แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมและท่านที่เป็นอาจารย์ทำการเผยแผ่ธรรมอยู่เป็นประจำทั้งหลาย เนื่องจากการบรรยายเมื่อคืนนี้ไม่จบ จึงต้องมีการบรรยายต่อที่นี่ ผมขอแสดงความประสงค์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ที่ต้องเอาเรื่องนี้มาพูดในลักษณะถาม-ตอบ เพื่อให้ท่านที่เป็นอาจารย์เที่ยวสั่งสอนธรรมอยู่ในที่ต่างๆ จะได้มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นในหลักธรรมะส่วนที่มันยังลี้ลับ ขอให้ท่านสังเกตดู มันเป็นส่วนที่ลี้ลับที่ไม่ได้มีใครเอามาพูดจากัน ไม่ได้ใคร่สอนกัน ซึ่งมีทางที่จะทำให้สอนผิดหรือสอนไม่ได้ จึงได้เลือกเอาสิ่งเหล่านี้ ข้อความเหล่านี้มาพูดให้ได้ยินได้ฟังกันเสีย เพื่อว่าท่านที่จะไปเผยแผ่ธรรมะนั้นจะทำได้ง่ายขึ้น หรือว่ามันจะถูกต้องได้ง่ายขึ้น จะสะดวกสบาย แล้วอีกอย่างหนึ่งมันจะได้เป็นที่ทราบกันไว้ สำหรับท่านทั้งหลายทุกคนว่าเกี่ยวกับธรรมะข้อนี้นั้นขม โดยเฉพาะมีความรู้อย่างไร มีความเห็นอย่างไร มีความเข้าใจอย่างไร หรือถือไว้เป็นหลักอย่างไร แม้ว่าท่านจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ขอให้ทราบไว้ว่าผมมีหลักอย่างนี้ ถืออย่างนี้ สอนอย่างนี้ สำหรับข้อธรรมอย่างนี้ เพื่อว่ามีคนอื่นเขาพูดไม่ตรงกัน ก็จะได้รู้ว่าไม่ใช่ ผมมีหลักอย่างนี้ในเรื่องธรรมะข้อนี้ให้ขอให้ช่วยจำไว้ด้วย เพื่อประโยชน์สองอย่าง อย่างนี้เอง
ทีนี้สำหรับท่านที่เป็นฆราวาสทั้งหลาย ถ้าได้ยินได้ฟังก็จะเป็นการดีในข้อที่ว่า หลักธรรมะบางอย่างซึ่งอาจจะเห็นเป็นของเล็กน้อย ไม่ค่อยสนใจ มันก็เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เล็กน้อย มีความสำคัญด้วยเหมือนกัน อย่างนั้นขอให้ช่วยกำหนดจดจำไว้เท่าที่จะทำได้ มันก็ไม่ได้มากเกินไป แต่ถ้าไม่สนใจมันก็จะจำอะไรไม่ได้เลย ขอให้สนใจไว้บ้าง ไม่ได้เหน็ดเหนื่อยอะไรมากนัก แล้วมันก็จะเพิ่มขึ้นทุกปี นี่คือข้อความที่จะเอามาถาม-ตอบ ทำไปด้วยมีความมุ่งหมายอย่างนี้เอง ขอให้ท่านที่จะเป็นอาจารย์เผยแผ่ธรรมะได้สนใจเป็นพิเศษ แล้วก็จะได้ผลอย่างน้อยว่าไม่เสียทีที่มาลำบาก เหน็ดเหนื่อยจะได้คุ้มค่าการมา ในหน้าที่ที่จะต้องเผยแผ่ธรรมะนี้มันจะต้องทำกันต่อไปอีกนานมาก นานจนไม่รู้ว่ามันจะหยุดได้เมื่อไร ตลอดเวลาที่ประชาชนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในธรรมะ ก็เป็นหน้าที่ของเราที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าจะต้องกระทำให้เขาได้มีความรู้ความเข้าใจ มีพระพุทธภาษิตกล่าวไว้ถึงกับว่า พระองค์ทรงประสงค์จะให้สาวกทั้งหลายรู้ธรรมะกระทั่งพูดได้ สอนได้ด้วยตนเองสืบต่อกันไป คือ ผู้ใดที่รู้ธรรมะนั้นขอให้รู้ธรรมะถึงกับสอนผู้อื่นได้ ที่พูดตรงๆ ก็คืออย่างนี้ว่า พระพุทธองค์ทรงประสงค์ว่า ขอให้สาวกทั้งหลายแต่ละคน ละคนรู้ธรรมะถึงขนาดที่สอนผู้อื่นได้ คือ มันช่วยสืบต่อ ต่อๆ กันไปนั่นเอง ทรงประสงค์ถึงอย่างนี้ เราก็ควรจะสนใจบ้างที่จะทำให้มันเป็นได้ถึงอย่างนั้น คือ รู้ธรรมะจนพูดให้ผู้อื่นฟังได้ นี่จึงต้องมีความตั้งใจ หรือขวนขวายเป็นพิเศษบ้าง การศึกษาเพิ่มเติมอยู่เรื่อยอย่างนี้มันก็เป็นการดี คราวนี้ก็จะพูดปัญหาที่ค้างอยู่ให้จบ เวลาที่เหลือก็จะใช้ในการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาในทางปฏิบัติ คือว่าจะทำให้คนที่เกลียดวัด เกิดความสนใจในวัดได้อย่างไรเป็นเรื่องที่สอง ต่อนี้ไปก็จะได้เริ่มเรื่องการถามและตอบปัญหาที่ค้างคาอยู่ มีอะไรก็ว่ากันไป
คำถาม : ในพระคัมภีร์ทั้งบาลีและอรรถกถา แสดงความหมายของคำว่า ตถาคต และเหตุให้ได้นามว่า ตถาคต ไว้หลายอย่าง หลายประการ เกือบจะยุติลงไปไม่ได้ว่าเป็นอย่างไรกันแน่ ข้อนี้เป็นอย่างไรกันครับ
ท่านพระพุทธทาสตอบ : นี่หมายความว่าทั้งบาลีที่เป็นพระพุทธภาษิตก็ได้ศัพท์ถึงคำว่า ตถาคต ไว้หลายอย่าง ทั้งอรรถกถาได้อธิบายคำว่า ตถาคต ไว้ตั้งหลายสิบอย่าง จนไม่รู้จะเอาอย่างไรกันแน่ งงไปหมด ทีนี้เพื่อจะให้มันง่าย มันชัด มันตรงลงไป ยุติลงไปเพียงอย่างเดียวว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ สำหรับความหมายของคำว่า ตถาคต ในความรู้ที่เรามีๆ กันอยู่ มันมีแต่เพียงว่า ถ้าว่าตถาคตล่ะก็หมายถึง พระพุทธเจ้าก็พอแล้วนี้มันไม่ถูก คำว่า ตถาคต ตัวหนังสือก็แปลว่า ผู้ถึงซึ่งตถา ให้ถึงซึ่ง ตถา คนนั้นเป็นตถาคต จะเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ ไม่ใช่ก็ได้ คือ เป็นพระสาวกก็ได้ นี่มันก็ผิดจากที่เราทั้งหลายเคยเข้าใจกันมาแต่ก่อน ตถาคต เรียกว่าเป็น ตถาคะตะ ตถา แปลว่า ความเป็นอย่างนั้น คะตะ แปลว่า ถึง ใครถึงซึ่งความเป็นอย่างนั้น คนนั้นชื่อว่า ตถาคต เป็นคำกล่าวก่อนพุทธกาลก็ได้ หมายถึง ผู้ที่ถึงความสำเร็จขั้นสูงสุด ไม่ต้องปฏิบัติอะไรอีกต่อไป จนถึงซึ่งความเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นศาสนาอื่นก่อนพุทธกาล หรือในพุทธกาล คำว่า ตถา ความเป็นอย่างนั้น เขาก็หมายถึง พระเป็นเจ้าทั้งนั้นแหละที่จะเป็นตถา คือ เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น มีแต่พระเป็นเจ้าเท่านั้นแหละ ในคัมภีร์อุปนิษัทหรือคัมภีร์เวทานตะใช้คำว่า พรหม หรือ พรหมา พรหมานั้นเป็นตถาที่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ผู้ใดถึงพระเป็นเจ้าหรือถึงพรหม เขาก็เรียกว่าถึงซึ่งตถา หรือตถาคต ใช้กันอยู่ก่อน ใช้กันอยู่ทั่วไปอย่างนี้ ทีนี้ในพระพุทธศาสนาเรา อะไรคือตถา ตถานั้น เอาตามตัวหนังสือก็ว่ามันเป็นอย่างนั้น โดยส่วนเดียว โดยเด็ดขาด เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นี้เป็นลักษณะของพระสังอรรถธรรม หรือจะระบุไปยังพระนิพพานเลยก็ได้ว่า พระนิพพานเท่านั้นแหล่ะที่จะเป็นตถา เป็นเพียงอย่างนั้นอย่างเดียว เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่ว่าคำว่าตถานี้ใช้เรียกธรรมะที่แสดงความเป็นอย่างนั้นก็ได้เหมือนกัน ในพระบาลีที่เป็นพระพุทธภาษิตก็มีเรียกอริยสัจทั้งสี่ว่า ตถา ทุกอริยสัจเป็นตถา สมุทยสัจเป็นตถา นิโรธสัจเป็นตถา มรรคสัจเป็นตถา คือ ความเป็นอย่างนั้นนี่หมายความว่ามันเป็นกฎ เล็งถึงกฎที่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ตายตัวอย่างนั้น เรียกว่า ตถา ผู้ใดรู้สิ่งนี้ก็หมายถึง ดับทุกข์แล้ว คือถึงซึ่งความดับทุกข์แล้วเพราะอริยสัจทั้งสี่ นี่จะรู้แต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เรียกว่ายังไม่รู้จริง ต้องรู้ทั้งสี่ และมันสำคัญอยู่ที่ดับทุกข์ได้ คือ นิโรธ หรือนิพพานนั้นก็เป็นตถา กฎเกณฑ์อย่างอื่นซึ่งเป็นเพียงกฎเกณฑ์ก็เรียกว่า ตถา คือมันเป็นเช่นนั้นในฐานะที่เป็นกฎจึงเรียก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เป็นตถาที่ความเป็นอย่างนั้น อิทัปปัจจยตาทั้งหมดทุกพวกก็เป็นตถาที่มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ผู้ใดถึงตถาก็รู้ตถา ปฏิบัติแล้วก็จึงจะรู้ รู้ด้วยเรียนด้วยท่องนี่ ไม่เรียกว่าถึง รู้ด้วยการปฏิบัติเสร็จแล้วรู้จักมันดีจึงจะเรียกว่า ถึงตถา คำว่า ตถา ในพุทธศาสนาจึงหมายถึง การลุถึงความดับทุกข์ชั้นสูงสุดที่ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อไปอีก คือ สิ้นกิเลส ถึงซึ่งความสิ้นกิเลส ถึงซึ่งพระนิพพานนั่นเองเรียกว่าถึงซึ่งตถา เราไม่ถึงซึ่งตถาโดยเด็ดขาด เชิงจะรู้ๆ เท่านั้น รู้บ้าง หรือบางทีก็รู้สึกนิดหน่อยแล้วกลับเป็นไม่รู้ไปเสียอีก นี่เป็นเรื่องของปุถุชนคนธรรมดา ถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่ มันก็มีกลับไปมาอย่างนี้เอง ไม่ใช่ว่าจะไม่รู้เสียเลย ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยสงบจิตว่างจากกิเลสเสียเลย มันก็มีบ้าง แต่มันก็กลับไปกลับมา จึงไม่เรียกว่า ตถา เพราะว่ายังกลับไปกลับมาจะเรียกว่าเช่นนั้นได้ยังไง แล้วเมื่อมันแน่ลงไปไม่เปลี่ยนแปลงอะไรได้จึงจะเรียกว่า ตถา คือความเป็นอย่างนั้น ผู้ใดถึงซึ่งตถา ผู้นั้นเรียกว่า ตถาคต พระอรหันต์ทั้งหลายล้วนแต่ถึงตถาทั้งนั้น พระพุทธเจ้าก็ยิ่งถึงตถาในฐานะเป็นผู้นำขึ้นนำสาวกให้ถึงซึ่งตถา นี่ ตถาคตยุติเพียงคำเดียว เป็นใจความโดยตรงแล้วก็คือผู้ถึงซึ่งตถา คือ ถึงซึ่งความไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป จิตชนิดนี้ไม่รู้จักเป็นทุกข์ จิตที่ถึงซึ่งความไม่รู้จักเป็นทุกข์อีกต่อไปนั่นแหละ เรียกว่าถึงตถา มันก็มีได้ตั้งแต่พระอรหันต์ขึ้นไปถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้เข้าใจไว้ด้วย มันจะมีปัญหา ผู้ที่จะไปสอนธรรมะ สอนศาสนาแก่ประชาชนนั้นจะมีปัญหาข้อนี้ เพราะว่าในอันตคาหิกทิฏฐิสิบ มันมีคำว่า ตถาคะตะนี่ใช้ โหติ ปรมฺมรณา ตถาคโต ตถาคตหลังจากตายแล้วมี น โหติ ปรมฺมรณา ตถาคโต ตถาคตหลังจากตายแล้วไม่มี เป็นอันตคาหิกทิฏฐิ พวกมิจฉาทิฏฐิ ตถาคตที่ถึงซึ่งตถานี้ตาย ตายแล้วจะพูดว่ามีอยู่อีก หรือไม่มีอยู่อีกก็ไม่ถูก คือว่ามันต้องกล่าวตามกฎอิทัปปัจจยตา เมื่อหมดเหตุหมดปัจจัยแล้วมันก็ดับไป เหมือนดวงไฟหมดเชื้อ หมดน้ำมันดับไป ไม่พูดได้ว่ามีอยู่อีกหรือไม่มีอยู่อีก จะเอาแต่ตามที่ตาเห็นมันก็ไม่ถูก เพราะว่ามันอาจจะมีอยู่โดยที่ตามองไม่เห็นก็ได้ นั่นเราไม่พูดโดยส่วนเดียวว่ามีอยู่อีกหรือไม่มีอยู่อีก นี่ ปัญหาที่เกี่ยวกับคำว่า ตถาคตที่จะเนื่องมาถึงประชาชนทั่วไปก็คือปัญหานี้ ถ้าพูดโดยตรงก็คือจะถามว่า พระอรหันต์ทั้งหลายตายแล้วเกิดอีกหรือไม่นั่นเอง ตายแล้วมีอยู่หรือไม่ หรือไม่มีอยู่นั่นเอง ถ้าถึงซึ่งตถาเป็นตถาไปแล้วมันก็ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ไม่อาจจะพูดอย่างภาษาคนธรรมดาว่า ตายแล้วเกิดอีก ตายแล้วไม่เกิดอีก ให้ถือว่าในร่างกายนี่มัน ร่างกายของท่านนี้ก็เหมือนกับว่า ประทีปหมดน้ำมันดับไปฉะนั้น เป็นสำนวนที่ใช้ สรุปว่าตถาคตคำนี้ในทางพุทธศาสนานั้น คือ พูดถึงซึ่งตถา ไม่มีความเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป ไม่มีการถูกปรุงแต่งอีกต่อไป ไม่มีความทุกข์อีกต่อไปอย่างเดียวก็พอแล้ว แล้วมีอะไรอีก
