แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นราชภัฏลาบวชและจะต้องลาสิกขาทั้งหลาย การบรรยายธรรมะเล่มน้อยสำหรับผู้ที่จะลาสิกขาเป็นครั้งที่ ๕ ในวันนี้ จะกล่าวด้วยหัวข้อว่า "วิธีการก้าวขึ้นเหนือความเป็นปุถุชน"
ท่านลองฟังดูให้ดีว่าเดี๋ยวนี้เรากำลังจะพูดถึงวิธีการสำหรับก้าวขึ้นเหนือความเป็นปุถุชน อะไรๆ มันก็เรื่องปุถุชน บางคนอาจจะรำคาญก็ได้ว่า พูดเรื่องปุถุชนไม่รู้จักจบจักสิ้นเสียที ก็ถ้าพูดจนจบเรื่องมันก็จบเรื่อง มันก็จบเอง มันยังจะต้องพูดเรื่องปุถุชนในแง่อื่นๆ ที่ยังไม่ได้พูด เพราะมีแง่ที่จะพูดนั้นมากแต่ที่มันเห็นอยู่ชัดๆ นั้นก็เพราะว่า ดูให้ดี เรากำลังเป็นปุถุชนกันอยู่นะเว้ย เรากำลังเป็นปุถุชนกันอยู่นะเว้ย แล้วเราจะไปพูดเรื่องอะไรให้มันเสียเวลา แต่ดูให้ดีให้เห็นว่าปัญหาต่างๆ มันเกิดมาจากการเป็นปุถุชนนั่นเอง การเป็นปุถุชนนั่นแหละทำให้เกิดปัญหา ที่บ้านก็ดี ที่วัดก็ดี ในป่าก็ดี ที่ไหนก็ดี ในความเป็นปุถุชนทำให้เกิดปัญหายุ่งยากซึ่งมีผลเป็นความทุกข์ ขอให้มองให้เห็นชัดลงไปว่า ปัญหาทุกอย่างมันมีผลเป็นความทุกข์ ปัญหามันก็ยังมีอยู่ ปัญหานั้นมาจากความเป็นปุถุชนของเรา เราก็คิดที่จะสลัดความเป็นปุถุชนนั้นให้ออกไป หมดปัญหาก็เมื่อหมดความเป็นปุถุชน พูดคล้ายกับเราเปรียบว่าปัญหาจะหมดก็เมื่อเราหมดความเป็นปุถุชน เป็นอริยสาวก เลิกจากเป็นปุถุชนก็เป็นอริยสาวก เป็นอริยชน เป็นอริยบุคคล
สำหรับปุถุชนนี้ตามพระบาลีก็มีคำจำกัดความว่า มิได้สดับเรื่องที่ควรจะสดับ ไม่ได้ฟังเรื่องที่ควรจะฟังคือเรื่องความดับทุกข์นั่นเอง เรื่องวิมุตติ แล้วก็มิได้นั่งใกล้สัตบุรุษ มิได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ มิได้ถูกนำไปตามวิถีทางของสัตบุรุษคือ ไม่ได้รับการฝึกฝนจากสัตบุรุษ อย่างนี้เรียกว่า ปุถุชน แปลว่า คนหนา ปุถุแปลว่าหนา ชนแปลว่าคน คนหนา หนาด้วยกิเลส คำว่า หนา หมายความว่า มาก เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่มากอย่างเดียว มันหุ้มห่อด้วย คือมีกิเลสหนาแล้วก็หุ้มห่ออยู่ด้วย ขอให้ดูให้เห็นภาพพจน์ชัดเจนว่า ปุถุชนนั้นคืออะไร แล้วก็มันได้แก่ตัวเราเองอย่างไร ให้เราดูตัวเราเองโดยตัวเราเอง กลัวว่าจะไม่เห็นความเป็นปุถุชนของเราเอง ไม่เห็นตัวเราเอง ไม่เห็นความเป็นปุถุชนของตัวเราเอง เห็นแต่ตามที่เป็นตัวเราเองด้วยสายตาของปุถุชน ก็เลยเข้าเรื่องกันได้กับปุถุชน มันก็ไม่ได้รังเกียจเกลียดชังความเป็นปุถุชน ไม่เห็นว่าความเป็นปุถุชนนั้นมีปัญหา เราจึงได้เป็นปุถุชนกันอยู่เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด
แล้วจะพูดถึงเรื่องปัญหาเฉพาะหน้า เพราะเราไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม เราเป็นปุถุชนอยู่ตามธรรมชาติมีกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดความเป็นปุถุชน ทีนี้ก็มีหนทางที่จะย่างขึ้นเหนือความเป็นปุถุชน วันนี้เราก็จะพูดกันถึงวิธีการหรือวิถีทางที่จะย่างขึ้นเหนือความเป็นปุถุชน
ขอบเขตของปุถุชนมีอยู่อย่างไร ตอบอย่างกำปั้นทุบดินว่า ตลอดเวลาที่ยังไม่เป็นอริยชน ขอบเขตทั้ง หมดนั้นเป็นของปุถุชน โดยมากก็ยังไม่เข้าใจคำคำนี้ว่าปุถุชนนั้นคืออะไร ก็เข้าใจว่าเป็นคนธรรมดาๆ ก็ไม่น่ารังเกียจอะไรเราเป็นคนธรรมดา เราพอใจที่จะเป็นคนธรรมดาอยู่เรื่อยไป นี่จะยิ่งมองไม่เห็นความเป็นปุถุชน ยังมีที่น่าหัวกว่านั้นอีก ก็คือมีคนจำนวนมากเข้าใจว่า พวกเทวดา พวกพรหม พวกอะไรเหล่านี้ ไม่ใช่ปุถุชน ถ้าใครยังเข้าใจอยู่อย่างนี้ก็รีบศึกษากันใหม่เถอะ ขอบเขตของปุถุชนนั้นมันกว้างมาก ตลอดเวลาที่ยังไม่เป็นอริยะเราก็ยังเป็นปุถุชนหมด เทวดาก็ไม่ใช่อริยชน พวกพรหมตามธรรมดาก็ไม่ใช่อริยชน ต่ำกว่ามนุษย์ มนุษย์ก็ไม่ใช่อริยชน ตามธรรมดาไม่ใช่อริยชน ต้องเป็นมนุษย์ที่พิเศษที่มีจิตใจสูงแล้ว ต่ำลงไปกว่าธรรมดาสัตว์เดรัจฉาน อบายเหล่านี้มันก็เป็นไม่ใช่อริยชนคือเป็นปุถุชนกันทั้งหมด
อย่าเข้าใจว่าปุถุชนหมายถึงมนุษย์คนธรรมดาในวงแคบๆ มันเลยขึ้นไปถึงเทวดาในชั้นกามาวจร อยู่ในสวรรค์วิมาน สมบูรณ์ด้วยความสุขอย่างเทวดานั่นก็เป็นปุถุชน บางทีก็ยังหลงใหลในกามคุณมากกว่าพวกมนุษย์เสียอีก มันก็มีความเป็นปุถุชนที่หนายิ่งขึ้นไปอีก ทีนี้เป็นเทวดาแม้ชั้นสูงสุดก็ยังเป็นปุถุชน ก็เรียกว่าชั้นมาร เทพ มาร พรหม มารคือเทวดาที่อยู่ในสวรรค์กามารมณ์ชั้นสูงสุด ก็เรียกว่ามาร ชั้นมาร ที่พ้นชั้นมารขึ้นไปก็เป็นชั้นพรหมก็ยังเป็นปุถุชน ทุกชั้นพรหมเป็นปุถุชนจนถึงชั้นสูงสุดของพรหม ก็ยังเป็นปุถุชนหมายความว่ายังโง่ ยังเป็นปุถุชนคือยังมีกิเลสหนา มีฝ้าดวงตาหนา เห็นอะไรเป็นตัวตนเป็นของตนไปทั้งนั้นเลย คือความเป็นปุถุชน ยิ่งเป็นเทวดา ยิ่งเห็นแก่ตนจัดเพราะว่าสบายมาก ยิ่งเป็นพรหมรู้ว่าประเสริฐกว่าใครๆ สูงกว่าใครๆ ก็ยิ่งเห็นตัวตนจัดก็เลยเป็นปุถุชน ส่วนคนนี่ไม่ต้องพูด ส่วนสัตว์เดรัจฉานต่ำลงไปเป็นนรก เปรต อสุรกาย นี่ก็ไม่ต้องพูด มันยิ่งกว่าปุถุชน ปุถุชนชั้นต่ำมาก นี่เรียกว่าขอบเขตของปุถุชน
ถ้าเป็นไปตามธรรมชาติตามธรรมดาแล้ว ทั้ง ๓๑ ชั้นนี่แหละเป็นปุถุชนหมด พวกอบายทนทุกข์ ๔ ชั้น มนุษย์ ๑ ชั้น เทวดากามาวจร ๖ ชั้น พวกพรหมมีรูป ๑๖ ชั้น พวกพรหมไม่มีรูป ๔ ชั้น รวมกันเป็น ๓๑ ชั้น เป็นปุถุชนหมด ผมคิดว่าเราทำความเข้าใจกันเรื่องนี้ ก็จะไม่เสียเที่ยวก็จะไม่เสียเวลาเปล่า เรื่องความเป็นปุถุ ชนหลายชั้นอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ว่าสรุปแล้วก็จัดไว้ให้เหลือเพียง ๓ จำพวก ๓ จำพวกนี้ขยายออกไปเป็น ๓๑ ชั้นได้ แล้ว ๓ จำพวกนี้ ฟังดูให้ดี
