถ้าถามว่าคุณนับถือศาสนาอะไร บางทีเขาตอบเสร็จเขาก็ลุกหนีไป นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ออกชื่อศาสนา แต่ว่าคำว่านับถือศาสนา โดยเฉพาะสมัยนี้ความหมายมันเปลี่ยน มันกลายเป็นเรื่องของ ดูจะเป็นเรื่องงมงาย แต่ที่แท้จริงคำว่าคุณดับทุกข์โดยวิธีใดนี่ กับว่าคุณนับถือศาสนาอะไรนี่ มันเหมือนกัน คำถามนี้มีความหมายเหมือนกัน ในสมัยพุทธกาลยังถามว่าท่านชอบธรรมะของใคร ท่านชอบธรรมะของใคร ทีนี้ต่อไปจะพูดว่าเดี๋ยวนี้เราถามแต่ว่าศาสนานั้นศาสนานี้ต่างกันอย่างไร ถามหาความต่างกัน เช่น ถามว่าพุทธกับคริสต์กับอิสลามนี่ต่างกันอย่างไร โดยมากนักศึกษาเรียนมาก็จะถามปัญหาความต่างกัน ทีนี้เราก็ตอบ พอตอบไปมันได้อะไรบ้าง ก็คือหนึ่งก็ได้ความรู้ซึ่งไม่มีประโยชน์ ความรู้อย่างนั้นไม่สามารถทำให้เราเกิดสันติได้ แล้วก็สอง ได้ความแบ่งแยกว่ามีศาสนานั้นศาสนานี้ เอาข้อแบ่งแยกที่บางทีเป็นข้อปลีกย่อยเอามาทำความแบ่งแยก แล้วข้อสามได้การยกตนข่มท่าน รังเกียจกันนี่ ทำไมคนมีความรู้ อุตสาห์เล่าเรียนมา ทำไมเขาไม่ถามความเหมือนกันของศาสนาบ้างว่าศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม นี่เหมือนกันอย่างไร ทำไมไม่ถามอย่างนี้บ้าง ถามว่าพุทธคริสต์อิสลามเหมือนกันอย่างไรนี่ ก็ยังไม่ลึกซึ้งเท่ากับว่าคนที่ถือพุทธ คนที่ถือคริสต์ อิสลาม หรือว่าพราหมณ์ ซิกข์อะไรก็ตามนี่ คนนะ คนที่ถือน่ะ เหมือนกันอย่างไร ไม่ได้ว่าตัวศาสนา ถามว่าคนเหมือนกันอย่างไร ท่านก็จะได้รับคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเป็นคำตอบเดียวที่ลึกถึงที่สุดว่า เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ท่านทั้งหลายลองดูสิว่าคนที่ถือศาสนาทุกศาสนามีสิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือว่ามีความทุกข์มีปัญหาชีวิต มีความทุกข์ด้วยความเกิด ด้วยความแก่ ด้วยความเจ็บ ด้วยความตาย ด้วยความพลัดพรากจากของรัก ประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจนี่เหมือนกัน ฉะนั้นต่อไปถ้าจะถามลองถามว่าคนที่ถือศาสนานั้นเหมือนกันอย่างไร ก็จะได้รับคำตอบว่า เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เดี๋ยวนี้เรามองแต่ทางวัตถุจึงเห็นความต่างกัน ท่านทั้งหลายก็มองเห็นว่าศาสนา เจ้าหน้าที่ทางศาสนานี้ก็แต่งกายต่างกัน นี่เป็นเรื่องทางวัตถุภายนอก นี่เราก็ติดแต่วัตถุจึงเห็นว่าศาสนาต่างกัน ที่แท้จริงแล้วข้างในจิตใจนั้นทุกคนมีความทุกข์เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าศาสนาจะสัมพันธ์กันได้ตรงที่ตรงนี้เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งว่าศาสนาเป็นเรื่องของมนุษย์ ทีนี้มนุษย์มันมีความทุกข์ มีความเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันนี่ จุดนี้เราจะพบข้อที่เราจะทำการตกลงกันได้ คือตรงที่ว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ทีนี้พูดเลยไปว่า โดยสัจธรรมแท้จริงนั้น มันไม่มีคน มันไม่มีคน ร่างกายเนื้อตัวที่ท่านทั้งหลายเห็นอยู่นี่มันไม่ใช่คน มันไม่ได้เป็นคนนั้นคนนี้ มันก็เป็นการรวมกันของดินน้ำไฟลมแล้วก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยมิได้เป็นของใคร ทีนี้จิตที่รู้สึกนึกคิดมันก็ไม่ได้เป็นคน มันก็กิดขึ้นจากการที่ตาได้เห็นหูได้ยินแล้วมันก็ปรุงแต่งเป็นความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเหล่านี้มันก็ไม่ใช่คน ทีนี้มันมีสิ่งๆ หนึ่ง เอ้อ,สิ่งสองสิ่งที่เข้าไปสิงสู่ร่างกายจิตใจนี้ที่เรียกว่าไม่ใช่คนนี่ แล้วทำให้คนนั้นทำผิดหรือว่าทำถูก เป็นคนดีเป็นคนชั่ว เป็นทุกข์หรือไม่ทุกข์เหล่านี้ สิ่งนั้นคือกิเลสกับปัญญา ถ้ากิเลสเข้าไปอยู่ในเด็ก เด็กก็จะทำผิดทำชั่ว ถ้ากิเลสเข้าไปอยู่ในผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็ทำผิดทำชั่ว กิเลสเข้าไปอยู่ในชาวนา ชาวนาก็ทำผิดทำชั่ว กิเลสเข้าไปอยู่ในครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ก็ทำผิดทำชั่ว แม้ในที่สุดถ้ากิเลสเข้าไปอยู่ในพระหรือเจ้าหน้าที่ทางศาสนา เจ้าหน้าที่ศาสนาก็ทำผิดทำชั่ว แต่ถ้าปัญญาเข้าไปอยู่ในเด็ก เด็กก็ทำถูกทำดี ถ้าปัญญาเข้าไปอยู่ในชาวนา ชาวนาก็ทำถูกทำดี ไปอยู่ในผู้ชายผู้ชายก็ทำถูกทำดี ไปอยู่ในผู้หญิงก็ทำถูกทำดี ไปอยู่ในเจ้าหน้าที่ทางศาสนา อยู่ในพระ เจ้าหน้าที่ทางศาสนาหรือพระก็ทำถูกทำดี ท่านทั้งหลายเห็นไหมว่ามันไม่มีคน มันมีแต่กิเลสหรือปัญญาที่เข้าไปสิงสู่ ทำให้คนทำผิดทำชั่ว ถ้าพวกวัตถุนิยม เขาถือจะว่าตัวคนนี่ เนื้อตัวร่างกายนี่มันเป็นตัวบงการให้กระทำ แต่ถ้าในทางสัจธรรมโดยเฉพาะทางศาสนานี่เราถือว่า กิเลสกับปัญญาซึ่งเข้าไปสิงสู่นี่ เป็นผู้บงการให้กระทำ เพราะฉะนั้นวิธีจะแก้ปัญหาของมนุษย์ เขาแก้ที่เปลี่ยนกิเลสให้เป็นปัญญา แล้วตัวนี้ที่จะไปเป็นตัวควบคุมระหว่างกายกับจิตนี่ให้ถูกต้อง เหมือนกับที่ผู้แทนศาสนาอิสลามได้กล่าวเมื่อตะกี้นี้ ฉะนั้นตัวกิเลสตัวปัญญาตัวนี้ เป็นหน้าที่ทางศาสนาจะเน้นที่นี้มากที่สุด ว่าเราเปลี่ยนกิเลสนี้ให้เป็นปัญญา ซึ่งศาสนาทุกศาสนามีให้จะโดยวิธีใดก็ตามใจ ศาสนาทุกศาสนาจะแก้ปัญหาถึงที่สุดคือแก้ปัญหาสิ้นเชิง ตรงที่เปลี่ยนกิเลสให้เป็นปัญญา ทีนี้ท่านทั้งหลายลองมองต่อไปว่า ถ้าเกิดการขัดแย้ง เช่นว่านายจ้างทะเลาะกับลูกจ้างอย่างนี้ การแก้ปัญหาของคนปัจจุบันเขาจะแก้ที่คน หรือว่านายจ้างถูกบ้าง นายจ้างผิดบ้าง นี่เขาแก้ที่คนเลย เขาถือว่าคนนั้นคนนี้เป็นฝ่ายถูกฝ่ายผิด แต่ถ้าหากว่าเรามองให้ลึกลงไปกว่านั้น การแก้ปัญหาของคนเดี๋ยวนี้เขาแก้ว่าต้องให้คนนั้นถูกคนนี้ผิด ใครเป็นฝ่ายแพ้ใครเป็นฝ่ายชนะ แต่ในทางศาสนาเรามองลึกลงไปกว่านั้นว่า ถ้านายจ้างทะเลาะกับลูกจ้างนี่ กิเลสมันเป็นฝ่ายชนะ คือมันไสหัวมันผลักไสให้นายจ้างกับลูกจ้างทะเลาะกันได้ แม้กระทั่งว่าลูกกับแม่ สามีกับภรรยาก็ตาม กิเลส มันเป็นการบงการของกิเลส และเมื่อคนนั้นเกิดกิเลสเกิดความทุกข์ขึ้น มันก็เป็นความทุกข์ส่วนบุคคล เมื่อเกิดขึ้นในจิตใจคนหนึ่ง นี่เป็นความทุกข์ส่วนบุคคล ถ้าเขาเก็บกดเอาไว้ได้ก็เป็นความทุกข์ส่วนบุคคล แต่ถ้าเก็บกดไว้ไม่ไหวออกไปทางกายทางวาจาแล้วล่ะก็ ก็เป็นความทุกข์ของสังคม ฉะนั้นความทุกข์ของสังคมมันก็เกิดจากกิเลสในตัวแต่ละบุคคลนี่แหละ แล้วก็ออกไปภายนอก ไปกระทบกระทั่งผู้อื่นเป็นความทุกข์ของสังคม เป็นสงครามในที่สุด ฉะนั้นสงครามทั้งหลายเกิดจากกิเลส ทีนี้การแก้ปัญหาเดี๋ยวนี้เขาไม่เอาเรื่องนี้ไปแก้ เขาแก้แต่ทางวัตถุ เขาถือว่าเกิดจากเศรษฐกิจบ้าง เกิดจากการเมืองบ้าง ไม่แก้ที่ตัวกิเลส โดยที่เขามองข้าม หลักสูตรการสอนเยาวชนสมัยนี้ เขาไม่ให้พ่อแม่ไม่ให้ครูบาอาจารย์ตีเด็ก เพราะเขาถือว่าการที่พ่อแม่ตีเด็กนี่ คือการทำร้ายร่างกายเด็ก จำกัดความคิดสร้างสรรค์เด็ก ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่องทางวัตถุ แต่ที่จริงแล้วพุทธบริษัทหรือว่าคนที่ถือศาสนา ก็จะเห็นว่าไม่ใช่ตีเนื้อตัวเด็ก