คำถาม : ข้อนี้จะซ้ำครับ ท่านอาจารย์อาจจะผ่านไปก็ได้ คำว่าตถาคตนี้ หมายถึงแต่บุคคลที่เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้นหรือครับ
ท่านพระพุทธทาสตอบ : คำว่าตถาคตนี้ใช้เฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้นหรือ ก็ตอบว่า ไม่ ใช้แก่ทุกคนที่ถึงซึ่งตถา หรือถึงซึ่งความไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ถูกปรุงแต่งจึงจะเรียกว่าถึงซึ่งตถา เอา ต่อไป
คำถาม : การถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ กับการถึงพระตถาคตเป็นสรณะนี่มันต่างกันหรือเหมือนกันครับ
ท่านพระพุทธทาสตอบ : นี่เกี่ยวกับคำพูดการถึงพระตถาคตเป็นสรณะนั้นน่ะไม่ค่อยมีพูด พูดแต่ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ แล้วพระพุทธเจ้าก็เป็นตถาคตองค์หนึ่งหรือชนิดหนึ่ง ถ้าเล็งอย่างนี้มันก็เป็นองค์เดียวกัน แต่ถ้าในกรณีที่ไม่เล็งกันอย่างนี้ คือ เอาตามตัวหนังสือ ตถาคต หมายถึง พระอรหันต์ทั่วๆ ไปก็ได้ ที่จริงเป็นอันว่าการถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งนั่นน่ะ ไม่ใช่อย่างเดียวกับการถึงพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นที่พึ่ง คนละระดับ ถ้าอย่างนี้ก็ต้องตอบว่าแตกต่างกัน สรุปความว่ามันแล้วแต่กรณี กรณีไหน หมายความว่าอย่างไร ถ้าหมายถึงพระพุทธเจ้าก็เป็นตถาคตองค์หนึ่งก็ได้ ก็เหมือนกันน่ะ ถึงพระพุทธเจ้าหรือถึงพระตถาคตก็ตาม แต่โดยหลักทั่วไป ตถาคตหมายถึงพระอรหันต์ทั้งปวงด้วย ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ใช่คำเดียวกับพระพุทธเจ้า จึงเรียกว่าต่างกัน เอา ต่อไป
คำถาม : อากิญจัญญายตนฌาน มีความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์นี่ หมายความว่าเป็นนัตถิกทิฏฐิหรือไม่ครับ ผู้สำเร็จอรูปฌานข้อนี้เป็นอรูปพรหมแล้วหลังจากนี้จะต้องตกนรกหรือไม่ เพราะเหตุใดครับ
ท่านพระพุทธเจ้าตอบ : อากิญจัญญายตนฌานนี่ ก็ครูบาอาจารย์นักธรรม สอนนักธรรมน่ะช่วยสังเกตุให้ดีว่า ถ้าพูดถึงว่า อากิญจัญญายตนฌานนี่มันหมายความอย่างหนึ่ง ถ้าพูดถึงว่าอากิญจัญญายตนะเฉยๆ อย่าเติมคำว่า ฌาน เข้าไปนี้มันหมายความอีกอย่างหนึ่งนะ อากิญจัญญายตนะเฉยๆ ที่ใช้อยู่ก่อนพุทธกาลนั่นน่ะ มีความหมายอย่างเดียวกับนิพพาน แล้วบางทีใช้แทนคำว่า นิพพาน มีผู้มาขอให้พระพุทธองค์ทรงแสดงอากิญจัญญายตนะในภาษาเดิม นั่นหมายถึงให้แสดงนิพพาน แต่พอเติมคำว่า ฌาน เข้าไปเป็น อากิญจัญญายตนฌาน แล้วก็หมายถึง อรูปฌานชนิดหนึ่งเท่านั้น คือ อรูปฌานที่สาม อย่างนี้ก็เป็นฌาน เป็นสมาธิชั้นสูงสุด เป็นสมาบัติอันดับสูงสุด มันมีความหมายคล้ายกับนิพพาน ตรงที่ว่าไม่มีอะไรเป็นตัวตน นิพพานก็หมายความว่า ว่างจากสิ่งที่เป็นตัวตน อากิญจัญญายตนะก็หมายถึงสิ่งหนึ่งซึ่งเราจะรู้สึกได้ในลักษณะที่ไม่มีอะไรเป็นตัวตน ความหมายสำคัญอยู่ตรงที่คำว่า อากิญจัญญะ ไม่มีอะไร อายตนะนั้น อธิบายแล้วเมื่อคืนว่าสิ่งที่เราจะถึงได้ รู้สึกได้ สัมผัสได้ก็แล้วกัน งั้นความที่ไม่มีอะไรปรุงแต่ง ว่างจากการปรุงแต่ง ว่างจากตัวตน ว่างจากอะไรที่เป็นการปรุงแต่งนั่นแหละ เป็นสิ่งที่จิตของเราจะถึงได้ พูดชัดๆ ตรงๆ ก็ว่าจิตของเราอาจจะมีภาวะชนิดที่อะไรมาปรุงแต่งไม่ได้ มันเป็นจิตที่เป็นอิสระ นี่ก็เรียกว่า อากิญจัญญายตนะที่มีความหมายเหมือนกับนิพพาน แทนนิพพานได้ อย่างในโสฬสปัญหา มีผู้มาทูลถามพระพุทธเจ้าก็เรื่องอากิญจัญญายตนะชนิดที่แทนคำว่านิพพานได้ แต่ถ้าเป็นอากิญจัญญายตนฌานในอรูปพรหม ในอรูปสมาบัตินี่แหละ ไม่ใช่อย่างเดียวกัน เพียงแต่ว่าตัวหนังสือมันให้ความหมายที่คล้ายกันมาก อากิญจัญญายตนะที่ใช้แทนนิพพานได้นี่ เป็นคำที่เขาใช้กันอยู่ก่อนพุทธกาล แล้วก็มีคนเอามาใช้อีกเมื่อมาสนทนากับพระพุทธเจ้าด้วยคำนี้โดยความหมายเดิมอีกก็มี ถ้าเราไม่เข้าใจอย่างนี้ เรียนแต่นักธรรม หลักสูตรในโรงเรียนจะฉงน จะสับสน จะรู้สึกว่ามันขัดแย้งกัน ขอให้จำไว้ด้วยว่า อากิญจัญญายตนฌาน หมายถึง สมาธิที่เป็น จะเป็นสมาบัติชนิดหนึ่งเท่านั้น แต้ถ้าอากิญจัญญายตนะเฉยๆ ในความหมายเดิม เขามีความหมายแทนคำว่านิพพานเลยทีเดียว อากิญจัญญายตนฌานไม่ได้เป็นนัตถิกทิฏฐิ ไม่อาจจะจัดเป็นนัตถิกทิฏฐิ เพราะไม่ได้มีลัทธิ หรือทิฏฐิ หรือว่าไม่มีอะไรเลย เขาก็ยังมีอะไรตามที่มีอยู่ แต่เขาจะเอาความที่ตรงกันข้าม คือ ไม่มีอะไรมาเป็นอารมณ์สำหรับเพ่ง ฉะนั้นจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของทิฏฐิ มันเป็นเรื่องของการกระทำ ที่ถามว่า ถึงอรูปฌานเป็นอรูปพรหมแล้วยังจะตกนรกได้อีกหรือไม่ ข้อนี้โดยหลักธรรมดา ถ้าคนมีจิตใจสูงขึ้นมาถึงระดับนี้แล้ว มันยากหรือมันไม่อยู่ในวิสัยที่จะไปทำกรรมชนิดที่จะต้องตกนรก อย่างมากก็จะเป็นมิจฉาทิฏฐิชนิดหนึ่งซึ่งไปนิพพานไม่ได้ คงวนเวียนอยู่ในวัฏฏะ แต่ว่าถ้าพรหมท่านมีองค์ใดองค์หนึ่งมันแหวกแนว พูดหยาบคายก็ว่ามันเสือกกะโหลกไปทำกรรมอะไรที่เป็นบาปเป็นกรรมเลวร้ายถึงขนาดตกนรก มันก็ตกนรกได้เหมือนกัน เพราะว่าพรหมชนิดนี้ก็ยังมิใช่ชนิดเป็นโสดาบัน พรหมชนิดนี้ก็มิได้หมายความว่าเป็นโสดาบันแล้วเสมอไป ที่จะปิดนรกด้วยประการทั้งปวงต้องเป็นโสดาบัน นี่พรหมชนิดนี้มันยังไม่เป็นโสดาบัน แปลว่า ถ้าขึ้นมาถึงชนิดนี้ถึงระดับนี้แล้ว จิตใจอยู่ในสภาพที่จะไปทำบาปกรรมอันเลวร้ายสำหรับจะตกนรกอีกนั้น มันจะเป็นไปไม่ได้ แต่ไม่ได้เป็นการรับประกันที่แน่นอนเหมือนกับความเป็นโสดาบัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องตอบว่า ไม่อยู่ในระดับที่จะไปทำบาปกรรมเพื่อตกนรกกันอีก แม้คนธรรมดาสามัญในโลกนี้ ไม่ต้องพวกพรหม บางคนมันอยู่ในสภาพที่ไม่อาจจะไปทำบาปกรรมสำหรับจะตกนรกอะไรได้อีกเลย มีแต่จะเลื่อนขึ้นไป เลื่อนขึ้นไป พรหมชนิดนี้ก็อยู่ในสภาวะอย่างนั้น เว้นแต่จะมีพรหมองค์ไหนแหวกแนว เอา มีอะไรอีก
คำถาม : ข้อนี้อาจจะซ้ำ อากิญจัญญายตนะ คำนี้มีความหมายเป็นอย่างเดียวกับนิพพานในพุทธศาสนาหรือไม่ครับ
ท่านพระพุทธทาสตอบ : นี่ก็ได้อธิบายมาแล้วในข้อที่แล้วมา ความหมายของตัวหนังสือเอาให้เป็น อธิบายเป็นอย่างเดียวกันได้ คือ ไม่มีอะไรที่ยึดถือ เพราะความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์เพ่งฌานนี้ ถ้าว่ามีความหมายเป็นอย่างเดียวกันได้ แต่ถ้าเป็นสิ่งเดียวกันยังไม่ได้ แต่มีความหมายที่ปลายทางเดียวกันล่ะก็ได้ มีความหมายที่อาจจะดึงไปปนกันได้ ปนเป็นอันเดียวกันได้ แต่มันไม่ใช่อันเดียวกัน ถ้าท่านสนใจจริงๆ อาจารย์องค์ไหนสนใจจริง ก็ไปค้นดูโสฬสปัญหาให้ละเอียดทุกๆ ข้อ ทุกๆ คำ จะพบคำนี้ที่ผู้ถามเอามาถามอย่างกับว่าเป็นนิพพาน มีอะไรอีก
คำถาม : บางคนถือว่านิพพาน คือความไม่มีอะไร พระอรหันต์ดับแล้ว หมดสิ้นไปในความไม่มีอะไรนี้ ความจริงเป็นอย่างไรครับ
ท่านพระพุทธทาสตอบ : นี่เป็นเรื่อง เป็นปัญหาขึ้นมาก็เพราะว่าเอาวัตถุเป็นหลัก ร่างกายเป็นหลัก และใช้คำแปล คำพูดก็ประหลาด คนถามเอานิพพาน คือ ความไม่มีอะไร นี่ผิดแล้ว นั่นมันผิดเรื่องแล้ว นิพพาน คือ ความเย็นที่หาความร้อนไม่ได้ บาลีก็มีอยู่ชัดๆว่า อายตนะนั้นมีอยู่ อายตนะที่เรียกว่า นิพพาน นั้นมีอยู่จะเรียกว่า ไม่มีอะไรก็ไม่ได้ แล้วก็ว่านิพพานนี้ แปลว่า เย็น เมื่อไม่มีการปรุงแต่งแห่งกิเลสแล้วก็เป็นสภาพที่เย็น จิตเข้าถึงสภาพเย็นเช่นนั้นได้ นิพพานก็มีความเย็น พระอรหันต์ก็เหมือนกัน คือ บรรลุนิพพานก็ดับเย็นเหมือนกัน เย็นจนไม่ร้อนได้อีก ไม่ใช่ความไม่มีอะไรเสียเลย แม้ว่าจะใช้คำว่า ว่าง สุญญตา ว่างแต่พระนิพพาน ก็ไม่ได้หมายถึงความไม่มีอะไรเสียเลย มันว่างจากความหมายแห่งตัวตน ว่างจากการปรุงแต่งที่ทำให้เป็นทุกข์ นิพพาน ว่างคือว่างอย่างนี้ ไม่ใช่ความไม่มีอะไรเสียเลย พระอรหันต์ดับนี่หมายความว่ายังไงคนถาม หมายความว่าร่างกายดับ หรือว่าอะไรดับ หมายความว่าพระอรหันต์ดับนี่คงไม่ถูก ถ้าร่างกายของพระอรหันต์ดับนี่ก็พอได้ กิเลสน่ะมันดับ กิเลสดับล่ะก็เป็นความเป็นพระอรหันต์ ในความเป็นพระอรหันต์อย่างนี้ไม่ดับอีกแล้ว เพราะมันไม่มีเหตุปัจจัยเสียแล้ว ความเป็นพระอรหันต์นั้นดับอีกไม่ได้ เพราะฉะนั้นพระอรหันต์แท้ก็ไม่ตาย แต่เปลือกที่ร่างกายของพระอรหันต์นั้นมีอาการอย่างที่เราเรียกว่า ตาย นี่ก็ขอให้ทุกคนรับรู้และจำไว้ด้วยว่า พระอรหันต์นั้นตายไม่ได้ ไม่ได้พูดอย่างลวกๆ อย่างสะเพร่าๆ อย่างเด็กๆ พูดล่ะก็พูดว่า พระอรหันต์ตายได้ พระพุทธเจ้าก็ตายได้ นั่นภาษาเด็กๆ ถ้าภาษาธรรมะโดยแท้จริงแล้ว ท่านตายไม่ได้ พระพุทธเจ้ายังอยู่เดี๋ยวนี้ พระอรหันต์นั่นคือ ความสิ้นไปแห่งกิเลส เป็นภาวะแห่งความสิ้นไปแห่งกิเลส และภาวะนั้นมันมีอยู่ตลอดเวลาถึงเมื่อไหร่ก็ได้ ความเป็นพระอรหันต์นั้นจะดับอีกไม่ได้ แม้ว่าร่างกายมันจะดับไป ก็ดับไป เพราะร่างกายนั้นไม่ใช่องค์พระอรหันต์ สภาวะอันหนึ่ง คือ ความสิ้นไปแห่งกิเลส ความไม่มีกิเลสนั้นจะมีอยู่ จะดับอีกไม่ได้ เพราะมันไม่มีวัตถุสำหรับจะดับ ไม่มีสังขารที่จะดับ ไม่มีเหตุปัจจัยอะไรที่จะดับ เพราะมันไม่ใช่ตัวเหตุ ตัวปัจจัย มันเป็นภาวะที่อยู่เหนือเหตุ เหนือปัจจัย ดังนั้นจึงดับไม่ได้ จะพูดให้จริงให้ถูกตามภาษา ผู้รู้ก็ต้องพูดว่าพระอรหันต์นั้นตายไม่ได้ พระอรหันต์นั้นดับไม่ได้ มันเป็นสภาพชนิดหนึ่งซึ่งอยู่เหนือห่าง เหนือความดับ เหนือการปรุงแต่งแห่งสังขาร ไม่เป็นสังขารที่ปรุงแต่ง คำถามนี้ก็ต้องตอบว่า นิพพาน ไม่ใช่ความไม่มีอะไร มีสภาพอย่างหนึ่งซึ่งเราเรียกว่า นิพพาน และคิดถึงสภาพนั้นได้ นิพพานนั้นจึงได้นับว่า อายตนะ อย่างหนึ่งชนิดหนึ่งแต่เป็นอสังคตะ พระอรหันต์ก็คือ ผู้ที่ถึงซึ่งนิพพาน ความเป็นพระอรหันต์คือ หมดกิเลส ก็ไม่ดับ ไม่ตาย มันตายไม่ได้นั่นเอง ส่วนร่างกายของพระพุทธเจ้าก็ดี ของพระอรหันต์ก็ดี ที่โดยสมมุติว่าเป็นของท่านนั้นน่ะ นี่มันก็แตกตามทำลายไปตามธรรมดาของสิ่งที่เป็นสังขารนั้นเฉพาะร่างกาย อย่าเอาไปปนกัน เดี๋ยวทำให้พระพุทธเจ้าตาย ทำให้พระอรหันต์ตาย ก็เลยหมดที่พึ่งกันมีอะไรอีก
