แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นราชภัฏฯ บวชและต้องลาสิกขาทั้งหลาย การบรรยายธรรมะเล่มน้อยสำหรับผู้ลาสิกขาเป็นครั้งที่ ๔ นี้ จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า “ ปุถุชนที่ขึ้นถึงยอดของความเป็นปุถุชน ”
บางคนยังนึกสงสัยว่า ทำไมยังพูดกันแต่เรื่องปุถุชนมากมายจนน่าเอือมระอา ตราบว่าที่ต้องพูดเรื่องปุถุชนก็เพราะว่าเรามันกำลังเป็นปุถุชน จึงต้องพูดในเรื่องของปุถุชน แล้วก็พูดมากจนไม่กลัวว่าใครจะรำคาญ หรือใครจะเบื่อ มองอีกทางหนึ่งก็ว่าปัญหาทั้งหลายมันเกิดมาจากความเป็นปุถุชน ถ้าอย่าเป็นปุถุชนมากนักปัญหาก็จะไม่ค่อยมี ถ้าไม่เป็นปุถุชนกันซะเลย ปัญหามันก็หมด ว่าอย่างนี้ ฉะนั้นจึงต้องพูดเรื่องปุถุชนเรื่อยไป หน้าที่ของเราก็คือว่าจะต้องเขยิบออกไป เขยิบออกไปให้พ้นจากความเป็นปุถุชนชั้นเลว จากอันธพาลปุถุชนขึ้นไปหากัลยาณปุถุชน อยากจะขอร้องให้สนใจไว้เป็นพิเศษสองคำนี้ มันตั้งต้นที่ความเป็นอันธพาลปุถุชน ปุถุชนยังอันธพาล และมันเขยิบขึ้นไป เขยิบขึ้นไปถึงกัลยาณปุถุชน คือปุถุชนที่งดงาม หรือปุถุชนชั้นดี สุดฝ่ายนี้ก็ปุถุชนอันธพาล สุดฝ่ายโน้นก็คืออันธพาลปุถุชนที่งดงาม หรือเป็นชั้นดี เรื่องของปุถุชนมันมีอยู่อย่างนี้ และที่ตรงกลางนั่นแหละ มันมีมาก มีเรื่องที่ต้องพูดกันมาก
วันนี้เรามาพูดกันถึงเรื่องการขึ้นถึงยอดของความเป็นปุถุชน จากปุถุชนอันธพาล ไปถึงปุถุชนชั้นกัลยาณปุถุชน เป็นอยู่อย่างอันธพาลปุถุชน จมปลักอยู่ในปลักของกิเลส หรือกองทุกข์ เหมือนกับหลุมถ่านเพลิง ถ้าเป็นกัลยาณปุถุชน ไอ้ความจมปลัก มันก็น้อยค่าๆ เขาอยู่ในหลุมถ่านเพลิง มันก็น้อยค่าเหมือนกัน คือมันมีไฟน้อยเข้า เราจะต้องก้าวหน้าจากจุดต่ำสุดนี่ ไปหาจุดสูงสุดของความเป็นปุถุชน ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติ มันก็เป็นเหมือนกันแหละ แต่มันช้านัก แม้ว่าจะปล่อยไปตามธรรมชาตินี่ ไม่ได้รู้ไม่ได้คิดนึก พยายามอะไรในชีวิต มันก็สอนของมันเอง เรามันก็ฉลาดขึ้น ทุกวันทุกเดือนทุกปี มันก็เป็นชั้นดียิ่งๆ ไปได้ แต่มันช้านัก คือมันอาจจะตายเสียก่อนก็ได้ มันควรจะได้รับแสงสว่าง ที่จะจัดจะทำอย่างไรให้มันก้าวหน้าไปโดยเร็วทันแก่เวลา
ถือว่าการมาบวชนี้ ก็เพื่อมาแสวงหาลู่ทางเพื่อสิ่งนี้ เพื่อเลื่อนชั้นจากอันธพาลปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน แล้วจึงกระโดดข้ามไปฝั่งโน้น ฟากโน้นของพระอริยเจ้า หรืออริยบุคคล ดูวิวัฒนาการบางอย่างก็เห็นได้ว่า ไอ้ลูกน้ำ มันก็ออกมาเป็นลูกน้ำ เชื้อมันก็จะเป็นลูกน้ำที่แก่จัด เป็นลูกน้ำหัวโม่ง แล้วมันก็จะกลายเป็นยุง นี่เรียกว่าวิวัฒนาการ อาจจะเห็นชัด และก็แตกต่างกันมาก เมื่อเป็นลูกน้ำ ก็สำหรับจะให้ปลากินซะ แต่พอมันกลายเป็นยุงขึ้นมา มันก็กินคน นี่มันต่างกันโดยเหตุโดยผล โดยลักษณะอาการอะไรต่างๆ เราก็น่าจะมีวิวัฒนาการ อย่าให้ตายเปล่า หรือจะดูลูกกบตัวเล็กๆ ออกจากไข่ ว่ายอยู่ในน้ำ เป็นลูกอ๊อด เกือบจะไม่มีค่าไม่มีราคาอย่างไร เป็นเหยื่อของสัตว์อื่น แล้วมันก็ค่อยโต เปลี่ยนสภาพเป็นมีขา มี ๔ ขาเป็นกบขึ้นบก แล้วก็ (๐๖ ๔๕) วิวัฒนาการอย่างนี้ ควรจะนำมาเปรียบเทียบกับมนุษย์เรา เมื่อยังเป็นเหมือนกับลูกน้ำ ลูกกบ ลูกอ๊อด มันก็น่าสงสารเต็มที ไม่มีความปลอดภัย ไม่มีสมรรถภาพอะไรหลายๆ อย่าง ต่อเมื่อมันเลื่อนขึ้นมาตามลำดับนี่ มันจึงจะเป็นสัตว์ที่มีความเข้มแข็ง แสดงบทบาทอะไรก็ได้ หรือจะเรียกว่า มีค่ามีอะไรมากขึ้น นี่เราก็ให้ความเป็นปุถุชนของเรานี่ มันเลื่อนจากไอ้ความที่มันจะเป็นลูกน้ำ ลูกกบ มาเป็นยุง มาเป็นกบ เป็นไอ้ที่มันบินไปได้ ขึ้นบกได้ มันจึงจะเลื่อนไปอีกชั้นหนึ่ง พ้นจากปัญหาโดยประการทั้งปวง
ก็คิดดูเถอะว่ามันก็เป็นเหมือนกับนักโทษ เราเกิดมาด้วยความไม่รู้แล้วก็ทำผิด แล้วทนทรมานอยู่ในกองทุกข์ ในวัฎสงสารติดคุกของวัฎสงสาร มีความทุกข์ แต่ถ้าว่าทำตัวให้ดีที่สุดอยู่ในคุก มันก็จะได้เลื่อนขั้น เหมือนกับนักโทษชั้นดีอยู่ในเรือนจำ นักโทษชั้นดีเขาจัดไว้พิเศษ ถ้ามีการปลดปล่อย อภัยโทษ ไอ้พวกนี้จะได้ออกก่อน เราจงเหมือนกับนักโทษชั้นดี อยู่ในคุกของวัฎสงสาร ในคุกของปุถุชนและเป็นปุถุชนชั้นดี พร้อมที่จะออกไปจากคุก เรารู้เรื่องนี้ ทำตัวให้เป็นปุถุชนชั้นดี เรียกว่ากัลยาณปุถุชน เรียกว่าขึ้นถึงยอดของความเป็นปุถุชน ปุถุชนมันสูงสุดได้เพียงแค่เป็นกัลยาณปุถุชน มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงปรับ ปรุงใหม่หมด ละจากความเป็นอันธพาล แล้วมาอยู่ในสภาพที่เรียกว่าพร้อม ที่จะออกจากความเป็นปุถุชน นี่มันมีเรื่องอย่างนี้ ถ้าอุปมาแล้วมันมีเรื่องอย่างนี้ เราจะแยกตัวออกจากความเป็นปุถุชน สู่ความเป็นอริยชน อริยเจ้า