แต่เขาตีไล่ผีกิเลสออกไปจากตัวเด็กต่างหาก เมื่อกิเลสเกิดขึ้นในเด็กถือว่าเป็นเรื่องเสียหาย ต้องรีบเอาออกไปจากตัวเด็กให้ได้ วิธีเอากิเลสออกไปจากตัวเด็กมีอย่างน้อยสองวิธี คือหนึ่งให้เด็กเอาออกเอง สอง ถ้าเด็กไม่รู้เรื่องเอาออกไม่ได้ต้องให้อำนาจบังคับจากภายนอก เช่นพ่อแม่ครูอาจารย์เหล่านี้ ทีนี้ถ้าหากว่าพ่อแม่ครูบาอาจารย์เอาไว้ไม่ไหว ต้องถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจทีนี้ เพราะฉะนั้นถ้ากิเลสเกิดในเด็กถือว่าเป็นเรื่องเสียหายต้องรีบเอาออกไป ต้องช่วยกันเอาออกไปจากเด็ก ฉะนั้นสมัยก่อนปู่ย่าตายายของเรานี่ พ่อแม่นี่ ตีลูกตีหลานบังคับลูกหลานได้ เพราะฉะงั้นกิเลสในเด็กก็เลยไม่มีหรือมีน้อยสมัยนี้เขาไม่ให้บังคับเด็ก ให้เด็กจะเอากิเลสออกจากตัวเองก็ทำไม่ได้ ครูบาอาจารย์พ่อแม่ก็ไม่ได้บังคับกิเลสเด็กเอาออกไป ก็เลยว่าเด็กก็มีกิเลสเต็มพุงทีนี้ นี่ก็เพราะเขาไปมองเป็นเนื้อตัว เขาไม่มองว่าเขาบังคับที่กิเลส นี่ถ้าศาสนาหรือทางธรรมะนี่ เราแก้จุดนี้ แก้ที่ว่าเราไม่ได้ตีเนื้อตัวคน ไม่ได้บังคับเนื้อตัวคน เขาถือว่าถ้าไปบังคับเด็กนี่ จะทำให้เด็กไม่มีอิสระไม่เป็นตัวของตัวเอง เดี๋ยวนี้เราเอากิเลส ถ้าเป็นของเรานี่ ถ้าเอากิเลสออกจากตัวเด็กได้ เด็กก็เป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง จุดนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของกิเลส เปลี่ยนกิเลสให้เป็นปัญญา นี่คือเรื่องที่เราจะต้องเรียนรู้และศาสนามีให้ ต่อไปก็อยากจะพูดว่าคนนี่ มีกายกับจิตที่แยกกันไม่ได้ เหมือนกับไฮโดรเจน ออกซิเจน ผสมกันเป็นน้ำ แยกออกจากกันไม่ได้ รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น ถ้าแยกออกไปแล้วจะไม่เป็นน้ำ จะว่าไฮโดรเจนเกิดก่อนก็ไม่ได้ จะว่าออกซิเจนเกิดก่อนก็ไม่ได้ มันเกิดพร้อมกัน เพื่อความเป็นน้ำนี่ ทีนี้มาถึงอีกเรื่องหนึ่ง เช่นว่าสามีกับภรรยา รวมกันเป็นหนึ่งเท่านั้น แยกออกจากกันไม่ได้ในความเป็นครอบครัว จะว่าสามีเกิดก่อนก็ไม่ได้ จะว่าภรรยาเกิดก่อนก็ไม่ได้ มันรวมกันเป็นหนึ่ง เป็นปฏิกิริยาทางเคมี รวมกันเป็นหนึ่งแล้ว จะว่าสามีดีแล้วครอบครัวจะดีก็ไม่ได้ จะว่าภรรยาดีแล้วครอบครัวจะดีก็ไม่ได้ ต้องพูดว่าสามีภรรยาดีแล้วครอบครัวถึงจะดี คนๆ หนึ่งก็เหมือนกัน ในความเป็นคนๆ หนึ่งนั้น มีกายกับจิตที่ผสมกันแล้วแยกจากกันไม่ได้ เป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น เหมือนกับไฮโดรเจนกับออกซิเจนในความเป็นน้ำ จะว่ากายเกิดก่อนจิตก็ไม่ได้ จะว่าจิตเกิดกายก็ไม่ได้ คือมันเกิดพร้อมกัน จะว่ากายดีแล้วคนจะดีก็ไม่ได้ จะว่าจิตดีแล้วคนจะดีก็ไม่ได้ ต้องบอกว่าทั้งกายและจิตดี ทั้งกายและจิตดีคนถึงจะดี พวกหนึ่งก็บอกว่าถ้ากายดีเสียอย่างแล้วคนก็จะดีเอง นี่เป็นพวกวัตถุนิยม ซึ่งอันนี้มีมาก แม้ท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่นี่ก็คิดว่าถ้าหากมีวัตถุดี มีกินมีใช้มีร่างกายดีแล้วเราจะหมดปัญหา ใครคิดอย่างนี้เป็นพวกวัตถุนิยม แล้วก็แก้ปัญหาไม่สำเร็จ ทีนี้อีกพวกหนึ่งถือว่าถ้าจิตดีแล้วคนก็จะดีเอง เรื่องกายไม่สนใจ อันนี้ก็เป็นจิตนิยม ก็แก้ปัญหาไม่สำเร็จ แต่ในทางสัจจะ ในความเป็นคน ในทางศาสนาถือว่าทั้งสองอย่างจะต้องไปด้วยกัน พวกที่ถือว่าถ้ากายดีแล้วคนจะดีนั่น เขามีเรื่องต้องทำเรื่องเดียวคือเรื่องกาย แสวงการทำมาหากินอย่างเดียว พวกที่ถือว่าจิตดีแล้วคนจะดีนี่ เขาก็มีเรื่องจิตเพียงเรื่องเดียว แต่ในทางศาสนาในทางสัจธรรมนี่ถือว่าต้องไปทั้งกายและทั้งจิต ถึงจะพูดว่าถ้าต้องการให้จิตดี ท่านต้องละกิเลส ถ้าต้องการให้กายดี ก็จงบำรุงร่างกาย หรือพูดเสียใหม่ว่าถ้าต้องการให้จิตดีก็จงละกิเลส ถ้าต้องการให้วัตถุดีก็จงแสวงหาวัตถุ นี่มันมีสองเรื่อง คือมีเรื่องกายกับเรื่องจิตซึ่งจะต้องแก้กันคนละอย่าง เรื่องของจิตก็ต้องแก้ทางจิต เรื่องของกายก็ต้องแก้ทางกาย อย่างนี้เรียกว่าเป็นความสมบูรณ์ของมนุษย์ จะแก้แต่ทางกายอย่างเดียวก็ไม่ได้ ทางจิตอย่างเดียวก็ไม่ได้จะต้องไปทั้งสองอย่างไปด้วยกัน เรื่องทางจิตก็ต้องแก้ทางจิตคือแก้ที่กิเลส ละกิเลสเสีย เรื่องของทางวัตถุก็แสวงหาวัตถุ ทีนี้วิธีที่ถูกต้องก็คือว่าแสวงหาวัตถุไปด้วยจิตที่ไม่มีกิเลส นี่ทำพร้อมกันในความเป็นคนนั้น แสวงหาวัตถุไปด้วยความไม่มีกิเลส นี่คือเรื่องที่ถูกต้องที่สุด เอาล่ะก็หมดเวลาแค่นี้ก่อน//
(ผู้ดำเนินรายการย) การอภิปรายของผู้แทนศาสนาต่างๆ รอบแรกผ่านไปแล้ว แต่ก่อนที่จะเชิญท่านผู้บรรยาย ได้บรรยายรอบที่ ๒ นั้น กระผมใคร่ของประทานโอกาส เรียนเตือนท่านผู้ฟังทุกท่านทุกศาสนาไว้อีกครั้งหนึ่งว่าท่านยังมีหน้าที่ร่วมรายการศาสนสัมพันธ์อีกประการหนึ่งก็คือช่วยกันถามปัญหา ปัญหาของศาสนาใด ก็จะมอบให้ท่านผู้บรรยาย ผู้แทนจากสาสนานั้นๆ เป็นผู้ตอบ หรือช่วยกันตอบครับ เวลาถามตอบนั้นกำหนดไว้ ๔๐ นาทีด้วยกัน เรียกว่าให้โอกาสแก่ท่านผู้ที่มาร่วมครั้งนี้ได้มีโอกาสร่วมรายการศาสนสัมพันธ์กันอย่างทั่วถึง เพราะฉะนั้นขอได้โปรดเขียนเป็นปัญหาขึ้นมา ส่งผ่านมายังผู้ดำเนินการเพื่อที่จะได้เลือกแจกในการตอบ หลังจากการตอบปัญหาจบแล้วจึงจะได้ถวายเวลาแก่ท่านอาจารย์เพื่อทำการสรุป ให้ท่านได้นำไปเป็นข้อประพฤติปฏิบัติอีกครั้งหนึ่ง ในลำดับต่อไปนี้ก็ขอเรียนเชิญท่านผู้แทนศาสนาอิสลาม คุณวินัย สะมะอุล ครับ ๑๐ นาที//
(คุณวินัย สะมะอุล) ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ ในขณะที่กำลังนั่งกันอยู่ในสวนของท่านอาจารย์พุทธทาสนี้ เรามีความรู้สึกร่วมกันอย่างหนึ่งที่อดจะแสดงออกไม่ได้ นั่นก็คือความร่มเย็น ภายในบรรยากาศที่มีต้นไม้ แล้วก็อากาศก็ค่อนข้างจะเย็นนิดหน่อย มันจึงทำให้ จิตใจที่มีความเย็นของแต่ละคนนี้ไหลไปรวมกันโดยอัตโนมัติ เมื่อทุกคนสามารถที่จะเอาความเย็นของหัวใจไหลไปรวมกันได้ นั่นคือเป้าหมายของศาสนา เราจึงจะพบว่าศาสนาทุกศาสนานี้ก็จะสอนให้คนทุกคนมีการพบปะและมีการแสดงออกทางความจริงใจต่อกัน มีการแสดงออกซึ่งหัวใจที่มีศรัทธาในศาสนาของกันและกัน กระผมอยากจะเรียนต่อท่านผู้มีเกียรติว่า ในหลักธรรมคำสอนของทุกศาสนา ความสนใจไปที่มีต่อหลักธรรมคำสอนนั้น เราไม่มีความจำเป็นด้วยประการทั้งปวงที่จะต้องไปสนใจในแง่ของตรรกะ คือในแง่ของเหตุและผล จนกระทั่งเอามาถกเอามาเถียงกัน แต่เรามีความจำเป็นที่จะต้องนึกถึงความเป็นจริงในชีวิตของคนเราอย่างหนึ่งว่า คนเรานั้นมีไอคิวไม่เหมือนกัน สติปัญญานั้นมันแตกต่างกัน และในเมื่อเราไม่มีไอคิวที่เหมือนกันแล้ว แน่นอนที่สุดต่อการที่เราจะไปเข้าใจคำสอนของศาสดาผู้เป็นยอดอัจฉริยะบุคคลนั้น มันจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะเข้าถึงได้เป็นแน่ ฉะนั้นในคำสอนของศาสนาหนึ่ง ในบางครั้งแม้แต่คนในศาสนานั้นไม่เข้าใจก็ตาม แต่นั่นมิได้หมายความว่ามันไม่ได้เป็นสัจจะ แต่มีความหมายแต่เพียงว่าคนนั้นไอคิวยังต่ำเกินกว่าเรื่องนั้นเท่านั้นเอง ดังนั้นลักษณะของความสนใจของศาสนานี้ เราจึงไม่จำเป็นด้วยประการทั้งปวงที่จะต้องไปถามความแตกต่าง ผมขอสนับสนุนท่านอาจารย์ ท่านวิทยากรผู้แทนของศาสนาพุทธ ที่บอกว่าทำไมเราไม่พูดถึงสิ่งที่เหมือนกัน สิ่งที่เป็นเป้าหมายของศาสนา แล้วก็ตัวสัมฤทธิผลในการประพฤติตนตามศาสนา มันเกิดขึ้นมาซึ่งอะไรแก่ตัวเองและอะไรแก่สังคม ทำไมเราไม่พูดกันตรงนี้ เท่าที่สังเกตกันดูเวลาผมไปบรรยายที่ไหน ปัญหาที่ถามมานั้นมักจะเป็นปัญหาถามว่าทำไมมุสลิมไม่กินหมู ถามแต่ปัญหานี้แหละ ถามจนไม่ไหวจะตอบกันแล้ว ทั้งๆ ที่รู้ว่าทำไมไม่กินหมูก็ยังต้องถามกันอยู่นั่นแหละ นั่นแสดงให้เห็นว่าเรายังมีความเห็นที่จะไปสนใจในเรื่องแตกต่าง แต่เราไม่เคยสนใจในเรื่องที่เป็นแนวร่วม ในเมื่อแต่ละคนมาสนใจในเรื่องของความแตกต่าง อย่าได้หวังเลยว่าความสันติในสังคมจะเกิดขึ้นหรือที่เราแว่วว่าสันติภาพของโลกมันจะเกิดขึ้น สันติภาพของสังคมไม่เกิด สันติภาพของโลกจะไม่เกิดถ้าเราไปสนใจแต่ความแตกต่าง น่าจะใช้คำพูดที่ออกมาเป็นคำขวัญของใครของสถาบันไหนผมจำไม่ได้ที่ประทับใจ เขาบอกว่าแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ครับ แสวงจุดร่วมคือเราจะต้องพูดกันในเรื่องที่มันร่วมกันได้ ส่วนจุดต่างนั้นไม่ต้องไปพูดถึงมัน ปล่อยให้เป็นภาระของผู้ที่มีความคิดอย่างนั้น เช่นมุสลิมเขาไม่กินหมู ชาวพุทธไม่ต้องไปถามว่าทำไมต้องไม่กินด้วยมันดีเสียอีกมันจะได้ไม่ขึ้นราคาไปอีก ไม่ต้องไปถาม หรือว่าชาวพุทธเขามาไหว้พระพุทธรูป มุสลิมเขาไม่ไหว้กันหรอก มุสลิมก็ไม่ต้องมาถามว่าทำไมหนอพระพุทธรูปถึงต้องไหว้กัน ความแตกต่างครับ ไม่ต้องไปพูดถึง แต่เรามาพูดถึงจุดร่วมในการที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ทางสังคม ปัญหาชีวิตของปัจเจกชนนั้น ที่จริงมันเป็นภาพจำลองของสังคม ผมอยากจะยืนยันอย่างนั้น กล่าวคือเรามีความจำเป็นต่อชีวิตอย่างไร สังคมก็มีความจำเป็น ต้องจำลองภาพของปัจเจกชนออกไปเท่านั้น เพราะฉะนั้นในเมื่อสังคมของเราจำเป็นจะต้องอาศัยระบอบอะไร ระบอบดำเนินชีวิตของเราก็ต้องเป็นอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้นสังคมมวลชนต้องอาศัยระบอบการเมืองและระบอบเศรษฐกิจ สังคมเอกชนก็ต้องมีระบอบการเมืองและระบอบเศรษฐกิจ ต้องมีครับ การเมืองและเศรษฐกิจเป็นความบริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่มนุษย์เล่นการเมืองต่างหากที่ทำให้การเมืองมันไม่บริสุทธิ์ มนุษย์ที่เล่นการค้าต่างหากที่ทำให้เศรษฐกิจเป็นส่วนที่เสีย ในตัวของเราต้องมีระบอบการเมืองคืออย่างไร คือต้องสามารถควบคุมตัวเองได้ การเมืองคือการควบคุมครับ คือการใช้อำนาจไปบังคับ มีผู้ถูกบังคับและมีผู้บังคับ การเมืองในตัวของเรา เราต้องสามารถจะรู้ว่าเราจะมาบังคับอะไร อะไรซึ่งที่อยู่ในตัวของเราที่จะต้องอยู่ในส่วนถูกบังคับ เราต้องสามารถที่จะควบคุมใช้หลักรัฐศาสตร์แห่งตัวของเราควบคุมแล้วสถาปนารัฐะในจิตใจของเราให้ได้ว่า เราจะเอาอะไรมาเป็นรัฐบาลในใจของเรา ควบคุมตัวเราเอง นี่คือการเมืองในใจ การเมืองในตัวเราต้องเป็นอย่างนั้น แล้วเศรษฐกิจ เราต้องสามารถจะรู้ได้ว่าร่างกายของเรามันต้องการอาหารกี่ประการ แล้วก็อาหารที่เรารับประทานเข้าไปอะไรมันเป็นประโยชน์ เหล้าเป็นประโยชน์หรือเปล่า เบียร์เป็นประโยชน์หรือเปล่า หลักเศรษฐศาสตร์ในร่างกายของเรา เราจะต้องสามารถจะจำแนกออกมาได้ว่า นี่มันเป็นประโยชน์เอาเข้าได้ เอาเข้าไม่ได้ อันนี้มันเป็นประโยชน์เราก็เอาเข้าไปในร่างกายของเรา แล้วเราก็จัดระบบเศรษฐศาสตร์ในจิตใจของเรา แล้วมันก็จำลองเป็นภาพออกมาควบคุมมนุษย์เมื่ออยู่กันเป็นสังคม มันก็เป็นระบอบการเมืองและมันก็เป็นระบอบเศรษฐกิจ ระบอบการเมืองถูกสมมุติกันขึ้นมาว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยและระบอบเผด็จการ ระบอบเศรษฐกิจถูกสมมุติกันขึ้นมาว่าเป็นทุนนิยมและสังคมนิยม แต่ความจริงนั้นเป็นชื่อสมมุติ เราเอาศาสนนิยมเข้าไปประกอบในการที่จะสถาปนาระบอบการเมือง รับรองได้ว่ามันสามารถที่จะสัมฤทธิ์ผล กล่าวคือศาสนาจะต้องเข้าไปควบคุมทุกแขนงทางสังคม หลังจากที่ศาสนาเข้าไปควบคุมปัจเจกชนแล้ว ศาสนาจะต้องเข้าไปควบคุมสถาบันสังคมให้หมดครับ สถาบันการเมืองศาสนาจะต้องเข้าไปควบคุม ศาสนาไม่ได้มีความหมายเพียงแค่รูป ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่รูปธรรมเท่านั้น แต่จะต้องเจาะลึกเข้าไปถึงเนื้อหาคำสอนทางศีลธรรมอีกด้วย ต้องเจาะลึกเข้าไปถึงเนื้อหาทางสัจธรรมของศาสนาอีกด้วย ไม่ใช่มีความหมายกันแต่เพียงว่าเป็นชาวพุทธศาสนาก็อยู่ที่หิ้งพระ เป็นมุสลิมศาสนาก็อยู่ที่พระคัมภีร์กุรอ่าน มันไม่ใช่มีความหมายกันแต่เพียงเท่านั้น แต่เราจำเป็นที่จะต้องเอาศาสนาเข้าไปควบคุมเป็นรัฐะภายในหัวใจของทุกคนที่เล่นการเมือง เราก็ได้นักการเมืองที่ดีมาปกครองประเทศ เราเอาศาสนาเข้าไปควบคุมจิตใจเป็นเศรษฐศาสตร์ในบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับหลักการทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ จะตามใจหรือไม่ตามใจก็ตามทีเถอะครับ เอาศาสนาเข้าไปควบคุมรับรองได้ว่าราคามันไม่โลดแล่นออกมาจนกระทั่งว่าเราตามไม่ทัน แล้วก็ข้าวที่เราได้กินๆ นี่ เดี๋ยวๆ มันก็หายออกไป เดี๋ยวๆ มันก็ล้นตลาด เดี๋ยวๆ มันก็ต้องเข้าคิวซื้อกันทั้งๆ ที่ว่าเรามันเป็นฝ่ายซึ่งที่ผลิตข้าวขึ้นมาในประเทศของเรา น้ำตาลก็เหมือนกันมันจะต้องออกมาใสสะอาด ราคาพอกินพออยู่ ไม่ใช่ออกมาดำอย่างกับนิโกรแล้วก็ราคาก็หาซื้อกันไม่ค่อยได้อะไรทำนองนี้ นี่เพราะอะไรครับ มันเป็นปัญหาเศรษฐกิจ มันเป็นปัญหาการเมือง เราบอกว่ามันไม่ใช่ปัญหาศาสนา แต่ผมอยากจะเรียนว่าเพราะเราไม่มีศาสนาต่างหาก เศรษฐกิจมันจึงเสียการเมืองมันจึงเสีย เราต้องปลุกเร้าความสนใจของพี่น้องชาวไทยของเราว่าเล่นการเมืองแบบคนไทยเราต้องไม่ทิ้งศาสนา ชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ทิ้งไม่ได้ฉันใด การเมืองขาดศาสนาเมื่อนั้นพัง เศรษฐกิจขาดศาสนาเมื่อนั้นพัง เพราะในเมื่อนักเศรษฐกิจไม่มีศาสนามันก็มีแต่เรื่องของการกดขี่ กดราคา กักตุนสินค้า แล้วก็มีการตักตวงผลประโยชน์จากการค้าของตนเองแต่เพียงประการเดียว ไม่มีความเห็นอกเห็นใจคนจน ไม่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่มีการปฏิบัติทานแล้วก็ไม่มีการให้ทานแต่ประการใด สาเหตุที่ไม่เป็นอย่างนั้นเพราะอะไรครับ เพราะผู้ที่อยู่ในกระบวนการทางเศรษฐกิจมันไม่มีศาสนา เช่นเดียวกันกระบวนการทางวิทยาศาสตร์กระบวนการทางสอน กระบวนการทางการศึกษา กระบวนการทางผลิตและทุกกระบวนการนี่แหละครับ เมื่ออกไปสู่เป็นรายละเอียดของกระบวนการและสถาบันต่างๆ นี่ เราต้องสามารถเอาศาสนาเข้าไปควบคุมได้ เมื่อเราเอาศาสนาเข้าไปควบคุมได้ กระผมรับประกันได้เลยว่าทุกอย่างจะบริสุทธิ์ ระบอบทุกระบอบมันเป็นวิชาการอันบริสุทธิ์ การเมืองไม่เคยสกปรก แต่คนเล่นการเมืองมันสกปรก เศรษฐกิจที่เป็นระบอบออกมานั้นมันไม่เคยสกปรก แต่เพราะคนเล่นเศรษฐกิจไม่เป็น มันก็จึงสกปรก ทำไมล่ะมันจึงสกปรก