จำพวกที่ ๑ บูชาความสุขเกิดจากกาม จะพูดให้มันชัดให้มันเจ็บปวดก็ว่า มันจมอยู่ในความสุขที่เกิดจากกาม คือจิตใจของเขาจมอยู่ในความสุขที่เกิดจากการบูชาความสุขชนิดนั้น ขวนขวายแสวงหาเพื่อความเป็นอย่างนั้น นี่คือปุถุชนพวกที่ ๑ เป็นพวกบูชากาม นับตั้งแต่สัตว์ในอบายขึ้นมาถึงมนุษย์ธรรมดา และสวรรค์ ๖ ชั้นข้างบนด้วย นี่เป็นพวกบูชากาม มีจิตใจจมอยู่ในความสุขที่เกิดจากกาม
พวกที่ ๒ เขาเรียกว่ารูปาวจรภูมิ จะจมอยู่ในความสุขที่เกิดจากรูปบริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวกับกาม เป็นวัตถุบริสุทธิ์ไม่เกี่ยวกับกาม จะทำให้เกิดความสุขแก่จิตใจและหลงใหลในความสุขชนิดนั้น เดี๋ยวจะเทียบให้ฟัง
ทีนี้ พวกที่ ๓ เรียกว่าอรูปาวจรภูมิ จมอยู่ในความสุขที่เกิดจากสิ่งที่ไม่มีรูป เมื่อพูดถึงข้อนี้แล้วมันก็เป็นเหตุให้รู้หมด หมายถึงว่าตามหลักธรรมะในพุทธศาสนานั้น เขาแบ่งสิ่งต่างๆ ในโลกไว้อย่างไร เขาแบ่งไว้ ๓ พวกอย่างนี้ พวกกาม และก็พวกรูป และก็พวกอรูป พวกกามก็รู้จักแต่การดื่มด่ำอยู่ในกาม จมอยู่ในความ สุขอันเกิดจากกาม กามนั้นเป็นวัตถุสำหรับคนพวกนี้เป็นที่ตั้งของคนพวกนี้ ทีนี้รูป เขาเอาสิ่งที่มีรูปบริสุทธิ์ ไม่เกี่ยวกับกามมาเป็นที่กำหนดแห่งจิตใจ เป็นที่พอใจ เป็นที่ลุ่มหลง เป็นสมาธิด้วยสิ่งที่มีรูปบริสุทธิ์ไม่เกี่ยว กับกาม นี่ก็พวกพรหมชนิดที่มีรูป นี่ก็บูชารูป พวกที่บูชารูปล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับกาม ทีนี้พวกที่สาม เอาสิ่งที่ไม่มีรูปเข้าเป็นนามธรรม เอาความว่าง เอาวิญญาณ เอาความไม่มีอะไรเป็นต้น ที่มันไม่รูปมาเป็นเครื่องกำหนด พอใจ ยินดี เป็นอารมณ์ของสมาธิ เป็นสมาธิละเอียดเพราะว่าเอาสิ่งที่ไม่มีรูปมาเป็นอารมณ์ ความสุขมันก็ละเอียดก็เลยจมอยู่ในความสุขประเภทที่ไม่มีรูป ล้วนแต่ยึดถือเป็นตัวตนเป็นของตน
ดังนั้นจึงถูกจัดเป็นปุถุชนด้วยกันทั้ง ๓ พวก นี่เขากล่าวไว้อย่างนี้ เขากล่าวไว้โดยภาษาคนเป็นคนเป็นพวกอยู่ที่ส่วนไหนของจักรวาลก็รู้ไม่ได้ เขากล่าวไว้อย่างที่เราก็รู้ไม่ได้ เราก็รู้ได้แต่มนุษย์และก็นรก อบายข้างใต้เราก็ไม่ค่อยจะรู้มองไม่เห็น แต่ที่แท้นั้นพระพุทธเจ้าท่านว่ามันอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทั้งหมดนั้น ทั้ง ๓๑ หรือว่าทั้ง ๓ พวกนี้ มันอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ทีนี้เราจะทำความเข้าใจด้วยอุปมาหรือว่าด้วยตัวอย่างง่ายๆ ในแผ่นดินโลก แต่ฟังดูให้ดีนะ ไม่ใช่บัญญัติเจาะจงว่าอย่างนี้นะ แต่จะเป็นเครื่องเปรียบเทียบให้เห็นในทางภาษาคนพูดธรรมดา มนุษย์คนหนึ่งกำลังอยู่ในวัยรุ่นหนุ่มก็หลงใหลกามารมณ์ เพราะวัยหนุ่มสาวก็ลุ่มหลงกามารมณ์ บูชากามารมณ์สุดยอด นี่คือคนที่มีจิตที่จมอยู่ในความสุขเกิดจากกามารมณ์ ทีนี้ต่อมาแม้ว่าจะบางคนไม่ใช่ทุกคน ต่อมาบางคนเขาโตขึ้นเป็นผู้ ใหญ่แล้ว ความบูชากามารมณ์นั้นก็เปลี่ยนไปบูชาอย่างอื่น บูชาเงิน บูชาของ บูชาทรัพย์สมบัติ มีความสุขอยู่กับเด็กๆ หรืออะไรก็ตามซึ่งเป็นรูปธรรม ไม่ได้บูชากามารมณ์เหมือนระยะก่อนระยะแรก นี่ก็บูชาความสุขที่เกิดมาจากรูปธรรมที่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ ดูให้เห็นความที่จิตต่างกัน จิตชนิดแรกจมอยู่ในความสุขทางกามารมณ์ จิตชนิดหลังจมอยู่ในความสุขทางวัตถุ อาจจะมาเป็นสุขอยู่กับการเล่นต้นไม้ เล่นหน้าวัว เล่นบอน เล่นไก่ เล่นปลากัด นกเขาอะไรก็ได้ ก็มีคนที่หลงสิ่งเหล่านี้ จนเมียขอหย่า จนภรรยาขอหย่า ที่รักสิ่งเหล่านี้มากกว่าภรรยา ก็มีสภาพจิตชนิดนี้ คือบูชาความสุขเกิดจากรูป รูปธรรมที่ไม่ใช่กามารมณ์
ทีนี้ต่อมาอีก จะเป็นคนนั้นหรือคนไหนก็ตามจิตใจเปลี่ยนไป ไม่เอาแล้วขี้เกียจแล้วเรื่องวัตถุรุงรัง ก็ไปนึกถึงสิ่งที่มิใช่รูปหรือไม่มีรูป เช่นความดี บุญกุศลอะไรก็ตามที่ไม่มีรูป แล้วก็จะหวังความเป็นอะไร เป็นพรหม เป็นอะไรที่ไม่มีรูปก็แล้วแต่ คนแก่ๆ บางคนขึ้นไปได้ถึงนั่น บางคนขึ้นไปได้ถึงนั่น จิตใจของเขาขึ้นไปถึงขนาดที่ว่า ไปชอบสิ่งที่ไม่มีรูปไม่ใช่วัตถุ เช่น บุญก็ไม่มีรูป เกียรติยศชื่อเสียงก็ไม่มีรูป ความคิดนึกอย่างใดอย่างหนึ่งก็ทำให้เกิดความสุขได้ นี่ก็เรียกว่าไม่มีรูป เป็นอรูป
คุณลองคิดดู ตั้งต้นด้วยความสุขที่มีกามารมณ์เป็นวัตถุ ที่ตั้ง ที่อาศัย ในวัยตอนต้นๆ ของชีวิต พอไปถึงตอนกลางของชีวิตไม่มาลุ่มหลงความสุขชนิดนี้ ไปลุ่มหลงความสุขเกิดจากวัตถุ โดยเฉพาะกับทรัพย์สมบัติหรือวัตถุอะไรก็ตามที่ให้ความเพลิดเพลินได้ ทีนี้ไปบั้นปลายชีวิตโน่น ไม่เอาทั้งหมดเลยที่ยุ่งๆ ไม่เอาสิ่งที่ไม่มีรูปไม่เป็นวัตถุ เอาเป็นนามธรรม จึงไปขวนขวายอยู่กับเรื่องบุญ เรื่องกุศล เรื่องเกียรติยศ เรื่องโลกหน้า เรื่องความหวังในโลกหน้า แม้เเต่ความหวังในโลกหน้านี้ก็เป็นความสุขได้ คนพวกนี้เขาก็หวังอยู่ในสิ่งเหล่านี้
ดูให้ดีอาจได้กับเราก็ได้ เผื่อว่าอาจจะได้กับเราคนใดคนหนึ่งก็ได้ ในวัยนี้เราก็บูชากามารมณ์ พอไปถึงกลางคนเราก็บูชาความสุขทางวัตถุล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ หลงสะสมวัตถุสิ่งของที่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ แล้วในบั้นปลายชีวิตค่อยเอาสิ่งที่เป็นนามธรรมไม่มีรูป ถ้าเป็นได้อย่างนี้ ก็ที่นี่แหละในโลกนี้มีเทวดา มีมนุษย์ มีเทวดา มีพรหมชนิดมีรูป รูปพรหม และพรหมชนิดที่ไม่มีรูป ที่เรียกว่าอรูปพรหม จิตเป็นอย่างไร ก็บัญญัติว่าเป็นชื่อนั้น ชื่อนั้น นี่เรามีวิธีมองอย่างนี้ ว่าพรหม เทพ อรูปแล้วก็เท่านั้น มันอยู่ในชีวิตมนุษย์นี้
