แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักศึกษาผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย ตามหัวข้อที่ท่านกำหนดให้ ๔ หัวข้อ การบรรยายเป็นครั้งที่ ๓ นี้ จะได้กล่าวโดยหัวข้อที่ท่านทั้งหลายกำหนดให้ว่า ธรรมะเพื่อการสังคม หมายความว่าเราจะพูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่าสังคม มันจะใช้ธรรมะในการสังคมนั้นอย่างไร ในเวลานี้มีปัญหากันเรื่องแรกที่สุด ก็คือเรื่องคำว่าสังคมนั่นเอง ที่ใช้พูดกันอยู่เวลานี้ คำว่าสังคมมันเกิดเป็น ๒ ชนิดเสียแล้ว สังคมคนหรือสังคมผี
สังคมคน ก็หมายความว่าเอากันตามหลักธรรมะของสาธุชน ล้วนแต่เป็นคนดี ทำการสังคมกัน ทีนี้มันยังมีสังคมของคนผีอยู่อีกพวกหนึ่งซึ่งก็เรียกว่าสังคมเหมือนกัน ก็ได้แก่สังคมที่ใช้พูดกันอยู่ในที่ทั่วๆไปว่า ถ้าผมไม่สูบบุหรี่ ผมก็เสียสังคม เข้าสังคมไม่ได้ ถ้าผมไม่กินเหล้า ผมก็เสียสังคม เข้าสังคมไม่ได้ คำพูดอย่างนี้ออกมาจากปากของบุคคลที่เป็นพวกครูบาอาจารย์ด้วย มีหลักฐานพยานปรากฎอยู่ในที่ทุกแห่ง พวกครูบาอาจารย์ของเรา โดยเฉพาะครูบาอาจารย์รุ่นหลัง คือรุ่นหนุ่มนี่ เขาพูดกันอย่างนี้ เมื่อเราพูดถึงศีลธรรมเกี่ยวกับอบายมุข ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่เสพของเมา เขาก็ค้านขึ้นมาอย่างนี้ว่า ถ้าผมไม่สูบบุหรี่ ผมก็เข้าสังคมไม่ได้ ไม่กินเหล้า ก็เข้าสังคมไม่ได้
คำว่าสังคม ในคำพูดนี้น่ะ เป็นสังคมอะไร ก็คือสังคมของคนที่สูบบุหรี่ สังคมของคนที่กินเหล้า สังคมของพวกที่บูชาอบายมุข จะขอแบ่งแยกออกไปว่า มันเป็นสังคมผี สังคมของพวกผีที่บูชาอบายมุข แล้วพูดกันแต่เพียงเท่านั้นก็ฟังถูกกันหมดนะ ว่าถ้าผมไม่สูบบุหรี่ ผมเข้าสังคมไม่ได้อย่างนี้ ฟังถูกกันหมดเลย รับรองกันด้วย นี่คำว่าสังคมในความหมายนี้ ส่วนสังคมตามความหมายเดิมของเขา ก็หมายถึงว่า หมู่มนุษย์ผู้อยู่ในความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง คือเป็นเสียงส่วนมากของประชาชนที่มีศีลธรรม สังคมนั้นน่ะสังคมมนุษย์ สังคมอีกชนิดหนึ่งเป็นสังคมผี เมื่อพวกคุณให้หัวข้อมาว่า ธรรมะเพื่อการสังคม ที่เกี่ยวกับการสังคม มันก็ต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่าสังคมไหนเล่า เอาละเป็นอันว่า ไม่พาลพาโลให้ยาวความนะ เอาเป็นว่าสังคมของมนุษย์ที่ถูกต้องที่ดีที่ประกอบไปด้วยศีลธรรม
ทีนี้เรามาดูว่า ถ้าว่ามันมีศีลธรรม สังคมนั้นก็ไม่มีปัญหา ต่อเมื่อสังคมนั้นไม่มีศีลธรรมหรือไม่มีมากพอ มันจึงจะมีปัญหา ก็เลยกำกวมกันไปหมดว่า ไอ้ธรรมะที่จะเอาไปใช้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ทางสังคมนั้น หมายถึงสังคมชนิดไหน ถ้าสังคมที่ดีอยู่แล้วมันก็มีธรรมะอยู่แล้ว ถูกต้องแล้ว สังคมที่ไม่ดีที่เป็นอันธพาลนี่มันจะต้องการธรรมะ นักศึกษาทั้งหลายผู้เป็นเจ้าของคำถามนี้ คงจะไม่ถึงขนาดนั้น เพราะฉะนั้นก็เอาเป็นว่า สังคมในที่นี้ก็คือสังคมของหมู่คนที่จะอยู่กันตามปกติ โดยยึดถือหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง ไม่ได้บูชาอบายมุขแต่ประการใด
ทีนี้ก็พิจารณากันต่อไปถึงคำว่าสังคมและหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อสังคม ขอให้ระลึกถึงคำบรรยายในวันก่อนที่พูดถึงธรรมะ ๔ ความหมายว่าธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ ธรรมะคือผลจากหน้าที่นั้น สังคมที่มันมีอยู่ในโลกนี้ จะเป็นธรรมะในความหมายไหน อยากจะระบุลงไปว่ามันเป็นธรรมะในความหมายที่หนึ่ง ที่ได้แก่ธรรมชาติทั่วไป เพราะว่าคำว่าสังคม หมายถึงการรวมกันเป็นหมู่ การอยู่กันเป็นหมู่ การทำอะไรร่วมกันเป็นหมู่ อันนี้เป็นธรรมชาติ อันนี้เป็นหลักของธรรมชาติ ที่เนื่องอยู่ด้วยกฎของธรรมชาติ มันก็จะกลายเป็นธรรมะ ๒ ความหมายไป คือตัวธรรมชาติและตัวกฎของธรรมชาติ
อย่างนี้จะเห็นได้ง่ายกว่า ว่าการที่อยู่กันเป็นหมู่ ให้อยู่กันเป็นหมู่ ร่วมกันเป็นหมู่ นี้เป็นตัวธรรมชาติ ตามที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ และมันต้องเป็นอย่างนั้นตามกฎของธรรมชาติ เช่นต้นไม้ทั้งหลาย ถ้ามันอยู่กันเป็นหมู่ มันก็ปลอดภัยจากอันตราย เช่นลมพายุ เป็นต้น อย่างนี้ก็มีผลดีในการที่จะคุ้มครองความชื้น สงวนความชื้นให้แก่กันและกัน อาศัยกันและกัน แม้แต่ต้นไม้ต้นใหญ่ มันก็ยังต้องอาศัยต้นไม้เล็กที่อยู่ที่โคนต้นที่ทำให้เกิดความชื้น แม้ที่สุดแต่ตะไคร่เขียวๆที่โคนต้นไม้ต้นใหญ่นั้นน่ะ มันก็เป็นอุปกรณ์ส่งเสริม การเป็นอยู่ของต้นไม้ใหญ่ คือให้ความชื้น ที่ต้นไม้ใหญ่มันก็คุ้มครองต้นไม้เล็กเพื่อให้ร่มเงา ถ้าไม่มีต้นไม้ใหญ่เป็นร่มเงา ต้นไม้เล็กๆ ตะไคร่น้ำเหล่านั้น มันก็อยู่ไม่ได้ แม้จะต่างกันถึงขนาดนี้ ก็ยังต้องอาศัยกันเพื่อเป็นอยู่อย่างมีสังคม ที่ต้นที่มันไล่เลี่ยกันก็ไม่มีปัญหา เราจึงเห็นว่าไอ้หมู่ไม้ ป่าไม้ หนาทึบไปหมด เป็นทิว เป็นภูเขา นี่มันก็เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นสภาวะตามธรรมชาติ และเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะตาย มันจะต้องตาย
คำพูดที่ว่าอยู่คนเดียวไม่ได้นั้นขอให้คิดดูเถิดว่า มันใช้ได้ลงไปถึงต้นไม้ ต้นไม้อยู่ต้นเดียวในโลก หรือในพื้นที่อันกว้างใหญ่นี้มันก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน อย่าว่าแต่มนุษย์เลย ความเป็นอยู่กัน ความอยู่กันเป็นหมู่นี่ มันก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ และเป็นกฎของธรรมชาติ เราดูที่ต้นไม้ก่อน เป็นจุดเริ่มต้นอย่างนี้ ว่า ไอ้คำว่าสังคม สังคมนี่ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ และก็เป็นธรรมะในความหมายที่หนึ่ง และว่าเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ นี่ก็เป็นธรรมะในความหมายที่สอง และมันก็เกิดหน้าที่ ที่มันจะต้องอยู่กันให้เป็นหมู่ พยายามรักษาความเป็นหมู่ นั่นก็เป็นธรรมะในความหมายที่สาม และต้นไม้เหล่านั้นก็งอกงามเจริญดี มีผลขึ้นมา ก็เป็นธรรมะในความหมายที่สี่ เอาละเป็นอันว่า คำว่าสังคมนี่ ประกอบอยู่ด้วยความหมายของธรรมะทั้งสี่ความหมาย แม้ในสิ่งต่ำต้อย เช่นพืช พฤกษาชาติ ซึ่งเป็นต่ำสุดของสิ่งที่มีชีวิต