ดังนั้นชีวิตเป็นการศึกษา อยู่ในตัวมันเอง แต่มันช้าเกินไป วิวัฒนาการตามธรรมชาติกินเวลาเป็นหมื่นปีแสนปีล้านปี มันก็ไม่ทัน เรามาหาความรู้ของผู้รู้ที่ได้สอนไว้ ว่าเราจะทำให้มันก้าวหน้าวิวัฒนาการไปโดยเร็วได้อย่างไร แม้ว่าจะเป็นเรื่องทางจิตใจ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงทางร่าง กาย แต่มันก็เปลี่ยนทางจิตใจ เช่นอยู่ในระดับสูงสุด นี่ยังว่าจะลาสิกขาออกไปเป็นปุถุชนอยู่ ก็มันควรจะดีกว่าเดิม ดีกว่าไม่ได้มาบวช ไม่ได้มาศึกษา มันจะต้องดีกว่าเดิม ถ้ามันไม่มีอะไรดีกว่าเดิม ก็เรียกว่าล้มละลายล่ะ สำหรับคนนั้นมันล้มละลายไม่มีอะไรเป็นเรื่องขาดทุนทั้งนั้น อยากจะถือเป็นหลักว่า ลาสิกขาไปคราวนี้ ไอ้กระดานดำบอร์ดน่ะ จะต้องลบใหม่หมด ให้คะแนนกันใหม่ ตั้งต้นคะแนนกันใหม่ ไอ้ก่อนบวชน่ะ ลบทิ้งไป มันมีทั้งคะแนนบวกและคะแนนลบ ปนกันยุ่งไปหมด ไม่ต้องเอามาเป็นเครื่องร้อนใจอะไร นั้นก็เป็นการศึกษาอยู่ในตัวแล้ว ต่อไปนี้ก็จะมีแต่ให้มันถูก มันเป็นคะแนนบวกเรื่อยไป มันเป็นคะแนนบวกเรื่อยไป ฝ่ายคะแนนลบมันจะไม่มี อย่างนี้แหละจึงจะเรียกว่า ไม่เสียทีที่ได้บวช และก็ได้ลาสิกขาออกไปเป็นบุคคลที่เขาให้นามกันใหม่ว่า บัณฑิต เป็นเรื่องหนึ่งในประเทศอินเดียได้ยืมคำอินเดียมาใช้ พุทธศาสนาก็เกิดในอินเดีย ใช้ภาษาอินเดีย นาทีที่๑๒:๒๒ อินเดีย วัฒนธรรมอินเดีย มาสอนกันในประเทศไทย เช่นคำว่าบัณฑิต คือผู้ที่เรียนจะจบแล้ว พร้อมที่จะเผชิญโลก ก็ไปศึกษาในสำนักศึกษาถึงที่สุดแล้ว สำนักหรือสถาบันรับ รองว่า พร้อมออกไปเผชิญโลกได้ นี่ก็จะเรียกว่าบัณฑิต เราก็เหมือนกันแหละ ถือว่าไอ้การบวชนี้เหมือน กับเข้าสำนักศึกษา จบแล้วก็เป็นบัณฑิต สึกออกไปนี่ เขาเรียกกันแต่ก่อนว่าเป็นบัณฑิต แล้วก็ทำผิด พลาดไม่น่าดูเลย ถูกเรียกว่าอ้ายทิด บัณฑิตกับอ้ายทิด มันคนละแบบกัน อ้ายทิดมันคงเป็นอันธพาลปุถุชนต่อไปตามเดิม แต่ถ้าเป็นบัณฑิตแล้วมันก็ต้องเป็นกัลยาณปุถุชน คือขอให้เราดำเนินไปได้ ในลักษณะอย่างนี้
คำว่าบัณฑิตนี่ ก็มีปัญญารักษาเอาตัวรอด สำนวนเทพเก่าๆ มีอยู่ว่า บัณฑิตผู้ดำเนินประโยชน์กิจดัวยปัญญา จำไว้มั่งก็ดี คำเก่าๆ ที่เขาพูดจากันมีอย่างนี้ บัณฑิตต้องดำเนินประโยชน์กิจดัวยปัญญา บัณฑาคือปัญญา ฑิตาแปลว่า มี บัณฑา ฑิตา เรียกรวมกันเป็นบัณฑิต บัณฑา ฑิตา เรียกว่ามีบัณฑา มีปัญญา เครื่องดำเนินเป็นประโยชน์กิจจนเอาตัวรอดได้ ระหว่างที่บวชก็รวบรวมเอาวิชาความรู้ สำหรับดำเนินประโยชน์กิจด้วยปัญญาจนเอาตัวรอดได้ จะได้ไม่เสียทีที่ได้บวช นี่ลูกกบมันจะกลายเป็นกบ มันจะมีประโยชน์ มันจะขึ้นบกไปแล้ว หรือว่าจะเปรียบเหมือนคนคุก ติดคุกของวัฏสงสารก็เป็นนักโทษชั้นดี จะปลดปล่อยออกไปได้ ด้วยการประพฤติกระทำที่ดี เราก็เป็นกัลยาณปุถุชนกันในความหมายอย่างนี้ เราไปเร่งวิวัฒนาการของชีวิตให้มันเร็วขึ้นให้มันมาก ให้มันเร็วขึ้นกว่าที่ธรรมชาติมันจะเป็นไปเอง ให้ชีวิตเป็น อยู่นี่มันสอนอยู่ทุกวัน ทุกลมหายใจเข้าออกล่ะ ถ้าว่าเป็นคนมีปัญญา มันจะได้รับบทเรียนชีวิตจากทุกครั้งที่มีการหายใจเข้าออก ถ้ามันเป็นคนประมาท เป็นคนโง่ เป็นคนอันธพาลมันก็ไม่ได้รับเหมือนกัน มันเกิดมาจนตายมันก็ไม่ได้รับอะไรจากชีวิตที่ได้เกิดมา
ในวิวัฒนาการโดยธรรมชาตินี่ มันได้รับการสนับสนุนปรุงแต่ง ปรับปรุงให้ดี ให้เร็วให้ทันแก่ที่ว่า ไอ้ชีวิตของร่างกายกลุ่มหนึ่งๆ นี่มันจะไม่เกินร้อยปีไปได้ โดยมากมันก็นั้นแหละ โดยประมาณนั้นมันก็ร้อยปี เราก็ทำให้มันทันแก่เวลา ถ้าว่าเอาจริง เก่งจริง มันจะได้รับหมดล่ะ ถ้าต่ำสุดจนถึงสูงสุดคือความเป็นพระอรหันต์พ้นไปจากโลก เราเกิดมาไม่รู้อะไรก็ค่อยๆ รู้ขึ้นๆ ทีแรกมันก็รู้ผิด มันก็ไปชิมไอ้ความทุกข์ ไปเกิดในกามภพมันก็หลงไปพักหนึ่ง ก็มีทุกข์ตามแบบกามภพ ในรูปภพมันก็หลงไปพักหนึ่ง ตามแบบของรูปภพ อรูปภพมันก็อีกแหละ ไปแบบหนึ่งซึ่งไม่ใช่ดับทุกข์สิ้นเชิงไม่มีการดับทุกข์ในภพเหล่านี้ ก็มันไปหลงอยู่ในรูป ในกามบ้าง ในรูปบ้าง ในอรูปบ้างเป็นความหลงทั้งนั้น ยิ่งเป็นปุถุชนน่ะมันจะขึ้นไปเสียให้ได้ มันจะต้องขึ้นไปเหนือภพเหนือความสำคัญว่า กูเป็นอย่างนั้น กูเป็นอย่างนี้ คือไม่มีความยึดถือว่าตัวตนอีกต่อไป ก็เรียกว่า ไม่มีทุกข์ ไม่มีทุกข์ได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งเป็นการดีเท่านั้น จะได้เสวยไอ้ความไม่มีทุกข์น่ะ หลายปีหน่อย ถ้าเราดับทุกข์เสียได้เมื่ออายุ ๕๐ ปี ก็จะมีโอกาสที่จะเสวยความสุข ๕๐ ปีนั้น เร่งๆ กันเข้า ให้มันหมดปัญหาให้มันหมดความทุกข์ ชีวิตที่เหลือจะเป็นความเยือกเย็น เป็นสุข ก็เรียกว่า เป็นเรื่องดีที่สุด ประเสริฐที่สุด เป็นกำไรที่สุด นี่เรียกว่าความมุ่งหมายมาบวช รู้จักวิธีเลื่อนชั้นจาก อันธพาลปุถุชนไปเป็นกัลยาณปุถุชนนี่เรียกว่าจบล่ะ จบความเป็นปุถุชน เหมือนกับจบประถมบริบูรณ์ จบมัธยมบริบูรณ์ จบอุดมบริบูรณ์ ก็แล้วแต่ว่ามันจะพูดกันถึงชั้นไหน