แต่คำกล่าวที่เขากล่าวไว้แต่ก่อนเขาไม่กล่าวอย่างนี้ ถ้าคุณเคยเข้าโรงเรียน เคยเข้ามหาวิทยาลัย เคยอ่านหนังสือไตรภูมิพระร่วงไหม ที่เขากล่าวถึง ๓๑ ภูมิในหนังสือไตรภูมิพระร่วง เหล่านั้นนอกจากมนุษย์แล้วก็ไม่รู้อยู่ที่ไหน พวกเทพก็อยู่ในเมืองเทพ พวกพรหมก็อยู่ในเมืองพรหม ต่างๆ กันเป็นหลายๆ ชั้นหลายๆ พวกก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน แต่เขาก็บัญญัติไว้อย่างนั้น บัญญัติไว้ให้คนยึดถือ เพื่อจะเลื่อนชั้นจากทำความต่ำๆ เลื่อนสูง ขึ้นไปๆ ก็เป็นประโยชน์
ในความเชื่อสำหรับคนโบราณมีอยู่อย่างนั้นแล้วเหมาะสำหรับเขา เป็นประโยชน์สำหรับเขาแห่งยุคนั้นสมัยนั้น แล้วก็เคยพิสูจน์ความมีประโยชน์มาแล้ว คนโบราณศีลธรรมดีจิตใจกลัวบาปมาก ก็เพราะว่าเขาอบรมกันมาอย่างนี้ เราก็ถือว่ายังมีประโยชน์ แต่การที่จะให้เชื่อทั้งที่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนนั้น ไม่เหมาะสำหรับสมัยนี้ ซึ่งเป็นสมัยวิทยาศาสตร์หรือสมัยสติปัญญา ถึงเราจะเอามาให้เห็นได้ที่จิตใจของบุคคล พวกกามารมณ์ พวกเทพ พวกกามาวจร สัตว์ทุกชนิดถึงเทวดาแล้วสูงขึ้นไปถึงเทวดาในสวรรค์ ๖ ชั้น ดูได้ที่จิตใจของคน ที่เป็นอบาย ที่ต่ำๆ เลว ๔ ชั้น เรียกว่า นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ผมก็เคยพูดเรื่องนี้มากแล้วก็ถูกด่ามากเหมือนกัน ว่าพูดอย่างนี้ ว่านรก สัตว์นรก เมื่อใจร้อนเป็นไฟ คนที่อยู่ในนรกนั้นเป็นสัตว์นรก เมื่อใจร้อนเป็นไฟ เมื่อไฟเข้าไปเผาอยู่ข้างใน คนนั้นกำลังเป็นสัตว์นรก ก็จะไปดูสัตว์นรกที่ไหนนรกก็มีอยู่ในจิตใจของคนที่เป็นอย่างนั้น บางเวลาบางคนมันโง่ โง่บรมโง่ โง่อย่างไม่น่าโง่ เหมือนกับสัตว์เดรัจฉานในทุ่งนา เมื่อนั้นแหละความเป็นสัตว์เดรัจฉานก็มีอยู่ในจิตใจของคนที่โง่ ความโง่คือความหมายของสัตว์เดรัจฉาน เข้าไปมีในจิตใจของคนคนนั้นก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน
ทีนี้ก็เปรตในความหมายแห่งความหิว หิวด้วยกิเลสตัณหา หิวไม่รู้จะหิวยังไง หิวเกินกว่าที่ไส้จะผ่านไปอีก เมื่อไรใครหิวอะไรอย่างนั้นละก็รู้ว่ามันเป็นเปรตนี่แหละ แม้แต่หิวเลื่อนชั้นเงินเดือนก็เถอะ ระวังให้ดีมันเป็นเปรตได้เหมือนกัน คือหิวมาก เหมือนคนบางคนไปซื้อลอตเตอรี่มาไว้ก็หิว หิวอยากถูกลอตเตอรี่ มันก็เป็นเปรตจนกว่าจะถึงวันออกลอตเตอรี่ แล้วก็ไม่ถูกก็เป็นเปรตอย่างเก่า เป็นเปรตฟรี ไม่ได้รับประโยชน์อะไร ก็ได้รู้ความหมายแห่งความหิว
ทีนี้อสุรกายแปลว่าไม่กล้าหาญ อสุรแปลว่าไม่กล้าหาญ เมื่อขลาด เมื่อขี้ขลาด เวลาที่เรากลัว กลัวอย่างไม่มีเหตุผล กลัวเรื่องมาร กลัวมากเกินไปจนไม่รู้ว่าจะกลัวไปทำไม คนบางคนกลัวแม้แต่กิ้งกือ จิ้งจก ตุ๊กแกก็กลัว นี่กลัวอย่างไม่มีเหตุผล ความกลัวเป็นความหมายแห่งอสุรกาย สัตว์นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกายนี่ดูได้ในจิตใจที่กำลังมีสภาพเป็นอย่างนั้นๆ ในคัมภีร์ต่างๆ ที่เขาเอามารวมทำเป็นหนังสือไตรภูมิพระร่วง เขาบอกว่าอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ซึ่งเขาเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าโลกนรกอยู่ใต้ดิน ดูไม่เห็น เดรัจฉานก็เป็นโลกทิพย์โลกหนึ่ง ไม่ได้หมายถึงสัตว์เดรัจฉานทุ่งนา เปรตก็อยู่ในโลกของเปรตมองไม่เห็น อสุรกายก็ยิ่งมองไม่เห็น เขาว่าอย่างนั้นเป็นวัตถุไปเสียหมด
แต่ในทางธรรมะของพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามันอยู่ที่อายตนะ ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นส่วนสำคัญ เมื่อใจเป็นอย่างอื่นก็เรียกว่าเราเป็นอย่างอื่นแล้ว ใจเป็นอย่างอื่นอีกก็เป็นอย่างอื่นอีก มีจิตใจเป็นสัตว์นรกก็ร้อนเป็นไฟ มีจิตใจโง่ก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน มีจิตใจหิวก็เป็นเปรต มีจิตใจขลาดกลัวก็เป็นอสุรกาย นี่เรียก ว่าความเกิดเหมือนกัน แต่ไม่ต้องเกิดจากท้องแม่ ที่เราจะตายจากความเป็นมนุษย์ไปเกิดเป็นสัตว์นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย มันเกิดแผล่บเดียวทางจิตใจ ไม่ต้องมีพ่อมีแม่ เกิดแล้วก็โตเลยไม่ต้องเป็นเด็ก นี่ยังพูดถึงว่าไม่มีความเป็นหญิงเป็นชายเสียด้วย เป็นการเกิดทางจิตใจ นี่ไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน ถ้าพูดตามตัวหนังสือในคัมภีร์โบราณก็บอกไม่ได้ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน แต่ถ้าพูดตามหลักธรรมะ ตามวิธีการของพระพุทธเจ้า มันอยู่ที่ในใจ เมื่อจิตใจเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
นอกจากนี้เราเป็นมนุษย์ตามธรรมดาก็มีอะไรขึ้นๆ ลงๆ หนาวๆ ร้อนๆ ระคนกันไปตามแบบของมนุษย์ ยังทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างมนุษย์ นี่ก็คือเป็นมนุษย์ เมื่ออยู่ในระดับมนุษย์อย่างนี้ก็บูชาสุข ความสุขของกามารมณ์ เพราะฉะนั้นในอบาย ๔ พวก นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกายนั้นก็มีจิตใจต่ำอยู่ในระดับที่บูชากามารมณ์ด้วยเหมือนกัน จัดไว้เป็นกลุ่มเดียวกันคือกลุ่มที่บูชากามารมณ์
ทีนี้เทวดาสูงขึ้นไป ๖ ชั้นในสวรรค์ จาตุมหาราช ดาวดึงส์ ดุสิต ยามา นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตตี ๖ ชั้นที่ได้ยินชื่อ ก็เป็นพวกที่เค้าว่าอยู่ข้างบนตามพระคัมภีร์ ถ้าเราอยากจะดูที่ในจิตใจว่าจิตใจไปหลงสุขเอร็ดอร่อยอยู่ในกามารมณ์หลายๆ รูปแบบ ก็พอที่จะจัดได้เป็นชั้นๆ ในชั้นต่ำสุดก็คือ ชั้นที่เป็นเทวดาต่ำสุด เป็นชั้นจาตุมหาราช พวกนี้ยังลำบากยังรับใช้เทวดาบางพวกอยู่ ที่ชั้นดาวดึงส์ชั้นที่พระอินทร์อยู่ ก็มีกามารมณ์ที่ดีกว่านั้นประณีตกว่านั้น ชั้นดุสิตก็ดีกว่านั้น ยามาก็ดีกว่านั้น นิมมาก็ดีกว่านั้น อันสุดท้ายปรนิมมิตวสวัตตีเป็นที่อยู่ของพญามาร ที่เราสวดพาหุงพญามารมาผจญพระพุทธเจ้า ขี่ช้างขี่เมฆมาผจญพระพุทธเจ้า พวกมารนั้นก็อยู่ในชั้นสูงสุดของเทวดากามาวจร มีกามารมณ์สูงสุด ที่จริงเป็นปฏิปักษ์อย่างยิ่งกับการที่จะสลัดกามารมณ์มาเป็นอริยบุคคล เทวดาทั้ง ๖ ชั้นนี้ก็บูชากามารมณ์ ได้ถูกจัดไว้กลุ่มเดียวกันกับมนุษย์และอบายภูมิอีก ๔ พวกข้างใต้ นี่คือพวกบูชากามารมณ์