คำถาม : มีคนพูดว่าพุทธศาสนามีความว่างเปล่าเป็นแก่นนี้ตรงตามหลักพุทธศาสนาหรือไม่ครับ
ท่านพระพุทธทาสตอบ : พูดว่ามีความ พุทธศาสนามีความว่างเปล่าเป็นแก่นเป็นคำที่กำกวมเต็มที พุทธศาสนานั่นน่ะ หมายความได้หลายอย่าง พุทธศาสนาคือ คำสั่งสอนก็มี พุทธศาสนาคือระบบการปฏิบัติทั้งหมดก็ได้ ผลแห่งการปฏิบัติก็ได้ หรือว่าพรหมจรรย์ในพุทธศาสนานี้ก็เรียกว่า พุทธศาสนาได้ มีบาลีชัดอยู่แล้วว่ามีวิมุตติเป็นแก่น พรหมจรรย์นี้คือ ระบบพุทธศาสนา ทั้งหมดนี้มีวิมุตติ คือ การหลุดพ้นจากทุกข์เป็นแก่น ไม่ใช่มีความว่างเปล่าเป็นแก่น เราจะหาพบบาลีที่กล่าวว่ามีความว่างเปล่าเป็นแก่นนี่ไม่พบเลย มันไม่มี ตามหลักพุทธภาษิต ท่านตรัสว่ามีวิมุตติเป็นแก่น ศาสนานี้มีความหลุดพ้นจากความทุกข์เป็นแก่น เป็นสาระอยู่ที่นั่น ตอบว่ามีวิมุตติเป็นแก่น ถ้าว่ามีความว่างเปล่าเป็นแก่นล่ะก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนา
คำถาม : ทำไมวิชชา ๘ ประการมีชื่อเรียกมากนักล่ะครับ เช่นในสามัญญผลสูตร เรียกว่า ปัญญาสัมปทา และในเกวัฏฏสูตรเรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ดังนี้มิเป็นหลักที่คลอนแคลนมากไปหรือครับ
ท่านพระพุทธทาสตอบ : ในชั้นแรกก็ต้องกล่าวว่าไม่ใช่ความคลอนแคลน เพียงแต่ว่ามันมีชื่อเรียกต่างกันในสิ่งเดียวกัน ผู้ฟังบางคนอาจจะฟังไม่ถูก ต้องทำให้เกิดความเข้าใจว่า วิชชา ๘ ประการ คือ ตั้งแต่แสดงฤทธิ์ได้จนกระทั่งถึงสิ้นกิเลสอาสวะแก่ทั้ง ๘ อย่าง เรียกว่า วิชชา ๘ ประการ ในสิ่ง ๘ ประการนี้เรียกชื่อได้หลายอย่าง เช่น ในพระบาลีสามัญญผลสูตรเรียกไอ่ ๘ อย่างนี้ว่า สามัญญผล ๘ ในอัมพัฏฐสูตรเรียกไอ่ ๘ อย่างนี้ว่า วิชชา ๘ในโสณทัณฑสูตรเรียกไอ่ ๘ อย่างนี้ว่า ปัญญา ๘ ในมหาสีหนาทสูตรเรียกว่า ปัญญาสัมมปทา ๘ ในเกวัฏฏสูตรเรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ๘ ก็ ๘ นั่นแหล่ะ มันไม่มี ๘ ไหนหรอก เอามาเรียกชื่อต่างๆ กันตามความมุ่งหมายของการสนทนา คือว่าพระพุทธเจ้าทรงสนทนากับคนหลายชนิด หลายประเภท หลายระดับ บางคนบางประเภทเขายึดคำบางคำเป็นหลัก แล้วก็จะมาถามหาไอ่สิ่งเหล่านั้นในชื่ออย่างนั้น มันจึงเกิดชื่อขึ้นมาหลายชื่อสำหรับจะเรียกผลที่สูงสุดที่จะพึงได้รับในพุทธศาสนา เพราะเหตุฉะนั้นเองวิชชา ๘ ประการซึ่งเป็นผลของการปฏิบัตินั้น เกิดมีชื่อเรียกหลายชื่อ ไม่เป็นไร ก็ยังคงเป็นสิ่งเดียว ถ้าจะยกตัวอย่างก็เช่นว่า พระพุทธเจ้านั่นแหละ บางทีเราเรียกท่านว่า พระพุทธเจ้า บางทีเราเรียกท่านว่า พระตถาคต บางทีเราเรียกท่านว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า มีชื่ออีกมากมาย เราเรียกพระพุทธเจ้าองค์เดียวนั้น และสิ่งทั้ง ๘ นั่นก็เหมือนกัน มีชื่อเรียกได้หลายอย่างในลักษณะอย่างนี้ เอาอะไรอีก
คำถาม : ทำไมพระบาลีพุทธพจน์ส่วนมากที่สุด พระองค์ตรัสถึงพระนิพพานโดยใช้คำว่า ที่สุดแห่งทุกข์ แทนที่จะใช้คำว่า นิพพาน ดังนี้เล่าครับ
ท่านพระพุทธทาสตอบ : นี่ผู้ฟังที่เป็นฆราวาสอาจจะงงไม่เข้าใจ ที่เราเรียกกันว่า นิพพาน นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งนั่นน่ะ พระพุทธเจ้าท่านไม่ชอบใช้คำนี้ หรือมันเป็น มันเป็น โฆษณาชวนเชื่อมากกว่า ท่านจะเรียกนิพพานว่าที่สุดแห่งความทุกข์ ที่สุดที่สิ้นแห่งความทุกข์ ไม่เลยไปจนถึงความสุข เพราะมันมีไม่ได้ ในความทุกข์เท่านั้นแหล่ะเป็นปัญหา พอสิ้นสุดแห่งความทุกข์ก็ควรจะหมดปัญหา ทีนี้ไอ่นิพพาน นิพพานนี่ มีความหมายดึงดูดใจ มีค่าในทางดึงดูดใจ ก็แปลว่า เย็น นิพพานนี้ ถ้าจะพูดเป็นภาษาชาวบ้านที่สุดก็ต้องพูดว่า ความเย็นอกเย็นใจถึงที่สุดโดยแท้จริง นี่คือนิพพาน นิพพาน เขาใช้กันมาแต่ก่อนอย่างนั้น แล้วก็ยึดถือเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ คนทั้งหลายเหล่านั้นยึดถือพระนิพพานอย่างยิ่ง ยึดถือพระนิพพานโดยเป็นตัวตน ยึดถือพระนิพพานโดยเป็นของๆ ตน อย่างนี้มันยุ่งไปหมด แล้วมันก็ไม่นิพพานจริง มันเป็นนิพพานยึดถือ ท่านประสงค์ใจวาง ไม่มีความยึดถือแม้ในนิพพาน ท่านจึงมักจะเรียกว่าที่สุดแห่งความทุกข์ นี่พุทธศาสนาเมื่อพูดโดยภาษาแท้จริงจะไม่พูดว่า สุขอย่างยิ่ง อะไรทำนองนั้น จะพูดก็ที่สุดจบแห่งความทุกข์ก็พอแล้ว ถ้าถามว่าทำไมพระพุทธเจ้าท่านทรงชอบใช้คำว่า ที่สุดแห่งทุกข์ ไม่ชอบใช้คำว่า นิพพาน ก็เพราะว่าท่านเป็นคนพูดจริง ท่านพระพุทธเจ้าท่านเป็นคนพูดจริง ไม่อยากจะหลอกลวงตบตาใคร มันก็มีเท่านี้ อะไรอีก
คำถาม : มีผู้จัดพระนิพพานให้เป็นสิ่ง หรืออายตนะอันแสนมหัศจรรย์นั้น เป็นอย่างไรครับ
ท่านพระพุทธทาสตอบ : พระนิพพานเป็นสิ่งที่รู้สึกได้ สัมผัสได้ และก็เรียกว่าอายตนะอย่างหนึ่ง เป็นอสังขตะ แล้วก็มาจัดให้มันเป็นสิ่งที่แสนจะอัศจรรย์ตามความรู้สึกของคนธรรมดา มันก็ควรจะรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ แม้เรานี่แหละ ถ้าไปเรียนรู้เรื่องพระนิพพานเข้า หรือว่าได้ชิมรสพระนิพพานแม้แต่น้อย น้อยหนึ่ง ก็ชั่วขณะหนึ่ง ก็ยังรู้สึกว่าแสนน่าอัศจรรย์ การที่เขาจัดอย่างนั้นก็เป็นการจัดตามความรู้สึกของคนธรรมดา แต่ถ้าผู้ที่เข้าถึงซึ่งตถา ก็ถือว่าเป็นของธรรมดา เป็นธรรมชาติธรรมดาอย่างหนึ่งเท่านั้น แม้พระนิพพาน อะไรต่อไป
คำถาม : ในบาลีมหาปรินิพพานสูตรกล่าวเรื่องตอนจัดพระนิพพานว่า พระองค์ทรงแบมือให้พระสาวกดูว่า ความรู้ต่างๆ ได้ทรงเปิดเผยโดยสิ้นเชิงแล้ว ไม่มีกำมือที่ขยักไว้สำหรับเก็บความรู้อะไรๆ ไว้สงวนเป็นความลับเลย นี้หมายความว่า ทรงเปิดเผยหมดสิ้นในเรื่องของนิพพานและข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงพระนิพพานใช่ไหมครับ แต่ยังมีบางคนกล่าวว่า มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระนิพพานซึ่งทรงขยักไว้ ไม่ชี้แจง เหลือไว้เพื่อให้มีความลี้ลับมหัศจรรย์เป็นเครื่องดึงดูดให้คนสนใจด้วยอุบายอันแยบคาย ทำนองนโยบายการค้า ดังนี้เรียกว่า เขาเป็นคนกล่าวตรงตามพระพุทธเจ้าตรัสหรือไม่ครับ เป็นการกล่าวถูกพุทธวัจนะไหมครับ
ท่านพระพุทธทาสตอบ : นี่ทบทวนตัวปัญหาอีกทีว่า เมื่อพระพุทธเจ้าจะดับขันธ์ปรินิพพานอยู่หยกๆ นี้แล้ว ท่านยังทรงแสดงข้อความนี้แก่พระสาวก คือ บอกพระสาวกในที่นั้น ในขณะนั้นว่า ไม่มีอะไรเหลืออยู่ที่ฉันสงวนไว้ไม่บอกพวกแก อาตมาบอกหมดไม่มีอะไรเหลือที่ขยักไว้เป็นความลับเพื่อประโยชน์อย่างอื่น นี่ความเปิดเผย ความตรงไปตรงมาของพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสอย่างนี้จริง แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริง การที่มาหา กล่าวหาว่าพระองค์ทรงขยักอะไรไว้ ไม่ได้บอก ไม่ได้สอนจนปรินิพพานไปแล้วอย่างนี้ ไม่มี เราเชื่อตามที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่มีกำมือ คือ มันไม่มีมือที่กำ คือ ไม่มีส่วนที่เก็บไว้ไม่บอก ไม่มีแล้ว ถ้าใครไปกล่าวว่ายังมีเหลือ คนนั้นกล่าวไม่ตรงตามพระพุทธภาษิต เขามีเหตุผลของเขาเองที่เขาจะแสดงเรื่องอะไรให้แปลกไปจากที่เราเคยรู้ เขาก็จะได้อ้างว่านี่คือส่วนที่พระพุทธเจ้ากำไว้ ยังไม่ได้บอก ฉันรู้และฉันจะบอกแทนพระพุทธเจ้า นี่เป็นศาสดาขี้โกง เอา ต่อไป
คำถาม : พระพุทธเจ้าทรงเปิดเผยสัจธรรมที่พระองค์ตรัสรู้แล้วโดยเปิดเผย หรือทรงมีอะไรที่ขยักไว้หรือกำไว้บางส่วน มีบางคนอ้างว่าพระองค์ทรงเห็นเปรตแล้วไม่กล้าเปิดเผยต้องรอจนกว่าพระโมกขลานะมาเห็นเป็นพยานจึงค่อยทรงเปิดเผยพระสมอ้างทำให้เข้าใจว่ามีอีกหลายเรื่องที่พระองค์ไม่ทรงเปิดเผยเก็บนิ่งไว้นี้ จะให้เข้าใจว่าอย่างไรครับ
ท่านพระพุทธทาสตอบ : เดี๋ยว ปัญหานี้ก็คล้ายๆ กับข้อที่แล้วมา คล้ายๆ กับข้อที่แล้วมา โดยหลักใหญ่ก็คือ พระองค์ได้เปิดเผยหมด ไม่มีอะไรขยักไว้ แต่ผู้ถามคนนี้ เขาอ้างไปเรื่องเห็นเปรต พระพุทธเจ้าเห็นเปรต แล้วก็ไม่กล้ามาบอก มาแสดง กลัวคนจะไม่เชื่อ ต้องรอให้มีพยานอีกคน คือ พระโมคคัลลานะได้ไปเห็นด้วย เห็นเปรตนั้นด้วย และจึงเปิดเผยแสดงว่ามันเห็น และก็มีโมคคัลลานะเป็นพยาน อย่างนี้ไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ไม่เป็นปฏิปทาของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้ใครมาช่วยสนับสนุนอย่างพยาน หรือมาช่วยสนับสนุนโดยประการใดก็ดี มีพระบาลีตรัสไว้ชัดเลย เป็นพระพุทธภาษิตในสูตรชื่ออะไรก็ลืมเสียแล้ว จดไว้มี มีข้อความว่า เราไม่ประสงค์การสนับสนุนของสาวกในเรื่องกันเกี่ยวกับพรหมจรรย์ ในเช่นว่าจะต้องให้สาวกช่วยคุ้มครอง ให้สาวกช่วยหาเสียงสนับสนุน หรือให้สาวกช่วยโฆษณาเป็นการช่วยเชิด หรือเทิดพระองค์ ทรงไม่ต้องการเป็นอันขาดและไม่ทรงยอมรับ นี่เข้าใจมั้ย เข้าใจพระพุทธเจ้าดีว่า ท่านไม่หวังให้สาวก คือ พวกเรานี่ ช่วยสนับสนุนท่านเพื่อประโยชน์อย่างใดก็ตาม ไม่เหมือนกับอาจารย์สมัยนี้ต้องการให้ลูกศิษย์ช่วยเชิด ช่วยเทิด ช่วยทั้งการเงิน ช่วยทั้งน้ำลายปาก ช่วยไปเสียทุกอย่าง ช่วยป้องกัน ช่วยคุ้มครองไม่ให้ถูกด่าอย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้ไม่มีแก่พระพุทธเจ้า ท่านก็ตรัสไว้ตรงๆ การตรัสรู้ของท่านไม่ต้องมีใครมาช่วยเป็นพยานอีก และการเห็นเปรตนั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร ไม่ใช่ตัวพรหมจรรย์ จึงไม่ถือว่าเป็นตัวพรหมจรรย์ที่ไปกำมือไว้ ปิดไว้ จะเป็นเรื่องชั้นหลังเสียมากกว่าการเห็นเปรตและยังไม่บอกนี่ ไม่ใช่เรื่องที่ซ่อนไว้หรือกำไว้ ผิดวิสัยของพระพุทธเจ้าดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ในที่ต่างๆ กัน ไม่ได้มีอะไรเหลือขยักไว้ในกำมือ สำหรับจะไปเรียกร้องอะไรกันทีหลัง แล้วก็ไม่ต้องมีใครมาช่วยเป็นพยานให้ สนับสนุนให้ในเรื่องการปฏิบัติก็ดี ในเรื่องของผลของการปฏิบัติก็ดี มีอะไรต่อไปอีก
คำถาม : ในบาลีสังคีติสูตร มีสาวกภาษิตกล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า นิโรธตัณหา นี่หมายถึงอะไรกันแน่ครับ การปรารถนานิพพานเป็นนิโรธตัณหาหรือเปล่าครับ จุดสุดยอดของพุทธศาสนา คือ การดับทุกสิ่งทุกอย่างไม่ให้มีอะไรเหลืออย่างนั้นหรือครับ