เดี๋ยวนี้เราพูดกันถึงชั้นปุถุชน รีบเรียนรีบทำให้มันจบชั้นปุถุชน จะได้เลื่อนขึ้นชั้นพระอริยชน ไม่มีความทุกข์ นี่มันจะเป็นไปได้หรือไม่ที่พูดอย่างนี้ มันจะเป็นไปได้หรือไม่ ไอ้ความเป็นอย่างนี้มันจะเป็นๆ ไปได้หรือไม่ บางคนไม่ยอมเชื่อว่าจะเป็นไปได้ ไม่เชื่อ ไม่ยอมเชื่อก็ไม่สนใจ ก็ไม่สนใจที่จะศึกษาค้นคว้า มันก็ไม่มีโอกาสที่จะได้ยิน ได้ฟัง ไอ้คนที่คิดจะอย่างนั้นมันก็ไม่มาสนใจ เราอาจจะเรียนให้จบชั้นปุถุชน มันก็ไม่ได้เรียน มันก็ไม่ได้เลื่อน มันก็คงเป็นปุถุชนอยู่ แต่คอยเราคิดไปเองเองด้วยสติปัญญาของเรา ก็มันเป็นไปได้ที่จะเรียนให้จบชั้นปุถุชนหรือเลื่อนจากปุถุชนไปสู่อริยชน มันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ โดยหลักพื้น ฐานทั่วไป โดยธรรมชาตินั้นมันก็ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ตายตัว รู้ไว้อย่างนั้นก่อน ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ตายตัวมันเปลี่ยนเรื่อย ถ้าเรารู้วิธีเปลี่ยนก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น สูงขึ้นๆ แล้วเราก็มาศึกษาวิธีเปลี่ยน จากคำสอนของผู้ที่เคยประสบความสำเร็จในเรื่องนี้มาแล้ว เช่นพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านเคยประสบความสำเร็จในเรื่องนี้มาแล้ว ท่านสอนไว้ เราก็รับเอามา ใคร่ครวญดูก็เห็นว่า เออ, จริง อย่างนี้เป็นไปได้จริง แล้วเราก็ทำตาม แล้วมันก็เป็นไปได้จริงนี่ แต่นี่บางคนมันไม่ยอมเชื่อ ว่ามันจะเป็นไปได้ในการที่คนเราจะไม่รัก ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่กลัว ไม่หลง ไม่ทนทรมานอะไรนี่ เพราะคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ เขาคิดว่ามันจะต้องเป็นอย่างนี้ เขาก็สมัครที่จะเป็นอย่างนี้ เขาก็เป็นคนหัวดื้อ คือไม่ยอมเชื่อ
มีนิทานอุปมาอยู่เรื่องหนึ่ง ที่ควรจะระลึกถึง คือนิทานเรื่องเต่ากับปลา ปลาอยู่แต่ในน้ำ รู้แต่เรื่องน้ำ เมื่อเต่าเล่าเรื่องบนบก ชวนให้ไปบนบกปลามันก็ไม่เชื่อ นอกจากไม่เชื่อแล้วมันยังด่าให้ว่า ไอ้โกหกเอาเรื่องอย่างนี้มาพูด ว่าปลามันจะถามอย่างไร เต่ามันก็บอกว่าไม่ ไม่ ไม่ ปลามันถามได้แต่คำถามสำหรับสิ่งที่อยู่ในน้ำ เมื่อเต่ามันก็บอกว่า ไม่ ไม่ ไม่ ไอ้ปลามันก็เลยด่าเต่าว่า ไอ้คนโกหก เอาเรื่องโกหกมาหลอกมาลวง ไอ้เต่าก็ไม่รู้จะทำอย่างไร มันก็กลับขึ้นไปบนบกอีก มาเสียเวลามาคุยกับปลา นี่เราระวังให้ดีนะมันจะเป็นเรื่องของเราก็ได้ คือเรานั่นแหละจะเป็นปลา เป็นปุถุชนเต็มขั้น เมื่อกัลยาณปุถุชนก็ดี หรืออริยชนก็ดีมาบอกให้เราฟังอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เรื่องบกหรือเรื่องการนิพพาน ดีอย่างนั้นอย่างนี้เราก็ไม่เชื่อ ไม่อาจจะเชื่อ ก็เพราะว่าเราเป็นปลามากเกินไป เหมือนกับว่าไอ้ปลามันไม่เชื่อเรื่องที่เต่าเล่าให้ฟังถึงเรื่องบนบก เหมือนลูกกบเมื่อมันอยู่ในน้ำ ถ้าแม่กบมันจะเล่าเรื่องบนบกให้ฟังได้ ไอ้ลูกกบแท้ๆ ลูกของแม่แท้ๆ มันก็ไม่เชื่อ แล้วแม่มันไม่รู้จะทำอะไร มันก็ต้องขึ้นบกต่อไปล่ะ มันพูดกันไม่รู้เรื่องนี่ยิ่งสภาวการณ์อย่างนี้มันมีอยู่ในโลก อยู่ในโลกนี้ เวลานี้ที่เราสอน หรือเราจูงกันไปไม่ได้ จูงคนไปนิพพานนี่ยากกว่าไสช้างรอดรูเข็ม ไสช้างรอดรูเข็มเสียยังง่ายกว่าจูงปุถุชนไปนิพพาน มันมีแต่ว่าอ้ายปุถุชนนั้นมันจะต้องเปลี่ยนตัว รีบเปลี่ยนตัว ศึกษาเข้าใจก็รีบเปลี่ยน เปลี่ยน เปลี่ยนตัวจึงจะค่อยๆ รู้จัก สิ่งที่ตรงกันข้ามที่ไม่เคยรู้จัก
ดังนั้นอยากจะขอให้ทุกคนคอยชะเง้อ ชะเง้อ ยืดคอชะเง้อ คอยหา คอยดูว่ามันมีอะไรที่ดีกว่านี้ มีอะไรที่สูงกว่านี้ ประเสริฐกว่านี้ บริสุทธ์กว่านี้ เป็นสุขกว่านี้ คอยชะเง้อกันบ้างสิ อย่ามัวแต่ก้มหน้าตะพรึด บริโภคเสวยกันอยู่แต่ไอ้สิ่งที่สกปรกหลอกลวงเหล่านั้น ถ้าอย่างนี้มันก็จะมีหวัง แล้วก็มีบุญคอยชะเง้อกันมั่ง มันต้องแลกเปลี่ยนเอาด้วยสิ่งที่เราเคยรัก ไอ้เรื่องกามารมณ์ เรื่องอะไรก็จะเป็นที่รักอะไรสูงสุดน่ะมันต้องสละ ก็ไปแลกเปลี่ยนเอาสิ่งที่ดีกว่านั้น เราจะถือว่าเรามีอิสรภาพ ที่จะทำอะไรตามชอบใจเราก็ได้เหมือนกัน แต่แล้วเราก็จะคงได้แต่เพียงสิ่งสกปรกนี้ เสรีภาพที่จะแสวงหาสิ่งสกปรก ที่จะอยู่กับสิ่งสกปรก คือเป็นทุกข์ เราก็ไม่มีเสรีภาพอย่างของพระพุทธเจ้า