เพราะมันไม่มีศาสนา เมื่อไม่มีศาสนามันก็เกิดการสกปรก แล้วอะไรคือศาสนา ผมมิได้หมายความว่าเป็นเรื่องของชื่อสมมุติ แต่ผมหมายความว่าหลักคำสอนของศาสนา เช่นนักการเมืองคนนั้นเป็นมุสลิม ก็เอาหลักคำสอนของอิสลามไปใช้สำหรับควบคุมการเล่นการเมืองของตัวเอง คนๆ นี้เป็นพ่อค้าชาวพุทธนับถือศาสนาพุทธ ก็จะต้องเอาศาสนาพุทธที่เป็นคำสอนเกี่ยวกับเรื่องของจาคะเกี่ยวกับเรื่องของการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เข้าไปควบคุมตัวเอง เพราะคำสอนที่เกี่ยวเนื่องในเรื่องเหล่านี้ความขยันก็ดี การบริจาคทานก็ดี เหล่านี้ทั้งหมดมันเป็นคำสอนในส่วนที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจโดยตรง แต่ในขณะเดียวกันขบวนการทางเศรษฐกิจจากวัตถุนิยม กระบวนการทางการเมืองจากวัตถุนิยม เขาไม่คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ เมื่อไม่สามารถที่จะคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ เหตุที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของโลกเราก็คือมีแต่ความระส่ำระสาย มีแต่ความวุ่นวาย แล้วก็สงครามมันไม่มีทางที่จะยุติครับ ตราบใดที่เรายังพยายามที่จะหลงใหลต่อระบบของวัตถุนิยมที่กระจายออกมาเป็นระบบการเมือง ที่กระจายออกมาเป็นระบบเศรษฐกิจ มาจนกระทั่งว่าในปัจจุบันนี้เราจะเห็นว่าระบบเศรษฐกิจจริงๆ นี่นะครับ คือการสร้างระบบทาส มันเกิดมีชนชั้นขึ้นมาชนชั้นหนึ่งที่เราเรียกกันว่าชนชั้นนายทุนเงินกู้ แล้วก็เกิดมาเป็นระบบธนาคารแล้วก็ระบบธนาคารนี่เองที่ผันผลประโยชน์ต่างๆ เข้าไป แล้วก็ไปสนองต่อกระบวนการซาตานมารร้าย แล้วในที่สุดมนุษย์ก็จะมีแต่ความยากไร้ แล้วมนุษย์ก็จะมีแต่เรื่องของความอ่อนเปลี้ยทางเศรษฐกิจ แล้วก็เมื่อนั้นแหละครับต่างคนต่างอยู่ แล้วเมื่อนั้นผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ที่มีรถราคาสองสามล้าน ขี่กันสี่ห้าคัน สิบกว่าคันนั้น จะต้องเข้ามาครอบครองโลก แล้วเมื่อนั้นศาสนาจะสูญออกไปจากโลก เพราะฉะนั้นกระผมจึงขอฝากคำพูดครั้งสุดท้ายเอาไว้ว่า เราต้องเข้าหาศาสนา และไม่ต้องไปพูดถึงจุดต่างทางศาสนา ถ้าจะมีปัญหาถามคืนนี้ ก็ถามปัญหาจุดร่วม ขอร้องอย่างนั้น ปัญหาจุดต่างไม่ต้องถาม แล้วเราจะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นแก่ชาวโลกด้วยประการทั้งปวง ขอบคุณมากครับ//
(ผู้ดำเนินรายการ) ผมคิดว่าแม้ท่านจะพูดให้เกินเวลาก็จะไม่ทวงถาม แต่ว่าท่านรักษาเวลาของท่านอย่างตรงเหลือเกิน ต่อไปก็ขอเชิญศานาพราหมณ์ครับ//
(คุณไฉน สมัครเสวี) สวัสดีครับ สำหรับชาวอินเดียในประเทศไทยนั้นที่นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดูก็ดี นับถือศาสนาซิกข์ก็ดี นับถือศาสนานามธารีสังคัตก็ดี ทั้งสามศาสนานี้นับถือศาสนาพุทธด้วย ถ้าพราหมณ์ เราก็เรียกว่าพราหมณ์และก็พุทธ พวกนี้ทำบุญนะครับ เวลาวันวิสาขบูชา หรืออาสาฬหบูชา อย่างที่สมาคมฮินดูสมาซผมมีเลี้ยงพระ ๒๑ องค์ แล้วก็นิมนต์พระจากที่วัดสุทัศน์ฯ มาฉันภัตตาหารที่สมาคม สำหรับอาหารที่ถวายนั้นเป็นอาหารมังสวิรัติทั้งหมด คืออย่างพวกเนื้อสัตว์ไม่มีเลย มีเต้าหู้ มีพวกผักทั้งหลาย แล้วก็มีเครื่องเทศเครื่องอะไรใส่ไปเผ็ดๆ แล้วก็อาหารพวกนั้นก็พวกโรตี พวกอะไรนี่ คือนับถือพุทธเหมือนกัน ใส่บาตรทำบุญเหมือนกัน ถ้าถวายเงินพระ เขาถวายแปลกนะ ร้อยบาทเขาไม่ถวาย เขาต้องถวายร้อยกับอีกหนึ่งบาทคือร้อยเอ็ดบาท ถามว่านายห้าง ทำไม เขาบอก เพิ่มไปหนึ่งนี่มันดีว่าอย่างนั้น คือมันมากกว่าหนึ่งร้อยบาท อันนี้ก็เรียนให้ทราบว่าจะเป็นชาวพราหมณ์ฮินดูก็ดี จะเป็นชาวซิกข์ก็ดี หรือนามธารีสังคัตก็ดี เขาทำบุญเลี้ยงพระและนับถือศาสนาพุทธเหมือนกันทั้งๆ ที่เป็นซิกข์ เป็นนามธารี และเป็นพราหมณ์ฮินดู ถ้าฉะนั้นผมจะมาต่อทางศาสนาฮินดูต่อ คำว่าฮินดูแปลว่าผู้ไม่เบียดเบียน คือผู้ไม่หิงสา ไม่หิงสาก็ตรงกับคำว่าอหิงสาคือไม่เบียดเบียน ตามคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์ฮินดู มีคัมภีร์พระเวทอยู่ ๔ อันที่ ๑ ฤคเวท เป็นบทสวดสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า คัมภีร์ที่ ๒ ยชุรเวท ว่าด้วยพิธีบูชายัญ เขาบูชายัญนี่ อย่าเข้าใจว่าเอาสัตว์มาบูชานะครับ เขาไม่ทำกัน เพราะเขาไม่เบียดเบียนสัตว์ ก็ใช้พวกถั่วงาน้ำมันเนยพวกนี้และเครื่องหอมต่างๆ บูชายัญ คัมภีร์ที่ ๓ เรียกสามเวท ว่าด้วยบทสวดสำหรับใช้ทั่วไปในกลุ่มประชาชนในพิธีกรรมต่างๆ แล้วก็อันดับที่ ๔ ก็เป็นอาถรรพเวท ว่าด้วยคาถาอาคมใช้เสกเป่าป้องกันอันตรายรักษาโรคเป็นต้น บางครั้งก็รู้สึกจะมีไสยศาสตร์เข้ามาปนเหมือนกัน อย่างครั้งหนึ่งผมไปที่โรงรีดนมวัว โรงวัว วัวมันเจ็บ เขาก็เชิญพราหมณ์ เชิญท่านบัณฑิต วิทยากรสกุลซึ่งจริงๆ ท่านจะมาบรรยายวันนี้ไปทำพิธีทางศาสนาพราหมณ์เพื่อให้เจ้าวัวมันหายป่วย แต่เห็นก็หายนะ ไม่ทราบว่าเพราะอะไรเหมือนกัน แล้วก็ในหลักธรรมของทางศาสนาพราหมณ์ฮินดูนั้น นิพพานเขาก็มีเหมือนกัน เขาเรียกว่าโมกษะหรือความหลุดพ้น แต่ว่าความหลุดพ้นของเขานั้นถือว่าวิญญาณของศาสนิกชนที่ล่วงลับดับสูญไปแล้วนี่ คือคนตาย คนอินเดียที่ตายนะครับ จะเผาภายใน ๒๔ ชั่วโมง เขาใช้วิธีเผาไม่มีการฝัง เผาให้เป็นเถ้าถ่านไป เสร็จแล้วก็ ถ้าในอินเดียเขาจะเอาเถ้าและกระดูกนั้นไปลอยในแม่น้ำคงคา ถ้าในกรุงเทพฯก็สงสัยจะแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ว่าตำรวจเขาไม่ค่อยยอมนะครับ เขาถือว่าทำให้น้ำสกปรก ก็ตามหลักศาสนาพราหมณ์ฮินดูถือว่าผู้ที่ตายแล้ว คือศาสนิกของศาสนาฮินดูที่ตายไปแล้วนั้น จะไปรวมอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า เสมือนหนึ่งไฟกองใหญ่ๆ แล้วก็มีไฟกองเล็กๆ เข้าไปรวมกับไฟกองใหญ่นั้น อันนี้เขาถือว่าเป็นโมกษะ คือเมื่อตายแล้วจะไปรวมอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า เพราะฉะนั้นขอให้ทำความดีอย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แล้วก็พระผู้เป็นเจ้าก็จะรับไปอยู่กับท่าน หลักธรรมในศาสนาพราหมณ์ฮินดูสอนในเรื่องกรรมคือให้เว้นความชั่วเหมือนศาสนาพุทธ ให้ทำความดี เราก็เรียกว่ากรรมโยคะเหมือนกัน สอนในเรื่องความรู้ความเห็นความถูกต้อง คือใช้ความรู้ความเห็นนั้นเพื่อความเจริญแก่ส่วนรวมฝ่ายเดียว ไม่ใช้ความรู้ความเห็นสร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น อันนี้กรรมโยคะ อันที่ ๒ เรียกว่าชญาณโยคะ คือไม่สร้างความความเดือดร้อนความทุกข์แก่ผู้อื่น อันนี้เรียกชญาณโยคะ แล้วก็เรื่องที่ ๓ ก็สอนในเรื่องความจงรักภักดีหรือความตั้งใจรับใช้กรรมด้วยความตั้งใจ มีความจงรักภักดีต่อการกระทำ ซึ่งเรียกว่าภักติโยคะ ภักติก็คือภักดีโยคะนั่นเอง นอกจากนี้คำสอนของศาสนาพราหมณ์ฮินดูซึ่งเป็นสาระสำคัญของธรรมก็มีย่อๆ นะครับ จงพูดแต่คำสัตย์ จงปฏิบัติแต่ทางธรรม จงพยายามหาเวลาอ่านหนังสือเกี่ยวกับธรรมะ จงอย่าประมาทในการทำความดี จงอย่าประมาทในการทำให้มีความเจริญก้าวหน้า จงอย่าประมาทในการค้นคว้าหาความรู้ทางธรรม จงอย่าประมาทในการบูชาสักการะองค์เทพเจ้า จงถือว่ามารดาเป็นเสมือนพระเจ้าองค์หนึ่ง จงถือว่าบิดาเป็นเสมือนพระเจ้าองค์หนึ่ง จงถือว่าครูอาจารย์เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง จงกระทำในสิ่งที่ดีไม่เป็นที่ติฉินนินทา จงรักษาวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีไว้ตลอดไปเพื่อพัฒนาชาติบ้านเมือง จงเคารพเชื่อฟังผู้มีวัยวุฒิและคุณวุฒิ บุคคลที่จงรักภักดีต่อมารดาผู้นั้นเป็นผู้ชนะโลกนี้ บุคคลที่จงรักต่อบิดาผู้นั้นย่อมชนะโลกสวรรค์ บุคคลที่จงรักภักดีต่อครูอาจารย์ผู้นั้นย่อมชนะโลกพระพรหม