ถ้าเลยจากนั้นขึ้นไปเขาเรียกพวกพรหมที่มีรูป พรหมพวกนี้เขามีรูปเขาบูชาความสุขอันเกิดแต่รูป คนเหล่านี้ที่จะไปเป็นพรหม เพราะเขาเจริญสมาธิที่มีวัตถุเป็นอารมณ์สำหรับสมาธิ ก็ได้รับความสุขเกิดแต่อารมณ์ที่มีรูป ก็เรียกว่าความสุขเกิดจากรูป พวกนี้บูชาความสุขชนิดนี้ก็เลยเรียกว่าพวกรูปพรหม พรหมที่บูชาความ สุขอันเกิดจากรูป เขาเป็นปุถุชนยังเป็นปุถุชนอยู่ เขาก็ยังมีโลภะ โทสะ โมหะ แบบของเขา แต่มีโมหะมาก กว่าใคร เพราะว่าหลงตัวตนมากกว่า และเขาก็ถือว่าเราดีกว่าใครสูงสุด คือดีกว่าชั้นล่างๆ ลงมา
ทีนี้พรหมที่เหลือ ๔ ชั้นข้างบน ยิ่งประณีตขึ้นไปอีก บูชาความสุขที่เกิดจากสิ่งที่ไม่มีรูป ความสุขนั้นละเอียด ประณีต สุขุม ก็เป็นพรหมที่ไม่มีรูป ๔ พวก แต่ก็ยังเป็นปุถุชน น่าขำเหมือนกัน เป็นถึงอรูปพรหมชั้นสูงสุด เป็นคนสุดท้ายที่หน่วงกามนิตไว้ไม่ได้ ก็ยังเป็นปุถุชนเพราะยังมีตัวตน ยังมีความยึดถือตัวตน สรุปความว่าถ้ายังมีโมหะ มีอวิชชา รู้สึกเป็นตัวเป็นตน เห็นแก่ตัวแล้วก็ต้องมีความทุกข์ เพราะความเห็นแก่ตัวเพราะอุปาทานขันธ์ก็ต้องเป็นปุถุชน นี่คือขอบเขตของปุถุชนหมดเลย นอกจากโลกุตตระ นอกจากพระนิพ พานแล้วมาเป็นที่อยู่ของปุถุชนทั้งนั้น เรียกว่า ขอบเขตของปุถุชน
ตั้งแต่นรก อบาย ๔ ชั้นข้างใต้มาถึงมนุษย์ ถึงเทพเทวดาในสวรรค์ เลยขึ้นไปถึงพรหม ทุกชั้นจนสุดนั่นเรียกว่าภวัคคพรหม พรหมชั้นสุดท้าย ล้วนแต่เป็นปุถุชน ทีนี้ก็จะเกิดเป็นปัญหาขึ้นมาว่า ก็มีส่วนที่น่าเป็นพรหมเป็นเทวดาเป็นอะไรก็น่าเป็น ก็เลยไม่อยากจะเลิกเป็นปุถุชน อยากจะเป็นปุถุชนชั้นดีชั้นอะไรไปตามเรื่อง คนโดยมากคิดว่าปุถุชนคือคนธรรมดา เราเป็นคนธรรมดาไปก็แล้วกันอย่าไปทะเยอทะยานให้มากนัก ทีนี้ก็ไม่อยากจะเลิก ละ ความเป็นปุถุชน พูดกันไม่รู้เรื่อง
ทีนี้เรามาถึงตัวปัญหาที่ว่าถ้าเป็นปุถุชนก็ต้องมีความทุกข์ เพราะโง่ เพราะมีกิเลสหนา จะเป็นปุถุชนชั้นไหนก็ตาม ชั้นที่อยู่เป็นอบายหรือชั้นที่อยู่เป็นมนุษย์ ชั้นที่เป็นเทวดาในสวรรค์ ชั้นที่เป็นพรหมในพรหมโลก ก็มีความทุกข์ก็มีกิเลสเป็นเหตุให้ยึดถือตัวตน จึงสรุปความได้ว่าถ้ายึดถือในอะไรก็ต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น ไม่ได้จำกัดว่า ของดี ของเลว ของถูก ของแพงของอะไร ถ้ายึดถือแล้วเป็นทุกข์ทั้งนั้น ถ้าเขายากจน เขามีสมบัติราคาถูก เขายึดถือเขาก็มีความทุกข์ไปตามแบบคนจน ถ้าเขาเป็นคนร่ำรวย มีเงินทองมากก็ยึดถือมาก มีความทุกข์ไปตามแบบคนร่ำรวย เทวดามีกามารมณ์สูงยิ่งขึ้นไปอีก เขาก็ยึดถือกามารมณ์เขาก็เป็นทุกข์ไปตามแบบของเทวดา ทีนี้พวกพรหมนี่เขาถือว่าเขามีตัวตนที่ดี มีตัวตนชั้นดีชั้นเลิศ มีสักกายะอันสูงสุด เขาก็ยึดถือสักกายะคือตัวตนชั้นเลิศของเขา เขาก็ได้เป็นทุกข์ไปตามแบบพรหม ทั้งที่เป็นพรหมมีรูปและพรหมไม่มีรูป เป็นอันว่าปุถุชนก็ต้องมีความทุกข์ตามแบบปุถุชนทั้งนั้น ไม่ว่าปุถุชนชั้นไหน ทั้ง ๓๑ ชั้น ทั้ง ๓ กลุ่ม กลุ่มกามาวจรบูชากาม กลุ่มรูปาวจรบูชาความสุขที่เกิดจากรูปบริสุทธิ์ กลุ่มอรูปาวจรบูชาความสุขที่เกิดมาจากสิ่งที่ไม่มีรูป
ในตอนนี้เรื่องที่พูดให้คนชาติอื่นภาษาอื่นฟังยากที่สุดเพราะคำไม่พอใช้ คำที่จะใช้พูดมีไม่พอใช้ ใช้ไม่ตรงกันฟังไม่รู้เรื่อง เรื่องรูป เรื่องอรูป พวกฝรั่งฟังไม่รู้เรื่องอธิบายยากที่สุดเลย แต่นี่เราเป็นคนไทยก็พูดกันรู้เรื่องว่า พวกหนึ่งบูชาความสุขที่เกิดจากกาม พวกหนึ่งบูชาความสุขที่เกิดจากสิ่งที่เป็นรูปบริสุทธิ์ไม่มีกาม ไม่เกี่ยวกับกาม แต่ก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นเท่ากัน พวกหนึ่งบูชาความสุขที่เกิดจากสิ่งที่ไม่มีรูปเลย ก็ยึดมั่นเท่า กัน ยึดถือและยึดมั่นเท่ากันแม้ในรูปแบบที่ต่างกัน ก็เลยเป็นทุกข์เท่าๆ กัน นี่คือความเป็นปุถุชน
จริงๆ พูดได้เหมือนที่พูดมาแล้วเหมือนวันก่อนๆ ก็มันเป็นความทุกข์มันคู่กัน อยู่กับความเป็นปุถุชน ความทุกข์ต้องคู่กันอยู่กับความเป็นปุถุชนเสมอไป หมายความว่าปุถุชนนั้นมีกิเลสหนาปิดบังตาก็ทำผิดไปหมดก็ยึดถือนั่นเอง ก็มีความทุกข์เพราะความยึดถือนั่นเอง ควรจำไว้ให้เป็นหลักเลยว่า ความทุกข์เกิดมาจากความยึดถือ โดยเฉพาะบทสวดมนต์ที่ว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา โดยสรุปแล้วเบญจขันธ์ที่มีปาทานยึดถืออยู่เป็นตัวทุกข์ ทุกข์ที่ตัวยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า ขันธ์ นั่นก็เป็นทุกข์เพราะยึดถือไม่ว่าความทุกข์ชนิดไหน จะทุกข์ของพรหม หรือทุกข์ของเทวดา ทุกข์ของมนุษย์ ทุกข์ของสัตว์ในอบาย ก็ล้วนแต่ทุกข์เพราะยึดถือทั้งนั้น มีความยึดถือเหมือนกันหมด สัตว์เหล่านี้ทุกพวกก็เลยเรียกว่าเป็นปุถุชนมีความยึดถือและเป็นทุกข์เหมือนกัน