มันต้องแลกเสรีภาพด้วยเสรีภาพ เสีย สละเสรีภาพของปุถุชนเสีย ก็ไปเอาเสรีภาพอย่างของอริยชน มันจึงจะได้ ถ้าไม่ยอมสละเสรีภาพของคนโง่ มันก็ไม่ได้เสรีภาพของคนฉลาด มันไม่เป็นอย่างอื่นนะ คิดดูเหอะ คิดดู มันไม่เป็นอย่างอื่นได้ มันเป็นอย่างนี้ เราจะ จะแลกเอาด้วยเสรีภาพของเรา อย่างที่เรามี เพื่อได้เสรีภาพอย่างของพระพุทธเจ้า เราไม่มองดู เราก็ไม่เห็นว่ามันมีอยู่ และสมควรจะแลกเอาเราก็อยู่กับสิ่งนี้ตลอดไป จิตใจไม่ได้เลื่อนขึ้น มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือมรรคผลนิพพานอะไร จิตใจอยู่แต่กับกิเลสอย่างเดียว ไม่รู้ว่าบกมี เหมือนที่ปลาไม่รู้ว่าบกมี ก็ไม่สนใจ แล้วมันก็ปรับปรุงตัวเองแต่ในทางที่จะอยู่ในน้ำเท่านั้น มันก็อยู่ในน้ำต่อไป
เขาว่าวิวัฒนาการของไอ้สากลจักรวาลเคยมีสัตว์น้ำ และมีสัตว์บก ก็เพราะมันเริ่มรู้สึกทีละนิดๆ มันจึงเกิดอยากจะขึ้นบก แล้วมันค่อยๆ กลายเป็นสัตว์ที่ค่อยๆ ขึ้นบก หรือว่ามันอาจจะเป็นความคิดนึกเพ้อเจ้อฟุ้งซ่านก็ได้ ไปหลายๆ ทิศทาง ทิศทางที่ไปไม่ได้มันก็เลิกกันไปแล้ว ทิศทางที่เป็นไปได้มันก็มีอยู่ เช่นสัตว์น้ำก็ค่อยๆ กลายมาเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ แล้วมาเป็นสัตว์บก สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มันมีเจตนามีความมุ่งหมายทั้งนั้นแหละ ถ้าไม่มีเจตนา ไม่มีความมุ่งหมาย มันก็เป็นไม่ได้ เจตนาจะมีได้ก็เพราะมีความรู้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย มันจึงอยากจะเปลี่ยนทิศทาง นี่ถ้าเราไม่ยอมฟังซะเลยว่า ไอ้ชีวิตแบบที่ไม่มีความทุกข์น่ะมันมีอยู่แล้วก็ ก็ไม่ต้องพูดกันล่ะ
ฉะนั้นถ้าเราจะสนใจบ้าง แม้รู้แต่เพียงครึ่งๆ กลางๆ ก่อนก็ยังดีกว่า ชีวิตชนิดไม่มีความทุกข์เลย น่ะมันมีอยู่ และไม่เหลือวิสัย และยังเหมาะกับคนสมัยนี้ ไม่ล้าสมัย ไม่เหลือวิสัย ไม่เป็นความผิดสำหรับใคร มีแต่ความถูกต้อง เราก็จะค่อยๆ น้อมจิตไปในทางนั้นน่ะ คือความสูง บางทีที่หมักหมมอยู่กับไอ้ความทุกข์นี่ มันจะช่วยสอนให้ว่าน่าเบื่อ พอกันที น่าเบื่อและพอกันที ชีวิตแบบนี้พอกันที มันก็ชะเง้อหาแบบอื่นนั้นแหละ มันจะค่อยๆ มองเห็นลางๆ มันจะค่อยๆ พบ ค่อยๆ พบ แล้วค่อยๆ เป็นไป นี่ถ้าหากว่าจะไม่ดูไอ้ชีวิตสกปรกนี้กันเสียเลย ให้เห็นว่ามันเป็นชีวิตสกปรก ก็ไม่มีหวังที่จะพบไอ้ชีวิตใหม่ที่สะอาด เราอาจจะเชื่อได้ว่าไอ้มนุษย์คนแรก มันเห็นไอ้ชีวิตเดี๋ยวนี้สกปรก มันจึงค้นหาไอ้ชีวิตใหม่ที่ไม่สกปรก มันจึงค่อยๆ พบ ค่อยๆ พบ แล้วก็พบถึงที่สุด ขนาดเป็นพระพุทธเจ้า เพราะชีวิตแบบที่สะอาด บริสุทธิ์ ไม่มีความทุกข์เลย
แล้วทีแรกใครมันจะมาสอนไป พระพุทธเจ้าก็ยังไม่มี แล้วเขาก็เป็นมนุษย์คนแรกที่เริ่มสนใจเรื่องนี้ นั้นก็แปลว่าชีวิตนั้นมันสอน ไอ้ความทุกข์ที่ได้รับอยู่ทุกวันนั่นแหละมันสอน จนเกิดมีคนแรกออกไปค้นหา แล้วค้นหากันมากขึ้น มากขึ้นจนถึงระดับสุงสุด คือเป็นพระพุทธเจ้า ไอ้ระบบชีวิตเหนือโลกมันก็ปรากฏออกมาในโลก เดี๋ยวนี้ก็เหมือนกัน ถ้าว่าเราว่าจะไม่มองดูไอ้ชีวิตที่หมักหมมอยู่ในความทุกข์นี้กันบ้างแล้ว เราคงไม่สนใจไอ้ชีวิตที่มันบริสุทธิ์ สะอาดกว่านี้ นั้นจึงต้องตั้งต้นด้วยความเป็นอันธพาล ความเป็นปุถุชนอันธพาลนั่นแหละ ศึกษามันให้ดีๆ และรู้ไอ้ความทุกข์ รู้ความเป็นอันธพาลของตัวเอง ก็จะอยากเปลี่ยน แปลง อยากก้าวหน้า อยากเลื่อนชั้น ทีนี้มันก็แน่นอนล่ะมันต้องได้พบต้องหาให้จนพบ เพราะว่าเขาทิ้งไว้ให้มากแล้ว
คำสอนของบัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เป็นประธานน่ะ เขาทิ้งไว้ในโลกนี้มากแล้วไปเอามาศึกษา ไปเอามาเล่าเรียนเดี๋ยวก็พบ เดี๋ยวนี้ก็มีการพิมพ์เผยแพร่พระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ไปหาอ่านดูบ้างจะประหลาดใจ โอ้, มันวิจิตรลึกซึ้งพิสดารมากมายกว้างขวางที่สุด คัมภีร์พระไตรปิฎกนี่ แสดงสติปัญญาของมนุษย์ จะต้องเรียกว่าเหลือเชื่อนะ ไม่ใช่จะดูถูกศาสนาอื่น หรือคัมภีร์พระคัมภีร์ของศาสนาอื่น ไม่ได้นึกดูถูก แต่มันรู้สึกว่าของพุทธศาสนาคือพระไตรปิฎกนี่ มันมากมายเหลือเกิน มันมากกว่า มากมายกว่า กว้างขวางกว่า ลึกซึ้งกว่ารอบคอบหมดสิ้น หมดจดกว่าพูดได้อย่างนี้ ควรจะมีโอกาสไปดูกันบ้าง ไปค้นดูกันบ้าง ขายก็ไม่แพงเท่าไหร่พอซื้อหามาได้ เรียกว่าเล่มเดียวล่ะมันก็พอ ไอ้พระไตรปิฎกชุดเดียวมันก็พอ สำหรับจะรู้สติปัญญาของมนุษย์ทุกรูปแบบ รู้หลักเกณฑ์ ความจริงอะไรทุกรูปแบบ ทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด อย่างสูง อย่างต่ำมาที่เรา สำรวจกันอยู่ทุกวันมันพบอย่างนั้นมันก็น่าอัศจรรย์ ในคนๆ เดียวทำไมจึงได้รู้มากขนาดนี้ ทำให้เกิดความคิดว่านี่พระพุทธเจ้าตั้ง ๒๐ - ๓๐ องค์กระมังที่มาช่วยกันคิดนึก รู้สึกแล้วก็บันทึกไว้ถึงขนาดนี้ ไม่น่าจะเป็นความคิดของคนๆ เดียว เอาล่ะเป็นว่าในพระคัมภีร์นั้นน่ะ มันบอกวิธี บอกเหตุผล บอกความจริงบอกอะไรครบถ้วน สำหรับมนุษย์จะได้ อาศัย ศึกษา ปฏิบัติยกตนขึ้นมาเสียจากลม คือความทุกข์ ขึ้นมาเสียจากลมคือความทุกข์ มาสู่ความไม่มีทุกข์