ทีนี้ก็มาถึงสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายอยู่กันเป็นหมู่ ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติแล้วจะอยู่กันเป็นหมู่ สัตว์เล็กๆที่ดูด้วยตาแทบจะไม่เห็น มันก็อยู่กันเป็นหมู่ กระทั่งปู ปลา สูงขึ้นมากระทั่งสัตว์ วัว ควาย ช้าง ม้า มันก็นิยมความอยู่กันเป็นหมู่ เพราะมันรู้สึกว่าปลอดภัย ยิ่งสัตว์ที่มีกำลังน้อยด้วยแล้ว ก็ยิ่งต้องการอยู่กันเป็นหมู่ เพื่อจะต่อสู้สัตว์ที่ดุร้ายมีกำลังมากแต่โดยง่าย ถึงแม้สัตว์ที่มันดุร้ายและใหญ่โต มันก็ยังนิยมอยู่กันเป็นหมู่เพื่อมันเพิ่มกำลังให้แก่กัน ฉะนั้นเราจึงเห็นฝูงวัว ฝูงควาย ฝูงแพะ ฝูงแกะ ฝูงสัตว์เดรัจฉานเหล่านี้มันอยู่กันเป็นหมู่ เป็นสังคม เพราะมันดีกว่าอยู่ตัวเดียว แม้ว่าบางคราวอยู่ตัวเดียวเป็นสุขสนุกกว่า ได้เปรียบกว่า สบายกว่า อะไรกว่า มันก็อยู่ไม่ได้ มันอยู่ได้เพียงชั่วคราว ในที่สุดมันก็ไปเข้าหมู่ สัตว์เดรัจฉานก็ยังมีสังคม ซึ่งเป็นไปตามกฎของธรรมชาติอีกเหมือนกัน
ที่มาดูหมู่มนุษย์ จะเอามนุษย์ตั้งแต่แรกมีขึ้นมาในโลก ยุคที่ยังเป็นคนป่า ยิ่งเป็นที่แน่ แน่ใจว่ามันอยู่กันเป็นหมู่ เป็นฝูง เหมือนกับฝูงสัตว์ ครั้งต่อมามันพ้นสภาพนั้น มามีบ้าน มีเรือน มาทำกสิกรรม ทำอาชีพ เป็นหมู่บ้าน เป็นเรือน มันก็ยังต้องอาศัยกันเป็นหมู่บ้าน หมู่บ้านน่ะ ในหมู่คนแต่ละคนก็เป็นหมู่บ้าน แต่ละบ้านต้องอาศัยกันเป็นหมู่ เพราะว่ามันต้องช่วยเหลือกัน ซึ่งกฎธรรมชาติมันบังคับว่าต้องอยู่กันเป็นหมู่ จึงจะมีทางรอดปลอดภัยกว่า หรือจะเป็นหนทางให้เกิดความเจริญผาสุกรุ่งเรืองได้มากกว่าที่จะอยู่คนเดียว เดี๋ยวนี้ก็เห็นชัดแล้วไม่มีใครอยู่คนเดียวได้ มันต้องกินต้องใช้ต้องอาศัยอะไรเนื่องกันไปหมด ไอ้ที่มันจะสร้างอะไรขึ้นมาได้เป็นความเจริญมันก็ยิ่งต้องการร่วมมือร่วมแรงกัน จะสร้างถนนหนทาง จะสร้างสะพาน คูคลองนี่ เมื่อยังทำด้วยเรี่ยวด้วยแรงก็ยิ่งจำเป็นมากที่ต้องรวมกันเป็นหมู่ แม้จะใช้เครื่องจักรแล้วมันก็ยังไม่พ้นการที่จะต้องอาศัยกัน หรือร่วมสหกรณ์กัน มนุษย์อยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ ต้องอยู่เป็นสังคม
ทีนี้มันก็แบ่งแยกกันเอง ที่มีประโยชน์อย่างเดียวกัน มันก็ไปสังคมกันง่ายกว่า ในแต่ละสังคมจึงมีประโยชน์ร่วมกันในสังคม เช่นว่าสังคมคนจน สังคมคนมั่งมี สังคมคนมีอำนาจ สังคมคนไม่มีอำนาจ มันก็แบ่งกันโดยธรรมชาติ ไปตามความรู้สึกที่มันเป็นไปได้เอง เราก็เลยมีสังคม แต่ถึงอย่างไรก็ดีอย่าลืมว่า มนุษย์จะต้องมีสังคมใหญ่รวมกัน คือสังคมแห่งมนุษย์ มนุษย์จึงจะมั่นคง คงทนอยู่ได้ และเจริญรุ่งเรืองสืบไป นี่เป็นเรื่องของธรรมชาติ มันต้องการจะเป็นไปอย่างนั้น ตามกฎของธรรมชาติ มันจึงเกิดธรรมะส่วนที่เป็นหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติขึ้นมา ว่าเราจะต้องอยู่กันอย่างสังคม เราจึงมีหน้าที่ที่จะให้อยู่กันได้อย่างเป็นสังคม จึงมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ จะงดเว้นเสียไม่ได้ มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น ตามความเหมาะสมที่เป็นส่วนประกอบของสังคม ก็เลยมีสังคมมนุษย์ที่ควรจะพอใจในบ้านหนึ่ง หรือว่าในเมืองหนึ่ง ในจังหวัดหนึ่ง ในภาคหนึ่ง ในประเทศหนึ่ง มันก็มีหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน ธรรมชาติต้องการให้มนุษย์คงมีความเป็นมนุษย์ เป็นสังคมเดียวกัน แต่กิเลสของมนุษย์มันไม่เอา มันจะเอาเท่าที่จำเป็น มันจึงทำไปในทางที่ว่าถ้าจะได้เปรียบกว่า ได้กำไรกว่า อย่างนี้เขาจึงจะสนใจที่จะรวมกันเป็นสังคม แล้วก็มีสังคมย่อยๆๆๆลงไปตามที่ประโยชน์มันเนื่องกัน ถ้าประโยชน์มันขัดกันมันก็ไม่สังคมกัน แล้วมันจะประกาศตนเป็นศัตรูต่อกันและกัน มันจึงเกิดการฆ่าฟันกันระหว่างหมู่ ระหว่างสังคม ของมนุษย์ ซึ่งก็ได้มีมาแล้วแต่ดึกดำบรรพ์ด้วยเหมือนกัน
เมื่อมนุษย์เจริญมากขึ้นจนถึงกับมีคนฉลาดเป็นพระศาสดาเกิดขึ้นในโลก ก็มองเห็นความจริงอันนี้ ก็เลยบัญญัติกฎเกณฑ์สำหรับมนุษย์เกี่ยวกับสังคมด้วย บัญญัติเฉพาะคนจะต้องทำให้ดีอย่างไร ดีที่สุด ดีจนไปถึงนิพพานนั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง เป็นธรรมะเฉพาะบุคคล แต่มีธรรมะอีกส่วนหนึ่งสำหรับสังคม คือการอยู่กันเป็นหมู่ พระพุทธเจ้า ก็ได้ทรงบัญญัติธรรมะประเภทนี้ไว้มากมายเหมือนกัน จนถึงกับตรัสไว้เป็นหลักว่าประโยชน์ของตน และประโยชน์ของผู้อื่น และประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย เมื่อเห็นประโยชน์ของตนจะมีได้อย่างไร ก็ทำเต็มที่ด้วยความไม่ประมาท เมื่อเห็นประโยชน์ของผู้อื่นจะเป็นไปได้อย่างไร ก็ทำเต็มที่ด้วยความไม่ประมาท เพื่อประโยชน์ผู้อื่น และเมื่อเห็นว่าประโยชน์ทั้งสองฝ่ายจะมีได้อย่างไรก็ทำเต็มที่ด้วยความไม่ประมาท เพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย นี่เป็นบทบาลีที่เราสวดอยู่ทุกวัน
ขอให้สังเกตดูให้ดีว่ามีคำว่า ตนคือฝ่ายหนึ่ง และก็มีคำว่าผู้อื่นอีกฝ่ายหนึ่ง และก็ยังมีทั้งสองฝ่าย คือเนื่องกัน นี่ ดูให้ดีนะมันเป็นการบัญญัติที่เป็นเรื่องถูกกับตรรกะอย่างยิ่ง ตนและก็ผู้อื่น และก็ที่มันเนื่องกันทั้งตนและผู้อื่น ถ้าขาดส่วนที่สามแล้วเรียกว่าจะยังบกพร่องอยู่มาก มันก็ดูเอาว่าตนมันก็คือ ปัจเจกชน ทีนี้ผู้อื่น เป็นบุคคลที่สอง มากกว่าสองคนขึ้นไป มันก็เป็นสังคมแล้ว มันสังคม ทีนี้เราเอามาผูกพันกันเข้าทั้งตนและผู้อื่น มันก็ยิ่งเป็นสังคมที่แน่นแฟ้น จึงมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อผู้อื่นในนามที่เรียกว่าสังคม พระพุทธเจ้าท่านได้บัญญัติไว้อย่างนี้ ถ้าพุทธบริษัทละเลยประโยชน์ของผู้อื่น หรือประโยชน์ของสองฝ่ายก็ชื่อว่าไม่ทำตามพระพุทธบัญญัติ ไม่เชื่อฟังพระพุทธองค์ ขอให้เราจำคำว่าผู้อื่น และคำว่าทั้งสองฝ่ายนี้ไว้ให้ดีๆ มันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน คำว่าผู้อื่นกับคำว่าทั้งสองฝ่ายนี่น่ะมันผิดกันไกล ขอให้ทำครบสามความหมาย เพื่อตนเอง ผู้อื่น และที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งสองฝ่าย โดยไม่แยกกัน
หลักคำสอนที่เป็นศีลธรรม ก็สอนให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เห็นแก่ผู้อื่น หลักคำสอนที่เป็นปรมัตถธรรม ก็ถึงกับว่าเรานี้มันเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เราควรจะมีการผูกพันกัน ช่วยเหลือกัน เพื่อส่งเสริมศีลธรรม ให้หนักแน่นยิ่งขึ้น กฎเกณฑ์ทางปรมัตถธรรมเป็นอยู่ในส่วนลึก และก็เป็นเครื่องส่งเสริมศีลธรรมที่อยู่ในส่วนตื้น มันต้องมี คู่กันไป เพื่อส่งเสริมซึ่งกันและกัน ที่เป็นปรมัตถธรรม เราจะเรียกปรัชญาก็ได้ แม้คำว่าปรัชญาจะมีความหมายถึงสิ่งที่เรายังไม่รู้แน่ว่าเป็นอะไร มันก็ยังใช้ได้ เพราะเอามาส่งเสริมศีลธรรมได้ อย่างเช่นว่า เราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายกัน นี่แหละเป็นหลักปรัชญา เป็นปรมัตถธรรม แล้วเราก็ประพฤติศีลธรรม คือรักผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น เรื่องทางสังคมมันก็ไม่ ไม่บกพร่อง พุทธบริษัทเห็นแต่ประโยชน์ตน เป็นคนสกปรก อตฺตตฺถปัญฺญา อสุจี มนุสฺสา อตฺตตฺถปัญฺญ ผู้มีปัญญาแต่ในเรื่องประโยชน์ของตน อสุจี มนุสฺสา เป็นมนุษย์อสุจิ เป็นมนุษย์สกปรก เราต้องมีปัญญาที่เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น หรือทั้งสองฝ่ายด้วย