ตามความเชื่อของพราหมณ์ ของศาสนาพราหมณ์ฮินดูนั้น มีแบ่งยุคต่างๆ ในโลกนี้ออกเป็น ๔ ยุค ยุคที่ ๑ คือสัตยยุค ยุคที่ ๒ เตตรายุค ยุคที่ ๓ ทวาปารยุค ยุคที่ ๔ กลียุค ยุคที่ ๑สัตยยุค ยุคนี้มีการทำตบะเป็นหลักสำคัญคือนั่งสมาธิเพื่อหาทางเดินไปสู่พระผู้เป็นเจ้าหรือไปสู่แสงสว่าง ยุคที่ ๒ เตตรายุค เป็นยุคที่หาความรู้จากพระฤาษีหรือเกจิอาจารย์เพื่อเดินทางไปสู่พระผู้เป็นเจ้าเป็นหลักสำคัญ ยุคที่ ๓ ทวาปารยุค เป็นยุคแห่งการทำบูชายัญเป็นหลักสำคัญเพื่อจะไปสู่พระผู้เป็นเจ้า ยุคที่ ๔ กลียุค ยุคนี้แม้กระทั่งฤาษีทั้งหลายที่เกิดในสัตยยุค เตตรายุคและทวาปารยุค ก็ยังอยากมาเกิดในยุคกลียุคนี้ เพราะยุคนี้มีพรอันประเสริฐจากพระผู้เป็นเจ้า ว่าการทำทานในสิ่งที่มีอยู่ มีน้อยก็ทำน้อย มีมากก็ทำมาก รักกันอยู่กันอย่างสามัคคีกลมเกลียวกัน จะทำให้เกิดพลังอันสูงสุด การสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าหรือระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าพร้อมกัน หรือเดินตามทางสุจริตทั้งกายวาจาและใจ ก็อาจจะไปสู่พระผู้เป็นเจ้าได้ คือไม่ยากนัก เป็นยุคที่หาพระผู้เป็นเจ้าได้ง่ายที่สุด การกระทำก็ง่ายๆ พระผู้เป็นเจ้าได้เดินตามทางดังกล่าวนี้ แล้วก็สอนให้มนุษย์ปฏิบัติตาม หลายท่านที่เดินทางตามนี้จะมีอาชีพอะไรก็ได้ แต่ก็สามารถที่จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ เป็นการกระทำที่ง่ายมาก เราจะระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าขณะที่กำลังทำงาน แม้ว่ามือทำงานอยู่จิตใจเราระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าไป จะเป็นพระผู้เป็นเจ้าของศาสนาใดก็ตาม องค์ที่เรารักเราศรัทธานับถือองค์นั้นแหละ ก็จะทำให้เรามีความสำเร็จ พบสุขอันสุดยอดคือสู่พระนิพพาน ท่านที่มีความเข้าใจและรู้ซึ้งในศาสนาแล้วจะเห็นจริงว่า พระผู้เป็นเจ้าในศาสนาต่างๆ นั้นคือพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกัน ศาสนาพราหมณ์ฮินดูมีการปฏิบัติบูชาเทพเจ้าแล้วสอนให้ทุกคนเป็นคนดี รักสันติ คืออหิงสาไม่เบียดเบียนกัน หากแต่ละคนปฏิบัติทางกายวาจาและใจบริสุทธิ์ ก็จะได้รับพรจากเทพเจ้าหรือพระผู้เป็นเจ้าให้สำเร็จในสิ่งที่ตนปรารถนาทั้งสิ้น ดังเช่นในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ได้ประมวลหลักที่เกี่ยวกับจริยธรรมและกฎหมายซึ่งจะทำให้คนประพฤติดีปฏิบัติชอบ มีข้อความตอนหนึ่งว่า เมื่อผู้ใดฝ่าฝืนธรรม ธรรมย่อมทำลายผู้นั้นจริงๆ เมื่อผู้ใดรักษาธรรม ธรรมก็ย่อมรักษาผู้นั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรละเมิดธรรม ความมุ่งหมายที่เหมือนกันทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดีมีศีลธรรม อยู่กันด้วยความสงบเรียบร้อย เอื้อเฟื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นการช่วยเสริมสร้างสังคมให้เกิดสันติสุข ดังนั้นจึงนับได้ว่าโลกจะมีสันติภาพเพราะศาสนา หรือจะกล่าวว่าศาสนาเพื่อสันติภาพของโลกก็ได้เช่นกัน ขอความสุขสันติทั้งหลายจงมีแก่ทุกท่าน โอมสันติ โอมสันติ โอมสันติ สวัสดีครับ//
(ผู้ดำเนินรายการ) ครับ เข้ารอบท่านอาจารย์วรศักดิ์ ผู้แทนศาสนาพุทธ ครับ ขออาราธนา//
(อาจารย์วรศักดิ์ วรธมฺโม) ช่วงนี้อาตมาอยากจะพูดถึงว่าธรรมะเพื่อสันติของโลก เมื่อตะกี้ได้พูดค้างไว้ว่า คนๆ หนึ่งมีกายกับจิตที่แยกกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราไปสัมผัสอะไรก็ตาม ต้องให้ถูกต้องทั้งกายและทั้งจิต อย่างเช่นว่าเราจะรับประทานอาหารนี่ กายก็ต้องรับประทานให้ถูกต้อง จิตก็ต้องไม่เป็นทุกข์ ไม่ให้เกิดกิเลสในทางจิต เวลาได้ลาภได้ยศได้ชื่อเสียงเป็นต้น ทางกายก็ต้องรับให้ถูก ทางจิตก็ต้องพยายามไม่ให้เกิดทุกข์หรือเกิดกิเลส ก็แสดงว่าการกระทำข้างนอกนั่นน่ะ เป็นเรื่องทางกาย แต่ต้องมีจิตที่ถูกต้องควบคุมอยู่ในภายใน เมื่อเราทำมาหากิน เราไม่เคยพูดว่าให้ทำมา เราพูดแต่ทำมาหากิน ก็ไปทำมาหากินเลย แต่ไม่เคยพูดว่าให้ทำมาหากินด้วยจิตใจอย่างไร ไม่ได้พูดถึง หรือว่าถ้าจะควบคุมหรือบังคับตัวเอง ก็ไม่เคยบอกว่าให้บังคับ ให้บังคบคนอื่นหรือปกครองคนอื่นนี่ด้วยจิตใจอย่างไร เพราะฉะนั้นเมื่อเราไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลาย เราจะต้องเกี่ยวข้องด้วยจิตใจอย่างไร เพราะฉะนั้นเรื่องทางกายกับเรื่องทางจิตจึงต้องทำไปพร้อมกัน ฉะนั้นเมื่อศาสนาได้แก้ไขปัญหาทางจิตของมนุษย์นี่ ให้มนุษย์มีจิตที่ถูกต้องคือไม่มีกิเลสนี่ เขาจะไปเกี่ยวข้องกับอะไรก็ตามย่อมทำถูกต้องหมด เช่นไปเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคม การเมืองทุกอย่างก็ต้องทำถูกต้องหมด ที่มันผิดเพราะเหตุว่าเราเกี่ยวข้องด้วยจิตใจที่ผิด จิตใจข้างในนี่แหละเป็นตัวควบคุมพฤติในภายนอกให้ถูกหรือให้ผิด ให้ดีหรือชั่ว เพราะฉะนั้นเราจึงแยกออกจากกันไม่ได้ ถ้าหากว่าเราสามารถแก้ไขปัญหาทางจิตตัวนี้ได้ สิ่งที่เรียกว่าความรักผู้อื่นนี่ จะต้องเกิดขึ้น ฉะนั้นศาสนาทุกศาสนาจะเน้นตัวความรักผู้อื่นอยู่ในทุกศาสนา ถ้ามันมีความรักผู้อื่นจริง ถ้ามีความรักผู้อื่นจริง ในความรักผู้อื่นนั่นแหละที่เราเรียกว่าเมตตา เป็นเมตตาสากล ในตรงนั้นจะไม่ทำบาปด้วยประการทั้งปวง การผิดศีล การอบายมุขนี่จะไม่เกิดขึ้นเมื่อมีความรักผู้อื่น และการทำดีให้ถึงพร้อมก็จะเกิดขึ้น และในความรักผู้อื่นนั้นจะมีจิตที่บริสุทธิ์ คือการชำระจิตให้บริสุทธิ์ด้วยอำนาจของความรักผู้อื่น เมื่อมีความรักผู้อื่น กายของเราก็จะปกติ จิตใจก็ปกติ ปัญญาความคิดเห็นก็ปกติด้วยสิ่งที่เรียกว่าความรักผู้อื่นนั้น ศาสนาทุกศาสนาก็สอนให้เราเป็นคนปกติทางกาย ทางจิตใจ ทางปัญญา กายของเราก็ต้องมีความปกติก็คือไม่ผิดศีล จิตใจของเราก็ปกติคือเป็นคนที่มีจิตใจสงบ มีสันติ แล้วก็ปัญญาของเราก็ปกติ คือเมื่อความรักผู้อื่น เราก็จะเป็นปัญญาที่ถูกต้องก็คือไม่เห็นแก่ตัว ศาสนาทุกศาสนาจะสอนเรื่องความยุติธรรม เดี๋ยวนี้เราเรียกร้องความยุติธรรม แต่เราเรียกร้องความยุติธรรมพูดกันแต่ทางวัตถุ ฉะนั้นหลักธรรมข้อหนึ่งที่จะทำให้โลกมีสันติ นั่นคือความยุติธรรม สมมุติว่าอาตมาจะแจกขนมสามชิ้นให้กับคนสองคน เขาก็บอกว่าก็ต้องแบ่งให้คนละชิ้นครึ่งจึงจะยุติธรรม ทีนี้คนหนึ่งมันบอกว่าไม่ยุติธรรม ชิ้นครึ่งน่ะผิด อีกฝ่ายหนึ่งยังได้มากกว่าอีกนิดหนึ่ง