ที่เรามาบวชช่วงเวลาอันสั้น และเรามาสอนกันนี้ มันเป็นเรื่องที่สรุปมาแต่โดยย่อนะ ไม่อาจจะสอนทั้งหมดได้ เพราะว่าจนตายก็จะพูดกันจนไม่จบ นี่คุณมีเวลา ๒ - ๓ เดือนนี่จะพูดให้จบยังไงได้หมด มันก็ไม่ได้ มันก็ต้องย่อเอามาประมวลเอามาแต่ที่เป็นหัวข้อ เป็นเรื่องสำคัญมาบอกมากล่าวกัน แต่ก็เพียงพอรับรองว่าพอ สำหรับจะไปศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติดู แล้วก็ดับทุกข์ได้ ก็จะเหลือไว้ให้มันสอนเองในตัวมันน่ะอีกมาก ขอให้ลงมือปฏิบัติเถอะ แล้วมันจะสอน สอน สอน สอนอยู่ในตัวการปฏิบัติ ในจิตในใจอีกมากมาย นั้นนะมันจึงพอเพราะเหตุนั้น สำหรับทำให้เราสามารถเอาชนะไอ้ความทุกข์ได้ หรือเลื่อนจากกัลยาณปุถุชนชั้นเลวมาเป็นปุถุชนชั้นดี เป็นนักโทษชั้นดี เป็นอย่างน้อย เป็นนักโทษชั้นดี เป็นอย่างน้อยเพื่อจะออกจากคุก แล้วก็ออกจากคุกได้ในที่สุด ก็จะยังคิดแต่จะยิ่งเห็นว่าเป็นไปได้ สังเกตในตัวชีวิตนั่นเองจะเริ่มเห็นว่ามันเป็นไปได้ แล้วจะเป็นไปในทางที่มันตรงกันข้าม แล้วมันก็เป็นไปได้ ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ก็คือตามความรู้สึกของสิ่งที่มีชีวิตที่เรียกว่าสัญชาติญาณ ซึ่งสิ่งที่มีชีวิตรู้จักได้เองมันมีวิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือมันอยากดีกว่าเก่า ถ้าว่าจะศึกษาวิทยาศาสตร์ เรื่องชีวิตยา เรื่องอะไรกันบ้าง ก็ขอให้สนใจเรื่องสัญชาติญาณ ไอ้สัญชาติญาณนี่มันไม่ได้มีความรู้สึกแต่เพียงว่าจะรอดชีวิตอยู่เท่านั้น มันไม่ใช่เท่านั้น มันยังมีความรู้สึกอยากจะดีกว่าเก่าเสมอไป นี่เป็นเหตุที่ทำให้เกิดอะไรดีกว่าเก่า แปลกออก ไปจากเก่า นับตั้งแต่พืชพรรณพฤกษาชาติทั้งหลาย มันก็แปลกออกมาๆ ดีกว่าเก่า สัตว์เดรัจฉานก็แปลกออกมาๆ ดีกว่าเก่า ไอ้คนมันก็ต้องแปลกออกมา ดีกว่าเก่า เพราะในนั้นมันมีความรู้สึกตามสัญชาติญาณอยากจะดีกว่าเก่า แล้วก็ยึดเอาอันนี้ ยึดเอาสัญชาติญาณอันนี้เป็นเดิมพัน ส่งเสริมมันให้มันได้ดีกว่าเก่า
ผมคิดว่าที่คุณมาบวชกันนี้ ก็คงเป็นอำนาจสัญชาติญาณอันนี้เป็นส่วนใหญ่ เพราะอยากจะรู้อะไรมากกว่าเก่า ดีกว่าเก่าจึงมาขอบวชดู ครั้นได้บวชแล้ว ก็พยายามให้มันได้พบกับสิ่งที่มันจะช่วยให้ดีกว่าเก่า ขอให้ทำอย่างระมัดระวัง จะมองเห็นได้ด้วยตนเองโดยแท้จริงว่า มันเป็นทางที่จะได้ดีกว่าเก่าที่จะดีกว่าเก่าได้ จะดีกว่าเก่าได้ ต้องดีกว่าเก่าแน่ๆ ด้วยมันต้องอย่างแน่ๆ ด้วย เพราะว่าไอ้อำนาจของสัญชาติญาณนี้มันยังมีอยู่ มันยังไม่หยุด ยิ่งเมื่อรู้ว่ามันมีทางที่ดีกว่าเก่าแล้วมันก็ยิ่งดิ้นรนใหญ่ ยิ่งต้อง การจะดีกว่าเก่า ดังนั้นศึกษาแต่เพียงให้รู้ว่ามันมีทางที่จะดีกว่านี้ก็พอ มันจะไปย้ำของมันเองล่ะ จะพยายามสุดเหวี่ยงที่จะให้มันได้ดีกว่าเก่า คือสูงยิ่งกว่าเก่าเพื่อที่จะอยู่เหนือความทุกข์ยิ่งๆ ขึ้นไปกว่าเก่า ถ้าไม่ได้ความรู้สึกอันนี้และความพยายามอย่างนี้ ก็จะไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก หรือจะไม่มีอะไรๆ ที่เรียกว่าดีๆ เกิดขึ้นในโลก แม้ที่สุดแต่พรรณพฤกษาชาติ พันธุ์สัตว์เดรัจฉาน พันธุ์มนุษย์มันดีขึ้นกว่าเก่า สัญชาติญาณแห่งการอยากดีกว่าเก่าคอยกระตุ้นอยู่เรื่อยไป เอ้า, พูดให้ต่ำลงไปอีก สัญชาติญาณแห่งการอยากรอด อยากดีกว่าเก่านี้มันก็งดงามอยู่แล้วไว้สอน แต่มันยังมีสัญชาติญาณอีกอันหนึ่ง คือความอยากจะหลุดออกไปจากการกักขัง ดูเอาเอง จับสัตว์ป่ามาใส่กรง มันก็ดิ้นรนที่จะออกจากกรง มันรู้จักดิ้นรนจะออกจากกรงขังโดยสัญชาติญาณเดิมของมัน แล้วมันก็มีสัญชาติญาณไม่อยากให้ถูกจับมาใส่กรงขัง แล้วเราก็จะเห็นได้ว่าสัตว์มันไม่ยอมให้จับง่ายๆ จับมาแล้วใส่กรงขังมันก็ไม่ชอบ มันอยากจะออกด้วยอำนาจของสัญชาติญาณที่มันมีอยู่ อยากจะออกจากกรงขัง สัญชาติญาณอันนี้คือความหมายของหัวใจ ของศาสนาทุกศาสนาเลย ทุกศาสนาเขาจะไปสอนจบลงที่ความหลุดพ้น ความหลุดรอด นี้พุทธศาสนานี้เรียกนิพพานว่าเป็นที่หลุดรอด หรือวิมุตติ วิมุตติแปลว่าหลุดรอด หลุดออกไปจากสิ่งผูกมัด คุมขัง ศาสนาอื่น ศาสนาเครือคริสเตียน ศาสนายิวอะไรก็มันมีคำๆ นี้ คำว่าหลุดรอดจากโลกนี้ไปอยู่กับพระเจ้า Human Spatial น่ะ คือคำว่าวิมุตตินั่นเองหลุดรอด ทุกศาสนาเสนอคำหลุดรอดเป็นจุดหมายปลายทางแก่สังคม ก็ด้วยอาศัยความรู้สึกตามสัญชาติญาณ สัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายล้วนแต่ต้องการความหลุดรอด