ที่อาตมาพูดเน้นอยู่ตรงนี้ก็เพราะเข้าใจว่าแม้แต่นักศึกษาทั้งหลาย จะไม่ค่อยสนใจประโยชน์ของผู้อื่น หรือสนใจ ก็สนใจในลักษณะที่เป็นเรื่องเล็ก เมื่อเอาไปเปรียบเทียบกับประโยชน์ตน และประโยชน์ตนก็เป็นเรื่องใหญ่ ประโยชน์ผู้อื่นเป็นเรื่องเล็ก จะให้สักสิบเปอร์เซนต์ก็จะไม่ได้ อย่างนี้ก็ผิดหมด ตามพระพุทธประสงค์ต้องการให้มันเป็นเรื่องที่เท่ากัน มีความสำคัญเท่ากัน ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกันทั้งสองฝ่ายนี้ต้องเป็นเรื่องใหญ่เท่ากัน สำคัญเท่ากัน อย่าเห็นว่าประโยชน์ผู้อื่นเป็นเรื่องเล็ก เป็นของอดิเรก ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ มันมีความสำคัญหรือมีเหตุผลที่จำเป็นอยู่ ซับซ้อน อยู่หลายชั้น ไม่ใช่เพียงแต่ว่าประโยชน์ทางสังคมทางภายนอกว่า ถ้าเราไม่เห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่นแล้วเราก็จะเป็นคนคับแคบ ไม่มีเพื่อน อยู่อย่างลำบาก มันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะถ้าเราไม่สนใจประโยชน์ผู้อื่นหรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เราจะเป็นคนเห็นแก่ตัว กิเลสที่เป็นเหตุให้เห็นแก่ตัวนี้จะเข้มข้น เข้มข้น เข้มข้น แล้วเราก็จะมีโลภะ โทสะ โมหะจัด ไม่มีวันที่จะพบกันกับพระนิพพานได้ ถ้ามันเป็นคนเห็นแก่ตัวจัด ทีนี้คนที่ไม่สนใจประโยชน์ของผู้อื่น หรือทั้งสองฝ่ายนั้นน่ะ มันก็พอกพูนความเห็นแก่ตัว อย่ามองแต่เพียงว่า ไม่สังคมกับผู้อื่น แล้วเราก็ขาดประโยชน์ในโลกนี้ ที่แท้มันขาดประโยชน์โลกหน้า และประโยชน์สูงสุดคือพระนิพพานทีเดียว
ถ้าเราสนใจประโยชน์ของผู้อื่น รักผู้อื่นนั้นแล้ว ความเห็นแก่ตัวมันลดลง ลดลง กิเลสมันจะลดลง แล้วกิเลสมันจะสิ้นไป พวกที่เห็นแก่ผู้อื่นอย่างรุนแรง เขาเรียกกันว่าพวกโพธิสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามหลักพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เขาจัดให้พระโพธิสัตว์เป็นผู้เห็นแก่ผู้อื่น จนลืมประโยชน์ตัว หรือลืมตัว ไม่เสียดายชีวิตของตัว เอาชีวิตนั้นไปใช้เพื่อประโยชน์ผู้อื่นหมด พระโพธิสัตว์เขาสมาทานศีลว่า ถ้ายังมีคนทนทุกข์อยู่ในโลกนี้ แม้แต่เพียงคนเดียว เราจะไม่ขวนขวายเพื่อการบรรลุนิพพาน ฟังดูมันก็ขัดๆกันอยู่ คงจะไม่มีโอกาสไปนิพพานแน่โพธิสัตว์ ถ้าเขาตั้งใจแน่ว่าถ้ายังมีมนุษย์เหลือ มีความทุกข์อยู่ในโลกแม้เพียงคนเดียว แล้วเราก็ยังไม่ขวนขวายเพื่อไปนิพพานจะอยู่ช่วยเขา บางทีมนุษย์มันก็ไม่รู้จักขาด สิ้น มันยังเหลืออยู่ ทนทุกข์ โพธิสัตว์ก็ไม่ต้องไปนิพพานกันทั้งนั้น
นี่เขาก็ยังเอา ยังยอม ความเห็นแก่ตัวมันมากอย่างนี้ ไอ้ความเห็นแก่ผู้อื่นมันมากอย่างนี้ ความเห็นแก่ตัวมันจะไม่มีอยู่ซะทีเดียว แต่ที่พูดนี้ก็ไม่ได้แนะนำหรือว่าชักชวนให้ ให้เป็นโพธิสัตว์ แต่ก็อยากจะให้รู้ไว้ว่าโพธิสัตว์นั้นใจกว้าง ถึงกับช่วยโลกทั้งโลก และก็จะเป็นพระพุทธเจ้าในโอกาสหนึ่ง นี่ละพุทธศาสนามีบทบัญญัติเกี่ยวกับประโยชน์ผู้อื่น และก็มีหลักธรรมะสูงสุดในขั้นปรมัตถ์ สนับสนุนว่าเราควรจะทำอย่างนั้น ถ้าใครละเลยประโยชน์ผู้อื่นหรือประโยชน์ทั้งสองฝ่ายแล้วก็ ไม่เป็นพุทธบริษัท นี่ก็หมายความว่าถ้าไม่สนใจเรื่องของสังคมมันก็ คือไม่สนใจเรื่องของผู้อื่นมันก็มีแต่เห็นแก่ตัว มันก็จม อยู่ในกองกิเลสนี่ ที่นี่ ไม่มีวันที่จะก้าวหน้าไปไหน จึงเป็น กล่าวได้ว่าไอ้การรักผู้อื่นก็เป็นหัวใจของพระศาสนา แม้ของพุทธศาสนา ให้รักถึงขนาดว่าเขาเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายของเรา ถ้ารักได้ถึงขนาดโพธิสัตว์ได้ก็ยิ่งดี จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
ทีนี้ก็จะดูออกไปถึงศาสนาอื่น เช่นศาสนาคริสเตียน ศาสนาคริสต์นี้ยิ่งเน้นมาก เน้นเรื่องรักผู้อื่นมาก ดูจะเป็นเรื่องหัวใจของศาสนาเอาเสียทีเดียว เขาจึงมีหลักให้ปฏิบัติ ชัดเจน รัดกุม เฉียบขาด ว่าให้รักผู้อื่นเหมือนกับที่พระเจ้ารักเรา เขามีเรื่องของพระเจ้าเป็นเรื่องสูงสุด ทุกคนเคารพบูชาพระเจ้า ยึดถือพระเจ้าเป็นสิ่งสูงสุด อะไรอะไรก็แล้วแต่พระเจ้า แต่เขาจะต้องทำการรักผู้อื่น เพราะว่าพระเจ้าต้องการให้รักผู้อื่น คนที่ปฏิบัติ รักผู้อื่นถึงที่สุด ตายแล้วก็จะได้ไปอยู่ร่วมกับพระเจ้า ในบ้านเมืองของพระเจ้า คล้ายๆกับว่าข้อนี้ข้อเดียวก็พอที่จะไปอยู่กับพระเจ้าอย่างนิรันดร เหมือนกับเราไปนิพพาน รักผู้อื่นเท่านั้นก็พอ ฟังดูแล้วมันคล้ายกับว่า ไม่น่าจะเห็นด้วย เรื่องเล็กนิดเดียว รักผู้อื่น แต่ที่จริงมันไม่ใช่เรื่องรัก มันไม่ใช่เรื่องเล็กนิดเดียว จะหาคนรักผู้อื่นน่ะ ดูจะหายากนะ ไอ้รักลูก รักเมีย รักผัว รักเพื่อน ทำมาหากิน รักเพื่อน ไปปล้น ไปขโมยนี้ไม่ใช่รักผู้อื่น ไอ้คนเหล่านั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง มันผูกพันอยู่กับตัวเอง เรื่องรักลูก รักเมีย นี้ไม่ใช่รักผู้อื่น เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง มันต้องรักผู้อื่นจริงๆ ผู้อื่นจริงๆ ที่เป็นสักว่าเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายนั่นน่ะ มันจึงจะเรียกว่ารักผู้อื่น ก็ลองคิดดู คำนวณดู ตัวเองเคยรักผู้อื่นไหม ถ้าไม่ได้อะไรสักนิดนึงก็จะไม่รัก ถ้ามันรักโดยหวังว่าจะได้อะไรสักนิดหนึ่ง แล้วมันก็ไม่ใช่ผู้อื่นซะแล้ว เพราะมันเป็นผู้ร่วมมือกับเรา เป็นผู้ร่วมหา แสวงหาประโยชน์ร่วมกับเรา ไม่ใช่ผู้อื่นซะแล้ว