มันบอกไม่พอใจ อีกคนบอกว่าฉันหิวมากฉันควรจะได้มาก ทั้งๆ ที่วัตถุเราคิดว่ายุติธรรมแล้ว แต่ก็ยังมีข้อที่ยุติไม่ได้ คำว่ายุติธรรมนี่ แปลว่าสิ่งที่จะทำให้เรื่องนั้นยุติได้ คือยุติธรรม ทำไมเราไม่พูดถึงเรื่องทางจิตบ้างล่ะ ว่าจิตที่ไม่ยึดถือ จิตที่พอ จิตที่มีสันโดษ จิตนั้นแหละจะทำให้เรื่องทั้งหลายยุติได้ สมมุติว่าแบ่งขนมสามชิ้นให้กับคนสองคน ให้คนที่หนึ่ง คนที่หนึ่งก็บอกว่าฉันจะได้สักกี่ชิ้นก็ได้ ฉันพอใจ คนๆ นั้นก็ยุติได้ อีกคนหนึ่งถามว่าแกจะเอากี่ชิ้น แกบอก ฉันกี่ชิ้นก็ได้ อีกคนหนึ่งก็ยุติ ทั้งสองฝ่ายก็ได้รับความยุติธรรม ส่วนขนมนั้นมันเป็นเรื่องทีหลังจะแบ่งกันยังไงก็แล้วแต่ อีกคนหนึ่งอาจจะไม่ทานอาหารกลางวันมาเลย ก็เอาไปสามชิ้นก็ยังได้ ถ้าจิตมันยุติ คือจิตมันพอ จิตมันปล่อยวาง จิตมันไม่ยึดถือได้ล่ะก็ ความยุติธรรมก็จะเกิดขึ้น เดี๋ยวนี้เราพูดแต่ความยุติธรรมทางวัตถุ พ่อแม่แบ่งมรดกไว้ให้ลูกสามคน แบ่งอย่างยุติธรรมแล้ว แต่ทีหลังลูกมาทะเลาะกัน ฟ้องร้องกัน ขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะว่าจิตของลูกนั้นไม่ยุติธรรมก็คือไม่มีศาสนา ถ้ามีศาสนาก็จะเห็นว่ามันปล่อยวางได้ พอได้ อิ่มใจตัวเองได้ เมื่อจิตพอแล้วของวัตถุข้างนอกนี่ ก็ต้องไม่มีปัญหา ฉะนั้นคนที่มีความสันโดษอิ่มใจตัวเองนี่แหละ คนนั้นจะได้รับความยุติธรรมจนตลอดชีวิต คือได้มากได้น้อยก็ไม่ติดใจ ไม่ยึดถือ แต่เรื่องข้างนอกก็แก้ไขไปตามเรื่องไปตามหน้าที่ ฉะนั้นศาสนาสอนให้เราได้รับความยุติธรรมโดยสอนในเรื่องทางจิตก่อนแล้วเรื่องทางวัตถุทีหลัง นี้ไม่เป็นปัญหา เดี๋ยวนี้บุคคลส่วนบุคคล สังคมต่อสังคม กลุ่มชนต่อกลุ่มชนนี่ รู้สึกว่าไม่มีความยุติธรรม เพราะว่าขาดหลักธรรมทางศาสนาคือความยุติธรรมในทางจิต นี่คือความยุติธรรมที่เรียกว่าเป็นคุณธรรมที่จะทำให้โลกมีสันติ แรกสุดนั้นยังไม่มีคน มีแต่ธรรมะหรือมีกฎธรรมชาติ แล้วคนก็มาเกิดทีหลัง คนเกิดทีหลังกฎธรรมชาติ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าคนมาเกิดทีหลังพระเจ้า พระเจ้าเกิดก่อน ทีนี้คนมันมีกิเลส เผลอตัว คนมันมีกิเลส ทีนี้ศาสนาทำคนให้หมดกิเลส เมื่อหมดกิเลสคนก็สงบ เพราะกิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อกิเลสเป็นเหตุที่เกิดทุกข์ เมื่อทำคนให้หมดทุกข์ได้ คนก็ถึงสันติ เพราะฉะนั้นธรรมะทุกข้อในทางศาสนาน่ะ เพื่อทำให้คนมีสันติ ไม่ว่าศาสนาทุกศาสนาในโลกนี้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราละทิ้งศาสนาแล้วสันติก็ไม่มีในโลก นี่อาตมาเอามาเพียงสองข้อ คือความรักผู้อื่นกับความยุติธรรมเป็นต้น เอามาพูดให้ฟังว่าถ้าเรามีคุณธรรมสองข้อนี้ โลกมีสันติ มันมีกฎหรือมันมีสูตร ในการที่เราจะทำอะไรให้สำเร็จนี่ มันต้องมีสูตร จะทำขนมเค้กสักชิ้นหนึ่งก็ต้องอาศัยสูตร ในการแก้ปัญหาของมนุษย์หรือทำความสันตินี่ มันก็ต้องมีสูตร ต้องทำตามสูตร ศาสนาบอกสูตรให้ ทุกศาสนาจะบอกสูตรที่จะนำไปสู่สันติ ตัวสูตรก็คือตัวธรรมะชื่อต่างๆ นั้น เราไม่สามารถที่จะไปถึงสันติภาพได้ ถ้าเราทำผิดสูตร นี่คือธรรมะที่จะทำให้โลกมีสันติภาพ ตามเรื่องที่ได้ตั้งให้บรรยาย อาตมาก็ขอยุติหัวข้อว่า คุณธรรมที่จะทำให้โลกมีสันติเอาไว้เพียงเท่านี้//
(ผู้ดำเนินรายการ) ท่านผู้มีเกียติที่เคารพ รายการบรรยายตามที่กำหนดหมายกันว่ารอบแรก ๒๐ นาที รอบหลังอีกท่านละ ๑๐ นาทีนั้นได้ผ่านไปแล้ว กระผมในฐานะผู้ดำเนินการ ยังไม่ทำหน้าที่ของผู้ดำเนินการในการสรุปและก็จะไม่ทำหน้าที่อันนี้ด้วย แต่จะมอบหน้าที่นี้ถวายแด่พระเดชพระคุณท่านอาจารย์สรุปในตอนหลัง สำหรับในช่วงนี้เป็นเวลาของท่านผู้ฟังทุกท่านได้ร่วมในรายการศาสนสัมพันธ์ประการที่สองคือการถามปัญหา กระผมต้องขอกราบขอบพระคุณที่ได้มีปัญหาขึ้นมามากมาย คิดว่าคงจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังอย่างกว้างขวาง แต่ก่อนที่จะเข้าปัญหานั้น มีชีตชิ้นหนึ่งไม่เป็นปัญหาแต่เป็นคำขอร้อง กระผมจะขออ่านเพื่อท่านผู้ที่ถูกขอร้องได้กรุณาทำหน้าที่สัก ๑๐ นาทีครับ “ขอให้คุณวินัยทบทวนเรื่องการเมือง เศรษฐกิจในตัวเองและสังคมอีกครั้งหนึ่ง เพราะเมื่อตะกี้ท่านพูดเร็วเกินไป จับใจความไม่ทัน กรุณาอธิบายช้าๆ และชัดเจน ขอบพระคุณครับ-ชาวพุทธ” ขอเชิญคุณวินัย ครับ//
(คุณวินัย สะมะอุล) ขอขอบพระคุณท่านที่ได้ส่งจดหมายฉบับนี้ขึ้นมาครับ ความจริงก็เป็นแต่เพียงลักษณะของการเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นชัดในเชิงของจะเรียกว่าประยุกต์หรือยังไงก็แล้วแต่ท่านจะเรียกเถอะ แต่ก็เป็นเพียงข้อเปรียบเทียบเพื่อที่จะให้เห็นว่าลักษณะของสังคมส่วนภายนอกนั้น มันเป็นตัวจำลองไปจากส่วนสังคมในภายในของเรา กระผมได้เรียนไปเมื่อสักครู่นี้ และท่านผู้แทนศาสนาพุทธก็ได้รับรองเป็นเรื่องจริง แล้วก็คิดว่าทุกศาสนามีความเห็นตรงกันว่ามนุษย์เรานั้นประกอบด้วยส่วนสำคัญอยู่สองส่วน คือส่วนที่เป็นจิตและส่วนที่เป็นกาย หรือจิตภาพและก็ส่วนที่เป็นกายภาพ ซึ่งทั้งสองส่วนนี้มันทำหน้าที่ที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นในเมื่อเรามามองดูถึงความเป็นจริงแล้ว เราก็จะต้องหันมาถามปัญหาอีกสักข้อหนึ่งว่าแล้ว ระหว่างกายกับระหว่างจิตนี่ ใครควรจะคุมใคร เราก็จะต้องตอบได้ทันทีเลยว่าต้องเอาจิตไปคุมกาย ไม่ใช่กายไปคุมจิต ซึ่งลักษณะของความคิดตรงนี้แหละอาจจะแตกต่างกับความคิดในลักษณะที่เป็นวัตถุนิยม ตรงที่ว่าวัตถุนิยมนั้นเขาถือกันว่าต้องเอาวัตถุมาคุมจิต ไม่ใช่เอาจิตไปคุมวัตถุ เพราะถ้าหากว่าวัตถุไม่เป็นตัวยั่วยวน ไม่เป็นตัวล่อแล้ว รับรองว่าจิตไม่หลง เขาคิดอย่างนั้น แต่ความเป็นจริงนั้นเรื่องของสัจจะที่แท้จริงนั้น การแก้ไขปัญหาต้องแก้ไขกันไปพร้อมๆ กันทั้งสองด้าน แต่ถ้าเราจะถามว่าผู้ที่จะมาคุมกันจริงๆ ควรจะเป็นใคร เราก็จะต้องยอมรับว่ามันเป็นภาวะของจิตนี่แหละที่จะมาคุม เพราะฉะนั้นระบบการเมืองในกายของเรามันก็เกิดขึ้นตรงนี้ เพราะในเมื่อมีผู้คุมมีผู้ถูกควบคุม มีการใช้อำนาจและมีการถูกใช้อำนาจ มันก็เป็นเรื่องของการเมือง สุดแท้แต่ว่าอำนาจที่เราใช้นั้นเอาอำนาจที่ใช้นั้นใช้ไปเพื่ออะไร การเมืองในร่างกายของคนเรา ในบางทีเราเอาจิตของเรานี่ มาคุมร่างกายเหมือนกันครับ แต่แทนที่จะคุมร่างกายของเราไปทำในสิ่งที่ดี เราก็คุมร่างกายของเราเดินเข้าซ่อง คุมร่างกายของเราเดินไปอาบอบนวด คุมร่างกาย คุมเหมือนกันครับแต่ว่าคุมออกไปดำเนินการในทางที่ผิด นั่นแสดงให้เห็นว่าเราเสียการเมืองในตัวของเรา ไม่ได้คุมการเมืองไปในทางที่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าในอีกนัยยะหนึ่ง เราเอาจิตของเรามาคุมร่างกายของเรา มาวัด มาดูธรรมสถานของท่านอาจารย์พุทธทาส หรือว่าเราคุมร่างกายของเรานี้ไปแสวงหาการศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เราคุมร่างกายของเราเพื่อที่จะไปช่วยเหลือไปเจือจานไปแจกทาน ลักษณะที่เป็นอย่างนี้มันก็เป็นการควบคุมที่ถูกต้อง