ปุถุชนมีพวกแยอะ ที่ไม่ใช่ปุถุชนนั้นหายาก ที่เป็นปุถุชนนั้นมีพวกแยอะทั้ง ๓๑ ชั้นเป็นปุถุชนทั้งนั้น ที่สูงจากนั้นเป็นอริยชนก็มีน้อย ที่นี้เราก็คล้ายๆ กับว่าจะทิ้งพวกมากไปหาพวกน้อย จะไหวหรือไม่ไหวคอยดูกันต่อไป จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเราเริ่มมีความรู้ความเห็นเรียกว่ามีฝ้าที่ปิดตาบางลงๆ ปุถุชนหนามีฝ้าปิดตาหนา ที่นี้ถ้าฝ้าปิดตาบางลงๆ ความเป็นปุถุชนก็น้อยลงๆ จะเลื่อนขึ้นไปเป็นพระอริยเจ้า ถ้าเราเอาของหนาๆ มาปิดตาก็มืดหมด ถ้าของนั้นบางก็พอจะเห็นบ้างเอากระดาษบางๆ กระดาษแก้วบางๆ มาปิดตาก็พอจะเห็นบ้าง ทีนี้ก็เป็นการขูดเกลากิเลสที่ปิดบังปัญญาให้บางลงๆ ตามวิธีที่เราได้เล่าเรียนกันมา ได้ฟังได้ยินกันมา จะเลื่อนชั้นได้ก็เพราะว่าฝ้าที่บังตานั้นบางลงๆ พอเริ่มเบื่อต่อสิ่งที่เคยหลง ก็มีบทสวดมนต์ที่สวดกันอยู่บทหนึ่ง “เมื่อใดเห็นว่าธรรมทั้งปวง เมื่อใดเห็นว่าสังขารไม่เที่ยง หรือสังขารเป็นทุกข์ เมื่อนั้นก็เบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด เมื่อใดเห็นว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นก็เบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์นั่น ก็เป็นทางแห่งความหมดจด ตั้งต้นกันที่นั่นคือเริ่มเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง”
ทีนี้คำที่สำคัญที่สุดคือคำนี้อีกคำหนึ่งคือ ตามที่เป็นจริง เป็นบาลีว่า ยถาภูตัง แปลว่าตามที่เป็นจริง เห็นตามที่เป็นจริง รู้สึกตามที่เป็นจริง กระทำถูกต้องตามที่เป็นจริง อะไรก็แล้วแต่ตามที่เป็นจริง ถูกต้องตามที่เป็นจริง เมื่อเรายังเป็นปุถุชนอยู่เราก็สัมผัสสิ่งต่างๆ ไม่ถูกต้องตามที่เป็นจริง เห็นอะไรก็ไม่เห็นตามที่เป็นจริง ได้ฟังอะไรก็ฟังไม่ออกตามที่เป็นจริง ได้สัมผัสอะไรรู้รสอะไรคิดนึกอะไรปรุงแต่งอยู่ในจิตใจ ก็ไม่เป็นไปตาม ที่เป็นจริง เรียกว่าถูกหลอกโดยตัวเองอยู่ตลอดเวลา นี่คือความเป็นปุถุชน
เมื่อกิเลสที่ปิดบังปัญญาบางลงๆ ก็เริ่มจะเห็นตามที่เป็นจริงมากขึ้น ในพระบาลีก็มีกล่าวไว้มาก แต่ผมรู้สึกว่าเข้าใจยากคือฟังยาก ไม่รู้ว่าจะเอามาพูดให้ฟังกันง่ายๆ อย่างไร มีพระบาลีว่า เมื่อกระทำในใจลงไปที่สิ่งที่เรียกว่า กาม ที่เป็นจริง ทำในใจลงไปในสิ่งที่เรียกว่าที่เป็นจริง เห็นตามที่เป็นจริง จิตนี้ก็จะไม่ชอบกาม ที่เธอไม่ชอบใจในกาม ไม่วิ่งไปหากามมันก็จะละทิ้งกามไป
ทีนี้เมื่อทำในใจลงไปยังสิ่งที่เรียกว่า เนกขัมมะ คือความไม่มีกาม ความว่างจากกาม เมื่อทำในใจลงไปยังสิ่งที่ว่างจากกามเรียกว่า เนกขัมมะ เห็นตามที่เป็นจริง จิตจะชอบ จิตจะวิ่งเข้าหา วิ่งเข้าหาเนกขัมมะซึ่งไม่มีกามไม่มีลูกศรเสียดแทง นี่ก็เห็นตามที่เป็นจริงนะ กระทำในใจลงไปที่กาม ถ้าไม่เห็นตามที่เป็นจริงตายเลยก็จมกามไปเลย นี่เรียกว่าเห็นตามที่เป็นจริงก็เกลียดกามไม่ชอบกาม ไม่เลื่อมใสในกาม วิ่งหนีออกไปจากกาม แต่พอทำจิตลงไปยังสิ่งที่ตรงกันข้ามจากกามที่เรียกว่า เนกขัมมะ กลับชอบ จิตกลับพอใจเลื่อมใสตั้งอยู่ที่นี่ พอใจอยู่ที่นี่ นี่คือคู่นึงนะเห็นตามที่เป็นจริง กาม กับ เนกขัมมะ
ทีนี้ พยาบาท คือความรู้สึกที่ไม่ชอบหน้าใคร เกลียด โกรธ เมื่อกระทำจิตในใจลงไปที่พยาบาท ความโกรธ ความเกลียด ความดุร้าย ก็เห็นตามที่เป็นจริงว่าพยาบาทนั้นเป็นอย่างไร พูดให้เห็นตามเป็นจริงนั้นก็จะไม่ชอบพยาบาทเรียกว่า วิ่งหนี ไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใส ไม่อยากเข้าใกล้เพราะเห็นลงไปที่ตัวพยาบาท กิเลสที่เป็นฝ่ายโกรธ ฝ่ายไม่ชอบตามที่เป็นจริง จิตลดถอยออกไป ทีนี้จิตที่มาเพ่งทำลงไปใน อัพยาบาท คือความไม่พยาบาท ดูลงไปที่ความไม่พยาบาทเห็นตามที่เป็นจริง แล้วจิตนั้นจะชอบความไม่พยาบาท ก็เปลี่ยนเป็นพูดตรงกันข้ามกันอยู่อย่างนี้
เราควรจะฟังไว้สำหรับเราถ้าเรามีจิตจดลงไปที่ กาม วิ่งหนีหรือวิ่งเข้าหา ถ้ามีจิตจดลงไปที่ เนกขัมมะ ที่ไม่มีกาม จะวิ่งหนีหรือจะวิ่งเข้าหา หรือว่ามีจิตจดลงไปที่ พยาบาท โกรธ เกลียด จะวิ่งหนีหรือจะวิ่งเข้าหา ถ้าว่ามีจิตจดลงไปที่ ไม่พยาบาท คือความรัก ความเมตตา จิตจะวิ่งหนีหรือจะเข้าหา แล้วเป็นเรื่องของเราทั้ง นั้นที่มีอยู่ในจิตใจของเรา เรื่องกามก็ดี เรื่องเนกขัมมะก็ดี เรื่องพยาบาทก็ดี เรื่องไม่พยาบาทก็ดี
ยังตรัสถึงคำว่า วิหิงสา จะเพ่งดู จดจ่อลงไปดูตรงที่ความเบียดเบียน การเบียดเบียน ความคิดที่เบียดเบียน ถ้าเกิด ยถาภูตัง คือเห็นตามที่เป็นจริงขึ้นมา ก็จะเกลียดวิหิงสา จะวิ่งหนีวิหิงสา คือไม่อยากจะมีวิหิงสาหรือความคิดเบียดเบียน ถ้าจิตจดลงไปที่ อวิหิงสา คือความไม่เบียดเบียน จิตเห็นตามที่เป็นจริงแล้วก็จะชอบอวิหิงสา ชอบความไม่เบียดเบียน จะสลับอันนี้แล้วก็ไปหาอันนี้ตรงกันข้าม ถ้าจิตเจาะลงไปที่รูป ซึ่งหมายความว่าสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของการปรุงแต่งและมีการแตกดับ คำว่า รูป หมายถึงสิ่งที่แตกดับได้ หรือมีการแตกดับเป็นธรรมดา พอเห็นจริงเข้าก็ไม่รักคือไม่พอใจไม่เลื่อมใส คือพอไปเพ่งยังสิ่งที่ไม่เป็นอย่างนั้นเรียกว่า อรูป ไม่มีส่วนที่เป็นที่ตั้งแห่งความแตกมันก็ชอบ อรูปอย่างนี้มีความหมายอีกความหมายหนึ่ง หมายความว่าก็วัตถุธรรมได้ดูแล้วก็ไม่ไหว สู้สิ่งที่ไม่ใช่วัตถุธรรมไม่ได้
และอันสุดท้ายเรียกว่า สักกายะ แปลว่ากายของตน เล็งถึงขันธ์ทั้ง ๕ กายะแปลว่าหมู่ หมู่แห่งขันธ์ ๕ เรียกว่ากายะ สักก็คือของตน ดูลงไปที่สักกายะ คือหมู่กายของตนเห็นตามที่เป็นจริง ก็ถอยหลังอีกเหมือน กัน ไม่พอใจ ไม่เลื่อมใส ไม่เข้าไปหา ไม่เข้าไปตั้งอยู่ ไม่น้อมจิตเข้าไป ถอยหลังให้ตีกลับ พอเพ่งลงไปถึงสิ่งที่ตรงกันข้าม คือความไม่มีสักกายะ ความว่างจากสักกายะ ความดับแห่งสักกายะ จิตก็จะพอใจ จะเลื่อมใส จะเข้าไปหา จะชอบความดับเสียซึ่งสักกายะ
นี่คืออาการของความเลื่อนชั้น ก่อนนี้ถ้าเราเพ่งเข้าไปที่กามเราก็เอาเลย ก็สนุกสนานฝันกันทั้งคืนไม่ถอยหลัง พอเพ่งที่เนกขัมมะ ก็ไม่ไหว เหี่ยวแห้ง แห้งแล้งไม่เอา แต่ก่อนมาเป็นอย่างนี้เป็นปุถุชน พอจะเลื่อนชั้นจากปุถุชนก็เลยเรื่องเดียวกัน พอไปดูเข้าที่กามกลับสั่นหัว ไปดูเข้าที่เนกขัมมะกลับพอใจอยากจะได้ ก็เกิดอาการที่ตรงกันข้ามจากปุถุชนไปทุกอย่าง จะไปดูที่กามก็ตาม ไปดูที่พยาบาทก็ตาม ไปดูที่วิหิงสาก็ตาม ดูที่รูปก็ตาม ดูที่สักกายะก็ตาม ความรู้สึกเกิดขึ้นตรงกันข้ามเพราะเห็นตามที่เป็นจริง