ดังนั้นจึงเป็นการง่ายที่ว่าประชาชนจะยอมรับเอาศาสนา พระศาสนาเขาเสนอความหลุดรอดเข้ามาเป็นข้อต่อรอง ถ้าศึกษาดูให้ดี แม้แต่ว่าไอ้ต้นไม้ด้านล่างก็ต้องการความหลุดรอด ไม่ต้องการความคุมขัง หรือมุง หรือบังหรืออะไรด้วยเหมือนกัน มันจะดิ้นรนไปหาไอ้ที่อิสระ หรือหลุดรอด สัตว์ทั้งหลายก็เป็นอย่างนั้น มนุษย์เราก็เป็นอย่างนั้น สัญชาติญาณแห่งการออกจากที่กักขังจะเป็นเดิมพันชั้นลึกที่สุด ชั้นต้นที่สุด ทีนี้หลุดรอดอยู่ได้ แล้วมันจะต้องดียิ่งๆ ขึ้นไป ทีนี้มาเปรียบเทียบดูว่า แม้แต่สัตว์มันก็ยังอยากจะออกจากที่คุมขัง แล้วคนล่ะ ทำไมจึงสมัครที่จะเข้าไปอยู่ในกรงขัง นี้มันกลายเป็นสองเรื่องแล้ว เป็นเรื่องทางจิต ทางวิญญาณ คนสมัครเข้าไปอยู่ในกรงขังของกามารมณ์ หรือว่าความเอร็ดอร่อยทางอายตนะ ซึ่งเป็นกรงขังอย่างยิ่ง บางคนคิดได้มากก็เข้าไปในกรงขังนี้มากยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน ไอ้กรงขังประเภททางจิต ทางวิญญาณ เช่นกามารมณ์เป็นต้นนี่ มันกักขังสัตว์เดรัจฉานได้น้อยมาก แต่กักขังสัตว์มนุษย์ได้ ๑๐๐% เลยด้วย ดีว่าเราติดกรงขังอันนี้อยู่ ใครบ้างไม่ได้ติดกรงขังอันนี้อยู่ก็นับว่าดีมาก มีบุญมาก แต่ถ้าดูแล้วเรามันยังติดกรงขังอันนี้อยู่ก็ต้องละอายแมวไว้มากๆ เพราะเรามันติดมากเกินไป พยายามที่จะดึงตัวถอนตัวออกมาเสียจากไอ้สิ่งที่มันคุมขังหัวใจของเรา
เราจะชี้ระบุไปง่ายๆ เรื่องกินก็คุมขังเรา เรื่องกามก็คุมขัง เรื่องเกียรติยศ ชื่อเสียงก็คุมขังเรา กิน กาม เกียรติ กิน กาม เกียรติ ผมพูดขึ้นเป็นคำแรก เดี๋ยวนี้มีคนเอาไปใช้มากแล้ว คำว่ากิน กาม เกียรติ หรือ สะอาด สว่าง สงบ นี่มีคนเอาไปใช้มากจนเป็นภาษาสถาบันไปแล้ว ดูเถอะ กิน กาม เกียรติ นี่น่ะคือคุก เราสมัครติดคุก คุกที่เราสมัครติด แล้วจะหลุดได้ยังไง เพราะว่าเราสมัครติดซะแล้ว เพราะเราไม่รู้สึกว่ามันเป็นคุก เดี๋ยวนี้เราก็ควรจะฉลาดพอว่ามันเป็นคุก มันทรมานจิตใจ มันย่ำยีความสดชื่นของเรา เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ ถ้าเราโง่ เราหลง เข้าไปยึดมั่นถือมั่นมัน มีคำอยู่สองคำที่จะขอร้อง ให้สนใจจำไว้เป็นพิเศษ เป็นหลักสำคัญ คือคำว่าอุปาทาน แปลว่ายึดมั่นถือมั่น และคำว่าสมาทาน ถือไว้อย่างดี สมาทานคือถือไว้อย่างดี ถ้าอุปาทานก็ยึดมั่นถือมั่น ไอ้เรื่องกิน กาม เกียรติหรืออะไรทำนองนั้นน่ะ ถ้าเราไปอุปาทานกับมัน ไปยึดมั่นถือมั่นแล้วมันกัดฉิบหายเลย มันกัดตายเลย ฉะนั้นเราจงทำกับมันเพียงแค่สมาทาน ถือไว้อย่างดี ควบคุมไว้ได้ ใช้จ่ายให้เป็นอะไรเป็น คือเรียกว่าสมาทานเข้าไปจับฉวยอย่างถูกต้อง หรืออย่างดี มันก็กัดเราไม่ได้ แต่ถ้าเราโง่ เต็มไปด้วยอวิชชา ตัณหาเข้าไปยึดมั่นถือมั่นมันแล้วมันกัดหมดตายเลย ตายจากความเป็นมนุษย์เลย ใช้ทุกอย่าง ใช้แก่ทุกอย่าง ไม่ใช่เฉพาะกิน กาม เกียรติ สามอย่างเท่านั้นไม่ใช่ หรือเราจะมองอีกทางหนึ่งว่าคำว่ากิน กาม เกียรตินี้มันครอบคลุมหมดทุกอย่างก็ได้เหมือนกัน
ดังนั้นทุกอย่างต้องเข้าไปจัดการกับมันเพียงว่า สมาทาน อย่าไปยึดมั่นถือมั่น หากทำมันๆ จะกัดเอาแล้วก็จะตายเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกามารมณ์ อย่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับมัน อย่ายึดมั่นถือมั่นจะวินาศตั้งแต่นาทีแรก แต่ถ้าไปสมาทาน คือว่าดูให้ดี จัดให้ดีฟังให้ดีทำให้ถูกต้อง ก็ใช้เป็นประโยชน์ตามที่ควรจะเป็นได้ ถ้าเราไม่ต้องการ ก็ไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้ามันยังต้องเกี่ยวข้อง คือเป็นปุถุชนมากเกินไปยังต้องเกี่ยวข้อง เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างสมาทาน มันจะไม่กัด ทรัพย์สมบัติ ข้าวของเงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียงอะไรที่รักกันนักกันหนา เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นในลักษณะที่เรียกว่า สมาทาน ไม่ว่าอะไรถ้าเกินสมาทาน หรือเป็นอุปาทานแล้วกัดทั้งนั้น แม้แต่บุญนี่ บุญกุศลนี่ถ้าไปทำกับมันอย่างอุปาทานแล้ว มันกัดเหมือนกัน ถ้าเข้าไปทำอย่างพอดีเรียกว่าสมาทานแล้วก็ไม่กัด คือสิ่งที่มันดีอยู่แล้วน่ะ เราไปทำเกินขนาดเป็นอุปาทานมันก็ล้มเหลวหมด เช่นถือศีล ถือวัตรปฏิบัตินี่ก็ต้องการให้ทำเพียงสมาทานเรียกว่า สมาทานศีลเป็นต้น แต่พอเข้าไปยึดถือเอาอย่างอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ไอ้ศีลและวัตรเหล่านั้นฉิบหายหมดเลย กลายเป็นศีลปะตะปะรามาศ กัดๆ บุคคลนั้นแหลกลาญไปหมดเลย