นั้นใจของใครบ้างล่ะ ที่มันรักผู้อื่นจริงๆโดยบริสุทธิ์ใจจริงๆ อาตมาคิดว่าหายาก เคยพูดว่าจะหามาทำยาหยอดตาก็ดูจะยาก จิตใจที่จะรักผู้อื่นจริงๆ ก็โดยแท้จริงนี่มันหายาก ถ้ามันมีรักผู้อื่นแล้วมันก็ไม่เห็นแก่ตัวกิเลสที่เห็นแก่ตัวนั่นน่ะ มันเป็นต้นเหตุของโลภะ โทสะ โมหะ ถ้ามันไม่มีกิเลสก็หมายความว่า มันรักผู้อื่นแล้วมันก็ไม่เห็นแก่ตัว กิเลสมันเกิดไม่ได้ ตายแล้วก็ไปอยู่กับพระเจ้า ลองเปิดดูพระคัมภีร์ของคริสเตียน จะพบคำว่ารักผู้อื่นทั่วไปหมด เดี๋ยวย้ำอย่างนั้น เดี๋ยวย้ำอย่างนี้ เพื่อการรักผู้อื่น เรื่องราวก็มาก อุปมาก็มาก อะไรก็มาก เขาถือว่าเป็นความประสงค์ของพระเป็นเจ้า มองดูก็ไม่ลึกซึ้ง ก็เห็นได้ ถ้าเรารักผู้อื่นก็ไม่มีการฆ่ากัน เพราะว่าเมื่อรักแล้วจะไปฆ่าใครได้ เมื่อรักผู้อื่นจะไปฆ่าใครที่ไหนได้ เมื่อมันรักผู้อื่นแล้วจะไปขโมยใครได้ เพราะเรารักเขาแล้วเราจะไปขโมยของเขาได้อย่างไร หรือว่าเมื่อเรารักผู้อื่นแล้วจะไปล่วงละเมิดกาเม ลูกเมียผัวเขาได้อย่างไร มันก็ไม่ ไม่ทำได้ หรือเมื่อรักผู้อื่นแล้วมันก็โกหกไม่ได้ เพราะเรารักเขา เราจะไปโกหก ทำลายเขา เอาประโยชน์ของเขาไม่ได้ ถ้าเรารักผู้อื่นแล้วก็ไม่ทำให้ใคร ต้องพลอยรำคาญด้วยการกินเหล้าเมายาของเรา ก็กินเหล้าไม่ได้ เพราะคนเขารำคาญ คนเขาไม่ชอบ คนเขาระอา เรารักเขาแล้วเรากินเหล้าให้เขารำคาญ หรือเกลียดชังไม่ได้ แล้วยังทำอะไรได้อีกมาก มีความรัก มีความสามัคคี มีการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เต็มไปหมดเลย นี่ก็น่าจะเห็นด้วยว่าถือศีลรักผู้อื่นข้อเดียวเท่านั้น ก็เป็นเรื่องที่แก้ปัญหาได้หมดทั้งโลก ศาสนาที่เขาเน้นเรื่องการรักผู้อื่นมากเพียงอย่างเดียวนี้มันก็ไม่บกพร่องอะไร มีความสมบูรณ์เหมือนกัน
ในศาสนาอิสลามก็มีเน้นมาก เพราะศาสนาอิสลามนี้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับครอบครัว เกี่ยวกับสังคมเป็นข้อๆข้อๆชัดเจนละเอียดยิ่งกว่าคัมภีร์ของศาสนาอื่น และเขาก็เน้นประโยชน์ตนเองกับประโยชน์ผู้อื่นนี้มากเหมือนกัน คือว่า ถือศีลปฏิบัติ ศีลตามบทบัญญัติของพระเจ้านั่นก็ส่วนหนึ่ง และก็จะต้องปฏิบัติต่อสังคมมนุษย์อีกส่วนหนึ่ง เป็นสองส่วนเท่าๆกัน ถ้าเป็นอิสลามที่ดี เขาจะต้องประพฤติประโยชน์ตน ร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วประพฤติประโยชน์ผู้อื่นอีก ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเขาไม่ประพฤติประโยชน์ผู้อื่น ก็แปลว่าเขาจะสูญหมด จะเป็นศูนย์หมด คือเมื่อเขาไม่ประพฤติประโยชน์ทางสังคมก็จะเสียคะแนนลบไปหมดร้อยหนึ่ง เพื่อเอาไปหักกับประโยชน์ตนที่ทำได้ร้อยหนึ่ง ถูกไหม พูดมันออกจะยุ่งว่า เราทำบุญทำกุศลเพื่อตัวเราก็สมมติว่าร้อย ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเราไม่ทำประโยชน์ผู้อื่นหรือสังคม ก็จะเสียคะแนนส่วนนั้นไปร้อยเปอร์เซ็นต์ คือเอามาหักลบกับที่เราทำประโยชน์ตัวร้อยเปอร์เซ็นต์นี้ให้สูญสิ้นไปเลยด้วย ผู้ที่ประพฤติประโยชน์ตน ไม่พอ ต้องประพฤติประโยชน์สังคมพร้อมกันไปด้วย ถ้าไม่ประพฤติประโยชน์สังคม จะต้องถูกหักเอาการที่ประพฤติประโยชน์ตนนั้นแหล่ะเอาไปชดเชย มันเลยหมด ไม่มีบุญกุศลที่เป็นประโยชน์ตนนั้นเหลืออยู่ เราอุตส่าห์รักษาศีล อดอาหาร หรือทำอะไรก็ตามน่ะ แต่แล้วเราไม่เคยนึกถึงผู้อื่น เท่ากับให้เป็นบาปในข้อที่ไม่ทำประโยชน์ผู้อื่น แล้วก็มาหักเอาจากบุญที่ทำเพื่อตน ไอ้บุญที่ทำเพื่อตนก็หมด
อิสลามที่ดีเขามีหน้าที่ เหมือนกับเสียภาษี แต่เขาไม่เรียกว่าภาษี คือบำรุงพระศาสนา บำรุงกิจการของพระศาสนา สองเปอร์เซ็นต์ครึ่งของประโยชน์ที่ตนมี ทำงานได้รับประโยชน์อะไรมา ก็ให้เอาไปบำรุงพระศาสนาสองเปอร์เซ็นต์ครึ่ง นี้เป็นบทบัญญัติที่ถือกัน ฉะนั้นอิสลามต้องนับถือพระเจ้าองค์เดียว จะต้องทำละหมาดอยู่กับพระเจ้าวันละ ๕ ครั้ง ทำสมาธิอยู่กับพระเจ้าวันละ ๕ ครั้ง จะต้องถือศีลอด เดือนหนึ่งในปีหนึ่ง แล้วก็จะต้องบำรุงด้วยเงินสองเปอร์เซ็นต์ครึ่งของรายได้ ให้แก่พระศาสนา แล้วก็ต้องไปเมืองเมกกะ เพื่อไปเป็นฮัจญีที่ประเทศอาหรับ ถ้าสามารถจะไปได้ สังเกตดูที่ว่าช่วยศาสนาสองเปอร์เซ็นต์ครึ่งนั้นเพื่อประโยชน์ผู้อื่นทั้งนั้น ผู้ที่เป็นอิสลาม ถือศาสนาอิสลามนี้เขาก็มีการเน้นเรื่องผู้อื่นมาก ความสมัครสมานสามัคคี มันก็พลอยดีด้วย และการประพฤติประโยชน์ตนก็ดีด้วย
เรื่องอดอาหารซะเดือนหนึ่งนี้ มันก็เป็นเรื่องฝึกความอดทน ฝึกที่ว่าไม่เห็นแก่ตน โดยเขาถือว่า เมื่ออดเมื่อหิวเท่านั้นแหละ จึงจะรู้ว่าความอด ความหิว นั้นเป็นอย่างไร ถ้าเราอิ่มอยู่ตลอดเวลาเราไม่รู้ว่าความหิวนั้นมันบีบคั้นเป็นทุกข์ทรมานเท่าใด เราก็อดให้มันหิว หิว แล้วก็โอ้ คนหิวนั้นมันเป็นอย่างนี้เองโว้ย, เราจะนึกถึงคนหิว นึกถึงคนยากจน และมันก็เป็นการง่ายที่จะไปช่วยคนหิว ใครอยากจะรู้ธรรมะข้อนี้ ก็ลองอดให้มันหิวดูบ้าง ให้มันรู้รสของความหิว มันก็นึกถึงว่าผู้อื่นที่หิว ที่ไม่มีจะกินนั้นมัน มันเป็นทุกข์สักเท่าไร ทีนี้เราก็จะมีจิตใจช่วยผู้อื่น ช่วยผู้อื่นได้โดยสะดวก เพราะเรารู้รสของความหิวแล้ว
นี่แหละในศาสนาใหญ่ๆที่มีอยู่ในโลกในเวลานี้มันก็ล้วนแต่เน้นสังคม ประโยชน์ของสังคม คือประโยชน์ของผู้อื่นด้วยกันทั้งนั้น ถ้าถือหลักศาสนา แม้ทุกศาสนามารวมกัน มันก็ยังอยู่ที่ว่ารักผู้อื่นอยู่นั่นเอง แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีใครถือศาสนานี้ หรือโดยหลักเกณฑ์อันนี้โดยแท้จริง ทั้งโลกนั้นแหละ ในโลกนี้ถือศาสนาใหญ่ๆคือ พุทธ คริสต์ อิสลาม อย่างนี้ แต่มันถือไม่จริง มันไม่ ไม่ได้รักผู้อื่น ไม่ได้เสียสละผู้อื่น ในโลกนี้ก็ยังขาดแคลน มันยังเกลียดชัง ยังจะฆ่า ฆ่าแกงกัน รบราฆ่าฟันกัน เพราะไม่มีความรักผู้อื่น ปัญหามันก็ยืดเยื้อ มันไม่ ไม่รู้จักสิ้นสุดในการที่จะฆ่าฟันกัน พอรักผู้อื่นปัญหาหมด
ถ้าความรักผู้อื่นซึ่งเป็นหัวใจของทุกๆศาสนากลับมา ปัญหาในโลกนี้ก็จะหมด มันจะกลายเป็นโลกพระศรี- อาริย์ขึ้นมาทันที คือรักผู้อื่น ศรีอาริยเมตไตรย์ คำว่า เมตไตรย์ คือความรักผู้อื่น ความเป็นมิตร คำว่า ศรี อาริย มันไม่ใช่ตัวเนื้อความหรือตัวคำ เป็นบทประกอบว่า ชั้นดี ชั้นเลิศ ชั้นประเสริฐ ทีนี้คำว่า ศรีอาริยเมตไตรย์ ก็คือ ความรักผู้อื่น ชั้นดี ชั้นเลิศ ชั้นประเสริฐ ชั้นยอดเลย ศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรย์เขามีใจความอย่างนี้ นี่เป็นสังคมที่หมดปัญหาตามหลักแห่งศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรย์ ไม่มีปัญหาทางสังคม เพราะมันรักผู้อื่นเท่ากับที่พระเจ้ารักเรา มัน มันไม่มีใครจะดูดายใคร มันเต็มไปด้วยมิตรสหายที่จะช่วยเหลือ ไม่เบียดเบียน ไม่ทำลายกัน แล้วก็รักใคร่ส่งเสริมกัน จึงพูดไว้โดยการอุปมาอย่างที่เรียกว่า นอนไม่ต้องปิดประตูเรือน หรือว่าทำเรือนไม่ต้องทำประตู ทำแต่หลังคาก็ได้ หรือว่าไม่มีใครยากจน เพราะว่ามีต้นไม้กัลปพฤกษ์ อยู่สี่มุมเมือง ต้องการอะไรก็ไปเอาได้จากต้นไม้กายสิทธิ์นั้น ไม่มีใครขาดแคลนต้องการเงินได้เงิน ต้องการของได้ของ ต้องการอะไร ไปเอาได้ที่ต้นไม้นั้นได้ เขาพูดไว้อย่างอุปมาอย่างนี้ มันจะมีได้ต่อเมื่อว่าคนในโลกทุกคนมันถือศาสนารักผู้อื่น ปัญหาสังคมหมด