และก็เป็นลักษณะการเมืองในจิตใจของเราที่กล่าวกันว่าถูกต้องตามหลักการของศาสนาและหลักการของสัจจะ เพราะฉะนั้นระบบการเมืองที่เกิดขึ้นในจิตในตัวของเรานี่ เราต้องสามารถที่จะเอาจิตภาพของเรานี่มาคุมกายภาพ และตัวจิตภาพนี่มันประกอบด้วยกับภาวะหลายภาวะที่รวมตัวกัน ซึ่งเราอาจจะเรียกศัพท์นั้น มันอาจจะเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละศาสนา แต่ผมมีความมั่นใจว่าในเรื่องของจิตวิทยาของแต่ละศาสนานั้นออกผลมาในรูปแบบที่เป็นอย่างเดียวกัน สำหรับศาสนาอิสลามนั้นเราถือกันว่าตัวจิตภาพนี่ มันก็ประกอบขึ้นมาด้วยกับอารมณ์ อารมณ์นั้นก็คือความอยาก แล้วก็อารมณ์นี้เราแบ่งออกมาได้เป็น ๗ อารมณ์ด้วยกัน มันเป็นอารมณ์ระดับหยาบสุดไปจนกระทั่งถึงอารมณ์ระดับที่เรียกกันว่าเป็นอารมณ์วิสุทธิ เป็นอารมณ์ที่ดับสนิทแล้วโดยสิ้นเชิง ซึ่งในทฤษฎีจิตวิทยาของอิสลามเราแยกอารมณ์ทั้งหมดออกมาเป็น ๗ อารมณ์ด้วยกัน และนอกเหนือไปจากนั้น เรายังแยกออกไปเป็นตัวปัญญา แล้วก็เป็นตัววิญญาณ ซึ่งทั้งสามอันนี้เราถือกันว่าเป็นส่วนที่ประกอบกันขึ้นแล้วมันก็เป็นตัวจิตภาพ เพราะฉะนั้นการที่เราจะควบคุมตัวของเรา เรียกว่าระบบการเมืองในการควบคุมตัวของเรานี่นะครับ เราก็จำเป็นที่จะต้องสร้างภาวะทางจิตของเรานี่ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ คือวิธีอย่างไร ก็คือวิธีตัดกิเลสออกไป วิธีตัดอารมณ์ไม่ให้เกิดตัณหา ในเมื่ออารมณ์มันดับสนิท แล้วก็เป็นอารมณ์ที่กล่าวกันว่าเย็นสนิทหรือที่เราเรียกกันว่าเป็นนิพพานไปแล้ว ลักษณะที่เป็นอย่างนั้นแหละจึงจะเป็นอารมณ์ที่เอามาใช้สำหรับการควบคุมร่างกาย นั่นก็คือลักษณะของจิตภาพหรือว่าตัวปัญญาตัวจิตใจ ที่รวมตัวกันขึ้นอยู่แล้วก็สามารถที่จะเอามาควบคุมในร่างกายของเรา ลักษณะที่เป็นอย่างนี้เป็นที่เราอาจจะเปรียบเทียบกันว่านั่นเป็นระบอบการเมืองในจิตในร่างกายของเรา เพราะคำว่าว่าการเมืองนั้นแปลว่าการใช้ การปกครอง การถูกปกครอง การใช้อำนาจของฝ่ายปกครองมาสำหรับผู้ถูกปกครอง แล้วการที่เราจะใช้จิตของเรามาคุมตัวเราเอง บางทีเราก็ต้องลงโทษตัวเราเองอะไรในทำนองนี้ มีการลงโทษตัวเราเอง ผมเขียนหนังสืออยู่เล่มหนึ่งนะครับ ผมเขียนแล้วผมบรรยายทางวิทยุกระจายเสียง ผมตั้งชื่อหนังสือและบทความทางวิทยุของผมว่าสมรภูมิอารมณ์ แล้วก็ได้แยกแยะถึงวิธีการที่จะเอาชนะอารมณ์ สามารถควบคุมร่างกายได้โดยทฤษฎีของอิสลาม แล้วก็ในเมื่อได้มาตรวจสอบกับศาสนาต่างๆ แล้ว ผมก็คิดว่านี่มันเป็นแนวทางอันเดียวกันสำหรับในการที่เราจะควบคุมปัญหาแล้วก็จิตใจของตัวเราเอง นี่ก็คือข้อเปรียบเทียบย่อๆ เกี่ยวกับเรื่องของการเมือง มันก็เหมือนกันกับระบอบการเมืองของสังคมใหญ่ คือระบอบการเมืองของประเทศ ถ้าหากว่าผู้ที่มาตั้งสถาบันการเมือง การเมืองในระบอบประชาธิปไตยของเราประกอบด้วยอะไรครับ ประกอบด้วยกับอำนาจนิติบัญญัติ ประกอบไปด้วยกับอำนาจบริหารและประกอบไปด้วยกับอำนาจตุลาการ ทั้งสามอำนาจนี้ก็จำลองออกไปจากอำนาจการเมืองในตัวเราอีกเหมือนกัน ถ้าพิจารณาให้ดี คืออำนาจนิติบัญญัตินั้น ตัวเราเองนี่จิตใจต้องสามารถสร้างระเบียบให้แก่ตัวเองคืออำนาจนิติบัญญัติ ตรงกันกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสภาผู้แทน มาเพื่ออะไร มาเพื่อที่จะทำนิติบัญญํติ เพื่อสร้างระเบียบให้เกิดขึ้นในการปฏิบัติ นี่คืออำนาจในตัวเราที่มีอยู่แต่เดิม แล้วจำลองไปเป็นอำนาจของรัฐ และอำนาจที่ ๒ คือการบริหาร เราจำเป็นจะต้องบริหารตัวของเรานี่ให้เป็นไปตามระเบียบที่เราวางเอาไว้ตั้งแต่เดิม เช่นเดียวกับรัฐบาลนำโดยนายกรัฐมนตรี ก็จำเป็นจะต้องบริหารระเบียบการต่างๆ ที่กำหนดเอาไว้ให้มันเป็นไปตามระเบียบนั้น แล้วอันที่ ๓ มีอำนาจตุลาการ เราต้องสามารถจะตัดสินว่าตัวเราเองนี่เวลานี้ไปทำผิดแล้ว เช่นเวลานี้เราไปสำมะเลเทเมา เราก็จะต้องตัดสินด้วยความเฉียบขาดของเราว่าเวลานี้เรากำลังทำผิด เราจะต้องลงโทษตัวเราเองด้วยวิธีไหน ก็แบบเดียวกันกับอำนาจตุลาการที่ประธานศาลฎีกาเป็นผู้ใช้อำนาจนั่นแหละ สำหรับที่จะไปตัดสินกรณีพิพาทของบรรดาผู้ที่ทำผิดทั้งหลาย นี่เป็นลักษณะที่จำลองออกไปอย่างนี้ ดังนั้นการเมือง จะการเมืองข้างนอกก็คือการเมืองข้างใน ฉะนั้นถ้าหากว่าข้างในของเราต้องอาศัยจิตใจแล้วก็ความบริสุทธิ์ความสะอาดปราศจากกิเลส ระบอบการเมืองซึ่งมีรัฐะเป็นตัวแกนกลางแล้วก็มีอำนาจทั้งสามอย่าง ก็จะต้องเอาคนที่มีอำนาจที่มีความบริสุทธิ์ไม่มีกิเลสด้วย มันจึงจะเป็นการเมืองที่บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นถ้าอำนาจตุลาการ บุคคลที่ใช้อำนาจตุลาการเป็นผู้พิพากษา เป็นคนที่รับสินบนล่ะครับ เป็นคนที่ใครเอาไก่หิ้วไปให้หน่อยหนึ่งก็รูปคดีผิดไปแล้ว หรือตั้งแต่กระบวนการสถิตยุติธรรมขั้นต้นคือตำรวจนี่ ถ้าหากว่ามันมีกิเลสอยู่ในหัวใจ ไม่มีความบริสุทธิ์แล้ว เพียงแต่ว่าเอาเงินไปทุ่มหน่อยความผิดเป็นความถูก ความถูกเป็นความผิด มันเสียระบบไปหมด คือระบบการเมืองทั้งหมดเป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วระบบเศรษฐกิจก็ ผมคิดว่าจากตัวของเราก็สามารถที่จะเปรียบเทียบออกไปเป็นระบบแบบเดียวกันอย่างนั้น การเศรษฐกิจนั้นมีการผลิต มีการบริโภค มีการจำหน่ายใช่ไหมครับ ตัวของเรานี่ ในตัวของเราก็มีลักษณะการผลิต การผลิตอะไร คือการผลิตเศรษฐกิจให้แก่ตัวเราเอง เรากรีดสวนยาง เราต้องรู้ว่าอำนาจการผลิตของเราเท่าไหร่ แล้วบริโภค เราบริโภคผลได้ต่อสวนยางของเราในตัวของเรา ในครอบครัวของเราอย่างไร แล้วในการแจกจ่าย คือสิ่งที่เป็นรายได้ของเรา เราแจกจ่ายให้แก่คนในครอบครัวของเราอย่างไร และเราเอาไปแจกจ่ายให้แก่คนกลางที่จะซื้อออกไปเป็นอย่างไร ลักษณะที่เป็นอย่างนี้ เป็นระบอบเศรษฐกิจซึ่งพอขยายออกไปในรูปของเศรษฐกิจของสังคมหรือของประเทศชาติ มันก็เป็นระบอบของการผลิตระบอบของการบริโภค แล้วมันก็เป็นระบอบของการจัดจำหน่ายนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าผู้ที่บริหารระบอบเศรษฐกิจนี้เป็นคนที่มีแต่กิเลสล่ะครับ แน่นอนที่สุด การผลิตเอย การจำหน่ายและการบริโภคนี้มันไม่มีความสมดุล พอไม่มีความสมดุล ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้น ความปั่นป่วนทางสังคมมันก็เกิดขึ้น พอทั้งสองอย่างนั้นมันเกิดเป็นตัวปัญหาทางสังคมแล้ว ความขัดแย้งเกิดขึ้น ความแตกแยกเกิดขึ้น แล้วก็ในที่สุดการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจรัฐมันก็เกิดขึ้น และนั่นแหละครับคือที่มาของการปฏิวัติ ที่มาของอะไรต่ออะไร ที่มาของสงครามมากมายก่ายกอง ซึ่งมันจะเกิดขึ้นมาตามหลัง เพราะจัดระบอบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศไม่ดีพอ สืบเนื่องไปจากระบอบเศรษฐกิจและการเมืองภายในปัจเจกชนนั้นมันยังไม่ดีพอ เพราะฉะนั้นเราจะต้องเอาคุณธรรมที่ศาสนาต่างๆ สอนเอาไว้ เข้าไปสถิตสถาพรอยู่ เป็นผู้คุ้มครองการเมืองในตัวเรา ผู้คุ้มครองเศรษฐกิจในตัวเรา แล้วมันจะออกไปคุมครองเศรษฐกิจการเมืองของประเทศชาติสืบต่อไปครับ ผมคิดว่าท่านผู้ที่ส่งมานี้คงพอจะเข้าใจนะครับ//