ฉะนั้นเรื่องศีล เรื่องธรรม เรื่องสิ่งที่จะเอาเป็นที่พึ่งนี่ ก็เข้าไปเกี่ยวข้องให้ถูกต้องพอดี คือ สมาทาน เหมือนกับที่ใช้คำว่าสมาทานศีล สมาธิยามิ น่ะ แต่ถ้าเรื่องเป็นอุปาทาน อุปาทิยะติ ทีนี้มันก็กัดละ และก็ทำของที่ดีๆ นี่เสียหายหมด เราจะเอาอะไรมาใช้ให้เป็นที่พึ่ง เป็นประโยชน์นี่ ก็ต้องใช้อย่างที่ว่าสมาทาน ถ้าใช้อย่างอุปาทานแล้ว มันเปลี่ยนตัวไปในสิ่งที่มีพิษร้ายขึ้นมา กัดเจ้าของ แม้ที่สุดแต่บุญกุศลนี่ ไว้เราไปอุปาทานมันนี่มันจะกัดๆ เจ้าของแย่ไปเลย ที่ใดมีความทุกข์เพราะเมาบุญ เพราะทำผิดเกี่ยว กับบุญ ถึงจะฆ่าตัวตายเพราะความดีเหล่านั้น ฉะนัันอย่าไปทำอุปาทานกับสิ่งเหล่านั้น ดังนั้นเราจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ด้วยการสมาทานโลก ฟังดูแล้วเหมือนภาษาบ้า อย่าไปยึดมั่นถือมั่นโลก อย่าไปอุปาทานต่อโลก จะไปสมาทานแก่โลก คือแตะต้องจับฉวยโลกในลักษณะที่ถูกต้อง และพอดี ถือเอาไว้อย่างดีเรียกว่าสมาทาน ถือเอาไว้อย่างโง่เรียกว่าอุปาทาน มันกัดเอา
เราจงอยู่ในโลกด้วยการจับฉวยเอาอย่างพอดีอย่างดี อย่าให้มันเกินพอดี คืออย่าไปยึดมั่น ถือมั่น ให้นึกถึงคำที่กล่าวไว้ว่า สิ่งทั้งปวง ธรรมทั้งปวง อันบุคคลไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น แม้ที่เป็นธรรม เป็นธรรม เป็นความดีเป็นฝ่ายดี เป็นธรรมะนี่ก็ยัง ยังยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เลือกพูดกันถึงเรื่องพระธรรม เรื่องความผิด ความชั่ว มันก็ยิ่งยึดมั่น ถือมั่นไม่ได้ แม้ธรรมฝ่ายดีที่เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานนี่ ก็ยึดมั่น ถือมั่นไม่ได้เลย สิ่งที่เป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน ก็ยังจะต้องสมาทานเท่านั้นล่ะ อย่าไปอุปาทาน มันจะไม่ จะไม่ จะไม่ทำหน้าที่เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานล่ะ มันจะกัดเอาตายอยู่ตรงนั้นเลย จึงมีคำตรัสที่ว่ามันเป็นเหมือนพาหนะ ใช้อย่างพาหนะถึงแล้วก็เลิกกัน ไปถึงจุดหมายปลายทางแล้วก็เลิกกัน อย่างเช่นว่าเรือนี่ข้ามทะเล ข้ามแม่น้ำได้แล้ว ก็ไปเหอะ ก็ทิ้งเรือ อย่าแบกเอาเรือไปด้วยเลย เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องยึดมั่นถือมั่นมากเกินไป นี่เราจะอยู่ในโลกนี้โดยความถูกต้อง เรียกว่า สัมมัตตะ แปลว่า ความถูกต้อง ๘ ประการ แรกเรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ ประการ ถูกต้องในส่วนเหตุ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกับโป สัมมาวาจา สัมมาสัมมันโต สัมมาอาชีโว วายาโม สมาธินี่ไม่ต้องอธิบายแล้ว เข้าใจว่าคุณเคยอ่านเคยฟังมาแล้ว ถูกต้อง ๘ ประการนี้เป็นส่วนเหตุ ฉะนั้นถูกต้อง ๒ ประการเป็นส่วนผล คือ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ นี่มีความรู้ถูกต้อง แล้วหลุดพ้นถูกต้อง อีกสองประการเป็นส่วนผล รวมกันเป็น ๑๐ ประการ เป็นความถูกต้อง นี่อยู่ด้วยความถูกต้องอย่างนี้ โลกนี้ก็จะเป็นที่อยู่ที่อาศัยอย่างผาสุก ไม่ขบ ไม่กัดเรา ถ้าเราทำผิด ไม่ถูกต้อง ในแง่ใดก็ตามมันกัดเอา แย่ไปหมดเดือดร้อนทนทุกข์ทรมาน นรกก็อยู่ที่นี่ อเวจีก็อยู่ที่นี่ อยู่ที่การทำผิด ไม่ถูกต้อง ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อไรก็เมื่อนั้น ทำผิดเมื่อไร ก็มีนรกที่นั่น และเมื่อนั้น ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำถูกเมื่อไร ก็มีสวรรค์ที่นั่นเมื่อนั้น ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ทำเหนือถูก เหนือผิด ยิ่งกว่าถูก ยิ่งกว่าผิดน่ะ คือไม่ติดทั้งถูกและทั้งผิด มันก็เป็นนิพพานที่นั่นและเมื่อนั้นด้วยเหมือนกัน เรื่องถูกมันก็ยังลำบากเกี่ยวกับความถูก เรื่องผิดยิ่งเจ็บปวดมาก นี้มันไม่ต้องถูก ไม่ต้องผิดนี้มันดีกว่า มันอยู่ตรงกลางล่ะมันว่างดี ระหว่างถูกกับระหว่างผิด มันจะใช้คำว่าเหนือถูก เหนือผิดนั่นแหละ มันว่างดีไม่มีความทุกข์ นิพพานอยู่ที่ตรงนั้น