นี้ก็พูดเรื่องสังคมเลยเถิดไปจนเป็นเรื่องยอดสุดของศาสนา ยังไม่ได้เข้ามาในขอบเขตแห่งปัญหาของคุณที่เสนอ เดี๋ยวนี้เรามีปัญหาทางการเมือง ซึ่งพาดพิงไปถึงปัญหาของสังคมที่ตกลงกันไม่ได้ ที่ทำให้นักศึกษาต้องเข้าป่าเป็นฝูงๆ เพราะมันตกลงกันไม่ได้ เกี่ยวกับปัญหาทางสังคมในเรื่องการเมือง ทะเลาะกันเรื่องประชาธิปไตย สังคมนี้ทะเลาะกันแต่เรื่องประชาธิปไตยไม่มีสิ้นสุด ก็ถึงขนาดฆ่าฟันกันด้วย เพราะว่าถือเอาใจความไม่ถูก อาตมาเคยพูดเมื่อออกวิทยุกระจายเสียงว่า ขอให้ตีความหมายของคำว่าประชาธิปไตยกันเสียใหม่ ให้ถูกต้อง อย่าไปมัวตีว่า ประชาธิปไตยคือประชาชนเป็นใหญ่ มันไม่ได้หรอก มันจะหลับตา ประชาธิปไตยต้องแปลว่า ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ คือประโยชน์ของทุกคนเป็นใหญ่ อย่าพูดว่าทุกคนเป็นใหญ่ เป็นไปไม่ได้ พูดไปมันก็บ้าเปล่าๆ ทุกคนจะมาเป็นใหญ่ได้ยังไง ทำไม่ได้ แต่ว่าถ้าเราจะจัดไปในรูปว่าให้ประโยชน์ของทุกคนเป็นใหญ่นี้มันทำได้ ใครที่มีอำนาจ มีความสามารถหรือว่า หลายคนรวมกันก็จัดให้ประโยชน์ของทุกคนมันเป็นใหญ่ อย่าให้เขาเสียประโยชน์ไปแม้แต่สักคนหนึ่งมันทำได้ การจะทำได้อย่างนี้ต้องมีรากฐาน ถ้าลึกก็คือ ปรัชญาของการรักผู้อื่น ถ้าเรามีหลักของพระศาสนา หัวใจของพระศาสนามาเป็นรากฐานของปรัชญาทางการเมือง มีความรักผู้อื่นเป็นรกรากแล้วมันก็แก้ได้ ประชาธิปไตยก็จะน่าชื่นใจ คือสำเร็จประโยชน์ที่ทุกคนจะอยู่เป็นสุข และสังคมมันก็หมดปัญหา
เดี๋ยวนี้สังคมของเราไม่มีศีลธรรม จึงไม่รักผู้อื่น ไม่รักผู้อื่นเพราะไม่มีศีลธรรม แต่ละคนก็เห็นแก่ประโยชน์ตัว ก็ทำลายผู้อื่น เพื่อเอาประโยชน์ของผู้อื่นมาเป็นของตัว เราจึงได้สังคมระบบนี้มา คือระบบที่ มึงก็มึง กูก็กู ประโยชน์ของกูคือความยุติธรรม ประโยชน์ของกูคือความถูกต้อง ประโยชน์ของกูคือความดี นี่เขาไม่ถือหลักธรรมะ สูงสุดของธรรมชาติที่ต้องการให้รักผู้อื่น หรือจะเรียกว่าให้ทุกคนรักซึ่งกันและกันน่ะ เขาไม่ถือ สังคมนี้มันก็ไม่มีหลักธรรมะเป็นรากฐาน มันก็มีกิเลสเป็นรากฐาน เพราะว่าไม่รักผู้อื่นมันก็เห็นแก่ตัวนั้นคือกิเลส กิเลสเป็นรากฐาน
สังคมนี้มันก็เป็นสังคมอะไรล่ะ พูดไปมันก็หยาบคาย ไม่อยากพูดดีกว่า มันก็เป็นกรรมของคนพวกนี้ ที่ไม่มีธรรมะ ไม่มีศีลธรรม ไม่มีหัวใจของพระศาสนา ที่จะทำให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข มัวแต่ยื้อแย่งประชาธิปไตย ฆ่ากันตายเท่าไรแล้วไปคิดดูเถอะ ไอ้ที่เราทะเลาะวิวาทกัน เรื่องยื้อแย่งประชาธิปไตย แล้วมันก็ยังไม่ได้ใช่ไหม เพราะมันไม่มีธรรมะเป็นรากฐาน ถ้าเรามีธรรมะเป็นรากฐานไม่ต้องฆ่ากันตาย ไม่ต้องยื้อแย่งกัน ก็มีประชาธิปไตยชนิดที่ถูกต้อง คือประชาธิปไตยชนิดที่ว่ามีประโยชน์ของทุกคนเป็นใหญ่ ก็ไม่ต้องฆ่ากัน นี่ธรรมะแท้ๆเลยที่เราจะต้องรักผู้อื่น หรือที่เราจะต้องช่วยกันผดุง ส่งเสริม ให้สังคมมีสันติสุข มีสันติภาพ อันนี้ธรรมชาติวางไว้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัว ถ้าไม่ทำตามกฎธรรมชาติแล้วก็จะวินาศเอง ธรรมชาติมันวางกฎเกณฑ์ไว้อย่างนี้ แต่ถ้าเป็นศาสนาอื่นเขาก็พระเจ้าวางกฎเกณฑ์ไว้ตายตัว ถ้าไม่ทำตามคำสั่งพระเจ้าในข้อนี้ มันจะฉิบหายเหมือนกัน มันจะวินาศเหมือนกัน เรานั้นไม่มีพระเจ้าที่เป็นบุคคล แต่เราก็มีพระเจ้าที่เป็นกฎของธรรมชาติ ให้รู้ไว้เถอะว่า แม้พุทธศาสนาก็มีพระเจ้า อย่าไปเข้าใจว่าไม่มี แต่เรามีพระเจ้าชนิดที่เป็นนามธรรม เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นบุคคล คือเราจะไม่กล่าวพระเจ้าว่าเป็นบุคคล เรากล่าวพระเจ้าโดยชื่อว่าธรรม ธรรมะ คือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามที่กฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลจากหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ นั่นแหละคือพระเจ้าของพุทธบริษัท หรือพุทธศาสนา มีพระเจ้าอยู่ที่กฎของพระธรรม กฎของธรรมชาติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎอิทัปปัจยตานี่ ถ้าเราทำผิดเข้าแล้ว มันก็กัดเอา เป็นทุกข์ ถ้าเราทำถูกต้องมันก็ไม่เป็นทุกข์ กฎของธรรมชาติเป็นพระเจ้า เราก็บูชาเหมือนกับที่พวกอื่นเขาบูชาพระเจ้าเหมือนกัน เราก็อ้อนวอนพระเจ้าของเรา เหมือนกับที่เขาอ้อนวอนพระเจ้าของเขา เขาจุดเครื่องสักการะบูชา สิ่งของอ้อนวอนพระเจ้าตามแบบของเขา เราก็อ้อนวอนกฎของธรรมชาติตามแบบของเรา คือพยายามปฏิบัติให้ถูกตามกฎของพระเจ้าที่สุดนั่นแหละ พยายามปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติที่สุด คือวิธีการอ้อนวอนพระเจ้าตามแบบของเรา ชาวพุทธ สำหรับกฎแห่งกรรมมีอยู่อย่างนี้อย่างนี้ เราจะพยายามทำให้ดีที่สุด สุดความสามารถจริงๆไม่ล่วงละเมิดกฎแห่งกรรม นี่คือเราอ้อนวอนพระเจ้าของเรา มัน มันใช้คำพูดรวมๆกันได้ นั้นอย่าไปหลับตาตำหนิเขาว่ามีพระเจ้า อ้อนวอนพระเจ้า เสียเวลาเปล่าๆชาวพุทธไม่มี ชาวพุทธโง่น่ะ ที่จะไม่มีพระเจ้า หรือไม่มีการอ้อนวอนพระเจ้า
ถ้าชาวพุทธดีจริงมันก็มีพระเจ้าคือกฎของธรรมชาติ แล้วกราบไหว้ก็คือนับถือกฎของธรรมชาติ แล้วก็อ้อนวอนพระเจ้า คือพยายามทำให้ถูกกฎของธรรมชาติที่สุด เหมือนกับว่าเอาอกเอาใจ ประจบประแจงคนอย่างนั้นแหละ แต่ทีนี้มันไม่ใช่คน แต่ถ้าเราประจบประแจงโดยการทำให้ถูกตามกฎของธรรมะ หรือธรรมชาติแล้ว เราก็ได้รับผลที่เป็นสุข พระเจ้าประทานพรให้เราคือเป็นสุข เมื่อเราอ้อนวอนพระเจ้าด้วยการทำให้ ถูกตามกฎของธรรมชาติ กฎของพระธรรม เราจะอ้อนวอนพระพุทธเจ้าของเราก็ได้ โดยปฏิบัติให้ตรงตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จะอ้อนวอนพระธรรมที่เป็นกฎของธรรมชาติ ก็คือปฏิบัติให้ตรงตามพระธรรมเหมือนกับว่าเป็นพระเจ้า จะอ้อนวอนพระสงฆ์ก็ปฏิบัติตามอย่างพระสงฆ์ เรามีศาสนาชนิดที่มีกฎเกณฑ์ให้มนุษย์อยู่กันเป็นผาสุก คือเป็นสังคมที่ประกอบไปด้วยธรรมะ ธรรมะนั่นเองเป็นหลักทางสังคมเพื่อจะได้มีสังคมที่ไม่มีปัญหา