(ผู้ดำเนินรายการ) ต้องขอกราบขอบพระคุณท่านผู้ฟังทั้งหลายเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกันทำให้รายการศาสนสัมพันธ์มีคุณค่าสมบูรณ์ ท่านได้ถามปัญหาขึ้นมามากเหลือเกิน คือเกินคาดหมายทีเดียวครับ เวลานี้คิดว่า ๔๐ นาทีอาจจะไม่พอต่อการตอบปัญหาทั้งหมดนี้ แต่อย่างไรก็ตามเวลานอกยังมีอยู่นะครับ คืนนี้จนถึงย่ำรุ่ง เราก็อยู่กันได้ สำหรับปัญหาที่จะถาม ให้ท่านผู้ตอบ ตอบนั้น ก็ขอได้โปรดทำความเข้าใจกันไว้ก่อนว่า โปรดตอบกันอย่างรวบรัด เพื่อให้ได้ปัญหามากๆ ให้ได้ใจความ แต่ว่าอย่างรวบรัด ไม่ต้องมาก ปัญหาแรกที่จะเรียนถามพระคุณเจ้านะครับ ให้พระคุณเจ้าพระอาจารย์วรศักดิ์ตอบ เพื่อให้คุณวินัยได้พักเหนื่อยสักเล็กน้อย ถามขึ้นมาว่า “ถ้าไม่ต้องการให้พูดถึงความแตกต่างของศาสนาแล้ว ทำไมถึงต้องแบ่งแยกออกเป็นหลายศาสนาด้วย ขอให้อธิบายให้แจ่มแจ้งด้วย จะขอขอบพระคุณอย่างสูง”//
(พระอาจารย์วรศักดิ์ วรธมฺโม) ผู้ฟังคงจะไม่ได้ฟังพระเดชพระคุณท่านอาจารย์พูดในตอนแรกว่าศาสนาเกิดขึ้นในสถานที่ต่างกัน เวลาต่างกัน กลุ่มชนที่ต่างกัน พูดถึงสิ่งเดียว แต่พูดกันด้วยภาษาที่ต่างกัน ด้วยสำนวนที่ต่างกัน เพื่อให้คนกลุ่มนั้นได้เข้าใจ บางศาสนาเกิดขึ้นในกลุ่มชนที่จะต้องพูดกันด้วยเรื่องของปัญญา บางศาสนาเกิดขึ้นในกลุ่มชนที่ต้องพูดด้วยเรื่องของศรัทธา บางศาสนาเกิดขึ้นในกลุ่มชนในเวลาที่ต้องพูดกันด้วยเรื่องความวิริยะเหล่านี้เป็นต้น มันไม่ได้เกิดที่เดียวกัน เวลาเดียวกันหรือเกิดพร้อมกัน ก็เกิดในสถานที่ต่างกัน เวลาต่างกัน มันก็ต้องมีหลายศาสนาเป็นแน่ เพราะว่าในที่หนึ่งคนหนึ่งค้นพบสัจจะก็มาเปิดเผย ในที่หนึ่งคนหนึ่งพบสัจจะก็มาเปิดเผย แม้ว่าจะเป็นสัจจะอย่างเดียวกัน นี่มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ได้ใครไปเป็นเจตนาจะทำให้มันแตกแยกเป็นหลายศาสนาหรอก มันเป็นขึ้นโดยธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ก็เหมือนกับว่าเราพูดว่าโต๊ะ ที่อื่นอาจจะพูดว่า table หรือภาษาว่าต๊าบ อะไรก็ตาม มันก็แตกต่างกันไป แต่หมายถึงโต๊ะตัวเดียวกัน หมายถึงโต๊ะสิ่งเดียวกัน มันไม่มีใครที่จะไปเจตนาแบ่งแยกให้เป็นศาสนานั้นศาสนานี้ มันเป็นไปตามธรรมชาติ//
(ผู้ดำเนินรายการ) ครับ ปัญหาต่อไป ทราบว่า ๔ จังหวัดภาคใต้ ประชาชนกำลังแยกเรื่องศาสนาอย่างหนัก คนอิสลามที่พูดไทยได้บางส่วนไม่ยอมพูดและนักเรียนส่วนมากถูกสั่งสอนไม่ให้นับถือศาสนาพุทธ ท่านจะมีวิธีการอย่างไรที่จะแก้ไขเรื่องศาสนาของ ๔ จังหวัดภาคใต้เพื่อจะได้เกิดความสามัคคี ความแบ่งแยกจะได้หมดไป เชิญคุณวินัย ครับ //
(คุณวินัย สะมะอุล) คือปัญหานี้ครับ เป็นปัญหาสลับซับซ้อน เป็นปัญหาที่ไม่สามารถจะแก้ด้วยกับปากได้ เพราะฉะนั้นถึงจะตอบไปเท่าไหร่ ก็คงไม่สามารถจะแก้ได้ แต่อยากจะเรียนว่า ที่จริงแล้วปัญหาภาคใต้ไม่ใช่ปัญหาแตกต่างของศาสนา ไม่ใช่เด็ดขาดเลย ไม่ใช่เพราะคนมุสลิมกับคนพุทธ แต่เป็นเพราะเหตุความไม่เข้าใจพื้นฐานเบื้องแรกระหว่างผู้ไปปกครองกับผู้ถูกปกครอง คือปัญหาทางการเมือง ครับ เนื่องมาจากต่างฝ่ายคือฝ่ายที่เป็นผู้ไปปกครองกับฝ่ายที่ถูกปกครองจะต้องรู้เสียก่อนว่าอะไรคือการเมือง แต่ละคนที่ถูกส่งไปทำการปกครองนั้น ไม่รู้กระทั่งว่าอะไรคือการเมือง อะไรคือศาสนา เอาศาสนาเข้าไปเป็นการเมืองเอาการเมืองเข้าไปเป็นศาสนายุ่งไปหมดเลย เพราะฉะนั้นมันจึงเกิดปัญหาที่หาจุดจบไม่ได้ ถ้ากระผมอยากจะเรียนต่อท่านพี่น้องที่เคารพทั้งหลายว่าความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นใน ๔ จังหวัดภาคใต้นั้น มันเป็นเกิดขึ้นมาจากผลประโยชน์ขัดกันในทางเศรษฐกิจและเรื่องของความไม่เข้าใจในเรื่องของการเมืองนี้ คิดว่าคงจะเข้าใจกันได้เป็นอันดี เพราะความเป็นจริงนั้นถ้าเราจะบอกว่าเพราะนับถือศาสนาต่างกันแล้ว แน่นอนที่สุดแล้วนอกจาก ๔ จังหวัดภาคใต้ มีอีกมากมายก่ายกองที่นับถือศาสนาต่างกัน ทำไมไม่เป็นปัญหา แม้กระทั่งมาเลเซียนับถือศาสนาต่างกันมันก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าจะมีปัญหาเกิดขึ้น นั่นจะต้องมาจากจุดระเบิดของปัญหาอื่น ไม่เป็นเพราะการเมือง ก็จะต้องเป็นเพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นเราจะลองเปรียบเทียบกันดูว่าใน ๔ จังหวัดภาคใต้นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนับถือศาสนาพุทธ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปที่ ๔ จังหวัดภาคใต้นั้น เราจะพบว่าพี่น้องมุสลิมนั้นให้การต้อนรับเป็นอันดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทราบดีว่าเป็นมุสลิมนี่ การเข้าหาใครนั้นไม่มีการกราบไหว้ ไม่มีลักษณะของการกราบ เพราะคำสอนอิสลามถือว่าการกราบนั้นสงวนเฉพาะสำหรับพระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงประการเดียว เพราะฉะนั้นพระองค์ท่านคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้ไปฝืนใจมุสลิม ดังนั้นท่านเข้าไปไหนก็เข้าได้ เดินออกไปจากวังนี่ ไม่ต้องมีองครักษ์และก็ได้รับการหวงแหนเป็นอันดีจากพี่น้องมุสลิม ถ้าหากว่าปัญหามันเกิดขึ้นเพราะศาสนาต่างกันแล้ว คงไม่มีใครเคารพในหลวง แต่ปรากฎว่าในหลวง ไปดูเถิดครับ บ้านของพี่น้องมุสลิมของเรานี่จะมีแต่รูปในหลวงติดอยู่ ผมเคยไปที่จังหวัดสตูลไปเจอคนแก่คนหนึ่ง แกนั่งอยู่ วันนั้นวันที่ในหลวงจะเสด็จไปเปิดมัสยิดกลางของจังหวัดสตูล ผมถามว่า นี่ แช มาจากไหน เขาบอกว่ามาจากตำบลอะไรผมก็จำไม่ได้ว่าอำเภอไหน เขาบอกว่าต้องเดินมา เดินมาถึงตั้งแต่เช้าวานนี้ มาทำไมนี่ตั้งใจ เขาบอกว่ามาดูในหลวง ไม่เคยเห็น ความซื่อสัตย์มันมีอยู่ เพราะฉะนั้นอย่าไปมองปัญหาความแตกต่างระหว่างศาสนา ถ้าหากว่าศาสนาสอนให้มีการรบรบราฆ่าฟันเพราะความแตกต่าง มันจะต้องเกิดขึ้นมาจากที่อื่นด้วย แต่นี่มันเป็นปัญหาหมักหมมมาจากความไม่เข้าใจของผู้ที่ไปปกครองได้แก่ข้าราชการประจำอะไรต่ออะไรต่างๆ นี่ ไม่เข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณี บังคับในส่วนซึ่งที่มันแสลงใจเขาบ้างอะไรทำนองนี้ ผมเคยไปอยู่ที่อำเภอมายอ ที่ผมเคยเรียนให้ทราบว่าผมเคยไปเรียนหนังสืออยู่ที่นั่น เรียนศาสนาที่อำเภอมายอ เป็นสถานที่ซึ่งเรียกกันว่าเป็นจุดสุดท้ายของข้าราชการที่จะต้องไปอยู่ที่นั่น แล้วก็ได้ไปพบกับภาพของความป็นจริงว่ามันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นความกดเก็บที่มันเกิดขึ้นมาจากความน้อยอกน้อยใจที่ถูกกระทำอย่างนี้แหละ มันก็เป็นจุดระเบิดออกมา พอจุดระเบิดออกมา เราก็จะต้องเอาจุดของความแตกต่างนี้ขึ้นมาอ้าง มันเป็นเรื่องซึ่งที่จะต้องเป็นไปโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นผมจึงอยากเรียนสรุปง่ายๆ ตรงนี้ว่า ที่จริงไม่ใช่เป็นเรื่องความแตกต่างของศาสนา แต่เพราะความไม่เข้าใจระหว่างข้าราชการกับชาวบ้านเท่านั้นเองครับ แก้ไขตรงนี้ได้เมื่อไหร่เมื่อนั้นสำเร็จ ไม่มีปัญหา ครับ//