ท่านพระพุทธทาสตอบ : คนฟังที่ไม่เคยเรียนธรรมะคงจะงง ฟังไม่ถูก มันต้องแยกให้เป็นเรื่องๆ ไป ในพระบาลีสูตรหนึ่งซึ่งเป็นสาวกภาษิตนี่ก็หมายถึงปฏิสัมปทามรรค ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นคำกล่าวของพระสารีบุตร ดังนั้นจึงเรียกว่า สาวกภาษิต มีคำว่า นิโรธตัณหา แปลว่า ตัณหาในนิโรธก็เกิดปัญหาขึ้นมาว่า คือการปรารถนานิพพานเป็นนิโรธตัณหาหรือไม่ ความสำคัญมันอยู่ที่คำว่า ตัณหา คำว่าตัณหาเป็นคำฝ่ายร้าย ฝ่ายอกุศล เป็นกิเลส คือ ความหยาบด้วยอำนาจของอวิชชา ถ้าอยากด้วยสติปัญญาไม่เรียกว่าตัณหา ต่อเมื่ออยากด้วยความโง่ คือ อวิชชา จึงจะเรียกความอยากนั้นว่า ตัณหา ตัณหาอย่างนี้ตรงตามชื่อ ตัณหา คือ ความอยากด้วยความโง่นี่ มันจะไปอยากในนิโรธ หรือพระนิพพานได้อย่างไร ถ้ามันเป็นได้ล่ะก็ มันเป็นความอยากของคนที่ไม่รู้ เช่น เดี๋ยวนี้ เรานี่อยากนิพพานทั้งที่ไม่รู้ว่านิพพานเป็นอะไร ถ้าอยากได้ความไม่รู้อย่างนี้ก็เป็นตัณหาได้ แต่ถ้าเราได้รู้จักทุกข์ เห็นความทุกข์จนเกลียดกลัวความทุกข์และอยากจะดับทุกข์ อย่างนี้มันอยากด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ตัณหา หรือในสูตรนั้นมีรูปตัณหา อรูปตัณหา นิโรธตัณหา มีตัณหาในรูปธรรม มีตัณหาในอรูปธรรม มีตัณหาในนิโรธ ก็ต้องถือว่าเป็นฝ่ายกิเลสทั้งนั้น อยากด้วยอวิชชาในสิ่งที่เป็นรูป อยากด้วยอวิชชาในสิ่งที่เป็นอรูป อยากในนิโรธหรือนิพพานซึ่งไม่ใช่รูป ไม่ใช่อรูป แต่ว่าตามที่เขาเล่าลือกัน อย่างเราพอรู้เรื่องก็เกิดมาพอรู้เรื่องอะไร ก็ได้รับคำบอกเล่า คำบอกเล่านั่นเองว่า พระนิพพานดีอย่างนั้น ประเสริฐอย่างนั้น และก็เข้าใจเอาเองว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะต้องการนิพพาน ทั้งที่ไม่รู้จักพระนิพพานโดยแท้จริง ใครรู้จักแต่นิพพานบอกเล่าแล้วมันน่าพอใจ ก็อยากจะได้อย่างนั้น ความอยากนั้นเป็นความอยากด้วยอวิชชา อย่างนี้เป็นตัณหาได้ และถ้ารู้จักนิพพานจริงแล้ว มันก็อยากด้วยสติปัญญา มันไม่เป็นตัณหา อาตมาเคยเรียกคุณยายคนหนึ่งมาถามว่าอยากได้นิพพานมั้ย อยากได้นิพพานมั้ย ตอบอย่างขยันขันแข็ง เสียงแข็งว่า อยากได้ อยากได้ ทีนี้พอบอกว่านิพพานนี้ไม่มีอะไรให้สนุกนะ ไม่มีวงรำวงเหมือนที่คุณชอบนะ ไม่ต้องสนุกสนานในอะไรนะ แกก็ว่า ถ้าอย่างนั้นไม่เอา ไม่ต้องการ ไม่ต้องการนิพพาน นี่ก็เรื่องจริง ที่ถามที่นี่น่ะ นี่ เพราะว่าไอ่นิพพานที่ได้รับการบอกเล่า มันทำให้เกิดการฝัน เพ้อฝันมากเกินไป ถ้าเขาเอานิพพานอย่างนี้มาเป็นวัตถุของความต้องการแล้ว มันก็ต้องเป็นตัณหาแน่ ยอดสุดของพระพุทธศาสนามีแต่ดับทุกข์เท่านั้น และต้องต้องการด้วยวิชชา ด้วยปัญญา ไม่ได้ต้องการด้วยตัณหา เว้นเสียแต่ว่า คอยฟังให้ดีนะ ยืมเอาคำว่าตัณหามาใช้ ในกรณีนี้ ในกรณีที่เป็นธรรมะ เช่นเดียวกับเดี๋ยวนี้ เราเอาแต่คำว่าอยาก อยาก อยากก็แล้วกัน ไม่ได้แบ่งว่าความอยากด้วยความโง่ หรือว่าอยากด้วยปัญหา เอาความอยากมาใช้นี่ก็ได้เหมือนกัน มันก็เป็นเหตุให้อยากในนิพพาน หรืออยากในอะไรได้ ก็มีคำกล่าวในที่แห่งหนึ่งในพระบาลี มีแห่งเดียวนั้นน่ะ ที่เอาคำว่าตัณหามาใช้อย่างนี้ มาใช้ในความหมายที่ดี คือ คำของพระอานนท์ที่ทรมานภิกษุณีองค์หนึ่งด้วยคำว่า จงใช้ตัณหาละตัณหาเสีย ตัณหาก็กลายเป็นของดีที่ละตัณหาได้ คือ มีตัณหาดีละตัณหาโง่ได้ อย่างนี้จะถือเป็นหลักทั่วไปไม่ได้ เป็นคำพูดพิเศษเฉพาะเรื่อง เฉพาะกรณี เฉพาะบุคคล ถ้ากล่าวโดยทั่วไปแล้วมันก็ตัณหานี้มาจากอวิชชา มันเท่ากับกล่าวถึงนิโรธตัณหาก็เหมือนกับตัณหาในกามตัณหา ในรูปตัณหา ในอรูปตัณหา ด้วยเหมือนกัน เพราะตัณหาก็มาจากอวิชชาเสมอ ถ้าเอามาใช้อย่างตัณหาของวิชชาก็ต้องถือว่ากรณีพิเศษ ไม่ใช่หลักทั่วไปมีอยู่อย่างนี้ เอา มีอะไรอีก
คำถาม : ข้อนี้จะซ้ำฮะ มีข้อความสำนวนประหลาดอยู่ประโยคหนึ่ง ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในพระไตรปิฎกว่า จงอาศัยตัณหาละตัณหา นี่หมายความว่าอย่างไรครับ ดูไม่มีทางจะปฏิบัติได้เลยนะครับ
ท่านพระพุทธทาสตอบ : อาศัยตัณหาละตัณหาก็ต้องแยกเป็นตัณหาถูก ตัณหาผิด แต่ว่าในอรรถกถาหรืออะไรก็ลืมเสียแล้ว ก็อธิบายว่า อาศัยความอยากมันดับความอยาก เปรียบเหมือนกับว่า หนามยอกละก็เอาหนามบ่ง บางคนเคยทำ บางคนไม่รู้เรื่องว่าหนามยอกแล้วจะเอาหนามบ่งยังไง ถ้าเขาบอกสำหรับคนที่ยังไม่รู้เรื่อง คือ ถ้าเราไปเที่ยวในที่ๆ มันมีหนาม มีไม้หนาม ไปเหยียบเอาไม้หนาม หนามตำลึกติดอยู่ในเนื้ออับ เสมอเนื้อ หรือว่าต่ำกว่าเนื้อ จะเอายังไงออก ก็ไปเด็ดหนามมาสองหนาม มาแทงลงไปตามนั้นน่ะ แทงสองข้าง ขนาบสองข้างของหนามที่ฝังอยู่ในเนื้อ แล้วก็งัดออกทางข้างพร้อมๆ กัน มันจะดีดเอาหนามที่ฝังนั้นถอนขึ้นมา นี่เอาหนามบ่งหนาม ก็ไม่มีอะไร นี่ เราก็จัดให้ตัณหาที่หวังดี ชะเง้อไปในทางดีเหมือนกับหนามสำหรับบ่ง และตัณหาร้าย ตัณหาเป็นทุกข์ นี่เหมือนกับหนามที่ตำอยู่ในเนื้อ เอาหนามบ่งหนามก็พอจะพูดได้ว่า เอาตัณหาฆ่าตัณหา หรือละตัณหา ดังนั้นให้ถือว่าเป็นสำนวนพูดพิเศษ ไม่ใช่คำพูดธรรมดา ไม่ใช่ถือเป็นหลักได้ ถือว่าเป็นสำนวนพิเศษต้องถอดความหมาย ถอดความหมายแล้วจึงจะเป็นหลักธรรมดา ถ้าเราไม่มีความอยากที่จะละตัณหา มันก็ไม่ได้ละตัณหาแน่ สร้างความอยากชนิดหนึ่งขึ้นมา เพื่อจะละความอยากชนิดที่เป็นอันตรายเสีย เอา มีอะไรอีก
คำถาม : มิจฉาทิฏฐิชนิดธรรมดากับมิจฉาทิฏฐิชนิดอันตคาหิกทิฏฐิต่างกันอย่างไรครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีอันเกี่ยวกับจะต้องตกนรกหรือไม่ต้องตกนรกนี่เป็นอย่างไรครับ
ท่านพระพุทธทาสตอบ : มิจฉาทิฏฐิธรรมดา คือ ความเห็นผิดตามธรรมดา ธรรมดานี่ใช้คำว่า ธรรมดา ฟังให้ดี ทีนี้มิจฉาทิฏฐิอีกประเภทหนึ่งมันตกขอบ เพราะไม่พูดภาษาอะไรก็ไม่รู้ ภาษาที่เด็กๆ เขาชอบพูด ตกขอบ คือ มันเหวี่ยงซ้าย หรือเหวี่ยงขวาสุดไปเลย ตกขอบ อย่างนี้เรียกว่า อันตคาหิกทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิอันตคาหิกะคือตกขอบ เหวี่ยงสุดตกขอบ ส่วนมิจฉาทิฏฐิธรรมดาๆ นั้น คือ ทั่วไป ยังไม่ถึงกับว่าตกขอบ มันต่างกันเพียงเท่านี้ อยู่ที่สุดโต่ง ตกขอบหรือไม่ ถ้าความเห็นผิด นั่นเหวี่ยงสุดโต่ง ตกขอบ ก็เรียกว่า อันตคาหิกทิฏฐิ คือ ตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด นี่ ตกขอบกันทั้งนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิประเถทอันตคาหิกทิฏฐิ มันผิดทั้งนั้นน่ะ มันตกขอบและยิ่งผิดมากขึ้นไปอีก ที่ถูกต้องเป็นอิทัปปัจจยตา คือ จะไม่พูดว่า เกิดหรือไม่เกิด พูดว่า แล้วแต่ปัจจัยโว้ย ปัจจัยสำหรับเกิดมี มันก็เกิด ปัจจัยสำหรับเกิดไม่มี ก็ไม่เกิด งั้นฉันจะพูดสุดโต่ง ตกขอบว่าเกิดหรือว่าไม่เกิด นี่จะไม่พูด นี่ มิจฉาทิฏฐิธรรมดา เขาไม่สุดเหวี่ยงตกขอบ ส่วนมิจฉาทิฏฐิอันตคาหิกะนั้นก็สุดเหวี่ยง และก็ตกขอบ พอพูดตกขอบมันก็ไม่มีอิทัปปัจจยตา มันมิจฉาทิฏฐิที่มันเหวี่ยงไปสุด และก็เป็นอันตคาหิกทิฏฐิทั้งหมด มีอยู่มากเหมือนกัน ยกตัวอย่างมากล่าวไว้ในพระบาลี ก็เรียกว่า อันตคาหิกทิฏฐิ 10 ไปเปิดดูเอาเอง แล้วมีอะไรอีก
คำถาม : คำว่า โมกขธรรม หรือ โมกธรรม มีใช้อยู่แต่เฉพาะในคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาเท่านั้นหรือครับ
ท่านพระพุทธทาสตอบ : คำว่า โมกขธรรม เป็นภาษาบาลี คำว่า โมกษะธรรม เป็นภาษาสันสกฤต คือ ถอดมาจากสันสกฤต อันหนึ่งถอดมาจากบาลี คำเดียวกัน ความหมายเหมือนกัน แปลว่า ความหลุดพ้นออกไปได้ หมดจด เกลี้ยงเกลาจากกิเลสทั้งหลายเรียกว่า โมกขะ โมกขธรรมก็คือความเป็นอย่างนั้น คำนี้มีอยู่ก่อนพุทธกาล ใช้กันอยู่ก่อนพุทธกาล พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ท่านก็รับคำนี้มาใช้เหมือนกัน แต่มีความหมายตามแบบของท่าน หลุดพ้นตามแบบพวกอื่นที่มีอยู่ก่อนนั้นน่ะ มันมีอยู่อีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนกัน เขาจะมีวิธีการอย่างไร มันเป็นเรื่องของเขา แต่ถ้าทำตามนั้นแล้วเขาก็เรียกว่า โมกขะ หรือว่า โมกขธรรม เป็นที่นิยมชมชอบสูงสุดของประชาชนทั้งนั้นแหละ พอพระพุทธเจ้าตรัสขึ้น ท่านไม่ยอมรับวาไอ่โมกข์อย่างนั้นน่ะ อย่างนั้นมันไม่โมกข์ มันต้องอย่างนี้ คือ ทำกิเลสให้หมดสิ้นไปโดยเฉพาะกิเลสประเภทยึดถือว่าตัวว่าตนนี่ ก็กิเลสนี้หมดจึงจะโมกข์ คือ เกลี้ยง หรือหลุด หรือออกไปได้ นี่ โมกข์ในพุทธศาสนา ถ้าถามว่าใช้อยู่แต่ในพุทธศาสนาเท่านั้นหรือ ก็บอกว่าไม่ใช่ ในศาสนาอื่นเขาก็มี และก็มีก่อนพุทธศาสนาด้วย คำนี้มันเก่าก่อนพุทธศาสนา แล้วก็ยังใช้มาจนถึงบัดนี้ เอา มีอะไรต่อไปอีก
คำถาม : ดิรัจฉานวิชา เป็นวิชาของสัตว์เดรัจฉาน หรือหมายความว่าอย่างไรครับ