เราจะจัดระดับสังคมกี่ระดับก็ตามใจ ขอแต่ให้มีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามเรื่องของสังคมนั้นๆ สังคมกันระหว่างเพื่อนในมหาวิทยาลัยเดียวกันมีสังคมเพียงเท่านี้ ก็ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของสังคมเพียงเท่านี้ ถ้าสังคมของเราขยายออกไปทั่วประเทศ เราก็ปฏิบัติให้มันถูกต้องตามกฎของสังคมรวมกันทั้งประเทศ หรือถ้ารวมกันทั้งโลกก็ยิ่งจะต้องปฏิบัติให้กว้างไกลใหญ่หลวงออกไปอีก แต่มันก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของสังคม มันจึงจะอยู่กันได้ ไม่มีการเบียดเบียนกัน มีแต่ความรักใคร่กัน คือรักผู้อื่นเหมือนที่กล่าวไว้ในศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตรย์ ข้อที่น่า น่าสนใจมีอีกข้อหนึ่งที่เขากล่าวไว้ในศาสนาของศรีอาริยเมตไตรย์นี่ ที่เขากล่าวว่า พอเราลงจากบ้านเรือนของเราไปสู่ท้องถนน ไปในที่ต่างๆ เราจำไม่ได้ว่าใครเป็นใคร เหมือนกันไปหมดจนจำไม่ได้ จนเรากลับมาบ้านเรา ขึ้นมาบนเรือนเรา เราจึง อ้าว, นี่บุตร ภรรยา สามีของเรา ลูกของเรา หลานของเรา พอเราลงไปสู่ท้องถนนแล้วจำไม่ได้ เหมือนกันหมด ไม่มีทางที่จะแยก นั่นแหละผลของความรักความเมตตาที่สูงสุด ไม่มีใครเป็นศัตรู มีแต่คนที่เป็นมิตรยิ้มแย้มแจ่มใส เหมือนกันไปหมด เมื่อไรสังคมโลกมันจะเป็นอย่างนั้นได้ หลักธรรมะมันมีอย่างนี้ แล้วกฎของธรรมชาติมันก็มีอย่างนี้ และให้เป็นได้อย่างนี้ มันอยู่ที่เราปฏิบัติไม่ได้ ความจริงของธรรมชาติมันก็มีเพื่อความเป็นอย่างนั้น แต่แล้วเราก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะเรามันมีกิเลสมากเกินไป เรามีตัวที่เป็นของกิเลสมากเกินไป ไม่มีตัวที่เป็นของพระธรรมหรือธรรมะในสี่ความหมายอย่างที่กล่าวมาแล้ว
ขอให้สนใจว่าเรื่องของสังคมนั้นน่ะก็เป็นศาสนา ศาสนาสังคม เรื่องของสังคมเป็นศาสนา ถ้าเราไม่ถือ เราไม่ปฏิบัติ มันก็กลายเป็นโทษ เป็นสิ่งเลวร้าย เป็นอันตราย เป็นความวินาศของโลกไปเลย นี้เราก็มีปัญหาปลีกย่อยแยกแขนงออกไป ปัญหาเสรีภาพ มิตรภาพ ภราดรภาพอะไรต่างๆ ที่เป็นเรื่องของประชาธิปไตยเพ้อเจ้อ ประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนเป็นใหญ่ น่ะมันประชาธิปไตยเพ้อเจ้อ มันทำไม่ได้ ประชาธิปไตยที่ให้ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่น่ะมันทำได้ มันไม่ต้องการเสรีภาพ ภราดรภาพอะไรมากมายนัก เมื่อมีธรรมะแล้วมันก็รักกันเอง และมันเสียสละให้กัน เกินกว่าที่เขาต้องการ เรียกร้องต้องการ มันก็เลยไม่รู้ว่าเสรีภาพอยู่ที่ตรงไหน เพราะมีแต่คนให้มากเกินกว่าที่เขาต้องการ เสรีภาพก็ไม่มีความหมายไปเอง ไม่มีใครเอาเปรียบใคร ไม่มีใครรุกล้ำใคร ไม่มีใครทำอันตรายใคร ธรรมะมันเป็นอย่างนี้ คือสามารถทำให้สิ่งที่มนุษย์สมัยนี้เรียกร้องต้องการกันนักหมดความหมายไปเลย กลายเป็นของเด็กเล่นไปเลย
แต่นี้เรามันยึดถือด้วยกิเลสตัณหาของเรา มันก็มีปัญหา ปัญหาทางประชาธิปไตย ทุกคนเป็นใหญ่นั่นแหละ มันมีไม่สิ้นสุด เรามีชุมนุมนักศึกษาเข้าไปพูดจาเรื่องนี้กันให้มากเลย มาถือธรรมะกันดีกว่า โดยเฉพาะธรรมะของสังคมตามหลักแห่งศาสนาทุกศาสนา เอาเข้ามาอยู่ในหมู่มนุษย์ และมนุษย์ก็จะหมดปัญหาทางสังคม ไม่ ไม่มีปัญหาทางสังคมมากเหมือนเดี๋ยวนี้ ที่หาความสงบสุขไม่ได้ เศรษฐกิจก็เป็นปัญหา การเมืองก็เป็นปัญหา การปกครองก็เป็นปัญหา แม้แต่การทำไร่ทำนาก็เป็นปัญหาไปหมด เพราะไม่มีใครรักใคร พร้อมที่จะเอาเปรียบ พร้อมจะแย่งชิงทำลายล้างกันอยู่ตลอดเวลา มันผิดหลักของธรรมชาติ คือผิดหลักของพระธรรม หรือผิดความประสงค์ของพระเป็นเจ้า เมื่อผู้อื่นเขาเรียกว่าความประสงค์ของพระเป็นเจ้า เรามาเรียกว่า กฎของธรรมชาติ ซึ่งเป็นพระธรรมอันสูงสุด
นี่วันนี้ก็พูดเรื่อง ธรรมะกับปัญหาของสังคม ถ้าฟังออกก็จะฟังได้ว่า ความปกติของสังคมนั่นแหละคือตัวธรรมะ นั้นก็ต้องเอาธรรมะที่เรื่องนั้นมาใช้กับสังคม ไม่ใช่พระพุทธเจ้าหรือพระศาสดาองค์ไหนจะบัญญัติเอาเองตามชอบใจ ท่านบัญญัติจริง แต่บัญญัติตามความจริงอันลึกซึ้งของธรรมชาติ คือกฎของธรรมชาติ แต่ไม่พูดตรงๆเหมือนเราพูดว่าตามกฎของธรรมชาติ เขาไปใช้คำว่าพระเจ้าเสีย เพราะว่ามันทำให้คนกลัวหรือเคารพนับถือได้มากกว่าหรือง่ายกว่า เพราะว่ามนุษย์แต่ดึกดำบรรพ์มา มันกลัวสิ่งที่ไม่รู้จัก กลัวสิ่งที่เข้าใจไม่ได้ กลัวสิ่งที่สูงสุด เข้าใจไม่ได้เรียกว่า พระเจ้ากันมาแล้ว ไอ้ความกลัวพระเจ้ามันเป็นทุนสำรอง เป็นทุนเดิมพันอยู่ในจิตในใจแล้ว มันจะเอาอะไรมาใส่ให้พระเจ้า บัญญัติให้ว่าเป็นของพระเจ้าออกมาจากปากพระเจ้า คนมันก็กลัวมากกว่า รับได้ง่ายกว่า ฉะนั้นศาสนาที่เขามีบัญญัติให้มีพระเจ้านั้นก็ได้เปรียบ เราที่พูดจริงเกินไป เพราะมันมีกฎของธรรมชาติ ซึ่งเขาพูดว่ามันมีพระเจ้าที่มีฤทธิ์ มีเดช มีอานุภาพ มีปาฏิหาริย์ แต่ว่า ครั้นมาถึงสมัยนี้ ไม่รู้ว่าใครจะได้เปรียบ พระเจ้าตายกันไปทุกที พระเจ้าชนิดบุคคลน่ะ ตายกันไปทุกที จะเหลือแต่พระเจ้าที่เป็นกฎของธรรมชาติ ซึ่งเป็นหลักวิทยาศาสตร์นี่ขึ้นมาแทน เพราะว่าพุทธศาสนาเราไม่ได้พูดพระเจ้าอย่างบุคคล อิงหลักสัจจะแท้จริงตามธรรมชาติมากเกินไป
ในยุคหนึ่งในสมัยหนึ่งอาจจะสู้พวกที่มีพระเจ้าอย่างบุคคลไม่ได้ แต่ถ้ามาถึงยุคนี้สมัยนี้แล้วรู้สึกว่า เราจะได้เปรียบมากทีเดียว คือยุคที่มนุษย์ศึกษาวิชาของธรรมชาติ ตามจริงของธรรมชาติ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ พุทธศาสนาเรามันก็เข้ากันได้กับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ทีนี้ศาสนาที่มีพระเจ้าเป็นบุคคลมันก็เข้ากันไม่ได้ พวกที่เป็นนักวิทยาศาสตร์จึงหันมาสนใจยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา และก็ละทิ้งศาสนาที่มีพระเป็นเจ้าอย่างบุคคลมากขึ้นมากขึ้น แต่เดี๋ยวนี้เราไม่มองกันในเรื่องอย่างนี้ มองกันเรื่องว่าที่เขากล่าวพระเจ้าไว้อย่างบุคคลก็ด้วยความหวังดี มันเข้ารูปกันได้กับประชาชนที่เขายึดถืออย่างนั้นกันอยู่แล้ว เอาเป็นว่าจะมีพระเจ้าอย่างไหนก็ตามใจ ล้วนแต่ต้องการให้เรารักผู้อื่น ถือศาสนารักผู้อื่น ปัญหาทางสังคมจะไม่มี
นี่อาตมาพูดได้แต่อย่างนี้ พูดได้อย่างพุทธบริษัทก็พูดได้อย่างนี้ ถ้าพูดอย่างนักการเมืองสมัยใหม่เขาพูดอย่างอื่นแน่ และก็มากมายไม่จบไม่สิ้น จนปวดหัว จนต้องได้เข้าป่ากันอีกละ รับรอง ว่าถือหลักอย่างนี้ไม่ต้องเข้าป่านะ อยู่กันที่นี่ อย่างเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย เอาละเป็นอันว่าคำบรรยายในวันนี้ก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว หยุดการบรรยายให้ถามปัญหาได้ ๒๕ นาที ไม่มีไมโครโฟนก็ว่าดังๆก็แล้วกัน คุณจะถามว่าอะไร
เอ้า, มีปัญหาอะไรเกี่ยวกับการสังคม
(นาทีที่ 63.40 เป็นการถาม-ตอบ)
(เสียงโยมถาม ไม่ได้ยิน)
.........