ทีนี้่เอาไปเปรียบเทียบกับเรื่องอย่างอื่นก็ได้ พระบาลีหรือพระพุทธภาษิตท่านก็ตรัสแต่เรื่องที่เป็นหลักใหญ่ๆ ทีนี้ไปดูที่เราเคยรักหลงในอะไร เงินทอง ข้าวของ ทรัพย์สมบัติ บุตร ภรรยา สามีก็ตาม ถ้าดูเห็นเป็นสิ่งที่น่ารักน่ายึดถือ น่าพอใจ อย่างนั้นก็เป็นปุถุชน ถ้าเห็นความไม่น่ายึดถือ ไม่น่าพอใจ ก็เลื่อนชั้นจากปุถุชน ปุถุชนก็หลงอยู่ในโลกียธรรมทั้งหลาย นับไม่ไหว โลกียธรรมทั้งหลาย หลายสิบหลายร้อยหลายพันหลายหมื่นหลายแสนอย่าง ยิ่งดูเข้าก็ยิ่งชอบยิ่งเอา พอมาดูเข้าที่โลกียธรรมทั้งหลายก็ถอยหลัง ความคิดแล่นไปหาโลกุตระธรรม นี่คืออาการที่จะเลื่อนจากความเป็นปุถุชนขึ้นมาสู่ความเป็นอริยชนได้อย่างไร อาศัยคำๆ เดียวคือ เห็นตามที่เป็นจริง
เมื่อยังไม่เห็นตามที่เป็นจริงก็จะต้องยึดถือไปทุกสิ่ง พอเห็นตามที่เป็นจริงจะไม่ยึดถืออะไรเลย ก็รู้กันอยู่แล้วเมื่อยึดถือเมื่อไหร่ก็เป็นทุกข์ที่นั่น ยึดถือที่ไหนก็เป็นทุกข์ที่นั่น ยึดถือเท่าไรก็เป็นทุกข์เท่านั้น เมื่อไม่ยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์เลย ทีนี้เราก็รู้ว่าสำคัญอยู่ที่เห็นตามที่เป็นจริงหรือไม่เท่านั้นเอง จำคำนี้ไว้ให้ดี ต่อไปนี้จะไปดูอะไร จะไปสัมผัสอะไร จะฟัง จะดม จะลิ้ม จะสัมผัสก็ขอให้รู้ตามที่เป็นจริง รู้สึกอยู่ตามที่เป็นจริง อย่าให้มันหลอกให้หลงรัก หลงยึดถือแล้วเราจะเป็นทุกข์ พอเห็นตามที่เป็นจริง ก็จะไม่เกิดความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนขึ้น สำหรับจะหลงรัก หลงยึดถือ
ทีนี้เรื่องของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในพุทธศาสนานั้น เขาบอกไว้ล่วงหน้าเป็นสูตรสำเร็จให้อ่าน ให้ฟังดูไปตามนั้น แล้วก็ดูไปตามนั้นเห็นตามที่เป็นจริง ว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา ทีนี้กลายเป็นสูตรสำเร็จสำหรับท่องไปเสียหมด ไม่ได้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือน กับเราท่องแบบสวดมนต์ มันไม่เห็นเราต้องทำมากกว่านั้นจึงจะเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะเห็นความเป็นจริงของสังขารทั้งหลายเหล่านั้น
มีคำสรุปท้ายอีกคำหนึ่งซึ่งดีมากสำคัญมาก ถ้าใครถือได้ก็รอดตัว คือคำว่า ตถาตา แปลว่า เช่นนั้นเอง ตถาแปลว่าเช่นนั้น ตาแปลว่าภาวะ ตถาตา ภาวะแห่งความเป็นเช่นนั้น อะไรๆ ก็เป็นเช่นนั้นตามแบบของมันนั่นเลยเป็นที่รวมของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเป็นเช่นนั้น แล้วมันก็จะมีลักษณะแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทุกอย่างไปสำหรับสิ่งที่เป็นโลกียธรรมทั้งหลาย ฉะนั้นนอกจากพระนิพพานอย่างเดียวที่ยกเว้น ที่เราไม่เห็นว่าเช่นนั้นเอง เท่านั้นเอง แค่นั้นเองเราไม่เห็น เราก็เห็นเป็นของแปลก น่าอัศจรรย์ ถ้าเห็นว่าเช่นนั้นเอง เท่านั้น เอง ก็ไม่น่าอัศจรรย์ เมื่อเราเห็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็น เครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องอะไรก็ตาม แล้วเราไปเห็น ถ้าเราเห็นแล้วเราไม่รู้สึกว่าเช่นนั้นเอง เราก็หลงของประหลาดที่สุด น่าอัศจรรย์ที่สุด หรือว่าการที่ไปโลกพระจันทร์ได้นั้นประหลาดที่สุด น่าอัศจรรย์ที่สุด แต่ถ้าคนมีญาณในขั้นตถาตา ก็แค่นั้นเองๆ เป็นไปตามกฏของธรรมชาติธรรมดาแค่นั้นเองอย่างนั้นเอง แล้วเราก็ไม่อัศจรรย์ แล้วเราก็ไม่ไปหลงบูชาสิ่งเหล่านี้ แต่นั่นยังเป็นเรื่องไกลตัว นอกตัว จริงๆ แล้วใกล้ตัวและเป็นอันตรายอย่างยิ่งก็คือ สิ่งที่เข้ามาสัมผัสกับเราทางตาของเรา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางจิตใจของเรานั้นระวังให้ดี เราจะไม่เห็นเช่นนั้นเอง เราก็จะหลงรักที่มันสวย ที่มันไพเราะ ที่มันหอม ที่มันอร่อย ที่มันนิ่มนวล ที่มันอะไรก็ตาม เราจะไม่เห็นว่าเช่นนั้นเอง นี่คือความโง่ของปุถุชน ถ้าเห็นเป็นเช่นนั้นเองได้ในทุกอย่างนั้นก็ไม่หลงรักอะไร ไม่หลงโกรธหลงเกลียดอะไร ไม่หลงกลัวอะไร ไม่หลงหวังอะไร เดี๋ยวนี้เราเป็นทุกข์อยู่ด้วยความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความหวัง ความหวง ความหึง ความอะไรก็สุดแท้ เพราะเราไม่เห็นว่าเช่นนั้นเอง
หนังสือพิมพ์ลงแต่เรื่องที่ฆ่ากันตายอย่างง่ายๆ คุณดูเอาเองก็แล้วกัน ในหนังสือพิมพ์ที่ฆ่ากันตายอย่างที่ไม่น่าจะฆ่า เมียเป็นชู้หรือว่าผัวไม่มานี่ก็ฆ่ากันได้ นี่เห็นไหมว่านี่มันก็เช่นนั้นเอง คนสมัยโบราณเขาเห็นเช่นนั้นเองมากกว่าคนเดี๋ยวนี้นะ ถ้าเมียเป็นชู้เขาก็บอกว่า ให้มันเถอะ เป็นเช่นนั้นเอง ไม่ใช่ติดตามฆ่าคนที่เป็นชายชู้หรืออะไร เดี๋ยวนี้นิดหน่อยก็ฆ่ากันเพราะไม่มีความรู้เรื่องเช่นนั้นเองเหมือนกับคนสมัยโน้น เพราะว่าตถาตาคนไม่ค่อยจะได้ยิน อาจไม่เคยได้ยินก็ได้ เป็นไปได้ว่าอาจจะเพิ่งมาสวดมนต์บทปฏิจจสมุปบาท ได้ยินคำว่า ตถาตา อวิตถตา อนัญญถตา นั่นแหละคือหัวใจของพระพุทธศาสนาที่เก็บเงียบอยู่ในพระไตรปิฎก ไม่เอามาพูดมาสอนมาอ่านกัน เพราะคนสมัยโน้นถือว่ามันสูงเกินไปอย่าเอาไม่ควร เดี๋ยวนี้ฟังเลยไม่รู้หรอกว่าสูงเกินไป ไม่อย่างนั้นก็เก็บเงียบอยู่ในพระไตรปิฎก ฉะนั้นธรรมะชั้นดี ชั้นหัวใจ ชั้นเลิศนั้นถูกเก็บเงียบอยู่ในพระไตรปิฎกมาก ทีนี้เราไม่เชื่อเรามันดื้อ เราไม่เชื่อคนที่เขาห้าม เราก็เอาออกมาจึงทำให้หลายๆ คนได้ยินได้ฟังเรื่องตถาตา เรื่องสุญญตา เรื่องว่าง