ถ้าว่าเราทำผิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็มีนรกเกิดขึ้นที่นั่น ทำถูกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสวรรค์เกิดขึ้นที่นั่น อยู่เหนือผิด เหนือถูก คือไม่เป็นการผิด การถูก อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็มีความว่างหรือมีนิพพานอยู่ที่นั่น แต่ว่าละเอียดสุขุม ทำยาก ดังที่ท่านตรัสว่า เอตัง สันตัง เอตัง ปะณีตัง นี้มันละเอียด นี่มันประณีต นี่มันสุขุม ยะทิทัง สัพพะสังขา ระสะมะโก ด้วยจนถึงนิพพานน่ะ คือไอ้การที่จะหยุดซะได้ซึ่งการปรุงแต่งด้วยกิเลส สิ้นกิเลส ดับเป็นนิพพาน ละเอียด ประณีตที่สุด ให้รู้ไว้ว่าในฐานะเป็นเรื่องที่ละเอียดที่สุด ทำเล่นไม่ได้ ให้เราทำอะไรก็ยังทำอย่างไม่ละเอียดประณีตที่สุดนี่ การศึกษาเล่าเรียนก็ดี อะไรก็ดี ยังไม่ถึงชั้นละเอียดประณีตที่สุด เราจึงไม่ค่อยจะล้ำเข้าไปในเขตของพระนิพพาน หรือไม่เข้าไปถึงประตูของพระนิพพานได้ เดี๋ยวนี้ปุถุชนมันมืด อันธพาลแปลว่า มันมืดเหมือน กับคนตาบอดก็ยังอ่อนต่อชีวิต อ่อนต่อโลก ปุถุชนอันธพาลมันก็ ก็ต้องลำบากหน่อยแล้วเพราะมันไม่รู้ มันมืด และก็ต้องอบรมให้มันได้เป็น ได้เลื่อนชั้นขึ้นมาเป็นกัลยาณปุถุชนในชั้นแรก เอาชั้นแรก เอาชั้นนี้กันก่อน เป็นกัลยาณปุถุชนนี่ยังไม่ใช่ละเอียด ประณีต ลึกซึ้ง สุขุม อะไรนัก ต่อเมื่อถึงขั้นนิพพานจึงจะละเอียด ประณีต สุขุม เอตัง สันตัง เอตัง ปะณีตัง เดี๋ยวนี้เอากันเพียงกัลยาณปุถุชนคงจะพอทำไหวบ้าง ไม่เหลือวิสัย ไม่ยาก ไม่เหลือวิสัย ขอให้สนใจ
วันนี้เราพูดกันถึงเรื่องปุถุชน ที่ขึ้นมาถึงยอดของความเป็นปุถุชน คือจากอันธพาลปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน เหตุแห่งความเป็นปุถุชนคือ กิเลส เมื่อเราจะเลื่อนชั้นกับปุถุชนเราต้องตัดทอนกิเลส ตัดทอนเหตุของความเป็นปุถุชน เหตุที่ทำให้เป็นปุถุชน คือกิเลส เราต้องตัดทอนเหตุของความเป็นปุถุชน ลดกิเลส แล้วต้องเพิ่มเหตุของความเป็นอริยชน หรือเหตุของความเป็นกัลยาณปุถุชน กัลยาณชน ลดเหตุที่ทำให้เป็นปุถุชน เพิ่มเหตุที่ทำให้เป็นอริยชน เลิกจากความเป็นปุถุชน เข้าไปสู่ความเป็นอริยชน มีเส้นปันแดนตรงนั้น เขาเรียกว่าโคตะระภูๆ เป็นคำแปลกหู โคตะระภูฟังดูก็น่าเกลียด น่ากลัว โคตะระภู คือว่าหัวเลี้ยวหัวต่อ ไอ้ตรงเส้นแดน เส้นเขตแดน เขาเรียกว่าโคตะระภู เมื่อคุณบวช สวดญัตติจบ ๓ ครั้งเป็นโคตะระภู ถ้าจบ ๓ ครั้งเป็นภิกษุแล้ว ทุกอย่างมันจะมีอาการที่เรียกว่าโคตะระภูทั้งนั้น ใบไม้มันอยู่เขียวและค่อยๆ เหลืองเข้าๆ จนถึงขนาดเหลืองสุดจะหล่นแล้วล่ะตรงนั้นมันเป็นโคตะระภู แล้วใบไม้นั้นจะหล่นลงมาเปลี่ยนสภาพเป็นใบไม้แห้ง นี้ความเป็นปุถุชนของเรา ที่เราขัดเกลามันมันเรื่อยๆๆ มันเปลี่ยนเรื่อยๆ จนมันจะหมดความเป็นปุถุชน ย่างไปเป็นอริยชนเรียก ว่าเขตของโคตะระภู เราจะต้องเข็นตัวขึ้นมา ถึงจุดนี้ และก็จะสบาย แม้ว่าเราจะถีบรถจักรยานขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของสะพานโค้ง เราก็ต้องออกแรงมาก น่ะ ออกแรงมากกว่าจะถึงจุดสูงสุดของสะพานโค้ง พอเลยเขตสุงสุดของสะพานโค้งอยู่ตรงฝ่ายโน้น เราก็ไม่ ไม่ต้องใช้แรงอะไรนัก รถไหลไปได้เอง นี่เรื่องที่จะเลื่อนจากปุถุชนไปสู่อริยชน ต้องๆ เหนื่อยหน่อย ต้องพยายามหน่อย ต้องตั้งใจจริงหน่อย มันก็จะถีบให้มันขึ้นถึงจุดสุงสุด พอถึงนั้นแล้วมันก็ไหลไปเอง ตอนที่กลิ้งครกขึ้นภูเขามันก็ลำบาก แต่พอกลิ้งครกลงภูเขาล่ะมันก็สบาย นี่ให้รู้ว่าไอ้เราจะต้องเผชิญกับไอ้ความเสียสละ ความอดกลั้น อดทนเอาจริงเอาจัง นาทีที๕๗.๔๐ จุดนี้แล้วก็ นาทีที่ ๕๗.๔๐ - นาทีที่ ๕๘.๐๘ (เทปซ้ำฟังไม่ชัด) ที่ว่าถึงยอดสุดของปุถุชน ต้นเหตุของความเป็นปุถุชน เพิ่มเหตุของความเป็นอริยชน ข้ามเขตโคตะระภูออกไป ก็จะถึงจุดหมายปลายทาง
ดังนั้นขอให้ทุกคนพยายามรู้จักตน รู้จักตนนี่ว่ามันอยู่จุดไหน เดี๋ยวนี้เราอยู่ที่ไหน เราเป็นอะไร เราอยู่จุดไหน ถ้าไม่รู้จักตัวเองแล้วไม่มีทางๆ ต้องรู้จักตัวเองว่าเป็นอย่างไร ในสภาพอย่างไรอยู่ที่จุดไหน จะต้องเดินทางอีกต่อไปกี่มากน้อย นั่นแหละมันจะมีหวัง มันจะอยากเลื่อนชั้นแหละ ถ้ามันรู้มาถึงขั้นนี้แล้วมันอยากจะเลื่อนชั้น เพราะมันกลัวละอายแมว ละอายหมา เพราะที่ฝืนทนอยู่ตรงนี้มันมีความทุกข์มากกว่าสัตว์นะคนน่ะ คนก็มีความทุกข์มากกว่าสัตว์ เพราะว่ามันมีความคิดกว้างขวางเกินไป มันก็มีความทุกข์มาก เมื่อยังทำไม่ได้ตามที่ต้องการแล้ว คนจะมีความทุกข์มากกว่าสัตว์เดรัจฉาน หรือสัตว์เดรัจฉานมีความทุกข์อยู่ เราจะต้องเลื่อนไปอย่างไร เท่าไรในที่สุด จะพบเหมือนกับที่กล่าวมานี้ว่า ต้องเลื่อนจากอันธพาลปุถุชนไปสู่กัลยาณปุถุชน หมดเขตของปุถุชนแล้วก็ข้ามเข้าไปในเขตของพระอริยเจ้า อันแรกเขาเรียกว่าประตูพระนิพพาน คือพระโสดาบัน แล้วก็ให้ตามลำดับ สกิทาคามี อนาคามี อะระหัง เข้านิพพานไปเลย
เวลาก็พอสมควรแล้วที่พูด แล้วไฟฟ้าก็เผอิญดับลงด้วย ก็ขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้ด้วยความสมควรแก่เวลามากกว่าต้นไม้ ต้นไร่เสียอีก ต้นไม้ต้นไร่ก็มีความทุกข์มากกว่าก้อนหิน เช่นนี้เป็นต้น ขอให้เรารู้จุดที่เรายืนเพียงเท่านี้ อย่าลืมเสีย