(ท่านพุทธทาส)
นั่นน่ะคืออุปสรรคน่ะ เพราะเรากลัวจะเสียเปรียบ เราเลยไม่ถือศีลธรรม ถึงแม้พวกฝรั่งก็คือเขาพูดกันอย่างนั้น เคยได้ยิน เขาว่าประเทศไหนมัวถือศีลธรรม มันก็เสียเปรียบประเทศที่ไม่ถือศีลธรรม เช่นเราจะไม่ฆ่าคอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์ก็จะฆ่าเรา เพราะเราก็เสียเปรียบอย่างนี้เป็นต้น แต่นี่เราไม่ได้พูดในรูปนั้นนี่ เราพูดในรูปที่ว่ามัน มันจริงอย่างไร มันมีทางรอดอย่างไร แล้วเราก็ชักชวนมาประพฤติธรรมร่วมกัน ไม่เหลือใครไว้พวกหนึ่งที่สำหรับจะคอยเอาเปรียบ ช่วยกันเผยแผ่ธรรมะให้เข้าไปทุกคน จนเขามองเห็นไอ้ความจริงข้อนี้ ที่ว่าเราก็เหมือนเขา เราก็รักชีวิต รักประโยชน์ นั้นการที่เราจะมาทำตนเป็นผู้เอาเปรียบ มันก็ต้องมีผู้ต่อสู้แล้วมันก็ไม่มีที่สิ้นสุด เราก็จะวินาศกันไปทั้งสองฝ่าย
เรามาตกลงกันว่า ถือธรรมะเป็นหลัก ให้ธรรมะเป็นผู้ปกครอง ระบบธรรมะจริง ให้ได้ ตัวธรรมะ ไม่จริง ธัมมิกะ แปลว่าประกอบไปด้วยธรรม สังคมนิยม แปลว่านิยมสังคม อย่านิยมบุคคล ธัมมิกสังคมนิยม ระบบที่เห็นแก่สังคมที่ถูกต้องตามทางธรรม และก็เป็นประชาธิปไตยชนิดที่ประโยชน์ของทุกคนเป็นใหญ่ และก็ใช้วิธีเผด็จการ คือเอากันจริงๆเลย หมายความว่าเมื่อตกลงกันอย่างไรแล้ว เอากันจริงๆเลย นี่เผด็จการ แล้วก็ในรูปสหกรณ์ คือมีประโยชน์ร่วมกัน เดี๋ยวนี้คุณมันกลัวเผด็จการ เครื่องมือที่ดี ไม่ต้องเอามาใช้กันล่ะ
เผด็จการไม่ใช่ระบบการเมือง พูดผิดๆมันพูดกันอยู่ในเมืองไทยนี่ เผด็จการไม่ใช่ระบบการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง มันเป็นวิธีการ ถ้าไปใช้กันอย่างกับธรรมะแล้วดีที่สุด เร็วที่สุด ให้ธรรมะเผด็จการน่ะ ปัญหาไม่มีเหลือเลย แต่นี้กิเลสเผด็จการ กิเลสมันแย่งกันครองเมือง แย่งกันเผด็จการ เผด็จการอย่างนี้มันก็เป็นทรราชย์ ที่ดุร้าย ถ้าธรรมะเผด็จการ มันมีความจริง ความถูกต้องเฉียบขาด เหมือนกับพ่อแม่รักลูก เฆี่ยนตีลูกน่ะมันก็ ก็เป็นเผด็จการ แล้วนั่นน่ะดี มันจะดี ง่าย และเร็ว
เดี๋ยวนี้มีลัทธิบ้าๆบอๆ ตีลูกไม่ได้ บางประเทศออกกฎหมาย ตีลูกผิดกฎหมายนะ ให้ลูกฟ้องได้ แล้วก็ ก็ครูก็ตีเด็กไม่ได้ จะมีความผิด นั่นน่ะ มันคือ มัน มัน มันบ้า หรือว่าหลับตา ไอ้เผด็จการน่ะมันเป็นวิธี วิธีการ เอาไปใช้กับเรื่องที่ถูก มันก็ดี ไปใช้กับเรื่องที่ผิดมันก็ร้ายมาก การที่เราไม่ตีลูก ครูไม่ตีศิษย์ นั่นแหละมันก็คือ ไม่ตีก้น แต่หัวใจถูกตีแหลกละเอียดแหละ นักเรียนก็ดี ลูกก็ดี หัวใจผิดเสียหาย เหมือนกับหัวใจถูกตีแหลกละเอียดแล้ว ก้นไม่ถูกตีก็จริง มันสงวนไว้เพียงไม่ถูกตีที่ก้น แต่ในหัวใจของเขาถูกยักษ์มารตีแหลกละเอียดหมด คือเด็กที่ไม่ได้รับการควบคุมปกครองอย่างถูกต้อง เผด็จการก็เอามาใช้กับธรรมะได้ เหมือนพระพุทธเจ้าท่านมีระบบสังคมนิยมเป็นหลัก แต่วิธีการของท่านใช้เผด็จการ คือว่าเฉียบขาด
นั้นเรารู้เรื่องอะไรเป็นเครื่องมือ อะไรเป็นระบบหลัก ไปใช้เครื่องมือให้ถูกมันก็เร็ว เผด็จการนั่นน่ะถ้าใช้ถูกวิธีที่เป็นธรรมะ ก็เป็นธรรมะเผด็จการ ก็จะหมดปัญหา เดี๋ยวนี้ทั้งโลกน่ะ คำว่าเผด็จการ มันหมายถึงกิเลสเผด็จการ เป็นทรราชย์ไป เข้าใจกันเสียใหม่เถอะคำเหล่านี้ เราชอบธัมมิกสังคมนิยม ประชาธิปไตยเผด็จการ คนก็บ้า ก็ตามใจ เรามันชอบอย่างนี้ ระบบสังคมนิยม คือเห็นแก่สังคมตามหลักของศาสนา อย่าเห็นแก่ตัวกู และสังคมนิยมที่เป็นธัมมิกะ คือประกอบอยู่ด้วยธรรมะ ถูกต้องด้วยธรรมะ ไม่มีใครคอยจะเอาเปรียบใคร แล้วก็เป็นประชาธิปไตย คือว่าทุกคนได้รับประโยชน์ มันก็ทำกันอย่างเฉียบขาดตรงไปตรงมา เป็นเผด็จการ เป็นวิธีเผด็จการ ไม่ต้องกลัวว่า เรามาถือธรรมะแล้วผู้อื่นจะมา จะมาฉวยโอกาสเอาประโยชน์ของเราหมดนี่ ไม่ต้องกลัว
เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก
(เสียงโยมถาม ไม่ได้ยิน ....นาทีที่ 70.15)
…
(เสียงท่านพุทธทาส)
ถ้าเราไม่มีธรรมะ กิเลสก็มาปล้นเราหมดเลย ธรรมะจะมาป้องกันไม่ให้กิเลสมาปล้นเรา
(เสียงโยมถาม)
อยากเรียนถามท่านอาจารย์ครับ ในสังคมที่เป็นแบบวัตถุนิยมจัด เราจะรักคนอื่นได้อย่างไร ในเมื่อคนนั้นเป็นคนที่น่าเกลียดและไม่น่ารักครับ
(เสียงท่านพุทธทาส)
คนที่น่าเกลียดไม่น่ารัก เราจะไปรักเขาได้อย่างไรน่ะเหรอ เป็นปัญหา เรารักอย่างมนุษย์ ไม่ได้รักที่หน้า ที่ตาของเขา น่าเกลียดหรือไม่น่าเกลียด รักในฐานะที่เป็นมนุษย์เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย นี่ที่ทำให้ฝรั่งเขารักแขกดำไม่ได้ เป็นปัญหาในโลก เราดูที่เป็นมนุษย์สิ ดูความเป็นมนุษย์ ในส่วนภายใน เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย เรารักเขาได้ ในส่วนที่ว่าในสมัยวัตถุนิยม ต่างคนต่างแย่งกันเอาเปรียบ นี่มันเป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง ทุกคนไม่เห็นแก่ตัว คอยจ้องเอาเปรียบมันเลยรักกันไม่ได้ มันกิเลสมันเข้ามาแทรกแซงซะแล้ว ธรรมะมันเข้าไม่ มันก็รักกันไม่ได้ ในระหว่างบุคคลผู้กอบโกยประโยชน์ด้วยกัน ถ้าธรรมะมามันก็รักกันได้ เพราะมันไปเล็งที่ว่า เรามันเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน ตามหลักศาสนานี่ เราเป็นคนเหมือนกัน รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน มีโลหิตสีแดงเหมือนกัน ไปจี้เข้าก็หัวเราะ ไปตีเข้าก็หัวแตก
นี่ดูในส่วนนี้ นี้ว่าเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน ถ้ากิเลสต่อกิเลสมันเห็นกัน มันรักกันไม่ได้ ถ้าธรรมะกับธรรมะเห็นกันมันรักกันได้ นี้กิเลสกับธรรมะมันก็รักกันไม่ได้โดยธรรมชาติ นั้นต้องปรับปรุงให้มันเกิดเป็นธรรมะเข้ามาคนละครึ่งทางก่อน แล้วจนถึงธรรมะ พอใจธรรมะ ให้ธรรมะมันเดินไปจนถึงที่สุด ปัญหาเฉพาะหน้าที่มีอยู่นั่นน่ะ มันเป็นปัญหาที่เกิดมาจากกิเลส กิเลสท่วมทับอยู่ จนไม่ปรากฎไอ้ความจริงแท้ของธรรมชาติ เราเลยเข้าใจไม่ได้ เราเลยเอากิเลสเป็นหลัก ถ้าอย่างนี้ไม่มีทางจะประนีประนอมอะไรกันได้ กิเลสต่อกิเลสมันไม่มีการประนอมกัน
เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก
(เสียงโยมถาม)
ถ้าสมมติว่ามนุษย์เรานี่ ปฏิบัติถูกต้องตามหน้าที่ที่มีต่อธรรมชาติแล้ว แล้วทุกอย่างดำเนินไปอย่างถูกต้อง แต่เราต้องเป็นคนที่อยู่ในสังคม การปฏิบัติของเราต่อคนในสังคม ถ้าเราตัดบางอย่างได้ เช่นพวกเรื่องกิเลสหรือตัณหาหรือสิ่งต่างๆที่มันจะมาทำให้เราเป็นทุกข์ได้ แต่ในสภาพสังคมที่เป็นจริงแล้ว สมมติว่าครอบครัวหนึ่งมีสภาพที่ยากจน มีลูกมากมาย เกิดพ่อแม่ก็ทำถูกต้อง อย่างที่หนูบอกไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะเลี้ยงดูลูกอะไรได้ มันจะเกิดความทุกข์ในใจค่ะ อยากจะให้ท่านอาจารย์ช่วยเสนอแนะด้วยค่ะ
(เสียงท่านพุทธทาส)
นี่ มัน มันมีปัญหา คาบเกี่ยวกันมาก สรุปว่าในสภาพปัจจุบัน ไม่พอกิน ไม่พอใช้ จะมามี มามัวมีธรรมะอยู่ก็ยิ่งไม่พอกินพอใช้ ก็เลยทำไม่ได้ หรือมีคนพูดมากที่สุด พอเราพูดถึงว่าธรรมะหรือศีลธรรมนี่ เขาว่าเดี๋ยวนี้จะใส่ปากใส่ท้องก็ยังไม่มี จะมามัวมีธรรมะอยู่แล้วจะเอาอะไรกิน นี่คือปัญหาที่ ที่เขาจะย้อนเข้ามา ที่เขาจะตอบเข้ามา ที่จริงที่เราไม่มีจะกิน หรือมีไม่ค่อยจะพอกิน เพราะว่าเราไม่มีธรรมะ เพราะไม่มีธรรมะมาก่อนแล้ว จึงไม่ค่อยมีจะกิน แล้วเราก็มาอยู่ในสังคมที่ไม่มีธรรมะด้วยกันทั้งนั้น ก็แข่งขันกันเต็มที่ ถ้ามีธรรมแล้วจะไม่มีปัญ จะไม่มีปัญหาที่ว่าไม่มีอะไรจะกิน ที่ไม่มีอะไรจะกินเพราะไม่มีธรรมะ พอมาชวนให้มีธรรมะ เขาว่ากำลังไม่มีอะไรจะกิน