ท่านพระพุทธทาสตอบ : ดิรัจฉานวิชา คำนี้ไม่ใช่ หรือไม่หมายถึงวิชาของสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานไม่มีวิชา หรือถ้ามีวิชาก็มาใช้กับมนุษย์ไม่ได้ แต่ในพระบาลีวินัย เขามีความหมายตามความหมายของคำว่า ดิรัจฉานะ แปลว่า ขวาง ขวางคลอง ขวางถนน ขวางอะไรก็ตาม แปลว่า ขวาง พระวิชาไหนมันขวางทางของอัฏฐังคิกมรรค วิชานั้นเป็นเดรัจฉานวิชา ที่มีอยู่ในบาลีก็คือวิชาไสยศาสตร์ วิชาไอ่เรื่องยามวิชา ไอ่ที่มันเป็นไสยศาสตร์น่ะ พูดกันง่ายๆ อย่างนั้นดีกว่า วิชาเหล่านั้นเป็นดิรัฉานวิชา คือ วิชาที่ขวางคลองของอัฏฐังคิกมรรค คือ ออกมาก็จะปิดทางไปนิพพาน วิชานี้มันจะมาขวางทางที่จะไปสู่นิพพาน เหมือนกับว่าคลองๆ หนึ่ง ถนนสายหนึ่งมันเอาไม้ซุงมาขวางเต็มไปหมด รถก็เดินไม่ได้ เรือก็เดินไม่ได้ ไอ่ที่ขวางนั่นแหละ คือ ดิรัจฉานวิชา คือ เอามาใช้มันจะขวางไปทางนิพพาน ไปไม่ได้ คำว่า ดิรัจฉาน แปลว่า ขวาง คือ ขวางทางของอัฏฐังคิกมรรค ถ้าไปทำอย่างนั้นเสียแล้ว มันก็ไม่มีอัฏฐังคิกมรรค มันเกิดไม่ได้ มันก็ติดตันอยู่ที่นั่น นี่เรียกว่าดิรัจฉานวิชา เอามีอะไรอีก คำถาม : ปาฏิหาริย์ คืออะไรครับ ในพุทธศาสนาเรามีคำสั่งสอนให้ประพฤติกระทำรึเปล่าครับ ท่านพระพุทธทาสตอบ : คำว่า ปาฏิหาริย์ แปลว่า น่าอัศจรรย์ที่สุด ใช้ผิดกันโดยมาก คือ ใช้หาลาภ มีฤทธิ์ มีปาฏิหาริย์นั่นก็ใช้เพื่อหาลาภผล เอาเปรียบผู้อื่น นี้เป็นปาฏิหาริย์ที่ห้ามโดยเด็ดขาด จะมีไม่ได้ในพุทธบริษัท ในภิกษุ แต่ถ้าว่าโดยที่แท้แล้ว สิ่งที่น่าอัศจรรย์ที่สุด คือ การทำกิเลสให้หมดสิ้น ลองคิดดูว่าอะไรน่าอัศจรรย์กว่าสิ่งนี้ เหาะเหินเดินอากาศ ดำน้ำดำดิน ทำอะไรก็ได้ ทุกอย่างก็น่าอัศจรรย์ แต่ว่าการทำให้กิเลสหมด มันน่าอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นใช่มั้ย ทำเอาไม่เห็นพูดกันไม่ได้นั่นแหล่ะที่น่าอัศจรรย์ที่สุดก็คือ การทำกิเลสให้สิ้น หรือที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นอีก ก็ทำกิเลสของผู้อื่นให้สิ้น ช่วยแนะให้ผู้อื่นทำกิเลสของเขาให้สิ้น นี่ ยิ่งน่าอัศจรรย์กว่าไปอีก เป็นปาฏิหาริย์กว่าไปอีก ถ้าปาฏิหาริย์อย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านแนะให้ทำ ท่านเองก็ทำและก็สรรเสริญการทำปาฏิหาริย์อย่างนี้ แต่ถ้าปาฏิหาริย์เพื่อได้ลาภ ได้ผลและก็ห้ามแสดงปาฏิหาริย์ เพื่อเอาลาภผลมากินนี่กลับเป็นความผิดบาปอย่างร้ายกาจ คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าท่านตอบคำถามของพราหมณ์คนหนึ่งที่ถามเรื่องธรรมะเกี่ยวกับการทำนา แต่เผอิญท่านตอบเป็นคำกลอน คือ คำขับ น่ะ ศรัทธาภีชัง โพพุทธิปัญญา อะเมยุขนัง ขะลัง(ไม่แน่ใจนาทีที่ 1:03:42) อันนี้เป็นคำกลอนไพเราะ ในที่สุดไอ่พราหมณ์น่ะ เขาชอบ เขานับถือพระพุทธเจ้า แล้วไอ่พราหมณ์ก็ไปจัดอาหารมาถวาย พระพุทธเจ้าตรัสว่า ฉันไม่ได้ ฉันไม่ได้ เอาไปทิ้งในหนอง เอาไปเทในหนอง เพราะว่าแกให้ฉันโดยการชอบคำขับที่ไพเราะ คำกล่าวคาถาที่ไพเราะ นี่พระพุทธเจ้าท่านถืออย่างนี้ว่าจะไม่บริโภคลาภผลที่มาจากความยั่ว สิ่งยั่ว หรือปาฏิหาริย์ พวกที่ชอบร้องเพลงก็ระวังให้ดี ได้อะไรมากินก็ร้องเพลงแล้วก็ไม่ถูกแล้ว ถ้าเขาให้อะไรเรากิน เพื่อให้เราร้องเพลงให้เขาฟังนี่กินไม่ได้ ทำกิเลสให้สิ้นเป็นปาฏิหาริย์สูงสุดควรกระทำ แล้วก็ไม่ผิด ไม่บาป ไม่กรรม พระพุทธเจ้าก็ทรงทำ ในพุทธศาสนามีปาฏิหาริย์อย่างนี้ ไม่มีปาฏิหาริย์อย่างชาวบ้านเหมือนกับเล่นกล เอา ต่อไปอีก คำถาม : อัพยากะตา เป็นคำที่แปลกหูสำหรับคนทั่วไปมาก หมายถึงอะไรกันครับ มีทั้งที่เป็นสังขารธรรมดาสามัญของคนธรรมดา และมีทั้งที่เป็นวิสังขาร เป็นโลกุตระ ทำไมมันจึงเป็นได้ทั้งสองฝ่ายครับ และมันต่างกันอย่างไรครับท่านพระพุทธทาสตอบ : คำว่า อัพยากะตา อัพยากะตา ที่พระสวดบ่อยๆ ที่ป่าช้า กุสะลา ธัมมา อัพยากะตา อกุสะลา ธัมมา อัพยากะตา กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา อัพยากะตา ธัมมา กะตะเม ธัมมา อัพยากะตา คำนี้คงจะไม่ค่อยมีใครรู้กันนัก คำว่า กุศล ก็ดี อกุศล คือ ไม่ดี อัพยากะตานั้นคือ พูดไม่ได้ บัญญัติไม่ได้ กล่าวลงไปไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี นั่นใจความสำคัญมันอยู่ที่นั่น คือ สิ่งที่เราจะไปบัญญัติว่าดีหรือไม่ดีก็ไม่ได้ จึงไม่ได้บัญญัติ ที่จริงมันบัญญัติไม่ได้ แต่ว่าในที่ถือๆ กันอยู่ในข้อความสั่งสอนมักจะแปลว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติไว้ว่าดีหรือไม่ดี นี่มันไม่ถูก อย่างนี้ไม่ถูก เพราะว่าถ้ามันหมายความอย่างนั้น หมายความอย่างนั้นก็หมายความว่าสิ่งนั้นมันบัญญัติได้ เพียงแต่พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติไว้ ที่จริงมันมากกว่านั้น คือ มันบัญญัติไม่ได้ คือ สิ่งที่มันไม่เจืออยู่ด้วย ไม่มาเข้าเกี่ยวข้องกับปัญญาหรือวิชชาอย่างนี้ มันจึงบัญญัติไม่ได้ เช่น ก้อนหินก้อนนี้ ใครจะไปบัญญัติได้ว่าดีหรือไม่ดี มันยังไม่ได้เข้ามาขอบเขตที่จะต้องบัญญัติ หรือบัญญัติว่าดีหรือไม่ดี สังขารธรรมเหล่านี้ก็เป็นอัพยากตา ทั้งที่ว่ามีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงนี้ก็ยังจะไม่บัญญัติว่าดีหรือไม่ดี เพราะมันไม่ขึ้นมาถึงขนาดนั้น แม้แต่ร่างกายของเรานี่ ร่างกายของเรานี่ ไม่บัญญัติได้ว่าดีหรือไม่ดี มันเป็นกลางๆ คือ ไม่ถูกบัญญัติว่าดีหรือไม่ดี นี่คือตัวอย่างของสังขารหรือสังขารธรรมที่เป็นอัพยากะตา ไม่บัญญัติได้ว่าดีหรือไม่ดี ทีนี้พวกอสังขธรรม เช่น พระนิพพาน นั่นน่ะก็เป็นสิ่งที่อยู่เหนือไปแล้ว เกินไปแล้วที่จะบัญญัติว่าดีหรือไม่ดี นั่นน่ะเพราะอยู่เหนือดี เหนือไม่ดี จึงบัญญัติไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี คือ อสังขธรรม เช่น พระนิพพาน เป็นต้น ก็เป็นอัพยากะตา บัญญัติไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี ก้อนหินนี้เป็นอัพยากะตา ก็มันไม่ขึ้นมาถึงขนาดที่จะมีความหมายว่าดีหรือไม่ดี ดังนั้นอัพยากะตา สภาพที่บัญญัติไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดีนี่ มีได้ทั้งฝ่ายสังขาร หรือสังคตะ และทั้งฝ่ายอสังคตะ หรือวิสังขาร ไม่จัดได้ว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่ความหมายของคำว่า อัพยากะตานั้นเหมือนกัน อัพยากะตาของก้อนหินนี้ หรือว่าอัพยากะตาของพระนิพพานนั้น ความหมายเหมือนกัน คือ บัญญัติไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี ไม่ควรจะบัญญัติว่าดี หรือไม่ดี เลยไม่ถูกบัญญัติ อันบุคคลไม่บัญญัติว่าดีหรือไม่ดี คำถาม : คำว่าอุปสรรคก็ดี คำว่ามารก็ดี นี่มีความหมายเป็นไปในทางร้ายหรือทางดีอย่างไรกันครับท่านพระพุทธทาสตอบ : โดยความรู้สึกของคนธรรมดาสามัญทั่วไปก็ถือว่าอุปสรรคนี่ มันเป็นศัตรู มันไม่ดี มารนี่ก็มาขัดขวาง มันก็ไม่ดี ก็เลยให้ความหมายไปแต่ในทางร้ายทั้งนั้น กระผมนี่อยากจะอุตริแหวกแนว จะไม่ถืออย่างนั้น เอ้า มาสิอุปสรรค เข้ามาสิ มารก็มาสิ เราจะทำให้มันกลายเป็นของที่มีประโยชน์ อุปสรรคมาช่วยทำให้เราฉลาดขึ้น สามารถขึ้น มันหมดความเป็นอุปสรรค ไอ่มารนี่ก็มาช่วยทำให้เราเก่งขึ้น ทำบารมีให้มากขึ้น ถ้ามารไม่มี บารมีก็ไม่แก่กล้า ถ้ามารมันมี บารมีมันยิ่งแก่กล้า มาเป็นเกลอกัน เราทำมารให้หมดความเป็นมาร เราจะไม่มองอะไรไปในแง่ร้ายให้มันยุ่งยากลำบากใจ มาถึงที่นี่แล้วก็ทำให้เป็นดีไปหมด นี่ จะพูดจะตอบว่าอุปสรรคหรือมารนี่จะไปในทางร้าย หรือไปในทางดีก็แล้วแต่เราจัดให้มัน แล้วแต่เราต้อนรับมัน เราต้อนรับมันอย่างโง่เขลา มันก็มาเป็นของร้ายแก่เรา ถ้าเราต้อนรับมันอย่างฉลาดเฉลียวล่ะก็ใช้มันให้เกิดประโยชน์ได้ คือ ทำให้เราเก่งขึ้น ทำให้เราสามารถมากขึ้น ทำให้เราสร้างบารมีได้มากขึ้นไม่ดีกว่า จึงต้องตอบว่ามันแล้วแต่เราต้อนรับมันอย่างไรโดยวิธีใดต่างหาก เอา คำถาม : คำว่า อายตนะ ที่แปลกันว่า แดน หรือ เครื่องติดต่อนี้ ถูกหรือไม่ครับ ที่มิใช่ แดน หรือ มิใช่เครื่องติดต่อ มีหรือไม่ครับ ถ้าอย่างนั้นจะแปลว่าอย่างไรครับ ทำไมจึงพูดกันแต่เพียง อายตนะภายใน อายตนะภายนอก ซึ่งเป็นเครื่องติดต่อหรือเป็นแดนติดต่อเท่านั้นครับ พระนิพพานก็เป็นอายตนะอย่างหนึ่งด้วยใช่มั้ยครับท่านพระพุทธทาสตอบ : นี่ ชาวบ้านที่ไม่ได้เรียนบาลีนี่ไม่รู้ว่าคำว่า อายตนะแปลว่าอะไร อายตนะแปลว่า สิ่งที่สัมผัสได้ แต่นี่มายักแปลกันว่าเป็นแดนที่ติดต่อ เป็นเครื่องติดต่อ นี่ ความหมายก็เปลี่ยนไปบ้าง แล้วก็หมายที่ หมายถึงมันเป็นของธรรมดาคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ ธรรมารมณ์ อายตนะข้างใน อายตนะข้างนอก สำหรับติดต่อกันก็เลยเรียกว่า อายตนะ และแปลว่า เครื่องติดต่อ ส่วนอายตนะที่หมายถึง พระนิพพาน นั้น ไม่เป็นเครื่องติดต่อ ไม่ใช่ต้องติดต่อ ไม่ใช่การติดต่อ เป็นเพียงรู้ได้เห็นได้ รู้สึกได้เท่านั้น โดยที่พระนิพพานก็ไม่ได้ทำการติดต่อกับเรา หรือยื่นอะไรออกมาติดต่อกับเรา ไม่เหมือนกับตาที่มันยื่นมาติดต่อกับรูป หรือรูปมันเข้ามาติดต่อกับตา หูมันยื่นออกไปติดต่อกับเสียง เสียงมันก็เข้ามาติดต่อกับหู อย่างนี้เป็นต้น นี่ เป็นอายตนะตามธรรมดา เรียกว่า อายตนะภายใน อายตนะภายนอกมีอยู่แก่คนทุกคน แต่ถ้าหมายความว่า อายตนะ นั้น มันหมายถึงสิ่งที่สัมผัสได้ รู้สึกได้ หรือติดต่อได้นั่นแหล่ะ แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องของการติดต่อ พระนิพพานเป็นเรื่องที่จิตจะต้องทำให้แจ้ง ทำให้ปรากฏ หรือสัมผัสได้ เมื่อจิตปราศจากกิเลสโดยประการทั้งปวงแล้วก็สัมผัสพระนิพพานได้เอง เพราะฉะนั้นพระนิพพานจึงอยู่ในฐานะที่เป็นอายตนะชนิดหนึ่ง ก็ต้องจัดเป็นอสังคตะ เป็นอายตนะประเภทอสังคตะ ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง แล้วจิตจะไปรู้สึกรู้จักต่อพระนิพพานเท่าไร อย่างไรก็ไม่เป็นการปรุงแต่งพระนิพพานนั้น พระนิพพานเป็นตถาตายตัว คงที่อยู่อย่างนั้น จิตที่หลุดพ้นจากกิเลสแล้วจะสัมผัสพระนิพพานนั้นได้ ดังนั้นพระนิพพานนั้น จึงเป็นอายตนะตามพระพุทธภาษิตที่ว่า อายตนะนั้นมีอยู่ คือ พระนิพพาน นั่นเอง อย่าไปให้พระนิพพานเป็นแดนติดต่อ เป็นเขตติดต่อ มันจะผิดความหมาย อายตนะนี่รู้สึกได้ก็แล้วกัน สัมผัสได้ก็แล้วกัน เอา มีอะไรต่อไป คำถาม : หลักพุทธภาษิตที่ว่า ทุกโข สะมานะสังวาโส ซึ่งแปลว่า การอยู่ร่วมกันอย่างเสมอกันนำมาซึ่งทุกข์ นิ่ขัดกับหลักประชาธิปไตยไหมครับท่านพระพุทธทาสตอบ : ประชาธิปไตยนี่เป็นคำเกิดใหม่ ก็ยังบ้าๆ บอๆ ยังไงก็ไม่รู้ คือ มันเอาแน่ไม่ได้ แม้ว่าประชาธิปไตย คือ ประชาธิปไตยก็ไม่เห็นว่ามันเสมอกันที่ตรงไหนนี่ มันยังไม่เห็นว่าเสมอกันที่ตรงไหน มันเป็นคำพูดเท่านั้นที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อยู่เสมอกันเป็นทุกข์นั่นน่ะก็หมายความว่า คนเป็นอันมากเมื่ออยู่ร่วมกันอย่างเสมอกัน ไม่มีเหนือกว่า ต่ำกว่า หรือไม่มีใครบังคับบัญชาใคร ไม่มีใครปกครองใคร ปล่อยไปตามบุญตามกรรม เสมอกันหมดนี่ อย่างนี้เป็นประชาธิปไตยบ้า ก็ต้องเป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้ประชาธิปไตยในโลกนี้นี่มันก็คล้ายๆ อย่างนั้นน่ะ มันทำให้เสมอกันไม่ได้ มันเสมอกันแต่ตัวหนังสือ งั้นก็เรียกว่ามันไม่มีอะไรต่างกันน่ะ การอยู่เสมอกันตามพุทธภาษิตเป็นทุกข์ คือ มันยุ่งยาก เพราะมันพูดกันไม่รู้เรื่อง บังคับกันไม่ได้ แล้วประชาธิปไตยนี้ ในโลกนี้ ปัจจุบันนี้ มันพูดกันรู้เรื่องเมื่อไหร่เล่า แล้วมันก็ยังบังคับกันไม่ได้ มันก็เกิดปัญหาขึ้นท่ามกลางประชาธิปไตยนั่นเอง เพราะอันนี้มันก็ไม่มีปัญหาอะไร มันก็ยังมีปัญหาสำหรับยุ่งยากลำบากอยู่นั่นเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ถูกต้องแล้วว่าอยู่เสมอกันนั้นเป็นทุกข์ ในบ้านเรือนนี้ในครอบครัวนี้ลองอยู่กันอย่างไม่มีพ่อ มีแม่ มีลูก มีคนใช้ มีอยู่เสมอกันหมดจะอยู่กันได้อย่างไร งั้นเราก็ต้องมีการที่เหนือกว่า ต่ำกว่า ใหญ่กว่า เล็กกว่า คือ ปกครองกันได้ พูดกันได้ รู้เรื่องนั่นเอง พระพุทธภาษิตนั้นไม่ผิดและจริงด้วย ไอ่ประชาธิปไตยชาวบ้านนี่มันมีแต่ตัวหนังสือ แล้วก็ว่ามันผิดหลักที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่าอยู่อย่างเสมอกันอย่างนั้นน่ะ มันก็เป็นทุกข์แน่ เอา มีอะไรอีก คำถาม : ลัทธิที่ว่า ผู้หญิงก่อนแบบฝรั่ง กับลัทธิที่ว่า ผู้หญิงทีหลังแบบไทย สองอย่างนี้นี่อันไหนจะถูกหรือจริงกว่ากันครับ ท่านพระพุทธทาสตอบ : ถูกหรือจริงกว่ากัน แล้วแต่ว่าคุณจะเป็นฝรั่ง หรือคุณจะเป็นไทย ถ้าเป็นฝรั่งก็ถูกอย่างฝรั่ง ถ้าเป็นไทยก็ถูกอย่างไทย เราไม่รู้จะตอบอย่างไรโว้ย นี่ อย่าไปยึดถืออันตคาหิกทิฏฐิสุดเหวี่ยง สุดโต่งข้างไหนข้างหนึ่ง นี่มันก็แล้วแต่อิทัปปัจจยตา เอา คำถาม : มีผู้กล่าวว่า วัดสมัยนี้ควรจะช่วยเหลือขจัดทุกข์ทางกายก่อน แล้วจึงค่อยช่วยเหลือทางจิต ดังนี้ นี่ ท่านอาจารย์มีความเห็นว่าอย่างไรครับท่านพระพุทธทาสตอบ : ไอ่คนที่ถามปัญหานี้มันรู้จักวัตถุมากเกินไป มันไม่รู้จักจิต มันไม่รู้จักจิตอย่างถูกต้อง มันรู้จักแต่วัตถุ เห็นวัตถุเป็นใหญ่ หรือเป็นสำคัญ หรือวัตถุนำจิตใจ เขาจึงว่าช่วยขจัดความทุกข์ทางวัตถุ ทางกายก่อน ทางจิตไว้ทีหลัง มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าตามธรรมชาตินั้น จิตมันไปก่อน หรือมันนำวัตถุ จิตต้องถูกต้องก่อน หรือต้องได้อาหารบำรุงจิตให้ถูกต้องก่อน แล้วจิตมันก็จะดึงกายให้ไปถูกต้อง จิตเป็นมูลเหตุของกายโดยตรง แม้ว่ากายจะเป็นปัจจัยแก่จิต ก็มีส่วนหนึ่งกายเป็นปัจจัยแก่จิต แต่จิตเป็นมูลเหตุชักนำกาย ความรู้สึกมันนำวัตถุ วิวัฒนาการในโลกนี้ที่มันมีอะไรมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้นนี่ เพราะจิตของสิ่งนั้น ที่มีอยู่ในสิ่งนั้นมันประสงค์ มันจึงมีสัตว์ที่ดีขึ้น ดีขึ้น ดีขึ้นตามลำดับของจิตที่มันรู้จักคิด รู้จักนึกให้แปลกออกไป ให้สูงขึ้นไป นี่ เกี่ยวกับปัจจุบัน ระยะปัจจุบัน ความทุกข์ทางกายควรจะได้รับการแก้ไขก่อน เพียงแต่ว่าไม่ให้ตาย แต่ว่าไอ่ที่จะทำได้อย่างนั้นก็เพราะว่ามีความถูกต้องในทางจิต จึงต้องสอนให้เขารู้จักทำจิตให้ถูกต้อง ผู้ถามคงจะหมายความว่าเดี๋ยวนี้มันยากจนกันเหลือเกิน ช่วยกันแก้ไขความยากจนก่อนจึงค่อยสอนศีลธรรม เราว่ามันไม่ถูกหรอก พูดอย่างนั้นน่ะ ที่มันยากจนนั้นเพราะมันไม่มีศีลธรรม มันมีความผิดทางจิตก่อน มันจึงมานั่งไม่มีอะไรจะกินอยู่ที่ตรงนี้ แล้วเรียกร้องให้ช่วย ให้ช่วย ให้ช่วยนี้มันไม่ถูก เพราะมันทำผิดเองในทางจิตใจ ถ้ามีความถูกต้องทางจิตใจตั้งแต่ทีแรกแล้วจะไม่มีใครมานั่งยากจน ขอร้องความช่วยเหลืออยู่ งั้นเราก็ช่วยสอนให้มีความถูกต้องทางจิต แล้วเขาก็ไปแก้ไขความผิดพลาดทางกายได้ มัวแต่ให้วัตถุเฉยๆ ให้ไป ให้ไป มันก็เลี้ยงไม่รู้จักโต ไม่รู้จักสิ้นสุด เราในฐานะที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เราจะมุ่งช่วยเหลือทางจิตโดยถือว่าเป็นต้นเหตุแห่งสิ่งทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นมูลเหตุแห่งการกระทำทางกาย ทางจิตถูกต้องแล้ว ทางกายก็ถูกต้อง เขาก็จะมีกินมีใช้ ไม่ต้องการความช่วยเหลือทางกาย สรุปความว่า เขาทำผิดทางจิตจึงยากจน เดี๋ยวนี้ยากจนแล้วจะแก้ไขได้อย่างไร ก็ต้องทำถูกทางจิต จิตนั่นแหล่ะ อย่าไปทำอบายมุขหรือจะไปทำอะไรที่มันยากจน แล้วก็แข่งขันขยันทำงาน ทำงานคือการปฏิบัติธรรม แล้วก็ทำอย่างสนุกสนาน เดี๋ยวมันก็ไม่จน มันก็แก้จน และก็ยังยืนยันว่า ช่วยเหลือทางจิตสำคัญกว่า รีบด่วนกว่า ช่วยเหลือทางกายนั้น เอาแต่เพียงอย่าให้มันตาย ถ้าด่วนมากก็ด่วนจริง เดี๋ยวนี้ก็เพียงอย่าเพิ่งให้มันตาย แล้วให้มันไปแก้ไขทางจิตให้ถูกต้อง แล้วก็ทางกายก็จะถูกต้อง ปัญหาก็จะหมด คนทุกคนสามารถช่วยตัวเอง คำถาม : การให้บวชกันง่ายๆ โดยไม่มีการทดสอบคัดเลือกกับการบวชได้โดยยาก เพราะมีการทดสอบคัดเลือกอย่างเคร่งครัดนั้น จะมีผลแก่พระศาสนาต่างกันอย่างไรครับท่านพระพุทธทาสตอบ : คัดเลือกมากๆ เสียก่อนจึงยอมให้บวชกับรับบวชเข้ามาอย่างไรเอาทั้งนั้น ไม่เลือกนี่ มันต่างกัน ต่างกันมาก ที่ว่าถ้าคัดเลือกดีแล้ว มันก็จะมีปัญหาน้อย ไม่ยุ่งยากมาก แต่มันก็มิได้หมายความว่าจะไม่มีปัญหาเลย กระผมเห็นว่าไม่สำคัญ คัดเลือกหรือไม่คัดเลือกนี่มันยังไม่สำคัญเท่ากับว่า เมื่อบวชเข้ามาแล้ว มันทำอย่างไรต่างหาก เมื่อบวชมาแล้ว มันประพฤติถูกต้องตามธรรมวินัย นั่นแหละสำคัญ เพราะว่าแม้ว่าเราคัดเลือกมาดีแล้ว พอบวชเข้ามาแล้ว มันเลว มันไม่ทำตามธรรมวินัย มันใช้ไม่ได้ หรือว่าบางทีไม่ได้คัดเลือกอะไร บวชเข้ามาตามธรรมเนียมประเพณี เข้ามาแล้วมันประพฤติดี ดีเลิศ ดีจริงไปเสียก็มี เพราะฉะนั้นมันไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่าคัดเลือกหรือไม่ได้คัดเลือก ขอแต่ว่าเมื่อบวชแล้ว ขอให้ดี ขอให้มันบวชจริง ปฏิบัติดีนี่สำคัญกว่า สำคัญอยู่ที่ว่าบวชแล้วมันทำอย่างไรต่างหาก อย่าไปพูดผ่าซากว่าต้องคัดเลือกโดยเด็ดขาดหรือไม่ต้องคัดเลือกโดยเด็ดขาดนี่ มันจะเป็นอันตคาหิกทิฏฐิไปเสียอีก บัญญัติชนิดสุดเหวี่ยง สุดโต่งขวาซ้ายอย่างนี้ ไม่ใช่หลักพุทธศาสนา เอาเป็นว่าบวชแล้วปฏิบัติให้ดีนั่นแหละสำคัญ มันจะบวชมาโดยคัดเลือกหรือไม่คัดเลือก ถ้ามันปฏิบัติดีล่ะ ใช้ได้ทั้งนั้น ถ้ามันไม่ปฏิบัติให้ดีล่ะใช้ไม่ได้ทั้งนั้นแหละ แต่ว่าคัดเลือกซะบ้างก็ดีเหมือนกัน มันจะได้มีปัญหาน้อยหน่อย คำถาม : ปัญหาที่เถียงกันอย่างไม่รู้จักจบจนกระทั่งวันนี้ว่า ตายแล้วเกิด หรือ ตายแล้วสูญ นี่ จะให้ถือเป็นหลักว่าอย่างไรกันจึงจะเป็นผลดีครับ ท่านพระพุทธทาสตอบ : ที่เขาเคยพูดกันมาบ้างแล้ว ถ้าจะพูดอีกก็พูดสั้นๆ ว่า ไม่ให้พูดผ่าซากลงไปสุดเหวี่ยงสุดโต่งว่า ตายแล้วเกิด หรือตายแล้วสูญ การพูดอย่างนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิประเภทอันตคาหิกทิฏฐิ มันพูดเหวี่ยงซ้ายเหวี่ยงขวาสุดโต่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ เราจะพูดว่าแล้วแต่เหตุ แล้วแต่ปัจจัย ตามกฎอิทัปปัจจยตานั่นแหล่ะ ถ้าเหตุปัจจัยเกิดมีอยู่ มันก็เกิด ถ้าเหตุปัจจัยให้เกิดไม่มี มันก็ไม่เกิดน่ะ เพราะเราไม่พูดได้ว่าเกิดหรือไม่เกิด เราพูดว่า แล้วแต่เหตุ แต่ปัจจัย ถ้าพูดอย่างนี้เป็นพุทธบริษัทที่ถูกต้อง ถ้าพูดว่า ตายแล้วเกิดโดยส่วนเดียว ตายแล้วไม่เกิดโดยส่วนเดียว ไม่เป็นพุทธบริษัทเลย เป็นมิจฉาทิฏฐิประเภทอันตคาหิกทิฏฐิ พูดให้ดี ก็พูดว่า แล้วแต่ปัจจัยโว้ย แต่ให้ดีกว่านั้นอีกยังมีว่า ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตายโว้ย นี่ อาตมาถูกด่าแย่ เขากำลังด่าอยู่ทุกวันน่ะในกรุงเทพฯ ว่า ที่พูดว่า ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย มีแต่สังขารเป็นตายตามกฎแห่งความเปลี่ยนแปลงอิทัปปัจจยตา ไม่มีตรงไหนที่จะเรียกว่า คนหรือตัว หรือตน หรือสัตว์ หรือคน หรือ หรือเขาไม่มี มันไม่มีคน จึงว่าไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตายโว้ย นี่ ถูกกว่าเสียอีก ถ้าใครฟังคำนี้ไม่ออก คนนั้นยังไม่ใช่พุทธบริษัท ขอยืนยันที่ว่าถ้าใครฟังคำว่า ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตายโว้ย นี่ ฟังไม่ออกล่ะ คนนั้นยังไม่ใช่พุทธบริษัท ยังไม่มีความรู้อย่างพุทธบริษัทน่ะ รู้อย่างมิจฉาทิฏฐิ อันตคาหิกทิฏฐิอยู่ ว่าตายแล้วเกิดเพียงส่วนเดียว ว่าตายแล้วไม่เกิดโดยส่วนเดียวบ้าง ขอร้องท่านทั้งหลาย ทุกคนนี่ ทั้งที่นั่งอยู่นี่ที่เป็นพระก็ดี ฆราวาสก็ดี รักษาความเป็นพุทธบริษัทของตนไว้ให้ดีนะ อย่าให้กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ผ่าซากโดยส่วนเดียวว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด นั้นมันเป็นอันตคาหิกทิฏฐิ ก็มีอะไรอีก คำถาม : ศาสนสัมพันธ์นั้น นี่เป็นทางที่ทำให้เกิดการบำเพ็ญบุญนอกศาสนาของตน ของตน ซึ่งผิดหลักสำหรับอุบาสกแห่งศาสนานั้นๆ ไปหรือครับ ท่านอาจารย์ก็ทำงานศาสนสัมพันธ์อยู่ ที่ท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไรครับท่านพระพุทธทาสตอบ : นี่ เป็นเรื่องของอุบาสก เป็นปัญหาแก่อุบาสก มีบัญญัติสำหรับอุบาสกอุบาสิกาในพระพุทธศาสนานี้ว่า จะไม่แสวงหาเขตบุญนอกพุทธศาสนา ต้องรู้ใจความข้อนี้ดีๆ มันจะเข้าใจผิด ในชั้นแรกจะต้องแน่ใจซะก่อนว่า พระพุทธเจ้าเท่านั้นจะตรัสอะไรไม่ผิดนะ และรู้ต่อไปด้วยว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่คนเห็นแก่ตัวนะ จะไม่ป้องกันประโยชน์ของตัวจนไม่มีทางจะทำอะไรกับผู้อื่น สำหรับการทำศาสนสัมพันธ์ ทำความเข้าใจอันดีกันระหว่างศาสนานั้น ไม่มีทางที่จะผิดและก็ไม่มีทางที่จะให้อุบาสกต้องแสวงหาเขตบุญนอกพระพุทธศาสนาเลย เรายังคงทำบุญในแบบของพุทธบริษัททำความสัมพันธ์กับศาสนาอื่น เพื่อร่วมมือกันช่วยโลก ร่วมมือกันช่วยโลก ศาสนสัมพันธ์ ไม่เกี่ยวกับทำบุญในศาสนา นอกศาสนาอะไร ไปทำศาสนสัมพันธ์ระหว่างศาสนาเพื่อความเข้าใจกัน นี่ ไม่ใช่เพื่อต้องการบุญจากศาสนาอื่น ไม่มีการแสวงบุญจากศาสนาอื่น แต่ว่าให้เราได้ทำประโยชน์แก่โลกให้กว้างขวางยิ่งๆ ขึ้นไป เอา มีอะไรอีก คำถาม : มีผู้ต่อว่า ว่าท่านอาจารย์ไม่ยอมรับผู้ที่ไม่มีความรู้พอที่จะปฏิบัติได้ด้วยตนเอง เพราะไม่มีเวลาที่จะสอนให้ นี่มันเป็นอย่างไรกันครับท่านพระพุทธทาสตอบ : เป็นอย่างนั้นแหล่ะ ไม่ต้องตอบ กลัวเราไม่มีเวลาจะสอน เราจะไปรับเขามาทำไม ได้อย่างไรเล่า ไม่ใช่ปัญหา ที่เราไม่ยอมรับเข้ามาอยู่ด้วย เพราะเราไม่มีเวลาจะสอนเขา ทั้งฝรั่ง ทั้งไทย เราไม่ได้รับเพราะว่าเราไม่มีเวลาจะสอนเขา เราไม่มีแรงด้วย มีอะไรอีกล่ะ คำถาม : เดี๋ยวนี้ เขาหาว่าสวนโมกข์เป็นดิสนีย์แลนด์แล้ว ท่านอาจารย์จะว่าอย่างไรครับท่านพระพุทธทาสตอบ : เดี๋ยวนี้เขาหาว่าสวนโมกข์เป็นดิสนีย์แลนด์ เอา เป็น เป็น เป็น เป็นดิสนีย์แลนด์ทางวิญญาณโว้ย เป็น มีอะไรอีกล่ะ คำถาม : ปัญหาหมดแล้วครับท่านพระพุทธทาส : เชิญว่าข้อความที่อยากจะนำมากล่าวทำความเข้าใจกัน เพื่อประโยชน์แก่ท่านสาธุชน ฆราวาสทั้งหลาย ท่านจะได้มีความรู้เพิ่มขึ้น และสำหรับภิกษุที่เป็นอาจารย์เผยแผ่ธรรมทั้งหลายก็จะได้รู้ว่าเรื่องอะไรเป็นอย่างไร มันจะได้พูดให้ถูกต้อง จะได้สอนให้มีผลจริงยิ่งขึ้นไปและกว้างขวางออกไป และอีกอย่างหนึ่งก็เป็นการได้รับรู้ว่า ผมน่ะมีความเห็นอย่างไร พูดอย่างไร ถือหลักอย่างไร จะไม่ต้องไปเชื่อตามคนอื่นว่า ผมพูดอย่างไร ซึ่งมันไม่จริงโดยมาก เขาไปพูดผิดๆ โดยมาก เราไม่ได้ว่าอย่างนั้น เขาก็ว่าอย่างนั้น งั้นมาฟังจากผมเองดีกว่าว่า ผมพูดอย่างนี้ อย่างนี้ จึงขอขอบใจพระคุณเจ้าที่อุตส่าห์ทนฟัง อุตส่าห์มาฟังเพื่อจะไปรับเอาความรู้ ความเข้าใจนี้ไปใช้เป็นประโยชน์และเป็นประโยชน์แก่กันและกัน นี่ ความมุ่งหมายมีอยู่อย่างนี้จึงขอแสดงความยินดีในการมาของพระอาจารย์เหล่านี้ ขอแสดงความขอบคุณที่การมานี้มันเป็นการให้เกียรติด้วย ที่ได้รับประโยชน์ก็ได้รับประโยชน์ไป แต่เมื่อพูดตามภาษาธรรมดา ชาวบ้านธรรมดา ขนบธรรมเนียมธรรมดาแล้ว เขาก็กันถือว่า การมานี่เป็นการให้เกียรติแก่เจ้าของบ้าน นั่นมันเป็นเรื่องต่ออายุ แต่เราเป็นเรื่องล้ออายุก็อย่าได้ผูกพันกันในเรื่องนี้เลย เรื่องบุญเรื่องคุณ เรื่องอะไรเหล่านี้มันเป็นสิ่งผูกพันไม่ต้องมีก็ได้ แต่ผมก็ต้องพูดไปตามธรรมเนียม แสดงความรู้สึกไปตามธรรมเนียมว่า ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณที่อุตส่าห์มาให้เกียรติ ให้ของขวัญ ให้อะไรต่างๆ ในโอกาสแห่งการทำบุญแบบล้ออายุ ทำบุญแบบต่ออายุนั้นก็ไม่ได้ยกเลิกนะ ช่วยเป็นพยานด้วยนะ เดี๋ยวใครมันไปพูดว่า เรายกเลิกทำบุญแบบต่ออายุแล้วก็ด่าอีกแล้ว ด่าใหญ่อีกแล้ว ไม่ได้ยกเลิกนะ อย่าด่านะ ช่วยแปลว่าเราน่ะชอบทำบุญแบบล้ออายุนั่นแหล่ะ จึงทำอย่างนี้ ใครชอบทำบุญแบบต่ออายุก็ทำไปได้ตามความประสงค์ แบบต่ออายุก็ต้องเลี้ยงกันใหญ่แล้ว คงเสียสตางค์หลายสตางค์ ทำบุญแบบต่ออายุ เดี๋ยวนี้แบบล้ออายุ ถ้าทำจริงล่ะก็ไม่ต้องเสียสตางค์ ไม่ต้องเลี้ยงกันแล้ว สองสามวันก็อดได้ อย่าว่าแต่วันเดียวเลย เขาว่าอดอาหารนี่อยู่ได้ตั้งสามเดือน เขาอยู่กันได้อย่างไร ไม่สามเดือนน่ะจึงจะตาย ถ้าหมดอาหาร ถ้าอดน้ำสามวันน่ะตาย ถ้าอดน้ำ แล้วถ้าอดอากาศสำหรับที่หายใจน่ะ ขาดออกซิเยนหายใจ สามนาทีก็จะตาย แต่เราจะพูดว่า ถ้าอดธรรมะแล้ว วินาทีเดียวตายเลย ถ้าอดธรรมะแล้ว วินาทีเดียวตายเลย คือ หมดความเป็นมนุษย์ตายเลย ตายในพริบตาเดียวที่มันอดธรรมะ มันขาดธรรมะ อดอาหารอยู่ได้ตั้งสามเดือน อดน้ำอยู่ได้สามวัน อดอากาศอยู่ได้สามนาที อดธรรมะตายเลย ตายทันที มานึกถึงข้อนี้กันสิ จะได้สนใจในธรรมะให้มากๆ การที่มานี่ขอให้เราได้รับประโยชน์ในการเจริญงอกงามไปตามทางของธรรมะ ทีนี้เรามาทำผิดนี่ เอามาล้อกันซิ มันทำผิดนี่ มันไปเห็นแก่วัตถุ แก่อะไรอย่างนั้นมากเกินไป เอามาล้อ เช่น วันนี้ไม่กินข้าว นี่ คือ ล้อ ล้อข้อที่มันเห็นแต่จะกิน ทำบุญก็ทำบุญ แต่เพื่อจะกิน นี่ ที่ทำบุญเขาจะได้กินดีกว่าที่ทำบุญไปหลายเท่า ทำบุญด้วยของธรรมดา ได้กินของทิพย์ นี่ มันได้กำไรหลายเท่า ไม่กินซะบ้างดีกว่า เรื่องมันก็จะถูกต้องมากขึ้น อย่าเห็นแก่กินกันนัก ในนาทีสุดท้ายนี้ ก็มันเป็นการปิดประชุมล้ออายุ ว่าทุกคนคงจะได้รับประโยชน์อะไรกลับไปโดยที่ยมบาลจะไม่ตีศีรษะ เขาว่าได้รับประโยชน์อะไรกลับไปพอให้คุ้มค่ารถ ค่าอะไร ค่าลำบากที่มานี้ เราก็ไม่มีความผิด ยมบาลก็ไม่ทำอะไรเราได้ อาตมาก็รอดตัวเพราะท่านทั้งหลายได้ช่วยกันทำให้ได้รับประโยชน์นั่นแหล่ะ อาตมาก็รอดตัว เพราะว่าไม่ได้ทำให้ใครเสียประโยชน์ ไม่ได้ผลคุ้มค่า ขอให้เข้าใจธรรมะดังที่กล่าวแล้วนี้ดีๆ เท่านี้ก็คุ้มค่าแล้ว เอาไปประพฤติอีกทีให้เต็มที่ก็ยิ่งรับประโยชน์มากขึ้นไปอีกที่มันใกล้พระนิพพานยิ่งๆ ขึ้นไป สรุปความว่า ไอ้การล้ออายุ ทำบุญล้ออายุกันปีหนึ่งๆ คราวหนึ่งๆ ปีหนึ่งนี้ไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย ไม่ใช่เรื่องที่โง่เขลา หรือไม่ใช่เรื่องที่เป็นบาป เป็นอกุศล และมันทำให้ได้รับประโยชน์เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นแสงสว่างของพระนิพพาน ในส่วนหน้าที่พระอาจารย์ที่เที่ยวเผยแผ่พระศาสนานั้นก็คงจะได้ผลไปอีกทางหนึ่ง คือ ได้ผลไปในข้อที่ว่า เรามาทำความเข้าใจกันว่าจะสั่งสอนประชาชนต่อไปอย่างไร จะเผยแผ่พระศาสนากันอย่างไร ขออภัยที่จะพูดตรงๆ ว่า ที่แล้วมามันยังใช้ไม่ได้ ถ้าให้คะแนนก็จะให้ลงไปว่า ยังใช้ไม่ได้ ยังไม่พอใช้ ยังต้องทำให้ดีกว่านี้ ทำให้ดีกว่านี้ จะทำให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร ก็ต้องแก้ไข จะแก้ไขอย่างไร ก็มาปรึกษาหารือ มาซักไซร้สอบสวน มาชำระสะสางให้มันถูกกว่านี้ ให้มันชัดเจนกว่านี้ ให้มันง่ายกว่านี้ ให้มันเร็วกว่านี้ การเผยแผ่สั่งสอนประชาชนของอาจารย์แต่ละคนก็จะเป็นผลดี นี่ การที่มาทำบุญล้ออายุกันอย่างนี้ มันมีผลกว้างขวางหลายทิศทางอย่างนี้เอง แล้วขอให้ช่วยคิดนึกดูให้ดี การทำประโยชน์เป็นเรื่องดีแน่ ขอให้ได้ทำประโยชน์ที่ยิ่งขึ้นไป มากขึ้นไป กว้างขวางออกไป และขอให้ทุกคนมองเห็น และรู้สึกด้วยใจจริงๆ ว่า การกระทำนี้จะเป็นที่พอใจพระพุทธองค์เป็นแน่นอน สมมุติว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาเห็น ท่านจะสาธุ สาธุ เท่านี้ก็พอแล้ว ขอปิดประชุมสำหรับการทำบุญล้ออายุในปีนี้ท่านพระพุทธทาสกล่าว : ท่านมหาประทีปอยู่ไหน ท่านมหาประทีปหนีไปไหนแล้ว ทำไมเมื่อเช้าไม่ได้ฉันพระภิกษุ 1 : กลับไม่ได้ เพราะท่านอาจารย์ท่านมีของอะไรดีๆ แจก พระเณรก็อยู่ตรงไหนก็รีบมาเร็วๆ อาจารย์มาอีกแล้ว ให้ทั้งกลางคืน ให้ทั้งกลางวัน เรียกว่าบวกให้ แต่ว่าเราจะรับไปเท่าไหร่ ไม่แน่นะ ท่านยมบาลไม่ลงโทษท่านแล้ว แต่อย่างพวกเรานี่มาต้องเสียเงินเสียทอง ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อย ระวังให้ดี ยมบาลนั่นคืออะไร คือ ความทุกข์ มาแล้วไม่ได้อะไร ได้กิเลสกลับไป ระวังให้ดี นั่นคือตัวยมบาลที่น่ากลัวนะ เอา ต่อไปก็มหากจิตนี่ได้ข่าวว่าไปเผยแพร่ที่สวนนู่น สวนลุม วัดก็ไม่เผยแพร่ ทำให้คนเกลียดวัดหมด ไม่ไปแล้ววัด ไปวัดนู่นหมด เอา มา ทำยังไงทีนี้ มหากจิตมา นิมนต์ ทำยังไง จัดการยังไง คนเกลียดวัดให้เข้าวัดกันต่อไปมหากจิต : กราบนมัสการพระอาจารย์และพระเถรานุเถระทั้งหลาย เจริญพรญาติโยมทุกท่าน หัวข้อที่ตั้งขึ้นเพื่อแสดงความคิดเห็นกันนี้ว่า จะทำอย่างไรจึงจะดลคนเกลียดวัดให้มาสนใจวัด ท่านมหาประทีปก็ได้ให้ความหมายของคำๆ นี้อยู่สามความหมาย คือ วัฏสงสาร วัตระ กับวัด คือที่พระอยู่อาศัย ก็เป็นที่เข้าใจกันดี จุดประสงค์ของหัวข้อนี้ก็อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรจึงจะดึงประชาชนที่เกลียดศีลธรรมเข้ามาหาศีลธรรม ก็หมายถึงวัดที่มีพระอยู่อาศัย และก็มีการเผยแพร่สั่งสอนธรรมะให้คนทั้งหลายได้สนใจที่จะศึกษา นี่คือจุดประสงค์ที่แท้จริง เท่าที่ข้าพเจ้ามีโอกาสคลุกคลีกับประชาชนในเมืองหลวงและที่ต่างๆ ก็มองเห็นจุดบอดอยู่อันหนึ่ง คือ มนุษย์สมัยนี้ได้ให้ชีวิตจิตใจทุ่มเทแก่วัตถุจนแทบจะหมดเนื้อหมดตัว คือ ไม่มีเวลาที่จะมาสนใจเรื่องทางจิตใจ ยิ่งความเจริญทางวัตถุมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีความจำเป็นที่ต้องดิ้นรนเพื่อหาเงินหาทองมาจุนเจือชีวิต ซึ่งบางสิ่งบางอย่างก็เกินความจำเป็น แต่ความรู้สึกของเขาว่าจำเป็นต้องมี จำเป็นต้องได้ ถ้าไม่งั้นมันก็อยู่ไม่ได้ อะไรทำนองนั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายดอกที่จะดึงเขามาสนใจสิ่งที่ดีกว่า เพราะเขากำลังทุ่มเทวันเวลา ชีวิตจิตใจกับสิ่งที่เหลวไหลโดยคิดว่ามันจำเป็น ก็ได้แต่พยายามที่จะชักชวนให้เขามองดูตนเอง ศึกษาด้านในตนเองโดยกล่าวอยู่เสมอทุกหนทุกแห่งว่า ถ้าผู้ใดไม่เคยเฝ้ามอง เฝ้าสังเกตตนเอง ผู้นั้นชื่อว่าไม่ได้เรียนปริยัติที่ถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา ถึงแม้ว่าจะอ่านพระไตรปิฎกมากี่ร้อยรอบก็ตาม ถ้ายังไม่เคยเฝ้ามองตนเองแล้วก็เชื่อว่ายังไม่ได้ศึกษาปริยัติธรรมที่ถูกต้อง แล้วก็ย้ำนักย้ำหนาว่าขอเชิญชวนท่านทั้งหลายเฝ้ามองตนเอง เฝ้าศึกษาตนเองทั้งจิตตัวเอง ถามตัวเองบ่อยๆ ว่าเกิดมาทำไม อะไรเป็นเรื่องสาระของชีวิต แล้วขวนขวายหาสิ่งที่ดีที่สุด ลองหันหลังให้แก่วัตถุ หรืออย่ามัวเมาจนเกินไป การจัดรายการธรรมะในสถานที่ที่คนทั้งหลายกำลังแสวงหามัวเมาในเรื่องกาม เรื่องอะไรต่างๆ เหล่านั้น ก็เพื่อให้เขามีโอกาสได้ยินได้ฟังสิ่งที่ดีกว่าที่เขากำลังสนใจอยู่บ้าง เท่าที่ทำมาก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน บางคนที่เขาเกิดความกลัดกลุ้มใจ ไม่รู้จะไปทางไหนก็ไปผ่อนอารมณ์อยู่ในที่อย่างนั้น อยู่ในสวนลุมบ้าง สวนจตุจักรบ้าง ที่ไปจัดรายการธรรมะ เมื่อเขาได้ยินเสียงธรรมะ เขาก็ฟัง เมื่อเราเชิญชวนเขามาสนทนา เขาก็มานั่งสนทนาด้วย แต่ก็น้อยราย ถึงอย่างไรก็ตามก็เป็นสิ่งที่คิดว่า ควรจะทำ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ก็ไม่มีช่องทาง เพราะในวัดโดยเฉพาะวัดที่ข้าพเจ้าอยู่นั้น แทบจะว่าส่วนมากหรือว่าทั้งหมดมันก็จะเกินไป เป็นส่วนมากทีเดียวที่เขาไม่ให้ความสำคัญในเรื่องจิตใจ สนใจแต่เรื่องเงินของกู ทองของกู เหมือนกับลิงล้างหูใส่ เป็นอย่างนั้นทุกหนทุกแห่ง ก็เลยถือว่า สิ่งไหนที่เราพอจะทำได้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น และตัวเองก็จะไม่ลืมตัว ก็พยายามทำสิ่งนั้น ก็เท่าที่ทำๆ มาก็เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่พอจะสำนึกตัวได้ ก็เป็นที่น่ายินดีอันหนึ่งที่ว่า เดี๋ยวนี้เกาะลอยในสวนลุมนั้นได้เป็นที่ของธรรมะตั้งแต่หลังวิสาขะเป็นต้นไปนี้ ได้ยินว่าจะเป็นสถานที่สำหรับเผยแพร่ธรรมทุกวันเสาร์ วันอาทิตย์ มีรายการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงระหว่าง ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มชาวอโศก หรือโพธิรักษ์ และกลุ่มปชป. และก็กลุ่มสายอาจารย์ธรรมสโล เรียกว่าไทรงาม แต่ก็มันมีเรื่องธรรมดาของโลกปุถุชน ก็ต้องมีอะไรที่มันตามวิสัยปุถุชนธรรมดา แต่ข้าพเจ้าก็มองในแง่ดีว่าคนเราคงมีอุปนิสัยแตกต่างกัน ทัศนะที่ยึด โลกทัศน์ที่ยึดแตกต่างกัน คนรุนแรงก็จะไปทางรุนแรง คนไม่รุนแรงก็ไปทางไม่รุนแรง แต่แน่นอนล่ะ คนที่ไม่ไตร่ตรองมันก็ไม่ได้อะไรเลย ถ้าคนได้ไตร่ตรอง พิจารณา เลือกเฟ้นให้มันเหมาะแก่ตน เขาก็ได้รับประโยชน์ตามสมควรที่ตนจะได้รับ และก็ยังหวังไว้อีกอย่างว่า ถ้าหากว่าทางรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ประกาศเชิญชวนข้าราชการต่างๆ วันหยุดราชการแทนที่จะไปที่อื่น ให้ไปศึกษาพระธรรมที่เกาะลอยสวนลุม และก็ข้าราชการผู้ใหญ่ที่มองเห็นประโยชน์อันนี้ ทำตัวเองเป็นตัวอย่าง อย่างนี้ก็คงจะช่วยดึงประชาชนชาวกรุงเทพฯ ให้มาสนใจธรรมะได้มากขึ้น จะเป็นแค่ไหนเพียงไรก็ค่อยๆ ดูต่อไป ก็คิดว่าให้ข้อคิดสิ่งเพียงนี้ไว้เพียงเท่านี้ ท่านพระพุทธทาส : ท่านมหาประทีปผู้ดำเนินการอภิปรายต้องมีกระดาษมาคอยบันทึกว่า ใครได้เสนอวิธีการอย่างไร อย่างไร อย่างไรไว้ทุกคน แล้วเราจะรวมหมดว่ามันมีกี่อย่างกี่วิธี เอา ใครอีก นิมนต์ นิมนต์ ใครอีก เอาความคิดเห็นมารวมกัน ให้อยู่ในประเด็นที่ว่า ทำอย่างไรคนจึงจะไม่เกลียดวัดท่านมหาประทีป : เอา ท่านก็ได้ฟังมหากจิตเกี่ยวกับวิธีที่จะไม่ให้คนเกลียดวัดท่านพระพุทธทาส : โดย ทำยังไงท่านมหาประทีป : ก็โดยการ ท่านบอกว่าวิธีโดยการพูดให้ฟังบ้าง ทำตัวอย่างให้ดู อะไรต่างๆ นี่ เพื่อให้เขาได้รับประโยชน์ และเขาจึงจะไม่เกลียด เพราะคนเราหวังประโยชน์ ถ้าไปแล้วเขาได้รับประโยชน์ เขาก็อยากจะไป แต่ไปแล้วไม่ได้รับประโยชน์ เขาก็ไม่ไป เอา ทีนี้ ต่อไปก็จะให้อาจารย์สมานครับ มาจากพะเยานู่น จะมาก็เพื่อหาวิธีการอย่างไรจึงจะขจัดคนเกลียดวัดให้คนรักวัดขึ้นมา ท่านจะมีวิธีการอย่างไร นิมนต์ท่านพระพุทธทาส : ขอทำความเข้าใจให้มันชัดลงไป คำว่า เกลียดวัด หมายถึง เกลียดพระเจ้าพระสงฆ์ เกลียดศาสนา เกลียดธรรมะ นี่ จนกระทั่งเกลียดธรรมะ เกลียดศาสนา ไม่ใช่หมายแต่เพียงว่า เกลียดท่านสมภาร แล้วก็ไม่เข้าวัด อย่างนี้ไม่อยู่ในประเด็นนี้ เราต้องการว่าทำไม จะให้คนที่เขาไม่ชอบศาสนา ไม่ชอบธรรมะ ไม่ชอบศาสนา เลิก หยุด ความคิดอันนี้เสียได้ ไม่ได้หมายตัววัดที่เป็นวัตถุอย่างนี้อย่างเดียว คำว่า เกลียดวัด หมายความถึงเกลียดศาสนา เกลียดธรรมะ เกลียดวิธีการของศาสนาที่จะดับทุกข์ เพราะไม่ชอบ เขาไม่อยากจะใช้เพราะเห็นว่าไร้ประโยชน์ ก็เท่ากับเกลียดด้วยเหมือนกัน ทำอย่างไรเขาจึงจะยินดีที่จะมีศาสนาและปฏิบัติศาสนา ว่าอย่างนั้น นิมนต์ นิมนต์ อาจารย์สมาน : กราบนมัสการท่านอาจารย์และก็พระเถรานุเถระ ขอเจริญธรรมมายังบรรดาญาติโยมพุทธศาสนิกชน สำหรับหัวข้อเรื่องที่พระอาจารย์ตั้งให้ว่าจะทำอย่างไรที่จะให้คนไม่เกลียดวัด คำว่า วัด ก็ท่านอาจารย์มหาประทีปได้กล่าวแล้ว มีด้วยกันหลายอย่าง ญาติโยมทั้งสาธุชนทั้งหลายก็คงจะรับทราบ ทีนี้ท่านพระอาจารย์ได้ย้ำเตือนอีกว่า ไม่ใช่เกลียดเฉพาะวัดที่เป็นวัตถุ หรือเกลียดเฉพาะสถานที่ ท่านมุ่งหมายไปถึงพระธรรมคำสอน หรือเรื่องว่าศาสนาด้วย แต่สาเหตุที่คนไม่เข้าใจเรื่องวัดหรือเรื่องศาสนานั้นก็อยู่ที่ว่าการเผยแพร่ในลักษณะที่เป็นปัจจัตตัง หรือปัจจุบันธรรมนี้ มันยังมีการเผยแพร่น้อยมาก จะสังเกตเห็นว่า 90 เปอร์เซ็นต์แห่งการเผยแพร่นั้น ส่วนมากจะพูดหลังเรื่องตายเป็นส่วนมาทีเดียว การทำบุญ การทำอะไรทุกอย่างก็หวังหลังจากตายแล้ว ฉะนั้นคนเขาจึงไม่เข้าใจ และบางคนก็เขวไปว่าจะทำอย่างไรกันแน่ ถ้าหากผู้ที่มีปัญญาเช่น พวกนิสิตนักศึกษาก็ค่อยยังชั่วหน่อยที่พอจะมีปัญญามองเห็นว่าอะไรเป็นอะไร ส่วนประชาชนทั่วไปนั้นก็ไม่เข้าใจ ก็หลงใหลไปตามการเผยแพร่แบบไม่เห็นทันตา ไม่เป็นปัจจัตตัง ไม่เป็นสวากขตาธรรมนั่นเอง และนี่เป็นอีกประการหนึ่งที่คนเขาไม่เข้าใจธรรมะ เพราะการเผยแพร่นั้นมุ่งหวังไปหลังจากตายแล้ว การเทศน์เทศนาก็ไม่ประยุกต์เอามาใช้กับชีวิตประจำวัน จึงทำให้คนเหล่านั้นไม่ค่อยที่จะสนใจธรรมะ การที่อาตมาภาพหรือกระผมเองก็ได้คลุกคลีเกี่ยวกับงานเผยแพร่มาพอสมควร ก็จะมองเห็นว่า ถ้าเราพูดความจริง คนเขาก็เกลียด บางทีถึงกับด่ามาก็มากแล้ว ถูกด่ามาก็หลายที ก็เราชอบของจริง ชอบความจริง แต่ถ้าพูดจริงกลับไม่ชอบ ถ้าของจริงเป็นวัตถุ เขาชอบ ถ้าของจริงเป็นนามธรรม เช่น ธรรมะ สัจธรรมนี่ เขาไม่ชอบ ชอบของหลอก ของปลอม ธรรมะหลอกๆ ธรรมะปลอมๆ ที่เอาวัตถุเป็นเครื่องล่อ คนก็เลยสนใจหลั่งไหลไปให้ ทีนี้จะมีวิธีการอย่างไรที่จะให้ประชาชนคนเหล่านั้นเข้าถึงธรรมะ หรือเข้าถึงศาสนา เข้าถึงวัดอะไรก็ตามแต่ อันนี้ก็มีอุบายที่จะทำให้คนเข้าวัด หรือคนเข้าถึงศาสนาโดยการเผยแพร่ไปหลายแนว ไม่ใช่เพียงแต่เทศน์อย่างเดียว ต้องมีอุปกรณ์ในการเผยแพร่ศาสนาของเรานี้ กรมการศาสนานี้ รู้สึกว่าไม่ค่อยให้ความสนใจสนับสนุนในด้านการเผยแพร่ ยังขาดอุปกรณ์การเผยแพร่มาก พระสงฆ์ที่รักในการเผยแพร่จะต้องเสียสละทุนทรัพย์ส่วนตัวออกเผยแพร่ เช่น ซื้อสไลด์ ซื้อหนัง ซื้ออะไรเหล่านี้ เป็นอุปกรณ์ที่จะดึงดูดคนให้เข้าถึงธรรมได้ โดยการหาวิธีการหรือว่าอุบายโดยการเผยแพร่สไลด์ อันนี้ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะสามารถดึงคนให้หันเหเข้ามาสู่ในด้านพระพุทธศาสนาหรือเข้าใจธรรมะได้ ทีนี้ก็กำลังทำกันอยู่ กำลังทำกันอยู่ แต่ว่าทำกันน้อยมาก ทีนี้พวกวัตถุนิยมมันก็หลั่งไหลหรือหันเหไปในทางวัตถุเป็นจำนวนมาก เพราะคนหลงวัตถุ เราจะต้องใช้วัตถุเป็นเครื่องล่อ เครื่องดึงดูด เขาจึงจะเข้าวัด ไอ่การใช้วัตถุดึงดูดนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องหลอกล่อด้วยสิ่งที่สวยงาม เช่น เราสร้างโบสถ์ราคาเป็นล้านๆ ก็หามิได้ เช่น เรามีอุบาย เช่น สวนโมกข์นี้ก็มีอุบายดึงดูดให้คนเข้าถึงธรรม เข้าถึงศาสนาได้เหมือนกัน อันนี้แหล่ะคนไม่เข้าใจ เราจึงหาวิธีการอุบายที่จะให้บรรดาพวกวัยรุ่นหนุ่มสาวหันหน้าเข้าหาศาสนา และโดยเฉพาะพระสงฆ์เองจะต้องเสียสละออกไปเผยแพร่เอง ในฐานะที่มีกำลังที่จะออกไปเผยแพร่ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องให้ใครนิมนต์ไป พระพุทธเจ้าท่านก็ประกาศอยู่แล้วว่า ท่านจงไปประกาศพรหมจรรย์เถิด อันนี้เราได้ยินคำเตือนนี้บ่อยเหลือเกิน นั้น เราจะต้องเสียสละไปทุกหนทุกแห่ง ไม่เลือกชั้นวรรณะสถานที่ใด เราจะต้องเสียสละ กล้า และจึงจะสามารถดึงดูดให้คนเข้าวัดได้ เมื่อก่อนนั้นอาตมาหรือกระผมเองก็เคยทำครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าคนสนใจธรรมะจนถึงกับห้ามไม่ให้มาวัด เพราะมาทุกวัน ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย ดึกๆ ดื่นๆ เที่ยงคืน นั่นแหล่ะ จะต้องอบรมธรรมะตลอดเวลา ขอผ่อนผันให้มาวันพระก็พอ จากนั้นพอโรงหนังมาตั้ง อะไรมาตั้งแล้ว คนเขาก็ไม่ค่อยจะเข้าวัดแล้ว ประกาศทีไรก็ไม่ยักกะมาทุกที บางทีวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วิสาขบูชา ก็มีคนมาเวียนเทียนเฉพาะคนแก่ๆ เท่านั้นเอง ส่วนพวกวัยรุ่นหนุ่มสาวก็ไปมหรสพ ไปทางนู่นแหล่ะ หนัง ดนตรีกันหมด อันนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่วัตถุนิยมสามารถดึงดูดคนให้ห่างวัด ห่างธรรมะได้ แต่วิธีการที่จะให้คนเข้าถึงนั้น ดังกระผมได้กราบเรียนให้ท่านพระอาจารย์ได้รับทราบแล้วว่า อยู่ที่กลอุบายวิธีการ เช่น สไลด์บ้าง อะไรบ้างที่จะล่อดึงดูดให้เขาเข้ามาถึงศาสนา เป็นวิธีการหรืออุบายเท่านั้นเอง ถ้าเป็นไปได้ ถ้าทำได้ก็จะสามารถดึงดูดประชาชนหรือว่าหนุ่มสาววัยรุ่นเข้าวัดได้บ้างทีเดียว ตามที่ได้กระทำมาแล้ว อันนี้ก็เป็นทัศนะหรือข้อคิดความเห็นของกระผม หรืออาตมาเอง ซึ่งก็ทำงานอยู่จังหวัดพะเยา ก็กำลังก้าวไปเรื่อยๆ อันนี้งานก็กำลังก้าวไปเรื่อยๆ ฉะนั้นหวังว่าการให้คำ ทัศนะ หรือข้อคิดความเห็นเกี่ยวกับทำอย่างไรจึงจะให้คนเข้าวัด ทำอย่างไรจึงจะให้คนรักวัด รักธรรมะ เกล้ากระผมก็ได้กล่าวให้มาทัศนคติ ก็ขอยุติเพียงเท่านี้ก่อน ท่านมหาประทีป : ท่านทั้งหลายก็ได้ฟังอาจารย์สมานซึ่งอุตส่าห์มาจากพะเยาเพื่อจะมาหาวิธีการที่จะทำให้คนไม่เกลียดวัด หรือเข้าวัด ท่านก็ได้ให้วิธีไว้ อันแรกก็พูดในเรื่องปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าให้เขาไปหวังผลต่อเมื่อตายแล้ว เพราะปัจจุบันนี้เป็นปัญหา ในการเทศนาอะไรต่างๆ ก็ให้ประยุกต์ หมายความว่าให้ทันสมัยหน่อย ไม่ใช่ทำเสียงอ่อยๆ เหมือนลมพัดใจเขา เขาก็เบื่อหมด เด็กสมัยใหม่ชอบเพลงฝรั่ง นั้นต้องทำให้มันทันสมัยได้ความทั้งเหตุผล และอารมณ์ให้สมดุลกัน บางทีเทศน์แต่เหตุผลอ่อยๆ คนก็หลับหมด ต้องใส่อารมณ์บ้างให้พอสมดุลกันที่เกิดคุณทุกกรณี อีกอย่างหนึ่งบอกว่าใช้อุปกรณ์บ้าง เพื่อเป็นเครื่องล่อ อันนี้ก็มีประโยชน์และที่สำคัญที่สุด คือ อาจารย์พูดทำการที่จะให้คนเข้าวัดต้องเสียสละ อันนี้สำคัญอย่างยิ่งต้องเสียสละ ให้บอกให้ ไม่ใช่เอา และก็แน่นอนเมื่อเขาศรัทธาเลื่อมใสในผู้ที่นำแล้วว่า เขาทำมือบริสุทธิ์จริง คนก็จะไม่เกลียดวัด นี่ ต่อไปก็จะให้อาจารย์สุชาซึ่งมาจากขอนแก่น ซึ่งท่านก็คงจะมีอะไรดีๆ ที่อุตส่าห์มาถึงที่นี่อีก คงจะมาหาวัตถุดิบเพื่อทำการให้คนรักวัดต่อไป ที่คนเกลียด เกลียดวัดก็ไม่มีอะไร ถ้าดูๆ แล้ว สถานที่ เข้าไปถึงสกปรก สอง คนที่อยู่ในวัด สาม เรื่องพิธีรีตองที่คนเกลียด เด็กหนุ่มสมัยใหม่ เขาไม่ชอบ แล้วก็เรื่องที่สามเรื่องธรรมะ เขานึกว่ามาที่ท่าทางต่างๆ มานั่งหลับตา เดินค่อยๆ แล้วพอประพฤติธรรมะไปแล้วเหมือนกับคนขาดสติ นี่ มันจะสร้างรูปแบบเสียหมด บางคนเข้าใจผิดเหมือนกัน อันนี้ทำยังไง ทีนี้ อย่าให้เขาเข้าใจผิด เพื่อจะได้ไม่เกลียดทั้งหมดเลย นิมนต์ครับ