หลายคนได้ยินเรื่องสุญญตา เรื่องตถาตา แล้วเอาไปใช้เป็นประโยชน์ ก็ถ้าเห็นตถาตาแล้วจะไม่หลงในสิ่งใดหมดแหละ ไม่หลงทั้งแง่ของความรักหรือความโกรธ หรือความเกลียดหรือความกลัว หรือความอะไรทั้งหมดเลย ก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้จิตใจนั้นเป็นทุกข์ จะเฉยได้ในสิ่งทั้งปวง ถ้าจะเข้าไปเกี่ยวข้องในสิ่งเหล่า นั้น ก็เข้าไปด้วยความรู้สึกว่า เช่นนั้นเอง ของนี้อร่อยนะ ไม่ได้ห้ามว่าไม่ให้กิน ก็ไปกินนั่นแหละแล้วก็กินด้วยความรู้สึกว่าเช่นนั้นเอง แต่ถ้าไม่อร่อยก็กินนั่นแหละ แล้วก็รู้สึกว่าเช่นนั้นเอง แล้วเรื่องโกรธเรื่องไม่อร่อย เรื่องหลงเรื่องอร่อยก็จะไม่มี ก็ไม่มีเรื่องที่ต้องทะเลาะวิวาทเป็นทุกข์ยุ่งยากลำบาก แม้เรื่องสูงสุดทางกามารมณ์ ถ้าเผอิญต้องไปเกี่ยวข้อง ก็ให้รู้สึกว่าเช่นนั้นเองอยู่เสมอแล้วมันจะไม่กลัดเอามาก ถ้าหลงใหลล่มความโง่เข้าไปมันจะกลัดเอามาก จะทำให้เกิดทุกข์มาก เพราะฉะนั้นเช่นนั้นเองป้องกันได้ ไม่ให้เรามีความทุกข์ ไม่หลงในสิ่งใด แล้วก็ไม่เห็นว่าอะไรน่าอัศจรรย์ น่าอัศจรรย์อย่างเดียวคือพระนิพพานที่ดับทุกข์ได้นั้นน่าอัศจรรย์ นอกนั้นก็ไม่น่าอัศจรรย์ ไปโลกพระจันทร์ได้นั้นเป็นของเด็กเล่นไม่น่าอัศจรรย์อะไร แต่เรื่องของพระนิพพานที่ดับกิเลสอันแสนยากได้นี่น่าอัศจรรย์ เหมือนที่พวกชาวบ้านเขาจะสาธุการว่าพระพุทธเจ้าน่าอัศจรรย์จริง พระธรรมน่าอัศจรรย์จริง พระสงฆ์น่าอัศจรรย์จริง ผมยังไม่ค่อยเชื่อว่าคนเหล่านั้นเห็นว่าน่าอัศจรรย์จริง จะว่าไปเหมือนอย่างนกแก้วนกขุนทองก็ได้ ถ้าคนเหล่านั้นเห็นว่าพระพุทธเจ้า พระธรรมนำหน้าคือเรื่องจริงนั้นก็พิเศษเลย คนนั้นจะไม่มีความทุกข์ คนที่มันเห็นจนพูดได้อย่างนั้นนะ กลัวว่ามันจะเป็นเรื่องท่องจำ ฉะนั้นเรารีบศึกษาให้เข้าใจเรื่องตถาตา อย่างนั้นเอง แล้วก็จะไม่มีทุกข์ แล้วพระพุทธเจ้าผู้สอนเรื่องตถาตาก็จะเป็นผู้น่าอัศจรรย์ หรือพระพุทธเจ้าผู้ถึงแล้วซึ่งตถาตานั่นแหละน่าอัศจรรย์ ตถาคตแปลว่าผู้ถึงแล้วซึ่งตถา หรือถึงตถาตา พระพุทธเจ้าถึงซึ่งตถาตาเลยไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใด ท่านจึงเป็นผู้น่าอัศจรรย์
ทีนี้พระธรรมคือเรื่องตถาตา ความรู้เรื่องตถาตา การปฏิบัติเรื่องตถาตา ได้ผลแห่งการปฏิบัติเรื่องตถาตา นั่นคือพระธรรม เพราะฉะนั้นพระธรรมก็น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง น่าจะไปตะโกนว่าพระธรรมน่าอัศจรรย์จริง ทีนี้พระสงฆ์ก็คือผู้ที่ปฏิบัติได้อย่างนั้น เหมือนพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ก็พลอยเป็นผู้ที่น่าอัศจรรย์ไปด้วย ฉะนั้นการที่เขาร้องออกมาว่าพระพุทธเจ้าน่าอัศจรรย์จริง พระธรรมน่าอัศจรรย์จริง พระสงฆ์น่าอัศจรรย์จริง อย่างนี้น่าฟังที่สุดแล้ว ผมว่าเป็นคำพูดที่ไพเราะกว่าคำพูดใดๆ ในโลกก็ได้ ทั้งที่คนพูดนั้นพูดอย่างท่องจำก็ตามใจเถอะ แต่ว่าคำนี้มีความหมายมาก
ถ้าจิตเห็นตถาตา นั่นคือการเลื่อนชั้นอย่างแรงอย่างสูงที่สุดเลย จากปุถุชนไปสู่ความเป็นพระอริยะ ถ้าจิตของผู้ใดเห็นซึ่งสุญญตา ตถาตานั้นเลื่อนชั้นที่สุดเลย นี่คือวิธีการที่จะเลื่อนจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นพระอริยะ มีอยู่อย่างนี้ ฉะนั้นขอให้สนใจที่จะทำให้เกิดการเห็นตามที่เป็นจริง คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รวมกันแล้วเรียกว่า สุญญตา ขอให้เห็นสุญญตา เห็นสุญญตาแล้วต่อไปก็จะเห็นตถาตาว่าอย่างนั้นเอง จิตที่เห็นอย่างนี้คือการเลื่อนชั้นจากปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยชน พระอริยเจ้าก็คือผู้ที่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุญญตา ตถาตา อยู่ตามสัดส่วนของท่านนั้น จะโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ก็เห็นมากน้อยกว่ากันตามลำดับ แต่พระอรหันต์นี่ก็เห็นถึงที่สุด จึงหลุดพ้นด้วยประการทั้งปวง ไม่มีกิเลส ไม่มีอนุสัย ไม่มีอาสวะเหลือ
ทีนี้จะพูดข้อสุดท้ายก็คือว่าเราอยากจะรู้ อยากจะเห็น อยากจะรู้แจ้งแทงตลอด เพื่อเลื่อนชั้นปุถุชนของเราให้เลื่อนขึ้นไปเป็นอริยชน ก็จะบอกให้รู้ว่า เรื่องรู้เรื่องเห็น เรื่องอย่างนี้มีอยู่ ๓ ชั้น ๓ ระดับ ความรู้มีอยู่ ๓ ระดับ รู้เพราะการเล่าเรียน พระสุตตะ เขาเรียกสุตตะคือการศึกษาเล่าเรียน อย่างที่คุณเรียนนั่นคือรู้เพราะสุตตะ รู้โดยสุตตะ รู้จากสุตตะ เราเรียนอะไรมาเราก็ท่องได้ เรารู้เท่าที่เราจำได้ รู้เท่าที่เราอ่านตัวอักษร เหมือนที่เขาสวดว่าพระพุทธเจ้าน่าอัศจรรย์จริง พระธรรมน่าอัศจรรย์จริง กลัวว่าจะรู้เพียงแค่ตามตัวอักษรที่ได้ยินได้ฟัง ความรู้ชั้นที่ ๑ รู้ด้วยสุตตะคือการศึกษา ทีนี้ลึกเข้าไปกว่านั้นชั้นที่ ๒ รู้โดยแทงตลอดด้วยปัญญา ขอใช้คำเดิมในพระบาลีว่าแทงตลอดด้วยปัญญา ถ้าต่อไปอีกชั้นสูงสุด ชั้นที่ ๓ ก็เรียกว่าการเสวยรสด้วยนามกาย
ชั้นที่ ๑ นั้นได้เรียนทางหู อ่านทางตา คือรู้อย่างการศึกษา
ชั้นที่ ๒ รู้ด้วยการแทงตลอดด้วยปัญญา ก็เอามาคิดใคร่ครวญ ทบทวนด้วยปัญญา เรียกว่ารู้ด้วยเหตุผล รู้ไปตามเหตุผลโดยปัญญาแทงตลอด คือรู้หรือเข้าใจผ่านสิ่งนั้นไป แต่ส่วนมากมักจะเป็นเรื่องของตรรกะหรือlogic ซะหมด เราต้องควบคุมปัญญาให้ดี ให้อยู่ในขอบเขตของธรรมะ เช่นถ้าเราเห็นความไม่เที่ยงเราก็คิดดูด้วยปัญญารู้ความไม่เที่ยง ถ้าเรายังไม่ถึงขนาดที่รู้ด้วยเสวยความไม่เที่ยงด้วยนามกาย เราคำนวณด้วยปัญญา เรียกว่าแทงตลอดด้วยปัญญา ทีนี้ต่อมาเราทำสิ่งนั้นโดยตรงลงไป จิตของเราได้สัมผัสกับสิ่งนั้น ได้เสวยรสของสิ่งนั้น นี่คือการเสวยรสด้วยนามกาย นามกายคือจิตใจ นี่คือจิตใจที่เข้าไปสัมผัสโดยตรง ชั้นที่ ๑ ตา หู สำหรับเล่าเรียนนั้นคือสัมผัสผิวๆ ชั้นที่ ๒ ปัญญา ความคิดเข้าไปสัมผัส ค้นคว้าหาเหตุผล หาอะไรจนเข้าใจแจ่มแจ้งด้วยปัญญา เรียกว่าปัญญาสัมผัส
ชั้นที่ ๓ นั้นจิตใจโดยตรงสัมผัส สมมุติว่าเราได้ยินเรื่องความดีความชั่ว เขาสอนเรื่องความดีความชั่วเราอ่านเราจำเราฟังเรารู้ อย่างนี้เรียกว่ารู้โดยสุตตะการศึกษา ต่อมาเราใคร่ครวญดูว่าน่าจะจริง ความชั่วนั้นเป็นทุกข์ ความดีย่อมเป็นสุข นี่เรียกว่ารู้ด้วยปัญญา ครั้นเราไปทำความชั่วเข้าจริงๆ ได้รับผลของความชั่วนี้คือเสวยรสด้วยนามกาย ครั้นเราไปทำความดีเข้าจริงๆ ได้รับผลความดีนี่เรียกว่าเราเสวยรสด้วยนามกาย เป็น ๓ ชั้นอย่างนี้ทั้งนั้น
ความรู้จะอยู่เป็น ๓ ระดับอย่างนี้ทุกเรื่องไป ความรู้ชั้น ๑ จะเป็นความรู้ชั้นแรก ชั้นต้น ชั้นผิวเผิน ก็มีประโยชน์ไปตามชั้นต้น ชั้นผิวเผิน ชั้นแทงตลอดด้วยปัญญาก็ดีกว่านั้น ก็มีผลไปตามชั้นที่ ๒ พอชั้นที่ ๓ ก็เป็นความรู้ชนิดเด็ดขาด ที่เรียกว่าเสวยรสด้วยนามกาย ที่อีกคำเรียกว่า สัณทิฏฐิโก เห็นด้วยตนเอง รู้สึกด้วยตนเอง รู้จิตใจของตนเองนี่คือสัมผัสลงไปด้วยจิตใจของเรา เพราะฉะนั้นคุณจะเรียนเรื่องอะไร ธรรมะข้อไหน ก็สังเกตดูเถอะว่าจะมีอยู่ ๓ ชั้นอย่างนี้ ถ้าเราจะเลื่อนชั้นความเป็นปุถุชนของเรา เราก็เลื่อนจากรู้เพราะการ ศึกษา ไปรู้แทงตลอดด้วยปัญญา หรือเลื่อนอีกทีก็ไปที่เสวยรสนั้นด้วยนามกาย เราได้รับคำบอกมาว่าน้ำแข็งเย็น เราก็รู้เท่านั้นว่าน้ำแข็งเย็น แต่พอเรามาใคร่ครวญดูว่าอย่างนั้นอย่างนี้ มันคงจะเย็นจริง อย่างนี้คือแทงตลอดด้วยปัญญา ต่อมาก็เคี้ยวน้ำแข็งเข้าไป หรือดื่มน้ำแข็งเข้าไปด้วยก็ว่ามันเย็นจริงนี่ จะมีอยู่ ๓ ชั้นอย่างนี้ รู้ด้วยการศึกษา รู้ด้วยการแทงตลอดของปัญญา รู้ด้วยการเสวยด้วยนามกาย
ฉะนั้นจึงอยากจะขอให้ถือเป็นหลักว่า จะศึกษาอะไรก็ขอให้ทะลุไปถึงชั้นที่ ๓ อย่าให้จิตอยู่เพียงชั้นที่ ๑ ที่ ๒ ชั้นที่ ๑ นั้นเป็นนกแก้วนกขุนทองอยู่มาก ชั้นที่ ๒ ก็อาจจะผิดได้ถ้าวิธีคิดด้วยปัญญานั้นพลาดไป แต่ถ้าวิธีที่ ๓ ไม่มีทางผิดเพราะเข้าถึงตัวจริง สัมผัสด้วยตัวจริง สัมผัสด้วยจิตใจ ไม่มีทางจะผิด
การรู้ที่จะบรรลุมรรคผลนั้นเป็นชั้นที่ ๓ ทั้งนั้น เป็นระดับที่ ๓ รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้สุญญตา รู้ตถาตา ก็เหมือนกันแหละ จะแบ่งเป็น ๓ ชั้นอย่างนี้ รู้ด้วยการศึกษาอย่างที่เรากำลังนั่งศึกษากันอยู่นี่ ก็จะอยู่เท่านี้ แล้วไปแทงตลอดด้วยปัญญา ในเรื่องที่ได้ยินได้ฟังนี้อีกทีหนึ่ง หลังจากนั้นก็สัมผัส คือทำเลย ทำลงไปเลย ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแล้วก็จะไปถึง ใจจะรู้ในชนิดที่เรียกว่าเสวยรสด้วยนามกายคือใจ คำนี้แปลก ในบาลีมีอยู่อย่างนี้ ผมก็ไม่อยากจะเปลี่ยนใช้คำว่า เสวยรสด้วยนามกาย เรื่องชั่ว เรื่องดี เรื่องสุข เรื่องทุกข์ เรื่องอะไรที่เราจะรู้นั้น เราจะรู้ถึงที่สุดก็ต่อเมื่อเสวยด้วยนามกาย เราถึงจะรู้ว่าเกลือเค็ม น้ำตาลหวาน น้ำแข็งเย็น จะรู้ถึงที่สุดก็เมื่อใส่เข้าไปในปากเท่านั้น นอกนั้นยังไม่จริง ถ้ายังเห็นๆ อยู่ก็เป็นเรื่องคาดคะเน
ทีนี้มาถึงข้อที่ว่าความเป็นปุถุชนของเราเป็นกันมานานแล้ว สัมผัสกันมามากแล้ว แต่ด้วยอวิชชาคือไม่รู้ตามที่เป็นจริง เพราะฉะนั้นไปปรับปรุงเสียใหม่ ไปขยับขยายเสียใหม่จนเห็นตามที่เป็นจริง ถึงจะเกิดเป็นผลขึ้นมาจริง ตามที่เป็นจริง เป็นทุกข์จริง ดับทุกข์จริง นี่เราลืมตาสว่างไสว ไม่มีไฝฝ้าบังตา คือไม่มีความเป็นปุถุชนเหมือนแต่ก่อนก็เลยเข้าเขตของอริยชน ไปถึงประตูพระนิพพานก็เรียกว่าโสดาบัน เดินต่อเข้าไปอีกตามลำดับถึงโดยสมบูรณ์ เขาเรียกว่าเป็นพระอรหันต์
ความรู้มีอยู่ ๓ ชั้นอย่างนี้ ให้เลื่อนขึ้นไปทีละชั้นๆ นี่คือวิธีการที่จะเลื่อนชั้นของปุถุชน มีวิถีทาง วิธีการ หรือวิถีทางที่จะทำได้อย่างนั้นแต่เราไม่รู้นี่ ทีนี้เรามาพูดกันให้รู้แล้วก็จะได้ค้นคว้าต่อไป ให้ความเป็นปุถุชนนั้นก้าวไปได้ คือให้จิตนั้นก้าวข้ามความเป็นปุถุชนไปก็ได้ ให้เลื่อนชั้นขอให้เลื่อนชั้น การเลื่อนชั้นนั้นเป็นสิ่งที่มีได้จริง มีอยู่จริง เป็นของแน่นอนเหมือนกัน ต่อเมื่อเราทำได้ถูกต้อง จิตเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตามการอบรม ตามสิ่งแวดล้อม เราก็หาสิ่งที่ถูกต้องมาแวดล้อมจิต มาอบรมจิตให้จิตนี้เปลี่ยน จิตนี้ก็จะเปลี่ยน ขอให้ย้อนถอยหลังมองดูตัวเรานั้นได้เปลี่ยนมาอย่างไร ทางกายเปลี่ยนก็ไม่สำคัญเท่าทางจิตเปลี่ยน คือเราเกิดมาเป็นเด็กแล้วจิตใจนั้นเปลี่ยน คือเรารู้อะไรมากขึ้นๆ แต่ยังไม่ตรงจุดที่ดับทุกข์ได้ แล้วก็มักจะไปหลงความสุขสนุกสนาน เอร็ดอร่อย เป็นฝ่ายกิเลสไปก่อน แล้วก็มีการลงโทษของกิเลสของความผิดพลาดนั้นจะเจ็บปวด และจิตก็เปลี่ยนชนิดที่ไม่อยากเอาอย่างนั้น จึงหันมาอย่างนี้ เหมือนที่พูดเมื่อตะกี้ว่า ก่อนนี้พอนึกถึงกามเท่านั้นก็กระโจนลงไปเลย แต่เดี๋ยวนี้พอนึกถึงกามก็ถอยหลัง นี่เรียกว่าเปลี่ยน จิตเป็นสิ่งที่เปลี่ยนได้ อบรมได้ เลื่อนชั้นได้ เราไม่รู้เรื่องเอง เราก็เลยไม่ได้อบรมจิตก็ตายด้านอยู่ที่นี่
เพราะฉะนั้นวันนี้ก็พูดเท่านี้ พูดเรื่องวิถีทางหรือวิธีการที่จะเลื่อนชั้นความเป็นปุถุชนได้อย่างไร ก็คืออย่างนี้ ก้าวขึ้นข้างบนเรื่อยๆ จนถึงยอดสุดของปุถุชน หลังจากนี้ก็จะเลื่อนเข้าไปในขอบเขตของพระอริยเจ้า ขอให้เป็นที่เข้าใจกันไว้ให้ชีวิตในอนาคตนั้นเลื่อนๆ ขึ้นไปเสียที ที่ว่าเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วได้พบกับพุทธศาสนา และการบรรยายในวันนี้ยุติไว้เพียงเท่านี้