นั้นการไปหากินนั่นน่ะคือธรรมะ เอาธรรมะไปเป็นหลักสำหรับหากิน แล้วมันก็จะมี มันจะพอกิน เดี๋ยวนี้เขามันขาดธรรมะมาก่อนแล้ว จนไม่มีอะไรจะกิน พอ พอชวนไปเอาธรรมะแก้ไขปัญหานี้ เขากลับว่าเขาไม่มีเวลาที่จะปฏิบัติธรรมะ เพราะว่าเขากำลังไม่มีอะไรจะกิน นี่ปัญหาเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ ที่ ที่เราได้ประสบกันอยู่ ถ้าเขามีธรรมะมาตั้งแต่ทีแรก เขาจะมีกิน แล้วก็มีธรรมะมากขึ้นเขาจะเป็นสุขมากขึ้นต่อไปอีก ในระดับสูงขึ้นไป เดี๋ยวนี้เขากำลังไม่มีพอกิน เพราะเขาโทษบาปของเขาที่ไม่สนใจธรรมะ ไม่ปฏิบัติธรรมะมาแต่ก่อน
แล้วเขาจะแก้ไขยังไง เขาก็ต้องมีธรรมะออกไปทำมาหากินให้ดี อดกลั้น อดทน เรื่องอบายมุขอย่าให้มี ไม่เท่าไรเขาก็จะมีกินเพราะธรรมะอีกนั่นแหละ ให้ถือเป็นหลักไว้ว่าที่ไม่มีอะไรจะกินก็เพราะมันขาดธรรมะในเบื้องต้น และเมื่อไม่มีอะไรจะกินแล้ว จะแก้ไขได้อย่างไรก็ต้องมีธรรมะในขั้นนี้ ในตอนนี้ ตอนนี้จะกลับไปอดทนให้มาก กินข้าวกับเกลือก็ได้ แล้วค่อยกู้ฐานะขึ้นมาใหม่ จนจะมีอะไรจะใช้ จะกิน วันก่อนเราพูดกันมากพอแล้ว ที่ว่าธรรมะคือหน้าที่ ที่มนุษย์จะต้องประพฤติกระทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เขาทำไม่ถูก เขาก็เลยยากจน ไม่มีอะไรจะกิน พอขึ้นมาถึงตอนนี้แล้ว ก็ยังไม่อยากจะมีธรรมะอีก มันก็แก้ไม่ได้หรอก เพราะว่าการแก้ปัญหาให้ได้นั้นคือธรรมะเสมอ
ทีนี้มันมีปัญหาว่า เราจะไปอยู่ในท่ามกลางไอ้คนที่ไม่มีธรรมะอย่างไร เมื่อเราได้ตั้งเนื้อตั้งตัวจะทำให้ดี ให้พอกิน เขาก็พลอยเบียดเบียน คอยขโมย คอยอะไรต่างๆ หรือว่าคอยชักจูงไปสู่อบายมุข นี่แหละมันเป็นปัญหาอีก อีกแขนงหนึ่ง อีกทิศทางหนึ่งต่างหาก คือว่าเราจะไปประพฤติธรรมะอยู่ในท่ามกลางหมู่ชนที่ไม่มีธรรมะได้อย่างไร คือสังคมปัจจุบันนี้ โดยมากมันก็ไม่มีธรรมะ ไม่มีศีลธรรม เราจะไปทำตนเป็นผู้มีศีลธรรม ช่วยตัวเราเองในท่ามกลางคนเหล่านี้ได้อย่างไร นี้มันเป็นธรรมะอีกอันหนึ่ง ซึ่งยากกว่า ซึ่งทำได้ยากกว่า แต่ก็ไม่เหลือวิสัยล่ะ อย่างน้อยก็อย่าไปเอาพวกนั้นเป็นหลักของสังคม เช่นว่าไม่สูบบุหรี่สังคมกับใครไม่ได้ ไม่กินเหล้าสังคมไม่ได้ ไม่ใส่กระโปรงสวยๆมันก็สังคมกับใครไม่ได้ อย่างนี้มันจริงหรือเปล่า มันก็สังคมกันได้แต่ในหมู่ผู้ที่ถือธรรมะเป็นหลัก ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไปอยู่ในสังคมนั้นไม่ได้ เพราะสังคม สังคมผี จะไปเป็นคนอยู่ในสังคมผีก็ไม่ได้จริงๆเหมือนกัน มันต้องมีธรรมะมาก มันจึงจะต่อสู้ไปได้
(เสียงโยมถาม)
ถือโอกาสถามว่า ถ้ามีเหตุจำเป็นที่เราจะต้องเลือก
(ช่วงนี้มีการขลุกขลักของโยมที่จะถาม ท่านพุทธทาสจึงบอกวิธีจับไมค์ และให้พูดใหม่)
(เสียงโยมถาม)
คือถ้ามีเหตุจำเป็นที่เราจะต้องเลือกเอาในการรักผู้อื่น หรือว่ารักตนเอง ซึ่งมันขัดแย้งกัน เราจะเลือกเอาในด้านไหน
(เสียงท่านพุทธทาส)
เดี๋ยวว่าใหม่ซิ ฟังไม่ถูกเลย
(เสียงโยมถาม)
คือถ้าเกิดมีเหตุจำเป็นที่เราจะต้องเลือกเอาในการว่า เราจะรักตัวเอง หรือว่าจะรักผู้อื่น ซึ่งมันขัดแย้งกันอย่างนี้ เราควรจะเลือกเอาด้านไหน
(เสียงท่านพุทธทาส)
อ้อนี่คำพูด คำพูดที่ เป็นคำพูด เป็นปัญหาทางคำพูด เป็นความไม่แน่นอนของคำที่ใช้พูด จนเข้าใจไปว่าถ้าไปรักผู้อื่นแล้วก็ไม่ต้องรักตัวเอง ไอ้ที่พูด ไอ้ที่รักผู้อื่นนั่นน่ะมันรักตัวเองอย่างยิ่งอยู่ด้วย เพราะการรักผู้อื่นนั่นน่ะมันทำประโยชน์ให้แก่ตัวเอง ที่เราจะได้อยู่กันเป็นผาสุก ไม่ใช่ว่ารักผู้อื่นแล้วมันจะเกิด เกลียดตัวเอง ไม่ ไม่ทำอะไรให้แก่ตัวเองขึ้นมา รักตัวเองนั่นแหละจะไม่ทำประโยชน์ผู้อื่น ระวังให้ดีนะ รักผู้อื่นนั้นไม่ต้องกลัวหรอก ใจมันสูงพอที่จะทำประโยชน์แก่ตัวเองหรือมันย้อนมาเป็นประโยชน์แก่ตัวเองได้ รักผู้อื่นนั้นปลอดภัย ไอ้รักตัวเองนี่ไม่ปลอดภัย มันจะไม่รักผู้อื่นได้
ถ้าการรักผู้อื่นแล้วมันจะมีการรักตัวเองพร้อมกันขึ้นมาขึ้นมาภายในตัว แต่ถ้าเรารักแต่ตัวเองไม่รักผู้อื่น นี่จะมีแต่ข้างเดียวก็จะเพิ่มกิเลส (อย่าไปจับมัน มันจะดังกุ๊กกั๊ก กุ๊กกั๊ก)
เอ้า ว่า ว่า ว่า ว่าอะไรก็ว่าไป อีก ๑๐ นาทีแล้ว ยังเหลืออีก ๑๐ นาทีแล้ว เวลาจำกัด
(เสียงโยมถาม ไม่ได้ยิน... นาทีที่ 82.40)
.......
(เสียงท่านพุทธทาส)
นั่นแหละ อันนั้นก็เป็นหลักตายตัวแล้วว่า เราจะต้อง ช่วยเราได้แล้ว เราจึงจะช่วยผู้อื่นได้ เดี๋ยวนี้การที่เราจะช่วยตัวเองคนเดียวนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ในโลกนี้มันต้องต้องช่วยพร้อมๆกันไป ในสิ่งที่เราช่วยตัวเองได้แล้วก็ช่วยผู้อื่นได้ เหมือนเราว่ายน้ำเป็นแล้ว เราก็ช่วยคนตกน้ำได้
(เสียงโยมถาม ไม่ได้ยิน)
….
(เสียงท่านพุทธทาส)
ถ้าไม่แน่ใจก็ทำไม่ได้ หรือว่าจะไม่ทำด้วย เราจะชวนกันให้มองเห็นความจริงสูงสุด ว่าเราจะต้องอยู่กันอย่างเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย อะไรที่เราช่วยได้เราช่วย ที่เราช่วยได้ก็คือสิ่งที่เราช่วยตัวเองได้แล้วทั้งนั้นแหละ มันจะเป็นเรื่องว่าช่วยตัวเองได้แล้วทั้งนั้น จะชวนให้เขาถือศีล เราต้องถือศีลได้แล้ว จะชวนให้เขาทำอะไรก็ตามน่ะ เราต้องทำได้ก่อนเสมอ
(เสียงโยมถาม)
ทีนี้ในการที่อยู่ร่วมในสังคมเรามักจะต้องพบปะกับคนที่ไม่ค่อยดี หรือว่าทำให้เรารู้สึกเกลียดหรือไม่ชอบขึ้นมาได้บ่อยๆ จึงอยากเรียนขอความกรุณาคำแนะนำจากท่านอาจารย์ว่า เราจะมีวิธีอย่างไรที่จะสร้างความรักผู้อื่นให้เกิดขึ้นในตน
(เสียงท่านพุทธทาส)
นี้ก็มีคนถาม เคยถามมามากแล้วเหมือนกัน คือมันรวมกันอยู่กับคนที่ไม่มีธรรมะ แล้วเขา เขาเป็นคนอิจฉา ริษยา เป็นคนจิตใจทารุณ โหดร้าย เราต้องทำงานร่วมกัน เราจะทำอย่างไร บางทีเขาเป็นผู้บังคับบัญชาเราเสียด้วย เราจะทำอย่างไร มันก็ไม่มี ไม่มีทางอื่นน่ะ คือว่าคงถือหลักธรรมะที่ถูกต้องที่แท้จริงไว้เรื่อยไป เขาจะแกล้ง เขาจะอิจฉา ริษยา จะแกล้ง จะ แล้วเราก็เห็นเป็นธรรมดา ถ้าเราไปต่อสู้วิวาทกัน มันก็ยิ่งร้าย มันมีหลักที่ประพฤติยากนะ ที่ว่าชนะความชั่วของผู้อื่นด้วยความดีของเรา เอาชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ นี้ทำยาก แต่เขาก็มีหลักอย่างนั้น นั้นคำว่า ความอดทน จึง จึงมีบทบาทมาก มีบทบาทเข้ามาใน ในขอบเขตของการแก้ปัญหา แล้วต้องมีปัญญา ปัญญาที่เหนือกว่าก็ยิ่งดี มาช่วยความอดทนของเราเป็นไปอย่างมีผล แล้วต้องศึกษาเรื่องคน เรื่องกิเลส เรื่องอะไรให้เรามีปัญญาเหนือกว่าไว้ มันก็จะได้เอามาใช้ รับ รับหน้าปะทะ รับหน้าของไอ้คนอันธพาลที่ไม่มีศีลธรรม นี่เขาเป็นผู้บังคับบัญชาเป็นหัวหน้าของผู้อื่นด้วย ไอ้ลูกน้องนี่ลำบากที่สุด ที่ได้ผู้บังคับบัญชาที่ไม่มีศีลธรรม นี่เขาก็ต้องพิจารณาดู ถ้าเขาหนีได้เขาก็หนี ถ้าเขาหนีไม่ได้ เขาก็ต้องใช้ธรรมะที่เหนือกว่า ที่แรงกว่า จริงกว่า เป็นความอดทน ความสุขุม รอบคอบ ความมีสติปัญญา แก้ไขปัญหาได้ทุกๆแง่ ทุกๆมุม นี้ก็คือยังเป็นธรรมะอยู่ดี ยังเป็นตัวธรรมะอยู่ดี ก็คือเอาธรรมะมาแก้ปัญหาอยู่ดี
ไปศึกษาธรรมะอีกส่วนหนึ่งเอามาใช้ปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหาที่หนักมากขนาดนี้ ที่ต้องทนอยู่ในท่ามกลางคนที่ไม่มีศีลธรรม ยังมีธรรมะพิเศษอีกพวกหนึ่ง